วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2012, 04:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)

วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


“ช้างเผือกชาวชลบุรี และเพชรน้ำเอกของสังฆมณฑล”


๐ ปฐมวัย

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีนามเดิมว่า เจริญ สุขบท
เกิดในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2415 ที่จังหวัดชลบุรี
ในปีที่จะเกิดนั้นอุบาสกทองสุข ฝันว่า มีผู้นำช้างเผือกมาให้
ถึงเรื่องนี้จะเป็นเพียงความฝัน แต่โบราณก็ถือกันมาว่าเป็นมงคลนิมิตสำคัญอย่างหนึ่ง

เป็นบุตรนายทองสุก และนางย่าง สุขบท
อายุ 8 ปี ได้เป็นศิษย์ของ พระชลโธปมคุณมุณี (พุฒ ปุณฺณโก)

รูปภาพ
พระชลโธปมคุณมุณี (พุฒ ปุณฺณโก)


ท่านเจ้าคุณพระชลโธปมคุณมุนีนั้น เป็นสัทธิวิหาริกข้าหลวงเดิม
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช
เมื่อท่านเจ้าคุณพระชลโธปมคุณมุนีบวชครั้งแรก
เป็นที่สมุห์ฐานานุกรมของพระศรีวิสุทธิวงศ์
(สมณศักดิ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ฟัก เมื่อครั้งบวชเป็นพระ)
ขณะที่บวชเป็นพระได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษพอประมาณ
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและขึ้นครองราชย์
จึงได้ลาสิกขาเข้ารับราชการ ได้เป็นขุนสาครวิสัยในกรมมหาดเล็ก
ครั้นออกจากราชการตอนปัจฉิมวัยจึงบวชอีกครั้งหนึ่ง
สถิตย์อยู่วัดบุบผาราม ธนบุรี ครั้นจุลศักราช 123 รัตนโกสินทร์ศก 89 ตรงกับ พ.ศ. 2412
(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครองราชย์เป็นปีที่สอง)
เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ได้อาราธนา
พระอาจารย์พุฒ ปุณฺณโก จากวัดบุบผาราม มาเป็นเจ้าอธิการวัดเขาบางทราย
ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี
ทรงทราบประวัติเดิมของท่านอธิการพุฒ ทรงพระราชดำริว่า
ท่านอุตส่าห์สั่งสอนศิษย์มากและเป็นข้าหลวงเดิม
จึงทรงตั้งเป็นพระครูชลโธปมคุณมุนี เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี
ต่อมาโปรดให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระชลโธปมคุณมุนี

รูปภาพ
พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์
ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : อาจารย์บุญตา แอนติค


รูปภาพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)



๐ การศึกษาในพระพุทธศาสนา

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
เล่าเรียนอักษรสมัยในสำนักท่านเจ้าคุณพระชลโธปมคุณมุนี จนอายุย่างเข้าปีที่ 12
ไปบรรพชาเป็นสามเณรที่ศาลาในสวนของย่า ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ย่านิมนต์ท่านเจ้าคุณชลโธปมคุณมุนีไปให้บรรพชาต่อเนื่องกับการอุปสมบทบุตรคนเล็กของย่า
ครั้นบรรพชาเป็นสามเณรแล้วก็กลับมาเล่าเรียนที่วัดเขาบางทรายสืบต่ออีก
จนกระทั่งอายุได้ 14 ปี เห็นว่าตนอาจเรียนวิชาชั้นสูงเพิ่มขึ้นได้
จึงเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม อยู่ในสำนักท่านพระครูวินัยธร (ฉาย)
ฐานานุกรมของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ ในพระนคร

ต่อมาไปเล่าเรียนในสำนักท่านพระยาธรรมปรีชา (บุญ) จนอายุครบ 20 ปี
จึงได้กลับออกไปอุปสมบทที่วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี
ในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2435 มีนิยมนามตามภาษามคธว่า ญาณวโร
โดยมี ท่านเจ้าคุณพระชลโธปมคุณมุนี เป็นพระอุปัชฌายะ
และ ท่านพระครูวินัยธร (ฉาย) เป็นพระอุปสัมปทาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็ได้กลับเข้ามาจังหวัดพระนคร มาอยู่วัดกันมาตฺยาราม
เพื่อความสะดวกในการศึกษา เพราะใกล้ที่อยู่ของท่านพระยาธรรมปรีชา (บุญ)
ผู้เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม เรียนอยู่ 4 ปีเศษ
ต่อมาไปเรียนในสำนักท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)
แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี อยู่วัดพิชัยญาติการาม
เรียนอยู่ 3 เดือนเศษ ถึงปีมะแม พ.ศ. 2438
เข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัย
ได้โดยลำดับจนถึงชั้นเปรียญตรี เทียบ 4 ประโยค

ปีวอก พ.ศ. 2439 จึงมาอยู่วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อเล่าเรียนพระวินัยปิฎก
ในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น เป็นพระอาจารย์
ในปีนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัยได้โดยลำดับ
จนถึงชั้นเปรียญเอก เทียบ 7 ประโยค ได้รับรางวัลที่ 1 ทุกๆ ประโยคตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นที่สุด
และได้รับตำแหน่งเป็นครูเอกโรงเรียนภาษาบาลีวัดเทพศิรินทราวาสสืบมา

พ.ศ. 2441 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมราภิรักขิต
เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลปราจีนบุรี

พ.ศ. 2445 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระราชมุนี

พ.ศ. 2449 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี

พ.ศ. 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกายที่ พระสาสนโสภณ

พ.ศ. 2471 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

พ.ศ. 2476 กรรมการเถรสมาคมมีมติให้ท่าน เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
บัญชาการคณะสงฆ์แทนพระสังฆราชเจ้าซึ่งสิ้นพระชนม์ ประมวลเกียรติคุณพิเศษ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นพระเถระบริหารงานพระศาสนาถึง 5 แผ่นดิน
คือแต่รัชกาลที่ 5-9 เป็นพระราชาคณะแต่อายุ 28 ปี เป็นสมเด็จพระราชาคณะแต่อายุ 57 ปี
นับเป็นพระเถระที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พรรษาน้อยกว่าพระเถระหลายรูป


๐ กิจในพระพุทธศาสนา

อุปการะพระเณรและบำรุงวัด

ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส 50 ปีเศษ เอาใจใส่ดูแลรักษาวัดเป็นอย่างดี ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ของเก่า เช่น พระอุโบสถและกุฎิ เป็นต้น แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม และปลูกสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติม เป็นต้นว่า ที่อยู่ที่อาศัย สถานการศึกษา รวมค่าซ่อมแซมแลค่าก่อสร้างประมาณ 3,600,000.00 บาท ทำวัดให้สะอาดสะอ้านเรียบร้อย น่าดู น่าอยู่ น่าอาศัย เป็นทางนำมาซึ่งศรัทธาปสาทะแก่พุทธบริษัทเป็นอันมาก สังหาริมทรัพย์ แลอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน และเงินทุนของวัด เกิดเพิ่มพูนเป็นผลประโยชน์สำหรับบำรุงพระอาราม บำรุงภิกษุสามเณร บำรุงการศึกษา เป็นต้น ประมาณราคา 6,800,000.00 บาท ซึ่งเดิมเมื่อครองวัดมีเพียง 800 บาทเศษเท่านั้น ทั้งนี้กล่าวแต่เฉพาะรายใหญ่ๆ เท่าที่นึกได้ พุทธบริษัทก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับกาล ในวันธัมมัสสวนะ มีอุบาสก อุบาสิกามารักษาศีลและฟังธรรมอย่างมากถึงวันละ 800 คน ท่านเป็นพระอุปัชฌายะบวชภิกษุ 4,847 รูป เป็นอุปสัมปทาจารย์ 364 รูป เป็นพระอุปัชฌายะบวชสามเณร 1,455 รูป รวมทั้งสิ้น 6,666 รูป

หมั่นสั่งสอนศิษย์

ท่านเป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองในการแนะนำสั่งสอน มีความเพียรไม่เบื่อหน่ายในการที่จะอบรมศิษยานุศิษย์ และแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท ท่านถือเป็นกิจวัตรที่สำคัญ ไม่จำเป็น ไม่ขาดเลย เป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติของผู้ปกครองครบครัน คือมีอัธยาศัยเยือกเย็น หนักแน่น มีเมตตา กรุณา มุทิตา โอบอ้อมอารี มีใจเป็นห่วงในความเป็นอยู่แลความประพฤติของศิษย์ หวังเจริญสวัสดีแก่ศิษย์ หมั่นอบรมสั่งสอนเป็นนิตย์ แม้สึกหาลาเพศไปแล้ว ก็ยังหวังดีอุตส่าห์ตักเตือนพร่ำสอนเมื่อมีโอกาส มีของกินของใช้ก็แบ่งเฉลี่ยให้ตามกาล เมื่ออาพาธป่วยไข้ก็หมั่นเยี่ยมเยียนถามอาการ หาหมอมาพยาบาลรักษา ช่วยค่ายาค่ารักษา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่เคารพนับถือสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์สาธุชน ผู้ได้รับอุปการคุณนั้นๆ ทั่วกันไม่คืนคลาย

สงเคราะห์โลก

ท่านเป็นผู้ไม่สะสม พอใจในการสละสิ่งของที่ได้มา บริจาคเป็นบุญเป็นกุศลแทบทั้งสิ้น แจกภิกษุสามเณรในวัดบ้าง ศิษย์วัดบ้าง ตามควรแก่บรรดามีบ้าง ให้หาเพิ่มเติมบ้าง จัดเป็นเครื่องบูชา มีแจกัน พาน กระถางธูป เชิงเทียนเป็นต้นชุดละ 50 ชิ้นเป็นอย่างน้อย ส่งไปถวายวัดที่ขาดแคลนในต่างจังหวัด วัดละชุดบ้าง 2 ชุดบ้าง บางวัดก็ถึง 3 ชุด ประมาณ 270 วัด พิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทานด้วยทุนของท่านบ้างผู้อื่นช่วยบ้าง ประมาณ 100 เรื่อง คิดเป็นเล่มหนังสือประมาณ 400,000 เล่ม พิมพ์ไหว้ 5 ครั้ง แจกกรม กอง หน่วยราชการ ทหาร พลเรือน นักเรียน ประชาชน ตลอดถึงผู้ต้องขังทั่วราชอาณาจักรประมาณ 1,500,000 แผ่น นอกจากนี้ยังได้กระทำประโยชน์อันเป็นสาธารณะอีกมาก กล่าวเฉพาะส่วนใหญ่คือ

ขุดสระขังน้ำฝนที่วัดเขาบางทราย และชาวตำบลอื่นที่ใกล้เคียงได้อาศัยบริโภคใช้สอยตลอดหน้าแล้งและหน้าฝน เพราะตำบลเหล่านั้นใกล้ทะเล มีแต่น้ำเค็ม กันดารน้ำจืด

สร้างโรงเรียนเป็นตึกคอนกรีต 2 ชั้น 2 หลัง อยู่ในเขตวัดเขาบางทราย ชลบุรี มอบให้ทางการ เปิดสอนนักเรียน ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงปีที่ 6

ซ่อมพระอุโบสถวัดเขาบางทราย จ.ชลบุรี เปลี่ยนแปลงจากเดิมขยายให้กว้างขวางงดงามยิ่งขึ้น ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำลงรักปิดทองประดับกระจก เขียนลายผนัง ติดดาวเพดาน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบประกอบช่อฟ้าใบระกา

สร้างตึกผ่าตัดให้แก่โรงพยาบาลจังหวัดชลบุรี 1 หลัง เป็นคอนกรีตทั้งหลัง มีเครื่องใช้เครื่องมือและเครื่องอุปโภคในการผ่าตัดทันสมัยอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังช่วยปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมกุฎี วิหาร ศาลา ถนนหนทาง และโรงเรียนเป็นต้น ทั้งที่วัดเขาบางทรายและวัดอื่นๆ ในจังหวัดชลบุรีอีกหลายแห่ง ทั้งหมดนี้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนขององค์ท่านตามกำลังเป็นส่วนมาก มิได้เคยออกปาก เรี่ยไรผู้อื่น เมื่อผู้อื่นทราบมีศรัทธาเลื่อมใสก็บริจาคร่วมสมทบด้วย แม้กุฏีที่อยู่อาศัย จะปฏิสังขรณ์หรือเพิ่มเติม เช่นติดกระเบื้องฝา ทาสี เป็นต้น หรืออื่นใด ท่านก็ทำไปด้วยทุนทรัพย์ส่วนองค์เอง มิได้ออกปากใคร ต่อเมื่อมีผู้เห็นเข้า ศรัทธาก็ถวายช่วยด้วย เรื่องจะเอาเปรียบบุคคล เอาเปรียบวัด เอาเปรียบศาสนา แม้โดยปริยายไรๆ ท่านไม่นิยม ดังนั้นเวลาถึงมรณภาพลง จตุปัจจัยส่วนองค์เองจึงไม่มีเหลืออยู่เลย

กระทำตนเป็นแบบอย่าง

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ถือเคร่งครัดในพระวินัย ไม่ยอมประพฤติล่วงพระบัญญัติ แม้ในสิ่งที่ผู้อื่นโดยมากเห็นว่าเล็กน้อย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรอันงาม ไม่บกพร่องด่างพร้อยแต่ประการไร กิจวัตรนอกจากสวดมนต์ไหว้พระทำกัมมัฏฐานภาวนาที่กุฏีที่อยู่ แล้วสวดมนต์ไหว้พระประจำวันทุกเช้าเย็น ไม่จำเป็นท่านไม่ยอมขาด ทำตนเป็นผู้นำที่ดียิ่งและยังได้แนะนำชักชวนภิกษุสามเณรในวัดให้ปฏิบัติโดยเคร่งครัด ตลอดถึงได้ชักชวน เพื่อนสหพรหมจารีต่างวัดให้ช่วยกันทำนุบำรุงกิจวัตรแผนกนี้ ซึ่งถึงจะเป็นกิจวัตรพื้นๆ แต่ก็นับว่าสำคัญประการหนึ่ง อยู่เสมอในเมื่อมีโอกาส

การฟังพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ตั้งแต่อุปสมบทจนถึงวันมรณภาพ ขาดเพียง 2 ครั้ง ในเวลาอาพาธหนักไม่สามารถจะลุกนั่ง แลพลิกองค์เองได้แล้ว ท่านก็ยังแสดงความประสงค์จะลงฟังพระปาฏิโมกข์เมื่อวันอุโบสถมาถึงเข้า แต่ไม่มีผู้ใดจะปฏิบัติตามความประสงค์ของท่านได้ เพราะเห็นว่าท่านอาพาธหนักมาก ถ้านำท่านลงไปอาจถึงเป็นอันตรายได้

การงานทุกอย่างที่ท่านทำ มีระเบียบเรียบร้อยสม่ำเสมอ เป็นเวลาไม่มากก็น้อย สิ่งไรที่ท่านทำเองได้ ท่านไม่รบกวนผู้อื่น แม้แต่ศิษย์ ด้วยความเกรงใจ แม้ศิษย์จะสมัครใจยินดีทำถวายลางอย่าง เช่นช่วยถือบริขารเครื่องใช้สอย เป็นต้นว่าย่ามติดตาม เมื่อไม่จำเป็น ท่านก็ไม่ยอม โดยอ้างว่า ใครๆ เขาจะเห็นว่าเป็นเจ้ายศเจ้าอย่างไป กิจการลางประการ ซึ่งต้องใช้พระเดช อันท่านเอง ก็สมควรแล้วที่จะใช้ได้ทุกประการ ท่านก็มักผ่อนลงมาเป็นใช้พระคุณโดยมาก โดยปรารภว่า วาสนาบารมีน้อย ไม่ควรแก่พระเดชนัก อันผู้สูงศักดิ์มีวาสนาบารมี เมื่อจะทำกิจการไรๆ ยังหวนระลึกถึง อตฺตญฺญฺตา มตฺตญฺญฺตา รู้ตน รู้ประมาณอันเป็นสัปปุริสธรรม ทั้งต่อหน้าแลลับหลังเช่นนี้ น่าเคารพบูชาของสาธุชนทั้งหลายนัก

ท่านเป็นผู้ไม่มัวเมาในยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เห็นแก่อามิสลาภยศชื่อเสียง ไม่ขวนขวายที่จะได้ตำแหน่งหน้าที่การงานนั้นๆ แต่ด้วยเห็นแก่พระศาสนาจึงยอมรับตำแหน่งหน้าที่อันมาถึงตามกาลตามสมัย เมื่อรับทำสิ่งไรแล้วก็ตั้งใจจะทำจริงไม่ทอดทิ้ง ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยความแช่มชื่น ไม่ฝืนใจทำ มีความเพียรอดทนไม่ท้อถอย ทำตามกำลังสามารถ ลางอย่าง ลางโอกาส ถึงออกปากว่า ถ้าไม่ไหวก็ขอคืน ไม่ฝืนไว้ด้วยอาลัย

ท่านไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ สิ่งไรทำพลาด เป็นผู้รู้จัก ผิดเป็น ยอมทำใหม่แก้ไขให้ถูก ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในเมื่อมีผู้ทักท้วง มีเหตุผลเป็นธรรมเป็นวินัย ไม่ปล่อยให้สิ่งผิดแล้วเลยตามเลย หรือขืนทำไปทั้งๆ ที่เห็นว่าผิด

ท่านจึงเป็นผู้รู้อย่างที่กล่าวยกย่องว่า ไม่เมาในความรู้ ไม่มีชนิดที่เรียกว่า เอาสีข้างเข้าดัน อันเป็นมลทินของผู้รู้ แต่ว่าเป็นผู้ถ่ายถอนถือเอาแต่ยุติที่ชอบด้วยเหตุผล เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นประมาณ มีธรรมวินัยเป็นใหญ่ มีธรรมวินัยเป็นธงชัย ไม่ยอมให้มานะทิฐิหรือเล่ห์กลใดๆ เข้ามาปะปนแฝงอยู่ จึงเป็นหลักในความรู้และความเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้สนิท เป็นผู้ตรงไปตรงมาไม่มีแง่งอนมายาเป็นปฏิปทาของสาวกสงฆ์ข้ออุชุปฏิปนฺโน คือเป็นผู้ปฏิบัติตรง

ท่านเป็นผู้มีความอดกลั้นเป็นอย่างดี มีความสงบเสงี่ยม ไม่เคยแสดงอาการผลุนผลันให้ปรากฏ ไม่เคยพูดคำหยาบ กล่าวแต่คำอ่อนหวาน ไม่พูดให้เจ็บใจคนอื่น ไม่พูดเสียดสีกระทบกระทั่งนินทาว่าร้ายผู้อื่น องค์ท่านเคยปรารภเป็นเชิงสอนว่า คนเรานั้นมีอาวุธพิเศษสำหรับป้องกันตัวอย่างหนึ่งคือนิ่ง ไม่ต่อปากต่อคำ ต่อความยาวสาวความยืด อันเป็นเหตุให้เรื่องนั้นๆ ไม่สุดสิ้น ปฏิปทานี้ท่านถือเป็นแนวปฏิบัติประการหนึ่ง จึงนิยมในการรู้แล้ว เลิกแล้วกันไป ไม่ถือสาหาความอีก ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใครๆ แม้ผู้ที่ถือโกรธท่านๆ ก็ไม่โกรธตอบ กลับหาทางสมัครสมานคืนดี เรื่องไม่ดีของผู้อื่นเป็นไม่พูด ถึงมีผู้พูดก็ห้ามเสีย เรื่องการบ้านการเมือง รบราฆ่าฟัน อันไม่ใช่กิจสมณะไม่พูดเกี่ยวถึงเลย มีผู้พูด ถ้าเป็นผู้น้อยก็ห้ามเสีย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ยิ้มๆ รับฟังโดยมารยาท ท่านมีอาการสงบสม่ำเสมอ ไม่โลเลสับปลับ ไม่พูดถ้อยคำไร้สาระ พูดแต่สิ่งที่เป็นงานเป็นการ ประกอบด้วยอรรถด้วยธรรม มีประโยชน์ ไม่พูดเล่นตลกคะนองแต่ไหนแต่ไรมา

ท่านทำองค์ของท่านเป็นเนติแบบอย่าง สมกับเป็นผู้นำหมู่คณะ เป็นผู้ปกครองศิษยานุศิษย์ บริษัท บริวาร ตลอดถึงคณะสงฆ์ เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของคนทุกชั้น สิ่งไรที่ท่านสอนให้คนอื่นละเว้นไม่ให้ทำไม่ให้ประพฤติ องค์ท่านเองย่อมละเว้น ไม่ทำไม่ประพฤติด้วย ไม่เป็นแต่เพียงสอนหรือห้ามผู้อื่นฝ่ายเดียวเท่านั้น ท่านเป็นผู้เคารพนับถือผู้ใหญ่เหนือตน ปฏิบัติตามบังคับบัญชาในสิ่งที่ถูก ที่เป็นธรรม อย่างครบถ้วน แต่ถ้าสิ่งไรเป็นผิด เป็นเสียแล้ว ก็ไม่ยอมร่วมด้วย ระเบียบแบบแผนประเพณีอันใดที่ทางคณะสงฆ์บัญญัติไว้เป็นธรรมเป็นวินัย ท่านถือว่าปฏิบัติตามโดยไม่บกพร่อง นี้เป็นเนติอีกประการหนึ่งคือ ดีทั้งปกครองเขา แล เขาปกครองก็ดีด้วย

รูปภาพ

๐ ปัจฉิมกาล

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) อาพาธเป็นโรคเนื้องอกที่ตับ มีอาการเบื่ออาหารและอ่อนเพลียมาโดยลำดับ นายแพทย์ได้ตรวจพบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2494 พักรักษาตัวอยู่ ณ วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรีประมาณเดือนเศษ อาการไม่ดีขึ้น ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ทางคณะสงฆ์กรมการศาสนาและกรมการแพทย์ ส่งนายแพทย์ไปรับท่านมารักษาพยาบาล ณ วัดเทพศิรินทราวาส นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเป็นต้นว่า หลวงนิตยเวชวิศิษฐ์ พระอัพภันตราพาธพิศาล นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ ได้ถวายการรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ

แต่โรคชนิดนี้ยังไม่พบวิธีที่จะรักษาให้หายได้ เป็นโรคที่ทรมาน เท่าที่ปรากฏผู้ที่เป็นโรคชนิดนี้มักได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส แต่องค์ท่านแม้ได้รับทุกขเวทนาเห็นปานนั้น ก็สงบระงับไม่ยอมให้ทุกขเวทนานั้นครอบงำ มีสติสัมปชัญญะ ส่อให้เห็นคุณธรรมบางประการ อันท่านได้อบรมมาเป็นเวลานาน ไม่ครั่นคร้ามต่อมรณภัยอันคุกคามอยู่ สู้อุตส่าห์แนะนำพร่ำสอนโดยย่อๆ ถึงคุณพระรัตนตรัย แลความจริงของสังขาร กับทั้งความน่าเบื่อหน่ายในชาติภพ แลให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนแลรักษาพยาบาล จนที่สุดถึงมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันศุกร์ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เวลา 10.30 น. คำนวณอายุได้ 80 ปี โดยปีพรรษา 59 ได้รับพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2495 ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส


:b48: :b48:

ที่มา
(๑) http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm
(๒) http://kanchanapisek.or.th/kp8/cbr/cbr205.html

:b47: :b47: สมเด็จฯ วัดเทพศิรินทร์ พูดเล่นไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50997

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร