วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2010, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 มิ.ย. 2010, 10:17
โพสต์: 1

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม ศิษย์รุ่นกลางหลวงปู่มั่น

“หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม” หรือ “พระครูสันติวรญาณ” (ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิปัสสนาจารย์ ชั้นโท สืบต่อจากหลวงปู่สิม พุทธาจาโร) เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปกราบไหว้ยกย่องนับถือในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา รวมทั้งการเทศนาสอนธรรมกัมมัฏฐาน ด้วยคำเทศนาหรือบทธรรมของท่าน ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัยในชีวิตประจำวัน

หลวงปู่อ่ำ เป็นพระสายวัดป่าที่เน้นเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นด้านหลัก และเป็นศิษย์รุ่นกลางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายปฏิบัติวิปัสสนาชื่อดัง

ปัจจุบัน หลวงปู่อ่ำ สิริอายุ ๘๓ พรรษา ๔๔ (เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวรญาณ ต.วังศาล อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

อัตโนประวัติและชาติภูมิ
หลวงปู่อ่ำ เกิดในสกุล ลาสิม เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ปีมะโรง ณ หมู่บ้านโพนเมือง ต.ตระการ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายมา และ นางตา ลาสิม ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนามาแต่ดั้งเดิม มีฐานะยากจน บรรพบุรุษตระกูลนี้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ

ในช่วงวัยเยาว์ ได้เรียนหนังสือเบื้องต้น จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนวัดบ้านโพนเมือง และไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องช่วยเหลือครอบครัวหาเลี้ยงด้วยการประกอบอาชีพทำนาทำไร่ ยามว่างจากการงานอาชีพ มักจะขอติดตามโยมบิดา-โยมมารดาเข้าวัดฟังธรรมเป็นประจำ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า

การบรรพชา
ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นสามเณรมหานิกาย ๓ พรรษา และธรรมยุตอีก ๓ พรรษา

อุปสมบทครั้งแรก
ท่านอุปสมบทครั้งแรก ที่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบทครั้งที่สอง (ประวัติตามหนังสือบูรพาจารย์)
ท่านอุปสมบทครั้งแรก ที่วัดป่าแสนสำราญ จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมีหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุ ๒๖ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗ ณ พัทธสีมาวัดประชาพิทักษ์ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีพระครูพุทธสารสุนทร วัดประชาพิทักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาปัญญา กุสโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายา “ธมฺมกาโม” มีความหมายว่า “ผู้ปรารถนาในพระธรรม”

หลังอุปสมบท ท่านได้อยู่ปฏิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ระยะเวลาหนึ่ง ต่อมา ได้กราบลาขอเดินทางไปยัง จ.สกลนคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท และเอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดคามวาสี อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร

ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
ต่อมา ท่านได้ไปขอฝากตัวเป็นอันเตวาสิก (ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนัก) ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา หลวงปู่อ่ำ ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตตเถร ที่วัดป่าหนองผือ ถึง ๓ ครั้งด้วยกัน ชึ่งแต่ละครั้งต้องเข้าไปในหน้าแล้ง เพราะยุคนั้นบ้านหนองผือมีไข้มาลาเลียชุกชุมมาก โดยครั้งแรกหลวงปู่เป็นสามเณร ได้ติดตามท่านพระอาจารย์คำ สุมังคโล ครั้งที่ ๒ ยังเป็นสามเณรอยู่ ได้ไปกับครูบาเขื่อง การเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นทั้ง ๒ ครั้งนั้นท่านได้สั่งให้ไปพักอยู่วัดบ้านนาใน กับหลวงพ่อสม ครั้งที่ ๓ หลวงปู่อ่ำได้เข้าไปวัดป่าบ้านหนองผือองค์เดียว เพราะได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต (วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู) (ในขณะนั้นหลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต ยังเป็นสามเณรอยุ่และเป็นเพื่อนกับหลวงปู่อ่ำ ) สามเณรบุญเพ็ง ท่านบอกหลวงปู่อ่ำว่า “ถ้าอยากอยู่หนองผือด้วยกัน ให้มาองค์เดียว อย่ามาเป็นหมู่ ตอนผมมาก็เดินทางมาพร้อมพระอาจารย์สอ แต่เวลาเข้ามาวัดป่าบ้านหนองผือ เข้ามาทีละรูป”

ครั้งหลวงปู่อ่ำเข้ามา วัดป่าบ้านหนองผือครั้งที่ ๓ นี้ ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุ ไม่ค่อยกลัวเพราะเคยเข้ามาก่อนแล้ว หลวงปู่อ่ำมาถูกจังหวะ พบท่านพระอาจารย์มั่น กำลังกวาดตาดอยู่ ท่านใจดีมากท่านพูดกับหลวงปู่ว่า “ถ้าจะอยู่ด้วยกัน ให้ไปขอนิสัยเด้อ” หลวงปู่น้อมรับคำของท่านพระอาจารย์มั่น ด้วยความซาบซึ้งและเคารพเป็นอย่างสูงในเมตตาจิตของครูบาอาจารย์ ในตอนเย็นวันนั้นเองหลวงปู่อ่ำท่าจึงได้เข้าไปกราบขอนิสัยจากท่านพระอาจารย์มั่นที่กุฏิ

หลังจากท่านได้ขอนิสัยจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่ได้อยู๋พักที่วัดป่าบ้านหนองผือ มีหน้าที่ถวายงานรับใช้ท่าน โดยการสรงน้ำหลวงปู่มั่น ในเวลาตอนเย็น หลวงปู่ได้เล่าว่า “อาตมาสรงน้ำท่านทุกวัน ตอนนั้นบวชเป็นพระยังไม่ได้ถึงพรรษา ตอนเป็นเณร อาตมาเคยรับใช้ครูบาอาจารย์มาก่อน เคยได้ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ (ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว ณ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี) ท่านสอนอาตมาว่า “ใครอยากเป็นเจ้าเป็นนายร่ำรวยต่อไปให้รับใช้ครูบาอาจารย์เด้อ” ตอนที่สรงน้ำท่าน มีอาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ เป็นต้น คือเป็นอุบายของท่านที่จะได้ฝึกหัดให้พระเล็กๆ พรรษาน้อย ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติและมีโอกาสใกล้ชิดท่าน นอกจากการสรงน้ำถวายท่านแล้ว อาตมามีหน้าที่ต้มยาร้อนให้ให้พระเณรในวัดฉัน มีสมอ ใบอีเลิศ (ใบช้าพลู) ใบผักหนอก (ใบบัวบก) ใบกานพลู กระเทียม อาจารย์บุญเพ็ง เป็นผู้คุมทางน้ำร้อน ต้มน้ำร้อนถวายท่านพระอาจารย์มั่น เพราะอยู่กับท่านนานถึง ๔ ปี

หลวงปู่อ่ำท่านเล่าให้ฟังว่า “เวลาท่านพระอาจารย์มั่นดุนั้น น่ากลัวอยู่น่ะ” ท่านดุหลวงพ่อสมที่ไปกราบเรียนถามน่ะ เหตุที่ท่านดุนั้นเป็นแบบนี้ วัดบ้านนาในแต่ก่อนยังเป็นวัดมหานิกายและเป็นวัดร้าง พระธรรมยุตไปพักอยู่ ทีนี้ต้นหมากมี้ (ต้นขนุน) มันไม่เป็นลูก แต่เราไปอยู่ไปอาศัยเวลาเช้าเทกระโถนปัสสาวะมันชุ่ม ลูกโตดก แล้วญาครูญาณพระมหานิกาย มาเอาลูกหมากมี้ไป หลวงพ่อสมท่านเสียดาย เลยดุว่า “คนหนี่งเฝ้ารักษา ก็ไม่ได้กิน” พอท่านพระอาจารย์มั่นทราบท่านสอนว่า

“ไม่ ให้ดุเขา ให้เขาเอาไปซ่ะ” ท่านดุหลวงพ่อสม ไม่ให้ว่าเขา ภิกษุโจทย์ภิกษุ เรื่องปาราชิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” ท่านดุหลวงพ่อสมจนหลวงพ่อสมกลัวตัวสั่น และลัวเป็นอาบัติ จึงไปกราบเรียนขอขมาและกราบเรียนถามท่านดู ท่านบอกว่า “ท่านกำราบหลวงพ่อสมเฉยๆ”

อีกเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นอาตมายังเป็นเณรอยู่ ได้ไปพักที่วัดบ้านาใน หลวงพ่อนิน กับหลวงพ่อสม เถียงกันเรื่องเหาะ “มันไปได้ทั้งกายทั้งจิตหรือ ?” “คงไปได้แต่จิต แต่กายจะไปได้หรือ?” หลวงพ่อสมไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า “การเหาะอิทธิฤทธิ์ไปได้ทั้งกายทั้งจิตไหมขอรับ” ท่านตอบว่า “ไปได้” ท่านวิสัชนาต่อว่า “พระพุทธเจ้าขึ้นสู่ดาวดึงส์ ท่านให้คนเห็นทั้งเมืองสาวัตถี ทั้งวันเขาไม่กราบหรอก พระพุทธองค์ท่านทำให้เห็น เขาจึงกราบ ไปเทศน์โปรดพุทธมารดา”

ท่านพระอาจารย์มั่นอบรมพระภิกษุสามเณรเป็นประจำ ทุกเย็นเวลา ๒ ทุ่มเป็นต้นไป พระเณรขึ้นไปรับฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นบนกุฏิท่าน หากมีจำนวนมากก็นั่งอยู่ข้างล่าง ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๒ เดือน ๓ เพ็ญขึ้นไป ท่านได้ไม้อบรมจนท่านมรณภาพ ปกติท่านเทศน์เฉพาะพระ สอนแต่พระ ๑๕ วันอบรมครั้ง วันสำคัญเช่น วันมาฆบูชา ทั้งพระทั้งเณรมารวมกันเต็มศาลา เย็นๆ ปู่เสื่อฟังเทศน์ ท่านเทศน์นาน ๔ ชั่วโมง แต่เทปสมัยนั้นยังไม่มี วิทยาศาสตร์ยังไม่เกิดในบ้านหนองผือ

ท่านไม่อบรมญาติโยม ชาวบ้านหนองผือไม่ค่อยมา เขาไปวัดบ้านมหานิกาย ท่านไม่ให้มาใกล้หรอกพวกญาติโยม ส่วนพวกจำศีลไม่ได้เข้ามาพักที่วัด ท่านให้ไปบ้านไปปฏิบัติที่บ้านไม่ต้องเข้ามาจำศีลที่วัดป่าบ้านหนองผือ

หลวงปู่อ่ำท่านได้เข้าไปพักที่วัดป่าบ้านหนองผือประมาณ ๓ เดือนกว่า คือตั้งแต่เดือน ๑๒ จนถึงเดือน ๓ เพ็ญ พ.ศ.๒๔๙๒ หลวงปู่จำเป็นต้องออกไปจากวัดป่าบ้านหนองผือ เพราะมีจดหมายมาตามให้ไปคัดเลือกทหารที่บ้านเดิมอุบลราชธานี โดยมากหากพระองค์ใดต้องไปเกณฑ์ทหารแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านต้องให้ไปทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองก่อนตรงนี้เสมอ พร้อมกับได้ออกเดินธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หลังจากนั้นหลวงปู่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมกับหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี รวม ๔ ปี และหลวงปู่อ่ำได้ไปศึกษาธรรมและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ๖ ปี และได้ไปกราบหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี ต่อมาท่านได้เดินธุดงค์ ผ่านมายังพื้นที่บริเวณบ้านเขาน้อย ต.วังทรายพูน อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าเป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ประกอบกับญาติโยม แลเห็นถึงจริยาวัตรของท่าน จึงได้นิมนต์ขอให้อยู่จำพรรษา ก่อนทำการสร้างวัดในเวลาต่อมา ชื่อ วัดป่าเขาน้อย และอยู่จำพรรษาเป็นเวลานานหลายปี และมาพักอยู่กับหลวงปู่จันทา ถาวโร ที่วัดป่าเขาน้อย ต.วังทรายพูน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ๑๒ ปี

กระทั่งเมื่อเห็นว่า ชุมชนวัดป่าเขาน้อยมีความเจริญมากขึ้น มีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่น ท่านจึงได้มอบหมายการดูแลปกครองพระสงฆ์ ให้แก่ หลวงปู่จันทา ถาวโร สหธรรมมิกของท่านอีกรูปหนึ่ง ส่วนตัวท่านได้เดินธุดงค์ไปยังป่าถ้ำเขาเขียว เขตทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก อยู่จำพรรษาอยู่หลายปี ปรากฏว่า สำนักสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่สามารถจะสร้างเป็นวัดได้ ท่านจึงได้เดินทางเข้ามายัง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ญาติโยม คหบดี ชาวอ.พิจิตร ทราบว่า หลวงปู่อ่ำ เดินธุดงค์มายังบ้านวังชะนาง ต.วังศาล อ.วังโป่ง จึงได้พากันรวบเงินซื้อที่ดินบริเวณบ้านวังชะนางจำนวน ๘๐ ไร่ ถวายให้หลวงปู่อ่ำ ก่อตั้งเป็นสำนักธุดงคสถาน พร้อมทั้งชักชวนญาติโยม เข้ามารักษาศีลปฏิบัติธรรม

หลวงปู่อ่ำและชาวบ้านศรัทธาญาติโยมได้ ร่วมกันก่อสร้างศาสนสถาน ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และมหาเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น ต่อมาจึงได้รับการยกฐานะเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อ วัดสันติวรญาณ

ตลอดเวลาที่อยู่จำพรรษา หลวงปู่อ่ำจะสั่งสอนอบรมศรัทธาญาติโยม ให้รู้จักเจริญสติภาวนาตามหลักการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามแนวทางของหลวงปู่มั่นทุกประการ ด้วยอุปนิสัยที่สงบเสงี่ยม พูดแต่น้อย และพูดอย่างระมัดระวังและมีสติกำกับ หลวงปู่จะสอนเสมอว่า

“จริตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีมากบ้าง น้อยบ้างต่างกัน เป็นเรื่องของสัตว์โลกที่เกิดมา ได้สร้างความดีไว้ที่ต่างกัน ทุกคนจึงต้องเป็นตามกรรมนั้นๆ จริตของคนเราที่เกิดมาในโลก มี ๖ ประการ คือ ราคจริต เป็นผู้ที่รักสวยรักงาม เป็นเจ้าเรือน โทสจริต เป็นผู้มักโกรธง่าย ผูกโกรธไว้เป็นเจ้าเรือน โมหจริต เป็นผู้หลงงมงาย มืดมน วิตกจริต เป็นผู้ไม่แน่นอน ตกลงใจไม่ได้ สัทธาจริต เป็นผู้มักเชื่อง่าย ถือมงคลตื่นข่าว และพุทธิจริต เป็นผู้ใช้ปัญญาตรึกตรองมาก จริตทั้ง ๖ ประการ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้และหมั่นพิจารณาเนืองๆ ว่า ตนนั้นตกอยู่ในจริตข้อใด หรือจริตข้อใด เป็นเจ้าเรือน เมื่อรู้แล้ว จงกำหนดจิตของตน ให้แน่วแน่ละจริตนั้นๆ เสีย ทำบ่อยๆ จนจิตสงบ เยือกเย็น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ละกิเลส ตัณหา อุปาทานที่เกิดขึ้นได้”

ในบางครั้ง หลวงปู่อ่ำ ได้รับการนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีนั่งปลุกเสกอธิษฐานจิตวัตถุมงคลหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ

หลวงปู่อ่ำ เป็นพระที่เคร่งครัดวินัยมาก วัตรที่ปฏิบัติ คือ นอกจากจะทำวัตรสวดมนต์ เป็นประจำแล้ว สิ่งที่ถือเป็นกิจวัตรคือ การออกบิณฑบาต โปรดญาติโยม ทุกเช้า แม้อายุจะล่วงเข้าวัยชรา สุขภาพร่างกายของท่าน ยังดูแข็งแรง เดินทางได้ระยะไกลๆ หลวงปู่จะบอกว่า ที่ท่านมีสุขภาพร่างกาย แข็งแรง เป็นเพราะท่านปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจริญสติภาวนา เป็นประจำ

เมื่อจิตนิ่ง จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก หรือส่ายไปส่ายมา จนถึงขั้นเป็นเอกัคคตาจิต ความสุข ความสันติ ก็จะตามมา เป็นหลักคำสอนในการฝึกจิตของหลวงปู่อ่ำ

ทุกวันนี้ หลวงปู่อ่ำแม้อยู่ในวัย ๘๓ ปี ท่านยังคงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยความรู้ความสามารถ และความเสียสละ บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง คำนึงถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ยึดมั่นที่จะสร้างสรรค์ พัฒนาสังคม ให้มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยความรู้คู่กับคุณธรรม อีกทั้งเป็นพระอริยสงฆ์ผู้เจริญธรรมตามรอยบูรพาจารย์ทุกประการ

หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม ได้ละสังขารแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.๕๒ น. ขณะเดินทางกลับไปยังวัดสันติวรญาณ จ.เพชรบูรณ์ หลังจากเข้ารับการรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ สิริอายุรวมได้ ๘๖ ปี ๑๐ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๖๑


ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?p=58317


:b44: ศิษย์รุ่นสุดท้ายของ “หลวงปู่มั่น” ที่ยังดำรงขันธ์อยู่เวลานี้
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=48343

:b44: ภาพเก่าๆ ของครูบาฯ สายหลวงปู่มั่น ที่หาดูได้ยากมากๆ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=42605


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร