วันเวลาปัจจุบัน 10 ก.ย. 2024, 03:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2008, 09:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หนังสือที่พระบวชใหม่พึงอ่าน
โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ก่อนเข้าพรรษา กุลบุตรที่อายุครบบวช คงได้มีโอกาสบวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยตามประเพณีนิยม หลายท่านลาราชการมาบวช คงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชถึงสามเดือน (สมัยก่อนราชการใจป้ำอนุญาตให้ลาสามเดือน) ก็คงลาสิกขา (คำนี้คนที่บวชเรียนแล้วยังเรียกผิดเป็น “ลาสิขาบท” ซึ่งผิดที่สุดในโลก !) ก่อนออกพรรษา ก็ยังดีมีโอกาสได้บวช

บวชเป็นพระเวลาน้อย ไม่รู้จะศึกษาอะไรตรงไหน จึงจะคุ้มค่าที่บวชเรียน บางวัดก็ไม่ได้ใส่ใจให้การฝึกฝนอบรมเท่าที่ควร ปล่อยให้วันเวลาล่วงไปวันๆ น่าเสียดาย ทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือหาหนังสือมาอ่านมาศึกษา

ผมมีหนังสือที่จะแนะนำให้พระบวชใหม่หามาอ่าน (ญาติโยมช่วยหามาให้พระบวชใหม่อ่านด้วย จะได้บุญกุศลมหาศาล) ดังต่อไปนี้คือ

1. คำสอนสำหรับผู้บวชใหม่ โดย พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) สำนักพิมพ์ธรรมสภา โทร. 0-2434-4267 หนังสือปกเข็งราคา 250 บาท เนื้อหาเป็นเรื่องที่พระบวชใหม่จะพึงศึกษา แบ่งเป็น 5 ตอน คือ

(1) การบวชคืออะไร มีผลอย่างไร ความมุ่งหมายของการบวชเป็นอย่างไร เป็นต้น

(2) กิจวัตรที่พระบวชใหม่จะพึงทำมีอะไรบ้าง เช่น การบิณฑบาต การปลงอาบัติ การสวดมนต์ การพิจารณา “ปัจจเวขณ์” การภาวนา รวมถึงอุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร การขบฉัน อิริยาบถ

(3) ความดับทุกข์ สอนวิธีลดทุกข์หรือดับทุกข์ที่จะพึงใช้ในชีวิตประจำวันขณะบวช หรือออกจากเพศบรรพชิตไปแล้วก็นำไปใช้ ว่าด้วยการดับทุกข์กับพระรัตนตรัย การดับทุกข์กับพระไตรปิฎก การดับทุกข์กับไตรสิกขา การดับทุกข์ “3 ส.” (สะอาด-สว่าง-สงบ) เป็นต้น

(4) พหุลานุสาสนี (คำสอนที่ทรงสั่งสอนมากและบ่อย) คือ ปัญจขันธ์ ไตรลักษณ์ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักขณะ (สามอย่างหลังนี้ก็มีอยู่ในไตรลักษณ์นั่นแหละ แต่ขยายให้ละเอียด) ความดับทุกข์ด้วยปัญจขันธ์

(5) การสึก เมื่อบวชศึกษาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็จะต้องสึก หรือลาสิกขากลับสู่ความเป็นคฤหัสถ์ ภาษาพระว่า “เวียนมาสู่หินเพศ = เพศที่มีโอกาสบรรลุธรรมช้า เพราะมัวแต่วุ่นวายในการทำมาหาเลี้ยงชีพ” ในหนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดดี ว่าผู้ที่จะสึกนั้นต้องมีการตัดสินใจครั้งสุดท้ายอย่างไร สิ่งที่ศึกษาชั่วระยะเวลาสามเดือน เช่น ศีล จะนำไปปรับใช้กับชีวิตอย่างไร เป็น “ฑิต” (บัณฑิต) แล้วควรวางตัวอย่างไรให้สมกับคนบวชเรียนมา และเตือนว่าออกจากวัดแล้ว “อย่าห่างวัด” ตอนทำพิธีสึกพึงเตือนสติครั้งสุดท้ายอย่างไร วิธีสึกจะต้องทำอย่างไร สึกไปแล้วควรมีความสัมพันธ์กับอุปัชฌาย์ อาจารย์อย่างไร ไม่ใช่สึกไปแล้วก็ลืมแม้กระทั่งชื่ออุปัชฌาย์ อาจารย์

เป็นหนังสือที่ควรอ่านอย่างยิ่ง อย่างน้อยถ้าไม่ได้อยู่ในวัดที่เขาเข้มงวดฝึกฝนอบรม ก็จะได้หนังสือเล่มนี้แหละเป็นประทีปส่องทางชีวิต ไม่เสียทีที่บวชเรียน

2. ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี โดย พุทธทาสภิกขุ เช่นกัน สำนักพิมพ์สุขภาพใจ โทร. 0-2415-6797 ราคา 65 บาท เนื้อหาสาระเน้นอธิบายตามหลักสูตรสำหรับพระบวชใหม่ คือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แบ่งเป็น

(1) ภาคว่าด้วยหลักธรรมฝ่ายความทุกข์ แบ่งเป็น 5 ตอน คือ 1. หมวดที่แสดงถึงทฤษฎีทั่วไป 2. หมวดว่าด้วยการจำแนกลักษณะของกิเลส 3. หมวดว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติตามอำนาจกิเลสจนกระทั่งเกิดทุกข์ 4. หมวดว่าด้วยฐานที่ตั้งของทุกข์ และ 5. หมวดว่าด้วยบุคลาธิษฐาน อันว่าด้วยความทุกข์

(2) ภาคว่าด้วยหลักธรรมฝ่ายความดับทุกข์ แบ่งเป็น 5 ตอน คือ 1. หมวดธรรมว่าด้วยประเภททฤษฎีฝ่ายความดับทุกข์ เช่น อริยสัจ เป็นต้น 2. หมวดธรรมว่าด้วยวิชชาแดนแห่งความดับทุกข์ 3. ประเภทเกี่ยวกับอุปกรณ์การปฏิบัติ และหลักการปฏิบัติดับทุกข์ มีอิทธิบาทสี่ หลักการตัดสินธรรมวินัยแปดประการ หลักความเชื่อสิบประการ หลักธรรมที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ มีบุญกิริยาวัตถุสาม สิกขาสาม อปัณณกปฏิปทาสาม มรรคมีองค์แปด กุศลกรรมบถสิบ 4. ว่าด้วยลักษณะแห่งความดับทุกข์ เช่นประโยชน์สาม โลกุตตรธรรมเก้า มรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง และ 5. ว่าด้วยบุคลาธิษฐานแห่งความดับทุกข์ อันขยายออกเป็นกลุ่มธรรม หรือ “ธรรมาธิษฐาน” และกลุ่มบุคคล หรือ “บุคลาธิษฐาน”

หนังสือเล่มนี้บรรยายได้ชัดเจน ละเอียด ลึกซึ้ง ตามสไตล์ของหลวงพ่อพุทธทาสผู้ล่วงลับ สมควรซื้อหาไปถวายพระบวชใหม่จริงๆ ครับ

3. พุทธธรรมฉบับเดิม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ฉบับนี้เป็นฉบับย่อ มีเนื้อหาประมาณสามร้อยหน้า อธิบายหลักธรรมที่ครอบคลุมที่สุด แบ่งเป็น 1. ภาคว่าด้วยมัชเฌนธรรมเทศนา (หลักธรรมที่เป็นกลาง) เช่น ว่าด้วยชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร และ 2. ภาคว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเป็นกลางหรือทางสายกลาง) ว่าด้วยอริยมรรคมีองค์แปดโดยละเอียด

เล่มนี้อ่านแล้วยกระดับความเข้าใจธรรมะขึ้นอย่างมีระดับและมีภูมิคุ้มกันได้อย่างดีครับ อ่านช้าๆ แล้วจะค่อยๆ เข้าใจซึมซับอย่างน่าประหลาด

4. หนังสือแถมท้าย หลังจากเสนอหนังสือที่เป็นหลักให้อ่านแล้ว ขอเสนอหนังสือแถม ถ้าเป็นอาหารก็ประเภทกาแฟล้างปากหลังจากฉันเสร็จแล้ว 2 เล่ม คือ

(4.1) สองทศวรรษในดงขมิ้น เป็นเรื่องสารคดีศาสนากึ่งอัตชีวประวัติของสามเณรบ้านนอกรูปหนึ่ง ที่สมภารเรียกว่า เณรเขียด เพื่อนเณรด้วยกันเรียกว่า เณรต้ม บรรยายบรรยากาศทางศาสนาในบ้านนอกอย่างเห็นภาพ มีสามตอนคือ 1. ชีวิตในดงขมิ้น 2. แสงไต้กลางกรุง บรรยากาศตอนเณรเขียดมากรุงเทพฯ ใหม่ๆ พบเห็นปฏิปทาของพระเณรในกรุงจนตกใจ และ 3. แสงไต้กลางหิมะ บรรยายตอนเณรเขียด (ตอนนี้เป็นพระเขียดแล้ว) ไปศึกษายังมหาวิทยาลัยเก่าแก่ระดับไดโนเสาร์ที่ประเทศอังกฤษ

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า “ท่านจ้างให้ลูกชายตอนนั้นเรียนมัธยมอ่าน โดยให้เหตุผลว่าหนังสือเล่มนี้บรรยายบรรยากาศชนบทได้กินใจ ภาพอย่างที่ปรากฏในหนังสือนี้นับวันจะหายไปจากสังคมไทย” ลาวคำหอม เขียนชมว่า “เล่าเรื่องเก่งมาก” เก่งเพราะเล่าไปแทรกอารมณ์ขันไปด้วย ผมถามเจ้าตัวคนเขียนคือ นายไต้ ตามทาง ว่าหนังสือนี้ดีอย่างไร เจ้าตัวโม้ว่า “ใครอ่านแล้วไม่หัวเราะ ให้เอาหนังสือมาคืนได้เลย” ปานนั้นเชียว

พระใหม่ควรอ่านอย่างยิ่ง ชีวิตสนุกสนานในโลกิยวิสัยจนเคย พอมาอยู่ในบรรยากาศสงบ มันคงวังเวงไม่น้อย เผลอๆ อาจเป็นโรค homesick เอาง่ายๆ คิดถึงบ้าน คิดถึงสีกาเมื่อไร นิมนต์อ่านสองทศวรรษในดงขมิ้น ก็แล้วกัน อ้อ เกือบลืม สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์ ราคา 200 บาท (ประมาณนั้น) โทร. 0-2580-0021 ครับ

(4.2) พระไตรปิฎกศึกษา ธรรมะนอกธรรมาสน์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ 150 บาท เล่มนี้ยกเอาเรื่องน่าสนใจ น่าศึกษามาเล่าให้ฟังย่อๆ พร้อมเขียนทรรศนะส่วนตัวเพิ่มเติม เช่น สูตรว่าด้วยทางตันและทางพ้นทุกข์, พระงามที่จนคนงามที่มี, พัฒนาการแห่งชีวิต, คดีคนเก่งมักถ่อมตัว, คนดุจดุ้นฟืนเปื้อนคูถ, หลักความเชื่อชาวพุทธ, ทำอย่างไรเมื่อถูกด่า, พระ “หมาขี้เรื้อน”, คู่เวรคู่กรรม-คู่สร้างคู่สม, รักร้อยก็ทุกข์ร้อย, ความสุขเพราะเกาที่คันต่างจากความสุขที่ไม่ต้องเกา, สุขของผู้ครองเรือน...และที่น่าสนใจมากมาย

ควรหาซื้อไปถวายพระบวชใหม่ได้อ่านก่อนลาสิกขา เพราะสึกแล้วไม่แน่ว่าจะมีเวลาอ่านหนังสือธรรมะหรือไม่

:b8: :b8: :b8:

:b44: วินัยสงฆ์-อาบัติ-ปาราชิก-สังฆาทิเสส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=22785

:b44: วินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนควรทราบ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=28703

:b44: ความเข้าใจพระวินัย (มมร.)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=36150

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2008, 09:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หนังสือที่ชาวพุทธพึงอ่าน
โดย อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ผมมีหนังสือสองเรื่องที่ชาวพุทธพึงอ่าน เล่มหนึ่งเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก ถอดความสรุปทำให้ง่าย ผู้ถอดความใช้คำว่า “สำหรับผู้เริ่มศึกษา” แสดงว่าคนทั่วไปที่พึ่งเริ่มศึกษาพระไตรปิฎก อ่านเข้าใจ ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย

อีกเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ชื่อ ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิต ผู้แปลและเรียบเรียงจั่วปกว่า “พุทธวิธีเพื่อคุณภาพชีวิตร่วมสมัย” สมัยนี้ถ้าไม่มีคำกำกับด้วยว่า “ร่วมสมัย” ก็กลัวคนสมัยใหม่ไม่จับ

1. เล่มที่หนึ่งคือ พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา เป็นหนังสือ 18 เล่มชุด ต้องชม อาจารย์อุทัย บุญเย็น ที่แปลเรียบเรียงพระไตรปิฎกตั้ง 45 เล่ม ย่อลงใน 18 เล่ม นับเป็นวิริยะอุตสาหะที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ผมถามท่านว่าเป็นงานคนเดียวทำหรือ ท่านบอกว่า คนเดียวครับ เนื่องจากเคยทำงานเป็นคณะกรรมการมาแล้ว เมื่อคราวทำงานพระไตรปิฎกให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง งานล่าช้ามาก และที่สำคัญสำนวนไม่เป็นเอกภาพ เพราะต่างคนต่างก็มีสไตล์เป็นของตน ที่ต้องชมก็เพราะผมคิดจะทำเช่นเดียวกับอาจารย์อุทัย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เมื่อมีผู้ทำสำเร็จก็ต้องยินดีอนุโมทนาเป็นธรรมดา

ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรญาณก็คงเห็นทำนองเดียวกัน ท่านจึงรับไว้ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พระไตรปิฎก 45 เล่มนั้น เมื่อเก็บความมาเรียงร้อยเป็นฉบับ
พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา จำนวน 18 เล่ม ได้ดังนี้

1. พระวินัยปิฎก 8 เล่ม สรุปได้ 4 เล่ม
2. พระสุตตันตปิฎก 25 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหามาก สรุปได้ 12 เล่ม
3. พระอภิธรรมปิฎก 12 เล่ม สรุปได้ 2 เล่ม

ในการแบ่งเนื้อหาพระไตรปิฎกนั้น ท่านแบ่งเป็นธรรมขันธ์ (หัวข้อธรรม) 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยพระสุตตันตปิฎกมี 12,000 พระธรรมขันธ์, พระสุตตันตปิฎกมี 12,000 พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎกมี 24,000 พระธรรมขันธ์ เท่ากับสองปิฎกข้างต้นรวมกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในพระอภิธรรมปิฎกมีเนื้อหาธรรมะล้วนๆ ไม่มีเหตุการณ์ บุคคล สถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ที่ผู้เรียบเรียงได้สรุปลงใน 2 เล่มเท่านั้น ดูเหมือนจะย่นย่อมาก ท่านผู้เรียบเรียงอธิบายไว้ในคำนำข้อ 10 ว่า

“วิธีเรียงร้อยเนื้อหาแต่ละปิฎก คำนึงถึงผู้อ่านเป็นหลัก พระวินัยปิฎก - เน้นให้ผู้อ่านเข้าใจ เพื่อประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทได้ และให้สอดคล้องกับแนวอธิบายในวินัยมุขของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนวนแปลสิกขาบท ได้พยายามรักษาสำนวนของหนังสือวินัยมุขและหนังสือนวโกวาท ซึ่งเป็นหลักสูตรนักธรรมของคณะสงฆ์

พระสุตตันตปิฎก - เน้นเก็บรายละเอียดทุกแง่ทุกมุม และพิถีพิถันเป็นพิเศษในการแปลและถอดความในส่วนที่เป็นพุทธวจนะ จำเป็นต้องแทรกเสริมคำบาลีและภาษาแปลของชาวยุโรปด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้อ่าน

ส่วน พระอภิธรรมปิฎก - เน้นให้เห็นเนื้อหากว้างๆ รวมๆ ในลักษณะสรุปใจความให้รู้ว่าปรมัตถธรรมคืออะไร และพระอภิธรรมปิฎกบรรจุเรื่องอะไรไว้บ้าง”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในคำนิยมตอนหนึ่งว่า “พระไตรปิฎกบาลีเป็นจุดร่วมของความเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และกำลังขยายวงออกไปที่จะเป็นจุดร่วมของพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั่วทุกนิกายในโลก แต่ด้วยเหตุว่าพระไตรปิฎกบาลีนี้มีขนาดใหญ่มหึมา คนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสเข้าถึง และจำนวนมากไม่รู้จักเลย ความเป็นจุดร่วมนั้นจึงยากที่จะเริ่ม เพื่อก้าวไปสู่ความจริงอย่างนั้น”

เห็นด้วยกับพระเดชพระคุณครับ แม้เนื้อหาพระไตรปิฎกจะส่องทางชีวิตของคนให้พบแสงสว่าง ให้พบทางพ้นทุกข์ ก็นิ่งสงบอยู่ในพระคัมภีร์ เพราะคนส่วนมากไม่รู้จัก ถึงรู้จักอยู่บ้าง ก็ไม่รู้จะหยิบส่วนไหน เล่มไหนมาศึกษา

เมื่ออุบาสกอุทัย บุญเย็น นำมาเรียงร้อยให้ง่าย กะทัดรัด สำนวนภาษาพอที่ผู้เริ่มศึกษาเข้าใจได้ จึงช่วยให้ก้าวสู่จุดร่วมนั้นง่ายขึ้น ขออนุโมทนาอีกครั้งครับ ผู้ประสงค์จะหามาศึกษา ติดต่อที่บริษัทสำนักพิมพ์โพธิเนตร จำกัด โทร. 0-2668-6700-1 โทรสาร 0-2243-0638

2. เล่มที่สองคือ ศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิต พุทธวิธีเพื่อคุณภาพชีวิตร่วมสมัย งานเขียนของ เลียวนาร์ด เอ บุลเลน แปลโดย ประชา หุตานุวัตร หนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์มาแล้ว คู่กับปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ คราวนี้สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย นำมาพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง ผู้แปลคือ อดีตพระประชา ปสนฺนธมฺโม เห็นสำนักพิมพ์บอกว่า “ให้ความสำคัญสำหรับการดูต้นฉบับและการพิสูจน์อักษรเป็นพิเศษ หากท่านผู้อ่านพบข้อบกพร่อง หรือมีคำเสนอแนะประการใด ทางสำนักพิมพ์ยินดีรับฟังเสมอ” ก็เห็นแล้วละครับในหน้านี้แหละ ฉายาว่า ปสนฺนธมฺโม ถ้าจะเขียนสะกดแบบไทยก็ควรเป็น ปสันนธัมโม ไม่ใช่บาลีปนไทยว่า ปสันฺนธมฺโม จะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง

ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ เขียนโดยพระเวียดนาม ผู้ซึ่งเป็นกวี มีสำนวนการเขียนกระจ่าง เข้าใจง่าย สมสมัย เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่จะอ่านและนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง ส่วนศาสตร์แห่งดำเนินชีวิตนั้น เขียนโดยฝรั่งนาม (ที่คนไทยชอบออกเสียงว่าเลียวนาร์ด แต่เวลาฟังฝรั่งพากย์มวยชื่อ เลียวนาร์ด ผมกลับได้ยินว่า “เลินเนิร์ด” อะไรประมาณนั้น)

ส. ศิวรักษ์ เขียนไว้เมื่อคราวพิมพ์ครั้งแรกว่า “ส่วนศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิตนั้น เป็นข้อเขียนของฝรั่ง ซึ่งหันมาสนใจพุทธวิธีจนนำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของเขา แล้วเขียนวิธีดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธให้เป็นที่รู้จักกัน เพื่อแพร่หลายออกไปสู่หมู่ชาวอัษฎงคตด้วยกัน โดยให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติธรรมอย่างสมัยใหม่เป็นเดือนๆ ไป แต่โดยที่ชาวไทยปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากวิถีชีวิตตะวันตกมากขึ้นทุกทีแล้ว เรื่องที่เขียนสู่ฝรั่งด้วยกันอ่าน จึงมีผลพลอยได้เป็นถูกใจคนไทยรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน”

ในการพิมพ์ครั้งนี้ ผู้แปลคือคุณประชา หุตานุวัตร ได้นำต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบเคียงอีกครั้งหนึ่ง และได้แก้ไขบางตอนให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ กรอง คำแก้ว ขัดเกลาภาษาไทยอีกชั้นหนึ่ง จึงรับประกันได้ถึงความถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายของผู้เขียน ไม่มีการ "แปลงสาร" แน่นอน

ผมคงไม่มีเวลาเข้าสู่รายละเอียดของเนื้อหา เพราะหน้ากระดาษจำกัด เพียงต้องการแนะนำให้ผู้อ่านรู้คร่าวๆ ว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง ผู้เขียนได้แบ่งเป็นบทๆ สำหรับปฏิบัติเป็นเดือนๆ ไป คือ

บทที่ 1 ผ่อนคลายความเครียด บทที่ 2 หลักการพื้นฐานเรื่องเข้าใจตนเอง บทที่ 3 กระบวนการให้คุณค่าสิ่งทั้งปวงใหม่ บทที่ 4 วิธีเสริมสร้างความรู้ตัวทั่วพร้อม บทที่ 5 หลักแห่งการยอมรับความจริง บทที่ 6 สติรู้เท่าทันอารมณ์ บทที่ 7 กลไกของการหลอกตัวเอง บทที่ 8 หลักพุทธธรรมว่าด้วยความไม่มีตัวตน บทที่ 9 ฝึกควบคุมความคิด บทที่ 10 ฝึกปล่อยวาง บทที่ 11 เข้าถึงความสงบ และบทที่ 12 เรียนรู้ที่จะเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้

ฟังแต่หัวข้อก็ชวนให้อยากอ่านแล้วใช่ไหมครับ โดยเฉพาะหลักแห่ง การฝึกปล่อยวาง เขาวิธีอย่างไร น่าหามาอ่านดูนะครับ “อย่ายึดมั่น หัดปล่อยวางเสียบ้าง” พูดง่ายแต่ทำยาก คนพูดเองก็ทำไม่ได้ แต่อยากเห็นคนอื่นทำ เหมือนใครบางคนชอบย้ำว่าเราควรสมานฉันท์ แต่ก็เห็นแต่ “ฉัน” ไม่ “สมาน” เอาเสียเลย

อาจารย์เซนที่ยึดมั่นในความงามของถ้วยลายคราม พร่ำสอนลูกศิษย์ให้เห็นอนิจจังเสมอ วันหนึ่งเณรน้อยเผลอทำถ้วยลายครามนั้นแตก ได้ยินเสียงอาจารย์เดินเข้ามา รีบเอามือกอบเศษถ้วยซ่อนข้างหลัง ถามอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นใช่ไหมครับ” อาจารย์ยิ้ม “เออ เอ็งเริ่มเข้าใจแล้วสินะ”

“เหมือนถ้วยลายครามใบนี้ใช่ไหมครับ”

ต้องให้ถ้วยสุดรักสุดหวงแตก จึงจะพอเข้าใจอนิจจังที่ตนเองพร่ำสอนศิษย์ได้บ้าง

หมายเหตุ เกือบลืม ติดต่อได้ที่ สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย โทร. 037-333182-3

:b8: :b8: :b8:

:b40: สิกขา สิกขาบท ลาสิกขา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=32190

:b40: สัทธิวิหาริก (อุปัชฌาย์)-อันเตวาสิก (อาจารย์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=40263

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 22:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ม.ค. 2009, 18:57
โพสต์: 159


 ข้อมูลส่วนตัว


ว่าเฉพาะคำที่ออกจากพระโอฏฐ์ (ดี และชัดเจนมากๆ)

เล่ม 1 พุทธประวัติจากพระโอฏฐ์

เล่ม 2 อริยสัจจากพระโอษฐ์ (มีสองเล่ม)

เล่ม 3 ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์

เล่ม 4 ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

หาได้ที่ ธรรมสภา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ค. 2009, 15:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มี.ค. 2009, 20:48
โพสต์: 744


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ

.....................................................
“เวลาทำสมาธิ ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้าออก สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น”

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อสันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2009, 12:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 เม.ย. 2009, 06:18
โพสต์: 731

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง
ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม


พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุ.......... :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2018, 09:15 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร