วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2009, 09:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม


สามเณรองค์สุดท้ายที่ท่านพระอาจารย์มั่นให้การบรรพชา
“อริยสงฆ์ผู้มีญาณบารมีเป็นเลิศ”


วัดป่าวิสุทธิธรรม (วัดป่าบ้านโคก)
ต.ตองโขป อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร


๏ ชาติภูมิ

“หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม” มีนามเดิมว่า อุ่นหล้า ผาใต้ เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ บ้านโคก ต.เหล่าโพนค้อ อ.เมือง (ปัจจุบันเป็น ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ) จ.สกลนคร โยมบิดาชื่อ รอด ผาใต้ โยมมารดาชื่อ บัวทอง ผาใต้ (โยมมารดาเป็นพี่สาวคนโตของท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๗

โยมบิดาของหลวงปู่อุ่นถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ อยู่ ตอนนั้นญาติพี่น้องได้นิมนต์พระมาสวดมาติกาบังสุกุล และบอกให้ท่านกราบ ท่านก็ยังกราบไม่เป็น บอกให้ท่านประนมมือก็ไม่กล้าเพราะอายคน ส่วนโยมมารดาของท่านนั้นได้มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงท่านบวช แต่ป่วยเป็นอัมพาตเป็นเวลาหลายปี ในปีที่โยมมารดาจะถึงแก่กรรมนั้น ท่านไปพำนักจำพรรษาที่ถ้ำบนภูพาน ตามคำอ้อนวอนนิมนต์ของโยมผู้ใหญ่บ้านที่นั้น ทั้งที่ใจจริงแล้วท่านไม่อยากไปเพราะท่านสังเกตดูอาการป่วยของโยมมารดาแล้วคงจะไม่รอดปีนี้

พอถึงกลางพรรษาประมาณเดือนกันยายน ท่านทราบข่าวโยมมารดากำลังป่วยหนัก จึงได้สัตตาหะมาเยี่ยม คืนแรกที่ท่านมาถึงได้ไปเยี่ยมอาการโยมมารดา เห็นอาการกระวนกระวาย บอกลักษณะให้ทราบว่าธาตุขันธ์กำลังวิปริตแปรปรวนแล้ว ในคืนที่ ๒ ต่อมา ขณะที่ท่านกำลังนั่งภาวนาอยู่ที่กุฏิ ได้รู้สึกในจิตเหมือนกับมีคนขึ้นมาบนกุฏิ ท่านพิจารณาทราบทันทีว่าเป็นวิณญาณของโยมมารดามาอำลา รุ่งเช้าพี่เขยได้มาเรียนท่านว่า “โยมแม่เราสิ้นใจแล้ว” ท่านจึงบอกว่า “เมื่อคืนโยมแม่มาหาที่กุฏิแล้ว”

จากนั้นท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้นำศพโยมมารดาซึ่งเป็นพี่สาวของท่าน ไปฌาปนกิจที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เสร็จงานศพแล้วหลวงปู่อุ่นจึงเดินทางกลับไปที่ท่านจำพรรษาเพื่อไม่ให้พรรษาขาด ในพรรษานั้นท่านได้นำเอาการกระวนกระวายตอนที่ธาตุขันธ์ของโยมมารดาใกล้จะแตกดับ มาพิจารณาว่าทุกขเวทนาในเวลาใกล้ตายมีความแก่กล้ามาก

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่ายืนพาดสังฆาฏิ ด้านหลังเป็นต้นค้อ
ณ เสนาสนะป่าบ้านฝั่งแดง ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
บันทึกภาพเมื่อราวปลายเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๖



๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ในช่วงวัยเด็ก หลวงปู่อุ่นช่วยครอบครัวเลี้ยงวัวควาย ทำไร่ไถนา ทำมาหากินตามปกติ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงปู่มีอายุย่างเข้า ๒๐ ปี ซึ่งในเวลานั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินทางจาก จ.อุดรธานี มาพำนักอยู่ที่วัดร้างชายป่าใกล้บ้านโคก จ.สกลนคร หลวงปู่อุ่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งให้ปลูกกุฏิไว้คอยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ครั้นต่อมาไม่นานพระอาจารย์กงมา ซึ่งจากบ้านเกิดไปเผยแผ่ธรรมที่ จ.จันทบุรี เป็นเวลาหลายปี ก็เดินทางกลับมาบ้านโคก สมคำพยากรณ์ของพระอาจารย์มั่น

ท่านพระอาจารย์มั่นปรารภว่าอยากให้นายอุ่น ผาใต้ บวช จึงเป็นพระอุปัชฌาย์ทำการบรรพชาให้เป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมี ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้สอนการครองผ้าให้ โดยได้ทำการบรรพชาในศาลาวัดร้างที่พระอาจารย์มั่นพำนักอยู่นั้น นับว่าหลวงปู่อุ่นเป็นสามเณรองค์สุดท้ายที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้การบรรพชา เพราะหลังจากนั้นพระอาจารย์มั่นปรารภว่าท่านชราแล้ว จึงยกให้ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นผู้ทำการบรรพชาและอุปสมบทต่อไป

เมื่อเข้าพรรษา สามเณรอุ่น ผาใต้ จึงได้พำนักจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดร้างชายป่าบ้านโคกนี้ (ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณที่เป็นที่ว่าการอำเภอโคกศรีสุพรรณ) โดยมีพระเณรรูปอื่นๆ ที่อยู่ร่วมจำพรรษากับท่านด้วย ได้แก่ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์สิงห์ จากบ้านหนองหลวง จ.สกลนคร, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร, พระอาจารย์พา, พระอาจารย์ทองปาน จาก จ.อุบลราชธานี, พระอาจารย์สวัสดิ์ และสามเณรอิ๊ด เป็นต้น

ด้วยความที่หลวงปู่กำลังเข้าวัยหนุ่ม และไม่เคยศึกษาธรรมะมาก่อน การบวชเป็นเณรปีแรกนี้ ท่านจึงยังภาวนาไม่เป็น เวลาบ่ายมักจะหิว เวลาท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์อบรม ท่านก็ตั้งใจฟังโดยเรียบร้อยแม้จะไม่เข้าใจนัก แต่ก็เพียรพยายามนั่งสมาธิ เดินจงกรม ตามแบบที่พระอาจารย์มั่นสอน ดูแลปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์โดยความเคารพ และไม่ขาดตกบกพร่อง จึงได้รับการอนุญาตจากพระอาจารย์มั่นให้อยู่ศึกษาธรรมกับท่านตลอด ๓ ปี

หลังจากออกพรรษา ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี เดินทางจาก จ.อุดรธานี มากราบท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านโคก และได้เป็น พระอุปัชฌาย์ ทำพิธีอุปสมบทให้ สามเณรอุ่น ผาใต้ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมี พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมาหาพิมพ์ ธมฺมทีโป เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จญัตติกรรมเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. ณ อุทกุกเขปสีมา (สิมน้ำ) กลางหนองบัวซึ่งอยู่ใกล้บ้านโคกนั้น ทั้งนี้ อุทกุกเขปสีมา (สิมน้ำ) นี้ได้สร้างขึ้นมีขนาดเล็กๆ แคบๆ คล้ายเถียงนา มี ๔ เสา ปูไม้กระดานอยู่กลางน้ำ ต้องทำสะพานเดินเข้าไป ท่านได้รับนามฉายาว่า “กลฺยาณธมฺโม” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีธรรมอันเจริญ, ผู้มีธรรมอันงาม”

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 17:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์หลอด ปโมทิโต

รูปภาพ
พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองคำ จารุวณฺโณ (ญาโณภาโส)


๏ ลำดับการจำพรรษาและการปฏิบัติศาสนกิจ

หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้พามาสร้างวัดใหม่อยู่ไม่ห่างจากที่เก่านัก เนื่องจากที่เก่าอยู่ใกล้ทางสัญจรของผู้คน จึงไม่ค่อยสงบ เมื่อมาอยู่ที่ใหม่นี้ชาวบ้านจึงถวายที่ตั้งวัด ซึ่งได้แก่วัดป่าวิสุทธิธรรม ในปัจจุบัน ครั้งนั้นมีพระภิกษุสามเณร อยู่ ๓-๔ รูป กับผ้าขาวคนหนึ่ง ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ย้ายไปพำนักที่วัดป่าบ้านนามน (ปัจจุบันคือวัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร) ซึ่งอยู่ห่างไปราว ๒ กิโลเมตร และจำพรรษที่นั่นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖

พ.ศ. ๒๔๘๖ พรรษาที่ ๑ หลวงปู่อุ่น จำพรรษาที่วัดป่าวิสุทธิธรรม กับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และพระภิกษุสามเณรไม่กี่รูป ทุกๆ ๓ วัน จะพากันเดินไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น ที่บ้านนามน ระยะนั้นเป็นฤดูฝน หลวงปู่เล่าว่าลำบากมาก ต้องเดินตามคันนา เพราะยังไม่มีถนนเหมือนทุกวันนี้ บางครั้งไปเจอแอ่งน้ำใหญ่ขวางอยู่ ก็ต้องลุยน้ำไป ท่านว่ายินดีที่จะลำบาก เพราะปรารถนาจะฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ แม้จะไม่ได้จำพรรษกับท่าน แต่ก็ตั้งใจปรารภความเพียรอย่างยิ่ง

ครั้งหนึ่งไปฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นตามปกติ ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า “คนมีนิสัยมาหาเราเมื่อคืนนี้ อุ่นนี่แหละ” ซึ่งหมายความว่า คืนที่ผ่านมา ท่านพระอาจารย์มั่นนิมิตถึงหลวงปู่ว่าเคยบวชมาหลายภพหลายชาติแล้ว หลวงปู่ท่านว่า เมื่อฟังแล้วดีใจปานแผ่นดินสูงขึ้นศอกหนึ่ง เกิดความอัศจรรย์ใจว่า ครูบาอาจารย์รู้วาระจิตของท่าน เมื่อกลับมาบ้านโคกจึงตั้งใจเดินจงกรมภาวนา ทั้งๆ ที่ฝนกำลังตก ใจหนึ่งก็คิดว่าหยุดดีกว่าฝนตกผ้ามันเปียก ใจหนึ่งก็คิดว่าเปียกก็ตากให้แห้งได้ สุดท้ายท่านก็เดินต่อไป ท่านว่ามองกิเลสมันสู้กันภายใน มันกลัวว่าเราจะหนีจากมัน

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่า “ถึงพุทธัง สรณัง คัจฉามิ แล้วหรือยัง” หลวงปู่อุ่นตอบว่า “ถึงแล้ว” ด้วยความคิดว่า ตอนบวชต้องว่า นโม แล้วก็ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก่อนจึงค่อยว่าศีล

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์กงมาได้ไปนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นมาพำนักที่วัดป่าวิสุทธิธรรม และจำพรรษาที่นี่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยมีพระเณรรูปอื่นๆ ที่อยู่ร่วมจำพรรษากับท่านด้วย ได้แก่ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์มนู, พระอาจารย์หลอด ปโมทิโต, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร, พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺโม, พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส (พระอาจารย์ทองคำ จารุวณฺโณ), พระอาจารย์คำดี (น้องชายพระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร), พระอาจารย์บุญ, เณรดี และเณรจันได ฯลฯ โดยในปีนี้ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ไม่ได้อยู่ร่วมจำพรรษาด้วย

พรรษาที่ ๒ นี้ หลวงปู่พยายามนั่งสมาธิ เดินจงกรมอย่างยิ่ง เพราะท่านยังไม่เคยประสบผลจากการภาวนาเลย วันหนึ่งท่านนั่งภาวนาอยู่ในกลดใต้ต้นค้อในวัดนั้น เดิมเวลานั่งภาวนาจะมีความเจ็บปวดแข้งขามาก มาวันนั้นท่านอธิษฐานลงไปว่าจะเจ็บก็ให้มันเจ็บไป ท่านปล่อยวางได้แล้ว ปรากฏว่าจิตสงบรวมปึ๊บลงเป็นสมาธิ สงบ สว่าง น้ำตาไหลออกมาจนท่านพระอาจารย์กงมาเดินผ่านมา จิตจึงถอนออก ท่านว่านี้เป็นครั้งแรกที่ท่านภาวนาแล้วจิตสงบ ปัจจุบันจึงก่ออิฐไว้ใต้ต้นค้อเป็นอนุสรณ์สถาน

ครั้งหนึ่ง ท่านได้ฟังท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ว่า “พระของเรานี้ไม่มีความอดทน มันไม่ใช่บุรุษ” หลวงปู่ได้ฟังแล้วจึงเกิดความมุ่งมั่นในการทำความเพียร ท่านคิดว่า “เราก็เป็นบุรุษ เป็นชายเต็มตัว วันนี้เราจะไม่นอน” จากนั้นก็นั่งสมาธิ ปรากฏว่าคืนนั้นจิตรวมถึง ๓ ครั้ง เมื่อจิตถอนออกมาเป็นเวลาใกล้รุ่งเช้าแล้ว

หลวงปู่เล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นญาณความรู้แจ่มชัดมาก พระเณรรูปไหนไม่สวดมนต์ไหว้พระ ไม่ขยันภาวนาท่านทราบหมด แม้ท่านจะอยู่ที่กุฏิ โรงครัว โรงน้ำร้อน เก็บสิ่งของเรียบร้อยหรือไม่ ท่านก็รู้หมดเช่นกัน หากสิ่งใดไม่ถูกต้องแล้ว ท่านจะกล่าวตักเตือน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุให้หลวงปู่เกรงกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก ต้องคอยระมัดระวังทั้งกายทั้งจิต ท่านจึงไม่เคยถูกท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ดุเอาหนักๆ หลวงปู่ว่า แค่ท่านส่งสายตามา เหมือนกับมีดเฉือนเข้าไปข้างใน พอท่านถามว่า “เป็นอย่างไรนั่งภาวนา” แค่นี้มันบาดหัวใจอย่างที่สุด

ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเทศน์ให้พระเณร รวมทั้งหลวงปู่ฟังว่า “เป็นอย่างไรภาวนา มีแต่กินแล้วนอน ไม่อดทน ตอนเราอยู่ถ้ำสาริกา นครนายก ป่วยเป็นไข้ป่าเกือบมรณภาพ ฉันเข้าไปแล้วไม่ย่อย ออกมาเป็นเมล็ดเหมือนเดิม พระอื่นที่เคยไปอยู่ก่อนล้วนมรณภาพหมดทุกองค์ และยังมีนิมิตปีศาจถือกระบองใหญ่จะมาทุบตี เราจึงว่า เรามาเจริญสมณธรรม จะมาฆ่าก็ฆ่าเลย สุดท้ายปีศาจนั้นก็ยอมเข้ามากราบไหว้ เราทำมาไม่ใช่ทำเล่นๆ ทำมาสละความตาย พวกท่านทำอย่างนี้กินแล้วก็นอน มันได้ผลอะไร ทำเล่นๆ ไปเท่านั้น เสียเวลาเปล่าๆ”

ความที่หลวงปู่กลัวพระอาจารย์มั่น จิตจึงมีกำลังใจในการภาวนา ทำให้การภาวนาก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ ฟังเทศน์ท่านเริ่มเข้าใจ หลวงปู่กล่าวว่า “ถ้าเป็นเหมือนอย่างทุกวันนี้ท่านเทศน์อย่างไรจะเข้าใจหมด ยิ่งให้ท่านดุด่ายิ่งชอบ เกิดความแจ้งสว่างขึ้นมา เอาฆ้อนแปดปอนด์มาทุบหัวกิเลสลงไป ถ้ามันมีเหตุอะไร ก็พิจารณาดูว่ามันมาจากไหน ไม่สำรวมในศีล หรือเราพูดมากไป พิจารณาดูเหตุมัน มันก็หยุดไปเอง เดี๋ยวนี้มันไม่ดื้อแล้ว แต่ก่อนมันดื้อด้านไม่ฟังเรา จะมานั่งสมาธิ มันก็บอกว่าเดี๋ยวเป็นเหน็บชา เวลาเดินจงกรม มันก็กระซิบว่า เดินเร็วไม่ได้เดี๋ยวเสียเส้นเป็นเหน็บชา เดินไม่ได้ เดี๋ยวสึกออกไปไม่มีใครแต่งงานด้วย เวลานั่งสมาธิมันก็ว่า นี่ไม่ใช่สมัยบรรลุมรรคผล พอไปถามครูบาอาจารย์ ท่านบอกว่าไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก สมัยใดก็บรรลุธรรมได้”

หลวงปู่ปรารภให้ฟังตอนหนึ่งว่า “พระปฏิบัติทุกวันนี้ ดูแล้วมันห่างไกลกันกับสมัยหลวงปู่มั่น พูดแล้วจะหาว่าตำหนิ มีแต่ทำเล่นๆ สมัยครูบาอาจารย์ท่านเข้มงวดกวดขันกันจริงๆ”


พรรษานี้ ท่านพระอาจารย์หลอด ปโมทิโต เกิดไข้ป่ากำเริบ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านไม่ให้กินยา ท่านให้ภาวนารักษาตัว ท่านเทศน์ว่าอย่าไปยึดถือ ที่สุดท่านพระอาจารย์หลอดก็หายได้ด้วยกำลังของการเจริญภาวนา กุฏิที่พระอาจารย์หลอดพำนักจำพรรษาตั้งอยู่ใกล้กับเมรุวัดในปัจจุบัน (ขณะนี้กุฏินั้นได้ผุพังไปตามกาลเวลาแล้ว)

ตอนค่ำเวลาฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น จะขึ้นไปฟังบนกุฏิท่านเพราะพระเณรมีไม่มาก กุฏิท่านมีระเบียง ส่วนศาลาใช้ฉันภัตตาหาร และเทศน์อบรมในบางครั้ง ทั้งกุฏิและศาลาที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยใช้พำนัก ปัจจุบันวัดป่าวิสุทธิธรรมได้อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์ ส่วนกุฏิที่หลวงปู่จำพรรษาสมัยนั้นได้ล้มลงเองเนื่องจากผุพังตามธรรมดา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่ผ่านมา จึงได้ทำการสร้างกุฏิหลังใหม่ถวาย ณ บริเวณที่เป็นกุฏิเก่า สมัยที่หลวงปู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งก็คือกุฏิที่ได้ทำการฉลองนี้

เมื่อออกพรรษารับกฐินแล้ว ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ คณะศรัทธาญาติโยมบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้เดินทางมานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปจำพรรษาโปรดชาวบ้านหนองผือบ้าง ท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาแล้วจึงรับนิมนต์ และได้เดินธุดงค์ไปทีหลัง โดยมีหลวงปู่ตามไปส่ง

หลวงปู่เล่าว่า ท่านสะพายทั้งบาตรบริขารของตนเองและของท่านพระอาจารย์มั่นด้วย พะรุงพรังเหมือนอย่างไทครัว (คนอพยพ) แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่ได้ดุหลวงปู่แต่อย่างใด

ท่านพระอาจารย์มั่นเดินถือไม้เท้านำไปก่อน หลวงปู่เดินตามหลัง เดินขึ้นภูพานทางบ้านห้วยแคน แล้วเดินธุดงค์บนภูพาน ไปจนถึงบ้านหนองผือ หลวงปู่พัก ๒-๓ วันแล้วเดินทางกลับมาอยู่ที่บ้านโคกกับพระอาจารย์กงมา ไม่ได้ไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นอีก แต่ในปีถัดๆ มา เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์กงมา จะพาหลวงปู่กับผ้าขาวนำงบน้ำอ้อยก้อนใหญ่ๆ ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นเสมอ

ตอนที่ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่อยู่ที่วัดป่าวิสุทธิธรรม ได้มีโอกาสไปสรงน้ำศพท่านพระอาจารย์มั่น และไปช่วยงานที่วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร อยู่เสมอ โดยเดินทางด้วยเท้าไป-กลับจนกระทั่งทำการฌาปณกิจเสร็จสิ้น

ในช่วงที่หลวงปู่อยู่กับพระอาจารย์กงมานั้น พระอาจารย์กงมามักพาไปธุดงค์เสมอ หลวงปู่เล่าว่า ท่านกลัวพระอาจารย์กงมามาก แม้จะเป็นหลานแท้ๆ แต่ก็ไม่เคยได้รับการยกเว้นเป็นพิเศษ เวลาไปธุดงค์ด้วยกัน พระอาจารย์กงมามักบ่นว่า “กัมมัฏฐานอะไรไม่อดไม่ทน” หลวงปู่ทั้งสะพายบาตรของท่านและของพระอาจารย์กงมาด้วย เวลาเดินก็เหนื่อยอยากจะพัก กลับถูกดุว่าไม่อดทน

หลวงปู่เปรียบให้ฟังว่า พระอาจารย์กงมาเทศน์อย่างดุเดือดเผ็ดร้อน เหมือนพริกที่สุกมีสีแดง ครั้งหนึ่งท่านไปธุดงค์ด้วยกัน กลางคืนแล้วหลวงปู่เกิดความกลัวมาก ขนาดที่เรียกว่าเกิดมาไม่เคยกลัวขนาดนี้ หลวงปู่จึงลุกขึ้นนั่งภาวนา สักพักก็มีเสือมา ท่านเคยได้ยินผ้าขาวบอกว่าเสือมักคาบเอาสุนัขมากิน คราวนี้มันลากเอาสุนัขผ่านกุฏิท่านไป ได้ยินเสียงกระทบกับฝาดังปัง ท่านเกิดความกลัวอย่างสุดขีด เลยนั่งสมาธิอยู่ในมุ้งนานเป็นชั่วโมง ท่านว่ายังดีที่เข้ามุ้งไปแล้ว หากยังไม่เข้ามุ้งอาจจะวิ่งลงไปหาพระอาจารย์กงมาก็ได้ เมื่อนั่งไปนานจนหายกลัวแล้วจึงนอน รุ่งเช้าขึ้นมาท่านจึงไปดูตรงที่เสือมันลากมา กลับไม่มีร่องรอยอะไรเลยทั้งที่เมื่อคืนตอนมันลากได้ยินเสียงดังครากคราก

รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าวิสุทธิธรรม หลังจากบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖
ปัจจุบันทางวัดได้อนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นกุฏิอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของหลวงปู่มั่น


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 17:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม นั่งบนแท่นอิฐใต้ต้นค้อ ณ วัดป่าวิสุทธิธรรม จ.สกลนคร
ซึ่งท่านให้ก่ออิฐเป็นแท่นใต้ต้นค้อนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานว่าในพรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗
จุดนี้เป็นจุดที่ท่านนั่งสมาธิแล้วประสบผลจากการภาวนา จิตรวมสงบลงเป็นสมาธิครั้งแรก
บันทึกภาพเมื่อราวต้นปีพุทธศักราช ๒๕๓๘


:b39:

พรรษาที่ ๓-๔ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ หลวงปู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ที่วัดป่าวิสุทธิธรรมอีกครั้ง ในระยะที่ท่านกำลังหนุ่มมีอายุพรรษายังน้อยนี้ ท่านมักอยากสึกอยู่หลายครั้ง ท่านพยายามแก้ไขตนเองอย่างสุดกำลังความสามารถ จนครั้งหนึ่งความอยากสึกมันรุนแรงมาก รู้สึกกระวนกระวายใจจนนั่งสมาธิก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยลงไปเดินตามป่าภายในวัด คิดไปว่า มันจะไหวไหมนี่ ถ้าไม่ไหวจริงๆ จะไปหาท่านพระอาจารย์กงมาที่กุฏิ ให้ท่านช่วยแก้ให้ สุดท้ายเอาผ้าปูนั่งสมาธิกลางวัดเลย ปรากฏว่าจิตสงบรวมลงเป็นสมาธิอย่างรวดเร็ว จิตที่เคยฟุ้งซ่านกลับหยุด มีแต่ความเยือกเย็นใจ เป็นอันว่ารอดพ้นมาได้ ท่านว่าครั้งนี้เกือบตาย เหลืออยู่สายใยเดียว (คือเกือบต้องสึก)

รุ่งขึ้นจึงเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์กงมา ถึงเหตุการณ์เมื่อคืน ท่านบอกว่า “เออ ! ถ้าแก้ไม่ได้จะพาไปหาพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ” หลวงปู่ว่า ท่านกลัวพระอาจารย์มั่นมาก แค่นึกภาพว่าท่านมองมาก็กลัวแล้ว อย่าว่าแต่ไปหาเลย ท่านพระอาจารย์กงมายังเตือนอีกว่า “ความอยากสึกนี้มันยังจะมาอีกให้ระวัง” หลวงปู่ก็คิดว่า แค่นี้ยังจะเอาไม่ไหว มันยังจะมาอีกหนักกว่านี้ตายแน่เลยเรา

ครั้นต่อมา ความอยากสึกนี้ก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่ไม่หนักเท่าคราวก่อน หลวงปู่จึงใช้สติปัญญาพิจารณาทบทวนดูว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตของท่านฟุ้งซ่านอยากสึก ? จะเป็นเพราะเราบิณฑบาตไม่สำรวม ไปติดรูปผู้หญิงตอนไปบิณฑบาตหรือ ? หรือฉันอาหารแล้วไม่พิจารณา ? พยายามพิจารณาทบทวน ช่วงนี้ท่านเริ่มมีปัญญาบ้างแล้ว รู้จักพิจารณาอสุภะ อสุภัง ตามที่ครูบาอาจารย์เคยสอนไว้ จนความรู้สึกนั้นเบาบางลงไป ท่านว่าเหมือนท่านผ่านการทดสอบของกิเลส (ในคราวแรก) มาได้แล้ว ต่อมาจึงสามารถเอาชนะได้ ความจริงหลวงปู่ตั้งใจแล้วว่าถ้าบวชแล้ว ๕ พรรษา ยังภาวนาไม่เป็นจะสึก เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าตั้งใจทำความเพียรจริงๆ แล้ว ๕ พรรษาต้องภาวนาเป็น สติสัมปชัญญะต้องรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอด ถ้าทำไม่ได้ก็ให้สึกไป ช่วงพรรษาแรกๆ นี้หลวงปู่จึงเร่งความเพียรอย่างหนักจนภาวนาเป็น และอยู่ในสมณเพศมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นี้ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ขึ้นไปอยู่ชายเขาภูพาน และได้ตั้งเป็นวัดดอยธรรมเจดีย์ขึ้น หลวงปู่ไม่ได้ไปอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เพราะท่านอาจารย์กงมาให้อยู่ที่วัดป่าวิสุทธิธรรม แต่ท่านก็ไปช่วยงานก่อสร้างทุกวัน เช้าเดินไป เย็นเดินกลับ ประมาณ ๑ ทุ่ม หรือ ๒ ทุ่มก็กลับถึงวัด

รูปภาพ
ภายในอุโบสถ (ศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) วัดป่าวิสุทธิธรรม จ.สกลนคร


พรรษาที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงปู่ย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน (ปัจจุบันคือวัดป่านาคนิมิตต์ จ.สกลนคร) ห่างจากบ้านโคกไปประมาณ ๒ กิโลเมตร โดยจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และสามเณร ๑ รูป ท่านเล่าว่า ปีนี้ขาดแคลนผ้ามากเพราะเพิ่งเลิกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องใช้ผ้าหนาๆ เนื้อหยาบตัดจีวร (ปกติผ้าที่ใช้ตัดจีวรเป็นผ้าที่ทอเอา) คืนหนึ่งสามเณรไม่ได้ภาวนา จึงนอนละเมอร้องเอะอะ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน เมื่อไปปลุกแล้วสอบถาม สามเณรบอกว่าฝันว่าเขาจะมาฆ่า

หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม กับ พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ เป็นสหธรรมิกกัน แม้ภายหลังท่านยังมีโอกาสไปออกธุดงค์ทางภาคใต้ร่วมกับพระอาจารย์สุวัจน์ ซึ่งได้เดินทางไปอยู่แถบนั้นหลายปีแล้ว และหลวงปู่ยังได้ร่วมพิธีฉลองพระอุโบสถ วัดเจริญสมณกิจ ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งมี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นประธานสงฆ์อยู่ในที่นั้น ทั้งยังมีโอกาสพบกับพระโสภณคุณาธาร (หลวงปู่มหาเนียม สุวโจ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดเจริญสมณกิจ ด้วยเช่นกัน

หลวงปู่ได้ไปธุดงค์แทบทุกภาคของประเทศก็ว่าได้ ได้เคยไปติดตามพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ไปที่จังหวัดจันทบุรี ตอนพรรษาที่ ๑๐ พระอาจารย์กงมาบอกให้หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี ซึ่งท่านพระอาจารย์กงมาเป็นผู้สร้าง หลวงปู่เล่าว่า ท่านไม่อยากอยู่ พูดภาษาภาคกลางไม่ได้ ท่านจึงไม่ได้จำพรรษา

ปกติในฤดูแล้งทุกๆ ปี หลวงปู่มักไปเที่ยวธุดงค์ตามป่าเขาต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทางเหนือได้ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่, ทางใต้ได้ไปถึงจังหวัดภูเก็ต สงขลา ยะลา, ทางตะวันออกได้ไปถึงแถบจังหวัดจันทบุรี ตราด, ส่วนทางอีสานก็ได้ไปทั่วจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รูปภาพ
พระโสภณคุณาธาร (หลวงปู่มหาเนียม สุวโจ)

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 17:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺมานุสรณ์” วัดป่าวิสุทธิธรรม
สถานที่บรรจุอัฐิธาตุ, อัฐบริขาร และรูปหล่อ-รูปภาพหลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม
และ “ศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ซึ่งปัจจุบันทางวัดใช้เป็น “อุโบสถ” ด้วย


รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺมานุสรณ์ วัดป่าวิสุทธิธรรม

รูปภาพ
ทางเดินจงกรมหลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม วัดป่าวิสุทธิธรรม


พรรษา ๑๒ พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ให้หลวงปู่ไปอยู่ภาวนาบนภูพาน (แถบถ้ำผากง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ในปัจจุบัน) อยู่ที่นั้นหลวงปู่เล่าว่า ภาวนาดีมาก จึงอยู่ติดต่อกัน ๖-๗ ปี จนกระทั่งพระอาจารย์กงมามรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงกลับมาวัดป่าวิสุทธิธรรม การอยู่ในที่นี้ปีแรกจำพรรษาบนยอดเขา ได้รับความลำบากมากเพราะต้องบิณฑบาตไกลมาก จึงไม่ไปบิณฑบาตโดยเฉพาะในฤดูฝน ญาติโยมทาง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พากันเอาข้าวสาร พริก เกลือ งาคั่ว มาถวาย เพื่อให้ผ้าขาวนึ่งข้าวถวายพระ หลวงปู่เล่าว่า การฉันปีนั้นต้องฉันพริกและงาคั่วตลอดพรรษา ไม่มีอาหารอย่างอื่น น้ำปลาก็ไม่มี ปลาร้าก็ไม่มี นานเข้าก็ชินไปเอง ฉันเพื่อระงับความหิวเท่านั้น จะขึ้นลงภูก็ต้องเดินตามทางช้าง และต้องใช้ไม้เท้าด้วยเพื่อกันลื่นล้ม

การปฏิบัติปรารภความเพียร ณ สถานที่แห่งนี้ดีมาก วันหนึ่งเกิดนิมิตเห็นเทพมากราบแล้วบอกว่า อยากฟังสวดมนต์ เพราะอยู่นานแล้วยังไม่ได้ฟังสวดมนต์สักครั้ง แม้หลวงปู่จะไปนอนแล้ว เขาก็ยังตามไปบอกอีกว่า อยากฟังสวดมนต์ และยังเรียกชื่อท่านถูกด้วย หลวงปู่บอกว่า ได้ยินเสียงเรียกชื่อ “อุ่น.....อุ่น” แต่ครั้นมองดูกลับไม่เห็นมีคน ท่านว่าเสียงเรียกชื่อนั้นไม่ได้เข้ามาทางเดินจงกรม แต่หลีกมาทางอื่น

ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงย้ายลงมาอยู่เชิงเขา พอจะบิณฑบาตได้ หมู่บ้านที่ไปบิณฑบาตมีเพียง ๑๐ หลังคาเรือน ชาวบ้านก็ยากจน แต่ก็พอได้ข้าวมาบ้าง กุฏิที่ใหม่นี้เวลาฝนตกมักจะรั่วและยุงชุมมาก ต้องอยู่ในกลดตลอด ออกมาข้างนอกไม่ได้ แต่เป็นการบังคับให้นั่งสมาธิในกลดไปในตัว บริเวณที่อยู่ใหม่นี้ พระบอกว่ามีเทวดาอยู่ที่ยอดไม้ หลวงปู่ท่านไม่เชื่อ วันหนึ่งนั่งภาวนาจิตสงบ เกิดแสงสว่างจ้าขึ้นเหมือนกับไฟนีออน ปรากฏเห็นผู้คนหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก มีพระเณรรวมอยู่ด้วย พากันเดินลงไปสู่นรก จากนั้นก็เห็นปราสาทสว่างไสวงดงาม มีพรมปูพื้นอยู่ ทำให้ท่านนึกอยากเข้าไปนั่งบนพรมนั้น

ต่อมาท่านได้เล่านิมิตนี้ให้พระอาจารย์กงมาฟัง พระอาจารย์กงมาบอกว่า “อย่าไปติดในรูปาวจรกุศล ไปเห็นนางฟ้าเทวดา อย่าไปติดมันเด้อ หยุด หยุด”

รูปภาพ
พระอาจารย์แบน ธนากโร


ชาวบ้านที่อยู่แถบนี้เป็นชาวโซ่ ส่วนใหญ่มีอาชีพหาของป่า ล่าสัตว์ ฯลฯ ภาษาของชาวโซ่เป็นภาษาที่ไม่เหมือนกับภาษาไทย เหมือนเป็นอีกภาษาหนึ่ง อาทิเช่น คำว่า “เปอะ” แปลว่า “ไป” หรือ “จาโดย” แปลว่า “กินข้าว” หรือ “อิ่มบ็อก” แปลว่า “เสื่อ” เป็นต้น

หลวงปู่บอกว่า ชาวบ้านเขาไม่มาภาวนาด้วย แต่ก็ทำให้ท่านมีเวลาทำความเพียรเต็มที่ พวกชาวบ้านเคยมาภาวนาด้วยครั้งหนึ่ง แต่มีผู้ชายคนหนึ่งนั่งภาวนาแล้วเกิดตัวสั่นขึ้นมาเหมือนผีเข้า พวกชาวบ้านเลยพากันกลัวว่าจะเป็นบ้า จึงไม่มาภาวนาอีก

คราวหนึ่ง ท่านไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำผาแอก ซึ่งมีพระองค์อื่นอยู่ที่นั่น ท่านองค์นั้นฉันเจ และยังชวนให้หลวงปู่ฉันเจด้วย หลวงปู่บอกว่ากิเลสยังมากอยู่ จะมาฉันแต่หัวเผือก หัวมัน ข้าวโพด อย่างนี้ไม่ได้ แต่ด้วยความจำเป็นที่ท่านต้องพักอยู่ที่นั่น จึงต้องฉันเจด้วย หลวงปู่ว่า ฉันแต่พริกกับผัก เวลาหิวมากๆ ก็อร่อยเหมือนกัน หลวงปู่อยู่ที่นี่เกือบ ๓ เดือน ถ้วยชามไม่มี ต้องใช้กะลามะพร้าวแทน ตาผ้าขาวที่อยู่ด้วย เวลาทำให้อาจารย์ของตนขัดเกลี้ยงเกลาดี แต่เวลาทำให้หลวงปู่กลับขัดไม่เกลี้ยง เขาทำให้ ๔ ลูก แต่ที่นี่ภาวนาดี หลวงปู่จึงไม่ถือสาผ้าขาวนั้น

การภาวนาบนภูเขานั้น บางครั้งเกิดนิมิต เห็นคนตัวใหญ่ดำเดินเข้ามาบอกไล่หลวงปู่ บอกว่าที่ที่ท่านพักอยู่นี้ขวางทางของเขา หลวงปู่บอกว่า เป็นพวกภูมิเจ้าที่ ฟังสำเนียงพูดแล้วเป็นภาษาเผ่าโซ่ สถานที่นี้พระที่ไปภาวนามักจะป่วย แม้แต่พระอาจารย์แบน ธนากโร ที่ขึ้นไปอยู่ด้วยกันก็เป็นไข้อย่างกะทันหัน ๓ วันจึงหาย พระอาจารย์แบนยังเตือนหลวงปู่ว่า “ระวังนะ คนที่ผิวขาวๆ อย่างนี้ระวังจะเป็นไข้” แต่หลวงปู่กลับไม่เป็น

ครั้งหนึ่งเกิดนิมิตเห็นผู้หญิงร่างใหญ่ดำเข้ามา และกล่าวว่า “เราไม่กลัวใครในโลกนี้ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้เราจะเหยียบเลย” แล้วเขาก็ถามปัญหาว่า “หนึ่งไม่มีสองคืออะไร สองไม่มีสามคืออะไร สามไม่มีสี่คืออะไร” ถามได้เท่านี้ก็หายไป หลวงปู่ยังไม่ทันตอบ หลวงปู่เล่าว่า หนึ่งไม่มีสอง คือ พระพุทธเจ้า สองไม่มีสาม คือ พระธรรม ท่านว่าถึงถามไปเรื่อยๆ สี่ ห้า หก ก็ตอบได้

บางครั้งกิเลสมันพาคิดว่าทำอย่างไรจะเหาะได้ อยากไปเดินจงกรมบนที่สูงๆ ให้คนเห็น ท่านก็มาพิจารณาขันธ์ ๕ จึงรู้ขึ้นมาว่า “มันเหาะไม่ได้หรอก นั่นมันเป็นการปรุงแต่งของจิต (สังขาร) ต่างหาก”

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดป่าวิสุทธิธรรม อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 17:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าวิสุทธิธรรม


ครั้งหนึ่งหลวงปู่เกิดเป็นไข้ป่า เวทนาแรงกล้ามาก ร้อนกระวนกระวาย ท่านคิดไปว่าอีก ๕ วัน เราคงตายแน่ เมื่ออาการหนักเข้าท่านเลยนอนกำหนดจิต เมื่อจิตสงบเกิดความรู้ขึ้นมาว่า “อย่าไปถือมัน ตัวที่มันตายอย่างหนึ่ง ตัวที่มันไม่ตายอย่างหนึ่ง” จึงอธิฐานว่า “ถ้ามันจะตายก็ขอให้ตายไปเลย ถ้ามันจะหายก็ขอให้มันหาย เดี๋ยวจะลงไปบิณฑบาตไม่ได้” พอถึงวันรุ่งขึ้น อาการไข้ป่าก็หายไป ท่านเกิดความอัศจรรย์ใจว่ากำลังจิตมันเป็นอย่างนี้เอง ครั้นลงไปบิณฑบาตกลับมา ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย อาการไข้ป่าจึงกำเริบอีก มีอาการหนาวสั่น ผ้าห่มไม่มีต้องใช้จีวรห่ม เมื่อเหงื่อออกไข้ก็สร่าง

ถึงปีที่พระอาจารย์กงมาจะมรณภาพ (ปี พ.ศ. ๒๕๐๕) ก่อนเข้าพรรษา ท่านพระอาจารย์กงมาได้กล่าวกับหลวงปู่ว่า “ที่เราทำความเพียรทุกวันนี้ ไม่ได้ต้องการอะไรหรอก เพียงอยากให้มันเห็นผู้ที่ไม่เกิดไม่ดับเท่านั้น” หลวงปู่เล่าว่า รู้สึกจนปัญญา ไม่เข้าใจว่า ผู้ไม่เกิดไม่ดับนั้นคืออะไร ? ระยะนั้นท่านอยู่บนภูพาน ท่านจึงเร่งความเพียรอย่างหนัก ไม่ได้นอนตลอดพรรษา ครั้งแรกอดอาหารถึง ๕ วัน จิตใจนิ่งอยู่กับที่ ไม่ส่งออกนอก เพราะถ้าส่งออกไปจะเกิดความหิว อ่อนเพลีย ขึ้นมาแทน ท่านว่าจิตสงบ สว่างไสวอยู่ในอารมณ์เดียวตลอด (เอกัคตารมณ์) ท่านคิดว่าช่วงนี้ถ้าใครมาทำบุญด้วยคงจะได้บุญมาก เพราะตอนนั้นจิตบริสุทธิ์จริงๆ

ท่านจึงเข้าใจว่า “ผู้ไม่เกิดไม่ดับ คือ ตัวจิต หรือตัวผู้รู้” นั่นเอง สมดังที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เทศน์ว่า “อยู่ในท่ามกลาง ไม่มีตนมีตัว ไม่เกิดไม่ดับ” ครั้นเข้าใจแล้ว ตั้งใจว่าออกพรรษาแล้วจะไปกราบเรียนถามพระอาจารย์กงมา แต่ระหว่างพรรษานั้นท่านเกิดนิมิตเห็นเรือนหลังใหญ่ทุบลงไปเห็นคนตาย ไม่กี่วันต่อมา ท่านก็ได้รับทราบข่าวว่า “พระอาจารย์กงมามรณภาพแล้ว ลูกศิษย์ทุกรูปให้กลับเดี๋ยวนี้” จึงเป็นอันว่า หลวงปู่ไม่ทันได้กราบเรียนถามพระอาจารย์กงมาแต่อย่างใด

เวลาไปบิณฑบาต จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ไม่สนใจกับผู้ที่มาใส่บาตรเลย ขณะนั้นท่านอยู่กับสามเณรอีกองค์หนึ่ง รวมเป็น ๒ องค์ด้วยกัน เวลาไปบิณฑบาตได้ข้าวมานิดเดียว พอขากลับเห็นผักส้มออม (เป็นพืชเถาล้มลุก หน้าแล้งใบมันจะเหี่ยวแห้งไป พอหน้าฝนจะผลิยอดมีใบขึ้นมา มีรสเปรี้ยว เวลาเอาไปต้มกับปลาหรือกบ น้ำแกงจะมีรสส้มอร่อย) ท่านก็ให้สามเณรเก็บไปด้วย แต่ท่านเห็นข้าวมีนิดเดียวเลยไม่ฉัน ไปภาวนาต่อและเกิดนิมิตว่า ได้ขึ้นไปอยู่บนที่สูง มองลงมาเห็นแผ่นดินราบเป็นหน้ากลอง เห็นวัวควาย เห็นคนพากันอยู่อย่างลำบากลำบน จึงพิจารณาเห็นว่า ต้องทรมานร่างกายถึงขนาดนี้จึงจะมองเห็นโลกนี้เป็นกองทุกข์ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ที่ท่านกระทำมาก่อนแล้ว ท่านเห็นมาหมดแล้ว รู้แจ้งในสิ่งเหล่านี้แล้ว ส่วนเราถ้าไม่ทำขนาดนี้ก็จะไม่เห็น และเป็นการทรมานกิเลสตังเอง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไปด้วย

เวลาสายมาเกิดความหิว เพราะไม่ได้ฉันอาหาร หลวงปู่เลยไปนั่งสมาธิแช่น้ำในแอ่งหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ (เดือนหกฝนตกแล้วน้ำขังอยู่ตามแอ่งหินเหล่านั้น) เพื่อบรรเทาเวทนาอันเกิดจากความหิว จนถึงตอนบ่ายความหิวจึงค่อยเบาบางลง ขณะที่นั่งสมาธินั้นมีโยมมาตักน้ำให้ฉัน เสร็จแล้วแทนที่จะกลับไป กลับนั่งคุยกันเสียงดังรบกวนท่าน หลวงปู่จะไล่เขาก็เกรงใจ เพราะเขาเป็นคนหาบน้ำสำหรับฉันมาให้ (ตรงที่ท่านพักไม่มีน้ำ) ก็เลยเข้าสมาธิเพ่งไปที่โยมคนนั้น อีกสักครู่ปรากฏว่าโยมนั้นก็คว้าไม้คานและหาบถังกลับบ้านไป

ท่านเล่าว่า ดีกว่าที่เราจะไปดุไปว่าเขา มันไม่ดี ใช้จิตเพ่งขับไล่ดีกว่า เสียงคุยก็เลยเงียบไป ท่านว่า น่าจะเกรงใจท่านบ้าง เพราะท่านทั้งเพลียทั้งหิว ท่านมาคิดว่า เราช่างลำบากจริงๆ เวลานอนก็ต้องใช้ก้อนหินหนุนแทนหมอน เวลาฝนตกมาหลังคากุฏิก็รั่ว ต้องเก็บเสื่อ สิ่งของ ไปกองรวมกันไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งซึ่งไม่รั่ว บาตรกลัวเปียกฝนต้องเอาไปซุกซ่อนไว้ในถ้ำ การพบกับความลำบากนี้ ท่านว่าบางครั้งก็ท้อใจเหมือนกัน คิดว่าบ้านเรือนเราก็มี ไม่น่ามาอยู่อย่างลำบากลำบนอย่างนี้เลย

เมื่อหลวงปู่เข้าใจแล้วว่า ผู้ไม่เกิดไม่ดับคืออะไร จึงรำพึงว่า ป่านนี้จึงเพิ่งมาเห็นตัวผู้รู้ ผู้ไม่เกิดไม่ดับ ท่านว่าจิตของท่านสามารถบังคับให้เป็นอารมณ์เดียวได้ เปรียบเหมือนวัวควายที่มันไม่ดื้อแล้ว สามารถที่จะเอามือไปลูบหลังของมันได้ จิตของท่านก็เช่นกัน จะทำให้สงบไม่ต้องคิดอะไรก็ได้ หรือจะมาคิดพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ ก็ได้ แล้วให้มันหยุดคิดสงบนิ่งอีกก็ได้ จิตของท่านมีสติแก่กล้าคอยควบคุมเอาไว้แล้ว กลายเป็นมหาสติ มหาปัญญา ที่ท่านยังอยู่เป็นพระให้กราบไหว้ได้ทุกวันนี้ ก็เป็นผลจากการอดอาหารในครั้งนั้น ถ้าไม่มีการทำความเพียรในครั้งนั้น ปัจจุบันท่านคงเป็นฆราวาสคนหนึ่ง

คราวหนึ่งท่านเกิดนิมิตว่า ท่านได้ยืนแหงนมองภูเขา ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน ไม่มีต้นไม้ขึ้นที่หน้าผาเลย เถาวัลย์อะไรก็ไม่มี ไม่รู้ว่าจะขึ้นอย่างไร คนไม่มีปัญญาขึ้นไม่ได้แน่นอน สักพักปรากฏว่าท่านเหาะลอยขึ้นไปสู่ยอดเขา พอลงสู่พื้น ปรากฏเห็นพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นอนหลับให้พระอาจารย์เนตร กนฺตสีโล จับเส้นถวายอยู่ (ตอนนั้นท่านทั้งสองมรณภาพแล้ว) หลวงปู่ตั้งใจจะเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น แต่เห็นท่านหลับอยู่จึงไม่ได้กราบ ท่านเลยนึกว่าพระอาจารย์เนตรนี่ภูมิจิตภูมิธรรมคงจะไปสูงแล้ว

หลวงปู่เล่าว่า นับแต่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ มรณภาพแล้ว ก็ยังนิมิตเห็นท่านทั้ง ๒ อยู่บ้าง หลวงปู่คิดว่า ท่านทั้ง ๒ คงจะมาดูแล แต่ท่านไม่ได้มาสอนธรรมะ ไม่ได้พูดด้วย เห็นท่านแล้วก็กราบ แล้วท่านก็ไป ได้เห็นท่านอย่างเดียวก็ยังดี แต่หลวงปู่เตือนว่า ถ้ากำลังป่วยแล้วเห็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่มาเตือน ต้องระวัง อาการป่วยมักจะหนัก จะทำอะไรก็ให้ระวัง อาจจะมีอุบัติเหตุ

รูปภาพ
ศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าวิสุทธิธรรม (ปัจจุบันทางวัดใช้เป็น “อุโบสถ” ด้วย)

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่นและบริขาร ภายในศาลาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.พ. 2011, 17:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
อัฐิธาตุหลวงปู่อุ่น ภายในพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺมานุสรณ์


๏ พำนักจำพรรษาที่วัดป่าวิสุทธิธรรม

หลังจากท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว นับแต่นั้นมาหลวงปู่จึงมาพำนักจำพรรษาที่วัดป่าวิสุทธิธรรมโดยตลอด ส่วนฤดูแล้งก็ออกไปวิเวกตามป่าตามเขา จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร นิมนต์ให้ไปพำนักจำพรรษา ณ วัดธรรมมงคล ถ.สุขุมวิท ซอย ๑๐๑ เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์วิริยังค์เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ มีพระภิกษุสามเณรอยู่ ๕๐-๖๐ รูป กุฏิอยู่ตามป่าสะแก ป่ามะขามเทศ ครั้งนั้น พระอาจารย์หลอด ปโมทิโต ได้มาพำนักจำพรรษาร่วมด้วย (ต่อมาท่านได้ย้ายไปพำนักจำพรรษา ณ วัดสิริกมลาวาส ซ.เสนานิคม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว - สาวิกาน้อย) จากนั้นหลวงปู่ก็กลับมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิสุทธิธรรม เรื่อยมาจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สิริอายุรวมได้ ๗๕ ปี ๑๑ เดือน ๖ วัน พรรษา ๕๕

ปัจจุบัน วัดป่าวิสุทธิธรรม มีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ในพรรษาของปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีพระภิกษุ ๓ รูป และสามเณร ๑ รูป

หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม เป็นผู้มีนิสัยรักสงบ พูดน้อย ทำความเพียรมาก ไม่คลุกคลีในญาติโยมและการก่อสร้างทั้งปวง ทั้งยังเป็นผู้ที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไว้วางใจรูปหนึ่ง ท่านจึงเป็นพระภิกษุผู้ควรแก่การเคารพบูชา ควรแก่ทักษิณาทาน สมเป็นพุทธชิโนรสอย่างแท้จริง

สทฺธมฺมโช สุปฏิปตฺติคุณาทิยุตฺโต
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เกิดจากพระสัทธรรม
ประกอบแล้วด้วยคุณ มีความปฏิบัติดีเป็นต้น

โยฏฺฐพฺพิธ อริยปุคฺคลสงฺฆเสฏฺโฐ
เป็นหมู่แห่งพระอริยบุคคลอันประเสริฐสุด ๘ จำพวก

สีลาทิธมฺมปวราสยกาจิตฺโต
มีกายและจิตอาศัยธรรมอันประเสริฐ มีศีลเป็นต้น

วนฺทามหํ ตมริยาน คณํ สุสุทธํ
ข้าพเจ้าขอไหว้ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้น อันบริสุทธิ์แล้วด้วยดี


รูปภาพ
ทางเดินจงกรมเก่าของหลวงปู่มั่น

รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺมานุสรณ์

รูปภาพ
อัฐิธาตุหลวงปู่อุ่น ในพิพิธภัณฑ์ฯ

รูปภาพ
อัฐบริขารของหลวงปู่อุ่น ในพิพิธภัณฑ์ฯ

รูปภาพ
รูปหล่อ-รูปภาพหลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม ในพิพิธภัณฑ์ฯ

.............................................................

:b8: :b8: :b8: ♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือประวัติหลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม วัดป่าวิสุทธิธรรม
จัดพิมพ์ขึ้นโดย คณะศิษยานุศิษย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘


:b47: รูป “กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ณ วัดป่าวิสุทธิธรรม
และแท่นอิฐใต้ต้นค้อ อนุสรณ์สถานแด่หลวงปู่อุ่น กลฺยาณธมฺโม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42933

:b47: ประมวลภาพ “หลวงปู่อุ่น กัลยาณธัมโม” วัดป่าวิสุทธิธรรม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21430

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2018, 16:30 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron