วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มี.ค. 2013, 11:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
รูปหล่อสมเด็จเจ้าแตงโม (ทอง) ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ
วัดใหญ่สุวรรณาราม วรวิหาร เบื้องหน้าด้านขวาขององค์พระประธาน



ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จเจ้าแตงโม

วัดใหญ่สุวรรณาราม วรวิหาร
ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี



สมเด็จเจ้าแตงโม เดิมชื่อ ทอง
เป็นชาวนาหนองหว้า กำพร้าพ่อแม่แต่เล็กอยู่กับพี่สาว
พี่สาวใช้ให้ตำข้าว หาฟืนทุกวัน วันหนึ่งตำข้าวหก
พี่สาวคว้าฟืนไล่ตีเลยวิ่งหนีเอาตัวรอด (อายุประมาณ ๙-๑๐ ขวบ)
แล้วระเหระหนเข้าเมืองเที่ยวตุหรัดตุเหร่เข้าหมู่ไปตามฝูงเด็กๆ
จนมีเพื่อนเล่นเพื่อนเที่ยวมาก เช่น เด็กบ้าน เด็กวัด

เด็กทองนี้ได้เที่ยวอดๆ อยากๆ
อาศัยแต่น้ำประทังความหิวไปวันหนึ่งๆ ด้วยความอดทน
วันหนึ่งลงเล่นน้ำกับเด็กวัดใหญ่ที่ท่าหน้าวัด มีเปลือกแตงโมลอยน้ำมา ๑ ชิ้น
ด้วยความหิวจึงคว้าเปลือกแตงโมได้แล้วก็ดำน้ำลงไปเคี้ยวกินแล้วโผล่ขึ้นมา
เพื่อเด็กที่เล่นน้ำด้วยกันรู้ว่าเด็กทองกินเปลือกแตงโม
ก็พากันเย้ยหยันต่างๆ ว่าจะกละกินเปลือกแตงโม จึงได้พากันเรียกว่า เด็กแตงโม

ถึงอย่างไรก็ดี เด็กทองก็ไม่แสดงความเก้อเขินขัดแค้นต่อเพื่อเด็กด้วยกัน
คงยิ้มแย้มแจ่มใสพูดจาเล่นหัวตามเคย
ตั้งแต่วันนั้นมาก็กระจ๋อกระแจ๋กับเด็กวัดใหญ่ จนได้เข้าไปเล่นหัวอยู่ในวัดกับเพื่อน
ทั้งได้ดูเพื่อนเขาเขียนอ่านกันอยู่เนืองๆ แล้วก็เลยนอนค้างอยู่กับเพื่อในวัดด้วยกัน

วันหนึ่งเป็นพิธีมงคลการ เจ้าเมืองได้นิมนต์สมภารไปสวดมนต์เย็น
ครั้นเสร็จแล้วกลับวัด พอตกเวลากลางคืนสมภารจำวัดตอนใกล้รุ่ง
ฝันว่า ช้างเผือกตัวหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในวัด แล้วขึ้นไปบนหอไตร
แทงเอาตู้พระไตรปิฎกล้มลงหมดทั้งหอ


ครั้นตื่นจากจำวัดท่านก็นั่งตรองความฝัน
จึงทราบได้โดยตำราลักษณะสุบินทำนาย
พอได้เวลาท่านจะไปฉันที่บ้านเจ้าเมือง ท่านสั่งกับพระเผ้ากุฏิว่า
ถ้ามีใครมาหาให้เอาตัวไว้ก่อนรอจนกว่าจะพบท่าน แล้วท่านก็ไปฉัน

ครั้นเสร็จแล้วกลับมาวัดถามพระว่ามีใครมาหาหรือเปล่า
พระตอบว่าไม่มีใครมาหา ท่านจึงคอยอยู่จนเย็นก็ไม่เห็นมีใครมา
จึงไต่ถามพระสามเณรศิษย์ว่าเมื่อคืนมีใครแปลกหน้าเข้ามาบ้างหรือเปล่า
เด็กวัดคนหนึ่งเรียนว่า มีเด็กทองเข้ามานอนด้วยคนหนึ่ง
ท่านจึงได้ให้ไปตามตัวมา ครั้นเด็กทองมาแล้ว
ท่านจึงได้พิจารณาดูรู้ว่าเด็กทองนี้เองที่เข้าสุบิน
ท่านจึงไต่ถามเรื่องราวต่างๆ จนได้ความตลอดแล้ว
จึงชักชวนให้อยู่ในวัดมิให้ระเหระหนไปไหน

ธรรมเนียมวัดแต่โบราณ เมื่อใครพาเด็กให้มาเล่าเรียนแล้ว
มักจะปล่อยให้เล่นหัวกันเสีย ให้คุ้นเคยสัก ๒-๓ เวลาก่อน จึงจะให้ลงมือเขียนอ่าน
พอถึงวันกำหนดท่านจึงเรียกเด็กทองให้เขียนหนังสือ
เด็กทองก็เขียนได้ตั้งแต่ ก, ข, ก. กา, ไปจนถึงเกยตลอดจนอ่านหนังสือพระมาลัยได้
ท่านมีความประหลาดใจจึงถามว่าเจ้ารู้มาจากไหน
เด็กทองบอกว่ารู้ที่วัดนี้เอง เพราะดูเพื่อนเขาเขียนเขาอ่านจึงจำได้
ท่านสมภารจึงได้ให้บวชเป็นเณร หัดเทศน์ธรรมวัตรและมหาชาติ และเรียนอรรถแปลบาลีด้วย

ครั้นเทศกาลเข้าพรรษา เจ้าเมืองให้ท่านสมภารเทศน์ไตรมาส
วันหนึ่งท่านสมภารไม่สบาย จึงให้สามเณรแตงโมไปแทน
ครั้นสามเณรแตงโมไปถึง เจ้าเมืองเห็นเข้าก็ไม่ศรัทธา
จึงบอกว่าเมื่อพ่อเณรมาแล้วก็เทศน์ไปเถิด แล้วกลับเข้าไปในห้องเสีย

สามเณรแตงโมก็ขึ้นเทศน์ พอตั้งนะโมแล้วเดินบทจุลนีย์
เริ่มทำนองธรรมวัตรสำแดงไป ผู้ทายกทั้งข้างหน้าข้างในได้ฟังเพราะจับใจ
ทั้งกระแสเสียงก็แจ่มใส เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธคุณมีพระอรหังเป็นต้น
เสียงสาธุการและพนมมือแลเป็นฝักถั่วไปทั้งโรงธรรม

ท่านเจ้าเมืองฟังอยู่ข้างในถึงกับนั่งอยู่ไม่ได้ จึงต้องกลับมานั่งฟังข้างนอกอย่างเคย
และเพิ่มเครื่องกัณฑ์ติดเทียนขึ้นอีก เมื่อเทศน์จบแล้ว
โดยความเลื่อมใสเข้าไปประเคนของและซักไซ้ไต่ถามเหตุผลว่า
อยู่ที่ไหน แล้วปวารณาเป็นโยมอุปัฏฐากอาราธนาให้มาแทนสมภารต่อไปว่า
ท่านแก่เฒ่าชราอาพาธอย่าให้มาประดักประเดิดเลย
ขอให้พ่อเณรมาเทศน์แทนท่านเถิด ต่อนั้นไปสามเณรแตงโมก็มาเทศน์แทนเสมอ

สามเณรแตงโมนี้ได้เล่าเรียนศึกษายังอาจารย์ที่มีอยู่ในอารามต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี
การศึกษาเช่นทางพระปริยัติธรรมและข้อกิจวัตรปฏิบัติจนสิ้นความรู้ของท่านสมภารในสมัยนั้น
ท่านสมภารจึงได้พาตัวสามเณรแตงโมเข้ากรุงศรีอยุธยา
ไปฝากไว้ต่อคุณวัดหลวงแห่งหนึ่งได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนจบพระไตรปิฎก
นับได้ว่าเป็นเปรียญแล้ว ได้อุปสมทบเป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จนเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดันนับถือ
โปรดให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือพระราชบุตร พระราชนัดดา
ให้เสด็จมาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา ปฏิบัติในคัมภีร์พระไตรย์เภธางค์สาตร์
นัยว่ากาลภายหลังมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นได้เสด็จเสวยราชย์แล้ว
โปรดตั้งพระอาจารย์แตงโม เป็นพระราชาคณะที่ พระสุวรรณมุนี
ซึ่งปรากฏในฝูงชนภายหลังเรียกกันว่า สมเด็จเจ้าแตงโม


เมื่อท่านได้มั่งคั่งด้วยสมณศักดิ์ฐานันดรแล้ว
ภายหลังต่อมาท่านคิดถึงภูมิลำเนาบ้านเกิดเดิม
และวัดอันเป็นสถานมูลศึกษาของท่าน จึงได้ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
ว่าจะออกไปปฏิสังขรณ์พระอารามที่เคยอยู่พำนักอาศัยเป็นการบำเพ็ญพุทธบูชา
ก็ทรงอนุญาตอนุโมทนาแล้วถวายท้องพระโรงในพระราชวังองค์หนึ่งเป็นการช่วย

เจ้าคุณอาจารย์ท่านได้นำมาประดิษฐานเป็นศาลาการเปรียญไว้ในวัดใหญ่นั้น
ตัวไม้และเสาไม้ใหญ่งามมาก ลวดลายที่เขียนและลายสลักก็เป็นฝีมือโบราณ
บานประตูศาลาการเปรียญสลักงามเป็นลายก้านขดปิดทองอย่างวิจิตร
สมเด็จเจ้าแตงโม ได้ให้ช่างหล่อรูปท่านไว้รูปหนึ่ง แต่พระยาดำรงราชานุภาพว่า

“ของสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้น คือรูปพระสงฆ์หล่อเท่าตัวคนนั่งพับเพียบพนมมือ
ฝีมือที่ปั้นและหล่อเหมือนคน ดีกว่ารูปของท่านขรัวโต
หรือรูปสมเด็จพระราชาคณะที่ได้เคยเห็นในที่อื่นๆ
รูปนั้นเขาเรียกกันว่ารูปสมเด็จเจ้าแตงโม
คือท่านผู้ที่สร้างวัดใหญ่นี้...รฤกถึงชาติภูมิจึงออกมาสร้างวัดที่เมืองเพชรบุรี ๒ วัด
คือ วัดหนองหว้าวัด ๑ และวัดใหญ่นี้วัด ๑ ทำเท่ากันเหมือนกัน
แลยังปรากฏอยู่ด้วยกัน จนตราบเท่าทุกวันนี้ทั้ง ๒ วัด
วัดใหญ่นั้นมีนามใหม่เรียกว่า วัดสุวรรณาราม ตามชื่อของสมเด็จสังฆราชองค์นั้น
และราษฎรพากันนับถือจึงให้ช่างจีปั้นรูปหล่อสังฆราชทองในเวลาท่านออกมาเมืองเพชรบุรี
แล้วหล่อไว้สักการบูชาตราบเท่าจนกาลบัดนี้
รูปสมเด็จเจ้าแตงโมนี้มีเวลาเอาออกแห่งเป็นครั้งคราว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัย
เกี่ยวกับสมณศักดิ์ของสมเด็จเจ้าแตงโมไว้ในพระราชหัตถเลขา
เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีใน ร.ศ. ๑๒๘ ฉบับที่ ๕ ว่า

“...มีรูปเจ้าอาวาสเดิมซึ่งว่าเป็นผู้ปฏิสังขรณ์นั่งประนมมือถือดอกบัวตูมอยู่รูปหนึ่ง
ทำด้วยความตั้งใจจะให้เหมือนฝีมือดีพอใช้
ตั้งหน้าเรียนพระปริยัติธรรมจนได้เป็นพระราชาคณะ
แล้วจึงกลับออกมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ บางปากกล่าวว่าภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช
เป็นที่น่าสงสัยอยู่บ้างว่ากลัวจะหลงที่สังฆราช
ด้วยตำแหน่งพระครูเมืองเพชรบุรี ๕ อย่างเดียวกันกับเมืองนครศรีธรรมราช
เมืองสงขลา เมืองพัทลุง แต่ตามหนังสือเก่าๆ เขานับว่าเป็นพระราชาคณะทั้งนั้น
ชะรอยครู ๕ องค์นี้จะเป็นพระสังฆราชาองค์หนึ่ง
เช่น พระพากุลเถรเป็นพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี
เพชรบุรีนี้ในเวลานั้นน่าที่พระครูสุวรรณมุนีเป็นสังฆราชา
ท่านสมเด็จเจ้าแตงโมนี้จะเป็นพระครูสุวรรณมุนีเสียดอกกระมัง
จึงได้ชื่อวัดเพิ่มขึ้นว่า วัดใหญ่สุวรรณาราม ทุกวันนี้พระครูสุวรรณมุนีก็ยังเป็นเจ้าคณะอยู่”


พระยาปริยัติธรรมธาดาได้เขียนบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เกี่ยวกับสมเด็จเจ้าแตงโมว่า

“...ท่านให้หล่อรูปท่านไว้รูปหนึ่ง เรื่องหล่อรูปนี้เล่าว่าช่างปั้นหุ่นแสนยากทำไม่เหมือนได้เลย
มาได้ตาแป๊ะหลังโกงคนหนึ่งเป็นช่างปั้นอย่างเอก
หล่อเอาเหมือนมิได้เพี้ยนผิด ท่านจึงให้หล่อรูปตาแป๊ะไว้เป็นที่ระลึกด้วย
รูปหล่อนั้นนั่งพับเพียบประนมมือถือดอกบัวๆ นั้น
ถ้าเป็นของเดิมคงแปลว่านั่งทำพุทธบูชาเวลาไหว้พระ
ลักษณะรูปทรงสัณฐานของท่านเป็นสันทัดคนทรงสูงๆ ปากแหลมอย่างเรียกว่าปากครุฑ
ถ้าใครเคยเห็นสมเด็จพระวันรัตแดงวัดสุทัศน์
อาจกล่าวว่ามีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกันได้
ในโบสถ์วัดใหญ่นั้นยังมีของเป็นพยานสำคัญอยู่อีกสิ่งหนึ่ง
คือฝาบาตรมุกซึ่งเจ้าอธิการวัดได้รักษาต่อๆ กันมาใส่ตู้กระจกโดยความเคารพนับถือ
จารึกชื่อไว้ว่าฝาบาตรของสังฆราชทอง...เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดใหญ่นั้น
เล่าว่าท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดหนองหว้าซึ่งเป็นวัดอยู่ในตำบลชาติภูมิของท่านด้วย
บานประตูวัดหนองหว้านั้นก็สลักเสลาลวดลายวิจิตรบรรจง
จนบางคนมาเห็นบานประตูวัดสุทัศน์ลายสลักเครือไม้นกเนื้อสลับซับซ้อนกันหลายชั้น
ที่วัดใหญ่เป็นลายสลักชั้นเดียว ถึงวัดหนองหว้าก็คงเป็นชั้นเดียว
บานประตูวัดสุทัศน์ หนังสือพระราชวิจารณ์กล่าวชัดเจนเสียแล้ว
ว่าเป็นของรัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างซึ่งคนทั้งหลายเคยพิศวงว่าเอามาแต่ที่โน่นที่นี่นั้นผิดหมด


พระราชพงศาวดาร แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“...จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคสถลมารค
ขึ้นไปนมัสการพระพุทะบาทตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน
แล้วทรงพระกรุณาให้ช่างพนักงานจัดการยกเครื่องบนพระมณฑปพระพุทธบาทขณะนั้น
สมเด็จพระสังฆราช ตามเสด็จขึ้นไปช่วยเป็นแม่งานด้วย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระทัยปราโมทย์ยิ่งนัก
จึงทรงพระกรุณามอบการทั้งปวงถวายให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่งาน
แล้วก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร...”


และต่อมาเมื่อครั้งนั้นหลังคาพระมณฑปเป็นหลังคาเหมือนวัดพนัญเชิง
อยู่มาสมเด็จเจ้าแตงโม จึงถวายพระพรแก่สมเด็จพระบรมกระษัตราธิราชเจ้าว่า
จะล้างหลังคาลงเสียจะทำยอดพระมณฑปขึ้นไว้
สมเด็จพระบรมกระษัตราธิราชเจ้าจึงโปรดให้ขึ้นมาดูแล
แต่โบราณมามีต้นไม้ต้น ๑ ใหญ่ประมาณ ๓ อ้อม มีดอกเท่าฝาบาตร
ครั้นเพลาเช้าเพลาเย็นบาน กลางวันตูม
เมื่อจะบานนั้นหันหน้าดอกเข้าไปข้างพระมณฑปทุกเพลา
มีสัณฐานดอกนั้นเหมือนดอกทานตะวัน ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าแตงโมทำมณฑปขึ้นไป
ว่าต้นไม้นั้นกีดทรงพระมณฑปอยู่ จึงฟันต้นไม้นั้นเสีย
แต่วันนั้นไป ท่านสมเด็จพระเจ้าแตงโมก็ตั้งแต่ลงโลหิตไปจนเท่าวันตาย

สมเด็จเจ้าแตงโมถึงแก่มรณภาพปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน
แต่ชีวประวัติและผลงานของท่านในจังหวัดเพชรบุรี
ที่วัดใหญ่สุวรรณารามและวัดหนองหว้า รู้จักกันแพร่หลายมาแต่โบราณ
(ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ และของบุคคลอื่นๆ)
จนถึงปัจจุบัน นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังเป็นที่เชิดชูชื่อเสียงของวัดใหญ่สุวรรณารามและจังหวัดเพชรบุรีอีกทางหนึ่งด้วย


“มีเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้า ชาวต่างประเทศ เมื่อไปเที่ยวเมืองเพชรบุรี
ได้ไปชมศาลาการเปรียญ และรูปสมเด็จเจ้าแตงโมมิได้ขาด”

ปัจจุบันมีเจ้านาย ข้าราชการ นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา นักเรียน
ตลอดจนประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ได้ไปชมโบราณวัตถุโบราณสถานที่วัดใหญ่สุวรรณารามมิได้ขาดเช่นกัน

รูปภาพ
พระประธานในพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณาราม วรวิหาร จ.เพชรบุรี

รูปภาพ
หลวงพ่อหกนิ้ว หรือ “พระหิ้วนก” ซึ่งนิ้วพระบาทเฉพาะข้างขวามี ๖ นิ้ว
ประดิษฐานอยู่เบื้องหลังพระประธานในพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณาราม วรวิหาร



อ่านเรื่องราวของ “หลวงพ่อหกนิ้ว” คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39898

:b53: :b53:

ที่มาของข้อมูล
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร