วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 14:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต


วัดบุญญานุสรณ์ (วัดป่าหนองวัวซอ)
ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต มีนามเดิมว่า คำแพง สารักษ์ ท่านถือกำเนิดเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนา ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2491 ณ บ้านเลขที่ 135 บ้านหนองวัวซอ ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของโยมพ่อกอง และโยมแม่หนูแดง สารักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 12 คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นายแสวง สารักษ์
2. หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต (สารักษ์)
3. นายแปลง สารักษ์
4. เด็กหญิงแสง สารักษ์ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
5. นายทองแดง สารักษ์
6. นางสมบูรณ์ ภูสวัสดิ์
7. นางคูณ สารักษ์
8. นางหมุน มาแสง
9. พระอาจารย์ทองพูล กาญจโน (สารักษ์)
10. เด็กชายหลอด สารักษ์ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
11. พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อุตตมวังโส
12. นางคำปุ่น ภูเยี่ยมใจ


ชีวิตในวัยเด็ก

ก่อนที่หลวงพ่อท่านจะถือกำเนิดในครรภ์ของโยมมารดา มารดาของท่านฝันว่าได้มีดป็อก มาหนึ่งเล่มจากคนญวน (คนเวียดนาม) ที่หาบมาขาย ต่อมาไม่นานโยมแม่ก็ได้ตั้งท้องหลวงพ่อ พอครบกำหนดคลอดก็ได้คลอดออกมาเองตามธรรมชาติ (ในสมัยนั้นตามชนบทบ้านนอกจะนิยมคลอดกันเองกับผู้เฒ่าผู้แก่ หรือหมอตำแยประจำหมู่บ้าน ไม่ได้ไปหาหมอเพราะ โรงพยาบาลจะอยู่ห่างไกล จะมีก็แต่ในตัวเมืองเท่านั้น) โยมแม่ก็เลยคลอดที่บ้านในเวลาประมาณ ตี 5 กว่าๆ พอเข้าอยู่ไฟทำอะไรเสร็จก็สว่างพอดีหลังจากนั้นโยมแม่ก็อยู่ไฟประมาณ 8-9 คืน โยมแม่บอกว่าตอนที่คลอดหลวงพ่อออกมาใหม่ๆ มีสายรกพันตามลำตัวคล้ายกับเป็นผ้าเฉวียงบ่า เมื่อเป็นอย่างนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็เลยบอกเป็นเชิงทำนายทายทักว่า “ถ้าเป็นแบบนี้บวชจะไม่ได้สึกนะ” โยมแม่ท่านก็เลยอนุโมทนาว่า “สาธุ”

ต่อจากนั้นโยมแม่ท่านก็อยู่ไฟจนครบกำหนด และพอออกจากไฟได้ 2 คืน โยมแม่ก็หอบลูกน้อยไปนอนนาเพื่อเกี่ยวข้าว แต่ก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้าวหรอกเพราะว่าโยมแม่ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอ สมัยนั้นถ้านอนอยู่นาจะต้องใช้เวลานานมาก อาจจะเป็นเดือนหรือสองเดือนเป็นอย่างน้อยเพราะในสมัยนั้นแต่ละครอบครัวจะมีไร่นาสาโทเยอะมากแต่กำลังคนมีน้อย การเกี่ยวข้าว หาบข้าว และนวดข้าว รถนวดข้าว รถไถนาเดินตาม ก็ไม่มีให้เห็นเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ต้องใช้แรงงานคนและแรงงานควายเป็นหลักในการเก็บเกี่ยวข้าว ฉะนั้นกว่าจะทำไร่ทำนาเส็จในแต่ละปีต้องใช้เวลานานมาก คนในสมัยก่อนจึงนิยมตั้งลอมข้าวคือ หลังจากที่หาบข้าวขึ้นมาจากทุ่งนาแล้วก็นำข้าวมาตั้งเรียงให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และจัดให้เป็นระเบียบ บางคนมีที่นามากก็ตั้งได้สูงมาก หรืออาจจะนำเรียงขึ้นใหม่อีกที่หนึ่งหรือสองที่แล้วแต่ว่าที่นาจะมากหรือน้อย หลังจากหาบข้าวขึ้นมาบนลานหมดแล้ว ก็จะกำหนดวันนวด บางครอบครัวก็นวดไปเรื่อยๆ บางครอบครัวมีคนน้อย ก็ไปช่วยคนอื่นเสียก่อน ไปช่วยคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง พอหลายวันเข้าก็ช่วยได้หลายคน ครั้นเมื่อถึงเวลานวดข้าวของตนเองก็ไปบอกเพื่อนบ้านให้มาช่วย หรือที่เรียกกันว่า "ลงแขก" คนในสมัยก่อนนั้นเรื่องน้ำจิตน้ำใจไม่ต้องห่วง มีอะไรก็ช่วยกันเต็มที่ อาหารหารกินก็เช่นเดียวกัน ใครมีอะไรก็จะแบ่งปันกันกินโดยที่ไม่หวงแหนตระหนี่ถี่เหนียวเลย คนในสมัยนั้นจึงเป็นคนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน น้ำใจดีงามเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน
จะวกเข้ามาเรื่องของหลวงพ่อคำแพง ต่อหลังจากนอนนาเกี่ยวข้าวโดยที่โยมพ่อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง บางครั้งก็นวดข้าว นวดเส็จก็ตำข้าว โยมแม่เป็นคนฝัดข้าวเพราะอยู่ทุ่งนาไม่มีโรงสีข้าวเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ ถ้าข้าวอญู่บ้านหมดก็จะตำมาจากนา เป็นอยู่อย่างนี้ประจำจนกว่าจะนวดข้าวเสณ้จหมดทุกอย่างถึงได้ขนย้ายครอบครัวกลับมาอยู่บ้านตามเดิม บางคนก็นอนอยู่นาต่อไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไปตามประสาชีวิตอิสระตามชนบทที่กำลังสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว จึงถือได้ว่าเป็นชีวิตที่ทรหดอดทน หนักเอาเบาส็จริงๆ ในสมัยนั้น และไม่นิ่งดูดายจนกว่าฐานะจะมั่นคงนั่นแหละถึงเพลามือลงบ้างฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อนจะขยันขันแข็งในการทำงานมาก แม้จะแก่เฒ่าแล้วก็ยังทำโน่นทำนี่เรื่อยไป อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเป็น ถ้าจะเปรียบกับสมัยปัจจุบันนี้ห่างไกลกันมาก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


โยมแม่บอกว่าตอนหลวงพ่อคำแพง ยังเด็กๆ อยู่นั้นเมื่อถึงเวลาโยมแม่ไปนาก็จะเอาหลวงพ่อคำแพง ใส่ในตะกร้าแล้วก็หาบไปนา เวลาหาบต้องเอาหลวงพ่อคำแพงไว้ด้านหน้า แล้วก็เอกระติ๊บข้าวเหนียวพร้อมกับอาหารไว้ด้านหลังหาบเพราะกลัวว่าไม้คานจะหลุด แล้วก็เดินไปนา ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนทางจะลื่นมาก เพราะว่าถนนหนทางเต็มไปด้วยโคลนตม ในสมัยนั้นทางเดินไปไร่นาลำบากมาก พอออกจากหมู่บ้านก็ต้องเดินข้ามสะพานไม้ ข้ามแม่น้ำห้วยหลวง ชึ่งบางปีในฤดูน้ำหลากสะพานขาดไปตามกระแสน้ำก็เคยมีบ่อย ๆ พอข้ามสะพานได้แล้วก็เดินไปตามคันนา แล้วเดินไต่สะพานที่มีไม้แผ่นเดียวยาวเป็นกิโล แต่หลวงพ่อกำแพงท่านก็ไม่กวน ไม่กระดุกกระดิกนั่งอยู่ในตะกร้าเฉย ๆ โยมแม่บอกว่าทำอยู่อย่างนี้จนท่านโตพอเดินได้คล่องถึงค่อยปล่อยให้เดินเอาเอง
ชีวิตในวัยเยาว์ ท่านเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายไม่กระจองอแงและไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วยเลี้ยงลูกก็เลี้ยงแบบสบาย ปล่อยให้เล่นให้อยู่ตามธรรมชาติ ท่านก็ไม่เคยรบกวนจิตใจพ่อแม่ อาหารการกินก็หาเอาตามท้องไร่ท้องนา เก็บเห็ด หาปูหาปลามากินตอนเช้า ออกไปทำนาก็หาบเอาท่าน (หลวงพ่อคำแพง) ออกไปนาด้วย พอถึงนาก็วางท่านลงแล้วไปหาเก็บเห็ดที่หัวไร่ปลายนาเอามาทำอาหารเช้า พอท่านมีอายุได้ 7 ปี ครบกำหนดเข้าโรงเรียนโยมแม่ก็พาท่านไปฝากเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านหนองวัวซอ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลหนองวัวซอ) เพราะในสมันนั้นไม่มีโรงเรียนอนุบาล ในขณะที่เรียนหนังสืออยู่ท่านก็จะเป็นคนไปหาอาหารตามท้องไร้ท้องนามาให้ครอบครัวกินตลอด แม่ทำอะไรให้กินก็กินไม่เคยบ่นไม่เคยติ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยที่ท่านเป็นเด็กตามแม่ไปตักรบาตรหลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านหลวงปู่หลุย ก็เอาข้าวก้นบาตรให้ท่าน (หลวงพ่อคำแพง) กินหนึ่งปั้น (ข้าวเหนียว) และถัดมาอีก 2-3 ปี น้องก็ไปเข้าโรงเรียนด้วย สมันที่เรียนหนังสือท่านไม่เคยสอบตกเลย ตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึง ประถม 4 ผลการเรียนของท่านอยู่ในเกณฑ์ดีตลอด และท่านยังได้เป็นหัวหน้าห้องด้วย บางวันโยมแม่ก็ให้เงินไปโรงเรียนเพื่อเอาไว้ซื้อขนมบ้าง ครั้งละ 50 สตางค์ แต่ท่านก็ไม่ได้ซื้ออะไรจะเหลือเงินกลับมาบ้านทุกครั้ง ตอนที่เรียนประถม 1 ใช้กระดานดำเขียนหนังสือ พอขึ้นประถม 2 โยมแม่ซื้อสมุดให้เล่มละ 1 บาท บ้าง ในสมัยนั้นสมุดราคาเล่มละ 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ก็มี พอท่านขอโยมแม่ก็ให้ เงินทองในตอนนั้นก็หายากมาก โยมแม่ก็ไม่ได้ช่วยโยมพ่อหาเงินเนื่องจากต้องดูแลลูกเองเพราะมีลูกหลายคน ทั้งทอหูก ทอผ้า ลำบากเหลือเกิน พอหลวงพ่อคำแพงออกจากโรงเรียนแล้ว (จบประถม 4 ) ก็มาช่วยงานพ่อแม่ เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย มีวัวเทียมเกวียนอยู่ 1 คู่ ควายอีก 10 ตัว ก็พากันไปเลี้ยงกับน้อง พอถึงฤดูทำนาท่านก็เป็นผู้ไถนา ส่วนน้องชายเป็นคนถอนกล้า หลังจากที่ท่านไถนาเสร็จแล้วก็ปล่อยควายให้เล็มหญ้าตามคันนา ส่วนท่านก็ไปถอนกล้าช่วยน้องต่อ บางวันก็เอาตะเกียงมาเสียบใส่หลัก บางครั้งถอนไปจนถึงเที่ยงคืนก็เคยมีบ่อยๆ เพราะท่านเป็นคนที่ขยันขันแข็ง
และรับผิดชอบในหน้าที่การงานจริงๆ ถ้าทำอะไรลงไปแล้วจะไม่นิ่งดูดาย จนกว่าจะเห็นผล แล้วเสร็จก็เป็นที่พอใจจึงจะพัก ในขณะนั้นอายุของท่านก็ประมาณ 15-16 ปี แต่ทำงานเหมือนผู้ใหญ่ ช่วยพ่อแม่ทำงานทุกอย่างเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว
หลังจากที่พี่ชายแต่งงานแล้วก็ได้ไปซื้อนาดง ท่านก็ได้ไปช่วยพี่ชายถางป่าถางนาดง ทำคันนา จากที่เคยเป็นป่ากลายเป็นทุ่งนาที่เหาะแก่การปลูกข้าว ทั้งพี่ทั้งน้องช่วยกันทำนาดงจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมันนั้นท่านทำงานจริงจังมาก แม้แต่พี่ก็สู้ไม่ได้เลย โพน (กองดิน) ตามทุ่งนา 2-3 โพน ท่านก็เอาลงคนเดียว เวลาถอนกล้าก็พาน้องถอนจนถึงเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง จึงพาน้องกลับ มีอยู่ช่วงหนึ่งโยมพ่อพามารับจ้างดายหญ้าอ้อยที่บ้านโนนทัน รับจ้างขนข้าว รับจ้างเลื่อยไม้ ท่านก็เอา นับว่าท่านเป็นผู้มีความอดทนจริงๆ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า เวลานวดข้าวก็ไปช่วยเพื่อนถึงบ้านหนองบัวบานก็มี (บ้านหนองบัวบาน ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี)
มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ท่านเป็นเด็กอยู่นั้นในฤดูทำนา ขณะที่ท่านกำลังไถนาอยู่ ควาย “อี่แหล่” ตัวที่ท่านใช้ไถนาได้พาท่านวิ่งเตลิดออกจากนอกงานนา ท่านดึงยังไงก็เอาไม่อยู่เพราะตอนนั้นท่านยังตัวเล็กมาก ความยพาวิ่งท่านก็ทั้งดึงทั้งวิ่งตามควายไป กว่าจะบังคับควายให้หยุดกลับมาได้ใช้เวลาอยู่ตั้งนาน ท่านโมโหให้ควายไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยร้องไห้ ทั้งไถนาทั้งร้องไห้ไป
หลวงพ่อคำแพง ท่านเป็นคนที่รักพี่รักน้องมาก ถ้าวันไหนไม่ได้ไปโรงเรียน พอมีเวลาว่างท่านก็จะพาน้องๆ ไปเล่มตามบ้านญาติที่อยู่ใกล้กัน บางทีก็อุ้มน้องไปดูเขาชนไก่ตามหมู่บ้าน จนได้เวลาพอสมควรจึงอุ้มน้องกลับบ้าน ในช่วงนั้นน้องสาวของท่านคนหนึ่งป่วยบ่อยมาก เลี้ยงก็ยาก ท่านก้เป็นคนช่วยดูแลน้อง เรื่องงานบ้านงานเรือนท่านก็ไม่เคยเกี่ยง ทำอย่างตั้งอกตั้งใจ ตักน้ำใส่ตุ่มใส่ไห ทำทุกอย่าง ท่านไม่เคยคิดที่จะละอายท่านคิดเพียงว่าเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่แม่เท่านั้น บางวันก็เข้าป่าหาหน่อไม้เอามาทำหน่อไม้ดองเก็บไว้กินตอนหน้าแล้ง


แก้ไขล่าสุดโดย อริยชน เมื่อ 02 เม.ย. 2009, 15:36, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 15:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


ชีวิตในวัยหนุ่ม
พออายุย่าง 18-19 ปี ก้ชวนเพื่อนๆ ไปประมูลรำวงมาเล่นในงานทำบุญศษลากลางหมู่บ้าน ท่านเห็นว่ามีกำไรดีต่อจากนั้นท่านก็ทำมาเรื่อยๆ ช่วงที่ท่านก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มเต็มตัวนี่เองเป็นช่วงที่ท่านต้องรับภาระทางครอบครัวมากกล่าวคือ ช่วงไหนที่โยมแม่ลำบากทั้งเลี้ยงน้อง ทั้งทำงาน น้องก็ร้องไห้ โยมแม่ก็ต้องทิ้งงานไปเอาน้อง ท่านมาเห็นก็เลยบอกว่าไหนขอลองทำดูหน่อยเถอะเข็นฝ้านนี่ทำไปทำไปทำมาก็เลยเป็น หลังจากนั้นก็เลยช่วยโยมแม่เข็นฝ้ายเป็นประจำ บางทีก็ชวนน้องชาย (นายแปลง สารักษ์) และเพื่อน (ทิดแก้ว) มาเข็นช่วยกัน แม้แต่งานของผู้หญิงท่านก็ทำโดยไม่คิดรังเกียจหรือละอายเลย ตรงกันข้ามท่านกลับภูมิใจที่ได้ช่วยโยมแม่ทำงานบ้าน ก่อนที่ท่านจะบวชก็ได้ชวนเพื่อนกับน้องเลื่อยไม่สร้างบ้านไว้ให้พ่อแม่น้อง ได้อยู่อาศัยหลังหนึ่ง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นแรมปีจึงแล้วเสร็จ บ้านที่ท่านสร้างให้นับว่าหลังใหญ่เลยทีเดียว (มีเสาเรือน 16 ต้น) ในช่วงนี้ท่านโตเป็นหนุ่มแล้วแต่ยังไม่เกณฑ์ทหาร ในสมัยนั้นเครื่องนุ่งห่มก็ยังไม่มี หายาก ในเวลาทำงานท่านก็ใส่แต่กางเกงหูรูด (ตัดจาผ้าฝ้ายที่ทอและย้อมเอง) พับขาขึ้นมาหน่อยแล้วก็เสื้อฝ้ายก็ย้อมสีครามเท่านั้น แล้วทำงานถึงไหนถึงกันเลยทีเดียว
กล่าวถึงตอนที่ท่านจะตัดสินใจบวช
โยมแม่เป็นคนบอกว่า
“เอาเมีย (แต่งงาน) เถอะลูกผู้สาวก็มีมาชอบอยู่”
ท่านก็ได้บอกกับโยมแม่ว่า
“ไม่เอาเมียหรอกจะขอบวช”
โยมแม่ก็เลยถามย้ำอีกว่า
“แล้วจะไม่เอาเมียเลยเหรอ”
ท่านก็ตอบว่า
“ไม่เอาหรอกแม่ จะขอบวช พอคัดเลือกทหารเสร็จแล้วก็จะบวชเลย”
โยมพ่อเลยตอบว่า
“เอ้า ! บวชก็บวช แต่ถ้าบวชแล้วอย่าสึกเร็วนะ”
ท่านก็บอกกับโยมพ่อว่า
“ พี่สองคนที่บวชก่อนก็สึกเร็ว ยังไม่ทันไรเลยก็สึกออกมาแล้ว”
(พี่สองคนนั้น หมายถึง คนโตที่เป็นบุตรบุญธรรม ชื่อคำพลอย)
โยมพ่อเลยบอกว่าอย่าไปว่าพี่ ท่านก็เลยบอกโยมพ่อว่า
“คอยดูท่านก่อนเถอะ ถ้าบวชแล้วจะไม่สึกง่าย”


มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านไปทำห้างนาท่านทำฆ้อนตกลงมาโดนศรีษะพี่ชายแตกโยมพ่อเห็นก็เลยเอาไม้เรียวไล่ตี หลังจากที่ท่านเกณฑ์ทหารแล้วไม่ติด ท่านก็ได้ตัดสินใจบวช ก่อนบวชท่านก็ประมูลรำวงมาเล่นที่งานบุญอีก ก็ได้เงินมา 1,500 บาท ก็เอาไปซื้อรถจักรยานฟิลิปมาคันหนึ่ง เสื้อหนังกันหนาวหนึ่งตัว แต่รถจัรยานยัง ขี่ได้ไม่นานท่านก็เข้าวัดเป็นนาค
ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนาค ท่านก็ไปขอศีลขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านหลายคนที่ท่านมีความเคารพรัก ชึ่งถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของคนหนุ่มสาวในสมัยนั้น เมื่อจะทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องบอกกล่าวปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่เสียก่อน เพื่อให้ท่านรับทราบรับรู้เกี่ยวกับการกระทำของตน เผื่อว่าเวลามีปัญหาอะไรท่านจะได้ช่วยแนะนำกหรือแก้ไขให้ เพราะคนรุ่นก่อนๆ นั้นเคารพเชื่อฟังพ่อแม่อย่างมากทีเดียว ชึ่งแตกต่างจากเด็กสมัยนี้อยู่มาก ชึ่งมักทำอะไรตามใจตัวเองมากกว่า ไม่เคยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อแม่สักเท่าไหร่ จะคิดอะไรทำอะไรก็ไม่ค่อยมีเหตุผล ใช้อารมณ์ตัดสินใจปัญหากว่าเหตุผล และเพราะความไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่นี่เองทำให้ครอบครัวในสังคมปัจจุบันไม่ค่อยราบรื่น ขาดความรัก ความเข้าใจต่อกัน เมื่อครอบครัวชึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม ขาดความรักความอบอุ่น ความเข้าใจที่ดีต่อกันแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดตามมา ทำให้สังคมขาดความสงบสุข มีแต่ความวุ่นวาย ผู้คนขาดความรักความสามัคคีกัน เห็นแก่ตัว เด็กไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่ดูแลเด็ก ฉะนั้นในยุคสมัยปัจจุบันนี้จึงมีปัญหาเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้เป็นจำนวนมาก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 เม.ย. 2009, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นนาค - อุปสมบท

ขอวกเข้าประวัติต่อ หลังจากที่ท่านได้ร่ำลาและรับคำอำนวยอวยพรจากผู้เฒ่าผู้แก่แล้วตอนเย็นโยมพ่อโยมแม่ก็นำท่านเข้าไปวัด และมอบตัวให้กับ หลวงพ่อคำใบ (พระครูโสภนคณานุรัก) เพื่อเป็นนาคแล้วหลวงพ่อคำใบได้มอบตัวท่านให้กับ หลวงพ่อบัวกัน สิริธโร (ปัจจุบันเป็นพระครูสิริภาวนารังสี) ชึ่งหลวงพ่อบัวกัน นี้ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริศาลวัล เป็นผู้สอนนาคอีกทีหนึ่ง ท่านก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนอย่างเคร่งครัด ทำกิจวัตรข้อวัตรไม่เคยขาดตกบกพร่อง ครูบาอาจารย์สั่งให้ทำอะไรท่านก็จะน้อมรับเอาหมดไม่เกี่ยงหรือไม่บ่นว่ายากลำบากอะไร ชึ่งก็ทำให้ครูบาอาจารย์ท่านพออกพอใจไปด้วยและยังเกิดความรักความเมตตาต่อท่านเป็นอย่างมากมีของใช้อะไรครูบาอาจารย์ก็จะแบ่งให้อยู่เสมอเพราะของใช้สมัยนั้นก็หายาก ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เหมือนสมัยนี้ สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในยุคสมัยนั้น การใช้สอยก็ใช้สอยอย่างประหยัดไม่หรูหราฟุ่มเฟือยจนดูเฟอะฟะเหมือนในปัจจุบัน หลังจากที่ท่านได้รับการอบรมทั้งทางด้านข้อวัตรปฏิบัติ มีการปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดตลอดจนถึงการรับบาตรส่งบาตรจากครูบาอาจารย์แล้ว และท่องบทขานนาคได้แล้ว ครูบาอาจารย์จึงกำหนดวันอุปสมบทให้ ท่านได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 27 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2514 ณ วัดบุญญานุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี


ชีวิตในการครองเพศบรรพชิต

พรรษาที่ 1 วัดบุญญานุสรณ์ พ.ศ.2515

ในปี พ.ศ.2515 ในพรรษานี้ท่านตั้งใจปฏิบัติภาวนาเป็นพิเศษเพราะเป็นพรรษาแรกของการบวช ส่วนงานอื่นๆ เช่นทำวัตรสวดมนต์ ปัดกวาดเช็ดถู เป็นต้น ถือเป็นงานรอง กอปรกับจิตของท่านชอบการภาวนามากกว่า จึงตั้งใจเร่งภาวนาเป็นพิเศษถึงกับลงทุนสมาทานธุดงค์ คือ ฉันในบาตร ฉันภาชนะเดียว ไม่รับภัตตาหารที่ตามมาส่งในภายหลัง ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นการฉันอาหารภายในวัดบุญญานุสรณ์ยังฉันนอกบาตรและยังฉันเพลอยู่ เพราะนโยบายของเจ้าอาวาสในสมัยนั้นท่านเน้นด้านปริยัติมากกว่าปฏิบัติ ถ้าองค์ไหนชอบปฏิบัติต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตามหนังสือของครูบาอาจารย์ ถึงกระนั้นท่านก็ยังมีความเพียรพยายามในการการปฏิบัติภาวนาอยู่เสมอมิได้ลดละ บางครั้งครูบาอาจารย์ก็พาไปกราบนมัสการ อาทิเช่น
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี)
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม (วัดสิริสาลวัล บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู)
หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู)
และอีกหลายๆ องค์ ในบริเวณแถบนี้ ท่านก็อาศัยช่วงจังหวะนี้ฟังธรรมะจากหลวงปู่ครูบาอาจารย์อย่างตั้งอกตั้งใจ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่เข้าใจในเนื้อหาธรรมะที่หลวงปู่ครูบาอาจารย์เมตตาแสดงให้ฟังก็ตาม ท่านก็ตั้งใจพอใจที่จะฟังเพราะจิตใจของท่านในขณะนั้นมีความฝักใฝ่มากในการปฏิบัติภาวนา เพราะอยากรู้เรื่องของกิเลส ตัณหา รากเหง้าเค้ามูลของภพชาติว่ามันเป็นมาอย่างไร
ทำอย่างไรจึงจะลดจะถอนสิ่งเหล่านี้ออกจากจิตใจได้ หลังจากที่ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากหลวงปู่ครูบาอาจารย์แล้ว เมื่อมีโอกาสท่านก็ถามเรื่องการภาวนาจากครูบาอาจารย์ ชึ่งหลวงปู่ครูบาอาจารย์ก็ยินดีเมตตาแสดงให้ฟังอย่างละเอียดอีกทีหนึ่งจนเกิดความพอใจและอิ่มเอมใจอย่างเหลือประมาณ บางครั้งในขณะฟังธรรมเกิดความปิติซาบซึ้งในธรรมจนขนลุกขนพองเหมือนกับว่าตัวจะลอยก็มี เพราะธรรมะที่หลั่งไหลมาจากจิตของครูบาอาจารย์เหมือนน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์เข้าไปชะล้างสิ่งที่เป็นของสกปรกทั้งหลายที่มีอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไป จิตใจจึงเกิดอาการแบบนี้ในขณะที่ฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ เมื่อกลับมาถึงวัดท่านก็สนทนากันเป็นกลุ่มเล็กๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์แล้ว ต่างองค์ก็ต่างอธิฐานจิตว่าจะตั้งใจปฏิบัติภาวนาจนสุดกำลังความสามารถอย่างไม่ลดละ จิตของท่านในพรรษาแรกของการบวชนี้ ท่านเล่าว่าบางครั้งมันก็สงบดี บางครั้งมันก็ไม่สงบเป็นอย่างนี้สลับกันไป เพราะจิตของท่านยังเป็นห่วงเรื่องการเรียนนักธรรมอยู่ และยังเป็นพระบวชใหม่อยู่จิตจึงได้รับความสงบบ้างบางขณะบางเวลาเท่านั้นแต่ท่านก็ไม่ถอย สู้อย่างเต็มที่เพราะว่าความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากจนล้นหัวใจ
พรรษาแรกของการบวชนี้ท่านอธิฐาน จะฉันในบาตรจะไม่รับอาหารที่ตามส่งมาภายหลังดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านบอกว่าช่วงเข้าพรรษาใหม่ ๆ บิณฑบาตรไม่ได้อาหารเลยมีแต่ข้าวเปล่า ๆ แล้วท่านก็ฉันแต่ข้าเปล่าจริง ๆ ไม่ยอมแตะอาหารอย่างอื่นเลยเพราะกลัวว่าจะผิดสัจจะที่ตั้งใจไว้ เป็นอยู่ลักษณะนี้จนจวนจะถึงกลางพรรษา ถึงได้ข้าวโพด ได้กล้วยมาบ้าง ท่านบอกว่า
“ เราฉันอยู่อย่างนี้จนพระที่นั่งใกล้กันพูดแซวเอาว่า แหม! อาหารของพระอรหันต์เป็นอย่างนี้เหรอ ไม่เห็นมีรสชาติอะไรเลย”
ท่านก็ยิ้มเฉยไม่พูดอะไร ท่านบอกว่าบางวันเห็นปลาปิ้งตัวใหญ่ ๆ ในถาดที่โยมถือมา กิเลสมันก็พาตาโตเหมือนกันแต่อาศัยความเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวเข้าไประงับกิเลสส่วนหยาบมันก็เลยหงอไป พอถึงกลางพรรษาญาติโยมเขาก้เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของท่าน ก็เริ่มมีสายตาที่ยาวไกล หูก็เริ่มยาวไกลไปด้วย จนเกือบจะเป็นโยมหูทิพย์ตาทิพย์อะไรประมาณนี้ จึงมองเห็นและนำอาหารมาใส่บาตรให้ท่านจึงบอกว่า “แหม ! อานิสงส์มันอายัมภะทันตาเอาตอนจะออกพรรษานี้เอง” และในพรรษาแรกนี้ท่านก็สอบนักธรรมชั้นตรีได้ พร้อมกับพระที่จำพรรษาในอาวาสนี้อีกหลายรูปด้วยกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 13:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ 2
วัดหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี

หลังจากที่สอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วท่านก็มาปรารภกับพระที่อยู่ด้วยกันว่าอยากจะลองออกไปธุดงค์ดูบ้าง เพราะฟังเทศน์ครูบาอาจารย์แต่ละองค์แล้วล้วนแต่ได้ธรรมะอยู่ในป่าในเขาในถ้หรือตามเงื้อมผาต่างๆ ทั้งนี้และไม่ได้คลุกคลีกับหมู่คณะเลย ตลอดจนถึงญาติโยมที่จะตามมาสนทนาด้วยก็ไม่มี เพราะตามธรรดาแล้วพระธุดงค์ท่านชอบอยู่ที่เงียบสงัดและห่างไกลจากหมู่บ้านมากเป็น 4-5 กิโลเมตร หรือบางที่เป็น 10 กิโลเมตร ก็มี จึงไม่ค่อยมีญาติโยมไปรบกวนให้ใจเป็นกังวล จะได้สนทนากันบ้างก็ตอนมาบิณฑบาตรเท่านั้น แต่ก็เป็นส่วนน้อย และให้มีสติอยู่เสมอในการสนทนา หลังจากบิณฑบาตรเสร็จแล้วก็รีบเดินกลับที่พักเลยด้วยความมีสติ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายองค์ก็ภาวนาไปของใครของมัน แต่ส่วนมากพระธุดงค์จริง ๆ ท่านจะไปไม่มากเท่าไหร่ ส่วนมากไม่เกิน 3 องค์ เพราะถ้าไปเป็นขบวนใหญ่ความวิเวกจะไม่ค่อยมี จะมีแต่ความวุ่นวาย หลายคนหลายความคิด จิตวิตกกังวล ทั้งที่พักอาศัยและเป็นภาระแก่ญาติโยม บางหมู่บ้านมี 10 หลังคาเรือน แต่บางหมู่บ้านมีแค่ 3-4 หลังคาเรือน ก็มี ถ้าพระไปกันเยอะ ๆ ชาวบ้านเขาก็จะรับภาระหนัก ยิ่งในสมัยก่อนตามบ้านนอกชนบทในป่าในเขาไม่มีโรงสีข้าวจะมีก็แต่ครกสำหรับตำข้าวเท่านั้น พระธุดงค์ท่านจึงนิยมไปกันน้อย ๆ ถ้าองค์ไหนเด็ดเดี่ยวจริงท่านก็จะไปองค์เดียวเลย ใยขณะที่ธุดงค์ก็บังสุกุลตัวเองตลอดเวลาเพราะไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ความจริงจะธุดงค์หรือไม่ธุดงค์ท่านก็บังสุกุลตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้วสำหรับครูบาอาจารย์

ขอวกเข้าเรื่องประวัติหลวงพ่อต่อ หลังจากที่ท่านปรึกษาหารือกับพระด้วยกันแล้ว ก็ตกลงกันว่าจะลองไปธุดงค์ดู แต่การออกธุดงค์ในครั้งแรกในชีวิตของการเป็นนักบวชของท่านเป็นการทดลองดูก่อน กล่าวคือในกลุ่มพระใหม่ด้วยกันนั้นมีอยู่รูปหนึ่งที่บวชก่อนท่าน (ความจริงมีหลายองค์ที่อาวุโสกว่าท่าน) และเคยไปศึกษาธรรมจากครูบาอาจารย์มาหลายสำนักแล้ว ขออาสาเป็นหัวหน้าในการออกธุดงค์ชึ่งหมู่คณะก็เห็นดีด้วยและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วรูปที่เป็นหัวหน้าก็กล่าวว่า เบื้องต้นต้องลงจากกุฏิอยู่รุกขมูลก่อน คือ ปักกลดตามร่มไม้ภายในบริเวณวัด บางรูปไม่มีกลดก็เอามุ้งมากางนั่งภาวนา หลวงพ่อท่านว่ามันตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก ทั้งดีใจทั้งภูมิใจที่ได้เจริญรอยตามปฏิปทาของพระพุทธองค์และครูบาอาจารย์ในยุคก่อน ๆ มา กลางวันก้เอาบริขารเก็บไว้ในกุฏิ กลางคืนก็เดินหาสถานที่ปักกลดภาวนา ทำในลักษณะนี้อยู่หลายวัน พระรูปที่เป็นหัวหน้าก็กล่าวว่า เดี๋ยวคืนนี้พวกเราพากันออกไปภาวนานอกวัด บางรูปก็ไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าหลวงพ่อที่เป็นเจ้าอาวาสจะไม่อนุญาตและดุเอา แต่รูปที่เป็นหัวหน้าบอกว่า พวกเราก็เอาไปเฉพาะผ้าครองกับผ้าปูนั่งก้พอและกลับเข้ามาวัดก่อนสว่าง พอตกลงกันแล้วพระที่เป็นหัวหน้าก็เดินนำหมู่คณะออกไปนอกวัด หลวงพ่อบอกว่าเดินไปไกลพอสมควรแล้ว รูปที่เป็นหัวหน้าก็สั่งว่า “ เอาล่ะพวกเราเอาบริเวณนี้หล่ะ มันเงียบแล้วคงจะเหมาะดีแล้ว อย่าอยู่ห่างกันมากนะ เอาพอให้มองเห็นกัน และเราทำอะไรต้องทำตามนะ” พอเล่าถึงตรงนี้หลวงพ่อัหวเราะใหญ่เลย ท่านเล่าว่านั่งตั้งแต่หัวค่ำจนค่อนคืนจิตก็ยังไม่รวมซักที ยุงก็เริ่มเยอะแล้วเอาผ้าคลุมหัว นั่งอยู่อย่างนั้นจิตก็ไม่สงบสักที พอลืมตาดูพระที่เป็นหัวหน้าก็ยังนั่งเฉยไม่กระดุกกระดิกอะไร ท่านคิดว่าจิตของพระรูปนั้นคงจะรวมเป็นสมาธิดี พอจวนได้เวลากลับวัด ท่านก็เรียกหมู่คณะ พอเข้าไปดูใกล้ ๆ ที่ไหนได้รูปที่เป็นหัวหน้านั่งหลับเฉยเลย หัวฟุบใส่จอมปลวก โกรนครอก ๆ เฉยเลยท่านบอกว่ารู้อย่างนี้ปลุกตั้งนานแล้ว

พออยู่ที่วัดได้ไม่นาน ท่านคิดอยากจะไปธุดงค์ในที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร กอปรกับพระที่อยู่ด้วยกันชวนไปทางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อตกลงกันแล้วก็เข้าไปกราบลาท่านเจ้าอาวาส เรียนให้ท่านทราบถึงความประสงค์ ท่าเจ้าอาวาสก็ไม่อนุมัติเพราะเห็นว่าท่านพอจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาวัดวาอารามได้ และเห็นว่าท่านยังเป็นพระบวชใหม่อยู่จึงไม่อนุญาตให้ท่านไป เพราะท่านเป็นห่วงมากในเรื่องของศีลธรรม กลัวจะไปประพฤติไม่ดี เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของครูบาอาจารย์และสำนัก เพราะโดยปกติแล้วจะต้องมีนิสัยมุตตกะ คือ พรรษา 5 ไปแล้วถือว่าเอาตัวรอดได้ แต่ถึงอย่างไรถ้าจะอยู่เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมจริง ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้อยู่ได้เช่นกันท่านหลวงพ่อก็มีความคิดเช่นนั้น เมื่อไปกราบลาท่านเจ้าอาวาสครั้งแรกไม่สำเร็จ ก้เข้าไปใหม่ 2 ครั้ง 3 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จโดนดุออกมาทุกที พอครั้งที่ 4 ท่านแต่งบริขารไปด้วยเลยท่านเจ้าอาวาสก็ไม่อนุญาติอีก ท่านก็อ้นวอนอยู่อย่างนั้นจะไปให้ได้เพราะได้แต่งบริขารมาแล้ว ครั้นจะสะพายกลับกุฏิก็อายหมู่คณะท่านว่าอย่างนั้นยังไงก็จะขอไป ท่านเจ้าอาวาสก้ดุเป็นการใหญ่เลยว่า “ ครูบาอาจารย์พูดแล้วก็ไม่เชื่อฟัง เมื่อไม่เชื่อฟังอยากไปก็ไป ๆ แล้วขอให้รถคว่ำตาย คนไม่เชื่อฟัง ครูบาอาจารย์”

เมื่อท่านได้รับศีลรับพรจากท่านเจ้าอาวาสแล้วก้ได้ออกเดินทางมามาทางจังหวัดมุกดาหาร เดินทางรอนแรมมาเรื่อย ๆ อยู่หลายวันจนถึงวัดภูหินขัน พร้อกับพระอีก 1 รูป ชึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของท่าน เมื่อไปถึงวัดภูหินขันเห็นเขากำลังมีงานพุทธาภิเษก พระพี่เลี้ยงจึงพาท่านเข้าร่วมพุทธาภิเษกด้วย คณะของท่านได้นั่งอนู่ในที่นั้นจนสว่างโดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแต่อย่างใด ภายในจิตใจของท่านมีแต่ความปีติอย่างเหลือประมาณที่ได้ออกธุดงค์สมความตั้งใจเอาไว้ เมื่ออกจากสมาธิภาวนาแล้ว ทำธุระส่วนตัวแล้วก็ออกบิณฑบาตร และหลังจากฉันภัตตาหารเส็จแล้ว ท่านก็ปรึกษากันว่าจะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี ในการเดินธุดงค์นั้นคณะของท่านไม่ได้ใส่รองเท้าเลย เดินเท้าเปล่าไปตามถนนหนทาง บางครั้งก็เดินเอา บางครั้งโยมเขาเห็นแล้วก็สงสารจอดรถรับด้วยก็มี จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อไปถึงอุบลฯ แล้วท่านได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ (ในขณะนั้นท่านดำรงตำสมณะศักดิ์ที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี) ภายหลังท่านได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ชึ่งหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวในขณะนั้น และท่านยังเคยมาจำพรรษาที่วัดบุญญานุสรณ์ และร่วมสร้างพระอุโบสถหลังเก่าที่วัดบุญญานุสรณ์ในสมัยหนึ่งด้วย ชึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในโอกาสต่อไป
เมื่อได้พูดคุยสนทนากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ ในทันที และจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัว ตลอดจนสอบนักธรรมชั้นโทได้ในพรรษาที่ 2 ที่สนามสอบวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ 3
วัดหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี

ในขณะที่ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัวกับหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ นี้ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติภาวนาอย่างไม่ลดละความเพียรพยายาม ถ้ามีอุบายธรรมะเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านจะใช้ความคิดใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจในอุบายนั้น ๆ เสียก่อน เมื่อเข้าใจในอุบายธรรมนั้นแล้วจึงได้ไปกราบเรียนเล่าถวายให้หลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ ฟังว่า “ อุบายธรรมที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้เกล้ากระผมพิจารณาได้ความว่าอย่างนี้ไม่ทราบว่าจะผิดถูกประการใด หลวงปู่ช่วยเมตตาพิจารณาให้เกล้ากระผมด้วยครับ” ชึ่งถ้าอันไหนยังไม่ถูกต้องจริงหลวงปู่ก็จะเมตตาแก้ให้ ถ้าสิ่งไหนเป็นจริงท่านก็จะรับรองว่าใช่และให้เร่งปฏิบัติต่อไป บางคืนหลวงปู่ท่านก็จะเทศน์รวม ๆ กันแต่ก็ไปสะดุดกับปัญหาของท่านพอดีทำให้หายสงสัยในอรรถในธรรมข้อนั้นเลย ชึ่งนับว่าการปฏิบัติภาวนาของท่านเป็นไปด้วยความรวดเร็วและแน่นอนตามหลักศาสนะธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบัญญัติไว้ทุกประการ เพราะท่านได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ชึ่งหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ องค์ท่านเป็นนักปราชญ์เป็นบัณฑิตที่ให้แสงสว่างแก่พระเณรลูกศิษย์ ศิษย์ยานุศิษย์เสมอมา มิได้ลำเอียงกีดกันหรือหวงแหนความรู้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามท่านกลับมีแต่ความปราถนาดี หวังดี และเมตตาต่อสหธรรมิก และสัทธิวิหาริกตลอดเวลาที่วัดหนองบัวนี้ มีพระที่เดินทางมาจากวัดบุญญาณุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ก็หลายองค์รวมทั้ง หลวงพ่อสมัย ธมฺมโฆสโก และเป็นครูสอนปริยัติธรรมช่วยหลวงปู่ด้วย

การปฏิบัติของท่านในพรรษาที่ 3 นี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะได้รับความเมตตาอธิบายธรรมจากหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว บางวันที่มีงานก่อสร้างบูรณะกุฏิท่าน ก็จะช่วยหลวงปู่ทำงานจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะท่านมีความรู้ในเรื่องการก่อสร้างมากพอสมควร จึงเท่ากับว่าท่านได้ช่วยแบ่งเบาภาระหลวงปู่ตรงนี้ได้มาก จนหลวงปู่ได้เอ่ยปากชมท่านว่าทำงานเรียบร้อยดี และเท่ากับว่าท่านได้ช่วยครูบาอาจารย์ก่อสร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง และในพรรษาที่ 3 ท่านก็สอบได้นักธรรมชั้นเอกที่สนามสอบวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นอันว่านับตั้งแต่ท่านได้ออกมาจากวัดบุญญานุสรณ์ ตำบลหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มาจำพรรษาที่วัดหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา 2 ปี พอดี ทำให้ท่านได้รับรู้การปฏิบัติของครูบาอาจารย์สายวัดป่าได้เป็นอย่างดี และยึดแนวทางนี้มาปฏิบัติ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ 4
วัดบุญญานุสรณ์ พ.ศ. 2517


หลังจากที่ท่านได้เรียนรู้ถึงแนวทางทั้งทางด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ที่วัดหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ท่าจึงคิดที่จะกราบลาหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ เพื่อมาช่วยงานของครูบาอาจารย์ที่วัดบุญญานุสรณ์ จังหวัดอุดรธานี อีกเพื่อเป็นการทดแทนสนองคุณวัดบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้งหนึ่ง จึงได้เข้าไปกราบนมัสการขอคำชี้แนะจาหลวงปู่สิงห์ สุขปุญโญ ชึ่งหลวงปู่ก็เมตตาให้คำแนะนำเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าหลวงปู่และท่านจะมีความผูกพันอาลัยอาวรณ์ขนาดไหนก็ตาม เพราะเคยร่วมทุกข์ยากลำบากมาด้วยกัน ถึงแม้จะเป็นเวลาที่ไม่นานเท่าไหร่ แต่ความรู้สึกที่อบอุ่นที่ได้รับจากหลวงปู่ทำให้ท่านรู้สึกทราบซึ้งเป็ยอย่างยิ่ง แม้หลวงปู่เองก็เช่นเดียวกันท่านรู้สึกเสียดายไม่อยากให้ท่าน (หลวงพ่อคำแพง) จากไปไหน แต่ด้วยความจำเป็นของโลกอนิจจังที่เกิดขึ้นทุกหมู่เหล่า จึงจำต้องข่มความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ไว้ แม้จะต้องฝืนสักเพียงใดก็ตาม เมื่อหลวงปู่อนุญาตแล้ว ท่านจึงเตรียมบริขารออกเดินธุดงค์มาทางจังกวัดมุกดาหาร และพักอาศัยตามป่าดงพงไพร ป่าช้า หรือแม้ที่สุดดอนตะปู่ก็พัก อาศัยพักปฏิบัติภาวนาไปด้วยตามความเหมาะสมของสถานที่ ๆ เดินผ่าน บางแห่งก็พักอยู่หลายวัน บางแห่งก็พักแค่คืนเดียวแล้วก็เดินทางต่อไปไม่รีบร้อน ท่านภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ไปด้วย กว่าจะถึงจังหวัดอุดรธานีก็เป็นเวลาแรมเดือน เมื่อมาถึงวัดบุญญานุสรณ์ แล้วท่านก็ได้สนทนาถามข่าวคราวกับครูบาอาจารย์ หมู่คณะที่ไม่ได้เจอกันเป็นเวลานานและในที่นี้ท่านได้พบกับ หลวงพ่อประสิทธิ์ ติสสวังโส (ปัจจุบันเป็นพระครูภาวนานุโยค) ชึ่งท่านก็บวชอยู่ที่วัดบุญญานุสรณ์ เหมือนกันแต่ท่านไปธุดงค์เพิ่งจะกลับมาหลังจากที่ท่านพักอยู่ที่นี่พอสมควรแล้ว
ในเย็นวันหนึ่งหลังจากที่ทำข้อวัตรเสร็จแล้วและนั่งฉันน้ำร้อนรวมกันอยู่หลายองค์ ท่านก็ปรารภขึ้นว่าคณะของพวกเรานี้น่าจะสร้างกุฏิไว้เป็นอนุสรณ์สักหลัง เพื่อเป็นการแสดงออกชึ่งความกตัญญูต่อบูรพาจารย์ที่ท่านมีความรักความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์และสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อปรึกษากันแล้วและมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะสร้างแต่มีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสก็รับว่าจะให้ทุน ในด้านอุปกรณ์ ท่านก็เลยเป็นฝ่ายออกแรงพร้อมกับคณะที่เป็นศิษย์มีหลวงพ่อประสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพร้อมกับพระอีก 3-4 รูป เรื่อยไม้แบบใช้มือดึงสองคน สร้างเป็นกุฏิสองชั้นทรงไทย สวยงามมากในสมัยนั้น “ผู้เขียนเองชึ่งลูกศิษย์วัดในขณะนั้นยังเคยสะพายถุงปัจจัยให้ท่านพาไปซื้ออิฐบล๊อกที่ในตัวเมืองอุดร ชึ่งก็หนักมากเหมือนกันเพราะมีแต่เหรียญสลึง กับเหรียญ 50 สตางค์ ช่วยกันนับอยู่เป็นชั่วโมง ได้ค่ 300 บาทเอง แต่ในสมัยนั้น ๆ ก็ถือว่าเยอะมาก” ท่านช่วยกันสร้างอยู่ประมาณ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ และในช่วงเข้าพรรษา ท่านก็ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสให้เป็นครูสอนปริยัติธรรมชั้นโท และผลสอบที่ออกมาปรากฏว่าห้องที่ท่านสอนนั้นสอบได้ยกชั้นไม่มีตกแม้แต่องค์เดียว ชึ่งก็ได้รับยกย่องจากหลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันถ้ามีเวลาว่างท่านก็จะไปหาสถานที่เงียบ ๆ เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ชึ่งเป็นบริเวณด้านหลังของวัดเป็นประจำ รู้สึกว่าจิตของท่านจะชอบปฏิบัติกรรมฐานมากในขณะนั้น แต่ก็ยังไม่แสดงออกมากเพราะจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของพระเณรบางกลุ่ม ชึ่งได้กล่าวไว้ในข้างต้นแล้วว่าวัดบุญญานุสรณ์ในสมันนั้นท่านเน้นปริยัติมากกว่าปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ในยุคต้น ๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติล้วน ๆ ที่มาจำพรรษา อาทิเช่น หลวงปู่บุญ ปัญญาวุธโณ , หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม , หลวงปู่ขาว อนาลโย , หลวงปู่หลุย จันทสาโร , หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และอีกหลาย ๆ องค์ที่ท่านเคยมาพักปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้ แม้แต่หลวงพ่อคำแพง ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กท่านเดินตามโยมแม่ไปใส่บาตรหลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่หลุยยังได้หยิบข้าวในบาตรยื่นให้ท่าน ๆ บอกว่าดีใจมากที่ได้กินข้าวก้นบาตรของหลวงปู่หลุย จันทสาโร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


พรรษาที่ 5 -6
วัดป่ามหามงคล จ.เชียงราย พ.ศ. 2518 – 2519

ในพรรษาที่ 5 -6 ท่านได้จำพรรษาที่วัดป่ามหามงคล จ.เชียงราย พ.ศ. 2518 เมื่อทำกุฏิวัดบุญญานุสรณ์เสร็จตามเจตนารมณ์และได้ถวายไว้เป็นสมบัติของสงฆ์ในพุทธศษสนาแล้ว คณะของท่านที่ได้ร่วมสร้างกุฏิด้วยกันนั้น บ้างก็ลาสิกขา บ้างก็ขอตัวธุดงค์ต่อไป ส่วนหลวงพ่อคำแพง ท่านก็มีความตั้งใจอยากจะไปธุดงค์ทางภาคเหนือดูบ้างเพราะยังไม่เคยไปได้ยินแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่าสถานที่ทางภาคเหนือนั้นดีมาก เหมาะแก่การภาวนา มีป่าไม้และภูเขาสลับกันเป็นชั้น ๆ ตลอดถึงภูมิอากาศก็เย็นสบายดี เมื่อไปกราบลาท่านเจ้าอาวาสแล้วก้เตรียมบริขารที่จะเดินทาง ชึ่งสมัยก่อนนั้นรถสายอิสานขึ้นไปภาคเหนือยังไม่มี ถ้าใครจะขึ้นเหนือต้องลงไปกรุงเทพฯ เท่านั้น ท่านจึงโดยสารรถลงไปที่กรุงเทพฯ ไปพักอยู่ที่วัดสัมพันธวงค์พอประมาณแล้ว ท่านจึงได้ต่อรถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย ในการเดินทางขึ้นเหนือครั้งแรกของท่านนั้น ท่านบอกว่ารู้สึกตื่นเต้นมากเพราะไปครั้งแรกและท่านก็ไปองค์เดียวไม่รู้จักผู้คนญาติโยมที่ไหน อีกใจหนึ่งก็คิดประหวั่นอยู่เหมือนกัน ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่ รู้แต่เพียงถ้าถึงเชียงรายแล้วจะไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านปางลาว เพราะที่แห่งนี้เป็นคนอิสานและอพยพครอบครัวมาจากบ้านหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ก็เป็นพระมาจากหนองวัวซอ (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) และคุ้นเคยกับท่านเป้นอย่างดี ท่านบอกว่าเมื่อมาถึงเชียงรายแล้วถามเส้นทางที่จะไปบ้านปางลาวแล้ว เขาบอกว่าตุ๊เจ้า (หมายถึงพระ) ต้องรอรถสองแถวอีกที ท่านเล่าว่าในขณะที่ถามโยมอยู่นั้น อยู่ ๆ ก็มีสิ่งที่ทำให้ตกใจและไม่คาดคิดเกิดขึ้น กล่าวคือ มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนเหนือและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และหยิบเอาบาตรของท่านขึ้นมาสะพายไว้บนบ่า พร้อมกับกล่าวว่า
“ ตุ๊เจ้า จะไปไหนเจ้า เดี๋ญวคะเจ้าจะไปส่งเจ้า”
หลวงพ่อบอกว่าตกใจมากไม่รู้จะทำยังไงดี เลยบอกเขาไปว่า
“ เราจะไปใกล้ ๆ นี้เองและขอให้วางบาตรลงเถอะ”
เขาบอกว่า
“บ่อเป็นหยังเจ้า คะเจ้ายินดีจะไปส่งเจ้า”

พอพูดเสร็จด็เดินสะพายบาตรนำหน้าท่านไปเฉยเลย เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าท่านจะพูดทัดทานขอร้องยังไงก็ไม่ฟัง ผู้หญิงคนนั้นยังคงสะพายบาตรเดินไปอย่างนั้น หลวงพ่อบอกว่าในขณะนั้นหลวงพ่ออายคนมากแทบอยากทุดดินหนีแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดีเพราะอยู่ในตลาดคนก็มาก จำเป็นต้องเดินตามหลังเขาไปห่าง ๆ กว่าจะถึงคิวรถสองแถวก็ไกลพอสมควรเมื่อถึงคิวรถแล้วท่านให้ครขับรถมาเอาบาตรจากผู้หญิงคนนั้นไปขึ้นรถผู้หญิงคนนั้นก็พยายามถามและทำท่าทางเข้ามาตีสนิท ท่านก็รีบขึ้นรถเลย พอมาถึงวัดป่ามหามงคลแล้ว ท่านก็รีบเข้าไปกราบท่านเจ้าอาวาส และเล่าเรื่องหญิงคนนั้นให้ท่านฟัง ท่านเจ้าอาวาสก็พูดเปรย ๆ ว่าก็เป็นอย่างนั้นแหละ ผู้หญิงทางภาคเหนือเขาไม่ค่อยกลัวพระ มีแต่พระนั้นแหละกลัวเขา เราจะต้องระวังเอา
ความจริงผู้หญิงคนนั้นเขาอาจจะอยากได้บุญจากหลวงก็เป็นได้ เพราะเห็นบริขารเยอะทั้งบาตรทั้งกลดย่ามและกาน้ำอีก คงเห็นอีลุงตุงนังเขาก็เลยอยากช่วยแบ่งเบาบ้างแต่เขาไม่รู้ทำเนียมพระก้เลยถือเป็นเรื่องธรรมดาไป ก็เป็นอันว่าพรรษานี้ท่านได้จำพรรษาที่วัดป่ามหามงคล บ้านปางลาว จังหวัดเชียงราย สมความตั้งใจของท่าน และได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นเป็นอย่างดี และได้รับผลในด้านภาวนาพอสมควร สภาสะจิตใจหยั่งลงสู่ความสงบได้บ่อยขึ้นและอยู่ในสมาธิได้นานขึ้น ในช่วงที่ท่านอยู่วัดป่ามหามงคลนี้ ท่านก็ได้ช่วยครูบาอาจารย์สร้างเสนาสนะมากมาย เป็นต้นว่ากุฏิที่พักสงฆ์และถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ เพราะสภาพของวัดแห่งนี้อยู่บนภูเขา เวลาหน้าแล้งชาวบ้านต้องช่วยกันหาบน้ำจากข้างล่างขึ้นไปใส่ตุ่มไว้ชึ่งลำบากมาก หลังจากที่ท่านได้ช่วยงานครูบาอาจารย์เสร็จแล้ว บางครั้งท่านก็ขอโอกาสครูบาอาจารย์ออกธุดงค์วิเวกตามสถานที่บริเวณใกล้เคียง ในเขตจังหวัดเชียงใหม่บ้าง ลำปางบ้าง พะเยาบ้าง ชึ่งแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

พบหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร

หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2518 นี้ท่านได้พบกับหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร โยบังเอิญที่วัดป่ามหามงคล ท่านได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร และได้รับอุบายธรรมจากหลวงพ่อจันทร์เรียนแล้วทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมาก และขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน หลวงพ่อก็ได้ให้อุบายธรรมหลายอย่างตอลดจนถึงวิธีการที่จะเอาชนะกิเลสต่าง ๆ ต้องปฏิบัติแบบไม่กลัวตาย ต้องผ่านความตายให้ได้ก่อนจึงจะปฏิบัติกับท่านได้ เมือ่อยู่ด้วยกันระยะหนึ่งแล้ว หลวงพ่อจันทร์เรียนท่านจะไปธุดงค์ที่ผาดอก บ้านเซี่ยงเคี่ยน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หลวงพ่อคำแพงท่านจะขอติดตามไปด้วย หลวงพ่อจันทร์เรียน ย้อนถามท่านว่า
“ ท่านยังเสียดายชีวิตอยู่หรือไม่ ถ้าท่านยังเสียดายชีวิตอยู่ก็ไม่ต้องไปกับผม”
หลวงพ่อคำแพงท่านบอกว่า
“ถึงอย่างไร ก็จะขอไปกับครูจารย์ให้ได้”
เมื่อหลวงพ่อจันทร์เรียนเห็นความตั้งอกตั้งใจของท่านแล้ว ม่านก็เลยอนุญาติให้ไปด้วยแต่โดยดี ในการธุดงค์ครั้งนี้มีพระด้วยกัน 3 รูป สามเณร 1 รูป มีหลวงพ่อจันทร์เรียน , ท่านพระอาจารย์สี (วัดป่าผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ) , หลวงพ่อคำแพง และสามเณรเหลาในขณะนั้น เมื่อเตรียมเครื่องบริขารเสร็จแล้วก็ออกเดินทางไปยังที่หมายทันทีต้องเดินขึ้นเขาเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรผ่านหมู่บ้านและดงหนาป่าทึบเข้าไปทุกขณะ เมื่อขึ้นไปถึงหลังเขาแล้วก็เป็นเวลาบ่ายแก่ ๆ แล้วคณะของท่านนั่งพักพอหายเหนื่อยกันแล้วก็เดินสำรวจหาที่พักและแหล่งน้ำเพื่อให้สรงและล้างบาตร เมื่อเจอแหล่งน้ำและได้ที่พักแล้วต่างองค์ต่างจัดบริขารออกจากบาตรและก็ปักกลด เสร็จแล้วสรงน้ำ ฉันน้ำเสร็จก็เป็นเวลามืดค่ำพอดี หลวงพ่อจันทร์เรียน ท่านได้กำชับว่าขอให้ทุกองค์ ตั้งใจปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มที่ เรื่องคสามพากเพียรต้องมาก่อนความขี้เกียจขี้คร้านให้อยู่ทีหลัง เพราะนี่คือการออกสู่สนามรบจริง ๆ ถ้าหากมัวแต่ประมาทนิ่งนอนใจแล้วจะเสียทีกิเลสโยไม่รู้ตัว เมื่อหลวงพ่อจันทร์เรียน ท่านพูดเสร็จแล้วก็ให้แยกย้ายกันไปตามที่อยู่ของแต่ละองค์

ผจญหมีควาย

หลวงพ่อคำแพง ท่านได้ปักกลดในที่อีกแห่งหนึ่ง แต่ท่านไม่ทราบว่าที่ที่ท่านอยู่ตรงนั้นเป็นทางหากินของพวกสัตว์ป่าที่ออกมาหากินในเวลากลางคืน พอตกช่วงดึกหน่อยท่านได้ยินเสียงกิ่งไม้หักเสียงดังลงมาจากภูเขา เสียงนั้นดังลงมาใกล้ทุกขณะทำให้ท่านอดวิตกกังวลไม่ได้ว่าเป็นเสียงของอะไรกัน แต่ในจิตของท่านก็บริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ พยายามให้จิตไม่หวั่นไหวตามเสียงที่ได้ยิน แต่ดูเหมือนจิตจะยิ่งเงียบเท่าไหร่เสียงก็ยิ่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ และดังใกล้เข้ามา ๆ และมาหยุดอยู่ที่ไม่ไกลจากที่ท่านปักกลดอยู่เท่าใดนัก คล้ายกับว่ามันเห็นสิ่งผิดปกติเกิดในเส้นทางที่มันเคยผ่านประจำและสายตาของมันคงจะจับจ้องมายังที่ท่านนั่งอยู่ ฝ่ายหลวงพ่อก็คิดอยู่เหมือนกันว่าทำไมเสียงมันเงียบไปผิดสังเกตทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าเสียงเหยีบใบไม้แห้งดังมาก จนเวลาผ่านไปพักใหญ่เสียงนั้นจึงค่อย ๆ ดังขึ้นมาอีกและยิ่งใกล้เข้ามา ตรงมายังกลดของท่านและยิ่งทำให้ท่านสงสัยจึงค่อย ๆ ลืมตาดูสิ่งที่ได้ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านเวลานี้คือ หมีควายตัวใหญ่ที่ยืนทมึนจ้องมายังท่านคล้ายกับจะเป็นการขู่ในฐานะเจ้าถิ่น พอท่านรู้ว่าเป็นหมีควายเท่านั้นความกลัวกับความตกใจไม่รู้มาจากไหนวิ่งเข้าสู่หัวใจเลยทีเดียว ท่านจึงหลับตาลงพร้อมกับบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ย้ำเข้าไปตามจังหวะเต้นของหัวใจ ไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกต่อไป มีแต่จิตกับพุทโธเท่านั้น หมีความตัวนั้นมันจึงค่อนเดินเข้ามาถึงกลดท่าน มันยังคงเดินรอบกลดท่านอยู่อย่างนั้นแต่ไม่ทำอันตรายใด ๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 16:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 16:30
โพสต์: 411


 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนท่านก็บริกรรมพุทโธ ๆ ๆ จนจิตกับพุทโธเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนหยั่งลงสู่ความสงบอย่างรวดเร็วพอจิตรวมพลึบลงไปอยู่ในสมาธิก๋เกิดความสว่างขึ้น และไม่รู้สึกอะไรอีกเลยมีแต่ความสุขสบายอยู่อย่างนั้น ความกลัว ความเจ็บปวด ความหวั่นไหว ไม่รู้หายไปไหนหมดมีแต่ดวงจิตที่ใสสว่างอยู่อย่างนั้นจนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงที่จิตสงบอยู่ในอัปณาสมาธิ จนจิตมีความอิ่มตัวในสมาธิ เมื่อจิตมีความอิ่มตัวในสมาธิแล้วจึงค่อยถอนออกจากสมาธิขึ้นมาอยู่ในระดับที่รับทราบอารมณ์ความรู้สึกภายนอกแล้ว ท่านจึงย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หลังจากที่พิจารณาจนทราบแน่ชัดแล้วท่านจึงมองหาหมีความตัวนั้น แต่การมองหาคราวนี้แตกต่างจากการเห็นครั้งแรก เพราะการเห็นครั้งแรกเต็มไปด้วยความหวั่นไหว หวาดกลัว วิตก กังวลว่าหมีความมันจะมาทำร้าย เห็นหมีควายเป็นศัตรู แต่หลังจากที่จิตของท่านสงบลงแล้วและถอนขึ้นมากลับมองว่าหมีเป็นมิตรและกลับมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นมิตรไปหมด แต่หมีมันคงไปหากินที่อื่นนานแล้ว หรือไม่มันคงกลับไปอยู่ที่อยู่ของมันแล้วจึงมองไม่เห็น และเป็นเวลาจวนใกล้สว่างพอดี ท่านจึงได้ออกจากที่ภาวนาทำธุระส่วนตัว เสร็จแล้วท่านก็สวดมนต์ทำวัตร เอาบริขารมาเก็บไว้และเตรียมตัวออกบิณฑบาตรในหมู่บ้านที่เดินผ่านมาเมื่อวานนี้ ชึ่งก็ไกลอยู่พอควร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 06:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: อนุโมทนาสาธุ ขอบพระคุณค่ะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร