วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 13:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร


วัดศรีอภัยวัน
ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย



๏ อัตโนประวัติ

“อย่ามีอคติ...อย่าลำเอียงกับใครเลย และอย่าขึ้นๆ ลงๆ อย่าเอารัดเอาเปรียบกันอีกเลย”

ความตอนหนึ่งจากธรรมโอวาทของ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” หรือ “หลวงปู่ท่อน ญาณธโร” ที่คอยอบรมสอนสั่งสาธุชนทั่วไปให้ประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยกุศโลบายอันแยบคายในการแสดงพระธรรมเทศนา ให้ผู้ฟังนำไปขบคิดพินิจพิจารณาด้วยปัญญา

ท่านเป็นพระเถราจารย์ผู้ใหญ่สายวิปัสสนาธุดงค์กัมมัฏฐาน เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตตภาวนา การเทศนาธรรม และวิทยาคมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร มีนามเดิมว่า ท่อน ประเสริฐพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2471 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ณ บ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายแจ่ม และนางทา ประเสริฐพงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 19 คน ท่านบุตรคนที่ 6 ปัจจุบัน สิริอายุได้ 81 พรรษา 61 (เมื่อปี พ.ศ.2552) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีอภัยวัน บ้านหนองมะผาง ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย และเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต)


๏ การศึกษาเบื้องต้น

ในวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่ด้วยฐานะทางบ้านยากจน ท่านจึงได้ลาออกจากโรงเรียนมาช่วยบิดามารดาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ต่อมาได้เรียนต่อที่โรงเรียนผู้ใหญ่ที่บ้านหินขาว สอบเทียบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ท่านไม่ได้เข้าศึกษาต่อ เพราะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว จึงเป็นเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียนอีกครั้ง เพื่อมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

รูปภาพ
หลวงปู่คำดี ปภาโส


๏ การอุปสมบท

ช่วงวัยหนุ่มฉกรรจ์ เป็นคนติดเพื่อนฝูง กินเหล้าเมายา จีบสาวตามบ้านต่างๆ ในละแวกนั้น ทำให้โยมบิดา-โยมมารดา เป็นกังวลใจมาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป บุตรชายคงจะเสียคนเป็นแน่ จึงได้ปรึกษากันขอให้บุตรชายบวชเรียน โยมบิดาจึงนำตัวบุตรชายไปฝากกับหลวงปู่คำดี ปภาโส พระเกจิชื่อดังแห่งวัดป่าชัยวัน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่หลวงปู่คำดีมีข้อแม้ว่า ก่อนบวชจะต้องรักษาศีล นุ่งห่มขาว เจริญภาวนา กินข้าวมื้อเดียวก่อน

ครั้นอยู่ทดสอบจิตใจเป็นเวลาได้ 5 เดือน หลวงปู่คำดี ปภาโส จึงอนุญาตให้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ขณะมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2491 ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระเทพบัณฑิต (มหาอินทร์ ถิรเสวี สินโพธิ์ ป.ธ.5) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิศาลสารคุณ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ อุตฺตโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางไปพำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่คำดี ณ วัดป่าชัยวัน โดยหลวงปู่คำดีเป็นอาจารย์กัมมัฏฐาน คอยสอนให้ทำภาวนา นั่งสมาธิกัมมัฏฐาน เน้นเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา ระยะเวลาผ่านไปนานพอสมควร ท่านได้ช่วยครูบาอาจารย์แบ่งเบาภาระในการสอนคนที่จะมาบวช ด้วยการสอนขานนาค เป็นต้น ครั้นถึงช่วงออกพรรษา ได้เป็นหัวหน้าออกเดินธุดงค์เข้าป่าเป็นกิจวัตร

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จันทสาโร


๏ ได้รับโอวาทจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ครั้งหนึ่งท่านได้มีโอกาสพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า และได้รับโอวาทอันทรงคุณค่าอย่างหาที่เปรียบมิได้จากหลวงปู่มั่น “ให้เร่งทำความเพียร มิให้ประมาท ชีวิตนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตาย”

หลวงปู่ท่อน ยังได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต เป็นต้น

หลังจากช่วยงานการครูบาอาจารย์เสร็จสิ้น หลวงปู่คำดีได้นำหมู่คณะออกวิเวกไปทาง จ.เลย ตอนนั้นหลวงปู่ท่อนบวชได้ 7 พรรษาแล้ว

พ.ศ.2497 หลวงปู่คำดี ปภาโส นำพาคณะสงฆ์เข้าป่าและถ้ำต่างๆ ได้ปฏิบัติภาวนาทำความเพียร ตลอดจนให้คณะศรัทธาญาติโยมมาฟังธรรมะ และในพรรษานี้หลวงปู่ท่อนได้พำนักจำพรรษา ณ วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย กับหลวงปู่คำดีด้วย

หลวงปู่ท่อนอยู่ที่วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ได้ 2 พรรษา ก็มีคณะศรัทธาญาติโยมมาขอให้ไปโปรดที่วัดถ้ำตีนผา อ.เชียงคาน จ.เลย 1 พรรษา ต่อมาหลวงปู่คำดีเกิดอาพาธเจ็บป่วยด้วยโรคชรา ท่านจึงกลับมาเยี่ยมและช่วยสร้างวัดถ้ำผาปู่นิมิตรไปด้วย จวบกระทั่งหลวงปู่คำดีได้มรณภาพลงอย่างสงบ


๏ สร้างวัดศรีอภัยวัน

พ.ศ.2500 ศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์ให้หลวงปู่ท่อนไปอยู่ที่ป่าช้านาโป่ง และได้สร้างเป็นวัดศรีอภัยวัน บนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ รวมทั้งรักษาความเป็นป่าอย่างสมบูรณ์ไว้

จากนั้นมา หลวงปู่ท่อนได้จำพรรษาที่วัดศรีอภัยวัน จ.เลย ตราบจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากหลวงปู่ท่อนเป็นพระป่า ที่วัดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต กุฏิเป็นเพียงกุฏิเล็กๆ ปัจจัยที่ได้รับจากญาติโยม ล้วนแบ่งเอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่จะแบ่งปันให้แก่สำนักสงฆ์ วัด ที่ขาดแคลนหรือทุรกันดาร

รูปภาพ
วัดศรีอภัยวัน จ.เลย


๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดวัดศรีอภัยวัน

พ.ศ.2510 เป็นเจ้าคณะตำบลเมือง เขต 2 (ธรรมยุต)

พ.ศ.2526 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ภูเรือ (ธรรมยุต)

พ.ศ.2532 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ปากชม (ธรรมยุต)

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2550 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต) ตามกฎของมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23/2541 ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2514 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูญาณธราภิรัติ”

พ.ศ.2527 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2531 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2535 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระญาณทีปาจารย์” เป็นกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ”

รูปภาพ
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก-หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก-หลวงปู่ท่อน ญาณธโร


๏ ร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์

นับแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา หลวงปู่ท่อน เริ่มมีกิจนิมนต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ รวมถึงต่างประเทศ แทบจะหาเวลาว่างไม่ได้เลย แต่หลวงปู่ก็มิเคยขัดศรัทธาญาติโยมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2536 หลวงปู่ได้อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้หลวงปู่เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดเป็นประจำ

ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2537 หลวงปู่อาพาธอีก ด้วยโรคเส้นเลือดในช่องท้องโป่งพอง ต้องเข้ารับการผ่าตัดจากคณะแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แม้การผ่าตัดจะประสบผลสำเร็จ แต่ส่งผลให้หลวงปู่ท่อนไม่สามารถเทศนาบรรยายธรรมได้นานดังแต่ก่อน เพราะสุขภาพไม่อำนวย ทุกวันนี้หลวงปู่ยังคงเดินทางเข้าไปตรวจเช็กสุขภาพที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ อย่างสม่ำเสมอ

หลวงปู่ท่อน มีความรู้ความสามารถในด้านวิทยาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานสมาบัติแก่กล้า มีวิชาทำวัตถุมงคลตามตำรับโบราณคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคอดีต เป็นเหตุปัจจัยเสริมให้วัตถุมงคลทั้งหมดของท่านมีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง ท่านได้มีการสร้างวัตถุมงคลมากมาย อาทิ พระผงหลังโต๊ะหมู่บูชารุ่นแรก, พระผงหลังโต๊ะหมู่บูชารุ่นแรก (รุ่นสรงน้ำ) และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น

ด้วยกุศลผลบุญทั้งมวลอันเกิดจากความอุตสาหะแห่งการบำเพ็ญเพียร ส่งผลให้หลวงปู่ท่อน มีอายุยืนยาว เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์ เป็นกำลังอันสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนไปตราบนาน

รูปภาพ
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 13:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ พระธรรมเทศนา เรื่องธรรมาภิสมัย
วันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๓


จะเอาพระบ้านนอกมาบรรยายธรรม อบรมจิตใจของชาวกรุง ปรากฏว่ามันก็ไม่เข้าท่าเท่าไหร่นะ พระบ้านนอกมาอบรมชาวกรุงมันไม่สมกันเลย ต้องพระในกรุงมาอบรมชาวกรุง มันจึงจะถูกต้อง ก็เหมือนอาหารนะ อาหารบ้านนอกอาหาร ภาคอีสาน จะเอามาแจกชาวกรุงก็คงไม่หมดแหละ ถ้าแจกชาวอีสานด้วยกัน อาจจะหมด

ธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมที่ชาวอีสาน หรือพระบ้านนอกได้ศึกษามา ได้อบรมมาได้ฟังมาก็เป็นธรรมะป่าๆ ทั้งนั้นล่ะนะ มันจะถูกสเป็คกับชาวกรุงหรือเปล่าเน้อนะโยม ที่เคยมาเทศน์ ที่วัดเสนา วัดใหม่เสนานิคม หรือวัดอะไรนั่น หลวงปู่หลอด นั่นคราวหนึ่งและก็ไปเทศน์ที่วัดพระรามเก้านั่นครั้งหนึ่ง เทศน์อยู่แถวๆ บริเวณนอกๆ นี่แหละ แถวนี้เขาเห็นว่าจะได้ประโยชน์ในการบรรยายธรรม นั่นมันเกี่ยวกับงานวันเกิดของท่าน เลยพูดเรื่องวันเกิดกันไปพอสมควรแล้วก็เล่านิทานมาประกอบ มีคนออกปากว่าชอบอกชอบใจว่าอย่างนั้นอยากฟังเรื่อยๆ เพราะที่บรรยายไปนั้นมันเป็นธรรมาภิสมัยในหัวใจ ทำให้สังคมมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ถ้ามีธรรมาภิสมัย หรือว่าธรรมอำไพก็เรียกกัน ธรรมอันนั้นธรรมสำหรับชาวโลกที่อยู่รวมกัน เห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะว่าคนเราต้องเกิดมาก็ต้องมีพ่อมีแม่มีผู้ปกครอง ถ้าลูกไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณแล้ว ก็ขาดธรรมอำไพหรือขาดธรรมาภิสมัย ไม่น่าอยู่เลย ไม่น่าดูเลย พ่อแม่หวังพึ่ง ฝากผีฝากไข้กับลูก ถ้าลูกไม่มีธรรมาพิสมัยไม่ตอบแทนบุญคุณของพ่อของแม่ พ่อแม่ก็หมดหวังในชีวิต ไม่น่าอยู่ในโลกเลย เลี้ยงลูกยากเฉยๆ หวังพึ่ง ฝากผีฝากไข้ก็ไม่ได้ เขาไม่ดู ไม่แลอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เศร้าใจมาก

มันก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน เราเห็นสัตว์เดรัจฉานน่ะ สังเกตมาตั้งแต่น้อย ตั้งแต่ลืมตาอ้าปากดูโลกมาเห็นแม่ไปเที่ยวหาอาหารมาป้อน มาหย่อนใส่ปากลูกนกทั้งหลายก็ดี แต่ว่าลูกๆ ถ้าแม่เฒ่าชราลงไปแล้ว พวกนกทั้งหลายนี่จะไปหาอาหาร มาปล่อยใส่ปากแม่ เคยมีบ้างไหมน้อ ไม่เคยมีแล้ว สัตว์เดรัจฉาน เฉยไปเลย แต่ว่ามหาสัตว์มีนะ มหาสัตว์มี จะขอเล่าเรื่องมหาสัตว์ให้ฟังสักหน่อย พระพุทธเจ้านำมาแสดง เพื่อให้เกิดธรรมาภิสมัยแต่จิตใจของพุทธบริษัทของพระองค์นั่นเอง

สมัยครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นมหาสัตว์ เกิดเป็นสุวรรณโพระดกนกแขกเต้า เลี้ยงมารดาตาบอด นั่นเราฟังแล้วเราซึ้งใจอยู่เล่นเอาสะอึกเหมือนกัน ท่านเล่ามาในสมัยครั้งก่อนเกิดเป็นสุวรรณโพระดกนกแขกเต้า มารดาหาเลี้ยงตั้งแต่ลืมตาอ้าปากดูโลกมาบินไปหาอาหาร ได้อาหารแล้วก็รีบมาส่งลูก อย่างนี้ทุกวันจนลูกปีกกล้าขาแข็งแล้ว ต่อมาแม่ก็ชราภาพลง ตาก็ฝ้าฟางไม่เห็นหนทาง ไปโดนพิษต้นไม้หรือไปโดนพิษอะไรก็ไม่รู้ ฝ้าฟางลงผิดปกติมองไม่เห็นเครือเถาวัลย์เท่าไร บินไปก็มักชน ชนเครือเขาเถาวัลย์ ตกลงพื้นดินอย่างทุลักทุเล ลูกผู้เป็นมหาสัตว์ก็สังเกต เอ้ มารดาเราไม่เห็นเหมือนเก่า เวลาไปไหนมาไหนมักชนต้นไม้ กิ่งไม้เครือเขาเถาวัลย์อยู่เรื่อยๆ

ได้โอกาสดีจึงถามว่าแม่ทำไมจึงชนต้นไม้ เห็นแม่ชนหลายทีแล้วนะไม่ใช่ครั้งเดียว นี่แม่ผิดปกติ แต่ก่อนแม่ไม่เป็นอย่างนี้ ก็บอกลูก ตาแม่ไม่ค่อยเห็น มันฝ้าฟาง สังเกตว่าไปตรงนี้จะไม่มีอะไรก็ชนเข้ามันไม่เห็นถนัด มองไม่เห็นอะไร มันฝ้าฟาง เห็นลางๆ ไปอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นขอโทษขอโอกาสเถอะแม่ให้แม่อยู่กับรวงกับรัง ลูกจะหามาเลี้ยงเองได้ไหมแม่ โอ้ยเกรงใจลูก แม่พูดด้วยความเกรงใจลูก ลูกไหนจะหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จะหาเลี้ยงภรรยาของตัว แม่ก็เกรงใจก็ไปอย่างนี้แหละ ไม่ได้หรอกแม่ ขอให้เป็นหน้าที่ของลูกเถอะ อันนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของลูกเถอะ ไม่ต้องเกรงใจแม่เลี้ยงเรามา เรารู้ ตั้งแต่ลืมตาอ้าปากมาแม่ไม่ค่อยได้พักผ่อนอะไรเลย จนขนาดนี้และลูกก็ปีกกล้าขาแข็ง ขอให้เป็นหน้าที่ของลูกได้ไหมแม่ ขอร้องอย่าเกรงใจเลย ลูกว่าอย่างนั้นก็ไม่เอา

ในที่สุดก็ตกลงอยู่รวงอยู่รังคอยกินอาหารกับลูก ลูกทีแรกก็ลำบากเหมือนกันไปหาที่อื่นก็ไม่มี หาได้ยาก ต่อมาพอเขาปลูกข้าวสาลีมันแก่มันสุกมาแล้วก็เลยไปกินข้าวสาลี เจ้าของข้าวสาลีเขาก็ไม่ว่าอะไร ใจดีเห็นนกมากินก็ดีใจ เอ้อมันมากิน ให้มันกินซะ

หลายวันเข้าๆ ก็มาสังเกต เจ้าของไร่ข้าวสาลี มาสังเกตเห็นนกตัวหนึ่งมันผิดเขาพอกินอาหารเสร็จแล้ว กินข้าว กินอะไรอิ่มกันแล้ว เวลาบินไปกลับบ้าน กลับรวงกลับรัง เขาไม่บินไปเฉยๆ เขาคาบเอาข้าวสาลีในไร่บินกลับไปวันละรวง สองรวง เจ้าของไร่ข้าวสาลีแกเกิดความโลภ มัจฉิริยะขึ้นมาในใจ มัจเฉรธรรมความหวง ความตระหนี่ขึ้นมาในใจว่ามันจะหมด ถ้ามันเอาไป วันละรวง สองรวง สิบวันจะหมดกี่รวง ๒๐ วัน ๓๐ วันมันจะหมดไป ข้าวในไร่ของเรามันจะไม่พอมั้ง ไม่อยู่คงที่ เรียกว่ามันหมดเปลืองไป เพราะเขาคาบไปนี้เอง ก็เลยเกิดความโลภขึ้นจัด คิดอยากจะเอามาลงโทษหาตาข่ายมาดัก มันเคยออกตรงไหน ออกตรงรูนั่นนะ มันเคยกินที่นี่มันออกที่ต้นไม้ห่างๆ ต้นนั้นน่ะ ออกตรงนั้นทุกวัน ถ้ามาไล่ออกตรงนั้นทุกวันก็เลยเอาตาข่ายมาดักผูกเชือกขึงตาข่ายธรรมดา

วิธีการอย่างนั้น มาแอบอยู่ไม่ให้นกเห็น พอนกลงกินข้าว มันลงมาทุกตัวแล้วนี่นะไม่มีแล้ว ทุกตัวก็ตะเพิด เอ้ย ๆ เคาะไม้ ตบมือขึ้น ตีสัญญาณดังๆ ขึ้น ปัง ปัง นกก็ตกใจ ไม่คิดหาทางอะไรหรอกออกไปทะลุของเก่านั้นล่ะ เราเคยมาทางนี้ก็ไปทางนี้ล่ะ ปรู๊ดไปเลย สุวรรณโพระดกนกแขกเต้ามันเร็วปรู๊ดออกไป ก็ไปชนเอาตาข่ายพร้อมๆ กันเลย แล้วก็รูดเอาพอดีตาข่ายพอมันชนก็รูดลงมันเป็นถุงน่ะ รูดเข้ามาลูกเดียว ก็ตกลงที่พื้น เอ้าได้ตัวมันคราวนี้ล่ะ เจ้าของไร่ข้าวสาลีก็รีบมาตะครุบไว้ กลัวมันจะออกได้ ก็จะได้ตัวมันคราวนี้ ตัวที่ขี้โลภ ตัวที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ปากแก่ท้อง กินอิ่มแล้วยังไม่พอ ยังคาบของเราไป จะได้ตัวมาลงโทษวันนี้แหละนะ

เลือกพอเลือกไปตัวนี้ไม่ใช่ จำได้ปล่อยไป ตัวนี้ไม่ใช่ปล่อยไปอ้ายตัวนี้ ไม่ใช่ เลือกไปเลือกไปอยู่ จวนๆ จะสุดท้ายล่ะ อ๋าตัวนี้แน่นอนเราสังเกตเห็น จำได้ ปีกมันไม่เหมือนเขา เราจำได้ จำได้ ปีกมันไม่เหมือนเขา เราจำได้ที่ปีกมันไม่เหมือนเขานี่เอง ปีกทองๆ มีขาวปนๆ อยู่บ้าง ปลายปีกมันขาวตรงตัวกลางมันทองง หลังก็ทอง เราจำได้ตัวนี้แน่นอน จับไว้แกขี้โลภ ไม่เหมือนคนอื่น ตัวอื่นเขากินอิ่มแล้วก็ไปเฉยๆ แกมันขี้โลภ คนขี้โลภ ไม่ควรจะอยู่ ไม่ควรมีชีวิตอยู่ควรจะฆ่าทิ้งขู่ไว้ต่างๆ นานา

สัญชาติญาณของนกรู้หมดทุกอย่างคำพูดคำจาของเจ้าของไร่ข้าวสาลีนะก็เลยตอบเป็นภาษาออกไปว่า ข้าพเจ้าไม่โลภ ข้าพเจ้าไม่โลภ หือไม่โลภได้อย่างไง พูดได้ชัดดีเหลือเกิน ว่าไม่โลภ จริงๆ ข้าพเจ้าไม่โลภ ข้าพเจ้าเอาข้าวของท่านไปทำประโยชน์ เอาข้าวของท่านไปทำประโยชน์ แน้ยังพูดว่าไปทำประโยชน์ เอาไปแล้วมันก็หมดสิ จะเอาไปทำประโยชน์อะไร คุยกันไปคุยกันมารู้เรื่องดีทุกอย่าง ที่ว่าเอาไปทำประโยชน์ คืออย่างไร

อ๋อท่านผู้เจริญ ยังมีนางนกอันธะ ตัวหนึ่งบินไปหากินไม่ได้ เพราะตาบอด นกอันธะแปลว่านกตาบอด ตาฝ้าฟางบินไปก็ชนต้นไม้ เครือเขาเถาวัลย์ ข้าพเจ้าเลยรับอาสา ไม่ให้มา ขอให้จับอยู่ที่รวงที่รังนี่แหละ ข้าพเจ้ามาหาอาหารกินแล้วสำหรับตัวกินอิ่มแล้ว บางวันก็ไปหากินที่อื่นก็ได้อาหารให้พอเสียก่อน ข้าพเจ้ายังไม่กินก่อน ข้าพเจ้าได้อาหารแล้ว ผลหมากรากไม้ คาบแล้วรีบไปให้นางนกกินเสียก่อน เสียด้วยซ้ำไป แล้วก็ข้าวที่เอาไป เอาของท่านไปให้นางนกกินนั้น นางนกก็กินอิ่มแล้ว พอแล้ว เหลือจากนั้น ข้าพเจ้าก็ไปแจกลูกนก ทั้งหลายที่ยังไม่มีปีก หรือปีกยังไม่กล้าไม่แข็ง บินยังไม่ได้อยู่กับรวงกับรัง ข้าพเจ้าไปแจกจนหมดนี้ล่ะ เรียกว่าไปทำประโยชน์ ให้ผู้อื่นมีความสุขด้วย

เอ๋แล้วนางนกตาบอดที่ว่านี่น่ะเป็นอะไรกับเจ้าล่ะ เจ้าถึงอาสานักหนา โอ๋ยท่านผู้เจริญเอ๊ย นางนกตาบอด นางนกอัธะที่ว่านี้น่ะ ใช่อื่นไกลเลย เป็นมารดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้าเอง พอพูดแค่นี้เจ้าของไร่ข้าวสาลีสะอึกเลยเพราะคิดถึงแม่ตัวเอง ตัวเองก็มีแม่เหมือนกันให้น้องชายเลี้ยงอยู่ทางบ้านอื่น เมืองอื่นโน้น เรามีครอบครัวอยู่ทางนี้ เราก็เลี้ยงบุตรภรรายาอยู่ทางนี้ หลายปีแล้วก็ไม่ได้ไปดูแม่เราเลย คิดในใจอย่างนั้นแต่นกตัวทำไมหนอจึงมีมาตาปิตุอุปถัมภ์อุปฐานธรรมขนาดนี้น้อ ไม่ใช่ความผิดของนกนะ ยกนกตัวนั้นขึ้นใส่หัว สาธุ สาธุ ตัวของเจ้าเป็นอาจารย์เป็นครูของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถือเป็นอาจารย์เพราะ ภาษิตของเจ้าที่พูดออกมานั้น เตือนให้ข้าพเจ้าระลึกถึงแม่ได้เต็มเปาเลย ระลึกถึงแม่มากเลยจนทนไม่ไหว น้ำตาพังออกนี่เพราะคำพูดของเจ้าเป็นภาษิตที่ฟังแล้ว ชื่นใจระลึกถึงแม่ได้เต็มเปา มีความสุขด้วยเพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอบูชาๆ ภาษิตของอาจารย์ บูชาภาษิตของเจ้า ท่านผู้เป็นอาจารย์นี้แหละนะ

ข้าวสาลีในไร่ ๑๖ จีบ ข้าพเจ้าขอบูชาภาษิตของอาจารย์นะ ๑๖ จีบ จงพาหมู่มากินจากนี้ไปนี่จากนี่ไปนี่ บริเวณนี้ๆ ลงมากินได้ ข้าพเจ้าไม่เอาโทษเลย อย่างสบาย นอกนั้นเอาไว้ให้ข้าพเจ้าเก็บเกี่ยวเอาไปขาย เอาไปเลี้ยงครอบครัว ตอนนี้ขอบูชาภาษิตนี้ มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เป็นมงคลชีวิตแล้วทำให้ผู้อื่นเกิดศรัทธาเลื่อมใส ยกข้าวสาลีในไร่ให้กินสบายอย่างนี้ เป็นต้น นั่นแหละเป็นธรรมอันหนึ่งมาตาปิตุอุปฐานธรรม เป็นธรรมาภิสมัยเกิดในจิตในใจของมนุษย์เราแล้ว ก็ระลึกถึงบุญคุณผู้มีพระคุณได้ เป็นธรรมาภิสมัยเป็นธรรมน่าดู น่าชม ทุกยุคทุกสมัยมา ถ้าหามีคุณธรรมเลี้ยงดูบิดามารดาแล้ว

นักปราชญ์ทั้งหลาย สรรเสริญ เห็นแล้วชื่นอกชื่นใจ แต่ว่าเห็นตั้งแต่แม่นกคาบอาหารมาป้อนปากลูกนกแย่งกันกิน แต่ว่าลูกนกโตแล้วที่จะไปหาคาบอาหารมาป้อนปากแม่ให้แม่กินนี่ ยากนักที่จะได้ฟังได้เห็นได้ดูได้ชม ก็มีนกตัวเดียวนั่นล่ะ นกสุวรรณโพระดกนกแขกเต้า เพราะเป็นมหาสัตว์ มหาสัตว์ผู้ประเสริฐ ทำได้ทีเดียว ทำอย่างนั้นทำได้ ดีใจเสียด้วยได้ทำอย่างนั้น

ทีนี้เราเคยเห็น สัตว์ทั้งหลาย เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าด้วยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ไม่ว่าสัตว์น้ำไม่ว่าสัตว์บก พวกนกก็ดี พวกหนู พวกกระรอก กระแต ทุกอย่างวิ่งขวักไขว่แสวงหาอาหารมาเลี้ยงลูกที่ยังลืมตาอ้าปากไม่เป็น อาศัยแต่แม่เท่านั้นแม่มาหยิบยื่นให้ทุกสัตว์ทุกจำพวกเป็นเสียอย่างนี้ สัตว์ใหญ่ขึ้นไปเป็นช้าง เป็นเสือ หมีดีแต่แม่หาให้ลูก แม่มือยาวกว่ารูดเอาใบไม้ ยอดไม้สูงๆ ส่งให้ลูกเห็นแล้วก็ชื่นใจ เห็นแล้วก็ดีอกดีใจแม่มีเมตตาต่อลูก สัตว์ทุกจำพวกอย่างนี้เอง สาวกของพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง ท่านได้ฟังมาตาปิตุอุปฐานธรรมบ่อยๆ แต่ก่อนยังไม่มีคุณธรรมอะไรหรอก มีแต่อยากบวชอย่างเดียวสาวก องค์นั้นเป็นตระกูลเศรษฐี

จำได้เป็นชื่อเราจำผิดหรือจำถูกก็ไม่รู้ แต่ว่าเอาเนื้อหาสาระแล้วฟังแล้วซึ้งใจดี สาวกองค์นั้นเกิดในตระกูลมีอันจะอยู่จะกิน เป็นเศรษฐีย่อมๆ เรียกว่าคหบดี คหปตานี เป็นผู้มั่งมีศรีสุข คฤหาสน์ใหญ่โต มีบริวารเป็นจำนวนมาก มีนาตั้งหลายทุ่งมีเกวียนตั้งหลายร้อยเล่ม มีสวนมีไร่หลายอย่าง ให้บริวารเป็นผู้ทำอยู่แต่ไม่มีบุตร เบื้องต้นไม่มีบุตรเลยอยู่แต่งงานกันมาหลายปีดีดัก ตั้ง ๔๐ ปี อายุย่างเข้า ๔๐ ปีแล้ว ยังไม่มีบุตร มีพิธีไหว้อ้อนวอน ขอวอนเทวดาอารักษ์ที่ไหนก็ไม่รู้ ธรรมเนียมเป็นอย่างนั้น คนไม่มีบุตรอยากได้บุตรจะต้องมีการไหว้การวอน ทำพิธีไหว้วอน แต่ก็ได้สมใจจริงๆ อายุ ๔๐ ปีแล้วจึงค่อยมีบุตรตั้งครรภ์ขึ้นมา เวลาถ้วนกำหนดทศมาส ก็คลอดออกมาเป็นชาย แหมสาใจของพ่อแม่เหลือเกิน ดีอกดีใจ ฟูมฟักรักษา ไกวเปลเห่กล่อม ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยความอุตส่าห์พยายามเพื่อหวังอยากจะให้ลูกนี่สืบตระกูล สืบสมบัตินั้นเอง

พอลูกชายเกิดขึ้นมาแล้วมีนิสัยไปทางอื่นไม่ใฝ่ใจในสมบัติเท่าไร ไม่ยินดีในสมมติ ที่มั่งมีเลยแต่มองเห็นว่ามันเป็นโทษ ถ้าผูกพันในสมบัติแล้วเราก็จะไปไหนไม่ได้ล่ะห่วงแค่สมบัตินี้ล่ะ มีความยินดีอยากจะบวชอยู่พอโตขึ้น ๒๐ ปี ล่ะมั้ง มารดาก็เลยขอร้องลูกเอ๋ยจงไปหาผู้หญิงที่ชอบใจ มาแต่งงานเสียเถอะ ถ้าแต่งงานแล้วพ่อแม่จะยกสมบัติให้ เรียกว่าทำพินัยกรรมยกให้เจ้าเป็นผู้ครองต่อไป ก็ตอบแม่ว่าอย่างไร แม่ลูกยังไม่พร้อม เรื่องเงินทองสมบัติ ลูกอยากบวช วันไหนๆ มานั่งดูชมพระผู้มีพระภาคหรือพระบรมศาสดาเดินบิณฑบาต ห้อมล้อมด้วยสาวกบริวาร งามเหลือเกิน ทำไมถึงงามอย่างนี้น้อ เหมือนดังพญาราชหงส์อันห้อมล้อมด้วยฝูงหงส์ฉะนั้น งามจริงๆ ไปสำรวมระวัง งามน่าชม

ในพระสูตรท่านว่า การได้ดูสมณะสารูปผู้สังวรระวังดีเป็นมงคลชีวิต นั่งมีความสุข บางวันแม่ขอร้อง ให้ช่วยจัดสิ่งของไปใส่บาตรแม่จะใส่ พ่อจะใส่ นี่ก็ยินดีทีเดียวล่ะ ได้ใกล้พระบรมศาสดาได้ใส่บาตรเสียเองก็มีบางครั้ง ดีใจภูมิใจวันนั้น หนักๆ เข้า พ่อแม่ไม่ใช้บวช บวชแล้วใครจะครองสมบัติ อย่าบวชเลยนะลูกถ้าลูกบวชแล้วสมบัติไหนก็ระเทระทายไปเท่านั้นเอง แม่ก็แก่แล้วพ่อก็แก่แล้ว แม่ก็ ๔๐ กว่าแล้ว พ่อจะย่างเข้า ๖๐ แล้วล่ะมั่ง แหม ทำอย่างไรหนอ ไม่ให้บวช ทำเป็นไม่กินข้าวกินน้ำไปเรียกประชด แล้วจะอยู่ไปทำไมจะไม่ได้บวชทำไมตายเสียดีกว่าจะทำประชดแม่ทำยังกับว่าไม่กินข้าวกินน้อเลย แม่ก็กลัวลูกเอาจริงเอาจังเพราะเป็นคนนิสัยจริงจัง แล้วขอร้องว่าถ้าจะบวชจริงๆ ก็ต้องกินข้าวกินน้ำเสียก่อนสิ ถ้าไม่กินข้าวกินน้ำมีกำลังวังชาเสียก่อนไปบวช แล้วมันจะทำข้อวัตรปฏิบัติอะไรได้ละลูก จริงหรือแม่ให้บวชจริงๆ หรือ ก็จริงนะสิ ถ้าอยากจะบวชก็จงกินข้าวกินปลาเสียเถอะ บำรุงกำลังร่างกายให้แข็งแรงเสียก่อน แม่จะไปมอบให้พระเถระท่าน ดีอกดีใจกินข้าวกินปลาอาหารมีกำลังวังชาดีพอสมควร

แม่ก็พาไปมอบเข้านาค ฝึกนาค ฝึกภาคปฏิบัติต่างๆ รู้ธรรมวินัย รู้จักอาหาร รู้จักอะไรประเคนได้ประเคนไม่ได้เสียก่อน รู้จักดีเสียก่อน พอมอบแล้วฝึกปรือเป็นนาคอยู่นั่น พอสมควรก็ได้บวช พอบวชไปแล้ว ก็ฟังเทศน์พระบรมศาสดาทุกวันล่ะ ตอนเย็นก็ไปฟังเทศน์พระบรมศาสดาทุกวันๆ พระบรมศาสดาอาจจะรู้นิสัย สาวกองค์นั้นเป็นอย่างนั้น องค์นี้เป็นอย่างนี้ ควรจะเน้นหนักให้วิเวกสถา เน้นหนักในวิเวกสถาแนะนำให้ออกวิเวกสงบสงัด ประพฤติปฏิบัติภาวนาถ้าอยู่ด้วยความคลุกคลีจิตใจจะไม่เป็นไป ไม่หลุดพ้นจากอาสวะ อาจจะคลุกคลีกันอยู่สนุกสนานในการคุย ในการเจรจา ในการดู การชมอย่างอื่นไป ไม่เป็นธรรม เป็นวินัย เอาเสียเลยต้องออกวิเวก ท่านว่าอย่างนั้นต้องหาสถานที่สงบสงัดเรียกว่าเสนาสนะสัปปายะ

หาสถานที่สัปปายะเสียก่อน จิตใจจึงจะสงบ หาสถานที่เหมาะๆ เสนาสนะสัปปายะแล้วยังไม่พอ ต้องให้อากาศสัปปายะ ไม่เป็นพิษเป็นภัยเสียก่อน ไปอยู่ที่เช่นนั้น อาหารสัปปายะ เสนาสนะสัปปายะ อาหารสัปปายะ แล้วะก็อากาศสัปปายะ บุคคลที่จะไปมาหาสู่นั้นก็สัปปายะอีกด้วย จนจะเกิดธรรมะเป็นที่สบาย ธรรมะก็เป็นสัปปายะ มีสัปปายะทั้ง ๕ แล้ว จึงจะดำเนินประพฤติก็ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว ถ้ายังคลุกคลีตีโมงกันอยู่ ยังสนุกสนานในการอยู่ร่วมกันอยู่ ไม่มีวันบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว ถ้ายังคลุกคลีตีโมงกันอยู่ ยังสนุกสนานในการอยู่ร่วมกันอยู่ไม่มีวันบรรลุข้ออรรถ ข้อธรรมอันใดแล้ว มีแต่จะหนาแน่นขึ้นด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ โทสะ โมหะ จะแก่กล้าขึ้น ท่านก็แนะนำสั่งสอนหนักไปทางวิเวกสถา วันไหนก็แนะนำอย่างนี้

เอาวิเวกสถานเป็นใหญ่ เหตุที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมโพธิญาณ นี่ก็เพราะอยู่สถานที่สงบสงัด ถ้าอยู่กับหมู่คณะ กับหมู่กับพวกคนหมู่มาก คงไม่ได้ตรัสรู้หรอกนะ เราตถาคตนี่เหตุที่ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้ที่วิเวกไกลจากชุน เข้าใจหรือเปล่า พระภิกษุทั้งหลายก็เข้าอกเข้าใจ ออกพรรษาแล้วก็ขอลาแยกย้ายกันไปภาวนา แห่งละองค์ สององค์ ที่วิเวกไกลๆ โน้น ส่วนพระโสณะนี่ ขอติดตามพระเถระเข้าไปในป่าเหมือนกัน หลังประเทศเนปาล ขึ้นไปหิมวันต์ หิมาลัยใกล้ภูเขาหิมาลัย ที่นั่นน้ำดีเหลือเกิน อากาศดีเหลือเกิน แต่ดึกๆ มาได้ยินเสียง สัตว์ร้อง พิลึกกึกกือ สัตว์ร้อง สัตว์ป่า สัตว์ร้องพวกเสือ พวกช้าง พวกหมี ชะนี สิงโต มันร้องในป่า น่ากลัวดี ใจมันสงบ

ถ้าอย่างนั้นใจมันกลัว มันก็ตั้งใจดี ที่นี่มีหมู่บ้านพอบิณฑบาตได้ห่างๆ เอาปักหลักที่นั่นละ อยู่ที่นั่นถ้าหากยังไม่บรรลุคุณธรรมเมื่อใด เราจักไม่กลับบ้าน เราจักไม่ย้อนมาตุภูมิเป็นอันขาด เด็ดเดี่ยวลงไป ทำความเพียรที่นั่นหลายปีดีดัก พอทำความเพียรไปใจสงบ จะถึงที่ได้อัปปนาสมาธิ เท่านั้นแหละเสียงแว่วเข้ามาที่หู บวชได้แล้ว ได้บุญแล้ว ก็จงสึกนะลูก ขึ้นมาที่หุ ใจมันก็สะดุ้งออกมา เสียงแม่เราชัดๆ

ออกมาทำความเพียรไป ทำความเพียรไปวันหนึ่งๆ ก็ตั้งหลายครั้งจะให้มันสงบถึงจุดให้มันวิมุติหลุดพ้นจากอาสวะให้ได้ พอถึงจุดสงบลงไปถึงอัปปนาเข้าไปลึกๆ แว่วขึ้นมาเสียงน่ะ ทำให้ใจถอนทุกครั้ง ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ทำความเพียรอะไร ทำข้อวัตรอย่างอื่นน่ะไม่เป็นไร ไม่มีนิวรณธรรมมาแว่วที่หูเลยก็อยู่ที่นั่น นั่นล่ะ อยู่กับหมู่พวกที่ป่านั่นเอง ไม่ได้ย้อนกลับบ้านมั่นใจว่าจะทำให้ได้มันได้ ให้ได้บรรลุ

แต่มาย้อนถึงมาตุภูมิของท่าน ตระกูลของท่าน พอดีลูกไปบวชแล้ว ต่อมาฝนแล้ง มันเกิดแห้งแล้ง แล้ง ๗ ปี ปลาย ๗ เดือนอะไรนี้แหละทั่วๆ ไป ในประเทศอินเดียไม่ได้ทำนาอะไรเลย มีนาตั้งหลายทุ่ง แต่ไม่ได้ทำนาเพราะฝนไม่ตก การทำนาทำไม่ได้ การค้าขาย เอาเกวียนมาตั้งหลายร้อยเล่มออกค้าขาย ขายก็ขายไม่ได้อีก เศรษฐกิจตกต่ำ ผลิตผลที่ทำไว้แล้วมันก็หมดไป หมดเนื้อหมดตัวลง หลายปีมา ผลิตผลใหม่ก็ไม่ได้ ข้าวยากหมากแพงขึ้นมา บริวารที่เคยรับใช้อยู่แต่ก่อนเป็นพ่อค้าเกวียนให้ตั้งหลายคนทำนาให้ตั้งหลายคน เขาก็ไม่อยู่แล้ว ลาไปทำมาหากินทางอื่นเขา ยังเหลืออยู่นิดหน่อยเพราะว่าเงินทองร่อยหรอลง สองตายายทำยังไง ยายเอ้ยปรึกษากันมันหลายปีแล้วนี่นะ ไม่ได้ทำไร่ทำนาเลย ผลิตผลก็หมดไปหมดไปอย่างนี้ เราจะได้อะไรมาเลี้ยงตัวล่ะ

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เอาคฤหาสน์หลังใหญ่นี้ล่ะไปจำนองไว้กับสหายผู้มีอันจะอยู่จะกินคนหนึ่งก็แล้วแต่จะเป็นแล้วแต่พ่อเป็นล่ะ ก็ไปพูดตกลงกันขอจำนองคฤหาสน์ ขอขายฝากกับสหายล่ะ ขอซื้อให้หน่อยเถอะ ข้าพเจ้าหมดเนื้อหมดตัวจริงๆ บริวารก็ตีตัวออกห่าง ถ้าได้ทำไร่ทำนาไม่เกินปีสองปี ก็ได้ถ่ายคืนหรอก บ้านน่ะ ตกลงราคาเท่าไหร่ ก็หลายพันกษาปณ์ เป็นหลายพันกษาปณ์ ตกลงแล้วก็เอาเงินให้กัน ทำสัญญา ๑๐ ปี นะสหาย สัญญากัน ๑๐ ปี ถ้าเกิน ๑๐ ปีไปคฤหาสน์ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ใช่ไหม เอาเลยเอาเข้าใจว่า ๑๐ ปีก็จะมีโอกาสทำไร่ทำนา ขายของ ขายข้าว ขายปลา จะมาไถ่คืน ได้เงินได้ทองแล้วก็กลับบ้านไป สัญญากันไว้แล้วกลับบ้านไป คนสนิทบริวารเห็นนายมีเงินมีทองก็ตรูกันเข้ามาขออาศัยอยู่อีก ข้าเก่าเต่าเลี้ยงปฏิเสธกันไม่ได้ หลายปีเข้า หลายปีเข้าไม่มีทีท่าว่าจะทำไร่ ทำนาอะไรเลย ชาวบ้าน ชาวเมืองก็เดือดร้อนทั่วๆ ไป

รูปภาพ

ท่านคหบดีคิยะเศรษฐีเราเอาเงินเขามาจำนองบ้าน บ้านเขามา ไม่มีทีท่าจะได้ไถ่คืนเลย มันจวนจะเข้า ๑๐ ปีแล้ว คิดหนักนอนไม่หลับ นอนไปก็ผวาอยู่เรื่อยๆ กลัวคฤหาสน์นี้จะเป็นของคนอื่นเขาไป เลยเกิดโรคหัวใจ พูดภาษาง่ายๆ เกิดโรคหัวใจ คิดหนักอย่างนั้น มันเป็นอารมณ์หนักเหมือนกันนะ การคิดหนักเป็นโรคหัวใจโตขึ้นมา ผวาอยู่เรื่อยๆ นอนไม่หลับ ยิ่งกว่ากินกาแฟ ยิ่งกว่ากินลิโพ นอนไม่หลับเอาเสียเลย มันคิดหนัก หนักๆ เข้าหัวใจวายเรียกว่า หัวใจล้มเหลว หัวใจมันเป็นโรคมากขึ้นก็เกิดไม่ทำงานเต็มที่ ก็ล้มเหลว เรียกว่าหัวใจวายตาย ภรรยาท่านคหปตานีนั้นยังแข็งแรงดี ช่วยทำศพให้ ขอร้องให้ชาวบ้านชาวเมืองเขาให้มาช่วย เขาก็ไม่ขัดอะไร เพราะท่านเศรษฐีท่านคหบดีนี่ใจดีมาก เลี้ยงพี่เลี้ยงน้องดี เอาใจใส่พี่ป้าน้าอาดี เขาก็ไม่ขัด ก็พากันมาทำศพนั้น เอาไปเผาธรรมดา ธรรมเนียมอินเดียเขาล่ะ ในเมืองสาวัตถีเผาแล้ว

บัดนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะทำไร่ทำนาอีกต่อมาเหลือแต่ยายๆ ได้แต่อยู่ที่บ้าน คิดหนักเหมือนกัน ทำไงน้อ สามีก็ตายแล้ว บ้านจะเป็นของเขา แน่นอนหนอต่อไปก็ได้ยินข่าวโคมลอยมา เขามาแจ้งว่าลูกชายที่ไปในป่านั้นน่ะ เกิดโรคไข้ป่าไข้มาลาเรียหนักเข้าสมองหรือลงกระเพาะอะไรทำนองนี้ล่ะ ไม่มีเยียวยารักษา แล้วมรณภาพในป่าแล้ว

ยายสามีก็ตายไปแล้ว ลูกชายก็ยังไปตายอีก บอกว่าให้สึกมาเลี้ยงแม่ มาดูแลทรัพย์สมบัติ ตายจนได้หรือนี่ โอ้ยสองกระทงแล้วเข้ามาทับท่วมหัวใจของยาย ใจยายก็ป้ำๆ เป๋อๆ ไปเลย ลืมหน้าลืมหลังบ้าง เรียกว่าอารมณ์มากระทบจิตใจสองอย่างแล้ว ต่อมา นี่มันเลยหลายสิบปีเข้ามาแล้ว สัญญามันเลยสัญญาไปแล้ว เขาก็เลยยื่นคำขาดขึ้นมาว่า ยายเอ้ย บ้านหรือคฤหาสน์นั่นน่ะหมดสัญญาแล้วยาย ถ้ายายจะอยู่บ้านนี้ก็จงอยู่อย่างคนใช้ จะมาอยู่อย่างเจ้าของบ้านก็อยู่ไม่ได้ ต้องอยู่อย่างคนใช้ของบ้านต่อไป จะมาเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านไม่ได้แล้ว เพราะบ้านเป็นของคนอื่นไปแล้ว โหสามกระทงเข้ามาแล้ว เขายืนเข้ามานี่ สามกระทงเข้ามาว่าหมดอายุแล้ว ขออยู่ไปก่อนได้ไหมพ่อคุณ อยู่ได้แต่ต้องอยู่อย่างคนใช้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็จงหนีจากที่นี่ได้แล้วยาย ตามคำสัญญากัน

เอ๋คิดอะไรไม่ออกแล้ว ไปก็ไป คิดอะไรไม่ออกแล้ว ไปก็ไป ข้าพเจ้าก็จะไปขออาศัยสหายอยู่เหมือนกันแหละ มีสหายอยู่ปลายเมืองโน้น ด้วยอาติมานะพอสมควรนะ คนเคยรวยเคยมั่งมีมหาศาล เคยเป็นมหารานีมาแล้ว กลับมาจนลงอย่างนี้ล้มละลายลงอย่างนี้ ก็มีอติมานะอยู่บ้าง ไปก็ไป ขอเกวียน ขอล้อม้ามาขนของไปแล้ว ไปขออาศัยสหายทางโน้น พอไปถึงแล้วก็ไปเล่าเรื่องให้สหายทางโน้นฟัง

สหายเก่าก็ยินดี ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็มาเถอะสหาย เรารักกันมาก ตั้งแต่เป็นหนุ่มมา ตั้งแต่เป็นสาวมา ตั้งแต่เด็กแต่เล็กแหละ เรารักกันมา เมื่อเป็นอย่างนี้ มาเถอะสหาย ไม่มีใครเลี้ยง เราเลี้ยงเอง ก็เลี้ยง แต่ว่าอยู่ข้างล่างนะสหาย ไปอยู่ข้างบนไม่ได้ คฤหาสน์หลังมันสูง บริวารมันวิ่งขึ้นวิ่งลง เราแก่แล้ว เดี๋ยวเขาชนเราตายนะสหาย

แล้วแต่สหาย เอาตะแคร่ไม้ไผ่มาอยู่ใต้ถุน แล้วก็กั้นฝาไว้ให้พอปิดเปิดได้เท่านั้น แต่ว่าพอกันยุงกันอะไรได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ธรรมดานี่เขาเป็นอย่างนั้นล่ะ อยู่ข้างล่าง คนแก่อยู่ข้างบนไม่ได้ ได้ที่อยู่ที่กิน บางวันเขาก็ให้กินอิ่ม หนำสำราญ บางวันเขาลืมไป เขาทำธุระอย่างอื่นก็อดไป ธรรมดาหล่ะอาศัยเขา พักเรื่องนี้ไว้ก่อนตอนนี้ ได้ที่อยู่ที่อาศัยแล้ว

บัดนี้จะย้อนกล่าวไปถึงลูกชายที่ปฏิบัติอยู่ในป่า บวชอยู่ในป่า ถ้ากำหนดเข้าไปอย่างเคร่งครัดจะเอาจริงเอาจัง สะดุ้งทุกคราวนั่นเอง มีเสียงแว่วเข้ามาที่หูทุกคราวว่า บวชแล้วได้บุญแล้วจงสึกมาครองสมบัตินะลูก ขึ้นมาทันทีถ้านั่งเข้าไปมีอารมณ์อย่างนี้ เลยคิดถึงบ้านขึ้นมา

ได้ยินข่าวว่าพระบรมศาสดาประทับจำพรรษาอยู่ที่เชตวัน มหาวิหาร ปีนี้กลับมาตุภูมิสักทีก็จะดีนะ จะได้ไปกราบพระบรมศาสดาฟังโอวาทบ้าง ใจมันปฎิสานเดือดร้อนเหลือเกิน ไม่สงบเลย แต่ว่าข่าวของพ่อของแม่ไม่ได้ยินหรอก ไม่ส่ง ไม่ถามหา ไม่มีใครไปข่าวให้ ขอลาครูอาจารย์ หมู่พวกแล้ว ขออนุญาตมา เดินทางรอนแรมจากหิมวันตประเทศจนถึงเชตวัน สาวัตถี มันกี่วันกี่คืนก็ไม่รู้ มาถึงแล้ววันนั้น

ตอนนั้น เวลาพลบค่ำ ค่ำลงแล้วมาถึงเชตวันพอดี เข้าพักพาอาศัยในที่พักแล้ว ตอนเย็นก็ไปฟังเทศน์พระบรมศาสดา เอากำลังใจเสียก่อน พรุ่งนี้เช้าเราจึงจะบิณฑบาตไปหาแม่เอง ให้แม่ตกใจ ไปกินข้าวกับแม่เลยวันพรุ่งนี้ ฟังเทศน์แล้ว จบแล้วก็กลับมาพักผ่อน จำวัดหลับนอนที่กุฏิ แต่นอนไม่ค่อยหลับหรอก สะดุ้งอยู่เรื่อยหล่ะ มันเป็นอย่างไร ดีใจที่จะได้เห็นแม่หรืออย่างไร นอนไม่หลับเลย ไปแล้ว

เช้ามาบิณฑบาตไปตามละแวกบ้านซอยบ้านที่ตัวอยู่ ก็จำได้ พอไปถึงที่หน้าบ้าน เป็นคฤหาสน์ของเราน่ะ จำไม่ได้แล้ว ทีนี้จำไม่ได้ ต้นไม้ใหญ่ๆ ต้นลำดวน ต้นอโศก ต้นสะท้อน อะไรที่ใหญ่ๆ ที่เราเคยวิ่งขึ้นวิ่งลงเล่นสมัยก่อนไม่มี มันตายหลายปีแล้ว ก็เราไปบวชตั้ง ๓๐ พรรษาแล้วมั้ง ๒๐ กว่า อย่างน้อยนะ ๓๐ พรรษา หัวก็ล้านแล้ว ผมหงอกแล้ว อะไรๆ มันก็แก่ไปหมดทุกอย่าง

แต่ยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนองค์อื่นท่าน จำที่จำทางก็ไม่ได้ แน่นอนๆ บ้านหลังนี้แน่นอน แต่ซอยนี้ ถนนนี้ มาอย่างนี้ ไปอย่างนี้ ก็ไปยืนอยู่นั่น

บ้านข้างๆ เห็นพระมาบิณฑบาตก็ลงมาใส่บาตร ก็จำหน้าเขาไม่ได้สักคน ราว ๒๐ กว่าปี ๓๐ ปีมาแล้ว ใครจะไปจำใครได้ คนเป็นหนุ่มเป็นสาวจะเป็นอย่างไรเมื่ออายุ ๕๐ ปี ผ่านไปแล้ว หน้าใหม่ทั้งนั้น ก็เลยถามว่า โยมๆ คฤหาสน์หลังนี้บ้านเป็นของท่านคิยะเศรษฐี หรือคหบดีนั่นหรือเปล่า ก็ใช่ละซีพระคุณเจ้าแต่ก่อน อ้าวทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ท่านเศรษฐีท่านมาขายฝากกับเจ้านายของข้าพเจ้าสัญญากัน ๑๐ ปี หมดสัญญาแล้วก็เลยเป็นของนายของข้าพเจ้า เอาเงินไปยังไม่ได้ไถ่คืน ท่านคิยะก็เกิดเป็นโรคหัวใจ คิดมากเข้าก็เลยตายแล้ว สี่ห้าปี่แล้วมั้ง พึ่งได้ยินว่าพ่อตายเดี๋ยวนี้เอง หัวใจทรุดลงไปอยู่ตาตุ่มเลย คหปตานีล่ะ โอ๋พอหมดสัญญาแล้ว คฤหาสน์เป็นของคนอื่นแล้วท่านก็อยู่ไม่ได้ อยู่ที่นี่ก็ต้องอยู่อย่างคนใช้ ต้องย้ายไปอยู่กับสหายนอกเมืองทางโน้น

ทำไงหนอ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอแม่ ถ้าไม่เจอแม่เราจะไม่กลับวัด มันจะเที่ยงตรงไหน จะเลยเวลาก็จะฉันตรงนั้นล่ะ ไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านจริงๆ แต่เจ้าของบ้าน บริวาร บริษัทไม่อยู่

มองไปใต้ถุนเห็นยายแก่ๆ คนหนึ่ง แก่มาก หัวขาวโพลนไปหมด ขาวไม่มีเส้นดำแล้ว นุ่งผ้ามอมๆ ขาวก็ไม่ใช่ เก่าๆ นานไม่ซักมันก็เป็นเหมือนสีขี้เถ้า นั่งหลังค่อมลงไป หัวเข่าสูงชันขึ้นถึงหู นั่งตำหมากหรือกำปั่นอยู่เหมือนเล่นขายของ ไม่ได้ดูอะไร พอมองเห็นก็บอกว่า พระคุณเจ้า วันนี้เขาไม่อยู่ เจ้าของบ้านเขาไปธุระ ไปทำบุญที่วัดไหนก็ไม่รู้ เหลือแต่ยายแก่แล้ว ขอนิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดพระคุณเจ้า

เอ๊ะเสียงยายคนนี้ ถึงแก่ไปก็เป็นเสียงแม่เรานี่หว่า เสียงอย่างนี้เราฟังถนัดหูเหลือเกิน เสียงแม่เราก็เป็นทำนองนี้ ถึงฟันไม่มีก็ตาม แต่เป็นเสียงเหมือนเสียงแม่ เสียงใสอยู่ สั่นเครือไปหน่อย นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดเจ้าข้า ฟันไม่มี เสียงแม่เราจริงๆ

เข้าไปดูใกล้ๆ ซิ บางทีอาจจะเป็นแม่เราก็ได้นะยายคนนี้ คำนวณดู ตั้งแต่เราออกไปบวชอายุเรา ๒๐ ปี แม่ก็ ๖๐ ปีมั้ง เพราะ ๔๐ ปีจึงได้ลูก เราไปบวชก็ ๒๐ กว่าปีแล้ว ก็ ๘๐ กว่าปีละสิ หรือ ๙๐ แล้วหนอ แม่เราก็คงขนาดยายคนนี้แหละ เข้าไปยืนสังเกตสังกา ยายก็ทำงานกุ๊กกิ๊กๆ เรื่อยไปแหละ คนแก่ขยันไม่นั่งเฉย ยายก็มองมาเห็นพระคุณเจ้ายืนอยู่ใกล้ๆ

เอพระคุณเจ้าหูหนวกอย่างไรนะ ฉันก็บอกแล้วนะว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด แต่พระคุณเจ้ายังไม่ไปเลย ยังยืนอยู่ที่นี่อีก พระคุณเจ้าดิฉันได้บอกพระคุณเจ้าแล้ว พระคุณเจ้าคงไม่ได้ยินดิฉันบอกว่า นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด ดิฉันจำได้ แต่พระคุณเจ้าไม่ไป พระคุณเจ้ายังไม่ไปเลย ยังยืนอยู่ พระคุณเจ้าคงหูหนวก

ดิฉันไม่เหมือนเดิมแล้วเจ้าข้า ดิฉันต้องมาอาศัยสหายอยู่ แต่ก่อนดิฉันมีคฤหาสน์ มีบริวารเป็น ๑๐๐ ได้ทำบุญทุกวัน พอสิ้นเนื้อประดาตัวลงคฤหาสน์ก็เป็นของคนอื่นไปแล้ว สามีดิฉันก็ตาย เป็นโรคหัวใจตาย ลูกชายดิฉันไปบวชเหมือนกัน ได้ยินข่าวว่าตายในป่าแล้ว ฉันไม่มีอะไร จิตใจก็ป้ำๆ เป๋อๆ นึกอะไรก็ไม่ออก

วันนี้เรานึกอะไรออกได้มาก นึกในใจ ยายก็นึกในใจหรือหาว่า ถ้าหากลูกชายเรายังไม่ตายหนอ เป็นพระอยู่ ขอดูใกล้ๆ ทีเถอะ ก็เลยลงจากเตียงตะแคร่ไม้ไผ่ลงมา คลานลงมาใกล้ๆ มากั้งโกบดูลูก ดูพระคุณเจ้า ตาไม่ค่อยดี ขอดูใกล้ๆ บางทีอาจจำได้

พระคุณเจ้าดูสังเกตก็สมเพชสารรูปผู้เป็นแม่ แม่แน่ๆ แม่แน่นอน เป็นคนอื่นไปไม่ได้ ถึงฟันไม่มี จมูกโด่งคมสัน ฟันร่วงแล้ว คางกับจมูกจรดกันแล้วยาย ฟันไม่มีแล้ว เวลาหัวเราะก็มีแต่เหงือก ไม่มีฟันแล้ว กั้งโกบดู ดูสังเกต มองดู คิ้ว คาง หน้าตา อะไร แม่เราจริงๆ

แต่ก่อนน่ะ แม่เราสวยมาก แม่เรานุ่งผ้าสาหรี หรูหรา กำไรที่แขนมากมายเหลือเกิน สร้อยสังวาลย์ก็มากมายเหลือเกิน เครื่องประดับทุกอย่างไม่มีใครเทียบ

แม่เราบัดนี้มาซอมซ่ออย่างนี้ ความสลดสังเวชเมตตามันเกิดขึ้นที่เต็มเปี่ยมทีเดียว แม่เราซอมซ่ออย่างนี้มีใครดูแลเลี้ยงดูให้บ้างหน้อ อดๆ อยากๆ มั้ง สารรูปถึงซูบซีดขนาดนี้ คล่ำดำขนาดนี้ ผ้าไม่มีใครซักให้ล่ะมั้ง แม่เราแน่นอน

ดูไปดูมายายก็บอกว่าเหมือน คิ้ว คาง เหมือนลูกแม่ จมูกเหมือนลูกแม่ ปากก็เหมือนลูกแม่เหลือเกิน แต่ว่าผมแกล่ะ มันล้านไปแล้ว หัวล้านไปแล้ว แต่ก่อนผมดกตำ ทำไมไม่มีผม คงเพราะบวชมานานหลายปีแล้ว หรือหากว่าพระคุณเจ้าเป็นโสของแม่เหรอ

เท่านั้นแหละ น้ำตาที่มันกลั้นไว้นานแล้ว อดไม่ได้เลยพังออกมา ใส่ผ้าจีวรจนเปียก ไหลจนสาแก่ใจเหลือเกิน มันกลั้นไว้นานแล้ว ตั้งแต่ได้ยินข่าวพ่อตายคฤหาสน์เป็นของคนอื่น แม่หนีมาอยู่บ้านสหาย เราตามมาเห็นจริง เราก็เห็นสภาพของแม่แล้วมัน แหมมันทุเรศจริงๆ นะ เสียใจที่ตัวเองทิ้งแม่ได้ทุกข์ทรมาน ขนาดนี้ หรือว่าพระคุณเจ้าเป็นโสของแม่เหรอ น้ำตามันก็ไหลออกมาพลั่กๆ เลย แต่ไม่ได้ร้องไห้ ใจมันอยากจะร้องขึ้นมาดังๆ แรงๆ อยากจะวิ่งเข้ากอดแม่เหลือเกิน แต่เป็นไปไม่ได้ เราเป็นสมณะมีสติบริบูรณ์อยู่ จะไปกอดแม่ผู้เป็นสีกาได้อย่างไร ผู้เป็นแม่ก็ว่า เจ้าประคุณ ขอให้เป็นโสของแม่ทีเถอะ อย่าได้ตายเหมือนเขาว่าเลย แล้วก็มองดูหน้าดูตาร้องไห้ซะด้วย เจ้าประคุณขอให้เป็นโสของแม่ทีเถอะ แม่จะได้มีชีวิตชีวา ตายอย่างมีความสุขบ้าง พรรณาอยู่นั่นแหละ ร้องไห้อยู่นั่นตั้งหลายนาที หรือจะว่าเป็นชั่วโมงก็ได้ ยืนร้องไห้ ไม่ดังหรอก แต่น้ำตาก็ไหลอยู่อย่างนั้น ถ้าบาตรไม่ปิด ก็คงไหลลงบาตรนะ

ได้สติขึ้นมา ตัดพ้อตัวเองก็ไปฝึกปรือมาหลายปีแล้ว ทำไมใจอ่อนแออย่างนี้วะ เราไปฝึกปรือเข้มแข็งมาแล้ว ไปอยู่ในป่าเสือ ป่าช้างก็หลายปีดีดับ เข้มแข็งพอสมควรแล้วนะ เรามาเจออย่างนี้ ทำไมไม่มีสติสตังร้องไห้ อย่างน่าอายนักปราชญ์บัญฑิตเหลือเกิน

ด่าตัวเองน้ำตาก็หยุดพอดี เช็ดน้ำหูน้ำตาดีแล้วก็พูดกับโยมว่า จะให้กำลังใจแม่เสียก่อน โยมๆ ข่าวดีจะมาถึงโยมแล้วนะ แล้วยายก็พูดขึ้นว่า ข่าวดีอะไรล่ะพระคุณเจ้า ข่าวดีอะไร โยมอยากฟังเหลือเกินข่าวดีนั่น ข่าวโสณะของแม่ล่ะซี เหรอ โสณะของแม่เขาว่าตายแล้วนี่ ไม่ตาย ยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ และก็อยู่ด้วยกันกับอาตมานี้เองแหละ อาตมาก็อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน รู้จักดี จะมาส่งขาวให้โยมทราบ

โยมพอมีกำลังใจฟังบ้างได้ไหม โอ้ยพาแม่ไป พาโยมไปหาลูกหน่อยเถอะ พระคุณเจ้าจะได้ไหม นั่งล้อนั่งเกวียนไปแม่ก็จะไป จะไปหาลูกน่ะ เออประเดี๋ยวจะพาไปเองหล่ะ มีกำลังวังชา เรี่ยวแรงพอไปได้หรือเปล่าล่ะ มีแข้งขาพอไปได้ เอวอะไรก็พอไปได้ แต่ตาฝ้าฟางนิดหน่อยเท่านั้นหล่ะ ขอให้เห็นลูกก็พอใจแล้ว เรียกว่าลูกจะอยู่ที่ไหนจะหอบสังขารไปดู แล้วอยู่ไกลไหมพระคุณเจ้า ยายซักถามอย่างสนใจทีเดียว

ไม่ไกลๆ เดี๋ยวนี้ โสณะของแม่กำลังพูดกับแม่อยู่นี่เอง เหรอแล้วแม่ก็ช็อคหมดสติ เรียกว่าวิสัญญีภาพ ถ้าดีใจมากก็เกิดวิสัญญีภาพ เหมือนอย่างกับพระเวสสันดร พระเจ้ากรุงสนชัย พระแม่เจ้าผุสดี นางมัทรี ทั้งหกกษัตริย์ไปเจอกันเกิดความดีอกดีใจ เข้ากอดกัน แล้วก็หมดสติเรียกว่าถึงวิสัญญีภาพ แต่สมัยครั้งพระเวสโน้น แต่ อาศัยฝนโบกกาลพัตรตกลงมาโปรยปราย หกกษัตริย์จึงค่อยฟื้นคืนมาได้

แต่อันนี้ชาวบ้านชาวเมืองเห็นเหตุการณ์อย่างนั้น ไม่มีฝน โบกขรพรรษตกลงมาเลย ก็พากันมานวดฝั้นคั้นตีนมือ ปั้มหัวใจให้ยายก็ค่อยเต้นคืนมาใหม่ ดีใจมากจนเกินไปก็ช็อคเลยถึงวิสัญญีภาพไปได้ ตื่นขึ้นมาแล้วก็พร่ำเพ้อว่า ลูกแม่ๆ อยากวิ่งเข้ากอดลูกเหลือเกิน แต่มันเป็นไปไม่ได้ แม่เป็นสีกา ลูกเป็นสมณะเป็นพระ แค่เห็นแล้วแม่ก็ดีใจเองละนะ เอาล่ะแม่ เอาล่ะ ดีใจซะ กินข้าวกันเถอะ ไปกินข้าวกินน้ำกันลูกบิณฑบาตมาเต็มบาตรแล้ว ก็เลยเอาบาตรเข้าไปเทใส่ชามกาละมังเก่าๆ แก่ๆ ไม่ดีเท่าไรหรอกเขาให้ใช้

อย่าไปพร่ำเพ้อหามันเลยเรื่องของไม่เที่ยง ทรัพย์สมบัติทั้งหลายมันไม่เที่ยง ร่างกายมันก็ไม่เที่ยง ความมั่งความมีทั้งหลายมันก็ไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง มันเป็น อนิจจัง มันเป็นอนัตตา เทศน์ให้แม่ฟังบ้าง ได้ฟังพระบรมศาสดาเทศน์มาแล้ว แม่ไม่ต้องห่วง ลูกไม่ให้แม่ตายแล้ว ลูกจะเลี้ยงแม่เอง

กินข้าวอิ่มแล้วก็ลาแม่ วันพรุ่งนี้จะมาใหม่นะแม่ ให้อยู่นี่ไปก่อน ให้ลูกตั้งหลักตั้งลำไปก่อนไปทำวัตร ทำข้อวัตรอื่นๆ กับหมู่กับพวก แล้วพอเช้าก็บิณฑบาตมาเลี้ยงมารดา บางวันได้มากก็ให้แม่อิ่มหนำสำราญ ตัวเองก็ได้อิ่มบางวันก็ได้น้อย ให้แม่หมด ตัวเองก็ยอมอด ไม่เป็นไร ให้แม่อิ่มพออยู่อย่างนี้จนเป็นหลายเดือน

ทีนี้ร่างกายของโสณะก็ซูบซีด ผอดลง เส้นเอ็นเห็นไปหมด เกิดเส้นเอ็นทั่วสารพางค์กาย ร่างกายก็ผอมคล้ำดำ ไปทำข้อวัตรก็เป็นลมบ่อยๆ พระภิกษุทั้งหลายก็ติเตียนว่า โสณะเอ๋ยโสณะ บอกแล้วว่าอย่าเลี้ยงอย่าบิณฑบาตเลี้ยงคฤหัสถ์มันเป็นอาบัติ ก็ไม่ฟัง ยังทำอยู่อย่างนั้น ทุกวันๆ ตัวเองอดอาหาร ไม่มีอาหารพอ ขาดอาหารก็เป็นลมอย่างนั้นเอง นั่งกุมหัวอยู่อย่างนั้นแหละ มันเป็นอาบัติก็ไม่รู้ พระอะไรทำไมดื้ออย่างนี้ พระภิกษุตำหนิพระโสณะอยู่นั่น

พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่คันธกุฎีโน้น คันธกุฎีกับธรรมสภาศาลามันไกลกันนะ ในสาวัตถีเคยไปไหมอินเดีย ได้ยินด้วยทิพย์โสตญาณ ไม่ได้ยินด้วยหูธรรมดา ได้ยินพระภิกษุทั้งหลายตำหนิพระโสณะด้วยทิพย์โสตญาณ

ก็ระลึกได้ว่า โสณะเธอทำถูกแล้วนะ แต่ว่าพระปุถุชนยังตำหนิผู้ทำถูกได้ อย่าอย่างนั้นเลย เราจะไปลงสู่ธรรมสภาศาลา จะนำเอามาตาปิตุอุปฐานธรรมขึ้นมาแสดง ประกอบด้วยเรื่องของโสณะ ตั้งแต่นั้นธรรมาภิสมัยก็จะบังเกิดขึ้นที่จิตใจของพุทธเวนัยหรือบริษัทเป็นจำนวนมากทีเดียว ถึงเขาได้ฟังแล้ว ฟัง ธรรมาภิสมัยนี้อย่างลึกซึ้งแล้ว เขาจะนำธรรมาภิสมัยอันนี้ไปบอกกล่าวแก่ลูกหลานของเขาต่อไป ธรรมาภิสมัยจะกว้างไกลออกไปจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน รุ่นโหลน ไปนาน เป็นธรรมะที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาได้จริง ว่าแล้วพระองค์ก็ลงสู่ธรรมสภาศาลา

ในเวลานั้น พระภิกษุทั้งหลายเห็นพระบรมศาสดาเสด็จมาผิดเวลาอย่างนั้น ก็ดีใจลุกขึ้นยืนรับ คนที่ไปปูลาดอาสนะก็มี ปูลาดอาสนะเรียบร้อยแล้ว พระบรมศาสดาก็เข้าประทับนั่งบนอาสนะ พระภิกษุทั้งหลายก็เข้าประทับนั่งอาสนะ พระภิกษุทั้งหลายก็เข้าถวายบังคมพระบรมศาสดา นั่งตามที่สุดควรส่วนของตนๆ ก็มี ณ กาลบัดนั้น แล้วก็เงียบ ไม่ได้คุยกันอะไร มีหลายเท่าไรก็เงียบ

ภิกษุในธรรมวินัยไม่ได้สนทนากันโลเลๆ เหมือนดังพระสมัยนี้ ครูบาอาจารย์พระเถระมาแล้วก็ยังสนทนากันโฉงฉางๆ ไม่เคารพครูบาอาจารย์พระเถระเท่าไร สนุกสนานกันอยู่อย่างนั้น ไม่สังวรระวัง ไม่สำรวม ในสมัยนั้น พระภิกษุทั้งหลายเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา กราบแล้วก็เงียบเลย เหมือนไม่มีคน เงียบได้เงียบดี

พระบรมศาสดาก็ตรัสทำลายความเงียบขึ้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินแว่วๆ ว่าภิกษุบิณฑบาตเลี้ยงคฤหัสถ์ นั้นมีจริงหรือ ภิกษุองค์ที่อยากได้หน้าได้ตาก็สอดขึ้นมา มีพระเจ้าข้า ประนมมือขึ้นสุดหัว มีพระเจ้าข้า ใครล่ะ อยู่ไหน พระโสณะพระเจ้าข้า มีจริงหรือบิณฑบาตเลี้ยงคฤหัสถ์ตัวเอง จนไม่มีเรี่ยวมีแรง จะทำข้อวัตรปฏิบัติอะไร ห้ามก็ไม่ฟัง ยังฝอยไปอีก พอแล้วๆ ไหนโสณะ โสณะอยู่ไหน อยู่นี่พระเจ้าข้า ยกมือสุดหัวขึ้น มานี่หน่อยซิ มาใกล้ๆ หน่อย

ตายแล้วเรา พระบรมศาสดาจะไล่เราสึก จะทำอย่างไรก็ยอม เพราะเราเห็นว่าถูกแล้ว ทำเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นี่เราเห็นว่าถูกแล้วนะ มันจะเป็นอาบัติก็ช่างหรืออย่างไรก็ตาม หากว่าผิดจริงๆ พระบรมศาสดาจะไล่ให้เราสึกเราก็ยอม คลานเข้ามาๆ นั่งพอสมควรแล้ว

ว่าอย่างไร เธอน่ะบิณฑบาตเลี้ยงคฤหัสถ์จริงหรือ จริงพระเจ้าข้า จริงอย่างที่ภิกษุทั้งหลายว่านั่นแหละ แล้วคฤหัสถ์นั่น เป็นอะไรกับเธอล่ะ เป็นมารดาบังเกิดเกล้า พระเจ้าข้า ยอด พระพุทธเจ้าว่า ยอดมาก อย่างนั้น ลูกพ่ออย่างนั้น เธอทำถูกแล้วโสณะ ไม่ผิด

เราอนุญาตพระภิกษุบิณฑบาตเลี้ยงมารดาบิดาผู้บังเกิดเกล้า ไม่มีโทษ ภิกษุบิณฑบาตเลี้ยงครูบาอาจารย์ อุปัชฌาย์ อาจารย์อาพาธ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ตลอดจนถึงภิกษุอาพาธอื่นๆ ก็บิณฑบาตเลี้ยงได้

แม้พระมหากษัตริย์ ผู้ลี้ภัยมาอาศัยอาวาสนั้น ก็บิณฑบาตมาแล้วแบ่งปันถวายพระราชา แบ่งปันถวายพระราชาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งเราก็ใส่บาตรเรา ถ้าเหลือนั้นก็แบ่งไว้ก่อน อย่าเอาเดนถวายพระราชานะ มันจะเป็นโทษนะ

เคารพในคุณวุฒิ ชาติวุฒิ เราก็เคารพในชาติ ไม่เป็นโทษ เราอนุญาตนะ แล้วนี่มารดาของเธออยู่ไหนล่ะ อาศัยบ้านสหายอยู่ทางเมืองโน้น ถ้าอย่างนั้นเธอจงไปเอามารดาเธอมาอยู่ในอาวาสนะ ในอาวาสเชตวันนี้ ปลูกกระท่อมหรือปลูกกุฏิน้อยๆ ให้อยู่ แล้วเธอต้องสั่งสอนมารดาเธอให้อยู่ในศีลห้า พระไตรสรณคมณ์ รักษาศีลห้า ถ้าแก่มากแล้ว ถ้ารักษาศีลแปดได้ ก็ยิ่งจะเป็นการดี ให้แม่อยู่ในศีลในธรรมปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรม เธอบิณฑบาตเลี้ยงเถิดเราอนุญาต

พระโสณะก็กราบลงแทบบาทมูลพระผู้มีพระภาคหรือพระบรมศาสดากล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นพระเจ้าข้าที่ให้โอกาสอันสหายนี้ ไปเถอะๆ ไปเลย ไปเอาแม่มาวันนี้ ลาไปแล้วไปเอาแม่มา ภิกษุน้อย เณรหนุ่มทั้งหลายเห็นพระเถระไปทำธรุกิจ ได้รับอนุญาตจากพระบรมศาสดา ก็ตรูกันตามไปเก็บสิ่งเก็บของใส่ล้อใส่เกวียนอะไรหมดทุกอย่าง ก็ลาเจ้าของบ้านกลับมาที่วัด เบื้องต้นก็ให้อยู่ใต้กุฎิก่อน ยังจัดอะไรไม่พร้อม อยู่ที่ไหนก็ได้

พอหลายวันมาก็ทำกระท่อมกุฏิน้อยๆ ให้อยู่ทางโน้นล่ะ ทางรั้ววัด ทางต้นข่อยมันเยอะๆ มั้งแถวนั้นรอบกำแพงมีต้นข่อยเยอะๆ ร่มรื่นดี ให้อยู่ที่นั่น

มื้อเช้าก็บิณฑบาตมาเลี้ยงมารดา มื้อเย็นมาก็ไปเยี่ยมมารดา ดูแลสารทุกข์สุกดิบ ต้มน้ำร้อนให้อาบบ้าง ซักเสื้อซักผ้าให้มารดาบ้าง พระบรมศาสดาอนุญาตให้หมดทุกอย่าง แล้วเราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทอดทิ้งมารดามานาน ไม่ได้ปรนนิบัติ เราจะเอาทุกอย่าง ตบผ้าขี้ตีผ้าเยี่ยวเราอย่างไร เราทำได้กับมารดาเรานะ ทำอย่างนั้นทุกวัน บิณฑบาตมาเลี้ยงมารดาทุกวัน

มารดาก็มีกำลังใจดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วก็ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน นั่งสมาธิภาวนาเหมือนกัน ได้รับความสงบ พระโสณะได้ปฏิบัติอุปถัมภ์ปฐากมารดาเต็มที่ มาตาปิตุอุปฐานธรรมเกิดขึ้นในจิตในใจ นั่งสมาธิภาวนาคราวนี้ไม่มีนิวรณ์ธรรม ไม่มีสักขวรณ์ มัคควรณ์ แต่อย่างใด

เสียงที่มากระทบกระเทือนหูอย่างเก่าไม่มี บวชแล้วได้บุญแล้ว จงสึกมาครองสมบัตินะลูก ไม่มี ทำให้ใจถอนจากสมาธิไม่ได้ เข้าฌานได้เต็มที่ ตั้งแต่ ปฐมฌานจนตลอดตติยฌาน สุดยอดเลย ก็บรรลุคุณธรรม มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น จิตก็วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เป็นสมุทเฉจประหาน ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพขึ้นในพระศาสนาสมดังปรารถนาแล้ว อิ่มอกอิ่มใจ เกิดขึ้นเพราะมาตาปิตุอุปฐานธรรมแท้ๆ เขาเรียกว่า ธรรมภิสมัยมันเต็มดวง เกิดขึ้นในจิตในใจเต็มดวง ไม่ตะขิดตะขวงใจแล้ว ไม่เป็นสักขวรณ์ ไม่เป็นมัคควรณ์ พระพุทธเจ้าก็นำมาตาปิตุอุปฐานธรรมต่างๆ มาเล่าต่อไปในสมัยครั้งนั้น พุทธบริษัทก็เกิดธรรมาภิสมัยขึ้นในจิตในใจ

เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็เอาธรรมภิสมัยนี้ไปประพฤติปฏิบัติกันบ้าง อย่าทอดทิ้งนิ่งดูดายกับผู้มีพระคุณเป็นอันขาด ถึงแม้ไม่เป็นมารดาบิดาก็ตาม ท่านเลี้ยงเรามา เราก็ต้องเลี้ยงท่านตอบ เป็นแม่ใหม่ แม่เลี้ยงก็ดี แม่น้าก็ดี พ่อน้าก็ดี ท่านมาเลี้ยงเรา เราก็ถือเสมือนบิดามารดาของเรา เหมือนดังพระบรมศาสดาถือพระแม่เจ้ามหาปชาบดีโคตมี แม่น้าเป็นมารดาบังเกิดเกล้าก็ปานกัน

มารดาบังเกิดเกล้าที่แท้จริงก็คือพระแม่เจ้าสิริมหามายาเทวีโน้น เป็นมารดาบังเกิดเกล้า พอประสูติพระบรมศาสดาหรือสิทธัตถะราชกุมารเพียง ๗ วัน ก็สวรรคตไปแล้ว พระแม่เจ้ามหาปชาบดีโคตมี อาสามาเลี้ยงพระบรมศาสดาก็เทิดทูนบูชาพระแม่เจ้ามหาปชาบดีโคตมีนี่เป็นเหมือนมารดาบังเกิดเกล้า ขออะไรๆ ได้หมดทุกอย่าง ในประวัตินะ คนอื่นขอไม่ได้ พระแม่เจ้ามหาปชาบดีโคตมี ไปขอเท่านั้น อนุมัติเลย อนุญาตเลย ขอบวชเป็นภิกษุณีก็ยังได้เลย แต่ก่อนไม่มีใครสามารถขอได้เลย

ดังนี้ เป็นมาตาปิตุอุปฐานธรรมเหมือนกัน ใครมีบุญคุณต่อเรา เราต้องเลี้ยงท่านตอบอันนี้เป็นธรรมาภิสมัยประจำจิตใจมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นผู้เจริญ ผู้ดูแลผู้มีพระคุณเป็นผู้เจริญ ผู้อกตัญญูกับผู้มีพระคุณนั้นเป็นคนเสื่อม ได้ดิบได้ดีไปแล้วก็ต้องเสื่อมนะ แต่ไม่ได้ยกนิทานมาเล่าให้ฟังผู้อกตัญญูทั้งหลาย เสื่อมไปแล้วมากต่อมากแล้วนะ

ดังที่บรรยายมาเพื่อจะให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนำไปใคร่ครวญ พินิจพิจารณาด้วยปัญญาอันชาญฉลาดของตนเองดูเถิด เกิดสลดสังเวชได้เหมือนกัน ถ้าไม่ประมาทแล้ว ตั้งใจประพฤติปฏิบัติทำตามไปด้วยความไม่ประมาท ต่อแต่นั้นก็จะประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญ ทั้งทางคดีโลก และทางคดีธรรมทุกประการ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

รูปภาพ
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร กำลังสรงน้ำหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



.............................................................

:b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า ๑ คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕๘๔๑
(๒) วารสารถาวรธรรมปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๔๔
หน้า ๓๙-๕๔ :: ศิริบุญ พูลสวัสดิ์ ถอดเทป

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 13:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
ได้รับโอวาทธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



หลวงปู่ท่อน ญาณธโร ได้ติดตาม หลวงปู่คำดี ปภาโส พร้อมคณะสงฆ์ ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตเถระ ที่สถานีรถไฟ โดยท่านเล่าว่า นั่งอยู่สักประเดี๋ยวเดียวรถไฟก็มาแล้ว ก็เข้าแถวกันที่ชานชลาที่รถจอด เข้าแถวไหว้ท่านพระอาจารย์มั่นที่นั่น ขึ้นไปก็ไม่ได้เขาจอดไม่นาน ขึ้นไปไหว้ในรถไฟก็ไม่ได้

ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า “ดีใจ พวกเรายังมีสหธรรมิก ท่านคำดีก็มา มหาอินทร์ก็มา จะขอสั่งเสียหน่อย เวลาน้อย พวกเราตั้งอกตั้งใจเน้อ ตั้งอกตั้งใจให้มากๆ น่ะพวกน้อยๆ หนุ่มๆ นี่เป็นห่วง กลัวเขาจะเอาไปกิน ตั้งอกตั้งใจดีๆ มันหนานะกิเลส หนาแน่นถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจแล้วล้ม”

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่คำดี ปภาโส
ณ วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย



:b8: จาก...หนังสือบูรพาจารย์ (มูลนิธิท่านพระอาจารย์มั่น)

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่ท่อน ญาณธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50532

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่ท่อน ญาณธโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=22879

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร