วันเวลาปัจจุบัน 05 ต.ค. 2024, 07:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2009, 07:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร)


วัดพิกุลทอง (พระอารามหลวง)
ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี


๏ ชาติภูมิ

“พระธรรมมุนี” หรือ “หลวงพ่อแพ เขมังกโร” มีนามเดิมว่า แพ ใจมั่นคง เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ณ บ้านสวนกล้วย เลขที่ ๙๓/๓ หมู่ที่ ๓ ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โยมบิดาชื่อ นายเทียน ใจมั่นคง โยมมารดาชื่อ นางหน่าย ใจมั่นคง มีพี่น้องร่วมสายโลหิตทั้งหมด ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง

เมื่ออายุได้ ๘ เดือน นางหน่าย ใจมั่นคง โยมมารดาผู้ให้กำเนิดได้ถึงแก่กรรม ดังนั้น นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ สามีภรรยาซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ได้ขอเด็กชายน้อยๆ ที่มีอายุเพียง ๘ เดือน จากนายเทียน ใจมั่นคง โยมบิดาผู้บังเกิดเกล้า โดยรับอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม


๏ การศึกษาเล่าเรียนเบื้องต้น

เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี โยมบิดา-มารดาบุญธรรม (นายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์) ได้นำเด็กชายแพไปฝากอยู่วัดกับสำนักอาจารย์ป้อม เพื่อที่จะศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม คือ การเรียนภาษาไทย ภาษาขอม นอกจากนั้น ยังได้เรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจ ทางธรรมก็มีพระมาลัยสูตร และยังได้หัดอ่านพระธรรมเจ็ดคัมภีร์

ปี พ.ศ.๒๔๖๑ เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี โยมบิดา-มารดาบุญธรรมได้ส่งไปศึกษาต่อที่สำนักวัดอาจารย์สม ภิกษุชาวเขมร วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ การศึกษาในกรุงเทพฯ ขั้นแรกได้เริ่มเรียนหนังสือโบราณท่องสนธิ (อัตโถ อักขระสัญญโตฯ), เรียนมูลกัจจายนสูตร เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมา ก็ไปเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ


๏ การบรรพชา

ครั้นต่อมาปี พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อศึกษาหาความรู้จนอายุได้ ๑๖ ปี ก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อเยี่ยมเยียนโยมบิดาผู้ให้กำเนิดและโยมบิดา-มารดาบุญธรรม เมื่อบุพการีทั้งสามของท่านเห็นว่าท่านโตพอสมควรแล้ว จึงได้ให้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๓ ณ วัดพิกุลทอง ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี พระอธิการพัน จันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์

รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)


ครั้นเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้เดินทางกลับไปอยู่วัดชนะสงคราม ตามเดิม จนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ท่านสามารถสอบไล่นักธรรมชั้นตรีได้ (ในสมัยนั้นผู้เข้าสอบต้องอายุ ๑๙ ปีจึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบได้) นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ต่อไปอีก จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ นับว่าได้นำเกียรติมาสู่วัดชนะสงคราม เป็นอย่างมาก จากนั้นท่านได้ไปเล่าเรียนที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ โดยเป็นศิษย์ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)

ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ นายเทียน ใจมั่นคง บิดาผู้บังเกิดเกล้าก็ได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงเดินทางกลับไปจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อจัดการศพโยมบิดา แล้วกลับมาอยู่วัดชนะสงครามเช่นเดิม


๏ การอุปสมบท

สามเณรเปรียญแพ ขำวิบูลย์ ได้ทำการอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ในวันขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันพุธที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ ณ พระอุโบสถวัดพิกุลทอง โดยมีพระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกโร” แปลว่า “ผู้ทำความเกษม”

ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว พระแพ เขมังกโร หรือมหาแพ ก็ได้เดินทางกลับสู่วัดชนะสงคราม เพื่อตั้งใจศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ให้ได้ในระดับสูงที่สุด เพื่อที่จะได้นำความรู้ ความสามารถที่ได้ฝักใฝ่ศึกษาเล่าเรียนนั้น นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อชุมชนและพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ พระแพ เขมังกโร พยายามที่จะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ อ่านหนังสือตำราเรียนอยู่เสมอ และในปีเดียวกันนั้นท่านสอบนักธรรมชั้นโทได้

โดยความมุมานะพยายาม โดยอาศัยแสงสว่างจากเทียนไขหรือตะเกียง โดยส่วนมากเพราะสาเหตุนี้ นัยน์ตาอันเป็นส่วนสำคัญของสังขาร ก็เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทุกครั้งที่ตรากตรำอ่านหนังสือมากเกินไปในที่สุด นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แนะนำไม่ให้อ่านหนังสืออีกต่อไป มิฉะนั้น นัยน์ตาอาจพิการได้

ดังนั้นภายหลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมก็ต้องยุติลง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจใฝ่การศึกษา พระแพ เขมังกโร จึงได้ศึกษาและปฏิบัติสมถกัมมัฎฐาน วิปัสสนากัมมัฎฐานในสำนักของพระครูภาวนาฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จนชำนาญและดำเนินการสั่งสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป

ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๗๒ ท่านได้รับหน้าที่เป็นครูสอนบาลี โดยสอนตามคณะต่างๆ ของวัดชนะสงคราม

รูปภาพ
รูปหล่อหลวงพ่อแพ เขมังกโร ณ พระวิหารหลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2009, 07:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ซุ้มประตูทางเข้าวัดพิกุลทอง


๏ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง

ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ พระอาจารย์หยด พวงมสิต เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ได้ลาสิกขา ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างเว้นลง ชาวบ้านพิกุลทองและชาวบ้านจำปาทองจึงนิมนต์ให้พระแพ มารับเป็นเจ้าอาวาส ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๔ ขณะนั้นท่านได้เดินทางกลับมาเยี่ยมโยมบิดาและญาติพี่น้อง ซึ่งท่านได้พำนักอยู่ที่วัดพิกุลทอง

ท่านเห็นว่าวัดพิกุลทองเป็นวัดบ้านเกิดเมืองนอน ตอนนี้เสนาสนะชำรุดทรุดโทรมมาก โดยเฉพาะพระอุโบสถซึ่งสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๐ และขณะนั้นท่านได้หยุดพักรักษานัยน์ตา ประสงค์จะพักผ่อนหาความสงบ คิดว่าเมื่อตาหายดีแล้ว ก็จะไปศึกษาบาลีนักธรรมต่อตามความตั้งใจเดิม จึงรับปากว่าจะมาอยู่วัดพิกุลทอง ในระหว่างที่ยังว่างเว้นเจ้าอาวาสอยู่ ซึ่งในขณะนั้นพระแพ มีอายุเพียง ๒๖ ปี

ปี พ.ศ.๒๔๘๒ คณะสงฆ์แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลถอนสมอ และในปีเดียวกันหลวงพ่อพิจารณาเห็นว่าพระอุโบสถชำรุดทรุดโทรมมาก เมื่อพระสงฆ์ประกอบพิธีสังฆกรรมแต่ละครั้ง ต่างกลัวไม้หลังคากระเบื้องจะหล่นถูกศีรษะ ไม่มีจิตเป็นสมาธิ ท่านจึงริเริ่มคิดที่จะบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)


๏ เริ่มเรียนจิตศาสตร์

เมื่ออายุประมาณ ๒๔-๒๕ ปี สมัยยังศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้เริ่มสนใจในทางปฏิบัติเพื่อหาความสงบทางใจ จึงเข้าอบรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสำนักพระครูภาวนาฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) ได้ความรู้ในแถวทางปฏิบัติมาพอสมควร และยังได้ศึกษาจากท่านอาจารย์พระครูใบฎีกาเกลี้ยง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมและศิษย์ผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านสร้าง-ลบผงพุทธคุณ พระครูใบฎีกาเกลี้ยงท่านได้เมตตาสั่งสอนอบรม และมอบตำราเกี่ยวกับจิตศาสตร์วิทยาคมให้

ต่อมาทราบว่าในท้องที่อำเภอบางระจัน มีพระอาจารย์เรืองวิทยาคมอยู่รูปหนึ่ง มีคนนับถือและเกรงกลัวมากเพราะวาจาศักดิ์สิทธิ์ ชื่อ หลวงพ่อศรี เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ ท่านจึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ จนมีความสามารถและเป็นที่โปรดปรานของหลวงพ่อศรี เป็นอย่างยิ่ง

ท่านเล่าว่า หลวงพ่อศรี เมตตาสอนวิทยาคมให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง และในขณะที่ก่อสร้างพระอุโบสถ หลวงพ่อศรีก็แนะนำให้ท่านสร้างแหวน และทุกครั้งที่ท่านได้สร้างเสร็จ ท่านจะนำไปถวายหลวงพ่อศรีปลุกเสก (ท่านถามหลวงพ่อศรีว่า สร้างแล้วคนนิยมกันไหม หลวงพ่อศรี ท่านบอกว่านิยมมาก ให้สร้างมากๆ ท่านจะสนับสนุน) ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อศรีนี้เอง ทำให้ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ได้สำเร็จในเวลา ๒ ปีเศษ

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ณ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี



๏ หล่อสมเด็จทองเหลือง

เมื่อหลวงพ่อมีบารมีมากขึ้นตามลำดับ วัดหลายวัดต่างนิมนต์ท่านเป็นประธานในการก่อสร้างวัด พระวิหาร และถาวรวัตถุต่างๆ มากมายหลายวัด และเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ทางวัดทางแถบอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ก็ได้นิมนต์ท่านไปร่วมงาน

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเพลียมากจึงชวนศิษย์ไปจำวัด ที่หอสวดมนต์ โดยมีคนหลายนอนอยู่ก่อนแล้ว ก่อนนอนท่านเอาผ้าอาบน้ำฝนใส่ไว้ในย่าม จึงรู้สึกว่าย่ามใหญ่ คิดว่าคนที่นอนอยู่คงเข้าใจว่าเป็นเงิน ด้วยความอ่อนเพลียท่านจึงหลับไป พอท่านตื่นจากจำวัดเวลาเช้ามืด พบว่าย่ามหายไปแล้ว จึงแจ้งทางวัดทราบ สำหรับสิ่งของในย่ามมีเพียงของเล็กๆ น้อยๆ แต่ของที่สำคัญก็คือ พระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งได้รับจากสมบัติของโยมวัดชนะสงคราม จึงเป็นของที่แท้ และทรงคุณค่าทางด้านจิตใจของหลวงพ่อมาก ท่านจึงเสียดายเป็นอย่างมาก

ญาติโยมช่วยกันติดตาม ปรากฏว่าได้รับของอื่นคืนครบทุกชิ้น ยกเว้นพระสมเด็จวัดระฆังฯ สอบถามผู้ขโมยได้ความว่าได้นำไปขายให้บุคคลไม่ทราบชื่อ ไม่สามารถติดตามคืนได้ หลวงพ่อเล่าว่าท่านเสียดายมาก ระหว่างนั้นต้องไปขอยืมพระสมเด็จวัดระฆังฯ จากอาจารย์หยด ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาส มาติดตัวไปก่อน

ด้วยความเคารพในบารมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างยิ่ง ทำให้หลวงพ่ออธิษฐานขอบารมี ณ วัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ขอสร้างพระโลหะพิมพ์สมเด็จขึ้นใช้เอง และแจกจ่ายให้กับผู้เคารพศรัทธา จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ประมาณเดือน ๖ ท่านได้นำช่างมาเททองหล่อ ที่ด้านใต้โบสถ์หลังเก่า โดยได้รับโลหะจากผู้ที่มาร่วมพิธีนำมาหล่อ เช่น เครื่องเงิน ขันลงหิน โต๊กทาน เชียนหมาก ตะบันหมาก สตางค์แดง สตางค์ข้าว สตางค์สิบ ทองเหลือง เป็นจำนวนมาก

รูปภาพ
พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนีหรือ “หลวงพ่อใหญ่” ณ วัดพิกุลทอง
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสิงห์บุรี



(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2009, 07:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดพิกุลทอง


๏ ไปประเทศอินเดีย

ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๔ ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่คับคั่งไปด้วยศิษยานุศิษย์เกือบจะเต็มศาลาการเปรียญ วันนั้นหลวงพ่อได้กล่าวออกมาด้วยความปิติต่อชุมชนว่า การเดินทางไปอินเดียครั้งนี้ เสมือนกับบุตรไปเยี่ยมภูมิประเทศบิดา เพื่อเป็นการถวายสักการบูชา เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณ ในเมื่อมีโอกาสก็ควรจะกระทำ ซึ่งการเดินทางไปอินเดียในครั้งนี้จะประกอบกิจเป็นกรณีพิเศษ ๒ ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง เพื่อตั้งใจนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบล อันได้แก่ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นมหากุศลพิเศษ

ประการที่สอง เพื่อเดินทางไปสร้างพระสมเด็จรุ่นพิเศษ พิมพ์ปรกโพธิ์ เนื้อมวลสารประกอบด้วยผงวิทยาคม ที่ (ได้ลบผง) สะสมไว้แล้ว จะผสมดินที่พระพุทธเจ้าของเราประสูติ ตรัสรู้ และปฐมเทศนาด้วย

เวลา ๑๔.๐๐ น. หลวงพ่อเข้าสู่พระอุโบสถ นมัสการพระประธาน แล้วไปนมัสการรูปหล่อท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ณ วิหารสมเด็จของวัด แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักที่วัดชนะสงคราม คณะ ๑๐ หนึ่งคืน

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๔ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ถึงประเทศอินเดีย จากนั้นเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ของอินเดีย และเดินทางสู่พุทธคยาในตอนค่ำ

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ได้เดินทางไปนมัสการต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ หลวงพ่อและคณะได้นมัสการด้วยความเคารพอย่างสูงแล้ว ได้เริ่มผสมผงเพื่อพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์เป็นปฐมฤกษ์ หลวงพ่อท่านได้นั่งสมาธิจิตรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย เสกพิมพ์พระปรกโพธิ์ แล้วจึงกดพิมพ์ ด้วยจิตที่มุ่งส่งกระแสจิตเพื่อบรรจุในองค์พระ ณ ควงไม้โพธิ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพิมพ์ปรกโพธิ์ที่สร้างขึ้น มีมงคลฤกษ์ ณ สถานที่ตรัสรู้ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้นำไปบูชา

เวลา ๑๑.๐๐ น. เดินทางกลับมาที่วัดไทยพุทธคยา เพื่อฉันภัตตาหารเพล พักผ่อนพอสมควรแล้ว ตอนบ่ายหลวงพ่อได้เดินทางไป ณ ควงต้นศรีมหาโพธิ์ อีกครั้งหนึ่งเพื่อนมัสการเป็นคำรบสอง และปลุกเสกพิมพ์พระ และผงที่ผสมในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ โดยประสงค์เพื่อจะนำกลับมาเพื่อเป็นชนวนผสมสร้างพระให้พอเพียงแก่ผู้มีจิตศรัทธาในตัวหลวงพ่อ จะได้นำไปบูชาสักการะและติดตัว เพื่อคุ้มครองทุกหนทุกแห่ง

และหลังจากนั้นหลวงพ่อได้เดินทางไปยังสถานที่ปฐมเทศนา ปรินิพพาน และประสูติ ตามลำดับ และยังได้เดินทางไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ อีกมากมาย ท่านได้เดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๔ ใช้เวลาเดินทางรวม ๑๓ วัน

รูปภาพ
พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนีหรือ “หลวงพ่อใหญ่” ณ วัดพิกุลทอง
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสิงห์บุรี



๏ บูรณะค่ายบางระจัน

ค่ายบางระจันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนท้องถิ่นและผู้ไปเที่ยวชมมากต่อมาก โดยเฉพาะก้อนอิฐ ซึ่งแต่ละก้อนจะประทับดอกจันทร์ไว้ ชาวบ้านเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่ง และต้นไม้แดงซึ่งมีมากบริเวณค่าย ไม่มีใครสามารถตัดได้ แม้แต่กิ่งแห้งเหี่ยวหักตกลงมา ชาวบ้านหรือแม้กระทั่งพระในวัด นำไปเป็นฟืนหุงต้มยังวิบัติ และสิ่งสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งก็คือสระน้ำหน้าวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ สมัยก่อนมีปลาชุมคลักอยู่ก้นบ่อ ผู้ใดจับไปกินจะเกิดอาเพศต่างๆ แม้น้ำในบ่อเคยมีคนนำไปเติมหม้อน้ำรถ หม้อน้ำก็ยังระเบิด

ชาวบ้านบางระจันจึงพร้อมใจยอมรับกันว่า มีแต่หลวงพ่อเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำในการบูรณะครั้งนี้ โดยแต่เดิมท่านก็ได้ดูแลมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๘ จนในปี พ.ศ.๒๕๐๘ คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้ท่านเป็นกรรมการฟื้นฟูและบูรณะค่ายบางระจัน และปลูกต้นโพธิ์ อีก ๘ ต้น รวมกับต้นเก่าที่มีอยู่แล้ว อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดโพธิ์เก้าต้น


๏ ไปประเทศศรีลังกา

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๕ หลวงพ่อท่านได้เดินทางไปกับคณะพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เพื่อไปร่วมประชุมและสังเกตการณ์ โดยมีพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุม ณ ประเทศศรีลังกา ซึ่งการเดินทางครั้งนี้หลวงพ่อแพท่านได้ประทับพิมพ์พระสมเด็จฐานสิงห์เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ณ วัดศรีมหาโพธิ์

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดพิกุลทอง


๏ สร้างพระอุโบสถหลังใหม่

หลวงพ่อแพ ท่านได้ตัดสินใจสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ตรงกับวันมาฆบูชา เพื่อให้เพียงพอสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และในวันสำคัญในศาสนา ประชาชนจะได้มีโอกาสเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลในพระอุโบสถได้มากขึ้นด้วย

แต่อุปสรรคสำคัญก็คือ การหาเงินปัจจัยในการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งท่านต้องใช้งบจำนวนมาก ซึ่งท่านได้เตรียมพระสมเด็จปรกโพธิ์ซึ่งท่านได้ตั้งใจสร้างล่วงหน้าไว้ ณ ประเทศอินเดีย เพื่อมอบให้แก่ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถ จึงได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๕ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๑ ปีเศษ เป็นพระอุโบสถที่หลังใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดที่มีอยู่ในภูมิภาค เป็นปูชนียสถานที่มีการแกะสลักลวดลายประตูหน้าต่าง อย่างวิจิตรงดงามตระการตา เป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมของผู้พบเห็น

อีกทั้งยังสร้าง “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสิงห์บุรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ วา ๒ ศอก ๗ นิ้ว สูง ๒๑ วา ๑ คืบ ๓ นิ้ว ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๒๐ ล้านบาท


๏ งานด้านการศึกษา

ด้านการศึกษานั้น หลวงพ่อแพท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทำการเปิดสอนแผนกธรรมและภาษาบาลีขึ้น ในวัดพิกุลทองตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๗๕

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดพิกุลทอง


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2009, 07:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ เขมังกโร ณ วัดพิกุลทอง


๏ งานด้านสาธารณประโยชน์

นับตั้งแต่พระแพ เขมังกโร ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ภายในวัด และสาธารณประโยชน์ทั่วไป พอสรุปได้ดังนี้ ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ, ศาลาการเปรียญ, หอสวดมนต์, หอประชุมกุฎิสงฆ์, หอไตร, หอฉัน, ศาลาวิปัสสนา, โรงฟังธรรม, ฌาปนสถาน, ศาลาเอนกประสงค์ และเขื่อนหน้าวัด เป็นต้น รวมทั้ง ดำเนินการก่อสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อเป็นการอนุเคราะห์แก่สาธุชนและประชาชนทั่วไป พอสรุปได้ดังนี้

๑. เป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลอำเภอท่าช้าง

๒. เป็นประธานในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอท่าช้าง

๓. เป็นประธานในการก่อสร้างสถานีตำรวจอำเภอท่าช้าง

๔. เป็นประธานในการก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลพิกุลทอง

๕. เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลวัดพิกุลทอง

๖. เป็นประธานในการหาทุนสมทบในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภออินทร์บุรีและสะพานข้ามแม่น้ำน้อย อำเภอท่าช้าง

๗. ดำเนินการก่อสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลสิงห์บุรี ดังนี้

พ.ศ.๒๕๒๘ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ ๘๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๔ ชั้น มูลค่า ๑๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท (สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ๘๙ เตียง ปัจจุบันเป็นอาคารหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกชาย-หญิง, หอผู้ป่วยหู-ตา-คอ-จมูก และหอผู้ป่วยพิเศษ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้เป็นค่ายาและเวชภัณฑ์สำหรับพระภิกษุสามเณรที่อาพาธในโรงพยาบาลสิงห์บุรี เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)

พ.ศ.๒๕๓๒ ก่อสร้างอาคารเอ็กซเรย์ (อาคารหลวงพ่อแพ ๘๖ ปี) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๒ ชั้น มูลค่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน) ก่อสร้างแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓ ปัจจุบันเป็นอาคารกลุ่มงานรังสีวิทยา สำนักงาน และห้องประชุม

พ.ศ.๒๕๓๔ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๖ ชั้น มูลค่า ๓๕,๐๙๕,๕๕๕ บาท (สามสิบห้าล้านเก้าหมื่นห้าพันห้าร้อยห้าสิบห้าบาทถ้วน) อาคารหลังนี้ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ เวลา ๐๙.๐๙ น. และเปิดให้บริการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ โดยชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๕ เป็นหอผู้ป่วยสามัญ ชั้นที่ ๖ เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ จำนวน ๑๕ ห้อง และทางโรงพยาบาลสิงห์บุรีได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๙ พ.ศ.๒๕๓๘

พ.ศ.๒๕๓๘ ก่อสร้างอาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ๙๔ ปี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๙ ชั้น มูลค่า ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน) ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๘ อาคารหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย ๑๑,๔๓๐ ตารางเมตร โดย ชั้นที่ ๑-๒ เป็นแผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้นที่ ๓-๔ เป็นฝ่ายอำนวยการ ชั้นที่ ๕-๙ เป็นห้องผู้ป่วย จำนวน ๖๐ ห้อง ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๑

นอกจากด้านศาสนาแล้ว ท่านยังช่วยเหลือด้านการศึกษาและสาธารณสุขด้วย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลสิงห์บุรีได้รับความอนุเคราะห์จากพระเดชพระคุณหลวงพ่อแพ ดังจะเห็นได้จากการก่อสร้าง อาคารหลวงพ่อแพ ๘๐ ปี, อาคารหลวงพ่อแพ ๘๖ ปี (อาคารเอ็กซเรย์), อาคารหลวงพ่อแพ ๙๐ ปี ที่เด่นเป็นสง่า และดูสวยงามภายในโรงพยาบาสิงห์บุรี และปัจจุบันกับอาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ๙๔ ปี ที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีก็ด้วยเพราะบุญบารมีของหลวงพ่อแพ ที่ท่านมอบต่อสาธุชนด้วยเมตตาธรรม อีกทั้งหลวงพ่อยังได้พัฒนาและก่อสร้างศาสนสถานให้กับวัดอื่นๆ อย่างมากมาย


๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลถอนสมอ

พ.ศ.๒๔๘๓ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ และเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง

พ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอท่าช้าง

พ.ศ.๒๕๒๕ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ผู้ทำกิจปริยัติธรรมวินัย ในราชทินนามที่ พระครูศรีพรหมโสภิต

พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสุนทรธรรมภาณี

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชสิงหคณาจารย์

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพสิงหบุราจารย์

วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี (พระราชพิธีกาจญนาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง) ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมมุนี


๏ เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย

หลวงพ่อแพ ท่านเป็นพระเถราจารย์ ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ มีเมตตาเป็นที่สุด มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อาทิเช่น ประเทศฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย เป็นต้น วัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นทุกรุ่นของท่านนั้นปรากฏพุทธคุณสูงเยี่ยมในทุกๆ ด้าน ล้วนได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นที่เลื่องชื่อลือชาอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีประสบการณ์มากมาย ทั้งแคล้วคลาด คุ้มครอง โชคลาภ ค้าขายร่ำรวย

ตลอดชีวิตของหลวงพ่อแพ ท่านได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างเอนกอนันต์ และได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนหรือตกทุกข์ได้ยากตลอดมา ท่านเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนทั่วไป ได้แผ่บารมีช่วยเหลือกิจการต่างๆ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวสิงห์บุรีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป จนได้รับความเคารพยกย่องถึงกับมีการขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย”


๏ การมรณภาพ

ในระยะหลัง หลวงพ่อได้งดรับกิจนิมนต์ โดยคำแนะนำจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากไม่สามารถพยุงตัวเองได้ รวมทั้งมีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และโรคชรา จนเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ทางคณะแพทย์ไดเห็นสมควรนำหลวงพ่อเข้าพักรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากตรวจพบว่าหลวงพ่อเป็นโรคปอดอักเสบ ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาจนอาการดีขึ้น

ต่อมาในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านอาการทรุดลง จนกระทั่งเวลา ๐๑.๓๐ น. ของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑ ท่านได้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ทางคณะแพทย์ได้ทำการช่วยจนหลวงพ่อฟื้นคืนชีพได้สำเร็จ และทางได้ถวายดูแลรักษาจนอาการดีขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ หลวงพ่อท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ ณ ห้อง ๙๐๑ ชั้น ๙ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ๙๔ ปี โรงพยาบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สิริอายุรวมได้ ๙๔ พรรษา ๗๓

ปัจจุบัน ทางวัดพิกุลทองยังคงประดิษฐานสรีระของหลวงพ่อแพเอาไว้ เพื่อให้ศรัทธาญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชากราบไหว้ตลอดมา

รูปภาพ
โกฏิศพ, รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง-รูปภาพหลวงพ่อแพ เขมังกโร และพวงหรีดของพระบรมวงศานุวงศ์ ฯลฯ
ประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี


รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อแพ เขมังกโร

.............................................................

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
- หนังสือ พระธรรมมุนี หลวงพ่อแพ เขมงฺกโร วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี
- หนังสือ ประวัติและวัตถุมงคลยอดนิยม หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี

- http://thanalop2014.blogspot.com/2014/08/blog-post_29.html


:b44: พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=38909

:b44: ประมวลภาพ “พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมงฺกโร)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=58938

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2009, 10:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:36
โพสต์: 435

ที่อยู่: malaysia

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุค่ะ คุณสาวิกาน้อย :b8:
ด้วยความเคารพ :b53: :b53: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2011, 11:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆๆขอบพระคุณค่ะ :b8: :b8: :b8:
:b41: :b41: :b41: :b41:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2011, 19:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2015, 21:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร