วันเวลาปัจจุบัน 05 ต.ค. 2024, 08:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 15:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุดดา ถาวโร

วัดกลางชูศรีเจริญสุข
ต.พักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี



๐ ชาติกำเนิด – ภูมิลำเนา

เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่ตำบลพุคา อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ท่านเคยชี้ตำบลเกิดของท่านขณะขึ้นรถไฟผ่าน อยู่เหนือสถานีโคกกระเทียมเล็กน้อย เป็นหมู่บ้านเล็กห่างจากทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกราว ๒ กม. ท่านบอกว่า หมู่บ้านหนองเต่า คงเป็นชื่อหมู่บ้านเดิม บิดาของท่านชื่อ น้อย มงคลทอง มารดาของท่านชื่อ อึ่ง มงคลทอง มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ยังเหลือน้องชายคนเล็กชื่อ เหลือ มงคลทอง นอกนั้นถึง แก่กรรมไปหมดแล้ว

๐ อุปสมบท

วันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๖๕ ที่วัดเนินยาว ต.โพนทอง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีพระครูธรรมขันธสุนทร (ม.ร.ว. เอี่ยม บ้านเดิมท่านอยู่ กทม.) เป็นอุปัชฌาย์ และมีคณะสงฆ์ ๒๕ รูป เป็นพระอันดับ ซึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร นับถือว่าเป็นอาจารย์ท่าน

ประวัติทั่วไป

ชีวิตตอนเยาว์ ชีวิตตอนต้นของหลวงปู่ก็เหมือนกับชีวิตเด็กลูกชาวนาบ้านนอกทั่วไป ในสมัยนั้นที่ไม่มีโรงเรียนใกล้เคียง จึงไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือ มีแต่ทุนเดิมที่ได้ฝึกฝนอบรมมาดีในอดีตชาติ จึงเป็นผู้ระลึกชาติได้แต่เด็ก ท่าได้ไปพบเห็นสิ่งที่ปรากฏตามภาพนิมิต ของอดีตได้ถูกต้อง และได้มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนท่านต้องขุดกระดูกของท่านที่ถูกฝังไว้ในอดีต

การเห็นภาพในอดีตนั้นท่านเห็นได้หลายภพ ในกรณีหลวงปู่บุดดา อดีตชาติท่านเกิดเป็นชายทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตัวหนังสือที่ใช้เป็นตัวหนังสือแบบเดียวกับสมัยพ่อขุนรามคำแหง มิใช่ตัวหนังสือเดียวกับเมื่อหลวงปู่เป็นเด็ก ท่านจึงอ่านหนังสือไม่ออก แต่พอเป็นทหารท่านได้เรียนหนังสือ ท่านก็สามารถเรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งที่หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการรับราชการเป็นทหารเกณฑ์นั้นหนักมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องมากจากสาเหตุสองประการ ที่ทำให้สามารถรู้หนังสือได้ดีเพราะท่านรู้หลักของหนังสือเดิมดีอยู่แล้ว พอเทียบตัวถูกท่านก็อ่านได้ และสมาธิจิตของท่านเข้าอันดับญาณจึงสามารถทำอะไรได้ง่าย

อดีตสัญญา

ถ้าสอบถามถึงอดีตชาติแล้ว ท่านมักปรารภเสมอว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้ท่านรู้สึกเบื่อหน่าย เช่น เล่าว่านับถอยหลังปัจจุบันไป ๗ ชาติ ท่านได้เกิดเป็นบุรุษทุกชาติ และเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่มาก รวมทั้งไม่มีครอบครัวเลย ตลอด ๗ ชาติ ที่ผ่านมาส่วนมากท่านเกิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมากกว่าฝั่งขวา มีชาตินี้เท่านั้นที่ท่านมีอายุยืน พี่ชายของท่านในอดีตชาติทั้งรักและตามใจทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กจะไปไหน ก็พาท่านไปด้วย ได้สัญญากับท่านไว้ว่าจะไม่ทิ้งเป็นอันขาด ท่านจึงเกิดเป็นบุตรในชาติปัจจุบัน

ฉะนั้นเมื่อบิดาของท่านตีท่านในสมัยเด็ก ท่านเล่าว่า ท่านวิ่งออกไปนอกบ้านแล้วตะโกนว่า “พ่อโกหก ๆ ๆๆ” ไม่ยอมหยุดจนมารดาของหลวงปู่เห็นผิดสังเกต จึงไปปลอบถามว่า “พ่อโกหกเรื่องอะไร” ท่านจึงได้เล่าเรื่องอดีตสัญญาให้มารดาของท่านฟังว่า “พ่อไม่รักษาคำพูด” ผู้ใดสามารถเฉลยอดีตสัญญาแบบนี้ให้เป็นธรรมและยอมรับกันได้ทั่วไปบ้าง ?

เรื่องอายหมา

หลวงปู่เล่าว่า ตั้งแต่เด็กท่านมักจะบอกกับมารดาของท่านเสมอว่า โตขึ้นท่านจะไม่มีครอบครัว เพราะท่านละอายใจดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

อดีตชาติหนึ่งในหนหลังเมื่อท่านเป็นหนุ่มเกิดพอใจหญิงสาวชาวบ้านใกล้เคียงกันผู้หนึ่งจึงไปอู้สาวผู้นั้น แทนที่ฝ่ายหญิงจะพูดดีกับลำเลิกอดีตชาติว่า

“หลวงปู่ที่เป็นชายหนุ่มในชาตินั้นเป็นผู้ทำให้เขาถูกทุบตี และถูกจับผูกทรมานอดอาหารจนท้องกิ่วตาย พอมาชาตินี้มารักเขาทำไม”

หลวงปู่ในชาตินั้นก็มองเห็นอดีตตนเองได้ว่าตอนนั้นท่านเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ประเทศลาว ขณะนอนป่วยอยู่ มีหมาตัวเมียขึ้นมาลักลอบอาหารที่เด็กเก็บไว้ ท่านจึงร้องบอกเด็ก พวกเด็กจึงไล่ตีหมา และพวกเด็กไม่เพียงแต่ไล่ตี คงได้ไล่จับหมาตัวนั้นไปผูกกับรั้ว และกว่าจะถูกจับได้คงต้องไกลกว่าที่สมภารนอนเจ็บประการหนึ่ง และทุกคนก็คงสนใจแต่ความป่วย และการตายของสมภาร ในเวลาต่อมาจึงลืมนึกถึงการจับหมาตัวนั้นไปผูกไว้จนต้องอดถึงตายไป

เมื่อชายหนุ่มระลึกอดีตชาติได้ก็เกิดความสลดและละอายใจว่า “นี่เรากำลังจะเอาหมามาเป็นเมียแล้วหรือ ? ” และเป็นการประทับฝังอยู่ในจิตใจต่อมาทุกชาติ การป่วยและการตายในคราวนั้น หมาตายภายหลัง จึงจองเวรและติดตามถูก

ส่วนการที่เด็กไปตีหมาที่ถูกจับไว้จนหมาตาย ต้องมิใช่คำสั่งของสมภาร หมาจึงจองเวรได้ เพียงหมาถูกตีเพราะเสียงร้องบอกของสมภารเป็นเหตุ หมาจึงทำให้สมภารในอดีตชาติเดือดร้อนเพราะลำเลิกของหญิงนั้นตามอดีตเหตุที่สมภารได้ทำไว้เท่านั้น เรื่องความผูกพันหรือการจองเวรในอดีตชาติทำนองนี้ หลวงปู่ปรารภเสมอว่า เมื่อนึกถึงเรื่องราวในอดีตแล้ว ท่านมีความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดมาตั้งแต่เด็ก

รับราชการทหาร ๒๔๕๘ ท.บ.๓ ล.๑๐


รูปภาพ



หลวงปู่รับราชการทหาร ๒ ปี โดยมีหลักฐานการเป็นทหารปรากฏบนท้องแขนขวาดังนี้ ๒๔๕๘ ท.บ.๓ ล.๑๐ การเกณฑ์ทหารสมัยนั้น เมื่อผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถึงแม้ถูกเกณฑ์แล้วจับ ใบดำได้ไม่ต้องรับราชการทหารในปีนั้นแล้วก็ต้องถูกเกณฑ์ไปทุกปีจนกว่าจะอายุ ๓๐ ปี หลวงปู่เป็นทหารในกองทัพ ๓ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี

ในสมัยนั้น เรื่องการเป็นทหารเกณฑ์ของหลวงปู่นั้น ท่านถูกเกณฑ์ทุกปีและในปีที่มีการคัดเลือกทหารอาสา ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรปในสงครามครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงปู่ก็เคยเล่าว่า ท่านได้อาสาสมัครกับเขาเหมือนกันแต่ท่านกินเหล้าไม่เป็น เขาจึงไม่รับท่าน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาบอกท่านว่า ในทวีปยุโรปอากาศหนาวจัดต้องดื่มเหล้า เพื่อช่วยให้คลายหนาวท่านจึงไม่ได้ไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป

พรรษาแรก ความมุ่งมั่นอดทนของพระใหม่


รูปภาพ



รูปภาพ



เมื่อหลวงปู่อุปสมบทแล้ว ท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดเนินขาว จังหวัดลพบุรี ปฏิบัติอุปัชฌาย์ตามแบบแผนของภิกษุสมัยนั้น ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนทั้งทางปริยัติหรือปฏิบัติ คงทำวัตรท่องหนังสือสวดมนต์และปาฏิโมกข์ แต่ท่านอ้างเสมอว่าอุปัชฌาย์ทุกองค์ท่านสอน ปัญจกรรมฐานให้แล้วในวันอุปสมบท (นั่นก็คือ อุปัชฌาย์ท่านสอนให้ว่า เกศา – ผม โลมา – ขน นักขา – เล็บ ทันตา – ฟัน และ ตโจ – หนัง และทวนกลับ) ว่าให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ในร่างกายของตนและคนอื่น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งกายและจิตใจ เป็นของหาที่ยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้มานานแล้วทุกคน

และในพรรษาที่หลวงปู่บวชนั้น ได้มีการสร้างศาลามุงสังกะสีขึ้น ซึ่งในการมุงหลังคาคราวนั้น มีเรื่องเล่าความมหัศจรรย์ทางอำนาจจิตของหลวงปู่ตั้งแต่สมัยบวชเดือนแรกทีเดียว เพราะในการมุงหลังคาและตามปกติในฤดูร้อน แดดก็ร้อนจัดในตอนบ่ายอยู่แล้ว และเมื่อเครื่องมุงเป็นสังกะสีด้วย ก็ยิ่งทวีความร้อนมากยิ่งขึ้น พอตกตอนบ่ายทั้งพระและชาวบ้านต่างทนความร้อนไม่ไหว ต้องลงมาพักกันหมด คงเหลือแต่หลวงปู่ ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ยังไม่ครบเดือน มุงหลังคาอยู่ข้างบนองค์เดียวจนสำเร็จ

เมื่อรับกฐินแล้วแต่พรรษาแรก หลวงปู่ท่านออกจาริกแสวงหาสถานที่วิเวกเจริญสมรธรรมตามอัธยาศัยองค์เดียว โดยไม่มีกลดมีมุ้ง แบบอุทิศชีวิตและเลือดเนื้อเป็นทาน (แก่ยุง) อยู่นาน จนเลือดแดงฉานติดจีวรและบินไปไม่ไหว

พรรษาที่ ๒ ธุดงค์เดี่ยว

เมื่อกลับจากธุดงค์พอใกล้เข้าพรรษา ท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดผดุงธรรม จังหวัดลพบุรี พอออกพรรษา ท่านก็ธุดงค์ไปองค์เดียวอีก

เหตุอัศจรรย์ผจญวัวป่า

หลวงปู่ท่านเดินธุดงค์ไปหนองคาย โดยออกจากจังหวัดลพบุรีไปทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ผจญเข้ากับวัวป่าฝูงหนึ่ง มันคงแปลกใจว่า เอ๊ะ ? อะไรนะ เป็นอันตรายกับพวกเขาหรือเปล่า หัวหน้าฝูงนั้นเข้ามาดม ๆ ดู แล้วก็ร้องมอ ๆ คล้ายกับจะบอกพรรคพวกว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีอันตราย เข้ามาได้แล้ว ตัวอื่นก็เข้ามาดมจนครบทุกตัวแล้วก็เลยไป

คุณธรรมของท่านนั้น แม้แต่เดรัจฉานก็ส่งภาษาใจให้ผู้รู้เรื่องกันได้ หลวงปู่พูดเสมอว่า ภาษาธรรมนั้น ก็คือภาษาใจ อยู่ที่ไหนก็รู้กันได้ มนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม โลกุตรธรรม

พบซากศพตนเองในอดีต

คราวนี้ท่านได้สอบดูนิมิตสมัยเด็ก ๆ ของท่านว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่นอกนครเวียงจันทร์ไม่ไกลนัก ซึ่งเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เขาก็นำเอาศพในอดีตชาติของท่านไปฝังไว้ และไม่ได้เผา ในนิมิตนั้นท่านเห็นกะโหลกศีรษะขาวโพลน โผล่ดินขึ้นมาตรงตอพุดซา ท่านจึงไปสอบดูตามนิมิต และได้พบกะโหลกศีรษะมนุษย์ ในภูมิประเทศคล้ายคลึงกัน แต่กะโหลกที่พบจริงไม่ขาวเท่าในนิมิต และตอพุดซาไม่มีแล้วท่านจึงได้เผากระดูกนั้นด้วยตนเอง

พรรษาที่ 3 จารพระไตรปิฎก

ขณะที่ไปสอบดูตามนิมิตก็ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ท่านได้จำพรรษา ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และในขณะที่ข้ามไปเวียงจันทร์ ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และวัดพระแก้วที่เวียงจันทร์ ท่านระลึกถึงอดีตชาติเมื่อเห็นตู้พระไตรปิฎกและจารด้วยตนเอง แต่สมัยเป็นสามเณรต่อมาเป็นภิกษุและเป็นสมภารเจ้าวัดในที่สุด ได้จารพระไตรปิฎก บรรจุไว้จนเต็ม 3 ตู้ ท่านว่าได้เป็นสมภารเจ้าวัดในฝั่งลาว 3 สมัย ตายตั้งแต่ยังไม่พ้นวัยกลางคน ที่ท่านไปพบตู้ที่สร้างไว้นั้นไม่มีพระไตรปิฎกแล้ว


หลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร

ขณะที่ท่านพักอยู่ ณ วัดบ้านทุ่ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คราวหนึ่งท่านต้องไปกิจนิมนต์ร่วมกับภิกษุหลายรูปด้วยกัน ไปทางเรือตามลำน้ำโขงปรากฏว่าเรือเกิดจมลง พระรูปอื่นต่างว่ายน้ำหนีจากเรือหมด เหลือแต่ท่านองค์เดียวในเรือ และน้ำท่วมเกือบถึงคอแล้ว พอดีชาวบ้านเอาเรือไปรับนิมนต์ท่านขึ้นเรือแล้วเรือก็จมหายไป

พบบิดาในอดีตชาติ

พอออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ออกเดินทาง และในระหว่างทางนั้น ท่านได้พบกับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร ซึ่งออกจาริกไปตามป่าเขาทำนองเดียวกับท่าน

หลวงพ่อสงฆ์ผ่านพรรษา ๔ แก่กว่าหลวงปู่บุดดาหนึ่งพรรษา แต่อายุหลวงพ่อสงฆ์แก่กว่าท่านหลายปี เพราะท่านบวชภายหลังมีครอบครัวแล้ว และเมื่อท่านพบหลวงพ่อสงฆ์ ท่านก็ระลึกได้ว่า เคยเป็นบิดาของท่านในอดีตชาติ ท่านก็เรียกคุณพ่อสงฆ์ตั้งแต่แรกพบจนถึงที่สุดแห่งวาระของท่านเอง


รูปภาพ
หลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร



ท่านทั้งสองได้ร่วมจาริกแสวงหาที่วิเวกอันเหมาะแก่การเจริญภาวนาเรื่อยมา จนมาพบถ้ำภูคา ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นถ้ำกว้างมีปล่องทะลุกลางเขาลูกย่อม ๆ อยู่ในดงยาง เป็นชัยภูมิร่มรื่น มีหนองน้ำใหญ่อยู่ห่างจากหน้าถ้ำไปทิศตะวันออกของทางรถไฟสายเหนือห่างประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ระหว่างสถานีดงมะกุและสถานีหัวหวายห่างจากหมู่บ้านทั้ง 2 ตำบล ข้างละประมาณ ๒ กม. เศษ ปากถ้ำอยู่ทางตีนเขา ภายในถ้ำลมถ่ายเทได้ดี

ท่านได้อาศัยภายในถ้ำนี้และแยกกันอยู่คนละฟาก ได้อาหารบิณฑบาตจากหมู่บ้านดังกล่าว ถ้ำภายในเขาภูคานี้เป็นที่สงบและวิเวกปากถ้ำเรียบเป็นดิน เชิงเขาลาดขึ้นพอบรรจบถึงเขาก็เป็นปากถ้ำพอดี กว้างราว ๖-๗ เมตร สูง 3 เมตรเศษ เป็นดินราบขึ้นไปจนถึงยอดมีแท่นราบตรงกลางปล่องตรงกับยอดเขาพอดี ปล่องถ้ำเหมือนรูปงอบใบใหญ่สูงกว่าปากถ้ำเล็กน้อย ขอบล่างลาดลงโดยรอบเป็นช่องและชอกมากบ้าง น้อยบ้าง


รูปภาพ
ทัศนียภาพเมื่อมองจากยอดเขาถ้ำภูคา


รูปภาพ
สภาพภายในถ้ำภูคาปัจจุบัน



สถานที่ท่านใช้พักผ่อนและจำวัด ปรากฏว่าตรงที่ท่านใช้ภาวนานั้น มีปล่องลมหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่จำวัดก็หลบเข้าไปในช่องไม่ถูกลมเลย ก่อนที่ท่านจะมาอยู่ในถ้ำนี้ มีแคร่ร้างแสดงว่ามีบุคคลอื่นมาใช้สถานที่นี้ก่อนแล้ว

สถานที่ท่านใช้เป็นที่เดินจงกรมในตอนบ่ายและพักผ่อนสนทนาธรรมกันตอนเย็นนั้นเป็นบริเวณสันเขาตอนใต้ เป็นทางลาดขึ้นปากถ้ำได้สะดวก ใช้ด้านตะวันออกเป็นที่ลาดเดินจงกรม มีต้นไม้และสันเขาช่วยกำบังแดดในตอนบ่าย


ตอนอยู่ถ้ำภูคานี้ แม้จะสนทนา ก็ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ของตน คราวหนึ่งเสียงของหลวงปู่บุดดาเงียบหายไป หลวงพ่อสงฆ์ผิดสังเกตจึงเดินไปดูก็เห็นหลวงปู่บุดดานั่งหลับตา มีตะขาบตัวใหญ่มากขึ้นไปขดอยู่กลางศีรษะของท่าน หลวงพ่อสงฆ์ต้องเอาผ้าอาบของท่านหย่อนลงให้ตะขาบไต่ขึ้นผ้าแล้วจึงเอาไปปล่อยนอกถ้ำ

หลวงปู่บุดดาท่านเล่าว่า มันไต่ขึ้นภายในสบงผ่านเอวแล้วผ่านหลังท่านขึ้นไป ท่านจึงต้องกลั้นลมหายใจ ปิดหู ปิดตา จมูก ปากหมด เจ้าตะขาบจึงเข้าไม่ได้ เมื่อหลวงพ่อสงฆ์เอาไปปล่อย ปรากฏว่ามันกัดตัวเองจนขาดเป็นท่อน ๆ กองอยู่ที่ปล่อยนั่นเอง

พรรษาที่ ๔ ตัดกิเลสบรรลุธรรม

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พอใกล้เข้าพรรษา ท่านทั้งสองได้ไปจำพรรษา ณ วัดป่าหนองคู จ.นครสวรรค์ และพอออกพรรษาก็กลับมาร่วมปฏิบัติธรรม ณ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ โดยต่างเร่งความเพียรเจริญสมณธรรม อย่างเต็มที่เกือบจะไม่ได้พักผ่อน และในคืนวันหนึ่งเวลาประมาณระหว่าง ๒๐.๐๐ น. ถึง ๒๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาสนทนาธรรมของทั้งสองท่าน หลวงพ่อสงฆ์ได้ถามหลวงปู่บุดดาว่า

“...ยังถือวินัยอยู่หรือ”

หลวงปู่ตอบว่า “...ไม่ถือวินัยได้ไง ถ้าเราจะเดินผ่านต้นไม้-ของเขียวก็ต้องระวัง...มันจึงเป็นอุปาทานทำความเนิ่นนานต้องช้ามาถึง ๔ พรรษา”

หลวงพ่อสงฆ์ว่า “วินัยมันมีสัตว์-มีคนรึ”

หลวงปู่บุดดาว่า “มีตัวซี ถ้าไม่มีตัวจะถือวินัยได้ยังไง...วินัยก็ผู้ถือนั่นเอง ...เสขิยวัตร ๗๕ เป็นตัวไม่ได้หรอก ...เนื้อหนัง กระดูก ตับไต ไสพุง มันไม่ใช่ตัวถือวินัย...ตัวถือวินัยเป็นธรรมนี่”

....เถียงกันไป เถียงกันมาชั่วระยะหนึ่ง... พอปัญญา-บารมีเกิดขึ้นตกลงกันได้ว่า

“เอ๊ะ ! ไม่มีจริง ๆ เน้อ ...ผู้ถือไม่มี มีแต่ระเบียบของธรรมเท่านั้น ไปถือมั่น-ยึดมั่นไม่ได้นี่”

พอหยุดความลง ทันใดนั้นเองหลวงพ่อสงฆ์เพ่งมองดู เห็นหลวงปู่บุดดา จู่ ๆ ก็นิ่งเงียบนัยน์ตาลืมค้างอยู่ ไม่กระพริบตา เบิกตาโพลงอยู่อย่างนั้น เนิ่นนานอยู่ประมาณสองชั่วโมงกว่าถึง กลับมาพูดได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลวงปู่บุดดาได้ใช้ปัญญาตัดกิเลสได้แล้วในขณะที่นั่งลืมตา ซึ่งหลวงปู่บอกว่า ถ้าเกิดปัญญาขึ้นในอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งขณะนั้น ถ้าลืมตาตัด ก็ต้องลืมตาตัด ถ้านั่งตัด ก็ต้องนั่งตัด ถ้ายืนตัด เดินตัดหรือนอนตัดก็ต้องยืนตัด-เดินตัด หรือนอนตัด ขึ้นอยู่ว่าใครจะตัดกิเลสได้ขณะไหน... อย่างพระอานนท์ตัดได้ตอนเอนกายขณะกำลังจะนอนนั่นเอง...

สำหรับหลวงปู่บุดดา ขณะมีอายุได้ ๓๒ ปี พรรษาที่ ๔ ซึ่งถ้ายังใช้กรรมไม่หมด ก็ไม่ถึง โลกกุตระ แต่พอใช้หนี้กรรมหมดแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรม ขณะนั่งลืมตาอยู่ก็บรรลุธรรมได้

หลวงปู่บุดดาบอกว่า

“ขณะนั้นอวิชาดับหมด รู้สึกสว่างแจ้งขึ้นมาเอง ความไม่มีตัวตนเห็นได้ชัดเจนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัว เป็นปรมัตถธรรม ธรรมทุกอย่างเป็นธรรมชาติส่วนกลาง คงอยู่ในจิตของตนเอง กิเลสหลุดไปเอง แต่ชีวิตยังคงอยู่มีความเป็นปรกติทุกอย่าง ทั้งกายสังขาร-จิตสังขารก็หยุด รูปก็หยุดหมด ไม่มีสัตว์เกิดสัตว์ตาย กิเลสไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ขันธ์ของกิเลสก็ไม่มีในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ...สุดชาติของอาสวะของสังโยชน์ ๑๐ อนุสัย ๗ ออกวันเดียวกันและเวลาเดียวกันนั่นแหละ...”

หลวงพ่อสงฆ์ท่านนั่งเฝ้าหลวงปู่บุดดาอยู่นานกว่าสามชั่วโมงแล้วจึงออก

“นิมนต์เถอะครับ...แน่นอนแล้ว”

พอรุ่งเช้าถึงเวลาออกบิณฑบาต หลวงพ่อสงฆ์บอกว่า

“โลกกุตระธรรมแล้ว ขอนิมนต์ให้หลวงปู่บุดดาเดินหน้า”

แต่หลวงปู่บุดดาว่า

“หน้าก็หน้าคุณธรรม แต่พรรษาอ่อนกว่าต้องเดินหลังซี !”

ตกลงหลวงปู่บุดดาคงเดินตามหลังหลวงพ่อสงฆ์เหมือนเดิม

ต่อมาอีกไม่กี่วัน หลวงพ่อสงฆ์ ซึ่งเร่งปรารภความเพียรมาอย่างหนักก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ณ ถ้ำภูคาเช่นเดียวกัน ท่านไม่ถือทั้งนามและรูป เพราะการหลงนาม หลงรูป มันก็หลงเกิด หลงตาย ไม่มีสิ้นสุด (ในช่วงบั้นปลายของชีวิตท่านได้มาพักจำพรรษาที่วัดอาวุธวิกสิตาธรรม เขตบางพลัด กทม. ตลอดมา จนถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ธ.ค. 2012, 15:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี


พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี

เมื่อหลวงปู่บุดดาและหลวงพ่อสงฆ์ได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมแล้ว ต่างองค์ต่างก็แยกกันไปประกาศพระสัทธรรม ตามสำนักและหัวเมืองต่างๆ เป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปี แต่เมื่อจวนเข้าพรรษาของทุกปี ท่านทั้งสองก็จะกลับมาจำพรรษาร่วมกัน ที่วัดบ้านป่าหนองคู

ครั้นออกพรรษาก็ต่างแยกทางกันไป ซึ่งบางครั้งก็จะมาอยู่ร่วมกัน ณ ถ้ำของเขาภูคาเป็นครั้งคราว จนล่วงย่างเข้าสู่วัยชราภาพ ประมาณเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทั้งสองท่านพบกัน ก็ได้ปรารภถึงสถานที่ที่มีบุญคุณมากที่สุดคือ ถ้ำภูคา จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่านทั้งสองได้อาศัยบำเพ็ญเพียรจนบรรลุถึงอริยสัจธรรม สมควรจะได้จัดสร้างพระพุทธปฏิมากรจำลองพระพุทธลักษณะมาจากพระเกศแก้วจุฬามณี ณ แดนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ตกลงให้ขนาดบ่ากว้าง ๖ วา ๒ ศอก สูง ๙ วา สร้างแบบครึ่งองค์ ประดิษฐาน ณ ยอดเขาภูคา เพื่อเป็นอนุสาวรย์ทัศนานุตริยะปูชนียสถานของพระพุทธศาสนิกชนทั่วไป และเป็นอนุสรณ์ที่ทั้งสององค์ได้พำนักอาศัยบำเพ็ญบุญบารมี จนบรรลุถึงอริยสัจธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเองของโลก

ดังนั้นท่านทั้งสองพร้อมคณะศิษย์ผู้ศรัทธาจึงได้เริ่มจัดสร้าง “พระพุทธเกษแก้วจุฬามณี” ขึ้นประจำยอดภูเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จนเสร็จเรียบร้อยโดยใช้ช่วงเวลาสร้างไม่นาน (พระครูพลอย แม่ชีผวน พระเงิน เป็นผู้จัดดำเนินการหาทุนสร้างเป็นอนุสรณ์ให้กับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมเถระ – หลวงปู่บุดดา ถาวโร)


ต้องอธิกรณ์

รูปภาพ
สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร)
:b45: อ่านประวัติและปฏิปทาของท่านได้ที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44102


เมื่อหลวงพ่อสงฆ์กับหลวงปู่บุดดาแยกทางกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่พอออกพรรษาแล้ว ท่านมักจะพบกันเสมอ บางครั้งก็ร่วมทางกันต่อไป แต่ตอนปลายปี ๒๔๗๔ ต่อต้นปี ๒๔๗๕ ท่านร่วมเดินทางมาด้วยกัน พอถึงจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศรินทราวาส ท่านทั้งสองก็ถูกอธิกรณ์ เขาพาท่านทั้งสองมาหาสมเด็จวัดเทพศิรินทร์ฯ สมเด็จท่านจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน

หลวงพ่อทั้งสองท่านไม่มีประโยคประธานใด ๆ แต่ท่านอ้างธรรมปฏิบัติตามปฏิปาที่ท่านรู้เห็นของท่านขึ้นโต้แย้ง ปริยัติเป็นเสมือนแบบแผนเท่านั้น แต่การปฏิบัตินั้นเป็นการทำจนปรากฏของจริงขึ้นประจักษ์แก่ใจ

สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ท่านจึงตั้งกรรมการทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติขึ้นสมทบของท่านร่วมกัน ผลปรากฏไม่พบความผิด จึงเป็นที่เล่าลือกันในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่าพระสุปฏิปันโนจากป่าเข้ากรุง

จากผลของการสอบสวนในครั้งนั้น ทำให้หลวงปู่ได้พบปะและสบอัธยาศัยกับพระผู้ใหญ่ฝ่ายธรรมยุตหลายองค์ ต่อมาท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) มารดาพระสุจริตสุดา และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ในพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ ๖) ได้นิมนต์ไปจำพรรษา ณ วัดสัมพันธวงศ์ หลวงปู่จึงไปพำนักที่วัดสัมพันธวงศ์ในเดือนเมษายนปีนั้น แต่ในปีนั้นหลวงปู่คงไม่ได้จำพรรษาเนื่องจาก...

หลวงปู่ไปเมืองเพชร

ท่านอาจารย์เหล็งฯ เป็นภิกษุชาวเพชรที่อยู่ ณ วัดสัมพันธวงศ์ เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่และขออาราธนาหลวงปู่ให้ไปโปรดญาติโยมของท่านทางเมืองเพชรก่อน ต่อใกล้พรรษา จึงค่อยกลับมาวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอัธยาศัยของหลวงปู่อยู่แล้ว

การเดินทางคราวนั้น มีท่านอาจารย์สันติฯ ชาวนครสวรรค์ ร่วมติดตามไปด้วย

หลวงปู่จึงไปจำพรรษา ณ วัดเนรัญชรา วัดธรรมยุติของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ก่อน ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (การเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ในพรรษาต่อมาก็ จำพรรษา ณ วัดสนามพราหมณ์ และวัดเหนือวน จังหวัดราชบุรี ในพรรษาต่อไป และต่อจากนั้นจึงได้เข้ามาจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส ในกรุงเทพฯ เป็นพรรษาแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือ ๗๙ แต่แน่นอนก็คือเป็นปีที่ท่านครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ถูกส่งมาสอบสวนและพักที่วัดเบญจมบพิตร


วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ

รูปภาพ

วัดนี้สร้างด้วยความร่วมมือสมานฉันท์ของชาวเพชรบุรี ทั้งสองนิกายคือ ธรรมยุติและมหานิกาย (เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อสงฆ์และหลวงปู่บุดดาเป็นสื่อจูงใจ) ดังปรากฏกุฏิหลวงพ่อสงฆ์เดิม ภายหลังต่อมากลับกลายเป็นห้องสมุดของสำนักปฏิบัติ อุโบสถก็เป็นอุโบสถที่มีการผูกพัทธสีมา ทั้งแบบธรรมยุติและมหานิกาย ฝ่ายปริยัตินั้นอยู่พื้นที่ส่วนราบ ฝ่ายปฏิบัติอยู่บนภูเขา

เนื่องจากวัดเพชรบุรีเป็นที่ ๆ หลวงปู่จำพรรษามากกว่าที่อื่น ๆ ยกเว้นจังหวัดสิงห์บุรี ประกอบกับท่านเป็นพระของทั้งสองนิกาย ชาวเพชรบุรีจึงศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านมาก ขนาดสามล้อแย่งกันนิมนต์ขึ้นรถของตัวเอง เขามีความเชื่อว่าถ้าหลวงปู่ได้นั่งรถของเขาแล้ววันนั้นเขาจะได้ลาภมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นสามล้อ หรือรถโดยสารธรรมดา ในจังหวัดเพชรบุรีแล้ว เขาต้องนิมนต์ให้ท่านขึ้นรถของเขา ถ้าพบท่านตามทาง

งานเดียวถูกนิมนต์ ๓ วาระ

ในงานฌาปนกิจศพของคหบดีคนหนึ่งของวัดเจ้าคณะตำบลใกล้วัดถ้ำแกลบนี้เอง ซึ่งบุตรทั้ง 3 คน เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

พอวันงานปรากฏว่าพระขาดไปรูปหนึ่ง น้องคนเล็กจึงไปนิมนต์หลวงปู่บุดดาจากวัดถ้ำแกลบ พอมาถึงท่านก็นั่งยังอาสนะที่เขาจัดไว้

เจ้าภาพได้เถียงกัน พี่ชายคนกลางว่าไปนิมนต์พระมาเช่นกัน ท่านได้ฟังก็ลุกจากอาสนะลงมาข้างล่าง และพระที่พี่ชายคนกลางนิมนต์มาก็เข้านั่งประจำที่

แต่แล้วเจ้าภาพทั้งสองคน ก็ตกลงจัดที่เพิ่มและนิมนต์หลวงปู่ขึ้นไปใหม่

ต่อมาพอพี่ชายคนโตมาถึงก็เอ็ดใหญ่ ไม่ยอมฟังคำชี้แจงของน้องทั้งสองคน เขาเล่าว่า ไม่เห็นท่านแสดงอาการอย่างไร ท่านก็ลุกจากอาสนะอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินผ่านมาทางซ้ายสุด เพราะมีผู้คนมามากแล้ว

คราวนี้ท่านไม่หยุดดังคราวก่อน ได้เดินผ่านประตูทางออกไปเลย

ตอนหลังเจ้าภาพตกลงกันได้ จึงวิ่งไปนิมนต์ท่านกลับมาใหม่ หลวงปู่ก็เลยกลับมานั่งยังอาสนะเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

วัววิ่งชนหลวงปู่

หลวงปู่ได้รับนิมนต์จากชาวบ้าน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยอาจารย์เหล็ง พอถึงหน้าบ้านท่านก็ร้องให้เจ้าภาพของวัวผูกวัว เจ้าของบ้านออกมายืนนอกชาน ร้องนิมนต์ให้เข้ามาเถิดไม่เป็นไรหรอก ท่านก็เดินเข้าบ้าน

เจ้าวัวไม่ยอมรับรู้ วิ่งก้มหัวเข้าใส่ทันที พอมันเข้ามาใกล้ท่าน อาจารย์เหล็งเห็นดังนั้นคิดอุทิศชีวิตถวายหลวงปู่ ถลันขึ้นไปเสมอกับท่านไม่ทันล้ำไปข้างหน้า ทันใดขาทั้ง ๔ ของเจ้าวัวตัวนั้นเหมือนถูกตรึงอยู่ห่างจากหลวงปู่ประมาณ ๒ วา เจ้าของวัวจึงได้นำวัวมันไปผูก เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ชาวเมืองเพชรบุรีเล่าลือกันทั่วไป

แชะ แชะ

อีกคราวหนึ่งมีนายทหารถือปืนเข้าวัดมาเพื่อจะยิงนก เข้ามาในวัดจนถึงหน้ากุฏิท่าน ท่านเลยชี้บอกนายทหารคนนั้นว่า

โน่นไงนก

นกกำลังเกาะกินลูกไม้บนต้นไม้ใหญ่ใกล้กุฏิท่าน ท่านบอกให้ยิงเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น นายทหารคนนั้นเอาปืนยิงทันที ครั้งแรกดังแชะ ไม่ออก ครั้งที่ ๒ ดังแชะอีก ไม่ออก ท่านอาจารย์เหล็งจึงบอกว่า

ไม่ได้ อย่ายิงอีกนะ ปืนจะแตก

นายทหารคนนั้นก็เชื่อ และไม่เข้ามาในวัด อีกเลย ส่วนอาจารย์เหล็งนั้นเมื่อติดตามหลวงปู่บุดดามาเพชรบุรีแล้ว ก็ไม่ได้กลับกรุงเทพฯ ครั้งสุดท้ายท่านอยู่วัดบุญทวี ถ้ำแกลบและมรณภาพที่วัดนี้เอง

รูปภาพ
ครูบาศรีวิชัย ถ่ายที่วัดเบญจมบพิตร
เมื่อคราวถูกอธิกรณ์ ครั้งสุดท้าย
ปี พ.ศ.๒๔๗๘ อายุท่านได้ ๕๗ ปี


พบครูบาศรีวิชัย

หลวงปู่จำพรรษา ณ วัดราชานิวาส สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิตร ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยมท่านครูบาศรีวิชัยที่วัดเบญจมบพิตร ท่านเล่าว่า

ครูบาศรีวิชัยเห็นหลวงปู่ไม่พาดสังฆาฏิ จึงทักท้วงว่า

“เราเป็นนายฮ้อยก็ต้องให้เขารู้ว่าเป็นนายฮ้อยไม่ใช่นายสิบ”

นี่คือสาเหตุที่หลวงปู่ท่านไปไหนก็ตามท่านจะพาดสังฆาฏิเสมอ ครูบาศรีวิชัยได้ถวายคนโทน้ำที่ท่านใช้ให้หลวงปู่ลูกหนึ่ง คนโทลูกนั้นคงยังอยู่ที่วัดราชาธิวาสนั่นเอง พอออกพรรษาท่านจากไปก็เพียงบาตร ห่อผ้าอาบน้ำและร่มเท่านั้น ถ้าออกป่าก็มีกาน้ำอีกลูกหนึ่ง

ท่านพุทธทาสนิมนต์ไปสวนโมกข์

ระหว่างที่ท่านจำพรรษาที่วัดราชาธิวาสนั้น ท่านพุทธทาสได้พบและสนทนาวิสาสะเป็นที่ถูกใจ จึงได้ออกปากนิมนต์ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม ท่านบอกท่านพุทธทาสว่า อย่าให้ท่านเป็นผู้ทำลายแบบแผนที่วางไว้เลย จากเหตุคราวนั้น ทำให้ท่านพุทธทาสแก้ไขระเบียบที่ว่าผู้ที่จะเข้าพำนักในสำนักของท่านได้ ต้องเป็นเปรียญหรือนักธรรมเอก มาเป็นข้อยกเว้นว่า หากไม่มีประโยคประธานใด ๆ ท่านต้องทดสอบก่อน

เกี่ยวกับท่านพุทธทาสนั้น เมื่อคราว หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปยังเพชรบุรีได้พบกับท่านพุทธทาสอีก ซึ่งต่อมาหลวงปู่บุดดาได้ไปเยี่ยมท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์อีกหลายครั้ง บางครั้งก็พักค้างคืน ครั้งหลังสุดเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาปี ๒๕๓๓ ท่านก็ยังไปเยี่ยมท่านพุทธทาส จวบจนท่านปรารภว่าจะไม่ไปไหนอีกแล้ว

ไม่ข้ามหมา

หลวงปู่ท่านได้ไปจำพรรษาที่จังหวัดระยอง วันหนึ่งท่านมีธุระที่จะต้องเดินไปกุฏิอีกหลังหนึ่งทาง ที่จะไปนั้น ต้องข้ามสะพานไม้ที่ทอดไป แต่บนสะพานนั้นมีสุนัขตัวหนึ่งนอนขวางทางอยู่ ท่านก็ไม่ข้ามกลับเดินลงไปลุยโคลนแทนที่จะข้ามสุนัขตัวนั้น ท่านว่า ไม่อยากให้ผู้อื่นได้รับความ ขุ่นเคือง และเป็นการเบียดเบียน โดยเห็นแก่ความสะดวกของตนเองแม้เป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ยังไม่ข้าม แสดงถึงคุณธรรมอันสูงส่งในจิตใจของท่าน

เจ้าคุณ ๘ ประโยค

หลวงปู่ถูกนิมนต์ให้ไปเทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณองค์หนึ่ง ท่านก็คงเห็นหลวงปู่เป็นพระบ้านนอกรุ่มร่ามทำนองนั้น และไม่มีประโยคประธานใดๆ เพียงพระบุดดาธรรมดาๆ เท่านั้น

ท่านเจ้าคุณได้ถามหลวงปู่ว่า “ท่านจะเทศน์เรื่องอะไร”

หลวงปู่ก็ตอบว่า “เรื่องตัวโกรธ กิเลสตัณหา”

ท่านเจ้าคุณก็ถามว่า “ตัวโกรธเป็นอย่างไร”

หลวงปู่ก็พูดว่า “ส้นตีน ไงละ”

เจ้าคุณโกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไม่ยอมเทศน์ร่วมกับหลวงปู่ หลวงปู่ท่านต้องเทศน์องค์เดียว เมื่อเทศน์จบแล้วท่านไปขอขมาเจ้าคุณ (และอธิบายให้ท่าน) เข้าใจว่าตัวโกรธเป็นอย่างนี้

หลวงปู่กับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

หลวงปู่ท่านเรียกสรรพนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ว่า “สมเด็จไส้ออก”

เวลาท่านผ่านมาทางวัดบวรนิเวศ ถ้าพระองค์เห็นเข้าก็จะจูงมือหลวงปู่ขึ้นบนกุฎิปิดประตูสนทนากัน และจัดให้หลวงปู่จำวัดในพระตำหนักด้วย

ท่านบอกว่า

“ท่านบุดดามีพร้อมแล้วไม่ติดที่อยู่ พอออกพรรษาก็ออกไปเหมือนนกกระจอก อ้ายเรามันติดที่อยู่ที่นี่จนออกพรรษาแล้วก็ยังอยู่กับที่”

พระฝ่ายปฏิบัติอื่นๆ กับหลวงปู่

พระฝ่ายปฏิบัติอันเป็นที่เคารพสักการะมีอยู่ทุกภาคและแทบทุกท่านมักจะได้เคยพบวิสาสะกันตอนจาริกธุดงค์ เพราะต่างก็แสวงหาสถานที่วิเวก และมีสิ่งเกื้อกูลอื่นๆ เหมือนๆ กัน สถานที่เช่นนั้นจึงเหมือนเป็นจุดนัดพบของพระฝ่ายปฏิบัติ และจุดสำคัญต่างๆ นี้ ท่านออกธุดงค์จะต้องผ่าน เช่น ภาคกลาง มีพระพุทธบาท พระพุทธฉายและเขาวงพระจันทร์ ภาคเหนือก็ พระแท่นศิลาอาสน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็พระธาตุพนม และพระปฐมเจดีย์ของภาคกลางด้วย

พระสายปฏิบัติฝ่ายธรรมยุต สายท่านเจ้าคุณอุบาลี และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สายนี้พูดได้ว่าหลวงปู่รู้จักเป็นส่วนมาก ที่พรรษาสูงกว่า หลวงปู่เรียก หลวงพ่อ เช่นเรียกหลวงพ่อมั่น หลวงพ่อเสาร์ และอาจารย์สิงห์ ฯลฯ รุ่นเรียก อาจารย์ ก็คือรุ่นราวคราวเดียวกันหรืออ่อนกว่า

กล่าวได้ว่าสายปฏิบัติฝ่ายธรรมยุต กับฝ่ายปฏิบัติธรรมของมหานิกาย สายหลวงปู่เภา พุทธสโร และหลวงปู่บุดดา ท่านไม่มีความรังเกียจซึ่งกันและกันเลย จะเห็นได้จากประวัติของท่านสุภัทโท (เจ้าคุณโพธิญาณเถระ) นอกจากนั้น วัดมหานิกายที่ถือข้อวัตรปฏิบัติแบบหลวงพ่อเภากับวัดธรรมยุตของจังหวัดลพบุรีท่านก็มีการติดต่อกันอยู่เสมอ

คราวหนึ่งหลวงปู่ได้พบหลวงพ่อสด จันทสโร จากวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยบังเอิญ ณ วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์ เมื่อได้สนทนาธรรมและร่วมทำวัตรสวดมนต์โดยมีหลวงพ่อเกรียง กิตติธรรมโม จากวัดหินหักใหญ่ ลพบุรีร่วมธุดงค์มาด้วย ได้ชวนกันจาริกไปพระธาตุดอยสุเทพโดยธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาแรมเดือนจึงถึงจุดหมายแล้วเมื่อร่วมพักปฏิบัติธรรมอยู่ ๗๕ วัน ต่างก็แยกทางกันตามอัธยาศัย ซึ่งหลวงปู่ชอบธุดงค์องค์เดียว


วัดพระพุทธบาทตากผ้า

รูปภาพ
หลวงปู่บุดดากับครูบาพรหมจักร
วัดพระพุทธบาทตากผ้า


หลวงปู่ปานวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา หลวงปู่เรียก หลวงพ่อปาน ท่านบอกว่า “หลวงพ่อปาน ท่านปรารถนาพุทธภูมิ” ท่านออกธุดงค์แต่ละครามีพระ เณร อุบาสิกา ติดตามเป็นขบวนยาวมาก ที่ที่ท่านพบกันเสมอก็คือบริเวณเขาวงพระจันทร์ที่ซึ่งในเวลาต่อมาหลวงปู่ปานได้มาสร้างเป็นวัดสะพานนาค

สายครูบาศรีวิชัย นอกจากครูบาเอง ท่านยังสั่งมอบหมายไว้ ก็คือ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งหลวงปู่มีความเคารพเป็นอย่างยิ่ง และนับถือพระสุพรหมยานเถรเป็นพี่ชายของท่าน หลวงปู่สิม พุทธจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่อยู่บ่อยๆ ด้วยความปิติและเบิกบานในอมตธรรมเป็นอย่างยิ่ง


ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ(สงวน โฆสโก)

ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ก่อนจะมาอยู่วัดอาวุธฯ นั้นท่านเคยอยู่วัดสัมพันธวงศ์และได้พบกับหลวงปู่ ณ ที่นั้นเอง หลวงปู่แนะนำท่านเจ้าคุณให้รักษาศีลเท่าชีวิต ท่านก็นำมาปฏิบัติจนกระทั่งปรากฏแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านจึงเลื่อมใสศรัทธาและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านเจ้าคุณได้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม ท่านก็นิมนต์หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ หลวงปู่ก็มาพักเป็นครั้งคราวและในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้มาจำพรรษาที่วัดอาวุธฯ ๒ ปี


คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

รูปภาพ
คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม


ท่านมาครั้งนี้ท่านเจ้าคุณได้มรณภาพแล้ว โบสถ์ วิหารที่ท่านสร้างไว้ก็ยังไม่เสร็จ หลวงปู่ท่านมาอยู่ก็ช่วยสร้างศาลาและที่เก็บน้ำไว้ให้และทอดกฐินร่วมสร้างโบสถ์ที่ยังค้างอยู่

ขณะที่ท่านเจ้าคุณยังมีชีวิตอยู่ได้เคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ตอนหลวงปู่อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ เวลาหลวงปู่แสดงธรรมมีคนมาฟังธรรมกันแน่นมาก รวมถึงคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็ได้มีโอกาสฟังธรรมและมอบตัวเป็นศิษย์ ได้นำคำสอนของหลวงปู่มาปฏิบัติและบำเพ็ญความเพียรด้วยตนเองจนได้บรรลุธรรม (ปัจจุบันกระดูกกลับกลายเป็นอรหันตธาตุอยู่ ณ วัดอาวุธฯ) ท่านเจ้าคุณเคารพในปฏิปทาของแม่ชีบุญเรือนมาก ดังนั้นเมื่อท่านเจ้าคุณมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอาวุธฯ และเมื่อคุณแม่ชีบุญเรือนมา สิ้นชีวิตลงแล้วท่านเจ้าคุณได้อนุญาตให้สร้างศาลาคุณแม่บุญเรือนไว้ที่วัดอาวุธฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์


๐ ช่วงปลายชีวิต

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ขณะหลวงปู่บุดดา อายุ ๘๔ ปี ได้มาจำพรรษา ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ตามที่ท่านเจ้าคุณพระสิทธิสารโสภณ เจ้าอาวาสนิมนต์ไว้ และในปีนั้นท่าน เจ้าคุณก็ได้มรณภาพลงโดยขณะนั้น ทั้งโบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นยังไม่แล้วเสร็จ

และในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นั้นเอง หลวงปู่บุดดาได้ช่วยสร้างศาลาและที่เก็บน้ำสำหรับพระสงฆ์ สามเณรและคณะศิษย์ได้ใช้ และเป็นประธานจัดพิธีทอดผ้ากฐินสมทบสร้างพระอุโบสถที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ พร้อมได้สร้างศาลาธรรมสารขึ้นเพื่อเป็นศาลาปฏิบัติกรรมฐาน

รูปภาพ
หลวงปู่เย็น ทานรโต (อายุ ๙๐ ปี) ผู้นิมนต์
หลวงปู่บุดดา ถาวโร (อายุ ๑๐๐ ปี)


มาอยู่วัดกลางชูศรีเจริญสุข

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงปู่บุดดาต้องเข้ารักษาตัว ณ โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อหายแล้ว ท่านได้กลับไปเยี่ยมและพักผ่อน ณ วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ จ.เพชรบุรี ช่วงระยะหนึ่งเมื่อจวนเข้าพรรษา หลวงปู่เย็น ทานรโต เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.พักทัน จ.สิงห์บุรี ในสมัยนั้นได้นิมนต์ขอให้หลวงปู่ไปจำพรรษากับท่าน หลวงปู่จึงได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่เย็นโดยมีพระมหาทอง กาญจโน ศิษย์และอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดติดตามมาอยู่ด้วย สำหรับวัดกลางชูศรีเจริญสุขนั้น ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเป็นวัดร้าง หลวงปู่เย็นได้เริ่มดำเนินการบูรณะและก่อสร้างโบสถ์ขึ้นก่อน ต่อเมื่อหลวงปู่บุดดามาอยู่ ด้วยบารมีของท่านและหลวงปู่เย็น และด้วยการบริหารของพระมหาทองจึงทำให้วัดกลางชูศรีเจริญสุขพัฒนาขึ้นจนเป็นวัดที่มีความสมบูรณ์สวยงามสง่านับเป็นวัดที่ทันสมัยวัดหนึ่ง

เนื่องจากคณะศิษย์จำนวนมากในช่วงหนึ่ง ทราบว่าหลวงปู่เป็นผื่นคันตามตัว ต่างคนต่าง ก็นำแป้งหอมชนิดต่างๆ มาน้อมถวายคราวละมาก ๆ เมื่อจะลากลับ หลวงปู่ได้เมตตานำแป้งที่ได้รับไว้กลับเอามา แล้วให้แบมือขึ้นเทแป้งใส่ให้ พร้อมกับบอกให้ทาแป้งมงคลเสีย กันขี้กลาก ขี้เกลื้อน กันหลง กันลืม ให้หายโรคหายภัย จนกระทั่งเป็นเอกลักษณ์ของหลวงปู่ ที่แจกแป้งมงคลให้คณะศิษย์ธรรมได้หน้าขาว สวยสง่าขึ้นทุก ๆ คน ซึ่งท่านจะแจกให้หมดทั้งพระสงฆ์ สามเณร และโยม พร้อมบอกว่า “ตั้งแต่ศีลแปดขึ้นไป ก็ทาเป็นยาได้.... เอาแป้งไปทาแล้ว มันหายโรคหายภัยได้จะว่าอย่างไรเล่า !”

หลังจากจบกิจ พรรษาที่ ๔ แล้วท่านได้ออกจาริกทั่วทั้งประเทศไทยตลอดจนถึงพม่า ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย และได้ออกเทศนาสั่งสอนทั้งภิกษุ สามเณร ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ด้วยการสั่งสอน โปรดสัตว์ ช่วยการก่อสร้างถาวรวัตถุระดับคุณธรรมให้สูงขึ้นทุกเพศชั้นวรรณะโดยหลวงปู่ได้ออกเยี่ยมเยียนจนถึงที่อยู่ เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่สาวกทั้งหลายว่า จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ในช่วงระหว่างปี ๒๕๒๒ จนถึง ๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่คงจาริกไปโปรดศิษย์และญาติโยม โดยอาศัยรถพาหนะของรถวัดกลางชูศรีฯ และศิษย์ผู้ติดตามทั้งพระภิกษุ สามเณรและฆราวาส โดยเฉพาะพระครูโสภณจารุวัฒน์ (พระมหาทอง กาญจโน) รองเจ้าคณะอำเภอบางระจัน เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข และพระสมบุญ ญาณวิเวโกได้เฝ้าดูแลใกล้ชิด ติดตามท่านออกโปรดญาติโยมที่นิมนต์ท่าน แม้ว่าท่านเองจะไปด้วยตนเองไม่ไหวต้องอาศัยศิษย์ช่วยพยุงท่านเดินถึง ๒ ท่าน มีพยาบาลจาก รพ.สิงห์บุรีคอยดูแล หลวงปู่ก็ยังรับนิมนต์จากศิษย์และญาติโยมออกโปรดด้วยการแสดงธรรม หรือพุทธาภิเษก ฉัน รับสังฆทานร่วมพิธีต่าง ๆ อาจารย์มหาทอง กาญจโน เป็นเจ้าอาวาสและติดตามอุปัฏฐากหลวงปู่มาแต่ปี ๒๕๒๐ จนถึงที่สุดแห่งวาระชีวิตของหลวงปู่

หลวงปู่ได้ปฏิบัติของพระศาสนาดังกล่าวมานี้ไม่สามารถจะหาที่เปรียบพระคุณหลวงปู่ได้ แม้กระทั่งว่า ศิษย์ได้สอบถามท่านว่าเวลาพักผ่อนของหลวงปู่เวลาจะหลับตั้งใจให้หลับ หรือว่าหลับไปเอง ท่านกล่าวให้ฟังว่า หลับไปเอง กลางวันทำงาน ๑๐ ชม. พักผ่อน ๒ ชม. และกลางคืนทำงาน ๑๐ ชม. พักผ่อน ๒ ชม. เว้นแต่หลวงปู่เจ็บป่วย

จากการสอบถามและได้รับเมตตาจากหลวงปู่เล่าให้ฟังปะติดปะต่อมา หลวงปู่ได้เคยไปสนทนาธรรมพบปะ และเยี่ยมเยียนกันกับพระเถระที่มรณภาพไปแล้วหลาย ๆ ท่าน ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น หลวงพ่อเติม หลวงพ่อจาด หลวงพ่อจง หลวงพ่อรุ่ง หลวงพ่อเงิน หลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อปาน มีทั้ง ๓ ปาน ครูบาพรหมจักร ท่านเจ้าคุณนรฯ เจ้าคุณอุบาลี สมเด็จพุฒาจารย์ (อาสภเถระ) หลวงปู่ดู่ หลวงปู่ชา ท่านพุทธทาส หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่วัย หลวงพ่อสังวาลย์ หลวงพ่อพุธ ครูบาชัยวงษา หลวงพ่อแพ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่แว่น หลวงพ่อคง จันตตามโร ครูบาธรรมชัย หลวงพ่อมหาอำพัน หลวงปู่สาม หลวงปู่โง่น ครั้งป่วยอยู่ รพ.ศิริราชฯ และพระเถระที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ สมเด็จสังฆราชญาณสังวรฯ หลวงพ่อเพ็งฯ, หลวงพ่อ บุญเพ็ง, หลวงปู่เหรียญ, อาจารย์วิชัย, อาจารย์จำเนียร, อาจารย์จรัล, หลวงพ่อเหรียญ, หลวงพ่ออุตตมะ ฯลฯ

ส่วนฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา ที่นิมนต์หลวงปู่ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่เลือกชั้นวรรณะได้โปรดอย่างทั่วถึง ผู้ที่ได้เคยใกล้ชิดท่านบ้างจะทราบได้ทันทีว่า บารมีหลวงปู่เมื่อไปอยู่ใกล้ท่านจะได้รับความสงบเยือกเย็นอย่างประหลาด แต่ก็ยังมีบางท่านไม่เข้าใจในปฏิปทาในช่วงที่ท่านอายุมากแล้ว เช่นหลวงปู่แจกแป้ง หลวงปู่จับเงินทอง หลวงปู่จับหัวสตรี หลวงปู่ห่มผ้าไม่เหมือนพระองค์อื่น หลวงปู่ไม่ค่อยจะสอนวิธีปฏิบัติ หลวงปู่นอนห้องแอร์ และอื่น ๆ เนื่องจากท่านเหล่านั้นไม่ได้ติดตามหลวงปู่เป็นเวลานาน ๆ เท่าที่ควร และเพิ่งจะได้พบหลวงปู่ช่วงที่อายุมากแล้ว ขอให้ท่านได้ติดตามศึกษาชีวประวัติท่านให้ตลอดก่อน และหลักธรรมคำสอนที่ท่านได้แนะนำให้มาตลอด

ซึ่งหลวงปู่ได้เคยเตือนว่าในสมัยพุทธกาล เศรษฐีได้ถ่มน้ำลายไล่พระอรหันต์ขี้เรือนที่บิณฑบาตผ่านหน้าบ้านเศรษฐี ตายไปต้องตกนรกถึง ๕๐๐ ชาติ และชาติที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดา ก็ยังต้องถูกโจรฆ่าตาย เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นได้พบหลวงปู่เวลาสั้น ๆ จึงขอให้ท่านขอขมากรรมและ ขออโหสิกรรมต่อท่านเสีย

หลวงปู่เล่าว่า แม้ท่านจะจำพรรษาที่แห่งเดียวติดต่อกันบ้างบางแห่ง แต่ท่านว่า ท่านไม่เคยอยู่ที่ใดติดต่อกันตลอดทั้งปี เพราะพอออกพรรษาหลวงปู่ก็ออกจาริกธุดงค์ไปตามป่าตามเขาจนอายุใกล้ ๗๘ ปี ร่างกายของท่านทรุดโทรมแล้วจึงหยุดเข้าป่าขึ้นเขา แต่ท่านก็ยังจาริกไปตามอัธยาศัย ท่านบิณฑบาตโดยไม่กลับย้อนหลัง บิณฑบาตที่เชียงใหม่ไปฉันที่เชียงราย คือวันหนึ่งท่านฉันมื้อหนึ่งและเว้นไปอีกวันท่านจึงฉัน จนกระทั่งท่านอายุมากแล้ว อายุ ๘๐ ปี ท่านจึงหยุดการปฏิบัติตนเองแบบเคร่งครัดเพื่อพักผ่อนกายสังขาร ตามคำนิมนต์ของบรรดาศิษย์

อาจารย์มหาทอง กาญจโน เจ้าอาวาส วัดกลางชูศรีฯ เป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาได้ติดตามอุปัฏฐากหลวงปู่บุดดามาแต่ปี ๒๕๒๐ เริ่มแต่วัดอาวุธวิกสิตาราม กทม. ได้กล่าวว่า “หลวงปู่เป็นพระพอดี ไม่ได้เกินดี ไม่ได้ขาดดี” เช่นถามเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ หนาวไหม หนาวพอดี ร้อนไหม ร้อนพอดี เกี่ยวกับการขบฉัน การเจ็บป่วย จะไม่เคยเรียกหาอะไรเพิ่มเติมเลย เวลาท่านฉัน ไม่เคยบอกก่อนเลยว่าท่านเจ็บป่วย ต้องสังเกตเอาเองและคอยสอบถามท่านว่าไม่สบายมีอาการเป็นอย่างไร

ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะท่านเคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านเคยอธิษฐานไม่นอนเลยระหว่างเข้าพรรษาก็ทำมาแล้ว ธุดงค์โดยไม่ต้องมีกลดมีมุ้ง ทางแถบชายทะเลตะวันออก ยุงกินเลือดท่านจนบินไม่ไหว ท่านกล่าวว่าไม่เกิน ๗ วัน เดี๋ยวมันก็ตายไปเองอยู่แล้ว สงสารมัน แต่ข้าพเจ้าก็เกิดอัศจรรย์ใจราวปี ๒๕๒๙ ที่ได้ไปพบท่านจำวัด ณ วัดกลางชูศรีฯ โดยที่ท่านไม่ต้องกางมุ้ง แต่ไม่เห็นมียุงกัดกินเลือดท่านเลย

ละสังขาร

สำหรับพระอรหันต์ถึงแม้ว่ามีคุณวิเศษสามารถแยกจิตกับกายออกจากกันได้แล้วก็ตาม แต่ย่อมไม่สามารถที่จะบังคับให้กายสังขารทรงความมีชีวิตให้ยิ่งยืนนานตลอดไปได้ฉันใด กายสังขารของหลวงปู่บุดดา ถาวโร ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่บุดดาได้ไปร่วมพิธีทำบุญ ๑๐๐ วัน หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถร (หลวงพ่อฤๅษี) ณ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หลังท่านกลับถึงวัดกลางชูศรีเจริญสุขแล้วเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. หลวงปู่มีอาการป่วยกะทันหัน พระครูโสภณจารุวัฒน์ (พระอาจารย์ มหาทอง) จึงได้นำส่งโรงพยาบาลสิงห์บุรี นายแพทย์วิศิษฐ์ ถนัดสร้าง ได้นำหลวงปู่เข้าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาล หมอประเจิดพบว่าสมองด้านซ้ายฝ่อเส้นโลหิตอุดตัน และปอดอักเสบ หลวงปู่หอบเพราะเสมหะตกค้างในปอดมาก แพทย์ตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจทางปาก

- ๙ ก.พ. ๒๕๓๖ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหลวงปู่เข้าเป็นคนไข้พระราชูปถัมภ์ คณะแพทย์สิงห์บุรีจึงได้นำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาล ศิริราช ณ ห้องไอซียู โดยมี ศ.พ.ญ. นันทา มาระเนตร์ เป็นแพทย์เจ้าของไข้

- ๑๑ ก.พ. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้รับการรักษาที่ห้องอภิบาลการหายใจ (อาร์ซียู) ตึกอัษฏางค์ ชั้น ๒ หลวงปู่อาการดีขึ้นตามลำดับ หายใจได้เอง

- ๑๔ ก.ค. ๒๕๓๖ หลวงปู่ได้ย้ายไปที่ห้องพิเศษ ตึก ๘๔ ปี ห้อง ๘๐๘ โดยอยู่ในความ ดูแลของแพทย์และพยาบาลประจำตึก มีพระอุปัฏฐากอยู่ประจำ ๒ รูป

- ๒๖ พ.ย. ๒๕๓๖ หลวงปู่มีอาการทรุดลงทั้งหอบและไอ แพทย์ได้นำเสมหะไปเพาะ เชื้อปรากฏว่าหลวงปู่ติดเชื้ออย่างแรง

- ๒ ธ.ค. ๒๕๓๖ แพทย์ได้ย้ายหลวงปู่กลับไปที่ห้องอาร์ซียูอีกครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น

- ๑๑ ม.ค. ๒๕๓๗ ช่วงกลางคืนอาการหลวงปู่สุดวิสัยที่คณะแพทย์จะเยียวยารักษาได้

วันดับขันธ์แห่งดวงประทีปพุทธศาสนา

เช้าของวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ อาการของหลวงปู่ได้ทรุดหนักลง พระมหาทอง (พระครูโสภณจารุวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข ซึ่งคอยเฝ้าสังเกตอาการของหลวงปู่เห็นดังนั้น จึงได้แจ้งให้คณะแพทย์ทราบโดยคณะแพทย์ได้เรียกระดมแพทย์ที่ให้การรักษามาทำการเยียวยาอย่างสุดความสามารถ

พระมหาทองได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ท่านได้เฝ้าดูอาการหลวงปู่มาอย่างใกล้ชิด จึงคาดว่าไม่ช้านี้หลวงปู่คงมรณภาพเพราะอาการขณะนี้มีเปอร์เซ็นต์ให้หวังได้เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ระบบการหายใจแย่ลงทุกที

พระครูโสภณจารุวัฒน์ หรือมหาทองได้ กล่าวอีกว่า หลวงปู่บุดดาเคยสั่งเอาไว้ว่าหากท่านมรณภาพไม่ให้จัดพิธีงานศพใดๆ ทั้งสิ้นด้วยเกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง

แต่แล้วเมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น. ทางคณะแพทย์ได้แจ้งให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้ที่เฝ้ารอดูอาการของหลวงปู่ที่หน้าห้องไอซียู ว่าหลวงปู่ได้ละสังขารไปอย่างสงบแล้ว

เหมือนสายฟ้าฟาดลงมายังบรรดาสานุศิษย์ที่มารอฟังข่าวของหลวงปู่ และยังเป็นข่าวร้ายอีกด้วย

เป็นเวลา ๓๔๐ วัน ที่หลวงปู่ต้องทนต่อสู้กับโรคปอดบวม สมองซีกซ้ายฝ่อและเส้นโลหิตอุดตัน ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาคณะแพทย์ที่ให้รับการรักษาและสานุศิษย์ทั้งหลายที่มารอเฝ้าดูอาการจนวาระสุดท้ายก่อนจะสิ้นลม สิริรวมอายุ ๑๐๑ ปี ๗ วัน ๗๓ พรรษา

ดวงประทีปแห่งพุทธศาสนาได้ดับสูญไปอีกดวงหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่หลวงปู่บุดดาได้สอนไว้ยังคงอยู่

"คนเราจะเป็นสุขเมื่อรู้จักพอดี ไม่มีใครได้อะไรตลอดไป หรือเสียอะไรตลอดไป ไม่มีใครหรือสิ่งไหนคงอยู่ตลอดไปโดยไม่สูญสิ้น ขอเพียงแค่รู้จักพอดีทุกคนจะเป็นสุข"

(คราวที่หลวงปู่ได้รับการรักษาที่ โรงพยาบาลตำรวจก็ได้รับการสงเคราะห์จากศิษย์ผู้อำนวยการ รพ. ตำรวจเป็นอย่างดีและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเยี่ยมด้วย)


รายชื่อวัดที่หลวงปู่จำวัด

1. วัดเนินยาว ลพบุรี
2. วัดผดุงธรรม ลพบุรี
3. วัดทุ่งสิงห์โต ลพบุรี
4. วัดปากกระพี้ ลพบุรี
5. วัดบ้านทุ่ง อ.ท่าบ่อ หนองคาย
6. วัดดงหนองหลวง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
7. วัดป่าหนองคู ลพบุรี
8. วัดหนองโนนเหนือ สระบุรี
9. วัดเนรัญชรา เพชรบุรี
10. วัดสนามพราหมณ์ เพชรบุรี
11. วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ เพชรบุรี
12. วัดเหนือวน ราชบุรี
13. วัดราชาธิวาส กทม.
14. วัดโบสถ์ชนะมาร เพชรบูรณ์
15. วัดศรีโขง เชียงใหม่
16. วัดเขาโขดคีรี ระยอง
17. วัดช้างชนราษฎร์บำรุง ระยอง
18. วัดเขาโบสถ์ ระยอง
19. วัดใหม่พิกุลทอง สิงห์บุรี
20. สำนักสงฆ์สองพี่น้อง ชัยนาท
21. สำนักศูนย์ปฏิบัติธรรม หลวงพ่อบุดดา ถาวโร ชัยนาท
22. วัดอาวุธวิกสิตาราม กทม.
23. วัดกลางชูศรีเจริญสุข สิงห์บุรี

วัดที่หลวงปู่จำพรรษานานที่สุดคือ วัดในจังหวัดเพชรบุรี ๒๐ พรรษา, ลพบุรี ๑๔ พรรษา, กทม. ๘ พรรษา, ระยอง ๗ พรรษา, ชัยนาท ๔ พรรษา นอกนั้น วัดละ ๑ พรรษ ๒ พรรษาเท่านั้นเอง



:b50: :b50:

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm

:b39: รวมคำสอน “หลวงปู่บุดดา ถาวโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44200

:b39: ประมวลภาพ “หลวงปู่บุดดา ถาวโร” วัดกลางชูศรีเจริญสุข
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=44348

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร