วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 15:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2012, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระครูสุคันธศีล (หลวงปู่คำแสน อินฺทจกฺโก)
“ครูบาคำแสนใหญ่”


วัดสวนดอก (พระอารามหลวง)
บ้านห้วยทราย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่



ปฐมวัย

หลวงปู่คำแสน กำเนิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2431
ตรงกับเดือน 3 เหนือ แรม 9 ค่ำ เวลา 06.00 น. ปีชวด
ณ บ้านป่าพร้าวใน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

บิดาชื่อท้าวภูมินทร์พิทักษ์ มารดาชื่อคำป้อ รังสี มีนามเดิมว่า ทิม

เมื่อครั้งเยาว์วัย หลวงปู่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย อารมณ์แจ่มใส
รู้จักคุณบิดามารดา ช่วยบิดามารดาทำนา


ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่ออายุ 10 ขวบได้เข้าวัด พออายุ 12 ปี จึงได้ขอบวชเป็นสามเณร
ได้ตั้งใจเล่าเรียนค้นคว้าพระธรรมวินัย และวิปัสสนากรรมฐาน
กับครูบาอริยะ วัดคับภัย จนถึงอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์
ได้รับฉายาว่า “อินฺทจกฺโก” แปลว่า ผู้มีพลังดุจจักรพระอินทร์

ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติ เมื่อบวชได้ 1 พรรษา
ได้มีผู้นิมนต์ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดอื่นๆ เกือบ 10 ปี
หลวงปู่ได้ออกจาริกอบรมเผยแพร่ไปในท้องที่ต่างๆ เช่น อำเภอสะเมิง
และตามป่าดอยของภาคเหนือ

ต่อมาภายหลังท่านหลวงปู่คำแสน หรืออีกนามหนึ่งคือ “พระครูสุคันธศีล”
ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ซึ่งเป็นวัดหลวง (พระอารามหลวง) ของจังหวัดเชียงใหม่
ท่านได้ทำนุบำรุง และอนุรักษ์วัดสวนดอกเป็นเวลา 30 ปี
ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่อง ท่านได้อุทิศชีวิตบำรุงพระพุทธศาสนา
มั่นคงดำรงตนในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ประพฤติธรรมสมถะ
มีดวงจิตเหนืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ จนได้รับสมญานามว่า “รอยยิ้มแห่งพระอรหันต์”

หลวงปู่คำแสนได้มรณภาพด้วยความสงบ
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2519 เวลา 24.00 น. รวมอายุได้ 88 ปี 3 เดือน



เกร็ดประวัติหลวงพ่อฤๅษีลิงดำเล่าถึงหลวงปู่คำแสนใหญ่

จากหนังสือตามล่าพระอาจารย์ และท่องเชียงแสน โดย ฤๅษีลิงดำ
รวบรวมโดย ป่อง โกษา (พล.อ.ท.ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์)


หลวงปู่คำแสนนี้ ความจริงหลวงปู่คำแสนองค์โน้น (วัดป่าดอนมูล)
ท่านก็บอกไว้ ท่านเรียกหลวงปู่แสนเฉยๆ เนื่องจากไม่คาดว่าจะมีเวลาพอ
จึงไม่ได้นำเอาเทปมาด้วย ขอเขียนตามที่โน้ตไว้สั้นๆ

หลวงพ่อฤๅษี ถามว่าชื่อท่านอะไรแน่
หลวงปู่คำแสน : ชื่อเขาใส่ให้
เดิมพ่อแม่ให้ชื่อ ทิม บวชแล้ว เขาใส่ชื่อให้เป็นพระครูสุคันธศีล

(ไม่ยักเล่าว่าทำไมจึงมีคนมีเรียกท่านว่าแสนหรือคำแสน
(ขอให้สังเกตคำว่า “เขาใส่ชื่อให้” แสดงว่าท่านไม่ยึด จะให้ชื่ออะไรก็เอา)

หลวงพ่อฤๅษี : ท่านชอบชื่อไหนครับ

หลวงปู่คำแสน : ก็ชอบเหมือนๆ กัน

หลวงพ่อฤๅษี : โลกสาม หลวงพ่อว่าดีไหม?

หลวงปู่คำแสน : ก็ดี

หลวงพ่อฤๅษี : ท่านชอบโลกไหน

หลวงปู่คำแสน : อะไรน่ะ?

หลวงพ่อฤๅษี : ตายไปแล้วท่านชอบโลกไหน

หลวงปู่คำแสน : เออ เออ สวรรค์ (เว้นระยะไปพักหนึ่ง) นิพพาน (แหม ค่อยยังชั่วหน่อย)

หลวงพ่อฤๅษี : หลวงพ่อยังแข็งแรงดี

หลวงปู่คำแสน : เออ เออ ไม่มีโรคภัยอะไร บางคนเขาถามว่าหลวงปู่มียาอะไร อายุ 88 แล้ว ยังแข็งแรงดี ขอกินบ้างได้ไหม ก็ตอบเขาว่า ไม่ได้กินยาอะไร กินเข้าไป ดีไม่ดีกลับเกิดโทษ

หลวงพ่อฤๅษี : อย่างนี้ก็แปลว่าไม่ได้ทำกรรมหนัก จำพวกปาณาติบาตไว้แต่ก่อน

หลวงปู่คำแสน : เออ เออ ก็ใ้ช่่ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ มีเป็นธรรมดา จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ช้าหรือเร็วก็ของใครของมัน

หลวงพ่อฤๅษี : ท่านรู้จักครูบาศรีวิชัยดี?

หลวงปู่คำแสน : อ่อนกว่าท่านศรีวิชัย 10 ปี ไม่ได้อยู่ด้วย แต่ไปมาหาสู่กัน รู้จักกันดี

หลวงพ่อฤๅษี : หลวงปู่มั่นรู้จักไหมครับ เห็นว่าท่านมาอยู่เ้ชียงใหม่นาน

หลวงปู่คำแสน : ได้ยินแต่เสียง ได้ยินแต่ชื่อ

หลวงพ่อฤๅษี : ครูบาศรีวิชัย ถนัดธรรมะทางไหน?

หลวงปู่คำแสน : ถือศีล ถือสัจจะ มังสะวิรัติด้วย มีคนถามท่านว่าทำไมถือมังสะวิรัติ ท่านตอบว่า เกิดบ้านป่า หาเนื้อยาก ได้กินแต่ผัก ก็เลยชินกับการกินผัก เรื่องสัจจะ ถ้าท่านมีนัดกับใครแล้ว ไม่ว่าจะมีคนมาหามากมายแค่ไหน ท่านก็ต้องปลีกตัวไปตามนัดจนได้

หลวงพ่อฤๅษี : บารมีท้ายของท่าน คือ สัจจบารมี?

หลวงปู่คำแสน : เออ เออ มีคนมาถวายธรรมะท่าน ท่านบอกว่าท่านเป็นพระบ้านนอก เรียนอิติปิโสยังไม่จบเลย บารมีท่านสูงมาก ไม่ว่าจะสร้างอะไรที่ไหนเสร็จที่นั่น ไม่คั่งค้างเลย คนก็ศรัทธา เพราะฉะนั้นเขาก็มักจะเชิญไปนั่งหนัก ไปเป็นประี่ธาน สร้างอะไรไม่นานก็ต้องเสร็จ อย่างศาลานี่่ก็สร้าง 8 เดือนเท่านั้น หมดไป 8 หมื่น 8 พัน

หลวงพ่อฤๅษี : ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ น่ากลัวจะต้องแปดล้าน ท่านเข้าวัดเมื่อไหร่ครับ?

หลวงปู่คำแสน : อายุ 10 ปี ก็เข้าวัด 12 ปี บวชเณร 20 ปี บวชพระ บวชได้ 1 พรรษา เขานิมนต์ไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดอื่นๆ เกือบ 10 ปี แล้วกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเดิม ที่มาอยู่วัดนี้ เพราะคณะสงฆ์เห็นว่าเป็นวัดโบราณ จะเอาพระหนุ่มน้อยก็ไม่ไหว พระแก่มาก ลูกน้องก็มา มาอยู่วัดนี้ได้ 26-27 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 88-89

หลวงพ่อฤๅษี : มีพระกี่รูปครับ

หลวงปู่คำแสน : มีพระ 10 เณร 10 ในขณะนี้

หลวงพ่อฤๅษี : อิติปิโสก็ยังไม่จบ?

หลวงปู่คำแสน : เออ...เออ ยัง

หลวงพ่อฤๅษี : ห้องท้าย น่ากลัวจะจบแล้ว สุปฏิปันโนน่ากลัวจบแล้ว?

หลวงปู่คำแสน : จบ...จบ

หลวงพ่อฤๅษี : ผมก็เหมือนกัน ห้องต้นทนไม่ไหว เลยต้องมาท่องบทท้าย “พุทโธ อนันตคุโณ ภิกขุ” บทหลังค่อยท่องง่ายหน่อยนะครับ เรามันแรงน้อย

หลวงปู่คำแสน : เออ...เออ

เมื่อลาท่านออกมาแล้ว หลวงพ่อฤๅษีลิงดำบอกว่า ตอนที่เดินเข้าไปในวัด ยกมือไหว้เจดีย์ที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง ก็มองเห็นท่านครูบา เมื่อมองดูจิตหลวงปู่คำแสนเห็นสว่างหมดดวงแล้ว แสดงว่าเป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นสุปฏิปันโนชั้นยอดแล้ว แต่มีจุดสีแดงสว่างจ้าอยู่ด้วย จึงไม่ใช่สีแดงแบบจิตมีปีติ (กิเลส) ธรรมดา จึงลองเรียนถามครูบาศรีวิชัยดู ท่านตอบว่า เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มากด้วยกตัญญู นับว่าเป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง

(ผู้เรียบเรียงมีความเห็นว่า) ควรจะมีข้อสังเกต 2 ข้อจากการสนทนานี้ คือ

1. คำถามที่ว่า “บารมีของท่านครูบาศรีวิชัย คือ สัจจบารมีหรือ?” นั้น เป็นการบอกอยู่ในตัวว่าท่านองค์นี้บำเพ็ญบารมีจบแล้ว จึงแปลว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่เต็มขั้นแล้ว เข้าแถวรอการตรัสรู้แล้ว ซึ่งไม่ทราบจะเป็นองค์ที่เท่าไร ถัดไปจากพระศรีอาริยเมตไตรย

2. คำตอบของท่านครูบาคำแสน ที่ว่า “อิติปิโสยังไม่จบ” นั้น ก็คือ ยังไม่จบหลักสูตรเป็นพระพุทธเจ้า เพราะบทอิติปิโส คือบทที่แสดงพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ใครอ่านเข้าใจว่าท่านท่องไม่ได้ก็...เฮอ...ส่วนที่ว่าย้ายไปท่องบทสุปฏิปันโน ก็คือว่าต้องย้ายไปทำทางสาวกภูมินั่นเอง ซึ่งหลวงปู่คำแสนตอบมาก็ควรจะแจ่มแจ้ง คือ ท่านจบแล้ว จบสาวกภูมิ เป็นอันว่าหมดภารกิจสมความประสงค์ของคณะในการไปทัศนาจรครั้งนี้

รูปภาพ
พระครูสุคันธศีล (หลวงปู่คำแสน อินฺทจกฺโก)

รูปภาพ
วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

รูปภาพ
พระเจ้าเก้าตื้อ ณ พระอุโบสถ วัดสวนดอก


วัดสวนดอก

วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
ปัจจุบันตั้งอยู่บน ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดสวนดอกในอดีตนั้นป็นสวนดอกไม้ (ต้นพยอม) ของเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์เม็งราย
โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ)
พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน”
ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา
และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” 1 ใน 2 องค์
ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912
(องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

รูปภาพ

ในสมัยราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองมาก
แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า
ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป
วัดสวนดอกได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง
ในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)
และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือและประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475
เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย

:b48: :b48:


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm
เว็บไซต์วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร