วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 07:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2010, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


นำมาฝาก .. จากห้องสวนลุม เวบพันทิป ...

L9350434

ตรวจประจำปี? สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแรง หรือ ความเจ็บป่วย??

[สุขภาพกาย] CMV (45 - 11 มิ.ย. 53 13:47)

http://www.pantip.com/cafe/lumpini/topi ... 50434.html


รู้ทั้งรู้ ว่า อาจจะกลายเป็นกระทู้ล่อเป้า
รู้ทั้งรู้ ว่า อาจจะทำให้แพทย์เฉพาะทางบางคนไม่พอใจ
รู้ทั้งรู้ ว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องไม่ชอบแน่ๆ


แต่


นี่คือมุมมองของคนที่ทำการตรวจรักษาคน 5 วันต่อสัปดาห์
ในรพ.ของรัฐแห่งหนึ่งในกทม.


นี่คือมุม มองของคนที่ผ่านการสอนนักศึกษาแพทย์ และ


นี่คือมุมมองของข้าพเจ้า ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป


หากสิ่งที่พิมพ์ไป ไปกระทบกระทั่งใครที่ทำให้ไม่พอใจ
หรือเสียผลประโยชน์ ก็ต้องขออภัยด้วย
แต่นี่คือสิ่งที่เป็นความจริงที่ข้าพเจ้าพยายามกรั่นกรองออกมา เพื่อเป็นประโยชน์


หากบุคลากรเพื่อนร่วมวิชาชีพ มีข้อติชม
หรือ ต้องการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ขอน้อมรับด้วยความยินดี


จาก แพทย์ เวชศาสตร์ครอบครัว (วุฒิบัตร) คนเล็กๆคนหนึ่ง


ประเด็นคำถามคำตอบเกี่ยวกับ “การตรวจสุขภาพยุคประหยัด”


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนจะป่วย
และนำมาสู่กระแสแห่งการตรวจสุขภาพ
กระแสดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
ได้แก่ กระแสโลกแห่งการบริโภคนิยม กระแสแห่งความหวาดกลัวโรค
โดยเฉพาะชนิดที่เป็นข่าวความเจ็บป่วยของคนดังในสังคม
ข่าวการเพิ่มขึ้นของ โรคบางโรคในสังคมไทย
ข่าวโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มีการตรวจเช็คสุขภาพก่อนที่จะป่วย
ข่าวผู้นำทางสังคมที่สบายดีก็ยังเช็คสุขภาพทุก 3 เดือน 6 เดือน


สิ่งต่างๆเหล่านี้หล่อหลอมให้เกิดกระแสแห่งการตรวจสุขภาพ
จนเป็นที่นิยมแพร่หลายจนเป็นปกติในสังคมไทย


แท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพ คืออะไร?


:b41: 1.นิยามการตรวจร่างกายแต่ละประเภท


เช่น การตรวจร่างกายประจำปี การตรวจร่างกายก่อนเข้าทำงาน
การตรวจร่างกายก่อนทำประกัน


การตรวจสุขภาพมีหลายประเภทเพื่อ วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน


การตรวจร่างกายประจำปี


ความคิดนี้เริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ช่วงหนึ่งเศรษฐกิจซบเซา
คนเข้ารับการรักษาน้อย บริษัทประกันจึงหาทางเพิ่มรายได้
ด้วยการโฆษณาชวนประชาชนมาตรวจสุขภาพ ตรวจร่างกายประจำปี


เกิดเป็นกระแสนิยมและก่อให้รายได้มหาศาลมานานหลายสิบปี


จนกระทั่งมีคนตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจร่างกายประจำปีมีประโยชน์ จริงหรือ
ในที่สุดมีการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประโยชน์
ทั้งยังเกิดโทษแก่ผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพลักษณะดังกล่าว


ปัจจุบัน ในต่างประเทศจึง ไม่แนะนำให้ทำการตรวจร่างกายทุกปี
(yearly checkup) แต่ แนะนำให้ตรวจเป็นระยะ
ตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล (Periodic Health Exam)


ไม่มีการจัดชุดตรวจสุขภาพเป็นแพคเกจแบบเหมาโหลเหมือนบ้านเรา
มีแค่คำแนะนำ กว้าง ๆ ว่า สำหรับประเทศของเขา
คนวัยไหนเพศไหนมีอุบัติการณ์โรคอะไรมาก
และ เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศ
และถ้าหากตรวจพบก่อนจะรักษาอะไรได้


โรค บางโรคน่ากลัวก็จริง แต่ถึงหาก่อนก็ไม่พบ
และถึงหาพบก็หยุดยั้งมันไม่ได้ เขาจึงไม่แนะให้ตรวจทุกโรค
เพราะไม่มีเครื่องมือใดในโลกที่จะสแกน
เจอทุกสิ่งที่ธรรมชาติซ่อนมาอย่างแนบเนียน


ดังนั้นการตรวจร่างกายหรือตรวจสุขภาพประจำปีจึงไม่แนะนำ
เพราะ เป็นอันตราย แต่ควรตรวจเป็นระยะ
ตามความเสี่ยงการเกิดโรคของแต่ละคน
เหมือนตัดชุดเฉพาะตัว เพราะคนเรามีความแตกต่างทางปูมหลัง
ลักษณะการใช้ชีวิต อาชีพการงาน
และอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนกันสักคน
การตรวจสุขภาพจึงจัดชุดเหมาโหลให้ไม่ได้


การตรวจร่างกายก่อนการเข้าทำงาน

เป็นการตรวจประเมินสุขภาพก่อนทำงานเพื่อประโยชน์ของบริษัทจ้างงาน
และเพื่อประโยชน์ของผู้เข้าทำงาน
หากเกิดการเจ็บป่วยระหว่างการทำงาน และไม่เคยเป็นมาก่อนเข้างาน
ทั้งยังเป็นโรคที่น่าจะเกิดจากการทำงานชนิด นั้นๆ
บริษัทจะดูแลชดเชยค่าเสียหายทางสุขภาพให้


การตรวจลักษณะนี้ จึงจัดชุดแพคเกจได้ตามความเสี่ยงของลักษณะงาน
ที่อาจจะก่อให้เกิดโรคบางโรค หรือ หากเกิดโรคบางโรคในคนงาน
แล้วจะเกิดการแพร่ระบาดต่อผู้อื่นได้


การตรวจสุขภาพชนิดนี้
จึงไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อให้เจ้าของสุขภาพดูแลตนเองเป็น
แต่ เพื่อเทียบเคียงกับเมื่อป่วยแล้ว
จะได้เงินชดเชยให้ หรือให้เปลี่ยนชนิดงานที่เหมาะสมกว่า


การตรวจร่างกายก่อนการทำประกัน

การทำประกันเป็นการทำบนความซื่อสัตย์ระหว่างกัน
ผู้ซื้อประกันต้องเปิดเผยความจริงต่อบริษัทว่า
มีสุขภาพดีอยู่จริงขณะทำประกัน
เมื่อเวลาผ่านไป เกิดความเจ็บป่วย
บริษัทจึงชดเชยความเสี่ยงทางสุขภาพนั้นได้


ทางบริษัทประกันจึงมักเป็นผู้กำหนดรายละเอียด
รายการตรวจสุขภาพมาให้อย่างละเอียด
เพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าไม่มีโรคใดๆซ่อนอยู่
ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเงินประกันที่ซื้อ


จึงเห็นได้ว่ายิ่งมีโรคประจำตัวมาก ค่าประกันก็จะสูงตามไปด้วย


การตรวจลักษณะก็ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล
แต่เป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง


:b41: 2. เกณฑ์พิจารณาสุขภาพและความเสี่ยงแต่ละบุคคล
ว่าต้องตรวจสุขภาพแบบไหน เพิ่มเติมอะไร
และ เมื่อไรต้องตรวจแบบเฉพาะมีอะไรบ้าง



การตรวจสุขภาพหลายคนเข้าใจว่า เหมือนการซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ
แค่เดินเข้ามา เลือกแพ็คเกจ ที่อยากได้
จ่ายเงิน เจาะเลือด แล้วก็รอรับผลเลือด


นั่นเป็นความคิดที่ ผิด!


การตรวจสุขภาพ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว
ว่าคุณอายุเท่านี้ ต้องตรวจแพ็คเกจ A อายุเท่านี้ต้องตรวจแพ็คเกจ B


การตรวจสุขภาพ ที่ดี
คือการตัดเสื้อตามตัวคนใส่


แพทย์จะต้องพิจารณาความเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่เดินเข้ามาตรวจ
เริ่มจากการซักประวัติตั้งแต่ เพศ อายุ ความเสี่ยง
หรือโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ตลอดไปจนถึง ลักษณะการทำงาน
ลักษณะการดำรงชีวิต การออกกำลังกาย สารเสพย์ติด
เหล้า บุหรี่ ประวัติเพศสัมพันธ์


หลังจากการซักประวัติก็ต้องมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์
อย่างน้อยก็ควรจะได้รับการฟังปอด ฟังหัวใจ
คลำดูว่าตับม้ามโตหรือไม่ ในผู้หญิงก็จะมีการตรวจภายใน
โดยพิจารณาตาม ความเสี่ยงเป็นคนๆไป


เมื่อเสร็จจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย
แพทย์ จะใช้ข้อมูลทั้งหมดในการประเมินว่า
ท่านควรได้รับการตรวจเลือดหรือตรวจ
ทางห้องปฏิบัติการใดบ้างที่จำเป็นหรือเหมาะสม ตามความเสี่ยงรายบุคคล


เป็น สิทธิของผู้มารับบริการทุกคนที่จะได้สอบถาม
หรือรับรู้ว่าแพทย์ได้สั่งการตรวจใดไปบ้าง
การตรวจดังบางรายการมีความซับซ้อนสูง
หากไม่เข้าใจใน วิธีการตรวจ หรือความเสี่ยงระหว่างการตรวจ
ท่านมีสิทธิที่จะสอบถามแพทย์
เพื่อให้เข้าใจและช่วยในการตัดสินใจในการตรวจ


ผู้เขียนอยากให้ผู้มารับบริการเข้าใจว่า
การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เป็นหน้าที่ในการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้รับบริการ
ไม่ใช่การตัดสินใจโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก


หลังการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ท่านควรได้รับการแจ้งหรืออธิบายสิ่งที่ส่งตรวจไปแล้วว่า
มีความผิดปกติหรือปกติอย่างใด


แต่ไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น หากผลมีความผิดปกติ
ถึงขั้นต้องทำการตรวจเพิ่มวินิจฉัยเพิ่มเติม หรือตรวจรักษา
ทางโรงพยาบาล หรือสถานบริการที่ทำการตรวจ
ควรมีแพทย์ที่รับรักษาหรือดูแลท่านอย่างต่อเนื่อง


หากผลตรวจปกติ หรือผิดปกติเล็กน้อย
ท่านควรได้รับคำแนะ นำถึงวิธีการปฏิบัติตัวหรือป้องกันตัว
จากความเสี่ยงต่างๆในอนาคต และ ความถี่ที่เหมาะสม
สำหรับตัวท่านในการตรวจสุขภาพครั้งต่อไป


ดังนั้นก่อนที่จะไปตรวจแพ็คเกจตรวจสุขภาพที่ไหน
ควรจะสอบถามเจ้าหน้าที่ ก่อนเสมอว่าหลังได้รับผลตรวจแล้ว
จะมีแพทย์ให้คำแนะนำสำหรับท่าน
หรือ ดูแลรักษาท่านต่อหากมีความผิดปกติหรือไม่


:b41: 3. แพคเกจตรวจสุขภาพมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ?

ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น การตรวจสุขภาพไม่มีแพคเกจตายตัว


แพทย์จะต้องตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง เฉพาะตัวของท่าน
และ พิจารณาตามความเหมาะสมว่าสมควรตรวจบ่อยมากน้อยเพียงใด
หรือ ตรวจอะไรบ้าง


:b41: 4. ตรวจสุขภาพบ่อยๆ โดยไม่จำเป็นเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?


เหรียญยังมีสองด้าน ดังนั้นการตรวจสุขภาพก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เริ่มต้นตั้งแต่ท่านก้าวมาสู่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยปริมาณมากมารับบริการ
ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทางเดินหายใจ


หัตถการเล็กๆน้อยๆ เช่น การเจาะเลือดก็อาจจะมีความเสี่ยง
เช่น การฟกช้ำ การตรวจบางอย่างก็มีความ เสี่ยงสูง
ที่จะก่อให้เกิดอันตรายระหว่างการทำ
ไม่ว่าจะเป็น ลำไส้ทะลุ หัวใจหยุดเต้น หรือ การติดเชื้อต่างๆ


ที่พูดมาไม่อยากให้ผู้อ่าน รู้สึกตกใจกลัวจนไม่อยากมาตรวจสุขภาพ
เพราะไม่ว่าหัตถการในการตรวจใดๆ แพทย์
หรือเจ้าหน้าที่ก็พยายามจะให้เกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ น้อยที่สุดแล้ว
แต่ ทุกอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้


ดังนั้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ
แพทย์จึงจำเป็นต้องประเมิน ความเสี่ยงต่อโรคที่ท่านอาจจะเป็น
กับ ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการตรวจ ว่าสิ่งไหนมากกว่ากัน


นอกจากอุบัติเหตุระหว่างการตรวจ
ก็ยังมี สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมานาน
ว่าการตรวจรักษาโรคบางอย่างตั้งแต่เนิ่นๆ
ทำให้ลดอัตราตายได้จริงหรือ?


เพราะโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง
ชนิดที่มีความรุนแรงมากและแพร่กระจายได้เร็ว
รวมถึงการตอบสนองต่อการรักษาต่ำ
ต่อให้พบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็ไม่อาจจะชะลอการดำเนินโรค
หรือ ยืดอายุของผู้ป่วยได้


ยิ่งทราบเร็ว เท่าไร ก็ทำให้ผู้ป่วย ต้องใช้เวลาที่ “จม” อยู่กับ “โรค”
และ “การรักษา” นานขึ้น ทั้งๆที่ อาจจะใช้ชีวิตได้ยาว
ไม่ต่างกับ ผู้ที่มาพบว่าตัวเองเป็น โรค “ระยะสุดท้าย”
ที่ใช้ชีวิตอยู่กับ “โรค” เพียงไม่กี่เดือนก่อนเสียชีวิต


:b41: 5. วิธีการเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพที่เหมาะสมมีอะไรบ้าง

เมื่อแพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกายท่านโดยละเอียดแล้ว
ก็จะแจ้งว่า ท่านควรต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการใดบ้าง
เพื่อเป็นการคัดกรองหาโรคตามความเสี่ยง


โดยทั่วไปการตรวจที่พบได้บ่อย
คือ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และเอ็กซเรย์


ส่วนการตรวจที่จำเพาะมากกว่านั้น เช่น การสวนแป้ง ส่องกล้อง
หรือ วิ่งสายพาน จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้
ซึ่งหากแพทย์ได้ แจ้งว่าท่านมีความเสี่ยงสูง
และจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะดังกล่าว
ควรสอบถามถึงข้อดี ข้อเสีย
และความเสี่ยงของการตรวจแต่ละรายการด้วยตัวท่านเอง


การตรวจเลือด

โดยส่วนมากจะเป็นการตรวจเพื่อหา เบาหวาน ไขมันในเลือด
และความเข้มข้นเลือด สำหรับรายละเอียดรายการการส่งตรวจ
อาจมีมากหรือน้อย กว่านี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงรายบุคคล


โดยทั่วไปแล้วการตรวจเลือดไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร
ยกเว้น การตรวจเบาหวานและไขมันในเลือด
ที่จำเป็นต้องงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชม.


หลายคนสงสัยว่า จำเป็นต้องงดน้ำหรือไม่?


ความจริงแล้ว “น้ำ” ไม่จำเป็นต้องงด
เพียงแต่เพื่อป้องกันความสับสน เพราะ “กาแฟ” “ชา” “โอวันติน”
ที่หลายคนนิยมบริโภคเป็นอาหารเช้า
มีส่วนประกอบของน้ำตาล หรือไขมัน
ทำให้ผลที่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง
และผู้รับบริการมักจะลืมนึกไป
จึงทำให้กลายเป็นประโยคติดปากว่า “งดน้ำ งดอาหารก่อนมาตรวจ”


การตรวจปัสสาวะ

ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานใดๆที่สนับสนุนการตรวจปัสสาวะ
เพื่อ “คัดกรอง” หาความเสี่ยงในประชากรปกติทั่วไป


คำถามคือแล้วทำไมประเทศไทย
ถึงยังนิยมให้การตรวจปัสสาวะเป็นหนึ่ง ในรายการการตรวจสุขภาพ?


คำตอบก็คือ ในสมัยก่อน กระทรวงการคลัง
ได้กำหนดรายการการตรวจสุขภาพที่สามารถเบิกได้
ได้แก่ การตรวจความเข้มข้นของเลือด การตรวจปัสสาวะ
และการตรวจเอ็กซเรย์ปอด เลยกลาย
เป็นว่า เบิกได้แค่ไหน ตรวจให้หมดที่เบิกได้ ไปแทน!


ซึ่งแท้จริงแล้ว ยังไม่มีงานวิจัยไหน
ที่สนับสนุนการตรวจ “ปัสสาวะ”
เพื่อคัดกรองหาความเสี่ยงในประชากรปกติทั่วไป


แต่ถ้าไหนๆแล้วพูดถึง การตรวจปัสสาวะแล้ว
ก็จะขอกล่าวถึงวิธีการเก็บปัสสาวะส่งตรวจที่ถูกต้อง
เผื่อว่าผู้อ่านมีความจำเป็นต้องเก็บปัสสาวะส่งตรวจ
จะได้ไม่ต้องเก็บซ้ำๆ เพราะว่าผลที่ได้ผิดพลาดหรือตีความไม่ได้


การเก็บปัสสาวะหากต้องการ จะตรวจว่าตั้งครรภ์ หรือไม่


ควรเก็บปัสสาวะตอนเช้าครั้งแรกหลังจากตื่นนอน เพราะจะได้ผลแม่นยำที่สุด


หากต้องการตรวจปัสสาวะธรรมดาว่าติดเชื้อ หรือไม่


วิธีการเก็บ ถ้าเป็นผู้หญิงควรล้างชำระก่อน
หลังจากนั้น ซับให้แห้ง
ก่อนที่จะเริ่มปัสสาวะไปเล็กน้อย แล้วเก็บปัสสาวะส่วนกลาง
หลังจากปัสสาวะไปได้เล็กน้อย ไม่ต้องรอให้ปัสสาวะจนหมด
เพียงแค่ 5-10 cc ก็เพียงพอแล้วสำหรับการตรวจปัสสาวะทั่วไป


ส่วนผู้ชายควรรูดหนัง หุ้มปลายขึ้นไปก่อนปัสสาวะ
เพื่อลดการปนเปื้อนของเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ


ปัสสาวะอาจมีสีผิดปกติไปได้
หากท่านรับประทานอาหารหรือผักผลไม้ที่มีสี
เช่น หัวบีทรูท แก้วมังกรสีม่วง
ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารผักผลไม้ที่มีสีจัดดังกล่าว
ก่อนการมาตรวจปัสสาวะ


การตรวจเอ็กซเรย์ปอด

การตรวจเอ็กซเรย์ปอด สำหรับประเทศไทยในประชากรปกติเ
ป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรควัณโรค
ไม่ใช่ โรคมะเร็งปอด อย่างที่หลายคนเข้าใจ


การตรวจเอ็กซเรย์ปอด เพื่อหามะเร็งปอด
จะทำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด
เช่น ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่ทำงานเกี่ยวกับใยหินต่างๆเป็นต้น
ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน
ในการตรวจคัดกรอง มะเร็งปอด ในประชากรปกติทั่วไป


สำหรับ ผู้ที่แพทย์แนะนำให้ตรวจเอ็กซเรย์ปอด
ควรจะถอดเครื่องประดับต่างๆโดยเฉพาะสร้อยคอ ไว้ที่บ้าน
เพราะเครื่องประดับเหล่านั้นจะทำให้ตีผลได้ผิดพลาด


ก่อนการตรวจเอ็กซเรย์ท่านจะต้อง เปลี่ยนเสื้อที่ทางรพ.จัดไว้ให้
โดยจำเป็นต้องถอดเสื้อใน หรือเสื้อกล้าม เสื้อเชิร์ตออกให้หมด
เคยมีผู้ป่วยรายหนึ่งรพ.ต้องตาม ตัวกันให้วุ่น
เพราะเอกซเรย์พบจุดขนาดใหญ่ในปอด
ปรากฏว่า ผู้ป่วยลืมเอาเหรียญติดตัวที่กลัดไว้ตรงเสื้อกล้ามออก


ระหว่างที่จะ ถ่ายเอ็กซเรย์ เจ้าหน้าที่จะให้ท่านหายใจลึกๆ
แล้วกลั้นหายใจค้างไว้ก่อนถ่ายรูป
เพราะ ณ จุดนั้น จะเป็นภาพที่ทำให้
มองเห็นส่วนประกอบต่างๆในปอดได้ชัดเจนที่สุด


ก็มีเท่านี้แหละคะที่อยากเขียน


ไม่ได้คัดค้านการตรวจสุขภาพ
แต่อยากให้ทุกคน "เข้าใจ" กับการตรวจสุขภาพมากกว่า


ดังนั้นสมการ "การดูแลสุขภาพ" จึงไม่ใช่ = "การตรวจสุขภาพ"


แต่เป็นการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ+ ออกกำลังกาย
+ ขับขี่อย่างปลอดภัย + รู้จักสุขภาพของตัวเองต่างหาก!



สำหรับผู้ที่ต้องการ comment ขอความเห็นใจช่วยอ่านให้ครบทั้ง 9 คห.
ที่ข้าพเจ้าได้พิมพ์ด้วย ยินดีน้อมรับทุกความคิดเห็น


ขอบคุณคะ

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตัวเล็กๆคนหนึ่ง

จาก คุณ : CMV



โดยส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตรวจหา marker มะเร็งคะ
เพราะปกติแล้ว marker เหล่านี้ ไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อ "คัดกรอง"
แต่เพื่อ "ช่วยยืนยัน" ต่างหาก


มีหลายตัว ที่ อาจขึ้นได้ในคนปกติ และ ก็ไม่ขึ้นก็ได้ในคนที่ผิดปกติ
ดังนั้นการตรวจหา marker จึงต้องใช้ควบคู่กับการซักประวัติแ
ละการตรวจร่างกายโดยแพทย์คะ


ขอ ยกตัวอย่าง case แล้วกันนะคะ


มีผู้หญิงคนหนึ่งมาตรวจสุขภาพ โดยขอตรวจ CEA ซึ่งเป็น marker
ในการช่วยวินิจฉัยและดูการดำเนินโรคของมะเร็งลำไส้
โดยเธอไม่ได้มีความเสี่ยง ประวัติ หรือ อาการแม้แต่น้อย


ปรากฏว่าผล ผิดปกติ ค่า CEA ของเธอสูงกว่าปกติ
เธอก็ตกใจ แพทย์ก็ตกใจ โดนจับไปส่องกล้อง ทางทวาร
(คงไม่ต้องอธิบายว่า ยาถ่ายที่ต้องกินก่อนส่องมันแย่แค่ไหน)
ปรากฏ ตรวจไปก็ไม่เจอ....


เป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร??
ก็เลยโดนส่องบ่อยๆ งั้นหรือ??
แล้วทราบหรือไม่ว่า การส่องกล้อง
หรือ colonoscope มันมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด ลำไส้แตกหรือทะลุได้?


...ปัจจุบัน เป็นเวลาประมาณ 10 ปี แล้ว
ผู้หญิงท่านนั้น ยังไม่มีอาการอะไร
และการส่องกล้องก็ยังไม่พบมะเร็งใดๆ
แต่เธอ ประสาทกินไปแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะมีมะเร็งเมื่อไหร่??!!


ขอยืนยัน อีกครั้งว่า Tumor Marker
(พวกค่า มะเร็งต่างๆ CEA,CA19-9,alpha fetoprotien)
ไม่ได้ใช้ในการ "คัดกรอง (screening)" โรคในคนปกติ


แต่ ใช้ในการ "ช่วยวินิจฉัยโรค (diagnosis)" ในคนที่มีภาวะเสี่ยง
หรือมีอาการที่คล้ายมะเร็ง
ประกอบกับการ ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์


จาก คุณ : CMV


เรื่อง tumor marker นี่เซ็งมากๆ

โดยเฉพาะคนที่ รู้แบบครึ่งๆกลางๆ
มาเจอคนที่รู้ครึ่งๆกลางๆเเหมือนกัน
พูดง่ายๆ บุคลากรทางการแพทย์นั่นแหละค่ะ
ส่วนมากเลยเป็นคนไปขอให้หมอเจาะให้
เพราะไปเสพข้อมูลมามากเกิน บางทีหมอก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไป
แต่คนกันเองมาขอก็เจอให้ไปเถอะ


พอเสร็จแล้วมาให้เราแปลผล พากันงงกันไป


บางคนไม่มี indication ในการเจาะเลย
หมออื่นๆ มาสั่ง marker ของสูติ ของศัลย์ เนี่ยค่ะ
เช่น CA-125, CEA พอค่ามันขึ้นก็ พากันแตกตื่นไปอีก
บางคนอธิบายไปแล้ว ยังไม่หายกลุ้มเลยค่ะ


เป็นเรื่องน่าเบื่อประจำปีเลย สำหรับ tumor marker


เพิ่มเติมในมุมของตัวเอง


CA-125 สำหรับมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก


-ใช้ติดตามหลังการรักษาคือ คุณเป็นมะเร็งแล้ว,รักษาแล้ว
ใช้ติดตามดูว่าเซลล์มะเร็งลดลงดีหรือเปล่า และกลับมาหรือเปล่า


-ใช้เพื่อบอกแนวโน้มการเป็นมะเร็ง กรณีที่คุณตรวจพบแล้วว่ามีก้อนที่รังไข่


-ไม่ใช้สำหรับการคัดกรองในคนที่ ไม่มีอาการและตรวจร่างกายปกติ


-มีความพยายามตลอดมาที่จะใช้ CA-125 เพื่อคัดกรอง
แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีงานวิจัยที่บอกว่า
มีความน่าเชื่อถือในการใช้ CA125 เพื่อการนี้


CEA (อันนี้ต้องรอหมอศัลย์มาตรวจคำตอบ นี่เป็นความรู้สมัยเป็นนักศึกษา)


-ใช้เพื่อตรวจติดตามหลังการรักษาเช่นกัน


-ไม่ใช้เพื่อตรวจคัดกรอง ถ้าคุณ เป็นมะเร็งลำไส้จนค่า CEA ขึ้นแล้ว
แสดงว่ามะเร็งมันหยั่งรากลึกไปแล้ว


-คือมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เหมือน กะหล่ำน่ะ
ถ้าคุณส่องกล้องในลำไส้ ก็จะเห็นด้านที่เป็นตัวดอกกะหล่ำ
ที่มันงอกงามอยู่ แต่ถ้าเจาะ CEA ก็คือพยายามหารากมัน
ซึ่งบางทีรากมันตื้นๆ แต่ดอกมันใหญ่ไปแล้ว


- การคัดกรองโรคอะไรก็ตาม วัตถุประสงค์เพื่อพบโรคในระยะเริ่มต้น


-วิธีคัดกรองมะเร็งในลำไส้คือ ตรวจหาเลือดในอุจจาระ
และส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในคนที่มีความเสี่ยง


จาก คุณ : ฟ้าหมาดฝน




หลังจากนั้น ก็มีการถามตอบข้อสงสัย
.. ผมเลือกบางข้อความที่น่าสนในเอามาลงไว้
เพื่อความต่อเนื่อง แต่ถ้าอยากอ่านเต็ม ๆ
ก็แวะไปอ่านกระทู้ในห้องสวนลุม นะครับ ..



แถม ..


ตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นหรือไม่

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id ... 4&gblog=45

แนวทางการตรวจสุขภาพของประชาชน

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id ... 4&gblog=52


ที่มา... http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&group=4

ภาพประกอบจาก... http://www.fotosearch.com/bthumb/UNM/UN ... 316954.jpg

:b48: :b8: :b48:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร