วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์ดี ฉนฺโน
วัดภูเขาแก้ว ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน ๙ คน ของหลวงอินทร์ และแม่จันทรา วงศ์เสนา เกิดที่บ้านกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ ปีมะโรง

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๒ ครอบครัวของบิดาได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร จึงจัดเป็นตระกูลที่เก่าแก่หลักบ้านหลักเมืองตระกูลหนึ่ง

พระอาจารย์ดีเคยบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๖ ปี จนถึงอายุ ๑๘ ปี ได้ลาสิกขาออกมาช่วยงานทางบ้าน พออายุ ๒๐ ปีได้แต่งงานกับนางมี กาฬสุข อยู่ด้วยกัน ๓ ปี ไม่มีบุตร ได้หย่าร้างกัน

หลังจากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย โดยมี พระธรรมบาล วัดบ้านกุดมะฮง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีบุญเรืองท่าแขก หรือวัดบ้านกุดแห่ บ้านกุดแห่ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร จนกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระเถระนับพรรษาได้ ๒๔ พรรษา

วัดศรีบุญเรืองท่าแขก หรือวัดบ้านกุดแห่ ในสมัยพระอาจารย์ดีนั้น เป็นวัดที่ได้ชื่อว่าเจริญที่สุดในถิ่นนั้น มีศาลาโรงธรรมที่มีเสาใหญ่ที่สุด วัดโดยรอบได้ ๑ เมตร มีถึง ๓๖ ต้น

ท่านสร้างหอไตรที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ทั้งประดิษฐ์ธรรมาสน์แบบไทยเดิม สร้างกุฏิใหญ่ ๒ หลัง เพราะท่านมีความชำนาญในทางช่างไม้ ช่างก่อสร้าง แกะสลัก เขียนภาพ ช่างเหล็ก ช่างปูน ช่างปั้นดินเผา ช่างเครื่องหนัง (เช่น ทำเข็มขัด อานม้า รองเท้า กระเป๋าหนัง เป็นต้น อีกทั้งมีความรู้ทางว่านยาแผนโบราณ เก่งทั้งทางคาถาอาคม เชี่ยวชาญในการปราบผีทุกชนิด จนชาวบ้านตั้งฉายาว่า “อาจารย์ดี ผีย่าน” (ย่าน คือ กลัว) อีกทั้งเทศนาโวหารก็เฉียบคม ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกล มีลูกศิษย์ลูกหามาก

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีเหตุการณ์สำคัญของพระอาจารย์ดี ที่ทำให้กองทัพธรรมสายของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความศรัทธาอย่างสูง เหตุการณ์ที่ว่านี้เป็นเพราะพระเถระที่ชาวบ้านศรัทธามาก ๓ องค์ได้ขอญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ติดตามปฏิบัติธรรมไปกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้แก่ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

รูปภาพ
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร


ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงปู่ใหญ่เสาร์และคณะ พักจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ศิษย์อาวุโสองค์อื่นๆ แยกพักจำพรรษาในที่ต่างๆ ส่วนหลวงปู่ใหญ่มั่นออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ทั้งสององค์ได้ยินกิตติศัพท์ทางธรรมของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ และหลวงปู่ใหญ่มั่น ก็มีความสนใจ พอทราบว่าหลวงปู่ใหญ่มั่นมาพักที่บ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์เกิ่งจึงได้ชวนพระอาจารย์สีลา พร้อมพระเณรลูกวัดไปฟังเทศน์และสนทนาไต่ถามปัญหาข้ออรรถข้อธรรมที่สงสัยค้างคาใจต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตข้อวัตรของหลวงปู่ใหญ่มั่นอย่างใกล้ชิด จนเกิดความอัศจรรย์ใจในข้ออรรถข้อธรรมและจริยาวัตรของท่าน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส

พระอาจารย์เกิ่งได้นิมนต์หลวงปู่ใหญ่มั่นให้ไปโปรดญาติโยมและพักจำพรรษาที่บ้านสามผง ถิ่นที่พำนักของท่าน พร้อมทั้งขอถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิด จนเกิดผลประจักษ์ทางใจอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสรับรู้มาก่อน

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ในเวลานั้นอายุพรรษาถึง ๑๙ พรรษาแล้ว เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง ที่ตั้งอยู่ในวัดนี้ด้วย

ส่วนพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ท่านเป็นสหธรรมิกกับองค์แรก เป็นชาวสกลนคร อายุพรรษา ๑๗ พำนักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย (คนละแห่งกับพระอาจารย์เกิ่ง) ตำบลวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

ในที่สุด พระอาจารย์เกิ่งและพระอาจารย์สีลา ได้ตัดสินใจสละตำแหน่งและลาภยศต่างๆ ทั้งหมด แล้วขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุต ในเดือน ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พร้อมกับลูกศิษย์พระเณรก็ขอญัตติตามหมดทั้งวัด จำนวนพระภิกษุ-สามเณรที่ญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุต ที่บ้านสามผงในครั้งนั้นมีประมาณ ๒๐ รูป รวมทั้ง สามเณรสิม วงศ์เข็มมา (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) ที่มาจากวัดศรีรัตนาราม บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ด้วย

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 15:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


ส่วนพระอาจารย์ดี ในปีนั้นท่านได้ดั้นด้นบุกป่าดงออกเสาะหาของดีของขลังมาถึงบ้านสามผง ได้รู้กิตติศัพท์เกี่ยวกับหลวงปู่ใหญ่มั่น จึงเข้าไปกราบขอฟังธรรมและปฏิบัติธรรมด้วย จนประจักษ์ผลทางใจอย่างน่าอัศจรรย์ ในที่สุดก็ขอสละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรืองท่าแขก หรือวัดบ้านกุดแห่ ที่โด่งดังในสมัยนั้น และได้ออกธุดงค์ติดตามคณะกองทัพธรรมไป จนได้ญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่วัดสร่างโศก หรือวัดศรีธรรมาราม จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน และเป็นศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่ใหญ่เสาร์จนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่ท่าน

ในพรรษานั้นจึงเป็นการประกาศธรรมชนิดพลิกแผ่นดินที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ทำให้ชื่อเสียงของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต พร้อมทั้งกิตติศัพท์ของกองทัพธรรมพระกรรมฐานลือเลื่องกระเดื่องไกล เป็นที่อัศจรรย์ร่ำลือของผู้คนในแถบนั้น ถึงกับกล่าวว่า หลวงปู่ใหญ่ทั้งสององค์เป็นพระผู้วิเศษที่ทำให้พระดังถึงสามองค์ยินยอมถวายตัวเป็นศิษย์ได้

หลังจากนั้น พระอาจารย์ดีก็ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยเผยแผ่ธรรมปฏิบัติในกองทัพธรรมพระกรรมฐาน ตลอดภาคอีสาน รวมถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอีกด้วย

ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ใหญ่มั่นก็ได้พาคณะเดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยพระภิกษุ-สามเณรประมาณ ๗๐ รูป ต่อมาได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรม และไปโปรดเทศนาศรัทธาญาติโยมที่เมืองอุบลราชธานี และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้นหลวงปู่ใหญ่มั่นก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมมารดาท่านซึ่งบวชเป็นชี ไปส่งมอบให้แก่น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลราชธานีช่วยดูแล เพราะเห็นว่าโยมมารดาท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่างก็รับรองเอาโยมมารดาท่านไปส่งด้วย ด้วยเพราะโยมมารดาของหลวงปู่ใหญ่มั่นแก่มากหมดกำลัง ต้องเดินทางไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลราชธานีได้

หลังจากที่พระอาจารย์ดีได้เข้ารับฟังธรรมและได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ใหญ่มั่นอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้กลับไปอยู่ที่วัดบ้านกุดแห่ ที่เป็นบ้านเกิดดังเดิม ได้อบรมธรรมปฏิบัติให้กับชาวบ้านกุดแห่ แต่ก็ได้เกิดปัญหาบางประการขึ้นคือ เมื่อท่านได้สอนธรรมข้อปฏิบัติให้ญาติโยมทั้งหลายไปแล้ว แต่ญาติโยมบางคนเมื่อปฏิบัติแล้วได้เกิดวิปัสสนูกิเลส มีอันเป็นไปต่างๆ บางพวกออกจากการภาวนาเดินไปถึงสี่แยก เกิดเข้าใจเอาว่าเป็นทางเดินของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า พวกนี้จะพากันคุกเข่ากราบไหว้อยู่ที่นั่นเป็นเวลานานจึงได้ลุกเดินไปบ้าง พอไปถึงสี่แยกหน้าก็เข้าใจผิด และปฏิบัติเช่นนี้อีกเรื่อยๆ บางคนลุกจากภาวนาได้ ก็ถอดผ้านุ่งผ้าห่มออกจนหมด เดินฝ่าญาติโยมที่นั่งภาวนาอยู่ด้วยกัน จนเกิดโกลาหลกันยกใหญ่ มีญาติโยมบางคนกราบไหว้พระอาจารย์ดี ให้ท่านช่วยไปแก้ไขให้ ท่านก็มิรู้จะแก้ได้อย่างไร เป็นเหตุให้กระวนกระวายใจมาเกือบปีแล้ว

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


เผอิญในช่วงนั้นเป็นช่วงที่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งได้ออกติดตามหลวงปู่ใหญ่มั่นไปส่งโยมมารดาหลวงปู่ใหญ่มั่นกลับเมืองอุบลฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ที่บ้านกุดแห่ เมื่อไปถึงพระอาจารย์ดีก็ได้ต้อนรับขับสู้พระอาจารย์ฝั้นอย่างแข็งขัน จากการถามทุกข์สุข พระอาจารย์ดีได้แสดงความวิตกกังวลต่อพระอาจารย์ฝั้น เรื่องที่ชาวบ้านเกิดปัญหาในการปฏิบัติธรรมที่กล่าวข้างต้น จึงขอความกรุณาให้พระอาจารย์ฝั้นช่วยแก้ไขให้ด้วย พระอาจารย์ฝั้นตรองหาทางแก้ไขอยู่ไม่นานนักก็รับปาก พระอาจารย์ดีจึงให้เณรเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ให้บรรดาญาติโยมไปฟังธรรมโอวาทของพระอาจารย์ฝั้นที่วัดในตอนค่ำ

ถึงเวลานัด ญาติโยมทั้งหลายก็หลั่งไหลเข้าไปในวัด เริ่มแรก พระอาจารย์ฝั้นให้ญาติโยมเหล่านั้นยึดพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง เมื่อบูชาคุณพระรัตนตรัยแล้ว ท่านได้เริ่มเทศนาให้รู้จักแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อญาติโยมเข้าใจวิธีแก้แล้ว ท่านจึงนำเข้าที่ภาวนา เมื่อเห็นผู้ใดกำหนดจิตไม่ถูกต้อง ท่านก็เตือน ขณะเดียวกันท่านก็กำหนดจิตติดตามกำกับจิตของญาติโยมเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ญาติโยมที่เคยกำหนดจิตหลงทาง ต่างก็กลับมาเดินถูกทางไปทั้งหมด พอเลิกจากการภาวนา ต่างก็สาธุการและแซ่ซ้องยินดีโดยทั่วกัน พากันกราบไหว้เคารพว่า ท่านอาจารย์ฝั้นช่างเข้าใจวิธีแก้ได้เก่งมาก หากไม่ได้ท่าน พวกเขาอาจถึงกับเสียจริตไปก็ได้

พระอาจารย์ฝั้นได้นำพวกญาติโยมภาวนาติดต่อกันไปถึง ๔-๕ คืน เมื่อเห็นว่าต่างก็เดินถูกทางกันแล้ว ท่านก็กลับมากราบเรียนหลวงปู่ใหญ่มั่น ที่บ้านหนองขอน ให้ทราบเรื่องราวที่ได้ปฏิบัติไป

ในครั้งนั้น เมื่อท่านพระอาจารย์ดีทราบข่าวว่า หลวงปู่ใหญ่มั่นกำลังเดินทางสู่จังหวัดอุบลฯ เพื่อส่งโยมมารดาท่านกลับบ้านเกิด และอยู่โปรดชาวจังหวัดอุบลฯ ในแถบนั้น ก็ได้เดินทางตามหลวงปู่ใหญ่มั่นมา และได้อยู่ที่จังหวัดอุบลฯ จนกระทั่งออกพรรษาแล้วประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ หลวงปู่ใหญ่มั่นก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) จำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) และออกพรรษาแล้วก็ได้ติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่ โดยก่อนจะไปกรุงเทพฯ หลวงปู่ใหญ่มั่นก็ได้เรียกประชุมคณะศิษยานุศิษย์แล้วได้มอบหมายให้อำนาจพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 16:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้หลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน

ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น พักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหัวงัว จังหวัดยโสธร ท่านก็ได้ทราบข่าวจากพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านด้วย ว่าทางจังหวัดขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับหลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น ในเรื่องดังกล่าว และพิจารณาเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเป็นดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีพระอาจารย์ริน พระอาจารย์แดง พระอาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมมากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตรงกับเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


๏ เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่นนั้น คณะของหลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น ได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) ว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสืออัตตโนประวัติพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า

“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยมคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น

โยมคนเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง

ฉะนั้น จึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว เขาถือไม้ค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้น ไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่า เห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลย จงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น

ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนหลวงปู่สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืกๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาตตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี

ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจ ไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นี้อยู่เรื่อยไป”


รูปภาพ
ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสานุศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
:b49: :b49: จากซ้าย : ๕ พระบูรพาจารย์
๑. หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)
๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี (อายุ ๗๑ ปี)
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๔. หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าอัมพวัน จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)

บันทึกภาพ ณ ด้านข้างพระอุโบสถ วัดศรีสุทธาวาส (วัดเลยหลง) จ.เลย
ในงานอุปสมบทนายช่างแขวงการทางจังหวัดเลย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 16:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต


๏ แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งใน จ.ขอนแก่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอย่างแท้จริง โดยได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๖. พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๘. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพร้อมด้วยเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระอุปัชฌาย์ในท้องที่ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น ได้ออกเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ทุกปี ตลอดมาเป็นเวลา ๓ ปี

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล เป็นพระกรรมฐานรุ่นกลาง
ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เช่นเดียวกับพระอาจารย์ดี ฉนฺโน


รูปภาพ
หลวงพ่อชา สุภทฺโท


๏ ฉันข้าวเหนียวจิ้มน้ำเปล่า

หลวงพ่อชา สุภทฺโท ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ พระอาจารย์ดี ไว้ในเทศน์ของท่านตอนหนึ่งว่า

อาจารย์ดีที่เป็นคู่กับอาจารย์ทองรัตน์ เป็นพระกรรมฐานรุ่นกลางไม่ใช่รุ่นแรก ที่เป็นศิษย์อาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เที่ยวบิณฑบาตไปฉันตามบ้านป่า บางทีบางบ้านก็ไม่รู้เรื่องเลย พระไปบิณฑบาตก็ใส่แต่ข้าว จะเอาอาหารใส่บาตรหรือ ก็ไม่เคยทำกัน บางแห่งก็ว่า พระกรรมฐานท่านฉันแต่หวาน อย่างอื่นท่านไม่ฉันหรอก พอไปบิณฑบาตตามบ้านเขาก็เอาข้าวเปล่าใส่เท่านั้นแหละ พระจะไปบอกให้เขาเอาอาหารใส่บาตรก็ไม่ได้ เป็นอาบัติ

บางทีพระไปพักอยู่เป็นเดือนๆ เขาก็ยังไม่เข้าใจ ทีนี้ท่านอาจารย์ดีท่านไปบิณฑบาตในบ้านที่ยังไม่เคยไป โยมก็ใส่แต่ข้าว ตอนฉันจังหันเขาก็ตามไป ท่านก็ฉันจังหันอยู่อย่างนั้นแหละฉันแต่ข้าวเปล่าๆ เพราะของมันอยู่ในบาตร โยมเขาก็มองไม่เห็น เห็นพระเอามือล้วงลงไป ท่านก็เอาขึ้นมาฉันสบายๆ ก็นึกว่าอาหารท่านเยอะแยะแล้ว

ท่านอาจารย์ดีท่านฉันข้าวเปล่าๆ อยู่ ๗ วัน ท่านก็คิดว่า “จะทำอย่างไรดีหนอ” พระกรรมฐานนี่ท่านก็มีปัญญาพอสมควรเหมือนกันนะ

วันหนึ่งท่านก็เอาฝาบาตรหงายขึ้น จับเอากาน้ำมารินใส่มีแต่น้ำเท่านั้นแหละ โยมก็ตามมานั่งอยู่ จะมาฟังธรรม ท่านก็เอาข้าวเหนียวมาปั้นแล้วก็จิ้มกับน้ำในฝาบาตรที่รินมาจากกาน้ำนั่นแหละ ท่านก็ฉันข้าวไป โยมเขาก็มองท่าน ท่านก็ฉันของท่านไปเรื่อยๆ

โยมสงสัยก็ถาม “เอ้า หลวงพ่อทำไมฉันอย่างนั้นเล่า ทำไมฉันข้าวกับน้ำ”

ท่านก็ว่า “มันมีอย่างนี้ก็ฉันอย่างนี้”

โยมก็ว่า “ฉันพริก ฉันปลาร้า ไม่ได้หรือ”

“ถ้ามันมี ก็ได้” ท่านอาจารย์ตอบ

โอ้โฮ มันช่างเพราะเหลือเกินนะ ท่านเอาข้าวในบาตรนั้นมาจิ้มน้ำเปล่าอยู่นั่นแหละ นี่คือจะสอนเอากันถึงขนาดนั้น ทีนี้เขารู้แล้วก็ว่า โอ...เราบาปแล้วให้พระฉันข้าวกับน้ำเปล่าๆ อยู่ถึง ๑๕ วัน แล้วนี่ความไม่รู้เรื่องเป็นอย่างนี้ คนที่ไม่รู้เรื่องมันสอนยากสอนลำบาก


รูปภาพ
พระอาจารย์ถิร ฐิตธมฺโม


๏ รับศิษย์

ปี พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๘ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศิลาวิเวก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และในช่วงนี้ท่านก็ได้รับศิษย์ คือ พระอาจารย์ถิร ฐิตธมฺโม ซึ่งมาเป็นศิษย์ของท่านตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรอายุ ๑๘ ปี และได้รับการฝึกอบรมวิธีการบำเพ็ญเพียรภาวนา สมาธิ และกรรมฐานจากพระอาจารย์ดีมาโดยตลอด จนกระทั่งได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 16:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

รูปภาพ
หลวงปู่โชติ อาภคฺโค (พระครูพิบูลธรรมภาณ)


๏ ถวายตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ใหญ่เสาร์

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้มีโอกาสกราบและถวายตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล จนกระทั่งได้ออกธุดงค์ติดตามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ไปจนตลอดอายุขัยของหลวงปู่ใหญ่เสาร์

พระอาจารย์ดี ได้ติดตามหลวงปู่ใหญ่เสาร์ไปจังหวัดอุบลราชธานี และไปพำนักอยู่กับท่านที่บ้านข่าโคม บ้านเกิดของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ ต่อมาได้ธุดงค์ไปที่อำเภอพิบูลมังสาหาร มีคณะญาติโยมชาวบ้านได้ศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่ใหญ่เสาร์เพื่อสร้างวัดกรรมฐานขึ้น มีชื่อว่า “วัดภูเขาแก้ว”

ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้พาคณะมาพำนักที่วัดภูเขาแก้ว ซึ่งแต่เดิมคือ ป่าช้าภูดิน ตั้งอยู่บนเนินสูงก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร

ประวัติการก่อตั้งวัดภูเขาแก้วนั้น มีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้ขอร้องให้หลวงปู่ใหญ่เสาร์พิจารณาหาหนทางสร้างวัดป่ากรรมฐานขึ้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ด้วยปรากฏว่าญาติพี่น้องของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้อพยพมาจากบ้านแคน อำเภอดอนมดแดง มาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพธิ์ตาก อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นจำนวนมาก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านอยากให้มีวัดกรรมฐานเพื่อช่วยอบรมสั่งสอนทางธรรมให้ญาติโยมของท่าน “ได้รับแสงสว่างหายมืดหายบอด” และเพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายให้มีสถานที่บำเพ็ญบุญ เป็นศูนย์รวมปฏิบัติธรรมอบรมภาวนาจิต จึงบัญชาให้พระอาจารย์เสงี่ยม และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในสถานที่ดังกล่าว โดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ให้ความสนับสนุน ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่นี้ว่า วัดป่า หรือ วัดป่าภูเขาแก้ว หรือ วัดภูเขาแก้ว ในปัจจุบัน

ข้อมูลอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ขุนสิริสมานการ กับนายคำกาฬ เป็นผู้มานิมนต์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ท่านจึงได้ให้พระอาจารย์เสงี่ยม และพระอาจารย์ดี ฉนฺโน มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่เนินป่าภูดิน นอกเมืองพิบูลมังสาหาร ซึ่งเล่ากันว่าเป็นที่อาถรรพณ์ร้ายแรง เพียงคืนแรกที่ไปปักกลดอยู่ใต้ร่มไม้ พระอาจารย์ทั้งสองก็โดนลองดีเสียแล้ว

กล่าวกันต่อมาว่า พระอาจารย์ทั้งสองได้นำพาคณะศรัทธาชาวบ้านญาติโยมละแวกนั้น ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติสมาธิภาวนา รวมทั้ง ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ เจ้าที่เจ้าทาง และเทพเทวดาอารักษ์ เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณ การสร้างวัดจึงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ด้วย วัดภูเขาแก้วจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ

เจ้าอาวาสองค์แรกคือ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ต่อมา หลวงพ่อเพชร สุภโร เป็นองค์ที่สอง, หลวงปู่โชติ อาภคฺโค (พระครูพิบูลธรรมภาณ) อดีตเจ้าคณะอำเภอพิบูลมังสาหาร ฝ่ายธรรมยุต เป็นองค์ที่สาม และพระอธิการรพีพล ปณฺฑิโต เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

หลวงปู่ใหญ่เสาร์มอบหมายให้พระอาจารย์ดีเป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาแก้ว แล้วท่านไปสร้างวัดใหม่บนเกาะกลางลำแม่น้ำมูล ชื่อ “วัดดอนธาตุ” และพำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้เป็นวัดสุดท้ายในชีวิตขององค์ท่าน


รูปภาพ
หลวงปู่โชติ อาภคฺโค (พระครูพิบูลธรรมภาณ)

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่โชติ อาภคฺโค ณ วัดภูเขาแก้ว จ.อุบลราชธานี ในปัจจุบัน
สำหรับทางขึ้น-ลงกุฏิทำเป็นทางลาดเพื่อให้รถเข็นสามารถขึ้นลงได้
เนื่องจากองค์หลวงปู่โชติท่านอาพาธด้วยโรคอัมพาต เดินไม่ได้


:b50: หมายเหตุ : หลวงปู่โชติ อาภคฺโค (พระครูพิบูลธรรมภาณ) ท่านได้มรณภาพแล้ว
​เมื่อวันอาทิตย์ที่​ ๒๖​ สิงหาคม​ ๒๕๖๑​ สิริอายุรวมได้ ๘๘​ ปี ​พรรษา​ ๖๓ ​


รูปภาพ
วัดภูเขาแก้ว ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ในปัจจุบัน

(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 16:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดดอนธาตุ (วัดเกาะแก้วพระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา)


๏ หลวงปู่ใหญ่เสาร์สร้างวัดดอนธาตุ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้รับนิมนต์จากแม่ชีผุย โกศัลวิตร ไปในงานฉลองศาลาวัดภูเขาแก้ว ที่คณะศรัทธาชาวเมืองพิบูลมังสาหารสร้างถวาย

หลังจากงานฉลองศาลา ๔-๕ วัน หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้ปรารภกับลูกศิษย์ว่า...อันว่าลำน้ำมูลตอนใต้เมืองพิบูลฯ นี้ องค์ท่านยังไม่เคยไปตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ทั้งหลายนั้น จะมีผู้ใดอาสาพาไปสำรวจดูบ้าง

ก็มีลูกศิษย์ฝ่ายฆราวาสผู้ขันอาสา ได้แก่ ขุนสิริสมานการ (อดีตนายอำเภอพิบูลมังสาหาร), พ่อใหญ่อาจารย์บับ, พ่อใหญ่ครูคำดี, พ่อใหญ่พุทธา เป็นต้น

เมื่อถึงวันออกเดินทาง คณะศิษย์ได้จัดเตรียมเรือไว้หลายลำคอยอยู่ที่ท่าน้ำใต้แก่งสะพือลงไป

ตอนเช้าหลังฉันจังหันเสร็จแล้วได้ออกเดินทาง หลวงปู่ใหญ่เสาร์นั่งรถสามล้อถีบซึ่งมารออยู่แล้ว

คณะพระเณรที่ไปด้วยมี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก, พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส, พระอาจารย์บุญเพ็ง นารโท, สามเณรหงส์ทอง, สามเณรคำผาย และสามเณรปุ่น เป็นต้น พากันเดินตามสามล้อหลวงปู่ใหญ่เสาร์ ไปลงเรือที่รอรับอยู่ ๔-๕ ลำ มีทั้งเรือแจวและเรือพาย

กองเรือได้ออกจากท่า ล่องตามลำน้ำมูลไปทางทิศตะวันออกผ่านบ้านแก่งเจริญ บ้านหินสง บ้านหินลาด บ้านไก่เขี่ย บ้านชาด ถึงดอนคับพวง แวะขึ้นไปเดินสำรวจดู

แล้วต่อไปยังดอนธาตุ ดอนตากไฮ ดอนเลี้ยว จนตะวันบ่ายคล้อยราว ๔-๕ โมงเย็น ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม ฝนเริ่มตั้งเค้า จึงได้จอดเรือ แล้วขนบาตรขนบริขารขึ้นไปพักที่ศาลาท่าน้ำ วัดบ้านหัวดอนของพระอุปัชฌาย์รัตน์

เย็นนั้นลมฝนพัดกรรโชกแรงอื้ออึง จึงได้พากันเคลื่อนย้ายไปขอพักยังศาลาวัดบ้านหัวดอนที่อยู่ใกล้กันนั้น

รูปภาพ

รูปภาพ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ

รูปภาพ

รูปภาพ
รูปหล่อเหมือนและรูปภาพพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารฯ วัดดอนธาตุ


รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารฯ วัดดอนธาตุ



ตอนนั้นพระอุปัชฌาย์รัตน์ เจ้าอาวาส ไม่อยู่ พระลูกวัดนิมนต์หลวงปู่ใหญ่เสาร์ และคณะไปพักที่ศาลาการเปรียญ แล้วส่งข่าวให้ผู้ใหญ่บ้านหัวดอน บ้านทรายมูล และชาวบ้านละแวกนั้นทราบ

พอถึงค่ำ ผู้ใหญ่บ้านและบรรดาลูกบ้านต่างก็พากันมากราบหลวงปู่ใหญ่เสาร์เป็นจำนวนมาก ในฐานะที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งเป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาอยู่แล้ว

หลวงปู่ใหญ่เสาร์นำพาคณะชาวบ้านสวดมนต์ไหว้พระ รับศีล แล้วให้พระอาจารย์ดีแสดงธรรมโปรดคณะชาวบ้านจนดึกดื่น เป็นที่ซาบซึ้งและสร้างความศรัทธาให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก

เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องราวและกิตติศัพท์ในทางธรรมของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ และคณะพระกรรมฐาน จึงได้พากันอาราธนานิมนต์ให้อยู่เผยแผ่ธรรมโปรดคณะศรัทธาชาวบ้านในถิ่นแถบนั้น

รุ่งเช้าหลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้นำพาพระเณรออกบิณฑบาตในหมู่บ้าน ชาวบ้านหัวดอนและบ้านทรายมูลได้พากันมาถวายจังหันเป็นจำนวนมาก

พอฉันจังหันแล้ว หลวงปู่ใหญ่เสาร์บอกพระเณรและชาวบ้านญาติโยมว่า ท่านพิจารณาแล้ว อยากเลือกดอนธาตุให้เป็นที่ตั้งวัด เมื่อหลวงปู่ใหญ่เสาร์ปรารภว่า อยากสร้างดอนธาตุขึ้นเป็นวัดกรรมฐานเพราะมีความเหมาะสม คณะศรัทธาญาติโยมต่างโมทนาสาธุการ แล้วผู้ใหญ่บ้านพร้อมทั้งประชาชนต่างยินยอมพร้อมใจยกที่ดินบริเวณเกาะดอนธาตุถวายให้ท่านหลวงปู่ใหญ่เสาร์นำพาสร้างวัดต่อไป

พ่อใหญ่จอม พันธ์น้อย ได้ถวายบ้านเก่าหนึ่งหลัง พ่อใหญ่หมาจุ้ย ผลสิทธิ์ (ภายหลังหลวงปู่ใหญ่เสาร์เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า พ่อใหญ่มงคล) ถวายบ้านหนึ่งหลัง และชาวบ้านอีกหลายคนก็ร่วมถวาย จึงได้บ้านเก่าหลายหลัง แล้วชาวบ้านได้พากันมาปลูกสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นได้หลายหลัง

พอถึงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านญาติโยมได้ช่วยกันขนหินทรายมาก่อเจดีย์ทรายถวายวัด ต่อมาหินทรายกองนั้นได้ถูกนำมาใช้สร้างพระพุทธไสยาสน์ (พระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา) โดยมีพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นช่างปั้นพระพุทธรูปในครั้งนี้

หลวงปู่โชติ อาภคฺโค ได้บันทึกการสร้างพระพุทธไสยาสน์ว่า ท่านพระอาจารย์คำผาย (วัดป่าชีทวน) เล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นท่านยังเป็นสามเณรอยู่ เมื่อได้วัสดุก่อสร้างมาพร้อมแล้ว พระอาจารย์ใหญ่ท่านกำหนดเอาตรงลานที่ใช้เป็นศาลาชั่วคราวเป็นที่สร้างพระ แม้จะได้มีการคัดค้านจากลูกศิษย์ลูกหา ว่ามันใกล้ตลิ่งแม่น้ำมาก กลัวว่าต่อไปน้ำจะเซาะตลิ่งพังมาถึงเร็ว แต่องค์ท่านไม่ยอม โดยให้เหตุผลว่า “ตรงที่กำหนดจะสร้างพระนั่นแหละเป็นพระธาตุอังคาร (ธาตุเถ้าฝุ่นพระบรมศาสดา) แต่เดิมที่ทรุดลงไป ซึ่งพังทลายแล้วอย่างไม่เหลือซาก จึงได้ให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ครอบเอาไว้เป็นสัญลักษณ์สำหรับกราบไหว้ต่อไป”

เมื่อเป็นความประสงค์ขององค์ท่านเช่นนั้นจึงไม่มีใครคัดค้านอีก

ตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำมูลตรงที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก็ยังสมบูรณ์ดีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่เห็นน้ำกัดเซาะตลิ่งพังตามที่ลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านวิตกกันเลย


รูปภาพ
พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก

รูปภาพ
พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส

(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2010, 09:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และสานุศิษย์บรรพชิต บันทึกภาพร่วมกัน ณ สำนักวัดป่าข่าโคม
หรือวัดป่าหนองอ้อ บ้านข่าโคม ต.หนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
๑. พระอาจารย์อุย บ้านหนองดินดำ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร (พระอุปัฏฐากหลวงปู่ใหญ่เสาร์ในช่วงนั้น)
๒. พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส ๓. สามเณรหงส์ทอง ธนกัญญา
(พระหงส์ทอง สหธมฺโม หลานพระอาจารย์ดี ฉนฺโน) ๔. สามเณรผาย ๕. สามเณรคำดี
๖. พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ๗. พระอาจารย์ทอง อโสโก ๘. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน
๙. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ๑๐. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล



๏ กล่าวหาพระพุทธรูปนอนขวางฟ้าขวางฝน

เมื่อการสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่วัดดอนธาตุเสร็จแล้ว เป็นเวลาใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่ใหญ่เสาร์เดินทางกลับไปที่วัดบูรพาราม ในเมืองอุบลราชธานี แล้วกลับไปจำพรรษาที่บ้านข่าโคมอีกครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมพระเณรที่เหลือ กลับไปจำพรรษาที่วัดภูเขาแก้ว ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร วัดเดิมของท่าน

ในปีนั้นเกิดดินฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าไม่ตกต้องฤดูกาล ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ประชาชนชาวไร่ชาวนาต่างเดือดร้อนกันมาก

ฝ่ายพระอุปัชฌาย์พรหมา และบรรดาพวกมิจฉาทิฏฐิได้ฉวยโอกาสกล่าวร้ายโจมตีหลวงปู่ใหญ่เสาร์ และบรรดาศิษย์กรรมฐานของท่านว่า “ที่เกิดฝนแล้งก็เพราะพระอาจารย์เสาร์มาสร้างพระนอนที่ดอนธาตุนี้แหละ พระนอนขวางฟ้าขวางฝนอยู่ทำให้ฝนไม่ตก...”

ประชาชนบางส่วนหลงเชื่อ จึงได้พากันยกพวกไปที่ดอนธาตุเพื่อทำลายพระพุทธรูป แต่คงไม่กล้าทำลายองค์พระทั้งหมด เพียงแต่มีผู้ขึ้นไปทุบจมูกพระให้เสียหาย เอาเป็นเคล็ดว่าทำลายพระพุทธรูปที่นอนขวางฟ้าขวางฝนเรียบร้อยแล้ว ต่อไปฝนคงจะตกตามปกติ ทว่า...ฝนฟ้าหาได้ตกตามที่ผู้นำกลุ่มได้บอกไว้ไม่ บางคนเกิดความสำนึกเสียใจ และกลัวบาปจากความโฉดเขลาเบาปัญญาของพวกเขาในครั้งนั้น

คำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า “กมฺมุนา วตตี โลโก - สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” บุคคลทำกรรมใดไว้ ผลกรรมย่อมตามสนองไม่ช้าก็เร็ว !

เหตุการณ์ในครั้งนั้นต่างประจักษ์แก่ชาวบ้านในละแวกตำบลระเว ตำบลทรายมูล ตำบลคันไร่ เรื่อยมาถึงตัวอำเภอพิบูลมังสาหารเป็นอย่างดี คือ หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีข่าวว่าพระอุปัชฌาย์พรหมาไหลตาย

ลูกศิษย์ลูกหาเห็นท่านตื่นสายผิดสังเกต ได้พังประตูกุฏิเข้าไปดูปรากฏว่าท่านมรณภาพนอนตัวแข็งทื่อไปแล้ว

บันทึกของหลวงปู่โชติ เขียนไว้ว่า “นอกจากพระอุปัชฌาย์พรหมา บ้านระเวแล้ว ยังมีคนบ้านคันไร่อีกคนหนึ่งนอนไหลตายเช่นกัน และได้ข่าวว่าคนที่ไปทุบจมูกพระนอนนั้น โดนยิงตายใกล้ควายที่ถูกใครก็ไม่ทราบไปขโมยมาฆ่าชำแหละเนื้อ !”

ในหนังสืออาจารย์พิศิษฐ์ เขียนไว้ว่า “...ส่วนผู้ที่ทุบจมูกพระพุทธไสยาสน์นั้น ก็โดนฟ้าผ่าตาย ทั้งนี้ไม่มีเค้าว่าฝนจะตก...”

สรุปว่า กรรมตามสนองทันตาเห็น !

ย้อนหลังไปก่อนการมรณภาพของท่านพระอุปัชฌาย์พรหมา ไปประมาณ ๑ เดือน หลวงปู่ใหญ่เสาร์จะพูดให้ลูกศิษย์ได้ยินเสมอๆ ว่า “สงสารอุปัชฌาย์พรหมาแท้เด๊ !”

รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธไสยาสน์ (พระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา)
ประดิษฐาน ณ วัดดอนธาตุ ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้นำพาคณะศิษยานุศิษย์สร้างขึ้นไว้
โดยมีพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นช่างปั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒



๏ สมโภชพระพุทธไสยาสน์

พอออกพรรษาปวารณาในปีนั้นแล้ว หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พร้อมด้วยคณะศิษย์ ประกอบด้วยพระ เณร ชี อุบาสก อุบาสิกา และผู้ติดตามจำนวนมากจากบ้านข่าโคม สมทบกับคณะของท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน จากวัดภูเขาแก้ว ก็ได้เดินทางกลับมาที่เกาะดอนธาตุ เพื่อประกอบพิธีทำบุญสมโภชพระพุทธไสยาสน์ที่ได้สร้างไว้

ครั้งแรกที่ทุกคนย่างเหยียบขึ้นไปบนเกาะ เห็นพระนอนโดนทุบจมูกทิ้ง ต่างก็รู้สึกสลดหดหู่ใจ ทำไมหนอเขาจึงสามารถกระทำเช่นนั้นได้ นรกแท้ๆ !

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ผู้ปั้น ได้พูดขึ้นว่า “โอ๊ย ! พระนอนไปเฮ็ดอีหยังให้เขา ย่านเขาบาปหลายเด้”

หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ท่านดูสงบเย็นเป็นปกติ หัวเราะในลำคอ หึ ! หึ ! แล้วพูดยิ้มๆ ว่า “เห็นบ่ อาจารย์ดีเพิ่นเฮ็ดบ่งาม เขาจึงมาทุบถิ่ม คั่นว่าแปงใหม่งามแล้ว สิบ่มีไผมาทุบถิ่มดอก” (เห็นไหม อาจารย์ดี ทำพระไม่สวยเขาจึงมาทุบทิ้ง ถ้าทำใหม่สวยงามแล้ว คงไม่มีใครมาทุบทิ้งหรอก)

พระอาจารย์ดี ได้ทำการโบกปูนปั้นเสริมเติมต่อจนพระสมบูรณ์งดงามดังเดิม เสร็จแล้วจึงได้จัดพิธีสมโภชขึ้น โดยหลวงปู่ใหญ่เสาร์นั่งปรกเป็นองค์ประธาน นำคณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มีการแสดงธรรมและปฏิบัติสมาธิภาวนา พระพุทธไสยาสน์ที่วัดดอนธาตุจึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้ประชาชนได้กราบไหว้ขอพรมาจนทุกวันนี้

รูปภาพ

รูปภาพ
พระพุทธไสยาสน์ (พระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา)
ณ วัดดอนธาตุ ที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้นำพาคณะศิษยานุศิษย์สร้างขึ้นไว้
โดยมีพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นช่างปั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒


รูปภาพ
ทางเดินจงกรมของ “หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล” ณ วัดดอนธาตุ


๏ ต้มยาหม้อใหญ่

ที่เกาะวัดดอนธาตุ มียาสมุนไพรขึ้นมาก หลวงปู่ใหญ่เสาร์และพระอาจารย์ดี เป็นผู้เริ่มยาพระกัมมัฏฐาน เป็นยาหม้อใหญ่ ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นโรคอะไร เจ็บตรงไหน ก็อธิษฐานจิตเอา จะกินขม กินฝาด กินเปรี้ยว

สมัยนั้นคนเป็นอหิวาตกโรคกันมาก ชาวบ้านอาศัยยาวัดดอนธาตุรักษาเยียวยาและถอนพวกเวทย์มนต์คาถาได้

เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ชาวบ้านสะเว ตำบลสะเว เกิดอาเพท ประชาราษฎร์เจ็บป่วยกันมากเกือบจะทุกบ้าน หัวหน้าหมู่บ้านสะเวได้มานิมนต์พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เดินทางข้ามลำน้ำมูลไปทำพิธีปัดเป่าทางศาสนา และแต่งยาต้ม (ยาฮากไม้) “หม้อใหญ่” รักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยจนเป็นที่ปกติสุขทั่วทั้งหมู่บ้าน

ในช่วงชีวิตสุดท้ายของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ พระอาจารย์ดีได้ติดตามหลวงปู่ใหญ่เสาร์ไปที่นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว จนกระทั่งหลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้มรณภาพทิ้งขันธ์ที่วัดอำมาตยาราม ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์ดี ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านกุดแห้ง ซึ่งในปีนั้นพระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส มีพรรษาประมาณ ๑๐ พรรษา ได้มาร่วมจำพรรษาอยู่ด้วย

(มีต่อ ๗)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2011, 20:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
บรรยากาศภายในวัดป่าสุนทราราม บ้านกุดแห่ จ.ยโสธร


๏ วัดป่าสุนทราราม กับ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

ครั้งในสมัยพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรืองท่าแขก บ้านกุดแห่ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร วัดเจริญรุ่งเรืองมากทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ พระนักพัฒนา และพระนักก่อสร้าง ได้นำพาคณะศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านทำบุญตามประเพณีจริงๆ เช่น เดือน ๓ เอาบุญข้าวจี่, เดือน ๔ เอาบุญพระเวสสันดรชาดก, เดือน ๕ ก็บุญสงกรานต์, เดือน ๖ บุญบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสน เป็นต้น

แต่ก่อนใกล้จะถึงวันทำบุญ ได้มีการป่าวประกาศประชุมกันทำตูบ ทำปะรำสำหรับต้อนรับพระ ปัจจุบันใช้เต็นท์แทน ญาติโยมที่มาทำบุญใส่ฉลากมาเป็น ๖๐ กว่าหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านที่มาจะประกอบด้วยหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ พระเณรจะเดินทางมา บางวัดมีม้า พระจะขี่ม้ามา ญาติโยมหนุ่มสาวเดินตามหลังสนุกสนานร่าเริง พอไปถึงวัด เจ้าภาพจัดกันไว้เป็นคุ้มเป็นกลุ่ม คุ้มไหนรับบ้านไหนก็จะพาไปพักที่ตูบที่ประจำที่เตรียมไว้ ใครรับบ้านไหนจะตกลงกันในวันประชุมก็เป็นที่รับบ้านนั้น พอถึงเวลาแห่พระเวสก็จะไปรวมกัน มีกลองตุ้ม กลองหาง กลองเลง กลองกริ่ง มีวงระนาด ฆ้องวง มีหัวงิ้วหัวโขน เข้าขบวนแห่ สมัยนั้นถือเป็นของแปลกประหลาดมาก กลางคืนก็มีมหรสพ แต่ก่อนไต้กระบองไม่มีไฟฟ้า เครื่องเสียงไม่มี คนมาเที่ยวงานชมงาน ๑๐๐ กว่าหมู่บ้าน แออัดเต็มบ้านเต็มวัด คำว่าทะเลาะกันตีกันไม่มีเหมือนทุกวันนี้ มีแต่สนุกสนานร่าเริง คนหนุ่มสาวก็พูดเกี้ยวกันเป็นคำเว่าผญา แต่โบราณอาหารการกิน เลี้ยงกันเลี้ยงแขกที่มาเอาบุญอุดมสมบูรณ์ การทะเลาะวิวาทไม่มีเลย

พระอาจารย์ในตอนนั้นท่านจะเป็นช่าง ทำอะไรเป็นหมด และให้ดีสมชื่อท่านด้วย ที่เห็นของเก่าที่ท่านทำไว้ก็ตู้เก็บคัมภีร์เทศนา ซึ่งจารึกด้วยตัวธรรมตัวขอมทั้งนั้นเลย ท่านมีม้าเป็นพาหนะ ท่านจะไปเทศนาบ้านกุดเชียงหมี บ้านไกลท่านจะขี่ม้า ญาติโยมก็เดินตามไป แต่ก่อนไม่มีรถเลย

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมน้องชายได้เดินทางออกจากวัดศรีบุญเรืองท่าแขก บ้านกุดแห่ ด้วยเกิดอยากไปเที่ยวหาเรียนวิชาอาคม หาของดีหาวิชาความรู้เพิ่มเติม จึงเดินทางท่องเที่ยวขึ้นไปทางเหนือไปทางจังหวัดสกลนคร นครพนม ด้วยคงเป็นบุญกุศลแต่ชาติปางก่อนหนุนส่ง จึงจำเพาะให้การเดินทางไปมืดค่ำลงที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ซึ่งในขณะนั้นที่วัดบ้านสามผง ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พักปฏิบัติธรรมอบรมญาติโยมอยู่ที่นั้นพอดี เมื่อพระอาจารย์ดีเข้าไปนมัสการกราบไหว้ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ทักท้วงทักทายได้ถูกต้องเหมือนตาเห็น เป็นอัศจรรย์มาก พระอาจารย์ดีเข้าใจทันทีว่าท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ สำเร็จแล้ว ท่านเป็นผู้วิเศษจริงๆ เมื่อมาพบของดีเข้าแล้วจึงขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์ทันที ท่านพระอาจารย์มั่นก็แสดงธรรมให้ฟัง ชี้ทางประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้บวชญัตติเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุตใหม่อีกครั้ง ที่วัดสร่างโศก อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน) ซึ่งปัจจุบันคือ วัดศรีธรรมาราม (พระอารามหลวง) วัดธรรมยุตแห่งแรกในจังหวัดยโสธร เมื่อบวชแล้วก็ได้ออกเผยแผ่ธรรมพระกรรมฐาน เป็นศิษย์เอกในสมัยบุกเบิกนั้นอย่างกว้างขวาง ท่านเดินทางกลับบ้านกุดแห่ หลังจากฝึกข้อวัตรปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น ๑ ปี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้ไปพักปักกลดอยู่ที่ดอนปู่ตา รื้อหอปู่ตาทิ้งปลูกกุฏิชั่วคราวขึ้น ปฏิบัติธรรมสั่งสอนประชาชนอยู่ ๑ เดือนให้เลิกนับถือปู่ตา-ผีฟ้า ให้นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด

ครั้นต่อมา พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พิจารณาเห็นว่าสถานที่ของวัดไม่เหมาะสมและไม่สัปปายะ จึงได้ย้ายจากดอนปู่ตาไปจับจองเอาดอนคอกวัวของพ่อเฒ่าฝ่ายหน้า บุราณรัตน์ ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินแปลงนี้ให้เพื่อสร้างวัด พระอาจารย์ดีจึงสั่งคณะญาติโยมรื้อศาลากุฏิจากวัดศรีบุญเรืองท่าแขก บ้านกุดแห่ เอาไปปลูกสร้างไว้ที่วัดใหม่ดอนคอกวัวทั้งหมด วัดศรีบุญเรืองท่าแขกจึงเป็นวัดร้างแต่นั้นมา ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดป่าสุนทราราม ดอนปู่ตาก็เป็นบ้านดอนสวรรค์ทุกวันนี้ พระอาจารย์ดีท่านจะไม่ค่อยอยู่ประจำ แต่ไปๆ มาๆ เพื่อจัดหาทุนทรัพย์มาก่อสร้างเสนาสนะ ที่ดินทั้งหมดที่พ่อเฒ่าฝ่ายหน้า บุราณรัตน์ ถวายมีทั้งหมด ๖๐ ไร่ ๓ งาน ๒๐ ตารางวา

สำหรับความเป็นมาของชื่อวัดนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระอธิการอินทร์ สุนฺทโร ซึ่งเป็นบิดาของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน อุปสมบทมาหลายพรรษาแล้ว จึงนำเรื่องเสนอพระเถระ ต่อมาพระอธิการอินทร์ สุนฺทโร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก จึงได้ตั้งชื่อวัดให้คล้ายกับนามฉายาของเจ้าอาวาสรูปแรก รูปปฐมฤกษ์ ว่า “วัดสุนทราราม” สภาพเป็นป่า เป็นวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สายปฏิบัติกรรมฐาน เลยเพิ่มป่าเข้าไปแล้วเรียกว่า “วัดป่าสุนทราราม” พระอธิการอินทร์ สุนฺทโร ได้พัฒนาก่อสร้างเสนาสนะ กุฏิ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ วัดป่าสุนทรารามมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาไม่เคยขาดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

แต่เดิมวัดป่าสุนทราราม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระครูสุนทรศีลขันธ์ (หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร) เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร เจ้าอาวาสวัดป่าสุนทราราม รูปปัจจุบัน

รูปภาพ
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)


๏ บั้นปลายชีวิต

ประวัติของพระอาจารย์ดีในช่วง ๑๖ ปีสุดท้าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมรณภาพ ไม่พบบันทึกไว้ในที่ใด ทราบแต่เพียงว่าในปัจฉิมวัย พระอาจารย์ดีมีปัญหาด้านสุขภาพ ท่านเจ็บป่วยบ่อย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ได้พาไปพักรักษาตัวที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงพ่อพุธท่านเล่าถึงเรื่องที่ท่านได้ดูแลพระอาจารย์ดีในบั้นปลายของชีวิตไว้ ดังนี้

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ท่านพูดถึงหลวงพ่อพุธ ไว้ว่า

“ไม่ทราบว่าเราจะไปตายที่ไหน ลูกศิษย์คนไหนก็ไม่พอที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ก็มองเห็นแต่ลูกศิษย์เอกของเรา (พระมหาพุธ) ที่วัดป่าแสนสำราญนี่แหละ พอจะพึ่งพาอาศัยได้”


เราได้ยินแล้วเราก็งง แต่พอเวลาท่านจะมรณภาพตอนกลางคืนท่านเทศน์ “ครูบาอาจารย์ปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ทราบว่าจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ พรุ่งนี้ตายหรือจากก็ไม่รู้”

พูดสองสามครั้ง

หลวงพ่อพุธก็เรียนท่านว่า “เข้าใจแล้วท่านอาจารย์”

“ถ้าเข้าใจแล้วก็แยกย้ายกันไปพัก”

เสร็จแล้วก็ลงมาประชุมกันอีก หลวงพ่อพุธบอกว่า

“พวกเราอย่าพากันเห็นแก่หลับแก่นอนนักนะ ได้ยินไหมครูบาอาจารย์ท่านสั่งแล้ว”

“อู๊ย... มันอยากให้ครูบาอาจารย์ตาย มันอยากเป็นใหญ่”

หลวงพ่อพุธก็ว่า

“โอ๊ย ในอำเภอวารินนี้ใครจะไปใหญ่เกิน ผมเป็นเจ้าคณะอำเภอ”

ในบั้นปลายชีวิตของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อพุธ พอท่านป่วยหลวงพ่อพุธก็นำท่านมาดูแลรักษาที่วัดป่าแสนสำราญ จนกระทั่งแข็งแรงเดินได้ ทีนี้สาเหตุมันก็คือท่านฉันยาปวดหายวันละครึ่งโหล ยาปวดหายมันกัดกระเพาะ กระเพาะอักเสบ

...พอประมาณตี ๔ เกือบตี ๕ ได้ยินเสียงขากเสลดผิดปกติ หลวงพ่อก็รีบไป พอไป ท่านมองซ้ายมองขวา หลวงพ่อไปประคองร่างท่าน “ท่านอาจารย์ครับ ท่านเคยสอนผมว่าเบญจขันธ์เป็นของโลก ปล่อยวางเบญจขันธ์เสีย กำหนดจิตรู้ที่ผู้รู้”

ท่านก็นิ่งเงียบไป ประมาณสัก ๕ นาทีท่านก็ใจขาด


จนกระทั่งมรณภาพลง ณ ที่นั้น เมื่อเวลา ๐๕.๓๐ น. ของวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ในอิริยาบถท่านั่งอิงหมอนใหญ่ คล้ายกับนั่งเอนกายพักผ่อนตามปกติ สิริอายุรวมได้ ๖๗ ปี

หลังจากนั้นอีก ๑ ปี คณะศิษยานุศิษย์จึงได้ทำการฌาปนกิจ ในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

รูปภาพ

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน
.............................................................

:b8: :b8: :b8: ♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือชีวประวัติ อภินิหาร ของพระอาจารย์ดี ฉันโน
อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุนทราราม บ้านกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
(๒) ปรับปรุงจากหนังสือประวัติย่อวัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่)


:b44: ประมวลภาพ “พระอาจารย์ดี ฉนฺโน” วัดภูเขาแก้ว
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42884

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2019, 20:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b20:
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร