วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 06:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ม.ค. 2010, 16:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดูแลคนป่วยอย่างไรไม่ให้ป่วยตาม (โดยเสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ)

เมื่อทราบว่าพ่อป่วยเป็นอัมพาต แก้วทิ้งภารกิจการงานทุกอย่างมาดูแลพ่อเต็มเวลา นอกจากการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว เธอยังพาพ่อไปรักษาทุกแนวทางเท่าที่จะทำได้

แก้วทุ่มเทเวลาดูแลพ่อเกือบยี่สิบชั่วโมงทุกวัน เธอซึมซับความทุกข์ของพ่อไปด้วย จึงพลอยรู้สึกสับสน เศร้า กลัว เป็นห่วง กังวล และยังคาดหวังกับตัวเองว่าต้องดูแลพ่อให้ได้ดีที่สุดอีกด้วย

แม้แก้วจะทุกข์ใจ เหนื่อย และเครียดแค่ไหน แต่ก็บอกใครไม่ได้ เพราะกลัวว่าพ่อจะกังวลเพิ่มขึ้นกลัวว่าแม่จะไม่สบายใจ จึงแบกความทุกข์นี้ไว้เพียงลำพัง จนวันหนึ่งความเครียดที่สะสมไว้ก็ระเบิดออกมาทำให้แก้วหายใจไม่ออก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ รู้สึกคลื่นไส้จะอาเจียน และร้องไห้ออกมาในที่สุด

จากตัวอย่างของแก้ว ทำให้เราทราบว่าการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง มักจะทำให้ญาติพี่น้องและผู้ดูแลเครียดและเจ็บป่วยตามไปด้วย บางรายถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลตามไปก็มี

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่ผู้ดูแลควรระลึกไว้เสมอคือ การจะดูแลผู้อื่นได้นั้น เราเองต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีก่อน โดยเริ่มจากการเรียนรู้ว่าในช่วงที่ต้องดูแลผู้ป่วย เราอาจมีภาวะอารมณ์ความรู้สึกดังต่อไปนี้

ความรู้สึกผิด เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ เป็นความรู้สึกที่พบได้บ่อย เพราะการดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาอาจทำให้ผู้ดูแลเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ จนถึงขั้นรำคาญใจ และแสดงความรู้สึกออกมาด้วยคำพูดหรือกิริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสม เมื่อเวลาผ่านไปและคิดได้ ก็จะรู้สึกผิดและเสียใจกับสิ่งที่ตนเองแสดงออกมา ทำให้โทษตัวเองอยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้นบางครั้งอาจรู้สึกเหนื่อยกับการดูแลจนเกิดความคิดว่าอยากจะพาผู้ป่วยไปอยู่สถานฟื้นฟู ความคิดแบบนี้จะทำให้ผู้ดูแลรู้สึกผิดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นผู้มีพระคุณ

วิธีแก้ไข ฝึกคิดก่อนพูด และพยายามหาความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคเพื่อที่จะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ป่วยมากขึ้น การได้ระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิดก็จะช่วยลดความรู้สึกกดดันและความรู้สึกผิดลงได้

ความโกรธ และความหงุดหงิดเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ โดยอาจจะมีเหตุมาจากตัวเอง ผู้ป่วย แพทย์ หรือโรงพยาบาล

วิธีแก้ไข ผู้ดูแลต้องรู้จักแยกแยะสาเหตุของความโกรธว่ามาจากอะไร และหาทางจัดการที่สาเหตุนั้นๆ แทนที่จะไปลงกับผู้ป่วย

ความรู้สึกโดดเดี่ยว การที่ต้องดูแลผู้ป่วยตลอด ๒๔ ชั่วโมง อาจทำให้ผู้ดูแลไม่มีเวลาส่วนตัว เพราะต้องแยกตัวออกมาจากสังคม ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนฝูง

วิธีแก้ไข หาเวลาพักผ่อนส่วนตัว เช่น ไปพบปะเพื่อนฝูงเพื่อพูดคุย หรือเดินเล่นให้สบายใจบ้างนอกจากนั้นผู้ดูแลควรพยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อคงความรู้สึกดีๆไว้ เมื่อหมดหน้าที่แล้ว จะได้ยังมีสังคมอยู่เหมือนเดิม

วิธีผ่อนคลายความเครียดสำหรับผู้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย

• นวดเพื่อผ่อนคลาย ช่วยกระตุ้นระบบการหมุนเวียนโลหิต และช่วยลดความดันโลหิต ทำให้หลับสนิท หายใจโล่ง และช่วยลดความเครียดได้

• เลือกกินอาหารคลายเครียด ภาวะเครียดจะทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ท้องผูก และท้องอืด ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีและบีคอมเพล็กซ์ ซึ่งพบมากในผัก ผลไม้ธัญพืช ถั่ว เนื้อปลา เนื้อไก่ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว พริก บรอกโคลี่ นมถั่วเหลือง ไข่ เป็นต้น

• ทำสมาธิคลายเครียด จะทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้มาก

• ฝึกโยคะ เป็นทั้งการออกกำลังกายและเป็นเทคนิคการผ่อนคลายที่ดี ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น และส่งผลถึงภาวะจิตใจด้วย

• นอนหลับ เป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดที่ง่ายและดีที่สุด เพราะทุกส่วนของร่างกายจะทำงานลดลง จึงเป็นวิธีลดความเครียดไปด้วย

• พบปะเพื่อนฝูงอยู่เสมอ เพื่อพูดคุยผ่อนคลายความเครียด ระบายอารมณ์ และแลกเปลี่ยนความรู้

• เข้ากลุ่มช่วยเหลือที่โรงพยาบาลจัด เป็นโอกาสดีที่จะได้พบปะทำความรู้จักกับผู้ดูแลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เทคนิคการดูแล อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเครียดได้ด้วย

การมีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง ถือเป็นการทำความดีและทำบุญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการดูแลผู้มีพระคุณพ่อแม่ของเรา หากเอาใจใส่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่เครียด ไม่รำคาญ ก็เท่ากับได้สร้างกุศลอันใหญ่หลวงให้ตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใช้ช่วงเวลานี้ในการฝึกดูจิตตัวเองไปด้วยก็จะเป็นการดีมากยิ่งขึ้น

แต่สิ่งสำคัญอย่าลืมว่า เราจะดูแลคนอื่นได้ดี ก็ต่อเมื่อดูแลตนเองให้เข้มแข็งทั้งกายและใจก่อน



Dos&Don'ts สำหรับผู้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย

ไม่ควรรับภาระในการดูแลผู้ป่วยอยู่คนเดียว แต่ควรปล่อยวางและยอมรับว่ายังมีคนอื่นที่จะช่วยดูแลแทนได้

ปรึกษากันในหมู่ญาติพี่น้องเพื่อช่วยกันแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วย เพราะการดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นงานที่ค่อนข้างหนักและต้องใช้ความอดทนอดกลั้นสูง

ไม่ควรละเลยหรือรู้สึกผิดในการพูดถึงความต้องการของตนเอง เช่น ความต้องการหยุดพัก ต้องการมีเวลาส่วนตัว

หมั่นรายงานความเป็นไปของอาการ รวมทั้งปรึกษาและระบายปัญหาให้ญาติพี่น้องทุกคนรับรู้เสมอ เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและมีความเข้าใจอันดีต่อกัน

ไม่ควรเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดจากการดูแลผู้ป่วยไว้แต่เพียงผู้เดียว

ขอให้ญาติพี่น้องช่วยรับฟังและแบ่งเบาภาระทางใจของเราอย่างละมุนละม่อม เพื่อช่วยลดภาวะความกดดันที่อาจเกิดขึ้นจากการดูแลผู้ป่วย

ไม่ควรสละเวลาทั้งหมดของชีวิตให้การดูแลผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว โดยแยกตัวออกจากสังคมเดิมของตนเองอย่างสิ้นเชิง

แบ่งเวลาให้ตัวเอง เพื่อพักผ่อน ทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ไปช็อปปิ้ง ดูหนัง หรือใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะจำเจที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด

ไม่ควรทุ่มเทให้การดูแลผู้ป่วย แต่ไม่ใส่ใจสุขภาพร่างกายของตนเอง จนร่างกายเหนื่อยล้า หรือแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา

วางแผนการหยุดพักล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน และแจ้งใช้สมาชิกทุกคนในครอบครัวรับรู้ เพื่อหาผู้ดูแลแทน

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร