วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ม.ค. 2013, 07:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อจง พุทฺธสโร

วัดหน้าต่างนอก
ต.หน้าไม้ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา



ชาติกำเนิด

หลวงพ่อจง พุทฺธสโร ได้ถือกำเนิดที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์
ท่านเกิดในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2415

นามเดิมของท่านชื่อว่า "จง" ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล เลยยังไม่มีนานสกุลพ่วงท้ายชื่อ
เป็นบุตรชายคนโตของ "นายยอด" และ "นางขลิบ" ที่มีอาชีพเป็นชาวนา
หลวงพ่อจงท่านมีน้องร่วมอุทรเดียวกันอีก 2 คน คือ "นายนิล" หรือ "พระอธิการนิล" และ "นางปลิก"

ชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงพ่อจงท่านอยู่ในฐานะเฉกเช่นผู้อาภัพอับโชค
อุดมไปด้วยทุกขโรคา มากกว่าความสุขร่าเริงสดใสเหมือนกับเด็กในวัยเดียวกันทั่วไป

หลวงพ่อจงท่านถูกโรคพยาธิเบียดเบียนมาตั้งแต่เล็ก จึงทำให้มีรูปร่างค่อนข้างจะผอมโซ ไม่แข็งแรง หน้าตาซีดเซียว แถมยังมีอุปนิสัยค่อนข้างขี้อาย เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพังคนเดียว ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร ถามมาคำก็ตอบกลับไปคำ และซ้ำร้ายไปกว่านั้นได้กลายเป็นที่น่าเวทนาสำหรับผู้พบเห็นและรู้จักมักคุ้นก็คือหลวงพ่อจงในวัยเยาว์ท่านมีอาการหูอื้อจนเกือบหนวกรับฟังเสียงต่างๆ ไม่ค่อยชัดเจน นัยน์ตาก็ฝ้าฟางมองอะไรแทบไม่เห็น

แต่ด้านของจิตใจท่านกลับเพียรใฝ่หารสพระธรรม ชอบทำบุญตักบาตรในวันธรรมสวนะอยู่เป็นเนืองนิจ โดยให้บิดามารดาหรือญาติพี่น้องพอไปยังวัดหน้าต่างใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก


เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

จวบจนกระทั่งอายุของหลวงพ่อจงอายุได้ 12 ปี บิดามารดาของท่านเห็นถึงอุปนิสัยของท่านว่ามีความชอบวัด ติดวัด จึงนำเข้าบรรพชาเป็นสามเณรซะเลย ณ วัดหน้าต่างใน และก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเมื่อท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่รุมเร้ามานานแรมปี ไม่ว่าจะเป็นโรคพยาธิ ที่ทำให้เกิดอาการผอมโซ เซื่องซึม หูอื้อ นัยน์ตาฝ้าฟาง ก็ได้หายไปจนหมดสิ้น ท่านกลับกลายเป็นผู้ที่มีสุขภาพพลานามัยดีมาก และท่านก็มีความสุขในสมณเพศนั้น ดุจดั่งเป็นนิมิตหมายให้รู้ว่า หลวงพ่อจงจะต้องครองเพศอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปจนชีวิตจะหาไม่

ในปี พ.ศ. 2435 เมื่ออายุครบบวช โยมบิดามารดาจึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมา วัดหน้าต่างใน โดยมี หลวงพ่อสุ่น เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โพธิ วัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า "พุทฺธสโรภิกขุ"

และหลวงพ่อจงก็ได้พนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดหน้าต่างใน ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา พร้อมด้วยฝึกฝนในอักษรสมัยทั้งขอมและไทย จากพระอาจารย์เจ้าอาวาสจนมีความรู้ปราดเปรื่องชำนาญ จนใครๆ ก็อดสงสัยมิได้ว่า เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อจง มิยังงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญาดุจดั่งที่มีบุคลิกอันอ่อนแอ ส่อสำแดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบ หรืออับ

หลวงพ่อจง พลิกความเข้าใจของโยมและวงศ์ญาติให้เป็นการกลับตาลปัตรไปไกลกว่านั้น โดยนอกจากศึกษารู้แจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือจนแตกฉานแล้ว มิช้ามินานยังสามารถรับการถ่ายทอดวิทยาการในแขนงว่าด้วยคุณเวทย์วิทยาคมขลัง จากพระอาจารย์โพธิ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไพศาลในยุคนั้น มาได้ขนาดว่าหมดสิ้นพุงความรู้ของพระอาจารย์ และก็มิได้หยุดยั้งแค่นั้น หลวงพ่อจงยังได้พากเพียรแสวงหาความรู้ไม่ขาด รู้ว่าที่ไหนมีพระอาจารย์ดี มีผู้เคารพนับถือมาก ในวิชาหรือเจนบจนในวิทยาการหนึ่งวิทยาการใด ท่านเป็นเสาะแสวงหาหนทางนำตนไปนมัสการน้อมยอมเป็นสานุศิษย์ ศึกษาวิชาอย่างไม่มีท้อถอยไม่มีกลัวความลำบาก ในการต้องบุกป่าฝ่าหนามข้ามทุ่งไกลๆ ซึ่งสมัยนั้นไปไหนต้องใช้พาหนะเท้าย่ำกันเป็นหลัก

ต่อมาจึงได้ไปศึกษาเรียนวิชาปฏิบัติกรรมฐานจาก พระอาจารย์หลวงพ่อปั้น เกจิอาจารย์ของวัดพิกุล ซึ่งท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์โด่งดังมากจนสมญาว่า เป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่รูปหนึ่งหมั่นศึกษาและพากเพียรด้วยอิทธิบาทอันแก่กล้าช้านาน

จนในที่สุด "ทั่ง" ถูกฝนลงเป็นเข็มสำเร็จ กาลต่อมา หลวงพ่อจงจึงได้รับขนานนามเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเจริญกรรมฐาน ประเภทอสุภปฏิกูล โดยที่ท่านมีบุคลิกภาพเปี่ยมพร้อมสมบูรณ์ สำหรับการปฏิบัติเจริญภาวนา เหมาะสมกับสภาวะนั้นได้ ด้วยปราศจากอารมณ์หวาดหวั่น หวาดไหว เป็นต้น เปี่ยมพร้อมด้วย มีองค์คุณอันเหมาะสมที่เรียกว่า สัปปายะ (สี่) และมีองค์คุณอันเป็นที่ตั้งของความเพียร (ห้า) ที่เรียกว่า ปธานิยังคะ

เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมสิกขา และปฏิบัติพระปริยัติธรรมศึกษาพระเวทย์และวิชาการคุณเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากมีนิสัยส่วนตัวพอใจแล้ว ยังมีเหตุแวดล้อมจากความรู้สึกชมชื่นและศรัทธาของชาวบ้านชาวเมืองสมัยยุคนั้นให้ความนิยมต่อศาสตร์แขนงนี้ ดังจะเห็นจากมีผู้ถวายความเคารพศรัทธาต่อความเป็นพหูสูต ความยิ่งยงเกรียงไกรในอำนาจฤทธิ์มนต์ขลังของท่านพระครูโพธิ ท่านเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งครั้งกระนั้นเป็นต้นสังกัดของหลวงพ่อจงจนล่วงผ่านวันเดือนไปหลายรอบปีนักษัตร ตราบจนพระอาจารย์โพธิได้ถึงมรณภาพไปเพราะโรคภัยเบียดเบียนตามอายุขัยของผู้ชราภาพ ประกอบด้วยหลวงพ่อจง เป็นผู้ขึ้นชื่ออยู่ในความรับรู้ของผู้ใกล้ชิด ทั้งใกล้ไกลตลอดมวลหมู่ผู้สนใจเฝ้าสังเกตว่า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการทางเวทย์วิทยาคมมาจากพระอาจารย์โพธิได้อย่างเต็มภาคภูมิ วุฒิที่พระอาจารย์โพธิมีอยู่ แต่นั้นมาบรรดาชาวบ้านก็ให้ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อหลวงพ่อจงอย่างท่วมท้น ทำให้ท่านต้องรับภาระหนักในการทำพิธีรดน้ำมนต์ ใช้เวทย์วิทยาคมกระทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ให้ฤกษ์งามยามดี บำบัดเหตุมิดีกาลีร้ายนานาประการ ตามแต่จะมีผู้มาอาราธนานิมนต์ให้โปรดจึงกระทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นเงาตามตัว

รูปภาพ

โปรดอสุภกรรมฐาน

ในขบวนการใช้อุบายอันแยบคาย อบรมบ่มจิตให้ได้รับความสงบจนบังเกิดเป็นสมาธิและฌาน (สมถะกัมมัฏฐาน หรือเรียกว่าสมถะกรรมฐาน) กับอาการบอรมจนให้ดวงจิตบังเกิดปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) หลวงพ่อจงพอใจชอบใช้ฝึกจิตในแนวทางเรียกว่า อสุภะ

อสุภะตามความหมายก็คือ หมายความถึง สิ่งอันเป็นซากของวัตถุหรือซากร่างปราศจากชีวิต อันไร้ความน่าดู ปราศจากความสวยงามตรงข้ามกลับน่ารังเกียจ น่าเบื่อหน่าย และน่าขยะแขยงสะอิดสะเอียน หลวงพ่อจงพอใจใช้วิธีการ เพ่งอสุภะ เป็นแนวทางอบรมบ่มจิต ก็เพราะได้ความคิดว่า มันเป็นการช่วยให้ตนสามารถมองเห็นชัดด้วยตา และบังเกิดความรู้สึกในใจให้คิดสังเวชอย่างซาบซึ้งถึงความจริงในข้อที่ว่าตนและสรรพสัตว์ เมื่อต้องมีอันต้องตายไปแล้วก็ต้องมีสภาพน่าอเนจอนาถไม่น่าดู ไม่น่ารัก แต่น่าชัง น่ารังเกียจ ทุเรศ อุจาดตา ดังนี้ด้วยกันทั้งนั้นและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น ซึ่งจากข้อคิดนี้ จะทำให้ดวงจิตแห้งแล้งหดหู่ ปราศจากความร่านยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ปราศจากความหลงงมงาย คิดว่าร่างกายเป็นสิ่งสวยงาม จะได้เป็นเครื่องบรรเทาอัสมิมานะ คือ ความสำคัญผิด เพ้อเห็นไปว่าร่างกายนั้นมันเป็นตัวตนของเขาของเราจริงแท้ ซึ่งความจริงมันมิใช่ ความจริงมันเป็นเพียง อัตตะปราศจากตัวตน เป็นที่รวมอยู่ของธาตุทั้งห้าชั่วครั้งคราว โดยสภาวะปรุงแต่งแวดล้อม ครั้นถึงกาลเวลาก็แตกดับล่วงลับสลายไป ไม่เป็นเขาไม่เป็นเรา ดังนั้น หลงและโลภในรูปรส กลิ่น เสียง

หลวงพ่อจงชอบเพ่งมองอสุภะ คือ รูปเน่าเปื่อยของศพที่มีผู้เอามามอบให้ และท่านเก็บไว้ในห้องที่จัดไว้พิเศษโดยเฉพาะอย่างซ่อนเร้น มิให้ประเจิดประเจ้อต่อการรู้เห็นของผู้อื่น ท่านจะใช้เวลายามปลอดและสงัดจากผู้คนเข้าไปในห้องพิเศษพร้อมด้วยดวงเทียนที่มีแสงสว่างเพียงมองเห็น ท่านจะนั่งเฝ้าเพ่งมองดูรูปศพคนตาย ไม่เลือกว่าจะเป็นศพขึ้นอืดจนเป็นน้ำเหลืองหยด มีกลิ่นเหม็น หรือเป็นซากศพแห้งเหี่ยวจนหน้าตาน่าเกลียดเพียงใด ท่านก็จะเฝ้าจ้องมองเพ่งดูอย่างจริงจัง เพ่งมองให้เป็นภาพติดตา จนจำขึ้นใจว่า ศพนั้นท่าทางรูปร่างเป็นอย่างนั้น แห้งเหี่ยวเป็นรอยย่นผิดหน้าตามนุษย์ธรรมดายังงั้นยังงี้ หรือมีน้ำเหลืองหยดเพราะอาการเน่าเปื่อยตรงนั้นตรงนี้ พร้อมกันนั้นก็กระทำจิตใจให้บังเกิดอารมณ์สังเวช ว่ารูปกายที่เกิดมาแล้วก็ต้องถึงวาระมีอันเป็นไปให้เจ็บป่วย ถูกทำร้ายหรือยังเกิดอุบัติเหตุเป็นภัยอันตรายถึงตาย ตายแล้วก็มีอาการน่าอเนจอนาถต่างๆ นานา เป็นเช่นนี้เสมอไป ร่างกายหนอ... ชีวิตหนอ... ต่างล้วนเป็นภาพน่าอนาถ น่าสังเวช น่าชิงชัง น่าเบื่อด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อมีผู้สงสัยถามว่า ทำดังนี้และปลงอารมณ์ได้ดังนี้แล้ว จะบังเกิดประโยชน์อะไร หลวงพ่อจงให้คำตอบว่าได้ประโยชน์คือ ทำให้ไม่หลงใหลรักตัวตนว่าเป็นตัวตนของเขาของเรา มันเป็นแค่ชีวิตกายเกิดที่ก่อสารรูปขึ้นได้ด้วยสภาวะแวดล้อมของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เช้ารวมตัวกัน ความคิดเห็นแก่ตนเอง เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น จะหย่อนหายไปจากสันดานโลภโมโทสัน เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งขัดเกลาสันดานจิตใจ ให้ผ่องใสสะอาด หากมนุษย์อันเป็นตัวสมมติของกาย เกิดไม่หลงนึกแยกประเภทของกายเกิด ว่านั่นเป็นเขา นี่เป็นเรา ดังนี้แล้ว การอยู่ร่วมกันในสังคม บ้านเมือง ตลอดทั่วโลก ก็จะมีแต่ความสงบสุข ไม่ต้องมีการดิ้นรนจองล้างจองผลาญย่ำยีต่อกันและกัน

หลวงพ่อจงเป็นผู้มีกำลังหนุนมั่นคงด้วยการใช้แรงอิทธิบาทสี่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เข้าปฏิบัติกระทำในกิจการไม่ว่าสิ่งใดที่สนใจ ตลอดจนการท่องบ่นทบทวนวิทยาคมที่พระอาจารย์โพธิ์ประสิทธิ์ประสาทให้ไม่ย่อท้อ ท่านได้พากเพียรกระทำสม่ำเสมออยู่เป็นนิจ ด้วยความมานะแรงกล้า

ยิ่งนานวันนานคืนล่วงไป ภูมิจิตของท่านก็เพิ่มพลังความชำนาญจนเข้าขั้นนับว่าเป็นผู้ได้ฌานสมาบัติขั้นสูงผู้หนึ่ง


ถือสันโดษ

ปกติหลวงพ่อจงไปไหนท่านชอบไปองค์เดียว จนตอนระยะวัยสูงมีสภาพของคนชรา ไม่น่าวางใจว่าอาจไปเกิดพลั้งเผลอมีอุบัติเหตุ ผู้เจตนาดีและศิษย์ผู้ภักดีจึงต้องติดตามท่านไปด้วยสองสามคน เพื่อคอยดูแลและรับใช้ถวายปรนนิบัติท่าน

หลวงพ่อจงเป็นภิกษุผู้ปราศจากละโมบในลาภสักการ ยศศักดิ์ทั้งปวง ท่านพอใจสภาพที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกเท่านั้น ต่อมามีผู้คิดสนับสนุนให้ท่านมียศทางสมณะศักดิ์ ท่านก็ห้ามปรามไม่ยินยอมให้ทำเรื่องราวเสนอขึ้นไปตามระเบียบ ซึ่งเมื่อไม่มีเรื่องเสนอตามแบบของทางราชการ ก็ไม่มีการให้สมณศักดิ์ แทนที่ท่านจะสนใจเพราะมีผู้หมั่นไปกระตุ้นและหว่านล้อม ท่านกลับหัวร่อแล้วพูดว่า

"ไม่น่าสนใจเรื่องนี้ เพราะยศ ตำแหน่ง บรรดาศักดิ์ เป็นเรื่องของโลก อาตมาไม่ใยดีในทางนี้ เมื่อเป็นภิกษุและได้ศึกษาพระธรรม มีความรู้ในธรรม หมั่นปฏิบัติธรรมได้เป็นนิจ ได้รับความสงบทางใจ ได้มีช่องทางให้ผู้อื่นมีโอกาสพิจารณาปฏิบัติได้ด้วยดี อย่างนี้ก็ควรเป็นสิ่งพึงใจของสมณะสงฆ์แล้ว เพราะพวกเรานี้ ที่มาบวชก็เพราะมุ่งเสียสละทางตัณหาโลกามิส ได้ตัดใจตัดโลกไว้เบื้องหลัง เพื่อเข้าแสวงหาวิถีทางให้รอดพ้นจากทุกข์ทรมาน ใครทั้งหลายเคารพกราบไหว้เรา เพราะรู้ว่าเราเป็นผู้พยายามสละกิเลสอันเป็นมารชั่วร้ายเจ้าของ โทสะ โลภะ โมหะ และ ราคะ ความทะยานอยากทั้งผอง ซึ่งแม้เราตัดไม่ออกหมด แต่กิเลสสงฆ์ถึงอย่างไรก็ต้องบางเบากว่าปุถุชนฆราวาส เราก็จึงต้องบำเพ็ญแนวทางตามความรู้ของพระธรรมให้เขาเห็น เช่น เรามุ่งมาเป็นนักเสียสละ เราก็ต้องเสียสละทุกสิ่ง เท่าที่จะพึงกระทำได้ หากเราไม่ประพฤติกระทำ คำว่าสงฆ์ หรืออริยสงฆ์ก็จะหมดความหมายลงทุกวัน... แต่นี่ก็มิจำเป็นต้องเป็นความคิดที่ถูกเสมอไป การกระทำตามระเบียบที่มีวางไว้เป็นปทัสถานนั้นเป็นไม่ผิด แต่การที่อาตมาไม่นิยมมีสมณะศักดิ์ประดับกาย ก็เป็นเอกสิทธิ์และความพอใจตามอัตภาพของอาตมา ไม่มีอะไรเป็นผิดดอก"

ความเป็นผู้ถือสันโดษ ถือความสงบทางโลกเป็นสรณะยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อจง ท่านแสดงแน่วแน่มั่นคงไม่มีบิดเบือนทำบ้างไม่ทำบ้าง ท่านกระทำเป็นอาจิณ ในถุงย่ามของท่านนอกจากมีเหล็กจาน สำหรับประกอบกิจกรรมสุดแต่จะมีผู้นมัสการในด้านวิทยาคมแล้ว ก็ช้อนซ้อมสำหรับตักอาหารฉัน นอกนั้นไม่มีแม้แต่หมากยา ไฟขีด ยานัตถุ์ หมากพลูบุหรี่ เพราะท่านไม่เสพย์ติดมัน และไม่ต้องการมัน โรคภัยเจ็บป่วยนั้นก็ไม่มี ซึ่งท่านเคยกล่าวว่า ถ้ามีก็ต้องรู้อาการล่วงหน้า มีโรครักษาเองไม่ได้ ต้องหาหมอ เพราะยังงั้นหยูกยาในย่ามไม่ต้องเตรียมไป แต่เผอิญมีผู้ใจบุญเขาบริจาคถวายข้าวของเงินทองมีราคาติดมา หากใครเกิดโชคดีรู้วี่แววและอาราธนาขอ หลวงพ่อจงจะรีบหยิบยื่นให้ด้วยความยิ้มแย้ม โดยไม่ถามไถ่ว่าเป็นใครมาจากไหน จะเอาไปทำไม เหตุไฉนต้องมาขอของมีราคาอย่างนี้ไปจากท่าน

รูปภาพ

ปัจฉิมกาล

เมื่ออรุณทอแสงจับขอบฟ้าวันที่ 24 มกราคม 2508 ทุกคนผู้เป็นศิษย์ใครบ้างจะรู้ว่า วันนี้แล้วสัญญาณแห่งความวิปโยคจะเริ่มขึ้น ตอนสายมีข่าวว่าหลวงพ่ออาพาธด้วยโรคอัมพาตหมดความรู้สึกทางซีกขวาไปแถบหนึ่ง ได้แพร่สะพัดไปสู่บรรดาศิษย์ทั้งหลายและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วปานกระแสลมกล้า ตอนสายวันนั้นที่กุฎีหลวงพ่อคลาคล่ำไปด้วยผู้มาเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงพ่อ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตสาเหตุของการอาพาธครั้งนี้มีอยู่ว่า

เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เช้าวันที่ 24 มกราคม หลวงพ่อเข้าสุขาตามเวลาปกติ ขณะเสร็จกิจแล้วท่านลุกขึ้นมากุฎีไม่ได้ เพราะซีกกายข้างขวาของท่านหมดความรู้สึก นายขัน และพระเพ็ง ขนติโก ผู้ปฏิบัติหลวงพ่อเห็นว่า ท่านสุขานานเกินควร จึงตามเข้าไปเปิดประตูสุขาพบว่าหลวงพ่อกำลังพยายามจะทรงกายลุกขึ้น จึงช่วยพยุงท่านมายังเตียงนอน สังเกตเห็นว่าปากข้างขวาของท่านเบี้ยวผิดปกติ ได้ยินเสียงหลวงพ่ออุทานว่า

"เขาเอาเราแน่ละคราวนี้ เขายึดเราหมดแล้ว"

เสมือนหนึ่งหลวงพ่อทราบว่า กายนครของท่านจะต้องประสบภาวะขั้นสุดยอดของกฏธรรมดาในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจฉิมอุทานของหลวงพ่อคราวนี้ ทำให้ทุกคนใจหายวาบหนักใจในอาพาธของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ไหนแต่ไรมาหลวงพ่อไม่เคยอุทานเช่นนี้เลย ทุกคนซ่อนความทุกข์ใจไว้ภายใน เฝ้าปรนนิบัติพยาบาลท่านเป็นอย่างดี ระยะ 7 วันแรก หลวงพ่อพูดได้เกือบปกติ ฟังชัด เมื่อล่วง 7 วันแล้วเสียงของท่านเริ่มน้อยลง แหบเครือลงโดยลำดับ เพราะความชราแห่งสังขารอันเก่าแก่ยาวนานถึง 99 ปี ประกอบกับฉันอาหารได้น้อยด้วย

ต่อมาคณะศิษย์มีหลวงพ่อนิลเป็นประธาน ได้พร้อมใจกันมอบให้นายแพทย์สถานีอนามัยชั้นหนึ่งวัดโพธิ อำเภอบางบาล ร่วมด้วย นายประทิน อัมพานนท์ สถานีอนามัยพระขาว เป็นผู้ถวายการรักษาท่าน ในระยะนี้อาการของท่านทรงอยู่และดีขึ้นเล็กน้อย ด้วยความเอาใจใส่และความสามารถของแพทย์ ทุกคนภาวนาว่าแม้หลวงพ่อจะไม่หายขาดก็ขอให้พอทุเลาพอนั่งได้ก็ยังดี เพราะโรคนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่า เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยาก

วันแล้ววันเล่าผ่านไป อาการของหลวงพ่อเริ่มทรุดลง พูดไม่ได้ยินเสียง หายใจไม่สะดวก มีเสมหะมาก สังเกตว่าหลวงพ่อมีทุกขเวทนาอย่างหนัก แต่เสียงครวญครางอย่างสามัญชนมิได้มีรอดจากปากให้ใครได้ยินเลย เมื่อท่านเจ็บปวดก็เป็นเพียงแสดงอาการส่ายหน้าไปมาให้เป็นที่สังเกตว่าท่านไม่สบายเท่านั้น หลวงพ่อมีใจแท้อยู่เหนือเวทนาทั้งปวง ไม่หวั่นไหว ใช้อธิวาสขันตีที่ท่านมีอยู่เป็นปกตินิสัย ข่มความทุกข์ทรมานอันเกิดจากอาพาธกล้าได้อย่างน่าสรรเสริญยิ่ง

หลวงพ่อใช้ธรรมโอสถรักษาใจของท่านเองให้มั่นคงแจ่มใส ในยามที่ร่างกายเจ็บไข้ ได้นิมนต์พระมหาแสวง ฐิติสมฺปนฺโน ป.ธ. 5 วัดสันติการาม มาสวดสาธยาย ทวัตติงสาการ โพชฌงคปริตร อุณหิสวิชัย คาถาพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ อยู่เป็นนิจ แสดงว่า อาพาธนั้นจะชนะท่านได้ก็เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ภายในอาพาธจะกล้ำกลายท่านไม่ได้เลย

ระยะที่หลวงพ่ออาพาธหนัก บรรดาศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือทั้งใกล้และไกลไปมาเยี่ยมเยือน สดับตรับฟังอาการอยู่ทุกวันอย่างแน่นขนัดทุกคนมีใจตรงกันอยู่จุดเดียว คือ สนองพระคุณหลวงพ่อให้สมกับที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นบุรพการีแก่ทุกคนมานานแสนนาน บางท่านแนะนำให้นำพาหลวงพ่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์บ้าง โรงพยาบาลอื่น ๆ บ้าง บรรดาศิษย์ขอขอบพระคุณในความปรารถนาดีของท่านเหล่านั้น แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า หลวงพ่อชราภาพมากแล้วและอาการอาพาธก็หนัก ถ้าพาท่านเดินทางไปอาจเป็นการกระทบกระเทือนบอบช้ำ จนเป็นเหตุให้ท่านถึงมรณภาพเสียกลางทางก็อาจเป็นได้ จึงตกลงกันว่าขอให้หลวงพ่อได้หลับตาจากไปในท่ามกลางการสนองพระคุณของญาติและศิษย์ บนสยนาสนะที่หลวงพ่อเคยอาศัย ในท่ามกลางสถานวิเวกอันน่าอภิรมย์ด้วยดวงจิตอันสงบเถิด

แล้ววาระแห่งความโศกสลดก็มาถึง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2508 ค่ำลงแล้ว ดวงจันทร์ใกล้วันมาฆะปุรณมีทอแสงจ้าแจ่มใส คล้ายเป็นประทีปส่องทางให้ท่านได้เดินทางไกลไปสู่สุคติภพอันสงบ ตอนหัวค่ำดูเหมือนหลวงพ่อจะมีอาการทุเลากว่าเวลาอื่นที่ผ่านมา ไม่มีวี่แววว่าอาการจะทรุดหนักลงเลย บรรดาผู้ที่นั่งเฝ้าอาการอยู่ดูอุ่นใจขึ้น ถวายยาประจำตามปกติแล้ว ก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้าประคองท่าน พัดวีถวายเท่าที่สามารถจะทำได้ แม้ว่าหลวงพ่อจะผ่ายผอมจนผิดตา แต่ก็มีรัศมีอิ่มเอิบใบหน้ายิ้มแย้ม แสดงถึงความเมตตาอยู่เป็นนิจ

เวลาล่วงไป เสียงนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืน พระจันทร์โคจรขึ้นสู่วันใหม่ ดิถีแห่งวันมาฆปุรณมี วันจาตุรงคสันนิบาตแห่งพระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นแล้ว หลวงพ่อหลับตานิ่งสนิท นาน ๆ จึงจะหายใจยาวสักครั้งเงียบสงัด ทุกคนเฝ้าอาการอยู่ด้วยหัวใจอันหดหู่ แสนห่วง ไม่มีใครปริปากหนึ่งนาฬิกาผ่านไป หลวงพ่อสงบไม่ไหวติง จับชีพจรดูยังเต้นอยู่แต่ช้าและลึกลงทุกขณะ เมื่อเข็มนาฬิกาบอกเวลา 01.55 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2508 หลวงพ่อก็จากพวกเราไปด้วยอาการอันสงบ ปราศจากอาการกระวนกระวายโดยสิ้นเชิง ท่ามกลางความโศกเศร้าอาดูร พิลาปรำพันของญาติและศิษย์ทั้งหลาย สิริประมวลอายุได้ 93 ปี 10 เดือน กับ 17 วัน ครองสมณเพศมาโดยตลอด 72 พรรษา นับแต่เริ่มอาพาธมาจนถึงวาระสุดท้ายรวม 24 วัน

หลวงพ่อถึงมรณภาพในวันมาฆะปุรณมี มาฆฤกษ์ วันจาตุรงคสันนิบาตแห่งพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ว่า หลวงพ่อจากไปดีแล้ว ไปประเสริฐแล้ว ขอให้ดวงวิญญาณอันเปี่ยมไปด้วยความดีงาม สงบบริสุทธิ์ด้วยสีลาทิคุณในพระพุทธศาสนายาวนานถึง 72 พรรษาของหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงสุด จงไปสู่สัคคาลัย ได้สถิติอยู่ด้วยปรมสันติสุขในวิสุทธิวิมานเถิด

:b44: :b44:


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk-main-page.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร