วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ต.ค. 2009, 07:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่กินรี จนฺทิโย


วัดกัณตะศิลาวาส
ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย ชื่อเดิมตอนเกิดของท่านชื่อ “กลม” กำเนิดในตระกูล “จันทร์ศรีเมือง” ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ หนึ่งใน ๘ ตระกูลที่โยกย้ายมาจากบ้านโพธิ์ชัย เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่คนเฒ่าคนแก่ส่วนใหญ่เรียกว่า บ้านโพธิ์ชัยแตก เกิดขึ้นในปีมะเมีย (ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่ชัด) โยมบิดาชื่อ โพธิ์ โยมมารดาชื่อ สุวันดี หรือบางประวัติว่าชื่อ วันดี ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับปีวอก แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ จ.ศ. ๑๒๕๘ รศ. ๑๑๕ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ บ้านหนองฮี ตำบลปลาปาก อำเภอหนองบึก ปัจจุบันเป็นตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน หลวงปู่เป็นลูกหล้าน้องสุดท้อง ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ประกอบอาชีพชาวนา มีพี่น้องหลายคน และโดยที่ในสมัยนั้นการศึกษาเล่าเรียนยังอยู่ในวงจำกัด แม้จะมีใจรักในการศึกษาแต่ก็ขาดโอกาสในการศึกษาต่อ จึงได้รับการศึกษาสามัญเบื้องต้น


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหนองฮี และมีโอกาสได้ศึกษาหนังสือธรรม หนังสือผูก ทั้งภาษาขอม ภาษาไทยน้อยหรืออักษรธรรม และภาษาสมัยไทยปัจจุบัน ท่านได้บวชเป็นสามเณรเรื่อยมาจนกระทั่งอายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ คืออายุ ๒๐ ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดอ้อมแก้ว (วัดเกาะแก้วอัมพวัน) ตำบลเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ในประวัติของหลวงปู่กินรีจากหลายแหล่ง ได้มีหมายเหตุในเรื่อง วัดอ้อมแก้ว ว่า “ปัจจุบันชื่อ วัดเกาะแก้วอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้เคยมาพำนัก” ซึ่งปี พ.ศ. ที่บวชไม่สอดคล้องกับปีที่สร้างวัดเกาะแก้วอัมพวัน และในการสร้างวัดเกาะแก้วอัมพวันก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นการบูรณะวัดเก่า ดังข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในประวัติหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่ รศ.ปฐม นิคมานนท์ เป็นผู้เรียบเรียง ซึ่งมีข้อความว่า

“ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้นเอง หลวงปู่ใหญ่จึงออกธุดงค์ไปทางอำเภอธาตุพนม ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้กว่า ๕๐ กิโลเมตร หลังจากพาลูกศิษย์ไปนมัสการพระธาตุพนม แล้ว หลวงปู่ใหญ่ก็พาคณะไปพำนักปักกลดอยู่ที่ป่าดอนอ้อมแก้ว อยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุพนม

บริเวณป่าดอนอ้อมแก้วแห่งนี้ เป็นผืนดินที่มีลักษณะคล้ายเกาะ เพราะมีน้ำล้อมรอบอยู่ ทางตะวันตกมีน้ำจากลำห้วยแคน ไหลผ่านลงลำน้ำก่ำ แล้วลงแม่น้ำโขงอีกทีที่ปากก่ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลบริเวณนั้น

ประชาชนชาวธาตุพนม ซึ่งเรียกว่าชาวไทพนม นำโดยโยมทองอยู่ และโยมแก้วผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ได้ร่วมแรงร่วมใจพากันช่วยถากถางป่าต้นหนามคอมและกอไผ่หนาม จัดสร้างกุฏิ กระต๊อบ และเสนาสนะที่จำเป็นสำหรับคณะพระธุดงค์ได้พักอาศัย พอกันแดดกันฝนได้ รวมทั้งอุปถัมภ์อุปัฏฐากให้คณะของหลวงปู่ใหญ่ได้พักจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น

เป็นอันว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงปู่ใหญ่และคณะพักจำพรรษาโปรดญาติโยมอยู่ที่ป่าดอนออมแก้ว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นพรรษาที่ ๕๐ ของท่าน

สำนักป่าดอนอ้อมแก้วแห่งนี้ จึงได้กลายเป็นวัดกรรมฐาน ชื่อว่าวัดป่าอ้อมแก้ว เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาและเป็นเกียรติแก่โยมแก้ว เจ้าของที่ ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ นั่นเอง

หลวงปู่ใหญ่เสาร์จึงเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาภายหลังได้ใช้ชื่อใหม่ว่า วัดเกาะแก้วอัมพวัน มาจนทุกวันนี้”

ตามข้อความข้างต้น วัดป่าอ้อมแก้ว ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังจากปีที่หลวงปู่กินรีบวช คือปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง ๔ ปี ดังนั้นความเป็นไปได้จึงมี ๒ ทางคือ

๑. วัดที่หลวงปู่กินรีบวช ไม่ใช่วัดอ้อมแก้ว หรือ

๒. ถ้าวัดที่หลวงปู่กินรีบวชเป็นวัดอ้อมแก้วจริง วัดอ้อมแก้ว ที่หลวงปู่กินรีบวช กับวัดเกาะแก้วอัมพวัน ก็ต้องไม่ใช่วัดเดียวกัน หรือ

๓. ถ้าวัดวัดอ้อมแก้ว กับวัดเกาะแก้วอัมพวัน เป็นวัดเดียวกัน ปี พ.ศ. ที่หลวงปู่กินรีบวช หรือปี พ.ศ. ที่สร้างวัดเกาะแก้วอัมพวัน ปีใดปีหนึ่งต้องผิด


ต่อมาด้วยความห่วงใยบิดา-มารดา และได้รับการขอร้องด้วยความเป็นบุตรคนเล็กท่านจึงลาสิกขาตามความต้องการของโยมบิดาและโยมมารดา ใช้ชีวิตฆราวาสไม่ราบรื่นและไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เป็นนายฮ้อยวัวควายก็ขาดทุนอย่างหนัก หลวงปู่เล่าว่า เพราะการกระทำของท่านพรากพ่อ-แม่-ลูก วัว ควาย ที่ขายไปถิ่นต่างๆ ย่อมเป็นบาปอย่างมหันต์ ผลกรรมจึงย้อนตอบสนองให้ต้องสูญเสียภรรยาหลังจากคลอดบุตรได้ไม่นาน และได้สูญเสียลูกอันเป็นสุดที่รักซ้ำอีก เพราะทารกน้อยขาดนมจากผู้เป็นมารดา

ความสูญเสียอันใหญ่หลวงของท่าน ทำให้เป็นทุกขเวทนา ความอาลัยอาวรณ์ ความโศกเศร้า ทับถมเพิ่มทวีความทุกข์ยิ่งขึ้น ด้วยความทุกข์เป็นกุศลปัจจัยผลักดัน และบันดาลใจให้ท่านก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์สู่ความเป็นบรรพชิตในบวรพระพุทธศาสนา ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง ตำบลกุดตาไก้ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ (อายุครบ ๒๕ ปีบริบูรณ์พอดี) โดยมีพระอาจารย์วงศ์ เป็นพระอุปชฌาย์, พระอาจารย์พิมพ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหมา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ชื่อใหม่จากพระอุปัชฌาย์ จาก “กลม” เป็น “กินรี” และได้รับนามฉายาว่า “จนฺทิโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้เปรียบประดุจพระจันทร์”

หลังจากอุปสมบท หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองฮี ในช่วงสิบปีแรก ท่านได้สงเคราะห์ญาติ หลานๆ ด้วยการให้ความรู้เรื่องภาษาไทย อบรมสั่งสอนการอ่านการเขียนภาษาไทย เพราะในสมัยนั้นการพัฒนาทางการศึกษายังล้าหลังมาก ขาดการแผ่ขยายให้กว้างขวางออกสู่ชนบท ที่จะเจริญก็คงมีแต่เมืองหลวงเท่านั้น การเผยแผ่และการถ่ายทอดวิชาความรู้ในวิชาการบางสาขา จึงต้องอาศัยพระที่วัดเป็นผู้สอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็มีแต่วิชาภาษาไทยเท่านั้นที่สอนกัน นอกเหนือไปจากการสอนหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา

พ่อใหญ่ยศ มาภา อดีตเด็กชายยศ เล่าว่าหลวงปู่ “ท่านเป็นคนจริงจังกับการงานมาก โดยเฉพาะ เรื่องอาบัติเล็กน้อย ท่านไม่มองข้าม เช่น การประเคนของ ถ้าวันไหนมีแต่ผู้หญิงมาวัดเพื่อถวายของ ท่านจะไม่รับ แม้จะทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน ก็ทิ้งไป ทำให้แม่ออกเกรงท่านมาก”

อุปนิสัยของท่านนั้น เป็นที่กล่าวขวัญกันว่าค่อนข้างจะมุ่งมั่นและขยันขันแข็งในการงานอยู่มากทีเดียว ปฏิปทาที่เป็นไปจนตลอดชีวิตของท่านก็คืองาน หลวงปู่ไม่เคยอยู่นิ่งเฉยนอกจากขณะทำสมาธิภาวนา ไม่เคยเป็นคนเกียจคร้านเห็นแก่ความสุขจากการนอน การกิน หรือการพูดจาสนุกเฮฮา โดยปกติแล้วในตอนที่ว่างเว้นจากการงาน ท่านมักจะเก็บตัวอยู่แต่เพียงผู้เดียวด้วยความสงบ เมื่อออกจากที่ภาวนา หลังจากที่ได้พักผ่อนร่างกายบ้างแล้วท่านก็จะทำงานอีก โดยถ้าไม่ทำอย่างใดก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ทำติดต่อกันไปหลายๆ งานเลยทีเดียว

พระผู้เฒ่าที่ หลวงพ่อชา สุภทฺโท ส่งมาดูแล เล่าให้ฟังว่าชีวิตในบั้นปลายของหลวงปู่ว่า ท่านจะลุกขึ้นมาตอนรุ่งสางเสมอ ถึงแม้ว่าร่างกายของท่านในวัยชราจะซูบผอม มีโรคเสมหะที่ทำให้ต้องกระแอมไอเป็นประจำ แต่ถึงกระนั้นลักษณะการเดินเหินยังคล่องแคล่วว่องไวและกระฉับกระเฉงมาก เมื่อฉันเสร็จแล้วหลวงปู่ก็จะกลับเข้ากุฏิ จะเงียบเสียงไปบ้างก็ไม่นาน และได้ยินเสียงเหมือนเคาะอะไรสักอย่างกุกๆ กักๆ ดังอยู่อย่างนั้น ประเดี๋ยวเคาะประเดี๋ยวเงียบ ตลอดเวลาครึ่งค่อนวัน จนกระทั่งบ่ายจึงจะเห็นท่านออกจากกุฏิลงมาลานวัด บางทีก็เดินหาไม้กวาดสำหรับกวาดลานวัด หยิบลากเอาไปกวาดลานวัดจนเตียนโล่ง

ท่านจะทำกิจเหล่านั้นด้วยตนเองไม่เคยตีระฆังรวมหรือใช้ให้ใครทำ แต่ถ้าถึงคราวที่อยากจะให้ใครทำท่านจะไม่ใช้ด้วยวาจา กลับจะลากเข่งใบเก่าๆ หรือใบที่สานใหม่ซึ่งก็เป็นฝีมือของท่านเอง มาวางทิ้งไว้ที่กองขยะ แล้วเดินหลีกหนีไป ใช้กิริยาที่เดินหนีแทนการบอก เสร็จจากกวาดลานวัด บางทีก็หาไม้ตอกหรือหวายมาจักสานทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยประจำวัด หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะใช้ในวัด ท่านจะทำกิจเหล่านี้ไปจนเย็น ไม่ค่อยพูดจากับใครให้เป็นที่เอิกเกริก บางครั้งพระเณรจะไปช่วย ท่านบอก “ให้เร่งความเพียรปฏิบัติ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาให้มาก” ค่ำมืดแล้วท่านก็สรงน้ำกลับเข้ากุฏิเก็บตัวเงียบ หลวงปู่เป็นตัวอย่างแห่งความมุ่งมั่นจริงจังและพากเพียร ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองฮี ท่านได้ขุดลอกสระน้ำขนาดใหญ่ด้วยตัวของท่านเองจนเป็นผลสำเร็จ ให้วัดและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ มีน้ำอุปโภคบริโภคมาจนถึงทุกวันนี้


รูปภาพ
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า)


๏ พบหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล

การแสวงหาธรรมปฏิบัติ ได้เกิดขึ้นเป็นช่วงตอนปลายของทศวรรษแรกของการอุปสมบท ด้วยการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระกรรมฐานกับ ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ที่สำนักบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เป็นจุดเกิดและเป็นก้าวแรกที่ท่านรับเอาพระกรรมฐานเข้าไว้ในจิตของท่าน หลวงปู่ได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนากับหลวงปู่ทองรัตน์ (ครูบาจารย์เฒ่า) ระยะหนึ่ง ท่านก็เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดบ้านเกิด และไปกราบครูอาจารย์ร่วมธุดงค์โดยไปมาหาสู่อยู่เสมอ ท่านได้นำเอาข้อปฏิบัติพระธรรมกรรมฐานมาอบรมสั่งสอนชาวบ้านหนองฮี ได้สงเคราะห์โยมมารดาและญาติด้วยการบวชชี และได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีในบ้านเกิด ชื่อว่า “สำนักสงฆ์เมธาวิเวก” หรือ “วัดป่าเมธาวิเวก” ในปัจจุบัน

สำนักสงฆ์เมธาวิเวก เดิมเป็นดอนกลางนา ชาวบ้านพยายามที่จะเข้าทำประโยชน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ต้องมีอันเป็นไปทุกราย เจ็บป่วยก็หลายคน ต้องจบชีวิตลงจากการล่วงละเมิดอาถรรพ์

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ครูบาจารย์โสมและหลวงปู่กินรีได้เข้าพำนักระยะหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงปู่ทองรัตน์ (ครูบาจารย์เฒ่า) ก็เข้าพักจำพรรษาสำนักสงฆ์เมธาวิเวก เป็นบูรพาจารย์ของอุบาสกอุบาสิกาบ้านหนองฮี

ประเพณีอันงดงามที่ชาวบ้านหนองฮีได้รับปลูกฝังในอดีต คือความพร้อมเพรียงสามัคคีกัน อีกทั้งยังมีประเพณีอันดีงามเด่นเฉพาะตัว เช่น การตักบาตร เวลาใส่บาตรจะหงายมือขึ้น พระเณรเดินผ่านจะถอดรองเท้า ถอดหมวก นั่งลงพร้อมกับพนมมือ จนกว่าพระเณรจะเดินผ่านพ้นไป หญิงใดจะออกเรือนต้องมาบวชชีอยู่วัด ๑ พรรษาก่อน

ช่วงนั้นหลวงปู่กินรีไปธุดงค์ที่อื่นแล้ว มีแม่ชีในสำนักสงฆ์เมธาวิเวก ๔ คน การเทศน์สั่งสอนแม่ชีของหลวงปู่ทองรัตน์ (ครูบาจารย์เฒ่า) นั้น แม่ชีเลี่ยน มาภา หลานสาวหลวงปู่กินรี เล่าว่า ส่วนมากจะสอนการปฏิบัติภาวนา ให้รู้หน้าที่ของตนเอง “เฮา เป็นชีให้ฮู้จักหน้าที่เจ้าของ อย่าคึดจะไปฮั่นมานี่คือผู้ชาย เฮาเป็นหญิง หน้าที่ของเฮาเก็บผัก หักฟืน อุปัฏฐากอุปถัมภ์พระสงฆ์องค์เจ้า” (เราเป็นชีให้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง อย่าคิดจะไปนั่นมานี่เหมือนผู้ชาย เราเป็นผู้หญิงหน้าที่ของเราคือเก็บผัก หักฟืน อุปัฏฐากอุปถัมภ์พระสงฆ์องค์เจ้า)

ในระยะที่หลวงปู่นำโยมมารดามาบวชเป็นชีนี้ก็ชรามากแล้ว หลวงปู่ได้เกลี้ยกล่อมเอาเด็กหญิงเลี่ยน ผู้เป็นหลานสาวเข้ามาบวชชี อยู่ปรนนิบัติรักษาคุณยายผู้เป็นโยมมารดาของท่านด้วย โดยที่หลวงปู่ได้ให้เหตุผลว่า “ตามธรรมเนียมโบราณ ผู้เป็นหลานควรจะได้ทดแทนบุญคุณญาติผู้ใหญ่ เฝ้าปรนนิบัติอุปัฏฐากคุณตาคุณยายในวัยชรา ญาติพี่น้องนั้นไม่มีใครอีกแล้วที่จะมาทำเช่นนี้ได้ ต่างคนเขาก็ต่างแยกย้ายกันไปมีครอบครัวเหย้าเรือน หาความสนุกสุขสำราญส่วนตัวเขา เราสิเป็นเด็กเป็นเล็กควรจะภูมิใจและเต็มใจทำ” หลานสาวเชื่อฟังคำท่านจึงยอมบวช และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม่ชีเลี่ยน มาภา สิริอายุได้ ๙๑ ปี ๗๗ พรรษา (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒) ก็ยังคงเป็นแม่ชีเลี่ยนอยู่เหมือนเดิมมิได้เปลี่ยนแปลง

รูปภาพ
ป้ายชื่อ “วัดป่าเมธาวิเวก” จ.นครพนม ในปัจจุบัน

รูปภาพ
เสนาสนะภายใน “วัดป่าเมธาวิเวก” จ.นครพนม ในปัจจุบัน

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2009, 15:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


๏ กราบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ในระหว่างที่หลวงปู่ไปมาหาสู่เพื่อคารวะ และปฏิบัติธรรมในสำนักของพระอาจารย์หลวงปู่ทองรัตน์นั้น ท่านอาจารย์ทองรัตน์ได้พาหลวงปู่เดินทางไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานผู้มีชื่อเสียงและเกียรติคุณเลื่องลือโด่งดังมาก ในขณะที่หลวงปู่มั่นพระธรรมาจารย์ผู้มีปรีชาสามารถ พำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อรับโอวาทจากท่าน

หลวงปู่มั่นท่านได้อบรมสั่งสอนธรรมแก่หลวงปู่กินรี ถึงข้อปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้น ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่การกระทำศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมๆ ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อจะทำจิตให้สงบระงับจากอารมณ์ทั้งปวง เพราะความที่จิตปลอดจากอกุศลว่างเว้นจากอารมณ์ อันเกิดจากการสัมผัสทางอายตนะ คือ ที่ตั้งแห่งการกระทบ มี ๖ คู่ อันได้แก่ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับการสัมผัสทางกาย และใจที่กระทบกับอารมณ์ในภายในที่ทำให้เกิดเวทนา ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้ดี รู้ชั่ว รู้สวย รู้ไม่สวย รู้น่ารัก รู้ไม่น่ารัก ทั้งหลายแล้ว จิตใจก็ย่อมจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว อารมณ์นั้นก็ได้แก่พระกรรมฐาน หมายถึง การเอาพระกรรมฐานเข้ามาตั้งไว้ในใจ ความตั้งมั่นของจิตในลักษณะการเช่นนี้ ย่อมจะทำจิตให้สงบอย่างเดียว เป็นความสงบที่สะอาดและบริสุทธิ์ผุดผ่องใส

หลังจากนั้นแล้วจึงหันมาพิจารณาธาตุทั้ง ๔ อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม และพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ให้รู้ว่าธาตุขันธ์และรูปนามทั้งหลายเหล่านี้แท้จริงก็คือบ่อเกิดของความทุกข์โศกร่ำไรรำพันนานาประการทั้งปวงนั่นเอง

หลวงปู่มั่นท่านได้อบรมสั่งสอนข้อธรรมแก่หลวงปู่กินรีเป็นประจำ และเมื่อท่านพบหน้าหลวงปู่กินรี ท่านมักจะเอ่ยถามไปว่า “กินรี ได้ที่อยู่แล้วหรือยัง ?”

คำถามของหลวงปู่มั่นนั้นมิได้หมายถึงที่อยู่ในวัดปัจจุบัน แต่ท่านถามถึงส่วนลึกของใจว่ามีสติตั้งมั่นหรือยัง ถ้ายังท่านก็จะกล่าวอบรมต่อไป ซึ่งส่วนมากหลวงปู่มั่นท่านจะเน้นให้เห็นถึงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ เพราะเกิดจากอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในความเป็นของไม่เที่ยง ในความเป็นของเสื่อมโทรมของธาตุขันธ์ทั้งหลาย เป็นเหตุ และเพราะความไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงว่ามันมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่รู้จักความไม่เที่ยง ไม่รู้จักความเป็นทุกข์ และไม่รู้ความเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริงแล้ว อาสวะกิเลส คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ย่อมครอบงำจิตของคนๆ นั้นให้มืดมัว เร่าร้อนและเป็นทุกข์ได้ในที่สุด

หลวงปู่มั่นท่านอบรมสั่งสอนหลวงปู่กินรีต่อไปว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีรากฐานสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติศีลเป็นเบื้องต้น และทำสมาธิในท่ามกลางเพื่อจะให้เกิดปัญญา ความรู้แจ้งแทงตลอดในธาตุขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ในที่สุด และเพื่อจะให้รู้ความจริงก็ต้องหมั่นพิจารณาว่าร่างกายของเราที่ปั้นปรุงขึ้นมาจากธาตุทั้ง ๔ นี้ ประกอบอยู่ด้วยธาตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๔ อย่าง ได้แก่

เวทนา คือ ความรู้สุข รู้ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอายตนะทั้งหลายที่มากระทบแล้วรู้สึกแล้ว

สังขาร คือ ความไกลเวียนปรุงเปลี่ยนไม่หยุดอยู่ของนามธาตุนั้น

วิญญาณ คือ ความรู้สึกได้

รวมเป็น ๔ อย่างด้วยกัน เรียกว่า นามขันธ์

เมื่อรวมเข้ากับธาตุ ๔ คือ รูปขันธ์ด้วยแล้วจึงเป็นขันธ์ รวมย่อแล้วเรียกว่า กายกับใจนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยืนยงคงที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ร่างกายเนื้อหนังของเรานี้เป็นของไม่สวยไม่งาม สกปรกโสโครกโดยประการทั้งปวง การภาวนาที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ นักภาวนาเมื่อรู้เห็นซึ่งสภาพตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมจะมีความสะดุ้งกลัวต่อภัยและความเป็นโทษทุกข์ของสังขาร ไม่อยากประสบพบเห็นกับควาทุกข์ทรมานเหล่านี้อีกแล้ว เมื่อนั้นจิตก็ย่อมจะคลายจากความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ย่อมคลายความกำหนัดรักใคร่ชอบใจในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ชอบใจ เมื่อจิตมีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดเช่นนี้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงก็ย่อมดับลงได้โดยแท้ ข้อที่ว่าทุกข์ทั้งปวงดับลงนี้เป็นเพราะอวิชชาคือความไม่รู้ ความเป็นจริงในธรรมดับไปนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้รู้ความเห็นในธรรมที่เรียกว่า “ปัญญา” นั้น เจริญถึงที่สุด ผลที่ได้รับก็คือ “ปัญญาอันสงบระงับและแจ่มแจ้ง” หลวงปู่มั่นท่านกล่าวอบรมหลวงปู่กินรี

หลวงปู่กินรีท่านได้เล่าเรื่องราวของท่านสมัยที่ท่านไปฝึกอบรมกรรมฐานกับหลวงปู่มั่น ให้สานุศิษย์ทั้งหลายฟังอยู่เสมอว่า ในขณะที่ท่านนั่งสมาธิบริกรรมภาวนาอยู่นั้น ก็รู้สึกว่าจิตค่อยๆ สงบเข้าไปทีละน้อยๆ แล้วปรากฏว่า ทั้งร่างกายและเนื้อหนังของท่านนั้นได้เปื่อยหลุดออกจากกันจนเหลือแต่ซากของกระดูกอันเป็นโครงร่างที่แท้จริงในกายของท่านเอง “สิ่งที่ปรากฏในอาการอย่างนั้นมันชวนให้น่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก” หลวงปู่ท่านกล่าว

ประสบการณ์ในธรรมโดยลักษณะนี้ ได้เกิดขึ้นกับหลวงปู่ท่านอีกครั้งหนึ่งในเวลาต่อมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าในขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่ใด ซึ่งครั้งนี้ท่านกล่าวว่า “ในขณะที่ภาวนาอยู่นั้นได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในตัว เปลวเพลิงได้ลุกลามพัดไหม้ทั่วร่าง ในที่สุดก็เหลืออยู่แต่ซากกระดูกที่ถูกเผา และคิดอยู่ที่นั้นว่าร่างกายคนเราจะสวยงามแค่ไหน ในที่สุดมันก็ต้องถูกเผาอย่างนี้เอง” หลวงปู่กินรีท่านได้อธิบายถึง การภาวนา ว่ามีอยู่ ๓ ขั้นด้วยกัน กล่าวคือ

๑. บริกรรมภาวนา คือ การภาวนาที่กำหนดกรรมฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ เพื่อจะทำจิตให้ตั้งมั่น ขั้นนี้ยังเป็นเพียงการกำหนดนึก ยังไม่เป็นอารมณ์ที่แน่นแฟ้นจริงจัง มีการภาวนา “พุทโธ” เป็นอาทิ ข้อนี้เป็นการภาวนาในระดับที่จะทำให้เกิดบริกรรมนิมิตอันเป็นนิมิตข้อต้นเท่านั้น

๒. อุปจารภาวนา คือ การภาวนาที่เริ่มจะทำจิตให้ตั้งมั่นดีกว่าข้อแรกขึ้นนิดหนึ่ง ข้อนี้อุคหนิมิตจะปรากฏขึ้นได้

๓. อัปนาภาวนา เป็นการภาวนาที่แน่วแน่ อาจทำให้เกิดปฏิภาคนิมิตได้

หลวงปู่กินรีท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านหลวงปู่มั่นเพียง ๒ ปี เท่านั้น ส่วนเวลานอกนั้นท่านมักจะอยู่ตามลำพัง เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ส่วนผู้ที่หลวงปู่กินรีจะลืมเสียมิได้ถึงแม้จะมาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นก็ตาม ท่านคือ พระอาจารย์หลวงปู่ทองรัตน์ เพราะท่านเป็นผู้ที่ให้วิชาความรู้ในการปฏิบัติแก่หลวงปู่ นับว่าเป็นองค์แรกที่เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี ซึ่งท่านมักจะไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้หลวงปู่กินรีชอบอยู่อย่างสันโดษแต่ผู้เดียวนั้น เนื่องจากท่านเป็นพระมหานิกาย ไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตเช่นพระทั้งหลายรูปอื่นๆ

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า) เป็นบูรพาจารย์พระกรรมฐานฝ่ายมหานิกายระดับแนวหน้าของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แต่เพียงผู้เดียว หลวงปู่มั่นท่านให้เหตุผลว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุตหมดเสียแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน บรรดาศิษย์ฝ่ายมหานิกายที่ท่านได้อนุญาตให้ญัตติตอนนั้นมีหลายรูป และที่ท่านไม่อนุญาต มีท่านพระอาจารย์ทองรัตน์เป็นต้น”

เรื่องระหว่างธรรมยุติกับมหานิกาย เป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาพูดหลังพุทธปรินิพพานนานแล้ว ทำให้ผู้ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ ต้องไขว้เขวไปด้วย จนเกิดเรื่องเกิดราวกันมานับไม่ถ้วน

ในสมัยครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ ต้องมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางรูปก็ว่าครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ไม่ได้ญัตติ ไม่น่าให้ร่วมสังฆกรรมด้วย บางรูปก็ว่าในเมื่อมีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนกัน แถมยังเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูบาอาจารย์เดียวกัน ควรที่จะให้ร่วมสังฆกรรมด้วย

ก่อนถึงวันลงอุโบสถ พระเณรกำลังกังวลกันในเรื่องนี้มาก กลัวว่าเมื่อรวมสังฆกรรมแล้วจะไม่เกิดผลดีต่อคณะสงฆ์ศิษย์ทั้งสองฝ่าย เพราะเหตุเคลือบแคลงสงสัยในสังฆกรรมนั้น หลวงปู่มั่นได้หาอุบายเพื่อให้พระเณรคลายสงสัย หลวงปู่มั่นจึงถามครูบาจารย์เฒ่าในท่ามกลางสงฆ์ที่รวมฉันน้ำปานะด้วยกันว่า

“ท่านทองรัตน์สงสัยในสังฆกรรมอยู่บ้อ”


ครูบาจารย์เฒ่ากราบเรียนพร้อมกับพนมมือ

“โดยข้าน้อย ข้าน้อยบ่สงสัยดอกข้าน้อย” (ครับกระผม กระผมไม่สงสัยหรอกขอรับ)

“เออ..บ่สงสัยกะดีแล้ว ให้มาลงอุโบสถนำกันเด้อ” (เออ..ไม่สงสัยก็ดี ให้มาลงอุโบสถร่วมกันนะ)

หลวงปู่มั่นพูดด้วย ครูบาจารย์เฒ่าก็ไม่อยากให้ครูบาอาจารย์ต้องลำบากใจจึงพูดไปว่า “โดยข้าน้อย บ่เป็นหยังดอก ข้าน้อย ข้าน้อยขอโอกาสไปลงทางหน้าพู้นดอกข้าน้อย” ครูบาจารย์ตอบพร้อมกับพนมมือรับ

และต่อๆ มาเมื่อมีพระมหานิกายที่ไปกราบขอศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่ยังไม่ญัตติหรือไม่ประสงค์จะญัตติ ท่านก็บอกให้ไปศึกษากับครูบาจารย์ทองรัตน์ตลอด พระสงฆ์ที่ไปขอศึกษาประพฤติปฏิบัติกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่ไม่ได้ญัตติ บางรูปถึงแม้จะไปขอญัตติท่านก็ไม่ญัตติให้ โดยท่านให้เหตุผลว่า “ถ้าพากันมาญัตติหมดจะทำให้พระสงฆ์เกิดการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่ามากกว่าที่เป็นอยู่” ซึ่งหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะคืนนิกายทั้งสองนั้นให้เป็นอันเดียวกัน

รูปภาพ
หลวงปู่มี ญาณมุนี วัดป่าสูงเนิน จ.นครราชสีมา

รูปภาพ
หลวงพ่อบุญมาก ฐิติปญฺโญ วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

รูปภาพ
หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี


ครูบาอาจารย์พระสุปฏิปันโนที่เป็นสหธรรมมิกและสานุศิษย์ของหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า) แม่ทัพธรรมนายกองใหญ่สายมหานิกาย ที่ไม่ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ตามกำหนดของพระบูรพาจารย์ใหญ่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาทิเช่น

๑. พระครูญาณโสภิต (หลวงปู่มี ญาณมุนี) วัดป่าสูงเนิน อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

๒. หลวงปู่สีเทา บ้านแวง จังหวัดยโสธร

๓. หลวงปู่พรม บ้านโคกก่อง จังหวัดยโสธร

๔. หลวงพ่อบุญมาก ฐิติปญฺโญ วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

๕. หลวงปู่กินรี จนฺทิโย วัดกัณตะศิลาวาส อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

๖. พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี


๗. หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม วัดสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี (ภายหลังจึงญัตติ)

๘. หลวงพ่อพรม กุดน้ำเขียว อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

๙. พระครูภาวนานุศาสตร์ (หลวงพ่อสาย จารุวณฺโณ) วัดป่าหนองยาว อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

๑๐. หลวงปู่ทา จารุธมฺโม วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

๑๑. หลวงพ่อปุ่น ฉนฺทาโร วัดป่าฉันทาราม บ้านคำแดง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

๑๒. หลวงพ่อพร สจฺจวโร วัดบ้านแก่งยาง อำเภอบุณทริก จังหวัดอุบลราชธานี

๑๓. หลวงพ่อกองแก้ว ธนปญฺโญ วัดป่าเทพบุรมย์ บ้านแก่งยาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

๑๔. หลวงพ่ออวน ปคุโณ วัดจันทิยาวาส บ้านนามะเขือ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เป็นต้น


รูปภาพ
หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม วัดสนามชัย จ.อุบลราชธานี

รูปภาพ
หลวงปู่ทา จารุธมฺโม วัดถ้ำซับมืด จ.นครราชสีมา

รูปภาพ
หลวงพ่ออวน ปคุโณ วัดจันทิยาวาส จ.นครพนม

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2009, 15:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
(บนขวา) หลวงปู่กินรี จนฺทิโย, (ซ้ายล่าง) หลวงพ่อชา สุภทฺโท,
(หลังซ้าย) หลวงพ่ออวน ปคุโณ



หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เล่าว่า คราวใดที่ครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ไปกราบฟังธรรมหลวงปู่มั่น ท่ามกลางหมู่สงฆ์ หลวงปู่มั่นมักชอบเอ่ยชื่อและยกตัวอย่างท่านให้พระเณรฟังบ่อย และมีบางครั้งท่านได้รับคำสั่งให้ตรวจดูพฤติกรรมของพระเณรที่นอกลู่นอกทางพระธรรมวินัย จึงเป็นเหตุให้พระเณรเกลียดชัง ครูบาจารย์เฒ่าเป็นคนไม่เกรงกลัวใคร ตรงไปตรงมาตามธรรมวินัยสม่ำเสมอ

หลวงพ่ออวน ปคุโณ วัดจันทิยาวาส จังหวัดนครพนม เล่าว่าครูบาจารย์ทองรัตน์เตือนสติพระเณรผู้กำลังจะพลั้งเผลอต่อพระธรรมวินัย ซึ่งผลที่จะตามมาคือความเศร้าหมองเอง แต่ละองค์ละท่านอยากฟังพระธรรมเทศนาเป็นแนวปฏิบัติแต่องค์หลวงปู่มั่น ท่านก็ทรมานพระเณรด้วยการไม่อบรมไม่เทศนา จนพระเณรทนไม่ไหว จึงไปกราบเรียนครูบาจารย์ทองรัตน์ ทำอย่างไรถึงจะได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นสักที

“อยากฟังอีหลีบ้อ” (อยากฟังจริงๆ หรือ)

“พวกขะน้อยมาปฏิบัติกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ตั้งดนตั้งนาน แต่บ่เห็นครูบาจารย์เพิ่นสอนอีหยัง จนขะน้อยสิใจออกหนี เมื่อแหล่วไล้ขะน้อย” (พวกกระผมปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นตั้งนานนมแล้ว ยังไม่เห็นองค์ท่านเทศน์สอนข้าน้อยเลย กระผมคิดเปลี่ยนใจลากลับแล้ว ขอรับกระผม)

“บ่ยากตั๋ว เดี๋ยวมื่อแลงกะได้ฟังเทศน์เพิ่น” (ไม่ยาก เดี๋ยวตอนเย็นก็ได้ฟังท่านเทศน์)

ครูบาจารย์ทองรัตน์รับปาก หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลาออกรับบิณฑบาต และวันนี้มีโยมนำแตงกวามาใส่บาตร ขณะเดินตามหลวงปู่มั่น ท่านได้ล้วงแตงกวามากัดเคี้ยวกินเฉย เมื่อหลวงปู่มั่นหันมาดูก็ปิดปากไว้ เมื่อท่านหันกลับก็เคี้ยวต่อ ผลตอนเย็นหลวงปู่มั่นเทศน์ให้พระเณรฟังสมปรารถนา

ด้วยเอกลักษณ์พิเศษที่หลวงปู่กินรี มีอุปนิสัยสมถะ ไม่นิยมในหมู่คณะมาก ชอบความเป็นคนผู้เดียวตามครูอาจารย์ที่สั่งสอนทั้งหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ทำให้ท่านแยกตัวไปเฉพาะตนและธุดงค์เรื่อยไปตามป่าเขา ถ้ำ หุบเหว รื่นเริงและห้าวหาญที่จะแสวงหาโมกขธรรม การมุ่งเข้าป่าหาที่วิเวกที่สัปปายะจึงเป็นเอกนิสัยของท่าน แล้วกลับมากราบคารวะบูรพาจารย์เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติและตรวจสอบอารมณ์ธรรม แล้วจะแยกจากหมู่คณะเสพเสนาสนะตามธรรมชาติตามอุปนิสัยของท่าน ปฏิปทาของหลวงปู่จึงนับได้ว่าได้ดำเนินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน หลวงปู่ธุดงค์ในเขตอีสานเหนือเป็นปกติ และบางครั้งข้ามไปฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงสู่ประเทศลาว เช่น ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์ไปยังฝั่งลาวตรงข้ามกับบ้านแพงพร้อมกับ หลวงพ่ออวน ปคุโณ เพื่อไปกราบหลวงปู่ทองรัตน์

ในการธุดงควัตรป่าไม้อันร่มรื่นนั้น หลวงปู่กินรีกล่าวเตือนสานุศิษย์ของท่านว่า อย่าอยู่ภายในถ้ำระหว่างเดือน ๑๑ ถึงเดือน ๑๒ เพราะอุณหภูมิของถ้ำต่ำและชื้นมาก พร้อมทั้งมีเชื้อไข้ป่าชุกชุม ถ้าเข้าไปอาศัยอยู่ภายในถ้ำเวลานั้น อาจจะทำให้เป็นไข้จับสั่นได้

ช่วงเวลาที่หลวงปู่กินรีพำนักอยู่ “สำนักสงฆ์เมธาวิเวก” จังหวัดนครพนม เป็นหลายปีนั้น ระยะหนึ่งท่านจะอยู่ ระยะหนึ่งท่านจะไป ที่จะอยู่แต่ในสำนักฯ โดยตลอดเช่นนั้นก็หามิได้ แต่การไปของหลวงปู่ทุกครั้งจะไม่มีการบอกกล่าวว่าที่ใดเป็นจุดหมาย แต่พอจะรู้ๆ กันอยู่ว่า ถ้าท่านไม่ไปสำนักท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ ก็ต้องไปที่สำนักท่านพระอาจารย์เสาร์ หรือไม่ก็ถ้ำกับป่า และในระหว่างที่หลวงปู่พำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์เมธาวิเวกนี้ ท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ก็เคยมาอยู่ร่วมสำนักของท่านด้วย

สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล นั้น ดูเหมือนจะมีเรื่องเล่าถึงหลวงปู่กินรีน้อยมาก แม้ว่าหลวงปู่กินรีจะเคยอยู่ร่วมอบรมปฏิบัติธรรมกรรมฐานกับท่านนานถึง ๖ ปีก็ตาม และเมื่อพูดถึงเรื่องการปฏิบัติแต่ละครั้ง หลวงปู่จะไม่ลืมคำว่าเป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติของท่านพระอาจารย์เสาร์-ท่านพระอาจารย์มั่นเลย หลวงปู่กินรีเคารพนับถือท่านพระอาจารย์เสาร์ว่าเป็นพระอาจารย์ผู้มีพระคุณสูงยิ่ง

หลวงปู่กินรีได้ชวนนายยศ หลานชายซึ่งเป็นลูกพี่ชายของท่าน ที่เคยอยู่วัดเรียนหนังสือด้วยสมัยอยู่วัดบ้าน และต่อมาบวชเป็นสามเณรแล้วสึกไป คราวที่หลวงปู่ไม่อยู่นั้น ให้มาบวชอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้หลวงปู่ได้อ้างเหตุผลว่า “ลุงตายเสียแล้วลูกก็ไม่มี ใครเล่าจะบวชอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน เธอนี่แหละเหมาะสมแล้ว จงบวชเสียเถิด” ดังนั้น นายยศจึงได้เข้ามาบวชตอนอายุ ๒๒ ปี โดยบวชเป็นพระภิกษุใหม่

การเดินธุดงค์ครั้งยิ่งใหญ่ของท่านก็คือ การเดินธุดงค์สู่ดินแดนพุทธภูมิ พร้อมศิษย์คือพระภิกษุยศและพระภิกษุหลอด จากบ้านเกิดบ้านหนองฮี มุ่งหน้าสู่ท่าอุเทน และเลียบริมฝั่งโขงไปทางเหนือตามสายน้ำสู่ต้นน้ำ ผ่านอำเภอศรีสงคราม บ้านแพง บึงกาฬ แล้วข้ามโขงไปกราบนมัสการพระพุทธบาทโพนสันของลาว หลวงปู่เดินทวนกระแสน้ำผ่านโพนพิสัย ท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ สังคม ปากชม จนกระทั่งถึงอำเภอเชียงคาน

การธุดงค์ด้วยระยะทางนี้ยาวไกล ต้องทั้งอดทั้งทนบางคราวต้องอดอาหารถึง ๗ วัน ก็ยังเคยมี จนเป็นสิ่งปกติ แม้จะทุกข์ยากลำบากทุกข์เวทนาเพียงใดหลวงปู่ยิ่งยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดหนักยิ่งขึ้น ท่านอบรมสอนศิษย์ให้ฝึกทำจิตให้ตั้งมั่นแม้ในระหว่างการเดินทาง โดยสอนว่าการปฏิบัตินั้นมิใช่จะอยู่ที่การนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว แต่การปฏิบัติภาวนาที่ถูกต้องนั้นจะต้องเป็นไปในทุกๆ อิริยาบถ จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน เราจะทำสิ่งใดในขณะใดๆ ก็ให้มีสติอยู่ทุกขณะ ลมหายใจเข้าออกที่เราจะกำหนดได้นั้นก็อาจจะทำได้ แม้ในขณะเดิน กล่าวคือ ถ้าเรามีสติรู้ว่าความคิดนึกอย่างใดที่เป็นบาป อย่างใดที่ไม่เป็นบาป อย่างใดที่ทำจิตให้เศร้าหมอง อย่างใดที่ทำจิตไม่ให้เศร้าหมอง ถ้าเรามีสติรู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาแล้ว พยายามขจัดความคิดที่เป็นบาป ที่เศร้าหมองออกไปเสียอย่าให้เกิดมีขึ้นมาในจิตได้ นั่นแหละที่เรียกว่าความพากเพียรที่ถูกต้อง เป็นการภาวนาที่ถูกต้อง ลมหายใจมันก็จะรู้อยู่ในนั้นเสร็จ ถือว่าเราปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคแล้ว การกระทำเช่นนั้นเราอาจจะทำได้ในทุกๆ ขณะย่างก้าว จะนั่งอยู่กับที่เงียบๆ และกำหนดลมหายใจเข้าออกให้จิตสงบนั้น ก็เป็นไปเพื่อจะละอกุศลและเจริญกุศลอย่างนี้ จะนอนก็ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ จะเดินก็เหมือนกันให้มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว นั่นก็หมายความว่าเราได้ทำสัมมาวายามะให้เกิดขึ้นแล้ว ผลคือปัญญาความรู้แจ้งสว่างไสวก็จะเกิดขึ้นมาเอง นี่คือการปฏิบัติภาวนาของเรา ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้พยายามพากเพียรกระทำให้ถูกต้องอยู่เสมอ

หลวงปู่นำคณะศิษย์ผ่านป่าดินแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา บุกป่าปีนเขาลูกแล้วลูกเล่าผจญสัตว์ป่า ไข้ป่าที่ชุกชุมและคุกคาม จากเชียงคานสู่เขตอำเภอท่าสี จังหวัดเลย แล้วเข้าสู่เมืองปากลาย เมืองบ่อแตน แขวงไชยบุรีของลาว ได้พบพระอลัชชี ป่าตองเหลืองที่นุ่งห่มใบไม้ และคนป่าถักแถ่ แล้วจึงวกเข้าสู่บ้านห้วยหมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ หลวงปู่เคยจำพรรษาอยู่กับเผ่าแม้ว ตลอดพรรษาได้ฉันแต่ข้าวโพดเพราะไม่มีข้าว

ออกจากบ้านน้ำปาดมุ่งสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วต่อไปสรรคโลก จึงขึ้นรถยนต์ไปลงที่บ้านระแหง อำเภอเมืองตาก ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็เดินธุดงค์เข้าสู่แม่สอด ข้ามเข้าสู่ประเทศพม่าโดยไม่ได้ใช้หนังสือเดินทางใดๆ พระยศกับพระหลอดหมดความอดทนที่จะเดินทางต่อไปด้วยห่างไกลบ้านมานาน หลวงปู่จึงส่งกลับเขตแดนไทย ส่วนหลวงปู่กับหลานลูกพี่ชายที่บ้านห้วยหมุ่น น้ำปาด ได้เดินทางต่อสู่ย่างกุ้ง และได้พำนักอยู่วัดแห่งหนึ่งในย่างกุ้งต่อมาได้รับศรัทธาจากอุบาสกชาวพม่าจึงได้รับนิมนต์ให้ไปอยู่ “วัดกุลาจ่อง” ต่อมาหลวงปู่ได้พบกับพระภิกษุไทยรูปหนึ่งได้นำทางไปสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ หลัง จากนั้นหลวงปู่ได้นำคณะเดินทางกลับพม่าและหลวงปู่จำพรรษาอยู่ในพม่าถึง ๑๒ ปี ทำให้หลวงปู่พูดภาษาพม่าได้

ในคืนหนึ่ง หลังจากที่หลวงปู่ภาวนา...ได้จำวัดพักผ่อน และเกิดนิมิตว่า โยมมารดาของท่านซึ่งบวชชี มานอนขวาง หลวงปู่รู้สึกแปลกใจในนิมิต คิดว่าคงจะมีเหตุการณ์เกินขึ้นกับโยมมารดา ท่านจึงต้องเดินทางกลับบ้าน ทั้งที่ไม่คิดที่จะเดินทางกลับ คาดว่าหลวงปู่กลับโดยพาหนะรถยนต์ ระยะนั้น หลวงปู่มั่นจำพรรษาที่บ้านตองโขบ วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์) พอหลวงปู่ทราบได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่นได้ถามว่า “กินรี ได้ที่อยู่แล้วหรือยัง ?” หลวงปู่ตอบว่า “ได้แล้วครับ” หลังจากนั้นหลวงปู่กินรีได้เดินทางกลับไปบ้านหนองฮี ผ่านป่าช้าของหมู่บ้าน พบแต่เถ้าถ่านกองฟอนที่เผาโยมมารดา ท่านจึงนำคณะญาติพี่น้องทำบุญเก็บอัฐิของโยมมารดา ด้วยการทำบุญให้เป็นบุญ คือห้ามมิให้ฆ่าสัตว์และไม่ให้ดื่มสุรา

หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ธุดงค์กลับไปยังประเทศพม่า ผ่านบ้านลานสาง จังหวัดตาก ได้จำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านมูเซอ ระหว่างนี้หลวงปู่ท่านอาพาธด้วยโรคหัวใจ ฉันไม่ได้อยู่ประมาณ ๓ เดือน ซึ่งท่านเล่าว่า “ความเจ็บไข้ทางกายนี้ เมื่อเป็นหนักเข้ามันก็เป็นอุปสรรคต่อการภาวนาอยู่มากเหมือนกัน เป็นที่ตั้งแห่งนิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญทั้งหลาย บางครั้งก็ทำให้เกิดความเครียด ความสงสัยเคลือบแคลงลังเลใจ ไม่แน่ใจไปเสียทุกอย่าง สงสัยอาบัติที่มีแก่ตัว สงสัยอย่างอื่นจนทำให้การภาวนาไม่สบาย ที่ทรงไว้ได้ดีก็คือศีล แต่ในที่สุดอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็สงบลง เพราะการเพ่งพิจารณาอยู่ในอารมณ์”

คืนหนึ่งท่านนอนซมอยู่ ลุกไม่ได้ คิดว่าตายแน่คราวนี้ แต่นิวรณ์ทั้งหลายขาดสิ้นแล้ว ไข้ยังไม่หาย รู้สึกเป็นนิมิต มีพระสมัยโบราณ ๖ รูปมานั่งรายล้อมอยู่ รูปสัณฐานใหญ่น้อยลำดับกันไป หลวงปู่พูดว่า “จะมานั่งเฝ้าผมอยู่ทำไม ผมใกล้ตายแล้ว อีกหน่อยมันก็มีแต่ร่างที่เน่าเฟะ เปลื่อยผุพังเท่านั้น หาประโยชน์มิได้ จงกลับไปเสีย อย่ามานั่งเฝ้าผมให้ลำบากเลย” พระองค์หัวแถวจึงพูดว่า “อย่าว่าอย่างนั้นเลย ท่านจะยังไม่ตายก่อน จงบอกแก่ชาวเขา ให้นำสิ่งนี้ๆ มาให้กิน ครั้นท่านกินไข้นั้นจะหาย” ว่าแล้วก็เลือนหายไปทั้ง ๖ รูป รุ่งขึ้นหลวงปู่ท่านก็บอกชื่อสมุนไพรตามพระโบราณบอก นำมาฝนยาดื่มกิน ทำให้หลวงปู่หายจากอาพาธอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านจึงตัดสินใจเปลี่ยนใจที่จะละสังขารที่พม่ากลับมาสู่ประเทศไทยแดนมาตุภูมิ

รูปภาพ
หลวงปู่กินรี จนฺทิโย


๏ ธรรมโอวาท

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย กลับมาพำนักอยู่สำนักสงฆ์เมธาวิเวก แล้วต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่วัดกันตศิลาวาส แม้ว่าปฏิปทาของหลวงปู่จะไม่นิยมและเผยแผ่พระศาสนาด้วยการเทศนาเชิงโวหารหรือคำพูด หลวงปู่เป็นตัวอย่างของการทำให้ดูปฏิบัติให้เห็นมากกว่า แต่อุบายธรรมคำสั่งสอนของท่านทรงปัญญาและลุ่มลึกมาก เช่น

- เตือนและให้สติหลวงพ่อชา ผู้เป็นลูกศิษย์ที่จะขอลากลับสู่บ้านเกิดว่า “ระวังให้ดี ถ้าท่านรักใคร คิดถึงใคร เป็นห่วงใคร ผู้นั้นจะให้โทษแก่ท่าน”

- ให้รักษาศีลให้ดี ทำความเพียรให้มาก มันก็จะรู้เองเห็นเอง เป็นคำสอนที่หลวงปู่บอกกับลูกศิษย์เสมอ

- สตินี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราทราบระเบียบวินัยที่มีอยู่มากมายอย่างละเอียดรอบครอบแล้ว และตามรักษาได้อย่างครบถ้วน สติของเราก็จะต่อเนื่องกัน จิตใจก็จักจดจ่ออยู่แน่ในข้อวัตรปฏิบัติของตน ไม่มีโอกาสที่จะแส่ส่ายไปภายนอก ถ้าขาดสติ โอกาสที่จิตใจจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอกมันก็มีมากขึ้น และอารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมครอบงำจิตให้หลงไหลมัวเมาได้ง่ายขึ้น

- ไม่ควรคลุกคลี ให้อยู่คนเดียวมากๆ สาธยายด้วยตัวเองให้มาก มีจิตใจกำหนดจดจ่ออยู่ในพระธรรมให้มากนี้เป็นการดีที่สุด

- สังขาร คือ ร่างกาย จิตใจนี้ เป็นของไม่เที่ยง และจะหาสาระแก่สารอะไรมิได้ โดยประการทั้งปวง

- จะให้ลูกเป็นคนดี ต้องทำดีให้ลูกดู

- บุรุษพึงพยายามไปกว่าจะสำเร็จประโยชน์

- ผู้ขยันในหน้าที่ การงานไม่ประมาท เข้าใจการเลี้ยงชีวิตตามสมควร จึงรักษาทรัพย์ที่หามาได้

- คนโกรธมีวาจาหยาบ

- วาจาเช่นเดียวกับใจ

- ธรรมเป็นของแน่นอน แต่รูปเป็นของไม่แน่นอน

- กิเลสคือตัวมารอันร้ายกาจ แม่น้ำเสมอด้วยความอยากไม่มี

- ความอยากไม่มีขอบเขต ความอยากย่อมผลักดันให้คนวิ่งวุ่น

- โลกถูกความอยากนำไป ความอยากเป็นแดนเกิดของความทุกข์

รูปภาพ
หลวงปู่กินรี จนฺทิโย

(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2009, 15:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล


๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่พระอาจารย์กินรี จนฺทิโย ได้ยึดมั่นถือปฏิบัติตามบูรพาจารย์ใหญ่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ที่อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ไม่เปิดเผยตน เก็บตัว ไม่ชอบคนหมู่มาก มักน้อยไม่มักมาก ไม่ต้องการความมีชื่อเสียง พูดน้อย ไม่ชอบเทศน์ถ้าไม่นิมนต์ให้เทศน์ หลวงปู่อยู่อย่างสงบๆ เหมือนพระผู้เฒ่าไม่มีอะไรดี

การปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่กินรี เพียงวิธีการสังเกตดูกิริยาภายนอกนั้นอยากที่จะเข้าใจ เพราะกิริยาพฤติกรรมที่แสดงออกกับภูมิจิต ภูมิธรรมภายในนั้นเป็นคนละเรื่อง ดังคำปรารถของ พระอาจาย์ชา สุภทฺโท ครั้นปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่ ทั้งก่อนและหลังที่เดินธุดงค์สู่ภูลังกา จังหวัดนครพนม ได้กล่าวว่า ท่านเองทำความเพียรอย่างสาหัส เดินจงกรมทั้งวัน ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกจนแผ่นดินทรุดทางเดินเป็นร่องลึกหลายต่อหลายร่องปฏิบัติมิได้หยุดหย่อน ยังไม่รู้ไม่เป็นอะไรแล้วท่านอาจารย์ปฏิบัติเพียงเดินจงกรมก็ไม่เคยเดินจะนั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เห็นนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่แล้วจะไปถึงไหนกัน

แล้วหลวงพ่อชา ได้กล่าวภายหลังว่า เรามันคิดผิดไป ท่านพระอาจารย์ทำความเพียรขั้นอุกฤกษ์มากต่อมากหลายต่อหลายปี รู้อะไรมากกว่าเราเป็นไหนๆ คำเตือนสั้นๆ ห้วนๆ แม้จะนานๆ ครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิด ไม่เคยเห็นมาก่อน อุปมาเหมือนแสงจันทร์กับแสงเทียน การปฏิบัติแท้ๆ นั้นไม่ใช่กิริยาอาการภายนอก ไม่ใช่การเดินจงกรมด้วยเท้า ไม่ใช่การนั่งสมาธิ มิใช่การศึกษาตำราตัวหนังสือ มิใช่เพียงคำพูดและมิใช่สิ่งที่จะยกเป็นตัวเป็นตนได้แต่การปฏิบัติภาวนาที่แท้จริงนั้น เป็นกิริยาภายใน เป็นอาการภายใน เป็นการปฏิบัติทางใจ นั่งนิ่งอยู่ที่จิต ทำอารมณ์ให้นิ่ง ทำจิตให้นิ่ง มีสมาธิจนเป็นหนึ่งอยู่ทุกขณะจิต ตลอดภาวนา ทุกเวลาทุกอริยาบทแม้การทำจิตอันใด ฉะนั้นการจะไปจับเอาการกระทำด้วยการนั่งสมาธิกายเดินจงกรมของครูบาอาจารย์นั้นไม่ได้และไม่ถูก

หลวงปู่กินรีเป็นพระที่ยึดมั่นในศีลธรรม อบรมลูกศิษย์อย่าประมาทในศีลแม้สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ในพระวินัยจะประมาทไม่ได้เด็ดขาด แม้เพียงการตากผ้าสงบจีวรแล้วมิได้เฝ้าดูรักษาหลวงปู่ก็ตำหนิพระลูกศิษย์ว่าประมาทในสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ การเป็นสมณะต้องเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เป็นอยู่ง่ายๆ กินแต่น้อยมีทรัพย์สิ่งของน้อยและไม่สะสม จะต้องทะนุถนอมรักษาใช้ให้นานๆ เป็นผู้ไม่สิ้นเปลืองมาก ถ้าใช้สุรุ่ยสุร่าย แสดงถึงการขาดสติในการประคับประคองตัวให้อยู่ในครอบร่างรอยของสมณะ แล้วจะมีอะไรเป็นเครื่องมือปฏิบัติภาวนา สตินั้นต้องมั่นคง และต่อเนื่องด้วยการสังวรระวังในวินัยสิกขาบท สติเราก็จะมั่นคงต่อเนื่อง ถ้าขาดวินัยย่อมขาดสติ จิตจะวิ่งไปตามอารมณ์ภายนอกอารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมครอบงำจิตให้หลงใหลมัวเมา การมีสติอยู่กับข้อวัตรพระวินัย ย่อมเป็นเครื่องกั้นอารมณ์ทั้งปวงและทำให้สติต่อเนื่อง จิตใจย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิจิตตลอดกิริยาบถ คำสอนของหลวงปู่จึงเป็นคำสอนที่ง่ายๆ เป็นการสอนด้วยข้อปฏิบัติและกระทำทันที

หลวงปู่กินรี ท่านเป็นคนพูดน้อย แต่ละคำพูดที่พูดจึงมีแต่ความบริสุทธิ์และจริงใจ ท่านยึดถือคติธรรม “สติโลกสฺมิ ชาคโร” สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่เสมอ จงเอาสติตามรักษาจิตไว้ เพราะคนมีสติย่อมประสบแต่ความสุข จะพูดจะคิดจึงควรมีสติทุกเมื่อ ท่านมักจะอยู่คนเดียว ไม่ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ พยายามให้พระเณรในวัดมีการร่วมกันน้อยที่สุด ให้เร่งทำความเพียร อย่าได้อยู่ด้วยความเกียจคร้าน อย่าเป็นผู้พูดมาก เอิกเกริกเฮฮา ไม่จำเป็นท่านจะไม่ให้ประชุมกัน แม้การสวดมนต์ทำวัตรยังให้ทำร่วมกันสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยตนเองอยู่แล้ว ให้อยู่คนเดียวทำคนเดียวมากๆ จิตจดจ่ออยู่ในพรรษาให้มาก โดยเฉพาะเตือนลูกศิษย์ให้อยู่ในป่าช้าให้มาก อานิสงส์ของการอยู่ในป่าช้าทำให้จิตใจกล้า องอาจ จิตตื่นอยู่เสมอ พิจารณาข้อธรรมได้ถี่ถ้วน เพราะจิตปราศจากนิวรณ์

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เคยอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์นานถึง ๖ ปี อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ๒ ปี และอยู่กับหลวงปู่ทองรัตน์ ๔ ปี หลังจากนั้นได้กราบคารวะบูรพาจารย์ให้ทั้งสามอยู่เนืองนิจท่านได้กล่าวกับพระอาจารย์ชา จึงประกาศประดิษฐานพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติธรรม ขยายไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก แต่ชีวิตปั้นหลายของหลวงปู่กินรี จนฺทิโย ทุกสิ่งทุกอยางปกติคือพูดน้อย เก็บตัวอยู่เรียบง่ายสงบระงับ หยุดการเดินทาง หยุดการธุดงค์ มีนานๆ ครั้งจะไปเยี่ยมพระอาจารย์ชา ผู้เป็นศิษย์ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยลักษณะนิสัยต้องการอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว ไม่เปิดเผยตัวเอง จึงไม่มีผู้ใดที่จะเคยได้ยินคำพูดที่จะเป็นไปในทางโอ้อวดการมีดี การอวดคุณธรรมวิเศษจากหลวงปู่ ท่านสมณะที่สงบเสงี่ยมเจียมตน จึงไม่อุดมด้วยศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส พระอาจารย์ชา สุภทฺโท จึงส่งพระลูกศิษย์ ๒ รูปมาอุปัฏฐากดูแลท่าน

หลวงปู่กินรีมีโรคประจำตัว คือ ไออยู่เป็นนิจ เนื่องจากเกี่ยวกับปอดชื้น แต่ท่านไม่ยอมให้หมอรักษาไม่ว่าท่านจะเป็นอะไร จะอาการหนักหรือไม่หนัก ท่านจะไม่ยอมให้ใครนำตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก หลวงปู่จึงได้ละสังขารจากพวกเราไป สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี ๗ เดือน ๑๖ วัน พรรษา ๕๘

รูปภาพ
เจดีย์และรูปหล่อหลวงปู่กินรี จนฺทิโย
ภายในพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่กินรี จนฺทิโย
ณ วัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม


รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่กินรี จนฺทิโย
ณ วัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม


.............................................................

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก :: หนังสือแก้วมณีอีสาน
: รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสนาจารย์อีสาน

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2009, 15:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อชา สุภทฺโท ศิษย์ของหลวงปู่กินรี จนฺทิโย


ชีวประวัติพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับ “หลวงปู่กินรี จนฺทิโย”


หลบหลีกออกจากบ้านต้องในคืนนั้น หลวงพ่อเดินทางไปยังวัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมีหลวงปู่กินรี จนฺทิโย เป็นประหนึ่งร่มโพธิธรรมอยู่ที่นั่น ศึกษาประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ หลวงพ่อจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ต่อไป

ครั้นย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๙ ของหลวงพ่อ ท่านได้ย้อนกลับมาจำพรรษากับหลวงปู่กินรี ที่วัดป่าหนองฮี

หลวงปู่กินรีเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่านล้วนแต่เป็นของปอนๆ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงามแต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา

อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น แม้ในวัยชราหลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทานี้ไว้อย่างมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...

ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตกแดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...

เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไร

เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหนๆ...ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์...


ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่าจนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบๆ ไม่ว่ากระไร วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่ ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็วๆ จะได้หมดเรื่องหมดราว แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ๆ หลวงพ่อก็ยังไม่รู้ เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็วๆ เท่านั้น

หลวงปู่ถามว่า “ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า”

“ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ”

“เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร” หลวงปู่ถามอีก

“จะไปทำอันนั้นอีก”

“ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก”

“ผมจะทำอย่างอื่นอีก”

“เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า ?”

หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า...

“ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก”

คำพูดสั้นๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่ ทำให้หลวงพ่อหูตาสว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า “เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ อยากให้มันเสร็จเร็วๆ จะได้ภาวนา แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว”

อยู่ต่อมา หลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย หลวงปู่จึงให้แม่ชีช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ

หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า... “ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ในครั้งแรกดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่ เวลาเดินดังสวบสาบๆ เพราะผ้ามันแข็ง ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ...”

เมื่อปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่าย ถูกดับลงด้วยการภาวนา และหยาดน้ำใจจากครูบาอาจารย์ผ่านไปไม่นาน ศัตรูคู่ปรับเก่าที่หลวงพ่อเคยออกปากในทำนองว่า ยากยิ่งสิ่งเดียวได้หวนกลับมาย่ำยีจิตใจอีกครั้ง...

คืนหนึ่ง ขณะหลวงพ่อพากเพียรภาวนาอยู่ตามลำพัง อารมณ์แห่งกามราคะได้เกิดขึ้น คืนนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพลิกยุทธวิธีใดๆ ก็ไม่สามารถกำราบกิเลสมารลงได้ รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดตลอดเวลา เกิดความรู้สึกทางธรรมชาติของบุรุษอย่างรุนแรง จนแทบภาวนาต่อไปไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู่กับความรู้สึกและมโนภาพนั้นอย่างยากเย็น หลวงพ่อเปรียบเทียบว่า จิตใจถูกกิเลสย่ำยีอย่างหนัก พอๆ กับครั้งที่เกิดความกลัวในคราวอยู่ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง

การต่อสู้กับราคะดำเนินไปอย่างดุเดือด ขับเคี่ยวรุกไล่กันอยู่ถึง ๑๐ วัน ความรู้สึกและมโนภาพนั้นจึงได้เลือนหายไป หลังการต่อสู้กับกามราคะในวันนั้น หลวงพ่อยิ่งบากบั่นเร่งภาวนาหนักขึ้น เพื่อสร้างเกราะและภูมิคุ้มกันภัยให้มั่นคง ศรัทธาและกำลังใจกล้าแกร่งขึ้นตามลำดับ

คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบนกุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็น หลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า “ชา...เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมีสว่างไสวมากนะ” ในนิมิตนั้นปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจากหลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมากที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจเกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา

หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา กระทั่งถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ. ๒๔๙๑ หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป

ก่อนจาก หลวงปู่กล่าวตักเตือนศิษย์สั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า “ท่านชา อะไรๆ ในการปฏิบัติท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ”

.............................................................

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหาบางตอนมาจาก ::
หนังสือใต้ร่มโพธิญาณ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6536

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ย. 2009, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: -------------------------------------------------------- :b42:

ประมวลภาพ “หลวงปู่กินรี จนฺทิโย” วัดกัณตะศิลาวาส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42518

:b42: -------------------------------------------------------- :b42:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร