วันเวลาปัจจุบัน 03 พ.ค. 2025, 09:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2010, 16:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คอลัมน์สัมภาษณ์ แพรว ๒๕ พ.ค. ๒๕๕๐

ขันติธรรมค้ำจุนชาติ

รูปภาพ

พระไพศาล วิสาโล

เรื่อง ศิริน ภาพ อิทธิศักดิ์ ผู้ช่วย ภานพ นาคะประวิง





ช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะยุ่งเหยิง หลายคนเบื่อหน่ายการเมือง กังวลถึงเศรษฐกิจ เป็นห่วงเรื่องราวทางภาคใต้ ความวิปริตปรวนแปรแผ่ลงมาตั้งแต่อากาศจนถึงจิตใจคนที่ยามนี้ดูเหมือนจะหมดที่พึ่ง เพราะแม้แต่พระสงฆ์ก็ยังมีม็อบ หันไปทางใดมีแต่กระแสนิยมวัตถุมงคลเกลื่อนเมือง

แพรวกราบนมัสการพระไพศาล วิสาโล ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ เพื่อขอข้อคิดเป็นแนวทางสำหรับหลายคนที่กำลังเป็นทุกข์ สับสนกับหลายสิ่งรอบตัว



หลวงพ่อมองเรื่องปัญหาของบ้านเมืองตอนนี้อย่างไรบ้างคะ

เรื่องการเมืองมักมาพร้อมความร้อนแรง เราจึงต้องตั้งสติให้มาก พยายามมองอย่างขันติธรรม ตอนนี้เรามีแนวโน้มที่จะมองคนที่คิดต่างจากเราว่าเป็นศัตรู แต่ก่อนฝ่ายที่นิยมทักษิณก็มองฝ่ายที่ไม่นิยมทักษิณเป็นศัตรู ตอนนี้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารก็มองฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเป็นศัตรู ในเมื่อทุกฝ่ายห่วงใยประเทศชาติกันทั้งนั้นก็ยิ่งต้องละเว้นจากการมองว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ขันติธรรมทำให้เปิดใจกว้าง ยอมรับความแตกต่าง ช่วยให้ใจสงบ ไม่คิดเอาชนะ เพราะถ้าคิดเอาชนะ ในที่สุดอาจลงเอยด้วยการแพ้ทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องดูอื่นไกลแค่ในครอบครัวถ้าสามีภรรยาจ้องแต่จะเอาชนะด้วยการพิสูจน์ว่าฉันถูก เธอผิด สุดท้ายจะมีแต่คนแพ้

ไม่ว่าจะคิดต่างอย่างไร ในเรื่องอะไรก็ตาม อย่าให้ความคิดนั้นเป็นใหญ่จนกลบความสำคัญของมนุษย์ ความคิดไม่ว่าจะดีวิเศษแค่ไหนถ้ายึดติดก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ในอเมริกามีการประท้วงระหว่างฝ่ายต่อต้านการทำแท้ง กับฝ่ายเรียกร้องเสรีภาพในการทำแท้ง สาธุคุณหรือนักเทศน์คนหนึ่งทนไม่ไหวบุกเข้าไปในคลินิกทำแท้งแล้วยิงหมอตาย เขาเห็นว่าการฆ่าเป็นสิ่งผิดแล้วยึดติดความคิดนี้จนเห็นว่าคนที่ฆ่าทารกสมควรตาย ความยึดติดแบบนี้เรียกว่าอุปาทาน

เวลานี้ขันติธรรมลดน้อยลงไปมากเพียงแค่นักวิชาการบอกว่าพ่อขุนราม ฯไม่ได้สร้างหลักศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง คนสุโขทัยก็พากันเผาพริกเกลือสาปแช่งนักวิชาการคนนั้น ก่อนหน้านี้มีนักศึกษาคนหนึ่งเขียนวิทยานิพนธ์ระบุว่าท้าวสุรนารีไม่ได้มีวีรกรรมอย่างที่เชื่อกัน ปรากฏว่าคนโคราชโกรธมาก เผาหนังสือและห้ามนักศึกษาผู้นั้นเข้าจังหวัด ทั้งหมดพูดเหมือนกันว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย เดี๋ยวนี้ใครทำอะไรไม่ถูกใจจะถูกถามว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า นี่เป็นเพราะเราไม่มีขันติธรรม ทนความคิดที่ต่างกันไม่ได้ และมักจะกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทย เรื่องนี้โยงไปที่เรื่องศาสนาประจำชาติ ถ้ามีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และมีการตรากฎหมายออกมา จะทำให้คนไทยกล่าวหาหรือแบ่งแยกกันอีกหรือเปล่าว่าถ้าไม่ถือพุทธก็ไม่ใช่คนไทย

เราในฐานะประชาชนควรทำตัวอย่างไรในภาวะที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้คะ

อย่างแรกที่ควรทำคือ รักษาใจอย่าให้ร้อนไปตามอุณหภูมิของบ้านเมือง พยายามมีสติ อย่ามองคนเป็นฝักฝ่ายหรือแบ่งขั้ว หรือตัดสินว่าเขาผิดเพียงเพราะคิดไม่เหมือนเรา เปิดใจให้กว้างและอย่าฟังความข้างเดียว บางครั้งเราโกรธเกลียดกันเพราะเชื่อข่าวลือ หรือแม้จะอ่านข่าวจากหนังสีอพิมพ์ ก็อย่าด่วนสรุปตามข่าวหรือความเห็นของหนังสือพิมพ์

ประการต่อมาคือมองคนให้รอบด้าน บางคนแม้จะคิดต่างจากเรา แต่ก็มีหลายอย่างที่คิดเหมือนกับเรา จึงไม่ควรมองเห็นเขาเป็นศัตรูเพียงเพราะว่าคิดต่างจากเราในเรื่องนี้หรือเรื่องนั้น จะว่าไปแล้วคนเราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ถ้าเราไปติดอยู่กับความต่าง เราจะมองกันเป็นศัตรูได้ง่าย แล้วความโกรธเกลียดจะเผาลนจิตใจเรา แต่ถ้าเรามองไปที่ความเหมือนให้มาก ๆ จะพบว่าเราเป็นเพื่อนกัน รักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน และเป็นคนดีไม่ต่างจากเรา

จากนั้นก็ลองมองให้ไกลขึ้น คือถึงแม้เราจะเห็นต่างกัน แต่ในที่สุดเราก็ต้องอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน ร่วมบ้านเดียวกัน พี่น้องบางคู่ สามีภรรรยาบางคู่ ทะเลาะกันเพราะมองต่างกันในเรื่องบ้านเมือง แต่ถ้าเขาระลึกขึ้นมาได้ว่ายังไง ๆ เราก็ต้องอยู่บ้านเดียวกัน อยู่ครอบครัวเดียวกัน ก็คงจะทะเลาะกันไม่ลง อย่าลืมว่าสายสัมพันธ์นั้นสำคัญกว่าจุดยืนทางการเมือง

ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ควรรู้จักปล่อยวางบ้าง อย่าจดจ่อใส่ใจกับข่าวสารบ้านเมืองมากเกินไป เดี๋ยวนี้ข่าว ๆ เดียว บางคนได้ยินซ้ำกันถึง ๔-๕ ครั้ง เพราะดูโทรทัศน์หลายช่อง บางข่าวโทรทัศน์ช่องเดียวก็รายงานซ้ำกันหลายครั้งในวันเดียวกัน ลองคิดดูว่าหากได้ยินข่าวไม่ดีหรือข่าวที่ไม่ถูกใจหลาย ๆ ครั้งเราจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้นควรรู้จักพอดีในการฟังข่าว อย่าเอาจริงเอาจังเกินไป ฟังแล้วก็พยายามปล่อยวาง อย่าเอาไปครุ่นคิดในเวลากินข้าว หรือเวลานอน

ทีนี้พอทำใจไม่ให้ร้อนแล้ว ก็พยายามช่วยให้คนรอบข้างใจเย็นลงด้วย เตือนสติเขาไม่ให้ว้าวุ่นกลุ้มใจหรือโกรธเกลียดกันง่าย ๆ แม้บ้านเมืองจะร้อน แต่ถ้าเราช่วยให้ครอบครัวของเรา บ้านของเรา สำนักงานของเราเย็นลงได้ อาตมาคิดว่าก็เป็นการช่วยบ้านเมืองได้เยอะ ใครที่มีกำลังมากกว่านั้น ก็พยายามเตือนสติคนในบ้านเมืองให้ใจเย็นลง โกรธเกลียดกันให้น้อยลง ฟังกันให้มากขึ้น

อีกอย่างที่น่าทำคือช่วยกันทำความดี ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะอยู่หรือไป พุทธศาสนาจะเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ คนยากคนจนก็ยังต้องการการเหลียวแล เด็กกำพร้าก็ยังต้องการคนเอาใจใส่ แม่น้ำลำห้วยก็ยังต้องการคนอนุรักษ์ ถ้าเราปลีกตัวมาทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้บ้าง จะเป็นกำลังใจให้คนอยากทำความดี และถ้าเราทำความดีต่อกัน ผู้คนจะมีความสุข บ้านเมืองจะน่าอยู่มากขึ้น ถึงแม้คนข้างบนเขาจะทะเลาะกันแค่ไหน บ้านเมืองก็ยังอยู่ได้หากคนธรรมดา ๆ ยังทำความดีไม่หยุดหย่อน

ในบางสถานการณ์อย่างในภาคใต้ แม้ว่าใช้ขันติธรรมก็ดูเหมือนจะไม่พอ

ขันติธรรมอย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่ต้องเริ่มต้นจากการมีขันติธรรมก่อน ไม่งั้นเราจะกล่าวหาคนโน้นคนนี้ว่าเป็นศัตรู หรือเกลียดชังกันเพราะว่าเขานับถือศาสนาหรือพูดภาษาต่างจากเรา อย่าลืมว่าพวกก่อความไม่สงบต้องการให้คนพุทธและมุสลิมเกลียดชังกันอยู่แล้ว เพราะนั่นจะทำให้สถานการณ์คุมไม่อยู่ และบ้านเมืองลุกเป็นไฟ

นอกจากขันติธรรมแล้ว เราต้องทำอย่างอื่นอีก อย่างแรกก็คือการรักษาความปลอดภัย และทำให้บ้านเมืองมีสวัสดิภาพก่อน ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาวุธอย่างเดียว อย่าลืมว่าทหารและตำรวจขนาดมีอาวุธครบมือและนั่งรถหุ้มเกราะยังตายกันเป็นร้อย แสดงความความปลอดภัยขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นด้วยที่ไม่ใช่อาวุธ ความปลอดภัยอาจเกิดจากการร่วมกันสอดส่องดูแลป้องกันซึ่งกันและกัน กำแพงมนุษย์นั้นมั่นคงแน่นหนากว่าลวดหนามหรือบังเกอร์ บางวัดอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านมุสลิมแต่ก็ปลอดภัย เจ้าอาวาสบางท่านที่อาตมารู้จักเล่าว่า ท่านไม่อนุญาตให้ทหารเข้าไปตั้งค่ายในวัด แต่ท่านก็ปลอดภัยเพราะชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมสมานสามัคคีกัน ต่างช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้วัด

การร่วมมือระหว่างศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องระวังที่จะไม่หลุดเข้าไปในกับดักของผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการให้เกิดความเกลียดชังระหว่างศาสนา ระหว่างเชื้อชาติ วันดีคืนดีเขาก็ยิงชาวพุทธในรถตู้ แล้วก็ไปยิงชาวมุสลิมหน้ามัสยิด ทำทีเหมือนเป็นการตอบโต้ล้างแค้นระหว่างศาสนา อุบายแบบนี้ถ้าเราตกหลุมเราก็จะหันมาทำร้ายกันเอง

อาตมานึกไปถึงอินเดียเมื่อ ๑๕ ปีก่อนที่มีการนองเลือดระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูทั่วประเทศ แต่มีเมืองหนึ่งซึ่งไม่มีการฆ่ากันเลยคือเมืองบิวานดี ทั้งนี้เพราะเขาตั้งกรรมการสันติสุขจากชาวฮินดูและมุสลิมและนานาอาชีพขึ้นมาตามย่านต่าง ๆ ในเมืองนี้ ทำหน้าที่คอยระงับข่าวลือ และสอดส่องว่ามีใครมายุยง หรือมาใช้อาวุธทำร้ายใครไหม ใครเดือดร้อนอะไรช่วยกัน ทำให้เมืองนี้มีความสงบ ทั้ง ๆ ที่เมืองอื่น ๆ ลุกเป็นไฟ

อาตมาเชื่อว่าการตอบโต้กันด้วยความรุนแรงไม่ใช่ทางออก ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หลายคนบอกว่าต้องฆ่าโจรใต้ให้หมด คำถามคือรู้ไหมเขาเป็นใคร ถ้าเราฆ่าโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อาจไปทำผู้บริสุทธิ์ก็ได้ แล้วพ่อแม่พี่น้องเขาก็จะไปอยู่ฝ่ายผู้ก่อการไม่สงบ ขณะนี้ผู้ก่อการพยายามยั่วยุให้รัฐใช้ความรุนแรงเพราะเมื่อนั้นหญ้าแพรกหรือคนบริสุทธิ์ก็จะแหลกลาญ แล้วชาวบ้านจะโกรธเกลียดเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น มีการตอบโต้แก้แค้นกันซึ่งในที่สุดก็มาลงที่ชาวพุทธ ทำให้จองเวรกันไม่จบสิ้น ดังนั้นเราจึงต้องใช้ความอดทนอย่างถึงที่สุด

ตอนนี้ถ้ามองในแง่หนึ่งก็จะเห็นว่าเขาปลุกชาวบ้านให้โกรธเกลียดกันเท่าไรก็ปลุกไม่ขึ้น ไม่ประสบความสำเร็จในการตอกลิ่มให้เราทะเลาะกัน จึงต้องเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คนอยู่เฉยไม่ได้ต้องจับอาวุธเข้าห้ำหั่น แสดงว่ายุทธศาสตร์สันติวิธีที่ผ่านได้ผลระดับหนึ่ง ตอนนี้ชาวบ้านมุสลิมจำนวนมากก็ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของพวกโจรใต้ เพราะคนที่ตายส่วนใหญ่ก็เป็นชาวมุสลิม ตรงนี้จะทำให้ผู้ก่อความไม่สงบเพลี่ยงพล้ำในระยะยาว

อาตมาเคยเป็นกรรมการสมานฉันท์ไปจำวัดทั้งในชนบทและในเมืองที่นราธิวาสและปัตตานี รู้สึกเลยว่ามีผู้คนที่นั่นมีความหวาดกลัว ระแวงกันอยู่ อันนี้น่าเห็นใจเพราะเขาไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรู เท่าที่เคยคุยกับพระที่นั่นส่วนใหญ่อยากให้ใช้มาตรการรุนแรงเพื่อให้สถานการณ์กลับมาปกติโดยเร็ว ก็น่าเห็นใจเพราะคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นอาจคิดว่าความรุนแรงเป็นที่พึ่งได้ แต่อาตมาคิดว่าความรุนแรงแก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่ในระยะยาวจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น หรือทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมา

หลวงพ่อมีคำแนะนำสำหรับการเยียวยาจิตใจคนในพื้นที่อย่างไรบ้างคะ

อาตมาคงพูดได้เฉพาะการเยียวยาจิตใจคนในพื้นที่ที่เป็นชาวพุทธ เพราะไม่ค่อยรู้จักวัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่นั่น

กำลังใจจากทุกส่วนของประเทศ ทั้งจากพระและฆราวาส เป็นสิ่งสำคัญ คนเราเวลามีความทุกข์ แต่ถ้ารู้ว่ายังมีคนเป็นห่วงเรา อยากช่วยเหลือเรา หรือพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา จะมีกำลังใจต่อสู้กับอุปสรรคได้มาก ถ้ามีคนไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเขา จะเป็นการเยียวยาที่ดีมาก แต่คนภายนอกนั้นเยี่ยมเยียนได้ชั่วคราว อาตมาคิดว่ากำลังใจจากคนในพื้นที่มีความสำคัญมากกว่า อีกอย่างคนในพื้นที่จะเข้าใจปัญหาด้วยกันได้ดีกว่า ดังนั้นหากคนในพื้นที่รวมกลุ่มกัน และไปเป็นกำลังใจให้กัน รวมถึงรับฟังความทุกข์จากเขา จะช่วยได้มาก บางครั้งคนเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้ระบายความทุกข์ มิตรภาพเป็นสิ่งที่สามารถเยียวยาจิตใจได้ เดี๋ยวนี้มีการบำบัดที่เรียกว่ามิตรภาพบำบัด

แต่ก็คงมีบางคนที่ทุกข์และเครียดมาก กรณีแบบนี้คงต้องอาศัยผู้รู้มาช่วย ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ แต่คนในพื้นที่ก็อาจมีความสามารถแบบนี้ได้หากได้รับการฝึกฝน อาตมาคิดว่าคงจะดีหากมีการเปิดรับอาสาสมัครมาทำงานด้านนี้ อาสาสมัครอาจเป็นคนในพื้นที่หรือคนนอกพื้นที่ก็ได้ เดี๋ยวนี้เรามีอาสาสมัครนานาชนิด ทำไมจะมีอาสาสมัครเยียวยาจิตใจไม่ได้ หรืออาจจะมีอยู่แล้วในตอนนี้ก็ได้

บทบาทของศาสนาก็สำคัญ อาตมาหมายถึงทั้งศาสนบุคคลคือพระสงฆ์ และศาสนธรรม ชาวพุทธเราถึงแม้จะไกลวัด แต่ในยามทุกข์ หากได้เห็นพระสงฆ์ ก็จะมีกำลังใจ ความสงบเย็นและมั่นคงของท่านสามารถช่วยให้ญาติโยมสงบเย็นได้ บางคนเห็นพระแล้วก็อยากทำบุญ จิตใจจะได้มั่นคงสงบเย็น แต่ถึงแม้จะไกลพระ เราก็อาศัยศาสนธรรมได้ คืออาศัยพระธรรมเป็นที่พึ่ง เช่น มีความมั่นใจในความดีที่ตัวเองทำ หรือยอมรับว่าความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากสูญเสีย เป็นเรื่องธรรมดา การยอมรับความจริงของทุกชีวิตในทุกด้าน ช่วยให้เรามีจิตใจมั่นคงและหวั่นไหวกับสถานการณ์ภายนอกน้อยลง

การฝึกจิตให้รู้เท่าทันความเศร้าโศก ความเจ็บปวด หรือความกลัว ก็สำคัญ สิ่งที่ทำให้คนเราทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ข้างนอก หากอยู่ที่ใจเรานี่เอง อย่าเผลอใจให้อารมณ์เหล่านี้ครอบงำ พระพุทธองค์ตรัสว่าไม่มีอะไรทำร้ายเราได้เท่ากับจิตที่วางไว้ผิด และไม่มีอะไรที่ทำให้เราสุขได้มากกว่าจิตที่วางไว้ถูก การเยียวยาจิตใจควรมีเรื่องศาสนธรรมหรือการฝึกจิตเข้าไปช่วยด้วย นอกเหนือจากการมีคนไปให้กำลังใจหรือรับฟังความทุกข์แล้ว

เรื่องบทบาทพระสงฆ์ที่ท่านออกมาเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญก็ทำให้หลายคนสับสนนะคะ

พระที่ออกมาเรียกร้อง ท่านห่วงใยที่พุทธศาสนากำลังเสื่อมถอย ศีลธรรมและจริยธรรมของผู้คนกำลังตกต่ำ อาตมาเห็นด้วยในแง่นี้ แต่อาตมาเห็นต่างจากท่านในแง่ที่มีการเรียกร้องให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาผิดจุด เพราะถึงจะบัญญัติไว้อย่างนั้น พุทธศาสนาหรือศีลธรรมของผู้คนก็ไม่ได้ดีขึ้น แม้ว่าหลายคนบอกว่าการบัญญัติเช่นนั้นจะเป็นเงื่อนไขบังคับให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมากขึ้นให้กับงานด้านพุทธศาสนา แต่อาตมามองว่าชาวพุทธเราไม่ได้ขาดเงิน เพียงแต่เราใช้เงินกันไม่ถูก คือใช้สร้างวัตถุมากกว่าสร้างคน แล้วก็ไม่มีการเฉลี่ยแบ่งปัน วัดที่รวยก็รวยมาก ที่จนก็จนเหลือเกิน วัดรวยไม่ช่วยวัดจนแต่กลับเรียกร้องให้รัฐช่วย อย่างนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่

เวลานี้ชาวพุทธเรากำลังการหวังความช่วยเหลือจากรัฐให้มากู้สถานการณ์ ทั้งที่เหตุแห่งความเสื่อมมาจากพระสงฆ์และชาวพุทธซึ่งไม่ทำหน้าที่ของตนดีพอ ตัวอย่างเช่น มหาเถรสมาคมซึ่งรับผิดชอบการศึกษาพระสงฆ์ทั้งประเทศ แต่ทุกวันนี้กลับปล่อยให้ทุกวัดจัดการกันเอง มหาเถรสมาคมเพียงจัดสอบให้ปีละครั้ง ถามว่าทำไมไม่จัดการศึกษาให้ทั่วถึง อ้างว่าไม่มีเงิน แต่ทำไมคณะสงฆ์ถึงมีเงินสร้างโบสถ์วิหารราคาเป็นร้อยล้านพันล้านทั่วประเทศ ความจริงถ้ามหาเถรสมาคมขวนขวายจัดตั้งกองทุนการศึกษาคณะสงฆ์โดยขอเรี่ยไรจากญาติโยม โดยไม่ต้องพึ่งเงินรัฐเลยก็ทำได้ แต่ก็ไม่ทำ ปล่อยให้การศึกษาพระสงฆ์ตกต่ำจนชาวบ้านรู้สึกว่าพระสงฆ์มีคุณภาพน้อยลง หลายปีก่อนเคยมีการสอบถามนักศึกษาในกรุงเทพฯว่าทำไมถึงไม่เข้าวัดฟังเทศน์ 40 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเพราะพระไม่น่าศรัทธาหรือมีความรู้ธรรมะดีพอ ความจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่นี่คือความเห็น คือภาพลักษณ์ของพระในสายตาของนักศึกษา ซึ่งอาตมาคิดว่ามีส่วนถูก ที่ต้องย้ำคือนี้เป็นตัวเลขเมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันตัวเลขอาจสูงขึ้นกว่านี้แล้วก็ได้

อาตมาเห็นว่าการเรียกร้องให้รัฐทำอย่างโน้นอย่างนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกผิดจุด อาจถึงขั้นหลงทางเลยก็ได้ เพราะเป็นการมองว่าปัญหาเกิดจากรัฐไม่ใส่ใจเพียงพอ ซึ่งก็จริง แต่สาเหตุที่แท้จริงอยู่ตรงที่คณะสงฆ์และชาวพุทธไม่ทำหน้าที่ของตนต่างหาก ถ้าไม่จัดการกับสาเหตุข้อนี้ จะทำอย่างไรก็ไม่ได้ผล ที่น่าห่วงก็คือยิ่งไปเรียกร้องรัฐมากเท่าไร ก็ยิ่งมองข้ามสาเหตุดังกล่าว ซึ่งทำให้ปัญหาพอกพูนหมักหมมยิ่งขึ้น

การเรียกร้องรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียวว่าต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ เช่น ต้องให้คนไทยเรียนวิชาศีลธรรมมากขึ้น เป็นเพราะคิดว่ารัฐมีอำนาจมาก คิดว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้ถ้ารัฐสั่ง นี่เป็นความคิดที่ผิดพลาด เวลานี้มีปัญหามากมายที่รัฐไม่มีปัญญาแก้ไข เช่น ปัญหาป่าไม้ ทั้ง ๆ ที่รัฐมีงบประมาณและเจ้าหน้าที่มากมาย แถมมีกฎหมายอยู่ในมือหลายฉบับ แต่ป่าก็หดหายทุกปีโดยที่รัฐไม่สามารถหยุดยั้งได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะชาวบ้านไม่ร่วมมือ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะเข็นพรบ.ป่าชุมชนออกมา เพื่อให้ชาวบ้านร่วมรักษาป่าด้วย

เรื่องพุทธศาสนาก็เช่นกัน หลายคนคิดว่าถ้ารัฐออกกฎหมายหรือบังคับให้คนเรียนศีลธรรมมากขึ้น หรือบังคับไห้คนสวดมนต์มากขึ้น พุทธศาสนาจะเจริญขึ้น อาตมาไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะรัฐไม่มีความสามารถจะบังคับให้คนทำเช่นนั้นได้ ขนาดมีกฎหมายห้ามฆ่าคน เมืองไทยยังมีการฆ่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ต้องพูดถึงการคอร์รัปชั่นหรือการลักขโมย

พุทธศาสนาไม่อาจดีขึ้นได้เพียงเพราะรัฐออกกฎหมายควบคุมศีลธรรม แต่จะดีขึ้นได้ก็เพราะชาวพุทธและคณะสงฆ์มีความใส่ใจกับหน้าที่ของตัวมากขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่มหาเถรสมาคม คำถามก็คือว่าหากบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว มหาเถรสมาคมจะรับผิดชอบคณะสงฆ์ให้แข็งขันกว่านี้หรือไม่ พระสงฆ์ทั่วประเทศจะประพฤติตนให้น่าเคารพกราบไหว้มากกว่านี้หรือไม่ อาตมาเห็นว่าเป็นไปได้ยาก และไม่เกี่ยวกันเลย สิ่งที่อาตมาอยากจะเห็นก็คือพระสงฆ์หันมาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้น แทนที่จะไปเรียกร้องจากรัฐบาลอย่างเดียว แต่เท่าที่ผ่านมาเห็นแต่เรียกร้องจากรัฐฝ่ายเดียว ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเรียกร้องหรือปรับปรุงตัวเองเลย

หลวงพ่อคิดว่าสาเหตุของความเสื่อมมาจากอะไรคะ

ต้องบอกว่าตอนนี้ทัศนคติ หรือการมองโลกของพระกับฆราวาสไม่ค่อยต่างกัน ชาวบ้านอยากมีรถ อยากมีบ้านหลังใหญ่ พระจำนวนไม่น้อยก็อยากมีรถ อยากมีกุฏิหลังใหญ่ หรือโบสถ์หลังใหญ่เหมือนกัน วัดใหญ่ๆ พอได้เงินมากจึงพากันสร้างโบสถ์ สร้างวิหารราคานับร้อยล้าน สร้างซุ้มประตูวัดราคาเป็นล้าน แล้วจะเอาเงินจากไหนก็ต้องอาศัยพระเครื่อง หรือวัตถุมงคลเป็นตัวดูดเงินจากญาติโยม

ถามว่าทำไมท่านถึงมีทัศนคติเช่นนั้น คำตอบก็เพราะญาติโยมและสื่อมวลชน ที่หมกมุ่นกับวัตถุนิยม แต่พูดแค่นี้อาจไม่ยุติธรรมเพราะความจริงพระควรเป็นผู้นำชาวบ้าน ไม่ใช่ให้ชาวบ้านนำ แต่เวลานี้พระขาดการศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาพระสงฆ์ถดถอยมาก เวลานี้การศึกษาของพระมีสองระบบ ระบบนักธรรม คือการเรียนธรรมะด้วยภาษาไทย กับระบบบาลีซึ่งเน้นการแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ทุกปีที่มีการสอบ ปรากฏว่าพระเณรสอบตกเสียแปดสิบเปอร์เซ็นต์ และยังมีเป็นแสนที่ไม่เข้าสอบ นี่อาตมาพูดเฉพาะปริมาณ ส่วนเรื่องคุณภาพก็น่าเป็นห่วง เพราะพระเณรที่สอบได้ส่วนมากก็ใช้วิธีท่องจำ แต่ไม่สามารถสอนใครได้ เวลามีคนนิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ก็ไม่รู้จะสอนญาติโยมอย่างไร

มีวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ ขอไม่เอ่ยชื่อ ญาติโยมนิมนต์พระเปรียญ 6 เปรียญ 7 มาเลี้ยงพระ แล้วขอให้ท่านแสดงธรรมด้วย ปรากฏว่าพระในวัดเกี่ยงกันใหญ่ หาพระมาแสดงธรรมไม่ได้ ถ้าให้สวดอย่างเดียว ก็ว่าไปอย่าง แสดงว่าคุณภาพการศึกษาของพระสงฆ์ น่าเป็นห่วงมาก

ในอดีตพระเป็นผู้นำ ความรู้ต่างๆ ทางโลกอยู่ที่วัดทั้งสิ้น ตั้งแต่การหล่อพระ จนถึงการทำประทัด ทำว่าว ทำกลอง ช่างฝีมือดีอยู่ที่วัดทั้งสิ้น สมัยรัชกาลที่ 5 พระเป็นผู้นำการศึกษาสมัยใหม่ไปเผยแพร่ตามหัวเมือง ทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุดหน้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปร้อยปี ความรู้ของพระกลับตามหลังฆราวาส นอกจากจะด้อยกว่าฆราวาสในเรื่องความรู้ทางโลกแล้ว ความรู้ทางธรรมก็ไม่แม่นและไม่มั่นใจที่จะแสดงให้ฆราวาสฟัง เพราะเผลอ ๆ ฆราวาสอาจมีความรู้ทางธรรมมากกว่าด้วยซ้ำ

ความจริงพระไม่มีความรู้เท่าฆราวาสก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่ท่านยังเป็นแบบอย่างของการมีชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสงบสุขจากภายใน แบบอย่างเช่นนี้มีความสำคัญมากไม่เฉพาะกับคนไทยแต่กับคนทั้งโลกเลยทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้มีความเชื่อว่าต้องมีเงินทองมาก ๆ เท่านั้นจึงจะมีความสุข แต่หากท่านมีแค่บริขารแปด แต่กลับมีรอยยิ้ม มีใบหน้าที่สดใส และมีความสุข สิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลให้คนเห็นว่ามีชีวิตที่เรียบง่ายก็สุขได้ แถมสุขได้มากกว่าด้วย แต่เดี๋ยวนี้มีพระน้อยรูปที่สามารถเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ได้ ส่วนใหญ่กลับมุ่งความสำเร็จทางโลก อยากมีเงินมากเหมือนชาวบ้าน ความอยากแบบนี้ถึงแม้จะไม่ผิดศีล แต่ก็บั่นทอนให้จิตใจตกต่ำและมีความทุกข์ได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ลาภ สักการะย่อมฆ่าคนชั่วหรือคนโง่ ท่านเปรียบเป็นอสรพิษด้วยซ้ำ

เวลานี้พระหนีเรื่องเงินได้ยาก ยิ่งเป็นเป็นเกจิอาจารย์ก็ยิ่งมีคนนำเงินมาถวายมากมาย จนบางทีไม่รู้จะเก็บหรือใช้อย่างไร อย่างที่มีข่าวเมื่อวันสองวันนี้ว่า มีพระเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งมรณภาพแล้ว ญาติโยมไปพบเงินสดในกุฏิ ต้องใช้เวลานับถึงสามวันเต็มจึงรู้ว่าท่านมีเงินถึง 26 ล้านบาท สำหรับอาตมาสิ่งที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่าทำไมท่านมีเงินมากอย่างนั้น หรือท่านเก็บอย่างไรถึงไม่มีใครรู้เลย ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ท่านมีมากมายขนาดนี้แล้วทำไมถึงไม่แบ่งปัน หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือเด็กยากจน ส่งเสริมการศึกษาของพระเณร

พระจำนวนไม่น้อยเมื่อมีเงินก็ใช้ในการเสพ บริโภค เช่น ซื้อรถ สร้างกุฏิราคาแพง แต่บางท่านไม่ได้ใช้เพื่อตัวเองหรอก แต่ใช้สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุราคาเป็นร้อยล้าน ขณะที่วัดจำนวนไม่น้อยในชนบทไม่มีเงินซื้อหนังสือเรียนให้พระเณร หลายสำนักเรียนไม่มีแม้แต่อาหารที่จะเลี้ยงพระเณรให้ทั่วถึง นี่คือช่องว่างที่ชัดเจนมาก วัดที่ร่ำรวยมีโบสถ์ราคาหลายร้อยล้าน เพราะเจ้าอาวาสไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร แต่ถ้าท่านนำไปใช้พัฒนาศาสนทายาทให้มีการศึกษาที่ดี คุณภาพของพระสงฆ์คงไม่เป็นอย่างนี้ ท่านจะมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ศาสนา รวมทั้งเป็นแบบอย่างให้ผู้คนเลื่อมใสในศาสนา ถึงตอนนั้นพุทธศาสนาก็จะเจริญขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปบัญญัติในรัฐธรรนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในทางตรงข้ามถึงจะบัญญัติไว้ แต่รัฐบาลก็คงไม่สามารถไปทำให้พระท่านเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะขนาดมีการพยายามผลักดันพรบ.อุปถัมภ์พุทธศาสนาเมื่อหลายปีก่อน พระยังต่อต้านหาว่าฆราวาสจะมาปกครองสงฆ์ ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี รัฐบาลก็พยายามผลักดันให้พรบ.สงฆ์ฉบับใหม่เพื่อปรับปรุงการบริหารคณะสงฆ์ ก็ออกไม่ได้เพราะมีพระบางกลุ่มออกมาประท้วง ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน อีกฝ่ายประท้วง ผลก็คือต้องเก็บเข้าลิ้นชัก คำถามก็คือถ้าบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ไม่สามารถจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะสงฆ์ได้ จะมีประโยชน์อะไร แล้วพุทธศาสนาจะดีขึ้นได้อย่างไร

ท่านคิดอย่างไรคะกับเรื่องที่พระต้องปรับเปลี่ยนวิธีเทศน์สอนผู้คนให้สนุกสนานน่าสนใจจนเป็นกระแสไปแล้ว

ต้องเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้คนไม่อยากฟังพระเทศน์ ท่านก็เลยต้องพยายามหาทางให้คนติดตาม วิธีหนึ่งที่ท่านคิดว่าได้ผลคือการเทศน์ให้ตลกหรือมีเนื้อหาสนุกสนานชวนติดตาม อาตมาคิดว่าถ้าพอเหมาะพอควรก็ไม่เสียหาย แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เรายังมีความเชื่อว่าคนจะดีได้ก็ด้วยการเทศน์หรือการสั่งสอน อาตมาคิดว่าหัวใจของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่การสอนแต่อยู่ที่การเรียนรู้ สอนเท่าไหร่แต่เด็กไม่เรียนรู้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็เน้นแต่เรื่องการสอน ครูพูดไป พระเทศน์ไป แต่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ก็เลยไม่เกิดผลเท่าที่ควร อาตมาคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแนวความคิด คือเห็นว่าหัวใจของการศึกษาไม่ใช่การสอนของครู แต่อยู่ที่การเรียนรู้ของเด็ก

เด็กสมัยนี้รู้เรื่องโทรศัพท์มือถือ รู้เรื่องการแต่งตัว รู้เรื่องแฟชั่นอย่างละเอียดมาก รวมทั้งมีค่านิยมหรือมุมมองแปลก ๆ โดยไม่มีใครสอนเลย แต่เขาเรียนรู้จากดารา นักร้อง จากดีเจ และจากสื่อ ดารานักร้องและสื่อเหล่านี้ไม่ได้สอนเขาเลย คือไม่ได้พูดว่าต้องเจ้าชู้นะ ต้องทำตัวหยิบโหย่งนะ ถ้าอยากเท่ก็ต้องมีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่นะ แต่วัยรุ่นกลับซึมซับสิ่งเหล่านี้จากเขา เรียนรู้จากเขาทุกกระเบียดนิ้ว ขณะที่พ่อแม่สอนเด็กเยอะเลย พูดจาปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่มีผลเพราะเด็กไม่สนใจเรียนรู้จากพ่อแม่

เวลานี้เราเน้นแต่เรื่องการสอน จึงมักได้ยินเสียงเรียกร้องให้เพิ่มชั่วโมงสอนศีลธรรมในโรงเรียนให้มากขึ้น อาตมาถามว่าจะเพิ่มอาทิตย์ละกี่ชั่วโมง ขนาดวิชาภาษาไทยทั้งที่เรียนโดยตรงและผ่านทางวิชาอื่นๆ ที่ต้องใช้ภาษาไทย รวมแล้วอาทิตย์ละ ๓๐ ชั่วโมง เด็กยังเขียนผิดๆ ถูกๆ สมัยที่ยังมีการสอบเอ็นทรานซ์ ปรากฏว่านักเรียนกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์สอบภาษาไทยตก แล้วจะหวังอะไรกับการสอนวิชาศีลธรรมอาทิตย์ละ ๕ ชั่วโมง จำนวนชั่วโมงไม่ได้ช่วยหรอก ตราบใดที่ยังเน้นการสอนของครู แต่มองข้ามการเรียนรู้ของเด็ก ตรงนี้ก็โยงมาถึงเรื่องพระเทศน์ เพราะตราบใดท่านยังเน้นว่าคนจะดีได้ก็เพราะฟังพระเทศน์มาก ๆ ถึงแม้ท่านจะปรับปรุงการเทศน์ให้ตลกขึ้น ก็จะได้ผลไม่มาก ถามว่ามีประโยชน์ไหม มี แต่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก คือไม่ทำให้เด็กรู้จักคิด ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเกิดการเรียนรู้จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และการเรียนรู้อย่างนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใครมาสอนหรือพูดให้ฟังก็ได้

ขอความกรุณาหลวงพ่อยกตัวอย่างได้ไหมคะ

การเรียนรู้มีหลายวิธี ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งที่นครสวรรค์ เขาใช้แปลงผักเป็นสื่อในการเรียนรู้ในหลายวิชา เด็กทุกคนมีแปลงผักของตนเอง เด็กเรียนภาษาไทยด้วยการเขียนเรียงความเรื่องการปลูกผัก วิชาวิทยาศาสตร์เด็กก็เรียนเรื่องนก แมลง ไส้เดือนจากแปลงผัก เด็กเรียนเลขจากการนำผักไปขายในตลาด แม้แต่วิชาศีลธรรมเด็กก็เรียนจากการปลูกผักโดยครูไม่ต้องสอนเลย เช่น เด็กคนหนึ่งเห็นแปลงผักของเพื่อนมีแมลงก็แอบดีใจเพราะคิดว่าแปลงผักของเพื่อนจะสู้ของตนเองไม่ได้ แต่ไม่กี่วันต่อมาแมลงก็โดดมาที่แปลงของเขาด้วย บทเรียนที่เด็กได้รับก็คือคนเราต้องช่วยเหลือกัน ถ้านิ่งดูดายปัญหาของคนอื่น ในที่สุดเราเองก็จะเดือดร้อนด้วย ศีลธรรมคือการไม่เห็นแก่ตัว คำนึงถึงคนอื่นนอกเหนือจากตัวเอง ไม่เอาประโยชน์หรือความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ ศีลธรรมไม่ได้หมายความแค่ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่กินเหล้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความร่วมมือ ความสามัคคี การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ต่าง ๆ โดยครูเป็นผู้แนะนำหรือคิดค้นกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นโดยครูไม่ต้องสอนเลยก็ได้

ครูยังสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กด้วยการตั้งคำถามให้เด็กคิด เช่น ใคร ๆ ก็อยากรวยใช่ไหม แต่ถ้ารวยแล้วสุขภาพย่ำแย่ ลูกติดยาหรือท้องไม่มีพ่อ จะมีความสุขไหม หรือถามเด็กว่าทำไมคนรวยถึงฆ่าตัวตาย คำถามอย่างนี้จะทำให้เด็กได้คิดว่าเงินไม่ใช่ความสุข นอกจากนั้นการเรียนรู้ยังเกิดจากการลงมือทำ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาอาตมาช่วยจัดทำโครงการจิตอาสาในช่วงเข้าพรรษาโดยรับอาสาสมัครไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น ปลูกป่า ช่วยสัตว์พิการ นวดเด็กอ่อนที่ถูกทอดทิ้ง มีเด็กอ่อนหลายคนที่ต้องนอนนิ่งอยู่บนเตียง ไม่มีใครอุ้ม ทำให้ขาดพัฒนาการทั้งทางกายและใจ มีอาสาสมัครหลายคนไปนวดเด็ก ทีแรกเขาตั้งใจจะไปให้เด็ก แต่เมื่อนวดไปได้ ๓-๔ ครั้ง กลับพบว่าเด็กๆ เป็นฝ่ายให้เขามากกว่า เช่น บางคนเป็นไมเกรนต้องกินยาตลอดเวลา นวดไปนวดมาก็หายปวด จนไม่ต้องกินยา กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เขารู้ว่า ความสุขเกิดจากการให้ไม่ใช่การรับ นี่คือการเรียนรู้โดยไม่ต้องมีใครมาสอนหรือเทศน์

โรงเรียนและวัดต้องคิดใหม่ เวลานี้เรามักคิดว่าความดีจะเกิดขึ้นได้จากการสอนหรือไม่ก็ด้วยการห้าม เช่น พ่อแม่ห้ามลูกไม่ให้ดูซีดีโป๊ ครูห้ามนักเรียนไปมั่วสุม ส่วนรัฐมนตรีก็ห้ามประชาชนดูยูทิวบ์หรือเว็บไซต์ลามก ถามว่าได้ผลไหม เวลานี้ของพวกนี้มีเกลื่อนเมืองและระบาดไปถึงห้องนอน ห้ามเท่าไรก็ไม่ได้ผล เราไม่ค่อยได้คิดถึงการช่วยให้เขารู้จักคิดหรือดูสื่อเหล่านี้อย่างมีสติ มีวิจารณญาณ หรือเรียนรู้ที่จะมองให้ลึกไปกว่าสิ่งที่เห็น เช่น เห็นว่าความรักไม่ใด้หมายถึงการร่วมเพศอย่างเดียว หรือเวลาดูภาพโป๊ ก็ให้เห็นไปถึงการเอาเปรียบผู้หญิงและเด็ก เวลาดูโฆษณาก็ตั้งคำถามให้เด็กคิดว่า ตัวละครที่อับอายเพราะผมแตกปลายนั้น ถูกต้องหรือไม่ ระหว่างผมแตกปลายแต่มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนฝูง กับผมดำสลวยแต่เห็นแก่ตัว อะไรดีกว่ากัน คำถามเหล่านี้จะช่วยให้เขาคิดเป็นและช่วยให้ดูสื่อต่าง ๆ ได้อย่างมีประโยชน์ พ่อแม่และครูควรกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดและรู้จักเกี่ยวข้องกับสื่ออย่างมีวิจารณญาณหรือมีสติปัญญา แทนที่จะเอาแต่สอนหรือห้ามไม่ให้ดูโน่นดูนี่ สมัยก่อนเราอาจห้ามได้ผล แต่เดี๋ยวนี้เราปิดหูปิดตาเขาไม่ได้แล้ว ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เขามีสติปัญญากำกับหูและตาเหล่านั้นจะดีกว่า

อย่างกระแสนิยมวัตถุมงคลในขณะนี้ หลวงพ่อเห็นว่าอย่างไรคะ

อาตมาคิดว่ามีหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยแรงจูงใจ และความคิดที่ต่างกันไป เช่น กลุ่มหวังผลประโยชน์ก็ใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างกระแสและปั่นราคาขึ้นมา ผลประโยชน์ไม่ได้เกิดกับผู้ขายผู้ผลิตเท่านั้น สื่อมวลชนเองก็ได้ประโยชน์จากการลงโฆษณา โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์ด้วย ผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงินจึงกระจายไปยังคนหลายกลุ่ม ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะสร้างกระแสนิยมวัตถุมงคลขึ้นมา มีคนที่อยู่ในแวดวงพระเครื่องบอกว่า กว่าครึ่งที่อยู่ในแวดวงนี้เป็นพวกสิบแปดมงกุฎ คนเหล่านี้มีวิธีการต่าง ๆ มากมายที่ทำให้วัตถุมงคลมีราคา รวมทั้งการอาศัยเวทีประกวดเป็นเครื่องมือปั่นราคาให้สูงลิบลิ่ว จตุคามรามเทพก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มากมีความเชื่อและศรัทธาในวัตถุมงคลมาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้มั่งมี ร่ำรวย มีโชคลาภ คนเหล่านี้มีความอยากรวยเป็นแรงจูงใจ ตอนนี้คนไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริโภคนิยมสูงมาก คือมีความเชื่อว่าความสุขเกิดจากการที่ได้มี ได้เสพ ได้ครอบครองวัตถุ เวลาไปวัดคนกลุ่มนี้จะอธิษฐานขอให้ร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เขาไม่ได้ต้องการแค่หลุดพ้นจากความยากจนแต่ต้องการรวย และลึก ๆ ก็อยากรวยกว่าคนอื่นด้วย พุทธศาสนาเรียกว่า ความโลภ หรือตัณหา ดังนั้นอะไรก็ตามที่คิดว่าจะตอบสนองความโลภหรือตัณหาได้ ก็จะแห่กันไป วัตถุมงคล พระเครื่อง ยันต์ ตะกรุด ปลัดขิก จอมปลวก หรือเต่าหกขา จึงเป็นที่นิยมมาก รวมถึงจตุคามรามเทพด้วย

กระแสนิยมวัตถุมงคล คงหมดไปได้ยาก หมดจากจตุคามรามเทพก็คงมีสินค้าตัวใหม่เข้ามาแทนที่ เหมือนกับสมัยก่อนคนก็นิยมสุพรรณกัลยา แต่ตอนนี้ก็เลิกราไปแล้ว ตราบใดที่คนยังเอาเงินคือสรณะ มีวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมเป็นศาสนาประจำใจ กระแสนิยมวัตถุมงคลก็ยังจะมีต่อไป ยิ่งสมัยนี้คนรู้สึกไม่มั่นคง ความผันผวนแปรปรวนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา วันนี้รวย พรุ่งนี้อาจล้มละลาย ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องการที่พึ่งทางใจมาก และอะไรจะเป็นที่พึ่งได้ดีเท่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุนี้วัตถุมงคงจึงเฟื่องฟูไปได้อีกนาน โดยเฉพาะตราบใดที่พุทธศาสนาที่สอนในปัจจุบันไม่สามารถทำให้คนมีความมั่นคงทางใจได้ เขาก็ต้องหันไปหาวัตถุเช่นบริโภคนิยม หรือหันไปหาสิ่งศักด์สิทธิ์โดยเฉพาะจากไสยศาสตร์

การแสวงหาความสุขจากวัตถุไม่เคยทำให้คนมีความสุขอย่างแท้จริง ทีแรกก็ทุกข์เพราะยังไม่ได้อย่างที่หวัง ครั้นได้มาแล้วก็ยังทุกข์อีกเพราะอยากได้มากกว่านั้น หรือได้มาแล้วแต่ต้องสูญเสียสิ่งอื่นที่มีค่ากว่าไป เช่น รวยแล้วไม่เอาเพื่อน เลยเหงาว้าเหว่ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ คนที่ถูกหวยหลายสิบล้านแต่ไม่มีความสุข ฆ่าตัวตายมีให้เห็นมากมาย ในอเมริกา มีสามีภรรยายคู่หนึ่งได้เงินรางวัลจากสลากกินรวบกว่าพันล้านบาท ไม่กี่ปีต่อมา ปรากฏว่าครอบครัวแตกแยก สามีตายเพราะติดเหล้า ภรรยาตายอย่างโดดเดี่ยวในคฤหาสน์ นี่เป็นตัวอย่างของคนที่รวยแต่ไม่มีความสุข เงินจึงไม่ใช่สรณะอันประเสริฐ แต่คนไทยจำนวนมากยังเชื่อเช่นนั้น บางคนหวังรวยทางลัด จึงเข้าหาอบายมุข เช่น หวย และ การพนัน หรือไม่ก็เข้าหาวัตถุมงคล หวังอำนาจดลบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แย่กว่านั้นคือ รวยทางลัดด้วยการคอรัปชั่น คนไทยอยากรวยทางลัดกันทั้งนั้น กระแสนิยมวัตถุมงคลจึงเกิดง่าย

จริงๆ แล้วทางศาสนาถือว่าผิดไหมคะ

ต้องดูที่รายละเอียดด้วย อาตมาไม่ปฏิเสธวัตถุมงคล ไม่ปฏิเสธอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์เหมือนกันสำหรับการเป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ เวลามีความทุกข์มาก คนส่วนใหญ่จะรู้สึกดีขึ้นหากมีที่ยึดเหนี่ยวเช่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ให้ถือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเป็นแค่จุดเริ่มต้น ในที่สุดแล้วเราก็ต้องหันมาพึ่งตัวเองหรือมีความเพียรในการทำความดี จะนับถือเจ้าพ่อเอราวัณ หลวงพ่อโสธร หรือจตุคามรามเทพ ก็ไม่เป็นไรตราบใดที่ยังขยันหมั่นเพียรในการทำความดี ทางพุทธศาสนาถือว่าคนเราจะเจริญก้าวหน้าได้ก็เพราะกรรมคือการกระทำของตน คือขยันหมั่นเพียร พึ่งตนเอง ไม่ประมาท และฝึกฝนตนอยู่เสมอ จะนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ตาม ต้องไม่ประมาทหรือเลิกพึ่งพาตัวเอง หรือปฏิเสธการฝึกฝนพัฒนาตน แต่กระแสวัตถุมงคลในปัจจุบันทำให้คนประมาท ขับรถเร็วเพราะถือว่ามีของดีอยู่หน้ารถ ข้อสำคัญคือทำให้ไม่พึ่งตนเอง เพราะคอยพึ่งพาอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนงอมืองอเท้า

พระพุทธเจ้าบอกว่าแม้แต่นับถือพระองค์แล้วเลิกพึ่งตนเองก็ผิด อย่าคิดพึ่งแม้แต่พระองค์ เพราะพระองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทาง ให้พึ่งตนด้วยการพัฒนาตนอย่างดีที่สุด เพราะผู้ฝึกฝนตนได้ดีย่อมได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก

ตามหลักพุทธศาสนา ชีวิตคนต้องพัฒนา จะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ แต่วัตถุมงคลทำให้เราหยุดแล้วบางทีแย่ลง เท่านั้นไม่พอบางทียังดึงให้สิ่งที่เรายึดเหนี่ยวต่ำลงด้วย เช่น พระพุทธ เป็นของสูง แต่เดี๋ยวนี้มีความหมายกลายเป็นเพียงพระเครื่องที่วางขาย แปลว่าเราทำให้ท่านต่ำลงแทนที่ท่านจะดึงเราให้สูงขึ้น

ในเมื่อคนมีความศรัทธาก็ต้องพยายามให้เขามีศรัทธาในทางที่ถูกต้อง หรือใช้วัตถุมงคลเป็นสื่อพาเขาเข้าหาธรรม อย่างที่บอกว่า หากนับถือจตุคามแล้วละชั่วกลัวบาปอยากทำความดี อันนี้ถือว่าดีและหากขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท หลีกเลี่ยงอบายมุข ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ศรัทธาหากใช้ไปในทางที่ถูกก็เป็นของดี สมัยก่อนเวลาพระท่านจะให้วัตถุมงคลหรือพระเครื่องแก่ญาติโยม ท่านจะกำชับว่าให้ทำความดี อย่าลักขโมย อย่าผิดลูกผิดเมียใคร ท่านใช้วัตถุมงคลนั้นเป็นเครื่องกำกับให้คนมีศีล หรือคนป่วยเป็นมะเร็งไปกราบพระ ท่านก็ให้พระเครื่องมาเป็นกำลังใจ แต่เท่านี้ไม่พอ ต้องทำอย่างอื่นด้วยเพื่อให้โรคภัยไข้เจ็บหายไป

อีกทางหนึ่งคือต้องมีการควบคุมพุทธพาณิชย์หรือที่จริงต้องเรียกไสยพาณิชย์ให้อยู่ในกฎในเกณฑ์ หรืออาจกำหนดเลยว่าเก็บภาษีเพื่อนำเงินมาใช้ส่งเสริมศีลธรรม หรือส่งเสริมการศึกษาพระเณร เหมือนที่ภาษีเหล้าและบุหรี่ส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้สนับสนุนเรื่องสุขภาพของผู้คน อาตมากำลังบอกว่าถ้าเราห้ามเขาไม่ให้ทำการค้าที่มีแนวโน้มจะนำคนไปสู่ความหลงไม่ได้ ก็ต้องเอารายได้จากการค้านั้น ๆ มาส่งเสริมให้คนหลุดจากความหลง หันมาพึ่งตน และพัฒนาตน

รู้สึกอย่างไรคะที่มีคนบอกว่าหลวงพ่อสุดโต่ง

ในสายตาอาตมา ก็คิดว่าตัวเองกลางนะ (หัวเราะ) คิดว่าสาเหตุมาจากการที่อาตมาสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมพอเห็นอะไรไม่ดีก็พูด แม้ว่าคนที่เราวิจารณ์จะเป็นรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจก็ตาม ซึ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายซ้าย สุดโต่งเพราะพระทั่วไปไม่ทำกัน

แต่สมัยที่เป็นฆราวาสยอมรับว่า สุดโต่งจริง คิดอะไรก็ไปทางเดียวจนสุด อย่างตอนวัยรุ่นก็เคยคิดว่าบ้านเมืองต้องเปลี่ยนแปลงด้วยการจับอาวุธนั่นคือ ซ้ายสุด แต่ก็ไม่ได้ซ้ายแบบบ้าคลั่ง เพราะยังเห็นว่ามนุษย์สำคัญกว่าลัทธิอุดมการณ์ นี้คือเหตุผลให้หันมาสมาทานอหิงสา แต่เมื่อมาเป็นอหิงสาแล้ว ฝ่ายซ้ายก็หาว่าเราเป็นฝ่ายขวาไป

ถ้าอย่างนั้นขออนุญาตถามถึงชีวิตก่อนบวชบ้างนะคะ

อาตมาตื่นตัวเรื่องปัญหาบ้านเมืองตั้งแต่พ.ศ. 2515 ขณะนั้นอายุ 15 เรียนอยู่มศ.3 ที่อัสสัมชัญ เห็นปัญหาบ้านเมือง เช่น ความอยากจนในชนบท การปกครองที่เป็นเผด็จการ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำให้บ้านเมืองดีขึ้น นับแต่นั้นก็สนใจเรื่องนี้มาเรื่อยๆ

หลวงพ่อเคยใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไปไหมคะ

รู้สึกว่าตัวเองขาดช่วงนั้นไป (หัวเราะ) ช่วงวัยรุ่นเพื่อน ๆ เขาสนุกสนานบันเทิงใจกัน แต่เราไปสนใจเรื่องการปฏิวัติประเทศ ไปออกค่าย ไปช่วยสร้างโรงเรียนในชนบท สมัยก่อนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนเดียวในประเทศที่มีการออกค่ายอาสาพัฒนา อาตมาก็ไปร่วมตั้งแต่อายุ ๑๖ การได้ออกไปชนบทจะว่าเป็นจุดเริ่มให้เกิดสำนึกทางสังคมก็ได้ ทำให้หันมาทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น โชคดีที่ครูหลายท่านสนับสนุน ยอมให้โดดเรียนไปทำงานได้ ประกอบกับอาตมาเป็นคนเรียนดี ก็เลยไม่มีปัญหาการเรียนเท่าไหร่

ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ตอนนั้นแนวความคิดแบบสังคมนิยมแพร่กระจายมาก อาตมาก็คิดว่ามันคือทางออกของสังคมไทย ตอนนั้นเห็นว่าจีนประสบความสำเร็จหลายเรื่อง จึงคิดว่าสังคมนิยมเป็นคำตอบ แต่จะเป็นสังคมนิยมได้คงต้องใช้กำลังอาวุธในการเปลี่ยนแปลง มีความคิดแบบนี้อยู่สองปี ตอนหลังเห็นปัญหาของระบบมารก์ซิส เห็นความคับแคบการขาดขันติธรรมในหมู่นักศึกษา ประกอบกับมีความเชื่อว่าสันติสุขควรได้มาโดยสันติวิธี จึงหันมาสนใจความคิดแบบคานธีที่ใช้สันติวิธีปลดแอกประเทศ ตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่หันมาสนใจเรื่องศาสนาว่าสามารถให้คำตอบแก่ชีวิตและโลกได้

พอถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อาตมาอยู่ชุมนุมชาวพุทธ สมาทานอหิงสาแล้ว ใช้วิธีอดอาหารประท้วงสามเณรถนอมในนามชาวพุทธ ไม่ใช่ในนามของศูนย์นิสิต ฯ ซึ่งจัดประท้วงที่ธรรมศาสตร์ แต่ก็ถูกจับไปติดคุกกับเขาด้วย

ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ

ติดคุกอยู่สามวัน ความรู้สึกตอนนั้นมีสามอย่างคือ หมดหวังกับบ้านเมือง คิดว่าถ้ารัฐประหารก็ต้องมีการนองเลือดครั้งใหญ่ สิ้นศรัทธาในมนุษย์เมื่อรู้ว่ามีการแขวนคอ เผาคนทั้งเป็น ไม่คิดว่าคนด้วยกันจะทำได้ สุดท้ายคือกลัวว่า เราจะรอดไหม ถ้าเขาฆ่าเราจะต่อสู้ไหม ตอนนั้นเชื่อในสันติวิธีแล้ว เลยตั้งใจว่าหากจะต้องตายก็จะพยายามไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ แต่พ่อแม่อาตมาดีใจมากนะที่รู้ว่าอาตมาติดคุก ดีใจที่หาชื่อในหนังสือพิมพ์เจอ หลังจากที่ไปตามหาดูศพตามโรงพยาบาล เพราะไม่อย่างนั้นอาจแปลว่าตายแล้วหรือไม่ก็หายเข้าป่าไป

ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ก็มีแรงบันดาลใจให้ทำงานกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน รณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ซึ่งตอนนั้นถูกจับกันเยอะมาก ทำตั้งแต่ 2519-2526 มีความเหนื่อย เครียดสะสมกันมามาก ไม่นับที่ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน คนเราพอเครียดเมื่อเจอเรื่องเล็กน้อย เช่น ดื่มน้ำไม่ล้างแก้ว ก็ทะเลาะกันได้แล้ว ประสาอะไรกับการวิจารณ์กันแรงๆ ขัดแย้งในเรื่องงาน เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ เสาร์อาทิตย์อยู่เฉยไม่ได้ต้องออกไปช้อปปิ้ง ดูหนัง คือชีวิตและจิตใจรู้สึกกระสับกระส่าย ยิ่งระยะหลังเมื่อมีนักโทษการเมืองเหลือน้อยมาก ก็หันไปทำร่วมกับมูลนิธิเด็ก และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จับเรื่องปัญหาเด็กขาดอาหาร โดยเฉพาะในชนบท งานจึงยากขึ้นมาก ตอนนั้นพยายามทำให้ตัวเองหายเครียดด้วยวิธีไปดูหนัง พักผ่อน ไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ก็ไม่หาย มันจะหายเฉพาะเวลาที่ไปเที่ยว แต่พอกลับมาทำงานก็เป็นเหมือนเดิม เหนื่อยกว่าเดิมอีก จึงรู้ว่ามันไม่ใช่คำตอบ ครั้นจะไปปฏิบัติธรรมแบบฆราวาสก็กลัวว่าจะหาเหตุแวบไปโน่นไปนี่อีก จึงขอลางานไปบวชเสียสามเดือนเพื่อพักใจ ชีวิตจะได้นิ่งลงบ้าง

แล้วได้ผลไหมคะ

พอปฏิบัติธรรมแล้วดีขึ้น มีสติ รู้ทันความคิด ไม่ฟุ้งซ่าน รู้สึกประหลาดใจมากที่รู้ทันความคิดได้เร็ว พอรู้ว่าคิดอะไรก็วางเสีย จิตจึงสงบมากขึ้น ไม่ฟุ้งซ่านเหมือนก่อน จึงปฏิบัติต่ออีกสามเดือน แล้วก็บวชมาจนเดี๋ยวนี้ ทีแรกบวชที่วัดทองนพคุณ แล้วไปปฏิบัติที่วัดสนามใน แล้วย้ายไปอยู่กับหลวงพ่อคำเขียนที่วัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ ที่อาตมาเคยช่วยงานท่านทำสหกรณ์ข้าวมาก่อน

ปัจจุบันอาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่จะเรียกว่าเป็นแบบในนามก็ได้ เพราะส่วนใหญ่ไปจำวัดที่วัดมหาวัน เนื่องจากที่สุคะโตมีพระเยอะ มหาวันคนน้อย และมีป่าผืนใหญ่ต้องดูแล ติดต่อได้สะดวกทางจดหมาย แต่โทรศัพท์ติดต่อยาก เวลาใครนิมนต์ทางจดหมาย เราปฏิเสธได้ง่าย แต่ถ้าขึ้นมาหาบนเขา ก็ปฏิเสธยาก ดีว่าการเดินทางค่อนข้างลำบาก ทำให้คนมาหาไม่มาก มีเวลาทำงานและปฏิบัติธรรมมากขึ้น

งานรักษาป่าของท่านเป็นอย่างไรบ้างคะ

ในทางจิตวิทยาถ้ามีพระอยู่หลายรูป ชาวบ้านจะเกรงใจไม่กล้าตัดไม้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยังมีแรงเดินตรวจป่าเป็นครั้งคราว พอได้ยินเสียงปืน หรือมีคนมาเลื่อยไม้ในวัด อาตมากับพระรุ่นน้องจะเข้าไปตรวจตรา บางทีก็ต้องค้างคืนในป่า ตอนหลังทำได้น้อยลง เพราะงานเยอะ และกำลังของอาตมาไม่เหมือนเดิม ตอนนี้งานรักษาป่าหลักๆ มีสองส่วน คือปลูกป่าและดูแลไม่ให้มีการทำลายตัดหรือไฟไหม้ มีการเดินตรวจตรา ทำแนวกันไฟ อีกส่วนคือทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่ก่อนมีการเสริมอาชีพในชุมชน เพราะถ้าชาวบ้านมีปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะไปถางป่า ล่าสัตว์ แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นก็รุกรานป่าน้อยลง

งานที่ใหญ่หน่อยคือการอนุรักษ์ธรรมชาติบนหลังเขาทั้งลูก ทุกปีอาตมาจะชวนเพื่อนพระและ ฆราวาส ออกเดินธรรมยาตราตามหมู่บ้านประมาณ 8 วัน ทำมา 7 ปีแล้ว เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องอนุรักษ์ป่า รักษาลำน้ำ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ก็ได้ผลบ้างแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ทำให้เรามีเครือข่ายพอสมควร ชาวบ้านบางคนอาจไม่ชอบ ระแวงว่าพวกเราเป็นสายให้ป่าไม้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย และโชคดีว่าป่าแถวนั้นเป็นป่าขนาดเล็ก เวลาที่เหลืออาตมายังมีงานอีกอย่างที่ทำต่อเนื่องคือ การอบรมเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบ

เป็นอย่างไรคะ

ตอนนี้คนเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ตายในโรงพยาบาล และใช้เวลานานกว่าจะตาย เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยยืดลมหายใจแต่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ทุกข์ทรมานทั้งคนป่วยและญาติพี่น้อง ยิ่งโรคที่ป่วยเรื้อรังยิ่งทรมาน โครงการนี้เป็นการใช้ธรรมะมาช่วยเสริมจิตใจ การตายอย่างสงบไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัย ไม่ต้องเป็นพระหรือนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง เด็กก็ทำได้ คนแก่ก็ทำได้ หากมีคนชี้แนะหรือช่วยเหลือที่ดี อาตมาอบรมให้คนป่วย แพทย์และพยาบาล ตามโรงพยาบาลที่มีการรักษาแบบประคับประคอง คือถ้ารักษาไม่หายก็ไม่ทุ่มเงินและเทคโนโลยีเพื่อยื้อกับความตาย ซึ่งจะเพิ่มความทุรนทุรายให้คนเจ็บ แต่จะเน้นการประคับประคองทั้งกายและใจเพื่อให้ไปอย่างสงบ

ในการอบรมที่ว่าเราไม่ใช้การเทศน์ แต่อาศัยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำสมาธิภาวนา เขียนพินัยกรรมชีวิต ทำมรณสติ ใช้บทบาทสมมุติ รวมทั้งเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล นอกจากนั้นยังมีงานอบรมอีกหลายอย่างที่เป็นการนำธรรมะมาใช้กับชีวิต โดยไม่เน้นการเทศน์ เพราะกับบางคนบางเรื่องการเทศน์แทบไม่มีประโยชน์ เช่น คนที่กำลังทุกข์หนัก ใจเขาไม่ค่อยเปิดรับเหตุผลหรือธรรมะ เหมือนถูกครอบไว้ด้วยกะลาแห่งความทุกข์ แถมยังอาจมีความโกรธเกลียดเข้ามาผสมด้วย ดังนั้นอาตมาจึงเน้นการทำกิจกรรมให้เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ รวมทั้งตั้งคำถามให้เขาได้มองอีกมุม ช่วยให้เกิดข้อคิดสะกิดใจตนเอง บางคนเพียงแค่ปฏิบัติด้วยตนเองก็สามารถเห็นอะไรหลายอย่างด้วยตนเอง มีบางคนโกรธสามีที่นอกใจขนาดเลิกกันแล้วพอไปปฏิบัติธรรมก็ยังคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น แต่มีคราวหนึ่งขณะเดินจงกรม เอามือประสานกันที่หน้าท้อง เกิดเมื่อยขึ้นมาจึงปล่อยมือ พอปล่อยมือก็รู้สึกสบาย ตอนนั้นเองก็ได้คิดว่า ทุกข์เพราะยึด แต่ถ้าปล่อยเมื่อไรก็สบายเมื่อนั้น เลยปล่อยเรื่องราวในอดีตออกไปจากใจ ผลก็คือจิตใจโปร่งเบา หายทุกข์ทันที

ถ้าอย่างนั้นขอข้อคิดไปถึงคนที่กำลังทุกข์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นสุขได้คะ

เราทุกข์เพราะใจมักจะไปจดจ่อกับสิ่งที่เป็นปัญหา หรือสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา ความจริงสิ่งดี ๆ ในชีวิตก็มีมากมาย แต่ใจเรากลับมองไม่เห็น เห็นแต่สิ่งที่เป็นลบ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เป็นลบนั้นอาจจะมีน้อยกว่าสิ่งที่เป็นบวกด้วยซ้ำ

ส่วนใครที่กำลังเบื่อหน่ายกับทุกอย่างรอบตัว หรือทุกข์ว่าทำไมบ้านเมืองวุ่นวายนัก ควรมองว่าบ้านเมืองก็เหมือนกับชีวิต คือมีขึ้นมีลง มีสงบแล้วก็วุ่นวาย มีสุขกับทุกข์สลับกันไป เราควรมองว่าความวุ่นวายตอนนี้เป็นธรรมดาของวัฏจักร เราไม่สามารถคาดหวังให้ชีวิตสงบราบเรียบไปตลอดฉันใด ก็ไม่ควรหวังว่าบ้านเมืองจะราบรื่นไปตลอดฉันนั้น ยังไงก็อย่าลืมว่าความวุ่นวายทั้งหลายไม่เคยอยู่ยั่งยืน มันมาแล้วก็ต้องไปในที่สุด

จะว่าไปบ้านเมืองเราตอนนี้ถึงจะวุ่นวายยังไงก็ยังดีกว่าประเทศอื่น ๆ อีกมาก ถ้าเทียบกับปากีสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ไม่ต้องไปถึงราวันดา โซมาเลีย ก็ได้ จะพบว่าบ้านเรายังดีกว่ามาก
อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ควรมองว่าดีที่ยังไม่แย่ไปกว่านี้ ถ้ามองได้อย่างนี้ เราจะมีภูมิต้านทานความทุกข์ได้มาก มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งสมองแต่ยิ้มแย้มแจ่มใส จนคนไปเยี่ยมแปลกใจ เด็กบอกว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งมดลูก มีญาติคนหนึ่งเป็นมะเร็งมดลูก เจ็บปวดมาก เธอจึงรู้สึกโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง

ฉะนั้นสุขหรือทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ใจเราว่ามองมันอย่างไร คนพิการ คนตาบอดบางคนมีความสุขมากกว่าคนปกติเพราะเขารู้สึกโชคดีที่ตนเองยังมีชีวิต กลับไปที่บ้านเมืองเราไม่ว่าจะแย่อย่างไร ก็อย่าสิ้นหวัง อย่าลืมว่า เมื่อ 30 ปีก่อนสมัยเกิด ๖ ตุลา บ้านเมืองเราแย่กว่านี้มาก เทียบกับปี 2535 ตอนนี้ก็ยังดีกว่าตอนนั้น

ดีกว่านั้นคือมองว่า นี่คือสิ่งที่มาฝึกใจเรา ทำอย่างไรจึงจะอยู่เหนือความผันผวนปรวนแปรในชีวิตได้ เพราะถึงไม่มีเรื่องบ้านเมืองคนก็ยังทุกข์เพราะต้องผ่อนบ้าน สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียคนรัก บางคนฆ่าตัวตายเพราะเป็นสิว บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถเรียนจบสามปีครึ่งอย่างที่ตั้งใจ อาตมากำลังบอกว่าถ้าเราไม่รู้จักทำใจให้สงบ ถึงบ้านเมืองสงบ เราก็จะยังคงทุกข์อยู่นั่นเอง ถ้าเรายังทำใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ได้แล้วจะทำใจกับปัญหาชีวิตตัวเองได้อย่างไร ถ้า ลูกตาย สามีตาย หรือเกิดเจ็บป่วย พิการ เราจะทำอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวจึงเหมือนแบบฝึกหัดให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย เพราะวันข้างหน้าเราอาจต้องเจอศึกหนักกว่านี้ สิ่งที่ต้องทำมีสองอย่างคือ ทำใจและทำบ้านเมืองให้ดีขึ้น ที่บ้านเมืองทุกวันนี้มีความวุ่นวายส่วนหนึ่งก็เพราะเราปล่อยปละละเลยกัน เราจึง ควรช่วยกันทำให้สิ่งแวดล้อมดี มีสวัสดิภาพ สวัสดิการที่ดี ส่วนการทำใจคือมองอะไรในแง่ดี บ้านเรายังมีเรื่องดีๆ ที่น่าภูมิใจอยู่มาก ต้องรู้จักมองเห็นสิ่งดี ไม่ใช่จินตนาการขึ้นเองนะ แต่มองสิ่งที่มีอยู่จริง เห็นข้อดีของสิ่งที่มีอยู่ ตื่นเช้าเราเคยมองท้องฟ้ายามอรุณรุ่งหรือไม่ สังเกตดอกไม้ใบหญ้าหรือนกที่บินอยู่บ้างไหม เห็นเด็กยิ้มอยู่ริมถนนหรือไม่ หรือเห็นแต่รถติด เห็นแต่มลพิษ สิ่งดีๆ มีอยู่แต่เราไม่มอง ไม่จดจำ เหมือนเวลาคนชมเราเราไม่ค่อยจำ แต่ถ้ามีใครด่าเรา กลับจำไม่ลืม เวลามีคนให้เงินเราจำไม่ค่อยได้ แต่ใครขโมยเงินเรากลับจำได้แม่น

กระดาษแผ่นขาว ๆ มีกากบาทสีดำอยู่มุมกระดาษ ชูให้ใครดู ใคร ๆ ก็บอกว่าเห็นแต่กากบาทสีดำ แต่กลับไม่มีใครสังเกตเห็นสีขาวของกระดาษทั้งแผ่น คนเรามักจะเป็นอย่างนี้ คือเห็นแต่สิ่งที่เป็นแง่ลบหรือเป็นปัญหา แต่กลับมองข้ามสิ่งดี ๆ หรือสิ่งที่เป็นบวก เรารู้สึกว่าชีวิตย่ำแย่ เหลือเกินก็เพราะเหตุนี้

มีโยมคนหนึ่งถามลูกทุกครั้งที่กลับบ้านว่า วันนี้ไปก่อเรื่องอะไรหรือเปล่า เสร็จแล้วก็มาปรึกษาอาตมาว่ากลุ้มใจเรื่องลูกมาก ขณะเดียวกันก็เป็นทุกข์ที่ตัวเองชอบรุนแรงกับลูก อาตมาบอกว่าวันนี้ลองถามลูกใหม่ว่า วันนี้ลูกทำอะไรดีๆ มาบ้าง ขณะเดียวกันก็ถามตัวเองด้วยว่าวันนี้ทำอะไรดีๆ กับลูกบ้าง

คนที่ทุกข์จึงต้องรู้จักถามตัวเองว่าวันนี้เรามองเรื่องดีๆ บ้างหรือยัง

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร