วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ย. 2024, 12:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 14:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระครูภาวนาสุทธาจารย์
(พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ)


วัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน)
ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี



๏ ชาติภูมิ

“พระครูภาวนาสุทธาจารย์” หรือ “ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ” มีนามเดิมว่า สาคร แสงมุกดา เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2488 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา ณ บ้านโนนสงเปลือย ต.หนองบัว อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ ต.เหล่าโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบู่ แสงมุกดา และนางบัวลา แสงมุกดา (สกุลเดิมของโยมมารดาคือ ชามนตรี ทายาทอดีตเจ้าเมืองหนองบัวลำภูในยุคนั้น) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน) ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และประธานสงฆ์แห่งวัดป่ามณีกาญจน์ ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี


๏ การศึกษาเบื้องต้น

หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านนาวังเวิน ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ก็มิได้ศึกษาต่อ ด้วยเหตุที่ทางบ้านไม่สนับสนุน ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่โยมตาของท่านซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งสูงด้วยความซื่อสัตย์ กลับถูกสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมจนถูกจำคุกอยู่ถึง 20 ปี โยมตาจึงหมดความศัทธาในระบบราชการ จึงไม่สนับสนุนให้ศึกษาต่อ อีกทั้งโยมตาท่านก็อยากให้มาช่วยกันดูแลกิจการทางบ้าน เรือกสวนไร่นา วัวควาย ของครอบครัวตนเองจะดีกว่า และโยมบิดา-โยมมารดาก็เห็นดีด้วย พระอาจารย์สาครซึ่งโดยนิสัยเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่เป็นพื้นฐาน จึงไม่ได้กลับไปศึกษาต่อ แม้ครูจะมาตามให้กลับไปเรียนก็ตาม


๏ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว

ด้วยทางครอบครัวถือได้ว่ามีฐานะดีพอสมควร เพราะมีเรือกสวนไร่นา ทั้งสัตว์เลี้ยงวัวกระบือที่ต้องดูแลมาก เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ท่านจึงช่วยทางบ้านทำงานอย่างแข็งขัน เมื่อถึงฤดูฝนก็ทำไร่ ทำนา และเมื่อหมดหน้านาก็ต้องต้อนฝูงวัวควายไปขายต่างบ้าน และต้องคุมหมู ไก่ กลับมาขาย บางครั้งก็ตามโยมบิดาเข้าป่าไปหาใบยาและของป่า เนื่องจากโยมบิดาเป็นหมอยา ท่านจึงได้ความรู้เรื่องยาและสมุนไพรอีกด้วย


๏ เห็นทุกข์ทางโลก

ด้วยหมู่บ้านสมัยก่อน บ้านเรือนมักอยู่ไม่ห่างกันนัก มีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางครั้งคนในหมู่บ้านจะคลอดลูก ได้ยินเสียงร้องโอดโอยไปไกลหลายหลังคาเรือน ท่านมีโอกาสได้ตามไปดู ได้เห็นความเจ็บปวด ทุกขเวทนาของผู้หญิงที่จะกำลังคลอดลูก ทำให้ท่านรู้สึกกลัว อีกทั้งเมื่อท่านคิดถึงเด็กที่อยู่ในท้องที่ต้องไปขดอยู่ในที่แคบๆ เป็นเวลานาน ให้รู้สึกอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง แค่คิดก็แย่แล้ว แต่นี่คนที่จะเกิดต้องทนอยู่ถึง 9 เดือน และในบางครั้งการคลอดลูก ผู้เป็นแม่ตายบ้าง เด็กไม่รอดบ้าง บางทีก็ต้องมาตายทั้งแม่ทั้งลูก ด้วยการคิดพิจารณาจากประสบการณ์ที่รับรู้มา ทำให้ท่านเห็นว่าการเกิดนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง กอปรกับเมื่อท่านต้องช่วยทำงานไร่นาที่บ้านอย่างเหน็ดเหนื่อย ทำให้ท่านเห็นว่าชีวิตคนทางโลกต้องทำมาหากินไม่หยุดหย่อนเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นสาระที่แท้จริง


๏ จะบวชเป็นท่านเจ้าคุณ

ในวัยเด็กเมื่อว่างจากกิจการงานที่ทำแล้ว ท่านมีโอกาสติดตามโยมมารดาและญาติผู้ใหญ่ไปวัดโดยสม่ำเสมอ ด้วยมีญาติพี่น้องบวชอยู่ ท่านจึงคุ้นเคยกับชีวิตสมณะ นักบวช และเนื่องจากโยมพี่ชายของท่าน (หลวงตาวา) ได้บวชเป็นเณรอยู่วัดมหาชัย โยมมารดาจึงได้อาศัยใช้ท่านนำอาหารไปถวายเสมอ ทำให้มีจิตใจฝักใฝ่ในการศึกษาธรรม และท่านก็ได้เห็นเณรพี่ชายท่านต้องถูกฝึกหัดให้ทำงาน และรับใช้อุปัฎฐากท่านเจ้าคุณอยู่ที่วัดอยู่เป็นประจำ ทำให้ท่านเกิดความคิดว่า เมื่อท่านจะบวช ท่านจะไม่บวชเป็นเณร แต่อยากจะบวชเป็นท่านเจ้าคุณ

รูปภาพ
พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ
เมื่อครั้งยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก



๏ ออกบวช

อำเภอหนองบัวลำภูในยุคนั้น อยู่บนเส้นทางที่พระวิปัสสนากัมมัฎฐานหลายรูปใช้เป็นเส้นทางเดินธุดงค์เพื่อไปอบรมปฏิบัติและฟังธรรมจากองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่จังหวัดสกลนคร และหลายท่านได้มาพักสร้างวัดในธรรมยุติกนิกายที่เน้นการปฏิบัติขึ้น ณ อำเภอแห่งนี้ ซึ่งญาติพี่น้องของท่านพระอาจารย์สาครเองก็ได้บวชเป็นพระเณรกันหลายคน บางท่านบวชเรียนสามารถสอบได้นักธรรม เปรียญธรรมประโยคต่างๆ บางท่านได้รับสมศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณ มีจริยวัตรงดงาม แสดงธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งน่าติดตาม

ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบท ท่านพระอาจารย์สาครจึงตัดสินใจกราบขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาลาบวชเพื่อศึกษาธรรม โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2508 ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โดยมี พระพิศาลคณานุกิจ (หลวงพ่อเส็ง กัณณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสมุห์คำบาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “ธมฺมาวุโธ” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีธรรมเป็นอาวุธ” สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ท่านได้อยู่จำพรรษาแรก ณ วัดมหาชัย


๏ จะไม่อยู่ใกล้บ้าน

เมื่อจำพรรษาแรก ณ วัดมหาชัย เพื่อโปรดญาติโยม และเมื่อทางบ้านได้อนุโมทนาการบวชของท่านพอสมควรแล้ว ได้ขอให้ท่านลาสิกขาบทเพื่อมาดูแลไร่นาและบ้านต่อไป หากแต่ด้วยท่านมีจิตใจที่มุ่งมั่นแล้วว่าจะบวช ดังนั้นท่านจึงผัดผ่อนเรื่อยมา หากญาติโยมมาตอนเช้า ท่านก็บอกให้รอตอนเย็นเสียก่อน หากญาติโยมมาตอนเย็น ท่านก็บอกให้รอเช้าเสียก่อน จนออกพรรษาท่านจึงกราบลาอุปัชฌาย์เดินทางเพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ต่อไป โดยท่านตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่อยู่ในจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย เพราะอยู่ใกล้บ้านใกล้ญาติโยมเกินไป


๏ แสวงหาครูบาอาจารย์

ตลอดพรรษาปี พ.ศ.2508 ท่านพระอาจารย์สาครได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยต่างๆ จนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยสร้างพระอุโบสถวัดมหาชัยจนสำเร็จลุล่วง ครั้นเมื่อออกพรรษาและได้ทำพิธีฉลองพระอุโบสถในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2509 แล้ว ท่านจึงกราบลาพระอุปัชาฌาย์เพื่อออกเดินทางไปกับท่านพระอาจารย์แถว โดยออกเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดอุดรธานี แล้วไปเปลี่ยนรถไฟที่ภาชี เพื่อจะไปยังจังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ท่านจึงโดยสารรถยนต์ต่อไปยังบ้านป่าหญ้าคา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านพระอาจารย์แถว เพื่อทำกิจธุระ เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์แถวจึงพาท่านลงมาที่วัดนิรมลวัฒนา อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งท่านพระอาจารย์แถวเป็นเจ้าอาวาสอยู่

ต่อมาในวันวิสาขบูชา ท่านได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์ทองดี ชุตินธโร เป็นครั้งแรก ซึ่งมาร่วมลงอุโบสถ์ที่วัดแห่งนี้ และได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านพระอาจารย์ทองดีเรื่องครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่สายองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งขณะนั้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เริ่มทยอยเดินทางกลับสู่ภาคอีสานแล้ว แต่เนื่องจากขณะนั้นใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษา ท่านพระอาจารย์สาครจึงจำพรรษาที่วัดนิรมลวัฒนากับท่านพระอาจารย์แถวก่อน

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


๏ กราบองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

ครั้นเมื่อออกพรรษา ท่านพระอาจารย์สาครจึงออกเดินทางกลับจากจังหวัดเพชรบูรณ์ สู่ภาคอีสาน การเดินทางในคราวนั้น ท่านต้องเดินทางผ่านจังหวัดเลย ท่านจึงแวะกราบนมัสการองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งขณะนั้นองค์หลวงปู่ชอบพักอยู่ที่วัดป่าม่วงไข่ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย เมื่อท่านพระอาจารย์สาครเข้าไปกราบนมัสการองค์หลวงปู่ชอบ ซึ่งท่านมีจิตเมตตาให้ท่านพระอาจารย์สาครพักอยู่ด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้อุบายธรรมต่างๆ ให้นำไปปฏิบัติ ทำให้ผลการปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์สาครมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ

ช่วงเวลาที่ท่านได้พักอยู่กับองค์หลวงปู่ชอบนั้น ท่านต้องตื่นแต่ตี 3 เพื่อมารองน้ำหมอกไว้เป็นน้ำฉัน ท่ามกลางอากาศหนาวจัดขนาดที่ว่ากำมือแล้วต้องเอามืออีกข้างหนึ่งมาแกะออก อีกทั้งเครื่องกันหนาวต่างๆ ก็มีไม่มากเหมือนยุคปัจจุบัน ในช่วงกลางวันที่ต้องทำงานก่อสร้าง ท่านต้องหาฟืนและผ่าฟืนด้วย ท่านผ่าฟืนจนมือพอง จากมือพองจนมือแตก ในช่วงกลางคืน องค์หลวงปู่จะพาพระเณรนั่งภาวนาตั้งแต่ช่วงค่ำจนกระทั่ง 5 ทุ่ม จึงพาทำวัตรเย็น ในขณะที่พระเณรนั่งภาวนากันเงียบอยู่นั้น องค์หลวงปู่ก็จะสูบบุหรี่ ฉันหมาก และฉันหมาก สูบบุหรี่ สลับกันไป แต่หากใครพลิกขาหรือขยับแม้แต่นิดเดียว ท่านก็จะรู้ ท่านจะพูดว่า “พระพวกนี้เคารพขามากกว่าเคารพธรรม อุตส่าห์แบกกลดแบกบาตรแสวงหาธรรม แต่เมื่อธรรมเกิดขึ้นกลับไม่ยอมพิจารณา” สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างอุบายที่องค์หลวงปู่ชอบใช้อบรมสั่งสอนศิษย์

ท่านพระอาจารย์สาครได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมจากองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม อยู่ช่วงระยะหนึ่ง ต่อมา องค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ซึ่งขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่วัดกกกอก ต.งิ้วตาก อ.วังสะพุง จ.เลย ได้มีจดหมายส่งไปนิมนต์พระเณรในแถบนั้นให้ไปร่วมงานทำบุญฉลองศาลาวัดกกกอก ท่านพระอาจารย์สาครจึงได้ไปร่วมงาน และได้มีโอกาสกราบนมัสการองค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ในครั้งนั้นด้วย

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน)
ในวาระโอกาสทรงเสด็จเยี่ยมวัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน) จ.กาญจนบุรี
เพื่อนมัสการ “พระพุทธรัตนสังขละบุรีศรีสุวรรณ (พระแก้วสีขาว)”
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2541 โดยมี “พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ” ร่วมเฝ้ารับเสด็จ



(มีต่อ 1)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 14:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร

รูปภาพ
หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต

รูปภาพ
หลวงปู่คำดี ปภาโส


๏ อุปัฎฐากองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ในคราวที่ไปร่วมงานฉลองศาลาวัดกกกอกนั้น ท่านพระอาจารย์สาครได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ต่อเมื่อเสร็จงานฉลองศาลาแล้ว สามเณรผู้ดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่หลุย ต้องไปคัดเลือกทหาร ท่านพระอาจารย์สาครจึงได้รับเมตตาจากองค์หลวงปู่หลุยให้ทำหน้าที่นี้ พร้อมกับได้มีโอกาสฟังพระธรรมาเทศนา อบรมสั่งสอน ฝึกความอดทน และรับการแนะนำธรรมภาคปฏิบัติจากองค์หลวงปู่หลุยอีกด้วย การอยู่ดูแลรับใช้อุปัฎฐากองค์หลวงปู่หลุยนั้น ท่านพระอาจารย์สาครได้มีโอกาสติดตามองค์หลวงปู่ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง


๏ ธุดงค์กับองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์สาครมีโอกาสได้ร่วมออกเดินธุดงค์ติดตามเพียงลำพังไปกับองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร เมื่อองค์หลวงปู่ต้องเดินทางไปงานที่วัดท่าแขก โดยองค์หลวงปู่หลุยพาเดินทางจากบ้านกกกอก ข้ามเขาลงมายังบ้านไร่ม่วง เพื่อกราบองค์หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต ที่วัดป่าอัมพวัน ต.น้ำหมาน อ.เมือง จ.เลย ซึ่งระหว่างทางนั้นเอง ท่านพระอาจารย์สาครได้ถูกฝึกความอดทน ความเพียรจากองค์หลวงปู่หลุยอย่างหนัก กล่าวคือ ครั้งหนึ่งซึ่งตรงกับวันโกนในพระธรรมวินัย ซึ่งองค์หลวงปู่หลุยอนุญาตให้ท่านพระอาจารย์สาครปลงเกศาให้องค์หลวงปู่จนเสร็จแล้ว องค์หลวงปู่ก็ไปสรงน้ำชำระร่างกาย ท่านพระอาจารย์สาครจึงเริ่มปลงเกศาของท่านเอง เมื่อท่านปลงเกศาไปได้เพียงครึ่งเดียว องค์หลวงปู่หลุยก็สรงน้ำเสร็จพอดี ท่านได้บอกกับท่านพระอาจารย์สาครว่า “เราออกเดินทางกันต่อไปเถอะ”

คำว่า “ไป” ขององค์หลวงปู่หลุยนี้ ท่านมิได้เพียงแต่พูด ท่านได้ออกเดินทางไปจริงๆ ท่านพระอาจารย์สาครจึงต้องหยุดการปลงเกศาตนเองไว้เท่านั้น รีบไปเก็บสัมภาระอัฐบริขารต่างๆ ทั้งของท่านเองกับขององค์หลวงปู่ด้วย ซึ่งมีถุงบาตรและย่ามอย่างละ 2 ใบ แล้วรีบออกเดินทางต่อเพื่อที่จะเดินทันองค์หลวงปู่หลุย แล้วท่านจึงเริ่มทำการปลงเกศาต่อโดยใช้วิธีเดินไปปลงเกศาไป เพื่อปลงให้แล้วเสร็จก่อนถึงหมู่บ้าน ซึ่งครั้งนั้นเป็นการปลงเกศาที่ลำบากมาก เพราะมือข้างหนึ่งทำการปลงเกศา อีกข้างหนึ่งก็แบกย่ามกับถุงบาตรอีก 2 ใบ ซึ่งโดยปรกติการเดินปลงเกศาก็เป็นเรื่องลำบากอยู่แล้ว แต่ท่านยังต้องสะพายของบนบ่าอีก จึงเป็นการเพิ่มความลำบากให้กับท่านยิ่งขึ้น ในครั้งนั้นท่านจึงถูกมีดโกนบาดเสียหลายแผล

เมื่อกราบลาองค์หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต แล้ว องค์หลวงปู่หลุยได้พาเดินต่อไปยังถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย เพื่อกราบองค์หลวงปู่คำดี ปภาโส และ ณ ที่นี้ท่านได้รับการฝึกอีกครั้งในระหว่างที่พักอยู่ คือโดยปกติแล้วหลังจากท่านทำอาจริยวัตรถวายองค์หลวงปู่หลุยเสร็จในช่วงเช้า และองค์หลวงปู่ได้เข้าพักแล้ว โดยปกติองค์หลวงปู่จะออกมาอีกครั้ง ในเวลา 2-3 โมง ท่านพระอาจารย์สาครจึงแยกไปภาวนาที่ถ้าผาปู่เพียงลำพัง สักครู่ที่ท่านเดินจงกรมภาวนาอยู่ ปรากฏว่าจิตท่านมีอาการผิดปกติ ข้างในมีอาการเต้นเร็ว ท่านเห็นผิดปกติจึงออกจากการภาวนา เดินออกมา

พอพ้นถ้ำเท่านั้นก็ได้ยินเสียงระฆัง อันเป็นสัญญานเรียกพระเณรที่ถ้ำผาปู่ดังลั่นวัด ท่านพระอาจารย์สาครจึงรีบมาทันที ปรากฏว่าองค์หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตีระฆังเพื่อเรียกหาท่าน พระเณรออกมาดูกันทั้งวัด แต่เพราะท่านอยู่ในถ้ำจึงไม่ได้ยินเสียงเลยแม้แต่น้อย องค์หลวงปู่จึงถามท่านและบอกว่าจะเดินทางต่อ อันเป็นนิสัยการมาเร็วไปเร็วขององค์หลวงปู่ ท่านพระอาจารย์สาครจึงกราบเรียนถึงที่อยู่และอาการของจิตท่าน องค์หลวงปู่จึงมิได้ต่อว่าอย่างไร นับเป็นอีกครั้งที่การภาวนาและความจดจ่ออยู่กับครูบาอาจารย์เสมอ ช่วยให้ท่านไม่ถูกตำหนิได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันพึงมีในพระติดตามครูบาอาจารย์ต่อไป

เมื่อออกจากวัดถ้ำผาปู่แล้ว ได้เดินธุดงค์ต่อไปยังวัดท่าแขก อันเป็นเป้าหมาย ท่านพระอาจารย์สาครได้อยู่ช่วยงานศพจนแล้วเสร็จ และเมื่อพระอุปัฎฐากองค์หลวงปู่หลุยได้มาถึงแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครจึงกราบลาองค์หลวงปู่หลุยที่วัดท่าแขกแห่งนี้เอง องค์หลวงปู่หลุยวางใจในท่านพระอาจารย์สาครแล้วจึงอนุญาตให้ไปได้ ท่านจึงได้เดินทางย้อนกลับมายังถ้ำผาบิ้ง โดยหมายใช้เป็นสถานที่วิเวกภาวนาต่อไป ช่วงเวลาที่ท่านพระอาจารย์สาครได้อุปัฏฐากรับใช้ และอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับองค์หลวงปู่หลุยนั้น เป็นเวลานานถึง 5 เดือน


๏ เวทนาทางกาย

ในปี พ.ศ.2510 ขณะที่ท่านพระอาจารย์สาครเดินธุดงค์มาถึงที่ถ้ำผาบิ้ง ท่านได้พิจารณาพักอยู่เพื่อปฏิบัติภาวนาชั่วระยะหนึ่ง (ขณะนั้นองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ยังไม่ได้อยู่ที่ถ้ำผาบิ้งนี้) ท่านได้ไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านน้ำทบได้เพียงข้าวเปล่าเท่านั้น และบางวันก็ได้พริกป่นกับเกลือมาด้วย ท่านก็ได้พิจารณาฉันตามฐานะนักบวช หากด้วยความไม่คุ้นเคย ทำให้ท่านปากพองแสบร้อนไปหมด จนแม้แต่ฉันน้ำก็ยังทรมาน เกิดเวทนาทางกายยิ่งนัก


๏ เสือช่วย

ตกคืนนั้นที่ท่านนั่งภาวนาอยู่ภายในถ้ำ ปรากฏมีเสียง สวบ สวบ ดั่งเสียงเสือเดินอยู่หน้าถ้ำ ด้วยความกลัวท่านจึงนั่งหลับตานิ่ง เร่งภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่ภายในใจ จนจิตสงบเงียบลงไป เหลือแต่มีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ขณะนั้นท่านพิจารณาร่างกาย สังขาร ข้อธรรมใดก็พิจารณาได้หมด จวบจนกระทั่งเช้าได้เวลาบิณฑบาตจึงได้ถอนออกจากการภาวนา นับเป็นเวลานานที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว นับจากที่ท่านได้เข้าภาวนาขณะได้ยินเสียงเสือเมื่อราว 1 ทุ่ม เมื่อท่านออกจากภาวนาแล้วก็ได้หวนคิดดื่มด่ำกับสิ่งที่เกิดขึ้น อัศจรรย์ว่า “ตัวเราภาวนาได้ขนาดนี้เชียวหรือ” และคิดว่า “ถ้าเสือไม่ช่วยเรา คงยังติดอยู่” ขณะที่ภาวนานั้นก็ไม่รู้เสือหายไปไหน เมื่อท่านมาดูอย่างละเอียดจนเข้าใจว่าน่าจะเป็นบ่างมากินมะขามจากต้นหน้าถ้ำมากกว่า

เช้าวันนั้นท่านออกไปบิณฑบาตก็ได้ข้าวกับพริกเกลือเช่นเดิม แต่ครั้งนี้ท่านฉันแล้วไม่รู้สึกแสบปาก แสบลิ้นดังที่เคย ท่านจึงได้พำนักอยู่ปฏิบัติภาวนาต่อในถ้ำผาบิ้งแห่งนี้ และตลอดเวลา 2 ถึง 3 อาทิตย์ที่อยู่นั้น การภาวนาของท่านได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เพราะมีนัดหมายกับท่านพระอาจารย์ทองดี ไว้ว่าจะไปพบกันที่วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ก่อนสิ้นเดือนเมษายน ทำให้ท่านต้องละจากถ้ำผ้าบิ้งแห่งนี้ไป

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ


๏ จากถ้ำผาบิ้งไปวัดถ้ำกลองเพล

หลังฉันเช้าเสร็จประมาณ 9 โมงเช้า ท่านพระอาจารย์สาครออกเดินเท้าจากถ้ำผาบิ้งเพื่อไปยังหมู่บ้านโนนสงเปลือย ต.เหล่าโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบังลำภู โดยมีระยะทางทั้งสิ้นกว่า 95 กิโลเมตร ท่านเดินทางตามผ่านป่า ผ่านดงหนองไผ่ หากช่วงไหนเป็นหมู่บ้าน ท่านจะเดินเลี่ยงอ้อมเอา โดยท่านจะเดินภาวนาพุธโธไปตลอดระยะทาง ทำให้จิตสงบ กายเบา จิตเบา จนท่านสามารถเดินได้เร็วมาก โดยไม่เหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย

ท่านมาถึงไร่โยมบิดา บ้านโนนสงเปลือย เวลาบ่าย 5 โมงเย็น ใช้เวลาเดินเท้าทั้งสิ้นเพียง 7 ชั่วโมงเท่านั้น นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงไร่ ปรากฏว่าโยมบิดากลับบ้านไปแล้ว ท่านจึงกางกลดพักอยู่ที่กระต๊อบในไร่นั้นเอง เช้าวันรุ่งขึ้นได้บิณฑบาตโปรดโยมที่บ้านโนนสงเปลือย แล้วไต่ถามได้ความว่าโยมพี่สะใภ้จะเดินทางไปอุดรธานีพอดี จึงนั่งรถโดยสารไปกับโยมพี่สะใภ้ เพื่อเดินทางไปต่อจนถึงวัดถ้ำกลองเพล


๏ กราบองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย

เมื่อถึงวัดถ้ำกลองเพล (พ.ศ.2510) ท่านพระอาจารย์สาครได้เข้ากราบนมัสการองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งขณะนั้นกำลังอาพาธ และมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่สำคัญหลายองค์มาถวายการดูแลองค์หลวงปู่ อันได้แก่ ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ, ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร และท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของท่านพระอาจารย์สาครที่ได้มีโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์องค์สำคัญในคราวนั้นด้วย หลังจากที่ได้พบกับท่านพระอาจารย์ทองดี ที่ได้นัดหมายไว้ จึงได้กราบลาองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย เพื่อออกเดินทางต่อไป

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


๏ กราบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ครั้งแรก

ท่านพระอาจารย์สาครออกเดินทางจากวัดถ้ำกลองเพล พร้อมท่านพระอาจารย์ทองดี โดยได้พาท่านพระอาจารย์สาครไปงานศพท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร พระอุปัชฌาย์ของท่านพระอาจารย์ทองดี ณ สำนักงานสงฆ์วัดโพธิ์ชัย ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และ ณ ที่แห่งนี้เอง ที่ท่านพระอาจารย์สาครได้พบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นครั้งแรก

ท่านพระอาจารย์สาครได้ระลึกถึงคำขององค์หลวงปู่หลุย ที่บอกว่าองค์หลวงปู่ฝั้นเป็นพระที่ได้รับการยกย่องจากองค์หลวงปู่มั่นในด้านความสามารถทางด้านจิตใจ ทั้งองค์หลวงปู่หลุยแม้พรรษาจะมากกว่าองค์หลวงปู่ฝั้น ก็เรียกองค์หลวงปู่ฝั้นด้วยความเคารพว่า “อาจารย์ใหญ่” ดังนั้น องค์หลวงปู่ฝั้นจึงเป็นพระผู้ที่มีความสำคัญมาก ทั้งท่านพระอาจารย์ทองดีก็สนับสนุนให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากรับใช้อยู่กับองค์หลวงปู่ฝั้นโดยให้เหตุผลว่า ที่นั้นมีตั้ง 2 วัด หากไม่พอใจในวัดป่าอุดมสมพรก็สามารถขึ้นเขาไปอยู่ที่วัดถ้ำขามได้

ดังนั้น เมื่อเสร็จจากงานศพท่านพระอาจารย์สีลาแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครได้แยกกับท่านพระอาจารย์ทองดีที่นี่เอง โดยท่านตั้งจุดหมายการเดินทางต่อไปยังวัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อกราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์หลวงปู่ฝั้นต่อไป

รูปภาพ
พระอาจารย์แปลง สุนฺทโร

รูปภาพ
พระอาจารย์ปิ่น ปิยธัมโม

รูปภาพ
พระอาจารย์อุทัย สิริธโร


๏ ถึงวัดป่าอุดมสมพร

ลุถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2510 อันเป็นวันลงอุโบสถ ท่านก็มาถึงวัดป่าอุดมสมพร ได้กราบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และนับจากวันนั้นท่านได้อยู่ถวายตัวเป็นศิษย์องค์หลวงปู่ฝั้นมาตลอด ขณะนั้นที่วัดป่าอุดมสมพรมีพระสงฆ์อยู่เพียง 5 รูป และสามเณรอีก 1 รูป คือ (1) องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (2) ท่านพระอาจารย์แปลง สุนฺทโร (3) หลวงตาพรหม (4) หลวงตาไข (5) หลวงตาอ่อน และเณร ด้วยขณะนั้น ท่านพระอาจารย์ปิ่น ปิยธัมโม ไม่อยู่ และ ท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร ยังไม่ลงมาจากถ้ำขาม ทั้งท่านพระอาจารย์แปลงก็มีภาระดูแลงานอื่นเป็นจำนวนมาก คงมีหลวงตาอ่อนดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ฝั้นอยู่ผู้เดียว

ท่านพระอาจารย์สาครจึงได้เข้ามาช่วยงานหลวงตาอ่อนอีกแรงหนึ่ง นับจากนั้นท่านก็ได้รับหน้าที่ดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ฝั้นมาโดยตลอด จากการที่ได้มีโอกาสอุปัฏฐากรับใช้อย่างใกล้ชิดองค์หลวงปู่ฝั้น ได้รับฟังธรรมโอวาท รวมทั้งได้เห็นจริยาวัตรอันงดงาม ทั้งข้อปฏิบัติที่เพียบพร้อม ทำให้ท่านพระอาจารย์สาครเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและลงใจในองค์หลวงปู่ฝั้นเป็นอย่างยิ่ง แม้เพิ่งจะมาถวายตัวรับใช้กับองค์หลวงปู่เพียงไม่นาน

รูปภาพ
ทัศนียภาพภายในวัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย

รูปภาพ
บริเวณภายในอุโบสถวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบังลำภู


(มีต่อ 2)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มี.ค. 2010, 14:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


๏ เพชรบนยอดมงกุฎแห่งเมืองเลย มาวัดป่าอุดมสมพร

วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 พุทธศักราช 2510 หลังจากท่านพระอาจารย์สาครพำนักอยู่กับองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพียง 7 วัน องค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ได้เดินทางมาเยี่ยมองค์หลวงปู่ฝั้น และรอลงอุโบสถร่วมกันในวันวิสาขบูชา ที่ วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อองค์หลวงปู่ท่านได้กราบคารวะกันแล้ว องค์หลวงปู่หลุยเห็นท่านพระอาจารย์สาครกำลังจัดอาสนะอยู่นั้น ท่านจึงกล่าวขึ้นกับองค์หลวงปู่ฝั้นว่า “พระองค์นี้เคยอยู่กับผมมาก่อน” องค์หลวงปู่ชอบก็ได้กล่าวขึ้นด้วยว่า “เคยอยู่กับผมเหมือนกันพระองค์นี้” ท่านพระอาจารย์สาครจึงกราบเรียนองค์หลวงปู่ฝั้นว่า ท่านเคยอยู่กับองค์หลวงปู่ชอบมาก่อนที่วัดป่าม่วงไข่ จ.เลย แล้วจึงมาอยู่กับองค์หลวงปู่หลุยที่บ้านกกกอก

หลังจากลงอุโบสถในวันวิสาขบูชาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อองค์หลวงปู่ชอบและองค์หลวงปู่หลุยได้กลับไปแล้ว นับจากวันนั้นมาท่านพระอาจารย์สาครเปรียบว่า เหมือนผ้าเช็ดหน้าจะบิดให้ขาดเสียให้ได้ องค์หลวงปู่ฝั้นเปลี่ยนจากองค์หลวงปู่องค์เดิมอย่างสิ้นเชิง หันมาเข้มงวดกับท่านพระอาจารย์สาครมากขึ้น หากมีอะไรผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก็จะค่อยดุว่า ไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นผ่านไปเฉยๆ บางครั้งความผิดพลาดของท่านก็นำมาเทศน์บนศาลา เทศน์กันเป็นอาทิตย์ๆ เป็นเดือนๆ ในความผิดนั้นๆ ทั้งนี้คงเป็นเจตนาขององค์หลวงปู่ฝั้นที่ต้องการทดสอบความเข้มแข็งทางจิตใจของลูกศิษย์ และต้องการให้ศิษย์ได้ดีในทางธรรม

รูปภาพ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


รูปภาพ
รูปหล่อเหมือนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ประดิษฐาน ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


รูปภาพ
ภาพแกะสลักรอบฐาน “เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร”

รูปภาพ
หนังสือสุทธิของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ประดิษฐาน ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร



๏ คิดเบื่อหน่ายอยากหนีเป็นที่สุด

จากการที่องค์หลวงปู่ฝั้นเข้มงวดกวดขันท่านพระอาจารย์สาคร ไม่ว่าท่านพระอาจารย์สาครจะทำอะไร ดูเหมือนจะผิดไปหมด กลับถูกเข่น ถูกว่าสารพัด เผลอสติเป็นไม่ได้ ไม่เพียงท่านที่ถูกเข่นเท่านั้น สามเณรที่รับใช้องค์หลวงปู่ก็ได้รับความเข้มงวด จนเณรร้องไห้อยู่แทบทุกวัน กระนั้นวันหนึ่งท่านติดขัดเรื่องการจัดยาให้หลวงปู่จึงถามเณร เณรก็ยังตอบว่า “ครูบาเอาตามาด้วยหรือเปล่า ครูบาเอาหูมาด้วยหรือเปล่า” ทำให้ท่านอึดอัดขัดข้องยิ่งขึ้นไปอีก ขณะนั้นท่านคิดว่า “ต่อไปไม่ว่างานเรื่องอะไรในวัดนี้เราจะต้องเรียนรู้ให้หมดให้ได้” ในแต่ละวันไม่ว่าใครจะทำอะไรผิดมาในวันนั้นก็ดี หรือเหตุเก่าก็ดี พอขึ้นศาลาองค์หลวงปู่ต้องดุว่าแต่ท่านพระอาจารย์สาครองค์เดียว ทำให้ท่านคิดเบื่อหน่ายอยากจะหนีเป็นที่สุด


๏ กำหราบความคิด

เมื่อท่านมีความคิดอยากหนีวันไหน พอขึ้นไปบนกุฏิองค์หลวงปู่ฝั้นเพื่อทำอาจริยาวัตรปกติ บางครั้งยังไม่ทันจะนั่งกราบเลย องค์หลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า “จะไปไหนก็ผีตัวเก่า ถ้าไม่ตั้งใจภาวนา จะอยู่ที่ไหนก็ผีตัวเก่า” พออีก 2-3 วันคิดจะไปอีก องค์หลวงปู่ก็พูดขึ้นอีก ทำให้ใจท่านไม่คิดฟุ้งไปกว่านี้ บางครั้งใจก็คิดอยากจะไปดูถ้ำขามบ้างว่าเป็นอย่างไร อยากไปดูวัดดอยธรรมเจดีย์บ้างว่าเป็นอย่างไร พอขึ้นกุฏิ องค์หลวงปู่ก็จะเล่าเรื่องวัดนั้นๆ ให้ฟังทันที ทำให้ท่านต้องคอยสำรวมระมัดระวังความคิดอยู่ตลอดเวลา


๏ หมาแทะกระดูก

บ่อยครั้งเมื่อลูกศิษย์คิดถึงบ้าน องค์หลวงปู่ฝั้นจะเมตตายกเรื่องของท่านขึ้นเทศน์ให้ฟัง ถึงเมื่อครั้งองค์ท่านเองก็เคยเบื่อหน่ายท้อแท้จนคิดจะกลับบ้านเช่นกัน วันหนึ่งขณะที่องค์หลวงปู่ฝั้นเดินบิณฑบาตอยู่นั้น เห็นหมาตัวหนึ่งเดินตามเจ้าของอยู่ สักพักมันเจอกระดูกเก่าท่อนหนึ่ง มันก็หยุดแทะตามประสาหมา แต่เจ้าของก็เดินต่อไป มันแทะอยู่สักพักก็วิ่งตามเจ้าของไปแต่แล้วก็หันวิ่งกลับมาแทะกระดูกต่ออีก แล้วก็วิ่งกลับไปหาเจ้าของอีก กลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง จนเจ้าของเดินไกลออกไปมากแล้ว มันจึงได้วิ่งตามเจ้าของไปอย่างอาลัย องค์หลวงปู่เห็นอาการมันแล้ว ก็กลับมานึกเป็นธรรมอบรมตัวองค์ท่านเองได้ว่า

“การอาลัยในบ้านขององค์ท่านก็เหมือนหมาตัวนั้นที่อาลัยในกระดูกเก่าอันจืดชืด แต่มันไม่รู้ว่ากระดูกนั้นไม่มีรสอะไรแล้ว ที่หลงอยู่ ก็หลงในน้ำลายของตัวเองเท่านั้น ชีวิตทางโลกก็เหมือนกระดูกเก่าที่หาค่าอันใดมิได้ ความหลงในสิ่งที่ฉาบทาไว้ก็เหมือนหมาที่หลงอร่อยในน้ำลายตัวเอง”

เมื่อองค์หลวงปู่ท่านพิจารณาได้เช่นนั้น ก็วางความคิดถึงบ้านลงได้ ท่านพระอาจารย์สาครก็ได้ธรรมข้อนี้ช่วยให้ท่านผ่านพ้นมาได้ ท่านจึงซาบซึ้งถึงพระคุณขององค์หลวงปู่ฝั้นอย่างถึงที่สุด ว่าทางหนึ่ง ท่านก็เข่นเอาเต็มที่ แต่อีกทางหนึ่งก็เมตตาคอยประคับประคองหาอุบายธรรมช่วยเหลือเต็มที่เช่นกัน ปัจจุบันหากท่านพระอาจารย์สาครเดินทางไปกราบนมัสการเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร ท่านจะต้องไปดูภาพแกะสลักเรื่อง “หมาแทะกระดูก” ที่ฐานองค์เจดีย์ด้วยความระลึกซาบซึ้งในพระคุณอยู่ทุกครั้งไป



๏ ศึกษาปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ฝั้น

เมื่อท่านพิจารณาเข้าใจถึงความเมตตาขององค์หลวงปู่ฝั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครก็ตั้งใจอยู่รับการอบรมปฏิบัติธรรมอย่างถึงที่สุด คราวนี้ท่านกลับกลัวองค์หลวงปู่ฝั้นจะไล่หนีเอา ทั้งนี้ด้วยเห็นพระบางองค์ถูกองค์หลวงปู่ไล่หนี บางองค์มาถึงวัดยังไม่ทันแก้บาตรเลยก็ถูกบอกให้หลีกไปที่อื่นแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครจึงอยู่ด้วยความระมัดระวังในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติให้ดีที่สุด

ท่านพระอาจารย์สาครคอยปฏิบัติองค์หลวงปู่ฝั้นอย่างใกล้ชิดดุจเป็นเงาขององค์หลวงปู่ ท่านจะดูแลองค์หลวงปู่ฝั้นตั้งแต่ตอนที่องค์หลวงปู่ตื่นขึ้นมา โดยจะเข้าไปถวายน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน เปลี่ยนกระโถน รับผ้าจีวรมาที่ศาลา ตอนบิณฑบาตจะช่วยองค์หลวงปู่ครองผ้ากลัดรังดุม และคอยส่งบาตร รับบาตรองค์หลวงปู่ แล้วรีบกลับมาเตรียมน้ำอุ่นล้างเท้าให้องค์หลวงปู่ แล้วจึงคอยเช็ดเท้าให้แห้ง เวลาฉันอาหาร ท่านพระอาจารย์สาครจะเป็นผู้จัดอาหารถวาย ทั้งนี้เพราะองค์หลวงปู่ฝั้นท่านไม่จัดอาหารเอง แม้ในคราวที่มีนิมนต์ไปฉันข้างนอกก็ตาม ท่านพระอาจารย์สาครจะขอโอกาสพระเถระองค์อื่นเพื่อจะได้นั่งใกล้องค์หลวงปู่ฝั้น เพื่อคอยจัดอาหารถวาย ท่านพระอาจารย์สาครต้องฉันให้เสร็จก่อนองค์หลวงปู่ เพื่อจะได้นำบาตรของตนไปล้างก่อน แล้วจึงนำบาตรขององค์หลวงปู่ไปล้าง แล้วนำมาเช็ดให้แห้ง ก่อนนำไปผึ่งไว้ แล้วรีบกลับมาถวายไม้สีฟัน ถวายยา เก็บของ เก็บกระโถน รับผ้าจีวร แล้วรีบนำบริขารขององค์หลวงปู่ไปเก็บไว้ที่กุฏิ แล้วมาคอยเป็นปัจฉาสมณะดูแลองค์หลวงปู่

ถ้ามีงานภายในวัด ท่านจะกราบเรียนขอโอกาสไว้ แล้วไปทำงานนั้นๆ จนเสร็จเรียบร้อย ซึ่งงานส่วนมากเป็นงานที่คนอื่นไม่กล้าทำ แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวท่านพระอาจารย์สาครจะรับอาสาทำเสมอ อาทิเช่น ตอนที่แบกเสากุฏิ ท่านบอกว่า ถ้าแบกเสา 1 ต้น ทีละ 2 คน แต่ถ้าแบก 3 คน 2 ต้นน่าจะดีกว่า โดยท่านพระอาจารย์สาครท่านรับเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ยอมแบกคนเดียว 2 ต้น เป็นต้น

รูปภาพ
พระอาจารย์สุวัจน์ สุจโจ

รูปภาพ
พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย

รูปภาพ
พระอาจารย์คำดี ปัญโญภาโส


นอกจากนี้ท่านยังดูแลรักษาเสนาสนะ ร่วมทำงานก่อสร้างภายในวัดและภายนอกวัด เช่น งานสร้างเจดีย์ที่หลังกุฏิองค์หลวงปู่ฝั้น งานสร้างถนนวัดถ้ำขาม งานสร้างศาลาวัดถ้ำขาม งานสร้างเขื่อนกั้นน้ำอูน และสะพานบ้านบะทอง งานสร้างโรงพยาบาลหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น เมื่อถึงตอนเย็น ท่านพระอาจารย์สาครจะคอยดูแลสรงน้ำองค์หลวงปู่ เมื่อองค์หลวงปู่สรงน้ำเสร็จต้องรีบเช็ดพื้นห้องน้ำให้แห้งเพราะเป็นพื้นไม้ ตอนกลางคืนต้องทำวัตรสวดมนต์และรับฟังธรรมโอวาทที่ศาลา เมื่อเลิกท่านก็ไปที่กุฏิองค์หลวงปู่เพื่อไปส่งย่าม และคอยจับเส้นถวายองค์หลวงปู่ กว่าจะเลิกบางคืนก็เที่ยงคืน บางคืนล่วงไปจนถึงตีหนึ่ง

เมื่อลงจากกุฏิ ท่านจะลงไปเดินจงกรมต่อแล้วจึงเข้าพัก บางคืนท่านจะเดินจนกระทั่งถึงเวลาที่องค์หลวงปู่ตื่น ซึ่งโดยปกติแล้ว องค์หลวงปู่ฝั้นจะเข้าพักไม่นาน เมื่อองค์หลวงปู่ฝั้นท่านตื่น ท่านพระอาจารย์สาครก็จะรีบเข้าไปถวายน้ำล้างหน้าอีก ในข้อวัตรต่างๆ เหล่านี้ท่านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่านพระอาจารย์สาครจะมีคติสั้นๆ ประจำใจที่ยึดปฏิบัติอยู่ 4 ประการคือ “นอนทีหลัง ตื่นก่อน ฉันทีหลัง อิ่มก่อน”

นอกเหนือจากการมีข้อวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดแล้ว ในการเดินทางแม้จะมีเป้าหมายที่แน่นอน หากด้วยบนหนทางย่อมต้องพานพบกับอุปสรรคเครื่องกีดขวางอยู่บ้าง ซึ่งการจะฝ่าฟันไปได้นั้น นอกจากจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครยังมีองค์พระพี่เลี้ยงคอยเมตตาช่วยเหลือยามที่ท่านพบกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าทางด้านใดๆ ก็ดี ท่านได้มีองค์หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, ท่านพระอาจารย์แปลง สุนฺทโร, ท่านพระอาจารย์เขี่ยม โสรโย, ท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร และท่านพระอาจารย์คำดี ปัญโญภาโส คอยเมตตาช่วยเหลือ ทำให้การปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์สาครดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งท่านพระอาจารย์สาครก็ได้ซาบซึ้งในพระคุณของท่านพระมหาเถระทุกองค์นี้เสมอ ดังนั้น นอกจากท่านจะไปกราบเยี่ยมแล้ว หากท่านสามารถจัดทำธุระสิ่งใดเพื่อตอบแทนได้ ท่านก็จะรีบทำทันที

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล


๏ มั่นใจว่าจะไม่ถูกไล่หนี

ถึงแม้ท่านจะตั้งใจปฏิบัติข้อวัตร และทำงานทุกอย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ หากแต่ยังหวั่นกลัวองค์หลวงปู่ฝั้นจะไล่หนีเอา จนวันหนึ่งมีสิ่งที่ทำให้ท่านรับรู้และมั่นใจว่าจะไม่ถูกไล่หนี กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2515 ท่านเจ้าคุณซึ่งเคารพองค์หลวงปู่ฝั้นได้มากราบเยี่ยมองค์หลวงปู่ และปรารภขึ้นว่า ทางภาคตะวันตกของประเทศนั้นยังมีพระกัมมัฏฐานน้อย ทั้งที่ดินแดนแถบนั้นยังมีป่าอันสัปปายะอุดมสมบูรณ์อยู่ แม้ขณะนั้นจะมีท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล อยู่ แต่ท่านก็อาพาธ จึงอยากจะขอพระจากองค์หลวงปู่ไปอยู่เป็นหลักให้แก่พระสงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยมทางด้านนั้นบ้าง องค์หลวงปู่ฝั้นจึงถามว่าคิดจะเอาใครไป ท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งได้เคยเห็นอาจริยวัตร และฝีมือการทำงานในตัวท่านพระอาจารย์สาครเป็นประจักษ์แล้ว จึงกล่าวขอตัวท่านพระอาจารย์สาครกับองค์หลวงปู่ฝั้น ซึ่งองค์หลวงปู่ฝั้นก็ไม่อนุญาตให้ไป

การที่องค์หลวงปู่ฝั้นท่านกล่าวไม่อนุญาตนั้น ก็มีความหมายเป็นนัยให้ท่านพระอาจารย์สาครรับรู้ได้ว่า แม้องค์หลวงปู่ฝั้นจะดุ จะว่าเอา แต่องค์หลวงปู่ท่านก็ได้รับรู้ถึงความเอาใจใส่ ไม่ละวางการงานในตัวลูกศิษย์ผู้นี้อยู่เสมอ ซึ่งก็เพียงพอให้ท่านพระอาจารย์สาครซาบซึ้ง และเป็นกำลังใจให้ท่านยิ่งทุ่มเทแรงกายแรงใจถวายองค์หลวงฝั้นยิ่งขึ้นไป เมื่อองค์หลวงปู่ฝั้นอาพาธในปี พ.ศ.2519 ท่านพระอาจารย์สาครเป็นพระรูป 1 ใน 8 รูปที่ได้รับคัดเลือกให้ดูแลองค์หลวงปู่ จากพระทั้งหมดจำนวน 100 รูป ซึ่งท่านทำหน้าที่คอยดูแลออกซิเจนให้องค์หลวงปู่ และถวายอาหารให้องค์หลวงปู่ในตอนเช้าด้วย จวบจนกระทั่งองค์หลวงปู่ฝั้นท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ.2520 ณ กุฏิวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร รวมระยะเวลาอยู่อุปัฏฐากรับใช้และศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดยาวนานถึง 10 ปีเศษ การอยู่อุปัฏฐากรับใช้และติดตามครูบาอาจารย์นี้ กลายเป็นสิ่งที่ท่านพระอาจารย์สาครภาคภูมิใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ที่ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ซึ่งมีคุณธรรมอันวิเศษสุด

หลังจากเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปู่ฝั้น ท่านพระอาจารย์สาครก็ได้เดินออกธุดงค์แสวงหาที่ปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะได้เร่งบำเพ็ญภาวนา ตามแนวทางคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เมตตาอบรมแนะนำธรรม

รูปภาพ
เสนาสนะและความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร


(มีต่อ 3)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มี.ค. 2010, 07:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
ป้ายชื่อที่พักสงฆ์ กม.27 เลขที่ 75/15 ซ.แข็งขัน 3 ถ.พหลโยธิน 64
ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (ในปัจจุบัน)



๏ ละจากแดนดินอีสานสู่ภาคตะวันตก

เมื่อสิ้นองค์หลวงปู่ฝั้นและเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ท่านก็ละจากวัดป่าอุดมสมพร เพื่อเดินทางไปอุปัฏฐากองค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นอาจริยบูชาที่องค์หลวงปู่หลุยเคยเมตตาฝึกหัดอบรมให้แก่ท่าน ในโอกาสนี้ท่านจึงมีโอกาสติดตามออกเดินธุดงค์อีกครั้ง โดยไปกับองค์หลวงปู่หลุยทั่วทุกจังหวัดทางภาคเหนือ และองค์หลวงปู่หลุยได้พากราบเยี่ยมยังสถานที่และวัดสำคัญอัน องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เคยมาเผยแผ่หลักธรรมคำสอนอยู่ เมื่อใกล้เข้าพรรษา องค์หลวงปู่หลุยซึ่งได้พิจารณารับนิมนต์ไปพำนักจำพรรษาที่บ้านหนองแซง จ.อุดรธานี แล้วก็เดินทางกลับลงมาและแวะโปรดศรัทธาญาติโยม ณ ที่พักสงฆ์ กม.27 ถ.พหลโยธิน 64 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

ส่วนท่านพระอาจารย์สาคร ก็มีนายอำเภอมานิมนต์ให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดภูซางใหญ่ จ.อุดรธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งท่านมิได้รับนิมนต์ไปแต่อย่างใด ด้วยเมื่อหวนคิดถึงเมื่อครั้งท่านถูกขอตัวจากองค์หลวงปู่ฝั้นเพื่อไปอยู่ทางภาคตะวันตก “ด้วยแดนดินถิ่นนั้นขาดพระเณรที่จะเป็นหลัก” ทำให้ท่านติดอยู่ในใจที่อยากจะไปช่วยเหลือ ทั้งในทางภาคอีสานนี้ก็มีครูบาอาจารย์พระเณรซึ่งเป็นหลักแก่พระพุทธศาสนาให้พึ่งพิงมากมายอยู่แล้ว ท่านจึงคิดจะไปทางนั้นดู จึงได้กราบเรียนองค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ซึ่งองค์หลวงปู่ก็อนุญาต

ดังนั้นในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2521 อันวันรุ่งขึ้นองค์หลวงปู่จะเดินทางกลับไปยัง จ.อุดรธานี ท่านพระอาจารย์สาครจึงขอทำวัตรกับองค์หลวงปู่ โดยพูดบอกแก่ศรัทธาญาติโยมที่นั้นว่า “เผื่อมันตายไป พรุ่งนี้ไม่ได้ไปกับหลวงปู่” นั่นก็เป็นที่แจ้งแก่ใจญาติโยมที่เคารพนับถือในตัวท่านพระอาจารย์สาครว่าท่านจะไม่กลับไปด้วยแล้ว ก่อให้เกิดความอาลัยร่ำไห้ออกมาหลายคน พอถึงวันรุ่งขึ้น 14 กรกฎาคม พ.ศ.2521 ท่านพระอาจารย์สาครได้ไปส่งองค์หลวงปู่หลุยขึ้นรถไฟที่ดอนเมือง ครั้นถึงเวลารถออก ท่านก็กราบลาลงมา นับเป็นเวลา 5 เดือนเต็มที่ท่านได้ทำอาจริยบูชาปรนนิบัติดูแลองค์หลวงปู่หลุยโดยใกล้ชิด


๏ กำเนิดวัดเวฬุวัน

เมื่อท่านพระอาจารย์สาครขอโอกาสกราบลาจากองค์หลวงปู่หลุยแล้ว ท่านก็ได้พิจารณาแสวงหาที่ปฏิบัติธรรม โดยท่านได้เลือกไปแสวงหาความสงบวิเวกทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเห็นว่าสถานที่นั้นยังไม่ค่อยมีพระปฏิบัติสายกัมมัฏฐานมาพักจำพรรษาอยู่ ท่านจึงบอกกับลูกศิษย์ให้ขับรถมารับที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เพื่อเดินทางไปทางจังหวัดกาญจนบุรี และได้มาส่งท่านถึงเพียงแค่วัดพุทธวิมุติวนาราม อ.ไทรโยค ด้วยถนนเพิ่งสร้างมาสิ้นสุด ณ ตรงนั้น การเดินทางจึงต้องเดินทางต่อโดยทางเรือจนถึงทองผาภูมิ ท่านจึงให้คณะที่มาส่งกลับไป เหลือแต่ท่านพระอาจารย์สาครเดินทางต่อไปเพียงลำพังองค์เดียว เมื่อถึงทองผาภูมิ เนื่องจากท่านไม่รู้จักใคร ท่านจึงได้สอบถามหาโยมผู้อุปถัมภ์วัดในละแวกนั้น ให้พาท่านไปดูถ้ำต่างๆ เพื่อเป็นที่พำนักปฏิบัติในพรรษาที่ใกล้จะมาถึง พวกโยมได้พาไปดูถ้ำหลายแห่ง จนในที่สุดท่านมาพบถ้ำแก่งกระโต่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นที่จำพรรษาในคราวนั้นเอง

รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี


๏ องค์หลวงปู่ฝั้นนำพาสร้างวัดเวฬุวัน

คืนหนึ่งที่ถ้ำแก่งกระโต่ง ท่านพระอาจารย์สาครเข้าภาวนาตอนหัวค่ำอันเป็นปกติ ปรากฏว่าเมื่อจิตสงบแล้วในค่ำคืนนั้น ท่านได้นิมิตเห็นองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นำพาท่านและพระภิกษุสามเณรสร้างกุฏิพระ ศาลา ถนนหนทางในวัดแห่งหนึ่ง ท่านและพระเณรอื่นๆ ก็ช่วยกันสร้างอย่างแข็งขัน เฉกเช่นที่ท่านเคยช่วยงานก่อสร้างกับองค์หลวงปู่ฝั้นมาตามปกติ ท่านอยู่สร้างวัดนั้นนานเหมือนเป็นปี จนท่านคุ้นเคยกับสถานที่นั้นเป็นอย่างดี ด้วยต้องเดินไปทั่วเขตวัดเพื่อสำรวจทาง และหาไม้ หาฟืน อยู่ทุกวัน จนท่านจำได้ว่ามีถนน มีกุฏิ ศาลา อยู่อย่างไร มีคลองทางน้ำ มีต้นไม้อะไรอยู่ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่ท่านจำได้ชัดคือบ่อพุน้ำที่มีปลาอาศัย มีต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้วล้มอยู่ ด้านโคนต้นอยู่ที่บ่อพุน้ำ ทางปลายต้นพาดคลองชี้ไปทางทิศตะวันออก

วันหนึ่งหลังจากพักการทำงาน ขณะองค์หลวงปู่ฝั้นมาพักฉันน้ำ องค์หลวงปู่ฝั้นก็พูดขึ้นกับท่านพระอาจารย์สาครว่า “ท่านอยู่ที่นี่นะ” ซึ่งในนิมิตนั้นท่านพระอาจารย์สาครได้ตอบไปว่า “กระผมไม่เอา กระผมจะกลับสกลนคร ที่นี่ลำบาก” ด้วยการตอบสวนคำที่ไม่เคยทำต่อองค์หลวงปู่ฝั้นมาก่อน จิตท่านจึงถอดออกทันที ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาตี 2 ล่วงเข้าวันใหม่

เมื่อมีโอกาสท่านพระอาจารย์สาครจึงสอบถามกับญาติโยมที่มีศรัทธามาทำบุญใส่บาตรว่า เคยเห็นสถานที่ที่มีลักษณะดังกล่าวในนิมิตนั้นหรือไม่ จนได้ความแล้วจึงได้ออกเดินทางไปดู พบว่าสถานที่นั้นตรงกับในนิมิตทุกประการ ซึ่งขณะที่เดินไปนั้นท่านสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ประเดี๋ยวตรงทางขึ้นวัดจะมีจอมปลวกและไม้แดงอยู่ ก็พบดังที่ท่านบอก ถัดไปจะมีต้นมะขามป้อม และมีคลองทางน้ำไหลมาจากบ่อพุน้ำด้านบน เดินไปตามคลองจะมีต้นฉะค่าง ครั้นเมื่อข้ามคลองไปแล้วจะเจอต้นแดงคู่อยู่ ก็เจอตามที่ท่านพูดเหมือนกับคุ้นเคยมาก่อน และเมื่อสุดคลองก็พบบ่อพุน้ำมีต้นไม้ล้มอยู่ในลักษณะที่ท่านเห็นในนิมิตทุกประการ

ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจนำพาคณะญาติโยมผู้มีศรัทธา เริ่มก่อสร้างเสนาสนะตามที่องค์หลวงปู่ฝั้นบอกกับท่านในนิมิต และท่านได้อยู่จำพรรษา ณ สถานที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เรื่อยมา ต่อมาท่านได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติม จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2533 ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ มีนามว่า “วัดเวฬุวัน” เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2533 และท่านพระอาจารย์สาครได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2537 ทั้งนี้ ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2541 ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์สาครได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูภาวนาสุทธาจารย์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2541 นับจากวันที่ได้เริ่มสร้าง “วัดเวฬุวัน” เป็นต้นมา สถานที่แห่งนี้ได้สร้างได้อบรมพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และได้อบรมสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา สาธุชนโดยทั่วไป ให้ดำรงอยู่ในเส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

อีกประการหนึ่งอาจเป็นจุดประสงค์ขององค์หลวงปู่ฝั้นที่ต้องการให้ “วัดเวฬุวัน” เป็นสถานที่คอยสนับสนุนพระภิกษุสามเณรที่มุ่งต่อการประพฤติ ปฏิบัติธรรม เพราะหากพิจารณาสภาพผืนป่าที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ก็จะเห็นว่าผืนป่าภาคตะวันตกยังคงความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด และเป็นสถานที่สัปปายะอย่างยิ่ง ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งของวัดเวฬุวันนั้นเป็นเสมือนประตูที่เข้าไปสู่ผืนป่าดังกล่าว องค์หลวงปู่ฝั้นจึงได้สั่งให้ท่านพระอาจารย์สาครสร้างวัดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ เพื่อความเจริญงอกงามแก่พระภิกษุสามเณรและพระพุทธศาสนาต่อไป

รูปภาพ
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ วัดดอนธาตุ ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี


รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดป่ามณีกาญจน์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี


๏ สร้างวัดป่ามณีกาญจน์

สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2545 คราวเตรียมงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานคราวนั้น ให้รับหน้าที่ติดต่อประสานงานทั้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และองค์พระเถรานุเถระที่เมตตารับนิมนต์มาร่วมพิธีในคราวนั้น ในการนี้ท่านต้องเดินทางระหว่างจังหวัดกาญจนบุรีกับจังหวัดอุบลราชธานีบ่อยครั้ง อีกทั้งยังต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ทำการอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านจึงต้องพำนักพักแรมในกรุงเทพฯ

ด้วยเหตุความจำเป็นในการที่จะต้องพักแรมในกรุงเทพฯ นี้เอง ท่านได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่พักที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุสามเณร สังกัดธรรมยุติกนิกาย ในกรุงเทพฯ นั้น ยังมีไม่เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรที่มีความจำเป็นต้องมาพักแรม ทั้งกรณีอาพาธต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือมีกิจนิมนต์ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งสถานที่พักส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการรักษาข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์ ท่านจึงได้ปรารภเรื่องนี้ในหมู่ลูกศิษย์ของท่าน เวลานั้นลูกศิษย์ท่านหนึ่งทราบความประสงค์อันกอปรด้วยกุศลเจตนาของท่านพระอาจารย์สาคร จึงนำความไปปรึกษากับกลุ่มญาติพี่น้อง ซึ่งมีที่ดินอยู่ ณ ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 9 ไร่ 2 งาน ที่ซื้อมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

กลุ่มญาติพี่น้องทั้งหมดอันประกอบด้วย ม.ร.ว.วรรณี มณีกาญจน์, นายสันติ มณีกาญจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและจังหวัดหนองคาย, นางสาวชูพักตร์ มณีกาญจน์, นางบุญล้อม มณีกาญจน์ และลูกๆ ของนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรถวายที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย เพื่อเป็นสถานที่พักปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนกิจในบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ซึ่งพระอาจารย์สาครได้ให้ชื่อวัดแห่งนี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กุศลธรรมของญาติโยมที่มีจิตศรัทธาถวายที่ดินว่า “วัดป่ามณีกาญจน์” ดังนั้น การดำเนินการก่อสร้างวัดจึงได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 เป็นต้นมา

รูปภาพ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (พระสุธรรมคณาจารย์)

รูปภาพ
พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ ประธานสงฆ์แห่งวัดป่ามณีกาญจน์

รูปภาพ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร
เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์องค์ปัจจุบัน



ครั้นต่อมา ท่านพระอาจารย์สาครได้กราบปรึกษา องค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (พระสุธรรมคณาจารย์) เรื่องการขยายเนื้อที่ของวัดป่ามณีกาญจน์ เพื่อให้เพียงพอแก่การสร้างที่พัก ทั้งของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส ตลอดจนคนขับรถ พร้อมทั้งที่จอดรถที่สามารถจุรถได้มากเพียงพอแก่การใช้งานจริง โดยเฉพาะพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่ากรรมฐานจากทั่วทุกจังหวัด จะได้รับความสะดวกใช้เป็นสถานที่พำนักอาศัยและปฏิบัติธรรม ทั้งในกรณีที่ท่านเดินทางเข้ามาเพื่อประกอบศาสนกิจหรือรักษาอาการอาพาธ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุอันอาจจะเกิดขึ้นแก่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ในกรณีที่คนขับรถไม่มีที่หลับที่นอน ทำให้เกิดเหตุคนขับรถหลับในได้ ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะศรัทธาญาติโยมที่สนใจการปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในการนี้องค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ท่านได้เมตตารับเป็นประธานสงฆ์

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2548 คุณประมิตร วังพัฒนมงคล และคณะศรัทธาญาติโยมได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายเนื้อที่ของวัดอีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ดังนั้น ปัจจุบันเนื้อที่ของวัดป่ามณีกาญจน์ จึงมีรวมทั้งหมดจำนวน 20 ไร่ 66 ตารางวา

พื้นที่ตั้งของวัดเป็นที่ราบลุ่ม ภายในบริเวณวัดได้ปลูกต้นไม้ พรรณไม้นานาชนิด ทั้งไม้ดอกและไม้ยืนต้น ตลอดจนผลไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่มรื่นภายในวัด และเพื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา ทางด้านหน้ามีสระน้ำใหญ่และบ่อน้ำ ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังศาลา สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วย ศาลาอเนกประสงค์ 3 ชั้น ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 16 เมตร, โรงครัวและเรือนพักของผู้ปฏิบัติธรรม 2 ชั้น ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 21 เมตร, ศาลาปฏิบัติธรรมริมสระน้ำ ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 24 เมตร, กุฏิที่พักสงฆ์ 8 หลัง และกุฏิรับรองพระเถระ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร จำนวน 1 หลัง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ล้วนมุ่งเน้นให้มีรูปแบบที่เรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ สำหรับ เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์องค์ปัจจุบัน คือ ท่านพระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร ปัจจุบันสิริอายุได้ 48 พรรษา 22 (เมื่อปี พ.ศ.2553)


๏ เจริญรอยตามวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์

ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ เป็นพระเถระที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เจริญรอยตามวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์โดยเคร่งครัด กอปรด้วยความกตัญญูกตเวทิตาอย่างมิรู้เสื่อมคลาย เป็นพระปฏิบัติสายกัมมัฏฐานที่สาธุชนกราบไหว้ได้โดยสนิทใจแท้

รูปภาพ
พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ



.............................................................

:b8: ♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
เว็บไซต์
http://www.watpamaneekarn.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ย. 2015, 00:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b16: ได้มีบุญไปภาวนา ฟังธรรมกับหลวงปู่อยู่หลายครั้ง ท่านมีปฏิปทาน่าเลื่อมใสยิ่งนักค่ะ ขอน้อมกราบค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร