วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2013, 16:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระภาวนาเขมคุณ (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)


สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


๑. ฆราวาสสมัย

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ผู้คนในถิ่นนั้นจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับเรือนแพหลังหนึ่งซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันว่า เจ้าของเรือนแพหลังนี้ คือ สามี-ภรรยา ผู้ใจบุญ นามว่า “นายบัวขาว-นางมณี เพ็งอาทิตย์” ผู้ให้กำเนิดเด็กชายสุรศักดิ์ หรือ “พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี” ประทีปธรรมนำจิตใจของคณะศิษย์สุปฏิปันโนในปัจจุบัน

กาพย์ฉบัง ๑๖

สามธันวามาดล
ศุภมงคล
อุบัติบังเกิดกุมาร
ห้าค่ำวันจันทร์กล่าวขาน

เดือนอ้ายประมาณ
ปีเถาะเก้าสี่ผ่านมา
กล่าวฝ่ายบิดามารดา
ยินดีนักหนา

ให้ชื่อ “สุรศักดิ์” เฉิดฉาย
พี่น้องหญิงชายร่วมครรภ์ ห้าคนเท่านั้น
ที่สามเป็นชายชาตรี
บิดามารดาปรานี

ได้เป็นศักดิ์ศรี
“เพ็งอาทิตย์” ตระกูลวงศ์
ท่านมีเรือยนต์รับส่ง
หลักฐานมั่นคง

ทั้งเรือบรรทุกปูนหิน
เรือกสวนไร่นาทำกิน
ไม่รู้หมดสิ้น
ให้เช่าตามเค้ากล่าวมา

เมื่อเด็กชายสุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เจริญวัยขึ้นก็ได้เข้ารับการศึกษาทั้งในระดับประถม และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนครหลวงวิทยาคาร โรงเรียนนครหลวงพิบูลย์ประเสริฐวิทย์ และโรงเรียนอุดมรัชวิทยา ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเด็กชายสุรศักดิ์เป็นนักเรียนที่เอาใจใส่การเล่าเรียนเป็นอย่างดี มักได้รับคำชมเชยจากครูที่ทำการสอนอยู่เสมอ แต่จะด้วยวิบากกรรม หรือมหากุศลบันดาลให้เป็นไป ก็สุดจะคาดเดาได้ จึงทำให้เด็กชายสุรศักดิ์ เกิดประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรงถึงขั้นต้องหยุดพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง

วิชชุมมาลา ฉันท์ ๘

ลำดับต่อไป เป็นวัยเล่าเรียน
มานะพากเพียร เป็นมอสอสอง
เกิดอุบัติเหตุ เภทภัยเข้าครอง
เจ็บข้อเท้าต้อง ผ่าตัดเยียวยา
รักษาสังขาร เนิ่นนานผ่านไป
จะเรียนต่อไซร้ ไม่สมอุรา
ประกอบอาชีพ ช่วยท่านบิดา
เดินเรือต่อมา ประมาณเจ็ดปี
เบื่อหน่ายเต็มทน ต้นหนเดินเรือ
อันตรายมากเหลือ เสี่ยงภัยมากมี
สายน้ำคลื่นลม ขื่นขมฤดี
อันอาชีพนี้ เลิกไปขายเรือ
เมื่อเป็นต้นหน ฝึกฝนเรียนไป
ศึกษาผู้ใหญ่ ท่านไม่รู้เบื่อ
จบมอสอสาม งดงามอะเคื้อ
ประโยชน์จุนเจือ เรียนต่อช่างยนต์
ช่างเชื่อมโลหะ ไม่ละเลยไป
เล่าเรียนสมใจ กระทั่งช่างกล
ย่างยี่สิบสี่ เบื่อหนี้ต้นหน
บิดาของตน ขอให้บวชเรียน
มารดาบิดา เลี้ยงมาเหนื่อยยาก
เมื่อท่านออกปาก จึงได้พากเพียร
ทดแทนพระคุณ เกื้อหนุนจำเนียร
จึงได้บวชเรียน ด้วยจิตศรัทธา


๒. สู่ร่มกาสาวพัสตร์

เมื่อได้ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว โยมบิดา-โยมมารดา จึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ณ วัดพร้าวโสภณาราม ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ท่านพระครูอดุลธรรมประกาศ เป็นพระอุปัชฌาจารย์, พระอธิการป่วน โสภโณ เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระครูสำเริง เป็นพระอนุสาวณาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมรํสี ซึ่งแปลว่า ประทีปธรรมนำความสงบ และหลุดพ้น

โครงสี่สุภาพ

ท่านสุรศักดิ์จึงได้ บรรพชา
เขมรังสีฉายา เลิศแล้ว
วัดพร้าวโสภณา รามแห่ง นั้นนา
ถิ่นเกิดดูเพริศแพร้ว ยิ่งล้ำ อำรุง
จิตมุ่งจักไขว่คว้า หาธรรม
ตัดกิเลสสงบงำ ผ่องพ้น
เคร่งครัดวินัย สำ คัญยิ่ง นาพ่อ
เป็นแบบอย่างเลิศล้น เจิดจ้าคณาสงฆ์
จำนงจักใคร่รู้ กรรมฐาน
อบรมวิปัสสนาจารย์ ครบถ้วน
ประสบท่านผู้ชาญ ปฏิบัติ ธรรมนา
ทรงพระคุณเลิศล้วน ก่อให้ศรัทธา

ต่อมาท่านได้ลองไปปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนานครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการแนะนำจากญาติฝ่ายโยมบิดา ทำให้ท่านได้ประจักษ์ถึงพุทธดำรัส ที่ว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง

ในช่วงเวลานั้นท่านได้พบกับความสงบร่มเย็นแท้จริงของชีวิต และรู้สึกลึกซึ้งในคุณค่าของพระธรรมมากยิ่งขึ้น จนทำให้เปลี่ยนความตั้งใจจากเดิม ที่คิดว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เป็นตั้งมั่นที่จะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อค้นคว้าศึกษาหลักธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้น

โครงสี่สุภาพ

สังวรสมาธิวัตรนั้น คือนาม
พระผู้ทรงคุณความ อะเคื้อ
บารมีหาโลกสาม ฤาเทียบ
เมตตาพระก่อเกื้อ ศิษย์ล้วนระลึกคุณ

กาลต่อมาท่านได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แห่งวัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ท่านรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระครูรูปนี้ยิ่งนัก


๓. ศึกษาพระอภิธรรมนำชีวิต

ท่านพระครูสังวรสมาธิวัตร ได้เมตตารับพระภิกษุสุรศักดิ์ไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวัดเพลงวิปัสสนา จนมีศรัทธาแรงกล้าใคร่ที่จะศึกษาในพระอภิธรรมคัมภีร์ จึงได้ไปสมัครเรียนที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร โดยเรียนที่ระเบียงวิหารคต และ ณ ที่นี้เอง พระภิกษุสุรศักดิ์ก็ได้ใช้ความเพียรในการศึกษาพระอภิธรรมคัมภีร์จนมีความรู้แตกฉาน สามารถสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระอภิธรรม ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งครูสอน และนักเรียนศึกษาในชั้นสูงต่อไปด้วย

สำหรับครูที่ถ่ายทอดวิชาพระอภิธรรม ที่พระภิกษุสุรศักดิ์มีความประทับใจในวิธีการสอนเป็นอันมากก็คือ ท่านพระครูธรรมสุมนต์นนฺทิโก เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระภิกษุสุรศักดิ์ได้ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ และค้นคว้าศึกษาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งหาโอกาสออกไปสู่ความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนปฏิบัติในพระธรรมกรรมฐานอยู่เสมอเป็นนิจ และนั่นคือการสั่งสมปัญญาบารมีไว้เป็นปัจจัยในการเผยแผ่พระพุทธธรรม เป็นผลให้กาลต่อมาได้บังเกิดพระสุปฏิปันโน ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่งอีกรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีนามฉายาว่า “เขมรํสี ภิกขุ”

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2013, 16:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๔. “เขมรํสี” ประทีปธรรมนำจิตใจ

โคลงสี่สุภาพ

เกิดผลได้รับใช้ พระศาสนา
เผยแผ่พระธรรมา มากแล้ว
อบรมธรรมหลายครา ก่อเกิด กุศลเอย
อุปสรรคคลายคลาดแคล้ว หลีกพ้นภัยพาล
คิดการตั้งสำนัก ปฏิบัติ
สืบเสาะมาพบวัด ที่นี่
ยังเป็นป่ารกชัฏ สงบเงียบ ดีเฮย
สัปปายะชวนชี้ หักร้างถางพง

ณ ที่นี้ คือจุดเริ่มต้นของสำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาบริเวณของวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยาได้ทรงสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๑ ซึ่งในปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้างตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหันตรา (ทุ่งทหารกล้า) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีสภาพเสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีไว้ เป็นโบราณสถานแห่งชาติและเป็นมรดกโลกที่ล้ำค่าอีกแห่งหนึ่ง

มเหยงค์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง เคยรุ่งเรืองรางชางมาก่อนเก่า
เจ้าสามพระยาทรงสร้างไว้ใหญ่ไม่เบา อนุสรณ์เชษฐาเจ้าสองพระองค์
อุโบสถแลวิไลใหญ่กว้าง เจดีย์ช้างล้อมอยู่ดูระหง
กำแพงล้อมสองชั้นเห็นมั่นคง ฉนวนตรงเข้าโบสถ์ปรากฏมี

ครั้นเวลาล่วงมาช้านาน วัดทรุดโทรมตามกาลเศร้าเสื่อมศรี
จนพระเจ้าท้ายสระโปรดปราณี เร่งเร็วรี่บูรณะวัดด้วยศรัทธา
อุโบสถพระเจดีย์ช้างล้อม ทะนุถนอมบำรุงไว้ใฝ่รักษา
ทั้งเจดีย์ทรงระฆังสะพรั่งตา มีคุณค่าซ่อมแซมไว้ให้ถาวร

ทรงส่งเสริมการศึกษาของหมู่สงฆ์ มุ่งดำรงปฏิบัติธรรมให้พร่ำสอน
เป็นอรัญญวาสีอยู่นอกพระนคร ขึ้นชื่อลือขจรแต่นั้นมา
ปัจจุบันนี้ปรักหักพัง สุดที่จะยับยั้งอย่ากังขา
สิ่งใดถือกำเนิดเกิดมา ตั้งอยู่ได้ไม่ช้าก็ดับลง

พุทโธวาทขององค์สมเด็จพระศาสดา น้อมปฏิบัติบูชาค่าสูงส่ง
ยึดพระธรรมมั่นไว้ให้ยืนยง รู้ละวางว่างลงคงนิพพาน
พระคุณเจ้าเขมรังสีชิโนรส ธุดงค์มาปักกลดตามกล่าวขาน
เห็นวัดร้างสัปปายะคิดกะการ ตั้งสำนักสงฆ์ด้วยเชี่ยวชาญทางธรรม
บุกเบิกหักร้างถางป่าชัฏ น้อมนำปฏิบัตินานฉนำ
ญาติโยมศรัทธามาประจำ บวชเนกขัมม์ปฏิบัติอยู่อัตรา

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ ที่มุ่งหวังจะมีส่วนช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผสมผสานกับแรงศรัทธาของญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย จึงทำให้บริเวณโดยรอบโบราณสถานวัดมเหยงคณ์ ที่เคยเป็นป่าเปลี่ยว รกร้างมานาน ได้กลับกลายเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐานที่สงบร่มรื่นในระยะเวลาไม่กี่ปี

ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบำเพ็ญทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมเดิม ที่สร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก คับแคบลงไปมาก จำเป็นต้องสร้างศาลาหลังใหม่ที่ถาวรและ กว้างขวางเพื่อรองรับญาติโยม ศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหม่นี้ก็คือ “ศาลาเขมรังสี”

ด้วยเดชะผลทานบารมี ศีลภาวนานี้ดีนักหนา
เชิญชวนพุทธบริษัทผู้ศรัทธา สร้างศาลาค่าอักโขดูโอฬาร
ก่อประโยชน์บำเพ็ญทานการกุศล ใช้อบรมเยาวชนทุกถิ่นฐาน
ปลูกศรัทธาขัดเกลาจิตคิดกอปรการ สืบพุทธศาสน์ยืนนานชั่วกัลป์
พระคุณเจ้าท่านถนัดจัดสั่งสอน ขจายขจรกว้างไกลไปนักหนา
ส่งวิทยุแพร่ธรรมนำปัญญา มุ่งสอนวิปัสสนาสาธุชน
วันที่เก้าสิงหาคมปีสามห้า ทำบุญฉลองศาลามหากุศล
ถวายสังฆทานพันเก้าองค์เกิดมงคล อุทิศถวายพระราชกุศลพระแม่เมือง

ด้วยปฏิปทาอันดีงามของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ จึงทำให้พระอาจารย์ของท่านคือท่านพระครูสังวรสมาธิวัตรได้มีบัญชา ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร ตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยทำหน้าที่ควบคู่ไปกับการเป็นผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ นับเป็นภาระรับผิดชอบที่หนักไม่น้อย

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


แต่ด้วยผลงานที่ปรากฏชัดจึงทำให้ท่านพระอาจารย์ได้รับเกียรติคุณยิ่งนานัปการ คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้โปรดประทานปสาทนียบัตร สาขาผู้มีศรัทธาบำเพ็ญประโยชน์ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแก่เยาวชน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓, เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านพระอาจารย์ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท โดยได้รับพระราชทินนามว่า “พระครูเกษมธรรมทัต” และในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิม

ศิษย์พร้อมพรักปรีดิ์เปรมเกษมศรี
น้อมถวายศรัทธาชมบารมี
ท่านเป็นที่พระครูผู้เมตตา
มีฉายาว่า “เกษมธรรมทัต”
พระไตรรัตน์เจริญในไตรสิกขา
อินท์พรหมเทพอวยเฉลิมเพิ่มบุญญา
บูรพกษัตริยาอำนวยพร
จิตเป็นหนึ่งจึงถึงพร้อมจตุรพิธ
พรวิจิตรสุขสงบสโมสร
ในร่มกาสาวพัสตร์อันบวร
สถาพรเกรียงไกรในแดนธรรม
สาธุชนทั้งหลายได้รู้จัก
น้อมใจภักดิ์ศรัทธามาอุปถัมภ์
ในกิจการงานเผยแผ่พุทธธรรม
ช่วยค้ำจุนศาสน์สมมาตรเอย

ร่ายสุภาพ

พระครูเกษมธรรมทัต กิจวัตรอบรมธรรมกรรมฐานภาวนา แก่พุทธศาสนิกชน เพื่อหลุดพ้นวัฏฏะ ชำระจิตแจ่มใส ไร้ตัณหาอุปาทาน พระอาจารย์เมตตาน้อมนำพรปฏิบัติ ข้อวัตรเนกขัมม์จริยธรรมอบรม บ่มนิสัยเยาวชน จนเป็นที่ศรัทธา หลายสถาบันมาเข้าค่ายจำต้องขยายอาคาร ให้พอแก่การพำนักเป็นที่พักอาศัย ทั้งใช้ประโยชน์นานา จึงทอดผ้าป่าสามัคคี ท่านผู้มีใจกุศล หวังผลทานยิ่งใหญ่ บริจาคทรัพย์ให้เหลือคณา นำปัจจัยมาก่อสร้างอาคารกว้างและตระการ มี สำนักงานบุญนิธิ ชื่อสุปฏิปันโน ค่าอักโขห้องสมุดพิเศษสุดห้องรับรองพระสงฆ์อาคันตุกะ ทั้งห้องปฏิสันถาร เป็นอาคารเอนกประสงค์ เจาะจงใช้เป็นที่พักให้แก่นักปฏิบัติ แจ้งชัดอุบาสก เลิศดิลกนักเรียนชายผู้หมายรับการอบรมสมเป็นกุลบุตร อาคารสุดงดงาม คงซึ่งความเป็นไท แลวิไลหยดย้อย ช่อฟ้าช้อยเสียดฟ้า ใบระกาหางหงส์ ผจงไว้นาคสะดุ้ง หวังผดุงศิลปะไทย เฉิดไฉไลก่อสร้าง งามสง่าอย่ารู้ร้าง คู่ฟ้าคงดิน อยู่นา

ในปัจจุบันแม้จะมีศาลาปฏิบัติธรรม เขมรสี ที่ใหญ่โต กว้างขวางและแข็งแรงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับรองญาติโยมสาธุชน ที่หลั่งไหลเข้ามาปฏิบัติธรรมในโอกาสอันสำคัญต่างๆ เพราะบางพื้นที่ในศาลาเขมรสีนั้น ยังต้องจัดเป็นส่วนของ สำนักงานบุญนิธิ สุปฏิปันโน ห้องสมุด และที่พักรับรองแด่พระอาคันตุกะ จึงสมควรที่จะขยับขยายส่วนเหล่านี้ไปไว้ในที่เหมาะสม ท่าน พระอาจารย์จึงมีดำริให้จัดสร้างอาคารใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้บริเวณศาลามุงจากเดิม เป็นสถานที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่นี้

ในที่สุด ด้วยพลังแห่งความมานะพากเพียรที่เปี่ยมล้น ด้วยความศรัทธาจากสาธุชน จึงทำให้อาคารดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์งดงาม และกอปรประโยชน์ยิ่ง อาคารหลังใหม่นี้คือ “อาคารเกษมธรรมทัต”

อาคารสำเร็จสร้าง สมจินต์
ประโยชน์ยิ่งกว่าถวิล ว่าไว้
ศรัทธาทั่วฟ้าดิน ฤาสุด สิ้นเฮย
พูนเพิ่มบารมีให้ สู่ห้องนฤพาน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2013, 16:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อาจริยบูชา
วรวัจน์ถวายแด่พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี


สภาวะ วัดไทย ในปัจจุบัน
กว่าแปดหมื่น สี่พัน สำนักสงฆ์

ทุกทวีป ทั่วโลก ที่ดำรง
ดำเนินตรง กัมมัฏฐาน กี่ปอร์เซ็นต์

พระสงฆ์ไทย สามเณร กว่าสามแสน
ทั้งแร้นแค้น หรูเลิศ ก็เคยเห็น

ตั้งหน้าสอน กัมมัฏฐาน งานยากเย็น
ที่โดดเด่น น้อยนัก สักกี่องค์

หนึ่งท่านนั้น บรรยายธรรม ตอนย่ำรุ่ง
ด้วยจิตมุ่ง ขัดกิเลส ไม่ไหลหลง

พระครูเกษม ธรรมทัต วัดมเหยงคณ์
ท่านชี้ตรง สติปัฏฐาน ทุกวารวัน

พระธรรมโน้ม น้าวใจ อยากคลายทุกข์
วิมุติสุข เป็นจุดหมาย ต่างใฝ่ฝัน

ชวนกันมา ปฏิบัติธรรม นำชีวัน
หลวงพ่อท่าน สอนให้ ด้วยเมตตา

งามขบวน จงกรม กาสาวพัสตร์
แน่นขนัด สาธุชน บนพื้นหญ้า

ใต้ร่มไม้ รอบกำแพง ภาวนา
อาตาาปิ สติมา สัมปชาโน

เผดียงสงฆ์ นิมนต์พระ สุปฏิบัติ
อปริหานิยธรรมชัด แจ่มอักโข

พร้อมเพรียงกิจ อุทิศนำ พระธัมโม
ศาลาโต ล้วนกิจกรรม ธรรมวาที

สู้อุตส่าห์ ติดต่อ ขอเป็นวัด
มีพระสงฆ์ ปฏิบัติ นำวิถี

ทุกฝ่ายช่วย ด้วยเห็นตาม คุณความดี
แต่ยังมี กรรมซัด แสนอัดใจ

อดทนหนอ พากเพียรหนอ หลวงพ่อขา
วันข้างหน้า สัมฤทธิ์ผล ดลดวงใส

“มเหยงคณาราม” นามเกรียงไกร
หลวงพ่อได้ คุ้มบุญ การุณยธรรม

โปรดมุ่งหน้า พาข้าม ทั้งสามทุกข์
สันติสุข เพราะฝึกจิต คิดอุปถัมภ์

วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ประหารกรรม
รูป-นามย้ำ สันตติ พิชิตทัน

ขอบุญล้ำ ธรรมทาน ของหลวงพ่อ
ที่กอปรก่อ ครูฐานิยธรรมมั่น

อีกกุศล ปวงศิษย์ ปฏิบัติกัน
พระไตรรัตน์ คุณานันต์ ประมวลมา

เป็นมหา มงคล เป็นพรเลิศ
สรรพสิ่ง ประเสริฐ ทุกโลกหล้า

ดลแด่ท่านเกษมธรรมทัตตา
อโรคยา พิบัติผอง ไม่พ้องพาน

เป็นร่มไทร โพธิ์แก้ว ประทีปโรจน์
อยู่ช่วยโปรด ประดาศิษย์ ทุกทิศสถาน

ด้วยพุทธธรรม นำชีวิต พิชิตมาร
จนบรรลุ พระนิพพาน ตามท่านเทอญ



อาศิรวาท
ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ผู้ประพันธ์


กัมมัฏฐานท่านย้ำ วิปัสสนานำปฏิบัติ ให้รู้ชัดรูปนาม รู้ทันตามเป็นจริง นี่คือสิ่งท่านถนัด จัดบวชเนกขัมมะ ปฏิบัติภาวนา ทุกวาระสำคัญ อันเนื่องชาติศาสน์กษัตริย์ วัฒนธรรมประเพณี มีสงกรานต์เป็นต้น ล้นด้วยกตัญญู ชักชวนหมู่มวลศิษย์ ทำบุญอุทิศบรรพชน ซึ่งผจญศึกศัตรู กอบกู้ปกป้องรัฐ และวัดวาอาราม ก็ด้วยความสามัคคี ยอมพลีชีพท่านไว้ เป็นเยี่ยงเป็นอย่างให้ เร่งรู้ พระคุณพระครูเกษมธรรมทัต จัดถมดินปลูกไม้ เป็นป่าถาวรไซร้ร่มไม้ดูงาม ยามฝึกกัมมัฏฐาน จักเบิกบานหมู่ไม้ เป็นร่มรุกขมูลไซร้ ก่อให้สงบเร็วนา

พบบุคคลหนึ่งน้อม
นำถวาย

นาที่ตาและยาย
มอบให้

โดยบอกเจตนาหมาย
สร้างโบสถ์ ให้นา

เป็นเรื่องอนาคตไซร้
สิ่งนี้พึงจำ

ขุดสระทำใหญ่กว้าง
เหลือคณา

น้ำนิ่งใสสะอาดตา
เพริศแพร้ว

ยามลมโบกโบยมา
ระลอก พริ้วเฮย

ดังมุจลินทร์สระแก้ว
แหล่งโน้นพุทธภูมิ

โครงการปูมภายหน้า
ยังมี

เหลือจักกล่าวสดุดี
หมดได้

จักขอกราบพระศรี
ไตรรัตน์

จุ่งประสิทธิ์พรให้
ยิ่งด้วยบารมี

ฑีฆายุอยู่ยั้ง
ยืนนาน

ศตวรรษสุขสราญ
อย่าแคล้ว

สืบพุทธศาสน์งาน
เผยแผ่ ธรรมนา

เป็นชิโนรสแก้ว
ก้องฟ้าสถาพร



ความสำเร็จอยู่ที่ใจไม่ต้องเอื้อม
นางวลัย ยิ่งยง ผู้ประพันธ์


ดิฉันได้ฟังธรรมครั้งแรกจากท่านอาจารย์ ราวพุทธศักราช ๒๕๓๗ ที่สำนักปฏิบัติกรรมฐาน “วัดมเหยงคณ์” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ปฏิบัติเห็นจริงตามที่ท่านสอนว่า...

เมื่อหมั่นเจริญสติ จนเห็น ลักษณะ อาการของจิต ได้ชัดเจน จะแจ่มแจ้งในการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมต่างๆ

ทำให้ดิฉันมีความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่อง บัญญัติ-ปรมัตถ์ ตลอดจน สภาวจิต และอารมณ์ ช่วยให้การเจริญสติ “ดูจิต” ในชีวิตประจำวัน มีพัฒนาการดีขึ้น สิ่งที่ดิฉัน “ประทับใจที่สุด” คือ...เมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์ เมตตาให้การอบรม แก่กลุ่มย่อย ๔๐ คน ที่ ยุวพุทธิกสมาคม แห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติรังสิต ระหว่างวันที่ ๓-๑๑ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้เข้ารับการอบรม มีอายุตั้งแต่ ๒๑-๘๐ ปี มีความแตกต่างกันทั้งอายุ พื้นฐานความรู้ ตลอดจน “รูปแบบ” และ “ประสบการณ์ในการปฏิบัติ”

แต่ท่านอาจารย์ก็ได้ทำให้ทุกคนรู้สึกประทับใจ เพราะท่านมิได้ตำหนิ ติเตียนรูปแบบใด ท่านให้กำลังใจทุกคน ว่า...รูปแบบ ก็เสมือน บัญญัติ ที่มี อยู่หลากหลาย แต่สุดท้าย เมื่อเข้าถึงปรมัตถ์ ก็คือ สิ่งเดียวกัน

ท่านอาจารย์ คือประทีปธรรม ชี้นำเส้นทางอันถูกต้องตรงธรรม ท่านตรากตรำ อุทิศตนเพื่อบวรพุทธศาสนา ท่านคือความอบอุ่นของผู้ใส่ใจปฏิบัติธรรม คำสอนง่ายๆ แต่กระจ่างชัดของท่าน ย้ำเสมอว่า...

ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งหลาย หากดูจิตเป็น กำหนดจิตได้ การปล่อยวางจะง่าย เมื่อใดที่สามารถ หยุดใจไร้อยาก เมื่อนั้น ความสำเร็จย่อมอยู่ที่ใจ

ความ สำเร็จอยู่แค่เอื้อม...ยังไกล, ความสำเร็จ อยู่ที่ใจ...ไม่ต้องเอื้อม

น้อมจิตคารวะด้วยใจ ผู้แทนคณะศิษย์ ยุวพุทธิกสมาคมฯ รังสิต


สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๓๕-๘๘๑-๖๐๑-๒, ๐๘๑-๘๕๓-๕๖๖๙
Hotline : ๐๘๒-๒๓๓-๓๘๔๘ เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ทุกวัน
โทรศัพท์และโทรสาร ๐๓๕-๘๘๑-๖๐๓




.............................................................

:b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.mahaeyong.org/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2013, 16:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รู้-เห็น ตามความเป็นจริง
รายงานพิเศษโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ในแวดวงครูบาอาจารย์ที่สอนวิปัสสนาในยุคนี้ พระครูเกษมธรรมทัต หรือพระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ ผู้ก่อตั้งสำนักกรรมฐานวัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ดูจะเป็นหนึ่งในครูบาอาจารย์ที่สอนวิปัสสนาอย่างต่อเนื่อง มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วประเทศและทั่วโลกอยู่ไม่น้อย

ในแต่ละเดือนมีผู้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมระยะเวลา 9 วันรุ่นละ 35 คนเต็มทุกเดือนไปจนถึงปลายปีนี้ แม้ว่าพระอาจารย์สุรศักดิ์มีกิจนิมนต์ไปสอนวิปัสสนาในสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ รวมทั้งในโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ตลอดจนบริษัทห้างร้านอยู่เสมอ ท่านยังมีเวลาให้กับศิษย์ทุกคนที่มาเข้าคอร์สอย่างเต็มที่

ท่านอธิบายว่า จริงๆ แล้วถ้าเรามีสติ รู้จักพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน นั่นคือเรากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจจะทำยาก เพราะในแต่ละวันเราต้องกระทบดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้องเร่งรีบ การมีสติรู้เท่าทันก็ยาก

"เราจึงจัดคอร์สให้เก็บตัว เก็บอารมณ์ เป็นการวางการงาน วางภาระทุกอย่าง แล้วก็มาใช้วิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มันก็ปฏิบัติง่ายขึ้น ปฏิบัติได้ต่อเนื่อง อะไรที่ทำให้ต่อเนื่อง ย่อมทำให้เห็นผลได้ง่าย ได้ไว"

คอร์สกรรมฐานปัจจุบันที่กำหนดไว้ 9 วัน ท่านเล่าว่า เพราะสถานที่ยังไม่แล้วเสร็จ ยังใช้แคร่ ใช้เต็นท์กันอยู่ ต่อไปถ้ามีกุฏิ มีขอบเขต ก็สามารถจะเปิดได้ตลอดปี มีส่วนหนึ่งสำหรับผู้มาเข้าได้เสมอ แต่ต้องอยู่อย่างน้อย 7 วันขึ้นไป

"ที่จัด 9 วันเพราะการปฏิบัติช่วงแรกๆ คนที่เพิ่งเข้ากรรมฐานยังมีนิวรณ์ ยังผจญกับความฟุ้ง ความง่วง ราคะ สงสัย พยาบาท วุ่นวายจิตใจ ถ้าเราไม่กำหนดไว้อย่างนี้ เขาจะกลับก่อน คิดนั่นคิดนี่ คิดว่าอยู่เสียเวลา อะไรอย่างนี้ ถ้าเราให้คนกลับไปขณะที่จิตยังไม่สงบ จิตยังไม่อิ่มเอิบ มันจะเกิดความท้อถอย ไม่มีกำลังใจที่จะเพียรปฏิบัติกรรมฐาน เมินหน้าหนีไปอย่างอื่น เข็ดขยาด แต่ถ้าหากว่าอดทนไว้ อยู่ต่อ 3 วันไปแล้วจะเริ่มรู้สึกดี มีสงบใจเกิดขึ้น เกิดกำลังใจ พออยู่ต่อไปเป็นโอกาสที่จะรู้สภาวธรรม พอจิตเริ่มคลายจากนิวรณ์ ก็จะเป็นโอกาสพัฒนาจิต การจัด 9 วันเราให้โอกาสกับคนที่ทำราชการด้วย คือมีหัวท้ายวันเสาร์อาทิตย์ ก็จะลาแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์"

หลักการปฏิบัติเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่เน้นรูปแบบที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่เริ่มต้นจากฐานของแต่ละคน

"วันแรกเราอบรมวิธีการปฏิบัติ มีการสอบอารมณ์เป็นช่วงๆ อบรมไป ปฏิบัติไป ฟังไปก็จะเริ่มเข้าใจขึ้น ในวิธีการปฏิบัติแล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละคนที่สะสมมาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องทำเบื้องต้นอะไรให้เหมือนกันหมด บางคนทำวิปัสสนาทันทีไม่ได้ จะให้มาระลึกรู้สภาวะปรมัตถ์ รูปนาม มันทำไม่ได้ เพราะยังรู้สึกว่าจิตส่งออกนอก ไปเรื่องอื่นหมด ตั้งสติไม่อยู่ แต่ถ้าให้เขาฝึกสมาธิก่อนเขาทำได้"

วิธีการดูลมหายใจก็มีหลายนัยด้วยกัน ท่านอธิบายว่า บางคนอาจจะใช้วิธีตามลมหายใจเข้า หายใจออก บางคนถนัดนับลมหายใจ นับเป็นคู่ๆ เช่น หนึ่ง หนึ่ง ถึง ห้า ห้า เป็นต้น แล้วก็วนมาใหม่ บางคนฟุ้งมากๆ นับไปก็จะสงบเอง หรือการเดินจงกรม ก็บริกรรมกำกับไปด้วย เช่น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือ ยก ย่าง เหยียบ หรือกำหนด พอง ยุบ เป็นต้น อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา แต่เป็นอุบายให้จิตสงบก่อนที่จะพิจารณาสภาวธรรมตามความเป็นจริง

"พอเริ่มสงบก็ขยับไปฝึกดูปรมัตถ์ พูดง่ายๆ ก็คือ ดูความรู้สึก แรกๆ ก็ค่อยๆ ดูเป็นบางส่วนของร่างกาย เช่น เวลาดูลมหายใจเข้า-ออกก็สังเกตว่าหายใจเข้ามันตึงไหม หายใจออกมันผ่อนคลายไหม สบายไหม หรือไม่สบาย อันนี้เป็นการดูปรมัตถ์ หรือบางคนก็ดูจากหน้าท้อง ดูพองหนอ ยุบหนอ ต่อมาก็ดูความรู้สึก มีตึง มีหย่อน พอดูตรงนี้แล้วเราจะได้ปัญญา คือรู้แจ้งตามความเป็นจริง"

"โดยเฉพาะสภาพจิตใจ ปกติเราจะคิดว่า สภาพจิตใจคือตัวเรา ความคิดก็เป็นของเรา ชอบ ไม่ชอบก็เป็นเรา เพราะเราไม่มีสติมากำหนดดูจิตดูใจ ถ้าเราหัดดูจิตใจตัวเรา ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงไป จิตใจมันก็ไม่ใช่เรา"

พระอาจารย์อธิบายว่าใน 9 วัน ถ้าเรามาเก็บตัว เราจะค่อยๆ เห็นสิ่งเหล่านี้

:b39: :b39:

พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี เดิมชื่อ สุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวน 5 คนของคุณพ่อบัวขาวและคุณแม่มณี เพ็งอาทิตย์ เดิมครอบครัวอยู่ในแพริมน้ำป่าสัก ต.นครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเล่าย้อนไปในวัยเด็กให้ฟังว่าสมัยก่อนการเดินทางต้องไปทางเรือ ยังไม่มีรถรา จะมาตัวเมืองก็ต้องไปทางเรือ

"ในแพก็ขายของชำด้วย มีสวนริมตลิ่ง ตอนหลังพ่อกับอาทำเรือยนต์โดยสาร ระยะหลังมาทำเป็นเรือพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ที่พ่วงต่อๆ กันมา เราใช้ชีวิตอยู่ในเรือ 7 ปี ช่วยพ่อแม่ค้าขาย มีครั้งหนึ่งเราวิ่งหนีหมา แล้วกระโดดจากที่สูง ข้อเท้ามันพลิก ไม่กล้าบอกพ่อแม่ ก็ปล่อยไว้จนมันหายเจ็บ พอดีโยมพ่อเป็นหมอรู้เข้า ก็ฉีดยาให้ เราก็ดิ้น เลยไปกระทบเส้นประสาท มาตอนหลังผ่าตัดใส่เหล็กแล้วก็ยังไม่หาย เวลาไปเรือ โดนกระสอบข้าวสารกระแทกผ่าหลายรอบ ปัจจุบันเลยเดินไม่ค่อยถนัด ก็ค่อยพยุงไป สังขารมันก็อย่างนี้"

สมัยนั้นพอท่านอายุ 20 ก็อยากบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ แต่ตอนนั้นท่านเล่าว่าพ่อแม่ยังไม่พร้อม เพราะว่าคนบ้านนอกเขาจะจัดงานบวช เขาต้องจัดงานเลี้ยง ต้องใช้เงิน ตอนนั้นยังมีหนี้สินอยู่ ก็เลยยังไม่ได้บวช มาบวชเอาตอนอายุ 24 ปี

"เป็นประเพณีของคนอยุธยา ถ้ามีลูกชายก็ให้บวช ความรู้สึกของเราก็ฝังใจมาตั้งแต่เด็กว่าต้องบวช เพราะเป็นลูกชาย การบวชก็เป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดา บวชตอนแรกก็บวชตามประเพณี ไม่ได้คิดว่าจะบวชตลอดชีวิต บวชพรรษาเดียว เตรียมจะสึกอยู่แล้ว พอดีมีอาเขาแนะนำให้ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่สำนักวิปัสสนานครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เลยมา เห็นคนแก่เขาเดินจงกรม นั่งสมาธิ เราไม่เป็นมาก่อนก็เลยถาม ลองฝึก 3 วันเกิดความสงบ ตอนบวชพรรษาแรก ทั้งโยมพ่อแม่และโยมยายขอร้องให้อยู่ต่ออีกสักพรรษาหนึ่ง ตอนนั้นคิดว่าจะสึกอย่างเดียว อยู่ไม่ได้แล้ว พอมาปฏิบัติได้ 3 วันสงบใจก็บอกโยมพ่อกับโยมแม่ว่าจะอยู่ต่อ ท่านก็ดีใจ ก็เลยไปหาที่วิเวก ไปปฏิบัติต่อ"

ในปี พ.ศ.2519 ท่านจึงไปอบรมวิปัสสนา 3 เดือน ที่วัดเพลงวิปัสสนา อาจารย์ใหญ่วัดมหาธาตุ ไปสอนเรื่องวิปัสสนาภูมิ ท่านสอนเรื่องพระอภิธรรมให้เข้าใจง่าย พระอาจารย์สุรศักดิ์เกิดความศรัทธาเลยตั้งใจว่าจะเรียนให้แจ่มแจ้ง ท่านจึงธุดงค์มาอยู่วัดเพลงฯ ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

พระอาจารย์สุรศักดิ์เรียนพระอภิธรรมจนสอบได้ที่ 1 ด้วย ท่านเล่าว่า การสอบได้ตามลำดับชั้นเป็นเรื่องธรรมดา ที่เรียนแล้วเข้าใจง่ายเพราะปฏิบัติมาก่อน

"มันเหมือนกับเราไปเรียนเครื่องยนต์ เราเรียนชิ้นส่วนแต่ละอย่าง แล้วเวลานำมาแก้ไข มาประกอบ มาประยุกต์ ต้องรู้จักหยิบมาใช้ หยิบมาปฏิบัติ ต้องดึงเข้าหาในตัว เราจะเข้าใจ ไม่เหมือนการศึกษาทางโลก เรามักจะเรียนออกนอกตัว ไม่ดูในตัว ก็เลยเข้าใจยาก"

การปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง ท่านเน้นว่าต้องมีปริยัติอยู่ข้างหลัง มันเป็นกรอบให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เหมือนคนที่รู้แผนที่ ก็สามารถจะมองทางเดินได้ถูก แล้วมาสงเคราะห์การปฏิบัติ

"อภิธรรมจริงๆ แล้วอยู่ในตัว การเรียนต้องเรียนเข้าหาในตัว มาพิจารณาทำความรู้จักตัวเรา ถ้าเรียนแล้วไปกับสมมติทั้งหมด ไม่ได้นึกเข้ามาในตัวก็ไม่ลึกซึ้ง หาไม่เจอ ไม่รู้จักตัวเอง พอไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่รู้จักความจริง แค่รู้จำเท่านั้น ที่พระพุทธองค์สอนทั้งหมดคือสอนเข้ามาดูในตัว ระลึกเข้าหาในตัวคือเรื่องปรมัตถธรรม"

ท่านกล่าวว่า ที่เราเรียกว่าอภิธรรมนี้ หมายถึง ธรรมที่เป็นจริง ธรรมอันยิ่งใหญ่

"ความจริงจะเปิดเผยตัวของเขาเองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธรรมชาติ จิตก็เป็นธรรมชาติ เจตสิกก็เป็นธรรมชาติ รูปก็เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเหล่านี้มีสภาพเป็นธรรมดามันก็ต้องเปลี่ยนแปลง มีความเกิด มีความเสื่อม บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าเราไม่เห็นความจริงอย่างนี้ก็ยึดเป็นตัวเรา เป็นบุคคลต่างๆ กิเลสต่างๆ ก็เกิดขึ้น พอกิเลสมากๆ ทนไม่ไหวก็ต้องทำกรรม ทำบาป"

เพราะกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมเกิดทางกาย วาจา ใจ พอมีกรรมก็มีวิบากเสวยผลเป็นทุกข์ เวียนว่ายตายเกิด การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป

"อยู่ในครรภ์มารดาก็ทรมานแล้ว เกิดมาก็ต้องเสวยทุกข์ตามลำดับ เจ็บป่วยก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ เศร้าโศกพิไลรำพัน ทุกกายทุกข์ใจ คับแค้นใจ ต้องพลัดพรากต้องประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา ต้องผิดหวัง ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะความที่ไม่รู้ความเป็นจริง การปฏิบัติธรรมเพื่อรู้ความเป็นจริง เพื่อละถอนความยึดมั่นถือมั่น เป็นไปเพื่อละกิเลส เพื่อการดับทุกข์"

"เราเองใหม่ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลาน เวลาปฏิบัติใหม่ๆ เรามีความตั้งใจ และอยากจะสำเร็จไว มันก็จะทำไปด้วยความอยาก คนที่ทำด้วยความอยากจะเกิดการบังคับตัวเองมาก เดินชั่วโมง นั่งชั่วโมงทั้งวัน มันจะมีผลต่อความตึงของร่างกาย หน้าอกตึง คอแข็งมาก ในที่สุดก็จะปวดศีรษะชนิดที่นั่งอยู่เฉยๆ 2-3 นาทีก็ทนไม่ไหวแล้ว ตัวต้องเคลื่อนไหวให้คลาย ไม่งั้นจะปวดมาก ปวดชนิดที่ว่า ถ้าเราคุมไม่อยู่ เราก็คิดว่าเราต้องบ้า นั่นคือการปฏิบัติที่เราไม่เข้าใจ มุ่งแต่ปฏิบัติ แล้วปล่อยวางไม่เป็น ปฏิบัติกันสามเดือน อาจารย์ท่านหนึ่งบอกให้เลิก เพราะปฏิบัติผิด อาจารย์อีกท่านหนึ่งบอกว่าให้สู้ เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรแน่"

พระอาจารย์สุรศักดิ์ ผู้มีฉายาว่า เขมรํสี ซึ่งหมายถึง ประทีปธรรมนำจิตใจ เล่าถึงช่วงแรกของการปฏิบัติธรรมที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก และในที่สุดท่านก็ตกลงสู้ไม่ถอย

"อาจารย์ท่านหนึ่งบอกเราว่า ถ้าบ้าผมจะจับท่านไว้เอง วันนั้นเรานั่งอยู่ริมสระน้ำตอนโพล้เพล้ ตั้งใจว่ายอม บ้าก็บ้า ยุงมารุมเต็มตัวเลย แต่เราตั้งใจว่าจะไม่ขยับก็ไม่ขยับ กัดก็กัดไปเต็มตัว แล้วก็มีมดมากัดตรงตาตุ่มเป็นกระจุกเลย ผลสุดท้ายสิ่งเหล่านี้มาช่วยเราทั้งนั้น เพราะอะไร เมื่อมันมีความเจ็บปวด มันจะดึงเอาจิตเข้ามาหา จิตจะลงล่าง ก็คือจิตเราไปจับอยู่ในสมองที่ปวดหัว ไปจับแล้วไปยึด ปล่อยไม่เป็น เวลาเพ่งก็ยิ่งบีบ ยิ่งปวด พอมดกัดตาตุ่มทำให้ดึงจิตลงมา ก็หายการปวดหัวไป มันก็คลายไป แต่มันยังไม่หมดเชื้อซะทีเดียว ก็ต้องปฏิบัติไป ค่อยๆ ปรับไป"

ท่านอธิบายว่า การที่บุคคลปฏิบัติแล้วไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือปฏิบัติด้วยความทะยานอยากที่จะเอาให้ได้ มีผลเสียคืออาจจะเป็นบ้าได้ ถ้าเราปล่อยวางไม่เป็น

"แต่ถ้าเราปล่อยวางเป็น จิตอยู่ตรงไหนก็ได้ อย่าไปยึดมันไว้ บางคนไปหลงนิมิต มีพระด้วยกันเพี้ยนไปก็มี บางรูปกลัวจะง่วงก็กินกาแฟไว้ เช้ามาคุยกับสุนัขได้แล้ว สุนัขแปรงฟันหรือยัง หนักๆ เข้ากระโดด คิดว่าตัวเองจะเหาะได้ เดินกระโดดๆ แล้วบอกว่าสำเร็จวิชาแล้ว เป็นผู้วิเศษแล้ว คือเวลาปฏิบัติแล้วไปพบ ไปเห็นอะไรที่เกิดภาวะที่ตนเองไม่เคยพบมาก่อน บางคนเห็นแสงสว่าง เห็นนิมิต เห็นแสงสว่าง เกิดปีติขึ้นมา มันแปลกประหลาดก็อาจจะหลง ที่สุดพระรูปนั้นผ้าผ่อนไม่นุ่ง ครูบาอาจารย์ก็ต้องส่งหมอ นี่คือการปฏิบัติไม่เข้าใจ

"พระอีกรูปหนึ่งก็นั่งไปสั่นไป ร้องไห้ไป ใครเข้าไปใกล้ก็ตบอย่างแรง มือไม่รู้มีพลังจากไหน ในที่สุดเขาบอกว่ามีหลวงพ่อมาเข้าทรง คือเขาเอาพระเครื่องห่อมาด้วย เขาอาจจะนั่งสมาธิไป แล้วอาจจะเกิดปีติ ปีติบางอย่างทำให้ตัวสั่น ตัวโยก แต่คนที่ไปยึดเรื่องทรงเจ้าเข้าทรง มันก็จะสำคัญมั่นหมายว่าเรามีอะไรมาเข้าทรง ก็จะทำอะไรที่แปลกออกไป ทำให้ผิดเพี้ยน"

นี่คือโทษของการปฏิบัติที่ไม่เข้าใจ ทางสายวิปัสสนาไม่ซับซ้อน เป็นเรื่องง่ายๆ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านี้ การปฏิบัติธรรมทั้งหมดเป็นไปเพื่อการทิ้งเท่านั้นเอง

"อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเอา เพื่อจะได้ เราปฏิบัติเพื่อให้จิตใจมาอยู่กับเนื้อกับตัว เพื่อจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สภาวะจริงแท้ คือความรู้สึกที่ไม่ปรุงแต่ง"

นั่นคือทางลัดสั้นของการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบมากว่า 25 ศตวรรษ โดยมีพระธรรมคำสอนจากพระโอษฐ์ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเป็นแผนที่นำทาง ก่อเกิดพระสุปฏิปันโนเป็นผู้ชี้ทางให้กับเราอีกต่อหนึ่งอย่างไม่ขาดสายมาจนถึงทุกวันนี้

สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 035-881-601-2, 081-853-5669



.............................................................

:b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.nationweekend.com/weekend/20 ... ec02.shtml

:b44: รวมคำสอน “พระภาวนาเขมคุณ (สุรศักดิ์ เขมรํสี)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44192

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร