วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ย. 2009, 17:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน


วัดป่าไตรวิเวก
ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์



หนังสืออนุสรณ์ เนื่องในงานฉลองอายุครบ ๘๐ ปี
และฉลองครบรอบ ๑๐ ปี วัดป่าไตรวิเวก มีนาคม ๒๕๒๒


คำนำ

ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ นี้ ท่านอาจารย์สาม อกิญฺจโน ได้เจริญอายุกาลครบ ๘๐ ปี พอดีที่วัดป่าไตรวิเวกก็ได้สร้างครบ ๑๐ ปีด้วย ศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั้งหลายต่างมีความปลื้มปิติยินดี พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในวันที่ ๙-๑๐-๑๑ มีนาคม ๒๕๒๒ นี้ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อท่าน และเป็นโอกาสที่ได้บำเพ็ญบุญกิริยาอื่นๆ อีกพร้อมกันไปด้วย

ในงานมหามงคลครั้งนี้ ท่านอาจารย์สาม มีปรารภใคร่จะพิมพ์ประวัติและธรรมเทศนาของท่าน เพื่อเป็นเครื่องสมณาคุณแด่ผู้ที่มาร่วมงาน และได้ขอร้องให้อาตมาช่วยเรียบเรียงจากบันทึกของท่าน แต่โดยเหตุที่บันทึกของท่านได้กระทำไว้ตามสะดวก กล่าวคือ เมื่อมีโอกาสก็บันทึกไว้ เมื่อไร้โอกาสก็มิได้บันทึกไว้ ทั้งวัน เดือน ปี ที่จำพรรษาในที่ต่างๆ ก็มิได้บันทึกไว้อีกเล่า ผู้ใคร่รู้จึงแน่นอนที่ต้องพลาดโอกาสที่จะสอบทวนเอาความให้ชัดเจนได้ พึงถือเอาประโยชน์โดยประการอื่นๆ อันมีอยู่ในประวัติของท่านเถิด

สำหรับอาตมาผู้เรียบเรียง ได้รับความอัศจรรย์ใจประการหนึ่ง คือ ในบรรดาพระธุดงค์กรรมฐาน ท่านอาจารย์สามองค์นี้ นับว่าเป็นผู้เจริญด้วยธุดงควัตร เที่ยวธุดงค์จำพรรษาได้มากแห่งที่สุดเท่าที่ได้ทราบมา องค์อื่นๆ ได้ปักหลักสร้างวัดเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดนั้นๆ มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ส่วนท่านอาจารย์สาม เพิ่งจะมาสำนักประจำที่วัดป่าไตรวิเวกนี้ ต่อเมื่ออายุกาลล่วง ๗๐ ปีแล้ว ชนชาวจังหวัดสุรินทร์ถิ่นกำเนิดของท่านเอง ยังรู้จักท่านน้อยกว่าชนชาวเมืองอื่น เพราะท่านออกธุดงค์จากจังหวัดสุรินทร์ไปนานกว่า ๓๐ ปี นับว่าคนสุรินทร์อายุ ๓๐-๔๐ ปีลงมา จะไม่รู้จักท่านเลยก็ว่าได้ เมื่อท่านกลับมาสร้างวัดป่าไตรวิเวกเป็นที่อยู่ในบั้นปลายชีวิต สิ้นเงินค่าก่อสร้างไปหลายล้านบาท ทั้งโบสถ์ ศาลา กุฏิ กำแพง และถนนรอบวัดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งสิ้น ก็ได้ทุนทรัพย์อันเกิดจากศรัทธามาแต่แดนไกลเกือบทั่วประเทศไทยแทบทั้งนั้น จึงน่าจะเรียกได้ว่า ท่านเป็นยอดพระธุดงค์ที่หาได้ยากจริงๆ สามารถอดทนและอดกลั้นฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ซึ่งจะต้องเกิดมีแก่พระธุดงค์มากมายกว่าพระบ้านอย่างแน่นอน โดยมิได้ท้อถอยหมดมานะลงจากการถือธุดงค์เสียแต่สมัยหนุ่มอย่างองค์อื่นๆ

เหตุการณ์ประหลาดที่น่าแปลกใจอีกตอนหนึ่ง คือ เมื่อท่านกลับคืนถิ่นกำเนิด ชาวบ้านที่มีความเลื่อมใส ได้นิมนต์ให้ท่านสำนักอยู่ที่ละเมาะไม้ชายบ้านรำเบอะ ตำบลนาบัว อำเภอปราสาท ชาวบ้านก็มีอีกพวกหนึ่งไปฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ หาว่าบุกรุกที่อันกำหนดเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ท่านจึงเคลื่อนย้ายเดินทางมาจำพรรษาที่ป่าใกล้บ้านสกร็อม ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง ก็ถูกขับไล่อีกว่า เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อีกเช่นเดียวกัน สุดท้าย จึงมีญาติโยมถวายที่ดินเสียเองสร้างเป็นวัดในปัจจุบันนี้ ห่างจากที่ที่ถูกขับไล่ประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่วนที่ที่ว่าเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์นั้น ปัจจุบันมีเจ้าของที่ครอบครองไปหมดแล้ว ที่ว่าเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ทราบว่าเพิกถอนกันเมื่อใด จึงเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

ปฏิปทาของท่านอาจารย์สามนั้น คล้ายคลึงกับปฏิปทาของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวคือ มากด้วยขันติ โสรัจจะ อดทน สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ไม่แสดงกิริยาอันเคลื่อนคลายจากสมณสารูป แม้มีภาระหนัก ก็ไม่เคยละจากธุดงควัตรที่เคยปฏิบัติมามากด้วยเมตตาธรรม ไม่เคยขัดอัธยาศัยของญาติโยม แม้อายุกาลผ่านเข้า ๘๐ ปี ก็ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ สามารถช่วยสงเคราะห์ญาติโยมและวัดวาต่างๆ ที่เลื่อมใสอาราธนาท่านไปร่วมพิธีต่างๆ เสมอมา

ศิษยานุศิษย์และท่านสาธุชนทั้งหลาย จึงมีความปลื้มเปรมอิ่มเอมใจ ช่วยกันจัดงานถวายท่านในครั้งนี้ ที่น่าสรรเสริญให้ปรากฏก็คือ ศิษย์ใกล้ชิดทางกรุงเทพฯ คือท่านเจ้าของเกษมการพิมพ์ เป็นผู้เสียสละเป็นพิเศษ โดยได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้โดยมิได้คิดมูลค่าแต่ประการใด หวังให้เป็นธรรมทานอันบริสุทธิ์แต่ประการเดียว ด้วยอำนาจบุญกุศลใดที่ท่านอาจารย์สามได้บำเพ็ญมาแล้ว และบุญกุศลใดที่ศิษยานุศิษย์ได้พากันบำเพ็ญในครั้งนี้ จงรวมกันเป็นพลังปัจจัยให้ท่านและผู้ขวนขวายในการนี้ ประสพความสำเร็จดังมโนมัยปรารถนาทุกประการเทอญ


พระครูนันทปัญญาภรณ์
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
๑ มีนาคม ๒๕๒๒


รูปภาพ
พระครูนันทปัญญาภรณ์ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
คือ พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) ในปัจจุบัน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


“พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน” มีนามเดิมว่า สาม นามสกุล เกษแก้วสี เกิดที่บ้านนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ บิดาชื่อ นายปวม มารดาชื่อ นางกึง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบ ปีชวด ตรงกับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๓ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๑๑ คน

ท่านเล่าว่า เมื่ออยู่ในวัยเด็กนั้น ได้รับความทุกข์ยากลำบากมาก เนื่องจากในบ้านไม่มีผู้หญิง มีแต่ผู้ชาย และท่านเป็นลูกชายคนโต ดังนั้น นอกจากท่านจะต้องทำงานนอกบ้าน เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และทำไร่ไถนาแล้ว ยังต้องทำงานในบ้านอีกด้วย เช่น ตำข้าว หุงต้มอาหาร และเลี้ยงดูน้องๆ อีกหลายคน คือทำงานเหมือนผู้หญิงทุกอย่าง จนอายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มแล้ว ก็อยากที่จะมีโอกาสได้เที่ยวเตร่เหมือนผู้อื่นเขา ประกอบกับท่านมีอัธยาศัยชอบสงบตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเกะกะระรานหาเรื่องกับใครเลย รู้จักการทำบุญ บริจาคทาน ฟังเทศน์ฟังธรรมตั้งแต่อายุได้ ๑๔ ปี จึงเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของบิดามารดา และผู้แก่ผู้เฒ่าเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี ก็คิดอยากบวช จึงขออนุญาตบิดามารดา ท่านก็อนุญาต ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดนาสาม อันเป็นวัดใกล้บ้านเกิดของท่าน บวชเณรได้ ๒ พรรษา ก็บวชพระต่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเอี่ยม และพระอาจารย์สาม เป็นพระคู่สวด

ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนาสามได้ ๓ พรรษา ก็คิดอยากจะไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ กับเขาบ้าง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และขอพำนักอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ แต่ก็มีอุปสรรคอย่างยิ่งคือทางวัดบอกขัดข้องว่า ไม่มีกุฏิอยู่ให้จำพรรษา ครั้นจะกลับมาวัดเดิมก็นึกอายเขา จึงหาวัดจำพรรษาที่จังหวัดพระนครอยุธยา ๑ พรรษา โดยไม่มีการเรียนปริยัติธรรมแต่ประการใด เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงมาอยู่ที่วัดนาสามตามเดิม

คงจะเป็นด้วยบุญบันดาลให้หันวิถีชีวิตแห่งบรรพชิตเพศของท่านให้มาทางวิปัสนากรรมฐานนั้นเอง เมื่อกลับมาอยู่วัดนาสามตามเดิมได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น ก็ได้รับทราบกิติศัพท์ข่าวดีว่า ท่านอาจารย์ดูลย์ (หลวงปู่ดูลย์ วัดบูรพาราม ปัจจุบัน) ได้กลับมาจากธุดงค์และสำนักอยู่ที่ป่าหนองเสม็ด ตำบลเฉลียง อำเภอเมืองสุรินทร์ ท่านจึงไปพบท่านอาจารย์ดูลย์ ณ ที่นั้น ถวายตนเป็นลูกศิษย์เพื่อจะอบรมทางกัมมัฏฐาน ท่านอาจารย์ดูลย์ก็มีความยินดี และแนะนำสั่งสอนเรื่องการนั่งสมาธิภาวนา เมื่อตั้งใจปฏิบัติก็เกิดนิมิตต่างๆ แล้วก็ยิ่งเกิดความเชื่อ ความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง จึงอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น ๑ พรรษา ส่วนท่านอาจารย์ดูลย์ มาจำพรรษาที่วัดนาสาม

เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ได้เริ่มออกเที่ยวธุดงค์ในบริเวณใกล้ๆ ในจังหวัดสุรินทร์ โดยไปทางเขาสวาย พำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานพอสมควร มีญาติโยมเลื่อมใสศรัทธามานั่งสมาธิภาวนา บางคนก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก ท่านออกจากที่นั่นแล้ว ก็ไปตั้งสำนักปฏิบัติอยู่ใกล้บ้านถนน ตำบลเฉลียง อยู่ประมาณ ๒ เดือน ท่านอาจารย์ดูลย์ได้ทราบว่า อาจารย์สามพร้อมกับพรรคพวกมีศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอย่างจริงจัง จึงแนะนำให้ท่านไปหา ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นกำลังพักอยู่ที่วัดป่าสัมพงศ์ ทางจังหวัดสกลนคร อาจารย์สามก็ได้ชักชวนหมู่พวกเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่น

รูปภาพ
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน-หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


ในการเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ครั้งแรกนี้ มีท่านสกุยเป็นเพื่อนไปด้วยรวม ๒ องค์ เดินทางครั้งนี้ใช้เวลาถึง ๑๕ วัน จึงถึงจังหวัดนครพนม และพักอยู่ที่นั่น ๓ เดือน แล้วเดินทางต่อไปอีก ๕ วัน ก็ถึงวัดป่าสัมพงศ์ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ นมัสการให้ท่านทราบว่า มาจากจังหวัดสุรินทร์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน แล้วพักอยู่ ๓ เดือน เพื่อรับการอบรมและฟังเทศน์จากท่านอาจารย์มั่น

ท่านอาจารย์มั่นทราบว่า ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้คุ้นเคยต้อนรับพระมาจากจังหวัดสุรินทร์ เพราะท่านอาจารย์ดูลย์ก็เป็นผู้คุ้นเคยกันกับท่านอาจารย์สิงห์ จึงแนะนำท่านอาจารย์สามให้ไปหาท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์สามจึงต้องเดินทางไปพบท่านอาจารย์สิงห์ เดินทาง ๑ วัน ๑ คืน จึงไปถึงอำเภออากาศอำนวย ท่านอาจารย์ทราบว่ามาจากสำนักอาจารย์ดูลย์ จังหวัดสุรินทร์ ก็แสดงความยินดี จึงต้นรับและจัดให้พักอยู่ในที่นั้น

ครั้นพอจวนจะเข้าพรรษา ก็จัดให้ไปอยู่อีกแห่งหนึ่งต่างหาก ไม่ห่างจากกันเท่าไรนัก ท่านอาจารย์สามเล่าว่า ในปีนั้นท่านป่วยเป็นไข้ป่าหนัก จวนเจียนจะถึงตาย ร่างกายผอมเหลือหนังกับกระดูก ขณะนั้นในหมู่บ้านมีโรคอหิวาต์ระบาดด้วย เมื่อค่อยหายจากป่วยแล้วก็ต้องหัดเดินเป็นเดือน จึงเดินได้บ้าง และต้องใช้ไม้เท้าช่วยจึงพอเดินไปมาได้บ้าง เมื่อออกพรรษาแล้วก็ออกจากอำเภออากาศอำนวย เที่ยวธุดงค์ไปทางจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับท่านอาจารย์สิงห์ ครั้งนี้ไปกันเป็นหมู่มากประมาณ ๑๐๐ กว่าองค์ เมื่อถึงอุบลฯ หาสำนักพักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็แนะนำสั่งสอนญาติโยมให้ได้รับความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติภาวนา มีประชาชนเข้ามาฟังเทศน์ฟังธรรมและนั่งภาวนาเป็นจำนวนมาก

เมื่อจวนจะเข้าพรรษาปีนั้น ก็ตั้งใจจะจำพรรษาอยู่ที่อุบลฯ แค่ท่านเจ้าคุณมณี เจ้ากรมมณฑลอีสานในสมัยนั้น ไม่ให้อยู่วัดป่า ให้ไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ในเมืองอุบลฯ ท่านอาจารย์สิงห์และมหาปิ่นจึงแนะนำให้ท่านอาจารย์สามกลับสำนักเดิมที่สุรินทร์เสียก่อน ท่านจึงต้องกลับมาเข้าพรรษาหลังเดือน ๙ ที่บ้านถนน ตำบลเฉลียง จังหวัดสุรินทร์

เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ไปหาท่านอาจารย์สิงห์ที่จังหวัดอุบลฯ อีก ท่านอาจารย์สิงห์ก็พาธุดงค์ไปที่อำเภอยโสธร พร้อมทั้งให้ท่านอาจารย์สามและท่านสกุย ญัตติเป็นธรรมยุติที่อำเภอยโสธร มีพระครูจิตวิโส เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์สิงห์ และท่านมหาปิ่น เป็นพระคู่สวด

เที่ยวธุดงค์แวะวนอยู่แถวนั้นเป็นเวลานาน จนจวนจะเข้าพรรษา ก็กลับไปจำพรรษาที่อุบลฯ ณ สำนักสงฆ์ท่าวงหัน เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์พาเดินธุดงค์ต่อ พร้อมกับแนะนำธรรมสั่งสอนญาติโยมแถวอำเภออำนาจเจริญ อำเภอม่วงสามสิบ เป็นต้น พอจวนจะเข้าพรรษา ท่านพระครูพิศาลอรัญญเขต (ท่านอาจารย์จันทร์ เขมิโย) มานิมนต์ให้คณะของท่านไปจำพรรษาที่ขอนแก่น และได้ตั้งสำนักอยู่ที่เลางา ส่วนท่านอาจารย์สามไปอยู่สำนักบ้านโนนวัง พอออกพรรษาแล้วก็ออกมาพบกันอีกได้เพียง ๕-๖ วัน ก็ลาไปหาที่วิเวกตามถ้ำตามป่า สถานที่สงัด เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ประกอบความเพียรโดยไม่เลือกกาลเวลา เว้นไว้แต่พักผ่อนหรือมีคนมาถามธรรมปฏิบัติ ท่านก็แนะนำสั่งสอนเขาเหล่านั้นตามสติปัญญา นอกจากนั้นก็เร่งทำความเพียรพยายามด้วยตนของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เสียประโยชน์ตน

เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็มาพบท่านอาจารย์สิงห์ ออกจากโนนรังก็ไปจำพรรษาที่ป่าหนองบัวพรรษาหนึ่ง ออกจากหนองบัวไปจำพรรษาที่อำเภอพลพรรษาหนึ่ง แล้วก็ย้อนมาจำพรรษาที่หนองบัวอีกถึง ๒ พรรษา ตอนนี้จึงลาท่านอาจารย์สิงห์ไปเที่ยวธุดงค์ที่จังหวัดชัยภูมิ พร้อมกับพระบุญธรรม เมื่อไปถึงชัยภูมิ พักอยู่ที่นั่น ๓ คืน ก็ไปเที่ยวสระหงษ์แล้วพักที่นั่นประมาณครึ่งเดือน ก็ชักชวนโยมชาวบ้านแถวนั้นขอร้องให้พาไปถ้ำวัวแดง โยมก็ส่งไป เพราะโยมเหล่านั้นก็มานั่งสมาธิภาวนาด้วยทุกวัน มีสามเณรองค์หนึ่งกับพระอีกสององค์รวมกับท่าน เลยไปถึงบ้านเข พักอยู่ที่นั่นคืนหนึ่ง มีโยมชาวบ้านแถวนั้นสองคนไปด้วย

หลังจากที่ฉันเสร็จแล้ว ก็เดินไปจนถึงถ้ำพระ พักนอนที่นั่นคืนหนึ่งก็ยังไม่พบถ้ำวัวแดง สำหรับในถ้ำนั้น ดูข้างในนั้นไม่มีที่สิ้นสุดเลย จะออกมาหาน้ำดื่มก็ไม่มี พยายามขึ้นไปหา ข้างบนนั้นสูงมาก ต้องขึ้นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้ดื่มน้ำ แล้วก็พักนอนที่นั่นคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็เที่ยวไปหาถ้ำวัวแดง เดินเที่ยวหาตั้งแต่เช้าจนเย็น ได้ความลำบากมาก จึงได้นอนพักค้างคืนหนึ่ง นอนห่างๆ กัน

กล่าวว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ลาดชัน เช้าขึ้นมา ปรากฏว่าท่านเมียนที่ไปด้วยนอนหลับ กลิ้งตกไปติดกับต้นไม้ จึงลงไปดู เห็นท่านเมียน ทั้งที่ตกไปติดกับต้นไม้แล้ว ยังนอนหลับอยู่โดยไม่รู้ตัว คงได้รับความเหน็ดเหนื่อยมากกระมัง ก็เลยปลุกให้ตื่น พากันออกจากถ้ำนั้น ก็ไปถึงถ้ำประทุนแล้วพากันพักนอนอยู่คืนหนึ่ง เพราะค่ำมากแล้ว

รูปภาพ
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน


เมื่อตกดึกเงียบสงัดวังเวงยิ่งนัก ได้ยินเสียงสัตว์อะไรก็ไม่รู้ ร้องดังลงมาหา ตรงที่นอนนั้นเอง ท่านเมียนก็นอนไม่หลับ สำหรับท่านนั้น ตั้งสติแน่วแน่ นั่งสมาธิอยู่ ไม่รู้สึกกลัว นั่งอยู่ด้วยความสงบ พอออกจากตรงนั้นไปแล้ว ปรากฏว่าหลงทาง เดินวกเวียนวนไปจนอยู่ในภูเขานั้น จนอดข้าว คิดว่าคงไม่รอด ไม่ได้ฉันข้าวน้ำเป็นเวลา ๓ วัน พอถึงวันที่ ๔ จึงพบน้ำ ได้ดื่มน้ำแล้วก็ตกเย็นพอดี จึงต้องพักนอนอยู่ตรงนั้นอีก พอเช้าขึ้นมาก็พากันเอาเมล็ดไผ่มาต้มฉันกันแทนข้าว พอประทังชีวิตเพื่อให้มีกำลังเดินทางต่อมา เดินทางพบบ้านโยมแห่งหนึ่ง แล้วพักอยู่บริเวณนั้นคืนหนึ่ง เช้าขึ้นมาพอได้ฉันอาหารบ้าง แล้วก็เดินทางมาที่สระหงษ์ พอมาถึงสระหงษ์ พักอยู่ที่นั้นนานพอสมควรแล้ว ก็ได้รับจดหมายของท่านอาจารย์สิงห์ บอกให้มาประชุมกันที่นครราชสีมา จึงพากันเดินทางมา ๔ วัน ๔ คืน จึงถึงนครราชสีมา แล้วท่านอาจารย์สิงห์ก็ยังรอพระบางองค์มายังไม่ถึง

เมื่อทุกองค์มาพร้อมกันแล้ว ก็ประชุมปรึกษากันเพื่อตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นที่ป่าใกล้หอรถนครราชสีมา ให้ชื่อว่า วัดป่าสาลวัน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ได้จำพรรษาที่นั้นพรรษาหนึ่ง ปีต่อมาไปอยู่ที่เขาเม้งกับท่านคำดีที่ขอนแก่น ออกพรรษาแล้วพากันกลับมานครราชสีมา อยู่ประมาณเดือนกว่าๆ ก็ออกไปเที่ยวหาที่วิเวก แสวงหาความสงบจิตใจของตน เพื่อเป็นผลประโยชน์ของตนให้บริสุทธิ์ขาวสะอาด และปีต่อมาได้เที่ยวธุดงค์ไปทางลพบุรี ไปจำพรรษาที่วัดเขาพระงาม จำอยู่ในถ้ำนั้นได้ ๓ ปี ออกจากเขาพระงามก็มานครราชสีมาอีก ท่านอาจารย์สิงห์จึงให้ไปอยู่ดงขมิ้น ก็เลยไปและอบรมจิตใจของญาติโยมที่มานั่งสมาธิภาวนา แนะนำในการทำบุญ บริจาคทาน พอให้รู้เข้าใจในการทำบุญให้ทาน

ออกจากดงขมิ้นก็เลยมาจังหวัดสุรินทร์ ในขณะนั้น ท่านอาจารย์ดูลย์ได้รับคำสั่งจากเจ้าคณะมณฑล ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม บูรณปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม และได้เริ่มสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ขึ้นมายังไม่เสร็จเรียบร้อยดี จึงจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม เพื่อช่วยร่วมมือร่วมกำลังกับท่านอาจารย์ดูลย์สร้างพระอุโบสถ เป็นเวลานานเกือบ ๑๐ ปี เมื่อพระอุโบสถเสร็จแล้ว ก็กลับไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ประจำอยู่ที่วัดพระงามอีกพรรษาหนึ่ง ก็ออกจากลพบุรีกลับไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ที่เขาน้อย ท่าแฉลบ ออกจากท่าแฉลบไปอยู่ทางเกาะหมาก และเที่ยวธุดงค์ตามเกาะ ได้เลยดูเกาะแม่ชี เกาะกูด และเกาะสีชัง เป็นต้น เมื่อจวนเข้าพรรษา ก็จำพรรษาอยู่เกาะหมากผู้เดียว แต่พอออกพรรษาแล้ว ก็ไปเที่ยวธุดงค์ถึงจังหวัดตราด พักอยู่ตามสวนเงาะ สวนทุเรียน เมื่อมีญาติโยมไปหา ก็พานั่งสมาธิภาวนา ฝึกหัดจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากมลทิน

เพราะว่าคนเรามีใจเจือด้วยกิเลส ถูกกิเลสครอบงำ ทุกคนต้องอาศัยการสั่งสมคุณงามความดีเอาไว้ เพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ดีให้เบาบางลงไป หรือทำให้หมดสิ้นไปได้ยิ่งดี

จากจังหวัดตราดไปจังหวัดระยอง จากระยองไปจันทบุรี พักอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง และออกไปตามแถวนั้น มีอำเภอขลุง ได้แสดงธรรมอบรมพวกญาติโยมทางจิตใจ เพื่อเป็นประโยชน์ในทางดีทางชอบ เพื่อความบริสุทธิ์ดีงามของตน พอจวนเข้าพรรษา ได้ย้อนกลับไปหาท่านอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่งที่สกลนคร ในปีนั้นได้ร่วมพิธีวิสาขบูชากับพระอาจารย์มั่น เมื่อพระเถระและญาติโยมเวียนเทียนเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเทศนาตั้งแต่ ๒ ทุ่ม จนเลย ๖ ทุ่ม พระบางรูปง่วงนอน นั่งสับปะหงกเอียงไปเอียงมา ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ฟังเทศน์เพียงแค่นี้ก็ง่วงนอนแล้ว ท่านจึงหยุดเทศน์เพียงแค่นั้นก่อน แล้วอนุญาตไปพักผ่อนตามอัธยาศัย

เช้าขึ้นหลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ต่างองค์ต่างกลับวัดของตน ท่านอาจารย์สามจึงเดินทางต่อไป จากจังหวัดหนองคายไปที่อำเภอท่าบ่อ เพื่อพบพระอาจารย์เทสก์ที่นั่น เมื่อเที่ยวหาความวิเวกบริเวณนั้นพอสมควรแล้ว จวนเข้าพรรษา ก็กลับมาหาท่านอาจารย์เทสก์อีกพักหนึ่ง แล้วก็ลากลับมาที่ชลบุรี จำพรรษาที่บางพระ ส่วนท่านอาจารย์เทสก์ไปจำพรรษาที่จันทบุรี พอจวนจะออกพรรษาประมาณ ๕ วัน ก็ได้รับข่าวว่าท่านอาจารย์ใหญ่ทางสกลนคร คือท่านอาจารย์มั่นอาพาธหนัก ท่านอาจารย์เทสก์จึงบอกว่า ท่านจะมานมัสการอยู่พยาบาลท่านอาจารย์มั่นจนถึงที่สกลนคร

ต่อมาไม่นานก็ได้ข่าวว่าท่านอาจารย์มั่นมรณภาพแล้ว ท่านนอนเฝ้ารักษาศพของท่านอาจารย์มั่น จนถึง ๓ เดือนกว่าจึงถึงพิธีประชุมเพลิง ในงานพิธีศพของท่านอาจารย์ใหญ่ครั้งนั้น เห็นว่าเป็นงานใหญ่มากเท่าที่เคยเห็นมาในสมัยนั้น มีพระมหาเถระทั้งทางฝ่ายคันถธุระและวิปัสนาธุระเป็นจำนวนมากไปประชุมนุมกัน ฝ่ายญาติโยมดูเหมือนเห็นว่าทุกจังหวัดก็ไปชุมนุมกันเช่นเดียวกัน

เมื่อประชุมเพลิงเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์สามกล่าวว่า มีท่านองค์หนึ่งที่ลงไปเก็บอัฐิและมีพวกกรรมการเข้าดูแล เพราะเกรงคนอื่นจะแย่งเอาไป เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมาเที่ยวธุดงค์ที่จังหวัดสุรินทร์อีกประมาณเดือนหนึ่ง แล้วจึงไปที่ชลบุรีอีกประมาณเดือนกว่า ก็ได้รับจดหมายจากท่านอาจารย์เทสก์ส่งมาจากภูเก็ต บอกให้ไปช่วยเผยแพร่ระเบียบแนวทางธุดงค์กรรมฐานที่ภูเก็ต จึงเดินทางไปพร้อมด้วยพระติดตามอีก ๑ องค์ โดยท่านอาจารย์เทสก์ส่งมูลค่าสำหรับพาหนะไปให้

เมื่อไปถึงภูเก็ตแล้ว ก็ให้เที่ยวธุดงค์ไปอยู่จังหวัดพังงาบ้าง จังหวัดกระบี่บ้าง เที่ยวธุดงค์กรรมฐานและอบรมญาติโยมในที่ต่างๆ ส่วนผู้ที่แสดงความไม่พอใจไม่อยากให้อยู่ พยายามให้หนีอยู่เสมอ แต่เมื่อพิจารณาเห็นว่า การเผยแพร่แก่ญาติโยมในทางที่ถูกต้องนั้น เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์แต่ละองค์โดยตรง โดยไม่ต้องอยู่กับความรู้สึกทางใจของใคร จึงพยายามอดทนอยู่ถึง ๓ ปีกว่า

ที่ภูเก็ตนี้ได้เณรฉลองมารับใช้ปฏิบัติอยู่ด้วยถึง ๔ ปี และได้พามาเที่ยวถึงจังหวัดสุรินทร์ ประจำอยู่ ๑ พรรษาก็กลับไปอยู่ภูเก็ตอีกตั้ง ๖ ปี กลับจากภูเก็ตมาอยู่เขาแก้ว ๒ พรรษา แล้วก็ไปจังหวัดจันทบุรี เที่ยวทำความเพียรหาที่วิเวกแก่จิตใจของตนอยู่เสมอ ไม่ท้อถอยจากความเพียร ไม่มีเวลาหยุดหย่อน ต้องทำจนกว่าชนะกิเลส คือความอยากทุกอย่าง ตัวกิเลสคือความรักกับความชัง ถ้าวางพวกนี้ได้แล้ว ทุกอย่างก็มีแต่ความสงบสุขล้วนๆ เกิดขึ้นทั้งกาย วาจา และใจ ก็กายก็สงบ วาจาก็สงบ เป็นภูมิจิตที่มีสติเป็นหลัก เป็นที่ตั้งแน่วแน่อยู่อย่างนี้ จึงนับว่าถูกหนทางที่จะเข้าถึงมรรคผล เพราะประสงค์ให้พ้นทุกข์ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี้เป็นกองทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเหตุนั้นจึงควรหาสิ่งที่ชอบ อันได้แก่ความหมดจดของจิต และผู้ที่ถึงภาวะอันนี้ จะเดินนอกทางภาวนาไม่ได้ ต้องปรารภความเพียรให้สม่ำเสมอ มีการภาวนาสมาธิจนกว่าจะทำให้ใจสงบ ขาดจากอธรรม คือความนึกคิดโดยไม่ท้อถอย พยายามวางภาระอันหนักทางจิตใจให้หมดสิ้น เลือกแต่จิตสงบว่างเปล่าตั้งอยู่เป็นหนึ่ง ดังนี้

ต่อมา พอออกจากจังหวัดจันทบุรี ก็มาที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะได้ข่าวว่าท่านอาจารย์สิงห์ถึงแก่มรณภาพแล้ว ที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดสุรินทร์อีก พักอยู่จนสิ้นฤดูแล้ง จึงเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก ได้ทำสำนักจำพรรษาในป่าแห่งหนึ่ง มีโยมสร้างกุฏิเล็กๆ ให้อยู่จำพรรษา โยมเจ้าของกุฏิได้มานอนอยู่ด้วยเป็นประจำ ถ้าวันไหนพ่อไม่มา ลูกชายก็มาแทนเป็นประจำทุกคืน

ในพรรษานี้ ทางใจก็สงบเงียบดี แต่ทางกายไม่สู้จักสงบนัก เพราะมีภัยมาเบียดเบียนอย่างแรง คือ มีคนมาลอบยิงปองร้ายถึง ๓ ครั้ง แต่เมื่อมาถึงโยมที่นอนด้วยก็ตื่นทุกครั้ง ผู้ปองร้ายจึงไม่อาจทำร้ายได้ ทั้งนี้อาจด้วยเดชะบุญกุศลที่พยายามสั่งสอนอบรมมา ไม่เคยคิดเบียดเบียนใครแม้แต่ทางใจ จึงทำให้ท่านปลอดภัยได้ ไม่มีอันตรายในพรรษานั้น

เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงพาญาติโยมไปทางเชียงใหม่อีก ในครั้งนี้มีท่านคำดีและเณรฉลอง พร้อมโยมพุ จากสุรินทร์ (ปัจจุบันโยมพุบวชอยู่ที่วัดไตรวิเวก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์) ร่วมเดินทางไปเชียงใหม่ด้วย ที่ไปครั้งนี้เพื่อหาสถานที่วิเวกเร่งทำความเพียรทางจิตใจของตน และศึกษาภูมิประเทศ ชีวิตจิตใจของประชาชนเผ่าต่างๆ ในแถบนั้น ได้ไปจำพรรษาที่บ้านแม่ลอด อำเภอแม่แตง กับพวกกระเหรี่ยงอยู่ ๒ พรรษา ออกพรรษาแล้วเที่ยววิเวกไปแถวเชิงเขากับพวกแม้วพวกกระเหรี่ยง จนถึงเดือน ๕ มีชาวบ้านผาเค็ง ทำกุฏิให้อยู่ มีพวกญาติโยมมานั่งภาวนาทุกๆ คืนจำนวนมากไม่เคยขาด

พักอยู่ที่นั้นประมาณ ๑ เดือน ก็มีพระมาฝึกหัดธุดงค์ ให้มาพักรวมกันในที่นั้น พระองค์นั้นไม่ยอม บอกว่าไปพักที่โคนต้นไม้ เพราะมีผ้าขาวและมีแม่ชีเคยตายอยู่ตรงนั้น พระองค์นั้นมาจากเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี วันต่อมามีพระแปลกหน้าองค์หนึ่งเข้ามาในที่นั้น พระจากลพบุรีจึงถามว่าท่านอยู่ที่ไหน พระองค์นั้นจึงตอบว่า ผมอยู่บ้านนี้แหละ แต่ห่างจากบ้านนี้ ๒ กิโลเมตร พระจากลพบุรีจึงถามว่า ท่านจะมาปองร้ายหลวงพ่อใช่ไหม พระนั้นก็ตอบว่า ใช่ครับ พระจากลพบุรีจึงตอบว่า อย่ามานึกปองร้ายอะไรท่านเลย เพราะท่านก็อยู่ชั่วคราวและไม่มีความประสงค์จะเบียดเบียนใครๆ ทั้งนั้น

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน-หลวงปู่สาม อกิญฺจโน


หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ก็มีคนมาทำร้ายจริงๆ เขาได้รับจ้างด้วยเหล้าคนละ ๓ บาทเท่านั้น คือค่ำวันหนึ่ง ท่านยังไม่เข้าห้องนอน เห็นมีคนมาจุดเทียนกราบๆ ไหว้ๆ อยู่ นึกเฉลียวใจจึงได้ถามว่า โยมพากันมาทำอะไร ถามถึง ๒ ครั้งเขาก็ไม่พูดอะไรเลย ลุกขึ้นเดินหนีไปเฉยๆ หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วัน เป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ท่านกำลังนั่งเข้าสมาธิอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง เมื่อออกจากสมาธิแล้วรู้สึกตัวแปลกประหลาดไปหมดทุกอย่างในขณะนั้น คือรู้สึกตึงๆ ที่ใบหน้า จึงจุดเทียนขึ้นมองดูไปข้างหน้า เห็นก้อนหินเท่ากำปั้นตกอยู่ ๑ ก้อน และข้างๆ ตัวอีก ๒ ก้อน มองมาถึงตัวก็เห็นมีเลือดเปรอะเกรอะกรัง เปื้อนตัวและเต็มจีวรไปหมด คิดว่านี้เลือดอะไรหนอ แล้วยกมือลูบไปทั่วตัว ไม่เห็นเจ็บตรงไหน พอเอามือลูบปากและใบหน้าก็เห็นมีเลือดเต็ม แล้วค่อยๆ รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น ก็คิดว่าเรานี้ถูกเขาทำร้ายอย่างจริงจังแล้ว

ก้อนหินที่ขว้างมา ๓ ก้อนนั้น ๒ ก้อนถูกเฉพาะมุ้งและจีวร อีกก้อนหนึ่งถูกปากอย่างจัง เลือดไหลออกจากปากแห่งเดียวในขณะที่อยู่ในสมาธิอย่างไม่รู้สึกตัวนั้น พวกผู้ร้ายคงคิดว่าท่านตายแล้ว จึงตีฝาให้ล้มทับเข้ามาอีก

ท่านอาจารย์สาม เล่าว่า พอรู้สึกตัวว่ามีผู้มาทำร้ายจริงๆ ก็นึกว่าท่านคงตายแน่ นานเกือบชั่วโมงถึงได้จุดเทียนส่องดู จึงรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไรดังกล่าวแล้ว เมื่อถึงสติหยั่งรู้ว่ายังไม่ตาย จึงลงจากกุฏิไปที่บ้านโยม แจ้งเหตุร้ายให้โยมทราบ พวกญาติโยมจึงได้มาช่วยซักมุ้งและซักจีวร และคืนนั้นขอร้องให้ท่านพักที่บ้านโยมคืนหนึ่ง พอสว่างก็กลับมาดูกุฏิของตน

หลังจากนั้นก็บอกญาติโยมว่าอยู่ที่นี้ไม่ได้อีกแล้ว จะขอลาญาติโยมเดินทางต่อไป ญาติโยมคัดค้าน ขออ้อนวอนให้อยู่ต่อไป จะช่วยป้องกันอันตรายทุกอย่าง ญาติโยมเหล่านี้มีความเจ็บแค้นในใจมาก เขารับปากอาสาจะแก้แค้นพวกผู้ร้ายให้ท่าน ท่านไม่ให้ทำเช่นนั้น เพราะท่านคิดว่าจะเป็นเวรเป็นกรรมแก้แค้นกันไม่มีที่สิ้นสุด เป็นบาปกรรมเปล่าๆ ท่านบอกว่า อาจเป็นเวรกรรมอะไรของท่านในปางก่อนก็ได้ จึงถูกเขาทำร้ายร่างกายให้ได้รับความเจ็บถึงเพียงนี้ และขอให้กรรมนั้นจงเป็นอโหสิต่อไป

ในพรรษานั้นได้ท่านจันดี มาร่วมจำพรรษาอยู่ด้วย พวกที่ได้ทำร้ายท่าน พอรู้ตัวเข้าก็ตกใจกลัว ล้มป่วยได้ไข้แล้วก็ตายไปหมด ออกพรรษาแล้วได้ลาญาติโยมไปเที่ยวทางบ้านโป่ง ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่นเคยจำพรรษาอยู่ จึงจำพรรษาอยู่ที่บ้านโป่งหนึ่งพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วก็เที่ยวธุดงค์ต่อไปทางบ้านจอ และบ้านถ้ำเชียงดาว แล้วย้อนกลับมาพักอยู่ที่บ้านโป่งอีกครั้งหนึ่ง

วันหนึ่งมีญาติโยมไปจากสุรินทร์หลายคน ระเหเร่ร่อนตามไปจนถึงบ้านโป่ง พร้อมทั้งขอร้องให้กลับมาอยู่ทางจังหวัดสุรินทร์ ท่านเล่าว่า การกลับมาครั้งนี้ ก่อนกลับนั้นได้พิจารณาเป็นเวลานานว่า เราได้เที่ยวธุดงค์วิเวกไปในที่ต่างๆ อย่างมากมายตั้งแต่หนุ่มจนชราภาพ ตั้งแต่ร่างกายแข็งแรงจนกระทั่งร่างกายอ่อนแอลง กำลังวังชาก็ถอยลงมากแล้วน่าจะกลับมาอยู่ถิ่นเดิม นอกจากจะได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ซึ่งชราด้วยกัน มีพระอาจารย์ดูลย์เป็นต้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสดูแลมารดาซึ่งชราภาพมากอยู่แล้ว และหาโอกาสแนะนำธรรมปฏิบัติแก่มารดาและญาติโยมทั้งหลาย ตลอดจนถึงศาสนิกชนทางจังหวัดสุรินทร์ต่อไป จึงได้เดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์

ญาติโยมทำที่ให้จำพรรษาอยู่ที่บ้านรำเบอะได้ ๑ พรรษา ก็มีเรื่องคือถูกบางคนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ไม่ให้อยู่ที่ตรงนั้น เพราะเป็นที่ทำเล จึงย้ายมาอยู่ที่ป่าที่ใกล้กิโลเมตรที่ ๑๑ ถนนทางสายสุรินทร์-ปราสาท ก็ถูกฟ้องร้องว่าเป็นที่ทำเลอีกครั้ง ทั้งที่ปัจจุบันนี้มีคนเป็นเจ้าของหมดแล้ว ญาติโยมจำนวนหนึ่งจึงถวายที่ห่างจากที่ตรงนั้นไม่ไกลนักทำเป็นวัดป่าเล็กๆ อยู่ และมีผู้ศรัทธาซื้อที่ดินขยายวัดจนถึงทุกวันนี้ เป็นวัดโดยสมบูรณ์แบบแล้ว คือ วัดป่าไตรวิเวก และท่านอาจารย์สามก็ได้จำพรรษาในวัดนั้นจนถึงปัจจุบันนี้

(ท่านพระอาจารย์สาม มรณภาพเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔)

รูปภาพ
รูปหล่อเหมือนหลวงปู่สาม อกิญฺจโน ประดิษฐาน ณ พระธุตังคเจดีย์
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ




.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 13:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่สาม อกิญฺจโน” อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าไตรวิเวก ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ พระป่าปฏิบัติศิษย์สาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล และหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

หลวงปู่สาม มีนามเดิมว่า สาม เกษแก้วสี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ตรงกับเดือนกันยายน พ.ศ.2443 ณ บ้านนาสาม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายปวม และนางถึง เกษแก้วสี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 11 คน ท่านเป็นบุตรคนโต (หัวปี)


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ชีวิตในวัยเด็กนั้นสุดแสนยากลำบาก เพราะท่านต้องทำงานทุกอย่างลักษณะคล้ายผู้หญิง ด้วยว่าน้องๆ ของท่านเป็นผู้ชายเสียหมด ไม่มีผู้หญิงเลย เมื่ออายุ 19 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร สายมหานิกาย ณ วัดบ้านนาสาม อันเป็นวัดใกล้บ้านเกิดของท่าน

จนกระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์


๏ พระป่าศิษย์สาย “หลวงปู่มั่น”

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระธรรมวินัย ต่อมาใน พ.ศ.2467 เมื่อทราบข่าวและกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่าได้กลับจากธุดงค์และจำพรรษาที่วัดป่าหนองเสม็ด ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ จึงได้ไปกราบขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน

หลวงปู่ดูลย์ เห็นถึงความตั้งใจและความพากเพียรที่จะเอาดีทางด้านประพฤติปฏิบัติของศิษย์ จึงแนะนำให้ไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดสกลนคร

ท่านจึงกราบลาออกเดินธุดงค์รอนแรมไปท่ามกลางป่าเขาเป็นเวลาหลายเดือน กว่าจะได้เข้านมัสการหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็ได้พักปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น 3 เดือน ภายหลังจากสามเดือนผ่านไป หลวงปู่มั่นได้แนะนำให้หลวงปู่สาม ไปพบกับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เพื่อเป็นพระผู้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนต่อไป

ในปีที่มาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สิงห์นั้น ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจอยู่กับการปฏิบัติจนต้องล้มป่วยอย่างหนักเกือบเสียชีวิต แต่ด้วยจิตใจเข้มแข็งแรงกล้าในธรรมะของพระศาสดาเจ้า พร้อมกับได้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นภายในใจ ท่านไม่ยอมละลดต่อสู้กับโรคภัยนั้น ชนิดผอมหนังหุ้มกระดูก ต้องอาศัยกำลังใจ และไม้เท้ายันตัวเดิน

ท่านเคยเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า “เรานักต่อสู้ลูกพระพุทธเจ้า ถ้ามันยังไม่ตายยังหายใจอยู่ แม้ขาเดินไม่ได้เอาไม้เท้าเดินก็ต้องยอมตายกับความดีงามนะพวกเธอ”

ครั้นได้พบหลวงปู่มั่นและหลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่ทั้งสองได้รับตัวท่านไว้เป็นศิษย์ ให้การอบรมสั่งสอนแล้ว ท่านจึงกราบลาไปจำพรรษาที่จังหวัดสุรินทร์

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

รูปภาพ
หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

หลวงปู่สาม แต่เดิมท่านบวชพระเป็นฝ่ายมหานิกาย เพราะในจังหวัดสุรินทร์สมัยนั้นยังไม่มีพระฝ่ายธรรมยุตเลย ต่อมา หลวงปู่สามได้ย้อนกลับไปพบ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เพื่อญัตติเป็นสายธรรมยุต ณ วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีพระครูจิตวิโส เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อกิญฺจโน”


๏ ออกเดินธุดงค์เพื่อมุ่งปฏิบัติภาวนา

หลวงปู่สาม เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านไม่ค่อยยอมอยู่กับที่ จะอยู่ก็เพียงเข้าพรรษา หรือขออุบายธรรมจากครูบาอาจารย์ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ท่านก็จะเดินธุดงค์ต่อไปตั้งแต่เหนือจดใต้จากภาคกลางจดภาคตะวันออก ภาคอีสานทั้งหมด ท่านเป็นพระนักธุดงค์กรรมฐานที่มีความมานะอดทนเป็นพิเศษ

ท่านถือคติที่ว่า “ท่านเป็นศิษย์ของพระตถาคต แม้ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องสู้กันให้ถึงที่สุด”

หลวงปู่สิงห์ได้ชี้แนะให้ท่านไปธุดงค์ฝึกจิตกัมมัฏฐาน เทศนาสั่งสอนญาติโยมร่วมกับ พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

เมื่อถึงช่วงออกพรรษา หลวงปู่สามจะเสาะหาสถานที่วิเวกตามป่าเขาเพื่อประกอบความเพียร เมื่อเดินทางกลับทุกครั้ง หลวงปู่สามจะไปพบหลวงปู่ดูลย์ ที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เพื่อช่วยบูรณะสร้างอุโบสถ และได้ไปธุดงค์ในภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง เป็นต้น

ตั้งแต่สมัยเป็นพระภิกษุหนุ่มจนเข้าสู่วัยชรา ท่านได้ต่อสู้ชีวิตทุ่มเทกับการปฏิบัติมาอย่างโชกโชน ท่านเพ่งเพียรภาวนาอยู่เป็นนิจ ครั้นมาปรารภกับตนเองว่า “บัดนี้กำลังกายของเราก็อ่อนแอลงไปมากแล้ว น่าจะกลับมาอยู่ถิ่นเดิม คือในจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้แล้วก็ยังจะได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ คือหลวงปู่ดูลย์ อีกทั้งมารดาของท่านก็ได้ชราภาพมากแล้ว เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำธรรมะที่ท่านได้รับมาทั้งหมดเผยแผ่แก่บรรดาสาธุชนต่อไปอีกด้วย” หลวงปู่สามจึงได้เดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่บัดนั้น

ท่านเคยเล่าเหตุการณ์ของพระธุดงค์สมัยก่อนนั้นว่า “สมัยโน้นพระธุดงค์ก็ลำบาก ชาวบ้านก็ลำบาก เพราะไม่เจริญอย่างปัจจุบันนี้นะ แต่มีความเพียรแรงกล้า มุ่งอรรถมุ่งธรรมกันจริงๆ มาสมัยนี้หละหลวมไม่เอาดีเลย สอนแล้วก็ลืม...ลืมปฏิบัติกัน !”

ผลแห่งความเพียรปฏิบัติธรรม ท่านได้ฝึกจิตให้แกร่งกล้า ถึงขั้นฌานสมาบัติ อันเป็นรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4

ต่อมา พระอาจารย์ลี ธัมมธโร แจ้งให้ทราบว่า หลวงปู่มั่นจำพรรษาที่จังหวัดสกลนคร จึงพากันเดินทางไปขอคำปรึกษาข้อปฏิบัติธรรมที่ติดขัด หลวงปู่มั่นแนะให้ไปฝึกกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

เมื่อทราบว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ถึงแก่มรณภาพลงที่จังหวัดสกลนคร หลวงปู่เทสก์, หลวงปู่ดูลย์, หลวงปู่แหวน, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่สาม, พระอาจารย์ลี, พระอาจารย์อ่อน, พระอาจารย์วัน และพระอาจารย์จวน ไปร่วมจัดงานบุญให้หลวงปู่มั่น

รูปภาพ
พระอาจารย์ลี ธัมมธโร

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


๏ เผยแผ่แนวทางกัมมัฏฐานในภาคใต้

วันหนึ่ง หลวงปู่สามได้รับจดหมายจาก หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ส่งจากมาจากจังหวัดภูเก็ต ให้ไปช่วยเผยแผ่แนวทางกัมมัฏฐานให้พระภิกษุ-สามเณร ในภาคใต้

หลวงปู่สามท่านจึงเป็นกำลังใน “กองทัพธรรม” ที่สำคัญองค์หนึ่ง กล่าวคือ ท่านเดินทางร่วมไปปูพื้นฐานทางธรรมกับหลวงปู่เทสก์ และคณาจารย์อีกหลายสิบองค์ทางภาคใต้ การเผยแผ่ในครั้งนั้น แม้จะมีอุปสรรคอย่างมากมาย แต่ด้วยกำลังใจอันแน่วแน่มั่นคงของพระธุดงค์กรรมฐาน จึงสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนั้นๆ ได้สำเร็จผลอย่างงดงาม เป็นที่ยอมรับในหมู่ชนชาวภาคใต้เป็นอันมาก

คติธรรมที่หลวงปู่เทสก์ปรารภแก่คณะผู้ออกเผยแผ่ธรรมยึดมั่นในจิตใจ คือ “เปียกได้...ไหม้เสีย” หลวงปู่สาม ได้นำมาสอนอบรมบรรดาศิษย์ในกาลต่อมา เป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ควรน้อมเข้ามาพิจารณาคำนี้ให้จงหนัก หลวงปู่สามท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนำธรรมะออกเผยแผ่สู่ประชาชนด้วยเมตตาธรรม

หลวงปู่สาม เผยแผ่ธรรมที่ภาคใต้ เป็นเวลา 5 ปี จึงเดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์

ก่อนย้อนกลับไปที่จังหวัดภูเก็ต และที่ภาคตะวันออก รวมระยะเวลา 20 ปี ในการแสวงบุญธุดงค์ทำให้หลวงปู่สาม บังเกิดความเพียร ลดละกิเลส คือ ความอยาก ความรัก และความชัง หากปล่อยวางได้จนหมดสิ้นแล้ว

ภายหลังได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ได้มรณภาพลง ณ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา จึงไปช่วยงานบุญพระราชทานเพลิงศพ

ก่อนเดินทางไปธุดงค์ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2510 ได้มีคณะญาติโยมนิมนต์หลวงปู่สาม ไปพำนักจำพรรษาที่บ้านขนาดปริ่ง ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ แต่ได้มีหน่วยงานราชการชี้แจงว่า บริเวณสำนักสงฆ์เป็นพื้นที่ป่าทำเลเลี้ยงสัตว์

พ.ศ.2512 หลวงปู่สาม ได้ย้ายไปอยู่ในป่าละเมาะ บ้านตระงอน กิโลเมตรที่ 11 ถนนสุรินทร์-ปราสาท ต.นาบัว ไม่วายโดนร้องเรียนอีก

แต่ถึงจะเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ก็ยังถูกลอบทำร้ายจากมนุษย์ใจบาป ในเรื่องนี้ท่านกล่าวว่า “ลูกเอ๋ย..มันเป็นกรรมนะต้องใช้กรรมเวร ยุติธรรมดีแล้ว แม้พระพุทธเจ้าของเราลูกเห็นไหม ? พระองค์ยังต้องประสบในเรื่องเช่นนี้นะ ฉะนั้น จงปล่อยไปตามกรรมที่ทำไว้แต่หนหลัง ปัจจุบันทำจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ก็พอแล้ว ทำอย่างไรหนอ จึงจะพ้นทุกข์นี้ไปได้เท่านั้น”

รูปภาพ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล-หลวงปู่สาม อกิญจโน


๏ สร้างวัดป่าไตรวิเวก

เวลาไม่นาน ได้มีคณะญาติโยมมีจิตศรัทธาถวายที่ดิน กิโลเมตรที่ 12 สร้างเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ เพื่อพำนักปฏิบัติธรรม กลายเป็นที่มาของการจัดตั้งวัดป่าไตรวิเวก


๏ การสร้างวัตถุมงคล

ด้านวัตถุมงคล พ.ศ.2512 อนุญาตให้ศิษยานุศิษย์จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญรูปเหมือน รุ่น 1 และอีกหลายรุ่นในปีถัดมา เช่น กริ่งรูปเหมือน พระผงสมเด็จ พระผงรูปเหมือน เป็นต้น วัตถุมงคลทุกรุ่นได้รับความนิยมสูง ทำให้พัฒนาถาวรวัตถุภายในวัดเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ


๏ ปฏิปทา

“ปฏิปทาของหลวงปู่สาม อกิญฺจโน นั้น สาธุชนที่เคยเดินทางไปกราบนมัสการคงจะตระหนักดีว่า มีความคล้ายคลึงกับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล มากทีเดียว ท่านมากไปด้วยขันติ โสรัจจะ อดทน สงบเงียบ เยือกเย็น ชีวิตเพศแห่งสมณะหลวงปู่ไม่เคยว่างเว้นในการเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาและในจังหวัดต่างๆ จิตของท่านเต็มไปด้วยเมตตา ไม่เคยขัดศรัทธาคณะศรัทธาญาติโยมใครๆ เลย”


๏ การมรณภาพ

หลวงปู่สาม อกิญฺจโน ท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย บ่อยครั้งเกิดอาการอาพาธ ต้องเข้า-ออกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนกระทั่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 หลวงปู่สามได้มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุรวม 91 พรรษา 71 ท่ามกลางความเศร้าสลดของคณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก

รูปภาพ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล-หลวงปู่สาม อกิญจโน-หลวงปู่ศรี มหาวีโร



.............................................................

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
1. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย สมศักดิ์ แซ่จึง
วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5574
2. http://www.thavorn.net/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร