วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2009, 21:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง)
ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร


จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔



บรรพบุรุษชั้นปู่ ย่า ตา ยายของพระอาจารย์วัน มีพื้นเพอยู่ที่บ้านหนองหลัก ตำบลเหล่าบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาได้อพยพครอบครัวขึ้นไปตั้งรกรากอยู่ที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน จังหวัดสกลนคร

คำว่า “ตาลโกน” อันเป็นชื่อของหมู่บ้านนั้น มีที่มาจากต้นตาลที่เป็นโพรง ชาวบ้านถือเอาสัญลักษณ์นี้เองมาเป็นชื่อของหมู่บ้าน ส่วนคำว่า “ตาลเนิ้ง” อันเป็นชื่อของตำบลนั้น ก็มีที่มาจากต้นตาลที่เอน ไม่ขึ้นตรงเหมือนตาลทั้งหลาย ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกต้นไม้ที่เอนว่า “ต้นไม้เนิ้ง” ปัจจุบันนี้ทางราชการได้ยกฐานะหมู่บ้านตาลโกนขึ้นเป็นตำบลแล้ว ส่วนอำเภอบ้านหัน ปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์วัน เกิดวัน ๑ ฯ ๖ ๙ ปีจอ (วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙) ตรงกับวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ บ้านตาลโกน ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

บิดาชื่อ นายแหลม สีลารักษ์ และมารดาชื่อ นางจันทร์ (มาริชิน) สีลารักษ์

นายแหลมและนางจันทร์ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ

๑. พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
๒. นายผัน สีลารักษ์

เมื่อมารดาคลอดบุตรคนที่สองได้ไม่กี่วันก็ถึงแก่กรรม ต่อมาบิดาได้แต่งงานใหม่กับนางพิมพ์ สารทอง มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ

๑. นายบุญโฮม สีลารักษ์
๒. นายนิยม สีลารักษ์
๓. นายดำ สีลารักษ์

ขณะที่บิดาของพระอาจารย์วันแต่งงานกับนางจันทร์ใหม่ๆ บิดาของท่านได้ไปอยู่ที่บ้านของพ่อตาแม่ยาย ต่อมาเมื่อมารดาของพระอาจารย์วัน ถึงแก่กรรมแล้ว จึงกลับมาอยู่กับปู่ ย่า ตามเดิม และพระอาจารย์วัน ก็ติดตามบิดามาอยู่ด้วยขณะนั้นพระอาจารย์วัน มีอายุเพียงย่างเข้า ๓ ขวบเท่านั้น แต่ท่านพระอาจารย์วัน ก็เป็นที่รักของตระกูลทั้งสองฝ่ายุคือ ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา


๏ ชีวิตในปฐมวัย

จากบันทึกประวัติท่าน และจากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องที่สูงอายุ ได้ความว่า เมื่อยังเด็กพระอาจารย์วัน เป็นเด็กที่เลี้ยงยาก ร้องไห้เก่งในเวลาค่ำคืน จึงเป็นความลำบากแก่บุคคลที่เลี้ยงดู เวลาร้องไห้จะต้องอุ้มพาเดินไปรอบบ้าน หรือเดินเล่นในสวนจึงจะหยุดร้องไห้ นิสัยใจคอเป็นเด็กที่เอาใจยาก มักจะตามใจตัวเอง อาจจะเป็นเพราะญาติพี่น้องให้ความรักความเอ็นดูจนเกินไปเพราะเห็นว่าเป็นเด็กกำพร้าก็ได้

สมัยหนึ่งที่ยังไม่รู้เดียงสานัก ขณะพระอาจารย์วัน กำลังวิ่งไล่จับกับน้าหญิงอย่างสนุกสนานอยู่นั้น ปรากฏว่าพระอาจารย์วัน ล้มลงและโดนหนามตำที่เข่าข้างซ้าย ต่อมาเมื่อแผลหายดีแล้ว แต่ก็กลายเป็นแผลเป็นมองเห็นได้ชัดเจนโดยเป็นเนื้อนูนขึ้นมา พวกญาติจึงเรียกว่า เจ้าโป้ หรือท้าวโป้ แล้วเลยกลายเป็นชื่อเรียกเล่นๆ อีกชื่อหนึ่ง


๏ สมัยเริ่มการศึกษา

เมื่ออายุย่างเข้า ๑๐ ขวบ บิดาได้นำไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่ศาลาวัดโพธิชัยเจริญ เรียนต่อถึงประถมปีที่ ๓ บิดาก็ถึงแก่กรรม จึงเป็นความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงแก่พระอาจารย์วันเป็นครั้งที่ ๒ ถึงแม้จะได้รับความเศร้าโศกเพราะบิดาจากไป แต่การเล่าเรียนก็หาได้หยุดลงไม่ ฝ่ายญาติผู้ดูแลคงปลอบโยนให้หายเศร้าโศกและได้ศึกษาเล่าเรียนต่อมาจนจบประถมปีที่ ๔ ส่วนชั้นเรียนที่สูงขึ้นไปคือ ป. ๕ ป. ๖ ทางการได้สั่งยุบไปเสียก่อนๆ ที่จะได้เรียน ในสมัยที่กำลังเล่าเรียนอยู่นั้นวิชาที่พระอาจารย์วันถนัดและทำคะแนนได้ดี คือวิชาเลขคณิต สำหรับวิชาอื่นๆ ปรากฏว่าคะแนนไม่ค่อยดี

ตามความตั้งใจของบิดานั้นท่านต้องการให้พระอาจารย์วันเรียนกฎหมาย เพราะเป็นบุตรคนโต แต่ต่อมาเมื่อบิดาถึงแก่กรรมไปเสียก่อน ความหวังที่จะเรียนต่อก็พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อบิดาถึงแก่กรรมลงจึงเป็นภาระของพระอาจารย์วัน ที่จะต้องทำงานต่างๆ ที่ตนสามารถจะทำได้ อาทิเมื่อถึงฤดูทำนาจะต้องช่วยปู่ไถนา เนื่องจากอาส่วนมากเป็นผู้หญิง จากบันทึกประวัติของท่านบอกว่า รับหน้าที่ไถนา แต่คราดนาไม่ได้เพราะยกคราดไม่ไหว

นับว่าพระอาจารย์วัน ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุย่างเข้า ๓ ขวบ และเป็นกำพร้าพ่อเมื่ออายุได้ ๑๓ ขวบ ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความว้าเหว่ซึ่งไม่มีใครจะบอกได้ว่าหนักเพียงไร นอกจากตัวของท่านเองซึ่งเป็นผู้ประสบส่วนการงานอย่างอื่น ถึงจะหนักแต่ยังมีผู้ช่วยเหลืออยู่บ้าง ความผันผวนในชีวิตส่วนตัวดังกล่าวมานี้เองทำให้พระอาจารย์วัน กลายเป็นเด็กเจ้าความคิดมาตั้งแต่เด็ก


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 03 ก.พ. 2010, 17:52, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 12:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร


๏ สมัยออกบรรพชา

เมื่อสิ้นร่มโพธิ์ร่มไทรลงแล้วพระอาจารย์วัน ก็เริ่มมีชีวิตอยู่อย่างว้าเหว่ แม้ว่าตระกูลของปู่เป็นพระกลที่พอมีอันจะกินตามฐานะของชาวชนบท แต่ความรู้สึกภายในที่ประสบกับความพลัดพรากจากไปของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ผู้เอาอกเอาใจ ผู้ให้ความอบอุ่น ผู้ปกป้อรักษาในทุกๆ ด้าน ก็คงมีสภาพไม่ผิดอะไรกับคนที่มีบ้านใหญ่โต แต่ถูกพายุหนุนหอบไปกับสายลม แม้จะมีหน่วยสงเคราะห์ให้ความเมตตาก็ไม่สามารถูกดแทนความอาลัยนั้นได้ จึงทำให้เด็กชายวันคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะขณะที่บิดาของท่านกำลังเจ็บหนัก ได้สั่งเสียไว้ว่า

“เมื่อออกโรงเรียนแล้ว ขอให้ลูกบวชให้พ่อ ก่อนจะคิดเรื่องอื่นๆ จะอยู่ได้ในศาสนานานเท่าไรไม่บังคับ”

คำสั่งเสียนี้แหละเป็นเครื่องกระตุ้นอันสำคัญอีกแรงหนึ่งที่ทำให้เด็กชายวันตัดสินใจออกบวช วันหนึ่งจึงเข้าไปกราบลาปู่โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “ขอไปบวช” ปู่ได้ยินหลานมาออกปากกราบลาอยู่ซึ่งหน้าเช่นนั้น ถึงกับพูดไม่ออก เพราะความรักความอาลัยในหลาน แต่พระอาจารย์วันก็ไม่ลดละความพยายาม ผลสุดท้ายปู่ก็จำต้องอนุญาตให้บวชด้วยความอาลัย

เมื่อตัดสินใจบวชแน่นอนแล้วพระอาจารย์วัน ได้ถูกนำตัวไปฝากไว้กับ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านตาลโกนไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ในการไปบวชครั้งนี้ก็ได้ให้เงินติดตัวไปด้วย ๑ บาท เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นในการใช้จ่ายมากนัก เมื่อไปอยู่วัดระยะแรกๆ ก็ยังไม่รีบร้อนอะไร เพราะตามธรรมดาเด็กที่ไปอยู่วัดกรรมฐาน จะต้องได้รับการฝึกให้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นเสียก่อน หมายความว่าเด็กจะได้รับการอบรมในข้อวัตรต่างๆ เช่นการปฏิบัติตนต่อพระภิกษุสามเณร ต่อบุคคลโดยทั่วไป รวมทั้งกิริยามารยาทในอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนการฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาไปด้วยเป็นเวลาหลายเดือน บางคนเป็นปีหรือหลายปี แล้วแต่อาจารย์จะเห็นเหมาะสม เพราะถ้าหากได้รับการฝึกหัดดีแต่เบื้องต้น เมื่อบวชเข้ามาแล้ว อาจารย์ก็ไม่ต้องยุ่งยากลำบากในการแนะนำสั่งสอนบ่อยๆ

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)


สำหรับพระอาจารย์วัน พอไปอยู่วัดไม่นาน ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ก็บอกให้ท่องคำขอบรรพชา ประจวบกับโอกาสอำนวย กล่าวคือขณะที่กำลังท่องคำขอบรรพชาอยู่นั้นพอดี ท่านเจ้าคุณพระราชกวี ต่อมาได้เลื่อนเป็น พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) กลับจากไปงานผูกพัทธสีมาที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี แวะพักที่วัดศรีบุญเรือง บ้านงิ้ว ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน ท่านพระอาจารย์วัง จึงนำไปบวช ณ วัดศรีบุญเรือง เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ (ขณะนั้นพระอาจารย์วันมีอายุ ๑๕ ปี) โดยมีพระราชกวี เป็นพระอุปัชฌายะ

เมื่อได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระอาจารย์วัน ได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส 2 พรรษา จากนั้นท่านพระอาจารย์วังก็พาท่านออกเที่ยววิเวกตามสถานที่ต่างๆ เมื่อใกล้เข้าพรรษาพระอาจารย์ก็พาไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอท่าบ่อศรีสงคราม อีก ๒ พรรษา รวมเป็นเวลา ๔ พรรษา ที่ได้อบรมในทางปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์วัง พอย่างเข้าพรรษาที่ ๕ จึงกราบลาอาจารย์เพื่อไปศึกษาทางฝ่ายปริยัติธรรมที่วัดสุทธาวาส อันที่จริงวัดสุทธาวาสในสมัยนั้นก็เป็นวัดป่า ฉันอาหารมื้อเดียว ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็เหมือนวัดป่าทุกอย่าง เพียงแต่เพิ่มการศึกษาปริยัติธรรมเข้าไปเท่านั้น

การศึกษาด้านปริยัติธรรมของพระอาจารย์วัน ได้เริ่มต้นเรียนนักธรรมชั้นตรีที่วัดสุทธาวาสนี้ ระหว่างสอบนักธรรม ฝรั่งได้เอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองสกลนคร ชาวเมืองต้องหลบภัยหนีไปอยู่นอกเมือง ปล่อยให้เป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง แต่ญาติโยมก็ได้จัดอาหารแห้งไปมอบให้สามเณรทำอาหารถวายพระ โดยเฉพาะ คุณโยมนุ่ม ชุวานนท์ พร้อมด้วยคณะญาติ ได้มอบอาหารไว้สำหรับทำถวายพระเณรทุกๆ เช้า

ในขณะที่บ้านเมืองกำลังประสบภัยสงครามคล้ายบ้านแตกสาแหรกขาดเพราะอำนาจลูกระเบิดฝรั่ง ดูเป็นภัยที่น่าสะพรึงกลัวอย่างหนึ่งในสมัยนั้น จึงมีเรื่องแปลกๆ ขำๆ มาเล่าสู่กันฟังในภายหลังได้เสมอแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับพระอาจารย์วันก็มีเช่นกัน กล่าวคือ ภิกษุสามเณรต่างก็ขุดหลุมหลบภัยกันตามคำแนะนำของทางราชการบ้านเมือง พระอาจารย์วัน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณรก็ขุดหลุมหลบภัยกับเขาเช่นกัน แต่แทนที่จะขุดเป็นหลุมใหญ่เช่นคนอื่นๆ กลับขุดเป็นหลุมเล็กๆ ลงไปได้เฉพาะคนเดียว

วันหนึ่งขณะที่เครื่องบินกำลังบ่ายโฉมหน้าจะมาทิ้งระเบิดเช่นเคย เสียงเตือนภัยทางอากาศก็ดังกังวานขึ้น ประชาชนพลเมืองพระเณรต่างก็วิ่งเข้าที่หลบภัยกันจ้าละหวั่นด้วยความตกใจ พระสงฆ์บางองค์วิ่งไปลงหลุมของคนอื่นเลยถือโอกาสหลบอยู่เลยก็มีหลุมหลบภัยของสามเณรวันขณะที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดนั้นปรากฏว่ามีพระสงฆ์โจนลงไปหลบภัยอยู่ก่อนแล้วสามองค์ สามเณรวันจึงลงไปอัดอยู่เป็นองค์ที่สี่ หลุมหลบภัยที่ทำไว้เฉพาะคนเดียวเมื่ออัดเข้าไปถึงสี่ ท่านผู้อ่านก็นึกภาพเอาเองก็แล้วกันว่าจะอยู่กันในสภาพเช่นไรที่ร้ายไปกว่านั้นบางองค์วิ่งเข้าไปในกอไผ่พอเครื่องบินกลับไปแล้วออกมาไม่ได้ ต้องร้อนถึงพระสงฆ์องค์อื่นต้องใช้มีดถางให้ออกมาก็มีสัญชาตญาณการหนีภัยโดยเฉพาะมรณภัยนั้น สัตว์ทุกหมู่เหล่ากลัวกันทั่วทุกชีวิต เพราะจะกลัวอะไรก็แล้วแต่ ย่อมมาสรุปรวมลงที่กลัวตายนั่นเอง

รูปภาพ
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


เมื่อเสร็จจากการสอบนักธรรมแล้ว พระสิงห์ ธนปาโล ที่เคยอยู่ด้วยกันกับท่านอาจารย์ยังได้ไปแวะเยี่ยม และชวนพระอาจารย์วัน ไปด้วย เพื่อไปศึกษาอบรมกับ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ฝ่ายกรรมฐาน แล้วในที่สุดพระอาจารย์วัน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดป่าบ้านท่าฆ้องเหล็ก ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองอุบลราชธานี ขณะที่ไปอยู่กับพระอาจารย์เสาร์ นั้นยังท่องหลักสูตรนักธรรมชั้นโทไปด้วย พระอาจารย์เสาร์ ได้กำชับว่าสามเณรที่มีอายุ ๑๙ ปี ต้องท่องปาติโมกข์ให้ได้ จึงจะให้ไปเรียนนักธรรม พระอาจารย์วัน ก็ท่องปาติโมกข์อยู่ประมาณ ๒๐ วัน จึงขึ้นใจ

ต่อจากนั้นจึงกราบลาพระอาจารย์เสาร์ ไปเข้าเรียนนักธรรมต่อที่วัดพระแก้วรังษี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีพระพิบูลสมณกิจ (เก้า) เป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์วัน อาศัยอยู่กับท่านพระครูบุณฑริกบรรหาร (ทองดำ) เมื่อถึงเวลาสอบนักธรรมต้องเดินทางไปสอบที่ กิ่งอำเภอบุณฑริก ซึ่งปัจจุบันทางราชการได้ยกขึ้นเป็นอำเภอบุณฑริกแล้ว พอเสร็จจากการสอบนักธรรมกลับไปที่อำเภอพิบูลมังสาหารได้ไม่กี่วันก็เป็นไข้มาเลเรีย เพราะในยุคนั้นไข้มาเลเรียชุกชุมมาก ยาควินินก็หาซื้อได้ยากเพราะอยู่ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒

ต่อจากนั้น พระสิงห์ ธนปาโล ได้พาไปเยี่ยมญาติของท่านที่บ้านโนนยาง อำเภอยโสธร ระหว่างที่พักอยู่ราวป่าใกล้บ้านนั้นเอง พระสิงห์ได้ขอร้องพระอาจารย์วัน ให้บวชเป็นพระ โดยให้ญาติผู้ใหญ่ของพระสิงห์เป็นผู้จัดบริขาร ตามความรู้สึกของพระอาจารย์วัน ต้องการที่จะอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๕-๒๖ ปี คือไม่ปรารถนาจะแก่พรรษากว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงเรียนความขัดข้องในใจของท่านเองต่อพระสิงห์ แต่พระสิงห์ไม่เห็นด้วย พระอาจารย์วัน จึงเสนอวิธีใหม่คือขอลาสิกขาไปเที่ยวสนุกก่อนประมาณ ๑๕ วัน จึงค่อยบวชเป็นพระ ฝ่ายพระสิงห์ท่านก็ไม่ยอมเช่นเคย ญาติพี่น้องทางบ้านก็ไม่ได้ข่าว

ผลสุดท้ายจึงต้องตัดสินใจบวชเป็นพระ สนองเจตนาดีของพระสิงห์ท่าน โดยเดินทางไปอุปสมบท ที่วัดสร่างโศก (วัดศรีธรรมาราม ในปัจจุบัน) อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เวลา ๑๖.๑๐ น. โดยมีพระครูจิตตวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ และพระมหาคล้าย วิสารโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์

บวชเสร็จแล้วกลับไปที่อยู่เดิม ต่อมาไม่นานนักก็ได้ทราบข่าวการมรณภาพของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล จึงได้พากันเดินทางไปนมัสการศพของท่านที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี

ระหว่างเดือน ๔ คณะของพระอาจารย์วัน ได้เดินทางกลับจังหวัดสกลนคร ขึ้นรถยนต์บ้าง เดินเท้าบ้าง ในระหว่างเดินทางนั้นต่างก็เป็นไข้จับสั่นกันทั่วหน้า เวลาไข้จะห่มผ้าหนาเท่าไรก็ไม่อุ่น ต้องนั่งชันเข่าก้มศีรษะลงหายใจให้กระทบหน้าอก จึงจะรู้สึกค่อยยังชั่วขึ้นบ้าง

รูปภาพ
พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ


พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์วัน พักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในปีนั้น พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ มาพักจำพรรษาปกครองพระเณรพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ได้พักอยู่กุฏิใกล้ท่านจึงได้มีโอกาสอุปัฏฐากและรับโอวาทจากท่าน วันหนึ่งพระอาจารย์พรหมถามท่านว่าจะเรียนไปถึงไหน พระอาจารย์วัน ก็กราบเรียนท่านว่า สำหรับฝ่ายปริยัติธรรมจะเรียนให้จบนักธรรมชั้นเอก ฝ่ายบาลีถ้าสอบได้ประโยค ป.ธ. ๓ แล้วจะเรียนต่อให้ได้ถึงประโยค ป.ธ. ๙ เพราะการเล่าเรียนของฝ่ายพระจัดหลักสูตรไว้ ๒ แผนก นอกจากนี้เป็นการศึกษาเพิ่มเติมพิเศษพระอาจารย์พรหม จึงถามว่า ถ้าเรียนไม่ได้ตามความตั้งใจจะทำอย่างไร พระอาจารย์วัน ก็ยังยืนยันกับท่านพระอาจารย์พรหม ว่า จะเรียนให้สอบได้ปีละชั้น เพราะยังเชื่อมั่นในมันสมองของท่านเอง พระอาจารย์พรหมถามต่อไปอีกว่า เมื่อหยุดการเรียนแล้วจะทำอะไรต่อไป พระอาจารย์วันก็กราบเรียนต่อท่านว่าจะตั้งใจปฏิบัติเหมือนอย่างท่านอาจารย์ทุกประการ พระอาจารย์พรหมก็หัวเราะ

เมื่อออกพรรษาแล้วพระอาจารย์วัน ได้เดินทางไปรับใบคัดเลือกทหารที่อำเภอสว่างแดนดิน แล้วเดินทางลงไปสอบนักธรรมเอกที่กิ่งอำเภอบุณฑริกจังหวัดอุบลราชธานี สอบเสร็จแล้วได้ออกมาพักที่วัดภูเขาแก้วอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งที่นั่นท่านพระครูบุณฑริกได้ล้มป่วยเป็นไข้จับสั่นอย่างแรง ท่านจึงมอบภาระให้พระอาจารย์วันทำบัญชีนักธรรมแทนท่าน ทั้งยังให้เป็นกรรมการดำเนินการสอบนักธรรมแทนท่านด้วย เมื่อเสร็จธุระแล้วจึงเดินทางกลับสกลนครเพื่อคัดเลือกทหารในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ครั้งนั้นการคัดเลือกทหารกระทำกัน ๒ ครั้ง การคัดเลือกครั้งแรกพระอาจารย์วัน อยู่ในประเภทดีหนึ่งประเภทสอง ต่อเมื่อกัดเลือกครั้งที่ ๒ จึงได้เอาใบประกาศนักธรรมชั้นโทไปขอยกเว้น

ในปีนั้นอาการป่วยเป็นไข้มาเลเรียของพระอาจารย์วัน ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าคามวาสี บ้านตาลโกน อันเป็นมาตุภูมิ เพื่อรักษาสุขภาพ ก่อนเข้าพรรษาได้ถูกขอร้องไปเป็นครูสอนนักธรรมที่สำนักเรียนวัดสุทธาวาสและวัดชัยมงคลเพราะในสมัยนั้นหาพระที่มีภูมินักธรรมเอกได้ยากมาก แต่พระอาจารย์วัน ก็ไปไม่ได้เพราะสุขภาพไม่อำนวย อาการป่วยก็สามวันดีสี่วันร้าย ถึงกับมีอาการของความจำเสื่อมเป็นบางครั้ง

ขณะที่ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าคามวาสี ๒ พรรษานี้ ตามที่ได้ยินจากพระผู้ใกล้ชิดและจากบันทึกของท่านเอง ปรากฏว่าในระหว่างนั้น ท่านต้องต่อสู้กับความคิดของตนเองอย่างหนักที่สุดในชีวิตพรหมจรรย์ เพราะล่วงมาถึงขณะนี้ความรู้ก็มีพอที่จะไปเป็นตำรวจหรือเป็นอะไรได้หลายอย่าง สำหรับชีวิตทางฆราวาส อีกอย่างหนึ่งในขณะนั้นอายุท่านก็ยังน้อย คือมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น ความคิดจึงโลดแล่นไม่ผิดอะไรกับวิหคที่โผผินอยู่ในอากาศ หาจุดหมายปลายทางได้ยากยิ่ง จิตของท่านจึงผันแปรไปตามอารมณ์ ถ้าจะเรียนบาลีต่อก็คงไปได้ไกล หรือจะตั้งโรงเรียนสอนนักธรรมก็จะเป็นกำลังของหมู่คณะได้ดีหรือจะตั้งใจออกประพฤติปฏิบัติทางกรรมฐานก็มีทางเลือกได้หลายทาง

จากบันทึกของท่านเองท่านมีความคิดอีกประการหนึ่งว่าการที่จะเรียนบาลีต่อ สุขภาพก็ไม่อำนวย และการเรียนบาลีท่านก็เคยเรียนมาแล้วแต่ครูสอนไม่จบ

แต่ทางด้านฆราวาส ท่านพิจารณาเห็นว่าเป็นบ่อนแห่งการทำความชั่วนานาประการ ผู้จะตั้งตัวเป็นฆราวาสอย่างสมบูรณ์มีน้อยมาก คิดดูแล้วชีวิตนี้คงทนไปได้ไม่นานเท่าไรก็ถึงวันตาย ความดีที่จะสร้างขึ้นแก่ตนมีน้อยที่สุด ครั้นหันมาพิจารณาทางเพศนักบวช ถ้าจะครองตนอยู่อย่างงูๆ ปลาๆ โดยไม่ถูกกิจของสมณเพศแล้วท่านก็ได้ว่าเป็นฆราวาสเสียดีกว่า แต่เมื่อคิดถึงประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายในปางก่อน สมัยพุทธกาลผู้บวชเข้ามาล้วนแล้วแต่บวชเพื่อปฏิบัติตนให้พ้นไปจากวัฏทุกข์ทั้งสิ้น ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจศึกษาหาทางปฏิบัติต่อไป


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 03 ก.พ. 2010, 18:36, แก้ไขแล้ว 6 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 12:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร


๏ สมัยศึกษาทางปฏิบัติ

ระหว่างเดือน 3 พระอาจารย์วัน ได้ไปบ้านม่วงไข่ คือบ้านที่ไปมอบตัวเป็นนาคครั้งแรก ท่านได้ไปชวนพระที่คุ้นเคยกันคือ พระบานิต สุรปญฺโญ (ต่อมาเป็นพระครูญาณวิจิตร) เพื่อออกไปเที่ยววิเวกเจริญสมณธรรม พระบานิตก็มีความยินดีด้วยทุกประการ หลายวันต่อมาพระบานิตก็ได้มาหาพระอาจารย์วัน ที่วัดป่าคามวาสี แล้วออกเดินทางไปด้วยกันแต่เพียง 2 รูป โดยไม่ยอมให้ใครติดตามไปด้วยเพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความยุ่งยากในภายหลัง ดังนั้นจึงต้องเลือกผู้ที่มีอัธยาศัยเด็ดเดี่ยว อดทนต่อความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ที่จะเกิดเฉพาะหน้าทุกสภาวะ เนื่องจากเป็นการไปโดยไม่มีกำหนดกลับ ทั้งยังไม่กำหนดสถานที่ไปอันแน่นอนด้วย

ครั้งแรกออกเดินทางไปพักที่วัดโชติการาม บ้านประทุมวาปี วัดนี้อยู่ไม่ไกลจากวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมที่พระอาจารย์วัน สร้างขึ้นภายหลังมากนัก สมัยนั้นพระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต ซึ่งเคยอยู่ร่วมกันกับพระอาจารย์วันมาก่อน ได้ถามถึงที่ที่จะไป แต่ท่านก็บอกไม่ได้ พักที่วัดนั้น 1 คืน รุ่งเช้าฉันเสร็จแล้วก็ออกเดินทางไปพักที่วัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ พักอยู่ที่นั้นได้ 3-4 คืนจึงปรึกษาทางที่จะไปข้างหน้ากับพระบานิตที่มาด้วยกัน แต่ระหว่างนั้นสงครามอินโดจีนตามชายแดนยังไม่สงบดี จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาพักที่วัดโชติการามอีก 1 คืน แล้วออกเดินทางไปแวะพักที่ภูลอมข้าว บ้านนาเชือก ในวันต่อมาลุถึงวัดป่าบ้านหนองผือ หรือปัจจุบันเรียกว่า วัดป่าภูริทัตถิราวาส ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้ ท่านพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร เป็นประธาน พระแสง และสามเณรบุญจันทร์ พร้อมทั้งชาวบ้านทำลังทำสถานที่คอยรับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งชาวบ้านบางส่วนกำลังไปรับท่านอยู่ และจะมาถึงในไม่กี่วันนี้ จึงนับเป็นโชคลาภอันยิ่งใหญ่ เพราะพระอาจารย์วัน ได้ตั้งประณิธานไว้ว่าจะพยายามถวายตัวเป็นอุปัฏฐากท่านเพื่อเป็นบุญนิธิแก่ตน

ปณิธานนี้ พระอาจารย์วัน ได้เคยปรารภกับเพื่อนพระภิกษุเป็นเวลาหลายปีล่วงมาแล้ว เมื่อพักช่วยทำงานอยู่ที่นั้นเป็นเวลา 3-4 คืน พระอาจารย์หลุย ได้ปรารภกับพระอาจารย์วันว่า สำหรับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นนั้น เมื่อท่านไปพักสถานที่ใดถ้ามีพระมากท่านมักจะพักอยู่ไม่นานท่านพระอาจารย์หลุย จึงบอกให้พระอาจารย์วัน และพระบานิต ที่มาใหม่ออกไปพักเสียที่อื่น เรื่องนี้จึงเป็นความผิดหวังของพระอาจารย์วัน และพระบานิตเป็นอย่างมาก รุ่งเช้าฉันเสร็จพระอาจารย์วัน กับพระบานิตจึงออกเดินทางไปพักที่บ้านนาใน เมื่อฉันจังหันเสร็จแล้วก็กลับไปช่วยงานท่านพระอาจารย์หลุย ทุกๆ วัน จนถึงวันที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาถึง ครั้นท่านมาถึงแล้วก็ได้ไปฟังคำอบรมจากท่านเสมอ

ต่อมาท่านพระอาจารย์มั่น ได้รับฟังจากคณะอุบาสกอุบาสิกาว่าทางเจ้าคณะอำเภอพรรณานิคมเคยหวงห้ามไม่ให้พระทางวัดป่าไปพักในวัดนั้น เรื่องนี้คล้ายๆ กับว่าบุญได้ช่วยพระอาจารย์วัน กับพระบานิต เพราะท่านพระอาจารย์มั่น ได้จัดให้ พระแสงและอุบาสกอีกคนหนึ่งชื่ออาจารย์เสนอไปรับเอาพระอาจารย์วัน และพระบานิต เข้าไปอยู่ด้วย พระอาจารย์วันก็ได้ถือนิสัยอาศัยอยู่กับท่านมาเรื่อย ๆ ต่อมาพระบานิตเป็นห่วงเรื่องการสอบนักธรรมจึงได้กลับไปบ้านม่วงไข่พระอาจารย์วัน กับพระบานิต จึงจากกันตั้งแต่วันนั้น

พ.ศ. 2488 พระอาจารย์วัน ได้อยู่จำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่น ที่วัดภูริทัตถิราวาส บ้านหนองผือ การอยู่ก็อยู่ด้วยการหวั่นวิตกในตนอยู่เสมอจนแทบหายใจไม่เต็มปอด เพราะความกลัวในท่านอาจารย์ใหญ่มีมากเหลือเกิน ไม่ทราบว่าท่านจะขับไล่ให้ออกจากสำนักของท่านในวันไหน เบื้องต้นพระอาจารย์วัน ต้องอาศัยคำแนะนำจากพระคำไพ สุสิกฺขิโต ซึ่งเป็นผู้ติดตามอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์มั่นมาแต่บ้านห้วยแคนและพระอาจารย์มนูในการทำข้อวัตรอุปัฏฐากครูบาอาจารย์นั้น พระอาจารย์วัน ได้เคยฝึกมาบ้างแล้วตั้งแต่ครั้งยังอยู่กับพระอาจารย์วังผู้เป็นอาจารย์ดั้งเดิม แต่ถึงกระนั้นก็ยังงงอยู่มาก เพราะการปฏิบัติพระอาจารย์ผู้ใหญ่กับการปฏิบัติพระอาจารย์ผู้น้อยย่อมต่างกันสำหรับพระอาจารย์ผู้ใหญ่ สิ่งที่จะพึงปฏิบัติต่อท่านมีมาก ต้องสังเกตไปศึกษาไป และอาศัยเพื่อนที่เคยอุปัฎฐากท่านมาก่อน ระหว่างก่อนเข้าพรรษา มีพระเณรเข้ามาหาท่านพระอาจารย์มั่นแทบทุกวัน เมื่อมารวมกันมากเข้า ท่านก็บอกให้ขยายออกไป เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้เสมอ

วันหนึ่งเหตุการณ์ที่หวั่นวิตกได้เกิดขึ้นแก่พระอาจารย์วัน และพระภิกษุสามเณรอื่น ๆ กล่าวคือเมื่อท่านให้การอบรมแล้วท่านสั่งให้ขยายกันออกไป ไม่ควรอยู่รวมกันมากๆ เพราะไม่ได้ความวิเวกการบำเพ็ญเพียรก็ไม่สะดวก มาอยู่กันมากๆ ก็เหมือนกับหมู่แร้งหมู่กาที่อึงคนึงรุมกินซากสัตว์

พอรุ่งเช้าฉันจังหันเสร็จท่านได้ถามพระอาจารย์หลุยว่า ใครบ้างจะออกไปวันนี้ พระอาจารย์หลุย ก็รายงานให้ท่านทราบว่าองค์นั้นๆ จะออกไปโดยมีรายชื่อพระอาจารย์วัน อยู่ด้วยองค์หนึ่ง ครั้งนี้ทำให้พระอาจารย์วัน เกือบสิ้นท่าเหมือนกัน เพราะพระอาจารย์วัน ก็ยังไม่ได้ตกลงอะไรเลยกับพระอาจารย์หลุย ระหว่างนั้นพระคำไพได้ถูกออกไปแล้ว ได้พระอาจารย์เนตร กนฺตสีโล มาทำหน้าที่อุปัฏฐากแทน ขณะนั้นพระอาจารย์มั่นกำลังไปห้องน้ำอยู่ พระอาจารย์วัน จึงปรึกษากับพระอาจารย์เนตร ท่านให้ความเห็นว่า ควรกราบเรียนท่านอาจารย์ใหญ่ตามความประสงค์ของเรานั่นแหละดี เมื่อมีผู้ให้กำลังใจอย่างนี้ ถึงแม้ว่าพระอาจารย์วัน จะมีความสะทกสะท้านเกรงกลัวในท่านสักปานใดก็ต้องกล้าเพราะความจำเป็น

ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์มั่นกลับออกมาจากห้องน้ำ นั่งลงบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์วัน จึงเข้าไปกราบเรียนให้ท่านทราบถึงความจริงใจทุกประการ ท่านพระอาจารย์มั่นนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึงพูดว่า “ตามใจของคุณ” เมื่อพระอาจารย์วันได้รับมธุรสอย่างนี้แล้วก็บังเกิดความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ท่านมีความปลื้มใจอย่างสุดซึ้ง ไม่ผิดอะไรกับได้ถอนดาบที่เสียบแทงอยู่ที่อกออกได้ฉันนั้น

วันหนึ่งเวลากลางคืน พระอาจารย์วัน กับพระอาจารย์เนตร ได้เข้านวดถวายท่านพระอาจารย์มั่น การถวายการนวดได้ล่วงเลยเวลาไปจนถึงตี 3 ท่านพระอาจารย์มั่นจึงเข้าห้อง ท่านจะทดลองน้ำใจของพระอาจารย์วันหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่พระอาจารย์วันก็มีความยินดีต่อการอุปัฏฐาก อย่างไรก็ดีในวันต่อมาก็เป็นการนวดธรรมดา คงแปลกไปแต่ดังกล่าวเพียงวันเดียวเท่านั้น

ปีนั้น พระที่อยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ มีพระอาจารย์หลุย พระอาจารย์มนู พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์อ่อนสา พระอาจารย์เนตร กนฺตสีโล พระอาจารย์วัน อุตตโม สามเณรดวง และผ้าขาวเถิง เมื่อได้อธิษฐานพรรษาแล้วพระอาจารย์วัน เกิดความมั่นใจขึ้นมาเป็นอันมาก บรรดาพระที่จำพรรษาด้วยกันในปีนั้นพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เป็นผู้มีอายุพรรษาน้อยกว่าเพื่อน ฉะนั้นพระอาจารย์วัน จึงต้องทำหน้าที่อย่างหนักทุกประการ คือ

1. ทำข้อวัตรอุปัฏฐากพระอาจารย์มั่น เพื่อช่วยพระอาจารย์เนตรอีกแรงหนึ่ง

2. รักษาความสะอาดและจัดแจงศาลาโรงฉัน

3. ตักน้ำ

4. ดูแลน้ำร้อน

5. ควบคุมดูแลสิ่งของที่จะจัดถวายครูบาอาจารย์

6. ต้อนรับแขกที่มาหาครูบาอาจารย์

ภาระทั้งหลายเหล่านี้ถึงแม้ไม่ใช่เป็นภาระของพระอาจารย์วัน แต่ผู้เดียว แต่พระอาจารย์วัน ก็เป็นผู้รับทำมากกว่าเพื่อน โดยเฉพาะเรื่องการอยู่ปฏิบัติอุปัฏฐากพระอาจารย์มั่นนั้น พระอาจารย์วันได้อาศัยท่านพระอาจารย์มนู พระอาจารย์มหาบัว และพระอาจารย์เนตร เป็นผู้แนะนำอยู่ตลอดเวลาจึงไม่บังเกิดความผิดพลาด ซึ่งต่อมาต่างก็ได้อาศัยซึ่งกันและกันในภายหลัง


รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


(มีต่อ 3)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 12:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


๏ ความหวังต่อการศึกษาอบรม

พระอาจารย์วัน ได้อบรมศึกษาจากท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านตั้งใจศึกษาทุกวิถีทาง โดยตั้งใจประกอบความเพียรไปพร้อมๆ กันด้วย เคลือบแคลงสงสัยอะไร ไม่เข้าใจอะไร ก็ไต่ถามท่านเสมอมา ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ความเลื่อมใสเพิ่มทวียิ่งขึ้น ทั้งยังเกิดความซาบซึ้งในใจอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นอันว่าความปรารถนาของพระอาจารย์วัน ที่ต้องการอยากอยู่ร่วมสำนักกับท่านอาจารย์ผู้ใหญ่และความหวังที่จะได้อุปัฏฐากพระอาจารย์ใหญ่ก็ได้สมความปรารถนา แต่ภายในพรรษาต้องเป็นผู้ช่วยพระอาจารย์เนตรไปก่อนเพราะเป็นผู้มาใหม่ เมื่อออกพรรษาแล้วพระอาจารย์เนตรได้ลาไปวิเวกที่อื่น จึงได้มอบหน้าที่อุปัฏฐากให้พระอาจารย์วันทำแทน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระอาจารย์วัน จะทำรูปเดียว เพราะการปฏิบัติอุปัฏฐากพระอาจารย์ใหญ่ต้องมีผู้ช่วยกันหลายรูป ส่วนการปฏิบัติทำอะไรบ้าง ผู้ปฏิบัติอุปัฎฐากควรวางตัวอย่างไร ทั้งทางด้านจิตใจ ทางกายทางวาจา และมารยาทอย่างอื่นๆ จะศึกษารายละเอียดได้จากปันทึกส่วนตัวซึ่งพระอาจารย์วัน ได้เขียนไว้อย่างละเอียดน่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

การทำหน้าที่อุปัฏฐากนั้นไม่ค่อยมีเวลาออกไปบำเพ็ญเพียรทางอื่น การหาตัวแทนก็ยากยิ่ง ฉะนั้นการผลัดเปลี่ยนหน้าที่อุปัฏฐากจึงต้องกราบเรียนให้ท่านทราบก่อนเมื่อท่านอนุญาตแล้วก็ต้องมอบหมายหน้าที่เป็นกิจจะลักษณะ เมื่อพระคำไพ สุสิกฺขิโต ที่เคยเป็นอุปัฏฐากมาก่อพระอาจารย์วัน ไปจำพรรษาที่อื่นกลับมา พระอาจารย์วัน ได้พูดตกลงกันเรียบร้อยแล้วจึงเข้าไปกราบเรียนท่านอาจารย์ใหญ่ในเรื่องการผลัดเปลี่ยนกันออกไปบำเพ็ญเพียร ท่านอาจารย์ใหญ่ก็ไม่ขัดข้อง

พระอาจารย์วัน จึงมอบหมายหน้าที่ต่างๆ ให้แล้วจึงเข้าไปทำขมาโทษกราบลาท่าน การออกไปครั้งนี้เป็นการไปเพื่อฝึกตนให้มีความกล้าหาญด้วยการพึ่งตนเอง จึงออกไปรูปเดียวโดยไปพักที่ราวป่าใกล้บ้านบัว ระหว่างที่พักอยู่ที่นั้น วันหนึ่งตอนหัวค่ำได้เดินจงกรมพอสมควรแล้วก็ขึ้นไปพักเพื่อนั่งสมาธิต่อ ปรากฏว่าท่านได้ปวดท้องอย่างหนักถึงขนาดท้องเดินอย่างแรงและอาเจียนไปด้วยในขณะเดียวกัน ถ่ายได้เพียง 3 ครั้ง เกิดหมดกำลัง ร่างกายมีเหงื่อออกโชกเปียกหมดทั้งตัว จึงพยายามรวบรวมสติระลึกถึงธรรม ว่าถึงคราวที่จะพึ่งตัวเองจริงๆ เพราะเพื่อนฝูงญาติโยมในที่นั้นไม่มีเลย ท่านได้หยิบยาขี้ผึ้งตราพระมาฉัน แต่ไม่ได้ผล จึงเอาเกลือที่เหลือจากฉันมะขามป้อม ที่เอามาจากท่านพระอาจารย์มหาบัว มาทดลองฉันดู ปรากฏว่าอาการถ่ายและอาเจียนได้หายไปอย่างปลิดทิ้ง ยังเหลืออยู่แต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น รุ่งเช้าพอเข้าไปบิณฑบาตได้แต่ไม่บอกให้ผู้ใดรู้เลย

วันต่อมาอีกเป็นเวลากลางวัน ขณะที่พระอาจารย์วัน เข้าไปเดินจงกรมอยู่ในป่าอันรกทึบ ไกลจากที่พักประมาณ 3 เส้น มีหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเคยมาใส่บาตรทุกวัน ได้ร้องรำเข้าไปสู่ที่พักของพระอาจารย์วัน และไปนั่งร้องรำฮัมเพลงเบาๆ อยู่ที่ฉันข้าวของท่าน พระอาจารย์วันได้รวบรวมสมาธิเพ่งดูทางจงกรมอยู่ที่เดียวแทบไม่หายใจ หญิงสาวคนนี้ร้องรำอยู่ ณ ที่พักของท่านเกือบชั่วโมง สังเกตถึงพฤติการณ์ของเธอแล้วย่อมเป็นไปในทางเกิดอันตรายแก่พรหมจรรย์ได้มาก แต่เพราะกำลังใจของท่านแน่วแน่กว่า ในที่สุดหญิงสาวผู้นั้นก็เดินออกไปอย่างเงียบๆ

เหตุการณ์ครั้งนั้นพระอาจารย์วัน อดภูมิใจในตัวเองไม่ได้ เพราะสามารถรักษาพรหมจรรย์ให้ผ่านพ้นจากอันตรายไปได้ตลอดรอดฝั่ง พุทธภาษิตที่ได้เล่าเรียนมาว่า อิตฺถี มลํ พฺรหฺมจริยสฺส ซึ่งแปลว่า หญิงเป็นมลทินแห่งพรหมจรรย์นั้น เป็นพุทธภาษิตที่ท่านตระหนักและยึดมั่นตลอดมาตราบชั่วอายุขัย

เป็นอันว่าสมความตั้งใจในการออกไปวิเวกเพื่อฝึกความกล้าและพึ่งตนเอง หากเป็นพระที่ไม่มั่นคงคงเอาตัวไม่รอดอย่างแน่นอน เมื่อพระอาจารย์วัน พิจารณาดูแล้วเห็นว่าสถานที่นั้นเสี่ยงอันตรายมากจึงทนอยู่เพียง 9 คืน แล้วเดินทางต่อไป แต่หาที่ใดก็ไม่เหมาะจึงไปร่วมกับท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ที่ดงใกล้กับบ้านงิ้ว ต่อมาเมื่อใกล้วันวิสาขบูชา จึงได้เดินทางกลับวัดป่าบ้านหนองผือเพื่อเข้าปฏิบัติพระอาจารย์มั่นตามเดิม พระอาจารย์มั่น ได้ถามถึงการไปวิเวกของท่าน ท่านก็ได้กราบเรียนไปตามความเป็นจริง พระอาจารย์มั่น จึงให้กำลังใจ และให้โอวาทต่อไปว่า การเจริญอานาปาณสติก็เป็นทางที่ดีเหมือนกัน เพราะการเจริญกรรมฐานแต่ละอย่าง เมื่อจิตจะรวมลงเป็นสมาธินั้น ย่อมน้อมลงสู่คลองอานาปาณสติเสียก่อนจึงรวมลงเป็นสมาธิ พระอาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวไว้ว่า “กรรมฐาน 40 ห้องเป็นน้องของอานาปาณะ” ดังนี้

เรื่องการใช้กรรมฐานอะไรเป็นบริกรรม พระอาจารย์วัน ไม่ได้บอกท่านแต่ท่านรู้เรื่องภายในจิตใจของพระอาจารย์วันตลอด ดังนั้นการที่ได้อยู่ใกล้ชิดพระอาจารย์ที่สำคัญ จึงเป็นคุณประโยชน์แกลูกศิษย์เหลือที่จะพรรณนา

ในปีต่อมา พระอาจารย์วัน ก็ได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกไปบำเพ็ญอีก ออกไปคราวนี้มีสามเณรเพ็งติดตามไปด้วย ไปพักเสนาสนะป่าใกล้บ้านห้วยบุ่น ตั้งใจว่า พักผ่อนเอากำลังสุขภาพพอสมควรแล้วก็จะเร่งความเพียรอย่างใจหวัง เมื่อไม่ได้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ภาระทุกอย่างก็มีน้อย ครั้นออกไปพักได้เพียงคืนที่ 7 ท่านก็ฝันว่าได้เข้าปฏิบัติพระอาจารย์มั่นเช่นเคยปฏิบัติมา ในฝันปรากฏว่าท่านนอนอยู่บนเตียงแห่งหนึ่งซึ่งมองดูแล้วท่านไม่ค่อยสบาย แต่ไม่ทราบว่าท่านอาพาธด้วยโรคอะไร เพราะตั้งแต่พระอาจารย์วันได้เข้าอยู่ใกล้ชิดท่านพระอาจารย์มั่น เวลานอนหลับไปทุกครั้งจะต้องฝันเกี่ยวกับท่านเสมอ ถ้าพระอาจารย์มั่นไม่สบายจะต้องฝันเกี่ยวถึงความไม่สบายของท่านทุกครั้ง ฉะนั้นคืนวันนั้น เมื่อพระอาจารย์วันตื่นนอนขึ้นแล้วจึงคิดวิตกอยู่ แต่ไม่พูดให้ใครฟัง

พอฉันจังหันจวนจะเสร็จ โยมพุทธผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็ไปถึง พระอาจารย์วันก็รีบถามด้วยความเป็นห่วงอยากจะทราบความเป็นไปของท่านอาจารย์ใหญ่ โยมพุทธก็ตอบว่า ท่านทองคำเข้ามาบิณฑบาตถึงที่บ้านแจ้งให้กระผมตามครูบากลับไป ท่านอาจารย์ป่วยเมื่อคืนนี้ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร หนักเบาอย่างไรก็ไม่ทราบเพราะแกรีบร้อนเดินทางมา พอฉันเสร็จพระอาจารย์วัน ก็รีบเดินทางกลับไปหาท่านอาจารย์ใหญ่ เมื่อไปถึงแล้วเห็นอาการของท่านหนัก พระอาจารย์วันจึงตัดสินใจอยู่ปฏิบัติท่านต่อไป ได้จัดให้คนไปนำเอาบริขารจากที่พักมาให้ จึงไม่มีโอกาสออกไปวิเวกอีก

พระอาจารย์วัน ได้อยู่อุปัฏฐากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จนถึงวันมรณภาพและฌาปนกิจเสร็จ รวมเวลาที่ได้อยู่อุปัฏฐากจนถึงวันที่ท่านอาจารย์ใหญ่มรณภาพเป็นเวลา 5 ปี นับว่าได้อยู่อุปัฏฐากยาวนาน เพราะพระอาจารย์มั่นมักไม่ได้อยู่จำพรรษาในสถานที่ใดติดต่อกันนานนักเพราะท่านเป็นนักปฏิบัติ จึงเปลี่ยนสถานที่บำเพ็ญไปเรื่อยๆ

พ.ศ. 2493 หลังจากทำฌาปนกิจ พระอาจารย์ใหญ่เสร็จแล้วท่านได้กลับไปจำพรรษาที่วัดภูริทัตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผืออีกเพื่อสนองพระคุณของครูบาอาจารย์และฉลองศรัทธาของญาติโยมที่ได้สูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทรที่เขาเคารพบูชาอย่างสูงสุด เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์วันก็ได้แสวงหาที่วิเวกไปในที่ต่างๆ ตามปฏิปทาของพระธุดงค์ เพราะการเที่ยวธุดงค์หรือออกวิเวกในสมัยนั้นยังไม่ลำบากนัก เนื่องจากบ้านเมืองยังมีความสงบ จะไปวิเวกในสถานที่ใด ภูเขาลูกไหนก็ยังไปได้ พอจวนจะเข้าพรรษาจึงแสวงหาที่จำพรรษาที่เห็นว่าเหมาะสมแก่การบำเพ็ญสมณธรรมสถานที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยสัปปายะ 4 คือ

1. บุคคลเป็นที่สบาย ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ มีศรัทธาพอที่จะอาศัยบิณฑบาตได้ ใฝ่ใจในการประพฤติปฏิบัติ

2. เสนาสนะที่อยู่อาศัยเป็นที่สบาย พออาศัยเป็นที่บำเพ็ญเพียรกันฝนบังแดดได้

3. อาหารที่ชาวบ้านบริโภคเองและที่เขาถวายไม่เป็นของแสลงโรค คำว่า อาหารสัปปายะ มิได้หมายความว่า เป็นสถานที่มีอาหารเหลือเฟือ คือมีฉันพอเลี้ยงอัตภาพไปวันๆ เท่านั้น

4. อากาศเป็นที่สบาย เพราะสถานที่บางแห่งในระหว่างฤดูฝน จะทำให้เกิดไข้ซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการบำเพ็ญสมณธรรม

พ.ศ. 2494 พระอาจารย์วัน จึงเปลี่ยนสถานที่ไปจำพรรษาที่วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. 2495 กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าคามวาสี ซึ่งเป็นมาตุภูมิ ในระหว่างนั้นพระอาจารย์เทสก์หรือในปัจจุบันคือ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ และหมู่คณะหลายรูปลงไปจำพรรษาที่ภาคใต้ พระอาจารย์วัน จึงติดตามลงไปด้วยเพราะมีความเคารพเลื่อมใสในพระอาจารย์เทสก์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วโดยได้จำพรรษาที่วัดเหล่านี้คือ

พ.ศ. 2496 จำพรรษาที่วัดราษฎร์โยธี บ้านโคกกลอย ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

พ.ศ. 2497 จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2498 จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2499 จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พ.ศ. 2500 จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

พระอาจารย์วัน คิดทบทวนถึงผลได้ผลเสีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่ภูเก็ต-พังงา เป็นเวลา 5 พรรษา คิดเห็นว่าพุทธบริษัทอุบาสกอุบาสิกา เป็นผู้มีศรัทธา ให้ทานการบริจาคดี อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรดี แต่มีผู้ออกบวชน้อยมาก ถึงออกบวชก็อยู่ได้ไม่นานเพราะติดข้องอยู่ในทรัพย์สมบัติ เนื่องจากสองจังหวัดดังกล่าวมีฐานะทางเศรษฐกิจดี การนิยมบวชจึงมีน้อย ขาดศาสนทายาทผู้สืบทอด โดยเฉพาะบุคคลในท้องถิ่น พูดถึงความดำรงมั่นของศาสนาก็คือผู้สืบทอดโดยเฉพาะนักบวช ถ้าขาดผู้บวชแล้วก็ทำให้ขาดบริษัทภายใน เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญในการเผยแพร่พระศาลนา และอีกเรื่องหนึ่งก็คือภูมิอากาศทางภาคใต้ ฤดูกาลไม่อำนวยในการออกรุกขมูล เพราะฝนตกบ่อย ขัดข้องในการที่พระจะออกไปวิเวก ไม่เหมือนทางภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งฤดูกาลต่างๆ แน่นอน พระอาจารย์วัน ดำริถึงเหตุ 2 ประการ ดังกล่าวแล้วจึงอำลาอุบาสกอุบาสิกาชาวภูเก็ต-พังงาที่อุปถัมภ์บำรุง เดินทางกลับมาตุภูมิ

พระอาจารย์วันเดินทางจากภาคใต้ วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ถึงวัดคามวาสี ตอนบ่าย4 โมงเศษ ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 พักอยู่ไม่นานพวกญาติใกล้ชิดได้มาปรารภถึงเรื่องทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย และรื้อบ้านมาทำกุฎีถวายวัดคามวาสี เสร็จแล้วไปพักที่วัดสุวรรณาราม (วัดพุฒารามปัจจุบัน)

วันที่ 14 เมษายน เดินทางไปวิเวกที่ถ้ำตีนเป็ด พักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 23 วัน ต่อมาทางญาติโยม บ้านดำตานา ได้อาราธนานิมนต์ให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดสุวรรณาราม หรือวัดพุฒาราม ใน พ.ศ. 2501-2503 เนื่องจากพระอาจารย์วัน อยู่วัดที่เป็นพื้นราบไม่ค่อยสบายเกี่ยวกับสุขภาพ ท่านจึงดำริหาที่อยู่บนภูเขาหรือเชิงเขา ประจวบกับในขณะนั้นพระอาจารย์สีลา เทวมิตฺโต ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโชติการาม บ้านหนองบัว-โพนสวาง มรณภาพลง เมื่อจัดการฌาปนกิจแล้วญาติโยมชาวบ้านหนองบัว-โพนสวาง ซึ่งมีกำนันตา แสงลี เป็นประธาน จึงนิมนต์ให้พระอาจารย์วัน ขึ้นไปเลือกดูสถานที่เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2503 ตรงกับแรม 2 ค่ำ เดือน 12


รูปภาพ
พระอาจารย์ขาว อนาลโย


พระอาจารย์วัน พร้อมด้วยหลวงพ่อม่าน พระอาจารย์เต็ม หลวงพ่อใคร หลวงพ่ออุสาห์ พร้อมด้วยญาติโยมบ้านประทุมวาปี-โพนสวาง อีกบางคนได้ขึ้นไป เลือกดูสถานที่ ในที่สุดก็เห็นว่า บริเวณเหล่าสร้างแก้วเหมาะสมเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมกว่าแห่งอื่น พระอาจารย์วัน จึงได้ถามกำนันตาและชาวบ้านถึงเรื่องที่ดิน ได้รับแจ้งว่าเป็นที่ดินสงวนไว้เป็นที่พักสงฆ์ เรียกว่าหวายสะนอย โดยที่ดินบริเวณนี้เคยมีครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานได้มาพักบำเพ็ญบ่อยๆ เช่น พระอาจารย์ขาว อนาลโย ก็เคยมาพักจำพรรษา เมื่อไม่มีความขัดข้องเรื่องที่ดิน พระอาจารย์วัน พร้อมด้วยหมู่คณะ 8 รูป จึงได้เตรียมบริขารขึ้นไปพักที่เหล่าสร้างแก้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2503 ตรงกับแรม 3 ค่ำ เดือน 12 โดยมีกำนันและชาวบ้านติดตามไปทำที่พักชั่วคราวให้ น่าสังเกตว่าอาณาบริเวณหวายสะนอยและภูถ้ำพวงเคยเป็นสถานที่ที่ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เคยไปพักบำเพ็ญระหว่าง พ.ศ. 2465-2466 มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นพระคุณท่านทั้งสองได้เทศนาอบรมให้ชาวบ้านเลิกการนับถือภูตผีปีศาจมาจนกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับถ้ำอภัยดำรงธรรม ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำพ่อคำพานั้นเป็นถ้ำเล็กๆ เมื่อพระอาจารย์วัน ไปพบเข้าก็เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะที่จะปรับปรุงต่อไปในอนาคต ปรึกษากำนันและชาวบ้านดูแล้วต่างก็เห็นชอบด้วย ท่านจึงเปลี่ยนชื่อถ้ำพ่อคำพาไปเป็นถ้ำอภัยดำรงธรรม ด้วยมูลเหตุ 2 ประการคือ

1. พระอาจารย์วันอยู่ตามสถานที่เป็นพื้นราบมักไม่ค่อยสบายทางสุขภาพ ฉันยาก็ไม่ค่อยได้ผล ถ้าได้พักอยู่บนภูเขาที่มีอากาศปลอดโปร่งจะได้รับความผาสุกทางด้านสุขภาพยิ่งกว่า เมื่อพระอาจารย์วันดำริจะขึ้นไปอยู่บนภูเขา ทางฝ่ายบริหารการคณะสงฆ์ก็ไม่ขัดข้องให้อภัย และทางฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่ชัดข้องให้อภัย

2. สถานที่ดังกล่าวมีสัตว์ป่าหลายจำพวก ซึ่งเป็นธรรมดาของพระต้องเจริญเมตตาต่อสัตว์ทุกชีวิต ไม่เลือกว่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน พระอาจารย์วัน จึงบอกกล่าวไม่ให้ผู้ใดมาทำร้ายสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณสถานแห่งนี้ เป็นการให้อภัยแก่ชีวิตสัตว์ และตั้งชื่อถ้ำเสียใหม่ว่า “ถ้ำอภัย” และอีกประการหนึ่งท่านดำริด้วยว่าหากอำนาจแห่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตของสรรพสัตว์แล้วโลกนี้ย่อมจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขชั่วนิรันดร์ พระอาจารย์วัน จึงเพิ่มคำว่า “ดำรงธรรม” ต่อท้ายรวมกันเข้าเป็น “ถ้ำอภัยดำรงธรรม” แต่คนส่วนมากชอบเรียกตามนิยมว่า วัดดอย เพราะอยู่บนภูเขา พูดถึงความต่อเนื่องของสถานที่ ถ้ำอภัยดำรงธรรม อยู่ในเขตหวายสะนอยๆ อยู่ในเขตถ้ำพวงๆ อยู่ในอาณาบริเวณของภูเหล็ก และภูเหล็กรวมอยู่ในเทือกเขาแห่งภูพาน


(มีต่อ 4)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 17:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ทางเข้าถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.ส่องดาว จ.สกลนคร


๏ ความมุ่งหมายในการมาอยู่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม

พระอาจารย์วัน ได้บันทึกไว้ในประวัติวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมว่า การที่ท่านตัดสินใจมาอยู่ที่ถ้ำนี้มีความมุ่งหมาย 4 ประการ คือ

1. เพื่อรักษาสุขภาพ เนื่องจากสุขภาพของท่านไม่ปกติดี สู้ภาระหนักไม่ไหว และสู้กับดินฟ้าอากาศในบางแห่งไม่ได้ เคยรักษาด้วยการเปลี่ยนสถานที่บ้าง ปรากฏว่าได้รับความผาสุกจากการอยู่บนภูเขา เมื่อพักอยู่บนภูเขาแต่ละครั้งนั้นยาก็เกิดมีคุณภาพและมีคุณแก่สุขภาพขึ้น อาหารก็ฉันได้ เรี่ยวแรงก็ดีขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นท่านจึงแสวงหาที่พักบนภูเขาเพื่อจะรักษาสุขภาพให้เป็นไปตามกรรมวิบากของตน

2. เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เนื่องด้วยผู้เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาต้องบำเพ็ญธุระ 2 ประการคือต้องศึกษาเล่าเรียนท่องบ่นจดจำพระปริยัติธรรม และบอกสอนผู้อื่นเรียกว่า คันถธุระ เมื่อศึกษาพอประมาณแล้วตั้งใจบำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเรียกว่า วิปัสสนาธุระ แต่สำหรับผู้ประสงค์จะบำเพ็ญทางด้านวิปัสสนาธุระนั้น ตามแบบอย่างของพระโยคาวจรเจ้าในปางก่อน ต้องแสวงหาสถานที่อันสงัดวิเวกปราศจากความคลุกคลีด้วยหมู่คณะและฝูงชนทั้งหลาย เป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยวไม่มีการพลุกพล่านไปมาแห่งฝูงชน ไม่อื้ออึงคะนึงเซ็งแช่ไปด้วยเสียงมนุษย์ มีธุระการงานพอประมาณจึงจักยังสมถวิปัสสนาให้เกิดขึ้นในจิตได้ และจักยังคุณธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปไม่เสื่อมถอย ฉะนั้น พระอาจารย์วันจึงเลือกเอาสถานที่นี้เป็นสถานที่บำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวในด้านวิปัสสนาธุระ

3. เพื่อประโยชน์ของหมู่คณะ
เมื่อท่านปฏิบัติตัวของตนไปในปฏิปทาใด ก็ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะให้ดำเนินรอยในปฏิปทานั้น ประโยชน์ที่จะพึงได้ย่อมอยู่ที่ตัวบุคคลแต่ละคนเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ แต่สถานที่นี้ แต่ก่อนเป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยว ห่างจากหมู่บ้านมากประมาณ 4 กิโลเมตร ที่มาอาศัยอยู่จะต้องต้องสู้กับความลำบากหลายประการ ความสามารถก็ดี ความอดทนก็ดีความเพียรก็ดี ความขยันก็ดี ย่อมเกิดมีขึ้นโดยธรรมชาติบังคับ อาศัยสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือธรรมะปฏิบัติของแต่ละบุคคล ประโยชน์จึงเป็นของพลอยได้เอง พระอาจารย์วันมีความเห็นด้วยว่าคนเราจะดีได้เพราะการสร้างความดี มิใช่จะเกิดดีด้วยการเสกสรรหรือการนึกน้อมปรารถนาเอาเอง

4. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน คนไทยถือว่าวัดเป็นจุดเด่นของบ้านเมือง ตั้งแต่สมัยโบราณมาตลอดถึงปัจจุบัน ชอบสร้างวัดขึ้นไว้เป็นคู่บ้านเมือง เช่นในกรุงเทพมหานครเป็นอาทิ ซึ่งมีวัดพระแก้วเป็นจุดเด่น สามารถอวดแขกต่างประเทศได้ และวัดยังเป็นแหล่งแห่งวัฒนธรรม ศิลปกรรม วรรณกรรม ตลอดถึงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงามของพลเมือง ประชาชนคนไทยเคยได้รับความอุปการะจากวัดมาแล้วโดยลำดับ จึงเจริญวัฒนาก้าวหน้ามาได้ เช่นการศึกษาหนังสือไทยเป็นต้น

ในเบื้องต้นได้ถือเอาวัดเป็นจุดแรกแห่งการขยายการศึกษาออกไปต่างจังหวัดจนถึงชนบท โดยมีพระเป็นผู้นำ ฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้รับรองและสนับสนุนให้ความอุปถัมภ์ เพราะฉะนั้นคนไทยจึงนิยมสร้างวัดไว้เป็นเกียรติของบ้านเมือง เมื่อสร้างวัดจึงนิยมสร้างให้เด่นสะดุดตาเท่าที่สามารถจะให้เด่นได้ถึงกับสร้างวัดไว้บนภูเขาเพื่อความเด่นนั้นเอง เช่นจังหวัดเพชรบุรีเป็นต้น เท่าที่พระอาจารย์วันมาตกแต่งสถานที่นี้ขึ้นไว้ในรูปลักษณะของวัดก็เพื่อให้เป็นจุดเด่นประดับเกียรติท้องถิ่นนี้ ชาวอำเภอสว่างแผ่นดินก็จะได้เป็นผู้มีเกียรติเท่าเทียมกับจังหวัดอื่น ที่เขามีมาก่อนแล้วจะเป็นอำเภอที่ไม่ด้อยกว่าเขาในอนาคตนอกจากนั้น ท่านยังดำริจะให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่อบรมศีลธรรมโดยเฉพาะอีกด้วย เพื่อให้ผู้สนใจต่อการอบรมเป็นกัลยาณชนต่อไป

พ.ศ. 2504 เป็นปีแรกที่พระอาจารย์วันขึ้นมาจำพรรษาที่ถ้ำอภัยดำรงธรรม มีพระภิกษุ 7 รูปสามเณร 3 รูป เสนาสนะที่อยู่อาศัยก็ทำขึ้นไว้เพียงชั่วคราว ปรากฏว่าการอยู่จำพรรษาปีนั้นท่านถูกไข้ป่าเล่นงานอย่างหนัก เพราะในยุคนั้นไข้มาเลเรียยังมีชุมมาก ต่อมาได้ทำบริเวณให้โล่งเตียนขึ้นบ้าง ไข้ป่าก็ลดน้อยลงตามลำดับ

พระอาจารย์วันได้อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมติดต่อกันเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504-2517 ก็ได้รับความวิเวกดีในระยะสั้นเพราะการไปมาไม่สะดวกผู้ที่จะเดินทางมาหาต้องเป็นผู้ที่เคารพเลื่อมใสจริงๆ พระเณรที่จะมาอยู่ด้วยก็ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อสู้กับความลำบากหลายด้าน จึงเป็นสถานที่สำหรับคัดเลือกคนและคัดเลือกพระเณรที่จะเข้ามาหาโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังเป็นความลำบากแก่ตัวพระอาจารย์วันเองด้วย เพราะต้องเดินทางไกลเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร บางแห่งต้องเดินทางถึง 10 กิโลเมตร 20 กิโลเมตรเพื่อไปฉลองศรัทธาญาติโยมที่เขามานิมนต์ ระยะต่อมาทางการได้ตัดทาง ร.พ.ช.สายหนองหลวง-คำบิด ซึ่งเส้นทางสายนี้ห่างจากวัดถ้ำดำรงธรรม ประมาณ 7 กิโลเมตร ภายหลังพระอาจารย์วันจึงคิดตัดถนนจากวัดออกมาบรรจบทางของ ร.พ.ช. เพื่อสะดวกในการไปมา

เมื่อทางวัดออกมาได้สะดวกประชาชนจึงเข้าไปรับการอบรมธรรมะมากขึ้นตามลำดับ มีประชาชนจากใกล้และไกลเข้าไปนมัสการพระอาจารย์วัน จนกระทั่งเป็นที่เพ่งเล็งจากบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา เมื่อลัทธิการเมืองฝ่ายตรงข้ามเริ่มขยายตัว ท่านก็ยิ่งถูกเพ่งมองจากบุคคลหลายฝ่ายมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลบางคนก็เพ่งมองท่านว่าเป็นแหล่งส่งกำลังบำรุงให้พวกป่า ทางพวกป่าก็จับตามองว่าท่านเป็นสายสืบให้ทางราชการ โดยที่ท่านอาจารย์วันก็ปฏิบัติตนตามปกติ ตามพระธรรมวินัย ตามประเพณีของพระธุดงคกรรมฐาน ไม่มีความฝักใฝ่ในทางใดทางหนึ่ง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของพระที่จะทำเช่นนั้น พระเจ้าพระสงฆ์จะทรงตัวอยู่ได้ก็ต้องอาศัยชาวบ้านเป็นผู้อุปถัมภ์ด้วยความเคารพ บูชา เพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพระสงฆ์

ข่าวเรื่องการเพ่งมองและการปองร้ายนี้ ทำให้พวกญาติและสานุศิษย์ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาคิดจะนิมนต์ให้ท่านลงจากวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ไปอยู่ที่บ้านคำตานา วัดพุฒาราม ซึ่งท่านเคยอยู่จำพรรษาก่อนที่จะขึ้นมาอยู่ที่ถ้ำอภัยดำรงธรรมแต่ท่านปฏิเสธ เพราะเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว และเรื่องความตายก็ไม่มีใครจะหลบหลีกได้ จะอยู่ในน้ำ บนบก บนอากาศ หรือในซอกเขาที่ไหนก็ตาม มัจจุราชย่อมตามทันเสมอ

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ก็คือเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2513 พระอาจารย์วันได้รับนิมนต์ให้ไปเจริญูพระพุทธมนต์เนื่องในงานแต่งงานที่บ้านส่องดาว ตำบลส่องดาว กิ่งอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ธรรมเนียมของประชาชนในถิ่นนั้นมักนิยมอาราธนานิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ และฟังพระธรรมเทศนาในตอนเย็นด้วย

ตอนเช้าของวันใหม่ ทางเจ้าภาพได้ถวายอาหารบิณฑบาตท่านพระอาจารย์วัน พร้อมด้วยพระสงฆ์และสามเณรรวม 7 รูป หลังจากเจริญพระพุทธมนต์เสร็จก็มีการแสดงพระธรรมเทศนา กว่าจะออกจากบ้านงานกลับวัดก็มืดค่ำ ซ้ำยังต้องเดินเท้าไปตามถนน ร.พ.ช. ซึ่งตัดผ่านทุ่งนาจากหมู่บ้านส่องดาวผ่านไปข้างวัดโนนสะอาด พอเดินมาได้ประมาณ 4-5 เส้นจากหมู่บ้านก็โดนยิงจากทหารด้วยปืนเอ็ม 16 แต่พระอาจารย์วันและหมู่คณะก็ยังคงเดินกลับมาตามปรกติโดยไม่ได้ใส่ใจว่าเขายิงคณะของท่านหรือยิงใคร เพราะในยุคนั้นเขตกิ่งอำเภอส่องดาวอยู่ในภาวะที่ทางการห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลาค่ำคืน ทางราชการได้ส่งทหารกองร้อยเคลื่อนที่ไปลาดตะเวน จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายทหารที่ยิง เพราะทางราชการได้ประกาศห้ามไว้แล้ว แต่ก็เป็นความจำเป็นที่พระสงฆ์จะต้องกลับวัดหลังจากเสร็จพิธี เหตุการณ์เรื่องนี้พระอาจารย์วัน ผู้เป็นหัวหน้าก็ไม่ติดใจร้องเรียนต่อทางการแต่อย่างไร และภายหลังผู้บังคับบัญชาทหารก็ได้ไปขอขมาโทษ

พ.ศ. 2518 พระอาจารย์วันได้ไปจำพรรษาที่วัดปาบ้านใหม่ท่าขันทอง ตำบลแชว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และในวันที่ 13 ตุลาคม ของปีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมพระอาจารย์วัน ที่ถ้ำพวง ภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เพื่อทรงสนทนาธรรมะเป็นการส่วนพระองค์และทรงเยี่ยมประชาชนในถิ่นนั้นด้วย หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์วันจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมตามเดิม

พ.ศ. 2519 ได้มีลูกศิษย์ไปที่วัดของท่าน เพื่อทาบทามให้ท่านรับสมณศักดิ์ ท่านก็ได้ชี้แจงความเหมาะสม ไม่เหมาะสมให้ฟังว่า ท่านเองเป็นพระป่า ไม่เหมาะสมกับยศศักดิ์ที่สูงส่งเช่นนั้นท่านจึงปฏิเสธ

พ.ศ. 2520 วันที่ 5 ธันวาคม องค์พระประมุขทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เป็นพระราชาคณะที่ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร เป็นกรณีพิเศษ โดยที่ท่านไม่รู้ตัวมาก่อน แต่ท่านก็ต้องยอมรับเพราะพระสงฆ์ก็อยู่ภายใต้บรมโพธิสมภารของพระองค์ และพระองค์ก็ทรงเป็นศาสนูปถัมภกด้วย

พ.ศ. 2521-2522 พระอุดมสังวรวิสุทธิเถรหรือพระอาจารย์วัน ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมอย่างปรกติสุข


รูปภาพ
ครั้งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ
ที่พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520



(มีต่อ 5)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 25 ก.ย. 2009, 21:14, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 17:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระป่ากัมมัฏฐาน ๕ รูปที่ได้ถึงแก่มรณภาพลงพร้อมกันด้วยเหตุเครื่องบินตก


• การมรณภาพ

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร) ได้รับอาราธนาจากทางสำนักพระราชวัง เพื่อไปในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาสครบรอบ ๓๐ ปีวันบรมราชาภิเษกสมรส วันจันทร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๓ พร้อมด้วยพระคณาจารย์พระป่ากัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อื่นๆ อีกจำนวน ๔ รูป คือ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม พระคณาจารย์พระป่ากัมมัฏฐานทั้งหมดท่านจึงได้ไปรวมกันที่ จ.อุดรธานี เพื่อขึ้นเครื่องบินโดยสารแอฟโร ๔ ของบริษัทเดินอากาศไทย (ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้มารวมกิจการกับบริษัทการบินไทย) เที่ยวบิน TG 231 สายนครพนม-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเครื่องบิน ๒ ใบพัด รุ่น HS-748 รหัส HS-THB บินออกจากท่าอากาศยานนครพนม จะไปลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพราะลูกศิษย์ลูกหาต้องการถวายความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓

ครั้นเมื่อเครื่องบินมาถึงท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เหลือระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเศษ เครื่องบินได้ตั้งลำและลดเพดานบินเพื่อเตรียมลงสู่สนาม แต่เนื่องจากเครื่องบินได้ประสบพายุหมุน ประกอบกับมีพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก มีลมกระโชกแรง เกินที่นักบินจะควบคุมเครื่องให้ลงจอดได้อย่างปลอดภัย สุดท้ายจึงเสียการควบคุมตกลงมากระแทกกับพื้นดินบนท้องนาทุ่งรังสิต อุบัติเหตุเครื่องบินตกในคราครั้งนี้เป็นเหตุทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องบินจำนวน ๕๓ คน เสียชีวิตลงพร้อมกันทั้งสิ้น ๔๐ คน ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์มรณภาพ ๗ รูป เป็นพระคณาจารย์ดังกล่าว ๕ รูป เมื่อเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน-พระอาจารย์จวน-พระอาจารย์สุพัฒน์

รูปภาพ

รูปภาพ
ซากเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุ


สำหรับผู้โดยสารที่รอดชีวิตจำนวน ๑๓ คนนั้นเป็นผู้ที่นั่งทางส่วนหางหรือส่วนท้ายของเครื่องบิน เพราะส่วนหางหรือส่วนท้ายของเครื่องบินยังอยู่ในสภาพดี ในจำนวนนี้มี “นายสมพร กลิ่นพงษา” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตำแหน่งในขณะนั้น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ถือเอกสารราชการลับของประเทศ

เมื่อพระคณาจารย์ทั้ง ๕ รูปได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว มีการนำศพไปตกแต่งบาดแผลที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช แล้วนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้ง ๗ วัน วันแรกพระราชทานหีบทองทึบ วันต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งให้เปลี่ยนใหม่เพราะทรงเห็นว่าไม่สวยงาม จึงได้เปลี่ยนเป็นหีบลายทอง

หลังจาก ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๓ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นเจ้าภาพ และในวันที่ ๖ พฤษภาคม คณะรัฐบาลซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ของพระคณาจารย์ที่มรณภาพดังกล่าวซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ นับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่พระคณาจารย์ทั้ง ๕ รูปที่จากไปอย่างยิ่งยวด ยังความปลื้มปิติยินดีแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนสหธรรมิก คณะศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือของพระคณาจารย์ทั้ง ๕ รูปอย่างหาที่สุดมิได้

รูปภาพ
ศพพระคณาจารย์ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธฯ
ทรงเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ


รูปภาพ
ศพพระคณาจารย์ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ

รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธฯ
ทรงเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ


รูปภาพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เสด็จร่วมบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ


รูปภาพ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ
เสด็จร่วมบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ


รูปภาพ
รถพยาบาลหลายคันจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เชิญศพพระคณาจารย์ต่างๆ
เดินทางจากวัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน ไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี
บรรดาพระภิกษุ สามเณร และประชาชนไปคอยเคารพศพอยู่อย่างคับคั่ง



เมื่อครบกำหนดการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขนแล้ว ก็ได้อัญเชิญศพพระคณาจารย์ทั้ง ๕ รูปกลับไปสู่ยังวัดเดิมของแต่ละท่าน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัวหน้าแผนกพระราชพิธีเป็นผู้ดูแลโดยตลอด สำหรับรถยนต์ที่เชิญศพพระคณาจารย์ต่างๆ คุณหมอปัญญา ส่งสัมพันธ์ แห่งโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เป็นผู้จัดหา และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง

วันพุธที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๒๓ เวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกา รถเชิญศพได้เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน โดยมีรถตำรวจทางหลวงนำ ถัดมาเป็นรถหลวง รถพระอาจารย์สมชาย ฐิติวิริโย และรถเชิญศพพระคณาจารย์ทั้ง ๕ รูป ตามลำดับ เมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ นาฬิกาเศษ ขบวนเชิญศพได้มาถึง จ.นครราชสีมา มีคณะพระภิกษุสามเณรโดยการนำของพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระชินวงศาจารย์ และพระครูคุณสารสัมบัน (หลวงพ่อสมาน ชิตมาโร) แห่งวัดป่าศรัทธารวม พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา ได้นำข้าวห่อมาต้อนรับคณะเชิญศพและมาเคารพศพกันเป็นจำนวนมาก

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
พระอาจารย์สมชาย ฐิติวิริโย

รูปภาพ
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่
พระชินวงศาจารย์ ได้นำคณะพระภิกษุสามเณร-อุบาสกอุบาสิกา
มาเคารพศพพระคณาจารย์ ๕ รูปที่ถึงแก่มรณภาพลงพร้อมกัน
เมื่อครั้งขบวนรถคณะเชิญศพได้เดินทางมาถึงยังจังหวัดนครราชสีมา



หลังจากพระฉันอาหารและเจ้าหน้าที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ขบวนเชิญศพได้ออกเดินทางต่อไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อเวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา ทางวัดโพธิสมภรณ์และชาวอุดรธานีได้จัดต้อนรับเป็นอย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้นำประชาชนหลายจังหวัดมารอเคารพศพ ซึ่งแล้วเสร็จเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกาเศษ รถเชิญศพจึงได้แยกย้ายกันไปยังวัดต่างๆ อันเป็นวัดเดิมของแต่ละพระคณาจารย์ ดังนี้

๑. หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่
วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

๒. พระอาจารย์วัน อุตฺตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร) ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร

๓. พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่
วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก) ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ

๔. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่
วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

๕. พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่
วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย ต.บ้านต้าย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

นับว่าการเชิญศพถึงวัดได้รับความสะดวกสบายปลอดภัยทุกประการ

ท่ามกลางความเศร้าสลดอาลัยของคณะสงฆ์ เพื่อนสหธรรมิก คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียของวงการสงฆ์ครั้งใหญ่มากอีกครั้งหนึ่งของเมืองไทย

เมื่อเชิญศพไปถึงวัดแล้ว ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นเจ้าภาพ ต่อจากนั้นก็มีหน่วยงานต่างๆ รับเป็นเจ้าภาพติดต่อมาอีกหลายราย คณะศรัทธาญาติโยมประชาชนทั้งใกล้และไกลได้มาคารวะศพ และเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมจนถึงปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) และสตมวาร (๑๐๐ วัน) โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธาน นับว่าเป็นมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ หลังจาก ๑๐๐ วันแล้วก็ยังเปิดให้คณะศรัทธาญาติโยมประชาชนได้บำเพ็ญกุศลเรื่อยมาเพื่อสนองความต้องการของคณะศรัทธาญาติโยมประชาชน

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๓ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมคารวะศพและทรงเยี่ยมประชาชนที่มาถวายการต้อนรับ ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) เป็นการส่วนพระองค์

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๔ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมคารวะศพ ทรงวางพวงมาลาและทรงจัดดอกไม้ถวายเป็นการส่วนพระองค์

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ได้มรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา สิริรวมอายุได้ ๕๖ ปี พรรษา ๓๖ โดยท่านได้มรณภาพลงพร้อมกันกับพระคณาจารย์พระป่ากัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อื่นๆ อีกจำนวน ๔ รูป ดังมีรายนามต่อไปนี้

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร)

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

รูปภาพ
พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระคณาจารย์ที่มรณภาพด้วยเหตุเครื่องบินตก
ณ ตึกติสสมหาเถร วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๓



(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 03 ก.พ. 2010, 18:29, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 17:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อวัน อุตฺตโม-พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ-พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร
บันทึกภาพที่บ้าน ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2515



๏ ผลงานโดยสรุปของพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม)

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม เป็นพระนักปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้าสู่พระธรรมวินัย จึงมิได้มุ่งในการทำงาน แต่ก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนสหธรรมิกเมื่อมีการงานเกิดขึ้นในวัดที่ไปอยู่ การก่อสร้างถาวรวัตถุจึงไม่ปรากฏนัก ในระยะต้นๆ มา มีผลงานขึ้นบ้างสมัยที่ท่านมาอยู่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เพราะการก่อสร้างใดๆ บนภูเขาหรือเชิงเขาทำยากกว่าที่พื้นราบเป็นอันมาก ดังนั้นวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จึงไม่มีถาวรวัตถุอะไรมากมายนัก มีเพียงศาลาการเปรียญหลังเดียวเท่านั้นที่ดูใหญ่โต เพราะศาลาการเปรียญเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากมีประชาชนมารับการอบรมฟังเทศน์ในวันพระ เทศกาลเข้าพรรษาวันละ 300-500 คน

ส่วนกุฏิที่ค่อนข้างใหญ่ก็มีเพียงหลังเดียวที่คุณธเนศ เอียสกุล สร้างถวาย นอกนั้นเป็นเพียงกุฏิไม้อยู่ได้เพียงองค์เดียว แบบกุฏิกรรมฐานทั่วๆ ไป ที่เห็นว่าท่านริเริ่มสร้างที่สำคัญก็คือ การสร้างทางขึ้นถ้ำพวง เพราะท่านเห็นว่าประชาชนในถิ่นนั้นไม่มีอะไรที่เป็นถาวรวัตถุสำหรับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน เมื่อสร้างทางขึ้นไปแล้วจึงได้ริเริ่มสร้าง พระพุทธรูปปางนาคปรกที่ถ้ำพวง โดยขนานพระนามพระพุทธรูปว่า พระมงคลมุจจลินท์ โดยถือเอานิมิต พระพุทธรูปปางที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ที่ต้นไม้มุจจลินท์ มีพญานาคแผ่พังพานเพื่อกันฝน หลังจากสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้ว ท่านจึงจัดให้มีงานเทศกาลต้นเดือนเมษายนทุกๆ ปี ซึ่งเป็นการสร้างคนทางใจโดยอาศัยวัตถุเป็นเครื่องนำ ความดำริขั้นต่อไปที่ท่านตั้งใจไว้ คือสร้างเจดีย์บนผาดงก่อ ถัดจากถ้ำพวงขึ้นไป ซึ่งเป็นหลังเขาที่สูงที่สุดในบริเวณนั้น แต่น่าเสียดายท่านมาด่วนจากไปเสียก่อน



๏ ความดำริและการสร้างที่เป็นการอนุเคราะห์แก่ประชาชน

ท่านพระคุณพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) ท่านอยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าสถานที่แห่งอื่นๆ คืออยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึง พ.ศ. 2523 มีเพียงปี พ.ศ. 2518 เท่านั้นที่ไปจำพรรษาที่อื่น ท่านเห็นความจำเป็นและความลำบากของชาวบ้านจึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ คือ

1. สร้างโรงเรียนอภัยดำรงธรรมเพื่อให้เด็กบ้านท่าวัดและบ้านถ้ำติ้วมีที่เล่าเรียน เมื่อดำเนินการสร้างไปแล้วทางราชการจึงได้ช่วยเหลือบ้าง และอนุเคราะห์แจกทุนแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ หลายโรงเรียน บางโรงเรียนก็ได้อนุเคราะห์สร้างถังเก็บน้ำฝนสำหรับบริโภคโดยให้ปัจจัยค่าอุปกรณ์ แต่ให้ทางโรงเรียนช่วยจัดทำเพื่อจะได้ช่วยกันรักษา เพราะเป็นสมบัติที่เขาช่วยกันสร้าง

2. รับเป็นผู้อุปถัมภ์ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านเหล่าใหญ่เนื่องจากพัฒนากรและกรรมการหมู่บ้านเหล่าใหญ่ขอร้อง การอุปถัมภ์ศูนย์แห่งนี้ได้มีผู้ร่วมบริจาคจากบุคคลหลายฝ่าย และท่านยังได้อุปถัมภ์ศูนย์เลี้ยงเด็กอีก 2 แห่งคือ ศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านส่องดาว และศูนย์เลี้ยงเด็กบ้านท่าศิลา

3. สร้างอ่างเก็บน้ำที่เชิงเขาและทำถังกรองไปให้ชาวบ้านใช้โดยไม่ต้องมีเครื่องสูบ เพราะเป็นการต่อน้ำจากที่สูง โครงการแรกที่ทำคือโครงการห้วยมะไฟ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการคือ โครงการคำจวง โครงการห้วยหาด และโครงการคำหลวง

สำหรับโครงการคำจวงได้เริ่มสร้างไปบ้างแล้วสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ส่วนโครงการห้วยหาด และคำหลวงเป็นแต่เพียงดำริไว้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว จึงมีผู้ที่เคารพนับถือและทางราชการช่วยกันจัดทำจนแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการ โดยเฉพาะโครงการคำจวง โครงการห้วยหาด สำเร็จลงได้เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ สนองความดำริของพระอาจารย์วัน โดยมีผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศลที่สำคัญ 2 ท่านคือ คุณเฉลียว อยู่วิทยา และคุณทวี โกวัฒนะ และยังมีคนอื่นๆ ช่วยกันสมทบ

เมื่อทั้ง 4 โครงการ สำเร็จลงแล้วอำเภอส่องดาวจะมีน้ำประปาใช้ทุกหมู่บ้าน ทั้งยังขยายไปถึงเขตอำเภอที่ใกล้เคียงอีกหลายหมู่บ้าน เช่นเขตอำเภอวาริชภูมิ อำเภอสว่างแดนดิน กิ่งอำเภอไชยวาน นับว่าเป็นความดำริและการสร้างที่มีประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอันมากเมื่อทำสำเร็จแล้วก็มอบให้หมู่บ้านต่างๆ ช่วยกันดูแลรักษาซ่อมแซมในโอกาสต่อไป

แต่การสร้างที่สำเร็จได้ดังกล่าว ท่านผู้อ่านพึงทราบว่ามิใช่ว่าพระอาจารย์วัน หรือวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมมีปัจจัยมากมายหรือร่ำรวยแต่ประการใด ทุกท่านก็คงเข้าใจแล้วว่า พระเจ้าพระสงฆ์มิใช่พ่อค้า การเลี้ยงชีพทุกอย่างต้องอาศัยชาวบ้าน แต่เหตุที่มีปัจจัยไปช่วยเหลือในกิจการนั้นๆ ก็เนื่องจากความเคารพนับถือในพระอาจารย์วัน เมื่อมีผู้ที่เคารพนับถือมาหา การอบรมศีลธรรม นั่งสมาธิภาวนาผู้นิมนต์พระสงฆ์ไปแสดงธรรมมักจะจัดให้พระอาจารย์วัน ขึ้นแสดงธรรมเป็นองค์สุดท้ายเสมอเนื่องจากพระธรรมเทศนาของท่านเป็นที่สนใจของประชาชน และสาเหตุ ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในท่านก็เพราะได้รับการอบรม ได้ฟังธรรมจากท่านเป็นประการสำคัญ ถ้ามองดูผิวเผินคล้ายกับว่าท่านเห็นแก่ลาภสักการะ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วท่านมีความเมตตาอยากจะสงเคราะห์ แนะนำให้ประชุมชนมีความเข้าใจในหลักปฏิบัติ

เวลาไปเทศน์ในวัดต่างๆ ลาภสักการะที่ทายกทายิกาบูชาพระธรรมเทศนาท่านจะมอบให้บำรุงวัดนั้นๆ เสมอ โดยเฉพาะวัดในชนบท จึงเป็นการไปเพื่อให้มิใช่ไปเพื่อรับ ถ้าหากท่านมุ่งลาภสักการะจริงๆ เพียงอยู่ประจำที่วัดก็มีประชาชนไปหามาก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่แล้ว ลาภสักการะก็มีมากกว่าการไปกิจนิมนต์นอกวัด สุขภาพร่างกายก็ไม่ได้รับความลำบาก



๏ ผลงานทางการคณะ

สมัยที่มีพระธรรมทูต ท่านก็รับภาระออกแสดงธรรมทุกปีเป็นการให้ความร่วมมือด้วยดี งานสอบนักธรรมประจำปีที่วัดคามวาสี บ้านตาลโกน ท่านก็ไปช่วยเหลือและนำนักเรียนพระเณรที่วัดไปสอบทุกปี โดยมิได้ถือว่า วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมเป็นสำนักปฏิบัติ เพราะการเรียนการสอบเป็นการเพิ่มความรู้ เมื่อรู้แล้วการแนะแนวในทางปฏิบัติก็สะดวกขึ้น ท่านจึงสนับสนุน


๏ ปฏิปทาพระอาจารย์วัน

พระอาจารย์วัน เป็นผู้ที่โชคดีมากในการเข้ามาสู่พระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะก่อนจะออกบรรพชาเป็นสามเณรก็มียายออกบวชเป็นชีอยู่ก่อนแล้วในสำนักปฏิบัติ เมื่อท่านออกบรรพซาก็ไปอยู่ในสำนักที่ยายบวชอยู่ และได้รับการอบรมในทางปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรกก่อนที่จะไปรับการศึกษานักธรรมและบาลี ในขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีก็อยู่ในสำนักปฏิบัติ แต่เพิ่มการเรียนเข้ามาเท่านั้น เพื่ออนุวัตตามทางการคณะสงฆ์เพราะฉะนั้นท่านจึงยึดมั่นในหลักปฏิบัติมาโดยตลอด และได้เข้าศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์ที่สำคัญๆ ในสายปฏิบัติเช่น พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และอาจารย์องค์สำคัญอื่นอีกเป็นอันมาก

พระอาจารย์วัน จึงได้ยึดแนวทางในการปฏิบัติมาโดยตลอดของชีวิตพรหมจรรย์ พูดถึงอุปนิสัยท่านเป็นผู้ที่พูดน้อยแต่พูดจริงทำจริง อ่อนน้อมต่อผู้ที่มีอายุพรรษามากกว่า.เป็นผู้ที่หนักในคารวะ ชอบความเป็นระเบียบ ให้ความอนุเคราะห์แก่สหธรรมิกที่อ่อนกว่า การวางตัวของท่านเสมอต้นเสมอปลายจึงได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากพระเถระผู้ใหญ่ และเป็นที่เคารพนับลือของผู้น้อย ผู้ที่ได้เคยอยู่ร่วมสำนักหรือคบหาสมาคมกับท่านทุกคนคงทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์วันเป็นผู้ที่ฝึกตนได้ดี เรียบร้อยงดงามในทุกอิริยาบถ ทั้งยืนเดิน นั่ง นอน มีผู้วิจารณ์ว่า ท่านพระอาจารย์วันเป็นผู้ที่พอดี ไม่ช้า ไม่เร็ว พอเหมาะเสมอในทุกโอกาส

กล่าวถึงทางวาจา ไม่เคยได้ยินท่านใช้คำพูดที่เป็น ผรุสวาจา เมื่อลูกศิษย์ทำผิดหรือล่วงเกินในบางกรณีก็ไม่ใช้คำด่า แต่เป็นคำเทศน์ให้สติ และผู้ที่ถูกเทศน์ก็มีความกลัว จนบางคนถึงกับตัวลั่น ลักษณะของท่านพระอาจารย์วันลูกศิษย์ฝ่ายบรรพชิตก็ดี ญาติโยมที่อยู่ใกล้ชิดก็ดูจะมีความเคารพนับถือ เกรงกลัวท่านมากกว่าผู้ที่อยู่ห่าง มิใช่กลัวถูกด่า แต่กลัวในลักษณะที่ยำเกรง เพราะความเคารพในตัวท่าน

พระอาจารย์วันเป็นผู้ที่ทำตัวของท่านให้เป็นตัวอย่างที่ดี แก่ศิษย์หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นผู้ที่ “ทำให้ดูมากกว่าบอกให้ทำ” จึงเป็นที่เคารพรักของศิษย์ทั่วไป

กิจวัตรส่วนตัวของท่าน ที่ท่านถือปฏิบัติเมื่อเวลาประจำอยู่ที่วัดคือ

1. พอสว่างเข้าสู่ทางเดินจงกรมเมื่อเวลา 6.00 น.

2. ลงไปศาลาการเปรียญทำกิจวัตรและออกบิณฑบาต เวลา 7.00 น.

3. ฉันเสร็จเรียบร้อยขึ้นกุฏิทำความเพียรจนถึง เวลา 12.00 น.

4. พักผ่อนจนถึง เวลา 14.00 น

5. ทำความเพียรจนถึง เวลา 16.00 น.

จากเวลา 16.00 น. เป็นต้นไปเป็นเวลาที่รับแขกและทำกิจอย่างอื่น เช่น กวาดลานวัด และทำการงานด้านอื่นๆ ภายในวัด

6. อบรมพระภิกษุสามเณร เวลา 19.00 น.

7. พักผ่อนร่างกาย เวลา 22.00 น

8. ตื่นนอน เวลา 2.00 น. แล้วทำความเพียร

กิจวัตรส่วนตัวดังกล่าว ในสมัยที่ท่านขึ้นไปอยู่ล้ำอภัยดำรงธรรมตอนต้นๆ รู้สึกว่าสะดวกสบายดีเพราะประชาชนยังไปมาหาสู่ไม่มากนัก ต่อมาเมื่อมีประชาชนไปหามากจึงทำให้เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามเหตุการณ์ แต่เรื่องการนอนท่านเคยฝึกมาแล้วสมัยที่ท่านปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น ท่านบันทึกไว้ว่า พักผ่อนคืนหนึ่งอย่างมากที่สุดไม่เกิน 4 ชั่วโมง


(มีต่อ 7)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2009, 17:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เจดีย์สิริมหามายา ณ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า (จำลอง)
ณ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร



๏ ปฏิปทาทางมักน้อยสันโดษ

พระอาจารย์วัน เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยไม่มักใหญ่ใฝ่สูงมาตั้งแต่เป็นสามเณร ตามที่ท่านบันทึกไว้ จะเห็นได้ว่าท่านมีความตั้งใจจะอุปสมบทเป็นพระก็ต่อเมื่อมีอายุ 25-26 ปี คือต้องการเป็นผู้มีอายุพรรษาน้อยกว่าเพื่อนพระภิกษุที่มีอายุรุ่นเดียวกัน แต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปดั่งคิด การสะสมลาภสักการะก็ไม่มี มีแต่การเฉลี่ยอนุเคราะห์เพื่อนสหธรรมิก ถ้ามีผู้บริจาคเป็นการส่วนตัวก็ได้อนุเคราะห์ไปยังวัดต่างๆ ที่ขาดแคลน แต่ท่านอนุเคราะห์ไปมากก็มีผู้ถวายมาก เข้าในลักษณะที่ว่า มีทางไหลเข้า ก็มีทางไหลออก พระอาจารย์วัน จึงไม่มีสมบัติอะไรนอกจากสมณบริขาร บางท่านอาจจะเข้าใจว่า พระอาจารย์วันเป็นพระที่ร่ำรวย จะว่ารวยก็ถูกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่รวยในทางสงเคราะห์ จนบางทีไม่มีอะไรจะให้ เพราะฉะนั้นอะไรจะมีเหลือ เพราะไม่ได้สะสม

ปฏิปทาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความอดทน ไม่เคยได้ยินท่านบ่นว่าร้อนมาก หนาวมาก ท่านคงคิดว่าพูดออกไปแล้วก็ไม่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้กระมังจึงเงียบเลีย และคำว่าเหนื่อยมาก หิวมาก กระหายมาก ก็ไม่เคยได้ยิน ท่านคงคิดในลักษณะที่ว่า พูดไปแล้วก็คงไม่หายเหนื่อย พูดไปแล้วคงไม่หายหิวหายกระหาย นอกจากจะพักผ่อนเพื่อบรรเทาความเหนื่อย และรับประทานเสีย หรือ ดื่มเสียเพื่อแก้หิว แก้กระหาย และเวลาพระเณรถวายการนวดหรือจับเส้นก็ไม่เคยได้ยินท่านบ่นว่า นวดหนักไปหรือเบาไป มีแต่ถึงเวลาสมควรก็บอกให้เลิก นับว่าท่านเป็นผู้ที่อดได้และทนได้จริงๆ


รูปภาพ
เจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (จำลอง)
ณ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร



สำหรับปฏิปทาที่เป็นส่วนภายในท่านก็ไม่เคยนำมาเล่า นอกจากผู้เป็นศิษย์จะเรียนถามเมื่อมีความขัดข้องทางภาวนา หรือเวลาท่านแสดงธรรม ผู้เขียนไม่สามารถที่จะอาจเอื้อมนำมาเขียนว่า ท่านพระอาจารย์วัน มีคุณธรรมอย่างนั้นอย่างนี้เพราะเป็นการเหลือวิสัยของผู้เขียน จึงขอมอบให้สานุศิษย์ทั้งหลายนำไปพิจารณาไตร่ตรองเองเถิด และอีกประการหนึ่งในการเขียนประวัตินี้ ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะผิดหวังที่ไม่ได้เขียนเรื่องปาฏิหาริย์ ลงในหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนได้ยินคำพูดที่ท่านพระอาจารย์วันพูดไว้ว่า การเขียนประวัติ ถ้าให้บุคคลอื่นเขียน มีทางเสียอยู่ 2 ทางคือมากเกินไป หมายความว่ายกย่องเกินไป และน้อยเกินไปคือขาดตกบกพร่อง ผู้เขียนจึงนำมาเล่าสู่กันฟังเฉพาะในเรื่องที่มองเห็นกันง่ายๆ เท่านั้น

คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวางตัว ท่านไม่แสดงออกให้เห็นเลยว่า โปรดคนนั้นคนนี้ในบรรดาสานุศิษย์ ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์หรือแม้แต่พระเณรที่เป็นผู้อุปัฏฐาก เพื่อความเข้าใจดีของทุกฝ่าย ผู้เขียนจึงขอคัดจากลายมือของพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม) ที่ท่านเขียนไว้มาให้พิจารณาเอง ดังนี้

“จะเป็นด้วยกรรมอะไรของข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ เมื่อมาอยู่ในสถานที่ถ้ำอภัยดำรงธรรมแห่งนี้ ทำให้อยู่ได้นานกว่าสถานที่แห่งอื่นทั้งหมด ทั้งยังคิดวางโครงการอยากจะปรับปรุงให้มีความเจริญเกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ ถึงกับนำญาติโยมทำทางจากบ้านมาหาที่พัก และยังคิดสร้างพระพุทธรูปไว้ที่ถ้ำพวง เพื่อเปลี่ยนพิธีกรรมเซ่นสรวงผีสางในภูเขาประจำปีของชาวบ้าน ให้หันมากราบไหว้บูชาพระพุทธรูปแทน ซึ่งยังจะได้มีส่วนแห่งบุญของตนเท่าที่ควร จึงได้มีการทำทางขึ้นหลังเขาสู่ถ้ำพวง และเลยลงไปถึงหมู่บ้านภูตะคาม ตามที่พวกชาวบ้านนั้นขอร้อง งานการก่อสร้างยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ และจัดให้มีงานนมัสการปูชนียวัตถุองค์พระปฏิมากร พระมงคลมุจจลินท์เป็นประจำทุกปีไป แม้ว่าการเงินในการก่อสร้างจะร้างจะไม่มีตัวเงินงบประมาณก็ตาม คงจัดทำการก่อสร้างไปตามได้ตามมี เท่าที่ท่านสาธุชนทั้งหลายมีศรัทธานำมาบริจาค


รูปภาพ
สารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า (จำลอง)
ณ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร



ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่อคนส่วนมากยังยินดีพอใจสนับสนุนการก่อสร้างอยู่แล้ว ต้องพยายามทำตามโครงการที่วางไว้แล้วนั้นจนเป็นผลสำเร็จ เพราะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำไว้เพื่อเป็นสมบัติของบ้านเมือง ไม่ได้หวังกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนจำพวกไม่พอใจ ไม่มองเห็นผลประโยชน์ด้วยมีเพียงจำนวนน้อย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาแต่บางคนอาจจะเพ่งมองข้าพเจ้าในแง่ผิดบ้างก็มี เช่นหวังเพื่ออำนาจ อิทธิพลยากดัง อยากใหญ่ อยากเด่น อยากรวย อยากปฏิวัติอะไรทำนองนี้ ท่านผู้ปัญญามีจิตเป็นธรรม ปราศจากอคติ จงพิสูจน์หาความจริงได้ทุกโอกาส อย่าหลับตามองดู จงลืมตามองดูแบบคนตาดีอย่าอุดหูฟัง จงเงี่ยหูทั้งสองฟังเหมือนคนมีหูทิพย์ อย่าคิดเหมือนคนวิกลจริต จงใช้ความคิดให้ลึกซึ้งต่อเหตุผลเหมือนนักปราชญ์บัณฑิต”

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านบันทึกของพระอาจารย์วัน ที่ยกมานี้ คงจะเข้าใจปฏิปทาของท่านได้เป็นอย่างดีผู้เขียนขอสรุปลงอย่างสั้นๆ ว่า พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร หรือพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เป็นพระที่ประกอบด้วยองค์คุณของพระสงฆ์ คือ

สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี

อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม

สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ

ท่านจึงเป็นพระสงฆ์ที่น่าเคารพนับถือ บูชา กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจรูปหนึ่งอย่างแน่นอน หากมีความบกพร่องผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอประทานอภัย และขอรับผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากมีความดีใดๆ อันจะพึงบังเกิดเพื่อน้อมบูชาพระคุณของพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยคารวะ


พระปริยัติสารสุธี
ในนามคณะศิษยานุศิษย์




>>>>> จบ >>>>>


รูปภาพ
กุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า (จำลอง)
ณ วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 09:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


เป็นอัตโนประวัติที่ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม เขียนเอง


ก่อนอื่นที่จักกล่าวถ้อยแถลงเล่าเรื่องราวชีวประวัติของข้าพเจ้า ต่อไปนั้น ขอกล่าวแถลงถึงมูลเหตุความเป็นมาแห่งวงศ์ตระกูลเสียก่อน ดังนี้ คือ ตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร อันเป็นมาตุภูมิบ้านเกิดของข้าพเจ้า เมื่อสมัยก่อนประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ภูมิอากาศในถิ่นนี้เป็นป่าช้างดงเสือ มีต้นไม้นานพันธุ์ เช่น ตะเคียน ประดู่ แดง ยาง เต็ง รัง พะยอม ตะแบก ข่าแต้ เป็นต้น และเครือเขาเถาวัลย์นานาชนิด มีห้วย หนอง บึง บาง อยู่ตามราวป่าทั่วๆ ไป มีสัตว์สาลาสิงห์นานาชนิด ปู ปลา อาหาร นก หนู ปูปีก มีเกลื่อนกลาดดาษดื่นดกหนา หาพบได้ตามต้องการ อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่เคยรู้ความแห้งแล้ง การเพาะปลูกทำน้อย ได้รับผลมาก การคมนาคมไม่มี แม้การประกอบกสิกรรมก็ทำเพียงเพื่อให้พออยู่พอกินเท่านั้น เพราะไม่มีแหล่งขาย ถือการแบ่งปันกันกินและแบ่งกันใช้ ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมิตรสหายและแขกเหรื่อที่สัญจรไปมา ไม่มีการซื้อขายเรื่องอาหารการกิน การพัก การลัก การปล้น ฉก ชิง วิ่งราว ยื้อแย่ง เอาสิ่งของกันไม่มี แม้บางคนไม่มีเงินทอง ก็ไม่ต้องเดือดร้อน อยู่กันอย่างผาสุกสบาย

เพราะฉะนั้น ประชาชนพลเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศดังกล่าวนั้น จึงติดเป็นนิสัยสันดานในความเป็นอยู่ผาสุกสบายจนแก้ไม่ตกจนถึงปัจจุบันนี้ เลยเกิดเป็นคนล้าสมัย ทำมาหากินไม่เทียมทันกับความวิวัฒนาการของโลก

เพราะการเพาะปลูกง่าย จึงติดเป็นนิสัยขี้เกียจอ่อนแอ เพราะขอกันกินกันใช้ได้ จึงติดนิสัยเป็นคนประกอบการพาณิชยกรรมไม่เป็น

เพราะทำอะไรง่ายๆ ไม่ยากลำบาก จึงติดนิสัยเป็นคนโง่ ไม่มีหัวคิดปัญญา

เพราะงานในหน้าที่ ไม่เคยทำด้วยความรีบร้อน จึงติดเป็นนิสัยเป็นคนเซื่องซึมเซ่อซ่า ไม่คล่องแคล่วว่องไว

เพราะไม่เคยมีโจรขโมย จึงติดนิสัยเป็นคนไม่มีระเบียบในการเก็บงำสิ่งของ

เพราะไม่เคยมีผู้คดโกงฉ้อฉลเอารัดเอาเปรียบกัน จึงติดนิสัยเป็นคนซื่อ หาความรอบคอบมิได้

เพราะไม่เคยถูกรังแกข่มเหง จึงติดนิสัยเป็นคนขี้ขลาด ไม่องอาจกล้าหาญชาญชัย

เพราะการคมนาคมไม่สะดวก จึงติดนิสัยเป็นคนอ่อนสังคม ต้อนรับขับสู้ไม่เป็น

เพราะเคยกลัวช้างเสือในเวลาค่ำคืน จึงติดนิสัยเป็นคนนอนตื่นสาย

เพราะเคยถือเป็นกันเอง จึงติดนิสัยเป็นคนไม่รู้จักรักษาเกียรติและการให้เกียรติ

เพราะไม่เคยถือสาหาเรื่องกันในการพูดการจาและการทำการออกความคิดเห็น จึงติดเป็นนิสัยเป็นคนทำอะไรไม่รู้จักรักษากิริยามารยาท พูดไม่ค่อยรู้จักคำพูดและน้ำเสียงที่หยาบ ที่ละเอียด คำที่ควรหรือไม่ และคำต่ำหรือคำสูง และไม่สันทัดต่อการออกความคิดเห็น

เพราะไม่มีแหล่งสถาบันการศึกษาสูงในทางโลก และไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปศึกษาตามสถาบันเท่าที่ควร จึงติดนิสัยเป็นคนไม่กระตือรือร้นต่อการศึกษา หรือบางบุคคลที่เผอิญได้ไปรับการศึกษาจนได้รับวุฒิบัตร จึงทำให้ตื่นความรู้ของตน เกิดความทะนงตนขึ้น เย่อหยิ่งจองหอง มองคนอื่นต่ำต้อยน้อยหน้ากว่าตน ถึงกินปลาร้าและไล่หมาไม่เป็น จึงมีคำติดปากอยู่ว่า “ว่าลืมพ่อ เรียกพ่อตนเองว่า ลุง”

เพราะไม่เคยมีแหล่งการค้า ไม่เคยเข้าสังคมที่มีเกียรติ จึงติดนิสัยเป็นคนงงงวย เก้อเขิน ขี้อาย ขี้กลัว หรือบางคนที่เผอิญมีโอกาสได้ไปผ่านความเจริญมาแล้ว ชักจะเห่อเหิมหลงใหลลืมตนที่เรียกว่า “มะพร้าวตื่นดก” ศิลปวิทยาไม่มี หน้าที่การงานไม่มี แต่มักจะเบ่งบู๊ เป็นนักเที่ยวจนกระเป๋ากางเกงขาด เซ็นชื่อไม่เป็น แต่ปากกาหมึกซึมติดกระเป๋าเสื้อเป็นตับๆ หาเงินไม่เป็นแต่เอาบุหรี่ซิกาแรตมาเป็นเกียรติ หรือนาฬิกาข้อมือมาเป็นเกียรติ นี่คือ ได้กินอิ่มแล้วลืมคุณของข้าว ผาสุกสบายจนลืมพ่อแม่ สนุกสนานจนลืมตัว

เพราะความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยดินฟ้าอากาศและพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความเยือกเย็นสงบสุข ดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงเป็นเหตุให้คณะญาติผู้ใหญ่ของข้าพเจ้าที่ได้ประสบกับความแห้งแล้งเกิดขึ้นในถิ่นเดิมนั้น ทำให้อลเวงป่วนปั่นเดือดร้อนวุ่นวานระสับระส่ายกันทั่วไปหลายหมู่บ้าน จึงได้ออกเที่ยวตระเสณแสวงหาภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยฟ้าฝนชลขาวและพืชพันธัญญาหาร

เผอิญได้มาพบที่บ้านตาลโกนอันเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมกับความเจตนารมณ์ของตน แล้วเดินทางกลับไปบ้านเดิมของตน ปรึกษาหารือกันเป็นที่ตกลงเรียบร้อยแล้ว เตรียมสิ่งของเสบียงอาหารสำหรับเดินทางและล้อเกวียนเสร็จแล้ว ออกเดินทางอพยพครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านตาลโกนตั้งแต่ครั้งนั้นต่อมา บ้านเดิมคือ บ้านหนองหลัก ตำบลโพนบก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่อพยพกันครั้งนั้นจะมากน้อยเท่าไรนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติๆ รุ่นนั้นหลายคน กับลูกๆ คือ รุ่นบิดามารดาของข้าพเจ้าเท่านั้น และได้มีพวกที่อยู่บ้านใกล้เคียงกันมาอีก เช่น บ้านเศรษฐี บ้านหนองฮาง บ้านหนองแฮ้ง บ้านไผ่ใหญ่เป็นต้น และปีต่อๆ ไปก็ยังมีผู้ติดขึ้นมาอยู่ด้วยอีกเรื่อยๆ

เดิมทีที่บ้านตาลโกนนั้น เป็นบ้านเล็กๆ ไม่กี่หลังคาเรือน เคยเป็นภูมิประเทศที่บ้านผู้เมืองคนมาก่อนแล้วแต่นาน คงเหลือเป็นถิ่นที่รกร้างเท่านั้น จึงปรากฏว่ามีต้นตาลใหญ่อยู่ที่ตั้งบ้านนั้น แต่เพราะเป็นต้นตาลแก่มาก จึงเกิดเป็นโพรงที่ลำต้น ชาวบ้านเรียกว่า ตาลโกน อาศัยมูลเหตุจากต้นตาลแก่ ไม่ปรากฏผู้ใดปลูกนั้นเองเป็นนิมิต ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “บ้านตาลโกน” เดิมจริงตั้งบ้านกันอยู่ที่บริเวณต้นตาลนั้น เมื่อชาวบ้านอพยพจากเมืองอุบลมากันมาก จึงขยับขยายออกมาตั้งบ้านเรือนกันออกมาทางทิศต้นตาลโดยลำดับ เพราะบริเวณพื้นที่กว้างขวางกว่าที่เดิม ภายหลังมาที่บริเวณต้นตาลนั้นเลยเป็นที่สวนที่นาของเอกชน ตกลงว่า ต้นตาลโกนอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน

เมื่อได้ว่าถึงเรื่องบ้านแล้ว ก็เลยจะถือโอกาสเล่าเรื่องราวของบ้านตาลโกนต่อไปเท่าที่จำได้ เพื่อกันลืมของอนุชน

สำหรับบ้านนี้มีบริเวณเป็นพื้นราบเสมอไปทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ ทางทิศตะวันตกของบ้าน จากริมหมู่บ้านจะค่อยๆ ลาดต่ำลงไปโดยลำดับ จนถึงแม่น้ำยาม ประมาณ ๑ กม. เศษ เลยจากแม่น้ำไปประมาณ ๑ ก.ม. จะเป็นดงหรือป่าชัฏ มี ๒ แห่งติดต่อกัน คือ ดงพระเจ้า กับ ดงพันนา ในดงมีเสือมีหมี ผีร้าย กวาง ฟาน ละมั่ง หมูป่า เป็นต้น นอกจากนายพรานแล้ว ถ้าคนเดียวจะไม่กล้าเข้าไป

ถัดจากดงออกมาหาแม่น้ำยาม จะเป็นป่าไม้เต็ง รัง ประดู่ แดง เป็นต้น และเป็นทำเลปล่อยสัตว์พาหนะและสัตว์ของเลี้ยง มีวัวควาย เป็นต้น เพราะสมัยนั้น แต่ละครอบครัวจะมีควายฝูง วัวฝูง ครอบครัวละมากๆ ไม่ต่ำกว่าอย่างละ ๒๐ ตัว ขึ้นไป ฤดูทำนา นอกจากควายหรือวัวตัวที่จะใช้งานแล้ว ต้องไล่ต้อนเป็นฝูงๆ ไปปล่อยไว้ในบริเวณที่ดังกล่าวนั้นทั้งหมด ไม่มีการเลี้ยงดู ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน จึงจะไปเยี่ยมคอยสำรวจดูครั้งหนึ่ง นอกจากเสือป่า หรือหมาไนจะกัดกินแล้วไม่มีการเสียหาย เพราะสมัยนั้น เสือมนุษย์ยังไม่มี คนยังเป็นคน สัตว์ยังเป็นสัตว์ แม้ควายวัวก็ไม่นิยมการฆ่ากิน จะได้กินเนื้อควายเนื้อวัว ก็ต่อเมื่อมันตายตามยถากรรมของมันจึงจะได้กิน เพราะท่านถือว่า ควายก็ดี วัวก็ดี เป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์ ถ้าผู้ใดไปฆ่าควาย ฆ่าวัว ถือกันว่าเป็นคนชั่วช้าลามกมาก ถึงกับเหยียดหยามประณามชื่อคนเช่นนั้น เป็นคนนอกสังคม

ถัดจากแม่น้ำยามมาหาบ้าน เป็นพื้นที่ทำนา แต่บางปีที่น้ำมาก ข้าวกล้าจะถูกน้ำท่วมตายเป็นส่วนมาก บริเวณดังกล่าวนั้นเรียกกันว่า ทุ่งตาลโกน และทุ่งหนองจาน ระหว่างแม่น้ำยามกับบ้าน มีแหล่งน้ำอีกแห่งหนึ่งคล้ายแม่น้ำ แต่ต้นน้ำและปลายน้ำขาดไป เรียกกันว่า กุดปลาค่าว ริมฝั่งสองข้างรกชัฏไปด้วยป่าและกอไผ่ มีเต่ามีปลามาก ผีก็ดุร้าย มีคนที่ถูกผีแห่งนี้ทำร้าย ตายไปแล้วหลายคน บางปีผีแห่งนี้จะเข้าไปอาละวาดผู้คนในบ้านถึงเจ็บป่วยล้มตายกันอย่างน่ากลัว เวลาค่ำมืด มักปรากฏตัวเป็นหมาใหญ่ตัวดำที่อกขาวให้คนพบ หรือเป็นห่านร้อง เป็นไก่กกลูก

สมัยเมื่อท่านอาจารย์เสาร์และท่านอาจารย์มั่น ไปพักวิเวกอยู่ที่ราวป่าใกล้กับหนองแสงใหญ่นั้น ท่านได้ให้พวกชาวบ้านปฏิญาณตนนับถือพระไตรสรณาคมน์ ผีแห่งนี้จึงค่อยจืดจางมาโดยลำดับ ไม่ดุร้ายเหมือนแต่เดิม สำหรับแม่น้ำยามนั้น เกิดจากภูผาเหล็กผ่านมาทางทิศตะวันออกของบ้าน แล้วอ้อมไปทางทิศเหนือผ่านไปตกแม่น้ำสงครามในเขตอำเภออากาศอำนวย กว้างประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร มีไม้ไผ่ป่าอยู่ตามบนฝั่งทั้งสองข้าง มีน้ำไม่ขาดแห้งตลอดปี มีเต่า ปลา กุ้ง หอย นานาชนิด น้ำใสสะอาด แต่มีรสกร่อยบ้างเล็กน้อย

บ้านตาลโกนมีหมู่บ้านใกล้เคียงอยู่ล้อมรอบดังนี้ ทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ ก.ม. มีหมู่บ้านหนองหวาย, ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๔ ก.ม. มีหมู่บ้านตาลเนิ้ง ใกล้เข้ามาอีก มีหมู่บ้านหนองหลักช้าง สมัยก่อนที่ตั้งของบ้านนี้เป็นที่คนเลี้ยงช้างนำช้างมาผูกไว้ เพราะมีเสาไม้เนื้อแข็งอยู่กลางหนองปรากฏอยู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๓ ก.ม. มีหมู่บ้านนาเตียง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำปลาหาง

ทางทิศใต้มีหมู่บ้านโคกพุทรา บ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับหนองเลี้ยงช้าง สมัยก่อนพวกช้างนำเอาช้างมาเลี้ยงตามริมฝั่งของหนองนี้ ปรากฏว่า มีบ่อน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน เรียกว่า “สร้างคำ” ซึ่งอยู่ในเขตนาปู่ของข้าพเจ้า พวกช้างคงมาพักอยู่ที่เป็นบริเวณของบ้านนั้นเองจึงทำให้มีหมู่ไม้กะทันเกิดขึ้น คือเป็น โคกกะทัน เมื่อเป็นหมู่บ้านแล้วจึงตั้งชื่อตามต้นกะทันว่า บ้านโคกพุทรา

ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒ ก.ม. เศษ มีหมู่บ้านดงแสนตอ บ้านนี้ต้องเจาะดงพันนาตั้งบ้าน อุดมด้วยของป่าและต้นไม้ผล เช่น มะไฟ ขนุน เป็นต้น ทั้งกินเองทั้งแบ่งปันพี่น้องบ้านอื่นก็ไม่หมด เน่าทิ้งเกลื่อนกลาดตามสวน มีหนองใหญ่อยู่ข้างบ้าน ชื่อว่า หนองขุมดิน ปลามาก เต่าก็ตัวโตๆ ทั้งนั้น หอยมากกว่าแห่งอื่น และมีหมู่นกนานาพันธุ์มาอาศัยอยู่จำนวนมาก ฝูงปลาจะอ้วนพีกว่าที่แห่งอื่น ทางทิศเหนือประมาณ ๗ ก.ม. เศษ มีหมู่บ้านสร้างดู่ บ้านสร้างแป้น ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำยามเหมือนกัน

ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๖ ก.ม. มีบึงใหญ่ที่อุดมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด มีแหล่งน้ำไหลออกมาชั่วฟ้านาปีตลอดกาล แต่ผีดุร้ายหน่อย ใครไปทำอะไรที่ไม่ประสบอารมณ์มัน มีหวังต้องตายแน่ สมัยปัจจุบันนี้เหมาะสมในการปรับปรุงเป็นอ่างเก็บน้ำดีที่สุด เพราะหมู่บ้านใกล้เคียงมีอยู่ทุกทิศทุกทาง แต่รอบๆ บ้านยังเป็นป่าอยู่โดยรอบ

ภายในบ้านแต่ละครอบครัว จะเป็นสวนครัวประจำทุกครอบครัว มีต้นพร้าว ต้นหมาก มะม่วง มะขาม พลู น้อยหน่า ทับทิม ข่า ขิง เป็นต้น มีการถ่ายหนักถ่ายเบา ถ้ากลางคืนชอบขุดถ่ายในบริเวณสวนครัว ถ้าเป็นกลางวันต้องวิ่งเข้าป่า ไม่นิยมทำส้วมถ่าย

ทางทิศตะวันออกของบ้าน จะเป็นป่าที่รกทึบมาก เรียกกันว่า “ดอนยาครู” ที่บริเวณนั้น สันนิษฐานแล้วคงเป็นวัดมาแต่สมัยก่อน และปรากฏว่ามีหลุมเพาะก็มี ผีชักจะดุอยู่บ้าง ใครๆ ไม่กล้าจะเข้าไปคนเดียวได้ ทั้งเป็นทางผ่านไปป่าช้าด้วย ทางทิศใต้บ้าน เป็นที่ลุ่มบ้าง เป็นที่ดอนบ้าง และเป็นป่าเต็งรังส่วนมาก พื้นที่เป็นหินลูกรังทั่วๆ ไป แต่สำหรับเรื่องน้ำดื่มนั้น ขุดน้ำบ่อได้ในที่ทั่วไปไม่ลำบากทั้งภายในหมู่บ้านและตามไร่นา เป็นน้ำที่ใช้ดื่มได้ทั่วไป

เท่าที่เล่ามาแล้วนั้นเป็นสภาพเดิมของบ้านตาลโกนในยุคนั้น ยุคปัจจุบันนี้ให้ดูด้วยตนเอง จักไม่นำมากล่าวแต่ประการใด


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 03 ก.พ. 2010, 18:38, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ อัตโนประวัติ

ข้าพเจ้าเป็นคนสองตระกูล คือ ตระกูลสีลารักษ์ เป็นตระกูลบิดา ตระกูลมาริชิน เป็นตระกูลมารดา ท่านทั้งสองได้ประกอบมงคลสมรสกันที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน (สว่างแดนดิน) จังหวัดสกลนคร เมื่อแต่งงานเสร็จแล้ว คงอยู่กับพ่อตาแม่ยายมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีสถานะเดิมดังนี้คือ นายแหลม สีลารักษ์ เป็นบิดา นางจันทร์ สีลารักษ์ เป็นมารดา เกิดเมื่อ ๑ ฯ ๖ ๙ ปีจอ วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน จังหวัดสกลนคร ญาติๆ ตั้งชื่อให้ว่า วัน เพื่อให้เสียงกินสัมผัสกับชื่อของมารดา มีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑ คน ชื่อ ผัน

เมื่อมารดาคลอดบุตรคนที่ ๒ แล้ว อีกไม่นานวันเท่าไร ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปตามยถากรรม อายุข้าพเจ้าพึ่งย่างเข้าปีที่ ๓ เท่านั้น มารดาก็จากไป ไม่มีวันที่จะกลับมาให้ลูกๆ อยู่ในอ้อมอกอีก

จากนั้นต่อไป บิดาก็กลับคืนไปอยู่บ้านของปู่ตามเดิม ข้าพเจ้าต้องติดตามบิดาไปอยู่อาศัยกับปู่ไปเรื่อยๆ ฝ่ายน้องชายต้องเป็นภาระของยายเลี้ยงดูปูเสื่อจนตลอด

ครั้นภายหลัง บิดาได้ประกอบพิธีแต่งงานใหม่อีก กับนางพิมพ์ สารทอง ได้ไปสร้างบ้านหลังหนึ่งอยู่เฉพาะ มีบุตรด้วยกัน ๓ คน เป็นชายด้วยกันทั้งสิ้น คือ นายบุญโฮม ๑ นายนิยม ๑ นายดำ ๑ แต่ข้าพเจ้าคงยังอยู่กับปู่ตามเดิม

แต่การทำนานั้นก็ บิดาของข้าพเจ้านั้นเอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครอบครัวของปู่ เพราะบิดาของข้าพเจ้าเป็นบุตรคนโต และน้องๆ ที่โตหน่อยก็เป็นผู้หญิง จึงแยกการประกอบการงานยังไม่ได้ ทั้ง พี่ๆ น้องๆ ด้วยกันก็ไม่เคยมีปากเสียงกัน อีกประการหนึ่ง ปู่เป็นคนนิสัยใจคอกว้างขวางกับพี่น้องลูกหลานมาก เช่น พวกญาติๆ ที่อพยพติดตามมาภายหลัง ยังไม่ได้ที่อยู่ หรือที่ทำมาหากิน ต้องมาอาศัยอยู่และทำนาทำสวนอยู่กับท่าน จนกว่าจะมีบ้านอยู่และมีที่นาที่สวนทำมาหากินเรียบร้อยแล้วจึงจะแยกไปอยู่เป็นส่วนตัว ถ้าประเภทครอบครัวหญิงหม้ายที่ลูกๆ ยังเด็กอยู่ ปู่จะต้องเป็นที่พึ่งให้แก่พวกนั้นเป็นพิเศษ คืออาศัยทำนาด้วย ทำสวนด้วย ตลอดทั้งอาหารการบริโภค เครื่องนุ่งห่ม และการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีค่าเช่า ค่าบริการ หรือดอกผลแต่ประการใด ตระกูลของปู่ ย่า ก็ดี ตระกูลของ ตา ยาย ก็ดี ไม่เคยอดอยากทุกข์จน และไม่เคยลุ่มรวย เรียกว่า ไม่ถึงกับอด และไม่ถึงกับมั่งมีอย่างประเภทคนรวยทั้งหลาย

สมัยนั้นมีการทำนาเป็นพื้นและมีสวนกล้วย สวนอ้อยพออาศัยเป็นไปให้อยู่กันผาสุกสบายเท่านั้น ควายฝูง วัวฝูง ถึงจะมีกันไว้มากๆ ก็จริง แต่เลี้ยงกันไว้เพื่อให้มีมาก นานๆ จึงจะได้ขายทีหนึ่ง วัวแม่สาวตัวละ ๖ สลึงอย่างแพง วัวเกวียนคู่ละ ๑๒ บาท ๑๕ บาท ๒๐ บาทเป็นอย่างแพง ควายหนุ่มตัวละ ๑๕ บาท หรือ ๒๐ บาท ข้าวสารเหนียวเอาใส่เกวียนไปขายบ้านท่าบ่อ ศรีสงคราม แสนละ ๖ สลึง หรือ ๓ บาท (๑๒๐ ก.ก.) ถ้าไปขายอำเภอกุมภวาปีต้องแสนละ ๓ บาท เป็นมาตรฐาน ถ้าไปขายได้ถึงเมืองโคราชจะขายได้อย่างมากก็ แสนละ ๖ บาทเป็นอย่างแพง

คนขยันและแข็งแรงจะเอาข้าวสารเหนียวไปขายได้ปีละ ๑ - ๓ เที่ยวเป็นอย่างมาก นอกนั้นก็เอาควายผู้ขนาดล่ำสันไล่กันลงไปขายสระบุรีบ้าง อยุธยาบ้าง ปราจีนบุรีบ้าง นครนายกบ้าง ไปกันเป็นแรมๆ ปี จึงจะได้กลับ บางคนที่เป็นคนหนุ่มเกิดแต่งงานอยู่ทางโน้นเลยก็มี การขายนั้น ถ้าเป็นควายดี ร่างกายแข็งแรง จะขายได้อย่างมากไม่เกินตัวละ ๓๐ บาท คิดแล้วคงตกเป็นกำไรอย่างมากตัวละ ๕ - ๑๐ บาท เท่านั้น บางพวกก็เอาวัวผู้ไล่ต้อนไปขายถึงเมืองอังวะ ย่างกุ้ง ประเทศพม่า อย่างดีขายกันได้ตัว ๑๐ - ๒๐ บาท กำไรตกตัวละ ๕ - ๑๐ บาทเช่นเดียวกัน แต่การไปขายวัวประเทศพม่านั้น ต้อง ๒ - ๓ ปีจึงจะกลับถึงบ้าน บางคนเกิดตกค้างอยู่ถึงเมืองพม่าก็มี

ตามธรรมเนียมของพวกพ่อค้าควาย พ่อค้าวัว ต้องมีวัวต่างสำหรับบรรทุกสัมภาระบางอย่างไปด้วย ๒ - ๓ ตัว พ่อค้าแต่ละพวก จะต้องมีหัวหน้านำหมู่คณะหนึ่งคน เรียกกันว่า “นายฮ้อย” สำหรับนายฮ้อยนั้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบของหมู่คณะทุกประการ ประกอบด้วยลักษณะดังนี้ คือ

๑) เป็นผู้ชำนาญทาง

๒) เป็นผู้พูดจาคล่องแคล่ว

๓) เป็นผู้รู้กฎหมายระเบียบและประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้มีปัญญา ความฉลาดในการติดต่อสังคม ในการซื้อขาย ในการรักษาทรัพย์ ในการรักษาชีวิตเป็นต้น

๔) เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โอบอ้อมอารี มีเมตตาจิต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่คดโกง ฉ้อฉล เบียดบังเอาเปรียบในลูกน้องของตน

๕) เป็นผู้มีความแกล้วกล้าสามารถอาจหาญ มีการยอมเสียสละ ต่อสู้เหตุการณ์โดยไม่หวั่นไหว

๖) เป็นผู้เก่งทางอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า ตีไม่แตก จับไม่อยู่ เป็นต้น

๗) เป็นผู้ฉลาดในการวางแผน เช่น จะออกเดินทางในเวลาใด ควรจะให้ใครออกก่อน อยู่ท่าม และอยู่ตามหลัง พักกลางวันและพักค้างคืนที่ใด จะให้น้ำให้หญ้าแก่สัตว์อย่างไร ไปช้าไปเร็วขนาดใด เป็นต้น

๘) เป็นผู้รู้จักสอดส่องมองรู้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้น

นี่คือ ลักษณะผู้เป็นนายฮ้อย ผู้ที่จะเป็นนายฮ้อยนั้น ไม่มีการหาเสียงอย่างผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองทั้งหลาย เป็นความเห็นดีเห็นชอบของเพื่อนฝูง หรือเฒ่าแก่บ้านเมือง โดยเพื่อนฝูงหากขอร้องให้เป็น และพร้อมกันยกยอกันขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องเคารพนับถือเชื่อฟังกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ร่วมเป็นร่วมตายกัน

สมัยนั้นพวกพ่อค้าวัว พ่อค้าควาย ต้องไล่ต้อนสัตว์ลงไป จะต้องผ่านเขตเขาใหญ่ ซึ่งมีมหาโจรเขาใหญ่คอยสกัดทำร้ายเป็นประจำ ด่านผู้ร้ายที่สำคัญขนาดเขตอันตรายสีแดง ก็คือ “ปากช่อง” “ช่องตะโก” พวกพ่อค้าทั้งหลายจะขี้ขลาดตาขาวลาวพุงดำไม่ได้ ต้องกล้าเก่ง ฮึกหาญ เตรียมต่อสู้ทุกคน ไม่เขาก็เราขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชาย ต้องบุกให้ผ่านพ้นอันตรายให้จนได้ นายฮ้อยต้องมีปืนมีดาบติดตัวเสมอ เมื่อมีเวลาเหตุการณ์ ต้องออกหน้าออกตาในการต่อสู้ ถ้านายฮ้อยดีก็ปลอดภัยทั้งขาไปขากลับ

เมื่อเวลาขากลับนั้น จวนจะถึงบ้านแล้ว ต้องพักแรมในสถานที่ใดที่หนึ่งก่อน แล้วส่งข่าวไปหาทางบ้าน ว่าพรุ่งนี้จะได้เดินทางกลับมาถึงบ้านเวลาประมาณเท่านั้น ก่อนจะถึงบ้านประมาณ ๒ - ๓ ก.ม. จะต้องจุดประทัดหรือยิงปืนเป็นเครื่องสัญญาณ ฝ่ายพี่น้องลูกเมียได้ยินสัญญาณแล้วก็เตรียมตัวออกไปต้อนรับห่างจากบ้านประมาณ ๑ ก.ม. ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีบรรณาการฝากต้อนกันโดยความร่าเริงบันเทิงใจ ฝ่ายภรรยาบางคนถึงกับน้ำตาคลอเลย เพราะความปลื้มปีติที่ได้พบหน้าสามีของตน พวกพ่อค้าทั้งหลายมักจะเตรียมเสื้อผ้า ขนม ประทัด มาแจกลูกหลานของตนในเวลานั้น พวกเด็กๆ เวลาได้รับของแจกก็ดีใจใหญ่ เดินจุดประทัดกลับบ้านสนั่นหวั่นไหว ข้าพเจ้าเองก็เคยไปต้อนรับลุงกับเพื่อนๆ เหมือนกัน

สำหรับการเอาวัวควายไปขายในสมัยนั้น ได้ยินผู้ที่เคยไป เล่าให้ฟังว่า การเดินไปกว่าจะถึงแหล่งขาย ลำบากมาก บางครั้งเกิดวัวควายเจ็บป่วยล้มตายจนขาดทุนป่นปี้ก็มี หรือวัวควายเกิดเจ็บป่วยแล้วรักษานานหาย ต้องขายขาดทุนก็มี บางครั้งเกิดโจรผู้ร้ายวางแผนแย่งชิงเอาไปก็มี บางครั้งเกิดการต่อสู้กับพวกผู้ร้าย ถูกบาดเจ็บไปก็มี เกิดต่อสู้กันถึงตายก็มี บางครั้งเกิดไปผ่านอหิวาตกโรค หรือ ฝีดาษ ซึ่งกำลังเกิดระบาดระหว่างทาง โดยมากมักเป็นบ่อยที่โคราช เกิดป่วยหรือตายด้วยโรคระบาดนั้นก็มี

ฝ่ายพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงและลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เป็นห่วงในผู้ที่จากไปมากที่สุด คอยฟังข่าวคราวสุขทุกข์ของผู้จากไปอยู่ทุกวิถีทาง และคอยการกลับว่าวันไหนหนอจะโผล่หน้ามาถึงบ้าน คอยแล้วคอยเล่าจนเป็นจินตนาคติพังเพยว่า “เหมือนนกยางคอยปลา เหมือนนกกะทาคอยปลวก เหมือนลูกรวกอยู่น้ำคอยท่าหมู่ฝน”

เพราะฉะนั้น เมื่อคณะพ่อค้าเหล่านั้นเดินทางกลับบ้านจวนจะถึง จึงต้องส่งข่าวให้ทางบ้านทราบ และนัดวันเวลา ตลอดถึงเส้นทางให้ทราบเรียบร้อย คืนวันนั้น มักจะไม่ได้นอนกันเพราะความดีใจที่บอกไม่ถูก พอถึงเวลานัดแล้ว ขบวนออกไปต้อนรับที่นอกบ้านนั้นมีเป็นขบวนใหญ่น่าดู คล้ายกับขบวนต้อนรับเสด็จก็ว่าได้ ขณะที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหน้ากันแล้ว จึงแสนที่จะปลื้มใจดีใจทั้งสองฝ่าย ผู้ที่บ่อน้ำตาอยู่ลึกก็เพียงเต็มตื้นในจิต แต่ผู้ที่บ่อน้ำตาอยู่ตื้น ก็จะไหลออกอย่างกลั้นไม่อยู่

ฝ่ายผู้เป็นภรรยามักจะแสดงความบริสุทธิ์ของตนเพื่อให้สามีทราบถึงความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการนุ่งห่มให้สุภาพเรียบร้อยตามปกติของแม่บ้านที่ดี หาได้ประเจิดประเจ้อเหมือนแฟนๆ สมัยปัจจุบันนี้ไม่ เพราะประเพณีของผู้หญิงในสมัยนั้น เมื่อแต่งงานไปแล้ว จะต้องงดความเป็นสาวออกทันที ไม่สนใจต่อการแต่งเนื้อประเทืองกายให้หรูหรา รักษาความสวยงามของตนด้วยความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยเท่านั้น จะมีบ้างก็สมัยที่งานเทศกาลของบ้านเมือง หรือหลังจากการคลอดบุตรไปแล้วเท่านั้น

สมัยนั้นแม่บ้านทั้งหลายจึงไม่เสียความประพฤติและไม่ทำลายประเพณีอันดีงามภายในตระกูลของตัวเอง เป็นเทพธิดาแม่บ้านของบุตรธิดาทั้งหลาย จึงสมกับคำว่า แม่เป็นพรหมของบุตร แม่เป็นเทพธิดาของบุตร แม่เป็นอาจารย์ของบุตร แม่เป็นแบบพิมพ์ของบุตร แม่เป็นเจดีย์ของบุตร เมื่อเป็นแม่แล้วจึงไม่สมควรจะไปแย่งตำแหน่งสาวจากธิดาของตน ซึ่งทำให้บุตรธิดาของตนคลายความเคารพนับถือยำเกรงในตน เพราะการนุ่งชั่ว ห่มชั่ว นั่นเอง ทำลายศักดิ์ศรีของผู้เป็นแม่ทั้งหลาย ก็แลการนุ่งห่มที่ดีที่ชั่วนั่นแล ย่อมบ่งบอกถึงคุณธรรมอันน่านับถือ และความเลวร้ายอันไม่น่านับถือ ของแม่เจ้าประคุณทั้งหลายในโลกนี้ทุกกาลทุกสมัย

ครั้นเมื่อพบปะสังสรรค์กันพอสมควรแล้ว ก็เคลื่อนย้ายขบวนกลับเข้าไปสู่บ้านเรือนของตน ๆ แต่วันนั้นต้องรีบรับประทานอาหารเย็นแต่หัวค่ำหน่อย เสร็จจากรับประทานอาหารแล้ว บรรดาพวกพ่อค้าทั้งหลายที่ร่วมพาณิชยกรรมด้วยกันทุกคน ต้องไปรวมกันที่บ้านนายฮ้อย ตามธรรมดาต้องเอาเสื่อที่ทำด้วยคร้า (ลายมือท่านอาจารย์คือ คร้า) ลงไปปูกับดินบริเวณหน้าบ้านนายฮ้อย เพราะพวกญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านทั้งหลายจะต้องแห่กันมารวมที่สถานที่นั้นเป็นจำนวนมาก จากนั้นพวกพ่อค้าทุกคนจะต้องเอาไถ้เงินเหรียญบาทและเหรียญสตางค์มาเทลงที่เสื่อผืนหนึ่ง เสร็จแล้วนายฮ้อยก็จัดการแบ่งเงินนั้นให้แก่พวกลูกน้องของตน ตามสิทธิ์ส่วนน้อยมากของแต่ละบุคคล

นายฮ้อยเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อการขายให้แก่ลูกน้องทุกคน ส่วนของนายฮ้อยก็เป็นส่วนของตน ไม่ได้คิดหักเอาเปอร์เซนต์จากลูกน้องแต่ประการใด และไม่เคยเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เคยฉ้อฉลเบียดบังเอาของกัน โดยมากเวลาขายของเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะรวมเงินทั้งหมดที่ไปด้วยกันทุกคนเข้าเป็นก้อนเดียว แล้วผลัดเปลี่ยนกันถือในเวลาเดินทาง เพราะเงินสมัยนั้นหนักมาก เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านแล้ว จึงต้องประชุมกันสะสางบัญชีแยกส่วนออกให้เป็นของแต่ละบุคคล น้อยมากตามทุนและกำไรของบุคคลนั้นๆ พวกญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านรับทราบด้วยกันทุกคน และต่างก็แสดงมุทิตาจิตในกันและกันพูดหยอกเย้าสนุกสนานร่าเริงกันเป็นการใหญ่ พวกอยู่ทางบ้านก็ซักถามความสุขทุกข์และโน้นนี้จากผู้ไป ฝ่ายผู้ไป กลับมาก็เล่าถึงความสุขทุกข์และเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้อยู่ทางบ้านฟัง คืนวันนั้นสังสรรค์กันด้วยความร่าเริงบันเทิงใจ ผู้เดินทางกลับมาก็หายเหนื่อย ผู้อยู่ทางบ้านก็หายห่วงหายโศก เสร็จจากนั้นก็เลิกรากันกลับบ้านของตนๆ

วันต่อๆ ไปยังมีการประกอบพิธีสิริมงคลผูกข้อผูกแขนสู่ข้าวสู่ขวัญให้แก่บรรดาพวกพ่อค้าที่เดินทางกลับมาถึงบ้านด้วยความสวัสดีด้วย ซึ่งเป็นประเพณีส่งเสริมพาณิชยกรรมของคนสมัยนั้น ต่างจากสมัยปัจจุบันนี้มาก ซึ่งมีแต่ความอิจฉาตาร้อน กดขี่ข่มเหงกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ลักกัน ปล้นกัน ล้างผลาญกัน สังหารกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน โลภเอาของกัน ยึดเอาของกัน คิดแต่จะเป็นเจ้า เฝ้าแต่จะจับผิด หาความเป็นมิตรต่อกันมิได้ ความเจริญมีหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ความเสื่อมเสียสองร้อยเปอร์เซ็นต์ ความสงบสุขห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์

นี่คือยุคมิคคสัญญี ยุคมหาวินาศ หรือยุคอธรรมปฏิรูป หาของแท้ของจริงได้ยาก คนที่ซื่อสัตย์สุจริตขาดความนิยมนับถือ คนที่ทำจริงพูดจริงหาผู้เชื่อถือมิได้ คนที่ประพฤติดี กลับถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม คนที่สุภาพเรียบร้อยถือกันว่าเป็นคนคร่ำครึ คนที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมหาว่าถ่วงความเจริญของโลก สมัยใดจิตของคนแข็งกระด้างมืดมนอนธกาล ประกอบด้วยอธรรม พระยามาราธิราชย่อมเข้าครอบงำจิตใจของคนทั้งหลาย คนที่ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วนั้นแล จักปรากฏเด่นในสังคมมนุษย์ คนไหนที่มีเล่ห์กลประจลสอพลอรู้ยอนาย คนนั้นจักก้าวหน้าในหน้าที่การงานโดยไม่ต้องทำงานให้ลำบาก คนที่ก้มหน้าทำแต่การงานด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์มุ่งแต่จะให้การงานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คนเช่นนั้นจะเป็นคนนั่งเบ้าไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือบางครั้งคนที่ซื่อสัตย์สุจริตนั่นแลจะเป็นแพะรับบาป

เมื่อมนุษย์ทั้งโลกนี้หันเหเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นยุคอธรรมปฏิรูปเมื่อใด ความอยุติธรรม ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และวิหิงสา พยาบาท ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เหล่าพลพรรคของยักษ์ร้ายที่ถูกสาปไว้แล้วแต่นาน ก็กลับฟื้นฮึกเหิมกำเริบขึ้นมา ทำการอาละวาดแก่หมู่มนุษย์ทั้งหลาย

เหล่าพลพรรคของยักษ์ร้ายมี ๓ กองพล คือ กองพลอยาก ๑ กองพลยุ่ง ๑ กองพลอยาก ๑

และมีหน่วยวินาศกรรมอีก ๓ หน่วย คือ หน่วยยุบยับ ๑ หน่วยยับเยิน ๑ หน่วยย่อยยับ ๑

มีบ่อนทำลายเศรษฐกิจอีก ๒๕ บ่อน คือ บ่อนหยิบยืม ๑ บ่อนยักยอก ๑ บ่อนโยกย้าย ๑ บ่อนโยงใย ๑ บ่อนแยบยล ๑ บ่อนเยินยอ ๑ บ่อนยับยั้ง ๑ บ่อนโยนเย็น ๑ บ่อนเหยียบย่ำ ๑ บ่อนย่ำแย่ ๑ บ่อนยืดเยื้อ ๑ บ่อนแย่งยึด ๑ บ่อนหยิบหยอด ๑ บ่อนยัดเยียด ๑ บ่อนยุแหย่ ๑ บ่อนยุยง ๑ บ่อนยิ่งใหญ่ ๑ บ่อนยั่วยุ ๑ บ่อนยั่วยวน ๑ บ่อนยียวน ๑ บ่อนเยาะเย้ย ๑ บ่อนเย่อหยิ่ง ๑ บ่อนเหยียดหยาม ๑ บ่อนหยิบยืม ๑ บ่อนยับเยิน ๑

สมัยนั้น วัฒนธรรมการนุ่งห่มยังใช้ผ้านุ่งและผ้าถือ คือ ฝ่ายชายใช้ด้วยโสร่งหรือโจงกระเบน นอกจากคนจนแล้วจะต้องใช้ผ้าทอด้วยไหมเป็นผ้านุ่ง เวลาทำงานมักจะนุ่งกางเกงขาสั้นเพียงเข่า แต่ช่องขาทั้งสองกว้าง หรือใช้ผ้าเป็นผืนเหน็บรั้ง เวลาอาบน้ำไม่ค่อยนุ่งผ้า ภายหลังต่อมาอีก พวกคนหนุ่มนิยมนุ่งผ้าโสร่งแขก และกางเกงขายาวชนิดลายดอกขากว้าง ส่วนท่อนบนใช้ผ้าถือปกสองไหล่ แต่เวลาไหว้พระหรือเข้าหาผู้ใหญ่ จะต้องห่มเฉลียงบ่าข้างหนึ่ง ต่อมาอีก มีการตัดเสื้อใส่เสื้อกัน แต่ผ้าถือยังไม่ทิ้ง

ฝ่ายหญิงใช้นุ่งด้วยผ้าซิ่นที่ทอเอง แต่มีลวดลายต่างๆ ที่เรียกว่า “ซิ่นหมี่” ผู้ขยันก็ทอด้วยไหมซึ่งถือว่าสวยงาม ที่ทอด้วยด้ายก็มี เอาสีดำหรือสีครั่งเป็นพื้นสี ผ้าซิ่นด้านบนต่อผ้าอีกเป็นเป็นผ้ากว้างขนาด ๑๕ เซนติเมตร สีแดงเป็นพื้น ประกอบด้วยลวดลายเรียกว่า “หัวซิ่น” ด้านล่างต่อด้วยผ้าอีก กว้างขนาด ๑๐ เซนติเมตร สีดำ หรือ ขาวเป็นพื้น ประกอบด้วยลวดลายต่างๆ เรียกว่า “ตีนซิ่น” การนุ่งก็นุ่งเอาหัวซิ่นขึ้นข้างบน เอาตีนซิ่นลงข้างล่าง ถือการนุ่งให้เรียบร้อยหรือนุ่งดีมีศิริ ข้างบนปิดสะดือ ข้างล่างค่อนแข้งลงไป ถ้าผู้หญิงใดอะปะโลก (ลายมือท่านอาจารย์คือ อะปะโลก) เกิดไปนุ่งผ้าซิ่นสั้นขนาดใกล้เข่า สังคมจะรังเกียจ ดูถูกกันว่า “หญิงเคียว” ซึ่งหมายถึงหญิงแพศยา หญิงราคะจัด เป็นหญิงชาติชั่ว ไม่มีใครเขาปรารถนา เป็นคนทำลายวัฒนธรรมของผู้หญิง บรรดาพวกผู้หญิงด้วยกันรังเกียจมาก ถึงกับไม่คบหาคนเช่นนั้น เพราะกลัวจะเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์อันดีงามของตน

สำหรับกายท่อนบนของหญิง ใช้ผ้าสองผืน คือผ้ารัดอกและผ้าถือ ซึ่งทอให้มีลวดลายต่าง ๆ ที่นิยมกันว่าสวยงาม ผ้าถือนั้นใช้คลุมสองไหล่บ้าง เปิดบ้างในบางกรณีเช่นเดียวกับฝ่ายชาย ภายหลังต่อมา มีการตัดเสื้อแทนผ้ารัดอกแต่ผ้าถือยังคงใช้อยู่ตามเดิม เป็นเสื้อไม่มีแขนและเป็นเสื้อแขนยาว เสื้อแขนยาวนั้นใช้สีดำเป็นส่วนมาก

สำหรับทรงผมนั้น ฝ่ายชายนิยมตัดกันเป็นพื้น ฝ่ายหญิงนิยมไว้ผมยาว ทำขมวดเกล้าเป็นจุกไว้ด้านหลังบ้างก็มี ไม่ได้ทำเป็นจุกก็มี ทัดทรงด้วยดอกไม้หอมต่างๆ แต่พวกผู้หญิงมักนิยมกันใส่ตุ้มหู พอโตขึ้นเป็นรุ่นสาว จะต้องเตรียมเจาะหูกันเป็นแถวๆ ทีเดียว เพื่อจะใส่ตุ้มหูนั้นเอง ที่ใส่สร้อยคอกันก็มีบ้างแต่ไม่มาก และนิยมใส่กำไลแขน กำไลขา ที่นิ้วมือก็มีใส่กำไลมือหรือแหวน ทาขมิ้นเป็นการประเทืองผิว ย้อมเล็บมือด้วยเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมาห่อให้เกิดเป็นเล็บแดงขึ้น ใช้กินหมากเพื่อให้ริมฝีปากแดง นี่คือวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ประเพณีการร่าเริงซึ่งทำให้ความเป็นอยู่มีชีวิตชีวาชุ่มชื่นเบิกบานไม่หงอยเหงา มีปี่ แคน พิณ ซอ ขลุ่ย เวลากลางคืนพวกคนหนุ่มจะเล่นกันสนุกสนานประจำทุกคืน พวกหญิงสาวก็จะปั่นด้ายคอยต้อนรับตามบ้านของตน แต่หาได้เที่ยวพร่ำพลอดกันตามตรอกตามมุมมืดไม่ เพียงเพื่อสนุกเฮฮาร่าเริงกันตามประเพณีเท่านั้น กลางวันต้องทำงานช่วยพ่อแม่ของตน หนุ่มสาวไม่เคยทิ้งงาน พวกคนหนุ่มต้องฝึกงานในหน้าที่ของตน เพื่อความเป็นพ่อบ้านที่ดีมีศิลปวิทยา เช่น การทำไร่ทำนาและฝีไม้ลายมือต่างๆ มีจักสานเป็นต้น

คนหนุ่มที่ไม่มีศิลปวิทยาทำอะไรไม่เป็น เพียงแต่อวดโก้ พวกเฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะไม่ยินยอมรับเป็นเขยเด็ดขาด ฝ่ายหญิงเมื่อโตพอแตกสาวแล้ว จะต้องฝึกงานในหน้าที่ของตน เพื่อความเป็นแม่บ้านที่ดี มีจรรยามารยาทและการฝีมือต่างๆ เช่น การทำด้าย ทอผ้า เย็บผ้า ทำอาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น ถ้าเป็นสาวที่ไม่มีจรรยามารยาท ทำอะไรไม่เป็น ทั้งขี้เกียจด้วย มีแต่การแต่งเนื้อประเทืองกายเท่านั้น จะไม่มีใครยินดีจะแต่งงานด้วย เพราะคนในสมัยนั้น ยังมีความเคารพนับถือยำเกรงบิดามารดาครูบาอาจารย์และขนบธรรมเนียมประเพณีกันอยู่มาก จะมีดื้อดึงฝ่าฝืนล่วงเกินต่อผู้ปกครองและขนบธรรมเนียมประเพณีมีน้อยที่สุด

ความรักใคร่มีขอบเขต ความโลภมีรั้วกั้น ความโกรธยังมีกลัวบาป คนไม่รู้ถือผู้รู้เป็นผู้แนะนำ ผู้รู้จะไม่ล่วงเกินในความผิดทั้งหลายทั้งที่รู้อยู่ โดยถือภาษิตว่า “ลูกไม่ดีพ่อแม่ปากเปียก ลูกตาเปียกพ่อแม่ละอาย” พ่อแม่พยายามที่จะปลูกฝังให้ลูกชายลูกหญิงของตนให้เป็นคนดี มีความรู้เท่าที่มีความสามารถ และหวังพึ่งลูกของตนในยามแก่ จึงถือภาษิตว่า “เลี้ยงลูก ปลูกโพธิ์” จึงพยายามสอนให้ลูกๆ เชื่อถ้อยฟังคำของพ่อแม่เสมอ คนแก่มักจะใช้ภาษิตสอนไว้ว่า “ลูกไม่ฟังคำของพ่อแม่ ผีแก่ (กระซาก) ลงหม้อนรก” หมายความว่า ถ้าลูกๆ ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่แล้วหาความเจริญมิได้ เป็นอวชาตบุตร คือลูกที่ชั่วช้าลามก ย่อมทำลายวงศ์ตระกูลของตนให้หมดศักดิ์ศรีลงไป

คติธรรมของคนในสมัยนั้น รวมแล้วก็ได้แก่การสอนคนให้เป็นคน เมื่อเป็นอะไรก็ให้เป็นอันนั้นจริงๆ คือให้เป็นเด็กจริงๆ เป็นนักเรียนจริงๆ เป็นหนุ่มเป็นสาวจริงๆ เป็นสามีเป็นภรรยาจริงๆ เป็นพ่อแม่จริงๆ เป็นลูกจริงๆ ชายก็ให้เป็นชายจริงๆ หญิงก็ให้เป็นหญิงจริงๆ ถึงแม้การเล่นก็ถือเป็นการเล่นจริงๆ จะเล่นรัวหัวเราะแบบเด็กๆ ก็เป็นแบบของเด็กจริงๆ หนุ่มสาวก็เล่นแบบหนุ่มสาว คนแก่ก็เล่นแบบคนแก่ เล่นตีต่อยกันถึงเลือดออกยางตกก็ตามแต่ ถือกันเป็นเล่น ไม่ได้ถือสาหาโทษแก่กันและกัน ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรกัน ถึงคราวเล่นจึงตีต่อยกันอีก เพราะถือเป็นประเพณีการเล่น ให้สนุกสนานร่าเริงเดือนละทีปีละครั้ง เรียกว่า “เล่นไม่เลว” ถ้าเล่นเลว เป็นลักษณะของนักฉวยโอกาสส่วนมาก เช่นหนุ่มสาวตบตาพ่อแม่ สามีตบตาภรรยา ภรรยาตบตาสามีเป็นต้น

คนสมัยก่อนนั้นยังยึดประเพณีเข้มงวดกวดขันกันมาก ประเพณีเล่นสงกรานต์ มีการสาดน้ำใส่น้ำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อผู้ใดต้องการจะสนุกกับหมู่เพื่อนแล้ว ก็จับกลุ่มกันเป็นพวกๆ แต่โดยมากเป็นกลุ่มฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต่างก็มุ่งหน้าจะสาดน้ำกันตามวิธีการแห่งความสนุกสนาน จุดของความสนุกเฮฮาก็คือ การได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือแพ้และชนะ เฉพาะวันเทศกาลนั้น คู่สามีภรรยาและคนแก่ที่ชอบความสนุก ต้องลาตำแหน่งไปสนุกกับเพื่อนๆ ตามระเบียบ การสาดน้ำบางจังหวะต้องถึงกับตะลุมบอนกันก็มี ถือว่าสนุกกันใหญ่ สามีภรรยาก็ไม่ถือสาหาเรื่องกัน เพราะเพื่อความสนุกกันตามประเพณี ไม่ได้จงใจหรือแกล้งกันโดยความเสียหายทางประเวณี เพราะไม่มีการเล็ดลอดออกหนีจากหมู่พวก

ประเพณีใหญ่อีกคือ งานบุญบั้งไฟเดือน ๖ ประเพณีนี้เล่นกันคืนหนึ่งวันหนึ่งเท่านั้น การเล่นสนุกนั้นโดยมากเป็นเพียงฝ่ายชายเท่านั้น นิยมใส่เหล้ากันไว้เทียบทุกครอบครัว ถึงจะไม่ดื่มก็ตาม ต้องมีไว้เพื่อให้คนเขาดื่ม วันนั้นพวกนักเล่นเขาจะต้องขึ้นไปหาดื่มเหล้ากันทุกหลังคาเรือน ดื่มเหล้าอาบน้ำกันแล้วก็ลงไป ขบวนนักเล่นจะมีกลองหนึ่งลูกสำหรับหามตีกันไป สองคนที่หามก็ตีกลองไป คนนอกนั้นก็ฟ้อนกันไป ร้องรำทำเพลงกันไป พบน้ำพบโคลนที่ไหนมีก็เอากันลงเล่นที่นั่น ใครเดินผ่านมาใกล้เขาไม่ได้ต้องถูกควบคุมตัวลงเล่นโคลนด้วยกันหมด วันนั้นจะแต่งตัวสวยๆ ไม่ได้ เพราะประเพณีนี้เล่นกันอย่างขะมุกขะมอม เอาโคลนเป็นจุดสนุกสนานร่าเริง รสชาติของความสนุกอยู่ที่น้ำและโคลน เมื่อตอนเย็นจุดบั้งไฟหมดแล้วเป็นอันหมดพิธีเพียงเท่านั้น

และยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่ง คืองานบุญฟังเทศน์มหาชาติ ที่เรียกว่า “บุญพระเวส” เท่าที่จำได้เป็นระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ของแต่ละปี จัดงานกันขึ้นภายในวัดแต่ละวัด ยกโรงยาวเป็นที่พักพระไว้โดยรอบวัด ยกร้านเป็นที่พักพระเณรปูฟากหรือกระดาน ด้านหน้าออกมาปูฟางและเสื่อสำหรับให้พวกสาวๆ ที่ติดตามมาได้พักด้วย มีการนิมนต์พระมาเทศน์ประมาณ ๓๐ - ๔๐ วัด

เมื่อถึงวันงาน พวกคนเฒ่าคนแก่แต่ละครอบครัวต้องแต่งกินแต่งทาน มีการจัดแบ่งกันรับรองพระ ๔ - ๕ ครอบครัวต่อพระ ๑ วัด ตลอดญาติโยมผู้ติดตามพระด้วย และถวายจตุปัจจัยไทยทานด้วย

งานนี้มีกันเป็น ๒ ประเภท คือประเภทเข้าวัดรักษาศีลกินทานและฟังเทศน์ ๑ ประเภทเล่นสนุกสนานร่าเริง ๑

ประเภทแรกนั้น แต่ละครอบครัวต้องต้อนรับเลี้ยงดูญาติพี่น้องและแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญให้เพียงพอตามฐานะของตน แต่ไม่ค่อยมีการจ่ายค่าอาหารเท่าไหร่ ไม่ได้นิยมฆ่าวัวควายเลี้ยงกัน จะมีบ้างก็พวกหมู เป็ด ไก่ ปลา เท่านั้น คนแก่ๆ มักจะไปประจำอยู่วัด ประดับประดาตกแต่งศาลาและจีบหมากพลูถวายพระ หรือเป็นคนรับใช้พระ วันฟังเทศน์ ก็พร้อมกันฟังเทศน์จนจบชาดก ถือว่าได้บุญมาก แต่ปรากฏว่า การฟังมหาชาตินั้นไม่ค่อยรู้ในอรรถรสเท่าไหร่ ได้เพียงถือว่าเป็นบุญแก่ตนของตนเท่านั้น แต่มักจะจำเรื่องได้ดีแทบทุกคน สำหรับข้อปฏิบัติอันยิ่งขึ้นไปไม่ค่อยรู้เรื่อง

ส่วนประเภทที่สองนั้น ก่อนจะถึงวันงานบุญ ต้องเตรียมพร้อมทางสนุกสนานกัน พรุ่งนี้เป็นวันรวมงาน พอค่อนคืนเท่านั้น ขบวนฟ้อนรำก็นำกลองลงตีนำขบวนตามถนนกลางบ้านตลอดรุ่งและตลอดวัน แต่จะเล่นกันเฉพาะภายในหมู่บ้าน ไม่ได้เข้าในวัด เวลานักบุญจากบ้านอื่นมาพักรวมกันภายในวัดแล้ว จะมีอีกพวกหนึ่งเล่นสนุกกันภายในวัด โดยมากจะเป็นคนชายประเภทมีครอบครัวไปแล้ว ความร่าเริงที่แสดงออกนั้นเป็นลักษณะของการแสดงกามสาธิต หรือเพศศึกษาสาธิต ถ้าว่าตามธรรมก็คือ เรื่องอนาจารลามกนั้น แต่ปรากฏว่า พวกหนุ่มสาวสนใจดูและร่าเริงด้วยเป็นพิเศษ ยิ่งพวกเด็กๆ ถึงกับแห่กันไปดูเกือบทั้งหมด แต่จะต้องแสดงเวลากลางคืนอาศัยความสว่างจากแสงเดือนดาว เรื่องที่แสดงความร่าเริงที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็คือ ขบวนต่อนกกระทา ๑ ขบวนแข่งเสียงกลอง ๑ ขบวนหมอดู ๑ ขบวนทอดแห ๑ และขบวนแห่ข้าวพันก้อน ๑ ที่นำมาแสดงกันนั้นล้วนแต่การออกท่าทางให้สนุกกันทั้งนั้น แต่วิธีการที่เขาเล่นกันอย่างไรนั้น จะไม่นำมากล่าวในที่นี้ ถ้าสนใจอยากรู้ พึงศึกษาด้วยตนเอง

ทีนี้จะกล่าวถึงประเพณีพวกสีกาที่ติดตามมากับพระแต่ละหมู่บ้านนั้น โดยส่วนมากนิยมพักนอนอยู่ที่โรงพักพระ ที่เขาทำไว้ต้อนรับแต่ละวัดนั้นเอง คือเป็นระเบียงด้านหน้าติดต่อกับที่พักพระออกไป แต่เป็นพื้นติดกับพื้นดิน สำหรับพวกสีกาสาวๆ ทั้งหลายเหล่านั้น แต่ละหมู่บ้านจะต้องมีคนแก่เป็นหัวหน้านำมา เขาเรียกว่า “แม่โป่” บางคนก็มีมารดาติดตามมาด้วย

ครั้นพอตกค่ำเข้ามาแล้ว การรับประทานอาหารเลี้ยงดูกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาพวกเจ้าหนุ่มทั้งหลาย ก็เป่าแคนหรือดีดพิณกันเป็นหมู่ๆ ออกมาจากบ้าน เข้าไปพูดคุยกันกับเจ้าสาวเหล่านั้นตามระเบียบ แต่ละหมู่มักจะไปให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม แต่ละหมู่บ้าน การพูดคุยกันนั้น โดยมากมักจะเป็นปัญหาตอบโต้กันไปกันมา ที่เขาเรียกกันว่า “จ่ายผยา” คนที่ไม่เก่งทางผยาก็เป็นผู้ฟัง ถ้าเกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแห้หรือชนะผยากัน ก็เฮฮากันไปพักหนึ่ง บางครั้งเกิดประชันผยากันเป็นการใหญ่ ฝ่ายชายก็ต้องเอาพ่อโป่ออกต่อสู้ ฝ่ายหญิงก็เอาแม่โป่ออกต่อสู้ เกิดต่อสู้กันจนผยาหมดในพุง เมื่อรู้ว่าใครแพ้ใครชนะแล้วก็เลิกรากันไป ฝ่ายพระที่ไม่มีหน้าที่ชิงตำแหน่งกับเขาก็นอนฟังตามระเบียบ ประเพณีที่พวกสีกาติดตามพระไปในทำบุญมหาชาตินั้น เมื่อคิดเฉลี่ยแล้ว มีพวกผู้หญิงนิยมไปและไม่นิยมไปประมาณฝ่ายละครึ่ง คือบางพวกนิสัยชอบแสวงหาลาภผลในทางนั้น บางพวกมีนิสัยไม่ชอบแสวงหาลาภผลในทางนั้น

ก็แลในสมัยนั้นนิยหาความสนุกสนานร่าเริงเป็นส่วนรวมกันภายในวัดเป็นพื้น เมื่อพวกชาวบ้านถือเอาวัดเป็นสถานที่ร่าเริงบันเทิงดังนั้นแล้ว แน่นอนทีเดียว พระที่เป็นเจ้าของสถานที่ ก็ต้องหาวิธีการที่ร่าเริงบันเทิงเช่นเดียวกัน (เฉพาะผู้ชอบ) )นั้น ทางวัดจึงต้องจัดหากลองสั้น กลองยาวมาไว้ และมีฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น เวลาเย็นพระเณรก็จะเล่นกลอง ฉิ่ง ฉาบ กันอย่างสนุกสนาน พวกหนุ่มๆ มักจะสมัครเข้าเป็นทีมด้วย ถ้ามีการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดยิ่งสนุกสนานกันใหญ่ เวลาพระเณรไปพักนอนเลื่อยไม้หรือถากไม้ในป่า ก็ต้องเอาจำพวกกลองเหล่านั้นไปด้วย เอาความสนุกสนานร่าเริงนั้นเองแก้เหนื่อย

ด้านอาหารการฉันไม่เพียงพอ สมภารก็ให้สามเณรสึกไปหา ปูปลาอาหารมาไว้เป็นเสบียง เสร็จแล้วก็บวชกันใหม่อีก เวลาลากไม้เข้าไปวัด จะมีล้อใหญ่สำหรับลาก มีพวกคนแก่และหนุ่มสาวชาวบ้านไปช่วยลาก อาศัยฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ นั้นแล บรรเลงไปด้วย พระเณรกับสีกามักฉวยโอกาสสนุกสนานด้วยกันคราวนี้ รักษาอาบัติเฉพาะตัวใหญ่ที่สุดก็พอ เพราะฉะนั้น จึงมีพิธีพระเข้ากรรมกันเป็นประจำทุกปีไป ถือกันเป็นพิธีใหญ่และถือกันว่าได้บุญมากอีกด้วย พิธีทำนั้นจะมีพิธีอย่างไรบ้างก็ไม่ทราบด้วย ข้าพเจ้าได้พบเห็นแต่กระท่อมเล็กๆ ที่ท่านอยู่เฉพาะองค์เท่านั้น ถามคนแก่ ท่านบอกว่า “ตูบกรรม” และไม่ได้สนใจถามต่อไป จึงไม่ค่อยรู้เรื่องดี

เรื่องสีกากับพระเณรที่เกี่ยวข้องกันประเภทสนุกสนานร่าเริงนั้น ส่วนประเพณีใหญ่ยังมีอีก คืองานใส่น้ำกันในเทศกาลตรุษสงกรานต์ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น ที่เกี่ยวกับพระและสามเณรที่โตหน่อยก็เป็นขบวนการของพวกสีกานั้นเอง บางครั้งก็ฝ่ายพระลงมือก่อนหรือฝ่ายสีกาลงมือก่อน เมื่อเชื่อมต่อสะพานทั้งสองฝั่งถึงกันแล้ว ก็ลงมือตะลุมบอนเอากันใหญ่ กุฎีเปียก ผ้าสบงจีวรเปียก พระเป็นฝ่ายล่าถอย สีกาเป็นฝ่ายคืบหน้าบุกรุก แย่งผ้าแย่งผ่อนเอาจนหลุดลุ่ยไปก็มี ผูกติดเสากุฎีไว้ก็มี บางครั้งทางฝ่ายสีกาก็ผ้าหลุดไปก็มี ทางฝ่ายพระจะต้องยอมแพ้แทบทุกสมัย เพราะทางฝ่ายสีกามีมากและเอาจริงๆ ด้วย เสร็จแล้วเฒ่าแก่ที่เป็นมรรคนายกวัดจะต้องนำพวกสีกาเหล่านั้น เอาดอกไม่ธูปเทียนมาทพิธีขอคารวะขมาโทษต่อพระสงฆ์ตามระเบียบ

สำหรับการเทศน์มหาชาตินั้นนิยมเทศน์เป็นทำนองเล่นเสียงกัน ที่เรียกว่า “แหล่” เช่น แหล่มัทรี แหล่ชูชก แหล่กุมาร เป็นต้น ขณะที่พระกำลังเทศน์อยู่นั้น พวกศรัทธานักสนุกจะรวมกันเป็นกลุ่มๆ บริจาคทำเป็นกัณฑ์สมโภช เรียกกันว่า “กัณฑ์หลอน” แห่เข้าไปถึงวัดแล้ว พอดีทันกันกับพระเณรองค์ใดที่กำลังเทศน์อยู่ จะต้องถวายองค์นั้น แม้กลุ่มอื่นๆ อีกก็เช่นเดียวกัน ที่นักวิชชาอาคมอยู่ยงคงกระพันก็มักจะต่อยตีกันเพื่อความสนุกให้คนดูในเวลาแห่กัณฑ์นั้นเอง พิธีการของพวกนี้คือ จะต้องนัดกันไว้ แล้วต่างฝ่ายต่างจัดกัณฑ์ทั้งสองฝ่าย แต่มักจะเป็นฝ่ายละหมู่บ้าน พอขบวนแห่ทั้งสองฝ่ายสวมหน้าเข้าถึงกันเมื่อใด เมื่อนั้นจะต้องชุลมุนวุ่นวายต่อยตีกันขึ้น ใครไม่ดีก็เจ็บกันไป แต่ไม่ได้ถือสาหาโทษกัน ปีหน้ามีงานอีกจึงแล่นงานกันอีก เท่าที่เล่ามาแล้วทั้งหมดนั้น คือประเพณีเดิมของบ้าน ไม่ใช่ประเพณีเมือง จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ชีวิตตอนไร้เดียงสา

เท่าที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องของปิตุภูมิและมาตุภูมิ เพื่อเป็นการเกี่ยวโยงกันกับเรื่องชีวิตของข้าพเจ้าที่ซุกซนมาก่อเกิดเป็นมนุษย์ตามยถากรรม เมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในวัยเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสานั้น ญาติๆ ชั้นผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่าเป็นเด็กที่เลี้ยงยากที่สุด ซึ่งไม่เคยพบในเทือกเถาเหล่ากอแห่งวงศ์ตระกูลนี้ ถ้าไม่มีมารดาผู้ให้กำเนิดเกิดเกล้าเป็นผู้เลี้ยงแล้ว ชีวิตของข้าพเจ้าจะเป็นไปอย่างไรก็ไม่ทราบ

ญาติผู้ใหญ่ที่เล่าให้ฟังนั้นท่านบอกว่า ถ้าไม่ใช่มารดาของข้าพเจ้าเป็นคนเลี้ยงแล้ว พวกเราเลี้ยงไหว คำเช่นนี้ต้องหมายความว่า เมื่อเลี้ยงไปไม่ไหว มีทางเดียวเท่นั้น คือโยนทิ้งเสียให้สิ้นเรื่องไป หรือให้รู้แล้วรู้รอดกันเสียที เรื่องที่เลี้ยงยากนั้นมีอะไรบ้าง ท่านไม่ได้เล่าให้ฟังทั้งหมด ท่านบอกว่า กลัวข้าพเจ้าจะละอายตัวเอง เพียงแต่บอกว่า ขี้ร้องไห้เก่ง ถึงกับมารดาบิดาไม่ได้หลับไม่นอนแทบทุกคืน ยังมีผู้หญิงอีกคนที่เกิดรุ่นเดียวกัน อยู่บ้านไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก ซึ่งร้องไห้เก่งเป็นคู่แข่งขันกันจนทำให้พวกบ้านที่อยู่ใกล้เคียวกันลำบากรำคาญไปตามๆ กัน ถ้าร้องไห้เวลากลางวัน มารดาก็ต้องอุ้มไปเที่ยวทางโน้นทางนี้จึงค่อยหยุดร้อง หยุดไปพักหนึ่งแล้วก็ร้องอีก มารดาก็ต้องอุ้มไปเที่ยวอีก เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดวัน ครั้นโตขึ้น พอพูดได้ก็อีกแหละ เดี๋ยวก็รบเร้าให้มารดากั้นร่มพาเดินเที่ยวไปตามบ้านต่างๆ เดี๋ยวก็รบเร้ามารดาอยากไปเที่ยวป่าโน้นป่านี้ มารดาต้องตามใจทุกอย่างจึงจะยินยอม ถ้ามารดาของข้าพเจ้ามีนิสัยสันดานอย่างหญิงโสเภณีทั้งหลายแล้ว ชีวิตของข้าพเจ้าคงจะกลายเป็นผีไปแต่สมัยนั้นแน่นอน

เมื่อข้าพเจ้าเจริญวัยขึ้นมา พอรู้เดียงสาได้บ้าง พร้อมทั้งได้รับคำบอกกล่าวจากญาติชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าวมาแล้วนั้น ทำให้จิตใจของข้าพเจ้าว้าเหว่อย่างบอกไม่ถูก เมื่อใดที่คิดถึงบุญคุณของมารดาผู้จากไปแล้ว แต่เรายังไม่รู้เดียวสาอะไร ก็แสนที่จะโศกเศร้าเสียใจถึงกับน้ำตาร่วงอยู่คนเดียว โลกที่กว้างใหญ่เมื่อมองไปแล้วดูคับแคบและมืดตื้อไปอย่างชอบกล

เรื่องภายในใจอย่างนี้ข้าพเจ้ายังไม่เคยเล่าให้ผู้ใดฟังแม้แต่ครั้งเดียว พึ่งจะเขียนจารึกไว้ในครั้งนี้เท่านั้น คนอื่นจึงไม่สามารถจะรู้เรื่องได้

ตั้งแต่มารดาได้สิ้นชีวิตจากไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงต้องติดตามบิดากลับไปอยู่ที่บ้านปู่ ส่วนย่าได้ตายไปก่อนแล้ว คงมีแต่อาหญิงอาชายเท่านั้น แม้ปู่และอาจะให้ความอบอุ่นดีอยู่ก็ตาม เวลาอยากรับประทานอาหาร ข้าพเจ้าต้องวิ่งไปหาผู้ที่ข้าพเจ้านับถือว่าเป็นพี่สาวอีกคนหนึ่งเป็นประจำ ซึ่งเป็นญาติมีบ้านอยู่ใกล้กัน พี่คนนั้นเองเป็นคนป้อนอาหารแทนมารดา เพราะข้าพเจ้าไม่ยอมให้คนอื่นป้อนอาหาร บิดาและปู่ก็ต้องตามใจ

สมัยเข้าโรงเรียน ครูให้ไปหัดอ่านหนังสือกับนักเรียนชั้นสูงกว่า ข้าพเจ้าก็ต้องไปหาพี่คนนี้เป็นประจำอีก

ว่าถึงนิสัยใจคอแล้ว ข้าพเจ้ามีนิสัยชอบเอาแต่ใจตัวเองมาแต่วันเกิด พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย น้า อา ป้า ลุง ทั้งหลายต้องตามใจข้าพเจ้าตลอดไป แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยฝ่าฝืนดื้อด้านซุกซนเกเรไปในทางเสียหายแต่ประการใด จึงไม่เคยถูกใครดุด่าข่มเหง หรือขับหนีตีส่ง ตลอดถึงการเฆี่ยนตีไม่เคยมี บรรดาญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมีความจงรักภักดีในข้าพเจ้าทุกๆ คน

ครั้งหนึ่งสมัยที่ยังไม่รู้เดียงสาเท่าที่ควร ปรากฏว่า น้าหญิงกับข้าพเจ้าไล่หยอกกันเล่นในสวนข้างบ้าน ข้าพเจ้าเป็นคนวิ่ง น้าเป็นผู้ไล่ติดตาม เผอิญข้าพเจ้าได้ล้มลงถูกหนามยอกเข้าที่หัวเข่าข้างซ้าย ถึงกับต้องได้ทำการรักษากันเป็นการใหญ่ กินเวลาเป็นเดือนสองเดือนจึงค่อยหาย พอเดินได้ แต่ที่หัวเข่ายังโตผิดปกติธรรมดา เขาเลยเรียกข้าพเจ้าว่า “โป้” คนนั้นก็โป้ คนนี้ก็โป้ เลยมีชื่อพิเศษเกิดขึ้นอีกชื่อหนึ่งตั้งแต่นั้นต่อมา

ครั้นต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๕ อายุข้าพเจ้า ๑๐ ขวบเต็ม ที่บ้านได้เกิดมีโรงเรียนเปิดสอนขึ้นที่ศาลาโรงธรรมของวัดโพธิชัยเจริญ มาแล้วหลายปี แต่ยังไม่มั่นคง บิดาได้นำตัวไปมอบให้เข้าโรงเรียน พอเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ไปไม่นาน ครูสอนถูกย้ายหนีไปหมด ได้หยุดเข้าโรงเรียนไปพักหนึ่ง ภายหลังมีครูมาทำการสอนต่ออีก ๓ คน จึงได้เรียนต่อมาเรื่อยๆ จนจบ ป. ๔ บริบูรณ์ สอน ป. ๕ ป. ๖ ได้ถูกยุบไปอีก จึงไม่มีโอกาสจะเรียนต่อ

เมื่ออายุ ๑๓ ปี กำลังเรียนอยู่ประถมปีที่ ๓ นั้น บิดาได้ถึงแก่กรรมลงไปอีก อายุของท่าน ๓๗ ปี ซึ่งเป็นการทำให้ข้าพเจ้าขาดที่ (พึ่ง) อย่างใหญ่หลวงทีเดียว ความโศกอันอุปมาเหมือนลูกคลื่น ได้เป็นก้อน วิ่งขึ้นอุดคอของข้าพเจ้าจนพูดไม่ได้ ได้แต่น้ำตาร่วงลงๆ ทั้งคับแค้นเต็มไปในอกเท่านั้น แม้บิดาจะเคยตั้งใจไว้ว่า ลูกเอ๋ย เจ้าเป็นบุตรคนโต เกิดก่อนน้องๆ ทั้งหลาย เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วจงเรียนต่อๆ ไป พ่อจะให้ศึกษาทางด้านกฎหมายต่อ เพื่อจะไม่ให้คนอื่นเขากดขี่โดยไร้มนุษยธรรมของโลก และให้สมกับเป็นลูกผู้ชายของพ่อ คนที่ไร้การศึกษา ไม่รู้ผิดและถูก โง่เขลาเบาปัญญา หาเกียรติความ (ที่) เกิดมาเป็นลูกผู้ชายมิได้ อันความมุ่งหวังอย่างนั้นของบิดาก็ต้องแตกสลายไปตามชีวิตของท่าน แม้ท่านเคยเริ่มต้นให้ข้าพเจ้าไปนอนเขียนคัดลอกกฎหมายลักษณะอาญาจากผู้ใหญ่บ้านมาไว้แล้วก็ตาม ความพยายามของพ่ออย่างนั้นก็ต้องสิ้นสลายตัวไปอีก

เมื่อมารดาและบิดาผู้ให้กำเนิดเกิดเกล้าได้ตายไปทั้งหมดอย่างนี้แล้ว ความฉุกคิดอำมหิตภายในใจของข้าพเจ้าย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มองดูรอบๆ ตัวแล้วเป็นอ้างว้างว้าเหว่จิตใจไปเสียทุกอย่าง ไม่ปรารถนาจะอยู่ในหมู่บ้านของตนต่อไปได้อีก ถ้าไม่ไปบวชก็ต้องหนีจากบ้านไปหาตั้งตัวอยู่ทางอื่นอย่างแน่นอน เพราะน้องๆ ทุกคน แม้ยังเด็กๆ อยู่ก็ตาม ยังมีผู้ดูแลเลี้ยงดูอุปการะพอจะเป็นไปได้อยู่ ตระกูลของเราก็ไม่เคยทุกข์จนอดอยากแต่ไหนแต่ไรมา แม้จะเป็นชาวนา แต่ที่นาก็ยังกว้างขวางมากอยู่ แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นเรื่องที่เก็บไว้ภายในใจของตนเท่านั้น

ปีนั้นข้าพเจ้าต้องทำงานหนักเกี่ยวกับการทำนา เพราะที่บ้านปู่ อาชายที่โตหน่อยก็ไม่อยู่บ้านเสีย คงเหลือแต่พวกผู้หญิงที่จะต้องทำนา ข้าพเจ้าเป็นคนชาย จึงต้องรับภาระหนักเอาเบาสู้ นอกจากเวลาไปเข้าโรงเรียน ต้องทำงาน ไถนา ดำนา แต่คราดไม่ได้ เพราะยกไม่ไหว การคราดจึงเป็นหน้าที่ของปู่เท่านั้น เวลากลางคืน ไปนอนเป็นเพื่อนกับพวกน้องและแม่ใหม่ กลางวันมาทำงานตามระเบียบ ถือเป็นความจำเป็นของชีวิต ต้องทำงานเพื่อจะไม่ต้องยอมง้อขอเขากินข้าว ไม่อดแล้วเป็นพอ สำหรับชีวิตของพวกชาวนา เงินทองหาทางอื่นยังได้ อาหารอย่างอื่นไม่ต้องจน เข้าป่าไปหายังได้ผักได้เห็น ลงน้ำยังได้กุ้งได้หอยและปูปลา เข้าไปสวนยังได้มะม่วง ขนุน กล้วย อ้อยและข่าขิง เข้าไปไร่ยังได้ฟักแฟงแตงโมและถั่วงา ไม่ต้องซื้อไม่ต้องขอ เพราะเราทำให้มันมี ไม่ใช่เราทำให้มันอด

เมื่อความจวนเจียนแห่งชีวิตของพ่อใกล้จะสิ้นลมปราณไปนั้น ได้สั่งข้าพเจ้าไว้ว่า เมื่อพ่อสิ้นไปแล้ว และลูกออกโรงเรียนแล้ว ขอลูกจงบวชให้พ่อเสียก่อนจึงค่อยคิดอ่านเรื่องอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นคำสั่งของพ่อยังมีเสียงแว่วๆ อยู่ในหูตลอดกาล จึงทำให้จิตใจเอนเอียงไปทางบวชมากกว่าอย่างอื่น แต่ยังไม่พูดให้ใครฟังก่อน คิดว่าเมื่อออกมาพูดก็ต้องเตรียมไปบวชทีเดียว คนอื่นจึงไม่ค่อยรู้เรื่อง

พวกญาติๆ ที่เขากำลังเป็นสาว เคยพูดล้อเลียนเล่นว่า มึงนี้ไปบวชก็คงไม่ได้กี่วัน ต้องสึกแน่ๆ เพราะข้าพเจ้ามีนิสัยเล่นสนุกกับพวกผู้หญิงทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่รุ่นแก่ ตามประสาของเด็กคะนอง แต่ไม่ใช่เรื่องชู้สาวอะไร มันเป็นเรื่องสนุกร่าเริงของเด็กๆ เพราะพวกผู้หญิงชอบเล่นกับข้าพเจ้า โดยไม่เคยรังแกข่มเหงเขานั่นเอง คนอื่นมักจะรังแกข่มเหงเขา เขาจึงไม่ค่อยเล่นด้วย แม้ในเรียนก็เช่นเดียวกัน ถ้าเขาถูกรังแกข่มเหงจากพวกคนชายอื่น เขาก็มักจะมาปรับทุกข์ให้ฟังและขอพึ่งเราเสมอ คนอื่นเขาก็ไม่กล้าติดตามมาทำอะไรได้ เรื่องเช่นนี้เอง พวกรุ่นพี่จึงเยาะเย้ยว่า เราจะบวชอยู่นานไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงรังแกกับใครๆ ทั้งนั้น คนอื่นเขาก็ไม่เคยมาราวีสีส้มกับข้าพเจ้าเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยขี้ขลาดกลัวเกรงเรื่องเช่นนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าเราอยู่ดีกินดีอยู่แล้ว เขาจะมาพาลหาเรื่องต่อยตีก็คิดว่าจะไม่หนีคนทั้งนั้น เพราะเขาก็คน เราก็คน มีมือเท้าเท่าๆ กันอยู่แล้ว แม้เขาจะดื้อด้านซุกซนขนาดไหน ข้าพเจ้าก็เอามาเป็นเพื่อนได้เสมอไปทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจึงไม่เคยมีคู่กรรมคู่เวรมาตั้งแต่เด็ก มีแต่เพื่อดีทั้งหญิงทั้งชาย

สำหรับการเรียนนั้น ข้าพเจ้าไม่เก่งทุกวิชา มีเก่งก็แต่เลขคณิตเท่านั้น การสอบวัดผลจึงต้องอยู่ในระดับที่ ๒ และที่ ๓ ส่วนมาก ระดับสมองยังปรากฏว่าความจำพอใช้การได้ดี บางครั้งที่ครูให้ท่องวิชาการบ้าน เราจะท่องให้จำไว้พอลางๆ เท่านั้น รุ่งเช้าพอตื่นนอนขึ้นมา มันจะคล่องเอง ไม่หลงลืมเหมือนอื่น ฉะนั้น ครูจึงไม่เคยได้ดุและเฆี่ยนตีเหมือนเพื่อนๆ ทั้งเราดื้อด้านเหมือนคนอื่นเขาไม่เป็น แต่การเล่นทางสนุกสนานร่าเริงนั้นกว่าเขาอยู่บ้าง นี่คือเรื่องวัยเด็ก


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร


๏ บรรพชา

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบประถมปีที่ ๔ เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าคงตัดสินใจออกบวชเป็นที่แน่นอน และยายของข้าพเจ้าซึ่งไปบวชเป็นชีอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส บ้านม่วงไข่ (ที่) มี พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เป็นอาจารย์อยู่ที่นั้น จะเป็นผู้นำตัวไปฝากให้อยู่กับท่านพระอาจารย์วัง เราจึงเข้าไปกราบลาปู่ไปขอบวช เบื้องต้นพูด (ไม่) ออก อาจจะเป็นด้วยท่านรักเรามากนั้นเอง เพราะเราเคยนอนแนบข้างปู่ทุกๆ คืน และก็ไม่เคยทำให้ท่านได้มีความทุกข์ร้อนด้วยแม้แต่ครั้งเดียว วันหลังปู่จึงค่อยอนุญาตให้ไปบวชได้ วันที่ออกเดินทางไปนั้น จำได้ว่า ปู่ให้เงินเหรียญไปด้วยหนึ่งบาท เสร็จแล้วลุงเป็นผู้นำไปมอบให้กับยาย ยายจึงนำตัวไปมอบฝากกับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ต่อไป วันที่ออกจากบ้านไปอยู่วัดนั้น จะเป็นวันใดแน่จำไม่ได้ เพราะโรงเรียนปิดเทอมร้อน คงจะเป็นระหว่างปลายเดือนมีนาคม

เบื้องต้นที่ไปอยู่แล้ว ๒ - ๓ วันแรก พอตกตอนเย็นมา เกิดความว้าเหว่ในใจมาก มันช่างเงียบเหงาเสียเสียเกิน จะว่าคิดถึงบ้านหรือคิดถึงใครนั้นบอกไม่ถูก แต่ใจหนึ่งคิดว่า ๓ ปี เราจึงจะกลับไปเยี่ยมบ้าน หลวงพ่ออ่อนซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ก็บวชมาอยู่ที่นั้นเหมือนกัน แต่ความสนิทสนมมาก่อนไม่ค่อยมี เพราะบ้านอยู่คนละข้างหมู่บ้าน จึงไม่ทำให้อบอุ่นใจเพียงพอ เพราะฉะนั้น บางคนที่เข้าไปเป็นนาคจะบวช จึงต้องเลิกหนีไปเสียก็มี เพราะใจไม่หนักแน่น ไม่มีความอดทน และไม่คิดให้ถี่ถ้วน ทั้งไม่รู้จักรักษาเกียรติยศของตน ต้องคิดมั่นใจไว้ว่า เรื่องไม่ถึงที่ตาย เราต้องอดทนต่อสู้ไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ

ครั้นอยู่นานๆ ไป เรื่องเช่นนั้นมันก็หายไปเอง ความยึดถือว่าบ้านเรา บ้านเขาก็ไม่มี เพียงแค่ถือว่าบ้านนั้น บ้านนี้ตามชื่อของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น ความยึดถือในถิ่นฐานบ้านช่องก็เลือนหายไปเอง จะไปอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็สบายใจเสมอกัน คือไม่มีแปลกต่างอะไรกัน คนก็มีผู้หญิงผู้ชายเหมือนกันทั้งโลก มีคนโง่คนฉลาด คนดี คนชั่ว คนสะอาดคนสกปรก เหมือนกันทุกบ้านทุกเมืองทุกประเทศ อาการหารกินหรือเขากินอะไร เรากินกับเขาได้ เพราะเราก็คน เขาก็คน ตกลงแล้วเราเป็นคน เขาก็เป็นคนอยู่ด้วยกัน อาศัยกันไปได้ตามประเพณีคน จึงเป็นคนที่ไม่ต้องเดือดร้อน


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 19:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสฺโส)


๏ ชีวิตระหว่างศึกษา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ อายุของข้าพเจ้าย่างเข้า ๑๙ ปี ยังเป็นสามเณรอยู่ ปีนี้ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ได้เริ่มเรียนนักธรรมตรี โดยอาจารย์คำพอง เป็นผู้สอน เป็นสมัยที่ เจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสฺโส) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้รั้งเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร การเรียนของข้าพเจ้ามีอ่อนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม ฉะนั้นในเวลาสอบเอาจริง จึงได้เพียงคะแนนโท อยู่ในอันดับสอง ครั้นสอบเสร็จก็ได้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี กับพระสิงห์ ธมฺมปาโล (ลาสิกขาแล้ว) เพื่อนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลเถระ เวลานั้นท่านพักอยู่ป่าบ้านท่าฆ้องเหล็ก

ครั้นเวลาเข้าไปศึกษาจากท่านๆ ก็ได้แนะนำโดยเล่าถึงความปฏิบัติที่ท่านได้เคยทำมาก่อนแล้วนั้นโดยลำดับ แต่ก็ไม่ค่อยจะจำได้เท่าไร

เมื่อมาฆะบูชาแล้ว ท่านได้ย้ายสถานที่ไปวัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร โดยไปแวะพักที่วัดบูรพาราม อุบล ท่านกับพระผู้อุปัฏฐากไปทางรถยนต์ ส่วนพวกเราพากันลงเรือกลไฟจากท่าเรืออุบลฯ ขึ้นที่ท่าเรือพิบูล แวะพักที่วัดเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร ราว ๔ - ๕ คืน ส่วนท่านได้ไปทางเรือ พวกเราเดินเท้าไปถึงวัดดอนธาตุ บ้านทรายมูลในวันนั้น

วัดนี้เป็นเกาะมีน้ำรอบ ไปบิณฑบาตต้องข้ามด้วยเรือทุกวัน ไปบิณฑบาตได้สองทาง คือ บ้านทรายมูล กับบ้านหัวดอน บ้านดอนไร่

ในระหว่างที่พักอยู่กับท่าน การทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่าน ข้าพเจ้าในฐานะเป็นอาคันตุกะก็ทำอยู่ในขั้นนอก ไม่ได้ประจำหน้าที่โดยเฉพาะ เพียงแต่ทำช่วยเพื่อนเท่านั้น ท่านให้ทำพิเศษก็คือ กดเอ็นท้องให้ท่านทุกวันในเวลานวดเส้นตอนกลางคืน การกดเอ็นท้องท่านนั้น ต้องใช้หัวแม่มือกดให้แรงเท่าที่จะแรงได้ เพราะหนังท้องท่านหนามาก และเอ็นท่านก็ด้านต่อการนวดเสียแล้ว ฉะนั้น การนวดเส้นถวายท่าน จึงต้องใช้ความแข็งแรงของเรามาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องฉลาดบ้าง คือต้องใช้หัวแม่มือวันละทาง เพื่อผลัดเปลี่ยนกันในวันต่อๆ ไป เพราะเราจะต้องทำเป็นประจำทุกวันไม่ให้ขาด เมื่อเราไม่ไปทำทุกวัน ท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่มันเป็นความขี้เกียจของเรา ไม่สนกับเราต้องการความดีจากท่าน ทั้งไม่สมควรแก่หน้าที่ของเราผู้เป็นศิษย์ ซึ่งพระวินัยบ่งชี้ไว้แล้วทุกประการ ที่สัทธิวิหาริก หรืออันเตวาสิก จะต้องปฏิบัติต่อพระอุปัชฌายะหรือพระอาจารย์ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้พยายามทำข้อวัตรปฏิบัติมิได้ท้อถอย

ครั้นต่อมาระหว่าเดือน ๖ ข้าพเจ้าต้องการจะลาท่านไปเรียนนักธรรมต่อที่เป็นสำนักเรียน ท่านบอกว่า ถ้าท่องปาฏิโมกข์ยังไม่จบ ไม่อนุญาตให้ไป เพราะท่านได้สั่งให้ท่องแล้วแต่เดือน ๓ ว่า พวกเณรที่อายุ ๑๙ ปีแล้วให้ท่องปาฏิโมกข์ให้ได้ทุกคน เราก็คิดว่าท่องไปค่อยได้หมดเวลาใดก็ได้ เมื่อไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ ก็ต้องเร่งรีบในการท่องบ่นต่อไป ในไม่กี่วันก็ได้จบทีเดียว ข้าพเจ้าก็ได้ไปเล่าให้ครูบาสิงห์ ธมฺมปาโลฟังจนจบ ปาฏิโมกข์ของข้าพเจ้าจึงท่องจำได้มาแต่ครั้งนั้น นับว่าได้ปาฏิโมกข์เพราะพระเดชพระคุณท่านอาจารย์นั้นเอง

เมื่อไม่มีความขัดข้องแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้กราบลาท่านไปสู่สำนักเรียนที่วัดสระแก้วรังษี ในอำเภอพิบูลมังสาหาร ครูบาสิงห์เป็นผู้นำฝากให้อยู่กับท่านพระครูบุณฑริกบรรหาร (ทองคำ จนฺทูโม ป. ๕) ท่านพระครูองค์นี้เป็นเจ้าคณะกิ่งอำเภอบุณฑริก ท่านมาอาศัยวัดนั้นอยู่เฉยๆ ไม่ใช่เจ้าวัด ที่วัดนี้มีท่านพระครูพิบูลสมณกิจ (เก้า) เป็นเจ้าอาวาส ทั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพิบูลมังสาหารด้วย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ข้าพเจ้าได้พักจำพรรษาที่วัดสระแก้วรังษี อำเภอพิบูลมังสาหาร ได้เรียนนักธรรมโท ณ ที่นั้น การเรียนของข้าพเจ้าโดยหาผู้เก่งกว่ามิได้ จึงต้องได้เป็นที่ ๑ เพื่อนในสำนักนี้ สอนโดยอาจารย์โสภา โสภโณ และปีนี้ทางวัดบรมนิวาสได้ส่งพระมหาคล้าย ธานี ฉายา กวิวงฺโส (ลาสิกขาแล้ว) มาเป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ แต่ไปสอนที่วัดกลาง ข้าพเจ้าก็ได้เรียนด้วยผู้หนึ่ง การเรียนอยู่ในอันดับสอง แต่เผอิญครูสอนไม่จบ สอนได้เพียง นามนาม - อัพยศัพท์ (นามนาม - อัพยศัพท์) และ สมาส - ตัทหิต (สมาส - ตัทหิต) กับหัดแปล อุภัยภาคปริวัต ไปบ้าง ว่าถึงการสอบธรรมสนามหลวง ข้าพเจ้าได้คะแนนเอกในชั้นโทนั้น การสอบธรรมได้เข้าไปสอบที่กิ่งอำเภอบุณฑริก (เป็นอำเภอแล้ว)

เสร็จจากการสอบ ครูบาสิงห์ได้พาไปเยี่ยมญาติท่านที่บ้านโนนยาง ตำบลไผ่ อำเภอยโสธร ท่านได้พาญาติของท่านจัดบริขารให้ข้าพเจ้าบวชเป็นพระ ข้าพเจ้าก็จำใจต้องไปอุปสมบทให้ท่านตามความประสงค์ ความจริงข้าพเจ้าตั้งใจว่า ราวอายุ ๒๕ หรือ ๒๖ ปี จึงจะบวชพระ เพราะด่วนบวช เราต้องแก่พรรษาง่าย ขี้เกียจเป็นหัวหน้าเพื่อน ทั้งภาระของเราในฐานะเป็นผู้แก่นั้นก็ต้องมาก จะไม่มีเวลาทำธุระของตนเพียงพอ ฉะนั้น การอุปสมบทของข้าพเจ้าในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องจำใจในเพราะความนับถือกัน

การบวชได้เดินทางไปบวชที่วัดสว่างโศก อำเภอยโสธร โดยท่านพระครูจิตตวิโสธนาจารย์โสภณเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มหากล้า (ลาสิกขาแล้ว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ พุทธศักราช ๒๔๘๕ บวชแล้วก็กลับบ้านโนนยางอีก เสร็จธุระแล้วได้พากันออกไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านข่าโคม ไปบ้านท่าวารีแล้วเดินทางกลับเข้าอุบลฯ ไปอำเภอวาริน ครั้นต่อมาก็ได้พากันเดินทางกลับมาทางสกลนครในแล้งนั้น


(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 19:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ


๏ ไข้เกิดขึ้น

ระหว่างพักอยู่บ้านข่าโคมนั้น เริ่มจับไข้ขึ้น แล้วก็เป็นไข้ต่อๆ มา ที่หยุด ที่ไข้ เป็นอย่างนั้นมาโดยลำดับ และผลัดเปลี่ยนกันไข้กับครูบาสิงห์ ครั้งเมื่อเดินทางจากบ้านท่าวารีไปอุบลฯ ได้เกิดจับไข้ไปตามทาง การไข้ก็หาได้พักนอนไม่ ต้องเดินไปเรื่อยๆ บางครั้งถึงกับเดินไปจะยกขาไม่ขึ้น เวลาพักเหนื่อย เมื่อวางของออกจากบ่า ต้องล้มนอนไปเลย ลุกขึ้นตะพายของเดินทางต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเดินทางออกจากอุบลฯ เพื่อกลับสกลนครครั้งนี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมญาติที่บ้านหนองหลัก ครั้นเยี่ยมญาติแล้วก็เดินทางไปพักที่ป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ เพราะได้นัดกับครูบาสิงห์ว่า ท่านจะขึ้นรถจากอุบลฯ มาเบารับที่นั้น แต่แล้วก็ผิดหวังทีเดียว เมื่อถึงวันนัด ข้าพเจ้าก็มารอรถอยู่ที่ใกล้ทางรถ นอนรอไข้ รออยู่จนค่ำไม่ได้ไป วันที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน ครั้นวันที่ ๓ ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจขึ้นรถไปทีเดียว แต่ก็เป็นด้วยเคราะห์กรรมข้าพเจ้าอีก ครั้นรถยนต์ที่โดยสารไปนั้น ได้ผ่านอำเภอมุกดาหารไปหน่อยได้ (เกิด) เครื่องเสีย ไปไม่ได้ ทำให้หมดหวังในการไปกับรถ เพราะรถคันอื่นอีกก็ไม่มี ทั้งตะวันก็เกือบค่ำอยู่แล้ว

ได้ออกเดินทางไปกับพระฝ่ายคณะมหานิกาย ๒ องค์ วันนั้นได้แวะพักที่บ้านหนองแอก รุ่งเช้าฉันเสร็จได้พากันเดินทางต่อไป ระหว่างเดินทางจวนจะเที่ยง จึงแวะพักชั่วคราวที่วัดบ้านชะโนดเพื่อให้หมู่พระนั้นได้ฉันเพล ส่วนข้าพเจ้าเกิดจับไข้ขึ้นขนาดหนัก ได้ตั้งใจว่า ถ้าไข้ไม่สร่าง จะให้หมู่พระที่มาด้วยกันนั้นเดินทางไปก่อน ส่วนตนสร่างไข้เวลา (ใด) ก็จะค่อยเดินไปผู้เดียว

ครั้งนั้นยาจะฉันก็ไม่มี เผอิญเพื่อนพระนั้นท่านเอายาทันใจ (เป็นยาแก้ไข้แก้ปวดในสมัยก่อน ปัจจุบันนี้ชื่อ “ยาทัมใจ”) ให้ ๑ ซองก่อนท่านไปฉันเพล พอเพื่อนพระฉันเพลเสร็จไข้ก็ได้สร่าง จึงตกลงต้องเดินทางกับคณะต่อไปอีก ครั้นจวนจะถึงแม่น้ำก่ำ มีรถฝรั่งวิ่งผ่านมา จึงเบาให้เขาหยุด แล้วขึ้นรถไปลงที่อำเภอธาตุพนม เผอิญค่ำมากจึงต้องแวะพักที่ธาตุพนมพร้อมด้วยคณะ พอจวนจะสว่างเกิดจับไข้ขึ้นมาอีก รุ่งเช้าได้บอกคณะว่า ไม่ฉันจังหันเพราะฉันไม่ได้ ระหว่างจังหันเสร็จนั้น ครูบาสิงห์ที่พักอยู่วัดอ้อมแก้วได้ข่าวก็พาเด็กวัดเข้าไปหา นำขนมไปให้ฉันด้วย ข้าพเจ้าจึงได้อำลาคณะเดินทางนั้นออกไปพักที่วัดอ้อมแก้ว พักรักษาไข้อยู่ที่นั้นเป็นหลายวันจึงค่อยฟื้นตัวขึ้นได้ ต่อมามีญาติโยมบ้านนาโศก อำเภอนาแก ได้มารับเอาไป จึงได้เดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านนาโศกต่อไป พักอยู่ที่นั้นจนได้แรงดี จึงได้เดินทางไปจังหวัดสกลนคร แล้วเดินทางไปบ้านเดิมเพื่อรักษาตัวต่อไป และได้แยกทางกับครูบาสิงห์ ณ ที่นั้น

พ.ศ. ๒๔๘๕ ครั้นใกล้จะเข้าพรรษา กับคณะหลายองค์ มีพระสา (ลาสิกขาแล้ว) เป็นต้นได้เดินทางกลับสกลนครอีก พักจำพรรษาที่วัดสุทธาวาส มี ท่านอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสชั่วคราว อยู่ ณ ที่นั้น การไปวัดป่าสุทธาวาสครั้งนี้ ให้มีเหตุข้างหลังเกิดขึ้น โดยอาจารย์อุ่ย สุขกาโม (ลาสิกขาแล้ว) หาว่าพระสาโลภเอาปัจจัยของสงฆ์ ถึงกับไปโจษกันที่วัดป่าสุทธาวาส เรื่องมันก็ต่อเนื่องไปถึงข้าพเจ้าเหมือนกัน แต่ผู้โจษจันไม่บ่งถึงเท่านั้น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เขียนรายการรับและจ่าย สมัยที่พักอยู่วัดคามวาสีทุกประการ แล้วให้พระสาเอาไปเสนออาจารย์อุ่ยให้ทรายรายละเอียด และข้าพเจ้าได้สั่งกับพระสาไปอีกว่า ถ้าไม่สิ้นสงสัยก็ให้เจ้าโจษจันนั้นเอาเรื่องผิดถูกกันทีเดียว ไม่ต้องพูดเล่นกันเฉยๆ ที่ข้าพเจ้าไม่พูดเองก็เพราะผู้โจษนั้นยังไม่เกี่ยวข้องถึงตัว แต่แล้วเรื่องก็ได้สงบไป

ปีนี้ข้าพเจ้าได้เรียนนักธรรมชั้นเอกด้วย ดูหนังสือด้วยตนเอง ไม่มีครูสอน และได้เรียนบาลีไวยากรณ์ด้วย โดยพระมหาพิมพ์ (ลาสิกขาแล้ว) เป็นครูสอน แต่ครูก็สอนไม่จบอีก สอนได้เพียง นามนาม - อาขยาต เท่านั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ข้าพเจ้ากับพระสา ได้เดินไปสอบธรรมที่กิ่งอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เพราะไม่ได้ย้ายสำมะโนครัวนักธรรม ครั้นสอบเสร็จได้ไปพักรอฟังข่าวสอบอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นด้วยเคราะห์อีก เราทั้งสองได้จับไข้กัน ไม่มีใครจะพยาบาลกันเลย บางครั้งเป็นหนักถึงกับฉันจะไม่ได้เสียเลย ที่ตัวร้ายก็คือ ไข้จับสั่น การจับสั่น ก็สั่นจนกุฏิสั่นสะเทือนไปด้วย หายใจทั้งทางจมูกและทางปากก็ยังไม่พอ ผ้าห่มจะกี่ผืนก็ไม่อุ่น จนอาการไข้อ่อนลง จึงจะรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาได้ กำลังก็ถูกลดลงไปวันละมากๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ ถึง ๑๐ วัน คงจะนอนติดเสื่อทีเดียว แต่ก็ด้วยเดชะบุญ ชนิดจับสั่นมันก็เป็นราว ๔ - ๕ วันเท่านั้น แล้วก็เปลี่ยน (เป็น) ไข้ธรรมดาต่อไป

ระหว่างจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส ข้าพเจ้าได้ถูกเป็นไข้จับสั่นมาบ้างเหมือนกัน จับสั่นถึงขนาดนอนไม่ได้ ต้องลุกนั่งชันเข่า เอาศีรษะก้มลงหายใจให้ถูกกับหน้าอก จึงค่อยทุเลาที่เป็นได้ ครั้นคราวพักอยู่วัดภูเขาแก้วนี้ก็ถูกอีก แต่ครั้งนี้ต้องประสบเคราะห์ร้ายหน่อย ยาจะฉันก็หาได้อย่างขัดๆ ข้องๆ เต็มที เพราะตามโรงร้านก็ไม่ค่อยมีเสียด้วย มูลค่าจะจับจ่ายก็ถึงคราวจนเสียด้วยซ้ำ ทั้งพระเณรในวัดนั้นก็ไม่มีผู้ดูแลให้ความอุปการะเสียเลย มีบ้างแต่หลวงพ่อเพ็ชร์องค์เดียวเท่านั้นที่ไปถามข่าวบ้างในตอนค่ำทุกๆ วัน แต่ก็จะช่วยเหลืออย่างใดนั้นไม่มี ทางญาติโยมประจำวัดนั้น เขาก็ไม่เหลียวแลอีก ดีหน่อยที่ได้แม่ขาวจันแดง ที่เป็นน้องสะใภ้ท่านอาจารย์พรหม บ้านดงเย็น ได้ไปพักอยู่ในสำนักชีแห่งวัดนั้น ได้จัดอาหารไปถวายในเวลาป่วยทุกวัน แม้ขณะนี้ข้าพเจ้าก็หาได้ลืมอุปการคุณของแกไม่

ถึงจะตกทุกข์ประการใด ภายใจของข้าพเจ้าเองก็มิได้หวั่นไหวแต่ประการใด จะให้คิดถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องและหมู่เพื่อนเดิมก็ไม่มี ใจได้สบายไปเรื่อยๆ ไม่เห็นว่ามันห่วงอาลัยอะไร เมื่อกำลังกายได้ทุพลภาพลง ได้แต่คอยดูลมหายใจจะหมดไปเท่านั้น ฉะนั้น ในเวลาสร่างไข้แล้วเป็นระหว่างกลางวันแห่งวันหนึ่ง เผอิญจิตได้ดำเนินจะลงรวมเป็นสมาธิ ได้ปรากฏอาการแปลกคล้ายๆ กับว่าใจจะขาด จะเป็นการหายใจไม่สะดวกก็ไม่ใช่ มันหากเป็นเพียงอาการแห่งความสำคัญของจิตเท่านั้น จึงเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเป็นโมกขธรรมจริง ทำไมจึงจะให้คนตาย คงจะไม่ใช่กระมัง คิดวิพากษ์วิจารณ์ตามเรื่องของตนอยู่ในทำนองนี้ไปๆ มาๆ

ถ้าจะไปถามผู้อื่นหรือ ภายในวัดนั้นก็ไม่มีใครที่จะแนะนำได้ จึงจำเป็นต้องตัดสินด้วยตนเอง คราวนี้ได้กำหนดจิตให้ถอนออกมาจนเป็นจิตตามธรรมดา พักอยู่ครู่หนึ่งแล้วกำหนดให้ลงไปอีก ได้กำหนดเข้า กำหนดออกเป็นหลายหน ใช้นอนกำหนดบ้าง ลุกนั่งกำหนดบ้าง ทำอย่างไรจิตก็ยังสำคัญมั่นอยู่อย่างเดิม ในที่สุดต้องตัดสินด้วยตนเองว่า ไม่ใช่โมกขธรรม แล้วกำหนดจิตให้ออกจากอาการเป็นอย่างนั้น ไม่ให้มันเป็นอีกต่อไป เราก็พึ่งสอบนักธรรมเอกมาใหม่เสียด้วย เรื่องสมถะและวิปัสสนาคิดว่าใครถามก็ไม่ยอมติด แต่เมื่อมาปรากฏแก่ใจของตนเองแล้ว ไม่รู้เสียเลยว่าอย่างนี้เป็นอะไรต่ออะไร คิดขบขันในตัวเองเหมือนกัน ที่เรียนมาแล้วไม่รู้ น่าแปลกจริงๆ คนอื่นจะเป็นอย่างเราหรือก็ไม่ทราบ เพราะเป็นของใครแต่ละคน

เรื่องนี้จะได้กล่าวตามที่ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ผู้ท่านรู้จริงในภายหลัง ท่านแสดงว่าอาการในเบื้องต้นของอานาปานสติสมาธิ ถ้าหากปล่อยจิตให้เลยลงไปจากที่ว่านั้นแล้ว จิตก็จะเข้าถึงอัปนาสมาธิทีเดียว จึงเป็นที่น่าเสียดายมากทีเดียว เพราะกว่าจะบำเพ็ญให้จิตเป็นไปในขั้นอัปนาจิตมิใช่ง่ายเสียเมื่อไหร่ ถ้าจะว่ากันอย่างภาษาหยาบๆ ก็ต้องว่า น่าฆ่าทิ้งเสียจริงๆ ที่เรียนแล้วไม่รู้ ฉะนั้นจึงน่าเสียดายคุณธรรมส่วนนี้มาก

อาการไข้ในระยะหลังมา ได้เป็นไข้ที่เว้นวันจับวัน เป็นอยู่ราว ๑ เดือน ท่านพระครูบุณฑริกบรรหารที่กลับจากกรุงเทพฯ เวลาที่ท่านพักอยู่อุบลฯ ได้ทราบข่าวอาการเป็นไข้ของข้าพเจ้าแล้ว ท่านได้เข้าไปขอเอายาควินินน้ำจากโรงพยาบาลมาให้ ๑ ขวด เมื่อได้ฉันยาควินินน้ำสัก ๒ - ๓ วัน ไข้ก็ได้หยุดขาดไปทีเดียว

ครั้นต่อมาข่าวสอบก็ได้รู้แน่นอนว่าสอบได้และได้คะแนนเอกอีก การเรียนชั้นเอกนี้ตามความจริงแล้วข้าพเจ้าเป็นอันดับหนึ่งในสำนักสอบแห่งนั้น เพราะหมู่เพื่อนในชั้นสอบครั้งนี้ ๕ องค์ด้วยกัน บางองค์ก็ตกมาแล้ว ๕ ปีบ้าง ๔ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง ๑ ปีบ้าง ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนแต่ผู้เดียว แต่เมื่อก่อนเข้าห้องสอบหมู่ในชั้นนี้ ทุกองค์ต้องอาศัยชั้นเชิงแห่งการตอบปัญหาจากข้าพเจ้าทั้งสิ้น ในที่สุดก็สอบได้ทั้งหมดด้วยกัน

เพราะเหตุนั้น ท่านพระครูเห็นว่า ข้าพเจ้าจะพอช่วยธุระของท่านให้เจริญไปได้ ท่านจึงหาวิธีผูกข้าพเจ้าไว้กับท่าน โดยท่านได้ตั้งข้าพเจ้าเป็นพระสมุห์ในฐานาของท่าน แล้วยังปรารภจะตั้ง (ให้เป็น) เจ้าคณะตำบลหรือกรรมการสงฆ์ในกิ่งอำเภอของท่านด้วย แต่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะมามัวยุ่งด้วยงานประเภทนี้ เพราะได้พิจารณาแล้วว่า ผลที่จะพึงได้แก่ตนมีน้อย ซ้ำยังทำให้ตนเองมัวเมาลุ่มหลงไปกับยศศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ของตน ทั้งหาโอกาสทำความบริสุทธิ์แก่ตนได้ยาก ถ้าจะว่าทำไมจึงกล้าพูดตำหนิไปเช่นนี้ ก็เพราะข้าพเจ้าได้เป็นนักเรียนปริยัติธรรมมาแล้ว หมู่เพื่อนเรียนของข้าพเจ้าก็มีมาก เพื่อนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็มี ที่อยู่ตามชนบทก็มีหลายจังหวัด ข้าพเจ้าจึงรู้จิตใจของผู้เรียนปริยัติดีทุกประการ และงานเจ้าคณะข้าพเจ้าก็เป็นผู้ช่วยงานท่านเจ้าคณะมาหลายปี และได้พยายามสังคมกับเจ้าคณะอื่นๆ อีก จึงทำให้รู้จิตใจของ (เจ้า) คณะดีทุกประการ เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่ให้ใครโกหกได้ทีเดียว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะเป็นครูสอนปริยัติธรรมและไม่ปรารถนาที่ (จะ) เป็นเจ้าคณะ ข้าพเจ้าจึงได้หาทางปลดเปลื้องภาระประเภทนี้เสมอมา

ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ข้าพเจ้ากับพระสาก็ได้เดินทางกลับบ้านเดิมที่เรียกว่า ปิตุภูมิ เนื่องด้วยการคัดเลือกทหารของข้าพเจ้า จึงได้นมัสการลาท่านพระครูซึ่งเป็นที่รักของข้าพเจ้า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาได้โดยสารรถไฟจากอุบลฯ พักที่วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ๑ คืน แล้วขึ้นรถไฟจากนครราชสีมา พักที่วัดหนองบัว อุดรธานี ๑ คืน ขึ้นรถยนต์จากอุดรฯ ลงรถที่ดอนเขือง แล้วก็เดินทางเข้าวัดคามวาสี บ้านตาลโกน รอเวลาคัดเลือกทหารอยู่ที่นั้น ในการคัดเลือกทหาร ข้าพเจ้าได้ตั้งใจอธิษฐานว่า ถ้าบุญกุศลของข้าพเจ้ายังมี จะได้ปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาต่อไป ขออย่าได้ถูกเป็นทหารเป็นเด็ดขาด ดังนี้

เผอิญปีนั้นเป็นที่หน่วยทหารย้ายมาตั้งที่ธาตุนางเวงใหม่ๆ ทั้งสงครามญี่ปุ่นกำลังป่วนปั่นอีกด้วย ทางหน่วยราชการทหารก็ต้องการทหารมากเฉพาะจังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารับคัดเลือกได้ดี ๑ ประเภท ๒ จึงถูกปล่อยตัวมาชั่วคราว ระหว่างเดือนตุลาได้ถูกเรียกพวกดี ๑ ประเภท ๒ เข้าไปรับราชการทหาร ข้าพเจ้ายังมีช่องทางอยู่ จึงนำใบประกาศฉายาบัตรนักธรรมโทไปยกเว้นการเป็นทหาร ก็ได้หลุดพ้นไป และงานเจ้าคณะทางกิ่งอำเภอบุณฑริกนั้น ข้าพเจ้าอาศัยเหตุความเจ็บป่วยเป็นข้ออ้าง โดยได้มี จ.ม. ไปเรียนท่านพระครูบุณฑริกบรรหารทุกประการ ท่านก็ได้เห็นใจข้าพเจ้าเพราะความจำเป็นมีจริง ท่านจึงมี จ.ม. อนุญาตมาให้อภัยข้าพเจ้าตามประสงค์ งานเจ้าคณะก็ได้หลุดพ้นไปอีกเหมือนกัน

แต่ในแล้งนั้นก็เป็นที่น่าเสีย (ใจ) อยู่บ้าง คืองานฌาปนกิจศพของพระคุณท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถร ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่สักการะยิ่ง ได้มีงานฌาปนกิจศพระหว่างเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระหว่างการคัดเลือกทหารของข้าพเจ้า ด้วยเหตุขัดข้องมี ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ไปร่วมในงานนั้น แต่ก็ยังดีหน่อย ได้ไปนมัสการศพท่านแล้วแต่สมัยท่านมรณภาพใหม่ๆ ที่วัดบูรพาราม อุบลฯ เมื่อปีก่อนโน้น

รูปภาพ
พระครูพุฒิวราคม (หลวงปู่พุฒ ยโส)


ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ข้าพเจ้ายังเป็นไข้อยู่เสมอ ทีหายทีเป็นอยู่อย่างนั้น ทั้งยาแก้ไข้ก็หายาก ไปต้องการมาจากอนามัยอำเภอหรือ ก็ได้ทีละนิดหน่อยเท่านั้น จะฉันยาจนให้อาการไข้หายขาด ก็ไม่มียา ถ้าจะไปจำพรรษาที่อื่นหรือ คณะญาติก็จะลำบากใจในการไปเยี่ยมสุขเยี่ยมทุกข์ เพราะญาติพี่น้องทิ้งกันไม่ลงเป็นธรรมดา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องพักจำพรรษาที่วัดคามวาสี บ้านตาลโกน ซึ่งเป็นบ้านมาตุภูมิของตน โดยมีอาจารย์อุ่ย สุขกาโม เป็นหัวหน้า ปีนี้ ท่านพระครูพุฒวราคม (พุฒ ยโส) ก็ได้จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ท่านก็เป็นไข้ขนาดหนักเหมือนกัน ปรากฏว่าเวลาท่านอาพาธหนัก ได้ธรรมเกิดขึ้นเป็นกำลังใจที่น่าอัศจรรย์แก่ตนของท่านเหมือนกัน

สำหรับการพยาบาลไข้ของข้าพเจ้านั้น ได้อาศัยยาสมุนไพรจากพ่อออกเฒ่าจารย์มา หนองดินดำ เป็นสำคัญ ได้หามาฉันเอาจนหมดทุกขนานในตำรายาของผู้เฒ่า ขนานยาแก้ไข้ป่า มาเลเรีย ซำเฮี๊ย ผิดฤดู ผิดอากาศ อะไรต่ออะไรจนหมดตำรายาก็ยังไม่หายขาด

และปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ก็ได้พักจำพรรษาที่เดิมอีก เพราะไข้ยังไม่หายต้องรักษาตัวไปอีก ระหว่างนี้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าต้องคิดหาทางปรับปรุงตัวเองว่า จะเอารูปไหน จะเป็นฆราวาสหรือจะเป็นนักบวช จะเป็นนักปริยัติ หรือจะเป็นนักปฏิบัติ หรือจะเป็นแบบงูๆ ปลาๆ หรือจะเป็นนกมีหู หนูมีปีก และอีกประการหนึ่ง แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ปรารถนาอยากเป็นนั่นเป็นนี่กับเพื่อนก็ดี ส่วนทางวัดป่าสุทธาวาส พระมหาพิมพ์ก็สั่งให้ไปเป็นครูสอนนักธรรมให้ และทางพระอุปัชฌาย์ฮวด สุมโน ก็ต้องการเช่นเดียวกัน แต่ข้าพเจ้าก็ได้ปลดเปลื้องเสียทุกทาง แม้อย่างนั้นก็ยังไม่พ้นเสียทีเดียว ระหว่างออกพรรษาแล้ว ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ นั้น ยังได้ไปอบรมนักเรียนให้พระอุปัชฌาย์ฮวด ที่วัดไชยมงคล ราวเดือนเศษ การเป็นครูสอนนั้น มิใช่ข้าพเจ้าไม่สามารถแต่ประการใด แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบจะเป็นเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นเอง

เรื่องการปรับปรุงตนเองนั้น เบื้องต้นคิดอยากจะไปเรียนบาลีต่อ แต่ก็สุขภาพไม่อำนวยเนื่องจากการเป็นไข้ ซึ่งไข้ตัวนี้ทำให้ความทรงจำเสื่อมโทรมลงมาก จำได้ง่ายเหมือนแต่เดิม แต่มักจะลืมง่าย เมื่อสมัยก่อนความจำยังดี ถ้าท่องได้แล้วก็ไม่ค่อยจะลืมง่าย และการดูหนังสือ ถ้าได้ตั้งใจดูไปตลอดเล่มก็ยังจำเนื้อถ้อยกระทงความได้ตลอด มาบัดนี้ความจำได้ลบเลือนไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงต้องงดการไปเรียนต่ออีก

ทางด้านฆราวาส เมื่อมาพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนแล้วก็เป็นบ่อนแห่งการทำความชั่วนานาประการ ผู้จะตั้งตัวมีฆราวาสธรรมอย่างสมบูรณ์ได้ก็มีน้อยที่สุด คิดดูแล้วชีวิตนี้ไม่อยู่คงทนไปได้นานสักเท่าไรก็ถึงวันตาย ความดีที่จะสร้างขึ้นแก่ตนมีโอกาสทำน้อยที่สุด เหตุนั้นจึงควรหาทางแก้ไขตนเองเสียจากฆราวาสวิสัย แล้วจึงหันมาพิจารณาทางเพศนักบวช การบวชนั้น ถ้าจะครองตัวอยู่อย่างงูๆ ปลาๆ ซึ่งไม่ถูกกิจจะลักษณะของสมณเพศแล้ว เป็นฆราวาสเสียดีกว่า แล้วจึงคิดถึงประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้บวชในพระพุทธศาสนาสมัยครั้งพุทธกาลโน้นซึ่งล้วนแล้วแต่บวชมาเพื่อปฏิบัติตนให้พ้นไปจากวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น ต่างจากนักบวชในสมัยนี้มากทีเดียว ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้ตัดสินใจศึกษาหาทางปฏิบัติต่อไป


(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 20:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


๏ สมัยที่ได้ศึกษาทางปฏิบัติ

ระหว่างก่อนเดือน ๓ ข้าพเจ้าได้ไปม่วงไข่ ชักชวนพระครูญาณวิจิตร (บานิต สุรปัญโญ) เพื่อนสพรหมจารีเพื่อออกไปเที่ยวแสวงหาเจริญสมณธรรม ตามี่ข้าพเจ้าได้คิดพิจารณาไว้แล้วนั้น เพื่อนก็มีความยินดีด้วยทุกประการ ในไม่กี่วัน เพื่อก็มาหาข้าพเจ้าที่วัดคามวารี แล้วออกเดินทางไปด้วยกันสององค์ เพราะไม่ยอมให้ใครๆ ติดตามไปด้วย เกรงว่าผู้ใจไม่เด็ดเดี่ยวจะทำให้ยุ่งยากในภายหลัง เพราะการไปในครั้งนี้นั้น ไม่มีกำหนดวันกลับ และไม่กำหนดสถานที่ไป เบื้องต้นก็ออกไปพักที่วัดโชติการาม บ้านปทุมวาปี ๑ คืน ท่านครูบาสีลา เทวมิตฺโต ผู้เคยร่วมกันมาก่อน แม้ท่านถามถึงการไปการมา ก็ยังบอกไม่ถูก

รุ่งเช้า ฉันเสร็จออกเดินทางไปพักวัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ พักอยู่ราว ๓ - ๔ คืน จึงปรึกษาทางจะไปข้างหน้ากับเพื่อนอีก ถ้าจะไปทางอุดรฯ หนองคายก็ไม่สะดวก เพราะเป็นระหว่างสงครามอินโดจีน ยังไม่สงบดี ตามเขตชายแดนยังยุ่งๆ กันอยู่มาก จึงได้ตกลง วกการเดินทางไปทางทิศตะวันออกจะจากกไหนถึงไหนไม่มีกำหนด

แน่นอนในการตกลงแล้วก็ออกเดินทางแวะพักที่วัดโชติการามอีก ๑ คืน รุ่งเช้าฉันเสร็จออกเดินทางไปพักวัดสุขุมวารีราม อำเภอวาริชภูมิ ๑ คืน เพื่อเยี่ยมคุณพ่อหลวงสุขุมด้วย แล้วออกเดินทางไปแวะพักที่ภูลอมข้าว บ้านนาเชือก ในวันต่อไปก็ลุถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ที่วัดนั้นมีท่านอาจารย์หลุยเป็นประธานอยู่ในที่นั้น และมีหลวงพ่อใบ กับพระแสง (มรณภาพแล้ว) ส.ณ.บุญจันทร์

เวลานั้นท่านอาจารย์หลุยพร้อมด้วยชาวบ้านกำลังจัดสถานที่คอยรับ ท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่ชาวบ้านกำลังไปรับท่านมา จะถึงในไม่กี่วันนี้ ซึ่งก็เป็นโชคลาภอันใหญ่ยิ่งเฉพาะตัวของข้าพเจ้า เพราะเคยตั้งปณิธานไว้ว่า จะพยายามถวายตัวเป็นผู้อุปัฏฐากท่านเพื่อเป็นบุญนิธิแก่ตนต่อไป ความปณิธานนี้ข้าพเจ้าได้มีมาแล้วแต่หลายปีและได้เคยปรารภกับเพื่อนๆ มาบ้างเหมือนกัน

แต่ก็เผอิญเมื่อข้าพเจ้าพักอยู่ในสถานที่นั้นไปได้ ๒ - ๓ คืน ท่านอาจารย์หลุยได้ปรารภกับข้าพเจ้าว่า สำหรับท่านอาจารย์ใหญ่นั้น เมื่อท่านไปพักในสถานที่ใดมีพระมาก ท่านไม่พักอยู่นาน ฉะนั้น ขอให้พวกท่านที่มาใหม่ ออกไปพักในสถานที่อื่นจะเป็นการดีมาก เรื่องนี้ก็เป็นความผิดหวังของข้าพเจ้าทีเดียว แต่จะทำประการใด เพราะข้าพเจ้ายังไม่คุ้นเคยกับท่านเสียเลย มีแต่ความเกรงกลัวในท่านเป็นอย่างมากเท่านั้น รุ่งเช้าฉันจังหันเสร็จแล้ว ข้าพเจ้ากับเพื่อนจึงได้ออกเดินทางไปพักที่วัดบ้านนาใน ในวันต่อไป เมื่อฉันจังหัน เสร็จแล้วก็ไปช่วยงานท่านอาจารย์หลุยทุกวัน จนถึงวันท่านอาจารย์ใหญ่มาถึง ครั้นท่านมาถึงแล้ว ก็ได้มาฟังคำอบรมจากท่านเสมอ

ครั้นต่อมาไม่นาน ท่านได้ฟังเสียงจากคณะอุบาสกอุบาสิกา ปรารภให้ท่านฟังว่า ทางเจ้าคณะอำเภอพรรณานิคมเคยแสดงอาการหวงห้ามไม่ให้พระทางวัดป่าไปพักในวัดนั้นมาแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นด้วยบุญช่วยข้าพเจ้าอีก ท่านจึงได้จัดให้พระแสงกับพ่อออกจารย์เสนไปรับเอาพวกข้าพเจ้าเข้าไปพักอยู่ด้วยท่าน ตั้งแต่วันนั้นต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ถือนิสสัยอาศัยอยู่กับท่านมาเรื่อยๆ ครั้นต่อมาท่านพระครูญาณวิจิตรยังเป็นห่วงการสอบนักธรรมของตนจึงได้กลับไปม่วงไข่เสีย ข้าพเจ้ากับเพื่อนองค์นี้ก็ได้จากกันตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

พ.ศ. ๒๔๘๔ ข้าพเจ้าพักจำพรรษาอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ที่วัดป่าภูริทัตถิราวาส บ้านหนองผือ ในการอยู่ของข้าพเจ้านั้น ก็อยู่ด้วยความหวั่นวิตกในตนอยู่เสมอ จนแทบจะหายใจไม่อิ่มเหมือนกันเพราะความกลัวในท่านมากเหลือที่สุด ไม่ทราบว่าท่านจะขับให้ออกหนีไปวันไหน

เบื้องต้น ข้าพเจ้าได้อาศัยพระคำไพ หรืออวด สุสิกฺขิโต ซึ่งเป็นผู้ติดตามอุปัฏฐากท่านมาแต่บ้านห้วยเคน และท่านอาจารย์มนู ครั้นต่อมาท่านครูบาอ่อนสา ก็เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมหวั่นวิตกอีก ในการทำข้อวัตรอุปัฏฐากท่านนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เคยฝึกมาบ้างแล้วแต่สมัยอยู่กับท่านอาจารย์วัง ฐิติสาโรผู้เป็นอาจารย์เดิมของข้าพเจ้า แต่ถึงกระนั้นก็ยังงงอยู่มาก เพราะขั้นอาจารย์ผู้ใหญ่กับอาจารย์ผู้น้อยย่อมต่างกัน

สำหรับพระอาจารย์ผู้ใหญ่มีสิ่งที่จะต้องทำต่อท่านมีมาก เราต้องอาศัยความสังเกตศึกษาไปในตัว และต้องฉลาดทันต่อเหตุการณ์ด้วย อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้มองเห็นความโง่ของตนอย่างเต็มที่ทีเดียว แม้จะทำอะไรก็ต้องได้แอบเพื่อนอยู่เสมอ ทั้งอยากทำ ทั้งเกรงกลัวในท่านเหลือที่สุด

ระหว่างก่อนเข้าพรรษานั้น มีพระเณรเข้ามาหาท่านไม่ค่อยขาดแทบทุกวัน เมื่อมาร่วมกันมากๆ หน่อย เดี๋ยวก็ถูกท่านให้ขยายออกไป เหตุการณ์ย่อมเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ ข้าพเจ้าคิดแต่ว่า ถ้าเราไม่มีความผิดและไม่มีทิฏฐิมานะเข้าไปรบกวนวาระจิตของท่าน ก็คงจะไม่ถูกส่งตัวออกไปเป็นแน่ แต่ความร้อนๆ หนาวๆ ก็มีอยู่อย่างนั้นเสมอ พอได้เข้าไปปรับทุกข์กันกับครูบาอ่อนสาเท่านั้น เพราะท่านก็เป็นเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า

ครั้งหนึ่งเหตุการณ์ที่หวั่นวิตกนั้นได้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเสียแล้ว เรื่องนั้นคือ ในคืนวันนั้น มีหมู่พระเณรไปร่วมอบรมกันมาก เมื่อท่านให้การอบรมแล้ว ท่านได้สั่งให้ขยายกันออกไป ไม่ควรจะมาอยู่รวมกันมากๆ เช่นนี้ เพราะไม่ได้ความวิเวก การบำเพ็ญเพียรก็ไม่สะดวก จะมาอยู่กันมากๆ เพื่ออะไร มันเหมอนกันกับหมู่แร้งหมู่กา หากินซากความเน่านั้นเอง พอรุ่งเช้า ฉันจังหันเสร็จ ท่านได้ถามท่านอาจารย์หลุยว่า ใครบ้างจะออกไปวันนี้ กระหน่ำเข้าทุกที ท่านอาจารย์หลุยจึงได้รายงานให้ท่านทราบว่า องค์นั้นๆ ไป มีรายชื่อข้าพเจ้าเข้าด้วยองค์ (หนึ่ง) เหมือนกัน

รั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าเกือบจะสิ้นท่าเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้พูดอะไรเลยกับท่านอาจารย์หลุย แต่ท่านหากรายงานเหมาเอาทีเดียว ระหว่างนั้นครูบาคำไพได้ถูกออกไปแล้ว ได้ครูบาเนตร กนฺตสีโล มาเป็นผู้อุปัฏฐากแทนอยู่ เมื่อข้าพเจ้าเอาบริขารไปไว้ที่กุฎีแล้ว กลับมาทำข้อวัตรที่ทำการอุปัฏฐาก ขณะนั้นท่านอาจารย์ใหญ่กำลังไปฐานอยู่ ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับครูบาเนตร์ว่า เรื่องที่ท่านอาจารย์หลุยรายงานเรียนท่านอาจารย์ใหญ่ว่าผมองค์หนึ่งที่จะต้องออกไปวันนี้นั้น ผมไม่เคยพูดกับท่านอาจารย์หลุยเลยว่าผมจะออกไป ความตั้งใจของผมก็หวังว่าจะศึกษาอบรมกับท่านอาจารย์ใหญ่นี้ตลอด ไม่ปรารถนาจะไปทางอื่นเสียเลย ควรที่ผมจะทำประการใดจึงจะดี ครูบาเนตร์ให้ความเห็นว่า ควรกราบเรียนท่านอาจารย์ตามความประสงค์ของเรานั้นแหละดี แม้ข้าพเจ้าจะสะทกสะท้านเกรงกลัวในท่านสักปานใดก็ตาม เมื่อถึงคราวในที่จะต้องกล้า ข้าพเจ้าก็ต้องได้กล้าเพราะความจำเป็น

โอกาสเหมาะจังหวะมี เมื่อท่านอาจารย์ใหญ่กลับจากไปฐานมานั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าได้เข้าไปกราบแล้วก็กราบเรียนไปตามความจริงใจให้ท่านทราบทุกประการ ท่านได้นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพูดว่า “ตามใจของคุณ” เมื่อข้าพเจ้าได้รับมธุรสอย่างนี้แล้วก็สร่างใจขึ้นทันที มีความปลื้มใจอย่างสุดซึ้ง เท่ากับถอนดาบที่เสียบแทงอยู่ที่อกออกได้นั้นแล

ต่อมาวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้แอบเข้าไปจับเส้นให้ท่านกับครูบาเนตร์ในกลางคืนวันนั้น ท่านจะทดลองน้ำใจข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ การจับเส้นได้ล่วงเลยเวลาไปจนถึงไก่ขันกก ราวบ่าย ๓ ทุ่มกลางคืนท่านจึงเข้าห้อง แต่ใจข้าพเจ้าก็ยินดีต่อการกระทำนั้นอยู่ตลอดเวลา หาเกิดความรำคาญขึ้นมาไม่ ในวันต่อไปก็เป็นธรรมดา แปลกแต่วันเดียวเท่านั้น

ปีนั้นที่อยู่จำพรรษาด้วยท่าน คือ ท่านอาจารย์หลุย ๑ ท่านอาจารย์มนู ๑ มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ๑ ครูบาอ่อนสา ๑ ครูบาเนตร กนฺตสีโล ๑ กับข้าพเจ้าและเณรดวง ผ้าขาวเถิง เมื่อถึงเข้าพรรษา พอได้อธิษฐานพรรษาแล้วเท่านั้น ก็เกิดความอุ่นใจขึ้นมาเป็นอันมาก โดยคิดว่า ถ้าเราไม่มีความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ท่านก็คงจะไม่ขับออกจากสำนักเป็นแน่ แม้ครูบาอ่อนสาก็เช่นเดียวกับข้าพเจ้า

การจำพรรษาอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ปีนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุพรรษาอ่อนกว่าหมู่คณะทั้งสิ้น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะต้องถูกทำภาระอย่างหนักทุกประการ คือ

๑. ทำข้อวัตรอุปัฏฐากพระอาจารย์ ช่วยครูบาเนตร์

๒. รักษาความสะอาดและจัดแจงศาลาโรงฉัน

๓. ตักน้ำ

๔. ดูแลน้ำร้อน

๕. ควบคุมดูแลสิ่งของที่จะจัดถวายครูบาอาจารย์

๖. ต้อนรับแขกที่มาหาครูบาอาจารย์

ภาระทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เป็นภาระของข้าพเจ้าทำแต่ผู้เดียว แต่หากข้าพเจ้าเป็นผู้รับทำหนักกว่าเพื่อนเท่านั้น เรื่องการอยู่การปฏิบัติท่านอาจารย์ใหญ่นั้น ข้าพเจ้าได้อาศัยท่านอาจารย์มนู - มหาบัว และครูบาเนตร์เป็นผู้แนะนำ จึงไม่ค่อยผิดพลาด และในกาลต่อมาต่างก็ได้อาศัยซึ่งกันและกันเป็นลำดับมาจนถึงทุกวันนี้


(มีต่อ ๗)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron