วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2009, 09:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย

(๑) ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย

(๒) ครูบาเจ้าศรีวิชัย กับข้อหาต้องอธิกรณ์

(๓) สัจจวาจาของครูบาศีลธรรม (ครูบาศรีวิชัย)

(๔) หลวงปู่มั่น พบ นักบุญแห่งล้านนาไทย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2009, 09:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย


วัดบ้านปาง
ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน



ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย
พระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานะ สีละ สัจจะ ขันติ
ชาตะ ๑๑ มิถนายน ๒๔๒๑
มรณะ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑


“ต๋นข้าพระศรีวิชัยภิกขุ เกิดมาปิ๋เปิ๋กยี จุลศักราช ๑๒๔๐ ตั๋วพุทธศักราช ๒๔๒๐
ปรารถนาขอหื้อข้าฯ ได้ตรัสรู้ปัญญาสัพพัญญูโพธิญาณเจ้าจิ่มเตอะ”


:b44:

ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน “ตุ๊เจ้าสิลิ”) แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อ เฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ “บ้านปาง” ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ

๑. นายไหว
๒. นางอวน
๓. นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
๔. นางแว่น
๕. นายทา

ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน

ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมากมีชน กลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา

ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้น ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย

เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัย คือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา ๑ พรรษา ก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ

วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง,
วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา,
วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ,
วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก,
วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย,
วันศุกร์ ไม่ฉันเทา
(อ่าน “เตา” - สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง),
วันเสาร์ ไม่ฉันบอน

นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า

“...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว...”

และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง

ดังนั้น ครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา

ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตนโดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่างๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น

สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยองซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่นๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต โดยอ้างว่าสืบวิธีการนี้มาจากลังกา

การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า “พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น” โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้นๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป

การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ นี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อย เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น

การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้น เกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ปฏิบัติโดยใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วง เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์บริขารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย
ประดิษฐาน ณ วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน



(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2009, 09:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน


๏ ผลงานชิ้นสำคัญ

การสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ แน่นอนทีเดียว การมีถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นย่อมมีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผู้คนที่ศรัทธาจะได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุอันสำคัญนี้ได้ทั่วถึงกัน ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งลานนาไทยนี่เองคือผู้สร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งนับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่านอีกงานหนึ่ง

ไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะสามารถสร้างถนนผ่านป่าเขาอันทุรกันดาร และสูงชันจนไปถึงที่เชิงบันไดนาคของวัดพระธาตุดอยสุเทพได้ แต่ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้ด้วยมือเปล่าๆ เพียงสองข้างอีกเช่นเคย แถมใช้เวลาเพียง ๕ เดือน ๒๒ วันเท่านั้น

ระยะเวลาแค่นี้กับการสร้างถนนขึ้นเขา ระยะทางยาว ๑๑ กิโลเมตร ในสมัยนั้นที่ยังไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุ่นแรงทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาหลาย ครั้งหลายหนแต่ต้องประสบความผิดหวังทุกคราว เพราะไม่สามารถจะสร้างได้ ทั้งปัญหาจากงบประมาณ และความทุรกันดารของป่าเขาที่จะต้องตัดถนนผ่าน

ครูบาศรีวิชัยได้พิสูจน์คำเล่าลือของชาวบ้านและสานุศิษย์ที่นับถือท่านว่าเป็น “ต๋นบุญ” หรือ “ผู้วิเศษ” อย่างแท้จริง เพราะการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนี้เอง อันนับว่าเป็นช่วงที่ชีวประวัติของนักบุญแห่งลานนาไทยมีอภินิหารมหัศจรรย์น่าทึ่ง น่าติดตามกันต่อไปอย่างยิ่ง


๏ ใฝ่ฝันมานาน

การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเป็นความใฝ่ฝันของชาวนครเชียงใหม่มานานปี ด้วยจะทำให้การขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยปกตินั้นการจะขึ้นไปไหว้พระธาตุจะต้องตื่นแต่เช้าตรู่ นั่งรถจากเวียงไป ที่วัดสวนดอกจนถึงเชิงดอยสุเทพตามแนวถนนเชิงดอยสุเทพสายปัจจุบันแล้ว จากนั้นก็เดินขึ้นสุเทพ ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน ๕ ชั่วโมงเต็ม ในการเดินเท้าขึ้นเขา ส่วนคนมั่งมีก็อาจจะจ้างคนแบกหามขึ้นไปแบบผู้ที่ไปเที่ยวภูกระดึง หรือดอยขุนตาลในทุกวันนี้ อันนับว่าการขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพนั้นไม่ใช่สิ่งที่กระทำกันได้ง่ายๆ เลย ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้นเริ่มมาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ นั่นเอง


๏ นิมิตเทวดา

ท่านครูบาศรีวิชัยยืนยันกับหลวงศรีประกาศว่า “ต้องทำถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จแน่ๆ ขอให้เชื่อเถิด” คุณหลวงไม่มั่นใจเลยจึงขอร้องให้ครูบาศรีวิชัยอธิฐานทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ครูบาศรีวิชัยก็รับคำ ครั้นเวลาล่วงเลยไปอีกประมาณ ๑๐ วัน หลวงศรีประกาศก็ไปพบครูบาศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์เป็นครั้งที่สาม ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงยืนยันว่า ต้องสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจึงจะสำเร็จพร้อมกับเล่านิมิตประหลาดที่เกิดขึ้น ให้หลวงศรีประกาศฟังว่า ในขณะที่กำลังทำการอธิษฐานเรื่องสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้น ท่านได้เคลิ้มไปว่าได้แลเห็นชีปะขาวองค์หนึ่งนำท่านเดินทางจากเชิงดอยไปจนถึงบันไดนาควัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ แล้วท่านก็ตกใจตื่น ท่านเชื่อว่านี้คือนิมิตที่เทวดามาบอกกล่าว ให้รู้ว่าจะสามารถสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพได้อย่างแน่นอน

รูปภาพ
พิธีเปิดถนนให้รถยนต์ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘
โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐนั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก



๏ ขอ ๖ เดือน

ครูบาศรีวิชัยได้รับปากว่าจะเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง ๖ เดือน นั่นทำให้ หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ หนักใจยิ่งขึ้น เนื่องจากบริเวณเชิงเขาขึ้นดอยสุเทพจนถึงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นป่าใหญ่และหุบเหวลึกหลายต่อหลายแห่ง การที่จะสร้างถนนได้นั้นต้องสำรวจทางแผนที่ จัดทำรายละเอียดเส้นทางที่จะสร้างและอื่นๆ อีกมาก หลวงศรีประกาศได้รับเป็นธุระเรื่องนี้ การสำรวจเส้นทางถนนสายนี้ใช้เวลาเป็นเดือนเลยทีเดียว ในที่สุดก็สำเร็จ หลวงศรีประกาศได้นำเอาแผนที่เสนอให้ครูบาศรีวิชัยดูแนวการสร้างถนน ซึ่งครูบาศรีวิชัยก็เห็นด้วย รวมระยะทางจากเชิงดอยสุเทพถึงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ ทั้งหมด ๑๑ กิโลเมตร ๕๓๐ เมตร


๏ ใบปลิวเจ็กโหงว

ข่าวเรื่องครูบาศรีวิชัยจะสร้างถนนได้แพร่ออกไปเรื่อยๆ เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเห็นว่า การสร้างถนนสายนี้ทำได้ยาก แต่บรรดาสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดพระครูทั้งหลายต่างเชื่อว่า ท่านสามารถทำได้อย่างแน่นอน ในจำนวนนั้นก็มีเจ๊กโหงวรวมอยู่ด้วย ทันทีที่เจ็กโหงวรู้ข่าวก็รีบไปหาครูบาศรีวิชัยอย่างเคย ถึงแม้จะถูกลอบยิงปางตายมาแล้วก็ตาม ความช่วยเหลือสิ่งแรกของเจ็กโหงวก็คือการพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวเรื่องพระครูจะสร้างถนนโดยใช้เงินส่วนตัวพิมพ์ขึ้น ๕ พันแผ่น แจกจ่ายทั่วไป ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็มีศรัทธาช่วยพิมพ์อีก ๕ พันแผ่นเช่นเดียวกัน ทำให้ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็ว


๏ จอบแรก

ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ และพิธีทางประวัติศาสตร์อันจารึกไว้คู่นครเชียงใหม่ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูนเป็นจำนวนมาก

เวลา ๐๑.๐๐ น. ของวันที่ ๙ พระครูบาเถิ้มประกอบพิธีชุมนุมเทวดา บวงสรวงอันเชิญเทวดาทั้ง ๔ ทิศ เวลา ๑๐.๐๐ น. จึงเริ่มลงจอบแรก เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงเป็นผู้ขุดจอบแรกเป็นปฐมฤกษ์ เริ่มต้นงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงสวดชยันโตชัยมงคลคาถา จากภิกษุสานุศิษย์ของท่านพระครูบาศรีวิชัย หลังจากวันนั้นก็ได้มีประชาชน จากทั่วสารทิศมาช่วยกันสร้างถนนร่วมเป็นอานิสงส์พร้อมกับนมัสการ ท่านพระครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก จนถึงกับต้องแบ่งพื้นที่การสร้างเป็นระยะๆ ในตอนเช้าก็ได้มีประชาชนนำเอาข้าวสารอาหารพืชผักและอาหารคาวหวาน มาทำบุญกันอย่างล้นหลาม ยิ่งนานวันคนยิ่งทวีมากขึ้น ผลงานรุดหน้าในแต่ละวัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่างก็อยากทำบุญกุศลและชมบุญญาธิการบารมีของพระครูบาศรีวิชัย ในที่สุดถนนที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นก็สำเร็จลง ภายในระยะเวลา ๕ เดือน ๒๒ วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วมากโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว นี่คือบารมีของครูบาศรีวิชัยโดยแท้


๏ รถยนต์คันแรก

วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ คือวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของนครเชียงใหม่ เพราะเป็นวันเปิดถนนให้รถขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ครูบาศรีวิชัย ครูบาเถิ้ง หลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงว และบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ มาชุมนุมอยู่กันอย่างพร้อมพรั่งเพื่อรอเวลาที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะมาทำพิธีเปิดถนนขึ้นดอยสุเทพ และประดับรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคันแรก ครั้นได้เวลา รถยนต์ของเจ้าแก้วนวรัฐก็แล่นมาถึงปะรำพิธีที่เชิงดอยสุเทพ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และก็ประทับรถยนต์เรื่อยขึ้นไปตามถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จ จนกระทั่งถึงเชิงบันไดนาค วัดพระบรมธาตุวัดดอยสุเทพ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ ตามสภาพถนนที่เป็นเพียงดินในครั้งนั้น

เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เสด็จขึ้นไปทรงนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ แล้วประทับรถยนต์เสด็จสู่นครเชียงใหม่ ดอยสุเทพก็มีถนนสำหรับรถยนต์ขึ้นไปนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ถนนสายนั้นเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น ถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ซึ่งเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้....

รูปภาพ
ครูบาศรีวิชัย ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกับศิษยานุศิษย์มี ครูบาขาวปี, ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ฯลฯ
เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และประชาชน ณ บันไดนาค ทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ในคราวสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพแล้วเสร็จ ในวันเปิดใช้ทางเป็นวันแรกเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘



๏ การปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนา
กับการสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์


ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือปฏิบัติเคร่งมาตั้งแต่เป็นสามเณร ดังเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มักน้อย ถือสันโดษ และเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปน ตลอดจนงดกระทั่งหมาก เมี่ยง และบุหรี่ ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าครูบาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็น “ตนบุญ” คนทั้งปวงต่างก็ประสงค์จะทำบุญกับครูบาเพราะเชื่อว่าการถวายทานกับภิกษุผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นจะทำให้ผู้ถวายทานได้รับอานิสงส์มาก เงินที่ประชาชนนำมาทำบุญก็นำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์และบูรณะศาสนสถานและศาสนวัตถุ

งานก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๒ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ครูบาได้แจ้งข่าวสารไปยังศรัทธาทั้งหลายรวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ ว่าจะวัดบ้านปางขึ้นใหม่ ซึ่งก็สร้างเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก ให้ชื่อวัดใหม่นั้นว่า “วัดศรีดอยไชยทรายมูล” ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดบ้านปาง”

ขั้นตอนปฏิบัติในการไปบูรณปฏิสังขรณ์วัด มีว่า เมื่อครูบาได้รับนิมนต์ให้ไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดใดแล้ว ทางวัดเจ้าภาพก็จะสร้างที่พักของครูบากับศิษย์ และปลูกปะรำสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่มาทำบุญกับครูบา คืนแรกที่ครูบาไปถึงก็จะอธิษฐานจิตดูว่าการก่อสร้างครั้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะไม่สำเร็จ เช่น การสร้างสะพานศรีวิชัย ซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นต้น จากนั้นครูบาก็จะ “นั่งหนัก” คือเป็นประธานอยู่ประจำในงานนั้น คอยให้พรแก่คณะศรัทธาประชาชนที่มาทำบุญโดยไม่สนใจเรื่องเงิน แต่มีคณะกรรมการช่วยกันรวบรวมเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครูบาไป “นั่งหนัก” ที่ไหน ประชาชนจะหลั่งไหลกันไปทำบุญที่นั่นถึงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ ราย คับคั่งจนที่นั้นกลายเป็นตลาดเป็นชุมชนขึ้น เมื่อการก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีงาน “พอยหลวง-ปอยหลวง” คืองานฉลอง บางแห่งมีงานฉลองถึงสิบห้าวัน และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มักจะมีคนมาทำบุญกับครูบามากกว่าปกติ

เมื่อเสร็จงาน “พอยหลวง-ปอยหลวง” ในที่หนึ่งแล้ว ครูบาและศิษย์ก็จะย้ายไปก่อสร้างที่อื่นตามที่มีผู้มานิมนต์ไว้ โดยที่ท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใดจากแหล่งก่อนไปด้วยเลย ช่วงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งที่สองและถูกควบคุมไว้ที่วัดศรีดอนชัย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ เดือน กับ ๘ วันนั้น ผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกับครูบาไม่ต่ำกว่าวันละ ๒๐๐ ราย เมื่อครูบาได้ผ่านการพิจารณาอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาอีก ๒ เดือน กับ ๔ วัน แล้วครูบาก็เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจากนั้นผู้คนก็มีความศรัทธาในตัวครูบามากขึ้น

ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นการบูรณะวัดขณะที่ท่านอายุ ๔๒ ปี โดยเริ่มจากการบูรณะพระเจดีย์บ่อนไก้แจ้ จังหวัดลำปาง ถัดจากนั้นได้บูรณะเจดีย์และวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย ต่อมาได้ไปบูรณะเจดีย์ดอยเกิ้ง ในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นไปบูรณะวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา กล่าวกันมาว่าในวันที่ท่านถึงพะเยานั้น มีประชาชนนำเงินมาบริจาคร่วมทำบุญใส่ปีบได้ถึง ๒ ปีบ หลังจากนั้นมาบูรณะวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นอาทิ รวมแล้วพบว่างานบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของครูบาศรีวิชัยมีประมาณ ๒๐๐ แห่ง

ในขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ อยู่นั้น หลวงศรีประกาศได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่าอยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยว่าหากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่าและจะได้ไฟฟ้าในภายหลัง ทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่าหากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้นจะต้องใช้งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย (ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น) ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ อีกเป็นครั้งที่สอง และงานชิ้นสุดท้ายของท่านที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คือสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเชื่อมอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ในการก่อสร้างต่างๆ นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่านประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่นห้าพันบาท) รวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่านประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาท) นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี (รูปีละ ๘๐ สตางค์) ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และมากมาย แต่บิดามารดาคือนายควายและนางอุสา ก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 13 พ.ย. 2009, 18:23, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2009, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ วัตถุมงคลของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ในยุคที่ครูบาศรีวิชัยยังไม่ถึงแก่มรณภาพนั้น ผู้ที่ทำบุญกับครูบาศรีวิชัยจะได้รับความอิ่มใจที่ได้ทำบุญกับท่านเท่านั้น ส่วนการสร้างวัตถุมงคลนั้น ระยะแรกพวกลูกศิษย์ที่นับถือครูบาศรีวิชัยได้จัดทำพระเครื่องคล้ายพระรอดหรือพระคงของลำพูน โดยเมื่อครูบาปลงผมในวันโกน ก็จะเก็บเอาเส้นผมนั้นมาผสมกับมุกมีส่วนผสมกับน้ำรักกดลงในแบบพิมพ์ดินเผาแล้วแจกกันไปโดยไม่ต้องเช่าในระหว่างศิษย์ กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งก็ลือกันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์

ส่วนเหรียญโลหะรูปครูบาศรีวิชัยนั้น พระครูวิมลญาณประยุต (สุดใจ วิกสิตฺโต) ชาวจังหวัดอ่างทอง ได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนสร้างขึ้นให้เช่าเพื่อนำเงินมาช่วยในการปลงศพครูบาศรีวิชัย โดยให้เช่าในราคาเหรียญละ ๕ สตางค์ ทั้งนี้ สิงฆะ วรรณสัย ยืนยันจากประสบการณ์ที่ท่านรู้จักครูบาดี และได้คลุกคลีกับเรื่องพระเครื่องมาตั้งแต่ครูบายังไม่มรณภาพนั้น ระบุว่าไม่มีเหรียญรุ่นดอยสุเทพ ไม่มีเหรียญที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง หรือวัตถุมงคลอื่นใดที่ครูบาจะสร้างขึ้น นอกจากการให้พรและความอิ่มใจในการทำบุญกับท่านเท่านั้น แต่ในระยะหลังก็พบว่ามีการสร้างวัตถุมงคลของครูบาอยู่เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลเหล่านั้นมีความศรัทธาในความดีของ “ตนบุญ” เป็นสำคัญ


๏ ผลงานรวมพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทย

หลังจากการทำบุญฉลองวัดพระสิงห์แล้ว ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ท่านก็ยังมองเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทยอันเป็นพระธรรม คำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บรรดาฑิตเมธีท่านได้สังคายนาจารลงในใบลานในครั้งอดีต ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่างๆในภาคเหนือ ท่านเกรงว่าพระธรรมคำสอนต่างๆ จะถูกทำลายไปตามกาลเวลา ดังนั้น นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙-๒๔๗๑ ท่านพระครูบาศรีวิชัย พร้อมด้วยบรรดาสานุศิษย์ได้รวบรวมพระไตรปิฎกที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ จากตำบล อำเภอ และจังหวัดอื่นๆ แล้วรวมกันจัดให้เป็นหมวดหมู่เป็นธัมมขันธ์ ทำการสังคายนาจารลงใบลานขึ้นมาใหม่ เพื่อไว้เป็นหลักฐานการศึกษาค้นคว้าหาแนวทางประพฤติพระธรรมวินัย สืบอายุบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ตามจำนวนดังนี้

๑. พระวินัยทั้ง ๕ จำนวน ๑๐ มัด รวม ๑๗๐ ผูก

๒. นิกาย ๕ จำนวน ๕ มัด รวม ๖๙ ผูก

๓. อภิธรรม ๗ คัมภีร์ จำนวน ๗ มัด รวม ๑๔๕ ผูก

๔. ธรรมบท จำนวน ๒๑ มัด รวม ๑๔๕ ผูก

๕. สุตตสังคหะ จำนวน ๗ มัด รวม ๗๖ ผูก

๖. สมันตปาสาทิกา จำนวน ๔ มัด รวม ๔๕ ผูก

๗. วิสุทธิมรรค ๓ มัด รวม ๗๖ ผูก

๘. ธรรมสวนะชาดก จำนวน ๑๒๖ มัด รวม ๑๒๓๒ ผูก

๙. ธรรมโตนาที่คัดไว้เป็นกัปป์และผูก รวม ๑๔๒ ผูก

๑๐. สัททาทั้ง ๕ จำนวน ๘ มัด รวม ๓๘ ผูก

๑๑. กัมมวาจา จำนวน ๖ มัด รวม ๑๐๔ ผูก

๑๒. กัมมวาจา จำนวน ๑ มัด รวม ๑๐๘ ผูก

๑๓. มหาวรรค จำนวน ๑๓๕ มัด รวม ๒๗๒๖ ผูก

๑๔. ธรรมตำนานและชาดก จำนวน ๑ มัด รวม ๑๗๒ ผูก

๑๕. ธรรมบารมี จำนวน ๑๐ มัด รวม ๑๒๒ ผูก

รวมทั้งหมดมี ๓๔๔ มัด รวมผูกทั้งหมดมี ๕๔๐๘ ผูก

รวมค่าใช้จ่ายการสร้างพระไตรปิฎก ค่าจ้างเขียนลงใบลาน ค่าทองคำเปลวติดขอบใบลานและค่าใช้จ่ายตอนทำพิธีถวายพระไตรปิฎก รวมทั้งหมด ๔๒๓๒ รูเปีย

ผลงานจดทำสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทยของท่านพระครูบาศรีวิชัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นหลักฐานประกาศถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ทางด้านพระไตรปิฎก ทั้งสามารถรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่ได้นี้ มิใช่เป็นเรื่องธรรมดา นี่หากว่าท่านคือบัณฑิตผู้ทรงความรู้อีกท่านหนึ่ง อีกทั้งท่านยังมีปฎิปทาในข้อวัตรปฏิบัติ เป็นสงฆ์องค์อริยะอันเป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง

บางคนไม่รู้ซึ้งหรือรู้เพียงผิวเผินก็เข้าใจว่าท่านพระครูบาเจ้าท่าน ไม่ค่อยรู้หลักธรรมวินัยเป็นพระบ้านนอกบ้านป่า แต่หากลองนึกพิจารณาด้วยจิตอันสุขุม จะเห็นได้ว่าท่านพระครูบาเจ้าเป็นคนซื่อสัตย์มีแต่ความบริสุทธิ์ ท่านไม่ยอมค้อมหัวให้กิเลส ใครจะบังคับหรือขู่เข็นอย่างไร ในการที่จะรับเอาวิ่งที่ไม่ใช่ธรรมวินัยอย่าพึงหวัง


๏ คำสั่งสอนของท่านพระครูบาศรีวิชัย

เครื่องประดับขัติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัวโดยบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง ๕ แม่นี้ ก็บ่ อาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือ ให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วย ปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลสหมดแล้ว จิตเป็นวิมุติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้

ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง “นั่งหนัก” อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง

ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน อันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดเท่าองค์จริง จำลองท่าขณะมรณภาพ
ณ สถูปบรรจุอัฐิธาตุครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน



ข้อมูลอ้างอิง

- หนังสือประวัติของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ที่ระลึกในงานฉลองพิพิธภัณฑ์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน วันที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗

- นิตยสารอภินิหารและพระเครื่อง ฉบับที่ ๔๘ ประจำเดือนกรกฎาคม

- นิตยสารโลกทิพย์ ธรรมสมาธิ ฉบับที่ ๑๐ ปีที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

- ประวัติครูบาศรีวิชัยร่วมกับหลวงศรีประกาศ ตอนสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ของ ส.สุภาภา ๑๐ พ.ค. ๒๕๑๘

- สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ของสิงฆะ วรรณสัย ศูนย์หนังสือเชียงใหม่ พฤศจิกายน ๒๕๒๒

- ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิศดารและตำนานวัดสวนดอก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๗


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2009, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ครูบาเจ้าศรีวิชัย กับข้อหาต้องอธิกรณ์


ศูนย์รวมการถ่ายทอดจิตวิญญาณล้านนา

เมื่อเอ่ยนาม “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” หรือ “ครูบาศีลธรรม” คนในดินแดนล้านนาเกือบทุกคนต้องรู้จัก หรือเคยได้ยินเรื่องราวคุณงามความดีเกี่ยวกับตัวท่านไม่มากก็น้อย ความศรัทธาที่ผองชนมีต่อท่านนั้นมีมากมาย และดูเหมือนว่ายิ่งกาลเวลาผ่านไป ผู้คนก็ให้ความสนใจประวัติความเป็นมา ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเสนอแง่มุมของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในฐานะนักต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณความเป็นล้านนา

ประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เดิมชื่อเฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็เรียกว่า อ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากตอนเกิดปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก และที่ได้ชื่อว่าอินท์เฟือน หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงเมืองอินทร์

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เกิดเมื่อพลบค่ำวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พุทธศักราช 2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรคนที่สามของนายควายและนางอุสา เข้าสู่สมณเพศเมื่ออายุได้ 18 ปี โดยบรรพชาเป็นสามเณรในอารามบ้านปาง มีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ล่วงมาอีก 3 ปี คือปี พ.ศ.2442 ได้เข้าอุปสมบท เป็นพระสงฆ์ในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาในการอุปสมบทว่า “สิริวิชโยภิกขุ” โดยมีนามบัญญัติว่า “พระศรีวิชัย”

หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก 1 พรรษา จากนั้นได้ศึกษากรรมฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต เขตอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เข้ารับการศึกษาจากครูบาอุปละเป็นเวลา 1 พรรษา ก็กลับมาอยู่อารามบ้านปาง จนถึงปี พ.ศ.2444 ครูบาเจ้าศรีวิชัยอายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้างปาง (บ้างก็ว่ามรณะ) ท่านจึงรักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษา 5 แล้ว จึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง ต่อมาได้ย้ายวัดไปยังสถานที่อันเห็นว่าเหมาะสม คือ บริเวณที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน โดยให้ชื่อวัดใหม่ว่า “วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดบ้านปาง” ตามชื่อหมู่บ้าน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ในล้านนา

ในช่วงนั้น เชียงใหม่ถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงศูนย์กลางของมณฑลพายัพ ถึงแม้ทางส่วนกลางจะพยายามรวมทุกแว่นแคว้นเข้าเป็นไทยเดียวกัน แต่ล้านนายังคงเอกลักษณ์ทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ไว้อย่างเหนียวแน่น ต่างจากภาคอื่นๆ ที่ถูกกลืนเข้าอยู่ภายใต้นโยบายการปกครองของส่วนกลาง

ส่วนกลางพยายามจะลดบทบาทของล้านนาลงในทุกวิถีทาง เช่น ทางด้านการปกครอง ก็ส่งข้าหลวงจากส่วนกลางมาประจำมณฑลพายัพ ส่วนทางด้านศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับอาจารย์ นอกจากนี้นิกายต่างๆ นั้น ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขืน นิกายยอง อีกด้วย เป็นต้น

สำหรับครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยอง ซึ่งแพร่หลายในเขตบ้านโฮ่ง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า “กุมผ้าแบบรัดอก” สวมหมวกแขวนลูกปะคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาแต่วัดดอยแต โดยอ้างว่าสืบวิธีการนี้มาจากลังกา

ระบบการปกครองสงฆ์ในล้านนาที่เน้น “หัวหมวดอุโบสถ” หรือ “หัวหมวดวัด” เป็นระบบการปกครองของสงฆ์ล้านนาแต่เดิม พระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่ง เรียกว่า “เจ้าหมวดอุโบสถ” คัดเลือกพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็นครูบา ดังนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น และอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมีสิทธิที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตของสงฆ์ล้านนา

การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีสิทธิที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้นขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2446) ในพระราชบัญญัตินี้ กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้นๆ เป็นผู้คัดเลือก และเมื่อคัดเลือกได้แล้ว จะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป

พระราชบัญญัติการปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2446) เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ใหม่ ในดินแดนล้านนานั้น สงฆ์ทั้งหลายไม่ว่าจะสายในก็ตาม ต่างมีความคิดต่อเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

สงฆ์ที่ยอมรับอำนาจของสงฆ์กรุงเทพฯ อย่างเต็มรูป เป็นสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีตำแหน่งและสมณศักดิ์ ให้อยู่ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ในท้องถิ่น ดูแลสอดส่งพฤติกรรมของสงฆ์ท้องถิ่นให้ปฏิบัติตามระเบียบที่ตราไว้

สงฆ์ที่มีลักษณะประนีประนอมกับกรุงเทพฯ เป็นฝ่ายที่มิได้แสดงปฏิกิริยาคัดค้านหรือสนับสนุน อาจไม่พอใจแต่ก็ไม่ต่อต้าน

สงฆ์กลุ่มต่อต้านกรุงเทพฯ พระสงฆ์กลุ่มนี้ ไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของกรุงเทพฯ

ความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในล้านนา

เริ่มจากครูบามหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ ได้เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยไปสอบสวน เกี่ยวกับกรณีที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร โดยไม่ได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ ในขณะนั้นพระครูญาณมงคล (ปัญญา) เป็นเจ้าคณะเมืองนครลำพูน กรณีนี้ได้สร้างปมยุ่งยากให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยในเวลาต่อมา เพราะท่านไม่ยอมขึ้นกับส่วนกลาง ยังยึดถือขนบปฏิบัติแบบล้านนาอยู่ ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากส่วนกลาง เนื่องจากเป็นพระที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านสูง นำไปสู่การจับกุมครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วง เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี

การจับกุมในช่วงแรก พ.ศ.2451-2453

ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมด้วยข้อหาต้องอธิกรณ์ สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านและชาวเขามีความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่าน มักนำบุตรหลานไปฝากฝังให้บวชเณรและอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ ก็กล่าวหาครูบาศรีวิชัยว่าล่วงเกินอำนาจของตน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ ได้นำกำลังตำรวจเข้าจับกุม โดยนำไปกักขังไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ 4 คืน จากนั้นจึงส่งครูบาเจ้าศรีวิชัยให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เพื่อรับการไต่สวน ซึ่งผลก็ไม่ปรากฏความผิดอันใด

หลังจากการไต่สวนครั้งแรกไม่นาน ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัวสอบอีกครั้ง โดยพระครูมหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียกให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยนำลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ไปตามหมายเรียก และส่งมีผลให้เจ้าอธิการหัววัด ที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ไปประชุมเช่นกัน เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุมลูกวัดก็ไม่ควรไป ดังนั้น พระครูเจ้าคณะแขวง จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูนเข้าไปจับกุมครูบาเจ้าศรีวิชัย นำส่งให้พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ไต่สวนและกักขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน เป็นเวลา 23 วัน

ส่วนในครั้งที่สามเกิดขึ้นในปีพุทธศักราชเดียวกัน พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ ได้สั่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยนำลูกวัด เจ้าอธิการหัววัด ตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวด ไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวง ตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปอีกเช่นกัน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถูกจับขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน จึงได้เรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัดเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และในที่สุดก็ได้ปลดครูบาเจ้าศรีวิชัยให้พ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด มิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป และถูกจับขังต่อไปอีก 1 ปี

จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมเนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมมากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา

ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา

การถูกจับกุมในระยะที่สอง พ.ศ.2454-2464

ในการต้องอธิกรณ์ครั้งที่สอง มีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการต้องอธิกรณ์ในช่วงแรกถึงสามครั้งสามครา และยังส่งผลเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น มีการเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ นานาต่อกันไป ทำให้ความนับถือเลื่อมใสในตัวของครูบาเจ้าศรีวิชัยแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อคำเล่าลือทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอแขวงลี้ จึงได้เข้าแจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่า ท่านซ่องสุมคนคฤหัสถ์ นักบวช เป็นก๊กเหล่า และใช้เวทย์มนต์โหงพราย ดังนั้นในวันที่ 12 มากราคม พ.ศ.2462 พระครูญาณมงคลได้ออกหนังสือฉบับหนึ่งถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อแจ้งให้ท่านออกจากพื้นที่จังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวอ้างถึงพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติขึ้นมาว่า ท่านได้กระทำผิดพุทธบัญญัติข้อใดไปบ้าง เจ้าคณะแขวงไม่สามารถเอาผิดได้ จึงเลิกราไปพักหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมา เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมลูกวัดเข้าเมืองลำพูน เหตุการณ์ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นสถานะตนบุญของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยชัดเจนมากขึ้น เพราะมีการจัดขบวนแห่แหนท่านเข้าสู่เมืองลำพูนของบรรดาภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์อย่างใหญ่โต เมื่อทางบ้านเมืองได้เห็นว่ามีผู้ติดตามท่านมากเช่นนี้ คงตกใจมิใช่น้อย อุปราชมณฑลพายัพได้สั่งย้ายท่านไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักอยู่ที่วัดเชตวัน แล้วจึงมอบให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเชียงใหม่ ที่วัดปลากกล้วย (ศรีดอนไชย)

ในช่วงที่ถูกจับกุมที่วัดนี้ ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามาเป็นอุปัฏฐาก ตลอดจนผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางมานมัสการเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายที่ทำการดูแลเกรงว่าเรื่องลุกลามใหญ่โต เนื่องจากศรัทธาของชาวบ้านชาวเมือง เจ้าคณะเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพได้ดำเนินการส่งท่านไปรับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ โดยตั้งข้อหาไว้ 8 ข้อ เนื้อหารวมของข้อกล่าวหา อาทิ ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต กระด้างกระเดื่องต่อพระราชบัญญัติสงฆ์ และใช้คำกล่าวอ้างของชาวบ้านที่ว่า ท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทำให้ฝ่ายส่วนกลางหวาดระแวงว่าท่านจะประพฤติตัวเป็นผีบุญ

โดยรวมแล้วท่านหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกกระทง และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการส่วนตัวครั้งหนึ่ง จากการเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ส่งสาส์นไปยังกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มีใจความว่า

“...วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย (14 ก.ค. 2463) ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช้ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญา พอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ...”

การที่ปล่อยครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับภูมิลำเนาเดิม และสามารถจะอาศัยอยู่ในวัดใดก็ได้ นับเป็นการลดความไม่พอใจของประชาชนที่นับถือท่านเป็นอย่างมาก

อธิกรณ์ในช่วงระยะที่สองนี้ เหมือนเป็นการทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่รู้จักในสังคมเมืองมากขึ้น ช่วยส่งให้บทบาทของท่านโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในสายตาชาวเมือง มองเห็นว่ากลุ่มพระและชาวบ้านที่ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมีจำนวนมาก และมีความหลากหลายทางชนชาติด้วยกัน จากการที่คณะสงฆ์ยอมปล่อยให้กลับภูมิลำเนา ในสายตาของคนท้องถิ่นล้านนาแล้ว กลับเห็นว่า ไม่มีใครสามารถทำอันตรายต่อท่าน ซึ่งเปรียบเสมือนตนบุญแห่งล้านนาได้ จากการกลับภูมิลำเนา สถานะและบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่ศรัทธาสูงสุดในทุกกลุ่มชนของสังคมล้านนา ต่างก็ให้ความเคารพยกย่อง และให้การช่วยเหลือสนับสนุนในด้านการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ เป็นอย่างดี

เป็นที่น่าสังเกต ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังตั้งอยู่ในปณิธานเดิม คือมุ่งที่จะดำรงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาแบบดั้งเดิมอยู่ แม้จะเป็นในเฉพาะด้านธรรมวินัยของพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ท่านจะต้องอธิกรณ์หลายครั้งจากการตีความตามวินัยสงฆ์ของภาคกลาง และถึงแม้ว่าอิทธิพลของส่วนกลางจะเข้ามามีอำนาจควบคุมสงฆ์ในล้านนา จนเกิดการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในหมู่สงฆ์ล้านนา ก็ไม่ทำให้ท่านสะทกสะท้านต่ออำนาจรัฐจากส่วนกลาง

การต้องอธิกรณ์ในช่วงแรกจนถึงช่วงที่สอง แทนที่ปวงชนจะเสื่อมความศรัทธาในตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย กลับเป็นว่า ความศรัทธาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมตามแรงบีบคั้นจากส่วนกลาง สาเหตุน่าจะเป็นเพราะว่าท่านมุ่งมั่นกอปรกับท่านมีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส กระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังทรงชื่นชม ทั้งที่ท่านเองเป็นประมุขส่วนกลางมีอำนาจที่จะตัดสินหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการยึดมั่นในแนวทางของท่านครูบาศรีวิชัย

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รากฐานแห่งความศรัทธาของท่านจะมีพลังมากขึ้น และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ชาวล้านนามองว่าท่านเป็นพระอริยสงฆ์ มิได้ประพฤติผิดในธรรมข้อใด แต่ทางส่วนกลางถือว่าท่านต้องอธิกรณ์ ถือได้ว่าเป็นการตีความที่ต่างกันระหว่างชาวล้านนากับผู้ปกครองและคณะสงฆ์จากส่วนกลาง

การจับกุมในช่วงที่สาม พ.ศ.2478-2479

เกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่ามีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาเจ้าศรีวิชัยแทน เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่างๆ ที่แยกตัวออกไปถึง 90 วัด พระสงฆ์ในจังหวัดต่างๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุที่จะบานปลาย ขณะเดียวกันนั้น กลุ่มพระสงฆ์วัดที่ขอแยกตัวถูกสั่งให้มอบตัว และพระที่ถูกบวชโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยก็โดยคำสั่งให้สึก เมื่อครูบาเจ้าเจ้าศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงถูกโยงเข้าไปสู่ปัญหาการเมืองในขณะนั้นไปด้วย

ในการจับกุมช่วงที่สามนั้น ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงพุทธศักราช 2479 เมื่อหลวงศรีประกาศได้พูดคุยกับครูบาเจ้าศรีวิชัยในวันที่ 21 เมษายน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ และได้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

สืบเนื่องจากรากฐานแห่งความศรัทธาจากฆราวาสและคฤหัสถ์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์การจับกุม ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีภาพลักษณ์เป็นตนบุญ นักบุญแห่งล้านนา ย่อมเป็นธรรมดาที่ศรัทธาฆราวาสหรือคฤหัสถ์จะยอมรับไม่ได้ ที่ใครหรือกลุ่มคนใดจะมาลบหลู่บุคคลอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ การจับกุมท่านหรือส่งตัวท่านไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างจากการกระทำที่ย่ำยีความศรัทธาและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และอาจนำไปสู่ความโกรธแค้น ก่อให้เกิดความวุ่นวาย การใช้กำลังในการยุติปัญหา

จากที่กล่าวมาโดยสังเขป พอจะวิเคราะห์ให้เห็นได้ว่า

ในขณะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้แปรสภาพจากปัญหาเล็กๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง

เมื่อขอบเขตของปัญหาเปลี่ยนจากเล็กเป็นใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่า ท่านมองว่าประเด็นปัญหาส่วนตัวของท่านที่มีกับระเบียบของคณะสงฆ์ส่วนกลาง กลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว กอปรกับความที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นสงฆ์สายอรัญวาสี เคร่งครัดสูงในเรื่องธรรมวินัย เพราะฉะนั้นการจะยอมตาม จึงเป็นเรื่องไม่เหนือวิสัยสำหรับสงฆ์ในสายอรัญวาสี และความที่ท่านเป็นที่นับถือของพระสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง การจะเปลี่ยนมาถือตามระเบียบสงฆ์ของทางส่วนกลาง ท่านย่อมสามารถอธิบายและโน้มน้าวให้เห็นตามได้ไม่ยาก

จากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังคงปฏิบัติตามจารีตของล้านนาโดยไม่โอนอ่อนผ่อนตามนโยบายของส่วนกลาง เป็นเหมือนการปลุกจิตสำนึกของชาวล้านนา สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าท่านจะยอมรับระเบียบธรรมเนียมสงฆ์ของส่วนกลางในตอนท้ายที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าจิตวิญญาณของล้านนานั้นได้ถูกทำลายไปด้วย กลับทว่าจิตวิญญาณของล้านนาได้แสดงให้เห็นปรากฏชัดต่อชาวล้านนาและคนทั่วไป จากที่มีอยู่แล้วยิ่งชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

จากความขัดแย้งของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยกับรัฐ ในขณะนั้นการตั้งอยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะสลายจิตวิญญาณล้านนา เพื่อที่จะรวมแว่นแคว้นต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่นเป็นเอกภาพกับส่วนกลาง เพื่อที่จะต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม แต่ในปัจจุบัน รัฐให้การสนับสนุนทุกวิถีทางที่จะปลุกกระแสความเป็นล้านนา เพื่อใช้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยปลุกกระแสการสืบสานจิตวิญญาณล้านนา ไม่อาจนำมาเทียบได้เลย

อีกทั้งจิตวิญญาณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงร่างพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ไทยทางมณฑลพายัพ ทรงมีพระบัญชาให้พระธรรมโรดม พระศรีสมโพธิ เป็นที่ปรึกษา รับพระราชกระแสราชดำรัสโองการขึ้นมาเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2450 เข้าทำการปรึกษากับเจ้าอินทรวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมเจ้าพระยาศรีวิศิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงมณฑลพายัพ จัดการคัดหาตัวพระมหาเถระ ผู้แตกฉานธรรมวินัย เพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะรอง เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะแขวง มีหน้าที่บังคับบัญชาคณะสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์

การเข้ามามีบทบาทของส่วนกลาง ส่งผลกระทบต่อวงการสงฆ์ล้านนาอย่างมาก ล้านนามีจารีตการปกครองสงฆ์ค่อนข้างเป็นอิสระในทางปฏิบัติ แม้ว่าในแต่ละเมืองจะมีตำแหน่งสังฆราชา และมีครูบาอีก 7 รูป คอยปกครองดูแล แต่ระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนา ให้ความสำคัญแก่ “ระบบหมวดอุโบสถ” หรือ “ระบบหัวหมวดวัด” มากกว่า และการปกครองก็เป็นในในระบบพระอุปัชฌาย์ อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกถึง 18 นิกาย และในแต่ละนิกายก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์ในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอำนาจปกครองในล้านนายังคงอยู่ และมีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยคนล้านนาเอง เพราะล้านนามีจิตวิญญาณดั้งเดิมอันแท้จริงที่สืบสานต่อกันมา ไม่มีทางที่คนกลุ่มใดจะสร้างขึ้นมาหรือทำให้แปรเปลี่ยนเป็นอื่นได้ เว้นแต่ชาวล้านนาเองจะพร้อมใจที่จะปรับเปลี่ยนจิตวิญญาณล้านนาเพื่อให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม


ครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2481 ที่วัดบ้างปางขณะมี อายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางนั้นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี จนถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้น มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ในที่ต่างๆ เช่น วัดจามเทวีในจังหวัดลำพูน วัดสวนดอกในจังหวัดเชียงใหม่

รูปภาพ
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ กลางแจ้ง
ประดิษฐาน ณ วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน



จากบทความ “ศูนย์รวมการถ่ายทอดจิตวิญญาณล้านนา”
ในหนังสือสืบสานล้านนา สืบต่อลมหายใจของแผ่นดิน พ.ศ.2542
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคพายัพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มิ.ย. 2009, 12:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สัจจวาจาของครูบาศีลธรรม (ครูบาศรีวิชัย)


ครูบาศีลธรรม เป็นอีกนามหนึ่งของ “ครูบาศรีวิชัย” นักบุญแห่งล้านนา ท่านเป็นพระอริยสงฆ์รูปสำคัญยิ่งแห่งดินแดนล้านนา ครูบาศรีวิชัยเป็นพระบ้านป่าไร้ซึ่งสมณศักดิ์ แต่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณงามความดีที่ยิ่งใหญ่เป็นอเนกประการ จึงมีผู้คนเคารพยกย่องท่านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ครูบาศรีวิชัย มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๘๑ มาตุภูมิของท่านคือ บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ท่านถือกำเนิดในครอบครัวที่ยากจน แต่สิ่งนี้หาได้เป็นสิ่งที่จะสกัดกั้นไม่ให้ท่านเข้าสู่ร่มเงาของผ้ากาสาวพัตร์ได้ไม่ กลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้พ้นไปจากวัฏสงสารมากยิ่งขึ้น

“พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” อดีตพระอาจารย์ใหญ่ของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปสำคัญ แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญร่วมสมัยกับครูบาศรีวิชัย ได้กล่าวกับ “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)” อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ความว่า “พระศรีวิชัยองค์นี้ เป็นพระโพธิสัตว์ปรารถนาพระโพธิญาณ ขณะนี้กำลังบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมีธรรมอยู่ ซึ่งจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกนาน จนกว่าการสั่งสมบารมีจะบริบูรณ์”

ครูบาศรีวิชัยเป็นพระสุปฏิปันโน ท่านสอนผู้อื่นโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ท่านปฏิบัติได้แล้วจึงสอนผู้อื่น ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนมากมายเลื่อมใสในตัวท่าน ต่างพากันมากราบไหว้บูชาขอเป็นลูกศิษย์ของท่าน

เมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลกธรรม ถึงแม้ว่าคนไม่ชอบจะมีไม่มากก็ตามเถิด ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม จนต้องอธิกรณ์ถึง ๒ ครั้ง ท่านถูกนำตัวไปให้คณะสงฆ์ชำระอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความบริสุทธิ์ของท่าน มลทินทั้งหลายที่ถูกผู้อื่นนำมาแปดเปื้อนก็ไม่อาจทำให้ท่านมัวหมองได้ ครูบาศรีวิชัยจึงเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของท่านอย่างสง่างาม

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย อดีตปราชญ์คนสำคัญของจังหวัดลำพูน ผู้เคยได้สนทนากับครูบาศรีวิชัย ได้บันทึกไว้ใน “สารประวัติครูบาศรีวิชัย” ความตอนหนึ่งว่า “ตอนที่ครูบานั่งหนักสร้างวัดจามเทวีนั่นแหละ ข้าพเจ้าเป็นสามเณรมักจะไปไหว้ไปคุยกับท่านครูบาเสมอ วันหนึ่งท่านถามข้าพเจ้าว่า “เณรจะสึกหรือไม่?” ข้าพเจ้าตอบว่า “ไม่แน่ครับท่านครูบา เพราะอนาคตของเราคาดไม่ถูก” ท่านครูบาได้กรุณาสอนว่า “เมื่อเณรจะสึกออกไปสู่โลกภายนอก พึงประพฤติตัว อย่าให้ซื่อนัก อย่าให้ตรงนัก หื้อจะหล้วยเป็นก้านกล้วยนั้นเทอะ” อธิบายว่า คนที่อยู่ในโลกฆราวาสนั้น เป็นคนตรงไปก็อยู่กับเขาไม่ได้ เป็นคนคดงอเกินไปก็อยู่กับเขาไม่ได้ จงอย่าคดมาก อย่าตรงมาก เหมือนก้านกล้วยนั่นแหละจึงจะอยู่กับคนในโลกได้” นี่เป็นคำสอนหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยกล่าวไว้หลังจากท่านกลับจากชำระอธิกรณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตท่านแล้ว

ถึงแม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะเกิดในยุคที่บ้านเมืองยังไม่พัฒนาด้านวัตถุมากนัก อ.ลี้ เมื่อ ๑๖๐ ปีกว่าล่วงมาแล้วนั้น ยังบริบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ เรื่องราวเร้นลับทางไสยศาสตร์น่าจะมีให้คนในยุคนั้นได้พิศวงไม่น้อย แต่ครูบาศรีวิชัยกลับไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้แม้แต่น้อย ท่านไม่ได้สร้างวัตถุมงคลใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางด้วยรถไฟไปกรุงเทพฯ เพื่อให้คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองชำระอธิกรณ์ ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ เมื่อทราบว่าท่านคือครูบาศรีวิชัยผู้โด่งดัง ต่างพากันมากราบไหว้อ้อนวอนขอเครื่องรางของขลังจากท่าน ครูบาศรีวิชัยได้แต่ยิ้มแล้วส่ายหน้า ท่านกล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า “ไม่เคยมีไว้ให้ใคร เอาไว้เองก็ไม่มี เพราะพระพุทธองค์ไม่เคยสั่งสอนให้เชื่อถือสิ่งเหล่านั้น”

เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ คาถาอาคมเหล่านี้ ในช่วงแรกของชีวิตในสมณเพศ ครูบาศรีวิชัยก็เคยได้ศึกษาวิชาเหล่านี้มาก่อน ถึงได้สักหมึกดำทั้ง ๒ ขา ตามแบบความนิยมของผู้ชายชาวล้านนาในสมัยนั้น ต่อมาได้ศึกษาพระธรรมอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้ง ท่านตระหนักถึงความไม่เป็นแก่นสารของไสยศาสตร์ จึงหันหลังให้วิชาเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง เคยมีผู้เรียนถามครูบาศรีวิชัยเรื่องอภินิหารเรื่องหนึ่งว่า มีครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยพร้อมกับศรัทธาทั้งหลายเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง บังเกิดฝนตกหนักมาก คนทั้งหลายเปียกกันหมด แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เปียกเลยมีจริงหรือไม่ ท่านตอบว่า “เออเป็นความจริง ข้าไม่เปียกเลย เพราะข้ามีจ้อง (ร่ม)”

ครูบาศรีวิชัยเป็นพระผู้ปฏิบัติธรรมเยี่ยมยอดรูปหนึ่ง และมีเรื่องราวที่เรียกว่าน่าอัศจรรย์ก็ว่าได้ คือท่านสามารถกำหนดรู้จิตของผู้อื่นได้ หากผู้ใดนำของไม่บริสุทธิ์มาทำบุญกับท่าน ท่านก็จะบอกให้ผู้นั้นทราบ หรือไม่รับของนั้นเลยทีเดียว จะมาทำบาปแลกบุญนั้นครูบาศรีวิชัยท่านไม่ส่งเสริมเด็ดขาด ดังเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าต่อไปนี้ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังอีกทอดหนึ่ง เป็นเรื่องราวร่วมสมัยครั้งที่ครูบาศรีวิชัยยังดำรงชีวิตอยู่

ในหมู่บ้านเดื่องก ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มีเศรษฐินีผู้หนึ่ง เป็นคนที่มีนิสัยเข้าทำนองว่า “หน้าเนื้อใจเสือ” (ทางล้านนาเรียกว่า “ปากหวาน ก้นส้ม”) ผู้ใดขัดสนเงินทองบากหน้าขอพึ่งพิง นางก็ให้ไปปากก็พร่ำว่า “ไม่เป็นไร เราคนกันเอง มีอะไรพูดจากันได้” แต่เวลาที่ลูกหนี้เอาของมาคืน ต้องมีค่ามากกว่าของที่ยืมไปถึงเท่าตัว ยืมเงิน ๑๐ บาท (สมัยครึ่งค่อนศตวรรษ) คืน ๒๐ บาท หากไม่มีจริงๆ เศรษฐินีผู้นี้ก็จะริบเอาข้าวของอย่างอื่นแทนเงิน เช่น ข้าวสาร เกลือ กะปิ ปลาร้า ชนิดที่ว่าอะไรพอจะตีค่าเป็นเงินได้ก็ริบไว้ก่อน

ครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยออกบิณฑบาต เศรษฐินีผู้นี้ก็ไปทำบุญตักบาตรกับเขาด้วย คนอื่นตักบาตร ครูบาศรีวิชัยก็รับ แต่พอมาถึงเศรษฐินีแห่งบ้านเดื่องก ท่านกลับปิดฝาบาตร นางให้รู้สึกแปลกใจจึงกราบเรียนถามครูบาศรีวิชัยว่าเหตุใดท่านจึงไม่รับบาตรของนาง ครูบาศรีวิชัยจึงตอบเศรษฐินีผู้นี้ว่า “แม่ออกจะเอาขี้มาใส่บาตรเฮา” (“แม่ออก” หมายถึง สีกา ส่วน “เฮา” ก็คือ เรา) เศรษฐินีแห่งบ้านเดื่องกก็แทบจะแทรกแผ่นดินหนีเลยทีเดียว ส่วนจะสำนึกตัวได้หรือไม่นั้นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบุคคลมีหลายจำพวก รายนี้อาจจะเป็นบัวประเภทสุดท้าย

นอกจากจะเป็นพระนักปฏิบัติแล้ว ทางด้านเทศนาโวหาร ครูบาศรีวิชัยก็ยังมีความสามารถแสดงธรรมให้ผู้คนในยุคนั้น ได้เข้าใจถึงหลักธรรมเบื้องต้นอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนขอนำ “ธรรมอานิสงส์ศีล” ที่ครูบาศรีวิชัยได้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื่องในงานฉลองวิหารหลวง วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ พิมพ์เป็นอักษรเมือง (ภาษาล้านนา) ปริวรรตเป็นภาษาไทย โดยนายหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ความตอนหนึ่งว่า

“...น้ำแม่น้ำคงคา ยุมนา อจิรวดี มหิมหาสลภู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำ แม่นจักเอามาอาบให้หมดสิ้นทั้ง ๕ แม่น้ำก็ไม่อาจล้างบาป คือความเดือดร้อน ภายในให้หายได้ และฝนลูกเห็บ แม่นจะตกมาร้อยห่าให้เย็นและหนาวสักปานใดก็ดี ก็ไม่อาจจะเย็นเข้าไปถึงภายใน ให้หายความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นของความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อน ภายในให้หายได้ เป็นบันไดแก้วสำหรับก่ายขึ้นไปสู่สวรรค์...”

พระบ้านป่ารูปหนึ่งที่ถือกำเนิดจากครอบครัวสามัญชนที่ยากจน แต่ยึดถือแน่วแน่ในหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา มีจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหวกับกิเลส มารร้ายที่คอยจ้องทำลายพรหมจรรย์อยู่ตลอดเวลา

ครูบาศรีวิชัยเป็นทองคำบริสุทธิ์ ถึงบางครั้งจะมีผู้นำสิ่งสกปรกมาสาดใส่ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทองคำนั้นเปลี่ยนสถานะไปได้ เมื่อกาลเวลาและความจริงซึ่งเป็นเครื่องชะล้างสิ่งที่เป็นมลทินนั้นหมดสิ้นไปแล้ว ทองคำนั้นก็ยังเป็นทองคำอยู่ ยังคงส่องแสงอันงดงามอยู่ชั่วนิจนิรันดร์กาล


เรียบเรียงโดย สามารถ แจ่มจันทร์
นิตยสารศิลปวัฒธรรม ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 15:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย


หลวงปู่มั่น พบ นักบุญแห่งล้านนาไทย

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ท่านพระอาจารย์ใหญ่แห่งสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ได้เคยพำนักอยู่วัดเจดีย์หลวง ร่วมสมัยกับ
พระเดชพระคุณพระอุบาลี (จันทร์) ระหว่างปี ๒๔๗๒-๒๔๗๔
ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พระครูบาศรีวิชัย พระนักบุญแห่งล้านนาไทย
ขึ้นมาพำนักอยู่ที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ เพื่อฟื้นฟูบูรณะวัดวาอาราม
พระธาตุเจดีย์ ปูชนียสถานต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่
รวมทั้งสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพด้วย
พระครูบาศรีวิชัยแม้องค์ท่านจะไม่มีฐานันดรสมณศักดิ์
แต่ท่านก็เป็นพระมหาเถระสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรม
และวัตรปฏิบัติอันประเสริฐยิ่ง มีบารมีสูงสุด

จนคนเหนือยกย่องให้เป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญแห่งล้านนาไทย”

พระครูบาศรีวิชัยได้เข้ามากราบนมัสการท่านเจ้าคุณอุบาลี วัดเจดีย์หลวง ถึง ๒ ครั้ง
และพระเดชพระคุณก็มีโอกาสไปเยี่ยมพระครูบาศรีวิชัยเป็นการตอบแทน
ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ส่วนพระอาจารย์มั่นนั้น
เคยพบและสนทนาธรรมกับพระครูบาศรีวิชัย
หลังจากที่พระครูบาศรีวิชัยถูกอธิกรณ์แล้ว
ท่านอาจารย์มั่นเคยออกปากชวนพระครูบาศรีวิชัย
ออกมาปฏิบัติกัมมัฏฐานด้วยกัน
แต่พระครูบาศรีวิชัยปฏิเสธ
โดยกล่าวว่าท่านได้บำเพ็ญบารมีมาทางพระโพธิสัตว์
และได้รับการพยากรณ์แล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้


ต่อมาพระเดชพระคุณพระอุบาลี สนใจใคร่รู้ถึงภูมิธรรม
และปฏิปทาตามวิถีทางที่พระครูบาศรีวิชัยดำเนินอยู่
จึงได้สอบถามพระอาจารย์มั่น
ซึ่งท่านได้กราบเรียนพระเดชพระคุณให้ทราบว่า

“พระศรีวิชัยองค์นี้เป็นพระโพธสัตว์ ปรารถนาพระโพธิญาณ
ขณะนี้กำลังบำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมีอยู่
ซึ่งต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกนาน
จนกว่าการสั่งสมบารมีธรรมจะบริบูรณ์”


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

รูปภาพ
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
แห่งวัดเจดีย์หลวง ผู้บันทึกเรื่องราวนี้



:b8: :b8: :b8: บันทึกโดย...พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมดิลก วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่
จาก...หนังสือสืบสายพระโพธิญาณ สานปณิธานพระโพธิสัตว์ โดย ทิพยจักร



.............................................................

:b8: เนื้อหาทั้งหมดคัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/


:b44: ประมวลภาพ “ครูบาศรีวิชัย” นักบุญอมตะเเห่งล้านนาไทย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=22417

:b44: หลวงปู่มั่น พบ นักบุญแห่งล้านนาไทย
บันทึกโดย พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=23225

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุกับคุณสาวิกาน้อยด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 21:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 12:48
โพสต์: 13


 ข้อมูลส่วนตัว www


ขอบคุณครับ ที่นำมาให้ชมกัน ได้เห็นรูปครูบาอาจารย์เก่าๆแบบนี้ชอบมากครับ

.....................................................
พระเครื่องเป็นแค่ทางผ่าน ดับแล้วดิ่ง พระเครื่อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2011, 11:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆๆขอบพระคุณค่ะ :b8: :b8: :b8:

:b41: :b41: :b41: :b41:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2011, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2015, 21:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร