วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2018, 12:45 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

สิริมงฺคโล รำลึก
ที่ระลึกในงานประชุมเพลิง หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล
วัดป่าเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒


คำปรารภ
--------------------------------

หนังสือสิริมงฺคโลรำลึกเล่มนี้ได้จัดทำขึ้นเนื่องในงานประชุมเพลิง หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ วันที่ ๑๘ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่เหล่าศิษยานุศิษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ และเครื่องเตือนใจแก่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายถึงองค์หลวงตา พระผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น

พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ได้บังเกิดขึ้นมาแล้วในโลก
พระผู้อยู่เพื่อสงเคราะห์สรรพสัตว์ด้วยความเมตตาไม่มีประมาณ
พระผู้ได้ล่วงลับดับขันธ์สู่พระนิพพานไปแล้วในที่สุด

แม้ว่าหลวงตาได้ละขันธ์จากศิษย์ไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับเมื่อวันพุธที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ปฏิปทาและแนวทางในการดำเนินชิวิตทั้งในเพศฆราวาสและในสมณเพศ รวมถึงคติธรรมคำสอนที่ท่านได้มอบให้ไว้ยังเป็นที่ซาบซึ้งตราตรึงอยู่ในจิตของศิษย์ทั้งหลายอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

อย่างไรก็ตามประวัติและคติธรรมคำสอนของท่านยังมิเคยได้มีการรวมขึ้นเป็นรูปเล่มและเผยแพร่เป็นสาธารณะมาก่อน เมื่อวันเวลาล่วงไป คำสอนต่างๆ ของท่านที่นานวันอาจจะพากันลืมเลือนไปได้ตามความไม่เที่ยวของสัญญา และสูญหายไปตามความเสื่อมของสังขารในที่สุด

ในวาระนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รวบรวมประวัติและคติธรรมคำสอนของหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล เพื่อรำลึกถึงหลวงตา รวมถึงบันทึกธรรมของท่านจากแหล่งต่างๆ ทั้งที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เทปวีดีโอ และจากคำบอกเล่าของศิษยานุศิษย์ที่ได้มีโอกาสเดินทางมากราบนมัสการและรับฟังคำสอนของท่านในวาระต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตของท่าน

การที่หนังสือเล่มนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั้น เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นพระคุณเจ้ารูปต่างๆ และฆราวาสทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เมตตาเขียนบทรำลึกถึงองค์หลวงตา พระอาจารย์พลศรี มหาปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้เมตตาให้ข้อมูลในส่วนประวัติขององค์หลวงตาและสมุดบันทึกธรรมโดยองค์หลวงตา ซึ่งเป็นสมุดที่ท่านได้คัดลอกธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางองค์ของท่านไว้ด้วยลายมือของท่านเอง นอกจากนี้แล้ว คุณลุงชัย โพยมแจ่ม ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตขององค์หลวงตา ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การปรนนิบัติรับใช้องค์หลวงตาจากมุมมองของผู้เป็นลูกและศิษย์คนหนึ่ง รวมถึงศิษยานุศิษย์ท่านอื่นๆ ที่ได้ร่วมมอบคติคำสอนต่างๆ ขององค์หลวงตาที่ได้จดบันทึกกันไว้ให้มาอยู่รวม ณ ที่เดียวกันนี้ และสุดท้ายนี้หนังสือเล่มนี้จะสำเร็จไปมิได้ หากไม่ได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มเพื่อนธรรมเพื่อนทำ ในการออกแบบ รวบรวมเรียบเรียง และจัดทำรูปเล่มจนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ในที่สุด

ท้ายที่สุดนี้หากการจัดทำหนังสือเล่มนี้มีข้อผิดพลาด หรือมีส่วนล่วงเกินต่อองค์หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยประการใดก็ตาม คณะผู้จัดทำขอน้อมรับความผิดนั้นและกราบขอขมาต่อองค์หลวงตาไว้ ณ ที่นี้

คณะศิษยานุศิษย์
๑๘ มกราคม ๒๕๕๒

รูปภาพ
พระอาจารย์พลศรี มหาปญฺโญ
เจ้าอาวาสวัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 15:14 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 15:15 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ผู้ตั้งใจไว้งาม งามตลอดสาย
--------------------------------

หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล แม้ท่านจะเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ อุปสมบทเมื่อวัยชรา แต่ก็นับได้ว่าเป็นผู้ตั้งใจไว้งาม ย่อมได้ชื่อว่า งามตลอดสาย เพราะเป็นการบวชด้วยศรัทธา ความเลื่อมใส ความซาบซึ้ง ในคุณพระรัตนตรัยและพอใจ ภูมิใจในกระแสธรรม และปฏิปทาบารมีในหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้แหละที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านตั้งใจในข้อวัตรปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรภาวนา ด้วยความภาคภูมิใจ และตั้งใจอย่างยิ่ง

จริงอยู่ การบวชเมื่อวัยชรา ที่เป็นหลวงตาทั่วไป ก็มีอยู่มากมายหาไม่ยาก แต่การที่จะตั้งใจมุ่งมั่นเพื่อปฏิบัติในสมาธิภาวนา เพียรพยายามและดำเนินชีวิตในการบวชให้ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงนั้น ก็หาได้ยากยิ่ง ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งใจแน่วแน่อย่างหลวงตาผนึก จึงเป็นบุคคลที่หาได้ยาก เมื่อท่านเป็นพระเถระฝ่ายชราที่มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติธรรม เกรงกลัวต่อการผิดพลาดในพระธรรมวินัย แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ชีวิตการบวชในวัยชราของท่านจึงมีความหมายในการดำรงตนอยู่ในภูมิธรรมที่ดีงามให้เกิดความเคารพนับถือและเลื่อมใสแก่สาธุชนได้ทุกชนชั้นวรรณะ ตลอดชีวิตการปฏิบัติธรรม นามขันธ์ของท่านตั้งอยู่บนความไม่ประมาทตลอดสิ่งใดที่สงสัยต่อการผิดหรือถูก ก็จะยับยั้งชั่งใจ และสนใจไต่ถามจากครูบาอาจารย์อย่างต่อเนื่องตลอดมา นับได้ว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นที่ยกย่องยอมรับของพระเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นต้น เคยชี้แนวทางบอกผู้สูงอายุว่า การดำรงตน ประพฤติตน หรือปฏิบัติตนให้ดูแนวทางปฏิบัติจากหลวงตาผนึกได้ ก็จะเป็นหนทางที่ดีงาม สำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยความไม่ประมาท ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วในหลวงตาผนึกอย่างสมบูรณ์ บริบูรณ์

ดังนั้นคุณงามความดีนี้แล เป็นเหตุให้ท่านเจริญงอกงามด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ จนกระทั่งอายุ ถึง ๙๐ กว่า แม้จะอยู่ในวัยชรา และมีโรคภัยไข้เจ็บตามเบียดเบียนก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อพักรักษาโรคอาพาธที่โรงพยาบาลทั้งที่จังหวัดสุรินทร์บ้าง จังหวัดขอนแก่นบ้าง ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดความลำบากแก่แพทย์ พยาบาล และผู้เยี่ยมเยียน เราเองเคยไปเยี่ยมท่านเกือบทุกครั้ง เมื่อท่านอยู่โรงพยาบาล กล่าวกระแสธรรมให้ฟังและสวดมนต์ให้ท่านฟังตามโอกาสที่มีทุกครั้ง ท่านจะรับทราบและมีความผ่องใส สง่างาม เกิดซึ้งใจในขณะนั้นทุกครั้งไป และยิ้มแย้มแจ่มใสทุกครั้งโดยลำดับ

จนกระทั่งสุดท้าย เมื่ออาการอาพาธของท่านไม่ดีขึ้น สานุศิษย์เห็นว่าท่านมีอาการขั้นสุดท้ายแล้ว จึงขอโอกาสนำท่านกลับไปอยู่วัดอันเป็นอารามของท่าน ณ กุฏิประจำของท่าน ได้เข้าไปเยี่ยมท่านครั้งสุดท้ายพร้อมทั้งพระเถระที่คุ้นเคย มีพระครูภาวนาปัญญาภรณ์ หลวงปู่เอียน และพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นๆ มีประมาณ ๗-๘ รูป ช่วยกันสวดมนต์ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพระปริตรหลายบท โพชฌงค์ ฯลฯ ให้ท่านฟัง ท่านสามารถรับรู้รับฟังอย่างแช่มชื่นเบิกบาน จึงได้กล่าวกระแสธรรมตามที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เคยกล่าวไว้ให้หลวงพ่อเบส ซึ่งใกล้จะสิ้นลมฟัง เห็นความรู้สึกของท่านแจ่มใส แล้วจึงลาท่านกลับ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ท่านก็ละสังขารไปโดนอาการสงบ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต ด้วยลักษณาการเดียวกันนี้แล

ดังนั้น จึงเห็นว่าท่านเป็นสุคโต ผู้ไปดีแล้ว คงเหลือไว้แต่ความอาลัยอาวรณ์และเสียดายพระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยความไม่ประมาทอย่างที่ท่านดำรงมาโดยตลอด ด้วยความอาลัยอย่างยิ่ง

พระราชวรคุณ
เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 15:15 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติ
หลวงตาผนึก สิริมฺงคโล

--------------------------------

หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ท่านเป็นพระผู้มีจริยาวัตรเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเมตตาในการสงเคราะห์ญาติโยมผู้มากราบนมัสการท่านมีอยู่มิได้ขาด ท่านมีรอยยิ้มอันเบิกบาน เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระผู้ว่านอนสอนง่าย มีความกตัญญูและเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ยิ่งชีวิต

ตลอดชีวิตของท่านได้มีพระเถรานุเถระต่างๆ ให้ความอนุเคราะห์ท่านอย่างสม่ำเสมอ อาทิเช่น พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์, พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ) วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์, พระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และพระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (พระอาจารย์สุพร อาจารธมฺโม) วัดป่าปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น

โดยเฉพาะหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ นั้นถือได้ว่าเป็นครูบาอาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของท่าน หลวงตาได้ยกย่องและให้ความเคารพรักหลวงปู่สุวัจน์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของข้ออรรถข้อธรรมทั้งหลาย หลวงตาต้องกราบขอความเมตตาให้หลวงปู่สุวัจน์พิจารณาให้คำแนะนำทุกครั้งไป หลวงปู่สุวัจน์เองก็ได้ให้ความเมตตากับหลวงตาเป็นอย่างมากโดยก่อนที่หลวงปู่สุวัจน์จะละสังขารไปในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ท่านได้บอกกล่าวกับคณะศิษยานุศิษย์ของท่านให้ทราบถึงภูมิธรรมของหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ไว้ว่า

“ให้ดูแลหลวงตาแก่ๆ รูปนี้ให้ดีนะ ถึงจะมีเงินมีทองมากมายขนาดไหน ก็หาซื้อไม่ได้สำหรับหลวงตาแก่ๆ รูปนี้นะ”

ชาติภูมิ

หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ท่านมีนามเดิมว่า “ผนึก โพยมแจ่ม” เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ หมู่บ้านโชค หมู่ที่ ๓ ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเมือง (ปัจจุบันคือ อำเภอเขวาสินรินทร์) จังหวัดสุรินทร์ โยมบิดาของท่านชื่อ “นายพุ่ม” โยมมารดาชื่อ “นางเอี่ยม” ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ และเป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว ในจำนวนพี่น้อง ๔ คน ดังนี้

คนที่ ๑ ชื่อ นางเป๊ะ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)
คนที่ ๒ ชื่อ นางโปม (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)
คนที่ ๓ หลวงตาผนึก สิริมฺงคโล (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว)
คนที่ ๔ ชื่อ นางปอม (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)

มุ่งสู่เพศพรหมจรรย์ครั้งแรก

เมื่อถึงวัยอันควร ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเขวา (หรือวัดโพธิ์รินวิเวก ในปัจจุบัน) จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ต่อมาเมื่อท่านมีอายุได้ ๑๙ ปี ท่านได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิ์รินทร์วิเวก บ้านเขวาสินรินทร์ ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเมือง (ปัจจุบันคือ อำเภอเขวาสินรินทร์) จังหวัดสุรินทร์ เป็นเวลา ๑ พรรษา จากนั้นจึงได้ลาสิกขาออกมา ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในมหานิกาย ณ พัทธสีมาเดิม ที่วัดโพธิ์รินทร์วิเวก เมื่อบวชได้เป็นเวลา ๔ พรรษา ท่านจำเป็นต้องลาสิกขาออกมา เนื่องจากบิดามารดาต้องการให้ท่านซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัวออกมาช่วยแบ่งเบาภาระในการทำนา ด้วยความกตัญญูรู้คุณท่านจึงยอมทำตามความปรารถนาของบิดามารดา

ชีวิตการครองเรือน

ต่อมาเมื่อโยมบิดาและมารดาของท่านเห็นว่าท่านถึงวัยอันควรที่จะต้องมีคู่ครองแล้ว จึงได้จัดหาคู่ครองให้ท่านตามประเพณี ท่านได้แต่งงานใช้ชีวิตการครองเรือนกับคุณยายปิม (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน และ มีบุตรธิดาด้วยกันรวมทั้งหมด ๕ คน โดยคนแรกเป็นหญิง (ถึงแก่กรรมตั้งแต่วัยเยาว์) ส่วนอีก ๔ คนนั้นเป็นชายทั้งสิ้นและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับชีวิตในเพศฆราวาสของหลวงตานั้น ท่านดำเนินชีวิตแบบมักน้อย สันโดษ แม้จะต้องทำมาหากินแบบชาวบ้านทั่วไป ซึ่งมักหนีไม่พ้นการจับปลา ท่านก็ไม่เต็มใจกับการฆ่าสัตว์นัก แต่ท่านจำเป็นต้องทำเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว หากวันไหนท่านจับปลาได้น้อย ท่านก็จะบอกว่า “นี่ วันนี้บาปน้อย” แต่อย่างไรก็ตามท่านมักหาโอกาสเข้าวัดทำบุญและปฏิบัติทำความเพียรควบคู่กันไปอยู่เสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกๆ วันพระ ท่านจะสั่งให้ลูกๆ ของท่านอยู่เฝ้าบ้านเพื่อเลี้ยงควาย แล้วท่านก็จะหยุดทำนาเพื่อไปรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาที่วัด ท่านปฏิบัติทำความเพียรมาเช่นนี้มามิได้ขาด ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกพรรษาหรือเข้าพรรษาก็ตาม ท่านได้บอกกับลูกๆ เสมอว่า

“พ่อไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ต้องการแต่ว่าพอได้กินได้ใช้พอ ไม่ต้องการร่ำรวยอะไรหรอก ชาตินี้ขอปฏิบัติสร้างบารมีไปเรื่อยๆ ขอให้มึงอยู่ที่บ้านแล้วเลี้ยงควายเลี้ยงอะไรให้มันกินอิ่มหนำสำราญ ไม่ใช่วันพระแล้วก็ยังจะให้มันไปทำนาอีก กลัวมันจะเหนื่อย”

แม้กระทั่งในยามปกติที่ว่างเว้นจากการทำนาในช่วงกลางวัน ท่านมักใช้เวลาที่เหลือของท่านในการปฏิบัติความเพียรอยู่เสมอ บุตรชายคนโตของหลวงตาได้เล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งในสมัยที่ตนยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ตนมักติดตามผู้เป็นพ่อไปนอนค้างคืนในทุ่งนาอยู่เสมอ มีอยู่คืนหนึ่งในช่วงฤดูหนาว ผู้เป็นพ่อได้ก่อไฟผิงเพื่อคลายความหนาวให้ตนได้นอนหลับสบาย พอตกกลางคืนตนบังเอิญตื่นขึ้นมา ก็เห็นผู้เป็นพ่อเดินจงกรมอยู่บนคันนากลับไปกลับมา ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาของเด็ก ตนจึงได้ถามผู้เป็นพ่อว่า “พ่อทำอะไร ทำไมเอาแต่เดินไปเดินมา” ท่านไม่พูดอะไรมาก เพียงแต่ตอบสั้นๆ ว่า “ทำความสงบ”

ต่อมาเมื่อหลวงตาเห็นว่าลูกๆ ของท่านโตกันหมดแล้ว ซึ่งบางคนก็มีครอบครัวไปแล้วท่านจึงได้ปรารภกับภรรยาว่ายังอยากจะขอบวชอีกครั้ง ผู้เป็นภรรยาจึงบอกว่าให้ท่านอยู่ช่วยทำงานเพื่อใช้หนี้สินที่มีอยู่ของครอบครัวให้หมดเสียก่อน แล้วจะรับเป็นเจ้าภาพดูแลการบวชให้เอง แต่ต่อมาภายหลังภรรยาของท่านก็ได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน

แม้ว่าการจัดการงานศพของภรรยายังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ภายในจิตใจของท่านได้แต่คิดคำนึงถึงเรื่องการออกบวชอยู่ตลอดเวลา ท่านเห็นว่าตอนนี้เป็นโอกาสอันดีแล้วที่จะได้ออกบวชตามที่เคยตั้งใจไว้แต่ก็ยังติดอยู่ที่ว่าท่านยังมีหนี้สินที่ยังค้างอยู่ ต่อมาเมื่อจัดการงานศพของผู้เป็นภรรยาเสร็จเรียบร้อยแล้วลูกๆ ของท่านจึงอาสาช่วยจัดการหนี้สินทั้งหมดให้

รูปภาพ
พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม

รูปภาพ
พระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม
เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน


รูปภาพ
พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ) วัดป่าเขาน้อย


เข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง

หลังจากที่ลูกๆ ของท่านได้ช่วยกันใช้หนี้ของครอบครัวจนหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงได้เข้าสู่เพศบรรพชิตอีกครั้ง ในขณะที่ท่านมีอายุได้ ๖๐ ปี โดยอุปสมบทในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมา วัดบูรพาราม พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลา ๑๓.๔๕ น. ได้รับฉายาว่า สิริมงฺคโล โดยมี

พระรัตนากรวิสุทธิ์ วัดบูรพาราม (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชวุฒาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระครูสถิตสารคุณ วัดบูรพาราม (หลวงพ่อเสถียร สถิโร ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระรัตนากรวิสุทธิ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระครูนันทปัญญาภรณ์ วัดบูรพาราม (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชวรคุณ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์


โดยใน ๔ พรรษาแรก หลวงตาได้พักจำพรรษา ณ วัดต่างๆ ดังต่อไปนี้ (สำหรับในพรรษาที่ ๕ เป็นต้นไปจนกระทั่งท่านมรณภาพ ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นส่วนใหญ่)

พรรษาแรก
หลังจากที่อุปสมบทเรียบร้อยแล้วในปีนั้นท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองเวียน หมู่บ้านโชค ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในบริเวณบ้านเกิดของท่านเป็นเวลา ๑ พรรษา

พรรษาที่ ๒
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้เดินทางไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อจำพรรษาและศึกษาธรรมะกับหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ณ วัดถ้ำศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นเวลา ๑ พรรษา

หลวงตาท่านเล่าว่าเมื่อครั้งที่อยู่จำพรรษาอยู่ ณ วัดถ้ำศรีแก้วนี้ แม้ว่าหลวงตาจะเป็นพระผู้น้อยในขณะนั้น หลวงปู่สุวัจน์ไม่เคยถือเนื้อถือตัวกับท่านเลย แต่ยังกลับให้ความเป็นกันเองและอีกทั้งยังคอยดูแลช่วยเหลือเมตตาหลวงตาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเวลาฉันจังหันหลวงตาซึ่งเป็นพระผู้สูงวัยและมีรูปร่างผ่ายผอมนั่งอยู่ท้ายแถวเพราะมีพรรษาน้อย เมื่อมีญาติโยมมาถวายนมหรือโอวัลติน หลวงปู่สุวัจน์จะให้โยมส่งลัดให้หลวงตาอยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งในเวลาที่หลวงตากำลังกวาดตาด (กวาดลานวัด) จากบริเวณภายในตัววัดมาถึงบริเวณที่ติดกับถนนซึ่งนับได้ว่ามีระยะทางไกลพอสมควร หลวงปู่สุวัจน์ท่านก็ให้ความเมตตา คอยเดินให้กำลังใจหลวงตาตลอดทาง อีกทั้งยังพูดหยอกล้ออย่างเป็นกันเองว่า “เอาสู้ๆ หลวงตาสู้ๆ”

พรรษาที่ ๓
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านกราบลาหลวงปู่สุวัจน์เพื่อขอเดินทางกลับมายังจังหวัดสุรินทร์เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินมรดกของท่านให้แก่ลูกๆ เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านได้จำพรรษา ณ วัดหนองเวียน จังหวัดสุรินทร์ อีกครั้งหนึ่ง

พรรษาที่ ๔
ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ภายหลังเมื่อถึงเวลาออกพรรษาแล้ว ท่านมีความตั้งใจที่จะเดินทางกลับไปอยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมกับหลวงปู่สุวัจน์ ณ วัดถ้ำศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร อีกครั้ง ในการเดินทางครั้งนี้ท่านได้ออกเดินทางจากวัดหนองเวียน จังหวัดสุรินทร์ โดยมีหลวงตาดุน ซึ่งเป็นพระผู้สูงวัยเช่นเดียวกับท่าน แต่มีอายุพรรษามากกว่าเล็กน้อยร่วมเดินทางไปด้วย ท่านทั้งสองมีความตั้งใจที่เดินทางโดยไม่เร่งรีบ ในระหว่างทางจึงได้แวะพัก ณ บริเวณป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากอำเภอเขวาสินรินทร์ในปัจจุบันเท่าไหร่นัก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 17:08 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในมหานิกาย
ณ พัทธสีมา วัดโพธิ์รินวิเวก บ้านเขวาสินรินทร์
ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
เมื่อบวชได้เป็นเวลา ๔ พรรษา ท่านจำเป็นต้องลาสิกขาออกมา


รูปภาพ

ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง
ในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมา วัดบูรพาราม พระอารามหลวง
อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
เมื่อวันที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลา ๑๓.๔๕ น.
ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “สิริมงฺคโล”
ซึ่งแปลว่า ผู้มีสิริอันเจริญ, ผู้มีสิริมงคล, มีมงคลเป็นสิริ


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 17:16 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

กำเนิดวัดป่าเขวาสินรินทร์

หลังจากนั้น หลวงตาผนึกและหลวงตาดุนได้ปรึกษาหารือกันว่า หากปักกลดในป่าลึก ระยะทางอาจจะไกลเกินไปสำหรับการที่หลวงตาดุนจะเดินบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านในตอนเช้า ดังนั้นจึงได้ตกลงใจพากันออกมาปักกลดอยู่บริเวณชายป่าแทน ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินคือนายโชยและนางใบ ไกรพูน ทราบว่ามีพระธุดงค์ ๒ รูปเดินทางมาปักกลด พำนักอยู่ในบริเวณที่ดินของตน จึงได้ออกมากราบนมัสการ เมื่อได้เห็นปฏิปทาของพระทั้งสองแล้ว ได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงกราบนิมนต์ขอให้ท่านทั้งสองพำนักเพื่อปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่ต่อไป โดยต่อมาภายหลังโยมทั้งสองนี้ได้ถวายที่ดินในบริเวณดังกล่าวจำนวน ๓ ไร่ ให้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาสืบไป เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หลวงตาผนึกจึงได้เดินทางไปกราบเรียนหลวงปู่ดูลย์ อตุโลให้ทราบถึงเรื่องที่ดินดังกล่าว

เมื่อหลวงปู่ดูลย์ท่านทราบความดังนั้นแล้ว จึงได้เมตตาเดินทางมาดูที่ดินผืนนี้ด้วยตนเอง และท่านได้บอกหลวงตาผนึกไว้ในคราวนั้นว่า “ให้อยู่ตรงนี้แหละ ให้อยู่ไป ไม่ต้องคิดถึงเรื่องการก่อสร้างอะไร ให้ตั้งใจภาวนา ให้ตั้งใจสร้างจิตสร้างใจของตัวเองให้เป็นธรรม ให้มีภูมิอรรถภูมิธรรม มีคุณธรรมประจำใจ ส่วนทางด้านวัตถุสิ่งของ ปัจจัย ๔ นั้น ในกาลข้างหน้าจะมีศรัทธาญาติโยมมาสร้างถวายให้เอง ไม่ต้องคิดเรื่องงานก่อสร้างให้ลำบากลำบน งานเหล่านั้นมีเจ้าของหมดแล้ว”

เมื่อหลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวไว้เช่นนั้นแล้ว ด้วยความเคารพและเชื่อฟังครูบาอาจารย์ หลวงตาจึงอยู่จำพรรษาที่นี่เพื่อตั้งใจปฏิบัติความเพียรตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน ส่วนเรื่องงานก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดซึ่งได้เกิดขึ้นในภายหลังนั้น เป็นไปตามคำพูดของหลวงปู่ดูลย์ทุกประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ที่ดินของวัด
ด้วยอาณาบริเวณเพียง ๓ ไร่ บริเวณที่หลวงตาพำนักอยู่ในขณะนั้นจึงมีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ โดยมีชื่อว่า สำนักสงฆ์สุขไกลวิเวกวนาราม

ต่อมามีโยมสองท่าน ชื่อนายไพรัตน์กับนางเกสร สองสามีภรรยา ผู้มีความศรัทธาในองค์หลวงตาตั้งแต่เมื่อครั้งเคยได้พบท่านครั้งแรกที่วัดบวรสังฆาราม จังหวัดสุรินทร์ ได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงตาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ และเห็นว่าพื้นที่ของสำนักสงฆ์ในขณะนั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงมีความประสงค์ร่วมกันจัดผ้าป่าเพื่อหาปัจจัยซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมให้ได้อีก ๓ ไร่ เพื่อให้สำนักสงฆ์มีที่ดินครบ ๖ ไร่ และสามารถดำเนินการขอเปลี่ยนสถานะเป็นวัดได้ ครั้นเมื่อการจัดซื้อที่ดินของวัดสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักสงฆ์แห่งนี้จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัด ชื่อ วัดป่าเขวาสินรินทร์ (อ่านออกเสียงกล้ำว่า ขะเหวา-สิ-นะ-ริน) ตามชื่อชุมชนที่อยู่ในบริเวณนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สำหรับที่ดินเพิ่มเติมผืนสุดท้ายของวัดป่าเขวาสินรินทร์นั้นได้รับความเมตตาจากหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ กล่าวคือโดยปกติแล้ว เมื่อหลวงปู่สุวัจน์เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ (ช่วงนั้นหลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา) ท่านมักจะให้ความเมตตาแวะเวียนมาเยี่ยมหลวงตาผนึกอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่งหลวงปู่สุวัจน์ได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงตาที่วัดป่าเขวาสินรินทร์ และพิจารณาเห็นว่าที่ดินของวัดในขณะนั้นซึ่งมีประมาณ ๖ ไร่ สมควรที่จะขยับขยายเพิ่มเติม เจ้าของที่ดินผืนที่ติดกับวัดก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนที่ดินให้ ในครั้งนั้นหลวงปู่สุวัจน์ท่านได้เมตตามาเป็นประธานในการจัดหาปัจจัยเพื่อซื้อที่ดินในบริเวณอื่นมาแลกเปลี่ยนกับที่ดินผืนที่อยู่ติดกัน กับบริเวณวัดให้เจ้าของที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ และมอบหมายให้ลูกศิษย์ของหลวงปู่สุวัจน์ท่านหนึ่งเป็นธุระในการจัดการดูแลเรื่องการโอนที่ดินของวัดให้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ในปัจจุบันวัดป่าเขวาสินรินทร์ มีพื้นที่ทั้งหมดรวม ๑๐ ไร่ ๓ งาน

กุฏิหลังใหม่
เมื่อคราวที่หลวงปู่สุวัจน์เดินทางมาจัดการซื้อที่ดินเพิ่มเติมนั้น ท่านเห็นว่ากุฏิของหลวงตาค่อนข้างเล็กและคับแคบซึ่งไม่เพียงพอต่อการต้อนรับญาติโยมที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คณะลูกศิษย์หลวงปู่สุวัจน์จึงได้ปรึกษากันเพื่อสร้างกุฏิหลังใหม่ถวายท่าน ด้วยความศรัทธาต่อการบำเพ็ญบุญของคณะสานุศิษย์ ทุกอย่างก็สำเร็จบริบูรณ์ในเวลาไม่นาน

ศาลาหลังใหม่
ครั้งหนึ่งพระอาจารย์พลศรี มหาปญฺโญ (เจ้าอาวาสวัดป่าเขวาสินรินทร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน โดยมีหลวงตาผนึกเป็นประธานสงฆ์) ได้ยินหลวงตาท่านปรารภว่า “บวชมาชาติหนึ่ง น่าจะได้ศาลาสักหลังหนึ่ง”

เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้วได้แต่คิดในใจว่า เพื่อเป็นการสนองคุณของครูบาอาจารย์ โดยที่ไม่ต้องการให้หลวงตาท่านต้องเหน็ดเหนื่อยกับการงานการก่อสร้างในครั้งนี้ อาจารย์พลศรีจึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับบรรดาญาติโยม ในตอนนั้นพอดีมีโยมท่านหนึ่งจากจังหวัดบุรีรัมย์ ได้พาคุณพ่อเดินทางมากราบนมัสการหลวงตา คุณพ่อของโยมท่านนั้นพอได้ทราบเรื่องก็มีศรัทธา และได้ร่วมถวายปัจจัยเพื่อสร้างศาลาหลังนี้เป็นคนแรกทันทีเป็นจำนวนเงินสองแสนบาท ต่อมาก็ได้รับปัจจัยจากงานกฐินมาสมทบอีกหนึ่งแสนบาท ทางวัดจึงได้เริ่มงานก่อสร้างศาลาด้วยเงินเริ่มต้นจำนวนสามแสนบาทนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จใช้ปัจจัยไปทั้งสิ้น หนึ่งล้านสองแสนบาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ญาติโยมทั้งหลายมีศรัทธาบริจาคเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องบ้างสังกะสีบ้าง คนละไม้คนละมือ ท้ายที่สุดแล้วทางวัดยังมีเหลือเงินอีกจำนวน สามหมื่นบาทหลังจากงานก่อสร้างครั้งนี้

ดังจะเห็นได้ว่า กลิ่นศีลของพระผู้ทรงศีล ผู้ทรงคุณงามความดีอย่างองค์หลวงตาได้อบอวลขจรกระจายออกไปและนำมาสู่การหลั่งไหลเข้ามาของศรัทธาและโภคทรัพย์สู่วัดป่าเขวาสินรินทร์อย่างต่อเนื่องสมดังที่ว่า

“สีเลนะ สุคะติง ยันติ บุคคลจะมีความสุขก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา บุคคลที่จะมีโภคสมบัติก็เพราะศีล”

ด้วยอานิสงส์นี้เป็นเหตุให้หลวงตาได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ รวมถึงฆราวาสผู้มีความศรัทธาในองค์ท่าน ต่างมาร่วมช่วยกันเป็นเจ้าภาพในการจัดหาปัจจัย หรือดูแลงานการก่อสร้างในวาระต่างๆ กััน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามญานทัสสนะในการรู้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าของหลวงปู่ดูลย์ทุกประการ

รูปภาพ

นิมิตเห็นวัดป่าเขวาสินรินทร์

หลวงตาผนึกได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ท่านยังจำพรรษาอยู่วัดหนองเวียน จังหวัดสุรินทร์ ท่านได้นิมิตเห็นศาลาไม้หลังเก่า (ปัจจุบันศาลาหลังดังกล่าวถูกรื้อไปแล้ว) ในวัดป่าเขวาสินรินทร์มาก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่นี่ ท่านจึงได้ปรารภเรื่องนิมิตนี้กับพระอาจารย์พลศรีว่า ศาลาไม้หลังนี้เหมือนกับที่ท่านเห็นในนิมิตทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเชือกราวตากผ้าสีแดง หรือศาลาไม้หลังเล็กๆ เป็นต้น

อาพาธหนักครั้งแรก

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ขณะนั้นหลวงตาผนึก ท่านได้ท่านมีอายุได้ ๖๗ ปี และบวชมาเป็น พรรษาที่ ๙ ในปีนี้เป็นปีแรกที่ท่านเริ่มอาพาธหนักจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ในปีนั้นหลวงตาท่านมีอาการอาพาธด้วยโรคท้องเสีย ทำให้ท่านต้องเดินเข้าออกห้องน้ำซึ่งอยู่ห่างไกลจากกุฏิของท่านวันละหลายหลายรอบ

พระอาจารย์พลศรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระบวชใหม่ และยังไม่คุ้นเคยกับหลวงตามากนัก จึงได้แต่เฝ้าดูด้วยความห่วงใยอยู่ห่างๆ ในช่วงบ่ายของวันนั้นมีฝนตกพรำๆ ตลอดทั้งวัน หลวงตามีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากท้องเสียหนักตลอดทั้งวัน หลังจากที่ท่านออกจากห้องน้ำแล้ว ท่านก็ยืนพิงต้นไม้อยู่สักพักหนึ่ง เมื่อมีแรงคืนมาบ้างแล้ว ท่านจึงเดินกลับเข้าไปนั่งพักอยู่บนโซฟาบริเวณหน้ากุฏิของท่าน พระอาจารย์พลศรีเห็นว่าหลวงตามีอาการไม่สู้ดีนัก จึงได้ตัดสินใจเข้าไปช่วยพยุงหลวงตาเพื่อเข้าไปพักในกุฏิแล้วประคองให้ท่านนอนลง

ในตอนนั้นท่านได้นอนพักแล้วเกิดนิมิตขึ้น ท่านเล่าว่าในนิมิตนั้นมีรถสแตนเลสสีขาวสวยงามมาก (เป็นคำเปรียบเทียบที่ท่านใช้เพื่อบรรยายนิมิตที่เห็น) มาจอดรออยู่พร้อมคนขับโดยไม่พูดจาอะไร เมื่อท่านพิจารณาด้วยจิตจึงรู้ได้ทันทีว่า รถคันนี้เธอยานพาหนะที่จะนำพาดวงจิตของท่านไปเกิดอีก ท่านจึงปรารภกับตนเองในใจว่า “เรารู้แล้วว่า ท่านจะมารับเราไปเกิดอีก เราจะไม่ไปเกิดอีกแล้ว” ทันทีที่ท่านตั้งใจเช่นนั้นแล้ว ทั้งรถทั้งคนขับในนิมิตนั้นก็หายวับไปพร้อมกัน

หลังจากนั้นพระอาจารย์พลศรีก็ออกจากกุฏิของหลวงตาเพื่อบอกพระอีกรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ในวัดด้วยกัน ให้ไปบอกญาติโยมให้มาช่วยกันดูอาการอาพาธของหลวงตา พอญาติโยมมาถึงก็ช่วยกันพาท่านไปนอนพักอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ในศาลา พระอาจารย์พลศรีเห็นท่านนอนนิ่งอยู่นานผิดสังเกตไม่มีอาการขยับตัวเลย จึงจับดูที่หน้าท้องของท่าน พบว่าหน้าท้องของท่านแข็งเหมือนกะลามะพร้าว จึงรีบพาท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์

ต่อมาเมื่อแพทย์ตรวจดูแล้วก็พบว่าท่านมีอาการอาพาธด้วยโรคลำไส้อักเสบ จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ที่เสียออก เมื่อแพทย์ถวายถวายการผ่าตัดให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาการอาพาธของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จึงได้เรียกลูกๆ ของหลวงตามาขอความยินยอมเพื่อที่จะถวายการผ่าตัดรักษาท่านอีกครั้งหนึ่ง ในตอนนั้นเองแม้ท่านจะอาพาธหนักแต่ท่านก็มีสติรู้ตัวอยู่ตลอด เมื่อได้ยินว่าจะต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้ง ท่านจึงบอกกับลูกๆ ของท่านในทันทีว่า ให้พาท่านกลับไปตายที่วัด ลูกๆ จึงพร้อมใจขออนุญาตแพทย์เพื่อพาท่านกลับมาที่วัดป่าเขวาสินรินทร์ตามความประสงค์ของท่าน

ในตอนนี้ท่านกลับมานอนพักอยู่บนศาลาวัด ฉันอาหารไม่ได้เลยแม้แต่น้ำก็ฉันไม่ได้ ทำให้ท่านมีอาการคอแห้งแทบไม่มีเสียงและ ต้องเอาหูไปแนบใกล้ๆ กับปากของท่านจึงจะพอได้ยินเสียงของท่านได้บ้าง ญาติโยมเกรงว่าท่านจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกได้ไม่เกินช่วงหลังออกพรรษาของปีนั้น จึงได้ปรึกษาและพากันไปนิมนต์พระอาจารย์สุพร อาจารธมฺโม วัดป่าปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

สำหรับพระอาจารย์สุพรนี้ ท่านมีอายุน้อยกว่าแต่พรรษามากกว่าหลวงตา สมัยที่หลวงตายังเป็นฆราวาส หลวงตาได้ไปทำบุญกับพระอาจารย์สุพรด้วยความเคารพในฐานะครูบาอาจารย์องค์หนึ่งอยู่เสมอ อาจารย์สุพรในขณะนั้นก็เห็นว่าหลวงตาเป็นโยมสูงอายุที่มีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยไม่พูดจาเล่นหัวแบบคนอื่น เป็นคนแก่ที่มีความเรียบง่าย เห็นแล้วก็แปลกกว่าคนอื่น ภายหลังเมื่อหลวงตาบวชเข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว หลวงตาก็ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์สุพรอยู่เสมอ เช่น ในการให้ความสะดวกในการเดินทางไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ที่วัดถ้ำศรีแก้ว จังหวัดสกลนครเนื่องจากในสมัยนั้นการเดินทางไปกราบครูบาอาจารย์แต่ละครั้งเต็มไปด้วยความยากลำบาก การจะหารถโดยสารจากจังหวัดสุรินทร์ที่จะผ่านไปจังหวัดสกลนครนั้นเป็นเรื่องยากเต็มที หลวงตาจึงได้อาศัยพระอาจารย์สุพรนำทางไป

เมื่อพระอาจารย์สุพรเดินทางมาถึงแล้ว ท่านก็ได้เมตตาแสดงธรรมให้ญาติอยู่ฟัง ๑ กัณฑ์ จากนั้นจึงเข้าไปหาหลวงตาแล้วถามหลวงตาว่าอยากฉันอะไรบ้าง หลวงตาก็ตอบกับพระอาจารย์สุพรมาว่า ท่านอยากฉันโค้ก พระอาจารย์สุพรจึงได้บอกกับโยม ญาติโยมทุกคนที่มาเฝ้าได้ฟังดังนั้นต่างก็ตกใจเพราะแพทย์กำชับห้ามหลวงตาฉันน้ำอัดลมทุกชนิดอย่างเด็ดขาด แต่พระอาจารย์สุพรก็แย้งไปว่า “จะให้ท่านอดตาย หรือจะให้ท่านหายอยากแล้วค่อยตาย”

ในที่สุดพระอาจารย์สุพรให้โยมนำโค้กใส่แก้วมาถวายหลวงตา โดยเอาเกลือใส่เล็กน้อยเพื่อไล่ฟองก่อน แล้วจึงเทให้หลวงตาฉันด้วยการใช้หลอดดูดจนหมดแก้ว แล้วจึงถามท่านว่า ท่านต้องการฉันอีกไหม หลวงตาบอกว่า เอาอีก ซึ่งหลวงตาท่านพูดพอให้ได้ยินเสียงของท่านอยู่บ้าง พระอาจารย์สุพรจึงเทโค้กที่เหลืออยู่ครึ่งขวดนั้นลงในแก้วทั้งหมด แล้วใส่เกลือเช่นเดิม ให้หลวงตาฉันอีกจนหมด ก่อนพระอาจารย์สุพรเดินทางกลับวัดป่าปราสาทจอมพระ ได้กำชับญาติโยมให้ซื้อโค้กไว้เป็นลังๆ เพื่อถวายหลวงตา และยังได้ถามถึงอาการอาพาธของหลวงตากับคณะศิษย์ที่แวะเวียนไปกราบท่านในช่วงนั้นด้วย

การเดินทางมาของพระอาจารย์สุพรในครั้งนี้มีส่วนช่วยอย่างมากให้หลวงตามีอาการดีขึ้น และเริ่มฉันอาหารและน้ำได้บ้าง เนื่องจากในครั้งนั้นไม่มีใครกล้าถวายอะไรที่นอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ให้หลวงตาได้ฉันเลย อย่างไรก็ตามหลังจากที่พระอาจารย์สุพรเดินทางกลับไปแล้ว แผลผ่าตัดของหลวงตาเริ่มมีอาการติดเชื้อและมีหนองเยอะมากจำเป็นต้องทำความสะอาดแผลให้ท่านอยู่เรื่อยๆ และถวายยาแก้อักเสบให้ท่านได้ฉันซึ่งลูกๆ ของหลวงตาได้มาดูแลท่านที่วัดด้วย ในช่วงนี้อาการอาพาธของท่านยังไม่ดีขึ้น จนหลายๆ ฝ่ายเกรงว่าท่านจะมีชีวิตอยู่ ต่อได้อีกไม่นานนักแต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าในเวลาต่อมาแผลผ่าตัดที่อักเสบนั้นค่อยๆ ดีขึ้นๆ จนในที่สุดหลวงตาเริ่มที่จะลุกขึ้นนั่งได้เองและเดินได้ จนหายเป็นปกติตามลำดับ

หลังจากออกพรรษาในปีเดียวกัน เมื่อหลวงตาหายจากอาการอาพาธและแข็งแรงเป็นปกติแล้ว ด้วยความระลึกถึงครูบาอาจารย์ของท่าน รวมถึงพระที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกันในละแวกนั้น หลวงตาจึงได้เดินทางไปกราบนมัสการท่านเหล่านั้นด้วยความคิดถึง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:12 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร
พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
บันทึกภาพหน้าเมรุชั่วคราว
วัดป่าเขาน้อย ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์


-----------


พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
ได้ละสังขารจากไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคปอดติดเชื้อ
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๓.๑๒ น.
สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ๖๑ พรรษา

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์
โดยมี “พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)”
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์
และองค์จุดไฟพระราชทานเผาสรีระสังขารหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:12 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปฏิปทาของหลวงตา
--------------------------------

พระผู้มีความพากเพียร

หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ท่านเป็นพระผู้มีความพากเพียรสูง ไม่เคยย่อท้อต่อการปฏิบัติธรรม โดยปกติแล้วหลวงตาท่านจะตื่นตีสามเพื่อลุกขึ้นมาสวดมนต์ทำวัตรเช้า หลังจากนั้นท่านก็จะนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาต่อไปจนกว่าจะสว่าง ถ้าฟ้าไม่สว่างพอที่จะออกบิณฑบาตได้ ท่านจะไม่ลืมตาแล้วลุกขึ้นจากที่นั้นอย่างเด็ดขาด แม้ยามที่ท่านเดินจงกรม ท่านก็ไม่ละจากทางเดินจงกรมก่อนเวลา ท่านปฏิบัติเช่นนี้มาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

พระผู้พูดน้อยแต่ปฏิบัติมาก

นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังเป็นพระที่พูดน้อยแต่ปฏิบัติมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านกำลังนั่งทำไม้กวาดอยู่อย่างเงียบๆ พระอาจารย์พลศรีได้กราบเรียนถามหลวงตาว่า เวลาที่ท่านทำไม้กวาดอยู่นี่ ท่านมีสติอยู่หรือไม่ ท่านเมตตาตอบว่า

“อ้าวทำไมจะไม่มีสติ ก็มีสติตลอด ทำไม้กวาด กวาดลานวัด เราก็มีสติตลอด ไม่เคยพลั้งเผลอ”

สิ่งที่ท่านกล่าวไว้เห็นจะจริง แม้กระทั่งเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในวัด ไม่เคยมีเรื่องใดที่จะรอดพ้นสายตาของท่านไปได้เลย แม้ว่าลูกศิษย์ลูกหาจะนั่งล้อมวงคุยกันอยู่ในที่ๆ ไกลจากกุฏิของท่านมากพอสมควร และพูดในระดับเสียงที่คิดว่าตัวผู้พูดเองก็ไม่รู้สึกรำคาญเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่น่าจะดังไปถึงหูของหลวงตาได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ปิดท่านไม่ได้จริงๆ หลวงตาลงมาดุทันทีว่า

“อื้อ ทำไมชอบคุยกันเสียงดังแท้ พูดอะไรมากมาย พูดมากก็ไม่เห็นจะได้อะไร ปฏิบัติมากๆ มันถึงจะได้ ปฏิบัติให้มากๆ ไม่ต้องไปคุย”

แม้กระทั่งการสนทนาในเรื่องธรรมะ ท่านก็ไม่สนับสนุนให้พูดมากกว่าทำ ท่านเมตตาสั่งสอนอยู่บ่อยๆ ว่า

“พูดให้น้อยๆ แต่ปฏิบัติให้มากๆ เข้า ถึงจะเก่ง ไม่ใช่ว่า เอาแต่พูดแล้วจะเป็นที่ไหน (มีผล) หนังสือหนังหาก็ไม่ต้องไปอ่านมาก สวดมนต์ก็ไม่ต้องไปสวดมาก เอาแค่นิดๆ หน่อยๆ เอาแค่พอสมควร กราบพระแล้วก็ให้พากันนั่งไปแล้วก็ปฏิบัติไปให้ทำมากๆ เข้า”

พระผู้ไม่มีทิฐิมานะ

หลวงตาท่านเป็นพระผู้ไม่มีทิฐิมานะ ไม่ถือตัวถือตนอะไรกับใคร จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ท่านอาพาธหนักเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ในปีนั้น (พ.ศ. ๒๕๒๘) แม้ไม่ค่อยมีผู้ใดมาเยี่ยมท่าน แต่พอเมื่อท่านหายและแข็งแรงเป็นปกติแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์ของท่าน รวมถึงพระที่สนิทสนมคุ้นเคยกันอย่างไม่ถือสาแต่อย่างใด

พระผู้มีความเด็ดเดี่ยว

แม้ว่าท่านจะเป็นพระที่อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่กล่าวไปแล้วนั้น ท่านยังเป็นพระผู้มีความเด็ดเดี่ยวสูง ท่านได้ตั้งสัจจะไว้ว่า เกิดมาชาตินี้ ขอให้ท่านได้บวชสักสองครั้งก็พอ บวชครั้งที่สองนี้ ขอให้ได้บวชแล้วไม่สึก ตายที่ไหนก็ตาย (ท่านตั้งสัจจะไว้เช่นนี้เนื่องจากว่า ท่านเคยบวชแล้วจำเป็นต้องสึกเพื่อกลับไปช่วยพ่อแม่ทำนามาแล้วครั้งหนึ่ง) นี่คือสิ่งที่ท่านตั้งใจไว้และมักจะกล่าวเช่นนี้อยู่เสมอๆ

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:13 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นิมิตของหลวงตา

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับนิมิตที่หลวงตาท่านได้เมตตาเล่าให้พระอาจารย์พลศรีซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากใกล้ชิดฟังในวาระต่างๆ กัน ซึ่งไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา นอกเหนือจากนิมิตที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ดวงแก้ว
หลวงตานิมิตเห็นดวงแก้วใสสว่าง (คล้ายตะเกียง) อยู่ตรงกลางอกของท่าน ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ด้านหนึ่งของดวงแก้วนั้นใสสะอาด อีกด้านหนึ่งเป็นเงาสลัวๆ ท่านพิจารณาแล้วทราบว่า ดวงจิตของท่านในขณะนั้นยังไม่ถึงความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ ต่อมาท่านจึงได้ปฏิบัติความเพียรอย่างไม่ลดละ

ตอไม้
หลวงตานิมิตเห็นว่ามีต่อไม้ผุดขึ้นมาตรงเบื้องหน้าของท่าน แล้วท่านขอพิจารณาดูไปเรื่อยๆ ตอไม้นั้นมันก็หมุนจนหมุนติ้วๆ ในที่สุดแล้วตอไม้นั้นก็สลายหายไปต่อหน้าต่อตาของท่าน ต่อมาเมื่อท่านนำนิมิตนี้มาพิจารณาดูภายหลังเลยทราบว่า ไม่มีเชื้ออะไรจะเกิดอีกต่อไปแล้ว

คนยืนถากต้นไม้
หลวงตาท่านนิมิตเห็นชายคนหนึ่งยืนถากต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ ท่านเมตตาอธิบายต่อไปว่า ไม้ที่ถากอยู่เป็นไม้แก่นที่ไม่มีกระพี้ จิตของท่านในขณะนั้นพลัน คิดขึ้นมาว่า ไม้ท่อนนี้จะเอาไปทำอะไรก็ได้ จะเอาไปสร้างบ้านสร้างเรือนหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ชายคนที่กำลังถากไม้อยู่นั้นพลันหันมาพูดกับท่านว่า “ท่านจะทำไหมนาแปลงนี้ ถ้าท่านตกลงใจทำ ท่านจะได้ข้าวปีละ ๒๐ เกวียน”

นิมิตนี้หลวงตาท่านไม่ได้อธิบายต่อไว้ว่าหมายถึงอะไร พระอาจารย์พลศรีจึงนำมาพิจารณาต่อภายหลัง เห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอายุของท่าน เพราะในขณะนั้นท่านก็อายุมากแล้ว ประมาณ ๗๐ ปีกว่า พิจารณาไปแล้วคิดว่าอายุสังขารของท่านคงจะอยู่ต่อได้อีกประมาณ ๒๐ ปี หลังจากที่ท่านละขันธ์ไปแล้วมานับดูมันก็เป็นจริงอย่างที่พระอาจารย์พลศรีคิดไว้

เห็นตัวเองตาย
ในขณะนั้นหลวงตาได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์คืน ปสนฺโน วัดบวรสังฆาราม หรือวัดหน้าเรือนจำ จังหวัดสุรินทร์ ท่านได้กราบเรียนพระอาจารย์คืนว่า “กระผมมาขออยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านด้วย ขอให้ท่านช่วยเมตตาดูแลกระผมให้เต็มที่ เพราะตัวกระผมยังมีกิเลสอยู่มาก”

จากนั้นท่านก็กราบลาพระอาจารย์คืนเพื่อขอตัวกลับไปยังที่พัก ท่านเมตตาเล่าว่า เมื่อท่านได้ปวารณาตัวเช่นนั้นไปแล้ว ท่านก็ไม่กล้าพักจำวัด ในคืนนั้นท่านได้เดินจงกรมอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งท่านมีอาการอึดอัดแน่นหน้าท้อง คล้ายกับว่าจะตายเสียให้ได้ ท่านจึงออกจากทางเดินจงกรมกลับเข้าที่พัก แล้วนอนตะแคงขวาพร้อมทั้งพิจารณาดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับท่านอีกต่อไป

เมื่อจิตของท่านสงบรวมลงแล้วท่านเล่าว่า ทันใดนั้นจิตของท่านสลัดออกจากร่างกายนั้นไปทันที จิตอยู่ห่างออกไปสักวาหนึ่ง จากนั้นจิตของท่านกลับมองเห็นว่า ร่างกายอยู่ส่วนร่างกาย วิญญาณอยู่ส่วนวิญญาณ จิตอยู่ส่วนจิต จิตดวงนี้ไม่มีตัวไม่มีตนไม่มีรูปไม่มีร่าง ขณะนั้นจิตของท่านคิดว่า “นี่เราตายเสียแล้วหรือ เรามาตายโดยไม่มีใครรู้ใครเห็นน่าทุเรศยิ่งนัก” จิตของท่านก็ได้แต่ร้องไห้แต่เพียงผู้เดียว

พอได้สติอีกครั้ง จิตของท่านก็คิดได้ว่า “อ๋อ คนเราตายแล้วก็เป็นอย่างนี้นี่เอง” จึงหยุดร้องไห้และถอนออกจากนิมิตนั้นมา ท่านจึงทราบได้ว่าคนเราเวลาตายแล้วเป็นอย่างนี้นี่แหละหนอ การที่จิตออกจากร่างไปนั้นใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวสำหรับท่านอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า เมื่อตายแล้วจิตกับร่างกายนี้ก็เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด จิตจะไปเกิดในภพภูมิใหม่ตามบุญบาปที่ตนได้สะสมมาไว้ ในขณะที่ร่างกายซึ่งเป็นของสมมุตินั้นก็จะถูกทอดทิ้งไว้เป็นสมบัติของโลก รอเวลาที่จะเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปเท่านั้น

ต่อมาท่านจึงเข้าไปกราบเรียนเรื่องนิมิตนี้ให้แก่หลวงตาคืนฟัง และรอเวลาที่จะเดินทางไปกราบเรียนให้หลวงปู่สุวัจน์ทราบต่อไป ครั้นเมื่อหลวงปู่สุวัจน์เดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้ว หลวงตาได้เข้าไปกราบเรียนให้หลวงปู่สุวัจน์ทราบตามที่ท่านได้ประสบในนิมิต เมื่อหลวงปู่สุวัจน์ได้ฟังดังนั้นจึงได้กล่าวตอบท่านไปว่าปฏิบัติมาถูกทางแล้วให้ปฏิบัติต่อไป หลวงตาจึงได้ทำความเพียรต่อไปเรื่อยๆ

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ)


ร่างผุดจากผืนดิน
นิมิตในวาระนี้ เกิดขึ้นในภายหลังไม่นานนักจากนิมิตที่ท่านเห็นตัวเองตาย ในครั้งนี้หลวงตาท่านนิมิตเห็นร่างที่ดำเหมือนตอตะโก ผุดขึ้นจากพื้นดิน เมื่อท่านพิจารณาภาพที่เกิดขึ้นก็ทราบในจิตทันทีว่า ร่างที่ผุดขึ้นนี้ก็คือจิตของท่านเอง ซึ่งเพิ่งพ้นจากนรกได้และปิดอบายภูมิได้แล้ว ท่านรำพึงต่อว่า “โอ้ตัวเราหลงผิดคิดว่าพ้นนรกมาได้ตั้งนานแล้ว ไม่รู้เลย คิดว่าแค่บวชเป็นพระแล้วจะไม่ตกนรก แต่นี้ต่อไปจิตของเราจะไม่มีวันตกนรกอีกแล้ว”

ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา หลวงตาท่านได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต (พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๓๙ สิริรวมอายุ ๘๖ ปี) วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) จังหวัดมุกดาหาร หลวงปู่หล้าท่านได้เมตตาเทศน์เรื่องภูมิธรรมของพระโสดาบันให้หลวงตาฟัง พร้อมกับกำชับกับคณะญาติโยมที่ติดตามหลวงตามาในครั้งนี้ด้วยว่า “อย่าไปถามเลขถามหวยกับท่านนะท่านไม่รู้อะไรหรอก” เพื่อเป็นการปรามไม่ให้ญาติโยมมาขอเลขขอหวยกับหลวงตา

พระพุทธรูปสององค์
ในวาระนี้หลวงตาท่านเมตตาเล่าไว้ว่า ท่านนิมิตเห็นพระพุทธรูปจำนวน ๒ องค์ จิตของท่าน ณ ขณะนั้นก็ทราบว่า ยังขาดพระอีกองค์หนึ่ง จึงจะครบองค์ ๓ คือ ๑ พระพุทธ ๒ พระธรรม และ ๓ พระสงฆ์ แต่ในนิมิตที่เห็นมีพระพุทธรูปอยู่แค่ ๒ องค์เท่านั้น ยังขาดอีกหนึ่งองค์ ดังนั้นจึงยังไม่สมบูรณ์ ท่านทราบได้ทันทีว่าในจิตในขณะนี้ยังขาดอยู่หนึ่งอีกหนึ่งยังไม่สมบูรณ์เป็นไปสรณะ

น้ำไหลจากบ่อ
สำหรับนิมิตสุดท้าย เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่หลวงตาท่านมาอยู่ป่าเขวาสินรินทร์ในช่วงแรกๆ ก่อนที่ท่านจะเริ่มอาพาธหนักในปี พ.ศ. ๒๕๒๘

มีอยู่วันหนึ่ง ท่านนั่งสมาธิแล้วเกิดนิมิตขึ้น ท่านเห็นตัวท่านเองกำลังขุดบ่ออยู่ ทันใดนั้นก็มีน้ำไหลพุ่งขึ้นมาจากขอบบ่อ แล้วไหลล้นต่อไปทางทิศตะวันตกเพียงทิศเดียว

นิมิตในครั้งนี้ หลวงตาท่านมิได้ตีความหมายไว้แต่อย่างใด ต่อมาภายหลังพระอาจารย์พลศรีได้มาพิจารณาแล้วเห็นว่า อาจจะหมายถึงชื่อเสียงคุณงามความดีของหลวงตาได้ขจรขจาย ไปทางฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งช่วงหลังๆ เหล่าศิษย์ที่มีความเลื่อมใสในองค์หลวงตานั้นมาจากทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดสุรินทร์เป็นส่วนใหญ่

นิมิตที่ได้บันทึกไว้มีเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หลวงตาได้มีโอกาสเมตตาเล่าให้พระอาจารย์พลศรีฟัง และได้มีการบันทึกไว้ สำหรับตัวหลวงตาเองแล้ว ทำไมติดใจหรือสงสัยในนิมิตเหล่านี้แต่อย่างใด ท่านสามารถนำนิมิตเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นข้ออรรถข้อธรรมของท่านได้อย่างชาญฉลาด ท่านจึงผ่านนิมิตเหล่านี้ไปได้โดยตลอดและมีความก้าวหน้าในการเข้าถึงความละเอียดของธรรมในลำดับต่อไปต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

บุพกรรมของหลวงตา

นอกเหนือไปจากนิมิตแล้ว หลวงตาท่านยังเล่าถึงเรื่องบุพกรรมของท่านเรื่องหนึ่งให้ฟังว่า ในสมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาสอยู่นั้น เป็นธรรมดาที่ท่านจะต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยวิถีชีวิตแบบชาวบ้านทั่วไป มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้ประดิษฐ์อาวุธชนิดหนึ่งขึ้นมาใช้สำหรับการล่าสัตว์ อาวุธชนิดนั้น คือ หน้าไม้ ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้สำหรับยิงลูกดอกที่มีอานุภาพความเร็วสูงพอสมควรชนิดหนึ่ง

พร้อมกันนั้นท่านได้ทำลูกดอกขึ้นมาดอกหนึ่ง เพื่อนำไปทดสอบความแม่นยำ ท่านจึงเดินทางไปที่ทุ่งนาและมุ่งตรงไปที่ยังต้นไม้ต้นหนึ่ง พอดีสายตาของท่านได้เหลือบมองไปเห็นนกเอี้ยงตัวหนึ่งกำลังเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใหญ่ ซึ่งโผล่แต่หัวออกมาให้เห็น เมื่อท่านรู้ว่าเป็นนกเอี้ยง ท่านจึงตัดสินใจยกหน้าไม้ขึ้นบรรจุลูกดอกและเล็งตรงไปที่หัวนกตัวนั้น แล้วเหนี่ยวไกทันที อนิจจา การทดลองยิงครั้งนั้น แม่นเหมือนกับจับวางไม่มีผิด ในตอนนั้นเองท่านเกิดมีความพอใจยินดีในฝีมือตัวเองอย่างยิ่ง

ท่านเล่าให้ฟังต่อว่า เนื่องด้วยอำนาจของความดีใจอันนี้นี่เอง เป็นเหตุของการจองเวรจองกรรมที่เกิดขึ้นกับท่านในภายหลัง แม้ว่าท่านจะบวชเป็นพระแล้ว กรรมอันนี้ก็ยังสามารถให้ผลกลับมาสนองท่านได้อีก โดยเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงตาท่านมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในครั้งนั้นท่านฉันอะไรไม่ได้เลย ฉันอะไรเข้าไปก็จะอาเจียนออกมาหมด เป็นอยู่อย่างนี้ทุกครั้ง

ในช่วงแรกๆ ที่คณะแพทย์ก็ยังหาสาเหตุของอาการดังกล่าวไม่พบ ท่านมีทุกขเวทนาจากสังขารอย่างมาก
ภายหลังแพทย์ได้นำท่านไปทำการเอ็กซเรย์ส่วนสมอง จากผลการเอกซเรย์นั่นเองจึงทำให้ทราบว่ามีเลือดจำนวนหนึ่งคั่งอยู่ในสมองของท่าน ซึ่งอยู่รอบนอกสมองซีกซ้ายด้านหน้าและกดทับสมองอยู่ ทำให้สมองของท่านทำงานไม่ปกติ แพทย์จึงถวายการรักษาให้ท่าน พร้อมทั้งทำการเจาะส่วนกะโหลกศีรษะของท่านเพื่อที่จะเอาเลือดที่คั่งอยู่ออก แล้วแพทย์ก็ใส่สายยางเข้าไปเพื่อระบายเลือดที่คั่งออกมา

บริเวณที่ถูกเจาะนี้เอง เป็นตำแหน่งเดียวกันกับบริเวณที่ลูกดอกปักลงไปบนหัวของนกเอี้ยงตัวที่ท่านเคยยิงในสมัยที่ยังเป็นฆราวาสอยู่พอดิบพอดี ท่านเปรียบเทียบว่า สายยางที่ติดบนศีรษะของท่านซึ่งมีลูกโป่งลูกเล็กๆ ไว้รองรับเลือดอยู่ตรงปลาย ไม่ต่างอะไรกับลูกดอกที่ปักอยู่ที่หัวนกเอี้ยงตัวนั้นเลยซักนิดเดียว

ทุกครั้งที่หลวงตาท่านเมตตาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ท่านมักจะหัวเราะเบาๆ ไปด้วยในตอนจบทุกครั้ง ท่านมักจะขำตัวท่านเองที่ไปเผลอดีใจในตอนที่ยิงนก โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่ากรรมนั้นจะตามมาทันภายในชาติปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่า แม้กรรมนั้นผู้กระทำมองว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อกายกรรมหรือการกระทำนั้นคลุกเคล้าไปด้วยมโนกรรมหรือเจตนาแล้ว กรรมนั้นย่อมสามารถให้ผลกลับมาถึงตัวผู้กระทำได้เป็นร้อยเท่าพันทวี และในเวลาอันรวดเร็วไม่ต้องรอถึงชาติต่อไป ฉะนั้นกรรมทั้งหลายจะหนักหรือว่าจะเบาจึงอยู่ที่เจตนาของผู้ที่ได้กระทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นลงไป

วาระสุดท้าย

ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตของหลวงหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ด้วยความที่อยู่ในวัยชรา หลวงตาจึงมีอาการอาพาธอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงเวลาเย็นของวันพฤหัสบดีที่ ๙ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ในขณะที่ท่านมีอายุได้ ๙๑ ปีท่านมีอาการอาพาธหนักจนต้องเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสุรินทร์ ในช่วงนี้ศิษยานุศิษย์ได้เดินทางมากราบนมัสการเยี่ยมท่านเป็นระยะๆ อาการอาพาธของท่านในเวลานี้มีแต่ทรงกับทรุดลงไปเรื่อยๆ โดยท่านหายใจเองลำบากและมีอาการปอดบวม

ต่อมาในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๑๒ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ อาการอาพาธของท่านเริ่มทรุดหนักอีกครั้งคณะแพทย์และพยาบาลต้องถวายการรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ

ในเวลาบ่ายสองโมงของวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันโกน) ก่อนวันออกพรรษาหนึ่งวัน อาการอาพาธของท่านกลับทรุดลง ทางคณะแพทย์และพยาบาลจึงได้นำท่านเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ซึ่งอาการอาพาธในช่วงนี้ทำให้ท่านต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอด มีเพียงบางช่วงที่ทางคณะแพทย์และพยาบาลได้เอาเครื่องช่วยหาย ใจออก เพื่อให้ท่านได้ทดลองหายใจเองบ้าง อาการอาพาธของท่านในช่วงนี้ยังทรงตัวอยู่

แม้ใส่ออกซิเจนแล้วหลวงตาก็ยังหายใจทางจมูกไม่ดีนัก ท่านต้องหายใจทางปาก ซึ่งทำให้ท่านคอแห้ง หลวงตามีอาการเจ็บคอและปากเปื่อยนอกจากสายออกซิเจนแล้ว หลวงตายังต้องใส่สายยางเพื่อรับอาหารและต้องดูดเสมหะเป็นประจำ แม้จะมีทุกขเวทนามาก แต่หลวงตากลับมีสติสามารถรับรู้และสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี เช่น ในเวลาเปลี่ยนเวรของพระที่ทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลท่าน เมื่อพระรูปใหม่เข้ามาแล้ว พระรูปเก่าก็ต้องกราบลาท่านก่อน ท่านก็จะลืมตาขึ้นมองและพยักหน้าเพื่อแสดงอาการรับรู้ให้เห็นอยู่เสมอๆ หรือแม้กระทั่งเวลาที่ญาติโยมที่ท่านรู้จักมักคุ้นเดินทางมากราบเยี่ยม ท่านก็จะหันมายิ้มให้ หรือพระรูปไหนที่ท่านรู้จักมักคุ้นมาเยี่ยม ท่านก็จะยิ้มให้ซึ่งจะเป็นเช่นนี้อยู่เสมอ

จนกระทั่งวันที่ ๗ และ ๘ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะแพทย์และพยาบาลได้ตรวจดูอาการของท่านอีกครั้งและลงความเห็นว่าจำเป็นต้องถวายการฟอกไต ซึ่งการฟอกไตในครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแต่หลังจากที่ถวายการฟอกไต ครั้งที่ ๓ คือในวันที่ ๑๐ เดือนพฤศจิกายน เวลา ๑๐ นาฬิกา อาการอาพาธของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น

วันอังคารที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ หลังจากที่ท่านเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เป็นเวลาเกือบ ๑ เดือนเต็ม วันนี้เองซึ่งเป็นวันก่อนวันเพ็ญเดือน ๑๒ เพียงหนึ่งวัน พระอุปัฏฐากที่ดูแลหลวงตาในช่วงเวลากลางวันได้สังเกตเห็นว่าผิวพรรณของหลวงตาเป็นเปล่งปลั่งกว่าทุกวันที่เคยเห็น แม้ว่าค่าที่อ่านได้จากเครื่องตรวจออกซิเจนจะระบุว่าระดับออกซิเจนในร่างกายของท่านจะลดลงอย่างมากก็ตาม พอตกถึงเวลากลางคืนในวันเดียวกันนั้นเอง ท่านมีอาการถ่ายท้องผิดปกติถึง ๔ ครั้งติดต่อกัน

วันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันพุธที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ หลังจากที่คณะแพทย์ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตของหลวงตาลดต่ำลงกว่าปกติมากคณะแพทย์จึงลงความเห็นกันว่าจำเป็นต้องถวายยากระตุ้นความดันหัวใจเพื่อประคองอาการของท่านเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะสามารถนำท่านเดินทางกลับไปละสังขารที่วัดป่าเขวาสินรินทร์ตามความปรารถนาของท่านได้

ในวันนี้เองซึ่งเป็นวันพระ จึงมีคณะสงฆ์เดินทางมาลงอุโบสถที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เป็นจำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวว่าอาการอาพาธของหลวงตาทรุดหนัก ก็มีพระเถรานุเถระต่างๆ พร้อมคณะศิษย์ยานุศิษย์ทั้งหลายต่างเดินทางมาเฝ้าดูอาการขององค์ท่านไม่ขาดระยะ ในช่วงนี้หลวงตายังคงมีสติรับรู้อยู่ตลอด เห็นได้จาก เมื่อมีพระรูปหนึ่งซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับหลวงตา เคยคุยหยอกล้อให้หลวงตาได้หัวเราะเมื่อครั้งท่านยังไม่อาพาธ ได้เดินทางมาถึงและกราบเรียนหลวงตาว่า “หลวงตา ผมมาแล้วนะ” ท่านก็เมตตาลืมตาขึ้นมามอง หรือแม้กระทั่งลูกๆ ของหลวงตาเข้าไปกราบลาท่านเป็นครั้งสุดท้าย หลวงตาท่านก็ลืมตาขึ้นมามอง

เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกาของวันเดียวกัน ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ได้เดินทางมาถึงวัดป่าเขวาสินรินทร์ และนำคณะสงฆ์สวดมนต์บทต่างๆ รวมทั้งบทโพชฌงค์ ๓ จบ ถวายท่าน หลังจากนั้นก็ได้เมตตาอยู่แสดงพระธรรมเทศนาต่อให้อีก ๑ กัณฑ์ สำหรับเนื้อหาของการแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนั้น ท่านได้เน้นถึงการเจริญสติรวมถึงลำดับการเข้าออกของฌานตามแนวทางหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งในขณะนั้นหลวงตานอนหลับตาฟังอย่างสงบ เมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณจึงขอลากลับ

หลวงตามีอาการสงบนิ่ง ลมหายใจเริ่มลดลง เบาลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดันโลหิตของท่านค่อยๆ ลดลงๆ จนกระทั่งในช่วงเวลา ๒๐ นาทีสุดท้ายนี้เอง อาจารย์พลศรีซึ่งดูแลหลวงตาอย่างใกล้ชิดเล่าให้ฟังว่า

“เหตุการณ์ทุกอย่างในช่วงนี้ผ่านไปอย่างเร็วมาก อาตมาได้ตามดูสัญญาณจากเครื่อง แล้วก็ตรวจจับชีพจรของท่านบริเวณต่างๆ ตั้งแต่แขน-ข้อพับ-คอ แม้ว่าจะมีเครื่องช่วยหายใจและสายต่างๆ อยู่ก็ตาม ก็ช่วยอะไรท่านไม่ได้เลยในยามนี้ ลมหายใจของท่านมีแต่เบาลงไปเรื่อยๆ ขณะนั้นมีทั้งพระและญาติโยมอยู่เต็มห้องก็คอยติดตามดูอาการของท่านอยู่ตลอดเวลา หลวงตาท่านไม่ได้ขยับเขยื้อนหรือแสดงอาการผิดปกติอะไรให้เห็นเลยแม้แต่น้อย ในเวลานั้นเองอาตมาได้จับดูชีพจรที่บริเวณแขนของท่าน ชีพจรเริ่มดับลงและดับลง อาตมาได้ย้ายมาจับชีพจรที่บริเวณข้อพับของท่านจนดับลงไปอีก และได้ย้ายมาจับดูที่บริเวณลำคอ จุดนี้เป็นจุดสุดท้ายที่ชีพจรของท่านดับลงไป รวมถึงสัญญาณต่างๆ ที่อ่านได้จากเครื่องมือแพทย์ก็ดับลงไปพร้อมกันทันที”

หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ละสังขารด้วยอาการอันสงบ ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เวลา ๑๘.๔๐ น. ของวันพุธที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี ๖ เดือน ๑๖ วัน ๓๒ พรรษา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:14 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

คติธรรมของหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล
--------------------------------



ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



คิดถึง ความตาย สบายนัก
มันหักรัก หักหลง ในสงสาร
บรรเทามืด โมหัน ในสันดาน
ช่วยให้หาญ หายสะดุ้ง ไม่ยุ่งใจ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



พระพุทธเจ้าท่านอยู่เหนือโลก อยู่เหนือสงสาร
เราต้องทำให้ได้อย่างท่าน
เข้าใจไหม

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



จงมอบกายถวายชีวิตให้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



ทำจิตทำใจให้เกิดศีล
ทำจิตทำใจให้เกิดสมาธิ
ทำจิตทำใจให้เกิดปัญญา

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้สว่างไสว

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



ทำใจให้หมดความอยาก

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



ต้องมีสติ มีสมาธิ มีปัญญานะ
รักษาศีล มีศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา
มีเต็มแล้ว โอ้ย อยู่ไม่ได้หรอกโลกนี้

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱



เกิดมาอย่าให้เสียชาติเกิด
ให้พยายามทำคุณงามความดี มีสติรักษาจิตรักษาใจ
ให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง
แล้วก็สบายมีความสุข

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

๑๐

จิตใจต้องให้มีคุณธรรม
มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจ
สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ไม่จบไม่สิ้น
อาตมาเรียนรู้โลกมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นเลย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

๑๑

จะข้ามวัฏสงสารมันไม่ง่ายหรอกนะ
ถ้าข้ามกรรมได้ก็ไม่ต้องมาเกิดอีก

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

๑๒

เขาจะเป็นอย่างไร มันเรื่องของเขา
เขาจะดีก็ของเขา เขาจะไม่ดีก็ของเขา
เราอย่าไปพูด อย่าไปว่า อย่าไปหมาย
พูดมาก ไม่มีสตินะ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

๑๓

คนบางคนพูดสอนเขา
แต่ไม่เห็นพูดเป็นเรื่องเป็นราว ไม่รู้จริง
เราต้องเห็นจริง รู้จริงก่อน จึงค่อยบอกสอนเขา

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

๑๔

คนบางคนบวชแล้วอยากเป็นเจ้าอาวาส
ชอบเป็นเจ้าสำนัก เป็นอาจารย์ใหญ่
มีแต่ลาภสักการะ คลุกคลีกับญาติโยม
อย่างนี้มันไม่เป็นไปเพื่อปล่อย เพื่อวาง เพื่อละ
ต้องระวังนะเรื่องนี้

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:15 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รำลึกถึงหลวงตา
--------------------------------

ชาติหนึ่งผ่านพ้นไป

(เรื่องนี้ได้รับความเมตตาจากพระราชวรคุณ (หลวงปู่สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้เขียนขึ้น ทั้งนี้ พระราชวรคุณ ในฐานะที่ท่านเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของหลวงตา ท่านได้ให้ความเมตตาเดินทางมาเป็นประธานในงานบุญต่างๆ ของวัดอยู่เสมอ รวมทั้งในวาระสุดท้ายของหลวงตา ท่านก็ได้เมตตาเดินทางมานำสวดมนต์และแสดงพระธรรมเทศนาให้หลวงตาอีกด้วย ท่านได้ถ่ายทอดเรื่องรำลึกถึงหลวงตาไว้ดังนี้)

ชีวิตของคนเราเกิดมาสู่อยู่บนโลกนี้ทุกชีวิต ตั้งคำถามคำตอบที่แน่นอนได้ยาก ว่าเรามาอย่างไร และมาทำไม และเพื่ออะไร คำถามเหล่านี้ถือว่า ยิ่งถาม ไม่จำเป็นต้องคิดหาเหตุผล แต่ทว่าเมื่อมีความรู้สึกตัว ควรตั้งคำถามตัวเองไว้ในข้อนี้ว่า เราเติบโตผ่านพ้นวัยเด็ก วัยหนุ่มมาแล้ว จนถึงวัยกลางคน นี่สิคำถามดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตระหนักต่อบทบาทชีวิตและหน้าที่ควรสักอย่างหนึ่งว่า เราควรทำอะไร ประพฤติตนอย่างไร วางตัวอย่างไร เพื่อความเหมาะสมแก่อัตภาพของตน

ชีวิตของท่านผู้ใดเป็นอย่างไรก็ช่างเถอะ แต่ก็ขอพิจารณาชีวิตของหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล โดยย่อๆ เท่านี้ รู้และสัมผัสใกล้ชิดกับท่าน ในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์คุ้นเคยกันมา ตั้งแต่ท่านยังไม่บวช สรุปใจความได้ง่ายๆ ว่าเป็นสุภาพบุรุษผู้หนึ่ง ที่ได้ทำประโยชน์ให้ครบจำนวนโดยสมบูรณ์

๑. ประโยชน์ตน
๒. ประโยชน์ผู้อื่น
๓. ประโยชน์ส่วนรวม
๔. ประโยชน์อย่างยิ่ง คือการประพฤติปฏิบัติ ยกฐานะในทางธรรมวินัย เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

จึงขอกล่าวถึงหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ดำเนินประโยชน์ทั้งหมดนี้ได้อย่างภาคภูมิใจ โดยเฉพาะประโยชน์ข้อสุดท้าย คือ เมื่อครั้งหนึ่งท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ต่อสังคมทั้งสามได้อย่างสมบูรณ์แล้ว บัดนี้ถึงวัยชราอายุเข้าถึงวัย ๖๐ ปี มอบภาระอย่างอื่นให้ลูกหลานตามหน้าที่แล้ว ก็ตัดสินใจเข้าสู่การบวช ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการเห็นว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นที่พึ่งทางใจได้ตลอดสาย คือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล จึงเข้ามาถวายตัวบวชในวัดบูรพาราม

เพื่อจับใจความในความตั้งใจของท่านไม่ให้ยืดยาวนั้น จึงขอยกหัวข้อประพฤติปฏิบัติโดยย่อดังนี้

๑. ท่านตั้งใจไว้ถูก ประพฤติตนเป็นคนเบา คือปฏิบัติตามโอวาทครูบาอาจารย์ความเคารพ เกรงกลัวต่อบาป และความผิดต่อธรรมวินัย อยู่ในโอวาทของท่านเสมอ นี้คือ การทำให้เกิดความเบา คือ เบาใจเบากายของทั้งสองฝ่าย

๒. การตั้งใจไว้ถูกต้องที่มาบวชประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นเหตุให้อยู่สบายเรียบง่ายในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

๓. เป็นผู้ปลอดภัย คือ ไม่เป็นภัยแก่ตนและผู้อื่นด้วยการทำให้ผู้อื่นลำบากใจ หนักใจ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ดังนั้นแล เป็นคุณสมบัติประจำตัวของท่าน เป็นคุณอย่างวิเศษ

๔. เป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ผู้ที่ไม่รู้จัก หรือพระหนุ่มเณรน้อย ที่ไม่รู้ว่าท่านเป็นพระอาวุโสหรือไม่รู้จักท่านว่าอยู่ในฐานะอย่างไร ก็ไม่เคยถือสาหาโทษแต่อย่างไร อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ประพฤติเบาสบายไม่เกิดความลำบากใจแก่ตนเองและผู้อื่น

สำหรับส่วนตัวของท่านชอบเป็นนักฟังในกระแสธรรมของครูบาอาจารย์ เมื่อสบโอกาสอันสมควร ก็จะเข้ามากราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล และซักถามข้อปฏิบัติในสมาธิภาวนาตามลำดับต่อไป

ท่านไม่เคยกล่าวอวดรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง เห็นได้จากครั้งหนึ่งท่านไปร่วมงานเปิดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี ของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชฺโช ที่อำเภอศรีราชา ญาติโยมไปกราบนมัสการท่าน และถวายจตุปัจจัยเป็นจำนวนมาก โยมบางคนขอให้ท่านกล่าวกระแสธรรมให้ฟัง ท่านก็จะกล่าวว่า มีครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่ดูลย์ เป็นต้น เคยกล่าวไว้แล้วในหนังสือหลวงปู่ฝากไว้ และพระอาจารย์ปราโมทย์ ก็แสดงธรรมให้ฟังมาตลอดอยู่แล้ว ส่วนอาตมานั้นไม่มีอะไรหรอก ให้โยมประพฤติตามนั้นก็ดีอย่างยิ่งแล้ว นั่นคือ แนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้เอาตัวรอด ขอให้ตั้งใจพาการปฏิบัติตามนั้นก็พอ สำหรับอาตมาไม่มีอะไรหรอก ก็ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่เคยแนะนำมา พระธรรมก็มีแนวทางอันเดียวกันนั้นแหละ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ก็เคยปฏิบัติกับท่านมาแล้ว ท่านสอนมาตามทำนองเดียวกันนี้

ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าท่านอยู่ในความไม่ประมาท ยกย่องคุณธรรมของครูบาอาจารย์ ถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรมประจำใจในการเอาตัวรอดจากความทุกข์ทั้งหลาย และความมั่นคงต่อคุณธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติมา แล้วเข้าถึงอย่างภาคภูมิใจ

ดังนั้นท่านที่นึกถึงหลวงตาผนึก ก็ให้นึกถึงแบบอย่างปฏิปทา ตามที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติตั้งไว้ดี ดำรงตนอย่างเรียบง่าย ทำตนไม่เป็นภาระใครและหมู่คณะศิษยานุศิษย์ ให้เป็นผู้ปลอดโปร่งใจเบาสบายตลอดกาล


รูปภาพ
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
เดินทางมากราบนมัสการ “หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์


รูปภาพ
พระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี
เดินทางมากราบนมัสการ “หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล” อีกคราวหนึ่ง
ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์


เห็นทุกข์เพื่อให้ล่วงทุกข์

จากคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสถึงอริยสัจสี่ซึ่งประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค อันเป็นแก่นของพระพุทธศาสนานั้น บุคคลใดจะหาทาง (มรรค) เพื่อให้ล่วงทุกข์ (นิโรธ) ได้ บุคคลผู้นั้นย่อมต้องเห็นทุกข์ (ทุกข์) และเข้าใจในสาเหตุของทุกข์ (สมุทัย) นั้นๆ เสียก่อน

สำหรับหลวงตาแล้วท่านได้ต่อสู้กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านมาโดยตลอด ไม่ว่าเมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสหรือบวชแล้วก็ตาม เมื่อท่านเห็นทุกข์ ท่านกลับไม่เสียใจกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่ท่านกลับเห็นว่ามันเป็นบทเรียนที่สำคัญที่จะทำให้ท่านหาทางออกจากทุกข์เหล่านั้น

ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ แม้ว่าการใช้ชีวิตการครองเรือนของท่านนั้นจะเป็นไปด้วยความเรียบง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ท่านก็มองเห็นว่าชีวิตการครองเรือนในเพศฆราวาสนั้นยังไม่เป็นสุขจริง เพราะหนีไม่พ้นการมีปากเสียงระหว่างสามีภรรยา หลวงตาท่านเป็นคนใจเย็นก็มักจะยิ้มรับและไม่ตอบโต้หรือโกรธตอบแต่อย่างใด ท่านได้แต่มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความทุกข์ของชีวิตในทางโลก และได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่าจะออกบวชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านพิจารณาแล้วว่าการออกบวชนี้เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้ท่านล่วงทุกข์ไปได้ เมื่อมีโอกาสท่านจึงออกบวชอีกครั้งหลังจากที่ภรรยาของท่านถึงแก่กรรม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านจะออกบวชแล้ว ท่านก็ยังได้ประสบกับความทุกข์อันใหญ่หลวงตั้งแต่พรรษาแรก เมื่อครั้งท่านมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองเวียน จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในบริเวณบ้านเกิดของท่าน มีพระรูปหนึ่งที่บวชมาทีหลังมีความไม่พอใจในองค์ท่าน เพราะเห็นว่าท่านอาจขัดขวางผลประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับ จึงได้แสดงตนเป็นศัตรูกับท่านอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในเวลาบิณฑบาตตอนเช้า พระรูปนี้ยังเดินตามด่าว่าหลวงตาตลอดทาง เพื่อหาทางให้ท่านออกจากวัดไปเสีย แต่อย่างไรก็ตามหลวงตาก็มีแต่ความเมตตา และไม่เคยกล่าววาจาโต้ตอบหรือถือโกรธพระรูปนี้แต่อย่างไร ท่านได้แต่เก็บความรู้สึกพวกนี้ไว้ในใจ

ต่อมาหลวงตาจึงได้ปรารภกับลูกชายคนโตของท่านว่า ท่านจะไม่อยู่ที่แห่งนี้อีกต่อไปแล้ว จะหลีกหนีไปอยู่ที่อื่นเสีย ซึ่งเป็นที่สงสัยแก่บุตรชายของท่าน จึงได้ก็กราบเรียนถามว่าทำไมท่านไม่อยู่วัดนี้ต่อ จะได้อยู่ใกล้ลูกใกล้หลาน ท่านอธิบายว่า การจำพรรษาอยู่ที่นี่แม้ว่ามันจะมีข้อดี แต่ท่านก็ยังมีความปรารถนาที่จะหาสถานที่ที่ให้ความสงบสุขทางใจท่านได้มากกว่านี้ และได้กล่าวว่า “พ่ออยู่ที่นี่ มันทรมาน มันมีบทเรียนที่สำคัญมาก”

เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ผู้เป็นบุตรจึงได้ทราบว่าพระผู้เป็นพ่อในขณะนั้นมีความทุกข์เป็นอย่างมาก แต่ก็อดที่จะรั้งท่านไว้ไม่ได้ว่า เมื่อท่านเห็นทุกข์แล้วยังคิดจะจากไป จะไม่ทำให้ท่านสูญเสียโอกาสในการบรรลุธรรมตามที่ตั้งใจไว้ไปหรือ หากท่านจะตัดสินใจย้ายไปจำพรรษาที่อื่นจริงๆ ก็จะทำให้ท่านต้องอยู่ห่างไกลจากสายตาของลูกหลาน หลวงตาจึงได้อธิบายเรื่องนี้ให้บุตรชายของท่านฟังว่า

“พ่อรู้ดี แต่แค่อยากไปให้ไกลจากที่นี่ เมื่อบวชเข้ามาแล้วจะไปห่วงอะไรกังวลอะไรกับความตาย การบวชเข้ามาในครั้งนี้ พ่อได้สละชีวิตของพ่อให้กับพระศาสนาแล้ว ต่อไปจะไปตายที่ไหนก็ช่างเถิด ไอ้เรื่องความเป็นห่วงนั้น มันมีไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นหรอก หากเราไม่เรียนรู้ที่จะหาทางตัดมัน”

ท่านได้พิจารณาเห็นแล้วว่า แม้ว่าขณะนั้นท่านได้บวชเข้ามาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วก็ตาม ความทุกข์ก็ยังเกิดขึ้นกับจิตกับใจของท่านได้อีก ท่านจึงได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะหาทางล่วงทุกข์ไปเสียให้ได้ หากท่านยังอยู่ที่นี่ต่อไป ก็จะไม่เป็นผลดีต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของท่าน ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาปฏิบัติสมณธรรมกับหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ณ วัดทำศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร ในพรรษาต่อมา


พระ (ไม่) ให้หวย

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เมื่อครั้งที่หลวงตาบวชได้ ๔ พรรษา และเดินธุดงค์มาถึงบริเวณที่เป็นวัดป่าเขวาสินนรินทร์ในปัจจุบันนั้น ชาวบ้านในละแวกนั้นบางคน เมื่อเห็นพระธุดงค์แปลกหน้าเดินทางมาปักกลดพำนักอยู่ ต่างก็พากันคิดว่าท่านคงจะเป็นพระให้หวยเหมือนดังที่เกิดประสบพบมาเป็นแน่ ต่างก็พากันไปกราบไหว้ขอหวยจากท่าน เมื่อหลวงตาท่านทราบดังนั้นแล้วจึงได้กล่าวตอบกลับไปด้วยความเมตตาว่า

“อาตมาไม่ได้บวชเพื่อต้องการเสวยลาภสักการะใดๆ เพียงแค่ต้องการตัดกิเลสให้หมดแค่นั้นแหละ พวกโยมทั้งหลายอย่าขออะไรอย่างนั้นเลย อาตมาไม่มีให้หรอก”

หลวงตามักจะกล่าวและปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด จนเป็นพระผู้ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสจากชาวบ้านในละแวกนั้น รวมถึงผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและถวายที่ดินผืนนั้นให้เป็นของสงฆ์ในที่สุด หลวงตาจึงได้พำนักอยู่ที่นี่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


บวชให้ “รู้” เสียก่อน

หลวงตาเป็นพระที่มีความตั้งใจแน่วแน่ในการบวชเพื่อมรรคเพื่อผล เนื่องด้วยท่านเห็นแก่บิดามารดา ทำให้ท่านต้องสึกออกไปเมื่อครั้งยังหนุ่ม แม้แต่งงานจนลูกโตแล้วก็เห็นแก่ภรรยาเลยไม่มีโอกาสได้บวช ท่านก็ได้แต่เก็บความต้องการบวชนี้ในใจตลอดมา จนกระทั่งโอกาสอันดีได้มาถึง ท่านจึงได้บวชเมื่ออายุ ๖๐ ปี

ดังนั้น ท่านจึงเป็นผู้ยินดีกับการบวชเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีพระใหม่รูปหนึ่งเพิ่งบวชเข้ามาได้ไม่นานนัก และกำลังเตรียมตัวจะสึก หลวงตาท่านจึงเมตตาอบรมว่า

“เรานี่ อยากบวชก็บวช อยากสึกแล้วสึก ไม่แนวแน่ แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านหมดกรรมหมดเวรแล้ว พวกเราบวชตามภายหลังก็ต้องต่อสู้ มองดูแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ได้อยู่ในโลกนี้หรอก ท่านอยู่เหนือโลก พวกเรานี่ อยากบวชก็บวช อยากสึกแล้วสึกไป ไม่แนวแน่ ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น เราได้บวชมาก็ทำให้จริงๆ ปฏิบัติจริงๆ จะได้เห็นของแท้ของจริง นี่ พวกเราไม่แน่นอน

บวชๆ สึกๆ โอ้เบื่อ เรานี้อายุ ๖๐ ได้มาบวชไม่เคยคิดอยากจะสึกเลย สึกไปทำไม โลกมายา วัฏสงสาร สึกไปก็ตายไปอีก บวชมาก็ต้องปฏิบัติให้เห็นของแท้ของจริง ให้มีที่พึ่งของเรา ให้หมดกรรมหมดเวร อย่าเกิดมาในโลกนี้อีก”


อีกวาระหนึ่งเมื่อมีพระจากภาคกลางพาคณะศิษย์มากราบเยี่ยม หลวงตาจึงได้ให้ข้อคิดในการบวชไว้ว่า

“เราโชคดีแล้ว เกิดมาแล้วได้มาบวช ได้เป็นหลักเป็นฐานในพระพุทธศาสนา ให้ปฏิบัติ ตั้งจิตตั้งใจให้แน่วแน่ ให้รอบรู้ในสังขารของเรา เกิดมาก็เป็นธรรมดา เกิดมาแล้วก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย ดีที่เรายังไม่ตาย ให้เราบวชให้รู้ก่อนตายนะ”


ไม่ใช่ของๆ เรา

ครั้งหนึ่งหลวงตาปรารภถึงตัวท่านเองว่า “หมดกรรมหมดเวรแล้วก็สบายดี” จากนั้นท่านก็มองมาที่ญาติโยมพร้อมกับกล่าวว่า

“แต่พวกเรายังมีกรรมอยู่ (หลวงตามองหน้าแล้วก็อมยิ้ม) ยึดมั่นถือมั่นอยู่ อันนี้ก็ของเรา อันนั้นก็ของเรา ลูกๆ ก็ของเรา หลานๆ ก็ของเรา จริงๆแล้วไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ก็ของเรา”

หลวงตากล่าวพร้อมกับเอามือชี้ที่หน้าอกแล้วกล่าวต่อว่า “จริงๆแล้วไม่ใช่ของๆ เราหรอก เป็นของอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็หมดไป ตายไป แต่นี่เรายังไม่ตาย ปล่อยวางให้หมดนะ รอบๆ ตัวเราไม่มีอะไรหรอกมีแต่จักรวาล มีแต่ลม รูปกายของเราจะมีอะไร มีแต่ธาตุสี่ ขันธ์ห้าไหนล่ะ กายของเรา ไม่ใช่ของเราหรอก” ท่านพูดแล้วท่านก็หัวเราะ


ของดีของพ่อ

สำหรับเรื่องเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนี้มีตอไม้ของหลวงตาจากคำบอกเล่าของบุตรชายคนโตของท่าน ซึ่งได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากเรื่องนี้มีตอไม้ที่กล่าวถึงไปแล้วในส่วนของชีวประวัติของหลวงตา

เมื่อหลวงตามีอายุ ๗๐ กว่าปีแล้วบวชมาเป็นเวลา ๑๕ พรรษา (ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔) บุตรชายคนโตของหลวงตาได้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และมาถึงวัดป่าเขวาสินรินทร์ในตอนเช้าเพื่อถวายจังหันกับพระผู้เป็นพ่อ

เมื่อหลวงตาฉันเสร็จจึงได้ปรารภกับเขาว่า “โอ้เมื่อคืนนี้มีความสุข” เขาจึงสงสัยและกราบเรียนถามท่านต่อว่า “เอ้ ความสุขยังไงครับ หลวงพ่อ” ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า “คือมันแปลก เกิดนิมิตขึ้น” เขาก็ยังไม่เข้าใจว่านิมิตนั้นคืออะไร จึงกราบเรียนถามท่านต่อไปว่า “คำว่านิมิตนี้ คืออะไรครับ หลวงพ่อฝันหรือว่าเห็นขณะนั่งสมาธิครับ หลวงพ่อ” ท่านตอบว่า “เป็นนิมิตในขณะนั่งสมาธิ” เขาจึงเข้าใจว่าหลวงตาท่านคงต้องการจะสงเคราะห์อะไรให้เขาในฐานะที่ตนเป็นลูกให้ทราบเป็นนัยๆแน่ เขาจึงกราบเรียนถามท่านต่อไปว่า “หลวงพ่อนิมิตว่าอย่างไรบ้าง ช่วยบอกผมหน่อย ผมคงจะไม่พูดอะไรหรอกครับ ผมแค่อยากจะรู้บ้างว่า ตั้งแต่หลวงพ่อบวช มาจนถึงตอนนี้ หลวงพ่อได้อะไรดีๆ มาบ้าง” ซึ่งในตอนนั้นเป็นการพูดคุยกันตามประสาพ่อลูก เขาจึงได้กราบเรียนถามท่านเช่นนั้นออกไป

ท่านก็เล่าว่า “เออ นิมิตนี่หมายถึงว่า นั่งสมาธิ มองไปเห็นต่อไม้เก่าแก่ คล้ายๆกับเป็นราก เป็นต่อไม้ที่ถูกตัดไว้แล้ว เป็นไม้ดึกดำบรรพ์” ท่านพูดอย่างนี้ ต่อมาท่านก็ตรงไปจับตรงที่หัวที่มันตัดแล้ว ไปจับที่หัวมันโยกไปโยกมา ท่านก็เห็นรากทั้งข้างของมันก็ถูกตัดหมดแล้ว เหลือแต่รากแก้ว มันเป็นความสุขมาก

เขาจึงมีความสงสัยและกราบเรียนถามท่านต่อไปได้ว่า แล้วจะต้องนั่งสมาธิไปนานเท่าไหร่จึงจะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง ท่านเมตตาอธิบายให้ฟังว่า ท่านนั่งปฏิบัติภาวนาอยู่ทั้งคืน พอใกล้สว่างท่านจึงได้เห็นนิมิตนี้ จากประสบการณ์ที่เขาเคยบวชและศึกษาธรรมกับหลวงปู่ดูลย์มาบ้าง ก็พอจะทราบได้ทันทีว่าในขณะนั้นพระผู้เป็นพ่อของเขาคงไม่ใช่พระธรรมดาแล้ว เขาจึงได้แต่ปิติยินดีและคิดอยู่ ภายในใจว่า “สมควรแล้วที่พ่อของเราออกบวชมาแล้วได้ถึงขนาดนี้”

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เขาก็ไม่เคยกราบเรียนถามอะไรในเรื่องแบบนี้จากท่านอีกเลย เวลาที่เขาเดินทางมาที่วัดก็เข้ามากราบและทำบุญกับท่านตามปกติ แล้วก็สังเกตเห็นว่าเริ่มมีญาติโยมไม่ว่าจะมาจากที่ไกลหรือใกล้ต่างก็เริ่มทยอยเดินทางเข้ามาทำบุญกับท่านที่วัดเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งวัดป่าเขวาสินรินทร์มีความเจริญรุ่งเรืองดังเช่นปัจจุบันนี้


แหวนไปไหน

ในฐานะของพระผู้ให้ เมื่อบวชเข้ามาแล้วหลวงตาก็มีความเมตตาที่จะสงเคราะห์บุคคลต่างๆ รวมถึงลูกๆ ของท่านให้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ ญานทัสสนะในการรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของท่านดูเหมือนจะถูกนำขึ้นมาใช้ก็ต่อเมื่อท่านเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้ที่ท่านตั้งใจจะสงเคราะห์ในแต่วาระไป บุตรชายคนโตของท่านได้เล่าถึงประสบการณ์ในด้านนี้ที่ตนได้รับจากพระผู้เป็นพ่อครั้งหนึ่งไว้ดังต่อไปนี้

ในตอนบ่ายของวันหนึ่ง ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ขณะที่เขากำลังถวายการนวดรับใช้หลวงตาอยู่ ขณะนั้นดูเหมือนว่าหลวงตากำลังหลับตาทำสมาธิอยู่ เมื่อเขานวดไปได้สักพักหนึ่ง หลวงตาก็ปรารภขึ้นมาเลยๆ ว่า “เอ้ แหวนมึงไปไหน” เค้าก็พลันสงสัยขึ้นมาในใจว่า หลวงตานอนหลับตาอยู่แท้ๆ ทำไมท่านจึงเห็นแหวนวงที่เขากำลังสวมใส่อยู่ จึงกราบเรียนตอบกลับไปด้วยความงุนงงว่า “นี่ แหวนผมอยู่นี่” หลวงตาท่านได้ก็แต่ยิ้มๆ ไม่กล่าวตอบอะไร

พอตกเย็น เวลาประมาณห้าโมงครึ่งของวันนั้น ฝนก็ตกลงมา ขณะนั้นมีศิษย์ท่านหนึ่งได้เดินทางมาถึงวัดเพื่อรับหลวงตาไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาและศิษย์ท่านนั้นและช่วยกันอุ้มหลวงตาขึ้นรถ และเดินทางไปโรงพยาบาลพร้อมกับอาจารย์พลศรี

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ขณะที่เขากำลังเข็นรถเพื่อพาหลวงตาไปหาหมอนั้น สายตาของเขาก็บังเอิญเหลือบไปที่นิ้วมือของเขาเอง จึงพบว่าแหวนที่เขาสวมใส่อยู่นั้นได้หายไป จึงได้นึกถึงคำพูดของหลวงตาก่อนหน้านี้ขึ้นมาทันที คล้ายกับว่าท่านจะรู้ล่วงหน้าว่าแหวนจะหายจึงได้กล่าวบอกเขาไว้ล่วงหน้าเป็นนัยๆ แต่ในตอนนั้นเขาก็ไม่ได้กังวลกับแหวนที่หายไปแต่อย่างใด ได้แต่ตั้งใจจะพาท่านไปหาหมอก่อน

หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน เขาก็ได้รับแหวนวงนั้นคืนจากผู้ที่เก็บได้และได้สวมใส่แหวนวงนั้นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกศรัทธาหลวงตามากขึ้น เขาได้มีโอกาสทำบุญกับหลวงตาเป็นประจำ จากที่เขาเป็นคนยากจนมาก แต่กลับมีฐานะดีขึ้นจนน่าแปลกใจ เขาเล่าเรื่องการทำบุญกับหลวงตาให้ฟังว่า

“ลุงก็ขยันทำบุญกับหลวงพ่อ (หลวงตาผนึก) ทำอยู่เรื่อยๆ ตามมีตามเกิดไม่ได้เป็นเงินมากมายอะไร แต่ทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ในฐานะที่ท่านเป็นพ่อก็อย่างหนึ่ง การทำบุญกับพระก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยแยกออกมา มีแต่ความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อ (ในฐานะที่เป็นพระ) ก็เลยทำไป ลุงก็ไม่เคยคาดคิดนะ ไม่เคยคาดคิดว่าวันหนึ่งเราจะมีรถขับ ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นด้วยอำนาจของบุญกุศลที่ได้ทำมากับหลวงพ่ออยู่เรื่อยๆ ท่านก็บอกกับลุงอยู่เสมอๆด้วยความเมตตาว่า มึงทำบุญกับพ่อ เดี๋ยวไม่จนหรอก ท่านพูดอย่างนี้”


เมื่อพบหลวงตาครั้งแรก

เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ในด้านญานทัสสนะของหลวงตาอีกครั้งหนึ่ง ที่ท่านได้เมตตาสงเคราะห์ผู้เดินทางมากราบนมัสการท่านในครั้งแรกในฐานะแขกแปลกหน้า

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘ ได้มีคณะญาติธรรมคณะหนึ่งเดินทางไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน ณ วัดป่าดงคูจังหวัดสุรินทร์ ในช่วงวันหยุดเป็นเวลา ๓ ถึง ๔ วัน ในวันสุดท้ายก่อนที่จะเดินทางออกจากวัด หัวหน้าคณะได้กราบเรียนถามท่านเจ้าอาวาสในขณะนั้นว่า ในจังหวัดสุรินทร์นี้นอกจากหลวงปู่ดูลย์ วัดบูรพาราม และหลวงปู่กิม วัดป่าดงคู ซึ่งท่านทั้งสององค์ได้ละขันธ์ไปแล้ว ยังมีพระดีที่น่ากราบไหว้ที่ไหนที่ยังมีอยู่อีกบ้าง ท่านเจ้าอาวาสจึงเมตตาแนะนำว่า ให้ไปกราบหลวงตาผนึก วัดป่าเขวาสินรินทร์ รวมถึงได้เมตตาบอกเส้นทางการเดินทางไปวัดป่าเขวาสินรินทร์ด้วย

เมื่อคณะญาติธรรมได้พากันเดินทางออกจากวัดป่าดงคูมาถึงวัดป่าเขวาสินนรินทร์ ได้พบผู้ชายสูงอายุจำนวน ๓-๔ คน กำลังช่วยกันปูเสื่ออยู่อย่างขะมักเขม้น สมาชิกในคณะญาติธรรมจึงเอ่ยถามถึงหลวงตาว่า

“หลวงตาผนึกท่านอยู่มั้ย” ชายกลุ่มนี้ตอบว่า “เดี๋ยวหลวงตามา ท่านสั่งพวกเราไว้ให้ปูเสื่อรอพวกโยมนั่นแหละ”

พอศิษย์ท่านนั้นหันไปข้างหลังก็เห็นหลวงตาเดินมาพร้อมกับชูนิ้วโป้งขึ้นแล้วบอกว่า “วันนี้อาตมาดีใจมาก อาตมาดีใจมากเลย” แล้วลงนั่งบนเก้าอี้ในบริเวณที่ท่านจัดไว้ให้คณะญาติธรรมนั่ง ในขณะนั้นเองท่านได้ชี้นิ้วไปที่หัวหน้าคณะญาติธรรมเป็นคนแรกพร้อมกับเมตตาชี้แนะว่า “ธรรมะจะก้าวหน้าต่อไปอีกนะ ไม่หยุดอยู่แค่นี้”

หลังจากนั้นหลวงตายังได้เมตตาสั่งสอนชี้แนะข้อธรรมให้แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในคณะเป็นรายบุคคลด้วยความเมตตาของท่านที่ไม่มีประมาณ สำหรับสมาชิกในขณะที่ท่านเห็นว่าเป็นผู้ที่กำลังปฏิบัติมาถูกทางแล้ว ท่านก็จะให้กำลังใจว่า “เออ ชาตินี้จะไม่ต่ำกว่าความเป็นมนุษย์อีกแล้วนะ” หรือสำหรับสมาชิกคนอื่นที่ท่านเห็นว่ายังมีความบกพร่องในเรื่องของการรักษาศีล ท่านก็ได้ว่ากล่าวตักเตือนไปว่า “ให้ระวังนะ มันจะตกนรกนะ” แม้กระทั่งสมาชิกในคณะคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างสูงและท่านเล็งเห็นว่าอาจจะมีความมั่นใจในตัวเองจนเกินไป ท่านก็ได้เมตตาอบรมให้ว่า “อย่าคิดว่าตัวเองเก่งนะ ให้เร่งภาวนานะ” และแม้กระทั่งการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติให้กับสมาชิกอีกคนหนึ่งว่า “เพิ่มสตินะ เพิ่มสติ มีสติรู้สึกตัวให้มากเข้าไว้”

นับว่าการเดินทางไปกราบนมัสการหลวงตาในครั้งนั้น ได้นำมาซึ่งความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของสมาชิกทุกคนในคณะญาติธรรม ที่ได้มาพบพระผู้ที่รู้จริงเห็นจริง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงตาอย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ด้วยการเดินทางมากราบขอฟังธรรมและปรนนิบัติรับใช้ท่านอยู่เสมอสืบมา จนกระทั่งท่านละขันธ์ไปในที่สุด

สำหรับความแจ่มใสของญานทัสสนะของท่านนั้นได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ศิษย์ทั้งหลายของท่านเสมอมา สำหรับหัวหน้าคณะญาติธรรมในครั้งนั้น คือ พระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส ภายหลังจากที่ท่านบวชแล้ว ท่านยังได้หาโอกาสนำคณะศิษย์เดินทางมากราบนมัสการหลวงตาดังที่เคยปฏิบัติมาอยู่เนืองๆ รวมถึงได้เดินทางมาเป็นเจ้าภาพในงานสวดอภิธรรมศพของหลวงตา ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ อีกด้วย



ความแตก

เรื่องต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่หลวงตาได้เมตตาสงเคราะห์ ศิษย์ของท่านที่หนีร้อนมาเพิ่งเย็นด้วยญานทัสสนะของท่าน

ในวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ศิษย์ท่านหนึ่งได้พาหลานชายของเขาไปกราบหลวงตา ในขณะนั้นหลานชายคนนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ศิษย์ท่านนี้มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าหลานคนนี้มีท่าทีว่าว่าอาจจะเรียนไม่จบ ในขณะที่พ่อของเด็กเองก็มีความทุกข์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากไม่สามารถจะหาวิธีที่จะช่วยเหลือบุตรชายของเค้าได้ ศิษย์ท่านนั้นเลยตัดสินใจพาหลานคนนี้เดินทางไปกราบหลวงตาด้วยกัน เมื่อเดินทางไปถึงวัดและหลังจากที่กราบนมัสการท่านแล้ว พลันที่หลวงตาเห็นหน้าหลานชายคนนี้ ท่านได้ชี้นิ้วมาทันทีพร้อมกับว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเมตตาว่า “นี่ เราน่ะ แฟนเยอะนะ มีสี่ห้าคน ระวังมันจะเรียนไม่จบเอานะ ให้เห็นใจพ่อแม่นะ ดูแลตัวเองให้ดีนะ ตั้งใจเรียนให้จบนะ”

ในวันนั้นความเลยแตกว่า พ่อแม่ส่งเสียให้ไปเรียนหนังสือแต่หลานชายคนนี้จะไปมีแฟนถึงสี่ห้าคน หลังจากนั้นอีกสองปีต่อมาหลานชายของศิษย์ผู้นี้ก็เรียนจบสมความปรารถนาของทุกคนในครอบครัว

๑๐
สังฆานุภาพ

ศิษย์ผู้มีศรัทธาท่านหนึ่ง มีโอกาสรับใช้หลวงตามาโดยตลอด ศิษย์ผู้นี้จะส่งคนขับรถของเขาไปรับส่งหลวงตาอยู่เสมอ บ่อยครั้งขณะที่หลวงตาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล หากเห็นหน้าคนขับรถคนนี้ หลวงตาจะดีใจมากเพราะท่านทราบว่าจะได้กลับวัดแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากหลวงตามาร่วมงานที่วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์ คนขับรถผู้นี้ได้ขับรถไปส่งหลวงตาที่วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ขณะไปถึงวัดเป็นเวลาประมาณตีห้า โดยปกติหลวงตาจะไม่คุยอะไร แต่วันนั้นพอท่านก้าวลงจากรถ ราวกับว่าหลวงตาจะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลวงตา กำชับคนขับรถว่า “ให้ระวังนะ ขับรถให้มีสตินะ” คนขับรถได้ฟังก็สะกิดใจว่าทำไมวันนี้หลวงตาพูดแปลก เพราะขับออกมาได้ระยะทางสักหนึ่ง กิโลเมตร ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น คนขับรถเห็นรถที่เขาเองขับอยู่หมุนติ้วๆๆๆ ในขณะที่รถกำลังหมุนอยู่นั่นเอง คนขับรถได้คิดขึ้นมาในใจว่าเขาอาจจะโดนกระทำคุณไสยเข้าแล้วเป็นได้ จึงได้แต่นึกถึงหลวงตาตลอด เวลาผ่านไปเพียงแค่ชั่วครู่รถก็หยุดหมุนและกลับมาจอดหันหน้าไปทางจังหวัดบุรีรัมย์เหมือนเดิม เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้คนขับรถผู้นี้มีศรัทธาและเคารพหลวงตาเป็นอย่างมาก

๑๑
ทำบุญกับพ่อ เดี๋ยวได้คืน

บุตรชายคนโตของหลวงตาได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำบุญกับหลวงตาให้ฟังว่า

เมื่อหลวงตาบวชได้ประมาณ ๒๐ กว่าพรรษา ในขณะนั้นเขากำลังปลูกบ้านหลังใหม่ จึงได้กราบนิมนต์หลวงตาเดินทางมาเป็นประธานในพิธียกเสาเอก ในครั้งนี้หลวงตากล่าวอย่างเป็นกันเองกับเขาว่า “โอ้ วันนี้ฉันอร่อย” เขาก็แอบชำเลืองมองดูท่าน พอเห็นท่านเหงื่อไหลจึงรู้ได้ทันทีว่าวันนี้ท่านคงจะฉันอร่อยจริงๆ

จากนั้นเขาได้เข้าไปกราบเรียนท่านผู้เป็นพ่อด้วยความกังวลว่า “หลวงพ่อ บ้านผมจะเสร็จไหมครับ ผมไม่ค่อยมีตังค์เลย” หลวงตากล่าวตอบอย่างเมตตาว่า “ถ้ามึงมีบุญ ก็เสร็จ”

จากนั้นเขาได้เดินทางไปส่งหลวงตากลับไปยังวัดป่าเขวาสินรินทร์ และได้ถวายปัจจัยกับหลวงตา เป็นจำนวนเงินสองร้อยบาท ในครั้งนั้นหลวงตากล่าวกับเขาอย่างเมตตาว่า “เอาไปเถอะ เราไม่ได้บวชมาเพื่อเอาสิ่งเหล่านี้หรอก” เขาตั้งใจถวายปัจจัยกับท่านด้วยความศรัทธา จึงตอบไปว่า” ผมอยากทำบุญกับหลวงพ่อครับ” เมื่อหลวงตาเห็นดังนั้นจึงตอบรับว่า “อ้อ ถ้าอยากทำบุญก็ทำ เก็บไว้ตรงนั้นแหละ”

ก่อนเดินทางกลับบ้าน เขาได้กราบเรียนท่านว่าจะไปทำงานที่พัทยาและขณะที่กำลังก้มลงกราบลาหลวงตาอยู่นั้น ท่านก็เมตตาให้พรว่า “เออ ทำบุญกับพ่อ เดี๋ยวได้คืน”

จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาในหลายหลายครั้งที่ผ่าน หากหลวงตาพูดถึงสิ่งใดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นมักจะเป็นความจริงเสมอ หลังจากวันนั้นเขาได้เดินทางไปทำธุรกิจค้าเฟอร์นิเจอร์หวายที่พัทยา ด้วยเวลาที่ผ่านไปเพียงไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์นับจากที่ได้วันที่ได้ทำบุญกับหลวงตา ก็มีชาวต่างชาติเดินทางมาเหมาซื้อเฟอร์นิเจอร์ในร้านของเขาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีรายได้ในครั้งนั้นเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งแสนหกหมื่นบาท ในตอนนั้นเขาก็ได้แต่ นึกถึงพรหลวงตาให้ไว้ว่า” “ทำบุญกับพ่อ เดี๋ยวได้คืน” อานิสงส์จากการทำบุญกับหลวงตาในครั้งนี้ทำให้เขาได้มีเงินปลูกบ้านจนเสร็จดังใจปรารถนา

ผลบุญที่ได้รับจากการทำบุญกับเนื้อนาบุญตามเรื่องที่เล่ามานี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ขึ้นกับมูลค่าวัตถุทานที่ถวายแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับเจตนาหรือความตั้งใจของผู้ทำบุญนั้นๆ ด้วย แม้ว่าการทำบุญของบุตรชายคนโตของหลวงตาในครั้งนี้เป็นการทำบุญด้วยเงินจำนวนไม่มากนัก แต่ผลบุญที่ท่านได้รับกลับมาในภายหลังหาได้น้อยตามไม่ ดังที่บุตรชายของหลวงตาท่านนี้ถึงได้กล่าวอย่างติดตลก ไว้เป็นการสรุปในตอนท้ายของประสบการณ์ในครั้งนี้ว่า “ลุงได้คืนมามากกว่าเดิมตั้งเยอะ”

๑๒
ความภูมิใจของพ่อ

ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาก่อนที่หลวงตาจะมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หลวงตาได้ปรารภกับบุตรชายคนโตของท่านอยู่บ่อยๆ ว่าท่านภูมิใจมากที่มีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้และได้ออกบวชเพื่อสืบสานและต่ออายุพระศาสนา โดยเฉพาะการที่ท่านมีโอกาสได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเขวาสินนรินทร์นั้น ท่านรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาสงเคราะห์เหล่าศิษยานุศิษย์ของท่านให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา หันมาสนใจในการทำบุญกุศลและศึกษาปฏิบัติธรรม

นอกจากนี้ครั้งหนึ่งท่านเคยเล่าถึงความเกี่ยวเนื่องของท่านกับบริเวณที่ดินของวัดป่าเขวาสินรินทร์ ในปัจจุบันนี้ว่า

“ที่ตรงนี้เมื่อชาติที่แล้วเคยเป็นของพ่อ เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วเป็นที่ที่พ่อเคยอยู่ ในชาติปัจจุบันก็เลยได้กลับมาอยู่ที่ตรงนี้อีกครั้ง พ่อรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาอยู่ตรงนี้ และมีส่วนช่วยให้คนทั้งหลายมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งที่ตัวพ่อเองก็ไม่ได้มีอะไรดี เป็นแค่คนยากจนธรรมดามาก่อน แต่เมื่อบวชเข้ามาแล้ว พ่อก็ได้แต่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงความเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำให้คนเขาเลื่อมใสศรัทธาในตัวเราในฐานะสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า”

บุตรชายคนโตของหลวงตาได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเนื่องด้วยท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วนี่เอง ทำให้มีศรัทธาญาติโยมมาร่วม ในงานบุญต่างๆ ของวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งด้วยปฏิปทาขององค์ท่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุญผ้าป่าหรือบุญกฐินนั้น ท่านไม่เคยเรียกร้องแต่อย่างใด ดังที่ท่านมักจะปรารภกับเขาเพียงลำพังบ่อยๆ เพื่อเป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของมรรคผลในพระพุทธศาสนา และยังเป็นการสงเคราะห์ให้เขามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาว่า “พ่อไม่ใช่พระธรรมดานะ ถ้าพระธรรมดาเขาไม่มาทำบุญกันอย่างนี้หรอก” ซึ่งท่านจะพูดกับผู้เป็นลูกเท่านั้น

๑๓
จิตไม่ผูกพัน

ก่อนที่หลวงตาจะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์เป็นครั้งสุดท้าย ศิษย์สองคนซึ่งเป็นผู้มีความศรัทธาในองค์หลวงตา เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านอาพาธ จึงได้เดินทางมาที่วัดป่าเขวาสินนรินทร์ทันทีเมื่ออยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านเป็นเวลาเจ็ดวัน

ในช่วงนั้นหลวงตาท่านอาพาธมากแล้ว นั่งสอนไม่ได้ ท่านก็มีเมตตานอนสอน ลูกศิษย์คนหนึ่งมีความสงสัยในสาเหตุที่ทำให้ตนมีความรู้สึกรักและผูกพันในองค์หลวงตา จึงได้กราบเรียนหลวงตาไปว่า “เอ้ ทำไมหนูรู้สึกผูกพันกับหลวงตาจังเลยเจ้าคะ หนูเคยเกิดเป็นลูกสาวหลวงตาหรือเปล่าเจ้าคะ”

หลวงตาซึ่งในขณะนั้นนอนอยู่ ได้เอามือข้างหนึ่งไว้ที่ข้างแก้มของท่านพร้อมกับหัวเราะ และยิ้มอย่างเบิกบาน พร้อมกับกล่าวอย่างเอ็นดูว่า “จิตอาตมาไม่ผูกกันกับใคร” แม้จะเป็นเพียงคำตอบเพียงสั้นๆ ที่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการตอบรับหรือปฏิเสธในคำถามนั้นแต่อย่างใด ศิษย์ท่านนั้นรู้ได้ในทันทีว่าหลวงตาได้สอนเขาอย่างอ้อมๆ ว่าอย่าได้เอาจิตของเขาไปผูกพันอะไรกับใคร

๑๔
ตายแล้วไม่สูญ

สำหรับเรื่องต่อไปนี้ อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นผลของการเอาจิตของตนไปผูกพันกับบุคคลอื่น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคคลผู้นั้นเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว อาจต้องกลับมาเกิดและมีความเกี่ยวพันกันอีก หลักฐานของการเวียนว่ายตายเกิดหรือการตายแล้วไม่สูญ ในปัจจุบันนั้นยังมีปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ รวมถึงในเรื่องที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ ซึ่งบุตรชายคนโตของหลวงตาได้เล่าถึงการกับชาติมาเกิดอีกครั้งของมารดาของตนในชาติปัจจุบันให้ฟังว่า

ในสมัยที่มารดาของเขายังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านดูเหมือนไม่ค่อยถูกใจภรรยาของเขาเท่าไรนัก แต่ด้วยความดีของภรรยาของเขาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงชีวิตสุดท้ายของชีวิตของมารดา ในขณะนั้นท่านป่วยหนักและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว แต่ก็ได้ลูกสะใภ้คนนี้ดูแลเรื่องการขับถ่ายให้ท่านโดยไม่รังเกียจแม้แต่น้อย จากความรู้สึกที่ไม่ค่อยชอบใจกลับค่อยๆ พัฒนากลายเป็นกลายมาเป็นความรักและผูกพันที่มีต่อภรรยาของตนในที่สุดก่อนที่ท่านจะสิ้นลมหายใจในเวลาต่อมา

หลังจากที่สมาชิกในครอบครัวได้ช่วยกันจัดการงานศพให้ท่านเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในคืนวันนั้นเองภรรยาของเขาได้ฝันว่า มารดาของเขามาปรากฏให้เห็นและขอมาอาศัยอยู่ด้วย ในฝันนั้นแม้ว่าภรรยาของเขาจะพยายามกล่าวปฏิเสธไปอย่างไรก็ตาม ท่านก็ไม่ยอมและยังยืนยันที่จะมาอยู่ด้วยให้ได้ หลังจากนั้นมาไม่นานนัก ภรรยาของเขาก็ตั้งครรภ์และคลอดออกมาเป็นบุตรสาว

ในเวลาต่อมา เมื่อบุตรสาวของเขาคนนี้เติบโตขึ้นดูเหมือนว่าเธอจะมีนิสัยเหมือนมารดาของเขาทุกอย่าง อีกทั้งเธอเองยังเล่าให้ฟังว่า ในทุกครั้งที่มีโอกาสได้กราบนมัสการหลวงตาที่วัด จะมีความรู้สึกเขินอายเหมือนกับว่าเธอเองเคยเป็นอะไรกับหลวงตามาแต่ชาติปางก่อน หรือในเวลาที่ทราบข่าวว่าหลวงตาอาพาธ บุตรสาวคนนี้จะมีอาการกระวนกระวายใจ และรบเร้าเขาให้พาไปเยี่ยมท่านที่วัด เมื่อได้ไปกราบหลวงตาแล้วจึงสบายใจ

สำหรับหลวงตาเอง ท่านก็ทราบดีถึงเรื่องการกลับชาติมาเกิดของมารดาของเขาด้วยเช่นกัน ในภายหลังท่านได้ปรารภกับเขาถึงเรื่องดังกล่าวเหมือนจะเป็นการยืนยันเรื่องทั้งหมดว่าเป็นจริงว่า “ลูกสาวของเอ็งน่ะ ข้าไม่ให้จนหรอก เขาขยันมาทำบุญ เขาก็เคยเป็นแม่ของเอ็งมาในชาติที่แล้วเขา แต่เดี๋ยวนี้เขาสวยกว่าเก่านะ” เมื่อพูดจบแล้วท่านก็หัวเราะ เขาก็ได้แต่หัวเราะ เขาได้กล่าวหยอกล้อกับท่านตามประสาพ่อลูกว่า “โอ้ หลวงพ่อยังชมเมียตัวเอง”

เรื่องการกลับชาติมาเกิดของภรรยาท่านนั้น หลวงตาเองก็ได้มีเมตตานำมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นการเตือนสติให้บุคคลทั้งหลายให้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทและเป็นการยืนยันถึงการเดินทางอันยาวนานในสงสารวัฏสังสารวัฏของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตราบใดที่สรรพสัตว์เหล่านั้นยังมีความรัก โลภ โกรธ หลง หลงเหลืออยู่ภายในจิตใจของตน

๑๕
วัฏสงสาร

เรื่องนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากบุตรชายคนโตของหลวงตาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้เล่าถึงความเมตตาของหลวงตาที่ได้สงเคราะห์บุตรสะใภ้ของท่านเองในฐานะศิษย์คนหนึ่ง ให้มีที่พึ่งในการเดินทางในวัฏสงสารนี้ ไว้ดังนี้

ภรรยาของเขาความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงตา ในทุกๆ ครั้งเมื่อหลวงตาบอกกล่าวสิ่งใดกับเธอ เธอก็จะเชื่อฟังและนำมาปฏิบัติตามทุกอย่างด้วยความเคารพ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตภรรยาตนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ในวันสุดท้ายของชีวิตเธอนั้น เขารู้สึกคิดถึงหลวงตาขึ้นมา เลยตัดสินใจเดินทางไปวัดป่าเขวาสินนรินทร์เพื่อกราบหลวงตา ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้ว เมื่อเขาเดินทางไปถึงขณะก้มลงกราบ หลวงตา ท่านได้พูดขึ้นมาในทันทีว่า

“เออ ไปบอกเมียมึงด้วยนะ บอกว่าให้ไปได้เลย ไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งนั้นแหละ ให้คิดถึงแต่พุธโท ธรรมโม สังโฆคิดถึงแต่คุณงามความดี ให้ช่วยเหลือตัวเองนะ ตอนนี้ไม่มีอะไรช่วยแล้ว แล้วก็คุณงามความดีบุญกุศลทุกๆ อย่างที่ทำมากับพ่อ คงจะได้ไปเกิดในที่ๆ ดี เขาเลื่อมใสศรัทธาในตัวพ่อนะ เมียเอ็งน่ะ ให้เชื่อพ่อนะ เอ็งไปบอกเขาให้ได้นะ”

เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว เขาจึงกราบลาท่านกลับเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อขับไปถึงแล้วจึงได้บอกให้ลูกๆที่เฝ้าดูอาการอยู่ให้ออกไปพักผ่อนข้างนอกก่อน ส่วนเขาจะอยู่ดูแลภรรยาต่อเอง ในขณะนั้นเขารู้สึกว่าภรรยาเขายังมีความรู้สึกตัวอยู่ เขาจึงเล่าให้ภรรยาฟังว่าวันนี้ได้ไปกราบหลวงตามา แล้วจึงเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงตาฝากมาให้เธอฟังตามที่ท่านสั่งไว้เมื่อเขาพูดจบหลังจากนั้นไม่ถึงนาทีเธอก็สิ้นใจด้วยอาการอันสงบ

ราวกับว่าหลวงตาจะทราบว่าบุตรสะใภ้ผู้นี้มีความกังวลกับอะไรบางอย่าง ด้วยความเมตตาอันไม่มีประมาณท่านได้สงเคราะห์ให้บุตรสะใภ้ผู้นี้ให้ได้มีที่พึ่งสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นลม ทำให้เธอได้จากไปอย่างสงบ หมดความกังวลสงสัยที่ติดค้างอยู่ภายในจิตใจ

๑๖
มีจิตเป็นผู้รู้

หลวงตาผนึกท่านมักสั่งสอนสิษยานุศิษย์ของท่านอยู่เสมอๆ ว่า “ให้ปฏิบัติ ให้รู้ก่อนตายนะ รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็วางนะ”

ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ท่านหนึ่งกราบเรียนถามว่า “ผู้รู้นี้อยู่ตรงไหนเจ้าคะ” ท่านเมตตาตอบว่า

“จิตเป็นผู้รับรู้อารมณ์ รู้อารมณ์ดีแล้วก็ปล่อย ปล่อยให้หมดนะ อะไรๆ ก็ไม่ต้องเอา ปล่อยวางให้หมดนะ ถ้าเรารู้แล้วยึดมั่นถือมั่นก็เป็นกรรมเป็นครุอีก ครุแปลว่าหนักนะ (ท่านแสดงท่าทางประกอบให้ดูว่าหนักไปพร้อมๆ กัน) ต้องมีผู้รู้ ปฏิบัติให้ถึง ทำจิตทำใจให้มีผู้รู้ จิตเป็นผู้รู้ รู้อารมณ์ จิตก็เป็นจิต ผู้รู้อยู่เหนือจิตและอารมณ์ จะไปอยากได้อะไร ก็ปล่อยไปวางไป ก็สบายดี”

๑๗
ของจริงของแท้

ในวันหนึ่ง องค์หลวงตามองมาที่พระและญาติโยมที่มากราบท่านพร้อมกับพูดว่า

“จิตใจสบายดี บ่ อยู่ในโลกนี้ อาตมาอยู่ไม่ได้หรอก จึงมาบวช มาอบรม ทำจิตใจเราให้มีความเคารพ ให้มีคุณธรรมอยู่ในจิตใจของเราให้สบายดี” แล้วท่านก็มองไปที่กลุ่มโยมแล้วกล่าวอบรมว่า

“พวกเรายังไม่ดีอยู่นะ ต้องทำจิตทำใจของเราให้สงบ ให้มีบารมี เพิ่มเติมในชาติปัจจุบัน เดี๋ยวไม่นานเราทุกคนก็ต้องตายไปนะ อย่ามีความประมาทนะ ทุกๆ คนนะ ถ้าเรามีความรู้แล้วก็สบาย เมื่อตายไปก็ไม่ต้องกลัวอะไรหรอก ต้องปฏิบัติจริงๆ จึงจะเห็นของจริงของแท้ ทำเล่นๆ อ่อนๆ แอๆ ไม่ดีหรอก ทำอะไรก็ทำจริง บวชก็บวชจริง ปฏิบัติก็ปฏิบัติจริง จึงเห็นของจริงนะ”

๑๘
ที่พึ่ง

ความเมตตาในการให้โอวาทกับศิษย์ของหลวงตามีอยู่เสมอมิได้ขาด แม้ยามท่านอาพาธ วันหนึ่งในช่วงเวลาก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๕๕๑ ขนาดนั้นองค์หลวงตาอาพาธหนักมากแล้ว มีลูกศิษย์สองคนไปกราบหลวงตาที่วัด ศิษย์คนหนึ่งได้กราบเรียนถามหลวงตาว่า “หลวงตาไม่มาเกิดอีกแล้วใช่ไหมเจ้าคะ” หลวงตาก็ตอบว่า

“จะมาเกิดทำไม” แล้วท่านก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ลูกศิษย์ถามหลวงตาต่อด้วยความศรัทธาว่า “ทำอย่างไร หนูจะทำได้อย่างหลวงตาบ้างเจ้าคะ” ท่านตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดว่า “ปล่อยวางให้หมด” แล้วหลวงตาก็ไอ และมีเสมหะมาก ลูกศิษย์มีความกังวลในอาการของหลวงตาจึงได้กล่าวอาราธนาหลวงตาว่า “หลวงตาจะอยู่เป็นที่พึ่งให้หนูนานๆ ได้ไหมเจ้าคะ”

หลวงตาซึ่งนั่งอยู่บนตั่งขณะนั้น ได้เอนกายลงนอน เพราะนั่งไม่ไหว ได้เมตตาตอบกลับไปว่า

“พึ่งใครไม่ได้ดอก ต้องพึ่งตัวเอง ต้องทำจิตทำใจเราให้มีศีล ต้องทำจิตทำใจเราให้มีสมาธิ ต้องทำจิตทำใจเราให้มีปัญญา ถ้าปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็สบาย (หลวงตายิ้มอย่างมีความสุข)”

ในขณะเดียวกันบุตรชายหลวงตาที่นั่งอยู่ด้วย ได้เรียนถามหลวงตาด้วยความเป็นห่วงว่า “หลวงพ่อไม่เหนื่อยเหรอครับ” หลวงตาตอบด้วยความเมตตา เหมือนท่านทราบล่วงหน้าว่าจะไม่มีโอกาสได้สอนธรรมะให้กับศิษย์ท่านนี้อีกว่า “ไม่เหนื่อยหรอก วันนีเจะให้โยมเค้า”

หลังจากวันนั้นมาศิษย์ท่านนั้นก็ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากหลวงตาอีกเลยจนกระทั่งท่านละขันธ์ไป

๑๙
เอาจิตพิจารณาให้ถึงธรรม

วันหนึ่งมีศิษย์ที่ถือศีลแปดไปกราบเรียนถามธรรมะจากหลวงตา หลวงตาเมตตาสอนว่า

“จิตใจของคนปฏิบัติธรรม ถึงธรรมแล้วเบื่อหน่าย ไม่อยากเกิดในโลกนี้อีกหรอก เกิดมาทำไม เกิดมาแล้วก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย ให้พยายามนะ เสียสละชีวิต ชีวิตนี้เพื่อศาสนา ร่างกายนี้ นี่คือ ตัวผีดิบนี่ ขม้อยๆ (ขม้อย เป็นภาษาเขมร อ่านออกเสียงว่า ขะ-ม้อย แปลว่า ผี)” หลวงตากล่าวพร้อมกับเอามือตบที่หน้าอกและหัวเราะอย่างมีอารมณ์ขันแล้วเมตตากล่าวต่อว่า

“ตั้งใจปฏิบัตินะ ชาตินี้ไม่ได้ ก็ปฏิบัติต่อไปอีก อย่าเบื่อหน่ายต่อการปฏิบัตินะ ชีวิตจริงๆ แล้วไม่มีอะไร มีแต่เกิด เกิดแล้วก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย ไม่มีสุดหรอก ถ้าเราเอาจิตพิจารณาให้ถึงธรรมแล้ว โอ๊ย สังเวชนะ”

๒๐
ไม่มาเกิดอีกแล้ว

ครั้งหนึ่งหลวงตาเมตตาอบรมศิษย์เรื่องการเกิดว่า

“ให้เรารู้ให้ชัดเจนว่า เกิดมาแล้วก็แก่ แก่แล้วก็ตาย แต่ให้เรารู้ก่อนตายนะ อย่ามาเกิดอีกนะ ปล่อยวางให้หมด ดับให้หมดนะ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ดับให้หมดนะ ถ้าพูดถึงพระนิพพานแล้ว ไม่มาเกิดอีกดอก ดับ ดับหมด ดับชาติ ชราพยาธิ มรณะ คนเราอยากแต่จะเกิด อยากแต่จะดี อยากจะมีทรัพย์ มีสมบัติเงินทอง ของดี ของไม่ดี เอาไปไม่ได้ดอก”

หลวงตากล่าวต่ออีกว่า “พระนิพพานทำยากนะ ดับหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ไม่มีหรอก หมดแล้ว”

ศิษย์กราบเรียนถามต่อด้วยความสงสัยว่า “หนูจะทำได้ไหมเจ้าคะ หลวงตา”

หลวงตาให้กำลังใจแล้วตอบด้วยความเมตตาว่า “ทำไป ทำไม่ได้ก็ทำไปทุกๆ ชาติ อาตมาไม่ได้สงสัยในโลกนี้หรอก หมดแล้ว หมดจริงๆ ไม่มาเกิดอีกดอก”

๒๑
สมบัติของพ่อ

หลวงตาเป็นพระผู้มีความสุขุม พูดน้อย โอวาทของท่านแต่ละครั้ง ประทับเข้าไปในจิตใจของผู้ฟังไม่รู้ลืม แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตท่านก่อนที่จะเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู โรงพยาบาลสุรินทร์ เพียงไม่กี่วัน บุตรชายคนโตของหลวงตา ผู้ซึ่งมาอยู่ปรนนิบัติดูแลท่านด้วยความเป็นห่วงขณะที่ท่านพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมาโดยตลอด ได้เล่าให้ฟังถึงความประทับใจในธรรมะที่ได้จากผู้เป็นพ่อในครั้งสุดท้ายว่า

โดยปกติแล้วเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ขณะอยู่เฝ้าหลวงตาได้เห็นหนังสือธรรมะของโรงพยาบาล จึงหยิบมาอ่าน หลวงตาซึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียงได้มองอยู่นานจึงเอ่ยขึ้นว่า

“ทำไมชอบดูตำรา”

“ผมชอบดูหนังสือธรรมะครับ” เขาตอบหลวงตา

หลวงตากล่าวสั้นๆ อย่างเมตตาว่า “ดูที่ใจก็พอแล้ว”

หลวงตาผู้เป็นทั้งพ่อและพระอาจารย์ผู้ที่เป็นที่พึ่งอันสูงสุดของลูกได้มอบสมบัติสิ่งสุดท้ายที่มีค่ากว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลก คือ ธรรมะซึ่งจะเป็นทรัพย์ภายในและเป็นที่พึ่งกับลูกในเวลาที่ท่านไม่อยู่แล้ว

ดังจะเห็นได้ว่า แม้ว่าท่านจะอาพาธหนักเพียงใด ท่านก็ยังมีเมตตาที่จะสั่งสอนและตักเตือนในเรื่องของหลักการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ท่านมักจะสนับสนุนให้ลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการเจริญสติ ให้เฝ้าตามรู้ดูจิตดูใจของตนเองให้มากเข้ากว่าการปฏิบัติด้วยการอ่านจากตำราแต่เพียงอย่างเดียว

บุตรชายคนโตของหลวงตาเล่าให้ฟังต่อว่า รู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นลูกของพ่อที่มีคุณธรรมสูง อย่างน้อยลูกคนหนึ่งก็ได้รับธรรมะของท่านก่อนที่ท่านจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

๒๒
โอวาทครั้งสุดท้าย

ในวันที่ ๑๑ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ขณะที่หลวงตารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ (ก่อนที่ท่านจะมรณภาพประมาณหนึ่งเดือน) คุณหมอที่ทำการรักษาหลวงตาได้เข้าไปกราบหลวงตา ซึ่งขณะนั้นท่านอาพาธหนักแล้ว หลวงตาปรารภกับคุณหมออย่างอ่อนโยนว่า “ไม่ต้องดูอาตมาแล้ว”

คุณหมอผู้เคารพนับถือหลวงตาดังเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ได้ปรนนิบัติดูแลถวายการรักษาหลวงตายามที่ท่านเจ็บไข้ได้ป่วยมาโดยตลอด มิได้ทราบเลยว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้ฟังหลวงตาให้ธรรมะโอวาท คุณหมอได้กล่าวกับหลวงตาด้วยความต้องการทดแทนพระคุณของหลวงตาว่า “ทำไมครับหลวงตา ผมอยากจะดูหลวงตาให้ถึงที่สุด”

หลวงตาตอบลูกศิษย์ผู้นี้อย่างเมตตาว่า “อาตมาไม่รู้จะตายวันไหน สังขารมีแต่ดับลงทุกวัน มือเท้าเย็นไปหมดแล้ว ธาตุไฟค่อยๆ ดับลงๆ”

หลวงตากล่าวปลงในสังขารต่อไปว่า “เบื่อเต็มทีแล้วเรื่องสังขาร สังขารนี้เบื่อ เกิด แก่ เจ็บ ยังไม่ตายเท่านั้นแหละ แต่...ดูไปก็ไม่หายตายหรอก” (หลวงตาพูดด้วยภาษาของท่านว่า ไม่หายตาย หมายถึงหลวงตาคิดว่าท่านคงจะมรณภาพจากอาการป่วยในครั้งนี้)

หลวงตาหยุดสักพัก แม้จะมีอาการเหนื่อยล้าเต็มที แต่ยังคงเมตตาสอนต่อไปว่า

“ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง...เกิดมาอย่าให้เสียชาติเกิด ทำความดี มีคุณธรรมอยู่ในใจ พุทโธ ธัมโม สังโฆอยู่ในใจ”


คุณหมอซึ่งเคยได้ยินหลวงตากล่าวคำนี้หลายครั้ง แต่ก็อดสงสัยในความหมายอันแท้จริงไม่ได้ จึงกราบเรียนถามท่านว่า “ศัตรู คือใครครับหลวงตา” หลวงตาตอบว่า “ศัตรูอยู่ในใจมนุษย์ ความรัก ความชัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง”

คุณหมอถามต่อไปว่า “แล้วชีวิตต้องต่อสู้กับอะไรครับหลวงตา” หลวงตาตอบว่า “ต้องต่อสู้นะ ต่อสู้กับชาติ ชรา พยาธิ มรณะ (หลวงตายิ้มหวาน) อาตมาเหลือแต่มรณะเท่านั้น อาตมาต่อสู้มาเป็นหมื่น เป็นพันชาติแล้ว อาตมาสู้จบแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย อาตมาไม่เกิดแล้ว”

“นิพพาน เป็นความดับ ดับทุกสิ่งทุกอย่าง ดับธาตุ ดับขันธ์ ไม่ให้เหลือเลยสักอย่างเดียว ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ในโลกนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นเลย อาตมารู้แล้ว อาตมาไม่กลับมาเกิดแล้วในโลกนี้ ไปแล้วไปเลย สบาย ไม่มีเกิด ไม่มีทุกข์ ไม่มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ”

หลวงตาเมตตาสอนต่อไปว่า “ให้ดูตัวเองให้มากๆ ภาวนาให้มีสติ มีปัญญานะคุณหมอ” เมื่อพูดจบหลวงตากล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า

“อย่าไปบอกใครนะ (แล้วหลวงตาก็หัวเราะเสียงดัง) เดี๋ยวเขาไม่เชื่อกัน แต่ถ้าเขาเชื่อ เราก็ไม่สุข เขาไม่เชื่อ เราก็ไม่ทุกข์หรอก สบาย (หลวงตานอนอมยิ้ม) อาตมาพูดออกมาตามที่รู้ที่เห็นตามความเป็นจริง”

คุณหมอเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็ไม่ได้รับปากท่านว่าจะไม่บอกใคร มีแต่รู้อยู่ในใจด้วยความปลาบปลื้ม และเบิกบานใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสฟังธรรมและปรนนิบัติรับใช้พระอริยเจ้าผู้สิ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง ผู้ที่จะไม่กลับมาเกิดแล้วอย่างหลวงตา

ในวันรุ่งขึ้น อาการอาพาธของท่านทรุดหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และถูกนำตัวเข้าถวายการรักษาในห้องไอซียู โรงพยาบาลสุรินทร์ ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่ได้กล่าวสั่งสอนอะไรกับศิษย์อีก จนกระทั่งท่านได้มรณภาพอย่างสงบ ณ วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในอีกประมาณหนึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒)

หลวงตาพระผู้อยู่เหนือโลก ท่านยิ้มให้กับพญามัจจุราชที่กำลังมาเยือนอย่างไม่หวั่นไหว ท่านเป็นพระผู้รู้แจ้งแทงตลอดจึงไม่อาลัยอาวรณ์และไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์อันเป็นเชื้อแห่งการเกิดในภพชาติอีก การต่อสู้ของท่านที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในวัฏสงสาร ได้ถึงกาลสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งชาติ คือ ความเกิด ชรา คือ ความแก่ พยาธิ คือ ความเจ็บ และสุดท้าย มรณา คือ ความตาย จิตของหลวงตาได้พรากออกจากขันธ์แล้ว ไม่มีขันธ์อันเป็นภาระ เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานของพระอรหันต์ที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ สิ้นทั้งกิเลสและชีวิต) อันเป็นบรมสุขตลอดอนันตกาล

ทิ้งไว้แต่เพียงโอวาทครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจให้เราศิษย์ของท่าน ให้มีความเพียรพยายามในการสร้างสมสติปัญญาเพื่อใช้ในการต่อสู้กับกิเลสในจิตใจตนเองให้หมดสิ้นไป ดังที่หลวงตาได้เคยกล่าวถึงการเดินทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนเส้นทางของวัฏสงสารนี้ไว้ว่า

“พระพุทธเจ้าท่านเดินทางในวัฏสงสารมานานแสนนาน
เกิดๆ ตายๆ มานับชาติไม่ถ้วน
อะไรๆ ท่านก็เคยเป็นมาหมดแล้ว
มีแต่ความทุกข์ยาก
จนละความโลภ ความโกรธ ความหลง
ท่านจึงรู้แจ้งโลก เป็นโลกะวิทู”


แก้ไขล่าสุดโดย Nuchys เมื่อ 20 พ.ย. 2019, 13:58, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ผู้ใดหากได้มีโอกาสมากราบนมัสการหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล วัดป่าเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ย่อมได้รับการปฏิสันถารจากองค์หลวงตา ยังจิตใจให้อิ่มเอิบเบิกบานและแกล้วกล้าในธรรม หลวงตาเป็นพระภิกษุผู้รักษาข้อวัตรปฏิบัติเยี่ยงอย่างครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย ท่านเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ พูดน้อย มีจิตใจที่องอาจเด็ดเดียว แต่เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา

ไม่ว่าจะพากันมาสนทนาเรื่องใดๆ กับท่าน ท่านก็จะวกเข้าหาธรรมเสมอ ท่านมุ่งเน้นและชักชวนให้ปฏิบัติภาวนา อันเป็นหนทางแห่งความเบากาย เบาใจทั้งสิ้น

แม้วาระสุดท้ายของท่าน ท่านยังคงสอนลูกศิษย์ทั้งหลายด้วยการปฏิบัติให้ดูโดยการรักษาความสงบเย็นไว้ดังเดิม ต่างไปก็เพียงแต่ครั้งนี้ ท่านนอนนิ่งอยู่บนเตียงคนไข้ที่แวดล้อมไปด้วยศิษย์ที่ทยอยเข้ากราบนมัสการและรอเวลาสุดท้ายแห่งสังขารขันธ์ของท่าน

วันนี้ แม้ไม่มีหลวงตาแล้ว แต่คุณงามความดีคำสอนของท่านจะผนึกอยู่ในใจของศิษย์มิรู้ลืม ศิษย์ขอมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติเพื่อเป็นการบูชาคุณแด่หลวงตาไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

จากใจ...ศิษย์ผู้เคารพรักบูชาหลวงตาอย่างสูงสุด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์
(บันทึกโดย หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล)
--------------------------------

สำหรับพระธรรมเทศนาในส่วนนี้ได้นำมาจากสมุดบันทึกส่วนตัว ของหลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ซึ่งท่านได้คัดลอกไว้ด้วยลายมือของท่านเองทั้งหมด โดยนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้จำนวน ๓ เรื่องด้วยกัน คือ

๑. เรื่อง หลักธรรม หรือ สรุปอริยสัจแห่งจิต โดย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ข้อธรรมในลำดับแรกนี้ เป็นการอธิบายถึงอริยสัจ ๔ ด้วยการศึกษาจิตตนเองตามแนวทางของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

๒. เรื่อง ธรรมะของจริง โดย หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์ สำหรับข้อธรรมในลำดับที่สองนี้ หลวงตาผนึกท่านได้ทำการคัดลอกไว้ด้วยลายมือของท่านเองถึงสองครั้งด้วยกัน ข้อธรรมข้อนี้มุ่งเน้นถึงการปฎิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานโดยอาศัยความวิริยะพากเพียรในการสั่งสมอริยทรัพย์ทั้งภายนอกและภายใน ด้วยการทำบุญให้ทานควบคู่กันไปกับการเจริญสติ สมาธิ ภาวนา ตามลำดับ

๓. เรื่อง โสรัจจธรรม (ไม่ได้ระบุถึงที่มาไว้) หรือคุณธรรมอันเป็นเครื่องหนุนในการเจริญสติ อันนำมาซึ่งความสงบเสงี่ยมสำรวม ปราศจากความเศร้าหมองของจิตแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ

บทธรรมทั้งสามเรื่องนี้ล้วนเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยมุ่งเน้นถึงการพัฒนาจิตเพื่อความหลุดพ้นเป็นสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นธรรมะที่องค์หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล ได้ศึกษาและน้อมนำมาจากครูบาอาจารย์ของท่านมาประพฤติปฏิบัติจนได้ถึงแล้วซึ่งความเป็นพระผู้หลุดพ้น อยู่เหนือโลกเหนือวัฏสงสาร

ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงเห็นสมควร นำมาจัดพิมพ์รวมไว้เพื่อเผยให้กว้างขวางออกไป เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เหล่าศิษยานุศิษย์ รวมถึงผู้ไฟในธรรมปฏิบัติทุกๆ ท่าน

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:19 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) วัดบูรพาราม


หลักธรรม
--------------------------------

โอวาทพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
(พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๒๖ สิริรวมอายุ ๙๕ ปีเศษ)
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์

เมื่อสังขารขันธ์ดับแล้ว ความมีตัวตนจะมีไม่ได้เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง เมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อความเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใคร สรุปใจความอริยสัจแห่งจิตได้ว่า

“จิตที่ส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้นเป็นสมุทัย ผลของจิตที่ส่งออกนอกนั้นเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ”

อธิบายเปรียบเทียบการปฏิบัตินั้น ได้แก่การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัตินั้นก็มุ่งความหลุดพ้นเพียงอย่างเดียว กล่าวโดยสรุป จิต คือพุธโธ คือธรรมะ เป็นสภาวะพิเศษที่ไม่มีการไปการมา เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ โดยไม่ต้องมีตัว ผู้บริสุทธิ์หรือผู้รู้ว่าบริสุทธิ์อยู่เหนือความดีและความชั่วทั้งปวง ไม่อาจจัดเข้าลักษณะว่าเป็นรูปหรือเป็นนามได้ เมื่อได้เข้าถึงสภาวะอย่างนี้แล้ว อาการต่างๆ ของที่เป็นไปหรือจะเรียกว่ากริยาก็ได้ทางภาคปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา เช่น แสงสีต่างๆ เป็นต้น ท่านย่อมต้องถือว่าเป็นของภายนอก เป็นสิ่งแปลกปลอมปรุงแต่ง ไม่ควรใส่ใจ ยึดถือเป็นสาระแก่นสาร แม้แต่ฌานสมาบัติก็ยอมเป็นของประจำโลกเท่านั้น ไม่ใช่หนทางวิเศษ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร