วันเวลาปัจจุบัน 10 ต.ค. 2024, 06:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2010, 14:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม


วัดอุดมรัตนาราม
ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร



๏ ชาติภูมิ

“พระครูบริบาลสังฆกิจ” หรือ “หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม” มีนามเดิมว่า อุ่น วงศ์วันดี เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2452 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ณ บ้านอากาศ ต.อากาศ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร โยมบิดาชื่อ นายอุปละ วงศ์วันดี โยมมารดาชื่อ นางบุดดี วงศ์วันดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 7 มีชื่อตามลำดับดังนี้

(1) นางทองมี แก้วพาดี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(2) นางต่อง ใครบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(3) นางอ่อนจ้อย ใครบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(4) นางไกรษร แง่มสุราช (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(5) ด.ญ.ปุ้ม วงศ์วันดี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
(6) ด.ช.เมือก วงศ์วันดี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
(7) หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม (มรณภาพแล้ว)


๏ ชีวิตปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

ชีวิตในวัยเด็ก ท่านเป็นคนมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ เลี้ยงยาก มักเจ็บป่วยอยู่เสมอๆ จนกระทั่งโยมบิดา-โยมมารดา กลัวว่าจะเลี้ยงไม่โต (คือไม่รอดชีวิต) พอถึงวันพระจะเอาท่านไปนั่งที่หมอน แล้วให้พี่ๆ ที่เป็นผู้หญิงทั้งหมดพากันมากราบ แล้วเอาเท้าของน้องชายลูบศีรษะ ต่อมาภายหลังเมื่อท่านอาพาธเป็นโรคปวดเท้า ท่านเคยปรารภว่า หรือจะเป็นเพราะบาปที่พวกพี่ๆ เคยเอาเท้าของท่านไปลูบศีรษะ

เมื่ออายุได้ 8-9 ปี ท่านเกิดป่วยหนักนอนซมจนโยมบิดา-โยมมารดาคิดว่าคงจะไม่รอดแล้ว จึงเอานวนผ้าฝ้าย (สำลี) มาวางไว้ที่รูจมูกของท่านเพื่อจะดูว่าสำลียังไหวติงอยู่หรือไม่ หากยังไหวติงแสดงว่ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ และต่อมาได้พากันนำท่านไปฝากไว้กับญาครูทุม (พระอธิการทุม) เจ้าอาวาสวัดกลาง (ปัจจุบันชื่อวัดกลางพระแก้ว) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่านมากนัก (คนอีสานสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ เวลาเจ็บป่วยต้องอาศัยพระทำพิธีให้) หลังจากนั้นปรากฏว่า อาการป่วยของท่านหายวันหายคืนจนร่างกายแข็งแรงดังเดิม และได้เริ่มเรียนหนังสือกับญาครูทุม (พระอธิการทุม) ที่วัดกลาง (วัดกลางพระแก้ว) นั้น


๏ การบรรพชา

เมื่อปี พ.ศ. 2462 อายุ 10 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกลาง ต.อากาศ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร โดยมีพระอธิการทุม เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้หัดเรียนอักษรขอม อักษรธรรม พร้อมกับสามเณรแอ่น ครุฑอุทา (ต่อมาได้เป็นพระครูวิรุฬห์ธรรมานุวัตร นามเดิมคือ พระอธิการแอ่น จนฺทสาโร เจ้าคณะอำเภออากาศอำนวย วัดสระแก้วบ้านโคกไม้ล้ม ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ตลอดถึงท่องบทสวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง สวดมนต์หลวง หลักคัมภีร์สัททาสังคหะตลอดถึงพระปาฏิโมกข์ จนมีความชำนาญ


๏ การอุปสมบท

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดกลางแห่งเดิม โดยมี พระอธิการมี (ญาครูมี) ปญฺญาณสุโต เป็นพระอุปปัชฌาย์, พระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสทฺโธ) วัดไตรภูมิ บ้านอากาศ เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระอธิการแก้ว วัดทุ่งบ้านอากาศ เป็นพระกรรมวาจารย์

จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอุปัชฌาย์ (ไม่ทราบว่าที่ไหน) จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้ แต่ต่อมาได้ลาสิกขา แล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ ต.วาใหญ่ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ปี พ.ศ. 2473 เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ อุกกุกเขปสีมา (สิมน้ำ) ที่ท่าบ้านร้างกลางลำน้ำยาม โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเวที วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร วัดอิสระธรรม จ.สกลนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อุตฺตโม” แปลว่า ผู้สูงสุด

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านมาพำนักจำพรรษากับท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร เพื่อทำการศึกษาแนวทางการปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแบบอย่างแนวทางของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นเวลา 4 ปี ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ได้กราบนมัสการลาพระอาจารย์สีลา มาอยู่กับศึกษากับ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ต.สามผง อ.ท่าอุเทน (ปัจจุบันเป็น อ.ศรีสงคราม) จ.นครพนม จำพรรษาติดต่อกันถึง 3 ปี

ขณะที่อยู่ที่บ้านสามผงนี้ ท่านได้ศึกษาบาลีไวยกรณ์และแปลธรรมบทด้วย เมื่อถึงฤดูแล้งก็ออกเที่ยวธุดงค์ไปอยู่ที่ภูค้อ เพื่อฝึกหัดอบรมจิตใจตนเองและได้เคยทดลองฉันเจด้วย วันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนั้น มีงูใหญ่มานอนขดชูคออยู่ที่หัวทางเดินจงกรมของท่าน เวลาท่านเดินไปถึงหัวทางเดินจงกรม งูนั้นก็จะโน้มหัวลงคล้ายกับเป็นอาการเคารพคารวะ ต่อมาก็เลื้อยหายไป

คราวหนึ่งที่บ้านโยมคนหนึ่ง ที่บ้านสามผงนั้น ได้เกิดมีน้ำไหลซึมออกมาจากมุมเตาไฟ แล้วครอบครัวนั้นเกิดเจ็บป่วยกันทั้งครอบครัว เวลานั้นที่บ้านสามผงมีพระมหานิกายรูปหนึ่งมีคาถาอาคมแก่กล้า โยมคนนั้นจึงนิมนต์พระมหานิกายรูปนี้มาทำพิธี แต่น้ำก็ยังคงไหลซึมอยู่ จึงได้มานิมนต์หลวงปู่ไปสวดแผ่เมตตาให้ ปรากฏว่าน้ำที่เคยไหลซึมได้แห้งหายไป และทุกคนในครอบครัวนั้นก็หายจากการเจ็บป่วย ทำให้พระมหานิกายรูปนั้นกลัวว่าจะมีคนนับถือหลวงปู่มากกว่า และจะทำให้ลาภสักการะของท่านเสื่อมไป

วันหนึ่งหลวงปู่ได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ 2 ธรรมาสน์กับพระมหานิกายรูปนี้ ปรากฏว่ามีตะขาบตัวใหญ่ไต่เข้ามากัดหลวงปู่ใต้ธรรมาสน์ที่ท่านนั่งอยู่ ทำให้ท่านเป็นลมล้มลง ต้องช่วยกันปฐมพยาบาลกันอยู่นานกว่าจะฟื้นคืนสติ นับแต่นั้นเป็นต้นมาหลวงปู่ท่านจะมีอาการอาพาธปวดเท้า เท้าบวมขึ้นจนถึงปลีน่อง เป็นๆ หายๆ มาจนตลอดชีวิตของท่าน หลวงปู่บอกว่ามันเป็นกรรมเก่าของท่านที่เคยกระทำต่อกันมาก่อนในชาติก่อนๆ ชาตินี้ท่านจะไม่ถือโทษโกรธเคืองพระมหานิกายรูปนี้ จะได้เป็นอโหสิกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรมกันเสียที

หลวงปู่ท่านได้ศึกษาอบรมทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระกับท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง จ.นครพนม เป็นเวลานานถึง 3 พรรษา แล้วจึงกราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์เกิ่ง กลับมาพำนักจำพรรษากับท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม จ.สกลนคร อีกครั้งหนึ่ง


(มีต่อ 1)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 เม.ย. 2010, 14:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ สร้างวัดอุดมรัตนาราม

ต่อมา พ.ศ. 2480 ท่านอยากจะกลับมาจำพรรษาที่บ้านอากาศ ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของท่าน และมีความประสงค์จะสร้างวัดของพระฝ่ายธรรมยุตขึ้นที่บ้านอากาศ เพราะขณะนั้นวัดฝ่ายธรรมยุติยังไม่มี จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์สีลา มาดูสถานที่สำหรับจะสร้างวัด ได้พบสถานที่เงียบสงัดแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านอากาศ อยู่ใกล้ๆ กับลำน้ำยาม (ปัจจุบันอยู่หลังปศุสัตว์อำเภอ) ซึ่งครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เคยมาพำนักจำพรรษาอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2469

แต่ท่านพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสมนักเพราะอยู่ใกล้กับทางใหญ่ เป็นที่สัญจรไปมาของผู้คน จึงทำให้ไม่สงบสงัดเท่าที่ควร ท่านจึงเลือกเอาสถานที่แห่งใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสถานที่แห่งเดิม เพราะเห็นว่าสงบสงัดดี ดังนั้น ท่านจึงได้ปรึกษากับคณะศรัทธาญาติโยมบ้านอากาศหลายคน เช่น นายพุทธวงศ์ แก้วพาดี กำนันตำบลอากาศ, นายจารย์เขียว สติยศ, นายเขียว แง่มสุราช แพทย์ประจำตำบลอากาศ เป็นต้น แล้วได้พากันร่วมสร้างวัดขึ้นมา ในครั้งแรกคณะศรัทธาญาติโยมส่วนมากไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าสถานที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านและรกชัฏมาก อีกทั้งเต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิดและยังมีสัตว์ร้ายต่างๆ อีกด้วย เช่น เสือ ฯลฯ แต่ท่านไม่กลัวในเรื่องสัตว์ร้ายนั้น และได้อธิบายให้คณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายเข้าใจว่า การอยู่ในที่อันสงบสงัดของพระเณรเหมาะแก่การทำความเพียรเพื่อแผดเผากิเลส และทำความหลุดพ้นให้แก่จิตใจตามหลักของพระพุทธศาสนา

เมื่อญาติโยมเข้าใจและยินยอมแล้ว ท่านและพระเณรอีก 3 รูป คือ พระคำพอง ญาณกิตติ (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว อยู่ที่บ้านอากาศ คือ คุณพ่อคำพอง อินธิสิทธิ์), พระคำภา โสภโณ (ลาสิกขาแล้ว) และสามเณรแถว ครุฑอุทา (ลาสิกขาแล้ว) ได้พากันเริ่มต้นสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น โดยหาไม้มาสร้างกุฏิเป็นอันดับแรก ได้กุฏิเก่าจากวัดศรีโพนเมือง บ้านอากาศ 1 หลัง และต่อมาได้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ถึง 10 หลัง พระภิกษุสามเณรก็มีมากขึ้น

จากนั้นได้สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น 1 หลัง โดยมีนายป้อง วงศ์วันดี เป็นช่างออกแบบแปลนก่อสร้าง และขณะเดียวกันก็สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีก เพราะปรากฏว่ามีลูกหลานชาวบ้านอากาศและบ้านอื่นๆ มีความเลื่อมใสศรัทธามาบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก

พ.ศ. 2480 ท่านได้ทำหนังสือถึงกรมการศาสนาเพื่อขออนุญาตสร้างวัด และก็ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ โดยตั้งชื่อวัดว่า “อุดมรัตนาราม” เพื่อให้สอดคล้องกับฉายาของท่าน

หลายปีต่อมาพระภิกษุสามเณรมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติธรรมก็มากขึ้น ประกอบกับท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าการสร้างวัดนั้น ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบต้องมีพัทธสีมา จึงได้ประชุมญาติโยมทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อสร้างอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2502 แล้วเสร็จสมบูรณ์และประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ ยาว 7 เส้น 6 วา 2 ศอก จดทุ่งนา, ทิศใต้ ยาว 7 เส้น จดทุ่งนา, ทิศตะวันออก ยาว 6 เส้น 7 วา จดทางสาธารณะประโยชน์, ทิศตะวันตก ยาว 5 เส้น จดฝายน้ำล้น


๏ ตั้งสำนักเรียนวัดอุดมรัตนาราม

เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนมาก ได้ส่งเสริมให้กุลบุตรกุลธิดาศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยในทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำเอาหลักธรรมวินัยที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น ไปประพฤติปฏิบัติอันจะนำประโยชน์มาสู่ตนเองและสังคมต่อไป ดังนั้นท่านจึงขอตั้งสำนักเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2496

ครั้งแรกท่านเป็นครูสอนเอง ทั้งชั้นนักธรรมตรี-โท-เอก ครั้นต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสามเณรสอบได้นักธรรมชั้นเอกแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนแทนท่าน ในปีหนึ่งๆ มีพระภิกษุสามเณรสอบธรรมสนามหลวงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และหลายปีต่อมาก็มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้เลื่อนสำนักเรียนขึ้นเป็นสำนักเรียนชั้นโท


๏ งานด้านการศึกษา

พ.ศ. 2474 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดโพธิ์ชัย (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) ต.วาใหญ่ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร

พ.ศ. 2477 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดโพธิ์ชัย ต.สามผง อ.ท่าอุเทน (ปัจจุบันเป็น อ.ศรีสงคราม) จ.นครพนม

พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าสำนัก ณ สำนักเรียนวัดอุดมรัตนาราม


๏ งานด้านการเผยแผ่

พ.ศ. 2507 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสายที่ 5 ประจำจังหวัดสกลนคร


๏ งานด้านสาธารณูปการ

พ.ศ. 2480 เริ่มสร้างวัดอุดมรัตนาราม และศาลาการเปรียญหลังเก่า สั้นค่าก่อสร้างประมาณ 200,000 บาท

พ.ศ. 2502 เริ่มสร้างอุโบสถ แล้วเสร็จสมบูรณ์และประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ในปี พ.ศ. 2517 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 2,500,000 บาท

พ.ศ. 2519 เริ่มก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2540 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 1,800,000 บาท


๏ งานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2508 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลอากาศ (ธรรมยุต)


๏ สมณศักดิ์ที่ได้รับ

พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ “พระครูบริบาลสังฆกิจ”

รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

รูปภาพ
หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป


๏ ปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติ

นับตั้งแต่วันที่ท่านอุปสมบทเข้ามาในคณะกรรมฐานแล้ว ก็เพียรตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมให้ความยินดีในอกุศลธรรมฝ่ายต่ำเข้าครอบงำ จนเป็นเหตุให้ล่วงละเมิดสิกขาบทน้อยใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติกำจัดกิเลส เพื่อมุ่งหวังความหลุดพ้นอย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากการได้รับการอบรมและฝึกฝนทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จากท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

อีกทั้งต่อมาเมื่อ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต กลับจากการไปปฏิบัติธรรมในเขต จ.เชียงใหม่ ที่ยาวนานถึงกว่า 10 ปี มาจำพรรษาในเขต จ.สกลนครแล้ว ท่านได้หาโอกาสไปนมัสการและศึกษาธรรมปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในระยะที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาพำนักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ระหว่าง พ.ศ. 2488-2492 ซึ่งต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปอย่างลำบาก โดยบางครั้งต้องใช้เกวียนเพราะท่านมักอาพาธด้วยเท้าบวม จึงเดินมากไม่ค่อยได้ (ทั้งนี้ในบางครั้งท่านได้พา หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป แห่งวัดป่าประทีปปุญญาราม บ้านเซือม ต.เซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ไปด้วย ซึ่งเวลานั้นหลวงปู่ผ่านพึ่งบวชใหม่เป็นลูกศิษย์อยู่กับท่าน)

ท่านเป็นผู้พูดน้อย มีคำเทศนาน้อย และเป็นผู้มีนิสัยมักน้อยสันโดษ ไม่ใช้สิ่งของฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะในเรื่องผ้านุ่งผ้าห่ม ท่านจะอธิษฐานใช้เฉพาะผ้าที่จำเป็นเท่านั้น โดยท่านจะใช้สบง จีวร สังฆาฏิ ผ้าอาบน้ำ อย่างละผืน ส่วนอังสะ มี 2 ผืน เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าท่านใช้ผ้าอย่างฟุ่มเฟือยจนกลายเป็นอติเรกจีวรอย่างมากมาย ในส่วนของปัจจัย (คือเงิน) และลาภสักการะอื่น ท่านจะไม่รับไว้เป็นการส่วนตัว แต่จะให้คณะกรรมการของวัดเก็บไว้เป็นกองกลางของวัด ดังนั้นเมื่อท่านมรณภาพจึงไม่มีปัจจัยเป็นของส่วนตัวแม้แต่สักบาทเดียว

ในการทำความเพียรของท่าน ถ้าเป็นวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ท่านจะพาญาติโยมทำความเพียรตลอดคืน เรียกว่าให้สมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์ คือไม่นอนตลอดคืน หากเป็นวันธรรมดาตอนหัวค่ำหลังจากทำวัตรเย็น ท่านจะพักผ่อนจำวัดเสียก่อน ครั้นพอถึงเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง ท่านจะลุกขึ้นมาทำความเพียร โดยการเดินจงกรม คืนไหนที่ฝนไม่ตกท่านจะเดินอยู่ข้างอุโบสถ ถ้าคืนไหนฝนตกท่านจะเดินที่ศาลา พอถึง ตี 2 จะเปลี่ยนมานั่งสมาธิ, ตี 3 จะพักผ่อนอีก, ตี 4 ลุกขึ้นมานั่งสมาธิจนสว่าง แล้วล้างหน้าแปรงฟัน เตรียมตัวออกบิณฑบาต

บางครั้งโรคปวดเท้าของท่านกำเริบขึ้นมาก็ออกบิณฑบาตไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ต้องภาวนาด้วยการนั่งและนอนเท่านั้น หากจะเดินไปไหนมาไหนต้องอาศัยลูกศิษย์ช่วยพยุง การได้รับทุกขเวทนาจากอาพาธที่เป็นๆ หายๆ นี้ ทำให้ท่านได้อาศัยทุกขเวทนานี้มาพิจารณาเห็นความจริงของสังขารร่างกาย ว่าเป็นกองทุกข์ ไม่น่ายินดีลุ่มหลง นับว่าเป็นประโยชน์ต่อจิตใจของท่านมาก

ยามเช้าเวลาไปบิณฑบาต ท่านมักไปไม่ไกล แล้วมากลับมารออยู่ที่วัด ส่วนพระเณรต้องเดินไปไกลประมาณ 2-3 กม. เมื่อกลับมาถึงวัดแล้ว พระเณรทุกรูปพร้อมกันทำวัตรเช้า ส่วนหลวงปู่ท่านจะทำเองต่างหาก เมื่อพระเณรทำวัตรเสร็จ กราบพระและกราบท่านแล้ว ญาติโยมจะนำอาหารมาประเคน แจกอาหารแล้วให้พร เมื่อฉันภัตตาหาร ล้างบาตร เช็ดบาตร เก็บสื่อสาดอาสนะปัดกวาดศาลาเสร็จแล้ว พระเณรพากันไปศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนหลวงปู่จะรับแขกอยู่ที่ศาลา จะมีญาติโยมมากราบนมัสการไม่ขาด

ตอนบ่ายหากไม่มีญาติโยมมากราบ ท่านมักจะพาออกไปที่ลำน้ำยาม ถ้าเป็นหน้าฝนก็จะพาเก็บหน่อไม้ไผ่ป่า เก็บหมากผีพ้วน หมากกล้วยเห็น หมากค้อ หรือพายเรือขึ้นไปหาเก็บเห็ดที่ภูกระแต บ้านแพงน้อย เมื่อกลับมาก็นำสิ่งของเหล่านั้นไปส่งให้แม่ชีที่โรงครัว เพื่อจัดทำเป็นอาหารถวายพระเณรในวันรุ่งขึ้น

เวลาค่ำจะตีระฆังให้พระเณรมารวมกันทำวัตรเย็น เสร็จแล้วเอาหนังสือวินัยมุข เล่ม 1 เล่ม 2 หรือหนังสือต้นบัญญัติมาอ่านให้พระเณรฟัง อบรมข้อวัตรปฏิบัติ จบแล้วแจกเทียนไของค์ละ 2-3 เล่ม เพื่อให้ไปจุดอ่านหนังสือ เพราะเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้เหมือนทุกวันนี้

และเนื่องจากท่านเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อมีญาติโยมนำลูกหลานมาฝากให้บวช ท่านจะรับไว้และฝึกอบรมให้รู้จักการรักษาวินัย รู้จักการทำข้อวัตรกิจวัตรก่อน ไม่ได้บวชง่ายๆ ต้องอยู่สักเดือนหรือ 2 เดือน เพื่อท่องขานนาคให้ได้เสียก่อนจึงจะได้บวช การท่องขานนาคก็จะต้องให้ถูกต้องตามอักขระฐานกรณ์อีกด้วย ซึ่งเป็นการทดสอบดูว่าผู้ที่มาบวชมีศรัทธาแน่วแน่แค่ไหน ถ้าศรัทธาไม่แน่วแน่มั่นคงก็จะลาสึกตั้งแต่ยังเป็นนาค

ถ้าบวชเป็นเณร หลวงปู่ท่านจะรับภาระจัดหาเครื่องบริขารให้ ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ นอกจากผู้ที่จะมาบวชเป็นพระและมีญาติพี่น้องต้องการเป็นเจ้าภาพ จึงให้ทางญาติพี่น้องของผู้จะบวชเป็นผู้จัดการหาเครื่องบริขาร พระเณรที่มาบวชอยู่กับท่าน ท่านจะเอาใจใส่ดูแลแนะนำการปฏิบัติที่ถูกที่ควรไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ให้ความอบอุ่นเสมอภาคกันหมด ตลอดจนอนุเคราะห์สงเคราะห์ทั้งอามิสและธรรมะอย่างเสมอต้องเสมอปลาย ทำให้พระเณรรักและเคารพในเมตตาธรรมของท่านเป็นอย่างยิ่ง


(มีต่อ 2)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2010, 07:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ศูนย์ จนฺทสุวณฺโณ วัดอิสระธรรม จ.สกลนคร ในปัจจุบัน


๏ การอาพาธและการมรณภาพ

พ.ศ. 2523 ท่านเริ่มอาพาธ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่ออาการทุเลาจึงได้กลับวัด แต่ก็ยังไม่หายขาด คณะศิษย์จึงนิมนต์ท่านไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ อาการก็พอทรงตัวอยู่ได้บ้าง โดยคณะแพทย์ให้ยามาฉัน และแนะนำให้มารักษาตัวที่วัดอุดมรัตนาราม เพื่อจะได้พักผ่อนมากๆ

ครั้นต่อมาอาการทรุดลง จึงนำท่านไปรับการรักษาที่โรงพาบาลสกลนคร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 อาการยิ่งทรุดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือนลงไปปลายเดือน อาการทรุดหนักจากไม่รู้สึกตัว จนแพทย์ลงความเห็นว่าคงอยู่ได้ไม่นาน และได้เอกซเรย์ปอดของท่านดู พบว่ามีแต่รู เหมือนถูกอะไรแทง

แต่ครั้นถึงวันที่ 27 พฤษภาคม ท่านกลับรู้สึกตัวขึ้นมาเหมือนไม่ได้เป็นอะไรมาก และเมื่อทราบว่าวันวิสาขบูชาตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม ท่านจึงบอกกับพระเณรตลอดจนคณะศรัทธาญาติโยมที่เฝ้าว่า อยากจะกลับวัดอุดมรัตนาราม เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลในวันวิสาขบูชาดังที่เคยกระทำมาทุกครั้ง เนื่องจากตามปกติแล้วเมื่อถึงวันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา และออกพรรษา ท่านจะนำพาพระเณร แม่ชี และศรัทธาญาติโยม ที่มาจำศีลที่วัดทำความเพียร โดยใช้อิริยบถ 3 คือ ยืน เดิน และนั่ง ตลอดทั้งคืน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

และอีกประการหนึ่งที่ทำให้หลวงปู่ท่านอยากกลับคือ ขณะที่ท่านยังอาพาธ มีโยมบ้านวา ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย นำวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังที่เป็นของโบราณมาฝากไว้กับท่าน เพื่อให้ท่านแผ่เมตตา เพ่งพลังจิตเพื่อให้วัตถุนั้นขลังยิ่งขึ้น เมื่อโยมนั้นทราบว่าท่านอาพาธหนักทำท่าจะไม่รอด จึงมาทวงคืน ท่านจึงอยากจะกลับวัดไปหาวัตถุมงคลนั้นคืนให้เจ้าของตามที่ต้องการ

ท่านกลับถึงวัดอุดมรัตนาราม ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 วันนั้นเป็นวันโกน ซึ่งตรงกับวันพุธ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7 ท่านพระอาจารย์ศูนย์ จนฺทสุวณฺโณ (วัดอิสระธรรม จ.สกลนคร) ได้รับภาระปลงเกศาให้ท่าน จากนั้นท่านก็หาวัตถุมงคลของโยมบ้านวาจนพบและก็ได้ส่งคืนเจ้าของเขาไป

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 เนื่องในวันวิสาขบูชา ท่านได้ให้โอวาทแก่พระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา และญาติโยมที่มาเยี่ยมอาการอาพาธของท่าน มีใจความว่า “สพฺพปาบสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธาน สาสนํ” การไม่ทำความชั่วทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศลให้ถึงพร้อมหนึ่ง การยังจิตของตนให้ผ่องใสหนึ่ง นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ท่านอธิบายว่า เมื่อเราท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติตามนี้แล้ว ย่อมยังพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง คนเรานับถือศาสนาทุกวันนี้ ถือกันแต่เพียงในสำมะโนครัว ว่าถือศาสนาพุทธเท่านั้น ไม่ได้ปฏิบัติกันจริงจัง บ้านเมืองจึงมีความเดือนร้อน ถ้าทุกคนละเว้นความชั่วแล้วทำความดี ความสุขความเจริญย่อมจะมีอย่างแน่นอน ธรรม 3 ประการ คือ การไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี ทำใจให้ผ่องใส อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา”

รุ่งเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 7 หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ท่านจะกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสกลนครอีก เพราะขออนุญาตแพทย์มาที่วัดเพียง 2 วันเท่านั้น ก่อนที่ท่านจะขึ้นรถเดินทางไปโรงพยาบาล ท่านได้พูดกับพระเณรและญาติโยมว่า “จะไปให้เขาฉีดยาให้ จักหน่อยก็จะได้กลับมาแล้ว”

ทุกคนต่างก็เข้าใจว่าท่านคงไม่เป็นอะไรมาก ไม่นานแพทย์คงจะให้กลับวัด เมื่อถึงโรงพยาบาลสกลนคร หลวงปู่ได้เข้าพักที่ห้องเบอร์ 8 ตึกสงฆ์อาพาธพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลังจากท่านฉันยาหลังฉันเพลเสร็จ อาการท่านกลับกำเริบ อาเจียน และอาการทรุดหนักลง จนถึงแก่มรณภาพลงในที่สุดเมื่อเวลา 16.30 น. ของวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ด้วยอาการสงบ ท่ามกลางคณะแพทย์และคณะศิษย์หลายคน สิริอายุรวมได้ 71 ปี พรรษา 50 เหลือไว้เพียงแต่คุโณปการยิ่งที่มีต่อพระศาสนา และคำสอนของหลวงปู่ที่บอกให้ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนจงทำความดี ทางคณะศิษย์ได้นำศพของท่านกลับวัดในวันนั้น สมกับคำพูดของท่านที่สั่งไว้ก่อนออกเดินทางว่า “จักหน่อย” ซึ่งแปลว่า “เดี๋ยวเดียว หรือไม่นาน”

ขณะที่ท่านยังพักรักษาองค์อยู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลสกลนครนั้น วันหนึ่งแพทย์สั่งให้เลือดท่าน แต่เนื่องจากไม่มีบุรุษพยาบาลจึงให้พยาบาลหญิงมา แต่ท่านได้บอกว่า ท่านรักษาศีลมานานหลายปี โยมผู้หญิงไม่เคยแตะต้อง อยากจะขอให้โยมผู้ชายมาจัดการให้ พยาบาลหญิงจึงไม่พอใจ หาว่าผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ ครั้นตกลงว่าเมื่อหาโยมผู้ชายไม่ได้ จึงยินยอมให้โยมผู้หญิงเป็นผู้ทำ

เมื่อเขาเอาเข็มแทงเข้าเส้นเลือดจากขวดที่ห้อยออยู่ในที่ที่มั่นคงถาวรแล้ว ปรากฏว่าหลังจากพยาบาลออกไปได้สักพัก ขวดเลือดที่ห้อยอยู่บนเสาที่แข็งแรง ก็เกิดตกลงแตกกระจาย ทำให้พื้นห้องแดงฉานไปด้วยเลือด

หลวงปู่จึงได้พูดขึ้นว่า “นี่แหละ บอกแล้วว่าไม่ต้องการให้ผู้หญิงทำ มันจึงเป็นอย่างนี้”

ลูกศิษย์ที่เฝ้าท่านจึงได้ไปเรียกพยาบาลหญิงคนนั้นมาดู เธอก็แปลกใจ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยเป็นอย่างนั้น แต่เธอก็ว่ามันเป็นเหตุบังเอิญมากกว่า

รูปภาพ
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต)
วัดศรีเมือง จ.หนองคาย


รูปภาพ
หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี

รูปภาพ
พระราชสุทธาจารย์ (พรหมา โชติโก)
วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม


รูปภาพ
หลวงปู่คำฟอง เขมจาโร วัดศรีสำราญ จ.สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม วัดศรีวิชัย จ.นครพนม

รูปภาพ
หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส วัดป่าพระสถิตย์ จ.หนองคาย


๏ งานพระราชทานเพลิงศพและการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์

นับแต่หลวงปู่อุ่นท่านมรณภาพลง ก็ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญ วัดอุดมรัตนาราม และจัดงานราชทานเพลิงศพในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2525 ซึ่งในวันงานได้มีพระเถรานุเถระมาร่วมงานจำนวนมาก อาทิเช่น

1. พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง จ.หนองคาย
2. พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมบัณฑิต
3. พระราชสุทธาจารย์ (พรหมา โชติโก) วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม
4. พระราชเมธากร (ปาน ธมฺมสาโร) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
5. พระราชสารโกศล (หลวงปู่สุวัฒน์ ญาณวโร) วัดสารภาณนิมิต จ.นครพนม
6. พระวิบูลธรรมภาณ (พระมหาประมูล รวิวํโส) วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
7. พระครูพิพิธธรรมสุนธร (หลวงปู่คำฟอง เขมจาโร) วัดศรีสำราญ จ.สกลนคร
8. พระครูสุนทรนวกิจ (สุนทร สิริธมฺโม) วัดอรุณรังษี จ.หนองคาย
9. พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม) วัดศรีวิชัย จ.นครพนม
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูอดุลธรรมภาณ
10. หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
11. หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส วัดป่าพระสถิตย์ จ.หนองคาย
12. หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก (วัดฐิติธรรมาราม) จ.สกลนคร
13. หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู
14. หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม วัดป่าโชคไพศาล จ.สกลนคร
15. หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดป่าจำปาศิลาวาส จ.สกลนคร
16. หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป วัดป่าประทีปปุญญาราม จ.สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก จ.สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

รูปภาพ
หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม วัดป่าโชคไพศาล จ.สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดป่าจำปาศิลาวาส จ.สกลนคร

รูปภาพ
หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป วัดป่าประทีปปุญญาราม จ.สกลนคร


ภายหลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้ว ในปี พ.ศ. 2528 แม่ชีบุญฮี พรมเทพ ณ วัดอุดมรัตนาราม พบว่าอัฐิที่เก็บรักษาไว้บูชาด้วยความเคารพ ได้แปรสภาพเป็นพระธาตุ 2 องค์ มีสัณฐานดังช้างสารหัก มีสีขาวดุจงาช้าง

และต่อมาในปี พ.ศ. 2537 มีผู้ได้รับผงอังคารของท่านไว้บูชาคนหนึ่ง ได้พบว่าผงอังคารของท่านแปรสภาพเป็นพระธาตุ 2 องค์ องค์หนึ่งกลมมัน มีสีเทาดำ เหมือนสีของผงอังคาร อีกองค์หนึ่งสีขาวขุ่น ซึ่งในครั้งแรกที่พบไม่แน่ใจว่าจะใช่ผงอังคารแปรเป็นพระธาตุหรือไม่ แต่เมื่อนำไปถวายให้ หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม แห่งวัดป่าดานศรีสำราญ ต.ศรีสำราญ อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ พิจารณาแล้ว ท่านรับรองว่าเป็นพระธาตุของหลวงปู่จริง

ต่อมา คณะศิษยานุศิษย์ได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2533 โดยมี พระราชเมธากร (ปาน ธมฺมสาโร) เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นสมควรจัดสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์เพื่อบรรจุอัฐิและเก็บรักษาเครื่องบริขารของท่าน ตลอดจนประดิษฐานรูปเหมือน เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้กราบไว้สักการบูชา ระลึกถึงพระคุณและพระธรรมคำสอนของท่าน

ดังนั้น จึงได้จัดงานวางศิลาฤกษ์เจดีย์เมื่อวันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2533 และดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมา โดยมีสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วสารทิศได้ร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างเจดีย์นี้ ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำโดยคุณสุเมธ โสฬส ได้นำคณะผ้าป่ามาทอดถวาย และนิตยสารโลกทิพย์ ได้นำข่าวไปบอกบุญในหนังสือ ทำให้มีพุทธศาสนิกชนได้ทราบข่าวอย่างกว้างขวาง และร่วมทำบุญมาไม่ขายสาย เป็นต้น ทำให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 3,000,000 บาท และทำการฉลองเจดีย์เมื่อปี พ.ศ. 2539

สำหรับรูปหล่อเหมือนขององค์หลวงปู่ท่านที่ประดิษฐานอยู่ภายในเจดีย์นั้น มีขนาดเท่าองค์จริง ปั้นโดยโรงหล่อแหลมสิงห์ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งมีฝีมือปั้นได้เหมือนจริงมาก แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่ง คือ เมื่อไปติดต่อกับคุณแหลมสิงห์ ดิษฐพันธ์ เจ้าของโรงหล่อ จึงพบว่าหลวงปู่เคยมาจ้างให้โรงหล่อแห่งนี้เป็นผู้ปั้นรูปเหมือน ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว เมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยยังมีภาพถ่ายของท่านที่ทางโรงหล่อถ่ายไว้สำหรับเป็นแบบปั้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีลูกศิษย์คนใดทราบหรือจำได้

รูปภาพ
หลวงปู่คำตัน ฐิตธมฺโม วัดป่าดานศรีสำราญ จ.บึงกาฬ


(มีต่อ 3)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 เม.ย. 2010, 07:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)


๏ พระธรรมเทศนา

เนื่องจากหลวงปู่อุ่นท่านมีนิสัยพูดน้อย พระธรรมเทศนาก็มีน้อย ประกอบกันในยุคนั้นยังเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล ประชาชนค่อนข้างยากจน จึงไม่มีใครมีเทปบันทึกเสียง ทำให้ไม่มีการบันทึกพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ท่านไว้ เว้นแต่โอวาทที่ท่านให้กับพระเณรและคณะศรัทธาญาติโยมในวันวิสาขบูชา ก่อนมรณภาพ 1 วัน ดังที่บันทึกไว้แล้ว แต่จากการสอบถามจากผู้ที่เคยรับการอบรมจากท่านก็พอจะมีบ้าง ดังต่อไปนี้

หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป แห่งวัดป่าประทีปปุญญาราม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่อุ่น เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ท่านสอนให้พิจารณาร่างกาย แยกออกมาเป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำจิตให้สงบ ทำจิตให้หยุดจากความนึกคิดต่างๆ หมายถึง เอาสติควบคุมอย่างเข้มข้นนั่นเอง

คุณครองชัย แง่มสุราช ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่อุ่น เล่าว่า เมื่อครั้งที่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านมักพาพระเณรไปนั่นสมาธิอยู่ที่ป่าช้าฮ่องเตย โดยให้นั่งห่างๆ กัน ท่านแนะนำให้กำหนดจิตให้สงบนิ่งในร่างกายอันนี้ ตั้งสติ แล้วพยายามให้สติควบคุมอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ให้หมดไป ให้เหลือแต่ความนิ่งความสงบ

คุณแม่ชีจันไต ตุ่ยไชย ซึ่งเป็นหลานสาวของหลวงปู่อุ่น เล่าว่า เมื่อตอนที่หลวงปู่มาสร้างวัดอุดมรัตนารามทีแรก คุณแม่มีอายุ 25 ปี ได้มาช่วยถากถางและอยู่ฝึกหัดจำศีลปฏิบัติธรรม ได้รับการอบรมจากท่านว่า ถ้าหากนั่งสมาธิจิตไม่สงบ ก็ให้ค้นคว้าพิจารณาร่างกาย

รูปภาพ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม จ.สกลนคร

รูปภาพ
วัดอุดมรัตนาราม จ.สกลนคร ในปัจจุบัน



.............................................................

♥ รวบรวมและคัดลอกมาจาก ::
เว็บไซต์ http://www.sakoldham.com
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ ::
โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ http://www.watpa.com
และห้องพระ http://www.chiangmai1900.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2011, 17:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• รูปหล่อ-รูปภาพหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม •

รูปภาพ

รูปหล่อ-รูปภาพหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม
ประดิษฐานภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของท่าน



• ภาพอัฐิธาตุหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม •

รูปภาพ

พระธาตุหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม แปรสภาพมาจากเศษอัฐิป่นละเอียด
ได้รับมาจากพระไทยวัฒน์ ปญฺญาธโร (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว)
วัดป่าบ้านโพนแพง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร


รูปภาพ

พระธาตุหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม แปรสภาพมาจากอัฐิ

รูปภาพ

พระธาตุหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม แปรสภาพมาจากอัฐิ



.............................................................

:b8: :b8: :b8: ที่มาของรูปภาพ : http://www.santidham.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2012, 09:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b39: คำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น
เรื่องประวัติความเป็นมาของ “พระแก้วมรกต”

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งหลวงปู่มั่น พักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ
หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ได้ไปกราบนมัสการฟังเทศน์
และได้นำรูป “พระแก้วมรกต” ขนาด ๒๐ นิ้ว
เป็นภาพพิมพ์ใส่กรอบไปถวายองค์หลวงปู่มั่น

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19699

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2016, 15:35 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอน้อมกราบหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม
ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2019, 14:42 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร