วันเวลาปัจจุบัน 20 มิ.ย. 2025, 23:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา


ฐานิยตฺเถรวตฺถุ
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓

พระวรธัมโมกถา

ประทานเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วงการคณะสงฆ์ไทยย่อมรู้สึกจริงใจร่วมกัน ว่าได้พบความสูญเสียที่สำคัญ เมื่อท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ถึงแก่มรณภาพ

ในระยะหลัง เมื่อธรรมะของท่านเจ้าคุณปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับในความรู้เห็นของชาวพุทธ โดยเฉพาะที่มีบุญมีวาสนาได้รู้จักท่านอย่างใกล้ชิด ได้รับเมตตาจากท่านโดยตรง ต่างก็ดูเหมือนจะพากันไม่สนใจในสมณศักดิ์ความเป็นเจ้าคุณของท่าน ท่านเป็น “หลวงพ่อพุธ” ในความรู้สึกที่เคารพศรัทธาสนิทสนมของญาติโยมจำนวนไม่น้อย แทบทุกหนทุกแห่งได้ยินคำ “หลวงพ่อพุธ” จนชินหูชินใจตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นั่นก็ไม่สำคัญเกินกว่าที่ไม่ปรากฏความเสื่อมเสียของท่านในความเป็นพระเป็นสงฆ์ ในความรู้สึกร่วมกันของพุทธบริษัทจำนวนไม่น้อย ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญูาณ หรือ “หลวงพ่อพุธ” เป็นพระที่สะอาดด้วยศีล ด้วยพระธรรม ด้วยพระวินัย ที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางไว้ให้เป็นคุณสมบัติของพระ และพระในพระหฤทัยของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระศาสนาของพระพุทธองค์ก็คือ พระที่สมบูรณ์จริงด้วยคุณสมบัติที่ทรงวางไว้ สะอาดด้วยศีลด้วยพระธรรม ด้วยพระวินัย มิใช่เพียงด้วยครองผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความสูงส่งบริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น

ขอยืนยันว่า ไม่มีมงคลใดเสมอด้วยมงคลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แห่งพระพุทธธรรม และแห่งพระอริยสาวกสงฆ์ มงคลสูงสุดเพียงนั้นกำลังเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับโลก ที่รวมบ้านเมืองไทยเรานี้ด้วย เพื่อให้สามารถขจัดปัดเป่าอัปมงคลให้บางเบาบรรเทาลง ความสุขสงบจะได้เกิดขึ้นแทนที่ความร้อนความแรงที่มากมีหนักหนาในปัจจุบัน

“หลวงพ่อพุธ” ท่านเป็นหนึ่งในผู้มีคุณต่อบ้านเมืองของเรา เพราะท่านเป็นพระที่เป็นมงคล เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่ช่วยมิให้อัปมงคลเพิ่มขึ้น ท่านย่อมได้เสวยผลแห่งความเป็นพระมีมงคลในคติภพวิสัยของท่านแน่นอนแล้ว ขอให้ผู้ได้พบ ได้รู้จักท่าน ได้นำความมีมงคลของท่านไปศึกษาปฏิบัติ เพื่อพาตนให้พ้นอัปมงคลเถิด “ชีวิตนี้น้อยนัก” จักได้มีชีวิตหน้าที่ยาวนานอย่างมีมงคลต่อไป.


คำนำ

ฐานิยตฺเถรวตฺถุ (ฐา-นิ-ยัต-เถ-ระ-วัต-ถุ) ชื่อของหนังสือเล่มนี้แปลว่า “เรื่องของพระเถระชื่อว่า “ฐานิยะ” หรือภาษาพูดที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “เรื่องของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย”

ศัพท์ว่า ฐานิยะ หรือ ฐานิโย นี้ เป็นชี่อฉายาภาษามคธ ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ตั้งแต่วันที่ท่านอุปสมบท แปลความหมายว่า ผู้ตั้งมั่น (ในธรรม)

เนื้อความในพระไตรปิฎกหรือประวัติเหล่าพระสาวกในพระธรรมบท ชื่อเรื่องประวัติของพระสาวกรูปนั้นๆ ท่านมักจะตั้งชื่อลงท้ายด้วยคำว่า เถรวตฺถุ แบบเดียวกัน เช่น ถ้าเป็นเรื่องพระอานนท์เถระ ก็จะชื่อเรื่องว่า “อานนฺทตฺเถรวตฺถุ” และเรื่องของพระสาวกรูปอื่นๆ ก็มีนัยเดียวกันนี้

ฉะนั้น ชื่อเรื่องว่า “ฐานิยตฺเถรวตฺถุ” นี้ จึงมีที่มาด้วยการอาศัยเรื่องของพระสาวกในครั้งพุทธกาลเป็นแบบอย่าง อันเป็นเหมือนคัมภีร์ชีวิตให้ชาวพุทธได้ศึกษาสืบไป ซึ่งจะเป็นเครื่องเทียบเคียงได้ว่า หลักธรรมหลักปฏิบัติไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน พระธรรมยังคงเส้นคงวาหนาแน่นอยู่สม่ำเสมอ ทั้งในอดีตกาลและปัจจุบัน ธรรมคงทรงธรรมไม่จำกัดกาล ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรมอยู่ ธรรมนั้นย่อมอำนวยผลอันพึงใจให้เสมอ ตามกำลังความสามารถแห่งตน ที่บากบั่นมุ่งมั่น เท่าเทียมกัน ทั้งในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และในสมัยปัจจุบันนี้ ที่พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) เป็นพระสาวกอีกรูปหนึ่งซึ่งดำรงชีวิตแบบพระผู้ประเสริฐ เป็นผู้มีปฏิปทาคือทางก้าวเดินในทางธรรมอันแกล้วกล้า มีศรัทธาไม่หวั่นไหวตั้งแต่วันอุปสมบท จนในที่สุดก็ได้บรรลุถึงเป้าหมายแห่งชีวิตของนักบวช คืออุดมธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม ตามความสามารถและบุญญาบารมี เป็นประดุจน้ำที่เต็มแก้ว จะเทใส่เข้าไปเท่าใดก็ตาม มีแต่จะล้นเอ่อออกมาเท่านั้น ส่วนที่ล้นเอ่อไหลอาบออกมา

นอกแก้วนั้น ก็นำออกไปเพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ตามส่วนแห่งเมตตาที่เต็มเปี่ยม ดังเทศนาธรรมตอนหนึ่งของท่านว่า...

“ถ้าจะพูดไปแล้ว เวลานี้เราก็เหมือนเป็นแชมป์โลก ต่อยกับกิเลสมาทุกชั้นทุกตอน ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็ชนะบ้างตามส่วนแห่งความเพียรภาวนาและบุญญาธิการ ถ้าเป็นนักมวยก็เรียกได้ว่า แชมป์โลก ทีนี้เมื่อเป็นแชมป์ คนก็รู้จัก อามิสบูชาก็มาก ปฏิบัติบูชาก็มี เมื่อมากและมีแล้ว ก็นำออกสงเคราะห์คนยากจนเข็ญใจ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ต่างๆ ซึ่งจำเป็นด้วยเหตุผลด้วยเมตตาอันเกิดจากใจบริสุทธิ์จริงๆ”

ฐานิยตฺเถรวตฺถุนี้ จึงเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ที่กำลังจะมอดไหม้ ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต แต่ในทางตรงข้ามกลับแสดงความจีรังยั่งยืนของธรรม เพราะอาศัยชีวิตเป็นบันไดให้ก้าวถึง โดยอาศัยธรรมและวิบากที่ดีนำทางเข้าสู่เส้นชัย เป็นคติเตือนใจทั้งในขณะมีชีวิตอยู่และปล่อยวาง แต่โดยที่สุดแล้วก็มีความดีปรากฏเด่นให้ชาวโลกได้ดูชมทั้งธรรมและจริยา

หนังสือเล่มนี้สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือแห่งศิษย์ทุกๆ ท่าน กรรมอันใดที่ล่วงเกิน เหล่าศิษย์ขอน้อมกราบด้วยเศียรเกล้า ขอหลวงพ่อได้โปรดงดซึ่งโทษที่ล่วงเกินนั้น เพี่อการสำรวมระวังและตั้งสติให้ดีในกาลต่อไป

ศิษยานุศิษย์
๒๘ เมษายน ๒๕๔๓

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2015, 16:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


ชาติภูมิ

พระราชสังวรญาณ หรือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย มีชาติกำเนิดในสกุล “อินหา” เกิดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันพุธ เดือน ๓ ปีระกา เวลา ๐๕.๑๐ น. ที่บ้านหนองโดน ตำบลหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

บิดาชี่อพร มารดาชื่อสอน อินหา ท่านเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม


บรรพชา

รูปภาพ
พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)


บรรพชา ณ วัดอินทสุวรรณ บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๑๕ ปี โดยมีท่านพระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน ฝ่ายมหานิกาย เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูโพธิภูมิไพโรจน์ (หมุน โพธิญาโณ) เป็นอาจารย์สอนในขณะเป็นสามเณร ท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ณ วัดแห่งนี้

การบรรพชาครั้งที่ ๒ เป็นสามเณรธรรมยุตเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดบูรพา โดยมีพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) แห่งวัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์พร สุมโน เป็นอาจารย์สอนภาวนาและข้อวัตรปฏิบัติในขณะนั้น

พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบนักธรรมชั้นโทได้ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏวนาราม

พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏวนาราม

พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านเดินทางเข้ามาเรียนหนังสือบาลีต่อที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ สามารถสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ในขณะเป็นสามเณร


อุปสมบท

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)


อุปสมบท ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปทุมธรรมธาดา ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดบัวเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายามคธว่า “ฐานิโย” ซึ่งแปลความหมายว่า ผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม


จำพรรษา

พรรษาที่ ๑-๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖) จำพรรษาที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

พรรษาที่ ๓-๗ (พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๙) จำพรรษาที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พรรษาที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๐) จำพรรษาที่วัดเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

พรรษาที่ ๗-๑๒ (พ.ศ. ๒๗๙๐-๒๔๙๖) จำพรรษาที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (๒๔๙๑ สอบเปรียญธรรม ๔ ประโยคได้)

พรรษาที่ ๑๓-๒๖ (พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๑๐) จำพรรษาที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (เป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ และเป็นพระครูพุทธิสารสุนทร)

พรรษาที่ ๒๗-๒๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒) จำพรรษาที่วัดหลวงสุมังคลาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ (เป็นพระราชาคณะที่ พระชินวงศาจารย์)

พรรษาที่ ๒๙-๔๓ (พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๒๗) จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา (เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาพิศาลเถร)

พรรษาที่ ๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๘) จำพรรษาที่สุญญาคาร (เรือนว่าง) อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

พรรษาที่ ๔๕-๔๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐) จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

พรรษาที่ ๔๗-๔๘ (พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒) จำพรรษาที่วัดวะภูแก้ว บ้านวะภูแก้ว ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

พรรษาที่ ๔๙ (พ.ศ. ๒๕๓๓) จำพรรษาที่วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

พรรษาที่ ๕๐ (พ.ศ. ๒๕๓๔) จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

พรรษาที่ ๕๑-๕๔ (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๘) จำพรรษาที่วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา (เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวรญาณ)

พรรษาที่ ๕๕-๕๗ (พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๑) จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

หลวงพ่อเล่าประวัติว่า “เมื่อมีคนมาถามถึงสกุลรุนชาติ หลวงพ่อจะบอกเสมอว่า หลวงพ่อเป็นเด็กขอทาน กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ อาจเคยทำกรรมพรากชีวิตสัตว์ไว้ จึงต้องเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก”


ถิ่นฐานบ้านเดิม...เกิดในดงโจร

สมัยก่อนนี่เกิดอยู่ในดงโจร พี่น้องทางฝ่ายแม่นี่เป็นโจรชั้นไอ้เสือทั้งนั้น ถ้าหลวงพ่อไม่มาบวชนี่ สงสัยไม่ตายโหงก็ติดตะรางหัวโต

บ้านปู่บ้านย่าเป็นคนอุบลฯ อยู่บ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ เพราะภัยธรรมชาติเกิดความแห้งแล้ง จึงได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ทางอำเภอสว่างแดนดิน สกลนคร

บ้านตาบ้านยายอยู่บ้านหนองโดน อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ่อไปค้ากำปั้น (หมายถึงไปขายแรงงาน) ไปได้แม่อยู่นั่น พ่อของหลวงพ่อนี่เป็นคนหมั่นคนขยัน ไปเป็นลูกจ้างเขา ตำข้าว ตักน้ำ ทำให้ครอบครัวเขา จนเขารัก เขาเลยยกลูกสาวให้


ย้ายจากหนองโดนมาอยู่แก่งคอย

สมัยนั้น ตาเป็นเจ้าของนาใหญ่ อยู่แถวทุ่ง แล้วทีนี้พ่อก็ไปเป็นลูกจ้างในบ้านนั้น บังเอิญหมู่เพื่อนไปกันเยอะแยะแต่เขารับเอาพ่อไว้คนเดียว ตอนนั้นพ่ออายุ ๑๙ ปี พ่อเป็นคนหมั่นขยัน ตักน้ำ ตำข้าวทำครัว แกทำคล่อง พ่อตาก็เลยชอบใจถึงกับยกลูกสาวให้ “มึงไม่ต้องพูดอะไร ข้าจะเอาเป็นลูกเขย” พ่อตาพูดขึ้น เสร็จแล้วก็ยกลูกสาวให้ อยู่มาภายหลังนี้ แม่ก็คลอดหลวงพ่อออกมา พอคลอดเท่านั้นแหละ ก็เริ่มเสียสติ ขนาดเป็นบ้า รักษากันอยู่ ๒-๓ ปี ไม่มีท่าทีว่าจะหาย พ่อตาก็เลยบอกพ่อของหลวงพ่อว่า “เจ้ายังหนุ่ม เจ้าไปซะ ไปหาเอาเมียใหม่ที่ไหนก็ได้ ลูกสาวพ่อ พ่อจะเลี้ยงเอง” ในที่สุดโยมพ่อก็จากไป

ทีนี้พอพ่อไป ก็ไปรับจ้างเกี่ยวข้าวอยู่แถวนั้น ปู่ย่าก็รับจ้างปลูกข้าวแถวนั้น พอสักพักหนึ่งก็คิดถึงลูก ก็เลยกลับไปหาอีก ไปบอกพ่อตาว่าไปไม่ได้หรอกคิดถึงลูก คิดถึงเมีย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะทิ้งกันได้ยังไงมันดูไม่งาม ดูไม่ดีเลย โดยเฉพาะทิ้งลูกไป มันก็ดูไม่งาม พ่อตาก็บอกว่า ถ้าไม่ไป ก็ไปหาทำไร่ ทำนา ทีนี้พ่อก็ไปทำไร่ พ่อตา แม่ยายก็คอยส่งเสบียงให้ ก็ไปนอนอยู่ในป่าถางไร่ยังไม่เสร็จ ก็บอกพ่อตาว่าขอเอาลูกไปถางไร่ด้วย ทีนี้แทนที่จะกลับไปถึงไร่ถางหญ้าต่อ ก็เตลิดพาลูกน้อยหนีมาหาญาติที่อำเภอแก่งคอย


หวุดหวิดถูกเอาไปขายแลกเหล้า

พอดีน้องสาวย่ามาอยู่ที่แก่งคอย แล้วโยมพ่อก็มาอยู่ด้วยมาเกิดเป็นไข้มาลาเรีย ไข้มาลาเรียในสมัยนั้นก็มีแต่ตายอย่างเดียวเท่านั้น ทีนี้น้องเขยย่าเป็นคนเล่นการพนันติดการพนัน กินเหล้า ขี้เมาหยำเปแล้วก็ชอบเอะอะโวยวายทำลายสิ่งของ เข้ามาบ้านก็มาทุบตีย่า

จำได้อยู่มาภายหลัง แกก็เอาหลวงพ่อมาขายให้คนจีนแล้วจะเอาเงินไปกินเหล้า พอดีปู่คุณก็เดินทางจากสกลฯ มารับที่แก่งคอย เราเป็นเด็กก็จำได้แต่ว่าย่าช่อมาเรียก เรียกให้ไปหาปู่คูณ ช่วงนั้นอายุได้ ๔ ขวบเศษจำอะไรไม่ได้มากนัก


เกิดมาได้ ๔ ขวบก็มีอันต้องพลัดพรากจากพ่อแม่

รูปภาพ

วาสนาของคนเรามันอาศัยบุญกรรมเป็นเครื่องตกแต่ง บุญหมายถึงกรรมดีลิขิต บาปหมายถึงกรรมชั่วลิขิต ชีวิตจึงมีทางเดินของชีวิตโดยอาศัยดีชั่วแสดงเหตุผลให้ก้าวเดิน เราเกิดมาเหมือนชีวิตมันไม่สมบูรณ์แต่มันก็สมบูรณ์ตามบุญกรรมที่ตกแต่งมาด้วยความเป็นธรรม กรรมจึงไม่เอนเอียงตามใครต้องการ แต่จะดำเนินตามกรรมดีกรรมชั่วที่เรากระทำเท่านั้น

เราเป็นเด็กพอเกิดมาได้ ๔ ขวบเศษ ก็มีอันต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ แต่ตอนนั้นมันไม่รู้เรื่องอะไร ผู้เฒ่าเล่าให้เราฟังว่า

“โยมแม่คลอดออกมาเสียสติ ส่วนโยมพ่อเป็นไข้มาลาเรียตายตอนพาเราหนีมาแก่งคอย ตอนอายุ ๔ ขวบ ญาติๆ ทางบ้านโคกพุทราเห็นว่า ไอ้พรมันก็ตายแล้ว แม่มันก็เสียสติ เห็นแล้วน่าสงสาร กลัวทางสระบุรีเขาเลี้ยงไม่ดี ก็เลยออกอุบายพาขโมยหนีมาสกลนคร เดินทางจากแก่งคอย สระบุรีมาสกลนครใช้เวลาเดือนครึ่ง เดินทางมาด้วยเท้า ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น นอนตามเถียงนา นอนตามร่มไม้ชายป่า เสบียงอาหารหาบข้าวสาร หาบบั้งปลาร้า ข้าวหมดก็ขอเขากินตามทาง

ถ้าผ่านหมู่บ้านก็นอนตามวัด ขอข้าวพระกิน ใช้เปลือกหอยจิ๊บจี้ทำช้อน ใช้กะลามะพร้าวทำเป็นถ้วยชาม ในระหว่างทางนั้นพ่อปู่สุวรรณอุ้มบ้าง ปู่สงฆ์อุ้มบ้าง ปู่คูณอุ้มบ้าง ปล่อยให้วิ่งเล่นบ้าง มีของกินอะไรตามป่าตามเขาก็เอาล่อบ้าง ตามข้างทางมีผลตูมกา (มะตูมชนิดหนึ่ง) พวกผู้เฒ่าก็เอามาให้เล่น พอเอามาให้เล่นเราก็ชอบใจใหญ่ เมื่อเราพอใจ เขาก็แกล้งโยนไปข้างหน้า กลิ้งไปข้างหน้า ให้เราวิ่งตามผลตูมกานั้น เมื่อเราวิ่งเก็บได้เขาก็โยนไปอีกอยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะเหนื่อยหมดแรงแล้วก็นอนหลับไปเอง”

การเดินผ่านป่าผ่านเขาอันน่าสะพรึงกลัว รอนแรมนานวันนานคืนเหนื่อยล้าสำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจสำหรับเด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องราวของชีวิต คำโกหกของผู้ใหญ่เป็นสิ่งไร้สาระสำหรับคนโตๆ แต่เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเด็กที่ไม่รู้เรื่องโลก วันหนึ่งๆ เวลาเราร้องไห้ เมื่อเวลาเราไม่หยุด คำขู่ง่ายๆ ที่เป็นไม้ตายที่ใช้ไม่รู้จบสิ้นคือ

“ระวังนะอย่าร้อง เดี๋ยวเสือจะมาคาบคอ”, “หลับเถิดนะหลานน้อย ถ้าไม่หลับผีจะมาเอาไปกิน” หรืออีกอย่างหนึ่ง “อย่าร้องไห้เสียงดังประเดี๋ยวผีป่ามันจะได้ยิน” คำขู่แค่นี้ทำให้น้ำตาเราไหล แต่ปากและใจก็ไม่กล้าร้องไห้ จนกระทั่งถึงบ้านโคกพุทรา


เมื่อมาอยู่กับอาที่บ้านโคกพุทรา

พอมาอยู่กับปู่ย่าที่บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร มาตอนหลังปู่ก็ตาย แล้วก็อาผู้หญิงน้องพ่อก็ตาย สามีอาเลยหนีไป ทิ้งลูกไว้ ๓ คน คนหนึ่งนี้ตาย เลี้ยงไม่โต เลยเหลือ ๒ คน ที่บ้านนั้นก็เลยเหลือแต่ย่ากับอาผู้ชายคนสุดท้าย เราก็มาอาศัยอยู่กับเขา เลยเป็นพี่น้องกำพร้าทั้ง ๓ คนอยู่ด้วยกัน

อยู่มาภายหลัง อาเคียบเป็นชายหนุ่มยังไม่แก่ จึงคิดว่า ทำอย่างไรน้อ ! แม่เราก็แก่แล้ว เลี้ยงหลานก็ไม่ไหว ก็เลยไปจีบผู้หญิงที่เป็นคนแก่กว่า พอเสร็จแล้วไปตกลงปลงใจกันอย่างง่ายๆ ก็พามาอยู่บ้าน ทีนี้พี่ชายใหญ่ก็ต่อว่าน้องชายว่า ทำไมจึงเอาเมียแก่ แกอายุ ๑๙ เอาเมียอายุตั้ง ๓๐ ปี แกก็บอกว่าเอาสาวๆ มากลัวจะเลี้ยงหลานไม่ไหว เขามีอายุแล้ว เลี้ยงหลานคงเป็น ก็เลยอยู่กันมาจนกระทั่งโต แล้วเรียนหนังสือ จบแล้วก็ออกบวช


อานำมาเลี้ยง

จากนั้นอาผู้ชายนำมาเลี้ยงหลังจากย่าตาย ได้อยู่กับอาซึ่งเปรียบเสมือนทั้งพ่อทั้งอา ตอนนั้นช่วยอาทำนา การทำนาในสมัยนั้นก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนปัจจุบัน เพียงแต่หว่านเมล็ดข้าวลงในนา ขายข้าวได้แสนละ ๕๐ สตางค์ (๑ แสน = ๑๒๐ กิโลกรัม) แทบจะยกมือไหว้คนมาซื้อ ต่อมาเขามาตั้งโรงเหล้าที่อุดรฯ พวกโรงเหล้าก็มาซื้อข้าว ทำนาทุกปีๆ ข้าวที่อยู่ข้างล่างผุเป็นขอบ (คงขายไม่ทัน) ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๕ ราคาข้าวได้แสนละ ๒ บาท ขาย ๑๐ แสน (๑๐๐ หมื่น) ก็ได้ ๒๐ บาท ไปทำนา มีอา ๒ คน คืออาชายกับอาหญิง มีหลานกำพร้า ๓ คน (เด็กชายอ่อนสี เด็กชายพุธ เด็กหญิงบัวลี) ทำนาแต่ละปีๆ ได้ข้าวท่วมหัวท่วมเกล้า ไม่ได้ขาย ขายข้าวแสนละ ๕๐ สตางค์ แสนหนึ่งมัน ๑๐ หมื่น หมื่นหนึ่ง ๑๒ กิโล รวมแล้ว ๑๒๐ กิโล เป็นหนึ่งแสน ขาย ๕๐ สตางค์ ทำนากันทุกปี ทำด้วยความขยันขันแข็ง หมู่บ้านร้อยหลังคาเรือน เก็บเงินมารวมกันทั้งหมู่บ้านแล้วได้ไม่ถึงพันบาท แต่เราอยู่ได้อย่างสบาย เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าว ขอให้มีน้ำ ปลาเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้มีน้ำ หาปลาจะดีดน้ำก็ไม่มี ทำไมมันไม่มี..ยาฆ่าแมลง ปลามันหนีหมด มันไม่มาไข่ให้เรา

สาวเล็กสาวน้อยเข็นฝ้ายไม่เป็นเดี๋ยวนี้ ไปพาลูกพาหลานมันทำนะ ถ้าหลวงพ่อเป็นหนุ่มน้อย ให้ไปหาเอาเมียบ้านนอก จ้างก็ไม่เอามัน ทำไม..มันเข็นฝ้ายไม่เป็น เพราะฉะนั้นพากันฟื้นฟู พี่น้องทั้งหลาย เราเข็นฝ้าย ปีหนึ่งเราทอหูก ๒๐-๓๐ เมตร มาตัดเสื้อตัดผ้าแจกกันใช้ ไม่ต้องจ่ายสตางค์ เงินมีเท่าไร มีอยู่เท่านั้น


เสื้อผ้าเย็บเอง เย็บด้วยมือ นุ่งกางเกงขาก๊วย

สมัยเด็กนอกจากทำนาแล้ว ก็ต้องซ้อมข้าวสารหาบไปขาย หาเงินเรียนหนังสือ ตอนเป็นนักเรียน ไม่เคยได้ใส่เสื้อผ้าที่เขาตัดขาย มีแต่เสื้อผ้าที่เย็บเอาเอง เย็บด้วยมือ นุ่งกางเกงขาก๊วย บางทีก็แปลงมาเป็นโสร่ง แบบโสร่งปาเต๊ะผู้หญิง เย็บเสื้อผ้าใส่เองตั้งแต่เด็ก บางครั้งอาก็ไปซื้อฝ้ายทั้งเม็ดมา ทำคันดีดให้หลานดีด เขาเรียกล่อฝ้าย แล้วไปว่าจ้างชาวบ้านช่วยปั่นให้ นำมาต้มชุบแป้งแล้วจ้างชาวบ้านทอ บางทีทอเอง แล้วก็เอามาตัดเย็บเสื้อผ้าใส่ อยู่บ้านไม่ค่อยใส่กางเกง ชอบนุ่งโสร่ง

ทำงานช่วยตัวเองมาตั้งแต่ ๗-๘ ขวบจนถึง ๑๔ ขวบ เรียนจบ ป.๖ ครูชวนไปสอนหนังสืออยู่โรงเรียนก็ไม่เอา เริ่มรู้สึกสำนึกตัวตั้งแต่รู้เดียงสาว่า ชีวิตมันทุกข์ทรมาน มันเคียดแค้นความจน ความไร้พ่อแม่ จึงตั้งปณิธานว่า “ขึ้นชื่อว่าทายาททุกข์ จะไม่ให้มี” ชีวิตของหลวงพ่อว่าไปแล้วมันน่าสงสาร ถ้าลูกหลานมีมานะที่จะสร้างตัวเองเหมือนหลวงพ่อ มันต้องเอาตัวรอดได้ทุกราย


วิถีชีวิตสมัยปู่ย่าตายาย

อาชีพซึ่งเคยทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเช่น เกษตรกรรมประจำครอบครัว อุตสาหกรรมประจำครอบครัว

เกษตรกรรมประจำครอบครัว ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย

อุตสาหกรรมประจำครอบครัว ชาวชนบทเข็นฝ้าย เลี้ยงไหม ทอหูก อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือชีวิตของพวกเรามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่มาสมัยปัจจุบันนี้ ชาวชนบทพากันทอดทิ้งสิ่งที่เราเคยพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่เก่าก่อน โดยไปยึดเอาหลักและวัฒนธรรมของชาวต่างประเทศ ไปดำเนินตามแบบชาวต่างประเทศ พากันทิ้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประจำครอบครัว

เกษตรกรรมประจำครอบครัว เรามีข้าว ในสวนเราก็มีผักที่เราปลูกเอาไว้ มองลงไปใต้ถุนก็มีเล้าเป็ด เล้าไก่ มีเล้าหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ทำไร่ทำนากัน ถึงแม้ว่าทรัพย์สินเงินทองไม่มี แต่เราก็อยู่กันได้ เพราะว่าเรามองไปข้างบ้านก็เห็นยุ้งข้าว มองลงไปใต้ถุนบ้านก็เห็นเล้าเป็ด เล้าไก่ มองเข้าไปในสวนก็มีผักมีหญ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้

อุตสาหกรรมประจำครอบครัว การเข็นฝ้าย เลี้ยงไหม ทอหูก เราใช้เป็นอาชีพที่ช่วยชีวิตของเรามาตั้งแต่ปู่ย่าตายายของเราแล้ว แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ชาวชนบทพากันทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว ไร่นาก็กลายเป็นรถยนต์ ไปเป็นรถมอเตอร์ไซค์กันหมด แล้วมิหนำซ้ำยังไปหวังพึ่งโชคลาภ ลอตเตอรี่ หวยเบอร์หรือการพนันต่างๆ มันก็ยิ่งพากันยากจนลงไปใหญ่


ย้อนอดีตแก้ไขปัจจุบัน

ที่เราจะแก้ปัญหา (เศรษฐกิจยุค IMF) คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป แต่ประชาชนพลเมืองทั่วไปก็ให้พากัน อดทน จริงใจ รื้อฟื้นอาชีพเดิมของตนเองขึ้นมา ทำเหมือนอย่างเก่าแก่โบราณ สมัยปู่ย่าตายายของเรา ยึดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงลูกหลานมา เข้าใจว่าบ้านเมืองของเราจะอยู่รอดได้

สงครามโลกครั้งที่สองก็รู้สึกว่าค่อนข้างจะลำบากมาก แต่ก็ไม่เหมือนอย่างในสมัยปัจจุบันนี้ สมัยนั้นประชาชนพลเมืองยังมีความคิดที่จะช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากลำบากด้วยการประกอบเกษตรกรรมประจำครอบครัว อุตสาหกรรมประจำครอบครัว แต่มาในสมัยปัจจุบันนี้ประชาชนทั้งหลายทอดทิ้งอาชีพเดิมของตนเอง แต่แห่กันไปทำงานตามโรงงานต่างๆ ในภาคกลาง พอไปทำงานได้เงินนิดหน่อยก็กลับมานอน เอาเงินซื้อข้าวสารกิน เงินหมดแล้วก็ไปทำงานต่ออีก ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ประชาชนพลเมืองของเราก็ยากที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวสร้างหลักฐานหรือออยู่ดีกินดีได้

เกษตรกรรมประจำครอบครัว ทำนา ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ตามนโยบาย ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันนั้นคือเกษตรกรรมประจำครอบครัว อยากกินไข่ไม่ต้องซื้อ อยากกินไก่ไม่ต้องซื้อ จับไก่ในเล้าของเรามาแกงกิน อยากกินผัก ในสวนของเรามี ผลหมากรากไม้ของเราก็มี เราก็ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องไปโวยวายค่าครองชีพมันสูง อันนี้มันก็แก้ปัญหาไปได้ข้อหนึ่งแล้ว

ทีนี้อุตสาหกรรมประจำครอบครัว ปั่นด้าย ทอหูก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เวลานี้เขาทิ้งกันหมด สมัยเก่าก่อนโบราณนี้ สมัยที่หลวงพ่อเป็นเด็ก หลวงพ่อหัดปั่นด้ายนะ ปั่นด้าย แกะขี้ไหม ทอหูก ช่วยย่า เราเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่ไม่มี ต้องอาศัยย่าแก่ๆ ทอหูก ทำผ้านุ่งผ้าห่มให้ สงสารย่า เราก็หัดเข็นฝ้ายบ้าง หัดปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้าง หัดทอหูกบ้าง ช่วยตัวเองตลอดมา แล้วทีนี้เราทอหูกได้ยี่สิบสามสิบเมตร เอามาตัดเสื้อผ้าแจกกันใช้ ไม่ต้องไปหาเงินเที่ยวซื้อในตลาด มันพอแก้ปัญหาความยากจนไปได้พักหนึ่ง

เวลานี้แม้แต่วัว ควาย ต่อไปนี้เราอาจจะได้เห็นแต่รูปมัน เดี๋ยวนี้ชาวไร่ชาวนาแถวบ้านหลวงพ่อ แถวสกลนครนี้ เขาขายเข้าโรงงานหมด ทีนี้มาภายหลังนี้นึกสงสารชาวบ้าน ก็พากันชักชวนญาติโยมทั้งหลาย บริจาคเงินทอง ไปซื้อโค ซื้อกระบือ ไปเที่ยวแจกตามบ้านนอก ปีนี้เราก็แจกไปได้พันกว่าตัว ปีกลายนี้ก็พันกว่าตัว


คนไทยรู้จักใช้แต่สิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่

ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ถอยหลังไปโน้น พื้นแผ่นดินภาคอีสานเป็นผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เข้าป่า มีผลไม้ มีเผือกมีมัน ลงทุ่ง มีกบมีเขียดมีปลา หลวงพ่อเป็นเด็กเลี้ยงควายเดินไปในโคกป่านี่ ใบไม้ ใบพลวง ใบตองมันหล่นลงมาทับ เหยียบไปไหน ได้ยินแต่เสียงมันระเบิดดังโป๊กป๊ากๆ อะไร ไปเหยียบหัวกบมัน ท้องมันแตก เดี๋ยวนี้หลวงพ่อไปเยี่ยมบ้านแถวสกลนครตอนบ่ายๆ ๓-๔ โมง ไปเอาผ้าอาบน้ำปูลงแล้วนอนอยู่ใต้ร่มไม้ เอารถไปจอด จอดทำไม คอยฟังว่ามันจะได้ยินเสียงกบเขียดร้องหรือเปล่า เงียบไม่ได้ยิน ขอให้แกร้องขึ้นมาเถอะ ร้องแอะขึ้นมาฉันจะตามหาจนพบ เวลานี้กบเขียดนี้ไม่มีดาษดื่น พอเดือนหกเดือนเจ็ด ฝนลงมานี่ อึ่งอ่างกบนี้มองดูเต็มไปหมด เวลานี้จะหาอึ่งอ่างจะมาร้องก็ยังไม่มี ใครอยากกินกบ เลี้ยงกิน อยากกินปลา เลี้ยงกิน ในสมัยยังไม่ถึงร้อยปีความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมันเป็นไปถึงขนาดนี้ ทีนี้ชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนของเรานี่ เขาจะอยู่จะกินกันอย่างไร

เพราะฉะนั้นพวกเราจะต้องสร้างสมรรถภาพของเราเองให้เข้มแข็ง ต่อไปนี้ ตีนถีบปากกัด หยุดนิ่งไม่ได้ ทุกคนจะต้องกระตือรือร้น รู้จักหน้าที่ของตนเอง ประชาชนพลเมืองของไทยเรานี้ยังมีแนวโน้มไปในทางที่รู้จักใช้แต่สิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ เพราะฉะนั้นลูกหลานพยายามฝึกฝนความรู้สึกของตนเองนี้ให้มันรู้จักหน้าที่ให้มันมากๆ ขึ้น อย่าให้รู้จักแต่ว่าเวลามีความจำเป็นมา ก็เรียกร้อง พอมีรัฐบาล รัฐบาลใดไม่มีของไปแจก รัฐบาลนั้นไม่ดี รัฐบาลใด เวลาไม่มีน้ำ ไม่เอาน้ำไปแจก รัฐบาลนั้นไม่ดี หลวงพ่อไปแถวภาคกลางนี้ ภาคกลางเขายังดีหน่อยนะ บ้านเขากระต๊อบกระแตหลังคามุงจาก มีตุ่มน้ำวางรอบบ้าน ไปทางอีสานนี้บ้านหลังใหญ่หลังโตแต่มองหาตุ่มน้ำสำหรับเก็บน้ำฝนเอาไว้รับประทานหน้าแล้งไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเมื่อฝนไม่ตกไม่ลงนี่ เราจึงพากันอด พออดแล้วก็พากันร้อง ร้องรัฐบาลไล่ไป แต่เวลาสุขสบายไม่คำนึงถึงว่า รัฐบาลเขาจะมีความเดือดร้อนทุกข์ยากลำบากแค่ไหน เอ้า ! เวลาทุกข์มาก็นึกถึงรัฐบาล ให้รัฐบาลหาน้ำไปแจกไปช่วย เพราะฉะนั้น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ พยายามช่วยตัวเอง คนที่จะช่วยตัวเองได้ต้องหมั่นขยัน คนหมั่นขยันก็ย่อมมีจิตใจกว้างขวาง ทำให้เกิดคุณธรรมคือความสามัคคี


ไม่มีความรู้สึกว่ามีพี่มีน้องมีญาติ

ในความรู้สึกของหลวงพ่อ ไม่มีความรู้สึกว่าที่ไหนเป็นบ้าน ไม่มีความรู้สึกว่ามีพีมีน้องมีญาติ แต่แสดงความรู้สึกไปตามมารยาท ใครมาปวารณาว่าเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นลูกหลาน ก็แสดงไป เขาจะเลิกรักนับถือก็สบายๆ ใครมาบอกว่ารักก็รักเขา ถ้าเขาเลิกรัก เลิกนับถือก็ไม่มีความรู้สึกเสียใจสักนิด

พ่อของหลวงพ่อชื่อ นายพร แม่ชื่อ นางสอน อินหา อายุ ๔ ขวบ เมื่อพ่อตาย ไปอยู่กับปู่กับย่าที่ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ตาชื่อวงศ์ ยายจำชื่อไม่ได้ ปู่ชื่อคูณ ย่าชื่อช่อ

พ่อปู่เป็นคนต่อนกเขา เลี้ยงนกเขาเพิ่นขันเสียงน้อยๆ ชาวบ้านเขาให้ฉายาว่า “ตาคูณนกเขาน้อย” มีญาติคนหนึ่งติดกัญชา พี่เขยของแม่อานี้แหละ ติดกัญชา เขาก็เลยให้ฉายาว่า “สุดขี้ชา”

ในวัยเด็กถึงแม้จะเป็นลูกกำพร้า แต่หลวงพ่อก็เป็นคนไม่ยอมคน ถ้าโดนรังแกก็สู้ลูกเดียว

ในด้านจิตใจก็มีแต่สู้ลูกเดียวไม่มีถอย ขนาดหัวมันสูงกว่าเราคืบหนึ่งนี้ไม่ยอมถอย หมอหนึ่งตัวใหญ่เบ้อเริ่ม ตีกัน มันจับได้ มันเอากำปั้นใหญ่ใส่หน้าท้องนี้ เราก็จุก มันก็จุกเหมือนกัน

พอถูกรังแก เราก็ตีมัน บางทีไล่ฟัดมันจนกระทั่งมันขึ้นไปถึงบ้าน พ่อแม่มันจะมาช่วยลูกมันตี เราก็กระโดดบ้านหนีซิ จะอยู่ทำไม สมัยนั้นความคิดมันยังอ่อนอยู่ ถ้าหากว่าความคิดมันโตเป็นผู้ใหญ่ล่ะ โอ๊ย! เผาบ้านเผาเมืองวอดวาย ร้ายนะ หลวงพ่อไม่ใช่คนใจดีนะ สมัยก่อน พอมันนึกขึ้นมาว่า “กูคนเดียวในโลกโว้ย” วิ่งเข้าใส่เลย


พระคุณพ่อแม่

ถึงหลวงพ่อจะเป็นเด็กกำพร้าแต่พระคุณของบิดามารดาผู้ให้เกิดก็ประมาณค่ามิได้ หลวงพ่อคิดว่า พระคุณของบิดามารดาและคุณของท่านผู้มีคุณทั้งหลายสำคัญที่สุด...

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ การอุปัฏฐากบิดามารดาเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะบิดามารดาเป็นพระพรหมของลูก บิดามารดาเป็นพระอรหันต์ของลูก บิดามารดาเป็นเนื้อนาบุญของลูก เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเรานี้ควรจะได้รู้จักพระสององค์นี้ก่อน

อย่างบางทีหลวงพ่อเคยเห็น คนบางคนกำลังจัดของจะไปจังหันพระ ตาแก่ยายแก่แกมองดูแล้ว

“เออ ! ของนี้น่าอร่อย แม่ขอกินหน่อยได้ไหม” “ไม่ได้ ไม่ได้ ฉันจะเอาไปวัด”

บาป เพราะฉะนั้น ให้ถือคติเสียว่า เรามีมือสองข้าง วันหนึ่งๆ ก่อนที่จะยกขึ้นไหว้ใคร ต้องยกขึ้นไหว้พ่อแม่เราก่อน ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้อยู่ด้วยก็ตาม พอตื่นจากที่นอนมา พนมมือสองข้างขึ้น สาธุ..ข้าพเจ้าไหว้พ่อแม่ ทำทุกๆ วันเป็นสิริมงคล ถ้าหากว่าท่านอยู่ต่อหน้าเรา ก่อนจะไปทำงานทำการก็ยกมือขึ้นไหว้ หรือกราบตักท่านก่อน เพราะว่าออกไปข้างนอก แม้เราจะต้องไปพบเพื่อนฝูง ผู้หลักผู้ใหญ่ เราจำเป็นต้องยกมือขึ้นไหว้ เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ เราต้องยกมือขึ้นไหว้พ่อแม่เราก่อน ถ้ามีของอุปโภคบริโภคต้องยกประเคนให้พ่อแม่เราก่อน ก่อนที่จะเอาไปให้คนอื่นหรือถวายพระก็ตาม ต้องมีส่วนแบ่งให้พ่อให้แม่

เราไหว้พ่อไหว้แม่ไม่ได้ อย่าไปไหว้พระ ถ้าพ่อแม่ของเรายังไม่อิ่ม อย่าไปเที่ยวหาเลี้ยงพระให้อิ่ม ของดีๆ ขนไปให้พระกินหมด ให้พ่อแม่อดอยาก นี้ตกนรกกันหมด

ถ้าหากว่าใครจะเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองให้มีความสุขสบายจริงๆ แม้ว่าเราจะมีทรัพย์สมบัติมากมายก่ายกองในโลกนั้น เรามอบทรัพย์สมบัติบรรดาที่เรามีอยู่ ไปประเคนให้พ่อให้แม่ทั้งหมด หรือว่าเราอาจจะเอาพ่อเอาแม่ของเรานี้ เอาพ่อนั่งบนบ่าข้างหนึ่ง เอาแม่นั่งบนบ่าข้างหนึ่ง เอาศีรษะของเรารองรับสำรับเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อเวลาท่านหนักเบาก็ให้ท่านถ่ายราดตัวเราลงไป ทำอยู่อย่างนั้นจนตลอดชีวิต ก็ไม่ถือว่าเป็นการสนองพระคุณของท่านให้ถึงจิตถึงใจ หรือถึงที่สุดได้

แต่ที่เราสนองพระคุณของท่านให้ถึงที่สุดได้ มันง่ายนิดเดียว ถ้าจะทำ ง่ายนิดเดียว ที่ว่าง่าย ทำอย่างไร ถ้าเรายังอยู่ในการปกครองใกล้ชิดพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่บอกว่า อย่านะลูก หยุดทันที อย่านะ หยุดทันที ทำไมถึงต้องหยุด พ่อแม่บางคน ถ้าหากเห็นว่าลูกของตนไม่อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ทำอะไรเอาแต่ใจตัวเอง บางทีถูกว่ากล่าวตักเตือน เดินลงส้นเท้าตึงๆ หนีไปต่อหน้า พ่อแม่บางคนใจอ่อนแถมเป็นโรคหัวใจด้วย ประเดี๋ยวคนแก่ก็เป็นลมชักตาย หรือไม่ตายก็สลบไป ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น อนันตริยกรรม นี่คืออนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม มี ๕ อย่างคือ
๑. ฆ่าบิดา
๒. ฆ่ามารดา
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน
๕. ยังพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด



ลูกเอ๊ย ! หนีไปไกลๆ พ่อแม่แก่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง

ท่านพระโมคคัลลาน์ว่าฆ่าพ่อแม่ ท่านไม่ฆ่าให้ตายหรอกนะ อย่าไปเข้าใจผิด ท่านหลงเชื่อคำภรรยาที่ไม่ชอบพ่อแม่ของท่าน ภรรยาของท่านยุยงส่งเสริมบอกว่า “ถ้าเอาตาแก่ยายแก่สองคนอยู่ในบ้าน ฉันจะไม่อยู่ฉันจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของฉัน”

ในช่วงนั้นท่านหลงรักเมียมากเกินไป ไปหลงเชื่อเมีย ก็เอาบิดามารดาบรรทุกใส่ล้อเกวียน ขับเข้าป่าไปเลย พอไปถึงป่ารก ก็ทำไปจอดเกวียนเอาไว้ แล้วก็ทำทีเหมือนโจรวิ่งออกมาจากป่า ส่งเสียงร้อง เอามันๆ แล้วก็มาทุบตีพ่อแม่ โดยเจตนาคือหวังให้ตายนั่นแหละ แต่บังเอิญคุณแม่ของท่านก็พูดขึ้นมาว่า

“ลูกเอ๊ย ! หนีไปไกลๆ พ่อแม่แก่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เจ้าเอาตัวรอดเถิด เจ้ายังน้อยยังหนุ่ม” พอได้ยินเท่านั้นใจอ่อนเลย พอใจอ่อนลงก็ทำทีวิ่งหนีไป แล้วก็ย้อนกลับมาปลอบโยนพ่อแม่ แล้วก็นำกลับไปบ้าน

“เอาละ ระหว่างคนรักกับพ่อแม่ ฉันต้องเลือกเอาพ่อแม่ของฉันเด็ดขาด เธอจะอยู่หรือไม่อยู่ไม่สำคัญ ขอให้ฉันมีพ่อแม่อยู่คู่ชีวิตของฉันต่อไปพอใจแล้ว”

แต่กระนั้น แม้ท่านยังไม่ได้ทำให้พ่อแม่ถึงขนาดล้มตาย เพียงแต่ทุบตีให้เจ็บเท่านั้น บาปเป็นอนันตริยกรรม ไปเวียนว่ายเกิดอยู่ในนรกไม่รู้กี่ครั้งกี่หน จนกระทั่งเกิดมาศาสนาพระสมณโคดมจึงได้ชวนมาอุปสมบท ได้สำเร็จพระอรหันต์ พอได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว พอจวนท่านจะนิพพานก็ถูกโจรทุบเสียจนกระดูกแตก จนได้เข้าฌานประสานกระดูก เหาะมาทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อนิพพาน อันนี้คือเศษของกรรม เศษของกรรมที่มันยังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย

เรื่องของอนันตริยกรรมนี้มันเป็นกรรมหนัก ถ้าใครทำในชั่วชีวิตนี้ ชาตินี้เป็นอันหมดโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ว่าชาติต่อๆ ไปนั่นไม่เป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้น กรรมหนักที่เราควรระมัดระวัง อย่าประทุษร้ายพ่อแม่ของตน การประทุษร้ายนี้ ประทุษร้ายทุบตีทางกายหรือทำให้เจ็บช้ำ ประทุษร้ายทางใจ หมายความว่า ทำให้เจ็บอกเจ็บใจ หรือช้ำใจ หรือทำให้เสียใจ เพราะฉะนั้น ให้ถือคติเอาไว้ว่า ถ้าผู้ใดจะรักเคารพบูชาพ่อแม่ของตนจริงๆ ในเมื่อท่านบอกว่า “อย่า” แล้ว “หยุด” ทันที ถ้าหากสิ่งนั้นเรายังไม่พอใจ เอาไว้โอกาสหลังใจดีๆ มาคุยกับท่าน เพื่อเอาอกเอาใจท่าน อันนี้เป็นหลักอันหนึ่งที่ชาวพุทธเราต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติ อันนี้เป็นการปฏิบัติกับพ่อแม่


ตามหาแม่

เขาโกหกว่า แม่ตายแต่อายุ ๗ ขวบ ถามว่าทำไมถึงต้องโกหก ถ้าบอกว่าแม่ยังอยู่กลัวว่าเราจะไปตามหา หลวงพ่อจากแม่มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ เพิ่งไปค้นพบญาติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ตอนนั้นหลวงพ่ออายุ ๓๒ ปีถึงได้รู้ว่าโยมแม่ยังไม่ตาย เขามาบอกว่า แม่ท่านพึ่งตายไปได้ ๒ ปีนี้เอง ตอนนั้นเขาอพยพมาอยู่บ้านแก่งมะกรูด อำเภอชัยบาดาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ชัยบาดาลตรงที่มันเป็นทุ่งข้างถนนตัดผ่านไปม่วงค่อม มันเป็นดงหญ้าขึ้นท่วมหัว ยังนึกถึงพระคุณของยายพลับที่แกพาไปเจอน้า ก่อนไป ไปพักอยู่ที่เจ้าคณะอำเภอในอำเภอชัยบาดาล แล้วก็ไปติดต่อตำรวจ ตำรวจเขาบอกว่าเขาจะพาไป ก็เลยบอกว่าไม่ต้อง ขอความกรุณาให้ตำรวจนี่ส่งข่าวก็แล้วกัน เดี๋ยวเขามาเอง ทีนี้น้าแกก็กว้างขวางในวงข้าราชการ แกรู้จักหมด จัดเป็นนักเลงโตคนหนึ่งในหมู่บ้านนั้น ถ้าแขกต่างบ้านไปแล้ว ไปพักที่บ้านนายมี สบายนอนหลับสบาย ไปอากาศก็หนาว เจ้าคณะอำเภอก็ยากจน ไปก็มีแต่ไตรจีวร ท่านอุตส่าห์เปลื้องสังฆาฏิของท่านมาห่มให้ เดี๋ยวนี้ท่านมรณภาพไปแล้ว อำเภอชัยบาดาลเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปเป็นอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี


พบหลวงปู่มั่น

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


หลวงพ่อเกิดที่สระบุรีต้องระหกระเหินมาถึงสกลนคร บ้านโคกพุทรา แต่หมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็นที่ที่ปรมาจารย์แห่งวงกรรมฐานแวะเวียนธุดงค์ผ่านมาภาวนาอยู่บ่อยครั้ง และในเขตรัศมีไม่ห่างไกลกันนัก ก็เป็นดงช้างดงเสือ มีแม่น้ำลำธารเหมาะแก่การหลีกเร้นภาวนา เป็นที่สัปปายะสะดวกสบายสำหรับพระผู้ไม่ต้องการความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ซึ่งก่อให้เกิดกิเลส มีการคลุกคลี เป็นต้น หลวงพ่อจำได้ว่าเคยไปกราบพระอาจารย์มั่น ในงานศพอาจารย์สอน ที่วัดบ้านหนองดินดำ ตอนนั้นหลวงพ่ออายุเพียง ๘ ขวบ แต่ไม่ทราบว่าเป็นปี พ.ศ. เท่าใด คงจะประมาณ ๒๔๗๑-๒๔๗๒ อยู่ในระยะนี้


เฉียดตาย

ชีวิตเด็กบ้านนอกมันต้องต่อสู้มาก วันๆ ทำแต่งาน ไม่มีเวลาไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วๆ ไป ขี้เกียจขี้คร้านเขาดูถูกเหยียดหยาม กลางวันฤดูฝนต้องทำนา กลางคืนหาปู หาปลา หากบ หาเขียด นอนตื่นดึกลุกเช้า ลุกขึ้นมาตำข้าว ครกสมัยนั้นเป็นครกกระเดื่องใช้เท้าเหยียบขึ้นเหยียบลง ตื่นขึ้นมาตำข้าวเกือบจะทุกวัน จนชาวบ้านเขาพูดกันว่า “เสียงครกไอ้พุธมันตำข้าวอีกแล้ว พวกสูได้ยินไหม ถ้าได้ยินก็พากันตื่นได้แล้ว”

เราเป็นเด็กๆ แต่ต้องทำงานแบบผู้ใหญ่ วันหนึ่งเรากับไอ้ใบเพื่อนกัน ตอนนั้นรู้สึกว่าอายุ ๙ ปี ๑๐ ปี ท่อนไม้มันหักขวางทางที่ทำนา แบกท่อนไม้ออก ไอ้ใบมันก็บอกเราว่า หามเอาดีกว่านา อย่าแบกเอา ถ้าแบกมันหนัก ไอ้เรามันแน่ใจในตัวเอง ก็พยายามแบกขึ้นบ่า ขึ้นบ่าได้แล้วเดินโซซัดโซเซ ขาฉวัดปัดเฉวียงล้มลง ไม้ทับคอ ไอ้ใบมันก็วิ่งมางัดออก ไม้มันทับคอเรา เราเกือบคอหักตาย นี้แหละชีวิตมันเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ มีเกิดมันก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ มีตาย ชีวิตมันก็มีเท่านี้เอง


งูเห่าเลื้อยข้ามตัว

มีอยู่ครั้งหนึ่งไอ้เราก็ไปนอนอยู่ข้างๆ ลอมฟางกลางทุ่งนา เวลานอนก็เอาฟางมาปูนอน พอล้มตัวลงนอน งูเห่าตัวเบ้อเร่อมันเลื้อยมาข้างๆ แล้วก็เลื้อยข้ามตรงกลางตัวเราพอดี ทั้งกลัวทั้งสั่นแต่สติดี ไม่ขยับเขยื้อน ถ้าขยับเขยื้อนงูมันตกใจมันจะฉกเอาได้ มันก็ค่อยๆ เลื้อยไปผ่านไป เราก็ดูอยู่ นี่พูดถึงเรื่อง สติ สมาธิ มันมีมาตั้งแต่น้อยๆ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเป็นสติเป็นสมาธิเพราะมันเกิดขึ้นเอง


ความยากลำบาก

หลวงพ่อพบอานิสงส์ของความยากลำบาก ไม่ใช่ทุกข์มากถึงไม่มีอยู่มีกินนะ นาเราก็มี ควายเราก็มีเกือบ ๑๐ ตัว แต่การได้ไปวิ่งเล่นเหมือนคนอื่นเขาไม่มี กินก็ต้องเป็นเวลา นอนเป็นเวลา มีอยู่ตอนหนึ่ง ขณะนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้เข้าโรงเรียน ถูกงูพิษกัด ตอนนั้นเกือบจะตายไปเหมือนกัน กัดที่เท้า เท้าบวมเป่ง เจ็บปวดทรมานมาก เน่าจนเป็นหนองไหลเยิ้ม ต้องคอยให้น้อง (บัวลี) เช็ดให้ เลี้ยงควายด้วย มีควายที่เลี้ยงชื่อว่า “อีกิ้น” คือหางมันขาดๆ วิ่นๆ ด้วนๆ ก็เลยเรียกมันว่าอีกิ้น เลี้ยงมันมาก็รักมัน มันก็ค้ำคูณดีออก ลูกดก

ตอนเป็นเด็กทุกข์ยากลำบากเกือบตาย ก็มีเรื่องงูกัดนี้แหละ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็พออดพอทนได้ งูกัดในสมัยนั้น หยูกยาก็หายาก ที่หายได้นั้น ก็หายไปตามธรรมชาตินั้นเอง หายเพราะความอดความทน ไม่ได้หายเพราะหยูกยาอะไร มีรากไม้ใบไม้ก็นำมาฝนกินบ้าง ใช้ทาบ้าง

ตอนนั้นเป็นเด็กเล็กๆ กลางวันก็ไปเกี่ยวข้าวช่วยอา เราก็เกี่ยวไปตามประสาเด็กๆ อาออกมาเจอเข้า ก็ดุด่าเอาว่า “ทำไม มึงเกี่ยวได้น้อยแท้” ไอ้เราเป็นเด็ก เกี่ยวไปก็หกเรี่ยราดไป เพราะตอนนั้นมันไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรจริงๆ เป็นเด็กเล็กๆ แต่ต้องทำงานแบบผู้ใหญ่ ทำผิดพลาดก็ถูกแม่อาเขาดุด่าเอา

ตอนเช้าเอาควายออกจากคอก ไปล่ามไว้กลางทุ่งนา ทุ่งนาห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร เสร็จแล้ว ถ้าเป็นฤดูทำนา ก็ไปช่วยเขาปักดำนา ถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวก็ไปช่วยแม่อาเขาเกี่ยวข้าว

เวลาพลบค่ำกลับบ้านก็ไล่ควายกลับบ้านด้วย กลับไม่ได้กลับไปตัวเปล่า ต้องหาบฟืนกลับบ้านด้วย พอมาถึงบ้านเอาควายเข้าคอกเสร็จแล้ว ก็ตักน้ำหาบน้ำใส่ตุ่มใส่ไหไว้ให้เต็ม ถ้าภาระอย่างอื่นเสร็จก็นึ่งข้าว ก็มีอะไรทำอยู่เสมอๆ ไม่ได้ขาดจนกว่าจะได้มาออกบวช


แผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์

สมัยหลวงพ่อเป็นเด็กเป็นเล็ก ผืนแผ่นดินเรานี่ เหยียบไปตรงไหนมีแต่ของกิน จะกินกบ ไปเปิดใบพลวงออกมาใบเดียว กบอยู่ในนั้นมีอยู่สี่ห้าตัว เปิดใบไม้ใบเดียวมีกบอยู่สี่ห้าตัว ใบไม้ที่มันแช่น้ำปิดอยู่นั่น ใบใหญ่ๆ เอาสุ่มไปครอบลงทีเดียวเอาปลามาแกงได้ แต่เดี๋ยวนี้แม่น้ำใหญ่ๆ โตๆ หาปลาจะดีดน้ำไม่มี คนที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำถึงคราวมันจะกินปลา มันก่อไฟต้มน้ำร้อนไว้แล้ว มันพายเรือไป เอาไม้พายตีน้ำพัวะๆ ปลามันกระโดดเข้าในเรือมัน ตีไม้พายสองสามทีเท่านั้น เอาปลามาแกงกินได้ทั้งครอบครัว เดี๋ยวนี้ทอดแหทั้งวัน ได้ปลาไม่พอครึ่งกิโล นี่บ้านเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปหมดเวลานี้ อยากกินกบเลี้ยงกบกิน อยากกินปลาเลี้ยงปลากิน ไปหาเอาตามห้วยหนองคลองบึงอย่างเดิม ไม่ได้แล้วเวลานี้ ไปก็ไปเจอแต่มลพิษ


ความมุมานะของเด็กกำพร้า

ชีวิตของเรามันดำเนินมาตามประสาของเด็กบ้านนอก ซึ่งไม่มีใครสนับสนุน กระเสือกกระสนมาด้วยลำแข้ง สมัยเป็นเด็กกำพร้าอนาถาอยู่กลางบ้าน จะขึ้นบ้านใครเขาก็ปิดประตู บางทีญาติผู้ใหญ่เห็นเราก็ดุฟู่ฟ่าๆ เวลามันเกิดท้อถอยมา ก็นึกถึงคำดูถูกดูหมิ่น ของเพื่อนบ้าน มากระตุ้นเตือน เราจะมาทำลายตัวเองเพราะคนอื่นเขาดูถูกดูหมิ่นได้อย่างไร เราต้องเหนือกว่าเขา แล้วลงผลสุดท้าย มันก็มาเป็นอยู่อย่างนี้ มันก็เหนือกว่าเขาจริงๆ กระโดดลงจากหลังควายมา มานั่งรถ..แล้วไปไหนมาไหนมีแต่คนยกมือไหว้ ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ นอกจากจะดังในประเทศแล้วมันยังดังไปถึงต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ไปต่างประเทศ เพื่อนฝูงมาชวนไปเผยแผ่ศาสนาต่างประเทศ มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าไม่ต้องไป หนังสือของท่าน เทปของท่านไปดังก้องโลก ชาวพุทธไปถึงไหน มันดังไปถึงนั่น ไม่ต้องไปให้มันเมื่อย..หลวงพ่อเอาสิ่งที่คนอื่น เขาลบหลู่ดูหมิ่น มาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจให้เกิดทะเยอทะยาน สอนตัวเองให้เป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงในทางที่ดี ยิ่งมีใครมาดูถูกเหยียดหยามเท่าไร ยิ่งต้องกระตือรือร้นเอาชนะจิตใจเขาให้ได้

พระที่เมืองโคราชนี้ สมเด็จพระธีรญาณฯ วัดจักรวรรดิ์ฯ เป็นเด็กกำพร้ามาเหมือนอย่างหลวงพ่อเหมือนกัน อาศัยพี่สาวอยู่ พี่เขยก็รังแกข่มเหง พอเสร็จแล้วท่านก็ไปบวชเป็นสามเณร ไปเรียนหนังสือได้เปรียญ ๙ ประโยค เป็นเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ในที่สุดได้เป็นสมเด็จฯ เพราะฉะนั้นเราต้องมีมานะ ต้องพยายามเอาชนะให้ได้


บางทีกินข้าวอยู่ดีๆ เขาไล่ออกจากสำรับ

ชีวิตของเด็กกำพร้านี้ไม่ต้องอธิบายก็ได้ มันไม่มีอะไรดี เพื่อนฝูงชาวบ้านเขาก็ดูถูกเหยียดหยาม โดยที่สุด แม้แต่ญาติผู้ใหญ่ของเราเอง เขาก็ยังไม่สนใจ หลวงพ่อนี้..ถึงขนาดที่ว่า บางทีกินข้าวอยู่ดีๆ เขาไล่ออกจากลำรับ ก็ยังเคยมีเลย บางทีคล้ายๆ ว่าเขากลั่นแกล้ง เวลาค่ำมืดให้เราไปต้อนวัวต้อนควายเข้าคอกคนเดียว ทีนี้เด็กอายุ ๑๒-๑๓ ปีนี่มันก็เกิดความกลัว แล้วบริเวณบ้านที่อยู่น่ะ มันป่าช้างดงเสือทั้งนั้น ถ้าเราชวนน้องๆ ไปด้วย เขาก็หาว่าเกี่ยง ใช้งานแค่นี้ไม่ได้ มึงหนีจากบ้านกู คุกเข่ากราบลงต่อหน้าที่ลานบ้าน ขอเวลาอีก ๖ เดือน เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ประถม ๖ ยังเหลืออีก ๖ เดือนจะจบ


การศึกษา

เรียนจบแล้ว พอรู้ว่าสอบประถม ๖ ได้ เดินเข้าวัดเลย บวช หลวงพ่อจากบ้านไป ๖ ปี ไม่เคยกลับไปเยี่ยมบ้าน อาสะใภ้เวลาเขาคิดถึงเขาก็บ่น..เออ !!..เนาะ ใจดำขนาดนี้หลาน

เข้าโรงเรียนครั้งแรกอายุ ๗ ขวบ (พ.ศ. ๒๔๗๑) เรียนที่ ร.ร.ประชาบาลวัดไทรทอง บ้านเล่า ต.ตาลเนิ้ง อ.สว่างฯ จ.สกลนคร สมัยนั้นเรียกอำเภอบ้านหัน ออก พ.ศ. ๒๔๗๙ จบ ป.๖ (ในเมืองมี ป.๔ แล้วขึ้น ม.๑ แต่บ้านนอกก็ไม่มีมัธยม เขาเอาเกณฑ์ ๑๔ ปี) อาจารย์ที่เป็นอาจารย์สอนชื่ออาจารย์ชาย ตอนนั้นอายุท่านก็ประมาณ ๒๐ กว่าๆ ในบรรดาเด็กๆ ไม่มีใครฉลาดเกินหลวงพ่อ รุ่นหลวงพ่อมีคนหนึ่ง ไปสอบ ป.๗ อายุน้อย หลวงพ่อ สอบ ป.๖ ในช่วงที่เรียน ป.๕-ป.๖ ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนมีแต่สอนหมู่ เวลาอยู่ในห้องเรียน เราก็เป็นครู มันทำอะไรเราไม่ได้ เวลาออกมานอกห้องเรียน คนไหนถูกตี มักจะรุมชก บางทีมันด่า “บักครูคันนา บักครูขี้กระตืก” (ขี้กระตืก ภาษาอีสานหมายถึง พยาธิ)

ครูยุคก่อนกับยุคนี้ก็ไม่เหมือนกัน ครูยุคก่อนกับลูกศิษย์ลูกหานี้เหมือนพ่อเหมือนลูกกัน ลูกศิษย์จะไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร แห่กันไป ครูก็ไปคุ้มไปครองคอยดูแลสุขทุกข์เหมือนๆ พ่อเหมือนลูก แต่เวลาจะลงโทษก็..เอามา เอามายืนสอนอยู่หน้าที่ประชุม ทีนี้ไอ้พวกเจ้านักเรียนก็คล้ายๆ จะสมน้ำหน้า ครูก่อนจะลงโทษนักเรียนนี่..นักเรียนทั้งหลายเห็นสมควรจะลงโทษเฆี่ยนกี่ที นักเรียนเงียบ ๑๒ ที สมควรไหม....เงียบ ! ๖ ที สมควรไหม....เงียบ ! ๓ ทีสมควรไหม ยกมือพรึบ! มันกลัวว่าเวลาถูกทีมันมั่ง ทีนี้ถ้านักเรียนคนไหน..๑๒ ทีสมควรไหม ถ้ามันยกมือล่ะก็ เพื่อนมันนับไว้เลย พอไอ้เวรนั่นทำผิดละก็โดนหมู่ยกมือให้


เล่าเรื่องเพื่อนนักเรียน

เมื่อก่อนนี้เพื่อนนักเรียนคนหนึ่ง สมัยหลวงพ่อเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม ถูกเพื่อนอีกคนมันหาว่าขโมยดินสอดำ มันคุยมันบอกว่า หน้าอย่างกูไม่ขโมยดอกขนาดดินสอดำ ถ้ากูจะเป็นขโมย กูขโมยช้าง ถ้ากูจะเป็นนักปล้น กูจะปล้นธนาคาร กูจะขโมยรถยนต์ ดินสอดำกูไม่ขโมยหรอก เสียเกียรติ มันว่า..เด็กน้อย มันว่า ไอ้เราเป็นเพื่อนกันก็ยังนึกขำๆ มาเดี๋ยวนี้มันเป็นไปได้แล้ว คนขโมยรถยนต์ ขโมยช้าง เมื่อก่อนขโมยวัวควายไปฆ่า เดี๋ยวนี้ขโมยไปได้จนกระทั่งช้าง ช้างแถวสุรินทร์เห็นไหม มีแต่ช้างงาด้วนๆ


เรียนโรงเรียนวัด

หลวงพ่อเรียนหนังสือโรงเรียนวัดไทรทอง โรงเรียนหลวงพ่อนี่ วันโกนเรียนครึ่งวัน วันพระใหญ่หยุดเต็มวัน ไม่ได้หยุดวันเสาร์กับอาทิตย์เหมือนในเมือง เพราะสมัยก่อนโรงเรียนอาศัยศาลาวัด วันพระ พระต้องใช้ศาลาของท่านทำกิจกรรมทางศาสนา พวกเรานักเรียนนี่ก็ต้องหยุด เพราะท่านจะใช้สถานที่ของท่าน


เป็นครูตั้งแต่ ป.๕

หลวงพ่อได้รับเลือกให้เป็นครูตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ป.๖ หลวงพ่อเป็นครูตั้งแต่ ป.๕ สมัยก่อนเขากำหนดให้เรียนถึงอายุ ๑๔ ปี เรียนจบไม่จบเขาให้ออก ทีนี้หลวงพ่อเรียนจบ ป.๔ แต่อายุ ๑๒ ปี เขาก็ให้เรียนต่อตามความสมัครใจ นับเป็น ป.๕ หลักสูตรต่างๆ เหมือนมัธยม ๑ แต่ไม่มีภาษาอังกฤษเพราะไม่มีครูสอน บางทีก็มีพระมาช่วยสอนด้วย ตอนเรียน ป.๕ ก็เป็นครูด้วย เป็นนักเรียนด้วย เวลาครูท่านให้เรียนวิชาอะไร ท่านก็มาอธิบายให้นิดหน่อย ส่วนใหญ่อ่านหนังสือเอาเอง เวลาสอนต้องสอนทุกวิชา โอ๊ย..มันจะไปยากอะไรระดับประถมนี้ สอนให้อ่าน สอนให้เขียน แล้วก็สอนให้ทำเลข..สมัยเรียนหลวงพ่อไม่มีวิชาใดเก่ง ไม่มีวิชาใดอ่อน แต่ไม่เก่งหมดทุกวิชา แต่ก็เอาตัวรอดได้ทุกวิชา รู้สึกว่าหลวงพ่อไม่เก่ง..แต่ก็มีสมาธิมาตั้งแต่เด็ก


นิมิตถึงพุทธพจน์กระตุ้นเตือน

มันมีสิ่งประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเท่าที่สังเกตมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ เวลาเจ็บป่วยมาเมื่อไรนี้ จิตมันจะสว่างลงไป แล้วมันจะฝันเห็นเป็นก้อนหินกลิ้งมาทาง ๔ ทิศ มันจะมาบดเอา แล้วตกใจร้องทุกที ประเดี๋ยวร้องๆ เวลาตื่นขึ้นมา อาแกถามว่า

“ร้องทำไม”

“ก้อนหินจะทับหัว”

จนแกรำคาญ “หินมีดโต้ข้านี้จะสับหัวแก ทีหลังอย่าร้องซิ”

“ไม่ได้ตั้งใจร้อง มันร้องเอง ถ้ารู้ตัวอยู่ใครจะไปร้อง”

ทีนี้พอมาได้เรียนแปลบาลี ไปเจอ ปพฺพโตปมคาถา

ยถาปฏิเสลา วิปุลา นภํ อาหจฺจ ปพฺพตา
สมนฺตา อนุปริเยยฺยุ นิปฺโปเถนฺตา จตุทฺทิสา
เอวํ ชรา จ มุจฺจุ จ อภิวตฺตนฺติ ปาณิโนฯ

แปลความหมายว่า ภูเขาทั้งหลาย ล้วนแล้วด้วยหิน อันไพบูลย์ สูงจรดฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ให้แหลกลาญไปแม้ฉันใด มัจจุราชคือความแก่และความตาย ย่อมบดขยี้ครอบงำสัตว์ทั้งหลายให้แหลกละเอียดไปฉันนั้นฯ

ทีนี้พอมาแปลหนังสือนี้ แปลบาลี พอมาเห็นพระสูตรนี้ มันก็ยิ่งภูมิใจใหญ่ จึงนึกว่าตัวเองนี้มีอดีต ไม่งั้นมันคงไม่เป็นอย่างนี้


เป็นเพื่อนกับท่านอาจารย์วันสมัยเป็นเด็ก

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


อาจารย์วัน (วัน อุตฺตโม) นี่เล่นกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก อยู่คนละบ้าน อาจารย์วันอยู่บ้านตาลโกน แต่นาท่านอยู่ติดหมู่บ้านเรา เอาควายเอาวัวไปเลี้ยง..ด่าเก่ง..ท่านบวชก่อน แต่ในปีเดียวกันนั่นแหละ ท่านบวชก่อนเดือน ไม่เคยได้จำพรรษาร่วมกัน หลวงพ่อบวชแล้วก็หนีมาเมืองอุบลฯ ไม่ได้เจอใครอีกแล้ว มาเจอกันตอนบวชเป็นพระแล้ว

สมัยที่หลวงพ่อยังเป็นเด็กอยู่ อาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า ท่านขึ้นไปบนภูเขาตรงวัดอาจารย์วันนี้แหละ แถวนั้นเขาเรียกว่าถ้ำพระ ในถ้ำนั้นมันมีพระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปทอง ท่านขึ้นไปไหว้พระ ท่านไปเห็นพระธุดงค์กรรมฐาน นอนตายที่พลาญหิน บาตรตั้งเอาไว้ทางด้านศีรษะ แล้วผ้าครองของท่านก็ตั้งวางอยู่ ร่างกายของท่านนอนห่มจีวรอยู่ แต่กะโหลกหลุดออกมาจากกันแล้ว โดยไม่มีใครไปพบ ทีนี้ท่านอาจารย์ไปเห็นเข้า ท่านก็เลยหาฟืนหาอะไรมาทำฌาปนกิจศพ แล้วเก็บเอากะโหลกท่านไปเก็บเอาไว้ในถ้ำ นั้นเรียกว่าท่านยอมตาย เมื่อก่อนนี้มันมีแต่ป่าช้าดงเสือทั้งนั้น แล้วทีนี้พระตายแล้วสัตว์ไม่ไปกิน ก็คงเป็นเพราะบารมีของท่าน อย่างน้อยอีแร้ง อีกา จะต้องมาจิกกิน อันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างยังปกติอยู่ แต่ว่ากระดูกหลุดออกจากกันเป็นท่อนๆ


ความยุติธรรมบนแผ่นดิน

สมัยหลวงพ่อเป็นเด็กน้อยนี้ เรียนหนังสืออยู่ประถม ๖ ไปเห็น ปิ้ คือใบเสร็จ ใบเสียส่วยรัชชูปการของอา เมื่อก่อนนี้ราษฎรทั้งหลายนี้เสียเงินรัชชูปการเพียง ๓ บาท แต่ละรายหัวชายฉกรรจ์ ไปอ่าน อยู่ในนั้น นายเคียบ อินหา สัญชาติลาว บังคับไทย นี้ยังเป็นอยู่นะ เปลี่ยนการปกครองสมัย พ.ศ. ๒๔๗๕ ในสมัยที่พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายก หรือพระยาพหลฯ เป็นนายก ก็ยังสัญชาติลาว บังคับไทยอยู่ พอมาถึงสมัยของ จอมพล ป. แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คนไทยมีหนึ่งเดียวไม่แบ่งแยก จึงลบคำว่าสัญชาติลาว บังคับไทย มีแต่สัญชาติไทย บังคับไทย นับถือพระพุทธศาสนา

...ใครไปซื้อหนังสือ “ติโต” ที่ในหลวงทรงแปลออกมา นั่นจะรู้ข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง ทำอย่างไรประชาชนคนไทยจะเข้าใจกันว่า เราคือสายเลือดเดียวกัน นี้ปัญหาใหญ่มันอยู่ตรงนี้ ถ้าหากยังรู้สึกแบ่งแยกกันอยู่แล้ว ถึงบางยุคบางสมัย เด็กเล็กมันมีการศึกษาดีขึ้น วะ..กูนี่ลาว กูนี่แขกมลายู กูบ่แม่นคนไทยนี่หว่า ประเดี๋ยวมันก็ก่อการปฏิวัติแบ่งแยกดินแดนขึ้นมา บ้านเมืองก็วุ่นวายใหญ่เลยล่ะ

เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องมีจิตใจเที่ยงธรรม หนังสือติโต นี่เป็นประวัติศาสตร์ของเชคโกสโลวาเกีย เชคโกสโลวาเกียประกอบด้วยคนหลายสัญชาติ ประกอบขึ้นเป็นประเทศ ยุคใดที่ผู้ปกครองไม่เที่ยงธรรม ราษฎรจะกระด้างกระเดื่อง ก่อการปฏิวัติขึ้นมา ทีนี้พอมานึกถึงเมืองไทยเรานี้ อีสานทั้งหมดเดิมก็เป็นลาว ตั้งแต่ศรีสะเกษ จนกระทั่งจรดจังหวัดตราด จรดทะเล ก็เป็นเขมร ทางภาคเหนือก็เป็นไทยใหญ่ ซีกตะวันตกแถบทะเลอันดามันก็เป็นพม่า กะเหรี่ยง ใจกลางของประเทศก็คือมอญ แขกครัว ทางใต้ก็แขกมลายู ชาวมาเลย์เซีย บ้านเมืองเราก็ประกอบด้วยคนหลายสัญชาติ ประกอบกันขึ้นเป็นประเทศ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศจะพึงทำ คือให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกัน


ความใฝ่ฝัน

ไอ้เรื่องรถยนต์รถเก๋งนี่ ใจมันทะนงตั้งแต่เป็นเด็ก รถเก๋งคันไหนผ่านมา..กูจะขี่มันให้ได้ จนกระทั่งให้เขาซื้อเด็กขี่ควายตั้งไว้ดู หลวงพ่อให้คนไปซื้อรูปปั้นเด็กขี่ควายมาไว้ในกุฏิที่วัดป่าสาลวัน ดู..กลัวมันจะลืมความหลัง เอาไว้กระตุ้นเตือนใจ กลัวมันจะลืมความหลัง


อดีตสุขทางใจ ปัจจุบันสุขทางวัตถุ

สมัยหลวงพ่อหนุ่มๆ น้อยๆ อยู่ วัตถุไม่ค่อยมีมาก แต่สมัยก่อนมีความร่มเย็นเป็นสุขมากกว่าสมัยปัจจุบันนี้ ที่มีวัตถุมากๆ ในสมัยก่อนมันร่มเย็นเป็นสุขมากกว่าสมัยปัจจุบันนี้ แม้แต่ความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดกระหว่างพี่น้อง ถ้ามีการขัดผลประโยชนขึ้นมา คนเฒ่าคนแก่เขาประชุมกัน วินิจฉัยตัดสินความกลางบ้านกัน ไม่เคยถึงโรงถึงศาลกัน ก็รู้สึกว่าเขาอยู่กันอย่างสงบ ถึงแม้ว่าในด้านวัตถุ ในด้านวิทยาศาสตร์จะไม่เจริญก็ตาม แต่ก็รู้สึกว่าเขาอยู่เย็นเป็นสุขสงบ สบายดี

ทีนี้ถ้าจะเทียบกับความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันนี้ คนในปัจจุบันนี้อาจจะเก่ง อาจจะมีความสามารถเหนือกว่าคนในสมัยนั้น แต่เข้าใจว่าหาความสุขได้น้อยมาก คนในสมัยก่อน สมัยโบราณนี้ มันจะเป็นความสุขทางใจมากกว่า แต่มาปัจจุบันนี้มีแต่ความสุขอิงอามิส อิงวัตถุ เรียกว่าอามิสสุข สุขอิงอามิส สุขอิงวัตถุสิ่งของ ไม่ใช่ความสุขที่เกิดขึ้นจากจิตจากใจจริงๆ

ตั้งปณิธาน

ก่อนจะได้บวชเณรมันก็คิดขึ้นมาเอง คิดตามประสาเด็กๆ แต่ก็มีหลักธรรมอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว จิตมันก็คิดขึ้นมาว่า

“เออ ! นี่เราเกิดมาคนเดียว ในท้องพ่อท้องแม่ของเรานี้ มีเราคนเดียว พี่น้องก็ไม่มี ถ้าเราอยู่เป็นฆราวาส ถ้าเรามีลูกมีเต้า ถ้าพ่อมันก็ตาย แม่มันก็ตาย ใครหนอจะเอาลูกเรามาเลี้ยง อันนี้พ่อแม่เราตาย ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง อา ป้าลุง ของเราก็ยังมี เขายังอุตส่าห์เก็บเอาเรามาเลี้ยง แต่นี้เราตัวคนเดียว ใครจะมารับผิดชอบลูกเต้าของเรา”

ตั้งแต่บัดนั้นมา เราก็ตั้งปณิธานว่า “เราจะบวชตลอดชีวิต” ตอนที่ไปบวชนั่นอายุย่าง ๑๕ ปี เพิ่งเรียนจบประถมปีที่ ๖ ประถมปีที่ ๖ สมัยนั้นไปเป็นครู เป็นข้าราชการก็ไปได้ ทีนี้ครูเขาก็ชวนให้เป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียน เขาจะวิ่งเต้นช่วยบรรจุให้ หลวงพ่อก็บอกว่า ได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะไปบวช

ที่หลวงพ่อบวชนี้เพราะหลวงพ่อคิดว่ามีความทุกข์ โลกนี้มีแต่ความทุกข์ จึงแสวงหาทางพ้นทุกข์ ความรู้สึกมันเป็นเช่นนั้นในขณะนั้น แต่ว่าความรู้สึกทุกข์ทรมานตามความรู้สึกสามัญสำนึกธรรมดามันมีอยู่ตั้งแต่เริ่มรู้เดียงสามา คือความรู้สึกน้อยอกน้อยใจว่า เราขาดพ่อขาดแม่ ขาดความอบอุ่น แม้แต่ไปเล่นกับเพื่อนบ้าน บางทีเขาก็โมโหให้ บางทีเขาก็ด่า “ไอ้ลูกไม่มีพ่อแม่สั่งสอน” อะไรทำนองนั้นมันก็รู้สึกกระทบกระเทือนจิต มีความรู้สึกอยู่เช่นนั้นตลอดมา จนกระทั่งบวชเณร

สมัยเด็กๆ หลวงพ่อเคยเหงาเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับทุกข์ มันไปเหงาตรงที่ว่าพอได้ยินคนข้างบ้านเขาเอิ้น (เรียก) แม่ พ่อ ล่ะเหงาทันที เราไม่มีพ่อแม่เรียกกับเขา


อุปัฏฐากครูบาอาจารย์

ก่อนบวชได้เข้ามาปฏิบัติรับใช้ท่านพระครูโพธิภูมิไพโรจน์ (หมุน โพธิญาโณ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทสุวรรณ เป็นวัดทางฝ่ายมหานิกาย แต่มีข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามแบบพระป่า เพราะท่านอาจารย์หมุนได้ศึกษาอบรมและได้แนวทางปฏิบัติมาจากท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น วัดอินทสุวรรณแห่งนี้เป็นวัดบ้านก็จริงแต่เป็นรมณียสถาน เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติสมณธรรมอย่างยิ่ง มีพระธุดงคกรรรมฐานแวะเวียนมาบ่อยครั้ง เจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ เป็นสถานที่บูรพาจารย์ มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นต้น เคยธุดงค์ผ่านมาอาศัยวิเวกพักพิงเป็นครั้งคราว ได้แนะนำสั่งสอนให้ชาวบ้านเลิกนับถือผี ให้หันเหจิตใจเข้าสู่พระไตรรัตน์ วัดอินทสุวรรณจึงเป็นแผ่นดินธรรมแห่งหนึ่งในอดีต


บวชเณรครั้งแรก

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ อายุ ๑๕ ปี ที่วัดอินทสุวรรณ บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูพิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน เป็นพระอุปัชฌาย์ การบรรพชาครั้งนี้เป็นการบรรพชาในคณะมหานิกาย ได้ศึกษาทางด้านปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมตรีในปีนั้น

ตอนนั้นไปบวช อุปัชฌาย์คือพระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอในเขตสว่างแดนดินมีพระอุปัชฌาย์ ๒ องค์ เมื่อก่อนอุปัชฌาย์ไม่ได้ดาษดื่นเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ เวลาจะบวชก็ต้อง โน่น..รวมกันเยอะๆ แล้วก็ไปบวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมยุตมีเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นอุปัชฌาย์องค์เดียว

สกลนครนี้ต้องไปบวชที่อุดรฯ ที่นครพนมก็มีหลวงปู่จันทร์ ใครอยู่ใกล้ทางไหนก็ไปบวชทางนั้น เวลาไปบวชแต่ละที ต้องรวมนาคเป็น ๑๐, ๒๐, ๓๐ แห่กันไป แต่ว่า สมัยก่อนนี่ญาติโยมที่เอาลูกเอาเต้าไปฝากฝังครูบาอาจารย์ ฝากแล้วเขาไม่ยุ่งด้วย เครื่องบวชอะไรนี่ ครูบาอาจารย์เห็นสมควรแล้วท่านจัดให้ แต่จะต้องบวชเป็นตาผ้าขาวฝึกอบรมอยู่อย่างน้อย ๑ ปี จึงจะได้บวช

พอวันไปบวช เครื่องแต่งตัวชุดที่ใส่ไปบวช พอผลัดเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวออก พับๆ แล้ว ยื่นให้ลูกศิษย์พระอุปัชฌาย์ แล้วบอกกับเขาว่า

“นี่ เพื่อน เอาเสื้อกางเกงชุดนี้ไปใส่แทนเราด้วย เราจะไม่ย้อนกลับมาใส่มันอีกแล้วชั่วชีวิตนี้”

เสร็จแล้วก็โกนผม ตอนนั้นผมเรายาวๆ ยังเป็นผมจุกอยู่ ตอนนั้นเป็นนักเรียน เขายังนิยมไว้ผมจุก เสร็จจากโกนผมแล้วเราก็เข้าโบสถ์ บวชด้วยจิตใจที่รู้สึกโปร่งสบายหายอึดอัด มันคล้ายๆ กับว่า ชีวิตเรากำลังเดินทางโดยถูกต้อง

เมื่อได้บวชเณร ด้วยความที่ได้เห็นทุกข์ในชีวิตจนแจ่มชัด พิจารณาว่า

“เราเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ เมื่อสิ้นท่านก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด ต้องต่อสู้ทุกข์ทนลำบากมากมาย ถ้าเราเกิดมีทายาทเขาอาจต้องประสบทุกข์เช่นนี้ก็ได้”

ดังนั้น เมื่อตั้งปณิธานว่า “ขึ้นชื่อว่าทายาทจะไม่ให้มี” หลังจากทำพิธีบวชเสร็จได้แจกเสื้อกางเกงให้เพื่อนๆ ด้วยความตั้งใจว่า “ชั่วชีวิตนี้เราจะไม่กลับมาใส่กางเกงอีก” ความคิดที่จะลาสิกขาจึงไม่เคยมีอยู่ในจิตใจของเรา


เป็นเณรเทศน์ครั้งแรก
เรื่องพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร

ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์จึงได้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ พระบรมวงศานุวงศ์และชาวเมืองได้ออกมารับเสด็จกันมากมาย มีพระบรมวงศานุวงศ์บางท่านไม่ทำความเคารพในพระองค์ พระบรมศาสดาได้ทรงเห็นอาการของพระญาติวงศ์กระด้างกระเดื่องเช่นนั้น จึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยเสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ และเปล่งฉัพพรรณรังสี

พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงกราบไหว้พระราชโอรส และพระญาติวงศ์ทั้งหลายก็กราบไหว้ตามๆ กัน ขณะนั้นได้เกิดเมฆตั้งเค้ามืดครึ้มขึ้น แล้วเกิดฝนเรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ” ตกลงมา ฝนนี้มีน้ำเป็นสีแดง ใครปรารถนาจะให้เปียกก็เปียก ถ้าใครไม่ปรารถนาจะให้เปียกก็ไม่เปียก เมื่อคนทั้งปวงเห็นดังนั้นก็แปลกใจมาก ภิกษุทั้งหลายต่างพากันสนทนาถึงสิ่งมหัศจรรย์ ว่าคงเป็นพุทธานุภาพของพระพุทธองค์แน่นอน

พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสว่า ฝนนี้ เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ หาได้เกิดขึ้นเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวไม่ ในกาลก่อน ครั้งทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ฝนนี้ก็ได้ตกมาแล้วในหมู่สมาคมพระญาติ พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทรงวิงวอนให้พระพุทธองค์ตรัสเล่า พระองค์จึงตรัสพระชาติดังกล่าวคือ “พระเวสสันดร” ให้พระภิกษุและพระประยูรญาติฟัง

เนื้อเรื่องเดิมของเวสสันดรชาดก มีมาในพระบาลี เป็นพระพุทธวจนะแท้ ความที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกบาลีนั้นอยู่ในรูปคาถา คือคำร้อยกรอง ต่อมาบรรพบุรุษของเราทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรได้เห็นพ้องต้องกันว่า เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่เหมาะสมจะเชิดชูขึ้นเป็นหลักประธานในการเสริมสร้างอัธยาศัยของคนในชาติ จึงได้มีการแปลเวสสันดรชาดกออกสู่ภาษาไทย ตั้งแต่ยุคสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

ครั้นมาในยุคกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรดเกล้าให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งเวสสันดรชาดกเป็นคำกลอน ความในพระราชพงศาวดารจดหมายเหตุกล่าวไว้ว่า ได้กระทำเมื่อ ปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๐๒๕ ทั้งนี้ก็ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะโน้มน้าวจิตใจของประชาชนพลเมืองให้สนใจในเวสสันดรชาดกมากยิ่งขึ้น ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ระหว่างพุทธศักราช ๒๑๔๔-๒๑๗๐ ก็ได้โปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นอีกชุดหนึ่ง

น่าสังเกตว่าเวสสันดรชาดกนั้น เป็นที่ทรงเลื่อมใสและเลื่อมใสของบุคคลชั้นนำของชาติไทยอย่างที่สุด เพราะเรื่องราวในเวสสันดรชาดกนั้นมีคุณค่าประดุจเพชรเม็ดงาม ที่สามารถนำไปประยุกต์เข้ากับชีวิตประจำวันได้ทุกระดับ เป็นตัวอย่างแห่งการปฏิบัติราชการตลอดจนการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ คือ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์, พระเทพโมลี (กลิ่น), พระยาธรรมปรีชา (บุญ), ขุนวรรณวาทวิจิตร เป็นต้น

บทพระราชนิพนธ์และบทประพันธ์เหล่านั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้เป็นหนังสืออ่านกวีนิพนธ์แทบทั้งสิ้น อนึ่งคำว่า “ชาดก” หมายถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ หาใช่นิยาย หรือนิทานปรัมปราดังบางท่านเข้าใจไม่

ชาดกนั้นมีทั้งสิ้น ๕๕๐ ชาดก เรื่องยาวมี ๑๐ เรื่องที่เรียกว่า “พระเจ้าสิบชาติ” จัดอยู่ในคัมภีร์มหานิบาตพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย

การเทศน์มหาชาติ จัดเป็นพระราชพิธีประจำปี คือ ระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ และเดือนอ้าย

ถือกันว่าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจนครบทุกกัณฑ์ จะได้รับอานิสงส์ยิ่งใหญ่ แม้น้ำมนต์ที่ตั้งไว้ในพิธีเทศน์ก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาจชำระล้างอัปมงคลทั้งปวงได้ ธงชัย กล้วย อ้อย และสิ่งของที่เข้าพิธีเทศน์มหาชาติก็เชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์

ความนิยมเทศน์ ก็นิยมกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา เดิมแต่งเป็นภาษามคธมีคาถาพันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “พระคาถาพัน” ปัจจุบันแต่งเป็นร่ายยาว พิธีเทศน์ของราษฎร นิยมทำในวันออกพรรษา (เดือน ๑๑) นิยมฟังให้จบในวันเดียว แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่กับความสะดวก ไม่ใคร่ถือฤดูกาลเป็นเกณฑ์ เช่นแต่ก่อน

เครื่องกัณฑ์เทศน์ ประกอบด้วยส้มสูกลูกไม้ ขนม และกล้วย อ้อย เป็นพื้น และมีขันเรียกว่า “ขันประจำกัณฑ์” สำหรับเจ้าภาพติดเครื่องกัณฑ์ และคนที่ไม่ใช่เจ้าภาพนำเงินมาใส่ขันนั้น เมื่อถึงกัณฑ์ของใครก็ไปประจำอยู่ในที่ใกล้พอสมควรกับพระเทศน์ สถานที่ที่จะเทศน์มักเอาต้นกล้วยอ้อยมาประดับตกแต่ง บางทีก็มี นกใส่กรง ปลาใส่อ่าง ทั้งนี้ เพื่อให้คล้ายกับท้องเรื่องที่เกี่ยวกับป่าและมีฉัตรธงปัก เพื่อแสดงว่าเป็นเรื่องของกษัตริย์

อนึ่งเจ้าของกัณฑ์มักเตรียมเอาธูปเทียนเท่ากับคาถาประจำกัณฑ์เช่น กัณฑ์ทศพรมี ๑๙ คาถา ก็นำธูปเทียนมาอย่างละ ๑๙ ดอก เมื่อจบกัณฑ์จะประโคมเพลงพิณพาทย์ประจำกัณฑ์รับ


ความย่อ...ตอนว่าด้วย
ชูชกเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมารกัณหา ชาลี

ชูชกไปถึงสระโบกขรณีเวลาจวนค่ำมองเห็นช่อฟ้าอยู่ลิบๆ แต่มาคิดเห็นว่า ถ้าจะเข้าไปทูลขอกัณหา ชาลี ในเวลาที่นางมัทรีอยู่เห็นจะไม่ได้ รอไว้รุ่งขึ้นให้พระนางออกไปป่าเสียก่อนดีกว่า เพราะธรรมดาสตรีมักจะมีนิสัยเหนียวแน่น เมื่อสามีจะทำทานมักทำลายเสีย คิดเช่นนั้นแล้วชูชกจึงปีนขึ้นไปนอนบนชะง่อนเขาเพื่อให้พ้นภัยจากสัตว์ร้ายในคืนวันนั้น

พระนางมัทรีทรงพระสุบินนิมิตว่า มีบุรุษกำยำล่ำสันคนหนึ่งถือดาบพังประตูเข้ามาแล้วตัดแขนควักนัยน์ตา และแหวะอกควักเอาดวงใจ พระนางตกใจตื่นขึ้นรีบเสด็จไปเฝ้าพระเวสสันดรขอให้ช่วยทำนายฝัน

พระเวสสันดรทรงทราบเหตุว่า วันรุ่งขึ้นจะมียาจกมาขอกันหา ชาลี ครั้นจะทำนายไปตามจริง ก็กลัวพระนางมัทรีจะไม่ยอมจากสองกุมาร จึงทำลายโดยโวหารกลบเกลื่อนเสียว่า การที่ฝันเช่นนี้ก็เพราะแต่ก่อนนางได้รับความสุขสบาย ครั้นมาตกทุกข์ได้ยาก ธาตุทั้งสี่วิปริตไปจึงได้สุบินนิมิตผิดประหลาดเช่นนั้น พระนางมัทรีก็ยังไม่ไว้วางพระทัย

ครั้นรุ่งขึ้นพระนางก็ปลุกกัณหาชาลีขึ้นสรงน้ำให้ แล้วรำพันสั่งสอนและพามาฝากฝังแก่พระเวสสันดร เมื่อเสร็จแล้วก็ไปหาผลไม้ในป่า

ฝ่ายชูชก ครั้นรุ่งขึ้นเช้าก็เดินทางไปยังพระอาศรมพระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรเห็นก็ให้ชาลีและกันหาออกไปเชิญเข้ามา ชูชกจึงขู่เด็กทั้งสองเพื่อให้กลัว โดยคิดว่า เมื่อขอไปได้แล้วจะได้ใช้สอยง่าย ก่อนที่ชูชกจะทูลขอพระชาลี-กัณหาจากพระเวสสันดร ได้พูดหว่านล้อมชักเอาแม่น้ำทั้งห้า (คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ) เข้ามาเปรียบน้ำพระทัยอันเต็มไปด้วยความกรุณาของพระเวสสันดรเสียก่อน แล้วจึงขอต่อภายหลัง

พระเวสสันดรขอให้รอพระนางมัทรีก่อน ชูชกว่าไม่ได้ เพราะวิสัยสตรีย่อมมีความเสียดายที่ไหนจะยอมให้ พระเวสสันดรจึงขอให้ชูชกไปสู่สำนักพระเจ้ากรุงสญชัย เพื่อจะได้รับพระราชทานทรัพย์สมบัติ แต่ชูชกทูลว่าไม่ได้ เพราะพระเจ้ากรุงสญชัยจะหาว่าล่อลวงเอาพระราชนัดดาไป อาจจะต้องโทษ ดังนั้น จึงขอพาสองกุมารไปสู่เมืองกลิงคราษฎร์เสียในวันนี้ทีเดียว

เมื่อกัณหา-ชาลีได้ทราบดังนั้นก็กลัว จึงพากันหนีไปซ่อนอยู่ในสระบัว เวลาลงก็ถอยหลังลงไป แล้วเอาใบบัวมาบังตัวเสียเพื่อมิให้เห็น

ครั้นชูชกแลหาไม่เห็นสองกุมารก็แกล้งตัดพ้อพระเวสสันดรว่า พยักหน้าให้ลูกหนีและหาว่าพูดจาตลบตะแลงต่างๆ พระเวสสันดรจึงออกตามรอยเท้าไปถึงสระก็ทรงทราบว่า สองกุมารอยู่ในสระบัวนั้น จึงตรัสเรียกให้ขึ้นมา โดยรำพันว่า เราเป็นลูกกษัตริย์ ไม่ควรให้ใครมาติเตียนได้ และกล่าวเปรียบเทียบสองกุมารเป็นสำเภา ซึ่งจะนำพระองค์ให้ไปถึงพระนิพพาน ขอให้ขึ้นมาช่วยยกปิยบุตรทานด้วย พระชาลีก็ขึ้นมา พระองค์จึงตรัสเรียกแก้วกัณหา แก้วกัณหาก็ขึ้นมา

สองกุมารกอดพระบาทพระบิดา แล้วทั้งสามกษัตริย์ก็ทรงกันแสง พระเวสสันดรจึงคาดค่าสองกุมารแล้วมอบให้เป็นทานแก่ชูชกไป ขณะนั้นก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหว ฝูงสัตว์ต่างพากันแตกตื่น เขาพระสุเมรุก็เอนเอียง น้ำในมหาสมุทรก็บันดาลฟุ้งเป็นฟองฝอย พญานาคขึ้นมาลอยอยู่บนผิวน้ำ พญาครุฑบินขึ้นเล่นลมบ้าง อากาศเกิดวิปริตและฝนตก เทวดาทั้งหลายพากันอนุโมทนา

เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองกุมารแล้ว ก็เฆี่ยนตีต่อหน้าพระเวสสันดร พระองค์ก็ทรงนิ่งเสีย พระชาลีจังหันหน้ามาปรับทุกข์กับกัณหา และเมื่อถูกชูชกเฆี่ยนตีมากๆ เข้า สองพระกุมารก็รำพันถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร

พระเวสสันดรเมื่อได้ยินคำรำพัน ประจวบกับเห็นเหตุการณ์ที่รุนแรงเช่นนั้น ก็เกิดโทสะคิดจะฆ่าชูชกเสีย เพราะชูชกตีสองกุมารต่อหน้าพระองค์โดยมิได้ยำเกรง และเปรียบชูชกเหมือนเบ็ด พระองค์ดุจปลา สองกุมารดุจน้ำ พระโพธิญาณเปรียบประดุจไซ ว่าชูชกทำเช่นนั้นเหมือนกับพรานเบ็ดมาตีปลาหน้าไซ กระทุ่มน้ำให้ปลาตื่น คือไม่ให้พระองค์อันเป็นเสมือนปลาเข้าไปยังไซ คือ พระโพธิญาณ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงระงับโทสะเสียได้ ชูชกจึงพาสองกุมารและเฆี่ยนตีเรื่อยไป พอเวลาพลบค่ำย่ำสนธเยศ พราหมณ์ก็พาสองดรุณเยาวเรศ ล่วงลับประตูป่าโดยประการดังแสดงมาฉะนี้แล


ปี พ.ศ. ๒๙๘๐
ไปธุดงค์กับพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)


รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

รูปภาพ
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)


ตอนนั้นเจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ได้ออกธุดงค์จากสกลนครเพื่อเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม และกราบคารวะหลวงปู่เสาร์ จึงได้แวะเวียนมาเยี่ยมเพื่อนสหธรรมิกของท่าน คือพระอาจารย์หมุน โพธิญาโณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ เพื่อชักชวนกันออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกรรมฐานและปรารภเกี่ยวกับเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา และการปฏิบัติเพื่อหาทางพ้นทุกข์

ส่วนหลวงพ่อตอนนั้นเป็นสามเณร เป็นเณรน้อยอยู่ที่นั่น ก็มีโอกาสได้พบกับพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ในขณะนั้นท่านอยู่ในตำแหน่งเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔ ได้ออกไปตรวจการคณะสงฆ์แทนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ในการที่ได้พบกับพระอริยคุณาธารครั้งนี้ ท่านก็ได้ชักชวนไปด้วย ท่านอาจารย์หมุนท่านก็ฝากให้อีกทีหนึ่ง ท่านก็ชี้มาทางเราว่า

“ไปเณร ไปด้วยกัน จะพาไปกราบพระธาตุพนม ไปกราบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ด้วยกัน จะพาไปฝากเรียนหนังสือ”

จึงได้ออกเดินธุดงคกรรมฐานครั้งแรกกับเจ้าคุณอริยคุณาธาร ตอนนั้นท่านยังเป็นมหาเส็งอยู่ ยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณฯ จากจังหวัดสกลนครเพื่อไปนครพนม นมัสการพระธาตุพนม รอนแรมไปตามป่าเขา ค่ำไหนก็ปักกลดที่นั่น ในระหว่างการเดินธุดงค์ตลอดระยะทางก็ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านอาจารย์เนืองๆ

สมัยก่อนรถยนต์มันก็ไม่ค่อยมี เดินจนเท้าพองเท้าแตกหมด เหนื่อยก็เหนื่อย พอถึงที่ไหนพอสมควร ท่านก็พาพักตามร่มไม้ นั่งภาวนา เดินจงกรม ในขณะเดินทางก็เดินจงกรมไปด้วย พอใกล้พลบค่ำก็เตรียมที่พัก กางกลดกางมุ้งให้ท่าน ปัดกวาดบริเวณให้สะอาดเรียบร้อย ดูมดดูแมงว่ามีหรือไม่มี เสร็จก็เตรียมจัดน้ำใช้น้ำฉันไว้ให้ท่าน ถ้าท่าน้ำอยู่ใกล้ก็ไปจัดที่สรงน้ำ ถ้าภารกิจรับใช้ท่านเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ท่านจะสั่งสอนอะไรเรา ก็รอฟังท่านก่อน ถ้าไม่มีอะไร ก็ทำวัตรสวดมนต์นั่งภาวนา เดินจงกรม จำวัด

บางทีบางวันหลงทางหลงป่า เดินเท่าไหร่ก็ไม่ทะลุป่าซักที ท่านก็ให้ขึ้นต้นไม้ตะโกนเรียกชาวบ้าน เรียกพวกเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย พูดๆ ไปแล้วก็สนุกดีเหมือนกัน การเดินธุดงค์

จนล่วงเข้าสู่จุดหมายปลายทางที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงแวะเข้าพักที่วัดบูรพา ที่วัดบูรพาแห่งนี้ ท่านเจ้าคุณฯ ท่านคงพิจารณาเห็นว่า โดยตำแหน่งหน้าที่ เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๔ มีหน้าที่จะต้องเดินทางออกตรวจการไปทุกจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หากจะต้องให้เราซึ่งเป็นเณรติดสอยห้อยตามไป ภารกิจคงจะไม่สะดวก ท่านก็เลยฝากเอาไว้ที่วัดบูรพา อุบลฯ ได้อยู่กับหลวงตาพร ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น


ถ้าผมไม่ได้ดิบได้ดีจะไม่กลับบ้าน

บวชวัดมหานิกาย ๑ พรรษา สอบได้นักธรรมตรี พอตกหน้าแล้ง หน้ามะขามหวาน หลวงตาเส็ง (เจ้าคุณอริยคุณาธาร) ชอบมะขามหวาน มาเยี่ยมบ้าน ชวนไปด้วย พาไปวัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ตอนท่านเดินทางกลับสกลฯ ฝากหลวงพ่อไว้กับพระอาจารย์พร (สุมโน) พระอาจารย์บุญ ชินวํโส หลวงพ่อคิดถึงบ้าน คิดถึงครูบาอาจารย์จนร้องไห้ ไอ้ศักดิ์ เด็กอายุ ๘ ขวบ ไปเห็นเข้า ไปเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง ท่านเรียกไปพบและถามว่า “จะกลับด้วยกันไหม”

ตอบว่า “ผมอยากกลับ แต่ไม่กลับ คิดถึงบ้านแทบขาดใจ แต่ไม่กลับ จะไปตายดาบหน้า พ่อผมออกจากบ้านตั้งแต่อายุ ๑๕-๑๖ ปี ไปได้ลูกเมียที่อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ผมคิดว่าจะเจริญรอยตามพ่อ ถ้าผมไม่ได้ดิบได้ดีจะไม่กลับบ้าน เป็นเณรถ้าสอบมหา ๓ ประโยคไม่ได้จะไม่กลับบ้าน”

วันหนึ่งหลวงพ่อได้อ่านหนังสือ ผู้ชนะสิบทิศ ก็ได้ความคิดว่า “คนเรามีมานะในทางที่ถูกต้อง มันต้องเอาชนะได้ทุกอย่าง” พวกที่เคยหมิ่นประมาทหลวงพ่อสมัยก่อน เดี๋ยวนี้มองหน้าไม่ติด

สามเณรทั้ง ๓ ตั้งปณิธาน

รูปภาพ
พระครูญาณวิจิตร (มานิตย์ สุรปญฺโญ)


ท่านพระครูญาณวิจิตร (มานิตย์ สุรปญฺโญ) วัดประชาอุทิศ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ท่านเจ้าคุณอุดมสังวรคุณ (วัน อุตฺตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จังหวัดสกลนคร และเจ้าคุณชินวงศาจารย์ (พุธ ฐานิโย) เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน..เราทั้งสามได้เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก และเมื่อได้มาบรรพชาในพระพุทธศาสนาได้มาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกันคือพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารในอดีต ซึ่งปัจจุบันคือมหาเส็งเปรียญ ๖ ประโยค ซึ่งละเพศเป็นคฤหัสถ์และเสียชีวิตแล้วที่วัดป่าสาลวัน ซึ่งเราได้ดูแลรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ สมกับท่านได้เลี้ยงดูเรามาด้วยอรรถด้วยธรรม ถ้าไม่มีท่าน ก็ไม่มีเราในวันนี้ อะไรที่เราทำให้ท่านได้ เราทำให้ท่านหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอ เรื่องค่ารักษาตลอดจนเอามาอยู่ดูแลด้วย ที่วัดป่าสาลวัน

เราสามเณรทั้ง ๓ ได้เดินธุดงค์และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมร่วมกันมา และได้ปฏิญาณตนว่าเราจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต ครั้นอยู่มาเมื่ออายุพรรษาพอสมควรก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะฯ เจ้าอาวาส และเป็นพระสมณศักดิ์


มหานิกาย-ธรรมยุต

เมื่อก่อนเราบวชเป็นพระมหานิกายเราเกลียดธรรมยุต พอได้ยินคำว่า ธรรมยุต เหม็นเบื่อ แล้วเราก็มาสนใจปฏิบัติ เราก็แสวงหาอาจารย์ที่เป็นนักปฏิบัติ อาจารย์ของเราก็เป็นพระปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ท่านก็เก่งเหมือนกัน ไม่น้อยหน้าพระธรรมยุต บางท่านไม่ฉันเนื้อ ไม่ฉันปลา ฉันแต่เจ เคร่งถึงขนาดนั้น แต่ได้มามองดูวินัยบางอย่างท่านเหลวไหล เช่นอย่างการนับเงิน นับทอง ใช้เงินใช้ทองด้วยตนเอง ทีนี้ กาลิก หมายถึง สิ่งที่มีกำหนดกาลเวลาจำกัด เช่นอย่างอาหารนี้ เรารับประเคนได้จากเช้าจนเที่ยง น้ำตาลเป็นสัตตาหกาลิก รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้ภายใน ๗ วัน แต่จะฉันได้เป็นยาเท่านั้น

แล้วก็มีพระองค์หนึ่ง บอกว่าน้ำตาลที่ข้าเอาไปฉันนั้น กินกับข้าวก็อร่อย ทีนี้พอได้ยินเข้า น้ำตาลนี้รับประเคนแล้ว รับประเคนได้แค่ ๗ วัน มันก็กลายเป็นพวกอาหาร จึงได้รู้ว่าครูบาอาจารย์ของเรานี้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่หย่อนวินัยบางข้อ


ญัตติเป็นสามเณรธรรมยุต

วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๑ หลวงพ่อได้บรรพชาใหม่เป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุต ที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) แห่งวัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์

สมัยเป็นสามเณร เป็นลูกศิษย์หลวงตาพร เพื่อนเขาเป็นลูกศิษย์พระมีชื่อเสียง เขามีผ้าดีๆ มีสบู่เหลวใช้ เรามีแต่สบู่ซันไลท์

สมัยก่อนวันโกน วันพระ พระมักจะไปเยี่ยมโปรดโยมพ่อโยมแม่ เราไม่มีพ่อมีแม่ ก็ไปโปรดโยมที่เลี้ยงมา (แม่อา) มีเพื่อนไปด้วย เพื่อนกลับมาเล่าให้อาจารย์ฟังว่า “เณรพุธนี้เทศน์เก่งนะ”

เมื่อเข้ามาอยู่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ได้มาอยู่รับใช้หลวงตาพรและได้มีโอกาสอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่เสาร์เป็นครั้งคราว เพราะในขณะนั้นองค์ท่านก็มาจำพรรษาที่วัดบูรพานี้ นอกจากจะรับใช้ครูบาอาจารย์แล้ว ยังต้องศึกษาด้านปริยัติควบคู่กันไปด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือข้อวัตรปฏิบัติที่องค์หลวงปู่เสาร์พร่ำสั่งสอน ยังติดตาตรึงใจในองค์ท่านตลอดมา การศึกษาด้านปริยัติก็สอบได้เป็นลำดับ

หลังจากศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและปริยัติธรรมจากครูบาอาจารย์พอสมควรแล้ว มีความมุ่งมั่นอยากจะร่ำเรียนให้สูงๆ ขึ้นไปอีก ก็มีความคิดอยากจะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะที่อุบลฯ ไม่มีครูสอน หลวงตาพรท่านก็รับปากว่าจะนำไปฝากไว้กับอุปัชฌาย์ของท่าน คือ เจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร วัดสระปทุมฯ


อยู่กับหลวงตาพร

วินัยนี่แน่นอนที่สุด..หลวงตาพร..วินัยกับการประหยัด เวลาก่อสร้างนี้ พวกคนก่อสร้างเขาทำปูนตกเพียงแต่เล็กๆ น้อยๆ ท่านไปเก็บหมด แต่ว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อลูกศิษย์นี่..ยอด..หาไม่มีใครเปรียบเทียบ ขนาดเขาเอาน้ำดื่ม น้ำปานะมาแก้วเดียว เอาจอกเล็กๆ มาแบ่งๆ ๆ ๆ พระเณรเท่าไรให้ได้ฉันทั่วกันหมด หลวงตาองค์นี้เป็นอย่างนั้น อยู่ที่วัดบูรพา


หลวงตาพร อาจารย์ของหลวงพ่อ

รูปภาพ
พระอาจารย์พร สุมโน


อย่างหลวงตาพร ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อ ในสมัยที่ท่านออกจากฆราวาสไปบวช ทีแรกก็ไปอาศัยอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์มั่นบังคับให้บวชเป็นตาเถรชีผ้าขาวอยู่ ๓ ปี อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจนจิตมีความสงบ รู้ธรรม เห็นธรรม รู้ธรรมวินัย ระเบียบปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์และพระศาสนาเป็นอย่างดี แล้วท่านก็ให้เปลี่ยนจากเพศชีผ้าขาวเป็นเพศสามเณร คือบวชเป็นเณรใหญ่อยู่อีก ๓ ปี พอครบ ๓ ปีแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้พามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปทุมวนาราม ในกรุงเทพฯ นี้เอง ซึ่งท่านอาจารย์มั่นท่านเป็นผู้นำมามอบให้พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเอง เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้

เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ในสำนักของท่านอาจารย์มั่น เอาใจใส่ปรนนิบัติอุปัฏฐากครูบาอาจารย์มิให้เดือดร้อน อาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตร อย่างถูกต้องตามวินัยทุกประการ จนกระทั่งท่านอาจารย์มั่นพิจารณาดูอุปนิสัยและการปฏิบัติว่าสมควรพอที่จะออกบำเพ็ญโดยลำพังตัวเองได้แล้ว ท่านจึงเรียกมาสั่งว่า

“พรเอ๊ย ! เจ้าก็ฝึกฝนกับครูบาอาจารย์ตั้ง ๑๐ ปี พ้นนิสสัยมุตก์แล้วพอจะช่วยตัวเองได้ หลีกออกไปหาวิเวกเฉพาะตัวก่อนเถิด ให้โอกาสองค์อื่นเขาเข้ามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง”

นั่นแหละ จึงจะได้ออกจากสำนักครูบาอาจารย์ นี้คือจารีตประเพณีของพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ในสมัยอดีต ในสมัยที่ท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นยังดำรงชีวิตอยู่


ดุจดังบิดามารดาผู้ให้เกิด

รูปภาพ
พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)


หลวงตาพร คืออาจารย์ของหลวงพ่อมาตั้งแต่สมัยเป็นเณร เป็นพี่ชายหลวงปู่บุญ (ชินวํโส) ท่านเลี้ยงดูมาจริงๆ เหมือนพ่อเหมือนแม่..ตอนนั้นท่านเพิ่งได้ ๑๐ พรรษาเท่านั้นเอง แต่ว่าพระ ๑๐ พรรษาสมัยนั้นมันไกลกันเหลือเกินกับพระ ๑๐ พรรษาสมัยนี้ มองดูแล้วเป็นพระที่น่าเลื่อมใสจริงๆ พระ ๑๐ พรรษาสมัยนี้มีแต่ความจองหองพองขน

อาจารย์ของหลวงพ่อจริงๆ คือพระอาจารย์พร เป็นหลวงตาพร..หลวงตาพรท่านเคยมีครอบครัวมาแล้ว ตัวท่านชื่อพร อ้อ..ทีแรกชื่ออะไรน้อ..มาเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนเป็นพร ท่านแต่งงานแล้ว แม่บ้านของท่านก็ชื่อ สอน พอท่านได้ลูกสาวมาท่านตั้งชื่อ พุธ เหมือนกัน (พ้องกับชื่อโยมพ่อ โยมแม่ของหลวงพ่อ และหลวงพ่อเอง ซึ่งชื่อ พร สอน และพุธ เหมือนกัน) แล้วก็รู้สึกว่าท่านจะรักหลวงพ่อเหมือนกับลูกในท้องในไส้

ตอนสมัยเป็นเณรนี้ โอ๊ย..น้อยหน้าต่ำตามากที่สุดเลย เขาทั้งหลายมีอาจารย์เก่งๆ เทศน์เก่ง โยมก็เยอะ อาจารย์ของเราเป็นหลวงตา ไม่ค่อยมีหน้ามีตากับเขาหรอก ทีนี้ต่อมาพวกที่มีอาจารย์ดีๆ นั่นตกอับหมด

ครั้งสุดท้ายไปกราบเยี่ยมท่าน ท่านถามว่า

“พิจารณาดูพ่อหรือยังว่าเมื่อไรจะตาย”

“อุ๊ย !..ไม่กล้าล่วงเกินครูบาอาจารย์หรอก”


ภูมิจิตภูมิธรรมท่านหลวงตาพร

หลวงตาพรติดตามหลวงปู่มั่นอยู่ ๙ ปี เพราะฉะนั้นหลวงพ่อมาพบหลวงตาพรแล้วหลวงพ่อจึงไม่กระตือรือร้นที่จะไปพบอาจารย์มั่น ระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติทุกอย่างถอดแบบเอามาเปรี๊ยะเลย เมื่อก่อนนี้ เพื่อนฝูง ลูกศิษย์หลวงพ่อดี (หลวงปู่ดี ฉนฺโน) ลูกศิษย์อาจารย์เสงี่ยม ลูกศิษย์อาจารย์บุ อาจารย์เขาดังๆ ทั้งนั้น มีอาจารย์หลวงพ่อ เป็นหลวงตา ไม่ค่อยมีใครสนใจ

ที่นี้มันขำๆ อยู่วันหนึ่ง นายโพธิ์ ส่งศรี กับขุนศิริสมานการ โยมโพธิ์บ้านอยู่หน้าไปรษณีย์เมืองอุบลฯ ๒ คนนี่แหละ..หลวงตาพรนี่อยู่วัดบูรพา วัดบูรพาเป็นวัดบ้าน แล้วตอนแรกอาจารย์ดีไปอยู่บ้านท่าบ่อ ที่โรงเรียนกสิกรรมบ้านท่าบ่อ พวกนายโพธิ์ นายขุนศิรินี่แหละ ไปนิมนต์มาอยู่วัดบูรพาฯ ตอนด้านตะวันออกวัดบูรพาฯ เป็นสวนของนายจอม นายจอมก็บริจาคที่สวนนี้ให้ประมาณ ๒ ไร่เศษ ให้เป็นวัดป่า ตอนนั้นให้เป็นวัดป่า ตอนนี้ให้เป็นวัดบ้าน ทีนี้พวกญาติโยมก็แตกตื่นกันไป ไปนั่งสมาธิทุกวันๆ

อยู่มาวันหนึ่งนายโพธิ์กับขุนศิรินี้แหละ มากราบท่านหลวงตาพร มาบอกว่า

“ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านมาสอนกรรมฐานเขาอยู่ทุกวันๆ ไม่นึกอยากได้ดิบได้ดีกับเขาบ้างหรือ”

เขาว่าหลวงตาพร

“นี่ อาจารย์ท่านให้มานิมนต์ไป ไปฝึกกรรมฐาน”

“อุ๊ย ! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสารอย่างนั้นก็ดีแล้ว ที่ไม่กล้าไป ก็ไม่นึกว่าท่านจะเมตตาสงสารถึงขนาดนี้ เออ..ไปเรียนท่าน เดี๋ยวอาตมาจะไป”

พอโยมกลับไปแล้วหลวงตาพรก็เตรียมไป ไปก็เข้าไปกราบหลวงปู่ดี แต่ด้วยความทะนงของอาจารย์กรรมฐาน ก็ถามหลวงตาพรอย่างดูถูกเหยียดหยาม ว่างั้นเถอะ

“พร ! ภาวนาเป็นไหม”

“ก็จั๊กจะเป็นหรือไม่เป็นก็สวดมนต์ไหว้พระภาวนาไปอย่างนั้นแหละ ภาวนาก็พุทโธ พุทโธนั่นแหละ แต่ไม่ทราบว่ามันจะถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้”

ทีนี้พอเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ดีก็บอกวิธีให้นั่งสมาธิ นั่งขัดสมาธิเอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง กำหนดจิตนึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ หนแล้วก็นึกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

อยู่ที่จิต เราจะกำหนดเอาจิตอย่างเดียว เสร็จแล้วพอไหว้พระสวดมนต์เสร็จก็นั่งสมาธิ ท่านก็หันหน้ามา

“เอ้า ! พรนั่งสมาธิ”

“เรื่องนั่งสมาธินี้ทำอย่างนี้ใช่ไหมอาจารย์”

พอทำไปจังหวะไหนก็ถาม

“อย่างนี้ถูกต้องไหมอาจารย์”

“เออ ! ถูกแล้ว”

เสร็จแล้ว พอนั่งสมาธิ พวกพระพวกเณรอื่นๆ ระดับครูบาอาจารย์เลิกหมด ญาติโยมก็เลิกหมด วันนั้นหลวงตาพรนั่งอยู่ ๒ ชั่วโมง เสร็จแล้วท่านก็กระดุกกระดิกออกจากสมาธิ

“โอ้ ! ทำไมนั่งนานแท้ พร”

“เอ้ ความรู้สึกของผมนี้รู้สึกว่ามันไม่นานนะ มันแพล๊บเดียวเท่านั้นเอง มันยังไม่รู้สึกเหนื่อยเลย”

“แล้วมันเป็นอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร”

“เออ! เดี๋ยวจะเล่าถวายครูบาอาจารย์ เป็นอย่างนี้จะถูกต้องหรือเปล่า พอภาวนาพุทโธๆ ๆ ไป ๓ คำ จิตมันก็วูบลงไป มันไปนิ่ง สว่าง กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ แล้วมันก็เกิดปีติ พอรู้สึกว่ามันเกิดปีติ เกิดความสุข ความคิดมันก็ฟุ้งๆ ๆ ๆ ขึ้นมา แล้วตอนนั้นความตั้งใจอะไรต่างๆ สัญญาเจตนามันหายไปหมด มีแต่ความเป็นเองของจิต แล้วมันก็กำหนดรู้ความคิดที่มันปรุงแต่งขึ้นมาของมันเรื่อยไป”

“แล้วมันคิดอะไรบ้าง”

“สารพัดที่มันจะคิด บางทีมันก็คิดไปโลกไปธรรมสารพัด คิดไปถึงนรก คิดไปถึงสวรรค์ คิดถึงเรื่องชีวิตประจำวันในปัจจุบัน สารพัดที่มันจะคิด จิตในเมื่อมันเข้าสมาธิตามธรรมชาติของมันแล้ว เราไม่มีความสามารถที่จะไปควบคุมมันได้ จริงไหมอาจารย์”

อาจารย์ดีชักงง

“มันจะไปไหนมาไหนมันไปเองของมัน บางทีมันกระโดดไปโน่น ไปเมืองสกลนครโน่น บางทีกระโดดไปอำเภอเขื่องฯ บางทีไปยโสธร บางทีไปกรุงเทพฯ สารพัดที่มันจะไป ทั้งที่มันคิดปรุงแต่งขึ้นมานั่น มันเอาระเบียบแบบแผนไม่ได้ แต่ว่าสตินี้มันคอยจ้องๆ อยู่ มันจะไปไหนมาไหนๆ สติตัวนี้ก็ไล่ตามๆ ๆ ๆ คอยควบคุม มันเป็นอย่างนี้ มันจะถูกหรือมันจะผิดท่านอาจารย์”

ท่านอาจารย์ดีชักงง ไม่ยอมให้คำตอบ

พอตื่นเช้ามา มากันแต่เช้ามืด ปกติพอเช้ามืดพวกเราก็ทำวัตรเช้ากัน พอมา ท่านอาจารย์ดีก็ถามว่า

“พร ! ขอถามหน่อยเถอะว่า เป็นใครมาจากไหน”

“เอ้า ! ก็นึกว่าครูบาอาจารย์ทราบดีแล้ว ท่านอาจารย์ก็รู้ดีอยู่แล้วไม่น่าจะถาม”

“เพราะไม่รู้นั่นแหละจึงมาถาม”

“ถ้าหากครูบาอาจารย์ต้องการอยากจะทราบ ก็จะเล่าให้ฟัง ผมเป็นคนทุพพลภาพ ครองบ้านครองเรือนไม่ได้ ผมเคยมีครอบครัวแล้ว มีลูกคนหนึ่ง มาภายหลังนี้ สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ไหว ก็เลยมอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้แม่บ้านกับลูกสาวคนหนึ่งให้เขาครอบครอง แล้วก็สั่งเขาว่าอยากมีใหม่ก็มีซะ ฉันก็ไปแล้ว ทีแรกก็ไปอาศัยอยู่ที่วัดบ้านม่วงไข่ ซึ่งหลวงปู่มั่นอยู่นั่น วันหนึ่งไปล้างถ้วยล้างชามขัดกระถงกระโถน ท่านก็เดินไป

พร ! เจ้าอยากบวชไหม

โอ้ย ! ถ้าครูบาอาจารย์จะเมตตาสงสาร ก็อยากบวชแล้ว เอ่อ ! ถ้างั้นเก็บสิ่งของแล้วไปหาเราที่กุฏิ เด้อ

พอไป ท่านก็เอาผ้าขาวนี้มาตัดกางเกง ตัดเย็บกางเกงเอง กางเกงขาก๊วย แล้วก็ตัดเสื้อ เสื้อก็เสื้อโปโลนี้แหละ พอเสร็จแล้วท่านก็ไปเอามีดโกนมาโกนหัวให้ โกนหัวให้เอง พอโกนหัวเสร็จแล้วให้อาบน้ำอาบท่า เอ้า ! ใส่ชุดนี้แล้วก็มาปฏิญาณตนเป็นอุบาสก บวชเป็นตาชีผ้าขาว แล้วก็เป็นชีผ้าขาวอยู่กับท่าน ๓ ปี พอเสร็จแล้วท่านก็บวชเป็นเณรให้ เป็นเณรอยู่ ๓ ปี ทีนี้พอเสร็จแล้วก็พาไปกรุงเทพฯ ก็ไปบวชเป็นพระ อยู่ที่วัดสระปทุม ตกลงว่าอยู่ในสำนักของหลวงปู่มั่น ๙ ปี ที่ออกจากท่านมานี้เพราะโยมแม่ที่อำเภอเขื่องในเสียชีวิต เขาโทรเลขไป ก็มาทำศพแม่ หลังจากนั้นก็เลยไม่ได้กลับไปหาท่านอีก เพราะท่านสั่งว่า พรเอ๊ย ! เจ้าก็มีความรู้พอที่จะคุ้มครองตัวเองได้แล้ว ปลีกตัวออกไปปฏิบัติโดยลำพังก็ได้ เปิดโอกาสให้องค์อื่นเขามาปรนนิบัติครูบาอาจารย์บ้าง

ก็ยึดเอาคำนั่น คำพูดนั้น พอออกมาแล้วก็เลยไม่กลับไปอีก ภายหลังเจ้าคุณศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ก็ให้มาอยู่ที่นี้ที่วัดบูรพาฯ นี้”


พออาจารย์ดีฟังเล่าจบก็

“โอ๊ย ! ทำไมไม่บอกให้รู้กันแต่ทีแรก”

“เอ้า ! ก็ครูบาอาจารย์ย่อมมีวิจารณญาณ ย่อมดูคนออกว่าใครเป็นอย่างไร มีภูมิจิตภูมิใจตื้นลึกหนาบางเพียงใด แค่ไหน ครูบาอาจารย์ก็ย่อมรู้อยู่แล้ว”

ทีหลังมาพวกญาติโยมทั้งหลายที่แห่กันไปปฏิบัติ เวลาท่านอาจารย์ดีไม่อยู่ เขาก็นิมนต์อาจารย์พรไปพานั่งสมาธิ แต่ท่านพูดอะไรท่านไม่มีโวหารหรอก พูดเอาแต่หัวใจ


วัตรปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์

สมัยนั้นเป็นสามเณรน้อยๆ อายุเพียง ๑๔-๑๕ ปี เคยอยู่ร่วมกับครูบาอาจารย์ ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์นั่งประชุมกันอยู่หรืออยู่ในอาวาสนั้นๆ ทำหน้าที่ของการถกปัญหาหรือแก้ปัญหา จะต้องเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า ไม่ใช่ว่าเราต่างคนจะต่างมานั่งเทศน์แข่งกันอยู่อย่างในสมัยปัจจุบันนี้

แม้แต่การถือนิสสัยครูบาอาจารย์ตามระเบียบวินัยก็ตาม เราอยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์ เราไม่ได้นับอายุพรรษาครบ ๕ ว่าเราพ้นนิสสัยมุตตกะ เพราะเราถือว่า การพ้นนิสสัยมุตตกะนั้น จะต้องเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ยกให้ (นิสสัยมุตตกะ หมายถึง พ้นนิสัย คือสามารถคุ้มครองตัวเองได้แล้ว)


จิตรวมโดนเตะ

หลวงพ่อโดนอาจารย์เตะเอาตั้งแต่สมัยบวชเป็นเณรนั่น อาจารย์ไปธุระในบ้าน ท่านให้เฝ้ากุฏิ เพิ่งบวชมาได้ ๕-๖ วัน ทีนี้ในช่วงนั้น ภาวนาทำอย่างไร สมาธิทำอย่างไร เราก็ไม่รู้เรื่อง แต่นึกขึ้นมาได้ว่า ภาวนาพุทโธ พออาจารย์ไปในบ้านกลับเข้ามา จะเข้าไปนอนในกุฏิ กลัวว่าเวลาท่านมาจะปลุกไม่ตื่น ก็เลยนั่งเอาหลังพิงฝาประตู แล้วก็นั่งบริกรรมภาวนาพุทโธ จนกระทั่งมันหลับไป

ทีนี้พอหลับไปแล้ว ท่านอาจารย์กลับมามันก็ดึก ๒ ยามแล้ว พอท่านมาปลุก ปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่น จนกระทั่งท่านเตะเอาอย่างแรงถึงได้ตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมา ท่านก็ถามว่า “หลับหรือเปล่าเณร”

“ไม่ได้หลับ”

“เอ้า ! ไม่ได้หลับ ทำไมปลุกไม่ตื่น”

“ไม่รู้เหมือนกัน เพราะในช่วงนั้น เรารู้สึกว่าเราไม่หลับ ภายในจิตนี้รู้อยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่รับรู้เรื่องภายนอก”

ทีนี้พวกโยมที่ตามมาส่งก็กล่าวหาว่า

“อ้าว ! บวชเป็นเณรแล้วทำไมโกหก”

“ไม่ได้โกหก มันไม่ได้หลับจริงๆ”

ทีนี้ทางฝ่ายนั้นเขาหลายคน เถียงเขาไม่ขึ้น ก็เลย

“เอ้า ! โกหกก็โกหก”

สมาธิที่แน่วแน่มาก จิตสมาธิอยู่ในฌาน ๔ นี้จะรู้สึกว่าไม่มีร่างกายตัวตน แต่ว่าจิตไปเอาความสว่างเป็นอารมณ์จึงจัดว่าเป็นรูปฌานอยู่ ในระหว่างนั้นจะไม่ได้ยินเสียงอะไร การได้ยินจะหายไปตั้งแต่จิตเข้าอุปจารสมาธิ เช่นอย่างเรานั่งฟังเทศน์อยู่ ฟังไปๆ พอจิตเข้าสมาธิ มันจะไม่ได้ยินเสียง ตอนแรกจะรู้ดีว่าได้ยิน แต่ไม่สนใจ พอหนักๆ เข้ามันละเอียดลงไปหน่อยหนึ่ง เสียงมันจะไม่ได้ยินเลย

จิตที่อยู่ในอัปปนาสมาธิลึก หรือฌานที่ ๔ นี้ใครมาปลุกก็ไม่ตื่น ฟ้าผ่าลงมาก็ไม่รู้เรื่อง

ไปกราบหลวงปู่เสาร์ เดินทางไปพบหลวงปู่เสาร์เมื่ออายุ ๑๗ ปี ก็เลยเก็บเอาปัญหานั้นไว้ในใจตลอดมาจนกระทั่งได้ไปพบหลวงปู่เสาร์ พอไปกราบหลวงปู่เสาร์ อาจารย์ที่เตะหลวงพ่อก็ไปด้วย พอไปกราบแล้ว ท่านก็ปรารภขึ้นมาว่า

“เออ..คนที่ปฏิบัติสมาธินี้ ถ้าจิตอยู่ในสมาธิละเอียด ถึงอัปปนาสมาธิ ฟ้าผ่าลงมามันก็ไม่รู้เรื่อง จับไปถ่วงน้ำก็ไม่สำลักน้ำตาย โยนเข้ากองไฟก็ไม่รู้ตัว”

เอ้อ !..เราก็ได้ความภูมิใจ พอกลับไปถึงกุฏิ อาจารย์ท่านก็ว่า

“เอ้อ ! ที่เจ้าว่า เวลาเจ้ารู้สึกว่า ความรู้สึกเมื่อยมันไม่มี แม้แต่ร่างกายมันก็ไม่มี แล้วจะเอาอะไรมาเมื่อย”


สามเณรปาฏิโมกข์

หลวงพ่อท่องปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่เป็นเณร..แต่เป็นเณรยังไม่คล่องเท่าไร ได้กระท่อนกระแท่น แต่เมื่อเป็นพระ เรามีหน้าที่ต้องสวด จึงต้องท่องได้แต่พรรษาแรก..เป็นผู้สวดปาฏิโมกข์เกือบจะทุกวันพระ เพราะอยู่บ้านนอกมันหาพระสวดปาฏิโมกข์ยาก หลวงพ่อท่องปาฏิโมกข์จริงๆ อยู่ ๑๕ วัน ท่องเสร็จแล้วก็ไปซ้อมกับครูบาอาจารย์ที่ท่านชำนาญ ตอนนั้นหลวงตาพรเป็นคนสอนท่อง


เณรนักเทศน์

รูปภาพ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


สมัยหลวงพ่อเป็นเณรอยู่อุบลฯ วัดบูรพา มีผู้มานิมนต์พระไปงานบุญ ๙ รูป สมัยก่อนพระแต่ละวัดมีน้อย จึงจัดเณร (พุธ) ห้อยต่อท้ายไปด้วยเพราะเราตัวใหญ่กว่าเพื่อน เจ้าภาพเห็นเณรก็ไม่ค่อยพอใจ บ่นว่า

“ไม่ได้นิมนต์เณร เอาเณรมาทำไม”

จึงเกิดมานะขึ้นมาว่า “เณรมันจะไม่เก่งสักทีหรือ” จากนั้นก็อุตสาหะท่องกลอนเทศน์จนจับใจ

ภายหลังมาพอไปบ้านที่เขามานิมนต์ หลวงตาพรท่านถูกทักท้วงอย่างนั้น ใครมานิมนต์ท่านก็ถาม

“พระไม่พอเอาเณรไปด้วยได้ไหม”

“ก็ได้ แล้วแต่ครูบาอาจารย์จะจัด”

หลวงตาพรท่านเทศน์ไม่ค่อยเก่ง พอไปงานไหนที่เขานิมนต์เทศน์ ท่านก็ว่า “ให้เณรพุธเทศน์” พอมีคนมานิมนต์เทศน์ก็บอกว่า “เณรเทศน์แทนที” ก็เตรียมเทศน์ ไม่ได้ถือหนังสือใบลานมาด้วย ท่านก็ไล่ให้ไปเอา ก็เฉย ท่านก็บอกให้ไปเอาหนังสือมา ก็ไปเอาหนังสือใบลานมา แต่ไม่ได้เปิดดู เพราะท่องได้ขึ้นใจหมดแล้ว เทศน์นั่งหลับตาฟัดจ้อยๆ ๆ ๆ

“โอ้ ! เณรนี้ทำไมเทศน์เก่งนัก”

ทีหลังใครนิมนต์เทศน์ “เอาเณรพุธไปเทศน์ด้วยเด้อ” เป็นการเทศน์ปากเปล่าครั้งแรก ขณะนั้นเราสอบนักธรรมโทได้แล้ว

เรื่องที่เทศน์ท่องมาจากหนังสือ ชินวรเทศนา (แต่งโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) มี ๕๐ กัณฑ์ ท่องได้เกือบหมด (หลวงพ่อท่องให้ฟังอย่างยืดยาวเป็นภาษาบาลี มีใจความแปลว่า ความตายไม่มีอะไรที่จะต้านทาน) นี่ มันเป็นนักเทศน์มานี่ สงสัยเพราะท่องกลอนเทศน์นั้น แต่เทศน์ไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง

มาตอนหลังนี้พอมาปฏิบัติพอเข้าใจเรื่องธรรมะบ้างนี้ ส่วนใหญ่ไม่เอาแล้วตำรา อะไรที่มันเกิดขึ้นมา ก็เอามันเลย

สมัยเด็กๆ เวลาอาจารย์เทศน์ ฟังผ่านหู พอท่านเทศน์เสร็จจำได้หมด พูดได้เป็นฉากๆ เรียนหนังสือวิชาย่อความได้คะแนนเต็มเป็นที่ ๑ ทุกที หลวงพ่อจะถนัดเทศน์ปฏิภาณ คือ ไม่ต้องถือหนังสือ


ทำบุญกับเณรน้อย

รูปภาพ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)
วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพฯ


ทำบุญกับเณรน้อยน่าจะได้บุญมาก เพราะเณรไม่ค่อยมีใครสนใจจะทำบุญให้ ได้อะไรมานิดหน่อยก็ดีใจมาก ถ้าเราจะเลือกทำบุญเฉพาะกับพระอริยะก็ต้องนึกเสมอว่า กว่าท่านจะได้เป็นพระอริยะท่านต้องผ่านชีวิตเณรน้อยมาก่อน..ตอนเป็นเณรก็ได้อาศัยพระผู้ใหญ่ สรุปแล้วก็คือพระผู้ใหญ่เลี้ยงเณรน้อย เหมือนต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มให้อาหารต้นไม้เล็กๆ ถ้าเรามัวแต่มองหาต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขา มีดอก มีผล แล้วไม่ใส่ใจต้นเล็กต้นน้อย เบี้ย กล้า หากต้นใหญ่ตายไปใครจะบำรุงรักษาต้นเล็กต้นน้อย ถ้าเราไม่ช่วยกันบำรุง มันก็เจริญเติบโตไม่ได้ อย่าดูถูกเณรน้อย

เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาสฯ ได้จับเด็กๆ มาบวชเณร แล้วให้มีโอกาสได้ร่ำได้เรียนเป็นร้อยๆ องค์ มีคนมาทักว่าลูกศิษย์เจ้าคุณมีแต่หัวขี้กลาก กินข้าวเย็น ท่านย้อนว่า

“อย่าไปว่ามัน อีกหน่อยพวกหัวขี้กลากพวกนี้แหละ มันจะค้ำจุนพระศาสนา”

แล้วก็เป็นจริงอย่างที่ท่านว่า เพราะในภายหลังในบรรดาเณรที่ท่านชุบเลี้ยงไว้ ได้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายองค์ เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าคุณธรรมบัณฑิต สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดนรนาถสุนทริการาม


สมัยก่อนเขาดูถูกพระสายป่า

หลวงพ่ออดที่จะนึกถึงสมัยที่เป็นสามเณร เดินตามหลังครูบาอาจารย์ไม่ได้ ใส่ผ้าจีวรดำๆ เดินผ่านหน้าชาวบ้านหรือพระสงฆ์ทั่วๆ ไปนี้ เขาจะถุยน้ำลายขากใส่ บางทีถ้ามีแม่ชีเดินตามหลังไปด้วย เราจะได้ยินเสียงตะโกนมาเข้าหู

“ญาคูเอ๊ย ! พาลูกพาเมียไปสร้างบ้านสร้างเมืองที่ไหนหนอ” เขาว่าอย่างนี้

มาบัดนี้ สิ่งที่เขาเกลียดมากที่สุดถึงกับถุยน้ำลาย เขามาแย่งเอาของเราไปห่มหมด ทำไม เพราะว่าสีผ้าชนิดนี้ลูกศิษย์สายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเคยนุ่งห่มมาแล้ว พอลูกศิษย์สายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น มีชื่อเสียงโด่งดังมีคนนิยมชมชอบ ผ้าจีวรสีดำก็เลยเป็นสินค้าที่สนใจของคนทั่วๆ ไป บางทีพอมีใครถาม

เป็นลูกศิษย์สายไหน?

สายพระอาจารย์มั่น

เดี๋ยวนี้มีแต่ลูกศิษย์อาจารย์มั่นเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อลองมาพิจารณากันดูแล้ว ขอพูดสรุปๆ ลงไปสั้นๆ ว่า ถ้าใครตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ อย่าไปสนใจกับใครทั้งนั้น หลักฐานและเหตุผลต่างๆ เราได้ข้อมูลมาจากครูบาอาจารย์ของเราแล้ว

เมื่อก่อนนี้ครูบาอาจารย์ของเรานี้ไปที่ไหนๆ มีแต่เขาว่า

พวกนี้น่ะใจแคบเห็นแก่ตัวตัดช่องน้อยเอาแต่ตัวรอดคนเดียว

เอ้า ! ในขณะที่ใครยังมองไม่เห็นคุณค่า ท่านก็ต้องเก็บสมบัติท่านเอาไว้ ทีนี้พอเกิดมีคนสนใจ ท่านก็เอาออกมาจ่าย พอจ่ายออกมาแล้วมันก็ได้ผล ทำให้มีคนปฏิบัติธรรมกว้างขวางออกไป


ให้ทานหมาขี้เรื้อน

สมัยที่หลวงพ่อเป็นเณรอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี วันหนึ่งเพิ่งฉันเสร็จกำลังจะไปล้างบาตร เหลือบไปเห็นหมาขี้เรื้อนหิวโซ เดินโซซัดโซเซ ใกล้จะหมดแรงเต็มที เกิดความสงสารจับใจ มองดูข้าวในบาตรก็ฉันเกลี้ยง เพราะครูบาอาจารย์สอนไว้ว่าเป็นธรรมเนียมพระธุดงค์จะฉันให้หมดบาตรเสมอ ไม่ให้กินทิ้งกินขว้าง

มองหาอาหารรอบทิศ ก็ไม่มีอะไรพอประทังความหิวของหมาน้อยได้ เจ้าหมาที่น่าสงสารก็ใกล้จะหมดแรง เมื่อหมดหนทาง ก็นึกได้ อาหารเพิ่งฉันใหม่ๆ พอจะเรียกคืนมาให้เจ้าหมาน้อยได้ จึงเอามือล้วงคอให้อาเจียนออกมา หมาตัวนั้นคลานมาฟุบตรงเศษอาหารจากลำคอของเราพอดี มันได้กินอาหารนั้นจนมีกำลังขึ้น เราก็เรียกอาหารใหม่ออกมาจนหมดท้อง จนอาหารเก่าเริ่มระบายออกมาด้วย พอเห็นสุนัขมีแรงก็หยุด เจ้าหมาตัวนั้นได้แรงขนาดวิ่งเหยาะๆ ตามเราได้

จากนั้นมา ลาภสักการะในเรื่องอาหารการกินนี้มีมากเสียจนเขาบังคับให้กิน บางรายทำอาหารประณีตมาถวาย เห็นเราไม่แตะต้องเลย ก็กลับไปนอนร้องไห้ (เขามาเล่าให้หลวงพ่อฟังเอง) หลวงพ่อจึงต้องพยายามฉันให้เขาทุกครั้งเพื่อรักษาน้ำใจ


เป็นเณรชอบสาวชื่อ “ประยูร”

สมัยเป็นเณรอยู่เมืองอุบลฯ นี้ หลวงตาพรท่านสอนให้นั่งบริกรรมทุกวัน ท่านให้ท่อง พุทโธๆ ในช่วงนั้นจิตมันชอบสาวอยู่คนหนึ่ง ชื่อมันว่า ประยูร เราภาวนา พุทโธ มันทิ้งพุทโธปั๊บ มันก็ท่องว่า ประยูรๆ จะตายเพราะยายประยูรนี้ละ เลยเอาชื่อมันมาบริกรรมภาวนาซะเลย มันติดอยู่ดังเดิมแล้ว เราภาวนาทุกวัน ทีนี้เวลาจิตมันอยู่คงที่แล้ว คำว่าประยูรมันก็หายไป หนักๆ เข้าร่างกายตัวตนของเรามันก็หายไป พอจิตสงบ เกิดนิมิตภาพแม่ประยูรปรากฏขึ้น พิจารณาว่าผมสวย ผมก็ร่วงหลุดลงมา ว่าตาสวยตาก็หลุดออกมา นึกว่าคนสวยนี้แม้แต่กระดูกก็ยังสวย กระดูกก็ร่วงหล่นสูญสลายไปกับแผ่นดิน พอตื่นจากสมาธิ ร่างกายตัวตนของเธอก็หายไปแล้ว ชื่อของเธอก็หายไปแล้ว มันก็หายไปหมดแล้ว


ฝึกหัดนิสัยจากครูบาอาจารย์

เราจะได้เครื่องวัดว่าความประพฤติของเราในปัจจุบันนี้มันไม่ย่อหย่อนหรือว่ามันตึงขึ้น เท่าที่สังเกตโดยทั่วๆ ไปแล้ว บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อุปสมบทมาอายุพรรษายังไม่ครบ ๕ ระเบียบวินัยยังไม่รู้ การแสดงอาบัติก็ยังว่าไม่ถูก แล้วก็เที่ยวสะพายบาตรเดินธุดงค์จากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ ในฐานะที่เรายังไม่เข้าใจระเบียบวินัยเพียงพอ ไม่ได้ฝึกหัดนิสัยจากครูบาอาจารย์ เราก็นำลัทธิการปฏิบัติผิดๆ ไปให้ชาวบ้านทั้งหลาย เขาเข้าใจว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แท้ที่จริงแล้วเรายังไม่ได้ฝึกฝนอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกราบพระ เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเรานี้ถือเคร่งครัดนัก ท่านจะต้องฝึกสอนให้กราบให้ไหว้ ให้ถูกต้องตามระเบียบเบญจางคประดิษฐ์ โดยเอาหัวเข่ากับข้อศอกต่อกัน วางมือลงราบกับพื้น นิ้วมือไม่ถ่าง เว้นระยะพอห่างพอหน้าผากลงได้ ระหว่างคิ้วกับหัวแม่มือจรดกัน ทำหลังให้ตรง ไม่ทำโก้งโค้ง แสดงกิริยามารยาทอันเรียบร้อยงดงาม อันนี้เป็นวิธีกราบของครูบาอาจารย์ของเราถือนัก

มาสมัยปัจจุบันนี้ เท่าที่ชำเลืองดูแล้ว การกราบการไหว้นี้ห่างไกลจากครูบาอาจารย์เหลือเกิน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่น่าจะนำมาพูด แต่ว่าโอกาสนี้เราจะมาประชุมกันมากๆ เผื่อหากว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่หมู่คณะของเราบ้าง ถ้าหากใครจะนึกว่าเป็นเรื่องประจานต่อหน้าธารกำนัลก็ไม่ควรอาย เพราะเราหวังดีต่อกัน เผื่อมันจะได้เป็นประโยชน์แก่ญาติโยมผู้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันบ้าง


วินัยเรื่องการรับประเคน

อันดับต่อไปก็คือ การว่าอักขระฐานกรณ์ให้ถูกต้องตามอักขระภาษาบาลี ให้ถูกต้องตามสำเนียงมคธภาษา แล้วรองๆ ลงไปก็เรื่องระเบียบวินัยเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการรับประเคนสิ่งของ ของอันใดที่เป็นยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ให้รู้จักระเบียบวินัยในการใช้และปฏิบัติให้ถูกต้อง

ยาวกาลิก คือ ของที่รับประทานมีพวกอาหารต่างๆ เป็นต้น ฉันได้ตั้งแต่อรุณขึ้นมา คือหมายความว่าสว่างพอที่จะมองออกว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือมองดูลายมือได้อย่างชัดเจน อาหารประเภทที่เป็นยาวกาลิกนี้ ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง

ยามกาลิก คือ ของที่รับประเคนแล้วฉันได้ตลอดยาม มีพวกน้ำกล้วย น้ำฝรั่ง และน้ำผลไม้ต่างๆ ที่มีผลไม่ใหญ่ไม่โตไปกว่าผลมะตูม สามารถนำผลไม้ชนิดนั้นๆ มาคั้น กรองด้วยผ้าขาวบางประมาณ ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย ยามกาลิกนี้รับประเคนแล้วฉันได้ ตั้งแต่เช้า จนถึงก่อนอรุณขึ้นมาใหม่ (วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง)

สัตตาหกาลิก คือ ของที่รับประเคนแล้วฉันได้ ๗ วัน มี เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล

ยาวชีวิก คือ ของที่รับประเคนแล้วฉันได้ตลอด เพราะจัดเป็นจำพวกยารักษาโรคไม่มีกำหนดเวล่ำเวลา เช่น สมอ มะขามป้อม กระเทียม รากไม้ เกลือ หรือยารักษาโรคชนิดอื่นๆ

อติเรกลาภผลอันใดที่มันเกิดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านเคยเฉลี่ยแจกแบ่งสงเคราะห์พระภิกษุสามเณร ไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเราถือว่าเป็นสมณศากยบุตรด้วยกัน

สมัยเมื่อก่อนอยู่กับครูบาอาจารย์ ข้อวัตรปฏิบัตินี้เคร่งครัด แต่มาสมัยปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนนี้เราอยู่ในวัด เรายึดอยู่ในกฎกติกาของวัดเท่านั้น รองจากวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้ปฏิบัติตามจารีตประเพณี วัฒนธรรมนอกวัดนี้เราจะไม่เอามาขัดแย้งกับมติของครูบาอาจารย์ สมัยนั้นครูบาอาจารย์พูดแล้ว พูดคำไหนเป็นคำนั้น ไปฝ่าฝืนไม่ได้ มาในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าสมมุติว่าวัดเราควรจะเป็นอย่างนี้ๆ ๆ จะไปทำอย่างนั้นๆ ไม่ได้ เขาจะบอกว่า อย่างวัดอื่นเขายังทำได้


หลวงปู่เสาร์
อาจารย์สอนภาวนาของหลวงพ่อ


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม ตำบลหนึ่งของ อำเภอเมือง (ปัจจุบันอำเภอเขื่องใน) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ท่านเป็นพระคณาจารย์ใหญ่ของพระกรรมฐานทั้งหมด

ท่านอุปสมบทที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้และได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังมาอยู่วัดเลียบและเปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น ณ วัดเลียบ ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านคือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

ท่านได้มรณภาพในอิริยาบถขณะกราบครั้งที่ ๓ ในอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง เชิญศพมา ณ วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีเผาในเดือนเมษายน ๒๔๘๖ สิริอายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน

นิสัยท่านอาจารย์เสาร์ นิสัยชอบก่อสร้าง ชอบปลูกพริกหมากไม้ ลักษณะจิตเยือกเย็น มีพรหมวิหาร ทำจิตดุจแผ่นดิน มีเมตตาเป็นสาธารณะ เป็นคนพูดน้อย ยกจิตขึ้นสู่องค์เมตตาสุกใสรุ่งเรือง เป็นคนเอื้อเฟื้อในพระวินัย ทำความเพียรเป็นกลางไม่ยิ่งหย่อน พิจารณาถึงขั้นภูมิธรรมละเอียดมาก ท่านบอกให้เราภาวนาเปลี่ยนอารมณ์แก้อาพาธได้

อยู่ข้างนอกวุ่นวาย เข้าไปหาท่านจิตสงบดี เป็นอัศจรรย์ปาฏิหาริย์หลายอย่าง จิตของท่านชอบสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง หมากไม่กินบุหรี่ไม่สูบ ท่านแดดัง (พระครูทา โชติปาโล) เป็นอุปัชฌายะ เดินจงกรมภาวนาเสมอไม่ละกาล น้ำใจดี ไม่เคยโกรธขึ้งให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา มักจะวางสังฆทานอุทิศในสงฆ์สันนิบาต แก้วิปัสสนูฯ แก่สานุศิษย์ได้ อำนาจวางจริตเฉยๆ เรื่อยๆ ชอบดูตำราเรื่องพระพุทธเจ้า รูปร่างใหญ่ สันทัด เป็นมหานิกาย ๑๐ พรรษา จึงมาญัตติเป็นธรรมยุตฯ รักเด็ก เป็นคนภูมิใหญ่กว้างขวาง ยินดีทั้งปริยัติปฏิบัติ ลักษณะเป็นคนโบราณพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นโบราณทั้งสิ้น ไม่เห่อตามลาภยศสรรเสริญ อาหารชอบเห็ด ผลไม้ต่างๆ ชอบน้ำผึ้ง


ฉันเห็ดเบื่อ

หลวงปู่เสาร์นี่ เห็ดมันเกิดขึ้นตามวัด บอกเณรไปเก็บ เณรเก็บเห็ดอันนี้ไปหมกไฟให้กิน เณรก็ไปเก็บได้ประมาณเต็มถ้วยก๋วยเตี๋ยวหนึ่ง เอามาห่อหมกเสร็จแล้วก็ไปถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็ฉันจนหมด

ทีนี้ไอ้เราพวกเณรนี้ก็ทำห่อหมก เณร ๕-๖ องค์ตักแจกกันคนละช้อนๆ ๆ ฉันอาหารยังไม่ทันอิ่มเลย สลบเหมือดทั้ง ๖ องค์ ที่นี้

อุ๊ย ! เณรเป็นอะไรๆ ถามมันดูซิว่ามันเป็นอะไร

เณรก็กินเห็ดเบื่อ

รู้ว่าเห็ดเบื่อทำไมถึงไปกินล่ะ

ท่านอาจารย์พากิน

ข้าไม่ได้กินเห็ดเบื่อ ถ้าข้ากินเห็ดเบื่อ ข้าก็เมาตายสิ

หลวงปู่เสาร์ฉันเป็นชาม นั่งยิ้มเฉย แต่เณรฉันคนละช้อน ฉันข้าวยังไม่อิ่มเลย สลบเหมือดไปเลย อันนี้จิตของเรานี้มันปรุงแต่งได้ จะให้มันแพ้หรือมันชนะ มันก็ทำได้


หลวงปู่เสาร์แก้สัญญาวิปลาสให้หลวงปู่มั่น

(คัดมาจากหนังสือ ประวัติหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


ท่านอาจารย์เสาร์ มีเมตตาแก่สัตว์เป็นมหากรุณาอย่างยิ่ง วางเป็นกลาง เยือกเย็นที่สุด เมตตาของท่านสดใส เห็นปาฏิหาริย์ของท่านสมัยขุนบำรุงบริจาคที่ดินและไม้ทำสำนักแม่ขาวสาริกา วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

แก้สัญญาวิปลาสท่านอาจารย์มั่นกับท่านเจ้าคุณหนูวัดสระปทุมในสมัยนั้น จนสำเร็จเป็นอัศจรรย์เรียกว่าเป็นพ่อพระกรรมฐานภาคอีสาน นี้ท่านอาจารย์เสาร์เล่าให้ฟัง สมัยที่เรา (หลวงปู่หลุย) อยู่กับท่านเดินธุดงค์ไปด้วย ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจก กับปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จอรหันต์ในศาสนาสมณโคดมพุทธเจ้าของเรา ท่านอาจารย์มั่นเคารพท่านอาจารย์เสาร์มากที่สุด เพราะเป็นเณรของท่านมาแต่ก่อน ท่านมักเรียกท่านอาจารย์มั่นเป็นสรรพนามว่า “เจ้าๆ ข้อยๆ”


นั่งสมาธิตัวลอยขึ้น

(คัดมาจากหนังสือ ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่ ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า “ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ๆ” เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอย ท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง ต้องเจ็บเอวอยู่หลายวัน

ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริงๆ สูงประมาณ ๑ เมตร ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น จิตท่านถอนออกจากสมาธิ จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ตกลงจากที่สูง

ในคราวต่อไป เวลาท่านนั่งสมาธิ พอรู้สึกว่าตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิ แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง ก็ประจักษ์ว่าตัวท่านลอยขึ้นจริงๆ แต่ไม่ได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก เพราะท่านมิได้ปราศจากสติและคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี

ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก แม้จะเห็นด้วยตาแล้วท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็กๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ แล้วกลับมาทำสมาธิอีก พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก ท่านพยายามประคองจิตให้มันอยู่ในสมาธิ เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้ แล้วค่อยๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติ แล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อยๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ เพื่อกายจะได้ค่อยๆ ลงมาถึงพื้นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริงๆ

เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่า ตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์ รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ

จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตราย และไม่ค่อยมีอุบายต่างๆ และความรู้แปลกๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น


หลวงปู่เสาร์เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญ พอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิมเพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดาย ยังไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐาน ของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป

พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้


หลวงปู่เสาร์เป็นคนพูดน้อย

เวลาท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสาน ตามจังหวัดต่างๆ ในระยะต้นวัย ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามวิสัย แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์ ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า

“ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์” และ

“เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ”

แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ โดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค เวลานั่งก็ทนทานนั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แต่ลักษณะท่าทางของท่าน มีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านอาจารย์มั่น


หลวงปู่เสาร์สอนทำอะไรให้เป็นเวลา

ท่านอาจารย์หลวงปู่เสาร์นี้ท่านเป็นสาวกแบบชนิดที่ว่าเป็นพระประเสริฐ ท่านสอนธรรมนี้ท่านไม่พูดมาก ท่านชี้บอกว่าให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่การปฏิบัติของท่านนี้ ท่านเอาการปฏิบัติแทนการสอนด้วยปาก ผู้ที่ไปอยู่ในสำนักท่าน ก่อนอื่นท่านจะสอนให้ทำวัตร นอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ นี้ข้อแรก ต้องทำให้ได้ก่อน บางทีก็ลองเรียนถามท่าน

หลวงปู่ทำไมสอนอย่างนี้

การนอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ฉันเป็นเวลา อาบน้ำ เข้าห้องน้ำเป็นเวลา มันเป็นอุบายสร้างพลังจิต แล้วทำให้เรามีความจริงใจ

ทีนี้นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้ทำอย่างนี้ แม้แต่นักสะกดจิต เขาก็ยังยึดหลักอันนี้ มันมีอยู่คำหนึ่งที่หลวงพ่อไม่เคยลืมหลักปฏิบัติที่เวลาไปปฏิบัติท่าน ท่านจะพูดขึ้นมาลอยๆ ว่า

“เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด”

ก็ถามว่า

“จิตมันฟุ้งซ่านหรือไงอาจารย์”

“ถ้าให้มันหยุดนิ่ง มันก็ไม่ก้าวหน้า”

กว่าจะเข้าใจความหมายของท่านก็ใช้เวลาหลายปี ท่านหมายความว่า เวลาปฏิบัติถ้าจิตมันหยุดนิ่ง ก็ปล่อยให้มันหยุดนิ่งไป อย่าไปรบกวนมัน ถ้าเวลามันจะคิด ให้มันคิดไป เราเอาสติตัวเดียวเป็นตัวตั้ง เป็นตัวตี


ปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

หลวงปู่เสาร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ปักกลดอยู่ในป่า ในดง ในถ้ำ ในเขา องค์แรกของอีสานคือหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นัยว่า ท่านออกมาบวชในพระศาสนา ท่านสนใจเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน โดยถ่ายเดียว ซึ่งสหธรรมิกคู่หูของท่านก็คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นคนเกิดในเมืองอุบลฯ ท่านออกเดินธุดงค์ร่วมกัน หลวงปู่เสาร์ตามปกติ ท่านเป็นพระที่เทศน์ไม่เป็น แต่ปฏิบัติให้ลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่าง


เดินจงกรมแข่งหลวงปู่เสาร์

รูปภาพ

สมัยที่หลวงพ่อเป็นเณรอยู่ใกล้ๆ ท่าน ถ้าวันไหนเราคิดว่าจะเดินจงกรมแข่งกับท่านอาจารย์ใหญ่ วันนั้นท่านจะเดินจงกรมไม่หยุด จนกว่าเราหยุด นั่นแหละท่านจึงจะหยุด ท่านจะไม่ยอมให้เราชนะท่าน

เวลาท่านสอน สอนสมาธิ ถ้ามีใครถามว่า ส่วนใหญ่คนอีสานก็ถามแบบภาษาอีสาน

“อยากปฏิบัติสมาธิเฮ็ดจั๋งได๋ ญ่าท่าน”

“พุทโธสิ”

“ภาวนาพุทโธแล้วมันจะได้อีหยังขึ้นมา”

“อย่าถาม”

“พุทโธแปลว่าจั๋งได๋”

“ถามไปหาสิแตกอีหยัง ยั้งว่าให้ภาวนา พุทโธ ข้าเจ้าให้พูดแค่นี้”

แล้วก็ไม่มีคำอธิบาย ถ้าหากว่าใครเชื่อตามคำแนะนำของท่าน ไปตั้งใจภาวนาพุทโธ จริงๆ ไม่เฉพาะแต่เวลาเราจะมานั่งอย่างเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ ใจนึกพุทโธไว้ให้ตลอดเวลา ไม่ต้องเลือกว่าเวลานี้เราจะภาวนาพุทโธ เวลานี้เราจะไม่ภาวนาพุทโธ ท่านสอนให้ภาวนาทุกลมหายใจ


แม้เข้าห้องน้ำก็ต้องภาวนา

บางคนก็จะไปข้องใจว่า ภาวนาพุทโธ ในห้องน้ำห้องส้วม มันจะไม่บาปหรือ

ไม่บาป ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาล เลือกเวลา พระองค์เทศน์สอนไว้แล้ว ถ้ายิ่งเข้าในห้องน้ำ ห้องส้วมน่ะ ยิ่งภาวนาดี เพราะมันมีสิ่งประกอบ สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก มันก็แสดงออกมาให้เราเห็น

แล้วเราภาวนา พุทโธ พุทโธ แปลว่ารู้ รู้ในสิ่งที่เราทำอะไรอยู่ในขณะนั้น

ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเชื่อในคำแนะนำของหลวงปู่ท่าน ไปภาวนาพุทโธอย่างเอาจริงเอาจัง ส่วนใหญ่จะไม่เกิน ๗ วัน บางคนเพียงครั้งเดียวจิตสงบ สว่าง รู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา ทีนี้เมื่อภาวนาจิตเป็นสมาธิ เวลามาถามท่าน

ภาวนาพุทโธแล้ว จิตของฉันนี่ตอนแรกๆ มันมีอาการเคลิ้มๆ เหมือนกับจะง่วงนอน ทีนี้มันสะลืมสะลือ เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น พอเผลอๆ จิตมันวูบลงไป สว่างตูมขึ้นมา เหมือนกับมันมองเห็นทั้งหมดในห้อง จนตกใจว่า แสงอะไรมันมาสว่างไสว พอตกใจแล้วสมาธิถอน ลืมตาแล้วความมืดมันก็มาแทนที่

อันนี้เป็นจุดสำคัญ คือถ้าจิตของเราได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ มันจะเกิดความตื่นตกใจหรือเกิดเอะใจขึ้นมา แต่ถ้าหากว่าเราไม่เกิดการตื่นใจหรือเกิดตกใจเกิดเอะใจ จิตของเราสามารถมีสติประคับประคองรู้อยู่โดยธรรมชาติ จิตมันก็สงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข


เล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่เสาร์ฟัง

เมื่อหลวงพ่อไปเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านฟัง ถ้าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ท่านบอกว่า เร่งเข้าๆ ๆ แล้วจะไม่อธิบาย แต่ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น อย่างใครทำสมาธิภาวนามาแล้วมันคล้ายๆ กับว่า พอจิตสว่าง รู้เห็นนิมิตขึ้นมา แล้วก็น้อมเอานิมิตเข้ามา พอนิมิตเข้ามาถึงตัวถึงใจแล้ว มันรู้สึกว่าอึดอัดใจเหมือนหัวใจถูกบีบแล้ว สมาธิที่สว่างก็มืดไปเลย

อันนี้ท่านบอกว่า อย่าทำอย่างนั้น มันไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าหากว่าไปเล่าให้อาจารย์องค์ใดฟัง ถ้าท่านแนะนำว่าให้น้อมให้เอานิมิตนั้นเข้ามาหาตัว อันนี้เป็นการสอนผิด

แต่ถ้าว่าท่านผู้ใดพอไปบอกว่า ภาวนาเห็นนิมิต ท่านแนะนำให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่ คล้ายๆ กับว่าไม่สนใจกับนิมิตนั้น แล้วนิมิตนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในแง่ต่างๆ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี มีสมาธิมั่นคง เราจะอาศัยความเปลี่ยนแปลงของมโนภาพอันเป็นของนิมิตนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิมิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นปฏิภาคนิมิต

ถ้าหากว่านิมิตที่ปรากฏแล้วมันหยุดนิ่ง ไม่ไหวติง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ บางทีสมาธิของเรามันแน่วแน่ ความทรงจำมันฝังลึกลงไปในส่วนลึกของจิต ไปถึงจิตใต้สำนึก เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว เราไม่ได้นึกถึงเหมือนกับคล้ายๆ มองเห็นนิมิตนั้นอยู่ นึกถึงมันก็เห็น ไม่นึกถึงมันก็เห็น มันติดตาติดใจอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต

ว่ากันง่ายๆ ถ้าจิตของเรามองเพ่งอยู่ที่ภาพนิ่ง เป็นอุคคหนิมิต ถ้าจิตเพ่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของนิมิตนั้น เป็นปฏิภาคนิมิต

อุคคหนิมิตเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน แต่ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนา เพราะจิตกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลง

อันนี้ถ้าหากว่าใครภาวนาได้นิมิตอย่างนี้ ไปเล่าให้ท่านอาจารย์เสาร์ฟัง ท่านจะบอกว่า เอ้อ ! ดีแล้ว เร่งเข้าๆ ๆ

แต่ถ้าใครไปบอกว่า

ในเมื่อเห็นนิมิตแล้ว ผมหรือดิฉันน้อมเข้ามาในจิตในใจ แต่ทำไมเมื่อนิมิตเข้ามาถึงจิตฝังใจแล้ว จิตที่สว่างไสวปลอดโปร่ง รู้ ตื่น เบิกบาน มันมืดมิดลงไปแล้วเหมือนกับหัวใจถูกบีบ หลังจากนั้น จิตของเราไม่เป็นตัวของตัวคล้ายๆ กับว่าอำนาจสิ่งที่เข้ามานั้นมันครอบไปหมด

ถ้าไปเล่าให้ฟังอย่างนี้ ท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เมื่อเห็นนิมิตแล้วให้กำหนดรู้เฉยๆ อย่าน้อมเข้ามา ถ้าน้อมเข้ามาแล้ว นิมิตเข้ามาในตัว มันจะกลายเป็นการทรงวิญญาณ อันนี้เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมาแนะนำเราว่า ทำสมาธิแล้วให้น้อมจิตไปรับเอาอำนาจเบื้องบน หรือเห็นนิมิตแล้วให้น้อมเข้ามาในตัว อันนี้อย่าไปเอา มันไม่ถูกต้อง ในสายหลวงปู่เสาร์นี้ ท่านสอนให้ภาวนา พุทโธ


ทำไมหลวงปู่เสาร์สอนภาวนาพุทโธ

หลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่า ทำไมจึงต้องภาวนาพุทโธ

ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า ที่ให้ภาวนา พุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ - พาน - สระ อุ - ท - ทหาร สะกด สระ โอ ตัว ธ - ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน พอหลังจากคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยังแถมมีปีติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิตมันใกล้กับความจริง

แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆ ๆ ในขณะที่จิตเราไม่เป็นเช่นนั้น

ที่เราต้องมาบ่นว่า พุทโธ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจิตนั้นเราก็ต้องท่อง พุทโธๆ ๆ ๆ เหมือนกับว่า เราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกช้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา

ทีนี้ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อเรียก พุทโธๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้า ควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้ สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน

ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไป จิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียดๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอก เกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมด ตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี้เหมือนกับแก้วโปร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราขุดไว้ในพลบครอบ แล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่า กายหายไปแล้ว จึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียว ร่างกายตัวตนหายหมด

ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป


สมาธิในอริยมรรคอริยผล

ทีนี้ถ้าหากว่า จิตย้อนมามองรู้เห็นอย่างนี้ จิตของผู้นั้นเดินทางถูกต้องตามแนวทางอริยมรรคอริยผล ถ้าหากว่า สงบ สว่าง นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน ร่างกายตัวตนหาย แล้วก็สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม อันนี้เรียกว่า สมาธิขั้นฌานสมาบัติ ไปแบบฤๅษีชีไพร ถ้าหากจิตของผู้ปฏิบัติไปติดอยู่ในสมาธิแบบฌานสมาบัติ มันก็เดินฌานสมาบัติ

ทีนี้ฌานสมาบัตินี้มันเจริญง่ายแล้วก็เสื่อมง่าย ในเมื่อมันเสื่อมไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรเหลือ แต่ถ้าหากสมาธิแบบอริยมรรค อริยผลนี้ ในเมื่อเราได้สมาธิซึ่งเกิดภูมิความรู้ความเห็น เช่น เห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปแล้ว ภายหลังจิตของเราก็จะบอกว่าร่างกายเน่าเปื่อยเป็นของปฏิกูล ก็ได้อสุภกรรมฐาน เนื้อหนังพังลงไปแล้วยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็ได้อัฐิกรรมฐาน ทีนี้เมื่อโครงกระดูกสลายตัวแหลกไปในผืนแผ่นดิน จิตก็สามารถกำหนดรู้ ได้ธาตุกรรมฐาน แต่เมื่อในช่วงที่จิตเป็นไปนี่ จิตจะไม่มีความคิด ต่อเมื่อถอนจากสมาธิมาแล้ว สิ่งรู้หายไปหมด พอรู้ว่ามันมาสัมพันธ์กับกายเท่านั้นเอง จิตตรงนี้จะอธิบายให้ตัวเองฟังว่า นี่คือการตาย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ในเมื่อเนื้อหนังพังไปหมดแล้วก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ทีนี้โครงกระดูกมันก็แหลกละเอียดหายจมลงไปในผืนแผ่นดิน ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าร่างกายของคนเรานี้มันมีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่า สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา มีที่ไหน ถ้าจิตมันเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ภาวนาในขณะเดียวความเป็นไปของจิตที่รู้เห็นไปอย่างนี้ ได้ทั้งอสุภกรรมฐาน อัฐิกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน ประโยคสุดท้าย ไหนเล่าสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขามีที่ไหน จิตรู้อนัตตา เรียกว่า อนัตตานุปัสสนาญาณ ภาวนาทีเดียวได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา


ความเกี่ยวเนื่องแห่งมรรคและผล

การกำหนดหมายสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด หรือกำหนดหมายรู้โครงกระดูก แล้วก็กำหนดหมายรู้ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสมถกรรมฐาน ส่วนความรู้ที่ว่าสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน เป็นวิปัสสนากรรมฐาน

เพราะฉะนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นคุณธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีฌาน ไม่มีวิปัสสนา เมื่อไม่มีวิปัสสนา ก็ไม่มีวิชชา ความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริง จิตไม่ปล่อยวาง ก็ไม่เกิดวิมุตติความหลุดพ้น สายสัมพันธ์มันก็ไปกันอย่างนั้นอันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในสายของหลวงปู่เสาร์

เพราะฉะนั้น เราอาจจะเคยได้ฟังว่า ภาวนาพุทโธ แล้วจิตได้แต่สมถกรรมฐานไม่ถึงวิปัสสนา อนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ อุปสมานุสติ ภาวนาแล้วจิตสงบ หรือบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วถึงแค่สมถกรรมฐาน เพราะว่าภาวนาไปแล้วมันทิ้งคำภาวนา

เพราะฉะนั้น คำว่า พุทโธๆ ๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แต่สงบนิ่ง แต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ ถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอก ไปเห็นภาพนิมิต ถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน

ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกาย รู้อาการ ๓๒ รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้ว มันตาย เน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะ คือ กาย กับ จิต มันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ

แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะเคยได้ยินได้ฟังว่า สมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะ เพราะสมาธิขั้นสมถะนี้มันเป็นสมาธิที่อยู่ในฌาน สมาธิที่อยู่ในฌานมันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไร สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้ว มันก็ไม่ว่า ในขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้ว ยังเหลือแต่ความทรงจำ จิตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจทีหลัง เรียกว่าเจริญวิปัสสนา


หลวงปู่เสาร์ทิพยจักษุ

มีผู้บอกว่า เคยได้ฟังมาว่า หลวงปู่ฝั้นดูหมอเก่ง หลวงพ่อแก้ว่า..ไม่มีน้า..ไม่เคยหรอก เหมือนๆ กับมีพระองค์หนึ่งว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ไปตัดเหล็กไหลที่ถ้ำสระบัว ภูเขาควาย มันไม่ตรงกับความจริงเลยแม้แต่นิดหนึ่ง พระองค์นั้นชื่อพระอาจารย์จันทร์ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ เขาบอกว่าตั้งแต่เขาเป็นเณรโน่น ทีนี้เหล็กไหลมันเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำ ท่านผู้เคร่งต่อพระธรรมวินัยท่านจะไปทำได้อย่างไร

ขนาดหลวงพ่อเอาสีผึ้งใส่มาในย่ามนี้ ท่านยังว่าเอาๆ ยังงงยังกะไก่ตาแตกเลย..โอ๊ย ! หลวงปู่นี่มาค้นดูย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร ตลับสีผึ้งนี้มีโยมเขาทำให้ตั้งแต่เป็นเณรอยู่บ้านนอก เขาบอกว่าอันนี้จะไปเรียนหนังสือ มันเรียนหนังสือดี ก็เลยเอามา..หลวงปู่เสาร์ดุ จะมาภาวนาเอามรรคผลนิพพาน ยังเอาตลับสีผึ้งใส่ย่ามมาด้วยมันจะไปได้อย่างไร..ว้า หลวงปู่นี้มาค้นย่ามเราตั้งแต่เมื่อไร พอตื่นเช้ามาก็เอามัดติดก้อนอิฐปาลงแม่น้ำมูลเลย..ไม่มีหรอกกรรมฐานนี้ เครื่องรางของขลัง รูปเหรียญหมู่นี้ไม่มี


อุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์

ได้พบท่านเวลาท่านมาพักวัดบูรพาฯ ก็ได้ปรนนิบัติท่าน ไม่ได้ติดสอยห้อยตาม ผู้ติดสอยห้อยตามที่ยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งหลวงปู่ท่านสิ้นนี้ยังเหลือหลวงปู่บัวพาองค์เดียว จากกันไป ๓๐ ปี พอท่านเห็น ก็วิ่งมากอด

“โอ๊ย..บักห่า..กูนึกว่ามึงตายไปแล้ว” ท่านว่า

“ที่อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์เสาร์นี้มีแต่เฮาสองคนเด๊ เหลืออยู่”

งานที่ทำถวายท่าน ก็อุปัฏฐากนวดเฟ้น ซักสบงจีวร แล้วก็ปัดกวาดที่นอน เทกระโถน อะไรทำนองนั้น เวลาแขกมาหาท่าน ก็คอยดูแลรับแขก

หลวงปู่เสาร์นี่ เพียงแต่เวลาท่านไปมาพักนี้เราก็ได้อุปัฏฐากท่านเท่านั้นเอง แต่ก็ครูบาอาจารย์ในสายนี้ เขาถือว่า ใครเป็นหัวหน้าใหญ่ เขาถือว่าเขาเป็นลูกศิษย์องค์นั้นแหละ รองๆ ลงมาอาจารย์เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ใหญ่ เราก็มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รองลงมา แต่ศูนย์รวมจิตใจมันอยู่ที่อาจารย์ใหญ่


หลักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้

รูปภาพ

พระบูรพาจารย์ของเรา เราถือว่าพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระอาจารย์องค์แรกและเป็นผู้นำหมู่คณะลูกศิษย์ลูกหา ออกเดินธุดงคกรรมฐาน ชอบพักพิงอยู่ตามป่าตามที่วิเวก อาศัยอยู่ตามถ้ำบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง และท่านอาจารย์มั่นก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ หลวงพ่อสิงห์ ขนฺตยาคโม ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์สิงห์ เปรียบเสมือนหนึ่งว่าเป็นเสนาธิการใหญ่ของกองทัพธรรม ได้นำหมู่คณะออกเดินธุดงค์ไปตามราวป่า ตามเขา อยู่อัพโภกาส อยู่ตามโคนต้นไม้ อาศัยอยู่ตามถ้ำ พักพิงอาศัยอยู่ในราวป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ เมตร

การธุดงค์ของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์จะไม่นิยมที่จะไปปักกลดอยู่ตามละแวกบ้าน ตามสนามหญ้า หรือตามบริเวณโรงเรียน หรือใกล้ๆ กับถนนหนทางในที่ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน ท่านจะออกแสวงหาวิเวกในราวป่าห่างไกลกันจริงๆ

บางทีไปอยู่ในป่าเขาที่ไกล ตื่นเช้าเดินจากที่พักลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว กลับไปถึงที่พักเป็นเวลา ๑๑.๐๐ น. หรือ ๕ โมงก็มี อันนี้คือหลักการปฏิบัติของพระธุดงคกรรมฐานในสายพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ซึ่งบางทีอาจจะผิดแผกจากพระธุดงค์ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งไปปักกลดอยู่ตามสนามหญ้า หรือตามสถานีรถไฟ ตามบริเวณโรงเรียนหรือศาลเจ้าต่างๆ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ ไม่นิยมทำเช่นนั้น ไปธุดงค์ก็ต้องไปป่ากันจริงๆ ที่ใดซึ่งมีอันตราย ท่านก็ยิ่งไป เพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของตัวเอง และเป็นการฝึกฝนลูกศิษย์ลูกหาให้มีความกล้าหาญเผชิญต่อภัยของชีวิต ตะล่อมจิตให้ยึดมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่วแน่

เมื่อไปในสถานที่ที่คิดว่ามีอันตราย ไปอยู่ในที่ห่างไกลพี่น้อง เพื่อนฝูงสหธรรมิกก็ไปอยู่บริเวณที่ห่างๆ กัน ในเมื่อจิตใจเกิดความหวาดกลัวภัยขึ้นมา จิตใจก็วิ่งเข้าสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอย่างเหนียวแน่น เพราะในขณะนั้นไม่มีใครอีกแล้วที่จะเป็นเพื่อนตาย ดังนั้น ท่านจึงมีอุบายให้ไปฝึกฝนอบรมตัวเอง ฝึกฝนอบรมบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ผู้ติดตาม ในสถานที่วิเวกห่างไกลเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหามีความกล้าหาญชาญชัย ในการที่จะเสียสละเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

การฝึกฝนอบรมหรือการอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ดังกล่าวนั้น ท่านยึดหลักที่จะพึงให้ลูกศิษย์ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันดังนี้

ท่านจะสอนให้พวกเราประกอบความเพียรดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำ จนกระทั่งเวลา ๔ ทุ่ม พอถึง ๔ ทุ่มแล้วก็จำวัด พักผ่อนตามอัธยาศัย พอถึงตี ๓ ท่านก็เตือนให้ลุกขึ้นมาบำเพ็ญเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หรือทำวัตรสวดมนต์ก็ตามแต่ที่จะถนัด แต่หลักที่ท่านยึดเป็นหลักที่แน่นอนที่สุดก็คือว่า ในเบื้องต้นท่านจะสอนให้ลูกศิษย์หัดนอน ๔ ทุ่ม ตื่นตี ๓ ในขณะที่ยังไม่ได้นอนหรือตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำกิจวัตร มีการสวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านก็จะสอนให้ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่ท่านจะรีบเร่งอบรมสั่งสอนและฝึกลูกศิษย์ให้ทำให้ได้ ถ้าหากยังทำไมได้ ท่านก็ยังไม่อบรมสั่งสอนธรรมะส่วนละเอียดขึ้นไป

เพราะอันนี้เป็นการฝึกหัดดัดนิสัยให้มีระเบียบ นอนก็มีระเบียบ ตื่นก็มีระเบียบ การฉันก็ต้องมีระเบียบ คือ ฉันหนเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตฉันเป็นวัตร อันนี้เป็นข้อวัตรที่ท่านถือเคร่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อฉันในบาตร ฉันหนเดียว อันนี้ท่านยึดเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติกรรมฐานเลยทีเดียว


หลักสมถวิปัสสนาของหลวงปู่เสาร์

หลักการสอน ท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัว จนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากาย แยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี

ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตาทั้งนั้น จะว่ามีตัวมีตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ มายึดครองอยู่ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำๆ ให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ แยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ออกเป็นส่วนๆ เราจะมองเห็นว่า ในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเท่านั้น ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าผม ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

นอกจากนั้น ก็จะมองเห็นอสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาตัวตน แล้วพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิบัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น

เพราะฉะนั้น การเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

และอีกอันหนึ่ง อานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติ การกำหนดพิจารณากำหนดลมหายใจนั้น จะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก

ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น วิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียดๆ ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจก็หายขาดไป เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไป กายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่ แขนซ้าย แขนขวา ขาขวา ขาซ้าย เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้ว จิตจะรู้ทั่วกายหมด

ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง รู้กว้างอยู่ในกาย วิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย ในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน


ไปเรียนที่วัดสระปทุม

...หลวงตาพรนี้แหละท่านเป็นคนส่งหลวงพ่อไปเรียนที่วัดสระปทุม เวลาหน้าแล้งหยุดเรียนหนังสือ หลวงพ่อก็ขึ้นไปอยู่กับหลวงตาพร อยู่กับหลวงตาพร ๓ ปี ท่านก็ส่งไปวัดสระปทุม ท่านเป็นสัทธิวิหาริกของเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร สัทธิวิหาริกของท่านเจ้าคุณปัญญาฯ ที่ยังเหลืออยู่มี ๒ องค์ คือหลวงพ่อกับเจ้าคุณวิริยังค์

ไปอยู่ที่วัดสระปทุม ๒ ปี ๘ เดือน ท่านเจ้าคุณปัญญาฯ เน้นเรื่องการปฏิบัติ..ที่หลวงพ่ออุปสมบทเป็นพระนี้ท่านอาพาธ ท่านให้หลวงพ่อเข้าไปฟังโอวาทท่านเพียงองค์เดียว..ผู้เฒ่าหมู่นี่ไม่ใช่ย่อยๆ วินัยบุพพสิกขามหาขันธ์นี้จำได้หมดทุกตัว ยังกับท่องเอาไว้ แต่ท่านไม่ได้สอนนักธรรมนะ นักธรรมตรีก็ไม่ได้ แต่ความรู้เรื่องบาลีและวินัยนี่เก่งมาก

การเรียนพระธรรมวินัยจากครูบาอาจารย์โดยตรง นอกจากขยันอ่านแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ยังขยันเทศน์ด้วย..ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขามาทิ้งระเบิด ตำรวจเอาท่านไปไว้วัดลาดพร้าว เมื่อก่อนวัดลาดพร้าวเป็นท้องน้ำตั้งแต่ประตูน้ำไป เป็นทุ่งนาทั้งนั้น


สายทางแห่งศรัทธา

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร


หลวงพ่อไปจากอุบลฯ จะไปกรุงเทพฯ มีสตางค์ ๒๑ บาท หลวงตาพร สุมโน กับ หลวงพ่อบุญ ชินวํโส ให้ ๘ บาท อาจารย์มหาบุญมี สิริธโร ให้ ๔ บาท เป็น ๑๒ บาท แล้วก็ยายตุ่นแม่ยายของเสี่ยตุ๊ให้ ๒ บาท พี่ประกอบให้ ๒ บาท ครูบาในวัดให้คนละบาท รวมแล้วเป็น ๒๑ บาท เป็นค่ารถไฟ รถด่วนชั้น ๒ นั่น ๙ บาทสลึง ชั้น ๓ ไม่มี มีแต่ชั้น ๒ แต่พระมีส่วนลดเหลืออยู่ ๗ บาทสลึง

ไปถึงโน่นไปชื้อเสื่อผืนหนึ่ง หมอนใบหนึ่ง มุ้งหลังหนึ่ง แล้วก็ปากกาเชฟเฟอร์น้อยอีกด้ามหนึ่ง แล้วก็หนังสือธรรมบทจบหนึ่ง แล้วก็แปลจบหนึ่ง ยังมีสตางค์เหลือ สมัยก่อนถือตังค์ไปตลาดซื้อของนี้ต้องเอาเข่งไป


อุปัชฌาย์ไม่ยอมรับเข้าอยู่ในสำนัก

ไปตอนแรกเจ้าคุณอุปัชฌาย์

“ไม่รับล่ะ มันต้องติดต่อมาก่อนซิ กลับไปเมืองอุบลฯ ของเก่านั่น ทีหลังต้องติดต่อมาก่อน”

เราก็เลยงอแงท่านตามประสาเด็ก เรียนท่านว่า เราไม่ยอมถอย จะไปตายดาบหน้า

พอท่านได้ยินคำพูดคำนี้..เรียกเอาฎีกา เอามา..


โดนไล่ไม่ให้เดินตามบิณฑบาต

ไปเรียนหนังสือ พระมหา..เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษเคยเป็นอาจารย์สอนบาลีอยู่เมืองอุบลฯ พอเราไปกรุงเทพฯ ก็ไปเจอกันอีก เห็นว่าครูบาอาจารย์กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ ก็เดินตาม ไปได้ ๒-๓ วัน เรียกไป..

“ข้าไม่ให้เดินตาม”

เอ้า ! ไม่เดินก็ไม่เดิน ทีนี้เราก็พอรู้ทางบ้าง พอดีบ้านโยมบวชนี่ท่านออกมาใส่บาตร ท่านเห็นเรา พอเห็นแล้วชอบใจ ก็เลยนิมนต์ให้ไปรับบาตรที่บ้าน เดินผ่านไปให้ใครๆ ออกมาใส่บาตร

ภายหลังชาวบ้านที่เขาเคยใส่บาตร เขาเห็นพระไปเพิ่มอีกองค์หนึ่งเป็น ๒ องค์ เขาก็ดีใจ

โดนหมู่ไล่อีก

มันก็มาคิด พระกรุงเทพฯ นี้ขนาดนี้เชียวหรือ บิณฑบาตร่วมทางก็ไม่ได้

ทีนี้ภายหลังมานี้ ท่านมหา..มาอ้อนวอนเราให้ไปอยู่เป็นเลขาฯ เราก็ไม่ไป

ไปทีนะ จะขอให้เป็นพระครู อย่างนั้นอย่างนี้

เราบอกว่า

“ไม่ไป ขนาดข้าวบิณฑบาตทัพพีเดียวท่านยังแบ่งให้ผมกินไม่ได้ ยศฐาบรรดาศักดิ์เหล่านี้ท่านจะให้ผมได้อย่างไร ผมไม่ไป”


เจอเณรนักเลง

เมื่อก่อนนี้เข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ทีแรกไปบิณฑบาตเขามองหน้า ท่านเป็นไทยหรือเป็นลาว เขายังถามอยู่เลย ใจมันคิด ภาวนาไปๆ มันหลงทิศหลงแดน นึกว่าตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ จะปฏิวัติแบ่งแยกดินแดนโน่นเด่ มันคิดไป ไปๆ มาๆ เอ้า ทีจะได้สติ ไปเจอเพื่อนคนหนึ่งมันเป็นนักเลงโต เป็นเณรเหมือนกัน มันชวนต่อย มันชวนชกกัน กลัวมัน กลัวมันด้วย กลัวผ้าเหลืองด้วย เราบวชมีผ้าเหลืองแล้วจะมาชกต่อยกันได้อย่างไร มันนึกในใจ มาตอนนั้น มันก็ได้สติคืนมา ความยิ่งใหญ่ทั้งหลายทางตัว มันก็หายหมด ไอ้เพียงแค่ไอ้นี่คนเดียวนี้ เรายังไม่กล้าสู้มัน แล้วจะไปคิดแบ่งแยกดินแดนได้อย่างไร มันก็เลยหาย


พบสูตรการทำสมาธิในห้องเรียน

หลักและวิธีการอันนี้เป็นสูตรที่หลวงพ่อทำได้ผลมาแล้วตั้งแต่เป็นสามเณรเรียนหนังสือ หลวงพ่อถือหนังสือเดินท่องไปท่องมาแบบเดินจงกรม อาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ ลูกศิษย์ต้นของหลวงปู่มั่น ท่านเห็นก็ทักว่า

“เณร ถ้าจะเรียนก็ตั้งใจเรียน จะปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติ อย่าจับปลาสองมือ มันไม่สำเร็จหรอก”

ทีนี้พอได้ยินคำพูดของท่าน หลวงพ่อก็มาคิดว่า

เอ ! เราจะทำสมาธิพร้อมกับการเรียนไปนี้ไม่ได้หรือ เพราะการทำสมาธิคือการทำจิตให้มีอารมณ์สิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก เวลาเราไปเรียนหนังสือ การเรียนมันก็เป็น สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ

ก็ไปนึกถึงหลักของการเพ่งกสิณ กสิณนี้ มันมี กสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ อากาศ วิญญาณ ทีนี้ในตัวอาจารย์นี้มีพร้อมทุกอย่าง ดินก็มี น้ำก็มี ไฟก็มี ลมก็มี อากาศก็มี วิญญาณก็มี เราจะเอาตัวอาจารย์นี้แหละเป็นดวงกสิณลำหรับเพ่ง

พอเข้าไปในห้องเรียน อาจารย์มายืนหน้าห้องปั๊ป เพ่งสายตาไปที่ตัวอาจารย์ ส่งจิตไปที่ตัวอาจารย์ จ้องอยู่อย่างไม่ลดละ ในตอนแรกๆ การเพ่งนี่มันสับสนวุ่นวายหน่อย เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อฝึกไปจนคล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว ทีหลังพอเห็นใครต่อใครนอกจากอาจารย์ของตัวเอง มันก็เพ่งเอาเพ่งเอา จ้องเอา จ้องเอา

ทีนี้เวลาอาจารย์มายืนหน้าห้อง ไม่ตั้งใจส่งสายตาและส่งจิตไปอย่างที่เคย แต่มันเป็นโดยอัตโนมัติ บางทีถึงขนาดอาจารย์ตวาดเอาหาว่าไปจ้องท่าน พอเรียนท่านว่า

“ผมฝึกสมาธิโดยเอาตัวของอาจารย์เป็นเป้าหมายของจิตใจและสายตา ผมต้องกราบขออภัยด้วย”

ท่านก็บอกว่า

“ถ้าเธอฝึกสมาธิก็เชิญจ้องฉัน ให้แหลกละเอียดไปฉันก็ไม่ว่า”

ในตอนแรกความรู้สึกและสายตามันไปอยู่ที่ตัวอาจารย์ เพราะภายหลังนี้สายตาอยู่ที่ตัวอาจารย์ ความรู้ทางจิตมันนิ่งมาเตรียมพร้อมอยู่ในตัวของเราเอง มาตอนนี้สิ่งแปลกๆ ที่มันเกิดขึ้น พออาจารย์สอนไป พอท่านพูดจบประโยค จิตของเรามันคาดการณ์ล่วงหน้าว่าต่อไปเขาจะพูดอะไร เวลาไปสอบพออ่านคำถามจบ จิตมันก็วูบวาบลงไป คำตอบมันก็ผุดขึ้นมา เวลาจะไปสอบจริงนี่ นอนกลางคืนนี้มันรู้แล้ว เขาจะออกอะไรมาให้เราสอบ ตั้งแต่วิชาแปลบาลี สัมพันธ์บาลี หลักภาษาบาลีไวยากรณ์นี่รู้ก่อนหมด

พอตื่นเช้ามา ไปเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็เรียกให้ไปซ้อมเสียจนจำได้ พอไปถึงมันออกมาจริงๆ แล้วเวลาไปสอบก็เขียนเอาๆ ระวังว่ามันจะตกหล่นแค่นั้นเอง นี้คือผลที่หลวงพ่อได้ปฏิบัติมาแล้ว มันได้ผลอย่างนี้


เป็นมหาเณร

ทีนี้พอเราไปเรียนแปลธรรมบทอยู่ เรียนบาลีแล้วก็แปลธรรมบท ปกติเขาแปลอย่างน้อย ๑ ปี เขาถึงจะสอบได้ เราแปลปีเดียวสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคได้ ทำไมจึงสอบได้ เพราะมันรู้ข้อสอบล่วงหน้า พอมันรู้แล้วก็ท่องเอาจนได้ไปสอบมันก็ได้ ภายหลังมาปรารภ..เฮ้อ..แบบนี้ไม่มีหนังสือให้เรียนแล้ว

เราก็เรียนเก่งจริงๆ แต่ว่าชะตากรรมมันไม่เข้าข้าง มาเป็นวัณโรค มันกำเริบมากขึ้น ทีนี้มาคิดย้อนหลัง คนเรานี่ จะอยู่ในฐานะอย่างไรก็ตาม ขอให้มีใจเข้มแข็ง กล้าสู้ แม้จะกำเนิดมาจากตระกูลขอทานมันก็เอาดีได้ ถ้าตั้งใจจริง ฐานะของหลวงพ่อนี่มันเทียบเท่ากับเด็กขอทานกลางบ้าน


อุปสรรคในการอุปสมบท
บวชเณรแล้วไม่มีใครบวชพระให้

รายที่ ๑ พระสีหสิทธิโยธา ขอรับเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ แต่เป็นอันต้องล้มเลิกไปเพราะท่านเจ็บไข้ได้ป่วย

รายที่ ๒ มาขอรับเป็นเจ้าภาพบวชพระให้ พอถึงใกล้ๆ วันจะบวช กลับคำบอกว่าไม่พร้อม

รายที่ ๓ มาขอรับเป็นเจ้าภาพ แต่มีเหตุต้องล้มเลิกเพราะสวนทุเรียนเกิดถูกน้ำท่วม เลยเป็นเจ้าภาพไม่ได้

รายที่ ๔ ดร.ประจวบ บุนนาค รมต.กระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น และภริยา (คุณหญิงประชง บุนนาค) เจาะจงขอบวชเณรพุธนี้ พระผู้ใหญ่สั่งเณรรูปอื่นให้ แต่เจ้าภาพไม่ยอม ในที่สุดก็ได้บวชให้เณรพุธเป็นพระโดยสมบูรณ์แบบ

อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ พระอุโบสถวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร อำเภอปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นอุปัชฌาย์ มีพระครูปทุมธรรมธาดา (บุญมั่น มนฺตาสโย) ภายหลังดำรงตำแหน่งพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ฉายามคธว่า “ฐานิโย” และอยู่จำพรรษา (พรรษาที่ ๑-๒ พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖) ณ ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ศึกษาเล่าเรียนด้านปริยัติธรรมและปรนนิบัติเพื่อเป็นการสนองพระเดชพระคุณพระอาจารย์เรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ อุบัติขึ้น จึงได้เดินทางอพยพเป็นการหลบภัยตามคำสั่งของรัฐบาลในสมัยนั้น


เป็นพระที่แท้จริง

รูปภาพ

มาบวชเป็นพระ ก็ขอให้ทำหน้าที่ของพระไม่ขออะไรมาก ขอให้ทำวัตรเช้าเย็น สวดมนต์ นั่งสมาธิให้ได้มากที่สุด ให้สม่ำเสมอ อย่าให้ขาด แค่นี้ก็พอแล้ว

ถ้าเราเป็นพระ แล้วละเว้นข้อปฏิบัติอันนี้ อะไรๆ ก็หมดความหมาย ไม่ต้องไปสนใจกับสิ่งที่ไม่ใช่กิจของพระ เพียงแค่รักษาศีล วินัยสิกขาบท ให้มั่นคงเคร่งครัด อย่าชิงสุกก่อนห่าม และที่สำคัญนั้นก็คือ จริงใจ อดทน และรับผิดชอบ เราก็จะเป็นพระแบบสมบูรณ์และเต็มภูมิแห่งความเป็นพระ


พระอุปัชฌาย์จิตใจท่านอาจหาญ

เมื่อจิตยอมรับรู้สภาพความเป็นจริงก็จะรู้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ ใครจะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม เขาก็จะมีสภาพเป็นไปตามธรรมชาตินั้น เมื่อจิตยอมรับแล้ว ผู้พิจารณารู้ทันแล้ว จะไม่รู้สึกตื่นตกใจ ในเมื่อเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้น ถ้าหากยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่หมดกิเลส เพราะอาศัยความดีที่เรารู้ทันความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็จะไม่หวาดหวั่นต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ก็แสดงว่าผู้นั้นมีใจเป็นพื้นฐานที่มั่นคงด้วยคุณธรรม ถ้าหากมันจะเกิดมีการตายขึ้นมา และยังมีกิเลสอยู่ เพราะเชื่อว่าเราจะต้องมาเกิดใหม่อีก เขาจะมีความภูมิใจขึ้นมาว่า ดีเหมือนกัน ตายไปแล้วจะได้ใช้ชาติ ใช้ภพ ให้มันหมดสิ้นไป ตายไปแล้วจะได้เกิดดีกว่าเก่า

อย่างเช่นพระอุปัชฌายะของหลวงพ่อ อยู่ที่วัดสระปทุม ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (หนู) คู่ของท่านอาจารย์เสาร์ ตอนนั้นเขามาทิ้งระเบิด ท่านไม่ยอมลงไปสู่ที่หลบภัย ท่านก็นั่งอยู่บนกุฏิของท่าน ตำรวจต้องมาอุ้มเอา ท่านก็ถามว่า

“จะเอาฉันไปไหน”

ตำรวจก็บอกว่า “เอาไปหลบภัย”

“ภัยที่ไหน”

ตำรวจบอกว่า “เขาจะมาทิ้งระเบิด”

ท่านบอกว่า “มาทิ้งระเบิด ตายแล้วเกิดใหม่ดีกว่า”

ท่านว่าอย่างนั้น อันนี้คือท่านผู้มีความมั่นใจในคุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมา เพราะฉะนั้น เราทุกคนที่เราหวั่นกลัวสารพัด กลัวต่อเหตุการณ์ของโลก กลัวต่อเหตุการณ์ส่วนตัว กลัวต่อภัยของบ้านเมือง ที่เราต้องกลัวอย่างนั้น เพราะเหตุว่า เรายังมีความดีหรือยังไม่เชื่อมั่นว่ามีความดีพอเพียงที่จะช่วยอุดหนุนวิญญาณของเราให้ไปสู่สุคติได้ เพราะฉะนั้นเราจึงกลัว

หากเรามีความดีพร้อม ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว ไฟนรกก็ไม่น่ากลัว อะไรๆ ก็ไม่น่ากลัวทั้งนั้น ถ้าเรามั่นใจว่า ถ้าเราตายจริง เราไปเกิดเอาใหม่ดีกว่า เหมือนเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อท่านว่า มันก็หมดกลัวกันเท่านั้นเอง


หลวงปู่เสาร์มรณภาพ

(คัดจากหนังสือ ประวัติหลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส)

รูปภาพ
หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส

รูปภาพ
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท


...เมื่อออกพรรษาทุกปี หลวงปู่เสาร์จะพาออกธุดงค์ลงไปทางใต้นครจำปาศักดิ์ หลีผี ปากเซ ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุอีกทุกปี

เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีอยู่วันหนึ่งตอนบ่าย หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งได้บินโฉบไปโฉบมา โฉบเอารังผึ้งซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาใกล้ๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รุมกัดต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลด พวกมันจึงพากันบินหนีไป

ตั้งแต่นั้นมา หลวงปู่เสาร์ก็อาพาธมาโดยตลอด พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้ไปวิเวกทางด้านปากเซ หลี่ผี จำปาศักดิ์ แต่ไปคราวนี้หลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ท่านจึงสั่งให้หลวงปู่บัวพาและคณะศิษย์นำท่านกลับมาที่วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว โดยมาทางเรือ ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ท่านนอนบนแคร่ในเรือประทุน หลวงปู่เสาร์หลับตานิ่งมาตลอด เพราะตอนนั้นท่านกำลังอาพาธหนัก อันเกิดจากผึ้งที่ได้ต่อยท่านตอนที่อยู่จำพรรษาที่วัดดอนธาตุ

เมื่อถึงนครจำปาศักดิ์แล้ว ท่านลืมตาขึ้นพูดว่า

“ถึงแล้วใช่ไหม ให้นำเราไปยังอุโบสถเลย เพราะเราจะไปตายที่นั่น”

หลวงปู่บัวพาจึงได้นำหลวงปู่เสาร์เข้าไปในอุโบสถ แล้วหลวงปู่เสาร์สั่งให้เอาผ้าสังฆาฏิมาใส่ แล้วเตรียมตัวเข้านั่งสมาธิ ท่านกราบพระ ๓ ครั้ง พอกราบครั้งที่ ๓ ท่านนิ่งงันโดยไม่ขยับเขยื้อน

นานเท่านานจนผิดสังเกต หลวงปู่บัวพาและหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เอามือมาแตะที่จมูกท่าน ปรากฏว่าท่านหมดลมหายใจแล้ว ไม่ทราบว่าหลวงปู่เสาร์ท่านมรณภาพไปเวลาใด แต่พอสันนิษฐานได้ว่า ท่านมรณภาพในอิริยาบถนั่งกราบ

ท่านจึงพูดขึ้นกับหมู่คณะ (ซึ่งตอนนั้นมีพระเถระผู้ใหญ่และพระเณรมานั่งดูอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์) ว่า

“หลวงปู่ได้มรณภาพแล้ว”

ข่าวการมรณภาพก็แพร่กระจายไปเรื่อยๆ จนทางบ้านเมือง ญาติโยม พระเณร ชาวนครจำปาศักดิ์ขอทำบุญอยู่ ๓ วัน เพื่อบูชาคุณขององค์หลวงปู่ พอวันที่ ๔ บรรดาพระเถระ ญาติโยมชาวอุบลฯ จึงได้มาอัญเชิญศพขององค์หลวงปู่ไปวัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์เคยอยู่มาก่อน

ปีที่หลวงปู่เสาร์มรณภาพคือปี พ.ศ. ๒๔๘๔ (วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ อายุ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน)

ออกพรรษาแล้ว ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้จัดพิธีถวายเพลิงศพของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ในงานนี้ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาเป็นประธาน แต่ผู้ดำเนินงานคือพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ในวันถวายเพลิงศพ นอกจากศพของหลวงปู่เสาร์แล้ว ยังมีพระเถระผู้ใหญ่อีก ๓ รูป ที่มีการฌาปนกิจในวันเดียวกันคือ

๑. ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)
๒. พระมหารัฐ รฏฺฐปาโล
๓. พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร)

รวมเป็น ๔ กับองค์หลวงปู่เสาร์ วันเช่นนี้นี่จึงเป็นวันที่มีการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี


หลวงปู่มั่นเทศน์งานศพหลวงปู่เสาร์

จำได้ว่างานศพหลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่ง อยู่วัดสระปทุม ใครต่อใครเขาก็ไปกัน แต่พระอุปัชฌาย์ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง

...เจ้าคุณปัญญาพิศาลเถรกับหลวงปู่เสาร์นี่ท่านให้คำมั่นสัญญากัน ถ้าใครตายก่อนให้ไปทำศพ หลวงปู่เสาร์ตายก่อนจึงทำที่วัดบูรพา

และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพลงแล้วก็ได้ฌาปนกิจคือ ถวายพระเพลิงเผาศพของท่านอาจารย์เสาร์ ในงานนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ไปร่วมในงานด้วยในฐานะที่ท่านก็เป็นอันเตวาสิกของท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งอยู่ในระดับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง

ในขณะที่ท่านแสดงธรรม ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมว่า “เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราพระอาจารย์มั่น จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น

ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้ อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคืออาจารย์มั่นตายไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้”

ท่านเทศน์ไว้อย่างนี้จำไว้นะ ไม่ทราบว่าสหธรรมิกซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นจะจำได้หรือเปล่า ถ้าหากจำได้ก็ขออภัยด้วย ถ้าหากจำไม่ได้ก็ลองเอาไปคิดเป็นการบ้านดูซิว่า ปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น ท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเราควรจะดำเนินตามแนวทางของท่านอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น

ท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่า สมัยที่ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์ยังอยู่ บางสิ่งบางอย่างที่เราอนุโลมตามความต้องการของชาวโลกแทบจะไม่ปรากฏ แม้แต่การทำบุญมหาชาติ การจัดงานวัดมีมหรสพต่างๆ เราไม่เคยมี มาสมัยปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ก็เป็นนักธุรกิจไปกันเสียไม่ได้หยุดจากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือไปเที่ยวโปรดญาติโยม

แต่ไม่แน่นักว่าไปเที่ยวให้ญาติโยมโปรด หรือไปโปรดญาติโยมกันแน่ก็ไม่ทราบ อันนี้ก็คือของฝากให้ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ได้นำไปพิจารณาเป็นการบ้าน


ป่วยเป็นวัณโรค

พรรษาที่ ๓-๕ (พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๙) จำพรรษาที่วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงพ่อเริ่มป่วยเป็นวัณโรคก็ท้อใจ นอนไม่หลับ ๗ วัน ๗ คืน หลวงปู่ฝั้นท่านชวนไปนั่งฟังเทศน์ก็ปฏิเสธบอกว่าง่วงนอน

“นอนฟังได้ไหมหลวงปู่”

พอบอกว่าได้ เราก็ได้ใจ นอนฟัง ไม่รู้ว่าท่านหนีไปแต่เมื่อไร ตื่นอีกที ๘ โมงเช้า ทีนี้พอปฏิบัติได้แล้ว ได้สมาธิ รู้บางสิ่งบางอย่างมันก็ภูมิใจการปฏิบัติ สมาธิมันเป็นเรื่องของจิตของใจ เราตั้งสมาธิรู้จิตรู้ใจคือการปฏิบัติสมาธิ ที่นี่คนที่เขาแข็งแรงเขาเดินจงกรมได้ เขานั่งสมาธิได้ เรามัวแต่นอนสมาธิอย่างเดียว เดินก็ไม่ไหว นอนกำหนดรู้จิต บางทีเรารำคาญ เราก็สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร พอสวดไปสวดมามันหลับ ทีนี้พอมันหลับ จิตมันหลับที่ตรงไหน จิตก็ท่องอยู่กับประโยคสุดท้ายนั่นแหละ พอตื่นขึ้นมาก็สวดต่อ

บางทีก็จะคิดอยากตายท่าเดียว ไปๆ มาๆ จิตมันนึกขึ้นมาว่า ก่อนจะตายเราควรจะได้รู้ก่อนว่าความตายมันคืออะไรกันแน่ ก็พยายามเร่งฝึกสมาธิหามมืดหามค่ำ ในที่สุดมันก็รู้เห็นความตาย


หัดตายเมื่ออายุ ๒๒ ปี

หลวงพ่อป่วยเป็นวัณโรคที่เมืองอุบลฯ เมื่ออายุ ๒๒ ปี ภาวนาลูกเดียว ภาวนาจนกระทั่งตัวหาย พอตัวหายบ่อยๆ ใจมันก็ทะนงขึ้นมา โรคภัยไข้เจ็บมันเป็นที่กาย มันไม่ได้เป็นที่ใจ ภายหลังมา ถ้ามันหงุดหงิดรำคาญเพราะความเจ็บป่วย ใจมันมักจะนึกว่า ฉันไม่ได้จ้างแกมาเกิด ไม่ได้จ้างแกมาตาย อยากตายก็เชิญเลย มันท้าทายอย่างนี้ มันก็สบาย บางทีก็ลองตายเล่นๆ ลองดู

วิธีตายเล่นๆ นี้ทำยังไง

ภาวนาจนกระทั่งจิตมันสงบ ร่างกายตัวตนหายไปหมด เหลือแต่จิตดวงเดียวสว่างไสวอยู่ อันนี้เขาเรียกว่าตายเล่นหรือหัดตายก่อนที่เราจะตายจริง

เมื่อเราตายมันก็มีลักษณะอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าสมาธิ มันไม่สัมพันธ์กับร่างกาย มันแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก นั่นคือตาย แต่ในช่วงนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเราตาย คนเราทุกคนตายไม่รู้ตัวว่าตัวตาย ฉะนั้นบางคนไม่รู้ว่าตัวตาย ยังไม่ได้ไปไหน บุญบาปยังไม่ให้ผล จึงไปเที่ยวเคาะประตูบ้าน ก๊อกๆ แก๊กๆ อยู่นั่น เขาถือว่าเขาเป็นคนอยู่

คนตายธรรมดา พอวิญญาณออกจากร่าง มีตัวตนเดินออกหนีไป ถ้าอยู่ในสมาธิละเอียด มีแต่จิตวิญญาณลอยออกไปเป็นดวงสว่าง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิคือการหัดตายเอาไว้ก่อนที่เราจะตายจริง

การพักผ่อนในสมาธิมีคุณค่ากว่าการนอนหลับธรรมดา เมื่อก่อนนี้อยู่กับหลวงปู่เสาร์ ท่านนอนดึ้ก..ดึก แต่เสร็จแล้วเรานอนก่อนท่าน ท่านตื่นก่อนเราทุกที

ถาม หลวงปู่นอนวันละกี่ชั่วโมง

บางทีชั่วโมงเดียว บางทีก็ ๒ ชั่วโมง บางที ๓ ชั่วโมง แต่ไม่เคยเกิน ๓ ชั่วโมง

เรียนถามท่านว่า อยู่ได้ยังไง

ท่านตอบว่า อยู่ได้ เพราะท่านเข้าสมาธิ


หลวงปู่ฝั้นสอนให้พิจารณาอริยสัจ

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


ตอนหลวงพ่อป่วยเป็นวัณโรค หลวงปู่ฝั้นท่านว่า

“เจ้าไปนั่งภาวนา โน่นก็ทุกข์ นี่ก็ทุกข์ เจ้าเขียนเสือหลอกตัวเอง ให้เจ้าไปนอนดูทุกข์ จนกระทั่งมันรู้ความจริง”

ตอนที่อยู่ที่วัดบูรพานี่ หลวงพ่อหลอกเอายาเมดินาลจากยายไหว ขอวันละ ๒ เม็ดๆ ๆ เอามาสะสมไว้ได้ตั้งกำมือหนึ่ง วันนั้นมันเกิดหงุดหงิดขึ้นมา จะกินยาเมดินาลให้มันหลับไป มือหนึ่งถือแก้วน้ำ มือหนึ่งถือยา ทีนี้พอตั้งใจจะเอาจริง แทนที่มุ่งมั่นจะขึ้นมาข้างบน มันกลับอ่อนลง น้ำก็หก ยาก็หก แล้วความรู้มันเกิดขึ้นมาว่า ก่อนที่ท่านจะตาย ท่านรู้หรือยังว่าความตายคืออะไร จิตมันบอกอย่างนี้


ดูสิ่งที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน อย่าไปไขว่คว้าอะไร

หลวงพ่อป่วยเป็นวัณโรค หลวงปู่ฝั้นท่านสอนว่าอย่างนี้

ทุกขํ อริยสจฺจํ ทุกข์มันปรากฏแก่เธออยู่ทุกลมหายใจ เธอไม่ต้องไปคิดพิจารณาอะไรมันหรอก ให้กำหนดสติรู้สิ่งที่มันมีอยู่ในกายในใจ เวลานี้ปอดของเธอเป็นวัณโรค มันเป็นจุดเกิดของทุกข์ จิตของเธอไปยึดอยู่ที่ปอด เพราะเธอป่วยที่ปอด แต่ความทุกข์มันจะเกิดที่จิต ความเจ็บปวดเกิดที่กาย แต่จิตไปรับรู้ มันก็เลยกลายเป็นความปวดความเจ็บป่วย เพราะฉะนั้น ให้ดูสิ่งที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน อย่าไปไขว่คว้าอะไร

(หลังจากนั้นประมาณปีเศษ หลวงพ่อจึงนิมิตเห็นความตาย)


วัณโรคหาย

ในที่สุดวัณโรคมันก็หาย แต่เวลามันจะหายจริงๆ นี้ มันก็มาอาศัยสมาธิของเรานี้แหละ ที่เราปฏิบัติกันอยู่ คือว่าอยู่มาวันหนึ่ง จิตมันก็นึกขึ้นมาว่า เราป่วยเป็นวัณโรคนี้ ไหนๆ เราก็จะตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนจะตาย เราควรจะรู้ก่อนว่า ความตายคืออะไร

วันนั้นตั้งใจนั่งสมาธิดูความตายตั้งแต่ ๓ ทุ่ม จนกระทั่งถึงตี ๓

การปฏิบัติด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากมี อยากเป็น กิเลสมันไปปิดบัง เราปฏิบัติด้วยความอยาก แม้แต่จิตสงบมันก็ไม่มี เมื่อจิตไม่สงบ มันก็ไม่รู้เห็นความตาย จนกระทั่งถึงตี ๓ รู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยพอสมควร พอเรามาคิดว่า โอ๊ย ! วันนี้ไม่ไหวแล้ว ก็ไปยึดลมหายใจไม่ลดละ มันตามลมออกตามลมเข้าอยู่อย่างนั้น จิตมันก็รู้เฉยอยู่ตามธรรมชาติของมัน ลมหายใจก็หายใจอยู่ตามธรรมชาติ

มันมองเห็นลมวิ่งออก วิ่งเข้าเป็นท่อยาวเกลียวเหมือนหลอดไฟนีออน มันวิ่งตั้งแต่ปลายจมูกลงมาถึงสะดือ มันวิ่งอยู่อย่างนี้ บางทีมันก็วิ่งออกข้างนอก แล้วก็วิ่งเข้ามาข้างในสลับกัน แล้วในที่สุด พอมันออกข้างนอก มันก็หมุนเป็นเกลียวสว่านขึ้นไปเบื้องบน ความสว่างไสวมันก็เกิดขึ้น พอไปถึงเบื้องบนแล้วมันก็ย้อนกลับมา คล้ายๆ กับว่ามันจะไปข้างหน้า มันก็ห่วงหลัง จะอยู่หลังก็อยากไปข้างหน้า มันย้อนขึ้นย้อนลงอยู่อย่างนั้น ในที่สุดมันก็ตัดสายสัมพันธ์ขาดไป แล้วหมุนเป็นเกลียวขึ้นไป แล้วสายสัมพันธ์นี้มันขาด


มรณนิมิต

พอขาดปั๊บร่างกายหายหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวนิ่งสว่างไสวอยู่ คล้ายๆ กับว่าในจักรวาลนี้มีแต่จิตของเราดวงเดียวเท่านั้นสว่างอยู่

สักพักหนึ่งมันก็ย้อนลงมามองดูร่างกายที่นอนอยู่ มองลงมาทีแรกมองเห็นสบง จีวร ห่อหุ้มอยู่อย่างดี

เอ้า ! ลำดับต่อไปจีวร สบง หายหมด มีแต่ร่างกายเปลือยเปล่า ยังเหลือแต่ชุดวันเกิด

ในลำดับต่อไป ร่างกายมันก็ขึ้นอืด ตีนกาง มือกาง น้ำเหลืองไหล

ลงผลสุดท้ายเนื้อหนังพังไปทีละชิ้นสองชิ้น จนกระทั่งยังเหลือแต่โครงกระดูก

แล้วในที่สุดโครงกระดูกที่เป็นโครงสร้างมันก็ทรุดฮวบลงไป

ในลำดับต่อไปชิ้นกระดูกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่

แล้วในที่สุดมันก็แหลกละเอียดมันเหมือนกับขี้เถ้าโปรยอยู่ในดินทราย

แล้วในขณะจิตนั้นมันก็หายจมลงไปในผืนแผ่นดิน แล้วก็เกิดความว่างขึ้นมาอีก

สักพักหนึ่งผืนแผ่นดินก็ปรากฏขึ้นมาอีก กระดูกที่มันหายจมไปในผืนแผ่นดิน มันก็โผล่ขึ้นมา มองๆ ดูแล้วมันยุบยิบเหมือนหนอนบ่อน

พอมันโผล่ขึ้นมาเต็มที่แล้ว มันก็เกาะกันเป็นก้อนเป็นท่อน ก้อนเล็กก้อนน้อย แล้วก็จับกันเป็นแท่งกระดูกโดยสมบูรณ์

แล้วพอมันประสานกันเป็นโครงสร้าง คือตอนที่มันวิ่งมาประสานกันนี้ กะโหลกศีรษะกระโดดมาปุ๊บ กระดูกคอ กระดูกสันหลังวิ่งเข้ามาต่อ กระดูกซี่โครงก็วิ่งเข้ามาประสาน

กระดูกแข้งกระดูกขา กระดูกมือกระโดดเข้าไปประจำที่ของใครของเรา แล้วก็ประสานกันเป็นโครงสร้างเสร็จ เนื้อมันเริ่มงอก มันเริ่มงอกระหว่างข้อต่อของกระดูกงอกลามไปทั่วจนกระทั่งมันมีเนื้อเต็มสมบูรณ์ เต็มที่

แล้วเนื้อเป็นสีแดงที่เรามองเห็นเหมือนกับลอกหนังหมู มันค่อยๆ แห้งกร้านเข้าไป กร้านเข้าไป เปลี่ยนจากแดงเป็นสีเหลือง จากเหลืองเป็นสีขาวแล้วก็เป็นผิวอย่างธรรมดา ผม ขน เล็บ มันก็บังเกิดขึ้นสมบูรณ์แบบ

แล้วมันก็ย้อนกลับไปกลับมาอย่างนั้น จำได้ว่ามันเป็นอยู่ถึง ๓ ครั้ง

ทีนี้พอมันจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมานี้ ความสว่างที่มันลอยเด่นมันไหลตัวแพ๊บ แล้วทรุดลงมาปะทะหน้าอกรู้สึกแผ่วๆ เหมือนอะไรมาสัมผัสแผ่วๆ แล้วหลังจากนั้นความรู้สึกในทางกายนี้มันซู่ซ่า วิ่งไปตามเส้นสาย มันเหมือนกับฉีดยาแคลเซียมเข้าเส้น ทีนี้จิตมันก็กำหนดรู้ของมันเองโดยธรรมชาติ ความตั้งใจอะไรต่างๆ ในขณะนั้นมันไม่มี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเองหมด

ทีนี้พอมันหยุดซู่ซ่าแล้ว จิตมันก็มีคำถามขึ้นมาว่า นี่หรือคือความตาย คำตอบก็ผุดขึ้นมารับว่า ใช่แล้ว พอหลังจากนั้นมันก็อธิบาย ฉอดๆ ๆ ๆ ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูล เน่าเปื่อยโสโครก ยังเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกมันก็ทรุดลงไป แหลกละเอียดหายจมลงไปในผืนแผ่นดิน เพราะว่าร่างกายเรานี้มันก็คือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่มันก็เป็นรูปเป็นร่าง เดินเหินไปมาได้ ทำอะไรได้ เมื่อมันตายลงไปแล้วมันก็กลับไปสู่ที่เก่าของมันคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขามีที่ไหน


เอ๊ะ ! นอนอยู่นิ่งๆ ไม่เห็นหายใจ
ชักสงสัยใหญ่ว่านี้ตายแล้วหรือยัง

แล้วทีนี้ก็ยังนึกสงสัยอยู่ว่า เอ๊ ! เราจะตายจริงหรือเปล่า ยกมือสองข้างมาคลำดูหน้าอก อ้อ ! ยังอยู่ ค่อยๆ ลืมตาขึ้นมา มองดูนาฬิกา ๒ โมงเช้า ทีนี้พอเดินออกจากห้อง เมื่อก่อนนี้หลวงพ่อจำวัดนี่ไม่ปิดประตูหน้าต่างทั้งนั้นแหละ เปิดโล่งเอาไว้

ทีนี้พอเสร็จแล้ว พอเดินออกมา โยมอุปัฏฐากที่ไปส่งจังหันตอนเช้า ยายแม่ชีพวงพอเห็น แกเห็นเดินออกมา พอเรามานั่ง แกเดินขึ้นมา

ว้าย ! ถ้าหากว่า ๒ โมง เลย ๒ โมงไปแล้วไม่ตื่นนี้ ดึงขาแน่ๆ แกว่า

นี่ยังสงสัยอยู่ว่า เอ๊ ! ไปแล้วหรือยัง หรือยังอยู่

บางทีแกบอกว่า แกไปสังเกต สังเกตดู คนเราถ้านอนหงายอย่างนี้ หายใจ มันจะต้องมองเห็นที่มันพองขึ้น แล้วก็ต้องยุบลง แล้วก็มองเห็น แต่นี่แกบอกว่า

เอ๊ะ ! นอนอยู่นิ่งๆ ไม่เห็นหายใจ ชักสงสัยใหญ่ว่า นี่ ตายแล้วหรือยัง ถ้า ๒ โมงไม่ตื่นขึ้นมาแล้ว กระชากขาแน่ๆ

แกว่า

พอหลังจากนั้นมา ไอ้ความเจ็บป่วยมันก็หายวันหายคืน ความเหน็ดเหนื่อย หรือความอะไรต่างๆ ที่เคยเป็นอยู่ มันหายยังกับปลิดทิ้ง จนกระทั่งหายมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ วัณโรคไม่กลับมาเยี่ยมอีกเลย


วิธีใช้พลังจิตพิชิตโรคภัยไข้เจ็บ

เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายที่มาฝึกสมาธิภาวนานั้น แม้ว่าจิตจะยังไม่สงบเป็นสมาธิเท่าที่ควรก็ตาม เมื่อท่านจะใช้พลังจิตรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าท่านจะรักษาตัวเอง ให้อธิษฐานจิต นึกถึงบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดลบันดาลให้โรคภัยไข้เจ็บของข้าพเจ้าหาย แล้วกำหนดสติรู้ลมหายใจเฉย อย่าไปนึกคิดอะไรทั้งสิ้น เอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ดูลมหายใจเฉยอยู่เท่านั้น

ทีนี้ธรรมชาติของจิตเขามีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก เขาจะเพิ่มพลังงานขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว ถึงแม้ไม่สงบวูบวาบ แต่เขาก็มีพลังงาน ในเมื่อจิตมันเกิดความว่างขึ้นมา คือว่ามันอยู่เฉยๆ แต่ยังไม่ใช่สมาธิ เพียงแต่ว่างได้ มันก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เมื่อเราทำจิตให้ว่างได้ มันจะมีสารตัวหนึ่งอยู่ใต้ต่อมสมอง มันจะกระจายออกมาทำงานของมัน ทำให้กายเบา กายสงบ จิตสงบ เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและเป็นประโยชน์ทางจิตด้วย ถ้าหากว่าจิตของเราสงบเป็นสมาธิอย่างแท้จริง มันมีประโยชน์ทั้งทางกายและทางจิต

อันนี้คือวิธีการใช้พลังจิตรักษาโรค อาศัยลมหายใจเป็นสื่อ โดยอธิษฐานจิต นึกถึงบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะช่วยคนอื่น อย่างเราไปเยี่ยมคนไข้ เราอาจจะบอกคนไข้ว่า เอานะฉันจะช่วยรักษาให้ ให้คุณหาย แล้วเรากำหนดสำรวมจิต อธิษฐานถึงบารมีของพระพุทธเจ้า ขอบารมีของพระพุทธเจ้าจงช่วยดลบันดาลให้โรคภัยไข้เจ็บของคนนี้หายไป แล้วเรากำหนดจิตเพ่งที่กายเขา แผ่เมตตาให้เขาเท่านั้นเอง ยิ่งใครมีพลังจิต มีพลังสมาธิมากเท่าไร ยิ่งทำได้ผลดี


ได้ร่วมจำพรรษากับพระอาจารย์ฝั้น

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


สาเหตุที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) มีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเพราะในปีนั้น สมเด็จฯ อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรค ในทางธรรมปฏิบัติ สมเด็จฯ ได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ให้อธิบายธรรมเป็นองค์แรก เมื่อพระอาจารย์สิงห์อธิบายจบลงแล้ว สมเด็จฯ จึงให้พระอาจารย์ทอง อโกโส เจ้าอาวาสวัดบูรพา อธิบายอีก


พระอาจารย์ฝั้นแสดงธรรมให้สมเด็จฯ ฟัง

จากนั้นจึงหันมาทางพระอาจารย์ฝั้น ให้อธิบายธรรมให้ฟังอีกเป็นองค์สุดท้าย พระอาจารย์ฝั้นจึงได้อธิบายธรรมถวายโดยมีอรรถดังนี้

“ให้ท่านทำจิตเป็นสมาธิ ยกไวยกรณ์ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ยกอันนี้ไว้เสียก่อน ทำจิตให้เป็นสมาธิ เราต้องตั้งสมาธิให้ได้ ภาวนากำหนดจิตให้เป็นสมาธิ พอตั้งเป็นสมาธิดีแล้ว ให้เป็นหลัก เปรียบเหมือนเราจะนับตั้งร้อยตั้งพัน ก็ต้องตั้งหนึ่งเสียก่อน ถ้าเราไม่ตั้งหนึ่งเสียก่อน ก็ไปไม่ได้ ฉันใด จิตของเราจะรู้ได้ เราก็ตั้งจิตของเราเป็นสมาธิเสียก่อน เปรียบเหมือน นัยหนึ่งคือเสมือนเราจะปลูกต้นไม้ พอปลูกลงแล้ว ก็มีคนเขาว่า ปลูกตรงนั้นมันจะงามดี ก็ถอนไปปลูกตรงนั้น และก็มีคนเขามาบอกอีกว่า ตรงโน้นดีกว่า ก็ถอนไปปลูกตรงโน้นอีก ทำอย่างนี้ ผลที่สุดต้นไม้ก็ตายทิ้งเสียเปล่าๆ ไม่ได้อะไรเสียอย่าง ฉันใด เราจะทำจะปลูกอะไร ก็ฝังให้มันแน่น ไม่ต้องถอนไปไหน มันเกิดขึ้นเอง นี้แหละสมาธิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ หรืออีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนเราจะขุดน้ำบ่อ ต้องการน้ำในพื้นดิน เราก็ขุดลงไปแห่งเดียวเท่านั้น พอเราขุดไปได้หน่อยเดียว ได้น้ำสัก ๒-๓ บาตรแล้ว มีคนเขาบอกว่าที่นั่นมันตื้น เราก็ย้ายไปขุดที่อื่นอีก พอคนอื่นเขาบอกว่า ตรงนั้นไม่ดี ตรงนี้ไม่ดี ก็ย้ายไป ย้ายมา ผลที่สุดก็ไม่ได้กินน้ำ ใครจะว่าก็ช่างเขา ขุดมันแห่งเดียวคงถึงน้ำ ฉันใด เปรียบเหมือนสมาธิของเรา ต้องตั้งไว้แห่งเดียวเท่านั้น เมื่อเราตั้งไว้แห่งเดียว ไม่ต้องไปอื่นไกล ไม่ต้องส่งไปข้างหน้า ข้างหลัง ไม่ต้องคิดถึงอดีต อนาคต กำหนดจิตให้สงบอันเดียวเท่านั้น

ขอให้ท่านทำสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบ ให้พิจารณาแยกธาตุ แยกขันธ์และอายตนะออกเป็นส่วนๆ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้เห็นความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้นตามหน้าที่ของมัน ให้แยกกายออกจากจิต แยกจิตออกจากกาย ให้ยึดเอาตัวจิต คือผู้รู้เป็นหลัก พร้อมด้วยสติ ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้พิจารณาให้อยู่ในสภาพของมันเองแต่ละอย่าง เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่า ธาตุทั้ง ๔ ต่างเจ็บไม่เป็น ป่วยไม่เป็น แดดจะออก ฝนจะตก ก็อยู่ในสภาพของมันเอง ในตัวคนเราก็ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้รวมกัน การที่มีความเจ็บปวดป่วยไข้อยู่นั้น ก็เนื่องมาจากตัวผู้รู้ คือจิต เข้ายึดด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของเขาของเรา เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ตัวผู้รู้คือจิตเท่านั้นที่ไปยึดเอามาว่าเจ็บ ว่าปวด ว่าร้อน ว่าเย็น หรือหนาว ฯลฯ ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นไม่ได้เป็นอะไรเลย ดินก็คงเป็นดิน น้ำก็คงเป็นน้ำ ไม่มีส่วนรู้เห็นในความเจ็บปวดใดๆ ด้วย เมื่อทำจิตให้สงบและพิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายและวางจากอุปาทาน คือเว้นการยึดถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น เมื่อละได้เช่นนี้ ความเจ็บปวดต่างๆ ตลอดจนความตายย่อมไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น หากทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว โรคต่างๆ ก็จะทุเลาหายไปเอง”

เมื่อพระอาจารย์ฝั้นอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์จบแล้ว สมเด็จฯ ได้พูดขึ้นว่า “เออ ! เข้าทีดี” แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า “ในพรรษานี้ ฉันจะอยู่ได้รอดตลอดพรรษาหรือไม่” พระอาจารย์ฝั้นก็เรียนตอบไปว่า “ถ้าพระเดชพระคุณทำจิตให้สงบได้ดังที่อธิบายถวายมาแล้ว ก็รับรองว่าอยู่ได้ตลอดพรรษาแน่นอน”

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาอยู่กับท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังกล่าวแล้ว โดยพระอาจารย์ฝั้นได้เลือกเอาวัดบูรพาเป็นที่จำพรรษา เพราะวัดนี้อยู่ฝั่งเดียวกันกับวัดสุปัฏน์ที่สมเด็จฯ พำนักอยู่ การไปมาสะดวกกว่าวัดป่าแสนสำราญ ซึ่งอยู่ทางฝั่งอำเภอวารินชำราบ

วัดบูรพาที่ท่านเลือกพัก มีเขตเป็นสองตอน ตอนหนึ่งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม อีกตอนหนึ่งเป็นป่า มีกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ ๕-๖ หลัง สำหรับพระเณรอาศัยปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ พระอาจารย์ฝั้นได้เลือกเอาด้านที่เป็นป่า เป็นที่พักตลอดพรรษานั้น และได้หมั่นไปอธิบายธรรมปฏิบัติถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดสุปัฏน์เกือบทุกวัน และด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรมนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็หายวันหายคืน ทั้งอยู่ได้ตลอดพรรษาและล่วงเลยต่อมาอีกหลายปี


สมเด็จฯ ชมพระกรรมฐาน

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้ออกปากยอมรับในความจริงและชมว่า พระคณะกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีจริง ทั้งยังทำได้ดังพูดจริงๆ อีกด้วย สมควรที่พระมหาเปรียญทั้งหลายจะถือเอาเป็นตัวอย่างปฏิบัติต่อไป ท่านได้กล่าวต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า

“ฉันเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระบวชเณรมาจนนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยนึกสนใจใน ตจปัญจกกัมมัฏฐานเหล่านี้เลย เพิ่งจะมารู้ซึ้งในพรรษานี้เอง”

พูดแล้วท่านก็นับ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า

“นี่เป็นธาตุดิน นี่เป็นธาตุน้ำ นี่เป็นธาตุลม นี่เป็นธาตุไฟใช่ไหม?”

พระอาจารย์ฝั้นก็รับว่าใช่ จากนั้นท่านก็ปรารภขึ้นว่า ตัวท่านเองเปรียบเหมือนผู้บวชใหม่ เพิ่งจะมาเรียนรู้ เกสา โลมา ฯลฯ ความรู้ในด้านมหาเปรียญ ที่เล่าเรียนมามากนั้น ไม่ยังประโยชน์และความหมายต่อชีวิตท่านเลย ยศฐาสมณศักดิ์ ก็แก้ทุกข์ท่านไม่ได้ ช่วยท่านไม่ได้ พระอาจารย์ฝั้นให้ธรรมปฏิบัติในพรรษานี้ได้ผลคุ้มค่า ทำให้ท่านรู้จักกัมมัฏฐานดีขึ้น

ในพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ นั้น พระอาจารย์ฝั้นเกือบไม่มีเวลาเป็นของตัวท่านเองเลย ทั้งนี้เพราะท่านได้ทำหน้าที่อุปัฏฐากพร้อมกันถึง ๒ อาจารย์ กล่าวคือ นอกจากกลางคืนจะต้องเข้าถวายธรรมแก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่วัดสุปัฏน์ จากหัวค่ำไปจนถึงเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม บางครั้งก็ถึง ๖ ทุ่ม จึงได้กลับวัดบูรพา แล้วพอเช้าขึ้น ท่านก็ออกบิณฑบาตไปเรื่อยๆ แล้วข้ามแม่น้ำมูลไปทางฝั่งอำเภอวารินชำราบ ไปฉันเช้าที่วัดป่าแสนสำราญ ฉันเสร็จก็ประกอบยารักษาโรค ถวายพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งปีนั้นกำลังอาพาธด้วยโรคปอด อยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่างๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒


สงครามโลกครั้งที่ ๒

(คัดจากหนังสึอ ชีวประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร)

เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่าบันทึกไว้เป็นพิเศษในที่นี้ด้วยว่า การหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของพระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นที่จดจำและประทับใจในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและบรรดาพุทธบริษัทจำนวนมากในจังหวัดอุบลราชธานีมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ปีนั้นอยู่ในราวกลางพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ จังหวัดอุบลราชธานี กลาดเกลื่อนไปด้วยทหารญี่ปุ่นซึ่งเข้าไปตั้งมั่นอยู่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องจดจ้องทำลายล้าง โดยส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์อยู่เสมอ ชาวบ้านร้านถิ่นจึงพากันอพยพหลบภัยออกไปอยู่ตามรอบนอก หรืออำเภอชั้นนอกที่ปลอดจากทหารญี่ปุ่น ในตัวเมืองอุบลฯ จึงเงียบเหงาลงถนัด จะหลงเหลืออยู่ก็เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นไม่อาจโยกย้ายหรืออพยพเท่านั้น ตกกลางคืน คนเหล่านี้จะนอนตาไม่หลับลงง่ายๆ ต้องคอยหลบภัยทางอากาศกันอยู่เสมอ ปกติเครื่องบินฝ่ายพันธมิตรจะมาทิ้งระเบิดในราวอาทิตย์ละ ๒ หรือ ๓ ครั้ง

ถ้าวันไหนเครื่องบินจะล่วงล้ำเข้ามาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้นจะบอกล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายรู้ก่อนอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง เช่นในตอนเย็น ขณะพระเณรซึ่งเป็นศิษย์ กำลังจัดน้ำฉันน้ำใช้ถวายอยู่นั้น ท่านจะเตือนขึ้นว่า ให้ทุกองค์รีบทำกิจให้เสร็จไปโดยเร็ว แล้วเตรียมหลบภัยกันให้ดี คืนนี้เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิดอีกแล้ว ภิกษุสามเณรทั้งหลายก็รีบทำตามที่ท่านสั่ง พอตกกลางคืน ก็มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดจริงๆ

บางครั้งในตอนกลางวันแท้ๆ ท่านบอกลูกศิษย์ลูกหาว่า เครื่องบินมาแล้ว รีบทำอะไรให้เสร็จๆ แล้วรีบไปหลบภัยกันเสีย ทุกองค์ต่างมองตากันด้วยความงุนงง แต่อีกไม่นานนัก ก็มีเครื่องบินเข้ามาจริงๆ ชาวบ้านหอบลูกจูงหลานเข้าไปหลบภัยอยู่ในบริเวณวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้นก็ลงจากกุฏิไปเตือนให้อยู่ในความสงบ และให้ภาวนา “พุทโธ พุทโธ” ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จฤดูกาลกฐินแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ได้เข้านมัสการลาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดสุปัฏนาราม ขอเดินทางไปสกลนคร อันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่าน เพื่อบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศแด่บุพการี คือโยมบิดามารดา สมเด็จฯ ก็อนุญาต จากนั้นท่านได้ไปนมัสการลาพระอาจารย์สิงห์ กับพระอาจารย์มหาปิ่นที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ แล้วไปลาญาติโยมพุทธบริษัท เสร็จแล้วท่านพร้อมด้วยพระภิกษุรูปหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่ง กับเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง ได้ออกเดินทางจากอุบลราชธานี มุ่งหน้าไปสกลนคร

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนมาก รถยนต์โดยสารต้องใช้ถ่านแทน และมีวิ่งน้อยคัน พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์ นั่งรถโดยสารซึ่งใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ออกจากอุบลราชธานีตั้งแต่เช้า ไปถึงอำเภอมุกดาหารจังหวัดนครพนม เมื่อเวลา ๓ ทุ่มเศษ แล้วไปขอพักค้างคืนที่วัดศรีมงคล เช้ารุ่งขึ้นได้โดยสารรถคันเดิมไปพักค้างคืนที่วัดป่าเกาะแก้ว อำเภอธาตุพนม ซึ่งที่นั่นพระอาจารย์ฝั้นได้พาคณะของท่านไปกราบนมัสการพระธาตุพนมด้วย แล้วได้กล่าวแก่พระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์ว่า ใครผู้ใดเดินทางผ่านมาถึงแล้วไม่แวะนมัสการองค์พระธาตุพนม คนๆ นั้นนับว่าบาปหนา มีกรรมปกปิดจนไม่สามารถจะมองเห็นปูชนียสถานอันสำคัญ ท่านเล่าด้วยว่า ก่อนโน้น บริเวณพระธาตุพนมเต็มไปด้วยป่ารกรุงรัง องค์พระธาตุก็เต็มไปด้วยเถาวัลย์ปกคลุม พระอาจารย์เสาร์กับพระอาจารย์มั่น สมัยยังหนุ่มแน่นเมื่อเที่ยวธุดงค์ถึงที่นั่นก็มักจะนำญาติโยมไปรื้อเถาวัลย์ออก และถางป่ารอบๆ บริเวณจนสะอาด


เพ่งกสิณ

หลวงพ่อก็ไปเพ่งต้นมะพร้าวให้มันหัก เพ่งกิ่งพะยอมนั่นมันหัก ก็ในขณะที่เพ่งดูนี้ เราก็ไม่ได้ใช้พลังจิตอะไรทั้งนั้นแหละ เพียงแต่นึกว่าต้นมะพร้าวต้นนี้น่ะ มันบังหน้าจั่วศาลา มองไม่เห็นเทพพนม เทวดาช่วยตัดออกให้ด้วย พอเสร็จแล้ว โอ้ย ! มันจะหักทับหัว ก็เดินหนีไป พอไปพ้น พอเดินไปห่างจากที่ยืนอยู่นี้ ประมาณสัก ๒ วาเศษๆ ต้นมะพร้าวมันก็หักลงมาทับ ตรงทะลายมัน ทะลายผลมะพร้าวทับตรงที่ยืน รอยเท้ายืนพอดี

ครั้งที่ ๒ ยายพวงไปได้กลด ซึ่งเป็นมรดกของหลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) วัดทุ่งศรีเมืองมา ก็เอามาให้ ทีนี้เราก็ชื่นชมยินดีกับมรดกของครูบาอาจารย์ ก็เอากลดไปห้อยกิ่งพะยอม ไปนั่งสมาธิอยู่ นั่งอยู่ได้ประมาณชั่วโมงเศษๆ พอเลิกนั่งสมาธิ มองดูกลด โอ้ย ! กิ่งพะยอมมันจะหัก ก็หุบเอากลดแล้วก็เดินขึ้นบนกุฏิ ซึ่งมันอยู่ห่างกันประมาณ ๔-๕ วา พอไปเหยียบบันไดขั้นแรก กิ่งพะยอมก็หักโครมลงมา

หลวงปู่ฝั้นท่านตำหนิ ท่านว่า “พระอะไรไปเที่ยวหาหักกิ่งไม้”

“เอ้า นึกเฉยๆ มันจะเป็นอาบัติอยู่หรือ”

“มันก็เป็นน่ะชิ มันมีเจตนา”

นึกให้ต้นมะพร้าวมันหัก มันก็หัก นึกให้กิ่งพะยอมหักมันก็หัก อภินิหารของการปฏิบัติธรรมนี่ เวลามันเกิดมันน่าหลงจริงๆ นะ นอกจากมันจะเกิดอะไรแปลกๆ ขึ้นมาให้เราหลงมัน

มันยังมีอีกสิ่งหนึ่ง มันอันตรายมากที่สุด คือเพศตรงข้าม พูดกับใครไม่ได้เลยทีเดียว ภายหลังมานี่ นึกว่า ถ้าขืนเล่นต่อไปมันอันตราย ก็เลยห่างๆ หน่อย...

อาจารย์ที่สอนวิชาสะกดจิต ท่านก็เตือนว่า มาเรียนฝึกสะกดจิตแล้วทำให้เพศตรงข้ามมันติดอกติดใจนะ แล้วไม่เฉพาะแต่เรียนสะกดจิต พระธุดงคกรรมฐานนี่ ถ้าใครภาวนาเก่งๆ มีภูมิจิตภูมิใจ สาวๆ มันติด มันอันตราย ลูกสาวพญามาร นางตัณหา นางราคา นางอรดี พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกทรงผนวชพวกนี้มันจะไปสกัดกั้น ไปพูดยั่วยวน ชักชวนให้หลงผิด คือมันกิเลสในใจนั่นแหละ มันปรุงแต่งขึ้นมาเองด้วย แล้วมันก็เป็นธรรมชาติของสมาธิ สมาธินี้มันมีพลังอันหนึ่งคือความเมตตา ความเมตตานี้มีพลังสูง

หลวงพ่อเคยใช้พลังเพ่งหลอดไฟแตก เพ่งกิ่งมะพร้าวหัก จนหลวงปู่ฝั้นต้องเตือนว่าเป็นอาบัติ หลวงพ่อแย้งว่าไม่ได้หักด้วยมือจะปรับอาบัติด้วยหรือ หลวงปู่ฝั้นบอกว่าเมื่อมีเจตนาก็ต้องเป็นอาบัติ


หมอไมเคิล โยมอุปัฏฐาก

ป๋าโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อคนหนึ่ง เป็น ดร.แผนกเภสัช (หมอไมเคิล แฟรงฟอร์ต) เรียนจบจากมหาวิทยาลัยประเทศอังกฤษ ท่านเป็นชาวอังกฤษ แล้วมาได้ภรรยาคนไทยอยู่ที่เมืองอุบลฯ มาเป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อ ท่านชักชวน

๑. ให้เรียนการผลิตยา จะสอนให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
๒. ให้เรียนภาษา
๓. ให้เรียนสะกดจิต

สองอย่างแรกหลวงพ่อไม่เอา เพราะตอนนั้นกำลังเคร่ง เรื่องโลกๆ นี้เราไม่เอาแล้ว แต่สะกดจิตนี้มันใกล้กับสมาธิของเรา ก็ลองเรียนดู

เขาอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า การสะกดจิต กับการทำสมาธิของท่าน มันคืออันเดียวกัน สมาธิที่ท่านปฏิบัติอยู่นี้มันเป็นหลัก เป็นจุดยืน แต่การสะกดจิตนี้เราสามารถที่จะเอาพลังจิตไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ทีนี้ หลวงพ่อก็ตกลงใจเรียนกับเขา เขาก็สอนให้ ก็ได้ปฏิบัติตามที่เขาสอน แล้วก็เกิดผลสำหรับตัวเองได้บ้าง คือสามารถรักษาวัณโรคหายได้ หลวงพ่อเป็นวัณโรคตั้งแต่อายุ ๒๓ ปี ทีนี้พอดอกเตอร์ท่านนี้มาสอนวิชาสะกดจิตให้ ท่านก็แนะวิธี แนะวิธีที่จะใช้พลังจิตสำหรับรักษาโรคก็พยายามปฏิบัติตามมา

มาภายหลังหลวงพ่อมาคิดว่า หลักจิตหลักใจของเราก็มี คือสมาธิแบบพระพุทธเจ้า ก็เลยเลิกสิ่งเหล่านั้น แล้วก็มาปฏิบัติทางสายของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แล้วการสะกดจิตก็ไม่ได้ทำแล้วเดี๋ยวนี้

ทีนี้เพราะอาศัยมรดกที่ท่านมอบให้ เวลานี้เขาสอนกรรมฐานกันสำนักไหน สอนแบบไหน ๆ พอฟังแล้ว หลวงพ่อรู้หมดว่า สำนักนี้เล่นสะกดจิต สำนักนี้เล่นสายตรง พวกเล่นสะกดจิตนี้เขาจะมีอาจารย์ควบคุมให้บริกรรมภาวนาอย่างนี้ ให้ทำจิตอย่างนั้น ให้น้อมไปอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิแบบพระพุทธเจ้านี้ คือสร้างจิตให้เป็นอิสระไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด

อย่างไรก็ตามวิชาเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องเล่นเท่านั้น เมื่อสอนแนวปฏิบัติทางจิตแล้ว หลวงพ่อจะย้ำการปฏิบัติเพื่อความเป็นอิสระของจิต หลวงพ่อวางแนวให้คนทั้งหลายปฏิบัตินี้ เป็นแนวทางที่ปฏิบัติให้ทุกคนสร้างจิตของตนให้มีพลังเป็นอิสระของตัวเอง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของใครทั้งสิ้น


โยมขอให้สึก

อาหลวงพ่อนี่ยังเป็นห่วงเลย ตอนที่เป็นพระยังหนุ่มๆ อยู่ เมื่อสึกมานี่จะทำอย่างไร จะมีอะไรอย่างไร เป็นห่วง

“อย่ามาเป็นห่วงเลย คนๆ นี้เป็นอะไรชั่วชีวิตหนึ่ง เป็นอะไรนี้เป็นเพียงครั้งเดียว จะไม่ยอมเป็นซ้ำอีกถึงครั้งที่สอง”

โยมบวชก็อาราธนาให้สึก โยมอุปัฏฐากป๋าไมเคิลที่อุบลฯ ก็นิมนต์ให้สึก โยมบวช (ดร.ประจวบ บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ก็ไม่มีลูก โยมอุปัฏฐากป๋าไม่เคิลก็ไม่มีลูก ทีนี้โยมบวชนี่ท่านเป็นรัฐมนตรี เมื่อก่อนนี้เข้ารับราชการนี้จะจับยัด จับใครยัดเข้าที่ตรงไหน มันก็ได้ ไม่ต้องสอบแข่งขัน ท่านบอกว่าสึกชะ โยมกำลังมีบุญบารมี มาทำราชการสตาร์ททีแรกได้เดือนละ ๓๐ บาท สมัยนั้น ๓๐ บาทนี้สูงนะ เงินเดือนสมัยนั้น แล้วก็มาเรียนวิชาใดพิเศษประกอบเข้าไป มันจะก้าวหน้าไปเอง ตอนนั้นหลวงพ่ออายุ ๒๒ ปี ๒๒ นี่เขาเรียนมหาวิทยาลัยยังไม่จบหรอก ก็เลยบอกท่านว่า อาตมาตั้งใจแล้วว่าจะบวชไม่สึก

คุณยายทองมีเป็นโยมอุปัฏฐาก ที่นี้พ่อตาของหมอไมเคิลนี้เป็นน้องชายของคุณยายทองมี ทีนี้พวกตระกูลนี้เลยมานับถือหลวงพ่อเป็นลูกเป็นหลานหมดทั้งตระกูล

ท่านขอให้หลวงพ่อสึกไปเป็นลูก..จะยกร้านขายยาให้ มีลูกเลี้ยงของท่านคนหนึ่งอยู่อำเภอพิบูลฯ ไปเจอกัน มันยังพูดอยู่เลย มันว่า..พระองค์นี้เก่ง จับไม่อยู่เลย..แกชื่อสำเนียง

หลวงพ่อไม่เคยคิดว่าจะมีใครรักเรา เกิดมาในชีวิตนี้หลวงพ่อยึดหลักอะไรที่จะไม่ให้ใจฝักใฝ่จะสึกมาครองเรือนเป็นฆราวาส เพราะว่าหลวงพ่อมันเห็นทุกข์ตั้งแต่รู้เดียงสามา อยู่ๆ จิตมันฉุกคิดขึ้นมาว่า ขึ้นชื่อว่าทายาททุกข์ ฉันจะไม่ให้มันมีแล้วในชีวิตนี้ เราเกิดมาอายุ ๕ ขวบ พ่อแม่ก็ตายจาก ยังดีนะพ่อเราแม่เรายังมีพี่น้อง ยังเก็บมาเลี้ยงดู เรานี้ตัวคนเดียว ถ้าสมมุติว่าไปมีไว้ พ่อมันก็ตายแม่มันก็ตาย ใครจะรับเลี้ยงลูกเรา สงสารกุลบุตรที่มันจะเกิดมาทีหลัง

สิ่งรบกวนที่ร้ายแรงที่สุดในสมัยที่เป็นพระหนุ่ม พอนั่งปั๊บลงไป นึกถึงหน้าสาวๆ แล้ว เอาแล้วได้เรื่องแน่ ตัวนี้น่ะตัวร้ายที่สุด กิเลสของคน แต่ทีนี้จะดีก็อยู่ที่ตรงนี้ จะชั่วก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ พระจะเอาตัวรอดได้หรือหนีไม่ได้ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ เพราะฉะนั้นถ้ากิเลสตัวนี้ไม่มีอำนาจเหนือจิตเหนือใจแล้ว พระคงบวชไม่สึกกันสักองค์


ยามป่วย

เวลาเจ็บป่วยขออยู่คนเดียว ปิดประตูภาวนา ถ้ามันร่อแร่ก็ขออย่าให้เอาสายยางระโยงระยางมาเสียบ จะขอพิจารณาทุกข์จนกว่ามันจะขาดใจ เวลาเจ็บป่วยถ้ามีคนมาพะเน้าพะนอ ทำให้กำลังใจอ่อน เสียหายมากๆ

สมัยอยู่อุบลฯ ป่วยอยู่ แม่ชีพวงมาคอยดูแล ใครชวนไปไหนก็ไม่ยอมไป ปักหลักว่า ถ้าพระรูปนี้ไม่ตายหรือไม่หาย ฉันจะไม่ยอมไปที่อื่น ใจมันอ่อน เวลาไม่มีใครดูแล เรานอนกำหนดจิตภาวนา นอนเมื่อยก็ลุกมาเดิน เดินเมื่อยก็เปลี่ยนมานั่ง

ชาวบ้านถามว่า “มหา..เจ็บป่วยเป็นอย่างไรบ้าง”

มีแต่ตอบว่าสบาย ตอนกลางคืนก็ถือโคมไฟไปอันหนึ่ง บุกป่าไปนอนในป่าในดง จนผีมันหลอก มันกระโดดขึ้นกระโดดลงบนต้นไม้ ก็นั่งดูมันเฉย ลักษณะมันเหมือนนกตัวใหญ่ๆ อกด่าง เวลามาเสียงสนั่นหวั่นไหวยังกับฝูงวัวฝูงควาย ๑๐๐ ตัววิ่งมา ป่าแทบพังพินาศ แต่ผีหลอกยังไม่เท่าคนหลอก ผู้หญิงบางคนหลอกสึกพระ

“สึกเถอะน่า ทุนรอนเราก็มี ถ้าไม่เชื่อจะโอนให้ก่อนก็ได้”

ถ้าไม่เก่งจริงก็โดนหลอกสึกกันหมด


ถวายของหลวงปู่มั่น

พระพื้นบ้านนั้นอยากอยู่ใกล้หลวงพ่อ แต่ไม่กล้าเข้าใกล้ ส่วนหลวงพ่อเอง อยากจะอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ เช่น หลวงปู่มั่น แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ จึงได้แต่เพียงทำไม้จิ้มฟันฝากไปถวาย หลวงปู่มั่นท่านพูดว่า

“มหาพุธเขาอยู่ตั้งไกล เขายังนึกถึงเรา พวกเราอยู่ใกล้แค่นี้อะไรมาปิดบัง”

อีกครั้งหนึ่งหลวงพ่อคิดจะหล่อพระ จึงส่งข่าวให้หลวงปู่มั่นทราบ ท่านจึงประกาศว่า

“มหาพุธเขาจะหล่อพระไว้กราบไหว้ ใครมีอะไรก็หามาช่วยเขา”

หลวงปู่มั่นเองได้ส่งเงินมาช่วยถึง ๕๐๐ บาท (สมัยนั้นหล่อพระองค์หนึ่งใช้เงินประมาณ ๒,๐๐๐ บาท)

รูปหล่อดังกล่าวสร้างไว้ที่วัดบูรพา ตอนนี้ไฟไหม้ไปหมดแล้ว..ไฟไหม้ละลายหมด ไม่ทราบว่าพระธาตุที่บรรจุอยู่กับท่านหล่นหายไปไหนก็ไม่รู้


อำนาจจิตของครูบาอาจารย์

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


นี้เป็นเรื่องจริง ปี ๒๔๘๗ พอดี หลวงปู่ฝั้น ท่านไปจำพรรษาด้วย หลวงพ่ออยู่กับหลวงปู่ฝั้นนานที่สุดตอนอยู่ที่วัดบูรพา อุบลฯ จากนั้นก็ไปกราบท่านปีละครั้งสองครั้ง ท่านสอนหลวงพ่อนี่ ไม่ได้สอนเหมือนอย่างคนอื่น ท่านเล่าเรื่องที่ท่านเป็นมาแล้วให้ฟัง แล้วเราก็ถือเอาเป็นหลักปฏิบัติ แล้วท่านก็อบรมสั่งสอนให้เพ่งอาการ ๓๒

ตอนแรกท่านเล่าว่า เขานิมนต์ไปนั่งรถ ท่านก็ไม่ขึ้นไป กลัวจะตกรถ เขาก็ขับรถไล่ตามเรื่อยไป ในที่สุดขึ้นไปนั่งรถก็กลัวจะตก ก็กำหนดจิตดูอาการ ๓๒ พอไปถึงหัวใจ จิตมันหยุด สว่าง มันไปเกาะอยู่ที่อะไรขาวๆ เหมือนถ้วย ไม่ทราบว่าเครื่องยนต์มันหยุดหรือไม่หยุด เราก็ไม่รู้ จนกระทั่งคนขับมันมาผลักหัวเข่าอย่างแรง จึงได้รู้สึกตัว พอตื่นจากสมาธิมาแล้ว เขาก็บอกว่าท่านอาจารย์นั่งสมาธิเครื่องยนต์มันดับ

เอ้า..ถ้ามันดับเพราะฉันนั่งสมาธิ ลองติดเครื่องดูซิ พอเขาไปติดเครื่องมันก็ติด แล้วก็ไปได้ ท่านก็สงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า ภายหลังมาเล่าให้อาจารย์อ่อน (หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ) ฟัง พอมีคนเอารถมารับท่าน อาจารย์อ่อนก็บอกว่า

“ฝั้นๆ ทดลองดูอีก ให้มันหายสงสัย”

ท่านก็ทดลองอีก เครื่องยนต์ก็ดับอีก พอนั่งไปข้างหน้าด้วยกัน พอเครื่องยนต์ดับ ท่านอาจารย์อ่อนก็ตบเข่า

“ฝั้นๆ เครื่องยนต์มันดับแล้ว”

จึงได้แน่ใจว่า มันเป็นไปได้จริง ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า อิทธิฤทธิ์

มหาสามารถ อยู่ที่เมืองอุบลฯ ไปโบกรถเมล์ รถเขาเต็ม เขาก็ร้องบอกว่า เดินไปซะ มหาสามารถก็เคือง ยืนจ้องมองตามหลังรถเขาอยู่ อีกสักหน่อย รถคันนั้นยางระเบิด

หลวงปู่ตี้อไปวัดธรรมรังสีที่อำเภอเลิงนกทา ขากลับก็ขึ้นรถสหมิตรมา ที่นั่งมันนั่งได้ ๒ คน ท่านก็นั่งขัดสมาธิ รถก็แน่น คนโดยสารมันเยอะ ไอ้เด็กรถมันก็มากระชากขาผู้เฒ่าลง

ที่นั่งเขาให้นั่ง ๒ คน หลวงพ่อมานั่งคนเดียว

“กูไม่อยากเอาลง เดี๋ยวบักกิ้งสูจะแตก” (บักกิ้ง คือ ล้อรถ)

พอรถวิ่งไปยังไม่ถึงเส้น ยางรถระเบิดพร้อมกัน ๒ เส้น เสร็จแล้วเขาเปลี่ยนยาง ท่านก็เดินไปนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ คนขับรถก็ไปกราบขอขมาโทษ ว่าเด็กมันไม่รู้เดียงสา อย่าไปถือสาหาความมันเลย มันเป็นไปได้

ตอนพบกับหลวงปู่ตื้อ หลวงพ่อบวชได้ ๑๐ กว่าพรรษาแล้ว เจอกันบ่อย ไปเจอกันที่วัดอโศการาม เวลาเทศน์นี้คุณหญิงคุณนายฟังแล้วเลี่ยงๆ หนี


ถูกใส่ร้ายเรื่องผู้หญิง

อยู่วัดบูรพานี้มหา..นั่นแหละเป็นตัวหาเรื่อง..วันหนึ่ง..ที่วัดบูรพาฯ เขาฟังเทศน์ตอนเย็นกันทุกวัน สองสามคนเขาก็เทศน์กันอยู่อย่างนั้น มีพระยาอรรถฯ กับ หลวงแก้วกาญจนเขต เป็นหัวหน้าพาไปฟังเทศน์ตอนเย็น

อยู่วันหนึ่งแม่ชี แม่ของนายวิชิต โกศัลวิตร ไปถาม

“ทำไมโยมนั่งสมาธิแล้วจิตมันไม่สงบสักทีเลย”

หลวงพ่อก็เลยบอกว่า

ให้ทำอย่างนี้ซิ ให้ภาวนา พุทโธๆ ๆ ๆ เอาไว้ ถ้าจิตมันท่องพุทโธไปตลอดให้มันท่อง ถ้ามันหยุดให้มันอยู่เฉยๆ ถ้ามันคิดให้มันคิด

ทีนี้แม่ชีลูกศิษย์มหา..ก็ไปนั่งฟังอยู่ด้วย พอเสร็จแล้วแกก็ไปภาวนากลางคืน จิตมันสงบลงเอง พอเสร็จแล้วมันก็ตื่นเช้ารีบมา สิ่งได้สัมผัสกับสมาธิ ปีติ และความสุข มันก็ขยัน จิตมันก็ก้าวหน้าไปเรื่อย มีปัญหาสงสัยก็มาถาม ไปๆ มาๆ

พระมหา..นี่ว่าแม่ชีมันไปกุฏิหลวงพ่อบ่อย ก็เลยหาเรื่อง ทีแรกก็ไปพูดกับพ่อแม่เขา..

“สงสัยเด็กน้อยสองคนนี้มันจะรักกันชอบกัน”

ทีนี้เขาบอกว่า..

“จ้างอีกก็ไม่เอา ลูกเขยมหา มันจะมีปัญญาเลี้ยงลูกเราหรือ”

พวกโยมเรานี้ก็เคียด (โกรธ)

ทีนี้ข่าวมันก็กระพือไปทั่วบ้านทั่วเมือง พวกญาติโยมก็มาต่อว่าต่อขาน หลวงพ่อก็พูดได้คำเดียว

“กาลเวลามันจะตัดสินเองว่าใครเป็นใครกันแน่”

ลงผลสุดท้ายหลวงพ่อก็สังเกตดูอีนังแม่ขาวลูกศิษย์มหา..นี่ มันผิดปกติ ก็เลยเขียนจดหมายน้อยไปเรียกมันมา มันมา เราก็ตั้งปัญหาถาม ก่อนอื่นก็บอกว่า

“อันนี้ไม่ใช่เกี้ยวพาราสีนะ มันเป็นคำสมมติ..”

“อ้าว! ท่านจะว่าอะไร”

ก็เลยบอกว่า

“ถ้าหากฉันสึกไปขอแต่งงานกับเธอ เธอจะว่าไง..”

มันก็บอกว่า

“เป็นไปไม่ได้”

“ทำไมจึงเป็นไปไม่ได้ แกเห็นว่าฉันนี้ต่ำต้อยเกินไปหรือ..”

“โอ๊ย ! ถ้าได้อย่างท่านนี่ก็ดีวิเศษแล้ว..”

“ถ้างั้นมันเพราะอะไร”

เราก็เซ้าซี้มันเข้าไป มันก็เลยบอกว่า

“ผีบ้าตัวไหนเขาจะมีผัวสองคน”

“อ้าว อีห่า มึงมีผัวแล้วหรือ”

“มีแล้ว..”

“ใคร ผัวมึง..”

“ก็หลวงพ่อท่านทวงบุญคุณก็เลยให้ท่าน..”

“อ้าวถ้างั้นมึงเขียนบันทึกมาให้กู”

"อิฉันขอสารภาพว่า ได้เสียกับ..ท้องได้หนึ่งเดือนแล้ว”

“เออ ! เอาแค่นั้นพอ”

มันก็เซ็นชื่อ ลงวัน เดือน ปี

เอ้า พยายามรักษาความรู้สึกไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง เคยไปหาพาสู่อย่างไรก็กราบก็ไหว้ ปรนนิบัติอย่างไรก็ทำ แต่ว่ากราบก็นึกว่าเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ทีนี้พอได้จังหวะเราก็ได้คุยกับพระมหา..ถามปัญหาเรื่องวินัย เริ่มต้นด้วย

“..เออ ! ในธรรมวินัยนี้ ใครทำผิดทำถูก ผู้นั้นย่อมรู้ได้ด้วยตนเองใช่ไหม”

“ใช่”

“ในเมื่อรู้ว่าเรามีความผิดเพียงใดแค่ไหน ก็ควรจะสารภาพความจริง ไม่น่าจะให้คนอื่นเขามายกเป็นเรื่องเป็นอธิกรณ์ให้กันยุ่งยาก เสียชื่อเสียงวัดและศาสนาคณะสงฆ์ มันควรจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม”

“ใช่”

“ถ้างั้นเรื่องของท่าน ท่านจะว่าอย่างไร”

“เรื่องอะไร”

เราก็ยื่นสำเนาบันทึกให้ พอท่านอ่าน ท่านก็หน้าเสีย ทีนี้เราก็บอกว่า

“ผมจะไม่ยอมเปิดเผย ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระวินัย จะไม่ให้มีเรื่องเกิดขึ้นเลย”

ท่านก็เลยบอกว่า

“ผมก็คาดไม่ถึงว่ามันจะเป็นแบบนี้ ผมขอเวลาเดือนหนึ่ง”

“เอ้า ไม่เป็นไร”

พอเสร็จแล้วสองสามวันท่านก็เข้ากรุงเทพฯ แต่ว่าแม่ชีนั่นท่านให้สึก สึกแล้วก็ไปกรุงเทพฯ แล้วพอจวนๆ จะเข้าพรรษาท่านก็ลาสึกในกรุงเทพฯ ไปอยู่กรุงเทพฯ กัน

พระเถระสมัยนั้นดูถูกหลวงพ่ออย่างฉิบหายเลย พระอายุ ๕-๖ พรรษาเป็นสมภารไม่ได้ ท่านก็ไปเอามหา..ซึ่งอพยพมาจากเมืองเก่าตอนที่คืนอินโดจีนไปให้ฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าอาวาสในตอนนั้น


วัดเขาสวนกวาง

รูปภาพ

พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๙๐) จำพรรษาที่วัดเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

“พระคุณของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารนี้
เลิศล้ำภายในใจของหลวงพ่อเสมอ เพราะท่านเป็นพระองค์แรกที่พาให้รู้จักทางธรรม
ซึ่งเป็นทางที่สงบระงับและเป็นทางเดินของจิตเพื่อพิชิตกิเลสจริงๆ”


หลวงพ่ออยู่วัดเขาสวนกวาง ๑ พรรษา สมัยก่อนวัดนี้เป็นดงช้างดงเสือ เป็นป่าดงดิบจริงๆ ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ท่านเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ท่านเดินธุดงค์ผ่านมาในเขตทางจังหวัดขอนแก่น มาจนถึงเขาสวนกวาง เห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สำหรับพระโยคาวจรผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ สถานที่ก็ดูรื่นรมย์ดีเหมาะสำหรับพระนักปฏิบัติ สงบสงัด เปลี่ยวกายเปลี่ยวจิต อีกทั้งยังมีสัตว์นานัปการ ช่วยส่งเสริมจิตใจนักภาวนาได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นผู้มุ่งหวังต่อความหลุดพ้นแล้ว สัตว์ ป่า เขา ความน่ากลัวและธรรมชาตินั้น ก็ช่วยผลักดันจิตใจนักภาวนา ให้สงบได้อย่างลึกลับ

ป่าแถบนี้เป็นเขตเทือกเขาภูพาน เป็นป่าที่พระธุดงค