วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 15:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2012, 12:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล


วัดกระโจมทอง
ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี



หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๖ มกราคม ๒๔๗๘ ปีกุน ในตระกูลชาวนา เป็นบุตรของนายพรหม และนางพันธ์ ตามภานนท์ ซึ่งเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นคนที่ ๖ ณ ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยบิดาของท่านเป็นพระภิกษุถึง ๒๐ พรรษา เป็นพระนักเทศน์ที่ได้รับความเคารพนับถือจากภิกษุอื่น นอกจากนั้นยังเป็นสมภารปกครองหลายวัด ถึงแม้ว่าโยมบิดาจะสึกมามีครอบครัวแล้วก็ตาม พระภิกษุอื่นก็ยังเคารพโยมบิดาในฐานะของอาจารย์เสมอมา โยมบิดาท่านปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรมเสมอๆ ประกอบทั้งได้อบรมลูกๆ ให้มีความเคารพต่อพระบรมศาสดา สอนให้ละการเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยกาย วาจา และใจ และชี้แนะแนวทางในการช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยพรหมวิหาร ๔

ธรรมะเกิดในราวปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ ขณะที่ท่านอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียนนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น หลังจากสงครามสงบลงใหม่ๆ ภายในหมู่บ้านได้เกิดอาการไข้แพร่เชื้อติดต่อกัน ในจำนวนผู้เป็นไข้นั้นมีตัวท่านเอง น้องชายของท่าน เพื่อนเล่นของท่านและเด็กคนอื่นๆ แต่ก็ไม่มียามารักษา เพราะว่าหลังสงครามขณะนั้นยาหายากมาก อาการไข้ของน้องชายและเพื่อนของท่านทวีขึ้นอย่างรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ และถึงแก่ความตายในที่สุด ความตายนี้มาพรากน้องชายและเพื่อนของท่าน ทำให้ท่านเสียใจอย่างสุดซึ้ง ได้บังเกิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งเข้ามาในจิตใจของท่าน

ในขณะที่ใคร่ครวญพิจารณาศพเพื่อนและน้องชายด้วยใจจดใจจ่อ ได้บังเกิดเป็นฝ้าขาวบางแผ่กระจายไปทั่วบริเวณและได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนเดินผ่านหน้าท่านไปอย่างช้าๆ ทำให้ท่านหวนคิดไปว่า ผู้หญิงคนนั้นเขามีสิ่งใด เขาจึงเดินได้ เคลื่อนไหวได้ แล้วเพื่อนของเราขาดสิ่งใด จึงเคลื่อนไหวไม่ได้ ในขณะที่คิดพิจารณาอยู่กับการตายของน้องและเพื่อนนั้น จิตเริ่มค่อยๆ ลงสู่ความสงบพร้อมกับฝ้าขาวค่อยๆ หนาขึ้น หนาขึ้น จนกระทั่งเห็นสีขาวเต็มไปหมด นานเท่าไรไม่ทราบได้ จิตจึงเริ่มถอนออกมา รับรู้สภาพภายนอก ทบทวนย้อนหลังกลับไปถึงสาเหตุของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความคิดที่พิจารณาถึงความตาย หลังจากนั้นเป็นต้นมาในดวงใจของท่านเหมือนมีสิ่งมาดลใจไปให้ท่านอยากบวชเสมอมา

กุศลดลใจ สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจอีกสิ่งคือ เสียงเด็กร้องไห้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าท่านได้ยินเมื่อไร จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเหมือนถูกกรีดด้วยมีดคม ต้องหลีกให้ไกลเท่าที่จะไกลได้ จนไม่ได้ยินเสียง มูลเหตุนี้ทำให้ท่านคิดว่า สมมติว่าเราแต่งงานมีลูก ถ้าลูกร้องแล้วเราเจ็บปวดอย่างนี้ เราจะเข้าไปหาลูก หรือเราจะหนีลูก ได้รับคำตอบมาทันทีว่า เราต้องหนี และถ้าเราหนีขณะที่ลูกร้องจะตาย ใคร ๆ เขาจะว่าเราบ้า เพราะมันไม่ใช่พ่อคนแล้ว พ่อสัตว์แน่ๆ

เมื่อท่านพิจารณาเช่นนั้น ท่านจึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ขอแต่งงานเด็ดขาด ยิ่งเป็นการสนับสนุนความคิดเดิมที่จะบวชให้ทวียิ่งขึ้นไปอีก หลังจากนั้นมา ท่านก็ขอฝากตัวเป็นศิษย์ของพระครูประภาส ภูมิสถิต วัดคงคาสวัสดิ์ ที่ท่านเล่าเรียนหนังสืออยู่ ได้ติดสอยห้อยตามพระครูไปในสถานที่ต่างๆ ในกรณีที่ท่านมีกิจนิมนต์เทศน์ และปรนนิบัติท่านพระครูด้วยดี ในยามว่างจากการปรนนิบัติแล้ว ท่านพระครูมักจะไล่ให้ท่านลงไปพิจารณากรรมฐาน โดยให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทุกๆ คืน นอกจากนี้ ท่านยังได้ศึกษาด้านปริยัติและได้นำบทเรียนที่เกี่ยวกับการทำกสิณมาปฏิบัติจนกระทั่งท่านมีความชำนาญในฝ่ายสมถะมากพอสมควร

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคงคาสวัสดิ์ ต.คงคาสวัสดิ์ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ท่านพระครูประภาส ภูมิสถิต เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เจิม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดเกตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้อยู่ศึกษาด้านพระปริยัติธรรม ๑ ปี แล้วย้ายไปอยู่วัดวิชิตสังฆาราม ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อศึกษาทางด้านภาษาบาลี แต่เรียนไม่จบ เนื่องจากท่านเป็นเนื้องอกในจมูก จึงได้กลับมาศึกษานักธรรมเอกที่วัดคงคาสวัสดิ์ดังเดิม และออกธุดงค์ในเวลาต่อมา

ราวปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ หลังจากที่ท่านและสหายได้เดินทางกลับจากธุดงค์ เพื่อจะสอบนักธรรมและสอบได้ในคราวนั้นแล้ว ปีนั้นได้เกิดวาตภัยครั้งใหญ่ที่แหลมตะลุมพุก ที่ อ.ปากพนัง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตคนสัตว์อย่างมากมาย มีการทยอยนำศพมาตั้งไว้ที่วัดคงคาสวัสดิ์นั้นมากมายเต็มศาลา ทำให้ท่านรำพึงว่า “มนุษย์เราไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โต ร่ำรวยมหาศาล สวยหรืองาม ทุกข์ยากลำเข็ญเพียงใด ก็หนีความตายไม่พ้น เมื่อตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ เกิดตายเช่นนี้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชาติ ศีล สมาธิ และปัญญาเป็นทางไปแห่งความไม่ตายที่นิจนิรันดร์” เสียงหนึ่งผุดกังวานขึ้นในใจ เป็นเหตุให้ท่านเบื่อหน่ายต่อความเกิด มุ่งที่จะปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง

เมื่อดำริเช่นนั้นแล้วจึงได้จัดเตรียมบริขาร และชักชวนพระสหายออกเดินธุดงค์แถบป่าเขา จ.นครศรีธรรมราช อีกครั้ง ท่านได้ไปลาโยมพ่อ โยมพ่อแสดงความห่วงใยและแนะนำให้ไปนมัสการพระบรมธาตุ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนออกเดินทาง ท่านก็ได้รับปาก จังหวะเดียวกันนั้นท่านได้รับนิมนต์ให้ไปฉันที่วัดทับโคก และได้พบกับท่านพระอาจารย์อุดม สมถกิจ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ท่านได้บอกความตั้งใจที่จะธุดงค์ พระอาจารย์อุดมก็เห็นดีด้วย เพราะคำนึงถึงผลที่จะได้รับจากการธุดงค์ พร้อมกันนั้นพระอาจารย์อุดมได้แนะนำให้ท่านเดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่วัดชายนา หาแนวทางในการปฏิบัติไว้เป็นพื้นฐานเสียก่อนจะไปธุดงค์ พระอาจารย์สุทัศน์ก็เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ได้เป็นศิษย์รุ่นแรกของพระคุณอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร พระครูภาวนานุศาสก์

ในวันมาฆบูชานั่นเอง เป็นวันที่หลวงพ่อสุทัศน์ และพระอาจารย์บัญญัติ ได้เดินทางไปทำการนมัสการพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ด้วยการเวียนเทียนและเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอีกที่หนึ่งคือวัดชายนา ครั้งแรกที่ท่านพบพระคุณอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร ขณะนั้นท่านกำลังทำการสอบอารมณ์แม่ชีอยู่และได้มีการการไต่ถามข้อที่กล่าวด้วยมรรคมีองค์ ๘ โดยพระอาจารย์ใหญ่เป็นผู้ถามและแม่ชีน้อยเป็นผู้ตอบ

หลวงพ่อสุทัศน์ท่านยืนฟังและพิจารณาตามจนจิตเกิดความสงบนึกนิยมชมชอบในตัวพระคุณอาจารย์ใหญ่และคำตอบของแม่ชีน้อยที่โต้ตอบไป พลางรำพึงในใจว่า เราเรียนนักธรรมมายังตอบไม่ได้ลึกซึ้งอย่างนี้เลย เมื่อได้โอกาสแล้ว พระอาจารย์สุทัศน์จึงเข้ากราบเรียนจุดประสงค์ในการเดินทางมาครั้งนี้ ซึ่งพระคุณอาจารย์ใหญ่ก็รับด้วยความยินดี พร้อมกับแจงการปฏิบัติของท่านว่า

“การปฏิบัติให้จับอิริยาบถทั้ง ๔ คนเรามี การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ทุกคน แต่ไม่มีใครเลยที่ตามจับความรู้สึกในอิริยาบถทั้ง ๔ ให้ใช้ความเพียรพยายามในการติดตาม อย่าย่อท้อ”

อุบายการสอนของพระคุณอาจารย์ใหญ่สอนเพียงสั้นๆ แต่กินใจของหลวงพ่อสุทัศน์อย่างลึกซึ้ง เหมือนหนึ่งส่องไฟที่มีดให้สว่าง หงายของคว่ำให้แจ้ง บังเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้ให้สัจจะต่อหน้าพระคุณอาจารย์ใหญ่ว่า “ตราบใดที่ผมได้ปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้ ถ้าไม่แจ้งในขันธ์ ๕ นี้จะไม่ขอพูดกับใคร” ท่านได้ตั้งใจปฎิบัติโดยมีพระคุณอาจารย์ใหญ่คอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด จนท่านพิจารณาเห็นว่าท่านพอจะมีสติและปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครองตัวได้ พร้อมกับมีศรัทธาเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสูงยิ่ง ท่านจึงปรารถนาที่จะไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า ที่เชื่อว่ามีพระเกศาของพระพุทธองค์ประดิษฐานอยู่ จึงได้ออกธุดงค์พร้อมพระสหายในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ นั่นเอง


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2012, 16:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ รับหน้าที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกระโจมทอง

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านกลับจากธุดงค์ในประเทศพม่า โดยได้ไปกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง แล้ว ท่านก็ได้เข้ากราบนมัสการ พระครูประภาส ภูมิสถิต และเดินทางเข้ากราบพระคุณ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร แล้วได้รับมอบหมายจากท่านพระอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร ให้ช่วยฝึกอบรมพระภิกษุและฆราวาส ณ วัดอัมพวัน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ หลวงพ่อสุทัศน์เป็นกำลังสำคัญร่วมกับพระคุณอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร จัดประชุมสัมมนาพระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศครั้งที่ ๑ โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ขณะดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระวันรัตน ประธานเมตตาเปิดการประชุมครั้งนี้ เป็นไปเพื่อการเผยแพร่และยืนยันการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน ๔ ถือเป็นจุดเริ่มที่น่าภูมิใจ

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ขณะดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระวันรัตน ได้ประทานพื้นที่รกร้าง มีโบราณสถานเป็นลักษณะโบสถ์ มีพระพุทธรูป ๓ องค์ สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานสมัยอู่ทองยุคต้น ให้แก่พระคุณอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร เพื่อพิจารณาพัฒนาให้เป็นสถานที่เพื่อการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมและให้เป็นที่พึ่งพิงแก่ชาวบ้าน พระคุณอาจารย์ใหญ่ ธัมมธโร จึงมอบหมายให้หลวงพ่อสุทัศน์ ศิษย์คนสำคัญเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ซึ่งก็คือ วัดกระโจมทอง จ.นนทบุรี จนถึงปัจจุบัน

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)



.............................................................

รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
เว็บไซต์ http://www.luangphor.in.th

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร