วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2009, 17:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเปรื่อง ฐานังกโร


วัดสันติวัฒนา
ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงพ่อเปรื่อง ฐานังกโร” หรือ “พระวินัยวงศาจารย์” เป็นพระเถระนักปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ที่ชสาธุชนโดยทั่วไปต่างเลื่อมใสศรัทธา ในฐานะผู้บำเพ็ญศาสนกิจเพื่อความจำเริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาตินานัปการ ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม ครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อย่างสมถะ ไม่สะสมทรัพย์สินใดๆ มักน้อยสันโดษ มีเมตตาธรรมสูง ดำเนินตามรอยธรรมพระบูรพาจารย์สายกัมมัฏฐาน

หลวงพ่อเปรื่อง มีนามเดิมว่า เปรื่อง รูปน้อย เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2474 ตรงกับวันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม ณ บ้านเลขที่ 33 หมู่ 2 ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเรือง และนางน้อย รูปน้อย ปัจจุบันสิริอายุได้ 83 พรรษา 61 (เมื่อปี พ.ศ.2557) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวัฒนา ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์


๏ การศึกษาเบื้องต้นและการอุปสมบท

ในช่วงวัยเยาว์ ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านหนองบัว จ.เพชรบูรณ์ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนลาออกมาช่วยครอบครัวพ่อแม่ ทำไร่ ทำนา และทำสวน

ย่างเข้าวัยหนุ่มฉกรรจ์ มีจิตใจฝักใฝ่และศรัทธาหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบกับที่ครอบครัวได้เข้าวัดฟังธรรมและรักษาศีลเป็นประจำ จึงได้ขออนุญาตบุพการีบวช ต่อมาท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2495 โดยมี พระครูสุธรรมคณี วัดสามัคคีวัฒนา ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้อยู่ทำวัตรปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนกระทั่งสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จึงได้รับหน้าที่ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร ภายในวัด และทำหน้าที่เป็นผู้สวดปาติโมกข์ ทุกปักขคณนาตลอดทั้งปี


๏ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติวัฒนา

พ.ศ.2510 เมื่อญาติโยม อุบาสก และอุบาสิกา ร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ คือ วัดสันติวัฒนา ที่บ้านสักหลง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส


๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2514 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุต)

พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอหล่มเก่า-อำเภอน้ำหนาว (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์

พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก และอำเภอเขาค้อ (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์


๏ การปฏิบัติศาสนกิจ

เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีความรอบรู้ในเรื่องนวกรรม จึงได้ร่วมชักชวนญาติโยมตำบลสักหลง ทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิกัมมัฏฐาน ปรับภูมิทัศน์ภายในวัดให้มีความร่มรื่น ด้วยการปลูกต้นไม้ และนำพันธุ์ไม้หายากมาปลูก ทำให้ภายในวัดมีความร่มรื่นเย็นสบาย จนได้รับเกียรติคุณจากกรมการศาสนา ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างติดต่อกันหลายปี เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาบวชได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม หลวงพ่อเปรื่องได้กำหนดให้พระภิกษุ-สามเณรต้องลงอุโบสถ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น ทุกวัน และฟังพระสวดปาติโมกข์ ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังอบรมให้พระภิกษุ-สามเณร ยึดมั่นปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม ฝึกปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร ยึดหลักสันโดษ มักน้อยในปัจจัย 4 ไม่ยึดติดในอติเรกลาภ จึงทำให้พระภิกษุ-สามเณรที่จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ไม่เคยมีอธิกรณ์ใดๆ ให้เกิดความเสื่อมเสีย


๏ งานด้านการศึกษาสงฆ์

หลวงพ่อเปรื่องได้ส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรภายในวัด ได้รับการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม แต่ละปีจึงมีพระภิกษุ-สามเณรสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี โท และเอก ปีละหลายรูป

รวมทั้ง ยังจัดส่งพระภิกษุ-สามเณรในวัด ไปศึกษาด้านกัมมัฏฐาน ณ สำนักวัดป่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง


๏ ลำดับสมณศักดิ์

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2549 หลวงพ่อเปรื่องได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระวินัยวงศาจารย์”


๏ พระสายปฏิบัติที่เคร่งครัด

หลวงพ่อเปรื่อง เป็นพระสายปฏิบัติที่เคร่งครัด ได้ให้การศึกษาอบรมญาติโยม และประชาชนทั่วไป ด้วยการเน้นเรื่องของการปฏิบัติตน การฝึกทำสมาธิ เพื่อสร้างฐานทางสติให้มีความมั่นคง ไม่วอกแวก และมีสติ

ภายในวัดจึงมีกุฏิกัมมัฏฐาน ไว้เพื่อให้ญาติโยมที่ชอบความสงบเข้ามาปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ และปฏิบัติกัมมัฏฐาน ได้ทุกวัน สุดแต่ใครจะมีเวลา แต่ละวันจึงมีญาติโยมที่เลื่อมใส เดินทางมาเคารพกราบไหว้ พร้อมกับทำนุบำรุงศาสนสถานและถาวรวัตถุอย่างพร้อมสรรพ

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยกว่า 83 ปี สังขารของหลวงพ่อจึงร่วงโรยไปตามกาลเวลา เวลาใดปลอดญาติโยม ท่านจะเข้าอุโบสถวิปัสสนากรรมฐาน แต่หากมีญาติโยมมาหา ท่านยินดีที่จะใช้เมตตาบารมีชี้ทางพ้นทุกข์ให้


๏ พระธรรมเทศนา

- หลวงพ่อจะเน้นในเรื่องของความเป็นผู้สันโดษ มักน้อย ใช้ชีวิตอย่างพอดี พอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ธรรมที่แสดงจึงเรียบง่าย ทุกคนได้ฟังแล้วมีความเข้าใจ นับเป็นพระที่มีกุศโลบายในการสั่งสอนรูปหนึ่ง โดยนำอบายมุข 6 มาผูกเป็นกลอนสอนคนให้เข้าใจ ดังนี้

“อุปกิเลสที่เป็นหนทางให้เกิดความฉิบหายแก่คนทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่า ผี 6 ตัว ซึ่งได้แก่ ผีตัวที่หนึ่ง ชอบดื่มสุราเป็นอาจิณ ไม่ชอบกินข้าวปลา เป็นอาหาร ผีตัวที่สอง ชอบเที่ยวยามวิกาล ไม่รักบ้านรักลูกรักเมียตน ผีตัวที่สาม ชอบเที่ยวดูการละเล่น ไม่เว้นบาร์คลับละครโขน ผีตัวที่สี่คบคนชั่วมั่วกับโจร หนีไม่พ้นอาญาตราแผ่นดิน ผีตัวที่ห้า ชอบเล่นม้า กีฬาบัตร สารพัดถั่วโปไฮโลสิ้น ผีตัวที่หก เกียจคร้านการทำกิน มีทั้งสิ้นหกผีอัปรีย์เอย”

- สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน จะต้องหมุนไปตามกรรมเก่าที่ได้ทำเอาไว้ และในระหว่างนั้นก็ได้ทำกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก และกรรมใหม่นั้นทั้งหมดจะกลายเป็นกรรมเก่าต่อไปอีกไม่มีสิ้นสุด เป็นเหตุและผลของกันและกัน เชื่อมโยงกันไปไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น มีความเกี่ยวเนื่องกันไป ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “สังสารวัฏ” หรือ “วงกลมแห่งสายกรรม” ซึ่งจะเชื่อมโยงกันไประหว่างนาทีนี้กับนาทีหน้า หรือชั่วโมงนี้กับชั่วโมงหน้า วันนี้กับวันหน้า เดือนนี้กับเดือนหน้า ปีนี้กับปีหน้า จนถึงชาตินี้กับชาติหน้า สับสนแทรกแซงกันวุ่นวายไปหมด รู้ได้ยากมากว่าอันไหนเป็นเหตุ และอันไหนเป็นผลกันแน่

เหตุและผลดังกล่าวมานี้ สายกรรมที่ประจำของบุคคลหนึ่งจึงแปลกจากบุคคลหนึ่ง ไม่เหมือนกัน การทำกรรมของคนเราในโลกนี้ย่อมจะให้ผลบานปลายเสมอ คือทำกรรมน้อยแต่ให้ผลมาก คิดดูซิปลูกข้าวเม็ดเดียว ได้ผลหลายสิบเม็ด เรียนหนังสืออยู่ 4-5 ปี แต่ได้รับผลความรู้อยู่ 60-70 ปี บางคนไปขโมยของเขาอยู่ประมาณ 30 นาที แต่ต้องไปติดคุกเสีย 5-6 ปี สิ่งเหล่านี้เห็นกันอยู่ทั่วไป ผลของกรรมที่เราทำก็เหมือนกัน


แม้ล่วงอายุเข้าสู่วัยไม้ใกล้ฝั่ง แต่สุขภาพพลานามัยของหลวงพ่อเปรื่องยังแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเป็นเนื้อนาบุญที่พุทธศาสนิกชนสามารถกราบไหว้ได้สนิทใจโดยแท้

รูปภาพ
พระวินัยวงศาจารย์ (หลวงพ่อเปรื่อง ฐานังกโร)



.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 5981
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร