วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 08:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


วัดป่าสัมมานุสรณ์ (วัดเหนือ)
ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย


จาก...หนังสือฐานสโมปูชา ที่ระลึกในมหามงคลพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพพระเดชพระคุณหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ณ เมรุวัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต ผู้เขียนและเรียบเรียง


หัวข้อ

ภาคหนึ่ง
๑. ชาติภูมิ
๒. ปฐมวัย
๓. จิตโน้มน้าวไปสู่ธรรม
๔. เริ่มชีวิตเป็นผ้าขาวน้อย
๕. ทดสอบก่อนออกบวช
๖. สู่เพศพรหมจรรย์
๗. ได้พบกัลยาณมิตร
๘. พบท่านพระอาจารย์มั่น
๙. โปรดโยมมารดา
๑๐. พบคู่กัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง
๑๑. พระนางมัทรีเสด็จมาในกลางป่า
๑๒. คำพยากรณ์ของท่านพระอาจารย์มั่น
๑๓. เทวดามาขอฟังธรรม
๑๔. จำพรรษาที่ถ้ำนายม เทวดามาอารักขาและถวายอาหารทิพย์
๑๕. สถานที่ซึ่งมีบุญคุณที่สุด
๑๖. ธุดงค์เข้าเขตพม่าและจำพรรษาในพม่า
๑๗. พระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาเยี่ยมท่าน
๑๘. กลับมาเยี่ยมแดนอีสาน
๑๙. งานช่วยท่านพระอาจารย์มั่น
๒๐. สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา
๒๑. วัดที่หลวงปู่ได้สร้างมาแล้ว
๒๒. ปฏิปทาของท่าน
๒๓. เมตตาธรรมที่สืบทอดจากครูบาอาจารย์ไปสู่ศิษย์
๒๔. ภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา
๒๕. การระลึกชาติ
๒๖. สายน้ำผุดบนภูพาน
๒๗. มาณพน้อยผู้มานิมนต์ข้ามโขง
๒๘. บุรุษผู้มาใส่บาตรที่วัดห้วยน้ำริน
๒๙. พญานาคในแม่น้ำโขง
๓๐. พญานาคผู้มิจฉาทิฏฐิ
๓๑. เรื่องพญานาคอีกครั้ง
๓๒. แม่ไก่ผู้มาปรากฏตัวในนิมิตภาวนา
๓๓. เรื่องน้ำกับหลวงปู่
๓๔. ในความทรงจำรำลึกของศิษย์
๓๕. ในโอกาสหนึ่งที่ไปโปรดศิษย์ที่เวียงจันทน์
๓๖. หลวงปู่กับการเดินทางไปนอกเขตประเทศไทย
๓๗. ปฏิปทาในปัจฉิมวัย
๓๘. หลวงปู่กับยอดคนแห่งแผ่นดิน
๓๙. พระธาตุมาปรากฏกับรูปหลวงปู่
๔๐. พระเทวานัมปิยเถระ

ภาคสอง
ธุลีที่ปลิวไปแทบบาท

ภาคสาม
ธรรมสนทนา : หลวงปู่กับบัวใต้น้ำ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 06 ธ.ค. 2009, 09:44, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 08:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. ชาติภูมิ

พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม มีชาติกำเนิดในสกุล “แก้วสุวรรณ” เดิมชื่อ “บ่อ” เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสาม ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โยมบิดาชื่อ “มอ” โยมมารดาชื่อ “พิลา” ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน เป็นชาย ๒ คน เป็นหญิง ๒ คน มีชื่อเรียงกันตามลำดับคือ

๑. ตัวท่าน
๒. น้องสาว ชื่อ พา แก้วสุวรรณ
๓. น้องสาว ชื่อ แดง แก้วสุวรรณ
๔. น้องชายคนสุดท้อง ชื่อ สิน แก้วสุวรรณ

ทั้งน้องสาวและน้องชาย รวม ๓ คนนี้ ปัจจุบันถึงแก่กรรมไปตามกาลเวลาหมดแล้ว

โยมบิดามารดาเล่าให้ท่านฟังว่า บรรพบุรุษต้นตระกูลของท่านนั้น เดิมมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่โดยที่พื้นที่เป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่ การทำนาต้องอาศัยไหล่เขา ยกดินเป็นขั้นบันไดเป็นชั้นๆ ไป จึงจะปลูกข้าวได้ แม้จะลงแรงทำงานหาเลี้ยงกันอย่างไม่ยอมเหนื่อย ต้องทำไร่ตามดอยเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ค่อยพอปากพอท้อง โดยเฉพาะบางปีถ้าฝนแห้งแล้ง ข้าวไม่เป็นผล พืชล้มตาย ก็อดอยากแร้นแค้น จึงได้คิดโยกย้ายไปแสวงหาถิ่นทำกินใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ราบลุ่มอันไม่เป็นที่ดอยที่เขาเช่นแต่ก่อน

ตระกูลของท่านพากันอพยพหนีความอัตคัดฝืดเคือง มาหาภูมิลำเนาใหม่ ผ่านหุบเหวภูเขาสูงของอำเภอด่านซ้าย ผ่านป่าดงพงทึบของ ภูเรือ ภูฟ้า ภูหลวง ได้มาพบชัยภูมิใหม่เหมาะ คือที่ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าใกล้หุบห้วย เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงช่วยกันหักร้างถางป่าออกเป็นไร่นาสาโท คงยึดอาชีพหลักคือการทำนาเช่นเดิม

ณ ที่บ้านโคกมนแห่งนี้เอง ที่ เด็กชายบ่อ บุตรชายคนหัวปีของสกุลแก้วสุวรรณได้ถือกำเนิดมา เป็นประดุจพญาช้างเผือกที่มีกำเนิดจากกลางไพรพฤกษ์ ทำให้ชื่อป่าที่เกิดของพญาช้างเผือกนั้นเป็นที่รู้จักขจรขจายไปทั่วสารทิศ...ฉันใด หลวงปู่ก็ทำให้ชื่อหมู่ “บ้านโคกมน” บ้านที่เกิดของท่านเป็นที่รู้จัก เป็นที่จาริกแสวงบุญของบรรดาชาวพุทธทั่วประเทศ...ฉันนั้น


๒. ปฐมวัย

ชีวิตตอนเป็นเด็กของท่าน นับว่ามีภาระเกินวัย ด้วยเกิดมาเป็นบุตรหัวปี ต้องมีหน้าที่ช่วยบิดามารดาทำงานในเรือกสวนไร่นา พร้อมทั้งต้องทำหน้าที่พี่ใหญ่ ดูแลน้องๆ หญิงชายทั้งสามด้วย

บ้านโคกมนในปัจจุบันนี้ แม้ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะคุยให้เราฟังว่า มีความเจริญขึ้นกว่าเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อนอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่ในสายตาของเราชาวกรุง ก็ยังเห็นคงสภาพเป็นบ้านป่าชนบทอยู่มาก ดังนั้นหากจะนึกย้อนกลับไปสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ณ ที่นั้น บ้านเกิดของท่านก็ยังคงมีลักษณะเป็นบ้านป่าเขาที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง สมาชิกทุกคนในครอบครัว ต้องช่วยกันตัวเป็นเกลียวโดยไม่เลือกว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ระหว่างที่พวกผู้ใหญ่ต้องไถ หว่าน ปักกล้า ดำนา เด็กๆ ก็ต้องเลี้ยงควาย คอยส่งข้าวปลาอาหาร เด็กโตหรือลูกหัวปีอย่างท่าน ก็ต้องช่วยในการไถ ปักกล้า ดำนาด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้องๆ กลับจากทำนา ก็ต้องช่วยกันหาผักหญ้า หน่อหวาย หน่อโจด หน่อบง หน่อไม้ รู้จักว่ายอดอ่อนของต้นไม้ชนิดใดในป่าในท้องนาควรจะนำมาเป็นอาหารได้ เช่น ยอดติ้ว ใบหมากเม่า ผักกระโดน...

โดยมากเด็กชายบ่อจะพอใจช่วยบิดามารดาทางด้านเรือกสวนไร่นามากกว่า กล่าวคือ จะช่วยเป็นภาระทางด้านเลี้ยงควาย ไถนา เกี่ยวข้าว หาผักหญ้า แต่ด้านการหาอาหารที่ต้องเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตผู้อื่น เช่น การจับปู ปลา หากบ เขียด มาเป็นอาหารประจำวันอย่างเด็กอื่นๆ นั้น ท่านไม่เต็มใจจะกระทำเลย ยิ่งการเล่นยิงนก กระรอก กระแต ที่เด็กต่างๆ เห็นเป็นของสนุกสนานนั้น ท่านจะไม่ร่วมวงเล่นด้วยอย่างเด็ดขาด พูดง่ายๆ ท่านไม่มีนิสัยทาง “ปาณาติบาต” มาแต่เด็กนั่นเอง

ความลำบากยากแค้นในการดำรงชีวิตขณะนั้นเป็นเช่นไร เราคงจะพออนุมานกันได้ โดยในสมัยหลัง เมื่อท่านและหลวงปู่หลุยมาคุยกันถึงการครองชีพที่จังหวัดเลย ระยะที่ท่านทั้งสองเป็นเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อบรรดาศิษย์ได้ยินเข้าก็อดที่จะนึกสงสารน้ำตาร่วงไปด้วยไม่ได้ พวกเด็กๆ ต้องจับปู จับปลาในนาในหนองน้ำ ปลาเล็กปลาน้อย ลูกกบเขียดใช้ได้ทั้งนั้น วันหนึ่งได้เขียดมาเพียงตัวเล็กๆ ก็ต้องปิ้งให้น้องๆ กิน โดยจัดแบ่งเก็บไว้สำหรับบิดามารดาด้วย น้องๆ ยังเป็นเด็กเล็ก ไม่ต้องใช้แรงงานอะไร ฉะนั้นจึงแบ่งให้เพียงขาเดียว

ไม่ใช่ไก่ ไม่ใช่กบ ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่อะไร แต่เป็นเขียดตัวเล็กผอมกระจ้อยร่อย...!! ดังนั้นเมื่อน้องๆ ได้รับส่วนแบ่งเพียงเขียดปิ้งขาเดียวจึงร้องไห้ วอนขอพี่ชายให้เพิ่มอีก โดยจะขอกินทั้งตัว

แม้จะสงสารน้องๆ ใจจะขาด แต่พี่ชายใหญ่ก็ต้องฝืนใจทำเป็นดุเสียงแข็ง

“จะกินล้างกินผลาญอะไรกัน ตั้งเขียดทั้งตัว ! ไม่ได้...ขาเดียวพอแล้ว !”

ปกติท่านเป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่เป็นที่หนักใจของบิดามารดา และเป็นคนไม่ชอบเล่นคลุกคลีกับหมู่คณะเพื่อนฝูง มีนิสัยเงียบขรึมมาแต่เล็กแต่น้อย ไม่ค่อยพูดเล่นหัว เพื่อนถามคำหนึ่งก็ตอบคำหนึ่ง เล่นคนเดียวเงียบๆ มากกว่าจะสนุกสนานเฮฮา ถ้าหากจะมีการเล่นและคุยกับเพื่อนฝูงบ้าง ก็มักชอบเล่นแต่กับเพื่อนที่มีอายุน้อยกว่า เล็กกว่าเสมอ

ท่านแสดงนิสัยองอาจ เด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่เด็ก โดยไปไหนชอบไปคนเดียว ไม่อาศัยหมู่พวก ซึ่งนิสัยองอาจเด็ดเดี่ยวที่ฝังตัวมาแต่เล็กแต่น้อยนั้น ก็ได้ปรากฏชัดเจนในภายหลัง เมื่อท่านเข้าสู่เพศครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ก็ออกเดินธุดงค์จาริกแสวงธรรมไปในป่าดงพงทึบแต่ลำพังองค์เดียวอย่างไม่หวั่นเกรงภัยอันตรายใดๆ เหมือนพญาช้างสารที่ละโขลงบริวาร พอใจท่องเที่ยวไปในราวป่าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายฉะนั้น

ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นเด็ก อย่างปกติของเด็กชนบทสมัยนั้น โดยเติบโตมากับทุ่งนาและท้องทุ่งไร่สวน การศึกษาในโรงเรียนนั้นไม่มีโอกาสเลย เพราะยังไม่มีโรงเรียนให้ ความจริงอย่าว่าแต่แถวบ้านโคกมนเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อนจะไม่มีโรงเรียนเลย แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร...พระนครหลวงของเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็ยังมีโรงเรียนเพียงไม่กี่แห่ง แต่อย่างไรก็ดี เด็กชายบ่อก็ยังสนใจในการศึกษาเล่าเรียน จนสามารถพออ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้บ้าง ซึ่งก็นับว่าเก่งพอใช้แล้ว สำหรับเด็กชนบทในหมู่บ้านห่างไกลจังหวัดเช่นนั้น

ท่านเล่าว่า ความรู้ในการอ่านเขียนนี้ ท่านเรียนได้มาจากพระภิกษุในวัด ซึ่งทำให้ชีวิตของท่านคุ้นเคยกับวัดมาตั้งแต่เล็ก

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ


๓. จิตโน้มน้าวไปสู่ธรรม

เมื่อท่านอายุครบ ๙ ขวบ ย่างขึ้นปีที่สิบ โยมบิดาก็ถึงแก่กรรม โยมมารดาแต่ผู้เดียวต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเล็กถึง ๔ ปาก ๔ ท้อง เด็กชายบ่อในฐานะพี่ชายคนโตก็กลายเป็น “ผู้ชายที่มีอายุมากที่สุด” แห่งบ้านไปโดยอัตโนมัติ แม้จะมีอายุเพียง ๑๐ ขวบ แต่เด็กชายบ่อก็รู้คิดช่วยมารดาในกิจการงานทั้งปวง การใดซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน เช่น งานออกแรงกลางแจ้ง ในด้านเรือกสวนไร่นา ท่านก็มิได้ปล่อยให้ตกเป้นภาระของมารดาแต่ฝ่ายเดียว เด็กชายบ่อก็พยายามช่วยแบ่งเบาทำหน้าที่ “ผู้ชายแห่งบ้าน” ไปด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้องเล็กๆ แทนมารดาด้วย ความลำบากตรากตรำในฐานะมี่เป็นเด็กชนบทในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญมีอยู่มากแล้ว แต่ก็ยังถูกโชคเคราะห์กระหน่ำซ้ำเติมอีก โดยให้ครอบครัวนี้ต้องขาด “พ่อบ้าน” ไปอีก จึงทำให้เด็กชายบ่อมีภาระเกินวัย ที่เป็นเด็กพูดน้อยอยู่แล้ว ก็ดูจะเพิ่มความเงียบขรึมมากขึ้นไปอีก

ต่อมาโยมมารดาของท่านพิจารณาเห็นว่า ที่ทางทำมาหากินที่บ้านโคกมนนี้ยังขัดข้องอยู่ ญาติพี่น้องของท่านที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวมาส่งข่าวว่า ได้พบถิ่นที่อุดมสมบูรณ์กว่าแล้ว อยู่ไม่ไกลจากบ้านโคกมนเท่าไรนัก แต่เป็นคนละจังหวัดกัน คือที่ตำบลเชียงพิน อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ได้มีการเดินทางไปสำรวจแหล่งทำกินแห่งใหม่ และปรึกษาหารือกันในกลุ่มญาติสนิทมิตรสหายแล้ว ตกลงที่จะอพยพเคลื่อนย้ายไปหาถิ่นทำเลทำมาหากินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ท่านเล่าว่า การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานบ้านช่องนั้น มิได้ไปกันตามลำพังครอบครัวหนึ่งครอบครัวใดอย่างโดดเดี่ยว หากจะไปกันเป็นหมู่เป็นคณะ อย่างที่สมัยโบราณเรียกกันว่า ย้ายถิ่นรื้อถอนไป แปลงเมืองสร้างบ้าน กันทีเดียว การอพยพมาบ้านตำบลเชียงพิน อำเภอหมากแข้งนี้ ครอบครัวของท่านอพยพมาพร้อมพวกครอบครัวพี่ป้าน้าอามากหลาย แต่ก็มีญาติพี่น้องอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ที่ยังรักถิ่นฐานบ้านเรือนแห่งเก่า คงพอใจที่จะปักหลักอยู่ ณ บ้านโคกมนต่อไปดังเดิม ดังนั้นแม้ต่อมาครอบครัวของหลวงปู่จะมาอยู่บ้านเชียงพิน อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี แต่เด็กชายบ่อก็พอใจจะไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงพินกับบ้านโคกมนอยู่มิได้ขาด

ท่านเล่าว่า ท่านถือว่า ทั้งที่บ้านเชียงพิน และบ้านโคกมน ต่างถือได้ว่าเป็น “บ้าน” ของท่าน “บ้าน” ที่เชียงพินก็ยังมีอยู่ “ญาติพี่น้อง” ที่เชียงพินก็ยังมีอยู่มาก และที่บ้านโคกมน “ญาติพี่น้อง” ก็ยังมีอยู่มากเช่นเดียวกัน

ระหว่างที่ไปๆ มาๆ มารดาพากลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านโคกมนนี้เอง ที่ชีวิตของหลวงปู่เริ่มโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้น และมีผ้ากาสาวพัสตร์เป็นบั้นปลายแห่งชีวิตในภายหลัง

กล่าวคือปีนั้น ท่านมีอายุได้ ๑๔ ปีแล้ว ได้มีพระธุดงค์กรรมฐานองค์หนึ่ง จาริกไปปักกลดรุกขมูลอยู่ที่วัดตระครูแซ ใกล้บ้านท่าน พระธุดงคกรรมฐานองค์นั้นชื่อ พระอาจารย์พา เป็นศิษย์องค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านเป็นพระที่มีจริยาวัตรที่นุ่มนวล และเคร่งครัดในธรรมวินัย คนในหมู่บ้านรวมทั้งมารดาและญาติผู้ใหญ่ของหลวงปู่จึงมีความเลื่อมใสศรัทธา พากันไปปรนนิบัติอุปัฏฐาก ถวายกัปปิยะจังหัน อยู่มิได้ขาด ตัวท่านเองก็พลอยติดตามโยมมารดาไปด้วย ในฐานะที่เป็นเด็กชายแรกรุ่น วัยกำลังใช้สอย จึงได้รับหน้าที่มอบหมายให้คอยปฏิบัติรับใช้พระ ประเคนของ ล้างบาตรให้พระอาจารย์ทุกวัน

ราวกับว่าพระอาจารย์พาจะตั้งใจไปโปรดเด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณโดยเฉพาะ ท่านจึงได้ปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้านนานพอดู จนกระทั่งเด็กชายน้อยเกิดความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี ท่านสอนให้เด็กชายรู้จักของควรประเคน และไม่ควรประเคน เวลาว่างก็เมตตาสอนหนังสือให้บ้าง และอบรมการสวดมนต์ภาวนาให้บ้าง จิตของเด็กชายน้อยจึงโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้น ทุกที จนในที่สุดเมื่อพระอาจารย์เห็นนิสัยอันสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ฝักใฝ่ในทางธรรมของเด็กชายน้อยผู้นี้ “บ่มได้ที่” แลดง “นิสัยวาสนา” แต่ก่อนอย่างเพียงพอแล้ว ท่านก็ออกปากชวนไปบวชด้วย

“บวชกับเราไหม”

เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณก็ตอบคำเดียว...สั้นๆ อย่างไม่ลังเลเลยว่า

“ชอบครับ”

ท่านถามย้ำ “บวชกับเราแน่หรือ”

“ชอบครับ” เป็นคำตอบยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านจึงให้ไปขออนุญาตมารดาผู้ปกครองก่อน

เมื่อหลวงปู่ไปขอลามารดา เพื่อจะตามพระอาจารย์ไปออกบวช มารดาทั้งประหาดใจและตกใจระคนกัน

ประหลาดใจ....ที่บุตรชายน้อยมีความคิดอาจหาญ เด็ดเดี่ยว.... ใจคอจะทิ้งบ้าน ทิ้งอ้อมอกแม่อันอบอุ่น ทิ้งญาติพี่น้องไปได้หรือ

ตกใจ....ที่ในวัยเพียงเท่านี้ บุตรชายน้อยจะต้องจากบ้าน เดินทางไปถิ่นทางไกลอันลำบากยากแค้นลำเค็ญ เหมือนคนไร้ญาติขาดมิตร

อย่างไรก็ดีท่านก็ยังพออุ่นใจได้บ้างว่า บุตรชายน้อยของท่านคงจะได้รับความคุ้มครองดูแลจากท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี

แต่ที่จะไม่ให้ห่วงหาอาลัยเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งมารดาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ลูกของท่านจะมีความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงแค่ไหน จึงถามย้ำแล้วย้ำอีก

“จะบวชไหม”

“จะบวชแน่หรือ”

ทุกครั้ง....ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากมารดาก็ดี จากญาติผู้ใหญ่ผู้ทราบเรื่องก็ตกใจ มาช่วยกันซักไซ้ไล่เรียง...ก็ดี ทุกครั้งจะได้รับคำยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงจากเด็กชายน้อยว่า

“ชอบครับ” ทุกคราวไป

ดังนั้นในเวลาต่อมา ชื่อ “เด็กชายบ่อ” จึงกลายเป็น “เด็กชายชอบ” ด้วยประการฉะนี้


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 08:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๔. เริ่มชีวิตเป็นผ้าขาวน้อย

เมื่อเด็กชายผู้ “ชอบ” บวช ลาโยมมารดาและญาติผู้ใหญ่ได้แล้ว ก็ออกจากบ้านโคกมนติดตามพระอาจารย์พาไปทุกหนทุกแห่งสุดแต่ท่านจะพาไป

หลวงปู่เล่าว่า ท่านเป็นตาปะขาว หรือผ้าขาวน้อย ถือศีลแปดอยู่กับอาจารย์ ๔ ปีเต็ม รับการฝึกอบรมทั้งด้านข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เช่น การปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ หัดล้างเท้าเช็ดเท้าในเวลาท่านกลับจากบิณฑบาต หัดพับผ้าจีวรและสังฆาฏิ และปูผ้านิสีทนะ หัดตักน้ำ กรองน้ำ ถวายท่าน ทั้งการท่องบ่นสวดมนต์บริกรรมภาวนา และเดินจงกรม ท่านได้ออกเดินรุกขมูลติดตามพระอาจารย์ไปอย่างทรหดอดทน ไม่ว่าจะเป็นการบุกน้ำลุยโคลน บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ผ้าขาวน้อยก็มิได้ย่อท้อ โดยสภาพป่าดงพงไพรอันลำบากลำเค็ญในเวลากลางวัน โดยสภาพป่าเขารกชัฏอันสงัดเงียบ น่าสยองกลัวในเวลากลางคืน....ท่านก็ได้ผ่านการทดสอบมาโดยตลอด

ท่านสารภาพว่าสำหรับความลำบาก ความหวาดกลัว แรกเริ่มก็มีบ้าง แต่ก็ต้องพยายามอดทน ด้วยความเคารพเชื่อฟัง เห็นตัวอย่างจากท่านอาจารย์

ความลำบาก....ท่านทนได้ ทำไมเราจะทนไม่ได้ !

ความน่าหวาดกลัว...ท่านอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่มิได้อย่างท่าน !

ผ้าขาวน้อยจะนึกข่มใจอยู่เช่นนี้เสมอ

ส่วนความคิดถึงบ้าน คิดถึงมารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ตามประสาเด็กนั้นไม่ใช่ไม่เคยมี บางกาลบางวาระเวลาเย็นค่ำ โพล้เพล้เห็นนกกาบินกลับรวงรัง ก็เคยเกิดความรู้สึกวังเวง ชะเง้อหาบ้านหาแม่บ้าง แต่ท่านก็นึกถึงความเมตตาของครูอาจารย์ นึกถึงความสุขสงบในการภาวนามาข่มความรู้สึกเหล่านั้นเสีย

“ใจมันชอบภาวนา” ท่านเล่า “มีความเยือกเย็นดี”

อีกประการหนึ่ง ท่านก็คิดปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราติดตามท่านอาจารย์ไปพบความลำบากเพียงแค่นี้ ว่าเป็น ทุกข์ แต่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนเราว่า นี่เป็นหนทางที่จะให้ พ้นทุกข์ ต่างหาก ทุกข์ใหญ่ ของมนุษย์และสัตว์โลกนั้น ท่านว่าอยู่ที่ การเวียนว่ายตายเกิด ปราชญ์จะต้องทำตนให้พ้นจาก “ทุกข์ใหญ่” นี่ เราเป็นเด็ก เรายังไม่รู้จักชัดว่า “ทุกข์ใหญ่” นี้เป็นจริงฉันใด แต่ทุกข์ที่เรา “เห็น” นั้น ก็มีชัดอยู่แล้ว ถ้าเราจะยังอยู่กับบ้าน ติดบ้าน ติดเพื่อน ติดญาติ ติดพี่น้อง ไม่ติดตามท่านออกไปแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ทุกข์ ที่ เราเห็นชัดของเราเองนั้น เราจะมีวันหลุดพ้นไปได้อย่างไร

“ทุกข์”..ที่เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณ หรือผ้าขาวน้อยศิษย์พระอาจารย์พาได้เห็นชัดด้วยความรู้สึกเห็นจริงของท่านเองนั้น ก็คือทุกข์ที่ท่านเห็นจากครอบครัว จากพ่อแม่ญาติพี่น้อง และจากตัวเอง

ทุกข์..ที่ต้องอยู่อย่างจนยากตรากตรำ ต้องทำนา ทำไร่ หากินตัวเป็นเกลียว อย่างไรก็ไม่เห็นเงยหน้าอ้าปากได้

เมื่ออายุ ๗ ขวบ ถ้าเป็นเด็กชาวกรุง ก็คงจะทำอะไรไม่เป็น ต้องมีพี่เลี้ยงนางนมช่วยเหลือ ทั้งการกิน การอยู่ การแต่งตัว อย่างมดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม แต่สำหรับเด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณ วัย ๗ ปี ได้ทำให้เป็นผู้ใหญ่เกินตัว ท่านเล่าว่า ใจของท่านคิดจะขอมีส่วนช่วยบิดามารดาการายได้ ถึงอาสาหาบขี้ครั้งไปขาย โดยเดินทางร่วมขบวนไปกับหมู่พวกที่เตรียมสินค้าไปขายที่จังหวัดอุดร ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครใช้สอยไหว้วาน แต่อยากไปเองด้วยปรารถนาจะให้บิดามารดาชื่นใจในความมีน้ำใจของบุตรชายคนโต ท่านจำได้ว่า ขี้ครั่งนั้นหนักมาก หนักถึงกว่า ๑๐ กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากมิใช่น้อย สำหรับเด็กชายวัย ๗ ขวบ เมื่อต้องรอนแรมเดินทางจากบ้านโคกมนไปถึง ๙ วัน ๙ คืน กว่าจะถึงอุดรฯ บ่าสองข้างจึงระบมแตกเป็นแผลหมด

ท่านเล่าว่า เดินทางไปขายขี้ครั่งนี้ ร่มปี เก็บเงินได้ถึง ๖ บาท เด็กชายน้อยภูมิอกภูมิใจมาก ที่สามารถช่วยหาราได้ให้ครอบครัวได้ด้วยเงิน ๖ บาทนี้ ท่านสามารถซื้อควายให้ทางบ้านได้ถึง ๕ ตัว ด้วยในสมัยที่ท่านเป็นเด็กนั้น ควายทางอีสานราคาถูกมาก ตัวละ ๕๐ สตางค์ ถึง ๑ บาท เท่านั้น

บางทีสินค้าขี้ครั่งมีคนแย่งขายล้นตลาด เด็กชายน้อยก็เลือกหาสินค้าชนิดอื่นมาแทน เช่น ยาสูบ ไม่ขีด หรือขี้ไต้ บางโอกาสไปไม่ถึงตัวจังหวัด ด้วยเหนื่อยหนัก พักขายได้แค่หนองบัวลำภูก็พอแล้ว ท่านรู้ซึ้งถึงใจว่า เงินทองนั้นหายากแท้ ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ อดทนกัดฟันสู้ตลอดมา

ยิ่งโยมบิดาสิ้นชีวิตลง การช่วยมารดาทำมาหากิน ยิ่งทำให้ท่านรู้ซึ้ง...ชัดขึ้น ชีวิตมนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อจะทำงาน เวียนวนอยู่เช่นนี้หรือ ?...

...เช้าขึ้นต้องออกไปไร่ออกไปนา ก่อนจะเป็นนาก็ต้องหักร้างถางพง ขุดเผาต้นไม้ ตอไม้ ตกแต่งให้เป็นคู เป็นคันนา เมื่อเป็นนาแล้ว...ถึงหน้านา ต้องไถคราด กลับดิน ให้หญ้าตายก่อน ต่อไปต้องไถอีกครั้ง คราดให้ดินแตก พอที่จะหว่านเมล็ดข้าว ตกกล้า พอต้นกล้าได้ที่ ก็ต้องเก็บกล้าไปปักกล้า ดำนา....

ไขน้ำเข้านา ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นกล้าให้เติบใหญ่ ระหว่างต้นข้าวเติบโตออกรวงตั้งท้องอ่อนๆ ก็ต้องคอยระแวดระวังศัตรูข้าว เช่น เพลี้ย ปู ที่จะมากัดกินต้นข้าว ข้าวแก่ รวงค้อมค่อมลง ต้องคอยไขน้ำออกจากนา ให้นาแห้ง เพื่อเวลาข้าวแก่จะได้ไม่ตกท้องน้ำ

...ระหว่างรอข้าวแก่ มิใช่ว่าจะสะดวกสบาย มีเวลาเพลิดเพลินเจริญใจได้เที่ยวเตร่ กลับต้องมีงานไร่ที่จะต้องดูแลต่อไป ปลูกผัก ผลไม้ เผาถ่าน

บางปี ฝนดี น้ำดี ก็ได้ข้าวมากหน่อย พอกินพอเหลือขาย บางปีฝนแล้ง น้ำน้อย ข้าวเสียหาย แทบจะไม่พอกิน พวกผู้คนในหมู่บ้านต้องออกไปหาทางทำมาหากินอย่างอื่นเป็นการเพิ่มพูนรายได้ บ้างไปเป็นคนรับใช้ คนสวนในเมืองหลวง บางกลุ่มก็ต้อนวัวต้อนควายไปขาย แต่เป็นการทำมาหากินที่เบียดเบียนชีวิตเขา ซึ่งท่านอาจารย์สอนหนักหนาว่าไม่ถูกต้อง ผิดศีล ทำให้ทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิดหนักหนาเข้าไปอีก

ปีหนึ่งแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนหายใจ ถึงเวลาข้าวแก่ ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกัน ผู้ที่จากไปทำมาหากินเพิ่มพูนรายได้ในต่างเมือง ก็ต้องกลับมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว...นวดข้าว....ฝัดข้าว...สีข้าว

กว่าจะเป็นข้าวเปลือก...

กว่าจะเป็นข้าวสาร...

สิ้นหยาดเหงื่อ สิ้นแรงคน เวียนวนกันทั้งเดือน...ทั้งปี...ทั้งชีวิตไม่รู้จักจบสิ้น

เกิด...แล้วก็แก่...แล้วก็เจ็บ...แล้วก็ตาย...!

โยมพ่อของเราก็ตายไปแล้ว...

เรายังเด็กอยู่ เคยเลี้ยงควาย ช่วยบิดามารดาทำไร่ไถนา แต่ต่อไปถ้ายัง “ติดข้อง” อยู่อย่างนี้ก็คงไม่พ้น...เติบโตไป ต้องเข้าเทียมแอก เทียมไถ แห่งชีวิต หมุนวนอยู่รอบกองทุกข์เช่นนี้อย่างไม่มีวันหยุดยั้ง

เหมือนควายที่เมื่อเราเลี้ยง ก็ปักหลักไว้ในนา ปล่อยสายเชือกที่ฟั่นเหนียวไว้ยาวเพียงระยะหนึ่ง มันจะกินหญ้า กินน้ำ จะถ่ายจะเล่นปลักโคลน ก็วนเวียนอยู่ในระยะความยาวของเชือกหนังนั้น ดูเผินๆ เหมือนว่า มันมีอิสระเสรี แต่ความจริงมันมีวงชีวิตจำกัดอยู่รอบเสาหลักนั้น เท่านั้น จะฟันฝ่าออกไปให้หลุดพ้น ก็ได้ยินเสียงกระดึงดัง มนุษย์ผู้เป็นนายก็จะมาขันเชือกชะเนาะให้เปลาะแน่นไปอีก

เราเป็นมนุษย์ ประเสริฐกว่าสัตว์ ทำไมจะยอมอยู่ในวงวัฏฏะ

แค่ปลายเชือกควายที่เราเห็นเป็นตัวอย่างอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เราจะต้องหลุดพ้นจากกองทุกข์ให้ได้

คำนึงได้เช่นนี้ “ทุกข์” ที่มารดา ญาติพี่น้องหวั่นเกรงว่าผ้าขาวน้อยจะไม่มีความอดทนเพียงพอ จึงดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไปสิ้น

ใจมันกระหยิ่ม คิดจะข้ามล่วง “วงทุกข์” นี้ไปให้จงได้ ท่านมีความเคารพท่านพระอาจารย์พาอย่างสุดซึ้ง พยายามปรนนิบัติวัฏฐากด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ท่านสอนเช่นไร ก็พยายามจดจำนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านการบำเพ็ญเพียรภาวนา

เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี อาจารย์ของท่านพิจารณาเห็นว่า ผ้าขาวน้อยผู้นี้ มีใจแน่วแน่มั่นคงในทางศาสนา และได้ฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยเพียงพอแก่การแล้ว จึงออกปากอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรได้


๕. ทดสอบก่อนออกบวช

สมควรจะกล่าวแทรกไว้ในที่นี้ด้วยว่า แม้ว่าขณะนั้นจิตใจของท่าจะมุ่งมั่นไปสู่แดนผ้ากาสาวพัสตร์แล้วก็ตาม แต่ท่านก็เป็นผู้มีความรอบคอบอยู่มาก ระหว่างใจหนึ่งฮึกเหิมว่า

“เราชอบบวช เราชอบอยู่ในธรรมวินัย เราจะเจริญรอยตามท่านอาจารย์ของเรา เราจะบวชเพื่อข้ามกองทุกข์ เราจะบวชไม่สึก เราเชื่อว่าเรามีใจแน่วแน่ต่อพระศาสนาอย่างมั่นคง”

แต่อีกใจหนึ่งอันเป็นวิสัยของปราชญ์ผู้ชาญฉลาด มีความรอบคอบระมัดระวังก็กล่าวเตือนใจตัวเองว่า

“ท่านอาจารย์ของเรา สอนว่าจิตของมนุษย์เรานั้นกลับกลอกเชื่อยาก วันนี้เราว่าเราจะบวชแน่นอน จะบวชไม่สึก แต่เราก็ออกมาสู่ร่มเงาของศาสนาแต่เล็ก แทบจะไม่ได้เคยพบเห็นชีวิตตามปกติของฆราวาสวิสัยของคนหนุ่มคนสาวเลย ถ้าเราบวชไปแล้ว กลับไปพบสิ่งที่ยั่วยวนชวนกิเลสให้มันยอกย้อนซ้อนกลเอาเล่า เราจะทำฉันใด เรามิถูกมันขย้ำกระหน่ำเอาจนโงหัวไม่ขึ้นหรือ...?”

ท่านเล่าว่า ดังนั้น ก่อนที่จะปลงชีวิตสู่เพศพรหมจรรย์ ระหว่างเป็นผ้าขาว ท่านจึงเรียนขออนุญาตพระอาจารย์ของท่านกลับมาบ้านชั่วคราว ขอใช้ชีวิตฆราวาสเป็นการทดสอบความมั่นคงของจิตใจให้แน่นอนก่อน

ท่านได้กลับมาทดลองใช้ชีวิตสนุกสนานกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันระยะหนึ่ง คนหนุ่มคนสาวเขาสนุกสนานรื่นเริงกันอย่างไร ก็ขอลองทำตามเขาดูบ้าง ว่าเราจะหลงหัวปักหัวปำไปกับเขาไหม หรือว่า ต่อไปหากบวชแล้วเกิดมีกิเลสกล้ำกรายมา เรารำลึกได้ว่าเคยผ่านมาแล้ว เราเคยปล่อย สละ สลัดตัว ขาดมันไปแล้ว เราจะไปหวนหาอาลัยมันได้อย่างไร

สมัยนั้น เป็นที่นิยมกันว่า เด็กหนุ่มๆ จะต้องมีรอยสักตามแขนตามขาเป็นลายดำอวดกัน จึงจะถือว่าเป็นชายชาตรี ใครตัวขาวเปล่าเปลือยไม่มีรอยสักดำอวดกัน ก็ถือว่าไม่ใช่ชาย...!

ผู้สาวจะไม่สนใจ...

ผู้สาวจะไม่ฮัก...

เพื่อฝูงก็หนุนว่า ท่านต้องสักว่านด้วย ไม่งั้นผู้สาวไม่ฮักเด๊อ...!!

ท่านเล่าว่า ท่านก็เลยตามใจเพื่อน ยอมไปสักว่านกับเขาบ้าง ที่แขนและขา ตกลงค่าจ้างกันว่า ให้สักเป็นรูป “ตัวมอม” คล้ายราชสีห์ ที่ขาทั้งสองข้างๆ ละ ๑ ตัว เขาคิดค่าจ้าง ๑ บาท เงิน ๑ บาท สมัยเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีที่แล้ว เป็นจำนวนที่ไม่ใช่น้อย แต่เด็กหนุ่ม “ชอบ” ก็ยินยอมทดลองดู ท่านให้สักเสร็จขาข้างเดียว คือขาซ้าย พอเริ่มสักขาขวาต่อไปได้นิดเดียวก็รู้สึกเจ็บมากขึ้น เห็นว่าจะทนเจ็บไปทำไม...เพื่ออะไร...เพื่อที่เขาเห็น เขานิยมกันว่าเพื่อโก้เพื่อหรูนี้หรือ...? ที่จริงมันเป็นของที่ไม่มีแก่นสาร ไม่เป็นสาระต่างหาก...!

ท่านก็เลยให้หยุดสักว่านต่อ คงสักขาลายเสร็จไปเพียงขาเดียว และเสียค่าจ้างเพียง ๕๐ สตางค์เท่านั้น

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


(เรื่อง “สักขาลาย” นี้ ในภายหลังเมื่อปี ๒๕๒๗ นี้ ท่านได้ไปเยี่ยม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านต่างคุยกันเรื่องนี้ และยังเปิดขาให้ดู “ขาลาย” ของกันและกัน เป็นสักขีพยานของการใช้ชีวิตฆราวาสก่อนออกบวช แล้วหลวงปู่ทั้งสองก็หัววกัน)

เพื่อทดสอบจิตใจต่อ ท่านก็ลองตามกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวบ้าง เห็นเขาไปเที่ยวสรวลเสเฮฮา คุยหยอกล้อกันตามบ้านผู้สาว ท่านก็ตามไปกับกลุ่มเพื่อน ประเพณีแถบอีสานมีการ แอ่วสาว จกสาว ซึ่งหมายความว่าไปล่วงเกินสาวก็จะมีบทปรับผี เสียผี ซึ่งบางรายก็อาจจะจบลงด้วยการแต่งงานอยู่กินกันได้ อย่างไรก็ดี หลวงปู่เมื่อเป็นเด็กชายวัย ๑๗ ปีกว่า ก็ได้ลองลิ้มชิมชีวิตเด็กหนุ่มกับเขาบ้างเหมือนกัน

ท่านเล่าอย่างขันๆ ว่า ท่านก็ได้ตามเพื่อนไปแอ่วสาว ไปจกสาว ไปล่วงเกินเขาตามอย่างเพื่อน...!!

แต่เขาว่า ท่านไปล่วงเกินเขา เขาจะเอามีดฟันหัวเอา...!!

โอ...ชีวิตฆราวาสมันเป็นทุกข์อย่างนี้เอง มันขัดข้องวุ่นวายอย่างนี้เอง ไม่เห็นเป็นสาระแก่นสารแต่อย่างใดเลย...! ไม่มีทางที่เราจะยินดีกับชีวิตที่หมกมุ่นวุ่นวายจมกองมูตร กองคูถ อย่างนี้แน่นอน...!!

แน่ใจตนเองเช่นนั้น ท่านก็กลับไปกราบท่านอาจารย์ของท่านด้วยความลำยองผ่องแผ้ว ใช้ชีวิตผ้าขาวต่อไปอย่างมองเห็นธงชัยในชีวิตบรรพชิตรออยู่เบื้องหน้า


๖. สู่เพศพรหมจรรย์

เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๙ ปี พระอาจารย์พาได้จัดการดูแลให้ผ้าขาวศิษย์รักได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านนาแก บ้านนากลาง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ด้วยเป็นวัดใกล้บ้านกับที่ลุงของท่านผู้เป็นพี่ชายโยมมารดามีหลักฐานบ้านช่องอยู่ อัฐบริขารนั้นโยมมารดาและยายช่วยกันจัดหาให้ด้วยความศรัทธา

ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นสามเณรอยู่ถึง ๔ ปีกว่า โดยท่านอาจารย์พามิได้หวงแหน ให้ศิษย์ศึกษาอบรมอยู่กับท่านแต่ผู้เดียว ท่านได้ให้ศิษย์รักออกไปศึกษาธรรมกับครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้แตกฉานกว้างขวางขึ้น หลวงปู่จึงได้มีโอกาสไปกราบเรียนข้อปฏิบัติกับพระอาจารย์องค์อื่นๆ บ้าง เช่น พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ วัดโยธานิมิต เป็นอาทิ

ครั้นท่านมีอายุครบ ๒๓ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสร่างโศก ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังมิได้ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร เช่นทุกวันนี้ หลวงปู่บวชเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ และพระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานสโม”

ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านมิได้มีนิสัยสนใจทางการศึกษาด้านปริยัติธรรมมากนัก แม้การท่องพระปาฏิโมกข์นั้น ท่านใช้เวลาเรียนท่องถึง ๗ ปี จึงจำได้หมด

“รู้ความ แต่ไม่ได้ท่องจำ” ท่านเล่า

เมื่อกราบเรียนถามว่า เหตุใดหลวงปู่จึงใช้เวลานานนัก ท่านก็ตอบอย่างขันๆ ว่า

“นานๆ ท่องเถื่อ (ครั้ง) หนึ่ง บางทีก็ ๒ เดือน ท่องเถื่อหนึ่ง บางทีก็ ๓ เดือนท่องเถื่อหนึ่ง”

“สนใจภาวนามากกว่า”

ท่านสารภาพว่า ท่านดื่มด่ำในการภาวนามาก ท่านใช้คำบริกรรม “พุทโธ” อย่างเดียว มิได้ใช้ “อานาปานสติ” หรือกำหนดลมหายใจเข้า-ออกควบคู่กับพุทโธเลย

อันที่จริงเพียงบริกรรม “พุทโธ” อย่างเดียว ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับอภิบุคคล เช่นหลวงปู่ ท่านบริกรรมไม่นาน จิตก็จะรวมลงสู่ความสงบ ให้ความรู้สึกดูดดื่ม ลึกซึ้งในความสงบอย่างบอกไม่ถูก

สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น

สิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้

สิ่งที่เป็นของอสาธารณะแก่ปุถุชนธรรมดาก็กลับปรากฏขึ้น

เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง...!

ท่านเล่าว่า จิตของท่านรวมลงสู่ความสงบได้โดยง่ายมาก และเกิดความรู้พิสดาร การนี้เริ่มปรากฏแก่ท่าน ตั้งแต่ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ท่านสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกลึกลับได้ดี เกินกว่าสายตามนุษย์สามัญจะรู้เห็นได้ ได้ล่วงรู้ความคิดความนึกในจิตใจของผู้อื่น

ไม่ได้นึกอยากเห็น ก็เห็นขึ้นมาเอง

ไม่ได้นึกอยากรู้ ก็รู้ขึ้นมาเอง

รวมทั้งการรู้เห็นสิ่งแปลกๆ เช่น พวกกายทิพย์ คือ เทวบุตร อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ... หรือการรู้วาระจิตคนอื่น ที่เขาคิด เขานึกอยู่ในใจ ก็สามารถได้ยินชัด

สิ่งเหล่านี้...แรกๆ ท่านก็ทั้งตกใจ ทั้งประหลาดใจ แต่เมื่อเป็นมาระยะหนึ่ง ได้รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือภาพนิมิต ก็ระงับสติได้ มีสติว่า นี่เป็นเรื่องพิสดาร แต่ไม่ควรจะให้ความสนใจมากนัก

นี่เป็นเหตุหนึ่ง ที่เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ท่านก็บากบั่นมุ่งมั่นต่อไปในแดนพุทธาณาจักรอย่างไม่ย่อท้อ

ครูบาอาจารย์ก็ช่วยให้ความมั่นใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้มีนิสัย วาสนาทางนี้แล้ว ก็ควรจะเร่งทำความพากเพียรต่อไป ไม่ควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่เป็นเหมือน “แขกภายนอก” เหล่านี้ ย่านึกว่าตนเป็นผู้วิเศษ ผู้เก่งกล้าอะไร ผู้ใดมีวาสนาบารมีสร้างสมอบรมมาอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เปรียบเสมือนการปลูกต้นผลไม้ หากเรานำเอาเมล็ดมะม่วงมาเพาะปลูก ลงดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย บำรุงต้นไม้นั้นไป วันหนึ่งก็จะออกดอกออกช่อให้ผลเป็นเมล็ดมะม่วง ไม่เคยปลูกมะม่วง แต่จะนั่งกระดิกเท้ารอให้เกิดต้นมะม่วง มีผลมะม่วงขึ้นมาเอง ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีธรรมสร้างสมมาแต่บรรพชาติ จิตจึงเกรียงไกรมีอานุภาพ แต่ก็ควรจะประมาณตนอยู่ เพราะความรู้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของผู้กระทำความเพียรภาวนา นักปราชญ์จะไม่มัวหลงงมงายอยู่กับความรู้ภายนอกอันเป็นโลกียอภิญญา จุดหมายปลายทางของปวงปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลสที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเรานั้นให้หมดไป สิ้นไป โดยไม่เหลือแม้แต่เชื้อต่างหาก

หลวงปู่ได้น้อมรับคำสอนเตือนสติของครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ แม้หมู่เพื่อนๆ จะมีความเกรงใจท่านอยู่มาก แต่ท่านก็มีความเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ มิได้นึกเห่อเหิมอวดตัวแต่ประการใด ระยะแรกๆ ท่านเต็มไปด้วยความระวังตัว ด้วยไม่แน่ใจว่า บางครั้งภาพที่ปรากฏให้ท่านเห็นนั้น จะมีผู้อื่นเห็นเหมือนกับท่านหรือไม่ หากเขาปรากฏให้ท่านเห็นเพียงผู้เดียว การทักทายปราศรัย หรือสนทนาก็อาจทำให้ถูกมองเหมือนเป็นคนบ้า คนประหลาด พูดคุยคนเดียวก็ได้ ท่านจึงเป็นผู้เงียบสงบ ไม่ค่อยพูดคุยสุงสิงกับใครมากนัก ด้วยได้ใช้ภาษาใจได้อย่างเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านก็ชำนาญในการนี้มากขึ้น จนรู้ได้ทันทีว่านี้เป็นนิมิตหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ท่านก็คิดหมายมาดว่า ท่านจะต้องเร่งโอกาสความเพียรพยายามต่อไปโดยไม่ประมาท


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 08:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


๗. ได้พบกัลยาณมิตร

แม้จะเป็นนวกภิกษุ คือภิกษุบวชใหม่ แต่หลวงปู่ก็ได้ว่านชีวิตการธุดงค์มาหลายปีแล้ว เริ่มแต่ระยะที่ท่านอาจารย์ของท่านพาดำเนินมาในฐานะผ้าขาวน้อย ๔ ปี และต่อมาในฐานะสามเณรอีก ๔ ปี ฉะนั้นเมื่อบวชแล้ว อยู่รับการอบรมจากพระอุปัชฌายะและพระกรรมวาจาจารย์ ให้รู้จักพระธรรมวินัยให้พอรักษาตัวได้ ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษา พรรษาแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านจึงขอต่ออุปัชฌายะไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่านาคำใหญ่ ซึ่งเป็นวัดป่า เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้อยู่ห่างไกลจากวัดสร่างโศกที่พระอุปัชฌายะของท่านอยู่จำพรรษานัก เพราะต่างอยู่ในเขตอำเภอยโสธรด้วยกัน

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกธุดงค์ไปตาป่าเขาใกล้เคียง ถึงพรรษาที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านไปจำพรรษาที่วัดศรีมงคลเหนือ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แยกออกเป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว

ระยะนี้ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะโยมมารดาได้ขอร้องให้ท่านมาโปรดบรรดาญาติบ้าง ดังนั้น ในพรรษาที่สาม พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาจังหวัดอุดรธานี มาจำพรรษา ณ วัดป่าหนองบัวบาน อำเภอเมือง ซึ่งไม่ไกลจากอำเภอเชียงพิน บ้านที่อยู่ของบรรดาญาติพี่น้องของท่านเท่าใดนัก

วัดป่าหนองบัวบานนี้เป็นวัดเก่าแก่ อยู่ริมหนองน้ำใหญ่ แต่ไม่ใช่วัดเดียวกับวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ที่ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เพื่อสหธรรมิกของท่านสร้างในภายหลัง

ณ วัดป่าหนองบัวบานแห่งนี้เอง นอกจากจะเป็นที่ภาวนาดีแล้ว หลวงปู่ยังได้มีโอกาสพบเพื่อนภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งในชีวิตสมณเพศอันยาวนานในภายหลังต่อมาเกือบ ๖๐ พรรษกาลนั้น ได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมา...ภิกษุรูปนั้นแม้จะมีอายุมากกว่าท่านกว่าสิบปี แต่มีพรรษาอ่อนกว่าท่านเล็กน้อย ก็มิได้ถือตัวประการใด คงใกล้ชิดสนิทสนม ร่วมปฏิบัติธรรม สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นอย่างดี ภิกษุท่านนั้นคือท่านที่เรารู้จัก เราเคารพบูชากันในภายหลังในนามว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล นั่นเอง ปกติหลวงปู่เป็นผู้เงียบขรึม พูดน้อย ไม่ค่อยสนิทกับใครง่ายๆ หรืออีกนัยหนึ่งท่านเป็นผู้เลือกคบมิตร ท่านทราบดีว่า

“ยาทิสํ กุรุเต มิตตํ ยาทิสญฺจ เสวติ
โสปิ ตาสิสโก โหติ สหวาโส หิ ตาทิโส

บุคคลคบคนเช่นใดเป็นมิตร และส้องเสพคนเช่นใด
เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น”


ฉะนั้น เมื่อท่านได้พบหลวงปู่ขาว ได้เห็นความตั้งใจเพียรพยายามความเป็นปราชญ์...ของหลวงปู่ขาว...และในเวลาเดียวกัน หลวงปู่ขาวก็ได้เห็นความตั้งใจมั่นในการปฏิบัติธรรม ความเป็นปราชญ์อภิญญาของหลวงปู่ ทั้งสองท่านจึงต่างเคารพในธรรมของกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกัน

ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน ณ วัดหนองป่าบัวบาน ถึง ๓ พรรษา จากปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒

ได้มีผู้เปรียบหลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบว่า เหมือนพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการกล่าวกันเช่นนั้น คงจะเป็นด้วยในระยะแรกที่ท่านทั้งสองรู้จักกัน จำพรรษาด้วยกันนั้น ท่านต่างแสดงความประสงค์ที่จะก้าวล่วงกองทุกข์ให้ได้ แต่ก็กำลังแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะช่วยสอนสั่ง ขัดเกลากมลสันดานและชี้แนะทางพ้นทุกข์อย่างถูกต้องได้

เหมือนอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ ที่กำลังเป็นผู้แสวงหาครูอาจารย์ แต่ยังไม่ได้พบพระพุทธเจ้า

หลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ ระหว่างพรรษาแรกที่หนองบัวบานก็กำลังแสวงหาครูอาจารย์ และยังไม่ได้พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

เหมือนอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ ที่ต่างเป็นสหายกันและให้ให้สัญญาต่อกันว่า ถ้าหากใครมีโอกาสพบอาจารย์สอนทางพ้นทุกข์ก่อนกัน ก็ขอให้ช่วยบอกกันด้วย

หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบต่างเป็นสหายปฏิบัติธรรม จำพรรษาอยู่วัดเดียวกัน ชอบพออุปนิสัยซึ่งกันและกัน ต่างให้สัญญาต่อกันว่า ถ้าหากใครได้พบพระอาจารย์มั่นก่อน ก็ขอให้ช่วยบอกกันด้วย

เหมือนอย่างพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ เมื่อองค์หนึ่งคือพระสารีบุตรได้มีโอกาสพบท่านผู้บอกทางพ้นทุกข์ (พระอัสสชิ) ท่านก็ชวนพระโมคคัลลาน์เพื่อของท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

สำหรับหลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ เมื่อองค์หนึ่ง คือหลวงปู่ชอบได้มีโอกาสกราบท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ชวนให้หลวงปู่ขาวเพื่อนของท่านได้ไปกราบครูบาอาจารย์บ้าง

ท่านได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมา ได้เดินธุดงค์ด้วยกัน เมื่อต่างได้มากราบท่านพระอาจารย์มั่นถวายตัวเป็นศิษย์ รับคำสอนจากท่านแล้ว ก็แยกกันออกไปปฏิบัติธรรมตามจริตนิสัยของแต่ละองค์...บางเวลาก็ร่วมเดินธุดงค์ เผชิญความเป็นความตายด้วยกัน...บางเวลาก็ออกไปหาสัจธรรม บางเวลาก็ติดตามครูบาอาจารย์ไปทางภาคเหนือด้วยกัน เป็นสิบปี...ชวนกันกลับมาภาคอีสานบ้านเกิดด้วยกัน บำเพ็ญธรรมเพื่อประโยชน์ตนเองและหมู่คณะแล้ว ก็สั่งสอนสานุศิษย์ของแต่ละท่านในหลักธรรมอันเป็นแนวเดียวกัน

แต่หนุ่ม จนย่างเข้าวัยชรา
แต่เมื่อเป็น ผู้แสวงหา...จนเป็น ผู้ปล่อยวาง
ได้รับความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา จากประชาชนทั่วประเทศเช่นเดียวกัน


ท่านได้พบปะเยี่ยมเยียนกัน แสดงธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นนิจ ให้บรรดาศิษย์ได้มีโอกาสกราบบูชาพระคุณเจ้าทั้งสองคู่กัน...จนกระทั่งองค์หนึ่ง...พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ล่วงลับดับขันธ์นิพพานไปก่อน เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่ผ่านมานี้...

โย เว กตญฺญู กตเวทิ ธีโร
กลฺยาณมิตฺโต ทฬฺหภตฺติ จ โหติ
ทุกฺขิตสฺส สกฺกจฺจ กโรติ กิจฺจํ
ตถาวิธํ สปฺปุริสํ วทนฺติ


บุคคลผู้มีปรีชาใด เป็นคนมีกตัญญูกตเวที ๑ มีกัลยาณมิตรสินทสนมกัน ๑ ช่วยทำกิจของมิตรผู้มีทุกข์โดยเต็มใจ ๑ ท่านเรียกบุคคลผู้นั้นว่า “สัตตบุรุษ”

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ


๘. พบท่านพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่บวชแล้วถึง ๔ ปี จึงได้มีโอกาสพบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ...!!

ความจริงพระอาจารย์พา อาจารย์องค์แรกผู้พาท่านออกดำเนินทางธรรมโดยให้เป็นผ้าขาวน้อยเดินรุกขมูลไปกับท่าน จนกระทั่งเป็นธุระให้ท่านบวชเณร...ก็เป็นศิษย์องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเคยเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์พา อาจารย์ของท่านมาก และอดคิดแปลกใจไม่ได้ที่ท่านพระอาจารย์พาเล่าให้ฟังถึงท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุด

ท่านว่าพระอาจารย์พาเคร่งครัด ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พา บอกว่าท่านพระอาจารย์มั่นเคร่งครัดในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากมี่สุด

ท่านว่าพระอาจารย์พา ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรมมากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พากล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรม ได้กว้างขวางพิสดารมากที่สุด

ท่านว่าพระอาจารย์พา อ่านใจคนได้มากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พายืนยันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านอ่านใจคน ดักใจคน รู้จิตใจคนได้ทุกเวลา ทุกโอกาสมากที่สุด

ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ซึ่งในสมัยนี้นากที่จะพบ “พระ” ผู้เป็น “พระ” อันประเสริฐ ผู้เป็นนาบุญอันเลิศ ยากจะหานาบุญใดมาเทียบได้

ควรที่ผู้ในใจใฝ่ทางธรรมอย่างเธอนี้ จะไปกราบกรานขอถวายตัวเป็นศิษย์

ครั้นหลวงปู่ได้ฟัง ก็อดคิดแปลกใจไม่ได้ว่าในโลกปัจจุบันนี้ ยังจะมีบุคคลผู้ประเสริฐเลิศลอยเช่นนี้อยู่อีกหรือ แต่เมื่ออาจารย์ของท่านบอกไว้ ท่านก็จดจำไว้ คอยสำเหนียกฟังข่าวท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา

และต่อมาเมื่อปรารภกับใคร กิตติศัพท์กิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่นก็ดูจะเป็นที่เลื่องลือระบือมากขึ้น ท่านจึงคอยหาโอกาสจะเข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ตลอดเวลา

ระหว่างที่ท่านบวช จำพรรษาอยู่ทางยโสธรหรือนครพนม ก็ได้ข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นพักบำเพ็ญอบรมพระ-เณร อยู่ที่อุดรฯ และหนองคาย พอท่านมาอยู่อุดรฯ ก็ได้ยินข่าวท่านพระอาจารย์มั่นออกจากอุดรฯ เที่ยววิเวกไปตามหมู่บ้านแถบอำเภอวาริชภูมิ พังโคน สว่างแดนดิน วานรนิวาส อากาศอำนวย ในจังหวัดสกลนคร

ท่านไม่มีโอกาสได้จังหวะสักครั้ง

และก็เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะติดตามไปพบท่านพระอาจารย์มั่นโดยง่าย เพราะสมัยนั้นเส้นทางคมนาคมแสนลำบาก ไม่ต้องพูดถึงถนนลาดยางเช่นทุกวันนี้ แม้แต่ท่งรถยนต์ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด อำเภอต่ออำเภอก็ยังไม่ค่อยมี มีแต่ทางเกวียน ทางเดินเท้า โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มั่นพาอบรมพระเณรมนหมู่บ้านที่อยู่ในป่าในเขา การคมนาคมก็ยิ่งลำบากยากแสนเข็ญมากไปอีก การเดินทางต้องเป็นไปด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่

แต่ในที่สุด หน้าแล้งนั้นหลวงปู่ก็ได้มีโอกาสไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ณ เสนาสนะ ป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม...!!

ท่านพระอาจารย์มั่น พักอบรมพระเณรที่หมู่บ้านตามเขตอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร พอสมควรแล้วท่านก็เที่ยวต่อไป เข้าไปในเขตจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะที่อำเภอศรีสงคราม ซึ่งยังมีหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยป่าดงพงทึบอยู่มาก เช่น ที่บ้านโนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้น และท่านก็มาหยุดอยู่ที่บ้านสามผง ซึ่งเป็นที่หลวงปู่ได้โอกาสเหมาะพอดี

ท่านเล่าว่า การเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นครั้งแรก พอวางบริขารลง ก็โดนท่านดุลั่น ตะเพิดให้ออกจากสำนักทันที ท่านตกใจและงง ด้วยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุแต่อย่างใด ระหว่างกำลังชื่นชมความเงียบสงัดสงบร่มเย็นของสถานที่ เห็นภาพพระ-เณรกำลังอยู่กันอย่างสำรวมระวังตัว จู่ๆ ก็เหมือนถูกสายฟ้าฟาดลงมาอย่างไม่มีวี่แววพายุฝนล่วงหน้า

ท่านเองยังไม่เคยทราบนิสัยท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อท่านอาจารย์ไม่ให้อยู่ก็กราบลาท่าน มิได้นึกโต้เถียงขัดแย้งอะไร ท่านเล่าว่า ท่านกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมากจนพูดอะไรไม่ออกบอกอธิบายไม่ถูก ได้แต่เก็บบาตรและบริขารเสร็จแล้วก็เดินทางไป

ในสมัยนั้น ล้อมรอบที่พักท่านพระอาจารย์มั่น จะมีสำนักที่พักของพระอื่นๆ อยู่ในบริเวณไม่ห่างไกลนัก ด้วยท่านไม่ชอบให้มีพระอยู่ในเขตสำนักของท่านมากนัก โดยมากจึงมักจะหาสำนักที่พักให้ห่างออกไปพอควรในเขตระยะที่อาจจะมาฟังเทศน์รับฟังอุบายธรรมจากท่านโดยสะดวกเท่านั้น ดังนั้นหลวงปู่จึงไปพักอยู่ที่อีกสำนักหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ด้วยความเหมาะสมดังกล่าวแล้ว และอีกประการหนึ่ง ถ้าจะไปต่ออีกก็มืดค่ำแล้ว ท่านกะว่าจะค้างคืนสักคืนหนึ่งก่อน ตอนเช้าฉันเสร็จแล้วค่อยออกเดินทางต่อไป

รุ่งขึ้นวันใหม่ หลังจากที่ฉันเช้าเสร็จแล้ว ขณะกำลังเก็บบริขารเตรียมตัวจะออกเดินทาง ก็พอดีมีพระเณร ๒ รูป เข้ามาเรียนท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นให้มาตามท่านกลับไป

“ท่านให้มาตามท่านกลับไปครับ” พระเณรยืนยันเมื่อหลวงปู่สงสัย ดังนั้นหลวงปู่จึงตกลงใจกลับไปอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อกลับไปถึงกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งที่สองนี้ ดูท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคนกลับครั้งแรก ท่านทักทายพูดคุยด้วยดี มีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีกิริยาดุดันเหมือนวันวาน ถ้าจะเปรียบดั่งท้องฟ้าซึ่งเมื่อวานมีพายุใหญ่เมฆฝนมืดคลุ้ม วันนี้ท้องฟ้ากลับปลอดโปร่งแจ่มใสเป็นสีน้ำเงินงาม พอสนทนาปราศรัยซักถามความประสงค์การบำเพ็ญภาวนาที่ปฏิบัติมาเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้พระเณรจัดกุฎีที่พักให้เป็นอย่างดี

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เหตุใดครั้งแรกท่านพระอาจารย์มั่นจึงแสดงกิริยาเหมือนรังเกียจไล่หลวงปู่ แต่เพียงเช้าวันรุ่งขึ้นก็ให้ตามหา และแสดงความเมตตาสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอย่างดี

เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ ท่านก็ยิ้มๆ ไม่ตอบประการใด ศิษย์รุ่นหลังบางคนเชื่อว่าอาจเป็นด้วยครั้งแรกท่านมองเห็นถลกบาตรของหลวงปู่เป็นสีจัดจ้าและเป็นดอกดวง ด้วยในสมัยระยะแรกๆ นั้น พระกรรมฐานยังเพิ่งปรากฏ อัฐบริขาร เช่น สบงจีวรก็ยังมิได้เคร่งครัดในเรื่องสีแก่นขนุน ปรากฏในประวัติภายหลังว่า แม้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วันหนึ่งเมื่อท่านทั้งสองกลับจากธุดงค์มากราบท่านพระอาจารย์มั่น ก็ถูกท่านทักทันทีว่า “พระเจ้าชู้ !” ได้ความว่า ท่านทั้งสองใช้จีวรสีฉูดฉาดดังที่มีขายทั่วไปในตลาดต่างจังหวัด ดังนั้นต่อมาภายหลัง ศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่นทุกองค์ จึงสังวรระวังเรื่องเครื่องอัฐบริขารมิให้ถูกตำหนิจากครูบาอาจารย์เลย

หลวงปู่เพิ่งจะเข้าไปกราบท่าน ไม่ทราบเรื่องราวพวกนี้ ถลกบาตรนั้นก็ซื้อหาเอาจากตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมักจะเป็นร้านซึ่งไม่พิถีพิถันระวังเรื่องสีสัน สักแต่ว่ามีผ้าอะไรก็เย็บๆ ขาย เหตุนั้นถลกบาตรพระที่วางขายโดยมาก จึงมีสีฉูดฉาดบาดตา และบางทีก็เป็นดอกดวง ไม่งามตาควรแก่สมณเพศ เมื่อหลวงปู่ใช้ของเช่นนั้นจึงถูกท่านดุและไล่ให้หนี ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาเห็นว่า พระใหม่ผู้นี้คงไม่ตั้งใจจะกระทำไม่ถูกต้อง และอนาคตต่อไปจะเป็นศิษย์สำคัญของท่านผู้หนึ่ง ท่านจึงให้ไปตามกลับมา

นั่นเป็นความคิดประการหนึ่ง

แต่มีหลายท่านที่เชื่อกันว่า เป็นอุบายลองใจของท่านพระอาจารย์มั่น..!!

ที่ท่านมักจะใช้ทดสอบจิตใจศิษย์ของท่านบางคน ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงปู่...อีกองค์หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านมักจะถูกทดสอบเช่นนี้หลายครั้ง โดยท่านพระอาจารย์มั่นไล่ให้หนี “ไป...ไป๊....เจ้าผีบ้าออกไป...!”

เมื่อท่านเก็บบาตรเก็บจีวรมากราบลา ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำหน้าเฉยถาม “จะไปไหน...ไปทำไม... ใครบอกให้ไป !” เป็นเช่นนี้หลายครั้งหลายครา

ได้ความว่า เป็นอุบายของท่านที่จะทำกิริยาดุ ขู่เข็ญคำราม “ดู” จิตของศิษย์ว่าจะอ่อนราบ เคารพครูบาอาจารย์ไหม หรือเมื่อถูกดุ ถูกว่าก็จะ “โกรธ” แสดงความอาฆาต ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะถูก “เคี่ยว” หรือ “กำราบ” หรือ “ทรมาน” ให้จิตดวงนั้นอ่อนสิโรราบลง


๙. โปรดโยมมารดา

ดังได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่จากบ้านออกไปถือศีลแปดเป็นผ้าขาวน้อยธุดงค์ไปกับท่านอาจารย์ตั้งแต่เมื่ออายุ ๑๔ ขวบ กลับมาบ้านชั่วคราวสั้นๆ ก็ไปเป็นผ้าขาวอีก และได้ออกบวชเป็นสามเณร จนกระทั่งเป็นพระภิกษุ ตลอดช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้แทบจะไม่ให้มารดาญาติพี่น้องได้ชื่นชมโดยใกล้ชิดเท่าไร เมื่อท่านยอมมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานี เมืองเดียวกับตำบลเชียงพิน บ้านที่ญาติพี่น้องพำนักอยู่ โยมมารดาจึงดีใจด้วยได้มีโอกาสไปปรนนิบัติวัฏฐาก “พระ” ได้บ้าง

ระหว่างที่มารดามาถวายจังหัน หรือฟังเทศน์ที่วัดก็ดี หรือเมื่อ “พระ” ได้ไปเทศน์โปรดที่บ้านก็ดี หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณโยมมารดาผู้เป็นบุพพการีของท่านเป็นปกติ

พรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา

มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์
เป็นผู้ควรบูชาของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์


หลวงปู่ได้ให้ความอนุเคราะห์ท่านผู้เป็นพรหม เป็นครูอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของท่านตามควรแก่สมณเพศวิสัย โดยช่วยเทศน์กล่อมเกลาจิตของโยมมารดา เพิ่มพูนศรัทธาบารมีในพระพุทธศาสนา แต่แรกโยมมารดาได้มารักษาศีลแปดอยู่ด้วยที่วัดก่อน สุดท้ายครั้นเมื่อศรัทธาปสาทะของท่านเพิ่มพูนมากขึ้น เห็นทางสว่างทางด้านศาสนา โยมมารดาก็ปลงใจสละเพศฆราวาส โกนผมบวชเป็นชี

หลวงปู่เล่าว่า ท่านมิได้พูดจาเป็นเชิงบังคับ ชักจูงให้โยมมารดาของท่านบวชชีเลย โยมมารดามีศรัทธาขอบวชเอง ด้วยเห็นผลในการภาวนาประจักษ์แก่ใจของท่านแล้วแต่อย่างใด

โยมมารดามาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบานถึง ๒ พรรษา เป็นโอกาสอันดีที่หลวงปู่จะทำหน้าที่บุตรที่ดีตอบแทนพระคุณบุพการี โดยบิณฑบาตมาได้ก็แบ่งให้โยมมารดาก่อน มีเวลาเทศนาสอนในการภาวนา มารดาก็น้อมใจเชื่อ และกระทำตาม เกิดความอัศจรรย์ในจิต ทำให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในธรรมยิ่งขึ้น

การภาวนาของโยมมารดาเป็นผล กระทั่งในเวลาต่อมาได้ประสบภาพนิมิตเป็นผลช่วยให้ชีวิตของหลวงปู่ผ่านพ้นอันตรายมาได้อย่างอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภายหลัง

โยมมารดาของท่านพบความสุขสงบในเพศพรหมจรรย์ รู้จักทางภาวนา กระทั่งบอกหลวงปู่ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ท่าน “รู้” และให้พระลูกชายธุดงค์เที่ยววิเวกไปได้ตามใจ

ท่านจากไปอย่างสงบระหว่างหลวงปู่ไปเที่ยววิเวกที่พม่า

โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ

ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม บัณฑิตย่อมสรรเสริญ
ผู้นั้นในโลกนี้ เขาละไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์



(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 09:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


๑๐. พบคู่กัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ อันเป็นพรรษาที่ ๖ ของท่านนั้น เดิมหลวงปู่คิดว่า ท่านจะจากวัดป่าหนองบัวบานที่จำพรรษามาถึง ๓ ปีติดต่อกันนี้ ไปจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้หนี้จากหมู่คณะไปจังหวัดเชียงใหม่แล้วแต่ในปลายปี ๒๔๗๒ ส่วนที่หลวงปู่จะกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบานดังเดิม ท่านก็คิดว่า หลังจากที่ได้จำพรรษามาถึง ๓ ปีติดต่อกันแล้ว ก็ควรจะหาที่สงัดวิเวกแห่งใหม่ต่อไป เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่ออยู่ที่ใดนานๆ ก็มักจะมีความสนิทสนมคุ้นเคยต่อบุคคลในละแวกนั้น ต่อสถานที่บริเวณนั้น อย่างที่เรียกกันว่า “ติดตระกูล” “ติดถิ่น” “ติดที่อยู่”

พระธุดงค์จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดอาการ “ติดตระกูล” “ติดถิ่น” “ติดที่อยู่” ขึ้นได้ เพราะจิตซึ่งปกติมักพอใจจะสยบต่อความคุ้นเคย สะดวก สบาย อยู่แล้ว อยู่ที่ใดนานๆ ก็คุ้นกับญาติโยม คุ้นกับสถานที่ จิตก็จะยอมลงต่อกิเลส ออมชอมกับกิเลส ไม่เป็นอันพยายามทำความพากความเพียร ชอบอาหารเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อย่างไร ญาติโยมก็จะแสวงหามาถวาย ชอบเสนาสนะเช่นไร สะดวกสบายอย่างไร ญาติโยมก็จะจัดสร้างถวาย จิตที่เคยว่องไวปราดเปรียว ก็จะซุกตัวเงียบลง...เงียบลง จนขนาดที่เรียกกันว่า “ภาวนาไม่ขึ้น” “ภาวนาไม่ก้าวหน้า” หรือความจริงคำว่า “ไม่ก้าวหน้า” ก็คือ “ถอยหลัง” นั่นเอง

ถอยหลังไป ถอยหลังมา สุดท้ายก็ถึงกับต้องสึกหาลาเพศไปก็มาก...

ดังนั้น ท่านเล่ากันว่า นักภาวนาจะต้องเป็นผู้ไม่ ติดตระกูล ไม่ ติดญาติโยม ไม่ ติดถิ่น ไม่ ติดที่อยู่ หรือแม้แต่ ติดอากาศ ติดร้อน ติดหนาว ก็ไม่สมควรด้วยเช่นกัน ร้อนเกินไปหรือ...หนาวเกินไปหรือ...ต้องทดลองให้มันรู้แจ้งกันลงไป ให้จิตมันชนะกิเลสลงไป ให้แจ้งชัด ถ้าญาติโยมคุ้นเคย คลุกคลีมากไป ก็ต้องหนี...! ถ้าที่อยู่สะดวกสบายเกินไป มีความมักคุ้นเกินไป ก็ต้องหนีเช่นกัน ไปสถานที่ใหม่ พบญาติโยมกลุ่มใหม่ จิตจะ “ตื่น” ระวังตัวอยู่เสมอ การบำเพ็ญเพียรภาวนาจึงจะก้าวหน้าไปด้วยดี

ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ที่หนองบัวบาน ๓ ปี หลวงปู่ก็คิดว่า ท่านได้ให้โอกาสญาติ ตระกูลของท่านมาทำบุญ ฟังเทศน์ธรรมพอสมควรแล้ว และที่สำคัญการช่วยอนุเคราะห์โยมมารดานั้น ท่านก็ได้ประคับประคองโยมมารดา พาดำเนินมาในทางธรรมจนแทบจะกล่าวได้ว่า โยมมารดาสามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ตามควรแล้ว ความจำเป็นที่จะอยู่วัดป่าหนองบัวบานให้เนิ่นนานต่อไปสำหรับอนุเคราะห์โยมมารดาจึงไม่มีอีก

เมื่อเหตุผลทุกข้อลงตัวกัน ท่านก็จากมา จำพรรษาที่ ๖ ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ

วัดนี้อยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี เช่นเดียวกับวัดป่าหนองบัวบาน และ ณ ที่วัดนี้เอง ท่านก็ได้จำพรรษากับกัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง เหมือนกับเมื่อท่านอยู่วัดป่าหนองบัวบานเช่นกัน

รูปภาพ
ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)


กัลยาณมิตรองค์ใหม่ของท่านนี้ ได้อุปสมบทโดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับหลวงปู่ขาว อนาลโย กัลยาณมิตรองค์ก่อนของท่าน และความจริงคู่กัลยาณมิตรทั้งสองของหลวงปู่ได้บวชพร้อมกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาของกันและกัน โดยหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้บวชเป็นนาคซ้าย ภายหลังท่านผู้เป็นนาคขวา ๑๕ นาที

กัลยาณมิตรที่ท่านได้จำพรรษาด้วยกัน ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ คือท่านผู้ซึ่งประชาชนรู้จักกราบไหว้กันในนาม หลวงปู่หลุย จันทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง นั่นเอง

หลวงปู่หลุย และหลวงปู่ชอบ ต่างก็มีกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกัน จึงคบกันด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย และภายหลังเมื่อท่านต่างไล่เลียงวันเดือนปีเกิดกัน ก็ปรากฏว่า ต่างเกิดในเดือนเดียวปีเดียวกัน คือในเดือนสาม ปีฉลู หรือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ และแม้วันเกิดก็เกือบจะเป็นวันเดียวกัน ห่างกันเพียงวันเดียว คือ ท่านเกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนหลวงปู่หลุยเกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยหลวงปู่หลุยเกิดก่อนท่าน ๑ วันเท่านั้น

อย่างไรก็ดีโดยที่พระธุดงค์กรรมฐานนี้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยทุกข้อ โดยเฉพาะเคารพกันในเรื่องพรรษา ทุกท่านจะสอนศิษย์ของท่านเสมอว่า ผู้บวชทีหลังจะต้องเคารพผู้บวชก่อน ผู้บวชคือ ผู้เกิดใหม่ในศาสนา มีคำที่เรียกพระภิกษุว่า ทวิชาติ หรือ ผู้เกิด ๒ ครั้ง เกิดครั้งแรก...ชาติแรก คือ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดครั้งที่สอง...ชาติที่สอง คือ เกิดในพระพุทธศาสนา เป็นพุทธบุตร พุทธชิโนรส ผู้บวชก่อนก็คือ ผู้เกิดก่อน เป็น พี่ ผู้บวชทีหลัง คือ ผู้เกิดทีหลัง เป็น น้อง ผู้เป็นน้องก็ย่อมต้องเคารพ ผู้เป็นพี่ชาย เป็นธรรมเนียมนิยม เป็นอริยประเพณีของผู้เจริญ

ท่านเคร่งครัดแม้บวชก่อนกันเพียง ๕-๑๐ นาที ก็จะต้องเคารพกัน การเคารพกันมิใช่เพียงยิ้มๆ ให้กัน หรือยกมือไหว้ให้พอพ้นๆ ไป...!

ถ้ามาพบกัน ท่านก็ลงกราบกันอย่างนอบน้อม ด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์ นั่งกระหย่ง คุกเข่า ศอก ๒ ข้าง มือ ๒ มือ และศีรษะ ทั้ง ๕ จุด จรดพื้น เสร็จการเคารพตามธรรมวินัยแล้ว ท่านจึงจะโอภาปราศรัยกัน

เรื่องนี้พวกเราได้สังเกตเห็นกิริยา “กราบกัน” ของท่านด้วยความศรัทธา หลายต่อหลายครั้งที่เราเคยรบเร้ากราบไหว้ขอให้ท่านพาเราไปกราบองค์อื่นๆ และเมื่อท่านถาม ก็รับกับท่านตรงๆ ว่า “ชอบดูท่านกราบกัน” ท่านหลายองค์ที่ได้ยินคำพูดประหลาดๆ เปิ่นๆ เชยๆ ของชาวกรุงเทพฯ ก็อดขันไม่ได้

แต่ท่านคงไม่ทราบว่า พวกเราหมายความเช่นนั้นจริงๆ เป็นความซาบซึ้งศรัทธาอย่างยิ่งที่ได้เห็นท่านอาจารย์แต่ละองค์...ซึ่งเมื่อท่านอยู่ในสำนักของท่านต่างก็มีชื่อเสียง ได้รับความเคารพอย่างสูงจากพระเณรในสำนักและประชาชนทั่วไป แต่เมื่อไปพบกัน ท่านก็จะกราบกันตามประเพณีของผู้เกิดในทวิชาติ...อย่างนอบน้อมถ่อมองค์

ไม่คำนึงเลยว่า องค์นี้มีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่รู้จักมากมายทั่วประเทศอีกองค์หนึ่ง ออกจากป่ามา ไม่ค่อยมีคนรู้จัก หากมีพรรษาน้อยกว่า องค์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ ก็รีบกราบเคารพ “พี่ชาย” ของท่านทันที

เป็นจริยาวัตรที่งดงาม งามตาที่สุด งามตา...เป็นเบื้องต้นแก่ผู้ปฏิบัติ งามตา...เป็นท่ามกลางแก่ผู้พบเห็น และงามตาเป็นที่สุดแก่ผู้ยึดถือระเบียบปฏิบัติสืบทอดพระศาสนาต่อๆ กันมา

พวกเราชินตากับภาพอันงามตา เย็นใจเช่นนี้ตลอดมา ฉะนั้นจึงอดรู้สึกขัดเขินนัยน์ตาไม่ได้ เมื่อบางครั้งไปเห็นพระบางคณะ บางองค์ที่ไม่แสดงกิริยามารยาทสำรวมเคารพในอาวุโสพรรษากันตามควร วันที่รู้สึกขัดเขินนัยน์ตาที่สุด เห็นจะเป็นครั้งหนึ่ง ขณะผู้เขียนกำลังเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเพิ่งหายประชวร ทรงอยู่ในระยะพักฟื้น ได้มีพระสงฆ์คณะหนึ่งเข้ามาเยี่ยมพระอาการด้วย ขณะนั้นสมเด็จพระสังฆราชประทับอยู่บนพระเก้าอี้ มีพระสงฆ์และฆราวาสเฝ้าอยู่บนพรม แต่คณะแขกผู้มาเยี่ยมพระอาการยังยืนรีรออยู่ คงจะรอให้มีใครจัดหาเก้าอี้มาให้ท่านนั่งบ้าง...(ให้เท่ากับสมเด็จพระสังฆราช !) แต่รออยู่ ไม่มีเก้าอี้มา ท่านทุกองค์ก็เลยยืนไหว้สมเด็จพระสังฆราช

ได้ความว่า ท่านต่างเป็นพระที่มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ...! ท่านคงไม่ทราบว่า ได้ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจของพวกฆราวาสในที่นั้นอย่างไร และอย่างน้อยก็ได้มีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นเสียงจากปากของเด็กผู้เยาว์คนหนึ่ง เธอถามขึ้นด้วยเสียงไม่เบานักว่า

“เอ...เขามีวินัยห้ามพระเจ้าคุณกราบสมเด็จพระสังฆราชหรือคะ”

หลายคนเกือบจะหลุดปากถามออกไปเหมือนกัน “นั่นซี...วินัยพระห้ามพระราชาคณะนั่งบนพรม กราบสมเด็จพระสังฆราชด้วยหรือ สมเด็จพระสังฆราชท่านทรงเป็นราชาแห่งสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทรงเป็นสกลมหาสังฆปรินายก และทรงมีพรรษาแก่กว่า...แก่กว่ามากด้วย !”

ผู้เขียนนึกถึงภาพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เมื่อไปเยี่ยมหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ หลวงปู่ฝั้นก็ก้มลงกราบที่พื้นอย่างนอบน้อม...ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ผู้มีอายุแก่กว่า ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ถึง ๒ ปี แต่เมื่อพรรษาของท่านอ่อนกว่าท่านพระอาจารย์วัน ท่านก็ก้มลงกราบท่านพระอาจารย์วันที่พื้นด้วยความเคารพนอบน้อมเช่นกัน...!

ยังไม่เคยเห็นท่านยืนไหว้กันสักครั้งเดียว...!

ต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่เขียนนอกเรื่องไปได้เป็นคุ้งเป็นแคว ตั้งใจจะกล่าวเพียงว่า แม้หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านจะมีอายุแก่กว่าหลวงปู่ชอบ แต่เมื่อพรรษาท่านอ่อนกว่า (ดูเหมือนจะเพียง ๓ เดือน) เวลาท่านพบหลวงปู่ชอบ ท่านก็กราบหลวงปู่ชอบด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างนอบน้อมถ่อมองค์เสมอ

กราบตามพระธรรมวินัย แล้วจึงสนทนาปราศรัยกัน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ร่วมปฏิบัติธรรม ร่วมครูบาอาจารย์องค์เดียวกัน สนทนาธรรม และเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกันตั้งแต่เมื่อเป็นพระพรรษาน้อย จนเป็นพระเถระผู้ใหญ่

ตั้งแต่เมื่อเป็นผู้แสงวงหาโมกขธรรม จนเป็นผู้หมดสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์...!

ได้รับความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธาจากประชาชนทั่วประเทศคู่เคียงกัน

ชื่อ พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ เป็นคู่มิ่งขวัญ คู่ที่ควรอัญชลี คู่อัญมณีบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลย เป็นเสมือนคู่พระปฏิมาทองคำอันเปล่งประกายบนแท่นสักการะฉะนั้น ที่ควรได้รับการบูชาคารวะอย่างสูงสุด เหมือนกับเรารู้สึกต่อกัลยาณมิตรของท่าน อาทิ พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย หรือพระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณโณ (มีชาติกำเนิดในจังหวัดเลยเช่นเดียวกัน)

ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้น มีสภาพเป็นป่าดงพงทึบมากกว่าที่วัดป่าหนองบัวบานมาก ด้วยที่วัดปาหนองบัวบานนั้นได้พ้นจากสภาวะป่าชัฏมาเป็นป่าช้านานแล้ว แม้ว่าจะเป็นวัดร้าง แต่ร่องรอยของความเป็น “เมือง” ก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่มีสภาพเป็น “ป่า” จริงๆ อย่างที่หนองวัวซอ...

ท่านอธิบายว่า “ป่า” ที่เป็น “ป่า” จริงๆ หมายถึงป่าที่บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่ สูงเสียดฟ้า มืดครึ้ม ช่วงใดที่ต้นไม้ยังไม่ “ใหญ่ขนาด” (สำนวนของท่าน หมายถึง ใหญ่จริงๆ) แต่ก็มีเถาวัลย์รกเลี้ยวปกคลุมหนาแน่น หนามไผ่ หนามหวายเต็มไปหมด ที่สำคัญคือ หนองวัวซออุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เล็กอย่าง กระต่าย...ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ...กระทิง หมูป่า เม่น หมี โดยเฉพาะเจ้าป่าใหญ่ อย่าช้างป่า จะผ่านมาในเขตวัดมิได้ขาด สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงในร้องครางแทบทุกคืน

ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่ที่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี้คือ เขตของสัตว์ ถ้าถิ่นใดแดนใดมีสัตว์พำนักพักพิงอยู่มากกว่า ก็เรียกกันว่า “ป่า” แต่ถ้าต่อมา มนุษย์เข้าไปในถิ่นนั้นมากขึ้น พวกของมนุษย์มากกว่า ถิ่นนั้นแดนนั้นก็กลายเป็น “เมือง” ไป

ละแวกถิ่นที่พระธุดงคกรรมฐานไปตั้งเสนาสนะป่า สำหรับเจริญสมณธรรมระหว่างพรรษากาลฝนตกหนักนั้น ยังไม่อาจขีดเส้นปักเขตแดนลงไปว่า เป็น “ป่า” หรือเป็น “เมือง” คงดูก้ำกึ่งกันอยู่ แต่นั่นแหละ...แม้จะมีมนุษย์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย จึงดูคล้ายกับมนุษย์เป็นผู้ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปอาศัยอยู่ในเขต “ป่า” ของเขา อย่างไรก็ดี พวกสิงสาราสัตว์เหล่านั้นคงจะรู้สึกถึงรังสีแห่งความสงบเย็นที่บรรดามนุษย์ผู้มีศีรษะโล้นครองผ้าสีแก่นขนุนที่มาพำนักอยู่ตามกระต๊อบแคร่ไม้ไผ่ ท่านแผ่มาให้ด้วยความเมตตา มันจึงไม่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านใดๆ ให้ปรากฏ สัตว์ก็อยู่ส่วนสัตว์ พระก็อยู่ส่วนพระ วันดีคืนดี ช้างป่าบ้าง เสือบ้าง หมีบ้าง ก็จะเดินลอยชายผ่านเข้ามาในเขตวัด

หลวงปู่เล่าว่าหนองวัวซอสมัยนั้นมีช้างป่ามากมายเหลือเกิน เสือก็มากเช่นกัน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้อาศัยฉันเป็นยาปรมัตถ์ บางทีฉันมากไป กลางคืนปวดท้องจะเข้าส้วม พบเสือกระโดดข้ามศีรษะไปก็มี

แต่มันคงจะให้ความไมตรีเฉพาะแต่ที่บริเวณวัดเท่านั้น สำหรับชาวบ้านละแวกใกล้วัด ซึ่งถือว่าอยู่ในเขตชายแดนประชิดติด “ป่า” ของเขา มันก็ยังแสดงความเป็นเจ้าป่าหรือเจ้าดงพงไพรให้ปรากฏบ่อย ๆ เช่นเข้ามาคาบเอาวัว เอาสุนัขไปเป็นอาหาร แถมยังมีเจ้าเสืออันธพาลตัวหนึ่งด้วย...

ทำไมเรียก อันธพาลเจ้าคะ พวกเรารีบซัก...

ไม่เรียกอันธพาลได้อย่างไร คราวนี้หลวงปู่หลุยช่วยอธิบาย ท่านเล่ายิ้มๆ ธรรมดานิสัยของสัตว์โลกที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ สัตว์ใหญ่ย่อมกินสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ธรรมชาติเสือย่อมพอใจจะจับสัตว์ที่อ่อนแอกว่ากินเป็นอาหาร เช่น วัว เก้ง กวาง หรือสุนัข แต่มันก็มักจะจับเหยื่อก็ต่อเมื่อท้องร้องเตือนด้วยความหิว เจ้าเสือตัวนี้เข้าในเขตหมู่บ้าน กัดวัวตายไปถึง ๖ ตัว แต่คาบเอาไปเป็นอาหารแต่เพียงตัวเดียว ทิ้งซากวัวอีก ๕ ตัวที่เหลือไว้ให้ชาวบ้านเจ็บใจเล่น...ถ้าจับเอาไปใส่ปากใส่ท้องเป็นอาหารให้คลายหิวก็ยังพอทำเนา แต่นี่ไม่ใช่เช่นนั้น...น่าสงสารชีวิตวัวอีก ๕ ตัว ที่สิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ คงจะเพียงแสดงอำนาจให้ประจักษ์เท่านั้น ! ถ้าไม่เรียกเจ้าอันธพาลแล้วจะเรียกอะไร...ท่านถาม

วัดป่าหนองวัวซอนี้ต่อมามีชื่อว่า วัดบุญญานุสรณ์

ท่านเล่าว่า ความจริงก่อนหน้าที่จะมาจำพรรษากับหลวงปู่หลุย ที่วัดหนองวัวซอนี้ ท่านได้เคยพบหลวงปู่หลุยมาก่อนแล้ว ระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถวจังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสองนั่นเอง แต่ยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช เคยลงเล่นน้ำสนุกสนานแบบพระเด็กๆ ด้วยกัน


๑๑. พระนางมัทรีเสด็จมาในกลางป่า

ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าหนองวัวซอนี้ ได้มีเหตุการณ์ที่น่าจะบันทึกไว้อย่างหนึ่ง คือ เวลากลางวันวันหนึ่ง หลังจากที่หลวงปู่ได้ทำความเพียรอย่างเต็มที่แล้ว ท่านก็พักจำวัดอยู่ในกุฏิ เผอิญวันนั้นโยมมารดาของท่านที่บวชเป็นชี และยังอยู่ที่วัดป่าหนองบัวบาน ได้มาเยี่ยมท่านที่วัด ท่านเล่าว่า กำลังจำวัดอยู่เพลินๆ เพราะเพิ่งจะพักจากการทำความเพียรอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง อากาศก็เป็นใจด้วยฝนกำลังตกอยู่ ตกใจตื่นด้วยเสียงโยมมาเรียกท่าน เร็วๆ เข้า รีบไปศาลาโดยด่วนเถอะคุณลูก นิมนต์ไปศาลา พระนางมัทรีมาอยู่ที่ศาลาแน่ะ...!

เร็วเถอะท่าน พระนางมัทรีมา โยมเร่ง

ท่านบอกว่า ตื่นขึ้นด้วยเสียงเรียกของโยมมารดา ทั้งเร่งเร้า ทั้งทุบประตูกุฎี เสียงโยมว่า มีคนมา นิมนต์ให้ไปศาลา ท่านรีบครองผ้าแล้วก็ลงมาจากกุฎีมาทันที เพื่อตามใจโยม ไม่ทันคิดว่าเป็นใคร มาทำไม ธุระอะไร โยมให้รีบไป ท่านก็ตามใจโยม

“พระนางมัทรีมาที่ศาลา” โยมแม่กล่าวย้ำ เมื่อเห็นท่านลงมาจากกุฎีแล้ว

ท่านว่า ท่านยังไม่ทันจะคิดอย่างไร สงสัยหรือค้านว่า พระนางมัทรี ที่ไหน อย่างไร พระนางมัทรีจะมาที่ศาลาได้อย่างไร อย่าว่าแต่จะซักหรือคาดคั้นถามโยมเลย แม้แต่จะคิดพิจารณาอะไร ก็ไม่ทันได้กระทำ พอท่านก้าวลงจากกุฎีมาพ้นได้อึดใจเดียว เสียงไม้ลั่นเอี๊ยดสนั่นพร้อมกับเสียงดังโครมใหญ่ก็บังเกิดขึ้น

กล่าวคือ ต้นไม้ใหญ่หน้ากุฏิท่าน หักโค่นล้มลงทับกุฎีของท่านแหลกละเอียดเป็นจุณไปต่อหน้าต่อตาท่านและโยมมารดาท่านที่ยืนตะลึงอยู่ตรงนั้น ถ้าหากท่านยังนอนหลับอยู่ในกุฏิ...ท่านเล่าว่า ไม่อยากจะคิดเลย ว่าร่างกายจะแหลกเหลวไปฉันใด

ได้ความว่า ฝนตกหนักมากตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตลอดทั้งวันทั้งคืน น้ำฝนคงจะเซาะรากไม้ใหญ่ทีละน้อย จนถึงกาลเวลาที่มันไม่อาจจะยืนต้นต่อไปได้ ก็หักโค่นล้มลง แต่อัศจรรย์ว่า เมื่อจะต้องหักโค่นลงมาทับกุฎีของท่าน ก็ให้เกิดเรื่องมาทำให้ท่านแคล้วคลาดพ้นมาจากที่นั้นเสียได้

โยมมารดา เล่าว่า วันนั้นคิดอย่างไรไม่ทราบ ตั้งใจมาเยี่ยมพระลูกชาย แวะไปพักที่ศาลาก่อน ก็ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ที่ศาลา แต่งตัวอย่างนางกษัตริย์ สวยงามมาก นางบอกว่านางชื่อ พระนางมัทรี โยมแม่เล่าว่า ทั้งประหลาดใจและดีใจมาก

...ประหลาดใจว่า พระนางมัทรีนั้นมีชื่ออยู่ในเวสสันดรชาดก ไม่คิดว่าจะมีตัวมีตนจริงๆ

...ดีใจว่า ได้เห็นพระนางมัทรีเสด็จมาหาถึงบนศาลาในกลางป่า ทั้งสวยงาม ทั้งแย้มยิ้มพริ้มพราย งามจับตาเสียเหลือเกิน จึงอยากให้พระลูกชายรีบไปศาลา ได้ดูนางมัทรีให้เป็นบุญตา

โยมยืนยันว่า เห็นพระนางมัทรีมาที่ศาลาจริงๆ ถามชื่อนางกษัตริย์คนงาม นางก็บอกประกาศว่า ตนคือพระนางมัทรี โยมบอกว่า เกิดมาไม่เคยเห็นผู้หญิงคนไหนที่สวยงามอย่างนั้นเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้วโยมมารดานำท่านไปที่ศาลา ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระนางมัทรี หรือผู้หญิงคนใดอยู่ที่นั่นเลย ความจริง...ไม่มีใครบนศาลาเลยด้วยซ้ำ ! เห็นแต่ภาพพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ที่ติดประดับอยู่บนศาลามาแต่ก่อนเท่านั้น...!!

ถ้าไม่กล่าวว่า เป็นเพราะเหตุอัศจรรย์ก็ไม่รู้ว่าจะกล่าวอย่างไร...เทวดาจึงได้บันดาลนิมิตเพศเป็นพระนางมัทรีมาให้โยมมารดาเห็น และไปเรียกท่านให้พ้นภัยที่จะต้องถูกต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงทับกุฎีที่ท่านจำวัดอยู่...!

เป็นธรรมดาของศาลาวัดป่าทั่วไป ที่จะมีผู้ถวายรูปพระพุทธเจ้า หรือรูปตามเรื่องในชาดกต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติในชาติสำคัญ ๑๐ ชาติ ที่เรียกกันว่า ทศชาติ อันเริ่มแต่พระสุวรรณสาม พระเตมีย์ พระมโหสถ...กระทั่งพระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้าย ทางวัดก็มักจะนำภาพเหล่านั้นใส่กรอบประดิษฐานไว้บนศาลาให้ญาติโยมได้เคารพบูชา รูปพระเวสสันดรและพระนางมัทรีก็เป็นภาพหนึ่งที่ติดอยู่บนศาลาเช่นภาพในชาดกทั้งหลาย

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย-หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


หลังจากที่ได้พิมพ์หนังสือ “ชีวประวัติพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” แจกไปสำหรับการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร ได้อ่านความในหนังสือดังกล่าวมาถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ท่านก็กล่าวยืนยันเรื่องราวซ้ำให้ผู้เขียนฟังอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่หลุยท่านเล่าว่า ปีนั้นเป็นปีที่ท่านจำพรรษาอยู่ด้วย ณ วัดป่าหนองวัวซอ โดยมีทั้งหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และหลวงปู่ขาว อนาลโย จำพรรษาอยู่พร้อมกันทั้งสามองค์ ณ วัดป่าหนองวัวซอนี้ เป็นที่ซึ่งท่านประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรทั้งสองของท่านเป็นอย่างดี โดยมีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นทั้งในกรณีของหลวงปู่ชอบ และกรณีของหลวงปู่ขาว โดยหลวงปู่หลุยท่านว่า “อัศจรรย์...อัศจรรย์จริง”

ต่อมาเมื่อพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย มรณภาพในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ผู้เขียนได้รับฉันทานุมัติจากคณะศิษยานุศิษย์ของท่าน...ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ให้เป็นผู้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือประวัติของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ผู้เขียนจึงได้บันทึกความตอนนี้ที่หลวงปู่หลุยท่านเมตตาเล่าให้ฟัง ลงไว้ในหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ด้วย ดังมีความละเอียดซึ่งขอนำมารวมไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วย ดังนี้

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย-หลวงปู่หลุย จันทสาโร


จากหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ “พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร” ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน้า ๒๖-๒๗

“ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ เป็นที่หลวงปู่หลุยเล่าเสมอว่า ท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรทั้งสองของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวัน ขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่นด้วยได้ยินสียงโยมมารดามาร้องเรียกให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์”

“ความจริงที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่าพระนางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกยังไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นหญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้น จึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าวแต่เมื่อมาถึงศาลาไม่มีใครเห็นหญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรีติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่า นางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำวัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่”

“สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น หลวงปู่หลุยท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มระเนระนาดลงมานั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียวที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น”

“เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยมักจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอ ว่าบุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสมอบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอารักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ”


๑๒. คำพยากรณ์ของท่านพระอาจารย์มั่น

ในบรรดาศิษย์รุ่นใหญ่ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ หลวงปู่ดูเหมือนจะมีประสบการณ์คล้ายกับบูรพาจารย์ของท่านมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการรู้เห็นติดต่อกับสิ่งลึกลับที่อยู่ต่างภพต่างภูมิมาขอความอนุเคราะห์จากท่าน...ขอสร้างบุญ สร้างกุศล ทำบุญกับท่าน ขอฟังธรรมให้ท่านเทศน์โปรด

ความอันนี้ ดูจะเป็นที่สังเกตและทราบตั้งแต่เมื่อท่านเป็นพระผู้น้อยเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นใหม่ๆ

เวลาที่ท่านภาวนา...ทุกคืน ได้เห็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ปรากฏซ้ำคล้ายกันแทบทุกคืน วันหนึ่งอดใจไม่ได้ ก็คลานเข้าไปกราบเรียนถามข้อสงสัย

กล่าวคือ ท่านภาวนาเห็นพระอาจารย์มั่นถือไม้เท้าไปเคาะดูตามกุฏิลูกศิษย์หลังโน้นหลังนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่น ดูๆ แล้วก็กลับไม่ทราบว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไปด้วยเหตุผลกลใด

ท่านพระอาจารย์มั่น ฟังแล้วแล้วก็นิ่งมองพระน้อยองค์นี้ แทนที่จะตอบคำถาม ท่านกลับปรารภออกมาดังๆ ต่อหน้าพระเณรทุกองค์ว่า

“เออ...ให้ทุกองค์ภาวนาให้ได้เหมือนท่านชอบซิ !”

ได้ความว่า ระยะนี้ทุกคืน ท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะตรวจดูว่า พระเณรได้มีการทำความเพียรภาวนากันอย่างเต็มที่ สมกับที่เป็นพระธุดงคกรรมฐานศิษย์ของท่านหรือไม่...หรือจะมีใครง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจภาวนา แอบเป็นจระเข้ ยึดถือหมอนเป็นหลัก หรือว่ามีจิตส่งออก คิดไปในทางไม่ถูก ไม่ควรบ้าง...

ท่านจึงคอยไปตรวจดู...เคาะกุฏิดู...!

และความจริงท่านก็มิได้ออกเดินไปดูจริงๆ...ท่านเพียงแต่ส่งจิตออกไปดูเท่านั้น...!

แต่พระน้อยองค์นี้ ก็สามารถมองเห็นกายทิพย์ของท่านได้...!

นับแต่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้ความเมตตาท่านมากขึ้น ไม่ว่าจะแนะอุบาย ข้อปฏิบัติเช่นไร ท่านก็พยายามทำตามอย่างไม่ลดละ เช่น ควรจะไปอยู่ป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น ข่าวว่าลำบากยากแค้นกันดารอย่างไร ท่านจะไม่ลังเลสงสัยเลย ท่านจะตรงไปอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจทำความเพียรในป่านั้น ถ้ำนั้น ภูเขาลูกนั้น ตำบลนั้น อย่างไม่หวั่นกลัวหรือหวาดเกรงภัยใดๆ และเมื่อไปแล้วแระสบผลอย่างไร มีอุบายพาดำเนินข้อขัดข้องไปได้เช่นไร ก็จะกลับมาเรียนชี้แจง ขอสอบทานความคิดเห็น หรือยังมีปัญหาใดค้างคาอยู่ ก็จะมาเรียนขอให้ท่านอนุเคราะห์ให้ความสว่างแก่ศิษย์

ครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนนั้น ท่านดูแลขัดเกลานิสัยศิษย์อย่างเอาใจใส่ ทั้งจริตนิสัยภายนอก ทั้งจิตภายในที่จะต้องกล่อมเกลาให้สำรวมระวัง ดูแลทุกข์สุข...

เป็นทั้ง พ่อ
เป็นทั้ง แม่
เป็นทั้ง ครูบา
เป็นทั้ง อาจารย์


ของศิษย์จริงๆ ท่านจึงใช้คำแทนชื่อ เรียกว่า “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” หรือเรียก “พ่อแม่ครูจารย์” สั้นๆ

ท่านเคารพเชื่อฟังท่านพระอาจารย์มั่นมากและท่านพระอาจารย์มั่น ก็คงจะเฝ้าสังเกตความก้าวหน้าในการบำเพ็ญภาวนาของศิษย์ผู้นี้อยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งท่านจึงออกปากพยากรณ์...

“ไปไกลลิบเลย พระน้อยองค์นี้”

ในประวัติบางแห่ง กล่าวว่า เมื่อหลวงปู่พบท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ในพรรษานั้น ก็ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น หากเรื่องนี้หลวงปู่ปฏิเสธว่า ท่านไม่เคยจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่นและ แต่ออกพรรษาแล้ว เมื่อมีโอกาสครั้งใด ท่านก็จะกลับมากราบครูบาอาจารย์ของท่านเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องการอุบายธรรมที่จะส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

อันที่จริง บางครั้ง บางเวลา ที่ท่านไปอยู่โดดเดี่ยวในกลางป่าดงพงลึก หรือในถ้ำอันลี้ลับ บนยอดเขาสูง หากการภาวนาเกิดติดขัดอย่างไร ท่านพระอาจารย์มั่นก็จะไปปรากฏร่างในนิมิตภาวนา แสดงบอกอุบายวิธีแก้ไข อาจจะเป็นโดยย่อ เพียงให้ท่านได้อุบายใช้สติปัญญาของตนคิดแยกแยะให้กว้างขวาง แตกฉานออกไป...หรืออาจจะเป็นธรรมโดยละเอียดที่ควรแจกแจงให้พิสดารออกไปจนแจ่มแจ้งก็ได้ โดยที่หลวงปู่มีนิสัยในทาง “ออกรู้” สิ่งต่างๆ ดีอยู่แล้ว จึงสามารถมีทางรับรู้ธรรมจากครูบาอาจารย์ทางได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงท่านจะมีโอกาส “รับฟัง” ธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นได้ในทางนิมิตภาวนาง่ายกว่าศิษย์คนอื่น ท่านก็ยังปรารถนาจะหาโอกาสกลับมากราบองค์จริงอยู่บ่อยๆ

คืนหนึ่ง ท่านไปทำความเพียรอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่นัก ท่านเล่าว่า คืนวันนั้น จิตสงบภาวนาได้ดีมาก แต่ใจหนึ่งก็สงสารสังขาร คิดจะให้ได้พักผ่อนสักหน่อย เพราะท่านใช้เวลาภาวนาติดต่อกันมาหลายคืนแล้ว พอตกลงใจคิดเอนหลังลงจะนอน ก็ได้ยินเสียงดังลั่นเหมือนเสียงฟ้าผ่า เสียงนั้นดังสนั่นมากจนท่านประหลาดใจ คิดว่าพรุ่งนี้จะหาโอกาสไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์

พอไปถึงวัดท่านพระอาจารย์มั่น เห็นเสื่อปูรอไว้แล้ว พร้อมทั้งมีขวดน้ำแก้วน้ำตั้งรอรับเสร็จสรรพ ท่านก็ก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ยังไม่ทันจะเปิดปากเลย ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวออกมาดังๆ ว่า

“อ้ายคนเราน่ะนะ ถ้าจะภาวนาให้ดีแล้ว พอนึกง่วงนอน จะนอนแล้ว จะเกิดเสียงดังยังกับฟ้าผ่า !”

ท่านได้ฟังก็เลยไม่ถามอะไรสักคำ กราบลาแล้วก็กลับไป...!


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 10:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล


๑๓. เทวดามาขอฟังธรรม

ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ก็ออกจากวัดป่าบ้านหนองวัวซอ จาริกไปหาป่าหาเขาอันสงัดวิเวกที่ถูกกับจริตนิสัย ท่านชอบเที่ยวอยู่ในป่าในเขาเป็นปกติ ถึงเวลาเข้าพรรษาก็กลับเข้าบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง ท่านออกพรรษาแล้ว ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อไป

พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า วัดป่าวิเวกธรรม อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น พรรษาที่ ๘ และพรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ระยะนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระ กำลังตั้งกองทัพธรรมสั่งสอนประชาชนทางภาคอีสานให้รู้จักหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ให้เลิกนับถือผีไท้ ผีฟ้า ผีปู่ตา กลับมารับพระไตรสรณาคมน์ มีพระกรรมฐานมาชุมนุมอยู่ที่วัดป่าสาลวันและวัดป่าวิเวกธรรมจำนวนมาก นอกจากองค์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แล้วก็มี ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น

วัดป่าสาลวันแห่งนี้ มีกำเนิดมาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน ปธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ไปรวมกันที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ พระคณะกรรมฐาน ซึ่งมีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้า จึงพาหมู่พวกเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้เอง ที่ พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟจำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัด ท่านพระอาจารย์สิงห์จึงได้สร้างวัดขึ้น ตั้งชื่อว่า วัดป่าสาลวัน ให้เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการอบรมกรรมฐาน

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน ปธ. ๕)


ระหว่างที่หมู่พวกกระจายกันไปตั้งวัดโดยรอบวัดป่าสาลวัน เช่น สร้างวัดศรัทธาวนาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล สร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง วัดป่าอำเภอกระโทก วัดป่าอำเภอจักราช วัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงไชย วัดป่าบ้าใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว วัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง ฯลฯ...เป็นกองทัพธรรม กระจายแยกย้ายกันไปเทศนาอบรมประชาชน หลวงปู่ก็แยกจากหมู่พวกเข้าไปในป่าลึกอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

โดยที่ท่านนิสัยขรึม พูดน้อย ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยพระเณรและประชาชนจำนวนมาก ท่านจึงเห็นประโยชน์ของการเข้าไปอยู่ในป่าเขาอันสงัดเงียบ ประโยชน์นี้ทั้งสำหรับองค์ท่านเองและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในภพภูมิอื่น อันสายตามนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะมองเห็นได้

พูดง่ายๆ ขณะที่หมู่พวกเมตตาเทศนาอบรมมนุษย์ในหมู่บ้าน หลวงปู่ก็ได้ช่วยเมตตาอนุเคราะห์เทศนาอบรมเทวดาในป่าลึก...

ท่านเล่าว่า ระหว่างที่ท่านธุดงค์เข้าไปในป่าลึก จะมีพวกกายทิพย์เข้ามาอาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขา แม้แต่เสียงที่ท่านสวดมนต์ภาวนา ก็ทำความชุ่มชื่นรื่นรมย์ให้แก่สัตว์โลกไปทั่วทั้งปฐพี

แทบไม่เว้นแต่ละคืน จะมีพวกมาจากภพภูมิอื่นเป็นเทวดา นาค มากราบไหว้ขอฟังธรรม ท่านเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า เทวดามาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านเกือบทุกคืน มีจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งมีจำนวนเป็นหลักสิบ เช่น ๕๐-๖๐ องค์ บางทีก็เป็นจำนวนร้อย ๑๐๐-๒๐๐ หรือ ๖๐๐-๗๐๐ บางครั้งก็ถึงจำนวนพันๆ เครื่องนุ่งห่มของเทวดาก็เป็นไปอย่างมีระเบียบงามตา เป็นสีเดียวกันหมด ประหนึ่งเครื่องแบบ เช่น ถ้าคณะนี้แต่งกายสีแดง...ก็แดงเหมือนกัน ถ้าเป็นเป็นสีขาว ก็ขาวเหมือนกันหมด หรือจะเป็นสีเหลือง สีเขียว ก็เหมือนกันเช่นกัน มีที่น่าสังเกต คือ เวลาเข้ามาฟังธรรม เทวดาจะไม่ตกแต่งเครื่องประดับอลังการ มีกิริยามรรยาทเรียบร้อยนอบน้อม พระผู้เป็นเจ้าอย่างน่าชม

ธรรมะที่ท่านแสดงโปรดเทวดานั้น มักเป็นหัวข้อธรรมที่เขาขอร้อง เช่น ขอฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตร บ้าง กรณียเมตตสูตร บ้าง เมตตาพรหมวิหาร บ้าง ท่านก็อนุโลมเทศน์ไปตามที่เขาอาราธนา แต่บางครั้งเขาก็ไม่จำเพาะเจาะจงแต่อย่างใด ขอแต่ให้ท่านจะพิจารณาเห็นสมควรเอง

การแสดงธรรมท่านก็แสดงจากใจ ไม่ต้องใช้เสียงแต่อย่างใด ผู้ฟังก็ฟังด้วยใจ บางครั้งก็มีการถามปัญหาธรรม เช่นเดียวกับมนุษย์ก็มีข้อสงสัยในทางธรรม ท่านก็อนุเคราะห์เขาไปตามควร

การที่หลวงปู่เมตตาสัตว์ไม่มีประมาณ ทั้งเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค มนุษย์ ท่านเทศน์โปรดเขาเป็นปกติ แต่ความจริงตามที่กราบเรียนถาม หลวงปู่ได้เทศน์โปรดเทวดามาแต่เมื่อสมัยท่านยังเป็นสามเณรแล้ว ฉะนั้น พวกที่ได้รับความเมตตาความกรุณาจากท่าน จึงมีจิตใจตอบ ทั้งด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา เคารพ รัก เทิดทูน บูชา เมื่อยามที่ท่านติดขัด มีอุปสรรคอันใด เทวดาผู้ห้อมล้อมอารักขาท่าน จึงคอยดูแลพยายามปัดเป่า คลี่คลายปัญหาถวายให้ท่านอย่างน่าอัศจรรย์ ดังจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง


๑๔. จำพรรษาที่ถ้ำนายม
เทวดามาอารักขาและถวายอาหารทิพย์


ในพรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ปรากฏให้ท่านเห็นในนิมิต ตั้งแต่ท่านยังอยู่ที่วัดป่าบ้านเหล่างา จังหวัดนครราชสีมา กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เมื่อท่านล่วงรู้อนาคตถึงถ้ำที่ท่านจะต้องไปอยู่ ท่านก็เดินทางจากนครราชสีมา บุกป่ามุ่งไปทางเพชรบูรณ์ เพื่อสืบหาถ้ำนายมที่เห็นในนิมิต

ท่านเดินทางมากับผ้าขาวคนหนึ่ง เป็นคนบ้านนอก รักษาศีล ๘ ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ถามหาถ้ำนายม แต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้จัก จนสุดท้ายจึงมาพบเข้า เป็นถ้ำที่ซอกซอนอยู่ในป่าลึก จากบ้านชาวป่าที่ใกล้ที่สุด ต้องบุกป่าไม้ไผ่อันหนาทึบเข้าไปถึง ๕ กิโลเมตร จึงจะถึงถ้ำนายม

ท่านเล่าว่า ตั้งแต่เห็นถ้ำมา ท่านไม่เคยเห็นถ้ำที่ไหนจะใหญ่โตและงดงามเท่าถ้ำนายมนี้ ภายในถ้ำมีบริเวณอันกว้างใหญ่ เป็นหลืบเขา เป็นชั้นช่องปล่องเปลว เพดานเป็นหินระย้าย้อยงดงาม บางตอนก็เลื่อมพรายระยิบระยับประดุจแก้วมุกดา แต่ละห้องคูหาล้วนใหญ่โตมโหฬาร ต่อเนื่องกันไปดุจท้องพระโรง และห้องหอในปราสาทราชวัง บางตอนที่แยกออกไปเป็นซอกเล็ก คูหาน้อย แม้จะขาดแสงดูทึบมืดมาก แต่ก็ไม่มีอับชื้น อากาศโปร่งเย็นสบาย มีลมพัดโกรกตลอดเวลา ชวนให้นั่งภาวนาเป็นอย่างมาก ท่านว่า เป็นถ้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีมด ไม่มีแมลงปรากฏ พระเณรหรือใครก็ตามจะไปทำความสกปรกในนั้นไม่ได้เลย และถ้าขี้เกียจภาวนา เห็นแก่หลับแก่นอน ก็จะถูกปลุก ถูกเตือน ดึงแขน ดึงขา เพื่อไม่ให้ประมาทในการภาวนา

ท่านบอกว่า พิจารณาแล้ว เคยเป็นถ้ำอยู่ใต้ทะเลมาก่อน จนเดี๋ยวนี้พื้นถ้ำก็ยังคงเป็นทรายทะเลอยู่ แต่ก็น่าประหลาดดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าแม้พื้นถ้ำจะเป็นทราย แต่มิได้มีมดมีแมลงเล็กน้อยอาศัยอยู่ในพื้นทราย ดังที่เคยพบในพื้นทรายแถบอื่นเลยสักตัวเดียว ดูราวกับมีผู้มาปัดกวาดทำความสะอาดให้ดูราบเรี่ยมเอี่ยมสำอางอยู่ตลอดเวลา บริเวณหน้าถ้ำ มีกระทะเหล็กใหญ่ๆ หม้อ ไห มากมาย ถามดูก็ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ชาวบ้านบอกว่า ได้ยินปู่ย่าตายายเล่าสืบๆ กันมาว่า เคยเห็นข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้อยู่หน้าถ้ำนี้มานานนักหนาแล้ว เวลาชาวบ้านจะมีงานฉลองปีหนึ่ง ก็ได้ใช้ ถ้วยชาม หม้อ ไห กระทะเหล่านี้ครั้งหนึ่ง ใช้แล้วก็เก็บล้างนำมาคืนที่หน้าถ้ำ วางไว้เฉยๆ ไม่ต้องเก็บงำซุกซ่อนอะไร ไม่มีใครกล้าไปฉกลัก ยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัวสักราย

ท่านกล่าวชมเชยผ้าขาวที่ไปอยู่ด้วยกับท่านมาก ว่าปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรได้อย่างน่าสรรเสริญ วันหนึ่งระหว่างนั่งภาวนา ท่านเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะลอยมา แต่ผ่านท่านไปอย่างไม่สนใจ และไปกระซิบอะไรไม่ทราบใส่หูผ้าขาวนั้น พอเสร็จภาวนาแล้ว โยมผ้าขาวก็มาถามท่านว่า “ถึงขั้นอะไรแล้ว”

ท่านก็เลยปรามว่า “อย่าไปยุ่งกับมันเลย ขั้นเคิ่นอะไรกัน เราภาวนาต่อไปเถอะ”

ท่านอธิบายว่า ความจริง โยมผ้าขาวผู้นั้นได้เป็นอนาคามีแล้ว ออกพรรษาแล้ว เมื่อท่านจะไปจากถ้ำนายม โยมผ้าขาวก็ยังดื่มด่ำในการภาวนามาก ไม่ยอมตามท่านไป ขออยู่ที่ถ้ำนายมต่อ พวกลูกหลานของแกเป็นห่วง อ้อนวอนให้ไป เพราะในนั้นอดอยากมาก ไม่มีอาหารกิน แต่โยมผ้าขาวก็ไม่ยอมกลับบ้านกับลูก ลูกชายลูกสาวจึงออกอุบายชวนให้ออกจากถ้ำไปดูห้วยซึ่งอยู่ใกล้ถ้ำ แล้วก็จับเอาตัวพ่อเฒ่ากลับไปบ้าน ผ้าขาวกลับบ้าน ก็ไม่สนใจงานการอะไร คงแต่ภาวนาและเดินจงกรมลูกเดียว หลวงปู่เล่าว่า แกเป็นอนาคาแล้ว กำหนดรู้วันตายล่วงหน้า และเมื่อถึงวันที่แกบอกล่วงหน้าไว้ว่าจะเป็นวันตาย ลูกหลานก็ว่า ไม่เห็นพ่อเฒ่าเจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างไร คงเดินจงกรมเป็นปกติ แต่ในวันนั้นเอง ระหว่างเดินจงกรม แกตกนอกชาน ซี่โครงไปโดนล้อเกวียนหัก ตายตรงตามเวลาที่บอกลูกชายลูกสาวไว้พอดี

ที่ถ้ำนายมนี้มีเทพมากและมักจะอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมโปรดพวกเขาเสมอ ชาวบ้านป่าที่อยู่ใกล้ถ้ำนายมที่สุดนั้นมีเพียงสองสามครอบครัวมีฐานะแบบหาเช้ากินค่ำ ที่พยายามถวายอาหารพระก็ด้วยใจเคารพเลื่อมใส แต่ความที่เขาเองก็ลำบากแทบไม่มีจะกิน ท่านจึงไม่ค่อยจะออกมาบิณฑบาตนัก เว้นสี่ซ้าห้าวันจึงจะออกมาบิณฑบาตสักหนหนึ่งหรือบางทีการภาวนาดื่มด่ำมาก ท่านก็จะเว้นการบิณฑบาตนานมากขึ้น ทำสมาธิทั้งกลางวันกลางคืน เวลาเช้า-สาย-บ่าย-เย็น มืดหรือสว่างแทบไม่มีความหมาย จิตสว่างโพลง ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน

จิตลงได้สนิทเต็มที่ถึงฐานสมาธิได้ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง กว่าจะถอนขึ้นมา เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว ก็พิจารณาด้านปัญญา จนกว่าปัญญาจะฟาดฟันกิเลสดับสิ้นลง เวลาเข้าสมาธินั้นประมาณแน่นอนไม่ได้ ถ้าเป็นเวลากลางวัน ซึ่งอากาศมักจะร้อนสักหน่อย ก็จะอยู่ในราวสอง หรือ สาม หรือ สี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน อากาศเย็นโปร่งสบาย ก็สี่ถึงห้าชั่วโมงเป็นประจำ แต่ก็บ่อยครั้งที่จิตอาจจะถอนต่อเมื่อถึงเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว หลังจากทำสมาธิแล้ว เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ท่านก็จะเดินจงกรมต่อไป

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต


จิตดื่มด่ำในธรรมที่ผุดขึ้น ธรรมก็แนบกับจิตไม่เสื่อมคลาย ท่านไม่ได้สนใจกับเวลาที่ผ่านไป หรืออาหารที่ไม่ได้ตกถึงท้องเป็นวันๆ เป็นอาทิตย์ๆ ผ้าขาวที่อยู่ด้วยท่านก็ไม่ได้ห่วงใยอาลัยอาหารเช่นเดียวกัน จึงต่างคนต่างทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้หนึ่ง คือ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ฟังในภายหลังว่า

ตอนที่ท่านนั่งภาวนา และเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะผ่านท่านไปโดยไม่สนใจ แต่ไปกระซิบหูผ้าขาวนั้น ท่านรู้สึกอายใจอย่างบอกไม่ถูก

“แหม...เราบวชมา ๑๐ ปี แล้ว ยังสู้เขาไม่ได้ ! ผ้าขาวนั้นได้อนาคามีแล้ว !”

เรื่องในสมัยพุทธกาลก็เคยมี ที่ภิกษุบำเพ็ญภาวนาแล้วสู้อุบาสกอุบาสิกาไม่ได้ อุบาสิกานางหนึ่ง พิจารณาแล้วได้อนาคามี นางมีใจเมตตา เห็นแก่หมู่ภิกษุยังไม่บรรลุธรรม พิจารณารู้ว่า ยังติดขัดอาหารไม่สัปปายะ เป็นที่สบายแก่จิต ก็พยายามจัดหาปรุงอาหารที่ถูกแก่จริตถวาย ภิกษุเหล่านั้นนึกอาย ที่อุบาสิกาได้บรรลุธรรมถึงอนาคามีแล้ว แต่ท่านทุกองค์ยังเป็นปุถุชน ท่านพยายามเร่งความเพียรอย่างหนัก และสุดท้ายก็ได้สำเร็จอรหัตผลกันทุกองค์ ขณะมี่โยมอุปัฏฐากของท่านก็ยังเป็นพระอนาคามีเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องของหลวงปู่นี้ เราไม่กล้าอาจเอื้อม จะคิด จะวิจารณ์เช่นไร เทวดาองค์นั้นไปกระซิบให้ผ้าขาวมาเรียนถามหลวงปู่เป็นเชิงสัพยอก หรือ ให้อุบายหรือเปล่า ที่ว่า

“ถึงขั้นอะไรแล้ว ถึงขั้นอะไรแล้ว”

แต่ก็ทำให้ท่านเร่งความเพียรหนักขึ้น จนไม่ได้เป็นอันนึกถึงการบิณฑบาตหรือฉันอาหาร ด้วยใจนั้นประชิดติดพันรุกไล่อยู่กับการห้ำหั่นกิเลสอย่างไม่ลดละ ท่านไม่ได้นึกถึงเดือน นึกถึงตะวัน เพลินด้วยการภาวนาทั้งอิริยาบถ ๔ จนไม่ได้นึกถึงสังขารร่างกายเลยว่า ซูบผอมอ่อนเพลียไปเช่นไร

ออกประหลาดใจที่วันหนึ่งได้เห็น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามากราบคารวะขออนุญาตถวายอาหารทิพย์

เทวดากราบเรียนท่านว่า ที่ท่านมาบำเพ็ญความเพียรอยู่ ณ ที่นี้ เทวดาได้เป็นผู้มาคอยอารักขาท่านตลอดเวลา ด้วยความเคารพเลื่อมใส ศรัทธาอย่างสูงยิ่ง เหล่าเทพบริเวณนี้มีความสุขสงบร่มเย็นโดยทั่วกัน ด้วยกระแสธรรมและเมตตาที่ท่านแผ่ไปให้โดยไม่มีประมาณ เทวดาทั้งหลายขออนุโมทนาด้วยพระคุณเจ้า แต่ระยะนี้พระคุณเจ้าเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ไม่บิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร ธาตุขันธ์ขาดอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายมาหลายเพลาแล้ว แม้ใจของท่านจะผ่องใส อาจหาญ ร่าเริงในธรรม แต่ร่างกายที่อ่อนเพลีย อาจจะเป็นอุปสรรคให้ท่านล้มเจ็บลงได้ เทวดาสงสาร ทนดูอยู่หลายวันแล้ว อดไม่ได้ วันนี้ต้องขออนุญาตถวายท่านด้วยอาหารทิพย์

ท่านว่า อาหารทิพย์เป็นอย่างไร และนี่ก็ตกบ่ายแล้ว ฉันไม่ได้ เป็นอาบัติ

เทวดา ก็แสดงอาหารทิพย์ในมือถวายให้ท่านดู ลักษณะเป็นแท่งเหมือนดินสอพอง เทวดาอธิบายว่า ไม่ใช่อาหารธรรมดาที่จะฉัน จะเคี้ยว จะกลืนดังอาหารธรรมดา อาหารทิพย์นี้เป็นเพียงโอชารสที่จะซึมซาบเข้าไปในร่างกายเท่านั้น เปรียบเหมือนยา หรือน้ำเกลือ น้ำหวานที่พระอาจฉันได้หลังเพลาเพลแล้ว เพียงใช้ถูเบาๆ ความเป็นทิพย์ก็จะซึมซาบเข้าไปตามส่วนของร่างกาย เหมือนฉีดยาบำรุงกำลังนั่นเทียว

ระยะแรก ท่านค้านมาก เหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ เทวดานั้นเป็นผู้หญิง ท่านเกรงว่าจะเกิดอาบัติ และถึงว่ากายทิพย์ของเทวดาจะไม่เป็นที่รู้เห็นของคนทั่วไป แต่สำหรับตัวท่านเองนั้น หลับตาก็มองเห็นเทวดา ลืมตาก็มองเห็นเทวดา แม้ทางพระวินัยจะไม่มีความเสียหาย แต่ถ้าเผื่อผู้มีสายตาดี มีญาณผ่านมาเห็นเข้า ก็จะเป็นที่ครหาว่า พระอยู่ลำพังกับสตรี

เทวดากราบเรียนว่า อาหารที่ท่านเห็นนั้น ท่านเห็นได้จากใจทิพย์ เทวดาเพียงจะนำอาหารทิพย์มาถวายทางกายทิพย์ ไม่ใช่กายเนื้อ ที่ท่านว่า ลืมตาก็เห็นหรือตาเนื้อมองเห็นด้วยนั้น แท้จริงเป็นเพราะญาณภายในของพระคุณเจ้าสนับสนุนให้เห็นดอก เทวดาเป็นผู้รักและเทิดทูนท่านผู้มีศีลธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างพระคุณเจ้า เทวดาก็อยากได้บุญได้กุศลเช่นกัน จึงขอถวายอาหารทิพย์บ้าง พระคุณเจ้ายังออกบิณฑบาตโปรดให้มนุษย์ได้ใส่บาตร ได้บุญ ได้กุศล เทวดาทำไมจึงอาภัพอับวาสนา ไม่มีสิทธิ์ถวายอาหาร หรือยาบำรุงกำลัง เพื่อส่วนบุญกุศลส่วนกุศลของตนบ้างบ้าง

ท่านเล่าว่า การคิด การโต้ตอบนี้ เป็นไปในสมาธิภาวนาตลอด ดังนั้น เวลาเพียงไม่กี่วินาที ถ้อยคำ กระแส ความคิดของมนุษย์หรือเทวดาจะปรากฏไปได้ยืดยาวมาก

ปรากฏว่า หลังจากที่เทวดามาถวายอาหารทิพย์ ถูให้ท่านทางกายทิพย์แล้ว พอท่านออกจากสมาธิ ก็รู้สึกว่า ร่างกายมีกำลังสดชื่นราวกับได้ฉันอาหารตลอดเวลาหลายๆ วันที่ผ่านมา

เทวดาองค์นี้ได้เล่าถวายถึงบุพเพนิวาสที่ได้เคยมีต่อหลวงปู่อย่างละเอียด และแม้จะอยู่คนละภพและภูมิ แต่ก็ปวารณาขอถวายอารักขา แม้ท่านจะปฏิเสธว่า องค์ท่านมิได้ลำบาก ติดขัด หรือขาดแคลนสิ่งใด ความเป็น ความอยู่ ก็พอเป็นไปตามอัตภาพของพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ฉันน้อย อยู่น้อย ใจมุ่งต่ออรรถต่อธรรมเป็นส่วนใหญ่ ที่เทวดาว่า ท่านจะหิว จะไม่มีกำลัง ท่านก็มิได้รู้สึกเลย

อย่างไรก็ดี แม้ท่านจะปฏิเสธอย่างไร เทวดาองค์นั้นก็คอยมาดูแล อารักขาท่านอยู่เสมอ บางครั้งท่านมองไปจะเห็นเทวดานั่งเรียบร้อยอยู่บนโขดหิน ห่างท่านสัก ๔-๕ วา ราวกับจะเป็นยามมิให้พระต้องอนาทรร้อนใจ

ท่านว่า เป็นเหตุการณ์ที่แปลกอย่างหนึ่ง อันปรากฏกับท่านระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์


๑๕. สถานที่ซึ่งมีบุญคุณที่สุด

ปกติหลวงปู่มีนิสัยเด็ดเดี่ยว อาจหาญ ชอบไปและอยู่ตามลำพังองค์เดียว นานๆ จะชวนเพื่อนชวนหมู่ไปด้วยสักครั้งหนึ่ง แต่ก็จะเลือกเฉพาะผู้ที่ใจเด็ด ใจถึง ตายเป็นตาย เท่านั้น ท่านอธิบายว่า การไปคนเดียว อยู่คนเดียว ทำให้มีสติรู้ตัว สังวรระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทมัวแต่จะนึกอาศัยเพื่อนหรือผู้อื่น ทั้งไม่ต้องมีเรื่องมาก ต้องคอยพูดคุยสนทนากันในบางโอกาสบางเวลา ไปคนเดียว ไม่ต้องรั้งรอกัน คิดจะไป เพียงเก็บบริขารใส่บาตร คว้ากลดร่มก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลารอโน่นรอนี่ หรือคำท้วงติง...

“อย่าเพิ่งไปเลย กำลังอยู่สบาย”

“ไปทำไม ญาติโยมเพิ่งทำแคร่ ที่มุงบังถวายเสร็จ ไม่อยู่ต่อไปหรือท่าน...”

จะได้ไม่ต้องได้ยินคำทัดทาน เหนี่ยวรั้งเหล่านี้

มีผู้เคยเรียนถามท่านว่า ไปองค์เดียว เจ็บจะทำอย่างไร ตายจะทำอย่างไร ท่านก็จะยิ้มและตอบเรียบๆ ว่า “เจ็บก็รักษาธาตุขันธ์ไปตามมีตามเกิด หายก็หาย ตายก็ตาย”

นั่นซี...ตายจะทำอย่างไร ผู้สงสัยเร่งถาม

ท่านตอบง่ายๆ ว่า “ก็ปล่อยไปตามคติธรรมดา”

ถามซ้ำกันอีกว่า คติธรรมดาเป็นอย่างไร ท่านจึงต้องอธิบายเพิ่มขึ้น ธาตุทั้ง ๔ เขาก็กลับคืนไปสู่สภาพเดิมของเขา ที่เป็นลม เป็นไฟ ก็หยุด แล้วเมื่อพอหมดลมหายใจ ที่เป็นน้ำและดิน ก็กลับสู่น้ำและดินน่ะซี

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็จะจากวัดที่พัก ไปแสวงหาที่วิเวกอยู่เสมอ พรรษา ๑๐ นี้ แม้ท่านจะจำพรรษาในถ้ำนายม ซึ่งอยู่กลางป่าลึก เป็นที่สงัดวิเวกอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่วิสัยของท่าน ไม่ชอบการอยู่ในที่ซ้ำซาก จำเจ ไม่ติดถิ่น ไม่ลังเลอาลัย เทวดาผู้อารักขาท่าน และเทวดาที่อยู่โดยรอบบริเวณ จะพยายามอาราธนา ขอให้ท่านอยู่ต่อไปเพื่อให้ความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งพักพิงทางใจของบรรดากายทิพย์เหล่านั้น แต่ท่านก็ต้องปฏิเสธว่า ท่านมีความจำเป็นต้องจากไป ท่านเห็นประจักษ์ในพระพุทธภาษิต

อุยฺยุญฺชนฺติ สติมนฺโต น นิเก เต รมนฺติ เต
หํสาว ปลฺลํ หิตฺวา โอกโมกํ ชหนฺติ เต ฯ

ผู้มีสติ ย่อมหลีกออก ท่านไม่ยินดีในที่อยู่
ท่านย่อมละอาลัย (ที่อยู่) เสียได้ ดุจพญาหงส์ละเปือกตมไปฉะนั้น


ท่านออกวิเวกต่อไป ในเขตต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ซึ่งท่านเคยท่องเที่ยวหาความสงบตลอดมา...ทางภูเขียว ภูเรือ ภูหลวง...ท่านว่า เวลาอยู่ในวัดหรือที่เป็นป่าธรรมดา ไม่ใช่ป่าดงพงลึกนั้น ใจท่านมักจะอึดอัด อ่อนล้าไปในทางขี้เกียจ ประมาท นอนใจ ไม่กระฉับกระฉงว่องไว ดังที่ไปทรมานตนในป่าลึกเขาสูง สติปัญญาก็ล่าช้า ดุจจะเสื่อม ถอยหลัง ไม่องอาจแกล้วกล้า ดั่งเวลาเผชิญภัยในป่าเขา

ป่าเขา...สำหรับท่าน...เป็นประดุจหินกล้าที่ลับมีดให้คมกริบ พร้อมที่จะตัดฟันกิเลสที่จะเผยอตัวขึ้นมา ให้ขาดกระเด็นไป

ป่าเขา...สำหรับท่าน...เป็นประดุจครูที่ให้อุบายทรมานกิเลสให้สยบราบคาบ

การทำความเพียรของท่าน สามารถกระทำต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุดยั้ง หรือต้องถูกเหนี่ยวรั้งกังวลเพราะหมู่พวก สติปัญญาก็เกิดขึ้น งอกงามคู่เคียงกับความเพียรและในขณะเดียวกันระหว่างที่ทำความเพียร ก็ยังพอมีเวลาให้ความอนุเคราะห์แก่พวกสิ่งลึกลับกายทิพย์เขาได้ด้วย

พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านจำพรรษาที่วัดสระคงคา บ้านคลองสีพัน เมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์

พรรษาที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ จำพรรษาที่ วัดดงขวาง อันอยู่ในเขตเมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์เช่นกัน เพียงแต่อยู่ห่างกันมากเท่านั้น

ท่านเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาจจะเป็นเพราะที่ได้ถูกเทวดาไปกระซิบทักกับผ้าขาวตอนอยู่ถ้ำนายมก็ได้ ท่านว่า เราเป็นพระ มีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ แต่ผ้าขาวนั้นเพียงศีลแปด แต่ก็เป็นพระอนาคามีแล้ว อายเขาเหลือใจ

ความจริง นับจากที่จากถ้ำนายมมาแล้ว ท่านก็เร่งในการทำความพากเพียรอย่างยิ่งเช่นกัน ตลอดเวลา ๒ พรรษาที่ผ่านมา ณ วัดสระคงคา และวัดดงขวาง มีการอดอาหารมากขึ้น ผ่อนอาหารสลับกัน บางโอกาสได้ทำความเพียรเฉพาะอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยอธิษฐานไม่นอน เพื่อเอาชนะกิเลส

ออกพรรษาแล้วท่านก็หลีกเร้นไปอยู่ตามป่าตามเขาสูงในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีภูเขาใด ดอยยอดใดในสองจังหวัดนี้ที่รอยเท้าของท่านจะไม่เคยเหยียบย่างธุดงค์ผ่าน

ท่านได้ธุดงค์จากจังหวัดเลย มุ่งไปทางเชียงใหม่ด้วยได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่นั่น ผ่านภูเรือ ด่านซ้าย นครไทย ใช้เวลาเดินทางรอนแรมไป ๙ วัน ๙ คืน ไม่มีอุปสรรคใดๆ

พรรษาที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

วัดบ้านโป่งนี้ เป็นสำนักที่ครูบาอาจารย์เคยไปพักบำเพ็ญเพียรกันมาก เช่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น แม้ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเอง ก็เคยจำพรรษา ณ ที่วัดนี้ ท่านเล่าว่า เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การภาวนามาก ภาวนาไม่นาน จิตจะสงบลงถึงฐานของสมาธิอย่างง่ายดาย การนั่งภาวนาจนตลอดสว่าง วันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ทำได้โดยไม่ยาก เวลาเดินจงกรมก็รู้สึกเหมือนกับเหาะลอยไปในอากาศ

สถานที่นี้เหมาะแก่การทำประโยคความเพียร ไม่แต่ท่านเอง แม้แต่พระอื่นก็ทำได้ถึงอัปปนาสมาธิโดยง่ายเช่นกัน จึงเป็นที่ซึ่งพระธุดงค์กรรมฐานนิยมไปพำนักไม่ขาดสาย จนเท่าทุกวันนี้

ในพรรษานี้ หลวงปู่มีกัลยาณมิตรที่ดีอยู่จำพรรษาด้วย คือ ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (ปัจจุบัน...พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) ซึ่งท่านพระอาจารย์เทสก์ได้เป็นหัวหน้าเทศนาอบรม และให้อุบายอันมีค่าแก่หมู่เพื่อน เตือนมิให้ติดสุข พอใจแต่เพียงการทำจิตให้สงบแต่อย่างเดียว การเดินปัญญา เพื่อพิจารณาถอดถอนกิเลสจะต้องดำเนินควบคู่กันไป

ปกติจิตของหลวงปู่จะรวมลงถึงฐีติจิต หรืออัปปนาสมาธิ สงบนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นวันเป็นคืน หรือถอยออกมาสู่อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นภาวะตอนที่ออกรู้ หรือรับแขกอยู่เสมอ จิตรวมมีกำลังจริง...แต่ปัญญาไม่แก่กล้า ฉะนั้น ณ ทีวัดบ้านโป่งนี้ ท่านจึงพักการรับแขกนอก แต่หันมาคิดค้นดูแขกภายใน...หรือกายของตนเองอย่างเอาเป็นเอาตาย อุบายปัญญาก็บังเกิดขึ้นทันกับสติ ที่จะห้ำหั่นกิเลสให้ขาดลงเป็นลำดับๆ

ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว ท่านก็ได้ลาจากวัดบ้านโป่งไปด้วยความสำนึกในคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด

รูปภาพ
พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 13:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ


๑๖. ธุดงค์เข้าเขตพม่าและจำพรรษาในพม่า

ไม่เป็นการผิดเลยที่จะกล่าวว่า สำหรับหลวงปู่แล้ว “ป่าลึกและเขาสูง” นั่นเอง คือ “บ้านอันแสนผาสุก” ของท่าน เมื่อมีโอกาสท่านจะต้องเข้าฝ่าเข้าเขาไปตามนิสัย ได้ไปถึงใจกลางป่าลึก ถึงบนยอดดอยเขาสูงแล้ว ใจจึงจะมีความปลอดโปร่งโล่งสบายอย่างบอกไม่ถูก

การเที่ยวธุดงคกรรมฐานครั้งนี้ ท่านกำหนดจะเลยไปให้ถึงพม่า หมู่เพื่อนทราบข่าวต่างก็ทักท้วงว่า ได้ยินว่าทางที่ไปนั้นมีแต่ความทุรกันดาร เต็มไปด้วยป่าดิบดงร้าย ไม่มีบ้านคน มีแต่สัตว์ป่าซึ่งมักจะเป็นประเภทดุร้าย อย่างเสือ อย่างช้าง ท่านเล่าว่า เหมือนกับพม่านั้นมีมนต์เพรียกให้ไปเยี่ยม อันที่จริงคงเป็นความปรารถนาลึกๆ ในหัวใจที่ท่านต้องการจะไปดูบ้านเกิดแต่อดีตชาติมากกว่า (ท่านเคยเกิดเป็นพม่า ชาติหนึ่ง)

สุดท้ายท่านก็ได้กัลยาณมิตรคู่คิดที่ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานไปพม่าด้วยกัน คือ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น รุ่นใกล้เคียงกับท่าน หลวงปู่พรหมต่างมีนิสัยอาจหาญ เด็ดเดี่ยว ใจเด็ดไม่กลัวตายเช่นเดียวกับท่าน จึงเดินทางฟันฝ่าความลำบากไปถึงเขตประเทศพม่าด้วยกันได้โดยผ่านทางแม่ฮ่องสอน

ไปถึงพม่าแล้วก็แยกทางกัน หลวงปู่พรหมต้องการจะเที่ยวไปดูเมืองต่างๆ ด้วย แต่หลวงปู่ปรารถนาจะอยู่แต่ในป่า ไม่ต้องการเข้าเมืองเลย จึงตกลงแยกกัน โดยหลวงปู่คงอยู่ตามป่า...เขา เพื่อโปรดชาวบ้านอย่างพวกยาง พวกกระเหรี่ยง ท่านเอ็นดูชาวพม่ามาก ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกงกัน ทั้งมีน้ำใจศรัทธาในพระศาสนาอย่างดียิ่ง พวกยาง พวกไทยใหญ่ที่อยู่ในป่าในเขา แม้จะจนยากลำบากตรากตรำอย่างไร ก็จะต้องหาอาหารมาใส่บาตรอย่างเหลือเฟือ ท่านชมว่าพวกเขามีจิตใจงาม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถือศีลห้าบริสุทธิ์ แม้เป็ดไก่หายาก ไม่มีคนเลี้ยงเพราะเขาต่างไม่ฆ่าสัตว์

ท่านเล่าว่า ท่านไปพม่าสองครั้ง ครั้งแรกที่ไปพร้อมหลวงปู่พรหมอยู่ติดต่อกัน ๒ ปี โดยจำพรรษาที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่บ้านยาง พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ จำพรรษาบนดอยอีต่อ ซึ่งเป็นเขาอยู่บนดอยยางแดง

จากนั้นท่านก็กลับเมืองไทย วิเวกอยู่แถวเชียงใหม่ ๓ ปี จึงหวนกลับไปพม่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นแล้ว ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๕ พอปวารณาออกพรรษา ท่านก็เตรียมอัฐบริขารพร้อมเพื่อกลับไปโปรดชาวยาง ชาวพม่าอีกวาระหนึ่ง

พรรษาที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ บ้านคนดอย ที่อยู่บนเขาในเขตพม่า

พรรษาที่ ๒๐ พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่ดอยเชียงตอง เขตไทยใหญ่

พรรษาที่ ๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษาที่ดอยเชียงคำ แดนพวกไทยใหญ่ เช่นกัน รวมเวลาที่ท่านเที่ยวธุดงค์ในพม่าสองครั้งสองหนนี้ เป็นเวลาเกือบ ๖ ปี ทำให้เทศน์เป็นภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว

ท่านชมผู้หญิงไทยใหญ่ว่า มีผิวขาวเหลือง งามทั้งรูปและงามจิตใจ ท่านว่าเป็นผลบุญของการที่เขายึดมั่นรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ การอยู่โปรดพวกเขา เกือบจะไม่จำเป็นต้องพรรณนาคุณของศีล เพราะดูเขาจะซาบซึ้งรู้อานุภาพของศีลกันเป็นอย่างดีว่า

ศีลเป็นกำลังอย่างไม่มีที่เปรียบ ศีลเป็นอาวุธอันสูงสุด
ศีลเป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์
ศีลเป็นคุณรวมกำลังอย่างเลิศ ศีลเป็นเสบียงทางอย่างสูงสุด
ศีลเป็นผู้นำทางอย่างประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องขจรไปทั่วทุกทิศ
ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้ ส่วนผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้สูงสุด
ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดา ย่อมมีเพราะศีลและปัญญา


หลวงปู่อธิบายว่า ใครอยากเกิดเป็นคนรูปงาม ผิวขาวสวย ต้องพยายามรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคนสวยสมใจ

ที่พม่านี้ หลวงปู่ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง อายุประมาณ ๓๐ ปี นำผ้าขาวมาทำบุญถวายท่านให้ทำเป็นผ้าอาบ หญิงคนนี้นุ่งขาวห่มขาว ถือเพียงศีลแปด แต่การทำสมาธิภาวนาเก่งมาก พระบางองค์ยังต้องอายเพราะเหาะได้ สามารถไปเที่ยวสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย นางสร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนอย่างเต็มที่ และมาถึงชาตินี้ก็ได้ปฏิบัติเพิ่มเติมต่อเนื่อง...ทั้งทาน ศีล ภาวนา ก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาเป็นที่สุด

นับว่าเป็นคนที่เกิดมาอย่างสุคโต และคงจะไปอย่างสุคโต เช่นกัน

ตลอดเวลาทั้งหมด ๕ ปีกว่าที่อยู่ที่พม่านั้น พ้นเวลาเข้าพรรษา หลวงปู่ก็จะเที่ยวรุกขมูลไปเรื่อยๆ จากเขาลูกนี้ไปดอยโน้น...และดอยโน้น จากถ้ำหนึ่ง ต่อไปอีกถ้ำหนึ่ง...และอีกถ้ำหนึ่ง ที่ไหนสงบสงัดภาวนาดีก็อยู่แห่งละ ๖ คืนบ้าง ๗ คืนบ้าง ๑๐ คืนบ้าง หรือบางแห่ง ถ้าสัปปายะมากในการภาวนา ก็อาจจะอยู่ถึงเป็นเดือน เช่นที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่ระหว่างบ้านหนองคัน ในหมู่บ้านนี้มีเพียงสิบปาย (หลังคาเรือน) เท่านั้น แต่ชาวบ้านก็เคารพเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างดี

ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่นี้ ท่านเล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทพมีภุมเทวดารักษามาก ระหว่างท่านพำนักบำเพ็ญสมณธรรม เคยมีช้างเข้ามาในถ้ำ (เป็นถ้ำเปิด) มาร้อง แคว้...แคว้ อยู่ห่างจากหลวงปู่เพียงสี่ห้าวาเท่านั้น แต่เมื่อท่านแผ่เมตตาให้ มันก็ก็ยอมถอยห่างออกจากถ้ำแต่โดยดี

ความจริงไม่แต่ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ นี่เท่านั้นที่มีเทพ มีภุมมเทวดารักษามาก ท่านว่าเกือบจะกล่าวได้ว่า ในป่า ในถ้ำ เกือบทุกถิ่น ทุกสถาน ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีเทพ มีภุมเทวดามากเช่นกัน เขามักมาอาราธนาท่าน ขอให้แสดงธรรมโปรดพวกเขาเกือบทุกคืน

ณ ที่พม่านี้เอง ที่มีพระอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟัง เช่น พระพากุละ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ ซึ่งจะได้แยกกล่าวโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

และที่ในถ้ำ ตามท้องเถื่อนในถิ่นไพรพฤกษ์ ในเขตพม่านี้เอง ที่หลวงปู่ได้มีประสบการณ์รู้เห็นสิ่งลึกลับมากมาย...ได้เผชิญภัยจากสัตว์ป่าซึ่งถือกันเป็นเพศที่ดุร้ายเป็นภัยต่อมนุษย์...เผชิญภูตผีปีศาจ ซึ่งหมกไหม้อยู่ตามบาปกรรมที่เขาหลง...เผชิญงูพิษในถ้ำซึ่งลือชื่อกันว่าแสนดุ เป็นจ้าวถ้ำ ใครก็ตามไม่ว่าฆราวาสหรือพระที่ไปพักพำนักในนั้น มันจะต้องกัดทำอันตรายถึงชีวิตกันไปนักแล้ว แต่ท่านก็ขึ้นพักบำเพ็ญสมณธรรมโดยไม่หวั่นเกรงคำเตือน แต่ด้วยบารมีธรรมของท่าน ท่านได้แผ่เมตตาจนเจ้างูนั้นยอมสิโรราบ ซบหัวหมอบลงจนเหมือนจะคารวะท่าน แต่ท่านกับงูผู้ถูกทรมานดัดสันดาน ก็อยู่ร่วมกันในถ้ำนั้นได้ต่อไปอย่างสงบสันติ

...เผชิญเสือใหญ่ ตัวขนาดเท่าม้า มาดักหน้าดักหลังพร้อมกันถึง ๒ ตัวบ้าง ลำพังตัวเดียวบ้าง แต่ละครั้งมาใกล้เพียงสาม-สี่วาก็จะถึงองค์ท่าน และเช่นกันกับเรื่องงูพิษ อำนาจเมตตาธรรมที่แผ่ไป ก็ทำให้เสือร้ายเหล่านั้นเชื่องลงอย่างน่าอัศจรรย์

ท่านเล่าว่า ตอนอยู่พม่า ท่านผจญกับเสือมากที่สุด แต่ก็ผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นๆ มาได้เสมอ...รวมทั้งเรื่องการที่มีผู้หญิงตายทั้งกลม ขอถวายไหเงิน ไหทอง เพื่อขอให้พระยอมเป็นสามีสมสู่อยู่กับนาง...ฯลฯ

รูปภาพ
พระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


คงเป็นการยากที่ผู้เขียน ผู้มีปัญญาน้อย ด้อยความคิด จะสามารถเขียนความพิสดารเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะในการดำเนินเรื่องหลายแง่หลายตอน มีการบรรยายเนื้อธรรมขั้นสูงแทรกคละเคล้ากลมกลืนกันอยู่ จึงใคร่ขออภัยท่านผู้อ่าน โปรดกรุณาไปอ่านความโดยพิสดารในภาค “ธรรมอุโฆษ” ตอนที่ผู้เขียนได้อัญเชิญข้อความที่พระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เคยเขียนพรรณนาเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่ไว้ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” และหนังสือ “ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” มาลงพิมพ์ซ้ำรวมไว้ด้วย ด้วยความเคารพรักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด ทั้งองค์ท่านเจ้าของประวัติและองค์ท่านผู้เรียบเรียง

หลวงปู่อยู่ในพม่า โปรดทั้งมนุษย์และพวกกายทิพย์อย่างเทวดา ภูตผีปีศาจ จนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นที่มายึดครองพม่าแพ้สงคราม ทหารอังกฤษเข้ามารักษาการณ์และตรวจตรา พบท่านหลายครั้ง แม้ชาวบ้านญาติโยมจะระแวดระวังพาท่านไปแอบซ่อนตามที่ต่างๆ แต่ก็เป็นอันตรายอยู่ดี เพราะท่านเป็นชนต่างชาติ สงครามไม่เลือกว่าเป็นพระหรือเป็นคนธรรมดา เห็นว่าเป็นต่างชาติเขาก็จะต้องถือเป็นศัตรูต้องทำลาย และผู้ปกปิดรักษาท่านไว้ก็จะเป็นผิดด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระความยุ่งยากแก่ญาติโยมเหล่านั้น ท่านจึงตกลงกลับเมืองไทย

พวกญาติโยมชาวพม่านำทางมาในป่าเปลี่ยว มาส่งหลวงปู่ครึ่งทาง พามาจนถึงริมแม่น้ำแล้วก็บอกลา มีเด็กคนหนึ่งอายุ ๑๐ กว่าขวบติดตามมาด้วย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างร้องไห้อาลัยท่านอย่างไม่อับอายใคร น้ำตาไหลพราก ท่านแผ่เมตตาอวยชัยให้พรให้เขามีแต่ความสุขสวัสดีแล้วก็จากมา เหลียวไปดูก็ยังเห็นทั้งสองคนร้องไห้อยู่จนสุดสายตา สำหรับช่วงการเดินทางจากพม่ามาตามทางลัดในป่า เพื่อหลบหลีกทหารอังกฤษ รวมตลอดถึงเรื่องอัศจรรย์ที่ท่านต้องอดข้าว อดน้ำอยู่กลางป่าถึง ๓ วัน จนต้องปรารภถึงเทวดา และได้มีเทวดามาใส่บาตร...ซึ่งเป็นเรื่องที่อัศจรรย์เลื่องลือกันมากนี้ ผู้เขียนก็ขอประทานอภัย ขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาต่อไปอ่านความโดยละเอียดในภาค “ธรรมอุโฆษ” ท้ายเล่ม ตอนที่อัญเชิญข้อความมาจากหนังสือ “ประวัติท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” ของพระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


๑๗. พระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาเยี่ยมท่าน

ระหว่างท่านวิเวกอยู่ในเขตประเทศพม่า พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งที่บ้านเมืองยางแดง ท่านได้ทำมีดหายไป หาอยู่สามสี่วันก็ไม่พบ ท่านว่าก็มิใช่มีดพิเศษพิสดารอะไรนัก เป็นมีดประเภทธรรมดาที่ชาวบ้านใช้ถางป่านั่นเอง เพราะพระกรรมฐานจะมีของวิเศษเลิศเลออะไร ท่านก็ได้อาศัยมีดถางป่าพื้นๆ นี้เอง เป็นบริขารประจำตัวสารพัดประโยชน์...หั่น...ตัด...ถาก...ถาง...งัด...แงะสิ่งใดก็ด้วยมีดประจำตัวนี้ ท่านใช้แล้วไปอาบน้ำ คิดว่าลืมทิ้งไว้บริเวณที่อาบน้ำ แต่เมื่อออกไปหาดูโดยทั่วหมดบริเวณแถวนั้น ทั้งที่บริเวณอาบน้ำที่ในถ้ำ หรือแม้แต่ที่อื่นใดที่คิดว่าอาจจะลืมไว้ ก็ไม่เห็นเลย เวลาผ่านไปสามวันสี่วันก็ยังไม่พบ ทำให้ท่านออกรู้สึกรำคาญใจ

ตอนกลางคืน ขณะมี่ท่านกำลังนั่งเข้าที่สมาธิภาวนาในเวลาดึกสงัด ปรากฏมีพระอรหันต์องค์หนึ่งเหาะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนา ท่านเหาะลอยมาทางอากาศ มีรัศมีสว่างแพรวพราย น่าเคารพน่าเลื่อมใสอย่างที่สุด หลวงปู่รีบกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทั้งปีติทั้งยินดีอย่างสุดจะพรรณนา พระอรหันต์องค์นั้นพอเหาะลงถึงพื้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ถามทันทีว่า มีดของท่านหายไปใช่ไหม เมื่อท่านเรียนตอบรับคำ พระอรหันต์องค์นั้นก็บอกว่า ไม่ได้หายไปไหน ท่านลืมที่ต่างหาก นั่นไง...ท่านบอกพลางชี้มือ....มีดของท่านอยู่นั่นไง ไปเอาเสียซี

หลวงปู่เล่าว่า ตอนเช้าท่านก็ไปดูที่พระอรหันต์ท่านชี้บอกไว้ในนิมิต ซึ่งเป็นหลังก้อนหิน ก็เห็นมีดอยู่ตรงนั้นจริงๆ ประหลาดที่ว่าท่านหาอยู่หลายวันไม่เห็น และความจริงท่านก็ไม่บนบานอธิษฐานให้เทวดาหรือใครช่วยหาให้เลย แต่น่าอัศจรรย์ที่พระอรหันต์ท่านกลับทราบ ทั้งยังเมตตาช่วยบอกให้ ทำให้ท่านได้มีดคืนโดยไม่คาดฝัน

พระอรหันต์องค์นี้ชื่อ พระพากุละ ท่านเล่าว่า พระพากุละนี้เมตตามาเยี่ยมท่านมิได้ขาด จากครั้งแรกที่มาชี้บอกเรื่องบริขารหารที่ถ้ำในพม่าแล้ว ต่อมายังให้ความเมตตามาแสดงธรรมโปรดท่าน มาเยี่ยมท่านตลอดมาจนปัจจุบันนี้ (กราบเรียนถามท่านครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๒๙ นี้ ท่านรับว่าพระพากุละก็ยังคงมาเยี่ยมท่านอยู่)

เมื่อเราเรียนว่า เชื่อว่าท่านและท่านพระพากุละคงจะเคยมีความผูกพันกัน ท่านคงจะเคยเป็นศิษย์ของพระพากุละกระมัง หลวงปู่ก็อธิบายว่า...ต่างคนต่างเคยเกิดเป็นศิษย์ซึ่งกันและกัน !

ผู้เขียนได้ยินแล้วก็อดมิได้ที่จะนึกซาบซึ้งในคุณธรรมของท่านผู้รู้อย่างสุดซึ้ง ผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างแท้จริงนั้น ท่านย่อมครองคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทิตาคุณตลอดกาล ภพชาติจะผ่านไปเช่นไร ศิษย์และอาจารย์ย่อมเป็นศิษย์และอาจารย์ต่อกันอย่างมิรู้ลืม เราเคยอ่านพบในพระไตรปิฎกอยู่เสมอว่า เมื่อท่านผู้หนึ่งผ่านภพแห่งโลกนี้ไปเสวยสุขได้สวรรคสมบัติ หรือพรหมสมบัติแล้ว เมื่อผู้เคยเป็นศิษย์ของท่าน หรือผู้เคยเป็นอาจารย์ของท่านยังครองชีวิตอยู่ในมนุษยโลก หากหลงผิด ท่านก็จะลงมาตักเตือนหรือแนะข้อคิดที่ถูกต้องให้ หากปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ท่านก็จะลงมาเยี่ยมอนุโมทนาสรรเสริญในศีลานุจารวัตร แสดงธรรมให้เป็นที่รื่นเริงบันเทิงในจิต และระยะนี้เองที่ท่านผู้ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ในโลกมนุษย์ก็อาจจะเรียนถามข้อสงสัยในธรรมวินัยบางประการได้

หลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน ท่านพระพากุละมาเยี่ยมชมเชยและสรรเสริญข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มาก โดยเฉพาะด้านธุดงควัตรที่ท่านถือเคร่งควรเป็นเนติแบบอย่างของผู้สืบพระศาสนาเป็นอย่างดี ท่านได้แสดงธรรมยืนยันประโยชน์ของธุดงควัตรที่มีต่อผู้หวังผลที่สุดแห่งการปฏิบัติอย่างไพเราะลึกซึ้ง และอนุโมทนาด้วยที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าเคารพเลื่อมใส จนท่านต้องมาเยี่ยมถึงที่อยู่

ท่านเล่าว่า วาระแรกที่ท่านพาพระกุละมาเยี่ยมอนุโมทนาและแสดงธรรมนั้น ท่านมีความปีติเปี่ยมในจิต ออกจากสมาธิมาเดินจงกรม รู้สึกตัวเบาราวกับจะเหาะเหินเดินอากาศลอยตามพระอรหันต์พากุละไปฉะนั้น ท่านเดินจงกรมจนสว่างโดยมิได้นึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด จิตเบา กายเบา จิตอ่อน กายอ่อน จิตสงบ กายสงบ ไม่มีอารมณ์ใดมาเกาะเกี่ยว

ท่านว่า ปรากฏการณ์ครั้งนั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในธรรมมากขึ้น และมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ใครจะนึกฝันว่า จะมีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาเยี่ยม บริขารหาย ท่านก็เมตตาบอกที่ให้ปฏิบัติทำความเพียรอยู่ ท่านก็มาอนุโมทนาและเมตตาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านเล่าว่า ท่านมิได้นึกเห่อเหิมประการใด ว่าตนมีความดี ความวิเศษเลิศเลอกระทั่งมีพระอรหันต์มาเยี่ยม แต่ท่านกลับยิ่งต้องพิจารณาใตร่ตรองเทียบเคียงข้อวัตรปฏิบัติของท่านกับธรรมคำสั่งสอนที่ได้รับ ระมัดระวังมิให้ผิดพลาดหรือเสื่อมถอยลง

เพียร...ก็ต้องเพียรพยายามให้มากขึ้น

พิจารณา...ปัญญาก็ต้องพิจารณาฟาดฟันกิเลสให้รอบรู้...รู้เท่ายิ่งขึ้น

สติ...ต้องกำกับรักษาจิต พยายามไม่ให้พลั้งเผลอสักขณะจิต รวมความว่า กลับยิ่งต้องระวังรักษาตัวทุกประการให้สมควรกับที่ได้มีวาสนาประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเห็น ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้ยินได้ฟัง

ระหว่างที่พำนักอยู่ในพม่าเช่นกัน ท่านได้เดินธุดงค์ไปหาที่วิเวก พบถ้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชัยภูมิสงัดลี้ลับห่างจากหมู่บ้านมาก การออกบิณฑบาตจากถ้ำที่ปรารภความเพียรไปหมู่บ้านนั้นต้องใช้เวลาถึงเกือบสองชั่วโมง ไปกลับก็ร่วมสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักได้ฉันอาหาร แต่ท่านก็พอใจที่จะอยู่บำเพ็ญความเพียร ณ ที่นั้น ด้วยเป็นที่สงัดสัปปายะแก่การภาวนา บางวันเวลาหากการบำเพ็ญเพียรเป็นไปอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ท่านก็พักการออกบิณฑบาตเป็นวันๆ ไป

ท่านเล่าว่า คืนวันหนึ่ง พอจิตรวมสงบลงก็ปรากฏ พระมหากัสสปเถรเจ้า เหาะลอยลงมาข้างหน้าท่าน ท่านว่า เป็นภาพที่งามมาก ด้วยเห็นท่านเหาะมาแต่ไกล จนกระทั่งใกล้เข้ามาเห็นรัศมีแพรวพรายสว่างเรือง ร่างของท่านค่อยเลื่อนลอยลงสู่พื้นแล้วค่อยๆ นั่งลงตรงหน้าท่านด้วยความสงบเยือกเย็น ใบหน้าของท่านเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา แล้วก็มีปฏิสันถารกับหลวงปู่อย่างอ่อนโยน ท่านถามถึงธาตุขันธ์ของหลวงปู่ว่าพอเป็นไปไหวไหมกับการบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ที่น่าอนุโมทนาเช่นนี้

หลวงปู่เล่าว่า ท่านก้มลงกราบในนิมิตภาวนาด้วยความปีติตื้นตันใจ ดูเหมือนว่าการปฏิบัติ การภาวนาของท่านจะอยู่ในสายตาของท่านผู้รู้โดยตลอด

เมื่อท่านกราบเรียนอย่างนอบน้อมถ่อมองค์แล้ว พระมหากัสสปะก็อนุโมทนาในกำลังศรัทธาของท่าน และแสดงธรรมเน้นหนักเรื่องธุดงควัตร เช่นที่พระพากุละได้เทศนาสั่งสอนหลวงปู่มาแล้ว ท่านยืนยันว่า ธุดงควัตรนั้นเองเป็นหลักของพระผู้มุ่งมั่นต่อความหลุดพ้นจากทุกข์ จริงอยู่ที่หลวงปู่ปฏิบัติอยู่นี้ ก็น่าสรรเสริญชมเชยอยู่แล้ว แต่ท่านก็ใคร่จะอธิบายประโยชน์เพิ่มเติมให้ส่งเสริมอุบายธุดงค์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอให้หลวงปู่ปฏิบัติอย่าย่อท้อ เพื่อเป็นแบบอย่างดำรงอริยมรรค อริยวัตร อริยประเพณีสืบต่อๆ ไป

นอกจากด้านธุดงควัตร ท่านยังเมตตาแสดงด้านธรรมวินัยให้ฟังอย่างวิจิตรพิสดารอีกด้วย รวมทั้งปัญหาธรรมต่างๆ ที่หลวงปู่ติดข้องสงสัยด้วย

ท่านเล่าว่า จิตท่านดำรงอยู่ในสมาธิภาวนาระหว่างท่านพระมหากัสสปะมาแสดงธรรมและสนทนาสั่งสอน เป็นเวลาเกือบสี่ชั่วโมงจิตจึงถอนออกมา หลังจากที่ท่านพระมหากัสสปะได้ลาจากท่านไป โดยเหาะกลับไปทางอากาศเช่นเดียวกับเมื่อเริ่มมา

ออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ก็นำธรรมะที่เพิ่งได้รับฟังสดๆ ร้อนๆ มาครุ่นคำนึง ทั้งปีติ ทั้งอาลัยระคนกัน

ปีติ...ด้วยได้มีโอกาสกราบไหว้พระขีณาสวเจ้าองค์สำคัญ ผู้เป็นบรมครูทางธุดงค์แห่งพุทธกาล สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญยิ่งนักว่า ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เป็นเลิศในทางธุดงค์

อาลัย...ด้วยนึกเสียดายไม่อยากจะให้ภาพพระอรหันตเจ้าผู้ยิ่งด้วยมหาการุณจะเลือนหายไปเลย

อย่างไรก็ดี ท่านได้ภาวนาต่อไปจนสว่าง มีความรู้สึกเอิบอิ่มปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก ธรรมทุกข้อที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงตักเตือน ดูราวกับจะปรากฏซ้ำขึ้นอย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะข้อที่ท่านได้พยากรณ์เป็นเชิงให้กำลังใจแก่หลวงปู่นั้น ท่านว่าท่านรู้สึกดื่มด่ำฉ่ำชื่น มีกำลังใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติทำความเพียรโดยไม่ลดละ เพราะมรรคผลนิพพานที่เคยรู้สึกว่าอยู่สูงลิบเหลือกำลังสอยนั้น ดูราวกับจะลอยล่ออยู่แค่เอื้อมนี่เอง...!!

นอกจาก พระมหากัสสปะ และพระพากุละ จะเมตตามาเยี่ยม กล่าวสัมโมทนียกถาเทศนาให้กำลังใจเสมอแล้ว ท่านเล่าว่ายังมีพระอรหันต์สมัยพุทธกาลอีกองค์หนึ่ง คือ พระอนุรุทธมหาเถรเจ้า ก็ได้มาปรากฏองค์เยี่ยมท่านอยู่เป็นปกติ


๑๘. กลับมาเยี่ยมแดนอีสาน

หลังจากที่ท่องเที่ยววิเวกอยู่ในถิ่นแถบภาคเหนือ คือ แถวจังหวัดชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และเพชรบูรณ์ ถึง ๑๔ ปี พอดีกัลยาณมิตรของท่านคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้มาชวนให้ท่านกลับอีสาน ท่านจึงตกลงใจกลับมากับหลวงปู่ขาว

หลวงปู่ทั้งสอง ต่างองค์ต่างจากถิ่นฐานบ้านเกิดและวงศาคณาญาติ มาแสวงหาที่สัปปายะบำเพ็ญเพียรภาวนาทางภาคเหนือ เป็นเวลาใกล้เคียงกัน และต่างองค์ต่างได้รู้เห็นธรรม...ตามสำนวนอันถ่อมองค์ของท่านก็ว่า...ธรรมอันสมควรเป็นที่พึ่งแห่งตนได้...แต่สำหรับปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ก็คงจะแอบนึก แอบเดากันเองว่า เป็นธรรมอันสูงขั้นใด...สมควรจะกลับไปเยี่ยมถิ่นฐานบ้านเดิม และโปรดพวกวงศาคณาญาติเสียที อีกประการหนึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ พระอาจารย์ของท่านซึ่งได้ล่วงหน้ากลับจากเชียงใหม่ไปก่อนหน้านั้น ท่านกำลังโปรดญาติโยมอยู่แถบอีสานเหมือนกัน จะได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่นด้วย

ความจริง ในการกลับอีสานครั้งนี้ หลวงปู่และหลวงปู่ขาวได้ไปชวนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย นอกจากความสนิทสนมคุ้นเคยที่ธุดงค์ผ่านป่าผ่านเขา ผ่านเป็นผ่านตายมาด้วยกันแล้ว เฉพาะหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่แหวนต่างมีชาติกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกันด้วย ท่านจึงชักชวนให้หลวงปู่แหวนกลับไปโปรดชาวจังหวัดเลยบ้าง แต่หลวงปู่แหวนก็ได้ตอบปฏิเสธหลวงปู่ทั้งสองไป ท่านว่า ท่านจะยังไม่กลับ จะอยู่เชียงใหม่บำเพ็ญภาวนาให้ถึงอรหัตตผลก่อน จึงจะคิดกลับ เวลานี้ยังไม่คิด อย่างไรก็ดี หากได้ผลสมปรารถนาแล้วท่านจะคิดอีกครั้งหนึ่งว่าควรจะไปจากเชียงใหม่หรือไม่ “เชิญท่านกลับเลยไปก่อนเถอะ” ท่านบอกกับหลวงปู่

(ปรากฏว่า หลวงปู่แหวนไม่ได้กลับมาจังหวัดเลยอีกเลย จนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้) ท่านทั้งสองก็ไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ ท่านกลับจากฉลองกุฏิที่ผาแด่น เชียงใหม่ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนที่วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากที่ได้จากกันเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน

ในขณะที่องค์หนึ่งอายุได้ ๙๖ ปี เปรียบประดุจใบไม้ที่ใกล้จะถึงเวลาร่วงจากขั้ว และอีกองค์หนึ่งอายุ ๘๓ ปี เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องมีพระลูกศิษย์อุ้มพาไปตลอดเวลาแต่ท่านทั้งสององค์ก็เป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ทรงธรรมวิสุทธิ์ เป็นที่เคารพ รัก เลื่อมใส ของคนทั้งแผ่นดิน การพบกันครั้งนี้ หลวงปู่ทั้งสองก็ได้พูดคุยธรรมสากัจฉากันอย่างรื่นเริง ถึงความหลังสมัยที่ธุดงค์โชกโชนมาด้วยกัน พบเสือ พบช้าง พบเทพยดา พญานาค มาคารวะ มาทำบุญ มาขอฟังธรรมด้วยกัน

หลวงปู่ชอบได้กลับไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เพียงสองสามวันก่อนท่านจะมรณภาพ เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายจริงๆ สำหรับท่าน

สำหรับเรื่องที่หลวงปู่แหวนบอกกัลยาณมิตรของท่านทั้งสองว่า จะยังไม่กลับอีสานจนกว่าจะได้รับอรหัตผลก่อน จึงจะคิดเรื่องการกลับนั้น สมควรจะเล่าแทรกไว้ด้วยว่า วันหนึ่งหลวงปู่ขาวซึ่งอยู่ที่วัดกลองเพล อุดรธานี ก็ปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านได้นิมิตเห็นหลวงปู่แหวน ใสเหมือนแก้ว ใสที่สุด สว่างไสวทั้งองค์ ดวงใจของท่านก็ใสประดุจแก้ว หลวงปู่ขาวรำพึงว่า “ท่านแหวนได้อรหัตแล้วละหนอ”

จากเชียงใหม่ หลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก็ลงมากรุงเทพฯ ก่อนพบสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺสเถระ) ท่านก็ถามหลวงปู่ทั้งสองว่า ไปอยู่เชียงใหม่มาได้อะไรดี หลวงปู่ชอบเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว ท่านจึงเพียงยิ้มๆ ปล่อยให้หลวงปู่ขาวสหายของท่านเป็นผู้ตอบแทน ท่านบอกว่า ได้ศรัทธาดี ได้อจลศรัทธา

พักอยู่กรุงเทพฯ ไม่กี่วัน ท่านก็จับรถไฟขึ้นไปอีสาน ผ่านจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น พักที่วัดซึ่งท่านทั้งสองเคยจำพรรษาวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา และวัดป่าบ้านเหล่างา ขอนแก่น แล้วก็เดินทางมุ่งไปที่สกลนคร ด้วยได้ทราบว่า ระยะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีพระเณรพระธุดงคกรรมฐานจำพรรษาและห้อมล้อมรับการอบรมจากท่านอยู่ ณ บริเวณใกล้เคียงกับที่ท่านพักจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต


ความตอนนี้ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล แต่ขณะนั้นยังเป็นสามเณรน้อย ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นอยู่ เล่าความให้ฟังว่า

พอเหลือบเห็นหลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก้าวเข้าไปในบริเวณลานวัด หลวงปู่มั่นก็อุทานด้วยความยินดี ที่เห็นหน้าศิษย์เอกทั้งคู่

“นั่น...ท่านขาว ท่านชอบมาแล้ว ไป...ไปต้อนรับท่าน”

ภิกษุสามเณรที่เคยรู้จักท่านต่างก็ดีใจ แสดงความกุลีกุจอที่ได้พบหน้า “พี่ชายใหญ่...ท่านอาจารย์ขาว...ท่านอาจารย์ชอบ” อีกครั้งหนึ่ง ช่วยกันรับเครื่องบริขารจากท่าน พร้อมกับรีบหาน้ำท่ามาถวาย ส่วนภิกษุสามเณรที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในสำนักในระยะหลัง ไม่เคยเห็นท่านทั้งสองมาก่อน ก็แอบนึกกันว่า “...นี่เอง ท่านอาจารย์ขาว นี่เอง ท่านอาจารย์ชอบ เราเคยได้ยินชื่อท่านทั้งสองกันมานานแล้ว พ่อแม่ครูบาอาจารย์ (คำที่พระเณรทั้งหลายเรียกท่านพระอาจารย์มั่น) เคยพูดถึงด้วยความยกย่องบ่อยๆ เรื่องราวของท่านเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ครูบาอาจารย์มากมาย วันนี้เรามีบุญได้เห็นองค์ท่านแล้ว”

บางองค์ก็แอบนึกว่า “เคราะห์ดี เราไม่ได้นึกหมิ่นท่าน...ใครจะนึกว่า พระรูปร่างผอมสูง โปร่งบาง องค์นี้จะเป็นท่านอาจารย์ขาว และองค์เล็กๆ ดำคล้ำนั้น จะเป็นท่านอาจารย์ชอบ สีจีวรดูเก่าคร่ำคร่า กลดก็ดูขาดวิ่น...”

แต่ท่านเหล่านั้นก็คงนึกได้ถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ และได้มีภิกษุชราองค์หนึ่ง เข้าไปถวายบังคมแทบเบื้องบาทมูลของสมเด็จพระพิชิตมาร ภิกษุชราผู้นั้นแม้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่า แต่ผิวพรรณวรรณะผ่องใส กิริยาท่าทางสงบเย็น เมื่อถวายบังคมสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ครบสามครั้ง แล้วก็นิ่งรอคอยฟังพระพุทธฎีกาโดยดุษณี เมื่อทรงมีพุทธบรรหาร ก็กราบทูลตอบอย่างสงบเสงี่ยม เฝ้าอยู่ได้ระยะหนึ่งก็กราบถวายบังคมลากลับไป

บรรดาภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเข้ามาในสำนักสมเด็จพระทศพล ในระยะหลังไม่เคยเห็นภิกษุชราแปลกหน้าผู้นี้ จึงถามกันเซ็งแซ่ว่า ภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่านี้เป็นผู้ใด สมเด็จพระบรมครู จึงดูทรงเมตตาและแสดงความคุ้นเคยนัก ปกติสมเด็จพระบรมศาสดาทรง “วาง” ทุกอย่าง ไม่ทรงแสดง “กิริยาดีใจ” ไม่ทรงแสดง “กิริยาเสียใจ” ให้ปรากฏ แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มจีวรอันเก่าคร่ำคร่า ก็ได้เห็นสีพระพักตร์แช่มชื่นขึ้นด้วยความยินดี ประหนึ่งบิดาได้ประสบหน้าบุตรสุดที่รักที่จากไปในแดนไกล กลับมาเยี่ยมบ้านฉะนั้น

ใครทราบบ้างไหม ท่านเป็นใคร มาแต่ไหน เสียงถามกัน

แต่ก็ไม่มีภิกษุองค์ใดตอบได้ เพราะต่างองค์ก็เพิ่งเข้ามาสู่สำนักสมเด็จพระบรมศาสดาในเวลาไม่นานนัก

สมเด็จพระบรมครูทรงทราบวาระจิตของเหล่าภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จมาในที่ประชุมนั้น และรับสั่งว่า

“นี่แหละ เชษฐภาดาของพวกเธอ มหากัสสปะ ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของเธอทั้งหลาย เธอออกจากป่าจากเขามาหาเรา” แล้วทรงสรรเสริญวัตรของพระมหากัสสปะต่อไปว่า “เธอเป็นผู้พอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด เธอมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืนเป็นวัตร ไม่ชอบระคนด้วยหมู่เธอผู้บุตรของเรา เธอเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์”

ท่านอาจารย์มั่นสั่งให้สามเณรบุญเพ็ง ไปจัดการสถานที่พักให้หลวงปู่ทั้งสองกำชับว่า “ท่านขาว ท่านชอบ ท่านชอบป่านะ เราไปจัดป่าให้ท่านนะ” ท่านพระอาจารย์บุญเพ็งเล่าว่า เป็นความประทับใจที่ท่านไม่มีวันลืมเลือนเลย ในใจพองโตด้วยความปลื้มปีติที่ได้มีโอกาสรับใช้ศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ทั้งสอง

วันนั้นเช่นกัน ภิกษุสามเณร ณ วัดป่าบ้านหนองผือนาใน ก็คำนึงกันว่า “เช่นเดียวกับพระมหากัสสปะเมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระจอมมุนินาถ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ออกมาจากป่าจากเขา หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบเมื่อมากราบท่านพระอาจารย์มั่น องค์บุรพาจารย์ของท่านก็เพิ่งออกจากป่าจากเขามา เราต่างได้ยินคำสรรเสริญยกย่องมานานแล้วว่า ท่านทั้งสองบำเพ็ญเพียรเจริญรอยตามพระมหากัสสปะ ผู้เลิศในการทรงธุดงค์ เราได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า ท่านทั้งสองพอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด ท่านมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืน เป็นวัตร ท่านไม่ชอบระคนด้วยหมู่ ท่านผู้เป็นพี่ชายใหญ่ ท่านผู้เป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ ท่านมาในครั้งนี้ เราคงมีโอกาสได้ฟังอะไรดีๆ ให้เป็นขวัญตา ขวัญใจ ขวัญหุของพวกเราแน่”

แน่นอนที่พระเณรทุกองค์จะนึกคาดคอยเช่นนั้น เพราะเวลาใดที่มีพระเถระผู้ใหญ่ ผู้มีภูมิธรรมขั้นสูงออกจากป่าที่พักบำเพ็ญภาวนาหรือไปธุดงค์ ณ เมืองไกล จะมีความรู้ความเห็นจากการภาวนา มาเล่าถวายอาจารย์ของท่าน เวลานั้นจะเป็นเวลาที่พระเณรทั้งหลายกระหยิ่มดีใจ คอยสนใจฟังกันมากที่สุดเพราะความรู้ ความเห็นจากการภาวนาเหล่านั้น เป็น “ของจริง” ที่แต่ละองค์ได้ประสบพบเห็นมา และก็มักจะแปลกแตกต่างกันไปตามจริตนิสัยของแต่ละองค์ ยิ่งคราวนี้หลวงปู่ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้รับการพยากรณ์จากท่านพระอาจารย์มั่นมาแล้ว เป็นผู้ได้รับคำยกย่องสรรเสริญอยู่เสมอ...กลับจากธุดงค์มากราบคารวะครูบาอาจารย์พร้อมกัน ประดุจคู่พญาช้างกลับจากการตระเวนไพรมาด้วยกันฉะนั้น

แน่นอน...หลวงปู่ทั้งสองคงจะมีเรื่องที่รู้เห็นจากการภาวนาล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจจ์ภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพ พวกอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ พญานาค ภายนอกบ้าง มาเล่าถวายให้ฟังอย่างมากมาย

คงได้ฟังกันอย่างเพลิดเพลินตลอดรุ่ง

“บุญเพ็งไปปูเสื่อ” ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งสามเณรบุญเพ็ง แล้วกำชับว่า “ท่านขาว ท่านชอบ ท่านชอบป่านะ เราไปจัดป่าให้ท่านนะ”

สามเณรบุญเพ็งรีบไปจัดสถานที่ให้อย่างกุลีกุจอ ท่านเล่าว่า เป็นความประทับใจที่ท่านไม่ลืมเลย ในใจพองโตด้วยความปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้ศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ ผู้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ท่านจำได้ไม่ลืมว่า ท่านจัดให้หลวงปู่ขาวผูกกลดอยู่ใต้ร่มต้นมะไฟ ส่วนหลวงปู่ชอบนั้น ท่านจัดให้ไปอยู่ใต้ร่มไม้ห่างไปอีกทางหนึ่ง คือ ผูกกลดอยู่ใต้ร่มหมากเม่า ต่างองค์ต่างอยู่ในป่า ไม่ระคนกับหมู่

และก็เป็นอย่างที่พระเณรน้อยใหญ่คาดคอย กล่าวคือ ได้มีโอกาสฟังหลวงปู่ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่นและหลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบสนทนาธรรมกันอย่างลึกซึ้ง และรื่นเริงในธรรม

อย่างไรก็ดี ตามวิสัยครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นประดุจพ่อแม่ของศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่วายที่จะ “ประหน้า” ศิษย์เอกทั้งคู่ด้วยเทศนากัณฑ์ใหญ่ก่อน โดยเริ่มว่า

“กลัวแต่คนอื่นจะเห็นตับไดไส้พุงของตัว แต่ตัวเองไม่สนใจตับไตไส้พุงและจิตใจของตัว ว่ามันมีอะไรอยู่ภายในนั้น มัวเพลินดูเพลินฝัน เพลินคิดแต่เรื่องคนอื่น กลัวเขาจะมาเห็นตับไตไส้พุงของเรา คิดส่งออกไปภายนอก ไม่สนใจคิดเข้ามาภายใน นักปฏิบัติเราไม่สนใจ ดูกาย...ดูใจของตัวเราเอง จะหาความฉลาดรอบรู้มาจากไหน”

หลวงปู่สบตาหลวงปู่ขาว แล้วก็นิ่งอยู่ด้วยความสำรวม

ระหว่างทางพักค้างคืน ก่อนจะถึงวัดป่าบ้านหนองผือ นาใน ต่างองค์ต่างเข้าที่บำเพ็ญภาวนาถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา บูชาพระคุณท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ใหญ่ผู้สอนสั่งกล่อมเกลาศิษย์ให้เข้ามาสู่เส้นทางมรรคอันถูกต้อง ที่เที่ยงแท้ ตรง และแน่แน่ว เข้าสู่ความหลุดพ้น หากไม่ได้ความกรุณา เมตตาชี้แนะ อย่างถูกต้องของท่านก็คงจะขาดประโยชน์ สูญประโยชน์อันควรมีควรเป็นไปอย่างน่าเสียดาย พระคุณของท่านหาประมาณมิได้ โดยปกติหลวงปู่ท่านจะพิจารณาธรรมเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาอยู่เสมอ

แต่คืนนั้น...ท่านทั้งสองได้ตั้งใจพิจารณากาย...กายคตานุสติปัฏฐาน ถวายบูชาท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพิเศษ

หลวงปู่ขาวหลุดปากปรารภกับหลวงปู่ชอบว่า เราพิจารณากายกันอยู่ทางนี้ ที่โน่น...ป่านนี้ ท่านอาจารย์มั่น คงนั่งภาวนามองดูตับไตไส้พุงของพวกเราทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ก่อนที่เราจะไปถึงท่าน เครื่องในตับไตไส้พุงตัวเราคงไม่มีอะไรเหลือ ท่านคงขยี้คลี่ดูแหลกลานเป็นจุณไปหมดแล้วด้วยญาณของท่าน

คิดเพลิน...เพลินคิด กันไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่วายถูกเตือน...!!

หลวงปู่เล่าว่า นี่แหละ พ่อแม่ครูจารย์อันประเสริฐแท้ ศิษย์จะมีความรู้เห็นเพียงไหน แต่ทางดำเนินหากจะไม่ถูกต้อง หรือแม้เพียงไม่เหมาะสมเพียงเล็กน้อย จะต้องได้รับคำเตือนทันทีทีเดียว และเป็นที่ทราบกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ท่าน “เคี่ยว” ศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านอย่างมาก เพื่อหล่อหลอมให้เป็นพระปฏิมากรอันล้ำค่าหาที่ตำหนิมิได้ และแม้ท่านจะทราบแล้วว่า ศิษย์บางท่าน บางองค์ หายสงสัยในธรรมแล้ว เสร็จกิจอันควรกระทำแล้ว ไม่มีกิจที่ต้องทำอีก ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่มีชีวิต ก็มีแต่กิริยากิจปฏิปทากิจที่จะต้องดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค อริยประเพณี เพื่อความเหมาะสม และดีงามเท่านั้นก็ตาม แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็มากไปด้วยความเมตตา เพียงสังเกตว่า มีทางดำเนินที่ควรแก้ไขปรับปรุง ท่านก็มิได้รั้งรอที่จะให้โอวาทสั่งสอนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เพื่อให้ศิษย์ท่านเหล่านั้น สามารถเป็นธรรมทายาทของท่านอย่างเต็มภาคภูมิ ท่านตักเตือนโดยเล็งเห็นว่า ต่อไปภายหน้าท่านเหล่านั้นต่างจะต้องสืบทอดพระพุทธศาสนา มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ทั้งพระเณรและประชาชนทั่วไป จริงอยู่ การปฏิบัติผิดหรือถูก เป็นเรื่องเฉพาะองค์ เพราะบางท่าน บางองค์ก็เป็นประดุจ “ผู้ไม่มีแผลในฝ่ามือ” ถึงจะถือยาพิษ จับยาพิษ แต่ยาพิษก็ไม่อาจซึมไปให้โทษแก่ฝ่ามือที่ไม่มีแผลได้เลย ฉันใด และบาปหรือตำหนิย่อมไม่ตกแก่ผู้พ้นจากบาปแล้ว ฉันนั้น แต่การจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของคนหมู่มาก ควรจะต้องระมัดระวังการปฏิบัติ

หลวงปู่เล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจะให้โอวาทเสมอว่าการเป็นอาจารย์คนนั้นสำคัญมาก จึงควรต้องระมัดระวังตน อาจารย์ผิดเพียงคนเดียวอาจทำให้คนอื่นๆ ผิดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก และในทำนองเดียวกันถ้าอาจารย์ทำถูกต้องเพียงคนเดียว ก็จะสามารถพาดำเนินให้คนอื่นปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ตามไปได้โดยไม่มีประมาณเช่นกัน

ท่านสรรเสริญสมเด็จพระจอมมุนีนาถ บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นบรมศาสดาทั้งทางธรรมและทางโลก ทรงเป็น “ครู” ทุกอิริยาบถไม่ว่าเวลาใด ทรงดำเนิน...ประทับยืน ประทับนั่ง ทรงบรรทมด้วยท่าสีหไสยาสน์คือนอนตะแคงขวาโดยลอด แม้เวลาเสด็จปรินิพพานท่านจึงเตือนสติศิษย์ของท่านเสมอ ให้ถือสมเด็จพระบรมศาสดาเป็นแบบอย่าง

แม้จนท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพแล้ว ท่านก็มักจะไปเยี่ยมแสดงสัมโมทนียกถา ให้ศิษย์ท่านบางองค์บ่อยๆ องค์ใดที่เคร่งครัด ธุดงควัตรอยู่แล้ว ท่านก็จะมาสรรเสริญ ให้กำลังใจ องค์ใดที่บางโอกาสสำรวมระวังไม่เพียงพอ แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การวางบริขารไม่เป็นระเบียบ ซึ่งปกติก็ถ่ายทอดความเป็นระเบียบมามากอยู่แล้ว แต่ถ้าวันนั้นเกิดเหนื่อย เกิดเพลียขึ้นมา เลยละลืมไป คืนนั้นจะปรากฏในนิมิตภาวนา ท่านพระอาจารย์มั่นมาเตือน ทำให้ท่านต้องมีสติกำกับจิตกันอยู่ตลอดทุกขณะจิต


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2009, 13:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๑๙. งานช่วยท่านพระอาจารย์มั่น

ในการกลับมากราบเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ครั้งแรกท่านคิดจะกลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดเลยโดยเร็ว เพราะได้เหินห่างจากแดนมาตุภูมิมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว อีกประการหนึ่งหลวงปู่ขาว มิตรสนิทของท่าน ก็กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นกลับไปจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว แต่ท่านมาคิดว่า ตัวท่านนั้นได้เที่ยววิเวกห่างจากครูบาอาจารย์ไป มิได้เคยอยู่จำพรรษาด้วยท่านเลย ครั้งนี้ท่านพระอาจารย์มั่นก็มีอายุมากแล้ว แต่ได้มีพระเณรอยู่รับการอบรมจากท่านเป็นจำนวนมาก คงจะเป็นภาระอย่างมากแก่ท่าน หลวงปู่จึงคิดจะอยู่รับใช้ตอบแทนพระคุณท่านระยะหนึ่ง ก่อนกลับไปเยี่ยมบ้าน

และก็ราวท่านพระอาจารย์มั่นจะล่วงรู้ความมีน้ำใจของหลวงปู่ (หลวงปู่ว่า แน่นอนท่านต้องรู้แน่อย่างไม่มีปัญหา !) ท่านก็มอบหน้าที่ให้หลวงปู่หลายประการ เช่น...ให้ท่านช่วยรับแขกบ้าง ให้ช่วยท่านดูแลพระบ้าง

ฟังดูก็เป็นเรื่องธรรมดา

...ช่วยท่านรับแขก...? ถ้ามีแขก ก็ช่วยรับแขก โอภาปราศรัยแขก อย่าให้รบกวนท่านมากนัก

...ให้ช่วยท่านดูแลพระเณร...? แน่นอน ในฐานะที่ท่านเป็นศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ ก็ต้องคอยดูแลตักเตือนศิษย์รุ่นน้อง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบอันดีงาม มีความขยันหมั่นเพียรในการบำเพ็ญภาวนา อย่าถือเอาความเกียจคร้านเป็นสรณะ...ถ้าเป็นภาระหน้าที่ธรรมดาๆ เช่นนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะไม่มอบหน้าที่ให้หลวงปู่แน่...!

เพราะ...”ให้ท่านช่วยรับแขก”...หมายความว่า ในเวลากลางดึก ซึ่งเป็นเวลาที่ปกติมนุษย์ควรจะพักผ่อนกายนั้น ปรากฏว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะมีแขกมาเยี่ยมมาขอฟังธรรมกันเสมอ บางคืนมากันมากมายหลายคณะ แขกคณะนี้กลับไป แขกคณะอื่นก็มาต่อ ทำให้ท่านเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง

ท่านจึงต้องขอให้หลวงปู่ช่วยท่านรับแขกด้วย

ถูกแล้ว...ไม่ใช่เป็นแขกมนุษย์ แต่เป็นแขกเทพ และความจริงการมอบให้ท่านช่วยรับแขกเทพนี้ ท่านก็มิได้ปริปากบอกเลย ! เพียงแต่...เมื่อหลวงปู่อยู่ในสมาธิ ก็จะมีเทพมากราบขอฟังธรรม เรียนท่านว่าได้ไปกราบหลวงปู่มั่นแล้ว แต่ท่านเหน็ดเหนื่อย ด้วยคืนนี้รับแขกมามากคณะแล้ว ขอให้มาฟังธรรมจากหลวงปู่แทน

หลวงปู่เทศน์แสดงธรรมไปเสร็จแล้ว ตอนเช้าก็ขอโอกาสกราบเรียนเรื่องให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง พร้อมทั้งเรียนถามท่านว่า ท่านพระอาจารยั่นได้สั่งให้เทวดามาขอฟังธรรมจากท่านใช่หรือไม่ หรือว่าเทวดาคณะนั้น...คณะนั้นสมอ้างชื่อท่านพระอาจารย์มั่นเอาเอง

ท่านพระอาจารย์มั่นก็รับว่า ท่านได้บอกเทวดาเช่นนั้นจริงๆ เพราะท่านเหนื่อยในการรับแขกอย่างยิ่ง ด้วยมากันมากมายหลายคณะ และข้อธรรมที่จะแสดงก็ต้องกำหนดแตกต่างกันไปตามภูมิชั้นจริตนิสัยที่ควรแก่การรับการอบรมอันไม่เหมือนกัน

ท่านจึงมีหน้าที่ช่วยอาจารย์ของท่านรับแขกด้วยประการฉะนี้...เพียงแต่ว่าเป็นแขกเทพ ซึ่งต้องสนทนา แสดงธรรมกันด้วยใจล้วนๆ ทั้งใจของผู้ฟังธรรมและทั้งใจของผู้แสดงธรรม...สัมผัสกันกลมกลืนเป็นอย่างดี และเช่นเดียวกับที่บรรดาเทวดาฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น แล้วจะโมทนาสาธุกันสะเทือนเลื่อนลั่น เมื่อฟังธรรมจากหลวงปู่ พวกเทพก็จะกล่าวสาธุการกันด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างสุดซึ้งดังสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน ว่ากันว่า เวลาฟังธรรมท่านพระอาจารย์ในการสนทนากับหลวงปู่เรื่องกายทิพย์ เรื่องแขกภายนอก เรื่องเทวดา ภูตผีทั้งหลายที่มาขอพึ่งบารมี ฟังธรรม และถามปัญหาธรรม ผู้มีโอกาสได้ฟังด้วยจะรู้สึกเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจ ไม่อยากให้จบลงเลย ท่านพูดสอดคล้องกัน และเป็นไปในแนวเดียวกันราวกับได้อยู่ด้วยกัน เห็นด้วยกัน ฟังด้วยกันฉะนั้น

ส่วน...เรื่องการ “ให้ช่วยท่านดูแลพระ” นั้น...ก็หมายความว่า ปกติพระอาจารย์มั่นมีปรจิตวิชาอย่างว่องไว พระเณรองค์ใดคิดไม่ถูกไม่ควร จะต้องถูกท่านทักหรือเทศน์ตักเตือนเสมอ ดังที่เขียนถึงมาแล้วว่า แม้แต่เวลากลางคืน ท่านจะกำหนดจิตดูว่ามีใครเกียจคร้าน ไม่บำเพ็ญความเพียร หรือคิดสร้างบ้านสร้างเรือน นอกลู่นอกทาง อันเป็นการผิดสมณเพศวิสัยบ้างหรือไม่ จนปรากฏเป็นภาพในนิมิตให้หลวงปู่ชอบท่านได้เห็น เป็นภาพพระอาจารย์มั่นไปเคาะกุฏิศิษย์บ่อยๆ

ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะคุมจิต คอยดู เวลาศิษย์ออกไปบิณฑบาตตอนเช้า หรือมิฉะนั้นก็เวลาที่ท่านกำลังเทศน์อยู่ ใครคิดอะไรผิดปกติ จะต้องถูกท่านทักหรือดุเอาบ่อยๆ อย่างไรก็ดี ในระยะหลังพระเณรมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างที่ท่านเทศน์นั้น กระแสธรรมของท่านจะหลั่งไหลต่อเนื่องกันอย่างเผ็ดร้อน หากมีอะไรมาทักขัดจังหวะทำให้สะดุดหยุดลง ก็จะไม่ต่อเนื่องกัน ท่านจึงมอบให้หลวงปู่ “ช่วยดูแลพระ จับขโมยให้ผมด้วย”

ขโมย ผู้ขโมยคิดอย่างไม่ถูกต้องตามครรลองของพระผู้ควรถือศีล ๒๒๗ ข้อให้บริสุทธิ์

เป็นที่เลื่องลือกันว่า ปรจิตวิชาหรือการล่วงรู้จิตผู้อื่น หลวงปู่ก็ว่องไวไม่แพ้ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านเหมือนกัน พระเณรทั้งหลายจึงยำเกรงท่านมาก และเคารพท่านรองลงมาจากท่านพระอาจารย์มั่นทีเดียว

ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามท่านว่า ที่หลวงปู่จับพระ จับขโมย ที่ว่า “ขโมยคิด” ไม่ถูกต้องนั้น ท่านกำลังคิดเรื่องอะไร หลวงปู่เล่ายิ้มๆ ว่า ส่วนมากก็คิดฮอดผู้สาว (คิดฮอด-คิดถึง)

ได้ความว่า บางทีไปบิณฑบาต ไปเห็นผู้สาวอาบน้ำหรือมาใส่บาตร ทำตาหวานใส่ พระหนุ่มบางองค์สติไม่ทันจิตก็อาจจะคิดเพลิดเพลินไปได้

บางทีเป็นการคิดประมาทธรรม ประมาทครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องและบาปอย่างยิ่ง ก็จำต้องทักท้วงกัน


๒๐. สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา

ระหว่างที่ทราบข่าวกันว่า หลวงปู่ได้เมตตายอมให้มีการทำประวัติท่านโดยละเอียด ได้มีครูบาอาจารย์หลายองค์มาขอให้ผู้เขียนพยายามค้นคว้าลำดับพรรษาของท่านให้ได้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอ้างอิงของอนุชนรุ่นหลังสืบต่อมา ผู้เขียนก็ได้พยายามตะเกียกตะกายไปกราบเรียนถามครูบาอาจารย์ผู้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ เคยติดตามเที่ยวรุกขมูลกับท่านบ้าง ศิษย์รุ่นหลังๆ ที่ได้ติดตามปรนนิบัติท่านบ้าง ได้ข้อความส่วนใดมา สอบทานกันแน่นแฟ้นแล้ว จึงได้กราบเรียนถามองค์ท่านเองเป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการรบกวนท่านมากเกินไป

สถานที่ซึ่งท่านหลวงปู่จำพรรษา ๙ พรรษาแรกนั้น ไม่มีท่านใดจำได้เลยแม้องค์เดียว เป็นความกรุณาที่หลวงปู่เมตตาอย่างยิ่ง

โอกาสที่เราจะว่างและท่านจะว่างให้ตรงกันนั้นยากอยู่แล้ว ครั้นเมื่อมีเวลากราบท่านก็ยังยากต่อไปอีก เพราะท่านควรพักบ้าง หรือบางครั้งญาติโยม ศิษย์ก็ห้อมล้อมท่านแน่น ไม่ใช่กาละอันควรเสียแล้ว ก็ต้องรอต่อไป และเมื่อถึงกาละอันควรที่ควรกราบเรียนถามได้ เวลาท่านตอบ จะต้องเงี่ยหูฟังกันอย่างหนัก ทางผู้เขียนเองซึ่งแสนจะไม่สันทัดในสำเนียงอีสาน ประจวบกับการที่ท่านอาพาธ ลิ้นไม่เป็นไปตามบังคับของท่าน ฟังแล้วต้องเรียนถามพระผู้ปรนนิบัติ ทั้งญาติโยมชาวจังหวัดเลยที่ติดตามท่านมา คำบางชื่อก็สามารถจดบันทึกลงได้เร็ว บางชื่อต้องกราบเรียนถามท่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะจับคำไม่ถนัด บางทีรบกวนท่านมากไป ก็ต้องยุติเลิกรากันไปก่อน คราวหน้าคอยหาโอกาสกราบเรียนถามท่านใหม่...เป็นเวลาหลายเดือน จึงจะได้ชื่อที่ท่านรับว่า พวกเราฟังถูกแล้ว !!

ตัวอย่างเช่น วัดศรีมงคลเหนือ ในพรรษาที่ ๒ เป็นต้น สามคำแรก ศรีมงคล ก็ใช้เวลานานอยู่แล้ว แต่เฉพาะคำว่า เหนือ นั้น ยิ่งนานไปกว่ามากถึงเป็นแรมเดือน เพราะท่านออกเสียงเบา และเราได้ยินเป็นอื่นไป กว่าจะถึงบางอ้อ คิดขึ้นได้ว่า ภาษาพูดทางอีสาน ไม่ค่อยออกสียงสระ เอือ แต่เป็นสระ เอีย คำท้ายที่ได้ยินท่านว่า นะ หรือ เนีย หรือ เหนีย นั้นคงต้องแปลงเป็นสระเอือ ดังนั้น เมื่อเราฉลาดขึ้น ร้องว่า “เหนีย คือ เหนือ ใช่ไหมเจ้าคะ วัดศรีมงคลเหนือ ถูกไหมเจ้าคะ หลวงปู่”

เห็นหลวงปู่ยิ้มรับด้วยความเมตตาและมีท่าโล่งใจ เราก็สบายใจได้ว่า คลำมาถูกทางแล้ว ถูกต้องแล้ว...!!

ดังนั้น ท่านผู้อ่านคงจะเห็นใจ ถ้าผู้เขียนไม่สามารถบันทึกวัดหรือถ้ำ สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษามาได้หมด...นอกจากที่กล่าวมาแต่ข้างต้นแล้ว วัดที่ท่านจำพรรษาพอจะบันทึกไว้ได้เป็นการต่อเนื่องจากที่กล่าวมา...จนถึงพรรษาที่ ๑๕ ข้างต้นนั้น...

พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓ จำพรรษาที่บ้านยาง จังหวัดเชียงใหม่

พรรษาที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษาที่วัดห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กับพระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

พรรษาที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๔๘๕ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แม่หนองหารสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กับ ท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ เพียง ๒ องค์ด้วยกัน

รูปภาพ
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ


ออกพรรษาแล้ว ท่านก็เตรียมกลับไปหาที่ภาวนาอันสงัดที่พม่าอีก โดยผ่านไปวิเวกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก่อน ความจริงท่านชวน ท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ให้ไปด้วยกับท่าน แต่ท่านพระอาจารย์เหรียญพิจารณาในส่วนองค์ท่าน (การพิจารณาขอพระธุดงคกรรมฐาน หมายถึง การเข้าที่ภาวนาพิจารณา) แล้วเห็นว่าจะมีอุปสรรค ท่านจึงขอตัวไม่ไปด้วย

ตกลงหลวงปู่จึงเดินทางต่อไปเพียงลำพัง ท่านเล่าว่า ระหว่างอยู่ที่แม่ฮ่องสอน มีพวกโจรมาปล้นจะเอา เงินและของดี สมัยนั้นพระธุดงค์บางองค์ก็มีปัจจัยติดตัวมากเหมือนกัน แต่หลวงปู่เป็นพระธรรมยุต ไม่เคยจับเงิน ท่านก็ปล่อยให้โจรค้นบาตรตามใจ มันค้นหาเงินไม่ได้ จะหา “ของดี” ประเภทตะกรุด พระเครื่อง พระธุดงค์องค์นี้ก็ไม่มีสักอย่าง โจรมันคงจะนึกทุเรศเต็มประดาที่พระธุดงค์องค์นี้ไม่มี “ท่าที” ของพระธุดงค์ตามโลกนิยมเขาเลย มันจึงบ่นพึมพำและสุดท้ายก็ปล่อยไป

ท่านเดินทางจากแม่ฮ่องสอน ๔ วัน จึงเข้าเขตพม่า ซึ่งเหตุการณ์ช่วงที่ท่านอยู่ในพม่าตอนรอบหลังนี้ ก็ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว อันเป็นเวลาระหว่างพรรษาที่ ๑๙-๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘

ท่านกลับจากพม่าในปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๘ และคงเที่ยวไปตามป่าเขาในเขตเชียงใหม่ต่อไปตามอัธยาศัย โดยได้มีโอกาสเที่ยววิเวกกับเพื่อนสหธรรมิกของท่าน เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หรือเพื่อนรุ่นน้องอย่างท่านพระอาจารย์เหรียญ

ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่ขาวซึ่งเสร็จภารกิจทางธรรมแล้วเช่นกัน ก็ชวนท่านกลับอีสาน

พรรษาที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๘๙ จำพรรษาที่ป่าช้าวังหินโง้น (หินชะโงก) ปัจจุบันคือ วัดป่าโคกมน

พรรษาที่ ๒๓-๒๔-๒๕-๒๖ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑-๒๔๙๒ และ ๒๔๙๓ จำพรรษาที่วังม่วง ใกล้บ้านโคกมน ท่านจำพรรษาที่นี่ติดต่อกันถึง ๔ ปี และที่นี่ท่านพระอาจารย์บัวคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสัมมานุสรณ์ ซึ่งมรณภาพไปแล้วได้มาจำพรรษาอยู่ด้วย ๒ พรรษา

ควรจะทราบด้วยว่า เมื่อกล่าวถึงการจำพรรษา ๔ ปีนี้ มิได้หมายความว่าหลวงปู่จะอยู่ที่วังม่วงตลอดเวลา ๔ ปี ออกพรรษาแล้วท่านก็จะออกวิเวกท่องเที่ยวไปหาที่บำเพ็ญภาวนาอันสงัดเงียบต่อไป ตามวิสัยของพระธุดงคกรรมฐาน ระหว่าง ๔ ปีนี้ หลวงปู่ได้ธุดงค์ไปๆ มาๆ ระหว่างเลยและเชียงใหม่ และเลยไปถึงเชียงราย พะเยาด้วย

ระหว่างมาเที่ยววิเวกทางเชียงใหม่นี้ ท่านได้พบสถานที่อันสงัดสงบบนยอดเขาสูงหลายแห่ง พิจารณาเห็นควรจะสร้างเป็นวัดให้เจริญสมณธรรม ที่สำคัญซึ่งท่านมักจะมาพักหรือจำพรรษาในภายหลังคือที่ผาแด่น และปางยางหนาด เฉพาะที่ผาแด่น ซึ่งเรียกกันว่า วัดป่าบ้านยางนั้น ท่านให้ท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ ปสันจิตโต ช่วยสร้าง ท่านเองจำพรรษาหลายครั้ง พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ก็เคยไปจำพรรษาที่นั่น

รูปภาพ
พระอาจารย์ลี ธัมมธโร


พรรษาที่ ๒๗ พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษาที่วัดป่าบ้านยาง ผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่

พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษาที่ถ้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกัน

พรรษาที่ ๒๙ พ.ศ. ๒๔๙๖ กลับมาจำพรรษาที่โคกมน

พรรษาที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๔๙๗ จำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย จังหวัดลำปาง

พรรษาที่ ๓๑ พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาที่วังม่วง วัดป่าท่าสวย

จากนี้ไปหลวงปู่จะนึกนานหน่อย จนผู้เขียนคิดว่าไม่คุ้มกับการที่เราจะไปรบกวนท่าน

ความจริงที่ท่านกรุณานึก กรุณาตอบมาได้ถึง ๓๑ พรรษา ก็เป็นความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้อยู่แล้ว ท่านเจริญอายุถึง ๘๕ พรรษาแล้ว (อายุเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อันเป็นปีที่เขียนประวัติครั้งแรก) เป็นปุถุชนคนธรรมดาก็ย่อมจะหลงเลือนยากจะจำสิ่งใดได้ แต่ท่านก็จำเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านประสบพบเห็นมาได้ดี ทั้งที่เป็นส่วนภายนอกและทั้งที่เป็นส่วนภายใน ถ้าเป็นเวลาอันควรและสถานที่อันควร กราบเรียนถามครั้งใด ท่านจะตอบทันทีและทุกครั้งก็ตรงกันโดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การพบกันกับท่านพระอาจารย์มั่น หรือเพื่อนสหธรรมิกของท่านที่ธุดงค์กันมาอย่างโชกโชน หรือเหตุการณ์ที่ท่านประสบอันเป็นที่เลื่องลือเล่ากันมาจนประหนึ่งนิยาย...เหล่านี้ ท่านจะตอบทันทีโดยไม่ลังเล ว่าเกิดที่ใด จังหวัดใด บวชมากี่พรรษา

ตัวเราเองลองนึกย้อนไป ให้ตอบว่าปีนั้น เดือนนั้น อยู่ที่ไหน คงยากจะตอบ เพราะเราย่อมจะจำได้เพียงเหตุการณ์ประทับใจเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรพอใจในสิ่งที่ได้รับความกรุณามาแล้วจากท่าน

ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ผู้ใหญ่ถัน วงษา แห่งบ้านโคกมนในสมัยนั้น ได้ซาบซึ้งในวัตรปฏิบัติของท่าน ปรารถนาจะให้ท่านได้อยู่เป็นขวัญตาขวัญใจของชาวแดนมาตุภูมิของท่านนานๆ เพราะท่านมักเที่ยวธุดงค์ไปทางถิ่นอื่น แดนอื่นมากกว่า ถ้ามีวัดถาวร ท่านคงจะเมตตาอยู่ประจำให้มากขึ้น ผู้ใหญ่ถันจึงอุทิศที่ดินถวายหลวงปู่ให้สร้างวัด ได้มีชาวบ้านสมทบถวายอีกมาก จนเป็นเนื้อที่กว่า ๑๐๐ ไร่ ซึ่งคือ วัดป่าสัมมานุสรณ์ ในขณะนี้ และหลังจากนั้นศรัทธาญาติโยมทั้งที่จังหวัดเลย จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวกรุงเทพมหานคร ก็ได้หลั่งไหลกันมาบำเพ็ญกุศลร่วมสร้างวัด จนมีความเจริญขึ้นมากดังในปรัตยุบันนี้ มีโบสถ์กลางน้ำ เจดีย์ใหญ่ และศาลาเมตตาฐานสโม ฯลฯ

ระยะหลังนี้ หลวงปู่จึงจำพรรษาที่วัดป่าสัมมานุสรณ์เป็นส่วนใหญ่ และในตอนระยะหลัง เมื่อท่านยอมลงมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯ ซึ่งท่านเล่าว่า ท่านรับนิมนต์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก อายุ ๗๐ ปี (ไม่ได้นับการมาระหว่างเดินทางไปมา เช่นหากจะต้องเดินทางจากเชียงใหม่กลับอีสานโดยทางรถไฟก็ได้มาแวะพักที่กรุงเทพฯ กับหมู่พวกก่อน) ท่านก็ได้มาจำพรรษาโปรดชาวกรุงเทพฯ ด้วย

เท่าที่ทราบ ในพรรษาที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านจำพรรษาที่บ้านบง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเทียมฟ้าเช่นเดียวกับที่ผาแด่น ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์ ปัณฑิโต ศิษย์เอกองค์หนึ่งของท่านเล่าว่า เป็นที่เสือดุมาก บางวันเอาควายไปกินถึง ๕ ตัว ที่จำพรรษาเป็นศาลาโล่งตลอดแทบจะไม่มีที่กันลม จึงหนาวบาดจิตบาดใจ ออกพรรษา ชาวโคกมนก็ไปตาม ท่านจึงต้องกลับไปโคกมน

พรรษาที่ ๔๐ และ ๔๑ พ.ศ. ๒๕๐๗ และ พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่บ้านบงอีก

พรรษาที่ ๔๗ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำพรรษาที่บ้านสานตม

พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๑๗ และ พรรษาที่ ๕๕ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ จังหวัดปทุมธานี ของพล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ

พรรษาที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับที่ป่าช้าวังหินโง้น ซึ่งอยู่ที่บ้านโคกมนเช่นเดียวกัน ไม่ไกลไปจากวัดป่าสัมมานุสรณ์นัก เป็นที่ซึ่งท่านกลับจากเชียงใหม่ครั้งนั้น ก็แวะมาบำเพ็ญสมณธรรมเป็นแห่งแรก ท่านเห็นว่าเป็นที่ควรวิเวก ทำนุบำรุงให้เป็นวัดต่อไป ปัจจุบันนี้จึงกลายมาเป็นวัดป่าศรัทธาวนาราม (บ้านโคกมน) ตั้งแต่พรรษาที่ ๕๘ ถึง พรรษาที่ ๖๖ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านจำพรรษาที่วัดนี้โดยตลอด

พรรษาที่ ๖๗ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ได้รับนิมนต์จากญาติโยมทั้งชาวไทย ลาว เขมร และญวน ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ให้ไปจำพรรษาโปรดพวกเขาที่ห่างไกลดินแดนพระพุทธศาสนามาก ท่านก็ได้เมตตารับนิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดซึ่งศรัทธาญาติโยมได้ไปสร้างอยู่ที่เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส

และก็อย่างที่ได้กล่าวไว้แต่ต้น ว่าการจำพรรษาที่ใด มิได้หมายความว่า ออกพรรษาแล้วหลวงปู่จะอยู่ประจำ ณ วัดนั้นตลอดทั้งปี ท่านยังถือธุดงควัตร ออกไปเที่ยวธุดงค์ตลอด ทางภาคเหนือเป็นที่ซึ่งกลับไปเยี่ยมเป็นประจำ และส่วนทางอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ท่านก็ไปเยี่ยมโปรดให้โดยทั่วกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังนี้ หลวงปู่ไม่ได้ถือเรื่องอธิษฐานพรรษาเคร่งครัดนัก ท่านเคยพูดว่า “บวชมาบ่ได้บวชเอาพรรษา...เฮาบวชเพื่อพ้นทุกข์”

อีกประการหนึ่ง อาจจะเป็นได้ว่าท่านเป็น “ผู้ไม่มีแผลในฝ่ามือ” แล้วก็ได้...!


๒๑. วัดที่หลวงปู่ได้สร้างมาแล้ว

ช่วงระยะเวลา ๗๕ พรรษา ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้บวชและเดินธุดงค์เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมสำหรับประโยชน์แห่งตนเอง และต่อมาก็เพื่อโปรดประชาชนชาวพุทธ เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมาโดยลำดับนั้น ในที่ซึ่งท่านบำเพ็ญเพียรภาวนา และเห็นว่าเป็นสถานที่อันเป็นสัปปายะ ควรแก่การเจริญสมณกิจ เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ ให้ยึดมั่นอยู่ในความดี ท่านจึงได้นำจัดตั้งเป็นวัดขึ้น เท่าที่พอจะบันทึกไว้เป็นหลักฐานมีดังนี้

ในเขตจังหวัดเลย
วัดป่าห้วยลาด
วัดป่าบ้านบง
วัดป่าสานตม
วัดป่าม่วงไข่
วัดป่าโคกมน
วัดป่าสัมมานุสรณ์
วัดป่าฐานสโม บ้านซำทอง

ในเขตจังหวัดเชียงใหม่
วัดป่าผาแด่น
วัดป่าโป่งเดือด
วัดป่าปางยางหนาด

ในเขตจังหวัดศรีษะเกษ
วัดป่าญาณวิเวก

ในเขตจังหวัดมุกดาหาร
วัดป่าม่วงหัก ต.กุดโง้ง อ.เมือง

ในเขตประเทศลาว
วัดหลักกิโลที่ ๑๓๖ (บนทางไปเวียงจันทน์)

ลักษณะที่ตั้งของวัด มีข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตป่าช้า ก็ต่างตั้งอยู่ในป่าลึก บนเขาสูงเทียมเมฆทั้งสิ้น เช่นที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ และวัดป่าโคกมน ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านที่เกิดของท่าน คือที่บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ต่างเคยเป็นเขตป่าช้ามาก่อน เช่นเดียวกับที่วัดป่าญาณวิเวก จังหวัดศรีสะเกษ และวัดป่าม่วงหัก จังหวัดมุกดาหาร

ส่วนทุกวัดที่เหลือจากนั้น เช่น วัดป่าห้วยลาด วัดป่าบ้านบง วัดป่าบ้านสานตม วัดป่าบ้านม่วงไข่ ที่จังหวัดเลย และวัดป่าผาแด่น วัดป่าโป่งเดือด วัดป่าปางยางหนาด ที่จังหวัดเชียงใหม่ ล้วนอยู่บนยอดเขา ทุกคนที่เคยไปกราบท่านจะต้องเดินทางขึ้นเขาสูงเยี่ยมเทียมฟ้า เห็นม่านเมฆลอยระเรี่ยมากระทบพื้นดินทั้งนั้น บางแห่งท่านจะอยู่จำพรรษาโปรดสัตว์โลก ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาอย่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งลึกลับ เช่น พวกกายทิพย์ เทวดา พญานาค เป็นต้น หนึ่งหรือสองพรรษา อย่างวัดป่าสานตม จังหวัดเลย วัดผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ประจำอยู่เป็นการถาวรนานกว่าที่อื่น อย่างที่วัดป่าสัมมานุสรณ์และวัดป่าโคกมน จังหวัดเลย อันเป็นบ้านเกิดของท่าน

แต่บางแห่งท่านก็สร้างไว้เพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้านบริเวณนั้น โดยบางครั้งบางคราวหลวงปู่จะหลบ “เมือง” ออกมาวิเวก ซึ่งชาวบ้านก็จะได้มีโอกาสทำบุญกับเนื้อนาบุญอันประเสริฐของโลกบ้าง...และประโยชน์แก่หมู่พวกพระกรรมฐานรุ่นต่อๆ ไป จะได้มีที่สงัดวิเวกสำหรับเป็นที่พักภาวนาในเวลาออกธุดงค์ ท่านว่านับวันป่าเปลี่ยวดงลึกก็จะหายากเข้า หมดไปสิ้นไป ความเจริญอย่างถนนหนทางบ้านเมืองลุกไล่ให้ป่ากลายเป็นเมืองมากขึ้น ต้นไม้สูงใหญ่ที่เคยยืนต้นเสียดฟ้าแผ่ร่มเงาครึ้มจนเป็นป่ารกชัฏ ก็ถูกมนุษย์ซอกซอนเข้าไปแอบตัดทำลาย จนภูเขาต่างๆ กลายเป็นเขา ทุ่งหญ้าไปก็มาก ถ้าไม่จัดสร้างวัดไว้บ้าง ป่าก็จะถูกทำลายหมดสิ้นไป วัดอยู่ที่ใดบริเวณใด ป่าแถบนั้น บริเวณนั้น จะยังคงสภาพ “ป่า” ที่อุดมด้วยไม้น้อยไม้ใหญ่ สงบงดงามอยู่อย่างเดิม และแม้แต่สัตว์ป่าก็จะยังคงอุดมสมบูรณ์ เพราะพวกสัตว์เขารู้ว่าในบริเวณวัดเป็นที่ซึ่งพวกเขาจะอาศัยอยู่ได้ด้วยความสงบร่มเย็นและปลอดภัย ประโยชน์สุดท้าย นี่เป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมือง...และน้อยคนจะรำลึกได้ถึงความข้อนี้ ว่าความจริงวัดป่านั้นต่างหากที่เป็นผู้ช่วยในการ “สงวนป่า” และ “สงวนพันธุ์สัตว์ป่า”


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 06 ธ.ค. 2009, 09:47, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 10:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๒๒. ปฏิปทาของท่าน

ในสายพระธุดงค์กรรมฐานศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เป็นที่ยกย่องกันว่าหลวงปู่เป็นศิษย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่ง ที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญทางความเพียร มีนิสัยทางมักน้อย สันโดษ ชอบแสวงหาความสงัดวิเวกอยู่ตามป่าตามเขาตลอดมา ข้อปฏิบัติและธรรมภายในของท่านเป็นที่สรรเสริญ แม้จากปากองค์พระอาจารย์ของท่านเอง

สำหรับ ธุดงควัตร ๑๓ ที่เป็นแบบธรรมเนียมของพระธุดงคกรรมฐานมาแต่ครั้งพุทธกาลนั้น หลวงปู่ได้ถือปฏิบัติมาเป็นประจำแต่พรรษาแรกที่บวช

ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ นั้นมีอยู่ว่า...ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร...ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร...ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร...ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร...ถือฉันหนเดียวเป็นวัตร...ถือฉันเฉพาะในบาตรเดียวเป็นวัตร...ถือห้ามอาหารที่ส่งตามมาภายหลังเป็นวัตร...ถืออยู่ป่าเป็นวัตร...ถืออยู่รุกขมูลร่มไม้เป็นวัตร...ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร...ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร...ถือการอยู่ในเสนาสนะที่จัดไว้ให้อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นเป็นวัตร...และถือเนสัชชิ การนั่ง (ไม่นอน) ตามแต่จะกำหนดเป็นคืนๆ ไปเป็นวัตร

ท่านถือเป็นประจำ นอกจากบางข้ออาจจะปฏิบัติไม่ได้ทุกวันด้วยสถานการณ์บังคับ เช่น ถ้าอยู่ตามลำพังองค์เดียว จะบิณฑบาตไปตามแถวไม่ได้ หรือการปฏิบัติต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นวันใดอยู่รุกขมูลโคนไม้แล้ว จะอยู่ในที่กลางแจ้งไม่ได้ อยู่ป่าช้าไม่ได้ (ยกเว้นโคนไม้นั้นจะอยู่ในป่าช้า แต่ก็ไม่อาจถือข้ออยู่ในที่กลางแจ้งพร้อมกันได้ !) หรือข้อเนสัชชิ ก็ต้องปฏิบัติบ้างเป็นบางคราว

ท่านถือเป็นประจำตลอดมา จนกระทั่งภายหลังท่านมีอายุเข้าสู่วัยชรา ข้อถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ญาติโยมอ้อนวอนขอมีส่วนบุญ ท่านจึงอนุโลมรับจีวรถวายบ้าง และเมื่อท่านอาพาธเป็นอัมพาต ฉันไม่ได้มาก แพทย์ก็ได้ขอให้ท่านฉันเพลช่วย ท่านจึงยินยอม การฉันหนเดียวจึงต้องเลิกไป

ตามคำของครูบาอาจารย์ที่เคยเที่ยวธุดงค์มากับท่านมาแต่สมัยแรกๆ เล่าว่า ท่านเป็นผู้อยู่ง่าย มาง่าย ไปง่าย ปกติท่านชอบอยู่คนเดียว ไปคนเดียว แต่ถ้าจะมีหมู่พวกก็จะต้องเลือกเฉพาะผู้มีนิสัยใจเพชร เด็ดเดี่ยว สู้อด สู้ทน สู้ลำบาก เหมือนอย่างท่าน

...อยู่ง่าย หมายถึงว่า ท่านไม่เลือกเรื่องที่พักนอน ถ้าเป็นในป่า ในเขา ก็ใช้ใบไม้แห้งหรือใบไม้สดมารอง ปูผ้าอาบลงไปก็ใช้เป็นที่นอนได้ ถ้าใกล้หมู่บ้าน มีฟางก็ใช้ฟาง มีใบไม้ใบหญ้าก็ใช้ใบไม้ใบหญ้า หรืออย่างดีก็อาศัยชาวบ้านช่วยจัดทำแคร่หรือร้านเล็กๆ ปูด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ ถ้ามีเวลาชาวบ้านก็จะผ่าไม้ไผ่ออกเป็น ๒ ซีก ทุบแผ่เป็นแผ่นแบนๆ เวลานอนค่อยราบเรียบไม่เป็นคลื่นลอนเหมือนใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ...แคร่นี้จะกว้างเพียง ๒ ศอก ยาวประมาณ ๑ วา สูงจากพื้นประมาณ ๑ ศอก พอให้หลบพ้นพวก มด ไร แมลงตามพื้นดินได้บ้าง และถ้าอยู่บนยอดเขาก็ได้อาศัยสุมไฟใต้แคร่ให้ความอบอุ่นได้ด้วย

...มาง่าย ไปง่าย ของหลวงปู่เป็นที่เลื่องลือ บางครั้งอยู่ในป่าลึก ชาวบ้านเคารพศรัทธา อุตส่าห์ทำกระต๊อบให้เป็นอย่างดี มีฝา ๔ ด้าน มีหน้าต่าง มีชาน...ครบ ซึ่งจัดว่าเป็นเลิศอย่างยิ่ง เพราะในป่าลึก บนเขาสูง ที่จะหาที่มุง ที่บังได้ครบเป็น “กุฏิ” ที่พักนั้น ต้องนับเป็นพิเศษจริงๆ ! บางทีท่านอยู่เพียง ๒-๓ วันก็บอกเพื่อน “ไปเถอะ...! ” เพื่อนอุทธรณ์ว่า สบายเช่นนี้ น่าจะอยู่ฉลองศรัทธาของเขาอย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง แต่ท่านก็ไป...ไปประดุจพญาหงส์ที่ละสระมุจลินทร์อันโอฬารโดยไม่ห่วงหาอาลัยเลย

ฤดูฝนดูจะเป็นปัญหา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงกำหนดพรรษาให้ภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา แต่ระหว่างเที่ยวธุดงค์เพียงหมดหน้าแล้ว ฝนก็เริ่มแล้ว ทางภาคอีสานฝนเริ่มตกแต่เดือนเมษายนก่อนเข้าพรรษานานทีเดียว ยามฝนตกถ้าหาที่พักตามถ้ำหรือเงื้อมผาไม่ได้ก็ไม่เป็นอันหลบฝนพ้นได้ ผ้าสังฆาฏิ เทียนไข ไม้ขีดไฟ ต้องเก็บไว้ในบาตร ระวังปิดฝาให้ดี บางครั้งต้องสู้ทั้งลมทั้งฝนองค์เปียกหนาวสั่นเป็นลูกนก กางกลด กลดก็สู้ลมไม่ไหว ตากฝนจนฝนหยุด สบง อังสะ จีวรที่เปียกโชกก็แห้งไปเอง บางคืนฝนตกตลอดคืนจนถึงเช้า ผ้าจีวรจะห่มบิณฑบาตก็ยังไม่แห้ง เป็นความลำบากที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยของพระธุดงค์กรรมฐานซึ่งท่านมักคุ้นจนชินชากับมันแล้ว

การเดินธุดงค์ของหลวงปู่ เป็นการ “เดิน” ธุดงคกรรมฐานจริงๆ เป็นการ “เดิน” ด้วยเท้าโดยตลอดเพราะสมัยนั้นรถราหายาก และทางที่ท่านมุ่งดำเนินนั้นก็มุ่งเข้าไปในป่าลึก ซึ่งอย่าว่าแต่ทางรถยนต์หรือทางเกวียนเลย แม้แต่ทางเดินเท้าก็แทบจะไม่มี หรือบางทีอาจจะมีทางสำหรับพรานหรือคนเดินป่าอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็หาร่องรอยยาก โดยเฉพาะเวลาหมดฝน หลังออกพรรษาใหม่ๆ ต้นไม้กำลังระบัดใบใหม่เขียวขจี ด้วยได้รับน้ำฝนมาจนเต็มอิ่ม จึงเติบโตงดงาม จนลบร่องรอยคนเดินหมด

การเดินธุดงค์นี้ ท่านชอบเดินทางเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ความข้อนี้เป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนหมู่ศิษย์ทั้งนั้น เล่ากันว่า ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเขา ลงห้วย บุกเข้าไปในป่าดงพงทึบ ท่านก็จะชวนหมู่เพื่อนเดินทางกลางคืนเสมอ หลายองค์จะร้องอุทธรณ์ว่า ทำไมไม่รอรุ่งเช้าก่อน เดินทางกลางคืนนั้น น่ากลัวสะดุดรากไม้ ตอไม้ และบางทีก็มีภัยจากอสรพิษด้วยเราไปเผลอเหยียบมันเข้า เพราะมืด มองไม่เห็นอะไร นอกจากนั้น กลางคืนยังเป็นเวลาที่ส่ำสัตว์ออกหากิน ทั้งเสือ ทั้งช้าง ทั้งกระทิง หมี เม่นอยู่ดีไม่ว่าดีจะต้องไปปะทะพวกจ้าวป่าจ้าวดงเขาทำไมขอรับ

หลวงปู่ก็หัวเราะว่า ผมชอบเดินกลางคืน มันเย็นดี อากาศไม่ร้อน

กลางวันยังพอได้เห็นอะไรบ้าง กลางคืนไม่หลงทางหรือครับ

ก็ดูดาวได้...ท่านชี้แจง แต่สำหรับเรื่องข้อแก้การสะดุดตอไม้ เหยียบสัตว์ร้าย เช่น งู แมงป่องนั้น ท่านยิ้มเฉยเสีย มิได้อธิบายอย่างไร เป็นที่เชื่อกันว่า หลวงปู่ “เห็น” ในเวลากลางคืนได้ เช่นเดียวกับที่เราทุกคนจะใช้สายตาเนื้อ “เห็น” อะไรในเวลากลางวัน ความจริง ท่าน “เห็น” มากกว่าที่เราปุถุชนคนธรรมดาจะ “เห็น” ในเวลากลางวันเสียอีก เพราะท่าน “เห็น” รวมทั้งสิ่งที่ลึกลับ กายทิพย์ที่ไม่ปรากฏแก่ตาเราท่านธรรมดาด้วย ดังนั้น เวลา “กลางคืน” หรือ “กลางวัน” จึงไม่มีความหมายแตกต่างกันสำหรับท่าน และเวลากลางคืนอากาศเย็นสบายกว่า ไม่ร้อนอบอ้าวดั่งกลางวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะชอบการเดินทางกลางคืนมากกว่า

ท่านเล่าว่า ระหว่างเดินก็กำหนดจิตภาวนาไปตลอดเวลา การเดินทางทั้งคืนจึงเท่ากับเดินจงกรมภาวนาไปทั้งคืน บนบ่ามีบริขารของพระธุดงค์ครบครัน เช่น บาตร กลด มุ้งกลด กระติกน้ำ ที่กรองน้ำ ผ้าสังฆาฏิ รวมทั้งของจำเป็นในการเดินป่า เช่น มีด โคมไฟ เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น

ของเหล่านี้หากเราแบกถือกันเอง ก็บ่นหนักแทบแย่อยู่แล้ว นึกไม่ออกว่าถ้าจะต้องแบกไปบนบ่าตลอดเวลา เส้นทางเป็นกี่ร้อยกี่พันเส้น บุกป่าแหวกพงหญ้าพงหนาม ขึ้นเขา ลงห้วย...จะทำอย่างไร ? แม้แต่จะพาเพียงลำพังตัวเราเองให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างตลอดรอดฝั่งก็แทบจะเป็นลมล้มสลบแล้ว นี่ยังจะต้องแบกอัฐบริขารและของอื่นๆ ไปด้วยหรือ...?

แต่นั่นคือ พวกเราปุถุชนคนธรรมดา !

หลวงปู่ท่านมิใช่อย่างนั้น...! ท่านเดินทางไปด้วยความสงบสบาย บ่าข้างหนึ่งแบกกลด บ่าอีกข้างหนึ่งสะพายบาตร ซึ่งบรรจุบริขารต่างๆ ภายในอย่างครบครัน จิตที่ภาวนาเป็นสมาธิก็มีแต่ความสงบรำงับ เยือกเย็น โปร่งสบายแทบจะไม่รู้สึกถึงความหนักหนาของบริขารต่างๆ เหล่านั้นเลย

จิตสงบ กายสงบ
จิตสบาย กายสบาย
จิตวิเวก กายวิเวก
จิตเบา กายเบา


จิตและกายต่างสงบอยู่ในตัวของตัวเอง ต่างมีหน้าที่ของตน บางเวลาเมื่อคิดค้นธรรมะ ปรากฏขึ้นแจ่มแจ้ง...สงบ สว่าง เท้าแทบมิได้รู้สึกว่าจะสัมผัสดินเลย...ไม่ว่าจะเป็นดินที่แข็งแตกระแหง เม็ดกรวด เม็ดทราย หินคมแหลม มิได้รู้สึกถึงความแข็ง แง่คมที่เคยบาดเท้าลึกเลย ความรู้สึกแทบจะเหมือนกับเดินไปบนพรมกำมะหยี่...อ่อนนุ่มนวล ตัวเบาหวิวราวกับเหาะลอยไปในปุยเมฆ

ท่านบำเพ็ญเพียรทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ครบอิริยาบถ ๔ ไม่ว่าจะกำลังเดินทางดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อไปถึงที่ซึ่งเห็นควรหยุดพักชั่วคราวหรือพักแรมเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม จะเป็นตามใต้โคนไม้ หรือกลางแจ้ง บนยอดเขาหรือเงื้อมผา ริมเหว หรือในถ้ำ การบำเพ็ญเพียรของท่านก็มิได้ลดละ ทั้งกลางวันกลางคืน

ขณะอยู่บนเขาหรือในถ้ำกลางป่าลึก ซึ่งมีชาวเขาหรือชาวไร่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างๆ และโดยปกติก็จะมีราว ๒-๓ ครอบครัวเป็นอย่างมาก ท่านดื่มด่ำในการบำเพ็ญภาวนามาก จะไม่ค่อยสนใจก็อาหารขบฉัน เว้น ๔-๕ วัน จึงจะออกบิณฑบาตทีหนึ่ง การภาวนาในป่าเขาเช่นนี้ ท่านว่ามีแต่ก้าวหน้า จิตเป็นสมาธิทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งอิริยาบถ ๔ นั่ง เดิน ยืน นอน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในอิริยาบถ ๓ โดยการนอนนั้น ท่านเพียงกระทำเพื่อให้ธาตุขันธ์ได้พักผ่อนคลายเท่านั้น

กลางวันอากาศร้อนท่านมักจะพักมากกว่า แต่กลางคืนอากาศจะเย็นสบายกว่า จิตจะลงได้สนิทเต็มฐานของสมาธิ และลงได้ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง กว่าจะถอนขึ้นมา บางเวลาคิดเมตตาเทวดา ท่านก็ถอนจิตออกมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ต้อนรับเมตตาเขาตามควร โดยการแสดงธรรมหรือตอบปัญหา เสร็จธุระแล้วท่านก็ย้อนจิตเข้าสู่สมาธิ จนกว่าจะถึงเวลาที่ค่อยถอนขึ้นมา ซึ่งท่านก็จะพิจารณาภาคปัญญา ไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ ต่อไป

ท่านนั่งภาวนาครั้งละนานๆ ๒-๔ ชั่วโมง หรือ ๔-๕ ชั่วโมง หรือตลอดรุ่ง แล้วแต่จิตจะสงบ และถอนขึ้นมา

พ้นจากนั่ง ท่านก็เดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งแต่ละครั้งก็คงนานเป็นหลายชั่วโมงเช่นกัน (แม้แต่ในปัจฉิมวัยอายุถึงกว่า ๙๐ พรรษา เดินเองไม่ได้ หลวงปู่ยังให้พระเณรเข็นรถ “จงกรม” ครั้งละ ๒-๓ ชั่วโมงเป็นปกติ) บางครั้งข้อธรรมก็ผุดขึ้นระหว่างกำลังเดินจงกรม ทำให้ท่านต้องหยุดยืนพิจารณาจนกระจ่าง “รู้” แล้วจึงเดินต่อไป ธรรมที่ผุดขึ้นทั้งเวลาที่เดินจงกรมหรือนั่งสมาธินี้ ท่านเคยจดไว้เป็นเล่มๆ มีศิษย์ได้เคยเห็นหลายคน แต่น่าเสียดายที่เวลานี้ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

สำหรับถ้ำที่บำเพ็ญภาวนานั้น ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ถ้ำต่างๆ ที่ท่านเคยผ่านไปบำเพ็ญภาวนานั้น...ทั้งในประเทศไทย ทั้งในประเทศลาว และทั้งในประเทศพม่า มีจำนวนถึง ๕๘ ถ้ำ

เฉพาะในเมืองไทยนั้น แน่นอนย่อมมากที่สุด

ถ้ำที่ภาคเหนือ ก็เช่น ถ้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ ถ้ำดอกคำ ภาวนาดี ที่พร้าว เชียงราย พระเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน ถ้ำที่ภาคอีสาน...เลย อุดร ขอนแก่น นครราชสีมา หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม บุรีรัมย์

เฉพาะถ้ำที่ท่านจำพรรษานั้น เท่าที่ทราบแน่นอน มีที่ถ้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ (พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ. ๒๔๙๕) ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์ (พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๗) ถ้ำพระสบาย จังหวัดลำปาง (พรรษาที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๔๙๗) ส่วนถ้ำอื่นๆ ที่พักนานเป็นแรมเดือน แต่มิได้จำพรรษาก็มี ถ้ำผาแดงนาไหง่ ถ้ำเสือ ภูหลวง ถ้ำมะกะ อำเภอแม่แตง ถ้ำดอกคำ อำเภอพร้าว ถ้ำตาดหมอก เชียงใหม่ ถ้ำแม่ละงอง เชียงใหม่ เป็นอาทิ

สำหรับบนยอดเขา ยอดดอยนั้น ยังไม่มีใครกราบเรียนถามท่านว่า ยอดเขายอดดอยที่ท่านวิเวกผ่านมา ตั้งแต่เป็นผู้จาริกแสวงธรรม จนเป็นผู้ปลดวาง โปรยปรายกระแสธรรม แก่ทั้งหมู่มวลมนุษย์และเทวดา พร้อมทั้งพวกกายทิพย์ทั้งปวงนั้นจะเป็นจำนวนกี่ร้อยกี่พันแห่ง และก็เช่นเดียวกับถ้ำ นอกจากในประเทศไทย ก็ยังมีทั้งในประเทศลาว ประเทศพม่าด้วย

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล


...ภูเขาควาย ในประเทศลาวซึ่งเป็นภูเขาสูง อุดมด้วยป่าดงดิบและสัตว์ป่า เป็นที่ซึ่งทราบกันในหมู่พระธุดงคกรรมฐานว่า บรรดาฤๅษีชีไพร นักสิทธิ์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าแต่สมัยพุทธกาลเคยขึ้นไปบำเพ็ญพรตภาวนา หรือนิพพาน และเป็นแถบถิ่นที่ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ อาจารย์ของท่านเคยไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว และแนะนำให้บรรดาศิษย์หัวกะทิของท่านไปบำเพ็ญเพียร เป็นการทดสอบจิตจะแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่

...ยอดดอยอีต่อ ดอยบ้านยางแดง โปรดพวกยางในประเทศพม่า ดอยวิเวกเมืองหาง ดอยเชียงตอง ดอยเชียงคำ โปรดพวกไทยใหญ่ในเขตพม่าเช่นเดียวกัน

ท่านเล่าว่า เฉพาะที่จำพรรษาบนยอดดอยนั้น มี ๓๐ ดอย รวมทั้งในเมืองไทยและพม่า โดยเฉพาะที่พม่า ตลอดเวลาที่เดินทางไป ๒ ครั้ง รวม ๕ ปีเศษนั้น ได้จำพรรษาบนยอดดอยทั้ง ๕ พรรษา

ครั้นล่วงเข้าสู่มัชฌิมวัย การไปคนเดียว อยู่คนเดียวของท่าน ก็ลดละลงบ้าง ด้วยได้มีพระเณรผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมใคร่ขอติดตามเป็นศิษย์มากขึ้น แต่ท่านก็ยังเลือกรับเฉพาะผู้มีนิสัยเช่นท่าน คือ เด็ดเดี่ยว อดทน...ทนอด ทนยาก ทนลำบาก ตั้งใจมั่นคงต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนา ตั้งใจมั่นคง เจริญรอยตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์พาดำเนิน...ครูบาอาจารย์ของท่านพาดำเนินมา ท่านก็พาศิษยานุศิษย์ดำเนินต่อไป...


๒๓. เมตตาธรรมที่สืบทอดจากครูบาอาจารย์ไปสู่ศิษย์

หลวงปู่สอนพระเณรเสมอ ให้แสวงหาที่สงัดวิเวก เร่งทำความเพียรภาวนาอย่างหนัก อย่าประมาท การทำความเพียร ให้ปฏิบัติจนเป็นความเคยชิน ไม่ให้เลือกกาลเวลาหรือสถานที่

ความจริงแทบจะไม่ต้องพูดด้วยวาจาเลย เพราะองค์ท่านก็เป็นแบบฉบับอันยิ่งยอดของของผู้แสวงหาทางที่อันสงัดวิเวกอย่างแท้จริงอยู่แล้ว เขาสูง...ป่าลึก...ถ้ำอันสงัดลับลี้ที่แทบจะไม่มีเท้ามนุษย์เคยเยี่ยมกรายไปถึง ล้วนเป็นที่ซึ่งท่านเคยดั้นด้นธุดงค์ผ่านไปแล้วอย่างโชกโชน ท่านสรรเสริญอยู่เสมอว่า การทำความเพียรภาวนา จะได้รับความก้าวหน้าทางจิตอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ในสถานที่อันสงัดวิเวก เพื่อความก้าวหน้าทางภาวนา จึงควรที่จะแสวงหาป่าเขาอันสงบสงัดลึกล้ำเป็นที่บำเพ็ญเพียร แต่ท่านก็เตือนบรรดาศิษย์เสมอว่า อย่าให้สิ่งนี้มาเป็นกังวลจนเสียประโยชน์ของเจ้าของ ด้วยมัวแต่ตรึกนึกแสวงหาแต่สถานที่ใหม่เรื่อยไป เมื่อหาสถานที่อันเป็นสัปปายะแก่จิตได้แล้ว ก็ควรพอใจพำนักบำเพ็ญภาวนาต่อไป จนกว่าจิตจะรู้สึก “จืดจาง” หรือ “เคยชิน” ไป

จิตผู้ภาวนาควรจะ “ตื่น” ระวังภัย ระวังสติ เมื่อใดเกิดอาการชินชาหรือที่เรียกว่า “ติด” ที่อยู่ ก็ต้องแสวงหาที่ใหม่ต่อไป อาการติดที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงให้บรรดาภิกษุควรระวังมี ๔ ประการ คือ “ติดอาหาร” “ติดอากาศ” “ติดตระกูล” และ “ติดที่อยู่”

ติดอาหาร หมายถึง การติดในรสอาหาร ว่าประณีต อร่อย...เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม

ติดอากาศ หมายถึง การติด อากาศร้อน หนาว โปร่ง สบาย ไม่ชื้น ไม่แฉะ

ติดตระกูล หมายถึง การติด พึงใจที่จะอยู่ใกล้ชิดญาติโยมผู้อุปัฏฐากให้มีแต่ความสะดวกสบาย

ติดที่อยู่ หมายถึง การติดถิ่น ติดสถานที่ ถือเป็นที่อยู่ประจำ จนกลายถือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของไป

พระธุดงค์จะต้องสามารถละได้ ไม่มีการติดเหมือนพญาหงส์ที่บินจากสระมุจลินท์ไปโดยปราศจากการโศกสลดห่วงหาอาลัยฉะนั้น

หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า...แต่จะอย่างไรก็ดี จะอยู่ที่ใดก็ตาม บัณฑิตย่อมรู้จักใช้สถานที่และเวลาให้เป็นประโยชน์ต่อการภาวนาทุกจังหวะและทุกโอกาส ไม่เฉพาะแต่เวลาที่นั่งภาวนาหรือเดินจงกรม แม้แต่ระหว่างบิณฑบาต ระหว่างฉัน ระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน ไปห้องน้ำ ล้างหน้า ระหว่างเดินทาง ไม่เลือกสถานที่ว่าจะต้องอยู่ในกลางป่า ในถ้ำ ในคูหา บนยอดเขา ระหว่างโคจรบิณฑบาตไปในหมู่บ้าน...ก็ควรจะต้องตั้งสติ มองดูจิตของตนตลอดเวลา ไม่เลือกกาล เลือกสถานที่ ไม่เลือกหนาว เลือกร้อน เลือกฝนตก เลือกแดดออก เลือกสบาย หรือเลือกป่วยไข้...ต้องเป็นผู้มีสติอยู่ทุกกาล ทุกสถานที่ และทุกอิริยาบถ...

สติกำกับจิต สติต้องอยู่ตลอด ไม่ว่าจิตจะอยู่ในขั้นใด ขั้นเริ่มฝึกหัด ขั้นจิตเป็นสมาธิ ขั้นเริ่มฝึกหัดทางปัญญา...จะเจริญสมถะหรือวิปัสสนาขั้นใดก็ตาม ต้องอาศัยสติกำกับดูแลอยู่ตลอด หากขาดสติ สมาธิและปัญญาก็จักไม่เจริญไปได้

ท่านให้พระเณรมุ่งตรงต่อสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ ทางนี้เป็น “มรรค” เอโก มัคโค ทางเอกทางเดียวมุ่งตรงไปสู่ “ผล” คือการดับทุกข์หรือนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงรับรองมาตลอด

ท่านอธิบายว่า เรื่องสติ เรื่องมหาสติปัฏฐาน ๔ เรื่องไตรลักษณ์ และอริยสัจ ๔ ที่ท่านเน้นให้พระเณรปฏิบัตินี้ ท่านก็กล่าวตามแนวที่ท่านปฏิบัติ โดยได้รับโอวาทสั่งสอนมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ของท่าน...กล่าวคือ ตามที่พระอาจารย์มั่นได้สั่งสอนท่านมานั้นเอง ว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัตินำไปสู่การหลุดพ้น

ถ้ามั่นใจในมรรคผลนิพพาน ปฏิบัติไปอย่างเต็มสติ เต็มปัญญา เต็มความสามารถ ไม่ย่อท้อ รอรี สงสัยนี่ สงสัยโน่น...ก็จะหายสงสัยในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง หมดการตรึกนึกถึงอดีต อนาคต สามารถปล่อยวางทุกข์กังวลทั้งปวง วางภพ วางชาติได้

ท่านก็ปฏิบัติไปตามคำที่ครูบาอาจารย์พาท่านดำเนินมา และท่านก็นำธรรมคำสั่งสอนนั้นมาถ่ายทอดให้หมู่ศิษย์อีกทอดหนึ่ง การทำจริงย่อมได้รับผลจริงอย่างไม่ต้องสงสัย สำคัญแต่ว่าทุกคนจะยอม “ทำจริง” หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าสลบไปกี่ครั้ง ? ท่านพระอาจารย์มั่นก็สลบไปกี่ครั้ง ? ประวัติครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ภาวนาสละตาย ซวนซบสลบไปแต่ละองค์...องค์ละกี่ครั้ง...? ผู้ที่มารู้จัก มากราบไหว้ในภายหลังก็เห็นแต่ตอนที่ท่าน “ผ่าน” แดนตายกันมาแล้ว

จะมีกี่คนที่เข้าใจถึงคำที่ท่านกล่าวสั้นๆ กันว่า ต้องทำความพากความเพียรอย่างเต็มที่ อย่างอุกฤษฎ์...?

ไม่ใช่ทำแบบย๊อกๆ แย็กๆ ...แล้วก็ฝันถึงสวรรค์ นิพพานเอา

ฝันก็ได้แค่ฝัน ได้แค่เงา คว้าได้แต่เงา ที่จะเป็นสมบัติของตนอย่างเต็มภาคภูมินั้นอย่าได้ฝันไป

ตามสำนวนของหลวงปู่...ท่านสอนศิษย์ผู้ใกล้ชิดว่า ธรรมอยู่ริมตาย ฟากป่าหมากเยา (ต้นหมากเยา : ต้นสบู่ดำ) น้อยเดียว กว่าจะพ้นทุกข์ กระดูกเพียงปลายไผ่

ท่านอธิบายว่านิพพานไม่ได้สูญ ไม่ได้อยู่ตามที่โลกคาดคะเนหรือเดากัน ทำจริงจะได้เห็นของจริง รู้จริง และจะเห็นนิพพานเอง เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านบริสุทธิ์เอง และหายสงสัยด้วยประการทั้งปวง

ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้ใกล้ชิดและมุ่งมั่นต่อการหลุดพ้นฟังว่า นี้แหละเป็นคำสอนจากท่านพระอาจารย์มั่น และความจริงเป็นธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตามาแสดงโปรดท่านทางนิมิตภาวนา

ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมากด้วยความเมตตาต่อศิษย์ โดยเฉพาะสำหรับหลวงปู่แล้ว เวลาท่านติดขัดในการภาวนา ท่านพระอาจารย์จะเมตตามาแสดงธรรมสอนท่านทางสมาธิภาวนาเสมอ ไม่เลือกสถานที่ว่า จะเป็นเวลาที่ท่านอยู่ในถ้ำ หรืออยู่กลางป่า หรืออยู่บนเขา และไม่เลือกว่าจะเป็นเมืองใด ประเทศใด...ไทยหรือลาว หรือพม่า บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็จะเหาะลอยมาทางอากาศ แต่บางทีก็จะเดินมาอย่างธรรมดา หรือปรากฏร่างขึ้นในทันที เมื่อท่านเมตตาสั่งสอนจบลง หลวงปู่ก็จะก้มกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด และเต็มตื้นด้วยความรู้สึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่มีอย่างล้นฟ้าล้นดิน ไม่เคยทอดทิ้งศิษย์ ดูแลห่วงใยคอยสอดส่องให้ความรู้แก่ศิษย์ตลอดเวลา

...แม้แต่เมื่อท่านนิพพานไปแล้ว ท่านก็ยังคงเป็น “พ่อ” เป็น “แม่” เป็น “ครูบาอาจารย์” ที่สูงด้วยเมตตาต่อศิษย์อย่างไม่เสื่อมคลาย

ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมาเยี่ยมและเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ และขณะเมื่อผู้เขียนบันทึกมาถึงตอนนี้ ได้ขอโอกาสกราบเรียนถามถึง แม้ในเวลาปรัตยุบันนี้ (ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเรียนถามครั้งสุดท้าย)...หลวงปู่ก็รับว่า ท่านพระอาจารย์มั่นยังมาเยี่ยมอยู่เช่นเดิม

บันทึกมาถึงแค่นี้ ผู้เขียนก็ให้นึกถึงเรื่องที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกถึงพุทธกิจ ๕ ประการขององค์สมเด็จพระบรมครู ซึ่งคนสมัยนี้ส่วนใหญ่อ่านแล้วก็ไม่ยอมเชื่อ

พุทธกิจ ๕ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกนั้น มีกล่าวไว้ว่า

กิจข้อแรก...ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ

กิจข้อสอง...สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ในเวลาเย็น ทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนผู้สนใจในการฟังธรรม ซึ่งมีตั้งแต่ท้าวพระยามหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนเข็ญใจ

กิจข้อสาม...ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ในเวลาค่ำ ทรงประทานโอวาทให้กรรมฐานแก่พระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งทรงแก้ไขข้อติดขัดในการภาวนาให้ด้วย

กิจข้อสี่...อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย

กิจข้อห้า...ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเล็งพระญาณที่ใครจะมาข้องตาข่ายพระญาณของพระองค์ ที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งพระองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้มีนิสัยที่จะบรรลุธรรมโดยรวดเร็ว แต่ชีวิตจะต้องตายเสียก่อน ก็จะเสด็จออกไปโปรดคนนั้นก่อนเพื่อน

การเสด็จไปโปรดสัตว์โลกตามพุทธกิจข้อต่างๆ นี้ ปกติจะเสด็จไปด้วยพระองค์เอง แต่บางโอกาสก็อาจจะเสด็จโดยพุทธนิมิตในภาวนาก็ได้ ตามพระธรรมปทัฏฐกถา กล่าวไว้หลายต่อหลายครั้งว่า พระสาวกของพระองค์กำลังพิจารณาธรรมอยู่ เกิดขัดข้องในการพิจารณาธรรมอันเป็นช่วงสำคัญด้วยประการใดก็ตาม สมเด็จพระบรมศาสดาระหว่างประทับอยู่ในพระคันธกุฎี จะทรงเปล่งพระโอภาสไปปรากฏพระองค์อยู่ต่อหน้าพระสาวกองค์นั้นๆ ทรงมีพระพุทธการุณย์ ทรงตรัสแนะ...ทรงเฉลยธรรม...และเมื่อพระสาวกองค์นั้นๆ พิจารณาตามไป ก็สามารถบรรลุมรรคผลอรหัตผลได้โดยไม่ยาก

ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาเทวดาทั้งหลาย...!?!

เปล่งพระโอภาส ไปปรากฏพระองค์...!?!

โลกสมัยใหม่จะไม่ยอมเชื่อกันเป็นอันขาด ว่าเป็นไปได้...! กล่าวหากันว่าเป็นการเขียนตกแต่งต่อเติมเสริมต่อ โดยพระอรรถกถาจารย์ในภายหลัง ! เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เราจะทำอย่างนั้นได้...! โกหกกันชัดๆ...!

โลกสมัยปรมาณูก้าวหน้ากันไปเท่าไรแล้ว คนไทยยังงมงายกันอีก

ไม่แต่คนไทยธรรมดาจะคัดค้าน มีพระภิกษุสงฆ์บางรูปก็ยังช่วยเขียนค้านพระไตรปิฎกนั้น...รับไม่ได้ ควรจะตัดออกสัก ๔๐-๖๐ %

ตัดทิ้งเสีย ฝรั่งเขาจะได้ยอมรับได้...!

โถ...ท่านก็เรียนแต่ปริยัติ ไม่ยอมปฏิบัติ ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึงแต่ของจริง ของแท้ มิได้มีของปลอมมาเจือปนเลย

ไม่ปฏิบัติด้วยตัวเองแล้ว จะเห็นของจริงได้เช่นไร !

เรื่องเช่นนี้ ท่านผู้อยู่ในวงปฏิบัติธรรม เป็นจำนวนมากที่เคยผ่านมาแล้วด้วยตนเอง หรืออย่างน้อยก็ได้ประสบพบเห็นเรื่องของครูบาอาจารย์เป็นที่ประจักษ์ตาตนเองมาแล้ว !!

ไม่มีอะไรที่จะกล่าวได้ว่า มากเกินไป...หรือเป็นไปไม่ได้ สำหรับพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ส่วนอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ของพระองค์ท่าน...ของพระสาวกผู้ทรงญาณลาภี...ผู้ประพฤติตามรอยพระบาทพระบรมครู ก็ย่อมเป็นไปในแนวเดียวกัน


๒๔. ภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา

กลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่กำลังจำวัดอยู่ ท่านได้สะดุ้งขึ้นอย่างแรง พระผู้ปฏิบัติอยู่ใกล้ๆ ต่างรีบจัดหมอนและผ้าห่มถวายท่าน องค์หนึ่งสงสัยจึงกราบเรียนถามท่านว่า ท่านสะดุ้งตื่นด้วยเหตุใด หลวงปู่เลยบอกศิษย์ว่า ดูเมื่อกี้นี้ ไม่เห็นพระ มีแต่จระเข้อยู่เต็มกุฏิ

ไปดูซิ นอนอยู่ใต้ถุนตัวหนึ่ง นอนอยู่บนเตียงตัวหนึ่ง ตัวใหญ่ๆ นอนอยู่ตรงกลาง ไปดูซิ...ใช่ไหม...

พระเณรรีบไปดู ก็จริงดังท่านว่า...!

กล่าวคือ แทนที่จะเห็นภาพพระเณรศิษย์ของท่านกำลังนั่งภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย ให้สมกับที่ปวารณาตัวถวายเป็นศิษย์พระกรรมฐาน แต่กลับมีพระเณรนอนอยู่ที่ใต้ถุน...บนเตียง...องค์ใหญ่นั้นนอนตรงกลาง...

ไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมบรรดาศิษย์จึงเกรงกลัวท่านกันนัก ท่านไม่ต้องลุกเดินไปตรวจตราดูใคร ท่านเป็นอัมพาต นอนอยู่กับที่ แต่ท่านก็ทราบได้ดีว่า ศิษย์คนไหนภาวนาหรือไม่

ผู้ไม่ภาวนา ท่านเห็นเป็นภาพจระเข้นอนกลิ้งเกลือกกองกิเลสอยู่...!!

หลวงปู่เตือนเสมอถึงภัย ๔ อย่างของพระกรรมฐาน ท่านได้สอนศิษย์ของท่านควรระวัง...ระวังเหมือนถ้าเฮาจะลงไปในฮ้วงน้ำข้ามโอฆสงสาร ก็ต้องระวังภัย ๔ อย่างคือ คลื่น หนึ่ง จระเข้ หนึ่ง วังน้ำวน หนึ่ง...และปลาร้าย อีกหนึ่ง

ท่านบอกให้ศิษย์ระวัง ทั้งคลื่น ทั้งจระเข้ ทั้งวังน้ำวน และปลาร้าย

ความดื้อดึง ไม่อดทนเชื่อฟังต่อโอวาทที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนและนำเปรียบด้วยภัย คือ คลื่น

ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่บำเพ็ญเพียร เปรียบด้วยกับ จระเข้

กามคุณ ๕ อย่าง...รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เปรียบด้วยภัย คือ วังน้ำวน ใครหลงติดกามคุณทั้ง ๕ นี้ก็จะ “ติด” เหมือนลิงติดตังอยู่ในวังน้ำวน และมีแต่จะถูกกระแสน้ำดูดจมลงอย่างไม่ต้องสงสัย

มาตุคาม ที่พระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ไว้ก่อนจะเสด็จปรินิพพานว่า...ควรหลีกเลี่ยงไม่พบปะด้วย...หากจำต้องพบปะก็ไม่ควรพูดด้วย...หากจำต้องพูดด้วย ก็ต้องพูดด้วยความสำรวมมีสติ...ท่านเปรียบด้วยภัย คือ ปลาร้าย...!

ผู้จะผ่านพ้นโอฆสงสาร หรือห้วงน้ำใหญ่ไปถึงพระนิพพานได้ จะต้องอาศัยหลักของความเชื่อ...ต้องเชื่อมั่นในหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในปฏิปทาทางดำเนินของครูบาอาจารย์ จะต้องมีความเชื่อมั่นแน่นอนว่า มรรคผลนิพพานเป็นของมีอยู่จริง เมื่อเราเชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เราก็ปฏิบัติมุ่งต่อมรรคผลนิพพานได้ เมื่อเราเชื่อว่า มนุษย์สมบัติมี สวรรคสมบัติมี เราก็ทำทานรักษาศีล ไหว้พระเจริญเมตตาภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราเชื่อว่าจิตของเราเป็นธรรมชาติที่ไม่ตาย รูปร่างกายเราต่างหากที่แตกดับ เราเชื่อโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ เราก็ขวนขวายสร้างคุณงามความดี สร้างบุญกุศล เป็นอริยทรัพย์อริยบารมี ฝังไว้สำหรับติดตัวเราไปทุกชาติ ทุกภพ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน

ถ้าเราไม่เชื่อโอวาท ไม่เชื่อกรรมดีกรรมชั่ว จิตใจก็หวั่นไหวเป็นลูกคลื่นมากระทบจิตใจ สู้คลื่นแรงที่ซัดโถมมาไม่ไหวก็อาจจะจมน้ำตาย

ผ่านคลื่นมาได้ หากมาติดการเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่ปรารภความเพียร ถูกจระเข้ร้ายฟาดฟัน งับลงสู่ไต้ท้องน้ำ หรือกลายเป็นจระเข้ไปเสียเอง ดังนิมิตเกิดขึ้นฟ้องหลวงปู่ก็ได้

ผ่านคลื่น ผ่านจระเข้ ก็อาจมาติดวังน้ำวน มัวรัก มัวชอบ มัวหวง มัวห่วง มัวอาลัย ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เกิดความยึดถือมั่นหมายว่าเป็นของเรา เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวป่วย กลัวเป็นหนัก กลัวล้มตาย กลัวแก่ กลัวตาย ไม่แต่ร่างกายของเรา แม้ที่อยู่ ที่อาศัยก็ห่วงก็หวง กลัวชำรุดทรุดโทรม ร่างกายของคนอื่น ก็ห่วง ก็หวง ก็อาลัยไปด้วย จิตใจก็หวั่นไหว แหวกว่ายอยู่กลางวังน้ำวน หลงยึด หลงติด ก็ถูกกระแสน้ำดูดลงสู่วังน้ำวน เป็นวัฏฎะวนตลอดไป

หลบคลื่น หลบจระเข้ หลบวังน้ำวน เผลอๆ อาจจะถูกปลาร้ายจับกินเป็นภักษาหาร ศิษย์ของท่านเองต้องสึกหาลาเพศออกไปนักต่อนักแล้ว

ท่านจึงเตือนศิษย์เสมอ ถึงภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 06 ธ.ค. 2009, 09:49, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2009, 11:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๕. การระลึกชาติ

ในเรื่อง บุพเพนิวาสานุสติญาณ หรือ ญาณระลึกชาติ ได้นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลวงปู่จะมีหรือไม่ สมเด็จพระพุทธองค์ได้ญาณนี้เมื่อคืนวันตรัสรู้ในเวลาปฐมยาม เป็นญาณลำดับแรกที่ทรงบรรลุ ทรงทราบรู้ระลึกถึงชาติหนหลังได้ ทั้งของพระองค์เองและสัตว์โลกอื่นๆ ตั้งแต่หนึ่งชาติจนถึงอเนกชาติ...หาประมาณมิได้ ญาณนี้ทำให้ทรงทราบถึงอดีตชาติที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป และทรงทำให้รู้สึกสลด รันทด เกิดความสังเวชพระทัยจนน้ำพระเนตรไหล ทรงสลด สังเวช สงสารชาติของพระองค์ ชาติของสัตว์อื่นที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทนทุกข์ทรมานมา ไม่แต่จะเคยเสวยพระชาติเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค มนุษย์ ซึ่งเป็นทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิ แต่เป็นคนยากจน เข็ญใจ ก็มีมาก และนอกจากทรงเคยเสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่การตกนรกหมกไหม้ก็เคยผ่านขุมนรกต่างๆ มาแล้วเช่นกัน ทำให้พระองค์ทรงเบื่อหน่ายในชาติกำเนิด การเวียนว่ายตายเกิดเป็นที่ยิ่ง การจุติ แปรผัน ตาย-เกิด เกิด-ตาย ของสัตว์โลกไม่มีที่สิ้นสุด

ญาณนี้เองเป็นเบื้องต้น เป็นบันไดขั้นแรกในคืนวันเพ็ญเดือนหก เมื่อสองพันห้าร้อยสามสิบห้าพรรษากาลที่ผ่านมา ที่ทำให้พระองค์สาวทอดไปสู่การตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ !

ญาณระลึกชาติได้เช่นนี้ เป็นญาณซึ่งปวงปราชญ์ท่านถือเป็นเครื่องเตือนใจให้สลดสังเวชในภพชาติ และเร่งพิจารณาให้รู้ถึงทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์

เร่งพิจารณาทวนกระแส ตัดภพ ตัดกระแสของภพ ตัดกระแสของภวังค์ให้ขาดสิ้นไป

ท่านตรวจตรา ทวนกระแสดู ในปฏิจจสมุปบาท ปัจจยาการว่า...

เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ
สังขารดับ วิญญาณก็ดับ
วิญญาณดับ นามรูปก็ดับ
นามรูปดับ อายตนะก็ดับ
อายตนะดับ ผัสสะก็ดับ
ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ
เวทนาดับ ตัณหาก็ดับ
ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานดับ ภพก็ดับ
ภพดับ ชาติก็ดับ


ชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความเศร้า ความร้องไห้ ร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ก็ดับไปตามๆ กัน

และทวนหวนกลับกระแสอีกว่า เมื่อชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความเศร้า ความร้องไห้ ร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ก็ดับ

เพราะชาติดับ ภพก็ดับ
ภพดับ อุปาทานก็ดับ
อุปาทานดับ ตัณหาก็ดับ
ตัณหาดับ เวทนาก็ดับ
เวทนาดับ ผัสสะก็ดับ
ผัสสะดับ อายตนะก็ดับ
อายตนะดับ นามรูปก็ดับ
นามรูปดับ วิญญาณก็ดับ
วิญญาณดับ สังขารก็ดับ
สังขารดับ อวิชชาก็ดับ


อวิชชาดับ แล้วสิ่งทั้งหมดก็ดับไปตามๆ กัน ปราชญ์ท่านจะค้นดูในปัจจัยการปฏิจฺจสมุปบาทอย่างละเอียดลออ ท่านจะพยายามทำให้อาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป ดับไป ไม่ให้เหลือเชื้อ เพื่อท่านจะได้เป็นผู้สิ้นไปแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้เสร็จกิจ จบพรหมจรรย์ ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไป

การเป็นผู้เสร็จกิจ ท่านหมายถึง กิจในการละ การวาง การถอดถอนกิเลส การประหารกิเลส การดับกิเลส...นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะท่านได้ละ ได้วาง ได้ถอดถอน ได้ประหาร และดับหมดสิ้นแล้ว จึงเป็นผู้เสร็จกิจ ไม่มีกิจที่ต้องทำอีก เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็มีแต่กิริยาจิต ปฏิปทากิจ ที่จะต้องดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค อริยประเพณี เพื่อความเหมาะสมและดีงามเท่านั้น

สำหรับญาณการระลึกรู้อดีตชาตินี้ ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ผู้ใฝ่ในการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ได้เคยขอโอกาสกราบเรียนถาม หลวงปู่ก็ยอมเล่าให้ฟังบ้าง

ท่านเล่าว่า ท่านไม่ได้ระลึกชาติได้มากมายอะไร ที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงระลึกได้อเนกชาติหาประมาณมิได้นั้น เพราะท่านทรงมหาสติ มหาปัญญา มหาบารมี

สำหรับท่านนี้เท่าที่ระลึกได้ ท่านไม่เคยเป็นกษัตริย์ มักจะเป็นแต่คนทุกข์ยากเสียมากกว่า

รูปภาพ
พ่อเชียงหมุน หรือเชียงมั่น คือชายที่อยู่ทางด้านขวาของภาพ


เคยเกิดเป็นพ่อค้าขายผ้าชาติลาว ออกเดินทางมากับ พ่อเชียงหมุน หรือเชียงมั่น (อุปัฏฐากคนหนึ่งในชาตินี้) ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งนี้ มาทานผ้าขาวหนึ่งวาและเงินเป็นมูลค่าประมาณเท่ากับ ๕๐ สตางค์ ในปัจจุบันนี้ บูชาถวายพระธาตุพนม พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้ได้บวช ได้พ้นทุกข์ ท่านเล่าว่า ท่านเคยมาสร้างพระธาตุพนมด้วยสมัยพระมหากัสสปเถรเจ้า พระธาตุพนมนี้สร้างก่อนพระปฐมเจดีย์

รูปภาพ
พ่อเชียงหมุน หรือเชียงมั่น


ท่านเคยเกิดเป็นคนยางอยู่ในป่า เคยเกิดเป็นทหารพม่ามารบกับไทย ยังไม่ทันฆ่าคนไทยก็ตายเสียก่อน เคยเกิดอยู่เมืองปัน พม่า ชาตินี้ท่านก็ได้กลับไปดูบ้านเกิดในชาติก่อนที่เมืองปันด้วย

เคยเป็นทหารไปหลบภัยที่ถ้ำกระ เชียงใหม่ และเคยตายเพราะอดข้าวที่นั่น

ท่านเคยเป็นพระภิกษุรักษาศีลอยู่กับพระอนุรุทธะ เคยเป็นสามเณรน้อยลูกศิษย์พระมหากัสสปะ

เคยเกิดเป็นท้าวมหาพรหมในพรหมโลก

สำหรับการเกิดเป็นสัตว์นั้น ท่านเล่าว่า ท่านก็ผ่านมาอย่างทุกข์ยากแสนเข็ญเช่นกัน เช่น เคยเกิดเป็นผีเสื้อ ถูกค้างคาวไล่จับเอาไปกินที่ถ้ำผาดิน

เคยเกิดเป็นฟานหรือเก้ง ไปแอบกินมะกอก กินไม่ทันอิ่มสมอยาก ถูกมนุษย์ไล่ยิง เขายิงที่โคกมน ถูกที่ขา วิ่งหนีกระเซอะกระเซิงไปตายที่บ้านม่วง

เมื่อครั้งเกิดเป็นหมี ไปกินแตงช้าง (แตงร้าน) ของชาวบ้าน ถูกเจ้าของเขาเอามีดไล่ฟัน ถูกหัวและหู เคราะห์ดีไม่ถึงตาย แต่ก็บาดเจ็บมาก ต้องทุกข์ทรมานจนกระทั่งหายไปเอง เคยเกิดเป็นไก่ มีความผูกพันรักชอบนางแม่ไก่สาว จึงอธิษฐานให้ได้พบกันอีก ทำให้กลับมาเกิดเป็นไก่ซ้ำถึง ๗ ชาติ

เคยเกิดเป็นปลาขาว อยู่ในสระ ณ บริเวณซึ่งปัจจุบันคือ ที่สวนบ้าน พล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ

ท่านเล่าชีวิตของการเป็นสัตว์นั้นแสนลำเค็ญ อดอยากปากแห้ง มีความรู้สึกร้อน หนาว หิว กระหาย เหมือนมนุษย์ แต่ก็บอกไม่ได้ พูดไม่ได้ ต้องซอกซอนไปอยู่ตามป่า ตามเขา ตามประสาสัตว์ ฝนตกก็เปียก ก็หนาวสั่น แดดออกก็ร้อน ก็ไหม้เกรียม อาศัยถ้ำ อาศัยร่มไม้ไปตามเพลง บางทีมาอยู่ใกล้หมู่บ้านหิว กระหาย เห็นพืชผลที่ควรกินชีวิตได้ พอจะหยิบฉวยจับใส่ปากใส่ท้องได้บ้าง ก็กลับกลายเป็นของที่เขาหวงห้ามมีเจ้าของ ต้องถูกเขาขับไสไล่ทำร้าย มะกอกสักหน่วย กล้วยสักลูกส้มสูกลูกไม้ แตงสักผล...หยิบปลิดมาใส่ปาก กินยังไม่ทันอิ่มท้อง มนุษย์ก็ไล่ยิง ไล่ฟัน ของเพียงน้อยนิด แต่ต้องแลกด้วยชีวิตทั้งชีวิต ชีวิต...ซึ่งจะเป็นชีวิตของคน หรือชีวิตของสัตว์...ของสัตว์ใหญ่ หรือ...ของสัตว์เล็ก ก็คือ ชีวิตดวงหนึ่งเหมือนกัน

ชีวิตที่เวียนว่ายวนอยู่ในกองทุกข์ ตามอำนาจกรรมที่กระทำมานี้ แต่บางทีภพชาตินั้นก็ยืดยาวต่อไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ยกตัวอย่างเช่น ตอนท่านเกิดเป็นไก่ ใจนึกปฎิพัทธ์รักใคร่นางแม่ไก่ ชื่นชอบภพชาติที่เป็นไก่ของตน ปรารถนาขอให้ได้พบนางแม่ไก่อีก ท่านก็ต้องวนเวียนกลับมาเกิดเป็นไก่อยู่เช่นนั้น ท่านเล่าว่า แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง เมื่อท่านระลึกชาติได้เห็นภพชาติที่เวียนวนกลับไปเกิดเป็นสุนัขถึงหมื่นชาติ ท่านบังเกิดความสังเวชถึงกับขออธิษฐานเลิกปรารถนาพุทธภูมิ เพราะการจะบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตนั้น ท่านจะต้องบำเพ็ญต่อไปอีกเป็นแสนกัปแสนกัลป์ และหากเกิดกิเลสตัณหา ติดข้อง ผูกพันรักใคร่ปรารถนาพบรัก พบทุกข์อยู่นั่นแล้ว การเดินทางในภพชาติก็จะยืดเยื้อเยิ่นยาวต่อไปเป็นอนันตกาล เคราะห์ดีที่ท่านเกิดสลดสังเวชคิดได้ ขอตัดขาด ไม่ปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงสามารถดำเนินความเพียรเร่งรัดตัดตรงเข้าสู่พระนิพพานเป็นผลสำเร็จได้ พร้อมกับที่เล่าให้ศิษย์ฟังเรื่องการระลึกชาติ ท่านจะชี้ภัยของการท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปในภพชาติต่างๆ ให้ฟังเสมอ

ท่านเตือนย้ำว่า การกำหนดระลึกรู้ได้เหล่านี้ เป็นเพียงผลพลอยได้จากการบำเพ็ญเพียรภาวนาให้จิตสงบ หากเกิดขึ้นก็รับรู้ นำมาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเจ้าของฟาดฟันกิเลสให้ย่อยยับอัปราไปโดยเร็ว

ไม่ใช่มัวนึกหลง นึกดีใจ เกิดมานะ ว่าเราเก่งกล้าสามารถกว่าคนอื่น

นั่นเป็นทางหายนะ...!

เพราะปุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นเพียงโลกียญาณ ไม่ใช่โลกุตรญาณ...! ถ้าเจ้าของไม่เร่งดำเนินเข้าสู่ทางไปสู่อาสวักขยญาณ หรือญาณซึ่งถอดถอนอาสวกิเลสให้สิ้นไปดับไป แม้ญาณระลึกรู้อดีตชาติ ซึ่งเป็นโลกียญาณก็ย่อมจะเสื่อมได้

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย สหธรรมิกหลวงปู่ชอบ ฐานสโม


๒๖. สายน้ำผุดบนภูพาน

ดังได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่และหลวงปู่ขาว เป็นสหธรรมิกที่ถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ต่างนับถือกันในในความเด็ดเดี่ยวอาจหาญไม่หวาดหวั่นภยันตราย ต่างยกย่องกันในด้านการภาวนากล้าสละตาย ต่างเคารพกันในเชิงภูมิจิตภูมิธรรมของกันและกัน ต่างเคยประกาศ...ใครสละตายได้ ไปกับเรา

ปกติเมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านทั้งสองก็จะออกวิเวกไปหาที่เงียบสงัดบำเพ็ญความเพียร บางครั้งท่านก็จะแยกย้ายกันไปหาป่าดงพงชัฏ เงื้อมหินผา หรือถ้ำในเขาลึก ด้วยรู้ดีว่า ต่างองค์ต่างมุ่งธรรมแดนพ้นทุกข์ด้วยกัน ทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญเช่นไรก็มิได้หวั่นเกรง ด้วยยอมมอบกายถวายชีวิตสละตาย เพื่อธรรมด้วยกัน ความเพียรก็ดี ความอาจหาญเด็ดเดี่ยวก็ดี ท่านเชื่อว่าเป็นสหมิตรเสมอกัน ไม่มีความอ่อนแอท้อแท้ กลัวทุกข์ กลัวยาก กลัวภัย กลัวเจ็บกลัวตาย ให้เพื่อนอีกคนจะต้องห่วงกังวล เสียเวลาทำความเพียรของอีกฝ่ายไป

ท่านชี้แจงว่า ในการเดินธุดงค์นี้ หากได้หมู่พวกที่ใจไม่ถึง “ยอๆ แยๆ หรือ ย็อกๆ แย็กๆ” ตามสำนวนของท่าน...หวาดนั่น กลัวนี่ ก็ลำบากเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้ากำลังอยู่บนยอดเขาสูง หรือในป่าลึก เกิดมีใครใจไม่สู้ขึ้นมา กลัวตาย กลัวเจ็บ จะอุ้มหามแบกบ่ากลับมากันอย่างไร...ผู้หนึ่งจะอยู่ ผู้หนึ่งจะไป ผู้หนึ่งจะสู้ภาวนาด้วยจิตกล้า อีกผู้หนึ่งจะลี้หนีด้วยจิตกลัว ท่านจึงมักพอใจจะไปแต่ผู้เดียว ด้วยท่านเป็นผู้อยู่ง่าย มาง่าย ไปง่าย ไม่ต้องกังวลใคร ดังนั้นถ้าจะมีหมู่เพื่อน ท่านก็ต้องเลือกเฉพาะผู้มีจริตนิสัยคล้ายกัน มีธรรมเสมอกัน ดังที่ท่านมักจะไปกับหลวงปู่ขาวบ่อยครั้ง

ครั้งที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าขานกันต่อๆ มา จนฟังดูประหนึ่งเทพนิยาย ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกมนุษย์ นี่ก็เป็นการเดินธุดงค์ของท่านครั้งหนึ่งที่ท่านไปกับหลวงปู่ขาวเหมือนกัน

ท่านเล่าว่า ท่านมีอายุ ๒๗ ปีเท่านั้น

ออกพรรษาแล้วท่านก็ชวนหลวงปู่ขาวออกจากวัด วิเวกไปทางป่าลึกหลังเทือกเขาภูพาน

ป่าลึกบนเทือกเขาภูพานก็เช่นเดียวกันกับป่าเขาแถบอื่นในเมืองไทย ที่ระยะกว่าเจ็ดสิบปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ทั้งรกชัฏ และเปรียบเสมือนป่าดงดิบ ยังไม่มีความเจริญ ยังไม่มีถนนตัดผ่านไปใกล้ เป็นที่อยู่ของสัตว์ทวิบาทจตุบาท นานาชนิด ทั้งน่าหวาดกลัวภัย เช่น งู เสือ ช้าง หมี เม่น หมูป่า กระทิง...หรือทั้งน่ารัก น่าสงสาร อย่างเช่น...นกยูง นกเงือก เก้ง ไก่ฟ้า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เลียงผา จะมีให้ได้เห็น หรือได้ยินเสียงโกญจนาทร้องก้องป่าอยู่เสมอ ให้ความรู้สึกว่า “ป่า” หรือ “ถิ่นบริเวณ” นั้นเป็นบ้านเมืองของบรรดาพวกสิงสาราสัตว์เหล่านั้น...มนุษย์ต่างหากที่เป็น “ผู้บุกรุก” ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปในดินแดนที่อยู่ของเขา...!

ปกติในการเดินธุดงค์ ท่านจะต่างองค์กำหนดจิตภาวนาไปตลอดเวลา ถ้าเดินทางทั้งวัน ก็เท่ากับเดินจงกรมทั้งวัน ถ้าเดินทางตลอดคืน ก็เท่ากับเดินจงกรมตลอดคืน จิตที่ภาวนาจนเป็นสมาธิ ย่อมมีแต่ความสงบเยือกเย็น จิตวิเวก กายวิเวก จิตเบา กายเบา จิตสงบ กายสงบ จิตและกายต่างสงบอยู่ในตัวของตัวเอง

แม้ท่านจะได้ชื่อว่า เดินธุดงค์ไปด้วยกัน แต่ระหว่างที่จิตเร่งทำความเพียรอย่างประชิดติดพัน ประหนึ่งกำลังรุกไล่ข้าศึกให้หมอบราบลงนั้น ท่านก็แทบจะมิได้รู้สึกถึง “ใครอื่น” ที่อยู่ใกล้ พระพุทธองค์เคยทรงพระพุทธพจน์ระหว่างประทับอยู่เชตวันว่า

เอกาสนํ เอกเสยฺยํ เอโก จร อตนฺทิโต
เอโก ทมยมตฺตานํ วนนฺเต รมิโต สิยา


ภิกษุพึงเสพที่นั่งคนเดียว ที่นอนคนเดียว พึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ด้วยการเที่ยวไปแต่ผู้เดียวในทุกอิริยาบถ เป็นผู้เดียวที่ทรมานตน เป็นผู้ยินดียิ่งในราวป่า

เอกาสนํ เอกเสยฺยํ ผู้บำเพ็ญภาวนา ไม่ละมูลกรรมฐาน แม้นั่งในหมู่ภิกษุตั้งพัน แต่หากทำใจวิเวกเหมือนนั่งอยู่แต่ผู้เดียว แม้อยู่ในที่นอนอันวิจิตร ท่ามกลางภิกษุตั้งพันรูป แต่หากจิตตั้งมั่นอยู่ในข้อกรรมฐาน ก็ชื่อว่าอยู่ในที่นอนคนเดียวเหมือนกัน

เอโก จร อตนฺทิโต เป็นผู้เที่ยวไปแต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่เกียจคร้านในทุกอิริยาบถ

เอโก ทมยมตฺตานํ เป็นผู้เดียวเท่านั้น สามารถทรมานตนประกอบกรรมฐานทั้งหลายได้ในที่พักทุกที่

วนนฺเต รมิโต สิยา เมื่อทรมานตนอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินดียิ่งในราวป่าอันสงัดจากเสียงทั้งหลาย จิตของท่านวิเวก กายของท่านวิเวก จิตของท่านเปลี่ยว กายของท่านเปลี่ยว มีความรู้สึกว่าอยู่แต่ผู้เดียวตลอด

อย่างไรก็ดี แม้จิตของท่านทั้งสอง จะมีแต่ความสงบ เยือกเย็น เบิกบานในธรรมอย่างไร ธาตุขันธ์ก็ย่อมต้องการพักผ่อนบ้าง ท่านเล่าว่า การเดินธุดงค์ครั้งนั้น ผ่านเข้าไปในป่าลึกหลังเทือกเขาเป็นวันๆ แล้ว ยังไม่ได้พบหมู่บ้านคนเลย อาหารก็ไม่ได้ฉัน แต่นั่นยังพอทำเนา แต่สิ่งที่ธาตุขันธ์ของท่านทั้งสองต้องการอย่างยิ่ง คือ น้ำ...!

น้ำในกระติกของหลวงปู่ขาวและท่าน หมดไปตั้งแต่ตอนกลางคืน เดินทางมาคิดว่าจะพอพบบ่อน้ำลำธารให้ได้ดื่มกินก็ไม่มี หรือแม้แต่แอ่งน้ำในรอยเท้าเสือ รอยเท้าช้าง ที่พระธุดงค์เคยได้อาศัย ค่อยๆ ตักกรอง ก็ไม่พบพานเลย ทั้งสององค์ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว กระหาย อากาศก็เพิ่มความร้อนขึ้น จากเช้าเป็นสาย เป็นบ่าย ก็ยังไม่ได้พบน้ำ ร่างกายขาดอาหารได้เป็นวันๆ แต่ขาดน้ำในยามหน้าแล้ง ในป่าบนยอดเขานั้น เป็นภาวะที่ธาตุขันธ์ของท่านจะต้องอุทธรณ์ต่อเจ้าของมาก

แต่ท่านก็ต่างมีความอดทน มิได้ปริปากบ่น สุดท้ายก็ชวนกันนั่งพักใต้ร่มไม้

ดูเหมือนจะไม่ต้องอธิบาย ว่าเมื่อท่านต่างนั่งพัก ท่านจะต่างทำเช่นไร

แน่ที่สุด...ท่านก็ต้องนั่งภาวนา อันเป็นปกติวิสัย ที่ท่านมักจะภาวนาทั้งอิริยาบถ ๔...นั่ง ยืน เดิน นอน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม...

ท่านนั่งพัก...ท่านก็เลยภาวนาไปด้วย

ท่านเล่าว่า นั่งได้ไม่นาน ก็ได้ยินเวียงดังกรอบแกรบๆ ใกล้เข้ามา

เสียงนั้น ดังใกล้เข้ามา...ดังมาก จนท่านต้องลืมตาดู

เห็นน้ำไหลมาจากโคกข้างหน้า เป็นทางน้ำกว้างประมาณศอกหนึ่ง ไหลผ่านใบไม้ที่ร่วงทับถมกันอยู่ในราวป่า เป็นใบไม้สีเหลืองบ้าง แดงบ้าง น้ำตาลบ้าง ถมซับซ้อนกันด้วยเป็นเวลาฤดูใบไม้ร่วง เสียงที่ดังจนรบกวนสมาธิให้ท่านลืมตาขึ้นดูนั้น ก็เป็น เสียงน้ำที่ไหลผ่านใบไม้กรอบแห้งเหล่านั้นนั่นเอง...!!

ท่านได้แหวกใบไม้ออก เห็นน้ำใสสะอาดไหลเอื่อยมา เหมือนเป็นลำธารเล็กๆ ได้กรองใส่กระติก ล้างหน้า ล้างตา ได้อาบ ได้ดื่ม ได้กินจนอิ่มเสร็จเรียบร้อย สายน้ำนั้นก็แห้งลงเฉยๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก...!!!

เกิดขึ้นได้อย่างไร...!

น้ำผุดขึ้นจากกลางโคก ไหลมาเพียงให้ท่านได้ดื่มกิน อาบน้ำ ล้างหน้าล้างตา ให้คลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กรองใส่กระติกน้ำเสร็จเรียบร้อย ก็แห้งลงในดินทรายทันที...!

เกิดขึ้นได้อย่างไร...! อย่างน้อยบุคคลหนึ่งในที่นั้นก็คิดเช่นนี้ ดังนั้นหลวงปู่ขาวจึงได้ซักสหายของท่าน

“ท่านชอบละซี...! ท่านชอบอธิษฐานอย่างไร”

หลวงปู่ปฏิเสธ “ผมไม่ได้อธิษฐานอะไร ผมเพียงแต่คิดเท่านี้ว่า เทวดาฟ้าดินจะไม่สงสารพระบ้างหรือ เทวดาจะปล่อยให้พระอดตายหรือ”

ท่านว่า ท่านก็คิดเพียงเท่านั้นเอง...!

เรื่องนี้แพร่หลายขึ้นมาก็เนื่องด้วยหลวงปู่ขาวนำมาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอ ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ได้ฟังกระเส็นกระสายปลายเหตุด้วย ฟังครั้งแรกว่าท่านไปกันกับหมู่พวกกลุ่มใหญ่ แต่ภายหลังเมื่อจะบันทึกทำประวัติของท่านนี้ ได้โอกาสกราบเรียนถาม หลวงปู่ยืนยันว่า ท่านไปกับหลวงปู่ขาวเพียง ๒ องค์เท่านั้น และระยะนั้นท่านอายุเพียง ๒๗ ปี


๒๗. มาณพน้อยผู้มานิมนต์ข้ามโขง

ครั้งหนึ่ง สมัยท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ เดินรุกขมูลไปอยู่แถวท่าลี่ จังหวัดเลย ท่านรำพึงตรึกในใจว่า เราได้มาจนถึงที่นี้ ใกล้ฝั่งดินแดนประเทศลาวเต็มทีแล้ว ถ้าหากจะข้ามแม่น้ำโขงไปเที่ยวฝั่งลาว ไม่ทราบว่าจะมีข้อขัดข้อง หรืออุปสรรคใดหรือไม่

ตามปกติพระกรรมฐานเมื่อท่านจะทำอะไร ท่านมักจะต้องเข้าที่พิจารณาความเป็นไปได้ก่อนเสมอ ครั้งนี้ท่านยังมิได้พิจารณาอะไร ด้วยความคิดที่จะข้ามไปฝั่งลาวยังไม่ทันแน่นแฟ้นเท่าไร เพียงแต่คิดผ่านไปเท่านั้น อย่างไรก็ดี คืนนั้นเองระหว่างภาวนา ก็เกิดนิมิตเห็นมาณพหนุ่มน้อยผู้หนึ่งมากราบท่านด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวว่า ทราบว่าพระคุณเจ้าปรารถนาจะไปวิเวกที่ฝั่งลาว ปวงข้าน้อยรู้สึกปีติเป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่ขอมานิมนต์พระคุณเจ้าไปโปรดบรรดาพวกเรา สัตว์ผู้มีวาสนาน้อย ทางดินแดนฝั่งโน้นด้วยเถิด ในนิมิตนั้นท่านรับนิมนต์เขาด้วยอาการดุษณีภาพ

รุ่งเช้า ฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็แต่งบริขารทั้งปวงไปที่ฝั่งแม่น้ำเหียง ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง เห็นมีเรือลำหนึ่งวาดเข้ามาจากกลางลำน้ำ มาจอดอยู่ที่ท่า คนเรือก็ตะโกนขึ้นมานิมนต์พระคุณเจ้าให้ขึ้นเรือ ท่านถามว่าเรือจะไปที่ใด ท่านจะไปฝั่งลาว เขาก็บอกว่ายินดีจะไปส่งให้ท่าน ท่านจึงลงเรือนั้นไป คนเรือมีสีหน้ายิ้มละไม และมีกิริยานอบน้อมต่อท่านอย่างผิดสังเกต เมื่อเรือออกจากปากแม่น้ำเหียง ก็ข้ามแม่น้ำโขงมุ่งตรงไปฝั่งลาว แล้วก็จอดเทียบท่านิมนต์ให้ท่านขึ้นฝั่ง

หลวงปู่ประคองบาตรและบริขารขึ้นฝั่งเรียบร้อยแล้ว ก็เหลียวมาเพื่อจะขอบใจและให้พรที่คนเรือนั้นได้กรุณานำพระข้ามเรือมา แต่ท่านก็ต้องประหลาดใจ ด้วยปรากฏว่ามองไปมิได้เห็นเรือลำนั้นเลย และความจริงแม้แต่เรือลำใด...ไม่ว่าเล็กใหญ่ประการใดก็ไม่มีปรากฏในสายตาของท่าน !

...ทั้งลำน้ำโขง มีจะเข้ขนาดมหึมาตัวหนึ่งลอยฟ่องอยู่กลางลำน้ำแต่เพียงตัวเดียว...!!

หลวงปู่กำหนดจิตพิจารณา...จึงทราบว่า นั่นคือพญานาคเขามานิมนต์ท่านในนิมิต และแปลงกายเป็นเรือและคนเรือมารับ เมื่อส่งท่านแล้วเขาก็แปลงเพศเป็นจระเข้ให้ท่านได้เห็นเป็นอัศจรรย์ ท่านจึงแผ่เมตตาให้ จะเข้นั้นลอยตัวนิ่งอยู่ราวกับสงบกิริยาอาลัย จึงนึกบอกในจิตว่า เอาละ...เราขอบใจเธอมากที่ช่วยเป็นธุระให้เราข้ามน้ำมาครั้งนี้ เราขออนุโมทนาด้วย เราเดินทางต่อไปได้แล้ว ไม่ต้องห่วงใยอะไรเราหรอก

บอกลาครั้งหลังนี้ จะเข้นั้นจึงได้ผงกหัวลาและจมลงไปในท้องน้ำ

หลวงปู่ดูจะมีข้อเกี่ยวข้องกับพญานาคเป็นพิเศษ ท่านไปที่ใดก็มักจะมีพญานาคมาอารักขาให้ความสะดวกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปกติ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๒๘. บุรุษผู้มาใส่บาตรที่วัดห้วยน้ำริน

ครั้งหนึ่งท่านพักอยู่ที่ วัดห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สังเกตเห็นว่า ในบรรดาทายกทายิกาที่มาฟังเทศน์หรือใส่บาตรถวายจังหันทุกวันนั้น มีชายคนหนึ่งที่ดูแปลกกว่าคนอื่น คือถึงจะนุ่งห่มแต่งกายอย่างชาวบ้านธรรมดา แต่ก็ดูภูมิฐานและสำรวมกว่าคนทั่วไป มีดอกไม้กับอาหารคาวหวานมาใส่บาตรทุกวัน สำหรับอาหารทุกชนิดที่เขานำมานั้น แม้จะมองดูเป็นอาหารพื้นเมืองทั่วไป มีปลา มีผัก น้ำพริก หรือแกง ตามปกติ แต่สังเกตว่าระยะนี้อาหารที่ท่านฉันนั้นมีรสชาติพิเศษ อย่างไรก็ดีท่านก็ไม่แน่ใจว่า อาหารที่มีรสชาติพิเศษนั้นจะเป็นอาหารจากที่ชายผู้นั้นถวายหรือไม่ เพราะเมื่อพระรับถวายจังหันแล้ว ท่านก็จัดลงบาตรรวมๆ กันไป จะเป็นอาหารจากสำรับใด ถ้วยใด ของโยมคนไหนก็ไม่ได้จดจำไว้

ธรรมดาพระธุดงคกรรมฐาน ท่านจะมีโอภาปราศรัยกับญาติโยมเป็นปกติ ครั้งนี้ท่านพูดคุยธรรมดา แล้วก็ถามถึงโยมคนที่ว่านี้ เออ...เป็นใคร อยู่บ้านไหน เป็นญาติของใคร ท่านมาคราวก่อนๆ ไม่เคยเห็น

ชาวบ้านแถบนั้นซึ่งคุ้นเคยกับท่าน เคยปรนนิบัติพระธุดงค์มานาน ต่างก็นึกขึ้นได้ว่า หลวงปู่หมายถึงผู้ใด แต่ก็ไม่อาจจะตอบท่านได้ว่าเป็นใคร มาแต่ไหน ได้แต่พูดกันว่า เออ...จริงซี นึกได้แล้ว เห็นๆ เหมือนกัน นึกว่าเป็นญาติกับคนนั้น คนนั้นก็ว่านึกว่าเป็นญาติกับคนโน้น คนโน้นก็คิดว่ามากับคนนี้

รวมความว่า ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เห็นๆ อยู่ แต่เวลากลับไม่ทราบว่ากลับไปบ้านที่ไหน กับใคร และเมื่อไร

วันสุดท้าย หลวงปู่ปะหน้าชายแปลกหน้านั้น นำดอกไม้และอาหารมาถวายจังหันเช่นเคย ท่านถาม เขาก็ตอบว่า บ้านโยมอยู่แถวนี้เอง ตอบยิ้มๆ แล้วก็ถอยไปนั่งรอระหว่างท่านฉันอย่างสงบเสงี่ยม ปกติระหว่างพระป่าฉันจังหันนี้ ชาวบ้านก็มักจะนำอาหารที่ถวายแล้วและเหลือจากที่พระนำลงบาตรแล้ว มาตักแบ่งแจกกันรับประทานเป็นกลุ่มๆ แต่ชายผู้นั้นมิได้ร่วมวงรับประทานกับกลุ่มใคร เขาคงนั่งอยู่คนเดียวอย่างสำรวมอาการ วันนั้นหลวงปู่ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ คอยสังเกตอาการของเขาอยู่เงียบๆ

ท่านฉันเสร็จ ให้พร เมื่อเห็นเขาเก็บของ กราบลา ท่านรออยู่พอไม่ให้น่าเกลียด แล้วก็ลุกตามไป ดูว่าเขาจะกลับไปทางใด ปรากฏว่า พอลับจากศาลา เขาก็เดินหายลงไปในสระน้ำหน้าวัด...!!

ชายคนนั้นคือ นาคมาณพ นั่นเอง...!

ท่านเล่าว่า พญานาคนั้นมีฤทธิ์มาก เป็นเทวดาจำพวกหนึ่ง เขาสามารถเนรมิตกายได้ต่างๆ กัน ท่านเคยถามเขาว่า ต้องการอะไร เขาก็เรียนท่านว่า วิสัยพญานาคนั้นมีความเคารพผู้ทรงศีลผู้ทรงคุณธรรม มนุษย์ผู้เป็นกัลยาณชนปรารถนาในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เช่นไร พญานาคก็ปรารถนาในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา เช่นนั้นเหมือนกัน ในกาลก่อนพระพุทธเจ้าสมัยเสวยพระชาติเป็นนาค มีนามว่า พระภูริทัตต์ ก็ยังสู้บำเพ็ญบารมี รักษาศีล บำเพ็ญทานภาวนาจนตัวตาย ในกาลปัจจุบัน กลิ่นศีลอันบริสุทธิ์ของพระคุณเจ้าหอมนัก หอมทั้งใกล้ หอมทั้งไกล หอมทวนลม หอมไปไกล พวกเขาก็ขอโอกาสมาทำบุญถวายทานแด่พระคุณเจ้า เพื่อเป็นการเพิ่มพูนบารมีของตนสืบไปบ้าง

ท่านถามถึงการเนรมิตกาย เพราะเคยเห็นพญานาคในรูปจำแลงต่างๆ หลายครั้งหลายหนแล้ว เขากราบเรียนว่า การเนรมิตกายของพญานาคนั้นง่ายดายมาก จะให้เป็นอย่างไรก็ทำได้ทั้งนั้น

เขาก็เลยเนรมิตกายถวายให้ท่านดู โดยเตือนว่า นี่เป็นภาพนิมิตทั้งนั้น...เขาหายตัวไปจากที่นั้น ครู่เดียวก็กลายเป็นมาณพหนุ่มน้อยเข้ามาหา ประเดี๋ยวก็เป็นชายชราเดินงกๆ เงิ่นๆ เข้ามาหา บัดเดี๋ยวก็หายไป แล้วกลับเป็นหญิงสาวสวย หายไปอีกครู่หนึ่ง ปรากฏว่า กลับมาเป็นเสือใหญ่น่าเกรงขาม กำลังเยื้องย่างเข้ามา จากร่างเสือกลายเป็นพรานขมังธนู ถืออาวุธเข้ามา พญานาคเรียนท่านว่า การเนรมิตกายนั้นไม่ยากเย็นอะไร เพียงคิดก็เปลี่ยนไปได้ตามต้องการ จะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าเป็นมนุษย์ จะเป็นคนเดียวหรือหลายคน แต่ละคนต่างแสดงอากัปกิริยาต่างกันก็ได้ ถ้าเป็นสัตว์ อาจเป็นตัวเดียว หรือหลายตัว ทั้งอาจเป็นสัตว์ต่างชนิดกันก็ได้ เช่น เห็นเป็นภาพ ทั้งช้าง ทั้งเสือพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นนาค ๒ ตัว หากเป็นพญานาคตัวเดียว จำแลงกายเป็นสัตว์ ๒ อย่าง ๒ ร่างกัน

เขาสามารถเนรมิตกายได้อย่างน่าพิศวง และรวดเร็วทันใจมาก

ท่านเล่าถึงการแปลงกายของพญานาคว่า เราได้ปะมาแล้วทุกอย่าง...เป็นงูตัวน้อยๆ ผ้าขาว ผู้หญิง เสือ มนุษย์...กษัตริย์...สารพัด

ท่านเล่าว่า สำหรับรูปกายที่เป็นพญานาคจริงๆ นั้น ท่านก็เคยเห็นอยู่ รูปร่างเหมือนกับที่เขาทำไว้ตามโบสถ์ตามวิหารนั้นเช่นเดียวกัน มีหงอน สามหงอนบ้าง ห้าหงอนบ้าง เจ็ดหงอนบ้าง ครั้งหนึ่งท่านเคยเห็นมาด้วยกันคู่สองผัวเมีย ทั้งพญานาคและนางนาคผู้เป็นภริยา

แต่บางทีเขาก็เข้ามาหาท่านในร่างของมนุษย์ แต่งตัวด้วยเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ มีข้าราชบริพารเฝ้าแหนแวดล้อมมาดังขบวนเสด็จของพระราชา

เคยเรียนถามท่านว่า “พญานาคตัวจริงใหญ่ขนาดไหน” ท่านตอบว่า “ใหญ่มาก”

ขณะนั้นเรากำลังอยู่กันหน้าโรงครัว จึงเรียนถามว่า “ใหญ่เท่าโรงครัวนี้ไหม” ท่านว่า “ใหญ่กว่าอีก”

พวกเราอีกคนถามเสริมว่า “ใหญ่เท่าศาลานี้ไหม” ท่านบอกยิ้มๆ ว่า “ใหญ่มากกว่าก็ได้ เล็กกว่าก็ได้ แล้วแต่เขาจะแสดงให้เห็น”

“ลำตัวเล่าเจ้าคะ ยาวแค่ไหน”

“ยาวปานภูเขา”


๒๙. พญานาคในแม่น้ำโขง

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ชอบไปวิเวกที่ฝั่งลาวกับหมู่หลายองค์ พร้อมทั้งได้มีโยมตามไปเที่ยวด้วย วันนั้นญาติโยมท่งฝั่งลาวได้ถวายจังหันคณะของท่านที่ริมฝั่งโขงนั้นเอง หลังฉันเสร็จ โยมช่วยกันเอาบาตรไปล้างที่ฝั่งแม่น้ำโขง โดยเทเศษข้าวและอาหารที่เหลือในบาตรลงในน้ำโขง เกิดอัศจรรย์ที่น้ำในแม่น้ำที่ไหลสะอาดนั้นกลับขุ่นหมด

“ขุ่นหมดทั้งวังน้ำหันตาไก่” ท่านเล่า “วังน้ำหันตาไก่” แปลว่า น้ำหมุนวนอย่างแรง

นอกจากจะน้ำทั้งขุ่นข้นและทั้งหมุนเป็นวังวนอย่างแรงแล้ว ยังมีเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น พร้อมกับตลิ่งพังอย่างรุนแรง ดินเคลื่อนลงน้ำด้วยความรวดเร็วจนโยมที่ไปล้างบาตรแทบจะกระโดดหนีขึ้นตลิ่งไปเกือบไม่ทัน

ต่างคนต่างตัวสั่นงันงกด้วยความตกใจ ไม่ทราบว่าเหตุผลกลใด ธรรมชาติจึงเล่นบทพิสดารให้ดูเช่นนั้น จู่ๆ น้ำในแม่น้ำโขงที่ใสสะอาด ไหลเอื่อยอย่างสงบ ก็กลับกลายเป็นขุ่นข้น...ตลิ่งพัง แผ่นดินถล่ม น้ำหมุนวนเป็นเกลียว

หากหนีไม่ทัน ตกลงไปกลางน้ำวน จะเป็นอย่างไร...บรื๊อว์...ทุกคนแทบไม่อยากคิด

ต่างใจสั่นขวัญแขวน รีบไปกราบหลวงปู่ขออาศัยบารมีท่านเป็นที่พึ่ง เพราะเสียงน้ำ เสียงตลิ่งพังยังไม่สงบดี

หลวงปู่พิจารณาแล้วก็อธิบายว่า เป็นเพราะพญานาคเขาโกรธ ว่าเทน้ำพริกน้ำเกลือลงไปถูกเขา ท่านจึงตักเตือนหมู่คณะมิให้ประมาท สิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็นนั้นยังมีอีกมาก โดยเฉพาะที่แม่น้ำโขงนี้ ท่านห้ามศิษย์ของท่านมิให้เทเศษอาหารหรือสาดน้ำล้างถ้วยชามลงไปอีกเลย ด้วยเกรงว่าจะเป็นการทำความขุ่นเคืองให้แก่สิ่งลึกลับที่อยู่ในน้ำ ท่านแนะให้ใช้วิธีตักน้ำขึ้นมาล้างจานชาม และเทน้ำลงบนตลิ่ง มิใช่สาดลงไปในน้ำ

อย่างไรก็ดี แม้แรกๆ จะมีผู้เชื่อฟังท่าน แต่ภายหลังได้มีพระรูปหนึ่งยังสงสัย ไม่ยอมเชื่อ ได้เทเศษอาหารลงไปในน้ำ และก็เกิดอาเพศ น้ำหมุนวน ตลิ่งพัง ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง พระดื้อรูปนั้นกระโจนหนีแทบจะไม่ทัน จากนั้นมาในบรรดาคณะศิษย์ผู้ติดตามหลวงปู่ก็บอกเล่าต่อๆ กันมา และเชื่อฟังกันเป็นอันดี

พญานาคในแม่น้ำโขงนี้ เมื่อขึ้นมาคารวะท่าน ท่านบอกว่า ตัวใหญ่โตมาก ระหว่างที่หัวมากราบคารวะท่านที่ถ้ำ แต่ส่วนหางยังอยู่ที่ฝั่งน้ำ ห่างกันเป็นกิโลเมตร บุพกรรมของเขาเคยเกิดเป็นมนุษย์ รักษาศีล อุปัฏฐากพระเจ้าพระสงฆ์เป็นอันดี แต่กรรมบัง ถือสนิทว่าตนเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระ ไม่สำรวมระวัง เอามีดของพระไปใช้เป็นส่วนตัว จึงมาเกิดเป็นพญานาคเช่นนี้ แม้จะเป็นผู้มีฤทธิ์แต่ก็ยังอาภัพอับวาสนา เป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านเลยเทศนาสั่งสอนพญานาคนั้นให้ยึดยั่นในศีลห้า และไตรสรณาคมน์

เรื่องกรรมเล็กกรรมน้อยนี้ หลวงปู่จะเตือนศิษย์เสมอมิให้ประมาท โดยเฉพาะผู้ที่ปรนนิบัติพระเจ้าพระสงฆ์ จะเป็นฆราวาสก็ดี ภิกษุด้วยกันก็ดี พึงระมัดระวังให้จงดี โดยเฉพาะพระภิกษุ อย่าละเมิดธรรมวินัยได้ แม้การใช้สอยบริขารของสงฆ์เช่นกัน จะต้องเก็บงำรักษาเป็นอันดี ท่านยกว่าแม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังทรงตำหนิตักเตือนพระ อย่าเห็นเป็นบาปเล็ก กรรมน้อย

ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม นรชนไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย เปรียบเหมือนภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตก น้ำฝนหยาดเดียวไม่ทำให้ภาชนะเต็มก็จริงอยู่ แต่เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้แน่ๆ ฉันใด ผู้ทำบาปอยู่ แม้ทีละน้อยๆ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้ฉันนั้นเหมือนกัน


๓๐. พญานาคผู้มิจฉาทิฏฐิ

เรื่องพญานาคทั้งหลายที่นำมาเล่านี้ ดูจะเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งนั้น แต่ความจริงมีพวกพญานาคที่ท่านพบเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่เคารพเลื่อมใสในพระกรรมฐานก็มีเหมือนกัน

เช่นครั้งหนึ่ง สมัยท่านติดตามพระอาจารย์มั่นไปวิเวกแถบฝั่งแม่น้ำโขงเช่นกัน ขณะนั้นท่านได้พาคณะไปพักอยู่ในเขตป่าร่มรื่นแห่งหนึ่ง บริเวณใกล้เคียงนั้นมีบึงน้ำกว้างใหญ่ น้ำเปี่ยมตลิ่งใสสะอาด ระหว่างที่หมู่เพื่อนเตรียมจะสรงน้ำ และตักน้ำมาสำหรับดื่มกินและใช้สอย แต่หลวงปู่ก็สังเกตว่า บริเวณโดยรอบบึงนั้นสงัดเงียบเกินไป ไม่มีนกกาเกาะอยู่บนต้นไม้ใกล้เคียง หรือรอยเท้าของสัตว์ชนิดใดก็ไม่มีโดยรอบบึงน้ำ อันดูเป็นการผิดวิสัย เพราะหนองน้ำ หรือบึงใหญ่ ย่อมเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของส่ำสัตว์มีชีวิตจะใช้เพื่ออาบกินทั้งนั้น ท่านสงสัยว่าจะเป็นที่ไม่ชอบมาพากล จึงพิจารณาดูก็รู้ว่าเป็นที่ซึ่งพญานาคผู้มีมิจฉาทิฏฐิมาพ่นพิษใส่ในน้ำนั้นไว้ หากพระเณรลงอาบน้ำหรือตักมาใช้สอยดื่มกิน ก็คงจะเกิดอันตรายเจ็บไข้ได้ป่วยกันให้เป็นที่ยากลำบาก ท่านจึงรีบห้ามหมู่เพื่อนไว้ บอกสั้นๆ ว่าอย่าเพิ่งใช้น้ำเหล่านี้ แล้วท่านก็รีบไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นถึงข้อที่ท่านสงสัยและได้พิจารณาดู ท่านพระอาจารย์มั่นก็ยืนยันความรู้เห็นของหลวงปู่ว่าถูกต้องแล้ว และว่าท่านก็พิจารณาอยู่แล้ว รู้ว่าพญานาคพวกนี้ยังไม่มีความเคารพเลื่อมใสในศาสนา เห็นพวกเราเป็นศัตรู เข้าใจว่าที่พวกเรามา ณ ที่นี้นั้นจะลองดีแข่งกับพวกเขา และขับไล่ให้พวกเขาต้องระเหเร่ร่อนจากถิ่นที่อยู่ไป เขาจึงได้แกล้งพ่นพิษใส่ในน้ำไว้ ดูทีหรือพวกเราจะทำประการใด หากประมาทมาใช้อาบกินเข้าก็คงจะเจ็บไข้ ต้องหนีจากไป

ท่านชมเชยความรู้เห็นของหลวงปู่มาก และสั่งยืนยันมิให้พระไปลงอาบน้ำหรือตักน้ำอันมีพิษนั้นมาดื่มกินหรือใช้สอย ท่านว่าเราจะต้องไม่สนใจกับปฏิกิริยาอันไม่ถูกต้องของพญานาคเหล่านั้น ให้พวกเราเจริญเมตตาแผ่ให้เขา ในไม่ช้าเขาก็คงจะต้องละทิฏฐิมานะเป็นแน่แท้ เพราะเมตตาธรรมเป็นธรรมอันเยือกเย็น สามารถดับความร้อนรุ่มกระวนกระวายของจิตที่หลงผิดริษยาอาฆาตได้เป็นอย่างดี

หมู่เพื่อนทราบความแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเกรงใจในหลวงปู่มากขึ้น เพราะนอกเหนือรองลงมาจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ก็ดูเหมือนว่า หลวงปู่จะเป็นที่พึ่งอาศัยทางรู้เห็นสิ่งลึกลับกายทิพย์แก่หมู่คณะได้ดีที่สุด ต่างองค์ก็เชื่อฟังคำท่านพระอาจารย์มั่นและหลวงปู่มิได้พยายามย่างกรายไปใกล้บึงน้ำนั้นแต่ประการใด การอาบ การตักน้ำมาใช้ดื่มกินใช้สอย ก็พยายามไปหาจากหนองน้ำแห่งอื่น แม้จะไม่ค่อยสะดวก ด้วยอยู่ห่างไกลกว่าและดูไม่ค่อยสะอาดร่มรื่นเท่า แต่ก็แน่ใจได้ในความปลอดภัยกว่า

หลายวันต่อมาพระอาจารย์มั่นจึงอนุญาตให้พระลงอาบน้ำและใช้สอยน้ำในบึงดังกล่าวได้ คงจะไม่จำเป็นต้องกล่าวแต่อย่างใดว่า การนี้เป็นไปภายหลังจากที่ท่านได้ทรมานพญานาคเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว ให้ยอมตนเคารพท่าน และรับนับถือพระไตรสรณาคมน์

ทราบกันในภายหลังว่า หลังจากเมื่อพญานาคยอมตนสิโรราบต่อท่านแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ถามเรื่องการพ่นพิษใส่ในบึงน้ำ ท่านตักเตือนเรียบๆ ว่า หากมีพระเณรหรือผู้ใดมาใช้น้ำพิษนี้แล้ว เกิดภัยอันตรายขึ้นก็จะเป็นบาปกรรมอย่างหนักแก่พญานาคโดยแท้ โดยเฉพาะโทษการล่วงเกินพระผู้มีศีลบริสุทธิ์นั้น คงจะไม่ต่ำกว่าการลงสู่ขุมนรก หากยั่นบาป ยั่นกรรม ก็ควรจะเร่งไปถอนพิษให้น้ำเป็นน้ำบริสุทธิ์ เป็นประโยชน์แก่ผู้สัญจรไปมาดังเดิม

พญานาคทั้งประหลาดใจและตกใจ...ประหลาดใจที่ว่าตนแอบทำ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นและหลวงปู่ต่างล่วงรู้ได้ด้วยอำนาจความรู้ภายใน...ตกใจด้วยกลัวโทษทัณฑ์ในการล่วงเกินพระอริยเจ้า จึงได้กราบกรานขอสมาโทษ แล้วรีบไปถอนพิษโดยเร็ว

ท่านเล่าว่า แต่นั้นมาพญานาคคณะนั้นก็หมดทิฏฐิมานะ มีความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ปวารณาตัวรับใช้และถวายอารักขาท่านและหลวงปู่ ตลอดจนพระเณรทั้งปวงเป็นอย่างดี และเมื่อถึงโอกาสอันควรก็พากันมาฟังธรรมเสมอมิได้ขาด

รูปภาพ
รูปปั้นพญานาค หน้าโรงแรมบ้านกะรนบุรี รีสอร์ท หาดกะรน จ.ภูเก็ต


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 06 ธ.ค. 2009, 09:51, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ


๓๑. เรื่องพญานาคอีกครั้ง

เรื่องนี้ความจริงควรจะบันทึกรวมไว้ในตอนที่ท่านวิเวกอยู่ในเขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ แต่โดยที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพญานาค จึงได้นำมาแยกบันทึกเป็นเรื่องรวมต่อเนื่องกันไปกับชุดเกี่ยวกับพญานาค เพื่อความสะดวกในการเข้าใจ

ระยะนั้นเป็นเวลาหลังจากเสร็จสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ ออกพรรษาแล้ว ท่านไปเที่ยววิเวกในเขตอำเภอแม่ริมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย บังเอิญได้พบกับ ท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ซึ่งเคยเที่ยววิเวกกับท่าน และได้เคยจำพรรษากับท่านมาแล้ว ณ สำนักสงฆ์แม่หนองหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านจึงชวนกันไปวิเวกตามเขาและถ้ำซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านพอบิณฑบาตถึงได้ โดยมีพระอีกองค์หนึ่งร่วมไปด้วยรวมเป็น ๔ องค์ด้วยกัน

เขาลูกนั้นมีถ้ำอยู่ ๒ ถ้ำ แต่เป็นถ้ำที่อยู่สูงจากเชิงเขาขึ้นไปประมาณ ๑๕ วา ทางขึ้นชันมาก เวลาขึ้นไปต้องเอามือเหนี่ยวโหนต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นไป พระหนุ่ม ๒ องค์ คือ ท่านพระอาจารย์เหรียญและพระอีกรูปหนึ่งไปอยู่ในถ้ำ ส่วนหลวงปู่ขาวและท่านอยู่บนสันเขาชั้นล่าง ต่ำลงมาจากถ้ำหน่อยหนึ่ง

ท่านเล่าว่า การภาวนาดีมาก อากาศดีและสงัด ไม่มีอะไรรบกวน ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขาลูกนั้น เมื่อทราบข่าวว่ามีพระธุดงคกรรมฐานมาพักบนเขาและถ้ำ ต่างก็พากันดีใจ ชักชวนกันมาทำแคร่ที่พักอาศัยให้ สำหรับน้ำใช้น้ำฉัน ก็ช่วยกันหาไม้ไผ่ขนาดลำใหญ่หน่อย มาผ่ากลางเอาข้อออกให้เป็นลำรางต่อกัน บนเขาลูกใหญ่นั้นมีน้ำพุผุดไหลมาออกตรงข้างเขา ชาวบ้านก็เอาลำรางไม้ไผ่นั้นไปรองรับน้ำให้ไหลมาไว้ที่หัวเขา และที่ถ้ำซึ่งพระอยู่ จัดเป็นระบบประปาธรรมชาติ ทำให้มีความสะดวก ไม่ต้องกังวลในการลงเขาขึ้นเขาไปลำเลียงน้ำใช้น้ำฉัน น้ำนั้นไหลมาแต่เขาซึ่งอุดมด้วยหินปูน จึงต้องนำมาต้มให้เดือดเสียก่อน ปล่อยให้เย็นจนตกตะกอนแล้วจึงกรองเอามาฉัน

อยู่ต่อมาวันหนึ่ง ระบบประปาธรรมชาติเกิดขัดข้อง ไม่มีน้ำไหลมาตามรางน้ำ ไต่สวนได้ความว่า รางน้ำไม้ไผ่ที่ชาวบ้านต่อมาให้ใช้ยังที่พักนั้น ถูกฟันเสียหายหลายจุด ทั้งนี้เพราะไม่กี่วันก่อนหน้านั้น พระที่อยู่ในหมู่บ้านเขาพากันสึกเสียหมด พร้อมทั้งคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยกันหลายคน กำนันในตำบลนั้นไปปรึกษากับหมอผี หมอผีบอกว่าเป็นเพราะมีพระกรรมฐานมาอยู่บนเขาและในถ้ำ ผีที่อยู่ในถ้ำกลัวบารมีพระกรรมฐานอยู่ในถ้ำไม่ได้ จึงมารบกวนชาวบ้านให้เจ็บป่วย ถ้าจะให้ชาวบ้านหายเจ็บป่วย ต้องไล่พระกรรมฐานไป กำนันตำบลนั้นจึงประกาศห้ามไม่ใช้ชาวบ้านที่หมู่บ้านของกำนันมาทำบุญตักบาตร รวมทั้งน้ำฉันน้ำใช้ก็ให้ตัดขาดหมด เป็นการบีบบังคับไล่ทางอ้อมให้พระกรรมฐานหนีไป

อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีผู้เชื่อถือกำนันนั้นทุกคนไป วันแรกคนในหมู่บ้านของตำบลนั้นไม่กล้าใส่บาตร แต่ท่านและคณะก็ไปบิณฑบาตจากหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนน้ำใช้นั้นพวกญาติโยมที่เลื่อมใสก็พากันไปซ่อมแซมให้ใช้ได้ดังเดิม และคอยจัดเวรยามดูแลให้ ไม่นานพวกที่หลงผิดก็รู้สึกตัว เพราะความเจ็บป่วยนั้นเป็นธรรมดาของมนุษย์ และเมื่อท่านสอนให้ชาวบ้านยึดมั่นในพระไตรสรณาคมน์ การเจ็บป่วยของชาวบ้านก็หายขาด ทำให้พากันเลื่อมใสศรัทธาดังเดิม และดูเหมือนจะมากขึ้นกว่าเดิมอีก

ท่านคงพำนักอยู่ที่สันเขาต่อไปอีกระยะหนึ่ง หลวงปู่ขาวแยกขึ้นไปวิเวกบนดอยแม้วกับท่านพระอาจารย์เหรียญ หลวงปู่ขาวอยู่บนดอยแม้วได้ ๑๐ กว่าวัน ก็กลับลงมาพักที่สันเขาดังเดิม ด้วยไม่ค่อยสบาย ไม่ถูกกับอากาศ

ระหว่างที่ท่านอยู่ที่สันเขานั้น ได้มองเห็นเขาลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่สูงกว่าดอยแม้วที่หลวงปู่ขาวและท่านพระอาจารย์เหรียญไปพำนักมา ท่านคิดว่า บนหลังเขาลูกนี้คงจะวิเวกดี ควรแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา เมื่อท่านพระอาจารย์เหรียญลงมาจากดอยแม้วแล้ว ท่านจึงชวนกลับขึ้นเขาไปใหม่ โดยอธิบายว่าจุดหมายปลายทางนั้นไม่ใช่ดอยแม้ว แต่เป็นเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่สูงกว่า

ท่านและท่านพระอาจารย์เหรียญเดินทางไปเพียง ๒ องค์ โดยไม่มีญาติโยมขึ้นไปด้วย มีแต่คนรับจ้างแบกบริขารเพียง ๒ คน ซึ่งตกลงกันว่าจะเป็นผู้จัดทำที่พักบนยอดเขาให้ด้วย การเดินทางนั้น ออกเดินทางไปตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำ จึงถึงเขาสูงลูกที่มั่นหมายไว้นั้น พบชาวบ้านป่าปลูกกระท่อมน้อยพำนักอยู่ครอบครัวหนึ่ง

เขารู้ว่าท่านจะขึ้นไปพักภาวนาบนหลังเขาลูกนั้นก็ร้องเสียงหลง ห้ามว่าอย่าไปเลยท่าน ผีที่เขาลูกนี้ดุมาก

ท่านถามเขาว่า รู้ได้อย่างไรว่าผีดุ เขาตอบว่า รู้ซีท่าน ไม่รู้ได้อย่างไร ก็เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีพวกผู้ชายแม้วมาเที่ยวเขาลูกนี้กันสามคน กลับไปได้คนเดียว

ทำไมกลับไปคนเดียว...

อ้าว ก็ผีมันทำเอาตายไปเสียสองคนน่ะซี ท่านช่างถามได้ ก็ผมบอกแล้วว่าผีดุ...ผีดุ ท่านก็ไม่เชื่อ !...เขาบ่น แล้วรู้ไหมท่าน แม้แต่แม้วคนที่เหลือนั้น มันต้องวิ่งมาหาผม ขอให้ผมไปพูดกับผี ให้ผมไปเจรจากับผีให้ มันจึงรอดตัวกลับไปได้ ไม่เช่นนั้น มันก็คงกลายเป็นผีเฝ้าเขาลูกนี้ต่อไป อย่างเพื่อนของมันนั่นแหละ

ท่านถามว่า พวกแม้ว ๓ คนไปทำอย่างไร จึงเกิดวิปริตขึ้น

เขาอธิบายว่า แม้วเหล่านั้นเล่นสนุก คึกคะนองกันมาก ส่งเสียงล้อเลียนกันเอะอะ แล้วยังไม่พอใจ พากันไปงัดก้อนหินใหญ่ให้กลิ้งลงมา แข่งกันว่า หินของใครจะกลิ้งตกลงไปไกลกว่ากัน เมื่อก้อนหินตกลงไปในเหวลึกข้างล่าง เสียงดังสะท้อนก้องกลับไปกลับมาในหุบเขา ดังสะเทือนเลื่อนลั่น ก็ตบมือเฮฮา ร้องเอิกเกริกแสดงความสนุกสนานเอ็ดตะโรกันทั้งเขา

ท่านพระอาจารย์เหรียญช่วยท่านชี้แจงว่า...ก็เพราะเหตุนั้นน่ะซี จึงเกิดความวิบัติกัน เนื่องจากพวกภูตผีปีศาจที่อาศัยอยู่ตามที่นั้น เขาชอบความสงบ ใครไปทำความวุ่นวาย เขาย่อมไม่ชอบถือว่า ไม่ยำเกรงเขา ไปล่วงเกินเขา เขาจึงทำร้ายเอา พวกอาตมาเป็นพระ ตั้งใจมาอยู่อย่างสงบ เพื่อพักภาวนาหาความสงบทางจิตใจ ไม่ได้มาทำความวุ่นวายสิงคลีอะไร คงจะไม่เป็นไรหรอก

เขามีสีหน้าไม่สบายใจ ท่านก็เลยพูดสัพยอกว่า “ก็โยมรู้จักผี พูดกับผีได้ เจรจากับผีได้ ยังได้ช่วยพูดให้แม้วคนนั้นมาแล้วไงล่ะ ก็ช่วยพูดให้หน่อยซี”

เขาหัวเราะอายๆ “โธ่ ท่านอย่าล้อผมเลย ผมเตือนท่าน ห้ามท่านก็เพราะกลัวเรื่องจะซ้ำรอยเท่านั้น”

ท่านเห็นเขากังวลมาก จึงได้ปลอบใจว่าไม่เป็นไรหรอก พวกเราไปอยู่ด้วยความสงบเมตตา จะได้เป็นกุศลแก่พวกภูตผีที่อยู่บริเวณนี้ และเมื่อโยมพาไปด้วย กุศลผลบุญก็จะเกิดแก่โยมผู้พาไปเช่นกัน เป็นบุญกุศลทั้งผู้อยู่ทั้งผู้พา อย่าได้วิตกไปเลย

เมื่อชาวบ้านผู้นั้นเห็นท่านไม่กลัว ก็เลยพานำทางขึ้นไป สังเกตได้ว่าเขาไม่ค่อยเต็มใจนัก มีทีท่าหวั่นหวาดอยู่ แต่ด้วยความเกรงใจก็จำใจต้องนำไป

กว่าจะไปถึงบนยอดหลังเขาก็เกือบตะวันพลบ ไม่มีเวลาจะทำเสนาสนะแต่อย่างใด ใช้ใบไม้ปูรองนอนบนพื้นดินไปชั่วคราว เช้ารุ่งขึ้น ท่านพระอาจารย์เหรียญนำทางไปบิณฑบาตยังบ้านแม้วอีกดอยหนึ่ง ซึ่งท่านเคยมาพำนักกับหลวงปู่ขาวคราวก่อนนั้น ท่านพระอาจารย์เหรียญเล่าถวายท่านว่า เมื่อแรกมาถึงดอยแม้วกับหลวงปู่ขาวนั้น ครั้งแรกต้องไปแนะนำให้เขารู้จักว่าเป็นนักบวช เป็นพระในพระพุทธศาสนา เขาบอกท่านซื่อ ๆ ว่า พวกเขาไม่รู้จักพระ เขาไม่เคยเห็นพระมาก่อนสักองค์เลย การใส่บาตรเขาก็ไม่รู้จัก ญาติโยมที่ไปกับท่านในครั้งนั้นต้องแนะนำให้ วันแรกเขาใส่บาตรแต่ข้าว วันต่อมาก็เอาเนื้อหมูที่ลวกน้ำเกลือกันเน่า ที่เก็บไว้มาใส่บาตรให้ หลวงปู่ขาวและท่านพระอาจารย์เหรียญต้องชี้ให้โยมที่ติดตามไปรับแทนไว้ให้ ไม่ให้ใส่ในบาตร เมื่อบิณฑบาตแล้วโยมผู้ติดตามต้องขอยืมหม้อกระทะขนาดเล็กของเขาไปสู่ที่พัก โยมจัดการทำให้สุก แล้วจึงถวายให้ฉันได้ วันต่อๆ ไป ชาวบ้านที่ติดตามไปจากข้างล่างชี้แจงเขา พวกชาวดอยแม้วจึงรู้จักทำอาหารสุกใส่บาตรให้ได้

หลวงปู่ไปบิณฑบาตกับท่านพระอาจารย์เหรียญคราวนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเขาเคยใส่บาตรหลวงปู่ขาวและท่านพระอาจารย์เหรียญแล้ว และเวลาก็เพิ่งผ่านไปไม่นานด้วย เขาจำท่านพระอาจารย์เหรียญได้ดี ถามถึงหลวงปู่ขาว เมื่อรู้ว่ากลังจากที่ท่านจากเขามา หลวงปู่ขาวไม่ค่อยสบาย เขาก็แสดงความเสียใจ บ่นว่า ครั้งนี้ ตุ๊เจ้าน่าจะกลับมาพักยังที่พัก ซึ่งเพิ่งสร้างเตรียมไว้ให้ในคราวก่อน มาอยู่กันไม่นานเท่าไรก็จากไปเสียแล้ว

ท่านเล่าว่า ศรัทธาของชาวแม้วดีมาก แม้เขาจะเพิ่งรู้จักพระในพระพุทธศาสนาเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง แต่เขาก็ปวารณารับใช้ทุกอย่าง ท่านชี้แจงว่า เพื่อต้องการความสงัด จึงได้ขึ้นไปบำเพ็ญเพียรภาวนาบนยอดเขาลูกโน้น แต่ก็ยังขอฝากปากฝากท้องกับโยมในดอยนี้

ระยะทางจากยอดดอยที่พำนักบำเพ็ญภาวนากับดอยแม้วที่บิณฑบาตนั้นระยะทางไกลมากประมาณ ๔ กิโลเมตร แถมเป็นทางขึ้นเขาลงเขา บิณฑบาตเสร็จ กว่าจะกลับถึงที่พักก็สายมาก โยม ๒ คนที่หาบของไปส่ง ก็ช่วยทำกระท่อมให้องค์ละหลัง เขาตั้งใจทำกันมาก ไม่ใช่ว่ารับจ้างมาแล้ว ก็สักแต่ว่า ทำ...ทำให้เสร็จไป เขาประดิษฐ์ประดอยทำให้เป็นอย่างดี จนสามวันจึงเสร็จ แล้วก็ลากลับบ้านไป เหลือแต่พระ ๒ องค์ ทำประโยคความเพียรบนยอดเขาเพียง ๒ องค์

คืนหนึ่ง ท่านภาวนาเสร็จแล้วก็จำวัดอยู่ในที่ของท่าน พอเคลิ้มไปเท่านั้น ก็ปรากฏว่ามีอุบาสกนุ่งขาวคนหนึ่งมากราบ บอกท่านว่า คืนนี้จะมีเสือใหญ่มา ขอท่านอย่าได้ประมาท

พอทราบอย่างนั้น ท่านก็รีบลุกขึ้นนั่งสมาธิคอยฟังอยู่ว่า มันจะมาอย่างไรกัน นั่งอยู่ตั้งนานไม่เห็นเสือมาสักที ก็จำวัดต่อไป ตื่นขึ้นตีสี่ นั่งทำสมาธิต่อ รอฟังอยู่ก็ไม่เห็นวี่แววของเสือตามคำเตือนในนิมิต

ตอนเช้าท่านพระอาจารย์เหรียญมาปฏิบัติท่าน แล้วก็เรียนขอโอกาสถามท่านว่า เมื่อคืนนี้ ท่านอาจารย์ได้เห็นอะไรบ้าง ครั้นท่านเล่าให้ฟัง ท่านพระอาจารย์เหรียญก็เรียนบ้างว่า ตัวท่านเอง เมื่อคืนนั้นนั่งสมาธิก็เกิดความรู้ขึ้นในจิตเหมือนกันว่า ระวัง อย่าประมาท คืนนี้เสือใหญ่จะมา ท่านก็คิดว่าได้ถวายชีวิตบูชาพระรัตนตรัยแล้วจึงมาอยู่ในที่เช่นนี้ หากกรรมเวรมีก็ขอรับกรรมไป ถ้าหากกรรมเวรไม่มีก็ขอให้ปลอดภัย ท่านนั่งสมาธิรออยู่เช่นเดียวกับหลวงปู่เหมือนกัน สงบจิตรอฟังอยู่ว่า เสือมันจะมาทำอย่างไร แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลกเกิดขึ้น

จะว่านิมิตหลอกเล่น ก็ทำไมมาเกิดตรงกัน

เพื่อพิสูจน์ความจริง ท่านจึงพากันไปสำรวจดูรอบบริเวณที่พักซึ่งเป็นป่าหญ้าแฝกล้อมรอบอยู่ ทันใดก็เห็นรอยเสือคุ้ยดินเป็นขุมๆ เป็นระยะๆ ไปในป่าหญ้าแฝกนั้น รอยเท้าก็ดี รอยคุ้ยดินก็ดี เป็นขุมใหญ่มาก แสดงถึงขนาดของเจ้าของรอยทั้งหมดเป็นอย่างดี

ท่านว่า เสือคงจะมานั่งเฝ้าท่านทั้งสองอยู่อย่างเงียบๆ ตลอดคืน โดยไม่กระโตกกระตากหรือทำอะไรเลย

ครั้นท่านครองผ้าไปบิณฑบาต พอเดินตามทางก็เห็นรอยเสือใหญ่ปรากฏนำหน้าไปเรื่อยๆ ลงเขาไปถึงลำธาร ปรากฏว่า น้ำในลำธารตรงที่รอยมาหยุดนั้นยังขุ่นๆ อยู่ แสดงว่ามันล่วงหน้ามาโดยเพิ่งข้ามน้ำไปไม่นานนัก

ท่านพระอาจารย์เหรียญบ่นว่า มันข้ามน้ำไปไม่นาน อาจจะพบกันระหว่างทางนี้ก็ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อท่านเดินไปกันถึงป่าเหล่าแก่แห่งหนึ่ง เห็นรอยเสือแวะเข้าไปในป่านั้น จึงออกปากลากันว่า เจ้าจงไปเป็นสุขเถิด อย่ากลับไปหาเราอีกเน้อ

ท่านว่า แต่วันนั้นมา ก็ไม่มีวี่แววของเสืออีกเลย

ท่านเล่าว่า หลังเขาดอยสูงแห่งนั้นเป็นที่ภาวนาได้ดีมาก มีพวกกายทิพย์มากราบคารวะท่านมาก บ้างก็ขอมาฟังธรรม วันหนึ่ง ภาวนาไป จิตสงบลง เกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่ทางจงกรม ขณะนั้นปรากฏเห็นพญานาคตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาที่หัวทางจงกรมนั้น

ท่านถามพญานาคว่า มาจากไหน

เขากราบเรียนท่านว่า ข้าพเจ้าอยู่ที่เขาลูกนี้เอง แต่อยู่ที่เชิงเขา แล้วก็เรียนชีแจงต่อไปว่า ในเขาลูกนี้ มีลำธารลอดมาจากใต้ภูเขา ลำธารนี้ไหลผ่านเชิงเขาแล้วไหลออกไปสู่ทุ่งนาของชาวบ้านที่อยู่เบื้องล่างโน้น พระคุณเจ้าเดินทางมาก็คงได้ผ่านข้ามลำธารนี้มาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ

ท่านรับคำ แล้วพญานาคก็บอกต่อไปว่า ลำธารนั้นแหละเป็นทางเดินของข้าพเจ้า

ท่านถามถึงชื่อของพญานาค

เขาก็เรียนท่านว่า “ข้าพเจ้าชื่อ เทพนาคา

ท่านเล่าว่า พญานาคตัวนี้ เมื่อโผล่หัวขึ้นที่ทางจงกรมแล้วก็เอาหางพาดเขาอีกลูกหนึ่งให้ท่านดู รู้สึกว่าตัวใหญ่ยาวมาก ท่านบอกว่า พญานาคตัวนี้มาแสดงตัวให้ท่านดูในลักษณะของพญานาคเต็มตัว คือมีหงอนสีแดง และมีแผงเหมือนกับของม้าเช่นนั้น ลำตัวใหญ่ยาว เกล็ดเป็นสีดำมันเลื่อม

พญานาคกราบเรียนท่านว่า เขามีความสงบเย็นใจมากที่ได้มีพระกรรมฐานผู้ประเสริฐอย่างพวกท่านมาภาวนา แผ่ความสุข สงบ เมตตา ให้แก่ปวงสัตว์โลก เสียงที่ท่านสวดมนต์และเจริญเมตตานั้นทำให้เย็นอกเย็นใจ มีแต่ความสุขสงบ วันนี้อดรนทนไม่ได้ จึงขอขึ้นมากราบชมบารมี เพราะพระบรมศาสดารับสั่งไว้ว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การได้เห็นพระสมณะผู้ประเสริฐ เป็นมงคลอันสูงสุด

พญานาคขึ้นมาปรากฏตัว กราบแสดงคารวะและชื่นชมท่านระยะหนึ่งแล้วก็ลาจากไป ท่านว่า การลาของพญานาคครั้งนี้ มิใช่หายตัวไป หรือเหาะลอยไป แต่เป็นการจมลงไปในทางจงกรมนั้นเอง

เมื่อท่านปรารภนิมิตนี้ให้ท่านพระอาจารย์เหรียญฟัง และถามว่ามีนิมิตพญานาคไปเยี่ยมท่านด้วยหรือไม่ เพราะเป็นปกติที่ไปอยู่ในสถานที่สงัด แปลกๆ เช่นนี้ ท่านผู้อยู่ในวงปฏิบัติด้วยกัน ก็มักจะคุยสอบทานนิมิตภาวนากันอยู่เป็นปกติ คราวนี้ท่านพระอาจารย์เหรียญ ปฏิเสธว่าท่านมิได้มีนิมิตตรงกับหลวงปู่ เช่น ในกรณีของเสือ อีก ๒ วันต่อมา ท่านพระอาจารย์เหรียญจึงเล่าถวายท่านว่า คืนนั้น ท่านนั่งสมาธิรู้สึกปลอดโปร่งดีพอสมควร พอออกจากสมาธิแล้วก็นอนตะแคงขวาในท่าสีหไสยาเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ท่านว่า ท่านมีสติตั้งมั่นและกระแสจิตก็ผ่องใสดี แต่กลับปรากฏเหมือนมีเงามืด ไหลเข้าสู่กระแสจิตที่ผ่องใสนั้นให้มืดเข้าทีละน้อย เหมือนก้อนเมฆไหลเข้าสู่ดวงจันทร์ ฉะนั้น พอท่านบริกรรมถึงนามรูปที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กระแสจิตที่มืดนั้น ก็ค่อยคลายสว่างขึ้นทีละน้อย เหมือนเมฆเคลื่อนออกจากดวงจันทร์

“หรือจะเป็นพญานาคที่หลวงปู่นิมิตเห็น มาเยี่ยม” ท่านเรียนหลวงปู่ แต่ท่านไม่มีนิสัย วาสนา บารมีแบบหลวงปู่ จึงพบเห็นได้เพียงแค่นี้


๓๒. แม่ไก่ผู้มาปรากฏตัวในนิมิตภาวนา

วันหนึ่งระหว่างที่หลวงปู่กำลังวิเวกอยู่ที่เชียงใหม่ ตอนกลางคืน ท่านก็เข้าที่ภาวนาตามปกติ ปรากฏภาพนิมิต มีแม่ไก่ตัวหนึ่งมาหาท่าน กิริยาอาการนั้นนอบน้อมอ่อนโยนเป็นอย่างยิ่ง มาถึงก็ใช้ปีกจับต้องกายท่าน จูบท่าน ท่านรู้สึกประหลาดใจที่สัตว์ตัวเมียมาแสดงกิริยาอันไม่สมควรต่อพระเช่นนั้น จึงได้ดุว่าเอา แต่แม่ไก่ตัวนั้นก็อ้างว่า เคยเกิดเป็นภรรยาของท่านมาแต่ชาติก่อน และเคยเป็นภรรยาของท่านมาถึง ๗ ชาติแล้ว ความผูกพันยังมีอยู่ ไม่อาจลืมเลือนได้ แม้จะรู้อยู่ว่า ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ ไม่บังควรที่จะแสดงความอาวรณ์ผูกพันเช่นนี้ ตนมีกรรม ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานต่ำต้อยวาสนา ก็ได้แต่นึกสมเพชตัวเองอยู่มาก อย่างไรก็ดี เมื่อพระคุณเจ้าผู้เคยเป็นคู่ชีวิตมาอยู่ในถิ่นที่ใกล้ตัวเช่นนี้ อดใจไม่ได้ จึงมาขอกราบขอส่วนบุญบารมี

ในนิมิตนั้น หลวงปู่ได้เอ็ดอึงเอาว่า เราเป็นมนุษย์ เจ้าเป็นสัตว์ จะมาเคยเป็นสามีภรรยากันได้อย่างไร เราไม่เชื่อเจ้า แม่ไก่ก็เถียงว่า ถ้าเช่นนั้นคอยดู...พรุ่งนี้เช้า ตอนท่านออกไปบิณฑบาต ข้าน้อยจะไปจิกจีวรท่านให้ดู

ตกเช้าหลวงปู่ก็ครองผ้าออกไปบิณฑบาตตามปกติ ท่านเล่าว่า ท่านไม่ได้นึกอะไรมาก ด้วยคิดว่าเป็นนิมิตที่เหลวไหลไร้สาระ แต่เมื่อท่านเดินเข้าไปบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้านยางที่ชื่อบ้านป่าพัวะ อำเภอจอมทอง ก็มีแม่ไก่ตัวเมียตัวหนึ่งตรงรี่เข้ามาจิกจีวรท่านข้างหลัง หมู่เพื่อนที่ไปด้วยกันก็ตกใจ ด้วยเป็นสัตว์ตัวเมีย ท่านจะต้องอาบัติ จึงช่วยกันไล่ แต่แม่ไก่ตัวนั้น แม้ถูกไล่ออกไป ก็ยังพยายามวิ่งเข้ามาอีก

คืนนั้นหลวงปู่พิจารณาซ้ำ ก็รู้ชัดว่า ไก่ตัวนั้นเคยเกิดเป็นภรรยาของท่านมาแล้วถึง ๗ ชาติจริงๆ เป็นที่น่าเวทนาสงสารเป็นอย่างยิ่ง...ที่นางทำกรรมไม่ดีไว้ ไม่มีศีลจึงต้องตกไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเช่นนั้น

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงปู่เคยยกเป็นขึ้นมาตักเตือนบรรดาพระผู้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดให้เห็นชัดถึงผลของกรรม

สัพเพ สัตตา กัมมัสสกา
กัมมะ โยนิ
กัมมะ พันธุ
กัมมะ ปฏิสรณา


สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยัง กัมมัง กริสสามิ
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา
ตัสสะ ทายาทา ภวิสสันติ


เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป จักเป็นทายาท คือว่าจักต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป

ท่านสอนให้ระมัดระวังเกรงบาป เกรงกรรมเป็นที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่เคยเกิดร่วมชีวิตกัน หากมิได้พยายามรักษาจิต ประกอบแต่กรรมดี ไม่มีศีลเสมอกัน ไม่มีธรรมเสมอกัน ในวัฏสงสารอันยาวนาน สายธารชีวิตย่อมจะต้องแตกแยกจากกัน ยากจะหาโอกาสมาพบพานกันได้ หรือหากพบกันก็อยู่ในฐานะที่เหลื่อมล้ำกัน ตามผลแห่งกรรมที่ตนได้ประกอบมา

ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาฯ ปาปการี จ ปาปกํ

บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว


รูปภาพ
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต กราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ฐานสโม


๓๓. เรื่องน้ำกับหลวงปู่

เรื่อง “น้ำ” กับหลวงปู่นี้ พวกลูกศิษย์ต่างเคยพบด้วยความอัศจรรย์ เล่าสู่กันฟังต่อๆ กันมาก็หลายต่อหลายเรื่อง จะขอหยิบยกนำมากล่าวเฉพาะที่ผู้พบเห็นเป็นพระภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม และขณะนี้ก็เป็นครูบาอาจารย์ที่เคารพของประชาชนเท่านั้น

ระยะนั้น ท่านอาจารย์ ฟ. และท่านอาจารย์ จ. ได้ติดตามท่านไปวิเวกด้วย มาถึงกลางป่าแห่งหนึ่ง ท่านก็สั่งให้ท่านอาจารย์ทั้งสองไปหาน้ำ

ท่านทั้งสองออกไปหาตามบริเวณใกล้เคียง ก็ไม่พบแหล่งน้ำแต่อย่างใด แม้แต่จะออกไปไกลกว่านั้นเป็นกิโลๆ ก็ยังไม่พบ จึงต้องกลับมารายงานหลวงปู่ด้วยความผิดหวัง

หลวงปู่บอกสถานที่ที่จะพบน้ำให้ ท่านว่า...อยู่ตรงนั้นเอง

ครั้งแรก เมื่อทราบแห่งหนตำบลใดแน่นอน ไม่ใช่ให้เดินดุ่มเดา หาเปะปะไปเช่นนั้น ท่านอาจารย์ทั้งสองก็รีบตรงไปตามเส้นทางที่ท่านชี้แนะให้

หาอย่างไรก็ไม่พบน้ำ สถานที่นั้นมีลักษณะตรงกับที่ท่านบอกเล่าทุกอย่าง แต่น้ำไม่มี...

กลับมากราบเรียนท่าน ท่านก็ยืนยันว่า มีซี...น้ำมีแน่นอน

ครั้งที่สอง ไปอีก...จะเป็นไปได้ไหมว่า ฟังท่านอธิบายทางไปและสถานที่นั้นไม่ชัด...น้ำนั้นคงจะซอกซอนซ่อนอยู่ตามแอ่งเล็กๆ ที่มีโขดหิน พุ่มไม้ปิดบังอยู่ เราจึงไม่ทันสังเกตเห็น คราวนี้คงจะพบแน่

แต่ก็อีกนั่นแหละ หาเท่าไหร่ก็ไม่มี

มากราบเรียนท่านครั้งหลังสุดนี้ ท่านยืนยันแน่นแฟ้นว่า ตรงนั้นมีน้ำแน่ ให้กลับไปดูอีกที

ครั้งสุดท้าย เมื่อท่านอาจารย์ ฟ. และท่านอาจารย์ จ. กลับไปอีก...ก็ที่เดิมน่ะแหละ ! แต่คราวนี้...มีน้ำเต็ม...จริงของหลวงปู่ !! ทำให้ได้ตักมาใช้ ทั้งอาบทั้งกิน อย่างเพียงพอแก่หมู่คณะ...!

อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้มิใช่เป็นการปาฏิหาริย์ พบน้ำผุดขึ้น เกิดขึ้น อย่างที่กล่าวถึงมาแล้ว...

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์อีกองค์หนึ่ง ชื่อ ท่านอาจารย์ ย. เป็นผู้ประสบด้วยตัวท่านเอง

ระหว่างนั้นหลวงปู่พักอยู่ที่ผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยพระเณร ที่ตามขึ้นไปอยู่ทำความเพียรบนยอดเขานั้น วันนั้นเป็นวันพระ จะต้องลงเขาไปร่วมทำอุโบสถที่วัดใกล้ ท่านก็นำพระเดินลงมาจากผาแด่น เวลาเดินไปถึงลำธารแห่งหนึ่งปรากฏว่าน้ำกำลังไหลแรงมาก ด้วยคืนนั้นฝนตกหนักมากและตกติดต่อกันเป็นเวลานาน

พูดถึงฝน ที่ตกตามป่ายอดเขา เป็นที่ทราบกันดีว่า พอฝนหาย อาจจะมีน้ำป่าไหลบ่ามาอย่างรุนแรง หรือบางทีธารน้ำเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นแม่น้ำขนาดย่อม มีน้ำไหลเชี่ยวกรากบ่าท่วมท้นตลิ่งสองข้าง จนกลายเป็นแม่น้ำได้ ผู้เขียนเองในการเดินธุดงค์บนลาดเขาคราวหนึ่งยังเคยพบสะพานหินธรรมดา กลายเป็นแผ่นผาที่มีน้ำตกไหลครึกโครม ภายหลังจากที่ฝนตกเพียง ๒ ชั่วโมงเท่านั้น...!

คราวนี้ก็เช่นนั้น ทางเดินจากยอดเขาที่จะผ่านลำธารนั้น ไปยังวัดที่จะไปร่วมอุโบสถได้ถูกตัดขาดเสียแล้ว ด้วยลำธารนั้นมีกระแสน้ำไหลเอ่อ บ่าล้นตลิ่งจนกลายเป็นแม่น้ำขนาดย่อม กระแสน้ำเชี่ยวกราก ไม่มีใครกล้าข้ามสักคน ด้วยน้ำลึกมากประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งน้ำเชี่ยวมาก ถึงกล้าจะลอยคอข้าม ก็ไม่แน่นักว่าจะสู้กระแสน้ำได้ อาจจะถูกพัดพาไปกระทบหิน เกาะแก่งข้างล่างได้

หลวงปู่ยืนพิจารณาอยู่เพียงอึดใจเดียว...

กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก จนท่านอาจารย์ ย. เล่าว่า “เสียงดัง ซู่ๆ” ก็กลับหยุดกึกลงทันที...!

ทุกท่านตกตะลึงกันหมด ต่างเล่ากันว่า เคยได้ยินเรื่องอัศจรรย์ของหลวงปู่มาก็มากมายแล้ว แต่ก็ได้พบกับตาตัวเองครั้งนี้เอง ! หลวงปู่ก้าวข้ามลำธารนำไปก่อน เห็นศิษย์แต่ละคนยังไม่แสดงอาการคลายจากความงวยงง ท่านก็เร่งให้ตามท่านไป

ท่านอาจารย์ ย. เล่าว่า ท่านเองขณะที่ก้าวข้ามลำธารนั้น ยังอยู่ในอาการกึ่งกลัวกึ่งกล้าอยู่...กึ่งกลัวว่าภาพที่มองเห็นน้ำหยุดไหลและแห้งผากนั้น จะเป็นภาพลวงตา...กึ่งกล้าว่า เราก็ศิษย์มีอาจารย์ เรามากับท่านอาจารย์ พระคุณของท่านคงจะคุ้มกันเราได้แน่นอน แต่ว่า...น้ำที่หยุดไหลกึกนี้ หากเรากำลังเดินข้ามอยู่ จู่ๆ มันพรวดพุ่งมา ประดุจเทออกจากกระบอก ร่างกายเราจะแหลกลาญฉันใด...

กว่าจะได้สติกัน ก็ข้ามลำธารกันมาได้หมดทุกคน และเมื่อเดินพ้นมาเพียงอึดใจเดียว กระแสน้ำก็ไหลบ่าเชี่ยวกรากต่อไปดังเดิม...!

ท่านอาจารย์เล่าว่า ท่านอดใจไม่ได้ ต่อมาจึงได้แอบไปกราบเรียนถามหลวงปู่...พ่อแม่ครูอาจารย์ทำอย่างไร น้ำจึงหยุดได้

หลวงปู่ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า มีบทบริกรรมน่ะซี

บทบริกรรมอย่างไรขอรับ

ภาวนาไปก็รู้เอง...ท่านตอบ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 18:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต


๓๔. ในความทรงจำรำลึกของศิษย์

จริงอยู่ เรื่องราวของหลวงปู่ ในเรื่องความเพียร ในเรื่องความอัศจรรย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นที่รักของพวกกายทิพย์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นที่กล่าวขวัญ เลื่องลือ สรรเสริญกันในวงพระกรรมฐานอย่างแพร่หลาย แต่ก็อยู่ในหมู่วงพระกรรมฐานรุ่นผู้ใหญ่ น้อยนักที่พระรุ่นเล็กจะรู้จักท่าน

เรื่องนี้ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ได้เมตตาเล่าความรู้สึกของท่านให้ฟัง

ท่านจำได้ว่า วันนั้นเป็นวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ (ท่านจำ พ.ศ. ได้ดีเพราะเป็นปีหลังจากงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น) ท่านเพิ่งบวชได้เพียง ๓ พรรษา กำลังมีจิตใจคึกคักอยากออกธุดงค์ เหมือนช้างคึกคะนองออกสนามรบ ท่านกำลังอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยินว่าที่วัดเจดีย์หลวงจะมีพระป่ามาชุมนุมกันมาก ท่านก็รีบไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

ท่านว่า ท่านตื้นตันจนน้ำตาคลอ ที่เห็นพระป่ามาชุมนุมกันโดยไม่ได้นัดหมายกันถึง ๙๕ องค์ เห็นผ้าเหลืองอร่ามนั่งเรียงรายเต็มบนอาสนสงฆ์ เป็นภาพที่งามประทับใจมาก และรู้ซึ้งขึ้นมาทันทีถึงพระพุทธวจนะที่ว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การเห็นสมณทั้งหลาย ข้อนี้เป็นมงคลอันสุงสุด

ท่านก็เที่ยวกระซิบถามเขาว่า องค์นั้น...ใคร องค์โน้น...ใคร เขาก็บอกให้ท่าน

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ท่านพระอาจารย์สิม พุทธจาโร...และนั่น....

รูปภาพ
พระอาจารย์สิม พุทธจาโร


ท่านเห็นพระองค์หนึ่งนั่งอยู่ในลำดับแรกๆ ตัวเล็กๆ ผอมดำ นั่งยิ้มๆ ไม่พูดกับใคร ถามว่าเป็นใคร ก็ไม่มีคนรู้จัก มีคนหนึ่งอธิบายว่า ไม่ทราบชื่อ รู้แต่เขาว่ากันว่าท่านชอบอยู่กับพวกยาง พวกกระเหรี่ยง กินใบไม้ ใบหญ้าก็ได้ กินลูกหนูก็ได้ ปกติท่านอยู่ป่า นี่เข้าเมืองมาปาติโมกข์วันนี้

ท่านก็นึกในใจ เอ...พระอาไร้...บ้านเมืองเขามีอยู่ ไม่อยู่ ไพล่ไปอยู่ป่า กินใบไม้ กินลูกหนู ทำไมกัน...!

เสร็จทำวัตรสวดมนต์ ก็มีการประกาศเชิญพระอาจารย์ที่ออกมาจากป่าขึ้นธรรมมาสน์เทศน์โปรดญาติโยม

เชิญองค์นั้นเทศน์ องค์นี้เทศน์ ต่างองค์ก็ขึ้นแสดงธรรมกันตามโอกาสที่รับนิมนต์

ต่อมามีเสียงนิมนต์ นิมนต์ท่านอาจารย์ชอบเทศน์...เงียบ ! นิมนต์ท่านอาจารย์ชอบเทศน์ อีกกี่ครั้ง ก็เงียบ…! ท่านถามว่า ท่านอาจารย์ชอบน่ะใคร ปล่อยให้เขาเรียกอยู่ได้ เขาก็ว่า อ้าว ก็พระองค์เล็กๆ ผอมดำ ที่นั่งอยู่แถวหน้าๆ เมื่อสักครู่นี้แหละ ท่านคงไปแล้ว...กลับเข้าป่าไปแล้วกระมัง

ท่านบุญฤทธิ์เล่าว่า ท่านฟังแล้ว ยังนึก เอ...ทำไม่กลับไปเร็วนัก ท่านไม่ได้คิดอะไรมาก

ท่านก็กลับมากรุงเทพฯ พักอยู่วัดบรมนิวาสพักหนึ่ง ระยะนั้นท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร มาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ถวายธรรมสมเด็จพระมหาวีรวงศ์อยู่ ท่านกำลังปรนนิบัติท่านพระอาจารย์ลี วันหนึ่งก็ถามขึ้นว่า “เอ...ท่านอาจารย์ครับ ท่านพระอาจารย์ชอบคือใครครับ”

“โอ๊ย...นั่นลูกศิษย์มีอภิญญาของท่านอาจารย์มั่น”

ท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์เล่าว่า พอได้ยินคำว่า “อภิญญา” ท่านก็เก็บบาตรขึ้นไปเชียงใหม่ทันที โดยไม่ฟังเสียงใครเลย ท่านเจ้าอาวาสยังท้วงว่า จวนเข้าพรรษาแล้วจะไปไหน ไม่อยู่จำพรรษาที่นี่หรือ

“ผมจะไปจำพรรษากับท่านอาจารย์ชอบครับ” ท่านตอบ

“ประเดี๋ยวได้ถูกหามออกมาดอก”

ก็น่าที่ท่านเจ้าอาวาสจะว่าเช่นนั้น ท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์เป็นคนกรุงเทพฯ เคยเป็นข้าราชการ เพิ่งลาออกมา เรียกว่าเคยต่อชีวิตชาวกรุงที่สะดวกสบาย จู่ๆ ก็จะไปธุดงค์ และเข้าป่าไปอยู่กับท่านพระอาจารย์ชอบเสียด้วย !

ท่านยืนยันว่า “หาม ไม่หาม ผมก็ไปละ !”

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม


ไปถึงเชียงใหม่พบ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ซึ่งเป็นองค์ที่เลิศทางธุดงค์ในป่าเขาเหมือนกัน ทราบว่าท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์จะไปตามหาหลวงปู่ชอบ ท่านก็ท้วงด้วยความหวังดี อย่าเพิ่งไปเลย รอหน้าแล้งก่อนเถอะ ตอนนี้อากาศชื้น ลำบากมาก ท่านแวะที่ห้วยน้ำริน กราบหลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนท่านก็ห้ามอีก อย่าไป...!

ท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์ก็ไม่ฟัง ท่านว่า ท่านเคยได้ยินเรื่องราวหลวงปู่ชอบมามากแล้วเหมือนกัน จำได้แต่เรื่องราว แต่จำชื่อหลวงปู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเห็นองค์ท่านที่วัดเจดีย์หลวงวันวิสาขบูชา วันนั้นจึงพลาดโอกาสที่จะเข้าไปกราบคารวะอย่างน่าเสียดาย และแถมใจยังนึกประมาทท่านเสียด้วย...!

ท่านว่า ชีวิตธุดงค์อันยากแค้น ลำบากกันดารของหลวงปู่คงจะเป็นที่เล่าลือกัน ทราบกันดีในหมู่พระกรรมฐาน ดังนั้นเพียงว่าจะไปอยู่กับท่านอาจารย์ชอบ...ไม่ทันรู้ว่าจะเป็นที่ไหน จังหวัดใด ก็จะถูกทักท้วง ห้ามปรามทันที

ท่านไม่ฟังเสียงใคร ดั้นด้นตามไปจนพบหลวงปู่ชอบจนได้ ท่านกำลังอยู่ที่ผาแด่น ท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์กะให้ไปถึงหลวงปู่เวลาเข้าพรรษาพอดี “เพื่อว่าท่านจะได้ไล่เราหนีไม่ได้” ท่านสารภาพแผนในใจ

ท่านเล่าว่า เคยได้ยินกิตติศัพท์ความลำบากยากแค้นกันดารมาแล้ว แต่ก็ได้ประสบคราวนี้เอง ว่าความจริงแล้วมันลำบากยากแค้นกันดารมากกว่าที่คิดมากนัก

จริงอยู่ พอจะบิณฑบาตจากพวกยางที่เชิงเขาได้ หากแต่ว่าอาหารที่ใส่บาตรมานั้น พระชาวกรุงอย่างท่านเห็นครั้งแรกก็แทบสะอึก มีลักษณะเหมือนขี้ควายเราดีๆ นี่เอง !

เขาใส่บาตรกันหลายอย่างอยู่...บอนตำกับน้ำ เหยาะเกลือพอปะแล่มๆ บ้าง...ใบไม้ตำกับเกลือ ใส่น้ำขลุกขลิกบ้าง ! บอนตำไม่ใส่เกลือบ้าง...!! เกลือกับพริกละลายน้ำบ้าง...! บอนตำไม่ใส่เกลือบ้าง...!! เกลือกับพริกละลายน้ำบ้าง...!! สับเปลี่ยนเวียนวนกัน

แรกๆ ท่านรู้สึกพะอืดพะอม มองดูหลวงปู่ก็เห็นฉันหน้าตาเฉย ท่านก็ต้องกล้ำกลืนฉันไปบ้าง

นี่เอง ที่ท่านสอนว่า ฉันตามมีตามได้...ฉันพอประทังให้ธาตุขันธ์อยู่ได้...!

ท่านฉันได้ เราก็ต้องฉันได้ เวลามีเกลือใช้ ก็ยังดีที่มีรสบ้าง บอนนั้นก็มันๆ ดี ท่านฉันไปหนึ่งเดือน ท้องร่วงถ่ายตลอด หน้าซีด หน้าเซียว

วันหนึ่ง มีไก่มาถวายเป็นอาหาร ได้ความว่ามีงานพิธีกันในหมู่พวกยาง

หลวงปู่ไม่ฉันเนื้อไก่นั้น สั่งว่า “เก็บไว้ให้บุญฤทธิ์ ยามาแล้ว !” ท่านว่า แล้วก็ให้ไปตามท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์มา ท่านว่าก็แปลก พอท่านฉันไก่ที่หลวงปู่สั่งว่าเป็นยา ท่านก็หายท้องร่วงที่เป็นมาตลอดเวลา ๑ เดือนเลย

ท่านพระอาจารย์บุญฤทธิ์ได้เล่ากิจวัตรที่ปรนนิบัติหลวงปู่ระหว่างอยู่ที่ผาแด่นว่า

ก่อนสว่างต้องไปก่อไฟต้มน้ำ โดยต้องทำอย่างเงียบที่สุดไม่ให้มีเสียงเลย ดังนั้นจึงต้องไปหาฟืนมาเก็บสำรองไว้แต่กลางคืน ตอนเช้าบนเขามืดมาก ต้องค่อยคลำหาฟืน แล้วก็จุดไฟ

เกิดมาไม่เคยก่อไฟ ก็ต้องทำ ผ่าไม้ฟืน ตักน้ำถวายท่าน ถังน้ำเป็นถังสังกะสี เกรงหูถังจะกระทบส่งเสียงดัง ต้องเอานิ้วหัวแม่มือสอดคานไว้ ค่อยตักน้ำ เผลอตัวบางทีหูถังก็หนีบนิ้ว ทำให้ต้องตั้งสติระวังตัวไม่ให้เผลอ

ต้มน้ำเดือดแล้ว พอดีใกล้สาง ผสมน้ำอุ่นไปถวายท่าน เดินก็ต้องค่อยๆ ย่องไม่ให้มีเสียงเลย กระโถนนั้นกลางป่าไม่มีใช้ ต้องใช้กระบอกไม่ไผ่แทน เช้าขึ้นต้องคอยนำกระบอกไม่ไผ่ ไปเทและล้าง

ตอนสายและบ่ายก็กวาดใบไม้ ภาวนาไปด้วย ป่าลึกบนยอดเขานั้น ท่านว่าระยะนั้นพวกป่าไม้เองก็ยังไปไม่ถึง ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่มหึมา สองคนโอบไม่รอบ หมีไปกินผึ้งแถวบริเวณกุฏินั่นเอง เสียงบ่นพึมพำ ทำให้ท่านเข้าใจในตอนนั้นเอง วลีที่ว่าบ่นเป็นหมีกินผึ้งนั้นเป็นอย่างไร เวลาหมีไปแล้ว มนุษย์ก็ได้อาศัยน้ำผึ้งจากรังผึ้งเหล่านั้นมาเป็นคิลานเภสัชต่อไป พวกผึ้งมาทำรวงรังกันมากในบริเวณนั้น

รูปภาพ
(จากซ้าย) พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร-หลวงปู่ชอบ ฐานสโม-พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร
ถ่ายภาพ ณ วัดป่าผาแด่น บ้านผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่



ใกล้ๆ กับผาแด่น มีดอยอีกแห่งหนึ่ง ชื่อ ผาเด่ง เป็นที่เหมาะแก่การทำความเพียรเช่นกัน

ท่านเล่าว่า ภาวนาไป บางทีได้ยินเสียงดัง หว่กๆ เหมือนกับหวูดรถไฟ หลวงปู่บอกว่า เป็นเสียงพญานาค เสียงดังมาก จนอากาศสั่นสะเทือนทีเดียว สันเขานั้นเรียวสูงขึ้นไป เวลาเดินจงกรม เงาของเราจะทอดยาวไปทับอีกเขาหนึ่ง เหมือนเงากำลังเดินจงกรมอยู่ ณ เขานั้นเช่นเดียวกัน ยามบ่ายถ้าอากาศดี แสงแดดจะส่องตามทิวเขาที่สลับซับซ้อนกัน เห็นสีม่วง สีน้ำเงิน สีแสด สีชมพู ดูงามตายิ่งนัก

ธรรมชาติสงบวิเวก จิตก็วิเวกสงบตามไป

ท่านว่า หลวงปู่ไม่สอนมาก ต่างองค์ต่างภาวนา แต่เมื่อท่านคิดอย่างไร บางทีหลวงปู่ก็ทัก บุญฤทธิ์ทำจิตอย่างนั้นไม่ถูก จากที่หลวงปู่ยอมรับศิษย์ให้ติดตาม ระยะนี้เองที่ข้อวัตรปฏิบัติที่เป็นสิ่งภายนอกของท่านได้เป็นที่รู้เห็น หรือมีโอกาสที่มีผู้ได้ยินได้ฟังมากขึ้น

ศิษย์รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ได้ประสบกับตาตนเอง ก็เล่าต่อๆ กันไป...จึงมีต้นเค้า ให้สามารถสืบสาวราวเรื่องกลับมาเรียนซักท่านเจ้าของประวัติได้...

ครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านไปวิเวกที่ปางหยาดหนาด ซึ่งอยู่ห่างจากผาแด่นไปทางทิศตะวันตก ราว ๓ กิโลเมตร มีสามเณรน้อยชื่อ เลื่อน และผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ สมผล ติดตามไปด้วย หลวงปู่ไม่ค่อยได้ออกบิณฑบาต ท่านอดอาหาร ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง สามเณรและผ้าขาวจึงต่างหาอาหารกินกันเอง คืนหนึ่งมองเห็นที่กุฏิหลวงปู่มีแสงสว่างแดงโร่ไปทั้งกุฏิ สว่างจ้าจนบอกไม่ถูก ตกใจกันว่าแสงอะไร หรือเกิดไฟไหม้ ชวนกันวิ่งไปดู ไปถึงที่กุฏิก็กลับมืด ไม่เห็นมีแสงอะไร พอกลับออกไป ก็เห็นแสงสว่างที่กุฏิอีก ! กลับไปกลับมาหลายครั้ง จนมานั่งงงกัน จะว่าตาฝาดก็เห็นเหมือนกัน รุ่งขึ้นมีโอกาสก็กราบเรียนถามท่าน ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้เทวดามาเต็มหมด มาขอฟังเทศน์

“ท่านอาจารย์เทศน์หรือเปล่าครับ”

“เทศน์” ท่านตอบ และราวกับรู้ใจศิษย์ทั้งสองที่นั่งนิ่งอ้าปากตะลึง แต่ใจคงอยากรู้เรื่องต่อแทบไม่หายใจ ท่านก็เลยบอกต่อให้ “เฮาเทศน์เรื่องพระไตรสรณาคมน์ให้ฟัง”

อีกครั้งหนึ่ง ที่มีผู้รู้เห็นเรื่องเทวดามาฟังธรรมจากท่าน คือท่านอยู่ที่บ้านไร่ม่วง ศรัทธาคนหนึ่งชื่อ แดง เห็นแสงสว่างเป็นสีแดงจ้าจับฟ้า ทางทิศที่กุฏิหลวงปู่ตั้งอยู่ก็วิ่งไปเรียก หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต (แห่งวัดป่าอัมพวัน จังหวัดเลย มรณภาพแล้ว) ให้ไปช่วยดับไฟ เพราะคิดว่าไฟไหม้ไปถึง ก็ไม่เห็นมีฟืนมีไฟอะไร แต่อย่างเคย กลับมาก็ยังเห็นแสงสว่างอย่างเก่า หลวงปู่ซามาจึงเคารพเกรงหลวงปู่มาก

รูปภาพ
หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต


หลวงปู่ซามายกย่องบารมีธรรมหลวงปู่มาก ท่านเล่าว่า ท่านเคยประสบด้วยองค์เองหลายครั้ง นอกจากที่บ้านไร่ม่วง ท่านเคยไปธุดงค์กับหลวงปู่หลายต่อหลายแห่ง ครั้งนั้นท่านทั้งสองไปวิเวกกันที่ภูวัว และภูทอก จังหวัดหนองคาย ท่านว่าเป็นที่ซึ่งมีเทพภุมเทวดามาก

“เราเองไม่เห็นอะไร...แต่ท่านเห็น” หลวงปู่ซามาท่านบอก แล้วก็เล่ารายละเอียดว่า ขณะนั้นท่านวิเวกอยู่ที่ภูทอก ในถ้ำบนเขาชั้นที่ ๕ ท่านมีคนติดตามไปด้วยชื่อ ทิดดม เห็นกลดของหลวงปู่ชอบสว่างมาก มีแสงเรืองออกโดยรอบบริเวณกลด แสงสว่างจ้าราวกับกลางวัน ในขณะมี่บริเวณห่างออกไปนั้นมืดสนิท ทั้งทิดดมและหลวงปู่ชามา ตกใจ เข้ามาดูใกล้ๆ เห็นหลวงปู่ชอบท่านนอนหลับอยู่ พอห่างออกมา กลับเห็นเหมือนท่านนั่งสมาธิ มีรัศมีแพรวพราวแสงออกจากตัว

ตื่นเช้าขึ้นมา ต่างคนต่างขอโอกาสเรียนถามว่า เป็นอะไร เพราะอะไร หลวงปู่กลับย้อนถามว่า นอกจากองค์ท่านเห็นอะไรอื่นอีกไหม หลวงปู่ชามาและทิดดมสารภาพว่า ไม่เห็น เห็นแต่แสงอยู่ในกลด ท่านเลยตอบว่า พวกตาหมากขามขี้ (สำนวนอีสาน-ตาไม่ถึง) เมื่อคืนนี้ พวกเทพมาเต็มหมดแถวนี้

“เราเองไม่เห็นอะไร...แต่ท่านเห็น”

“เราเองไม่รู้อะไร...แต่ท่านรู้”

ประโยคแบบข้างบนนี้ จะเป็นความที่ศิษย์รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน บางคนจะต้องรำพึงกันเสมอ เพราจะว่าไม่มีไม่จริง ก็ได้พบเหตุการณ์บางอย่างที่สอดคล้องกันให้อัศจรรย์ใจอยู่

รูปภาพ
พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร


ท่านพระอาจารย์คำผอง กุสลธโร เล่าว่า ท่านเคยติดตามหลวงปู่ไปอยู่ที่บ้านม่วงไข่ ซึ่งในสมัยแรกๆ นั้นยังลำบากมาก ที่พักพระเณรอยู่บนเขา ต้องลงมาบิณฑบาตที่บ้านชาวไร่เชิงเขา น้ำกินน้ำใช้ก็เช่นกัน ข้างบนเขานั้นไม่มีบ่อน้ำ ต้องลงมาอาบน้ำที่เชิงเขา และช่วยกันตักน้ำขึ้นไปใส่ตุ่มบนยอดเขา ทางชันมาก เต็มไปด้วยป่าไผ่ ซึ่งมีหนามไหน่คมคอยเกาะเกี่ยวสบง อังสะพระเณร บางทีถึงเลือดออกซิบๆ ความที่เรียก “ทาง” นั้นไม่มีเลย ต้องเดินหลีกกอไผ่ลดเลี้ยวลงมาเอง บางครั้งใบไผ่ที่ตกทับถมกัน มองดูเหมือนผืนดิน พอเหยียบเข้าก็ยุบลง ทำให้พระเณรลื่นไถลลงไหล่เขามาถลอกปอกเปิกหมด

ได้ความลำบากกัน ทั้งเวลาลงมาบิณฑบาตและตักน้ำ จะไปเรียกชาวบ้านมาช่วยทำ เขาก็กำลังยุ่งอยู่กับการทำไร่ ไถนาของเขา พระเณรก็อดบ่นกันไม่ได้

ท่านได้ยินก็เปรยว่า “เทวดาเขาคงจะทำให้หรอก”

ไม่มีใครคิดอะไรมาก เย็นวันนั้น ฝนตกใหญ่...ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา พายุก็แรง เสียงลม เสียงฝน เสียงฟ้า เหมือนภูเขาจะถล่ม

ตอนรุ่งเช้า พระเณรก็เตรียมเรื่องสบงจีวรกันอย่างทะมัดทะแมง เพื่อรับมือกับหนามไผ่ที่เคยผจญกันมาระหว่างทาง ฝนตกหนักอย่างนี้ กอไผ่จะล้มระก่ายกันขวางทาง ต้องกระโดดข้ามกันแค่ไหนก็ไม่ทราบ

ประหลาดที่สุด ที่เมื่อพอเตรียมจะลงจากเขา มองลงไปก็เห็นเป็นทางดินกว้าง ตั้งต้นจากวัดบนเขา ลงไปจนถึงที่ตักน้ำ และบิณฑบาต กอไผ่รื้อไปเป็นกอๆ แต่ก็มิได้ล้มลงกีดขวางทาง ราวกับมีมือยักษ์มากวาดป่า กอไผ่แหวกออกไปเป็นแนว แล้วแยกกอไผ่เหล่านั้นออกไปวางสองข้างทางนั้นอย่างเป็นระเบียบ

ท่านชี้แจงว่า “พญานาคเขามาทำทางให้”

เหตุนี้เวลาเที่ยวจาริกธุดงค์ไปตามยอดดอย บนเทือกเขาตามป่าดงพงลึกนั้น หลวงปู่จึงเตือนศิษย์ให้สำรวมระวัง ไม่ให้ประมาทว่า ถ้าหากไม่มีผู้คนจะเห็นหรือได้ยินแล้ว จะไม่มีอะไรอื่นอีก สิ่งลึกลับเกินกว่าที่จิตของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะรู้เห็นได้ยังมีอีกมากมายนัก

สิ่งเหล่านั้นท่านว่าแม้จะมีอยู่มากมายเพียงไร แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็น ไม่รู้ก็เหมือนไม่มี ทั้งๆ ที่ความจริง โลกนี้ไม่เคยว่างเว้นจากมวลสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งหยาบและละเอียด ซึ่งมีภพภูมิแตกต่างกัน ผู้ยังไม่เคยพบ เคยเห็น เคยรู้ จึงยังไม่ควรปฏิเสธว่า ไม่มี ไม่จริง โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติ...! และเพื่อความไม่ประมาท ควรจะสำรวมระวังในอิริยาบถต่างๆ ให้งดงามตลอดเวลา

ให้งดงามทั้งกาย...กิริยาที่ปรากฏภายนอก

ให้งดงามทั้งวาจา...ที่เปล่งสำเนียงออกมา และ

ให้งดงามทั้งใจ...ที่นึกคิด ปรุงแต่ง อย่านึกว่าไม่มีใครรู้ ใครได้ยิน “ใจ” ของเรา...!!

ปรจิตวิชาหรือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นนี้ หลวงปู่รู้รวดเร็วมาก ทักจิตของศิษย์ผู้คิดผิดได้โดยถูกต้อง ไม่มีผิดเลย ในระยะหลังๆ นี้ ท่านมักจะ “ปล่อยวาง” ไม่ค่อยอยากทักแล้ว

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


๓๕. ในโอกาสหนึ่งที่ไปโปรดศิษย์ที่เวียงจันทน์

ความจริงเหตุการณ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้แล้วในหนังสือ “จันทสาโรบูชา” อันเป็นชีวประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร แต่โดยที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องไม่เฉพาะแต่กับหลวงปู่หลุยเท่านั้น แต่ได้เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ชอบด้วย สมควรจะนำมารวมพิมพ์ไว้กับหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ชีวประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะตอนที่เล่าถึงเรื่องการได้ “กลิ่นหอม” อันเป็นเรื่องที่บรรดาศิษย์หลายคนจะยืนยันถึงการได้ “กลิ่นหอม” เหล่านี้เสมอ เราไม่ทราบว่า กลิ่นอะไร...กลิ่นดอกไม่ชนิดไหน หอมอ่อน...หอมประหลาด...

พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุยบอกว่า หอมกลิ่นศีลของท่าน...!

...ใช่...แต่ละองค์ ท่านก็จะมีกลิ่นหอมที่แตกต่างกัน ให้เราสัมผัสกันได้

หลวงปู่เทสก์
หลวงปู่ชอบ
หลวงปู่หลุย
หลวงปู่ขาว
ท่านพระอาจารย์จวน


กลิ่นดอกไม้ กลิ่นหมาก...เป็นสัญลักษณ์เฉพาะองค์ท่าน เป็นสัญญาณให้ศิษย์รับรู้ว่าท่านกำลังแผ่กระแสเมตตามาให้...หรือบางครั้งองค์ท่านก็อาจจะกำลัง “ดู” เราอยู่ หรือ “มาดูอยู่ใกล้ตัวเรา” นี่เอง...!

...ให้เร่งทำความเพียรภาวนาต่อไป...

จากหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน้า ๑๘๓-๑๘๖

ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์หลวงปู่ขาว อนาลโยด้วย แต่ท่านมอบให้ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ และผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไป แล้วให้ไปพักอยู่ที่วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์

รูปภาพ
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม


หลังจากที่ทางเวียงจันทน์นิมนต์แล้ว มีสุภาพสตรีคนไทยท่านหนึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้าน เธอเล่าว่า หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ซามา หลวงปู่บุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา เมื่อมาถึงบ้านเธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปู่ชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อนก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าให้หลวงปู่ชอบเอง หลวงปู่หลุยท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องขอปรนนิบัติ หลังจากการถวายจังหันแล้วก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า ได้ยินข่าวว่าพระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่าถ้าท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่ เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า หลวงปู่มีลูกศิษย์มากจะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร

เธอเล่าว่า ในคืนนั้นเธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นาน ก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่าทั้งสามีภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน

รุ่งขึ้นพอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่า “ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย” หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า “ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว” ถามว่า “ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า “ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน” ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงรำพันกันระหว่างสามีภรรยาก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่าถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง

เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เธอบอกว่า ทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแลตน เพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้ หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน

วันหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้ เธอเล่าว่า กลิ่นในครั้งก่อนๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่าเทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า “ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ” ง่ายๆ เช่นนี้ ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้นจวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร

ท่านบอกว่า “กลับเครื่องบิน”

สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่า จะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด

อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์ แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่านมาในเครื่องบินลำนั้นด้วย ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องยินได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินจะได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา หลวงปู่ท่านก็ยิ้มๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖-๗ คน สามีเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่า เราจะขอไอ้งั่งเถอะ “ไอ้งั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้น ออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่าขอไอ้งั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ท่านก็ควักออกมาจากย่าม และก็ได้พระงั่งจริงๆ

เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์สามารถทำสิ่งใดๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูด ไม่แสดงเท่านั้น เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดีสิ่งที่เห็นได้ชัดคือความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุยระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้

รูปภาพ
คณะศิษย์พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (จากซ้ายไปขวา)
๑. หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)
๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี (อายุ ๗๑ ปี)
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๔. หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าอัมพวัน จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)



(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 06 ธ.ค. 2009, 09:57, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2009, 07:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
(ยืน) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ (นั่งรถเข็น) หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ณ วัดภูริทัตตวนาราม มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา



๓๖. หลวงปู่กับการเดินทางไปนอกเขตประเทศไทย

ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม หลวงปู่ได้ธุดงค์เข้าป่าลึก ขึ้นเขาสูงเป็นประจำ หลายต่อหลายครั้งที่ท่านได้เดินทางเข้าไปในเขตประเทศซึ่งมีชายแดนติดต่อกับไทย คือ ลาวและพม่า โดยมีประสบการณ์นานาชนิดซึ่งเป็นที่เล่าขานกันต่อๆ มาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในบั้นปลายแห่งชีวิต พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านได้รับนิมนต์ให้กลับไปเยี่ยมพม่าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับ หลวงปู่หลุย จันทสาโร และคณะสงฆ์อีกร่วม ๑๐ รูป เช่น หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส และท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ เป็นอาทิ

รูปภาพ
หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส


“อยากจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร” ท่านบ่นถึงเมืองเก่าๆ ในพม่าที่ท่านเคยธุดงค์ผ่านไป และจำพรรษาอยู่ถึง ๒ รอบ รวมเกือบ ๖ พรรษา แต่การไปครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่ร่างกุ้ง ได้มีโอกาสเพียงกราบพระเจดีย์ชะเวดากอง และชมสถานที่โดยรอบกรุงร่างกุ้ง และไปเมืองหงสาวดีเท่านั้น ทางการพม่ายังจำกัดเขตการเดินทางของชาวต่างชาติอยู่ หลวงปู่จึงไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเมืองพม่า ซึ่งท่านได้บุกป่าฝ่าดง ข้ามเขาสูงเข้าไปจากทางภาคเหนือของเมืองไทย เมืองพวกนั้นท่านว่าชื่อเมืองปัน เมืองยอง อยู่ทางด้านเหนือ สูงกว่าเมืองร่างกุ้งมาก

นอกจากพม่าและลาว ในภายหลังท่านก็ได้รับนิมนต์ไปปีนัง มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา สังเกตว่าการรับนิมนต์นั้น หลวงปู่มุ่งจะไปโปรดญาติโยมที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย ซึ่งหลายครั้งที่ท่านยอมรับว่า เคยมีชีวิตผูกพันเกี่ยวข้องกับท่านมาแต่ในภพชาติก่อนๆ

เฉพาะที่สหรัฐอเมริกานั้น หลวงปู่ได้เดินทางไปโปรดญาติโยมถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ไปในงานวางศิลาฤกษ์ศาลาของ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ครั้งที่สอง เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้น เพื่อเป็นประธานในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วัดภูริทัตตวนาราม เช่นกัน ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และครั้งที่สาม หลวงปู่รับนิมนต์เมตตาไปจำพรรษาให้ ณ วัดพุทธรัตนราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส ในปีพรรษา พ.ศ. ๒๕๓๔

โดยที่ปัจจุบันนี้ ในสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีคนไทย ลาว เขมร อพยพไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่มาก แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพกระจายกันไปทั่วทั้งประเทศ แทบทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน จึงได้มีพระภิกษุสงฆ์จากไทยรับนิมนต์จากศรัทธาญาติโยมไปตั้งวัดให้นับเป็นสิบๆ วัด นับเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของชาวไทยและเพื่อนชาวพุทธชาติอื่นๆ ด้วย เมื่อทุกคนทราบข่าวการเดินทางไปจากเมืองไทยของหลวงปู่แต่ละครั้ง ก็จะมีผู้คนมาคอยรอรับที่สนามบินอย่างเนืองแน่น

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญาติโยมไทย-ลาวที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ ก็มักจะนิมนต์ท่านไปโปรดตามสถานที่ต่างๆ แล้วแต่โอกาสอันควร ท่านมีเมตตาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดติดตามท่านไปว่า ที่วัดที่ท่านไปพัก เช่นวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ วัดเมตตาวนาราม เมืองแซนดิเอโก วัดญาณรังษี ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี ซี รัฐเวอร์จิเนีย ตอนกลางคืนมีพวกเทวดามานมัสการและขอฟังธรรมกับท่าน บางทีก็มามาก บางทีก็มาน้อย สำหรับที่วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นที่ท่านอยู่จำพรรษานั้น เทวดามาทุกวันเลย ถ้าไม่มาตอนกลางคืนก็มาตอนกลางวัน โดยมากจะพากันมาตอนกลางคืน

การที่เทวดาจะมากราบหลวงปู่ตามวัดต่างๆ นี้ แม้เวลาทำวัตรสวดมนต์ เขาก็มาร่วมอนุโมทนาด้วย อยู่ในบริเวณศาลาก็มี อยู่นอกศาลาก็มี มากันมากมาย ส่วนมากจะเป็นเทวดาผู้หญิงมากกว่าเทวดาผู้ชาย

คราวหนึ่งญาติโยมชาวลาวอพยพที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ได้มีศรัทธานิมนต์หลวงปู่พร้อมคณะลูกศิษย์ผู้ติดตามไปโปรดพวกเขายังเมืองบัฟฟาโล เพราะที่นั้นยังไม่มีวัดพุทธศาสนาที่จะทำบุญด้วย

ท่านโปรดเขาอยู่ที่เมืองบัฟฟาโลนั้นระยะหนึ่ง ท่านเล่าว่า ที่นั้นเคยเป็นสมรภูมิรบได้มีพวกอินเดียนแดงที่สู้รบกันสมัยก่อนแล้วตายไปพากันมาขอส่วนบุญมากมาย ต่อมาญาติโยมนิมนต์ท่านจาริกต่อไปยังน้ำตกไนแอการ่าที่อยู่ริมเขตแดนระหว่างอเมริกาและแคนาดา

ไปถึงที่น้ำตกไนแอการ่าสักพัก บนท้องฟ้าซึ่งปลอดโปร่งแจ่มใส มีแสงแดดเจิดจ้า ก็กลับมีเมฆดำเคลื่อนมาบังอย่างกะทันหัน แล้วมีฝนตกลงมาอย่างหนัก อย่างแทบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้คณะติดตามไปต้องรีบพากันหาที่หลบฝนกันอย่างจ้าละหวั่น เพราะเป็นที่แจ้งไม่มีที่กำบังเลย และก็ไม่มีวี่แววเรื่องฝนจะตกมาก่อน ฝนตกหนักสักพักจึงหยุด พอออกจากที่หลบฝนสักประเดี๋ยว ฝนก็ตกอีกเป็นรอบที่สอง ทำให้ต้องหลบเข้าหาที่มีหลังคามุงกันชุลมุน

มีศิษย์บางคนสงสัยเรื่องฝนครั้งนี้ เพราะปกติเวลาช่วงนี้ของปีเป็นฤดูร้อนที่มีอากาศแจ่มใสตลอด ปราศจากฝนมาหลายเดือนแล้ว และพยากรณ์อากาศซึ่งเคยแม่นยำตลอดมา ก็มิได้กล่าวเลยว่าวันนั้นจะมีฝน ทำไมจึงมีฝนขึ้นมาได้ ฝนตกลงมามากเสียด้วยและตกถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา จึงได้กราบเรียนถามท่าน

ท่านตอบว่า “พญานาคเขามากราบ”

“พญานาคที่ไหนขอรับ”

“ที่นี่...ไนแอการ่า”

“พญานาคมา ? ฝนก็มา...????”

“อือ พญานาคมา”


ผู้เขียนนึกถึงที่ท่านเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า คราวหนึ่งท่านอยู่กับหลวงปู่แหวนที่วัดห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ ปีนั้นเชียงใหม่แห้งแล้งอย่างมาก พวกญาติโยมก็พากันมาอ้อนวอนท่าน ขอให้เมตตา ต้นผลหมากรากไม้จะเหี่ยวแห้งแล้งกันตายหมดแล้ว สวนลำไย นาข้าวจะล่มหมดแล้ว ตุ๊เจ้าไม่ช่วยคงจะแย่ไปตามกัน ท่านทั้งสองเห็นใจญาติโยมที่หน้าแห้งอกไหม้ไส้ขม พากันมาร้องทุกข์ด้วยน้ำตาปริ่มตา ก็ช่วยกันสวดมนต์ขอให้ฝนตก

ท่านเล่าว่า ฝนตกหนักติดต่อกันสามวันสามคืน น้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเมือง ขอพญานาคเขา เขามาช่วยกันเต็มที่ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ลูกเล็กเด็กแดง ตัวเล็กตัวน้อย ชูคอพ่นน้ำกันเป็นฝอย เต็มไปหมด

จริง...พญานาคมา ฝนก็มา

รูปภาพ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ-หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี-หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส


ท่านได้จาริกต่อไปที่ วัดญาณรังษี เมืองฟอลส์เชิร์ช รัฐเวอร์จิเนีย ระหว่างพักที่วัดนี้ คืนสุดท้ายศรัทธาญาติโยมชาวไทย ชาวลาว มามาก พากันร่ำร้องขอฟังเสียงหลวงปู่ชัดๆ บางคนได้ข่าวเรื่องราวที่มีเทพมากราบคารวะท่านอยู่มากแล้ว จึงถือโอกาสเรียนถามย้ำถึงเรื่องราวที่ได้ยินมา บังเอิญครั้งนี้ได้มีการบันทึกเทปคำสนทนา “ถาม-ตอบ” ช่วงนั้นไว้ได้ ถึงเสียงตอบของหลวงปู่จะแผ่วเบาอยู่มาก แต่ก็ฟังได้ชัด

ผู้เขียนได้นำข้อความที่ถอดบันทึกเทปช่วงนั้นมาลงพิมพ์พอเป็นตัวอย่างดังนี้

หลวงปู่เริ่มด้วยการปฏิสันถาร ถามโยมหญิงผู้มีอายุคนหนึ่ง

หลวงปู่ : มาอยู่นี่นานหรือยัง

โยม : มาอยู่นี่ ๕-๖ ปีแล้วค่ะ มาอยู่กับลูกสาวค่ะ (ตอบพร้อมกับน้ำตาคลอตาด้วยความปลื้มใจ ที่หลวงปู่เหนื่อย ไม่ใคร่พูด แต่ยังอุตส่าห์ทักทายอย่างเมตตา)

คำถาม : มาอเมริกา มีเทวดามากราบหลวงปู่ไหม

หลวงปู่ : มา

คำถาม : มาหลาย บ่

หลวงปู่ : หลายอยู่

คำถาม : อยู่วัดนี้ (วัดญาณรังษี) มี บ่

หลวงปู่ : มีอยู่ วัดนี้มีอยู่

คำถาม : เทวดาสวยกว่าโยมอยู่นี่หรือเปล่า หรือว่าพอๆ กัน

หลวงปู่ : งามอยู่

คำถาม : อยู่วัดที่เคลเลอร์ มีเทวดาบ่ (วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ ที่หลวงปู่ไปจำพรรษาที่อเมริกา)

หลวงปู่ : มี

คำถาม : อยู่เท็กซัส ท่านเล่าว่า ตอนกลางคืนมีเทวดามากราบท่าน มาฟังธรรมกับท่าน

โยมผู้หญิง : เทวดาผู้หญิงหรือเทวดาผู้ชายมากกว่ากันเจ้าคะ

หลวงปู่ : ผู้หญิงมากกว่า

คำถาม : เทวดามาวันนี้ เป็นผู้หญิงสาวหรือคนแก่มากกว่ากัน

หลวงปู่ : ผู้หนุ่มหลายกว่า

โยมผู้หญิงอีกคนหนึ่ง : พญานาคมีจริงไหมคะ หลวงปู่

หลวงปู่ : มีจริง

คำถาม : ที่ไนแอการ่ามีพญานาค บ่ ปู่

หลวงปู่ : มี

คำถาม : วันนั้นมีพญานาคมาหรือเปล่า เขามาหาปู่ บ่

หลวงปู่ : มา

พระองค์หนึ่ง : นั่นสิ พญานาคมา ฝนก็มา วันนั้นถึงฝนตกหนัก ตกแรง ทั้งๆ ที่ฝนไม่เคยตกแถวนั้นมาหลายเดือนแล้ว แต่กลับตกเฉพาะบริเวณนั้น...บริเวณปู่อยู่เท่านั้น รอบๆ ฝนไม่ตกเลย

คำถาม : เมื่อสักครู่ สวดมนต์ สวดชัย (ชัยมงคล) สวดธัมมจักร มีเทวดามาฟัง บ่

หลวงปู่ : มี

ผู้ถามบ่น : เมื่อกี้มีเทวดามาฟังสวดมนต์ด้วย แต่เสียดายตาพวกเราไม่เห็นเลย (เรียนถาม) เทวดามาเท่ากับโยมที่มาสวดมนต์หรือมามากกว่านี้ ปู่

หลวงปู่ : หลายกว่านี้

พระ : แสดงว่า เทวดาเขาขยันมากกว่าพวกเฮามนุษย์อีก พวกเฮาต้องอย่าขี้เกียจขี้คร้าน ให้ขยันสวดมนต์ฟังธรรมให้เหมือนเทวดา ปฏิบัติให้เหมือนหลวงปู่จะได้ “เห็น” อย่างท่าน

โยม : ตอนนี้ หูหลวงปู่ได้ยินดีไหมคะ

หลวงปู่ : ได้ยิน

โยม : ตาเห็นดีบ่ เห็นไกลบ่

หลวงปู่ : เห็น

คำถาม : มาเมืองนิวยอร์ก เมืองวอชิงตัน ดี ซี ม่วนบ่ ปู่

หลวงปู่ : ม่วนอยู่

โยม : หลวงปู่อายุเท่าไรแล้วคะ ?

หลวงปู่ : เก้าสิบ

โยม : หลวงปู่ไปอยู่พม่ากี่ปี

หลวงปู่ : ๖ ปี

คำถาม : หลวงปู่เห็นหลวงปู่ตื้อครั้งแรกที่ไหน

หลวงปู่ : เชียงใหม่

คำถาม : พบหลวงปู่แหวนอยู่ที่ไหน

หลวงปู่ : เชียงใหม่

คำถาม : หลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวนกี่พรรษา

หลวงปู่ : ๓ พรรษา

คำถาม : หลวงปู่ตื้ออยู่ด้วยกันกี่พรรษา

หลวงปู่ : ไม่เคยอยู่ด้วยกัน

คำถาม : ตอนที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิอยู่ที่ไหนนะ หลวงปู่

หลวงปู่ : อยู่อุดร

คำถาม : เกือบออกบ่ทันน้อ ใครเป็นคนไปเรียกหลวงปู่ออกมา

หลวงปู่ : โยมแม่

คำถาม : เป็นโยมแม่เก่าหลวงปู่ เป็นเทวดาบ่ ปู่

หลวงปู่ : อือ

คำถาม : ปีนั้นจำพรรษากี่องค์ปู่...ปีที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิ ?

หลวงปู่ : จำพรรษา ๑๐ องค์

คำถาม : มีหลวงปู่หลุยบ่ ปู่

หลวงปู่ : มีอาจารย์หลุย

คำถาม : มีเณรบ่ หลวงปู่

หลวงปู่ : มีเณร ๒ องค์

คำถาม : ตอนนั้นมีเสือบ่ หลวงปู่...ตอนอยู่อุดร

หลวงปู่ : มีอยู่

คำถาม : อยู่ในที่นี้ มีลูกหลานหลวงปู่ แต่ชาติก่อนบ่

หลวงปู่ : มี

คำถาม : เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย

หลวงปู่ : เป็นผู้หญิง


รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


๓๗. ปฏิปทาในปัจฉิมวัย

ปกติหลวงปู่เป็นผู้ “อยู่ป่าอยู่เขา” เป็นนิสัย สมกับที่ท่านถือตนเป็นศิษย์ท่านพระมหากัสสปะ ไม่ค่อยจะออกมาสู่ “เมือง” และไม่ค่อยจะอยู่เป็นประจำที่ แม้แต่อยู่ตามป่าตามเขาแล้ว ท่านก็ยังวิเวกต่อไป จากป่านี้ไปป่าโน้น จากเขาดอยนี้ไปเขาดอยโน้น จากถ้ำนี้ไปสู่ถ้ำโน้น...มิได้อยู่ประจำเป็นที่ ท่านเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังสมัยเมื่อท่านยังเดินได้เป็นปกติว่า

“ถ้าเราเดินไม่ไหวก็จะให้เพื่อนหามไป ถ้าไม่มีใครหามก็จะกลิ้งไป ถ้ากลิ้งไม่ไหว ก็จะเอาคางเกาะไป”

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านภาวนาเห็นกระดูกของตนเอง แตกละเอียดข้างหนึ่งทางด้านซ้าย ท่านยังไม่ทันพิจารณาแน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร เย็นนั้นก็เริ่มมีอาการปวดอย่างมากตามตัว โดยเฉพาะทางแขนขาข้างซ้าย พระเณรไปช่วยนวด แต่ท่านก็เพียงรู้สึกสบายเวลานวด...หยุดเข้าก็กลับปวด ไม่ทุเลา ท่านเริ่มรู้สึกว่า ร่างกายทางซีกซ้ายชามากขึ้น แต่ท่านก็ยังฝืนเดิน วันหนึ่งกลับมาจากบิณฑบาต ท่านประคองตัวมาได้พอถึงวัด ก็ต้องล้มลง เพราะร่างกาย แขน ขา ทางซีกซ้ายนั้นชา หมดความรู้สึกไปหมด

ท่านเล่าว่า ท่านได้มีนิมิต เห็นคนร่างสูงใหญ่มาขวางประตูไว้ ถามท่านว่า จะไปวันนี้แน่หรือ ท่านตอบว่า เดี๋ยวก่อน โปรดสัตว์สักหน่อยเสียก่อน คณะศิษย์พาท่านไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รวมทั้งได้มีผู้เสนอการรักษาทั้งแบบปัจจุบันและแผนโบราณ การทำกายภาพบำบัด และนวดเส้น ฯลฯ แต่ก็มิได้หาย เดินได้อย่างเคย ความเจ็บปวดได้ทุเลาหายไป หากท่านคงเป็นอัมพาตทางซีกซ้ายมาแต่นั้น ต้องมีศิษย์คอยพยุงลุก พยุงนั่ง ช่วยเหลือทุกอิริยาบถ

และถึงท่านจะอาพาธเช่นนี้ แต่ธุดงคนิสัยของท่านก็มิได้ละลดลง หลวงปู่ยังคงเมตตาเที่ยวไปโปรดญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหาตามเมืองต่างๆ อยู่เป็นประจำ และยังคงกลับไปวิเวกตามสถานที่ต่างๆ ที่ท่านเคยเดินธุดงค์มาแล้ว เช่น ที่บ้านม่วงไข่ บ้านสานตม...จังหวัดเลย ผาแด่น ผาเด่ง ห้วยน้ำริน...จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาทิ เพียงแต่มิได้เป็นการธุดงค์ด้วยเท้าอย่างเก่า แต่เป็นการธุดงค์ด้วนรถ...รถเข็น

ปฏิปทาในปัจฉิมสมัยของหลวงปู่จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป

ปกติตอนเช้า หลวงปู่จะให้พาออกบิณฑบาต มีพระเณรหรือผ้าขาว หรือฆราวาสเข็นรถให้ท่านนั่งออกโปรดญาติโยมให้ได้ใส่บาตรเป็นประจำ ระยะในปีสองปีหลังนี้ ท่านจะให้พาออกเป็นบางวัน หรือเฉพาะโอกาสสำคัญๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา งานกฐิน ผ้าป่า...เป็นต้น แต่ทุกวันตอนเช้า พอตื่นนอน ท่านมักถามพระเณร ผ้าขาวเสมอว่า “ไปบิณฑบาตแล้วบ่”

ท่านฉันเช้าเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. ฉันเสร็จแล้วท่านจะจำวัตรประมาณ ๒๐-๓๐ นาที พระลูกวัดจะฉันทีหลังท่านเสมอ ตอนเพล ท่านก็ฉันได้นิดหน่อย แต่ไม่มากเหมือนตอนเช้า เมื่อก่อน ท่านฉันมื้อเดียวเหมือนกัน ครั้นเมื่อท่านป่วยเป็นอัมพาต แพทย์จึงนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ ร่างกายของท่านซึกข้างซ้าย ตั้งแต่ ไหล่ แขน ขา มือ ใช้การไม่ได้เลย ส่วนทางซีกขวายังใช้การได้ดี อย่างไรก็ดี ทุกส่วนของร่างกายท่านยังรู้สึกเจ็บ รู้สึกคันได้ เวลามดแมลงไต่ ท่านก็รู้สึกตา หู ของท่านยังเห็นได้ ได้ยินได้ดี เวลาฉันอาหาร ลิ้น ฟัน ท่านเคี้ยวลำบาก ฉันไม่ได้มาก แพทย์จึงนิมนต์ให้ฉันเพลช่วย เพื่อจะได้มีอาหารเยียวยาธาตุขันธ์เพียงพอ ท่านก็อนุโลมตาม บางครั้งและหลายๆ ครั้ง ท่านไม่อยากฉันเพลด้วยซ้ำ แต่ท่านไม่ชอบขัดศรัทธา

ฉันเพลเสร็จ ท่านจะงีบสักครู่หนึ่ง พอตื่นท่านจะต้องเปลี่ยนที่ไปที่อื่น หรือไม่ก็ให้คนเข็นรถไปดูรอบๆ บริเวณวัด ชาวบ้านจะมาคอยกราบท่านได้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่ง

ตกเย็นประมาณบ่าย ๔ โมง จะนิมนต์ท่านสรงน้ำด้วยน้ำอุ่นทุกครั้ง เสร็จแล้วถวายน้ำร้อน น้ำชา และนวดถวายท่านพร้อมไปด้วย ถ้ามีแขก ท่านจะรับแขกช่วงที่สรงน้ำเสร็จ เพราะอารมณ์ท่านแจ่มใส เสร็จแล้ว ท่านจะให้เข็นรถพาเที่ยวรอบๆ วัดอีก ส่วนมากจะเป็นการเข็น “จงกรม” กลับไปกลับมา ภายในศาลาหลังเตี้ย ๆ ติดกับพื้นดิน

การ “จงกรม” ด้วยรถเข็นนี้ จะนานประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง จนคนเข็นต้องเปลี่ยนชุดกัน กำหนดเวลาขนาดนี้เข้าใจว่า คงเป็นประมาณเท่ากับที่ท่านเคยเดินจงกรมเองเวลาสุขภาพท่านยังดีอยู่ ยัง “ย่าง” เดินได้เอง

กลางคืน ท่านจะเข้าพักประมาณ ๒๐.๓๐ น. ประชุมทำวัตรเย็น ถ้ามีญาติโยมมามาก ท่านจะออกมานั่งเป็นประธาน ท่านจะยกมือซีกข้างดีขึ้นด้วยทุกครั้ง ก่อนทำวัตรสวดมนต์ และตอนสวดจบ

หลวงปู่จำวัตรไม่เป็นเวลา บางคืน ๒๒.๐๐ น. บางคืน ๒๓.๐๐ น. บางคืนสองยามหรือดึกกว่านั้น ถ้ามีญาติโยมอยู่คุยด้วย ท่านจะเมตตาอยู่ด้วยจนดึกดื่นก็มี

นั่นเป็นกิจวัตรนามเมื่ออยู่วัด แต่สำหรับกรณีที่มีการเดินทาง จะผิดแผกไปบ้างกล่าวคือ

ตอนเช้า ท่านจะตื่นก่อนลูกศิษย์เสมอ และจะเร่งให้รีบเตรียมของขึ้นรถ ใครช้าหรือตื่นสายก็ไม่ได้ไปกับท่าน...นี่พูดถึงการไปฉันเช้าข้างหน้า ฉันเช้า ณ จุดใดจุดหนึ่งข้างหน้า เสร็จแล้วไปต่อ ท่านใช้รถเป็นที่ฉันเช้า และจำวัตรไปด้วย พอถึงเพลที่ไหน ก็ฉันที่นั่น บางทีก็ใช้ที่ใต้ร่มไม้ข้างทาง บางทีก็ฉันบนรถ

มีญาติโยมศรัทธาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้สร้างกุฏิอย่างวิจิตรพิสดาร มูลค่านับแสนๆ ล้านๆ บาท กล่าวถวายเสร็จ ท่านก็จะเมตตาอยู่ให้บ้างในตอนระยะแรก ไม่นานท่านจะย้ายไปพักกุฏิหลังอื่น กุฏิที่ท่านโปรดพัก มักจะเป็นกุฏิหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าหรือแฝก พื้นเป็นไม้ไผ่ทุบ ที่เรียกว่า “ฟาก” ยกพื้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย พอให้ข้างล่างได้มีที่สุมไฟไล่ยุง หรือให้ความอบอุ่นได้บนยอดดอย ทางจังหวัดเลยหรือเชียงใหม่ อากาศจะหนาวมาก แทบไม่เคยมีหน้าร้อน

ท่านว่า “สมัยท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น อาจารย์ของท่าน) ก็อยู่อย่างนี้ สุมไฟอย่างนี้เหมือนกัน” และว่า “ที่ได้ธรรมะมาสั่งสอนอบรมหมู่คณะ ก็ได้มาจากกุฏิที่มุงด้วยหญ้า หลังเล็กๆ ปูด้วยฟากอย่างนี้แหละ !”

ท่านไม่สนใจให้ความสำคัญแก่เสนาสนะที่อยู่อาศัยเลย บางทีเขานิมนต์ท่านไปพักที่วัดที่สร้างใหม่ๆ กุฏิวิหารถาวรไม่มี ท่านก็พักอยู่ได้ หรือแม้แต่กางเต็นท์ท่านก็พักได้...อย่างสบาย !

การขบฉัน ก็มิได้เอ่ยปากขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ สุดแท้แต่ศรัทธาญาติโยมจะนำมาถวาย เป็นภาระหน้าที่ของแม่ครัวกับผู้ติดตามที่จะคอยดูแลสังเกตเท่านั้นว่า ท่านชอบฉันอะไร หรืออาหารอย่างใด ถูกหรือไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของท่าน

หลวงปู่ท่านไม่ชอบ “ใส่ฟัน” ท่านว่า “มันเคือง” ปัจจุบันนี้ท่านเหลือฟันจริงอยู่เพียง ๔ ซี่เท่านั้น หารที่จะฉันได้ จึงต้องเป็นอาการอ่อนๆ นิ่มๆ หรือเหลวๆ ส่วนรสของอาหารนั้นจะฉันเผ็ด หรือใส่พริกไม่ได้เลยสักเม็ดเดียว ส่วนจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวต้ม ฉันได้ทั้งนั้น

หากมีการเจ็บป่วย ท่านไม่ชอบฉันยาเลย โดยเฉพาะยาที่มีรสขม ท่านบอกว่า “บ่สู้” การรักษาพยาบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ถ้าแพทย์ทำให้เจ็บ เช่นฉีดยา ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด ท่านก็ไม่เอา เคยมีคนเรียนถามท่านว่า “ถ้าหมอจะผ่าตัด จะให้ผ่าบ่ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “บ่ให้ผ่า นอกจากบ่รู้สึกตัว”

ปกติ ท่านฉันน้ำน้อยมาก เฉลี่ยโดยประมาณ วันหนึ่งไม่เกิน ๒ แก้ว (รวมทั้ง น้ำร้อน น้ำชาด้วย) จะฉันเฉพาะน้ำสะอาดธรรมดา จำพวกน้ำอัดลม น้ำส้มคั้น ท่านจะจิบให้เจ้าของ ผู้ถวายได้มีศรัทธาชื่นใจเท่านั้น

บุหรี่ หลวงปู่สูบได้ทุกยี่ห้อ แต่ก็เพียงพ่นควันเล็กน้อย ที่โปรดมากคือ บุหรี่ใบตอง (ยาเส้นตามพื้นบ้าน) รองลงมาคือ บุหรี่ขี้โย เคยมีศิษย์บางคนมาขอร้องไม่ให้ท่านสูบ ท่านว่า “สูบมาแต่เป็นเด็กน้อยเลี้ยงควาย จะให้เลิกได้จั๋งได๋” และบางครั้งก็ว่า “สิสูบจนถึงวันเข้าหีบ (โลง) พู้นเหละ”

ในช่วงปัจฉิมวัยที่หลวงปู่มีอายุ ๙๐ พรรษากว่าแล้ว ยังมีความอดทนเป็นยอด ท่านจะไม่เคยบ่นให้ได้ยินเลยว่า ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหวัด นอกจากพระผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตเอง กราบเรียนถามเอง บางครั้งท่านปวดหัวอยู่ตั้ง ๓ เดือน มีพระไปถามขึ้น ท่านจึงยอมบอก

เวลานั่งรถ ท่านกลั้นปัสสาวะครั้งละนานๆ เช่น ตั้งแต่กรุงเทพฯ ตลอดถึง เมืองเลย พิษณุโลกตลอดเชียงใหม่ ก็มี...นานเท่านาน ไม่ว่ากี่ชั่วโมง จะไม่ปริปากบ่น จากเมืองเลย - กรุงเทพฯ, เมืองเลย - เชียงใหม่, เชียงใหม่ - พะเยา, พะเยา - เชียงราย, เชียงราย - เชียงใหม่, หาดใหญ่ - ปีนัง, หาดใหญ่ - ภูเก็ต, เมืองเลย - ศรีสะเกษ, เมืองเลย - บ้านแพง, บ้านแพง - นครพนม, นครพนม - มุกดาหาร, กรุงเทพฯ - จันทบุรี ฯลฯ

ท่านนั่งอยู่ท่าเดิม ไม่ขยับเขยื้อน พระเณรผู้ติดตามไม่พาพัก ท่านก็ไม่พัก

ท่านชอบ “ไป” จริงๆ ยิ่งที่ลำบากทุรกันดาร ท่านยิ่งมักไป จะอุ้ม จะหามไป ท่านก็ไม่ว่า หลวงปู่นั่งรถได้ทุกระบบ แล้วแต่จะจัดถวาย ตั้งแต่ราคาเป็นล้านๆ จนถึงรถไถ รถอีแต๋น ท่านก็ยังเคยนั่งมาหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ท่านอยู่ในสภาพเคลื่อนไหวธาตุขันธ์ลำบาก ดูเหมือนลำบากมากเท่าใด ท่านก็ยิ่งชอบ ยิ่งสนุก ยิ้มได้บนความลำบากนั้น ถ้าท่านต้องการจะ “ไป” แล้ว ต่อให้ฝนตก ฟ้าร้อง แดดเปรี้ยง พายุกระหน่ำ ท่านก็จะไปและต้องไปให้ได้

ท่านจะอยู่วัดได้ไม่นาน สักวันสองวัน ท่านก็ “ไป” แล้ว พระเณรหนุ่มน้อยยังต้องยอมแพ้ท่าน ต้องเปลี่ยนวาระกันไปกับท่าน งานนิมนต์ หรืองานพิธีต่างๆ ท่านไม่โปรด ท่านชอบไปตามสบายของท่าน ถ้ามีคนมานิมนต์ ท่านมักพูดว่า “ถ้าขัดข้องกะบ่ไป ถ้าบ่ขัดข้องกะไป” หรือ “ถ้าอยู่ดี สบายกะไป” และ “ถ้าเอารถมารับกะไป บ่เอารถมารับ กะบ่ไป” ทำนองนี้

เคยมีคนปรารถนาดี เสนอขอจัดรายการเดินทางถวายให้ท่านโดยละเอียด เช่นว่า นิมนต์อยู่ที่นั่น...เท่านั้นวัน อยู่ที่นี่...เท่านั้นวัน ไปที่นั่น...ที่นี่ วันนี้ วันนั้น...ฯลฯ ก็เคยลำบากมาแล้ว เพราะบทท่านจะไป ท่านไม่ได้นึกถึงงานพิธีหรือกำหนดการอะไร ถ้ากรณีมีคนมาชี้แจงอธิบายเหตุผล ขอนิมนต์ให้อยู่ เพราะญาติโยมศรัทธาจะมาจากที่โน่น ที่นี่ มาทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ขอให้หลวงปู่อยู่เป็นประธาน ท่านมักพูดว่า “ผู้อยู่กะรับไป ผู้ไปกะไป” ดังนี้

การไป...การอยู่ของท่าน มิได้กำหนดแน่นอน ว่าจะอยู่ที่นี่ หรือที่นั่น เท่านั้น เท่านี้คืน สุดแท้แต่ท่านจะสะดวกสบาย ไม่ว่าในพรรษา หรือ นอกพรรษา ท่านไปทั้งนั้น แต่ถ้าในพรรษา จะกำหนดไว้ไม่เกิน ๗ วัน ต้องนิมนต์ท่านกลับมาเอาราตรีที่วัดอธิษฐานพรรษาเสียก่อน นอนสักสองคืนแล้วจึงไปต่อ

ไปกันมากๆ จนครบทุกที่ที่เคยไป บางครั้งพระเณรเรียนถามว่า “จะไปไหนต่อครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “จะไปไหนกะไป” หรือ “แล้วแต่หมู่คณะจะพาไป”

ถ้าบางโอกาสถามว่า “จะไปหรือจะอยู่ครับ หลวงปู่” ท่านมักจะตอบว่า “หมู่พาไปกะไป หมู่อยู่กะอยู่”

บางครั้ง เวลาขึ้นนั่งรถแล้ว มีที่สามารถเลือกไปวิเวกได้หลายๆ ที่ เรียนถามว่า “จะไปไหนดีครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “แล้วแต่รถจะพาไป”

ด้วยการไป-การมาแบบปัจจุบันทันด่วนของหลวงปู่ ทำเอาลูกศิษย์ลูกหาผู้ติดตาม ตั้งตัวไม่ติดหลายต่อหลายครั้ง เพราะมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นส่วนมาก บทท่านจะปุบปับ ใครเร็วก็ทัน ใครช้าก็พลาด และเวลาหลวงปู่ไปเยี่ยมที่บ้าน ลูกศิษย์บางท่านยังไม่ได้กราบ หลวงปู่ไปก่อนก็มี

แม้แต่พระเณรผู้มีหน้าที่ติดตามท่านก็เถอะ...! ตามธรรมเนียมการจะไปจะอยู่ต้องเตรียมของ จัดของ อัฐบริขารของครุบาอาจารย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน ของตัวเองค่อยมาจัดทีหลัง แต่กรณีหลวงปู่ ไม่ใช่เช่นนั้น พระเณรผู้มีหน้าที่ติดตามต้องเตรียมของตัวเองให้เรียบร้อยไว้ก่อนเป็นปลอดภัย เพราะถ้าไปจัดของให้หลวงปู่เสร็จก่อน แล้วจึงจะมาจัดของตัวเอง ท่านจะไปก่อนโดยไม่รั้งรอเลย

หรือบางครั้ง มัวแต่จัดบริขารตัวเองอยู่ แต่มีคนไปช่วยจัดของให้หลวงปู่เสร็จก่อน พอเสร็จ...ท่านก็ไปก่อนเลย พระเณรบางองค์มัวช้า สะพายบาตรออกมาจากกุฏิ...อ้าว ท่านได้ออกไปก่อนแล้ว

ท่านมาเร็ว...ไปเร็ว มาแต่สมัยยังเดินได้อยู่แล้ว

ผู้ที่ทราบกิตติศัพท์ของท่าน พากันมากราบนมัสการนั้น มาจากทั่วประเทศ...ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน...มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น เป็นคนใหญ่คนโต นายพล นายพัน ข้าราชการชั้น ซี ๑๐ ซี ๑๑ ก็มี เป็นคนยากคนจน แม่ค้า พ่อค้าธรรมดาก็มี ท่านให้ความปรานีเมตตาโดยเสมอหน้า

ปกติ ท่านจะไม่ค่อยพูดจาปราศรัยด้วย เพราะลำบากในสังขารท่านดังกล่าวแล้ว และแต่เดิม ท่านก็มีอุปนิสัยพูดน้อยอยู่แล้วด้วย มีคนไปกราบ ท่านก็จะนิ่งมองเฉยอยู่ โดยเฉพาะผู้ซึ่งไปใหม่ และยังไม่คุ้นกับท่าน บางคนไม่ทราบก็ไปบ่น ว่าไม่เห็นหลวงปู่พูดด้วย ทำไมไม่พูด

ความจริง ท่านกำลังแผ่เมตตาให้ ผู้ที่ “รับได้” “รู้ได้” นั้น บอกกันอย่างดีใจ “พลังเมตตาของหลวงปู่นั้นแรงนัก กระแสพุ่งมาเย็นฉ่ำแทบจะผงะล้มลงไป”

เช่นกัน ผู้ที่ “รู้ได้” “รับได้” ชอบมาภาวนา ขอธรรมจากท่าน ไม่ได้พูดอะไรกับท่าน และท่านก็ไม่ได้พูดอะไรด้วย แต่แล้วก็กลับไปอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส “ได้ธรรมะจากท่านแล้ว” ท่านเหล่านั้นจะคุยกันอย่างปลาบปลื้มยินดี

รูปภาพ
(บนซ้าย) หลวงปู่ชอบ ฐานสโม (นั่งล่าง) หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต
(บนขวา) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก)
บ้านนาคำแคน ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย



(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2009, 07:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในหลวง กับ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


๓๘. หลวงปู่กับยอดคนแห่งแผ่นดิน

หลวงปู่เป็นพระป่า อยู่แต่ในป่าในเขาจนชิน และดูเหมือนจะไม่รู้จักโลกภายนอกที่ว่าเจริญของคนกรุง ท่านมักจะอยู่กับพวกยาง พวกกระเหรี่ยง พวกชาวเขาเป็นปกติ ไม่คุ้นเคยต่อการพบคนใหญ่คนโตมีชื่อเสียงของจังหวัดหรือบ้านเมืองเลย

ดังนั้น วันหนึ่งท่านไปเยี่ยมหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมากราบหลวงปู่ขาวเป็นวาระแรก ทางบ้านเมืองจึงมาส่งข่าวให้ทางวัดเตรียมตัวรับเสด็จ พอหลวงปู่ทราบว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จ ก็เตรียมหนีทันที หลวงปู่ขาวซึ่งบ่นเช่นกันว่า ไม่ทราบว่าจะ “พูด” ด้วยอย่างไร ขอให้หลวงปู่ชอบอยู่ด้วยกันเป็นเพื่อน

อ้อนวอนกัน จนสุดท้ายหลวงปู่ก็ใจอ่อน ยอมอยู่ด้วย โดยเป็นที่เข้าใจว่า ท่านจะไม่ต้องพูดอะไรเลย และหลวงปู่ขาวก็ไม่ต้องพูดอะไรเท่าไรนัก ด้วยทางบ้านเมืองจะมาดูแลกำกับด้วย

ถึงวันที่กำหนด หลวงปู่ทั้งสององค์ก็ครองจีวรอย่างเรียบร้อยรออยู่จนเย็น ท่านก็บ่นกันว่า

“ไม่เห็นมา ให้รออยู่” องค์หนึ่งบ่น

“นั่นซิ ไม่เห็นมา มีแต่ทหารสองพ่อลูกมาคุยอยู่เป็นนานสองนาน”

“คนพ่อเพิ่นงามกว่าลูกนะ” ท่านวิจารณ์กัน

หลวงปู่ทั้งสององค์หัวเราะกันจนงอหาย เมื่อพระเณรช่วยกันชี้แจงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...เสด็จพระราชดำเนินแล้ว...! พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ...ที่หลวงปู่ว่า ทหาร ๒ พ่อลูกนั่นแหละ !!

เป็นเรื่องที่เล่ากันอย่างขบขันตลอดมา ผู้เขียนซึ่งปากอยู่ไม่สุข ภายหลังได้โอกาสก็กราบเรียนถามหลวงปู่ขาว

ทำไมหลวงปู่ไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัว และทูลกระหม่อมฟ้าชายล่ะเจ้าคะ (ขณะนั้นท่านยังมิได้ดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

ท่านว่า “ไม่เห็นมีขบวนแห่”

ส่วนหลวงปู่ชอบนั้น เมื่อกราบเรียนถามด้วยคำถามเดียวกันนั้น ท่านก็ยิ้มอายๆ ตอบผู้เขียนว่า “นึกว่าจะใส่ชฎา !”


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาวที่วัดถ้ำกลองเพลอีกนับครั้งไม่ถ้วน และแทบทุกครั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะโดยเสด็จด้วย จนเป็นที่ทราบกันว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระทัยผูกพันต่อหลวงปู่ และหลวงปู่ขาวก็มี “จิต” ผูกพันต่อพ่อจ้าว แม่จ้าว แผ่เมตตาถวายทุกเวลาและทุกโอกาส ทั้งสองพระองค์และหลวงปู่ มี “จิต” ถึงกัน (ผู้เขียนเคยเขียนไว้ใน “อนาลโยคุโณ”...ในหนังสือ “อนาลโยบูชา”)

สำหรับหลวงปู่ชอบ ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานของไปถวายสักการะเสมอ เช่น ดอกไม้ น้ำผึ้ง รถเข็น

วันนั้นจำได้ว่า เป็นเวลาต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านราชเลขาธิการ ในขณะนั้นคือ หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ โทรศัพท์มาที่บ้านลาดพร้าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ถามว่า ทรงได้ข่าวว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม กำลังมาพักโปรดลูกศิษย์อยู่ที่บ้านเรือนไทย ลาดพร้าว ไม่ทราบว่าขณะนี้ท่านยังคงพักอยู่หรือไม่

เข้าใจว่า ที่มีพระราชกระแสถามมาเช่นนี้ กิตติศัพท์ที่ว่า หลวงปู่ชอบเป็นผู้มาเร็ว ไปเร็ว คงจะเป็นที่ทราบถึงพระเนตรพระกรรณเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า วันนี้ท่านอยู่ พรุ่งนี้ท่านอาจจะไม่อยู่ หรือเช้านี้อยู่...บ่าย...ไม่อยู่ ชั่วโมงนี้อยู่...ชั่วโมงหน้าไม่อยู่...ไปแล้ว...ก็ได้เสมอ

อย่างไรก็ดี วันนั้นได้กราบเรียนท่านราชเลขาธิการไปว่า หลวงปู่ชอบท่านยังคงพักอยู่ และความจริงเวลานี้ หลวงปู่หลุย จันทสาโร ก็กำลังพักอยู่ด้วยเช่นกัน

วันรุ่งขึ้น ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ ฯพณฯ นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี อัญเชิญแจกันดอกบัวสัตตบงกช และน้ำผึ้งบริสุทธิ์พระราชทานมาถวายหลวงปู่ทั้งสององค์

และเพียง ๒-๓ วันต่อมา ท่านราชเลขาธิการก็ได้โทรศัพท์มาอีกว่า จะทรงให้ห้องเครื่องในวังส่งอาหารมาถวายหลวงปู่ทั้งสองทุกวัน จึงจะขอทราบเวลาฉันจังหันของท่าน เพื่อให้จัดส่งมาให้พอเหมาะกับเวลาฉัน ผู้เขียนได้เรียนท่านราชเลขาธิการไปว่า หลวงปู่ทั้งสององค์ได้ออกจากบ้านเรือนไทย กลับไปแล้ว

หลวงปู่ชอบไปไหน...?

กลับวัดของท่านที่จังหวัดเลย


เข้าใจว่า ขณะนั้นท่านราชเลขาธิการคงกำลังเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทอยู่ ท่านนิ่งไประยะหนึ่ง แล้วก็บอกผู้เขียนว่า สมเด็จฯ มีพระราชกระแสถามว่า เวลานี้หลวงปู่ชอบมีเก้าอี้รถเข็นหรือไม่ ผู้เขียนก็เรียนท่านราชเลขาธิการว่า ความจริงเวลานี้ หลวงปู่ชอบมีเก้าอี้รถเข็นแล้ว แต่หลวงปู่เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ประเสริฐที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทย หากจะทรงพระมหากรุณาพระราชทานเก้าอี้รถเข็นอีกคันหนึ่งเพื่อถวายหลวงปู่ พระราชกุศลก็คงจะเพิ่มพูนมหาศาล

หลังจากนั้นเพียงสามวัน เผอิญผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ ตำบลโคกมน จังหวัดเลย จึงถือโอกาสกราบเรียนให้ท่านทราบว่า

“แม่จ้าวหลวง (คำว่า “พ่อจ้าวหลวง” และ “แม่จ้าวหลวง” เป็นคำที่หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ ท่านมักจะใช้ยามเมื่อเอ่ยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสมอ) คงจะพระราชทานเก้าอี้รถเข็นมาถวายหลวงปู่เร็วๆ นี้แหละเจ้าค่ะ”

พระเณรที่ห้อมล้อมหลวงปู่ มองหน้าผู้เขียนอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก เมื่อพระองค์หนึ่งถามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ จะโปรดให้ส่งเก้าอี้รถเข็นมาอีกคันหนึ่งหรือ

จึงได้ความว่า เก้าอี้รถเข็นพระราชทานได้มาถึงล่วงหน้าแล้ว...ก่อนหน้าผู้เขียนเดินทางไปถึงวัด...ถึงสองวัน !

“...นี่ไง..!”

แล้วพระผู้ปฏิบัติหลวงปู่ท่านก็เข็นเก้าอี้รถเข็นพระราชทานออกมาให้ดู

ผู้เขียนนิ่งนึกนับวันดู เวลาห่างจากวันที่เรียนท่านราชเลขาธิการเพียง ๓ วันเท่านั้น...! เราว่าเรารีบมากราบหลวงปู่โดยเร็วแล้ว...! แต่ดูเหมือนว่า วันนั้นเอง...พอท่านราชเลขาธิการกราบบังคมทูลแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็คงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดเก้าอี้รถเข็นส่งมาถวายหลวงปู่ ณ จังหวัดเลย ทันที

ถ้าไม่ใช่เพราะทรงเจริญพระราชศรัทธาอย่างยิ่งยวดแล้ว จะรวดเร็วถึงเช่นนี้หรือ

นึกถึงที่ท่านราชเลขาธิการเคยปรารภให้ฟัง “ทรงเคารพรักและมีพระราชศรัทธาหลวงปู่และท่านอาจารย์ทุกองค์มาก เวลารับสั่งถึง ทรงใช้คำว่า “พระอริยเจ้า” ทุกครั้ง”

คราวหนึ่ง ท่านราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสมาว่า ได้ทรงให้สร้างกุฏิไว้ในเขตบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้ว บริเวณนั้นเป็นที่สงบ ต้นไม้เรียงรายโดยรอบ มีลักษณะเป็นป่าอย่างที่หลวงปู่คงจะชอบ ทรงนิมนต์ขอให้หลวงปู่ไปพัก ณ กุฏินั้นบ้าง เมื่อเวลาที่ท่านเข้ามาในกรุงเทพฯ

เมื่อนำความกราบเรียนหลวงปู่ ท่านตอบว่า ท่านเคยแต่อยู่ในป่า เข้าไปในเขตพระราชฐานจะลำบาก เพราะพวกศิษย์ติดตามก็เป็นแต่คนบ้านนอก ไม่รู้ธรรมเนียมอะไร...

เมื่อเห็นว่าผู้เขียนทำหน้าสลด บ่นอ้อมแอ้มว่า แม่จ้าวจะเสียพระทัย น้อยพระทัย ทรงอุตส่าห์สร้างกุฏิถวาย ท่านก็ยิ้มแย้มอย่างปลอบใจ บอกว่า

“อยู่ข้างนอกก็แผ่เมตตา (ถวาย) ให้อยู่แล้ว แผ่ทุกวันให้ทุกองค์...ในนั้น”

หลวงปู่คงหมายความถึง ไม่เฉพาะจะแผ่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังแผ่เมตตาถวาย “ทุกองค์”...“ในนั้น...!” ด้วย

แล้วหลวงปู่ท่านก็เสริมด้วยใบหน้าที่เกลื่อนด้วยรอยยิ้มอย่างเมตตา เสียงของท่านแผ่ว เบา ตามปกติ แต่ก็ฟังแสนชัดว่า

“ในนั้น...มีเทวดามากน้อ มาก...แน่นไปหมด”

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

หลวงปู่แผ่เมตตาถวายในฐานะทรงเป็นพ่อจ้าวหลวง...แม่จ้าวหลวง ที่ทรงเป็นยอดคนแห่งแผ่นดิน และทรงเป็นปิ่นปักรักษาแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์จริงๆ ของพ่อจ้าวหลวงและแม่จ้าวหลวง ท่านก็ดูเหมือนจะไม่รู้จัก

ดั่งกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไปทรงกราบนมัสการท่านพร้อมกับหลวงปู่ขาว ณ วัดถ้ำกลองเพล ดังที่ได้เล่ามาแล้ว

สำหรับเรื่องที่หลวงปู่ได้เห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และไม่ทราบว่าท่านคือ “แม่จ้าวหลวง” ที่ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณถวายอุปการะเนืองๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาของพระป่ากันจริงๆ

ต่อมา จำได้ว่าเป็นคืนวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในการสวดพระอภิธรรมที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดให้เป็นการบำเพ็ญกุศลถวายพระคณาจารย์ที่มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ณ วัดพระศรีมหาธาตุ

เมื่อทรงทราบว่า หลวงปู่ได้มาในงานนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เสด็จฯ จากพระเก้าอี้ที่กำลังประทับอยู่ ไปทรงกราบนมัสการด้วยความเคารพ ประทับบนลาดพระบาท ทรงหมอบกราบ และทรงประณมพระหัตถ์ตลอดเวลาที่มีพระราชกระแสรับสั่งกับหลวงปู่

ผู้เขียนนั่งอยู่อีกด้านหนึ่ง ใจไม่ดีด้วยเกรงว่า จะไม่ทรงทราบว่าหลวงปู่เป็นอัมพาต พูดไม่ค่อยได้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ จึงสั่งให้ผู้เขียนไปเฝ้า และกราบถวายบังคมทูลความให้ทรงทราบ เพราะดูท่านสนพระทัยมีพระราชกระแสตลอดเวลา

สมเด็จฯ ทรงพระสรวล รับสั่งว่า มิน่า หลวงปู่ไม่พูดด้วยเลย ท่านได้แต่มองนิ่งอยู่

กราบบังคมทูลว่า นั่นท่านกำลังแผ่เมตตาถวายเพคะ ปกติหลวงปู่จะแผ่เมตตาให้เวลาคนมากราบ ที่ท่านมองนิ่งอยู่อย่างนั้น ท่านกำลังถวายพระพร

สมเด็จฯ ทรงพยักพระพักตร์อย่างเข้าพระทัย เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับไปที่พระเก้าอี้ เพื่อทรงทำหน้าที่องค์ประธานพิธีต่อไป ก็ไม่ทรงลืมที่จะมีพระราชกระแสให้ผู้เขียน อย่าลืมจัดน้ำถวายหลวงปู่ให้ดี

ทรงกราบอีกครั้งหนึ่ง จึงเสด็จกลับไปประทับที่พระเก้าอี้อีกด้านหนึ่ง อยู่ทางนี้ หลวงปู่หันมาถามผู้เขียนเบาๆ ว่า “ใคร...?”

ผู้เขียนยังตั้งตัวไม่ติด ด้วยไม่คิดว่าหลวงปู่จะไม่รู้จักสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงกราบเรียนถามว่า หลวงปู่ถามถึงใคร

ท่านว่า “ที่มาเมื่อกี้นี้น่ะ เพิ่นงามนะ”

จึงรีบเรียนท่านว่า
“สมเด็จฯ เจ้าค่ะ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ”

รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป)


กราบเรียนไปแล้ว หลวงปู่ก็ยังทำหน้างง คิดว่าเสียงเราคงไม่ชัด จึงเรียนซ้ำไปอีก แต่สีหน้างงของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น

ท่านเจ้าคุณเทพเมธาจารย์ แห่งวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี [พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป) - สาวิกาน้อย] นั่งอยู่ใกล้ๆ จึงต้องบอกหลวงปู่เสียงดัง...


“เมียพระเจ้าแผ่นดิน !”

นั่นแล้ว สีหน้าของหลวงปู่จึงบอกความกระจ่าง...เข้าใจอย่างถ่องแท้ ยิ้มแล้วชมซ้ำ “เพิ่นงามน้อ !”

เสียแรงเราเคยภูมิใจว่า ใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างถูกต้องตลอดมา แต่คราวนี้ต้องนึกขันตัวเองที่ทำให้ไม่เป็นที่เข้าใจแก่หลวงปู่เลย...!

ภายหลังมีโอกาสได้เฝ้าเบื้องพระยุคลบาท จึงได้กราบบังคมทูลเรื่องทั้งหมด รวมทั้งที่หลวงปู่ชมพระโฉม “เพิ่นงามน้อ” ด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แย้มพระสรวลเมื่อทรงรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น รับสั่งว่า “คืนนั้นไม่ทราบว่า หลวงปู่ท่านพูดไม่ใคร่ได้ แต่นั่นแหละ...กราบพระอริยเจ้าอย่างหลวงปู่แล้วชื่นใจ”

รูปภาพ

๓๙. พระธาตุมาปรากฏกับรูปหลวงปู่

วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ขณะกำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนประวัติให้สมบูรณ์อยู่นั้น มีศิษย์ของหลวงปู่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล เธอเป็นศิษย์ผู้หนึ่งซึ่งเคารพ รัก ศรัทธา หลวงปู่อย่างสูงสุด ระหว่างเจ็บนอนใส่เฝือกอยู่ในห้องพักผู้ป่วย ก็มีรูปหลวงปู่ไว้กราบบูชาโดยตลอด มีทั้งรูปหล่อเหมือนในท่ายืน...รูปหล่อเหมือนในท่านั่ง...และรูปภาพถ่าย

วันนั้น เธอได้ยกรูปหล่อเหมือนที่ยืนขึ้นมาทำความสะอาด มีห่อกระดาษเก่าๆ วางอยู่ใต้ฐานรูป เธอจึงแกะออกมาดู เห็นเป็นพระธาตุจำนวนหลายสิบองค์ เธอก็โทรศัพท์ละล่ำละลักมาเล่าให้ผู้เขียนฟัง เธอยืนยันอย่างแน่นแฟ้นว่า ไม่มีทางที่จะมีใครนำห่อพระธาตุนั้นไปซุกไว้ใต้ฐานรูปหล่อเหมือน เพราะฐานนั้นโปร่ง กลวง และเมื่อวันที่อัญเชิญมา เธอก็จัดทำความสะอาดแล้ว ด้วยความเคารพทะนุถนอมอย่างที่สุด พลิกดูให้สะอาดเอี่ยมทุกแง่ทุกมุม แทบไม่มีฝุ่นละอองชิ้นใดจะผ่านสายตาไปได้

ห่อกระดาษบรรจุพระธาตุนั้นไม่มีแน่ที่ใต้ฐานรูปหล่อเหมือนนั้น

แล้ววันนี้มีพระธาตุวางอยู่ใต้ฐานรูปหล่อเหมือนของหลวงปู่ได้อย่างไร

ขอให้พี่ช่วยไปดูด้วย เธอว่า...ผู้เขียนยังไม่ทันมีเวลาว่างผ่านไปดู ต่อมาอีก ๒-๓ วันเธอก็โทรศัพท์มาใหม่...ก้อจากห้องผู้ป่วยนั่นแหละ เล่าอย่างตื่นเต้นว่า

พระธาตุเหล่านั้นเธอได้เก็บใส่ผอบบูชาไว้ อย่างที่พี่แนะ แต่ระหว่างนี้ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาให้เพื่อนที่มาเยี่ยม ๒ คน ซึ่งรู้ว่ารู้จักหลวงปู่และเคารพท่านได้ดูกันเป็นขวัญตา

วันนั้นดูกันแล้วก็เก็บกลับใส่ผอบเรียบร้อย แล้วหยิบรูปภาพหลวงปู่มาดูอย่างชื่นชมอีกวาระหนึ่ง

ประหลาดที่รูปภาพโปสการ์ดหลวงปู่แผ่นนั้น ซึ่งพอวางลงกลับมองเห็นแสงแปลบออกมาตรงดวงตาทั้งสองของท่าน มองไปชัดๆ ก็เห็นเป็นพระธาตุ ๒ องค์ อยู่ ณ ที่ดวงตาของท่านข้างละองค์ เธอและเพื่อนเอะอะโวยวายขึ้นด้วยความปีติ ครั้นพิจารณาต่อไป ก็เห็นพระธาตุองค์ที่สามอยู่ตรงจีวร และมีองค์ที่สี่ตกอยู่ใกล้ๆ อีก

ทั้งสามคนช่วยกันยืนยันกับผู้เขียนว่า น่าอัศจรรย์จริงๆ และถ้าจะคิดว่าจัดเก็บพระธาตุ (ซึ่งก็มาปรากฏในรูปหล่อเหมือนของท่าน) ไม่เรียบร้อย ทำให้ตกหล่นอยู่นอกผอบ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีพระธาตุหลงเหลือไปปรากฏบนรูปภาพโปสการ์ด ซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่ง และหยิบรูปภาพโปสการ์ดมาวางภายหลังจากปิดผอบแล้ว

พระธาตุนั้น แน่ละ...!

แต่ว่าพระธาตุของใคร ? ของท่านองค์ไหน ?

ผลสุดท้าย ผู้เขียนทนคะยั้นคะยอไม่ได้ ก็ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง นัยว่าเพื่อจะได้กราบชมพระธาตุปาฏิหาริย์ทั้งสองครั้งนั้นด้วย

เธอหน้าชื่นอย่างดีใจ รีบนำพระธาตุมา “ให้พี่ได้กราบ” โดยแยกเป็นทั้งพระธาตุรุ่นแรกหลายสิบองค์ และอีก ๔ องค์ที่ปรากฏภายหลังบนรูปภาพโปสการ์ดหลวงปู่ด้วย

เธอเล่าว่า ได้เห็นเส้นเกศามาด้วยสามสี่เส้น

อย่างไรก็ดี พอเปิดผอบพระธาตุชุด ๔ องค์ เธอก็อุทานเสียงดัง “ตาย...เส้นเกศาหายไปไหนหมดแล้ว !”

ผู้เขียนฟังเรื่องเส้นเกศาอย่างไม่สนใจมากนัก เพราะกำลังพิจารณาดูพระธาตุทั้งหมดนั้นมากกว่า

พระธาตุนั้น...แน่ละ !

แต่ว่าพระธาตุของใคร ? ของท่านองค์ไหน ? ผู้เขียนก็มิได้มีความรู้พิเศษเสียด้วย

“ตายพี่ เส้นเกศาหายไปหมดเลยค่ะ” เธอบ่นซ้ำด้วยน้ำเสียงเหมือนจะร้องไห้ “วันก่อนนั้นก็ยังอยู่ หนูโทรไปบอกพี่ครั้งสุดท้าย แล้วก็ไม่ได้ให้ใครดูอีกเลย ทำไมท่านหายไปคะ ?”

ผู้เขียนก็ได้แต่ปลอบใจเธอว่า ไม่เป็นไร ถึงไม่มีเส้นเกศาปาฏิหาริย์ แต่หนูก็มีพระธาตุปาฏิหาริย์แล้ว ควรจะพอใจ ภูมิใจการภาวนาของตัวเองมากกว่า

เธอยังไม่เลิกเสียใจ...เสียดาย เห็นเธอยกรูปหลวงปู่ขึ้นกราบ บ่นดังๆ ว่า หลวงปู่เจ้าขา ลูกขอให้พี่เขามาดูพระธาตุ กราบพระธาตุกับเส้นเกศา แต่เวลานี้เส้นเกศาหายไปเจ้าค่ะ หลวงปู่ช่วยให้พี่เขาได้กราบบูชาเส้นเกศาเป็นมงคลหน่อยซีเจ้าคะ

เสียงเธอแสดงความเสียใจ ผิดหวัง แต่ก็คาดคอยอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง

“นะเจ้าคะ หลวงปู่ ขอเส้นเกศาเจ้าค่ะ”

ประหลาดจริงๆ ผู้เขียนเองก็อดร้องออกมาเบาๆ ไม่ได้ เมื่อมองเห็นเส้นเกศาทั้งสีขาวและดำ ราว ๗-๘ เส้น ผุดขึ้นในผอบแก้วที่ใส่พระธาตุอย่างน่าอัศจรรย์

เธอน้ำตาคลอเต็มเบ้า พูดซ้ำซากแต่ว่า “พี่...หนูไม่ได้ร้องไห้นะ...แต่หนูปีติ...ปีติเหลือเกิน”

เราทั้งสองคน ต่างมองเห็นเส้นเกศาที่ผุดขึ้นมาใหม่นิ่งอยู่อย่างอัศจรรย์ใจ แล้วเราก็หมอบกราบลงพร้อมกันอย่างไม่ได้นัดหมาย

พระธาตุนั้นแน่ละ...และเส้นเกศา ก็แน่อีกจริงๆ ที่สงสัยว่าเป็นพระธาตุของท่านองค์ใด เส้นเกศาของหลวงปู่ท่านไหน...นั้นเห็นจะไม่น่าต้องพูดกันอีกแล้ว

รูปภาพ

ผู้เขียนเลยคิดว่าจะกลับไปถ่ายรูป นำพระธาตุทั้งหมดและภาพเส้นเกศาที่มาปรากฏครั้งใหม่ต่อหน้าเราสองคน มารวมลงพิมพ์ในหนังสือประวัติฉบับพิมพ์ครั้งใหม่นี้ด้วย เพราะคิดว่าอย่างไรๆ ก็คงจะต้องถ่ายภาพเส้นเกศาของท่านที่เริ่มรวมตัวจะเป็นพระธาตุใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะภาพที่ลงในการพิมพ์ครั้งแรกนั้น บัดนี้ของจริงได้แปรสภาพมากขึ้นกว่าเก่าอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี เมื่อเรากลับไปเพื่อถ่ายภาพพระธาตุที่ห้องคนเจ็บในโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างเปิดผอบ พระธาตุ ๔ องค์ และเส้นเกศาออก และจัดวางให้เข้าที่ เพื่อให้ช่างภาพได้เก็บภาพอย่างชัดๆ นั้น ก็พลันเห็นพระธาตุแก้วใสปรากฏขึ้นอีกองค์หนึ่ง...!

ทุกคนยังไม่หายตื่นเต้นดี...ก้าว ผุดขึ้นมาอีกองค์หนึ่งแล้ว สีน้ำตาลอ่อน...! เป็นองค์ที่ ๖

ความจริงเราไม่ได้สงสัยกันแล้ว หากก็อดชอบคิด “ทำไม” กันไม่ได้...แต่ครั้งนี้...ครั้งนี้...

นอกจากเลิกสงสัยแล้ว ควรจะเลิก “คิด” ด้วยเช่นกัน เพราะจำได้ว่า เคยกราบเรียนถามหลวงปู่หลุยในเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจทำนองนี้...ทำไม ? เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ท่านมองผู้เขียนอย่างเมตตา “เรื่องอย่างนี้ เป็นอจินไตย ไม่ควรคิด”

เรียนถามท่านว่า อจินไตย แปลว่าอย่างไร ท่านตอบเรียบๆ ว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเป็นเรื่องไม่ควรคิด ควรสงสัย คิดไปจะเป็นบ้า” แล้วท่านก็เสริมด้วยหน้ายิ้มๆ มองผู้เขียนอย่างเวทนาในความแสนจะไม่เดียงสา “เรื่องของพระอรหันต์ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เป็นอจินไตย”

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


๔๐. พระเทวานัมปิยเถระ

ชีวประวัติและปฏิปทาของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้ดำเนินมาแต่เมื่อเริ่มกำเนิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔...จนกระทั่งวันสุดท้าย คือวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้ดำเนินมาเป็นมิ่งขวัญของประเทศ เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ปวงศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส และประชาชนทั่วไปอีกนานเท่านาน

ยามเมื่อดำรงชนม์ชีพอยู่ องค์ท่านเจ้าของประวัติเอง...มิได้สนใจกับ “อดีต” ที่ผ่านมาแล้วของท่าน...ท่านมิได้สนใจกับ “อนาคต” ที่จะเป็นไป ซึ่งหากเป็นปุถุชนคนธรรมดาย่อมไขว่คว้าปรารถนาหาเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคาร แม้กระทั่งปรารถนาแดนพ้นทุกข์ ท่านก็มิได้สนใจแล้ว...ท่านมิได้สนใจแม้แต่ “ปัจจุบัน” ซึ่งก็อีกน่ะแหละ หากเป็นบุคคลธรรมดา ย่อมเร่งประกอบการงาน เร่งหาเลี้ยงชีพ หาชื่อเสียง ยศศักดิ์ เป็นนักบวช ก็เร่งทำความเพียร เร่งทำกิจอันควรกระทำ...ทำปัจจุบัน ให้สร้างอนาคต

ท่านมิได้ต้องสนใจ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต และทั้งปัจจุบัน

ท่าน “วาง” แล้ว ดังที่ท่านกำลังสอนอยู่ ให้เรา “วาง” บ้าง

กิจอันควรกระทำของท่านคงจะได้เสร็จสิ้นแล้ว

ท่านดำรงธาตุขันธ์อยู่ ท่านก็มีเมตตาธรรมเป็นเครื่องอยู่...โปรดศรัทธาญาติโยมตามกาละอันควร ตามเทศะอันควร จากเหนือจดใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก...ทั่วประเทศเขตแคว้น ทั้งต่างแดนใกล้และไกล ที่เมตตาของท่านประพรมโสรจสรงจิตใจคน

“เรา” ต่างหากที่เมื่อกราบองค์ท่านแล้ว ด้วยความเคารพรัก เลื่อมใส ศรัทธา อย่างสุดซึ้งแล้ว ก็ยังมิได้พอใจเพียงนั้น ยังอาจเอื้อมขอความเมตตามากขึ้นไปอีก ขออนุญาตให้ได้นำ “อดีต” ของท่าน ที่ท่านทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำของศิษย์ทุกคน นำมารวบรวมเรียบเรียงเป็นชีวประวัติ อ้างด้วยว่า เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนคนไทยรุ่นหลัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจได้ศึกษา เพื่อให้ผู้เคารพรักได้เทิดทูน เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นแนวทางให้ผู้ใคร่ในธรรมเร่งปฏิบัติทำความเพียร สารพัดจะอ้าง...ท่านก็เมตตา...

แต่แรกผู้เขียนก็ตื่นเต้น ดีใจ ตามประสากบในกะลาครอบ...เราเคยกราบท่าน เคยเรียนถามท่าน ท่านเมตตาเล่าให้ฟังเพิ่มเติม...คงเขียนได้...คิดดูไม่ยากเลย

แต่เมื่อเริ่มรวบรวมข้อความ เริ่มลงมือเขียน จึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่ง่ายเลย

เป็นการยากที่จะนำ “อดีต” อันยาวนาน ผ่านมาตลอดเวลากว่า ๙๐ ปีนี้ มาบันทึกไว้ให้ได้ทุกบททุกตอน แม้จะให้เลือกเฉพาะที่ควรบันทึก ควรสนใจก็เถอะ...!

“อดีต” ที่ดำเนินมาของท่าน...

...แต่วัยเด็ก ที่โลดเต้นไปตามประสาเด็ก แต่ก็มีความกตัญญูรู้คิด ทำหน้าที่ลูกที่ดี พี่ที่ดีของครอบครัว รู้คิด...เริ่มคำนึงหาทางออกจากทุกข์ จนออกบวช เป็นผ้าขาวน้อย เป็นสามเณร

...ผ่านวัยหนุ่ม ที่บวชเป็นภิกษุ แล้วก็ออกธุดงค์ บำเพ็ญความเพียรอย่างมอบกายถวายชีวิตให้ธรรม พยายามห้ำหั่นฟันกิเลสด้วยอุบายวิธีนานา...ทั้งที่ได้รับแนวทางคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ และที่เกิดปัญญาคิดค้นขึ้นมาได้เอง ผ่านสัตว์ร้ายในป่าลึก พบช้าง ผจญเสือ ทรมานงูพิษ พญานาค พบสิ่งลึกลับอันเกินสายตามนุษย์ธรรมดาจะพึงพบ พึงเห็น พึงรู้จัก...

...ผ่านวัยกลาง ที่เปรียบประดุจพญาราชสีห์กำลังทรงพลังอันแข็งแกร่ง เมื่อถึงเวลา...ก็บันลือสีหนาทก้อง...สยบป่าให้สิโรราบลง ท่านได้นำความองอาจ เด็ดเดี่ยว ความรู้ ความสงบ และดวงปัญญาที่สะสมดำเนินมาเป็นลำดับๆ ออกใช้เป็นดาบเพชร สยบตัดกิเลสอาสวะ ให้ขาดกระเด็นสิโรราบลงโดยราบคาบ

...สู่วัยปลาย ที่ท่านดำรงอยู่ด้วยทิฏฐธรรม วิหารธรรม เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของหมู่เทวดา และมวลมนุษย์ เป็นที่เคารพรัก สักการะของปวงชนชาวไทย

จริงแท้ เป็นการยากอย่างยิ่ง ที่จะสามารถบันทึก “อดีต” อันยาวนาน ที่งดงามน่าเลื่อมใส น่าเรียนรู้ น่าถือเป็นครู ให้ได้เทิดทูนบูชา ถือเป็นแบบอย่าง ให้เป็นกำลังใจ ได้มุ่งบำเพ็ญตาม...เหล่านี้มาบันทึกให้เป็นภาพประวัติที่งดงาม น่าเลื่อมใส น่าเรียนรู้ น่าถือเป็นครู ให้ได้เทิดทูนบูชา ถือเป็นแบบอย่าง ให้เป็นกำลังใจ ได้มุ่งปฏิบัติบำเพ็ญตาม...เช่นดั่งความจริงที่ผ่านมา

ยังมี “อดีต” ที่ไม่ได้ทราบ...ที่ ทราบแล้ว แต่ไม่ได้เขียน...ที่เขียนแล้ว แต่คนเขียนไม่มีความสามารถจะถ่ายทอดความจริงได้ ประดุจใบไม้อันเขียวขจีจับตาในป่า ยากอย่างยิ่งที่จะนำมาจัดลงประดับในแจกันเล็กๆ เพียงแจกันเดียว ใบไม้มาจนลานตาประการหนึ่ง เก็บที่สวยมาไม่ได้หมดประการหนึ่ง ผู้จัดไม่ได้มีสุนทรียจิตพออีกประการหนึ่ง ฉันใด แจกันเล็กใบนั้น...ก็ฉันนั้น หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ จะเก็บ คัด อย่างไรก็ไม่อาจเป็นตัวแทน “อดีต” อันงดงามของท่านได้ จึงขอประทานอภัย ท่านผู้รู้ทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ โดยเฉพาะองค์ท่านเจ้าของประวัติเอง

บันทึกมาเพียงแค่นี้ (บันทึกครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๒๙) ก็มีน้องๆ มาซัก

“พี่คะ ในโลกนี้ยังมีพระอย่างนี้หรือคะ”

“มีจริงหรือคะ”

ต้องอธิบายไว้ด้วย ว่าการจัดทำหนังสือเล่มนี้นั้น ในช่วงหลังของหนังสือกว่าครึ่ง เป็นการเขียน “ผ่อนส่ง” คือเขียนไป ส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์ไป เพื่อให้พิมพ์เป็นเล่มเสร็จทันเวลา ฉะนั้น เขียนไปก็จะถูกเร่งต้นฉบับ เกรงช้า แต่ระยะหลัง การเร่งมิใช่เร่งเพราะกลัวช้า เพราะผู้พิมพ์ตัวคอมพิวฯ ซึ่งมีหลายคนอยากอ่าน อยากรู้เรื่อง มีคนซึ่งปกติไม่มีหน้าที่ตรวจปรู๊ฟพิสูจน์อักษร ขอช่วยตรวจปรู๊ฟ แย่งกันพิมพ์ แย่งกันช่วยปรู๊ฟ

เธอเหล่านั้น บอกว่า อ่านแล้ว ขนลุก น้ำตาคลอ...

บางคนน้ำตาคลอ สงสารตอนท่านเป็นเด็ก ๗ ขวบ อยากหาเงินช่วยพ่อแม่หาบขี้ครั่งไปขายจนสองบ่าแตกเป็นแผล...บางคนสงสารตอนท่านมีชีวิตอยู่ในป่า อกอยาก ยากแค้น ทนอด ทนหิว ทนหนาว ตากแดด ตากฝน มีชีวิตเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง บางคนจับใจตอนท่านเมตตาสั่งสอนเสือ สั่งสอนงูพิษ บางคนอัศจรรย์ ความรู้ความเห็นที่ลึกลับของท่าน บางคนตื่นเต้นตอนเทวดามาใส่บาตร เทวดามาคอยรักษา คอยอนุเคราะห์ บางคนสะดุ้งกลัวเรื่องภพชาติที่ต้องมาเกิดเวียนว่ายในวัฏวนของชีวิต

“ขนาดท่านยังเคยต้องเกิดเป็นสัตว์ แล้วเราล่ะ...!”

“ผมคงไม่กล้าทำบาปฆ่าสัตว์อีก ! ”

“ท่านเป็นพระอย่างไร...”

“ท่านเป็นพระอรหันต์ใช่ไหมครับ”

ท่านเป็น...ใช่ไหม ? หนูเอ๋ย ไหนเลยจะตอบได้ ธรรมของท่านอยู่ในจิตของท่าน ท่านผู้รู้เสมอด้วยท่านเท่านั้น จะตอบได้...

เพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตรของท่าน อย่างพระคุณเจ้าหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่มรณภาพแล้ว ถวายเพลิง และพระราชทานเพลิงศพแล้ว อัฐิธาตุต่างปรากฏเป็นพระธาตุแล้ว ท่านเหล่านั้นต่างเคยชมจิตของหลวงปู่เสมอ เฉพาะหลวงปู่ขาวนั้นถ้าชาวจังหวัดเลยไปกราบ ท่านมักบอกเสมอ “...เสียค่ารถมาทำไมให้ลำบาก บ่อเพชรอยู่ที่จังหวัดเลย กลับไปกราบท่านอาจารย์ชอบเด้อ !”

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระพุทธดำรัสแก่ สามเณรอจีรวตะ ผู้อัคคิเวสนโคตร ณ เวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ความว่า “ภิกษุนั้น รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจาก เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำกล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี อดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต ภิกษุนั้นเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้ว มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาด อันตนสำรอกออกเสียได้แล้ว เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การอัญชลีกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า”

หลวงปู่ย่อมรู้ชัดว่า ชาติของท่านสิ้นแล้วหรือไม่ พรหมจรรย์จบแล้วหรือไม่ กิจควรทำของท่านได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกหรือไม่

ท่านได้แสดงให้ประจักษ์ตลอดมาว่า ท่านเป็นผู้อดทนต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย และสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีชาติแห่งบุคคลผู้อดกลั้นได้ต่อถ้อยคำกล่าวร้าย กล่าวมาไม่ดี ท่านอดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางกายอันเกิดขึ้นแล้วอย่างกล้าแข็งแสบเผ็ด หมดความสำราญเบิกบานใจ ปลิดเสียได้ซึ่งชีวิต

ท่านคงเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ อันกำจัดเสียสิ้นแล้ว มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกเสียได้แล้ว

ท่านคงเป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นปาหุเนยยบุคคล เป็นทักขิเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การอัญชลีกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นใดยิ่งไปกว่า

ท่านเป็นพระอย่างไร...เป็น...ใช่ไหม ? หนูเอ๋ย ดูเหมือนพระพุทธองค์จะเคยตรัสไว้เป็นสัจวาจาว่า “ดูก่อน อานนท์...ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมยังมีอยู่ พระอรหันต์ย่อมไม่สูญไปจากโลก...”

หลวงปู่ท่านปฏิบัติธรรมแล้ว สมควรแก่ธรรมแล้วแค่ไหน เราจะทราบได้อย่างไร

นึกถึงที่ครูบาอาจารย์เคยเทศนา สาธกพระพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้ฟัง ยังจำได้ เนื่องด้วยคิดว่า ไพเราะนัก ท่านว่า “พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านก็ตาม เป็นป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ที่นั้นย่อมเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์แท้...”

ถึงเราจะคิดว่า ที่ซึ่งครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่อยู่ เป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์ สงบเย็น แต่ก็อย่าไปนึกสงสัย คาดคิดให้ยุ่งไปเลย...เราลองนึกถึงความจริงข้อนี้กันดีกว่า...ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ...!

ในขณะที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ บรรดาศิษย์ผู้เคารพ รัก เลื่อมใส เทิดทูนท่าน ได้กราบขอเส้นเกศาของท่านไปกราบไหว้บูชา เป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว แต่บางคนโชคดี ได้เห็นเส้นเกศาของท่านกำลังรวมตัว ในสภาพจะกลายเป็นพระธาตุแล้ว...!

หรือบางคนนำรูปปั้นเหมือนของท่านบ้าง รูปภาพบ้าง นำขึ้นที่บูชาด้วยเคารพมุ่งมั่น รักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด วันดีคืนดีจะมีพระธาตุบ้าง เส้นเกศาบ้าง ปรากฏให้เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ

ในโลกนี้ ยังมีพระอย่างนี้อีกไหมคะ...?

คงมีซี หนูเอ๋ย แต่อาจจะหายากหน่อย และเมื่อเราโชคดีได้พบแล้ว ก็ควรถือเป็นบุญอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสกราบพระอย่างท่าน

“พระ” ผู้ยิ่งด้วยวิสุทธิธรรม

“พระ” ผู้ควรแก่สมมตินามของ “พระ” โดยแท้

“พระ” ผู้แปลว่า ผู้ประเสริฐ ผู้เลิศ ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ผู้ปฏิบัติตรงแล้ว ผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ผู้ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ผู้ควรแก่อัญชลีกรรม ผู้ควรแก่ทักษิณาทาน...ผู้เป็นนาบุญเอกแห่งโลก ยากที่จะมีนาบุญใดมาเปรียบได้

“พระ” ผู้เป็นที่เคารพ สักการะ และเทิดทูนแห่งมวลมนุษย์

“พระ” ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ พระเทวานัมปิยเถระ


ผู้เขียนยังจำได้ไม่ลืม เมื่อได้นำหนังสือ “ชีวประวัติพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไปกราบถวายพระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) แห่งวัดหินหมากเป้ง ท่านก็อ่านอย่างสนใจเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน และเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันเช่นกัน ที่เรียกผู้เขียนไป...ท่านให้คำวิจารณ์โดยละเอียดและมากด้วยเมตตา จนทำให้ผู้เขียนอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า

นี่แหละ ท่านผู้เป็นปราชญ์ !...ท่านผู้เป็นปราชญ์แท้ ย่อมเป็นดังนี้...!

...หลังจากที่พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้อ่านจนจบถึงตอนพระเทวานัมปิยเถระแล้ว ท่านก็รำพึงกับผู้เขียนว่า “เทวดารักท่านชอบมาก อันที่จริงแล้วมากกว่าท่านอาจารย์มั่นด้วยซ้ำไป...ในเรื่องเกี่ยวกับเทวดานี้แล้ว บางครั้งท่านอาจารย์มั่นก็ยังขอให้ท่านชอบช่วยจัดการให้เสมอ”

เมื่อผู้เขียนแสดงความสงสัยว่า “เอ๊ะ หลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์หลวงปู่ชอบนะเจ้าคะ เทวดาน่าจะรักและเกรงใจหลวงปู่มั่นมากกว่า”

หลวงปู่เทสก์ ท่านก็อธิบายความว่า “เป็นเรื่องบารมีของแต่ละองค์ ก็เหมือนพระพุทธเจ้ากับพระสิวลี ในเรื่องบารมีทางลาภแล้ว บางครั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ยังให้พระสิวลีช่วย”

“พระ” ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร