วันเวลาปัจจุบัน 15 ก.ย. 2024, 15:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2011, 20:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ประวัติและปฏิปทา
พระโพธิญาณเถร
(หลวงพ่อชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


รูปภาพ

อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของคนเราไม่ยั่งยืน
ธุวัง เม มะระณัง ความตายของเรายั่งยืน
อนิยะตัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่เที่ยง
นิยะตัง เม มะระณัง ความตายของเราเที่ยง

สักวันหนึ่งเราก็จะต้องทับถมดินเหมือนคนเหล่านั้น
เราเกิดมาเพื่อถมดินให้สูงขึ้นหรือ ? หรือเกิดมาทำไม


ไม่แน่...คือ อนิจจัง

สัมมาทิฐิ คือความเข้าใจว่า
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของไม่แน่นอน


:b44: :b44:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2011, 20:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สารบัญย่อย

ภาค ๑ เส้นทางแสวงธรรม
๑) ประวัติและปฐมวัย
๒) บรรพชาเป็นสามเณร
๓) สู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
๔) ศึกษาปริยัติธรรม
๕) เข้าสู่หลักธรรม
๖) พบพระอาจารย์ผู้ชี้ทางธรรม
๗) ประสบการณ์ปฏิับัติในป่าช้า
๘) พระอาจารย์กินรีให้ข้อคิด
๙) ต่อสู้กามราคะเพื่อทำความเพียร
๑๐) ข้อคิดจากเด็กพิการที่ติดตามธุดงค์
๑๑) ชนะใจตนย่อมพ้นภัย
๑๒) บริขารเป็นเพียงของประดับขันธ์ ๕
๑๓) คนดีอยู่ที่ตัวเรา
๑๔) ที่สุดของสมาธิ
๑๕) ศีลรู้ได้เพราะอยู่ร่วมกันนานๆ
๑๖) ทางที่พอดีในการทำความเพียร
๑๗) เกาะที่อยู่ที่ปลอดภัย คือ เกาะภายใน
๑๘) การฉันอาหารไม่พิจารณาเหมือนปลาติดเบ็ด
๑๙) ปลีกตัวจากหมู่คณะ
๒๐) ป่วยกายไม่ป่วยใจด้วยธรรมโอสถ
๒๑) กำเนิดวัดหนองป่าพง
๒๒) บุพนิมิต...ลางบอกเหตุ
๒๓) ตอบแทนโยมมารดาด้วยอรรถและธรรม

ภาค ๒ จริยาวัตรและแนวทางการสอน
๑) ทำตนให้ตั้งในธรรมอันสมควรก่อนจึงสอนผู้อื่น
๒) นอกตำราแต่ถูกต้องตามสัจธรรม
๓) กฎกติกาตามแบบฉบับวัดหนองป่าพง
๔) กิจวัตรขัดเกลากิเลส
๕) ธรรมโอวาทสั้นๆ แก่นักปฏิบัติ
๖) เอกลักษณ์ของพระอาจารย์ชา
๖.๑) ปฏิปทาสม่ำเสมอและเป็นกันเอง
๖.๒) อดทนเป็นเลิศ
๖.๓) เย็นด้วยเมตตาอย่างยิ่ง
๖.๔) เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์
๖.๕) งามทุกกาลเทศะ
๖.๖) สันโดษอย่างยิ่ง

๗) หลวงพ่อชากับลูกศิษย์ชาวต่างชาติ
๘) ภาษาไม่ใช่ปัญหา
๙) ลูกศิษย์ต่างชาติรูปแรก
๑๐) การบวชนั้นไม่ยาก แต่บวชแล้วนี้ซิยาก
๑๑) ความเมตตาต่อคณะชีแห่งสำนักวัดหนองป่าพง
๑๒) ปฏิปทาและธรรมะที่เน้นย้ำกับฆราวาส
๑๒.๑) ฟังธรรมให้ได้ธรรม
๑๒.๒) ให้รู้จักบาปบุญที่แท้จริง
๑๒.๓) ให้พากันภาวนา
๑๒.๔) ทำใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมเป็นพุทธบริษัท
๑๒.๕) ภารกิจสำคัญ คือ การมีสติ
๑๒.๖) ให้พิจารณาชีวิตเนืองๆ จะเกิดปัญญา


ภาค ๓ ปัจฉิมกาล
๑) โอวาทครั้งสุดท้าย
๒) ปลงสังขาร
๓) มรณกาล


แหล่งข้อมูลสำหรับผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติม
เกี่ยวกับพระอาจารย์ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง


ใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6536

รวมคำสอน “หลวงพ่อชา สุภัทโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38519

ประมวลภาพ “หลวงพ่อชา สุภัทโท” วัดหนองป่าพง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=20430

ต้นไม้สอนธรรม...ที่วัดหนองป่าพง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=26474

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 03 ต.ค. 2011, 19:50, แก้ไขแล้ว 16 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2011, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๑ เส้นทางแสวงธรรม

:b44: ประวัติและปฐมวัย

รูปภาพ

พระอาจารย์ชา สุภทฺโท นามเดิมว่า ชา ช่วงโชติ
เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑
ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ของ นายมาและนางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมมารดา ๑๐ คน

ท่านเป็นคนช่างพูดและมีลักษณะผู้นำมาตั้งแต่เด็กๆ
เมื่ออยู่กับหมู่เพื่อน ไม่ว่าจะเล่นหรือทำอะไรก็ตาม
ท่านมักเป็นผู้วางแผนมอบหมายหน้าที่แก่คนอื่นเสมอ
โดยปกติท่านเป็นคนอารมณ์ดี ร่าเริง

อุปนิสัยอันโดดเด่นอีกประการหนึ่งของท่าน คือ ความรักสันติ
ไม่เคยมีใครเห็นท่านมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งเป็นปากเป็นเสียงกับใคร
โดยเฉพาะการชกต่อยข่มเหงรังแกกับผู้อ่อนแอกว่านั้น ยิ่งไม่มีเลย
ตรงกันข้ามเมื่อเพื่อนฝูงมีปัญหาขัดใจกัน
ท่านจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคลี่คลายให้เรียบร้อยได้
ด้วยความสามารถอันเป็นลักษณะเฉพาะตัว
ประกอบกับปกติท่านเป็นคนมีน้ำในโอบอ้อมอารี
และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอ เพื่อนๆ ก็เลยเกรงใจ

ท่านพระอาจารย์ชามีวัยเด็กที่เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศอบอุ่นและมั่นคง
ครอบครัวของท่าน จัดว่ามีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้าน
และมักสงเคราะห์ผู้ยากจนกว่าในยามข้าวยากหมากแพงอยู่เสมอ
ตัวท่านเองเป็นเด็กที่มีกำลังวังชา กระฉับกระเฉงว่องไว

ท่านเป็นคนขยันไม่อยู่นิ่ง
จึงสามารถช่วยงานในครอบครัวได้เป็นอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย
งานหลักที่เด็กชายชาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญมีอยู่ ๒ อย่าง
คือ งานเลี้ยงควายและดูแลไร่ยาสูบ
แต่งานหนักคืองานในไร่ยาสูบ ซึ่งมีถึง ๔-๕ ไร่
ปีหนึ่งๆ ต้องรดน้ำพรวนดิน ดูแลเก็บเกี่ยวจนได้ผลผลิตเป็นยาสูบ
ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนกับผลผลิตอย่างอื่น
เช่น อาหารและสิ่งของเครื่องใช้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง

เรื่องราวในวัยเยาว์ของท่านพระอาจารย์
มักถูกท่านหยิบยกขึ้นมาใช้ในการแสดงธรรมเทศนาอยู่เสมอ
อาทิ อุปนิสัยรักสงบและความยุติธรรมอันนำมาสู่เส้นทางธรรม
แม้การเลี้ยงควาย เช่น การเลี้ยงควายนั้นเหนื่อยมาก
ถ้าอยากมีสมบัติมากๆ (เช่น วัว ควาย)
แค่ฟั่นเชือกไว้จูงพวกมันก็ทำไม่ไหวแล้ว
คนเราอยากมีมากๆ แต่ไม่ค่อยคิดถึงความทุกข์ที่ตามมา
จากการครอบครองสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น

ซึ่งการอุปมาอุปไมย ยกสิ่งต่างๆ มาเปรียบเทียบนั้น
เป็นลักษณะการสอนอันโดดเด่นของหลวงพ่อชา
ซึ่งศิษยานุศิษย์คุ้นเคย


:b44: บรรพชาเป็นสามเณร

หลวงพ่อชามีใจฝักใฝ่ทางธรรมแต่วัยเยาว์อีกทั้งมีอุปนิสัยน้อมมาทางธรรม
ท่านศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนบ้านก่อ ตำบลธาตุ
อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนจบชั้นประถมปีที่ ๑
ก็ได้ลาออกและทางพ่อแม่ได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์วัด
ได้เรียนรู้กฎระเบียบและกิจวัตรประจำวันต่างๆ
จนได้รับการอบรมพอสมควรและมีอายุถึงเกณฑ์บรรพชา
ท่านเจ้าอาวาสเห็นว่าเป็นเด็กเรียบร้อย ทั้งขยันหมั่นเพียร
รู้จักอุปัฏฐากรับใช้ครูอาจารย์ด้วยดีมาตลอด
จึงจัดการให้ได้บรรพชาพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน

โดยมี พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง)
อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์
บรรพชาที่วัดบ้านก่อ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔
ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๑๓ ปีพอดี
เมื่อบรรพชาแล้วนอกจากการท่องบทสวดมนต์ต่างๆ
สามเณรชาได้เรียนหลักสูตรนักธรรมตรี
และเรียนหนังสือพื้นเมืองที่เรียกว่า “หนังสือตัวธรรม” อย่างเชี่ยวชาญ
การบรรพชาเป็นสามเณรนี้ ท่านบวชอยู่นานได้ ๓ พรรษา

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 25 ส.ค. 2011, 21:26, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2011, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: สู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

หลวงพ่อชา สุภัทโท ในวัยเยาว์หลังจากได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ พรรษา
ท่านได้ลาสิกขามาช่วยงานทางบ้านจนอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์
หลังจากทราบว่าตนไม่ต้องรับการเกณฑ์ทหาร
ท่านได้ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยได้รับการอุปสมบท
เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น.
ณ พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ได้รับฉายาว่า สุภทฺโท แปลว่า ผู้เจริญด้วยดี
โดยมีพระเถระสำคัญที่ให้การอุปสมบทดังนี้

พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชาฌาย์
พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์


รูปภาพ
พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์
ที่มาของภาพ http://jedeethai.blogspot.com/2010/08/b ... _6177.html

รูปภาพ
พระครูวิรุฬสุตการ พระกรรมวาจาจารย์ (รูปขวาสุดแถวบน)
รายนามพระอาจารย์ตามลำดับในภาพดังนี้
หลวงปู่ทวด จ.ปัตตานี/พระครูปุริมานุรักษ์ จ.นครปฐม/พระครูวิรุฬสุตการ จ.อุบลราชธานี
หลวงปู่ขาว จ.อุดรธานี/หลวงปู่แหวน จ.เชียงใหม่/หลวงปู่เทสก์ จ.หนองคาย
ที่มาของภาพ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=676275


จากนั้นพระชา สุภทฺโท ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก ๒ พรรษา
ระหว่างนั้นได้ศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี

แม้ที่วัดนี้ท่านจะยังไม่ได้ฝึกฝนจิตใจอย่างยิ่งยวด
แต่ก็ได้พิจารณาเห็นความเป็นไปหลายสิ่งหลายอย่าง
เช่น การบวชๆ สึกๆ ของพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย
ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องโง่มาก การบวชเป็นเรื่องยาก การสึกนั้นง่าย
ท่านถือว่าคนพวกนี้มีบุญน้อยที่เห็นชีวิตแบบโลก ดีกว่าชีวิตนักบวช


นอกจากนี้ท่านยังต้องผจญกับความหิว ความอยากที่กลุ้มรุมท่านเป็นอย่างมาก
เพราะปกติท่านเป็นคนที่เจริญอาหารอยู่แล้ว
ความอยากเกี่ยวกับอาหารการฉัน จึงเล่นงานท่านอย่างหนักทีเดียว

รูปภาพ

รูปภาพ
วัดก่อนอก ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


วัดบ้านก่อนอกเป็นวัดเก่า สร้างเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐาน
เป็นวัดร้าง หลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้บูรณะวัดขึ้นมาใหม่
โดยมี พระครูอุดมธรรมกิจ เป็นผู้ดูแลช่วยเหลือ
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔

:b44: ศึกษาปริยัติธรรม

ปี พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านก็ได้ตัดสินใจออกแสวงหาความรู้ในต่างถิ่น
โดยไปพำนักยังวัดสวนสวรรค์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
และไปเรียนหนังสืออยู่ที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ตาก
หลังจากนั้นก็เดินทางไปยังสำนักเรียนวัดบ้านหนองหลัก
ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
แต่ไม่ได้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้เพราะเพื่อนของท่านไม่อยากอยู่

จึงเดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักเรียนวัดเค็งใหญ่
อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านได้ศึกษานักธรรมชั้นโทและบาลีไวยากรณ์ และสอบนักธรรมชั้นโทได้ที่วัดนี้

ปี พ.ศ.๒๔๘๖ ท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษา
ที่สำนักเรียนวัดบ้านหนองหลัก และได้ทุ่มเทกายใจศึกษาทั้งนักธรรมและบาลีอย่างเต็มที่
เมื่อออกพรรษาก็ได้รับข่าวว่าโยมบิดาป่วยหนัก ท่านลังเลอยู่นาน
ห่วงโยมบิดาก็ห่วง เรื่องเรียนก็ห่วง
แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านไปดูโยมบิดาและตัดสินใจไม่กลับไปสอบ
อยู่ดูแลโยมบิดาจนกระทั่งวาระสุดท้าย

ก่อนถึงแก่กรรม โยมบิดาได้ขอร้องท่านว่า
“อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี
สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้”

ก่อนหน้านี้ เมื่อได้ยินคำพูดแบบนี้ท่านจะนิ่งไม่โต้ตอบอะไร
แต่ในครั้งนี้ ท่านกลับให้คำตอบกับโยมว่า
“ไม่สึกหรอก จะสึกไปทำไม”


รูปภาพ
วัดสวนสวรรค์ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 18 ส.ค. 2011, 07:20, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2011, 19:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: เข้าสู่หลักธรรม

หลวงพ่อชาท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า
อยากรู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอนของพระพุทธองค์
จึงเริ่มศึกษาธรรมจากสำนักต่างๆ หลายสำนัก

๑) ระยะแรกในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๖
ศึกษาปริยัติธรรมกับพระมหาแจ้ง
วัดเค็งใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี
และพระครูอรรถธรรมวิจารณ์
วัดหนองหลัก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

๒) ปี พ.ศ.๒๔๘๖ เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรม หลวงพ่อชาสิ้นภาระห่วงใย
มองเห็นความเป็นอนิจจังของชีวิต
หลังจากสอบนักธรรมเอกได้เกิดเบื่อหน่ายด้านปริยัติ
พิจารณาว่าไม่ใช้ทางพ้นทุกข์

หลวงพ่อชาจึงประสงค์ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระบ้าง
เหตุนี้ท่านจึงออกธุดงค์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๙
เพื่อค้นหาอาจารย์ที่จะสอนด้านวิปัสสนาธุระ
โดยระยะแรกมุ่งหน้าไปจังหวัดสระบุรี-ลพบุรี
ที่ลพบุรีมุ่งตรงมาที่สำนักวัดป่าของหลวงพ่อเภา
แต่น่าเสียดายที่หลวงพ่อเภามรณภาพเหลือแต่อาจารย์วัน ผู้เป็นลูกศิษย์
จึงได้แต่ศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาวางไว้จากอาจารย์วัน
สำนักวัดป่าของหลวงพ่อเภาในปัจจุบัน คือ วัดเขาวงกต อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

อาจารย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคืออาจารย์ชาวเขมร
(ซึ่งธุดงค์จากเขมรมาไทย และมุ่งไปพม่า)
เป็นผู้วางหลักแนวทางปฏิบัติโดยใช้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา
ซึ่งแต่งโดย พระอมรมภิรักขิต (เกิด) ในคณะธรรมยุติกนิกาย
หลวงพ่อชาจึงได้ใช้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา
เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์
ในวัดหนองป่าพงและสาขามาจนทุกวันนี้


เกี่ยวกับหนังสือบุพพสิกขาวรรณาวินัยกถา
http://www.larnbuddhism.com/buppasikkhawanna/1.html

อ่านหนังสือบุพพสิกขาวรรณาวินัยกถา
http://www.larnbuddhism.com/buppasikkhawanna/index.html


:b44: พบพระอาจารย์ผู้ชี้ทางธรรม

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
กุฏิพระอาจารย์มั่นที่เสนาสนะป่าหนองผือ
ปัจจุบัน คือ วัดภูริทัตตถิราวาส
บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร

รูปภาพ
เตียง ธรรมมาสน์ และเก้าอี้ภายในกุฏิ
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต เป็นผู้ต่อถวาย

รูปภาพ
ศาลาโรงฉัน


ปี พ.ศ.๒๔๙๐ หลังจากหลวงพ่อชาจำพรรษาที่เขาวงกต อยู่ได้หนึ่งพรรษา
ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
เป็นผู้มีคุณธรรมสูงทั้งเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพเลื่อมใสมาก
หลวงพ่อชาจึงเดินทางมาที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ นาใน
อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

วันแรกที่เข้าสำนัก เห็นบริเวณร่มรื่น
ปฏิปทาของพระภิกษุเคร่งครัดเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา
พระอาจารย์มั่นได้เทศนาสั่งสอนเกี่ยวกับหลักธรรม
อาทิศีลนิเทศ ปัญญานิเทศ พละ ๕ อิทธิบาท ๔
ให้แก่หลวงพ่อชาและศิษย์จนเป็นที่พอหายสงสัย

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ได้อนุญาต
ให้หลวงพ่อชาญัตติเป็นธรรมยุติ


ท่านให้ข้อชี้แจงเป็นปรัชญาคมคายว่า
“ในความเป็นภิกษุที่แท้จริงไม่ได้มีนิกาย
ทั้งหมดคือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์”
ดังคำกล่าวของหลวงปู่มั่นต่อหลวงพ่อชาว่า
ไม่ต้องสงสัยนิกายทั้งสอง


หลังจากฟังเทศน์จากท่านพระอาจารย์มั่น
หลวงพ่อชามีจิตอิ่มเอิบ เป็นสมาธิ
และได้ยึดคำสอนปฏิปทาของท่านไว้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน
แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก”


ดังนั้น ไม่ว่าจะทำกิจวัตรอันใด เช่น กวาดวัด
จัดที่ฉันล้างบาตร นั่งสมาธิ ตักน้ำ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรม
ในระหว่างวันพระถือเนสัชชิ การไม่นอนตลอดคืน
หลวงพ่อชาท่านลงมือทำเป็นตัวอย่างของศิษย์ โดยถือหลักว่า
“สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ”
ดังนั้นศิษย์และญาติโยมจึงเกิดความเลื่อมใสเคารพยำเกรงในปฏิปทาที่หลวงพ่อดำเนินอยู่

หลวงพ่อพักอยู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่นเพียง ๒-๓ วัน
ก็ออกธุดงค์รอนแรมตามป่าเขาไปเรื่อยๆ
ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใด
ก็มีความรู้สึกราวกับว่าหลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา
การมากราบนมัสการหลวงปู่มั่นในครั้งนี้ ทำให้ศรัทธาของหลวงพ่อแกร่งกล้าขึ้น
พร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร


คำสอนของพระอาจารย์มั่นเรื่องนิกายทั้งสองนี้
ยังมีบันทึกไว้ในหนังสือ “มณีรัตน์...อัญมณีแห่งไพรสณฑ์” อีกด้วย
ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติและปฏิปทาของ พระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล
วัดป่ามณีรัตน (วัดป่าบ้านคุ้ม) ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นองค์สำคัญองค์หนึ่งฝ่ายมหานิกาย
โดยพระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญอีกองค์
ที่หลวงพ่อชา ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก


รูปภาพ
พระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล


ในหนังสือมณีรัตน์ฯ ได้บันทึกไว้ความว่า
“...วันหนึ่งจึงเข้าไปกราบขอญัตติกับหลวงปู่มั่นด้วยกัน
ผลปรากฏว่าบางรูปท่านไม่อนุญาต บางรูปท่านอนุญาต
ท่านให้เหตุผลที่ไม่อนุญาตว่า

‘ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุตหมดเสียแล้ว
ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ
มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก
แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย
ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว

ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ
นั่นแหล่ะทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน’


บรรดาศิษย์ฝ่ายมหานิกายที่ท่านอนุญาต
ให้ญัตติกรรมใหม่ในเวลานั้นมีหลายรูป และรูปที่ท่านไม่อนุญาต
ก็มีครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ รวมอยู่ด้วย...”


---------------------------

จาก...หนังสือมณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์
ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ กนฺตสีโล.
พิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๕๒. หน้า ๕๓-๕๔.


ปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล
ผู้มักน้อยและสันโดษอย่างยิ่ง
หนังสือมณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์ (หลวงปู่ทองรัตน์ กนตสีโล)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=38053

อ่านเรื่องอย่างย่อพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=30328

กระทู้เรื่อง “มรรคผลไม่ได้อยู่ที่นิกาย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35478

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2011, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ประสบการณ์ปฏิบัติในป่าช้า

หลังจากพำนักศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เพียง ๒-๓ วัน
เนื่องจากความจำเป็นบางอย่างจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่น
แล้วเดินทางลงมาทางอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
และได้แยกทางกับพระบุญมี (พระมหาบุญมี) คงเหลือแต่พระเลื่อมพอได้เป็นเพื่อนเดินทาง

หลังจากได้พบกับพระอาจารย์มั่น รับธรรมโอวาทเป็นที่พอใจ
ก็ปรากฏเสมือนหนึ่งไม่ว่าหลวงพ่อชาจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม
ใจเหมือนจะได้โอวาทท่านพระอาจารย์มั่นคอยติดตามตักเตือนอยู่ตลอดเวลา

พอเดินทางมาถึงวัดโปร่งครองซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี
เห็นพระท่านไปอยู่ป่าช้าเกิดความสนใจมาก
เพราะมาคิดว่าเมื่อเป็นนักปฏิบัติจะต้องแสวงหาความสงบ
เช่น ป่าช้า ซึ่งท่านไม่เคยอยู่มาก่อนเลย
ถ้าไม่อยู่คงไม่รู้ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด
เมื่อคนอื่นเขาอยู่ได้ ท่านก็คิดว่า ท่านก็ต้องอยู่ได้

จึงตัดสินใจจะไปอยู่ป่าช้า
และชวนเอาพ่อขาวแก้วไปเป็นเพื่อนด้วย (พ่อขาว คือ ผู้ถือศีล ๘)


รูปภาพ

หลวงพ่อชาท่านเมตตาเล่าความรู้สึก
ในการอยู่ป่าช้าขณะนั้น เพื่อเป็นคติธรรมว่า

มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง
เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา
ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจน หมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา...
ใจหนึ่งเลยถามว่า...ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร?
กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ
แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน...ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก...
หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน
ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง
แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ...วิ่งหนี ก็ตาย...นั่งอยู่ก็ตาย
เพราะมันอยู่กับเราไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมัน อยู่กับเรา...
กลัวหรือไม่กลัว...ก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก...


พอคิดได้อย่างนี้เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ...
ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัว ทั้งหลายเลยหายไป
ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน
ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้
โอ...ใจมันสูงขึ้น...สูงขึ้นเหมือน อยู่บนฟ้านะ...เปรียบไม่ถูก


พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย
ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว
ไม่กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย...
ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่
พอฝนหยุด...เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย
...ร้องไห้...นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมา

ร้องไห้เพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้
มานั่งตากฝนยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้
เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวช ชีวิตของตน
ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า...น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด...อย่าให้ มันมีอยู่


เมื่อคิดได้อย่างนี้...เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว
ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัด เรื่องเกิดขึ้นมา...พรรณนาไม่ได้

คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน...
ความทุกข์ที่นั่งตากฝน...ความกลัวที่มันหายไป
ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย...
นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น


หลวงพ่อชาท่านเมตตาเล่าให้ศิษย์ฟัง
โดยเน้นให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของการต่อสู้ให้ถึงที่สุด...
สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น
ดังคำที่หลวงพ่อมักใช้ปลุกใจลูกศิษย์ว่า
ไม่ดีก็ให้มันตาย...ไม่ตายก็ให้มันดี!

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2011, 20:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงปู่กินรี จันทิโย
วัดกันตศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
อ่านประวัติและปฏิปทาของหลวงปู่กินรี

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26618


:b44: พระอาจารย์กินรีให้ข้อคิด

หลังจากปฏิบัติธรรมในป่าช้าอยู่ ๗ วัน หลวงพ่อชามีอาการจับไข้อย่างหนัก
เมื่อพักรักษาตัวจนหายดีแล้ว ท่านเดินทางไปขอพำนักกับหลวงปู่กินรี จันทิโย
ที่วัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
ศึกษาประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา
ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ
หลวงพ่อชาจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ต่อไป

จนกระทั่งย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ.๒๔๙๐
ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๙ ของหลวงพ่อชา
ท่านได้ย้อนกลับมาจำพรรษากับหลวงปู่กินรีที่วัดป่าหนองฮี

หลวงปู่กินรีเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา
ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ

บริขารเครื่องใช้ของท่านล้วนแต่เป็นของปอนๆ เรียบง่าย
และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงาม
แต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา

อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่กินรี คือ
ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้

ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น
แม้ในวัยชรา หลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทานี้ไว้อย่างมั่นคง


หลวงพ่อชาเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...
ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น
ตัวท่านเอง (หลวงพ่อชา) ทำความเพียรอย่างหนัก
เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตก แดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก

แต่หลวงปู่ (หลวงปู่กินรี) กลับไม่ค่อยเดิน
บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด
แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...

เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน
เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เคยนั่ง
คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย
ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้นจะไปรู้เห็นอะไร
เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก


คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก
เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย
ความคิดของครูบาอาจารย์ กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหนๆ
...ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ
ความพากเพียรกำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ
ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์...


ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่า
จนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร
หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบๆ ไม่ว่ากระไร

วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่
ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็วๆ จะได้หมดเรื่องหมดราว
แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที
หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อก็ยังไม่รู้
เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็วๆ เท่านั้น

หลวงปู่ถามว่า “ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า”
“ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ”
“เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร” หลวงปู่ถามอีก
“จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก” หลวงปู่ถามต่อ
“ผมจะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า?”

หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า...
“ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้
ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน
ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด
ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก”


คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่
ทำให้หลวงพ่อหูตาสว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า
“เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ
อยากให้มันเสร็จเร็วๆ จะได้ภาวนา
แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว”


รูปภาพ
(บนขวา) หลวงปู่กินรี จันทิโย, (ซ้ายล่าง) หลวงพ่อชา สุภัทโท,
(หลังซ้าย) หลวงพ่ออวน ปคุโณ



อยู่ต่อมาหลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า
มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว
ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย
พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย
หลวงปู่จึงให้แม่ชีช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ

หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า...
“ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ในครั้งแรกดูกระปุกกระปุย
เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง
ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่
เวลาเดินดังสวบสาบๆ เพราะผ้ามันแข็ง
ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น
ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ...”


ปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่มที่คราแรกทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่าย
ก็ได้ถูกดับลงด้วยการภาวนาและหยาดน้ำใจจากครูอาจารย์นั่นเอง


รูปภาพ

:b44: ต่อสู้กามราคะเพื่อทำความเพียร

เนื่องด้วยเรื่องการต่อสู้กับกามราคะนี้
หลวงพ่อชาเห็นว่าเป็นคติธรรมที่ดี โดยเฉพาะแก่พระหนุ่มวัยฉกรรจ์
เมื่อลูกศิษย์ทำการรวบรวมชีวประวัติของท่าน
ก็รู้สึกไม่แน่ใจว่าสมควรจะเผยแผ่ต่อสาธารณชนหรือไม่ แต่หลวงพ่อก็ได้กำชับว่า
“ต้องเอาลง ถ้าไม่เอาตอนนี้ในหนังสือด้วย ก็ไม่ต้องพิมพ์ประวัติเลย”

โดยในพรรษาที่อยู่กับพระอาจารย์กินรีนั้น
ขณะที่มีความเพียรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด
วาระหนึ่งได้เกิดการต่อสู้กับราคะธรรมอย่างแรง
ไม่ว่าจะเดินจงกรมนั่งสมาธิหรืออยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม
ปรากฏว่ามีอวัยวะเพศหญิงของผู้หญิงแบบต่างๆ ลอยปรากฏเต็มไปหมด

เกิดราคะขึ้นจนทำความเพียรเกือบไม่ได้
ต้องทนต่อสู้กับความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นอย่างลำบากยากเย็นจริงๆ
มีความรุนแรงพอๆกับความกลัวที่เกิดขึ้นในคราวที่ไปอยู่ป่าช้า

เดินจงกรมไม่ได้เพราะองค์กำเนิดถูกผ้าเข้าก็จะเกิดการไหวตัว
ต้องให้ทำที่เดินจงกรมในป่าทึบและเดินได้เฉพาะในที่มืดๆ
เวลาเดินต้องถลกสบงขึ้นพันเอวไว้จึงจะเดินจงกรมต่อไปได้
การต่อสู้กับกิเลสเป็นไปอย่างทรหดอดทน
ได้ทำความเพียรต่อสู้กันอยู่นานเป็นเวลา ๑๐ วัน
ความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นจึงจะสงบลงและหายไป

เรื่องสตรีนี้ หลวงพ่อชาท่านเน้นยำ้กับลูกศิษย์มาก
การที่ท่านเข้มงวดกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
ก็เนื่องจากว่าท่านเคยต้องผจญกับพญามารตัวนี้มาแล้ว
อย่างยากลำบากอย่างที่ท่านเล่าไว้

หลวงพ่อเองก็ระวังตัวมาก ใต้ถุนกุฏิท่านซึ่งใช้เป็นที่รับแขกก็โล่ง
ถ้ามีแขกผู้หญิงมา ต้องมีพระหรือเณรหรือโยมผู้ชาย
เป็นพยานรู้เห็นสิ่งที่หลวงพ่อสนทนากับผู้หญิงนั้นด้วย
และท่านก็เตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า
“ระวังเถอะผู้หญิง อย่าไปใกล้มัน ไม่ใช่ใกล้ไม่ใช่ไกล
แค่สายตาไปผ่านพริบเท่านั้นแหละ มันเป็นพิษเลย”


ในเรื่องนี้ สมัยพุทธกาลพระอานนท์เคยทูลถามพระพุทธองค์
ถึงวิธีปฏิบัติต่อสตรีของภิกษุไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ความดังนี้

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร”
“ดูก่อนอานนท์ การไม่เห็นได้เป็นการดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจำเป็นต้องเห็น (เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้) จะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“ไม่ต้องพูดด้วยสิ อานนท์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยจะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“พึงพูดด้วยสติสิ อานนท์”


จากนั้นคืนหนึ่งในพรรษาเดียวกันนั้น
หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร
หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบนกุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน
พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า...
“ชา...เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมีสว่างไสวมากนะ”
ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง
พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจาก หลวงปู่มั่นมากำไว้
พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน
จิตใจเกิดความสงบระงับผ่องใส
พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา

หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา
กระทั่งถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.๒๔๙๑
หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป

ก่อนจากหลวงปู่กินรีกล่าวตักเตือนศิษย์สั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
“ท่านชา อะไรๆ ในการปฏิบัติ ท่านก็พอสมควรแล้ว
แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 14 ส.ค. 2011, 19:21, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2011, 20:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ข้อคิดจากเด็กพิการที่ติดตามธุดงค์

หลังจากออกจากท่านพระอาจารย์กินรี
หลวงพ่อชาท่านธุดงค์ต่อไป ระยะนี้มีพระเลื่อมเป็นเพื่อน
และยังก็ยังมีเด็กเป็นลูกศิษย์อีก ๒ คน เดินตามไปด้วย
แต่เป็นเด็กพิการ...คนหนึ่งหูหนวก อีกคนหนึ่งขาเป๋

แต่เด็กทั้งสองยังอุตส่าห์ร่วมเดินทางด้วย
อีกทั้งทำให้ได้ข้อคิดอันเป็นธรรมะสอนใจอยู่หลายอย่าง
คนหนึ่งนั้นขาดี ตาดี แต่หูพิการ อีกคนหูดี ตาดี แต่ขาพิการ
เวลาเดินทาง คนขาเป๋เดินไปบางครั้งขาข้างที่เป๋ก็ไปเกี่ยวข้างที่ดี
ทำให้หกล้มหกลุกบ่อยๆ

คนที่หูหนวกนั้นเล่า เวลาเราจะพูดด้วยต้องใช้มือใช้ไม้ประกอบ
แต่พอมันหันหลังให้ก็อย่าเรียกให้เมื่อยปากเลย เพราะเขาไม่ได้ยิน
เมื่อมีความพอใจ...ความพิการนั้นไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการเดินทาง
...ความพิการ แม้ตัวเขาเองก็ไม่ต้องการ
พ่อแม่ของเขาก็คงจะไม่ปรารถนาอยากให้ลูกพิการอย่างนั้น
แต่ก็หนีกฎของกรรมไม่พ้น จริงดังที่พระพุทธองค์ตรัส
ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นทายาท
มีกรรมเป็นแดนเกิด ฯลฯ


เมื่อพิจารณาความพิการของเด็กที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง
ยังกลับเอามาสอนตนเองว่า เด็กทั้งสองพิการกายเดินทางได้
จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้ แต่เราพิการใจ (ใจมีกิเลส)
จะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า...
คนพิการกายอย่างเด็กนี้มิได้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร
แต่ถ้าคนพิการใจมากๆ ย่อมสร้างความวุ่นวายยุ่งยากแก่มนุษย์และสัตว์
ให้ได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว


:b44: ชนะใจตนย่อมพ้นภัย

วันหนึ่งเดินทางไปถึงป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม
เป็นเวลาค่ำแล้ว และได้ตกลงจะพักในป่าแห่งนั้น
และได้มองไปเห็นทางเก่า
ซึ่งคนไม่ค่อยใช้เดินเป็นทางผ่านดงใหญ่เป็นลำดับไปถึงภูเขา
พลันก็นึกถึงคำสอนของคนโบราณว่า เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า
จึงเกิดความสงสัยอยากจะพิสูจน์ดูว่าทำไมเขาจึงห้าม...
จึงตกลงกับท่านเลื่อมให้หลีกจากทางเข้าไปกางกลดในป่า
ส่วนหลวงพ่อท่านก็กางกลดตรงทางเก่านั่นแหละ
ให้เด็กสองคนที่ติดตามธุดงค์มาอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างกลดสองหลัง
ครั้นเวลาจำวัตรหลังจากนั่งสมาธิพอสมควรแล้ว ต่างคนต่างก็พัก
แต่ท่าน (หลวงพ่อชา) คิดว่า
ถ้าเด็กมองมาไม่เห็นใครเขาอาจจะกลัวจึงเลิกผ้ามุ้งขึ้นพาดไว้ที่หลังกลด
แล้วก็นอนตะแคงขวางทางอยู่ใต้กลดนั่นเอง

หันหลังไปทางป่าหันหน้ามาทางบ้าน
แต่พอกำลังเตรียมตัวกำหนดลมหายใจเพื่อจะหลับ
ทันทีนั้นหูก็แว่วได้ยินเสียงใบไม้แห้งดังกรอบแกรบๆ
ซึ่งเป็นอาการก้าวเดินอย่างช้าๆ เป็นจังหวะใกล้เข้ามา...
ใกล้เข้ามาจนได้ยินเสียงหายใจ
และวาระจิตก็บอกตัวเองว่า เสือมาแล้ว จะเป็นสัตว์ อื่นไปไม่ได้
เพราะอาการ ก้าวเดินและเสียงหายใจมันบ่งอยู่ชัดๆ

ท่านเมตตาเล่าว่า

“เมื่อรู้ว่าเสือเดินมา...เราก็คิดห่วงชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง
และพลันจิตก็สอนตนเองว่า
อย่าห่วงชีวิตเลย แม้เสือจะไม่ทำลาย เจ้าก็ต้องตายอยู่แล้ว
การตายเพื่อรักษาสัจธรรมย่อมมีความหมาย
เราพร้อมแล้ว...ที่จะเป็นอาหารของมัน
ถ้าหากเราเคยเป็นคู่กรรมคู่เวรกันมาก็จงได้ใช้หนี้กันเสีย
แต่ถ้าหากเราไม่เคยเป็นคู่เวรกับมัน มันคงจะไม่ทำอะไรเราได้
พร้อมกับจิตน้อมระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
เมื่อเรายอมและพร้อมแล้วที่จะตาย
จิตใจก็รู้สึกสบาย ไม่มีกังวล และปรากฏว่าเสียงเดินของมันเงียบไป”


คงได้ยินแต่เสียงหายใจของมันกะประมาณอยู่ห่างจากท่าน ๖ เมตร
ท่านนอนรอฟังอยู่สักครู่ เข้าใจว่ามันคงจะยืนพิจารณาอยู่ว่า
ใครเล่า...มานอนขวางทางข้าฯ
แต่แล้วมันคิดอย่างไรไม่ทราบมันจึงหันหลังเดินกลับไป
เสียงกรอบแกรบของใบไม้แห้งดังห่างออกไปๆ จนกระทั่งเงียบหายไปในป่า...

หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อเราทอดอาลัยในชีวิตวางมันเสีย
ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ก็ทำให้เราเกิดความสบายและเบาใจจริงๆ
คืนนั้นก็ผ่านไปจนได้ เวลาตื่นขึ้นบำเพ็ญธรรม
หลังจากบิณฑบาตมาฉันแล้วก็ออกเดินทางต่อไป...
เพราะท่านได้รู้แล้วว่าทำไมคนโบราณจึงสอนไว้ว่า เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า

รูปภาพ

:b44: บริขารเป็นเพียงของประดับขันธ์ ๕

จากนั้นหลวงพ่อและคณะได้ออกเดินทางไปถึงแม่น้ำสงคราม
อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จนกระทั่งถึงแม่น้ำโขงข้ามไป
นมัสการพระพุทธบาทพลสันติ์ ฝั่งลาว
แล้วจึงข้ามกลับมา ย้อนกลับมาทางอำเภอศรีสงคราม

พักอยู่บ้านหนองกาในเวลานั้นบริขารไม่สมบูรณ์
เนื่องจากห่างหมู่ญาติและขาดผู้มีศรัทธา
บาตรที่ใช้อยู่นั้นรู้สึกว่าเล็กและมีรูรั่วหลายแห่ง เกือบใช้ไม่ได้
พระวัดหนองกาจึงถวายบาตรขนาดกลางมีช่องทะลุนิดหน่อย
แต่ไม่มีฝาบาตร จะหาฝาที่ไหนก็ไม่ได้

ขณะเดินจงกรมอยู่ก็คิดได้ว่า จะเอาหวายถักเป็นฝาบาตร
จึงให้โยมเขาไปหาหวายมาให้ เกิดกังวลในการหาบริขาร
คืนวันหนึ่งขณะที่จุดไต้กำลังเอาหวายถักเป็นฝาบาตรอยู่
จนขี้ไต้หยดลงถูกแขนพองขึ้น รู้สึกเจ็บแสบ
ก็เกิดความรู้สึก ขึ้นว่า ตัวท่านมามัวกังวลในบริขารมากเกินไป
จึงได้ปล่อยวางไว้ เริ่มทำกรรมฐานต่อไปได้เวลานานพอสมควรจึงหยุดเพื่อจะพักผ่อน
แต่พอเคลิ้มไปจึงเกิดสุบินนิมิตว่า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาเตือนว่า
พฺเพอิเมปริกฺขาราปญฺจกฺขนฺธานํ ปริวาราเยว
บริขารทั้งปวงเป็นเพียงเครื่องประดับขันธ์ ๕ เท่านั้น

พอจบพุทธภาษิตนี้เท่านั้นก็รู้สึกตัวพร้อมทั้งลุกขึ้นนั่งทันที
เป็นเหตุให้พิจารณาได้ความว่า การไม่รู้จักประมาณในการบริโภคบริขาร
มีความกังวลในการจัดหาย่อมเป็นการยุ่งยาก
ขาดการปฏิบัติธรรมย่อมไม่ได้รับผลอันตนพึงปรารถนา


:b44: คนดีอยู่ที่ตัวเรา

พ.ศ.๒๔๙๑ (พรรษาที่ ๑๐) ในระยะต้นปีนี้เอง
หลวงพ่อย้ายจากบ้านหนองกา เดินทางไปได้ระยะไกลพอสมควร
จึงได้ข้อคิดว่า การคลุกคลีอยู่ร่วมกับผู้มีปฏิปทาไม่เสมอกัน
ทำให้เกิดความลำบาก
จึงได้ตกลงแยกทางกันกับพระเลื่อม
ต่างคนต่างไปตามชอบใจ ท่านเลื่อมนำเด็กสองคนนั้นไปส่งบ้านเขา
ส่วนหลวงพ่อก็ออกเดินทางไปคนเดียว
จนกระทั่งเดินมาถึงวัดร้างในป่าใกล้บ้านข่าน้อย
ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอศรีสงคราม
เห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมจึงได้พักอยู่ที่วัดร้างนั้น
บำเพ็ญเพียรได้เต็มที่มีการสำรวมอย่างดีเพื่อให้เกิดความรู้
มิได้มองหน้าผู้ใส่บาตร และผู้ถวายอาหารเลย
เพียงแต่รับทราบว่าเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น

เดินจงกรมอยู่จนเท้าเกิดบวมเดินต่อไปไม่ได้
จึงพักจากการเดิน ได้แต่นั่งสมาธิอย่างเดียว
ใช้ตบะธรรมระงับอาพาธเป็นเวลา ๓ วัน เท้าจึงหายเจ็บ
การเทศน์ก็ดี การรับแขกก็ดี ท่านก็งดไว้เพราะต้องการความสงบ

ระยะที่ปฏิบัติอยู่นั้น ทั้งๆ ที่ได้แยกทางกับเพื่อนมา
เพราะไม่อยากคลุกคลีแต่ก็เกิดความอยากจะได้เพื่อนที่ดีๆ อีกสักคน
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า คนดีน่ะ อยู่ที่ไหน? ก็มีคำตอบเกิดขึ้นว่า
คนดีอยู่ที่เรานี่แหละ ถ้าเราไม่ดีแล้วเราจะอยู่ที่ไหนกับใครมันก็ไม่ดีทั้งนั้น
จึงได้ถือเป็นคติสอนตนเองมาจนกระทั่งทุกวันนี้

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ส.ค. 2011, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ที่สุดของสมาธิ

หลังจากหลวงพ่อชาท่านได้แก้ไขปัญหาที่ขัดข้องจากหมู่คณะ
ด้วยการสอนตัวเองว่า “คนดีอยู่ที่ตัวเราเอง” แล้ว
จิตใจก็เบาสบาย มีความเยือกเย็นสงบลงอย่างดียิ่ง

ท่านได้ออกจาริกต่อตามวิถีทางของพระกรรมฐาน
ผู้ไม่ยึดติดและไม่ยอมให้สิ่งใดผูกมัดตน
แม้จะต้องผ่านพบกับสิ่งต่างๆ ทั้งดีและเลว ทั้งสุขและทุกข์
ก็เพียงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการเห็นโทษและมีปัญญาในการสลัดออก

วันหนึ่งหลวงพ่อเดินผ่านดงใหญ่ถึงวัดร้าง
ใกล้หมู่บ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม พบว่าสถานที่วิเวกดี
จึงหยุดพักอยู่ที่นั่น ได้รับความสงบระงับดีมาก
ท่านเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการภาวนาที่วัดร้างนั้นให้ฟังว่า...


“คืนนั้นประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ขณะเดินจงกรมอยู่
รู้สึกแปลกๆ มันแปลกมาตั้งแต่กลางวันแล้ว
รู้สึกว่าไม่คิดอะไรมาก มีอาการสบายๆ

เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว จึงขึ้นไปนั่งกระท่อมเล็กๆ
ขณะจะนั่งคู้ขาเข้าแทบไม่ทัน จิตมันอยากสงบ มันเป็นของมันเอง...
พอนั่งลงแล้ว จิตมันก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น...

คืนนั้นในหมู่บ้านมีงาน เขาร้องรำทำเพลงกัน ได้ยินอยู่
แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน
จะให้ได้ยินก็ได้ยิน ไม่รู้สึกรำคาญ...

ดูจิตกับอารมณ์ก็เห็นตั้งอยู่คนละส่วน
เหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่โดยไม่ติดกัน
ก็เลยเข้าใจว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง
ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามีเสียงขึ้น ก็เห็นจิต กับเสียงเป็นคนละส่วน...

จิตใจขณะนั้นไม่เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย
ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีความเหนื่อย
ไม่มีความรำคาญ ของเหล่านี้ไม่มีในจิต
มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น...


ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น
ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด ดึงเอาหมอนมาวางไว้ตั้งใจจะพักผ่อน
เมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม
พอศรีษะถึงหมอนมีอาการน้อมเข้าไปในใจ
คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟฟ้าเข้า
มีความรู้สึกว่ากายระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด

พอมันผ่านตรงจุดนั้น ก็หลุดเข้าไปในโน้น
แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ไม่มีอะไรเข้าไปถึง
หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมาจนถึงปกติธรรมดา
ที่ว่าถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะให้ถอย มันเป็นเองเราเป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้เท่านั้น...

เมื่อจิตเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นว่า นี่มันอะไร?
คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ของมันเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน คิดเท่านี้จิตก็ยอม

เมื่อหยุดอยู่สักพักหนึ่ง ก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง
พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไปถูกสวิตช์ไฟดังเก่า
ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด แล้วหลุดเข้าไปข้างในอีก...
เงียบ!...ยิ่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง...

พอสมควรแล้ว ก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน...
ในเวลานั้น มันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้น
จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนั้น จงออกอย่างนี้...ไม่มี
เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ดูเฉยๆ

เมื่อนั่งพิจารณาก็น้อมเข้าไปอีก
ครั้งที่สามนี้ โลกแตกละเอียดหมด
ทั้งพื้นปฐพีแผ่นดิน แผ่นหญ้าภูเขาเลากาเป็นอากาศธาตุหมด
ไม่มีคนหมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร

ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ ไม่มีอะไรมาเปรียบปานได้เลย
สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกว่าอะไรเล่า”


หลวงพ่อกล่าวต่อไปอีกว่า...
“ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น
เราไม่ต้องการอะไร มีศรัทธาก็ทำเข้าไปจริงๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน

เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว
โลกนี้ แผ่นดินนี้ มันพลิกหมด
ความรู้ความเห็น มันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง”

ในระยะนั้น ถ้าคนอื่นเห็น อาจจะว่าเราเป็นบ้าจริงๆ
ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย
เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันเป็นเฉพาะเราผู้เดียวเท่านั้น
แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงก็เช่นกัน
เขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิด ไปทางนี้
เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น
มันต่างกับมนุษย์ไปหมด นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ
ถ้าเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ ถึงที่สุดของมันแล้ว

เราเอาความสงบขั้นนี้มาพิจารณา
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบใจ...
อารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา เราเอาความสงบมาพิจารณารู้เท่าทันหมด
รู้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหน ไม่ดี
อาการที่พิจารณาออกมาจากความสงบเหล่านี้แหละ
เรียกว่า ปัญญา เป็นวิปัสสนา”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2011, 11:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ศีลรู้ได้เพราะอยู่ร่วมกันนานๆ

ต่อมาในพรรษาที่ ๑๑ หลวงพ่อชาเดินทางมาถึงวัดป่า
ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าช้า (เป็นที่พักสงฆ์) อยู่ในเขตจังหวัดนครพนม
เป็นเวลาจวนจะเข้าพรรษาอยู่แล้วหลวงพ่อจึงขอพักกับหัวหน้าสงฆ์
โดยท่านได้สนทนาธรรมกันนานพอสมควร
หลวงพ่อชาจึงตัดสินใจขออยู่เพื่อการศึกษาธรรมะ

แต่เนื่องจากหลวงพ่อไปรูปเดียว ทั้งอัฏฐบริขารก็เก่าเต็มที
เขาไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเพราะไม่มีใครรับรอง
ถึงแม้จะขอจำพรรษาอยู่ด้วย ท่านเหล่านั้นก็ไม่ยอม
เลยตกลงกันว่า จะให้ไปอยู่ที่ป่าช้าคนจีนซึ่งอยู่นอกเขตวัดไม่ไกลนัก
หลวงพ่อก็ยินดีจะไปอยู่ที่นั่นแต่พอถึงวันเข้าพรรษา
หลวงตาหัวหน้าสงฆ์และคณะจึงอนุญาตให้จำพรรษาในวัดได้

แต่หลวงพ่อชาต้องทำตามข้อกติกาดังนี้
๑. ไม่ให้รับประเคนของจากโยม เป็นแต่เพียงคอยรับจากพระรูปอื่นที่ส่งให้
๒. ไม่ให้ร่วมสังฆกรรม (อุโบสถ) เป็นแต่เพียงให้บอกบริสุทธิ์
๓. เวลาเข้าที่ฉันให้นั่งท้ายแถวของพระต่อกับสามเณร

หลวงพ่อยินดีทำตามทุกอย่าง แม้ท่านจะมีพรรษาได้ ๑๐ พรรษาก็ตาม
ท่านกลับภูมิใจและเตือนตนเองว่า
จะนั่งหัวแถวหรือหางแถวก็ไม่แปลก
เหมือนเพชรนิลจินดา จะวางไว้ที่ไหนก็มีราคาเท่าเดิม
และจะได้เป็นการลดทิฏฐิมานะให้น้อยลงด้วย


เมื่อปลงตกเสียอย่างนี้ จึงอยู่ได้ด้วยความสงบสุข
หลวงพ่อเล่าว่า “เราเป็นคนพูดน้อย คอยฟังคนอื่นเขาพูด
แล้วนำมาพิจารณาดู ไม่แสดงอาการที่ไม่เหมาะ ไม่ควร
คอยสังเกตจริยาวัตรของท่านเหล่านั้น
ย่อมทำให้ได้บทเรียนหลายๆ อย่าง”

ภิกษุสามเณรเหล่านั้นก็คอยสังเกตความบกพร่องของหลวงพ่ออยู่
เขายังไม่ไว้ใจเพราะเพิ่งมาอยู่ร่วมกันเป็นพรรษาแรก

เมื่อการอยู่จำพรรษาได้ผ่านไปประมาณครึ่งเดือน
ทั้งๆ ที่ท่านทราบว่า ภิกษุสามเณรยังระแวงสงสัยในตัวท่านอยู่
แต่หลวงพ่อก็วางเฉยเสีย มุ่งหน้าต่อการปฏิบัติธรรม
ท่านนึกเสียว่าเขาช่วยระวังรักษาความบกพร่องให้เรานั้นดีแล้ว
เปรียบเหมือนมีคนมาช่วยรักษาความสกปรกมิให้แปดเปื้อนจึงเป็นการดีเสียอีก...

ในพรรษาที่อยู่วัดป่าแห่งนี้ จิตใจรู้สึกมีความหนักแน่นและเข้มแข็งพอสมควร
การทำความเพียรก็เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
และการเคารพต่อกฎกติกาที่ตั้งไว้ก็มิได้บกพร่องมีความสำรวมระวังอยู่มิได้ประมาท

พระพุทธองค์ตรัสว่า ศีลจะรู้ได้เพราะอยู่ร่วมกันนานๆ
ดังนั้น ของสิ่งใดที่เห็นว่าไม่ถูกต้องตามพระวินัย
หรือรับประเคนแต่ไม่ได้องค์แห่งการประเคน หลวงพ่อก็ไม่ฉัน
จะพิจารณาฉันเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องตามพระวินัยเท่านั้น


:b44: ทางที่พอดีในการทำความเพียร

ในพรรษานั้นหลวงพ่อทำความเพียรหนักยิ่งขึ้น
แม้ฝนจะตกก็ยังเดินจงกรมอยู่ เพื่อค้นหาทางพ้นทุกข์มีเวลาจำวัดน้อยที่สุด
วันหนึ่งเกิดสุบินนิมิตว่า ได้ออกไปในที่แห่งหนึ่ง ไปพบคนแก่และป่วย
ร้องครวญครางมีคนพยุงตัวให้ลุกขึ้นนั่ง
หลวงพ่อพิจารณาดูแล้วก็เดินผ่านไป
จึงไปพบคนเจ็บหนักจวนจะตาย มีร่างกายซูบผอม
จะหายใจแต่ละครั้งทำให้มองเห็นกระดูกซี่โครงไล่กันเป็นแถวๆ
ทำให้เกิดความสังเวชจึงเดินเลย แล้วได้ไปพบคนตายนอนหงายอ้าปาก
ยิ่งทำให้เกิดความลดใจมาก

เมื่อรู้สึกตัวก็ยังจำภาพในฝันนั้นได้ดีอยู่ จึงคิดหาทางพ้นทุกข์
รู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิต คิดอยากจะปลีกตัวขึ้นไปอยู่บนยอดเขา
ประมาณ ๗ วัน ๑๕ วัน จึงจะลงมาบิณฑบาต
แต่มีปัญหาเรื่องน้ำดื่มจะต้องดื่มทุกวัน
จึงนึกถึงกบในฤดูแล้งมันอยู่ในรูอาศัยน้ำปัสสาวะมันเองมันก็มีชีวิตอยู่ได้

เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงตกลงจะฉันน้ำปัสสาวะของตัวเอง
จึงทำการทดลองดูก่อน วันนั้นหลังจากฉันอาหารแล้วดื่มน้ำบริสุทธิ์จนอิ่ม
อยู่ได้ประมาณ ๓ ชั่วโมง รู้สึกปวดปัสสาวะ
เวลาปัสสาวะออกมา จึงเอาแก้วมารองไว้
เสร็จแล้วจึงเทหน้าฝาออกนิดหนึ่ง ยกขึ้นดื่มรู้สึกว่ามีรสเค็ม

ทีนี้อยู่ได้ประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็ปวดปัสสาวะอีก
เวลาปัสสาวะออกก็เอาแก้วมารองเสร็จแล้วก็ดื่มเข้าไปอีก
คราวนี้อยู่ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็ปวดปัสสาวะอีก
เวลาถ่ายปัสสาวะก็เอาแก้วมารองไว้เสร็จแล้วก็ดื่มเข้าไปอีก
ได้ประมาณ ๒๐ นาทีก็ปวดปัสสาวะ และก็ทำอย่างเก่า...ดื่มเข้าไปอีก
คราวนี้อยู่ได้ ๑๕ นาทีก็ปวดอีกถ่ายออกมาแล้วดื่มเข้าไปอีกและอยู่ได้ประมาณ ๕ นาที
ปวดปัสสาวะ และถ่ายออกมาหาอะไรรองแล้วดื่มเข้าไป
คราวนี้กะว่าพอตกถึงกระเพาะก็ไหลออกเป็นปัสสาวะมีสีขาวๆ
จึงได้เกิดความรู้สึกว่า น้ำปัสสาวะเป็นเศษของน้ำแล้วจะอาศัยดื่มอีกไม่ได้
ท่านจึงทอดอาลัยในการที่จะหาน้ำดื่มเช่นวิธีนั้น

นอกจากนั้นยังหัดปลงผมด้วยตนเองเลยเป็นนิสัยมาจนทุกวันนี้
และเป็นแบบอย่างให้ศิษย์ทั้งหลายได้ทำตาม
เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บนยอดเขาได้ก็คิดหาวิธีใหม่
โดยทำการอดอาหารคือ ฉันวันเว้นวันลับกันไป
ทำอยู่ประมาณ ๑๕ วัน และในระหว่างนี้ทำให้ร่างกายร้อนผิดปกติ
เหมือนถูกไฟเผา มีอาการทุรนทุรายแทบจะทนไม่ไหว
จิตใจก็ไม่สงบ จึงนึกได้ว่า มิใช่ทาง...

ทำให้นึกถึง อปัณณกปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติไม่ผิด
ได้แก่ โภชะเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการฉันอาหารพอสมควร
ไม่มาก ไม่น้อย สำรวมอินทรีย์ ตื่นขึ้นทำความเพียรไม่เกียจคร้าน

และเมื่อนึกได้ จึงหยุดวิธีทรมานนั้นเสีย
กลับฉันอาหารเป็นปกติวันละครั้งดั่งเดิม
บำเพ็ญสมณธรรมได้จิตใจก็สงบดีเวลาเข้าสมาธิ

:b44: เกาะที่อยู่ที่ปลอดภัย คือ เกาะภายใน

ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ หลวงพ่อชาท่านป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับท้อง
มีอาการบวมขึ้นทางด้านซ้าย รู้สึกเจ็บปวดที่ท้องมาก
และผมกับโรคหืดที่เคยเป็นอยู่แล้วก็ซ้ำเติมอีก
หลวงพ่อชาพิจารณาว่า อันตัวเรานี้ก็อยู่ห่างไกล ญาติพี่น้อง
ข้าวของเงินทองก็ไม่มี เมื่อป่วยขึ้นมาครั้นจะไปรักษาที่โรงพยาบาล
ก็ขาดเงินทอง จะเป็นการทำความยุ่งยากแก่คนอื่น

อย่ากระนั้นเลยเราจะรักษาด้วยธรรมโอสถ
โดยยึดเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้ามันจะหายก็หาย
ถ้าหากมันทนไม่ได้ก็ให้มันตายไปเสีย...
จึงทอดธุระในสังขารของตนโดยการอดอาหารไม่ยอมฉัน
จะดื่มเพียงแต่น้ำนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น...ทั้งไม่ยอมหลับนอน

จึงได้แต่เดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป
เวลารุ่งเช้าเพื่อนๆเขาไปบิณฑบาต หลวงพ่อก็เดินจงกรม
พอเพื่อนกลับมาก็ขึ้นกุฏิ นั่งสมาธิต่อไป

มีอาการอ่อนเพลียทางร่างกาย แต่กำลังใจดีมาก ไม่ย่อท้อต่อสิ่งทั้งปวง
หลวงพ่อเคยพูดเตือนว่า การอดอาหารนั้นระวังให้ดี...บางทีจะทำให้เราหลง
เพราะจิตคิดไปมองดูเพื่อนๆ ว่า เขาฉันอาหารนั้นเป็นการยุ่งยากมีภาระมากจริงๆ
เลยคิดว่าเป็น การลำบากแก่ตัวเองอาจจะไม่ยอมฉันอาหารเลย
ซึ่งเป็นทางให้ตายได้ง่ายๆ เสียด้วย

เมื่อหลวงพ่ออดอาหารมาได้ครบ ๘ วัน
ท่านอาจารย์ฉลวยจึงขอร้องให้กลับฉันดังเดิม
โรคในกายปรากฏว่า หายไป ทั้งโรคท้องและโรคหืดไม่เป็นอีก
หลวงพ่อจึงกลับฉัน อาหารตามเดิม
และได้ให้คำแนะนำไว้ว่าเมื่ออดอาหารหลายวัน
เวลากลับมาฉัน สิ่งที่ควรระวังก็คือ อย่าเพิ่งฉันมากในวันแรก
ถ้าฉันมากอาจตายได้ ควรฉันวันละน้อยและเพิ่มขึ้นไปทุกวันจนเป็นปกติ

ในระยะที่จำพรรษานี้ หลวงพ่อชาไม่ได้แสดงธรรมต่อใครอื่น
มีแต่อบรมตัวเองโดยการปฏิบัติและพิจารณาเตือนตนอยู่ตลอดเวลา
เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินทางไปพักอยู่เกาะสีชัง เพื่อหาความสงบเป็นเวลาหนึ่งเดือน

และถือคติเตือนตนเองว่า
ชาวเกาะเขาได้อาศัยพื้นดินที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ
ที่ที่เขาอาศัย อยู่ได้ต้องพ้นน้ำจึงจะเป็นที่พึ่งได้
เกาะสีชังเป็นที่พึ่งทางนอกของส่วนร่างกาย
เรามาอาศัยอยู่ที่เกาะนี้ คือ ที่พึ่งทางใน
ซึ่งเป็นที่อันน้ำ คือกิเลสตัณหาท่วมไม่ถึง
แม้เราจะอยู่บนเกาะสีชังแต่ก็ยังค้นหาเกาะภายในอีกต่อไป
ผู้ที่ท่านได้พบ และอาศัยเกาะอยู่ได้นั้นท่านย่อมอยู่เป็นสุข
ต่างจากคนที่ลอยคออยู่ในทะเล คือความทุกข์ซึ่งมีหวังจมน้ำตาย
ทะเลภายนอกมีฉลามและสัตว์ร้ายอื่นๆ
แต่ทะเลภายในยิ่งร้ายกว่านั้นหลายเท่า

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ส.ค. 2011, 19:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: การฉันอาหารไม่พิจารณาเหมือนปลาติดเบ็ด

พ.ศ.๒๔๙๕ (เป็นพรรษาที่ ๑๔) ในระหว่างต้นปีนี้
หลวงพ่อชาท่านเดินธุดงค์ขึ้นไปจนถึงบ้านป่าตาว
อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นสถานที่เคยอยู่มาก่อน
คราวนี้ไม่ไปอยู่ที่เก่า แต่ไปอยู่จำพรรษาในป่าห่างจากหมู่บ้าน ๒ กิโลเมตร
หลวงพ่อได้มีโอกาส เทศน์สั่งสอนประชาชนจนเต็มความสามารถ
ทำให้เขาเข้าใจในหลักคำสอนในศาสนาดียิ่งขึ้น
และเกิดความเลื่อมใสการรับแขกและการพบปะสนทนาธรรมมีมากและบ่อยครั้งยิ่งขึ้น

สถานที่พักแห่งนั้นเรียกว่า วัดถ้ำหินแตก
เป็นลานหินดาด ทางด้านทิศเหนือของที่พักนั้นเป็นแอ่งน้ำ
มีปลาชุมทางทิศตะวันออก ของแอ่งน้ำเป็นคันหินสูงนิดหน่อย
ต่อจากคันหินไปทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ลาดลงไป
เวลาน้ำล้นแอ่งก็ไหลไปตามที่ลาดลงสู่เบื้องล่างโดยมาก
มีพวกปลาดุกพยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาตามน้ำ
บางตัวก็ข้ามคันหินไปถึงแอ่งน้ำ บางตัวก็ข้ามไปไม่รอดจึงนอนอยู่บนคันหิน
หลวงพ่อเคยสังเกตเห็นตอนเช้าๆ ท่านจะเดินไปดู
เมื่อเห็นปลานอนอยู่บนคันดินจึงจับมันปล่อยลงไปในแอ่งน้ำ
แล้วจึงกลับมาเอาบาตรไปบิณฑบาต

เช้าวันหนึ่งก่อนจะออกบิณฑบาต
หลวงพ่อจึงเดินไปดูปลาเพื่อช่วยชีวิตมันทุกเช้า
แต่วันนั้นไม่ทราบใครเอาเบ็ดมาตกไว้ตามริมแอ่งน้ำ
เห็นเบ็ดทุกคันมีปลาติดอยู่ หลวงพ่อจึงรำพึงว่า

เพราะมันกินเหยื่อเข้าไป เหยื่อนั้นมีเบ็ดด้วยปลาจึงติดเบ็ด
มองดูปลาติดเบ็ดสงสารก็สงสาร แต่ช่วยมันไม่ได้
เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ท่านจึงมองเห็นด้วยความลดใจ
เพราะความหิวแท้ๆ เจ้าจึงหลงกินเหยื่อที่เขาล่อไว้ ดิ้นเท่าไรๆ ก็ไม่หลุด
เป็นกรรมของเจ้าเองเพราะความไม่พิจารณา
เป็นเหตุให้เตือนตนว่า
ฉันอาหารไม่พิจารณาจะเป็นเหมือนปลากินเหยื่อย่อมติดเบ็ด...


ครั้นกลับจากบิณฑบาตเห็นอาหารพิเศษ
ดูเห็นต้มปลาดุกตัวโตๆ ทั้งนั้น
หลวงพ่อนึกรู้ทันทีว่าต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่เราเห็นนั้นแน่ๆ
บางทีอาจจะเป็นพวกที่เราเคยช่วยชีวิตเอามันลงน้ำก็ได้
ความจริงก็อยู่ใกล้ๆแอ่งน้ำนี้เท่านั้น...

แม้โดยปกติแล้วอาหารจะฉันก็ไม่ค่อยจะมี
แต่หลวงพ่อท่านพิจารณาแล้วเพียงแต่รับและวางไว้ตรงหน้า
ไม่ยอมฉัน ถึงแม้จะอดอาหารมานานก็ตาม
เพราะท่านคิดว่าถ้าเราฉันของเขาในวันนี้
วันต่อๆไปปลาในแอ่งน้ำนั้นก็จะถูกฆ่าหมด
เพราะเขาจะทำเป็นอาหารนำมาถวายเรา
ปลาตัวใดที่อุตส่าห์ตะเกียกตะกายขึ้นมาพบแอ่งน้ำแล้ว
ก็ยังจะต้องพากันมาตายกลายเป็นอาหารของเราไปหมด


ดังนั้นหลวงพ่อจึงไม่ยอมฉัน จึงส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ
พระทองดีเห็นหลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกัน
มีอะไรที่ไปบิณฑบาตได้มาก็แบ่งกันฉันตามมีตามได้
ส่วนโยมที่เขาต้มปลามาถวายนั่งสังเกตอยู่ตั้งนาน
เมื่อเห็นพระไม่ฉันจึงเรียนถามว่า

“ท่านอาจารย์ บ่ฉันต้มปลาบ้อ ขะหน่อย?”
(ท่านอาจารย์ไม่ฉันต้มหรือครับ?)
“บ่ดอก ซิโตนมัน” หลวงพ่อตอบ
(ไม่หรอก สงสารมัน)

โยมคนนั้นถึงกับอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงรำพึงว่า
“ถ้าแมนผม คือสิอดบ่ได้ดอก”
(ถ้าเป็นผม คงจะอดไม่ได้หรอก)


หลวงพ่อท่านทนหิวเพื่อเห็นแก่ชีวิตเพื่อนร่วมวัด
ถ้านึกรังเกียจหรือรู้ว่าเขาฆ่ามาเฉพาะ (อุททิสะมังสะ) แบบนี้ท่านจะไม่ยอมฉันเลย...

นับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็ไม่มารบกวนปลาในแอ่งน้ำนั้นเลย
และพวกเขายังถือกันว่ามันเป็นปลาของวัดที่ควรช่วยกันรักษาอีกด้วย

รูปภาพ
กุฏิหลวงพ่อชา ที่วัดถ้ำหินแตก

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2011, 13:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ปลีกตัวจากหมู่คณะ

ปี พ.ศ.๒๔๙๖ (พรรษาที่ ๑๕) หลวงพ่อชากับลูกศิษย์
ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านป่าตาวต่อเป็นปีที่สอง
แต่ในพรรษาหลวงพ่อได้ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังบนภูกอย
ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหินแตกประมาณ ๓ กิโลเมตร
และได้มอบหมายให้ พระอาจารย์อวน ปคุโณ
เป็นผู้ดูแลภิกษุสามเณรในที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตกแทนชั่วคราว
ตอนเช้าหลวงพ่อออกบิณฑบาตแล้วกลับมาฉันภัตตาหารร่วมกับภิกษุสามเณร
ฉันเสร็จก็กลับขึ้นไปบำเพ็ญธรรมที่ภูกอยตามเดิม

สำหรับกติกาที่ท่านได้กำหนดขึ้น
เพื่อให้ภิกษุสามเณรทุกรูปที่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตก
ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดพรรษาก็คือ

๑) ไม่ให้จำวัด (นอน) ในเวลากลางคืน
๒) ให้ทำความเพียร เป็นต้นว่า เดินจงกรม นั่งสมาธิ สลับกันไปจนตลอดคืน
๓) พอสว่างได้เวลาก็ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านต่างๆ
ระยะทางบิณฑบาตบางหมู่บ้านก็ ๓ กิโลเมตร บางหมู่บ้านก็ ๕-๖ กิโลเมตร
กว่าจะกลับมาฉันก็เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.
๔) ฉันเสร็จล้างบาตรกลับกุฏิเวลา ๑๐.๐๐ น. กลับถึงกุฏิทำความเพียร
๕) ได้เวลาพอสมควรจึงพักผ่อนจำวัด
๖) จนถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. ตีระฆังเป็นสัญญาณให้ลุกขึ้น
กวาดลานวัดหรือกระทำกิจอื่นๆ ถ้าหากมี
๗) เวลา ๑๘.๐๐ น. ให้เสียงสัญญาณระฆัง ทำวัตรเย็น
๘) หลังจากนั้นก็ทำคามเพียรต่อไปจนตลอดคืน


๒ เดือนแรก ให้ภิกษุสามเณรทุกรูปถือปฏิบัติตามอัธยาศัย
แล้วแต่ใครจะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมกี่ชั่วโมงก็ได้สลับกันไปเรื่อยๆ
พอเดือนสุดท้ายให้ทำอย่างเดียว ก็คือ
คืนไหนใครอยากจะเดินจงกรมตลอดคืนจนสว่างก็ได้
หรือจะนั่งสมาธิอย่างเดียวจนสว่างก็ได้ ไม่ให้สลับกันภายในคืนนั้น

ส่วนหลวงพ่อท่านก็เร่งปฏิบัติของท่านอย่างหนักเช่นเดียวกัน
เมื่อถึงวันอุโบสถท่านจึงจะให้โอวาทแก่ภิกษุสามเณรและญาติโยมครั้งหนึ่ง
วันธรรมดาก็ให้ทุกคนถือปฏิบัติตามระเบียบข้อกติกา
ที่ได้ตกลงกันไว้ทุกประการตลอดพรรษา


รูปภาพ
พระอาจารย์อวน ปคุโณ

รูปภาพ
เสนาสนะที่หลวงพ่อชาเคยพักจำพรรษาที่ภูกอย จ.ยโสธร
ปัจจุบันเป็นวัดไทยเจริญ



:b44: ป่วยกายไม่ป่วยใจด้วยธรรมโอสถ

ในระหว่างพรรษานี้หลวงพ่อป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับฟันเหงือก
มีอาการบวมทั้งข้างบนและข้างล่าง บวมมาก
โรคปวดฟันนี้มีรสชาติเป็นอย่างไรนั้นใครเคยเป็นแล้วไม่อยากเป็นอีก
แต่ก็หนีไม่พ้นจึงต้องจำยอม...
ขณะนั้น หลวงพ่อชาท่านหายามารักษาตามมีตามได้
มี ตบะธรรมและขันติธรรม เป็นที่ตั้ง
พร้อมทั้งพิจารณาว่า
พยาธิง ธัมโมมหิ พยาธิง อะนะ ตีโต
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา หนีความเจ็บไข้ไปไม่พ้น

รู้เท่าทันสภาวธรรมนั้นๆ มีความอดทนอดกลั้น
แยกโรคทางกายกับโรค ทางใจออกเป็นคนละส่วน
เมื่อกายป่วยก็ป่วยไปไม่ยอมให้ใจป่วยด้วย
แต่ถ้ายอมให้ใจป่วยด้วยก็เลยกลายเป็นป่วยด้วยโรคสองชั้น
ความทุกข์เป็นสองชั้นเช่นเดียวกัน
โรคปวดฟันมันทรมานหลวงพ่อมาก กว่าจะสงบลงได้ต้องใช้เวลาถึง ๗ วัน

หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า
“พูดถึงการสังวรระวังเรื่องศีลแล้ว
เมื่อคราวออกปฏิบัติไปคนเดียวอยู่รูปเดียว
ยิ่งมีความหวาดกลัวต่ออาบัติมาก

ออกปฏิบัติครั้งแรกมีเข็มเล่มเดียวทั้งคดๆ เสียด้วย
ต้องคอยระวังรักษากลัวมันจะหัก
เพราะถ้าหักแล้วไม่รู้จะไปขอใคร ญาติพี่น้องก็ไม่มี
ด้ายสำหรับเย็บก็เอาเส้นไหมสำหรับจูงผี
ขวั้นเป็นเส้นแล้วห่อรวมกันไว้กับเข็ม

เมื่อผ้าเก่าขาดไปบ้างก็ไม่ยอมขอ
เวลาเดินธุดงค์ผ่านวัดต่างๆ ตามชนบทไม่มีผ้าสำหรับปะ
จึงไปชักบังสุกุลเอาผ้าเช็ดเท้าตามศาลาวัด
ปะสบงจีวรที่ขาดเสร็จแล้ว ก็เดินธุดงค์ต่อไป
และได้เตือนตนเองว่า ถ้าไม่มีใครเขาถวายด้วยศรัทธา เธอก็อย่าได้ขอเขา
เป็นพระธุดงค์นี่ให้มันเปลือยกายดูซิ
เธอเกิดมาครั้งแรกก็มิได้นุ่งอะไรมิใช่หรือ...
เป็นเหตุให้พอใจในบริขารที่มี
และเป็นการห้ามความทะเยอทะยานอยากในบริขารใหม่ได้ดีมาก

พูดถึงอาหารบิณฑบาตนับว่ามีหลายๆ ครั้ง
เวลาออกบิณฑบาตได้แต่ข้าวเปล่าๆ
ท่านก็สอนตนเองว่าดีแล้ว...ได้ข้าวฉันเปล่าๆ ก็ยังดีกว่ามิได้ฉัน
ดูแต่สุนัขนั่นซิมันกินข้าวเปล่าๆ มันยังอ้วนและแข็งแรงดี
แกลองเกิดเป็นหมาสักชาติดูซิ
ทำให้ฉันข้าวเปล่าๆ ด้วยความพอใจและมีกำลังปฏิบัติธรรมต่อไป...”


เมื่อกล่าวถึงเรื่องอาพาธแล้ว หลวงพ่อเล่าว่า
ได้เคยผ่านความลำบากมามากครั้งหนึ่งเมื่ออยู่ในเขตสกลนคร นครพนม
ป่วยเป็นไข้มาหลายวัน อยู่คนเดียวกลางภูเขาอาการหนักพอดู
ลุกไม่ขึ้นตลอดวันด้วยความอ่อนเพลียจึงม่อยหลับไป
พอรู้สึกตัวก็เป็นเวลาเย็นมากตะวันจวนจะตกดินกำลังนอนลืมตาอยู่
ได้ยินอีเก้งมันร้อง จึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า

พวกอีเก้งและสัตว์ ป่ามันป่วยเป็นไหม?
คำตอบเกิดขึ้นว่า มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะพวกมันเป็นสังขาร
ที่ต้องปรุงแต่งเช่นเดียวกับเรานี่แหละมันมียากินหรือเปล่า?
มันก็คงหากินยอดไม้ใบไม้ตามมีตามได้
มีหมอฉีดยาให้มันไหม? เปล่า...ไม่มีเลย...
แต่ก็ยังมีอีเก้ง และสัตว์ เหลืออยู่สืบพันธุ์กันเป็นจำนวนมากมิใช่หรือ?
คำตอบเกิดขึ้นว่า ใช่แล้ว...ถูกแล้ว...
พอได้ข้อคิดเท่านี้ทำให้มีกำลังใจดีขึ้นมาก จึงพยายามลุกนั่งจนได้


และได้พยายามทำความเพียรต่อไปจนกระทั่งไข้ได้ทุเลาลงเรื่อยๆ
หลวงพ่อพูดให้ฟังว่า เป็นไข้หนักอยู่คนเดียวกลางภูเขาไม่ตายหรอกถ้าไม่ถึงที่ตาย
แม้จะไม่มีหมอรักษาก็ตามแต่ว่ามันหายนานหน่อยเท่านั้นเอง

พ.ศ.๒๔๙๗ ในระหว่างปลายเดือน ๓
โยมมารดา (แม่พิม) ของหลวงพ่อพร้อมทั้งพี่ชาย (ผู้ใหญ่ล่า)
และญาติโยมอีก ๕ คนได้เดินทางขึ้นไปพบหลวงพ่อ
เพื่อนมัสการนิมนต์ให้กลับลงมาโปรดญาติโยมในถิ่นกำเนิด
หลวงพ่อพิจารณาเห็นเป็นโอกาส อันเหมาะแล้วจึงรับนิมนต์
และตกลงให้โยมมารดาและคณะที่ไปนั้นขึ้นรถโดยสารลงมาก่อน
ส่วนหลวงพ่อพร้อมด้วยพระเชื้อ พระหนู พระเลื่อน สามเณรอ๊อด
พร้อมด้วยพ่อกี พ่อไต บ้านป่าตาว เดินธุดงค์ลงมาเรื่อยๆ
หยุดพักเป็นระยะๆ ตามทางเป็นเวลา ๕ คืน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2011, 20:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: กำเนิดวัดหนองป่าพง

วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ (ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง)
หลวงพ่อพาคณะเดินทางมาถึงชายป่าดงดิบอันหนาทึบก็ยามตะวันบ่ายคล้อย
ที่ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า ดงหนองป่าพง
ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงพ่อประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร

ป่าแห่งนี้แหละเป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิตธุดงค์ของหลวงพ่อ
และในเวลาต่อมาได้กลายเป็นวัดกรรมฐานที่มีชื่อเสียงกว้างไกลออกไป


กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงทั้งภายในและภายนอกประเทศ
แต่ในวันนั้น...ดงป่าพงยังรกชัฏและวังเวง
คณะธุดงค์ไปปักกลดที่ราวป่า ท่ามกลางเสียงต้อนรับเซ็งแซ่ของจั๊กจั่นเรไร

คืนนั้นขณะที่นั่งภาวนาในราวป่าใหญ่แห่งนี้
หลวงพ่อคงตระหนักว่า ชีวิตของท่านกำลังจะเริ่มต้นฉากใหม่
แท้ที่จริงแล้ว ป่าดงแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญสำหรับหลวงพ่อมานานแล้วทีเดียว


ท่านเมตตาเล่าว่า
“สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า
ท่านอาจารย์เสาร์ ก็เคยมาพักอยู่ที่นี่
โยมพ่อเคยได้มาฟังธรรมกับท่าน
อาตมาเป็นเด็กๆ ยังจำได้ ความจำเช่นนี้แหละ มันติดในใจตลอดเวลา
นึกอยู่เสมอๆ เลย เพราะว่าบ้านนี้มันเป็นบ้านร้าง
ดูต้นมะม่วงใหญ่ๆ ของเก่าแก่ทั้งนั้น

โยมพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า มากราบพระกรรมฐาน
มาดูท่านฉันจังหัน ก็เอาอาหารอะไรรวมลงในบาตรทั้งนั้นแหละ
ข้าวก็รวมลงในบาตร แกงก็รวมใส่ในบาตร หวานคาวใส่ในบาตรหมด
โยมพ่อไม่เคยเห็น เอ๊ะ! นี่พระอะไร
เคยเล่าให้อาตมาฟังตอนเป็นเด็ก ท่านเรียกว่าพระกรรมฐาน
เทศน์ก็ไม่เหมือนพระธรรมดาเรา อยากจะได้ฟังเทศน์ก็ไม่ได้ฟัง
มีแต่พูดไปโป้งๆ เท่านั้น ก็เลยไม่ได้ฟังเทศน์กัน
ได้ฟังแต่คำพูดท่าน อันนั้นคือพระปฏิบัติที่มาอาศัยอยู่นี้
ครั้นเมื่อได้ออกมาประพฤติปฏิบัติเองแล้ว
ความรู้สึกอันนี้มันมีอยู่ในใจตลอดเวลา
เมื่อหันหน้าเข้ามาทางบ้านก็นึกถึงป่านี้ไม่ได้ขาด
เมื่อธุดงค์ไปพอสมควรแล้วก็ได้กลับมาอยู่ ณ ที่นี้

ระยะหนึ่งพระอาจารย์ดี จากอำเภอพิบูลมังสาหาร
กับท่านเจ้าคุณชินฯ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เขานิมนต์มาอยู่ที่นี่
อยากจะอยู่ที่นี่เหมือนกัน แต่ท่านว่าท่านอยู่ไม่ได้
ท่านอาจารย์ดีบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ของท่าน ท่านเจ้าคุณชินฯ ก็ยังพูดเสมอ
ที่นี่เราอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ที่อยู่ของเรา เจ้าของที่ที่นี่ ไม่นานเดี๋ยวท่านก็มาของท่าน”

เช้าวันรุ่งขึ้น คณะธุดงค์ได้เข้าสำรวจสถานที่ซึ่งรกทึบมาก
จนแทบหาที่วางบริขารไม่ได้
ชาวบ้านที่มาต้อนรับ ได้จัดที่พักชั่วคราวที่บริเวณต้นมะม่วงใหญ่
(ด้านทิศใต้ของโบสถ์ปัจจุบัน)
ต่อมาเมื่อพิจารณาเห็นสมควร และตกลงจัดตั้งสำนักสงฆ์ ณ ที่นั้น
จึงได้เริ่มการปลูกสร้างเสนาสนะขึ้นด้วยแรงศรัทธา
จากญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลาง ได้กุฏิเล็กๆ ๓-๔ หลัง มุงด้วยหญ้าคา
พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ฝากั้นด้วยใบตองชาดและต้นเลาต้นแขม
ต่อมาได้ขุดบ่อน้ำ และใช้ดินที่ขุดขึ้นมานั้นถมพื้นสร้างศาลาหลังเล็กๆ
ศาลาหลังนี้ได้อาศัยเป็นที่ประชุมสงฆ์ต่อมาอีกหลายปี


หลวงพ่อเล่าถึงสภาพของวัดหนองป่าพง
ในสมัยเริ่มก่อตั้งนั้นให้ญาติโยมฟังว่า

“วัดป่าพงสมัยก่อนนี้ลำบากมาก ที่แห่งนี้เป็นดงใหญ่
เป็นที่อยู่ของพวกช้างพวกเสือต่างๆ
มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งสำหรับสัตว์ป่าทั้งหลายอาศัยกิน
อาตมามาอยู่ที่นี่ทีแรกไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่ป่า
ถนนหนทางอะไรอย่าไปพูดถึง การไปมาลำบากมาก
ที่ของพวกชาวนาก็อยู่ไกลเขาไม่กล้าเข้ามาใกล้ป่านี้
เขาถือว่าเจ้าที่ที่นี่แรงมาก คือ แต่ก่อนเจ้าที่เป็นนายโขลงช้าง
พาลูกน้องไปคล้องช้างมาขาย ผ่านไปผ่านมาอยู่แถบนี้เสมอ
และในที่สุดจึงตั้งหลักฐานอยู่ที่นี่ รักษาดงแห่งนี้ไว้
ป่าจึงพอมีเหลือจนอาตมาได้มาอาศัย
ถ้าไม่อย่างนั้นป่าไม้หมดไปนานแล้ว
เคยมีชาวบ้านผึ้ง บ้านบก เข้ามาจับจอง ถากถาง ทำไร่ทำนากัน
แต่ก็ต้องมีอันเป็นไปต่างๆ นานา
พวกที่เข้ามาตัดไม้ตัดฟืนในป่านี้ ก็มักจะมีเหตุให้ล้มตายกัน
มันแกวมันสำปะหลังที่ขึ้นเองก็มีอย่มาก แต่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง
พออาตมามาอยู่แล้วจึงมีคนมาทำนาอยู่ใกล้ๆ”


รูปภาพ
ลานปฐมานุสรณ์ วัดหนองป่าพง บริเวณป่ามะม่วง
ที่พระอาจารย์ชาปักกลดในวันแรกแรกเมื่อเข้าไปในดงป่าพง

ภาพและเนื้อหาบางส่วนจาก
http://jedeethai.blogspot.com/2010/08/b ... _4060.html


:b44: บุพนิมิต...ลางบอกเหตุ

หลังจากที่หลวงพ่อและคณะพำนักอยู่ที่ดงป่าพงได้ ๑๐ วัน
ถึงวันเพ็ญเดือน ๔ ปีมะเส็ง เวลาประมาณทุ่มกว่าๆ
มีญาติโยมมาฟังธรรมสักสิบกว่าคน
หลวงพ่อได้เตือนทุกคนล่วงหน้า ให้อยู่ในความสงบ
มีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่าส่งเสียง

เมื่อหลวงพ่อแสดงธรรมไปสักครู่
บังเกิดดวงไฟสว่างคล้ายกับดาวหาง
ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
แล้วลอยลับตาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
แสงนั้นสว่างเจิดจ้าดุจกลางวัน ราวกับจะเป็นบุพนิมิตอันงดงาม
และเป็นมงคลยิ่งของวัดหนองป่าพง


แต่ตัวหลวงพ่อท่านไม่ได้สำคัญมั่นหมายอะไร
คงแสดงธรรมไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ญาติโยมทุกคนก็พากันนั่งเงียบ
แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความสงสัยและประหลาดใจ
ก็ไม่มีใครกล้าจะพูดอะไรออกมา
หลวงพ่อไม่ยอมเอ่ยถึงเรื่องนี้อีก
และนี่ก็เป็นนโยบายในการอบอรมชาวบ้านของท่านตลอดมาว่า
แม้สิ่งอัศจรรย์ก็เป็นสักแต่ว่าสิ่งธรรมดานั่นเอง อย่าพึงตื่นเต้นกับมันเลย


อย่างไรก็ตาม รุ่งเช้าหลวงพ่อพาญาติโยมออกไปปักเขตวัด
โดยอาศัยที่ขึ้นและดับของแสงสว่างนั้นเป็นประมาณ
ท่านได้กะที่ไว้ประมาณ ๑๘๗ ไร่ แล้วต่อมาให้ตัดทางรอบ

และหลวงพ่อท่านได้ตั้งชื่อว่า “วัดหนองป่าพง” ตามสถานที่ตั้งนั่นเอง

รูปภาพ
วัดหนองป่าพง

รูปภาพ
สถานที่ปักกลดพระอาจารย์ชาในวันแรกที่มาถึงหนองป่าพง

รูปภาพ
กุฏิพระอาจารย์ชา

รูปภาพ
บรรยากาศภายในวัดหนองป่าพง

รูปภาพ
บรรยากาศ “ต้นไม้สอนธรรม” ที่พระอาจารย์ชาท่านทำไว้

ต้องการชมภาพและหลักธรรม
ที่พระอาจารย์ชาติดไว้ตามต้นไม้ในวัดได้ที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=26474

รูปภาพ
เจดีย์บรรจุพระอรหันตธาตุและมีอัตชีวประวัติของพระอาจารย์ชา

รูปภาพ
พระอรหันตธาตุ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2011, 21:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
หลวงพ่อชาและโยมมารดา แม่ชีพิมพ์ ช่วงโชติ

รูปภาพ
แม่ชีพิมพ์และคณะแม่ชีที่วัดหนองป่าพง


:b44: ตอบแทนโยมมารดาด้วยอรรถและธรรม

การที่หลวงพ่อรับคำอาราธนานิมนต์มาตั้งวัดนั้น
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ เพื่อตอบแทนพระคุณโยมมารดานั่นเอง
ดังนั้น หลังจากมาอยู่ดงหนองป่าพงได้ไม่นาน
ท่านก็ได้อนุเคราะห์ให้ แม่พิมพ์ ช่วงโชติ โยมมารดาของท่าน
ได้บวชเป็นแม่ชีรูปแรกของวัดหนองป่าพง และมีเพื่อนของแม่พิมพ์อีก ๓ คนตามมาบวชด้วย
ฉะนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ จำนวนนักบวชที่จำพรรษาจึงมีด้วยกันทั้งหมด ๙ รูป
ประกอบด้วยพระ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป และแม่ชีอีก ๔ รูป
ในระยะ ๑๐ ปีแรก จำนวนพระเณรในวัดค่อนข้างคงที่ประมาณ ๑๕-๒๐ รูป
แต่จำนวนแม่ชีเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ ๒-๓ รูปจนถึง พ.ศ.๒๕๐๗ มีแม่ชีทั้งหมดกว่า ๒๐ รูป

กล่าวได้ว่า หลวงพ่อชาท่านแทนคุณมารดา
ด้วยการสงเคราะห์ด้วยอรรถธรรมเต็มที่
จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตโยมมารดาของท่านนั้น
แม่ชีพิมพ์ก็ได้ทอดทิ้งร่างกายอันงอมชราไปเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗

กำหนดงานฌาปนกิจศพโยมแม่ในระยะวันมาฆบูชา
ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘
และในงานนี้ได้อนุญาตให้กุลบุตร กุลธิดาบวชเป็นสามเณร ๑๐๕ รูป
บวชเป็นชี ๗๒ คน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

เมื่อกล่าวถึงสังคมแม่ชีที่ป่าพง สำนักชีถูกแยกออกเป็นคนละส่วนกัน
พระมีเขตแดนล้อมรั้วเป็นสัดส่วน มีเสนาสนะ กุฏิและธรรมศาลา
สำหรับรวมปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับสำนักของภิกษุ
มีการปกครองกันเองโดยหัวหน้าและแม่ชีอาวุโส
แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของประธานสงฆ์ด้วย
ซึ่งบางโอกาสครูอาจารย์จะเข้าไปอบรมธรรมแก่แม่ชีที่สำนักในวันโกน

ความเป็นอยู่ของแม่ชีถูกวางหลักเกณฑ์อย่างละเอียดรอบคอบ
จากหลวงพ่อชา จึงอยู่กันโดยสงบเรื่อยมา
และเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังร่มเงาวัดของหนองป่าพง


แม่ชีจะเก็บตัวอยู่อย่างสงบเงียบ ไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณบ่อยนัก
คงมุ่งต่อการประพฤติปฏิบัติ และเกื้อกูลต่อความเป็นอยู่ของภิกษุ
ด้วยใจเสียสละและอดทนดำเนินตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สตรีทั้งหลายเสมอมา

ผู้เข้าสู่วิถีชีวิตแม่ชีที่ป่าพง ต้องต่อสู้อุปสรรคต่างๆ
ไม่น้อยกว่าการเป็นพระกรรมฐาน

หลวงพ่อยังได้กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกผู้มาบวชชี
และกฎในการอยู่ร่วมกันไว้อย่างถี่ถ้วนอีกด้วย

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2011, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๒ จริยาวัตรและแนวทางการสอน

รูปภาพ

“กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือ นักปฏิบัติ
กินมาก นอนมาก พูดมาก คือ คนโง่”


:b44: ทำตนให้ตั้งในธรรมอันสมควรก่อนจึงสอนผู้อื่น

หลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง
ซึ่งเป็นต้นแบบของวัดป่า ๑๐๐ แห่งในประเทศไทย
และหลายแห่งในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย
เพื่อให้เป็นที่พำนักอาศัยบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์กรรมฐาน หรือ “พระป่า”
และได้วางแนวทางปฏิบัติของวัดหนองป่าพงขึ้น
โดยอาศัยหลักการจากพระธรรมวินัยประกอบกับประสบการณ์ทางธรรมของท่าน

หลวงพ่อได้ปฏิบัติตนตามข้อวัตรต่าง ๆ
เป็นแบบอย่างอันงดงามแก่สานุศิษย์โดยถือคติว่า

“พึงตั้งตนให้อยู่ในคุณธรรมอันสมควรเสียก่อน
จึงค่อยสอนผู้อื่น จักไม่เป็นบัณฑิตทราม”

และ “สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ”

แม้หลวงพ่อจะมรณภาพไปแล้ว
แต่คำสอนและแนวทางปฏิบัติ ก็ยังเป็นเสมือนตัวแทนของท่านสืบไป
ซึ่งสานุศิษย์ผู้ผ่านชีวิตพระธุดงค์กรรมฐานในป่าพง
ต่างร่วมกันดำรงรักษา และสืบทอดแนวทางปฏิบัตินั้นไว้อย่างมั่นคง

หลวงพ่อชาในฐานะบูรพาจารย์แห่งวัดหนองป่าพง
ได้มอบธรรมคำสอนที่ตรง ลึกซึ้ง และเข้าใจง่าย
จุดประกายความสว่างทางปัญญาแก่ปวงชน
ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา

ประการสำคัญท่านได้พยายามอย่างยิ่ง
ที่จะรักษาสภาพการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายของพระธุดงค์กรรมฐานไว้
เพื่อให้ชนในยุคปัจจุบันได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติตาม
อันจะเป็นทางให้เกิดปัญญา สามารถสร้างความสงบสุขให้แก่ชีวิตของตน

หลวงพ่อชาและวัดหนองป่าพงจึงเป็นที่มารวมกัน
ของพระธุดงค์กรรมฐานหลายร้อยชีวิตที่ต่างหลีกเร้นบำเพ็ญภาวนาอยู่
ณ สถานที่สงบวิเวกทั่วไป เพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง
ให้ก้าวไปสู่คุณธรรมแห่งความเป็นสมณะ
“ผู้สงบจากอกุศลกรรมทั้งปวง”
และเพื่อเกื้อกูลความสุข เป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่ชนในถิ่นนั้นๆ

พระธุดงค์กรรมฐานเหล่านั้น ต่างผ่านการอบรมสั่งสอน
ผ่านการฝึกหัดตามข้อวัตรปฏิบัติ ที่หลวงพ่อชาวางแนวทางไว้มาอย่างเคร่งครัด
ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ สานุศิษย์ยังคงรักษาไว้เป็นแบบแผน
เป็นเครื่องกลั่นกรองกุลบุตรผู้มีศรัทธา
มีความมุ่งมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งและเข้มข้นดุจเดิม

เนื้อหาและภาพประกอบบางส่วนจากหนังสืออุปลมณี
http://portal.in.th/i-dhamma/pages/10133/


:b44: นอกตำราแต่ถูกต้องตามสัจธรรม

ปฏิปทาที่หลวงพ่อดำเนินมาโดยตลอด
ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติกิจส่วนตัวจนเกิดอานิสงส์ เห็นประจักษ์เป็นปัจจัตตัง
ทั้งการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นในรูปของการอบรมสั่งสอนสานุศิษย์
ล้วนเป็นการดำเนินตามรอยพระยุคลบาทแห่งองค์พระศาสดาโดยใช้หลักอริยสัจสี่
ที่พระตถาคตได้ทรงชี้แนะเปิดเผยไว้อย่างจริงจัง

แม้บางคนมักมองว่าพระป่าไม่สันทัดปริยัติธรรม
หลวงพ่อท่านเคยกล่าวว่า

“คำสอนของผมมันนอกตำรา แต่อยู่ในขอบเขต
อาจไม่ถูกคัมภีร์ท่านเขียน แต่มันถูกคัมภีร์สัจธรรม”


พระอาจารย์ท่านเคยกล่าวไว้ในธรรมเทศนาว่า

ถ้าจะพูดเรื่องปริยัติแล้ว ทุกอย่างมันก็เป็นปริยัติได้ทั้งนั้น
ตาก็เป็นปริยัติ หูก็เป็นปริยัติ จมูกก็เป็นปริยัติ
ปากก็เป็นปริยัติ ลิ้นก็เป็นปริยัติ เป็นปริยัติหมดทุกอย่าง ฯลฯ

โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย
ตถา วีริยมฺปีติปสฺสทฺธิ โพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร
สมาธุเหกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเตเต สพฺพทสฺสินา

เบื้องแรกมันเกิดอย่างนี้ อาการนี้มันจะเกิดขึ้นมา มันก็เป็นโพชฌงค์
เป็นองค์ที่ตรัสรู้ธรรมะทั้งสิ้น
ถ้าเราได้เรียนรู้มัน ก็รู้ตามปริยัติเหมือนกัน
แต่ไม่มองเห็น ที่มันเกิดที่ในใจของเรา ไม่เห็นว่ามันเป็นโพชฌงค์
ความเป็นจริงนั้นโพชฌงค์นั้นเกิดมาในลักษณะอย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติ ผู้รู้ทั้งหลายก็บัญญัติ
แต่มันถอนตัวออกมาเป็นปริยัติเป็นตัวหนังสือ

แล้วก็ไปเป็นคำพูดแล้วโพชฌงค์ก็เลยหายไป หายไปโดยที่เราไม่รู้
แต่ความเป็นจริงนั้น มันก็ไม่ได้หายไปไหน มันมีอยู่ในนี้ทั้งหมด


คัดข้อความมาจากธรรมเทศนาเรื่อง อ่านใจธรรมชาติ
http://anuchah.com/reading-the-natural-mind/


:b44: กฎกติกาตามแบบฉบับวัดหนองป่าพง

รูปภาพ

ภิกษุสามเณรเมื่อได้รับการบรรพชาอุปสมบท
หรือเข้ามาอยู่ในวัดหนองป่าพงแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหม่หรือผู้เก่าต้องศึกษา
และปฏิบัติตามกติกาข้อวัตรต่างๆ ที่สำนักกำหนดขึ้น
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ
และเป็นผู้มีศีลาจารวัตรเสมอกัน
รวมทั้งเพื่อควบคุมความประพฤติของภิกษุสามเณร
ให้อยู่ในขอบข่ายของความเป็นสมณะ

หากความประพฤติของผู้ใดออกนอกรีดนอกรอยจากข้อกติกานี้
ความเป็นป่าพงของเขาผู้นั้นก็หมดสภาพลง
และสืบเนื่องไปถึงความเป็นสมณะของเขาได้ถูกทำลาย
หรือบิดเบือนออกจาพระธรรมวินัยด้วยอำนาจกิเลสตัณหา

วัดหนองป่าพงและสำนักสาขา ได้กำหนดกติกาสงฆ์ไว้ดังนี้

๑) พระเณรห้ามขอของจากคนไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
และห้ามติดต่อกับคฤหัสถ์และนักบวชอันเป็นวิสภาคกับพระพุทธศาสนา
(วิสภาค คือ มีส่วนไม่เสมอกัน คือขัดกัน เข้ากันไม่ได้
ไม่ถูกกัน หรือไม่กลมกลืนกัน ไม่เหมาะกัน : เพิ่มเติมโดยผู้เรียบเรียง)

๒) ห้ามบอกและเรียนเดรัจฉานวิชา
บอกเลข ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู และวัตถุมงคล

๓) พระผู้มีพรรษาหย่อน ๕ ห้ามเที่ยวไปแต่ลำพังตนเอง
เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือมีอาจารย์ผู้สมควรติดตามไปด้วย

๔) เมื่อจะทำอะไรให้ปรึกษาสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์เสียก่อน
เมื่อเห็นว่าเป็นธรรมเป็นวินัยแล้วจึงทำ อย่าทำตามอำนาจของตนเอง

๕) ให้ยินดีในเสนาสนะที่สงฆ์จัดไว้
และทำความสะอาดเก็บกวาดกุฏิ และถนนเข้าออกให้สะดวก

๖.) เมื่อกิจของสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก
อย่าทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะคือผู้มีมายาสาไถย หลีกเลี่ยง

๗.) เมื่อฉันบิณฑบาต เก็บบาตร กวาดลานวัด ตักน้ำ จัดโรงฉัน
ย้อมผ้า ฟังเทศน์เหล่านี้ ห้ามมิให้คุยกัน พึงตั้งใจทำกิจนั้นจริงๆ

๘) เมื่อฉันเสร็จแล้ว ให้พร้อมกันเก็บกวาดโรงฉันให้เรียบร้อยเสียก่อน
แล้วจึงกราบพระพร้อมกัน จึงนำบริขารของตนกลับกุฏิโดยความสงบ

๙) ให้ทำตนเป็นผู้มักน้อยในการพูด กิน นอน ร่าเริง
จงเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยคามเพียร และจงช่วยกันพยาบาลภิกษุสามเณรไข้ด้วยเมตตา

๑๐) ห้ามรับเงินและทอง และห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน

๑๑. )เมื่อลาภเกิดขึ้นในสงฆ์หมู่นี้ ให้เก็บไว้เป็นของกลาง
เมื่อท่านองค์ใดต้องการ ให้สงฆ์อนุมัติให้แก่ท่านองค์นั้นโดยสมควร

๑๒) ห้ามคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันและกลางคืนในที่ทั่วไป หรือในกุฏิ
เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ถึงกระนั้นก็อย่าเป็นผู้คลุกคลีหรือเอิกเกริกเฮฮา

๑๓) การรับและส่งจดหมายเอกสาร หรือวัตถุต่างๆ ภายนอก
ต้องแจ้งต่อสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์รับทราบทุกคราวไป
เมื่อสงฆ์หรือผู้เป็นประธานสงฆ์เห็นสมควรจึงรับและส่งได้

๑๔) พระเณรผู้มุ่งจะเข้ามาปฏิบัติในสำนักนี้
เบื้องต้นต้องได้รับใบฝากจากผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน
และย้ายสุทธิมาให้ถูกต้องเสียก่อนจึงได้

๑๕) พระเณรที่เป็นอาคันตุกะมาพักอาศัย
ต้องนำหนังสือสุทธิแจ้งต่อสงฆ์ผู้เป็นประธานสงฆ์ในคืนแรก
และมีกำหนดให้พักได้ไม่เกิน ๓ คืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

ข้อกติกาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเลือกสรรอย่างดี
จากธรรมและวินัยของพระบรมศาสดา
โดยมิได้เพิกถอนหรือบัญญัติสิ่งใดเพิ่มเติม
เพียงแต่นำธรรมและวินัยมาประกอบกันขึ้นเป็นกฎกติกา
เพื่อควบคุมความประพฤติของภิกษุสามเณร
ไม่ให้ออกจากแนวทางของพระพุทธองค์
อันจะส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปด้วยดี สะดวกเรียบง่าย
ไม่ต้องห่วงกังวลในเรื่องการแสวงหาและความเป็นอยู่
ซึ่งเป็นที่มาของการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
อันเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่ของพรหมจรรย์


เมื่อมีภิกษุสามเณรหรือสำนักสาขาใด
ประพฤติออกนอกแนวทางพระธรรมวินัยและข้อกติกานี้
จะมีการประชุมคณะสงฆ์ เพื่อพิจารณาสืบสวนหาสาเหตุในการกระทำนั้น
หากกระทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่รุนแรง
คณะสงฆ์จะตักเตือนให้แก้ไขปรับปรุงความประพฤติ
แต่หากเป็นการล่วงละเมิดพระธรรมมวินัยและกติกา
ด้วยความตั้งใจและพฤติอยู่เป็นประจำ จะถูกเชิญออกจากหมู่คณะ
ถ้าเป็นสำนักสาขาก็ต้ดออกจากการเป็นสาขาของวัดหนองป่าพง

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร