วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2011, 13:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป


วัดป่าปทีปปุญญาราม
ต.เซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร



๏ ชาติภูมิ

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป มีนามเดิมว่า ผ่าน หัตถสาร เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ ณ ณ บ้านเซือม ตำบลโพนแพง อำเภอวานานิวาส (ปัจจุบันเป็น บ้านเซือม ตำบลเซือม อำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร ตอนที่โยมมารดาได้ตั้งท้องหลวงปู่นั้น โยมมารดาได้ฝันว่าได้มีคนเอามีดด้ามงามมาให้ แล้วโยมมารดาก็ได้เอาไปซ่อนเพราะกลัวว่าจะมีคนมาเห็น ครั้นเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ปรากฏว่าท่านเป็นเด็กที่เลี้ยงยากมากและร้องไห้เก่ง โยมมารดาจึงได้พาหลวงปู่ไปให้พระท่านผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือให้ จึงได้เลี้ยงง่ายขึ้น ด้วยความที่หลวงปู่เป็นบุตรคนหัวปี ญาติพี่น้องเห็นก็พากันรักใคร่ ผลัดกันเอาไปเลี้ยง ผลัดกันเอาไปอุ้ม หลวงปู่ท่านจึงมีแม่หลายคน เพราะมีคนเอาไปเลี้ยงหลายคน

โยมบิดาชื่อ ด่าง หัตถสาร โยมมารดาขื่อ จันทร์เพ็ง หัตถสาร ต่อมาภายหลังโยมมารดาของท่านได้บวชเป็นแม่ชีจนกระทั่งได้ถึงแก่กรรม ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๓ คน มีชื่อเรียงลำดับดังนี้

(๑) หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป
(๒) นายบาน หัตถสาร
(๓) นายบัว หัตถสาร
(๔) นายบาง หัตถสาร
(๕) นายคำใบ หัตถสาร
(๖) นายบุญไทย หัตถสาร
(๗) นางไสว หัตถสาร
(๘) นายสีใคร หัตถสาร
(๙) นางไสแก้ว หัตถสาร
(๑๐) นางสม หัตถสาร
(๑๑) นายคำกรม หัตถสาร
(๑๒) นายอุดม หัตถสาร
(๑๓) นายนิยม หัตถสาร

เมื่อหลวงปู่โตขึ้นก็ได้ช่วยโยมบิดา-มารดาทำไร่ทำนาทำมาหากินตามปกติ หลวงปู่นั้นมีนิสัยเป็นคนเฉยๆ ไม่เป่าปี่ สีซอ เป่าแคนอย่างคนอื่น ไม่เคยเต้นรำวง ไม่กินเหล้าเมาสุรา หลวงปู่ท่านได้เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ แต่เรียนยังไม่ทันจบ พอดีโยมพ่อเฒ่าสุขตาย ตามประเพณีทางอีสานลูกหลานนิยมบวชให้เพื่อจูงศพเข้าป่าช้า หลวงปู่จึงได้บวชเป็นสามเณรให้โยมพ่อเฒ่าสุข บวชอยู่ประมาณ ๑ เดือนจึงได้ลาสิกขา


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุ ๑๕ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดทุ่ง ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสัทโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๒ ญาติพี่น้องได้เดินทางมาจากบ้านหนองศาลา อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หลวงปู่จึงได้ติดตามญาติพี่น้องไปอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านเชียงเครือ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านหนองศาลา ครั้นต่อมาหลวงปู่ได้เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีพระภิกษุอน ซึ่งเป็นญาติของท่านเป็นผู้สอน จากนั้นจึงได้ไปสอบที่วัดธาตุศาสดาราม (ปัจจุบันคือวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร) ปรากฎว่าสอบผ่านนักธรรมชั้นตรี แล้วกลับไปอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยตามเดิม หลวงปู่ได้อยู่ที่วัดโพธิ์ชัยอยู่หลายเดือน และก็ได้เดินทางมาอยู่ที่วัดศรีบุญชู บ้านเซือม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อนที่บวชด้วยกันชวนท่านสึก ท่านได้ปฏิเสธ แต่เพื่อนบอกให้สึกด้วยกัน ท่านจึงจำใจสึกออกมาช่วยงานโยมบิดา-มารดาอยู่ถึง ๒ ปี

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พ่อใหญ่ป้อง เศรษฐาไชย เป็นพ่อเลี้ยงของหลวงปู่ได้ตายลง ญาติพี่น้องจะทำบุญอุทิศให้ตามประเพณี เมื่อทำบุญอุทิศให้ผู้ตายมักนิยมเรียกกันว่า “กองอัฎฐะ” หรือ “กองบุญ” ถ้าหากมีคนบวชในงานนี้ด้วยจะเรียกว่า “กองบวช” เนื่องทางลูกชายของพ่อใหญ่ป้องไม่สามารถบวชให้พ่อได้ ญาติพี่น้องจึงมาขอให้หลวงปู่ให้บวชพระในครั้งนี้ พอดีวันนั้นจิตใจของหลวงปู่รู้สึกหงุดหงิดอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อญาติพี่น้องมาขออย่างนั้น จิตใจปิติยินดีในทันทีเพราะท่านอยากบวชอยู่นานแล้ว ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดทุ่ง จังหวัดสกลนคร แห่งเดิม โดยมีพระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสัทโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมาก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เฉโก”

หลังบวชแล้วได้ไปอยู่ที่วัดศรีบุญชู บ้านเชือม เมื่อบวชได้ ๒-๓ วัน ตอนกลางคืนปรากกว่าพ่อใหญ่ป้อง เศรษฐาไชย เดินมาหา ถามว่ามีเทียนใช้แล้วหรือยัง หลวงปู่จึงตอบว่ามีใช้แล้ว พ่อใหญ่ป้องจึงเดินออกไป เมื่อบวชแล้วได้เรียนนักธรรมโท โดยอ่านหนังสือเอง เมื่อไปสอบก็ได้สอบ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เรียนนักธรรมเอก โดยอ่านหนังสือไปสอบเอง แต่คราวนี้สอบตกจึงไม่ได้ไปสอบอีก

ในปีนี้วันหนึ่งพระเณรทั้งวัดได้เข้าไปในป่าหาไม้มาสร้างกุฏิ ถึงเวลาเพลชาวบ้านก็ยังไม่ได้เอาอาหารมาถวาย จนบ่ายเขาจึงได้เอามาถวาย พระเณรก็ฉันกันทุกรูปยกเว้นหลวงปู่กับเจ้าอาวาส แม้จะเหนื่อยและหิวก็ไม่ฉัน หลวงปู่ได้เห็นความประพฤติอันย่อหย่นจากพระวินัยของพระเณร แล้วรู้สึกเบื่อมาก ซึ่งการขุดดิน ตัดไม้ ดายหญ้า รับเงินรับทองเป็นเรื่องปกติที่พระเณรทำกัน แต่หลวงปู่ไม่ทำเพราะท่านตั้งใจรักษาพระวินัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจึงตั้งจิตอธิฐานว่า “จะบวชเป็นพระกรรมฐานเที่ยวธุดงค์ตามป่าเขาตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล)


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่ได้มากราบนมัสการ พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม) ที่วัดอุดมรัตนาราม บ้านอากาศ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเชือมเพียงแค่ ๒-๓ กิโลเมตร หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่จึงได้กราบเรียนกับท่านว่า “อยากจะบวชเป็นพระกรรมฐาน” ท่านจึงแนะนำให้สึกก่อนแล้วค่อยบวชใหม่ เมื่อกลับมาถึงวัดศรีบุญชูได้เข้าไปกราบลาพระอุปัฌชาย์ขอลาสิกขา ท่านก็อนุญาต อาจกล่าวได้กล่าวว่าท่านบวชได้ ๕ พรรษาแล้วสึกก็ได้ ส่วนพระภิกษุอีกรูปหนึ่งก็เข้าไปกราบลาพร้อมกัน พระอุปัฌชาย์ท่านคัดค้าน เพราะยังพรรษาน้อยเพียง ๒ พรรษา หลวงปู่จึงได้ลาสิกขารูปเดียว

หลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยเริ่มจากการไปหัดขานนาคอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ที่วัดอุดมรัตนาราม หัดขานนาคอยู่ด้วยกันหลายคน หลวงปู่ท่านหัดอยู่ได้ประมาณ ๓ เดือน จึงถูกต้องตามอักขรฐานกรณ์ของภาษาบาลีทุกอย่าง เมื่อหลวงปู่ขานนาคได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงวันที่ ๑๗-๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้เดินทางโดยรถยนต์ไปกับหมู่นาคที่จะบวชพร้อมกัน โดยจะไปบวชกับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิ์สมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

แต่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้ไปร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ส่วนพระอุปัฌชาย์องค์อื่นๆ ก็ไปกันหมด หมู่นาคที่จะบวชจึงพากันเดินทางไป วัดจอมศรี บ้านนำฆ้อง ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเมื่อไปถึงวันนั้นก็ได้บวชเลย โดยบวชเป็นพระ ๓ รูป และบวชเป็นเณร ๕ รูป ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ โดยมี พระครูพิทักษ์คณานุการ (หลวงปู่สี ธัมมทินโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระสมุห์ภา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สำเร็จเมื่อเวลา ๑๓.๕๒ น. ท่านได้รับนามฉายาว่า “ปัญญาปทีโป” แปลว่า ผู้มีปัญญาดุจแสงสว่างแห่งดวงประทีป (ดวงไฟ) จากนั้นท่านก็ได้กลับมาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ที่วัดอุดมรัตนาราม จนกระทั่งเข้าพรรษา


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2011, 13:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ ลำดับการจำพรรษา

• พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๐

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม หลวงปู่ผ่านได้เรียนการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ตลอดจนเรียนด้านพระปริยัติธรรมด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดอุดมรัตนารามนั้น หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ได้พาหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขา ต้องฝ่าป่าดงเทือกเขาภูพานเข้าไปจึงจะถึง ได้ไปอยู่ ๒-๓ ครั้ง เมื่อออกพรรษาปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงปู่ผ่านได้พาสามเณรรูปหนึ่งไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) พอถึงวัดดอยบ้านนาเชือกซึ่งเป็นวัดร้างเป็นเวลาค่ำจึงไดพักที่นั้น พักกันคนละกุฏิ พอตกกลางคืนเณรมาหาบอกว่า “ผมอยู่ไม่ได้ ผมกลัว ไม่รู่ว่าเสียงอะไรมันดังตุ้บตั้บๆ” หลวงปู่จึงได้ออกไปดูปรากฏว่าเป็นค้างคาว ตกลงเณรเลยขอมานอนด้วย พอสว่างได้ไปบิณฑบาตที่บ้านนาเชือก กลับมาฉันแล้วก็ได้เดินทางไปที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) พอไปถึงก็ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านได้พูดว่า “ท่านผ่านมากับเณรน้อยแท้ มันไข้ได๋” (หมายความว่า พาสามเณรอายุน้อยมาด้วย สามเณรจะเป็นไข้ป่าได้ง่าย) หลวงปู่จึงได้ตอบว่า “ครับผม ไม่มีคนมา กระผมจึงมากับเณรน้อย”

เวลาเย็นก็พากันไปสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่เป็นพระผู้น้อยเพียง ๑ พรรษาจึงได้ถูหลังเท้า รูปอื่นก็ได้ถูแข้ง ถูขา ถูแขน หลวงปู่บอกว่า “เท้าของหลวงปู่มั่นนิ่มมากๆ ถึงแม้ว่าจะเดินธุดงค์มาตลอดแต่เท้ากลับนิ่ม” ซึ่งตรงกับที่หลวงปู่หลุย จันทสาโร เคยบอกไว้ว่า “เท้าท่านพระอาจารย์มั่นนิ่ม ท่านเป็นผู้มีบุญมาก เราคนเท้าแข็งเป็นคนบาป” ในครั้งนั้นมีพระเณรพำนักจำพรรษากับหลวงปู่มั่น ประมาณ ๒๐ รูป อาทิเช่น พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร วัดประชาชุมพลพัฒนาราม จังหวัดอุดรธานี, พระอาจารย์หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส, พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต, สามเณรบุญเพ็ง จันใด (พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต) เป็นต้น

วันนั้นสรงน้ำเสร็จ พระอาจารย์มั่นบอกว่า “ท่านผ่านไปฉันน้ำอ้อยสดเด้อ ชาวบ้านเขาเอามาถวาย” หลวงปู่ก็คิดในใจว่า “เราจะไม่ฉันหรอกมันหนักท้อง” ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดซ้ำอีกว่า “ไปฉันน้ำอ้อยเด้อ” หลวงปู่ก็คิดในใจว่าจะไม่ไปฉัน เสร็จแล้วจะไปภาวนาต่อ ถึงตอนค่ำก็มารวมกันที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อรับการอบรม ซึ่งแต่ละครั้งจะนานถึง ๓-๔ ชั่วโมง แต่หลายวันจึงจะได้มีการประชุมสักครั้งหนึ่ง

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์หลุย จันทสาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส

รูปภาพ
พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต


• พรรษาที่ ๒-๓ พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่าบ้านหนองโดก อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และยังมี พระอาจารย์เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน กับเณร ๒-๓ รูป เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่ได้กราบลาหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ มาอยู่ที่วัดป่าม่วงไข่กับท่านอาจารย์สิงห์ (คนละองค์กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม) ท่านได้สั่งให้ท่องปาติโมกข์ท่องอยู่ประมาณ ๑ เดือนก็ยังท่องไม่ได้ หลวงปู่ก็เลยคิดว่าจำทำอย่างไรดี ที่นี้เวลาภาวนาท่านเลยท่องแต่ปาติโมกข์นั้นจนเกือบ ๓ เดือนจึงท่องได้สำเร็จ

ช่วงที่หลวงปู่ผ่านอยู่ที่บ้านหนองโดก วันหนึ่งพอออกจากสมาธิท่านได้เห็นบุ้งคีบตัวเล็กๆ คลานอยู่ จึงได้สงสัยว่า “บุ้งตัวเล็กๆ นี้จิตมันใหญ่ไหม ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันเล็กไหม หรือว่าเท่ากัน” พอออกพรรษาแล้วได้เข้ามาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านได้เทศน์ให้ฟังตอนหนึ่งท่านว่า “บุ้งตัวน้อยๆ ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันก็เท่ากันนั้นแหละ” หลวงปู่จึงหายสงสัย เกิดความอัศจรรย์ใจและเกรงกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก ไม่คิดไปนอกทางเกรงว่าท่านจะดุ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองโดก ร่วมกับพระอาจารย์เพียร วิริโย พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ อีกครั้ง โดยมีพระอาจารย์สิงห์ เป็นหัวหน้า ส่วนหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน ย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าม่วงไข่แทน พออกพรรษาแล้วก็ยังพักอยู่ที่นั้น พอดีท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธ และได้มาพักอยู่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ระหว่างนี้หลวงปู่ได้เข้าไปพยาบาลทุกวันเพราะวัดอยู่ไม่ไกลกัน

ในช่วงหลายวันมีรถรับไปจังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่ผ่านในฐานะลูกศิษย์องค์หนึ่งจึงเข้าไปอยู่ที่วัดป่าสุทธวาส เพื่อช่วยงานถวายครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย ครั้งนั้นบรรดาลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อมาร่วมงาน มีแต่พระเณรเต็มวัด ญาติโยมยังไม่มากนัก ยังไม่ตื่นพระกรรมฐานเหมือนทุกวันนี้ ก่อนหน้าที่จะอยู่วัดป่าสุทธาวาส ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านเทศน์อบรมทุกวัน เทศน์เรื่อง “การทำจิตให้มีสมรรถภาพ” โดยท่านอธิบายว่า “ให้เพ่งร่างกาย (กายคตาสติ เพ่งให้ติดตา เมื่อติดตาแล้วให้แยกออกเป็นส่วนๆ แล้วปลงลงเพ่งจนชำนาญสามารถทำได้รวดเร็ว)” ท่านสอนเรื่องนี้ทำให้หลวงปู่ติดใจมาก เป็นเหตุให้การภาวนาต่อมาหลวงปู่พยายามจะเพ่งร่างกายนี้อยู่เสมอ ส่วนหลวงปู่ฝั้นก็ทำเช่นกันจนมีความชำนาญ ท่านมีกำลังจิตที่กล้าแข็งมากเป็นที่ยอมรับในหมู่พระกรรมฐาน ครั้นเสร็จงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ช่วงเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านติดตามหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปวัดป่าบ้านท่าควาย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ครั้งนั้นมีพระอาจารย์คำพอง ติสฺโส หลวงตาจรัส และสามเณร ร่วมเดินทางไปด้วย

หลวงปู่ฝั้นท่านพาเดินทางไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ของ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อยู่ ๒ คืน จากนั้นโยมเอารถมารับไปพักที่วัดป่าบ้านท่าควาย เมื่อไปอยู่วัดป่าบ้านท่าควาย หลวงปู่ฝั้นกำลังเร่งความเพียร วันหนึ่งๆ จะฉันนมเพียง ๑ แก้ว พระเณรที่ตามไปด้วยรวมทั้งหลวงปู่ผ่าน จึงพากันฉันวันเว้นวันบ้าง หลายวันต่อมาหลวงปู่ฝั้นพาเทศน์พระเวส (งานบุญพระเวส) มีเทศน์ทำบุญอย่างเดียว ไม่ได้จัดแต่งดอกบัว ดอกผักตบอย่างละ ๑,๐๐๐ ตามที่อื่นเขาทำกัน เป็นเหตุให้พวกชาวบ้านท่าควายไม่กล้ามางาน เพราะกลัวว่าทำไม่ถูกวิธีแล้วจะมีลมพญามารใหญ่พัดมา มีญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใสมานิดหน่อย ท่านก็เทศน์จบแล้วทุกอย่าง ไม่มีลมใหญ่อะไร ต่อมาไม่นานทางวัดที่หมู่บ้านเขาจัดบ้าง หลวงปู่ผ่านได้ไปด้วย ปรากฏตอนบ่ายมีลมพายุพัดทำลายข้าวของในงาน และกระท่อมเสียหายหมด หลวงปู่ว่าด้วยนี้เป็นกำลังจิตของหลวงปู่ฝั้น จึงไม่มีอะไรรบกวน

เมื่ออยู่บ้านท่าควายหลายวันแล้ว วันหนึ่งไปบิณฑบาตพอไปถึงสุดทางบิณฑบาต หลวงปู่ฝั้นท่านได้หยุดยืนแล้วพูดว่า “นั่นๆ ท่านผ่าน ที่จะไปภาวนา” ที่นั้นคือภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ๒-๓ วันต่อมาหลวงปู่ฝั้นจึงพาเดินไปประมาณ ๕ กิโลเมตรจนกระทั่งถึงภูกระแต แล้วจึงแยกย้ายกันไปพำนักบำเพ็ญภาวนา ที่นี่เป็นสถานที่สัปปายะ มีสัตว์ป่ามากมาย มีแอ่งน้ำซับซึ่งผุดออกมาจากดิน อยู่ที่ตีนเขา พอรุ่งเช้ามีชาวบ้านมาเล่าถวายว่า “เมื่อคืนฝันเห็นพวกภูตผีปีศาจบนภูเขาพากันแตกตื่นย้ายครอบครัวหนี บอกว่าเจ้านายมา” หลวงปู่ฝั้นอยู่ที่นี้ได้ ๒ เดือน ท่านก็ได้เดินทางไปภูวัวต่อ ส่วนหลวงปู่กับหลวงตาจรัสไปอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าควาย

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
พระอาจารย์เพียร วิริโย

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2011, 14:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๙๓
วัดป่าบ้านขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม


ต่อมาหลวงตาจรัสชวนไปภาวนาอยู่บ้านขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และได้จำพรรษาที่นี่ เมื่อแรกไปอยู่ปรากฏว่ามีพระมหานิกายมาไล่ ไม่ยอมให้พระกรรมฐานมาอยู่ด้วย หลวงปู่ได้ตอบพระมหานิกายที่มาไล่นั้นว่า เราต่างมาบวชเพื่อจะไปพระนิพพานเหมือนกัน เหมือนกับการแจวเรือถ้าต่างคนต่างแจวก็ถึงที่หมาย ถ้าขัดกันกลางทางเรือก็ล่ม ผู้ที่เข้ามาบวชเพราะเรื่องลาภยศทำไม เรื่องจึงสงบไป

พรรษานี้มีพระ ๓ องค์ เณร ๑ องค์ คือ หลวงปู่ผ่าน, หลวงตาจรัส, หลวงตาหมอก และเณรภูบาล ทุกคนตั้งใจบำเพ็ญภาวนา วัดนี้เคยมีพระกรรมฐานมาพักอยู่ กำนันพรหมผู้เป็นหัวหน้าญาติโยม เป็นคนมีศรัทธาชักชวนชาวบ้านเข้าวัดฟังธรรม นั่งภาวนา มีญาติโยมบ้านขามเฒ่ามาหัดทำสมาธิเป็นชาย ๑๐ กว่าคน ส่วนโยมผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย วัดนี้อยู่ริมแม่น้ำโขงมีกุฏิเล็กๆ สามารถย้ายได้ อยากไปอยู่มุมไหนก็ย้ายกุฏิไป การภาวนาอยู่บ้านขามเฒ่านี้ภาวนาดี จิตรวมทุกวัน เวลาจิตจะรวมบางทีกุฏิลั่นดังปึ๊บ แล้วจิตก็รวมลง หมดกำลังก็ถอยออกมา การเทศน์อบรมชาวบ้านหลวงปู่ก็เทศน์ไปตามที่ภาวนาได้ ได้แค่ไหนก็เทศน์แค่นั้น จะเทศน์สูงกว่าไม่ได้เพราะพรรษายังน้อย

อยู่ที่นี่จะมีโยมผู้หญิงมาคอยตักน้ำให้สรง และมาคุยทุกวันๆ แต่หลวงปู่ท่านไม่เคยหวั่นไหวในมาตุคาม เพราะท่านได้อธิฐานว่าจะไม่สึกตลอดชีวิต จิตใจจึงมั่นคง โยมนั้นก็เลิกไปเอง ครั้งหนึ่งมีโยมคนหนึ่งมาขออยู่ด้วยเพราะเขาได้ยินเสียงในหูว่า “กูจะมาฆ่ามึงๆๆๆ” เลยกลัวผีมาก นี่เป็นกรรมของโยมคนนั้น ถ้าอยู่วัดแล้วจะไม่ได้ยินแต่ถ้าอยู่ที่อื่นจะได้ยินตลอดเวลา วันนั้นท่านภาวนาแล้วเห็นผู้หญิงนั่งอยู่บนพื้นดินมีผมแหลมๆ ยาวถึงแขน หน้าเหลือง ตอนแรกท่านนึกว่าเป็นผีมาหาโยมคนนี้ แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงนิมิตรอันเกิดจากท่านเพ่งอสุภะเท่านั้น

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงตาจรัสยังอยู่บ้านขามเฒ่า ส่วนหลวงปู่ผ่านโดยสารทางเรือไปอำเภอบ้านแพง อำเภอนครพนม ไปพักวัดเนินคนึงอยู่หลายวัน แล้วไปอยู่กับพระมหาสุด ที่บ้านบะปะทายซึ่งอยู่ใกล้กับภูลังกา พระมหาสุดท่านเป็นคนบ้านหัววัว จังหวัดอุบลราชธานี วันหนึ่งมีลมพายุใหญ่พัดมาเสียงดังอื้ออึง หลวงปู่ท่านขึ้นกุฏิ นั่งสมาธิอธิษฐานจิตว่า “ถ้ามันจะตายให้มันตาย” แล้วปล่อยวางหมด ปรากฏว่าได้ยินเสียงลมพัดมาแล้วเว้นวัดไป ข้ามไปทางอำเภอบ้านแพง ไม้ยางล้มเสียงดังหลายวัน

ต่อมาท่านได้เข้าไปอำเภอบ้านแพง เห็นศาลาเล็กๆ กระต๊อบพังหมด แต่ที่วัดป่าบะปะทายไม่เป็นอะไรเลย ต่อมาหลวงปู่เดินทางไปบึงโขงหลง แล้วไปพักอยู่ที่บ้านโสกก่าม ๗-๘ วัน จากนั้นธุดงค์ขึ้นภูวัว โดยไปพักอยู่ที่ถ่ำแอ่น (ที่ถ่ำแอ่นแห่งนี้ภายหลังเมื่อหลวงปู่มาอยู่ที่วัดป่าปทีปปุญญารามแล้ว ได้นิมิตเห็นควายเดินออกมาจากถ่ำแอ่น ท่านจึงกำหนดจิตถามว่า ทำไมจึงมีควายออกมา ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า อดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นควายและอยู่ที่ถ่ำแอ่นนี้) หลวงปู่ท่านอยู่องค์เดียว พอตอนเย็นเห็นพวกมดดำเดินอยู่ ท่านก็คิดว่าเรามีเพื่อนแล้ว ไม่ได้อยู่องค์เดียว ท่านคิดขำๆ ไปอย่างนั้น เช้ามาโยมที่ไปด้วยทำอาหารถวาย เพราะอยู่ที่นี่บิณฑบาตไม่ได้ อาศัยโยมบ้านดอนเสียด ๖-๗ วันก็ขึ้นมาเอาอาหารแห้ง ปลาแห้ง ตัดยอดบุก ยอดหวาย มาถวายพระ

ต่อมา พระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ จากวัดทุ่งสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พาพระมาพักอยู่ด้วย หลวงปู่ภาวนาอยู่ที่นั่นปรากฏจิตใจมีความดีอกดีใจ มีปีติมากที่ได้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาเพราะจิตอยากไปมานานตั้งแต่ก่อนบวช เพิ่งจะได้มาเป็นครั้งแรก ตอนนั้นทั้งเสือ ช้าง หมี มีชุกชุมมาก แต่หลวงปู่ท่านไม่กลัว ภาวนาดีมาก จิตรวมเป็นปรกติ อยู่ที่นั่นประมาณ ๑ เดือนก็ลงมาพักอยู่บ้านโสกก่าม แล้วมาพักที่บึงโขงหลง ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ สายๆ ราว ๘ โมงเช้า ญาติโยมชาวบ้านเอาเรือมารับไปบิณฑบาต อยู่ที่นี่หลายวันจึงมาอยู่ที่บ้านโพธิ์หมากแข้ง ต่อมาได้เดินทางไปอยู่ศึกษาธรรมกับ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ที่บ้านวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร ท่านออกบวชเนื่องจากสูญเสียบุตรและภรรยาจากการคลอด ท่านมีทุกข์หนักจึงออกบวชที่วัดโพธิ์ชัย บ้านวาใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านบวชอยู่นานจนเกือบได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก สหธรรมมิกที่ใกล้ชิด ได้ไปฟังเทศน์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยกันที่เสนาสนะป่าบ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ท่านและพระอาจารย์เกิ่งเกิดความเลื่อมใสมากจึงเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ และนิมนต์พระอาจารย์มั่นมาบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และท่านตกลงขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกายพร้อมกับพระอาจารย์เกิ่ง โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอาจาย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และมีพระอาจารย์มั่นนั่งหัตถบาสร่วมด้วย เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่โบสถ์น้ำกลางหนองสามผง บ้านสามผง แล้วปีนั้นท่านจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่นที่บ้านสามผงนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านจึงมาตั้ง “วัดอิสระธรรม” ขึ้นที่บ้านวาใหญ่ และอยู่จำพรรษาเรื่อยมา พระอาจารย์สีลามรณภาพเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๔๑

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้มาจำพรรษาอยู่ด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่ท่านได้รับเลือกให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการอุปสมบทหมู่ ๒,๕๐๐ รูป เพื่อฉลอง ๒๕ ปีพุทธศตวรรษหรือกึ่งพุทธกาล ครั้งนั้นมีพระอุปัชฌาย์เพียง ๔ รูปเท่านั้น คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี), พระธรรมดิลก (ทองดำ จันทูปโม), พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) และ หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป

จากนั้นท่านกลับมาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม อีก ไม่นานท่านก็ไปอยู่บ้านกุดเรือ หลวงปู่อุ่นท่านส่งคนมาตามกลับแต่ท่านไม่กลับ และได้เดินทางไปอยู่บ้านอุ่มเหม้า อำเภอพังโคน

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

รูปภาพ
พระอาจาย์มหาปิ่น ปัญญาพโล

รูปภาพ
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


• พรรษาที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๙๔
วัดป่าบ้านอุ่มเหม้า อ.พังโคน จ.สกลนคร


ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงปู่จำพรรษาที่บ้านอุ่มเหม้า อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยมี พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม เป็นประธานสงฆ์ (ท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง ปัจจุบันท่านอยู่ที่วัดป่าโชคไพศาลหรือวัดกัลยาณธัมโม บ้านหนองนาหาร อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ท่านอายุเท่ากับหลวงปู่ผ่าน) นอกจากนี้ ยังมีพระคำพันธ์ซึ่งเป็นชาวบ้านอุ่มเหม้า และองค์อื่นๆ อีกหลายองค์จำพรรษาร่วมกัน

หลวงปู่ท่านเร่งความเพียรมาก เดินจงกรมจนเหนื่อยก็ยังไม่ยอมหยุด โดยเอาพระจันทร์เป็นนาฬิกา แต่ทางด้านจิตนั้นจิตก็รวมเป็นสมาธิ มีความเอิบอิ่ม มีปีติอยู่เป็นธรรมดา พรรษากาลนี้ท่านถือธุดงวัตรครุปัจฉาคะทีกังคะธุดงค์ คือไม่รับอาหารที่โยมนำมาถวายอีก ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มาเท่านั้น หมากก็ไม่ฉัน บุหรี่ก็ไม่สูบ นอกจากนี้ บ่าของหลวงปู่ท่านลอกตลอดทั้งพรรษาเนื่องจากสะพายบาตรเดินมาก เมื่อครั้งลงมาจากภูวัว ตอนเย็นไม่ได้ทำวัตรสวดมนต์ร่วมกัน ต่างคนต่างภาวนา ร่วมกันทำวัตรเฉพาะวันพระ

วันหนึ่งมีลมใหญ่พัดมา หลวงปู่ท่านขึ้นกุฏิ นั่งสมาธิอธิฐานจิตว่า “แล้วแต่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จะรักษา” แล้วเข้าสมาธิ หลวงปู่นั่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ส่วนลมมาทางทิศตะวันตก ปรากฏว่าลมพัดเข้าไปในหมู่บ้าน ทำให้ต้นหมาก ต้นมะพร้าวหักโค่นลง ส่วนวัดไม่เป็นอะไร ตอนเช้าขึ้นมาญาติโยมชาวบ้านเขาเลยเอามาถวายพระ ตลอดพรรษากาลนี้ เวลาลงอุโบสถฟังปาติโมกข์ต้องไปลงที่วัดป่าศรีจำปาชนบท อำเภอพังโคน กับ หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต โดยพากันเดินลัดทุ่งนาไป

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ท่านได้ศึกษาภาวนากับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งธุดงค์มาตั้งวัดป่าบ้านปลาโหลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลา ๑๕.๓๓ น. ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อท่านอายุได้ ๕๔ ปี จากนั้นท่านไปศึกษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ต่อมาไปศึกษากับท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อท่านทั้งสองมรณภาพแล้ว ก็ได้ไปศึกษากับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และท่านได้มาอยู่ที่วัดป่าศรีจำปาชนบท จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลา ๑๐.๑๕ น. ด้วยโรคชราภาพ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๔๑ เมื่อฌาปนกิจศพแล้วปรากฏว่าอัฐิของท่านแปรเป็นพระธาตุมากมาย

เมื่อออกพรรษาแล้ว ภรรยาของกำนันพรหม บ้านขามเฒ่า มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปอยู่บ้านขามเฒ่าอีก

รูปภาพ
พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม

รูปภาพ
หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

รูปภาพ
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.พ. 2011, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๙๕
วัดป่าบ้านขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม


ปีนี้จำพรรษากับพระอาจารย์คำ (บ้านเดิมท่านอยู่ที่บ้านเศรษฐี อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเคยมาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นด้วย) และพระอาจารย์ปั่น ปัญญาวโร ซึ่งเพิ่งจะบวชในปีนั้น (ภายหลังท่านมาอยู่ที่วัดป่าบ้านคำตานา ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) คราวที่อยู่บ้านหนองโดก ภาวนาเกิดคำว่า “นโม ข่ายเย็น ข่ายร้อน” นั้นจิตสว่างเห็นทางภายนอก เห็นต้นไม้ เห็นภูเขา เห็นคนนั้นคนนี้ แต่เห็นได้ไม่นาน สักพักแล้วก็ดับไป เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

คราวนี้มาอยู่บ้านขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จึงพยายามจะให้เห็นร่างกายภายใน เพราะฟังครูบาอาจารย์มา ให้น้อมเข้าไปภายใน ลอกหนังออก เข้าไปถึงเอ็น แล้วเข้าไปกระดูก หลวงปู่ท่านก็พยายามเพ่งเข้าไปภายใน โดยการนึกเอาว่ากระดูก เอ็น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นเลยเปลี่ยนเอากระดูกหลังเพียง ๓ ท่อนมาเพ่ง แทนที่จะเพ่งทั้งร่าง ท่านค่อยๆ ทำให้สติกับปัญญามีความสมดุลกัน เพ่งอยู่ไม่นานปรากฏว่าจิตรวม เกิดแสงสว่างจ้าอยู่กลางอก ไม่เห็นกระดูกเลย แต่เห็นไส้พุงทั้งเขียวทั้งดำ จิตใจเกิดความปีติ อัศจรรย์ว่าตั้งแต่บวชมาเพิ่งจะเห็นเป็นครั้งแรก จากนั้นท่านก็เพ่งจนติดตา ตื่นเช้ามาท่านว่า ท่านฉันข้าวไม่อร่อยเลย ตกเย็นมาท่านก็ภาวนาอีก ก็ยังไม่เห็นกระดูกอยู่เช่นเดิม แต่เห็นออกไปภายนอก โดยเห็นตัวหลวงปู่กำลังสรงน้ำอยู่กลางหุบเขา แต่สายน้ำนั้นมีความแปลก คือ ด้านหน้าไหลลงมาจากภูเขา ผ่านหลวงปู่แล้วไหลกลับขึ้นบนเขาด้านหลัง ไหลขึ้นไหลลงอยู่อย่างนั้นจนจิตถอน ท่านว่านิมิตนี้เป็นนิมิตที่ดี เป็นสิ่งบอกว่าท่านจะได้ออกจากทุกข์

พอถึงวันที่ ๓ นั่งสมาธิจิตรวมลง ปรากฏท่านขึ้นไปอยู่บนยอดเขา ตามร่างกายมีเครื่องประดับเป็นเพชรนิลจินดาแพรวพราว จิตเกิดปีติเอิบอิ่ม มองลงมาเห็นมนุษย์ เรือนชานบ้านช่อง หลวงปู่ท่านได้พิจารณาเห็นว่ามนุษย์นี้เกิดขึ้นมา กินแล้วก็พากันนอน ตื่นมาก็ไปทำมาหากิน ได้มาแล้วก็พากันกินแล้วก็นอน เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ไม่ได้นึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่ได้นึกถึงทางหนีออกจากวัฏสงสารเลย พิจารณาได้อย่างนี้แล้วท่านจึงคิดว่า “เราเห็นแล้ว เราจะไม่ทำอย่างนั้น จะต้องหนีออกจากวัฏสงสารให้ได้” นั่งดูอยู่อย่างนั้นนานเข้า ปรากฏว่าท่านลอยไปถึงบ้านนาโดน เห็นไฟกำลังไหม้พระองค์หนึ่ง ท่านจึงพิจารณาไฟไหม้นั้นคือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ พระไฟไหม้คือ พระยังมีราคะ โทสะ โมหะ จากนั้นก็ลอยไปนั่งอยู่บนชะง่อนหินบนภูเขา หันหน้าไปทางทิศเหนือ นั่งภาวนาเพ่งร่างกาย เห็นตับไตไส้พุงอย่างที่เคยเห็น ตอนนี้เครื่องประดับไม่มีแล้ว นั่งเพ่งอยู่นาน จึงถามตัวเองขึ้นว่าที่นี่ที่ไหน ? จิตตอบว่า ถ้ำผากง (ถ้ำนี้อยู่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ท่านเคยมาเอาพระพุทธรูปเศียรขาดอันเนื่องมาจากตกลงมากับพื้น ท่านเอาไปบูรณะต่อเศียร ปัจจุบัน ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร กำลังไปสร้างวัดอยู่ที่นั่น)

เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงปู่ท่านได้เดินทางมาวัดป่าบ้านภู่ (วัดป่ากลางโนนภู่) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อมาร่วมงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน (ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นผู้ใหญ่องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพี่ชายของท่านพระอาจารย์กว่า สุมโน และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร) ในงานนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาร่วมงานกันมากมาย อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นต้น ท่านได้เข้าไปกราบหลวงปู่อ่อน ซึ่งพรรษานี้หลวงปู่อ่อนท่านไปอยู่ที่บ้านดอนเงิน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

หลวงปู่อ่อนบอกว่า “ท่านผ่าน พระอุปัชฌาย์มรณภาพอยู่ที่วัดจอมศรี ให้ไปปรงศพท่านนะ” หลวงปู่จึงได้ติดตามหลวงปู่อ่อนไปจังหวัดอุดรธานี ไปพักที่วัดป่าบ้านจิก (วัดทิพยรัฐนิมิตร) อยู่หลายวัน จึงขึ้นรถไฟไปวัดจอมศรี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หอศพของพระครูพิทักษ์คณานุการ (หลวงปู่สี ธัมมทินโน) พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ ทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์คือนกมีงวงเป็นช้าง พอถึงวันที่จะเผา เขาแห่ศพด้วยเกวียนเข้าไปกลางหมู่บ้าน พวกญาติโยมก็ถวายทาน กลางคืนจึงเผา ในงานมีมหรสพมากมายทั้งฉายหนัง หมอลำ

หลวงปู่เห็นเขาดูหนัง (ภาพยนตร์) กัน ท่านจึงพิจารณาว่าทำไมเขาเรียกว่า “หนัง” เห็นมีแต่รูปเลยถามตัวเองว่า “อะไรเป็นหนัง” จิตตอบขึ้นว่าคำที่ว่า “หนัง” คือว่ามันสวยเพราะมนุษย์และสัตว์ในโลกนี้ติดอยู่ที่หนัง ที่ว่าคนนั้นสวย คนนี้งาม ก็เพราะมีหนังห่อหุ้ม ถ้าไม่มีหนังก็น่าเกลียดน่าขยะแขยง เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ท่านรู้สึกว่าหนัง (ภาพยนตร์) นั้นไม่เห็นน่าดู สังขารเขาแต่งขึ้นมาทั้งนั้น ไม่รู้จะไปหลงทำไม จิตไม่อยากดูจึงเลิกดู

รูปภาพ
พระอาจารย์แบน ธนากโร

รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน

รูปภาพ
พระอาจารย์กว่า สุมโน


• พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๙๖
วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


เมื่อเสร็จงานศพท่านพระอาจารย์กู่แล้ว หลวงปู่เดินทางกลับมาพักที่วัดป่าบ้านจิก (วัดทิพยรัฐนิมิตร) อีก แล้วไปอยู่ที่บ้านโนนทัน ไปภาวนาอยู่ที่นั่นพร้อมกับหลวงปู่อ่อน, พระบุญหนา (ปัจจุบันคือ พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านหนองโดกหรือวัดป่าโสตถิผล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร), เณรสมบูรณ์, เณรเลย อยู่หลายวัน แล้วหลวงปู่นึกอยากกลับมาเยี่ยมบ้าน จึงไปกราบนมัสการลาหลวงปู่อ่อนแต่ท่านไม่อนุญาต แต่ให้ไปบ้านหนองบัวบานกับท่าน จึงได้ไปช่วยท่านสร้างวัดป่านิโครธาราม ที่บ้านหนองบัวบาน

วันหนึ่งหลวงปู่ท่านมีอาการไข้ป่ากำเริบ จึงไปขอยาจากหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้มาแล้วก็วางยาไว้ข้างตัวแล้วนั่งสมาธิ เนื่องจากท่านพระอาจารย์มั่นได้เคยเทศน์ไว้ว่า ให้รักษาการป่วยด้วยยาปรมัตถ์คือการภาวนา ท่านจึงลองดู เมื่อนั่งแล้วจิตรวมปรากฎแสงสว่าง เห็นต้นไม้หมดทั้งโลก เอายอดทิ่มดินเอารากชี้ฟ้า ครั้นหมดกำลังสมาธิ จิตก็ถอนออก อาการไข้ก็หายเป็นปลิดทิ้ง ท่านก็สงสัยว่าทำไมเป็นอย่างนี้ จึงไปกราบเรียนถามหลวงปู่อ่อน หลวงปู่อ่อนท่านรู้วาระจิตของศิษย์แล้วแต่ท่านไม่พูด ท่านตอบว่า “เออ ! ดีอยู่ ดีอยู่” หลวงปู่ท่านยังสงสัย ก็เดินคิดไปในวัด พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นหัวปูมเป้า (พืชชนิดหนึ่ง) ที่เขาแขวนไว้

ท่านเลยคิดว่า “ถ้ามึงไม่ได้กินดิน มึงตายนะ” ทันใดนั้นท่านก็วาบขึ้นในดวงจิตว่า จิตของสัตว์ในโลกอันนี้ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ว่า “พวกท่านทั้งหลายจงถอนตัณหาพร้อมทั้งราก” หากจิตของเราไม่ไปยึดเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ จิตนั้นย่อมเข้าถึงคุณธรรม จิตเป็นอนาสโว คือ จิตไม่ยึดมั่นถือในสิ่งทั้งปวง พ้นจากบ่วงร้อยรัดถึงความพ้นทุกข์ เหมือนกับว่าต้นไม้ที่รากไม่หยั่งลงดินแล้ว

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านภาวนาเห็นมนุษย์พากันเอามืองมอยู่ในดินหมดทั้งโลก ท่านพิจารณาได้ว่า มนุษย์นี้เกิดมาก็พากันงมโลก หลงโลก เอาแต่ทำมาหากิน ร้องรำทำเพลง ร้องหากันแต่ผู้หญิงผู้ชาย สัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้คิดถึงทางจะหนีจากวัฏสงสาร จึงพากันงมโลก หลงโลก

พอวันใหม่มาเข้าสมาธิอีก ปรากฏลอยขึ้นไปบนอากาศโดยมีไม้กระดาน ๒ แผ่นรองอยู่ข้างใต้ หลวงปู่ท่านจึงอุทานว่า “มันรองเราแล้ว” สิ่งที่รองอยู่คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา อีกวันหนึ่งภาวนา ปรากฏว่าเข้าไปในถ้ำเสือ หลวงปู่ท่านจึงคิดสละตาย ให้เสือมากินเสีย เพราะรูปอันนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ท่านปล่อยวางได้ เสือก็ไม่ได้มากินท่าน ปรากฏมีหญิง ๒ คนมาใส่บาตรท่าน แล้วจิตก็ถอนออก หลวงปู่ท่านว่านี่เป็นสิ่งลองใจว่ายังยึดมั่นถือมั่นในรูปนี้หรือไม่

มาถึงจุดนี้ปรากฏว่าจิตของท่านเฉย คือจิตเห็นเกิดเห็นดับ ทำจิตรอบรู้ในสังขาร รู้สภาวธาตุ รู้สภาวธรรม สภาวปัจจัย จิตหยุดไม่นึกไปในอดีต อนาคตเห็นเกิดเห็นดับหมดทั้งโลก ต้นไม้ แผ่นดิน ภูเขา เมื่อจิตเฉยก็ไม่ได้อยากพูดคุยกับใคร ไปไหนก็นั่งเฉย ขึ้นไปกราบหลวงปู่อ่อนแล้วก็เฉย จนหลวงปู่อ่อนท่านว่าพระฤาษี

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านข้ามทุ่งนาจากบ้านหนองบัวบาน มาบ้านหนองแซง ซึ่งไม่ไกลกันนัก ท่านมาศึกษากับหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ที่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) อยู่ประมาณ ๒๐ วัน

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นคนร้อยเอ็ด ในช่วงที่ท่านยังครองเรือนมีครอบครัวอยู่นั้น ท่านเป็นผู้ที่เคร่งครัดในการรักษาศีล ๘ มาก และยังภาวนาพุทโธอยู่ตลอดเวลาด้วย อย่างเวลาไถนา ดำนา ตำข้าว ก็บริกรรมพุทโธไม่ขาด

ท่านเคยเป็นผ้าขาวติดตามหลวงปู่คำดี ปภาโส ไปจำพรรษาที่ถ้ำกวาง กิ่งอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงปู่บัวท่านพบกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และได้ติดตามท่านโดยตลอด โดยตัดสินใจว่าจะบวช หลวงปู่อ่อนท่านจึงสอนขานนาคให้ แต่หลวงปู่บัวท่านเป็นผู้มีปัญญาทึบต้องใช้เวลาท่องอยู่นานถึง ๓ ปี จึงได้บวชที่วัดบึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ขณะท่านมีอายุได้ ๕๓ ปี

เหตุที่ท่านมีปัญญาทึบนั้น ท่านเล่าให้หลวงปู่ผ่านฟังว่า ในอดีตท่านเคยเกิดเป็นหมูหลายชาติมาก ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เป็นแต่หมูอยู่อย่างนั้น ชาติหนึ่งได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นทหารยศนายพัน แต่ไม่สนใจทำบุญให้ทาน ตายไปจึงเกิดเป็นหมูอีกหลายชาติ เมื่อมาเกิดในชาติปัจจุบันท่านจึงมีปัญญาทึบ หลังจากบวชแล้วท่านได้ไปศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน จากนั้นท่านจึงมาตั้งวัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ขึ้น หลวงปู่บัวท่านมีนิสัยพูดน้อย ทำความเพียรมาก แม้จะบวชเมื่อมีอายุมากแต่มิได้เป็นอุปสรรคอันใด ท่านจึงได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นอันมาก กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านจึงมรณภาพ หลังจากฌาปนกิจศพท่านแล้วพบว่าอัฐิของท่านแปรสภาพเป็นพระธาตุจำนวนมาก แม้ปัจจุบันอัฐิของท่านก็แปรสภาพเป็นพระธาตุขึ้นเรื่อยๆ (ตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)

ช่วงที่อยู่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) นี้ เวลาใส่บาตรแล้วญาติโยมชาวบ้านเขาจะไม่มาวัดอีกเพราะงานเขามาก วันหนึ่งพระท่านมาชวนไปภาวนาบนภูเขา (แถบวัดถ้ำกลองเพลในปัจจุบัน) หลวงปู่ท่านบอกว่า ขออธิฐานดูนิมิตก่อน วันนั้นท่านนั่งภาวนาปรากฏจิตรวมแล้วเห็นตะขาบตัวใหญ่เท่าต้นมะพร้าวยาว ๖-๗ เมตร นอนกลิ้งไปกลิ้งมา เมื่อออกจากสมาธิจึงไปเล่าให้เพื่อนพระฟัง แล้วบอกว่าอย่าไปนะ อยู่กับครูบาอาจารย์ดีแล้ว เพราะช่วงเดือน ๓ นี้ชาวบ้านเขาขึ้นเขาไปเก็บผักหวานกัน มันจะวุ่นวาย ตกลงก็เลยไม่ไป

วันหนึ่ง เมื่อหลวงปู่ได้ฟังหลวงปู่บัวเล่าถึงอดีตชาติที่เคยเป็นหมูของท่านแล้ว จึงรู้สึกอยากรู้อดีตชาติของตนบ้าง เมื่อเข้าที่ภาวนาจิตรวมแล้ว ปรากฏช้างมานอนอยู่ข้างหน้า จึงถามว่า มาทำไม ? จิตตอบว่า ไม่รู้หรือว่านั่นคือตัวเรา เราเคยเกิดเป็นช้างในสมัยพุทธกาล ได้เป็นลูกน้องของช้างปาลิไลย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ด้วยและแสดงธรรมโปรด (กับทั้งทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ในอนาคตเบื้องหน้าช้างปาลิไลย์โพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามีนามว่า พระสุมงคลพุทธเจ้า จะมาตรัสรู้เป็นลำดับที่ ๑๐ เมื่อนับพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นลำดับที่ ๑) จากนั้นจิตเห็นสุนัขนอนอยู่ จึงถามว่า ใคร ? ตอบว่า ไม่รู้จักเราหรือ เราเคยเกิดเป็นสุนัข จากนั้นก็เห็นนกกาบบัว (ซึ่งเป็นนกกินปลา) ยืนอยู่ แล้วก็ไปเห็นเป็นคนนั่งอยู่ในกระท่อม (เถียงนา) เป็นคนเลี้ยงวัว เมื่อท่านเห็นอย่างนี้แล้ว เกิดความเบื่อหนายในชาติ-ความเกิดเป็นอย่างยิ่ง เห็นว่ามันเป็นทุกข์หนัก

อีกครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านภาวนาเกิดนิมิตเห็นงูจงอางอยู่ในอก แล้วมันก็ลอยตรงออกมา ตัวงูจงอางยาวมาก ท่านพิจารณาได้ความว่า งูจงอางเป็นสัตว์มีพิษ คือกิเลส เคยอยู่ในตัวเรา บัดนี้มันเริ่มออกจากเราแล้ว ถัดจากนั้น ๒-๓ วันเกิดนิมิตเป็นเสียงว่า “ท่านจะตายนะ” หลวงปู่จึงเร่งความเพียรอย่างหนัก เพราะเห็นว่าเวลาเหลือน้อย ต้องช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด พอถึง ๗ วันก็ยังไม่เห็นตาย จึงเล่าให้พระองค์อื่นฟัง พระองค์นั้นว่า “ตายมีหลายอย่าง ที่ว่าตายนั้น อาจจะเป็นตายจากกิเลสก็ได้”

จากวัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ท่านกลับไปที่วัดป่านิโครธารามอีก ต่อมาจึงกราบนมัสการลาหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กลับมาบ้านเกิด ได้มาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตตฺโม ที่วัดอุดมรัตนาราม ใกล้เข้าพรรษาแล้วหลวงปู่อุ่นให้มาตั้งวัดขึ้นที่บ้านเซือมอันเป็นบ้านเกิด หลวงปู่จึงได้พาเณรมาด้วยมาตั้งวัดขึ้นที่บ้านเซือม

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

รูปภาพ
หลวงปู่คำดี ปภาโส

รูปภาพ
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2011, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๙๗
ดอนบ้านร้าง บ้านเซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร


สถานที่ที่หลวงปู่มาจำพรรษานี้เป็นดอนบ้านร้าง โยมแม่ของหลวงปู่เล่าให้ท่านฟังว่า ตอนที่ตั้งครรภ์หลวงปู่ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยมาพำนักอยู่ที่ดอนบ้านร้างแห่งนี้ แต่สถานที่นี้หลวงปู่พิจารณา เห็นว่าคับแคบ ไม่เหมาะที่จะสร้างวัด ท่านจึงไปเลือกดูสถานที่หลายแห่ง แต่ก็ไม่มีที่ใดเหมาะสม พอออกพรรษา หลวงปู่จึงมาตั้งวัดขึ้นที่ป่าช้าบ้านเซือม คือ วัดป่าปทีปปุญญาราม ปัจจุบันนี้

เมื่อตั้งวัดเรียบร้อยแล้ว ฤดูแล้งท่าน ก็ไปวิเวกที่ภูสิงห์ แล้วจึงมาอยู่ที่ถ้ำบูชา ภูวัว สมัยนั้นท่านว่า ถ้ำบูชานี้เตี้ย เวลายืนต้องระวัง เพราะหัวจะชน เพดานถ้ำ แต่ปัจจุบันมันพังลงๆ จนหัวไม่ชนแล้ว

ต่อมาท่านขึ้นไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำซึ่งท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เคยอยู่บนภูลังกา พร้อมกับหลวงพ่อล้อมซึ่ง เป็นพี่เขยของหลวงปู่อุ่น อุตตฺโม และเพิ่งบวชใหม่ๆ ตอนกลางวันหลวงพ่อล้อมเห็นต้นมะละกอ จึงพูดเล่นว่า “เอาไปตำฉันเพลคงอร่อย”

ตกกลางคืน ขณะที่หลวงปู่นั่งสมาธิ ปรากฏเห็นผู้หญิงอุ้มลูกอยู่ สังเกตจากบุคลิก และสำเนียงพูด คงเป็นชนเผ่าโซ ผีนั้นพูดว่า “หลวงพ่อๆ เอาบ่หมากหุ่ง (มะละกอ)”

สักครู่หลวงปู่ได้ยิน เสียงหลวงพ่อล้อมซึ่งกำลังจำวัดอยู่ ละเมอร้องขึ้นเหมือนกลัวอะไรสักอย่าง ท่านจึงไปปลุกแล้วถามว่าเป็นอะไร หลวงพ่อล้อมบอกว่า ฝันเห็นเสือมาหา

ตอนที่หลวงปู่ขึ้นไปอยู่บนภูลังกานี้ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ท่านลงมาแล้ว ซึ่งช่วงฤดูพรรษาที่ผ่านมาท่านจำพรรษาบนภูลังกานี้เมื่อเข้าฤดูฝนแล้ว หลวงปู่จึงกลับมาจำพรรษา ที่วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเซือม เป็นปีแรก

• พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๘
วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเซือม ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร


หลวงปู่เล่าว่า ตอนที่มาอยู่ที่นี่ บรรดาปีศาจที่อาศัยอยู่ เขาพากันมาถวายสถานที่นี้ให้ท่านแล้วหนีไปอยู่ที่อื่น สถานที่นี้เป็นป่าช้าบ้านเซือม ติดกับที่นาของนายบุญชู สุวรรณเมฆ และนายคำภา ชาไมล์ โยมทั้งสองจึงถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก จนมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๕ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา หลวงปู่จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “ปทีปปุญญาราม” เพื่อเป็นที่ระลึกแก่โยมผู้ถวายที่ดิน ตอนท่านมาอยู่แรกๆ ก็ไม่ได้สร้างอะไรมากมาย เอาพออยู่พออาศัยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ออกพรรษาแล้วก็ไปวิเวกที่ถ้ำพระ ถ้ำบูชา ภูวัวอีก ต่อมาโยมซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่อุ่นไป แต่หลวงปู่อุ่นท่านไม่ได้ไปด้วย เพราะท่านเจ็บเท้า หลวงปู่ผ่านเวลาขึ้นภูวัวจึงได้หายาสมุนไพรมาถวายท่านอยู่เสมอ พอฤดูฝนจึงกลับมาบ้านเซือม

• พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๙๙
วัดป่าบ้านหนองโดก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


เมื่อใกล้เข้าพรรษา ชาวบ้านหนองโดกได้นิมนต์ไปอยู่ เพราะที่วัดไม่มีพระ ท่านจึงไปจำพรรษาที่นั่น ระหว่าง นั้นท่านได้เป็นครูสอนนักธรรมตรี ทั้งๆ ที่ท่านเป็นไข้มาลาเรียอยู่ด้วย เจ้าคุณพิศาลศาสนกิจ (สนธิ์ ขนฺตฺยาคโม) ซึ่งเป็นหลานหลวงปู่ฝั้น อาจาโร สั่งให้หลวงปู่สอบนักธรรมเอก แต่หลวงปู่ไม่อยากสอบ ท่านเจ้าคุณบอกว่าไม่ได้ ต้องสอบ หลวงปู่จึงอ่านหนังสือเอาเอง ไม่ได้เรียน พอออกพรรษาแล้วไปสอบที่วัดสุทธิมงคล พอสอบเสร็จคืนนั้น ฝันว่า ได้อยู่กลางเกาะ เห็นแผ่นดินอยู่ลิบๆ จึงมั่นใจว่าต้องสอบได้แน่ ผลปรากฏว่าสอบได้จริง ในพรรษานี้ ครั้งหนึ่งท่านถ่ายเป็นเลือดจนเกือบเสียชีวิต

ปีนี้ท่านตั้งใจว่าจะไม่ขึ้นภูวัว แต่พอดีออกพรรษาแล้ว หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เดินทางมาพักกับหลวงปู่สีลา อิสสฺโร ที่วัดอิสสระธรรม บ้านวาใหญ่ อ.อากาศอำนวย ท่านสั่งคนมาบอกว่า

“ให้ท่านผ่านมาหา ให้พาขึ้นภูวัวไปถ้ำบูชา” หลวงปู่จึงเดินทางไปรับหลวงปู่อ่อน ที่บ้านวาใหญ่ แล้วเดินทางไปบ้านโพนงาม ถ้ำเต่า ท่าแร่ แล้วข้ามลำน้ำสงคราม ไปพักอยู่ที่บ้านท่าพันโฮง ๕-๖ วัน เพราะหลวงปู่อ่อน ภาวนาจิตสงบดีมาก ออกจากบ้านท่าพันโฮง แล้วไปพักบ้านดอนแดง ๑ คืน จากนั้นไปพักที่เซกา ๑ คืน ซึ่งตอนนั้นกำลังจะตั้งขึ้นเป็น อ.เซกา แล้วไป พักอยู่บ้านซำบอน ๗ วัน จึงไปบ้านดอนเสียดแล้วขึ้นไปอยู่ที่ถ้ำบูชา บนภูวัว ต่างคนต่างภาวนา สำหรับหลวงปู่อ่อนท่านภาวนาอย่างเดียว ไม่เอาอะไรทั้งนั้น แต่หลวงปู่ยังหายาสมุนไพรไปฝากหลวงปู่อุ่นอยู่

ที่ถ้ำบูชามีอีเก้ง หมูป่ามาอยู่ด้วยที่หน้าถ้ำ เวลาท่านเดินออกจากที่พัก พวกหมาไนมันจะเห่า เสือก็มี ทุกวันตอนเย็น นกกระต้อยตีวิด ร้องแต้แว้ดๆๆ ไล่เสือไปที่หินก้อนน้ำอ้อย ได้ยินอยู่ทุกวัน แต่มันไม่ได้เข้ามาหา เพียงแต่มา เดินเฉยๆ ที่หน้าถ้ำมีร้อยเท้าของมันปรากฏเต็มไปหมด มีแต่รอยใหญ่ๆ เท่าปากกระโถน เคยมีพระมหานิกาย ที่เคยขึ้นมาภาวนาที่นี่ เล่าให้หลวงปู่ฟังว่ากลางคืนเสือมาร้องเฝ้าอยู่ทั้งคืน พระไม่ได้จำวัดเลย แต่พอหลวงปู่ไปอยู่กลับไม่เคยมา

อยู่ถ้ำบูชานี้ ตอนเช้าลงไปบิณฑบาตรบ้านดอนเสียดต้องออกตั้งแต่ยังมืด เอาสังฆาฏิไปด้วย ฉันอยู่ข้างล่างเสร็จ แล้วค่อยกลับขึ้นมา ระยะทางไกลมาก ๘ กิโลเมตร กลับถึงถ้ำก็สาย วันหนึ่ง มีโยมนิมนต์สวดมนต์เย็น พอสวดแล้ว เดินกลับขึ้นไป ใช้ไต้ (รูปร่างคล้ายกระบอง) จุด เพราะไม่มีไฟฉาย ควันไต้เข้าจมูกแสบไปหมด หลวงปู่อ่อน เดินนำ ลูกศิษย์เดินตาม ทางที่เดินเป็นทางเล็กๆ แต่ก็เดินไปได้ไม่กลัวอะไร

วันหนึ่ง เณรไปเอาไม้มาทำร้าน(แคร่) โดยทิ้งลงมาที่หน้าผาถ้ำบูชา ตกค่ำ ได้ยินเสียงบางอย่างมาทางหน้าถ้ำ เป็นเสียงเหยียบไม้เพียะๆ ซึ่งทุกวันไม่ได้ยิน หลวงปู่เลยบอกว่าให้เงียบๆ เณรนั้นได้ยินเสียงก็เอาก้อนหินขว้างใส่ หลวงปู่จึงดุเณร ปรากฏว่า เมื่อลาหลวงปู่อ่อนลงมาจากภูวัว เณรนั้นมีอาการปวดหัวมาก ลงมาพักบ้านโสกก่าม บ้านโพธิ์หมากแข้ง เณรก็ยังเจ็บมาก จนมาถึงวัด ไม่นานก็หาย พอเดือนใหม่ก็เจ็บอีก คราวนี้เณรเลยตาย หลวงปู่บอกว่า เพราะเณรไปทำผิดในสถานที่นั้น จึงถูกผีตีหัวด้วยกระบอง จากนั้น หลวงปู่กลับมาอยู่ที่วัดป่าบ้านเซือมอีก

• พรรษาที่ ๑๑-๒๕ พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๑๔

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่ท่านได้รับเลือกให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการอุปสมบทหมู่ ๒,๕๐๐ รูป เพื่อฉลอง ๒๕ ปีพุทธศตวรรษหรือกึ่งพุทธกาล ครั้งนั้นมีพระอุปัชฌาย์เพียง ๔ รูปเท่านั้น คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี), พระธรรมดิลก (ทองดำ จันทูปโม), พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) และหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร

นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านจำพรรษาที่วัดบ้านเซือมโดยตลอด ระยะนี้เริ่มมีลูกศิษย์ลูกหามาบวชอยู่ด้วย ส่วน ใหญ่ก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่อุ่น ท่านก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ภูเขาก็ไม่ได้ไปอีก เพราะจิตมันหยุดแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น ระยะแรกนี้ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักท่าน เพราะท่านยังเป็นพระผู้น้อย ประกอบกับยังมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลอีกหลายองค์ เช่น หลวงปู่อุ่น อุตตฺโม, หลวงปู่สีลา อิสสฺโร ท่านจึงมีเวลาทำความเพียรได้เต็มที่ ผิดกับปัจจุบันที่ท่านต้องรับแขกทั้งวันไม่มีจำกัดเวลา

พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านกลับไปที่วัดป่าบ้านไผ่ล้อม จ.นครพนม อีก แล้วข้ามน้ำโขงไปอยู่ที่บ้านนาไก่เขี่ย ในประเทศลาว ชาวบ้านเป็นคนไทยโซ่ ไปอยู่ได้ ๒ เดือน เหตุที่ได้ชื่อว่าน่าไก่เขี่ยนั้น เพราะว่าไก่แก้วโพธิสัตว์เขี่ยหินไว้ ยังมีรอยปรากฏอยู่ที่นาชาวบ้าน จึงได้ชื่อว่า นาไก่เขี่ย อยู่ที่นี่ ท่านว่า ไม่ค่อยน่าอยู่นัก น้ำที่ฉันก็เป็นน้ำจากภูเขาหินปูน ฉันนิดเดียวก็อิ่ม แต่ไม่นานเดี๋ยวหิวอีก วันหนึ่งมีโยมมาหา เขาเรียกหลวงปู่ว่า อาญาธรรม“อาญาธรรม มาขอยา”

ท่านจึงให้ไปจนหมดย่าม เป็นเพราะฝั่งนั้นเขาขาดแคลนยา เขาจึงมาขอ

อีกวันหนึ่ง มีโยมผู้หญิงมากราบ สามีของนางป่วยเป็นเปลี้ยเป็นง่อย เขามาขอให้นั่งธรรม (คือนั่งสมาธิดูว่าเป็นอะไร) หลวงปู่ตอบปฏิเสธไปว่าท่านไม่ทำ กลัวจะเป็นบาป เขาก็ยอมกลับไป ตกกลางคืนท่านเกิดความเมตตา จึงลองนั่งสมาธิ อธิษฐานจิตขอดูว่าเหตุที่เขาเป็นเปลี้ยเป็นง่อยนั้นเกิดจากอะไร เมื่อนั่งสมาธิจิตรวมลง ปรากฏท่านไปนั่งอยู่บนเนินเขา เห็นนายพรานไล่ตัวอีเห็นมา มันวิ่งหนีเข้าไปในรู นายพรานจึงอุดรูนั้นไว้ ด้วยกรรมอันนี้จึงทำให้เจ็บแข้งเจ็บขาเป็นเปลี้ยเป็นง่อย

ท่านจึงถามขึ้นว่า แล้วจะทำบุญด้วยอะไรให้เขา? ปรากฏ เป็นต้นกัลปพฤกษ์ที่ใช้ต้นกล้วยมาทำ แขวนกระดาษ ดินสอ ท่านจึงถามขึ้นอีกว่า หมดหรือยัง? ก็ปรากฏว่ามีคน ๒ คน มีไม้แป้นอยู่ตรงกลาง ทางนั้นขึ้น ทางนี้ลง ทางนั้นลง ทางนี้ขึ้น (แบบไม้กระดกที่เด็กเล่น) จึงถามว่า นี่คืออะไร? ตอบขึ้นว่า คือสร้างเจดีย์ทรายหนักเท่าตัว แล้วถามอีกว่า หมดอีกยัง คราวนี้เงียบ แสดงว่าหมดแล้ว

เช้าขึ้นมา โยมคนนั้นมา หลวงปู่จึงถามว่า ทำอย่างนั้นจริงหรือไม่ เขารับว่า จริง เขาก็มาทำกัลปพฤกษ์ เจดีย์ทราย ตามที่ท่านบอก

อยู่ที่นั่นหลายวันจึงกลับมาฝั่งไทยตอนกลางคืนโดยเรือแจว มาพักที่บ้านเวินพระบาท แล้วกลับมาพักที่ภูกระแต บ้านท่าควาย ต่อมาจึงกลับมาอยู่ที่บ้านเซือมอีก

• พรรษาที่ ๒๖ พ.ศ. ๒๕๑๕
วัดชัยมงคล อ.บ้านแพง จ.นครพนม


พรรษานี้ท่านไปจำพรรษาที่ อ.บ้านแพง ท่านพาโยมมารดาซึ่งบวชเป็นชีไปด้วย ในพรรษานี้ ท่านเจ็บขามาก เพราะมีหมอมาฉีดยาไม่ถูกวิธี จนมีพระทักว่า “อาจารย์ทำไมจึงผอมอย่างกับแก่ ๘๐ ปี”

ท่านตอบว่า “ไม่ตายก็ดีแล้ว ผมอายุ ๕๑ ปี แก่มากแล้ว” ท่านทำจิตปล่อยวางรูปสังขารนี้ มันจะตายก็ให้มันตาย คนเกิดมาต้องตาย ไม่ตายวันนี้ ต่อไปมันก็ต้องตาย จะไปห่วงมันทำไม จึงเข้าสมาธิ จิตปล่อยวางทั้งหมด ปรากฏจิตรวม ความเจ็บปวดหายไปหมด ตัวท่านลอยขึ้นไปเหนือเมฆ เห็นมนุษย์เกิดๆ ดับๆ จึงดูการ เกิดการดับของสังขารทั้งหลาย ท่านพิจารณาว่า มนุษย์ทั้งหลายเกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด เราจะไม่หลง เราจะต้องออกจากทุกข์ให้ได้

หลวงปู่ท่านเล่าว่า นับแต่บวชมาไม่เคยคิดจะสึก ไปทำมาหากิน สร้างภพสร้างชาติอีกเลย มุ่งหน้าแต่จะภาวนาให้ออกจากวัฏสงสารให้ได้ การภาวนาของท่านจึงดำเนินไปได้อย่างสะดวก ท่านว่า ถ้ายังไม่แน่ใจ ถอยหน้าถอยหลังอยู่ ก็ยากที่จะภาวนาไปขั้นสูงได้

• พรรษาที่ ๒๗-๔๘ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๓๗
วัดป่าปทีปปุญญาราม บ้านเซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร


หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๑๕ แล้ว หลวงปู่มาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเซือมโดยตลอด วันหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านไป กราบหลวงปู่หลุย จันทสาโร ที่ภูทอก จ.หนองคาย (ขณะนั้นท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ มรณภาพแล้ว สมัยท่านยังอยู่หลวงปู่ไปกราบคารวะท่านเกือนทุกปี) หลวงปู่หลุยถามว่า “ท่านคือใคร”

หลวงปู่ตอบว่า “กระผมชื่อผ่าน”

หลวงปู่หลุยจึงอุทานว่า “โอ! ท่านผ่าน ท่านยังอยู่หรือ”

หลวงปู่ตอบว่า “ครับกระผมยังอยู่ กระผมก็เคยพบท่านอาจารย์ แต่คนมากจึงไม่ได้เข้าไปหา กระผมอยากฟังเทศน์ ขอให้ท่านเทศน์ให้ฟัง”

หลวงปู่หลุยท่านจึงเทศน์ให้ฟัง เรื่อง “ภาวิโต พหุลีกโต”เหมือนที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยเทศน์

พอลงจากภูทอก หลวงปู่มานั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง พอจิตรวมลง ปรากฏเห็นต้นไม้ที่ภูทอกนั้นตายหมด ท่านว่า ทำไมเป็นอย่างนี้หนอ? ท่านนั่งอยู่นานจนใกล้ค่ำจึงกลับวัด มาถึงวัด มองต้นไม้ในวัดก็เหมือนต้นไม้นั้นตายหมด จึงไปภาวนาดูว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิ จึงรู้ขึ้นมาว่า

“โลกนี้แผ่นดินนี้มีมาอยู่ก่อนแล้ว แต่ใครมาเกิด อยู่ที่ไหนก็มายึดถือเอาว่าเป็นของเรา ไร่เรา นาเรา ยื้อแย่งกันอยู่อย่างนั้นสัตว์ทั้งหลายในโลกจึงออกจากวัฏสงสารไม่ได้ เราไม่เอาหรอก เราไม่อยู่แล้ว”

จิตถามว่า “แล้วจะไปอยู่ไหน”

ตอบว่า “ไปอยู่พระนิพพาน อยู่ที่นี่บาปนะ เราบวชอยู่นี่กินข้าวของชาวบ้านมันบาปนะ พระพุทธเจ้าท่านว่า บุคคลใดบวชแล้วไม่ได้บรรลคุณธรรม กินข้าวของชาวบ้านนั้นกินเหล็กแดงดีกว่า”

จากนั้นก็ภาวนาเพ่งดูแต่กระดูกนั้น เกิดเสียงขึ้นมาทางหูว่า

“ให้ถึงสุตธรรม” ท่านจึงพิจารณาดู ได้ความว่า สุตธรรมคือ ผู้สดับธรรมครั้งแรก รู้ขึ้นมาในจิตเรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ คือ ขาติ-ความเกิดเป็นทุกข์ ชรา-ความแก่เป็นทุกข์ มรณะ-ความตายเป็นทุกข์

สมุทัย คือ ตัวสมมติ มนุษย์ทั้งหลายคิดว่า ร่างกายนี้เป็นของเรา แข้งเรา ขาเรา ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตนเอง ยึดมั่นถือมั่นใน รูป รส เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ว่าเป็นตัวเราของเรา

นิโรธ คือ ความรู้แจ้ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงชื่อว่าถึงสุตธรรมเหมือนพระอัญญาโกณฑัญญะ ฟังเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจึงได้ดวงตาเห็นธรรมเป็น พระโสดาบัน

เมื่อหลวงปู่พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว จึงเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวเราของเรา รูปอันนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พิจารณาเห็นดังนี้แล้วปรากฏในนิมิตรว่าตัวท่านลอยขึ้นไปๆ มองลงมาแผ่นดินไม่มีบ้านเรือน มีแต่แผ่นดินภูเขา แล้วเห็นหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เดินมา

หลวงปู่จึงคิดว่า “เอ! พระอาจารย์มาทำไมหนอ”
ท่านมาข้างขวาแล้วเตือนว่า “ท่านผ่าน จิตอยู่ในสะกะฯ ยังอยู่ในกามานะ”
“ครับผม”

หลวงปู่มั่นเตือนแล้วท่านก็ไป หลวงปู่จึงพิจารณาดู ที่ว่ายังมี กามานะนั้น คือ จิตยังนึกถึงในความใคร่ จิตอันนี้ยังไม่บริสุทธิ์แท้ ละกิเลสได้อย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียดที่เรียกว่า อนุสัย ยังละไม่ได้

จากนั้นหลวงปู่ก็พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่อยไป คราวนี้ลอยขึ้นไปสูงอีก มองลงมาที่นั่นเห็นแต่มหาสมุทร มองขึ้นไปด้านบนก็เห็นแสงสว่าง ท่านลอยขึ้นจนไปพบถ้ำใหญ่ ภายในถ้ำมีโบสถ์ ท่านคิดว่า จะเข้าหรือไม่เข้าดีหนอ! สุดท้ายยังไม่เข้า ได้ไปนั่งในศาลาหน้าโบสถ์นั้น นั่งพิจารณาแต่กระดูกอย่างเดียว ท่านว่า คือจิตยังไม่แก่กล้า ท่านต้องอบรมให้แก่กล้าขึ้น ให้ถอนอนุสัยกิเลสได้หมดสิ้น

ที่โบสถ์นั้นมีพระพุทธรูปใหญ่ ซึ่งเทศน์ได้ ท่านเทศน์เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย หลวงปู่ท่านก็พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย (พิจารณาขณะอยู่ในนิมิต) เกิดเห็นว่า

ในถ้ำนั้นมีมนุษย์ทั้งหลายเดินมา มีทั้งเด็ก หนุ่มสาว คนชรา พากันเดินไปเรื่อยๆ ท่านจึงพิจารณาว่า นี่หนอ เกิดแล้วแก่ แล้วเจ็บ แล้วตาย วนเวียนอยู่อย่างนี้ พิจารณาน้อมลงอนิจัง ทุกขัง อนัตตา น้อมเข้าไปๆ ก็เห็น พวกคนชราตายลง แล้วก็เผา หลวงปู่ก็เพ่งดูอยู่ คนนั้นก็เผาคนนี้ก็เผา มองไปทางไหนมี แต่กองฟอน จึงคิดว่า ตัวเราก็ต้องตายเหมือนกัน แล้วกำหนดเอาไฟเผาตัวท่านเอง หลวงปู่ท่านก็นั่งเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนั้นจนจิตถอนออกมา หลวงปู่บอกว่าแม้ทุกวันนี้ท่านก็ยังไปนั่งเผากระดูกแล้วพิจารณาอยู่ที่หน้าโบสถ์นั้นทุกวันๆ ยังไม่ได้เข้าโบสถ์


๏ การอาพาธและมรณภาพ

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ทางวัดป่าปทีปปุญญารามได้กำหนดวันทอดกฐินของปีนั้นในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ แต่หลวงปู่ได้เริ่มอาพาธตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายนเป็นต้นมา แต่ท่านยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่วัด จนกระทั่งวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ก่อนวันทอดกฐินเพียงวันเดียว อาการอาพาธของท่านเริ่มหนักขึ้น คณะศิษยานุศิษย์จึงนำท่านเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร โดยคณะแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยโรค และผลปรากฏว่าท่านอาพาธ

ด้วยโรคเนื้องอกในกระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ โดยคณะแพทย์ได้กำหนดทางเลือกในการรักษาไว้ ๒ วิธี คือ

๑. ผ่าตัดเอาเนื้องอกออก (จำเป็นต้องตัดอวัยวะภายในบางส่วน)
๒. ผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเพื่อจี้ระงับการเจริญเติบโตของชิ้นเนื้อ


ทางคณะกรรมการวัด และพระอาจารย์สัมพันธ์ ปภัสโร วัดป่าดอนประดู่มงคลทิพย์ปรึกษาหารือกันโดยได้เลือกเอาวิธีที่ ๒

ภายหลังการผ่าตัด อาการขององค์หลวงปู่มีแต่ทรงกับทรุด ไตหลวงปู่ไม่ตอบสนอง หลวงปู่มีความประสงค์จะกลับไปรักษาตัวที่วัด คณะกรรมการวัดได้ปรึกษาหารือกันจึงได้นำองค์หลวงปู่กลับมาพักรักษาที่วัด ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้สั่งให้แพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อมาความทราบถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดรับหลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์

จนเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง หลวงปู่ได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี พรรษา ๖๔

พิธีพระราชทานเพลิงศพได้จัดขึ้น ณ วัดป่าประทีปปุญญาราม

อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

ในวันเสาร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ โดยพิธีได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๕๐ น. โดยประธานฝ่ายฆราวาส ได้แก่ นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้แก่ พระราชญาณมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ) โดยพิธีเริ่มขึ้นหลังจาก นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว หลวงปู่บุญมา คัมภีร์ธรรมโม เจ้าอาวาสวัดป่าสีห์พนมประชาราม ขึ้นนั่งประจำธรรมาสน์

ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร จุดเทียนส่องธรรม เสร็จแล้วจึงแสดงพระธรรมเทศนา ให้บรรดาศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ประมาณ ๑ แสนคน โดยมีพระภิกษุสงฆ์อีกนับหมื่น พระเกจิอาจารย์เดินทางมาร่วมพิธีจำนวนมาก ทำให้รถติดยาวเหยียดกว่า ๕ กม. ในจำนวนนี้ มีนายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นางวิตยา ประสงค์วัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พลตรี สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสกลนคร พลตำรวจตรี อุดม จำปาจันทร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรสกลนคร รวมอยู่ด้วย

ต่อมาเวลา ๑๕.๐๐ น. พระสงฆ์ทุกรูป สวดมาติกาเสียงดังกระหึ่มทั่วบริเวณ จากนั้นเจ้าภาพผู้มีจิตศรัทธาทอดผ้าบังสุกุลบนเมรูชั่วคราว และ นายสัมฤทธิ์ พุฒศรี นายอำเภออากาศอำนวย ได้อ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่า

เมื่อความทราบฝ่าละอองพระบาทว่า พระอธิการผ่าน ปัญญาปทีโป มรณภาพด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โปรดพระราชทาน พวงมาลาวางหน้าหีบศพ คณะศิษยานุศิษย์ ทายก ทายิกา มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้นับเป็นเกียรติประวัติ และพระกรุณาแก่ พระอธิการผ่าน ปัญญาปทีโป และคณะศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาสโดยทั่วหน้า คณะศิษย์ทั้งปวง รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

จากนั้นได้มีการอ่านประวัติ และ นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ประธานในพิธีได้ทอดผ้าบังสุกุล โดยมี พระราชญาณมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ) เป็นผู้พิจารณาผ้าบังสุกุล ศพของหลวงปู่ผ่าน ถูกบรรจุโนโลงทองเค ประดับตกแต่งบริเวณเมรุชั่วคราว อย่างสวยงาม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร