วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2014, 14:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 พ.ย. 2009, 17:20
โพสต์: 532

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม)
อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม-บ้านแพง-นาหว้า-นาทม (ธรรมยุต)

ปฐมวัยจากประเทศลาวสู่แผ่นดินไทย

เดิมโยมพ่อโยมแม่เป็นคนบ้านปากซี ใกล้กับเมืองหลวงพระบางประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ชักชวนเพื่อนบ้าน ๓ ครอบครัว พากันเอาเรือคนละลำล่องหาจับปลาตามลำน้ำโขงบ้าง ตามแม่น้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง เช่น น้ำงึม ทางฝั่งประเทศลาวล่องเรือมาเรื่อยๆ เมื่อจับปลาแล้วทำเป็นปลาตากแดดบ้างทำปลาร้าบ้าง แล้วขายให้หมู่บ้านต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง เมื่อขายหมดแล้วก็จับปลาอีก เมื่อเต็มลำเรือแล้วก็นำไปขายทำอย่างนี้เรื่อยมาจนล่องมาถึงแม่น้ำสงคราม แล้วล่องมาตามลำน้ำสงครามจนถึงหมู่บ้านดงพระเนาว์ ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ก็ได้อยู่ในบ้านนี้ตลอดมาเพราะตามลำน้ำนี้มีปลานานาชนิดชุกชุมมาก ชีวิตได้อาศัยอยู่ในเรือตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ ทางราชการได้มาตั้งกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นที่บ้านดงพระเนาว์จึงได้ขึ้นไปอยู่บนแผ่นดินกับชาวบ้านตั้งแต่บัดนั้นมา ต่อมาอีก ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หมู่บ้านดงพระเนาว์จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า บ้านศรีเวินชัย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน


ครอบครัวใหญ่

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง เวลา ๐๖.๐๐ น. เป็นวันเกิดโยมบิดาชื่อ พ่ออ้วน โยมมารดาชื่อ แม่ทุมมา เป็นลูกคนที่ ๖ ในจำนวน ๗ คน ซึ่งมีรายชื่อดังนี้

๑. นางคำมี สีแพง (เสียชีวิตแล้ว)
๒. นางบัวสี นนทจันทร์ (เสียชีวิตแล้ว)
๓. นางจันที เหมื้อนงูเหลือม (เสียชีวิตแล้ว)
๔. นายจูมศรี ปทุมมากร (เสียชีวิตแล้ว)
๕. นายทองดี ปทุมมากร (ยังมีชีวิตอยู่)
๖. พระคำพันธ์ จนฺทูปโม (ปทุมมากร)
๗. เด็กชายสุวรรณ ปทุมมากร (เสียชีวิตแล้ว)

คนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เกิดอยู่ที่บ้านปากซี เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกนั้น ๔ คนลงมาเกิดอยู่บ้านศรีเวินชัย


โยมพ่อจากลาลูกจึงออกบรรพชา

เมื่ออายุ ๙ ปี โยมพ่อได้เสียชีวิต เหลือแต่โยมแม่กับลูกๆ โยมแม่ต้องทำงานหนักในการเลี้ยงลูกทุกคน ส่วนพี่สาวทั้ง ๓ คนนั้น ได้แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว ที่ยังเหลือก็อยู่ในความเลี้ยงดูของแม่ต่อไป ในหมู่บ้านศรีเวินชัยสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน จึงเป็นเหตุให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โยมแม่ได้นำไปฝากอยู่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัยกับระอาจารย์พุฒ เมื่อท่องคำขอบวชได้แล้วพระอาจารย์พุฒพาไปบวชโดยทางเรือ ขณะนั้นน้ำในแม่น้ำสงครามขึ้นเต็มฝั่ง ท่านก็พาไปบ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม บวชกับ พระครูปริยัติสิกขกิจเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชเป็นคู่กับสามเณรจันดี ที่อยู่วัดศรีสงคราม ขณะนั้นได้จำพรรษาที่วัดแพงศรี บ้านศรีเวินชัย


ความฝันในวันบวช

การบวชครั้งนี้โยมมารดามุ่งหมายให้บวชแทนคุณโยมบิดาที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อบวชในวันแรกนั้นตอนกลางคืนฝันว่าได้เข้าไปบ้าน เห็นหีบศพของโยมบิดาตั้งอยู่ใต้ถุนบ้าน จึงคิดว่าไม่สมควรตั้งที่นั้น ควรจะเอาขึ้นตั้งไว้บนบ้าน เมื่อคิดแล้วก็ลงมือดึงหีบศพโยมพ่อขึ้นมาตรงกลางบ้าน ในความฝันดึงขึ้นคนเดียว ทะลุพื้นขึ้นมาวางไว้บนบ้านได้สำเร็จ พอตื่นจากฝันจึงคิดทบทวนความฝันว่า ทำไมเราจึงแข็งแรงขนาดนั้นดึงหีบศพคนเดียวขึ้นได้อย่างง่ายดาย จึงคิดว่าฝันเป็นเช่นนี้คงนิมิตแสดงให้รู้ว่า การบวชครั้งนี้ช่วยโยมบิดาให้พ้นจากนรกได้ สมความมุ่งหวังที่ว่าจะบวชเพื่อช่วยโยมพ่อให้ได้พ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้แล้วก็เกิด ปิติยินดีเป็นอันมาก


เรียนหนังสือธรรมจากใบลาน

เมื่อบวชแล้วพระอาจารย์ได้ให้หนังสือธรรมที่จารลงใบลาน ชื่อหนังสือที่ว่านี้คือ ปัญญาบารมี โดยวิธีเอาหนังสือไปนั่งหันหลังให้อาจารย์ อาจารย์ก็บอกเป็นคำๆ ให้จำเอา แล้วทบทวนหลายเที่ยว ตอนแรกเรียนทั้งวันได้ ๒ แถว ๓ แถว โดยให้จำเอา ไม่มีการให้เขียนเลย ตอนหลังอ่านที่เรียนมาแล้วก็เรียนต่อแถวใหม่ไปเรื่อยๆ จนจบหนังสือผูกนั้น เมื่อท่องได้คล่องแล้วก็เรียนหนังสือผูกใหม่ต่อไป มีการเรียนการสอนอย่างนี้ไปเรื่อยตลอดพรรษา ก็สามารถอ่านหนังสือธรรมออกและเขียนได้ การเรียนการสอนแบบนี้เป็นการเรียนการสอนแบบโบราณที่ทำกันทั่วไปในสมัยนั้น


ธุดงค์สู่ประเทศลาว

เมื่อออกพรรษาในปีนั้นพระอาจารย์พุฒจะไปธุดงค์ทางประเทศลาว เพราะท่านเคยไปธุดงค์แถวเมืองท่าแขก เวียงจันทน์ขึ้นไปถึง หลวงพระบางอยู่เสมอ ท่านจึงสั่งให้โยมชาวบ้านพากันฟันไม้เสาศาลา การเปรียญคอย แล้วท่านจะกลับมาปลูกศาลาต่อไป โยมแม่จึงขอให้สามเณรคำพันธ์ไปด้วย เพื่อจะให้ไปเยี่ยมญาติทางพ่อทางแม่ที่บ้านปากซี เมืองหลวงพระบาง ดังนั้นท่านจึงพากันออกจากวัดแพงศรีไปด้วยกัน ถึงที่บ้านหมูม่นอันเป็นบ้านโยมพ่อโยมแม่ของพระอาจารย์พุฒพัก ๑ คืน ตื่นขึ้นจึงเดินทางไปบ้านนาดี ขึ้นภูลังกาข้ามไปบ้านแพงพักวัดสิงห์ทอง ๑ คืน แล้วข้ามน้ำโขงขึ้นไปฝั่งลาวที่พระบาทโพนแพง พักอยู่นั่น ๔ คืนแล้วนั่งรถโดยสารสองแถว ซึ่งมีน้อยที่สุด เพราะบางวันก็ไม่มี ถ้ามีก็มี ๒ คัน ๓ คันเท่านั้น จากวัดพระบาทโพนแพงไปเมืองเวียงจันทน์เจ้าของรถเห็นหนังสือสุทธิจึงไม่เก็บค่าโดยสาร พักที่วัดอูบมุง ในเวียงจันทน์นั้น ๒ คืน แล้วนั่งรถโดยสารไปเมืองหลวงพระบาง เมื่อไปถึงเมืองซองจึงลงรถที่นั่น จากนั้นท่านก็พาไปธุดงค์ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่พระอาจารย์พุฒเคยไปมา จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยมากก็เป็นหมู่บ้านไม่ใหญ่ที่เป็นอยู่อย่างธรรมชาติ


โดนไข้มาลาเรียเล่นงาน

ประมาณ ๒ เดือนต่อมาได้เป็นไข้มาลาเรีย คือไข้ป่าหรือไข้จับสั่น บางวันก็ไข้บางวันก็หาย จนร่างกายทรุดโทรม วันหนึ่งไข้หนักและไข้นาน พระเณรก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร เพราะไม่มียา จึงเอาขี้ผึ้งใส่น้ำมาให้ฉัน เมื่อฉันแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่ใช่ยาแก้ไข้ป่า ต่อมาพระอาจารย์พุฒจึงพาไปเมืองซองฝากไว้กับพระในวัดนั้น (ชื่อว่าวัดอะไรจำไม่ได้) ฝากกับโยมผู้มีหลักฐานดีผู้หนึ่ง แล้วพระอาจารย์พุฒก็ออกเที่ยวไปที่หลายแห่งแล้วกลับมาเยี่ยมคราวหนึ่ง เห็นว่าเป็นไข้ไม่มียากิน จึงตกลงกันว่าการไปบ้านปากซีเมืองหลวงพระบางนั้นควรงดไว้ก่อน จึงนำกลับไปเมืองเวียงจันทน์ทั้งๆ ที่เป็นไข้อยู่ นั่งรถตามถนนลูกรัง รถโดยสารเป็นรถแบบโบราณ คือตัวเรือนรถทำด้วยไม้ ที่พิงหลังก็ทำด้วยไม้ ที่นั่งก็ทำด้วยไม้ เมื่อขับมาประมาณ ๑ ชั่วโมง ได้อาเจียนออก ไม่มีอาหารในท้องเลย รู้สึกเหนื่อย จนถึงเวียงจันทน์ลงที่วัดอูบมุง ท่านจึงขอฝากกับเจ้าอาวาสวัดอูบมุง ชื่อพระมหาอ่ำ (ท่านเป็นคนบ้านพานพร้าว อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย) ท่านก็รับไว้อยู่ ๒ วัน พระอาจารย์พุฒก็ออกไปจากวัดอูบมุง จากนั้นไม่รู้ว่าท่านไปไหนเลย จึงได้อยู่กับพระมหาอ่ำ


จำพรรษาที่เมืองเวียงจันทน์

ในปีนั้น พ.ศ. ๒๔๘๑ ทางวัดมีการสอนหนังสือลาว ดังนั้นจึงตั้งใจเรียนหนังสือลาวจนอ่านออกเขียนได้ ปีต่อมาครูจะให้เรียนชั้นตรี กำลังเรียนอยู่ชั้นตรีในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เกิดสงครามอินโดจีน คือประเทศไทยรบกับฝรั่งเศส ซึ่งประเทศลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอยู่ ดังนั้นทางการจึงสั่งผู้อยู่เขตเมืองเวียงจันทน์ให้ขุดหลุมหลบภัยทุกบ้านทุกวัด เพราะฝั่งไทยยิงปืนใหญ่เป็นระยะๆ ลูกปืนบางลูกตกเลยหมู่บ้านไปลงทุ่งนาก็มี ตกนอกเมืองก็มี บางลูกตกแล้วไม่ระเบิดก็มี คงเป็นเพราะเก็บไว้นานเลยเสื่อมคุณภาพก็เป็นได้


ผจญสงครามอินโดจีน
วันหนึ่งภายในวัดอูบมุง หลวงพ่อสี ท่านตีเหล็กทำมีดอยู่ได้ยินเสียงปืนใหญ่ทางฝั่งไทยยิงไปจุดไหนไม่รู้ แต่ลูกปืนผ่านตรงกับวัดพอดี เปลือกนอกลูกปืนแตกเป็นเหล็กเท่ากับด้ามมีด ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ตกลงกลางวัดถูกศาลาการเปรียญ ทำให้กระเบื้องมุงหลังคาแตกกระจาย เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้พระเณรที่มุงดูการตีเหล็กตกใจต่างพากันวิ่งลงหลุมหลบภัย ส่วนหลวงพ่อสีก็ตกใจเหมือนกัน จึงวิ่งลงหลุมด้วยทั้งที่มือยังถือคีมคีบเหล็กแดงๆ ที่ตีอยู่นั้น ถ้าถูกใครเข้าคงไหม้ เพราะยังแดงๆ และร้อนมาก แต่ก็ปลอดภัย ไม่ถูกใคร หลบอยู่ในหลุมนั้นประมาณ ๔๐ นาที เมื่อไม่เห็นยิงมาอีกก็พากันออกมาจากหลุม
โยมแม่คิดว่าลูกคงไม่รอดแล้ว
เมื่อเห็นว่าอยู่ภายในเมืองนี้คงไม่ปลอดภัยแน่ ทุกวัดจึงพากันออกจากเมืองไปพร้อมทั้งญาติโยมไปอยู่ให้พ้นจากลูกปืนที่จะยิงถึง อาตมาก็ออกจากวัดไปอยู่ในที่ที่ทำขึ้นเพื่ออาศัยชั่วคราว แต่ที่มีข่าวลือว่าทางประเทศไทยยิงปืนใหญ่และระเบิดใส่เมืองเวียงจันทน์มีคนล้มตายเป็นอันมาก จนขนศพไปทิ้งไม่หวาดไม่ไหว เอาไปทิ้งลงบ่อจนเต็มหลายบ่อ โยมแม่ก็ทราบข่าวนี้ภายหลังเมื่อกลับมาบ้านโยมแม่เล่าให้ฟังว่า ท่านคิดว่าลูกเราคงจะเสียชีวิตในสงครามกับเขา ท่านจึงร้องไห้ ไม่รู้จะทำอย่างไร และพระอาจารย์พุฒก็ไม่ส่งข่าวให้รู้ว่าอยู่ไหน เป็นอย่างไร จึงทำให้ท่านเป็นห่วงลูกมาก เมื่อสงครามเลิกกันไปแล้วคือ พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านพระอาจารย์ก็พาลูกวัดกลับเข้ามาสู่เมืองที่วัดเดิมของตน ในปีนั้นก็จำพรรษาอยู่ที่วัด อูบมุงตามเดิม
กลับเมืองไทย
ฝ่ายพระอาจารย์พุฒเมื่อได้กลับมาเมืองไทยแล้ว วันหนึ่งชาวบ้านศรีเวินชัยไปพบท่านอยู่ที่วัดบ้านซาง (อำเภอเซกาขณะนี้) จึงได้ถามข่าวว่าสามเณรน้อยนั้นอยู่ไหนทำไมไม่เห็น ยังอยู่หรือว่าตายกับหมู่เมื่อสงครามแล้ว ท่านก็บอกว่า ได้เอาสามเณรไปฝากให้อยู่วัดอูบมุง เมืองเวียงจันทน์ ก็คงยังอยู่ที่นั่น เพราะไม่เคยเห็นท่านกลับมาเยี่ยมถามข่าวอะไรเลย ท่านตอบโยมอย่างนั้น ชาวบ้านศรีเวินชัยคนนั้นกลับมาบอกข่าวกับโยมแม่และญาติพี่น้องให้ทราบ
เมื่อทราบข่าวว่าไม่เห็นเณรน้อยเลย ก็ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องร้องไห้อีกคราวหนึ่ง ต่อมาจึงบอกพี่เขยชื่อมีไปเอาเณรน้อยกลับ เพราะว่าพี่เขยเป็นคนเมืองหลวงพระบาง คงได้รับความสะดวกในการเดินทางไปรับ แล้วพี่เขยก็ให้โยมพี่ชายที่ชื่อจูมศรีไปด้วย การไปเอาเณรน้อยคืนมาได้เดินทางไป อ.บ้านแพงนั่งเรือกำปั่น (เรือกลไฟ) ล่องแม่น้ำโขงจากบ้านบ้านแพงไปถึงหนองคาย ๑ คืน อาศัยรถส่วนตัวข้าราชการที่เข้าไปทำธุระที่ อ. ศรีเชียงใหม่ พักอยู่ ๑ คืน ตื่นมาได้ข้ามไปประเทศลาว เมื่อได้เห็นพี่เขยกับพี่ชายมาที่วัดอูบมุง ก็รู้สึกดีใจมาก ถามได้ความว่าจะมาตามเอาเรากลับบ้านจึงได้ไปกราบลาเจ้าอาวาสวัดอูบมุงและครูบาอาจารย์อื่นๆ ที่เคารพนับถือ พร้อมแล้วก็ลงเรือข้ามฟากไป อ.ศรีเชียงใหม่ (ขณะนั้นยังไปไม่ได้เป็นอำเภอ) พอมาถึงฝั่งไทยก็ยังคิดถึงวัดอูบมุงอยู่ พูดกับพี่เขยและพี่ชายว่าจะขอกลับไปอยู่วัดอูบมุงอีกได้หรือไม่ พี่เขยพี่ชายบอกว่าไม่ได้เด็ดขาดเพราะโยมแม่ร้องไห้คิดถึงตลอดเวลาล่องแพกลับบ้าน
การกลับบ้านนั้นจะกลับรถประจำทางก็ไม่ได้ เพราะสมัยนั้นถนนหนทางก็ยังไม่มี ตอนแรกคิดว่าจะรอเรือกำปั่นที่จะมาถึง จ.หนองคาย ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่าจะมาเมื่อใด ถ้าจะรอก็ไม่ทราบว่าอีกกี่วันจึงจะได้กลับ พี่เขยและพี่ชายจึงซื้อไม้ไผ่บ้านมาผูกมัดเป็นแพทำหลังคามุงใบไม้ พอบังแดดบังฝนได้ แล้วไปลาเจ้าอาวาสก่อนกลับบ้านโดยล่องแพ ในตอนบ่ายวันนั้นเอาไม้พายขัดแพให้ออกไปจากฝั่งได้ประมาณ ๔๐ เมตร แล้วก็ปล่อยแพให้ไหลไปตามกระแสน้ำโขง ตามปกติน้ำแม่น้ำโขงนั้นถ้าเป็นฤดูน้ำขึ้นมาน้ำก็ยิ่งไหลแรงขึ้นกว่าฤดูแล้ง แพไหลลอยไปทั้งคืนทั้งวัน พอสว่างก็ถึง จังหวัดหนองคาย เอาแพเข้าเทียบฝั่งเพื่อซื้ออาหารเช้าที่ตลาดนั้นเอง ซื้อได้แล้วก็เอาแพออกจากฝั่งปล่อยให้ไหลไปตามเดิม พวกคนในตลาดก็มองดูว่าแพน้อยนี้ว่าแปลกแท้ ก็ให้แพพาไหลตามน้ำไปอย่างเรื่อยๆ
ในช่วงกลางคืนประมาณ ๕-๖ ทุ่ม เกิดฝนตกแรงพร้อมลมแรงจึงพัดแพไปชนเรือที่เขาจอดอยู่ริมฝั่งบ้านหลังหนึ่ง เมื่อกำลังเอาแพออกจากฝั่งก็เกิดเสียงดังจากที่พวกเรางัดแพออก จึงทำให้ชาวบ้านจุดไต้พากันลงมาดู พี่เขยจึงบอกเล่าการล่องแพมานี้เพื่อกลับบ้าน เพราะการโดยสารทางรถก็ไม่มี เมื่อชี้แจงให้ชาวบ้านหายสงสัยแล้ว ก็เอาแพออกจากฝั่งโขงให้ไหลตามน้ำต่อไป จากศรีเชียงใหม่ใช้เวลา ๔ คืน จึงถึง อ.บ้านแพง จ.นครพนม (ขณะนั้นยังเป็น ต.บ้านแพงอยู่) แล้วเอาแพเข้าจอดที่ฝั่งบ้านดอนแพง ซึ่งพี่เขยนี้มีบ้านในหมู่บ้านริมโขงนั้น จึงขึ้นพักอยู่ที่บ้านนั้น ๒ คืน เพื่อรอเรือกำปั่น เพราะเรือกำปั่นนั้นเอาแน่ไม่ได้ คิดว่าถ้าจะเดินทางจากบ้านแพงผ่านบ้านต่างๆ ที่อยู่ดงภูลังกา ดงบ้านหนองซนซึ่งเป็นดงใหญ่มาก มีป่าไม้หนาแน่น มีสัตว์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในปีนั้นมีเสือกัดกินคนตาย ๕ คนแล้ว ในดงและหมู่บ้านที่จะต้องผ่านไป จึงอ่อนใจว่าได้รอดพ้นการล่องแพผ่านมาแล้ว คราวนี้คงเอาชีวิตไปให้เสือกัดตายในดงเป็นแน่ จึงตกลงคอยเรือกำปั่นต่อไป ต่อมาเรือกำปั่นมาจอดที่บ้านแพง แล้วจะไปทางลำน้ำสงครามไปถึงบ้านปากยาม จึงเป็นโชคดีที่บ้านศรีเวินชัยเป็นทางผ่าน ก่อนจะถึงบ้านปากยาม จึงได้อาศัยเรือนั้นไป พอไปถึงบ้านไชยบุรีซึ่งเป็นที่อยู่ปากน้ำสงครามพอดีเป็นตอนเช้า เรือจอดอยู่ริมท่าวัดไชยบุรี วันนั้นตรงกับวันบุญข้าวประดับดิน คือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ต้องทำบุญทุกปี ชาวบ้านออกมาทำบุญที่วัดมาก จึงได้แบ่งอาหารจากวัดไปถวายอาตมาในเรือด้วย จากนั้นล่องเรือตามแม่น้ำสงครามมาเรื่อยๆ จนถึงบ้านศรีเวินชัยตอนบ่าย
ความทุกข์ของโยมแม่
ขอเล่าเรื่องทางโยมแม่ และน้องสุวรรณ ซึ่งกำลังป่วยเป็นไข้หนักมาหลายวันแล้ว วันนั้นอาการรุนแรงมาก คิดว่าคงจะไม่รอด โยมแม่อุ้มใส่ตักประคองอยู่ ช่วงนี้โยมแม่เป็นห่วงลูกคนสุดท้อง และลูกชายคืออาตมานี้อยู่ทุกวัน นับว่าโยมแม่ได้รับความทุกข์ทางใจอย่างมากเมื่อมีผู้ส่งข่าวว่ามีเรือกำปั่นมาจอดที่ฝั่งบ้านเรา ในเรือนั้นมีเณรคำพันธ์มาด้วย โยมแม่ทั้งได้รับความทุกข์ด้วยความเป็นห่วงลูกชายน้อยอายุ ๖ ปี ที่ป่วยหนักและทั้งดีใจที่ลูกชายคืออาตมามาถึงแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรถูก จะวางลูกที่ป่วยลงจากตัก หรือจะไปรับลูกชายที่เป็นหัวใจของแม่ซึ่งไม่ตายตามคำเล่าลือที่ว่า ผู้คนอยู่ที่เวียงจันทน์ถูกลูกปืนลูกระเบิดตายกันมากมาย ซึ่งทำให้โยมแม่หันหน้าไปทางเมืองเวียงจันทน์ แล้วร้องไห้บ่นเพ้อโดยเลื่อนลอยเกือบ ทุกวัน แต่วันนี้พอรู้ว่าลูกยังไม่ตาย กลับมาถึงแล้วอยู่ที่ท่าเรือขณะนี้ จึงตัดสินใจเอาลูกน้อยคนที่รักสุดใจของแม่คือตัวอาตมา คนที่แม่คิดว่าจะได้พึ่งพาอาศัย เพราะรูปลักษณ์เป็นคนลักษณะดีดูแล้วน่าจะมีบุญ มีสมองดี ตามคำครูที่เล่าไว้ แล้วโยมแม่ก็ตกลงใจวางลูกชายคนเล็กไว้ก่อน แล้ววิ่งลงไปท่าเรือเพื่อพบลูกชายที่เป็นห่วง เวลานั้นเรากำลังเดินออกจากเรือโยมแม่ก็ไปถึงพอดี ท่านดีใจมากพร้อมยื่นมือไปจับแขนเราจูงมาว่าลูกแม่เอ๋ย แม่คิดว่าเจ้าตายแล้วแม่ร้องไห้ถึงเจ้าทุกวันๆ โยมแม่ทั้งพูดพร่ำรำพันทั้งน้ำตาร่วงเป็นสายทั้งเดินจูงแขนด้วย เราเองก็ไม่ห้ามท่าน ปกติสมณะบวชเป็นบรรพชิตเพศแล้ว ผู้หญิงแม้จะเป็นมารดาก็ไม่ควรให้จับต้อง แต่นี้เราไม่ห้าม เพราะท่านเป็นห่วงมาก แม้จะให้ตายแทนลูกแม่ทุกคนก็ยอมตายนั่นเอง
โยมน้องยังรอเห็นหน้าก่อนลาจาก
ในปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เราอายุ ๑๓ ปี น้องสุวรรณอายุ ๗ ปี เมื่อขึ้นไปบนเรือนโยมแม่ก็วิ่งไปอุ้มน้องซึ่งกำลังเป็นไข้หนักมีอาการกระวนกระวาย ดิ้นไปตามอาการของไข้หนัก โยมแม่ได้บอกลูกน้อยให้เหลียวมองดูพี่ชายที่แม่ได้ร้องไห้คิดถึงทุกวัน บอกว่ายังไม่ตาย กลับมาถึงบ้านเราแล้ว สุวรรณได้หันมาสบตากันนิดหนึ่ง พอรู้หน้ากันไม่นานก็กระสับกระส่ายไปตามพิษไข้ อาตมาก็พักอยู่กับบ้าน และน้องชายก็สิ้นลมในเวลาเที่ยงคืนวันนั้นเอง คงยังไม่อยากตาย เพราะอยากเห็นหน้าพี่ชายก่อน คิดดูแล้วในระยะนี้โยมแม่รับทุกข์ทางใจมากอย่างยิ่ง
การตัดสินใจครั้งสำคัญ (สึกหรือไม่สึก)
เมื่อทำการฌาปนกิจน้องสุวรรณแล้ว พี่เขยซึ่งเป็นครูสอนโรงเรียนบ้านศรีเวินชัย สอนมา ๒ ปีแล้ว ได้ถามว่าจะสึกหรือจะอยู่เป็นสามเณรต่อไป ถ้าจะสึกก็จะให้เรียนหนังสือ ถ้าไม่สึกก็จะพาไปฝากพระอาจารย์ วัง ฐิติสาโร ที่วัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัยบ้านของเราเมื่อพี่เขยถามเช่นนั้น จึงคิดทบทวนแต่ครั้งก่อนเมื่ออยู่เวียงจันทน์เห็นหมู่เพื่อนเณรด้วยกันสึก เราก็คิดแล้วบอกกับเพื่อนว่าถ้าผมได้กลับบ้านเมื่อไรจะต้องสึกแน่ๆ แต่ขณะนี้ผมยังไม่สึก แต่พอมาถึงบ้านมีเหตุการณ์ที่โยมแม่ได้รับความผิดหวัง คือลูกชายคนเล็กได้จากไปไม่มีวันกลับมา และดีใจที่เราได้กลับมาให้ท่านสมหวังที่รอคอย จึงคิดอีกครั้งกับคำที่บอกกับเพื่อนเณรที่ อยู่เวียงจันทน์ไว้และเกิดความคิดใหม่ว่าจะไม่สึกพี่เขยคือ ครูเพชร เหมื้อนงูเหลือม จึงพูดว่า ถ้าไม่สึกจะพาไปฝากกับพระกรรมฐาน คือ พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ซึ่งท่านได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้อยู่จำพรรษาและจะสร้างให้เป็นวัดศรีวิชัยต่อไป
ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

เมื่อฉันข้าวเสร็จแล้วพี่เขยและโยมแม่พาไปฝากอยู่กับท่าน พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ที่วัดศรีวิชัย พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นต้นมา เมื่ออยู่กับท่านแล้ว ท่านได้ให้ท่องสวดมนต์ตามหนังสือเจ็ดตำนานคือเรียนต่อปากท่าน ท่านบอกให้แล้วก็ท่องจำให้คล่อง วันใหม่ก็ท่องคำที่จดจำได้นั้น ให้ท่านฟัง แล้วก็ท่องคำต่อๆ ไปแต่ละสูตรๆ ปรากฏว่าเราเรียนจดจำได้ เร็วมาก ท่านพูดว่าจำได้เก่งจริง เรื่องจดจำการสวดมนต์ได้เร็วนี้คิดว่าคงเป็นอุปนิสัยเป็นบุญเดิมมาแต่ชาติปางหลังเพราะพระสูตรต่างๆ นี้เมื่อได้ฟังท่านสวดแล้ว เราก็จำได้ง่าย คล้ายกับได้จดจำมาก่อนแล้ว ท่องจำสวดมนต์ไม่นานก็ท่องได้ตามสูตรที่จะต้องใช้ในงานต่างๆ ได้หมด

เมื่ออยู่กับท่านจนมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านมีนาคจะบวชพระ ๑ คนชื่อว่า โง่น (คือ หลวงปู่โง่น โสรโย) การบวชนี้จะต้องไปที่ วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ห่างจากวัดศรีวิชัยประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร การไปไม่มีถนนและรถยนต์เหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นท่านจึงต้องไปทางเรือ เมื่อเตรียมอะไรพร้อมแล้วก็จัดเสบียงอาหารนำไปให้พร้อมด้วย ออกจากบ้านศรีเวินชัย ล่องไปตามลำน้ำสงครามไปออกแม่น้ำโขงที่ปากน้ำไชยบุรี แล้วล่องลำน้ำโขงจนถึงตัว จ.นครพนม ในการบวชครั้งนี้มี สามเณรคำสอน วิชาโสก ซึ่งบวชฝ่ายมหานิกาย เป็นคู่กันขอญัตติบวชเป็นสามเณรธรรมยุตใหม่ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่ออายุ ๑๔ ปี โดยมี ท่านพระสารภาณมุนี (ภายหลังคือ พระเทพสิทธาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชเสร็จก็เดินทางกลับโดยทางน้ำเหมือนเดิม
อัศจรรย์แห่งอาจารย์วัง ภาวนาจนรู้หนังสือ

ในปีนั้นเองทางเจ้าคณะจังหวัดได้สั่งให้พระเณรสอบนักธรรม เมื่อไม่มีใครสอนท่านอาจารย์วังนั้นเองเป็นครูสอน ท่านอาจารย์นั้นเมื่อเป็นเด็กเข้าโรงเรียนอยู่ ๔ ปี ก็อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะท่านสมองไม่ดี เมื่ออกจากโรงเรียนก็อ่านหนังสือไม่ออก แต่เมื่อท่านออกบำเพ็ญภาวนา เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิอันดีแล้ว ท่านกลับอ่านออกเขียนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้นแม้ท่านไม่เคยเรียน ไม่เคยสอบนักธรรมเลย แต่ก็สามารถสอนได้ มีเณรได้เรียนในปีนั้นคือ สามเณรคำสอน วิชาโสก สามเณรแก้ว สีใส รวมกับเราท่านสอนได้เดือนสองเดือนก็หยุดให้อ่านเอาเอง ปรากฏว่าในปีนั้นสอบได้นักธรรมตรีทั้ง ๓ รูป ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๖ เราสอบได้นักธรรมโทโดยวิธีการอ่าน และเรียนด้วยตนเอง

จำพรรษาบนภูลังกา

พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโรไปอยู่จำพรรษาที่ถ้ำ ชัยมงคลซึ่งอยู่หลังภูลังกา ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงกาฬ (ปัจจุบันคือ อ.บึงโขงหลง) จังหวัดหนองคาย ในปีนั้นมีสามเณร ๓ รูป คืออาตมา สามเณรสุบรรณ ชมพูพื้น สามเณรใส ทิธรรมมา รวมเป็น ๔ รูปกับท่านอาจารย์วัง ถ้ำนี้อยู่บนหลังเขาภูลังกาทางทิศตะวันตก ถ้าลงไปบิณฑบาตจากบ้านโนนหนามแท่ง บ้านโพธิ์หมากแข้ง ต้องเดินตามทางคนผ่านดง ภูลังกา ไปประมาณ ๖ กิโลเมตร จึงจะถึงหมู่บ้าน ทดลองไปบิณฑบาตแล้วไกลเกินไป จึงนำเอาอาหารแห้งไปไว้ที่ถ้ำให้โยมและเณรทำถวายท่าน

อุบายปราบความง่วง

ในการไปอยู่ภูลังกาท่านก็สอนให้ทำความเพียรด้านจิตใจเดินจงกรม นั่งสมาธิตามที่ท่านได้บำเพ็ญมาอย่างโชกโชน แต่เราผู้ปฏิบัติ ก็ไม่ได้สมใจนึกเท่าที่ควร นั่งสมาธิก็มีแต่โงกง่วงสัปหงกอยู่เรื่อย จึงคิดจะหาทางปราบไม่ให้โงกง่วง วันหนึ่งจึงขึ้นไปบนหลังถ้ำ ซึ่งมีลานหินกว้างยาวพอเดินจงกรมได้สะดวก หรือจะนั่งสมาธิตามที่แจ้งหรือร่มไม้ก็สะดวกดี เลือกเอาที่ใกล้หน้าผาชันสูงมากห่างหน้าผาประมาณ ๒ วา มีที่นั่งเหมาะอยู่ จึงตกลงไปนั่งที่นั่น ถ้าสัปหงกไปทางหน้าก็คงจะเลื่อนไหลตกหน้าผาได้ จึงนั่งลงที่ตรงนั้นแล้วบอกตัวเองว่า นี่หน้าผาชันอันตราย ถ้าเจ้าจะนั่งโงกง่วงอยู่ แล้วชะโงกไปข้างหน้าก็มีหวังตกหน้าผา คงไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว หลังจากเดินจงกรมแล้วก็เข้าไปนั่งที่หมายไว้ ได้นั่งไปนานเกือบชั่วโมง สติก็ประคองใจให้อยู่ตามอารมณ์ที่ต้องการอยู่ได้ เพราะกลัวตาย ต่อจากนั้นร่างกายคงเดินจงกรมมานาน และนั่งร่วมชั่วโมงแล้วสติเผลอนิดเดียวเกิดง่วงสัปหงกจนได้ แต่สัปหงกคราวนี้แทนที่จะโยกคว่ำไปทางหน้ากลับสัปหงกหงายหลังเกือบล้ม ตกใจตื่นจากง่วงจึงคิดว่าเกือบตาย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องตายแท้ๆ มันยังง่วงอยู่ได้ จึงเลิกนั่งเลยวันนั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่ได้ผลดีมากเพราะไม่ง่วงอีกเลย ถ้ายังง่วงอีกจะพาไปนั่งที่นั่นอีก เข็ดหลาบได้ผลดี แต่ความเพียรก็ไม่ลดละ แต้ก็ล้มลุกคลุกคลานไม่สงบตามที่ต้องการ
มาตุคามมาเยือน

ในระยะนั้นอยู่ถ้ำชัยมงคลกับท่านทั้ง ๓ เณร เณรนั้นอายุ ๑๘-๑๙ ปี กิเลสต่างมาวุ่นวายทำให้จิตใจปั่นป่วน จะอยู่จะไปเท่ากัน วันหนึ่งท่านอาจารย์ได้ถามว่าเณรใดจะสึกจะอยู่ เรากราบเรียนท่านว่ายังบอกไม่ถูกว่าจะอยู่หรือจะสึก เราพูดเพราะหลงความงามนั่นแหละ เรื่องสวยเรื่องงามนี้ แม้ว่าในใจเราจะเฉย แต่ก็แปลกกับความงามน่ารักของเพศตรงข้าม

มีคราวหนึ่งตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ขณะอยู่วัดอูบมุง เมืองเวียงจันทน์ จะลงไปอาบน้ำโขงกับเพื่อนเณร ๔ รูป ทางนั้นต้องผ่านบ้านของชาวบ้านหลายหลัง เมื่อเดินไปถึงกลางบ้าน นางสาวบุญเรือง เอาแขนสองข้างอ้อมเป็นวงรอบตัวเรา เพราะเกิดนึกสนุกอย่างไรไมทราบแถมบอกว่า อย่าไหวนะ ถ้าไม่เช่นนั้นจะกอดเลย เราก็หดตัวอยู่ในอ้อมแขนของเขา ไม่รู้จะทำอย่างไร เรื่องรักเรื่องใคร่ไม่มีในขณะนั้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อ้อมอยู่นานประมาณ ๔ นาที จึงปล่อยเราไปแปลกมาก

อีกคราวหนึ่ง ได้ไปร่วมเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน เมื่อเสร็จงานจะกลับวัด เดินมาทางกลางบ้านของงาน มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งแกมีลูกสาว จึงพูดขึ้นท่ามกลางคนทั้งหลายนั้นว่า เณรน้อยจะหมายไว้เป็นลูกเขยจงจำไว้ ไม่รู้ทำไมโยมนั้นจึงกล้าพูดคำเช่นนั้นในกลางชุมชน เพราะแกเกิดความรักความคิดอย่างไรจึงพูดเช่นนั้น เราก็เก้อเขินอายในใจด้วย

ส่วนอีก ๒ เณร บอกท่านอาจารย์ว่าจะอยู่ ต่อมาก็พากันสึกทั้งสองรูป เราผู้ไม่ได้บอกท่านกลับอยู่ได้ นี้ไม่แน่นอนเหมือนกัน

จากสามเณรสู่ภิกษุหนุ่ม

ถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ อายุได้ ๒๐ ปี ท่านอาจารย์ได้ส่งเราไปทางเรือกลไฟ จากบ้านแพงไปนครพนม เป็นคู่กันกับเณรวันดี แสงโพธิ์ ไปบวชพระที่ วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ในเดือนมกราคม ท่านพระอาจารย์ที่วัดบอกว่า ผู้เกิดเดือนพฤษภาคมบวชได้ ส่วนผู้เกิดเดือนพฤศจิกายนนั้นใกล้จะเข้าพรรษาจึงมาบวชได้ ดังนั้นจึงบวชได้เฉพาะสามเณรวันดี ส่วนอาตมาเห็นว่าเมื่อกลับไปแล้วจะกลับมาลำบาก เพราะเป็นฤดูฝน จึงไม่ได้ไปตามที่ท่านแนะ รอจนออกพรรษาแล้วจึงลงจากถ้ำชัยมงคล เดินทางไปวัดศรีเทพประดิษฐารามเพื่อไปสอบนักธรรมเอกด้วย จึงอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๑๓.๕๐ น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์เป็น พระเทพสิทธาจารย์ ท่านพระครูวิจิตรวินัยการ (พรหมา โชติโก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังท่านมีสมณศักดิ์เป็น พระราชสุทธาจารย์ และปรากฏว่าสอบนักธรรมเอกได้ในปีนั้นนั่นเอง
กลับมาอยู่วัดศรีวิชัย

พ.ศ.๒๔๙๓ ท่านพระอาจารย์วังได้สั่งให้ไปอยู่วัดศรีวิชัย เพราะปีนั้นวัดว่างจากพระ ไม่มีพระมาจำพรรษา ท่านเป็นห่วงวัดและญาติโยม เพราะท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านจึงให้อาตมาพร้อมด้วย พระวันดี อโสโก พระดอน ขันติโก สามเณรและเด็กวัดให้ลงไปอยู่วัด ซึ่งปีนั้นอาตมามีพรรษาได้ ๓ พรรษา เมื่อไปอยู่วัดแล้วร่วมจำพรรษาด้วยกันทั้งหมด ในกลางพรรษานั้น ท่านหลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้ขอให้สอนนักธรรมตรีที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อมาอยู่ที่วัดศรีวิชัยแล้ว ก็ไม่ได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

หาอุบายแก้ความกลัวผี

ในการบำเพ็ญจิตภาวนานั้นก็ไม่ลดละ คงบำเพ็ญมาตลอดตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์ได้แนะนำสั่งสอนมาได้รับความสงบบ้างในบางวัน วันหนึ่งเวลาประมาณ ๕ ทุ่ม หลังจากเดินจงกรมแล้วจะไปเยี่ยมที่เผาศพซึ่งกำลังเผาศพอยู่ เพื่อจะให้จิตสงบหายกลัวผี ซึ่งมีอยู่มากตามปกติ เมื่อเดินไปใกล้จะถึงที่เผาศพอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร มีความกลัวมาก กลัวจนสุดขีด ขาแข็งก้าวเท้าเดินไม่ออก ได้ยืนกับที่ยืนนิ่งอยู่นาน จึงคิดว่ากลัวทำไม เราได้ขอฝากตัวถวายชีวิตต่อพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีใครจะเหนือพระองค์ไปได้ แม้แต่พระอินทร์ พระพรหม เทวดา ผีสางนางไม้ มนุษย์ยอมกราบไหว้ทั้งหมด เอ้าตายเป็นตาย จากนั้นก็ยืนนิ่งไปเลยนานเท่าไรไม่ได้กำหนด เมื่อถอนจากความสงบแล้ว จิตเบิกบานหายจากกลัวผีเป็นปลิดทิ้งเลย แล้วจึงเดินต่อไปหาศพ พิจารณาถึงการตายของเราแล้วว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ ในวันหนึ่งแน่นอน ได้ธรรมะมากพอสมควรแล้วจึงเดินกลับกุฏิ

พัฒนาวัดศรีวิชัย

ในกาลต่อมาเมื่อมีพระเณรมาจำพรรษาอยู่ด้วยมากขึ้น จึงซ่อมหลังคาศาลาโรงธรรมขึ้น เพราะปลวกกัดหลังคาเสียหาย ก็พาโยมจัดซ่อมขึ้น พร้อมทั้งกุฏิก็ชำรุดและกุฏิไม่พอ จึงให้โยมชาวบ้านช่วยกันจัดซ่อมและสร้างใหม่ขึ้น ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้สร้างศาลาถาวรขึ้นใหม่ ก่อด้วยอิฐต่อด้วยเสาไม้ทรงไทย กว้าง ๑๑.๑๕ เมตร ยาว ๑๘.๕๐ เมตร มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ซื้อแบบพิมพ์มาทดลองเอง ซื้อทั้งหมด ๔๗,๖๕๐ บาท ทำอยู่ ๒ ปีเศษจึงสำเร็จ และได้ฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙

สู่ถ้ำชัยมงคลพิสูจน์ข่าวลือเรื่องผี

ต่อมาในปี ๒๔๙๙ นั้นได้มีเสียงเล่าลือว่า ที่ถ้ำชัยมงคลมีผีเฝ้าถ้ำอยู่โดยเข้าใจว่าคงเป็นพระอาจารย์วัง และพระวันดีผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งได้มรณภาพที่นั่น นี่เป็นคำบอกเล่าของพระอาจารย์กุล อภิชาโต บ้านโพธิ์หมากแข้ง ซึ่งเป็นพระวัดบ้าน และเป็นผู้ที่เคารพรักใคร่ของพระอาจารย์วังอยู่มาก จึงบอกให้เราทราบ ได้ปรึกษากันว่าคำเล่าลืออย่างนี้ไม่ดีแน่ จึงตกลงกันไปกับท่าน เมื่อไปถึงบ้านโพธิ์หมากแข้งแล้วพักหนึ่งคืน วันต่อมาได้ชักชวนญาติโยมประมาณ ๑๕ คนขึ้นไปสู้ถ้ำชัยมงคล ได้ค้างคืนอยู่นั่น ๓ คืน แต่ละวันแต่ละคืนได้พากันทำวัตรสวดมนต์ แล้วทำบุญอุทิศไปให้ ครูบาอาจารย์ เทวดาอารักษ์ สรรพสัตว์ด้วย แล้วนั่งภาวนาพอสมควร แล้วหยุดพัก อธิษฐานว่า ถ้ามีอะไรเป็นจริงตามคำเล่าลือก็ขอให้มีมาปรากฏทางใดทางหนึ่งให้ทราบ แต่แล้วทั้ง ๓ คืน ก็ไม่มีอะไรมาปรากฏให้รู้ จึงมีความเห็นว่า เป็นเพราะถ้ำไม่มีพระอยู่เป็นประจำ ผู้ไปอาศัยก็ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยว จึงสร้างความคิดขึ้นหลอกตัวเองไปต่างๆ นานา
เกือบเอาชีวิตไปทิ้งที่บึงโขงหลง

จากนั้นก็ลงจากถ้ำจะกลับวัด แต่มีโยมบ้านดอนกลาง ต.โพธิ์หมากแข้ง เคยเป็นบ้านอุปัฏฐากถ้ำชัยมงคลเช่นกัน จะทำบุญบ้าน จึงขอนิมนต์ให้อยู่ร่วมทำบุญด้วย จึงจำเป็นต้องไปตามคำนิมนต์ เมื่อเสร็จจากงานบุญแล้ว ก็จะกลับบ้าน โยมจะหาผักหนอก (ผักใบบัวบก) ถวาย ซึ่งมีอยู่ใกล้บ้าน ๑ กิโลเมตร ริมน้ำบึงโขงหลง เหตุการณ์บังเอิญให้เกิดความคิดกันขึ้นในชุมนุมกันอยู่ เกิดความอยากสรงน้ำขึ้นมา จึงชวนกันไปสรงน้ำที่อยู่ใกล้ๆ กับที่โยมไปเอาผักหนอก จึงตกลงกันไป ๕-๖รูป เมื่อไปจริงๆ ผู้ชวนหมู่กลับไม่ไปด้วย ก็มีผู้ใหม่มาแทนรวมได้ ๔ รูป คือ

๑. พระอาจารย์กุล อายุ ๓๖ ปี เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี
๒. พระคำพันธ์ (อาตมา) อายุ ๒๙ ปี เกิดอยู่จังหวัดนครพนม
๓. พระทองดี อายุ ๓๖ ปี เกิดอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์
๔. พระอุทัย อายุ ๒๔ ปี เกิดอยู่จังหวัดหนองคาย

ทั้งหมด ๔ รูป ๔ จังหวัด เรือที่เอาไปนั้นนั่งได้ ๖ คน ทั้ง ๔ รูปนั่งริมเรือซึ่งอยู่สูงจากน้ำอยู่ เรือเป็นเรือโคลงเคลงง่ายนั่งไม่แน่นเอียงซ้ายเอียงขวาอยู่เรื่อยๆ

ความตั้งใจเดิมว่าจะไปสรงน้ำ เมื่อไปถึงที่โยมเก็บผักหนอกแล้ว เพราะเหตุดลใจอย่างไรไม่ทราบ จึงคิดชวนกันขณะนั้นว่า พวกเราไปดอนแก้วดอนโพธิ์ ซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำบึงโขงหลง แล้วจึงกลับมาพบโยม ตกลงกันดังนั้นแล้วก็หันหัวเรือมุ่งไปดอนทั้งสองนั้น พายเรือไปกลางน้ำมุ่งตรงไปดอนเลย ซึ่งปกติคนอื่นเขาไปกัน เขาจะพายเรือเทียบฝั่งไปก่อน เมื่อไปถึงตรงดอนแล้วจึงหันหัวเรือไปสู่ดอนภายหลัง นี่ก็ลางร้ายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมาทราบภายหลัง กรรมของผู้ตายมาถึงจุดจบแล้ว จึงให้พอทำใจอย่างนั้น ดอนทั้งสองอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นประมาณ ๒ กิโลเมตร เมื่อพายเรือไปถึงจุดที่เรือพลิกล่ม เป็นจุดกลางพอดี ระหว่างสองฝั่งทั้งสอง เรือได้โคลงพลิกเอาน้ำเข้าเรือข้างซ้าย จากนั้นน้ำก็เข้าเรือเรื่อยๆ จนทำให้เรือจม ทั้ง ๔ รูป ตกใจ แต่ทุกคนอยู่กับเรือตามที่อาตมาแนะนำ เพราะอาตมาเคยชำนาญทางเรือทางน้ำ เรือล่มก็ถือว่าเป็นเรื่องสนุกไป เมื่อใดเรือล่มก็ชวนกันกู้เรือได้ แล้วก็ขึ้นเรือต่อไป แต่ ๓ รูปท่านไม่เคยทำเช่นว่า เพราะเมื่ออาตมาชวนให้กู้เรือทั้งๆ ที่เท้าไม่เหยียบดินก็ทำไม่เป็น อาตมาก็ดึงเรือ กู้คนเดียวไม่ไหว เพราะ ๓ รูปเกาะติดแน่น เลยไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ก็มารวมนั่งในเรือซึ่งล่มอยู่ เมื่อนำหนัก ๔ รูปทับอยู่ จึงทำให้เรือจมดิ่งลง แล้วก็เปรียบเหมือนเอาเท้าเหยียบส่งต่อ เรือจึงจมลงจนน้ำเข้าปาก ต่างก็ว่ายน้ำกันตามลำพัง เมื่อเห็นเรือมันโผล่ขึ้นมาไกลจากจุดที่พระ ๔ รูปว่ายน้ำอยู่ประมาณ ๕ วา ก็ว่ายน้ำไปรวมที่เรืออีก แต่เรือก็จมลงอีก เมื่อเรือโผล่ก็ว่ายไปหาเรือที่โผล่ขึ้นอีก ทำอย่างนี้หลายครั้ง

คราวหนึ่งอาตมามาคนเดียวได้มีโอกาสร้องบอกว่า เรือล่มช่วยด้วยได้เพียงสองคราว จากนั้นต่างคนต่างก็ลอยคออยู่ตามลำพัง จนรู้สึกหมดแรง พระอาจารย์กุลท่านมีโรคประจำตัว ส่วนพระอุทัยเป็นคนรูปร่างเล็ก ผลต่อมาคือ เมื่อว่ายน้ำไปหาเรืออีกครั้งปรากฏว่าไม่พบพระอาจารย์กุลและพระอุทัยแล้วไม่รู้จมน้ำที่ไหน เพราะต่างคนก็ต่างดิ้นรนช่วยตัวเอง ดีอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อว่ายน้ำไม่เก่งก็ไม่ไปกอดอาศัยคนที่ว่ายน้ำเก่ง เมื่อเหลือสองรูปกับพระทองดีจึงพูดกันว่า เมื่อเพื่อนตายไปแล้ว เราสองคนอย่าหนีจากเรือ ขณะที่เรือล่ม มาทราบภายหลังว่า มีคนเห็นอยู่ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกฝั่งขวามีโยมสามคนกำลังแทงเหล็กแหลมเพื่อหาจับปลาไหลอยู่ ครั้งแรกนั้นเมื่อเห็นพระพายเรือมาแต่ไกลก็พากันเข้าใจว่าเป็นพระอยู่บ้านโสกก่าม หรือไม่ก็คงเป็นพระที่บ้านต้องกลับจากที่ไปร่วมทำบุญบ้านดอนกลาง แล้วพากันกลับวัดโดยเรือ แต่เมื่อเรือล่มอยู่กลางบึงโขงหลงตรงตัวพอดี กลับเข้าใจไปว่ามีโยมคนหนึ่งอยู่คนละฝั่งโขงหลงกำลังไล่ตีกวางลงน้ำอยู่ มองเห็นหัวเรืออยู่ที่กลางน้ำที่โผล่ขึ้นๆ ลงๆ ดังที่เล่ามาแล้ว เข้าใจว่าเป็นเขากวาง จึงพากันเอาเรือข้ามบึงโขงหลงไปช่วยไล่ตีกวางด้วย เผื่อจะได้แบ่งส่วนเนื้อกวาง โยมกลุ่มนี้เองคือกลุ่มที่มาช่วยอาตมา ส่วนโยมกลุ่มที่ ๒ อยู่อีกฝั่งหนึ่งมองเห็นเรือล่มอยู่นั้น คิดว่ามันติดกับฝั่งโน้น เข้าใจว่าเด็กเล่นเรืออยู่ จึงร้องด่าไปแก่พวกเด็กๆ ด้วย โยมกลุ่มที่ ๓ เป็นชาวบ้านโสกโพธิ์ ชวนกันมาทอดแห ๘ คน มีเรือ ๔ ลำ พร้อมกับทอดแหมาเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ไกลจากจุดเรือล่มประมาณ ๖-๗ เส้น รู้กันทุกคนว่ามีเรือล่มและมีคนว่ายน้ำลอยคออยู่ (คือได้ถามกับโยมคนหนึ่งใน ๘ คนภายหลัง) เสียงร้องให้ช่วยเหลือก็ได้ยินชัดเจนอยู่ แต่ได้คิดว่าเป็นเรือพระ ตอนแรกก็ชวนกันจะไปช่วยอยู่เหมือนกัน ซึ่งถ้าเขาพากันไปช่วยในช่วงนั้นก็คงช่วยได้ ไม่ต้องมีใครตาย หรือไม่ก็ช่วยได้ ๒ รูป แต่กรรมของผู้ตายดลบันดาล ปิดสมองปิดหัวใจไม่ให้มีโอกาสช่วยเหลือได้ จึงพร้อมกันทั้ง ๘ คนให้เห็นพร้อมกันว่า ไม่ต้องไปช่วยพวกนั้นดีกว่า คงเป็นตำรวจเอาผู้ร้ายมาฆ่า อย่าไปยุ่งกับเจ้ากับนายเลย (อาตมาจึงถามว่า มีตำรวจทำเช่นนี้มาแล้วหรือ เขาตอบว่าไม่เคยมีเลย) ผลก็คือตัดสินใจไม่พากันไปช่วย ทอดแหไปตามเรื่องเฉย คิดแล้วน่าน้อยใจว่าใจดำอำมหิตกันจริงๆ แต่มาคิดในแง่กรรมของผู้ตาย มันคือจุดจบชีวิตแล้ว จึงบันดาลให้ปิดหัวใจของคนทั้งสามจุดนั้นให้แน่นหนา เพราะเมื่อผลกรรมจะให้ผลแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน บนฟ้า ใต้ดิน ไม่มีทางหลีกจากกรรมคือความตายได้เลย แต่มาคิดว่าอาตมามีกรรมพัวพันกันมาแต่ครั้งไหน จึงติดพันกันมาร่วมเหตุการณ์เช่นนั้นได้
เมื่อกรรมบันดาล

คราวนี้ขอกล่าวต่อถึงเหตุการณ์พระสองรูปที่เหลือ ได้พูดกันว่า เพื่อนตายไปแล้วสองคนเราอย่าหนีจากเรือเด็ดขาด ก็ร่วมกันนั่งเรือที่ล่มอยู่นั่นเอง คนหนึ่งอยู่หัวเรือและอีกคนอยู่ท้ายเรือ ได้ร้องให้คนช่วยเหลือถึงสองครั้ง พระทองดีก็ร้องสองครั้ง คราวนี้โยมสองคนที่จะไปช่วยตีกวางลงน้ำจึงสำนึกขึ้นได้ว่าคงเป็นพระที่เราเห็นตอนต้นแล้วคิดว่าท่านกลับมาจากทำบุญโดยทางเรือต้องไปช่วยแล้ว โดยเอาเรือลำใหญ่นั่งได้ ๑๒ คน แต่ลงเรือไป ๒ คน อีกคนไม่ไปด้วย มีไม้พายหนึ่งเล่ม คนที่สองเอาไม้ไผ่กลมๆ ใช้แทนไม้พาย จึงเป็นเหตุให้เรือไปช้า ถ้ามีไม้พายทั้งสามคนๆ ละอัน ร่วมกันต้องพายเรือไปทันช่วยพระทองดีแน่ ความตายของพระทองดียังจะต้องมีในระยะนี้อยู่ จึงให้เป็นทางเอื้ออำนวยตามเรื่องของกรรมบันดาล
บุพนิมิตก่อนสิ้นสติ

ขณะที่โยมสองคนกำลังมาช่วยนั้นยังอยู่อีกไกล เราสองรูปได้ว่ายน้ำไปๆ มาๆ หลายเที่ยวรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยมาก เรือที่มีเรานั่งอยู่ก็พยุงเราไม่ได้ ทำให้ยันเรือจมลงพื้นน้ำ น้ำก็เข้าปาก ต่างคนต่างว่ายหาเรือ ถึงขณะนี้อาตมาก็เริ่มหมดแรงจะจมน้ำลงไปด้วย จึงได้แต่พยายามพยุงตัวเองขึ้นให้พ้นน้ำ ขณะนั้นปรากฏเห็นสิ่งอัศจรรย์คือเห็นของรูปศาลาการเปรียญที่ได้สร้างอยู่ที่วัดศรีวิชัย และเพิ่งทำบุญฉลองไปไม่นาน เป็นรูปย่อส่วน ยาวประมาณ ๑ ศอกเป็นรูปสีทองสวยงามมาก ลอยอยู่กลางอากาศ สูงจากพื้นน้ำประมาณ ๓ วา เป็นบุพนิมิตทางสุคติที่จะต้องไป ขณะนั้นเราก็เหมือนหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะดื่มน้ำเข้าไปมากและก็เริ่มจมลงไปอีก เราก็ต้องพยายามพยุงขึ้นให้พ้นน้ำอีก แต่กรรมไม่ถึงที่ตายมาถึงระยะนี้ จึงสามารถพยุงกายโผล่ขึ้นมา ทำให้ศีรษะกระทบกับเรืออย่างแรงจนทำให้หัวโน แล้วเราก็เอามือทั้งสองข้างกอดเรือไว้ทันที แต่ก็ได้ดื่มน้ำเข้าท้องจนเต็ม ทำให้หายใจไม่สะดวก ในใจก็กลัวมือที่กอดเรืออยู่จะไหลลื่นหลุดจากเรือแต่มีสติดีอยู่ ได้มองไปเห็นพระทองดีซึ่งอยู่ไกลประมาณ ๔ วา หมดแรง จะมาหาเรือก็ไม่ได้ เห็นพระทองดีค่อยๆ จมลงไปอย่างช้าๆ โดยไม่กระดุกกระดิกเลย มีฟองไหลออกจากปาก จากจมูก จากหู เป็นสายติดกัน เพราะน้ำเข้าสู่ท้อง ลมก็ออกมาดังกล่าว ส่วนเราผู้กอดเรืออยู่ก็หมดแรง กลัวมือจะลื่นไหลจากเรือ หายใจไม่ทั่วท้องแต่ก็คิดจะช่วยอยู่ จึงพยายามกระเถิบเรือไปให้ใกล้พระทองดี เห็นสายฟองน้ำยังออกเป็นสาย ได้เอามือข้างหนึ่งงมลงไป ถ้าจับถูกก็จะดึงขึ้นมา แต่นี่จับไม่ถูก เพราะจมลงลึกแล้ว ต่อไป (ขอโทษ) ได้เอาเท้ากวาดดูก็ไม่เจออีก คงจมลึกลงไปแล้ว หมดทางจะช่วยได้แล้ว จึงคิดช่วยตัวเอง ทั้งๆ ที่หายใจไม่ทั่วท้อง คิดว่าคงตายอยู่ตลอดเวลา จึงพยายามกู้เรือขึ้นมาได้นิดหนึ่ง เอามือข้างหนึ่งกวาดน้ำออกจากเรือแล้วพยายามขึ้นเรือ พอขึ้นเรือได้จึงรู้ว่าในตัวเรามีแต่ผ้าอังสะกับสายประคดรัดเอวอย่างแน่นนี่เอง ที่ป้องกันไม่ให้กินน้ำเข้าไปมากกว่าที่เป็นมาแล้ว คือยังมีอะไรช่วยได้อยู่บ้าง ส่วนผ้าอาบน้ำกับสบงไม่รู้หลุดไปอยู่ที่ไหน เมื่อขึ้นไปอยู่บนเรือแล้วเกิดมีลมพัดเรือให้ไหลไปอีกฝั่งหนึ่งจนถึงป่าบัวริมฝั่ง แต่ยังไกลจากฝั่ง ๓-๔ เส้น ก่อนหน้านี้ไม่มีลมพัดเลย ทั้งๆ ที่ลอยคออยู่ดังกล่าวประมาณ ๓๐ นาที เมื่อนั่งอยู่กลางลำเรือเอามือประสานกันก้มลงทับขั้นเรืออยู่ มองไปเห็นเรือที่โยม ๒ คนนำมาช่วย สติยังดีอยู่รู้ว่าตัวเรา ไม่มีอะไรนุ่ง จึงปลดเอาผ้าอังสะผืนใหญ่เอามานุ่ง

เมื่อโยมนั้นมาถึงจึงลงถามว่า ญาคู (พระ) ชื่อว่าอะไร ไม่รู้ว่าจะถามชื่อไปทำอะไร เราจึงไม่ตอบ แล้วโยมถามอีกว่า จะไปไหน

ครั้งนี้ก็ไม่ตอบอีก เพราะรู้สึกเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว โยมจึงถามอีกว่าหมู่ (เพื่อน) ไปไหนหมด จึงบอกว่าตายหมดแล้ว โยมจึงถามอีกว่า จะให้ผมทำอย่างไร คำนี้ไม่ควรถามเลย ก็เห็นเต็มตาอยู่แล้วว่าควรจะช่วยคนอยู่ในสภาพนี้ได้อย่างไร จึงบอกว่าควรนำอาตมาเข้าฝั่ง เขาจึงมาอุ้มเราขึ้นไปเรือลำใหม่ เขาเล่าว่าทั้งตัวดำหมด เพราะระบบการหายใจไม่ปกติ จึงทำให้การไหลเวียนของโลหิตผิดปกติ เนื่องจากมีน้ำเข้าไปท่วมปอดอยู่มาก เมื่อพายเรือเข้าฝั่งประมาณ ๒ เส้น จึงอาเจียน มีแต่น้ำออกมาออกทั้งปากทั้งจมูก ประมาณ ๒ กาน้ำ จึงทำให้ท้องแฟบลงเล็กน้อยแต่ก็มีอาการแน่นท้องอยู่ นึกอยู่ว่ายังไม่พ้นตายอยู่นั่นเอง เมื่อใกล้จะถึงฝั่งก็อาเจียนอีก คราวนี้ออกมาทั้งน้ำทั้งเศษอาหารอ่อนๆ สีดำพร้อมกันจนหมดท้อง คราวนี้รู้สึกโล่งอกหายใจโล่ง คิดว่าไม่ตายแล้วคราวนี้ แต่ก็สลบไปเลย

เมื่อถึงฝั่งโยมเขาอุ้มไปพักอยู่ที่เถียงนา (กระต๊อบ) นอนอยู่นานเท่าไหร่ไม่ทราบ ฟื้นตื่นขึ้นเห็นผ้านุ่งที่เป็นผ้าอังสะเขาเปลือยออก เอาผ้าขาวม้าของโยมมานุ่งแทนไว้ เขาได้ให้คนหนึ่งไปแจ้งกำนันที่บ้านต้อง ซึ่งตั้งอยู่ใต้โขงหลงด้านตะวันตก อีกคนหนึ่งให้กลับไปออกชาวบ้านดอนกลาง บ้านโพธิ์หมากแข้งโนนหนามแท่น ส่วนอาตมาได้ถูกนำลงเรือพากลับบ้านดอนกลาง เมื่อชาวบ้านต่างๆ มาถึงที่เรือล่ม ต่างก็ช่วยกันงมหาหลายวิธี นานประมาณ ๓ ชั่วโมง ก็ไม่พบ วันที่ ๒ ทั้งหมู่บ้านต่างๆ เป็นร้อยสองร้อยมาทำทุกอย่าง หมดทั้งวันก็ไม่พบ ทั้งนี้เพราะใต้พื้นน้ำมีโคลนตมอ่อนๆ ยุ่ยๆ เมื่อคนลงไปเหยียบจะยืนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ลึกลงไปอีกจนถึงโคนขาโน่นแหละ จึงยืนอยู่ได้ น้ำในบริเวณนั้นลึกประมาณ ๘-๙ ศอกที่ชาวบ้านค้นศพไม่พบก็เพราะว่าศพจมลงไปนอนอยู่พื้นโคลนตมเหลวนั่นเอง ต่อเมื่อวันที่ ๓ จึงเห็นศพลอยขึ้นมาตรงกลางบึงโขงหลงนั่นเอง จึงเก็บเอาขึ้นมา ทำหีบเป็นขอนซุงทั้งต้นได้ ๓ ซุงบรรจุศพลงนั้นเก็บที่สมควร ส่วนตัวอาตมาที่เฉียดตายนั้นฉันอาหารไม่ได้ เพราะเมื่อได้กลิ่นอาหารแล้วมันอาเจียน ต้องดื่มน้ำอย่างอื่นแทน หมอประจำตำบลเอายาแคลเซียมมาฉีดเข้าเส้นให้ เมื่อดึงเข็มออกและมีเลือดออกมา เห็นเลือดเป็นสีจางมาก เหมือนกับน้ำล้างเนื้อ มีสีขาวซีดทั้งตัว สามวันจึงฉันอาหารได้ แล้วก็เข้าสู่สภาพปกติ
ด้วยอำนาจแห่งกรรม

เรื่องนี้ถ้าไม่เล่าไว้ก็จะขาดประวัติของชีวิตคราวหนึ่งนี้ด้วย แต่เป็นเรื่องที่ควรคิดว่าอำนาจของกรรมเป็นความจริงตลอดเวลา ถ้าไม่คิดกรรมดลบันดาลแล้วจะไปคิดอย่างไรได้ การอยากไปอาบน้ำที่บึงโขงหลง ถ้าจะอาบอยู่วัดก็มีน้ำไม่อดไม่อยาก จะอาบเท่าไรก็ได้
ให้มาสร้างทางไปก่อนตาย

และอีกประการหนึ่ง การที่มองเห็นภาพศาลาการเปรียญลอยอยู่บนอากาศนั้น เป็นความจริงที่กล่าวไว้ในคำสอนของพระศาสนาว่า เวลาคนจะตายจิตกำลังออกจากร่างนั้น จะปรากฏให้ผู้ตายเห็นภาพทั้งฝ่ายดีฝ่ายไม่ดี ในฝ่ายดีคือผู้ที่ได้ทำบุญไว้มาก่อนแล้วย่อมจะมีสุคตินิมิต ให้ผู้นั้นเห็น เช่น เห็นปราสาทอันงดงามเห็นพระพุทธรูป เห็นราชรถมาคอยรอรับ เห็นภาชนะที่ใส่ของทำบุญ เช่นขันข้าวใส่บาตร เป็นต้น เมื่อเห็นภาพอย่างนี้เชื่อว่าเป็นทางดี ได้ไปสู้สุคติโลกสวรรค์แน่นอน ส่วนฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายบาป จะปรากฏให้ผู้มีบาปได้เห็นภาพฝ่ายไม่ดี ที่เรียกว่ากรรมนิมิต จะให้เห็นมีตำรวจหรือทหารถืออาวุธคอยจ้องผู้นั้นอยู่หรือเห็นไฟลุกโพลงบ้าง หรือเห็นภาพของตนที่เคยทำบาปปรากฏให้เห็น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีหวังว่าจะให้ไปสู่ทุกคติทางไม่ดี มีตกนรก เป็นต้น ภาพที่อาตมาได้เห็นจึงเป็นการรับรองว่า พระธรรมคำสอนนั้นเป็นความจริงแน่นอน

ตกน้ำไม่ตาย (อานิสงส์เกิด)

ครั้งที่ไปตกน้ำแล้วไม่ตาย ก็มาคิดถึงอานิสงส์ที่ทำไว้ก็นึกได้ว่าช่วงที่ออกพรรษาแล้วได้พาเณรไปตัดไม้เพื่อเอามาทำไม้จิ้มฟัน ก็ไปที่โคก เดินไปประมาณ ๒ กิโลเมตร จากที่วัดนี้ไป ตอนนั้นไร่นาเขาก็เกี่ยวข้าวกันแล้วน้ำก็แห้ง ไปเจอปลาซิวประมาณ ๑๐ ตัวมันจะตายอยู่แล้วถ้าน้ำแห้งหมด ก็เลยให้เณรหาใบไม้มาทำเป็นถุง แล้วก็เอาปลาซิวใส่เอาน้ำเลี้ยงไว้แล้วก็นำไปปล่อยในอ่าง อานิสงส์นี้คือดีใจที่สุดพอปล่อยลงน้ำแล้วมันก็มุดลงไปในน้ำแล้วก็ขึ้นมาดูเราอีก เหมือนจะขอบคุณหรืออะไรทำนองนั้นแหละ แล้วก็มุดน้ำไปเลย นี่คงเป็นอานิสงส์ที่ไปตกน้ำแล้วไม่ตาย

สุดท้ายขอฝากธรรมะสั้นๆ จากหลวงปู่ว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา การรู้จักบุญคุณและการตอบแทนคุณเป็นเครื่องหมายของคนดี”


ธรรมะคำสั่งสอนของพระจันโทปมาจารย์
(หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม)


ธรรมะเป็นของดี

ธรรมะเป็นของดี ถ้าโลกขาดธรรมะแล้วก็อยู่ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นของสำคัญสำหรับชีวิตที่จะขาดไม่ได้ คนเรามีธรรมะถือว่ามีของดีอยู่ในใจธรรมะเป็นเครื่องห้ามโลกที่จะไม่ให้ ฉิบหาย ไม่วุ่นวาย ก็รู้แก่ใจทุกคนว่าขาดธรรมะแล้วขาดไม่ได้ แต่ก็ร้องหาธรรมะว่าควรจะประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรฝึกหัดตัวเองให้มีธรรมะคือ จิตใจ

ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว

ของสำคัญในชีวิตของเราก็คือใจเป็นใหญ่ในการปกครองของกาย ใจเป็นนายกายเป็นบ่าวรับใช้จะพูดดี ทำดี ก็ใจบ่งบอกให้พูดจะทำชั่วคิดชั่ว ทำชั่วพูดชั่วก็เพราะใจบังคับให้พูด ให้ทำชั่วพูดชั่วเพราะฉะนั้นใจจึงเป็นของสำคัญที่ควรระวัง หัวหน้าที่เป็นประธานผู้เป็นใหญ่ในร่างกายคือใจ จึงมีสติกำหนดละเว้นสิ่งที่เป็นชั่วเป็นบาปที่ทำให้เกิดแก่ใจ คอยระวังสังวรอยู่ทุกวาระจิต ขณะที่จิตคิดไปต้องมีสติสังวรระวังอย่าให้ทำบาปอย่าให้คิดบาป พูดบาป ใจแปลว่าผู้สั่งสม เราทำบาปก็สั่งสมไว้ที่ใจที่จิต เก็บไว้ในใจ บันทึกไว้เหมือนกระดาษซับสามารถที่จะซับสีที่จะประทับลงไปเป็นสีดำสีแดง สีเขียว สีเหลือง กระดาษซับเอาไว้ก็มีสีต่างๆ อยู่ในกระดาษซับฉันใด ใจเราก็เหมือนกัน

ความลับไม่มีในโลก (ทำอะไรใจย่อมรู้)

ถ้าทำดีก็บันทึกดีไว้ในใจ ถ้าทำชั่วก็บันทึกชั่วไว้ในใจ เก็บบันทึกไว้ในใจ แล้วเฉลี่ยผล คือให้ผล วิบากกรรม ที่ทำชั่วทำดีเป็นระยะๆ เป็นวาระที่จะต้องออกผลให้บังเกิดแก่ผู้ที่ทำชั่ว คิดชั่ว ทำดีคิดดี ถ้าผลแห่งความดีก็มีความสุข ถ้าผลแห่งความชั่วก็เป็นความทุกข์ แต่เราทุกคนก็ไม่ได้สังวรระวัง ยังคิดว่าผลแห่งความชั่วไม่มี ทำชั่วบาปอย่างที่ผู้อื่นไม่เห็นด้วย ไม่เห็นเราทำชั่ว สมมุติว่าไม่มีผลก็พ้นจากการจับจองเป็นผู้ต้องหาเพราะทำชั่ว ตีเขา ฆ่าเขา พ้นไปได้จากการโดนตำรวจจับจอง ติดคุก ติดตารางก็ ไม่ติด พ้นไปจากนี้เมื่อบุคคลผู้เป็นพาล สันดาลที่หยาบก็คิดว่าบาปไม่มีพ้นบาปไปได้ ความจริงการทำดี ทำชั่วนั้นไม่พ้นจากจิตเรารู้ ความลับไม่มีในโลกหรอก

ใจคือคลังเก็บสมบัติ (ดีและเลว)

การทำชั่วที่ผู้อื่นไม่เห็น เราทำชั่วลงไปแล้วผู้อื่นไม่เห็น เทวดาท่านก็เห็น พญายมบาล นายนิรบาล ทำบัญชีขึ้นไว้แล้วว่าทำชั่วอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นความชั่วที่เราทำ มนุษย์ไม่เห็นแต่เทวดาเห็น ยมบาลเห็น หรือหากเทวดาไม่เห็น ยมบาลก็ไม่เห็น แต่ก็มีผู้หนึ่งที่มองเห็น คือตัวเราเองเป็นผู้เห็น ปกปิดไม่ได้ ฉะนั้นเราทำชั่ว ผู้อื่นไม่เห็น พ้นจากกฎหมายบ้านเมือง รอดพ้นจากการถูกจับกุมมาก็ตาม แต่ความชั่วแห่งการกระทำใจเราเห็นสมบูรณ์ บริบูรณ์ครบถ้วนหมด บันทึกไว้ที่ใจแล้ว เก็บไว้ที่ใจแล้ว ผลความชั่วจะปรากฏขึ้นมาในภายหลัง แต่จะช้าหรือไวนั้นแล้วแต่กาลเทศะ เพราะใจเราคิดทั้งบาป คิดทั้งบุญสลับปะปนกันตลอดเวลา ทุกวันทุกเวลาเราคิดดูว่าวันนี้เราตื่นขึ้นมาแล้วเราคิดชั่วกี่ครั้ง คิดดีกี่ครั้ง ทำดีกี่ครั้งทำชั่วกี่ครั้งสลับซับซ้อนปะปนกันตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการให้ผลก็ให้ผลตามลำดับที่เรากระทำไว้ เพราะการบันทึกความดีความชั่วคือใจ คือจิตนี่เองเป็นผู้บันทึกไว้ ใจของเราเป็นคลังสมบัติไว้เก็บความชั่วและความดี

ผลของบาปและบุญ

ถ้าเราสั่งสมความชั่ว ใจก็เป็นผู้เศร้าหมอง มืดดำ เมื่อตายจากชาตินี้ไปก็ไปสู่ทุคติ และเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรตอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าสะสมความดีก็เป็นจิตขาวจิตสะอาด มีความสุขไปเกิดในชาติหน้าก็มีความสุข อย่างน้อยก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา อินทร์ พรหม ตลอดจนบรรลุปรินิพพาน ก็เพราะปราศจากอาสวะกิเลส ความชั่ว ความเศร้าหมองต่างๆ นั่นเอง เป็นจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องเพราะมีความดีกำกับเสมอ นั่นคือการทำบาป ทำบุญ

บุญแก้บาปไม่ได้ (เมื่อมีการกระทำก็ย่อมมีผล)

การกระทำอย่าคิดว่ามันผ่านไปแล้วก็แล้วไป นั่นสำหรับคนคิดง่ายๆ ไม่คิดให้ลึกซึ้ง คนปัญญาสั้นๆ คิดใกล้ๆ เห็นแต่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว อย่างเห็นผิดที่ว่าการทำบาปนั้น ทำบุญแก้ได้ ที่จริงทำบุญนี่แก้บาปแก้บุญไม่ได้ ทำไปแล้วก็เป็นอันทำไป แก้บาปแก้บุญไม่ได้ ไปล้างกันไม่ได้ บางคนมีความคิดว่าทำบุญแก้บาป ทำดีแก้ชั่ว ทำชั่วมัวหมองมาแล้วทำบุญสักนิดหน่อยก็แก้ได้ ที่จริงมันแก้ไม่ได้ท่านเปรียบเหมือนกับบุคคลผู้เอาน้ำบรรจุไห ในไหใบนั้นเอาเกลือสักหนึ่งแก้วเทลงไป แล้วเทน้ำจืดลงไปแก้วหนึ่ง ความเค็มก็ยังเข้มข้น ยังมีความเค็มอยู่ เราเพิ่มน้ำจืดลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาจนเต็มไห ความเค็มของเกลือก็หมดไปเหลือแต่น้ำจืด แต่เราจะเห็นเนื้อเกลือหายไปไหนหรือเปล่า มันก็ไม่หายไปไหน ก็ยังอยู่ในนั้นเอง แต่ว่าสู้น้ำใสน้ำจืดไม่ได้ เพราะว่ามันมากกว่า นี่เป็นการว่าล้างบาปไม่ได้

กรรมไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ (ยุติธรรมที่สุด)

ทางความเห็นบางลัทธิ บางศาสนา บางคนก็ว่าล้างบาปจากใจ มันล้างไม่ได้ ประมาณดังกล่าวมาแล้ว แต่การทำความดีกลบเกลือนั้นได้ เหมือนกับพระอริยะเจ้าทั้งหลาย บางองค์บางท่านบุพกรรมภายหลังยังติดตามมาอยู่ แม้จะบรรลุพระนิพพานได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม อย่างพระโมคคัลลาน์ ผู้เป็นสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้านั้น แม้จะบรรลุคุณวิเศษเป็นพระอริยบุคคล บรรลุพระนิพพานได้แล้ว แต่ว่ากรรมเก่าครั้งหลังยังบันดาลให้มีอยู่เพราะลำดับแห่งกรรม แห่งความชั่ว แห่งความดี บังคับเป็นเวลา เป็นเดือน เป็นปี เป็นชาติ หลายภพ หลายชาติ ยังติดต่อตลอดเวลา ให้ผลตลอดเวลา เพราะฉะนั้นบุคคลพวกคิดสั้นที่ว่าทำบาปไปแล้วก็แล้วไปถ้าคนไม่รู้ไม่เห็น ที่จริงเราเห็น เรารู้ เราได้เห็น จึงไม่ควรประมาทว่าทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วก็หายไป ที่จริงไม่หาย ที่จริงบาปบุญนั้นสลับกันให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป หรือหลายภพหลายชาติ แต่บุคคลเราผู้มีความไม่เป็นกลาง ลำเอียงเพราะทำบาปแล้วอย่างมาก อย่างหนัก แต่ก็นึกอยากได้รับผลเพียงเบาๆ ถ้าทำบุญเพียงเล็กน้อยอยากได้ผลมาก ทำบาปมากอยากได้ผลน้อย นี่ลำเอียง ไม่ยุติธรรม

จงแสวงหาทางแห่งสุข (กุศล)

ความจริงแล้วผลแห่งการบาป แห่งการบุญ ไม่ได้ขึ้นกับใจ คนผู้คิดเอาเป็นบาปหนัก ทำบาปหนักก็ได้กรรมหนัก เสวยผลทุกข์หนัก ถ้าทำบุญก็เสวยผลบุญตามกำลังที่เราทำ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า อย่าทำบาป อย่าทำเหตุแห่งความชั่ว เพราะว่าเหตุแห่งความชั่วนั้น จะให้ผลในต่อไป ทุกคนผู้มีปัญญาสั้น เห็นสั้นๆ คิดว่าปัจจุบันนี้พ้นจากกฎหมายบ้านเมืองแล้วจะพ้นจากบาป คิดว่าบาปไม่มีแล้ว พ้นแล้ว หมดแล้ว ที่จริงมันไม่หมด ถ้าเป็นบาปที่สั่งสมไว้ในจิตใจยังไม่สะอาด ยังเป็นปุถุชนที่สามารถทำบาปทำบุญได้อยู่ตลอดเวลา หลายภพหลายชาติที่เกิดมาก็มีบุญสนอง มีบาปสนอง ให้ผลตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้แสวงหาทางที่เป็นบุญ จงทำเหตุแห่งความสุขคือบุญกุศลที่เราทำจะได้เป็นที่พึ่งอันดี ประเสริฐในภพนี้และภพหน้า เพราะฉะนั้นจงมีสติคอยระวังสังวร ระวังใจอย่าให้คิดบาป ทำบาปอย่าบันทึกบาปไว้ในใจให้มาก จงบันทึกบุญไว้ให้มาก เก็บหอมรอมริบไว้ให้มาก ทางที่เป็นบุญ พบผลหวังผลก็คิดว่าการทำบุญยาก ที่จริงการทำบุญต้องเสียทรัพย์ เสียสิ่งของ ซึ่งจริงๆ บุญบางอย่างไม่ต้องเสียสิ่งของก็ได้ ดังการทำบุญ ๑๐ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

บุญ ๑๐ ประการ

การทำบุญ ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานมัย บุญเกิดจากการบริจาคทาน ให้ข้าวปลาอาหาร ที่นอน ที่นั่ง ยารักษาโรค ที่พึ่งพาอาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ให้เป็นทานหรือบริจาคทานเป็นบุญ

๒. สีลมัย การรักษาศีล ไม่ต้องเสียของ ไม่ต้องบริจาค เป็นเพียงรักษาศีล คอยระวังสังวร อย่าทำให้ผิดศีล ผิดธรรม อย่าให้ผิดศีล ๕ ประการ อย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ อย่าประพฤติผิดในกาม อย่าพูดเท็จ อย่าดื่มสุราเมรัย เหล่านี้ชื่อว่าเป็นการรักษาศีล เป็นการสังวรระวังกายและใจเราเอง ไม่ต้องเสียทรัพย์ หรือบริจาคทรัพย์อะไร เพียงแค่บำเพ็ญรักษาศีลก็เป็นบุญ

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการบริกรรมภาวนา มีสองอย่างคือ นึกถึงบริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ บริกรรมเป็นสมาธินึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือนึกถึงลมหายใจเข้า – ออกเป็นอารมณ์ อย่าให้จิตฟุ้งซ่านเป็นอย่างอื่น จิตสงบเป็นสมาธิ บริกรรมภาวนาไม่นึกคิดอย่างอื่น ไตร่ตรองพิจารณาความคิดความอ่าน ความประพฤติกิริยามารยาทของเรา สำรวมระวังสำรวมจิตใจอยู่เฉพาะหน้า จิตคือความผิด ความถูกที่เราจะต้องพูด ต้องทำ ต้องคิด จิตสำรวมระวังอยู่อย่างนี้เรียกว่าภาวนา ทำเพียงแค่นี้ ก็ได้ชื่อว่าได้บุญในข้อนี้

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนแก่ผู้ใหญ่ การเพียงเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนมีสัมมนาคารวะ ไม่กระด้างกระเดื่องคางแข็ง กิริยาละมุนละไมอ่อนน้อมต่อผู้มีอายุพรรษา เป็นภิกษุก็ตาม หรือพรรษาแก่กว่าก็ดี หรือเป็นผู้วัยอายุเกิดก่อนก็ดี มีคุณสมบัติอันสูงก็ดี ก็เป็นบุญข้อ ๔ เรียกว่า อปจายนมัย

๕. เวยยาวัจจมัย การคิดช่วยคนทำดี เราช่วยเขาทำบุญ เอากำลังกาย เอากำลังทรัพย์ช่วยเขา การอนุโมยินดี ช่วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ช่วยผู้อื่นทำบุญ ทำดีนี้ ท่านว่าเป็นบุญข้อที่ ๕

๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้บุญ บุญข้อนี้สำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่ฟังยากว่า ให้บุญได้บุญอย่างไร หมายความว่าเราทำบุญแล้วให้บุญแก่คนอื่น เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับหรือตายไปแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ทำบุญแล้ว ได้บุญแล้วก็อุทิศส่งไปให้บรรพชนเราที่ต้องการจะให้ถึง ที่ได้บุญแล้วคือทาน รักษาศีลแล้วได้บุญ ทำทานแล้วได้บุญ แล้วก็น้อมอุทิศส่งบุญไปให้แก่ผู้ที่เราอยากให้ถึงเช่นบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่ยังมีชีวิตอู่ก็ดี การให้บุญชนิดนี้เรียกว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปัตติทานมัย เกิดจากการให้บุญ ให้บุญซ้ำสองขึ้นไปอีก

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากอนุโมทนาส่วนบุญ เช่น บรรพชน บิดา มารดาที่ล่วงลับไปแล้วได้รู้ข่าวว่าลูกหลานข้างหลังทำบุญอุทิศไปให้ ทราบชัดแล้วก็ว่า สาธุ...สาธุ ด้วยความยินดีรับบุญตอบรับด้วยดี นั่นคือว่าการรับบุญ กล่าวอนุโมทนา เหมือนกับของฝากที่ฝากไปแล้ว รู้ชัดว่าฝากให้เราก็ยินดีรับ แต่ถ้าเมินเฉยไม่สาธุก็ไม่ได้บุญ ถ้าเราสาธุยินดีก็เรียกว่ารับอนุโมทนาส่วนบุญ เป็นบุญกุศลเหมือนกัน

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม ดังที่เราตั้งใจฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ ใจเราไม่ได้ส่งแส่ไปทางอื่น เรามุ่งมั่นเฉพาะธรรมะ ที่ท่านแสดง เป็นใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องทางบุญทางกุศล ตั้งใจจดจ่อ ใจเราเป็นบุญในขณะฟังธรรม เรียกว่า ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม ดังอาตมาแสดงธรรมนี้เพื่อให้บุญ ได้บุญเหมือนกัน การให้ธรรมเป็นทาน เป็นการชนะให้ทานทั้งหมด การเทศนาสั่งสอนเหมือนกับการที่บิดา มารดาสั่งสอนลูกหลานก็ดี ครูอาจารย์สั่งสอนลูกศิษย์ก็ได้ พระเจ้าพระสงฆ์เทศนาสั่งสอนก็ดี เรียกว่าให้ธรรมเป็นทาน เป็นบุญข้อที่ ๙ เรียกว่า ธัมมเทสนามัย

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง ความคิดความเห็นของคนอาจจะผิดพลาดไปบ้างผิดจากความเป็นจริง เช่นเห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี สวรรค์ไม่มี นรกไม่มี คุณบิดามารดาไม่มี พระนิพพานไม่มี นี่เป็นการเห็นผิด เป็นบาป ถ้าเราเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า สวรรค์มี นรกมี คุณบิดามารดามี บาปมี บุญมี พระนิพพานมี อย่างนี้ชื่อว่าเห็นถูก เราเห็นอย่างนี้ก็เป็นบุญข้อที่ ๑๐

การทำบุญบันทึกความดีไว้ในใจ ๑๐ ประการ ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมด เราทำทุกวันแต่เราไม่ได้ใส่ใจว่าเราทำบุญ ถ้าเราได้ศึกษาและรู้วิธีทำบุญแล้วก็ได้ชื่อว่าได้บุญตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจจะทำบุญเราจึงได้บุญ แต่ว่าบุญ ๑๐ ประการนั้นได้ทุกขณะทุกเวลา ทุกวี่ทุกวัน ได้บุญตลอด ถ้าเราสั่งสมความดี บันทึกความดีไว้ในใจ ผลแห่งความดีจะมีทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เพราะฉะนั้นหากเราทุกคนปรารถนาความดีหรือความบริสุทธิ์ก็ควรตั้งใจทำบุญดังที่กล่าวมา


“...พุทธบริษัทไม่ควรหูเบา ปัญญาเบา
เชื่อคำโฆษณาว่าการต่างๆ คำยั่วยุ ในทางไม่ดี ทางไม่ชอบ
ตื่นข่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้เป็นผู้มีบุญเกิดแล้ว...
ให้ใช้สติพิจารณาให้ถ่องแท้ อย่าหลงใหลในทางที่ผิด
ต้องเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม”





พระธรรมเทศนาของ
พระจันโทปมาจารย์
เรื่องศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล
*************
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

สีเลนะ สุคะติ ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา
สีเลนะ นิพพุติงยันติ อิมัสสะ ธัมมะปะริยา
ยัสสะ อัตโถ สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ

ณ บัดนี้อาตมาภาพจะได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อฉลองศรัทธาชี้สัมมาปฏิบัติแด่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายที่มาประชุมกัน ณ ธรรมสภาศาลาที่นี้โดยสมควรแก่เวลา เนื่องในวันนี้เป็นการทำบุญข้าวสาก อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีของชาวพุทธอย่างหนึ่งที่กระทำกันทุกปี และวันข้าวประดับดินที่ผ่านมาแล้วก็ดี ทั้งสองวันนี้เป็นคัมภีร์ของพราหมณ์เขากล่าวไว้ บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน เป็นวันที่พระยายมบาล ปล่อยสัตว์นรกให้กลับมาสู่มนุษย์ มาเพื่อเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องของตนที่อยู่ภายหลังยังไม่ตาย เพื่อรับบุญรับกุศล เขาจึงมีพิธีว่าปล่อยสัตว์นรกขึ้นมาสู่มนุษยโลก พวกญาติ พี่น้องที่อยู่ภายหลังยังไม่ตาย ก็จัดแจงอาหารหวานคาว ผลไม้ เป็นสำรับๆ ไว้ต้อนรับเปรตชนที่มาจากนรก เมื่อทำเสร็จแล้วเอาไปวางไว้ป่าช้า วางไว้กำแพงวัด วางในบริเวณวัด ทุกคนมีพี่น้องที่ตายไป ผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงทำการเพื่อต้อนรับแขกผู้เป็นญาติเราที่มาจากนรก เพื่อจะได้กินอาหาร จึงจัดแจงพาชนะดังกล่าวนั้นมาวางไว้ เป็นการต้อนรับญาติพี่น้องที่เป็นสัตว์นรกนั้นเอง เสร็จจากนั้นแล้วก็พากันไปแม่น้ำคงคา เอาฝ่ามือทั้งสองกอบเอาน้ำให้สูงขึ้นเพียงตา แล้วก็หยาดน้ำลงมาทีละหยด ๆ ลงในแม่น้ำคงคาอีก
การอุทิศส่งน้ำให้ญาติที่ตายไปแล้ว นั้นคือพิธีของพราหมณ์ แต่ว่าพระพุทธศาสนาเกิดในภายหลัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เผยแผ่ศาสนาพุทธออกมาเพื่อบัญญัติเป็นข้อปฏิบัติว่าการทำเช่นนั้นครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ของพระกรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และครูบาอาจารย์อื่นอีก ได้แนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับญาติพี่น้องก็ดี เกี่ยวกับประโยชน์ปัจจุบันก็ดี ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทำไม่ถูกต้อง ธรรมดาว่าอาหารการกินที่เอาไปวางไว้ในลานวัด ในป่าช้า มันเป็นอาหารของสามัญชนมนุษย์ผู้มีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้ถือว่าให้แก่ผู้ที่ลับโลกไปแล้วมารับเอา มันก็กินไม่ได้อยู่นั้นเอง เพราะเป็นอาหารของหยาบ มีแต่ดวงวิญญาณดวงจิต ดวงใจขึ้นมาเยี่ยม มาเยือนเท่านั้น ก็คงไม่ได้รับ เพราะอยู่อีกภพหนึ่ง
การทำบุญอุทิศอย่างนั้นท่านว่าทำไม่ถูกทาง ท่านว่าไม่ได้รับมากินอย่างนั้นไม่สมควรกับบุคคลผู้มีแต่วิญญาณ มีนามธรรมมารับ ควรจะทำบุญอย่างอื่น เป็นต้นว่าได้บุญแล้วส่งบุญไปให้ ท่านแนะนำอย่างนั้นเพราะว่า เปรตชนผู้เป็นเปรต เป็นสัตว์นรกอยู่ เป็นเพียงนามธรรมคือจิตใจเท่านั้น จะมากินอาหารที่หยาบๆ อย่างที่เรากินนี้ไม่ได้ อาหารเหล่านี้เป็นของมนุษย์ สัตว์ นก กา เป็นต้น ที่กินได้ แต่เปรตรับไม่ได้เพราะว่าเป็นของหยาบ ต้องทำอาหารนั้นไปบริจาคทานแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล ได้บุญขึ้นมาจากการบริจาคทาน เกิดจากการรักษาศีล เกิดจากการเจริญภาวนา ได้บุญแก่ใจตนเองแล้ว จึงแผ่อุทิศส่วนกุศลนั้นไปให้ภายหลัง ขอเดชะผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วนี้ จงไปถึงผู้นั้นๆ ที่เป็นเปรตชน เป็นบิดา มารดา และเป็นญาติของข้าพเจ้า ขอเชิญมาอนุโมทนาเถิด เปรตชนผู้เป็นแต่เพียงจิตวิญญาณนั้น เมื่อได้รับข่าวเช่นนั้นก็ดีใจ สาธุการ ประนมมือรับพร อย่างนั้นเขาจึงจะได้รับ ที่เคยทำมานั้นครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนว่าผิดแบบ ท่านบอกให้เลิก เพราะฉะนั้นการที่เอาข้าวไปวางไว้ลานวัด วางไว้ตามป่าช้าก็ดี กำแพงวัดก็ดี จึงหยุดมาตั้งแต่บัดนั้น แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ทำกันอยู่ ได้ทราบข่าวจากโยมว่าบ้านหนองแวงมากราบคารวะ บอกว่าการเอาอาหารไปวางไว้ในลานวัด ตามกำแพง หรือในป่าช้าก็ยังทำกันอยู่ แต่บ้านเรานั้นเลิกกันแล้ว
ตามคำสอนที่มีมาในศีลสารสูตรกล่าวถึงการเอาอาหารให้แก่ผู้ตายนั้นว่าในครั้งพุทธกาล มีเศรษฐีผู้มีเงินมาก มีสมบัติพัสฐานมาก ได้ลูกชายผู้หนึ่งเกิดมาเป็นแก้วตาดวงใจของบิดา รักอย่างสุดซึ้ง ต่อมาบุตรได้ตายลง ด้วยความวิปโยคโศกเศร้า จึงนำศพไปสู่ป่าช้าแล้วเผาศพ แล้วคิดว่าลูกชายที่ตายไปแล้วเขาคงจะหาอาหารการกินไม่มี จึงได้จัดแจงคนใช้ให้นำอาหารคาวหวาน ผลไม้สำรับหนึ่งไปวางไว้ป่าช้าทุกวันตั้งแต่วันที่ตาย เพื่อหวังให้ลูกชายได้กิน ประมาณเดือนหนึ่งสองเดือนทำอยู่อย่างนั้น
ต่อมาวันหนึ่ง เกิดฝนตก คนที่นำเอาอาหารไปให้ลูกชายเศรษฐีนั้นจึงไปหลบยังศาลาแห่งหนึ่ง เห็นภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาจากป่ามาบิณฑบาต จึงสำคัญว่าท่านอยู่ป่าคงอยู่ใกล้กับที่เผาลูกเศรษฐี เราไปวันนี้ก็ติดฝนตก ไปไม่ได้จึงขอฝากอาหารนี้ไปให้ลูกเศรษฐีบริโภคใช้กินตามความประสงค์ แต่ได้คิดว่าข้าพเจ้ามีความประสงค์นำอาหารนี้อุทิศแด่ลูกเศรษฐีผู้ตายแล้วในป่าช้า จึงวางอาหารทุกอย่างลงในบาตรของพระเถระ พระเถระก็กล่าวว่า “ยะถา วาริวหา ปูรา ปริ ปูเรนฺติ สาครํ” สิ่งที่ท่านปรารถนามานั้นจงสำเร็จเถิด
ต่อมาในกลางคืนวันนั้นเอง ลูกเศรษฐีมาปรากฏในฝันของบิดาของตนเอง ไปต่อว่าต่อขานกับบิดาว่า ท่านผู้เป็นบิดานี้ท่านไม่รักลูกเลย ผมตายมาแล้วตั้งสองเดือนไม่ได้กินอาหารเลย มาได้กินในเช้าวันนี้เอง นับแต่ตายมาได้สองเดือนแล้ว เศรษฐีจึงเอะใจว่าที่ใช้ให้คนเอาอาหารไปส่งในป่าช้านั้นเขาทำหรือเปล่า จึงให้อีกคนหนึ่งไปนับพาชนะดู เพราะพาชนะนั้นเมื่อใส่อาหารไปแล้วก็วางซ้อนกันอยู่วันละสำรับ คนไปนับสำรับก็พบว่าครบถ้วนบริบูรณ์ มิได้ขาด เหตุใดลูกจึงมาต่อว่าว่าไม่ได้รับ ได้กินอาหารเพียงเช้าวานนี้เอง จึงไปถามคนที่เอาภาชนะไปวางนั้น จึงเล่าตามเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงมีความสงสัยว่าเหตุใดอาหารการกินที่นำไปให้ เปรตชนที่ป่าช้านั้นจึงไม่ได้รับ แต่เมื่อถวายพระแล้วจึงได้รับ ดังนี้แล้วจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าความจริงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าผู้ที่ตายไปแล้วไม่มีร่างกายเหมือนสัตว์หรือมนุษย์ซึ่งเป็นของหยาบ แต่ผู้ที่ตายไปแล้วเป็นเพียงวิญญาณ เป็นเพียงแต่จิตประคอง เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง ต้องทำการกุศลเป็นต้นว่าให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นนามธรรมคือบุญเกิดที่ใจของผู้กระทำเช่นนั้น เมื่อได้บุญแล้วจึงส่งบุญไปให้ ซึ่งเป็นของนามธรรมเช่นเดียวกัน เหมาะเจาะแก่กัน ผู้รับเป็นเพียงวิญญาณ ผู้ส่งไปก็เป็นบุญ เมื่อได้รับข่าวแล้วก็โมทนาสาธุการไปเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือเป็นเทวดา นี้เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามธรรมนองของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นการที่ทำดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้นจึงเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนให้เลิกละพอสมควรแล้ว เราจึงถือปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา แม้แต่วันนี้คณะศรัทธาญาติโยมของวัดชัยมงคลที่มาทำบุญทุกบ้าน ทำบุญข้าวสาก ข้าวประดับดินที่ผ่านมาแล้ว จึงถือเป็นวันสำคัญที่ควรถือปฏิบัติสืบทอดเป็นของดี ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน ได้สืบทอดการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบต่อไป เพราะฉะนั้นวันเช่นนี้ได้เวียนมาถึงแล้ว ศรัทธาญาติโยมบ้านแพงมีกติกาสัญญากันว่าให้ฟังเทศน์แต่ละวัด รอบๆกันไปถ้วนหน้า ครบรอบแล้วก็กลับมา ซึ่งในวันนี้เป็นวาระของวัดชัยมงคล วันนี้จึงเป็นการทำบุญทำกุศลที่สมควรจะทำให้เป็นประโยชน์คือมีการฟังธรรมฟังเทศน์ เพื่อสนองศรัทธาประสาทะของญาติโยมทั้งหลายขอให้ตั้งใจฟังธรรมมะที่จะแสดงต่อไปนี้ด้วยความเคารพ ตั้งใจฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ดังพระบาลีว่า “สุสุสฺสํ ลภเตปัญฺญํ ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา”
การที่ผู้ฟังธรรมนั้น ฟังอย่างไรเรียกว่าฟังด้วยดี เพื่อให้ถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรมหรือกติกาที่กำหนดไว้ คนฟังธรรมมีอยู่ ๔ ลักษณะ
๑. อุปมาเหมือนกับหม้อที่ปิดฝาแล้วไปวางไว้กลางแจ้ง ฝนตกทั้งคืนไม่สามารถที่จะให้น้ำเต็มหม้อได้เพราะหม้อมันถูกปิดอยู่นี่อย่างหนึ่ง
๒. อุปมาเหมือนหม้อที่เปิดฝาไว้แล้วแต่หม้อก้นรั่ว เปิดฝาให้เม็ดฝนลงไปในหม้อเหมือนกันแต่ก้นหม้อมันรั่ว มันก็ซึมทราบไหลไปหมด
นี่เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง การทำให้ถูกต้องมีสองลักษณะเหมือนกันคือ
๑. หม้อเปิดฝา และ
๒. หม้อนั้นไม่รั่ว เปิดตั้งไว้ในที่แจ้งแล้ว เมื่อฝนตกลงมาในหม้อที่เปิดนั้น เป็นการรองรับน้ำฝน น้ำฝนก็เต็มหม้อ
ฉันใดก็ดี นี้เป็นอุบายเปรียบเทียบผู้ฟังธรรมทั้งหลายที่จะฟังด้วยดีนั้นคือจะต้องเป็นลักษณะเปิดฝาหม้อออก หม้อก็ไม่ให้รั่ว เปิดฝานั้นหมายความว่าเปิดประตูใจรับฟังคำสั่งสอนของท่านผู้แสดงว่าธรรมมะ ที่ท่านแสดงนั้นหมายความลึกตื้นหนาบางอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร มีอธิบายอย่างไร จดจำได้หมด ไม่เป็นเพียงแค่ว่านั่งในสมาคมของการฟังธรรมแล้วจิตใจไปห่วงหน้าห่วงหลัง ไปห่วงลูกห่วงหลานอยู่ในบ้านในเรือน คิดฟุ้งซ่านไปอย่างอื่น มีหูก็ไม่ได้รับฟังธรรมมะส่องเข้าไปในหูเลย เรียกว่าเหมือนกับหม้อที่ปิดฝา เป็นการฟังที่ไม่ตั้งใจฟัง แส่ใจไปทางอื่น ลักษณะที่สองแบบฟังแล้วตั้งใจฟังแต่ว่าไม่ได้เก็บไว้ ลืมทั้งหมด เป็นคนหม้อก้นรั่ว รับเข้าไปแล้วแทนที่จะมีความคิดจดจำธรรมมะคำสั่งสอนไปปฏิบัติ แต่ก็ลืมไปหมด พอออกจากวัดไปพ้นเขตวัดศีลก็คืนมาหมด ไปแต่ตัวเปล่า อย่างนี้เรียกว่าหม้อก้นรั่ว ไม่ได้ประโยชน์
ต้องเปิดฝาให้ดี ฝาที่เปิดออกนั้นเรียกว่าตั้งใจฟัง จดจำธรรมมะคำสั่งสอนของท่านที่แสดงอย่างไร ในการฟังธรรมนั้นต้องจับให้มันได้ เปิดประตูใจของเรา เปิดหู เปิดใจขึ้นมารับฟังธรรมคำสั่งสอน แล้วก็จดจำไว้ให้มั่นคง ไม่ให้หลงลืมเสียหาย กลับไปบ้านไปเรือนแล้วให้ยังนึกถึงธรรมมะที่ท่านแสดงอยู่ตลอดเวลา เข้าใจความหมายแล้วก็ปฏิบัติตาม นี้ชื่อว่าฟังธรรมที่ดี เป็นหม้อเปิดฝาแล้วก้นไม่รั่ว จิตจำ ฟังธรรมแล้วปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าการฟังธรรมที่ถูกต้อง ต้องได้ปัญญาเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นธรรมมะที่จะแสดงต่อไปนี้จะได้ชี้แจงสิกขาบทคือศีลของภิกษุ สามเณร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้รักษาศีล ภิกษุสงฆ์นั้นต่างหาก ส่วนทายก ทายิกานั้น ยังไม่บวชให้มีศีลสองประการคือศีล ๘ และศีล ๕ ศีล ๘ นั้น เป็นศีลอุโบสถก็มี เป็นศีล ๘ธรรมดาก็มี
ทำไมจึงเรียกว่าศีลอุโบสถ ศีล ๘ คำว่าอุโบสถนั้นเป็นชื่ออย่างหนึ่งของการบำเพ็ญพรตของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ถือว่าเดือนหนึ่งมี๔ ครั้ง ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ค่ำ แรม ๘ ค่ำและแรม ๑๕ ค่ำ เป็นวันอุโบสถ เขาให้ชื่อว่าวันอุโบสถ พวกพราหมณ์เขาก็ทำกันอย่างนั้น เมื่อถึงวันอุโบสถมาถึงเวลาใดก็ตามแล้ว ก็ออกจากบ้านเรือนเข้าไปสู่ป่าหาที่สงัด บำเพ็ญพรตตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้นว่าอดอาหาร ไม่กลืนน้ำลาย ทรมานร่างกายต่างๆ ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เขาทำอย่างนี้เรียกว่าทำอุโบสถ ไปอุโบสถ
เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาก็เอามาบัญญัติเป็นการปฏิบัติว่าดี เดือนหนึ่งแบ่งเป็นสี่ครั้ง ทั้งสี่ครั้งนี้ก็คงพอดีกับการครองชีพของฆราวาส ที่ยังเป็นผู้วุ่นวายอยู่กับอาชีพการงาน เข้าวัดไม่ได้ตลอดทุกวัน เอาถือว่าเดือนหนึ่งเข้าวัดสี่วันก็แล้วกัน ก็เรียกว่าวันอุโบสถ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่าวันอุโบสถได้มาถึงแล้ว ฝ่ายภิกษุให้ทำปาฏิโมกข์เพื่อทบทวนสิกขาบทของตน ฝ่ายฆราวาสคือญาติโยมก็รักษาศีล ๘ ประการ เรียกว่าศีลอุโบสถ
ศีลอุโบสถกับศีล ๘ ต่างกันอย่างไร มีความหมายต่างกัน ถ้าผู้ใดรักษาศีล ๘ ในวันขึ้น๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เรียกว่าถือศีล ๘ อุโบสถ คำอาราธนาก็ต่างจากที่ถือศีล ๘ เฉยๆ เรียกว่าอัฏฐะ หรือศีล๘ ประการ ดังที่แม่ชีรักษาเป็นนิจกาลนี้เรียกว่ารักษาศีล ๘ คำอาราธนาก็ต่างกัน ถ้าวันใดเป็นวันขึ้น๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำแล้ว มีคำอาราธนาว่า “มยํ ภนฺเต ติสรเนน สห อฏฺฐํค สมณาคตํ อุโบสถํ ยาจามิ” นี่ชื่อว่ารักษาศีลอุโบสถ วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ ถ้ารักษาศีล ๘ ธรรมดา คือวันที่ไม่ถูกกับวันอุโบสถ ก็อาราธนาว่า “มยํ ภนฺเต ติสรเนน สห อฏฺฐ สีลานิยาจามิ” นี่คำอาราธนาก็ต่างกัน การปฏิบัติก็ต่างกัน
เพราะฉะนั้นเป็นการบัญญัติคำสอนลงในคติของพราหมณ์ที่ทำกัน ฝ่ายภิกษุสงฆ์ก็ให้สวดปาติโมกข์ ท่องสิกขาบทวินัยของตน ฝ่ายคฤหัสถ์ก็ให้รักษาศีลอุโบสถหรือศีล ๘ หรือรักษาศีล ๕
จำเป็นอย่างไรจึงต้องรักษาศีล ๕ อันว่าศีล ๕นั้น เรียกชื่ออย่างหนึ่งว่านิจศีล แปลว่าศีลที่ควรรักษาเป็นนิจ บางคนก็ว่าจะรักษาศีล ๕ ให้เป็นนิจอย่างไร เพราะว่ายากยุ่งอยู่กับอาชีพการงานธุระหน้าที่ที่ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่าง ไม่มีโอกาสจะรักษาเป็นนิจ ไม่แก่ไม่เฒ่าแล้วยังไม่สมควรจะเข้ามารักษาศีลธรรม คนแก่คนเฒ่า คนไม่มีงานจึงสมควรไปฟังเทศน์ฟังธรรมจำศีล
นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าศีล ๕ เป็นนิจศีลสำหรับฆราวาสผู้ปฏิบัติให้รักษาเป็นนิจ จึงเรียกว่านิจศีล เราจะเข้าใจอย่างอื่นไม่ได้ จะหลีกเลี่ยงว่าไม่รักษาไม่ได้ ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา ผู้ชาย ผู้หญิงในโลกนี้ ผู้ใดปฏิญาณตนว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธรรมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เป็นผู้ถือพระศาสนาแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายเรียกว่าอุบาสก ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่าอุบาสิกา ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
อุบาสก อุบาสิกานี้ต้องมีความพร้อมด้วยองค์สมบัติของอุบาสก อุบาสิกา จึงเรียกว่าอุบาสก อุบาสิกาผู้ปฏิญาณตนว่าถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งอื่นไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มีพระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มี พระสงฆเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
นี้เป็นการปฏิญาณตน เช่นนี้แล้วก็จำเป็นต้องมีองค์สมบัติว่าอะไรเป็นผู้มีนามว่าอุบาสก อุบาสิกา ต้องพร้อมด้วยองค์สมบัติ ๕ ประการ เป็นหน้าที่ของผู้รักษาศีล ๕ ประการนี้คือ
๑. มีศรัทธาบริบูรณ์
๒. มีศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล
๔. ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา
๕. แสวงหาบุญแต่ในเขตพระพุทธศาสนา
ในองค์สมบัติอุบาสก ๕ ประการนี้ ในข้อที่ว่าประกอบด้วยศรัทธานั้น เราเคารพนับถือพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต พุทธัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง สรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือพระพุทธเจ้าตลอดชีวิตจนเข้าถึงพระนิพพาน ธรรมมัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง สรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือพระธรรมเจ้าตลอดชีวิตจนเข้าถึงพระนิพพาน สังฆัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง สรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือพระสงฆเจ้าตลอดชีวิตจนเข้าถึงพระนิพพาน
ข้อ ๑. มีศรัทธาบริบูรณ์ ผู้ที่มีศรัทธาเด็ดเดี่ยวดังที่กล่าวมานี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธาบริบูรณ์ในพระพุทธศาสนา ไม่ละเลิกที่จะถอนตัวออกจากพุทธบริษัท เรียกว่ามีศรัทธาบริบูรณ์ แม้ว่าอย่างไร ถึงเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ตาม เหมือนครั้งพุทธกาล วันหนึ่ง ทุกขตา คนทุกข์ยากเข็ญใจคนหนึ่งไปกินอาหารในวัด เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ปฏิญาณตนว่าขอถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยความมั่นเหมาะ เอาชีวิตเข้ากราบเอาชีวิตเข้าแลก ปฏิญาณตน เป็นคนทุกข์คนยากแต่ก็มีจิตใจที่ยอมรับในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญตนเป็นพุทธบริษัท พุทโธ ธรรมโม สังโฆ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่ตลอดเวลา
พระมหากษัตริย์ได้ทดลองจิตใจของทุกขตาคนนั้น บอกว่าขอให้เธอเลิกคำว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก แต่ให้พูดว่าข้าพเจ้าไม่พึ่งไม่ถือพระพุทธเจ้า ไม่ถือพระธรรม ไม่ถือพระสงฆ์ อย่างนี้เราจะให้เงิน บอกว่าให้ถอนคำพูด บอกกว่าเป็นที่พึ่งไม่เอา ให้ว่าเลิกแล้ว ท่านให้เลิกอย่างนี้ ทุกขตาบุรุษก็ไม่ยอมเลิก จะให้เงินเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเลิก แม้จะฆ่าให้ตายก็ไม่ยอมเลิก จะทำอย่างไรก็ไม่ยอมเลิก อย่างนี้เรียกว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาข้อ ๑ สมบูรณ์แล้ว
เหล่าทายก ทายิกาทั้งหลายต่างปฏิบัติกันมาอย่างนี้ ไม่เคยละเลยเลิกละในการนับถือศาสนาพุทธ ก็สมควรเรียกว่าศรัทธามีความเชื่อสมบูรณ์แล้ว
ข้อ ๒ มีศีลบริสุทธิ์ นี่สำคัญข้อนี้แหละที่ว่าเป็นสมบัติของอุบาสก อุบาสกจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นคนยุ่งยากกับวัยอายุสังขารยังเล็กน้อย ยังมีธุระยุ่งอยู่ รักษาไม่ได้ หรือยังไม่แก่ไม่เฒ่า ไม่รักษาแล้ว เป็นการหนี ปลีกตัวไม่ได้ เพราะว่ามีศีลบริสุทธิ์หมายถึงศีล ๕ นี้เอง ศีล ๕ นี้เป็นศีลประจำ เพราะฉะนั้นจึงสมควรให้รักษาศีลตลอดเวลา
ข้อ ๓ ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว พุทธบริษัทไม่ควรหูเบา ปัญญาเบา เชื่อคำโฆษณาว่าการต่างๆ คำยั่วยุ ในทางไม่ดี ทางไม่ชอบ ตื่นข่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้เป็นผู้มีบุญเกิดแล้ว หรือมารดาไม่เห็นลูก บางทีก็เข้าไปในท้อง บางทีก็ออกไปจากท้องมารดา เป็นลูกผู้ประเสริฐ ตื่นกันขนาดหนักเมื่อ ๒๐ ปีมาแล้วที่อุดร นั่นเรียกว่าเชื่อมงคลตื่นข่าว หูเบาปัญญาเบา ไม่ใช้สติพิจารณาให้ถ่องแท้ หลงใหลปฏิบัติในทางที่ผิด เข้าใจผิดเช่นนั้นเรียกว่าเชื่อมงคลตื่นข่าว ให้ใช้สติพิจารณาให้ถ่องแท้ อย่าหลงใหลในทางที่ผิด ต้องเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เรียกว่าไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวไม่เป็นคนหูเบา
ข้อ ๔ ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา ได้แก่ความนิยมชมชอบในศาสนาอื่น เช่น หินดำที่เมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ชาวอิสลามเขานับถือ ประชาชนที่เป็นศาสนิกของศาสนาอิสลามนั้นต้องไปกราบไหว้หินดำนี้ จึงจะได้บุญ ในชีวิตหนึ่งต้องไปให้ได้
เราเป็นพุทธบริษัทนั้นจะไปกับเขาเพื่อแสวงบุญ ในทางที่เป็นเช่นนั้น ไปจูบหินดำจะได้บุญนั้นเป็นการนับถือของเขา เราผู้แสวงบุญอย่าไปทำอย่างนั้น เป็นการเสื่อมศรัทธา เลอะเลือนในการถือศาสนา มัวหมองในพระรัตนตรัย นี้ชื่อว่าเป็นการไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา
ข้อ ๕ แสวงหาบุญแต่ในเขตพระพุทธศาสนา มีการให้ทาน รักษาศีล ใส่บาตร ถวายอาหารบิณฑบาต ถวายผ้าจีวร ถวายเสนาสนะ ถวายยารักษาโรคแก่พระภิกษุสงฆ์ ทำอย่างนี้เรียกว่าแสวงบุญแต่ในพระพุทธศาสนา เป็นคุณสมบัติที่สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่าง องค์ ๕ ประการนี้แหละเป็นการบังคับว่าให้รักษาศีล แต่ก็คำที่ว่าเราไม่สมควรเป็นผู้รักษาศีล เรายังหนุ่มยังแน่น ยังมีภาระหน้าที่ ไม่มีเวลารักษาศีล นั้นเป็นการเข้าใจผิด ควรรักษาอยู่ตลอดทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย รักษาศีล ๕ ประจำ เรียกว่านิจศีล
เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาศีลให้ตลอดเวลานี้เราจะทำอย่างไรให้ปฏิบัติได้ การที่จะเป็นผู้มีศีลนั้นจะต้องถูกต้องในองค์สมบัติคือมีลักษณะว่าเป็นผู้มีศีล ศีลเกิดได้จากการตั้งใจรักษา ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ไม่ทำ ไม่ชื่อว่าเป็นศีล การที่ตั้งใจรักษาศีลต้องพร้อมด้วยองค์สมบัติคือ
๑. เป็นผู้มีเจตนาสัมปัตติวิรัติ มีความอยากจะรักษาศีล ให้ศีลเกิดเฉพาะหน้า คือพบคนที่จะฆ่าเราก็ไม่ฆ่า พบยุงที่กัดเราเราก็ไม่ฆ่า มีใจคิดขึ้นมาเราจะไม่ฆ่า เราควรมีศีล งดจากการฆ่านั้นเองปัจจุบันทันด่วน นั่นชื่อว่าเกิดศีลขึ้นแล้วในใจ บุคคลพบของที่ควรลัก พบผู้หญิงที่ควรประพฤติผิดในกาม ระหว่างผัวระหว่างเมียของกันและกัน สมควรจะทำได้แต่ก็ไม่ทำ เกิดความมีศีลขึ้นมาในใจอย่างนี้เรียกว่ามีศีลเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ประสบพบเหมาะกับสิ่งที่ทำให้ผิดศีลทั้ง๕ ข้อ แต่ก็ไม่ทำ กำหนดจิตใจของตนให้ลด ละ เว้น ในการผิดศีลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นเรียกว่ามีศีลอย่างหนึ่ง เกิดเป็นศีลแล้วเรียกว่าสัมปัตติวิรัติ ละเว้นในการเฉพาะหน้า
๒. สมาทานวิรัติ ศีลจะเกิดขึ้นในจิตในใจได้ด้วยการสมาทาน ได้แก่การอาราธนาขอศีลจากภิกษุสามเณรผู้ทรงศีล แล้วท่านก็กล่าวคำสิกขาบทให้ แล้วรับเอาคำที่กล่าวดังเคยที่สอนกันมาและที่ปฏิบัติกันมาตลอดเวลานี้ เพราะฉะนั้นศีลเกิดขึ้นโดยการสมาทาน ขอศีลแล้วท่านก็ให้ศีล ที่จริงท่านก็ไม่ให้หรอกศีลนั่น ท่านประกาศข้อห้ามให้รู้จักเองว่า นั่นคือข้อห้าม อันนี้เป็นศีล เว้นดังที่ประกาศ ให้เราตั้งใจสมาทาน เกิดศีลขึ้นมาในใจ เพียงไม่ทำบาป เพียงไม่คิดบาป เพียงไม่พูดบาป ก็ถือว่าเป็นศีลไม่ได้ ต้องตั้งใจสมาทาน
๓. เรียกว่าสมุจเฉทวิรัติ ถึงพร้อมด้วยความเด็ดขาดดังศีลของพระอริยะ ทั้ง ๓ ประการนี้ ลักษณะของศีลที่ต่างกัน สมุจเฉทวิรัติเป็นศีลของพระอริยะ เป็นศีลที่เด็ดขาด เป็นศีลที่ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นเกิดศีลขึ้นมาแล้วมีคำถามว่า วัว ควาย มันไม่เคยลักของใคร ไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยผิดลูกผิดเมียใคร ไม่เคยพูดปด ไม่เคยดื่มสุราเมรัย วัวควายนั้นจะมีศีลหรือไม่ ถ้าทำนองนี้เรียกว่าไม่มีศีล เพราะมันไม่มีเจตนา ผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องเป็นผู้มีเจตนาสังวรละเว้น แม้จะสมาทานจากพระโพธิสัตว์ ชุมชน หมู่มากเต็มศาลาก็ตาม ประกาศศีลแล้ว กล่าว “มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเน นะ สะหะ ปัญจะ สีลา นิยา จามะ” ก็ตาม ว่าตามไปแล้ว จบแล้ว ให้ศีลแล้วเกิดศีลได้หรือไม่ ไม่เกิดศีล ไม่เป็นศีล ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เพราะว่าไม่ได้ตั้งเจตนางดเว้น ต้องเจตนางดเว้น มีสัจจะจริงใจขึ้นมา จึงชื่อว่าเป็นผู้มีศีล เหมือนกับการที่เราตั้งใจรักษาศีลก็รักษาศีล ตั้งใจงดเว้น มีความคิดความอ่านที่เหมาะเจาะ แน่วแน่เข้าไปในการรักษาศีลจึงจะมีศีล เพียงแต่การสมาทานพูดตามหมู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ว่าเป็นศีลเพราะไม่มีเจตนา ดังพระบาลีว่า “เจตนาหัง ภิกขะเว สีลังวะทามิ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจตนางดเว้นอันเป็นตัวศีล “เจตนาหะ กัมมัง วะทามิ” เจตนานั้นเป็นกรรม หากไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นศีล
ลักษณะของศีลเกิดขึ้นมาด้วยการอย่างนี้ เพราะฉะนั้นศีลสำคัญคือศีล ๕ ประการนี้ จำเป็นอย่างไรที่จะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดเวลา อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นของคนแก่คนเฒ่าจึงเข้าวัดฟังธรรม เท่านั้นที่จะรักษาหรือเป็นพระเป็นเณรเท่านั้นจึงรักษาศีล ที่จริงเราเป็นพุทธบริษัทก็ต้องมีศีลตลอด แม้ว่าเวลาใด วัยใด คนหนุ่มคนแก่คนเฒ่า เด็กก็ตาม ต้องเป็นผู้มีศีลเพราะเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้วต้องมีศีล มีคุณสมบัติดังกล่าวมาแล้ว แต่สำคัญว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร ที่จะให้ศีลเรามีตลอด หนทางปฏิบัตินั้นก็คือตั้งใจงดเว้นรักษา ด้วยการสมาทานก็ดี ด้วยการบังเกิดศรัทธาเฉพาะหน้า บำเพ็ญเฉพาะหน้าก็ดี เราตั้งใจรักษาแล้ว กล่าวแล้ว เว้นแล้ว ตั้งใจรักษาตลอดชีวิต จึงจะเป็นผู้มีความสุข หรือว่าเจตนานี้สำคัญที่จะต้องรักษาตลอดไปเพื่อไม่ให้ขาดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
การรักษาศีล ๕ ที่เรียกว่านิจศีลคือรักษาศีลเป็นนิจนั่นเอง เพราะเป็นพุทธบริษัทแล้ว เป็นทายก ทายิกาแล้วต้องเป็นผู้มีศีลเท่านั้น เข้าใจอย่างนี้ชื่อว่าถูกต้อง แต่ว่าเราเข้าทำนองว่าถือศีลเป็นพิธีกรรมเฉยๆ ทำไปตามประเพณีของตนไปแล้ว แต่การรักษาไม่มี ดังที่พระฝรั่งองค์หนึ่งเห็นภิกษุรักษาศีล พัฒนาศีลทั้งหมดทุกๆ องค์นั้น ไปที่ไหนก็เห็นอย่างนั้น จึงอัศจรรย์ใจว่าชาวพุทธไทยนี้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวรักษาศีล สมาทานศีลทั้งหมดทุกคน ไม่มีใครเว้นที่จะไม่รักษา เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น รักษากันจริง ปฏิบัติจริง แต่ก็ไปเห็นคนที่รักษาศีลไปแล้วดื่มเหล้าเมาแค่นั้นเอง นั้นพระฝรั่งจึงแปลกใจว่าทำไมรักษาศีลอาราธนาศีลแล้วจึงยังกินเหล้าอยู่เลย สมาทานขอศีลแล้วทำไมจึงยังมากินเหล้าอีก พระฝรั่งจึงเอะใจว่าเป็นความเข้าใจผิดของพระฝรั่งนั้นเอง ประเพณีการรักษาศีลของไทยเป็นเพียงประเพณีเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นศีล ๕ นะโม ตัสสะ เป็นของสำคัญอย่างไรที่ ขาดไม่ได้ในการงานทุกอย่าง จะถวายอาหารก็ดีต้องรับศีลก่อน จะถวายกฐิน ผ้าป่าก็ดีต้องรับศีลก่อน จะสวดมงคลบ้านหรือว่าอวหมงคลก็ดี ก็รักษาศีลก่อน ต้องว่า นะโมก่อน เพราะอะไรจึงเอานะโมไว้ก่อน เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจปฏิบัติ เพราะว่า “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต” นี้เป็นการไหว้ครู บรมครูคือพระศาสดาของเรา เหมือนกับนักมวยจะต่อยกันในสนามก็ต้องไหว้ครูก่อน เราเป็นชาวพุทธจะทำกิจการใดก็ต้องไหว้ครูเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน เป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นของที่แน่นอน จะลืมเลือนไปไม่ได้ ต้องคิดตักเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นผู้ไหว้ครูแล้ว รักษาศีล ๕ แล้วตลอดชีวิต เราจะทำได้อย่างไร การทำไปดังกล่าวมาแล้วตั้งใจสมาทานสิกขาบททั้ง ๕ ประการเราทุกคนคงจำกันได้หมดแล้วว่าจะรักษาตลอดชีวิต
การรักษาศีลของศรัทธาญาติโยม กับแม่ชีนั้นต่างกัน แม่ชีนั้นบวชแล้วก็รักษาศีล ๘ ตลอดชีวิต ส่วนทายก ทายิกานั้นยังไม่บวชก็รักษาศีล ๕ ตลอดชีวิตเช่นกัน เพราะฉะนั้นเพื่อความถูกต้อง ศีลของแม่ชีกับศีลของฆราวาสต่างกันอย่างไร ต่างกัน ศีลของแม่ชีหรือศีล ๘ นี้รักษาตลอดชีวิต เป็นของรวมกัน ขาดข้อหนึ่งก็ขาดไปหมด ศีลของภิกษุก็เช่นกัน ๒๒๗ ข้อ สามเณร ๑๐ ข้อ เพียงไปขาดไปละเมินสิกขาบทข้อเดียวศีลของพระ ๒๒๗ ก็ขาดหมด เพราะเป็นสัจจะรวมขอบวชในพระพุทธศาสนา พระภิกษุรับศีลในเวลาไหน ไม่มีการรับศีลของภิกษุผู้บวช เป็นการขออุปสมบทเป็นภิกษุสงฆ์ โดยการกล่าวว่า
“ สังฆัม ภันเต อุปสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุมัง ภันเต สังโฆอนุกัมปัง อุปาทายะ
ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุมัง ภันเต สังโฆอนุกัมปัง อุปาทายะ
ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุมัง ภันเต สังโฆอนุกัมปัง อุปาทายะ”
นี้เป็นคำขอบวชขอประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์ต้องมีศีล ๒๒๗ ข้อกำกับ เพียงข้อเดียวว่าข้าพเจ้าจะประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น ก็เป็นอันว่าศีล ๒๒๗ ข้อ อยู่ในใจผู้นั้นแล้ว
ฝ่ายอุบาสกก็เหมือนกันที่จะรักษาศีล ๕ ก็ตั้งใจจะรักษาศีล ๕ ไว้ในใจของเราแล้ว เป็นของจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจใหม่ ด้วยการสมาทานศีล ๕ แล้ว เป็นการรักษาตลอดเวลา ศีลของทายก ทายิกาที่เป็นชาวบ้านนั้นต่างกันคือขาดข้อใด ก็เพียงข้อนั้นขาด อีก ๔ ข้อก็ยังอยู่ ขาด ๓ ข้อ อีก ๒ ข้อก็ยังอยู่ ขาด ๔ ข้อ ข้อ ๕ ก็ยังอยู่ นี้ยังมีศีลอยู่ เพื่อจะให้ศีลของเราเต็มบริบูรณ์ตลอดเวลาทำอย่างไร ก็ทำการสมาทานศีลใหม่ เมื่อมีการทำบุญทำทานใดก็สมาทานขอศีลจากพระคุณเจ้าว่า
“มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะ นัตถายะ ติสะระเนนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะ นัตถายะ ติสะระเนนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะ นัตถายะ ติสะระเนนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ”
นี่เป็นการขอศีล ซึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอถือศีลต่างๆ กันในศีล ๕ ประการนี้ ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือศีลต่างๆ กันในศีล ๕ ประการนี้ ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือศีลต่างๆ กันในศีล ๕ ประการนี้”
คำว่าวิสุง วิสุง นั้นแปลว่า ลักษณะต่างๆ กัน มีความหมายอย่างไรว่ามีความหมายต่างๆ กัน เช่นว่า โยม ก ขาดข้อ ๑ โยม ข ขาดข้อ ๒ โยม ค ขาดข้อ ๓ นาง ง ขาดข้อ ๔ นาย จ ขาดข้อ ๕ มันขาดศีลไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ข้าพเจ้าขอสมาทานศีลให้เต็มเหมือนเก่า ในลักษณะต่างกันหลายคนที่มาขอวันนี้ขาดไม่เหมือนกัน นี้ความหมายเพื่อให้ศีลเราอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
เพราะฉะนั้นจึงเป็นศีลขึ้นมาเพียงแต่ไม่ทำบาป ไม่ประพฤติผิดในกามเฉยๆ เหมือนกับวัว ควายที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ไม่เป็นศีลอยู่เอง ไม่ได้ทำอะไรก็ตามแต่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป
เพราะฉะนั้นจึงสมาทานศีลด้วยตนเอง เรียกว่าสัมปัตติวิรัติ ตั้งใจขอศีลด้วยตัวเองไม่ต้องขอจากพระจากเจ้าก็เป็นศีลขึ้นมา เพื่อให้ความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ทุกเวลา ไม่ว่าจะนอนกราบไหว้แล้วกล่าว
“อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวา เทมิ สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ”
แล้วก็ต่อสมาทานขึ้นเลย “ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ อะทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ สุราเมระยะมัชฌะปมา ทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ” จบลงเป็นศีล เพิ่มศีลต่อศีลเราอย่าให้มันขาด แล้วจึงนอน
เพราะฉะนั้นการทำอย่างนี้เรียกว่าการรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ไม่ให้มันขาด ขาดข้อใดก็เพิ่มเอาข้อนั้น ใกล้จะนอนแล้วเรากราบไหว้สมาทานศีลให้มีศีลในร่างกาย มีศีลในจิตใจ แม้จะตายในคืนนั้นก็ได้ชื่อว่าตายอย่างมีศีล บุญกุศลที่รักษาไว้ ผู้มีศีลบริสุทธิ์มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาไว้ให้ตลอดไม่มีขาดตอนก็มีวิธีอย่างนั้นที่ท่านปฏิบัติ ถ้าไม่มีโอกาสสมาทานจากพระเจ้าพระสงฆ์ก็สมาทานเองในที่นอนนั้นเอง ก็มีศีลไม่ขาดตลอดเวลา ตื่นขึ้นมาวันใหม่แล้วศีลของเรายังบริสุทธิ์อยู่ในกลางวันวันนี้เราจะทำบาปอะไรบ้าง ศีลของเราขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง ก็ตรวจตราก่อนจะนอนวันใหม่ อย่าให้ตกอย่าให้ขาดว่าง นี้เป็นวิธีที่จะทำให้ได้ศีล เพราะฉะนั้นถ้าจะรักษาศีลทั้ง ๕ ประการ จึงทำดังนี้
ข้อ ๑. โดยเฉพาะอย่างยิ่งศรัทธาญาติโยมที่อยู่ในตลาด ใกล้ตลาด เช่น อำเภอบ้านแพง อำเภอศรีสงครามก็ดี เป็นการที่ว่าปาณาติปาตา เวรมณี นี้ที่มันจะขาดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปฆ่า เพียงซื้อของที่มันตายมาแล้วทำอาหาร ก็ไม่ฆ่า ไม่ฆ่ายุง ไม่ฆ่ามด ก็เป็นศีลขึ้นมาก็รักษาได้ไม่ขัดข้อง อทินนาทานา
ข้อ ๒ ก็เป็นการลักของเขา เราจำเป็นอย่างไรที่จะไปลักของคนอื่นเขา สัมมาอาชีพทำการงานสุจริต มีอาชีพตามทำนองคลองธรรม นี้ก็เป็นศีลอยู่แล้วไม่ขาดแล้ว ข้อนี้จึงไม่ขัดข้อง
ข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจารไม่ประพฤติล่วงเกินผัวเขา เมียเขา ลูกสาวเขา เกิดผิดฮีตจากคลองประเพณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ ไม่ประพฤติผิดศีลข้อ ๓ ก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นของที่ไม่จำเป็น
ข้อ ๔ มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ เป็นพยานเท็จเบิกความในศาล หรือหลอกลวงคนไปทำงานแล้วไม่ได้เงิน บอกทางคนเดินทางผิด เหล่านี้เป็นการพูดปด ก็เป็นบาป เราจะเสแสร้งให้ผิดจากความจริงอย่างไร ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดปด ศีลข้อนี้ก็ไม่ขัดข้อง
ข้อที่ ๕ สุราเมระยะ ดื่มสุราเมรัยก็ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต ปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรค ๔ อย่างนี้มีแล้ว สมบูรณ์แล้ว รักษาชีวิตไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีปัจจัย ๕ คือสุรายาเมาเข้าไปอีก เพราะว่าการเมาเหล้านี้เป็นเหตุให้ฉิบหาย ดังที่รัฐบาลประกาศว่าประชาชนชาวไทยของเรา ๖๓ ล้านคนนี้ จะตายด้วยอาการของเมาสุราเสียปีละ ๒ หมื่นคน ทรัพย์สินเงินทองเสียไปเป็นจำนวนมาก คน ๒ หมื่นคนตายไปเพราะเหล้าเป็นเหตุเท่านั้น นี้เป็นของที่ไม่จำเป็นเพราะรักษาศีลไม่ได้
เพราะฉะนั้นศีล ๕ ประการนี้จึงควรรักษาให้ได้ ผู้ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ศีล ๕ คือในหลวง พระราชินี พระมหากษัตริย์รักษาศีล ๕ ประการไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะฉะนั้นเวลาพระเจ้าแผ่นดินตายเรียกว่าสวรรคต คือว่าไปสู่สุขคติแล้ว ไปสู่สวรรค์แล้ว มีหวังที่จะไปสู่สวรรค์เหมือนดังพระบาลีที่อาตมายกมาในตอนต้นว่า “สีเลนะ สุคติง ยันติ” ผู้จะไปสุขคติไปเกิดเป็นเทวดาอีก ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ไปเกิดเป็นพรหม “สีเลนะ โภคะสัมปทา” จะมีโภคทรัพย์บริบูรณ์สมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่องก็เพราะมีศีล “สีเลนะ นิพพุติง ยันติ” จะไปพระนิพพานได้ก็เพราะศีล อานิสงค์ของศีลที่ม้วนเป็นครั้งสุดท้ายของการให้ศีลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดิน ในหลวงจึงมีหวังได้สุขคติอยู่แล้วตลอดเวลาเป็นแน่นอน เราทุกคนที่เป็นพุทธบริษัทก็ควรมีศีลอยู่ตลอดเวลาดังกล่าวมาแล้ว ตั้งใจใหม่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปก็ไม่สาย สมาทานศีลแล้วก็ตั้งใจรักษาศีล ตรวจตราศีลอยู่ตลอดเวลา พอจิตมันหน่วงเหนี่ยวเอาศีลเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว จิตใจก็ไม่คิดอย่างอื่น ไม่คิดบาป บาปไม่มีโอกาสเข้ามาแทรกแซงในจิต จิตเราแนบแน่นอยู่กับศีลทุกวัน ทุกเวลา ทุกกาล ทุกสมัย เป็นผู้มีศีลตลอด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม
สมุจเฉทวิรัติ การงดเว้นของพระอริยะเจ้าเรียกว่าศีลประเสริฐ ศีลของพระอริยะเจ้าหมายความอย่างไรว่าศีลประเสริฐ ศีลบริสุทธิ์ผุดผ่องครบถ้วนบริบูรณ์ หมายความอย่างนี้ คือศีลของพระอริยะเจ้านั้นท่าน งดเว้นเด็ดขาด ท่านไม่คิดจะทำชั่ว ไม่คิดจะพูดชั่ว ไม่คิดจะคิดชั่ว สิ่งที่ชั่วทั้งหลายนั้นเป็นของเลวทราม ท่านหลีกเว้นที่สุด แม้เสียชีวิตก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม ดังยกนิทานมาเป็นเครื่องประกอบให้ทายก ทายิกาฟังดังต่อไปนี้
พระจักษุบาล ท่านชวนภิกษุ ๓๐ รูป เรียนกรรมฐานจากพระศาสดาแล้วออกไปบำเพ็ญสมณธรรมในหมู่บ้านต่างๆ ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งทายก ทายิกาได้มีศรัทธาเลื่อมใส ขอนิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นั่น เพื่อพวกเขาจะได้มาปฏิบัติและฟังธรรมคำสอนทุกวัน ท่านก็อยู่บำเพ็ญเพียรถึงกลางพรรษา
ในกลางพรรษานั้นท่านเตือนภิกษุที่เป็นหมู่กันไปว่า “พวกท่านจะมีกติกานัดหมายอะไรในกลางพรรษานี้ก็ทำตามใจเถิด ทำตามกติกาของตนเองไปเลย ส่วนผมนั้นจะขอตั้งอธิษฐานว่าจะไม่นอน จะเดิน ยืน นั่ง ไม่นอนตลอดพรรษา” ท่านทำไปๆ ตาท่านก็เจ็บเพราะฝืนธรรมชาติ จนในที่สุดตาท่านก็แตก กายก็แตกคือตาแตก ใจก็แตกคือแตกกิเลส เป็นพระอรหันต์ ความมืดก็แตกคือรุ่งเช้าพอดี สามแตกรวมกัน ใจแตก กิเลสแตก โลกแตก ความมืดแตก นี้คืออานิสงค์ของการปฏิบัติในกลางพรรษานั้นเอง
เมื่อออกพรรษาแล้วภิกษุ ๓๐ รูป จะไปกราบพระศาสดา จึงมาชวนหัวหน้าคือพระจักษุบาล ท่านก็บอกว่า “ผมเป็นคนตาบอด จะเป็นที่ยุ่งยากแก่พวกท่านทั้งหลายอาจจะเดินทางล่าช้า เพราะฉะนั้นขอเชิญพวกท่านไปกราบพระศาสดาเถิด ผมไม่เป็นธุระของท่านให้ยุ่งยากดอก แต่ผมขอสั่งคำหนึ่งว่าเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถีแล้วให้ไปบอกน้องชายผมว่าผมตาบอดแล้ว ให้น้องชายผมจัดการมารับผมเอง” ภิกษุรับคำสั่งของอาจารย์พระจักษุบาลแล้วก็ไปกราบไหว้พระพุทธเจ้าแล้วจึงไปบอกน้องชายของพระจักษุบาล เมื่อน้องชายของพระจักษุบาลได้ทราบข่าวแล้วจึงให้ลูกชายของตนเองไปรับหลวงลุงที่บ้านนอกนั้นให้เข้ามา หลานชายจึงคิดว่าเราจะเดินทางผ่านบ้านผ่านเมืองผ่านดงไปอย่างนี้อาจเกิดอันตราย จากการเบียดเบียนของผู้อื่น เพื่อความปลอดภัยคือเป็นสมณะเพศ จึงไปบวชเป็นสามเณร นุ่งห่มเหลืองเพื่อกันภัยที่อาจถูกเบียดเบียนจากผู้อื่น แล้วจึงไปหาหลวงลุง
เมื่อไปถึงหลวงลุงแล้วจึงแจ้งความประสงค์ให้ทราบว่า “น้องชายของท่านคือพ่อผมให้มารับหลวงลุงกลับไป” พระจักษุบาลก็ว่า “เออ ดีแล้ว” เมื่อเตรียมของเรียบร้อยแล้วจึงให้หลานชายถือไม้เท้าจูงเดินทางผ่านบ้านผ่านเมืองไปหลายเมืองแล้วมาถึงกลางดงแห่งหนึ่ง ในตรงนั้นมีเสียงสตรีร้องเพลงเก็บฟืนอยู่ในกลางดงนั้น ส่วนหลานชายก็บอกว่า “หลวงลุงครับ ผมมีธุระจำเป็นอย่างอื่นที่จะต้องทำ ขอให้หลวงลุงพักอยู่ตรงนี้ก่อน ผมไปทำธุระเสร็จแล้วผมจะกลับมา” เมื่อหลานชายไปแล้วเสียงผู้หญิงนั้นก็เงียบไม่มีเสียงร้องเพลง เพราะไปทำประพฤติผิดล่วงสิกขาบทของสามเณรกับผู้หญิงนั้น เมื่อสมควรแล้วก็กลับมาหาหลวงลุงว่า “ผมเสร็จแล้วธุระ จับไม่เท้า ผมจะจูงหลวงลุงไป” พระจักษุบาลก็ว่า “ขอถามก่อนว่าเธอไปหาผู้หญิงนั้น เธอทำผิดสิกขาบทของเธอ ละล่วงสิกขาบทจริงหรือไม่” หลานชายก็บอกว่า “มันไม่เป็นความจริง” พระจักษุบาลจึงว่า “เมื่อเธอจากเราไปแล้วเสียงผู้หญิงนั้นยังร้องเพลงอยู่ เมื่อเธอจากไประยะหนึ่งเสียงผู้หญิงนั้นก็เงียบไปไม่ร้องเพลงอีก เพราะเธอได้ไปล่วงละเมิดสิกขาบทของเธอ เพราะฉะนั้นเธอเป็นคนชั่ว เป็นคนเลว คนไม่ดี คนอัปรีย์ คนนรก ประพฤติผิดสิกขาบทของตนเองทั้งที่เป็นสมณะ” หลานชายก็ว่า “ผมมิได้บวชด้วยตั้งใจศรัทธาหรอกครับ ผมบวชเพื่อความสะดวกของผมเอง” ท่านก็ว่า “ศรัทธาหรือไม่ศรัทธาก็ตาม เมื่อเธอหัวโล้นผ้าเหลืองเป็นสามเณรแล้ว โลกเขาก็รู้จักว่าเป็นนักบวช มีศีล มีธรรม นี่เธอแกล้งล่วงละเมิดสิกขาบทของตนโดยไม่ละอายแก่ใจ เธอเป็นคนเลวต่ำช้าลามก” หลานชายจึงว่า “ผมขอสารภาพผิดแล้ว ขอหลวงลุงจงโปรดยกโทษด้วยเถิด จับไม่เท้าผมแล้วผมจะจูงหลวงลุงไป” พระจักษุบาลท่านก็บอกว่า “เราจะไม่ยอมตามคนประพฤติชั่วที่เห็นแก่กิเลส ตัณหาราคะของตัวเองตลอดเวลา แม้ก้าวเดียวเราก็จะไม่ตามเธอไป เพราะฉะนั้นขอให้เธอจงไปตาทางของเธอเถิด ปล่อยให้เราอยู่นี่” หลานจึงว่า “ถ้าผมไม่จูงหลวงลุงไปแล้วหลวงลุงจะตายอยู่ในนี้นะครับ” ท่านบอกว่า “ตายหรือ ไม่ตาย เป็นหน้าที่ของเรา ส่วนเธอมีหน้าที่หนีจากเราไป เราจะไม่เดินตามเธออีกต่อไปแล้ว” หลานชายไม่มีคำตอบเดินร้องไห้จากไป ปล่อยให้ พระจักษุบาลอยู่ในกลางดงนั้น
เรื่องนี้ได้เดือดร้อนถึงพระอินทราธิราชบนสวรรค์ มองมาเห็นพระจักษุบาลตาบอดอยู่ในกลางดง หลานชายจากไปไหนแล้ว ไม่รู้จะไปที่ไหนได้ ถ้าเราไม่ไปช่วยไม่รู้จะไปที่ไหนได้ พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นบุคคลธรรมดามาในที่พระเถระอยู่ กระแอมขึ้นมาทำท่าให้ท่านรู้จัก พระจักษุบาลจึงว่า “โยมจะไปไหน” ท่านก็ว่า “จะไปเมืองสาวัตถี ผมจะรับท่านไปด้วย” ท่านก็ว่า “อาตมาตาบอด จะเป็นธุระท่านนะ ลำบากเฉยๆ ไปเถิด” พระอินทร์จึงว่า “ผมไม่มีธุระอะไรรีบร้อน ขอผมได้จูงท่านไปให้พ้นจากดงนี้ถึงเมืองสาวัตถีเถิด” เมื่อทายกปลอมอ้อนวอน ท่านก็จับไม้เท้าของทายกพระอินทร์เดินตามกันไปได้ไม่นาน ก็ได้ยินเสียงอึกทึกของชาวเมืองสาวัตถีเมืองใหญ่ ท่านจึงเอะใจว่า “เอ๊ะทำไม จากนี้ถึงเมืองสาวัตถีไม่ใช่ของใกล้นะ นี่ทำไมได้ยินเสียงเมืองสาวัตถีแล้ว” พระอินทร์จึงตอบว่า “ผมมีคาถาย่นแผ่นดินให้สั้นเข้า” ท่านก็เดินต่อไปอีกตามหลัง พระอินทร์ไป
เมื่อไปส่งถึงวัด ก็เข้าไปกราบพระพุทธเจ้าแล้วพระอินทร์ก็หายไป เมื่อพระจักษุโคบาลมาถึงวัดของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทำกุฏิของท่านเป็นพิเศษ ทำราวไว้ให้จับเพื่อเดินไปอาบน้ำ เดินตามราวไปเดินจงกลม ท่านปฏิบัติอย่างนั้น แล้วมีคืนหนึ่งในฤดูฝน แมงเม่าทั้งหลายออกจากรูของตนเอง บินไปมาแล้วก็มาตกเรี่ยราดอยู่ตามทางเดินจงกลม ทำให้ท่านเหยียบแมงเม่าตายเป็นอันมาก ท่านก็ไม่รู้ว่าแมงเม่าตาย พอตื่นเช้าขึ้นมา ลูกศิษย์ลูกหายังไม่กวาดที่ทางแต่ภิกษุสังวัคคีมาเห็นก่อนก็ว่า “นี่หรือพระอรหันต์ ยังเหยียบแมงเม่าตายอย่างนี้หรือเป็นพระอรหันต์ อรหันต์อย่างไรไม่ทราบ จึงฆ่าสัตว์ไม่ละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศลเลย” จึงไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระจักษุบาลท่านเป็นพระอรหันต์อย่างไรจึงเหยียบแมงเม่าตายเป็นเบือเลย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เรียกพระจักษุบาลมาหา ท่านมากราบพระพุทธเจ้าแล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงถามว่า “เธอเหยียบแมงเม่าตายเป็นจำนวนมากใช่ไหม” พระจักษุบาลจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ข้าพระองค์ตาบอดทั้งสองข้าง มีความมืดอยู่ตลอดเวลา ตาไม่มีแล้วเมื่อเหยียบอะไรก็ไม่รู้จัก มองไม่เห็น ไม่ได้เจตนา ถ้าแม้นว่าข้าพระองค์เห็นแล้วจะมีคนมาบังคับให้ข้าพระองค์เหยียบข้าพระองค์ก็จะไม่เหยียบ แมงเม่านั้น แม้นเขามาขู่จะฆ่าให้ตายข้าพระองค์ก็ยอมถูกฆ่าให้ตายดีกว่าจะไปเหยียบแมงเม่าให้ตาย” นี้เองพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าพระจักษุบาลเป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอน เป็นพระอริยะมีศีลมั่นคง แน่แน่ว เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เรียกว่าเสียชีพอย่าเสียสัตย์ แม้จะต้องตายก็ตามก็จะไม่ยอมเสียศีล
นี่เป็นอุทาหรณ์ว่าสมุจเฉทวิรัติ ศีลของพระอริยะเจ้าเป็นอย่างไร เป็นอย่างนี้เป็นดังกล่าวมาแล้ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วท่านไม่พอใจที่จะทำ แม้คนชั่วท่านก็ไม่พอใจที่จะเดินตามคนชั่ว เป็นกิจวัตรของพระอริยะเจ้า เป็นศีลอันประเสริฐทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ ศีลของเราปุถุชนนี้ที่รักษาศีล ๘ ศีล ๕ รักษาศีลแต่ทางกายและวาจา แต่ทางใจนั้นไม่รักษา ก็ไม่ถือว่าขาดศีล เช่นว่าดื่มสุราเมรัย เป็นบาป ถ้าหากว่าไม่ดื่มเขาจะฆ่าให้ตายก็ยอมให้ฆ่าให้ตายไม่ยอมละศีล แต่ว่าใจของปุถุชนไม่เป็นเช่นนั้น คิดอยาก ฆ่าอยู่สำนึกขึ้นได้ว่าเรามีศีลไม่ควรฆ่า เช่นมด ยุงมาตอม มากัด ก็สำนึกขึ้นได้ว่าเราเป็นคนมีศีล ไม่ควรจะทำ แต่ใจอยากฆ่าอยู่ ใจอยากประพฤติล่วงละเมิดอยู่ สามีภรรยาที่ไปทำชู้ทำสาว ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร พอเหมาะพอควรที่จะทำได้ ก็ตั้งใจไม่ทำ แต่ว่าใจอยากทำอยู่แต่ก็มีศีลมาขัดไว้จึงไม่ทำ ไม่สมควร นั่นชื่อว่าเป็นศีลของปุถุชนสามัญเรา ไม่เหมือนศีลของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ดังพระจักษุบาลเป็นต้น ท่านไม่ยอมเดินตามหลังหลานชายไปนั้นเพราะรังเกียจความชั่วของคนชั่วนั้นเอง เป็นศีลที่ประเสริฐ เป็นศีลที่บริสุทธิ์ บังคับว่าไม่ทำ กายบังคับได้ วาจาบังคับได้แต่ใจยังล่วงละเมิดอยู่แต่ไม่ทำ จึงสงบเรียบร้อยแต่ภายนอก ความสงบเรียบร้อยภายนอกนี้เป็นการบังคับเหมือนกับนักเรียนในห้องเรียน นักเรียนในห้องเรียนมีกติกาของครูว่าให้ตั้งใจเรียน อย่าคุยกัน อย่าส่งเสียงดัง อย่าทำกิจกรรมอื่น นักเรียนในห้องทุกคนเงียบสงบ เรียบร้อยบริบูรณ์ทุกอย่าง นั่นเป็นกิริยาของนักเรียนหรือเปล่า ไม่ใช่หรอก เป็นข้อบังคับของครู กติกาของครูบังคับให้ทำทั้งนั้น ฉันใดก็ดีปุถุชนเราที่รักษาศีลก็เป็นเช่นนั้น ใจอยากทำอยู่แต่กายไม่พูด กายไม่ทำ ก็เป็นศีลอยู่ ไม่ขาด เพราะฉะนั้นศีลของพระอริยะเจ้าจึงประเสริฐที่สุด นี้ชื่อว่าการรักษาศีลธรรม พระมีศีล ๒๒๗ เณรมี ๑๐ สิกขาบท ที่เป็นศีลแล้ว ถ้ามีศีลไม่บริสุทธิ์แล้วอย่าหวังผลเป็นสมาธิเลย ดังพระบาลีว่า
“สีละ ปะริภาวิโต สะมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส” เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีผลใหญ่ อานิสงค์ใหญ่คือ สมาธิ
“สมาธิ ปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา” เมื่อมีสมาธิบริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีผลใหญ่ อานิสงค์ใหญ่คือ ปัญญา
“ปัญญา ปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ” เมื่อมีปัญญาบริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีผลใหญ่ อานิสงค์ใหญ่คือ วิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสตันหาบั้นปลายที่สุด
เพราะฉะนั้นเบื้องต้นของศีลนี่แหละสำคัญ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ อย่าไปหวังเลยสมาธิ ไม่ได้แน่นอน ดังพระบาลีที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นศีลจึงสำคัญที่สุด เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นศีลกถา ที่อาตมาได้ชี้แจงแสดงมาก็พอสมควรแก่เวลาขอให้ศรัทธาญาติโยมตั้งใจฟัง แล้วก็ทำตามด้วย คือตั้งใจสมาทานศีลใหม่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตั้งใจใหม่ว่าเราจะมีศีลตลอดเวลาทุกชีวิต ทุกวันทุกเวลา เป็นทางปฏิบัติสู่อริยะสูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นธรรมที่อาตมาชี้แจงมาก็สมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขออ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนตรัยและผลศีลผลทานศรัทธาญาติโยมที่ฟังเทศน์ในวันนี้ก็ดี จงรวมกันเป็นมหันตเดชานุภาพบันดาลให้ท่านทั้งหมดจงแคล้วคลาดปราศจากอุปัทวันตราย ประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปทุกทิพาราตรีกาลทุกๆคน ทุกๆ ท่านเทอญ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

รูปภาพ
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำโขง

รูปภาพ

:b8: หนังสือจันโทปมาจาริยานุสรณ์
พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม)
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร
พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม)
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕


----------------------------------------

ตำนานภูลังกา ดินแดนแห่งพระเจ้าห้าพระองค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35539

ภูลังกา...แดนลับแล...บึงกาฬ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35542

ประมวลภาพ “หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม” วัดศรีวิชัย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=22933

ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35359


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2018, 20:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร