วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2009, 07:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร


วัดถ้ำผาปล่อง
ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

“พระญาณสิทธาจารย์” หรือ “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร” มีนามเดิมว่า สิม วงศ์เข็มมา เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2452 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา เวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา ณ บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสาน และนางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 10 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

สกุล “วงศ์เข็มมา” เป็นสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่งของบ้านบัว ผู้เป็นต้นสกุลคือ ท่านขุนแก้ว และอิทปัญญา ผู้เป็นน้องชาย ตัวท่านขุนแก้วก็คือปู่ของหลวงปู่สิมนั่นเอง เท้าความในคืนที่หลวงปู่เกิด ประมาณเวลา 1 ทุ่ม โยมมารดาของท่านเคลิ้มหลับไป ก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งมีรัศมีกายสุกสว่างเปล่งปลั่งแลดูเย็นตาเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก ลอยลงมาจากท้องฟ้าลงสู่กระต็อบกลางทุ่งนาของนาง ต่อมาเวลาประมาณ 3 ทุ่ม นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา ก็ให้กำเนิดเด็กน้อยผิวขาวสะอาด และจากนิมิตที่นางเล่าให้ฟัง นายสาน วงศ์เข็มมา ผู้เป็นบิดา จึงได้ตั้งชื่อลูกชายว่า “สิม” ซึ่งภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์ อันอาจบ่งบอกถึงความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาเด็กชายสิมผู้นึ้ ก็ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ บำเพ็ญสมณธรรม ใช้ชีวิตที่ขาวสะอาดหมดจดตลอดชั่วอายุขัยของท่าน

เมื่อเริ่มเข้ารุ่นหนุ่ม อายุได้ 15-16 ปี ท่านมีความสนใจในดนตรีอยู่ไม่น้อย หลวงปู่แว่น ธนปาโล เล่าว่า ตัวท่านเองเป็นหมอลำ ส่วนหลวงปู่สิมเป็นหมอแคน

สิ่งบันดาลใจให้หลวงปู่อยากออกบวชคือความสะดุ้งกลัวต่อความตาย ท่านเล่าว่า “ตั้งแต่ยังเด็กแล้วเมื่อได้เห็นหรือได้ข่าวคนตาย มันให้สะดุ้งใจทุกครั้ง กลัวว่าเราจะตายเสียก่อนได้ออกบวช” มรณานุสติได้เกิดขึ้นในใจของท่านอยู่ตลอดเวลา เฝ้าย้ำเตือนให้ท่านไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความตาย เป็นเพราะหลวงปู่กำหนด “มรณํ เม ภวิสฺสติ” ของท่านมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ยังไม่ได้ออกบวชจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน หลวงปู่ก็ยังใช้อุบายธรรมข้อเดียวกันนี้อบรมลูกศิษย์ลูกหาอยู่เป็นประจำ เรียกว่าหลวงปู่เทศน์ครั้งใดมักจะมี “มรณํ เม ภวิสฺสติ” เป็นสัญญาณเตือนภัยจากพญามัจจุราชให้ลูกศิษย์ลูกหาตื่นตัวอยู่เสมอทุกครั้ง

รูปภาพ
หลวงปู่แว่น ธนปาโล

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่อท่านอายุได้ 17 ปี ได้ขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ที่บ้านบัวนั้นเอง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง โดยมี พระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาคณะกองทัพธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดหนองคายเพื่อมาเผยแผ่ธรรมปฏิบัติแก่ประชาชน โดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สามเณรสิมจึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรมทั้งจากพระอาจารย์ใหญ่ คือ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

สามเณรสิมได้เฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น และได้บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจขอถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น และได้ขอญัตติใหม่มาเป็นธรรมยุตติกนิกาย แต่โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีโบสถ์ของวัดฝ่ายธรรมยุติในละแวกนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องจัดทำขึ้นที่โบสถ์น้ำ ซึ่งทำจากเรือ 2 ลำทำเป็นโป๊ะลอยคู่กัน เอาไม้พื้นปูตรึงเป็นพื้นแต่ไม่มีหลังคา สมมติเอาเป็นโบสถ์ โดยมีท่านพระอาจารย์มั่น เป็นประธาน และ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จากนั้นสามเณรสิมได้ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

เมื่อสามเณรสิมอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีจันทราวาส (พระอารามหลวง) ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. 3, นธ. เอก) เจ้าคณะธรรมยุติจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “พุทฺธาจาโร”

จากนั้นท่านก็ได้เดินทางติดตามพระอาจารย์ของท่าน คือ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) นี้เป็นวัดอยู่ในเขตป่าช้า (บริเวณโรงพยาบาลขอนแก่นในปัจจุบัน) ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสำนักอบรมกรรมฐานแก่คณะศรัทธาญาติโยมชาวขอนแก่น

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้ออกอุบายสอนลูกศิษย์ของท่านให้ได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจากซากศพ โดยพาพระเณรไปขุดศพขึ้นมาพิจารณา หลวงปู่ได้เล่าประสบการณ์ที่ท่านได้อสุภกรรมฐานจากซากศพ และว่า “นี่แหละร่างกายนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนให้กำหนดเป็นอสุภกรรมฐาน อย่าไปเห็นว่ารูป ไม่ว่ารูปหญิงรูปชาย ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครสวยใครงามกว่ากัน”

“สมมติโลกว่าสวยว่างาม สมมติธรรมมันไม่สวยงาม อสุภํ มรณํ ทั้งนั้น ถึงมันจะยังไม่ตายตอนเด็กตอนหนุ่มก็เถอะ ไม่นานละ เดี๋ยวมันก็ทยอยตายไปทีละคน สองคน หมดไป สิ้นไป ไม่เหลือ”

ในชีวิตสมณเพศ ท่านได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า “โสสานิ กังคะ” คือไปเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงควัตร และที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) นี้เอง ที่หลวงปูได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเวลานาน 3-4 ปี ทั้งได้มีโอกาสมักคุ้นกับพระกรรมฐานองค์สำคัญๆ หลายองค์ เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, ท่านพ่อลี ธมฺมธโร และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นต้น

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


ปี พ.ศ. 2479 (พรรษาที่ 8) เมื่อ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนพระอาจารย์สิงห์ ขนุตยาคโม ณ วัดจักราช อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา สมเด็จฯ ท่านได้แลเห็นจริยาวัตรของหลวงปู่สิมขณะทำหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้และเกิดชื่นชอบถูกใจ ถึงกับปรารถนาจะชวนหลวงปู่ไปอยู่ด้วยกับท่าน จึงเอ่ยปากขอตัวหลวงปู่สิมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ว่า “พระองค์นี้มีลักษณะเป็นผู้มีบุญบารมี ผมจะขอตัวให้ไปอยู่ด้วยจะขัดข้องหรือเปล่า” ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ท่านก็มิได้ขัดข้อง ด้วยเห็นเป็นวาสนาบารมีของหลวงปู่สิม ที่จะได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่เยี่ยงท่านสมเด็จฯ นี้ ทั้งจะได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป หลวงปู่สิมจึงได้ร่วมเดินทางมากับสมเด็จฯ มาจำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักสมเด็จฯ ที่วัดบรมนิวาส ซึ่งทำให้หลวงปู่สิมได้รับความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยมากขึ้น หลวงปู่สิมอยู่รับใช้สมเด็จฯ ด้วยจริยาดีเยี่ยม พร้อมกันนั้นหลวงปู่ก็ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์กรรมฐานให้แก่พระเณรจำนวนมากที่มารับการฝึกฝนอบรมจากหลวงปู่

ปี พ.ศ. 2480 ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เรียนขออนุญาตต่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แล้วเดินทางธุดงค์กลับถึงบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อโปรดคณะศรัทธาญาติโยมที่บ้านเกิดตามคำอาราธนา และเมื่อหลวงปู่ปรารภที่จะให้มีวัดป่าธรรมยุตติกนิกายขึ้นเป็นวัดแรกในบ้านบัว คณะศรัทธาญาติโยมจึงต่างสนองตอบคำปรารภของหลวงปู่อย่างกระตือรือร้นและเต็มอกเต็มใจ โยมอาของท่านคือนางคำไพ ทุมกิจจะ ได้มีศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่ เพื่อจัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2480 สำนักสงฆ์แห่งนี้ปัจจุบันได้พัฒนาเป็น “วัดสันติสังฆาราม” พร้อมด้วยวัดและสำนักสงฆ์สาขาเกิดขึ้นอีก 9 แห่ง

สำหรับวัดสันติสังฆาราม จังหวัดสกลนคร แห่งนี้ หลวงปู่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 จนแล้วเสร็จ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงร่วมพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ในโอกาสเดียวกับงานอายุครบ 71 พรรษาของหลวงปู่

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน


สำหรับการปฏิบัติธุดงค์นั้น หลวงปู่สิมเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสันติวรญาณ ได้ออกเดินธุดงค์ไปในหลายจังหวัด อาทิเช่น วัดป่าสระคงคา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, สำนักสงฆ์หมู่บ้านแม่ดอย (ต่อมาได้พัฒนาเป็นวัด ชื่อว่า วัดป่าอาจารย์มั่น) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ณ ที่นี้หลวงปู่ได้พบ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากหลวงปู่มั่นจนการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก)

เมื่อแยกจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แล้ว หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปทางอำเภอสันกำแพง เข้าพำนักที่วัดโรงธรรมสามัคคี ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงสำนักชั่วคราว วัดโรงธรรมสามัคคีแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลายท่านเคยมาพำนักจำพรรษา อาทิเช่น หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นต้น

หลวงปู่สิมได้พักจำพรรษาที่วัดโรงธรรมสามัคคีแห่งนี้ ติดต่อกันนานถึง 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 ถึงปี พ.ศ. 2487 จึงย้ายไปจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างนั้นหลวงปู่ได้รับรู้ความคับจิตคับใจของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย หลวงปู่ได้ปลุกปลอบใจของชาวบ้านที่กำลังสิ้นหวังให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นด้วยการหยั่งพระสัทธรรมลงสู่จิตของพวกเขา

ในระหว่างออกพรรษา หลวงปู่สิมได้จาริกธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียร ณ สถานที่วิเวกหลายแห่งในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์อาวุโสชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่งคือ เจ้าชื่น สิโรรส (วัย 96 ปี) โดยในปี พ.ศ. 2488 เจ้าชื่น สิโรรส ได้อพยพครอบครัวหลบภัยสงครามไปอยู่ที่ถ้ำผาผัวะ ขณะที่หลวงปู่ได้จาริกธุดงค์ไปจำพรรษา ณ ถ้ำผาผัวะ ท่านเปรียบเสมือนเป็นที่พึ่งอันสูงสุดที่มีความหมายมากสำหรับคนที่อยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดเนื่องจากภัยสงคราม

ครั้นปลายปี พ.ศ. 2498 เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติ เจ้าชื่น สิโรรส ซึ่งอพยพจากถ้ำผาผัวะกลับคืนตัวเมืองเชียงใหม่ ได้กราบอาราธนาหลวงปู่สิมให้ย้ายเข้ามาพำนักจำพรรษาที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล (คิวริเปอร์) ซึ่งตึกนั้นอยู่ติดกับถนนสุเทพ ตรงกันข้ามกับถนนไปสนามบินเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ยังเป็นตึกที่ว่างไม่มีใครอยู่ นอกจากคนที่อยู่เฝ้าคอยดูแลรักษา เนื่องจากแม่เลี้ยงดอกจันทร์ และลูกหลานได้อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่น

รูปภาพ
พระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=46163



และ ณ ที่แห่งนี้เอง หลวงปู่สิมได้พบกับลูกศิษย์คนแรกที่ท่านอุปสมบทให้ ในระยะที่มาจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ คือ พระนพีสีพิศาลคุณ (พระมหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ของ “วัดสันติธรรม” ซึ่งได้ทำการก่อสร้างวัดขึ้นในภายหลัง

ปี พ.ศ. 2490 เมื่อสงครามสงบโดยสิ้นเชิง มีข่าวว่าเจ้าของบ้านคือ แม่เลี้ยงดอกจันทร์ และลูกหลานที่อพยพหลบภัยสงครามไปจะกลับคืนถิ่นฐานเดิม หลวงปู่สิมจึงปรารภเรื่องการสร้างวัด คำปรารภในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้คุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์ เกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างวัดถวายหลวงปู่ ด้วยพลังศรัทธานั้นเอง “วัดสันติธรรม” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยอาศัยกำลังศรัทธาของสานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ปี พ.ศ. 2497 โยมมารดาของหลวงปู่ถึงแก่กรรม ท่านจึงได้เดินทางจากเชียงใหม่ลงมาที่บ้านบัวอีกครั้งหนึ่ง ครั้นเสร็จงานฌาปนกิจศพโยมมารดาแล้ว หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์ไปจังหวัดนครพนมทันที เพื่อจำพรรษาที่ภูลังกา

ช่วงปี พ.ศ. 2498-2403 หลวงปู่ได้กลับไปพำนักจำพรรษาที่วัดสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ในจิตใจส่วนลึกของท่านนั้น ยังปรารภความสงบวิเวกของป่าเขาและโพรงถ้ำต่างๆ อยู่ จนกระทั่งต้นปี พ.ศ. 2503 ต่อมาได้มีพระลูกศิษย์ของหลวงปู่ไปพบถ้ำปากเปียง ซึ่งอยู่ที่ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่จึงย้ายไปอยู่ภาวนาที่ถ้ำปากเปียงบ่อยครั้ง ด้วยเป็นที่สงบสงัดร่มรื่น ครั้นต่อมาในฤดูหนาว ปี พ.ศ. 2503 ลุงติ๊บ คนบ้านถ้ำ ได้เป็นคนนำทางพาหลวงปู่ปีนป่ายภูเขาขึ้นไปตามซอกเล็กๆ เพื่อหาถ้ำที่กว้างและอยู่สูงตามคำปรารภของหลวงปู่ที่ว่า “กิเลสจะได้เข้าหายาก” จนกระทั่งได้พบ “ถ้ำผาปล่อง” ซึ่งเป็นถ้ำที่ท่านคิดว่าจะเป็นบ้านสุดท้ายในการบำเพ็ญภาวนาในชีวิตของท่าน หลวงปู่ได้พักค้างคืนบนถ้ำผาปล่องหนึ่งคืน แล้วก็ลงไปพักที่ถ้ำปากเปียงต่อ ต่อจากนั้นท่านก็ได้แวะเวียนไปพักที่ถ้ำผาปล่องอีกเสมอ

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ในปี พ.ศ. 2504 ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร (ท่านเจ้าคุณพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศิษย์ในสายพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เช่นกัน ได้ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงลงมติขอให้หลวงปู่รับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส หลวงปู่จึงได้ช่วยอยู่ดูแลวัดอโศการาม ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาสจนกระทั่งปี พ.ศ. 2508 และในปี พ.ศ. 2509 หลวงปู่ได้รับการขอร้องจาก หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (ท่านเจ้าคุณพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) ให้หลวงปู่ช่วยรับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่สิมจึงจำใจต้องรับเป็นเจ้าอาวาสให้วัดป่าสุทธาวาสอยู่ 1 พรรษา โดยที่ใจจริงของท่านนั้นเบื่อหน่ายคิดอยากแต่จะออกธุดงค์อยู่เรื่อยไป

ในระหว่าง พ.ศ. 2506-2509 หลวงปู่ได้มีปัญหาอาพาธด้วยโรคไตมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2510 ด้วยปัญหาสุขภาพของหลวงปู่ หลวงปู่จึงได้ตัดสินใจวางภารกิจต่างๆ โดยลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสทุกวัดที่ท่านดูแลอยู่ จากนั้นท่านก็มาพำนักจำพรรษา ณ ถ้ำผาปล่อง ตลอดมา

ในปี พ.ศ. 2518 หลวงปู่ได้เดินทางไปมนัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย และได้เดินทางไปอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2523 นอกจากนี้แล้วหลวงปู่ยังได้มีโอกาสเดินทางไปที่เมืองปีนังปีนัง ประเทศมาเลเซีย, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตลอดถึงทวีปยุโรปและอเมริกาอีกด้วย

หลวงปู่สิมท่านมีความขยันขันแข็งและตั้งใจมั่นตั้งแต่เด็ก ดังเช่นพระอาจารย์ศรีทอง (พระอุปัชฌาย์ เมื่อครั้งเป็นพระในสังกัดมหานิกาย) ได้เล่าว่า ครั้งเมื่อทางวัดมีการขุดสระ สามเณรสิมก็ไปช่วยขุดและขุดจนกระทั่งใครต่อใครเขาทิ้งงานไปหมด เนื่องจากขุดลงไปลึกถึงสิบเอ็ดสิบสองวาแล้วก็ยังไม่มีน้ำ เมื่ออุปัชฌาย์ถามว่า “จะขุดไปถึงไหนกัน” สามเณรสิมตอบว่า “ขุดไปจนสุดแผ่นดินนั่นแหละ”

ปฏิปทาของหลวงปู่ที่แสดงถึงความมีเมตตาอย่างล้นเหลือต่อบรรดาลูกศิษย์ลูกหานั้น ท่านได้แสดงให้ปรากฏเห็นอยู่เนืองๆ หลวงปู่ปกครองพระเณรลูกวัดของท่านอย่างอบอุ่นใกล้ชิดเหมือนพ่อดูแลลูกๆ ภาพในอดีตที่ประทับใจลูกศิษย์ (คุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์) ภาพหนึ่งก็คือ เวลาที่พระเณรอาพาธ หลวงปู่จะนั่งเฝ้าไข้อย่างสงบ ไม่ยอมห่าง จนกระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้น ครั้งหนึ่งเณรน้อยนอนซมด้วยโรคพยาธิ ตัวเหลืองซูบซีดผอมเพราะฉันอาหารไม่ได้เลย “แม่ไล” ได้เอายาถ่ายพยาธิมาถวาย เณรน้อยก็ฉันไม่ได้ อาเจียนออกมา ทำให้แม่ไลโมโหมากจะบังคับให้ฉันให้ได้ แต่หลวงปู่ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่อย่างใจเย็นได้ปลอบประโลมเณรน้อยของท่านขึ้นว่า “วันพรุ่งนี้เถอะเน้อ ไปบิณฑบาตได้กล้วยก่อน จะเอายาใส่ในกล้วยให้เณรน้อยฉัน”

งานพัฒนาชุมชนที่นับว่าเป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของหลวงปู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจกันทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส และผลงานก็ได้ก่อประโยชน์เป็นเอนกอนันต์แก่ชาวบ้านเกษตรกร ก็คือ งานสร้างฝายน้ำล้นลำน้ำอูน ที่ท่าวังหิน ซึ่งก็คือบริเวณสำนักสงฆ์เวฬุวันสันติวรญาณ ในปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2521 ภายหลังจำพรรษาที่วัดสันติสังฆาราม หลวงปู่ก็ได้รับอาราธนาจากชาวบ้านทั้ง 4 ตำบล ใน 2 เขตอำเภอ ให้มาเป็นประธานในการสร้างฝายน้ำล้นกั้นลำน้ำอูน งานสร้างฝายน้ำล้นชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของหลวงปู่เด่นชัดมาก ในเรื่องความเป็นผู้เอาใจใส่ และรับผิดชอบในภารกิจ เมื่อที่ประชุมปรึกษาหารือกันว่าเห็นควรจะเริ่มงานกันวันใหม่ หลวงปู่ก็ว่าให้เริ่มงานกันวันนี้เลย

หลวงปู่เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง อดทน พูดจริง ทำจริง ถือสัจจะมั่นคง เป็นผู้ไม่มากโวหาร ทุกวันหลวงปู่จะพาเริ่มงานตั้งแต่เวลาตี 4 ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น พอเวลา 10 โมงเช้าจึงพักฉันอาหาร หลังอาหารแล้วก็เริ่มทำงานกันต่อจนมืดค่ำ พอถึงเวลา 1 ทุ่ม หลวงปู่ก็จะนำพาทำวัตรสวดมนต์ และฟังเทศน์ เสร็จแล้วก็เริ่มทิ้งหินลงในคอกไม้ที่สร้างไว้ตลอดแนวฝาย กว่าจะได้จำวัดก็เวลา 4 ทุ่ม หรือบางวันหากงานติดพันจะได้จำวัดก็เป็นเวลาถึงตีหนึ่งตีสอง เป็นดังนี้ตลอดระยะเวลา 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 จนฝายน้ำล้นสร้างสำเร็จ หลวงปู่จึงกลับไปจำพรรษาที่ถ้ำผาปล่อง

หลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์ “พระครูสันติวรญาณ” ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2502 และได้รับพัดยศโดยเลื่อนจากสมณศักดิ์ที่ “พระครูสันติวรญาณ” เป็น “พระญาณสิทธาจารย์” ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 และในคืนวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2535 พระเณรพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาได้พร้อมใจกันเจริญพระพุทธมนต์ฉลองสมณศักดิ์ถวายแด่หลวงปู่ ที่ถ้ำผาปล่อง หลังจากเจริญพระพุทธมนต์หลวงปู่ได้พาพระเณรและญาติโยมนั่งภาวนา ต่อจนถึงเวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา แล้วท่านก็นั่งพักดูบริเวณภายในถ้ำอีกประมาณ 20 นาที คล้ายกับจะเป็นการอำลา จนกระทั่งถึงเวลา 22.00 นาฬิกา ท่านจึงกลับเข้ากุฏิที่พักด้านหลังภายในถ้ำผาปล่อง และได้มรณภาพในเวลาประมาณตีสาม สิริรวมอายุของหลวงปู่ 82 ปี 9 เดือน 19 วัน อายุพรรษา 63 พรรษา

รูปภาพ
สรีระสังขารหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2009, 07:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ภาพเขียนรูปหลวงปู่สิม พุทธาจาโร


๏ ธรรมโอวาท
จากพระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์และธรรมลิขิต


1. คำว่า จิต ได้แก่ ดวงจิต ดวงใจผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ ผู้ได้ยินได้ฟังอยู่ เราฟังเสียง ได้ยินเสียง ใครเป็นผู้รู้อยู่ในตัวในใจ นั่นแหละมันอยู่ตรงนี้ ให้รวมให้สงบเข้ามาอยู่ตรงนี้ ตรงจิตใจผู้รู้อยู่

2. ตาเห็นรูป ก็จิตดวงนี้เป็นผู้เห็น ดีใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียงผ่านเข้ามาทางโสต ทางหูก็จิตดวงเก่านี่แหละ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็จิตดวงนี้เป็นผู้หลง เมื่อจิตใจดวงนี้เป็นผู้หลงผู้เมาไม่เข้าเรื่อง เราก็มาแก้ไขภาวนาทำใจให้สงบ ไม่ให้หันเหไปกับอารมณ์ใดๆ เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดดับอยู่ในตัว ในใจ ในสัตว์ ในบุคคลนี้ว่า มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดาอย่างนี้

3. การปฏิบัติบูชา ภาวนานี้ เป็นการปฏิบัติภายใน เป็นการเจริญภายใน พุทโธภายใน ให้ใจอยู่ภายใน ไม่ให้จิตใจไปอยู่ภายนอก

4. การภาวนา ไม่ใช่เป็นของหนัก เหมือนแบกไม้หามเสา เป็นของเบาที่สุด นึกภาวนาบทใดข้อใด ก็ให้เข้าถึงจิตถึงใจ จนจิตใจผ่องใสสะอาดตั้งมั่นเที่ยงตรงคงที่อยู่ ภายในจิตใจของตน ใจก็สบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย ยืนไปมาที่ไหนก็สบายทั้งนั้น ในตัวคนเรานี้ เมื่อจิตใจสบาย กายก็พลอยสบายไปด้วย อะไรๆ ทุกอย่างมันก็สบายไป มันแล้วแต่จิตใจ

5. ทำอย่างไรใจจะสงบระงับ มีอุบายอะไร ก็อุบายไม่ขึ้เกียจไงละ ให้มีความเพียร จะสู้กับกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ในใจได้ ไปสู้ที่ไหน ก็สู้ด้วยความเพียร สู้ด้วยความตั้งใจมั่น เราตั้งใจลงไปแล้วให้มันมั่นคง อย่าไปถอย

6. เพียรพยายามฝึกตนเองอยู่เสมอ บนแผ่นดินนี้ผู้มีความเพียร ผู้ไม่ท้อแท้อ่อนแอในดวงใจ ไม่ว่าจะทำอะไร ย่อมสำเร็จได้ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นแล้วเราต้องตั้งความเพียรลงไป ภาวนาลงไป เมื่อมันยังไม่ตายจะไปถอยความเพียรก่อนไม่ได้

7. สู้ด้วยการละทิ้ง อย่าไปยึดเอาถือเอา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา เสียงไม่ดีเข้าหูก็เพียรละออกไปให้มันหมดสิ้น มนุษย์มีปาก ห้ามมันไม่ให้พูดไม่ได้ มนุษย์มีตา ห้ามไม่ให้มันดูไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก ท่านจึงตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันเป็นความร้อน ความร้อน คือกิเลส กิเลสเหมือนกับไฟ ไฟมันเป็นของร้อน

8. เราได้คลานภาวนาจนเข่าแตกเลือดออกมีไหม ไม่มี มีแต่นอนห่มผ้าให้มัน ตลอดคืน มันจะได้สำเร็จมรรคผลอะไร ก็ได้แต่กรรมฐานขี้ไก่ กรรมฐานขี้หมู ไม่ลุกขึ้นภาวนาเหมือนพระแต่ก่อน พระแต่ก่อนท่านเดินไม่ได้ท่านก็คลานเอา

9. พุทโธในใจ หลงใหลทำไม ไม่ต้องหลง ไม่ต้องลืม นั่งก็พุทโธในใจ นอนก็พุทโธในใจ ยืนก็พุทโธในใจ เดินไปไหนมาไหน ก็พุทโธในใจ กิเลสโลเลละให้หมด โลเลทางตา โลเลทางหู โลเลทางจมูก ทางกลิ่น โลเลในอาหารการกิน เลิกละให้หมด

10. ไม่ต้องไปรอท่าว่า เมื่อถึงวันตายข้าพเจ้าจะภาวนาพุทโธเอาให้ได้ อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องทำไว้ก่อน เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ตั้งแต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้เวลานี้เป็นต้นไป

11. ความตายนี้ไม่มีใครหลบหลีกได้ ท่านให้นึกให้น้อมให้ได้ว่า ทุกลมหายใจเข้าไปก็เตือนใจของตนให้นึกว่า นี่ถ้าลมหายใจนี้เข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ เกิดติดขัดคนเราก็ตายได้ แม้ลมหายใจออกไปแล้ว เกิดอะไรขัดขึ้นมาสูดลมหายใจเข้า มาไม่ได้คนเราก็ตายได้

12. เราทุกคนดวงใจที่มีชีวิตอยู่ ณ ภายในนี้ ก็อย่าพากันนิ่งนอนใจ อยู่ที่ไหน กายกับใจอยู่ที่ไหน ก็ที่นั่นแหละเป็นที่ปฏิบัติบูชาภาวนา อยู่บ้านก็ภาวนาได้ อยู่ วัดก็ภาวนาได้ บวชไม่บวชก็ภาวนาได้ทั้งนั้น

13. ตั้งจิตดวงนี้ให้เต็ม ในขั้นสมถกรรมฐาน พร้อมกับวิปัสสนา กรรมฐาน ให้แจ่มแจ้งในดวงใจทุกคนเท่านั้น ก็พอ เพราะว่าเมื่อเราเกิดมาทุกคน ก็ไม่ได้มีอะไรติดมา ครั้งเมื่อเราทุกคนตายไปแล้วแม้สตางค์แดงเดียวก็เอาไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จงพากันนั่งสมาธิภาวนาให้เต็มที่จนกิเลสโลภะอันมันนอนเนื่องอยู่ใน จิตนี้ให้หมดเสียวันนี้ๆ ถ้ากิเลสความโลภนี้ยังไม่หมดจากจิต ก็ยังไม่หยุดยั้งภาวนาจนวันตายโน้น

14. การภาวนาละกิเลสให้หมดไปจริงๆ นั้น ต้องปฏิบัติดังนี้ เมื่อกำหนดรูปร่างกายของเรา บริกรรมกำหนดลมหายใจจนจิตตั้งมั่นดีแล้ว ต้องกำหนดรูปร่างของเราเอง นับตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ไปตลอดหมดในร่างกายนี้ ให้เห็นตามความเป็นจริง ที่มันตั้งอยู่และมันเสื่อมไป ด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยมีทวารทั้ง 9 เป็นสถานที่ไหลออกไหลเข้าซึ่งของไม่งาม

15. อันความตายนั้น จงระลึกดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญาของตนเอง ยกจิตใจตั้งให้มั่นอย่าได้หวั่นไหว เจ็บจะเจ็บไปถึงไหนก็แค่ตาย อยู่ดีสบาย อยู่ไปถึงไหนก็แค่ตาย แก่ชราแล้วไม่ตายไม่ได้ เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดจะให้ผู้อื่นช่วยไม่ได้ ต้องภาวนาให้พ้นจากความตาย ความตายนั้นมีทางพ้นไปได้ อยู่ที่การละกิเลส ล้างกิเลสในใจให้หมดสิ้น

16. วันคืนเดือนปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่าวันคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคลหมดไปสิ้นไป มันหมดไปทุกลมหายใจเข้าออก ฉะนั้น ภาวนาดูว่า วันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่ ทำบุญหรือทำบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนาใจสงบหรือยัง

17. ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ใจยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในชาติตระกูล ในตัว ในตน ในสัตว์ในบุคคล ความยึดอันนี้แหละที่ยึด ไม่ให้มีทุกข์ให้มีความสุข มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับว่าเราจะไม่ให้แก่ ก็แก่เรื่อยไป ต้องรู้ว่าแก่เพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตมายึดถือ เมื่อจิตมายึดมาถือ จิตจึงมาเกาะอยู่ มาเกิด มาแก่ชรา เจ็บไข้ได้พยาธิ ผลที่สุดก็ถึงซึ่งความตาย

18. บทภาวนาบทใดก็ดีทั้งนั้น ถ้าภาวนาได้ทุกลมหายใจ ก็เป็นอุบายธรรมอันดีทั้งนั้น ความตั้งมั่นในสมาธิภาวนาของจิตใจคนเรานั้น ย่อมมีเวลาเจริญขึ้น มีเสื่อมลงเป็นธรรมดา ถ้าเรามารู้เท่าทันว่า การรวมจิตใจเข้าเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว เป็นความสงบสุขเยือกเย็น อย่างแท้จริง ก็ให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา อย่าได้มีความท้อถอย เมื่อใจไม่ท้อถอยแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เราท้อแท้อ่อนแอได้ เพราะคนเรามีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน สำเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น

19. ความเที่ยงแท้แน่นอนในโลกนี้ จะเอาที่ไหนไม่มี ผู้ปฏิบัติจงรู้เท่าทัน รู้เท่านั้นแล้วก็ปล่อยว่าง อย่าเข้าไปยึดไปถือ อย่าไปยึดว่าตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ตัวเราของเรา เราเป็นนั้นเป็นนี้ ตัวเราของเราไม่มี มีแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีแต่หลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งโลก

20. ให้ทานข้าวของ วัตถุภายนอกก็เป็นบุญ แต่ยังไม่ลึกซึ้ง ให้ทำบุญภายในใจ ให้เป็นบุญอยู่เสมอ ภาวนาพุทโธ นึกน้อมเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอยู่ภายใน นี่แหละ บุญภายใน

21. อวิชชา แปลว่าไม่รู้ ไม่รู้ต้น ไม่รู้ปลาย ไม่รู้อยู่ จิตจึงได้วนเวียน หลงไหล เข้าใจผิดว่า โลกนี้ยังมีความสุขซ่อนอยู่ ความจริงแล้วในมนุษย์โลกก็ดี เทวโลกก็ตาม พรหมโลกก็ช่าง ล้วนแล้วแต่ตกอยุ่ในกองทุกข์ กองภัย ต้องมีภัยอันตรายรอบด้าน

รูปภาพ
รวมพระมหาเถราจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร นั่งอยู่แถวหน้าองค์ที่ ๒ จากขวา)
บันทึกภาพ ณ โรงพยาบาลสุขุมวิท กรุงเทพฯ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐



22. ชีวิตของคนเราไม่นาน ชีวิตนี้มีน้อยที่สุด เวลาเรายังไม่ตาย ก็ได้ข่าวคน นั้นว่าตาย ที่เขาเอาไปฝังทิ้ง หรือเอาไปเผาไฟ เพื่อไม่ให้กลิ่นมันเหม็นจมูกเขาต่างหาก เราต้องพิจารณา ต้องทำด้วยกำลังศรัทธาของเรา ทำไมพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้ง หลาย ท่านจึงเกิดอสุภกรรมฐานเห็นแจ้งในจิตในใจได้ เห็นคนก็เห็นก้อนอสุภกรรมฐาน เห็นคนก็เห็นความตายของคนนั้น

23. สงบแต่ปาก ใจไม่สงบ ก็ไม่ได้ ต้องให้ใจสงบ ใจสงบ ก็คือว่า เมื่อฟุ้งซ่านรั่วไหลไปที่อื่นก็ให้คอยระวัง นึกน้อมสอนใจของตัวเองด้วยว่า ความเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วเป็นทุกข์อย่างนี้แหละ จะไปเอาสุขที่ไหนในโลก ที่ไหน มันก็ทุกข์เท่าๆ กัน เอาสิ่งเหล่านี้มาเตือนใจตนเอง

24. เวลาความตายมาถึงเข้า กายกับจิตจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เรียกว่าแยกกันไป จิตทำบาปไว้ก็ไปสู่บาป จิตทำบุญไว้ก็ไปสู่บุญ จิตละกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ได้ก็ไปสู่นิพพาน จิตละไม่ได้ก็มาเวียนตายเวียนเกิด วุ่นวายอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลก มนุษย์ทั้งหลายก็ยังไม่หมดไปจากโลก ยิ่งในปัจจุบันนี้ ยิ่งมากกว่าในสมัยก่อน มันเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากจิตที่เต็มไปด้วย อวิชชา-ความไม่รู้ ตัณหา-ความดิ้นรน ไม่สงบตั้งมั่น ก็สร้างตัวขึ้นมาในแต่ละบุคคล แล้วก็มาทุกข์มาเดือดร้อน วุ่นวายอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้แหละ

25. ให้ละกิเลสออกจากจิตให้หมดทุกคน กิเลสนี้แหละทำให้คนเราเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ไม่สิ้นสุด กิเลสนั้นเมื่อย่นย่อเข้ามาก็คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง 3 อย่างเท่านี้ ทำไมจึงเกิดมาสร้างกิเลสให้มากขึ้นไปทุกภพทุกชาติ ทำไมหนอ ใจคนเราจึงไม่ยอมละ การละก็ไม่หมดสักที ในชาติเดียวนี้ตั้งใจละ ทั้งพระเณรและญาติโยมทั้งหลาย ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นอย่าโกรธไปตาม ถ้าไม่โกรธไปตาม มันจะตายเชียวหรือ ทำไมจึงไม่ระลึกอยู่เสมอว่า คนเราจะละความโกรธให้หมดสิ้นไป ในเวลาเดี๋ยวนี้ อย่าให้มีการท้อถอยในการสร้างความดี มีการรักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 พร้อมทั้งการเจริญสมาธิภาวนา ฆ่ากิเลสตัณหาให้หมดไป ใจจึงจะเย็นเป็นสุขทุกคน

26. ภาวนาให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จิตของผู้ภาวนาก็สูง คำว่าสูง ก็เหมือนกับเรือที่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำ ลำคลองหรือที่มหาสมุทรสาคร ก็คือ จิตมันอยู่เหนือน้ำ

27. จิตอยู่เหนืออารมณ์ เหมือนเรืออยู่เหนือแม่น้ำ มันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงจำต้องฝึกอบรมตัวเองให้มีความอดทน

28. เวลาความสุขมาถึงเข้า เราจะไปเอาความสุขในความสรรเสริญเยินยอ มั่งมีศรีสุขอย่างเดียว แต่เราหารู้ไม่ว่า “ความสุขมีที่ไหน ความทุกข์ก็มีที่นั่น”

29. มรณกรรมฐานนี้เป็นยอดกรรมฐาน คนเราเมื่ออาศัยความประมาท มัวเมาไม่ได้มองเห็นภัยอันตรายจะมาถึงตน คิดเอาเอง หมายเอาเอง ว่าเราคงไม่เป็นไรง่ายๆ เราสบายดีอยู่ เรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ความตายคงไม่กล้ำกรายได้ง่ายๆ อันนี้เป็นความประมาท มัวเมา

30. ถ้ามองเห็นความตายทุกลมหายใจเข้าออก สบายไปเลย กูก็จะตาย สูก็จะตาย จะมากังวลวุ่นวายกันทำไม่


๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ถือกำเนิดมาเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ให้กับตนเอง และใช้ชีวิตที่เหลือในการเกื้อกูลมหาชนชาวพุทธอย่างแท้จริง หลวงปู่พร่ำสอนเสมอๆ มิให้ตั้งตนในทางที่ประมาท ทั้งความประมาทในชีวิต ความประมาทในวัย และความประมาทในความตาย หลวงปู่เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติภาวนาว่าเป็นหนทางอันสูงสุดที่จะทำให้คนพ้นทุกข์ ดังคำสอนตอนหนึ่งความว่า

“ทางพระสอนให้ละชั่วทำความดี แต่ก็ไม่ให้ติดอยู่ในความดี ให้บำเพ็ญจิตให้ยิ่งขึ้นจนถึงไม่ติดดีติดชั่วจึงจะพ้นจากโลกนี้ไปได้ เพราะแม้คุณความดีจะส่งผลให้เป็นสุขไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นเทพ อินทร์ พรหม ก็ตาม แต่เมื่อกำลังของกุศลกรรมความดีนั้นๆ หมดลง ก็ย่อมต้อง กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ทางพระจึงมุ่งสอนให้มุ่งภาวนา ทำจิตให้รวม ระวังตั้งมั่น ทำจิตให้มีปัญญารู้ความเป็นจริงด้วยตนเอง จนถอดถอนอุปทานความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ออกเสียจึงจะเป็นไปเพื่อความสิ้นภพสิ้นชาติ หมดทุกข์หมดยากโดยแท้จริง”

หลวงปู่ได้ทำหน้าที่ครูอาจารย์ไว้โดยสมบูรณ์ยิ่งแล้ว ทั้งด้านเทศนาธรรม และด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงาม หลวงปู่เป็นผู้มีใจหนักแน่นมั่นคงไม่ หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลาย ซึ่งพวกเราจักยึดถือปฏิบัติตามได้โดยสนิทใจ หลวงปู่จากไปอย่างผู้ที่พร้อมรับต่อความตายทุกขณะ สมดังที่หลวงปู่ได้พร่ำสอนผู้อื่นเสมอ

ถ้าสาธุชนท่านใดได้ไปที่วัดถ้ำผาปล่อง ท่านจะได้พบรูปหล่อเหมือนองค์หลวงปู่ประดิษฐานอยู่ในท่าขัดสมาธิเพชร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำองค์ท่าน และ “เจดีย์แห่งความกตัญญู” ที่คณะศิษย์ได้จัดสร้างถวายให้ใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของ “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”

รูปภาพ
รูปหล่อ-รูปภาพ-พัดยศสมณศักดิ์หลวงปู่สิม ณ วัดถ้ำผาปล่อง

รูปภาพ
รูปหล่อเหมือนหลวงปู่สิมในท่าขัดสมาธิเพชร ณ วัดถ้ำผาปล่อง

รูปภาพ
“พระธาตุเจดีย์พุทธาจารานุสรณ์” เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร




.............................................................

คัดลอกมาจาก :: หนังสือแก้วมณีอีสาน
http://www.manager.co.th/Dhamma/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2009, 07:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ประมวลภาพวัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่

รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประมวลภาพ “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21581

ประมวลภาพ “วัดถ้ำผาปล่อง” จ.เชียงใหม่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21574

(ป้าย) หลักธรรมคำสอนหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=27374


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

๏ ภาพพระธาตุหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ


ที่มาภาพล่างสุด : http://www.doisaengdham.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 เม.ย. 2009, 12:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.พ. 2008, 09:18
โพสต์: 635

อายุ: 0
ที่อยู่: กองทุกข์

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"
คิดเท่าไหรก็ไม่รู้ หยุดคิดจึงจะรู้

http://www.luangta.com
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 เม.ย. 2009, 13:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 14:21
โพสต์: 17

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2009, 11:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

ขอเชิญร่วมงานบำเพ็ญกุศลรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=2537

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2009, 11:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: วาทะธรรม :b8:
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
คัดมาจาก หนังสือพุทธาจารานุสรณ์


:b42: “หมาไล่เนื้อ”

ท่านว่าคนเราเกิดมาบนโลกนี้ ความแก่ความชรา มันก็ไล่ติดตามอยู่เสมอ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไล่ติดตามอยู่เสมอ มรณภัยคือความตาย ขยับใกล้เข้ามาทุกวันคืน ท่านเปรียบอุปมาเหมือนหมาไล่เนื้อในป่า สมัยโบราณเขาเอาหมาไปไล่เนื้อ ไล่สัตว์ป่ามากินเป็นอาหาร เมื่อสุนัขมันเห็นสัตว์ป่ามันก็ไล่ ไป เมื่อสุนัขไล่ไปไล่อยู่ไม่หยุด ไม่หย่อนก็ย่อมมีเวลาทัน ทันเนื้อสัตว์ป่านั้น เมื่อทันที่ไหนมันก็กัดเอาจนเนื้อตัวนั้นตายไป

ที่เราเกิดมาแล้วนี้มันได้ชื่อว่า เหมือนหมาไล่เนื้อมาโดยลำดับ มันใกล้เข้ามาเป็นลำดับๆ ฉะนั้นพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงเตือนว่า ให้ภาวนามรณกรรมฐานไว้ มรณํ เม ภวิสสติ ให้พากันภาวนา ให้นึกถึงว่าความตายมันใกล้เข้ามา ไล่เข้ามาโดยลำดับ

อีกไม่นานความตายนั้นก็จะเข้ามาถึงตัวเราทุกคน แต่ทุกวันนี้มันก็ใกล้เข้ามา เดี๋ยวก็ได้ข่าวว่าคนนั้น คนนี้ตาย พระเณร พระท่านผู้เฒ่าผู้แก่ตายไป นี่คือว่ามันเหมือนหมาไล่เนื้อ เมื่อมาทันเวลาใด หมามันไม่ได้ยกเว้น มันกัดเอาจนเนื้อตัวนั้นตายไป ชราความแก่ พยาธิความเจ็บไข้ มรณภัยคือความตายอันมันไล่ติดตามตัวเรา อันมันไล่ติดตามเราท่าน ทั้งหลายอยู่นี้ ถ้าเราไม่รีบเร่งภาวนา ไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติให้ดีแล้ว เมื่อมรณภัย คือความตายมาถึงเข้าบุคคลผู้นั้น ย่อมมีความพลั้งเผลอ ลุ่มหลงเพราะไม่ได้ประกอบกระทำในภาวนาไว้ให้เพียงพอ ยิ่งเมื่อความแก่ชรา แก่ตัวมาเท่าไร พยาธิ โรคา มันก็มากขึ้น สติสตัง ก็ต้องตั้งขึ้นมา ให้มีสติ ความระลึกได้ จิตใจจึงจะตั้งมั่นในสมาธิภาวนาได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจิตใจก็จะฟุ้งไปซ่านมา แส่ส่ายหาอารมณ์ต่างๆ ไม่มีที่จบที่สิ้น

:b42: “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนสาด”

มนุษย์เกิดมาไม่ใช่จะมีแต่คนรักกัน คนชังกัน คนหาข้อที่ทำลายชีวิตของเราก็มีอยู่ แต่เราไม่รู้ คนเกลียดคนชังก็มี คนรักนั้นมีน้อย คนชังนั้นมีมาก คนโบราณจึงแต่งคำสอนใจไว้ว่า

คนที่มีความรักนั้นมีเท่าผืนหนัง เหมือนหนังวัวหนังควายมันมีจำกัด แต่ว่าคนชังนั้นมีเท่าผืนเสื่อ คนชังมันมีได้เต็มโลก มันมากกว่าคนรัก ฉะนั้นอย่าไปหลงคนรัก อย่าไปหลงอารมณ์กิเลส คนชังคนคอยเบียนเบียนมาก แต่เขาไม่บอกให้รู้

เพราะบอกให้รู้มันก็ไม่พอใจของคน แต่ว่าคนที่ชอบคอพอใจกันทั้งนั้น คนหนึ่งสองคนก็รู้มาบอกว่า ข้าพเจ้าเคารพ นับถือท่าน แต่คนชังเขาไม่บอก

โน่นละถึงฆ่ากันตายกลางถนนหนทางเป็นศพไปแล้ว แก้ไม่ได้อันนี้เค้าจึงแต่งคำกลอนว่า คนรักมีเท่าผืนหนัง คือน้อยนิดเดียวนะ คนชังเท่าผืนเสื่อสาด คนชังมันเห็นได้เต็มโลก คนทั้งโลกมาก คนรักคนชอบ พอใจมันน้อย คนชังมันมาก คือเป็นการเตือนใจทุกคนนั้นเอง

:b42: “อภัยทาน”

ฝึกหัดจิตใจในการให้ทาน ทานนี้ ทานวัตถุข้าวของใครก็พอมองเห็นได้ แต่ว่าอภัยทานการให้อภัยแก่คนอื่น สัตว์อื่นนี้คนเรามองไม่เห็น แล้วการปฏิบัติก็ไม่ได้ ก็เป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง ถ้าว่าอย่างหนึ่งก็เรียกว่าฝึกจิตอย่างสูง คือทุกสิ่งทุกอย่างมันจำเป็นต้องเสียสละให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย แก่คนและสัตว์ทั้งหลายที่เขายังไม่รู้ไม่เข้าใจ เมื่อเราฝึกหัดจิตนั้นเอง ให้จิตมันเกิดความรู้ความฉลาด ขึ้นมาว่า สิ่งใดควรยึดสิ่งใดไม่ควรยึด สิ่งใดควรให้อภัย

ในทางผู้ต้องโทษในประเทศไทยเมื่อเอาไปกักกันอยู่ในเรือนจำแล้วนานๆ ท่านก็มีให้อภัย โทษที่ตัดสินว่าให้อยู่เท่านั้นปี เท่านี้ปี เท่านั้นสิบปีก็มี ท่านก็ให้อภัยได้ อภัยทานจึงเป็นทานอันสูงสุด ตามธรรมดาก็ต้องติดคุกไป จนหมดโทษ แต่ให้อภัยคือว่าให้ลดโทษนั้นไปจนพ้นโทษ อันการหัดฝึกจิตฝึกใจของเราแต่ล่ะบุคคล

อภัยทาน ให้อภัยแก่กัน คนอื่นผู้อื่นเขาไม่รู้ แม้เราจะไปแน่ะนำสั่งสอนอย่างไร ว่าอย่างไรก็ตามแต่ มันก็ไม่รู้ไม่เข้าใจอยู่นั้นแหละ

:b42: “ภาวนาไม่เลือกสถานที่”

ในวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราไม่ควรประมาท นั่งที่ไหนก็ตั้งใจภาวนาในที่นั้น ยืนอยู่ที่ไหนก็ตั้งใจภาวนาในที่ยืน เดินไปไหนก็ให้ตั้งใจภาวนาในที่เดินไปนั้น แม้กระทั้งเรานอนแล้วแต่ยังไม่หลับก็ให้น้อมเอาดวงใจ เอาใจของเราให้หยุดให้อยู่ ให้สงบ ระงับได้นั้น

แหละเป็นการดี จึงให้ชื่อว่าการภาวนาในทางพุทธศาสนา เราต้องตั้งใจประกอบกระทำให้เกิดให้มีขึ้น คนอื่นที่จะมาช่วยได้จริงๆนั้น มันก็ห่างไกลอยู่ ตัวเรานี่แหละพึ่งตัวเราเอง พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสสอนไว้ว่า อตตาหิ อตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน จะคิดพึ่งคนอื่นมาภาวนาให้ไม่ได้ เราต้องภาวนาเอง แก้ไขจิตใจเราเอง

:b42: “ลมปาก”

ลมปากมนุษย์มันพอใจมันก็ว่าให้ดี ที่ลมปากมนุษย์มันไม่พอใจมันก็ด่าให้ว่าให้ อย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อนทำใจของเราให้วางเฉย พุทโธอยู่ในดวงใจให้จิตใจเย็นสบายเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยภายในใจของเรานี่เอง บางคนเมื่อถูกความคิดเตียนนินทาเหมือนเอาน้ำร้อนมาลวกเข้าไป เต้นเหย็งๆ คือว่าไม่ภาวนา ว่าลมแรงยังไม่แรงเท่าลมปาก เขาว่าอย่างนั้น ลมแรงนั้นนานๆจึงจะพัดมาทีหนึ่ง แต่ลมปากมนุษย์มันพัดอยู่ทุกวันเวลา ใครไม่ภาวนาก็เป็นทุกข์เป็นร้อนถ้าเขาสรรเสริญเราก็ไม่ควรดีใจ ถ้าเขานินทาว่าร้ายป้ายสีก็ไม่ควรเสียใจ เพราะความสรรเสริญนินทานี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ความเที่ยงแท้แน่นอนมันอยู่ในจิตใจทุกคน ตั้งจิตตั้งใจให้มั่นคง

:b42: “ใจดวงเก่า”

ใจของเรามันมีอยู่คนละดวงๆ ภายในตัวเราทุกๆคน ใจดวงนี้ไม่ได้ไปไหน ตั้งแต่มาปฏิสนธิในท้องแม่ จนคลอดออกมา เกิดมาแล้วก็จิตใจดวงเก่านี้เอง จิตใจดวงนี้มาแต่ภพก่อนหนหลังนับไม่ถ้วนแล้ว มาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตาย อยู่ในภพน้อยภพใหญ่ในโลกจนนับไม่ถ้วนแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังมีความรู้ความฉลาดยังไม่เพียงพอ ความโง่เขลาเบาปัญญายังมีอยู่เยอะ

เพราะเราไม่ฝึกต่อกันมา เมื่อเรารู้ตัวอย่างนี้เราต้องฝึกฝนอบรมหลายอย่างหลายประการ นับตั้งแต่นั่งขัดสมาธิเพชร ไม่ได้ไม่ยอม เราต้องนั่งให้ได้ เราไม่ฝึกเราไม่สอนเราเอง ใครจะมาสอนล่ะ ไม่มีใครสอนยืนภาวนาก็ให้ได้ เดินภาวนาก็ให้ได้ ไปรถไปรายิ่งภาวนาให้มันมาก

:b42: “กบเฝ้ากอบัว”

ในข้อความบางอย่างท่านเปรียบเทียบไว้ว่า มีหนองบัวอยู่ มีบึงมีหนองอยู่ มีเจ้ากบนั้นก็นั่งเฝ้ากอบัวอยู่ แต่ไม่รู้ว่าบนหัวของตัวมันมีดอกไม้ ดอกบัวมีน้ำหวานอยู่ในนั้น แมลงผึ้งก็มาเอาเกสรดอกไม้ เอาน้ำหวานของดอกบัว แต่ไอ้เจ้ากบก็นั่งเฝ้ากอบัวไม่รู้ ไม่รู้อะไรเป็นอะไรล่ะ ถ้าร้อนขึ้นมาก็โดดน้ำ เย็นแล้วก็ขึ้นมานั่งเฝ้ากอบัว ท่านเปรียบให้เห็นว่า แมลงภู่แมลงผึ้งมันยังรู้จัก

เจ้ากบนั่งเฝ้ากอบัว ดอกบัวอยู่บนหัวกลิ่นบ่ต้อง (ไม่ได้กลิ่นบัว) ภุมรินบินมาข้างบนเอาเกสรดอกไม้ไป โบราณเขาก็แต่งโคลงให้ว่า กบไม่รู้อะไร ผู้ไม่ภาวนาแม้คุณพระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ คุณพระธรรมก็ไม่รู้ คุณพระสงฆ์ก็ไม่รู้ แล้วก็นั่งเฝ้ากอบัวคือนั่งเฝ้าธาตุทั้งสี่ ขันธ์ห้า นั่งเฝ้าตู้พระธรรมก็ว่าได้ ตัวเรานี้แหละเป็นตู้พระไตรปิฏก กาย วาจา จิต พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ กบก็คือจิต เราไม่ภาวนา ไม่สงบจิตสงบใจมานั่งเฝ้ากอบัวอยู่ นั่งเฝ้าดอกไม้ของหอมอยู่แต่ไม่รู้ เกิดมาแล้วก็มีตาก็ดูไป มีหูก็ฟังไป มีจมูกก็ดมกลิ่นไป มีลิ้นก็ลิ้มรสกินอาหารไป มีร่างกายก็กระทบเย็นร้อนอ่อนแข็งไป เมื่ออารมณ์ทั้งห้าผ่านมาแล้วก็เป็นอารมณ์อยู่ในจิต สิ่งใดชอบใจก็หลงไป สิ่งใดไม่ชอบใจก็โกรธขัดเคืองในจิตในใจ ไม่ให้อภัยแก่ใครทั้งนั้น คือว่าไอ้กบนั่งเฝ้ากอบัวคือเราทุกคนนี่แหละ..

..แต่ไอ้เจ้าผึ้งก็โง่อีก เมื่อเห็นแสงสว่างไฟฟ้า มันไม่รู้จักว่าไฟฟ้าแหละ ไม่รู้จักของร้อน เมื่อตัวบินมาแล้ว มาเห็นแสงสว่างเห็นแสงไฟ ก็คิดเข้าใจว่าของวิเศษ แก้วมณีโชติอยากได้ ไอ้ตัวความอยากตัณหาอันนั้นแหละ มันอยากได้ ลืมเสียว่าตัวบินมานั้น บินไปหาอะไร มาหาแก้วมณีโชติไฟไหม้นี่หรือ หรือบินไปหาเกสรดอกไม้น้ำหวาน

ของดอกไม้ แล้วลืมเสีย ลืมของหวานที่จะเอาไปให้ลูกเต้ากิน เอาไปเลี้ยงพวกเพื่อนของตัวเอง ลืมหมด พอมาเห็นแสงสว่างของไฟนี่มันยังดีไฟไม่ไหม้ตัวมัน ถ้าเกิดเป็นไฟป่าบินเข้ามา อย่างนี้ก็ตาย ตายลูกเดียว นั่นคือแมลงผึ้งมันไม่รู้ แต่มันก็มีวิชาความรู้โดย

ธรรมชาติ ว่าเกิดมาแล้วมันรู้เองว่าต้องไปหาน้ำหวานเกสรดอกไม้ แต่วาความรู้ว่าไฟร้อนไม่ได้เรียนไม่ได้รู้ ปู่ย่าตาทวดของผึ้งก็ไม่ได้สอน เพราะโง่มาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดของผึ้ง สอนแต่ให้หาเกสรดอกไม้และน้ำเย็น มันก็กินอย่างนี้ กินน้ำเย็นเยอะและก็กินน้ำผึ้งน้ำดอกไม้.. :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2009, 12:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ภิกษุนอนจงกรม
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


ดูพระสาวกในครั้งพุทธกาลท่านทำจริง ท่านเดินจงกรมอย่างเดียว เอาจนได้สำเร็จมรรคผล เห็นแจ้งพระนิพพาน ท่านทำอย่างไร คำว่าจริง ที่นี้ ท่านนั่งภาวนามันก็ง่วงเหงาหาวนอนเหมือนเราท่านทั้งหลายนี่แหละ ท่านก็ไม่ยอมนั่ง ถ้านั่งมันสัปหงก ท่านไม่นั่ง ท่านเดินจงกรม คำว่าเดินจงกรมก็คือว่าเดินก้าวไปก้าวมา ในทางในเส้นทางจงกรม ที่ท่านปัดกวาดไว้นั้น ไม่ยอมหยุดไม่ยอมนั่ง ถ้านั่งมันคอยหลับ หลับตาก็ยิ่งร้ายใหญ่ เดินเอาอย่างเดียว เดินจนไม่รู้ว่ามันนานเท่าไหร่ล่ะ เดินจนหนังเท้าแตก เลือดไหลเดินไม่ได้ แล้วเราท่านทั้งหลายผู้นั่งภาวนาอยู่นี่เดินจนเท้าแตกเลือดไหลเดินไม่ได้มีหรือ ไม่เห็นมี ไปทางไหนก็สวมรองเท้ากลัวตีนแตก เจ็บนิดๆ หน่อยๆ ก็เอาไม่ไหวแล้ว ตายแล้ว ทำไมไม่ตายตั้งแต่ยังไม่เกิดล่ะ นั่นแหละคือว่าใจท้อถอย ใจเกียจคร้าน ไม่ได้ดูพระแต่ก่อนท่านเดินจนกระทั่งว่าหนังเท้าแตกเดินไม่ได้ เมื่อเดินไม่ได้ท่านก็ยังไม่ถอยความเพียร ถ้าเราสมัยนี้ถ้าถึงขนาดนั้นละก็นอนแผ่เท่านั้นแหละ ไม่เดินอีกต่อไป ไม่ภาวนาอีกต่อไป แต่ท่านไม่ยอม เมื่อเดินไม่ได้เข่ายังมี มือยังมี คลานเอา ท่านว่าอย่างนั้น ทีนี้ก็คลานเดินจงกรมไป กลับไปกลับมา ไม่รู้ว่ากี่หนแหละ เข่าแตก หนังเข่าแตกไป ช่างมันไม่ใช่เข่าเรา เข่าของกิเลส มือแตกก็แตกช่างมัน เดินไม่ได้มันเจ็บ แตกเลือดไหล เราได้คลานภาวนาจนเข่าแตกเลือดออกมีไหม ไม่มี มีแต่นอนห่มผ้าให้มันตลอดคืน มันจะได้สำเร็จมรรคผลอะไร ก็ได้แต่กรรมฐานขี้ไก่เท่านั้นเองแหละ กรรมฐานขี้ไก่ กรรมฐานขี้หมู ไม่ลุกขึ้นภาวนาเหมือนพระแต่ก่อน พระแต่ก่อนท่านเดินไม่ได้ท่านคลานเอา ทีนี้คลานไม่ได้ท่านทำอย่างไร ท่านก็ไม่ต้องนอนกันล่ะ แต่ท่านนอนขวางทางจงกรม แล้วไม่ใช่นอนนิ่งๆ ให้มันหลับ พลิกเหมือนกับเดินจงกรมในทางนั่นเองแหละ เหยียดยาวลงตั้งแต่หัวถึงตีน ทีนี้มันก็ไม่มีที่ตรงไหนแตกแล้วทีนี้ กลิ้งไป พลิกไป จนสุดทางจงกรม กลิ้งกลับมาอีก เอาอยู่อย่างนั้น ไม่รู้กี่ครั้ง กี่หน นับไม่ถ้วน ท่านตั้งใจลงไป ท่านไม่ยอมให้มันหลับมันไหล ไม่ให้มันฟุ้งซ่านไปที่อื่น เท้ามันเจ็บก็ไม่ให้ไปยึดไปถือ เข่ามันแตกก็ไม่ให้ไปยึดไปถือ มือแตกก็ช่างมือ มือผีหลอก มันหลอกให้หลง เข่าผีหลอก เท้าผีหลอก ท่านไม่ย่อท้อ ใจไม่ย่อท้อ อันนั้นนั่นแหละเรียกว่า ความเพียร ไม่ใช่คำ “เพียร” พูดปลายลิ้นเท่านี้ ท่านมีความเพียรจริงๆ ไม่ยอมให้มันนิ่ง ถ้านิ่งมันก็หลับ พลิกไปกลิ้งกลมไปเรื่อย มันจะตายก็ช่างสิ ได้ภาวนาทำความเพียรละกิเลส เป็นสิ่งสำคัญ ความตั้งใจองค์นั้น เมื่อถึงขั้นนอนเหยียดตามแผ่นดินแล้ว กลิ้งไปเถิดมันไม่แตกละทีนี้ มันไม่มีที่ไหนหนัก ถ้ายืนมันก็ไปลงหนักที่เท้าที่ตีน ถ้าคลานมันก็ไปที่เข่าที่มือ มันไปหนักที่นั้น ถ้าเหยียดยาวละก็ไม่มีที่ไหนจะไปหนัก มันเท่ากันหมด แต่ไม่ใช่ท่านนอนหลับเหมือนพวกเรา ไม่ใช่นอนภาวนา นอนกลิ้งไม่ยอมให้มันหลับ ไม่ยอมให้มันนิ่ง เรียกว่าสติสัมปชัญญะ สมาธิท่านตั้งมั่นลงไป องค์นี้เรียกว่ามีความเพียรที่สุดในพุทธศาสนา ไม่มีองค์ใดที่จะได้สำเร็จแบบนี้ มีองค์เดียวเท่านั้น เพราะว่าท่านทำจริง

เราทุกคนทุกดวงใจถ้ามีความเพียรขนาดนั้นล่ะคิดดูสิ ไม่ต้องไปถามหามรรคผลนิพพานล่ะ (ต้องได้แน่) ท่านเอาจนสำเร็จ แม้เราทุกคนก็เอาให้มันขนาดนั้น มันจะไปเหลือวิสัยได้หรือ มันยังไม่ถึงขั้นนั้นมันไปถอยเสียก่อน หยุดเสียก่อน มันกลัวตายน่ะ มันจึงได้มาเกิดมาตายอยู่ไม่จบไม่สิ้น มานอนอยู่ในท้องแม่นับภพนับชาติไม่ถ้วน ก็เพราะจิตอันนี้ไม่มีความเพียร ไม่สมกับพุทธภาษิตที่ว่า วิริเยน ทุกฺข มจฺเจติ บุคคลจะล่วงความทุกข์ได้ด้วยความเพียร

ให้เตือนใจของเราว่า เราได้ทำความเพียรเหมือนพระอรหันต์องค์นั้นหรือไม่ ถ้ายังไม่ถึงก็เอาให้มันถึง ไม่ถึงให้มันตายเสียดีกว่า มารอกินข้าวสุกทุกวัน ใจขี้เกียจ ใจขี้คร้าน ใจขี้หลับขี้นอน ใช้ไม่ได้ ให้ตื่นขึ้นลุกขึ้น


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...
หนังสือพุทฺธาจารปูชา ธรรมานุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
ณ สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
วันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ (หน้า ๒๑๙-๒๒๐)


:b44: ๏ ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573

:b44: ๏ รวมคำสอน “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42673

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ค. 2009, 18:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.พ. 2008, 09:18
โพสต์: 635

อายุ: 0
ที่อยู่: กองทุกข์

 ข้อมูลส่วนตัว www


ขอบคุณครับที่ช่วยมาเสริมความรู้ให้เพิ่ม :b9:

.....................................................
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"
คิดเท่าไหรก็ไม่รู้ หยุดคิดจึงจะรู้

http://www.luangta.com
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2011, 06:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆๆขอบพระคุณค่ะ :b8: :b8: :b8:
:b41: :b41: :b41: :b41:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร