วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 20:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ


วัดสนามใน
ต.วังชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี



กำเนิด

หลวงพ่อเกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2454 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน บิดาของท่านชื่อ จีน มารดาของท่านชื่อ โสม นามสกุล อินทผิว

หลวงพ่อมีนามจริงว่า พันธ์ อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนามหลวงพ่อเทียน ก็เนื่องจากท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อของลูกคนหัวปี บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อ เทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่า พ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อ หอม ก็ได้รับการเรียกขานว่า แม่เทียน เช่นเดียวกัน

ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน คนแรกเป็นชายชื่อ สาย คนที่สองเป็นชายชื่อ ปุ้ย คนที่สามเป็นชายชื่อ อุ้น คนที่สี่เป็นหญิงชื่อ หวัน พิมพ์สอน ท่านเองเป็นคนที่ห้า และคนที่หกเป็นชายชื่อ ผัน พี่น้องของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่คือ พี่สาวคนเดียวของท่านชื่อ หวัน พิมพ์สอน หรือป้าหนอม พี่น้องคนอื่นๆ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสิ้น


ปฐมวัย

หลวงพ่อมีชีวิตในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญทั่วไป ตื่นเช้าท่านก็ออกไปช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนวัวควายกลับบ้าน ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียน เนื่องจากในท้องถิ่นของท่านยังไม่มีโรงเรียน ถ้าจะเรียนก็ต้องเดินทางไปเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่า ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก หลวงพ่อจึงไม่สามารถจะเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ไกลจากบ้านท่านได้ ท่านเล่าว่าในท้องถิ่นของท่านไม่มีความเจริญทางวัตถุแต่อย่างใด รถไฟ รถยนต์ เครื่องบินหรือแม้แต่จักรยานท่านก็ยังไม่เคยเห็น สำหรับเครื่องบินนั้นแม้แต่ชื่อก็ยังไม่เคยได้ยิน

รูปภาพ
บริเวณที่หลวงพ่อเคยเดินจงกรมกับหลวงน้า
สมัยที่บวชเป็นสามเณรที่วัดภู หรือวัดบรรพตคีรี


บรรพชาเป็นสามเณร

เมื่อหลวงพ่ออายุได้ราว 10 ขวบ หลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่าน ให้ท่านบวชเป็นเณรคอยรับใช้หลวงน้า เรียกว่า เณรใช้ หลวงน้าของท่านชื่อ ยาคูผอง นามสกุล จันทร์สุข อุปสมบทเมื่ออายุยังน้อยและครองเพศบรรพชิตมาโดยตลอด หลวงพ่อเล่าว่าทางบ้านเกิดของท่านมีประเพณีรดน้ำพระภิกษุที่บวชมานาน รดครั้งแรกเรียกสมเด็จ รดครั้งที่สองเรียกซา รดครั้งที่สามเรียก ยาคู และในพิธีรดน้ำครั้งต่อๆ ไปก็เรียกยาคูทั้งสิ้น

ก่อนที่หลวงพ่อจะบรรพชาเป็นสามเณรนั้น หลวงพ่อไปวัดหลวงน้าอยู่เป็นประจำทุกเช้า-เย็น วัดที่หลวงน้าจำพรรษาอยู่นั้นชื่อ วัดภูหรือวัดบรรพตคีรี อยู่ไม่ห่างจากบ้านหลวงพ่อ ตอนเช้าหลวงพ่อต้องนำอาหารและดอกไม้ไปกราบหลวงน้าแล้วจึงไปนา ตอนเย็นหลังจากตักน้ำที่คลองน้ำแล้วท่านก็จะไปวัด

ขณะที่บวชเป็นเณรอยู่กับหลวงน้า หลวงน้าสอนหลวงพ่อให้ท่องนะโม ตัสสะ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น อาราธนาศีล อาราธนาธรรม ดูฤกษ์ยาม ทำกรรมฐาน เดินจงกรม หลวงพ่อได้เรียนตัวลาวหรือตัวไทยน้อย และอักษรธรรมซึ่งเขียนบนใบลานกับหลวงน้า สำหรับการเรียนการสอนนี้เป็นแบบปากเปล่า ไม่มีการเขียน ใช้วิธีจดจำ เวลากลางคืนหลังจากเลิกเรียนหนังสือแล้ว หลวงน้าจะพาหลวงพ่อเดินจงกรม หลวงน้าเป็นพระที่ขยันปฏิบัติ บางครั้งท่านก็ลุกขึ้นเดินจงกรมในเวลาดึก ทางเดินจงกรมของหลวงน้ายาวราว 20 วา หลวงพ่อเดินห่างจากหลวงน้า 4-5 วา

สำหรับการฝึกกรรมฐานนั้น หลวงน้าให้หลวงพ่อนั่งขัดสมาธิเพชรหลับตาแล้วภาวนา หายใจเข้าให้ว่า “พุท” หายใจออกให้ว่า “โธ” ในเวลานั้นหลวงน้ามีเพื่อนพระภิกษุที่สอนกรรมฐานอยู่หลายรูป หลวงพ่อจำได้ว่าเพื่อนหลวงน้ารูปหนึ่งที่สอนกรรมฐานให้หลวงพ่อชื่อ อาจารย์เสา เมื่ออาจารย์เสาเห็นหลวงพ่อภาวนา “พุทโธ” ท่านให้ความเห็นว่า เวลาขึ้นต้นไม้จะขึ้นปลายที่เดียวไม่ได้ ต้องขึ้นตั้งแต่ต้นๆ ท่านให้นับหนึ่ง สอง สาม หายใจเข้าให้ภาวนาว่า หนึ่ง หายใจออกให้ภาวนาว่า สอง เรื่อยไปจนถึงสิบ เมื่อถึงสิบให้นับย้อนหลังลงมาถึงหนึ่ง แล้วตั้งต้นจากหนึ่งถึงสิบ ทำเช่นนี้เรื่อยไป อาจารย์เสาท่านบอกว่า การภาวนาเช่นนี้ทำให้เกิดความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าถูกของมีคมบาดเป็นแผล ให้ภาวนาตามวิธีการดังกล่าวแล้วเป่าที่แผล เลือดจะหยุดทันที เมื่อไปนอนตามป่าตามดง มีเสือ มีผี ให้เสกก้อนหินด้วยการภาวนาดังกล่าว แล้วเอาก้อนกรวดก้อนหินวางเรียงรายไว้รอบตัว จะนอนได้อย่างปลอดภัย เสือและผีจะกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้

หลวงพ่อเล่าว่า หลวงน้าได้สอนการเพ่งกสิณให้ท่าน โดยให้ใช้เท้าขีดวงกลมให้ห่างจากสายตาราว 1 เมตร เพ่งกสิณลงไปให้เห็นเป็นแสง เวลาเช้าให้จ้องดวงอาทิตย์โดยไม่กะพริบตา จนกระทั่งสายตาสู้แสงพระอาทิตย์ได้ หลวงน้าบอกท่านว่าถ้าทำได้จะเป็นฤษีตาไฟ ถ้าจ้องมองไปที่ใครคนนั้นจะล้มทันที หรือจะทำให้เป็นไฟไหม้ก็ยังได้ นอกจากนี้หลวงน้ายังมีคาถาย่อแผ่นดิน ซึ่งหลวงพ่อเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลวงน้าของท่านรูปร่างสูงและผิวขาวเหมือนฝรั่ง เวลาติดตามหลวงน้าไปไหน หลวงน้าเดินแต่หลวงพ่อต้องวิ่ง หลวงพ่อจึงมาคิดได้ในภายหลังว่า ที่หลวงน้าบอกว่ามีคาถาย่อแผ่นดินให้หดเข้านั้นเป็นอย่างนี้เอง เวลาเดินหลวงน้าท่านขายาว ท่านก็ก้าวเพียงก้าวเดียว ในขณะที่หลวงพ่อต้องก้าวถึงสามก้าวจึงจะเดินทันท่าน

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้ติดตามหลวงน้าไปอยู่ที่เมืองลาว แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็กเมื่อใครพูดถึงบ้าน ท่านก็ร้องไห้คิดถึงบ้าน ในที่สุดก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดของท่าน

หลวงพ่อบวชเป็นสามเณรอยู่กับหลวงน้าเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ได้เรียนมนต์คาถาจากหลวงน้าพอสมควร เนื่องจากขณะที่หลวงน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ที่อุบลฯ ท่านได้เรียนเวทมนต์คาถาอาคมของเขมรด้วย เช่น คาถาไส้หนังบังควัน วัวธนูดูหน้าน้อย ซึ่งเป็นอาคมไล่ผี เมื่อหลวงพ่อลาสิกขาแล้ว ท่านยังรู้สึกเสียดายช่วงเวลาที่บวชอยู่กับหลวงน้า ด้วยในขณะนั้นท่านอยากมีความรู้ทางไสยศาสตร์ อยากมีหูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ หายตัวได้ ย่อแผ่นดินได้ มีคาถาอาคม ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก เหมือนกับหลวงน้า ในสมัยนั้นในท้องถิ่นที่หลวงพ่ออาศัยอยู่ยังมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจกันอยู่มาก ลูกผู้ชายต้องมีเวทมนต์ไว้รักษาตัวเอง และคุ้มครองรักษาคนในครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้อง หลวงน้าจึงได้เมตตาอบรมสั่งสอนหลวงพ่ออย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เมื่อสึกออกมาเป็นผู้ครองเรือน


อุปสมบทครั้งแรก

เมื่ออายุครบบวช หลวงพ่อก็ได้มาบวชอยู่กับหลวงน้าอีกครั้งหนึ่ง โดยมี พระครูวิชิตธรรมาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคาน ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้ฝึกวิชาต่างๆ กับหลวงน้าต่อไปเช่นเดิม คือฝึกกรรมฐาน และเรียนเวทมนต์คาถาต่างๆ ท่านเล่าว่าไม่มีวิชาอะไรเพิ่มขึ้น แต่ทำที่สอนไว้ให้เจริญขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเดินธุดงค์ซึ่งเป็นการทำตามประเพณี ยังไม่เข้าใจว่าธุดงค์หมายถึงอะไร การธุดงค์ที่หลวงพ่อทำในขณะนั้น คือ ไปอยู่ตามป่าช้า ตามสวน ใกล้ๆ บ้านคน หรือตามกระต๊อบปลายนา ไม่ห่างจากบ้านคนมากนัก เพื่อให้ออกบิณฑบาตได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป


ครองเรือน

หลวงพ่อบวชเป็นพระอยู่ได้ 6 เดือน จึงลาสิกขา มารดาของท่านได้จัดการให้ท่านมีครอบครัวเมื่ออายุราว 21 หรือ 22 ปี ภรรยาของท่านชื่อ หอม เป็นญาติกับท่าน มารดาของภรรยาท่านเป็นน้องของบิดาของท่าน ซึ่งท่านเรียกว่าแม่อา ทั้งท่านและภรรยาต่างก็เป็นกำพร้าบิดามาตั้งแต่เด็ก

ท่านอยู่กับภรรยามานานยังไม่มีบุตร จึงได้นำบุตรของพี่สาวภรรยาท่านซึ่งแยกทางกับพี่เขยมาเลี้ยง ต่อมาท่านจึงมีบุตรชาย 3 คน ชื่อ เนียม เทียน และเหียม เมื่อมีบุตรคนแรกชื่อ เนียม ใครๆ จึงเรียกท่านว่า พ่อเนียม ตามประเพณีนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นที่เรียกร้องกันตามชื่อลูกคนหัวปี ต่อมาบุตรคนแรกของหลวงพ่อที่ชื่อเนียมถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้เพียง 5 ปี ท่านจึงได้รับการเรียกขานตามชื่อลูกคนที่สองตราบเท่าทุกวันนี้ บุตรคนที่สองของหลวงพ่อถึงแก่กรรมลงก่อนที่ท่านจะมรณภาพราว 2 ปีเศษ


เวทย์มนต์คาถา

หลวงพ่อเล่าว่า ช่วงระยะที่หลวงพ่อครองเพศฆราวาสอยู่นั้น ท่านได้ใช้เวทย์มนต์คาถาที่ร่ำเรียนมาจากหลวงน้าอยู่เนืองๆ สมัยนั้นยังเชื่อเรื่องผีสางกันอยู่มาก บางครั้งเพื่อนบ้านก็มาขอให้ท่านไปเป็นหมอมนต์ไล่ผีให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย สำหรับในครอบครัวท่านก็เป็นผู้คุ้มครองคนในบ้าน และญาติพี่น้องที่เข้ามาให้คุ้มครอง ซึ่งเรียกว่ามาเข้าของรักษา หลวงพ่อเล่าว่า ในขณะนั้นท่านก็ยังพอใจคาถาอาคม เวทย์มนต์ต่างๆ อยู่ อยากมีฤทธิ์เดช อิทธิปาฏิหาริย์ หายตัว ดำดิน มุดน้ำ เหาะได้เหมือนนก ทั้งนี้เนื่องจากท่านได้รับอิทธิพลจากนิทานใบลานหลายเรื่อง อาทิเช่น การะเกด สินชัย สุริวงศ์ แตงอ่อน ลิ้นทอง เป็นต้น

ท่านได้พยายามแสวงหาวิชาอาคมเรื่อยมา เมื่อเรียนกับหลวงน้าจนหมดสิ้นแล้ว ท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ ต่อไป หลังจากหลวงน้ามรณภาพแล้ว ท่านได้ข่าวว่ามีอาจารย์ที่เก่งกว่าหลวงน้าอยู่ที่เมืองลาว ชื่อยาคูบุญมา ดอนพุง ยาคูท่านนี้เลี้ยงนกยูงไว้ ท่านทำปลอกใส่ขานกยูงแล้วปล่อยไป ฝรั่งเอาปืนมายิงก็ยังยิงไม่ออก หลวงพ่อจึงไปอยู่กับยาคูบุญมาพรรษาหนึ่ง

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านได้ความรู้หรือจะเรียกว่าความโง่จากยาคูบุญมาหลายเรื่อง อันได้แก่ เวทย์มนต์คาถาอยู่ยงคงกะพันต่างๆ ที่ท่านจำได้คือ “โอม ธุลีๆ นอกมีแผ่นทองกั้นพร้า หน้าผากกูแกร่งปานหิน ตีนกูแกร่งปานเหล็ก ขนแข้งกูเท่าหนามคา ขนขากูเท่าขนเม่น กูจักเต้นไปร้อยโยชน์พันวา พญามนต์ทั้งหลายจงมาบัง มากั้นตนกู”

เมื่อหลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมะจนรู้ธรรมะแล้ว หลวงพ่อจึงเข้าใจว่า คอหลวงพ่อไม่มีแผ่นเหล็กแผ่นทอง หน้าผากหลวงพ่อชนโน่นชนนี้ก็ต้องแตก เท้าหลวงพ่อก็ไม่ได้แข็งเหมือนเหล็ก ถ้าเดินไปตามถนนหนทาง เหยียบขวดเหยียบแก้วก็ต้องบาด เหยียบหนามก็ต้องตำ

ท่านว่า คนโง่สอนคนฉลาดไม่ได้ คนฉลาดสอนคนฉลาดหรือสอนคนโง่ให้ฉลาดได้


อุปนิสัยในเรื่องการทำบุญู

หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อเป็นนักแสวงบุญตั้งแต่อายุยังน้อย และได้เป็นผู้นำชาวบ้านทำบุญเสมอมา ในขณะนั้นท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านมีคนเคารพนับถืออยู่มาก ท่านเองอายุอยู่ในราว 27-28 ปี ท่านได้ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในการทำบุญ แม้แต่ผู้ที่ได้ทำกรรมหนักถึงขั้นอนันตริยกรรม ท่านก็ได้หาโอกาสให้ได้ร่วมทำบุญด้วย

ท่านเล่าว่าการทำบุญที่บ้านของท่านมีหลายวิธี เช่น มีการแจกข้าวตอนพระจำพรรษา ถึงวันพระชาวบ้านจะนิมนต์พระไปแสดงธรรมที่บ้าน ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญที่บ้านนั้น มีการตัดใบตองห่อข้าวต้มมัดทำขนมมาแจกกันกิน คนหนุ่มคนสาวมีหน้าที่ทำขนมจีนแจกกันไปกินที่บ้าน มีการจีบหมากจีบพลู มวนบุหรี่ถวายพระ ซึ่งหลวงพ่อได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านทำไปเพราะท่านยังไม่รู้ หลังจากปฏิบัติธรรมแล้วท่านจึงเข้าใจว่าการถวายหมากพลูบุหรี่แก่พระ ไม่ใช่เรื่องทำบุญ เป็นเรื่องพอกพูนความชั่วให้พระมีความผิด เรียกว่าเอากิเลสไปให้พระ เราอยากละกิเลส แต่เราไม่รู้จักกิเลส เรานึกว่าทำดี การทำดีนี้ หลวงพ่อพูดว่าคนอื่นว่าดี แต่เราเห็นว่ามันไม่ดี ไม่ต้องทำ คนอื่นว่าผิด แต่เราเห็นว่าดี เราต้องทำ หลวงพ่อจึงเลิกถวายหมากพลูบุหรี่พระสงฆ์ พร้อมทั้งห้ามคนในครอบครัวของท่านถวายสิ่งของดังกล่าวแก่พระสงฆ์ด้วย สำหรับครอบครัวคนอื่นนั้นหลวงพ่อไม่ได้ห้าม และท่านมิได้สนใจว่าคนอื่นจะเห็นชอบ หรือติฉินแต่อย่างใด

ในช่วงระยะเข้าพรรษา คนเฒ่าคนแก่ต้องไปจำศีลที่วัด ในวันพระคนหนุ่มคนสาวบางคนก็ไป บางคนก็ไม่ไป ขึ้นอยู่กับศรัทธา ท่านเล่าว่าท่านเองชอบไปวัดเพราะหลวงน้าสอนไว้เดือนสิบเอ็ด หลังออกพรรษาแล้ว มีการทอดกฐิน ชาวบ้านเริ่มทำกองกฐินกันตั้งแต่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 บ้านไหนจะไปทอดกฐินต้องไปปักหมายไว้ที่วัด เรียกว่าไปจอง วัดที่จะรับกฐินได้ต้องมีโบสถ์ ถ้าไม่มีโบสถ์ต้องทำโบสถ์จำลองขึ้นกลางน้ำเรียกว่า สีมน้ำ (สิม : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าโบสถ์)

นอกจากทำบุญกองกฐินแล้วก็มีทำบุญประจำปี คือทำบุญบั้งไฟในเดือน 5 หรือเดือน 6 หลายบ้านมาร่วมกันทำบุญ เรียกว่าใช้ฎีกา ไปฎีกาเก้าบ้าน สิบบ้าน ยี่สิบบ้าน สามสิบบ้าน ปลุกถามรอบวัด มีทั้งคนหนุ่มคนสาวคนแก่คนเฒ่า ทุกบ้านไปรวมกัน นิมนต์พระมาเทศน์ ซึ่งหลวงพ่อเล่าว่าการเทศน์ดังกล่าวเป็นการอ่านจากใบลานเท่านั้น คนหนุ่มคนสาวเล่นหมอลำกันเป็นที่สนุกสนาน ผู้ชายถามปัญหา ผู้หญิงต้องตอบ ใครตอบไม่ได้ก็แพ้ การร้องหมอลำนี้ใช้แคนเป็นดนตรีประกอบ

บุญประจำปีเช่นนี้ต้องมีทุกหมู่บ้าน ตั้งแต่เดือน 5 เดือน 6 จนถึงเดือน 7 เดือน 8 จวนจะเข้าพรรษาจึงหยุด ที่เรียกว่าบั้งไฟนั้นเขาก็จุดเหมือนจรวดขึ้นไป เวลาจุดเสียงดังเหมือนเสียงเครื่องบิน บั้งไฟที่ใช้จุดทำขึ้นขนาดต่างๆ กัน เรียกว่า บั้งไฟมะกอก บั้งไฟห่อหมก บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน เมื่อหลวงพ่อรู้ธรรมะแล้ว ท่านจึงให้เลิกการจุดบั้งไฟนี้ทั้งหมด เพราะหากยิงขึ้นไป แล้วตกใส่บ้านเรือนก็อาจเป็นอันตรายกับชีวิตหรือทรัพย์สินได้ ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองอีกด้วย นอกจากนี้ก็มีการทำบุญมหาชาติ การเทศน์มหาชาตินี้ต้องเทศน์ให้จบภายในวันเดียว ถ้าไม่จบ ถือว่าได้บุญไม่มาก

หลวงพ่อได้เล่าถึงการทำบุญอีกแบบหนึ่งคือการทำบุญสังฮอม (สำรวม) ธาตุ ซึ่งถือกันว่าหากทำไม่ถูกไฟจะไหม้บ้าน หลวงพ่อไปทำบุญสังฮอมธาตุที่วัดภู ซึ่งเป็นวัดที่หลวงน้าของท่านเคยจำพรรษาอยู่ ปัจจุบันมีเชื่อว่าวัดบรรพตคีรี ของที่ถวายพระในการทำบุญนี้ ได้แก่ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ผ้าไตร มีเทศน์ไม่ยาวนัก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เทศน์จากหนังสือใบลาน 4 ผูก พระที่นิมนต์มาเทศน์ต้องเป็นพระที่เทศน์เก่ง


อาชีพ

หลังจากลาสิกขาบทแล้วหลวงพ่อได้ยึดอาชีพทำนา ทำสวน และค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหลวงพ่อได้เริ่มทำมาตั้งแต่สึกจากสามเณรแล้ว ต่อมาหลวงพ่อจึงมีเรือกระแชง 7 ลำ ค้าขายขึ้นล่องระหว่างหนองคายและเชียงคาน การค้าขายได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อเล่าว่าบิดาของท่านชำนาญในการเดินเรือค้าขาย แต่ก็ได้เสียชีวิตลงตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก

ภายหลังมีการตั้งกรมเกษตรขึ้น และมีการสั่งห้ามขนย้ายสินค้าเกษตรกรรมบางชนิด หลวงพ่อจึงได้ไปค้าขายอยู่ที่เมืองลาว แต่ครอบครัวของท่านยังคงอยู่ในเมืองไทย ท่านได้ทำการค้าฝ้ายมีกำไรงดงาม ได้ขายเรือกระแชงและซื้อเรือกลไฟ ทำการค้าขึ้นล่องตามลำแม่น้ำโขง หลวงพ่อเล่าว่า แม้ท่านจะประสบความสำเร็จในการค้าขายเป็นอย่างดี แต่ท่านก็ไม่มีความสุข แม้เวลาจะนอนก็มีแต่ทุกข์ คิดถึงแต่เรื่องเงินทอง และสินค้าที่จะซื้อจะขาย


เหตุที่ท่านออกแสวงหาสัจธรรม

หลวงพ่อเล่าว่าก่อนที่ท่านจะออกมาปฏิบัติธรรมจนได้รู้ธรรมะตามวิธีของท่าน นั้น ท่านได้ทำกรรมฐานมาพอสมควร แต่กรรมฐานก็ไม่อาจช่วยให้หลวงพ่อหมดทุกข์ได้ ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะออกมาปฏิบัติธรรมนั้นท่านมีความทุกข์อย่างไร

หลวงพ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้ท่านนำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในครั้งนั้นมีการทำกฐินถึง 5 กอง เนื่องจากมีหลายบ้านขอร่วมไปทอดด้วย และในการทำกองกฐินจะต้องมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาไว้แล้วว่า การใช้จ่ายต่างๆ และการจัดหาอาหารให้แขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล
ครั้นเวลาเช้า ภรรยาของท่านมาถามท่านว่า จะต้องจ่ายเงินค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าว่า “มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ มิได้แสดงให้ภรรยาของท่านทราบ กลับตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน แต่ความโกรธนั้นยังอยู่ในใจของท่าน
หลังจากนำกฐินไปถวายที่ฝั่งลาว และกลับมารับประทานข้าวมื้อเย็นพร้อมกับภรรยาและบุตรทั้งสอง

ท่านได้กล่าวเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ”

ท่านกล่าวซ้ำหลายครั้งจนภรรยาของท่านรู้สึกสะดุดใจ เมื่อภรรยาของท่านพาบุตรทั้งสองไปนอนแล้ว จึงมาถามว่า ท่านโกรธที่ถามเรื่องค่าหมอลำใช่หรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าใช่ ภรรยาของท่านจึงพูดว่า สามีภรรยาถามกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยถือว่าผิดด้วยหรือ

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเห็นด้วยกับคำพูดของภรรยา ท่านรู้ว่าท่านผิด มีมานะทิฐิอยากจะเอาชนะ

ภรรยาของท่านพูดว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ โอ ! ข้อยบ่รู้จักเจ้าไม่พอใจ ก็นั่งหน้าตาดีอยู่นี่นะ โอ ! เจ้าตกนรกแล้ว”

หลวงพ่อท่านเห็นจริงตามคำพูดของภรรยาท่าน คำพูดนี้กระทบใจท่านมาก จนท่านถือว่าภริยาของท่านเป็นครูท่าน มีบุญคุณต่อท่านที่สุด

แต่ก่อนท่านไม่เข้าใจว่า ความโกรธนี้เป็นความทุกข์ หนักเหมือนตกนรก ภรรยาของท่านเองก็ไม่เข้าใจแต่พูดไปตามอารมณ์ “เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า”

หลวงพ่อท่านเล่าว่าท่านเองก็เข้าใจว่า ท่านคงจะไม่ได้บุญเพราะท่านหนักใจอยู่ทั้งวัน เมื่อภรรยาท่านพูดว่าท่านเช่นนี้ ทำให้ท่านสบายใจขึ้น ออกจากความคิดแบบนั้นได้ แต่ยังไม่รู้จักวิธีที่จะออกจากความคิด ท่านคิดในใจว่า หากท่านยังเอาชนะความทุกข์แบบนี้ไม่ได้ ก็จะไม่เลิกละในการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นเวลาหลายปี ท่านพยายามทำการซื้อขายให้น้อยลง ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าจะไม่ทำมาหากินอีกต่อไป ท่านจึงได้สะสางบัญชีและเงินที่ตกค้างอยู่กับผู้ที่ค้าขายอยู่กับท่านให้ เป็นที่เรียบร้อย

หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อท่านจะทำอะไร ท่านต้องคิดเตรียมไว้นานๆ ไม่ใช่ปุบปับทำ กว่าท่านจะจัดการเรื่องเงินทองต่างๆ เรียบร้อยก็เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

ในคราวที่หลวงพ่อกลับจากปากลายหรือล้านช้าง ซึ่งเป็นระยะที่หลวงพ่อจะเลิกทำการค้าขายแล้วนั้น หลวงพ่อได้มาพบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระอยู่ ชื่อพระมหาศรีจันทร์ ได้เปรียญ 5 ประโยค อายุอ่อนกว่าหลวงพ่อราว 2-3 ปี พระมหาศรีจันทร์ได้เคยเดินทางขึ้นล่องระหว่างเชียงคานและหนองคาย กับเรือกลไฟของหลวงพ่อ และได้ธุดงค์ไปตามถ้ำ ตามป่าช้า ท่านอยู่ที่ตำบลพันพร้าว ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน หลวงพ่อได้เคยอุปัฏฐาก ถวายจังหันถวายเพลแก่ท่าน เมื่อท่านเดินทางขึ้นล่องไปกับเรือกลไฟของหลวงพ่อ

เมื่อได้พบกันที่หนองคายครั้งหลังนี้ หลวงพ่อได้คุยกับพระมหาศรีจันทร์เรื่องการทำกรรมฐาน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า หลวงพ่อได้ถามปัญหาพระมหาศรีจันทร์หลายเรื่อง ในที่สุดพระมหาศรีจันทร์ท่านก็บอกหลวงพ่อว่า เรื่องวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจะถามไปเท่าไรก็ไม่มีวันจบสิ้น ผู้ใดอยากรู้ต้องลงมือปฏิบัติเอง

หลวงพ่อท่านได้ครุ่นคิดเรื่องการปฏิบัติที่พระมหาศรีจันทร์กล่าวกับท่านอยู่ เป็นเวลากว่า 3 ปี เวลานั้นท่านยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ยังคงแสวงหาอาจารย์ต่อไป


ตัดสินใจออกไปปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อหลวงพ่ออายุได้ 40 กว่าปี ท่านเลิกทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ไม่มีงานการอะไรต้องทำ ท่านจึงเฝ้าแต่ครุ่นคิดไม่หยุดหย่อนว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่เห็นมีอะไรไปด้วย คนรวยก็ตาย คนจนก็ตาย ไม่เห็นมีอะไร มีแต่บาปกับบุญ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจออกปฏิบัติธรรม เพื่อหาทางพ้นทุกข์ให้ได้

ท่านได้บอกความตั้งใจของท่านกับภรรยา ภรรยาของท่านจึงได้จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าให้ท่าน ท่านไม่ได้บอกภรรยาของท่านว่าจะไปอยู่ที่ใด และจะไปนานเท่าไร เพียงแต่บอกว่า หากท่านไม่ตายเสียก่อนก็จะกลับมาอีก

เมื่อหลวงพ่อไปถึงตำบลพันพร้าว อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ในปัจจุบัน ท่านจึงได้ทราบว่า เพื่อนของท่านคือมหาศรีจันทร์ ที่ท่านตั้งใจจะมาศึกษาธรรมะด้วยนั้น ไปจำพรรษาอยู่ที่หลวงพระบาง มีแต่หลวงพ่อวันทอง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นปลัดอำเภอ ปลดเกษียณแล้วจึงมาบวชเป็นพระ มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งชื่ออาจารย์ปาน เป็นผู้สอบอารมณ์ปฏิบัติให้หลวงพ่อ อาจารย์ปานผู้นี้ท่านเป็นชาวลาว อยู่ที่สุวรรณเขต ได้ไปเรียนวิธีติงนิ่ง* และวิธีพองยุบมาจากพม่า

(ติงนิ่ง : การเจริญสติโดยวิธีการเคลื่อนไหว ประกอบคำบริกรรม ติง-นิ่ง เมื่อเคลื่อนมือให้บริกรรม

“ติง” เมื่อหยุดให้บริกรรม “นิ่ง” และให้รู้ว่าเคลื่อนไหว หรือ นิ่ง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่หลวงพ่อทำ คือ เมื่อเคลื่อนมืออยู่หรือหยุดอยู่ก็ให้รู้สึกเท่านั้น ไม่มีการแยกแยะว่าเคลื่อนไหวอยู่หรือหยุดอยู่ หรือ ฯลฯ)
เมื่อหลวงพ่อมาถึง หลวงพ่อได้จ้างคนญวนซึ่งมาจากเวียงจันทน์ให้ปลูกกุฏิให้ โดยรื้อยุ้งข้าวมาปลูก ให้ทำกุฏิทำส้วมให้เรียบร้อย

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเป็นคนพยศ เสื้อผ้าที่จะนุ่งจะใส่ต้องรีดให้เรียบ ถ้าไม่รีด ท่านก็ไม่อยากนุ่งอยากใส่ ท่านจึงได้ว่าจ้างคนให้มาช่วยซักรีดเสื้อผ้า ทำอาหาร ส่งปิ่นโต โดยหลวงพ่อจ่ายเงินให้เดือนละ 300 บาท

แต่ในที่สุดทางสำนักที่หลวงพ่อไปปฏิบัติไม่ยินยอม ด้วยเหตุผลว่า การว่าจ้างคนมาทำงานให้ระหว่างปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้คนอื่นอาจคิดไปว่า ถ้าใครไม่มีเงินก็ไม่สามารถมาปฏิบัติได้ จึงเสนอให้หลวงพ่อมอบเงินให้กับส่วนกลางเพื่อใช้เป็นค่าอาหารสำหรับพระเณร และญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมด้วย

หลวงพ่อท่านก็ยอมตามนั้น แต่ท่านขอให้มีคนซักรีดเสื้อผ้า และขอให้ส่งโอวัลตินกับขนมให้ทุกเช้า ทางสำนักก็ยินยอมตามความประสงค์ของท่าน


ผู้ที่ร่วมปฏิบัติธรรม

ในคราวที่หลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมนั้น มีผู้ร่วมปฏิบัติ 30 กว่าคน เป็นพระ 23 รูป โยม 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 19 ปี อีก 2 คนอายุ 20 ปี

พระสงฆ์ที่มาปฏิบัติในครั้งนี้ล้วนบวชมาแล้วหลายพรรษา อย่างน้อยที่สุด 2 พรรษา บางรูปบวชมาแล้ว 5 พรรษา บางรูป 8 พรรษา บางรูป 12 พรรษา 15 พรรษาก็มี

หลวงพ่อเล่าว่ามีพระรูปหนึ่ง เป็นพระครูมาจากอำเภอท่าบ่อ ตีตะปูอยู่เรื่อย กุฏิที่เขาสร้างไปแล้ว ท่านก็ไปรื้อไปซ่อมตีตะปูดังโป๊กๆ หลวงพ่อท่านก็ได้แต่คิดว่า เมื่อไรจึงจะแล้วเสร็จสักที

โยมที่มาปฏิบัติธรรมอีกคนหนึ่งคือ นายฮ้อย* พ่อมุก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อและเป็นผู้ให้ความรู้กับหลวงพ่อในเรื่องการทำมา หากิน จนถึงขนาดที่ท่านพูดว่า ทำให้ท่านสามารถทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้

(นายฮ้อย หรือนายร้อย ในภาษาถิ่นอีสานใช้เรียกผู้ที่เป็นพ่อค้า)

หลวงพ่อเล่าว่า นายฮ้อยพ่อมุกชอบมาชวนท่านคุยในขณะที่ปฏิบัติ ภายหลังเมื่อท่านเห็นนายฮ้อยพ่อมุกเดินมาหา ท่านก็รีบเอาผ้าโพกศีรษะแล้วไปเดินจงกรมกลางแดด บริเวณนั้นเป็นท้องนาไม่มีร่มไม้ หลวงพ่อได้จ้างคนญวนยกท้องร่องให้ และทำถนนกลางท้องนา

หลวงพ่อทำเช่นนี้หลายครั้ง นายฮ้อยพ่อมุกจึงคิดว่าหลวงพ่อเกลียด แต่ความจริงแล้วหลวงพ่อไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ท่านเห็นว่า เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วก็ควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ควรเสียเวลาไปกับการคุยเล่น หรือทำสิ่งอื่นซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับการปฏิบัติ


การปฏิบัติและการรู้ธรรม *

* เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบขั้นตอนการปฏิบัติ และการรู้ธรรมะของหลวงพ่อโดยละเอียด ผู้จัดพิมพ์จึงใคร่ขอนำคำให้สัมภาษณ์ของหลวงพ่อมาลงพิมพ์ไว้ทั้งหมด

หลวงพ่อวันทองท่านให้ไปขอกรรมฐาน รับเอาตัวกรรมฐานนี่นะ เวลาจะเข้ากรรมฐาน ต้องมีการสมาทานเข้า ออกจากห้องกรรมฐานต้องมีการสมาทานออก ตั้งแต่หลวงพ่อเรียนสมัยเป็นเณรเป็นพระ ไปหาหลวงพ่อวันทองนี่ ท่านให้รับอุโบสถศีล ก็หลวงพ่อรับอยู่แล้ว ท่านให้ภาวนาตาย หายใจเข้าให้ว่าตาย หายใจออกให้ว่าตาย หลวงพ่อก็ทำเพราะว่าไปเรียนกับเขา ต้องทำกับเขา

ในขณะนั้นหลวงพ่อไปรับกรรมฐานจากหลวงพ่อวันทอง ทุ่มหนึ่งหรือสองทุ่มนี่แหละ ก็มาทำ มาภาวนา ตาย ตาย ตาย

พุทโธ ก็เคยทำมาแล้ว หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ พุทโธ แต่ไม่ให้ออกเสียง ทุกคนคงจะรู้นะ
“ทำไปหลวงพ่อ”

มันมี 2 คน (ใน) ตัวหลวงพ่อเอง

เดี๋ยวก็ “ทำไปทำไม” มันชวนนอนลง (พอเรา) นอนแล้ว

“บัดนี้ มานอนหรือมาทำไม” มันถามกัน 2 คน

“แท้มาเจริญสติ”

“มาเจริญสติมาศึกษาธรรมะ นอนมันจะได้เรื่องอะไร ลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมา”

หลวงพ่อก็มา ภาวนา ตาย

“แหม ทำไปทำไม” อีก

นี่มันเป็นอย่างนี้ มัน 2 คน หลวงพ่อเป็นบ้านะ

ไม่ใช่บ้าอย่างที่บ้าอันนี้นะ พวกคุณเข้าใจไหม บ้าเหมือนมันมี 2 คน เดี๋ยวก็ขยัน เดี๋ยวก็ขี้เกียจ ขี้เกียจไม่รู้จักขี้เกียจ ไม่รู้จักว่าขี้เกียจ ไม่รู้จักว่าขยัน แต่มันเป็นไปตามเรื่อง นอนลง

“มานอนหรือ”

นี่มันมีคำพูดในใจ แต่ไม่ได้ยินทางหูนะ มันได้ยินทางใจ

“ลุกขึ้นมา ทำไปทำไม จะได้อะไร”

แน่ะ มันถามขึ้นมา นอนลงไป

โอ้...นาน หลวงพ่อเป็นอย่างนั้น ก็เลยตัดสินใจนอน วันนั้นก็เลยนอน นอนแล้วตอนเช้าหลวงพ่อก็ลุก ข้างหน้า แปรงฟันดีๆ แล้วก็ตั้งใจทำใหม่

หลวงพ่อทำจริงๆ นะ หลวงพ่อไม่เหมือนกับที่ว่า พรรคพวกทำ พรรคพวกไปปฏิบัติธรรมด้วยกันคราวนั้น พระ 23 รูป พระไม่ใช่พระที่อายุพรรษา 2-3 พรรษา ตั้งแต่ 5 พรรษาขึ้นไป อย่างน้อยที่สุด 8 พรรษา 12 พรรษา 15 พรรษาก็มี มีพระครูองค์หนึ่ง ที่ท่านมาจากอำเภอท่าบ่อ ตีตะปูอยู่ทั้งวันเลย ไปปฏิบัติธรรมะ กุฏิเขาแปลงแล้ว ท่านก็ไปถอนอันนั้น แปลงอันนี้ แต่ก็ไม่ทั้งวันหรอกนะ ท่านตีตะปู โป๊ก โป๊ก อยู่นั่น หลวงพ่อก็ “จักปานใดหนอ จึงจะแล้วหนอ หลวงตานี่ ท่านเจ้าคุณนี่ พระครูนี่”

พระ 23 รูป มีโยม 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน ผู้หญิงน่ะอายุ19 ปี 20 ปี กับ 20 กว่าปีนี่แหละ 2-3 คนนั้น คนหนึ่ง 19 ปี ส่วน 2 คนนั่น 20 กว่าปี แล้วก็มีนายฮ้อยพ่อมุกนี่คนหนึ่ง นายฮ้อยพ่อมุกนี่หลวงพ่อได้ความรู้ การทำมาหากินก็เพราะนายฮ้อยพ่อมุกนี่เอง หลวงพ่อจึงรู้จักการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ ไปปฏิบัติธรรมะพร้อมกัน

พอดีไปปฏิบัติธรรมะ (แก) เกิดมาชวนหลวงพ่อคุยอยู่อย่างนั้นแหละ หลวงพ่อไม่เอา

หลวงพ่อก็เห็น (ว่า) อ้อ ! ถ้าทำอย่างนี้ จะไม่ได้ผล หลวงพ่อเห็นนายฮ้อยพ่อมุกมา หลวงพ่อก็เอาผ้าปรกหัวไปเดินจงกรมตากแดดอยู่โน่น เพราะมันไม่มีร่มนี่ เป็นทุ่งนา ทุ่งนาก็รู้นะ หลวงพ่อให้คนญวนทำถนนไว้กลางทุ่งนา ยกท้องร่องให้ เดินอยู่นั่นแหละ 2-3 วัน นายฮ้อยพ่อมุกก็เลยหนีไปไม่กลับคืนมา หาว่าหลวงพ่อนี่เกลียดเขา แต่ความจริงหลวงพ่อไม่ได้เกลียดเขาหลวงพ่อตั้งใจจะไปศึกษาธรรมะจริงๆ หลวงพ่อเป็นอย่างนั้น

พอดีหลวงพ่อทำระยะนั้นก็ไม่นาน ขอกรรมฐาน ดูเหมือนมื้อ 8 ค่ำ 9 ค่ำ มื้อ 10 ค่ำ หลวงพ่อก็รู้เลย ก่อนที่จะรู้นั้น หลวงพ่อนั่งพับเพียบ ตอนเช้า มื้อ 10 ค่ำนี่ แมงป่องตัวหนึ่งมันตกใส่ขา ให้หลวงพ่อพูดภาษาบ้าน หลวงพ่อดีนะ แมงป่องรู้จักไหม แมงงอด แมงงอดแม่ลูกอ่อนมันตกลงใส่ขาหลวงพ่อ พอดีตกปุ๊บลงมา ลูกมันอยู่กับแม่มันนะ ลูกมันอยู่ท้องแม่มันน่ะ มันก็แล่นออกตามขาหลวงพ่อนี่เลย พอดีมันแล่นตามขา หลวงพ่อก็เบิ่งมัน ดูมัน ลูกมันก็แล่นตาม แม่มันหมอบอยู่คาที่เลย ลูกมันก็ออกจากท้องแม่มัน ไปนาน ๆ แล้ว ลูกมันก็ก็กลับมาหาแม่มันอีก พอดีลูกมันมาหาแม่มัน หลวงพ่อก็ไปหาเอา ไม่ได้ไปทางใด หลวงพ่อก็นั่งอยู่ มีไม้อันหนึ่งหลวงพ่อก็เอาไม้แตะขาหลวงพ่อนี่ พอดีแตะขาอย่างนี้ แมงงอดตัวนั้นมันก็แล่นเข้าจับไม้หลวงพ่อเลย หลวงพ่อก็จับไม้หลวงพ่อไป มันมาส้น * นี้ หลวงพ่อก็จับส้นนั้น ไปส้นนั้น หลวงพ่อก็จับส้นนี้ แล้วเอาไปวางไว้ที่คันนา

* ส้น : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าข้าง

หลวงพ่อรู้จักธรรมะ ให้ว่าพริบตาเดียวก็ได้ หรือจะว่าอึดใจเดียวก็ได้ ในขณะนั้นหลวงพ่อรู้เรื่องรูป เรื่องนาม รู้รูปธรรม นามธรรม รู้รูปโรค นามโรค

รูป โรค นามโรค มี 2 อย่าง โรคทางเนื้อหนังอันหนึ่ง โรคทางจิตใจอันหนึ่ง หลวงพ่อรู้อย่างนี้ นั่งอยู่สบาย แต่จิตใจเกลียดหรือพอใจ ที่หลวงพ่อรู้อย่างนี้ก็เพราะว่า สมัยที่ทำกองกฐิน หลวงพ่อทุกข์ทางใจคือ แม่ออกแม่เทียน (แม่เทียน คือ ภรรยาหลวงพ่อในครั้งนั้น) ถาม หลวงพ่อมันทุกข์ทางใจ ไม่ได้ทุกข์ทางเนื้อหนัง อันนั้นเรียกว่า จิตวิญญาณเป็นโรค จึงว่าโรคมี 2 อย่าง

หลวงพ่อสะดุดใจ เมื่อหลวงพ่อรู้จักรูปโรค นามโรค โรคทางจิตใจดีแล้ว หลวงพ่อก็รู้จัก ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา รู้จริงๆ ไม่ใช่รู้กับตำรา รู้โดยญาณความรู้ หรือว่าสัญญา ความหมายรู้จำได้ มันเฉพาะตัวมันเอง

เมื่อรู้ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ดีแล้ว หลวงพ่อก็รู้สมมติ รู้สมมติผี สมมติเทวดา สมมุตินรก สวรรค์สมมติ หลวงพ่อรู้สมมติ ให้ว่าครบทีเดียว ทุกแง่ทุกมุมหลวงพ่อรู้ เวทมนต์กลคาถาหลวงพ่อรู้ ตอนนี้หลวงพ่อจะพูดให้ฟัง ตอนที่หลวงพ่อรู้สมมตินี่ หลวงพ่อเคยไปเรียนมนต์ แต่ไม่ต้องเอ่ยถึงคนนั้นคนนี้นะ มนต์คง มนต์ไล่ผี วัวธนูดูหน้าน้อย ไส้หนังบังควัน หลวงพ่อเรียนมา ตอนหลวงพ่อจะมาเล่าให้ฟัง ตอนหลวงพ่อรู้ธรรมะเรื่องสมมตินี่ คำมนต์จำได้เป็นบางตอน โอม ธุลี ธุลี คำมนต์ขึ้นมา มนต์ขลัง ปืนยิงไม่ออก มีดพร้าฟันไม่เข้า ท่านว่าอย่างนี้

โอมธุลี ธุลี คอกูมีแผ่นทองกั้นพร้า แผ่นเหล็กแผ่นทองกั้นพร้า กั้นมีดกั้นพร้า คอเรามีแผ่นเหล็กแผ่นทองกั้นไว้ เขาฟันไม่เข้า คอกูมีแผ่นทองกั้นพร้า หน้าผากกูแกร่งปานหิน แข็งปานหิน หน้าผากนี่ คนตีไม่แตกนี่ ตีน แปลว่า เท้านะ เท้าเราแกร่งปานเหล็ก ขนแข้งขนขาขนเรานี่เท่าหนามคา รู้จักหนามคาไหม หญ้าคาน่ะ ขนเราเท่ากับหญ้าคาน่ะ ขนขาเรานี่เท่ากับขนเม่น รู้จักขนเม่นไหม ขนเม่นที่มันติดตัวเม่นน่ะ กูจะเต้นไปได้ร้อยโยชน์พันวา เต้นคราวเดียวนี่ได้จักร้อยโยชน์พันวา พญามนต์ทั้งหลายจงมากราบมาไหว้มากั้นมาบังตัวกู คำมนต์มันพูด

หลวงพ่อมาจับคอหลวงพ่อ ไม่มีแผ่นเหล็กแผ่นทองทั้งหมดเลย หลวงพ่อน้ำตาพังลงเลย น้ำตาหลวงพ่อ โอ้...ถ้าว่าคิดว่าสมน้ำตานั้นได้จักเป็นถัง แหม ! น้ำตาไหลออกมาที่ไหนไม่รู้ เพราะว่าหลวงพ่อโง่ หลวงพ่อตายแล้ว ถ้าหลวงพ่อไปเชื่อมนต์เชื่อของขลัง หลวงพ่อตายจริงๆ แต่หลวงพ่อก็เชื่อจริงๆ เรื่องมนต์นี่ แต่หลวงพ่อไม่ทำ ไม่ทำเหมือนคนอื่น หลวงพ่อไม่คบคนชั่ว คือไม่เข้าวงการพนัน หลวงพ่อไม่เข้า คนกินเหถ้า หรือเขาทะเลาะผิดเถียงกัน หลวงพ่อไม่เอา หลวงพ่อไม่เข้าใกล้ แต่หลวงพ่อไปฟังได้อยู่ไกลๆ หลวงพ่อกลัวเขา เพราะหลวงพ่อไม่มีกำลัง

หลวงพ่อเลยรู้จักสมมติดี เมื่อรู้จักสมมติอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยรู้จักศาสนา ไม่ใช่ศาสนาอย่างที่เราเคยถือมา รู้จักพุทธศาสนาเข้ามา ศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรต้องสอน สอนให้เราไหว้ผี สอนเรื่องฤกษ์งามยามดี สอนอะไร คำสอนของผู้รู้ทั้งนั้นสอนให้ตาเรานี่ให้ดู สอนให้หูเรานี่ให้ฟัง สอนตัวเรานี่แหละ เรียกว่าตัวคนเป็นศาสนา หลวงพ่อเข้าใจ ตัวทุกคนนั่นแหละเป็นตัวศาสนาดังนั้นไปฆ่าคน ไปตีคน ไปหลอกลวงคนนั้น แปลว่าไปหลอกลวงศาสนา เป็นบาป หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น

พุทธศาสนาบัดนี้ พุทธศาสนาคือตัวรู้นี้แหละ ตัวสติ ตัวปัญญา ตัวสมาธิ จะว่าตัวอะไรก็รู้แหละ พลิกมือขึ้นก็รู้ ตัวรู้อันนี้นี่แหละ ความรู้สึกนั่นแหละเป็นตัวพุทธศาสนา

พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้ แต่มันไม่ใช่รู้แต่เฉพาะเท่านี้นะ มันรู้ให้แตกฉานจริงๆ ไม่ใช่แตกฉานนับเม็ดหิน เม็ดทราย ไม่ใช่อย่างนั้นนะ คือ แตกฉานใจตัวเอง รู้ทุกข์ รู้สุข รู้วิธีทำให้ทุกข์เกิด รู้วิธีทำให้ทุกข์หมด หลวงพ่อรู้อย่างนี้ จึงว่าพุทธศาสนาแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม หลวงพ่อรู้อย่างนี้

รู้อย่างนี้แล้วก็รู้บาป รู้บุญ แต่มันเป็นสมมุติเหมือนกันนะ บาปก็คือโง่นั่นเอง บุญก็คือฉลาดนี่เอง บาปจึงว่าคือมืด มืดจิตมืดใจ บุญคือรู้ รู้ก็แปลว่า สว่างจิต สว่างใจ จึงว่า จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องแผ้วว่องไว ท่านว่าอย่างนั้น จิตใจพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น แต่หลวงพ่อรู้อย่างนั้น หลวงพ่อก็เลย...หมดความรู้อันนี้ตอนเช้า รู้แค่นี้ละ แต่ว่ารู้มากกว่านี้

ที่หลวงพ่อพูดเป็นหัวข้อนี่ เป็นหัวข้อสั้นๆ แต่ความรู้มันมาก ตอนนี้ มันเกิดความรู้อันหนึ่งขึ้นมา รู้สามารถที่จะไปอธิบายให้ผีฟัง แน่ะ ! รู้จักสมมติก็ยังลืมได้ นี้เรียกว่ามันถูกวิปัสสนูลากไป จึงว่าการปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องเป็นวิปัสสนู วิปลาสจินตญาณ หลวงพ่อรู้ แต่คราวนั้นหลวงพ่อยังไม่รู้ วิปัสสนู วิปลาส จินตญาณ หลวงพ่อติดวิปัสสนู ติดคนเดียว หลวงพ่อไม่รู้ แต่ไม่เป็นอะไรหลวงพ่อเห็นใคร อยากพูดธรรมะให้ฟังทั้งนั้น เห็นตัววัวตัวควาย อยากเทศน์ธรรมะให้เขาฟัง นึกว่าวัว ควาย เขาก็รู้ได้ สุนัขกรายไป หลวงพ่อก็อยากพูดธรรมะให้มันฟัง นึกว่าทุกคนมันมีธรรมะชนิดนี้หมด แต่ว่าพวกนั้นมันไม่มีสัญญาจำ

เพราะคนนี่ แม้จะเขียนหนังสือเป็นก็ต้องจำ เขียนหนังสือไม่เป็นก็จำได้ คนจนก็จำได้ คนรวยก็จำได้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น จึงว่าทุกคนต้องรู้ ยกเว้นไม่ได้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น ในขณะที่หลวงพ่อเป็นนะ หลวงพ่อเจ้าใจอย่างนั้นจริงๆ แต่มันคิดอย่างนี้ คิดจะไปสอนคนคิดถึงพ่อ ถึงแม่ ผู้ล้มหายตายไป ทำไมเสียชีวิตไปโดยไม่รู้ ไร้ประโยชน์ที่สุด เกิดมาเป็นคนทำไมจึงไม่รู้ มันคิดไปอย่างนั้น แต่ตัวเองก็ไม่รู้ ก็นานก็ไม่รู้ คิดไป ตัวเองก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ เราก็จำเป็นเป็นความรู้อย่างนั้นน่ะ
จน ตกเย็น พอประมาณในเกณฑ์ 5 โมง หลวงพ่อก็ไปอาบน้ำ ไปอาบน้ำมาก็ เช็ดตนเช็ดตัว มาแล้วก็มาเดินจงกรม มันก็ยังไม่เย็นดีเท่าไร ต้นฟากนั้นเป็นต้นส้มค้อ บ้านหลวงพ่อเรียกว่าต้นส้มค้อต้นฟากนี้เป็นต้นหมากทัน หลวงพ่อก็เดินตรงกลางนี่ ต้นส้มค้อนี่ ทางนี้เรียกว่าต้นข่อย เรียกว่าหมากทันเรียกว่าต้นพุทรานี่ หลวงพ่อเดินตรงกลาง ข้างนั้นเป็นพุทรา ข้างนี้เป็นต้นข่อย เดินอย่างนั้นน่ะ

ในราว 6 โมงกว่านี่ ใกล้ๆ จะทุ่มหนึ่ง หลวงพ่อคล้ายๆ คือ มีคนมาผลักตรงสีข้างหลวงพ่อเลย วูบหนึ่ง

เอ๊ะ ! เราเดินอยู่คนเดียวใครมาซุก * ไม่มีใครเลย มองไปทางไหน ก็ไม่เห็น มองหาคนไม่เห็น

เอ๊ะ ! ทำไม เป็นอย่างนั้น

ในขณะที่หลวงพ่อหาคน หลวงพ่อไม่รู้แล้ว ไม่รู้คิด แต่หาคน แล้วลืมตัวเจ้าของไปแล้วบัดนี้ ก็เดินไปเดินมา บัดเดี๋ยวมันคิดแวบเข้ามา

อ้าว ! มันคิด

อ้อ ! เมื่อกี้นี้มันก็คิด แต่เราไม่รู้มัน
หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น

เอ๊ะ ! มันคิด

หลวงพ่อก็เลยรู้ ต่อมามันคิดครั้งที่สามนี่ หลวงพ่อก็เลยรู้ ทำเหมือนแมวกับหนู บ้านเรามีหนู ต้องเอาแมวมาเลี้ยงไว้ มันเปรียบอุปมาไปอย่างนั้น

ทีแรกหนูตัวโต แมวตัวเล็ก พอดีหนูออกมา แมวตัวเล็ก แมวตัวน้อยนะ ก็จับหนู หนูมันตื่นบัดนี้ แมวมันก็กำลังไม่เท่าหนู หนูมันก็ลากแมวไป

หลวงพ่อคิดอย่างนั้น ที่เล่ามาตั้งแต่เช้าน่ะ มัน ความคิดลากไป ลากความรู้สึกอันนี้ไป ความรู้สึกจึงเข้าไปในความคิด จึงว่ารู้คิด ไม่ใช่เห็นคิด บัดนี้ อย่าไปโทษหนู อย่าไปโทษแมว ไม่โทษทั้งสองเลย เอาอาหารให้แมวกินเยอะๆ แมวกินอาหารแล้วมันอ้วนเร็ว พอดี แมวมันตัวอ้วนมันแล้ว กำลังมันดีนะ พอดีหนูออกมา แมวตัวใหญ่ หนูก็ตัวใหญ่เต็มที่ หนูก็ตาย แมวมันกระโจนปุ๊บ จับหนู

หลวงพ่อคิดเปรียบเอาเองคนเดียวนะนี่ หนูใจขาดตายเลย ช้อคตายเลย นี่...หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น

* ซุก : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าผลัก

แมวกินหนูจึงไม่มีเลือด อันนี้หลวงพ่อจะไม่เล่าเลย พ่อหลวงพ่อพูดให้ฟังว่า เสือเกิดลูก จำเป็นต้องเอาแมวมาเป็นครูเสือ เพราะว่าเสือกินเนื้อน่ะยังมีเลือด แมวกินไม่มีเลือด พ่อเล่าให้ฟังก็ยาว หลวงพ่อจะไม่พูดไปเลย พอดีเป็นอย่างนั้น

หลวงพ่อก็คอยดู มันคิด หลวงพ่อก็เห็น พอดีมันเห็น มันหยุด ความคิดมันหยุด มันคิดปุ๊บ หลวงพ่อเห็นปั๊บ เหมือนกับนักมวยขึ้นเวที บัดนี้เราไม่ต้องไหว้ครูแล้ว บัดนี้ไม่ต้องไปอ้างอิงกับตำรับตำรา เพราะตำรามีในตัวเราบัดนี้ แต่ก่อนมันไปอ้างตำรา ตอนเช้ามาถึงตอนเย็น มันไปอ้างตำรามาก

บัดนี้ทิ้งตำราให้หมดเลย มาคอยจับการเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ยกแข้ง ยกขา ยกมือ ยกเท้า พริบตา เหลือบซ้าย แลขวา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา ให้มีสติหรือให้รู้จักตัว กลืนน้ำลายก็ให้รู้ หายใจเช้า หายใจออก มันรู้เร็วที่สุด ความรู้จึงว่ามากที่สุด เร็วที่สุด

ความรู้นี่ ใครจะมาจับตัวหลวงพ่อนี่ สมมุติเอานะ มาจับสักสิบคน สิบคนมาจับพร้อมกันทั้ง 10 มือ หลวงพ่อก็รู้ เป็นอย่างนั้น รู้พร้อมกันจริงๆ ความรู้จึงว่ารอบตัว สัญญาณจึงแปลว่ารู้ หลวงพ่อรู้วิญญาณขึ้นมา พอดีเป็นอย่างนั้น

หลวงพ่อก็เลย รู้ เห็น เข้าใจ เห็นวัตถุ วัตถุนี่หมายถึงทุกอย่างทีเดียว แต่ไม่อธิบายแล้ว มันเข้าใจ แต่ว่าวัตถุนี่ก็หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าใจไหม

ก็รู้ปรมัตถ์ ไม่ใช่รู้นะ มันเห็น เห็นรู้ เข้าใจ ซาบซึ้ง อยู่นั่นแหละ เห็น รู้ ปรมัตถ์ ปรมัตถ์แปลว่าของจริง เข้าใจไหม

แล้วก็เห็นอาการ อาการสภาพความเปลี่ยนแปลงของคนหรือสัตว์ มันมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างนี้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนี้ ในช่วงนั้นนะ แต่มันรู้มันไม่ใช่ช้าๆ อย่างที่หลวงพ่อพูดนี้นะ

เห็นวัตถุ เห็นปรมัตถ์ เห็นอาการ แล้วก็เห็นโทสะ เห็นโมหะ เห็นโลภะ ไม่ใช่ตาเห็น ใจมันเห็น ใจมันรู้
จึง ว่า นี่แหละตำหนิแผลที่ลี้ลับ คนอื่นมองไม่เห็น เราต้องเห็น ต้องรู้ ดังนั้น จึงว่าตำหนิแผลที่ลี้ลับ คือในตัวเรานี่มันเป็นเปลือกนอก แต่สำหรับจิตใจ อย่างโทสะ โมหะ โลภะ มันเป็นที่ลี้ลับ คนจึงมองไม่รู้ ไม่เห็น

ในสมัยกี่หลวงพ่อไม่สบายใจ ทุกข์ก็ได้ เมื่อแม่ออกแม่เทียนถาม หลวงพ่อไม่เห็น ไม่เห็นว่า โทสะ โมหะ โลภะ หลวงพ่อไม่รู้ มันหนักใจ แต่หลวงพ่อทำกรรมฐานมาพอแล้ว ดังนั้น กรรมฐาน หลวงพ่อจึงไม่มีอารมณ์ คนอื่นอาจจะมีก็ได้ จึงว่า อารมณ์ของกรรมฐานหลวงพ่อไม่รู้ พอดีมาเห็นอันนี้หลวงพ่อรู้เลยเป็นอารมณ์ อ้อ ! ลักษณะใกล้ๆ แต่เราไม่รู้ สิ่งที่มันมีอยู่ในตัวเรา

พอดีรู้อันนี้แล้วก็ เวทนาไม่ทุกข์ สัญญาไม่ทุกข์ สังขารไม่ทุกข์ สัญญาไม่ทุกข์ เพราะโทสะ โมหะ โลภะ ปรุงไม่ได้ แต่ว่าเวทนาก็มีอยู่ สัญญาก็มีอยู่ สังขารก็มีอยู่ สัญญาก็มีอยู่ แต่มันไม่ได้รู้อย่างนี้นะ มันรู้เร็วที่สุด

พอดีพูดอย่างนี้คล้าย ๆ คือ มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งขวางหน้าไว้ หลวงพ่อก็ทำความรู้สึก ตึ๊บ ! อึดใจเดียวเท่านั้นเอง เห็นกิเลสตัณหา อุปาทาน กรรม เห็น 4 ข้อนี้เลย พอดีเห็นอันนี้ก็ กิเลส ตัณหาอุปาทาน กรรม จางคลายไป พอดีรู้อันนี้ หลวงพ่อเปรียบตัวหลวงพ่อทันทีเลย ตัวหลวงพ่อน้ำหนัก 100 กิโล ถ้าหลวงพ่อพูดเบา ๆ 60 กิโลไปแล้ว หลุดไปแล้ว แต่ในขณะนั้นเดินอยู่ 80 กิโล ไปแล้ว ยังเหลืออยู่ 20 กิโล หลวงพ่อ อ้อ...นี่ ความเป็นพระอยู่ที่ตรงนี้

ดังนั้น พระนี่ หลวงพ่อเข้าใจว่าต้องโกนผม โกนคิ้ว นุ่งเหลืองห่มเหลือง หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้นแต่ก่อน พอดีวันนั้น หลวงพ่อรู้ ตัวหลวงพ่อนุ่งกางเกง หลวงพ่อก็ อ้อ...เราเป็นพระได้แล้ว หลวงพ่อพูดเองคนเดียว หลวงพ่อ ไม่มีใครไปสับสนวุ่นวายทั้งนั้น หลวงพ่ออยู่คนเดียวหลวงพ่อเข้าใจว่าหลวงพ่อเป็นพระได้ในตอนนั้น

ตอนแลง * แต่ไม่ใช่ตอนแลงนะ ประมาณเกือบจะถึง 1 ทุ่มแล้ว หลวงพ่อเดินไป เดินมากลับไป กลับมา รู้ เกิดปีติ บัดนี้ ไม่มีความรู้ แต่มีปีติ ภูมิใจในความรู้ตัวเอง เป็นอย่างนั้น ว่าเราเป็นพระได้แล้ว อ้อ... เป็นเทวดาแล้ว บัดนี้เป็นพระได้แล้ว

* แลง : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าเวลาเย็น

ถ้าจะเปรียบให้ฟัง ก็มีตาทิพย์ เห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้น หูทิพย์ ก็มีพร้อม เพราะว่าเคารพตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้ในวันนั้น แต่ตอนรู้ รูปนามยังไม่ยกมือไหว้ ตอนนี้แหละหลวงพ่อยกมือไหว้ว่า ของดีมีในตัว ทำไมจึงไม่ค้น ทำไมจึงไม่เอามาใช้

หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น หลวงพ่อก็เลยมานอน ไม่ใช่นอนในขณะนั้น เดินไปเกิดปีติ ภูมิใจว่าตัวเองจิตใจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นพระได้แล้ว บัดนี้เข้าใจอย่างนั้นนะ แต่ความจริงเป็นโยม นุ่งกางเกง นุ่งเสื้อ เดิน ประมาณ3 ทุ่มนี่แหละ หลวงพ่อเดิน เดินยังไม่เปลี่ยนนะ ยังเดินอยู่ เดินนานก็มานอน มานอนยังภูมิใจกับความรู้ที่ตัวเองรู้นะ จนหลับ หลับก็ประมาณในเกณฑ์ตี 2 ตี 3 นี่ หลวงพ่อก็ลุกมาล้างหน้าแปรงฟัน พอดีล้างหน้าแปรงฟัน หลวงพ่อก็จุดเทียนไข เอาเทียนไขไปไต้ไว้ส้นเบื้องนั้น ไปไต้ไว้ส้นเบื้องนี้ เป็นอย่างนั้น เดิน จึงว่า มีตะขาบ รู้จักขี้เข็บไหม เขาว่าตะขาบตัวใหญ่กว่าข้อมือนี่ แดงยาวประมาณคืบกว่า แล่นผ่านหน้าหลวงพ่อไปแล่นผ่านทางหลวงพ่อ แต่มันไม่แล่นตรง มันแล่นเฉียง ๆ มันแล่นไปมันไปเร็ว มันวิ่ง แต่มันไม่ได้ตื่นหลวงพ่อ แต่มันไปประสามัน

บัดนี้หลวงพ่อก็ เห็น อ้อ...คิดว่า กลัว มันจะมาตอดเรา มากัดเรา เราก็ต้องเอาเทียนไขตามไป ตามไป แต่ไม่เห็น ไม่เห็น หลวงพ่อก็เอาเทียนไขมาไต้ไว้ที่เดิม มาไต้ไว้ที่เดิม หลวงพ่อก็เดินจงกรม เดินไปเดินมาอยู่

คราวนั้น หลวงพ่อเ.ดินจงกรม เดินไปรู้สึกตัวมากขึ้น มากขึ้น เกิดความรู้มาอีกแล้วบัดนี้ อ้อ... ศีลเป็นเครื่องทำจัดกิเลสอย่างหยาบข้อแรกขึ้นมาสมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลส อย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด

อ้อ...กิเลสอย่างหยาบคือ โทสะ โมหะ โลภะ กิเลส ตัณหาอุปาทาน กรรม มันหลุดไป มันจางไป เมื่อแลง ศีลก็ปรากฏขึ้นมา ศีลขันธ์บัดนี้ หลวงพ่อรู้จักอย่างนี้ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ศีลขันธ์รูปขันธ์ คือรูปนี่ รูปเป็นขันธ์ ขันธ์มีศีล เวทนาขันธ์ เวทนาเสวยอารมณ์ สัญญาขันธ์ สัญญาแปลว่า ความหมายรู้จำได้ สังขารขันธ์ สังขารมีศีล วิญญาณขันธ์ วิญญาณก็มีศีล สังขารแปลว่าปรุงแต่งนะ มีศีลแต่ไม่ปรุงแต่งทางเลวร้าย วิญญาณแปลว่ารู้ ไม่ใช่ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ไม่ใช่ศีล 227 ศีลเฉพาะตัวมัน
หลวง พ่อเลยรู้ รูป 4 คือ เวทนาเป็นรูป สัญญาเป็นรูป สังขารเป็นรูป วิญญาณเป็นรูป ไม่ใช่เป็นรูปนะ เป็นรูปคิด คือเวทนามันคิด สัญญามันคิด สังขารมันคิด มันเป็นรูปความคิด เป็นนามรูป ไม่ใช่เป็นรูปนาม เป็นนามรูป เป็นนาม เวทนาเป็นนาม สังขารเป็นนาม วิญญาณเป็นนาม แต่ความคิดเป็นรูป เรียกว่านามรูป หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น อันนี้เป็นรูปนาม รูปจับถูกด้วยมือ มองเห็น แต่นามแปลว่ารู้ บัดนั้น รูปอันนั้น มันคิดเฉพาะเข้ามา เรียกว่า นามรูป หลวงพ่อก็รู้อย่างนั้น หลวงพ่อ พอดีรู้อย่างนี้

อ้อ ! ขันธ์ แปลว่า รองรับ แปลว่าต่อสู้ ครั้นว่าแปลก็ได้ หมายก็ได้ เพราะหลวงพ่อไม่ได้อ้างตำรา ขันธ์ หมายถึง การรองรับ หมายถึงต่อสู้รองรับอะไร ถ้าฝนตกมา โอ่งน้ำก็ดี ขันก็ตี ไปรองรับเอาน้ำฝนตกมา น้ำก็เต็มได้ เก็บน้ำได้ ถ้าขันดี ไปตักน้ำได้กิน ถ้าขันดี ไปตักข้าว ไปใส่บาตรให้พระก็ดี ถ้าขันดี ไปตักอาหารกินก็ได้ ถ้าขันแตกแล้ว ตักข้าวไปให้พระก็ไม่น่าเอา ถ้าขันแตกแล้วไปตักน้ำก็ไม่ได้กิน ตักอาหารไม่ได้กินทั้งนั้น อ้อ ! ขันธ์ล่ะ ก็หมายถึง ตัว นี่เอง ตัวทำดี พูดดี คิดดี ทำอะไรก็รู้ ถ้าตัวไม่ดี คิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ทำอะไรก็ไม่รู้ หลวงพ่อเลยเข้าใจอย่างนั้น พอดีเข้าใจอย่างนั้นก็เลยเปรียบไว้

อธิศีล สิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา สิกขาแปลว่าถลุง แปลว่าบด ตำให้มันแตกเลย ขบให้มันแตกเลย เหมือนที่โรงงานเรานะ โรงสีข้าวก็ดี โรงโม่หินก็ได้ จะว่าอย่างไรก็ได้นะ ทางกรุงเทพฯ โรงโม่หินน่ะดีนะ เอาหินก้อนโตๆ นี่โยนเข้าไป โรงงานมันจะถลุง หินจะมุ่น *บดเข้าไป มันจะเป็นก้อนเล็กๆ เข้าไป ข้าวก็เหมือนกัน เป็นข้าวเปลือก โยนเข้าไปโรงสี ไม่ใช่โยน ไปเทใส่ที่นั้น มันจะค่อยไปตามเรื่องของมัน มันจะมุ่นออกมาเป็นข้าสาร เป็นข้าวที่ 1 ข้าวที่ 2 ข้าวที่ 3 บางทีก็เป็นแกลบเป็นรำไป

* มุ่น : ภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า บด หรือทำให้ละเอียด

ดังนั้น คนเจริญวิปัสสนาก็ตาม คนเจริญสมถกรรมฐานก็ตาม ถ้าหากว่าเป็นแกลบเป็นรำ ก็แสดงว่าคนนั้นยังไม่ได้ตั้งใจจริง ถ้าเป็นข้าวที่ 1 แล้ว คนนั้นก็ต้องตั้งใจจริงๆ ถ้าเป็นข้าวที่ 2 ที่ 3 แล้ว ก็ตามลำดับสติปัญญาและความตั้งใจของคน

ดังนั้น ไปปฏิบัติธรรมะนำ * กันคราวนั้น พระ 23 คน โยม 5 คน รู้ไม่เหมือนกัน

* นำ : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่า ด้วย

ตอนนี้หลวงพ่อจะพูดเรื่องอารมณ์ให้ฟัง บัดนี้อาจารย์ปานไปลาม ตอนที่หลวงพ่อรู้ รูป นาม ตอนเช้า อาจารย์ปานไปถาม ไม่ใช่รู้วันนั้น ถามวันนั้นนะ มันมีเมืองลาวกับเมืองไทย มันเป็น 8 สองหนไม่ตรงกัน คือเป็นวัน 14 ค่ำของเรา เป็นวัน 15 ค่ำของเมืองลาว ถึงวัน 15 ค่ำ อาจารย์ปานก็มา มาถามหลวงพ่อ คือ พระ เณร 23 รูป ถามหมดแล้ว แล้วก็เอาโยมไป 4 คน ถามหมดแล้ว หลวงพ่อเป็นคนสุดท้าย ไปถาม

เป็นยังไงโยม

ไม่เป็นยังไงครับ

ทำไมไม่เป็นยังไง

ผมมีแต่มึนหัว เพลีย

หลวงพ่อพูดความจริงนี่ หลวงพ่อเป็นวิน ** มันไกล เดินไป เดินไปหาอาจารย์ ไกล แล้ว ทุ่งนามันกว้าง ตากแดดไป ไปหลวงพ่อก็บอก

** วิน : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่า เวียนศีรษะ

มันวินหัว มันเหนื่อย หลวงพ่อก็บอกยังงั้น

นั่งอยู่นั่นรู้สึกตัวไหม

รู้ครับ

สติอยู่ไหน

สติอยู่กับผมนี่แล้วครับ หลวงพ่อก็ตอบอย่างนี้

อาจารย์ปานก็เลยบอก เข้าไปห้องกรรมฐานอีกไป๊

หลวงพ่อก็หนีมา หลวงพ่อคิด แหม ! คราวนี้ อยากเถียงอาจารย์ปาน แหม ! เราพูดความจริง ไม่ฟัง ไม่เอา จะมาถามปัญหากันอย่างนี้

หลวงพ่อเลยเข้าใจปัญหาของอาจารย์ปาน ทีแรกหลวงพ่อเข้าใจว่าเขาถามเฉย ๆ โอ้ ! เมื่อใดจะได้พบกับอาจารย์ปานอีกหนอ แน่ะ ! ตั้งใจไว้แล้วบัดนี้ จะแก้ปัญหาอาจารย์ปานให้มันตรงเปรี๊ยะที่เดียว บัดนี้คนปัญหาก็ต้องปัญหา หลวงพ่อมีปัญหาเยอะ เอ้า ! ถามมาเถอะ บัดนี้เราจะไม่ติดเลย หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น ได้อีกนานแล้ว มาอีกแล้ว

ถึงวันพระก็มาอีกแล้ว มาก็มาถาม ไม่ใช่มาถามหลวงพ่อนะ พระจำนวน 12 รูป ถามไปทั้งหมดเลย แล้วก็โยม 4 คน ถามไปทั้งหมดเลย หลวงพ่อเป็นคนสุดท้าย ท่านก็นั่งเก้าอี้ แล้วก็มีหมอนเทิ่ง *** ท่านก็นั่งทำอย่างนี้แหละ แล้วก็เอาหลวงพ่อไปนั่งใกล้ๆ เหมือนหนูนี่แหละ หลวงพ่อก็นั่งพับเพียบ ถามเลย

*** หมอนเท่ง : ภาษาถิ้นอีสานแปลว่าหมอนอิง

เป็นอย่างไรโยมเชียงคาน

ไม่เป็นอย่างไร

หลวงพ่อตอบปัญหาแล้วบัดนี้ ไม่ตอบตามความจริงแล้ว เพราะคนต้องการปัญหา ก็ต้องแก้ปัญหากันแล้วบัดนี้

ทำไมไม่เป็นอย่างไร

ผมไม่เจ็บแข้งเจ็บขา ไม่ปวดหัว ปวดท้อง ผมก็บอกไม่เป็นอย่างไรครับ

ถามอย่างงี้เลย ก็ต้องแก้อย่างนี้แหละ เข้าใจไหม บัดนี้ท่านก็เลยถาม

รู้อะไรบ้างไหม

รู้ครับ

บัดนี้ รู้อะไร

รู้ตัวผมเอง

รู้ตัวผมรู้อย่างไร

ก็รู้ตัวผมนี่ การเคลื่อนไหว การนั่ง การนอน ก็รู้ตัวผมนี่

เอ้ ! คนไม่รู้ตัวเองก็เหมือนกับคนตายแล้ว

อาจารย์ปานถามอย่างนี้

ผมตายแล้วจริงๆ ผมเกิดใหม่แล้วครับ

คราวนี้หลวงพ่อก็ตอบเลย

ทำไมว่าตายแล้วเกิดใหม่ ตายแล้วก็ต้องเอาไปทิ้ง

มันตายความสกปรก จิตใจมันชั่วร้าย จิตใจเศร้าหมอง จิตใจมืด จิตใจซึมเซา ตายไปแล้วครับ แต่ตัวผมยังไม่ตาย

หลวงพ่อก็บอกอย่างนี้เลย ท่านก็ พอดีตอบอย่างนั้นท่านก็ไปคิด คิดปัญหามาถาม ท่านก็เลยถาม

โยม เกลือเค็มไหม

เอ้ ! ผมไม่รู้จักว่าเกลือเค็ม เกลือไม่เค็มครับ

เอ้ ! ทำไมว่าเหลือไม่เค็ม

เกลือจะเค็มทำไม เกลืออยู่กะทอ * โน่นครับ เกลือไม่ได้อยู่กับลิ้นผม ผมไม่ได้สัมผัส ผมไม่รู้ หลวงพ่อก็ตอบอย่างนี้เลย

* ภาชนะที่จักสานด้วยไม้ไผ่

เอ้ ! ทำไมไปพูดอย่างนั้น

ก็พูดอย่างนี้ซิครับ พูดของจริง ก็ต้องพูดอย่างนี้

ท่านก็ถาม หมากพริก เผ็ดไหม

เอ้ ! หมากพริกจะเผ็ดทำไม หมากพริกไม่ได้อยู่กับผม

เอ้ ! ทำไมพูดอย่างนี้

พระจำนวนไม่ใช่ 23 รูปนะ คนไปฟังเทศน์นะ พอดีสอบปัญหาหลวงพ่อ แล้วก็จะเทศน์เลย หลวงพ่อก็ตอบไปอย่างนี้ล่ะ บัดนี้ท่านก็ถาม หลายเรื่อง ท่านถาม

บัดนี้ น้ำอ้อย ท่านก็ถาม หวานไหม

น้ำอ้อย น้ำตาล ไม่หวาน หลวงพ่อตอบปฏิเสธไปทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ปฏิเสธนะ ความจริงหลวงพ่อเอาปัจจุบันมาแก้

บัดนี้ สีดำ อันใดดำมาก ท่านว่า ท่านถามไปอย่างนี้

ไม่มีอันใดดำครับ ดำเท่ากับดำเท่านั้นเอง อันใดจะดำเหนือดำไม่ได้ครับ ขาว ก็เท่ากับขาวเท่านั้นเอง อันใดจะเหนือขาวไม่มีครับ ขาวเฉพาะขาวเท่านั้นเอง แดงนี่ ทุกอย่างครับ ไม่มีอะไรจะดีเหนือสิ่งนั้นไปได้ ขาวก็ต้องหมดกับขาว ดาก็ต้องหมดกับดำ แดงอะไรทั้งหมดเลยครับ

หลวงพ่อตอบอย่างนี้ไป ท่านก็เฉยไป พอดีท่านถามมาหลายเรื่องหลวงพ่อก็เลยแก้ไปอย่างนั้น บัดนี้ท่านก็เลยถาม

โยมครับ สมมติทุ่งนานี้เป็นดง แล้วก็มีอีกคนหนึ่งมาหาอาจารย์นี่แล้ว กลับคืนไป แล้วสมมุติ โยมอยู่ศรีเชียงใหม่ แล้วเขามีปืนไป 1 กระบอก แล้วเขาไว้ยิงเสือไว้ที่ตรงนั้น

ท่านพูดอย่างนี้ ท่านถามเป็นปัญหาอย่างลึกซึ้ง ท่านถาม

แล้วบัดนี้โยมคนนั้นไปบอกให้โยมไปหาอาจารย์ปาน ไปหาอาจารย์ โยมจะมาไหม

มาครับ เพราะอาจารย์สั่งก็ต้องมา เพราะถ้าไม่มา ก็เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์ หลวงพ่อก็ตอบอย่างนี้

ถ้ามา เสือก็ต้องกัด ท่านว่าอย่างนั้น เพราะเขายิงเสือปล่อยไว้ที่ตรงนั้น

เอ้ ! ผมไม่เห็นเสือ

คุณจะมาตามทางหรือจะลัดป่ามา

ผมไม่ไปตามป่า ผมไปตามทางครับ ถ้าไม่มีทาง ผมมองหาเสือไม่เห็น ถ้าผมเดินตามทางมา ผมมองเห็นเสือทันที เห็นเสือมา ผมก็หนีหลบหลีกมันได้ ถ้าผมไม่เห็นเสือแล้ว ผมจะหลบหลีกเสือไม่ได้
ท่าน ก็เลยหมดคำพูดเลย ก็หลายเรื่องท่านพูดไป ถ้าว่าอย่างนั้น ท่านก็จะชมคำพูดหลวงพ่อ แต่ท่านเคยสอบอารมณ์ เคยถามคนปฏิบัติไม่พูดอย่างหลวงพ่อ ท่านว่าอย่างนั้น มันจะพูดคือกันทำไม ความรู้ไม่เหมือนกันนะ อันนี้แหละ ปัญหานี้หลวงพ่อจึงว่า หลวงพ่อไม่เชื่อใครทั้งหมดเลย หลวงพ่อรู้ธรรมะแบบที่หลวงพ่อรู้มานี่ หลวงพ่อจึงไม่เชื่อครูอาจารย์ ไม่เชื่อใครทั้งหมดเลย เป็นอย่างนั้น

พอดีพูดเรื่องอาจารย์ปานแล้วนะ บัดนี้ บัดนี้ ก็จะมาพูดเรื่องถลุงแร่ พอดีวกเข้ามาตอนที่เอาแร่ เอาหินเข้าโรงงาน พอดีมาถึงเข้าไป หลวงพ่อก็เลยรู้สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานไม่เหมือนกัน แต่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นข้างสนับสนุนบำรุงกันได้ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง ไปด้วยกันไม่ได้ เป็นอุปสรรคตรงกันข้าม

บัดนี้จะถามพวกหนู เคยเห็นคนเล่นการพนันไหม เคยเห็นเป็นพรรคเป็นพวกกันไหม แต่พวกเล่นการพนันนี้ไว้ใจกันไม่ได้ แม้สามีภรรยาเข้าไปในวงการพนันก็ตาม เมื่ออยู่ข้างนอกร่วมมือกันได้ ซื้ออาหารสู่กันกินได้ พอเอาเงินลงการพนันกันแล้ว ไว้ใจกันไม่ได้ เอาเปรียบกันทั้งนั้น

ดังนั้น สมถะกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพูดตรงกันข้ามกัน เข้าทันไม่ได้ ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็เป็นเพื่อนกัน สนับสนุนกันเหมือนคนเล่นการพนัน สามีภรรยารักกันก็ตาม เข้าในวงการพนันแล้ว เพื่อนเราก็เหมือนกัน รักกันขนาดไหนก็ตาม

ดังนั้น สมถกรรมฐานกับวิปัสสนาจึงเข้ากันไม่ได้ แต่เป็นต่างสนับสนุนกันได้ เอาเปรียบกันเท่านั้นเอง หลวงพ่อรู้เรื่องนี้จริงๆ กรรมฐานไม่มีอารมณ์ มีแต่ความสงบ เมื่อสงบแล้วก็มาพิจารณาเอาเอง เรื่องอสุภะเท่านั้นเอง วิปัสสนานี่ไม่ต้องพิจารณา เพราะครูบาอาจารย์เคยพูดให้หลวงพ่อฟังแล้วว่า จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเรียนอารมณ์หก คือขันธ์ห้า ต้องเรียนให้รู้จัก อายตนะ 12 ต้องให้รู้จัก ธาตุ 18 ต้องให้รู้จัก อินทรีย์ 22 อริยสัจสี่ ปฎิจจสมุปบาทให้รู้จัก ให้ได้คล่องแคล่ว

หลวงพ่อไม่เรียน เพราะหลวงพ่อเรียนมาพอแล้ว เรื่องแค่นี้หลวงพ่อเรียนได้ รู้แต่สมัยเป็นเณร เพราะหลวงน้าสอน บัดนี้มาปฏิบัติธรรมะมันไม่ได้เอาความรู้อันนั้นมาด้วย หลวงพ่อรู้ ไม่ใช่สักแต่รู้ ขันธ์ห้า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ 5 อายตนะ 12 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รู้สึกสัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นอายตนะภายนอก มันไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อรู้เห็นมันตรงข้ามทั้งหมดเลย

ธาตุ 18 ก็ จักขุคือตา จักขุธาตุคือธาตุทางตา จักขุวิญญาณธาตุคือวิญญาณทางตา 3 คูณ 6 ก็ 18 พูดเท่านี้ก็พอแล้ว เรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา หลวงพ่อเรียนตั้งแต่สมัยเป็นเณร แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรมะมันไม่เป็นอย่างนั้น

เมื่อรู้เรื่องนี้แล้ว หลวงพ่อก็เลยรู้ว่าสมถะกรรมฐานไม่มีอารมณ์ วิปัสสนากรรมฐานมีอารมณ์ มีอารมณ์อะไร ตัดสินทำลายอารมณ์นั้นทั้งหมด เหมือนรถแทรกเตอร์ รถแทรกเตอร์ไปทางใด ต้นไม้ใหญ่เท่าใดก็ดันไป ถอนรากถอนโคนไปทั้งหมดเลย อย่างที่หลวงพ่อพูด เรื่องเห็น โทสะ โมหะ โลภะ ถอนรากไปเลย เห็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน ถอนรากไปเลย เป็นอย่างนั้น หลวงพ่อก็ไม่เห็น พอดีรู้ว่าอย่างนี้เราเห็น รู้จักว่า หลวงพ่อเอาแร่เอาหิน อะไรเอาถลุงหมด อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ถลุงให้ละเอียด ก็เลยเห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้

กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ หลวงพ่อเห็น อันนี้ กามาสวะ จำพวกติดอารมณ์ ความสงบ จะอารมณ์ อะไรก็ตาม ติดความสงบ อันนี้เรียกว่า กามาสวะ เรียกว่า กามารมณ์ อาสวะเรียกว่า กิเลส หลวงพ่อก็เห็นเข้าใจ จำพวกกาม กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ หลวงพ่อเห็นอันนี้ พอดีเห็นอันนี้ คล้ายคือ เอารถแทรกเตอร์นี้ถอนรากถอนโคนมันไปเลย

จำพวกทำความสงบไม่เห็นกาม เรียกว่าตกอยู่ในอาณัติของกามารมณ์ กามาสวะ คือ กามารมณ์ กามาคือกาม อาสวะคือ กิเลส อาสวะกิเลส กิเลสกับกามเป็นอันเดียวกัน แต่ว่ามันลึกซึ้งผิดกัน เอารถแทรกเตอร์ไถไปเลย

ภวาสวะหมายถึงภพ คำว่าภพชาตินี่มันลึก จะว่าภพชาติการเกิดจากท้องของมารดาก็ได้ จะว่าภพชาติการเกิดทางจิตใจก็ได้ จะว่ายังไงก็ได้มันเป็นเพียงสมมติ รถไถไปเลย ถอนรากถอนโคนอย่างนี้ เห็นแจ้งรู้จริงอย่างนี้

อวิชชา สวะ อวิชชา คือไม่รู้จริง ไม่รู้อะไรทั้งหมดก็ได้ หรือจะว่าไม่รู้โดยเฉพาะชีวิตตัวก็ได้ รถไถออกไปทั้งหมดเลย ก็เลยรู้เห็นเข้าใจอย่างนี้ หลวงพ่อเห็นรู้ประจักษ์ชัดในใจ ใครจะพูดยังไงหลวงพ่อไม่ฟังเลย เพราะว่าหลวงพ่อเห็นอย่างนี้

จึงว่าทิฐิของหลวงพ่อ ไม่เหมือนทิฐิของพรรคพวกเขานั้น พอดีเห็นอันนี้แล้ว เข้าใจอันนี้ ทำลายสิ่งเหล่านี้จางคลายไป ถอนรากถอนโคนมันไป ก็เลยเห็น รู้ เข้าใจ

การทำบุญด้วยกาย คือกายนี่ทำดี กราบไหว้แต่คำพูดไม่พูด หรือทำบุญทำทานทำอะไรก็ตาม เขาใช้แต่รูปกายนี้ทำ ถ้าหากสวรรค์มี นิพพานมี จะไปเกิดสวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน และจะไปเสวยสุขอยู่ที่นั้นๆ กี่ปี กี่เดือน บัดนี้ถ้าทำบุญด้วยคำพูด พูดเฉยๆ ร่างกายไม่ทำ พูดดี พูดจาไพเราะ เพราะหูคน เรียกว่าทำดี พูดดีนั่นเองตายไปแล้วจะไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือน ที่เข้าใจอย่างนี้ บัดนี้กายไม่ทำคำพูดไม่พูด ใจคิดแต่ดีทั้งนั้น เรียกว่าใจคิดอย่างเดียว ถ้าหากสวรรค์นิพพานมีจริง ตายไปแล้วจะไปเกิดสวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือน เข้าใจอย่างนั้น

บัดนี้ 3 อันแล้วนะ กายก็ทำดี คำพูดก็พูดดี ใจก็คิดดี พร้อมกันทั้ง 3 อย่างนี้ ถ้าสวรรค์มี นิพพานมี ตายไปจะไปเกิดสวรรค์ชั้นไหน นิพพานชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือน หลวงพ่อเห็นอย่างนี้รู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ บัดนี้

ในทางตรงกันข้าม ทำชั่วเรียกว่า ทำบาปด้วยกาย เอากายไปทำชั่ว ทำทุจริตผิดความเป็นคน ทำทุจริตผิดความเป็นมนุษย์ ทำทุจริตผิดความเป็นเทวดา ทำทุจริตผิดความเป็นอริยบุคคล ตายไปแล้วจะไปตกนรกขุมไหน อเวจีขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือน บัดนี้

กายไม่ทำ มีแต่คำพูด คำพูดทุจริต ผิดศีล ผิดธรรม ผิดความเป็นมนุษย์ ผิดความเป็นเทวดา ผิดความเป็นพระอริยบุคคล กายก็ไม่ทำ มีแต่ใจคิดอิจฉาริษยา เคียดแค้น คือกลัวคนนั้นจะดีเหนือเรา กลัวคนนี้จะเลวกว่าเรา คิดไม่ดีนะ ถ้าหากคิดอย่างนั้นนะ ตายไปจะตกนรกขุมไหน ถ้านรกมีจริงนะ อเวจีขุมไหน นานกี่เดือนกี่ปี หลวงพ่อเห็นอย่างนั้นเข้าใจอย่างนั้น บัดนี้

ทำเป็น 3 อย่าง ทีละอัน กายก็ทำทุจริต คำพูดก็พูดทุจริต ใจก็คิดไม่ดี สามอันพร้อมกัน ตายไปแล้วจะไปตกนรกขุมไหน อเวจีขุมไหน นานกี่เดือนกี่ปี พอดีเห็นมันตรงข้ามอย่างนี้ มันสะบั้นไปเลย
หลวง พ่อกำลังเดิน เดินไปเดินมา ประมาณตี 5 เหมือนกับหลวงพ่อถอดเสื้อ ถอดกางเกงออกหมดตัว แต่หลวงพ่อไม่ได้ถอด แต่มันเป็นเอง คล้ายๆ หลวงพ่อเดินไป เดินดินประมาณสักเมตรอย่างน้อย คล้ายๆ กับมีอะไรรับไปทุกก้าวๆ เป็นอย่างนี้ แหม มองเห็นสภาพเราทั้งหมดมันขาดไป สภาพอาการเกิดดับอยู่ที่ตรงนี้ พอดีมันเป็นอย่างนี้มันจืด หมดทั้งตัวเลย กายก็เข้าสู่สภาพเดิมของมัน ใจก็เข้าสู่สภาพเดิมของมัน มันขาดออกจากกัน

หลวงพ่อเคยพูดให้ฟังว่า เอาเชือกไนล่อนผูกเสานั้น เสานี้ ตัดตรงกลาง มันขาดออกจากกัน ดึงเข้าหากันไม่ถึง คำพูดนี้มันอยู่ลึก นี้เรียกว่าสภาพอาการเกิดดับของจิตของใจ ไม่ใช่ว่าพลิกมือขึ้นเป็นเกิด คว่ำมือลงเป็นดับ พริบตา หายใจเป็นเกิดดับ อันนี้เป็นเกิดดับ สมมติยังไม่เกิดดับตรงนี้ ตอนเกิดดับตรงนี้แหละมีค่ามากที่สุด ของจริงใจ พระพุทธศาสนาเกิดในคน ทุกคนๆ มีอย่างนี้

แต่เรื่องหลวงพ่อพูดให้ฟังทุกคนจะต้องประสบ จะรู้ก็ประสบ จะรู้ก็ต้องไปที่นี่ ไม่รู้ก็ต้องไปที่นี่ ต้องตายแน่ๆ ทีเดียว คนทุกคนจึงเรียกว่าตายจริงๆ เรียกว่าสัจจะ คือของจริง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน จะรู้หนังสือก็ต้องตาย ไม่รู้หนังสือก็ต้องตาย มีเงินก็ต้องตาย ไม่มีเงินก็ต้องตาย รู้อันนี้ก็ต้องไปนี้ ไม่รู้อันนี้ก็ต้องไปนี้ แต่ว่าไปผิดทางกับไม่ผิดทางเท่านั้นเอง แต่ทุกคนต้องประสบกับความตาย

คนจะตายควรศึกษาและปฏิบัติให้รู้เรื่องนี้ เรียกว่าความตายมันเป็นของแน่อยู่แล้วต่อหน้าเรา เราต้องศึกษาและปฏิบัติให้รู้ เมื่อเราศึกษาปฏิบัติให้รู้เราก็สบายใจ ตายเวลาไหนก็ได้ แม้จะเป็นตอนค่ำ เช้า เย็น ตอนไหนก็ได้ เรื่องความตายเราไม่ง้อแล้ว เพราะว่าตายอย่างไรก็มีความสนุกอยู่แล้ว ความสนุก ความร่าเริงใจ เพราะเราไม่มีความกลัว ไม่กลัวอะไรทั้งหมดเลย เรียกว่าเราได้เห็น รู้ เข้าใจคำพูด ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์เคยสอน

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ สอนมาว่า พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว ไม่ยาวอีกสักทีเลย เท่าเดิม แต่เราไม่รู้ ไม่ใช่ผม ที่ศีรษะ อันนี้ไม่ใช่ผมในหัวจริงๆ รับรองได้ ไม่ใช่ผมจริงๆ มันเข้าสู่สภาพของมันทั้งหมดเลย ใจก็เข้าสู่สภาพของใจ รูปเข้าสู่สภาพของรูป มันไม่เกี่ยวข้องกัน จึงว่าไม่ต้องเรียนอายตนะ 12 ก็ได้ ไม่ต้องเรียนธาตุ 18 ก็ได้ อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ก็ไม่ต้องเรียนก็ได้ หรือเรียนก็ได้ แต่มันไม่เกี่ยวข้องอารมณ์

ที่หลวงพ่อรู้มาเท่านี้เอง รู้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องพูดว่า ปฐมฌานก็ได้ ทุติยฌาน ตติยฌาน ปัญจมฌาน ก็ได้ พูดก็ได้ ไม่พูดก็ได้ เพราะตัวมันเองจะรู้เอง มีอะไรเกิดขึ้นเราจะรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง
หลวง พ่อจึงพูดว่า ตำหนิแผลที่ลี้ลับของเรามีอยู่ ใครจะรู้ดีเหมือนเราไม่ได้ เราต้องรู้เอง คนอื่นก็เช่นเดียวกัน เราจะไปรู้คนอื่นนั้นไม่ได้ ตำหนิแผลที่ลี้ลับของเขา เราจะรู้แทนเขาไม่ได้ ดังนั้นสันทิฎฐิโก อันผู้รู้จะพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบกาลเวลา จะเป็นเวลาไหนก็ได้

หลวงพ่อทำอันนี้ หลวงพ่อรู้ตอนเช้า หลวงพ่อจึงรู้จักสภาพสภาวะความเป็นเอง ไม่ต้องทำอะไร หลวงพ่อพูดความจริง แต่เป็นความเล่น พระพุทธเจ้าฆ่าคน ถ้าพูดอย่างนี้นะเขาไม่พอใจ แต่ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ฆ่าคน พระพุทธเจ้าฆ่าความชั่ว ให้คนเจริญสติ เจริญปัญญา ฆ่าความชั่ว แต่ไม่ได้ฆ่าคนจริงๆ แต่คนธรรมดาฟังไม่รู้ ความชั่วจะหายไปเอง


เหตุการณ์หลังจากที่หลวงพ่อรู้ธรรมะ

หลังจากที่หลวงพ่อรู้ธรรมะแล้ว หลวงพ่อยังอยู่ที่วัดรังสีมุกดาราม จนกระทั่งออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับบ้านของท่านที่ตำบลบ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อกลับไปถึงบ้าน ภรรยาของท่านกำลังไม่สบายมาก ล้มป่วยมาตลอด 3 เดือน นับตั้งแต่หลวงพ่อจากบ้านไปปฏิบัติธรรม เมื่อหลวงพ่อจากบ้านไปนั้น ไม่มีใครทราบว่าท่านไปไหน เมื่อน้องชายของท่าน ไปถามกับภรรยาของท่าน และไม่ได้คำตอบว่าท่านเดินทางไปที่ใด น้องชายของท่านจึงเข้าใจผิด คิดระแวงว่า ภรรยาของท่านฆ่าท่านเพราะต้องการมรดก ซึ่งทำให้ภรรยาของท่านเสียใจมาก

ในขณะนั้นภรรยาของท่านยังลุกไม่ได้ แต่ท่านก็ได้บอกกับภรรยาของท่านว่า ความตายเป็นของธรรมดา และท่านได้บอกให้ภรรยาปฏิบัติธรรมตามวิธีที่ท่านได้ปฏิบัติจนบรรลุธรรมขั้น สูงสุดทันที ภรรยาของท่านมีความเคารพท่านอยู่แล้ว จึงเชื่อฟัง และลงมือปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ

หลวงพ่อกับ ปู่ฮวน, ป้าหนอม, ยายเรือง, ยายจูมศรี, และแม่ดอกไม้

หลวงพ่อเล่าว่า พี่สาวของท่านที่ชื่อ หวัน พิมพ์สอน หรือที่ท่านเรียกว่าป้าหนอม เป็นอีกผู้หนึ่งที่ท่านต้องการให้ปฏิบัติธรรมมากที่สุด ป้าหนอมตกลงจะปฏิบัติ แต่พี่เขยของท่าน คือลุงหนอมไม่ยินยอม หลวงพ่อท่านจึงบอกกับลุงหนอมว่า จะยกที่นาซึ่งเป็นของบิดาท่าน ให้กับลุงหนอม และจะให้ป้าหนอมมาอยู่กับท่าน ทำให้ลุงหนอมโกรธมาก คิดว่าหลวงพ่อดูถูก

หลวงพ่อต้องขอให้ภรรยาของท่านชี้แจงให้ลุงหนอมเข้าใจ ในเวลานั้นบังเอิญบุตรชายของลุงหนอม หรือที่หลวงพ่อเรียกว่าบักหนอม ซึ่งป่วยอยู่สิ้นชีวิตลง หลวงพ่อท่านไม่ยอมไปช่วยงานศพหลาน ท่านให้เหตุผลว่าคนตายแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะไปช่วย ช่วยไม่ได้ ทำให้ลุงหนอมโกรธท่านมากยิ่งขึ้น
ญาติพี่น้องก็พากันแปลกใจและคิดว่าท่านบ้า แต่ก่อนนี้ท่านเคยคุ้มครองช่วยเหลือญาติพี่น้อง แต่มาบัดนี้ท่านกลับกลายเป็นเช่นนี้ไปได้ หลานตายทั้งคนยังไม่มา ทุกคนจึงพากันโกรธหลวงพ่อกันไปหมด ใครมาตามให้ท่านไปเผาศพหลานชาย ท่านก็ไม่ยอมไป ลุงหนอมนั้นโกรธท่านมาก แต่ไม่แสดงออก
เมื่อเผาศพลูกชายเรียบร้อยแล้ว ลุงหนอมก็มาหาท่าน ซักถามเรื่องวิธีปฏิบัติธรรม อันที่จริงหลวงพ่อท่านได้สอนวิธีปฏิบัติให้ป้าหนอมแล้ว แต่ลุงหนอมต้องการจะทราบจากหลวงพ่อเอง

หลังจากที่ลุงหนอมมาหาหลวงพ่อได้ไม่นาน ลุงหนอมก็เป็นโรคตาเจ็บ ลืมตาไม่ได้ ลุงหนอมได้มาขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านเต็มใจช่วย และได้บอกกับลุงหนอมว่า คนเป็นท่านช่วยได้ แต่คนตายท่านช่วยไม่ได้

หลวงพ่อพาลุงหนอมไปรักษาตาที่จังหวัดหนองคาย ครั้นเมื่อหายเป็นปกติแล้ว ลุงหนอมซึ่งเคยสนิทสนมชอบพอกับหลวงพ่อมาก่อนก็กลับมารักใคร่สนิทสนมกับหลวง พ่อเหมือนเดิม ไม่ว่าหลวงพ่อจะพูดอะไรลุงหนอมก็ไม่เคยขัด นอกจากนั้นยังกระตือรือร้นที่จะลงมือปฏิบัติธรรมตามที่หลวงพ่อแนะนำ ถึงกับบอกกับป้าหนอมผู้เป็นภรรยาว่า “แม่หนอม เจ้าไม่ต้องทำ ข้อยทำก่อน”

ลุงหนอมปฏิบัติต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 เดือน ก็ได้รู้รูป-นาม และเมื่อปฏิบัติได้ 3 เดือน ก็ได้เห็นความคิด ต่อจากนั้นป้าหนอมก็มาปฏิบัติธรรมโดยหลวงพ่อไม่ได้ชักชวนแต่อย่างใด

หลวงพ่อท่านเล่าว่าท่านฝึกภรรยาของท่านอย่างเข้มงวดกวดขัน แม้จะมีการเปิดอบรมปฏิบัติธรรมไป 2-3 รุ่นแล้ว แต่ภรรยาของท่านก็ยังคงต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่มีการหยุดหรือเลิกรา จะหยุดได้บ้าง แต่ก็น้อยที่สุด

ท่านเล่าให้ฟังด้วยอารมณ์ขันว่า “คนนี้หยุดไม่ได้ ต้องใช้อำนาจบังคับ เป็นราชาธิปไตย” ท่านถือว่าภรรยาของท่านมีอุปการคุณต่อท่านมากที่สุด เนื่องจากคำพูดของภรรยาที่ว่า ความโกรธทำให้ท่านตกนรกแล้ว นั้น เป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจแสวงหาสัจธรรม

ในเวลานั้นป้าหนอมพี่สาวของท่านได้รู้รูป-นาม หลังจากปฏิบัติธรรมได้ 1 เดือน 18 วัน อีกทั้งได้รู้ความคิดด้วย จึงมีคนมาปฏิบัติกันมากขึ้น หลวงพ่อจึงเริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น โดยสร้างกุฏิขึ้น 13 หลัง หลังคามุงสังกะสี หลวงพ่อได้ขอความร่วมมือจากเจ้าของโรงเลื่อยเชียงคาน ซึ่งหลวงพ่อเคยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน เมื่อครั้งที่ท่านยังทำการค้าขายอยู่ รถโรงเลื่อยต้องขนไม้บุกเข้าไปส่งที่ๆ ดินซึ่งหลวงพ่อเตรียมไว้ เจ้าของโรงเลื่อยถามหลวงพ่อว่าจะเอาไม้ไปทำอะไร หลวงพ่อตอบว่าเอาไปสร้างสำนักวิปัสสนา เจ้าของโรงเลื่อยก็ถามว่า วิปัสสนาเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ได้สนใจอีกต่อไป
หลวงพ่อใช้เวลาก่อสร้างกุฏิสิบกว่าวันจึงแล้วเสร็จ พร้อมที่จะเปิดการอบรมวิปัสสนา ก่อนการเปิดอบรม หลวงพ่อท่านได้ไปขอพบท่านเจ้าคณะจังหวัดเลย สีหนาทภิกขุ กราบเรียนว่าท่านมีอุดมการณ์ต้องการจะฟื้นฟูหลักพระพุทธศาสนา ท่านเจ้าคณะจังหวัดได้ถามท่านว่าจะทำอย่างไร ท่านกราบเรียนว่าจะเปิดอบรมวิปัสสนา ท่านเจ้าคณะจังหวัดเห็นชอบด้วย และได้เขียนหนังสือเป็นทางการถึงเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย

หลวงพ่อขอเป็นผู้นำหนังสือดังกล่าวไปถวายเจ้าคณะจังหวัดด้วยตนเอง แม้ว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดเลยจะทักท้วงว่าการเดินทางลำบาก ถนนยังเป็นลูกรัง ขรุขระกันดารมาก และในขณะนั้น หลวงพ่อก็ได้ขายเรือกลไฟและเรือกระแชงทั้งหมด ที่ท่านมีอยู่ไปแล้ว ที่หลวงพระบาง ก่อนที่ท่านจะออกปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อเดินทางด้วยรถยนต์มาที่จังหวัดอุดรธานี ค้างแรมกับเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านเคยจักชอบพออยู่ 1 แล้วจึงเดินทางต่อไปจังหวัดหนองคาย เพื่อกราบเรียนเจ้าคณะจังหวัดหนองคายเรื่องการเปิดสำนักวิปัสสนา หลวงพ่อได้เดินทางไปพบพระสงฆ์หลายรูปที่ท่านรู้จัก เพื่อขอความร่วมมือร่วมใจจากท่านเหล่านั้น ในการเปิดอบรมวิปัสสนา อาทิ กลุ่มของพระมหาไพฑูรย์ ที่ อ.ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งหลวงพ่อก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยชอบการทำบุญ เข้าวัดฟังธรรม มาตั้งแต่ยังหนุ่ม

ท่านได้ข้ามไปเมืองลาว เพื่อพบท่านอาจารย์ปาน และได้ซื้อเครื่องขยายเสียงติดเรือกลไฟ โฆษณาสำนักวิปัสสนามาตลอดริมแม่น้ำโขง มาจนถึงบ้านของท่าน ท่านเล่าว่าในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จักคำว่าวิปัสสนา

เมื่อหลวงพ่อกลับมาถึงบ้าน ท่านได้เปิดอบรมขึ้นเป็นเวลาสิบกว่าวัน ท่านเล่าว่าท่านเสียสละเพื่อสิ่งนี้จริงๆ ท่านเตรียมข้าวปลาอาหารไว้รับรองผู้มาปฏิบัติด้วยทุนทรัพย์ของท่าน และท่านคำนวณว่า เงินทองที่ท่านมีอยู่ จะสามารถใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร สำหรับผู้มาปฏิบัติได้เป็นเวลา 3 ปี

ในการจัดอบรมครั้งแรก มีผู้เข้าอบรมทั้งหมดประมาณ 30-40 คน มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เจ้าคณะจังหวัดเลย และเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ได้เดินทางมาร่วมในการอบรมด้วย เมื่อท่านทั้งสองเดินทางกลับไปแล้ว หลวงพ่อก็เป็นผู้สอนการปฏิบัติ มีผู้รู้ธรรมเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเล่าว่า คนที่ไม่เห็นชอบด้วยก็มี แต่ท่านไม่สนใจ ท่านคิดว่าเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ท่านไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของใครทั้งหมด ท่านพูดให้ฟังถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของท่านว่า

“โอ้โฮ..... อันตราย หลวงพ่อสู้จริง ไม่ใช่สู้น้อย เรียกว่าลมพัดใบไม้หักไปทั้งหมด แต่หลวงพ่อไม่หัก ทุกคนกลัวทั้งนั้น เพราะหลวงพ่อมีกำลังอยู่แล้ว”

ในช่วงเวลานั้น ท่านยังไม่คิดจะบวชเป็นพระ ด้วยท่านเมตตา ต้องการให้ญาติพี่น้องของท่านได้รูปธรรมมากที่สุด หากท่านบวชเป็นพระแล้วก็ต้องลือว่าตัดขาดจากญาติพี่น้อง ไม่อาจใช้อำนาจบังคับผู้ใด ให้มาปฏิบัติธรรมตามความประสงค์ของท่านได้ ท่านเล่าว่าท่านวางแผนให้ญาติพี่น้องมาปฏิบัติธรรมโดยใช้มรดกเป็นเครื่องต่อรอง

หลังจากที่หลวงพ่อบรรลุธรรมและเป็นฆราวาสอยู่เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนนั้น ท่านได้เปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน 2 สำนักและที่บ้านนาบอนอีก 2-3 สำนัก แต่ละสำนักต่างก็ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เจ้าคณะอำเภอเชียงคานก็ได้ให้การสนับสนุนหลวงพ่อเป็นอย่างดี

ภรรยาของท่านปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลา 2 ปีกว่าก็ถึงที่สุดของทุกข์ หลวงพ่อเล่าว่าขณะนั้นภรรยาของท่านกำลังเก็บผักอยู่ในสวนครัวเพื่อจะมาต้ม รับประทานในตอนกลางวัน เก็บได้ไม่เท่าใดก็พูดขึ้นมาว่า

“โอ๊ย ! ข้อยเป็นหยังหวา...”

หลวงพ่อท่านถามว่า เป็นอย่างไร

ภรรยาของท่านก็ตอบท่านว่า “หมดตัวแล้ว มันจืดหมด จับแขนดูสิ”

หลวงพ่อจึงบอกกับภรรยาของท่านว่า “เอ้า ! อย่าไปดูอย่างนั้น ทำสบายๆ อย่าไปยุ่ง”

ภรรยาของท่านบอกท่านว่า “มันหดเข้าไปหมดตัว เหมือนเนื้อถูกเกลือ”

หลวงพ่อจับตัวภรรยาของท่าน ภรรยาของท่านก็บอกว่า สบายแล้ว

ท่านจึงบอกว่า “อย่าไปยุ่งมัน ความทุกข์มันมีที่ตัวเราเอง”

ภรรยาของท่านได้บอกท่านว่า สบายแล้ว

มื่อภรรยาของท่านได้รู้ธรรมจนถึงที่สุดของทุกข์แล้ว หลวงพ่อจึงปรึกษากับญาติมิตรว่า ท่านจะละเพศฆราวาส ไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่ประการใด หลวงพ่อจึงได้ให้ลูกของท่านเข้ารับการอบรมวิปัสสนาก่อนที่ตัวท่านเองจะบวชเป็นบรรพชิต

ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในช่วงเวลา 2 ปี 8 เดือน ที่หลวงพ่อเป็นฆราวาสอยู่นั้น มีผู้ที่รูปธรรมเห็นธรรมเป็นจำนวนเท่าใด ท่านตอบว่าที่รู้รูป-นาม นั้นมาเล่าให้ท่านฟังเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องหมดเนื้อหมดตัวนั้น น้อยคนที่จะพูด ใน 100 คน จะมีสัก 20-30 คนที่พูดให้ท่านฟัง


อุปสมบทครั้งที่สอง

หลวงพ่อบวชเป็นพระครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 ที่วัดศรีคุณเมือง ตำบลบ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีพระ วิชิตธรรมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการชุนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุบรรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 48 ปี

เมื่อบวชเป็นพระแล้ว หลวงพ่อก็ได้ทำหน้าที่ของท่าน คือสอนธรรมะให้ทั้งพระสงฆ์และญาติโยม ท่านเล่าว่าท่านสอนไปทุกที่ ไม่จำกัดว่าอยู่ในวัดหรือกุฏิ แม้แต่คนเดินอยู่บนถนน ถ้าถามท่านๆ ก็แนะนำให้ หรือบางครั้ง ท่านก็ยังเคยเป็นผู้ถามนำขึ้นก่อนก็มี ท่านมักจะถามผู้ที่ได้พบปะสนทนากับท่านว่า เขาผู้นั้นมีความทุกข์เดือดร้อนอะไรบ้าง ถือศาสนาพุทธมากี่ปีแล้ว และความทุกข์ลดน้อยลงไปบ้างหรือไม่ หรือยังคงมีความทุกข์อยู่ตามเดิม เพราะหากยังมีความทุกข์อยู่ตามเดิม แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา เพียงเข้าใจหลักศีลธรรม ศาสนาศีลธรรม ไม่ใช่เป็นพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาสอนให้คนมีปัญญา กำจัดเหตุแห่งทุกข์ลงได้

หลวงพ่อสอนธรรมะแก่พระสงฆ์และญาติโยมอยู่ที่บ้านเกิดของท่านราวปีกว่า ท่านจึงย้ายเข้ามาอยู่ในอำเภอเชียงคาน ขณะนั้น หลวงพ่อตั้งสำนักวิปัสสนาอยู่ที่อำเภอเชียงคาน 2 แห่ง คือที่วัดสันติวนาราม และที่วัดโพนชัย นอกจากนั้น หลวงพ่อยังได้ข้ามไปเปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่เมืองลาวอีกแห่งหนึ่งด้วย
ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

หลังจากที่หลวงพ่อเปิดอบรมวิปัสสนาอยู่ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีผู้กล่าวหาว่าหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากคำสั่งสอนของหลวงพ่อชัดแย้งกับสิ่งที่คนเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติ อยู่ หลวงพ่อท่านสอนให้เลิกละธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งแท้จริงแล้ว มิได้เกื้อกูลต่อการสร้างบุญสร้างกุศลแต่อย่างใด เช่นการฆ่าวัวฆ่าควาย หรือการเลี้ยงสุรา เครื่องดองของเมา การเล่นการพนันในงานบุญ

ท่านกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่ใช่บุญ แต่เป็นบาป ผู้ที่ไม่เข้าใจ จึงกล่าวหาว่า ท่านลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี

หลวงพ่อเล่าว่า บางคนไม่เข้าใจเรื่องการทำบุญ คนประเภทนั้นเมื่อไม่รู้จักบุญ ก็ย่อมเอาบุญไม่ได้ หรือทำบุญ แต่อาจกลายเป็นบาปไปได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อญาติโยมมีศรัทธาช่วยกันสร้างโบสถ์หรือกุฏิขึ้น ความรู้สึกศรัทธา ยินดีในสิ่งที่ทำนั้น ทำให้ใจเป็นสุข นับว่าเป็นบุญ แต่เมื่อลงมือสร้างไปได้สักระยะหนึ่ง มีเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมางใจกัน ก็กลับกลายเป็นบาปไปแล้ว เราจึงได้บุญในขณะที่เราดีใจ แต่ในขณะที่โกรธขึ้นมาความดีใจหรือบุญนั้นก็หมดไป

หลวงพ่อเปรียบเทียบให้ฟังว่า สมมุติเราปลูกบ้านหลังหนึ่ง สวยงามถูกใจเราทุกอย่าง เราขนของเข้าไปอยู่สักระยะหนึ่ง แล้ววันหนึ่ง เราก็เอาน้ำมันก๊าดสักปี๊บหนึ่งเทราดบนพื้นแล้วจุดไฟเผาบ้านหลังนั้น ไม้ขีดก้านเดียวนั้นก็เผาบ้านหลังใหญ่นั้นได้ทั้งหลัง จะใช้เป็นที่คุ้มแดดคุ้มฝนต่อไปอีกไม่ได้ การทำบุญก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่ทำเราดีใจ แต่เมื่อโกรธขึ้นมาครั้งเดียว บุญที่ทำหมดแล้ว ดังนั้น การทำบุญ กับการรักษาบุญนั้นไว้ จึงเปรียบเทียบได้กับการปลูกบ้านและการรักษาบ้าน การรักษาบ้านให้มีสภาพดีอยู่เสมอนั้น ต้องใช้เวลานาน จึงนับว่าเป็นภาระผูกพันมากกว่าการปลูกบ้าน ดังนั้นเมื่อทำบุญแล้วก็ต้องรักษาบุญนั้นไว้ให้ได้

หลวงพ่อท่านเล่าว่า ท่านสอนเช่นนี้ คนมีปัญญาฟังแล้วเข้าใจ แต่คนไม่มีปัญญา ฟังแล้วไม่เข้าใจ คนฟังธรรมะของท่านมี 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง ฟังแล้วเข้าใจ ส่งเสริมสนับสนุนท่าน ช่วยท่าน
ประเภทที่สอง ฟังแล้วกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม หาวิธีกลั่นแกล้ง ขัดขวาง
ประเภทที่สาม ฟังแล้วก็แล้วไป ไม่มีความสนใจแต่ประการใด

พวกนี้ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของหลวงพ่อ ก็สงสัยว่า หลวงพ่อคงจะเป็นคอมมิวนิสต์ และได้เงินมาจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เอาเครื่องบินมาสอบสวนหลวงพ่อ ติดตามหลวงพ่อ และไปสอบถามตามบ้านต่างๆ ชาวบ้านแถบนั้น ซึ่งมีทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของหลวงพ่อ และทั้งผู้ที่มิได้ปฏิบัติธรรม ต่างก็ให้การตามความเป็นจริงว่า หลวงพ่อท่านไปปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อกลับมาบ้านแล้วท่านก็สอนธรรมะอยู่ราว 2 ปีเศษจึงได้บวชเป็นพระ และไว้สอนธรรมะเรื่อยมา แต่คำสอนของท่านนั้นแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น ท่านชอบพูดว่า คนไม่รู้จักบุญ เอาบุญไม่เป็น คนไม่รู้จักบาป จะหลีกบาปไม่ได้ เมื่อครั้งท่านเป็นฆราวาสก็เป็นผู้ที่ทำบุญทำกุศลอยู่เป็นนิจ

เจ้าหน้าที่ได้สอบถามไปทั่วๆ ทั้งคนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าคนแก่ ต่างก็ให้การเป็นเสียงเดียวกันหมด
หลวงพ่อท่านไม่มีความวิตกกังวลใดๆ ในเรื่องที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านยังคงยืนหยัดสั่งสอนธรรมะตามแนวของท่านเรื่อยไป ท่านกล่าวว่าเมื่อเราทำดี คนอื่นว่าชั่วก็เป็นเรื่องของเขา ในทำนองเดียวกันเมื่อเราทำชั่ว แต่เขาชมว่าเราทำดี เราก็ไม่ได้ดีไปตามปากเขาเช่นกัน เรื่องคำพูดจึงเป็นเพียงเรื่องสมมุติ

หลวงพ่อพยายามสอนให้คนที่ไม่เข้าใจ ได้มาเข้าใจว่า บุญนั้นคือความพอดี เหมือนกับเมื่อเราจะปลูกบ้าน เราต้องรู้เรื่องฐานราก ต้องรู้ว่าเสาเข็มขนาดไหน จะรับน้ำหนักได้เพียงใด ต้องรู้ว่าจะต้องใช้ไม้ขนาดเท่าไร ถ้าจะใช้ไม้ยาว 2 เมตร แต่ตัดมา 2 เมตรครึ่ง ที่เหลือก็เสียประโยชน์ ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่าไม่รู้จักความพอดี ถ้าเรา พอดี ใครพูดอะไรมาก็ย่อมรู้ แต่ถ้าใครมาชมเราแล้วเราดีใจ หรือใครมาตำหนิเรา เราก็เสียใจ แสดงว่าเรายังไม่พอดี จะเรียกว่ามีบุญไม่ได้เพราะยังเอียงซ้ายเอียงขวาอยู่ หวั่นไหวไปกับคำพูดซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ เราต้องอยู่ด้วยความพอดีหรือความปกติ บุญคือปกติ ศีลคือปกติ บุญคือพอดี ศีลคือพอดี ถ้าไม่พอดี ไม่ปกติ ก็แสดงว่ายังไม่มีบุญ ยังไม่มีศีล

ท่านเล่าว่า การที่ท่านพูดเช่นนี้ พวกที่ไม่เข้าใจก็ว่าท่านพูดรุนแรง ธรรมะสูงเกินไป แต่หลวงพ่อก็ยังคงยืนยันคำสอนของท่านเช่นนี้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ได้ไปขอสอบสวนเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอ แต่ท่านทั้งสองก็ได้ยืนยันกับทางเจ้าหน้าที่ว่า หลวงพ่อไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพียงแต่คนฟังธรรมะของท่านไม่เข้าใจ

หลวงพ่อเล่าว่าเจ้าคณะอำเภอ ได้เอาจดหมายที่มีผู้บอกให้ท่านขับไล่หลวงพ่อ ให้หลวงพ่อดู สิบกว่าฉบับ ทั้งเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอต่างสนับสนุนให้หลวงพ่อปฏิบัติหน้าที่สอน ธรรมะของท่านต่อไป และในเมื่อชาวบ้านต่างให้การตามความเป็นจริง เรื่องที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จึงค่อยๆ เงียบลงและเลิกราไปในที่สุด


ผีผานกเค้า

พรรษาที่ 4 หลวงพ่อไปจำพรรษาที่ตำบลผานกเค้า จังหวัดเลยได้พบสามเณร 2 รูปชื่อ เณรสมัคร และเณรรอด หลวงพ่อได้เณรทั้งสองมาอยู่เป็นเพื่อน เมื่อมีข้าวสุกที่บิณฑบาตเหลือจากฉัน หลวงพ่อก็ให้เณรเอาไปตากแห้งแล้ว.เอาไปขาย ได้เงินมากให้เอาไปให้พ่อแม่ของเณร หลวงพ่อบังคับให้เณรทั้งสองรูปเดินจงกรม เณรก็มีความเพียรในการปฏิบัติ จึงได้รู้ธรรมะขึ้น หลวงพ่อพาเณรทั้งสองไปดูผานกเค้า ในสมัยนั้นเป็นที่ร่ำลือกันว่า ผีผานกเค้านั้นมีอิทธิฤทธิ์มาก รถที่ผ่านผานกเค้าต้องเอาไก่ย่างและสุราไปเซ่นสรวง จึงจะเดินทางโดยปลอดภัย

โยมแม่ของเณรก็เกรงกลัวผีผานกเค้า หลวงพ่อท่านจึงให้เณรบอกกับโยมแม่ของเณรว่า ผีตาปู้ ผีผานกเค้ากลัวเณร ต้องกราบเณร โยมแม่ของเณรก็ยิ่งโกรธหนักขึ้น ต่อมาหลวงพ่อจึงพาเณรทั้งสองหนีมาอยู่ในตัวจังหวัดเลย โยมแม่ของเณรตามหาไม่พบ จึงไปกราบเรียนถามกับเจ้าคณะอำเภอ ได้ความจากเจ้าคณะอำเภอว่า เณรไปอยู่กับหลวงพ่อเทียนที่ในเมือง ถ้าจะไปหาลูกชายต้องปฏิบัติธรรมก่อน โยมแม่ของเณรจึงได้ปฏิบัติธรรมและรู้ธรรมะขึ้น จึงได้เลิกความเชื่องมงายเรื่องผีผานกเค้า

หลวงพ่อท่านจึงได้พูดให้ชาวบ้านที่ผานกเค้าฟังว่า

“ผีผานกเค้ามันจะไปศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร เอาไก่ย่างเอาอะไรให้กิน ก็กินไม่เป็น ผีมันโง่ขนาดนี้แล้ว แต่คนยิ่งโง่กว่าผีอีก สุนัขยังไม่เคยกลัวผี มืดค่ำแล้วมันก็ยังเข้าไปในป่าช้า ป่าเหวได้ แต่คนกลับกลัวผี จิตใจคนจึงแย่กว่าสุนัข”

หลวงพ่อเล่าว่า บางคนฟังแล้วก็ได้สติ เลิกเชื่อถืองมงาย แต่บางคนฟังแล้วกลับโกรธ หลวงพ่อท่านให้เณรพาเด็กคนหนึ่งไปรับประทานของที่คนเอามาเซ่นผีผานกเค้า เณรและเด็กจัดการกับอาหารที่เซ่นผีผานกเค้าเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีอะไรเกิด ขึ้น หลังจากนั้น ความงมงายเกี่ยวกับผีผานกเค้าจึงลดน้อยลง รถ 10 คันจะนำของไปเช่นสรวงผีผานกเค้าไม่เกิน 3 คัน


ปัจฉิมวัย

นับเป็นเวลากว่า 30 ปีที่หลวงพ่อได้มานะบากบั่น อบรมสั่งสอนธรรมะ แก่เพื่อนมนุษย์ โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากและอุปสรรคใดๆ ปฏิปทาข้อนี้ของท่าน ย่อมเป็นที่ซาบซึ้งใจแก่บรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี

หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคมะเร็งมาตั้งแต่ต้นปี 2525 โดยก่อนมีอาการอาพาธปวดท้องอยู่เนืองๆ

ในระหว่างที่ท่านโปรดลูกศิษย์ที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 นั้น ท่านมีอาพาธปวดท้องอย่างรุนแรง จนถึงกับต้องลงนอนเหยียดยาวกับพื้นทันทีที่ท่านกลับเข้ามาในที่พัก หลังจากที่ท่านเดินจงกรมบนถนนหน้าบ้านพัก ท่านจำเป็นของเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่สิงคโปร์ ถึงกระนั้น ท่านก็ยังคงเมตตาสั่งสอนชาวสิงคโปร์ผู้สนใจในการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด

และในคราวที่ท่านรับนิมนต์ไปโปรดลูกศิษย์ชาวสิงคโปร์ครั้งที่สองเมื่อเดือน ตุลาคมปีเดียวกันนั้น อาการของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ปรากฏขึ้นอย่างเฉียบพลัน ท่านจำเป็นต้องเดินทางกลับเพื่อเข้ารับการผ่าตัดโดยทันทีตามคำแนะนำของคณะ แพทย์ชาวสิงคโปร์

หลวงพ่อได้รับการผ่าตัดครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี ท่านจึงได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสมิติเวช จากการผ่าตัดครั้งที่สองนี้ แพทย์พบว่าโรคมะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว แม้กระนั้นหลวงพ่อท่านก็มิได้เคยแสดงให้เห็นถึงทุกขเวทนาแต่อย่างใด

เมื่อต้นปี 2529 ท่านจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้ง เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่ามีโรคมะเร็งเกิดขึ้นอีกที่ลำไส้ หลังจากนั้นท่านก็ยังคงได้รับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ จากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลสมิติเวช

แม้ว่าท่านจะอาพาธด้วยโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิต และก่อให้เกิดวิบากของสังขาร ซึ่งดูเหมือนว่าจะหนักหนาเกินกว่าจะกล่าว สำหรับคนทั่วไป แต่หลวงพ่อยังคงดำเนินชีวิตของท่านด้วยความปกติ ปกติทั้งกายและใจ ท่านยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้ได้รูปธรรมมากที่สุดเท่าที่ท่านสามารถจะทำได้ การเผยแพร่ธรรมะในระยะหลังนี้จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าในช่วงปีสุดท้ายนี้สุขภาพของหลวงพ่อจะทรุดโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง แต่ท่านก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจของท่านในการปรับปรุงเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่จะก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ปฏิบัติ

พรรษาสุดท้าย ท่านจึงไปจำพรรษาอยู่ที่ทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย แม้ว่าท่านจำเป็นต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ถึงเดือนละ 2-3 ครั้งเพื่อรับการตรวจรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ท่านสู้ทนตรากตรำด้วยเมตตาธรรม หวังจะสร้างเกาะพุทธธรรม ให้เป็นที่ผลิตผู้รู้ธรรมะ ออกไปอบรมสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ ท่านเคยพูดว่า ต่อไปภายหน้าเกาะพุทธธรรมนี้จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ไม่แพ้ที่ใด

ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคนิวมอเนีย ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดเลย และกลางเดือนสิงหาคม ขณะที่เดินทางกลับจากจังหวัดเลย หลวงพ่อถูกฝน ต่อมามีไข้สูงและอ่อนเพลียลง แพทย์ตรวจพบว่า หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคปอดบวม จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันอาการของโรคมะเร็งได้กำเริบหนักขึ้น สุขภาพของหลวงพ่อทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่วิตกห่วงใยแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ แม้จะทราบดีว่าสภาวะจิตของท่านนั้นอยู่เหนือวิบากทั้งปวงของสังขารแล้วก็ตาม ทีวันหนึ่งศิษย์ที่เฝ้ารักษาพยาบาลได้กราบเรียนถามท่านว่า

“หลวงพ่อมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ไม่มีทุกข์ ใช่ไหม ขอรับ”

ท่านยิ้มและตอบว่า “ใช่”

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2531 หลวงพ่อออกจากโรงพยาบาล และกลับมาพำนักที่วัดสนามใน

วันที่ 6 กันยายน ท่านปรารภว่าจะกลับไปจังหวัดเลย บรรดาศิษย์ได้กราบเรียนทักท้วงว่า หากท่านเดินทางไปจังหวัดเลยในขณะนั้น ท่านก็จะต้องเดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีกในวันที่ 13 กันยายน เพื่อรับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัด แต่หลวงพ่อกล่าวว่าท่านจะไม่กลับมาอีก

และในวันที่ 7 กันยายน หลวงพ่อได้มอบหมายให้พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้พยาบาลท่าน ติดต่อให้ศิษย์ที่ใกล้ชิด จองตั๋วเครื่องบินไปจังหวัดเลยเที่ยวบินวันที่ 9 กันยายน โดยก่อนให้จองตั๋วเที่ยวไปเท่านั้น เพราะท่านจะไม่กลับมาอีก ทั้งนี้ท่านกำชับมิให้บอกผู้ใด

ต่อมาเมื่อญาติโยมและบรรดาศิษย์ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อจะเดินทางกลับจังหวัดเลย ต่างพากันทราบเรียนขอร้องมิให้ท่านเดินทางไปจังหวัดเลย ท่านกล่าวว่า

“โรครักษาได้ แต่ชีวิตรักษาไม่ได้”

วันที่ 9 กันยายน หลวงพ่อเดินทางกลับจังหวัดเลย โดยมีศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและที่เป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งเดินทางไปส่งท่าน ในขณะนั้นอาการของหลวงพ่อทรุดหนัก จนเป็นที่น่าวิตกว่า ร่างกายของท่านอาจจะไม่สามารถทนต่อความกระทบกระเทือนจากการเดินทางได้

เมื่อเดินทางถึงทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย หลวงพ่อปฏิเสธที่จะฉันยาทุกชนิด แม้ว่าหลวงพ่อจะมีวิบากของสังขารหนักหนาปานใด ท่านก็ยังเมตตาแสดงธรรมโปรดญาติโยมและศิษย์ที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 18.15 น. หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ศาลามุงแฝกของเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต


สถานที่ที่หลวงพ่อจำพรรษาตามลำดับเวลา

พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2503
วัดบรรพตคีรี หรือนาย่าหนอม บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

พรรษาที่ 2-3 พ.ศ. 2504-2505
เมืองลาว

พรรษาที่ 4 พ.ศ. 2506
ผานกเค้า พบพระอาจารย์มหาบัวทอง พุทธโฆสโก

พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2507
วัดโนนสวรรค์ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2508
วัดบรรพตคีรี

พรรษาที่ 7-11 พ.ศ. 2509-2513
ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย

เริ่มก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ปัจจุบันป่าพุทธยานเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยครู จังหวัดเลย และป่าพุทธยานได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกำเนิดเพชร อำเภอเมือง จังหวัดเลย

พบพระอาจารย์บุญธรรม ปลายปี พ.ศ. 2509

พบพระอาจารย์ทอง อาภากโร และพระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ พ.ศ. 2510

พรรษาที่ 12-14 พ.ศ. 2514-2516
วัดโมกขวนาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในขณะนั้นหลวงพ่อกำลังแสวงหาสถานที่สำหรับเผยแพร่ธรรมอยู่ บังเอิญมีกุฏิว่างอยู่หลังหนึ่ง ชาวบ้านหัวทุ่งและคำไฮ จึงได้ถวายกุฏิหลังนั้นให้หลวงพ่อจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่หา ระยะนี้เองที่ธรรมะและวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเริ่มแพร่หลายเป็นที่รู้จักมาก ขึ้น

พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2517
เวียงจันทน์ ประเทศลาว

พรรษาที่ 16-17 พ.ศ. 2518-2519
วัดชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีญาติโยมนิมนต์หลวงพ่อมาจำพรรษาที่วัดสนามใน * ตำบลชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นวัดร้าง หลวงพ่อเริ่มมาดูสถานที่ หักร้างถางพง ปลูกกุฏิตอนปลายปี พ.ศ. 2519 และท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์ทองล้วน อธิปญฺโญ มาอยู่ก่อนที่ท่านจะมา

พรรษาที่ 18-19 พ.ศ. 2520-2521
วัดสนามใน

พรรษาที่ 20 พ.ศ. 2522
วัดสวนแก้ว อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

พรรษาที่ 21-23 พ.ศ. 2523-2525
วัดสนามใน

พ.ศ. 2525 หลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศสิงคโปร์ 2 ครั้ง และในปีนี้เองที่ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร

พรรษาที่ 24 พ.ศ. 2526
วัดโมกขวนาราม

ต้นปี 2526 หลวงพ่อได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมทับมิ่งขวัญ * ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย

พรรษาที่ 25-28 พ.ศ. 2527-2530
วัดสนามใน

ต้นปี 2529 หลวงพ่อเริ่มปรับปรุงเกาะพุทธธรรม ซึ่งอยู่ถัดจากทับมิ่งขวัญ ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

พรรษาที่ 29 พ.ศ. 2531
สำนักทับมิ่งขวัญ

หลวงพ่อตัดสินใจจำพรรษา ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย ณ สถานที่นี้ เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดของท่านในการอบรมสั่งสอนธรรมะแก่ศิษยานุศิษย์และ ควบคุมดูแลการปรับปรุงเกาะพุทธธรรม เพื่อให้เป็นสถานที่ผลิตผู้รู้ธรรม ออกไปสั่งสอนธรรมะแก่บุคคลทั่วไปสืบไป

* วัดสนามใน แต่เดิมเป็นวัดร้าง ขณะที่หลวงพ่อจำพรรษาและสอนปฏิบัติธรรมที่วัดชลประทาน ได้มีญาติโยมกลุ่มหนึ่งนิมนต์หลวงพ่อให้มาพัฒนาวัดร้างนี้ เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นที่สงบสงัดห่างไกลจากชุมชน ขณะนั้นวัดร้างแห่งนี้และบริเวณโดยรอบยังเป็นป่าทึบและดงหวาย มีงูพิษชุกชุม เมื่อหักร้างถางพงแล้วจึงพบกองอิฐเป็นหย่อม และเสาโบสถ์ แสดงให้เห็นว่า เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์และศาลามาก่อน หลวงพ่อได้มาช่วยก่อสร้างกุฏิ ซึ่งต่อมาเป็นที่พำนักของท่านเจ้าอาวาส ด้วยตัวของท่านเอง

* ทับมิ่งขวัญ ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2526 โดยศิษย์กลุ่มหนึ่งได้มาซื้อที่ดินราว 3 ไร่เศษ ตามดำริของหลวงพ่อ และได้ปลูกสร้างเรือนไม้หลังย่อมๆ ไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม


หนังสือ...ปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม มีนาคม 2532
เว็บไซต์ http://www.watsanamnai.org/



เดี๋ยวมาต่อค่ะ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร