วันเวลาปัจจุบัน 05 ต.ค. 2024, 14:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2010, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : อาจารย์บุญตา แอนติค


ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ



๏ ชาติภูมิ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) มีนามเดิมว่า “อ้วน” นามสกุล “แสนทวีสุข” เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2400 ณ บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาเป็นกรมการเมืองชื่อ เพี้ยเมืองกลาง (เคน แสนทวีสุข) โยมมารดาชื่อ บุตสี แสนทวีสุข


๏ ชีวิตเยาว์วัยและการศึกษาเบื้องต้น

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านเคยเล่าชีวิตเมื่อเยาว์วัยให้มหาไชย จันสุตะ ฟังว่า เมื่อยังเด็กท่านชอบมีเพื่อนฝูงมาก เพื่อนฝูงทั้งหลายมักตั้งท่านให้เป็นหัวหน้า และเมื่อท่านทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแล้ว เพื่อนฝูงจะเชื่อฟัง ท่านจัด ท่านแบ่งอะไรทุกคนพอใจ ไม่เคยโต้แย้ง ท่านมีแววของความเป็นผู้นำมาตั้งแต่เยาว์ทีเดียว

นอกจากลักษณะของความเป็นผู้นำแล้ว สมเด็จฯ ยังสนใจในทางศาสนา ตั้งแต่เด็กท่านจะช่วยโยมมารดาทำบุญตักบาตรทุกๆ เช้าที่หน้าบ้านเสมอ


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

สมเด็จฯ ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 19 ปี ณ วัดสว่าง อำเภอวารินชำราบ ใกล้กับบ้านเกิดของท่าน ภายหลังได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีทอง โดยมีท่านเทวธัมมี เป็นอุปัชฌาย์ และท่านโชติปาโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จฯ ได้ศึกษาปริยัติธรรมและเคร่งครัดต่ออุปัชฌายวัตรเป็นอย่างมาก


๏ การศึกษา

หลังจากพระอุปัชฌาย์ท่านได้มรณภาพแล้ว สมเด็จฯ ได้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับ เจ้าคุณอาจารย์พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี ณ วัดพิชยญาติการาม สำนักพระศาสนาโสภณ เป็นเจ้าอาวาส


๏ การเรียนพระปริยัติธรรม

สมเด็จฯ เป็นนักเรียนมหามกุฎราชวิทยาลัย สาขาวัดพิชยญาติการาม เขตคลองสาน กรุงเทพฯ อันเป็นโรงเรียนซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) ทรงเริ่มตั้งและขยายสาขาออกไปตามวัดธรรมยุตอื่นๆ เป็นโรงเรียนสาขาโรงเรียนพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จฯ ได้ค่าภัตตาหารเดือนละ 2 บาท

พ.ศ. 2439 สมเด็จฯ ย้ายจากวัดพิชยญาติการามมาเรียนต่อที่วัดเทพศิรินทราวาส กับท่านอาจารย์อื่นอีก และสอบได้เปรียญธรรมชั้นตรี

พ.ศ. 2442 ท่านสอบได้เปรียญธรรมชั้นโท

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิราญาณวโรรส


๏ ตำแหน่งและสมณศักดิ์

1. ภัณฑารักษ์ วัดเทพศิรินทราวาส ได้รับแต่งตั้งจากท่านเจ้าอาวาส

2. ครูฝ่ายภาษาบาลี ที่วัดสุปัฏนาราม เป็นครั้งแรกที่มีโรงเรียนเปิดสอนตามแบบมหามกุฎราชวิทยาลัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีพระภิกษุสามเณรทั้งใกล้-ไกล ตลอดมณฑลอุดรก็อุตส่าห์มาเล่าเรียน

3. พ.ศ. 2442 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน

4. พ.ศ. 2447 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสาน ต่อมาต้นรัชกาลที่ 6 ได้แยกมณฑลอีสานเป็น 2 มณฑล คือมณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะว่าการทั้งสองมณฑล

5. พ.ศ. 2466 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุดรอีกตำแหน่งหนึ่ง

6. ต้นรัชกาลที่ 7 ทางราชการได้รวมมณฑลอุบล ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา เป็นมณฑลนครราชสีมา ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา

7. พ.ศ. 2485 ดำรงตำแหน่งสังฆนายกองค์แรกแห่งประเทศไทย ตามประกาศตั้งสังฆนายก ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2485

สมเด็จฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้

พ.ศ. 2447 พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศาสนดิลก

พ.ศ. 2454 พระราชาคณะเสมอชั้นราช ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. 2455 พระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชมุนี

พ.ศ. 2464 พระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธี

พ.ศ. 2468 พระราชาคณะชั้นเทพพิเศษที่ พระโพธิวงศาจารย์

พ.ศ. 2472 พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ. 2475 ชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมมุนี

พ.ศ. 2482 สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์


๏ การปกครองวัด

พ.ศ. 2447 เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี

พ.ศ. 2470 เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา มณฑลนครราชสีมา

พ.ศ. 2475 เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2484 เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ


๏ ตำแหน่งพิเศษ

1. แม่กองธรรมสนามมณฑลตลอดระยะที่ยังมิได้ยุบมณฑล

2. รองแม่กองธรรมสนามหลวง

3. กรรมการตรวจข้อสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง

4. กรรมการมหาเถระสมาคม

5. กรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย

6. กรรมการฝ่ายศึกษาประชาบาล เขตปทุมวัน

7. รองเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต

8. เจ้าคณะตรวจการภาค 3, 4, 5

9. องค์ประธานคณะวินัยธร ชั้นฎีกา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484

10. สังฆนายกรูปแรกแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484


๏ การทำคุณประโยชน์

1. ตั้งโรงเรียนภาษาไทย-บาลี

ได้ตั้งโรงเรียนสอนบาลี-นักธรรม ที่วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา ได้รวบรวมหนังสือเก่าแก่ และโบราณวัตถุของชาวอีสานขึ้นไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี จนได้เปิดเป็นสาขาหอสมุดแห่งชาติขึ้นที่วัดสุทธจินดา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2478

2. ถาวรวัตถุและการก่อสร้าง

สร้างอาคารเรียน “โรงเรียนอุบลวิทยาคม” ที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จด้วยแรงงานของพระภิกษุสงฆ์ ได้รับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงธรรมการ 800 บาท นอกนั้น สมเด็จฯ จัดหาเองทั้งสิ้น

สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น สำหรับนักธรรมคณะจังหวัดอุบลราชธานี

หล่อพระพุทธรูป “พระสัพพัญญูเจ้า” อันเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม

สร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี มีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 34 เมตร สูง 22 เมตร ชั้นบนเป็นทรงไทย ชั้นกลางทรงยุโรป (เยอรมัน) และชั้นล่างเป็นทรงขอมโบราณแบบนครวัด เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 สำเร็จในปี พ.ศ. 2473 สิ้นค่าก่อสร้าง 70,000 บาท

3. ด้านการพิมพ์และคำสอน

สมเด็จฯ ได้นิพนธ์ความเรียงเป็นคำสอนประเภท ธรรมเทศนา โอวาท บทความ สารคดี เรื่องต่างๆ ไว้มากว่า 46 เรื่อง นิพนธ์เรื่องที่เป็นที่นิยมและสนใจของสาธุชนและประชาชนทุกระดับชั้น ยกตัวอย่างบทนิพนธ์ของสมเด็จฯ บางเรื่องที่ดีเด่นจริงๆ คือ

เรื่อง เงินเดือน เงินดาว เงินดิน ว่าด้วยการการแนะนำคนให้รู้จักการครองตนครองชีพ

เรื่อง “หลักชูชาติ” ว่าด้วยการเพราะปลูก การช่าง การชื้อขาย

เรื่อง “แว่นใจ” ว่าด้วยการทรัพย์ในดิน สินในน้ำ

เรื่อง “สอนหนุ่มน้อย” เป็นเรื่องตักเตือนให้เด็กเร่งศึกษาแต่เยาว์วัย

เรื่อง “สอนนายนาง” ว่าด้วยลูกอุปถัมภ์บำรุง พ่อ แม่ และหน้าที่ของสามี ภรรยา

เรื่อง “หลักครู” แนะวิธีการเป็นครูและการสอน

เรื่อง “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก” อันเป็นคติพจน์ของสมเด็จ

การสั่งสอนอบรมพุทธศาสนิกชน สมเด็จฯ ท่านได้เที่ยวเทศนา อบรมโปรดพุทธศาสนิกชนทุกภาค และให้คำขวัญซึ่งคือว่าเป็นการสร้างสรรค์ให้ชาวไทยสามัคคี ไม่แบ่งแยกกันพุทธศาสนิกชนถือเป็นอมตะคำขวัญ คือ

“ถิ่นไทยงาม” ได้แก่ ภาคพายัพของประเทศไทย

“ถิ่นไทยอุดม” ได้แก่ ภาคใต้ของประเทศไทย

“ถิ่นไทยดี” ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

“ถิ่นจอมไทย” ได้แก่ ภาคกลางของประเทศไทย

บทนิพนธ์ทุกเรื่องสมเด็จฯ มอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร, วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร, วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา และวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สาธุชนผู้ประสงค์จะพิมพ์เผยแพร่ให้ติดต่อขออนุญาตจากเจ้าอาวาส

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2010, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ


๏ พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ปี พ.ศ. 2470 ในพรรษานี้ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอนตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาไว้ ส่วนพระที่เป็นศิษยานุศิษย์แต่ละคณะก็แยกกันจำพรรษาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาทิเช่น พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล จำพรรษาอยู่ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านทั้งสอง, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน จำพรรษาอยู่ที่เดียวกัน คือที่บ้านบ่อชะเนง เป็นต้น

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกรรมฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่าในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกรรมฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า 50 รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม 100 คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 เส้น ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเรื่อง จึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อนได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง


๏ หลวงตาเล่าเรื่องท่านพ่อลีสอนสมาธิสมเด็จฯ

ในเรื่องนี้ขอนำเรื่อง “ท่านพ่อลี ธมฺมธโร” สอนสมาธิ “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)” ที่ “หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน” เล่าไว้ มาถ่ายทอดให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบกัน มีความว่า

“...พระสมเด็จฯ ผู้มีปฏิปทาอย่างนี้ หายากยิ่งนัก เพราะสมัยนี้อย่าหวังว่าจะหาพระสมเด็จฯ ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ยอมลดตน ลดทิฏฐิมานะเพื่อธรรมขั้นสูงนั้นเจอ หาเข็มในมหาสมุทรยังง่ายกว่า !! เป็นไหนๆ ในสมัยที่ท่านพ่อลีอยู่จำพรรษากับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส ปทุมวัน กรุงเทพฯ ท่านได้รับความเมตตาจากสมเด็จฯ เป็นอย่างมาก แต่สมเด็จฯ ท่านไม่ค่อยจะเชื่อน้ำยาพระกรรมฐานสักเท่าไร ท่านเคยออกคำสั่งไล่พระกรรมฐานออกจากป่า แม้หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เองก็เคยถูกท่านไล่มาแล้ว...”

ท่านพ่อลีจึงคิดหาทางที่จะดัดนิสัยสมเด็จฯ ให้รู้เสียบ้างว่า

“...ธรรมของจริง ผู้รู้จริงเป็นอย่างไร สมเด็จฯ ท่านอ่านตำรามาก ชอบวิจารณ์วิจัย แต่วันๆ ผ่านไปโดยไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาพิจารณาสังขาร ทำแต่งานภายนอก คิดดูแล้วก็น่าสงสาร ท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อเรา เราต้องปฏิบัติการตอบท่านด้วยธรรมที่รู้เห็นมาตามสติปัญญาที่มี”


เมื่อท่านพ่อลีคิดอย่างนั้น ท่านก็เริ่มปฏิบัติการเบื้องต้น ท่านจึงกำหนดจิตเพ่งกสิณน้ำและไฟ ในบางคราวเพ่งกสิณน้ำใส่ สมเด็จฯ ก็จะหนาวสะบั้นสั่นเทาเหมือนคนเป็นไข้จับสั่น บางคราวเพ่งกสิณไฟ กำหนดเป็นไฟไปเผา สมเด็จฯ ร้อนรนกระวนกระวายผ่าวไปทั้งร่าง แต่การเพ่งกสิณทั้งนี้ไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กลับเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยๆ สมเด็จฯ ท่านจึงเรียกท่านพ่อลีมาถามว่า

“เอ...วันนี้มัน มันเป็นอะไรกันนะ เดี๋ยวร้อนเหมือนถูกไฟเผา เดี๋ยวหนาวจนสะบั้น”

เมื่อท่านพ่อลีเข้าไปหา ทำทีจับโน่นจับนี่ พูดว่า “ไหน...ไหน...มันเป็นอะไร” อากาศร้อนหนาวมันก็เปลี่ยนแปลงบ้างแหละ...ขอรับเจ้าประคุณ !

เมื่อเป็นหลายครั้งหลายหน สมเด็จฯ ท่านเป็นนักปราชญ์ฉลาดหลักแหลม ช่างสังเกตหาเหตุผลเสมอจึงเอะใจ เป็นที่น่าสงสัยเพราะถ้าท่านพ่อมาเมื่อใดอาการนั้นก็หายทันที สมเด็จฯ ท่านจึงพูดกับพระใกล้ชิดว่า “เหตุที่เป็นดังนี้ ท่านลีคงทำเราแหละ เราเคยดูถูกพ่อของพระกรรมฐานคือท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านลี”

หลังจากนั้นมา สมเด็จฯ ท่านก็เข้าใจพระป่า อุดหนุนส่งเสริมในการสร้างวัดป่ากรรมฐาน เช่น วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญเป็นกองทัพธรรมกรรมฐานในสมัยนั้น

ต่อมาสมเด็จฯ ท่านขอร้องให้ท่านพ่อลีสอนสมาธิให้ทุกวัน ท่านพ่อลีไปอยู่แห่งหนตำบลใด ท่านก็จดหมายไปตามมาทุกครั้ง นับว่าท่านพ่อลีเป็นผู้ที่ท่านโปรดปรานมาก เมื่อสมเด็จฯ ปฏิบัติได้ถึงขั้นจิตลงสู่ความสงบ ท่านถึงกล่าวชมท่านพ่อลีว่า “...คำพูดของคุณแปลกจากพระกรรมฐานองค์อื่น แม้เราจะทำไม่ได้ไม่ถึง ก็เข้าใจได้ชัดแจ้งไม่สงสัย พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับเรา เราก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนคุณมาอยู่กับเรา เพราะเรารู้สึกมีสิ่งแปลกประหลาดใจหลายอย่างในขณะนั่งสมาธิ”

แล้วสมเด็จฯ ท่านก็เผยความในใจว่า “...เราไม่เคยนึกเคยฝันเลยว่า การนั่งสมาธิจะมีประโยชน์มากอย่างนี้ เราก็ได้บวชมานาน ไม่เคยเกิดความรู้สึกอย่างนี้เลย แต่ก่อนเราไม่นึกว่าการทำสมาธิเป็นของจำเป็น แต่บัดนี้เราได้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง อันมีผลปรากฏที่ใจแล้ว”


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวสรุปไว้อย่างน่าฟังว่า “ท่านพ่อลีนี่เองเป็นผู้ที่สามารถเอาชนะใจสมเด็จฯ ได้ แต่ก่อนนั้นสมเด็จฯ เป็นคนบ้ายศ แล้วเที่ยวขนาบกรรมฐานไปทั่ว เที่ยวไล่ ไล่พระกรรมฐานที่อยู่ในป่าในเขา หลวงปู่มั่นก็เคยถูกไล่”

ต่อมาในงานเผาศพหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล สมเด็จฯ ได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงเดินเข้าไปหาและพูดว่า “เออ! ท่านมั่น เราขอขมาโทษเธอ เราเห็นโทษแล้ว แต่ก่อนเราก็บ้ายศ”

หลวงตามหาบัวเล่าพร้อมทั้งหัวเราะ มีรอยยิ้มหน่อยๆ ที่ริมฝีปาก เป็นกิริยาที่น่ารักเคารพของพระอริยเจ้าผู้สงบระงับ นี่เองสาระสำคัญในบทนี้ ท่านผู้มีธรรมท่านปฏิบัติต่อกันด้วยความงดงาม ถือธรรมวินัยเป็นใหญ่ ไม่ได้ถือยศตำแหน่งอันกิเลสแต่งแต้มให้ลุ่มหลง ผู้รักธรรมจึงยอมตน สละตนจากความยึดมั่นถือมั่นไปสู่ความว่างเปล่าจากกิเลส แต่เต็มตื้นไปด้วยคุณธรรม เพราะการบรรลุธรรม บรรลุด้วยใจ หาใช่บรรลุด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ เพศภาวะ ชาติตระกูล ญาติพี่น้อง หรือทรัพย์สินเงินทองไม่ หากอยากได้ต้องมีการประพฤติปฏิบัติ พระกรรมฐานมีวิชชา มีธรรม มีศีล และมีชีวิตอันอุดมไปด้วยความดีเท่านั้น เพียงเท่านั้นจริงๆ

ขณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) กำลังอาพาธหนัก ท่านได้สั่งว่า “ท่านลี ต้องอยู่กับเราจนตาย ถ้าเรายังไม่ตายจะหนีไปไหนไม่ได้ จะมาเฝ้าหรือไม่เฝ้าอยู่ปฏิบัติก็ตาม ขอให้เรารู้ว่าอยู่กับเราก็พอ”

ท่านพ่อลีจึงรับปากว่าจะอยู่ปฏิบัติ แต่ก็คิดในใจว่าเป็นกรรมอะไรของเราหนอถึงต้องมาอยู่เหมือนถูกกักขังในเมืองพระนครเช่นนี้ ทันใดนั้นท่านได้กำหนดจิตพิจารณาได้ทราบว่า เป็นกรรมเก่าที่เคยขังนกเขาไว้ ก็เลยต้องจำใจอยู่

ท่านพ่อลีได้ฝึกสอนให้สมเด็จฯ นั่งสมาธิทุกวัน โดยเจริญอานาปานสติมีข้อสำคัญอยู่ 7 ข้อ คือ

1. ให้ภาวนา ‘พุท’ ลมเข้ายาวๆ ‘โธ’ ลมออกยาวๆ ก่อน 3 ครั้ง หรือ 7 ครั้ง

2. ให้รู้จักลมเข้าลมออกโดยชัดเจน

3. ให้รู้จักสังเกตลมในเวลาเข้าออกว่ามีลักษณะอย่างไร สบายหรือไม่สบาย กว้างหรือแคบ ขัดหรือสะดวก ช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ร้อนหรือเย็น ถ้าไม่สบายก็ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขจนได้รับความสะดวกสบาย เช่น เข้ายาวออกยาวไม่สบาย ให้เปลี่ยนเป็นเข้าสั้นออกสั้น เป็นต้น จนกว่าจะได้รับความสบาย เมื่อได้รับความสบายสะดวกดีแล้ว ให้กระจายลมที่สบายนั้นไปในส่วนต่างของร่างกาย เช่น สูดลมเข้าไปที่ท้ายทอยปล่อยลงไปในกระดูกสันหลังให้ตลอด ไปตามขาขวาทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศ แล้วก็กลับมาสูดใหม่ปล่อยเข้าไปในท้ายทอย ปล่อยลงไปในกระดูกสันหลัง ปล่อยไปตามขาซ้ายทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศ แล้วก็กลับมาปล่อยตั้งแต่ท้ายทอยผ่านไหล่ทั้งสองถึงข้อศอก ข้อมือทะลุถึงปลายนิ้ว กระจายไปในอากาศ แล้วก็ปล่อยลงคอหอยกระจายไปที่ขั้วปอดขั้วตับ กระจายเรื่อยลงไปจนถึงกระเพาะเบา กระเพาะหนัก แล้วก็สูดลมหายใจเข้าไปตรงกลางอกทะลุไปจนถึงลำไส้ กระจายลมสบายเหล่านี้ให้ทั่วถึงกัน จะได้รับความสะดวกขึ้นมาก

4. ให้รู้จักขยายลมออกเป็น 4 แบบ คือ

1) เข้ายาว ออกยาว
2) เข้าสั้น ออกสั้น
3) เข้าสั้น ออกยาว
4) เข้ายาว ออกสั้น

แบบใดเป็นที่สบายให้เอาแบบนั้น หรือทำให้สบายได้ทุกแบบยิ่งดี เพราะสภาพของบุคคลลมหายใจย่อมเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา

5. ให้รู้จักที่ตั้งของจิต ฐานไหนเป็นที่สบายของตัวให้เลือกเอาฐานนั้น (คนที่เป็นโรคเส้นประสาท ปวดศีรษะ ห้ามตั้งข้างบน ให้ตั้งอย่างสูงตั้งแต่คอหอยลงไปและห้ามสะกดจิต สะกดลม ให้ปล่อยลมตามสบาย ปล่อยใจตามลมเข้าลมออกให้สบาย แต่อย่าให้หนีไปจากวงลม) ฐานเหล่านั้นได้แก่

1) ปลายจมูก
2) กลางศีรษะ
3) เพดาน
4) คอหอย
5) ลิ้นปี่
6) ศูนย์ (สะดือ)

นี้ฐานโดยย่อ คือที่พักของลม

6. ให้รู้จักขยายจิต คือ ทำความรู้ให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย

7. ให้รู้จักประสานลม และขยายจิตออกให้กว้างขวางให้รู้ส่วนต่างๆ ของลม ซึ่งอยู่ในร่างกายนั้นก่อน แล้วจะได้รู้ในส่วนอื่นๆ ทั่วไปอีกมาก คือ ธรรมชาติของลมมีหลายจำพวก ลมเดินในเส้นประสาท ลมเดินหุ้มเส้นประสาททั่วๆ ไป ลมกระจายออกจากเส้นประสาทแล่นแทรกแซงไปทั่วทุกขุมขน ลมให้โทษและให้คุณย่อมมีปนกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน


๏ เกร็ดธรรมคำสอนจากหนังสือลบไม่ศูนย์

:b44: หนังสือลบไม่ศูนย์
บทนิพนธ์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=47636


๏ การมรณภาพ

สมเด็จฯ ท่านได้ถึงมรณภาพลงเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2499 ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ โดยอาการสงบด้วยโรคชรา สิริอายุรวมได้ 89 ปี นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ และของพุทธศาสนิกชนทั่วไปโดยเฉพาะของชาวจังหวัดอุบลราชธานี

รูปภาพ
“พระสัพพัญญูเจ้า” พระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23321

รูปภาพ
พระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี



.............................................................

♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(1) http://www.lib.ubu.ac.th/monkubon/file/MO44.pdf
(2) หนังสือลบไม่ศูนย์ บทนิพนธ์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=47636


:b47: หนังสือลบไม่ศูนย์ : สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=47636

:b47: “พระสัพพัญญูเจ้า” วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นผู้นำพาในการหล่อ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23321

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2010, 20:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุ..ด้วยครับคุณสาวิกาน้อย

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2010, 04:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..ด้วยนะครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร