วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ม.ค. 2013, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อกัสสปมุนี

วัดปิปผลิวนาราม
ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง



ประวัติทั่วไป

หลวงพ่อกัสสปมุนี เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่กรุงเทพมหานคร
ท่านมีนามก่อนบวชว่า ประจงวาศ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ประยุทธิ วรวุธิ นามสกุล อาภรณ์สิริ
โยมบิดาชื่อ พระพาหิรรัชฏ์พิบูลย์ (ประวัติ อาภรณ์สิริ)
โยมมารดาชื่อ นางพาหิรรัชฏพิบูลย์ (เผื่อน อาภรณ์สิริ)
พี่น้องหลวงพ่อทั้งหมดรวมหลวงพ่อด้วยมี ๓ คน
พี่ชายหลวงพ่อชื่อ ประไพวงศ์ คล้องจองกับชื่อประจงวาศ
น้องชายคนกลางคือหลวงพ่อ และประสาทศิลป์ เป็นคนสุดท้าย ทั้งสิ้นเป็นชายล้วน
(ทุกท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว น้องชายคนเล็กสิ้นชีวิตไปหลังจากหลวงพ่อถึงแก่มรณภาพเพียง ๑ ปี)
สมัยเป็นฆราวาส ท่านได้สมรสกับนางประชุมศรี อาภรณ์สิริ มีบุตรชาย ๒ คน บุตรหญิง ๒ คน

หลวงพ่อท่านเล่าให้ฟังว่า คุณปู่ของท่าน คือพระยาภูษามาลา (ผู้พี่)
และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรง (ผู้น้อง) มีถิ่นกำเนิดที่ จ.กำแพงเพชร
ได้เข้ามารับใช้ฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา
ในกองพระภูษามาลาและกองมูรธาภิเษก ในพระบรมมหาราชวัง
เป็นต้นสกุล “อาภรณ์สิริ” และ “เพ็ญกุล” ตามลำดับ เนื่องจากสายสกุลของหลวงพ่อ
มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์อย่างมาก
หลวงพ่อจึงมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ได้ประดิษฐานไม้แกะสลักเป็นรูปพระองค์ท่านที่หน้ากุฏิหลวงพ่อ เห็นได้จนปัจจุบัน
หลวงพ่อท่านมีความสัมพันธ์ทางจิตใจ มีความภักดีในพระองค์ท่านอย่างลึกซึ้ง)
องค์รัชทายาทและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ หลวงพ่อก็ให้ความจงรักภักดี เทอดทูนเสมอมา


ประวัติการศึกษาและการทำงาน

การศึกษาของหลวงพ่อเริ่มต้นที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพฯ
แต่เล่าเรียนอยู่ไม่นานนัก ก็ได้ย้ายไปที่โรงเรียนอัสสัมชัญ อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ
หลวงพ่อเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือก จนจบชั้นสูงสุดในสมัยก่อน คือ ชั้นมัธยมปีที่ ๖
หรือชั้นสแตนดาร์ด ๗ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ขณะมีอายุ ๑๙ ปีบริบูรณ์

เมื่อจบชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว เนื่องจากภาษาอังกฤษของหลวงพ่อดีมาก
(ตอนเป็นพระภิกษุ ได้แนะนำ สนทนา วิพากษ์วิจารณ์หลักธรรมทางพุทธศาสนา
กับชาวต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่วและลึกซึ้ง)
สามารถพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว
จึงได้ไปสมัครทำงานที่บริษัทวินเซอร์ของชาวอังกฤษ ได้ทำงานอยู่ไม่นานเพียง ๑-๒ สัปดาห์
บิดาท่านทราบในภายหลัง จึงไม่ยินยอมและให้ออกจากงาน
แล้วให้ไปสมัครทำงานที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง แทน
(ผู้เขียนเรียนถามท่านว่าเหตุใดบิดาท่านจึงไม่ยอม
ท่านตอบโดยยิ้มๆ ว่า บิดาท่านชาตินิยม อยากให้ช่วยประเทศชาติชาวไทยมากกว่า)
หลวงพ่อจึงเข้ารับราชการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น คือ พระยาไชยยศสมบัติ
และเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในภายหลังถัดมา

- ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงพ่อรับราชการเริ่มต้นอัตราตำแหน่งเสมียนโท เงินเดือน ๓๐ บาท
(สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยว ๑ ชามใหญ่ ราคา ๑๐ สตางค์)
เกี่ยวกับงานติดตามรายวันของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

- ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้ถูกโอนไปรับงานด้านเลขานุการ สำนักงาน ร.ม.ต.กระทรวงการคลัง

- พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เลื่อนตำแหน่งจากเสมียนโท เป็นเสมียน ๓, เสมียนจัตวา
สุดท้ายเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นตรี โอนไปอยู่กรมสรรพสามิต แผนกกองรายได้ฝิ่น
อัตราเงินเดือน ๘๐ บาท

- ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ตอนปลายปีจึงถูกโอนไปแผนกสถิติและโต้ตอบจดหมาย
กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

- ตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นโท
และเป็นหัวหน้าแผนกสถิติ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อัตราเงินเดือน ๑๔๐ บาท

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

รูปภาพ
พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ)


การอุปสมบท

จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๔ ตอนอายุ ๕๒ ปี
ท่านมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตฆราวาส และประสบกับความสงบ ความสุข
เห็นแจ้งในสภาวสัจจธรรม อันเนื่องจากการปฏิบัติสมาธิ-วิปัสสนากรรมฐาน
ซึ่งท่านได้ประพฤติปฏิบัติอย่างขั้นอุกฤษฏ์ ในช่วง ๕ ปีหลังในชีวิตรับราชการ
แม้ทางการอนุมัติตำแหน่งรองอธิบดีกระทรวงอุตสาหกรรมให้แล้วก็ตาม
ท่านขอลาออกจากราชการก่อนกำหนดการปลดเกษียณอายุถึง ๓ ปี
(เกษียณอายุราชการสมัยนั้นใช้เกณฑ์อายุ ๕๕ ปี)
อัตราเงินเดือนของท่านขั้นสุดท้าย ๒,๕๐๐ บาท มีอายุราชการ ๓๖ ปีเต็ม
เพื่อไม่ให้มีความกังวล และให้การปฏิบัติธรรมต่อเป็นไปอย่างเด็ดขาดจริงจัง
และต่อเนื่อง จึงขอรับบำเหน็จเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท
พร้อมทั้งโอนที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ครอบครัวท่านต่อไป

หลังจากได้รับอนุมัติการลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้ว
จึงขออุปสมบทที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยมี

- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัตน เจ้าอาวาสวัด เป็นพระอุปัชฌาย์
- พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงพ่ออยู่ในสมณเพศตลอด โดยสมาทานธุดงควัตร ๔ ข้อ คือ ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ครองจีวรชุดเดียว (จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเก่าหรือชำรุด) เป็นวัตร รับบิณฑบาตเป็นวัตร
และอยู่ป่าเป็นวัตร จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพด้วยโรคปอดอักเสบอย่างกระทันหัน
(หลวงพ่ออายุมากใกล้จะ ๘๐ ปี เผอิญปีที่หลวงพ่อถึงมรณภาพ
ก่อนเข้าพรรษาเพียง ๑ สัปดาห์ ฝนตกอย่างมากขณะรับบิณฑบาต จีวรเปียกโชก
มีอาการหนาวสั่น เป็นสาเหตุ) เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑


ผลงานบางส่วนของหลวงพ่อ

ขอย้อนกล่าวไปถึงในระยะเวลาที่หลวงพ่อรับราชการยาวนานถึง ๓๖ ปีเต็ม
ใน ๒ กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม
ได้ประสบการณ์มากมาย เป็นที่รักไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา
และเป็นที่เคารพรักของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก
เพราะท่านให้ความเอ็นดู มีเมตตาธรรมและความยุติธรรมแก่เขาอย่างจริงใจ
เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสืออย่างมาก โดยเฉพาะหนังสือพระไตรปิฎก
(เน้นหนักไปที่พระวินัยและพระสูตร) หลวงพ่อบอกว่าได้อ่านทบทวนไปมาถึง ๓ เที่ยว
เนื่องจากสมัยที่หลวงพ่อบวช หนังสือพระไตรปิฎกยังมีการพิมพ์ไม่แพร่หลายนัก
พระสูตรที่สำคัญๆ หลวงพ่อต้องคัดออกมาด้วยลายมือเอง
โดยความเป็นระเบียบและงดงาม นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว
หลวงพ่อสนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับพงศาวดารจีน อาทิ
สามก๊ก เลียดก๊ก โฮ้วป่า ฯลฯ ส่วนตำราอื่นๆที่สนใจก็มี เช่น
พรหมศาสตร์ ทำนายฝัน ลางสังหรณ์ต่างๆ ทำนายไฝ-ฝ้า ตำราโหงวเฮ้ง ฯลฯ

นอกจากการอ่านหนังสือดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อยังมีความชำนาญในการประพันธ์
ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส
สมัยที่ยังรับราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม
ยังได้รับตำแหน่งให้เป็นคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่หนังสือนิตยสาร “อุตสาหกร”
ประจำกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ข้อเขียนของหลวงพ่อมีทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว
ลงพิมพ์ในหนังสือนิตยสารประจำกระทรวงและที่อื่นๆ โดยใช้นามปากกาต่างๆ กัน
เช่น “เมรุมาส” เกี่ยวกับเรื่องการเมือง “ศรีธรรมาโศก” เกี่ยวกับเรื่องศาสนา
และ “เวทางค์” เกี่ยวกับเรื่องความรักโรแมนติก เป็นต้น
บทประพันธ์ร้อยกรองของหลวงพ่อ ประกอบด้วยร่าย (สั้นและยาว)
โคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่ กลอนหก กลอนแปด เป็นต้น
โดยเฉพาะโคลงสี่ซึ่งจะแต่งให้ไพเราะได้ยากกว่าโคลงสี่สุภาพ หลวงพ่อมีความเชี่ยวชาญมาก

หนังสือที่หลวงพ่อเขียนขณะเป็นบรรพชิตมีหลายเล่ม
แต่ละเล่มได้บรรยายถึงความเป็นมา ความตั้งใจจริงจังในการปฏิบัติธรรม
ในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ กัน
ตลอดจนการได้รับผลจากการปฏิบัติอันแน่วแน่อย่างอุกฤษฏ์
หลายเล่มได้ใช้เป็นปัจจัยให้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่
ในระยะเริ่มต้นก่อสร้างวัดปิปผลิวนาราม อาทิ
ห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้าขนาดใหญ่ อุโบสถชั่วคราวที่เชิงเขา และหอฉัน เป็นต้น

หนังสือที่หลวงพ่อเขียนเรียงตามลำดับก่อนหลังมีดังนี้

- ๖ เดือนบนภูกระดึง
- ปัญจมาสในชมพูทวีป
- โป๊ยเซียน (ข้อมูลต่างๆ เตรียมไว้ตั้งแต่เป็นฆราวาสแล้ว หากยังไม่มีโอกาสเขียน)
- กฏและระเบียบของวัด และการปฏิบัติพระกรรมฐาน
- สภาวะสังขารธรรม
- สัปกปุริสธรรมและสมาธิภาวนาเบื้องต้น
- เมื่อข้าพเจ้ามาพบที่ใหม่

“เมื่อข้าพเจ้ามาพบที่ใหม่” เป็นหนังสือเล่มสุดท้าย
ที่หลวงพ่อเขียนก่อนถึงมรณภาพเพียง ๔ ปี
ขอแนะนำให้ศิษย์ของหลวงพ่อและผู้ที่สนใจในธรรมะของท่าน
โปรดได้อ่านโดยทั่วกัน โดยเฉพาะเรื่องสภาวะสังขารธรรม

หลวงพ่อต้องใช้พลังสมาธิและปัญญาอย่างมาก
ในการเขียนเรียบเรียงจนสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม
อาจจะต้องใช้สมาธิในการอ่านถึง ๒-๓ เที่ยว
จึงจะได้สัมผัสประสบกับความละเอียดลึกซึ้งในธรรมะแห่งพระพุทธองค์
และรู้สึกถึงความไพเราะนุ่มนวลในเชิงวรรณศิลป์ที่หลวงพ่อได้บรรจงเขียน
และประกอบด้วยภาพเปรียบเทียบให้เห็นและเข้าใจได้ง่าย


:b46: :b46:

ที่มา
http://www.vimokkhadhamma.com/kassapamunee.html

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร