วันเวลาปัจจุบัน 08 ต.ค. 2024, 04:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2013, 15:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและผลงาน
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ


บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย
และผู้ริเริ่มจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับประชาชน”
และ “พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา”



ประวัติทั่วไป

คัดลอกจาก “ปูชนียบุคคลของชาว มมร. อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๕ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

ข้อมูลส่วนตัว

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เกิด ณ ตำบลบางไทรป่า
อำเภอบางปลา (คืออำเภอบางเลนในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๖๐ ในครอบครัวที่มีอาชีพค้าขาย

การศึกษาและการอุปสมบท

ในวัยเด็ก อาจารย์ได้ศึกษาจบชั้นประถมปีที่ ๕ ซึ่งเทียบมัธยมปีที่ ๒ ในสมัยนั้น
เมื่อจบการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ได้เข้าเรียนภาษาบาลีที่วัดกันมาตุยาราม กรุงเทพฯ
อายุราว ๑๓ ปี ก็กลับไปบรรพชาเป็นสามเณร
เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อในทางพระศาสนาต่อไป
ณ วัดสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

โดยเป็นศิษย์ของพระปฐมนคราจารย์ (วงศ์ โอทาตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดสัมปทวน
และเจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในขณะนั้น แล้วจึงเข้ามาศึกษาเล่าเรียนต่อ
ณ วัดกันมาตุยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ จนสอบไล่นักธรรมและบาลี
ได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

ได้อุปสมบท ณ วัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

ได้รับฉายาว่า สุชีโว หลังจากอุปสมบทได้ ๒ พรรษา
ก็สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

ซึ่งในปีเดียวกันนั้น มีผู้สอบไล่ ๙ ประโยคได้ ๓ รูป คือ
(๑) พระมหาบุญรอด สุชีโว คืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
(๒) พระมหาบุญมี อเวรี (สมสาร) วัดบรมนิวาส
ภายหลังลาสิกขาและเปลี่ยนชื่อเป็น เชวง สมสาร
(๓) พระมหาเช้า ฐิตปญฺโญ (ยศสมบัติ) วัดเขาแก้ว จังหวัดนครสวรรค์
สุดท้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์
เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์

นอกจากจะมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานเป็นอันดีแล้ว
อาจารย์ยังมีความรู้ในภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาการสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่เป็นว่าภิกษุสามเณรควรจะเรียนรู้
เพื่อประโยชน์แก่การที่จะนำมาประยุกต์กับ
การสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ซึ่งวิชาการทั้งหลายเหล่านี้ อาจารย์ก็พยายามขวนขวายศึกษาเอาด้วยตนเอง
โดยการอ่านตำรับตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
จนกล่าวได้ว่า อาจารย์เป็นพระหนุ่มที่มีหัวก้าวหน้า มีโลกทรรศน์กว้างไกล
และมีวิธีการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่ทันสมัย
เป็นที่นิยมชมชอบและเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่งประเทศในขณะนั้น
ในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” ดังที่ ท่านพุทธทาส
ได้กล่าวถึงอาจารย์ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน
(คือเรื่อง เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม ๑) ว่า

“คุณสุชีพ หรือสุชีโวนั่นแหละ ที่ (เป็นดาวเด่น) เป็นคนแรก (ในยุคนั้น)
รุ่นอ่อนกว่าผมหน่อย(*๑) เขามีผลงานตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนั้นเขาเป็นผู้นำคนหนุ่มยุวพุทธ
ให้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นผู้ก่อหวอด ก่อรากมหาวิทยาลัยสงฆ์วัดบวรฯ (*๒)
เป็นคนแรกที่เทศน์เป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย เขาจัดให้เป็นพิเศษ
มีฝรั่งมาฟังหลายคน ตอนหลังผมเคยไปฟังด้วย
เจ้าคุณลัดพลี (พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์) พาไป คุณชำนาญก็เคยพาไปเยี่ยมแกถึงกุฏิ”


*๑ ท่านพุทธทาส เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ แก่กว่าอาจารย์สุชีพ ๑๑ ปี
*๒ หมายถึง สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย


ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์

จากประสบการณ์ของอาจารย์เองทำให้เห็นว่า
ความรู้ภาษาต่างประเทศและความรู้ในวิชาการสมัยใหม่นั้น
เป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
ฉะนั้น อาจารย์จึงมีความปรารถนาที่จะให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้วิชาการเหล่านี้
เพื่อจะได้เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ ทันโลกทันเหตุการณ์
อันจะทำให้สามารถสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล

ด้วยความปรารถนาดังกล่าวแล้ว อาจารย์จึงได้ริเริ่มสอนภาษาอังกฤษ
และวิชาการสมัยใหม่บางวิชาที่สามารถสอนได้ด้วยตนเองแก่ภิกษุสามเณรวัดกันมาตุยาราม
เป็นการกระตุ้นให้พระหนุ่มเณรน้อยสนใจใฝ่รู้ในวิชาการต่าง ๆ
และเห็นคุณประโยชน์ของวิชาการเหล่านั้นในแง่ของการนำมาส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

อาจารย์ได้เริ่มสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ อีกบ้าง แก่ภิกษุสามเณรที่สนใจ
โดยใช้ชั้นล่างของกุฏิที่พักของอาจารย์นั่นเองเป็นสถานที่เรียน
ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากพระหนุ่มเณรน้อยไม่น้อย มีผู้มาเล่าเรียนกันมาก

ต่อมา ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ ณ ตึกหอสมุดมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร
ได้ทราบว่าอาจารย์ได้เปิดสอนภาษาและวิชาการสมัยใหม่แก่พระภิกษุสามเณร
ที่วัดกันมาตุยารามดังกล่าวแล้ว วันหนึ่งท่านจึงได้ปรารภกับอาจารย์ว่า
เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ทำไมไม่ตั้งเป็นโรงเรียนสอนกันให้เป็นเรื่องเป็นราวเสีย

จากคำปรารภของ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) นี้เอง
ที่เป็นแรงกระตุ้นและแรงใจให้อาจารย์เกิดความคิดที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น
ต่อมาเมื่อได้นำความคิดนี้ไปปรึกษากับพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุต
ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนมาก จะมีติติงอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย
อันเนื่องมาจากยังไม่ค่อยแน่ใจในระบบการศึกษาและวิธีการ

ในที่สุดพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตก็ได้มีการประชุมกัน
และมีมติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ในนามของมหามกุฎราชวิทยาลัย
อันเคยเป็นสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์มาแต่เดิมแล้วโดยเรียกว่า

“สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย”

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แต่ครั้งยังไม่ได้ทรงกรม
ในฐานะองค์นายกกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
ได้ทรงลงพระนามประกาศตั้ง เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๘
สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย จึงเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในประเทศไทย

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ก็คืออาจารย์สุชีพ
และผู้ที่เป็นแรงผลักดัน และให้การสนับสนุนอย่างสำคัญ
จนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้
ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
หากขาดแรงสนับสนุนจากพระมหาเถระท่านนี้เสียแล้ว
การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ก็คงเป็นไปได้ยาก

อันที่จริงความดำริที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นในประเทศไทยนั้น มิใช่เพิ่งเกิดในครั้งนี้เป็นครั้งแรก
เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงพระดำริไว้เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว

โดยทรงพระดำริที่จะใช้พื้นที่บริเวณบางลำพูทั้งเกาะ เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
และการที่พระองค์ทรงจัดตั้ง มหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้น ก็เพื่อเป็นการปูทาง
ไปสู่การจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์นั่นเอง
แต่ยังมิทันจะได้ทรงดำเนินการตามพระดำริ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน

ฉะนั้น การจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขึ้นครั้งนี้
จึงเป็นการสานต่อพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นให้เป็นจริงขึ้นนั่นเอง

ในระหว่างนี้ อาจารย์ได้เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
คือ ยุวพุทธิกสมาคม โดย อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของอาจารย์ เป็นผู้นำในการจัดตั้ง
แล้วยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ก็ได้จัดตั้งขึ้น ณ วัดกันมาตุยาราม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๑
และยังคงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญองค์กรหนึ่ง
ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยสืบมาจนปัจจุบัน


การลาสิกขาและผลงานในฐานะพุทธศาสนิกชนตัวอย่าง

ลาสิกขา

เมื่อจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นแล้ว
อาจารย์สุชีพซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระศรีวิสุทธิญาณ
ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯ เป็นรูปแรก
อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯอยู่ ๕ ปี
ได้เป็นผู้วางรากฐานทั้งในด้านวิชาการและการบริหารให้แก่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น
ถึงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ อาจารย์ก็ลาสิกขา
การลาสิกขาของอาจารย์นับเป็นข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์เมืองไทยข่าวหนึ่งในยุคนั้น


เมื่ออาจารย์ลาสิกขาแล้ว ท่านเจ้าคุณพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส
ขณะยังเป็นพระมหาประยูร เปรียญ ๙ ก็ได้รับเลือก
ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยต่อมาเป็นรูปที่ ๒
(ต่อมาตำแหน่งเลขาธิการได้เปลี่ยนเป็นอธิการบดี
และผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นรูปแรกและรูปปัจจุบัน
ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาจารย์ (ประจวบ กนฺตจาโร) วัดมกุฎกษัตริยาราม

ชีวิตการทำงาน

หลังจากที่ลาสิกขาแล้ว อาจารย์ก็ยังช่วยเหลือกิจการของสภาการศึกษามหามกุฎฯอยู่ตลอดมา
โดยการเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา
และเป็นอาจารย์บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนาและศาสนาเปรียบเทียบ

อาจารย์ได้เข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงวัฒนธรรม
(ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ และยุบเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑)
โดยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เป็นรัฐมนตรีว่าการ และระหว่างนั้น ได้รับพระราชทานยศในกองทัพเรือเป็น ว่าที่นาวาตรี
ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง

ต่อมาได้ลาออกจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้วเข้าทำงาน
ในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.)
ในฐานะที่ปรึกษาและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ
และรองผู้อำนวยการ ตามลำดับ
อาจารย์ได้ทำงาน ณ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อกลางเดือนเมษายน ๒๕๒๐

เมื่อเกษียณอายุจากหน้าที่การงานแล้ว
อาจารย์ก็ได้อุทิศชีวิตให้แก่กิจการทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
ได้กลับมาช่วยกิจการทางวิชาการของสภามหามกุฎราชวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่
โดยการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นผู้บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนา
เป็นกรรมการสภาการศึกษาของคณะสงฆ์

นอกจากนี้ ก็ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ
บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง
เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

กิจการทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์ได้เข้ามาช่วยอย่างเต็มตัว
หลังจากที่อาจารย์เกษียณอายุแล้ว ก็คือ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.)
โดยได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการอำนวยการ
อาจารย์ต้องดูแลรับผิดชอบกิจกรรมทางวิชาการของ พสล. เป็นส่วนใหญ่

ลักษณะการประพันธ์อันโดดเด่น

อาจารย์เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการประพันธ์ สามารถประพันธ์ได้ทั้งในเชิงร้อยแก้วและร้อยกรอง
ผลงานในทางการประพันธ์ของอาจารย์ จึงมีทั้งเป็นบทกวีความเรียงทางวิชาการ
บทความ และนวนิยาย ข้อเขียนของอาจารย์ซึ่งรวมไปถึงบทเทศนา
และการบรรยายธรรมด้วย เป็นถ้อยคำสำนวนแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ
แต่กะทัดรัด ชัดเจน และมีความไพเราะอยู่ในตัว

อาจารย์ได้เริ่มแสดงความสามารถในทางการประพันธ์
และการบรรยายตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเปรียญ
ผลงานที่โดดเด่นที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามว่า “สุชีโวภิกขุ”
และตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือความสามารถในการมอง
และอธิบายพระพุทธศาสนาในแง่มุมที่แปลกใหม่ อันเป็นแง่มุมที่ไม่เคยมีใครมองมาก่อน
หรือเป็นแง่มุมที่คนทั่วไปมองไม่เห็น
และนำเอาประเด็นที่สำคัญและโดดเด่นของพระพุทธศาสนาในแง่มุมนั้น ๆ
ออกมาแสดงให้คนทั่วไปได้รู้จัก

ตัวอย่างของผลงานของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถดังกล่าวนี้
ก็เช่น หนังสือเรื่อง “คุณลักษณะพิเศษบางประการแห่งพระพุทธศาสนา”
ซึ่งก็มีแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย รวมทั้งบทความและปาฐกถาอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
ผลงานที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของอาจารย์ก็คือการอธิบายพระพุทธศาสนาแนวใหม่
โดยการนำเอาความรู้วิชาการสมัยใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ เป็นต้น
มาประยุกต์กับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทำให้คนทั่วไปเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ดีและง่ายขึ้น
ทั้งทำให้มองคุณค่าของพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาว่ามีความทันสมัย
สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์
หากศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี

สานต่อพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


นอกจากนี้ การอธิบายพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์ดังกล่าวนี้
ยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า บรรดาศาสตร์หรือวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ
ที่กำลังศึกษาหรือตื่นเต้นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น
ล้วนเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้เคยแนะนำสั่งสอนประชาชนมาแล้วทั้งนั้นในหลักการใหญ่ ๆ
ความสามารถในการอธิบายพระพุทธศาสนาแนวใหม่ หรือแนวประยุกต์นี้เอง
ที่ทำให้นาม “สุชีโวภิกขุ” ดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศ


ผลงานของอาจารย์ในด้านนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของอาจารย์เป็นที่รู้จัก
และเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วประเทศเท่านั้น แต่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อวงการศึกษา
และเผยแผ่พระพุทะศาสนาด้วยเป็นอันมาก เพราะเป็นการจุดประกายแห่งความริเริ่ม
และความสนใจในการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในวงการศึกษา
และวงการนักวิชาการของไทย และในเวลาต่อมาก็ได้มีการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนา
ในแนวประยุกต์กันอย่างจริงจัง และกว้างขวางยิ่งขึ้น

ผลงานของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความริเริ่มในด้านนี้
ก็เช่น ความเรียงเรื่อง “พระพุทธศาสนาในแง่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์”,
“พระพุทธศาสนากับสันติภาพของโลก”, “แง่คิดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” เป็นต้น

ผลงานของอาจารย์ด้านนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นการสานต่อพระดำริ
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อีกประการหนึ่งเช่นกัน
เพราะพระองค์ท่านทรงเป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาพระองค์แรกของไทย
ที่ทรงริเริ่มการอธิบายพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์
หรือการอธิบายพระพุทธศาสนาให้เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อความเข้าใจของคนร่วมสมัย
ดังจะเห็นได้จากงานพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน เช่น พุทธประวัติ ธรรมวิภาค ธรรมวิจารณ์
และธรรมนิพนธ์อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ซึ่งได้ทรงนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นต้น มาประยุกต์ในการอธิบายพระพุทธศาสนา
แต่เมื่อสิ้นสมัยของพระองค์ท่านแล้ว แนวพระดำริดังกล่าวนี้ก็ถูกลืมเลือนไปเพราะไม่มีผู้สานต่อ

ริเริ่มการประพันธ์นวนิยายอิงหลักธรรม
มิติใหม่ของการเผยแผ่พระศาสนา


ผลงานที่เป็นการบุกเบิกของอาจารย์อีกอย่างหนึ่ง
ในทางวรรณกรรมและวงการพระพุทธศาสนาของไทย ก็คือ
การแต่งนวนิยายอิงหลักธรรม

ความบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์ริเริ่มงานด้านนี้เกิดขึ้น
เมื่ออาจารย์อ่านเรื่อง กามนิต ของ คาล เยลเลรุป
ขณะเป็นสามเณรอายุราว ๑๕-๑๖ ปี
เรื่องนี้เดิมประพันธ์ขึ้นในภาษาเยอรมัน และแปลเป็นภาษาอังกฤษ
ต่อมาผู้รู้ของไทยได้แปลจากภาษาอังกฤษสู่ภาษาไทยในชื่อว่า กามนิต

นวนิยายเรื่องนี้ผู้ประพันธ์ได้อาศัยเรื่องราวจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ประกอบกับเรื่องราวจากคัมภีร์ฝ่ายพราหมณ์บ้าง สร้างเป็นเรื่องราวขึ้น
โดยมุ่งให้ผู้อ่านได้รับรสทั้งในแง่วรรณกรรม ศาสนาและศีลธรรม ไปพร้อม ๆ กัน
อาจารย์เห็นว่าเป็นวิธีการสั่งสอนศีลธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดีวิธีหนึ่ง
เมื่ออ่านเรื่องกามนิตในครั้งนั้น อาจารย์มีความประทับใจมากถึงกับตั้งใจไว้ว่า
เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนามีความรู้พอ ก็จะแต่งเรื่องทำนองนี้ขึ้นบ้าง

ครั้นอายุได้ ๒๒ ปี ขณะยังเป็นพระเปรียญ ๙ ประโยค อาจารย์ก็สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้
คือได้แต่งเรื่อง ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ขึ้น
และนำลงตีพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ เป็นตอน ๆ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔
นับเป็นผลงานทางนวนิยายอิงหลักธรรม เรื่องแรกของอาจารย์ และของวงการวรรณกรรมไทยด้วย

เมื่อจบเรื่องใต้ร่มกาสาวพัสตร์ อันเป็นเรื่องราวของพระองคุลิมาลแล้ว
เรื่อง กองทัพธรรม อันเป็นเรื่องของพระสารีบุตร พระธรรมเสนาบดีก็ตามมา
และจากนั้นอาจารย์ก็ได้รับการขอร้องให้แต่งเรื่องอื่น ๆ อีกกลายเรื่องตามลำดับ
คือเรื่อง ลุ่มน้ำนัมมทา เป็นการอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของรอยพระพุทธบาท
เรื่อง เชิงผาหิมพานต์ เป็นการสรรเสริญคุณของพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก
เรื่อง อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก เป็นเรื่องราวของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก
เรื่อง นันทะปชาบดี แสดงเรื่องราวของราชวงศ์ศากยะและความเป็นมาของภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

ผลงานทางนวนิยายอิงหลักธรรมของอาจารย์
นอกจากจะถือได้ว่า เป็นก้าวใหม่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านวรรณกรรมแล้ว
ยังถือได้ว่าเป็นการริเริ่มมิติใหม่ในวงวรรณกรรมของไทยด้วย
เพราะหลังจากผลงานชั้นบุกเบิกของอาจารย์ปรากฏสู่บรรณโลกแล้ว
ต่อมาไม่นานก็ได้เกิดนวนิยายอิงหลักธรรมโดยนักประพันธ์คนอื่น ๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง
จนเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านโดยทั่วไป

ผลงานอมตะ “พระไตรปิฎกฉบับประชาชน”

ผลงานที่ทำให้อาจารย์เป็นบุคคลอมตะตลอดไป
ในวงการวิชาการทางพระพุทธศาสนาของไทยก็คือ
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นการย่อความพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม
ให้เหลือเพียง ๕ เล่ม ซึ่งภายหลังได้รวมพิมพ์เป็นหนังสือขนาดใหญ่เล่มเดียวจบ

นับเป็นผลงานที่อาจารย์ผู้ริเริ่ม และทำเสร็จเป็นคนแรกในประเทศไทย
เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระไตรปิฎก และศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นการช่วยให้คนทั่วไปที่สนใจหรือต้องการจะศึกษาพระไตรปิฎก
สามารถอ่านหรือศึกษาได้สะดวกในเวลาอันสั้น
ช่วยให้เข้าใจสารัตถะและจับประเด็นสำคัญของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง
โดยไม่ต้องเสียเวลาอ่านพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ซึ่งทั้งยากแก่การทำความเข้าใจ
และยืดยาวชวนเบื่อสำหรับคนทั่วไป

ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากแล้ว
ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกฉานในพระไตรปิฎกและความวิริยะอุตสาหะของอาจารย์
ในอันที่จะสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอีกด้วย

ผลงานอมตะ “พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา”

งานริเริ่มในทางวิชาการอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ ที่ควรแก่การบันทึกไว้ในที่นี้ก็คือ
พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย-อังกฤษ และอังกฤษ-ไทย
ซึ่งอาจารย์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย
และได้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จากนั้นมาก็ได้มีผู้รู้ท่านอื่น ๆ
ได้สร้างงานประเภทนี้ขึ้นมาอีกหลายชิ้น
ซึ่งก่อให้เกิดผลดีแก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากความริเริ่มในทางการศึกษา การเผยแผ่ และทางวรรณกรรมแล้ว
อาจารย์ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลในทางวิชาการ
เพราะในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นนั้น
อาจารย์ได้เป็นผู้ชี้นำให้บรรจุวิชาการใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลากรของคณะสงฆ์
และเอื้อประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้พระนักศึกษาได้ศึกษาหลายวิชา
เช่น วิชาปรัชญา ตรรกวิทยา ศาสนาเปรียบเทียบ เป็นต้น
โดยบรรจุเป็นวิชาบังคับให้พระนักศึกษาได้ศึกษา ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษา
ของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา
ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาใด ๆ ในประเทศไทยเปิดสอนวิชาเหล่านี้
สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิก
ในการเปิดสอนวิชาดังกล่าวเหล่านี้ในประเทศไทย
ต่อมาอีกเกือบ ๒ ทศวรรษ มหาวิทยาลัยของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ
จึงได้เริ่มเปิดสอนวิชาเหล่านี้ขึ้น และได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในสมณเพศตลอดมา จนถึงเวลาที่ยังรับราชการอยู่
อาจารย์มักได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนหรือเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปประชุมหรือดูงาน
ในด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเซีย ยุโรป และอเมริกา อยู่เสมอ

โดยลักษณะส่วนตัว อาจารย์เป็นผู้มีอัทธยาศัยอ่อนน้อม
ดำเนินชีวิตแบบสงบและเรียบง่าย มีเมตตากรุณาต่อทุกคน
ไม่เบื่อหน่ายในการที่จะให้คำแนะนำหรือปรึกษาในทางวิชาการแก่ศิษย์หรือผู้สนใจ
มีวาจาในเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมให้กำลังใจแก่ทุกคนที่มีโอกาสพบปะสนทนาด้วยเสมอ
อาจารย์จึงเป็นที่เคารพรักของบรรดาศิษย์และผู้รู้จักคุ้นเคยทั่วไปอย่างจริงจัง

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ถึงแก่มรณกรรม
ในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ รวมอายุ ๘๓ ปี

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2013, 10:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ผลงานในด้านต่าง ๆ ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
เท่าที่สามารถรวบรวมได้ขณะนี้มีดังนี้



ตำรา

๑. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน (๒๕๐๑)

๒. พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย - อังกฤษ อังกฤษ - ไทย (๒๕๐๔)

๓. ศาสนาเปรียบเทียบ (๒๕๐๔)

๔. ประวัติศาสตร์ศาสนา (๒๕๐๖)


ความเรียงทางวิชาการ

๑. อริยสัจคืออะไร (๒๔๘๑)

๒. หลักพระพุทธศาสนา (๒๔๘๙)

๓. ตายแล้วเกิด (๒๔๙๒)

๔. วัฒนธรรมวิทยา (๒๔๙๗)

๕. คุณลักษณะพิเศษบางประการแห่งพระพุทธศาสนา (๒๕๐๐)


นวนิยายอิงหลักธรรม


๑. ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ (๒๔๘๔)

๒. กองทัพธรรม (๒๔๙๒)

๓. ลุ่มน้ำนัมมทา (๒๕๐๓)

๔. อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก (๒๕๐๕)

๕. นันทะปชาบดี (๒๕๐๗)



ปาฐกถา


๑. งานค้นคว้าภาษาบาลีในตะวันตก (๒๔๘๔)

๒. อาณาจักรตัวอย่าง (๒๔๘๙)

๓. วิจารณ์หลักพระพุทธศาสนา ๑๒ ข้อ ของนายคริสตมัส ฮัมเฟรยส์ (๒๔๘๙)

๔. พระพุทธศาสนา (๒๔๙๑)

๕. ธรรมะชั้นใน (๒๔๙๑)

๖. สิ่งที่อาจเป็นไปได้ (๒๔๙๒)

๗. แง่คิดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (๒๔๙๒)

๘. ความเหนื่อยใจ (๒๔๙๒)

๙. พระพุทธศาสนากับสันติภาพของโลก (แสดงเป็นภาษาอังกฤษ ๒๔๙๓)

๑๐. ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (๒๔๙๓)

๑๑. สหประชาชาติกับพุทธศาสนิกชน (๒๔๙๓)

๑๒. พระพุทธศาสนาในแง่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ (๒๔๙๔)

๑๓. ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ (๒๔๙๔)

๑๔. ธรรมะกับโรคภัยไข้เจ็บ (๒๔๙๔)

๑๕. การทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนา (๒๕๐๒)

๑๖. ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท (๒๕๐๓)

๑๗. คำบรรยาย คำถาม คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (๒๕๓๑)


บทความและบันทึกเบ็ดเตล็ด


๑. ฐานะที่ไม่ผิด (๒๔๘๕)

๒. การกลับตัว (๒๔๘๖)

๓. เสกคาถา (๒๔๙๑)

๔. ชุมนุมบันทึกเบ็ดเตล็ด ๖๕ เรื่อง (๒๔๙๔)

๕. ชุมนุมบทความสั้น ๆ (ภาค ๑ รวม ๑๕ เรื่อง) (๒๔๙๔)

๖. ธรรมะของพระพุทธเจ้า (รวม ๕ เรื่อง) (๒๔๙๔)

๗. พระเวสสันดรทำไม่ถูกจริงหรือ (๒๔๙๕)

๘. คติธรรม ๕ เรื่อง


นิทานและสุภาษิต


๑. ประชุมนิทานสุภาษิต (รวม ๕ เรื่อง ) (๒๔๙๓)

๒. สุภาษิตสั้น ๆ


เรื่องแปล


๑. พระสูตรมหายาน ปรัชญาปารมิตาหฤทยสูตร และ สุขาวสดีวยูหสูตร
(แปลจากภาษาสันสกฤต - พ.ศ. ๒๔๙๔)


มูลนิธิปุญญานุภาพ


มูลนิธิปุญญานุภาพ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณุปการของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ในการก่อตั้งมูลนิธินี้ ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้เห็นชอบ
โดยท่านได้ยกค่าลิขสิทธิ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาที่ท่านแต่งขึ้น
และจัดพิมพ์โดย มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งหมด
เพื่อตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา

โดยให้ทุนพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักศึกษาและครูอาจารย์
ที่ทำวิจัยด้านพระพุทธศาสนาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แต่ไม่มีทุนสนับสนุน

คณะกรรมการมูลนิธิได้ดำเนินการจดทะเบียนกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตามเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพทุกประการ

ปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้มอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยแก่นักศึกษาและนักวิจัยแล้วเป็นจำนวนมาก


กรรมการมูลนิธิปุญญานุภาพชุดปัจจุบัน

มูลนิธิมีคณะกรรมการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้:-

พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานกรรมการมูลนิธิ
นาวาเอก(พิเศษ)วีระ วัฒนนิรันดร์ ร.น. กรรมการ
นายสงบ เชื้อทอง กรรมการ
พันเอกประทัย โกศลกุล กรรมการ
นางดนูนาถ สุวรรณานนท์(ปุญญานุภาพ) กรรมการ
นายจำนง คันธิก กรรมการ
นายปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ กรรมการ
นาวาอากาศเอกวุฒิ อ่อนสมกิจ กรรมการ
นาวาอากาศเอกประยงค์ สุวรรณบุบผา กรรมการ
นายประจวบ ประเสริฐสังข์ กรรมการและเลขานุการ


สำนักงานติดต่อ

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร
เขตพระนคร บางลำพู กรุงเทพมหานคร 10200
หรือติดต่อกับผศ.ประจวบ ประเสริฐสังข์
กรรมการและเลขานุการได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 09-7636277 หรือ 02-2828109 ต่อ 229

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2013, 10:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คำอธิษฐาน ๑๐ ประการของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ธรรมะบันดาล
โดย ท่าน ว.วชิรเมธี


:b48: :b48:


คำอธิษฐานข้อที่ ๑

“ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนคิดได้ดีอะไรอย่างลอยๆ นั่งนอนคอยแต่โชควาสนา โดยไม่ลงมือทำความดี หรือไม่เพียรพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตน ถ้าข้าพเจ้าจะได้ดีอะไร ก็ขอให้ได้เพราะได้ทำความดีอย่างสมเหตุผลเถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๒

“ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนลืมตน ดูหมิ่นเหยียดหยามใครๆ ซึ่งอาจด้อยกว่าในทางตำแหน่ง ฐานะการเงิน หรือในทางวิชาความรู้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติแก่เขาตามความเหมาะสมในทางติดต่อเกี่ยวข้องกันเถิด อย่าแสดงอาการข่มขู่เยาะเย้ยใครๆ ด้วยประการใดๆเลย จะติดต่อเกี่ยวข้องกับใครๆ ก็ขอให้มีความอ่อนโยนนุ่มนวล สุภาพเรียบร้อยเถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๓

“ถ้าใครพลาดพลั้งลงในการครองชีวิต หรือต้องประสบความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ขออย่าให้ข้าพเจ้าเหยียบย่ำซ้ำเติมคนเหล่านั้น แต่จงมีความกรุณาหาทางช่วยเขาลุกขึ้น ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ร้อนให้แก่เขาเท่าที่จะสามารถทำได้”

คำอธิษฐานข้อที่ ๔

“ใครก็ตามมีความรู้ความสามารถขึ้นมาเท่าเทียมหรือเกือบเท่าเทียมข้าพเจ้าก็ ดี มีความรู้ความสามารถหรือมีผลงานอันปรากฏดีเด่นสูงส่งอย่างน่านิยมยกย่องยิ่ง กว่าข้าพเจ้าก็ดี ขออย่าให้ข้าพเจ้ารู้สึกริษยาหรือกังวลใจในความเจริญของผู้นั้นเลยแม้แต่ น้อย ขอให้ข้าพเจ้าพลอยยินดีในความดี ความรู้ ความสามารถของบุคคลเหล่านั้นด้วยความจริงใจ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้น อันเข้าลักษณะการมีมุทิตาจิตในพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกันข้ามกับความริษยา ขออย่าให้เป็นอย่างบางคนที่เกรงนักหนาว่า คนอื่นจะดีเท่าเทียมหรือดียิ่งกว่าตน คอยหาทางพูดจาติเตียน ใส่ไคล้ให้คนทั้งหลายเห็นว่าผู้นั้นยังบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีน้ำใจสะอาด พูดส่งเสริมยกย่องผู้อื่นที่ควรยกย่องเถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๕

“ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีน้ำใจเข้มแข็งอดทน อย่าเป็นคนขี้บ่นในเมื่อมีความยากลำบากอะไรเกิดขึ้น ขอให้มีกำลังใจต่อสู้กับความยากลำบากนั้นๆ โดยไม่ต้องอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย ขออย่าเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่ง เพราะไม่รู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเลย ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนชอบได้อภิสิทธิ์ คือสิทธิเหนือคนอื่น เช่น ไปตรวจที่โรงพยาบาล ก็ขอให้พอใจนั่งคอยตามลำดับ อย่าวุ่นวายจะเข้าตรวจก่อนทั้งที่ตนไปถึงทีหลังเลย ในการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกใดๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดหาวิธีลัดหรือวิธีทุจริตใดๆ รวมทั้งขออย่าได้วิ่งเต้นเข้าหาคนนั้นคนนี้เพื่อให้เขาช่วยให้ได้ผลดีกว่าคน อื่น ทั้งๆที่ข้าพเจ้าอาจมีคะแนนสู้คนอื่นไม่ได้เถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๖

“ถ้าข้าพเจ้าทำงานในที่ใด ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือคิดเอาแต่ได้ในทางส่วนตัว เช่น เถลไถลไม่ทำงาน รีบเลิกงานก่อนกำหนดเวลา ขอจงมีความขยันหมั่นเพียร พอใจในการทำงานให้ได้ผลดีด้วยความตั้งใจและเต็มใจเสมือนหนึ่งทำงานให้แก่ตน เอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้นเถิด”

“อันเนื่องมาแต่ความไม่คิดเอาเปรียบในข้อนี้ ถ้าข้าพเจ้าเผอิญก้ำเกินข้าวของที่ทำงานไปในทางส่วนตัวได้บ้าง เช่น กระดาษ ซอง หรือเครื่องใช้ใดๆ ขอให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่าเป็นหนี้อยู่ และพยายามใช้หนี้คืนด้วยการซื้อใช้ หรือทำงานให้มากกว่าที่กำหนด เพื่อเป็นการชดเชยความก้ำเกินนั้น ข้อนี้รวมทั้งขอให้ข้าพเจ้าอย่าเอาเปรียบชาติบ้านเมือง เช่น ในเรื่องการเสียภาษีอากร ถ้ารู้ว่ายังเสียน้อยไปกว่าที่ควร หรือที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะชดใช้แก่ชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสตอบแทนได้เมื่อไร ขอให้รีบตอบแทนโดยทันที เช่น ในรูปแห่งการบริจาคบำรุงโรงพยาบาล บำรุงการศึกษา หรือบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ แบบบริจาคให้มากกว่าที่รู้สึกว่ายังเป็นหนี้ชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ และในข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติแม้ต่อเอกชนใดๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือโกงใครเลยแม้แต่น้อย แม้แต่จะซื้อของ ถ้าเขาถอนเงินเกินมา ก็ขอให้ข้าพเจ้ายินดีคืนให้เขากลับไปเถิด อย่ายินดีว่ามีลาภ เพราะเขาทอนเงินเกินมาให้เลย”

คำอธิษฐานข้อที่ ๗

“ขออย่าให้ข้าพเจ้ามักใหญ่ใฝ่สูง อยากมีหน้ามีตา อยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่เป็นโต ขอให้ข้าพเจ้าใฝ่สงบ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องการแข่งดีกับใครๆ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าพอจะเดาได้ว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความอยากมีหน้ามีตา ความอยากมีอำนาจและอยากเป็นใหญ่เป็นโตนั้น มันเผาให้เร่าร้อน ยิ่งต้องแข่งดีกับใครๆด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความคิดริษยา คิดให้ร้ายคู่แข่งขัน ถ้าอยู่อย่างใฝ่สงบ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ก็จะเย็นอกเย็นใจ ไม่ต้องนอนก่ายหน้าผากถอนใจเพราะไม่สมหวัง ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจซาบซึ้งในพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ละความชนะความแพ้เสียได้ ย่อมเป็นสุข’ ดังนี้เถิด”

“แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เมื่อใฝ่สงบแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องอยู่อย่างเกียจคร้าน ไม่สร้างความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระพุทธศาสนามิได้สอนให้คนเกียจคร้าน งอมืองอเท้า แต่สอนให้มีความบากบั่นก้าวหน้าในทางที่ดี ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม และความบากบั่นก้าวหน้าดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับความทะยานอยากหรือความมักใหญ่ใฝ่สูงใดๆ คงทำงานไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ผลดีก็จะเกิดตามมาเอง”

คำอธิษฐานข้อที่ ๘

“ขอให้ข้าพเจ้าหมั่นปลูกฝังความรู้สึกมีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น และมีกรุณาคิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ปูพื้นจิตใจด้วยเมตตากรุณาดังกล่าวนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีใครเป็นศัตรูที่จะต้องคิดกำจัดตัดรอนเขาให้ถึงความ พินาศ”

“ใครไม่ดี ใครทำชั่วทำผิดขอให้คิดได้ กลับตัวได้เสียเถิด อย่าทำผิดทำชั่วอีกเลย ถ้ายังขืนทำต่อไปก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เขาจะต้องรับผลแห่งกรรมชั่วของเขาเอง เราไม่ต้องคิดแช่งชักให้เขาพินาศ เขาก็จะต้องถึงความพินาศของเขาอยู่แล้ว จะต้องแช่งให้ใจเราเดือดร้อนทำไม ขอให้ความเมตตาคิดจะให้เป็นสุข และกรุณาคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ซึ่งข้าพเจ้าปลูกฝังขึ้นในจิตนั้น ขออย่าเป็นไปในวงแคบและวงจำกัด ขอจงเป็นไปทั้งในมนุษย์และสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งสัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เหล่านั้น ต่างก็รักสุข เกลียดทุกข์ รู้จักรักตนเอง ปรารถนาดีต่อตนเองด้วยกันทั้งสิ้น”

คำอธิษฐานข้อที่ ๙

“ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนโกรธง่าย ต่างว่าจะโกรธบ้าง ก็ขอให้มีสติรู้ตัวโดยเร็วว่ากำลังโกรธ จะได้สอนใจตนเองให้บรรเทาความโกรธลง หรือถ้าห้ามใจให้โกรธไม่ได้ ก็ขออย่าให้ถึงกับคิดประทุษร้ายผู้อื่น หรือคิดอยากให้เขาถึงความพินาศ ซึ่งนับเป็นมโนทุจริตเลย ขอจงสามารถควบคุมจิตใจให้เป็นปกติได้โดยเร็วเมื่อมีความไม่พอใจหรือความโกรธ เกิดขึ้นเถิด”

“และเนื่องมาจากความปรารถนาข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนผูกโกรธ ให้รู้จักให้อภัย ทำใจให้ปลอดโปร่งจากการผูกอาฆาตจองเวร ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยรู้จักเปรียบเทียบกับตัวข้าพเจ้าเองว่า ข้าพเจ้าเองก็อาจทำผิด พูดผิด คิดผิด หรืออาจล่วงเกินผู้อื่นได้ ทั้งโดยมีเจตนาและไม่เจตนา ก็ถ้าข้าพเจ้าเองยังทำผิดได้ เมื่อผู้อื่นทำอะไรผิดพลาดล่วงเกินไปบ้าง ก็จงให้อภัยแก่เขาเสียเถิด อย่าผูกใจเจ็บ หรือเก็บความรู้สึกไม่พอใจนั้นมาขังอยู่ในจิตใจให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเอง เลย”

คำอธิษฐานข้อที่ ๑๐

“ขอให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความเข้าใจและสอนใจตัวเองได้เกี่ยวกับคำสอนของพระ พุทธศาสนาทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าวคือ พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักสร้างความเจริญแก่ตนในทางโลก และสอนให้ประพฤติปฏิบัติยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้มีปัญญาเข้าใจปัญหาแห่งชีวิต เพื่อจะได้ไม่ติดไม่ยึดถือ มีจิตใจเบาสบายอันเป็นความเจริญในทางธรรม ซึ่งรวมความแล้วสอนให้เข้ากับโลกได้ดี ไม่เป็นภัยอันตรายแก่ใครๆ แต่กลับเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ แต่ก็ได้สอนไปในทางธรรมให้เข้ากับธรรมได้ดี คือให้รู้จักโลก รู้เท่าโลก และขัดเกลานิสัยใจคอให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อบรรลุความดับทุกข์พ้นทุกข์ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจดีทั้งทางโลกทางธรรม และปฏิบัติตนให้ถูกต้องได้ทั้งสองทาง รวมทั้งสามารถหาความสงบใจได้เอง และสามารถแนะนำชักชวนเพื่อนร่วมชาติ ร่วมโลก ให้ได้ประสบความสุขสงบได้ตามสมควรเถิด”

บทสรุป

“ความปรารถนาหรือคำอธิษฐานรวม ๑๐ ประการของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าตั้งไว้เพื่อเป็นแนวทางเตือนใจ หรือสั่งสอนตัวเอง เพราะปรากฏว่าตัวข้าพเจ้าเองยังมีข้อบกพร่อง ซึ่งจะต้องว่ากล่าวตักเตือน คอยตำหนิตัวเองอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ถ้าได้วางแนวสอนตัวเองขึ้นไว้เช่นนี้ เมื่อประพฤติผิดพลาด ก็อาจระลึกได้ หรือมีหลักเตือนตนได้ง่ายกว่าการที่จะนึกว่า ข้าพเจ้าดีพร้อมแล้ว หรือเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นความประมาทหรือลืมตัวอย่างยิ่ง”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2013, 10:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สุชีพ ปุญญานุภาพ : อะไหล่ที่หาไม่ได้
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
จากมติชนรายวัน ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓


รูปภาพ


ก่อนจะถึงวันวิสาขบูชา ก็ได้รับข่าวน่าเสียใจ ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้สิ้นชีวิตเสียแล้วเมื่อวันที่เสาร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๓ ท่านเสียวันไหนผมไม่ทราบ ได้ทราบข่าวเมื่อเช้าวันเสาร์ จากท่านที่เคารพนับถือโทรศัพท์มาบอก ทราบเรื่องราวว่าหลังจากรับประทานอาหารมื้อหนึ่งแล้ว ก็รู้สึกอึดอัดในท้อง ขอนั่งพักสักระยะหนึ่ง ท่านนั่งเข้าสมาธิอยู่เป็นเวลานาน จนภรรยาและบุตรสงสัยว่าทำไมนั่งนานปานนั้น จึงเข้าไปจับตัว จึงได้รู้ว่าตัวเย็นเฉียบ เห็นท่าไม่ไหวแล้วจึงนำส่งโรงพยาบาล ทั้งที่ท่านบอกว่า ไม่ต้องการไป ต้องการจากไปอย่างที่สงบที่บ้าน แต่ก็ด้วยความเป็นห่วงว่าท่านจะเป็นอะไรมากกว่านี้ จึงนำส่งถึงมือหมอ และก็เป็นการไปที่ไม่กลับ ท่านสิ้นลมด้วยอาการอันสงบ !


เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งปรารภว่า ท่านอาจารย์คงรู้ว่าถึงวาระที่ท่านต้องไป จึงขอไปด้วยท่านั่งสมาธิดุจดังอาจารย์เซนทั้งหลายในอดีต แต่ถึงจะไปในท่าไรก็เป็นการไปอย่างสงบเช่นกัน และก็เป็นการไปที่ผู้อยู่เบื้องหลัง เสียใจและเสียดาย

เสียใจน่ะ เป็นของธรรมดา สักพักหนึ่งก็คงทำใจได้ เมื่อรำลึกได้ว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" มีเกิดก็มีดับ เป็นธรรมดา ไม่ช้าไม่นานก็คงทำใจได้ แต่เสียดายนี่สิครับ ยากจะทำใจได้ เพราะบุคคลอย่างท่านอาจารย์สุชีพ หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นอะไหล่ ไม่ว่าจะอะไหล่อะไรก็ตาม ท่านอาจารย์สุชีพเป็นอะไหล่ที่หาไม่ได้อีกแล้ว


หลายสิบปีมาแล้ว ถ้าท่านยังรำลึกได้ คงจะทราบว่า มีภิกษุหนุ่มรูปงามท่านหนึ่ง จบเปรียญเก้าประโยค มีความรู้พระพุทธศาสนา และศาสตร์อื่น ๆ อย่างหาตัวจับยาก เป็นนักเทศน์นักปาฐกถาธรรมที่โด่งดัง เรียกได้ว่าเพียงรูปเดียวในยุคนั้นเป็นพระไทยไม่กี่รูปที่รู้ภาษาฝรั่งเศษดีเยี่ยม แสดงธรรมเป็นภาษาฝรั่งให้ชาวต่างชาติสดับด้วยความคล่อง แคล่ว ชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว


มิเพียงแต่เป็นนักเทศน์นักสอน ภิกษุหนุ่มรูปนี้ยังเป็นนักเขียนฝีมือดีอีกด้วย งานเขียนมีมากมายพอ ๆ กับงานพูด หนังสือ พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน เป็นงานอมตะที่ถึงปัจจุบันนี้พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก และเป็นหนังสือที่ขายดิบขายดีอย่างยิ่ง


ท่านเป็นผู้ริเริ่มการเขียน นวนิยายอิงพระพุทธศาสนา ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ , เชิงผาหิมพานต์ ได้ออกมาสู่บรรณพิภพ ทำให้มีความตื่นตัวในการสอนธรรมะแนวใหม่ ที่คนทั่วไปรับได้ อ่านด้วยความสนุกสนาน
จากนั้นมาลูกศิษย์ลูกหาที่มีฝีมือในด้านการขีดเขียน ก็หันมาเอาอย่าง แต่งนิยายอิงธรรมะกันเป็นแถว อาทิ ธรรมโฆษ (แสง จันทร์งาม) ได้สร้างบทบาทของพระเรวตะ กับสีกาลีลาวดี ด้วยสำนวนอันชวนติดตามใน ลีลาวดี ที่พระเล็กพระน้อยติดกันงอมแงม วศิน อินทรสระ ผจงเรียงร้อย อานนท์พุทธอนุชา ออกมาอย่างไพเราะเพราะพริ้ง การกู้ชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ ของ "กนกพร" (จำนงค์ ทองประเสริฐ ) ก็ดี คำให้การของพระเทวทัต ของ "กนกบุญ" (อดิศักดิ์ ทองบุญ) ก็ดี ถึงแม้ว่า ผุ้ประพันธ์ทั้งสองมิใช่ศิษย์โดยตรงของอาจารย์สุชีพ ก็ยากปฏิเสธว่ามิได้อิทธิพลจากแนวคิดแนวเขียนของท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เดิมนาม บุญรอด ฉายาตอนบวชคือ สุชีโว ภิกขุ อันเป็นนามที่ติดหูชาวพุทธไทยทั่วประเทศ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นสามัญที่พระศรีวิสุทธิญาณ ตั้งแต่ยังหนุ่ม เป็นพระเจ้าคุณทั้งหนุ่ม และมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญใน สกสมัย (ศาสตร์ของลัทธิของตน) และ ปรสมัย (ศาสตร์ของลัทธิอื่น) ท่านก็มิได้เคลิบเคลิ้ม หรือหลงในโลกธรรมเหล่านั้น ตรงข้ามกลับเป็นพระที่สงบสำรวมอย่างยิ่ง



เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว ท่านก็ทำงานในแนวที่ถนัดในด้านวิชาการ ถ่ายทอดความรู้แก่สานุศิษย์และประชาชนทั่วไป และช่วยงานการพระศาสนา และประเทศชาติสืบมาจนอายุขัย ดังเคยช่วยกระทรวงวัฒนธรรมฟื้นฟูวัฒนธรรมแห่งชาติ ช่วยสอนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ช่วยสำนักงานเอกลักษณ์ผลิตคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ ช่วยราชบัณฑิตยสถาน ทำพจนานุกรมศาสนาสากล พจนานุกรมพระไตรปิฎก


ที่สำคัญยิ่งก็คือท่านมีบทบาทสำคัญใน องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทย เผยแผ่พระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ


อาจารย์สุชีพมีความจำแม่นยำ ใครอยากทราบว่าพระสูตรไหน อยู่ที่ไหน มาถามท่าน ท่านจะบอกเล่มบอกหน้า พร้อมท่องให้ฟังเสร็จ คนรุ่นใหม่ "เป็นงง" ว่าท่านจำได้อย่างไร เวลาเข้าประชุมกับท่าน ท่านจะยกพุทธวจนะให้ฟังเป็นตอน ๆ พร้อมอธิบายให้ฟัง เพราะฉะนั้น ใครจะคุยกับท่านว่าได้ซื้อคอมพิวเตอร์มาค้นพระไตรปิฎกซีดีรอมท่านไม่ตื่นเต้น เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่ใน "ฮาร์ตแวร์" และ "ซอฟต์แวร์" ของท่านหมดแล้ว ดึงออกมาเร็วกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณอีก อะไหล่อย่างนี้ หาไม่ได้อีกแล้วครับ


ผู้รู้อาวุโสอย่างท่าน มีความถ่อมตนอย่างน่าอัศจรรย์ เรียกกรรมการทุกคน ซึ่งก็วัยลูกวัยหลานของท่านทั้งนั้นว่า "ท่านอาจารย์" ทุกคำ เรียกเลขานุการว่า "ท่านเลขาฯ" จนเธอบอกว่าขนลุกทุกครั้งที่อาจารย์เรียก มิใช่การแสร้งทำ หากออกจากจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอย่างยิ่งของท่าน


มีบุคคลสองท่านเท่านั้นที่ผมนินทาให้ใครฟังแล้ว ไม่ต่อประโยค จะนิ่ง หรือไม่ก็ชวนคุยเรื่องอื่นคือ ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ หนึ่งท่านอาจารย์สุชีพอีกหนึ่ง เฉพาะท่านอาจารย์สุชีพนั้น ท่านระมัดระวังเรื่องทรรศนะที่แสดงออกมาไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนใคร จนบางครั้งคนหาว่าท่าน "แหย" แต่ท่านยืนในหลักการของพระพุทธเจ้าชัดแจ้ง เมื่อถึงคราวแสดงออกท่านแสดงออกด้วยความกล้าหาญยิ่ง
เมื่อเกิดวิวาทะว่า พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ผมเรียนถามท่านว่า ท่านอาจารย์ว่าอย่างไร ท่านตอบว่า ถามทำไมว่าเป็นอัตตา หรืออนัตตาพระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้วว่า อนัตตา ไม่ใช่ความเห็นของใคร เป็นพุทธวจนะของพระพุทธเจ้า


แล้วท่านก็ยกบาลีแล้วแปลให้ฟังว่า คนที่มีความเห็นถูกต้อง ไม่พึงยึดถือธรรมใด ๆ ว่าเป็นอัตตา
หลังจากอ้างเล่ม อ้างหน้าเสร็จแล้ว ท่านอธิบายว่า ธรรมะใด ๆ หมายถึงธรรมะทุกระดับ ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม และพระนิพพานเป็นอสังขตธรรม พระพุทธเจ้ามิให้ยึดถือว่าเป็นอัตตา


บางครั้งมีการกระทบกันเรื่องนิกาย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ตามประสาผู้ยึดติด มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าท่านอาจารย์สุชีพ "นิ่ง" มากในเรื่องนี้จนวันหนึ่งในที่ประชุม เราคุยนอกเรื่องกันด้วยเรื่องอะไรจำไม่ได้ ท่านอาจารย์กล่าวขึ้นว่า "พ่อผมบวชมหานิกาย ผมบวชธรรมยุต ผมจะไปว่ามหานิกาย ยกย่องธรรมยุตก็ไม่ได้ เท่ากับลบหลู่พ่อผม จะตำหนิธรรมยุต ยกย่องมหานิกายก็ไม่ได้เท่ากับดูหมิ่นตัวเอง เหนืออื่นใด ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ก็คือลูกของพระพุทธเจ้า เราควรจะดูหมิ่นพระศาสดาของเราหรือ

จึงไม่แปลกใจว่าทำไม ท่านอาจารย์สุชีพมีน้ำใจประเสริฐ มีความเป็นกลาง มีความยุติธรรมเหลือเกิน คนอย่างนี้มิใช่หรือที่เราสมควรยกย่องให้เป็นแบบอย่าง


แบบอย่างผู้รู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน แบบอย่างผู้ไม่ยึดติดในเปลือกกระพี้ หากมุ่งชี้แก่นสารที่พึงนำไปปฏิบัติ ต่างจากบางคนตั้งหน้าแบกแต่เปลือกกระพี้ แถมยังเน่าเสียด้วย


:b50: :b50:


(ตัดทอนจากบทความเรื่อง "สุชีพ ปุญญานุภาพ : อะไหล่ที่หาไม่ได้")

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2013, 11:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณลักษณะพิเศษของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ปาฐกถาของศาสตราจารย์เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม

ในการบำเพ็ญกุศลศพอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓
ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร


นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๕ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

:b44: :b44:

ขอกราบนมัสการพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาจารย์
พระเถรานุเถระ ท่านเจ้าภาพ ญาติมิตร ศิษย์ของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพทุกท่าน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ กระผมได้รับโทรศัพท์แจ้งให้ทราบว่าวันที่ ๒๕ นี้ จะมีการทำบุญสวดพระอภิธรรม อุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ในนามของศิษย์เก่าหลายรุ่น กระผมก็ยินดีรับที่จะมาบรรยายด้วยความเต็มใจ ทั้ง ๆ ที่อยู่ไกลและมาลำบาก แต่ด้วยความเคารพรักในท่านอาจารย์ และเพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงท่านอาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ

กระผมเองออกจะโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จักกับท่านอาจารย์สุชีพ อย่างค่อนข้างใกล้ชิดเพราะว่ากระผมเป็นนักศึกษารุ่นแรกของสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งท่านอาจารย์สุชีพเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังสงครามใหม่ ๆ ตอนนั้นอาคารเรียนยังไม่มีเป็นของตนเอง ต้องไปอาศัยเรียนที่ตึกหอสมุดเก่าของมูลนิธิ ที่หน้าวัดบวรนิเวศ สมัยนั้นยังไม่มีอาจารย์ประจำอย่างสมัยนี้ อาจารย์ที่สอนเป็นอาจารย์พิเศษทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์สุชีพจึงทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำ และถ้าอาจารย์พิเศษไม่มา ท่านก็เข้าสอนแทนแทบจะทุกวิชา เพราะฉะนั้นพวกเราในรุ่นที่ ๒ และ ๓ ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับท่าน มีโอกาสรู้จักกับท่านเป็นอย่างดี และยิ่งกว่านั้น กระผมเองยังมีโอกาสได้เป็นปัจฉาสมณะ คือเป็นพระภิกษุผู้ติดตามพระอาจารย์ ไปประชุมองค์การ พ.ส.ล. ครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกา พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากประชุมที่ศรีลังกาแล้ว ยังได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดียด้วยกันอีกเป็นเวลาประมาณ ๒ อาทิตย์ เรียกว่าได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านมาอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นเรื่องที่กระผมจะพูดในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่จะเล่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเวลาก็ผ่านไปเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว และความจำของคนเราเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นถ้าหากขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ขออภัยต่อท่านผู้ฟังนะครับ

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เท่าที่ผมได้ศึกษาสังเกตท่านมาเป็นเวลานาน ได้พบคุณสมบัติพิเศษของท่านอยู่หลายอย่างหลายประการด้วยกัน ในวันนี้จะนำมาบรรยายแต่เพียงบางอย่าง เท่าที่เวลาจะกำหนดให้

ประการแรก ท่านอาจารย์เป็นบุคคลที่เป็นนักปรัชญาสมชื่อ ท่านที่ผ่านวิชาปรัชญามาแล้ว ก็คงจำได้ว่า คำว่า “ปรัชญา” ภาษาอังกฤษคือ “philosophy” ซึ่งมาจากภาษากรีก “ฟิลอสโซเฟีย” “ฟิลอส” แปลว่า รัก “โซเฟีย” แปลว่า ความรู้ เพราะฉะนั้น “นักปรัชญา” แปลว่า ผู้รักในความรู้ ผู้ใฝ่รู้ ผู้แสวงหาความรู้ตลอดเวลา ท่านอาจารย์สุชีพเป็นนักปรัชญา เป็นผู้รักในความรู้อย่างแท้จริง ให้แสวงหาความรู้จนกระทั่งได้บรรลุถึงชั้นภูมิสูงสุดทั้งในทางโลกทั้งในทางธรรม

ในทางธรรมนั้น ท่านอาจารย์สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงว่าความรู้ความสามารถของท่านในทางภาษาบาลีแตกฉานเพียงใด แทบจะกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎก ท่านอ่านเข้าใจแจ่มแจ้งถี่ถ้วนทั้ง ๓ ปิฎก ส่วนความรู้ทางโลกของท่านนั้น สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังไม่มีหลักสูตรการเรียน และยิ่งกว่านั้นยังห้ามไม่ให้พระเรียนวิชาทางโลก เช่นภาษาอังกฤษ เป็นวิชาที่เรียนไม่ได้ ไม่มีหลักสูตรให้พระเรียน ในวัดก็ไม่มี เพราะถือว่าเป็นเดรัจฉานวิชา เป็นวิชาชั้นต่ำ ไม่เหมาะสมสำหรับพระเณร เพราะฉะนั้นพระสงฆ์สามเณรที่อยากเรียนวิชาความรู้ทางโลกต้องแอบเรียนเรียนแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ

ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านเห็นว่า พระจะมีความรู้แต่ในทางธรรมอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีความรู้ในทางโลกด้วย ท่านจึงขวนขวายแสวงหาความรู้ในทางโลกด้วยตนเอง ภาษาอังกฤษได้ทราบว่า ท่านเรียนด้วยตนเอง จนสามารถมีความรู้แตกฉานอ่าน ฟังเขียน พูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ซึ่งหาได้ยากมากคนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วใช้ได้ทุกอย่าง

กระผมได้ฟังท่านพูดภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก เมื่อเข้าเรียนมหามกุฎราชวิทยาลัย ปีที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๙ สมัยนั้นนายกพุทธสมาคมแห่งกรุงลอนดอน นายคริสมาส ฮัมฟรีส์ มาเยี่ยมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย กระผมเห็นท่านอาจารย์สุชีพ พูดภาษาอังกฤษ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นคนไทยพูดภาษาอังกฤษ มันเป็นสิ่งที่ประหลาดมหัศจรรย์ เพราะว่าเสียงที่พูดออกมามันมีแต่เสียงฟุต ฟิต ฟอ ไฟ ฟู่ ๆ ฟี่ ๆ มันคล้ายกับเสียงงูเห่า เราเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ภาษางูเห่า” รู้สึกอัศจรรย์ใจมากกว่าพูดได้อย่างไร ? ตั้งใจลงไปตั้งแต่ขณะนั้นว่าเราจะต้องพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ได้ พูดให้ได้อย่างท่าน ต้องนับว่าท่านเป็นแบบอย่างในทางปลุกให้เราตื่นในเรื่องการศึกษาหาความรู้

ในทางภาษาสันสกฤตนั้น ทราบว่าท่านเรียนจากท่านสวามีสัตยานันทบุรี สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านสวามีสัตยานันทบุรี มีชื่อเสียงมาก เป็นนักปราชญ์ชาวอินเดียที่มากระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวทางวิชาการทางปรัชญา ท่านอาจารย์สุชีพ ได้ไปเรียนภาษาสันสกฤตกับท่านสวามีสัตยานันทบุรี แล้วก็มีความรู้แตกฉานมากพอ ๆ กับภาษาบาลี ก็นับว่าเป็นนักเรียนนักรู้ใฝ่แสวงหาความรู้ ซึ่งควรจะเป็นแบบอย่างของพวกเราเป็นอย่างดี นอกจากนี้ท่านอาจารย์ยังมีความรู้ทางอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง

คุณสมบัติประการที่ ๒ ของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ คือความเป็นครูที่สมบูรณ์แบบ ท่านสอนพวกเราทุกสิ่งทุกอย่าง ฝึกฝนทุกสิ่งทุกอย่าง ก็อย่างที่กระผมกราบเรียนเมื่อตอนต้นว่า ท่านเป็นครูประจำคนเดียวในยุคนั้น ถ้าครูอาจารย์อื่น ๆ ไม่มาต้องเข้าสอนแทน บางทีท่านต้องฝึกฝนพวกเราโดยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เรามีความรู้ความสามารถ ที่ท่านฝึกฝนเป็นประจำก็คือ เวลาครูไม่มา ก็ให้พวกเรานักศึกษาฝึกพูด ฝึกอธิบายธรรมะฝึกตอบโต้คำถาม ท่านบอกว่าเราจะได้สามารถอธิบายธรรมะให้คนไทยและคนต่างประเทศฟังได้ในอนาคต พวกเราก็ได้ฝึกฝน บางทีก็มีการอภิปราย มีการโต้วาทีกัน ความรู้ความสามารถที่พวกเรามีตั้งแต่สมัยนั้นมาจนถึงบัดนี้ ก็เพราะความฝึกฝนเอาใจใส่ของท่านอาจารย์

นอกจากนั้นท่านอาจารย์ยังเน้นเป็นพิเศษในวิชาพระพุทธศาสนา สอนเสมอว่าวิชาทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงส่วนประกอบนำมาเพื่อการช่วยอธิบายธรรมะให้แจ่มแจ้งเท่านั้น แต่วิชาที่เป็นหลักคือพระพุทธศาสนา แต่ว่าเป็นที่น่าเสียดาย พวกเราสมัยนั้นอาจจะเป็นเพราะยังหนุ่มและมองไกลไปนอกตัว จึงมองข้ามความสำคัญของพระพุทธศาสนา

อย่างกระผมเองก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของวิชาพระพุทธศาสนา กลับไปให้ความสนใจในวิชาภาษาอังกฤษ แต่ว่าต่อมาในตอนหลัง เมื่อเราได้มาเผชิญโลก ได้เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนคนอื่น เราถึงได้เห็นว่าคำสอนของท่านเป็นความจริงทุกประการ เวลาเราอยู่ในมหาวิทยาลัยทางโลกนั้น เขาไม่ได้ถามเราหรอกว่าฟิสิกส์เป็นอย่างไร เศรษฐศาสตร์เป็นอย่างไร ธรณีวิทยาเป็นอย่างไร เพราะเขารู้ดีกว่าเรา แต่เขามาถามวิชาทางพระพุทธศาสนา มาปรึกษาปัญหาชีวิต เราก็ต้องนำธรรมะทางพระพุทธศาสนามาช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้เขา เพราะฉะนั้น จึงนึกถึงอาจารย์ทุกครั้งที่ประสบปัญหาในการอธิบายธรรมะ และถ้ามีเวลามากรุงเทพฯ มาพบท่าน ก็ต้องไปกราบเรียนถามท่าน ท่านก็ให้คำตอบที่แจ่มแจ้งทุกครั้ง เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์จึงเป็นครูที่เอาใจใส่ สั่งสอนฝึกฝนพวกเราอย่างอุทิศทุ่มเทไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยสำหรับกระผมนั้น ได้ความรู้จากท่านอาจารย์มากมายครับ แม้แต่เรื่องเกี่ยวกับกิริยามารยาทเล็กน้อย ท่านก็สอนหมด

คราวที่เราไปประเทศอินเดีย คืนวันหนึ่งหลังจากนมัสการพุทธคยา สถานที่ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พวกเราจะขึ้นรถไฟไปยังเมืองพาราณสี เพื่อไปนมัสการสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมธรรมเทศนา ตอนเย็นมืดฝนตก รถไฟเข้ามาสถานี ท่านทั้งหลายที่เคยผ่านอินเดีย ก็คงนึกถึงภาพว่า ในอินเดียนั้นการขึ้นรถลงรถ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถประจำทางใด ๆ มันเหมือนจลาจล คือ คนจะลงก็ต้องแย่งกันลง คนจะขึ้นก็ต้องแย่งกันขึ้น ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหวอุตลุด แล้วลองคิดดูครับ พวกเราเป็นพระแล้วต้องแย่งขึ้นรถไฟกับชาวอินเดียนับร้อย ประตูแคบ ๆ ประตูเดียว จะฉุกละหุกแค่ไหน แต่ท่านอาจารย์ ไม่ย่อท้อ คนดันขึ้นดันลงนับร้อย ท่านจูงแขนกระผมดึงแขนกระผมแทรกขึ้นไปบนรถจนได้ กระผมแทบจะร้องไห้ ขอเรียนตามตรงไม่เคยพบสภาพอย่างนั้น

พอขึ้นไปในรถแล้วไม่มีที่ มีแต่ที่ยืนอย่างเดียว แล้วที่ยืนอื่นก็ไม่มี บังเอิญไปได้ที่ยืนหน้าประตูส้วมพอดี เราก็ยืนเฝ้าประตูส้วมอยู่ตลอดคืน จนกระทั่งไปถึงกรุงพาราณสีในตอนเช้า ไม่เป็นอันหลับอันนอน ตอนขึ้นไปทีแรกกระผมเห็นสภาพรถแล้ว กระผมบอกท่านอาจารย์ว่า

“อาจารย์ครับ เราลงไปก่อนไม่ดีหรือรอคันหลังอาจจะคนน้อยกว่านี้ อาจจะพอมีที่นั่งบ้าง”

ท่านอาจารย์มองดูหน้ากระผม แล้วก็บอกว่า

“แสงเอ๋ย สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ของเรานั้นเสด็จจากเมืองนี้ไปยังเมืองพาราณสีเป็นระยะทางเกือบ ๓๐๐ กิโลเมตร ด้วยพระบาทไม่มีรถไฟ ไม่มีรถยนต์ ไม่มีเรือ แต่เรานี่ยังดีกว่าพระองค์ท่านตั้งหลายร้อยเท่า เพราะเรามีรถไฟ เพราะฉะนั้นลำบากนิดหน่อย ทนเอาหน่อย”

กระผมแทบจะกราบแทบเท้าของท่านอาจารย์ เป็นบทเรียนอันมีค่าที่สุด ที่ท่านสอนให้เรามีความอดทนต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นอันว่าคืนนั้นทั้งคืนไม่ต้องนอนกัน เพราะเราอยู่หน้าประตูส้วม พอทำท่าจะหลับสักประเดี๋ยว มาแล้วครับ โครม ๆ ข้ามหัวข้ามหางคนมา เราก็ต้องลุกขึ้นให้ทาง ก็นั่งดมกลิ่นไม่สะอาดไปตลอดคืน จนกระทั่งไปถึงพาราณสี

อันนี้เป็นบทเรียนและแสดงให้เห็นคุณสมบัติอันประเสริฐของท่านอาจารย์ที่มีความอดทนทรหด เฉพาะตัวท่านอาจารย์เองถ้าว่าไปแล้ว ก็เป็นผู้ที่สุขุมาลชาติมาก แต่ท่านยังมีความเข้มแข็งอดทนยิ่งกว่ากระผมอีก อันนี้ก็เป็นบทเรียนหนึ่งในหลาย ๆ อย่างที่ท่านสั่งสอนผมมา

อีกประการหนึ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือ งานของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์เป็นนักเผยแพร่ธรรมะแนวใหม่ แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำในยุคนั้น คือการที่พระยืนแสดงปาฐกถาธรรมต่อหน้าสาธารณชน สมัยก่อนนั้นไม่เคยมีท่านอาจารย์เป็นพระแทบจะเป็นรูปแรก ที่แสดงธรรมะโดยวิธีแสดงปาฐกถาธรรม แล้วก็แสดงด้วยภาษาที่เป็นภาษาง่าย ๆ สละสลวยฟังง่าย เข้าใจง่าย ท่านนำธรรมะที่ลึกซึ้งยุ่งยากมาอธิบายเป็นเรื่องธรรมดา ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์ทางพุทธ เน้นตลอดเวลาว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมชาติ มีอยู่ในตัวของเราแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเวลาอธิบายธรรมะ ต้องน้อมเข้ามาสู่ตน “โอปนยิโก” ชี้ให้เห็นว่าเป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมดาที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ สอนธรรมะให้เป็นของ “เป็น” ให้เป็นสิ่งมีชีวิตจิตใจเหมือนตัวเรา อย่าให้เป็นของ “ตาย” ที่อยู่ในหนังสือเท่านั้น ก็เป็นแนวทางที่ทำให้ศิษย์ทั้งหลายรวมทั้งผมด้วย ได้พยายามตีความธรรมะในแนวใหม่ ในแนวที่จะเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันสืบมา

ในกรุงเทพฯ สมัยนั้น ผมคิดว่าท่านเป็น “นักปาฐกถาธรรมที่เด่นที่สุด” ได้ยินชื่อว่า “สุชีโวภิกขุ” ไม่ว่าท่านจะพูดที่ไหนคนก็หลั่งไหลไปฟัง ติดตามฟัง ติดใจในท่วงทำนองการพูดที่งดงามเรียบร้อย ติดใจในเนื้อหาธรรมะทีjลึกซึ้ง แต่ว่าฟังง่าย ตลอดจนติดใจในรูปสมบัติของท่านด้วย ส่วนทางภาคใต้นั้น มีท่านพุทธทาส เน้นธรรมะชั้นสูง เน้นนิพพาน แต่ก็ดีในแง่ที่ว่าท่านก็ดึงมาให้เป็นประสบการณ์ของชีวิต สอนธรรมะ ชั้นสูงแบบเป็นของ “เป็น” ไม่ใช่ของ “ตาย” ทางภาคเหนือก็มี ท่านปัญญานันทภิกขุ พูดลื่นไหล ธรรมะง่าย ๆ ฟังเพลิน ฝ่ายฆราวาสนั้นมี พันเอกปิ่น มุทุกันต์ พูดธรรมะง่ายสนุกสนานเพลิดเพลินเกี่ยวกับชีวิต ไปพูดที่ไหนก็มีคนตามฟัง สมัยนั้นแทบจะกล่าวได้ว่าเป็น ”ยุคทอง” ของการเผยแผ่ธรรมะในแนวใหม่

ยิ่งกว่านั้น ท่านอาจารย์ยังมีความคิดริเริ่มที่เป็นผู้นำอีก นั่นก็คือการเผยแผ่ธรรมะด้วยธรรมนิยาย หรือนิยายอิงหลักธรรม ท่านได้เขียนนิยายอิงหลักธรรมขึ้น เรื่องแรกคือเรื่อง “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ตอนนั้นกระผมเองยังเป็นสามเณรอยู่ในต่างจังหวัด อายุสิบห้าสิบหก ได้อ่าน “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ทีละตอน ๆ ที่ลงในธรรมจักษุ พออ่านจบตอนหนึ่ง ก็กระหายอยากอ่านตอนที่สอง ตั้งตาคอยเมื่อไหร่หนอธรรมจักษุจะมา และสมัยนั้นเป็นสมัยสงคราม ธรรมจักษุก็ออกไม่ค่อยตรงเวลา กระดาษก็สีแดง กระดาษสีมอ ๆ ไม่ค่อยสดใส เพราะกระดาษหายากเต็มที กระผมคิดว่า “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” เป็นงานกวีนิพนธ์ชิ้นแรกของท่านอาจารย์ และอยากจะพูดว่าเป็นชิ้นสุดท้ายด้วย เพราะว่าบรรดาความดีงาม ความสูงส่ง ความสามารถในทางวรรณกรรมวรรณคดีนั้น ท่านได้รวมลงในหนังสือเล่มนี้ แทบทุกประโยคทุกข้อความ มีความงามของภาษา กระผมยังจำได้ว่า “ดูก่อนภราดา...” ก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดเวลา เป็นภาษาที่งดงามเหลือเกิน

กระผมยังคิดอยู่ว่า สมัยนั้นเป็นสามเณรอยู่ ซักวันหนึ่งจะต้องพยายามเขียนธรรมนิยายเลียนแบบท่านอาจารย์สุชีพให้ได้ ต่อมาก็ได้จังหวะ คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ติดตามท่านไปประเทศศรีลังกา เวลาว่าง ๆ ก็คิดพล็อตเรื่องที่จะเขียน พอไปอินเดียก็เห็นสภาพภูมิประเทศที่อินเดีย ก็นึกเอาฉากต่าง ๆ ในประเทศอินเดียนั่นแหละ แล้วตอนอยู่ที่ประเทศศรีลังกานั้น สุภาพสตรีชาวศรีลังกา นิยมตั้งชื่อว่า “ลีลาวตี” เป็นชื่อที่แพร่หลายมากในศรีลังกา ฟังดูรู้สึกว่ามันเพราะดี ถ้าเราดัดแปลงเป็นไทยว่า “ลีลาวดี” ก็คงจะเข้าที ในที่สุดตอนกลับจากศรีลังกา ก็มาเริ่มเขียนเรื่อง“ลีลาวดี” ลงพิมพ์ในหนังสือวารสาร “ศึกษากร” ทยอยลงเป็นตอน ๆ เมื่อจบแล้วก็รวมเล่มให้สำนักพิมพ์อุดมศึกษาพิมพ์ ปรากฏว่ามีคนนิยมชมชอบ พิมพ์ก็คงจะหลายสิบครั้ง เวลานี้ได้นำมามอบให้มหามกุฎราชวิทยาลัยพิมพ์ครบทั้ง ๓ เล่มเป็นชุด ก็ได้ทราบว่าเป็นที่นิยมมากพอสมควร

ที่ได้นำมาเล่านี้ ก็เพียงเพื่อแสดงให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ผลงานที่ท่านอาจารย์เขียนไว้นั้นเป็นแรงกระตุ้น เป็นแรงจูงใจ ให้ศิษย์ทั้งหลายได้พยายามเอาเป็นแบบอย่างกระผมก็ได้พยายาม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จงดงามเหมือนท่าน แต่อย่างน้อยก็ถือได้ว่า ดำเนินรอยตามครูบาอาจารย์ อีกท่านหนึ่งก็คืออาจารย์วศิน ซึ่งเขียนทีหลังกระผม แต่ท่านเขียนเก่งมาก กระผมคิดว่าคงหลายสิบเรื่องแล้วสำหรับธรรมนิยาย และหนังสือตำรับตำราอีกหลายสิบเรื่อง อาจเป็นร้อยเรื่องก็ได้ ท่านผู้นี้ก็เป็นศิษย์ที่ดำเนินรอยตามอาจารย์ในแง่ของธรรมนิยายเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นมายังไม่ปรากฏ ศิษย์รุ่นหลัง ๆ ยังไม่มีใครผลิตผลงานที่เป็นธรรมนิยายที่มีชื่อขึ้นมา หรือจะมีแล้วกระผมยังไม่ได้อ่านก็ไม่ทราบ ถ้ามีก็ขออ่านด้วยก็แล้วกัน แต่ถ้าไม่มี ก็ขอฝากไว้ให้คิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะดำเนินรอยตามบูรพาจารย์ผลิตหนังสือธรรมในรูปของธรรมนิยายขึ้นมาก ๆ เพราะคนนิยมอ่าน และเป็นการสอนธรรมะอย่างดีที่สุด

ในด้านตำรับตำราและหนังสือชุดทั่วไปนั้น กระผมคิดว่าท่านอาจารย์ได้เขียนไว้มากมาย ไม่น้อยกว่าท่านผู้อื่นและตำรับตำราของอาจารย์นั้นอยู่ในขั้นมาตรฐาน เชื่อถือได้ในทางวิชาการ มีหลักการอ้างอิงอย่างถูกต้อง หนังสือที่กระผมยกย่องที่สุด กระผมคิดว่า เป็นหนังสือ “คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา” เป็นหนังสือที่ท่านอาจารย์ให้ภาพรวมของพระพุทธศาสนาไว้ คล้ายกับเราไปยืนดูตัวช้างทั้งตัว เห็นหมดทุกส่วนสัด ทำให้เราเห็นภาพรวมของพระพุทธศาสนาชัดเจนดี เป็นการมองจากมุมมองของคนสมัยใหม่ ซึ่งเรื่องทำนองนี้ ผู้ที่มีความรู้เจนจัดครบถ้วนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากท่านผู้ใดยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ กระผมอยากขอกราบเรียนให้ไปลองอ่าน ท่านจะมองเห็นภาพพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจนในภาพรวม

ส่วนหนังสือตำราที่กระผมอยากจะขอเรียนว่าเป็นงานแห่งชีวิตของท่านอาจารย์ก็คือ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” คือในวงการพระพุทธศาสนาของเรามันมีปัญหามานานแล้วเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎก คือคนไทยเราเมื่อไปเห็นคัมภีร์ของศาสนาอื่น ๆ เช่น คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งมีเล่มเดียว จะเดินทางไปไหนก็ถือติดไม้ติดมือไปอ่านได้สะดวกสบาย เมื่อหันมามองคัมภีร์พระไตรปิฎกทางพระพุทธศาสนา มีถึง๔๕ เล่ม แต่ละเล่มหนา ๒ ถึง ๓ นิ้ว ตู้หนึ่งทั้งตู้เลย แล้วเราจะเอาพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่มติดตัวเดินทางไปด้วย ไม่มีทางเป็นไปได้ อันนี้เป็นปัญหา ท่านอาจารย์สุชีพ ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านจึงพยายามย่อพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ลงเป็นพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนสมัยแรกขนาดที่ย่อแล้วก็ยังได้ตั้ง ๕ เล่ม ก็ไม่สามารถนำไปไหนมาไหนได้สะดวกเหมือนกัน

ต่อมาภายหลังท่านพยายามอีกครั้ง คราวนี้เหลือเพียงเล่มเดียวแต่ว่าก็ยัง ๘๐๐ หน้าอยู่ดีและก็ตัวเล็กจิ๋ว ถ้าผู้สูงอายุตาไม่ค่อยดีก็อ่านลำบากเหมือนกัน ท่านบอกว่าทำได้เพียงแค่นี้ แต่ถึงกระนั้นท่านก็บอกว่าต้องตัดไปเป็นอันมากที่ซ้ำกัน เช่น สังยุตตนิกาย มีถึง ๕ เล่มแต่เวลาท่านย่อแล้วเหลือเพียง ๑๙ หน้าเท่านั้น เมื่อก่อนท่านถึงแก่มรณกรรมไม่นาน กระผมมาพบท่านที่มหามกุฏฯ มาถามท่าน... “ท่านอาจารย์ครับ กระผมเสียดาย” ท่านถาม “เสียดายอะไร ?”...“เสียดายสังยุตตนิกาย ๕ เล่ม ซึ่งมีสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่ท่านอาจารย์ย่อเหลือเพียง ๑๙ หน้า ทำไมถึงทำอย่างนั้นครับอาจารย์ครับ ?” ท่านบอกว่า สังยุตตนิกายส่วนใหญ่ เนื้อหาไปตรงกับที่มีอยู่แล้วในนิกายอื่น ๆ เพราะฉะนั้นจึงย่อลงให้เหลือน้อยที่สุดและอีกประการหนึ่ง ถ้าคงไว้ให้มากหนังสือจะเล่มใหญ่เกินไป ท่านว่าอย่างนั้น ก็เลยเป็นอันว่า ส่วนทั้งหลายนั้นถูกย่อลง เหลือเพียงไม่มาก

แต่อย่างไรก็ตามกระผมคิดว่า “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” เป็นงานแห่งชีวิตของท่าน ซึ่งไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะมีคนทำได้ เพราะคนที่สามารถทำได้จะต้องเชี่ยวชาญแตกฉานในภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ศึกษาเปรียบเทียบอย่างใกล้ชิด ทั้งในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตป็ฎก และพระอภิธรรมปิฎก จึงจะสามารถทำได้ แต่ท่านอาจารย์สามารถทำได้ และหนังสือเล่มนี้เท่าที่กระผมฟังประชาชนชาวบ้านที่สนใจทางพุทธศาสนา เขาก็บอกว่าเขาเห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนี้มากเหลือเกิน

เวลานี้ทางมหามกุฏราชวิทยาลัย กำลังแปลเป็นภาษาอังกฤษ และก็มีโครงการจะพิมพ์เอาไปไว้ตามโรงแรมต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้อ่าน แต่ถ้ามีทุนรอนมาก มีแรงศรัทธามาช่วยกันมาก ก็อาจส่งไปไว้ตามโรงแรมในต่างประเทศด้วย แล้วกระผมเองก็ได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมในการแปลพระไตรปิฎกฉบับนี้ มีคณะทำงานเป็นอาจารย์หลายท่าน แต่เมื่อทำจริง ๆ แล้ว เห็นว่าเป็นงานที่ยากแสนสาหัส ไม่ใช่งานง่าย ๆ ต้องตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาบาลีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศัพท์แสงทั้งหลายที่ไม่มีก็ต้องค้นหากัน เพราะต้องการให้เป็นหนังสือที่สมบูรณ์แบบ สามารถพิมพ์เผยแพร่ในระดับโลกได้ เพราะฉะนั้นจึงช้ามากแปลมาแล้วประมาณ ๑ ปี ๖ เดือน ยังไม่จบแต่ก็คิดว่าอย่างช้าที่สุดสัก ๑ ปี ก็คงเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เวลานี้ก็ได้มาประมาณ ๑ ใน ๓ แล้ว อันนี้ก็ขอเรียนให้ทราบว่า งานนี้เป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตของท่านอาจารย์ จะเป็นงานที่ไม่มีใครสามารถทำได้เท่าเทียมกับท่าน เป็นอนุสรณ์แห่งชีวิตที่สำคัญของท่านอาจารย์

นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ก็ยังมีหลายอย่าง ซึ่งกระผมไม่สามารถจะนำมาเล่าได้หมดแต่สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ คุณธรรมส่วนตัวของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ไม่เพียงแต่สอนคน แต่ว่าท่านยังทำตามที่สอนด้วย ท่านทำได้ทุกอย่างที่ท่านสอน สมกับพระพุทธภาษิตที่ว่า “ยถาวาที ตถาการี” “พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น” ท่านอาจารย์ดำรงชีวิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีอบายมุขใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านทำหน้าที่ของท่านในฐานะต่าง ๆ ได้ครบถ้วนบริบูรณ์เป็นครูผู้สมบูรณ์แบบของศิษย์ เป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบของลูก เป็นสามีที่สมบูรณ์แบบของภรรยา เป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์แบบของพระพุทธศาสนา กระผมพยายามหาจุดบกพร่องของท่านอาจารย์ “ขอประทานโทษยังหาไม่พบครับ...” แม้แต่กิริยาอาการที่แสดงถึงความโลภ โกรธ หลง ก็ไม่มี ตลอดเวลาที่อยู่ใกล้ชิดท่านมาหลายสิบปี ผมยังไม่เคยเห็นท่านอาจารย์โกรธกระฟัดกระเฟียด ยังไม่เคยเห็นท่านอาจารย์นินทาว่าร้ายใคร ไม่เคยได้ยินจริง ๆ ครับ กระผมถามลูกศิษย์หลายท่าน ก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ท่านไม่เคยพูดถึงใครในแง่ร้าย ถึงแม้เขาจะมีความร้าย ท่านก็เฉยเสีย ไม่พูด พูดถึงแต่ในแง่ดี ท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องของครอบครัว ไม่เคยพูดถึงเรื่องส่วนตัว ดำรงชีวิตแบบง่าย ๆ สมถะ

เมื่อก่อนท่านถึงแก่มรณกรรมไม่กี่วัน กระผมมาทำงานที่มหามกฎฯ พอตอนเที่ยง กระผมก็เดินไปตามร้านเพื่อทานก๋วยเตี๋ยว ไปไหนท่านอาจารย์กำลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวปลาอยู่ที่ร้านริมคลองบางลำภู นั่งอยู่คนเดียวเงียบ ๆ กระผมเห็นเข้ารู้สึกสงสารท่านอาจารย์ ทำไมท่านถึงดำรงชีวิตเรียบง่ายอย่างนี้ กระผมก็เลยขออนุญาตเป็นเจ้าภาพ ก็ได้ทำบุญกับท่านเป็นครั้งสุดท้าย ได้เลี้ยงก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง ท่านอาจารย์เป็นคนแต่งตัวเรียบง่าย ดำรงชีวิตง่าย ๆ ไม่หรูหราฟู่ฟ่าใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นคุณสมบัติของผู้บำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง

ท่านที่เคารพครับ ถ้าจะพูดไปก็คงกินเวลามาก กระผมจึงใคร่จะขอฝากไว้ว่า บัดนี้ท่านอาจารย์สุชีพ ซึ่งเป็นที่เคารพรักของพวกเราทั้งหลาย ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว แต่การถึงอนิจกรรมของท่านในครั้งนี้ ท่านกำลังสอนเรา ยังสอนเราอยู่แม้ร่างท่านจะอยู่ในโลง แต่ท่านก็สอนเรา สอนด้วยการปฏิบัติจริงให้เห็นท่านสอนธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าสังขารทั้งหลายเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง แปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง

เวลานี้ท่านกำลังบอกอยู่ว่า สังขารร่างกายที่นอนอยู่ในโลงในหีบ เมื่อ ๘๔ ปีที่แล้ว ก็ไม่มีอาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ เลยในโลกนี้ แต่คืนวันหนึ่งจากไม่มีอะไรมาสู่ “เซลล์” หน่วยหนึ่งในครรภ์มารดาของท่าน ถ้าพวกเขาไปเห็นเซลล์นั้น เราก็ไม่ทักไม่ทาย เพราะเซลล์นั้นยังไม่ใช่อาจารย์สุชีพ หลังจากนั้น ๙ เดือน มีทารกตัวแดง ๆ ร้องอยู่ข้างแม่ของท่าน หลังจากนั้นมาหลายปีก็กลายเป็นเด็กวิ่งไปวิ่งมา เป็นเด็กชายบุญรอด ต่อมาก็ได้บวชเป็นสามเณร “สามเณรบุญรอด” ต่อมาเป็นพระ ก็เป็น “พระมหาบุญรอด”...เป็น “เจ้าคุณศรีวิสุทธิญาณ” ต่อมาก็เป็น อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ...เป็นคุณพ่อสุชีพ ปุญญานุภาพ...เป็นคุณตาสุชีพ ปุญญานุภาพ...คุณปู่สุชีพ ปุญญานุภาพ จนในที่สุด นอนอยู่ในหีบ เป็นศพสุชีพ ปุญญานุภาพ และก็อีกไม่กี่วัน ก็เป็นเพียงกระดูกสุชีพ ปุญญานุภาพ...ขี้เถ้าสุชีพ ปุญญานุภาพ อีกไม่กี่ ๑๐ ปี ก็หายไป ไม่มีอะไรเหลือ

นั่นแหละครับ ท่านอาจารย์สอนเราด้วยของจริง ว่าชีวิตไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เป็นกระแสไหลไปตามทางของมัน ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง เราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่เฉย ๆ เปลี่ยนแปลงทุกวินาที สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้น เราจะเห็นของจริงไม่ได้เห็นแต่ภาพชั่วขณะจิตหนึ่ง ภาวะจิตหนึ่งเหมือนเข็มนาฬิกาที่มันเดินอยู่ตลอดเวลา เราบอกเวลาไม่ถูกหรอก ไม่สู้ใครในโลกนี้ที่จะบอกเวลาได้ถูก เพราะถ้าบอกเวลาว่า ๒ ทุ่ม ๓๐ นาที ๒๐ วินาที พอบอกเสร็จมันก็เลยไปแล้ว เป็นอย่างน้อย ๑ วินาที นี่คือหลักอนิจจัง ที่ท่านอาจารย์สอนเราอยู่เวลานี้ ถ้าเรารู้อนิจจังเราจะไม่ยึดไม่ติด เราจะให้สิ่งทั้งหลายไหลไปตามทางของมัน ไม่ไปยึดไปติด จิตใจเป็นอิสรเสรี เฝ้าดูสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปด้วยจิตใจที่สงบสุข ความโลภจะลดลง เพราะไม่รู้จะกอบโกยไปทำไม อีกไม่กี่ปี เราก็จะจากไปแล้ว ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ทำแทบล้มแทบตาย คนอื่นเอาไปกินหมด

ข้อสองที่ท่านสอนเราก็คือ “ทุกขัง”...ความทุกข์...“เกิด” ก็เป็นทุกข์...“แก่” ก็เป็นทุกข์...“เจ็บ” ก็เป็นทุกข์...“ตาย” ก็เป็นทุกข์...ท่านแสดงให้เราเห็น “เกิด แก่ เจ็บตาย” ตัวไหนเป็นทุกข์มากที่สุด ทุกข์ที่ร้ายที่สุด บางท่านอาจจะบอกว่าตาย ไม่ใช่ครับทุกข์ที่หนักที่สุดคือ “เกิด” เพราะเกิดจึงมีแก่ เจ็บ ตาย ถ้าไม่เกิด ก็ได้แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเพราะฉะนั้น “เกิด” เป็นตัวทุกข์ที่ร้ายแรงที่สุดเพราะฉะนั้นเวลาเราไปแจ้งว่ามีคนตาย ถ้าเขาถามว่าตายด้วยโรคอะไร อย่าไปบอกว่าด้วยโรคชรา ท้องเสีย มะเร็ง เอดส์ ให้บอกว่าตายด้วยโรคเกิด จึงจะถูกต้อง ส่วนอื่น ๆ เป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้นเอง เพราะเหตุนี้เองพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอตรัสรู้เสร็จ ทรงเปล่งอุทานออกมา ไม่ได้เปล่งอุทานประกาศชัยชนะเหนือความตาย แต่เปล่งอุทานประกาศชัยชนะเหนือการเกิดว่า ขีณา ชาติ ความเกิดหมดแล้ว นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว น คพฺภเสยฺยํ ปุนเร ไม่มีการเข้านอนคุดคู้ในครรภ์อีกแล้ว

ประการที่สาม ท่านอาจารย์สอนเราถึง “อนัตตา” อนัตตาแปลว่า “ไม่ใช่ของเรา” ไม่มีอะไรเป็นของเรา ทรัพย์สมบัติไม่ใช่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ที่ดิน รอยนต์ เงินทอง เสื้อผ้า เครื่องประดับ ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราตายไปคนอื่นก็เอาไปใช้ ถ้าคนในโลกนี้ตายหมด ก็กองถมแผ่นดิน ในที่สุดแม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา ท่านอาจารย์สอนเราอยู่เวลานี้สังขารร่างกายของเราที่เรายึดหนักหนาว่าเป็นของฉัน ความจริงไม่ใช่หรอกครับ ถ้าถามว่าสังขารของเรามาจากไหน ท่านก็บอกว่ามาจากอาหารที่เรากินเข้าไป ถ้าถามว่าข้าว น้ำ มาจากไหน...มาจากดินและแผ่นดิน เพราะฉะนั้นตัวเราทั้งตัวมาจากแผ่นดิน แผ่นดินเป็นเจ้าของแท้เจ้าของดั้งเดิม เรายืมเขาใช้ชั่วคราว ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ท่านอาจารย์ยืมใช้ ๘๓ ปี พอถึงเวลาท่านก็ส่งคืน

ตัวผมเองยอมใช้มา ๗๓ ปีแผ่นดินก็ทวงทุกวันเวลานี้

“อาจารย์ ให้มานานแล้วนะ ส่งคืนซักทีเถอะ”

เราก็บอก “แผ่นดินท่านเจ้าของ ขอใช้ต่ออีกหน่อยเถอะ”

แผ่นดินบอก “ไม่เป็นไร แต่ต้องดูแลให้ดีหน่อยนะ ถ้าดูแลดี ก็จะให้ใช้ได้นาน แต่ถ้าดูแลไม่ดีก็จะให้คืนเร็ว” แผ่นดินบอกต่อ “แต่อยากได้คืนเร็ว ๆ ให้ผ่อนส่งก็แล้วกัน”

ผมบอกผ่อนส่งก็ได้ครับ ค่อย ๆ ถอนฟันออกไปทีละซี่สองซี่ส่งคืนเขาจนจะหมดปากอยู่แล้ว พอหวีเสยหัว ผมก็ออกเป็นกระจุกติดออกมา เวลานี้เวลาเดินหลังไม่ค่อยตรงแล้ว อีกซักหน่อยอาจต้องถือไม้เท้า
นี้แสดงว่า เจ้าของเดิมเขาเตือนแล้วครับ เขาบอกว่าอาจารย์เกือบได้เวลาแล้วนะ เริ่มมองหาซะ จุดที่จะกลับบ้านเดิม จะเอาจุดไหน...ถ้าคิดได้ว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา เรายืมเขาใช้ชั่วคราวเราก็ไม่ทุกข์ครับ สบาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนสบายทั้งสิ้น...ท่านอาจารย์แม้ท่านจะนอนอยู่ในหีบในโลง ท่านได้สอนเราด้วยของจริง เพราะฉะนั้นเรามาในงานศพท่าน และถ้าอยากจะตอบสนองคุณท่าน ก็ฝึกให้เข้าใจสัจธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นธรรมชาติ ทุกสิ่งกำลังสอนเราอยู่ สอนอนิจจังทุกขัง อนัตตา ถ้าพูดในแง่ธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังแสดงธรรม เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์แม้จะถึงแก่ชีวิตไปแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์สอนเราอยู่

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ บัดนี้ก็ได้เวลาที่กระผมจะต้องยุติ กระผมใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีความเคารพรักในท่านอาจารย์จงตั้งจิตให้สงบเป็นสมาธิ แล้วก็น้อมนึกถึงบุญกุศลทั้งหลายที่เราได้กระทำมา หรือด้วยบุญกิริยาใด ๆ ก็ตาม ที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลทั้งหมดนั้น แด่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสภาวะใด หรือไปเกิดในภพภูมิใดใน ๓ ภพก็ดี ขอจงได้รับทราบส่วนกุศลที่เราอุทิศแก่ท่าน ถ้าท่านไม่สามารถรับรู้ได้ ด้วยอุปสรรคใด ๆ ที่มาขวางไว้ ขอเทพเจ้าเหล่าเทวดาที่ทรงศักดานุภาพ โปรดได้นำข่าวกุศลกรรมนี้ไปแจ้งให้ท่านได้รับทราบ เมื่อท่านได้รับทราบแล้ว จงอนุโมทนาด้วยอำนาจปัตตานุโมทนามัยกุศลนั้นขอท่านอาจารย์จงมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในภพของท่าน หากจะมีเศษทุกข์ใด ๆ เหลืออยู่ด้วยเศษแห่งกรรมใด ๆ ก็ตาม ขอให้ท่านอาจารย์จงพ้นจากความทุกข์นั้นโดยพลันเทอญ

:b44: :b44:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2013, 11:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


“ท่านมาอย่างไร ท่านไปอย่างนั้น”
ปาฐกถาของ ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

ปรารภถึงอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ในงานสวดอภิธรรมศพอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร


รูปภาพ

สมัยผมเป็นสามเณรมาอยู่ที่วัดทองนพคุณ ธนบุรี สมัยนั้นได้ยินพระเณรกล่าวขานกันถึงภิกษุหนุ่มเปรียญ ๙ ประโยค นามว่า สุชีโวภิกขุ ควบคู่กับชื่อ เสถียร โพธินันทะ คนหลังนี้ทราบว่าอายุยังน้อยอยู่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา และว่ากันว่าเป็นศิษย์ของสุชีโวภิกขุ ด้วยผมมาอยู่วัดทองนพคุณเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ทราบว่าท่านลาสิกขาก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี วัดที่ท่านสุชีโวภิกขุ บวชอยู่ชื่อ วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดเล็ก ๆ อยู่ในย่านการค้าขายของคนจีน ที่พลุกพล่านมาก อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านแหวกตลาดเข้าไปวัดอย่างทุลักทุเล เพื่อไปฟังพระหนุ่มรูปนี้เทศน์ ความรับรู้ของผมเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองนี้ ผ่านคนอื่นเล่า มีหลายเรื่องที่ประทับใจ ขอนำมาเล่าให้ฟัง ขอเริ่มด้วยเรื่องลูกศิษย์ แล้วเลยไปยังเรื่องของอาจารย์ภายหลัง ดังนี้ครับ

๑. เรื่องแรกคือความเป็นคนมีความจำเลิศของผู้เป็นศิษย์ คือเสถียร โพธินันทะ ท่านอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยแล้ว อยากทราบว่าตรงนั้น ๆ ต้นฉบับภาษาบาลีว่าอย่างไร ก็ไปถามท่านสุชีโวผู้เป็นอาจารย์ ท่านก็เปิดพระไตรปิฎกให้ดู และบอกวิธีค้นด้วย ต้องดูข้อให้ตรงกัน ส่วนหนึ่งนั้นฉบับภาษาไทย กับบาลี อาจคลาดเคลื่อนได้ เสถียร โพธินันทะ ไปเปิดตามอาจารย์บอก อ่านกลับไปกลับมาสองสามเที่ยว ก็จำได้หมด เวลาไปพูดที่ไหนก็อ้างภาษาบาลีเป็นหน้า ๆ เป็นที่อัศจรรย์

สมัยต่อมา เสถียร โพธินันทะ ได้เป็นอาจารย์สอนพระนิสิตของมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านพาพระพม่า พระลังกา เที่ยวชมวัดต่าง ๆ บางโอกาส ท่านพูดภาษาบาลีกับพระเหล่านั้นคล่องแคล่ว จนพระนิสิตถามว่า อาจารย์มิได้เรียนบาลี แต่ทำไมพูดบาลีได้ อาจารย์เสถียร ตอบว่า “ผมจำศัพท์ แล้วเอาศัพท์มาต่อ ๆ กัน ก็เห็นพระพม่า พระลังกาท่านเข้าใจนี่ครับ” ว่าแล้วอาจารย์ท่านก็ยกตัวอย่างให้ฟัง ท่านจะบอกพระพม่า พระลังกาว่า “ที่นครปฐมนี้ แต่ก่อนเป็นป่า มีเสือเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” ท่านก็พูดเป็นบาลี (ขออนุญาตสะกดแบบไทย) ว่า อตีเต อิทัง ฐานัง อรัญญานิ พหู พยัคฆา อิทานิ นัตถิ นัตถิ
พระนิสิตก็ฮากันตรึม เพราะบาลีของอาจารย์เป็น “บาลีเถื่อน” ไม่มีไวยากรณ์ แต่ก็ฟังรู้เรื่อง

พูดถึงความจำเป็นเลิศของลูกศิษย์ ก็ต้องโยงถึงอาจารย์ สุชีโวภิกขุผู้เป็นอาจารย์นั้น ข่าวว่ามีความจำเป็นเลิศ พระสูตรไหนข้อความไหน อยู่ในพระไตรปิฎกหน้าไหน ว่าอย่างไร ท่านจะอ้างได้ฉับ ๆ ว่าอย่างนั้น ตอนก่อนโน้น ผมไม่ทราบ เพราะไม่เคยได้สัมผัสกับท่าน ปาฐกถาที่ท่านแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ผมก็ไม่เคยฟัง มีหนังสือเท่านั้น ที่ผมหามาอ่านอยู่บ้าง ข้อเขียนของท่านส่วนมากอ่านที่นิตยสาร “ธรรมจักษุ”

ทราบมาอีกว่า สุชีโว ภิกขุ เป็นพระหนุ่มรูปเดียวในยุคนั้นที่เทศน์ภาษาฝรั่งให้ชาวต่างชาติฟังได้คล่องแคล่ว สมัยโน้นต้องนับว่าอัศจรรย์นะครับ ที่มีพระรู้ภาษาต่างชาติ และมีความรู้ความแตกฉานในพระไตรปิฎก ถ้ามีขึ้นสักรูปสองรูป ก็เป็นที่โจษจันกล่าวขวัญด้วยความชื่นชม

เมื่อโตขึ้น อายุประมาณ ๑๘-๑๙ ผมได้เรียนสูงขึ้น คือเรียนบาลีประโยค ๗ ประโยค ๘ ผมได้อ่านหนังสือมากขึ้น ได้อ่านพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ได้อ่านคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา ตลอดถึงรวมปาฐกถาโดยสุชีโว ภิกขุ จึงได้รู้จักอาจารย์สุชีพผ่านงานเขียน งานพูด แต่ก็ยังไม่รู้จักตัว
จนวันหนึ่ง ผมแปล สมันตปาสาทิกา-อรรถกถาพระวินัย สำหรับใช้เป็นหลักสูตรบาลีประโยค ๗ ผมติดขัด ข้อความอ้างอิงที่ผู้แต่งท่านยกมา ไม่บอกที่มา (ส่วนมากมักไม่บอก ถ้าบอกก็บอกเพียงชื่อสูตร ชื่อนิกาย) ผมอยากจะทำฟุตโน้ตบอกที่มาด้วย ค้นที่ไหนก็ไม่พบ มีเพื่อนบอกว่า ไปถามอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ซิ

ผมก็ไปพบท่านที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ตอนนั้นท่านลาสิกขาแล้ว มาเป็นอาจารย์สอนที่มหามกุฎฯ ผมอ่านประโยคบาลี ย่อหน้านั้นให้ท่านฟังเพียงสามสี่ประโยค ท่านก็บอกว่าสำนวนนี้เป็นสำนวนจุลนิเทศ มหานิเทศ ให้ไปดูพระไตรปิฎกเล่มที่เท่านั้น ข้อที่เท่านั้น เล่นเอาผมทึ่งเลย “โอ นี่คือตู้พระไตรปิฎกเดินได้จริง ๆ”

ผมมาได้รู้จักอาจารย์สุชีพ จริง ๆ หลังจากผมลาสิกขาออกมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว บังเอิญผมสึกก็เหมือนไม่สึก ต้องทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาตลอด ทั้งในด้านการบรรยายธรรม และการสอนในสถานศึกษา ตลอดจนการเขียนบทความ เขียนตำราทางพระพุทธศาสนา ผมติดขัดอะไรผมก็โทรศัพท์ไปเรียนถามท่านที่บ้าน ท่านก็ตอบข้อข้องใจผมทุกครั้ง ความเมตตาปรานีฉันอาจารย์ตอบศิษย์ผมจึงนับถือท่านเป็น “อาจารย์” ของผมมาแต่บัดนั้น นับถือด้วยใจ ไม่ค่อยได้พบเป็นส่วนตัวบ่อยนัก ยิ่งบ้านท่านผมก็ยังไม่เคยไป

วันหนึ่งในงานศพ ผมไปไหว้คุณแม่ภรรยาของท่าน คุณแม่บอกว่า “คุณเสฐียรพงษ์หรือ รู้จักคุ้นเคยดี ได้พูดกันทางโทรศัพท์เสมอ” ครับ บางครั้งผมโทรศัพท์ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์ คุณแม่รับโทรศัพท์ จึงจำเสียงผมได้

ผมได้ร่วมงานทางวิชาการกับอาจารย์ที่ราชบัณฑิตยสถาน เป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล พจนานุกรมศัพท์พระไตรปิฎก ที่สำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการจัดทำคำถามคำตอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ประทับใจในความเป็นพหูสูต ในความเป็นคนมีความจำเป็นเลิศ ท่านอายุแปดสิบแล้วนะครับ สุขภาพแข็งแรง ขนาดเดินขึ้นตึกสำนักงานเอกลักษณ์สามสี่ชั้น ฉับ ๆ โดยไม่เกาะราวบันไดเลย ใครเลยจะรู้ว่าท่านจะรีบด่วนจากเราไป

มันสมองของท่านยังแจ๋ว จำพระพุทธวจนะได้คล่องปาก ขึ้นใจ เวลาท่านเสนอความเห็นอะไรออกมา ท่านต้องอ้างพระบาลีก่อนแล้วก็อธิบายให้พวกเราฟัง การประชุมแต่ละครั้งจึงเป็นการเข้าเรียน ฟังคำบรรยายจากอาจารย์ไปในตัว

แน่นอนท่านมี เทคนิควิธีจดจำพุทธวจนะ เป็นแบบของท่าน ท่านเคยเล่าถึงพระอานนท์ว่า ได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์ว่ามีคติ ท่านอธิบายว่า “มีคติ” ในที่นี้คือมีแบบหรือมีวิธีการจดจำพุทธวจนะ ทำให้ผมกระจ่างขึ้น แต่ลืมถามว่า พระอานนท์มีวิธีการจำอย่างไร รวมทั้งอาจารย์สุชีพมีวิธีจำอย่างไร ก็ลืมถามเช่นเดียวกัน น่าเสียดายจริง ๆ

เท่าที่สังเกตเอาเอง ท่านใช้ ๒ วิธีคือ

(๑) ย่อคำ เช่น ทศพลญาณ ก็ย่อว่า “ฐา-กัม-สัพ-นา-นา-อิน-ฌา-ป-จุ-อา อย่างนี้ก็จำได้ไม่ลืมว่า พลญาณ ๑๐ ประการของพระพุทธเจ้าคืออะไร

(๒) แต่งเป็นฉันท์ปัฐยาวัตร สรุปเนื้อหาเลียนแบบการนับทศพิธราชธรรม (ทานัง สีลัง ปริจจาคัง อาชชวัง มัททวัง ตปัง อักโกธัง อวิหิงสัญจะ ขันติญจะ อวิโรธนัง) แต่งเป็นโศลกอย่างนี้จำได้ไม่ลืม


๒. นอกจากจำแม่นแล้ว ท่านยังเคร่งครัดต่อพระพุทธวจนะอย่างยิ่งอีกด้วยท่านอาจารย์จะไม่ยอมเขียนหรือพูดอะไรที่ไม่มีที่อ้างอิงเป็นอันขาด แม้ว่าเรื่องนี้จะฟังสมเหตุสมผลอย่างไรก็ตาม ขอยกเรื่องการทำร่างคำถามคำตอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พวกเรากรรมการทุกคนจะได้รับมอบหมายให้ไปร่างคำตอบต่อคำถาม เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษมา เพื่อตรวจแก้ในที่ประชุม ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ร่างคำตอบเกี่ยวกับทรรศนะพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอาจารย์สุมนก็ร่ายยาว เป็นเหตุเป็นผล สละสลวยไพเราะยิ่ง ลงท้ายว่า “ใครทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับทำลายชีวิตตัวเองและคนอื่น” อะไรทำนองนั้น

ท่านอาจารย์สุชีพพูดว่า เออ ตรงนี้ไม่มีพุทธวจนะรองรับนะ ผมว่าตัดออกดีไหม หรือท่านอาจารย์จะว่าอย่างไร เราก็ต้อง “ตัดก็ตัดค่ะ/ครับ” สิครับ ช่วยกันทำคำถามคำตอบปีละ๔๕ ข้อ ไม่สั้นไม่ยาว แต่เราก็ปรับแล้วปรับอีกไม่รู้กี่ครั้ง ท่านอาจารย์บอกว่า “ไม่ทันพิมพ์ปีงบประมาณนี้ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าปล่อยออกมาผิดพลาด ขายหน้าเขาเปล่า ๆ

ท่านย้ำเสมอว่า พวกเราต้องอ้าง “หลัก “ไว้ จะพูด จะเขียน ดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่เป็นไร ขอให้แม่นในหลักไว้ พระพุทธองค์ทรงส่งพระอรหันต์สาวก ๖๐ รูปไปประกาศพระศาสนา พระองค์ทรงย้ำเตือนว่า ให้ประกาศพรหมจรรย์ (พระศาสนา) ให้สมบูรณ์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ ท่านว่าอย่างนั้นในพระพุทธศาสนา มีพูดถึงพระโพธิสัตว์หลายประเภท เช่นประเภทสัทธาธิกะ (ยิ่งด้วยศรัทธา) ประเภทวิริยาธิกะ (ยิ่งด้วยความเพียร) ประเภทปัญญาธิกะ (ยิ่งด้วยปัญญา) ท่านอาจารย์สุชีพนับเป็นประเภทหลัง ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ก็น้อง ๆ พระโพธิสัตว์แหละครับเพราะกิริยาของท่านมุ่งทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและมนุษย์ทั้งมวล ท่านมีความสุขมากที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแก่คนทั้งปวง

ท่านชอบความรู้ และผู้รู้เป็นอย่างยิ่ง ดังชอบเอ่ยถึงบทบาทของพระเถระ พระเถรีอุบาสก อุบาสิกา ที่เป็นเอตทัคคะในทางด้านปัญญาให้ฟังเสมอ บางเรื่องผมก็ไม่เคยได้ยินเพราะอ่านน้อย ฟังมาน้อย ก็ได้รับทราบจากท่านอาจารย์นี่แหละครับ ท่านเล่าว่าพระสารีบุตรอัครสาวกนั้น วันไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพาน (ในกรณีนี้แปลว่าตาย คือพระอรหันต์ตาย หรือ ขันธนิพพาน=ดับขันธ์) ท่านไปปัดกวาดลานพระคันธกุฎี ที่ประทับของพระพุทธองค์ ลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ให้พระพุทธองค์ไว้เรียบร้อย เป็นการปรนนิบัติพระพุทธองค์เป็นครั้งสุดท้าย กราบทูลลานิพพาน

เล่าไปก็สอนเราไปด้วยว่า ท่านเคารพพระสารีบุตรเหลือเกิน มีความกตัญญูกตเวทิตาธรรมอย่างยิ่ง แล้วก็เสริมอีกเรื่องคือ ตอนที่พระสารีบุตรก่อนนอนหันศีรษะไปยังทิศที่พระอัสสชิอยู่ ทิศหัวนอนของท่านจึงไม่แน่นอนจนเพื่อนพระภิกษุด้วยกันหาว่าท่านพระสารีบุตรยังไหว้ทิศตามธรรมเนียมพราหมณ์อยู่ ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ท่านแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระอัสสชิอาจารย์ของท่านต่างหาก

ท่านเล่าถึงประวัตินางกุณฑลเกสีเถรี ที่ถูกสามีลวงไปฆ่า แต่รอดมาได้เพราะใช้ปัญญาหลังบวชเป็นภิกษุณีแล้วก็ได้รับยกย่องว่ามีปัญญามากให้ฟังวันหนึ่ง ความจริงเรื่องอย่างนี้ ผมและศึกษานักธรรมบาลีก็รู้อยู่แล้ว ไม่น่าจะตื่นเต้น แต่มันตื่นเต้นตรงที่ ท่านอาจารย์เล่าด้วยความซาบซึ้ง ซาบซึ้งในคำพูดของนางกุณฑลเกสีที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าปัญญา เขาไม่ได้ให้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน หากมีไว้เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชีวิต”

ความที่ท่านมีปัญญา เป็นพหูสูต ท่านได้เจียระไนพระไตรปิฎกออกมาเป็นหนังสือเล่มใหญ่บ้าง เล็กบ้าง จำนวนมาก เพื่อเป็นคู่มือศึกษาพระพุทธศาสนา อาทิ

(๑) พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน สรุปเนื้อหาพระไตรปิฎก เดิมทีมี๕ เล่ม ภายหลังรวมเป็นเล่มเดียว

(๒) คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา เล่มนี้กลั่นจากพระไตรปิฎกแล้วสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ที่ถือว่าเป็นลักษณะเด่นจริง ๆ ๑๐ ประการ

(๓) ศาสนาเปรียบเทียบ

(๔) ประวัติศาสตร์ศาสนา

(๕) อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก

(๖) พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาไทย-อังกฤษ, อังกฤษ-ไทย

(๗) ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นหนังสือที่เบาสมอง อ่านแล้วเพลิดเพลินและได้ความรู้ธรรมะ เพราะท่านแต่งเป็นแบบ “นิยายอิงธรรมะ” ท่านบอกว่า ได้แบบอย่างมาจาก “The pilgrim of Kamanita” (หรือกามนิต วาสิษฐี) ของคาร์ลเยลเลรุป โดยที่เรื่องกามนิต วาสิษฐีผู้แต่งอาศัยข้อมูลทางฝ่ายมหายาน กับเถรวาทแต่งขึ้นมา ท่านเห็นว่า ท่านน่าจะเอาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ของฝ่ายเถรวาทล้วน ๆ มาแต่งเรื่องทำนองนี้บ้าง จึงได้แต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

ปรากฏว่าเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้อ่านไปตาม ๆ กัน เพราะอ่านเพลิน แถมได้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย มิใช่เฉพาะหลักธรรม หากรวมถึงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ของชมพูทวีปสมัยพุทธกาลอีกด้วย

(๘) เรื่องอื่น ๆ ทำนองใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เช่น กองทัพธรรม เชิงผาหิมพานต์ ลุ่มน้ำนัมมทา นันทะ-ปชาบดีถ้าจะกล่าวว่า อาจารย์สุชีพเป็นผู้จุดประกายแห่งการเผยแพร่พุทธธรรมแนวใหม่(แนวนิยายอิงธรรมะ) เป็นคนแรกก็คงไม่ผิดนักหลังจากนั้นก็เกิดนักเรียน “ตระกูลสุชีพ” อีกหลายท่าน บางท่านก็เป็นศิษย์โดยตรง บางท่านก็เป็นศิษย์โดยอ้อม อาทิ “ธรรมโฆษ" (แสง จันทร์งาม) แต่ง ลีลาวดี บทบาทหลวงพี่เรวตะของสีกาลีลาวดี เป็นที่ติดอกติดใจภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยเหลือเกิน วศิน อินทสระ แต่ง พระอานนท์พุทธอนุชา เล่าบทบาทพระอานนท์ติดสอยห้อยตามพระพุทธเจ้าได้ลึกซึ้งดังหนึ่งว่า เราผู้อ่านได้โดยเสด็จไปด้วย “กนกพร” (จำนงค์ ทองประเสริฐ) แต่งเรื่อง การกู้ชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับเชื้อสายของเจ้าชายสิทธัตถะ “กนกบุญ” (อดิศักดิ์ ทองบุญ) เขียน คำให้การของพระเทวทัต สาธยายถึงเสือสำนึกบาปให้ผู้ฟังได้ขนพองสยองเกล้าได้ดีจริง ๆ ยังแผ่อานิสงส์มาถึงนักเรียนรุ่นหลังเช่น “ไต้ตามทาง” เขียนเรื่อง สองทศวรรษในดงขมิ้น อีกด้วย

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นนักปราชญ์ (ผู้รู้ทั่วถึง ผู้ประเสริฐ) เป็นบัณฑิต (ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา) เป็นพหูสูต (ผู้สดับตรับฟังมาก ผู้คงแก่เรียน) เป็นรัตนอุบาสก (อุบาสกแก้ว) เต็มตามความหมายของศัพท์ ท่านได้ละโลกนี้ไปแล้วตามธรรมดาของสังขาร ฝากไว้แค่จริยาอันน่าเลื่อมใส น่าชื่นชม ให้อนุชนรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม

ท่านมาอย่างใด ไปอย่างนั้น ตามคติของท่าน
ว่าแต่พวกเราเถอะ มาอย่างไร แล้วจะไปอย่างไรกันบ้างละหนอ

:b44: :b44:


ที่มาของข้อมูล
๑.) ประวัติ http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ub ... ucheep.htm
๒.) อะไหล่ที่หาไม่ได้ http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ub ... sc-103.htm
๓.) คุณลักษณะพิเศษ http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ub ... eep-01.htm
๔.) ท่านมาอย่างไร ท่านไปอย่างนั้น http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ub ... eep-02.htm
๕.) มูลนิธิปุญญานุภาพ http://th.wikipedia.org/wiki/มูลนิธิปุญญานุภาพ
๖.) คำอธิษฐาน ๑๐ ประการ จาก Facebook :: Guru of Dhamma by Danai Chanchaochai

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร