วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 14:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2013, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม อิสริโก)

วัดละหารไร่ (วัดไร่วารี)
บ้านละหาร ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง



เกิด : วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒
ตรงกับวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ
เป็นบุตรของนายแจ้ และนางอินทร์ งามศรี
อุปสมบท : วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๙
ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม ณ วัดละหารไร่
มรณภาพ : วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
เวลา ๒๓.๐๐ น. ณ หน้าหอสวดมนต์ วัดละหารไร่
สิริอายุรวมได้ : ๙๖ ปี ๗๒ พรรษา



:b44: ชาติภูมิและประวัติทั่วไป

หลวงปู่ทิม อิสริโก นามเดิมชื่อ ทิม นามสกุล งามศรี
เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ ๒ ต.ละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง ๓ คน ท่านเป็นคนที่ ๒
เกิดเมื่อปีมะแม วันศุกร์ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒
เป็นบุตรของนายแจ้ และนางอินทร์ งามศรี

หลวงปู่ทิมเป็นหลานของ หลวงพ่อสังฆ์เฒ่า (ผู้ก่อตั้งวัดละหารไร่)
โดยโยมมารดาของท่านเป็นน้องสาวของหลวงพ่อสังฆ์เฒ่า
หลวงพ่อสังฆ์เฒ่านี้เป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น
น้ำลายที่ท่านถ่มถ้าถูกพื้นๆ จะแตก

เมื่อทางเจ้าเมืองระยองทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน
จึงนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเก๋งจีน (วัดจันทอุดม) จ.ระยอง
และได้สร้างพระเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น ก่อนที่จะไปอยู่วัดเก๋งจีนนั้น
หลวงพ่อสังฆ์เฒ่าได้ทิ้งตำราและวิทยาการต่างๆ ไว้ที่วัดละหารไร่ทั้งหมด
เพราะท่านไม่หวงแหนในวิชาของท่านแต่อย่างใด
ท่านกล่าวว่า “ใครมีปัญญาก็ค้นคว้าเอาเอง”
บรรดาตำราและวิทยาการต่างๆ หลวงพ่อสังฆ์เฒ่าได้ทิ้งไว้ที่วัดละหารไร่นี้เอง
ที่หลวงปู่ทิมก็ได้ใช้ศึกษาในเวลาต่อมา

เมื่อท่านพระครูภาวนาภิรัต หรือหลวงปู่ทิม มีอายุเจริญวัยได้ ๑๗ ปี
นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้ส่งเสีย และนำตัวของหลวงปู่ทิม
ไปฝากไว้กับพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดละหารไร่
ท่านได้เล่าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์สิงห์ เป็นเวลาประมาณ ๑ ปี
และมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจเขียนได้อ่านออกดีแล้ว
นายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่านจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์สิงห์
ขอตัวหลวงปู่ทิมให้กลับมาอยู่ที่บ้านเช่นเดิมเพราะไม่มีคนช่วย
หลวงปู่ทิมจึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน และหาเลี้ยงพ่อแม่
ตามวิสัยลูกที่ดี ผู้มีความกตัญญูกตเวที รู้จักปฏิบัติพ่อแม่มาด้วยดีตลอด

ในวัยหนุ่มของหลวงปู่ทิมนั้น ท่านเป็นคนคะนองเอาการอยู่
โดยท่านจะเป็นคนไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการยิงนกตกปลา
และออกเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่เพื่อนำไปขาย ซึ่งท่านทำไปด้วยความคึกคะนองประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งคือเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวของท่าน

จนเมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเป็นทหาร
และได้เข้าประจำการที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง ๔ ปีเศษ
จึงได้รับการปลดปล่อยกลับมาอยู่ที่บ้านตามเดิม
เมื่อกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน บิดาได้ให้ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

:b44: การอุปสมบท

หลวงปู่ทิม ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม
โดยมี พระคุณเจ้าท่านพระครูขาว วัดทับมา เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์
(พระอาจารย์ของท่านในขณะที่ท่านได้ศึกษาครั้งแรก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ ได้รับนามฉายาว่า อิสริโก แปลว่า ผู้มีคุณธรรมอันยิ่งใหญ่

เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ได้ ๑ พรรษา
ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์สิงห์นั้น
ท่านได้ค้นคว้าและศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้ตามตู้พระไตรปิฎกอย่างตั้งใจ
เพราะท่านมีความสนใจในทางปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่ทิม อิสริโก นับว่าเป็นพระอาจารย์ที่แปลกกว่าพระอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน
คือ ท่านต้องการฝึกฝนตนเองด้วยการออกไปหาประสบการณ์ด้วยการออกเดินธุดงค์
ซึ่งพระในรุ่นเดียวกันไม่มีใครคิดที่จะออกไปแสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างท่าน
เพราะต้องการศึกษาในทางพระปริยัติธรรมเท่านั้น

เมื่ออยู่ครบพรรษาแล้วท่านก็ได้ขออนุญาตและมนัสการกราบลาอาจารย์
ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา ๓ ปี จากนั้นท่านก็มาพิจารณาว่า
ท่านก็ได้ใช้เวลานานพอสมควรแล้ว จึงควรเดินทางกลับมาพักเสียที
เมื่อคิดดังนั้น ท่านก็เดินทางกลับมา จ.ชลบุรี
และท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนามะตูมเป็นเวลา ๒ พรรษา
ระหว่างนั้นท่านก็ได้เที่ยวร่ำเรียนวิชากับพระเถราจารย์หลายอาจารย์ด้วยกัน
รวมทั้ง ฆราวาส โยมเริ่ม โยมรอด และโยมสาย
นอกจากนั้นยังศึกษาตำราซึ่งตกทอดมาจากหลวงพ่อสังฆ์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีน
ซึ่งเป็นหลวงลุงแท้ๆ ของหลวงปู่ทิม เป็นเวลา ๒ ปีเศษ
และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดละหารไร่ (วัดไร่วารี) ตามเดิม
และท่านได้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์และอื่นๆ อีกหลายอาจารย์ด้วยกัน


:b44: ตำแหน่งทางคณะสงฆ์และสมณศักดิ์

วัดละหารไร่ เดิมชื่อวัดไร่วารี เพราะมีน้ำอยู่ล้อมรอบ และเป็นที่กันดารมาก
ถ้าใครได้หลงเข้าไป เป็นได้หลงป่าไปเลย ซึ่งแม้แต่หลวงปู่เองท่านยังต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปอยู่
ในสมัยนั้นทางรถก็ยังไม่มี จะมีก็แต่ทางเดินแคบๆ เท่านั้น
หลวงปู่ท่านจึงต้องพัฒนากันใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมในท้องถิ่นนั้น
คือได้มีชาวบ้านศรัทธาท่านมากถึงกับบวชเพื่อติดตามปรนนิบัติท่านถึง ๓ คน
คือ นายทัต นายเปี่ยม และนายแหยม
ซึ่งทั้ง ๓ คนนี้มีความสนใจในวิชาทางศาสนาเป็นอย่างมาก

เมื่อหลวงปู่ทิมมาอยู่วัดละหารไร่แล้ว ต่อมาคณะสงฆ์และญาติโยมชาวบ้าน
ได้พร้อมใจกันนิมนต์ หลวงปู่ทิม อิสริโก
ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ องค์ที่ ๖ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐

จากนั้นท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะ บูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง
พร้อมด้วยญาติโยมทั้งหลายก็มีความเลื่อมใสต่อท่านมาก
เพราะท่านเป็นพระที่เคร่งในธรรมะและวินัยเป็นที่น่าเคารพมาก

ต่อมาท่านจึงชักชวนญาติโยมชาวบ้านทั้งหลาย
ก่อสร้างอุโบสถขึ้น ๑ หลัง ทำด้วยไม้ ประมาณ ๑ ปีเศษก็แล้วเสร็จ
และผูกพัทธสีมาเรียบร้อยในระยะเวลาเพียง ๑ ปีเศษเท่านั้น
ปัจจุบันได้เลื่อนย้ายมาห่างจากที่เดิมประมาณ ๒๐ วา และบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม

และในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงปู่ทิมได้จัดให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ
เพื่อสอนกุลบุตรกุลธิดาของประชาชน โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่สอน
ต่อมาชาวบ้านเห็นดีด้วยกับการศึกษา
จึงร่วมมือกับหลวงปู่สร้างอาคารเรียนขึ้น ๑ หลัง ตามแบบ ป.๑ ข.
โดยใช้เวลาการก่อสร้างเพียง ๘ เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย
และเริ่มทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
โดยมี นายเสียน จันทนี เป็นครูใหญ่
ซึ่งปัจจุบันอาคารหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมและรื้อถอนไปไม่ได้ใช้แล้ว

ต่อมาท่านก็ชักชวนชาวบ้านช่วยกันพัฒนาก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง
สร้างหอฉันและศาลาการเปรียญสำเร็จด้วยเงินกว่า ๔ ล้านกว่า
งานของท่านก็ได้บรรลุถึงความสำเร็จโดยเรียบร้อยทุกประการ ด้วยผลงานดังกล่าว
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน
โดยส่งหมายและตราตั้งไว้ทางเจ้าคณะจังหวัดระยอง
แต่หลวงปู่ทิมก็ยังไม่ยอมไปรับ และไม่บอกใคร
ทางจังหวัดจึงได้มอบหมายให้เจ้าคณะอำเภอมามอบให้ที่วัดเอง
ท่านจึงได้รับเป็นพระครูทิม อิสริโก และได้รับเป็นพระคู่สวด

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร
และในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูภาวนาภิรัติ

ในครั้งแรกท่านไม่ใยดีกับยศตำแหน่งที่ทางการคณะสงฆ์ได้มอบให้
และถูกทางคณะสงฆ์เร่งรัดให้ท่านเดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด
ซึ่งท่านก็ไม่ไปรับ จนกระทั่งญาติโยมชาวบ้านรู้ข่าว
จำต้องพร้อมในกันจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศและตราตั้งมาถวายให้กับท่านถึงวัด
ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้ โดยมีนายสาย แก้วสว่าง
ในฐานะเป็นไวยาวัจกรและศิษย์ผู้ใกล้ชิด เป็นผู้นำคณะชาวบ้านไปรับพัดยศมาถวาย

หลวงปู่เป็นพระที่น่าเคารพและบูชาเป็นอย่างยิ่ง
ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในพระธรรมและวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และเป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส
ท่านฉันเช้าประมาณ ๗ โมงเช้า และฉันน้ำชาก็เวลา ๔ โมงเย็น
ถ้าเลยเวลาหลวงปู่ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ ๔๗ ปี
และเนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ท่านไม่ยอมฉันมา ๔๗ ปีแล้ว
แม้แต่น้ำปลาก็ไม่ฉัน อาหารที่ท่านฉันเป็น ผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน
น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้อยู่เป็นนิจตลอดมา
เนื้อหนังมังสาและผิวพรรณของท่านก็คงเป็นปกติอยู่ตามเดิม
พละกำลังของท่านก็แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะวาสนาบารมีของท่านที่เคยได้สร้างสมมาในชาติปางก่อน
จึงทำให้ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดและบริสุทธิ์ในพระธรรมและวินัย
ดำรงชีวิตในสมณเพศมาได้อย่างแข็งแรงและสมบูรณ์

ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นายธง สุขเทศน์ และพุทธศาสนิกชนชาวบ้านวัดละหารไร่
ได้ร่วมใจกันสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ โดยหลวงปู่ทิมมอบเงินให้เป็นทุนขั้นแรก
๓๐,๐๐๐ บาท ทำพิธีวางศิลากฤษเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕
ด้วยบารมีของหลวงปู่ทิม อุโบสถก็แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง ๑ ปีเศษเท่านั้น
และได้ขอพระราชทานวิสุงคามเสมา ทำพิธีฝังลูกนิมิตเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๗

ต่อมาหลวงปู่ทิมได้วางศิลาฤกษ์ ศาลาการเปรียญ “ภาวนาภิรัติ”
และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
จากนั้นได้สร้างและปรับปรุง หอฉัน “อุตตโม” ตามลำดับ

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ทิม อิสริโก ณ วัดละหารไร่ จ.ระยอง

รูปภาพ

รูปภาพ
รูปหล่อหลวงปู่ทิม อิสริโก ณ วัดละหารไร่ จ.ระยอง


:b44: บารมีของหลวงปู่ทิม

จาก...หนังสือที่ระลึกฉลองหอฉัน และฉลองอายุครบ ๘ รอบ
พระครูภาวนาภิรัต (ทิม) วัดละหารไร่ ระยอง ๑๐ มิ.ย. ๑๘
จากบันทึกของนายสาย แก้วสว่าง อดีตไวยาวัจกรวัดละหารไร่


บิณฑบาตที่ จ.ชลบุรี

มีผู้ชายคนหนึ่งอยู่ที่ จ.ชลบุรี อ.บางละมุง ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้
ได้มาเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อวานนี้ผมเห็นหลวงปู่ทิม ไปบิณฑบาตอยู่ที่เมืองชล
ผมจำได้เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นความจริง เพราะจำหลวงปู่ทิมได้
ผมก็ได้แต่นึกและก็ไม่กล้าตอบ แต่นึกว่าหลวงปู่ของเราจะเป็นไปได้หรือ
ผมจึงเก็บเอาเนื้อความนี้ไว้แต่ในใจและก็คุยกันเรื่องอื่นต่อไป
อยู่มาประมาณอีกสัก ๑๐ กว่าวัน ก็มีคนเมืองชลมาเล่าให้ผมฟังอีก
ก็เหมือนกับที่คนแรกเล่าให้ผมฟังทุกประการ
ผมจึงลองถามหลวงตาที่เป็นขรัวรองอยู่ที่วัดดู และเล่าเรื่องราวให้ท่านฟัง
ท่านตอบว่า อาตมาก็ไม่ทราบและไม่ได้สังเกตเพราะฉันจังหันต่างกัน
แต่ก็ปรากฏว่ามีอาหารแปลกปะปนอยู่เสมอ
แต่ก็อาจจะเป็นความจริงเพราะท่านเป็นพระที่สำเร็จญาณชั้นสูงอยู่แล้ว

ยิงไม่ถูก

มีชาวบ้านหนองละลอกคนหนึ่งชื่อ นายธง สุขเทศ
หรือชาวบ้านละแวกนั้นมักเรียกว่า ปลัดธง บ้านอยู่ไม่ห่างจากบ้านผมเท่าไรนัก
หลังจากที่ผมกลับจากทำงาน ก็อาบน้ำ จวนจะทานอาหารเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม
ปลัดผู้นี้ก็เริ่มจะทานอาหารเหมือนกัน หยิบจานอาหารมาวางและมีลูกสาวอยู่ใกล้ๆ
ผมก็กำลังทานอาหารอยู่ที่บ้าน ก็ได้ยินเสียงปืนระเบิดขึ้น ๒ จังหวะ
๔ นัด แล้ว ๓ นัดติดต่อกัน ปรากฏภายหลังว่า
ผู้ยิงพาดปืนกับขอบสังกะสีรั้วบ้านระยะประมาณ ๔ เมตร
แต่กระสุนมิได้ถูกนายธงเลย มีกระสุนไปถูกขาตั้งรถจักรยาน
ทำให้สะเก็ดบินไปโดนเด็กลูกสาวที่ขาบาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้คงเป็นเพราะอภินิหารเหรียญหลวงปู่ทิม รุ่นแรก
ซึ่งนายธงแขวนคออยู่เพียงเหรียญเดียว ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่า
ผู้ยิงใช้ปืนคาร์บิ้น ๒ กระบอก เพราะเก็บปลอกกระสุนได้แน่ชัด

ยิงไม่เข้า

มีคนเดินทางมาจากเมืองชล เล่าให้ผมฟังว่า
เพื่อนของเขาถูกยิงตอนเวลาหลังอาหาร ด้วยปืนลูกซองถึง ๙ นัด
เสื้อขาดทะลุถึงผิวหนังไหม้เกรียม แต่ไม่เข้า
ทั้งนี้ก็เพราะเขาได้ปลักขิกหลวงปู่ทิมกับลูกอม มาแขวนไว้เพียงไม่กี่วัน
และเรื่องเท่าที่ผมเห็นมาเกี่ยวกับปลักขิก ก็คือ
หลานของผมถูกสุนัขกัดจนเสื้อกางเกงขาดเป็นริ้วรอย ถึงกับล้มลงนอนร้องไห้
เมื่อผมวิ่งไปช่วยปรากฏว่าไม่มีรอยเขี้ยวสุนัขเลย
เด็กคนนั้นมีแต่เพียงปลักขิกของหลวงปู่ทิมแขวนอยู่ที่เอว ๑ อันเท่านั้น

น้ำมนต์เดือด

เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่วัดตะพงนอก อ.เมือง จ.ระยอง
ได้มีพิธีปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังหลวงพ่อจันทร์ เจ้าอาวาสวัดตะพงนอก
ในพิธีนี้ได้นิมนต์เกจิอาจารย์มาหลายรูปด้วยกัน และหลวงปู่ทิมก็ได้รับนิมนต์ด้วย
หลังจากเริ่มพิธีปลุกเสก หลวงพ่อต่างๆ ก็ได้ทำการปลุกเสก
ในพิธีนี้ ท่านอาจารย์รัตน์ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด ได้นำโอ่งใส่น้ำมนต์มาตั้งไว้
และนิมนต์หลวงปู่ทิมทำการปลุกเสกน้ำมนต์องค์เดียว ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
ปรากฏว่าน้ำมนต์ที่่อยู่ในโอ่งใหญ่ครึ่งโอ่ง พอหลวงปู่ลงมือปลุกเสก น้ำได้เดือด
และค่อยๆ ทวีความสูงขึ้นท่ามกลางความอัศจรรย์ของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก
ปรากฏว่าหลังจากพิธีแล้วเสร็จ น้ำมนต์ได้ถูกชาวบ้านแย่งเอาไปจนหมดสิ้น

แคล้วคลาด

นายจำลอง แห่งร้านทวีทรัพย์ ได้ชวนนายเพียรวิทย์ จารุสถิติ
และนายนิวัฒน์ แห่งร้านรุ่งเรืองมิตร ให้ไปหาหลวงปู่ทิมเพื่อนมัสการท่าน
ขากลับได้บูชาเหรียญ รูปถ่าย และปลักขิก
กลับมาได้ครึ่งทาง นายนิวัฒน์จึงชวนนายจำลองเพื่อขอลองของทั้ง ๓
จึงได้ทำการทดลองโดยทั้ง ๓ นำเอาเครื่องรางดังกล่าวอาราธนาแล้วแขวนกิ่งต้นไม้
นายจำลองได้ใช้ปืน .๒๒ ยิงในระยะห่างกันประมาณ ๑ คืบ ปรากฏว่ายิงไม่ถูก
นายนิวัฒน์จึงขอยิงบ้าง จ่อยิง ปรากฏว่าไม่ถูกอีกเช่นกัน
ทั้งคู่บอกว่าถ้าระยะนี้ยิงไม่ถูกก็ไม่ต้องใช้ปืนแล้ว เพราะทั้งคู่เป็นผู้ที่สนใจปืนอยู่แล้ว

ถ่ายรูปหลวงปู่ไม่ติดถ้าไม่ขออนุญาต

เมื่อคราวปลุกเสกของที่วัดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง
หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปนั่งปลุกเสกด้วย
มีช่าวภาพหนังสือพิมพ์ไปถ่ายรูปโดยไม่ขออนุญาตจากหลวงปู่ก่อน
ปรากฏว่ากดชัตเตอร์เท่าไรๆ ชัตเตอร์ก็ไม่ทำงาน
แต่พอนึกได้ เข้าไปขออนุญาตก็ติดและได้ภาพที่ชัดเจนดี

เสกตะกรุดใต้น้ำ

คุณป้าอยู่ งามศรี บ้านอยู่ใกล้ๆ วัดละหารไร่ และเป็นหลานของหลวงปู่ทิม
ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยหลวงปู่ทิมอายุประมาณ ๖๐-๗๐ ปี
เวลาท่านทำตะกรุด ท่านจะลงไปทำใต้น้ำ
โดยถือตะกรุดแล้วเดินลุยน้ำลงไปจากศาลาหน้าวัด มีผู้เห็นกันหลายคน
เมื่อหลวงปู่ทิมทำตะกรุดเสร็จ ก็เดินลุยน้ำขึ้นมา
ทุกคนประหลาดใจเพราะเนื้อตัวและจีวรของหลวงปู่ทิมหาได้เปียกน้ำไม่

เสกตะกรุดลอย

ท่านพระอาจารย์รัตน์ เจ้าอาวาสวัดหนองกระบอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ทิมเป็นพระที่มีพลังจิตกล้าแข็งมาก สามารถเสกจนตะกรุดลอยได้
ท่านเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งได้นิมมนต์พระอาจารย์ชื่อดังของ จ.ระยอง
มา ๔ รูปด้วยกัน มีหลวงพ่อหอม หลวงพ่ออ่ำ หลวงพ่อชื่น และหลวงปู่ทิม
ให้หลวงพ่อที่มาทั้ง ๔ รูปนำตะกรุดสาริกามาด้วย
แล้วนำลงใส่บาตร ให้หลวงพ่อทั้ง ๔ องค์นั่งล้อมรอบบาตร
และขอให้ท่านทุกองค์เรียกตะกรุดให้ลอยขึ้นจากบาตร
หลวงพ่อหอม เป็นผู้เรียกก่อนโดยนั่งบริกรรมอยู่พักหนึ่ง
แต่ก็ไม่ปรากฏว่าตะกรุดลอยขึ้นมา
จากนั้นหลวงพ่ออ่ำ และหลวงพ่อชื่น ก็ได้นั่งบริกรรมทำนองเดียวกัน
ตะกรุดก็ไม่ยอมลอยขึ้น จนถึงองค์สุดท้ายคือหลวงปู่ทิม
ท่านนั่งบริกรรมอยู่สักครู่ก็ปรากฏว่าตะกรุดลอยขึ้นมาจากก้นบาตร
หลวงพ่อหอม และท่านพระอาจารย์รัตน์ เจ้าอาวาสวัดหนองกระบอก
เห็นเช่นนั้นก็ตกใจ แล้วบอกว่าขอให้ช่วยทำให้วิ่งรอบบาตรด้วย
หลวงปู่ทิมก็นั่งหลับตาภาวนา ตะกรุดก็วิ่งอยู่รอบๆ บาตร
ท่ามกลางความตื่นตะลึงของพระสงฆ์ทุกองค์
และเรื่องนี้ได้เป็นที่โจษขานกันทั่วไปใน จ.ระยอง

อำนาจจิตอันกล้าแข็งของหลวงปู่ทิม

แม้แต่เครื่องปั่นไฟท่านก็สามารถบังคับให้หยุดได้โดยไม่ทราบสาเหตุ
คือ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่วัดละหารไร่ มีลิเกมาเล่น
พอลิเกกำลังจะออกแขกก็ปรากฏว่าไฟฟ้าดับพรึบลง
พอแขกเข้าโรงไฟฟ้าก็สว่างขึ้น เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง
จนต้องมีคนเตือนคณะลิเกให้ไปขออนุญาตหลวงปู่ทิมเสียก่อน
เมื่อไปขออนุญาตแล้วก็ปรากฏว่าไฟฟ้าที่เคยปิดๆ ดับๆ ก็ติดสว่างตลอดทั้งคืน

คาถาของหลวงปู่ทิม

(ตั้งนะโม ๓ จบ) “อิติสุคะโต อะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ
มะอะอุ ทุกขัง อนิจจัง อะนัตตา พุทโธ พุทโธ”
(๓ จบ)

หลวงปู่ทิมท่านว่าเป็นคาถาที่ดีและก็สั้น
พุทธานุภาพของคาถาบทนี้ก็สูงมาก อยู่ที่คนปฏิบัติ
ท่านยังกรุณาเล่าให้ฟังว่า มีใครคนหนึ่งที่อยู่ตลาด
มาปรับทุกข์ให้ท่านฟังว่า ขายของก็ไม่ดี
ทะเลาะกับเมียอยู่ที่บ้านแทบทุกวัน ญาติพี่น้องต่างเกลียดชัง
อยากจะขอคาถาให้เขารัก หลวงปู่จึงให้คาถาบทนี้ไป
ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้ ชายผู้นั้นมีความสุขแล้ว
จะไปไหนเมียก็ตามไปด้วย ญาติพี่น้องก็รักใคร่กันดี
ผมจึงมั่นใจว่าพุทธานุภาพในคาถาบทนี้
จะประสบผลสำหรับผู้ที่ปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอ
ถ้าผู้ใดได้รับคาถานี้ไป ขอให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ และคุณของหลวงปู่ทิม อิสริโก เป็นที่ตั้ง
ทุกอย่างก็จะอำนวยโชคพอสมควรกับบุญกรรมของบุคคลนั้น


:b44: การมรณภาพ

หลวงปู่ทิม อิสริโก ท่านได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา
เมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
ณ หน้าหอสวดมนต์ วัดละหารไร่ หลังจากที่ได้เข้ารักษาตัว
ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เป็นเวลา ๒๓ วัน
สิริอายุรวมได้ ๙๖ ปี พรรษา ๗๒


คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดพิธีสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ณ วัดละหารไร่
หลังจากทำบุญ ๑๐๐ วัน อุทิศส่วนกุศลให้กับหลวงปู่ทิมแล้ว
ได้เก็บศพไว้ที่ ศาลาการเปรียญ “ภาวนาภิรัติ” วัดละหารไร่
กระทั่งได้พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ของทุกปี วัดละหารไร่และคณะศิษยานุศิษย์
จะร่วมกันจัดงานวันระลึกถึงพระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม อิสริโก)
ซึ่งก็มีลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก


:b44: ประวัติความเป็นมาของ “วัดละหารไร่”

รูปภาพ

วัดละหารไร่ บ้านละหาร หมู่ที่ ๘ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๕๔
เกิดขึ้นโดย หลวงพ่อสังฆ์เฒ่า รองเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ ในขณะนั้น
เห็นว่าพื้นที่ทางฝั่งตรงด้านตรงข้ามทางด้านเหนือของวัดละหารใหญ่
มีทำเลดีเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผัก จึงได้เกณฑ์พวกลูกศิษย์ช่วยกันหักร้างถางพง
ใช้เป็นที่ปลูกพืชผักไว้ขบฉันกินเป็นอาหารในฤดูแล้ง
ในขั้นแรกได้ทำการสร้างที่พักร่มเงาเอาไว้
เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาก็จำพรรษาที่ วัดละหารใหญ่
ต่อมามีผู้คนได้ไปทำไร่ในแถบใกล้ๆ ที่นั้นมากขึ้น และเห็นว่ามีพระภิกษุอยู่
เมื่อถึงวันพระก็จัดทำภัตตาหารไปถวายเป็นประจำ
และต่อๆ มาได้มีพระภิกษุไปอยู่เพิ่มมากขึ้นๆ จึงได้ก่อสร้างกุฎิวิหารขึ้น

พระภิกษุก็จำพรรษาที่นั่นได้ แล้วตั้งชื่อว่า วัดละหารไร่ ตั้งแต่นั้นมา
โดยมีหลวงพ่อสังฆ์เฒ่า ไปเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ด้วยเหตุว่า การค้นคว้าหาประวัตินั้นลำบากมาก
เพราะเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว จึงได้อาศัยการเล่าสืบต่อกันมา
และหลักฐานบางประการที่พอจะสันนิษฐานได้เป็นเรื่องประกอบ

ในขณะที่ก่อตั้งวัดละหารไร่แล้วนั้น หลวงพ่อสังฆ์เฒ่าก็เป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่
จึงสันนิษฐานว่า ภายหลังต่อมานั้นเมื่อวัดละหารไร่มีพระภิกษุที่อาวุโสอยู่บ้างแล้ว
หลวงพ่อสังฆ์เฒ่าจึงมอบให้ปกครองกันเอง
โดยมอบหมายให้ หลวงพ่อแดง เป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ องค์ที่ ๒
ส่วนตัวท่านกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ตามเดิม
สืบต่อจากหลวงพ่อเฒ่าจันทร์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารใหญ่ ในสมัยนั้น
ภายหลังหลวงพ่อสังฆ์เฒ่าได้รับการนิมนต์จากเจ้าเมืองระยอง
ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเก๋งจีน (วัดจันทอุดม) จ.ระยอง

เหตุการณ์ต่อจากนั้นไม่มีใครทราบโดยละเอียด
แต่มีหนังสือบางเล่มอ้างว่า หลังจากหลวงพ่อแดงแล้ว
ได้มีเจ้าอาวาสวัดละหารไร่องค์ต่อๆ มา อีกหลายรูป คือ
หลวงพ่อเกิด หลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อจ๋วม ตามลำดับ

ครั้นต่อมาหลวงพ่อจ๋วม เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ องค์ที่ ๕ ได้ลาสิกขาไป
ทำให้วัดละหารไร่ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่เลยเป็นเวลา ๓ เดือน
ในขณะนั้น หลวงปู่ทิม งามศรี (ฉายา อิสริโก) ได้เดินทางกลับจาก จ.ชลบุรี
พุทธศาสนิกชนชาวบ้านวัดละหารไร่จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่ทิม
ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ องค์ที่ ๖ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐

หลังจากหลวงปู่ทิมได้ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะสงฆ์อำเภอบ้านค่าย จ.ระยอง ได้แต่งตั้ง
หลวงพ่อเชย ชยธัมโม เป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ องค์ที่ ๗ ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบัน
(ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ที่ พระครูวิจิตรธรรมาภิรัติ)
ต่อมาหลวงพ่อเชยได้ก่อสร้าง วิหารภาวนาภิรัต ขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ทิม
และได้ก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ อีกหลายอย่างภายในวัดเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสืบต่อไป

รูปภาพ
อุโบสถ วัดละหารไร่ จ.ระยอง

รูปภาพ
วิหารภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม อิสริโก) วัดละหารไร่ จ.ระยอง
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : เพจ ไหว้พระ


รูปภาพ
พระเถราจารย์ชื่อดังแห่งเมืองระยอง
แถวนั่งซ้ายมือสุด : หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่


รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงทั้ง ๕ ภาคในประเทศไทย
จัดแสดงคล้ายกับว่าพระมหาเถระทั้ง ๕ รูป มาทำการประชุมสงฆ์พร้อมกัน
ประดิษฐาน ณ หอสวดมนต์ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี

:b49: จากซ้าย : • หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม
• หลวงปู่ทิม อิสริโก (พระครูภาวนาภิรัต) วัดละหารไร่ จ.ระยอง
• หลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ วัดบางคลาน (วัดหิรัญญาราม) จ.พิจิตร
• หลวงพ่อทองคำ เมตฺตาวิหาโร (พระครูเมตตาวิหารคุณ)
วัดบึงบาประภาสะวัต (วัดบึงบา) จ.ปทุมธานี
• หลวงปู่สุภา กันตสีโล (พระมงคลวิสุทธิ์) วัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต


:b47: :b44: :b47:

:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล ::
๑. ประวัติพระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม อิสริโก) และวัดละหารไร่
จากเว็บไซต์วัดละหารไร่ http://www.watlahanrai.com/
๒. หนังสือที่ระลึกฉลองหอฉัน และฉลองอายุครบ ๘ รอบ
พระครูภาวนาภิรัต (ทิม) วัดละหารไร่ ระยอง ๑๐ มิ.ย. ๑๘
จากบันทึกของนายสาย แก้วสว่าง อดีตไวยาวัจกรวัดละหารไร่
๓. หนังสือประวัติ เกียรติคุณ และพระเครื่อง
หลวงปู่ทิม อิสริโก (พระครูภาวนาภิรัติ วัดละหารไร่ ระยอง)


:b49: :b50: บารมีของ “หลวงปู่ทิม อิสริโก” แห่งวัดละหารไร่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=53042

:b49: :b50: ประวัติความเป็นมาของ “วัดละหารไร่” (วัดไร่วารี) จ.ระยอง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=56158

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2014, 21:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b16:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2015, 13:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2018, 13:52 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุการค่ะ
น้อมกราบองค์หลวงปู่ทิม อิสริโก
พระอริยสงฆ์แห่งวัดละหารไร่เจ้าค่ะ

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร