วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ย. 2024, 01:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


กฏกติกา
สำหรับผู้ประกาศแจก
1. รายละเอียดสิ่งของที่จะแจก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ หรือซีดี
2. อีเมล์/เบอร์โทร (ถ้าสะดวก) เพื่อการติดต่อ
3. จำนวนของสิ่งของที่จะแจก
4. กำหนดวันเวลาสิ้นสุดการแจกชัดเจน
5. เมื่อสิ้นสุดการแจก กรุณาปิด-ลบกระทู้ หรือแจ้งให้ผู้ดูแลทราบ

สำหรับผู้ขอรับ
1. กรุณาอ่านรายละเอียดข้อตกลงก่อนว่า ต้องลงชื่อขอรับในเว็บบอร์ดนี้ หรืออีเมล์ และเว็บไซต์ของผู้แจก
2. ชื่อ-ที่อยู่ ชัดเจน และเมื่อได้รับแล้ว กรุณาเข้ามาลบ หรือแจ้งผู้ดูแลลบชื่อท่านออก เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
....



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ม.ค. 2016, 04:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คำเรียกตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” มี ๓ อย่าง
รูปภาพ

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔
ตรงกับวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๘๓
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ
“พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์” ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ
และทรงสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
กล่าวคือ เป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร
โดยโปรดเกล้าฯ สถาปนาคำนำพระนามสำหรับเรียกตำแหน่งนี้ว่า
“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งปรากฏพระนามนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในคราวนี้


ครั้นถึงวันที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙
ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๘๘
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวง
คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
หรือเรียกอีกพระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์


ฉะนั้น จึงได้มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง สมเด็จสกลสังฆปริณายก
หรือสมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก เป็น อย่างเป็นธรรมเนียมสืบมา คือ

:b47: :b47: ๑. พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” มีอยู่ ๓ พระองค์ คือ
(๑) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๒) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๓) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


พระราชพิธีสถาปนา “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า
“มหาสมณุตมาภิเษก” พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูง
ผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกเท่าที่ปรากฏมาเป็นชั้น “พระองค์เจ้า” ขึ้นไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
และสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป ทรงเบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๕ ชั้น
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
เมื่อทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่
“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”

ฉะนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
จึงทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
เป็นที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทย


สำหรับการสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” นั้น
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เมื่อทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑล ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” นั้น
มีพระนามอย่างสังเขปว่า “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นประเพณีสืบมา
ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก หาได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราชไม่
ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์
จึงได้ทรงพระราชดำริพระนามสำหรับเรียกพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้านายชั้นสูง
ผู้ทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” และได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระมหาสมณะ
พระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์) ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในขณะนั้น
เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”


และพร้อมกันนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๔) และ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๕)
ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในอดีต
เป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่นเดียวกันในคราวนี้ด้วย
จึงได้เรียกพระนามกันว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สืบมาแต่บัดนั้น

:b47: :b47: ๒. พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ หรือ
พระมหาเถระที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช
มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” มีอยู่ ๔ พระองค์ คือ
(๑) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๒) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๓) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(๔) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป
พระองค์แรกทรงเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ลายทอง ๕ ชั้น เป็นการพิเศษ
แต่ ๓ พระองค์หลังทรงฉัตรตาดเหลืองหรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนา
เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น เท่าที่ปรากฏมาเป็นชั้น “หม่อมเจ้า” ลงมา
เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
โดยโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
ในตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” เป็นพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓, ๑๘, ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ
ทั้ง ๓ พระองค์มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง ๒ อย่าง ดังนี้


:b44: (ก) เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๘
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา (เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต)
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช ในพระราชทินนามเดิม คือ
“สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
ทรงเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๓ ชั้น ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาเฉลิมพระนาม
สมเด็จพระสังฆราชให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี
เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

หลังเสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
โดยมี สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์)

ครั้นถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์
พระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์) ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์”
นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทรงฉัตรตาดเหลืองหรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น
เกือบ ๒ ปีถัดมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ พระองค์นั้นก็ได้ทรงสิ้นพระชนม์
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๑


:b44: (ข) เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๗ พรรษา
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเกียรติยศพระอัฐิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พระราชอุปัธยาจารย์ (พระอุปัชฌาย์) ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเกียรติยศพระอัฐิ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระองค์เมื่อครั้งทรงพระผนวช
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
นับเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงาน
จัดฉัตรตาดเหลืองหรือฉัตรตาดสีทอง ๕ ชั้น
ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร
ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร
กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ
เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย
ในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการคณะสงฆ์ไทย
ที่สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชฐานันดรศักดิ์สามัญชน
มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง”
อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นการสถาปนา
สมเด็จพระสังฆราชในพระบรมโกศหรือที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว


:b44: (ค) ฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงมีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง อย่าง คือ

๑. สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงมีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง อย่าง คือ

๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงมีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถึง อย่าง คือ

๑. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งเป็นพิเศษ
ไม่ใช้คำนำพระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
เนื่องจากทรงเป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ

๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

:b47: :b47: ๓. พระมหาเถระที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก เรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช”
ซึ่งมีมาแต่โบราณจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทรงเศวตฉัตร (ฉัตรขาว) ๓ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า นั้น
จะมีพระนามเฉพาะสำหรับแต่ละพระองค์ไป
เช่น กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นต้น

แต่สำหรับพระมหาเถระที่มาจากสามัญชน มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น
มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่งเหมือนกันทุกพระองค์ตามราชประเพณี
ที่มีมาแต่ในสมัยกรุงธนบุรี คือ “สมเด็จพระอริยวงษญาณ”
ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแก้ไขคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
ดังที่ปรากฏสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๑๓ พระองค์ คือ

(๑) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๒) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๓) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๔) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๕) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๖) สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๗) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๘) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๙) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๐) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๑) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๒) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

(๑๓) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20842
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20236
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20005
พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=19822
โปรดเกล้าฯ สถาปนา ๒ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ครั้งประวัติศาสตร์ !!
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=57885

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ธ.ค. 2016, 18:05 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2018, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร