วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:57  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย)
ต.ยางคราม กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่



๏ อมตะมหาเถราจารย์

“พระครูวรวุฒิคุณ” หรือ “หลวงปู่ครูบาอิน อินโท” หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง-ฟ้าลั่น” อมตะมหาเถราจารย์แห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ผู้สูงยิ่งด้วยศีล จริยาวัตร และพุทธาคม เชี่ยวชาญสรรพวิชาตามตำราโบราณล้านนา จนเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ดังคำกล่าวของบรรดาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ว่า

“ขอเธอจงไปกราบครูบาอินที่เชียงใหม่และขอศึกษาวิชาจากท่านให้ดีๆ เถิด ท่านเป็นพระผู้เก่งกล้าสามารถมากจริงๆ” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร วัดโฆสิตาราม บ้านบ้านเเค ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

“ดีอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว พระของครูบาอิน ไม่ต้องเสกอะไรอีกแล้ว” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ (ป่าช้าศาลาดำ) ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

“จิตของครูบาอิน ประภัสสรยิ่งแล้ว” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อชม วัดโป่ง จังหวัดชลบุรี

“ครูบาอิน ท่านมีจิตมีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งเลยทีเดียว” เป็นคำกล่าวของครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

“หลวงปู่ครูบาอิน วัดฟ้าหลั่งนั้น ดีที่หนึ่งเลย” เป็นคำกล่าวของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

“ครูบาอินท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบนะ” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อดาบส สุมโน อาศรมไผ่มรกต บ้านลูกกลอน ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ฯลฯ

รูปภาพ
หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร

รูปภาพ
หลวงพ่อเกษม เขมโก


หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ถือเป็นพระเถระสำคัญผู้เจริญด้วยพรรษาสูงแห่งเชียงใหม่ อีกทั้งยังเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ที่มีให้แก่ผู้เคารพนับถือตราบวาระสุดท้ายของชีวิต อันเป็นเหตุให้สมควรนำเถรประวัติและคำสอนของท่าน มาเผยแพร่เป็นสังฆบูชาสืบต่อไป

พระครูวรวุฒิคุณ มีนามเดิมว่า อิน วุฒิเจริญ เป็นบุตรของนายหนุ่ม-นางคำป้อ เขียวคำสุข ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ (ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ เหนือ ปีเถาะ) ณ บ้านทุ่งปุย ตำบลยางคราม กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (ปีที่ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ (ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๕๒) ท่านได้เล่าชีวประวัติว่า ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คนด้วยกัน คือ

๑. นายแก้ว เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. พระครูวรวุฒิคุณ (มรณภาพแล้ว)
๓. นางกาบ ใจสิทธิ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. พ่อหนานตัน เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นางหนิ้ว ธัญญาชัย (ถึงแก่กรรมแล้ว)

พระครูวรวุฒิคุณ อธิบายถึงเรื่องที่ท่านใช้นามสกุลต่างไปจากบิดามารดาและพี่น้องว่า เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการใช้นามสกุล เมื่อมาเริ่มใช้ในสมัยหลัง (รัชกาลที่ ๖) ต่างคนต่างก็ตั้งนามสกุลกันเอง ตัวท่านบวชอยู่ ท่านก็แต่งนามสกุลเองว่า “วุฒิเจริญ” เพื่อให้เป็นความหมายมงคลในความเจริญในพระพุทธศาสนา

ท่านเล่าว่า ท่านเติบโตมาในครอบครัวชาวนา ชีวิตในวัยเด็กก็เรียบง่ายไม่ต่างไปจากเด็กสมัยนั้นโดยทั่วไป คือช่วยเหลือครอบครัวทำงาน พออายุได้ ๑๑-๑๒ ปี ก็ไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ ท่านว่าสมัยก่อนเด็กอายุเท่านี้ก็ยังดูเป็นเด็กอยู่ ตัวไม่ใหญ่โต เนื่องจากสมัยก่อนเด็กกินนมแม่ ไม่ได้บำรุงด้วยนมวัวเช่นในปัจจุบัน เมื่อมีลูกศิษย์ถามถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านว่ามีแววอย่างไรบ้าง ถึงทำให้ท่านบวชอยู่ในพระพุทธศาสนานานจนถึงทุกวันนี้ ท่านตอบแต่เพียงว่าท่านก็มีความเมตตาเอ็นดูสัตว์ ไม่เคยทรมานสัตว์

รูปภาพ
หลวงพ่อชม วัดโป่ง จ.ชลบุรี

รูปภาพ
ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)


๏ เป็นเด็กวัดทุ่งปุย

ท่านกำพร้าพ่อก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในวัดทุ่งปุย พ่อของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มอยู่ ท่านว่าอายุประมาณ ๕๐ ปี โดยมแม่จึงต้องรับพาระในการเลี้ยงดูบุตรธิดา โดยมีพี่ชายคนโตของท่านเป็นหลักช่วยครอบครัว ส่วนท่านเอง หลังจากเข้ามาเป็น “เด็กวัด” ที่วัดทุ่งปุย (วัดคันธาวาส) ตำบลยางคาม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน แล้วท่านก็อยู่ในบวรพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

ชีวิตการเป็นเด็กวัดสมัยก่อน คือการอยู่วัด นอนวัด ช่วยทำงานในวัด อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปพร้อมๆ กับการศึกษาเล่าเรียน การเรียนเบื้องต้นจะเรียนตัวเมือง (ภาษาล้านนา) และเรียนสวดมนต์บทต่างๆ โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน กิจวัตรประจำวันของเด็กวัดอย่างท่าน ตามที่ท่านได้เล่าให้ฟังก็คือ เช้าไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็ไปทวนหนังสือที่ศาลา สมัยก่อนเรียนด้วยกระดานดำ ครูเขียนให้ท่อง เมื่อจำได้แล้วก็ลบเพื่อต่อเรื่องใหม่ ทุกครั้งที่ต่อเรื่องใหม่ ครูผู้สอนจะให้ท่องของเก่าก่อน ถ้าท่องได้ถึงจะต่ออันใหม่ให้

ที่จริงแล้วการเรียนภาษาล้านนาและบทสวดมนต์ต่างๆ ของเด็กวัด ก็คือพื้นฐานของการบวชเณร ธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนาในอดีต นิยมบวชเณรมากกว่าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คนที่จะบวชเณรได้จะต้องเป็นเด็กวัดก่อนสักหนึ่งหรือสองปี เพื่อศึกษาเตรียมตัว หลวงปู่ครูบาอินท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีเจ้าอธิการยศ (ครูบามหายศ อินทปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดทุ่งปุย และอยู่ร่วมกับพระเณรรูปอื่นๆ ซึ่งในสมัยนั้น เณรจะมีมากกว่าพระ ซึ่งที่วัดทุ่งปุยมีเณรประมาณ ๑๐-๒๐ รูป

ตอนที่เป็นสามเณร นอกจากเรียนภาษาล้านนาต่อแล้ว ท่านก็หัดสวดมนต์ ๑๕ วาร สวดแผ่เมตตาและอีกหลายๆ อย่าง ครูจะเขียนใส่กระดานให้ท่อง พอท่องได้ก็ลบต่อใหม่ การเรียนที่วัดช่วงค่ำค่อนข้างลำบากเพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้น้ำมันจุดตะเกียงดูหนังสือ เด็กวัดและพระเณรแต่ละคนแต่ละรูปต้องหมั่นท่องจำบทสวดมนต์ต่างๆ ให้ขึ้นใจ ซึ่งวิธีการที่ครูบาอาจารย์จะตรวจสอบดูว่าเณรองค์ใดขยันหมั่นเพียรในการเรียนก็คือ อาจารย์จะจัดเวรให้เณรผลัดเปลี่ยนกันนำสวดมนต์ องค์ใดสวดช้า ติดขัด ครูอาจารย์จะฟาดหลังด้วยไม้เรียว เณรน้อยยังเป็นเด็ก ก็อดที่จะกลัวฤทธิ์ไม้เรียวไม่ได้

ฉะนั้น เวลาครองผ้า เณรบางองค์จะแอบเอาอาสนะรองนั่งซุกไว้ทางด้านหลัง เอาจีวรครองทับแล้วรัดอกแน่นๆ เผื่อโดนฟาดจะได้ไม่เจ็บนัก แต่ครูบาอินท่านไม่เคยทำ ท่านเล่าว่าเวลาฟาดจะมีเสียงดัง ครูบาอาจารย์ท่านก็ทราบแต่ก็ยิ้มเสีย ไม่ว่าอะไร ครูบาอินเองท่านก็เคยโดยฟาดอยู่ครั้งหนึ่งเหมือนกัน

รูปภาพ
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

รูปภาพ
หลวงพ่อดาบส สุมโน


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


๏ การเรียนสมถกรรมฐาน

การเรียนสมถกรรมฐานมีอยู่ทั่วไปทุกวัดในสมัยนั้น เมื่อท่านเป็นเณรอายุได้ ๑๕ ปี ท่านก็เริ่มปฏิบัติสมถกรรมฐาน แบบอานาปานสติใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” โดยมีท่านครูบามหายศ พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้สอน หลังจากท่านปฏิบัติกรรมฐานแล้วก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง หลังจากดูหนังสือแล้วท่านก็ลุกมาอาบน้ำล้างหน้า และเอาข้าวมาถวายพระพุทธเจ้า กล่าวคำถวายว่า จะถวายชีวิตเป็นทาน วันนั้นไม่ฉันข้าวฉันแต่น้ำ และปฏิบัติตลอดหนึ่งวันกับหนึ่งคืน จนได้ความปิติเป็นพิเศษเกิดขึ้น

ตามธรรมเนียมเมื่อเณรเรียนจบแล้ว ก็จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างเณรกับครูบาอาจารย์เจ้าอาวาสว่า เห็นสมควรจะอุปสมบทเป็นพระต่อหรือไม่ ถ้าอุปสมบทพ่อแม่ก็จะดีใจ ถ้าไม่อุปสมบท ก็จะลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตฆราวาส ผู้ที่ลาสิกขาจากการเป็นเณรไปเป็นฆราวาสจะมีคำเรียกนำหน้าชื่อว่า “น้อย” ต่างกับผู้ที่ลาสิกขาหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จะเรียกว่า “หนาน” หรือคำว่าทิดในภาษากลาง

ครูบาอินท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดทุ่งปุย โดยอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดป่าลาน ตำบลยางคราม กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. อายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ฉายาในตอนนั้นคือ พระอิน อินโท โดยมีเจ้าอธิการยศ (ครูบามหายศ อินทปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการกว้าง วัดสองแคว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการอ้าย วัดทุ่งปุย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

รูปภาพ
ครูบามหายศ อินทปัญโญ พระอุปัชฌาย์
ในคราวหลวงปู่ครูบาอิน อินโท อุปสมบทเป็นพระภิกษุ



ในระหว่างที่เป็นพระภิกษุ ท่านเริ่มเรียนภาษาไทย จาก ก ข เรื่อยมาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โดยการเทียบเนื่องจากยังไม่มีโรงเรียนจริงๆ เมื่อเรียนภาษาไทยกลางจบแล้ว ท่านก็ตั้งใจศึกษานักธรรมตรีต่อ การเรียนนักธรรมตรีต้องเดินไปเรียนที่วัดศรีแดนเมือง ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะตำบลยางคราม อำเภอจอมทอง (ในขณะนั้น) วัดนี้อยู่ห่างจากวัดทุ่งปุยประมาณ ๕ กิโลเมตร ต้องเดินไปตามคันนา การเรียนในสมัยนั้นถึงแม้จะมีการกำหนดให้ใช้หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น แต่สภาพที่เป็นจริงทางวัดขาดแคลนครูที่สอน ขาดแคลนตำราอย่างเช่น ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ท่านว่าไม่มีครูสอน ต้องศึกษาเองซึ่งไม่ค่อยจะมีตำราและไม่ค่อยเข้าใจ

ครูผู้สอนก็เป็นพระภิกษุเข้าใจว่าจบนักธรรมโท พระครูวรวุฒิคุณเรียนจนจบนักธรรมตรี ท่านว่าด้วยการเทียบอีกเช่นกัน ไม่ได้ไปสอบ เพราะสมัยนั้นที่อำเภอจอมทองของท่านยังไม่มีสนามสอบ ต้องไปสอบที่กรุงเทพฯ ซึ่งการเดินทางก็ไม่สะดวก ไม่มีรถ การคมนาคมก็ลำบาก อีกประการหนึ่งท่านบอกว่าพระในสมัยก่อนไม่ใคร่ได้ให้ความสำคัญกับการได้เป็นนักธรรมเปรียญ ซึ่งจะช่วยให้ก้าวหน้าในสมณศักดิ์ การเรียนบาลี คือ “การเรียนเข้า” มาอยู่ในพระพุทธศาสนา ต่างจากในปัจจุบันที่ “เรียนออก” พอเรียนจบหางานทำได้ก็สึกออกไป

ในด้านการปฏิบัติ ท่านยังคงปฏิบัติพุทโธต่อไป โดยเรียนกับครูบามหายศ อินทปัญโญ พระอุปัชฌาย์ของท่าน การปฏิบัติเมื่อตอนเป็นพระภิกษุนั้น ท่านว่ายิ่งต้องระวังในศีลมากขึ้นกว่าตอนเป็นเณร เนื่องจากศีลของพระภิกษุมีถึง ๒๒๗ ข้อ ส่วนเณรมีศีลเพียง ๑๐ ข้อเท่านั้น

นอกจากการเรียนปริยัติและปฏิบัติแล้ว พระครูวรวุฒิคุณยังสนใจศึกษาหาความรู้จากตำราโบราณที่ครูบาอาจารย์จดไว้อยู่เสมอ เช่นเรื่องการทำตะกรุดชนิดต่างๆ ท่านมักกว่าวว่าท่านเรียนจากครูบาอาจารย์ ซึ่งหมายถึงตำรา กล่าวถึงเรื่องการทำตะกรุด ท่านเริ่มทำในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ญาติโยม ตะกรุดของท่านมีหลายแบบ ลักษณะแตกต่างกันตามแต่ท่านจะประสิทธิ์ประสาทพุทธาคม

รูปภาพ
ครูบาวัดป่าเหียง (พระอธิการแก้ว ขัตติโย)

รูปภาพ
ครูบาพรหมา พรหมจักโก


๏ ปฏิบัติสมถกรรมฐานรุกขมูล

หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านมักจะไปออกรุกมูลที่ป่าช้า ท่านเล่าว่าสมัยก่อนนั้นการออกธุดงค์ไม่เป็นที่นิยมของพระทางเหนือนัก ต่างจากพระทางอีสานที่เดินธุดงค์กันเก่งตามแนวทางครูบาอาจารย์สายอีสาน สำหรับครูบาอาจารย์สายของท่านไม่ได้ออกเดินธุดงค์ ท่านจึงไม้ได้ออกธุดงค์ ถือวัตรปฏิบัติกรรมฐานและการเข้ารุกขมูลเพื่อแสวงหาวิเวกและโปรดเวไนยสัตว์ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาเป็นแนวทางธรรมเนียมของพระภิกษุในแถบถิ่นล้านนา

แต่กระนั้นก็มีพระทางเหนือที่ธุดงค์กันอยู่บ้าง องค์ที่สำคัญก็คือ ครูบาวัดป่าเหียงหรือครูบาขัตติยะ (พระอธิการแก้ว ขัตติโย) องค์พระอุปัชฌาย์ของพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า รวมทั้งองค์ครูบาพรหมา พรหมจักโก เองก็นิยมการธุดงค์เช่นกัน

พ่อหนานตันน้องชายของครูบาอินก็ชอบธุดงค์เช่นกัน โดยสมัยเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดทุ่งปุยแล้ว พออายุได้ ๑๘ ปี พ่อหนานตันก็ออกเดินธุดงค์ไปพม่าเพียงองค์เดียว เมื่อถึงพม่าแล้ว ได้ข่าวจากพวกยาง (กะเหรี่ยง) ว่ามีพระภิกษุสายครูบาพรหมจักรจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในพม่า สามเณรตันจึงได้ไปพักด้วย เมื่อเห็นการปฏิบัติก็เกิดความเลื่อมใส ดังนั้นเมื่ออายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบทที่พม่า โดยมีพระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ (หมายเหตุ : หลวงปู่ครูบาอิน จำชื่อไม่ได้) พระภิกษุตันอยู่พม่าได้ ๒ พรรษาก็กลับมาเยี่มโยมแม่ที่เมืองไทย จากนั้นก็ได้ถือปฏิบัติธุดงควัตรตามแนวทางของครูบาวัดป่าเหียงและครูบาพรหมจักร ต่อมาภายหลังพระภิกษุตันได้ลาสิกขาไปเป็นทหารและมีครอบครัว


๏ บุญผ้าเหลือง

ในภาคเหนือสมัยก่อน ความนิยมในการบวชเป็นพระภิกษุมีน้อย และในจำนวนน้อยนั้น องค์ที่จะมีบุญอยู่ในผ้าเหลืองนานๆ ก็มีน้อย เพราะมักจะสึกออกไปเมื่อหมดครบพรรษา เพื่อนพระภิกษุรุ่นเดียวกับท่านก็ได้สึกออกไปหมดในพรรษาแรก เหลือท่านอยู่องค์เดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่าตัวท่านเองจะมีความปิติสุขใจในเพศบรรพชิต แต่อีกใจหนึ่งก็อดเป็นห่วงโยมแม่ไม่ได้ เมื่อท่านบวชได้ ๕ พรรษา ท่านได้เล็งเห็นสังขารของโยมแม่ที่ร่วงโรยแก่เฒ่า เรี่ยวแรงที่จะทำไร่ไถนาก็อ่อนล้าลงไป ท่านจึงได้ปรารภกับโยมแม่ว่า “อยากลาสิกขา” แต่โยมแม่ของท่านก็ได้ทัดทานไว้ว่า “ตุ๊เหย อย่าไปลาสิกขาเลย อยู่กับวัดกับวาเต๊อะ ถ้าสิก (ลาสิกขา) ออกมาต้องตุ๊ก (ทุกข์) มายาก” นับตั้งแต่นั้นท่านก็ไม่เคยคิดเรื่องลาสิกขาอีกเลย

ความที่ท่านครูบาอินเมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม เป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดี จึงได้มีลูกศิษย์ได้เรียนถามว่า เมื่อท่านยังหนุ่มได้มี “สีกา” มาแสดงทีท่าสนใจท่านบ้างหรือไม่ ท่านตอบตามความคิดของท่านว่า มันอยู่ที่การวางตัวของตุ๊เจ้า ท่านเองอยู่กับครูบาอาจารย์ สนใจแต่การปฏิบัติตนให้เจริญในธรรมตามครูอาจารย์ของท่าน ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้เลย ท่านว่าคงเป็นเพราะท่านวางตัวเช่นนี้ก็เลยไม่มีใครมายุ่งกับท่าน

รูปภาพ
ครูบาเจ้าศรีวิชัย


๏ ร่วมบุญกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

เรื่องที่หลวงปู่ครูบาอินท่านประทับใจและเล่าถึง คือ เรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย และเรื่องที่ท่านได้ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดมหาธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

โดยเรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ท่านเล่าว่า ครูบาศรีวิชัยได้รับความเคารพนับถือมากในสมัยนั้น เนื่องจากการปฏิบัติของท่านเป็นที่ศรัทธาของพระเณร ที่สำคัญคือการฉันเจและนั่งหนัก ครูบาเจ้าศรีวิชัยปฏิบัติธรรมโดยใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้น หลวงปู่ครูบาอินท่านได้เล่าว่า ตรงกับสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา มีคนมาจากที่ต่างๆ มาช่วยกันสร้างถนน ทั้งพวกคนเมืองและพวกยาง พระเณรก็ไปด้วย แต่ละคนเอาขอบก (จอบ) ไปช่วยกัน บางคนก็เอามาถวายโดยไปซื้อมาจากตลาด เพื่อเป็นเครื่องมือในการแผ้วทางเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ ร่วมบารมีกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

ชาวบ้านทุ่งปุยก็ได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วย คราวนั้น หลวงปู่ครูบาอินและโยมแม่ก็ไปช่วยด้วย การสร้างทางจะแบ่งกันทำเป็นตอนๆ ครูบาท่านเล่าว่า สนุกมาก กิน นอน อยู่กันที่นั่น นอนกันตามป่า โดยทำซุ้ม ทำตูบ (กระท่อม) นอนกัน กลางวันก็แผ้วถางเส้นทางตามสัดส่วนที่ได้รับมอบหมาย เหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ก็ทำชนวนจุดระเบิดหินตามแนวที่ถนนตัดผ่าน

นอกจากนี้ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีดำริให้สร้างวัดตามรายทางขึ้นไป จนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วัดศรีโสดา วัดสกิทาคา และวัดอนาคามี แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแต่วัดศรีโสดาเพียงวัดเดียวเท่านั้น วัดอื่นๆ ก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา งานสร้างทางครั้งนี้เป็นมหากุศลที่ผู้คนในแผ่นดินล้านนาต่างอยากมีส่วนร่วม จึงทำให้มีผู้คนมากมาย จากทั่วทุกสารทิศมาร่วมบุญกันคนละเล็กละน้อย ตามระยะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กำหนดให้ หลวงปู่ครูบาอินท่านอยู่ช่วยชาวบ้านทุ่งปุยสร้างทางจนหมดช่วงของวัดทุ่งปุย ก็เดินทางกลับ


๏ ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท เมื่อครั้งอายุได้ ๕๑ ปี ได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งท่านได้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนาว่า สมถกรรมฐานคือการทำใจให้สงบ เป็นเรื่องของสมาธิ ส่วนวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องการฝึกสติ การฝึกตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านได้ฝึกกับพระเทพสิทธิมุณี โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรม เป็นประธาน ครูบาอาจารย์จากทางเหนือที่ไปปฏิบัติวิปัสสนาในครั้งนั้นก็มี ครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า, ครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง, พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล วัดร่ำเปิง (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็น พระธรรมมังคลาจารย์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร)

เมื่อศึกษาสำเร็จกลับมาแล้วก็มาฝึกอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร คณะศรัทธาญาติโยม ตามวิธีนี้ท่านว่าลูกศิษย์ของท่านปฏิบัติกันได้ผล บางองค์ได้ผลดีมาก แต่น่าเสียดายที่ลาสิกขากันไปหมด ปัจจุบันท่านไม่ได้สอนในลักษณะเป็น “สำนัก” แต่ถ้าใครไปถามธรรมะหรือเรื่องการปฏิบัติจากท่าน ท่านก็มักจะเมตตาให้ความกระจ่างอยู่เสมอ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

รูปภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ)

รูปภาพ
พระธรรมมังคลาจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล)


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


๏ สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

เรื่องที่กระทบความรู้สึกของหลวงปู่ครูบาอิน คือ การที่ท่านสูญเสียญาติพี่น้องภายในปีเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ พี่ชายท่านตาย เผาได้ ๓ วัน ลุงที่เจ็บอยู่และท่านนำมาดูแลพยาบาลที่วัดด้วยก็ตาย ต่อมาน้องหล้าและน้องที่เป็นหญิงก็ตายอีก สมัยก่อนยังไม่มีการเก็บเงินค่าฌาปนกิจศพเป็นรายหัวเพื่อช่วยกันอย่างในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของญาติพี่น้องที่ช่วยกันไป ปีนั้นหลวงปู่ครูบาอินมีอายุประมาณ ๖๐ ปี ท่านว่าอารมณ์เวทนาก็มีแต่รู้เท่านั้น หากท่านมิได้บวชประสบการณ์เช่นนี้คงทุกข์หนัก


๏ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์

ด้านกิจการพระศาสนา พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) ได้ปฏิบัติกิจของพระศาสนาเป็นอเนกประการ จนท่านได้รับตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์และสมณศักดิ์ ดังนี้

พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งปุย

พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลยางคราม

พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูอิน (พระครูประทวน)

พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวรวุฒิคุณ (พระครูสัญญาบัตร ชั้น ๑)

พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้น ๒ ในราชทินนามเดิม

หลวงปู่ครูบาอิน มีความผูกพันกับวัดทุ่งปุยนับตั้งแต่บวชครั้งแรก จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ และได้พัฒนาวัดให้เหมาะแก่กาลสมัย ทั้งการสร้างอาสนะสงฆ์ต่างๆ ขึ้นภายในวัด เมื่อวัดทุ่งปุยเจริญรุ่งเรืองแล้ว ทางการจึงได้ให้เปลี่ยนชื่อว่า “วัดคันธาวาส” ตามชื่อ ครูบาคันธา ผู้มาบูรณะวัดร้างทุ่งปุยเป็นองค์แรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นายประหยัด ศรีนุ ครูใหญ่โรงเรียนแม่ขาน ได้มาอาราธนานิมนต์หลวงปู่ ไปเป็นประธานสร้างอาคารเรียนโรงเรียนแม่ขาน แบบตึกชั้นเดียว โดยท่านได้มอบเงินให้เป็นทุนก่อสร้างอีกเป็นจำนวนถึง ๙,๐๐๐ บาท และเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ท่านได้ไปปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเศียรขาดที่เป็นรูปหินแกะของเดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่วัดร้างโรงเรียนแม่ขานในปัจจุบัน เมื่อเสร็จแล้วจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “หลวงพ่อโต” แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในหอประชุมโรงเรียนแม่ขาน จนถึงปัจจุบัน


๏ รับนิมนต์สู่วัดฟ้าหลั่ง

ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ จำนวนราษฎรในหมู่บ้านสันหินเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการโรงเรียนสำหรับบุตรหลาน จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อขออนุญาตใช้ที่ดินของกรมทางหลวงที่สงวนไว้มาสร้างโรงเรียน ซึ่งกรมทางหลวงก็ได้อนุญาต เมื่อเตรียมที่ทางแล้ว ชาวบ้านสันหิน (ฟ้าหลั่ง) โดยการนำของนายปั๋น เผือกผ่อง, นายจันทร์ ปัญญาไว, นายวัง โพธาติ๊บ และนายจันทร์ทิพย์ เรือนรักเรา (จันทร์ติ๊บจ้างซอ) ได้ร่วมกันไปอาราธนานิมนต์หลวงปู่ครูบาอิน อินโท (สมณศักดิ์ขณะนั้นเป็นพระครูอิน) มานั่งหนักเป็นประธานงานก่อสร้างโรงเรียน ซึ่งท่านก็ได้รับนิมนต์ และพอดีจะถึงฤดูเข้าพรรษา ทางคณะศรัทธาจึงช่วยกันแผ้วถางที่วัดร้างฟ้าหลั่ง สร้างเป็นอาราม และอาราธนาให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้นเลย และขณะเดียวกันก็เตรียมการสร้างโรงเรียนต่อไป

โรงเรียนวัดฟ้าหลั่งได้วางศิลาฤกษ์สร้างอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ ช่วงที่ออกพรรษาแล้ว อาคารเรียนที่ก่อสร้างนั้น เป็นอาคารเรียนตามแบบ ป ๑ ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นแบบตึกชั้นเดียว ๓ ห้องเรียน (เพิ่งรื้อไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ นี้เอง เครื่องไม้ที่ประกอบอาคารเรียนหลังนั้น ยังได้นำบางส่วนมาใช้สร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบันนี้ด้วย) การสร้างโรงเรียนในครั้งนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการเลย เกิดจากพลังศรัทธาของสาธุชนที่มีต่อองค์หลวงปู่ครูบาอินแทบทั้งสิ้น ท่านได้ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ ปี ๖ เดือน จึงแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนวัดฟ้าหลั่ง”

ส่วนทางวัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ซึ่งเป็นวัดเดิมของท่าน ท่านก็ได้มอบให้พระบุญปั๋น ปัญโญ ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้พี่ผู้น้อง และได้บวชหลังท่าน ๑ พรรษา รักษาการแทน ต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เรียกขานกันว่า ครูบาบุญปั๋น ปัญโญ และเพิ่งถึงแก่มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ นี้

รูปภาพ
ครูบาศรียูร คนฺธวํโส กับ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


๏ วัดร้างฟ้าหลั่ง

วัดฟ้าหลั่งก่อนที่พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) จะมาอยู่นั้นเป็นวัดร้าง ยังมีโบราณวัตถุ โบราณสถานเหลืออยู่ ที่ชื่อว่าวัดฟ้าหลั่งนั้น ตามคำบอกเล่าของคนโบราณที่สืบทอดกันมา ก็คือ “เป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มาก” กล่าวคือ หากปีใดฟ้าฝนแห้งแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พวกชาวบ้านจะพากันเอาข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน และนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวงสรวงเทวดาเพื่อขอฝน เมื่อทำพิธีถูกต้องจะปรากฏว่าบนท้องฟ้าจะมืดครึ้ม เต็มไปด้วยก้อนเมฆ แล้วฝนก็จะหลั่งลงมาจากฟ้าไม่ขาดสาย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “วัดร้างฟ้าหลั่ง” เนื้อที่ของวัดตามแนวรากฐานกำแพง มีเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ และมีที่ดินนอกแนวกำแพงวัดอีกมาก ประมาณกว่า ๒๐๐ ไร่ เป็นป่าไม้ประเภทต่างๆ เช่น ไม้เหียง ไม้ตึง ไม้แงะ และไม้เปา

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ กรมทางหลวงแผ่นดิน ได้สร้างถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านที่ดินของวัด จึงทำให้ที่ดินของวัดฟ้าหลั่งแยกออกเป็นสองแปลง ส่วนที่เป็นโบสถ์ วิหารเก่า อยู่ตรงข้ามกับบริเวณวัดปัจจุบัน นอกจากนั้น กรมทางหลวงยังได้ปักหลักเอาที่ดินของวัดและป่าข้างๆออกไปอีกประมาณ ๒๐ ไร่ ประกาศเป็นที่ดินกองทางสงวน พอกรมทางหลวงสร้างถนนเสร็จ ราษฎรบ้านใกล้เรือนเคียงก็พากันมาจับจองแผ้วถางที่ดินสองฟากถนน เป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ประมาณ ๖๐ ครอบครัว

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โรงเรียนบ้านสามหลังเก่าถูกพายุพัดล้มทั้งหลัง นายทิพย์ มณีผ่อง ครูใหญ่ นำชาวบ้านไปขออาราธนาเอาท่านครูบาขาวปี มานั่งหนัก (เป็นประธาน) สร้างโรงเรียนสามหลังขึ้นมาใหม่ พอครูบาขาวปีสร้างโรงเรียนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสร้างโรงเรียนโดยนายสมบูรณ์ ไชยผดุง (เจ้าน้อยสมบูรณ์) ได้อาราธนาให้ท่านอยู่นั่งหนัก (เป็นประธาน) สร้างวัดฟ้าหลั่งต่อ ท่านบอกว่าท่านไม่ใช่เจ้าของที่จะสร้าง ตัวเจ้าของมีแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏเพราะยังไม่ถึงเวลา หากถึงเวลาเมื่อใดเขาจะมาสร้างเอง ขอให้เหล่าญาติโยมจงรอไปก่อน


๏ บูรณะวัดร้างฟ้าหลั่ง

หลวงปู่ครูบาอินเล่าว่า ท่านมาอยู่วัดฟ้าหลั่งเมื่ออายุได้ ๕๗ ปี วัดฟ้าหลั่งยังเป็นป่าอยู่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าที่นี้แรง บริเวณกำแพงวัดปัจจุบัน เป็นที่ที่ชาวบ้านมาเลี้ยงผีกัน เข้าใจว่าเป็นพวกผีตายโหง เมื่อท่านมาอยู่ชาวบ้านก็ได้สร้างกุฏิเป็นกระท่อมเล็กๆ ให้ท่านอยู่ ท่านก็ได้สอนให้ชาวบ้านแผ่เมตตาให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นได้รับส่วนกุศล ท่านก็อยู่มาได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน สภาพของวัดที่เห็นในปัจจุบัน ท่านค่อยๆ สร้างขึ้นทั้งสิ้น คติการสร้างของครูบาอินก็คือค่อยทำไป ท่านไม่บอกบุญให้ชาวบ้านต้องเป็นทุกข์ เดือดร้อน ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์เสมอว่า อย่าทำบุญให้ตนเองเดือดร้อน ให้ทำตามกำลัง

เรื่องที่ครูบาขาวปีกล่าวถึงเจ้าของที่จะมาสร้างนั้น ครูบาอินท่านก็ได้ยินที่ครูบาขาวปีว่า “เจ้าเปิ้นมี เจ้าตึงมาสร้าง” เมื่อมีผู้เรียนถามท่านว่า ท่านใช่เจ้าของตามที่ครูบาขาวปีท่านกล่าวถึงหรือไม่ ท่านตอบแบหัวเราะๆ ว่า “ถ้าจะแม่แต้เน่อ หลวงปู่มาอยู่นี่นะ ทีแรกมาอยู่มีบ้านสักสิบสักซาว มุงคามุงต๋อง (ตองตึง) กะต๊อบหลวงปู่ ได้ซื้อข้าวสารมานึ่ง บอกเขาว่าสตางค์มีก่อซื้อข้าวสารมาไว้ เขาก่อซื้อมาหื้อหลายเตื้อ เอามาเตื้อถังๆ โอถ้าเป็นพระเณรสมัยนี้ มันก่อไปแล้วแล้วเน้อ บ่ออยู่ละ อยู่มาก็ดีขึ้นๆ บ้านก็หลายหลังขึ้น ก็เจริญขึ้น”

รูปภาพ
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท กับ พระอาจารย์อินทร จิตตสังวโร
เจ้าอาวาสวัดใหม่หนองหอย ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่



(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท เมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม มีอายุพรรษาไม่มากนัก


๏ วัตรปฏิบัติ

พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) หรือที่เรียกติดปากว่า “ครูบาอิน” หรือ “หลวงปู่” หรือ “หลวงปู่ครูบาอิน” หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง” นั้นเป็นพระสุปฏิบันโน ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นมีความชุ่มเย็นเสมอ ท่านแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรง และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของท่านมิได้ขาด คือการทำวัตรเช้า-เย็น พร้อมกับเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาในตอนเช้ามืดและก่อนนอน

ครูบาอินมีความพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ท่านมักกล่าวอยู่เสมอว่า เป็นบุญของท่านที่อยู่มาจนทุกวันนี้ และไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อ ครูบาไม่เคยเรียกร้องต้องการอะไร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ ในวัยเกือบ ๙๐ ปีท่านยังทำความสะอาดกุฏิเอง ผู้ที่พบเห็นท่านมักจะเกิดศรัทธาและประทับใจในความเป็นพระแท้ของท่าน ท่านมีเมตตาต่อศิษย์โดยถ้วนหน้า พยายามให้ลูกศิษย์หาโอกาสปฏิบัติธรรมเสมอ ปกติแล้วครูบาจะไม่ค่อยพูด แต่ถ้าหากคุยธรรมะแล้วท่านจะคุยได้นาน หรือถ้าพบคนสูงอายุท่านจะชวนคุยด้วยนานๆ คนรุ่นเดียวกับท่านล่วงลับไปเกือบหมดแล้ว ท่านเล่าว่ามีเพื่อนรุ่นเดียวกับท่านเป็น “น้อย” (ผู้เคยบวชเป็นสามเณร) ยังเหลืออยู่เพียงคนเดียว

ทางด้านสุขภาพของครูบาอิน ท่านว่าสังขารของท่านร่วงโรยไปตามอายุ เดี๋ยวนี้มีอาการอ่อนเพลีย และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง แต่ก็มีหมอคอยดูแลรักษาเป็นประจำ ท่านเองถ้าหากไม่อ่อนเพลียนัก ก็พยายามไปตามกิจนิมนต์อยู่เสมอด้วยเมตตาของท่าน แม้ลูกศิษย์จะห่วงใยและพยายามขอร้องให้พักผ่อนก็ตาม

ท่านครูบาเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงต่อเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของท่านด้วย ท่านไม่ค่อยจะบอกเล่าอาการ หรือทุกขเวทนาให้ใครทราบ ได้แต่ห่วงใยทุกข์สุขของผู้อื่น ความมีเมตตาเอื้อเฟื้อของท่าน เผื่อแผ่ถึงสัตว์เลี้ยงภายในวัด ท่านไม่ยอมให้ใครนำไปปล่อยที่อื่น ท่านว่าข้าววัดพอมีเลี้ยงดูกันไปได้ ยามสัตว์เหล่านี้เจ็บป่วย ท่านก็พยายามจัดการให้มีการเยียวยาตามกำลัง พระภิกษุและสามเณรก็มีความรักสัตว์และมีความเมตตาเช่นท่านด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งมีลูกสุนัขของวัดเจ็บอยู่นาน ท่านเรียกมันว่า “ขาว” พอดีมีโอกาสที่จะนำตัวไปรักษาที่คลินิกสัตวแพทย์ลูกศิษย์ของท่าน ท่านเดินมาส่งถึงรถพร้อมกับกล่าวว่า “ขาวเอ๊ย ไปโฮงยานะลูก”

ในเรื่องนี้ บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและฆาราวาสซึ่งมีทั้งชาวบ้านวัดฟ้าหลั่งและจากที่ต่างๆ ก็พยายามดูแลท่านตามกำลังความสามารถเพื่อถนอมท่าน ครูบาเองนั้นมีความเกรงใจทุกคน ท่านมักกล่าวเสมอว่า ไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ท่าน ท่านพอใจใสความเป็นอยู่ของท่านแล้ว แต่หมูลูกศิษย์ก็มีความห่วงใย จึงอดไม่ได้ที่จะจัดหาสิ่งต่างๆ ให้ท่านได้รับความสะดวกบ้าง รวมทั้งพยายามหาแพทย์มาดูแลสุขภาพของท่าน ให้ท่านอยู่กับพวกเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่า ท่านไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้

พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) เป็นผู้มีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ท่านรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา มีผู้ไปถามความเห็นจากท่าน ท่านจะให้ข้อคิดที่ดี โดยยึดหลักธรรมะ ไม่เคยคิดซ้ำเติมผู้ใดด้วยอคติหรืออารมณ์ ในระยะหลังได้มีผู้มาพบเห็นและได้ข่าวปฏิปทาของท่านจนเกิดความเลื่อมใสในองค์ท่านมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้แวะเวียนไปกราบนมัสการท่านอยู่เนืองๆ และได้ทำบุญร่วมกับท่านโดยการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัดฟ้าหลั่ง อาทิเช่น วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงครัว ตลอดจนห้องสุขา เป็นต้น จนวัดมีความเจริญดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน

วัตรปฏิบัติประจำวันของท่านครูบาอินเท่าที่ทราบ ท่านตื่นนอนตอนเช้าตีสี่ ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เมื่อพระในวัดมาพร้อมกันที่กุฏิของท่าน ท่านครูบาก็จะเป็นผู้นำในการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิแผ่เมตตาเป็นประจำ ท่านฉันประมาณ ๘ โมงเช้า โดยฉันเอกา คือฉันเพียงมื้อเดียว และตลอดทั้งวันจะไม่ฉันอย่างอื่นนอกจากน้ำ ประมาณ ๙-๑๐ โมงเช้า หากไม่ติดกิจนิมนต์ ท่านก็จะมีปฏิสันถารกับญาติโยมที่ไปกราบนมัสการหรือไปทำบุญ หลังจากนั้นท่านจะพักผ่อนเป็นการส่วนตัว เช่นอ่านหนังสือหรือทำกิจอื่นจนถึงเวลาประมาณบ่ายสองโมงท่านจึงออกรับแขกจนถึงเวลาประมาณห้าโมง

จากนั้นท่านจึงสรงน้ำแล้วสวดมนต์ทำสมาธิจนถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม พระภิกษุสามเณรในวัดจึงมาพร้อมกันที่กุฏิของท่านเพื่อทำวัตรสวดมนต์เย็น ทำสมาธิ ซึ่งเสร็จประมาณสองทุ่ม หลังจากนั้นท่านครูบาอินจะมีปฏิสันถารกับพระในวัดตามสมควร แล้วพักผ่อน ซึ่งท่านจะเดินจงกรมและทำสมาธิก่อนจำวัดทุกคืน

รูปภาพ

รูปภาพ
พระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน


๏ นมัสการพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์ประจำปีเกิด

ตามปกติท่านครูบาอินเป็นผู้ที่ชอบอยู่กับที่มากกว่าจะเดินทางท่องเที่ยวหรือรับกิจนิมนต์ไปในที่ไกลๆ นอกจากกิจนิมนต์ที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งในบางครั้งท่านไปด้วยความเมตตา แต่พอกลับมาแล้วมีอาการเจ็บป่วยเป็นที่ห่วงใยแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างมาก จนถึงกับขอเมตตาจากท่านครูบางดการรับกิจนิมนต์ลงบ้าง เพื่อจะได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ลุกศิษย์ลูกหา และศรัทธาสาธุชนทั้งหลายไปนานๆ และพากันมีความหวังว่า ท่านทั้งหลายที่เลื่อมใสศรัทธาในท่านครูบาจะเข้าใจ และยินดีที่ลูกศิษย์ลูกหาใกล้ชิดมีความเป็นห่วงหลวงปู่เช่นนี้

เท่าที่ทราบสถานที่อันเป็นความปีติของท่านในสมัยหลังที่ท่านได้มีโอกาสไปเยือนและกราบนมัสการ คือการไปกราบนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงติ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อันเป็นคตินิยมของคนภาคเหนือ ถือกันว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ซึ่งในชั่วชีวิตหนึ่งควรจะมีโอกาสไปนมัสการ ซึ่งครูบาอินท่านก็ได้ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ คือปี พ.ศ.๒๕๓๓ ในวันที่ท่านไปเป็นการพอดีกับประเพณีทำบุญของพระธาตุ ซึ่งยังความปีติแก่ท่านเป็นอันมาก


๏ การสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะ

นับตั้งแต่หลวงปู่ครูบาอิน ได้รับอาราธนาให้มาเป็นประธานสร้างโรงเรียนวัดฟ้าหลั่งเป็นต้นมา มีเหตุการณ์และการก่อสร้างที่พอจะเรียงลำดับเวลาและอายุของหลวงปู่ ได้ดังนี้คือ

พ.ศ.๒๕๐๔ อายุ ๕๘ ปี ได้มาพำนัก ณ วัดร้างฟ้าหลั่ง โดยคณะศรัทธาได้สร้างกุฏิถวาย และอาราธนาให้หลวงปู่ครูบาอิน อยู่จำพรรษาเป็นพรรษาแรก

พ.ศ.๒๕๐๕ อายุ ๕๙ ปี เริ่มสร้างอาคารเรียน โรงเรียนวัดฟ้าหลั่ง เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕

พ.ศ.๒๕๐๖ อายุ ๖๐ ปี ก่อสร้างโรงเรียน (ต่อ)

พ.ศ.๒๕๐๗ อายุ ๖๑ ปี อาคารเรียนเสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี ๖ เดือน ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ในปีนี้เอง ได้เริ่มลงมือสร้างศาลาการเปรียญ เพื่อใช้แทนวิหารมีขนาดกว้าง ๙ เมตรยาว ๑๒ เมตร (เพิ่งรื้อลงและสร้างใหม่แทนเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๒)

พ.ศ.๒๕๑๐ อายุ ๖๔ ปี เริ่มสร้างกำแพงด้านหน้า สร้างกุฏิเล็ก ทางทิศตะวันตกเรียงกัน ๒ หลัง และกุฏิใหม่อีก ๑ หลัง เป็นที่หลวงปู่ครูบาใช้รับแขกและประชุมสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น

พ.ศ.๒๕๑๓ อายุ ๖๗ ปี สร้างกำแพงด้านเหนือและด้านใต้ (ด้านโรงเรียน)

พ.ศ.๒๕๑๕ อายุ ๖๙ ปี สร้างกำแพงด้านตะวันตกพร้อมโรงครัว ๑ หลัง (เพิ่งรื้อลงและสร้างใหม่แทนที่เดิม ปี พ.ศ.๒๕๓๓)

พ.ศ.๒๕๑๘ อายุ ๗๑ ปี ย้ายอุโบสถเดิม (มีปรากฏเพียงฐานอุโบสถแต่โบราณ) ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดในปัจจุบัน มาสร้างใหม่ เพื่อความสะดวกในการดูรักษาและปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย

พ.ศ.๒๕๒๔ อายุ ๗๘ ปี สร้างหอระฆัง

พ.ศ.๒๕๒๖ อายุ ๘๐ ปี เริ่มสร้างวิหาร การก่อสร้างเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ด้วยเหตุผลที่ว่าหลวงปู่ครูบาอินไม่เรี่ยไรบังคับให้คนทำบุญ

พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๙ อายุ ๘๑-๘๓ ปี อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างวิหาร

พ.ศ.๒๕๓๐ อายุ ๘๔ ปี มีการทอดกฐินสามัคคีเพื่อนำทุนทรัพย์สร้างวิหาร ในการทอดกฐินครั้งนี้ เพื่อเป็นฉลองศรัทธาผู้มาร่วมบำเพ็ญบุญกุศล คณะกรรมการฯ จึงได้อาราธนาพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณสิทธาจารย์) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนาสมโภชองค์กฐิน เพื่อยังประโยชน์สุขแก่สาธุชนทั้งหลายให้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล และภาวนา

พ.ศ.๒๕๓๑ อายุ ๘๕ ปี มีการทอดกฐินสามัคคีโดย ห.ส.น.เวชพงษ์โอสถ และบริษัทอุตสาหกรรมผึ้งไทย นำทุนทรัพย์สมทบสร้างวิหารจนแล้วเสร็จ

พ.ศ.๒๕๓๒ อายุ ๘๖ ปี วันที่ ๒๒-๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ มีการฉลองวิหารและสมโภชพระประธาน ซึ่งคุณวีระ-คุณยุวดี อุชุกานนท์ชัย พร้อมครอบครัว และ ผศ.ดรุณี ศมาวรรตกุล เป็นเจ้าภาพผู้ศรัทธา และทำบุญอายุครบ ๘๖ ปี หลวงปู่ครูบาอิน ในครั้งนั้น ท่านได้เป็นประธานองค์ผ้าป่าทอดถวายบำรุงเสนาสนะสำนักสงฆ์ถ้าผาปล่อง ซึ่งพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) แสดงพระธรรมเทศนาสมโภชวิหารใหม่ด้วย หลังจากออกพรรษา ครอบครัวคุณวีระ-คุณยุวดี อุชุกานนท์ชัย ได้เป็นประธานทอดกฐินสามัคคี นำทุนทรัพย์เริ่มก่อสร้างศาลาการเปรียญแทนหลังเก่าซึ่งทรุดโทรมแล้ว และมีอายุการใช้งานนับได้ถึง ๒๖ ปี และได้มีคณะศรัทธาศิษยานุศิษย์บริจาคทุนทรัพย์สมทบจนแล้วเสร็จ

พ.ศ.๒๕๓๓ อายุ ๘๗ ปี อาจารย์รัตนา หิรัญรัศ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมญาติมิตรสหาย ได้เป็นเจ้าภาพสร้างกุฏิต่อเติมออกไปจากกุฏิเดิม เพื่อให้หลวงปู่ครูบาได้พักอาศัยให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ในช่วงก่อนเข้าพรรษา (เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) ได้มีการปรับถมที่บริเวณวัดด้านทิศเหนือของพระอุโบสถให้ได้ระดับเดียวกับหน้าลานวิหาร และได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างกุฏิกรรมฐานจำนวน ๕ หลัง แล้วเสร็จทันเวลาให้พระภิกษุได้เข้าพักในเวลาพรรษาพอดี ครั้นเมื่อออกพรรษาครอบครัวของอาจารย์รัตนา หิรัญรัศ พร้อมญาติมิตรสหาย โดยคุณแม่ลัดดา หิรัญรัศ และคุณป้าถาวร ทองลงยา เป็นประธานทอดกฐิน ณ วัดฟ้าหลั่ง คณะกรรมการได้นำทุนทรัพย์จากการทอดกฐินในครั้งนี้สมทบกับทุนเดิมที่มีอยู่ เริ่มสร้างโรงครัว หอฉัน แทนที่โรงครัวเดิม ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานถึง ๑๙ ปี

พ.ศ.๒๕๓๔ อายุ ๘๘ ปี สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบสร้างโรงฉัน โรงครัว คณะศิษยานุศิษย์จัดทำบุญอายุครบรอบ ๘๘ ปี และมีงานฉลองสมโภชกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงฉัน โรงครัว ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ตามลำดับ ฯลฯ

หลังจากนั้นในแต่ละปี ก็ได้มีการจัดงานบุญทอดผ้าป่า กฐิน และทำบุญอายุของหลวงปู่ครูบาอินประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ทุกๆ ปี ซึ่งก็จะมีศิษยานุศิษย์ และคณะศรัทธาทั้งใกล้และไกลจำนวนมากเข้าร่วมงาน ซึ่งรวมทั้งคณะลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กองบิน ๔๑, และคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมงานจนแน่นวัดทุกๆ ปี

รูปภาพ

รูปภาพ
หลวงปู่ครูบาบุญปั๋น ธัมมปัญโญ กับ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ กลับวัดทุ่งปุย

ภายหลังจากที่หลวงปู่ครูบาอินได้ไปสร้างความเจริญ ที่วัดฟ้าหลัง ร่วม ๓๐ ปี จนวัดฟ้าหลั่งมีความสวยงามและรุ่งเรืองยิ่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว เมื่อกาลล่วงมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ก็ได้หวนกลับมาสู่ “บ้านเกิด” ที่วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของหลวงปู่ที่เคยเป็นเด็กวัด และได้บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเคยเป็นเจ้าอาวาสที่นี่มาก่อน และได้เป็นเจ้าคณะตำบลยางคาม มาตามลำดับ

มูลเหตุสำคัญ เนื่องจากวัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) กำลังพัฒนาเสนาสนะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ทรุดโทรมไปตามกาลสมัย อย่างเช่น กุฏิ ศาลา กำแพง เป็นต้น อีกทั้งการกลับมาของท่านด้วยอายุที่สูงถึง ๙๘ ปี ด้วย “วุฒิ” อัน “เจริญ” จนถึงขั้นสูงสุด หาใดเปรียบมิได้อย่างเต็มภูมิ เป็นการกลับมาของท่านในวัยชรามากแล้ว ได้กลับมาอยู่ใกล้ลูกหลาน ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน

นับว่าหลวงปู่ครูบาอิน เป็นปูชนียบุคคลที่ควรเคารพบูชาอย่างยิ่ง ถึงแม้นจะไปอยู่ที่อื่น ไปสร้างที่อื่นให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่ลืมบ้านเดิมถิ่นฐานบ้านเกิดของท่าน คงเป็นเพราะบุญกุศลที่ศรัทธาญาติโยมได้มาร่วมกันทำกับหลวงปู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศาลาการเปรียญ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ การสร้างกำแพง ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ และการสร้างกุฏิวรวุฒิคุณ เพื่อเป็นที่พำนักของหลวงปู่ ในปีเดียวกัน ในแต่ละวันจึงมีผู้คนมากราบนมัสการเยี่ยมเยียนหลวงปู่ไม่ขาดสาย ถึงแม้นว่าท่านจะอาพาธ นอนพักรักษาตัวอยู่ที่วัดหรือที่โรงพยาบาล ท่านก็ยังเมตตาให้ศรัทธาญาติโยมที่มานั้นได้เข้าไปกราบไหว้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

รูปภาพ
กุฏิวรวุฒิคุณ พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นกุฏิที่หลวงปู่ครูบาอินพำนักในช่วงปลายชีวิต
ณ วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ต.ยางคราม กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่



๏ ปัจฉิมวัยและการมรณภาพ

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ได้เพียรอุทิศตนไว้ในบวรพระพุทธศาสนา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ศาสนจักร คือ การสร้างถาวรวัตถุ สร้างวัดวาอาราม ให้ความช่วยเหลือไว้หลายวัด ฝ่ายอาณาจักรท่านก็ได้สร้างอาคารสถานที่ และสาธารณประโยชน์แก่ทางราชการบ้านเมืองอย่างมากมายมาโดยตลอด ใครมาขอให้ท่านช่วยสร้างอะไร ท่านก็เมตตาให้ ท่านทำแบบเงียบๆ ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย ไม่ค่อยจะพูดจามากนัก หลวงปู่ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ผู้ที่ได้มาพบเห็นกราบไหว้ เห็นปฏิปทาการปฏิบัติของท่านแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่

ช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านไม่แข็งแรงซึ่งเป็นไปตามอายุขัย อาพาธบ่อย หลวงปู่ท่านมีความอดทนสูงมาก มีสติและสมาธิความจำที่ดีเลิศอยู่เสมอ ยามเจ็บไข้เกิดทุกขเวทนาท่านจะไม่ยอมบอกใครง่ายๆ ท่านเกรงใจ ไม่อยากให้เป็นภาระแก่ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ และญาติโยม

ยามเมื่อท่านไม่สบายพักรักษาตัวอยู่ที่วัด ต้องให้ออกซิเจนอยู่เป็นระยะ เมื่อมีญาติโยมมากราบนมัสการท่าน ท่านก็ให้เข้าพบ พร้อมกับให้พรอันยาวนานตามปกติของท่าน จนญาติโยมที่มากราบไหว้รับพรจากท่านนั้นเหนื่อยแทน ขอร้องท่านให้พรสั้นๆ เพราะกลัวท่านเหนื่อย ท่านก็ไม่ยอม ลุกขึ้น ไม่นอนให้ศีลให้พรแก่ญาติโยม ไหว้พระสวดมนต์อยู่ตลอด ท่านบอกว่าไม่เหนื่อย

หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ หมอวินิจฉัยว่าท่านติดเชื้อในปอด และน้ำท่วมหัวใจ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๘ เมษายน ก็กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) อาการดีขึ้น

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๕ นิมนต์หลวงปู่ขึ้นอยู่บนกุฏิหลังใหม่ (กุฏิวรวุฒิคุณ) ที่คณะศรัทธาญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหา สร้างถวาย

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ คณะศรัทธาศิษยานุศิษย์ ทำบุญฉลองอายุ ๑๐๑ ปี ถวาย

หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๓.๑๕ น. อาการเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงเวลา ๑๙.๔๐ น. ท่านก็จากไปอย่างสงบ ปัจจุบันนี้ได้ตั้งสรีระของท่านไว้บำเพ็ญกุศล ณ วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) จังหวัดเชียงใหม่

คณะศรัทธาศิษยานุศิษย์ขอขอบคุณและอนุโมทนา ผู้บริหาร นายแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การรักษาดูแลหลวงปู่มาด้วยดีโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจวบจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของหลวงปู่ โดยเฝ้าดูแลอุปัฏฐากแวะเวียนเยี่ยมดูอาการ ให้กำลังใจหลวงปู่อยู่มิได้ขาด

ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้รับพรของหลวงปู่ที่เคยให้เราและท่านไว้ว่า “ตั้งแต่นี้ไปปายหน้า ขอให้ทุกคนจงอยู่ดีมีสุข มีอายุมั่นยืนยาว ขอหื้อพ้นเสียยังโรค ภัย ไข้ เจ็บ เป็นต้นว่าเคราะห์ปายหลังอย่าได้มาท่า เคราะห์ปายหน้าอย่าได้มาจน เคราะห์ปายบนอย่าได้มาใกล้ เคราะห์ขี้ไร้อย่าได้มาปานถูกต้อง ฝูงปาปะเคราะห์พร่ำพร้อมคือว่าเคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์เมื่อหลับเมื่อตื่น เคราะห์เมื่อยืมเมื่อเตียว เคราะห์เมื่อเหลียวเมื่อผ่อ เคราะห์เมื่อคืนบ่อหัน เคราะห์เมื่อวันบ่อฮู้ เคราะห์เมื่ออู้เมื่อจ๋า เคราะห์นานาต่างต่าง จุ่งกลับกลายเป็นเป็นโสมะ ตัวใดเป๋นโสมะแล้ว จุ่งนำมายังลาภะสะก๋าร คือ โจคลาภ ขอหื้อทุกคนมีอายุปี๋ อายุเดือน อายุวัน อายุยาม โจคปี๋ โจคเดือน โจคยาม อยู่ก็ขอหื้อมีจัย ไปก็ขอหื้อมีโจคมีลาภ ฮิมาก๊าขึ้นเหมือนกั๋นทุกผู้ทุกคน นั้นจุ่งจักมี วิรุฬหา พุทธศาสเน อะโรคาสุขิตา โหนตุ อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ สาธุ สาธุ สาธุ”

ขอวิญญาณท่านอยู่คู่สวรรค์
สถิตย์มั่นบรรลุบุญกุศล
แม้จะอยู่ใต้หล้าทั่วสากล
สถิตย์บนบัลลังค์ทองของวิมาน


รูปภาพ

รูปภาพ
พระมหาเถรานุเถระ ขึ้นวางดอกไม้จันท์
ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาอิน อินโท
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐




.............................................................

คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://krubain.awardspace.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เมื่อครูบาอินปราบทายาทอสูร
โดย เนาว์ นรญาณ


เพื่อเป็นการใช้หนี้ท่านผู้อ่านที่เคารพรักทั้งหลาย ด้วยเคยได้เกริ่นกล่าวไว้ในตอนแรกๆ แห่งการ “รีเทิร์น” กลับมาสู่ร่มไม้ชายคาแห่ง “ศักดิ์สิทธิ์” อีกครั้งหนึ่งของผู้เขียนว่า จะได้เล่าถึงอภิญญาฤทธิ์อิทธาภินิหารของพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ที่เคยได้พบประสพมา ให้ได้ตื่นเต้นมันส์พ่ะย่ะค่ะสะใจพระเดชพระคุณรุนช่องชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ให้สมกับที่ได้ห่างหายกันไปเป็นนานสองนานนั้น บัดนี้ก็คงได้ถึงกาลเวลาอันสมควรเสียที...

ประกอบกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆ ปีนั้น ก็จะเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระเดชพระคุณท่านพระครูวรวุฒิคุณ หรือที่หลายๆ คนรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีในนาม “หลวงปู่ครูบาอิน อินโท” วัดทุ่งปุย-ฟ้าหลั่ง กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ สุดยอดพระมหาคณาจารย์ผู้แก่กล้าด้วยฤทธิจิตอันดับหนึ่งแห่งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ ผู้เพิ่งจะ “นิพพาน” จากไปได้ไม่กี่เวลา จึงนับเป็นโอกาสอันเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะได้อาศัย “เดือนเกิด” ของท่านนี้ กระทำการ “เปิด” เรื่อง “ลับสุดยอด” ที่ท่านเคยสั่งเอาไว้ว่า “เอาไว้ให้ครูบาตายก่อนแล้วค่อยเล่า” อย่างเป็นทางการเสียเลยทีเดียว

แม้จะเคย “ลักไก่” แอบเอาเรื่องที่ท่านครูบาอินได้ “ห้ามขยาย” ออก “แพลม” เล็กๆ มาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ “เสกลำไยเป็นแมลงผึ้ง” แข่งกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตนก็ดี การเสก “น้ำให้แข็งแล้วลอยคว้างอยู่กลางอากาศ” แข่งกับหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม ที่เสกน้ำมนต์แข็งคาขวดจนเทไม่ออกก็ดี หรือคราวที่ครูบาท่านนึกสนุก แล้วหายตัวขึ้นไป “นอนเล่น” บนสายไฟฟ้าแรงสูงหน้าวัดต่าง “เปลญวน” ต่อหน้าต่อตาของผู้คนมากมายที่พากันช็อคตกตะลึงพรึงเพริดไปหมดก็ตาม...ฯลฯ แต่ก็ช่างไม่ “สะสา” แก่ใจดวงน้อยๆ ของผู้เขียนคนนี้ ที่ “กระหาย” อยากจะเล่าให้ทุกๆ คนได้ทราบถึง “ของจริง” ให้รู้ดำรู้แดงกันไปข้างหนึ่งเลยว่า อันพระมหาคณาจารย์ระดับ “อ๋อง” ที่ท่าน “เก่งแท้” และ “แน่จริง” จริงๆ นั้น ท่าน “สุดๆ ไปเลย” กันถึงเพียงไหน..???

แต่บัดนี้และเดี๋ยวนี้ โอกาสที่ครูบาอินได้เคย “ประกาศิต” ไว้ดังกล่าวได้มาถึงแล้ว... ก็จะขอลุยถวายท่านกันอย่างไม่ยั้งเลยก็แล้วกันนะขอรับกระผม สาธุ...

รูปภาพ
หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร


::: หลวงพ่อกวยยกย่อง :::

แต่ก่อนร่อนชะไรนั้น หากเอ่ยชื่อถึง “หลวงปู่ครูบาอิน อินโท แห่งวัดฟ้าหลั่ง เชียงใหม่” ให้หลายๆ คนได้ยินได้ฟังแล้ว หลายๆ คนก็อาจจะทำหน้าปั้นยาก พลางอมยิ้มส่ายหน้าสารภาพว่า “ผม/ดิฉันไม่รู้จักคับ/ค่ะ” อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะในเขตล้านนาภาคเหนือของสยามประเทศนั้น หากไม่นับครูบาเจ้าศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนาไทยผู้กระเดื่องเลื่องหล้าองค์นั้นแล้ว พระสายเหนือที่จะมักคุ้นตาและใจของ “ส่วนกลาง” จริงๆ ก็เห็นจะมีเพียงไม่กี่องค์ อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่, หลวงปู่หล้า ตาทิพย์ วัดป่าตึงเชียงใหม่, ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูน, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร สำนักถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่, หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง ฯลฯ แต่เพียงประมาณเท่านั้น

แต่นั่น...ก็เป็นเรื่องของ “สามัญปุถุชน” แต่เพียงเท่านั้น หาใช่เป็นกรณีของ “ผู้รู้แจ้ง” เห็นจริงไม่ เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อน หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร สุดยอดพระเกจิอาจารย์ผู้ชาญพระเวทย์แห่งวัดโฆสิตาราม ชัยนาท ยังไม่อาจนิ่งเฉยพร้อมกับยังได้สั่งความแก่พระครูสมุห์ภาสน์ มังคลสังโฆ แห่งวัดซับลำไย ลพบุรี ศิษย์ใกล้ชิดของท่านรูปหนึ่งเลยทีเดียวว่า “ให้ขึ้นไปกราบครูบาอิน วัดฟ้าหลั่งที่เชียงใหม่ และขอศึกษาวิชาจากท่านให้ดีๆ เถิด ครูบาอินนี้ท่านมีวิชาจิตตานุภาพแก่กล้าสามารถมากๆ จริงๆ...!!!!!!”

ลองหลวงพ่อกวย สั่งการด้วยองค์เองเห็นปานนี้ ยังจะมีใครต้องพักสงสัยกันได้อยู่อีกเล่า...???

และเมื่อท่านพระครูสมุห์ภาสน์เดินทางขึ้นเหนือไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และในก้าวแรกที่ได้ย่างเข้าสู่อาณาบริเวณวัดฟ้าหลั่ง ท่านพระครูสมุห์ภาสน์ ศิษย์หลวงพ่อกวย ก็ได้ “เจอดี” ทันที เมื่อมีภิกษุรูปหนึ่งออกมาคอยรับอยู่ที่หน้าวัดฟ้าหลั่ง ก่อนที่จะได้กล่าวสัมโมทนียกถาอย่างชวนให้สะท้านใจไม่น้อยเลยว่า

“นมัสการเชิญครับ...ท่านครูบาอินท่านว่าจะมีพระจากแดนไกลมาหา เลยสั่งให้ผมมาคอยรับท่านขอรับ...???”

“...!!!!?????!!!!...”

เพิ่งเหยียบเข้าวัดฟ้าหลั่งเพียงไม่กี่ก้าว และยังไม่ทันเห็นหน้ากันแม้แต่เพียงวิบเดียว แต่ “ครูบาอิน” ท่านกลับล่วงรู้หมดสิ้นแล้ว

ช่าง “เก่งแท้” สมกับที่หลวงพ่อกวยสั่งให้มา “ต่อวิชา” ด้วย ไม่ผิดเลยแม้แต่เพียงครึ่งคำเดียว...สุดยอดเลยจริงๆ

รูปภาพ
หลวงพ่อเกษม เขมโก


::: หลวงพ่อเกษม ยอมรับ :::

ครั้งหนึ่ง มี “พ่ออุ๊ย” แห่งวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ท่านหนึ่ง ได้ไปกราบหลวงพ่อเกษม เขมโก ที่สุสานไตรลักษณ์ แห่งจังหวัดลำปาง แล้วเอาพระที่ตนมีอยู่ออกมาให้หลวงพ่อเกษมท่าน “ชาร์จแบ็ต” (มนต์) เพิ่มพลังให้ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายมักนิยมทำกัน เวลาได้ไปกราบครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ โดยหนึ่งในพระเครื่องที่นำไปขอให้หลวงพ่อเกษมท่านเสกนั้น ก็มีพระของหลวงปู่ครูบาอินรวมอยู่ด้วย...

และในบัดดลนั่นเอง สิ่งที่ทำให้พ่ออุ๊ยจากเมือง “หละปูน” ถึงกับแปลกประหลาดใจอย่างใหญ่หลวง ก็พลันอุบัติขึ้น เมื่อหลวงพ่อเกษม เขมโก ผู้ยิ่งด้วยฤทธิ์อภิญญาอันแก่กล้าไม่ยอมเสกพระของ “ครูบาอิน” ให้อย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะบอกกับพ่ออุ๊ยนั้นอีกด้วยว่า “ดีอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสกอะไรอีกแล้ว..!!!!!!”

นี่ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า อันอำนาจจิตฤทธิ์อภิญญาของหลวงปู่ครูบาอิน อินโทนี้ จะต้องมีความแก่กล้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงพ่อเกษมอย่างไม่ต้องสงสัย ก็ของๆ ท่าน “ดี” อยู่แล้ว “เต็ม” อยู่แล้ว เลยไม่รู้ว่าจะเสกทับให้เสียเวลาเปล่าๆ ไปทำไม น้ำเต็มตุ่มเต็มไหอยู่ดีๆ หากจะยังจะเทซ้ำลงไปอีก ก็รังแต่จะหกเรี่ยราด หาประโยชน์มิได้เท่านั้น มิสู้มิเสกเลย จะดีกว่าเป็นไหนๆ หรือมิใช่...???

รูปภาพ
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


::: หลวงปู่สิม นับถือ :::

ในบรรดาศิษย์ที่ใกล้ชิดหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร สำนักถ้ำผาปล่อง แห่งอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จริงๆ แล้ว จะทราบถึงอัธยาศัยประการหนึ่งของหลวงปู่สิมท่านเป็นอย่างดีที่สุดเลยว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนหรือพระไหนก็ตาม หากไม่ดีแท้หรือแน่จริงถึงขีดสุดๆ แล้ว หลวงปู่สิมท่านจะไม่สนใจปรารภปรารมภ์อะไรถึงเลย...”

ขนาดมีศิษย์ “รุ่นพี่” (สายกรรมฐาน) ของท่านเองบางองค์ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่สิมท่านก็ไปเยี่ยมศพตามธรรมเนียม แต่เป็นการไปด้วยท่าทีที่ “เฉย” อย่างมากๆ จนศิษย์บางคนสังเกตเห็น แล้วอดรนทนไม่ได้มากราบเรียนถามท่านถึงลักษณาการที่ “นิ่งผิดปกติ” เช่นนั้น หลวงปู่สิมท่านก็ได้แต่ยิ้มๆ และไม่ยอมเฉลยอะไรมากความ ทำให้ทราบโดยนัยว่า “รุ่นพี่” องค์นั้น คงจะมีภูมิจิต ภูมิธรรม ไม่ “เสมอ” กับหลวงปู่สิมท่านเป็นแน่ หลวงปู่สิมท่านจึง “เฉยเมย” เห็นปานนั้น

ตรงข้ามกับ ระดับ “ยอดสุด” ของจริงมาเองแล้ว โดยไม่ต้องพักถามไถ่ว่า จะเป็น “ธรรมยุต” หรือ “มหานิกาย” ให้เสียเวลา หลวงปู่สิมท่านจะกล่าวชมเชยกราบไหว้ถึงตักถึงเท้าอย่างไม่มีรีรอเลยทีเดียว

“ท่านอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ท่านเก่งมากนะ...ท่านไม่ดุอะไรไม่มีเหตุผลหรอก แต่ท่านจะดุบาปด่าบาปต่างหาก...!!”

“เจ้าคุณนรรัตน์ วัดเทพศิรินทร์ มีกริยามารยาทเรียบร้อยและเป็นผู้มีความกตัญญูสูงมาก..!!!”

“หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรีเจริญสุข สิงห์บุรี น่ะ ยอดเยี่ยมที่หนึ่งเลย...แก่ทั้งอายุ แก่ทั้งพรรษา แก่ทั้งมรรคผลนิพพาน...!!!.”

“หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคมมน จังหวัดเลย จิตเพิ่น (ท่าน) ดี จิตเพิ่น (ท่าน) ดี...!!!!”

“หลวงปู่แหวน ยิ่งใหญ่มาก ท่านเข้านิพพานไปแล้วด้วย...!!!!!”

“ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูนน่ะ ท่านเย็นยิ่งกว่าน้ำแข็งอีกนะ..!!!!!!” ฯลฯ

และส่วน “ครูบาอิน วัดฟ้าหลั่ง” น่ะหรือ.. หลวงปู่สิม ไม่เพียงกล่าวชมแต่เพียงวาจา แต่ “ลัดฟ้า” ไปกราบถึงกุฏิที่วัดฟ้าหลั่ง ปีละหลายๆ ครั้งโน่นเลยทีเดียว...!!!???!!!

งานนี้ ต้องมี “อะไร” ที่ “ไม่ธรรมดา” อย่างมากๆ ถึงมากที่สุดอย่างแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นการยกย่องด้วย “การกระทำ” นั่นเลยเทียว

หรือใครจะเถียง..????

::: น้ำไต่ :::

ครั้งหนึ่ง เมื่อนานมาแล้วสมัยที่ท่านยังอยู่ที่วัดฟ้าหลั่ง วันหนึ่ง หลวงปู่ครูบาอินได้ออกปากถามพระเลขาของท่านรูปหนึ่งว่า

“อยากดูน้ำไต่ขื่อไหม...??”

“อยากดูครับ...ครูบา”

“งั้นไปเอาน้ำต้นมา...”

เมื่อพระเลขารูปนั้นไปหา “น้ำต้น” (คนโทดินเผาแบบล้านนา ที่ใช้สำหรับใส่น้ำกินน้ำใช้) ที่มีน้ำบรรจุเต็มมาถวายแล้ว ครูบาอินท่านก็อธิษฐานอยู่ครู่หนึ่ง แล้วปลดเอารัดประคดของท่านออกมาให้พระเลขา ให้เอามามัดน้ำต้นคนโทไว้ให้มั่น แล้วเอาขึ้นไปผูกกับขื่อกุฏิ ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ ก่อนออกคำสั่งว่า

“ลองตีน้ำต้นดูสิ” เมื่อได้ฟัง พระเลขาก็อุทธรณ์ทันทีว่า

“อ้าว...น้ำต้นก็แตก หกเปรอะเลอะเทอะกันหมดพอดีสิครับ ครูบา...???”

“เถอะน่า...บอกให้ตีก็ตีเถอะ...”

“เอาก็เอาวะ...??” พระเลขานึกในใจ ก่อนที่จะหลับตา “ตีคนโฑดินเผา” ด้วยคิดว่า อย่างไรเสีย งานนี้ต้อง ”เปียก” อย่างแน่ๆ

โพล๊ะ...!!!!!!! อะไรกันนี่...????

ในทันทีที่คนโทดินเผาแตกกระจายจากแรงตีนั้น แทนที่น้ำภายใจจะไหลซ่าตกลงมาตามธรรมดาที่ควรจะเป็น สิ่งมหัศจรรย์ที่พระเลขารูปนั้นแทบจะช๊อคด้วยไม่อยากจะเชื่อสายตา ก็พลันบังเกิดขึ้นในทันใด

แม้เศษดินเผาคนโทจะถูกตีแตกร่วงกราวไปหมดแล้ว แต่ “น้ำ” ที่อยู่ในคนโทนั้น กลับจับตัวเป็นก้อนแข็งรูปคนโฑ ภาชนะที่ใส่อยู่นั่นเอง โดยน้ำรูปคนโฑนั้น ก็ยัง “ลอย” แต่งแต่งๆ กลางอากาศ โดยมีรัดประคดที่รัดคนโฑดินเผาไว้แตกแรกผูกมัดติดกับขื่อไว้อย่างมั่นคง เป็นที่น่าตื่นเต้นตกตะลึงเป็นที่สุด !!!!!!!!

เมื่อเห็น “พระเลขา” ของท่าน “ช็อคซีนีม่า” ได้ที่ ครูบาอินก็สั่งต่อไปอีกว่า

“งั้นลองเอานิ้วจี้ไปที่น้ำดูสิ...”

เมื่อหายจากตกตะลึง พระเลขาก็เลยเอานิ้วจี้ไปที่ “น้ำไต่” ที่ลอยยังกับลูกโป่งอยู่กลางอากาศตามคำสั่งโดยมิชักช้า ปานประหนึ่งจะพิสูจน์ให้แจ้งใจไปเลยทีเดียวว่า สิ่งที่ตนเห็นนั้นจะเป็น “ของจริง” หรือ “ภาพลวงตา” หรือไม่

ซ่า...!!!!!!!!!!!!!!!!!!!

คราวนี้ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” อีกแล้ว

เพราะในวินาทีที่นิ้วสัมผัสกับน้ำที่รวมตัวเป็นรูปน้ำต้น ซึ่งถูก “ผูก” ติดอยู่กลางขื่อนั่นเอง น้ำรูปคนโทนั้น ก็ “คืนสภาพ” แตกกระจายไหลซ่าลงใส่พระเลขาจนเปียกมะล่อกมะแล่กไปหมดเลยทีเดียว โดยหลวงปู่ครูบาอิน อินโท นั่งมองอยู่ใกล้พลางอมยิ้มชอบใจังหวัด.!!

นี่คือ “ของเล่น” สนุกๆ ของพระอริยเจ้าผู้มีฤทธิ์อันยิ่ง...

อำนาจจิตฤทธิ์อภิญญาของครูบาอินนี้ ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ลำพัง แค่การเสกน้ำให้เทไม่ออก ก็ยากเอาเรื่องอยู่แล้ว...แต่นี่ท่านเล่นเสกให้คงรูปเป็นทรงคนโทใส่น้ำ แถมยังเอาไปผูกห้อยไว้กลางหาวเสียอีก เก่งไม่เก่งหรือไม่อย่างไร คิดดูเอาเองเทอญ...

รูปภาพ
หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า


::: เสกลำใยเป็นแมลงผึ้ง :::

อีกคราว พระเลขา (เจ้าเก่า) ที่เคยเจอประสบการณ์ “น้ำไต่” จนเปียกโชกไปทั้งตัว ก็ได้เห็นครูบาอินท่าน “ทำฤทธิ์” ให้ได้ช๊อคซีนีม่าอีกครั้งหนึ่ง โดยคราครั้งนี้ ครูบาอินท่านเอา “ลำไย” (ที่เป็นเม็ดๆ กินหวานๆ นั่นแหละครับ) มาเสกเป่างึมๆ งำๆ อย่างไม่ทราบเหตุผล ชั้นแรกนึกว่าท่านจะเสกลำไยให้ญาติโยมเอาไปกินเป็นยารักษาโรคภัย แต่ไปๆ มาๆ ที่ไหนได้...

จากลำไยธรรมดาสามัญ พอครูบาอินท่านคลายมือออกเพียงเท่านั้น จากลำไยก็กลายเป็น “แมลงผึ้ง” บินกันหึ่งๆ ให้เห็นกันจะๆ ต่อสองนัยน์ตาของพระเลขาเลยทีเดียว...!!!!!! ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อแล้ว... และเชื่อแน่ได้ว่า หากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท ที่เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตนยังคงมีชีวิตอยู่ และได้มาเห็นครูบาอินเสกลำไยเป็นแมลงผึ้งได้เห็นปานนี้แล้ว คงจะต้องมีการ “แลกวิชา” กันอย่างขนานใหญ่เป็นแน่...หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง...???

::: เมื่อครูบาอินปราบทายาทอสูร :::

เรื่องนี้ เป็นประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตัวของผู้เขียนเอง เรื่องของเรื่องที่มีชื่อเหมือนกับ “นิยายหนังผี” สยองขวัญ “ทายาทอสูร” ที่ชาวบ้านชาวเมืองต่างติดกันงอมแงมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ด้วยวลียอดฮิตว่า “เจ้าคือทายาทคนต่อไป...” นั้น ได้เกิดขึ้นเมื่อมีผู้หญิงสาวสวยคนหนึ่ง ขอสมมุติชื่อว่า “น.ส.ชนีกร” เรื่องก็มาจากการที่น.ส.ชนีกรเธอถูก “แม่ผัว” ใจร้ายตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ ด้วยข้อหาว่า “ยากจน” กว่า และกลัวว่าเธอจะไปแย่งความรักของลูกชายเธอมากกกอดเสียหมดคนเดียว อันจะเป็นเหตุให้ลูกชายสุดสวาทลืมรักแม่ไป...ฯลฯ (บ้าจังเลย หึงแม้กระทั่งลูกตัวเอง)

คิดไปคิดมา แม่ผัวใจร้ายปานประหนึ่งคุณหญิงแม่ของคุณชายกลางแห่งบ้านทรายทอง (ภาคพิเศษ) เลยริอ่านเล่น “ไสยศาสตร์” ให้ “หมอผี” ทางอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ทำ “คุณไสย” ใส่ทั้ง “ผัว” ทั้ง “ลูกชาย” และทั้ง น.ส.ชนีกร “ลูกสะใภ้” (นอกกฎหมาย ไม่ได้จดทะเบียน) แบบครบวงจรเลยทีเดียว...!!!!!! ทำของใส่ “ผัว” เพื่อให้หลงอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำของใส่ “ลูกชาย” ก็เพื่อให้ สติเลอะเลือน จนรู้สึกเกลียดชังเมียตัวเองอย่างไม่ทราบสาเหตุ...” และทำของใส่ “ลูกสะใภ้” หมายจะให้ น.ส.ชนีกรเสียผู้เสียคนจนเป็นบ้า หรือถึงแก่ชีวิตไปเลยทีเดียว...“โหด เลว ชั่ว” ครบสูตรแม่ผัวตัวอย่างจริงๆ

และเรื่องของเรื่องที่ผู้เขียนจะต้องมาข้องแวะในวังวนแห่งโลกีย์และไสยเวทย์สายดำสนิทโดยที่มิรู้อิโหน่อิเหน่มาก่อนนั้น ก็เกิดจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่รู้จักกับน.ส.ชนีกรดี ได้ไหว้วานให้ผู้เขียน พาน.ส.ชนีกรไปหาพระช่วยรักษาคุณไสยนี้ที...ด้วยความเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา และเพื่ออนุเคราะห์เพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ผมก็เลยมีอันได้พา น.ส.ชนีกรนี้ไปกราบหาหลวงปู่หลวงพ่อเพื่อปัดรังควานรักษาเป็นหลายท่านหลายองค์ จนน.ส. ชนีกร เริ่มมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่ในขณะเดียวกัน ตัวของ “เนาว์ นรญาณ” คนนี้ กลับมี “เรื่องร้ายๆ” เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างผิดปกติ ประเดี๋ยวเป็นโน่น ประเดี๋ยวเจ็บนี่ ทั้งหน้าตาก็แลดูหมองคล้ำดำมืดอย่างไรชอบกล ไม่มีสง่าราศีเอาเสียเลย ที่เจ็บปวดที่สุด ก็เห็นจะเป็นกรณีถูก “หมากัด” ที่เอ็นร้อยหวายเข้าอย่างจัง ขณะที่ยืนดูคนให้อาหารสุนัขอยู่ดีๆ แท้ๆ แม้จะไม่เข้าเต็มๆ แต่ก็ทำให้หนังถลอก เลือดซิบๆ ต้องไปฉีดยากันโรคกลัวน้ำ (ปลอดภัยไว้ก่อน) เสียหลายเข็ม เจ็บระบมไปหลายวัน เฮ้อ.ทำไมถึงต้องเจ็บตัวอย่างนี้นะ ตั้งแต่ได้พาน.ส.ชนีกรไปรักษาคุณไสย ทำไมข้าพเจ้าจึงเจอแต่เรื่อง “ซวยงัก” ถี่ปกตินักนะ งงจังเลย...

และแล้ว น.ส.ชนีกร ก็เป็นผู้เฉลยความนัยนั่นให้ฟังเองในเวลาต่อมาว่า “หนูเอาเรื่องที่พี่เนาว์ถูกหมากัดไปเล่าให้น้องเณรที่มีญาณองค์หนึ่งที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนฟัง ท่านก็เข้าสมาธิดูก็รู้ว่า ไอ้หมอผีทำของใส่หนูน่ะ มันทำคุณไสยกันท่าเผื่อเอาไว้ด้วยว่า ใครก็ตามที่คิดอ่านมาช่วยหนู ก็จะต้องมีอันเป็นไปตามกันด้วย อย่างที่พี่เนาว์โดนหมากัดน่ะ ก็ไม่ใช่เป็นกรณีปกตินะคะ แต่เป็นการใช้ไสยศาสตร์พลังจิตไปบังคับหมาให้มากัดพี่เนาว์เป็นการเฉพาะ เหมือนอย่างที่คุณยายวรนาถในเรื่องทายาทอสูรทำอย่างไรก็อย่างนั้นเลยล่ะค่ะ...”

“อ้อ...เหรอ...” ผมเออออก่อนที่จะนึกในใจว่า “อิ๊บอ๋ายแล้ว...นี่กรูต้องมาเจอะเจอกับเรื่องพรรค์นี้กับเขาด้วยหรือนี่...???”

และ...“กรูไม่น่ามาช่วยเจ๊ชนีกรนี่เล้ยจริงๆ...ให้ตายสิ” มีแต่เรื่องซวยซับ ซวยซ้อน และซวยไม่มีที่สิ้นสุดเสียจริงๆ กรรมของเวรแท้ๆ...

และแล้ว วันที่ “กรรมของเวร” ของผู้เขียนจะสิ้นสุดลง เมื่อได้พาร่างอันหมองคล้ำไปกราบครูบาอินในวันหนึ่ง เหมือนท่านครูบาอินจะรู้แจ้งถึงการทั้งปวงดี ท่านจึงเพ่งดูหน้าผมด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยตบะเดชะอันแรงกล้าที่แม้แต่คนเข้าวัดอย่างผม ก็ยังอดสะท้านด้วยความเกรงบารมีท่านไปมิได้ ก่อนที่จะได้หยิบเอาน้ำมันจันทน์มาเจิมกระหม่อมผู้เขียนอย่างตั้งใจ และในขณะนั้นนั่นเอง ก็มีผู้จับภาพตอนที่ครูบาอินกำลังลงกระหม่อมให้ผู้เขียนในตอนนั้นไว้ได้

และเมื่อล้างอัดออกมา ภาพที่น่า “สยองใจ” ก็ปรากฏขึ้นในทันใด เพราะปรากฏ “เงาดำ” แห่งไสยเวทย์มนต์ดำทายาทอสูรจากนรก พุ่งออกจากบริเวณศีรษะและต้นแขนของผู้เขียน เห็นกันได้จะๆ เต็มสองตา...!!!

ช่างน่าขนพองสยองเกล้าเป็นนักแล้ว...บรื๋ววววส์ส์ส์ส์ส์...

หมายเหตุ, เคยสงสัยว่า อันพระเครื่องรางของดีๆ เราก็มีมากมาย แต่เหตุไฉนไสยศาสตร์ฝ่ายต่ำจึงเข้ามาสิงสู่ในกายในใจแห่งเราได้ จนเมื่อได้ยินคำเฉลยจากหลวงพ่อพุธ ฐานิโย พระอริยปัญญาแห่งวัดป่าสาลวัน จึงได้เข้าใจ โดยท่านบอกว่า “อันพระเครื่องรางนั้น แม้จะดีอย่างไร ก็ยังเป็นของภายนอกอยู่ แต่หากจะให้กันคุณไสยมนต์ดำได้จริงๆ คนๆ นั้นต้องไหว้พระสวดมนต์แผ่เมตตาเป็นนิตย์ จึงจะป้องกันได้”

(จำได้ว่า ตอนนั้นผมขี้เกียจสวดมนต์มาก และก็ไม่ได้ห้อยพระตลอด ๒๔ ชั่วโมงด้วย ของเลยมีช่องเข้าตัวได้ให้ซวยสนิทไปหลายรอบด้วยประการฉะนี้)

ช่างนับเป็นบุญและวาสนาแท้ๆ ที่ยังมีโอกาสได้เจอกับ “พระดีและเก่ง” แบบสุดๆ เยี่ยงหลวงปู่ครูบาอิน มาช่วยขับไล่ “มนตราทายาทอสูร” ให้เห็นกันจะๆ เห็นปานนี้ หาไม่...ผมจะต้อง “มีอันเป็นไป” ในลักษณาการเช่นไหนอีก ก็สุดที่จะคาดเดาได้แล้วจริงๆ โอย..ไม่อยากจะคิดเลย

พระเดชพระคุณและความเก่งกล้าสามารถของหลวงปู่ครูบาอินนั้น จึงติดตราตรึงในท่ามกลางดวงใจของผมอย่างไม่มีวันจะจางคลายไปได้นับแต่บัดนั้น แม้หลวงปู่วรวุฒิคุณท่านจะได้ “ละสังขาร” สู่บรมสุขไปแล้วก็ตาม

ปัจจุบัน สรีระขันธ์ที่ท่านทิ้งไว้คู่กับโลก เมื่ออายุได้ ๑๐๑ ปี ก็ยังคงนอนนิ่งสงบอย่างสง่าภายในโลงแก้วที่วัดคันธาวาส (ทุ่งปุย) กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เหมือนหนึ่งท่านเพียงแค่ “จำวัด” หลับไปเท่านั้น

วันมรณภาพเป็นอย่างใด ในวันนี้สรีระแห่งท่านก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ต่างไปเพียงแค่มีการ “ปิดทอง” จนเหลืออร่ามตามประเพณีล้านนาแต่เพียงอย่างเดียว และที่นั้น ก็ยังมี “วัตถุมงคล” ที่หลวงปู่ครูบาอินท่านเสกทิ้งทวนไว้อย่างดีที่สุด ตกค้างอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพระสมเด็จไจยะเบงชร, เหรียญยืน, ประคำ, ตะกรุด, ผ้ายันต์ ฯลฯ

รับรองว่า คุณภาพแห่งพุทธคุณที่หลวงปู่ครูบาอินท่านฝากไว้ในเครื่องมงคลทุกอย่างนั้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระเครื่องของอดีตพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ ราคาแพงๆ เป็นแสนเป็นล้านอย่างแน่แท้ เพราะมี “อาจารย์” ศิษย์สายเจ้าคุณนรรัตน์ฯ, หลวงปู่เทสก์ ที่มีสมาธิจิตสูงเคยลองสัมผัสพลังพระของครูบาอินแล้ว ก็แทบจะถึงแก่การอึ้งพร้อมกับอุทานขึ้นมาเลยทีเดียวว่า “นี่พระของใครนี่...ทำไมพลังจึงแรงกล้าในระดับเดียวกับหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งไม่น่าจะมีใครเสมอเหมือนได้อีกเล่า.???”

สวัสดี

รูปภาพ

คอลัมน์ “มงคลศักดิ์สิทธิ์” โดย เนาว์ นรญาณ,
ศักดิ์สิทธิ์ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๕๗๘-ฉบับที่ ๕๙๐ พ.ศ.๒๕๕๐

จากเว็บไซต์ http://www.phuttawong.net/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 02:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ภาพพระธาตุหลวงปู่ครูบาอิน อินโท

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2009, 05:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 04:12
โพสต์: 1067


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: อนุโมทนาสาธุ คุณสาวิกาน้อย

.....................................................
...นฺตถิตัณหา สมานที...
ห้วงน้ำใหญ่โต เสมอด้วยตัณหาไม่มี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.ค. 2009, 16:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.ค. 2009, 21:32
โพสต์: 82

ที่อยู่: นครศรีธรรมราช

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุค่ะ :b8:
เคยไปกราบท่านหลายครั้งแล้วค่ะ ท่านเคาะหัวให้ด้วย
ได้ชานหมากของท่านด้วย เพราะเคยอยู่ที่เชียงใหม่มาก่อน
ท่านเป็นพระที่กราบได้อย่างสนิทใจ จริงๆค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2015, 16:22 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร