วันเวลาปัจจุบัน 14 ก.ย. 2024, 12:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 17:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พุ ท ธ ม า ม า ก ะ : ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

• ความหมาย

คำว่า “พุทธมามกะ” ตามรูปศัพท์มาจากคำว่า พุทธ (พระพุทธเจ้า)
มามก (เรา, ของเรา) แปลว่า ผู้ยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นของเรา
หมายถึง ผู้ประกาศตนว่านับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ที่พึ่งของชีวิต

ในภาษาไทย ปรากฏความหมาย
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า
พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
หรืออักนัยหนึ่ง การแสดงตนเป็นพุทธมามะกะ คือ

การประกาศตนยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่นับถือของตน
โดยความหมาย ก็คือประกาศตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
เป็นการประกาศศรัทธา คือ ความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์ ที่มีอยู่ในใจตน
ให้ปรากฎออกมาภายนอกด้วยกิริยาวาจา
เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบว่า ตนมีความเคารพนับถืออย่างไร

• ประวัติของพุทธมามะกะ

การแสดงตนเป็นพุทธมามะกะ ปรากฏเป็นครั้งแรกสมัยพุทธกาล
โดยเริ่มตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ
ณ ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์
แล้วประทับเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ต่างๆ รวม ๗ แห่งๆ ละ ๗ วัน

และในสัปดาห์ที่ ๗ อันเป็นสัปดาห์สุดท้าย
พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุติสุขที่ภายให้ร่มไม้เกตุ
อันได้นามว่า “ราชายะตะนะ” นั้น

ขณะนั้น สมเด็จพระอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า

“พระผู้มีพระภาค ตั้งแต่ตรัสรู้แล้วนับได้ ๔๙ วัน
ถึงวันนี้ พระองค์ยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารและถ่ายพระบังคน”


จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถมาจากเทวโลก เข้าไปถวาย
พระพุทธองค์ทรงรับมาเสวย
แล้วทำสรีรกิจลงพระบังคน
แล้วท้าวสหัสสนัยน์ก็อยู่เฝ้าถวายการปฏิบัติพุทธองค์ด้วยกิจต่างๆ
เช่น การถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ เป็นต้น

ครั้งนั้น มีพ่อค้าพาณิชย์ ๒ พี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ
นำสินค้าบรรทุกกองเกวียนเดินทางมาจาก อุกกละชนบทผ่านมาทางนั้น
ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาองค์หนึ่งซึ่งเคยเป็นญาติกับ ๒ พ่อค้าในอดีตชาติ
เห็นสองพ่อค้าแล้วคิดว่า

“พ่อค้าทั้งสองนี้ พากันลุหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏสิ้นกาลช้านาน
ควรที่เราจะสงเคราะห์ให้ได้รับประโยชน์สุขอันอุดม”


จึงบันดาลพาเกวียนไปผิดทางแล้วแสดงตนให้ปรากฏ
กล่าวชี้แนะให้สองพ่อค้านำสัตตุก้อนสัตตุผง
อันเป็นเสบียงทางเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค

สองพ่อค้าก็ปฏิบัติตามน้อมนำข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงเข้าไปถวาย
พบพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใต้ร่มไม้เกตุ
ประกอบด้วยทวัตติงสะมหาปุริสสลักษณะ
มีพระรัศมีรุ่งเรืองไม่เคยพบเห็นมาก่อน

จึงคิดว่า

“พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก
ซึ่งนับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐยิ่งนักแล้ว”


เข้าไปกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์จงทรงอนุเคราะห์รับบิณฑบาตไทยทาน
เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งตลอดกาลนานเถิด”


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 17:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า

“บาตรของตถาคตได้หายไปก่อนวันตรัสรู้
ต้องรับข้าวมธุปายาสของนางสุดชาดาด้วยพระหัตถ์
หลังจากนั้นมา ยังมิได้เสวยพระกระยาหารเลย

บัดนี้สองพาณิชย์นำอาหารมาถวาย
ตถาคตจะได้บาตรมาแต่ที่ไหน”


เมื่อพุทธองค์ทรงดำริอย่างนั้น

ทันใดนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ได้นำบาตรศิลาสีเขียวองค์ละใบ
มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวาย

พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า

“บรรพชิตรูปหนึ่งไม่ควรมีบาตรเกินกว่า ๑ ใบ”

จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบนั้น
ประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน
แล้วทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงของสองพานิชด้วยบาตรนั้น

เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว
นายพานิชสองพี่น้องกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก
ขอถึงพระพุทธะกับพระธรรมเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต
เนื่องจากด้วยขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้น

อุบาสกทั้งสองจึงได้นามว่า “เทววาจิกอุบาสก”
นับเป็นอุบาสกคู่แรก และคู่เดียวในโลก ผู้ถึงรัตนะสองประการ


นอกจากนี้ยังมีบิดามารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ
ได้ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา
โดยประกาศรับเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ว่าเป็นสรณะของตน นับเป็นอุบาสก อุบาสิกา
ผู้ถึงพระรัตนตรัยชุดแรกในพระพุทธศาสนา

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 17:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


• พุทธมามกะในประเทศไทย

เรื่องการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ปรากฏครั้งแรกในประเทศไทยมาเมื่อไรนั้น
ยังไม่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ
ปรากฏแต่ในหนังสือที่มีคำนำนิพนธ์
ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงชี้แจงเหตุผลและที่มาของพิธีแสดงตน
เป็นพุทธมามกะอย่างละเอียดว่า

“เมื่อการถือศาสนาไม่เป็นเพียงเฉพาะตัว
ถือกันทั่วทั้งสกุลและสืบชั้นลงมา
มารดาบิดายอมนำบุตรธิดาของตนให้เข้าถึงพระศาสนา
ที่ตนนับถือตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา
มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาว่า

นิมนต์พระสำหรับสกุลไปแล้ว
ขอให้ขนานชื่อและให้สิกขาบทแก่เด็ก
ขอให้ขนานชื่อไม่เคอะ
ขอให้สิกขาบทเคอะอยู่หรือให้พอเป็นพิธีเท่านั้น

ธรรมเนียมเมืองเรา
เจ้านายประสูติใหม่นำเข้าเมื่อสมโภชเดือน
เชิญเสด็จออกมาหาพระสงฆ์

ถ้าเป็นพระกุมาร
พระสังฆเถระผูกพระหัตถ์ด้วยด้ายสายสิญจน์
ถ้าเป็นพระกุมารีพาดสายสิญจน์ไว้มุมเบาะข้างบน
แล้วพระสงฆ์สวดอำนวยพระพรด้วยบาลีว่า

โส อตฺถลทฺโธ... หรือ สา อตฺถลทฺธา... โดยควรแก่ภาวะ

บุตรธิดาของสกุลที่ไม่ได้ทำขวัญเดือน
ดูเหมือนนำมาขอให้พระผูกมือให้เท่านั้น
ความรู้สึกก็มาเป็นทางเข้าพระศาสนา
เป็นไปเพียงทางรับมงคลเนื่องด้วยพระศาสนา”

“นำเข้าพระศาสนาแต่ยังเด็ก
เด็กไม่รู้สึกด้วยตนเอง
เมื่อโตขึ้นที่เป็นชายจึงนำเข้าบรรพชาเป็นสามเณร
และอุปสมบทเป็นภิกษุที่เจ้าตัวได้ปฏิญาณและได้ความรู้สึก
การนำและสำแดงซ้ำอย่างนี้เป็นทัฬหีกรรม
คือ ทำให้มั่น เช่นเดียวกับอุปสมบทซ้ำ”

“เมื่อความนิยมในการบวชเณรจืดจางลง
พร้อมกับเข้ากับการส่งเด็กออกไปเรียนในยุโรป
ก่อนแต่มีอายุสมควรบวชเณร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัว
ทางพระราชปริวิตกว่า
เด็กๆ จักหาได้ความรู้สึกในทางพระศาสนาไม่

จึงโปรดให้พระราชโอรสผู้มิได้เคยทรงผนวชเป็นสามเณร
ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
อนเสด็จออกไปศึกษาในยุโรป

ครั้งนั้นใช้คำสำแดงเป็นอุบาสกตามแบบบาลี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เป็นพระองค์แรกปฏิญาณพระองค์
ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น
และใช้เป็นราชประเพณี ต่อมาได้ทราบว่า
ผู้อื่นจากพระราชวงศ์เห็นชอบตามพระราชดำริ ทำตามบ้างก็มี”

“ธรรมเนียมนี้แม้ได้ใช้นานมาแล้ว
ยังไม่ได้เรียบเรียงไว้เป็นแบบแผน

คราวนี้ สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า (รัชกาลที่ ๖)
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะส่ง
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมพฏพงศ์บริพัตร
พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
กับหม่อมเจ้าอื่นๆ ออกไปศึกษาในยุโรป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
มีพระประสงค์จะให้พระโอรสได้ปฏิญาณพระองค์
ในพระพุทธศาสนาตามธรรมเนียมที่พระองค์ได้เคยทรงมา
พระบิดาและพระญาติของหม่อมเจ้าอื่นก็ทรงดำริร่วมกัน

เป็นอันว่า ธรรมเนียมนี้ยังจักใช้อยู่ต่อไป
ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงตั้งเป็นแบบไว้ทีเดียว
สำหรับใช้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจ้านาย
ได้แก่บท “อุบาสก” เฉพาะผู้ใหญ่ผู้ได้ศรัทธาเลื่อมใสด้วยตนเอง
เป็น “พุทธมามะกะ” ที่แปลว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน”


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 18:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• วัตถุประสงค์ของการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

๑. เมื่อมีบุตรหลานของตนมีอายุพ้นเขตเป็นทารก
เจริญวัยอยู่ในระหว่างอายุ ๑๒ ถึง ๑๕ ปี
ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลวงศ์ต่อไป

๒. เมื่อจะส่งบุตรหลานของตนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว
ให้ไปอยู่ในถิ่นที่ไม่ใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
เพื่อการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ใดๆ ก็ตาม
เป็นการที่ต้องจากถิ่นไปนานแรมปี
ก็นิยมประกอบพิธีให้บุตรหลานของตนที่จะจากไปนั้น
แสดงตนเป็นพุทธมามกะ
เพื่อให้เด็กระลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นพุทธศาสนิกชนหรือ

๓. เมื่อจะปลูกฝังนิสัยเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา
ส่วนมากทางโรงเรียนที่สอนวิชา
ทั้งสามัญและอาชีวศึกษาแก่เด็ก ซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มชาวพุทธ
นิยมประกอบพิธีให้นักเรียนที่เข้าศึกษาใหม่ในรอบปี
ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะหมู่

คือ แสดงรวมกันเป็นหมู่ ทำปีละครั้งในวันที่สะดวกที่สุด
เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญ
ในการที่ตนเป็นชาวพุทธร่วมอยู่กับชาวพุทธทั้งหลาย
และ

๔. เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ
ก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
เพื่อประกาศว่า นับแต่นี้ไปตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว

(มีต่อ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ความสำคัญของการเป็นพุทธมามะกะ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ดังศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑ ด้าน ๒ ที่จารึกไว้ว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มีทรงศีล มักโอยทาน
พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า
ท่วยปั้ว ท่วยนาง ลุกเจ้าลุกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย
ทั้งผู้ชายผู้หญิงฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเพื่อพรรษาทุกคน
เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว.....”


คนไทยจึงมีความเกี่ยวกันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน
และเป็นรากฐานของขนธรรมเนียม จารีตประเพณี วัฒนธรรมอันงดงาม
ที่คนไทยทั้งชาติยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน

อันเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา สมดั่งเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
ซึ่งการที่บุคคลจะยอมรับนับถือพุทธศาสนา
จะต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ตามพุทธประเพณี

ความสำคัญของการเป็นพุทธมามะกะนั้น
มีความหมายต่อพุทธศานิกชนที่เป็นคนไทยทั้งสิ้น

ดังที่ปรากฏในข้อเขียนเรื่อง
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามะกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่า

ประเทศไทยเรายังคงรักษาเอการาชสืบมาจนถึงทุกวันนี้ได้
ก็ด้วยเหตุที่เรามีความพร้อมเพรียงสามัคคีกันระหว่างชนในชาติ
มีศาสนาหลายศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ชาวไทยครองตนอยู่ในศีลธรรม
มีพระมหากษัตริย์เป็นร่มเกล้าธงชัยให้เราได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบมาทุกสมัย
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันพระศาสนา
จึงเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของชาติไทย


ในบางประเทศที่มีพื้นหลังและภูมิหลังความเป็นมา
ตลอดจนประวัตศาสตร์แตกต่างไปจากไทย
อาจจะมีความแนวความคิดที่จะต้องแยกรัฐ
ซึ่งหมายความรวมถึงประมุขของรัฐ
ออกต่างหากจากศาสนา ไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกันตามทางการ

แต่สำหรับประเทศไทยมิได้ยึดหลักการเช่นนั้น
ตรงกันข้ามรัฐได้ให้ความคุ้มครอง และส่งเสริมศาสนาต่างๆ อย่างจริงจังเสมอมา
เพราะตระหนักดีว่า ศาสนาทั้งหลายล้วนมีจุดหมายอบรมสั่งสอน
ศาสนิกของตนให้เป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น

หากเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติความเป็นมาของชาติไทย
ตั้งแต่มีการเริ่มจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานถึงสมัยปัจจุบัน
เราจะพบว่าคนไทยตั้งแต่ครั้งบรรพชน
ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา
ซึ่งได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมินี้เป็นเวลากว่า ๑ พันปีแล้ว
พระพุทธศาสนาได้ฝังรากลึกในจิตใจของคนไทย
จนอาจกล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ


แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไทยที่ศรัทธาเลื่อมใส
และเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนาต่างๆอีกหลายศาสนา
เป็นต้นว่า ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู และศาสนาซิกข์

ศาสนาต่างๆ เหล่านี้ มีคนนับถือจำนวนมิใช่น้อย
แม้ชาวไทยจะนับถือศาสนาแตกต่างกัน
แต่ก็ถือว่าตนเป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกัน
ยังไม่เคยปรากฏและคงจะไม่ปรากฏเลยว่า
พี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาหรือนิกายต่างกัน จะจับอาวุธเข้าประหัตประหารกัน
นเกิดสภาพสงครามกลางเมืองอย่างในบางภูมิภาคของโลก
ข้อนี้ถือเป็นความดีที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของคนไทย

ปัจจัยสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่บันดาลให้เกิดความปรองดอง
และสมานฉันท์ดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้แก่
พระราชจริยาและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
ที่ทรงดำรงพระองค์อยู่ในฐานะเหมาะสม
แก่การที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของชาติมาโดยตลอด
แม้เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว


หลักการสำคัญอันเป็นพฤตินัยอันยั่งยืนมาแต่โบราณ
ข้อนี้ก็ได้มีการบัญญัติรับรองไว้
รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของชาติ
รัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย
ฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา ๙ ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามะกะ และทรงเป็นอัครราชศาสนูปถัมภก”

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2009, 18:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น มีความหมายว่า

เนื่องจากประเทศไทยของเราประชากรสวนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของรัฐจึงต้องทรงเป็นพุทธมามะกะ


คือเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ
และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
คือทรงทำนุบำรุงศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา
โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใดด้วย


นอกจากความหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว
ในด้านนิตินัย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังได้เคยบทมาตราทำนองเดียวกันนี้
ซึ่งในเวลานั้นปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่า

“การที่มาตรานี้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามะกะนั้น”
เป็นการกำหนดว่า

(๑) ก่อนหน้าที่คณะองคมนตรีจะเสนอพระนามผู้สืบพระราชสันตติวงศ์
พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
และก่อนหน้าที่รัฐสภาจะให้ความชอบตามมาตรา ๒๓ นั้น

คณะองคมนตรีและรัฐสภา จะต้องสอบสวนจนเป็นที่พอใจว่า
ผู้สืบราชสันตติวงศ์จะต้องเป็นพุทธมามะกะ

(๒) เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์แล้ว
จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นไม่ได้
ถ้าทรงเปลี่ยนศาสนาถือว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพระมหากษัตริย์”


บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามะกะนี้
บัญญัติขึ้นเพื่อสะท้อนความจริงในประวัติศาสตร์ที่ว่า
พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา
ทุกพระองค์ล้วนมีพระราชศรัทธา

ถึงกับทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ
ในระหว่างที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว
ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ
และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เป็นอาทิ

เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้เคยทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาว แถลงความในพระราชหฤทัยไว้
อย่างน่าประทับใจยิ่งตอนหนึ่งว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี”


สำหรับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
นั้น
ในวันที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามะกะ ท่ามกลางที่ชุมนุมสงฆ์ทั้งปวง


ต่อเมื่อมีโอกาสอันสมควร ได้เสด็จออกทรงพระผนวช
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
เป็นที่แซ่ซ้องอนุโมทนาของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยสัมมาปฏิบัตินานัปการ
ทรงสร้างสมพระราชกุศลสมภารบารมีมิได้ว่างเว้น
ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาด้วยอุปการกิจต่างๆ ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า
ในรัชกาลนี้ ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐

การสังคายนาครั้งนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงบำเพ็ญธรรมทานอันยิ่งใหญ่
โดยทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ เรื่อง “พระมหาชนก” เผยแพร่แก่มหาชน


ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงชี้ให้เห็นผลอันอุดมเลิศของความเพียร
พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาทั้งปวงนี้
สมกับที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลกปัจจุบัน
ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนา

(มีต่อ : การแสดงตนเป็นพุทธมามะกะ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2009, 16:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะตามธรรมเนียมในปัจจุบัน
มีระเบียบปฏิบัติที่นิยมกัน ดังต่อไปนี้

o ร ะ เ บี ย บ พิ ธี

๑. มอบตัว

ผู้ประสงค์จะประกอบพิธี
ต้องไปมอบตัวกับพระอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ
และมุ่งหมายจะให้เป็นประธานสงฆ์ในพิธีด้วยก่อน
ถ้าเป็นเด็กต้องมีผู้ปกครองนำไป

แต่ถ้าเป็นพิธีแสดงหมู่ เช่น นักเรียน
ให้ครูใหญ่หรือผู้แทนโรงเรียน
เป็นผู้นำแต่เพียงบัญชีรายชื่อของนักเรียนที่จะเข้าพิธีเท่านั้นก็พอ
ไม่ต้องนำนักเรียนทั้งหมดไปก็ได้

รูปภาพ

การมอบตัวควรมีดอกไม้ ธูปเทียนใส่พาน
ไปถวายพระอาจารย์ตามธรรมเนียมโบราณด้วยพึงปฏิบัติ ดังนี้

ก. เข้าไปหาพระอาจารย์ ความเคารพพร้อมกับผู้นำ (ถ้ามีผู้นำ)

ข. แจ้งความประสงค์ให้พระอาจารย์ทราบ เมื่อพระอาจารย์รับแล้วจึงมอบตัว

ค. การมอบตัว ให้ผู้จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
ถือพานดอกไม้ ธูปเทียนที่เตรียมไปนั้น
เข้าไปไกล้ๆ พระอาจารย์ คุกเข่าลงกับพื้น
กะว่าเข่าของตนห่างจากตัวพระอาจารย์ประมาณศอกเศษ
แล้วยกพานนั้นน้อมตัวประเคน

รูปภาพ

เมื่อพระอาจารย์รับพาน แล้ว
เขยิบกายถอยหลังทั้งๆ ที่อยู่ท่าคุกเข่านั้น ห่างออกมาเล็กน้อย
แล้วประนมมือก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์
ตรงหน้าพระอาจารย์ ๓ ครั้ง

ถ้าเป็นตัวแทนหมู่ให้ผู้แทนปฏิบัติเช่นเดียวกัน
พร้อมกับถวายบัญชีรายชื่อผู้ที่จะประกอบพิธี

ฆ. กราบเสร็จแล้วนั่งราบพับเพียบลงตรงนั้น
เพื่อฟังข้อแนะนำ และนัดหมายพระอาจารย์จนเป็นที่เข้าใจเรียบร้อย

ง. เมื่อตกลงกำหนดการกันเรียบร้อยแล้ว
ขอเผดียงสงฆ์ต่อพระอาจารย์
ตามจำนวนที่ต้องการไม่น้อยกว่า ๓ รูป
รวมเป็น ๔ ทั้งพระอาจารย์

เมื่อเสร็จธุระนี้แล้วให้กราบลาพระอาจารย์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์อีก ๓ ครั้ง

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2009, 16:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๒. เตรียมการ

ในการประกอบพิธีนี้
ต้องมีการเตรียมการให้พร้อมทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายผู้แสดงตน คือ

ก. ฝ่ายสงฆ์

พระอาจารย์ผู้เป็นประธานสงฆ์ที่ได้รับมอบตัว
ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะแล้ว
ต้องเป็นผู้จัดเตรียมบริเวณพิธีภายในวัดไว้ให้พร้อมก่อนกำหนดนัด

เพราะพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะนี้
ประกอบขึ้นในวัดเป็นเหมาะที่สุด


ถ้าไม่จำเป็นแล้วไม่ควรทำในที่อื่น
บริเวณพิธีในวัดควรจัดในพระอุโบสถได้เป็นดี
เพราะเป็นสถานที่สำคัญ อันเป็นหลักของวัด

แต่ถ้าในพระอุโบสถไม่สะดวกด้วยประการใดๆ
ควรจัดในวิหาร หรือศาลาการเปรียญ
หอประชุมแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้
ไม่ควรจัดให้มีในที่กลางแจ้ง

ควรตั้งโต๊ะบูชา มีพระพุทธรูปเป็นประธาน ในบริเวณพิธีนั้นๆ
จัดให้สะอาดเรียบร้อยตามธรรมเนียม แลให้เด่น อยู่กึ่งกลาง

ถัดหน้าโต๊ะบูชาออกมาตรงหน้าพระประธาน
ตั้งหรือปูอาสน์สงฆ์ หันหน้าออกตามพระประธานนั้น
อาสนะพระอาจารย์ตั้งอยู่หน้าเดี่ยวเฉพาะองค์เดียว
อาสนะพระสงฆ์อยู่ข้างหน้าพระอาจารย์ เรียงแถวหน้ากระดาน

ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ ควรเตรียมที่ปักธูปเทียน
และที่วางดอกไม้บูชาพระสำหรับผู้แสดงตนไว้ข้างหน้าให้พร้อม

ถ้าสถานที่ไม่อำนวยให้จัดเช่นนี้ได้
ก็จัดอาสนะพระอาจารย์และพระสงฆ์
ให้อยู่ทางซีกขวาของพระประธานเป็นด้านข้าง
ให้หันหน้าไปทางซีกซ้ายของพระประธาน

วิธีจัดก็ให้อาสนะพระอาจารย์อยู่หน้าอาสน์สงฆ์
เรียงแถวอยู่หลังพระอาจารย์ เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว
ที่จัดดังนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่แสดงตนต่อสงฆ์
โดยหันหน้าตรงพระอาจารย์แล้วให้หันมือขวาเข้าหาพระประธาน
นับเป็นการแสดงความเคารพอีกประการหนึ่งด้วย

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2009, 16:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ข. ฝ่ายผู้แสดงตน

ต้องตระเตรียมผ้าขาวสำหรับนุ่งผืนหนึ่ง
ชายควรนุ่งโจงกระเบน หญิงควรนุ่งจีบแบบผ้าถุง
หรือจะตัดเย็บเป็นกระโปรงก็ได้แล้วแต่เหมาะสม
และต้องมีผ้าขาวสำหรับห่อสไบเฉียงอีกหนึ่งผืน
ใช้เหมือนกันทั้งชายและหญิง
รองเท้าและถุงเท้าไม่ต้องใช้ในพิธี

ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่
เช่น นักเรียนหรือข้าราชการ เป็นต้น
จะไม่นุ่งขาวห่มขาวตามแบบ
ก็ให้แต่งครื่องแบบของตนให้เรียบร้อยทุกประการ
เว้นแต่ต้องถอดรองเท้าในเวลาเข้าพิธีอีกประการหนึ่ง

ต้องเตรียมเครื่องสักการะ
สำหรับถวายพระอาจารย์ในพิธีเฉพาะตนๆ ด้วย
คือ ดอกไม้ ธูปเทียนใส่พาน ๑ ที่
กับดอกไม้ธูปเทียนสำหรับจุดบูชาพระในพิธี ๑ ที่
นอกนั้นจะมีไทยธรรมถวายพระสงฆ์ในพิธีด้วยกแล้วแต่ศรัทธา

รูปภาพ

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2009, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๓. พิธีการ

เมื่อเตรียมการพร้อมทุกฝ่ายดังกล่าวแล้ว ถึงวันนัดประกอบพิธี โดย

ก. ให้ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะนุ่งขาว ห่มขาว
หรือแต่งเครื่องแบบของตนเรียบร้อยแล้ว
ไปยังบริเวณพิธีก่อนกำหนด นั่งรอเวลาที่ทางวัดจัดให้

ข.ถึงเวลากำหนด พระอาจารย์และพระสงฆ์เข้าสู่บริเวณพิธี
กราบพระพุทธรูปประธานแล้ว เข้านั่งประจำอาสนะ

ค.ให้ผู้แสดงตนเข้าไปนั่งคุกเข้าหน้าโต๊ะบูชา
จุดธูปเทียน และวางดอกไม้บูชาพระ

ง.ส่งใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เปล่งวาจาว่า

อิมินา สกฺกาเรน, พุทฺธํ ปูเชมิ.
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้
(กราบ)

อิมินา สกฺกาเรน, ธมฺธํ ปูเชมิ.
ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้
(กราบ)

อิมินา สกฺกาเรน, สงฺฆํ ปูเชมิ.
ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้
(กราบ)


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2009, 16:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ถ้าเป็นการแสดงตนหมู่ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาคนเดียว
นอกนั้นวางดอกไม้ ธูปเทียนที่ที่จัดไว้
แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือหัวหน้านำกล่าวบูชา ให้ว่าพร้อมๆกัน
การกราบตัวก้มลงกราบกับพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ทุกครั้ง

ฆ. เข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์

ถวายพานเครื่องสักการะแก่พระอาจารย์
แล้วกราบพระสงฆ์ตรงหน้าพระอาจารย์นั้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง

ถ้าแสดงตนเป็นหมู่ทุกคนคงนั่งคุกเข่าประนมมืออยู่กับที่
หัวหน้าหมู่คนเดียวนำเครื่องสักการะที่เดียวเข้าถวายแทนทั้งหมู่
แล้วกราบพร้อมกับหัวหน้า
กราบเสร็จแล้วคงคุกเข้าประนมมือ
เปล่งคำปฏิญาณตนให้ฉะฉานต่อหน้าสงฆ์
ทั้งคำบาลีและคำแปลเป็นตอนๆ ไป จนจบเรื่องปฏิญาณ ดังนี้

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2009, 21:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• คำนมัสการ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส


• คำแปล

ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2009, 21:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• คำปฏิญาณ

เอสาหํ ภนเต เอสาหัง ภันเต,
สุจิระปรินิพฺพุตัมปิ, ตํ ภะคะวนฺตํ สะระณํ คจฺฉามิ,
ธมฺมญฺจะ สงฺฆญฺจ
พุทธมามโกติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ.


• คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว
ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ
ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ
ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า


หมายเหตุ* : ถ้าปฏิญาณพร้อมกันหลายคนทั้งชายหญิง
คำปฏิญาณให้เปลี่ยนเฉพาะที่ขีดเส้นใต้ไว้ ดังนี้

เอสาหํ เป็น ชายว่า เอเต มยํ หญิงว่า เอตา มยํ
คจฺฉามิ เป็น คจฺฉาม (ทั้งชายและหญิง)
พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามกาติ (ทั้งชายแลหญิง)
มํ เป็น โน (ทั้งชายและหญิง)

คำแปลก็เปลี่ยนเฉพาะคำ “ข้าพเจ้า”
เป็นว่า “ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ” เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกัน
สำหรับหญิงผู้ปฏิญาณคนเดียวว่า เอสาหํ ฯลฯ ถึง พุทธมามโกติ
เปลี่ยนเป็นว่า พุทธมามกาติ ต่อไปไม่เปลี่ยน ตลอดทั้งคำแปลด้วย

ถ้าหญิงกับชายปฏิญาณคู่กัน เฉพาะคู่เดียว
ให้ว่าแบบปฏิญาณคนเดียว คือ ขึ้นเอสาหํ ฯลฯ
พุทธมามโกติ ชายว่า หญิง เปลี่ยนว่า พุทธมามกาติ เท่านั้น
นอกนั้นคงรูปตลอดทั้งคำแปล


เมื่อผู้ปฏิญาณกล่าวคำปฏิญาณจบแล้ว
พระสงฆ์ทั้งนั้น ประนมมือรับ “สาธุ” พร้อมกัน

ต่อจากนั้น ให้ผู้ปฏิญาณลดลงนั่งราบแบบพับเพียบกับพื้น
แล้วประนมมือ ฟังโอวาทของพระภิกษุที่เป็นประธานต่อไป

เมื่อจบโอวาทแล้ว ผู้ปฏิญาณรับคำว่า “สาธุ”
แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือน้อมตัวลงเล็กน้อย
กล่าวคำอาราธนาเบญจศีลและสมาทานศีลตามคำที่พระอาจารย์ให้ ดังนี้

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2009, 22:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ผู้ปฏิญาณอาราธนาศีล

อหํ ภนเต วิสุ วิสํ รกฺขนตฺถายะ ติสรเณนะ สห ปญฺจ สีลานิ ยาจามิ
ทุติยมฺปิ อหํ ภนเต วิสํ วิสํ รกฺขนตฺถายะ ติสรเณนะ สห ปญฺจ สีลานิ ยาจามิ

ตะติยมฺปิ อหํ ภนเต วิสํ วิสํ รกฺขนตฺถายะ ติสรเณนะ สห ปญฺจ สีลานิ ยาจามิ


ถ้าสมาทานพร้อมกันหลายคน
ให้เปลี่ยนคำ อหํ เป็น มยํ
และเปลี่ยนคำ ยาจามิ เป็น ยาจาม

• คำสมาทานเบญจศีล

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมพุทฺธสฺส
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
(เปล่งวาจา สามครั้ง)


พระอาจารย์ว่า

ยมหํ วทามิ ตํ วเทหิ

ผู้ปฏิญาณว่าตาม ดังนี้

พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก

ทุติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แม้ครั้งที่สอง
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แม้ครั้งที่สอง
ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แม้ครั้งที่สอง

ตติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แม้ครั้งที่สาม
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แม้ครั้งที่สาม
ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก แม้ครั้งที่สาม


พระอาจารย์ว่า

ติสรณคมนํ นิฏฐิตํ

ผู้ปฏิญาณรับว่า

อาม ภนฺเต

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2009, 22:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระอาจารย์ว่านำ ผู้ปฏิญาณว่าตาม ดังนี้

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท เว้นจากการผลาญชีวิตสัตว์

๒. อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้

๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท เว้นจากการพูดเท็จ

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท เว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นฐานแห่งความประมาท

อิมานิ ปญฺจ สิกฺขา ปทานิ สมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบทห้าเหล่านี้
(พระอาจารย์บอกบทนี้จบเดียว ผู้ปฏิญาณพึงว่าซ้ำสามจบ)


แล้วพระอาจารย์บอกอานิสงส์ศีลต่อไปว่า

สีเลน สุคตึ ยนติ สีเลน โคสมปทา
สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ ตสมา สีลํ วิโสธเย


ผู้ปฏิญาณกราบอีกสามครั้ง

ถ้ามีเครื่องไทยรรมถวายพระสงฆ์พึงนำมาประเคนในลำดับนี้
เสร็จแล้วนั่งรายตรงหน้าพระอาจารย์
เตรียมกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา ดังนี้

ขณะพระอาจารย์ว่า ยถา ฯลฯ

ผู้ปฏิญาณพึงกรวดน้ำตามแบบ

พอพระสงฆ์ว่า สพฺพีตีโย....

ให้กรวดน้ำเสร็จแล้วนั่งประนมมือรับพร
เมื่อจบแล้วแล้วพึงคุกเข่ากราบพระสงฆ์สามครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

(มีต่อ)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร