วันเวลาปัจจุบัน 10 ก.ย. 2024, 14:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2013, 17:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระภาวนาวิศาลเถร
(หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)


วัดสระประสานสุข (วัดบ้านนาเมือง)
บ้านนาเมือง ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


• ชาติภูมิ

“พระภาวนาวิศาลเถร” หรือ “หลวงปู่บุญมี โชติปาโล” มีนามเดิมว่า บุญมี นามสกุล กุศลคุณ เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๒ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา ซึ่งตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา ณ บ้านเลขที่ ๑๓๖ หมู่ที่ ๒ บ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ นายกุ กุศลคุณ โยมมารดาชื่อ นางเลื่อน กุศลคุณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๐ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนโต มีรายชื่อตามลำดับดังนี้

(๑) พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)
(๒) นางสมบูรณ์ มูลมั่ง
(๓) นายเผ่า กุศลคุณ
(๔) นางสอน เนื่องเฉลิม
(๕) นายเลิศ กุศลคุณ
(๖) นางก้าน กุศลคุณ
(๗) นายเผย กุศลคุณ
(๘) นางอูบแก้ว ยอดกุล
(๙) นางคําหล้า ทัศนาลักษณ์
(๑๐) นางคํามั่น แก้วตา

หลวงปู่บุญมีท่านเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่ชื่อว่า บุญมี นั้น มีอยู่ว่า ก่อนที่โยมมารดาของท่านจะตั้งครรภ์ ได้ฝันว่า หลวงปู่สีทา ชยเสโน ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของหลวงปู่ได้เอาพร้ามาให้ แต่พร้าด้ามนั้นเป็นสนิมไปหมด ในนิมิตนั้นโยมมารดาท่านได้ถามหลวงปู่สีทาว่า “เอาพร้าขี้เมี่ยง (เป็นสนิม) นี้มาให้ทำไม ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้”

หลวงปู่สีทาได้บอกว่า “ให้เอาไปฝน (ลับมีด) เสียก่อนจึงจะใช้การได้”

เมื่อโยมมารดาจะคลอด ก็เกิดอาการเจ็บท้อง (เจ็บครรภ์) อยู่นานเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ความทราบถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สีทา ชยเสโน พระองค์จึงได้เสด็จพร้อมกับหลวงปู่สีทา ชยเสโน มาเยี่ยมดูอาการโยมมารดาว่าเป็นเพราะอะไรจึงคลอดยากเย็นหนักหนา ครั้นถึงเวลาเที่ยงตรง ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาเหมือนในปัจจุบัน มีการบอกเวลาโดยการยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณ พอสิ้นเสียงปืนใหญ่ โยมมารดาก็คลอดทารกเพศชายออกมาเป็นเวลาเที่ยงพอดี และเสด็จในกรมทรงมีรับสั่งว่า “เด็กชายคนนี้ชะรอยจะเป็นผู้มีบารมีมาเกิด จะดีจะชั่วเพียงใดก็ไม่อาจรู้ได้ ขอให้ชื่อว่า บุญมี นะ” และมีรับสั่งให้โยมบิดาของหลวงปู่ห่อพันตัวแล้วนำไปลอดใต้ท้องช้าง กลับไปกลับมา ๓ ครั้งเพื่อเป็นสิริมงคล หลวงปู่จึงได้ชื่อว่า “บุญมี” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หลวงปู่บุญมีในวัยเด็กนั้นมีสุขภาพร่างกายบอบบาง ไม่แข็งแรง เป็นเด็กที่เลี้ยงยาก เจ็บไข้อยู่บ่อยๆ สามวันดีสี่วันไข้ตลอดเวลา จนชาวบ้านที่ผ่านไปมาที่เป็นหญิงจะแวะเวียนเอานมมาให้กินเพราะสงสาร รวมทั้งเอาด้ายมาผูกคอและแขนให้เป็นจำนวนมากมาย เพื่อหวังให้สุขภาพร่างกายของเด็กชายบุญมีแข็งแรงยิ่งขึ้น ผีจะได้ไม่มารบกวน แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลมากนัก จากคําบอกเล่าของนางคํามั่น แก้วตา ผู้เป็นน้องสาวคนสุดท้อง เล่าว่า “หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ตอนเมื่อเกิดมานั้น มีผิวที่บอบบางมาก มองเห็นฮอดใส้ในท้อง ตัวกะน้อย”

แม้โยมมารดาได้ประคับประคองเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเป็นห่วงลูกอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นคนไม่ค่อยแข็งแรง ไม่อยากให้ไปทำมาหาเลี้ยงชีพที่เป็นงานหนักและอยู่ห่างไกล จึงบอกหลวงปู่ว่า “ลูกเอ๋ยบวชแล้วอย่าสึกนะ” จากคำพูดนี่เอง ทำให้หลวงปู่บุญมีรำลึกอยู่เสมอว่า จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่

• การศึกษา

หลวงปู่บุญมี ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม ตลอดจนการศึกษาพิเศษ ดังนี้

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ จบชั้นประโยคประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาลบ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก (น.ธ.เอก) จากสำนักเรียนวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ด้านการศึกษาพิเศษ หลวงปู่บุญมียังได้ศึกษาเล่าเรียนอักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อย (ลาว) จนเกิดทักษะ มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างชำนาญ นอกจากนั้นหลวงปู่ยังมีความสามารถทางด้านการใช้ภาษาผญา ภาษิตอีสาน เป็นอย่างดี สามารถนำเอามาใช้ในทางเทศนาธรรมและคำสอนของหลวงปู่ จนเป็นที่ประทับใจและสร้างศรัทธาแก่ลูกศิษย์ลูกหาที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาทุกคน เช่น “ทางเป็นเค้าอย่ากวดหนามปก อย่าไปเทียวทางฮกป่าดงเสือฮ้าย เสือบายเจ้าบ่มีผู้ซ่อย บัดห่าจ่อยบ่มีผู้ซ้ำผู้แล”, “ให้เจ้าฟันเฮือไว้หลายลำแฮท่า ให้เจ้าหม่าข่าวไว้หลายมื้อแขกสิโฮม” และ “ไฟไหม้ป่าจั่งเห็นหน้าหนู ฝนตกมาจั่งเห็นกะปู” ฯลฯ

รูปภาพ
หลวงปู่สีทา ชยเสโน วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี
หลวงลุงของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล


รูปภาพ
พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีทอง
หรือวัดศรีอุบลรัตนาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล



• การบรรพชาและการอุปสมบท

ในขณะเรียนชั้นประถมศึกษา โยมมารดาได้พาหลวงปู่บุญมีไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดกับหลวงปู่สีทา ชยเสโน (ซึ่งเป็นหลวงลุง) ณ วัดบูรพา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ท่านได้มีโอกาสกราบนมัสการรับใช้ใกล้ชิดพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านอาจารย์ทั้งสองได้แวะเวียนมากราบนมัสการเยี่ยมหลวงปู่สีทา ชยเสโน พระอุปัชฌาย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระในสมัยนั้น อยู่เสมอ

เมื่อสิ้นหลวงปู่สีทา ชยเสโน ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ โยมมารดาจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี และในระหว่างบรรพชาเป็นสามเณรนั้น พระอาจารย์มั่นได้เมตตานำสามเณรบุญมีติดตามไปจำพรรษาที่จังหวัดสกลนครด้วย สามเณรบุญมีจึงมีโอกาสได้เรียนรู้ ซึมซับปฏิปทาจริยาวัตรของพระวิปัสสนาจารย์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เยาว์วัย ถือได้ว่าท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง

เมื่ออายุครบ ๒๒ ปี หลวงปู่บุญมีได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๙๓ และตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันวิสาขบูชา โดยมี พระเดชพระคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาสว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพ็ง เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “โชติปาโล” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างในธรรม”

รูปภาพ
ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉันโน


• ช่วงชีวิตสมณเพศ

หลังจากอุปสมบท หลวงปู่บุญมีได้มีโอกาสกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ผู้มีคุณูปการต่อกิจการคณะสงฆ์ภาคอีสาน และท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้เมตตาต่อหลวงปู่บุญมี โดยอนุญาตให้ติดตามท่านไปอยู่จำพรรษา ณ วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และวัดเขาพระงาม (วัดสิริจันทรนิมิต วรวิหาร) ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี อีกด้วย

ในช่วงชีวิตสมณเพศของหลวงปู่บุญมี ท่านได้ออกจาริกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งท่านได้ออกจาริกไปพร้อมกับพระอาจารย์มหาสว่าง ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน โดยจาริกไปประเทศพม่า ลาว เวียดนาม และเลยไปถึงประเทศจีน เมื่อกลับจากประเทศจีน หลวงปู่บุญมีท่านได้ช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม สร้างวัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อีกวัดหนึ่ง

นอกจากนี้หลวงปู่บุญมียังได้มีศรัทธาร่วมสร้างวัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับท่านพ่อลี ธัมมธโร เพื่อเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐานแก่พุทธศาสนิกชน และยังได้ร่วมกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สร้างวัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ รวมทั้งได้ร่วมกับพระอาจารย์ดี ฉันโน สร้างวัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี อีกวัดหนึ่งด้วย

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ หลวงปู่บุญมีเดินทางกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข โดยท่านได้ทำการพัฒนาก่อสร้างวัดสืบต่อจากพระเดชพระคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นผู้นำพาในการสร้างวัดสระประสานสุขและเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน หลวงปู่บุญมีได้พัฒนาวัดสระประสานสุขซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงทั่วไปเรื่อยมาตามลำดับ

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2013, 18:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) วัดสระประสานสุข


• ผลงานด้านการพัฒนาวัด

วัดสระประสานสุข เดิมชื่อ วัดบ้านนาเมือง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๕ กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ โดยการนำพาของพระเดชพระคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานและเป็นหัวหน้านำชาวบ้านญาติโยมก่อสร้างมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งหลวงปู่บุญมีได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข รูปที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ สืบต่อจากพระอาจารย์ทองดี เจ้าอาวาสรูปแรก ท่านจึงได้เริ่มวางแผนและดำเนินการพัฒนาวัดโดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านญาติโยมผู้เลื่อมใสศรัทธาจนมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ วัดมีเนื้อที่ประมาณ ๗๕ ไร่

ผลงานด้านการพัฒนาวัดสระประสานสุข ที่หลวงปู่บุญมีได้ริเริ่มและดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด เพื่อให้วัดเป็นศาสนสถานที่เป็นแหล่งรวมใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มีดังนี้

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ หลวงปู่บุญมีได้เป็นผู้นำศรัทธาชาวบ้านก่อสร้างศาลาการเปรียญ ขนาดใหญ่ ในลักษณะทรงปั้นหยา ภายในประดิษฐานพระประธานปางนาคปรกขนาดใหญ่ และรูปหล่อเหมือนพระเถราจารย์ชื่อดังอีกหลายองค์ ที่หลวงปู่เป็นผู้นำศรัทธาชาวบ้านหล่อไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บูชาสักการะ

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ หลวงปู่บุญมีได้ออกแบบและเป็นประธานในการก่อสร้างอุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ อันมีความหมายว่า จะเป็นพาหนะที่จะพาบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีใจเป็นกุศลข้ามห้วงมหาสมุทรแห่งวัฏฏสงสารสู่ดินแดนมหานิพพานในที่สุด ซึ่งอุโบสถที่หลวงปู่บุญมีได้สร้างขึ้นนี้ มีความสวยงาม ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่า แปลกกว่าที่วัดอื่นๆ เพราะเป็นอุโบสถอยู่บนเรือสุพรรณหงส์ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ ส่วนด้านหน้าอุโบสถประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่บุญมี โชติปาโล หากเข้าประตูวัดมาจะเป็นด้านหลังอุโบสถ ก่อให้เกิดความศรัทธาปสาทะแก่ญาติโยมที่ได้เข้ามาทำบุญ ณ วัดสระประสานสุข เป็นอย่างยิ่ง

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ หลวงปู่บุญมีได้นำคณะศิษยานุศิษย์สร้างหอระฆัง ๕ ชั้น ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดง โดยมีนายชุ่นเลี้ยง แซ่ล้อ และนางโชจิร แซ่เตียว (เสี่ยบุญชัย) รับเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง

วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ ทำพิธีเพื่อสร้างวิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช เวลาเที่ยงตรง และเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ ทำพิธีตอกเสาเข็มเวลาเที่ยงตรงวิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช เป็นวิหารกลางน้ำบนนาคราชรูปร่างคล้ายเรือ ส่วนหัวเป็นนาคราช ๕ เศียร โดยทางเดินเข้าวิหารกลางน้ำเป็นทางเดินด้านหางของนาคราช ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดและมีปลาอาศัยอยู่ในสระน้ำใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยพุทธศาสนิกชนได้นำมาปล่อยไว้ ซึ่งหลวงปู่บอกว่าไม่อยากให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงไม่มีใครนำปลาที่สระน้ำใหญ่ไปกิน ทำให้ปลามีปริมาณมาก อีกทั้งทางวัดได้จัดบริการให้อาหารปลาแล้วแต่ผู้มาทำบุญจะบริจาค

นอกจากนี้แล้วหลวงปู่บุญมียังได้สร้างศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดสระประสานสุข คือ วิหารโชติปาโล, กุฏิโชติปาโลนุสรณ์ ในลักษณะทรงไทย, กุฏิโชติธรรม ในลักษณะทรงไทย, หอสวดมนต์ ในลักษณะทรงไทย และที่สร้างความประทับใจเป็นพิเศษให้แก่ชาวบ้านญาติโยมที่เดินทางมายังวัดสระประสานสุข ก็คือ ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัด (ประตูโขง) ที่หลวงปู่บุญมีได้สร้างเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียร ที่ใหญ่โตมาก สามารถมองเห็นตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล นอกจากนี้ท่านยังได้ตัดถนนเข้าหน้าวัด, สร้างและปรับปรุงห้องน้ำห้องสุขาให้เพียงพอกับชาวบ้านญาติโยมที่มาร่วมทำบุญในงานเทศกาลต่างๆ รวมถึง การสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีรูปสัตว์นานาชาติล้อมรอบบริเวณวัด ตลอดจนปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ และพื้นที่ภายในวัดทั้งหมดให้เหมาะสม เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สวยงาม ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สมกับเป็นวัดสายปฏิบัติและสถานที่บำเพ็ญบุญ เป็นที่พึงพิงด้านจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

อนึ่ง เนื่องจากทางวัดมีอาณาเขตติดต่อกับเขตทหารอากาศ กองบินที่ ๒๑ ข้าราชการทหารอากาศจึงมีศรัทธามาร่วมอุปสมบทและจำพรรษา ณ วัดสระประสานสุข ตลอดมา

ด้านการปกครอง หลวงปู่บุญมีท่านมีระเบียบการปกครองพระสงฆ์ในวัดให้สอดคล้องกับกฎของมหาเถรสมาคม (มส.) อย่างเคร่งครัด โดยมีกฎกติกาของวัดตามมติของคณะสงฆ์ภายในวัดเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง และที่เป็นกิจวัตรสำคัญที่หลวงปู่ได้ริเริ่มและให้ปฏิบัติเป็นประจำ คือ การจัดให้มีการปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาทุกวัน โดยเฉพาะวันพฤหัสบดี ณ ศาลาการเปรียญวัดสระประสานสุข ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป

• ผลงานด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา

หลวงปู่บุญมี ไม่เพียงพัฒนาและก่อสร้างศาสนสถานในบริเวณวัดสระประสานสุข ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหลวงปู่เท่านั้น ท่านยังได้มีจิตเมตตาในการมอบทุนทรัพย์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ สนับสนุนการก่อสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และวิหารภายในวัดต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เช่น

๑. สร้างพระพุทธรูปใหญ่ ณ วัดเขาพระงาม (วัดสิริจันทรนิมิต วรวิหาร) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ร่วมกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) โดยใช้ไหกระเทียมในสมัยนั้นเป็นมวยผม (พระเกศ)

๒. สร้างพระนาคปรก ร่วมกับท่านพ่อลี ธัมมธโร เจ้าอาวาสวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะที่ท่านเป็นสหธรรมิกกัน อีกทั้งท่านพ่อลียังเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีด้วย

๓. บูรณะมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลอง ณ วัดสังกัสรัตนคีรี บนยอดเขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

๔. บูรณะศาลารัชมังคลาภิเษก ณ วัดสังกัสรัตนคีรี

๕. สร้างพระพุทธรูปเนื้อโลหะ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ เมตร ประดิษฐาน ณ ศาลารัชมังคลาภิเษก วัดสังกัสรัตนคีรี

๖. ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ หลวงปู่บุญมีได้นำคณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร สูง ๗ เมตร ๗๗ เซนติเมตร เนื้อโลหะทองเหลือง ถวายนามว่า “พระพุทธโชติปาละชนะมาร”, สร้างพระสังกัจจายน์เป็นปูนปั้น สูง ๓ เมตร ๗๗ เซนติเมตร ถวายนามว่า “พระสังกัจจายน์โชติปาโล” และสร้างพระสิวลี ถวายนามว่า “พระสิวลีโชติปาโล” เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดสังกัสรัตนคีรี บนยอดเขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

๗. ให้อุปกรณ์ในการก่อสร้างอุโบสถ วัดบ้านกุดมะฮง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

๘. สร้างพระเจ้าใหญ่ และบูรณะหอระฆัง ณ วัดบ้านบ่อ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

๙. สร้างพระพุทธรูปสูง ๓ เมตร ณ วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

๑๐. สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ สูง ๓ เมตร จำนวน ๒ องค์ ณ เมืองเชียงรุ้ง ประเทศจีน

๑๑. ให้อุปกรณ์ในการก่อสร้างวัดป่าภูถ้ำพระ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

๑๒. ให้อุปกรณ์ในการก่อสร้างวัดคอนสวรรค์ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

๑๓. ให้การอุปถัมภ์และช่วยเหลือวัดต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ วัดบ้านก้านเหลือง, วัดบ้าน
ตำแย, วัดบ้านหนองหว้า, วัดบ้านหนองมุก, วัดสำราญนิเวศน์, วัดบ้านระเว, วัดบ้านนาจาน, วัดบ้านดอนจืด, วัดบ้านด้ามพร้า, วัดบ้านปลาดุกน้อย, วัดบ้านยางลุ่ม, วัดป่าอำเภอม่วงสามสิบ, วัดบ้านกุดลาด, วัดบ้านกระโสบ และวัดบ้านหมากมี่ (วัดบ้านขนุน) เป็นต้น

นอกจากนั้นหลวงปู่บุญมียังรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมเทศนาตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นกิจวัตรที่ท่านได้ปฏิบัติเป็นประจำจนทำให้ญาติโยมเลื่อมใสศรัทธา และมาร่วมทำบุญจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

• ผลงานด้านสาธารณประโยชน์

นอกจากภารกิจในการบริหารจัดการวัดสระประสานสุข และวัดวาอารามต่างๆ แล้ว หลวงปู่บุญมียังมีจิตเมตตาบริจาคเงินทุนสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันแก่โรงเรียนที่ขาดแคลน, มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่่เรียนดีแต่ยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ ปีละ ๒๐ ทุน, บริจาควัสดุต่อเติมและก่อสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียน, สร้างรั้วกำแพงให้กับโรงเรียนบ้านนาเมือง ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ของบ้านนาเมือง เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษาต่อไป นอกจากนั้นหลวงปู่ยังได้นำญาติโยมชาวบ้านนาเมือง ช่วยกันตัดถนนจากบ้านนาเมืองเชื่อมต่อไปยังบ้านดงหนองแสน ตำบลไร่น้อย เป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด เพื่อทำให้การสัญจรไป-มาของชาวบ้านในละแวกนั้นสะดวกยิ่งขึ้น และกิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ คือ การไถ่ชีวิตโค กระบือ โดยซื้อมาก่อนที่จะถูกนำไปยังโรงฆ่าสัตว์ แล้วนำมาบริจาคให้กับชาวบ้านที่ยากจนได้เอาไปเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานประกอบอาชีพต่อไป

• ผลงานด้านสังคมสงเคราะห์

หลวงปู่บุญมี ท่านเป็นพระผู้มีเมตตาจิตแก่ญาติโยมและประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงทั่วไป หลวงปู่เห็นความส่าคัญของการช่วยเหลือคนไข้ที่ขาดแคลนตามโรงพยาบาล จึงได้บริจาคอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องดูดเสมหะ เครื่องตรวจเลือด ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เช่น

๑. โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
๒. โรงพยาบาลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
๓. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
๔. โรงพยาบาลน้ำยืน อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
๕. โรงพยาบาลดอนมดแดง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
๖. โรงพยาบาลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
๗. โรงพยาบาลทุกอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ
๘. โรงพยาบาลจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนั้นในวันทำบุญคล้ายวันเกิดของหลวงปู่บุญมี ท่านได้มอบทุนการศึกษา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การศึกษา รวมทั้งให้ทานแก่เด็กพิการในจังหวัดอุบลราชธานี ให้ทานวัวที่ไถ่ชีวิตมาจากโรงฆ่าสัตว์ให้กับชาวบ้านที่ยากจนเป็นประจำทุกปี บริจาคเสื้อผ้า ข้าวสารอาหารแห้งให้กับศูนย์ชาวเขาแม่ฟ้าหลวง ตลอดจนบริจาคอุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ ให้กับชาวเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้าราชการศูนย์หม่อนไหมจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาสถานที่ต่างๆ และยังจัดหาแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ ให้กับหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี

• ผลงานด้านการเผยแผ่ธรรม

หลวงปู่บุญมี เป็นพระอริยสงฆ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะเห็นได้จากเวลาที่หลวงปู่ฉันภัตตาหารเช้า จะมีผู้นำอาหารมาถวายเป็นจำนวนมาก เมื่อฉันเสร็จแล้ว หลวงปู่จะแบ่งปันอาหารที่เหลือนั้นให้กับทุกคนๆ ให้นำกลับไปเลี้ยงดูบุตรหลาน และพ่อแม่ที่อยู่ทางบ้านโดยทั่วถึงกัน ญาติโยมที่นำอาหารไปถวายหลวงปู่ต่างก็มีความอิ่มเอิบใจ เพราะนอกจากเป็นการถวายทานแก่หลวงปู่แล้ว ยังได้ทำทานกับคนทั่วไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งการให้อาหารนี้หลวงปู่ให้โดยการโยนและขว้างอาหารหรือสิ่งของให้กับคนที่ท่านต้องการให้ กระทั่งมีลูกศิษย์ลูกหาเคยนมัสการถามหลวงปู่ว่า “ทำไมจึงโยนและขว้างสิ่งของให้”

หลวงปู่บอกว่า “เป็นการเตือนสติสัมปชัญญะประจำตัวอยู่ตลอดเวลา”

นอกจากการอบรมสั่งสอนแก่ญาติโยมที่มากราบไหว้ และทำบุญที่วัดแล้ว หลวงปู่ยังได้ออกเทศนา ปาฐกถาธรรม และสนทนาธรรมแก่ประชาชนทั่วไป ตามสถานที่ราชการ โรงเรียน หมู่บ้านต่างๆ มาโดยตลอด

ทางด้านหลักธรรมและคำสอน หลวงปู่บุญมีท่านเป็นอริยสงฆ์ที่มีปฏิปทาและศีลาจริยวัตรอันงดงาม ชอบธรรม เดินทางสายกลางอันเป็นข้อปฏิบัติธุดงควัตรสายพระกรรมฐานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เจริญรอยตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และพ่อแม่ครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท), พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ มาโดยตลอด หลักธรรมคำสอนของหลวงปู่จึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง และมีคำผญาภาษิตอีสานแทรกอยู่ทุกครั้ง ทำให้เข้าใจง่าย รู้ถึงคุณค่าของหลักธรรมและคำสอนของพระพุทธองค์

นอกจากนี้ท่านยังเน้นการอบรมสั่งสอนให้รู้คุณของพระแก้ว ๒ องค์ คือ บิดา มารดา ซึ่งเป็นพระอรหันต์ในบ้านที่ทุกคนควรกราบไหว้บูชาตลอดกาล สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนตามหลักกุศลสมาทาน สอนให้รู้จักศาสนากับสังคมไทย การประหยัดและอดออมตามหลักพระพุทธศาสนา สำหรับการปฏิบัติธรรม ท่านสอนให้ปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยการนั่งสมาธิภาวนาทุกครั้ง ในเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ท่านจะให้บำเพ็ญทานบารมี สมาทานศีล ปฏิบัติภาวนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทุกครั้ง

รูปภาพ
หน้าปกหนังสืออุบลราชธานี ๒๐๐ ปี


• บุคคลตัวอย่างของจังหวัดอุบลราชธานี

หลวงปู่บุญมีท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยกำเนิด เกิดที่บ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ครั้นเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้อุทิศตนเป็นสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำหน้าที่สืบทอดและเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ตลอดชีวิตในสมณเพศ หลวงปู่บุญมีท่านได้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดอุบลราชธานี ที่บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน เห็นได้จากการเริ่มต้นพัฒนาวัดสระประสานสุข จากวัดป่าธรรมดาให้เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนเป็นวัดปฏิบัติที่มีชื่อเสียง ญาติโยมประชาชนจากทั่วประเทศมีจิตเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่กันอย่างไม่ขาดสาย

เมื่อครั้งที่จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดงานสมโภชเฉลิมฉลองการก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีครบ ๒๐๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ มีการจัดทำหนังสือที่ระลึกชื่อว่า อุบลราชธานี ๒๐๐ ปี โดยได้มีการคัดเลือกและรวบรวมประวัติ-ผลงานของบุคคลสำคัญ บุคคลตัวอย่าง ที่เป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิดและได้ทำประโยชน์นำความเจริญมาสู่จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนั้นพระครูไพโรจน์รัตโนบล (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) เจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข ท่านได้รับคัดเลือกและยกย่องให้เป็นพระสงฆ์ที่น่าเคารพนับถือทางด้านพระเถระสายวิปัสสนาธุระในจังหวัดอุบลราชธานี จึงถือได้ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ตัวอย่างที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีสมควรยกย่องให้เป็น “พระดีศรีอุบล” และเป็น “พระดีศรีแผ่นดิน” ที่ชาวไทยทั่วประเทศสมควรเอาเป็นตัวอย่างตลอดไป

• กิตติคุณูปการอื่นๆ ที่ได้รับ

- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา

- ได้รับยกย่องบันทึกประวัติและปฏิปทาเป็นพระสงฆ์วงศ์ธรรมยุตในภาคอีสานที่สําคัญ ในหนังสือพระปรมาจารย์สายพระกรรมฐานท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

- ได้รับยกย่องเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ของวัตถุมงคลที่น่าควรนับถือ ในหนังสือพระเครื่องเมืองอุบล

- ได้รับกล่าวขานว่าเป็นผู้ทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสืออิทธิฤทธิ์

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2013, 14:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) วัดสระประสานสุข


• วัตรปฏิปทา

หลวงปู่บุญมีท่านมีวัตรปฏิปทาเจริญรอยตามพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นปฏิปทาที่ปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดของวงศ์พระกรรมฐานในภาคอีสาน ดังนี้

(๑) เครื่องอัฐบริขาร หลวงปู่บุญมีท่านเป็นพระภิกษุที่ถือปฏิบัติตามปฏิปทาพระอาจารย์สายพระกรรมฐานอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ เป็นผู้มักน้อย ยังชีพด้วยความจำเป็นเท่านั้น เครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุสายพระกรรมฐาน มีดังนี้คือ ๑. บาตร ๒. มีดโกนและใบมีดโกน ๓. เข็มเย็บผ้าและด้าย ๔. เครื่องกรองน้ํา (ธมกรก) ๕. ผ้าสบง ๖. ผ้าจีวร ๗. ผ้าสังฆาฏิ ๘. ปะคดเอว

(๒) กิจวัตร ๑๐ นอกจากเป็นผู้มักน้อย หลวงปู่บุญมีท่านมีปฏิปทาเป็นกิจวัตรที่พึงปฏิบัติเป็นประจํา ซึ่งท่านปฏิบัติเช่นนี้มาตั้งแต่บวชจนถึงมรณภาพ กิจวัตร ๑๐ มีดังนี้คือ ๑. ลงอุโบสถ ๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ ๓. สวดมนต์ไหว้พระ ๔. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ ๕. รักษาผ้าครอง ๖. อยู่ปริวาสกรรม ๗. ปลงผมปลงหนวดตัดเล็บ ๘. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ ๙. เทศนา ๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔

(๓) ธุดงควัตร ๑๓ หลวงปู่บุญมีท่านได้รักษาธุดงควัตร ๑๓ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการฝึกตน ซึ่งธุดงควัตร ๑๓ มีดังนี้ ๑. ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๒. ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร ๓. ถือเทียวบิณฑบาตเป็นวัตร ๔. ถือเทียวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร ๕. ถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร ๖. ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๗. ถือห้ามภัตอันนํามาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร ๘. ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๙. ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ๑๐. ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ๑๑. ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๑๒. ถืออยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้จัดให้อย่างไรเป็นวัตร ๑๓. ถือการนั่งเป็นวัตร

(๔) การประกอบพิธีกรรมต่ออายุ หลวงปู่บุญมีท่านยังได้โปรดชาวบ้านญาติโยมที่เข้ามารับฟังธรรมเทศนา และจะประกอบพิธีกรรมต่ออายุให้กับชาวบ้านญาติโยม ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะในวัดสระประสานสุขเท่านั้น โดยจะกระทําเมื่อถึงเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำของทุกปี ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

ก. สิ่งที่ต้องเตรียมในพิธีกรรม ข้าวสารจํานวน ๗ กิโลกรัม, ส้มป่อยจํานวน ๗ ฝัก, ก้อนหินจํานวน ๗ ก้อน, เทียนเวียนหัวจํานวน ๑ เล่ม, เขียนชื่อบุคคลในบ้าน

ข. หลวงปู่บุญมีท่านจะประกอบพิธีกรรมต่ออายุด้วยตัวเอง

ค. หลังเสร็จพิธีกรรมให้ชาวบ้านญาติโยมนําสิ่งของที่ประกอบพิธีแล้ว คือข้าวสาร ๗ เม็ด, ก้อนเงิน-ก้อนทอง ๓ ก้อน (ก้อนหินที่นํามา) และส้มป่อย ๑ ฝัก กลับบ้านไป ตอนค่ำก่อนนอนให้ปฏิบัติดังนี้

- นําข้าวสาร ๒ เม็ด พร้อมด้วยก้อนเงิน-ก้อนทอง ๑ ก้อน นําไปฝังทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน แล้วท่องคาถาว่า “คะเตสิ” ๓ จบ

- นําข้าวสาร ๒ เม็ด พร้อมด้วยก้อนเงิน-ก้อนทอง ๑ ก้อน นําไปฝังทางทิศตะวันตกของตัวบ้าน แล้วท่องคาถาว่า “กิงสะระนัง” ๓ จบ

- นําข้าวสาร ๒ เม็ด พร้อมด้วยก้อนเงิน-ก้อนทอง ๑ ก้อน นําไปฝังทางทิศเหนือของตัวบ้าน หรือหัวบันไดบ้าน แล้วท่องคาถาว่า “มะอะอุ” ๓ จบ

- มัดส้มป่อยฝูกไว้เหนือประตูบ้าน แล้วปิดประตูบ้านทันที ห้ามเปิดออกเด็ดขาด แล้วท่องคาถาว่า “อะหัง ปิตตัง ซานามิ” ๓ จบ

- นําเม็ดข้าวสารที่เหลืออีก ๑ เม็ด เอาใส่ไว้ในไส้หมอน ก่อนนอนกราบหมอนสวดมนต์

ง. วันรุ่งขึ้นให้เปิดประตูบ้านเอาฤกษ์ แล้วพูดว่า “เปิดเอาเงิน เอาทอง เอาโชค เอาลาภ”

จ. สามวันต่อมาให้นํามะพร้าวแห้ง ๓ ลูก และกล้วย ๓ หวี นําไปกล่าวถวายที่วัด แล้วนําสิ่งของทั้งหมดกลับไปแช่ทําน้ำมนต์ ใช้อาบกินกันทุกคนในบ้าน

ฉ. อีกหนึ่งคืนต่อมาให้นําข้าวเหนียว ๑ ปั้น และกล้วย ๑ ลูก ไปทําพิธีที่วัด แล้วนําข้าวเหนียวและกล้วยกลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้านให้นําข้าวเหนียว ๑ ปั้น และกล้วย ๑ ลูก ที่นำมาจากวัด นําไปยื่นออกนอกรั้วบ้านทางทิศตะวันตก แล้วให้อธิฐานดังนี้ “ขอให้เจ้าที่เจ้าทาง เจ้ากรรมนายเวร ภูติปีศาจ ที่อยู่บริเวณนั้นให้ได้รับส่วนกุศลนี้ และให้ได้ไปผุดไปเกิด อย่ามาเบียดเบียน รบกวนกัน สิ่งที่ไม่ดีกําจัดออกไปให้หมด นําแต่สิ่งที่ดีมาให้ ขอให้นําโชคลาภ ความสุข ความเจริญ มาสู่ทุกคนในบ้านเทอญ” เสร็จแล้วปิดประตูบ้านแล้วท่องคาถาว่า “อะหัง ปิตตัง ซานามิ”

(๕) พิธีกรรมทําน้ำมนต์

พิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งที่หลวงปู่บุญมีท่านเมตตาโปรดชาวบ้านญาติโยม ด้วยท่านมองเห็นถึงความทุกข์ของชาวบ้านญาติโยม ต้องการให้พ้นจากทุกข์ นอกจากจะเทศนาธรรมเป็นหลักแล้ว ท่านยังนําพาประกอบพิธีกรรมเพื่อสร้างกําลังใจให้กับชาวบ้านญาติโยมด้วย คือ พิธีกรรมทําน้ำมนต์ ทุกเช้าวันเสาร์เวลา ๐๗.๐๐ น. น้ำมนต์ของหลวงปู่บุญมีเป็นที่เล่าลือกันในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันโรค ป้องกันภัย ป้องกันผี ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

ก. สําหรับผู้ที่จะทําน้ำมนต์ให้เตรียมสิ่งของดังนี้

- เทียนจํานวน ๑ เล่ม (ทางวัดเตรียมไว้ให้)
- ข้าวสารจํานวน ๗ กิโลกรัม
- ผ้าขาวจํานวน ๕ เมตร
- มะพร้าวจํานวน ๓ ลูก
- กล้วยจํานวน ๑ หวี
- ปลาดุกหรือปลาช่อนจํานวนมากกว่าอายุผู้ที่จะทําน้ำมนต์
- ไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่จานวน ๓ ตัว
- น้ำสะอาดจํานวน ๑ ถัง

ข. การประกอบพิธีกรรม

หลวงปู่บุญมีท่านจะนําพาประกอบพิธีกรรมการทําน้ำมนต์ พอเสร็จพิธีท่านจะพานําปล่อยไก่ ปล่อยปลาโดยพากล่าวว่า “กรรมมะเวร เกิดนําไก่ นําปู นําปลา ให้ละลดปลดออกตั้งแต่มื้อนี้วันนี้ กรรมมะเวร เกิดนําไก่ นําปู นําปลา ให้ละลดปลดออกตั้งแต่มื้อนี้วันนี้ กรรมมะเวร เกิดนําไก่ นําปู นําปลา ให้ละลดปลดออกตั้งแต่มื้อนี้วันนี้” จากนั้นก็จะจับไก่โยนออกไป ต่อจากนั้นจะพากล่าวว่า “สาธุลูกๆ หลานๆ ทานข้าวทานปลา ทานเงินทานคํา ทานชีวิตจิตใจ ทานบัดนี้ มีโชคมีชัย มีกําไรทุกอย่าง เกิดมาบ่อดบ่อยาก ปู่ย่าตายายได้รับส่วนบุญ ได้รับผลทาน กับลูกกับหลาน ลูกๆ หลานๆ มาทานวันนี้ อายุหมั่นขวัญยืน มืนตาขึ้น บ่อดข้าวอดปลา บ่อึดเงินอึดคํา สาธุ”

(๖) พากล่าวถวายทาน และคํากล่าวต่างๆ

พากล่าวทานสิ่งของ เมื่อมีชาวบ้านญาติโยมนําของ หรือสังฆทานมาถวายที่วัด หลวงปู่บุญมีท่านจะพานํากล่าวทานโดยให้ผู้ที่นําสังฆทานมาถวาย หรือภัตตาหารมาถวายกล่าวตาม ดังนี้

“สาธุ ทานได้ทานดี ทานฮั่งทานมี เกิดมาบ่อดบ่อยาก ปู่ย่าตายาย พระแก้ว ๒ องค์ได้รับส่วนบุญ รับแล้วให้ลูกให้หลานมีอายุมั่นขวัญยืน มีเงินหมื่นเงินแสน มืนตาขึ้น พ้อแต่เงินหมื่นเงินแสน บ่อดบ่อยาก ทานได้ ทานเป็นเศรษฐี ทานหนีจากทุกข์ พ้อแต่ความสุข สาธุ”

“สาธุ ลูกๆ หลานๆ เกิดมาบ่อดบ่อยาก ทานเอาดิบเอาดี ทานเอาฮั่งเอามี ใช้หนี้ใช้สิน ปู่ย่าตายาย พระแก้ว ๒ องค์ ผู้รักษาชีวิต อุทิศเลี้ยงมา ได้ไก่เป็นทาน ไก่นี้เป็นพระเจ้าองค์ที่ ๑ เป็นผู้พาเดิน ปูทาง เป็นผู้พาหนีจากทุกข์ เป็นผู้พาหาความสุข ขันตามเวลา ตามนาฬิกา ไก่นี้เกิดมาเป็นพระเจ้าองค์ที่ ๑ ผู้ข้าเกิดมา ชาติใดๆ ขอได้พบพระเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ พระเจ้าไก่ พระเจ้าเหน พระเจ้าเต่า พระเจ้าโค พระเจ้าคน ทั้ง ๕ พระองค์นี้ เกิดชาติใดๆ ได้พบได้เห็น ด้วยอํานาจวาสนา สาธุ”

พากล่าวให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และไหว้คุณบิดามารดา หลวงปู่บุญมีท่านจะให้ชาวบ้านญาติโยมนั่งพนมมือ หันหน้าไปหาพระพุทธรูปแล้วกล่าวตามว่า

“สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต ของลูกของหลานตลอดชีวิต กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระธรรม คําสอนของพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติตรัสไว้ดีแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต มาแต่มื้อเกิด กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระสงฆ์องค์ปฏิบัติ ตามธรรมมะวินัย เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต ของลูกของหลานตลอดชีวิต กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่ ๑ ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา มาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิต มาแต่มื้อเกิด กราบ...สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่ ๒ ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา ให้น้ำนมและข้าวป้อน รักษาชีวิตมาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิตมาแต่มื้อเกิด กราบ”

พากล่าวระหว่างที่ประพรมน้ำมนต์ เมื่อหลวงปู่บุญมีท่านประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ท่านมักจะพาชาวบ้านญาติโยมกล่าวตาม ซึ่งเป็นการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนี้

“ฝนห่าแก้วตกแล้วชุ่มเย็น ล้างโรคล้างภัย ล้างไข้ล้างหนาว ล้างเจ็บล้างป่วย ล้างซวยออกให้เบิด เกลี้ยงดีพลีงาม ฝนห่าแก้วตกแล้วชุ่มเย็น ฝนห่าแก้วล้างโรคล้างภัย ล้างหวัดล้างไอ ล้างไข้ล้างหนาว ล้างเจ็บล้างป่วย ล้างซวยให้เบิด เกลี้ยงดีพลีงาม สดใส บ่มีโรคบ่มีภัย บ่มีไข้บ่มีหนาว บ่มีเจ็บบ่มีป่วย ความซวยหายเบิด ความรวยเกิดขึ้น มีอายุหมั่นยืน ลืมตาขึ้นพ้อแต่เงินแต่คํา พ้อแต่สิ่งอยากได้ รวยอํานาจวาสนา เกิดมาบ่อดบ่อยาก สาธุ”

พากล่าวปฏิบัติตน หลวงปู่บุญมีท่านใช้คําว่า “เอาบุญทางใจ” เมื่อมีชาวบ้านญาติโยมมาปฏิบัติตน ทั้งการนั่งสมาธิ การให้ทาน การเจริญภาวนาต่างๆ ท่านจะพากล่าวตาม ดังนี้

“สาธุ ลูกๆ หลานๆ มาละลดความวุ่นวาย ความเสียหาย ละลดปดถิ่ม มาละลดโรคภัยไข้เจ็บ ทํามาด้วยความมืดความหลง สิ่งที่ไม่ดีมาละลดปดถิ่ม มาละลดเคราะห์เข็ญกรรมเวร เจ้ากรรมนํามาสิ่งที่ไม่ดี มาละลดปดถิ่ม เอากรรมดี ทํามั่งทํามี สร้างเงินสร้างคํา สร้างข้าวสร้างน้ำ มาต่อชีวิต มาต่อเอาดี มาต่อเอาฮั่งเอามี ต่อเอาเงินเอาคํา ต่อชีวิตจิตใจ เกิดมาเป็นคนบริสุทธิ์ เป็นคนดีมีราคา มีปัญญา รักษาตัวได้ สาธุ”

พากล่าวทานไถ่ชีวิตสัตว์ หรือการต่ออายุ เมื่อหลวงปู่บุญมีท่านประกอบพิธีกรรมต่ออายุ ท่านจะพาชาวบ้านญาติโยมกล่าวทานไถ่ชีวิตสัตว์ ดังนี้

“สาธุ อะหังวันทามิ สัตว์ตัวน้อยตัวใหญ่ เป็ดไก่ปูปลา ได้ฆ่ากินมาแต่มื้อเกิด เป็นอาหาร มื้อนี้ให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน ให้พ้นจากความตาย พ้นจากความเสียหาย ชีวิตของข้าเป็นเนื้อเป็นหนัง เกิดเป็นสัตว์จําพวกนี้ ในวันนี้ละลดปลดกรรม อย่ามีกรรมมีเวร มาผูกมาพัน มาเกี่ยวมาข้อง เวรอันใดให้แล้วให้หาย หายแต่วันนี้ต่อไป มีอายุหมั่นยืน สาธุ เบิดเคราะห์เบิดเข็ญ หวิดโรคหวิดภัย ไชโยข้าชนะแล้ว พ้นแล้ว ถึงแล้ว รู้แล้ว พระแก้วรักษา ไชโย เบิดกรรมเบิดเวร เบิดเคราะห์เบิดเข็ญ”

พากล่าวเป็นแนวทางในการดําเนินชีวิต หลวงปู่บุญมีท่านจะพานํากล่าวหลักในการดําเนินชีวิตเป็นประจํา เพื่อกระตุ้นให้คิดพิจารณาและนําไปปฏิบัติตาม ดังนี้

“สาธุละชั่ว ประพฤติดี ละทิฐิ ไม่เป็นพาล หวังเพื่อพระนิพพาน บําเพ็ญญานสนองคุณ สนองแล้วคุณพระแก้ว ๒ องค์ประจําชีวิต ทุกก้าวเดินไปมา สาธุ”

• หลักคําสอน

หลวงปู่บุญมีท่านได้นําหลักธรรมในพระไตรปิฎกมาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานตามวาระโอกาส และความจําเป็น หรือความต้องการให้ประชาชนชาวอีสานและผู้ฟังได้นําไปประยุกต์และปฏิบัติเป็นพื้นฐาน และพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นโลกุตรธรรม สามารถจําแนกหลักคําสอนของท่านได้ดังนี้

หลักคําสอนการดําเนินชีวิต หลวงปู่บุญมีท่านมีหลักในการดําเนินชีวิตเพื่อให้ชีวิตที่เป็นสุข โดยใช้คําพูดที่กะทัดรัดเป็นประโยคซึ่งถือว่าเป็นความคิดรวบยอดในการดําเนินชีวิต เช่น “ละชั่ว ประพฤติดี ละทิฐิ ไม่เป็นพาล หวังเพื่อพระนิพพาน บําเพ็ญญาณสนองคุณ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการที่ง่ายต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและง่ายต่อการจดจํา แล้วนําไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จากประโยคดังกล่าวหลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า

“ละชั่ว ประพฤติดี” ซึ่งมีความหมายชัดเจนในตัวของประโยค สอดคล้องกับหลักทั่วไปทางพระพุทธศาสนาคือ เว้นจากความชั่ว ประพฤติความดี และการทําจิตใจให้บริสุทธิ์ “ละทิฐิ ไม่เป็นพาล” ทิฐิ ได้แก่ คนไม่เชื่อไม่ฟังคนอื่น ไม่เชื่อแม้แต่ตัวเอง การไม่เชื่อตัวเองนี้ก็คือการไม่ทําความดีให้กับตัวเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนมีทิฐิมานะ มานะถือว่าตนดีเลิศประเสริฐ ทําผิดก็ไม่ยอมรับผิด ละก็คือไม่ให้บังเกิดขึ้นเลย ให้หมดสิ้นไป ละทิฐิ ไม่เป็นพาล ก็คือลดทิฐิและไม่เป็นพาล เป็นพาลก็เกิดจากทิฐินั้นเอง “หวังเพื่อพระนิพพาน” นิพพานถือได้ว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นหนทางดับทุกข์ “บําเพ็ญญาณสนองคุณ” การบําเพ็ญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ได้แก่ การให้ทานเพื่อชดใช้หนี้สิน หนี้สินที่ติดตัวของเรามาจากพระแก้ว พระแก้วก็คือพ่อและแม่ ซึ่งถือว่าพ่อและแม่เป็นบุคคลที่เราควรกตัญญูรู้คุณ เปรียบเทียบได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านยังทําเป็นตัวอย่างในการกตัญญูรู้คุณบิดามารดาคือ การบวช การบําเพ็ญญาณเพื่อสนองคุณนั้น คือ การปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา หมั่นให้ศีลให้ทาน รักษาศีล หรือการบวช ซึ่งท่านจะเน้นการบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา หลวงปู่บุญมีท่านจะสอนให้สนองคุณบิดามารดา รวมทั้งสอนให้มีความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ พระมหากษัตริย์ และประเทศ

หลักคําสอนความกตัญญูต่อบิดามารดา หลวงปู่บุญมีท่านเน้นย้ำเรื่องความเคารพและความกตัญญูต่อบิดามารดามาก ซึ่งท่านใช้คําว่า “พระแก้ว” แทนบิดามารดา คําว่า พระแก้วคือเป็นแก้วที่ดีกว่าทุกอย่าง แก้วสารพัดนึกเป็นแก้วที่คนเราทุกคนต้องระลึกถึงเสมอ บางครั้งท่านก็สะกิดใจให้รู้คุณของพระแก้ว และตําหนิผู้ที่ไม่รู้จักตอบแทนคุณพระแก้ว ถ้าเป็นเจ้านายก็ไม่ก้าวหน้า เป็นพ่อค้าพ่อขายก็ร่อยหรอล่มจม ความกตัญญูต่อบิดามารดานี้ หลวงปู่บุญมีท่านจะมีวิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อให้เข้าใจและระลึก คําว่า “ระลึก” แสดงให้เห็นถึงเมื่อรับรู้และเข้าใจแล้วนําไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจําวัน โดยหลวงปู่บุญมีท่านมักใช้คําผญาอีสานซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของอีสาน เช่น “ทางเส้นเค้าอย่ากวดหนามปก อย่าไปเทียวทางฮกป่าดงเสือฮ้าย เสือบายเจ้าบ่มีผู้ซ่อย บัดห่าจ่อย บ่มีผู้ซ้ำบ่แล” จากประโยคดังกล่าวท่านได้อธิบายว่า

“ทางเส้นเค้าอย่ากวดหนามปก” ทางเส้นเค้าก็คือพ่อกับแม่ อย่ากวดหนามปกก็คืออย่าทําไม่ดีกับพ่อแม่ ให้เชื่อฟังกตัญญูรู้คุณ และหมั่นทําบุญ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อจะได้ส่งผลบุญนี้ไปใช้หนี้สินบิดามารดา “อย่าไปเทียวทางฮกป่าดงเสือฮ้าย” คือเป็นการเตือนเรื่องการคบมิตร คนไม่ดีนั้นเปรียบได้เหมือนกับเสือ “เสือบายเจ้าบ่มีผู้ซ่อย บัดห่าจ่อย บ่มีผู้ซ้ำบ่แล” เมื่อคบคนไม่ดีแล้วก็จะนําพาเราไปในทางที่ไม่ดีด้วย ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นการสอนให้เชื่อฟังบิดามารดา การคบมิตร และโทษของการคบมิตร

นอกจากนั้น หลวงปู่บุญมีท่านได้ใช้วิธีการเล่านิทาน เรื่องความกตัญญูของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ฟังตระหนักถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นแบบอย่างในความกตัญญู ดังนี้ “พระพุทธเจ้าท่านให้พรพระแก้วของท่านตอนอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านบรรยายธรรมอันประเสริฐ ทดแทนหนี้สินพระแก้ว พวกรุกขเทวดาบริวารของนางสิริมหามายาเป็นหมื่นเป็นแสนมาฟัง พากันร้องไห้สนั่นหวั่นไหว เสียใจว่าไม่ได้ลูกดีเหมือนนางสิริมหามายา” พระพุทธเจ้าได้เอ่ยขึ้นว่า “เจ้าจะพากันมาร้องอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ตั้งใจปฏิบัติตน สร้างตนให้ดี หาทานให้ดีแล้วจึงมาสํานึกระลึกปรารถนาเอาลูกที่ดี เราจะได้ด้วย ความร้องไห้อย่างนี้มันจะได้หรือ” พวกนั้นเลยหยุดการร้องไห้ เวลาเป็นเทวดาก็ไม่รู้จักทดแทนพระแก้ว บูชาพระแก้ว เป็นหนี้ทับตัวอยู่ไม่รู้ แล้วจะไปร้องไห้มีประโยชน์อะไร” จะเห็นได้ว่าเป็นความสามารถที่หลวงปู่บุญมีท่านใช้สั่งสอน

วิธีการอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าได้ผลเป็นที่ประจักษ์ คือหลวงปู่บุญมีท่านให้กล่าวตาม ดังนี้ “สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่หนึ่ง ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา มาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิตมาแต่มื้อเกิด” กราบ (คําสั่ง) ต่อจากนั้นท่านจะสอนโดยที่ชาวบ้านญาติโยมกําลังหมอบกราบอยู่ว่า “พระแก้วองค์ที่หนึ่งผู้ให้กําเนิดเขาเรียกว่า พ่อ พูดภาษาหยาบๆ ว่าอีพ่ออีแม่...” เอาขึ้น (คําสั่ง) พอลุกขึ้นแล้วท่านพานํากล่าวต่อว่า “สาธุ ข้าขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระแก้วองค์ที่ ๒ ผู้ให้กําเนิดเกิดเป็นคนมา ให้น้ำนมและข้าวป้อน รักษาชีวิต มาแต่วันก่อเกิด เชื่อแล้ว เป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจําชีวิตมาแต่มื้อเกิด” กราบ (คําสั่ง) ขณะที่ชาวบ้านญาติโยมกําลังหมอบกราบอยู่นั้น ท่านจะสอนว่า “พระแก้วองค์ที่ ๒ เราใหญ่มาแล้วเลยเห็นพระแก้วเป็นผ้าเช็ดมือเช็ดเท้า พระแก้วเว้าพระแก้วสอนกะว่า เฮ้ยเจ้าคนล้าสมัยอยู่อย่าสิเว้าผัดว่า เลยถือว่าพระแก้วนี้เป็นคนล้าสมัย โตมาลืมพระแก้วนี้หละเพิ่นว่าลืมชีวิตเจ้าของ คั่นลืมพระแก้วแปลว่าบ่มีความรู้รักษาโต พระพุทธเจ้าเพิ่นสร้างบารมีมาท่อใด กะหยังเป็นหนี้อยู่ หนี้พระแก้ว จนได้ฮอดพระแก้วไปเกิดอยู่ชั้นดาวดึงส์ ท่านกะนําไปใช้ค่าน้ำนมและข้าวป้อน” เอาขึ้น (คําสั่ง) ในขณะหมอบกราบนั้น ทุกๆ ครั้งท่านจะบอกให้ผู้ที่หมอบกราบอยู่นั้นระลึกให้เห็นหน้าบิดามารดาของตนเองทุกครั้งไป เป็นเทคนิควิธีในการย้ำเตือนอย่างหนึ่ง

หลักคําสอนให้พิจารณาตนเอง หลวงปู่บุญมีท่านให้พิจารณาที่ตนเป็นที่ตั้ง คือให้ระลึกถึงว่าตัวเป็นคน อย่าให้ความวุ่นวายเสียหายมาครอบงําประจําใจ คน หมายความว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในทางดีมีปัญญา หาทางดีให้แก่ตัวได้ ดีกายก็เรียกว่ากายเรียบร้อย ดีวาจาก็เรียกว่าวาจาเรียบร้อย ดีใจก็เรียกว่าใจเรียบร้อย ๓ อย่างนี้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณงามความดี และท่านมักกล่าวด้วยคําพูดที่สะกิดใจว่า ไอ้คนวุ่นวายเสียหายนั่น มันเป็นบ้าไปในทางเสียหาย มันบ่ฮู้เมื่อว่ามันเป็นคน...บ่มีความฉลาด ฮู้เมื่อตัวแล้วกะบ่กลัวความเสียหายอีกด้วย นั้นยังเรียกว่าไม่ใช่คนหนา “เกิดมาให้เป็นคน แล้วเป็นหยังคือจังบ่เฮ็ดความดีให้แก่ตน เกิดมาเสียเปล่า เกิดมาเน่าอยู่ในโลกสงสาร บ่ได้ไปนิพพานนําพระพุทธเจ้า ฟ้าวแต่นําลูกนําหลานบ่อนสิพาคลานเข้าหม้อนรก ละความทุกข์บ่ได้วุ่นวายทําลายตัว พูดซ่ำนี้กะฮู้เมื่อบ่เล่า” การใช้ผญาอีสานสอนเรื่องให้พิจารณาตัวเอง ไม่ให้พูดเรื่องของคนอื่น เช่น “อย่าไปโสดาด้วยความดีของผู้อื่น มันบ่ลื่นค่าขนดัง ใผได้ยินได้ฟัง เขาด่าโคตรพ่อโคตรแม่” หลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า ความดีของคนอื่นหรือเรื่องของคนอื่นเราอย่าได้ไปสนใจ ขนาดเรื่องขนจมูกของตัวเองเรายังไม่เห็น ซึ่งหมายถึงเรื่องของตัวเองยังไม่เข้าใจ

หลักคําสอนให้สํารวมวาจา หลวงปู่บุญมีท่านสอนในเรื่องการพูด ท่านให้ความหมายของคําพูดว่า คําพูดเป็นคําที่ศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ ถ้าพูดให้เสียหายก็เสียหายที่สุด ท่านเรียกคําพูดที่มีคุณค่าว่า คําพูดเป็นเอก คําว่าเอกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นคําเลิศประเสริฐ พูดออกไปแล้วมีค่า เป็นสิ่งที่หาเปรียบเทียบไม่ได้ ไม่ใช่คําพูดที่เสียหาย พูดเสียหายถือว่าเป็นคําเหลวไหล คําเป็นโทษเหลือที่สุด คําพูดเสียหายที่เกิดโทษก็คือการพูดในเรื่องของคนอื่น ดังที่ท่านชี้ให้เห็นโทษของการพูดเรื่องของคนอื่น เป็นผญาอีสานว่า “อย่างมงัวก้างกินกลอยท้องอึ่งหลึ่ง”

หลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า “ก้าง” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีประโยชน์นํามาพูดกัน สิ่งที่เป็นโทษนํามาพูดกัน สิ่งรักษาชีวิตไม่ได้นํามาคุยกัน มีแต่จะทําลายตัวเอง เหมือนกับ “กินกลอยท้องอึ่งหลึ่ง” ซึ่งกลอยนั้นเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานนํามานึ่งกิน ถ้ากินมากไม่ดีเพราะว่ามันจะไปขยายตัวในท้อง คําว่า ท้องอึ่งหลึ่ง คือ กินกลอยมากจนทําให้แน่นท้อง เป็นอยู่ไม่สบาย

บางครั้งหลวงปู่บุญมีท่านจะย้ำโดยการตั้งคําถาม “แม่นบ่ล่ะ” เพื่อเป็นการย้ำหรือสะกิดใจให้เกิดความระลึก ซึ่งคําว่า ระลึก คือ การรู้และเข้าใจ แล้วนําไปปฏิบัติจริงในชีวิต และจะกล่าวถึงผู้ที่ระลึกได้แล้วว่า ผู้ใดฮู้เมื่อตัวแล้ว คําเหล่านี้ดีแล้ว พยายามเอามาใช้ให้มีราคามีคุณค่าแก่ตัว มีคุณค่าไปตลอดฮอดลูกฮอดหลาน

หลักคําสอนให้มีสติ หลวงปู่บุญมีท่านมีหลักคําสอนเรื่องสติ ความระลึกได้ให้กับตนเองเสมอ ซึ่งคําว่า ระลึกได้ คือให้ระลึกถึงว่าตัวเป็นคน คน หมายถึง การตั้งอยู่ในความดี รวมความว่า สติ ในที่นี้ก็คือ มีสติที่ระลึกถึงความดี แล้วนําไปปฏิบัติจริงในชีวิต หลวงปู่บุญมีท่านให้ความสําคัญกับสติเป็นอันดับแรกในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งท่านมักใช้คําถามกับผู้ฟังว่า ระลึกได้หรือยัง ? มั่นใจหยัง ? เป็นต้น ย่อมเป็นที่รู้ดีทั่วกันว่า ถ้าคนลงเสียสติก็เท่ากับเป็นคนบ้า เท่าที่สติธรรมที่มีกันอยู่ทั่วๆ ไป เป็นสติที่พอป้องกันไม่ให้เป็นบ้ากันเท่านั้น เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นตัวเอกสําหรับแก้ความบ้าที่ไม่รู้ตัว โดยการพยายามปลูกฝังสติให้มีขึ้นในตัวให้มากที่สุด

วิธีการตรวจสอบความมีสติด้วยการโยนของ เป็นการตรวจสอบว่าระลึกได้แล้วหรือไม่ เป็นการประเมินผลในสิ่งที่ได้สอนมา กล่าวคือ เมื่อถึงเวลาหลวงปู่บุญมีท่านกำลังสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมผู้ฟังอยู่นั้น หากผู้ฟังคนไหนเผลอเรอ หรือสนใจสิ่งอื่นอยู่นอกเหนือจากคําสอนที่กําลังดําเนินไป ท่านจะโยนก้อนขนม ถุงน้ำ เต้าหู้ ผลไม้ ให้กับผู้ฟัง หากผู้ฟังรับได้ ท่านมักกล่าวว่า “มีปัญญารักษาตัว” หากผู้ฟังรับไม่ได้ ท่านมักกล่าวว่า “ของรักษาชีวิต จิตใจ รับไม่ได้” “ของใส่ปากรับเอาบ่ได้ บัดรับเอาผู้บ่าวผู้สาวรับดีแท้ๆ”

หลักคําสอนการครองเรือน ฆราวาสธรรม ๔ คือ ธรรมแก่การครองเรือน หลวงปู่บุญมีท่านเน้นย้ำในการครองเรือนของชาวบ้านญาติโยมผู้ฟังอย่างยิ่ง สําหรับผู้ที่ต้องการหลักธรรมในการปฏิบัติในระดับการดําเนินชีวิต ซึ่งท่านกล่าวถึงหลักฆราวาสธรรม ๔ ว่า ผู้ครองบ้านครองเรือนต้องมีธรรม ๔ ประการ คือ

ข้อ ๑ รักษาสัตย์ สัตย์คือความจริง ปฏิบัติตัวให้เป็นธรรม ตัวไม่เป็นธรรม มันสิมีประโยชน์หยัง

ข้อ ๒ รักษาธรรม ธรรมคือความดีความสงบเรียบร้อย

ข้อ ๓ ขันติคือความอดทน ไม่ทําตนวุ่นวาย

ข้อ ๔ จาคะคือไม่ถือตน ได้แก่ ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น

หลักคําสอนการปฏิบัติของพระสงฆ์ หลักคําสอนการปฏิบัติของพระสงฆ์นี้ หลวงปู่บุญมีท่านมักยกการเล่นคําเป็นการสะกิดใจให้คิดตาม ในลักษณะที่ไม่พึงปฏิบัติของพระสงฆ์ ดังนี้

“...พระกะตัวพระเหลืองซือๆ ติ ตัวธรรมตัววินัยบ่มี พระผ้าเหลืองเปลืองเข้าสุก พระไปหลบเล่น นอนเวนกะแม่นพระ พระเล่นพระเที่ยว พระบ่เหลียวเบิ่งฮีตเบิ่งคอง บ่แม่นพระ พระเหงานอน เบิ่งผู้สาว พระเหงานอนวากๆ พระคาบยอซองเลาะวัด นี้กะพระ จักพระล่ะเว้าให้ฟัง...” “...พระเล่น พระเที่ยว พระบ่เหลียวเบิ่งฮีตเบิ่งคอง พระหามองแต่ผู้สาว ผัดเข้าบ้านใด๋ หากินแต่น้ำชากาแฟ บ่ฮู้จักเจ้าของ จักอันใดเป็นพระ...โกนผม ห่มเหลือง นั่นตี้เรียกว่า พระ...” การผูกคําว่า “พระ” ซึ่งข้างต้นก็จะนําเสนอสิ่งที่พระสงฆ์ ไม่พึงปฏิบัติ ไม่ควรกระทํา

จากคําสอนนี้ หลวงปู่บุญมีท่านจะไม่ให้พระสงฆ์ภายในวัดสระประสานสุข ฉันน้ำชากาแฟโดยเด็ดขาด จะมีแต่น้ำร้อนที่ต้มยาฉันเท่านั้น นี้เป็นสิ่งยืนยันอย่างหนึ่งในการสอนโดยการปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้กับพระภิกษุสงฆ์รุ่นหลัง ที่ได้รับฟังพระธรรมเทศนาของท่าน

และต่อไปหลวงปู่บุญมีท่านจะสั่งสอนในเรื่องที่ควรปฏิบัติของพระสงฆ์ โดยใช้การผูกคําว่า “พระ” ดังนี้ “...พระคือคนที่สละตนจากความเสียหาย สละตน...” คําว่า พระ แปลว่า ผู้ชนะ ชนะเปรต ชนะผี ชนะแม้กระทั่งของทานของชาวบ้าน...เราเป็นผู้ชนะจนชาวบ้านญาติโยมเขามีศรัทธา สิ่งที่ท่านปฏิบัติเป็นตัวอย่างและให้พระสงฆ์องค์อื่นๆ ปฏิบัติตาม คือ ถืออัฐบริขาร ๘ ธุดงค์วัตร ๑๓ กิจวัตร ๑๐ อันเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานของพระธรรมยุติกนิกาย หากพระสงฆ์ที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ครบ ท่านมักจะตําหนิว่าบวชอะไร บวชแล้วไม่รู้ประเพณีทํานองครองธรรม โบราณถึงได้ว่าขาดทุนเหมือนพระได้หวี...” เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าบวชมาแล้วก็หาประโยชน์ไม่ได้

หลักคําสอนเรื่องมรณานุสติ การสอนเรื่องมรณานุสตินี้ เป็นการย้ำเตือนให้ตระหนักถึงชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ควรปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ และไม่ให้เกิดความกลัวตายเพราะว่าไม่มีใครหนีรอดได้ ดังผญาอีสานดังนี้

“ความตายนี้แขวนคอทุกบาดหย่าง ไผซิถางแหกฟ้าหนีได้บ่ฮ่อนมี ทําดีไว้ตายไปซิได้เพิ่ง ทําชั่วไว้ตายแล้วก็ซ่อยเวร บ่ฮู้จักท่อนี้อย่าเกิดเป็นคน ผู้ใดจําได้แล้วพ้นทุกข์ไปสู่ความสุข”

หลวงปู่บุญมีท่านได้ย้ำเป็นประจำว่า ชีวิตมนุษย์นี้สั้นนัก เมื่อมีเวลาให้กระทําแต่ความดี ความตายนี้อยู่กับเราทุกย่างก้าว ไม่มีใครที่จะหนีความตายได้ มีแต่คุณงามความดีเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของเราเมื่อตายไป ดังผญาอีสานที่ท่านสอนประจําว่า “หาเรือไว้หลายลำแฮท่า หม่าข่าวไว้หลายมื้อแขกสิโฮม”

หลวงปู่บุญมีท่านได้อธิบายว่า เปรียบเหมือนการประพฤติปฏิบัติอันเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง หาเรือไว้หลายลำแฮท่า หม่าข่าวไว้ ก็คือการกระทําคุณงามความดี สะสมคุณงามความดีอยู่ในศีลธรรม หลายมื้อแขกสิโฮม แขกก็คือลูกหลาน คนรุ่นหลัง คือในอนาคตเราจะได้พึ่งพาสิ่งที่เราได้ทําไว้ ก็คุณงามความดีที่ติดตัวของเรา

(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2013, 17:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิ์สมภรณ์

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร



• กิจวัตรประจําวันของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล

เวลา ๐๕.๐๐ น. ตื่นนอน และทํากิจวัตรส่วนตัว
เวลา ๐๖.๐๐ น. นั่งรับบิณฑบาต และสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมผู้มารับฟังหลักธรรม
เวลา ๐๘.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเช้า และสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมผู้มารับฟังหลักธรรม
และบางครั้งก็ให้ชาวบ้านญาติโยมปฏิบัติสมาธิโดยให้ภาวนาว่า “ตาย”
เวลา ๑๑.๐๐ น. นําพาชาวบ้านญาติโยมรับประทานอาหาร
โดยหลวงปู่บุญมีท่านจะตักแจกให้อย่างพอดีกับผู้รับ ไม่ให้เหลือทิ้ง
เวลา ๑๒.๐๐ น. พักอิริยาบถ
เวลา ๑๔.๓๐ น. พาชาวบ้านญาติโยมทําความสะอาดรอบวัด ซึ่งท่านเรียกว่า “ทานเหงื่อทานแฮง”
เวลา ๑๘.๐๐ น. สรงน้ำ และอาบน้ำให้กับลูกศิษย์
เวลา ๑๙.๐๐ น. สั่งสอนลูกศิษย์ และพาชาวบ้านญาติโยมทําวัตร สวดมนต์ (ทุกวันพฤหัสบดี)
เวลา ๒๑.๐๐ น. พักอิริยาบถ
เวลา ๒๓.๐๐ น. เดินสํารวจบริเวณวัด
เวลา ๒๔.๐๐ น. จําวัด

จากกิจวัตรประจําวันของหลวงปู่บุญมีดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าท่านใช้เวลาส่วนมากไปในการสั่งสอนคน และทําประโยชน์ให้กับพระศาสนาเป็นสำคัญ

• ลำดับสมณศักดิ์

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จร.ชอ.วิ.) ในพระราชทินนามที่ พระครูไพโรจน์รัตโนบล

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ในพระราชทินนามเดิม

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ พระภาวนาวิศาลเถร (วิ.สย.)

หลวงปู่บุญมี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ที่ พระครูไพโรจน์รัตโนบล เป็นครั้งแรก ซึ่งสมณศักดิ์นี้เป็นของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาก่อน ท่านได้รับเพียง ๓ วัน จากนั้นได้มอบคืนให้พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิ์สมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี หลังจากพระอาจารย์มั่นแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์องค์ใดได้รับแต่งตั้งในสมณศักดิ์นี้อีกเลย

จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงรับสั่งกับหลวงปู่บุญมีว่าไม่มีใครเหมาะที่จะได้รับสมณศักดิ์ พระครูไพโรจน์รัตโนบล นี้เท่ากับหลวงปู่อีกแล้ว หลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์นี้จากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ โดยไม่รู้ตัวมาก่อน จากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาจนถึงพระครูสัญญาบัตรฯ ชั้นพิเศษ และล่าสุดเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ หลวงปู่ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ พระภาวนาวิศาลเถร (วิ.สย.)


• วัตถุมงคล

หลวงปู่บุญมี ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายแบบหลายชนิด อาทิเช่น รูปหล่อบูชารุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว, พระบูชาพระสีวลี หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล, พระเนื้อผงรุ่นแรก พิมพ์พระสีวลี, เหรียญหลวงพ่อบุญมี โชติปาโล รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้น ซึ่งมีพุทธคุณโดดเด่นด้านแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง เมตตามหานิยม สยบสิ่งอัปมงคลทั้งปวง อยู่ยงคงกระพัน ลาภผลพูนทวี และมั่งมีศรีสุข

รูปภาพ

• ทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช

มีเหตุการณ์ปาฏิหาริย์อีกเรื่องหนึ่งที่โจษขานกันไปทั่ว กล่าวคือ เมื่อครั้งที่มีงานมหาพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งคชวัตร และพระรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา (ภายหลังจากที่ทรงหายจากอาการพระประชวรหนักจนจวนเจียนจะสิ้นพระชนม์ แต่ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ จนสามารถเจริญพระชนมายุต่อมาได้โดยสวัสดิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ไม่นาน) ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ โดยครั้งนั้น “พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)” พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตเข้มขลังยิ่งแห่งวัดสระประสานสุข จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอาราธนามานั่งปรกอธิษฐานจิตในพิธีพุทธาภิเษกด้วย

เมื่อพิธีพุทธาภิเษกเสร็จสิ้น หลวงปู่บุญมีได้ลุกจากอาสนะสงฆ์ที่นั่งอยู่ แล้วเดินตรงเข้ามาหา ยืนต่อเบื้องพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ โดยมิได้ทรุดกายลงกราบ พร้อมกับเอาผ้าขนหนูผืนน้อยที่ไว้สำหรับเช็ดหน้าเช็ดปากลูบไล้เช็ดตามพระวรกาย ตั้งแต่พระเศียร (หัว) พระพักตร์ (หน้า) วนไปวนมาอยู่หลายรอบ เสร็จแล้วลงมาที่พระพาหา (ไหล่) พระกร (แขน) และพระอุระ (หน้าอก) อย่างที่ไม่มีใครนึกฝันหรือคาดคิดมาก่อน สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้บังเกิดขึ้นแก่ศิษย์อุปัฏฐากของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ และทุกๆ คนที่ไม่ทราบความนัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อเห็นทุกๆ คน (ยกเว้นแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ) บังเกิดความสงสัยแปลกใจอย่างเต็มที่ ศิษย์ติดตามของหลวงปู่บุญมีจึงกราบทูลชี้แจงในอริยาการดังนั้นมาทีเดียวว่า “หลวงปู่กำลังทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่ฝ่าพระบาทอยู่ ขอรับกระหม่อม”

เมื่อถึงที่สุดแห่งการพิธี หลวงปู่บุญมีได้ก้มลงกราบที่พระอุระ (หน้าอก) โดยมิได้พูดอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เองก็มิได้ออกพระวาจา หรือแสดงอาการหลบเลี่ยงอย่างไม่สบพระทัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น จากนั้นหลวงปู่บุญมีก็ได้กุมพระหัตถ์ (มือ) ทั้งสองของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขึ้นอธิษฐานเหมือนหนึ่งจะถวายพระพรให้ทรงพระเจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนานกว่า ๑๐๐ พระวัสสา ค้ำชูบูชาคุณบวรพระพุทธศาสนาให้สถาพรสืบต่อไปตราบชั่วจิรกาลเป็นปัจฉิมวาระ

แม้จะมีพรรษายุกาลมากกว่า แต่หลวงปู่บุญมีก็ก้มลงกราบแทบองค์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ อย่างนอบน้อมในพระคุณธรรมอันประเสริฐสุด เป็นที่ประทับตาประทับใจแก่พุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนามที่มีบุญได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ศิษย์ติดตามของหลวงปู่บุญมีระบุว่า เป็นการทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก่อนที่หลวงปู่บุญมีจะละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ หลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นเพียง ๘ เดือนเท่านั้น


:b50: หมายเหตุ : เรื่องการทำพิธีต่อพระชนมายุฯ นี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสืออิทธิฤทธิ์

รูปภาพ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เข้ากราบนมัสการเยี่ยมอาการอาพาธ
หลวงปู่บุญมี โชติปาโล ภายในกุฏิขององค์ท่าน ณ วัดสระประสานสุข



• การอาพาธและการมรณภาพ

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ท่านเป็นทั้งพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง และพระอาจารย์ผู้เรืองด้วยพุทธาคมแห่งเมืองอุบลราชธานี ได้อาพาธด้วยโรคปอดอักเสบ เกิดโรคแทรกซ้อนมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ ประกอบกับสังขารอันชราภาพมากแล้ว คณะแพทย์ตรวจอาการแล้วลงความเห็นว่า ควรให้หลวงปู่กลับมาพักรักษาตัวที่กุฏิวัดสระประสานสุขต่อไป โดยมีการส่งแพทย์และพยาบาลไปดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่จำวัดรักษาตัวอยู่ภายในกุฏิ จะมีลูกศิษย์ลูกหาทุกระดับชั้น อาทิ นายจิรศักดิ์ เกษณียบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, พล.ต.ต.เดชาวัตร รามสมภพ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี, นายทหารระดับนายพล ข้าราชการในจังหวัด และสาธุชนโดยทั่วไป ฯลฯ เข้ากราบนมัสการเยี่ยมอาการอาพาธโดยไม่ขาดสาย

ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เข้ากราบนมัสการเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่บุญมีภายในกุฏิขององค์ท่าน ณ วัดสระประสานสุข ท่ามกลางความปลื้มปีติในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อหลวงปู่ และคณะศิษยานุศิษย์ที่เฝ้าดูแลอาการอาพาธด้วยความห่วงใย ทั้งนี้ โดยมีนายจิรศักดิ์ เกษณียบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, พล.ต.ต.เดชาวัตร รามสมภพ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมทั้งข้าราชการระดับสูงในจังหวัด ฯลฯ คอยเฝ้ารับเสด็จ พระองค์ได้ทรงเฝ้าดูอาการของหลวงปู่อย่างใกล้ชิดโดยไม่ถือพระองค์นานกว่า ๒ ชั่วโมง ระหว่างนั้นได้ทรงมีพระปฏิสันถารสอบถามถึงอาการอาพาธกับหลวงปู่เป็นระยะๆ ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะพูดโต้ตอบไม่ได้ แต่ได้แสดงออกถึงซึ่งความปลื้มปีติ กับโต้ตอบทางสีหน้า พร้อมกับยกแขนแสดงถึงการรับรู้ถึงเรื่องที่พูด

จากนั้นเวลา ๑๑.๔๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จไปทรงประกอบภารกิจเป็นการส่วนพระองศ์ แต่พอคล้อยหลังได้เพียง ๕ นาที คือ เมื่อเวลา ๑๑.๔๕ น. หลวงปู่ได้ถึงแก่มรณภาพ ปิดตาลงด้วยอาการอันสงบ พร้อมกับได้ถอดดวงจิตออกจากร่าง ท่ามกลางความโทมนัสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงคณะศิษยานุศิษย์ที่เข้ามาเยี่ยมอาการอาพาธทุกคน สิริอายุของหลวงปู่รวมได้ ๙๕ ปี ๓ เดือน ๑๑ วัน พรรษา ๗๓ โดยทางวัดได้บรรจุสรีระสังขารของหลวงปู่บุญมีไว้ในโลงแก้ว ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระประสานสุข เพื่อให้พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าไปกราบไหว้สักการะสืบไป

เนื่องด้วยข้อวัตรปฏิปทาศีลาจาริยวัตรอันงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของญาติโยมพุทธบริษัททุกระดับชั้น หลวงปู่บุญมีสมควรได้รับการยกย่องเป็น “ปราชญ์” ชาวอุบลราชธานี อย่างแท้จริง


ขอนอบน้อมบูชา บูรพาจารย์ นาม
หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
ศิษย์ปู่มั่น อาจาริโย
เปี่ยมด้วยธรรม เปี่ยมเมตตา น่าสรรเสริญ
วัตรปฏิบัติ ตามแนวครูอาจารย์ มิเคยพร่อง
เชิดเคารพบูชาครูยิ่งอื่นใด
แม้นเจ็บป่วย ไม่กังวล เพราะต้องสิ้น
สติปัญญาเตือนระลึกเสมอมา
แม้นถึงคราต้องสิ้น ดับชีพขันธ์
สิ้นท่านแล้ว ไม่สิ้นธรรม ล้ำเลอค่า
ขอวิญญาณปู่ท่านช่วยรักษา
เป็นร่มโพธิ์ ร่มฉัตร ให้ศิษย์ด้วย
หลักธรรม...คุณความดีนี้...ศิษย์น้อมรับ...ตลอดไป

ประพันธ์โดย ศิษย์ มมร. กาฬสินธุ์



• พิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร
พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)




• พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล

วัดสระประสานสุขและคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันจัดสร้างอาคาร “พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล” ขึ้นในบริเวณเนินดินด้านหลังหอระฆัง เพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดเก็บอัฐบริขารและรูปหล่อหลวงปู่ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่เพื่อถวายเป็นกตัญญุตาแด่หลวงปู่ และให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงพระอริยสงฆ์แห่งบ้านนานเมืองผู้ทรงคุณแห่งธรรม โดยมี อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, ผศ.บัญชา ชุ่มเกษร และคณาจารย์คณะทำงานจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบอาคารหลังนี้

(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2013, 19:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลวงปู่บุญมี โชติปาโล กับ หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร

รูปภาพ

หลวงพ่ออุตตมะ กับ หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)


รูปภาพ

รูปภาพ

หลวงปู่บุญมี โชติปาโล กับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร

รูปภาพ

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)
เมตตามาร่วมงานทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคลครบ ๘๔ ปี
“หลวงปู่กิ ธัมมุตฺตโม” เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
ณ วัดป่าสนามชัย ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี


รูปภาพ

รูปภาพ

อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ ณ วัดสระประสานสุข
ด้านหน้าอุโบสถประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่บุญมี โชติปาโล


รูปภาพ

วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช ณ วัดสระประสานสุข
เป็นวิหารซึ่งสร้างอยู่บนเรือขนาดใหญ่ กลางสระน้ำ
ชื่อว่า “สระประสานสุข” ที่ตั้งอยู่ด้านหลังของวัด


รูปภาพ

รูปภาพ

ประตูโขง ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัดสระประสานสุข
เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียรขนาดใหญ่
ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่า สามารถมองเห็นมาแต่ไกล

“ซุ้มประตูรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียร”
เป็นการให้ความหมายของคําว่า “มงคล”
เพราะหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ท่านถือตามประวัติของท่านว่า
โยมบิดาเอาผ้าห่อพันตัวแล้วนําไปลอดท้องช้าง
และความเชื่อพื้นฐานของสังคมในสมัยนั้น
ที่่เชื่อว่า การลอดท้องช้างเป็นมงคล
การเข้ามาภายในวัดสระประสานสุขนั้น
ทุกคนจะต้องได้ลอดซุ้มประตูรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
หลวงปู่บุญมีท่านถือว่าทุกคนที่เข้ามาวัดเป็นมงคลอันแรก
ต่อมาคือการได้มารับฟังพระธรรมเทศนาเป็นมงคลอันดับต่อมา
และหากได้น้อมนําเอาพระธรรมคําสอนไปปฏิบัติก็จะเป็นมงคลต่อมา

.............................................................

:b44: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือพระดีศรีอุบล พระภาวนาวิศาลเถร (บุญมี โชติปาโล)
ประวัติและพระธรรมเทศนา วัดสระประสานสุข (บ้านนาเมือง)

จัดพิมพ์โดยคณะศิษยานุศิษย์, พิมพ์ที่เพิ่มพูนการพิมพ์ ๒๕๔๙
(๒) หนังสือที่ระลึกฉลอง ๑๕๐ ปี วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)
ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ๙ เมษายน ๒๕๔๙
จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการดำเนินการ, พิมพ์ที่วิทยาออฟเซทการพิมพ์
(๓) วิทยานิพนธ์ของนายปฐมพงศ์ ลิ้มเจริญ
เรื่อง การเข้าถึงพุทธปรัชญาและวิธีการสอน
ของพระภาวนาวิศาลเถระ (บุญมี โชติปาโล)

หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เดือนตุลาคม ๒๕๕๐
http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/255 ... pl_ch3.pdf
(๔) บทความ...หลวงปู่บุญมี โชติปาโล ทำพิธีต่อพระชนมายุ
ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช เขียนโดย คุณเนาว์สถิตย์

http://www.gmwebsite.com/webboard/Topic ... o=2&Other=


:b44: พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน)
เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่บุญมี โชติปาโล

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=49219

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มี.ค. 2013, 17:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ถึงกาลของผู้มีแสงสว่างในธรรม
เขียนโดย...อำพล เจน

มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง “หมอตำแย ทำงานส่งสัปเหร่อ”

นั่นหมายถึง เกิดแล้วต้องตาย ถ้าไม่อยากตายต้องไม่อยากเกิด

ในทางโลกการเกิดเป็นเรื่องน่ายินดี การตายเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ในทางธรรมการเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ การตายเป็นการสิ้นทุกข์ไปคราวหนึ่ง เว้นแต่ผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน การตายครั้งสุดท้ายจะปรากฏ แต่ใครจะรู้นอกจากตัวเอง

หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี ได้ถึงกาลมรณภาพแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2547 มีอายุรวม 95 ปี 3 เดือน 11 วัน

เพิ่งรู้ว่าตัวเองยังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ในโลกอันตระการดุจราชรถที่คนเขลามัวข้องอยู่ เพราะว่าเศร้าเหลือพรรณนา

ในรอบ 50 ปีหลังนี้ เมืองอุบลฯ มีครูบาอาจารย์ 2 องค์เป็นหลัก คือ หลวงพ่อชา สุภัทโท กับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล ที่อาจกล่าวได้ว่ามีคุณธรรมเสมอกัน เป็นหลักยึด 2 หลักให้คนกำลังค้นหาแสงสว่างในธรรมได้ยึด แต่แล้วธรรมชาติก็ทำงานของมันไปอย่างไม่ปรานี มันทำลายอายุขัย และสังขารของหลักยึดทั้งสองให้สิ้นไปในที่สุด ธรรมชาติอีกเหมือนกันที่ยังให้คุณแก่ผู้ยังอยู่ได้มีความทรงจำที่ดีต่อไป

ความทรงจำแจ่มชัดในวัยเด็กอันเกี่ยวข้องกับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล มีแม่ของผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง แม่ผู้ซึ่งมีหลวงพ่อเป็นพระในใจอยู่ตลอดเวลา กับการแสดงออกด้วยการเดินทางไปกราบนมัสการ ถวายอาหาร และข้าวของทุกวันหยุดประจำสัปดาห์ นั่นจึงเป็นเหตุให้มีผมได้ร่วมเดินทางทุกครั้ง

วันเสาร์เมื่อไหร่จะบอกตนเองเตรียมพร้อมไว้ ถ้าวันนี้แม่ไม่ไป ก็จะเป็นวันพรุ่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

สมัยนั้น (ราวๆ ปี 2505) สนามบินนานาชาติทุกวันนี้ ยังมีสภาพไปทุ่งโล่ง มีลานบินคอนกรีตอยู่แค่ให้เครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้ เราใช้สนามบินเป็นทางเดินเท้าที่ลัดที่สุดเพื่อไปวัดหลวงพ่อ โดยการเดินผ่านสนามบินทุกสัปดาห์ และมีเพื่อนร่วมทางบ่อยที่สุดของแม่คือ น้าชัยฮวดซิ้ม กับอีกคนที่ไม่ถึงกับบ่อยนักคือ อาเหรียญฟ้ากู๊ ซึ่งมีลูกสาวรุ่นราวคราวเดียวกับผมคือ ปอเตียง ทั้งยังเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ห้องเดียวกันอีกด้วย

ปอเตียง เป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง ส่วนผมที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทในตอนนั้น ทั้งเป็นญาติกันอีกต่างหาก ยังแค่ปานกลาง คือสอบได้ลำดับประมาณ 10 จะอ่อนแก่ก็แล้วแต่จังหวะของข้อสอบ

ครั้งหนึ่งผมสอบได้ที่ 2 ส่วนปอเตียงยังคงได้ที่ 1 เหมือนเดิม เกิดเหตุอัศจรรย์ไปทั้งวงศ์สกุล แต่เบื้องหลังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง นอกจากปอเตียงกับผม 2 คน

ปอเตียงให้ผมลอกข้อสอบ ไม่ใช่ย่อย รู้จักทุจริตข้อสอบตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ

นั่นแหละครับ ผมจึงมีเพื่อนคนเดียวที่ได้ร่วมเดินทางไปวัดหลวงพ่อในขณะที่แม่มีเพื่อน 2 คน

ระหว่างเดินลัดสนามบิน หน้าฝนมีน้ำเจิ่ง และทุ่งดอกหญ้าสารพัดชนิด เด็กๆ 2 คน ไม่เบื่อเลยที่จะวิ่งเก็บดอกไม้ และเอาเท้าทั้ง 2 ข้างวิ่งลุยน้ำ กลิ่นอายของต้นหญ้า ดอกไม้ และน้ำฝน ยังคงจำได้ทุกวันนี้

หลวงพ่อในสมัยนั้นกับสมัยปลายชีวิตของท่านยังอยู่ ในอิริยาบถและบรรยากาศเก่าๆ ยังนั่งอยู่บนศาลาพื้นเตี้ย ทำได้ด้วยไม้ มุงสังกะสี คล้ายๆ เพิงหมาแหงน แม้ว่าวัดจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ศาลาไม้เก่าๆ ยังอยู่

จำไม่ลืมคือการเหยียบหัว

ผมถูกเหยียบหัวทุกครั้งที่พบท่านในวัยเด็กทั้งชอบและเกลียด สถานการณ์แบบนี้ คือชอบเพราะรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิด เกลียดเพราะท่านรู้ความลับที่ผมมีอยู่ในใจคนเดียวได้อย่างไร

คำสอนพรั่งพรูออกจากปาก คำเดียวที่จำแม่นคือ ให้ปรนนิบัตกราบไหว้พระแก้ว 2 องค์ที่บ้าน คือ พ่อ กับ แม่ สอนอยู่เช่นนี้จนแม้ปลายชีวิตของท่านยังสอนไม่เสร็จ

ใช่แต่ผม ท่านสอนทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้รู้จักกตัญญูกตเวทิตาแก่พระแก้วที่บ้าน


เหมือนว่าเป็นคุณธรรมแห่งอนาคต ที่ทำนายว่าวันหนึ่งพระจะลงนรกกันหมด ทำบุญกับพ่อแม่ในตอนนั้นจะมีอานิสงส์มากที่สุด ไม่มีทางรู้ว่าสมัยอันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

แต่ท่านสอนให้ระลึกถึงพระแก้ว 2 องค์อยู่เป็นนิตย์ เป็นเหตุให้การกราบพระก่อนเข้านอนของผมมี 6 ครั้ง จนถึงวันที่กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, หลวงพ่อบุญมี, พ่อ, แม่

แปลกที่ความทรงจำของผมจะมีอยู่แค่ช่วงสั้นๆ แต่เพียงครั้งยังเด็ก นึกถึงหลวงพ่อเมื่อใด วัยเด็กแจ่มชัดทุกคราว แม้เห็นผ้าเช็ดหน้าที่ท่านลงอักขระด้วยปลายนิ้วชี้ ที่ทำให้ผมแต่คราวโน้น ความทรงจำก็มีอยู่แค่คราวนั้น

ผ้าเช็ดหน้าสีขาวกลายเป็นเหลืองหม่น เป็นของมงคลอันเดียวที่ผมมีไว้ระลึกถึงท่าน

วันที่แม่ใกล้จะสิ้นอายุขัย หลวงพ่อบุญมีอุ้มบาตรมาเยี่ยมไข้ที่แสนหนักถึงบ้าน เพื่อให้แม่ได้ใส่บาตร ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ไม่ลืม

ยังพอมีความทรงจำที่แจ่มใสอีกอันหนึ่ง เกิดขึ้นในคราวที่ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปจากชีวิต หรือว่าชีวิตของผมหายไปจากทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ทราบ พ่อแม่ตาย อาเหรียญฟ้าตาย ปอเตียงหายสาบสูญ ไปไหนไม่รู้

ผมกลับมาหาหลวงพ่ออีกครั้ง หลังจากไม่พบท่านเกือบ 30 ปี

เดินเข้าไปในวัดอย่างคุ้นเคยเช่นเดิม ไม่พบหลวงพ่อ แต่คนวัดบอกว่าท่านอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด ผมมุ่งหน้าไป เห็นพระแก่ๆ นั่งยองเอาผ้าคลุมหัวอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าไปกราบด้วยแน่ใจว่าเป็นท่าน

“มาหาใคร”

“มาหาหลวงพ่อ”

“นี่ไม่ใช่หลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่โน่น” ท่านชี้ไปทางศาลาการเปรียญ

ผมถอยกลับออกมาพอดีพี่สาวตามมาถึง ผมบอกว่าหลวงพ่ออยู่ที่ศาลา

“ใครบอก”

“หลวงพ่อองค์ที่นั่งอยู่นั่นแหละบอก”

“นั่นแหละหลวงพ่อ”

กลับเข้าไปใหม่ กราบท่านพร้อมๆ กับพี่สาว ท่านไม่พูดอะไร จนกระทั่งพี่สาวกราบเรียนท่านว่า

“น้องชายหล่า (สุดท้อง) มาแต่กรุงเทพฯ พามากราบหลวงพ่อ หลวงพ่อจำได้ไหมเจ้าคะ”

“นี่ไม่ใช่น้องชายหล่า” ท่านตอบ

ผมไม่รู้ปริศนาธรรมอันนี้ แต่ผมจำได้แม่นไม่เคยลืม

ไม่มีอะไรใช่ทุกอย่าง

ไม่ใช่ไปหมดทุกอย่าง

จนถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อจากไปแล้ว และขณะที่กำลังรำลึกถึงท่านตามแบบของผม ก็ยังไม่รู้ว่าใช่หรือไม่

บางทีจะค้นพบแสงสว่างแห่งธรรม แล้วเข้าใจว่านั่นไม่ใช่แสงสว่างแห่งธรรม จึงจะเป็นวันที่เข้าใจปริศนาของคำว่าไม่ใช่ ก็ได้ใครจะรู้


:b8: :b8: :b8: ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์
ฉบับที่ 516 วันที่ 1 กรกฎาคม 2547

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 เม.ย. 2015, 19:33 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร