วันเวลาปัจจุบัน 20 พ.ค. 2025, 05:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ต.ค. 2010, 10:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


6 วิกฤตสุขภาพจากเทคโนโลยี

รู้หรือไม่ เทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์
เครื่องปรับอากาศ เกม สื่อออนไลน์ และเทคโนโลยีอื่นๆ
เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยอย่างไม่น่าเชื่อ

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเราค่อนข้างมาก
แม้ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิตดียิ่งขึ้น
หากแต่การใช้เทคโนโลยีเกินความจำเป็น
และเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้
กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยนานัปการ


:b5: 1. หูดับเพราะโทร.นาน
เชื่อหรือไม่ว่าการใช้โทรศัพท์พูดคุยกันตลอดเวลานั้น
สามารถทำร้ายหูของเราได้ ดังกรณีของคนที่เคย
ใช้โทรศัพท์มือถือนานกว่า 3,000 นาที (ประมาณ 50 ชั่วโมง)
ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนอาจส่งผลให้หูสูญเสียการได้ยินชั่วคราว
หรือเรียกว่าอาการหูดับ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะก็จะกลับมาได้ยินเป็นปกติ
แต่อาจจะไม่ชัดเจนเท่าเดิม และอาจมีโอกาสเกิดอาการหูดับได้อีก
นอกจากนี้เครื่องเล่นเพลงชนิดพกพาและโทรศัพท์มือถือ
ยังก่อให้เกิดโรคหูดับได้เช่นกัน เนื่องจากเสียง ความร้อน
และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าล้วนเป็นตัวการทำร้ายระบบการได้ยิน
ซึ่งทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้


:b14: หูดับและหนวก
การใช้โทรศัพท์เป็นเวลานาน
ทำให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์ เข้าไปรบกวน
ระบบการทำงานของคลื่นไฟฟ้าและอิเล็กทรอไลต์ในหู
รวมทั้งทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในหูสั่นสะเทือน
ส่งผลให้เกิดความร้อนภายในหู จนสามารถทำลายเซลล์ประสาทหูได้
ความดังที่เหมาะสมต่อสุขภาพหูคือ ไม่ควรเกิน 70 เดซิเบล
แต่ในการใช้หูฟัง คนส่วนใหญ่จะต้องเปิดเสียง
ให้ดังกว่าเสียงแวดล้อมประมาณ 10 เดซิเบลขึ้นไปจึงจะได้ยินชัดเจน
ฉะนั้น การอยู่ในที่ที่เสียงแวดล้อมมีความดังมาก
เช่น บนเครื่องบิน ในรถโดยสาร
บริเวณสถานีรถไฟฟ้า (ประมาณ 95 เดซิเบล) ฯลฯ
จึงยิ่งต้องเปิดเสียงให้ดังมากกว่าปกติ
คลื่นเสียงที่ดังมากจึงเข้าไปทำปฏิกิริยากับแก้วหู
และทำลายเซลล์ประสาทหู
สาเหตุทั้งสองประการทำให้ ระบบการแยกเสียงในเบื้องต้นเสียก่อน
จะเริ่มสูญเสียการได้ยินทีละน้อย
ซึ่งทำให้เกิดอาการหูดับชั่วคราวหรือร้ายแรงจนถึงขั้นหูหนวก


:b14: ปวดศีรษะ
การใช้งานโทรศัพท์เป็นเวลานาน ทำให้แบตเตอรี่เกิดความร้อน
ส่งผลให้หูและศีรษะสัมผัสความร้อนโดยตรง
แม้จะยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบจากความร้อนที่ชัดเจน
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาหูร้อนสะสม
จนลามเป็นอาการปวดศีรษะ ผิวหนังอักเสบ
การใช้หูฟังชนิดครอบทำให้ที่ครอบกดใบหู
แนบกับเนื้อบริเวณด้านหลังใบหู นอกจากทำให้เจ็บกระดูกหูแล้ว
หากใช้เป็นเวลานานจนเกิดความร้อน
จะทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวอักเสบ
และติดเชื้อลุกลามจนสามารถทำให้หูอักเสบได้


:b1: วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

1. ควรฟังเพลงจากลำโพงแทนการใช้หูฟัง

2. หลีกเลี่ยงการฟังเพลงโดยใช้หูฟังในที่ที่มีเสียงแวดล้อมดัง

3. หากใช้หูฟัง ควรเปิดระดับเสียงประมาณครึ่งหนึ่ง
ของเสียงที่เครื่องมีอยู่โดยใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ

4. หลีกเลี่ยงการฟังเพลงขณะนอนหลับ
โดยเฉพาะเพลงที่มีจังหวะเร็วหรือหนัก
เพราะทำให้อวัยวะในหูสั่นสะเทือนและสมองตื่นตัวตลอดเวลา


:b5: 2. ตาเสื่อมก่อนวัยจากโทรทัศน์

โดยทั่วไปแล้วประสิทธิภาพการมองเห็นของคนเรา
จะเสื่อมถอยไปตามอายุ แต่เมื่อไรที่ใช้สายตามากเกิน
ก็อาจทำให้สายตาเสื่อมตั้งแต่ยังเด็ก
ตาเสื่อมก่อนวัย การดูโทรทัศน์ที่มีภาพเคลื่อนไหว มีแสงจ้ามาก
และการดูในที่มืดทำให้สายตาต้องคอยปรับโฟกัส
ปรับความมืดและสว่างสลับไปมา
และยังทำให้ม่านตาต้องทำงานตลอดเวลา
ส่งผลให้ปวดตาง่ายกว่าปกติ
และทำให้ส่วนต่างๆ ในดวงตาเสื่อมก่อนเวลาอันควร
ไม่ว่าจะเป็นวุ้นในลูกตาหรือจอประสาทตา
ปัญหาดังกล่าวทำให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลง
และยังเสี่ยงตาบอดในที่สุด


:b14: ถูกสะกดจิตและเป็นคนขาดความอดทน
ในเชิงจิตวิทยาการที่รายการโทรทัศน์ยุคปัจจุบัน มักนำ
เสนอข่าวสารและโฆษณาผ่านแถบวิ่งด้านล่างของหน้าจอ
จะทำให้ผู้ชมได้รับข้อความดังกล่าวซ้ำๆ
ซึ่งสามารถสะกดให้ผู้ชมจดจำสิ่งที่นำเสนอ
ติดอยู่ในความคิดและความทรงจำ
หากเป็นเนื้อหาในด้านลบอาจส่งผลต่อจิตใจ
พฤติกรรม และสุขภาพ


:b14: ส่วนการใช้รีโมตเพื่อปรับเปลี่ยนช่องให้รวดเร็วทันใจ
เป็นการกระตุ้นให้สมองเปลี่ยนความคิดอย่าง
รวดเร็วอยู่ตลอดเวลา
จึงมีแนวโน้มทำให้เป็นคนมีนิสัยเบื่อง่าย เปลี่ยนใจง่าย
และขาดความอดทน


:b1: วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ
1. ควรดูโทรทัศน์ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
2. ไม่ควรดูรายการที่มีภาพเคลื่อนไหวมากเป็นเวลานาน
เพราะทำให้ต้องใช้สายตามากกว่าปกติ
3. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์บ่อยเกินไป
4. ควรเปิดรับสารจากสื่ออื่นนอกจากโทรทัศน์บ้าง


:b5:3. จากภูมิแพ้สู่ไซนัสเพราะห้องปรับอากาศ
แม้เครื่องปรับอากาศทั้งในอาคารและยานพาหนะ
จะให้ความเย็นสบายและช่วยฟอกอากาศ
แต่หากไม่ได้ทำความสะอาด ก็กลับเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี
ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ คนบางกลุ่มไวต่อสารก่อโรคประเภทละออง
เชื้อรา และฝุ่นที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศ
หากร่างกายได้รับเชื้อโรคและฝุ่นละออง จะทำให้มีอาการภูมิแพ้
้ซึ่งแบ่งออกเป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก)
ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม
และภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบน - ส่วนล่าง (ปอด)
ก่อให้เกิดโรคหืดไซนัสอักเสบ
ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบน
มีโอกาสพัฒนาเป็นไซนัสอักเสบง่ายมาก
เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกบวมง่ายกว่าคนทั่วไป
ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงจมูก และตามจุดไซนัส
เช่น หว่างคิ้ว แก้ม จึงมีอาการคัดจมูก น้ำมูกเขียว มีกลิ่นปาก
ปวดศีรษะและปวดจุดไซนัส นอกจากนี้การติดเชื้อ
ยังสามารถลุกลามเข้าสู่กระบอกตาจนทำให้ตาบอด
หรือหากเข้าสู่สมองอาจทำให้เสียชีวิตได้


:b1: วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

1. ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
และพรมโดยไม่มีการระบายอากาศ


:b5:4. เล่นเกมสนุกจนกล้ามเนื้ออักเสบ
เกมบังคับและโทรศัพท์มือถือ
ชนิดมีแป้นพิมพ์ขนาดเล็กกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่
แม้จะสร้างความสนุกสนานแก่ผู้ใช้ แต่ก็สามารถทำร้ายสุขภาพได้ดังนี้
เอ็นข้อมืออักเสบ หรือเดอเกอร์แวงดีซีส (De Quervain's Disease)
เกิดจากการใช้นิ้วหัวแม่มือมากเกินไป
เช่น การกดปุ่มเกมซ้ำๆ การส่งข้อความพูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือ
บางครั้ง จึงเรียกว่า อาการแบล็กเบอร์รี่ทัมป์ หรือนินเทนโดทัมป์
ซึ่งจะทำให้เอ็นกล้ามเนื้อของนิ้วหัวแม่มือเคลื่อนไหวเกินความจำเป็น
จนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณฐานหัวแม่มือและลามถึงข้อศอก
นิ้วมืองอติด (Trigger Finger)
อาจลุกลามมาจากอาการเอ็นข้อมืออักเสบ
ซึ่งเกิดจากช่องเอ็นกล้ามเนื้อของนิ้วเกิดหนาตัว
จนรัดเอ็นโดยเฉพาะนิ้วที่ใช้งานมาก
เช่น นิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลางและนิ้วนาง
นิ้วจึงเคลื่อนไหวไม่สะดวก และติดอยู่ในท่างออาการนี้มักเป็นในตอนเช้า
ทำให้มีอาการปวดข้อ และเหยียดนิ้วลำบากหรือไม่ได้เลย


:b14: ติดเกมออนไลน์เพิ่มภาวะซึมเศร้า
เกมออนไลน์เป็นชุมชนเสมือนจริง
ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของวัยรุ่น
จากการสำรวจการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชนอายุระหว่าง 10 - 24 ปี
ของเอแบคโพลล์ปี พ.ศ. 2550
พบว่ามีเยาวชนเพียง 6.5เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่เคยเล่นเกมออนไลน์
แพทย์หญิงณัฏฐิณี ชินะจิตพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
กล่าวว่า โลกออนไลน์เป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นความสนุก ความเพลิดเพลิน
การได้ติดต่อเชื่อมโยงกับผู้คนการได้รับการยอมรับ
และการได้รับการสนับสนุนทางความคิดซึ่งการอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไป
อาจเกิดผลเสียดังต่อไปนี้
ติดเกมออนไลน์ คนที่ติดเกมออนไลน์จะมีอาการคล้ายคนติดยาเสพติด
คือต้องการเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด
จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม
หากถูกห้ามเล่นจะหงุดหงิดจนถึงขั้นก้าวร้าว
เกมออนไลน์จะใช้ระบบการให้รางวัล
ทำให้ผู้เล่นเกมรู้สึกว่าตัวเองได้รับรางวัลและชัยชนะอยู่เรื่อยๆ
โดยจะให้รางวัลเล็กๆ อยู่ตลอดเวลา
พอคนกำลังเบื่อก็จะให้รางวัลใหญ่ๆ เพื่อจูงใจให้เล่นต่อเนื่องไปไม่รู้จบ
ภาวะซึมเศร้า เมื่อติดเกมออนไลน์มากขึ้น
อาจจะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าได้
โดยจะติดอยู่ในโลกเสมือนจริงมากเกินไป
ทำให้ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การศึกษา
ปลีกตัวออกจากสังคม ทำให้การใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงล้มเหลว
และตกอยู่ในความโศกเศร้า
เฝ้าโทษเคราะห์กรรมของตัวเองโดยไม่ได้คำนึงถึงสาเหตุที่แท้จริง


:b1: วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

1. ลดจำนวนชั่วโมงการเล่นเกมลง หรือเลิกอย่างเด็ดขาด

2. ชวนเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

3. หากมีอาการของโรคซึมเศร้าร่วมด้วย
ควรพบจิตแพทย์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและรับการรักษา

4. สมองถดถอยเพราะใช้เทคโนโลยี


นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีใช้งานง่ายอื่นๆ อีก เช่น เครื่องคิดเลข
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสมองได้


:b14: ภาวะสมองเสื่อม
ในเชิงจิตวิทยามนุษย์มีความฉลาดหลายด้านเรียกว่าพหุปัญญา
(Multiple Intelligence) ได้แก่ ความฉลาดทางภาษา
ตรรกศาสตร์ มิติสัมพันธ์ ร่างกายและการเคลื่อนไหว
ดนตรี มนุษยสัมพันธ์ การเข้าใจตนเอง และธรรมชาติวิทยา
แต่ความสะดวกสบายจากการใช้เทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย
ทำให้คนเราคิดและลงมือทำด้วยตัวเองน้อยลง
ทำให้สมองที่ควรจะพัฒนาความฉลาดได้หลากหลายด้าน
กลับพัฒนาได้เพียงไม่กี่ด้าน
จนอาจส่งผลให้ความสามารถของสมองถดถอยตลอดจนสมองเสื่อมก่อนวัย


:b1: เคล็ดลับป้องกันสมองเสื่อม

ลดการใช้เทคโนโลยีลง และหันมาพึ่งพาสมองและแรงกายมากขึ้น
เพื่อพัฒนาความฉลาด เช่น

* ฝึกร่างกายและการเคลื่อนไหว โดยใช้การเขียนแทนการพิมพ์
เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

* ฝึกความฉลาดทางภาษา ด้วยการจดจำคำศัพท์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

* การจดบันทึกสิ่งต่างๆ ลงในสมุดแทนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (พีดีเอ)

* การคิดเลขในใจแทนการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป


:b5: 6. คอมพิวเตอร์

นอกจากคอมพิวเตอร์จะเพิ่มโอกาส
ให้เกิดอาการตาเสื่อมก่อนวัยได้เช่นเดียวกับโทรทัศน์แล้ว
การใช้คอมพิวเตอร์ยังก่อให้เกิดอาการอีกมากมายดังต่อไปนี้


:b14: คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมหรือซีวีเอส
(CVS: Computer Vision Syndrome)

เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
และใช้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม
อาการหลักคือทำให้ดวงตาล้า แห้งและพร่ามัว
ตลอดจนปวดแขน ไหล่และคอ
เพราะต้องนั่งในท่าเดิมโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
ประสาทมือชาหรือซีทีเอส (CTS: Carpal Tunnel Syndrome)
การพิมพ์และการใช้เมาส์โดยวางข้อมือในตำแหน่ง
และท่าเดิมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
ทำให้เส้นประสาทบริเวณหน้าข้อมือถูกกดทับซ้ำๆ
ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกทำให้มีอาการมือชา
กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ปวดข้อมือ และอาจปวดลามไปถึงแขนและไหล่
อาการดังกล่าวมักแสดงออกตอนกลางคืนหรือหลังจากตื่นนอน


:b14: เกิดพิษเฉียบพลัน
ขณะที่คอมพิวเตอร์กำลังทำงาน พัดลมระบายความร้อน
จะพัดระบายกลิ่นจากการเผาไหม้แผงวงจรภายในคอมพิวเตอร์ออกมาด้วย
ซึ่งเป็นกลิ่นสารประกอบประเภทโลหะ ทองแดง ตะกั่ว ฯลฯ
ที่เป็นสารพิษอันตราย หากสูดดมในปริมาณมาก
จะทำให้วิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียนเฉียบพลัน
ดังนั้นผู้ที่อยู่ในห้องที่มีคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากแต่การระบายอากาศไม่ดี
เช่น พนักงานออฟฟิศ ผู้ที่ใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ต
จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการดังกล่าวภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
หรือ เส้นเลือดขอด (Deep Vein Thrombosis)
การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด
ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกซึ่งอาการมักเกิดที่ขา ทำให้ขาบวม
หากลิ่มเลือดหลุดไปตามกระแสเลือดแล้วกลับเข้าสู่หัวใจหรืออวัยวะอื่นๆ
อาจเสี่ยงต่อการหมดสติ ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัวผิดปกติ
อายุมาก และอ้วน มีความเสี่ยงที่จะมีอาการดังกล่าวมากกว่าปกติ


:b1: วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

1. ใช้คอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอและควรปรับชั่วโมงการใช้
(ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 ชั่วโมง)

2. หมั่นพักสายตาและเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างการใช้งาน
เช่น สะบัดข้อมือ ลุกขึ้นยืน

3. วางคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทเพื่อระบายกลิ่นจากการเผาไหม้วงจร


ที่มา... http://www.kbeautifullife.com/health_we ... B8%B5.html

:b48: :b8: :b48:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร