วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 13:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระเทพสังวรญาณ
(หลวงตาพวง สุขินฺทริโย)


วัดศรีธรรมาราม
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร



บทนำ
ชีวิตในเพศบรรชิต
ชีวประวัติ

1. ชาติภูมิ
2. ปฐมวัย
3. พบพระอาจารย์สอ สุมังคโล
4. ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
5. หลวงปู่เสาร์พาไปนครจำปาศักดิ์
6. หลวงปู่เสาร์มรณภาพ
7. เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
8. กลับบ้านเกิดครั้งแรก
9. อยากสึก
10. ไปพระธาตุพนมกับพระอาจารย์สิงห์ทอง
11. ปอยู่กับหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่มหาปิ่น
12. พบหลวงปู่มั่นครั้งแรก
13. เป็น “สุขินฺทริโยภิกขุ”
14. เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
15. นั่งสมาธิจนตัวลอย
16. พระภิกษุร่วมพรรษา
17. หลวงปู่มั่นมรณภาพ
18. อาพาธหนัก
19. ไปอยู่กับหลวงปู่ฝั้น
20. เหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำเป็ด
21. บุกเบิกถ้ำขามกับหลวงปู่ฝั้น
22. ผจญฝูงควายที่จันทบุรี
23. กลับบ้านศรีฐาน
24. สร้างเจดีย์หลวงปู่ฟ้ามืด
25. ไปอยู่วัดศรีธรรมาราม
26. สร้างวัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม
27. ฝ้ายเจ็ดสีและวัตถุมงคล
28. หลวงพ่อคูณกล่าวถึงหลวงตาพวง
29. เดินข้ามแม่น้ำชี
อภินิหารพระครูฟ้ามืด
30. พระครูฟ้ามืด
31. การสร้างเจดีย์
32. เจดีย์ล้ม
33. ขุดค้นเจดีย์
34. สร้างเจดีย์องค์ใหม่
35. นิมิตก่อนงานฉลองเจดีย์
36. หลวงปู่พระครูฟ้ามืดเข้าประทับทรง
37. เข้าทรงครั้งที่ 2
38. พิธีจัดเครื่องสักการะ
39. ได้พระประธานองค์ใหม่
40. บันทึกเสียงไม่ติด
41. พิธีขุดใบเสมาที่วัดดงศิลาเลข
42. นอนหลับสนิทย่อมไม่มีนิมิตอะไร
43. กลองหมากแข้ง
44. โยมขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์
45. อาจารย์ทนห่วงใบเสมา
46. อาจารย์ทนติดตามดวงจิต
47. เปลี่ยนให้ลูกศิษย์ติดตามดวงจิต
48. จัดขบวนไปแห่อาจารย์ทน-อาจารย์เงียบตามคำอาราธนานิมนต์
49. อาจารย์ทนมอบศิษย์ให้กลับคืน
50. พระอาจารย์ทั้ง 2 ได้รับเครื่องไทยทาน
51. นายทองคำเรียนธรรมจากอาจารย์ทน
52. วันสงกรานต์
53. หมอธรรม (หมอผี) มาทดลองส่องธรรม (นั่งทางใน) ดูสมบัติ
54. อาจารย์ทนไม่หวั่นไหว
55. ข้อสันนิษฐาน
พระธรรมเทศนา
กัณฑ์ที่ 1 ศีล
กัณฑ์ที่ 2 ความสามัคคี
กัณฑ์ที่ 3 ความตาย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 13:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในสายกรรมฐานที่มีปฏิปทาและวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ท่านเป็นลูกศิษย์ของทั้ง หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยพำนักและร่วมบุกเบิกถ้ำขามกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ขณะนี้ท่านดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) พำนักอยู่ที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม (ก.ม. 17) ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

บทนำ

เมื่อครั้งที่ผมไปบุกเบิกพัฒนาโรงพยาบาลลืออำนาจ อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งภูจ้อก้อ ได้เมตตาเป็นองค์อุปถัมภ์โรงพยาบาล ในช่วงที่หลวงปู่หล้าอาพาธหนักก่อนจะมรณภาพนั้น ผมได้ขึ้นไปกราบท่านหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งจำได้ว่าขณะที่กราบหลวงปู่หล้า ได้เห็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ผมสีขาวโพลน ผิวพรรณผุดผ่อง นั่งพับเพียบ สงบนิ่งอยู่ใกล้ๆ กับเตียงของหลวงปู่หล้า เกิดความรู้สึกประทับใจในพระเถระผู้ใหญ่รูปนี้เป็นอย่างยิ่ง รู้สึกสัมผัสได้ถึงความเมตตา สงบเย็นจากตัวท่าน แต่ก็ยังไม่ทราบว่าพระเถระผู้ใหญ่รูปนี้ท่านมีฉายาว่าอย่างไร มาจากไหน คงทราบแต่เพียงว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในสายพระกรรมฐาน

จนกระทั่งหลายปีผ่านไป ผมได้ย้ายไปทำงานในกระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี มีโอกาสเดินทางไปประชุมที่โรงพยาบาลยโสธร อ.เมือง จ.ยโสธร จึงได้เห็นรูปของพระเถระผู้ใหญ่รูปนั้นติดอยู่ที่โรงพยาบาลและในที่สุดก็ทราบว่า ท่านคือ พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย) เจ้าคณะจังหวัดยโสธร ในขณะนั้นนั่นเอง จริงๆ แล้วผมเคยได้ยินฉายาของท่านมานาน ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญแล้ว เพียงแต่ไม่เคยเห็นตัวจริงของท่านสักที

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปกราบท่านอีกหลายครั้ง และได้ทราบว่าท่านเป็นลูกศิษย์ของทั้งหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกทั้งยังเคยพำนักและร่วมบุกเบิกถ้ำขามกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์ทั้งสองรูป จึงได้กราบเรียนขออนุญาตเพื่อเขียนประวัติของท่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่ปฏิปทาและจริยาวัตรอันงดงามของพระเถระผู้ใหญ่ในสายกรรมฐาน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังต่อไป

เนื้อหาในโฮมเพจนี้นำมาจากหนังสือ “สุขินทริยบูชา” ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 ซึ่งเนื้อหาในหนังสือได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์หลวงตาพวง สุขินทริโย ทั้งที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และเมื่อท่านมาพำนักที่วัดนรนารถฯ กรุงเทพมหานคร โดยนำเค้าโครงบางส่วนจากหนังสือโลกทิพย์ ส่วนที่สองเป็นประสบการณ์ที่หลวงตาพวงท่านบันทึกไว้เองในช่วงจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีฐานใน ส่วนที่สามเป็นพระธรรมเทศนาของท่านที่เคยจัดพิมพ์มาก่อนโดยคณะศิษยานุศิษย์

ท้ายที่นี้สุดขอขอบพระคุณ คุณฐิติมา ศรีวัฒนกุล ที่ช่วยจัดทำโฮมเพจ หากท่านผู้ใดประสงค์จะนำไปพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทาน กรุณาพิมพ์ได้ตามความประสงค์โดยมิต้องขออนุญาตแต่อย่างใด แต่หากพิมพ์เพื่อจำหน่ายขอสงวนลิขสิทธิ์

พงศธร พอกเพิ่มดี
Pongsadhorn@yahoo.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 13:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


ชีวิตในเพศบรรพชิต

พรรษาที่ 1 (พ.ศ. 2491) อุปสมบท ณ โบสถ์น้ำ วัดป่าบ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยมี พระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เป็นอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ไปจำพรรษาที่วัดป่าท่าสองคอน ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

พรรษาที่ 2 (พ.ศ. 2492) ย้ายไปจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พรรษาที่ 3 (พ.ศ. 2493) หลังจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มรณภาพ และเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว ไปจำพรรษากับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร

พรรษาที่ 4-5 (พ.ศ. 2594-2495) จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร ร่วมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

พรรษาที่ 6 (พ.ศ. 2496) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เกิดนิมิตระหว่างนั่งสมาธิในกลางพรรษาว่าเห็นถ้ำที่สว่างไสว เหมาะแก่การปฏิบัติ จึงได้ไปค้นหาจนพบถ้ำขาม แล้วได้บุกเบิกจนเป็นวัดถ้ำขาม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปัจจุบัน ในพรรษานั้น หลวงตาพวง สุขินทริโย ได้ไปบุกเบิกถ้ำขามและจำพรรษาที่นั่น

พรรษาที่ 7-8 (พ.ศ. 2497-2498) กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร

พรรษาที่ 9 (พ.ศ. 2499) กลับบ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิด เพราะโยมบิดาเสียชีวิต ประกอบกับ พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ที่เคยเป็นพระอาจารย์สมัยบวชเป็นเณรเกิดอาพาธ จึงอยู่ดูแลรับใช้ปรนนิบัติ

พรรษาที่ 10 (พ.ศ. 2500) พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี มรณภาพ ไม่มีพระภิกษุดูแลวัด ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน เพื่อดูแลวัด

พรรษาที่ 11 (พ.ศ. 2501) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในอย่างเป็นทางการ

พรรษาที่ 12-18 (พ.ศ. 2502-2508) จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี บูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีฐานในจนมีความเจริญรุ่งเรือง

พรรษาที่ 19 (พ.ศ. 2509) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม ในราชทินนามที่ พระครูใบฎีกาพวง สุขินฺทริโย

พรรษาที่ 20 (พ.ศ. 2510) จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี

พรรษาที่ 21 (พ.ศ. 2511) เนื่องจากวัดศรีธรรมาราม ไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าคณะจังหวัดและชาวบ้านไปนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร ในปัจจุบัน)

พรรษาที่ 22 (พ.ศ. 2512) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลในเมือง อ.ยโสธร

พรรษาที่ 23 (พ.ศ. 2513) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอมรวิสุทธิ์

พรรษาที่ 24 (พ.ศ. 2514) พัฒนาวัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร ในปัจจุบัน)

พรรษาที่ 25 (พ.ศ. 2515) อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี ยกฐานะเป็นจังหวัดยโสธร ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดยโสธร (โดยไม่ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน)

พรรษาที่ 26 (พ.ศ. 2516) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสุนทรธรรมภาณ และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดยโสธรอย่างเป็นทางการ

พรรษาที่ 27-33 (พ.ศ. 2516-2523) จำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร

พรรษาที่ 34 (พ.ศ. 2524) หลังจากบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร เสร็จเรียบร้อย ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัด กม. 3 ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร

พรรษาที่ 35-46 (พ.ศ. 2525-2536) กลับมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร โดยตลอด พัฒนาวัดศรีธรรมารามจนเจริญก้าวหน้าจนได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. 2528 และยกระดับเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2532

พรรษาที่ 47 (พ.ศ. 2537) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชธรรมสุธี และได้รับพระราชทานธรรมจักรทองคำ ประจำปี พ.ศ. 2537 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พรรษาที่ 51 (พ.ศ. 2541) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต)

พรรษาที่ 52- (พ.ศ. 2542-) สร้างวัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม บ้านนิคม ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

พรรษาที่ 54 (พ.ศ. 2544) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพสังวรญาณ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

พรรษาที่ 60 (พ.ศ. 2550) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต)

พรรษาที่ -62 (พ.ศ. -2552) กลับมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร โดยตลอด และจำพรรษาอยู่ที่นี่จนกระทั่งมรณภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 13:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย)


ชีวประวัติ

1. ชาติภูมิ

พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย) ถือกำเนิดที่บ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเดิมคือ ต.กระจาย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ มีนามเดิมว่า พวง ลุล่วง เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเนียม และนางบัพพา ลุล่วง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 3 คนและหญิง 3 คน มีชื่อตามลำดับดังต่อไปนี้

1) นายจันทา ลุล่วง
อดีตกำนันตำบลกระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
2) นางผา ละม่อม (ถึงแก่กรรมแล้ว)
3) นางสา วันเที่ยง (ถึงแก่กรรมแล้ว)
4) หลวงตาพวง สุขินฺทริโย (มรณภาพแล้ว)
5) หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ
เจ้าอาวาสวัดป่าศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
6) นางจำปา ป้องกัน

ต้นตระกูลเดิมของหลวงตาพวง สุขินฺทริโย เป็นชาวนา นับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม บิดามารดามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวันไม่ได้ขาด ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด มีบุตรชายก็ต้องให้บวชพระเสียก่อนทุกคน ทั้งหลวงตาและน้องชายคือ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ หลังจากบวชตามประเพณีแล้วได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงครองสมณเพศตลอดมา

สภาพความเป็นอยู่ในสมัยนั้นของบ้านศรีฐานใน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ไม่ได้ทำไร่มันสำปะหลังหรือปลูกปอดังเช่นในปัจจุบัน ในสมัยก่อนชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีสัตว์ป่า ป่าไม้ พืชพรรณ ธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นชาวบ้านศรีฐานใน ยังมีอาชีพการทำหมอนขิดที่มีชื่อเสียง ส่งออกขายไปทั่วประเทศ อันเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย

ครอบครัวของหลวงตาถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีความเป็นอยู่สบาย ไม่เดือดร้อน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีนาอยู่ 3 แปลง แต่จำไม่ได้ว่ามีแปลงละกี่ไร่ โดยมีลูกๆ ช่วยกันทำนา นอกจากนั้นก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชนบท หลวงตาเองก็ได้ช่วยบิดามารดา ทำนามาตั้งแต่เด็กๆ และหากมีเวลาว่างก็จะนำวัวควายออกไปเลี้ยงเป็นประจำเพื่อแบ่งเบาภาระของโยมบิดามารดา

รูปภาพ
หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ พระน้องชายหลวงตาพวง สุขินฺทริโย


2. ปฐมวัย

บิดามารดาของท่านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเพลทุกวันมิได้ขาด ในวัยเด็กท่านได้ติดตามบิดามารดาเข้าวัดเป็นประจำ ทำบุญตักบาตรทุกเช้า หรือไม่ก็นำอาหารไปถวายพระที่วัดแทนบิดามารดา ชีวิตมีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เล็กๆ ได้เห็นการดำรงสมณเพศของภิกษุสามเณรในวัดที่มีความสงบ สำรวม จริยาวัตรที่งดงาม จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์

เมื่อ ด.ช.พวง ลุล่วง อายุครบเกณฑ์ บิดามารดาก็ส่งเข้าเรียนชั้นปฐมศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนประชาบาลในหมู่บ้านศรีฐานนั่นเอง ช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน และช่วยเหลือกิจการงานของครอบครัว ด.ช.พวง มักจะไปเที่ยวเล่นในวัดใกล้ๆ กับโรงเรียน ผิดวิสัยกับเด็กทั่วไป ช่วยพระเณร ปัดกวาดเช็ดถู กุฏิศาลา หรือช่วยกิจการงานต่างๆ เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม ในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ ด้วยอุปนิสัยใจคอของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่มีนิสัยขยันขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน ว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของบิดามารดา ครูอาจารย์ จึงเป็นที่รักและเอ็นดูของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และพระเณรในวัดเป็นอย่างมาก

3. พบพระอาจารย์สอ สุมังคโล

ในช่วงวัยเยาว์ ด.ช.พวง ลุล่วง ได้แวะเวียนมาช่วยพระเณรในวัดศรีฐานในเป็นประจำ บางครั้งก็พักค้างคืนที่วัด บิดามารดาเห็นว่าบุตรชายของตนมีความสนใจในพระพุทธศาสนา ก็ส่งเสริมโดยมิได้ห้ามปรามแต่อย่างใด

ด.ช.พวง ได้พบกับ พระอาจารย์สอ สุมังคโล พระลูกวัดในวัดศรีฐานใน มีอายุเพียง 26 ปี แม้จะบวชได้เพียง 6 พรรษา แต่พระอาจารย์สอ สุมังคโลเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความรู้แตกฉานทั้งทางด้านปริยัติธรรมและมีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด เคารพครูบาอาจารย์ มีจิตใจแน่วแน่ในการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นและตั้งใจอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา จนเป็นที่นับถือของคนทั่วไป

พระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้เห็นถึงความสนใจในพระพุทธศาสนาของ ด.ช.พวง นอกจากนั้นท่านยังได้เห็นแววของ ด.ช.พวง ว่าเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนได้เป็นอย่างดี เห็นทีจะมีวาสนาบารมีสั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน จึงเมตตาอบรมสั่งสอนให้รู้หลักในการปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ สอนให้สวดมนต์ นั่งวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่ง ด.ช.พวง สามารถสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็นได้ตั้งแต่ยังไม่บวชเณรเสียอีก

ในช่วงเวลานั้นเองที่พระอาจารย์สอกำลังจะไปศึกษาอบรมปฏิบัติธรรมกับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พระบูรพาจารย์องค์สำคัญในสายวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนธาตุ ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่บนเกาะกลางลำน้ำมูล ในบ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์สอต้องการคนติดตามไปอุปัฎฐากในระหว่างการเดินทาง เพราะโดยปกติแล้วพระสายกรรมฐานไม่สามารถถือเงินได้ ท่านจึงได้เอ่ยปากขอกับพ่อเนียม ลุล่วง บิดาของ ด.ช.พวง เพื่อให้ ด.ช.พวง ติดตามไปรับใช้ในช่วงที่จะธุดงค์และไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์

ด.ช.พวง ลุล่วง ในวัย 14 ปี จบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับพอดี ยังไม่มีภาระหน้าที่อะไรที่สำคัญนอกจากช่วยงานที่บ้าน พ่อเนียมจึงกลับมาถามว่าอยากไปธุดงค์รับใช้ปรนนิบัติพระอาจารย์สอหรือไม่ ด.ช.พวง ทราบความประสงค์ของพระอาจารย์สอ และด้วยความอยากจะไปดูความเจริญในจังหวัดอุบลราชธานี จึงตัดสินใจติดตามพระอาจารย์สอในการเดินทางไปปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่เสาร์ในทันทีโดยมิได้ลังเล

รูปภาพ
หลวงพ่อดี ฉันโน

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน


4. ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ให้ติดตามปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์สอ สุมังคโล แล้ว การออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์สอก็เริ่มต้นขึ้น ด้วยการเดินทางจาก อ.คำเขื่อนแก้ว (ในสมัยนั้น) ไปยัง อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยมีจุดหมายปลายทาง คือการปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

ในสมัยนั้นยังไม่มีรถประจำทางต้องอาศัยรถของกรมทางหลวงไปลงที่ อ.อำนาจเจริญ เพื่อขึ้นรถประจำทางไปยังตัวเมืองอุบลราชธานี แวะพำนักที่วัดบูรพารามในเมืองอุบลราชธานี หลังจากนั้นก็ลงเรือไฟต่อไปยัง อ.พิบูลมังสาหาร แวะพักที่วัดภูเขาแก้ว รุ่งเช้าข้ามลำน้ำมูลไปวัดดอนธาตุ ใช้เวลาการเดินทางกว่า 3 วันกว่าจะถึงวัดของหลวงปู่เสาร์ ต้องผ่านเส้นทางที่ทุรกันดารเต็มไปด้วยอุปสรรคและความลำบาก แต่ด้วยจิตใจที่มีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ไม่ย่อท้ออุปสรรค และด้วยบุญบารมีที่สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติ การออกเดินธุดงค์ในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจให้กับเด็กชายพวง ลุล่วงมากขึ้นไปอีก

เมื่อเดินทางร่วมกับพระอาจารย์สอ สุมังคโล มาถึงวัดดอนธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ได้สร้างขึ้น และจำพรรษาเป็นวัดสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของท่าน วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะอยู่กลางลำน้ำมูลใน อ.พิบูลมังสาหาร ไม่มีสะพาน มีน้ำล้อมรอบทุกทิศทาง การเดินทางจะต้องไปโดยเรือเท่านั้น มีภูมิประเทศที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์สอ สุมังคโล ก็ได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ เพื่อเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติในเวลาต่อมา

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “หลวงปู่เสาร์มีอุปนิสัยไม่ค่อยพูด ชอบสันโดษ ท่านจะเทศน์สั่งสอนเมื่อจำเป็น ในช่วงที่หลวงตาอยู่กับท่านนั้น สุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง การอบรมสั่งสอนญาติโยม ตลอดจนพระเณรต่างๆ ท่านได้มอบให้ หลวงพ่อดี ฉันโน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ให้อบรมสั่งสอนแทน”

หลวงปู่เสาร์เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในการออกธุดงค์ช่วงแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านทั้งสองมักจะออกธุดงค์ไปด้วยกัน ตามจังหวัดต่างๆ แถบภาคอีสาน ท่านชอบไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งในและนอกพรรษา พอถึงช่วงกลางอายุของท่าน เวลาจำพรรษามักแยกกันอยู่ แต่ไม่ห่างไกลกันนัก เพราะต่างฝ่ายต่างมีลูกศิษย์จำนวนมาก จำเป็นต้องแยกกันอยู่เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ได้บันทึกคำบอกเล่าของพระอาจารย์มั่นเกี่ยวกับพระอาจารย์เสาร์ ในหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ไว้น่าสนใจว่า เดิมหลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญ พอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ในรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิมเพื่อเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดาย ไม่อยากไปนิพพาน

หลวงปู่เสาร์ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐาน ของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านบรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย

แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ นอกจากนั้นท่านยังไม่ชอบพูด ชอบเทศน์ เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไป ประโยคที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า “ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียลมหายใจไปเปล่า ที่ได้มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์” และ “เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ” แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ ไม่สนใจกับใครอีกต่อไป

ลักษณะท่าทางของหลวงปู่เสาร์ มีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก ผู้ที่พบเห็นจะเกิดความรู้สึกสบายใจ เย็นใจ ไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านก็มีลูกศิษย์มากมายเหมือนหลวงปู่มั่น ด.ช.พวง ลุล่วง มีโอกาสเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ ในช่วงที่ติดตามพระอาจารย์สอ สุมังคโล ในครั้งนี้เช่นกัน

รูปภาพ
(ซ้าย) รูปภาพของ พระอาจารย์สอ สุมังคโล กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ซึ่งเป็นภาพที่ติดไว้ภายในวัดป่าศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
พระอาจารย์สอท่านเป็นคนบ้านศรีฐาน และเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 13:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล


5. หลวงปู่เสาร์พาไปนครจำปาศักดิ์

ระหว่างที่ ด.ช.พวง ลุล่วง ได้พำนักจำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล นั้น เป็นช่วงที่หลวงปู่เสาร์มีอายุพรรษามากแล้ว สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ด้วยความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เสาร์ ท่านตั้งใจจะไปกราบอัฐิและบำเพ็ญกุศลให้กับอุปัชฌาย์ของท่าน

อุปัชฌาย์ของหลวงปู่เสาร์เป็นชาวลาว แต่ได้มาเรียนหนังสือและพำนักอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และได้บวชให้หลวงปู่เสาร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับไปจำพรรษาบ้านเดิมของท่านที่อำเภอท่าเปลือย แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว และไม่ได้ติดต่อหรือไปมาหาสู่กัน เพราะเป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นไม่ปกติ ไม่สามารถข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้เช่นเดิม จวบจนพระอุปัชฌาย์มรณภาพ หลวงปู่เสาร์ก็ไม่ได้มีโอกาสได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ประเทศไทยได้แขวงนครจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย มีข้าราชการตลอดจนทหารเข้าไปดูแล มีการคมนาคมไปมาหาสู่กันตลอด หลวงปู่เสาร์จึงปรารถนาที่จะไปกราบอัฐิและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที

พระอาจารย์สอ สุมังคโล พร้อมด้วย ด.ช.พวง ลุล่วง จึงขอติดตามคณะหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ในครั้งนี้ด้วย คณะติดตามประกอบด้วย พระเณรและลูกศิษย์จำนวน 13 คน คือ พระอาจารย์ดี ฉันโน พระอาจารย์กอง พระอาจารย์กงแก้ว ขันติโก พระอาจารย์สอ สุมังคโล พระอาจารย์บัวพา พระอาจารย์บุญมี พระละมัย สามเณรพรหมา และลูกศิษย์อีก 5 คน ซึ่งรวมทั้ง ด.ช.พวง ลุล่วง

หลวงปู่เสาร์ได้พาคณะออกเดินทางจากวัดดอนธาตุ ไปทางช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยรถประจำทาง ถนนหนทางสมัยนั้นยังไม่ดีนัก รถยนต์ต้องวิ่งไต่ตามตลิ่งริมแม่น้ำโขง ส่วนอีกฝั่งจะเป็นภูเขาที่เรียกว่า ภูมะโรง หนทางเต็มไปด้วยความทุรกันดารยากลำบาก

เมื่อถึงนครนครจำปาศักดิ์ คณะได้พักอยู่ที่วัดศิริอำมาตย์ และได้เดินทางต่อโดยเรือไฟล่องลงตามแม่น้ำโขง ไปยังเกาะดอนเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขง โดยใช้เวลาทั้งวัน เกาะดอนเจดีย์เป็นเกาะใหญ่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีชาวบ้านอาศัยอยู่ถึง 2 หมู่บ้าน มีวัดที่อุปัชฌาย์ของพระอาจารย์เสาร์จำพรรษาอยู่และมรณภาพที่นั่น

เมื่อเดินทางไปถึงก็พบเจดีย์เล็กๆ อันเป็นที่เก็บอัฐิของอุปัชฌาย์ มีพื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร ตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างจากวัดประมาณ 200 เมตร หลวงปู่เสาร์ก็ได้พาญาติโยมแถบนั้นมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ของท่านสมดังเจตนา ท่านและคณะพำนักอยู่ที่เกาะดอนเจดีย์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลวงปู่เสาร์ก็ได้พาคณะออกเดินทางต่อโดยนั่งเรือแจวขนาดนั่งได้ 6-7 คน มีฝีพายสองคนอยู่หัวเรือและท้ายเรือ ขนสัมภาระต่างๆ ลงเรือหลายลำ พาล่องแม่น้ำโขงไปยังแก่งหลี่ผี ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีลักษณะเหมือนภูเขาลูกหนึ่งขวางกั้นแม่น้ำโขง แม่น้ำทั้งสายไหลข้ามภูเขาไปด้านหลังตกลงเป็นน้ำตกขนาดความสูง 30-40 เมตร มีเกาะแก่งเป็นร้อยๆ แห่ง ชาวบ้านเรียกว่าหลี่ผี ซึ่งแปลว่าที่ดักปลาของภูติผี บริเวณดังกล่าวเวลาพูดอะไรจะไม่ได้ยินเพราะเสียงน้ำตกดังมาก ถ้าหากจะพูดกันต้องพูดกันใกล้ๆ จึงจะได้ยิน

สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองนั้น ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกและไม่สามารถเดินทางผ่านประเทศไทยได้ การคมนาคมติดต่อจะต้องขนของหรือสัมภาระโดยเรือใหญ่จากประเทศกัมพูชามาจอดที่ท่าเรือหลี่ผี แล้วจะต้องใช้รถไฟขนถ่ายสัมภาระต่อไปยังแขวงสุวรรณเขตหรือปากเซ มีรถไฟอยู่สองขบวนสำหรับส่งของ ส่วนรถยนต์ไม่ค่อยมี มีแต่สามล้อ สำหรับโดยสาร

ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์มีอายุได้ 82 ปี สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เริ่มอาพาธมากขึ้น มีอาการเหนื่อย ฉันอาหารไม่ได้ คณะลูกศิษย์จึงได้พาท่านกลับมายังอำเภอท่าเปลือย ซึ่งมีแพทย์ไทยรวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อมกว่า

เมื่อถึงอำเภอท่าเปลือย หลวงปู่เสาร์ก็ได้มอบหมายให้พระอาจารย์ดี ฉนโน เป็นผู้ไปจัดหาสถานที่ปักกลดบริเวณเชิงเขา เพื่อจะให้คณะได้อาศัย รุกขมูล บำเพ็ญเพียรภาวนาในบริเวณนี้ หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ขณะนั้นฝนตกชุก ที่พักก็ใช้ใบไม้มามุงเป็นปะรำกั้นแดด แต่กั้นฝนไม่ได้ ไปอยู่สองสามวันแรกฝนตก นั่งทั้งคืนไม่ได้นอน แต่หลวงปู่เสาร์ก็พาพักอยู่เกือบหนึ่งเดือน”

6. หลวงปู่เสาร์มรณภาพ

ระหว่างที่หลวงปู่เสาร์และคณะสงฆ์ได้พักอยู่บริเวณรุกขมูลในอำเภอท่าเปลือยประมาณหนึ่งเดือนนั้น พอเริ่มเข้าช่วงเดือน 4-5 อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง ฝนตกมากขึ้น ทำให้อาการของหลวงปู่เสาร์กำเริบ มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ฉันอาหารไม่ได้ ทางแพทย์และทางคณะสงฆ์เห็นว่าหลวงปู่เสาร์มีอาการหนักมาก เห็นควรที่จะรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมกว่านี้ คณะสงฆ์จึงได้พา หลวงปู่เสาร์เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี โดยตั้งใจจะพาหลวงปู่เสาร์ลงเรือไฟจากอำเภอท่าเปลือย ไปนครจำปาศักดิ์ และนั่งรถโดยสารต่อไปยัง จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างทางเมื่อล่องมาถึงเมืองป่าโมกข์ ประเทศลาว ก็ค่ำพอดี จึงได้แวะพักค้างคืน รุ่งขึ้นประมาณ 05.00 น. ก็ล่องเรือไฟต่อ

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “วันนั้นรีบเดินทาง ข้าวปลาก็ไม่ได้เตรียม เพราะลูกศิษย์คิดว่า ระหว่างทางคงจะมีที่ขายอาหารแต่เรือไฟไม่ได้จอดพัก จึงมีแค่ข้าวเหนียวกับปลาแห้งถวายพระเณรองค์ละปั้น ใช้เวลาล่องเรือตลอดทั้งวัน จนกระทั่งประมาณ 5 โมงเย็นจึงได้เดินทางถึงนครจำปาศักดิ์”

“ถึงนครจำปาศักดิ์เป็นเวลาพลบค่ำพอดี คณะสงฆ์จึงหามหลวงปู่เสาร์ขึ้นไปพักที่วัดศิริอำมาตย์ บนฝั่งริมแม่น้ำโขง เมื่อถึงศาลาวัด หลวงปู่เสาร์ท่านบอกให้นำท่านไปกราบพระประธาน คณะสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ก็นำท่านไปกราบพระประธานที่อยู่บนศาลาแห่งนั้น ท่านลุกนั่งกราบพระประธานในท่าเบญจางคประดิษฐ์ ระหว่างที่ท่านกราบพระประธานเสร็จท่านลุกไม่ขึ้น ลูกศิษย์พยายามประคองขึ้นท่านก็หมดลม มรณภาพลงในอิริยาบถกราบพระประธานตอนนั้นพอดี” (ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484) รวมสิริอายุได้ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน

คณะสงฆ์ที่ติดตามไปด้วยต่างอาลัยเศร้าโศกเสียใจเป็นยิ่งนัก บางองค์ถึงกับร้องไห้ด้วยสูญเสียพระเถรานุเถระผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรในสายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง เป็นพระบูรพาจารย์แบบอย่างให้พระสงฆ์ในรุ่นต่อๆ มา ได้ดำเนินรอยตาม

คณะสงฆ์ที่ติดตามหลวงปู่เสาร์ได้จัดการเก็บศพของท่านไว้ที่วัดวัดศิริอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ระหว่างนั้นก็ได้วิทยุแจ้งให้ทางหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล ให้จัดรถไปรับศพของท่านกลับมาเพื่อบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

คณะศิษย์ได้นำศพหลวงปู่เสาร์กลับประเทศไทยเพื่อบำเพ็ญกุศล และได้จัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับหลวงปู่เสาร์ในเดือนเมษายนถัดมา (พ.ศ. 2485) โดยมีศิษยานุศิษย์ทั้งพระวิปัสสนากรรมฐานสายหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น ตลอดจนพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก การมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนไทย

ระหว่างการนำศพหลวงปู่เสาร์กลับมายังวัดบูรพาราม จ.อุบลราชธานี นั้น พระอาจารย์สอ และ ด.ช.พวง ลุล่วง ไม่ได้ติดตามคณะไปจนถึงตัวเมืองอุบลราชธานี แต่ได้แวะพำนักที่วัดภูเขาแก้ว จ.อุบลราชธานี

7. เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

ด้วยวัยเพียง 14 ปีของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ได้มีความแตกต่างจากเด็กชายวัยเดียวกัน มีความสนใจและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ทรหด อดทน ซึ่งได้แสดงให้เห็นตั้งแต่การออกติดตามพระอาจารย์สอ และคณะของหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ ซึ่งต้องเผชิญความยากลำบากและอันตรายนานัปการ ก็มิได้ย่อท้อแม้แต่น้อย ตลอดเวลาเกือบ 1 ปีที่ได้ติดตามพระอาจารย์สอ ด.ช.พวง ลุล่วง ได้รับใช้ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์ ด้วยการล้างเท้า เช็ดบาตร กรองน้ำ ต้มน้ำ เย็บจีวร สังฆาฏิ ตลอดจนได้รับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ และการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

พระอาจารย์สอได้พิจารณาเห็นว่า ด.ช.พวง ลุล่วง เป็นผู้ที่มีจิตใจแน่วแน่มั่นคงในพระพุทธศาสนา ได้ผ่านการฝึกอบรมมาพอสมควรแล้ว จึงได้จัดการบรรพชาให้เป็นสามเณรที่วัดสระแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นเพียงวัดเดียวบริเวณนั้นที่มีพระอุปัชฌาย์อยู่ ในเดือนมีนาคม 2484

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ตอนที่จะบวชเป็นเณร ไม่ได้คิดอะไร แล้วแต่พระอาจารย์สอจะพิจารณา ท่านพาทำอะไรก็ทำ เพราะได้มอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์แล้ว ให้บวชก็บวช พาไปที่ไหนก็ไป โยมบิดามารดาก็ได้อนุญาตให้แต่เบื้องแรกก่อนที่จะติดตามพระอาจารย์สออยู่แล้ว”

หลังจากบรรพชาแล้ว สามเณรพวง ลุล่วง ได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ และปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์สอ สุมังคโลเป็นเวลากว่า 2 เดือน หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดบูรพาราม ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่เสาร์

นับได้ว่าเป็นบุญบารมีของสามเณรพวง ลุล่วงที่ได้สะสมมาแต่ชาติปางก่อน ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จะได้บวชเข้าสู่ร่วมพระกาสาวพัสตร์ก็ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะหลวงปู่เสาร์ในช่วงชีวิตสุดท้ายของท่าน ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่นั้นมา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


8. กลับบ้านเกิดครั้งแรก

ครั้นเมื่อสามเณรพวง ลุล่วง พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดภูเขาแก้ว จ.อุบลราชธานี กับพระอาจารย์สอ เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดบูรพาราม อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่เสาร์ แล้วพระอาจารย์สอได้พาธุดงค์กลับวัดศรีฐานใน เพื่อให้สามเณรพวงจะได้มีโอกาสได้ศึกษาพระปริยัติธรรม

เมื่อกลับมาถึงวัดศรีฐานในซึ่งเป็นบ้านเกิดของสามเณรพวง โยมบิดามารดาได้เห็นลูกชายของตนได้บวชเป็นเณรก็อนุโมทนาและดีใจเป็นที่สุด ไปวัดทำบุญตักบาตรสามเณรพวงเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด

พระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้สั่งสอนอบรมให้ท่องบทเรียนต่างๆ จนคล่องแคล่ว แล้วยังมีพระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ให้การอบรมสั่งสอนเพิ่มเติมอีกแรงหนึ่ง สามเณรพวงได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบผ่านนักธรรมชั้นตรีและนักธรรมชั้นโทอย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้เองสามเณรพวงยังมีสหายที่สำคัญอีกรูปคือ สามเณรบุญเพ็ง ซึ่งขณะนี้คือ พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีฐานในด้วยกัน หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “อาจารย์เพ็งท่องหนังสือดี มีความจำแม่น จำหลักธรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว” นอกจากนั้นก็ยังมี พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมในวัดเดียวกัน เห็นได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นพระเถรานุเถระที่มีวาสนาบารมีต่อกันมาในอดีตชาติจนกระทั่งมาถึงในชาติปัจจุบัน

พระอาจารย์สิงห์ทองหลังจากที่อยู่จำพรรษาที่วัดศรีฐานใน สักพักก็ได้เดินทางไปศึกษาปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่มั่น จนกระทั่งมรณภาพในช่วงเครื่องบินตกที่ดอนเมืองพร้อมๆ กับครูบาอาจารย์อีกหลายๆ องค์ ได้แก่ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม เป็นต้น

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร มีศิษย์ที่ท่านได้เคยสั่งสอนอบรมจนกระทั่งเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเป็นนักปฏิบัติที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในเวลานี้อีกคนหนึ่ง ก็คือ คุณหมออมรา มลิลา

ส่วนพระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้พำนักที่วัดศรีฐานในอยู่อีกหนึ่งพรรษา จากนั้นจึงได้เดินทางร่วมกับสามเณรบุญเพ็ง ไปปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่มั่น วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) บ้านหนองผือ จังหวัดอุดรธานี พำนักอยู่กับหลวงปู่มั่นประมาณ 1 พรรษา และมรณภาพลงด้วยไข้ป่าที่วัดหลวงปู่มั่นนั่นเอง

9. อยากสึก

“เห็นเพื่อนๆ เขาพากันสึกก็เลยอยากสึกมั่ง แต่พอไปกราบขอลาอาจารย์บุญช่วย ท่านไม่อนุญาต ท่านบอกจะสึกก็สึก แต่ขอให้สอบได้นักธรรมเอกเสียก่อนแล้วค่อยสึก”

เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตสามเณรพวง ลุล่วง ที่บรรพชาได้พรรษาที่ 3 สามารถสอบนักธรรมชั้นโทผ่านแล้ว ได้เห็นเพื่อนๆ หลายรูปที่สึกออกมาใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ด้วยความเป็นวัยรุ่นสามเณรพวงจึงอยากสึกบ้าง จึงได้ไปกราบขอลาสิกขาจากพระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน แต่ท่านกลับไม่อนุญาต และขอให้สอบนักธรรมชั้นเอกให้ได้เสียก่อน สามเณรพวงจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะสึกไปในที่สุด คงเป็นเพราะบุญญาบารมีที่มีมาแต่ชาติปางก่อน แม้จะมีอุปสรรคครั้งนั้นแต่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี

พระอาจารย์บุญช่วยได้ไปเสาะแสวงหาพระอาจารย์ที่มีความรู้แตกฉานด้านภาษาบาลี มาสั่งสอนอบรมพระเณรภายในวัดศรีฐานใน ให้มีความรู้ด้านภาษาบาลีมากขึ้น สามเณรพวง ลุล่วง ก็ได้มีโอกาสศึกษาภาษาบาลีจนกระทั่งสามารถแปลหนังสือธรรมบทซึ่งเป็นภาษาบาลีได้ถึง 2 เล่ม นอกจากนั้นสามเณรพวงก็ยังได้ใช้เวลาปฏิบัติธรรมภาวนาไม่ได้ขาด จนทำให้มีความเจนจัดในข้อวัตรทั้งปริยัติและปฏิบัติอีกด้วย นับจากนั้นหลวงตาพวงก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกอยากสึกอีกเลยจวบจนปัจจุบัน

รูปภาพ
พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม



10. ไปพระธาตุพนมกับพระอาจารย์สิงห์ทอง

หลวงตาพวงเล่าว่า “ช่วงที่เป็นเณรพรรษาที่ 2 พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีฐานใน ร่วมกับ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ท่านได้พาธุดงค์ไปกราบนมัสการ พระธาตุพนม ที่บ้านธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม คณะเดินทางประกอบด้วย พระอาจารย์สิงห์ทอง, พระเพ็ง (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว), สามเณรพวง ลุล่วง และสามเณรขุน ซึ่งเป็นคนบ้านบ่อชะเนง อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ การเดินทางต้องเดินด้วยเท้า ผ่านดงบังอี่ อ.คำชะอี ผ่านภูเขาลำเนาไพรเต็มไปด้วยภยันตรายจากสิงสาราสัตว์ต่างๆ รอนแรมไปถึง 6 คืนกว่าจะถึงพระธาตุพนม ระหว่างทางก็ต้องแวะพักค้างคืนตามสำนักสงฆ์หรือถ้ำในป่า เมื่อเดินทางไปถึงบ้านตากแดด อ.คำชะอี จ.อุบลราชธานี (จ.มุกดาหาร ในปัจจุบัน) เป็นเวลาค่ำพอดี จำเป็นต้องหาที่พักเพื่อค้างแรม

พระอาจารย์สิงห์ทองและคณะได้สอบถามชาวบ้านว่ามีวัดอยู่บริเวณนี้หรือไม่ ชาวบ้านก็บอกว่ามีสำนักสงฆ์อยู่ในถ้ำบนภูทอก มีหลวงตาอยู่กับเณรเพียง 2 รูป พอจะไปพักอาศัยที่นั่นได้ พระอาจารย์สิงห์ทองจึงได้พาคณะไปขอพำนักที่สำนักสงฆ์บริเวณดังกล่าว หลวงตาเจ้าสำนักสงฆ์มิได้ขัดข้องประการใด จัดที่เสนาสนะให้คณะที่ร่วมเดินทางพักในถ้ำบนภูทอก ที่พักเป็นแคร่ไม้ไผ่ ห่างกันประมาณ 3-4 วา ตามจำนวนพระเณร หลังจากที่เดินทางกันมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ก็เตรียมแยกย้ายกันจำวัดพักผ่อน

เมื่อทุกรูปประจำเสนาสนะของตนเอง ก็ได้ยินเสียงงูใหญ่ คาดว่ายาวประมาณ 4-5 วา เสียงเหมือนเกร็ดงูสัมผัสกับไม้ดังเอี๊ยด เอี๊ยดๆ มาตลอดทาง พระอาจารย์สิงห์ทองก็ตะโกนบอกว่า งู งู ให้เณรเร่งจุดคบไฟ เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฉาย เมื่อจุดคบไฟเสร็จกลับไม่พบอะไร จึงพากันแยกย้ายกันนอน สักพักก็ได้ยินเสียงเหมือนงูเลื้อยมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ผ่านไปทางเดินจงกรม พระอาจารย์สิงห์ทองจึงตะโกนบอกให้จุดไฟอีกครั้ง เมื่อจุดเสร็จก็ไม่พบอะไรอีก อาจารย์สิงห์ทองได้พิจารณาดูแล้วจึงบอกว่า ไม่ใช่งูหรอก จริงๆ แล้วเป็นพระภูมิเจ้าที่ ท่านมาถามข่าวถามคราว พวกเราที่เดินทางมาพักอยู่บริเวณนี้ พระอาจารย์สิงห์ทองจึงเตือนให้ทุกคนไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ พักอยู่ที่นั้นสองคืน มิได้ยินเสียงเช่นนั้นอีกเลย

จากนั้นเดินทางต่ออีกสองวัน แวะพักที่บ้านดงมอญ อ.มุกดาหาร และบ้านต้นแหน อ.นาแก จ.นครพนม รุ่งขึ้นถึงพระธาตุพนม พำนักที่วัดเกาะแก้ว อ.พระธาตุพนม อยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งสัปดาห์ จึงเดินทางกลับ เส้นทางที่ใช้ในการเดินทางกลับนั้นใช้เส้นทางเลียบตามฝั่งแม่น้ำโขง ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นจนกระทั่งถึง อ.มุกดาหาร มีรถประจำทางจึงโดยสารรถประจำทางมาจนถึงวัดศรีฐานใน”

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

รูปภาพ
หลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล


11. ไปอยู่กับหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่มหาปิ่น

ในช่วงที่สามเณรพวงบวชเป็นพรรษาที่ 4 นั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เว้นว่างจากการสอบนักธรรมต่างๆ บ้านเมืองอดอยากแร้นแค้น ข้าวยากหมากแพง หลวงตาพวงท่านเล่าให้ฟังว่า “ช่วงนั้นชาวบ้านอดอยาก ไม้ขีดไฟกลักละ 10 บาท น้ำมันตะเกียงลิตรละหลายร้อยบาท” ระหว่างนั้นพระลีซึ่งพำนักอยู่ที่วัดศรีฐานในเช่นเดียวกัน (ปัจจุบันลาสิกขาและถึงแก่กรรมแล้ว) ชวนออกธุดงค์ไป จ.ศรีสะเกษ จึงได้ขออนุญาตพระอาจารย์บุญช่วยออกธุดงค์ไปกับคณะโดยออกเดินทางด้วยเท้าไป จ.ศรีสะเกษ พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีสำราญ ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ประกอบกับเกิดโรคฝีดาษระบาดที่บ้านศรีฐาน ทางบ้านจึงบอกไม่ให้กลับ

สามเณรพวงพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งพระสัมฤทธิ์ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดป่าศรีสำราญ ได้ชวนสามเณรพวงให้ไปศึกษาอบรมธรรมกับ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งจำพรรษาร่วมกันที่วัดป่าแสนสำราญ ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สามเณรพวงเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพราะหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นครูบาอาจารย์ในสายกรรมฐานที่สำคัญ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จึงตัดสินใจเดินทางไปร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่น

หลวงตาพวงท่านเล่าให้ฟังว่า “ช่วงที่อยู่กับหลวงปู่สิงห์นั้นดีมาก หลักธรรมคำสั่งสอนที่ท่านได้รับล้วนแต่ดีมาก ท่านได้พาสวดมนต์นั่งสมาธิ ในวันพระท่านจะเทศน์อบรมตลอดคืนไม่นอน ถ้าหากง่วงนอนหลวงปู่สิงห์ก็จะพาสวดสรภัญญะ พอให้หายง่วงก็จะพานั่งสมาธิต่อ เป็นเช่นนี้เป็นประจำตลอดพรรษา มีญาติโยมมารักษาศีลฟังธรรมจากหลวงปู่สิงห์เป็นจำนวนมาก”

ส่วนหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล ช่วงนั้นอาพาธอยู่ ไม่ได้ออกอบรมสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมเท่าใดนัก สามเณรพวง ลุล่วง ได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากครูบาอาจารย์หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และหลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นเวลา 1 พรรษา ตลอดระยะเวลาจำพรรษาได้ศึกษาอบรมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์ทั้งสองจนมีความรู้แตกฉานในข้อวัตรปฏิบัติ และการปฏิบัติภาวนา

หลังจากออกพรรษาเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นขอยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 สามเณรพวงได้กราบลาพระอาจารย์ทั้งสองกลับวัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว เพื่อมาเล่าเรียนทางปริยัติธรรมต่อ

พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ได้อบรมสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เพิ่มเติม อีกทั้งยังได้หาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านภาษาบาลีมาสอนสามเณรพวง และเพื่อนๆ ให้มีความรู้แตกฉานจนสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปีนั้น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)


12. พบหลวงปู่มั่นครั้งแรก

พระอาจารย์บุญช่วยได้พิจารณาเห็นว่า สามเณรพวง ลุล่วง ได้ศึกษาความรู้ทางด้านปริยัติพอสมควรระดับหนึ่ง ต้องการให้มีความรู้ทางด้านปริยัติธรรมเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่านี้ จึงตั้งใจว่าจะส่งสามเณรพวง ไปศึกษาปริยัติธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้นที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งมี พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเสาหลักในการเผยแผ่ความรู้ด้านปริยัติธรรมและการศึกษาธรรมบาลี ขณะนั้น โดยระหว่างทางก็จะแวะกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ จ.สกลนครก่อน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญในสายปฏิบัติกรรมฐาน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นที่เล่าขานว่าท่านเป็นผู้ที่มีจริยาวัตรงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ฉลาดรอบรู้ในการเทศน์ และสามารถรู้วาระจิตคนได้หมด ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน ล้วนกลัวท่านทุกๆ คน เพราะคิดสิ่งใดไม่ดีท่านจะรู้หมด เป็นผลให้ลูกศิษย์ของท่านต้องสำรวมจิต ระมัดระวัง และตั้งใจในการปฏิบัติธรรมยิ่งนัก

ครั้นเมื่อเดินทางถึงวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร พร้อมทั้งสามเณรพวง ลุล่วง ก็ตรงเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นทันที หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า เมื่อกราบท่านแล้วหลวงปู่มั่นท่านก็ถามขึ้นทันทีว่า “ตั้งใจจะปฏิบัติหรือตั้งใจเรียน ถ้าตั้งใจปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเอาจริงเอาจัง ถ้าจะเรียนก็ต้องไปเรียน ไปหาสำนักเรียน ทำเล่นไม่ได้นะ จะไปทางไหนก็ต้องตัดสินใจ”

ผลที่สุดก็สามเณรพวง ลุล่วง ตัดสินใจเลือกปฏิบัติกรรมฐาน “สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกปฏิบัตินั้นเป็นเพราะในคำเทศน์ของหลวงปู่มั่น ท่านรู้วาระจิตของหลวงตาหมดทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เล่าให้ฟังเลย เพราะทีแรกพระอาจารย์บุญช่วยกำลังจะส่งไปเรียนปริยัติธรรมที่วัวัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม แต่แวะมากราบหลวงปู่มั่นเสียก่อน แล้วท่านก็เทศน์เรื่องปริยัติและเรื่องกรรมฐานต่างๆ จึงเกิดศรัทธาในคำสั่งสอนของท่านในที่สุดก็ตัดสินใจอยู่ศึกษาอบรมกับหลวงปู่มั่นต่อไป”

นับเป็นบุญญาบารมีของสามเณรพวงที่ได้มีโอกาสมากราบหลวงปู่มั่นก่อนเดินทางไปเรียนทางด้านปริยัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านจนเกิดซาบซึ้งและมุ่งมั่นในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานตามแนวทางคำสั่งสอนของหลวงปู่มั่น เลิกล้มความตั้งใจในการเรียนทางด้านปริยัติทันทีเพราะพิจารณาเห็นตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น

ในช่วงแรกสามเณรพวงต้องออกไปอยู่วัดป่าท่าสองคอน ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดสาขาอยู่ใกล้ๆ กับวัดหลวงปู่มั่น และยังอยู่ห่างจากวัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพียง 3 กิโลเมตร เวลาลงปาติโมกข์บรรดาพระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ยังไม่ได้ไปอยู่จำพรรษา

ถึงแม้ว่าวัดป่าท่าสองคอนจะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ซึ่งเป็นที่พักของหลวงปู่มั่น แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางด้วยเท้าข้ามภูเขาตลอดทั้งวันกว่าจะถึงวัด ซึ่งต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างวัดป่าท่าสองคอนกับวัดป่าบ้านหนองผือ สามเณรพวงมิได้ย่อท้อ หมั่นเพียรเดินทางไปฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเป็นประจำ ที่วัดป่าท่าสองคอนแห่งนี้พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน ก็ได้มาพำนักเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมกับสามเณรพวงด้วย

13. เป็น “สุขินฺทริโยภิกขุ”

ช่วงที่พำนักอยู่ที่วัดป่าท่าสองคอน จ.สกลนคร ในปีที่ 2 สามเณรพวง ลุล่วง มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์พอดี ได้เวลาที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ประกอบกับมีสามเณรที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 รูป ก็จะเข้าอุปสมบทด้วย แต่สำนักสงฆ์ที่พำนักและบริเวณใกล้เคียงไม่มีอุโบสถ อันเป็นสถานที่ประกอบพิธีในการอุปสมบท เพราะสำนักปฏิบัติธรรมของสายหลวงปู่มั่นไม่เน้นที่จะสร้างถาวรวัตถุ หากแต่เน้นการปฏิบัติจริงในการเข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นแก่นที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ศิษย์ของหลวงปู่มั่นจึงได้จัดหาสถานที่สำหรับอุปสมบท โดยเลือกที่สำนักสงฆ์บ้านหนองโดก ตอนหลังได้ยกฐานะเป็นวัดป่าหนองโดก อยู่ใน ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นสถานที่สำหรับอุปสมบท

การจัดเตรียมการอุปสมบทในครั้งนั้นได้จัดบนอุโบสถกลางลำน้ำ โดยนำเรือพายที่อยู่บริเวณนั้นมาจอดเรียงรายชิดติดกันหลายๆ ลำ แล้วได้นำแผ่นกระดานไม้มาปูเรียงบนลำเรือติดกันจนเป็นแพขนาดใหญ่ที่พอจะประกอบพิธีกรรมในการอุปสมบทได้

การอุปสมบทของสามเณรพวงครั้งนี้ มีพระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมพิธีในการอุปสมบทในครั้งนี้ นับว่าเป็นพระอริยสงฆ์ที่ทรงภูมิปัญญาทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีศีลธรรมจริยาวัตรที่งดงาม และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนาในด้านวิปัสสนากรรมฐานของสายหลวงปู่มั่น ในเวลาต่อมา สามเณรพวง ลุล่วง ได้รับนามฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่า “สุขินฺทริโย” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีความสุขเป็นใหญ่”

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร


14. เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นเป็นพระบูรพาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง มีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด เหล่าบรรดาภิกษุสามเณรทั่วทุกสารทิศต่างปรารถนาที่จะเป็นลูกศิษย์ของท่าน แต่การที่จะเข้ามาเป็นลูกศิษย์ของท่านได้นั้นต้องผ่านการพิจารณาจากหลวงปู่มั่นและต้องเข้าคิวกันยาวมาก หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ได้มีโอกาสมาปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มั่นด้วยความบังเอิญจริงๆ เพราะโดยปกติแล้ว พระภิกษุที่จะได้เข้ามาอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้นจะต้องจองคิวกันยาวมาก และจะต้องได้รับอนุญาตจากหลวงปู่มั่นก่อนด้วย พระภิกษุบางรูปที่วัตรปฏิบัติไม่เรียบร้อยบางครั้งก็ไม่มีโอกาสได้จำวัดที่วัดป่าบ้านหนองผือ”

ด้วยบุญญาบารมีของพระภิกษุพวงที่จะได้มีโอกาสมาปรนนิบัติอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่น ในช่วงนั้นกำลังจะมีการสร้างถานหรือส้วมให้หลวงปู่มั่นใหม่ไว้บนกุฏิ เนื่องจากท่านสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จึงได้หาพระหนุ่มๆ ที่มีกำลังวังชาดีๆ ในละแวกนั้น มาช่วยในการก่อสร้าง พระพวงในวัยหนุ่มจึงมีโอกาสได้มาช่วยในการสร้างถานในครั้งนั้นกับพระภิกษุโสม โกกนัทโฒ ทั้งสองรูปจึงได้เข้ามาอยู่ในวัดป่าบ้านหนองผือ โดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่พักอาศัย

ด้วยเหตุบังเอิญขณะนั้นมีการสร้างวัดใหม่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือ ประมาณ 100-200 เส้น แต่มีพระจำพรรษาเพียงรูปเดียว ชาวบ้านจึงได้มานิมนต์พระภิกษุในสำนักของพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาด้วย หลวงปู่มั่นจึงได้ให้ พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ซึ่งจำพรรษากับหลวงปู่มั่นและมีพรรษามากแล้ว ไปจำพรรษาที่วัดแห่งนั้น พระอาจารย์อ่อนสาขัดไม่ได้ จึงทำให้มีกุฏิว่างลง 1 แห่งพอดี แต่เนื่องจากพระภิกษุพวงได้มาพร้อมกับพระอาจารย์โสม โกกนทโฒ จึงต้องรอกุฏิอีก 1 หลัง ประจวบเหมาะกับมีพระอาพาธด้วยโรคท้องร่วงอีก 1 รูปมีอาการค่อนข้างมาก หลวงปู่มั่นได้ให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทำให้กุฏิว่างอีก 1 หลัง

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ตอนเย็นวันนั้น ขึ้นไปกราบหลวงปู่มั่น ท่านได้ให้ไปอยู่กุฏิที่ว่าง ถ้าหากพระทั้งสองรูปยังอยู่ก็คงไม่ได้กุฏิอยู่ บังเอิญโชคดีจึงได้อยู่รับใช้ท่าน ถ้าหากพระสองรูปไม่ได้ออกจากวัด ก็คงจะไม่ได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่มั่น”

ด้วยบุญญาบารมีโดยแท้ พระภิกษุพวงจึงได้อยู่ปรนนิบัติอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่น และฝากตัวเป็นศิษย์ ซึ่งเป็นพรรษาครั้งสุดท้ายของหลวงปู่มั่นตลอดพรรษา หลวงปู่มั่นท่านได้ให้โอวาทสั่งสอน อบรมข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ จนเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน

15. นั่งสมาธิจนตัวลอย

หลังจากที่ได้รับการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่มั่น สามเณรพวงได้ลองนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ผลของการนั่งสมาธิครั้งนั้นปรากฏในจิตว่าตัวเบาเป็นปุยนุ่น ลอยไปในอากาศ จนกระทั่งถอนจิตออกจึงทราบว่าจิตลอยขึ้นไป เป็นผลจากการที่จิตรวมเป็นหนึ่ง เกิดสมาธิระดับอุปปาจารสมาธิ และคงจะเป็นอานิสงส์มาแต่ครั้งก่อนที่เคยมีบุญบารมีได้ฝึกปฏิบัติมา จึงสามารถรวมจิตเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยผลการปฏิบัติจากการได้รับคำชี้แนะจากหลวงปู่มั่นในครั้งนั้น หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “รู้สึกซาบซึ้ง ดื่มด่ำในรสพระธรรมเป็นอย่างมาก และตั้งใจว่าจะไปกราบเรียนหลวงปู่มั่นว่าจะขอบวชตลอดชีวิต แต่เปลี่ยนใจไม่ไปกราบเรียนท่านเพราะคิดว่าถ้าหากทำไม่ได้คงไม่ดี แต่ในจิตใจก็แน่วแน่มั่นคง มุ่งมั่นในการฝึกวิปัสสนากรรมฐานให้แตกฉานต่อไป นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

“ช่วงที่ปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น การปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไร แต่ก็มีบ้างที่มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องผู้หญิง ด้วยความเป็นพระหนุ่มๆ ก็มีความต้องการเช่นเดียวกับชายหนุ่มกับหญิงสาวทั่วๆ ไปทุกคน คือ ราคะ โทสะ โมหะ ศัตรูที่เกิดขึ้นก็เป็นที่จิตใจ ซึ่งก็เป็นธรรมดาในการปฏิบัติ ปัจจุบันก็ผ่านมาหมดแล้ว ก็ได้อาศัยธรรมของครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะหลวงปู่มั่นท่านเทศน์อสุภกรรมฐานให้ฟังทุกวัน แล้วก็พิจารณาทำใจให้เข้มแข็ง เข้าใจความจริง สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้” หลวงตาพวงเล่าให้ฟังด้วยความเมตตา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม

รูปภาพ
พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส


16. พระภิกษุร่วมพรรษา

หลังจากที่ได้ย้ายแหล่งพำนักจากวัดป่าบ้านสองคอนมาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) จ.สกลนคร กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แล้ว พระภิกษุพวงก็ได้รับหน้าที่ในการดูแลปรนนิบัติหลวงปู่มั่นโดยใกล้ชิด อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำสั่งสอนในข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ตลอดจนการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างลึกซึ้ง นอกจากได้อยู่ร่วมพำนักพรรษากับหลวงปู่มั่นซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายของท่านแล้ว ยังมีพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกหลายองค์ที่อยู่ร่วมพรรษานั้น เท่าที่หลวงตาพวง สุขินฺทริโย จำได้ได้แก่

1. พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
2. พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
3. พระอาจารย์ทองอยู่
4. พระอาจารย์เนตร กันตสีโล
5. พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม
6. พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส
7. พระอาจารย์เนียน
8. พระอาจารย์อร่าม รักขิตฺตจิตฺโต (พระอาจารย์คำไพ สุสิกฺขิโต)
9. พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส
10. พระอาจารย์พล
11. พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต
12. พระอาจารย์ศรี มหาวีโร
13. พระอาจารย์จันทร์โสม กิตฺติกาโร
14. พระอาจารย์เดิน
15. พระอาจารย์เคน
16. พระอาจารย์สีหา
17. พระอาจารย์อุ่น
18. พระอาจารย์คำดี
19. พระอาจารย์แดง
20. พระอาจารย์ทองพูล สิริกาโม
21. พระอาจารย์สังวาลย์
22. พระอาจารย์โสม โกกนัทโฒ
23. พระอาจารย์สีหา
24. พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต
25. สามเณรอำพล
26. สามเณรสี
27. หลวงปู่บัว

รูปภาพ
พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต

รูปภาพ
พระอาจารย์ศรี มหาวีโร

รูปภาพ
พระอาจารย์จันทร์โสม กิตฺติกาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองพูล สิริกาโม


17. หลวงปู่มั่นมรณภาพ

ในพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ท่านมีอาการไข้ไอเรื้อรังมาตลอด ท่านได้บอกให้ศิษย์ทั้งหลายให้ทราบว่า การเจ็บป่วยของท่านครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแต่ลมหายใจที่จะรอวันตายไปเท่านั้น เช่นเดียวกับไม้ที่ตายยืนต้น แม้จะรดน้ำพรวนดินเพื่อให้ผลิดอกออกใบ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รออยู่พอถึงวันโค่นล้มลงจมดินเท่านั้น

ข่าวการอาพาธของท่านได้แพร่กระจายออกไป ใครทราบข่าวไม่ว่าพระภิกษุสามเณรหรือฆราวาส ก็หลั่งไหลพากันมาเยี่ยมมิได้ขาดสาย

อาการอาพาธของหลวงปู่มั่นเริ่มหนักขึ้นเป็นลำดับ พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาไม่ได้พากันนิ่งนอนใจ จึงได้จัดเวรคอยดูแลหลวงปู่มั่นบนกุฏิของท่าน 2 รูป และใต้ถุนกุฏิ 2 รูปมิได้ขาด ในช่วงนี้เองพระพวงก็ได้สลับผลัดเปลี่ยนกับพระภิกษุรูปอื่นๆ คอยปรนนิบัติหลวงปู่มั่นโดยตลอด

พอออกพรรษา ครูบาอาจารย์พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ ก็ทยอยมาเยี่ยมท่านมากขึ้นเป็นลำดับ อาการของท่านก็หนักเข้าไปทุกวัน ศิษยานุศิษย์รุ่นอาวุโส อาทิ หลวงตามหาบัว หลวงปู่กงมา หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทศน์ หลวงปู่อ่อน ได้เรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหลาย เพื่อเตือนให้ทราบถึงอาการของท่าน และแจ้งให้ทราบว่าหลวงปู่มั่น ท่านได้ดำริที่จะให้นำตัวท่านไปที่สกลนคร ไม่อยากมรณภาพที่นี่ เพราะจะทำให้บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายที่นี่ต้องตายไปด้วย เนื่องจากจะต้องมีคนจำนวนมากมาร่วมงาน จะต้องฆ่าสัตว์เป็นอาหาร

เดิมทีเดียวบรรดาคณะศรัทธาญาติโยมบ้านหนองผือมีความประสงค์ว่า จะให้หลวงปู่มั่นท่านมรณภาพที่นี่ พวกเขาจะเป็นผู้จัดการศพเอง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงไรก็ตาม แต่ด้วยความเคารพในหลวงปู่มั่นจึงได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงปู่มั่นแต่โดยดี

บรรดาญาติโยมก็ได้ช่วยกันเตรียมแคร่เพื่อหามท่านจากวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ไปสกลนคร โดยได้แวะพักระหว่างทางที่วัดป่าดงภู่ เป็นเวลา 9 วัน บรรดาญาติโยมในจังหวัดสกลนคร อาราธนานิมนต์ท่านเดินทางต่อ ก่อนเดินทางได้นำแพทย์ไปฉีดยาให้หลวงปู่มั่นเพื่อระงับเวทนา เมื่อฉีดยาเสร็จก็นำท่านขึ้นรถไปต่อยังวัดป่าสุทธาวาส อ.เมืองสกลนคร ระหว่างการเดินทางท่านไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งเวลาประมาณ เที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง (ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492) ในคืนนั้นท่านก็มรณภาพอย่างสงบ ยังความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั้งพระและฆราวาส นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนไทย

พระภิกษุพวงติดตามคณะไปด้วย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับพระรูปอื่นๆ ในการดูแลหลวงปู่มั่น ตลอดการเดินทางจวบจนวาระสุดท้ายของหลวงปู่มั่น นับเป็นอีกครั้งในชีวิตของพระภิกษุพวงที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์สำคัญของพระเถรานุเถระที่ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งองค์

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


18. อาพาธหนัก

หลังจากหลวงปู่มั่นมรณภาพแล้ว คณะสงฆ์พิจารณาตั้งศพของท่านเพื่อบำเพ็ญ และรอพระราชทานเพลิงศพ 100 วัน ระหว่างนั้นพระพวงเห็นว่าพอมีเวลาว่าง จึงเดินทางกลับบ้านศรีฐานเพื่อเยี่ยมโยมบิดามารดา พอกลับถึงบ้านศรีฐานเริ่มมีอาการไข้หนาวสั่น ซึ่งเกิดจากได้รับเชื้อไข้ป่าหรือไข้มาเลเรียตั้งแต่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “ป่วยเป็นไข้ป่าอยู่ครึ่งเดือน จนผมร่วงหมด ต้องไปตามหมอมาฉีดยาให้ เพราะยังไม่มีโรงพยาบาลยโสธร”

หลังจากฉีดยาแล้วพระพวงสลบไปไม่ได้สติเกิดนิมิตรขึ้น หลวงตาเล่าให้ฟังต่อว่า “พอฉีดยาเสร็จก็สลบไปไม่ได้สติ เกิดนิมิตรเห็นมีคนมาหามหลวงตาไปใส่ในเรือล่องไปตามแม่น้ำโขง ไม่ทราบเขาจะเอาไปไหน มองเห็นดวงไฟลิบๆ สีเขียวอยู่อีกเมืองหนึ่ง แต่ล่องเรือเท่าไรก็ไม่ถึงสักที รู้สึกเหมืนล่องเรือกว่า 3 ชั่วโมงแล้วก็ยังไม่ถึง จนกระทั่งฤทธิ์ยาเริ่มคลายจึงค่อยๆ มีสติขึ้น เริ่มมองเห็นหลังคากุฏิที่มุงด้วยหญ้าแฝก ขณะเดียวกันก็ยังรู้สึกโยกเยกเหมือนนอนอยู่ในเรือ สีเขียวที่มองเห็นนั้นกลายเป็นแสงไฟจากตะเกียงที่ตั้งอยู่ในกุฏิ พอพลิกตัวโยมบิดาถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง จึงเริ่มรู้สึกตัวหายใจได้ หลังจากนั้นอาการก็ทุเลาเป็นปกติ แล้วก็เดินทางไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่น” นี่เป็นอีกเหตุการหนึ่งที่พระพวงยังจำได้โดยมิลืมเลือนจวบจนปัจจุบัน

รูปภาพ
พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ

รูปภาพ
พระอาจารย์แปลง สุนทโร

รูปภาพ
หลวงพ่อคำดี ปัญโญภาโส


19. ไปอยู่กับหลวงปู่ฝั้น

หลังจากเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว บรรดาพระเณรในสายของท่านก็มีความระส่ำระสาย ขาดที่พึ่งทางใจ ขาดเสาหลักอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เปรียบเสมือนขาดร่มโพธิร่มไทรให้พึ่งพิง พระพวงก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ ได้ตัดสินใจไปอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระอนุสาวนาจารย์บวชให้ อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างดี

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “หลวงปู่ฝั้นท่านมีปฏิปทาเหมือนหลวงปู่มั่น แต่ท่านไม่เคร่งเหมือนกับหลวงปู่มั่น มีพระเณรไปอยู่กับหลวงปู่ฝั้นอยู่มาก เช่น พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ วัดป่าเขาน้อย อ.เมือง จ.บุรีรัมย์, พระอาจารย์แปลง สุนทโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และ หลวงพ่อคำดี ปัญโญภาโส วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร นอกจากนั้นจำชื่อไม่ได้”

ตอนแรกก็ไปอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งแต่เดิมเป็นที่พักสงฆ์ซึ่ง หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดประสิทธิธรรม (วัดบ้านดงเย็น) ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ไปสร้างไว้ มีผู้พยายามจะแย่งกรรมสิทธิ์ไป พระอาจารย์ฝั้นต้องต่อสู้ด้วยธรรมอันยอดเยี่ยมของท่าน จึงสามารถรักษาวัดนี้ไว้ได้ ท่านได้ตั้งชื่อวัดว่าวัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะระลึกถึงความช่วยเหลือของตำรวจภูธรในสมัยนั้น

ปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติเมื่ออยู่กับหลวงปู่ฝั้นนั้น หลวงตาพวงบอกว่า

“ปฏิปทาต่างๆ ก็เหมือนอยู่กับหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้นท่านก็เอาปฏิปทาของหลวงปู่มั่นมาปฏิบัติ”

“การปฏิบัติในช่วงนั้น หลวงปู่ฝั้นท่านเทศนาอบรมธรรมวินัย พาภาวนาปฏิบัติธรรม ในวันพระก็จะทำความเพียรนั่งสมาธิตลอดคืน”


พระพวงได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์แห่งนี้ถึง 6 พรรษาได้สั่งสมประสบการณ์ทั้งในข้อวัตรปฏิบัติ การเจริญภาวนา ตลอดจนการดูแลปกครองคณะสงฆ์ ได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในปัจจุบัน

รูปภาพ
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ


20. เหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำเป็ด

ในหน้าแล้งราวพรรษาที่ 7 ของพระพวง สุขินฺทริโย นั้น หลวงปู่ฝั้นได้พาคณะอันประกอบด้วยมีหลวงปู่ฝั้น, พระพวง สุขินฺทริโย และเณรอีก 1 รูป ไปธุดงค์ตามป่าเขาต่างๆ เพื่อแสวงหาสถานที่อันเป็นสัปปายะเหมาะในการทำความเพียร การฝึกฝนอบรมตนเองในการธุดงค์ในป่า จะต้องเผชิญกับภยันตรายต่างๆ มากมายย่อมทำให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว อดทน

หลังจากที่ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ได้เดินทางไปถึงถ้ำแห่งหนึ่งเรียกว่า ถ้ำเป็ด ห่างจากถ้ำอภัยดำรงธรรม (ถ้ำพวง) ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ของ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ประมาณ 3 กิโลเมตร หลวงปู่ฝั้นได้พาไปอยู่ที่นั่น 8 เดือน ไปอยู่ครั้งแรกมีความยากลำบากมาก เพราะไกลจากหมู่บ้าน ต้องใช้ระยะเวลานานในการลงมาบิณฑบาตเพราะระยะทางห่างจากหมู่บ้านถึง 5 กิโลเมตร

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนั้นว่า “มีอยู่วันหนึ่งเณรที่อยู่ร่วมด้วย เนื่องจากอายุยังน้อยชอบเล่นตามประสาเด็กๆ ในช่วงกลางวันก็ปีนขึ้นไปบนเขา แล้วลองปาก้อนหินดูว่าจะขว้างแล้วไปตกไกลไหม ก็ลองปาดู 4-5 ก้อน หลวงปู่ฝั้นอยู่ข้างล่างได้ยินเสียงก้อนหิน จึงเรียกเณรลงมาถามว่าปาก้อนหินใช่ไหม หลวงปู่ฝั้นก็เตือนว่าทีหลังอย่าทำ การมาอยู่ป่าเขาจะต้องสงบสำรวม ต้องมีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย จะเล่นคะนองเช่นนั้นไม่ได้ ท่านได้อบรมสั่งสอนในเรื่องอื่นๆ อีก แล้วก็ให้เณรไปปัดกวาดทำความสะอาดกุฏิ อาบน้ำ เตรียมตัวปฏิบัติธรรม

พอตกกลางคืนในคืนนั้น ประมาณเที่ยงคืน ขณะที่ทุกรูปจำวัดหมดแล้ว ได้ยินเสียงดัง กับ กับ กับ เหมือนม้าวิ่งมาอย่างรวดเร็ว จนถึงบนชานของกุฏิเณรซึ่งอยู่ข้างล่าง เณรได้ยินเสียงดังกล่าว ตกใจกลัวจนตัวสั่นจะร้องก็ร้องร้องตะโกนไม่ออก ในขณะที่หลวงปู่ฝั้นก็ได้ยินเสียงม้าวิ่งเช่นเดียวกัน จึงตะโกนเรียก “เณร เณร” แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงตอบ ท่านจึงออกจากกุฏิที่อยู่ข้างบนลงมาดูเณร เพราะกลัวว่าเสือจะคาบเณรไปกิน

เมื่อมาถึงกุฏิจึงเห็นเณรนั่งตัวสั่นอยู่ ในขณะที่ข้างนอกก็ไม่พบสัตว์หรืออะไรเลย หลวงปู่ฝั้นจึงบอกว่า “เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจถึงการปฏิบัติตัว ให้มีความสำรวมกาย วาจา ใจ ในการออกธุดงค์ในที่ต่างๆ เพราะทุกๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่”

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ ประดิษฐาน ณ ลานหินวัดถ้ำขาม
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร



21. บุกเบิกถ้ำขามกับหลวงปู่ฝั้น

ในปี พ.ศ. 2496 ขณะที่พระภิกษุพวง สุขินฺทริโย มีพรรษาได้ 8 พรรษา ขณะอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร หลวงปู่ฝั้นได้เล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ท่านนั่งสมาธิท่านได้นิมิตเห็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นถ้ำ อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ในถ้ำมีแสงสว่างไปทั่วทั้งถ้ำ มีลมพัดเย็นสบาย อากาศดี สงบวิเวกเหมาะกับการเจริญสมาธิเป็นยิ่งนัก

เมื่อออกพรรษา หลวงปู่ฝั้นพร้อมด้วยพระภิกษุพวง สุขินฺทริโย พระภิกษุสุพล และสามเณรสุวงค์ ได้เดินทางไปค้นหาถ้ำดังกล่าวตามนิมิตของหลวงปู่ฝั้น โดยทางไปปักกลดอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านเชิงเขาภูพานประมาณครึ่งเดือนเพื่อสอบถามญาติโยมเกี่ยวกับถ้ำที่มีลักษณะดังกล่าว หลังจากการสอบถามก็พบว่ามีถ้ำที่มีลักษณะดังกล่าวอยู่บนเทือกเขาภูพาน ท่ามกลางป่ารกชัฏปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ หนทางไปสู่ถ้ำก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

เมื่อทราบตำแหน่งของถ้ำแล้วหลวงปู่ฝั้นได้ชักชวนชาวบ้านขึ้นไปบุกเบิก ซึ่งต้องเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อไปหุงหาและเตรียมค้างคืนในป่า เพราะระยะทางค่อนข้างไกล เวลาพลบค่ำชาวบ้านไม่กล้าเดินทางกลับกลัวเสือจะมาคาบไปกินระหว่างทาง บริเวณปากถ้ำมีต้นมะขามใหญ่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำขาม”

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังถึงการไปบุกเบิกถ้ำขามในช่วงแรกนั้นว่า “ตอนไปบุกเบิกครั้งแรกมีพระเณรไปด้วยกัน 4 รูป บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่ทุรกันดารมาก มีหมู่บ้านห่างจากถ้ำประมาณ 5-6 กิโลเมตร ช่วงแรกๆ ก็ต้องอาศัยน้ำจากบ่อของชาวบ้านที่มาทำไร่พริกบนเขา ห่างจากถ้ำขามประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องตัดกระบอกไม้ไผ่แล้วทะลุปล้องยาว 2-3 ปล้องทำเป็นกระบอกน้ำ สะพายหลังปีนลงเขาไปตักน้ำทุกวัน ใช้กระป๋องน้ำไม่ได้เพราะน้ำจะหกหมด เวลาสรงน้ำก็ต้องลงเขาไปที่บ่อน้ำดังกล่าว เวลาบิณฑบาตก็ต้องลงไปบิณฑบาตถึงเชิงเขา ต้องบุกป่าฝ่าดงลงไป ชาวบ้านจะส่งตัวแทนผลัดกันมาใส่บาตรบริเวณเชิงเขา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่พริก แต่ชาวบ้านมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนายิ่งนัก ในวันพระ ชาวบ้านจะขึ้นไปที่ถ้ำขามเพื่อทำอาหารถวายและปฏิบัติธรรมอยู่บนถ้ำ”

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังต่อว่า “เมื่อไปถึงครั้งแรก ก็ไปสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่ ไม้ไร่แถวๆ นั้น มาทำเป็นแคร่ บางส่วนก็ทำเป็นฝากันฝน ในช่วงหน้าแล้งถัดมาก็ได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสร้างศาลาและเสนาสนะต่างๆ ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น ต่อมาก็สะกัดหินเป็นบ่อเก็บน้ำ ทำถังปูนไว้เก็บน้ำฝน ความเป็นอยู่ต่างๆ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ”

ศาลาใหญ่ที่สร้างขึ้นที่ถ้ำขามแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นของที่พิสดารอย่างหนึ่ง ทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและความศรัทธา กล่าวคือ ศาลาแห่งนี้กว้าง 10 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร ตั้งอยู่บนไหล่เขาซึ่งมีโขดหินสูงบ้างต่ำบ้างต่างระดับกันไป เสาและต้นไม้ต่างๆ หลวงปู่ฝั้นเป็นผู้กะความยาวให้ตัด เสาแต่ละต้นมีขนาดความยาวไม่เท่ากัน พอทุกอย่างพร้อมแล้วก็ยกเสาขึ้นตั้งโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินหรือก้อนหินเลย เมื่อเอาคานติดเข้าไปโครงสร้างก็ไม่คลอนแคลน ไม้ต่างๆ ที่เตรียมไว้ก็เหมาะลงตัว ไม่จำเป็นต้องตัดแต่งอีกเลย เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

ศาลาทั้งหลังทำเสร็จด้วยความรวดเร็ว ศาลาหลังนี้ได้ใช้งานอยู่จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 หลวงปู่ฝั้นได้เปลี่ยนให้เป็นศาลาคอนกรีตทั้งหลัง สร้างเสร็จเรียบร้อยรวดเร็วด้วยความศรัทธาของญาติโยม

การบุกเบิกถ้ำขามครั้งนั้น พระภิกษุพวง สุขินฺทริโย เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากหลวงปู่ฝั้นให้ช่วยพัฒนาสถานที่แห่งนี้จนสวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่สัปปายะสำหรับผู้ที่แสวงหาความสงบในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธัมมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย


22. ผจญฝูงควายที่จันทบุรี

ในช่วงที่ ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มรณภาพลงนั้น พระภิกษุพวง สุขินฺทริโย กับคณะ ก็ได้เดินทางไปคารวะศพท่านพ่อลีที่ จ.สมุทรปราการ หลังจากคารวะศพแล้วคณะก็ชวนพระภิกษุพวงไปธุดงค์แถบ จ.จันทบุรี เพราะได้ข่าวว่ามีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเดินธุดงค์เพื่อหาสถานที่ในการทำความเพียร ประกอบกับทางแถบ จ.จันทบุรี มีพระภิกษุที่เคยจำพรรษาอยู่ด้วยกันสมัยอยู่กับหลวงปู่ฝั้นหลายองค์ พระภิกษุพวงคิดอยากจะไปเยี่ยมเพื่อน จึงได้ออกเดินทางไป จ.จันทบุรี พร้อมกับคณะ

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “เมื่อไปถึงจังหวัดจันทบุรีก็ไปพักที่วัดป่าคลองกุ้งอยู่หลายวัน หลังจากนั้นก็ออกเดินทางต่อไปเพื่อไปเยี่ยมพระอาจารย์ถวิล ซึ่งเคยจำพรรษาร่วมกันสมัยอยู่วัดป่าภูธรพิทักษ์ธาตุนาเวง จ.สกลนคร ท่านอยู่ที่วัดยางระหงษ์ ก็เลยพาคณะที่เดินทางมาด้วยกันไปเยี่ยมพระอาจารย์ถวิล พักอยู่ที่นั่น 15 วัน พระอาจารย์ถวิลได้พาไปดูวัดเขาสุกิม ขณะนั้น พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เพิ่งจะไปบุกเบิกได้ใหม่ๆ ยังเป็นกระท่อมเล็กๆ ยังไม่ได้สร้างเป็นถาวรวัตถุเช่นทุกวันนี้

ต่อจากนั้นได้ทางไปเยี่ยมพระอีกรูปที่วัดเขาน้อย มีพระติดตามไปด้วย 3 รูป ลูกศิษย์ถือปัจจัยอีก 1 คน เดินทางโดยรถโดยสารแล้วก็ลงเดินทางด้วยเท้าต่อ ระหว่างทางก็พบกับชาวบ้านที่กำลังจะไปเก็บผลไม้ที่สวนใกล้ๆ วัดเขาน้อย ชาวบ้านได้อาสานำอัฐบริขารล่วงหน้าไปวัดให้ก่อน เพราะตนเองมีรถมอเตอร์ไซร์ พระพวงและคณะมิได้ขัดศรัทธา ให้ชาวบ้านนำอัฐบริขารล่วงหน้าไปก่อนเหลือแต่ย่ามสะพาย

พอเดินทางไปถึงทางแยกทางไปวัดเขาน้อย บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณทุ่งนาโล่งๆ ราวๆ 4-5 เส้น ข้างหน้าก็เป็นป่าสวนยางโล่งๆ ไม่ทราบว่ามีควายมานอนอยู่บริเวณดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด พอควายเห็นพระเดินมาหลายรูป มีจีวรสีสะดุดตาจึงวิ่งรี่เข้าใส่ บรรดาพระและลูกศิษย์ที่มาด้วยเห็นดังนั้นจึงออกวิ่งนำหน้าพระภิกษุพวงในทันที

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “หลวงตาวิ่งไปได้ 2-3 ก้าว ก็คิดได้ทันทีว่า ถ้าวิ่งก็ตายเดี๋ยวนี้ เลยหันหลังกลับ มือล้วงไปในย่าม มีผ้าปูนั่งในย่าม เอามาแกว่งเป็นวงกลม ควายเห็นก็หยุดไม่มาทำอะไร หลวงตาก็ตกประหม่าขาสั่นยิกๆ ควายเองก็มีอารมณ์โกรธ มีลมพ่นออกจากจมูก ฟึด ฟัด ฟึด ฟัด ตลอดเวลา เป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ 10 นาที ควายจึงเดินหันหลังกลับไปทุ่งนา”

สาเหตุที่หลวงตารอดพ้นจากภัยครั้งนั้นมาได้ หลวงตาเล่าให้ฟังต่อว่า “เพราะอะไรที่รอดมาได้ ก็เพราะเราไม่มีกรรมไม่มีเวร เรามีเมตตาสัตว์ ไม่เคยทำร้ายสัตว์ ไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เคยเป็นกรรมเป็นเวรซึ่งกันและกัน เราแผ่เมตตา มีเมตตาธรรม เป็นเกราะไม่ให้ควายมาชน เรียกอีกอย่างว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม มีพระธรรมเป็นเกราะป้องกัน จิตใจของเขาก็อ่อน ไม่สามารถมาทำร้ายเราได้”

“หากดูจากประวัติของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เดินธุดงค์ไปพบช้าง พบเสือในป่า ท่านเหล่านั้นก็ไม่มีอาวุธอะไรที่จะใช้ต่อสู้ ท่านมีแต่เมตตา ใช้อำนาจของเมตตาทำให้สัตว์ไม่ทำร้าย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน เพราะอำนาจของเมตตา ทำให้สัตว์ไม่ทำร้ายเราได้”

หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ไม่เคยลืม พระที่ติดตามไปด้วยก็พูดให้ฟังว่า ถ้าหากหลวงตาพวงไม่มาด้วย พวกกระผมคงตายไปแล้ว เพราะถ้าวิ่งหนี วิ่งไปไม่เท่าไหร่ควายก็วิ่งทัน ครั้งนี้เพราะหลวงตาเอาใจสู้ จึงรอดมาได้” กรณีควายไล่ในครั้งนี้ หลวงตาไม่มีศัตราวุธเลย มีแต่ศีลธรรมและเมตตาธรรมที่คอยสู้และสามารถเอาชนะควายเกเรได้

หลวงตายังพูดถึง หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ก็มีบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นทหารเข้าไปกราบนมัสการ แล้วก็ขอเหรียญ “เราสู้” ของหลวงปู่แหวน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมาก หลวงปู่แหวนท่านให้ธรรมว่า เราสู้ นั้นหมายถึง เราสู้กิเลสตัณหา ความทุกข์ ความอยาก

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


23. กลับบ้านศรีฐาน

ในช่วงที่จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้น ในพรรษาที่ 7 ขณะที่อยู่ที่ถ้ำขามได้ทราบข่าวจากบ้านศรีฐานว่า นายเนียม ลุล่วง โยมบิดาป่วยหนักและได้เสียชีวิตลง แต่กว่าโทรเลขจะเดินทางไปถึงเวลาก็ล่วงเลยไปกว่า 1 สัปดาห์ พระภิกษุพวงจึงได้กราบลาหลวงปู่ฝั้นกลับบ้านศรีฐานเพื่อบำเพ็ญกุศลให้โยมบิดา เมื่อกลับถึงบ้านศรีฐาน พระภิกษุพวงได้อยู่ดูแลจัดงานศพของโยมบิดาจนเสร็จเรียบร้อย

ระหว่างนั้นเองพระอาจารย์บุญช่วย เจ้าอาวาสวัดบ้านศรีฐานใน กำลังบูรณะอุโบสถที่วัดอยู่ ด้วยความกตัญญูรู้คุณที่ท่านได้เคยสั่งสอนอบรมมา พระภิกษุพวงจึงอยู่ช่วยงานพระอาจารย์บุญช่วย เพื่อจะได้บูรณะอุโบสถให้แล้วเสร็จ หลังจากที่อยู่ช่วยบูรณะอุโบสถได้ประมาณหนึ่งเดือน พระอาจารย์บุญช่วยก็อาพาธด้วยโรคชรา พระภิกษุพวงก็ได้อยู่ดูแลท่าน แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุดกับทรุด จนกระทั่งมรณภาพในอีกหนึ่งเดือนต่อมา วัดบ้านศรีฐานในจึงขาดพระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่พึ่งของคณะศรัทธาญาติโยม ดังนั้น อุบาสก อุบาสิกา และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้พระภิกษุพวงอยู่จำพรรษาต่อไป

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า “ได้พิจารณาแล้วว่าญาติโยมทั้งหลายไม่มีที่พึ่งเพราะไม่มีพระผู้ใหญ่อยู่จำพรรษาเลย ก็เลยตัดสินใจจำพรรษาที่วัดบ้านศรีฐานในเวลาต่อมา”

“ในช่วงใกล้ๆ เข้าพรรษาในปีนั้น ก็ได้กลับไปลาหลวงปู่ฝั้นที่สกลนคร จริงๆ แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านก็ไม่อยากให้มา เพราะหลวงตาเป็นกำลังสำคัญในการรับภาระหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างวัดถ้ำขาม ซึ่งขณะนั้นกำลังเกณฑ์สามเณรและชาวบ้านช่วยกันสร้าง จึงจำเป็นต้องมีคนคอยดูแล”

“แต่ด้วยจำเป็นหลวงปู่ฝั้นก็ได้อนุญาตให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านศรีฐานใน ตามความประสงค์” นับจากนั้นหลวงตาพวงได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดยโสธรตลอดมา

ช่วงเวลากว่า 10 พรรษาที่พระภิกษุพวงได้พัฒนาวัดบ้านศรีฐานใน ให้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมในราชทินนามที่ พระครูใบฎีกาพวง สุขินฺทริโย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย)


24. สร้างเจดีย์หลวงปู่ฟ้ามืด

รายละเอียดในช่วงนี้เช่นเดียวกับที่หลวงตาบันทึกไว้ในส่วน อภินิหารพระครูฟ้ามืด

25. ไปอยู่วัดศรีธรรมาราม

ในพรรษาที่ 21 ของท่าน ประมาณปี พ.ศ. 2511 เนื่องจากวัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร ในปัจจุบัน) เจ้าอาวาสองค์เดิมมรณภาพลง ไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่ง คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมด้วยฆราวาสชาวอำเภอยโสธร นำโดย พระเทพกวี (นัด เสนโก) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น ได้ไปอารธนานิมนต์พระอาจารย์พวงมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม พระอาจารย์พวงท่านได้พิจารณาเห็นว่าวัดศรีธรรมารามเป็นวัดสำคัญของอำเภอยโสธร จำเป็นต้องมีพระผู้ใหญ่เป็นหลักให้กับพระเณรและญาติโยมจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลยโสธรดูแลคณะสงฆ์อีกตำแหน่งหนึ่ง

วัดศรีธรรมารามตามคำจารึกจากแผ่นทองคำที่ขุดได้มีชื่อว่า วัดธรรมหายโศรก บ้างก็เรียก วัดท่าชี, วัดท่าแขก, วัดนอก, วัดสร่างโศรก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมือง (ในขณะนั้น) เป็นผู้สร้าง ได้เปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งจนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีธรรมารามจนปัจจุบัน

หลังจากที่ได้รับนิมนต์ไปอยู่ที่วัดศรีธรรมาราม หลวงตาเล่าให้ฟังว่า “เมื่อไปถึงทีแรกชาวเมืองยโสธรใส่บาตรพระเณรเพียงแต่ข้าวเปล่าๆ ประมาณสองปั้นหรือสองกำมือ หลวงตาได้พิจารณาเห็นว่าเป็นเพราะเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ไม่ได้บิณฑบาต ชาวบ้านจึงขาดศรัทธา จึงมีผู้สนใจในการทำบุญน้อย หลวงตาจึงออกบิณฑบาตด้วยตนเอง มิได้ขาด ถึงแม้ฝนจะตกก็ออกบิณฑบาตเป็นปกติ แม้ในวันพระ วัดต่างๆ ไม่ออกบิณฑบาต หลวงตาก็ยังคงพาพระเณรออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมเป็นปกติ โดยไม่เลือกว่าเป็นวัดใด ถึงฝนจะตกแดดจะออกหลวงตาก็ยังไป จวบถึงวันนี้แม้อายุของท่านจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 75 ท่านก็ยังออกบิณฑบาตทุกวันมิได้ขาด ชาวเมืองยโสธรจะเห็นภาพที่คุ้นเคยของหลวงตาออกบิณฑบาตทุกๆ เช้าเป็นประจำทุกๆ วัน มิได้ขาด ชาวเมืองยโสธรก็มีศรัทธาใส่บาตรมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันวันหนึ่งๆ ต้องเทบาตรออกถึง 4 ถึง 5 ครั้ง

ด้วยอานิสงค์ของการบิณฑบาตมิได้ขาด เมื่อได้อาหารมาก็นำมาเลี้ยงพระ เลี้ยงเณร เด็กเล็ก ตลอดจนชาวบ้านที่มีความลำบากก็ได้อานิสงค์จากข้าวก้นบาตรของหลวงตากันถ้วนหน้า หลวงตาพวงท่านเปรียบเทียบการให้ผู้อื่น หรือการให้ทานก็เหมือนกันสายน้ำที่มีไหลออกไปตลอดเวลา หล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินให้ชุ่มเย็น เมื่อมีน้ำไหลออกก็ย่อมมีน้ำไหลเข้าเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับการให้ทานยิ่งให้ก็ยิ่งได้ เฉกเช่นกับหลวงตาที่บิณฑบาตทุกวันก็สามารถเผื่อแผ่ถึงพระเณร ญาติโยม หากไม่รู้จักให้หรือทำทานก็เปรียบได้กับน้ำบ่อที่มีจำนวนจำกัด มีแต่จะแห้งขอดและเน่าเสียต่อไปในไม่ช้า หลวงตาได้ถือปฏิบัติการบิณฑบาตตลอดมาตั้งแต่อยู่ปฏิบัติกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

นอกจากนั้น หลวงตาพวงยังมีอุบายพัฒนาจิตใจชาวเมืองยโสธร เพื่อให้เกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยหากวัดทางสายปฏิบัติของหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ชอบ ที่ใดจัดงาน หลวงตาก็จะชวนญาติโยมไปร่วมงานไม่ว่าไกลหรือใกล้ก็จะไป ด้วยเหตุดังกล่าวชาวเมืองยโสธรจึงเกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เข้าวัดทำบุญมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นในจังหวัดยโสธร นี่เป็นกุศโลบายการพัฒนาจิตใจที่แยบยลยิ่งนัก หลวงตาพวงมีความวิริยะอุสาหะอย่างในการพัฒนาจิตใจ จนได้รับรางวัลผู้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา คือ ธรรมจักรทองคำ ในด้านเผยแผ่พระศาสนาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2537

อีกทั้งหลวงตาพวงยังได้นำความเจริญมาสู่ศรีธรรมาราม จากเดิมมีที่ดินเพียง 3 ไร่ ปัจจุบันมีที่ดินกว่า 100 ไร่ ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย อาทิ สร้างหอไตร กุฏิพระสงฆ์จำนวน 33 หลัง ถนนคอนกรีตภายในวัด บูรณะอุโบสถ บูรณะศาลาการเปรียญ บูรณะหอไตร เป็นต้น จนได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. 2528 และยกฐานะเป็นวัดอารามหลวงในปี พ.ศ. 2532

26. สร้างวัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 หลวงตาพวงได้กลับมาบ้านศรีฐาน บ้านเกิดของท่าน ได้ดำริที่จะสร้างวัดที่บ้านนิคม ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว เพื่อให้ชาวบ้านได้พึ่งพิง

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม บ้านนิคม ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร แห่งนี้ จากเดิมมีที่เพียงป่าช้าบ้านนิคมที่รกร้างมานานเพียง 10 ไร่ ปัจจุบันสามารถขยายออกไปได้กว่า 80 ไร่ ด้วยบารมีของท่าน ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ก็ติดตามมาที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนารามเพื่อช่วยท่านพัฒนาวัดแห่งนี้ ได้เงินเพื่อใช้ในการสร้างวัดกว่า 7 ล้านบาท ท่านพาชาวบ้านตัดถนน ต่อไฟฟ้า นำความเจริญมาสู่มาตภูมิของท่านเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังพาชาวบ้านเข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติธรรม พัฒนาจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งของชาวบ้านแถบนั้น

ถึงแม้ว่าท่านจะดำรงสมณศักดิ์ถึงระดับท่านเจ้าคุณพระราชธรรมสุธี รองเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) อายุของท่านกว่า 75 ปีแล้ว ท่านก็ยังนำพาพระเณรในวัดบิณฑบาตทุกเช้าเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังดูแลความเรียบร้อยภายในวัด ดูแลการก่อสร้างต่างๆ ด้วยตัวของท่านเองมิได้ขาด ท่านเป็นพระเถรานุเถระผู้ใหญ่ที่ทำงานหนักโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเป็นแบบอย่างที่ดีกับพระเณรรุ่นต่อๆ มาเป็นอย่างดี

27. ฝ้ายเจ็ดสีและวัตถุมงคล

นอกจากปฏิปทาและจริยวัตรอันงดงามของหลวงตาพวงและการถือปฏิบัติตามแนวทางสายพระป่าของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น อันที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว ยังมีฝ้ายเจ็ดสีและวัตถุมงคลของหลวงตาอีกอย่าง ที่เป็นที่ศรัทธาและรู้จักของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มิใช่เพียงแต่ชาวยโสธรเท่านั้น ชื่อเสียงของฝ้ายเจ็ดสีและวัตถุมงคลของหลวงตาขจรกระจายไปทั่วทุกสารทิศ มีญาติโยมหลั่งไหลมามิได้ขาด

ความเป็นมาของฝ้าย 7 สีซึ่งคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้นมีความเป็นมาตั้งแต่ 6-7 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านใน ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ประกอบด้วยหมู่บ้านสิงห์ หมู่บ้านหนองขอน หมู่บ้านหนองเยอ หมู่บ้านนาสีนวล มีผีปอบ (หมายถึงบุคคลที่มีวิชาคาถาอาคม แต่ไม่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม แล้วเกิดร้อนวิชา) มารังควาน ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง จึงพากันมาหาหลวงตาพวง โดยชาวบ้านไปซื้อด้ายสายสิญจน์ จากตัวเมืองยโสธรเพื่อให้หลวงตาแผ่เมตตาให้ แล้วนำไปผูกข้อมือบ้าง ผูกคอบ้าง ผูกตามบ้านเรือนบ้าง ชาวบ้านชุดแรกๆ ที่ได้ไป ร่ำลือกันว่าสามารถป้องกันผีปอบได้ ต่อมาเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปก็มีญาติโยมมาขอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไม่นานนักชาวบ้านในตำบลสิงห์ เกือบทุกบ้านได้สายสิญจน์จากหลวงตาไป ผลที่สุดคนที่ถูกหาว่าเป็นปอบก็เสียชีวิต หลังจากนั้นมาก็ไม่มีผีปอบมารบกวนชาวบ้านอีกเลย เมื่อข่าวสะพัดออกไปอีก ชาวบ้านหมู่บ้านและตำบลอื่นๆ ก็เริ่มหลั่งไหลมาขอฝ้ายเจ็ดสีกันมิได้ขาด บางคนก็ขอให้ผูกข้อมือให้ ซึ่งการผูกข้อมือแต่ละคนต้องเสียเวลามาก ถ้าหากมีญาติมาพร้อมกันมากๆ ก็ยิ่งเสียเวลานาน เพราะหากคนหนึ่งได้รับการผูกข้อมือจากหลวงตาแล้ว คนอื่นๆ ก็อยากได้บ้าง ด้วยเหตุนี้ลูกศิษย์ของท่านจึงเห็นว่าการผูกด้ายสายสิญจน์เสียเวลานาน จึงได้นำเชือกไนลอนที่มีเจ็ดสีมาถวาย เพราะไนลอนเจ็ดสีนั้นสามารถทำเป็นวงๆ สำเร็จรูปไว้ก่อน เมื่อญาติโยมมาขอก็แจกได้เลยโดยไม่เสียเวลา

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ฝ้ายเจ็ดสีเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็เพราะเหตุว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งป่วยหนัก เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย ใกล้จะเสียชีวิตเต็มที ญาติได้มาขอฝ้ายเจ็ดสีจากหลวงตาไปผูกข้อมือเพื่อเป็นสิริมงคล แต่หลังจากนั้นอีก 3-4 วันคนป่วยคนนั้นก็เสียชีวิต ญาติจึงได้นำศพไปบำเพ็ญกุศล และนำไปเผา ปรากฏว่าศพไม่ไหม้ แม้ว่าจะใช้เวลาเผานานพอสมควรโดยใช้ถ่านถึงสองกระสอบแล้ว ศพก็เพียงแต่ดำเป็นตอตะโก ญาติของผู้ตายไม่ทราบจะทำอย่างไร นึกได้ว่าก่อนเผา ลืมถอดฝ้ายเจ็ดสีจากข้อมือศพ จึงได้มานิมนต์ หลวงตาพวงไปเผา หลวงตาก็รับนิมนต์ไปเผาให้ และให้นำถ่านมาอีกหนึ่งกระสอบ หลวงตาบอกว่า “ถ้าเผาไม่ไหม้เมื่อถ่านหมดกระสอบนี้แล้ว ก็ให้นำศพไปลอยแม่น้ำชีให้ปลากิน” แต่ทว่าในที่สุดศพก็ไหม้เป็นที่เรียบร้อย

ญาติของผู้ตายเลยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ ว่าฝ้ายเจ็ดสีของหลวงตาพวงยิงไม่เข้า เผาไม่ไหม้ เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปก็มีญาติโยมมาขอฝ้ายเจ็ดสีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีปัจจัยเพียงพอในการซื้อฝ้ายเจ็ดสีมาแจก

ในที่สุดบรรดาลูกศิษย์จึงต้องขออนุญาตหลวงตานำฝ้ายเจ็ดสีไปจำหน่ายเพราะต้องการทุนมาทำต่อไปให้เกิดการหมุนเวียน จวบจนปัจจุบันฝ้ายเจ็ดสีที่ได้แจกจ่ายไปมีเป็นจำนวนมากเทียบได้กับจำนวนบรรทุกของรถสิบล้อ 2-3 คันในช่วงเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ผู้ได้รับฝ้ายเจ็ดสีประสบด้วยตนเองจนร่ำลือต่อๆ กันไปแต่มิได้บันทึกไว้ ณ ที่นี้

ในส่วนของวัตถุมงคลอื่นๆ นั้น ก็มีเหรียญรุ่นแรกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 ในวาระโอกาสฉลองพัดยศ ในครั้งนั้นท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูอมรวิสุทธิ์ ซึ่งมีประมาณสองพันเหรียญเท่านั้น ส่วนเหรียญรุ่นที่สองสร้างในช่วงที่หลวงตาพวงกำลังบูรณะวัดศรีธรรมาราม ซึ่งต้องใช้ปัจจัยเป็นจำนวนมากในการว่าจ้างรถดินมาถมที่ลุ่มน้ำท่วมขังภายในวัด ส่วนรุ่นอื่นๆ หลวงตาก็พิจารณาสร้างตามความจำเป็นเท่านั้น และทุกๆ ครั้งที่พยายามสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องวัตถุมงคลหลวงตามักไม่ให้ความสำคัญและเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นเสมอๆ ในส่วนประวัติการสร้างวัตถุมงคลรุ่นอื่นๆ ขณะนี้ลูกศิษย์ของท่านกำลังรวบรวมจัดพิมพ์อยู่ซึ่งแต่ละรุ่นที่สร้างก็มีที่มาและเหตุผลต่างๆ กันไปตามเหตุและปัจจัย

ผู้เขียนทราบอยู่เพียงรุ่นเดียวที่ท่านดำริให้ทำเอง คือ เหรียญรูปไข่รุ่นที่ทำไปแจกคณะศรัทธาญาติโยมในพิธีพุทธาภิเษกพระประธาน วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 จำนวนห้าพันเหรียญ ซึ่งแจกให้กับผู้ร่วมพิธีหมดในวันนั้นนั่นเอง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 22 เม.ย. 2010, 15:51, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ


28. หลวงพ่อคูณกล่าวถึงหลวงตาพวง

ชื่อเสียงของ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยทั่วประเทศเพราะด้วยปฏิปทาที่เรียบง่ายสมถะและเมตตาแก่ทุกๆ คนที่ไปหา มิใช่แต่ชาวนครราชสีมาที่เลื่อมใสและศรัทธาท่าน ชาวยโสธรเองก็เช่นเดียวกันที่เลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติ และพากันไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งขอวัตถุมงคลเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ มิได้ขาด

แต่ทุกๆ ครั้งที่ชาวยโสธรไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณนั้น หากท่านทราบว่าเป็นชาวยโสธรแล้วท่านจะไม่ยอมให้วัตถุมงคล และบอกว่าให้กลับไปเอาที่ยโสธร ท่านมักจะพูดว่า “ที่ยโสธรมีคนเก่งกว่ากูอีก ผมหงอกๆ ขาวๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำชีนั่นแหละ”

เมื่อสัมภาษณ์หลวงตาพวงถึงเรื่องนี้ ท่านก็เล่าให้ฟังว่า “ก็เคยได้ยินมาจากญาติโยมหลายสิบคนแล้ว ที่เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าเมื่อชาวยโสธรไปกราบหลวงพ่อคูณ ท่านมักจะไล่กลับมาหาหลวงตา”

“หลวงตาเองก็ไม่เคยได้พูดคุยกับหลวงพ่อคูณสักครั้งเดียว หลวงตาก็เคยไปวัดบ้านไร่มาสองครั้ง แต่ไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกับท่านเพราะมีญาติโยมเป็นจำนวนมากจึงไม่มีโอกาสพูดคุยกัน หลวงพ่อคูณจะทราบได้อย่างไรก็ไม่ทราบหรืออาจเป็นเพราะมีลูกศิษย์เล่าให้ฟังถึงประวัติหลวงตากระมัง”

29. เดินข้ามแม่น้ำชี

มีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชาวบ้านแถบลำน้ำชีอันเป็นที่ตั้งของ วัดศรีธรรมารามซึ่งหลวงตาพวงเคยจำพรรษาอยู่ ฝั่งตรงข้ามของวันศรีธรรมารามเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตของอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ชาวบ้านเล่ากันว่ามีคนออกไปเก็บกับดักหนูที่ดักไว้ในช่วงเช้ามืดได้เห็นหลวงตาพวงออกเดินบิณฑบาตโดยเดินบนแม่น้ำชีจากวัดศรีธรรมารามไปบิณฑบาตในหมู่บ้านฝั่งอำเภอพนมไพร

คุณสมจันทร์ โพธิศรี อยู่บ้านเลขที่ 68 บ้านกุดกุง (คุ้มหนองแสง) ต.เขื่อนคำ อ.เมือง จ.ยโสธร เล่าให้ฟังเป็นภาษาอิสานว่า “เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538-2539 เช้าวันหนึ่งข่อยไปดักหนูป่าแมะ ได้เห็นหลวงตาพวงเพิ่นเดินข้ามแม่น้ำชีไปแมะ ข่อยนี้แหละเป็นผู้เห็นท่านเองเลย” (คัดจากหนังสือโลกทิพย์)

เมื่อถามเรื่องนี้กับหลวงตา หลวงตาก็ตอบว่า “เป็นเรื่องของเขาเห็นปรากฏในสายตา หลวงตาไม่ค้าน ไม่ได้ปฏิเสธ เขาคงเห็นด้วยสายตาของเขา จะเล่าลืออย่างไร หลวงตาไม่ได้พูด ไม่ได้อวดอะไร” แล้วหลวงตาก็เปลี่ยนเรื่องพูดถึงเรื่องหมู่บ้านในฝั่งอำเภอพนมไพรว่า "หลวงตาก็รับนิมนต์ไปสวดหรือไม่ก็ฉันที่หมู่บ้านฝั่งนี้เป็นประจำทุกวันออกพรรษาชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ก็พากันมามอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ มากราบขอพรเพราะพวกเขาไม่มีที่พึ่งในหมู่บ้าน เขาจึงมาพึ่งหลวงตา เมื่อมีการงานอะไรพวกเขาก็มาช่วยเสมอๆ แม้แต่มาอยู่ที่วัดป่าใหม่นิคมพัฒนาราม พวกเขาก็ยังมา”

อภินิหารพระครูฟ้ามืด

30. พระครูฟ้ามืด

หมู่บ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ตามประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวศรีฐานเหล่านี้ได้อพยพหนีภัยสงครามเมื่อเกิดศึกจราจลที่นครเวียงจันทร์ ชาวศรีฐานนี้ได้รวมมากับขบวนของพระวอและพระตา มีประชาชนพร้อมทั้งพระสงฆ์รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มาตั้งชัยภูมิอยู่ที่เมืองหนองบัวลำภู ประมาณปี พ.ศ. 2315 พระเจ้าสิริบุญสาร เจ้ามหาชีวิตของลาว ผู้ครองนครเวียงจันทร์ได้มีบัญชาให้กองทหารกวาดล้างกลุ่มชนที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ด้วย กลุ่มชนเหล่านี้จึงได้ต่อสู้บ้างถอยบ้างลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงดอนมดแดงก็ได้เป็นบ้านเป็นเมืองคือจังหวัดอุบล ฯ และเมื่อถึงที่ใดที่มีชัยภูมิดีมีแหล่งทำมาหากินก็จะได้ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองไปเรื่อยๆ ส่วนขบวนของท่านพระครูอังวะและท่านพระครูฟ้ามืดนี้ได้พากันตั้งทัพอยู่ที่ชายป่า ได้เรียกว่าหนองทัพมาจนทุกวันนี้ โดยได้ใช้วัดดงศิลาเลขเป็นศูนย์กลาง (แสดงว่าวัดดงศิลาเลขนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว)

เมื่ออยู่มาหลายปี เกิดอุทกภัยและภูติผีปีศาจรบกวน จึงพากันอพยพขึ้นมาบนที่ดอนที่ใกล้เคียงกัน เรียกว่า บ้านศรีฐาน ตามชื่อชุมชนเดิมของตนที่อยู่นครเวียงจันทร์ ประเทศลาว ได้สร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและศูนย์รวมยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชน ให้ชื่อตามวัดเดิมของตนคือ วัดศรีษะเกศ (ในปัจจุบันคือ วัดศรีฐานใน) จะสังเกตได้ว่าสิ่งปลูกสร้างภายในวัดนั้นไม่ว่าจะเป็นโบสถ์หรือเจดีย์ของหลวงปู่ฟ้ามืดองค์ก่อนนั้น ล้วนแต่เป็นศิลปะของลาวทั้งสิ้น รวมทั้งการแต่งกายก็จะเป็นลักษณะของชาวเวียงจันทร์ คือ ผู้หญิงจะเกล้าผม นุ่งผ้าซิ่นลายมัดหมี่ มีเชิงทั้งบนและล่าง ดังนั้น หลวงปู่ฟ้ามืดนี้คงเป็นชาวลาวที่อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว จึงได้นำลูกหลานปลูกบ้านแปลงเมืองขึ้นมา คือ หมู่บ้านศรีฐาน นี้เอง

พระครูฟ้ามืด ตามประวัติที่เล่าติดต่อกันมา ท่านมีความรู้ในด้านไสยศาสตร์และจิตศาสตร์ รู้วาระจิตของคนอื่น และสามารถรู้ภาษาสัตว์ต่างๆ เช่น รู้ภาษาของนก เป็นต้น ตัวอย่างคือ ในวันพระท่านมักจะเอาขันตักน้ำ แล้วท่านจะไปนั่งสาธยายมนต์อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์ ไม่นานนักก็มีนกชนิดต่างๆ บินมากินน้ำที่ขันของท่านถืออยู่ เมื่ออิ่มแล้วก็จะบินจากไป

บางครั้งท่านยังใช้สามเณรนำขันตักน้ำมาถวายท่าน แล้วท่านก็จะให้สามเณรนั่งอยู่ข้างหลังของท่านๆ ก็จะสาธยายมนต์เช่นเดิม ขณะที่นกบินลงมากินน้ำที่ขันของท่านที่ถืออยู่ ท่านก็จะถามสามเณรว่า เมื่อนกตัวนี้กินน้ำอิ่มแล้ว มันจะบินไปทางไหน เมื่อสามเณรตอบว่าไม่ทราบ ท่านก็จะบอกเองว่านกมันจะไปทางนั้น แล้วนกจะบินไปตามที่ท่านชี้บอก

อีกประการหนึ่งในวันตรุษสงกรานต์ในหน้าร้อน ตามประเพณีนิยมเมื่อถึงวันตรุษสงกรานต์นี้ ทายกทายิกาชาวบ้านทั้งหนุ่มและสาว พร้อมทั้งคนแก่เฒ่า จะพากันน้ำเอาน้ำอบน้ำหอมไปสรงพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ เมื่อเสร็จแล้วจะนำน้ำอีกส่วนหนึ่งไปสรงท่านพระครูฟ้ามืดและพระเถระอื่นๆ ท่านพระครูฟ้ามืดก็จะแสดงอภินิหารทำให้ท้องฟ้ามืดลงราวกับกลางคืน ทั้งๆ ที่เป็นกลางวันเฉพาะในบริเวณวัด ชาวบ้านจึงได้เริ่มเรียกชื่อของท่านเอาตามนิมิตที่ได้เห็นนั้น จึงได้เรียกว่า พระครูฟ้ามืด มาจนทุกวันนี้ แต่ชื่อเดิมของท่านนั้นไม่ทราบชื่ออย่างไร

บางคราวท่านไปกิจนิมนต์นอกวัดหรือไปที่วัดอื่นซึ่งเป็นระยะทางไกล พระครูฟ้ามืดท่านจะเดินออกจากหมู่บ้าน พอพ้นเขตหมู่บ้านที่เป็นที่ลับตาคนแล้ว ท่านจะเอาผ้าอาบน้ำมาเสกคาถาเป่าลงที่ผ้าอาบน้ำ แล้วท่านจะเอามือลูบอีก 3 ครั้ง ผ้าอาบน้ำก็จะกลายเป็นเสือโคร่งตัวใหญ่ขนาด 8 ศอก ท่านก็จะขึ้นขี่เป็นพาหนะ พอไปใกล้หมู่บ้านที่ท่านมีกิจนิมนต์มา ท่านก็จะลงจากหลังเสือ แล้วจะเอามือลูบหลังเสือ 3 ครั้ง เสือตัวนั้นก็จะกลับมาเป็นผ้าอาบน้ำเหมือนเดิม ตามที่เล่ามานี้ข้าพเจ้าก็ได้ยินจากปู่ ย่า ตา ยาย คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าให้ฟัง จะเท็จจริงอย่างไรก็ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณเอาเอง

การที่ข้าพเจ้าได้เล่าประวัติของพระครูฟ้ามืด ก็เพราะท่านเป็นพระเถระที่มีความสำคัญ และเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีฐานในที่พิเศษกว่าเจ้าอาวาสองค์อื่นๆ หลวงปู่พระครูฟ้ามืดนี้ท่านก็ได้มรณภาพในเพศสมณะ เป็นไปตามวัฏสงสารของธรรมชาติ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ศิษยานุศิษย์ก็ได้ช่วยกันจัดการฌาปนกิจอย่างสมเกียรติ

31. การสร้างเจดีย์

เมื่อพระครูฟ้ามืดมรณภาพแล้ว ก็เป็นการสูญเสียพระเถระที่สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งศิษยานุศิษย์และบรรดาผู้ที่มีความเคารพเลื่อมในในตัวของท่านพระครูฟ้ามืด ได้มีความคิดที่สร้างเจดีย์ไว้เป็นที่บรรจุอัฐิของท่านพระครูฟ้ามืดเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้สักการะบูชา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน เมื่อสร้างเจดีย์ก็ได้บรรจุอัฐิ พร้อมกับสิ่งของที่มีค่าบรรจุไว้เพื่อเป็นการบูชาท่านพระครูฯ และเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

เจดีย์ที่บรรจุอัฐิของท่านพระครูฟ้ามืดนั้น ได้สร้างอภินิหารมากมาย เช่น เมื่อเทศกาลการทำบุญเทศน์มหาชาติ หรืองานบุญบั้งไฟ ชาวบ้านได้จัดขบวนแห่ด้วยช้าง ด้วยม้า ถ้ามีการแห่เวียนรอบไปด้านหลังอุโบสถข้างเจดีย์พระครูฟ้ามืดแล้ว ช้างม้าเหล่านั้นจะไม่ยอมเดินต่อไปแม้จะเฆี่ยนตีเท่าไร ช้างม้าก็จะไม่ยอมเดินต่อไป ก็จะมีแต่เดินไปทางอื่น จะไม่ยอดเดินผ่านเจดีย์ เคยมีชาวบ้านได้เอาปืนไปทดลองยิงข้ามเจดีย์ เมื่อยิงแล้วกระสุนไม่ยอมออก กลายเป็นกระสุนด้าน แต่ถ้าหันปลายกระบอกปืนไปทางอื่น ปืนก็จะยิงออกตามปกติ แล้วหันปากกระบอกปืนมาทางเจดีย์ยิงแล้วปืนก็จะไม่ลั่นเหมือนเดิม

เจดีย์นี้จึงเป็นที่เคาระนับถือของชาวบ้านศรีฐานและชาวบ้านแถบนั้น เป็นที่สักการะบูชาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การสักการะตามวันสำคัญของศาสนา การขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ชาวบ้านได้อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอในสิ่งที่ตนต้องการ เจดีย์องค์นี้ถือว่า มีความสำคัญต่อชาวบ้านศรีฐานและชาวบ้านใกล้เคียง นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

32. เจดีย์ล้ม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2507 ตรงกับวันอังคาร แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง ได้เกิดพายุโซนร้อนพร้อมทั้งฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน พายุฝนได้พัดกระโชกเอาองค์เจดีย์หักพังสลายล้มลงทั้งองค์ โดยไม่มีส่วนติดต่อกันได้เลย อนิจาวตฺสังขารา ในโลกนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นสังขารแล้วหาความยั่งยืนไม่มี จะเป็นสังขารที่มีใจครอบครองหรือเป็นสังขารที่ไม่มีใจครอบครองก็ตาม ย่อมจะแตกดับพังสลายกลายเป็นดินไม่วันใดก็วันหนึ่ง

เจดีย์หลวงปู่พระครูฟ้ามืดนี้ ฐานกว้าง 4 เมตร สูงจากพื้นจนถึงฉัตร 8.50 เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูน สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ได้คำนวณมาจากจารึกที่พบที่ฐานพระพุทธรูปเงินองค์หนึ่งที่ขุดได้จากฐานเจดีย์ เมื่อคำนวณจากคำจารึกตั้งแต่ปี พ.ศ. ที่สร้างมาจนถึงปีที่ขุดได้มีอายุ 407 ปี นอกจากนั้นไม่ชัดเจนเนื่องจากลบเลือนมาก

33. ขุดค้นเจดีย์

เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2507 ข้าพเจ้าพร้อมด้วยทายกทายิกาชาวบ้านศรีฐาน นำโดยผู้ใหญ่เศียร วระพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน (ในขณะนั้น) มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องตรวจค้นองค์เจดีย์ที่ล้มลง เพื่อตรวจดูสิ่งของที่บรรจุไว้ ถ้าปล่อยเอาไว้กลัวว่าจะมีคนมาลักลอบขุดค้นขโมยของไปเสียก่อน จึงได้ทำการขนย้ายเอาก้อนอิฐและดินออก แล้วขุดลงไปในบริเวณฐานรากเจดีย์

เมื่อขุดลงเสนอพื้นดินเดิม ก็ได้พบแผ่นหินปิดปากหลุมขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร ครั้นขุดเอาแผ่นหินที่ปิดอยู่ออกแล้ว ปรากฏว่าเป็นหลุมขนาดคนลงไปได้ ได้ค้นดูพบพระพุทธรูป 10 กว่าองค์ พร้อมทั้งสิ่งของอีกมากมาย แต่ได้กลายเป็นเหยื่อของปลวกและเปื่อยกลายเป็นดินเสียสิ้น ไม่เป็นชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ เมื่อรื้อหลุมบนออก จะพบกับแผนหินอีกแผ่นหนึ่งซึ่งรองอยู่ข้างล่างหลุมบน

เมื่อขุดเอาแผ่นหินขึ้นมาก็พบไหที่มีขันสัมฤทธิ์ปิดครอบปากไห รอบๆ ไหมีดินทรายล้วนๆ ที่มีสีขาวบริสุทธิ์กลบไว้ เมื่อขุดไหขึ้นมาเปิดดูก็พบกับพระเงินจำนวน 200 กว่าองค์ ส่วนอัฐิของหลวงปู่พระครูฟ้ามืด ได้อยู่พื้นล่างโดยเอาไหทับเอาไว้ นี่คงจะเป็นความประสงค์ของหลวงปู่ฟ้ามืดที่ได้ดลบันดาลให้พวกเราทั้งหลายได้พบ และเป็นการที่จะเสริมบารมีของท่านอีกทอดหนึ่งและสิ่งของที่ได้พบภายใต้ฐานเจดีย์นี่ก็มีจำนวนมากมาย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 27 เม.ย. 2010, 05:15, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย)


34. สร้างเจดีย์องค์ใหม่

เมื่อเจดีย์องค์เก่าได้หักพังลง ข้าพเจ้าจึงได้ประชุมปรึกษาหารือคณะกรรมการและชาวบ้าน ได้มีมติให้สร้างเจดีย์ขึ้นทดแทนองค์เก่าที่ได้พังสลายลง เพื่อเป็นที่สักการะและเพื่อบรรจุสิ่งของที่มีค่าที่ขุดขึ้นมาได้

การก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้างวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 เจดีย์องค์นี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นรูปทรงเจดีย์ย่อไม่สิบสอง มีซุ้มประตูเข้าภายในเจดีย์ 1 ซุ้ม ภายในเจดีย์เป็นที่โล่ง มีแท่นสำหรับตั้งพระประธานไว้เป็นที่สักการบูชา เจดีย์มีฐานกว้างด้านละ 6 เมตร 40 เซนติเมตร สูง 21 เมตร สิ้นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน) รวมเวลาในการก่อสร้าง 11 เดือน

ทุนทรัพย์ที่ใช้สร้างเจดีย์นี้ได้มาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาร่วมใจกันสมทบทุนในการก่อสร้าง พ.ศ. 2520 พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ได้นำพระสารีริกธาตุมาบรรจุที่เจดีย์ มีประชาชนมาร่วมในพิธีครั้งนี้เป็นหมื่นๆ คน นับเป็นประวัติการณ์และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง มีนายพีระศักดิ์ สุขสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร คนที่ 2 เป็นประธานในพิธี

35. นิมิตก่อนงานฉลองเจดีย์

ก่อนงานฉลองเจดีย์ 5 วัน ข้าพเจ้าได้เกิดนิมิว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่งเดินเข้ามาหาข้าพเจ้าแล้งท่านก็บอกว่ามีพระพุทธรูปฝังไว้ที่หลังโบสถ์ ข้างเคียงกับเจดีย์ที่หักลง มีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากไม่สามารถบอกจำนวนได้ เมื่อท่านได้บอกแล้วพระภิกษุรูปนั้นก็หายไปทันที เมื่อข้าพเจ้าตื่นจากนิมิตก็ได้พิจารณานิมิตว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ยังสงสัยอยู่ เมื่อรุ่งเช้าก็ได้สอบถามกับทายกทายิกาเรื่องการขุดค้นเจดีย์ว่า เอาสิ่งของขึ้นมาหมดหรือไม่ และที่ข้างเคียงได้ขุดดูหรือยัง ทายกทายิกาเหล่านั้นก็ได้ตอบว่า ได้ขุดเอาขึ้นมาหมดแล้ว ตั้งแต่เจดีย์ยังไม่ล้ม ข้าพเจ้าจึงไม่สงสัยอีก

36. หลวงปู่พระครูฟ้ามืดเข้าประทับทรง

เมื่อได้จัดงานฉลองเจดีย์ คือวันที่ 12-13 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นงานสมโภชองค์เจดีย์ใหม่เป็นเวลา 3 วัน พอวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2511 ในตอนเช้า นางทรัพย์ ไวว่อง ภรรยาของนายทอง ไวว่อง (อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านศรีฐาน) ได้แสดงอาการโกรธกริ้วกำหมัดกัดฟันต่อว่าข้าพเจ้าและชาวบ้านว่าทำอะไรก็ไม่บอกไม่กล่าว ทำล่วงเกินไม่มีสัมมาคารวะ ไม่รู้จักทางขึ้นทางลง

ชาวบ้านเข้าไปถามว่าทางขึ้นทางลงคืออะไร นางทรัพย์ก็บอกว่า ทางขึ้นคือปีใหม่ตรุษสงกรานต์ ทางลงคือวันเพ็ญเดือน 3 เป็นต้นปีและท้ายปี นางทรัพย์บอกว่าต้องจัดเครื่องสักการะเพื่อเป็นการคารวะ นางทรัพย์ยังได้ต่อว่าข้าพเจ้าและชาวบ้านว่าละทิ้งฮีดสิบสองครองสิบสี่ ละทิ้งมาหลายปีแล้วไม่มีการทำบุญให้ทาน จัดงานขึ้นที่วัดก็ไม่บอกเล่า แล้วยังบอกว่า กูจะบิดท้องบิดไส้ให้สูตายทั้งบ้านทั้งวัด แต่กูก็ยังสงสารอยู่ตรงว่าจะไม่มีใครรักษาวัดวาอาราม ผู้คนที่ได้ยินต่างก็พากันขนลุกขนพอง จึงนึกถึงตอนเจ็บท้องในคืนนั้น คงเป็นเพราะท่านได้เตือนให้รู้สึกตัว ก็คือตอนกลางคืนนั้นภายในวัดทั้งภิกษุสารเณร ตลอดจนทายกทายิกาที่อยู่ภายในบริเวณวัด ต่างก็มีอาการเจ็บท้องกันแทบทุกคน ข้าพเจ้าคิดว่าคงเป็นเพราะกินอาหารแสลง ข้าพเจ้าเอง ก็รู้สึกปวดท้องเหมือนกัน แต่ก็ยังได้วิ่งหายาในตู้ยามาแจกแก่คนอื่นๆ จนยาไม่พอที่จะแจก ต่างก็พากันบ่นนานาประการ

ครั้นสว่างเป็นวันใหม่ ทุกคนก็หาย ไม่ถึงกับเป็นอันตราย บางคนไม่ได้กินยาอะไรก็หายไปเอง แล้วตัวแม่ทรัพย์เองได้บอกว่า ตัวท่านคือผู้เป็นใหญ่อยู่ในขอบเขตบริเวณบ้านศรีฐาน มีนามว่าหลวงปู่ฟ้ามืด เมื่อเป็นดังนั้น ชาวบ้านที่อยู่ในที่นั้นต่างก็พากันวิตกหวาดกลัว ต่างหาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาลาโทษและจะยอมปฏิบัติตามทุกอย่าง ครั้งแรกท่านไม่ยอมรับขันที่ขอขมา ท่านได้บอกว่าให้ชาวบ้านไปหาผู้มารับใช้ปฏิบัติท่านในเวลามีเทศกาลมีงาน จะได้ให้คนที่ท่านพอใจไปขอขมาโทษหรือไปบอกเล่าเก้าสิบให้ท่านทราบเสียก่อน

มีชาวบ้านคนหนึ่งถามว่า ท่านจะเอาใครเป็นผู้ปฏิบัติรับใช้ หลวงปู่พระครูฟ้ามืดในร่างทรงได้บอกว่าพวกสูไม่รู้หรือว่าใครเป็นผู้มีศีลมีธรรม ผู้ถามก็ได้ถามอีกว่าใครมีศีลมีธรรมละ ท่านพระครูฟ้ามืดก็ได้ด่าเป็นการใหญ่ แล้วคณะชาวบ้านก็ได้เสนอชื่อบุคคลที่จะได้เป็นผู้ปฏิบัติรับใช้เป็นรายๆ หลายสิบคน ท่านบอกว่าท่านไม่ชอบ พอเอ่ยชื่อคนที่ท่านชอบคือ ข้าพเจ้า * ท่านก็ได้พยักหน้าให้แล้วก็ล้มนอนลงไปประมาณ 15 นาที ก็ลุกขึ้นมาพูดในทำนองบอกสอนเป็นเวลานานพอสมควร

37. เข้าทรงครั้งที่ 2

ชาวบ้านได้จัดหาพานดอกไม้ใหม่ตามที่ท่านได้แนะนำ โดยให้จัด 2 ที่ เมื่อนำมาแล้วได้เป็นที่ถูกใจอย่างมากและได้สูดดมดอกไม้เหล่านั้นอย่างพอใจ หลวงปู่ฟ้ามืดได้เข้าทรงร่างของแม่ทรัพย์เป็นเวลานานพอสมควร นับตั้งแต่เวลาฉันภัตตาหารเช้าจนกระทั่งถึงเวลาฉันภัตตาหารเพล จนกระทั่งไปชี้บอกที่จะให้ขุดเอาพระขึ้นมา จึงได้ออกจากร่างของแม่ทรัพย์ ไวว่อง

เมื่อหลวงปู่ฟ้ามืดออกจากร่างแม่ทรัพย์แล้ว จึงได้ลืมตาขึ้นมองหน้ามองหลังเห็นมีคนมุงล้อมรอบตัวเองอยู่ ก็มีความอาย จึงได้ลุกออกไปจากที่ชุมชนนั้นอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดความอายว่าทำไมตัวเองจึงมาอยู่ท่ามกลางหมู่ชนในสถานที่แห่งนี้

38. พิธีจัดเครื่องสักการะ

เมื่อถึงวันสำคัญดังที่หลวงปู่ฟ้ามืดบอกไว้แล้ว ข้าพเจ้าและชาวบ้านได้จัดเตรียมเครื่องสักการะ คือเป็นพานดอกไม้ 2 พาน ที่มีจำนวนเครื่องสักการะต่างกัน คือ มีจำนวนดอกไม้ธูปเทียน 5 คู่ 1 พาน มีดอกไม้ธูปเทียนจำนวน 8 คู่ 1 พาน ชาวอีสานเรียกว่า ขัน 5 ขัน 8 ดอกไม้เป็นดอกบั่นทดและได้จัดอาหารที่เป็นขนมหวาน 1 สำรับ และได้จัดสำรับกับข้าวถวายพระประธานในโบสถ์เป็นประจำ

เมื่อหลวงปู่ฟ้ามืดมาเข้าทรงแม่ทรัพย์ ไวว่องอีกก็ยังดุข้าพเจ้าและชาวบ้านเหมือนเดิม ว่าไม่เอาใจใส่ของเก่าของแก่ ชาวบ้านก็พากันสงสัยได้ถามต่อไปว่าของเก่าของแก่ที่ว่านั้นคืออะไร ท่านจึงได้บอกว่าอยู่ที่หลังพระอุโบสถฝังไว้ที่เสาสั้นๆ ข้าพเจ้าจึงนึกได้ว่าสถานที่ๆ ท่านบอกนั้น ได้ตรงกับนิมิตก่อนที่จะได้จัดงานฉลองเจดีย์ ก็คือในนิมิตว่ามีพระสงฆ์มาบอกให้ไปขุดเอาพระที่อยู่หลังอุโบสถแล้วพระองค์นั้นก็หายไป

คราวนี้หลวงปู่ฟ้ามืดในร่างทรงของแม่ทรัพย์ได้ดุข้าพเจ้าอีกว่า กูบอกมึงแล้วไม่เชื่อ ได้มีชาวบ้านหลายคนในที่นั้นได้อ้อนวอนให้ท่านไปชี้บอกสถานที่นั้น เมื่อท่านชี้ก็ตรงกับสถานที่ที่พระบอกในนิมิตของข้าพเจ้า เมื่อท่านชี้บอกแล้วชาวบ้านก็ได้เตรียมวัสดุอุปกรณ์ขุดในทันที

เมื่อขุดได้ลึก 1 ศอก ก็ได้พบพระกัจจายนะที่สร้างด้วยศิลา สูงประมาณ 1 ฟุต จำนวน 1 องค์ ได้พบชื่อของพระสลักไว้ที่ฐานพระว่า พระองค์นี้มีนามว่าโมมา และได้ไปเข้าฝันของชาวบ้านว่า พระสังกัจจายนะองค์นี้ได้สร้างในสมัยพระนเรศวรมหาราช เมื่อขุดลงไปอีกก็ได้พบพระจำนวนมากเป็นพระปางต่างๆ วันนั้นได้สิ่งของมีค่าต่างๆ มากมาย เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วจึงได้อัญเชิญพระและสิ่งของมีค่าต่างๆ ไปไว้ในเจดีย์องค์ใหม่ที่ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในวันนั้นชาวบ้านได้พร้อมใจกันนำน้ำอบน้ำหอมมาสรงพระสิ่งของที่ขุดได้ในวันนั้น

รูปภาพ
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)


39. ได้พระประธานองค์ใหม่

ในวันเดียวกันนั้น ท่านพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพุทธิสารสุนทร อดีตเจ้าคณะอำเภอวาริชำราบ (ธรรมยุต) วัดแสนสำราญ พร้อมด้วยทายกทายิกาได้ถวายพระพุทธรูป หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว หล่อด้วยทองเหลือง ข้าพเจ้าและชาวบ้านจึงได้จัดรถไปรับมาในตอนเย็นวันนั้น ซึ่งขณะนี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พระพุทธรูปที่อยู่ใต้ดินและบนพื้นดินได้ดลบันดาลมารวมกันในวันเดียวที่สถานศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้

ในคืนวันนั้นข้าพเจ้านอนไม่ค่อยจะหลับ เพราะด้วยความปิติที่ได้พระศักดิ์สิทธิ์มาไว้สักการบูชา และยังมีความสงสัยอยู่ในใจว่าคงจะต้องมีพระพุทธรูปและสิ่งของจำนวนมากที่ฝังอยู่ในดินภายในบริเวณนั้น เมื่อรุ่งเช้าตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 ข้าพเจ้าจึงได้ให้ชาวบ้านขุดอีกทีหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับที่ขุดเมื่อวานนี้อยู่ข้างเจดีย์องค์เก่าทางทิศตะวันตก พอขุดลงไปลึกเท่ากับวันวานนี้ ก็ได้พบพระจำนวนมาก ส่วนมากจะเป็นพระผงและพระว่านเป็นพิมพ์แตกต่างกันออกไปจำนวนประมาณ 10,000 องค์ และยังได้พระศิลาอีกประมาณ 10 กว่าองค์

วันนี้ชาวบ้านได้ยินข่าวว่าได้ขุดพระขึ้นมามากมาย จึงหลั่งไหลมาทั่งจตุรทิศทั้งกลางวันและกลางคืน คณะกรรมการหมู่บ้านและของวัดจึงนำเอาพระที่ขุดมาได้ มาตั้งไว้ที่ปะรำพิธีหน้าเจดีย์องค์ใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่มา ได้เข้าชมและนำเครื่องมาสักการะบูชา ประชาชนที่ได้เข้าชมพากันอยากจะได้พระเหล่านั้นไปสักการบูชา คณะกรรมการจึงได้ประชุมกันหารือในเรื่องนี้ และได้มีมติให้มีการจัดงานสมโภชอีกคืนหนึ่ง

จึงกำหนดเอาวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2511 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 4 ก่อนวันงานสมโภช ได้จัดขบวนแห่พระพุทธรูปที่ขุดได้ แห่ไปรอบๆ หมู่บ้านต่างๆ ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2511 เข้าไปยังบ้านกระจาย บ้านหนองคู อำเภอยโสธร ในวันที่ 19-20 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้จัดขบวนแห่ไปยัง บ้านนิคม, เชียงเครือ, คำบ่อสร้าง, ม่วงไข่, ป่าติ้ว, น้ำปลีก และกลับมา การแห่พระพุทธรูปนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาและอนุโมทนาให้ได้รู้ข่าวอันประหลาดของพระอันศักดิ์สิทธิ์นี้และเป็นการบอกข่าวงานสมโภชพระด้วย

40. บันทึกเสียงไม่ติด

ครั้นเวลาต่อมา มีผู้ที่อยากจะเห็นสิ่งของและพระที่ขุดขึ้นมา โดยได้ทราบข่าวที่เล่าลือออกไป จึงอยากจะเห็นด้วยสายตาของตนเอง จะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร เมื่อเห็นแล้วจึงเกิดความปิติดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นได้พบ จึงได้นำเทปคาสเส็ทบันทึกเสียง มาขอนิมนต์ให้ข้าพเจ้าเล่าประสบการณ์ที่ขุดพระขึ้นมา ข้าพเจ้าจึงได้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขุดพระตั้งแต่ต้นโดยได้อัดเทปไปด้วย

เมื่อเล่าเหตุการณ์โดยการบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ลองเปิดดูปรากฏว่าไม่มีเสียงที่ได้บันทึกไว้ จึงได้ลองอัดบันทึกอีกสามสี่ครั้งก็ยังไม่ติด เข้าใจว่าเครื่องบันทึกเสียงคงจะเสีย จึงลองเอาวิทยุมาเปิดแล้วบันทึกเอาเสียงจากวิทยุนานพอสมควร เมื่อเปิดดูแล้วเสียงต่างๆ ที่ได้บันทึกจากวิทยุได้ดังดีตลอดไม่เสียหาย ชาวบ้านก็ได้ฟังได้เห็นในเหตุการณ์นั้นก็เป็นที่อัศจรรย์ใจและไม่กล้าที่จะบันทึกต่อไป เพราะเข้าใจว่าหลวงปู่ฟ้ามืดท่านคงไม่อนุญาตในการบันทึกเสียง

ท่านคงอยากให้ข้าพเจ้าเล่าด้วยตัวของข้าพเจ้าเองจึงจะมีคนเชื่อถือ เพราะถ้าอัดเทปไปใครอยากจะอัดบันทึกเสียงก็มีความประสงค์ว่า เวลามีคนมาถามถึงเรื่องนี้แล้วข้าพเจ้าจะได้ไม่ต้องเล่าให้เหนื่อยซ้ำๆ ซากๆ ใครอยากจะรู้ก็ให้เปิดเทปฟังก็พอแล้ว การบันทึกเสียงในครั้งนั้นจึงไม่สำเร็จตามความประสงค์

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงตาพวง สุขินฺทริโย นำพาคณะสงฆ์ออกรับบิณฑบาต


41. พิธีขุดใบเสมาที่วัดดงศิลาเลข

เมื่อขุดพระศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้แล้ว 2 วัน ข้าพเจ้าอยากได้ใบเสมาที่วัดร้างคือที่วัดดงศิลาเลข ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาช้านานแล้ว มีมาแต่โบราณ ปัจจุบันไม่มีอะไรเป็นหลักฐานหลงเหลือนอกจากใบเสมาเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นคงไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นวัดมาก่อนและบริเวณนี้ก็เป็นที่ทำไร่ทำนาของชาวบ้าน จะเหลือที่ก็คือที่ใบเสมาตั้งอยู่

ในตอนบ่ายของวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 ข้าพเจ้าก็ได้ชักชวนชาวบ้านและทายกทายิกา ทีแรกก็ชวนประมาณ 50-60 คน แต่พอไปจริงๆ ก็ประมาณ 300 คน อาจจะเป็นเพราะรุกขเทวดามาดลบันดาลให้ผู้คนไปร่วมพิธีในครั้งนั้น เมื่อไปถึงแล้วก็ได้ทำพิธีขอใบเสมาจากรุกขเทวดาผู้ปกปักรักษาใบเสมาแห่งนี้ เมื่อทำการขอแล้วก็ได้ขุดเอาไปเสมาได้ทั้งหมด 9 ใบ ในวันนั้นสามารถนำเอาใบเสมา มาที่วัดได้โดยนำขึ้นรถยนต์ได้เพียง 2 ใบก็ค่ำพอดี แล้วก็ได้จัดขบวนแห่ด้วยฆ้องกลอง กว่าจะถึงวัดศรีฐานในก็ประมาณทุ่มเศษแล้วจึงย่ำฆ้องกลองเอาชัย

ในวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าติดธุระทางวัดจึงไม่ได้ไปเอง มีทายกทายิกาและชาวบ้านไปขนเอาใบเสมาที่เหลืออยู่อีก 7 ใบ ที่ยังเอามาไม่หมด เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่ได้ทำพิธีใดๆ อีก เพราะว่าได้กระทำแล้วในวานนี้ แต่ก็ได้เอาฆ้องเอากลองไปแห่มาเหมือนเดิม มีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ นายทุย พรมบุตร บ้านนิคม มีน้องชายชื่อนายทองคำ พรมบุตร มีภรรยาอยู่ที่บ้านศรีฐานได้ป่วยมาเป็นเวลานานสันนิษฐานว่าสาเหตุที่ป่วยนั้นคือ ภูติผีปีศาจมารบกวนมีอาการพูดเพ้อละเมอต่างๆ โดยไม่รู้สึกตัว ในวันนั้นมีอาการหนัก นายทุย พรมบุตร ผู้เป็นพี่ชายได้มานิมนต์อาตมาที่วัดไปดูอาการป่วยของนายทองคำด้วย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้ร่วมในการขนย้ายใบเสมา

นายทุยได้ให้ข้าพเจ้าทำน้ำมนต์ เพื่อจะได้ประพรมให้นายทองคำ เพื่อว่าอาการป่วยจะได้ทุเลาบ้าง เมื่อข้าพเจ้าเดินทางมาถึงบ้านนายทองคำแล้ว ปรากฏว่านายทองคำได้ทุเลาจากอาการป่วยบ้างแล้ว และกำลังนั่งทานอาหารอยู่ เมื่อทานเสร็จแล้วนายทองคำได้มากราบข้าพเจ้าๆ จึงได้ถามอาการป่วยเป็นอย่างไร นายทองคำได้เล่าให้ฟังว่า ตอนที่นายทองคำนอนหลับนั้นได้มีปีศาจจำนวน 5 ตน โดยมีตัวหนึ่งเป็นหัวหน้ามีนามว่า วีระ ได้อพยพมาจากภูเขาไฟโดยมความต้องการที่จะหาผู้ไปรับใช้ จึงมาฉุดลากนายทองคำไป แต่นายทองคำก็ได้ขัดขืนต่อสู้กับพวกปีศาจ ปรากฏว่าพวกปีศาจถูกนายทองคำเตะตายไปหนึ่งตน บาดเจ็บอยู่ 2 ตน จึงเหลือที่สู้กับนายทองคำอยู่ 2 ตน และพยายามฉุดลากนายทองคำจะเอาไปให้ได้

เมื่อข้าพเจ้าสอบถามพอสมควรแล้ว จึงได้ทำน้ำพระพุทธมนต์และประพรมให้กับนายทองคำ เมื่อประพรมน้ำมนต์เสร็จแล้ว นายทองคำบอกว่าเหนื่อยจึงได้ล้มตัวลงนอน ข้าพเจ้าจึงได้มาคุยกับชาวบ้านที่ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของนายทองคำ เมื่อได้สอบถามอาการป่วยของนายทองคำกับญาติๆ ได้ประมาณ 20 นาที พอดีขบวนแห่ใบเสมา ที่มาจากวัดดงศิลาเลขเป็นเที่ยวสุดท้าย

ในวันนี้ได้ขนใบเสมา 2 เที่ยว พอขบวนแห่ใบเสมาจวนจะผ่านหน้าบ้านนายทองคำ นายทองคำซึ่งนอนหลับตาอยู่ได้พูดเป็นภาษาของพระที่ว่า อาตมามาแล้วนะโยม ได้มีชาวบ้านเป็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ตรงหน้าข้าพเจ้าเป็นคนที่ฉลาดและนึกในใจว่า ทำไมนายทองคำจึงได้ใช้ภาษาพระเช่นนี้ ก็ได้ถามขึ้นไปว่า ท่านมาจากไหน นายทองคำก็ยังได้ตอบเป็นภาษาพระสงฆ์ที่ใช้เหมือนเดิมว่า อาตมาติดตามมากับขบวนแห่ใบเสมามาตั้งแต่เมื่อวานนี้ยังไม่ได้กลับ เมื่อคืนนี้ก็พักอยู่กับท่านพระครู วันนี้เลยติดตามไปเอาใบเสมาและช่วยขนขึ้นรถจึงทำให้ไม่หนัก แต่เมื่อวานนี้ไม่ได้ช่วยยกก็เลยหนักกว่าวันนี้ อาตมาได้ติดตามมาดูว่าที่พระครูและชาวบ้านที่ได้ไปขอใบเสมาจากอาตมานั้น ท่านจะเอามาประดิษฐาน ณ ที่ใด สมควรหรือไม่ วันนี้อาตมาก็มากับขบวนแห่อีกครั้งหนึ่งคงจะยังไม่กลับ วันนี้คงค้างคืนที่วัดกับท่านพระครู อาตมาก็ได้เดินดูรอบๆ วัด ดูแล้วรู้สึกว่ากว้างขวางสะอาดสะอ้านดี

42. นอนหลับสนิทย่อมไม่มีนิมิตอะไร

พระที่เข้าทรงร่างของนายทองคำ พรมบุตร ยังได้บอกว่า เมื่อคืนนี้อาตมาได้เดินดูพระและสิ่งของมีค่าที่ขุดขึ้นมา ในปะรำพิธีที่หน้าเจดีย์ เห็นมีโยมผู้หญิงประมาณ 20 กว่าคน นอนเฝ้าพระเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด อันที่จริงแล้วนับตั้งแต่ขุดพระและของมีค่าขึ้นมา ก็ได้มีชาวบ้าน ทายกทายิกา ได้มานอนเฝ้าอยู่เป็นประจำ เพราะยังไม่ได้ถึงวันงานที่จะสมโภช และร่างทรงก็ได้พูดไปอีกว่า โยมผู้หญิงที่พากันไปเฝ้าพระและสิ่งของมีค่านั้น ไม่ได้พากันภาวนามีแต่ภาวนอน ชาวบ้านก็ได้พากันหัวเราะ แล้วโยมผู้หญิงคนนั้นก็ได้เอ่ยปากถามต่อไปว่า ท่านพระครูก็ได้มานั่งอยู่ที่นี่แล้ว ท่านอยากจะสนทนากับพระคุณเจ้าด้วย

ขณะนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า ผู้ได้มาทรงร่างของนายทองคำนั้น คงจะเป็นพระที่มาจากวัดดงศิลาเลขและเป็นเจ้าของใบเสมา ข้าพเจ้าจึงได้เอ่ยบอกว่า เกล้ากระผมรอคอยนานแล้ว ต้องการอยากจะพบและสนทนาด้วย ผู้ได้มาทรงร่างของนายทองคำก็ได้เอ่ยมาว่า จะถามอะไรก็นิมนต์เถิด เพราะผมจะรีบไปเอาใบเสมาลงจากรถ กลัวว่าญาติโยมเขาจะเอาลงไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงหรอก มาพบกันใหม่ๆ ยังไม่คุยกันเลย กระผมขอนิมนต์ท่านไว้ก่อน

ข้าพเจ้าจึงได้ถามชื่อของท่าน ท่านบอกว่าผมชื่ออาจารย์ทน ข้าพเจ้าถามต่อไปอีกว่า ท่านอยู่องค์เดียวหรือหลายองค์ขอรับ ท่านบอกว่าอยู่ด้วยกันสององค์ ชื่อว่าอาจารย์เงียบ เป็นลูกศิษย์ ข้าพเจ้าถามต่อไปอีกว่า อาจารย์มีพรรษาเท่าไหร่แล้ว ท่านบอกว่าผมมีอายุ 800 ปี พรรษาได้ 700 ส่วนองค์ที่ 2 อาจารย์เงียบ ลูกศิษย์ พรรษาได้ 500 พรรษา ท่านไม่ได้บอกอายุ เกิดอยู่ที่เมืองกลิงคลาด (เมืองพราหมณ์ทั้ง 8 ที่มาขอช้างพระเวสสันดร) เป็นคนสมัยโบราณที่สูงแปดศอก

ข้าพเจ้าได้ถามต่อไปอีกว่า วัดดงศิลาเลขเป็นวัดที่ท่านสร้างเองหรือใครเป็นผู้สร้าง ท่านตอบว่าท่านสร้างเอง จะเป็น พ.ศ. เท่าไหร่นั้นจำไม่ได้แล้ว เพราะที่จารึกไว้มันลบเลือนไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าถามต่อไปอีกว่า ที่วัดอาจารย์มีบ้านมีเมืองอยู่ไหม ท่านบอกว่ามี แต่เป็นพวกภูติผีปีศาจ ข้าพเจ้าถามต่อไปอีกว่าบ้านเมืองเขาใหญ่แต่ไหน ท่านก็บอกว่าก็ขนาดอำเภอยโสธรนั่นแหละ ท่านยังพูดต่อไปอีกว่า เขาก็มีรถขี่เหมือนกันกับมนุษย์ ไม่เห็นหรือ เวลารถเขาวิ่งไปตามทุ่งนามันมีลมและควัน ใบไม้ปลิวเป็นฝอยไปตามหลังรถของเขา ข้าพเจ้าตอบไปว่าเห็นแต่ควันไม่เห็นรถ

ข้าพเจ้าได้ถามต่อไปอีกว่า พวกปีศาจเขาไปทำบุญสุนทานกันบ้างหรือเปล่า ท่านตอบว่า เขาไม่รู้จักวัดวาศาสนาหรอก ไม่รู้จักรักษาศีลกินทาน แล้วท่านฉันอะไรเล่า ท่านบอกว่าไม่ได้ฉันข้าวมานานแล้ว ข้าพเจ้าถามต่อไปอีก ท่านไม่ฉันข้าวแล้วฉันอะไรแทน ท่านบอกว่าต้องหมั่นเสกใบไม้ฉัน ขณะนี้ซูบผอมเต็มที่แล้ว ผอมจนหัวเข่าเป็นฆ้องกลอง เนื่องจากไม่มีใครไปทำบุญทำทาน เห็นแต่พวกชาวนาพากันหาบข้าวหาบปลาไปนาไปไร่ เข้าใจว่าจะนำอาหารมาถวาย แต่แล้วก็ผ่านมาเฉยๆ

ข้าพเจ้าได้ถามต่อไปอีกว่า ทำไมท่านจึงได้อยู่ที่นั่น ท่านได้ตอบว่า เพราะเป็นห่วงสิ่งของ กลัวคนจะไปขุดเอาสิ่งของ พอได้ยินว่ามีสิ่งของยังอยู่ใต้ดิน ข้าพเจ้าได้นำสมุดพกออกมาจากย่ามเพื่อจดบันทึกไว้ แล้วข้าพเจ้าได้ถามต่อไปอีกมากเท่าไหร่ ท่านได้ตอบว่ามีจำนวน 4 ลัง ข้าพเจ้าถามอีกว่าเป็นลังไม้หรือลังอะไร ท่านตอบเป็นลังก่อด้วยอิฐ ปิดด้วยหินทำเป็นชั้นๆ ขึ้นมา ข้าพเจ้าถามท่านต่อไปอีกว่า ฝังไว้ลึกเท่าไร ท่านตอบว่าฝังไว้ลึกประมาณ 2 เมตรครึ่ง

ที่ข้าพเจ้าได้ถามนั้นก็เพราะว่าต้องการอยากจะทราบว่า พระอาจารย์ท่านที่กำลังเข้าทรงร่างนายทองคำ พรมบุตรนั้น ได้พูดจริงหรือเท็จอย่างไร ส่วนรายการสิ่งของที่จดบันทึกไว้นั้น ข้าพเจ้าไม่ได้เอามาลงในหนังสือเล่มนี้

43. กลองหมากแข้ง

สิ่งของที่ฝังไว้ในวัดดงศิลาเลขที่หลวงปู่ทน หลวงปู่เงียบเฝ้าอยู่นั้น สิ่งที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือกลองหมากแข้ง กลองใบนี้เป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ศักดา อานุภาพมาก ไปๆ มาๆ ไม่อยู่กับที่ บางทีก็ไปที่หนองหาร หนองคาย บางทีก็อยู่กับที่ บางทีก็หายไป ข้าพเจ้าจึงได้ถามว่า กลองใบนี้มีขนาดใหญ่น้อยเท่าไร หลวงปู่ทนในร่างทรงก็ตอบว่า ใหญ่เท่ากระด้ง มีความหนา 1 คืบ ข้าพเจ้าจึงถามต่อไปอีก ทำด้วยวัสดุอะไร หลวงปู่ทนตอบว่า ทำด้วยทองคำ ไม่ได้หุ้มหน้าด้วยหนังวัวอย่างกลองธรรมดาสามัญ หน้ากลองหุ้มด้วยทองคำทั้ง 2 ข้าง

ข้าพเจ้าถามว่าเคยตีบ้างหรือเปล่า หลวงปู่ตอบเคยตีในเวลาจำเป็น คือ เวลาที่มีการมีงาน จะต้องเรียกพลพยุหเสนาเรียกพลพหลโยธาให้มารวมกัน สามารถตีเอาอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าจะเอาโบสถ์เอาศาลาแล้วจะผุดขึ้นมา แต่เป็นการตีรวม ให้มีผู้คนมาช่วยทำงานให้มากๆ เช่น การสร้างสถานที่สำคัญๆ คือ การสร้างธาตุพนม ตีแล้วคนจะมาช่วยกันก่อสร้าง กลองใบนี้เห็นทีท่านพระครูท่านจะไม่ได้ เพราะเป็นกลองมีฤทธิ์เคลื่อนที่ได้เอง

44. โยมขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เมื่อหลวงปู่ทนท่านได้พูดถึงสิ่งของที่มีอยู่ในลัง ที่ได้ฝังไว้ที่วัดดงศิลาเลข ชาวบ้านที่อยู่ ณ ที่นั้นก็ได้เงียบฟังท่านเล่าอย่างตั้งอกตั้งใจ ครั้นข้าพเจ้าได้สอบถามหมดในเรื่องสิ่งของต่างๆ ที่ท่านเฝ้าอยู่ ก็ได้มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งพูดไปว่า ให้โยมขอแบ่งสักอย่างได้มั๊ย ท่านตอบมาว่า พวกโยมเอาไปไม่ได้หรอก เพราะพวกโยมไม่มีศีลธรรม ถ้าให้พวกโยมๆ ก็จะแย่งกันและรักษาสิ่งของนั้นไม่ปลอดภัย แล้วโยมผู้หญิงคนนั้นก็ได้ถามต่อไปอีก ถ้าไม่ให้พวกโยมแล้วจะให้ใคร ท่านตอบว่า จะให้ท่านพระครูที่นั่งคุยกับอาตมาอยู่นี่ เพราะท่านเป็นผู้มีศีลธรรม

แล้วโยมผู้หญิงคนนั้นก็ได้ถามต่อไปอีกว่า แล้วเมื่อไหร่ท่านจึงจะให้ หลวงปู่ทนบอกว่า วันไหนจะให้ จะมาบอกในนิมิตของพระครูเอง แล้วอาตมาจะขนขึ้นมาจากลัง มาตั้งไว้ให้ให้ท่านพระครูเอารถไปขนเอาเลย จะไม่ให้ท่านพระครูต้องลำบากในการขุดหา ในวันที่ท่านพระครูพาญาติโยมไปขอเอาใบเสมา ท่านไม่ได้ขอสิ่งของ ท่านขอเฉพาะใบเสมาอย่างเดียว อาตมาจึงยังไม่ให้

หลวงปู่ทนยังได้พูดต่อไปอีกว่า ถ้าอาตมาถวายของให้แก่ท่านพระครูแล้ว ขอให้ท่านพระครูสร้างพระธาตุเจดีย์ให้อาตมาสูง 1 เส้น ชาวบ้านที่นั่งอยู่ในที่นั้นทั้งหลายก็ได้ยกมือสาธุการเปล่งคำว่าสาธุ ข้าพเจ้าพูดอีกว่า จะให้เอาเงินมาจากที่ไหนมาสร้างเจดีย์ใหญ่โตมโหฬารขนาดนั้น ท่านก็ได้ตอบมาว่า ถ้างั้นขอเพียงครึ่งเส้นก็พอ เรื่องเงินทองไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าได้สิ่งของมาแล้วเงินทองของใช้มันจะหลั่งไหลมาเอง เมื่อสร้างเสร็จแล้วให้ฉลอง 3 วัน 3 คืน ให้จัดหามหรสพมาแสดงในวันงาน เช่น หนัง รำวง มวย หมอลำกลอน หมอลำหมู่ ให้ครบทุกอย่าง ชาวบ้านที่นั่งฟังก็ได้พากันหัวเราะอย่างเบิกบานใจ

อาจารย์ทนพูดต่อไปอีก เมื่ออาตมาถวายสิ่งของแด่ท่านพระครูแล้ว อาตมาก็จะไม่อยู่ที่นี่ ชาวบ้านได้ถามอีกว่า แล้วอาจารย์จะไปอยู่ที่ไหน ท่านตอบว่าจะไปอยู่ที่อื่น สนทนากันได้ประมาณชั่วโมงครึ่ง อาจารย์ทนก็ได้ชวนข้าพเจ้ากลับวัดศรีฐานใน ท่านบอกว่าหิวน้ำ เมื่อญาติโยมได้ยินท่านพูดเช่นนั้น ก็บอกให้ผู้อยู่ใกล้กับโอ่งน้ำให้ตักน้ำมาถวาย แต่ท่านไม่รับท่านบอกว่าเป็นน้ำไม่สะอาดและไม่ได้กรอง ท่านบอก ท่านเป็นพระธรรมยุติ ต้องปฏิบัติเคร่งครัดฉันข้าวมื้อเดียว ท่านอาจารย์ทนที่อยู่ในร่างของนายทองคำได้บอกอีกว่า จะไปวัดพร้อมกับท่านพระครู และคืนวันนี้ก็จะยังไม่กลับวัด จะพักอยู่กับท่านพระครู ตอนเช้าฉันเสร็จจึงจะกลับวัดป่าดงศิลาเลข

ในระยะนี้นายทองคำได้เงียบไปแล้วต่อมาประมาณ 5 นาที นายทองคำได้ลืมตาแล้วลุกขึ้นนั่งเหลียวซ้ายแลขวา มองเห็นข้าพเจ้าและชาวบ้านที่มานั่งมุงดูตนเองอย่างมากมาย จึงลุกขึ้นกราบข้าพเจ้าแล้วถามกลุ่มชาวบ้านว่ามาทำอะไรกันมากมาย ชาวบ้านก็ตอบว่ามาเยี่ยมดูอาการป่วยแล้วถามดูว่าเมื่อครู่นี้เจ้าเป็นอะไร นายทองคำได้บอกว่าไม่ได้เป็นอะไร นอนหลับไป เมื่อนายทองคำได้มีอาการปกติแล้ว แสดงว่าอาจารย์ทนได้ออกจากร่างนายทองคำแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้กลับวัด

ในคืนวันนั้นได้มีชาวบ้านและทายกทายิกาได้มานอนเฝ้าพระและสิ่งของที่ขุดขึ้นมา ข้าพเจ้าได้นำเรื่องอาจารย์ทนที่มาทรงร่างนายทองคำ มาเล่าให้ผู้ที่มานอนเฝ้าพระและสิ่งของฟัง เมื่อฟังแล้วต่างก็พากันหวาดกลัว และระมัดระวัง ได้พากันนั่งภาวนาจนหลังขดหลังแข็ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2010, 14:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินฺทริโย)


45. อาจารย์ทนห่วงใบเสมา

ครั้นวันต่อมาในเวลาเดียวกัน อาจารย์ทนได้มาทรงร่างนายทองคำอีก และได้บอกให้ชาวบ้านคนหนึ่งไปนิมนต์ข้าพเจ้าที่วัด เพราะท่านอยากจะคุยกับข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าก็อยากจะพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือเท็จอย่างไร เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในบ้านนายทองคำแล้ว นายนทองคำได้กระแอมขึ้นพร้อมได้พูดว่า ผมมารอท่านพระครูนานแล้ว เพราะอยากจะคุยกับท่านพระครูอีก ผมเป็นห่วงใบเสมาที่ท่านพระครูและญาติโยมไปขอมาจากกระผม ผมจึงมาดูว่าพระครูได้เอาใบเสมาไว้ในที่สมควรหรือเปล่า ผมกลัวว่าท่านจะเอามาทิ้งเฉยๆ ถ้าเอามาทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ทำอะไร ผมจะทุบทิ้งให้แตกกระจายหาส่วนติดต่อกันไม่ได้

ข้าพเจ้าจึงได้บอกท่านว่าไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องใบเสมา ผมจะนำใบเสมาไปไว้ในที่สมควรในเร็ววันนี้ ถ้าหากผมไม่ได้ทำตามที่ผมพูดไว้แล้ว อาจารย์จะเอากลับไปผมก็ไม่ว่า เนื่องจากช่วงนี้ผมกำลังมีงานยุ่งๆ อยู่มาก จึงไม่ได้ลงมือจัดการสถานที่ไว้ใบเสมา พรุ่งนี้ผมจะจัดการให้เสร็จเรียบร้อย อาจารย์ทนได้พูดอีกว่าใบเสมาที่ไปขอผมมาทั้ง 9 ใบ ข้อนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ เพราะนายทองคำนอนป่วยอยู่ที่บ้าน จะรู้ได้อย่างไรว่าขุดใบเสมามา 9 ใบ ผู้คนที่นั่งอยู่ในที่แห่งนั้นต่างก็รู้สึกอัศจรรย์แปลกใจไปตามๆ กัน

ได้มีชาวบ้านผู้หญิงคนหนึ่ง ได้เอ่ยขึ้นว่า ใบเสมาของท่าน พระครูก็ได้ไปขอมาแล้ว ก็ขอนิมนต์ท่านได้มาอยู่กับท่านพระครูเสียที่วัดด้วยกันเลย ท่านได้ตอบว่า มาไม่ได้หรอกโยม เพราะเป็นห่วงสิ่งของ ถ้าองค์หนึ่งไม่อยู่ อีกองค์ก็จะต้องเฝ้าสิ่งของ สับเปลี่ยนกัน อาตมาก็อยากจะมาอยู่หรอก แต่พระครูท่านไม่ได้นิมนต์ เมื่อได้ยินท่านพูดเช่นนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ให้ญาติโยมไปหาดอกไม้ธูปเทียนใส่พานมาและได้นิมนต์ท่านให้มาอยู่เสียที่วัดศรีฐานใน ท่านบอกว่าอยู่เลยไม่ได้นะ ต้องไปๆ มาๆ ญาติโยมจึงได้บอกท่านอีกว่า ถ้าอย่างนั้นในวันแรม 11 ค่ำ จะไปนิมนต์ท่านอีกครั้งที่วัดดงศิลาเลข

ท่านบอกว่าถ้าจะไปนิมนต์ต้องนำฆ้องนำกลองจัดเป็นขบวนแห่ อาตมาจึงจะมาร่วมในงานสมโภชพระที่ขุดขึ้น เมื่อเสร็จงานแล้วอาตมาก็จะกลับวัด เพราะเป็นห่วงสิ่งของมากกว่าใบเสมาที่ท่านพระครูขอมา มีชาวบ้านคนหนึ่งได้ถามไปว่า สิ่งของนั้นวันไหนจะให้ ท่านได้ตอบว่ายังไม่มีกำหนด รอไว้โอกาสหน้า เพราะสิ่งของทางวัดได้ผุดขึ้นมาก่อนแล้ว ทีแรกตั้งใจว่าจะให้ของอาตมาแก่ท่านพระครูก่อน แต่แล้วก็ไม่ทัน จำเป็นต้องเอาไว้ภายหลัง ท่านพูดเป็นทำนองสั่งสอนอีกว่า วันเดียวจะให้โชคเกิดขึ้นสองครั้งเป็นการไม่สมควร อุปมาเหมือนกับวัดเดียว ปีเดียวกัน จะทอดกฐินสองครั้งนั้นไม่ได้ (ปัจจุบันวัดดงศิลาเลขได้สร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรม)

46. อาจารย์ทนติดตามดวงจิต

นายทองคำ พรมบุตร ได้ป่วยเพราะมีภูติผีปีศาจมาฉุดเอาดวงจิตไป มีอาการพูดละเมอ บางครั้งกำหมัดกัดฟัน ถีบ เตะ ชกต่อย เหมือนได้เล่ามาแล้วแต่ข้างต้น พออาจารย์ทนได้ใช้ร่างนี้เป็นร่างทรง อาการที่แสดงออกมาทางกายก็ได้หายไป มีแต่ทางจิตใจก็คือ จิตใจไม่ได้อยู่กับร่างกาย เพราะถูกปีศาจควบคุมไปโดยไม่หยุดยั้ง บางทีก็ร้องออกมาว่าช่วยด้วย ช่วยด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น เวลาที่พระอาจารย์ทนเข้าทรงร่างนายทองคำ พวกญาติๆ ของนายทองคำ ได้ขอร้องอาจารย์ทนได้ติดตามดวงจิตของนายทองคำให้กลับมาด้วย

หลวงปู่ทนได้รับปากว่าจะติดตามมาให้จงได้ นับตั้งแต่นั้นมาท่านก็ได้ติดตามหาดวงจิตของนายทองคำให้ 2 วันแรก ท่านเล่าว่า เห็นแต่ร่องรอบของพวกปีศาจที่ฉุดลากไปมีรอบเลือดหนดไหลติดตามพื้นดินและต้นหญ้า พวกปีศาจได้ฉุดดวงจิตนายทองคำลงน้ำบ้าง เข้ารูตามพื้นดินบ้าง เข้าไปในดงหนามบ้าง

ระยะที่พวกปีศาจฉุดเอาดวงจิตนายทองคำไป ปรากฏว่านายทองคำมีอาการทุรนทุราย อาจารย์ทนติดตามพวกปีศาจไป 2 วัน ท่านบอกว่าตามไม่ทัน ท่านจึงได้กลับมาบอกญาติๆ ของนายทองคำ โดยอาการทรงร่างนายทองคำ ท่านบอกว่าท่านเป็นผู้เฒ่าตามพวกปีศาจไม่ทัน ท่านบอกว่าเหนื่อยมาก ติดตามจนผ้าจีวรของอาตมาถูกขวากหนามเกี่ยวขาดยังกับผ้าขี้ริ้ว พรุ่งนี้จะให้ลูกศิษย์คืออาจารย์เงียบติดตามให้

47. เปลี่ยนให้ลูกศิษย์ติดตามดวงจิต

รุ่งเช้าวันต่อมา ขณะที่นายทองคำนอนอยู่ เวลาประมาณ 1 โมงเช้า นายทองคำได้กระแอมเพื่อเตือนญาติๆ ทราบ เมื่อญาติของนายทองคำมาแล้ว นายทองคำได้บอกว่าตนชื่ออาจารย์เงียบเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ทน เนื่องจากอาจารย์ใหญ่คืออาจารย์ทน ให้ตัวท่านเองไปติดตามลูกศิษย์ที่พวกปีศาจลักตัวไป อาตมาด่วนมากเพียงแต่มาบอกข่าวเท่านั้น แล้วก็จะรีบไป อาจารย์เงียบพูดแค่นี้แล้วก็อำลาไป นายทองคำรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา ญาติๆ ก็ได้ถามว่าเมื่อกี้ได้พูดอะไรไป นายทองคำบอกว่าไม่ได้พูด นอนหลับ

วันนี้อาจารย์เงียบได้ติดตามหาดวงจิตของนายทองคำจนพบ พวกปีศาจนำจิตของนายทองคำผูกไว้กับต้นไม้ เมื่ออาจารย์เงียบได้ติดตามจนเจอ พวกปีศาจก็ได้หลบหนีไปเพราะเกรงกลังบารมีของท่าน เมื่ออาจารย์เงียบพบแล้ว จึงได้นำดวงจิตของนายทองคำกลับมาแล้วนำมาถวายแก่อาจารย์ใหญ่ วันนี้อาการป่วยของนายทองคำ ได้มีอาการดีกว่าวันก่อนๆ นับตั้งแต่อาจารย์ทนและอาจารย์เงียบมาทรงร่างของนายทองคำเป็นเวลา 9 วัน ได้มีชาวบ้านมานั่งฟังการสนทนาของอาจารย์ทนและอาจารย์เงียบ ยังกับมีเทศกาลงานบุญไปดูหนังฟังหมอลำกัน

48. จัดขบวนไปแห่อาจารย์ทน-อาจารย์เงียบตามคำอาราธนานิมนต์

เมื่อถึงวันงานที่จะสมโภชพระที่ขุดขึ้นได้จากข้างโบสถ์ ครั้นถึงเวลาแล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ชาวบ้านจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ตามที่ท่านได้แนะนำไว้ตอนที่ท่านได้ทรงร่างนายทองคำ ตามที่ได้อาราธนานิมนต์ท่านไว้คือ

1. ให้ประกาศให้ญาติโยม ชาวบ้าน ทายกทายิกาไปมากๆ
2. ให้นิมนต์พระภิกษุสามเณรร่วมไปด้วยอย่างน้อย 10 องค์
3. ให้นำเอาฆ้องเอากลองไปด้วยท่านชอบมาก
4. เมื่อจะเข้าไปนิมนต์ให้เวียนซ้าย 3 รอบ คือให้เวียนรองในเขตที่ขุดเอาใบเสมา
5. ให้จัดขัน 5 ขัน 8 พร้อมทั้งขนมหวาน 1 สำรับ และเครื่องสักการะบูชา

เมื่อได้จัดเตรียมของทุกอย่างที่ท่านได้แนะนำไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้จัดเอาพระพุทธรูป 2 องค์ สมมุติว่าเป็นตัวแทนของท่านอาจารย์ทั้ง 2 ไปวางไว้ที่โต๊ะบูชาที่จัดเอาไว้ที่วัดดงศิลาเลข ซึ่งเป็นที่อยู่ของอาจารย์ทั้ง 2 ไม่ใช่ว่าจะพาญาติโยมไปกราบไหว้ตามดินตามหญ้าโดยไม่มีเครื่องหมายอะไร เมื่อทำพิธีอาราธนาเสร็จแล้ว ก็นำพระพุทธรูปทั้งสองแห่กลับมา ในการไปนิมนต์อาจารย์ทนและอาจารย์เงียบในครั้งนี้ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งบ้านใกล้บ้านไกลที่ได้ยินข่าวเล่าลือ มาร่วมพิธีในครั้งนี้นับเป็นจำนวนพันๆ คน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

49. อาจารย์ทนมอบศิษย์ให้กลับคืน

เมื่อพระอาจารย์ทนได้ดวงจิตของนายทองคำกลับมาจากปีศาจแล้ว ท่านได้ติดตามถึง 3 วัน ท่านได้เอาดวงจิตของนายทองคำไปรักษาให้อยู่กับท่านตั้งแต่ท่านได้ดวงจิตมา ท่านได้กระทำพิธีชุบจิตชุบตัวให้นายทองคำ และทำการบายศรีสู่ขวัญให้แก่นายทองคำเป็นที่เรียบร้อย และท่านพระอาจารย์ทนยังได้สอนวิชาเล่าเรียน เอาธรรมไปเพื่อป้องกันตัวเองจากปีศาจที่จะมารบกวนเหมือนแต่ก่อน

ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ได้ถือว่านายทองคำเป็นสานุศิษย์ที่ท่านรักใคร่มาก ในขณะที่อยู่กับท่าน ๆ ก็ได้ให้รับใช้อุปัฏฐากเหมือนกับศิษย์วัดทั่วๆ ไป ในที่นี้หมายความว่าร่างกายของนายทองคำได้นอนอยู่ที่บ้าน แต่ดวงจิตไปอยู่ที่วัดดงศิลาเลขกับท่านอาจารย์ทั้ง 2 และดูจากอาการป่วยของนายทองคำแล้วจะมีอาการดีเกือบจะหายเป็นปกติแล้ว ในครั้งที่อาจารย์ทนท่านมาทรงร่างนายทองคำแล้ว ท่านได้บอกเช่นนั้นและท่านยังได้แนะนำว่า ให้ญาติๆ ของนายทองคำนำเอาขัน 5 และเครื่องสักการะอื่นๆ ไปขอดวงจิตของนายทองคำจากท่าน โดยให้ไปในวันที่ข้าพเจ้าและชาวบ้านที่จะไปนิมนต์ท่านมาร่วมในงานวันสมโภช และท่านจะมอบดวงจิตให้กลับมา โดยให้ข้าพเข้านำดวงจิตกลับมาพร้อมกับให้ข้าพเจ้ารดน้ำพระพุทธมนต์ให้ด้วย นี้เป็นคำพูดของพระอาจารย์ทน ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามท่านอาจารย์ทนแนะนำ

นับตั้งแต่นั้นมา นายทองคำได้หายเป็นปกติ โดยไม่ต้องกินยาสักเม็ดเดียว ในขณะที่อาจารย์ทั้งสองเข้าประทับทรงร่างนายทองคำ นายทองคำจะไม่รู้สึกตัว แต่จะรู้สึกว่าตัวเองนอนหลับธรรมดาและไม่ได้พูดอะไร ครั้นเลิกจากเข้าทรงแล้ว จึงจะมีคนอื่นมาเล่าให้ฟังจึงจะรู้เรื่องว่าเป็นอะไร นับตั้งแต่นั้นมาอาจารย์ทั้ง 2 ก็ไม่ได้เข้าทรงร่างนายทองคำอีก มีมาแต่เข้าในความฝันของนายทองคำเป็นประจำ

50. พระอาจารย์ทั้ง 2 ได้รับเครื่องไทยทาน

ข่าวนี้ได้เล่าลือไปทั่วทิศานุทิศ ทั้งบ้านใกล้บ้านไกลหลั่งไหลกันมาทำบุญ และงานสมโภชพระพุทธรูปที่ขุดได้จากวัดศรีฐานในพร้อมทั้งงานนี้ได้นิมนต์อาจารย์ทนและอาจารย์เงียบมาร่วมในงานนี้ด้วย ข้าพเจ้าได้จัดผ้าไตรจีวรถวายอาจารย์ทั้ง 2 องค์ๆ ละ 1 ไตร เป็นทักษิณานุประทานถวายแด่ท่านทั้ง 2 นับตั้งแต่ข้าพเจ้าและชาวบ้านได้ทำบุญอุทิศไปให้หลวงปู่ฟ้ามืดแล้วก็ปรากฏว่าเรื่องของท่านเงียบหายไป ไม่ปรากฏอะไรเกิดขึ้นอีก ส่วนอาจารย์ทั้ง 2 ก็ไปเข้าในนิมิตความฝันของนายทองคำ ว่าได้ฉันข้าวฉันปลาอุดมสมบูรณ์อย่างอิ่มหนำสำราญ ตลอดจนได้นุ่งห่มจีวรอันใหม่ เนื่องจากข้าพเจ้าและประชาชน และญาติโยมได้จัดถวาย ครั้นข้าพเจ้าได้ทำบุญสมโภชเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ในขณะนั้น)

51. นายทองคำเรียนธรรมจากอาจารย์ทน

นายทองคำ ได้บอกว่า ตนเองได้ฝันว่าอาจารย์ทนได้มาเรียกให้ตนไปเรียนเอาวิชา คาถาอาคม ชาวอีสานเรียกว่า ธรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปราบภูติผีปีศาจต่างๆ จนทุกวันนี้นายทองคำก็ได้เป็นหมอผีหรือชาวอีสานเรียกว่าหมอธรรม ซึ่งแต่ก่อนพวกปีศาจเป็นศัตรูของนายทองคำ แต่บัดนี้นายทองคำได้กลับมาเป็นศัตรูของปีศาจ เป็นหมอธรรมที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ ถ้าชาวบ้านมีอาการป่วย ถ้าเกี่ยวกับภูติผีปีศาจเข้ามาเบียดเบียน ต่างก็ได้ให้นายทองคำเป็นผู้รักษาให้หลายราย โดยเฉพาะบ้านศรีฐานเองที่นายทองคำได้รักษาด้วยวิชาอาคมที่เรียนมาจากหลวงปู่ทนให้หายเป็นปกติมาหลายสิบราย โดยไม่ต้องกินยาแม้แต่เม็ดเดียว

ในเวลาที่นายทองคำได้ลงธรรม ยกครูแล้ว ก็นอนลงเรียกผีที่มารบกวนผู้ป่วยนั้น แล้วจะขับด้วยคาถาอาคม บางรายถ้านายทองคำสู้ผีไม่ได้ก็จะต้องไปนิมนต์ผู้เป็นอาจารย์มาช่วย มีอยู่ที่ไหนท่านจะรู้หมดและจะสู้ท่านไม่ได้สักราย เพราะท่านมีไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์สำหรับปราบภูติผีปีศาจโดยเฉพาะ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 22 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร