วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2010, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร


วัดป่าจันทรังสี (วัดป่านาสีดา)
ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร” มีนามเดิมว่า จันทร์โสม ปราบพลพาล เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 ตรงกับวันจันทร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ณ ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายกรม และนางอาน ปราบพลพาล ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 6 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นางบุญชม ใจหาญ
2. ด.ญ.คำ ปราบพลพาล (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
3. ด.ญ.อ่ำ ปราบพลพาล (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
4. ด.ญ.ไอ่ ปราบพลพาล (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
5. หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
6. นายกองแก้ว ปราบพลพาล

ณ บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มีวัดป่าวัดหนึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งกว้าง ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นป่าไม้ตะเคียนหนาทึบ บัดนี้ป่าไม้ได้หายไปแล้วหลังจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ตัดถนนเข้าไป กลายเป็นหมู่บ้านชาวไร่ชาวนา วัดนี้ชื่อ “วัดป่าจันทรังสี” วัดสาขาของวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) อดีตสมภารเจ้าวัด คือ “หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร” พระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร ท่านเป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวบ้าน คณะศรัทธาญาติโยม และคณะสงฆ์อรัญวาสี โดยเป็นพระวิปัสสนาจารย์รูปที่ 3 แห่งภาคอีสานตอนเหนือ รองจาก ท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) แห่งวัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย และ พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) แห่งวัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

รูปภาพ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


๏ ชีวิตในวัยเด็ก

วัยเด็กคลุกคลีอยู่กับวัด เพราะโยมบิดาเป็นมัคนายกวัดบ้านนาสีดา อายุ 10 ขวบ ก็เข้ารับการศึกษาประชาบาลที่วัดบ้านกลางใหญ่ ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ระยะแรกที่เรียนหนังสือนั้นต้องไปๆ มาๆ ระหว่างวัดกับบ้าน ผลที่สุดได้ไปอยู่วัดเป็นประจำ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่ออายุ 14 ปี หลังจากออกจากโรงเรียนแล้วก็ได้กลับมาอยู่บ้าน ด้วยเหตุที่วัดไม่มีพระอยู่ประจำ ต่อเมื่อมีพระเณร โดยเฉพาะพระกรรมฐานเดินธุดงค์มาพัก ก็จะเข้าไปปฏิบัติรับใช้ท่านอยู่ที่วัดเป็นประจำ จนกว่าจะออกเดินทางหาวิเวกไปที่อื่นต่อไป

พออายุ 15 ปี ได้ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์เกตุ ขนฺติโก พระพี่ชายของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสระวารี อ.บ้านผือ และได้รับการสอนให้เขียนหนังสือขอม

เมื่ออายุได้ 16 ปี ใน พ.ศ.2481 ได้ย้ายไปอยู่ที่ถ้ำพระนาผักหอก อ.บ้านผือ กับท่านพระอาจารย์วารี เรี่ยวแรง (ขณะนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว) ท่านพระอาจารย์วารี มีแต่พระอยู่ไม่มีเณรรับใช้ จึงจำเป็นต้องไปอยู่รับใช้จนตลอด 3 เดือนจึงได้กลับบ้าน กระทั่งปี พ.ศ.2482

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน-พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต)


๏ การอุปสมบท

จากนั้นอายุ 17 ปี โยมบิดาเสียชีวิตลงไม่มีใครช่วยทำนาทำไร่ มีแต่โยมมารดา พี่สาว และพี่เขยเท่านั้น หลวงปู่จันทร์โสมจึงจำเป็นต้องอยู่บ้านช่วยพี่สาวและพี่เขยทำนาทำไร่เลี้ยงครอบครัว เพราะน้องชายก็ยังเป็นเด็กเล็กทำงานอะไรไม่ได้ ในสมัยที่โยมบิดายังมีชีวิตอยู่ การทำนาก็ยังต้องอาศัยการจ้างแรงงานช่วยทำทุกปีกว่าจะแล้วเสร็จ ท่านจึงได้ช่วยครอบครัวทำนาอยู่จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และได้พิจารณาถึงความศรัทธาที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา กับระลึกถึงกุศลเจตนาของโยมบิดา จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดอรัญญวาสี ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2485 เวลา 15.23 นาฬิกา

โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง จ.หนองคาย เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิชัยสังฆกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านมีศักดิ์เป็นพี่ชายโยมมารดาของหลวงปู่จันทร์โสม) ท่านได้รับนามฉายาว่า “กิตฺติกาโร” สังกัดธรรมยุตติกนิกาย


๏ ลำดับการจำพรรษา

หลังจากพรรษาแรกผ่านพ้น ท่านออกวิเวกไปในสถานที่ต่างๆ อาทิ บ้านน้ำอ้อม อ.วังสะพุง จ.เลย และวัดหนองขาม อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ก่อนที่จะกลับมาเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ.2486 ในปีนั้น ท่านได้พำนักจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี จ.หนองคาย เข้าเรียนนักธรรมชั้นตรี ปรากฏว่าสอบได้ ทางการจึงยกเว้นไม่ต้องไปเป็นทหาร ต่อมาท่านจึงไปพำนักกับท่านพระอาจารย์เกตุ ขนฺติโก ที่วัดป่าช้าบ้านสว่าง

ปี พ.ศ.2487 กลับมาจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี เรียนนักธรรมชั้นโท ออกพรรษาสอบได้แล้วก็ออกรุกขมูลมาตามริมแม่น้ำโขง บุกป่าผ่าดงมาจนถึงวัดพระพุทธบาทคอแก้ง (เวินกุ่ม) ก่อนจะกลับไปบ้านนาสีดาในปี พ.ศ.2488

ปี พ.ศ.2498 จำพรรษาที่วัดศรีชมชื่น (วัดป่านาสีดา) เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดอรัญญวาสี จ.หนองคาย และได้รับการฝากให้เป็นศิษย์รับใช้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่ปฏิบัติอาจริยวัตรกับหลวงปู่มั่น เป็นเวลา 2 พรรษา คือ ปี พ.ศ.2490-2491 ก็กราบลาไปเที่ยววิเวกที่บ้านห้วยหวายกับ หลวงปู่อุ่น ชาคโร

ปี พ.ศ.2492 กลับมาอยู่กับหลวงปู่เทสก์ และช่วยงานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนเสร็จสิ้น ก็เที่ยววิเวกไปกับ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งวัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร และหลวงปู่อรุณ อุตฺตโม แห่งวัดพระบาทนาสิงห์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ต่อมาได้ติดตามหลวงปู่เทสก์ไปเผยแผ่ธรรมที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495-2499 และกลับมาอยู่วัดศรีชมชื่น ถึงปี พ.ศ.2514 ย้ายออกมาอยู่บริเวณป่าช้าดงบ้านเลา ซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวางร่มรื่นเงียบสงบ ก่อสร้างกุฏิ เสนาสนะต่างๆ โดยลำดับ โดยตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า “วัดป่านาสีดา” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2531

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


๏ การเผยแผ่พระธรรมและกรรมฐานที่ภูเก็ต

หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร ท่านมีศักดิ์เป็นหลานลุงแท้ๆ ของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จึงได้รับการอบรมบ่มสอนมาตั้งแต่เด็ก แม้บวชเรียนแล้วก็อยู่ในสายตา คอยแนะนำทางที่ถูกให้ประพฤติปฏิบัติไม่เคยทอดทิ้ง จนกระทั่งตัวท่านละสังขารจากไป เหตุการณ์สำคัญในชีวิตก็คือ การไปใช้ชีวิตกับหลวงปู่เทสก์นานถึง 8 ปี ในการเผยแผ่พระธรรมและกรรมฐานที่จังหวัดภูเก็ต สมัยนั้น “พระป่า” ยังไม่แพร่หลาย จึงเกิดปัญหาขัดแย้งจนถึงขับไล่ไสส่งกัน แต่คณะของหลวงปู่เทสก์ก็ต่อสู้แก้ไขจนสถานการณ์ลุล่วงไปด้วยดี

นอกจากนี้ จากการได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นอย่างใกล้ชิดถึง 2 ปี จึงได้รับ “ของดี” มาอย่างเต็มๆ ทั้งข้อวัตรปฏิบัติ การสำรวมกาย วาจา ใจ ปฏิปทาและหลักธรรมนานาของพระอาจารย์ใหญ่ ซึบซาบเข้าในสายเลือด สมัยนั้นการเข้าไปขอสมัครเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการกลั่นกรองเป็นขั้นเป็นตอน พระเณรที่ขาดการสำรวมทำอะไรไม่ถูกต้อง จะโดนดุว่าตรงๆ แรงๆ เป็นการถากถางกิเลส คนจิตไม่แกร่ง ไม่ทน จึงพากันถอย สำหรับหลวงปู่จันทร์โสม ท่านสอบผ่านโดยง่ายดาย เพราะอุปนิสัยเป็นคนที่มีความอดทนสูงมาแต่เยาว์วัย


๏ หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัย

ท่านจึงเป็นพระผู้ใหญ่ ที่ชาวบ้านชาวเมืองกราบไหว้ยกย่องนับถือในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา รวมทั้งการเทศนาสอนธรรมกรรมฐานแก่ญาติโยม ท่านบริหารวัดตามแนวของหลวงปู่เทสก์ ด้วยการสร้างศรัทธาปสาทะให้ญาติโยมรอบวัดเลื่อมใสก่อน ส่วนการปฏิบัติธรรมได้ยึดตามแนวหลวงปู่มั่น เทศนาหรือบทธรรมของท่าน ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัยในชีวิตประจำวันของผู้คน อาทิ

“คนทุกคนสามารถสร้างคุณงามความดีได้ทุกคน แต่ที่เขาไม่อยากทำ เพราะเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อย่าว่าแต่ฆราวาสเลย พระที่บวชในพุทธศาสนา ถ้าเชื่อจริงๆ จังๆ แล้ว ทำอะไรก็ได้ผล เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เรียกว่า สงสัยลังเล ก็เลยเดินไม่ถูก ไม่ว่าสมัยใด ทำเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น”

ใครก็ตามที่ต้องการปฏิบัติให้จิตสงบ ท่านให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า

“ให้เลือกยึดอนุสติ 10 มาเป็นหลักพิจารณาเพียงหนึ่งอย่าง โดยเลือกให้ถูกกับอุปนิสัยของตนเอง และเลือกข้อที่นำมาปฏิบัติแล้ว เกิดความสลดสังเวช เกิดความเบื่อหน่ายเพื่อที่จะแก้ไขตัวเองได้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับโอสถธรรมจากท่าน สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้มากมาย”

“เมื่อคนเราเกิดมามีวาสนาไม่เหมือนกัน วาสนาที่ว่าก็เกิดจากบุญกุศลที่เราได้ทำกันมา คนที่ยากจนในชาตินี้ก็เพราะชาติที่แล้วทำบุญมาน้อย ลงทุนน้อย พอเกิดมาชาตินี้ทุนก็เลยน้อยตามมา แต่ถ้าใครยากจนในชาตินี้ก็ต้องลงทุน ตั้งใจทำงานอย่างทุ่มเทให้มากโดยไม่ไปโกงใคร ในวันหนึ่งก็จะรวยได้เอง”


ในวัย 80 ปี หลวงปู่จันทร์โสม ผิวพรรณวรรณะท่านยังผ่องใส สุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมกับเป็นพระปฏิบัติ และไม่เคยละเว้นการสอนศีลสอนภาวนาแก่ญาติโยมที่สนใจ โดยจะย้ำถึงอานิสงส์แห่งการภาวนาอยู่เสมอ

“การภาวนา นอกจากให้ผลทางจิตใจแล้ว ความเอ็นดู เมตตาสงสารคนอื่นก็เกิดขึ้น ที่เราโกรธเกลียดพยาบาทก็หายไป เห็นโทษก็สงสารเขา มีธรรมะในใจ ความอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนก็ไม่เกิดขึ้น อยู่หมู่คณะใดก็ไม่เกิดขึ้น”

“ขออย่าประมาท อย่าละทิ้งการภาวนา ทำเป็นไม่เป็นก็ช่างเถอะ ขอให้ได้ทำอย่างเดียว นานๆ เข้าก็ติดจิตไปด้วย สะสมวันละนิด งานก็ใหญ่ขึ้น ทำให้จิตใจเราสบายเป็นอานิสงส์ จิตใจสบาย มันก็คลุกคลีทุกสิ่งทุกอย่าง มันเดือดร้อน เราภาวนาก็ทำให้จิตใจเย็น”
ฯลฯ


ผู้อยากพบแสงสว่างทางใจ หมั่นภาวนาตามมรรคาที่ท่านวางไว้โดยพลัน !!

รูปภาพ
ในงานบำเพ็ญกุศลถวายแด่หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
ณ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ



๏ การมรณภาพ

สัจธรรมแห่งชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครหนีได้พ้น หลวงปู่จันทร์โสม ในวัยชราเริ่มอาการเจ็บป่วยเข้ามาแผ้วพาน วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา หลวงปู่จันทร์โสม ได้มีอาการปวดท้องเจ็บหน้าอก คณะศิษยานุศิษย์ได้รีบนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2549 หลวงปู่มีอาการกำเริบหนักขึ้น ปวดท้องแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก คณะแพทย์ได้รีบช่วยกันปั๊มหัวใจรักษาอาการอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้ออาการไว้ได้

ในที่สุด หลวงปู่จันทร์โสม ได้ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ 84 พรรษา 63 ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ และคณะสงฆ์ เป็นยิ่งนัก


๏ งานพระราชทานเพลิงศพ

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไปในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านาสีดา ณ เมรุชั่วคราววัดป่านาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2550 เวลา 17.00 นาฬิกา

กำหนดการ

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2550 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5
เวลา 07.00 น. พระสงฆ์รับบิณฑบาตและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
เวลา 10.00 น. เชิญหีบศพเวียนรอบเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาชาน
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
เวลา 13.00 น. พระสงฆ์ 84 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล
เวลา 18.00 น. ทำวัตรเย็น
เวลา 19.00 น. พระสงฆ์ 4 รูปสวดพระอภิธรรม, แสดงพระธรรมเทศนา

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2550 ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5
เวลา 07.00 น. พระสงฆ์รับบิณฑบาตและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
เวลา 09.00 น. พระราชาคณะแสดงพระธรรมเทศนา
เวลา 10.00 น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ถวายพรพระ, ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
เวลา 13.00 น. พระสงฆ์ทั้งนั้น สวดมาติกา-บังสุกุล
เวลา 17.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2550 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5
เวลา 06.00 น. พิธีสามหาบเก็บอัฐิ ฉลองอัฐิ

รูปภาพ
หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร-หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ



.............................................................

:b44: รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
1. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2545 และวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2549
2. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์พระเครื่อง คมชัดลึก
วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2550

:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ ::
โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ http://www.watpa.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2010, 06:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รักษาศีลเป็นการปฏิบัติธรรมอันวิเศษสุด

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่สาม อกิญจโน หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงปู่หล้า เขมปัตโต หลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย ฯลฯ ล้วนแล้วได้เป็นลูกศิษย์ที่ได้ศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

นอกจากนี้แล้วยังมี หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่าจันทรังสี (วัดป่านาสีดา) ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ผู้ได้เข้ารับใช้ในกิจวัตรประจำของหลวงปู่มั่นเป็นระยะเวลา ๒ พรรษา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลวงปู่จันทร์โสมได้เผยแผ่วิชาวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของหลวงปู่มั่น โดยท่านมักจะพูดกับลูกศิษย์เสมอๆ ว่า

“เมื่อคนเราเกิดมามีวาสนาไม่เหมือนกัน วาสนาที่ว่าก็เกิดจากบุญกุศลที่เราได้ทำกันมา คนที่ยากจนในชาตินี้ก็เพราะชาติที่แล้วทำบุญมาน้อย ลงทุนน้อย พอเกิดมาชาตินี้ทุนก็เลยน้อยตามมา แต่ถ้าใครยากจนในชาตินี้ก็ต้องลงทุน ตั้งใจทำงานอย่างทุ่มเทให้มากโดยไม่ไปโกงใคร ในวันหนึ่งก็จะรวยได้เอง”

และท่านได้อนุญาตให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ดังนี้

หลวงปู่ได้เรียนกับหลวงปู่มั่นช่วงไหนครับ ?

ประมาณปี ๒๕๘๙ อาตมาได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านนาสีดา วัดศรีชมชื่น (ปัจจุบันคือวัดป่าบ้านนาสีดา) หลังจากออกพรรษาแล้ว ก็ได้เดินทางไปกราบนมัสการ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ที่นั่น พอดีกับเวลาที่หลวงปู่เทสก์ จะเดินทางไปเยี่ยมนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร หลวงปู่เทสก์ก็ถามว่าอยากจะไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่บ้านหนองผือหรือเปล่า ถ้าไปก็ไปด้วยกัน จะนำไปฝากท่านให้ หลวงปู่เทสก์ก็ฝากอาตมาไว้กับหลวงปู่มั่น

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อฺตฺตโม


หลวงปู่มั่นได้สอนอะไรให้บ้างครับ ?

เมื่ออาตมาอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ก็ไม่ค่อยได้เข้าใกล้ชิดท่านเท่าไรนัก เพราะมี พระอาจารย์วัน อฺตฺตโม และ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ปฏิบัติท่านอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในเวลาต่อมาท่านอาจารย์วัน ได้ให้อาตมาเข้าไปช่วยรับเป็นธุระในการทำกิจวัตรประจำวันกับหลวงปู่มั่นจนกว่าหลวงปู่จะเข้าที่พัก

ช่วงเวลาที่อาตมาได้เข้าไปปฏิบัติกิจวัตรให้กับหลวงปู่มั่นนั้น อาตมาก็พยายามระวังจิตมิให้คิดไปในเรื่องอื่นๆ มีแต่ให้น้อมนอบเข้าไปหาหลวงปู่อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งที่อาตมาทำอะไรไม่ถูก หลวงปู่มั่น ท่านก็จะบอกว่าวันนี้ท่านโสมทำไม่ถูก วันนี้ทำไม่ถูก อาตมาได้ยินเช่นนั้นก็หยุดทำแล้วนั่งเฉย ให้หมู่เพื่อนปฏิบัติแทนในวันนั้น

วันต่อมาอาตมาก็เข้าไปปฏิบัติท่านอีกครั้งตามปกติ ท่านก็จะปรารภใหม่ว่า วันนี้ทำถูกแล้ว วันนี้ท่านโสมทำถูกแล้ว ซึ่งหลวงปู่มั่นก็จะพูดแบบนี้อยู่หลายครั้งหลายครา แต่อาตมาก็ไม่ได้ท้อถอยในกิจวัตรดังกล่าว เพราะอาตมาถือว่าเป็นบุญกุศลอย่างใหญ่หลวง และภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าใกล้ชิดปฏิบัติหลวงปู่มั่น ทำให้อาตมาได้พิจารณาเห็น ท่านอาจจะทดสอบความอดทนของเราดูก็ได้

นอกจากนี้แล้วหลวงปู่เทสก์ ท่านก็ได้เคยพูดให้อาตมาฟังว่า ในสมัยที่ท่านได้มีโอกาสปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ท่านก็ชอบที่จะทดสอบอะไรบ่อยๆ ถ้าใครสามารถอดทนปฏิบัติกับท่านได้จะเป็นการดีมาก อาตมาก็ได้ระลึกเอาคำสอนของหลวงปู่เทสก์นั้นเป็นคติเตือนใจอยู่เสมอๆ ตลอดเวลาที่รับใช้หลวงปู่มั่น

กิจวัตรประจำวันที่หลวงปู่ต้องทำมีอะไรบ้างครับ ?

ตั้งแต่บ่ายโมงของแต่ละวัน จะต้องปัดกวาด บริเวณลานวัดเสร็จแล้ว ก็ช่วยกันตักน้ำใส่ตามกุฏิต่างๆ ทั้งหมด เสร็จแล้วพากันสรงน้ำ ศึกษาธรรมของพระแต่ละรูป ประมาณสองทุ่มจะไปรวมพร้อมกันฟังเทศน์ที่กุฏิของหลวงปู่มั่น พร้อมปฏิบัติภาวนาจนเวลาประมาณห้าทุ่ม ก็จะแยกย้ายกันไปกลับกุฏิของตนเอง ซึ่งกุฏิอาตมาอยู่ไม่ไกลจากกุฏิหลวงปู่มั่นมากนัก พอตีสามอาตมาก็จะเห็นหลวงปู่มั่นลุกขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์เสียงดัง อาตมาอยู่ในกุฏิก็ยังได้ยินเสียงท่าน เป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เสียงสวดก็ท่านก็จะเงียบลง อาตมาก็เข้าใจว่าท่านก็คงนั่งปฏิบัติภาวนาต่อไป กระทั่งใกล้รุ่ง พระเณรจะพากันไปปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้ว พระแต่ละรูปก็ต้องไปเตรียมบาตรบริขารของตนไป พร้อมที่ศาลาโรงฉัน เมื่อใกล้เวลาบิณฑบาต จากนั้นหลวงปู่มั่นก็จะออกจากห้อง บรรดาลูกศิษย์ก็จะช่วยถือบาตร และเครื่องของใช้ในจำเป็นเกี่ยวกับการฉัน เดินตามไปไว้ที่ศาลา แล้วออกเดินบิณฑบาตตามหลวงปู่มั่น และเมื่อกลับมาจากการบิณฑบาต ก็เริ่มฉันอาหารพร้อมกัน

หลวงปู่มั่นดุไหมครับ ?

หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระที่ไม่ดุหรอก แต่ท่าน จะดุเฉพาะบุคคลที่ทำผิด หรือทำอะไรไม่ถูก ท่านก็จะดุบ้าง แต่ความรู้สึกของอาตมา หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนใจดี ที่ผ่านมาเมื่อครั้งรับใช้อยู่กับท่าน อาตมาไม่เคยทำผิดอะไรท่านก็เลยไม่เคยดุ (หัวเราะ)

แล้วหลวงปู่อยู่รับใช้หลวงปู่มั่นนานแค่ไหนครับ ?

อาตมาได้อยู่กับหลวงปู่มั่นเป็นเวลา ๒ พรรษา เมื่อปี ๒๔๙๐ ถึงปี ๒๔๙๑ หลังจากออกพรรษาปี ๒๔๙๑ แล้ว ก็ได้กราบลาหลวงปู่มั่นไปเดินธุดงค์ ไปวิเวกที่บ้านห้วยหวาย กับพระอาจารย์อุ่น ชาคโร ซึ่งเป็นบ้านอยู่กลางป่าดงลึก มีสัตว์ร้ายต่างๆ มากมาย โดยได้ขออนุญาตหลวงปู่มั่น

วันแรกที่เดินทางไปถึงบ้านห้วยหวาย เสือเจ้าถิ่นก็มาส่งเสียงร้องต้อนรับ อาตมาได้ยินแต่เสียง อยู่กับพระอาจารย์อุ่นเรื่อยมา วันไหนเจ้าถิ่นเขาคิดสนุกเขาก็ส่งเสียงร้องให้ได้ยิน แต่บางวันก็เงียบหายไม่ปรากฏอะไร แต่มีอยู่คืนหนึ่งประมาณตีสาม อาตมาได้ยินเขาส่งเสียงร้องอยู่แต่ไกล พยายามฟังอยู่ที่กุฏิ เสียงนั้นก็ยิ่งใกล้เข้ามาๆ คิดในใจว่า คงจะมาทางกุฏิอาตมาแน่นอน เพราะทางอื่นที่จะไปไม่มี

ระหว่างนั้นหลวงปู่กลัวหรือเปล่าครับ ?

อาตมาก็พยายามตั้งสตินั่งสงบนิ่งอยู่บนกุฏิ คอยสังเกตเหตุการณ์ พอใกล้กุฏิอาตมาเข้าจริงๆ เสียงร้องมันกลับเงียบหายไป มันมาหยุดยืนอยู่ห่างจากกุฏิอาตมาประมาณเมตรเศษๆ ได้ยินเสียงลมหายใจของมันดังกรอกหูอาตมาอยู่ จนปรากฏเข้าถึงหัวใจ มันหยุดยืนอยู่สักครู่แล้วเดินรอบกุฏิอาตมา เมื่อมันเห็นว่าไม่มีอะไรแล้วก็เดินไปกุฏิพระอาจารย์อุ่น จากนั้นมันก็เดินตรงเข้าไปในหมู่บ้าน อาตมาจึงค่อยหายใจสะดวกขึ้น (หัวเราะ) จริงๆ พวกมันเข้ามาเยี่ยมเยียนเราอยู่บ่อยครั้ง แต่มันไม่ได้เปล่งเสียงร้องออกมาเหมือนครั้งนี้

นอกจากเจอเสือป่าแล้วหลวงปู่ยังเจออะไรอีกครับ ?

อาตมาก็ยังได้เจอพวกวิญญาณต่างๆ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ผี นั่นแหละ วิญญาณเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำอะไรอาตมาหรอก พวกนี้ก็เป็นวิญญาณจากคนเรานั่นแหละ วิญญาณเหล่านี้ยังไม่ได้ไปเกิดจึงต้องเร่ร่อนไปแบบนี้ ดังนั้น คนเราเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องทำบุญกันเอาไว้เยอะๆ เมื่อตายไปจะได้ไปเป็นเทวดา หรือนางฟ้า หรือเกิดมาเป็นคนร่ำรวย

รูปภาพ
หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร


หลังจากนั้นหลวงปู่ไปจำพรรษาที่ไหนต่อครับ ?

ช่วงเวลานั้นหลวงปู่เทสก์ ได้เดินทางจากเขาน้อย ท่าแฉลบ จ.จันทบุรี มากราบนมัสการหลวงปู่มั่นที่บ้านหนองผือพอดี พอใกล้เข้าพรรษา หลวงปู่เทสก์ก็ชวยให้ไปจำพรรษาที่เขาน้อยท่าแฉลบด้วยกัน อาตมาจึงได้กราบลาหลวงปู่มั่น เดินทางไปพร้อมกับหลวงปู่เทสก์ในปี ๒๔๙๒ ต่อมาพอออกพรรษา หลวงปู่เทสก์ก็ได้รับข่าวว่าหลวงปู่มั่นอาพาธ ท่านจึงได้เดินทางไปที่ จ.สกลนคร ส่วนตัวอาตมาอยู่จันทบุรี ยังต้องการเที่ยววิเวกไปตามเกาะชายทะเล จนได้ทราบข่าการมรณภาพของหลวงปู่มั่น อาตมาจึงได้เดินทางขึ้นไปร่วมงาน และอยู่ช่วยงานจนเสร็จการถวายเพลิงศพ

วัตถุมงคลจำเป็นหรือสำคัญต่อชีวิตคนเราอย่างไรครับ ?

สำคัญหรือจำเป็นอาตมาคิดว่ามันอยู่ที่ความเชื่อ ความศรัทธา เมื่อใครเชื่อมั่นแล้วก็จะเป็นสิริมงคลกับชีวิต หรือแม้แต่พวกเครื่องรางของขลังมากมายที่คนเราใช้แขวนติดตัวก็เพื่อความขลังต่างๆ นานา นั้นก็เกิดจากความเชื่อความศรัทธา แต่ถ้าคนเราเชื่อมั่นในพระธรรมแล้ว ก็ทำให้เกิดความขลังได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาอาตมาก็เห็นบางคนแขวนพระติดตัวไว้มากมายทำไมเขาถึงตาย

แล้วประโยชน์ของวัตถุมงคลอยู่ตรงไหนครับ ?

วัตถุมงคลก็มีประโยชน์ก็อยู่ที่ความเชื่อนั่นแหละ บางคนเกิดอุบัติเหตุไม่เป็นอะไรมันก็เกิดจากความเชื่อความศรัทธา ที่สอนให้รู้ว่าสิ่งใดชั่วไม่ควรทำ จงทำในสิ่งที่ดี ไม่เบียดเบียนใคร ส่วนความเชื่อที่ว่ารอดตายเพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยช่วยเหลือนั่น อาตมาอยากให้ลองคิดกันดู การรอดตายนั้น มันเกิดจากอะไร จริงๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านั้น มันก็เกิดจากกรรมของเรานั่นแหละ

อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มีจริงไหมครับ ?

มีจริงซิ เพราะปาฏิหาริย์นั้นที่แท้มันก็เกิดจากอำนาจของเรานั่นแหละ ใครทำจิตให้นิ่ง ให้เป็นสมาธิได้ จิตใจไม่วุ่นวาย ก็ส่งผลทำให้เกิดปาฏิหาริย์ได้ แต่คนเราทุกวันนี้ทำไม่ค่อยได้ เพราะการนั่งสมาธินานๆ หน่อย ก็บ่นเมื่อยกันแล้ว

คนเราจะขจัดกิเลสตัณหาออกไปได้ด้วยวิธีไหนดีครับ ?

ก่อนที่พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสรู้ มารมันได้บังเกิดขึ้น แต่พระพุทธเจ้าท่านมีบารมีมาก มารมันจะมาเกิดขึ้นที่ไหนท่านก็ไม่กลัว เรียกว่าต่อสู้มารได้ อันนี้เราเกิดขึ้นมาในโลกนี่เหมือนกัน เราต้องมาฝึกหัดดัดแปลงเรียกว่า มาต่อสู้มารกิเลส กิเลสทั้งหลายทั้งปวงส่วนมากคนมันสู้มารไม่ได้ สู้กิเลสไม่ได้ การที่มาสร้างบุญสร้างกุศลนี้น้อยนัก เพราะกิเลสมันผูกมัดรัดไว้ ไม่ให้มาวัด จะทำบุญทำกุศลก็ดี ไม่อยากให้มา มันไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติมาแล้วมันเรียกว่า ผูกมัดรัดรึงไว้แล้วผลที่สุดมันหนาขึ้นใหญ่ขึ้น เราก็สู้มันไม่ได้ เหตุฉะนั้นเราเกิดขึ้นมาก็อาศัยกิเลส เมื่อปราบกิเลสให้ลงไปได้แล้ว ก็เป็นของดีมีคุณค่าขึ้นมาเป็นธรรมดา แต่ก่อนเราเป็นคนธรรมดา เมื่อหากว่าเรามารู้จักฝึกหัดจิตใจของเราแล้ว ก็เหนือคนธรรมดา ใจเป็นพระ ไม่ต้องนุ่งเหลืองห่มเหลืองมันก็เป็นพระได้ คือ ความละความชั่วนั่นเอง ความชั่วมันบังเกิดขึ้นแล้ว เราขัดเกลาอย่างที่ว่ามานั้น มันก็มองเห็นทั้งหน้าทั้งหลัง

แล้วหากคนเรากำลังทำชั่ว เราเองจะรู้ได้อย่างไรครับ ?

ก็เหมือนกับเราขึ้นภูเขาขึ้นไปสูงๆ มองเห็นข้างล่าง มองเห็นชีวิตที่ผ่านมาทุกอย่าง เพราะเราขึ้นสูง อันนี้ก็เป็นชั้นเดียวกับจิตใจของเรา พอมันสูงแล้ว มองชีวิตที่พ้นผ่านมานั้นเกิดขึ้นได้เพราะเหตุอันใด ความชั่วเกิดขึ้นเราก็จะมองเห็นได้ เราก็ปัดเป่าความชั่วออกไปได้ ความดีก็มาบังเกิดขึ้น มองเห็นไปเรื่อยๆ เพราะเหตุฉะนั้น เราจะไปข้างหน้าอดีตก็ดี อนาคตก็ดี เราก็มองเห็นได้ทั้งหมด

ญาติโยมมากราบหลวงปู่มีใครมาขอตัวเลขบ้างไหมครับ ?

ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่อาตมาไม่รู้ ก็จะชี้ไปที่เด็กมันหัดเขียนตัวเลข เท่านั้นแหละ เขาก็เอาไปตีเป็นหวย หรือบางครั้งอาตมาพูดอะไรออกไปเขาก็เอาไปตีเป็นหวย ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง (หัวเราะ) คนที่จะถูกไม่ถูกมันก็ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาเหมือนกัน ต่อให้เล่นจนล่มจม ถ้าไม่มีบุญวาสนาแล้ว ก็ไม่มีวันถูก

หลวงปู่มีหลักในการปฏิบัติธรรมอย่างไรครับ ?

อาตมาคิดว่าหลักธรรมที่ทุกคนควรมีอย่างยิ่งก็คือ การรักษาศีลนั่นแหละ เป็นการปฏิบัติธรรมอันวิเศษสุด จะนับถือไม่ครบทั้ง ๕ ข้อก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำได้ทุกข้อเลยมันก็ยิ่งดี



.............................................................

:b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ออนไลน์
ฉบับวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗


:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร” วัดป่านาสีดา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48528

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2010, 06:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ภาพพระธาตุหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร

รูปภาพ

อัฐิธาตุของหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
กำลังแปรสภาพเป็นพระธาตุซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน


รูปภาพ

อัฐิธาตุหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร


ประมวลภาพงานพระราชทานเพลิงศพ

ประมวลภาพการสรงน้ำศพหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549

http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=1001

ประมวลภาพการสรงน้ำศพหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2549

http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=1002

ประมวลภาพการบำเพ็ญกุศลถวายแด่หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2549

http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=1007

ประมวลภาพการเคลื่อนศพหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
ไปยังวัดป่านาสีดา อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549

http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=1012

รูปภาพ

ในงานสรงน้ำศพหลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร
ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2549


:b44: :b47: :b44:

ประมวลภาพ “หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48528

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 เม.ย. 2010, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.พ. 2008, 09:18
โพสต์: 635

อายุ: 0
ที่อยู่: กองทุกข์

 ข้อมูลส่วนตัว www


มีภาพพระธาตุอีกไหมล่ะคร้าบ s004

.....................................................
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"
คิดเท่าไหรก็ไม่รู้ หยุดคิดจึงจะรู้

http://www.luangta.com
รูปภาพ


แก้ไขล่าสุดโดย ชิโนะซึเกะ เมื่อ 20 เม.ย. 2010, 14:18, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ชิโนะซึเกะ เขียน:
มีภาพพระธาตุอีกไหมล่ะคร้าบ s004


:b12: ตอนนี้ ยังไม่มีภาพพระธาตุอีกอะนะ น้องปอม :b13:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร