วันเวลาปัจจุบัน 04 ต.ค. 2024, 19:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ


วัดป่าสุคะโต (วัดเอราวัณ)
ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ



๑. บ้านเกิดและชีวิตช่วงปฐมวัย

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เกิดที่บ้านหนองเรือ ตำบลหนองเรือ (เดิมชื่อ ตำบลบ้านเม็ง) อำเภอหนองเรือ (เดิมอยู่ในเขตอำเภอเมือง) จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ ตรงกับวันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด โยมบิดาชื่อ นายสมาน เหล่าชำนิ โยมมารดาชื่อ นางเฮียน แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑) นางเหรียญ บุญหลง (เหล่าชำนิ)
๒) นางสุดตา แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ)
๓) หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
๔) นายดำ เหล่าชำนิ
๕) นางเอื้อน ดวงโพธิ์ศรี (เหล่าชำนิ)
๖) นายสุพล เหล่าชำนิ
๗) นางอุบล เหล่าชำนิ

เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๐ ขวบ บิดาและมารดาของท่านได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองแก อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ทำการบุกเบิกที่ทำกิน ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ในช่วงแรกต้องเดินทางไปมาระหว่างบ้านหนองแกและบ้านหนองเรือ ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๓๐-๔๐ กิโลเมตร เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทาง มีเพียงทางเกวียนช่วงสั้นใกล้ๆ หมู่บ้าน และยังมีรถยนต์โดยสาร จึงต้องเดินเท้าหอบหิ้วสัมภาระบุกป่าฝ่าดงด้วยความยากลำบาก

ในช่วงเวลานั้น บิดาและมารดาของท่านต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะบิดาของท่านต้องหาบสัมภาระเดินทางไกลตลอดวันและพักแรมกลางป่ากลางดงในเวลากลางคืน ท่านรู้สึกสงสารบิดาของท่านมาก คิดอยากช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะท่านเองก็ยังเล็ก ได้แต่รู้สึกชื่นชมว่าบิดาของท่านมีความเข้มแข็ง อดทนและทำงานหนักมาก ทำให้ท่านเก็บความประทับใจนั้นไว้และนำมาเป็นแบบอย่างในเวลาต่อมา

ชีวิตวัยเด็กของท่านเหมือนกับเด็กไทยในชนบททั่วไปที่ครอบครัวทำเกษตรกรรม มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้ไม่มีเงินก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีข้าวปลาอาหาร ผัก ผลไม้ รวมถึงมียาสมุนไพรอยู่รอบบ้าน เลี้ยงวัว เลี้ยงความไว้ใช้แรงงาน รวมทั้งในป่า มีเห็ด มีหน่อไม้ และผักต่างๆ

ท่านใช้ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีกับการงานเหล่านี้อยู่กับครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นสนุกสนานเช่นเด็กทั่วไป เนื่องจากบิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ ประกอบกับพี่ของท่าน ๒ คนไปอยู่กับปู่และย่า ท่านจึงต้องรับผิดชอบการงานแทนบิดา

ในชนบทสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนภาคบังคับของรัฐบาล ผู้ชายส่วนใหญ่นิยมบวชเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อศึกษาเล่าเรียน ท่านบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ที่วัดหนองแก ระยะเวลาที่ท่านบวชได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมขั้นต้น จนสามารถจดจำข้อธรรมต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ท่านเองต้องการเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น โดยตั้งใจว่าจะไปเรียนที่วัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่อาจทำได้ด้วยความห่วงใยโยมแม่และน้องๆ ที่ยังเล็กอยู่ แม้ว่าท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ท่านยังดูแลเอาใจใส่และช่วยเหลือโยมแม่และโยมน้องอยู่เสมอ บางครั้งหลังคาบ้านรั่วท่านก็ไปซ่อมให้ บันไดบ้านหักท่านก็ทำแล้วแบกไปใส่ให้ที่บ้าน ทั้งนี้เพราะไม่มีผู้ใดช่วยเหลือดูแล นอกจากนั้นแล้ว ที่ดินพื้นที่ไร่นาก็ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ในที่สุดท่านจำต้องลาสิกขา ออกไปช่วยงานของครอบครัว หลังจากที่บวชเป็นสามเณรอยู่ได้ประมาณ ๒ ปี

หลังจากลาสิกขาบทมาแล้ว ได้กลับมาช่วยกิจการของครอบครัวอย่างเต็มที่ ท่านเล่าว่าชีวิตประจำวันของท่าน ตั้งแต่เช้าจนค่ำอยู่แต่ในไร่ ในนา ถ้าใครต้องการพบท่าน ต้องไปที่นั่น ท่านไม่มีเวลาไปเที่ยวเตร่เฮฮาที่ใด ทุกวันท่านจะออกจากบ้านแต่เช้าไปทำงานในไร่ในนา ตอนกลางวัน มารดาของท่านจะให้น้องนำอาหารไปส่ง แม้บางครั้งมารดาของท่าน หรือน้องๆ ลืมไปส่งอาหาร ท่านก็ยังคงทำงานต่อไป

ด้วยความจริงจังกับงานและขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอนี้เอง ทำให้ท่านเป็นที่ยกย่องของคนในหมู่บ้าน ในช่วงเวลานั้นเองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม ทำน้ำมนต์ ปัดรังควาน ไล่ผี และรักษาคนป่วยไปด้วย ฉะนั้นทุกคืนก่อนนอนท่านต้องสวดมนต์ภาวนาบริกรรมท่องคาถาอาคมต่างๆ จนคล่องแคล่ว เกิดความชำนาญ จนสามารถใช้วิชาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ยามชาวบ้านเดือดร้อน ท่านได้เข้าทำการช่วยเหลือ นับตั้งแต่เจ็บไข้ได้ป่วย ไล่ผี ทำคลอด ตลอดจนผูกข้อมือให้เด็ก จนเป็นที่เรียกขานกันในหมู่บ้านว่า ท่านเป็นหมอธรรม

ขณะเดียวกันนั้น ท่านได้ถือศีล ๕ และรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตมาดร้ายผู้ใด ครั้งหนึ่งมีคนมาขโมยควายไปหมดทั้งคอก ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ตัว ท่านก็ไม่ได้มีความรู้สึกโกรธแค้นแม้แต่น้อย ได้แต่คิดว่าเมื่อสูญหายไปแล้วก็หาเอาใหม่ ด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกันนี้ เมื่อก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรม ท่านจึงสามารถปฏิบัติได้อย่างราบรื่น ไม่มีอดีตกรรมหยาบมาฉุดรั้งให้หลงทาง หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๒. มีครอบครัว

เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี หลังจากการตรวจเลือกทหารแล้ว ท่านได้แต่งงานตามจารีตประเพณี เมื่อมีครอบครัวแล้ว ท่านยังคงรักษาศีลาจารวัตรและเป็นหมอธรรมดังเดิม นอกจากนั้นแล้วท่านต้องทำงานหนักขึ้น ด้วยต้องช่วยงานของครอบครัวทางภรรยาด้วย ต้องไปมาระหว่างบ้านมารดาของท่านและบ้านภรรยา

ในระหว่างนั้น ท่านได้ฝึกสมาธิแบบพุทโธ เมื่อปฏิบัติมานานจนทำให้จิตสงบได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๓๐ หลังจากมีครอบครัวมาได้ ๗-๘ ปี ท่านได้เริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ที่แนะนำเรื่องสมาธิวิปัสสนาตามแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตัวท่านบ้าง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ


๓. ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้ยินกิตติศัพท์จากผู้คนทั้งหลายว่า หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ตั้งสำนักสอนกรรมฐานอยู่ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนจะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม ไม่สงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องมรรค เรื่องผล มีผู้คนชักชวนให้ไปศึกษาดู ในช่วงนั้นท่านขวนขวายศึกษาฝึกสมาธิแบบพุทโธ เข้าถึงสมถะและได้รับความสุข ความสงบพอสมควร อย่างไรก็ตาม ท่านยังคงสงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์และเรื่องมรรคผลนิพพานอยู่ ทำให้นึกถึงหลวงพ่อเทียนอยู่ตลอดเวลาและพยายามหาโอกาสไปศึกษาด้วย

เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านมีโอกาสได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย หลวงพ่อเทียนสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเองเคยฝึกหัดมาแบบพุทโธ โดยนั่งนิ่งๆ สามารถเข้าถึงความสงบได้อย่างว่องไว ทำให้ไม่ชอบการสร้างจังหวะ แต่หลวงพ่อเทียนสอนไม่ให้สงบแต่เพียงอย่างเดียว ท่านสอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะและไม่ให้เข้าไปอยู่ในความสงบ

คำสอนของหลวงพ่อเทียนนี้ สวนทางกับวิธีที่ท่านฝึกหัดมา ทำให้บางทีท่านไม่อยากทำ เกิดความรู้สึกคัดค้านอยู่ในใจ หลวงพ่อเทียนก็พูดให้ฟัง ทำให้ดูและบางทีก็พูดท้าทายให้ปฏิบัติ โดยพูดว่า “คุณทำงานอยู่ที่บ้าน ถ้าคิดเป็นเงินจะได้เดือนละกี่บาท ?” ท่านก็ตอบว่า “อย่างน้อยก็ได้เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท” หลวงพ่อเทียนก็พูดว่า “คุณมาอยู่ปฏิบัติธรรม สร้างจังหวะและเดินจงกรมให้มีสติสัมปชัญญะนี้ ถ้าคุณไม่รู้อะไรเลยและจิตใจไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อาตมาจะเสียเงินให้ เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท แต่ต้องทำจริงๆ นะ ให้ทำตามที่อาตมาสอนทุกอย่างนะ”

หลวงพ่อเทียนพูดอย่างนี้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าท่านเป็นคนมีทิฏฐิมาก ในที่สุดท่านก็ตกลงทำ เพราะอย่างไรก็ตั้งใจมาปฏิบัติแล้ว จึงทดลองดู โดยพยายามทวนความรู้สึกเดิม ตั้งใจสร้างจังหวะ เพื่อปลูกสติสัมปชัญญะและสร้างสติ จากนั้นจึงเริ่มต้นปฏิบัติไปเรื่อยๆ

ในการปฏิบัตินั้น เมื่อเริ่มคิดให้กลับมาอยู่กับการสร้างจังหวะจะเกิดความสงบความรู้สึกตัว ไม่เข้าไปอยู่ในความสงบ รู้กาย รู้ใจชัดขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อการเคลื่อนไหว รู้ทันต่อใจที่คิด เกิดปัญญาญาณขึ้นมา รู้เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง ลำดับไปจนจบรูปนามเบื้องต้น จากนั้นจิตใจของท่านได้เปลี่ยนไป พ้นจากภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป ได้รู้เรื่องสมถะและเรื่องวิปัสสนา ท่านรู้สึกว่าความทุกข์ที่มีอยู่ หมดไป ๖๐% จึงมั่นใจในคำสอนของหลวงพ่อเทียนมาก จนไม่สงสัยต่อความรู้เดิมที่มีอยู่

คาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่เคยเรียนมานั้น ท่านเริ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสมมุติ พิธีรีตองต่างๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็เริ่มวางได้ มีความเชื่อในการกระทำ รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่า แบกของหนักมา ๑๐๐ กิโลกรัม พอเกิดปัญญาญาณขึ้น น้ำหนักที่แบกไปนั้นหาบไป ๖๐ กิโลกรัมทันที

ท่านจึงคิดไปว่า เมื่อทำเพียงเท่านี้ ความทุกข์ที่มียังหลุดไปได้ถึงเพียงนี้ หากทำมากกว่านี้ จะเป็นอย่างไร ทำให้ท่านคิดปฏิบัติต่อไป และมีความมั่นใจต่อการเจริญสติสัมปชัญญะแบบเคลื่อนไหวมากขึ้น

วันหนึ่งหลวงพ่อเทียนให้อารมณ์ โดยบอกว่า “นี้เป็นอารมณ์ของกรรมฐานเบื้องต้น อย่าไปหลงติด คิดว่าตัวเองรู้มาก ที่จริงยังมีอีกมากที่ยังไม้รู้ ต้องตั้งใจปฏิบัติต่อไป ให้บำเพ็ญทางจิตต่อ จึงจะรู้อารมณ์ของปรมัตถ์” จากนั้นหลวงพ่อเทียนถามว่า “ทำอย่างนี้รู้ได้ไหม เห็นจริงได้ไหม เชื่ออาตมาหรือเชื่อตัวเอง”

ท่านก็ตอบหลวงพ่อเทียนว่า “เชื่อตัวเอง”

หลวงพ่อเทียนได้สอนให้เห็นความจริงของชีวิต จากนั้นมาท่านไม่แสวงหาครูบาอาจารย์และไม่แสวงหาวิธีปฏิบัติตามแนวทางอื่นอีก เพราะได้บทเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตแล้ว

ปฏิปทาของหลวงพ่อเทียน

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ระหว่างที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนนั้น หลวงพ่อเทียนยังอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ อ่านได้แต่ภาษาลาว หลวงพ่อเทียนได้ฝึกฝนการอ่านและการเขียนภาษาไทยพร้อมๆ กับการสั่งสอนการปฏิบัติธรรมให้กับลูกศิษย์ และมีหลายๆ ครั้งที่ท่านได้สอนหลวงพ่อเทียนอ่านหนังสือภาษาไทย

หลวงพ่อเทียนสอนโดยการปฏิบัติให้ดูและพูดให้ฟัง หลวงพ่อเทียนใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้การนั่ง การนอนหรือการขบฉัน จะมีระเบียบและเอาใจใส่ต่อลูกศิษย์ ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เสียสละทุกอย่างทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อผู้อื่น เพราะท่านอยากให้ทุกคนรู้ธรรมะจริง

แม้เวลาผ่านไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ปฏิปทาของหลวงพ่อเทียนไม่เคยเปลี่ยนแปลง ท่านจึงมีความเคารพนับถือว่า หลวงพ่อเทียนเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ไม่มีวันเสื่อมคลายได้ในชีวิตนี้

การปฏิบัติธรรมในป่าพุทธยาน

ผู้ที่ไปใช้ชีวิตในป่าพุทธยานในครั้งกระโน้น ทุกคนมีความตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่ต้องตั้งกฎหรือระเบียบติดไว้ที่ประตู อยู่กันด้วยความเงียบสงบ ๒๐-๓๐ ชีวิต ยามไต่ถามกันก็ทำด้วยความระมัดระวัง ทุกคนนั่งสร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเคยลองถามสามเณรที่สร้างจังหวะอยู่ สามเณรผู้นั้นยังไม่ค่อยอยากจะพูด

การสอนกรรมฐานของหลวงพ่อเทียนในครั้งกระโน้น มีแต่การเน้นการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ ที่นั่น มีน้ำค้างมาก หากได้ยินเสียงน้ำค้างตกลงบนใบตองก็เป็นเวลาตีสามพอดี ทุกชีวิตก็ลุกขึ้นปรารภความเพียร เสียงเดินจงกรมในตอนเช้ามืดกับเสียงน้ำค้างตกลงใส่ใบตองดังตับๆๆ แสงตะเกียงผ่านละอองน้ำค้างสลัวๆ แต่ละวันได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับได้รับรสของพระธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติ และได้รับคำตอบของชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ที่อยู่ที่ใช้อาศัยยามปฏิบัติธรรมเป็นกระต๊อบหลังเล็ก เวลาฝนตกก็เปียกบ้างเล็กน้อย ได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตที่ไม่ปรุงแต่ง การขบฉันบางครั้งก็ได้จากการเอาน้ำในกาเทผสมลงในน้ำพริกที่ใกล้จะหมด เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า น้ำที่ใช้ล้างบาตรแล้ว ไม่เททิ้ง ต้องเทรวมกันไว้ในภาชนะรองรับ แล้วนำน้ำนั้นไปใช้ล้างถ้วยชามอีกทีก่อน แล้วนำน้ำไปรดน้ำตนไม้ที่ปลูกไว้ต่อไป

แหล่งน้ำที่เป็นน้ำดื่มน้ำใช้อยู่ห่างจากป่าพุทธยานมากกว่า ๑ กิโลเมตร เวลาไปอาบน้ำต้องหาภาชนะสำหรับใส่น้ำกลับมากุฏิด้วย ทุกคนต้องช่วยตนเอง พระผู้เฒ่าก็หิ้วกระป๋องใส่น้ำกลับมา ส่วนพระหนุ่มก็ใช้การหาบ ความยากจนทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีระบบ ไม่ท้อถอย ไม่กลัวความทุกข์ ไม่กลัวความยากลำบาก ในบางครั้งถุงพลาสติกที่ญาติโยมห่ออาหารใส่บาตรก็เก็บไว้ใช้อุดหลังคาที่รั่ว

การปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่มั่นคงและกระตือรือร้นนี้ เห็นได้จากทางเดินจงกรมเป็นมัน ที่นั่งบนกุฏิเป็นรูปรอยนั่ง เมื่อได้สร้างจังหวะและได้เดินจงกรม ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่าในโลกนี้มีตัวคนเดียว ไม่ถูกแบ่งแยกไปทิศทางใดเลย เวลาที่ญาติโยมนิมนต์ไปขบฉัน ไปประกอบพิธีต่างๆ ที่บ้าน เป็นเวลาที่ฝืนความรู้สึกอย่างมาก ท่านได้แต่คิดถึงทางจงกรม คิดถึงที่นั่งบนกุฏิ ที่ให้แต่ความสงบร่มเย็น มีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกเป็นสง่าและรู้สึกว่ากำลังทำงานที่มีเกียรติในชีวิต ในเวลาที่ได้เดินจงกรม ในเวลาที่ได้นั่งสร้างจังหวะและเจริญสติ ไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย

มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งสร้างจังหวะในกุฏิ หลวงพ่อเทียนเดินมา หลวงพ่อเทียนได้เอ่ยทักทายว่า “อยู่ที่นี่หรือ”

“อยู่ครับหลวงพ่อ” ท่านตอบ

“ทำอะไร ?” หลวงพ่อเทียนถามต่อ

“สร้างจังหวะครับ” ท่านตอบโดยพลัน

“เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในไหม” หลวงพ่อเทียนถามตรงประเด็น

“ไม่เห็นข้างนอกครับ เห็นแต่ข้างใน” ท่านตอบอย่างรวดเร็ว

“ถ้าอยากเห็นข้างนอกทำอย่างไร” ผู้เป็นบูรพาจารย์ถามต่อ

“เปิดประตูออกครับ” ท่านตอบโดยเร็ว

“เอ้า ! ลองเปิดประตูออกมาดู”

พอเปิดประตูออกมา หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า “ให้เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในนะ อย่าให้เห็นแต่ข้างนอกและอย่าให้เห็นแต่ข้างในนะ ดูตรงกลางๆ นี้นะ” หลวงพ่อเทียนย้ำ ว่าแล้วท่านก็เดินผ่านไปกุฏิอื่น

ท่านก็เข้าใจได้ในทันทีว่า หลวงพ่อเทียนพูดภาษาใจ คือ การดูกาย การดูจิตใจ การบำเพ็ญทางจิต ต้องทำอย่างนี้ หากเข้าไปอยู่ในความคิดก็ผิด หากคิดออกนอกตัวก็ผิด ต้องเพียงแต่เป็นผู้ดู อะไรเกิดขึ้นให้ดูด้วยตาใน คือ สติและปัญญา อย่าไปยึดเอาความคิดและอย่าไปเป็นกับความคิดที่เกิดขึ้น

ตอนเช้าและเย็น หลังจากทำวัตรแล้ว หลวงพ่อเทียนจะให้การอบรมทุกวัน เพราะที่นี่ไม่มีเทปฟัง ไม่มีหนังสืออ่าน ได้แต่ฟังคำสอนของหลวงพ่อเทียนตลอดเวลา จนสามารถลำดับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติได้ คือ จิตใจเปลี่ยนไปเรื่อย รู้เอง เห็นเอง

การชี้แนะของหลวงพ่อเทียน ประกอบกับการบำเพ็ญเพียร ทำให้ท่านเข้าใจภาษาธรรมและปฏิบัติเป็น และรู้ว่าการสอบอารมณ์ไม่ใช่คิดเอามาถาม ไม่ใช่คิดจากจินตนาการ หรือไม่ใช่คิดด้วยเหตุด้วยผลใดทั้งสิ้น แต่ต้องพบเห็นจริงด้วยผลของกรรมฐาน นี้เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติที่มีอยู่คือ ตั้งต้นจากการเห็นรูปเห็นนาม ที่เป็นของจริงที่มีอยู่ เมื่อรู้กฎเกณฑ์นี้แล้ว ก็ดูไปจนทุกข์หาที่ตั้งไม่ได้ ไม่มีตัว ไม่มีตน หลวงพ่อเทียนสอนแต่เรื่องอย่างนี้ ชี้ให้เห็นชัด เหมือนจูงมือมาดู ไม่ใช่เห็นโดยคิดเอาไปเอง

เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอีก เรียกตามอาการที่เป็นว่า การดับไม่เหลือของนาม-รูป คำสั่งของหลวงพ่อเทียนชี้ได้ชัดมากในเรื่องนี้ ไม่ใช่แต่เพียงสอนให้รู้ ให้เข้าใจเท่านั้น แต่สอนให้เป็นจริงๆ เปรียบเสมือนถูกปลิงเกาะดูดเลือด ขณะที่ปลิงเกาะอยู่ไม่รู้สึกและไม่เห็น แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้ปลิงหลุดออก จึงรู้ว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เช่นเดียวกันกับที่ปล่อยให้กิเลสตัณหาอยู่ในใจ เมื่อได้รู้ได้เห็น กิเลสตัณหานั้นจึงหลุดออกไป

เมื่อเป็นแล้วจึงรู้ จึงเข้าใจ เมื่อรู้แล้วไม่ต้องไปถามใครอีก ชีวิตคนเราจบที่ตรงนี้ โดยตั้งต้นศึกษาปฏิบัติธรรมตามแบบของการเคลื่อนไหว สร้างจังหวะ เดินจงกรมและเจริญสติสัมปชัญญะ

ท่านได้ยึดหลักการเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว โดยมีหลวงพ่อเทียนเป็นครู ท่านได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้จนยืนยันได้ว่า ทุกคนที่ได้ปฏิบัติ นั่งสร้างจังหวะ เดินจงกรม เจริญสติ ดูการเคลื่อนไหวทั้งกายและใจอย่างจริงจัง จะได้รับอิสรภาพ ชีวิตจะเป็นอมตะ เหนือการเกิด แก่ เจ็บ และตาย

งานสอนธรรมของหลวงพ่อเทียน แพร่หายออกไปตามลำดับ จากจังหวัดเลยเข้าสู่เมืองหลวงและไปยังต่างประเทศ หลวงพ่อเทียนได้ประกาศว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเป็นชนชาติใด ไม่ว่าอ่านหนังสือได้หรือไม่ ถ้ามาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง จะสามารถพบเห็นได้เช่นเดียวกันทุกคน ยามอาพาธหนักหลวงพ่อเทียนยังคงสั่งสอนและอุทิศชีวิตเพื่อผู้อื่น ถึงแม้เมื่อครั้งหลวงพ่อเทียนยังไม่ได้บวช ก็ขวนขวายที่จะสอนให้คนได้พบเห็นเรื่องนี้ เห็นได้จากท่านได้สร้างกุฏิหลังเล็กนับสิบหลังด้วยทรัพย์สินส่วนตัว ให้ผู้สนใจมาอยู่ปฏิบัติที่บ้านของท่าน พร้อมจัดอาหารให้ โดยไม่มีผู้อื่นรับภาระ

บ้านเกิดของหลวงพ่อเทียน คือ บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตระกูลของหลวงพ่ออยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อเทียน เมื่อครั้งเป็นฆราวาสนั้น เป็นผู้มีฐานะดี เป็นพ่อค้าใหญ่ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีเรือจักรขนาดใหญ่ล่องสินค้าในแม่น้ำโขง ขึ้นล่องระหว่างหลวงพระบางกับจังหวัดนครพนม ในสมัยก่อน การค้าขายกับประเทศลาวทำได้โดยอิสระ สองฝั่งแม่น้ำโขงจะรู้จักหลวงพ่อเทียนในชื่อว่า “นายฮ้อย พ่อเทียน” นายฮ้อยเป็นภาษาอีสาน เป็นคำใช้เรียกพ่อค้า

ชื่อหลวงพ่อเทียนจริงๆ ไม่ใช่ชื่อเทียน ชื่อว่าหลวงพ่อพันธ์ แต่ประเพณีของคนเมืองเลยและเมืองลาว ไม่นิยมเรียกว่า หลวงพ่อพันธ์ เพราะเป็นการเสียมารยาทและไม่ให้ความเคารพท่าน ประเพณีเช่นนี้เป็นเช่นเดียวกับที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย หรือในประเทศลาว แต่จะนิยมเรียกชื่อตามชื่อของบุตรคนโต หลวงพ่อมีบุตรสองคน บุตรคนแรกของหลวงพ่อชื่อนายเทียน บุตรคนที่สองชื่อนายเตรียม เมื่อบวชจึงได้ชื่อว่าหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนเมื่อครั้งเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีคนเคารพเชื่อฟังมาก ท่านมักเป็นผู้นำเรื่องการทำบุญให้ทาน ท่านสร้างอุโบสถด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ความจริงแล้วท่านก็เป็นคนธรรมดาๆ แต่สามารถค้นพบสัจธรรมได้ สมควรที่ผู้คนจะได้เอาเป็นตัวอย่าง

เมื่อท่านไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนนั้น หลวงพ่อเทียนมักจะเล่าให้ฟังว่า เคยทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างโบสถ์วิหาร ทำทุกอย่างที่เป็นการทำบุญแบบพิธี แต่ไม่รู้ธรรม. ท่านก็คิดว่า ตัวเองนั้นไม่ได้ทำบุญเหมือนหลวงพ่อเทียน คงไม่มีโอกาสรู้ธรรมเห็นธรรมเป็นแน่ เมื่อปฏิบัติจึงรู้ว่า ที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนมี ก็รู้ได้ทั้งนั้น หากปฏิบัติจริงๆ ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างเพียงพอ หลวงพ่อเทียนเองได้ยืนยันในเรื่องนี้ ได้ท้าทายและเชิญชวนผู้คนให้มาพิสูจน์ด้วยตนเองเสมอ

ท่านได้ย้ำหลายครั้งว่า ที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนนี้ ไม่ใช่เพราะประวัติของหลวงพ่อเทียน ไม่ใช่เพราะกิริยามารยาท ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำพูด คำเล่าลือของผู้คนทั้งหลาย หากแต่เมื่อได้ทดลองวิธีการเจริญสติสัมปชัญญะแบบการเคลื่อนไหวและได้เกิดผลแก่ท่านมากมายหลายอย่าง เพราะการกระทำตามแบบอย่างที่หลวงพ่อเทียนสอนนั้น จะกล่าวว่าเป็นวิธีแบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็ไม่ผิด

ท่านได้ทำตามที่หลวงพ่อเทียนสอนทุกอย่าง เช่น สร้างจังหวะและเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลูกสติให้เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจที่คิด สติสัมปชัญญะเป็นดวงตาภายใน เป็นผู้เฝ้า ดูกาย ดูใจ จนเห็นกายกับใจว่า เป็นเพียงแต่รูปธรรม นามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน เป็นธรรมชาติล้วนๆ จากนั้นหลวงพ่อเทียนสอนให้ดูทุกข์ที่อยู่กับรูปและให้ดูทุกข์ที่อยู่กับนาม ให้เริ่มต้นจากดูรูปก่อน รูปที่เป็นรูปธรรม เมื่อมีสติสัมปชัญญะ ดูรูป ก็เห็นว่า เป็นรูปทุกข์ เป็นกองทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ หายใจก็คือแก้ทุกข์ กินก็คือแก้ทุกข์ ตลอดถึงยืน เดิน นั่ง นอน คือแก้ทุกข์ให้รูป เมื่อเห็นว่ารูปเป็นโรค การเจ็บไข้ก็ต้องหาวิธีแก้ทุกข์ นี้เป็นเรื่องของรูปธรรม

จากนั้นให้มาดูที่นามหรือดูจิตใจ เปรียบเสมือนนั่งอยู่ในห้องกระจก สิ่งใดเข้ามาก็เห็นได้ทันที ใจหรือจิตใจแต่เดิมก็ปกติ แต่อารมณ์เมื่อจรเข้ามา คือ เมื่ออาคันตุกะจรมา จะเป็นความดีใจ เสียใจ ก็เห็น จะเป็นความรัก จะเป็นความโกรธ จะเป็นความโลภ จะเป็นความหลง ก็เห็น. เห็นทุกๆอย่างเพราะเมื่อเป็นผู้ดูก็เห้น เห็นแล้วละได้ ไม่เป็นไปกับมัน ไม่เหมือนกับดูรูปธรรม ทุกข์ของรูปละไม่ได้ ทำได้แต่เพียงบรรเทาอยู่อย่างนั้น จะไม่ให้หิวไม่ได้ ไม่เหมือนกับใจ จิตใจนี้ละได้เด็ดขาด ละทีเดียว จะละได้ตลอดชีวิต หากได้มาศึกษาถูกจุด ตรงเป้า จะไม่ยาก เหมือนกับการไขกุญแจที่ถูกลูกก็เปิดออกได้ทันที ไม่เสียเวลา

หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกุญแจ หรือเหมือนกับเครื่องมือการเดินทางที่สมบูรณ์แบบ ก็จะผ่านได้ตลอด แม้กาย เวทนา จิต ธรรมซึ่งเป็นด่านกักขังมนุษย์ให้ยากที่จะพ้นไปได้ แต่ถ้าได้เจริญสติปัฏฐาน ทำให้มาก สติสัมปชัญญะก็จะเป็นแชมป์ในเรื่องนี้ ได้ชัยชนะผ่านได้ตลอด เพราะรู้ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน จึงสารภาพและยอมจำนนต่อสติ

ความจริงหนีความจริงไปไม่ได้ ความไม่จริงก็ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ เปรียบเหมือนผู้พิพากษาตุลาการที่พิพากษาคดีอย่างยุติธรรมไม่ลำเอียงเข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๔. ออกบวช

เมื่อตัดสินใจปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้คำตอบที่เคยสงสัย ได้คำตอบกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ เห็นว่าเป็นทิศทางที่ทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงได้ จากความที่ไม่เข้าใจ ก็เกิดความเข้าใจขึ้น เห็นว่าการเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของท่านไปในทางที่ถูก รู้สึกเบากายเบาใจ เห็นถูกเป็นถูก เห็นผิดเป็นผิด การปฏิบัติในช่วงแรกก็เข้าใจเท่านั้น แต่ถ้าไม่ปฏิบัติต่อไปก็รู้เท่าเดิม

ครั้งแรกท่านไม่คิดจะบวช คิดเพียงแต่จะมาศึกษาและปฏิบัติ พร้อมกันนั้นก็ยังดูแลรับผิดชอบทางบ้านไปด้วย เพราะท่านมีความรู้สึกต้องทำหน้าที่และยังต้องรับผิดชอบพ่อแม่พี่น้อง มารดาของท่านไม่ให้ท่านบวชอีกและเคยบอกกับท่านว่าลูกทั้งหมด ๗ คนนั้นท่านไม่หวังพึ่งใครเลย นอกจากพึ่งท่านเพียงคนเดียว มารดาของท่านพูดให้ท่านได้ยินอย่างนี้หลายครั้ง ท่านจึงไม่คิดที่จะบวชอีก

พอได้มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนเข้า รู้ว่าทำเพียงเท่านี้ ก็รู้ว่าไม่เป็นบาป ถ้าหากทำได้มากขึ้น ท่านอาจจะรู้มากกว่านี้ วิธีที่จะทำได้มากและมีโอกาสทำอย่างเต็มที่ ก็คือ ต้องบวช ท่านคิดว่าการบวชเป็นพระหรือชีวิตนักบวชนี้เหมาะกับการปฏิบัติที่สุด เพราะจะปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ท่านจึงตัดสินใจบวช

เมื่อท่านได้บวชแล้ว ท่านก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมเต็มที่กับหลวงพ่อเทียน ได้ใช้ชีวิตทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ปฏิบัติเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ท่านได้คำตอบมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สงสัย เรื่องกาย เรื่องใจ เหมือนครั้งก่อนๆ ที่เคยมีปัญหา เรื่องกาย เรื่องใจ

ท่านเคยเป็นคนขี้โรค เคยปวดท้องกระทั่งถูกหามเข้าโรงพยาบาล และเคยคิดว่าตัวเองจะตายเพราะโรคท้อง ท่านเคยเป็นเคยช่างลังเลสงสัย เมื่อมาฝึกมาปฏิบัติก็เลยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และหมดความลังเลสงสัย เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ปฏิบัติมา จนถึงบัดนี้เกือบ ๓๐ ปีแล้ว ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นอมตะ สุขภาพก็ดีมาตลอด จิตใจก็ปกติมาตลอด

ท่านว่าท่านไม่ได้เกิดเมื่อครั้งพุทธกาล ท่านไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าเทศน์ ไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แต่ท่านคิดว่าหลวงพ่อเทียนนี้เป็นครู เรียนตามพ่อ ก่อตามครูจริงๆ ไม่ใช่ใครที่ไหนเลยเป็นคนสอน ฉะนั้นท่านจึงว่า หลวงพ่อเทียนเป็นผู้ให้ท่านเกิดเรื่องนี้ หลวงพ่อเทียนเป็นคนสอน แต่ครูบาอาจารย์อื่นสอนอย่างไร ท่านไม่รู้ สำหรับหลวงพ่อเทียนสอนอย่างนี้ ท่านก็รู้อย่างนี้

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ


๕. ออกเผยแผ่ร่วมกับหลวงพ่อเทียน

หลังจากออกบวชอยู่ปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนได้ ๗ ปี จนหมดความลังเลสงสัยการปฏิบัติในแนวทางนี้แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้พบกับเจ้าคณะจังหวัดเลย และปรารภว่าต้องการให้พระกรรมฐานมาสอนที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดเลย (สีหนาทภิกขุ) จึงแนะนำให้หลวงพ่อเทียนไปช่วยสอน ท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนมาจำพรรษาที่วัดชลประทานฯ นับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้ลงมาจำพรรษาและร่วมเผยแผ่ธรรมในภาคกลาง

ในขณะนั้น พระอาจารย์โกวิท เขมานันโท ซึ่งเป็นพระที่บวชอยู่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลายปี ท่านมีภูมิรู้ทางธรรมแตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถบรรยายธรรมได้อย่างลึกซึ้งไพเราะ เป็นที่สนใจของนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และปัญญาชนทั่วไป ท่านมาจำพรรษาที่สัดชลประทานฯ ด้วยและเป็นผู้สอนกรรมฐานแบบอานาปานสติ ตามแนวทางของสวนโมกข์

เมื่อหลวงพ่อเทียนกับท่าน มาอยู่ที่วัดชลประทานฯ ใหม่ๆ นั้น ไม่เป็นที่รู้จัก คนจะรู้จักพระอาจารย์โกวิทเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมและมีบุคลิกน่าเลื่อมใสศรัทธา ส่วนหลวงพ่อเทียนเป็นพระหลวงตาแก่ๆ มาจากบ้านนอก พูดภาษากลางก็ไม่ค่อยชัด จึงไม่มีใครให้ความสนใจ มาอยู่ ๑ อาทิตย์แล้ว ยังไม่ได้พูดแนะนำสั่งสอนใครเลย พระเณรทั้งหมดไปปฏิบัติแบบอานาปานสติอยู่กับพระอาจารย์โกวิท

หลวงพ่อเทียนกับท่านจึงได้ชวนลูกศิษย์ของพระอาจารย์โกวิทมาแอบสอนกันลับๆ จนเวลาผ่านไป ๑ เดือน พระบางรูปก็เข้าใจเรื่องรูปนาม เมื่อเข้าใจแล้วก็ไปชวนพระรูปอื่นๆ มาเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งพระอาจารย์โกวิทแปลกใจว่าทำไมลุกศิษย์ได้หายไปเรื่อยๆ จึงถามพระ พระก็เล่าให้ฟัง พระอาจารย์โกวิทจึงได้สนใจหลวงพ่อเทียนและมาพบหลวงพ่อเทียน หลังจากสนทนาธรรมกันแล้ว พระอาจารย์โกวิทเกิดศรัทธาเลื่อมใส ยินยอมให้หลวงพ่อเทียนสอนลูกศิษย์ทั้งหมด รวมทั้งตัวท่านเองด้วย

นับแต่นั้นมา คำสอนตามแนวของหลวงพ่อเทียนได้แผ่ขยายออกสู่คนรุ่นใหม่ โดยพระอาจารย์โกวิทเป็นกำลังสำคัญ ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสพูดแนะนำและสอนการปฏิบัติเคียงข้างกับหลวงพ่อเทียนอย่างเต็มความสามารถ จนกระทั่งมีทั้งพระและฆราวาสเกิดความสนใจในการปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาเห็นว่าที่นั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป ญาติโยมจึงชวนหลวงพ่อเทียนมาหาที่แห่งใหม่ ในครั้งแรกคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ได้นำหลวงพ่อเทียนมาดูวัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ ขณะนั้นมีร่องรอยของโบสถ์ เจดีย์เก่า ซากอิฐกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดิน พอให้เห็นร่องรอยว่าเคยเป็นวัดมาก่อน บางครั้งพระธุดงค์มาแวะพักแรมบ้างแล้วผ่านไป มีที่ดินเหลืออยู่เฉพาะบริเวณโบสถ์และเจดีย์เท่านั้น ที่นอกนั้นชาวบ้านได้ยึดไปทำสวนหมดแล้ว หลวงพ่อเทียนรู้สึกพอใจในสถานที่นี้ จึงตัดสินใจที่จะมาอยู่บูรณะให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ร่วมบุกเบิกวัดสนามใน

เมื่อหลวงพ่อเทียนตกลงใจจะอยู่บูรณะวัดสนามในเพื่อให้เป็นที่เผยแผ่ธรรมนั้น ท่านได้มาร่วมงานด้วย ในตอนแรกเริ่ม พระอาจารย์โกวิทได้ติดตามมาจากวัดชลประทานฯ พร้อมด้วยญาติโยมหลายคน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพระอาจารย์ทองล้วน ได้เข้าร่วมงานด้วย ทุกคนต้องทำงานหนัก นับตั้งแต่หารูปแบบ รวมถึงงานก่อสร้างศาลา กุฏิ และปรับพื้นที่ งานที่หนักที่สุดคือ ได้แก่ งานปรับพื้นที่ ต้องหาบ ต้องแบกทรายจากหมู่บ้านเดินข้ามทางรถไฟมาถมลานวัด กว่าจะเป็นรูปร่างเรียบร้อยให้ใช้สอยได้ก็เป็นเวลาหลายเดือน ท่านได้อยู่ช่วยงานก่อสร้างและปรับปรุงวัด ตลอดจนร่วมกับหลวงพ่อเทียนในการสอนธรรม จนกระทั่งใกล้เวลาเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้ลาหลวงพ่อเทียน ไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ศาลาเอนกประสงค์ วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ


๖. ความเป็นอยู่ที่วัดป่าสุคะโต

อยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า

ในขณะนั้น วัดป่าสุคะโต ติดต่ออยู่กับป่าผืนใหญ่ รอบๆ ยังไม่มีไร่มัน ไร่ข้าวโพดและไร่ยูคาลิปตัส บ้านคนยังไม่มี มีแต่สัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านอยู่กับอีเก้ง ได้เอาน้ำปลา เอาปลาไปให้มันกิน แล้วท่านก็นั่งดู เห็นมันชนกัน มันไถกัน มันจำกลิ่นท่านได้ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ แถวนั้นยังมีเม่น เสือดาว หมูป่า และสัตว์ต่างๆ อีกมากมาย ตอนนั้นกุฏิหมายเลข ๒ ที่อยู่ในเขตอุบาสิกาปัจจุบัน สมัยนั้นยังไม่มีแบ่งเขต บางครั้งท่านก็พักอยู่หลังนี้ คืนหนึ่งมีเสียงเหมือนรถติด ดังตืดๆๆๆ ท่านได้ส่องไฟดู เห็นเม่นทำขนพองทั้งตัว พอเวลามันวิ่ง มันก็ลู่ขนก่อน เวลาปราบศัตรู มันจะสั่นขน เสียงดังตืดๆๆๆ

มีครั้งหนึ่ง ท่านนอนหันศีรษะไปทางกอไผ่ ตัวลิ่น (นิ่ม) เอาหางมาแหย่ท่าน เสียงดับตีบๆ ท่านอยู่ในมุ้งมองไป นึกว่างูมาตอด เหมือนงูขดแล้วเอาหัวลงมาตอด ท่านจึงปีนกอไผ่ขึ้นไปดู จึงรู้ว่าเป็นตัวลิ่น ท่านทำท่านอนสงบอยู่ในมุ้ง มันจึงถอยลงมา เอาหางบ้าง หัวบ้าง มาแหย่ พอจับหางมาดึงไว้ มันก็ขด พอดีถึงเวลาทำวัตร ท่านก็อุ้มตัวลิ่นไปศาลาไก่ด้วย คนผ่านไปผ่านมาก็สงสัยว่าตัวอะไร ท่านไปตีระฆัง มันก็เฉย ไม่ตกใจเสียงระฆัง ทุกวันนี้ ไม่มีสภาพเช่นนี้แล้ว ท่านเล่าว่า เมื่อท่านไปอยู่วัดโมกขวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น หนึ่งเดือน อีเก้งที่อยู่แถบนี้ตายเกือบหมด

สมัยแรกๆ ที่ท่านไปอยู่วัดป่าสุคะโต การเลี้ยงชีพลำบากมากและขัดสน พระต้องบิณฑบาตไกลจากวัดมาก ได้มาแต่ข้าวเหนียวเปล่าๆ พระต้องมาทำกับข้าวเอง กับข้าวที่มีทุกวันคือ น้ำปลาผสมพริกไว้จิ้มกับข้าวเหนียวและยอดผักป่าที่หาได้บริเวณนั้น การเดินทางขึ้นไปก็ลำบากมาก ต้องปีนเขาขึ้นไปทางอำเภอแก้งคร้อ ซึ่งมีความชันมาก ในขณะนั้นทั้งพระและญาติโยมต้องแบกสัมภาระที่จำเป็นติดตัวขึ้นไปด้วย เมื่อถึงยอดเขาแล้ว ต้องลัดเลาะไปตามไร่ ตามนา กว่าจะถึงบ้านท่ามะไฟหวานและถึงวัดป่าสุคะโต ก็รู้สึกเหนื่อยอ่อนเป็นกำลัง

วันหนึ่งท่านเดินจากวัดป่าสุคะโตไปท่ามะไฟหวาน เห็นชาวบ้านอุ้มลูกซึ่งเป็นไข้มาลาเรียออกมาจากป่ามาตายกลางทางพอดี ท่านเห็นพ่อแม่เด็กเป็นทุกข์ จึงถือว่าเป็นธุระของท่านด้วย ท่านคิดว่า จะทำวิธีใดหนอจึงจะช่วยเด็กให้พ้นอันตรายได้บ้าง

ท่านได้เรียกประชุมชาวบ้าน ตกลงให้เด็กที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในไร่ ในป่า ให้มาอยู่วัด ท่านจะเลี้ยงดูให้ ชาวบ้านไม่เคยมีใครทำอย่างนี้ก็กลัวบาป จะนำลูกมาให้พระเลี้ยง พระดูแลได้อย่างไร ก็กลัวเป็นบาป เมื่อประชุมกัน ท่านได้ให้ความคิดเห็นต่างๆ รวมถึงอธิบายเรื่องราวต่างๆ จนชาวบ้านยอมให้ลูกมาอยู่วัด ท่านเป็นผู้ดูแลเองและพระในวัดก็ช่วยกันรับผิดชอบ จึงเกิดเป็นศูนย์เด็กเล็กขึ้นที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน

รูปภาพ
พระไพศาล วิสาโล


ต่อมาวัดป่าสุคะโตขาดพระดูแล หลวงพ่อบุญธรรมลงไปอยู่หนองแก ท่านต้องรับผิดชอบทั้ง ๒ วัด เดินไปเดินมา บางทีก็มีพระมาอยู่ ท่านก็เดินมาสอนที่วัดป่าสุคะโต แล้วก็เดินทางกลับไป เดินทุกวันในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๓ ตอนนั้น พระไพศาล วิสาโล ยังไม่มา (พระไพศาลมาอยู่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖) เมื่อมีคนมาปฏิบัติ พอฉันเช้าเสร็จ ท่านก็เดินมาสอนที่วัดป่าสุคะโต ทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านก็เดินกลับวัดท่ามะไฟหวาน นับการเดินจากศาลาไก่ วัดป่าสุคะโต ถึงประตูวัดบ้านท่ามะไฟหวาน นับได้ ๕,๓๐๗ ก้าว สมัยก่อนเป็นหนุ่มท่านเดินได้ทุกวัน เพราะมีคนมาปฏิบัติเรื่อยๆ ไม่ขาด

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมก็รู้จักหลวงพ่อ เมื่อครั้งท่านปรับปรุงวัดป่าสุคะโตนั้นท่านไม่คิดจะสร้างอะไรมาก เมื่อมีกลุ่มมากันมากขึ้น ไม่มีที่อยู่ จึงเกิดมีศาลาหลังใหญ่ขึ้นมา มีกุฏิหลายหลังที่มีเจ้าภาพสร้าง จึงคิดไปว่าถ้าสร้างตามศรัทธาญาติโยมคงไม่จบสิ้น ก็เลยหยุดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๗

ศาลาหลังใหญ่ในบริเวณวัดป่าสุคะโต เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ เพราะกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม ตอนนั้นคุณวุฒิชัย ทวีศักดิ์ศิริผล (อดีตประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม) เป็นผู้นำคณะมา คุณวุฒิชัยรู้จักหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน จังหวัดนนทบุรี เมื่อรู้จักท่าน (หลวงพ่อคำเขียน) ที่วัดสนามใน จึงช่วยกันสนับสนุนวัดป่าสุคะโต ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติให้มีสัปปายะตามสมควรและเป็นไปตามฐานะ

ปัญหาการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าเป็นปัญหาหนึ่งของท่าน บางทีคนที่ไม่ปรารถนาดีเขาอยากได้ป่าเป็นไร่ของเขา อยากได้ไม้สร้างบ้านสร้างเรือนของเขา เขาก็ลักลอบตัด แล้วถาง ท่านคนเดียวก็ดูไม่ไหว ดูไม่ทั่วถึงก็เกิดความขัดแย้งกัน บางคนถึงกับยิงปืนข้ามหัว จนใบไม้ร่วงเป็นแถวก็มี ท่านอยู่ไม่สบายต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อรักษาป่าให้มีหลงเหลือเท่านี้

นอกจากเรื่องของคนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องไฟป่า แต่ก่อนป่าในรัศมีของวัดป่าสุคะโตมีป่าล้อมรอบ ไร่ของคนไม่จรดเขตวัด ต่อมาคนถางป่าหมดก็เหลือแต่เขตวัดป่าสุคะโต ไฟก็ลามเข้าได้ง่าย แต่ก่อนไฟเข้าไม่ถึง สมัยนี้ลมพัดทะลุไปเลย ต้นไม้ก็ล้ม ไฟก็ไหม้ ป่าก็ทรุดโทรม ทุกๆ ปี

ปัญหาเรื่องไฟป่า เกือบทำให้เสียชีวิตไปหลายครั้ง กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม จึงได้จัดแนวร่วมป้องกันไฟป่าให้ โดยสร้างแท๊งค์น้ำที่หอไตรและที่เรือนธรรม และล้อมรั้วในเขตรัศมีของวัดป่าสุคะโตประมาณ ๕๕๙ ไร่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ถูกทางสวนป่าตัดไปคงเหลือไม่ถึง ๕๐๐ ไร่

สมัยก่อนการกันไฟก็ต้องจ้างคนมาเดินรอบทุกวัน ไม่ต้องให้เขาทำอะไร ให้เดินรอบวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน จ้างคน ๓ คน รับผิดชอบ ถ้ามีไฟมีเกิดลุกลามเข้ามาเขาก็ดับ ทั้ง ๓ คนอยู่แถวนี้ให้เขารับผิดชอบ โดยให้เงินเดือน เดือนละ ๓๐๐ บาท ต่อมาพวกนี้มีกิจกรรมอื่นจะจ้างราคานี้ไม่ได้ ท่านจึงจ้างรถแทรกเตอร์ จ้างให้ไถรอบวัด บางปีก็กันไฟได้ บางปีก็กันไม่ได้

วัดป่าสุคะโตมักเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มาจากที่อื่น เช่น กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม คนแถวนี้แทบไม่มีใครสนใจการปฏิบัติ ท่านกล่าวว่า ทุกวันนี้คนหลงในเงินตรามาก ต้องการเงินมาก ถือว่าเงินเป็นใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องเงินมาก ถ้าเงินนี้เข้าสู่ชุมชนใด จะทำลายเครือญาติ ทำลายวัฒนธรรมประเพณี ทำลายวัดวาอารามไปหมด จะให้คนมาปฏิบัติภาวนา โดยเฉพาะคนแถวนี้ (รอบๆ วัดป่าสุคะโต) ก็น่าเห็นใจเขาเพราะอาชีพการงานต่างๆ ความยาก ความลำบากทำให้เขาคิดไม่ถึง ถ้าจะไปสอนเรื่องภาวนาที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับเรา ชาวบ้านก็ถือว่าไม่มีความสำคัญ เขาเข้าไม่ถึงภาวนา

ทุกวันนี้ถือว่าอุปสรรคการสอนธรรมข้อหนึ่งก็คือเรื่องเงิน ชาวบ้านแถวนี้โตขึ้นมาก็หาแต่เงิน เห็นเงินเป็นใหญ่ ทำลายระบบครอบครัว ระบบเครือญาติ ทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำลายอะไรทุกอย่าง การปกครองก็เสียไป การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็น้อยลง แม้ชาวบ้านเคารพเชื่อฟังบ้าง แต่จะให้สนใจปฏิบัติจนเข้าถึงธรรมนั้นยาก ท่านว่าท่านพูดอะไรเขาก็เคารพอยู่พอสมควร พอดุว่าได้ พอเฆี่ยนพอตีกันได้ ว่าอะไรหนักๆ บ้าง แม้แต่ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ท่านก็ว่าได้ เพราะเขาให้ความเคารพท่าน เขาไม่ทำลายท่าน

ท่านจึงยังคงอยู่ที่วัดป่าสุคะโตต่อไปด้วยเหตุผลว่า เพราะคนแถวนี้ยังไม่ดีพอ ถ้าจะเปรียบเทียบกับคนที่อื่น ท่านจึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญาให้กับที่นี่ ท่านยังไปจากแถวนี้ไม่ได้ ถ้าคนยังไม่เป็นคนดี

ดังนั้นการให้อุปถัมภ์จึงให้ตามสภาพของเขา เช่น ที่ผ่านมากลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมให้การสนับสนุนกิจกรรม เช่น จัดธรรมหรรษาสู่วัดป่าสุคะโต เป็นต้น ชาวบ้านจึงได้รับแจกเสื้อผ้า สิ่งของ ของเล่น บางสิ่งบางอย่าง ชาวบ้านก็พลอยมีฟ้ามีฝนไปด้วย คนบางคนก็บอกว่าได้นุ่งได้ห่มเพราะท่าน

เหตุที่มากลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมมีกิจกรรมแจกเสื้อผ้าเพราะสมัยหนึ่งไปประชุมร่วมกับชาวบ้าน ประชุมเวลากลางคืน ตอนนั้นหน้าหนาว ท่านก็เดินตรวจรอบๆ เห็นชาวบ้านบางคนห่มผ้าเปียกๆ เสื้อไม่มี ท่านถามเขาว่า ทำไมไม่ใส่เสื้อ เขาตอบว่า มีเสื้อตัวเดียวไปทำงาน เสื้อมันเปียก ไม่มีเสื้อผ้า ท่านจึงปรารภให้กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมฟัง กลุ่มฯ ก็เลยจัดเสื้อผ้ามาแจก

รูปภาพ
กุฏิพักภาวนาภายในวัดป่าสุคะโต

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๗. คำปรารภของหลวงพ่อ

ความตั้งใจของท่าน คือ งานสอนธรรม ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เป็นงานอดิเรก เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน เกี่ยวกับการสงเคราะห์ อนุเคราะห์

ท่านเล่าว่า ถ้าจะถามว่าการทำเภสัช การทำน้ำมนต์ การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ท่านได้ทิ้งไปแล้ว แต่คนยังสนใจ บางคนถือว่าท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ เช่น เขาถอยรถมา เขาก็ต้องขับเข้ามาวัดก่อน เอามามอบให้หลวงพ่อ บางทีก็เจิมให้ ท่านบอกว่าท่านเจิมไม่เป็น เขาขอให้นั่งให้ก็ได้ ก็ต้องไปนั่งให้เขา เขาก็ยังถือว่า ท่านเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ไปอย่างนั้น สอนบอกว่ารถมันไม่เป็นไร น้ำมนต์ก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากตัวเรา สอนให้เห็นสัจธรรม ให้เหตุ ให้ผล ให้พึ่งตัวเอง บางคนไม่ยอมเอา จะเอาน้ำมนต์ จะเอาด้ายผูกแขน จะให้พ่นน้ำมนต์ บางทีก็ทำ แต่ท่านว่า ไม่ใช่สิ่งที่ท่านอยากทำแต่ทำไปเพื่อให้มันแล้วๆ รอดๆ ไป แต่ก็สอนเขาอยู่

ที่ผ่านมามีคนนิมนต์ไปสอนธรรม บางทีก็ไปต่างประเทศ ท่านได้ลองไปหลายประเทศแล้ว ท่านได้พิจารณาแล้วว่า การเดินทางไปต่างประเทศไม่เหมาะกับท่านเพราะปัญหาของการใช้ภาษา ท่านจึงต้องอาศัยผู้อื่นเป็นล่าม ท่านเล่าว่า คนต่างชาติ มีความสนใจการปฏิบัติ เขาศึกษาตรง เขาไม่ให้สอน เขาให้เราสั่งให้เขาทำ ถ้าไปสอน เขาไม่เอา ให้เขาทำอะไรก็บอกเขา ท่านจึงให้เขาเจริญสติ เขาก็ชอบ เขาพอใจ แต่ท่านว่า หากเป็นไปได้ ท่านคงไม่ไปต่างประเทศ ท่านจะอยู่เมืองไทยและจะสอนคนไทย

ท่านมีความตั้งใจอย่างนี้ ท่านเคยพูดกับเพื่อนพระว่า เมื่ออายุ ๖๐ ปี จะขออยู่ประจำที่ ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน หลายคนก็ให้ความสนับสนุน ให้อยู่เป็นหลักเป็นที่ และบางโอกาสก็เดินทางบ้าง ถ้าจำเป้น แต่ถ้ามีสงฆ์ มีเพื่อนพอที่จะเข้าใจกันให้ทำงานแทนกันได้ ท่านก็อยากมี

ท่านเคยพูดว่า ท่านนั้นอาภัพเรื่องการเผยแผ่ธรรม กล่าวคือ สมัยก่อนท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนท่านได้พูดสิ่งที่ได้พบเห็นให้หลวงพ่อเทียนฟัง หลวงพ่อเทียนก็ได้ยินคำพูดที่เกิดจากสิ่งที่ท่านได้พบเห็น

แต่เมื่อท่านสอนคนมา ท่านไม่เคยได้ยินจากคนที่ท่านสอนเหมือนกับที่ท่านเคยพูดให้หลวงพ่อเทียนฟังเลย ท่านจึงเป็นพระกรรมฐานที่อาภัพลูกศิษย์ แม้คนที่ศรัทธาท่านจะพอมี แต่จะให้ถึงขั้นภูมิใจในคำสอน ภูมิใจในผลการสอนท่านยังไม่ภูมิใจ

ท่านว่า ถ้าผู้ปฏิบัติเข้าถึงจริงๆ จะอดพูดไม่ได้จะห้ามก็ไม่อยู่ มันจะกระตือรือร้นในการสอนคน จะมีความยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่เกรงกลัว เพราะว่าจะพูดความจริงให้คนฟัง

สำหรับกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ท่านปรารภว่า อยากให้มาปฏิบัติธรรมโดยตรง วิธีใดที่เราจะเจริญสติ ให้ปรารภเรื่องนี้เป็นใหญ่ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย เล็กๆ น้อย อย่าไปมุ่งทำอะไรให้มาก การมาวัดป่าสุคะโตให้มีจุดประสงค์มาเจริญสติ โอกาสเจริญสติ วันหนึ่ง สองวัน ก็มีโอกาสได้เจริญสติ อย่าไปทำกิจกรรมอื่น

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
วัดป่าสุคะโต สถาบันสติปัฏฐาน


๘. วัดที่อยู่จำพรรษาของหลวงพ่อ

เมื่อบุคคลมาบวชเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องอยู่จำพรรษาในช่วงฤดูฝนทุกปีตามพระพุทธบัญญัติ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระภิกษุ สามเณร และชาวพุทธผู้อยู่ในแวดวงการปฏิบัติธรรม ถ้าพระภิกษุรูปใดขาดการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ซึ่งกำหนดไว้ ๓ เดือนเป็นอย่างน้อย ก็ถือว่าขาดพรรษา และเป็นผลให้อายุการเป็นนักบวชของท่านไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่เพิ่มความอาวุโสตามลำดับที่ควรจะเป็น สิทธิพิเศษที่จะพึงได้ก็ถูกตัดออกไป การอยู่จำพรรษาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นการสืบต่อเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย อีกทั้งการอยู่กับที่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แนะนำสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ ผู้ยังจะต้องศึกษาจากครูบาอาจารย์หรือพระภิกษุรุ่นพี่ๆ ผู้มีประสบการณ์มาก่อน

เมื่อบวชแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาตามวัดต่างๆ ดังนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ป่าพุทธยาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย ภายหลังจากการไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนอยู่ ๑ เดือน จนจิตใจเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่งแล้ว ท่านได้กราบลามารดาของท่านและญาติพี่น้องและภรรยา เพื่อจะไปบวช แม้ว่าถูกคัดค้านก็ตาม ท่านไม่เปลี่ยนแปลงความตั้งใจ ได้เดินทางออกจากบ้านไปหาหลวงพ่อเทียนและบวชที่จังหวัดเลย และอยู่จำพรรษาที่ป่าพุทธยาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่วัดบ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อย่างเข้าพรรษาที่ ๒ ภายหลังจึงมุ่งมั่นปฏิบัติทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ในธรรมแล้ว หลวงพ่อเทียนได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่บ้านบุฮม ซึ่งเป็นบ้านเกิดหลวงของพ่อเทียนเอง เพื่ออนุเคราะห์ชาวบ้านในช่วงฤดูเข้าพรรษา ตามความต้องการของศรัทธาญาติโยมที่นั่น

ปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๔ ที่ป่าพุทธยาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย กลับมาป่าพุทธยานอีกและจำพรรษาติดต่อกันเป็นเวลา ๓ พรรษา

ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ วัดโมกขวนาราม (ป่าห์) ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปีนั้นหลวงพ่อเทียนเริ่มเผยแพร่ธรรมเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ท่านจึงได้มาช่วยการงานของหลวงพ่อเทียนและอยู่จำพรรษาที่นั่น ร่วมกับเพื่อนพระอีกหลายรูป

ปี พ.ศ. ๒๖๑๖-๒๕๑๗ ที่ป่าพุทธยาน ในปีนี้ทางราชการได้ก่อตั้งวิทยาลัยครู และได้ใช้สถานที่ครอบคลุมเขตป่าพุทธยานเดินเข้าด้วย และให้ย้ายป่าพุทธยานมาอยู่ข้างนอก ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก คือที่อยู่ปัจจุบันนี้ ท่านจึงได้กลับมาช่วยการงานของวัด และอยู่จำพรรษาที่ป่าพุทธยานที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่แห่งนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ปีนั้นท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนมาช่วยเผยแผ่ธรรมกับคนกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นที่แนวคำสอนของหลวงพ่อเทียนได้แผ่กระจายเข้าสู่วงสังคมเมือง โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชน คนรุ่นใหม่ และต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่วัดป่าสุคะโต (ชื่อทางการเรียก วัดเอราวัณ) ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ หลังจากออกมาจากวัดชลประทานฯ แล้ว ได้มาช่วยบูรณะวัดในสนาม อยู่ช่วงระยะหนึ่งเมื่อใกล้เข้าพรรษาท่านได้ลาหลวงพ่อเทียนขึ้นไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต

ปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๕ วัดบ้านท่ามะไฟหวาน (ชื่อทางการเรียกว่า วัดภูเขาทอง) ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ หลังจากท่านได้คลุกคลีกับชาวบ้าน และเห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากก็นึกสงสารชาวบ้าน ต้องการจะช่วยเหลือ จึงได้มาอยู่กับชาวบ้านที่วัดบ้านท่ามะไฟหวานซึ่งอยู่ท่ามกลางชุมชน ขณะเดียวกันก็ได้ดูแล และสั่งสอนแนะนำผู้สนใจปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตด้วย

ปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๐ ที่วัดป่าสุคะโต

ปี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๕ ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน

ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่วัดโมกขวนาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คณะสงฆ์และญาติโยมได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่นั่น เพื่อแนะนำสั่งสอนอบรมการปฏิบัติแก่ผู้สนใจการเจริญสติ ตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่วัดจวงเหยน เมืองคาร์เมล มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้สนใจการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ได้นิมนต์ให้ไปสอนและจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา ๕ เดือน

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่วัดป่าสุคะโต เดือนเมษายน ๒๕๓๙ พระอาจารย์หลายรูปที่เคารพนับถือท่านพร้อมด้วยญาติโยมได้ประชุมปรึกษาหารือและมีมติเห็นพ้องกันตามความดำริของท่านว่าต่อไปจะไม่นิมนต์ท่านมาให้การแนะนำสั่งสอนอีก ผู้ที่สนใจทุกคนควรจะไปหาท่านที่วัด เพื่อถนอมชีวิตสุขภาพของท่านให้อยู่ยืนยาวและสงบสุข ทั้งได้มีเวลาอบรมสั่งสอนผู้ปฏิบัติได้เต็มที่และมีเวลาดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด

เดือนสิงหาคม ๒๕๓๙ ครบรอบ ๖๐ ปี ขอพักการเดินทางไกล เนื่องจากปฏิปทาและคำสอนของท่านเป็นที่ประทับใจของผู้ได้พบเห็นได้ฟังธรรมหรือได้ปฏิบัติตาม จึงมีผู้นิมนต์ท่านไปงานอบรมตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ท่านจึงต้องเดินทางไกลอยู่บ่อยๆ เวลาส่วนใหญ่ของท่านจึงหมดไปกับการเดินทางและทำให้สุขภาพของท่านก็ทรุดโทรมไปด้วย ท่านจึงปรารภว่า เมื่ออายุท่าน ๖๐ ปี อยากจะพักอยู่กับที่

รูปภาพ
ป้ายเกล็ดคำสอนของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ณ วัดป่าสุคะโต


ตำแหน่งและสมณศักดิ์ที่ได้รับ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านท่ามะไฟหวาน ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์จากคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองให้เป็นพระครูบรรพตสุวรรณกิจ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล

ปัจจุบัน

ท่านประจำอยู่วัดป่าสุคะโตและดูแลวัดบ้านท่ามะไฟหวานควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้นได้ดูแลวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) อีกแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นวัดป่าในสาขาและอยู่ไม่ไกลจากกันนัก คือ ราว ๑๕ กิโลเมตรจากวัดป่าสุคะโต

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 09:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๙. คำตอบของหลวงพ่อต่อคำถามต่างๆ

ถาม กระผมขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ในช่วงแรกสุดที่หลวงพ่อไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนใช้เวลาเท่าใด ?

ตอบ เดือนหนึ่ง ตอนที่เป็นฆราวาส


ถาม ที่จิตเปลี่ยนครั้งแรกนะครับ

ตอบ เดือนหนึ่งเต็มๆ ตอนแรกสิบวันแล้วก็ยังไม่รู้อะไร บางคนเขาบอกว่าเจ็ดวันเท่านั้นนะ รู้รูป รู้นาม โยมทำไมไม่รู้ เณรน้อยๆ มาถาม พี่ทำไมไม่รู้ ผมปฏิบัติเจ็ดวันรู้เรื่องรูป เรื่องนามแล้ว หลวงพ่อก็เลยใจไม่ค่อยดี ต้องไปถามหลวงพ่อเทียนว่า “หลวงพ่อครับคนที่มาปฏิบัติกับหลวงพ่อไม่รู้อะไรเสียเลยมีไหม ?”

หลวงพ่อเทียนท่านตอบว่า “ไม่มี”

“คงจะเป็นผมนี่แหละเป็นคนแรก” คิดว่าอย่างนั้นนะ จนมีปมด้อยขึ้นมา พอได้เกือบเดือนก็เลยมาเข้าใจเบื้องต้น จับเส้นทางได้ รู้จักรูป รู้จักนาม รู้จักกาย รู้จักใจ ไม่ถูกกายหลอก ไม่ถูกใจหลอก ทำให้ได้ทิศทางและมั่นใจ


ถาม ในขณะนั้นหลวงพ่อใช้วิธีสร้างจังหวะหรือเดินจงกรมครับ ?

ตอบ ตอนที่รู้อยู่นั้น กำลังเดินจงกรมอยู่ ตอนทำใหม่ๆนั่งไม่ค่อยได้ พอนั่งจะรู้สึกง่วงนอน เลยเดินเอา ส่วนมากจะเดินเอา เดินแล้วรู้ หลีกหนีการนั่ง การนั่งนี่เรื่องมาก ใหม่ๆ นั่งไม่ค่อยได้ บางทีฝนตกต้องกางร่มเดินนะ เพราะนั่งแล้วมันง่วง


ถาม ครั้งที่สองเล่าครับหลวงพ่อ หลังจากนั้นอีกนานไหมครับ ?

ตอบ พอรู้เรื่องรูปเรื่องนามแล้ว ไม่ใช่รู้เรื่องรูปเรื่องนามอย่างเดียว คล้ายๆ กับว่า มันมีพละกำลัง เหมือนกับว่าเราไม่ได้ทำ ดูแล้ว รู้ไปเลย พอรู้ ก็รู้ๆๆ รู้อะไร หลุดอะไร มันพ้นอะไร มันก็รู้ไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ สิ่งที่ถูกหรือผิด เราก็ได้คำตอบ คิดว่าจะไปเถียงหลวงพ่อเทียน ถ้าหลวงพ่อเทียน ไม่รับว่าถูก เช่น การเห็นรูปเห็นนามนี้ ถ้าหลวงพ่อเทียนว่าไม่ใช่ หลวงพ่อจะยืนยัน คือ มันมั่นใจ รู้จักสมมติ รู้จักบัญญัติ รู้เรื่องบุญ รู้เรื่องบาป จิตใจก็หลุดพ้นออกไป ต้องหัดปฏิบัติ ตอนที่กลับมาที่นี่มาบวชนะ ก็มาปฏิบัติ พอมารู้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ไปมีศีลแล้วจึงรู้ว่าตัวเองมีศีล เรื่องอารมณ์นี่คิดว่าจบตั้งแต่ปีแรกเลย แต่ว่ามันยังไม่เป็น (รู้ทิศทางที่จะปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้น แต่ยังปฏิบัติไม่ถึงสภาวะนั้น) ปีที่ ๓ จึงเข้าใจจริงๆ ได้คำตอบมันไม่รู้หรอกว่ามันเป็นแล้ว ไม่นึกไม่ฝันว่ามันจะเป็นแล้ว


ถาม ปีที่สาม นี่คือการเปลี่ยนครั้งสุดท้ายใช่ไหมครับ ?

ตอบ ใช่ ครั้งสุดท้ายปีที่สาม


ถาม กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ในช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ?

ตอบ ไม่รู้จะพูดอย่างไร สิ่งที่มันเคยมีเกิดไม่มีขึ้นมา เป็นทั้งรูปธรรม เป็นทั้งนามธรรม สิ่งที่ไม่เป็นก็เป็นขึ้นมา หลวงพ่อไม่ได้ว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่ได้ว่าบรรลุธรรมนะ เกิดเปลี่ยนแปลงในชีวิตของหลวงพ่อ สิ่งที่ไม่เคยเป็น เช่น เรื่องของรูปนี้หมดไป สิ่งที่ไม่เคยเป็นมันมีขึ้นมา สิ่งที่มันมีขึ้นมาเป็นอย่างไร เราใช้ได้ ใช้กระทั่งทุกวันนี้ ไม่ผิด สิ่งที่มันเป็นเราจะเอามาใช้อีกมันใช้ไม่ได้ สิ่งที่เคยมีมาแต่ก่อน สมมติว่าเราเคยใช้สิ่งนั้น เดี๋ยวนี้มันใช้ไม่ได้ มันจืดไปหมด หมดเรื่องหมดราวไป


ถาม วิชาความรู้เกี่ยวกับคาถาอาคมอันนั้นล่ะครับ ?

ตอบ อันนั้นมันหมด หมดตั้งแต่เบื้องต้นนะ ตั้งแต่หลวงพ่อรู้รูปนาม รู้สมมตินะ เรื่องที่หลวงพ่อมีความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวเองเป็นคนดีคนเด่นเรื่องไสยศาสตร์ หมดไปเลย จืดชืดไปเลย หมดความสงสัย ตั้งแต่นั้นมาไม่ข้อง ไม่ติด เรื่องของคาถาอาคม พิธีกรรมต่างๆ ที่เป็นสมมติที่เป็นบัญญัติแต่ก่อนเคยหลงมัน บัดนี้ไม่หลงแล้ว เหือดแห้งไปเลย เมื่อกลับไปบ้านก็ไปเปลี่ยนทิศทางการดำเนินชีวิตใหม่ แต่ก่อนหลวงพ่อกลับไปบ้าน จะมีพี่ๆ น้องๆ เอาด้ายมาให้ผูกแขน ทำน้ำมนต์ ทำนั่นทำนี่ บัดนี้ก็หยุด เลิกไปตามๆ กัน แต่นี้ไป ไม่ต้องทำแล้ว ต้องเชื่อตัวเอง กรรมเป็นของตน สั่งห้ามพ่อแม่พี่น้องหมดเลย


ถาม หลวงพ่อครับแล้วในครั้งสุดท้ายนี่ หลวงพ่อเดินอยู่หรือนั่งอยู่ครับ ?

ตอบ เมื่อฉันข้าวเสร็จ กำลังนั่งอยู่


ถาม ตอนเช้าหรือครับ ?

ตอบ ตอนเช้า ก็สร้างจังหวะนั่งพิงเสาเล็กๆ


ถาม ที่ไหนครับ ?

ตอบ ที่ป่าพุทธยาน วันนั้นใกล้เวลาฉันเพล พอฉันเพลเสร็จ พระทั้งหมดลุก หลวงพ่อก็ยังไม่ลุก นั่งมองหลวงพ่อเทียนท่านอยู่ เพราะขณะนั้นมีพระมาก หลวงพ่อเทียนเห็นหลวงพ่อไม่ลุกก็มาถาม ก็พูดให้ท่านฟัง ท่านว่า “โง่แล้ว โง่แล้ว พอสิ่งนั้นหลุดขาดออกไปให้กลับมานี่สิ” หลวงพ่อเทียนดุหลวงพ่อ “คุณไปทำใหม่” ดังนั้น ครูอาจารย์ก็มีความจำเป็นเหมือนกันนะเพราะเราไม่ค่อยชำนาญ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงบอกว่า หลวงพ่อเทียนนี่แหละเป็นคนสอนเป็นครูเป็นผู้ให้กำเนิดสติปัญญา เรื่องนี้ไม่มีใครสอนหลวงพ่อ มีแต่สอนเรื่องอื่นรู้อย่างอื่น


ถาม แล้วขณะหลังจากหลวงพ่อหลุดหรือวางจากสิ่งนั้น สิ่งที่หลวงพ่อคิดถึงเป็นเรื่องแรกที่สุดคืออะไร ?

ตอบ หลวงพ่อคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ ธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมา พ่อแม่เลี้ยงเรา ธรรมชาติที่สร้างโลกให้ คนเกิดมาจนกระทั่งยอมให้มีการตั้งครรภ์พร้อมทุกข์ยาก เพื่อให้คนเกิดมารู้เรื่องนี้ ถ้าคนเกิดมารู้เรื่องนี้ ก็เรียกว่าธรรมชาติสร้างโลกมาเพื่อมารู้เรื่องนี้ก็ถือว่าสมแล้ว พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาก็เพื่ออันนี้ต่างหาก ถ้าลูกไม่รู้ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก จึงให้เรียนรู้ การเกิดมาเพื่อไม่เกิดก็รู้เท่านั้น คิดเท่านั้น ก็รู้ไปอีกว่า อ้อ...หลวงพ่อเทียนจะใช้อะไรเรา หลวงพ่อเทียนจะให้เราทำอะไร เราจะเชื่อหลวงพ่อเทียน ก็ไปถามหลวงพ่อเทียนเลยว่า “หลวงพ่อจะให้ผมทำอะไร ?” ท่านจึงตอบว่า “ถ้าสภาวธรรมที่เกิดขึ้นมีจริงก็ช่วยสอนกันต่อไป ช่วยกันพูด ช่วยสอนคน ไม่ได้ใช้ให้ทำอะไร”


ถาม แล้วหลวงพ่อคิดถึงโยมพ่อโยมแม่ อยากจะช่วยท่านหรือเปล่าครับ ?

ตอบ ก็คิดเหมือนกัน พอเข้าใจเรื่องนี้ก็ไปหาโยมแม่เป็นคนแรกเลย บังคับโยมแม่เลยนะ โยมแม่ไม่เคยนอนป่าช้าเลย หลวงพ่อก็ไปบังคับ ท่านก็บอกว่า จะให้ไปได้อย่างไร เกิดมาไม่เคยไปนอนป่าช้า ก็หาเพื่อนให้โยมแม่คนหนึ่ง คือโยมแม่ของหลวงพ่อบุญธรรมเพราะเป็นญาติพี่น้องกัน ไปบังคับให้โยมแม่นอนป่าช้าและไปชวนผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นญาติของพวกทางบ้านนะ เอาไปฝึกหัด นึกว่าจะเป็นเหมือนหลวงพ่อ พอมาสอนเข้าจริงๆกลับไม่เป็น ทีแรกหลวงพ่ออยากให้คนทั้งหมดอยู่ในกำมือของหลวงพ่อ สอนให้คนรู้เลยทั้งหมด มันต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกคน ถ้าไม่เป็นอย่างนี้มันไม่ถูก หน้าที่ของคนเรามันต้องมานี่ มันเป็นสูตรสำเร็จมาเลย ถ้าไปที่อื่นไม่ถูกมันต้องเป็นหน้าที่มนุษย์ที่จะมารู้เรื่องนี้

สำหรับแม่ หลวงพ่อก็ถือว่าแม่นี่ยังเป็นผู้สำคัญที่สุด หลวงพ่อจะไปสอนจนกว่าหมดลมหายใจ ก็จะไปพูดอย่างนี้ ทุกวันนี้ก็พูด พยายามพูด ถ้าไม่ได้แม่ หลวงพ่อคงไม่ได้อยู่อย่างนี้


ถาม เดี๋ยวนี้โยมแม่อายุเท่าไหร่แล้วคะ ?

ตอบ อายุ ๘๐ ปี


ถาม แล้วโยมพ่อยังอยู่ไหมคะ ?

ตอบ โยมพ่อไม่มี เสียชีวิตตั้งแต่หลวงพ่อเล็กๆ ถ้าโยมพ่ออยู่ก็คงจะดี ที่หลวงพ่อรู้นะ โยมพ่อเป็นคนเอาจริงเอาจัง เป็นคนดีนะ เป็นที่ยอมรับของพี่น้อง ของคนในบ้านในชุมชน เป็นที่เคารพรักของคนทั่วไป ไม่เป็นศัตรูกับใคร โยมพ่อของหลวงพ่อมีความคิดดี หลวงพ่อยังเสียดายอยู่


ถาม หลวงพ่อมีบุตรกี่คน ?

ตอบ คนเดียว ตอนหลวงพ่อไปบวช ภรรยามีท้องได้ ๔ เดือน


ถาม ตอนที่ตัดใจมานั้นรู้สึกลำบากใจไหมคะ ?

ตอบ แต่ก่อนที่จะมาทีแรกนี่ห้าสิบห้าสิบ เป็นห่วงว่าจะไปอยู่อย่างไร จะไปทำอย่างไร แล้วก็ห่วงทางบ้าน คนก็ยิ่งห้ามนะ หลวงพ่อก็ไม่ใช่เป็นคนเลวทรามนะ ชาวบ้านชาวเมืองก็เคารพนับถือเพราะหลวงพ่อใช้ชีวิตมีค่า มีราคา หลวงพ่อไม่ใช่เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ใช่เป็นคนสังคมรังเกียจ คนก็เคารพนับถือ เพราะหลวงพ่อเป็นหมอไสยศาสตร์ ตอนนั้นถ้าหญิงคนไหนมีครรภ์ เขาก็บอกตรงๆ ว่าอย่าเพิ่งหนีไปไหน เดือนหน้าคลอดแล้ว พ่ออย่าเพิ่งหนีไปไหน เขาก็บอกเลย ก็ให้อยู่บ้านจะได้เป็นที่พึ่งให้เขา เพราะฉะนั้นหลวงพ่อก็มีคนเป็นห่วง จะไปทีแรกก็ครึ่งต่อครึ่ง พอเข้าใจธรรมเบื้องต้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ห่วงใคร คิดว่ามันเป็นทางที่ถูก เหตุที่มาปฏิบัติก็เพื่อรับผิดชอบ คิดว่าดีแล้ว จะได้สอนคนให้มาใช้ชีวิตแบบนี้ ยิ่งเราจะเป็นหัวหน้าครอบครัวมีบุตรมีภรรยา เราก็จะรักแต่บุตรแต่ภรรยา แต่ญาติพี่น้อง บัดนี้เราไม่ได้รักเฉพาะบุตร ภรรยา ญาติพี่น้องเท่านั้น เรารับผิดชอบต่อมนุษย์ทั้งโลกทั้งชาติ หลวงพ่อจึงตัดสินใจว่าถูกต้องที่สุด ไม่มีเหตุผลที่จะมายับยั้ง แล้วก็มั่นใจจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมั่นใจแม้บวชมายี่สิบกว่าปี ไม่มีอะไรผิดพลาด


ถาม หลวงพ่อคะ ก่อนที่หลวงพ่อจะรู้ธรรม หลวงพ่อมีความรักธรรมชาติมากเป็นพิเศษอยู่ก่อนแล้วหรือเปล่าคะ เพราะขณะนี้หลวงพ่อก็ทำงานด้านนี้ด้วย เช่น ได้ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ?

ตอบ ไม่มีเลย สิ่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง เมื่อหลวงพ่อเข้าใจธรรมชาติ มันไม่ได้รักแต่มนุษย์ มันรักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม เกิดรับผิดชอบต่อสรรพสิ่งทุกสิ่ง หลวงพ่อเคยเป็นคนที่ถางป่า ทำไร่ทำสวนคนหนึ่งเหมือนกัน หักโค่นตามหัวไร่ปลายนาและจุดไฟเผาตอนหน้าแล้ง แต่เมื่อจิตใจเราสัมผัส ก็เกิดความรับผิดชอบ เกิดรักต้นไม้ รักมนุษย์ ให้ความยุติธรรมตั้งแต่วันนั้นมา


ถาม เปลี่ยนตั้งแต่วันนั้นเลยหรือครับ ?

ตอบ เปลี่ยนมาเลยทั้งหมดเลย ตั้งแต่รู้เรื่องรูปนาม รู้ธรรมชาติ รู้สมมติ รู้บัญญัติ เกิดรักธรรมชาติขึ้นมา ก็เลยใช้ป่า เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมของเราก็คือป่า ก็เห็นคุณค่าของป่า เห็นต้นไม้ก็มีชีวิตชีวาเหมือนกับว่าพูดกันรู้เรื่อง


ถาม มันเหมือนเป็นสิ่งๆ เดียวกับตัวเราหรือครับ ?

ตอบ มันเหมือนเป็นสิ่งๆ เดียวกับตัวเรา ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเป็นเพื่อนกันทั้งหมด มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ตั้งแต่นั้นมาไม่เบียดเบียนอะไรใครจนถึงทุกวันนี้ ใครจะมาด่า มาฆ่าเราก็ไม่เป็นไร


ถาม ที่หลวงพ่อบอกว่าแต่เดิมนั้น หลวงพ่อสุขภาพไม่ค่อยดี แต่เมื่อรู้ธรรมแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนที่ให้หลวงพ่อสุขภาพดีขึ้นในคราวนั้น กราบเรียนถามว่า ธรรมะอันนั้นช่วยหลวงพ่ออย่างไรบ้าง

ตอบ เรื่องสุขภาพทางกายนี่นะ หลวงพ่อเห็นชัดเจนว่ามันเป็นอานิสงส์ของธรรม เพราะรู้จักการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง หลวงพ่อเคยเป็นโรคปวดท้อง บัดนี้ก็หายเป็นปกติ หลวงพ่ออยากจะพูดว่าถ้าไม่รู้ธรรมหลวงพ่อคงจะตายไปแล้ว เพราะหลวงพ่อเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง อยากมีมากกว่าคนอื่น เช่น ทำนาวันหนึ่งเขาเกี่ยวข้าวได้ห้าสิบกอง หลวงพ่อต้องให้ดีร้อยกอง จะเอาอะไรๆ ให้เกินๆ คนอื่นไป จนเราเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าหลวงพ่อไม่มาทางนี้ก็ตายไปแล้ว ถ้าใช้ชีวิตแบบแต่ก่อน หลวงพ่อจะเป็นอย่างไร อานิสงส์ของการเจริญสติ อานิสงส์ของธรรม ธรรมย่อมคุ้มครองทั้งกายและใจ ทำให้ปลอดภัย สู่อิสรภาพ


ถาม กราบเรียนถามว่า หลวงพ่อรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายเลยใช่ไหม ?

ตอบ รู้สึกเห็นได้ชัด ไม่ใช่เรื่องสุขภาพนะ อะไรที่ลึกไปกว่านั้นที่เราเคยมีเคยเป็น เคยเป็นธุระมันหมดไป ปัญหาเรื่องกายนี่ไม่ได้รับใช้มันแล้ว ไม่ได้เป็นทาสของกาย หลวงพ่อใช้กายนี่เป็นทาสของเรา ใจก็เหมือนกัน แต่ก่อนเราเรารับใช้ใจ เดี๋ยวนี้เราใช้ใจ แต่ก่อนใจทันใช้เรา มันเปลี่ยนกัน เช่น ความร้อน ความหนาว ความหิว มีอำนาจกิเลสตัณหา มีอำนาจปรุงแต่งมันมาก เดี๋ยวนี้มันไม่มีเลย เราใช้มัน ไม่มีปัญหาเรื่องกายเรื่องใจ เราจะอยู่อย่างนี้จะอยู่ตรงนี้ จะกี่ร้อยกี่ปี โลกสังคมจะเป็นอะไรไปก็ตาม หลวงพ่อจะอยู่ตรงนี้ จะไม่ต้องเกิด จะไม่ต้องเจ็บ จะไม่ต้องแก่ จะไม่ร้อน จะไม่หนาว จะไม่หิว จะไม่สุข จะไม่ทุกข์ หลวงพ่อจะอยู่ที่นี่ อยู่ตรงนี้แหละ อยู่ที่ไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร


ถาม หลวงพ่อคะ หนูขอกราบเรียนถาม ที่หลวงพ่อเทียนเคยบอกว่า ก่อนที่เราจะตามประมาณ ๒-๓ นาที ทุกคนจะมาถึงตรงนี้ จะมาเจอประสบการณ์ตรงนี้ ?

ตอบ มันมีที่ มันก็เหมือนกับกายเรา มีที่ มีบ้านมีเรือน ถ้าฝนตกเราจะแช่ฝนอยู่อย่างนั้นหรือ เราจะไปอยู่ไหน เมื่อฝนตก เราต้องหลบเข้าร่มเข้าบ้าน แดดออกเราจะไปนั่งตากแดดอยู่อย่างนั้นหรือ กายมันไม่ยอมตากแดด มันจะหลบเข้าร่ม ใจของคนที่เคยฝึกหัดดี (ฝึกเจริญสติ) ยิ่งไปกว่านั้นอีก มันมีแล้ว มันเป็นแล้ว มันอยากโกรธ มันก็ไม่โกรธ มันอยากทุกข์ มันก็ไม่ทุกข์ มันไม่เอา ใครจะบังคับให้มันโกรธ ให้กราบให้ไหว้ ก็ไม่เอา ให้ทุกข์นิดหน่อยมันไม่เอา มันปล่อย มันชอบมาอยู่ตรงนี้ ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ฝึกหัด ธรรมชาติของใจมันวิ่งเข้าไปหาความทุกข์ ยิ่งโกรธยิ่งชอบ เอามาคิดอยู่เรื่อย แต่เมื่อเรารู้แล้วมันไม่เอา


ถาม คือ แสดงว่ากลับมาสู่สภาพเดิมใช่ไหม ?

ตอบ สู่สภาพเดิม สู่เหย้า สู่ภูมิลำเนา สู่ปกติภาวะ จะให้ผิดไปจากนี้มันก็ไม่เอา เมื่อมันเจ็บ มันก็ไม่ยอมเจ็บ เมื่อมันเกิดเราก็ไม่ยอมเกิด เมื่อมันแก่เราก็ไม่ยอมแก่ หมายความว่า มันไม่ไปเป็น เมื่อมันจะตายมันจะไปยอมตายได้อย่างไร เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นศิลปะ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ธรรมะก็ไม่มีความหมาย จะพูดเรื่องศาสนา ต้องพูดเรื่องนี้ ถ้าไม่พูดเรื่องนี้ ไม่ถือว่าเป็นหลักพระพุทธศาสนา ฉะนั้นให้มันเห็นลงไป ให้มันหิวลงไป ให้มันเจ็บลงไป ให้มันเกอดลงไป มันจะไม่เป็นทุกอย่าง เพราะมันเหนือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ใช่ว่าตายแล้ว ช่วยด้วย ช่วยหามไปโรงพยาบาล มันจะมีลักษณะนั้น ให้มองการตายเป็นศิลปะ เป็นกำไรชีวิต ความทุกข์ของเรานี่ เราไม่ได้จำนนต่อความทุกข์ มันมองข้ามความมีทุกข์ ความโกรธ ไม่ได้จำนนต่อความโกรธ ความไม่โกรธก็มี

อยู่ที่นี่ปลอดภัย ไปอยู่ให้ความทุกข์ย่ำยีทำไม สิ่งที่เหนือโกรธ เหนือสุข เหนือทุกข์มีอยู่ เหนือเกิดแก่เจ็บตายมีอยู่ ธรรมะก็คือ ธรรมชาติ จิตคืนสู่ธรรมชาติ คืนสู่เหย้า เหมือนกับเรามาอยู่บ้าน เราก็สบาย มีแต่พี่แต่น้อง ไปอยู่ถิ่นอื่น ก็เป็นคนอาภัพ

คนมีธรรมะจึงเป็นคนอุดมสมบูรณ์ ไม่อาภัพ ไม่จน จนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่า ทรัพย์สมบัติ แต่หมายถึงอารมณ์ความโกรธ ความเจ็บ ความทุกข์ เพราะฉะนั้น ไม่จน ไม่รับใช้มัน มันอิสระ ปลอดภัย ธรรมะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าโกรธแล้วจะไปปฏิบัติธรรมที่วัด ไม่ใช่อย่างนั้น เกิดที่ใดตัดมัน แล้วมอง ความโกรธมองข้ามนะ อย่าไปจำนน มองข้าม ทำอย่างนี้ ต้องสร้างสติ ถ้าเราไม่สร้างมันก็ไม่มี ยามสงบเราฝึก ยามศึกเราก็รบได้


ถาม ทราบว่าหลวงพ่อมีอุปนิสัยละเอียดลออมากกับทุกสิ่ง อันนี้เป็นจริตของหลวงพ่อเอง หรือเกิดขึ้นหลังจากที่รู้ธรรมแล้ว ?

ตอบ ถ้าพูดแล้วละก็...ต้องขออภัยมากๆ ตั้งแต่รู้เดียงสา หลวงพ่อไม่เคยได้ตำหนิตัวเองหรือคิดอะไรมากจนทำให้เสียใจ ก็เป็นนิสัยติดมาตั้งแต่รู้ความ หลวงพ่อก็ไม่เคยทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อนจนเสียใจ แต่เพราะว่าตัวเองยังมีทุกข์บ้าง ยังทุกข์ ยังเจ้าทุกข์ แต่ยังไม่ถึงกับมีปัญหาต่อผู้คน พอหลวงพ่อมาเข้าใจเรื่องนี้ก็ยิ้มได้ หลวงพ่อคิดว่าได้ดำเนินชีวิตถูกต้อง หรืออาจจะเป็นเพราะนิสัยเป็นปัจจัยช่วยเสริมด้วย หลวงพ่อคิดว่า ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้แก่ตนเอง เราจะไปเอาความเพียรขยันขันแข็งอย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้แก่ตนเอง คือ ความเย็นใจ ไม่เป็นทุกข์ รู้ไม่เป็นไร ไม่รู้ไม่เป็นไร ทำใจให้เป็นสุข นี่ก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน จะมาเอาแต่ความขยันเดินจงกรม สร้างจังหวะอย่างเดียวไม่ได้ หลวงพ่อก็มีส่วนดีอยู่บ้าง คือ มีส่วนที่ใจเย็นมาแต่ก่อน ไม่ทะเลาะวิวาทกับใครๆ ใจไม่วู่วาม หลวงพ่อยู่ได้ เคยมีปัญหากับตัวเองเหมือนกัน แต่ว่าไม่เป็นไร เพราะเคยทุกข์มาเคยสู้มา เป็นความทรหดอดทนอันหนึ่ง สู้กับความทุกข์ยากลำบาก พ่อตายตั้งแต่เล็กๆ ฟันฝ่าอุปสรรคมา รับผิดชอบต่อสู้อดออม ยับยั้งใจ ใจเย็น เป็นทุนเดิมอยู่

ฉะนั้นขอให้เรามีทุนบ้างก็ดี อย่าวู่วาม อย่าผลุนผลัน อย่าลุกลี้ลุกลน เอาความไม่เป็นไรไปก่อน เป็นทุนไปก่อน ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ผิดก็ไม่เป็นไร ถูกก็ไม่เป็นไร เรายังมีโอกาสแก้อยู่ คือ อยู่โดยชอบ ไม่ใช่มาอยู่วัด อยู่ที่ไหนก็ได้ ใจเย็นๆ ไม่เป็นทุกข์ คนอย่างนี้เหมาะที่จะได้บรรลุธรรม ถ้าฟูๆ แฟบๆ จิตใจไม่สุขุม ไม่อ่อนโยน มันก็ไม่เหมาะ นี้เป็นส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่งของการประพฤติธรรม


ถาม หลวงพ่อครับ ภาวะอันนี้ได้มีอยู่แล้วในคนทุกคนใช่ไหมครับ ?

ตอบ ธรรมชาติของคนทุกคน ถ้าไม่ไปจุดนั้นนะไม่ถูก ไม่จบ จะอยู่ที่ไหนจะรู้อะไรมาก็ไม่จบ ถ้าไปสู่สภาวะนั้นแล้ว มันเป็นสมบัติของเราทุกคน สู่ธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้สู่ธรรมชาติ พลัดถิ่นพลัดบ้านพลัดเมืองไปที่ไหนก็ไม่รู้ บางทีก็เปลี่ยวใจ บางทีก็กังวล บางทีใจมันจะขาดรอนๆ มันคิดวิตกกังวลอยู่ คือ พลัดบ้านพลัดเมืองที่เป็นปกติภาพ ใครเขาจะว่าอะไร เราต้องรู้ตัวเราเอง ไม่ทำบาปเอง ไม่เศร้าหมองเอง เมื่อจิตไม่ทำบาปก็หมดจดเอง คนอื่นรู้ไม่รู้ก็ช่าง แต่เรารู้ตัวเอง คนอื่นไม่รู้ก็ช่าง แต่เรารู้ตัวเอง รับรองไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่สมมติบัญญัตินั้นพูดอยู่ หลวงพ่อยังดุได้ด่าได้ ดุเณร เฆี่ยนก็เฆี่ยนนะ แต่ว่าใจอย่างหนึ่งปากอย่างหนึ่ง หลวงพ่อจะดุด่าใครบ้างก็ได้ แต่ใจยังประกอบด้วยเมตตา การด่าไปคือความรักที่แฝงด้วยเมตตาลึกๆ ไม่ใช่ด่าด้วยอารมณ์ แต่ด้วยความปรารถนาดี ปิยวาจาอาจจะเป็นการด่าก็ได้ ไม่ใช่ว่า นี่คุณผมรักคุณ อันนี้อาจจะไม่ใช่ปิยวาจา แต่ถ้าพูดว่า นี่คุณอย่างทำอย่างนั้น นั่นผิดแล้วนะ นั่นคือปิยวาจา เมื่อทำผิดแล้วต้องว่า


ถาม หลวงพ่อครับ คนเราทุกคนที่เกิดมานี้ก็มีชีวิตอยู่เพื่อมาถึงวันนี้เท่านั้นเอง ?

ตอบ เท่านั้นเอง ให้เรารู้ก่อน อย่าให้มันเป็นก่อนเรารู้ มันจะเสียท่า เรารู้ก่อนตั้งแต่เราเป็นหนุ่มจะดีกว่า อย่าให้ความทุกข์มาลงโทษเรา เห็นความทุกข์เพื่อไม่ทุกข์ เห็นความโกรธเพื่อไม่โกรธ อย่าไปอยู่กับความโกรธ อย่าไปอยู่กับความทุกข์ ควายมันตกหล่มมันยังรู้จักถอนตัวออกมา แต่คนเมื่อไปอยู่ในอารมณ์ทำไมไม่รู้จักถอนตัวไปปล่อยให้ตนเองจมอยู่ทำไม ข้ามวันข้ามคืนทำไม เศร้าหมองทำไม ต้องถอนออกมาเลย ยิ่งเคยชินยิ่งเป็นศิลปะ ง่ายที่จะไม่โกรธ ง่ายที่จะไม่ทำ นั่นแหละนักปฏิบัติธรรม กายนี่มันยังรู้ เมื่อมีไฟตกใส่ตัว ปัดทันที แต่ใจของเราไม่รู้ ถ้าเรารู้ไม่ทัน ใจเราก็วิ่งเข้าหามันยิ่งวิ่งเข้าหาความทุกข์ เช่น คิดว่าความโกรธเป็นเรื่องดี ด่าเขาได้ก็ดีใจ ฆ่าเขาก็ดีใจ เป็นต้น อารมณ์มันไปอยู่ก่อนเหมือนเก้าอี้ตัวนี้ หลวงพ่อนั่งแล้ว คนอื่นก็นั่งด้วยไม่ได้ เพราะหลวงพ่อนั่งก่อน


ถาม หลวงพ่อครับ ถ้าผมจะพูดว่า แท้จริงแล้วนั้น คนเราที่เดินทางตลอดมานี้ก็เพื่อเดินเข้ากลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเราเอง คือ การเดินทางกลับไปสู่จุดเดิม เพียงแต่ว่าใช้เวลาต่างกันแต่ละคนใช่หรือเปล่าครับ ?

ตอบ ไปสู่สภาพเดิม แต่ใช่เวลาต่างกัน แต่คนที่ไม่รู้ก็หลงไปเลยนะ ยอมรับใช้มันทั้งหมด ปล่อยให้กิเลสมีอำนาจบาตรใหญ่ แท้จริงกิเลสไม่มีอะไร ไม่มีตัว ไม่มีบาตร ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร แต่ถ้าเรารู้จริงๆ แล้ว มันจะเข้าแถวมาสารภาพ ไม่ต้องไปค้นหา ทำให้เรารู้ว่านี่เป็นสมมติ นี่เป็นบัญญัติ นี่เป็นรูปทุกข์ นี่เป็นนามทุกข์ นี่เป็นรูปโรค นี่เป็นนามโรค นี่เป็นรูปสมมติ นี่เป็นนามสมมติ นี่เป็นบัญญัติ มันจะเข้าแถวมาสารภาพ เราเป็นเพียงผู้ดูเฉยๆ มันจะมาให้เราเห็น ถ้าตาเราคม ถ้าเรามีปัญญาญาณ หรือวิปัสสนาญาณ หรือมีสติปัญญา เราจะเห็น

หลวงพ่อไม่ได้พูดจากตำรา หลวงพ่อพูดจากธรรมชาติ ในตำราเขาว่าอย่างไรหลวงพ่อไม่รู้ หลวงพ่ออยากจะเปลี่ยนว่า เมื่อเกิดความไม่สบายใจก็ต้องไม่เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ต้องสลับพูดอย่างนี้แหละ รูปเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นทุกข์ เวทนาเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะมันเปลี่ยนทิศทาง ไม่ได้เอาความทุกข์มาลงโทษ เอาความทุกข์มาเป็นบทเรียน เอาความทุกข์มาวิเคาระห์ จะเห็นอย่างชัดเจน เห็นตั้งแต่รูปนาม รูปทุกข์ รูปโรค เห็นรูปโรค เห็นนามโรค เห็นนามทุกข์ มันชัดขึ้นมาบอกเรา การเห็นนี่ไม่ใช่รู้ ไม่ใช่คิดเห็น เป็นการพบเห็นจริงๆ จนอาการอย่างนั้นหลอกไม่ได้ จะเกิดขึ้นอีกร้อยครั้งพันหนก็ไม่ต้องสงสัย เพราะเราเห็นธรรมชาติของมัน ใช้ธรรมชาติเป็นการสื่อความหมาย เราควรจะขอบคุณความทุกข์ ขอบคุณความโกรธ เพราะเราเคยรับใช้ตั้งแต่เด็ก พอเราเห็นโทษอันนั้น เราก็ยื่นมันกลับคืนไป


ถาม ขอกราบเรียนถามว่า หลังจากที่หลวงพ่อรู้ธรรมถึงที่สุดแล้ว หลวงพ่อไปช่วยพัฒนาชีวิตจิตใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วก็สอนกรรมฐานอยู่ทางโน้น หลวงพ่อเทียนท่านสนับสนุนไหมคะ หรือว่าท่านต้องการให้หลวงพ่อมาอยู่กับท่าน ?

ตอบ ก็สนับสนุน แต่ว่าหลวงพ่อก็มองปัญหาว่าคนที่เดินเข้าวัดมันดีแล้ว คนที่ยังไม่คิดจะเข้าวัดนี่ หลวงพ่อก็มองไปอีกมุมหนึ่ง ที่หลวงพ่ออยู่ที่นั่น อาจจะไม่เหมือนกับวัดสนามใน วัดสนามในนี่ คนเดินเข้าวัดสนามในเป็นแถวดีแล้ว หลวงพ่ออยู่ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน (ชื่อทางการคือ วัดภูเขาทอง) หลวงพ่อทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน ทำศูนย์เด็ก เพราะเห็นที่นั่นมีปัญหา หลวงพ่อไม่ได้สอนธรรมทีแรก เพราะคนที่นั่นไม่เข้าใจหลวงพ่อ แต่ถ้าจะให้เขาเข้าใจหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ต้องอยู่กับเขาให้เขาพิสูจน์ หลวงพ่อก็หางานทำ หลวงพ่ออยู่นิ่งๆ ไม่เป็น การสอนธรรมอย่างเดียวไม่ทันเวลา บางทีก็ต้องสอนอย่างอื่นไปด้วย สอนชาวบ้านให้พัฒนา ปลูกต้นไม้ รักษาธรรมชาติ บางทีก็ช่วยเด็กเล็ก ช่วยคนยากคนจนไป บางคนบอกหลวงพ่อว่าหลวงพ่อน่าจะมาอยู่กรุงเทพฯ ทำไมไปอยู่ในป่า หลวงพ่อคิดว่าอยู่กรุงเทพฯ นี่ก็ดี เพราะเขาเข้าวัดดีแล้ว แต่คนที่นี่ยังไม่คิดจะเข้าวัด คนพวกนี้ก็จำเป็นเหมือนกัน หลวงพ่อก็เลยใช้ชีวิตแบบนี้


ถาม ถ้าใครมาได้ทราบแล้ว ก็คงเข้าใจว่าการที่หลวงพ่อไปอยู่ที่นั่นยากลำบากกว่าที่จะอยู่ในเมือง เพราะต้องต่อสู้กับความไม่รู้ของคน ?

ตอบ ที่นั่นลำบากมาก ต้องสู้กับทิฐิของคน งานหนักแต่ประโยชน์น้อย ผลน้อย แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าดีขึ้นบ้าง ในอดีตคนแถวนั้นมีที่มาแตกต่างกัน บางคนออกจากเรือน เช่น มาจากเรือนจำบางขวาง บางคนอพยพมาจากต่างถิ่น และสิ้นหวังในชีวิต จะให้เขารักถิ่นฐานเหมือนคนบ้านเรา มันเป็นไปไม่ได้ บางครั้งไล่ฆ่ากันเหมือนวัวควาย ในวัดนี่วงการพนันเต็มไปหมด หลวงพ่อไปอยู่ปีแรก เก็บขวดเหล้าบนศาลาและใต้ถุนศาลาได้เป็นกองๆ ชีวิตหลวงพ่อนี่ ซีกหนึ่งนั้นก็รักษาธรรมชาติ เพราะธรรมชาติถูกทำลายมามากแล้ว ต้องช่วยกันบำรุงรักษาไว้ หลวงพ่อต้องสอนให้ชาวบ้านมีความเข้าใจ ให้มีความสำนึกในความสำคัญของป่าและธรรมชาติ อีกซีกหนึ่งก็ต้องสอนธรรม สอนกรรมฐานไปด้วย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2011, 09:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ กับ หลวงพ่อกรม ถามวโร แห่งวัดป่าโนนม่วง จ.ชัยภูมิ
ในงานอาจริยบูชาวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ณ ร่มไม้ บริเวณลานธรรม
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓


๑๐. ธรรมะของหลวงพ่อ

แนวทางการเจริญสติของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
“ทางเอกของมนุษย์”

เรามาเรียนหลักสูตรของมนุษย์ ด้วยการใช้กายและใจเป็นตำรา กล่าวคือ พยายามให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่กับการใช้กายและใจ เข้าไปศึกษาดูให้รู้ให้เห็น โดยอาศัยวิธีการเจริญสติตามรูปแบบของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ คือ การยกมือสร้างจังหวะเคลื่อนไหวไปมาหรือการเดินจงกรม ทั้งนี้ ให้เจตนาเคลื่อนไหวเพื่อเห็นกายหยาบๆ ไปก่อน แล้วจึงจะเห็นใจหรือเห็นความคิดปรุงแต่งได้ ถ้าจะเปรียบการเจริญสติเหมือนเด็กเรียนหนังสือ เมื่อครูเขียน ก. ไก่ ข. ไข่ ใส่กระดานอย่างชัดเจนแล้ว เด็กจะจำและเขียนได้ การเรียนรู้เรื่องกายและใจก็เช่นเดียวกัน ต้องฝึกให้มีสติเห็นกายเห็นใจชัดเจนก่อน แล้วเราจะทำได้ดี

การยกมือสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรมก็เพื่อให้มีสติรู้ชัดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ถ้าเห็นการเคลื่อนไหวชัด ก็เห็นใจชัด เราไม่ต้องไปหาดูใจ แต่อาศัยการดูผ่านการเคลื่อนไหวนี้ หาโอกาสที่จะดูกายอยู่เสมอๆ พยายามเจตนาดู (หมายถึงให้รับรู้ถึงความรู้สึกในขณะกายเคลื่อนไหว) เช่น ในขณะฝึกปฏิบัติด้วยการยกมือสร้างจังหวะหรือเดินจงกรม เป็นต้น วันหนึ่งอาจจะรู้หลายรู้

ขณะที่มีความรู้สึกอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย บางขณะอาจมีหลายเรื่องที่ทำให้เราหลง เช่น ความคิดที่ลักคิด (หมายถึง เราเข้าไปในความคิดปรุงแต่ง) ซึ่งมักเกิดขึ้นในขณะที่เราตั้งใจทำความเพียรด้วยการเจริญสติ เมื่อเกิดขึ้น ให้ถือว่าเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์สอนเรา ขอให้เรากลับมาตั้งต้นดูกายเคลื่อนไหวเสียใหม่ เพราะความหลงจะสอนเราไม่ให้หลง

บางคนมีความสงบเป็นปกติ ก็ง่ายที่จะมีความรู้สึกตัวหรือมีสัมปชัญญะเกิดขึ้น การบำเพ็ญภาวนาจึงให้ความสำคัญกับการมีสติสัมปชัญญะ คือมีความรู้สึกระลึกได้อยู่เสมอๆ เพราะสติสัมปชัญญะจะสามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนผิดให้กลายเป็นถูกได้ ผู้มีสติสัมปชัญญะย่อมทำดี เพราะสติสัมปชัญญะเป็นที่เกิดของศีล สมาธิและปัญญา

เราจึงมาหาวิธีที่จะเรียนรู้เรื่องจิตใจของเรา โดยอาศัยการดูกายดูใจ ถ้าเรามีสติดูกายดูใจให้ชำนาญ ให้รู้แจ้งเรื่องการเรื่องใจ จะทำให้รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องศาสนา เข้าไปสัมผัสกับศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่ได้คิดเอาเอง แต่สัมผัสได้ นี่เป็นกฎของธรรมชาติ

ดังนั้น ให้เราพยายามดูกายให้เห็นกายอยู่เสมอ ให้รู้เห็นด้วยใจสัมผัส เปรียบเหมือนกับเวลาครูสอนบนกระดาน เราต้องพยายามดูไปก่อน ตั้งใจดูให้ติดหูติดตา แต่ก่อนนี้ ก. ไก่ ก็อยู่ในกระดาน ข. ไข่ ก็อยู่ในกระดาน แต่เดี๋ยวนี้ ก. ไก่ กับ ข. ไข่ อยู่ที่ใจเราสัมผัสเพราะเราพยายามใส่ใจดู

การมีสติดูกายดูใจ จึงเปรียบเหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้บันทึกข้อมูลไว้ การใส่ข้อมูลในจิตใจของเราโดยการฝึกดูบ่อยๆ ฝึกเห็นบ่อยๆ ก็จะมีการพัฒนาตนเอง ทำให้เห็นกายเห็นใจตามเป็นจริง เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องกายเรื่องใจของเราจนจบหลักสูตรของมนุษย์ นี้เรียกว่าการเห็นแจ้ง

การเห็นแจ้งเปรียบเหมือนกับการเปิดเราออกจากความมืด เราจึงเห็นจิตใจของตนเองและไม่เป็นไปกับอาการต่างๆ (หมายถึง ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นในจิตใจของเรา) เห็นรูปธรรมนามธรรมว่าเป็นอย่างไร ธรรมชาติของรูปว่าเป็นอย่างไร ธรรมชาติของนามว่าเป็นอย่างไร อาการของรูปมีอะไรบ้าง อาการของนามมีอะไรบ้าง (หมายถึง เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เช่น ความร้อน ความหิว ความหนาว ความดีใจ ความเสียใจ เป็นต้น)

ถ้าเราไม่เห็นแจ้ง เราจะยอมสยบต่อรูป ต่อนาม ต่ออาการของรูป ต่ออาการของนาม ทำให้เราตกอยู่ใต้อำนาจของความคิดปรุงแต่ง

ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ เราจึงหลุดพ้นจากอำนาจความคิดปรุงแต่ง คล้ายกับว่าเราสามารถคิดโจทย์เลขได้ถูก ไม่มีอะไรที่ข้องติดเหมือนแต่ก่อน การเรียนรู้เรื่องการเรื่องใจ จึงเปรียบเหมือนเราเรียนจบหลักสูตรชั้นประถมอย่างสมบูรณ์ แต่ก่อนเราเข้าไปเป็นกับอาการของรูปหรือกาย เช่น เมื่อรู้สึกร้อนเราก็เป็นผู้ร้อน เมื่อรู้สึกหนาวเราก็เป็นผู้หนาว เมื่อรู้สึกหิวเราก็เป็นผู้หิว เมื่อรู้สึกเจ็บเราก็เป็นผู้เจ็บ เป็นต้น เราเป็น “ผู้เป็น” ไปกับอาการเหล่านั้นทั้งหมด เรียกว่า เราจำนนต่ออาการต่างๆ และปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเป็นใหญ่ ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ สิ่งเหล่านั้นเป็นใหญ่ไม่ได้อีก เพราะเราเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงอาการของรูป อาการของนาม เช่น ความโกรธเป็นอาการ มันไม่เที่ยง มันไม่มีตัวตนอะไร การเห็นเช่นนี้จึงเปรียบเหมือนกับเกิดตาวิเศษขึ้นมารับรู้เกี่ยวกับอาการของรูป เกี่ยวกับอาการของนาม

“ตาวิเศษ” คือ การมีสติสัมปชัญญะเห็นรูปธรรมนามธรรมตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ เราจึงสามารถละวางรูปและนามได้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับไม่มีขยะทิ้งไว้เกลื่อนกลาดรกรุงรังเหมือนแต่ก่อน อะไรที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับรูปกับนาม อาการของรูป อาการของนาม เราทิ้งลงในพระไตรลักษณ์ทั้งหมด แต่ก่อนมีแต่ขยะซึ่งเป็นภาระแก่เราเต็มไปหมด เช่น มีรอยทุกข์ รอยโกรธ รอยโลภ รอยหลง รอยรัก รอยชัง รอยร้อน รอยหนาว เป็นต้น แต่บัดนี้เราไม่มีขยะเหล่านั้นอีกต่อไป

การเห็นความไม่เที่ยง หรือ เห็นไตรลักษณ์ ถือว่าเป็นบุญ บุญในที่นี้คือ ภาวะที่เห็นอาการของรูป อาการของนาม และสามารถใช้รูปนามในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง

บาป คือ การไม่รู้เกี่ยวกับอาการของรูป อาการของนาม จึงเปรียบเหมือนความมืด ถ้าเป็นคนก็ถือว่าเป็นคนเถื่อน กายของเราก็เถื่อน ใจของเราก็เถื่อน เพราะเราปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งมีอำนาจ ทำให้เรายึดความโกรธ ความโลภ ความหลง บางครั้งปล่อยให้ความโกรธอยู่กับเราข้ามในข้ามคืน

ต่อเมื่อเรารู้แจ้งเห็นแจ้งเรื่องกายเรื่องใจเช่นนั้น (เกิดวิปัสสนาญาณ) เราก็เป็นคนไม่เถื่อน เป็นคนมีคุณภาพ

ศาสนาเป็นเรื่องของคนโดยเฉพาะ เพราะเกี่ยวข้องกับกายและใจ ซึ่งมีอยู่ในเราทั้งหมด เรื่องบุญ เรื่องบาป ก็มีอยู่ในการกระทำของเรา

เมื่อปฏิบัติถึงภาวะนี้ รูปกับนาม หรือกายกับใจจะมีความเป็นธรรมต่อกัน แต่ก่อนรูปกับนามเบียดเบียนกันตลอดเวลา เช่น เมื่อรู้สึกว่าร้อนหรือหนาวเกิดขึ้นที่กาย ใจก็เป็นทุกข์ ความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ กายก็เป็นทุกข์ ต่างเบียดเบียนกันและกันตลอดเวลา แต่บัดนี้เราเห็นรูปกับนามเกี่ยงข้องอย่างเป็นธรรมต่อกัน เพราะมีสติสัมปชัญญะเข้าไปดู ดังนั้น เมือมีสติสัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวเกิดขึ้นที่ใด ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นที่นั่น

เมื่อรู้ถึงจุดนี้ เราก็ได้หลักในการปฏิบัติ จึงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เปรียบเหมือนกับเราเรียนหนังสือจบประถมด้วยระดับคะแนนที่ดี จึงมีโอกาสที่จะเรียนต่อชั้นมัธยมได้ การได้หลัก หมายถึง เรามีความคล่องตัวในการดูความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น จึงทำให้เห็นความคิดปรุงแต่ง เมื่อเกิดภาวะที่เห็น ก็ทำให้เราไม่เป็นไปกับความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น

“การเห็น” ที่เป็นหลักสำคัญ เพราะสามารถถลุงและย่อยกิเลสออกทั้งหมด เปรียบเหมือนกับเราเรียนหนังสือเก่ง จึงอ่านออกและเข้าใจความหมายได้

ภาวะที่เราดูไปๆ เรื่อยๆ นี้จะไปเห็นเรื่องสมมติ เห็นเรื่องทุกข์ ภาวะที่ดูทำให้เกิดความคล่องตัว คล้ายกับว่าเป็นเครื่องมืออย่างดี ทำให้ผ่านทางชีวิตได้ตลอดและไม่พบทางตัน

การไม่เห็นทุกข์หรือความทุกข์ที่เกี่ยวกับรูปและนาม ทำให้เรายึดรูปทุกข์ นามทุกข์เป็นภารไปหมด ครั้นเมื่อเราเห็นแจ้ง ทุกข์บางอย่างหลุดทันที เพราะเราเห็นโลกนี้เต็มไปด้วยสมมติ เป็นรูปธรรมก็มี เป็นนามธรรมก็มี แม้ภาษาคำพูดอะไรต่างๆ ก็เป็นสมมติ เต็มไปทั้งโลก เรียกว่า สมมติบัญญัติ

แต่ก่อนนี้หลวงพ่อเรียนไสยศาสตร์ คาถาอาคมมากมาย นั่งบริกรรมทั้งคืน เวลาทำน้ำมนต์ก็มีคาถา เข้าป่าก็มีคาถา นุ่งผ้าก็มีคาถา กินข้าวก็มีคาถา ออกจากบ้านจากเรือนก็มีคาถา จับวัวจับควายก็มีคาถาทั้งหมด เหมือนคนบ้าหอบฟาง หากได้ความสุขก็เป็นความสุขเล็กน้อย. เปรียบเหมือนกับเป็นพ่อค้าบรรทุกนุ่น บรรทุกปอไปขาย ได้เงินเล็กน้อย ถ้าจะเป็นบุญก็เป็นบุญเล็กน้อย ไม่เป็นบุญถาวร บัดนี้ หลวงพ่อไม่เป็นพ่อค้าขายนุ่น ขายปออีกต่อไป แต่เป็นพ่อค้าขายเพชรขายได้เงินมาก

การเห็นสมมติ ทำให้สามารถรื้อถอนคาถาออกหมดสิ้น เช่น คาถาพุทธคุณ ๑๐๘ ความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆ คาถาอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งต้องบริกรรมจนรู้สึกว่าตัวใหญ่ ตัวหนา หนังหนา และมองเห็นมีดปลิวเหมือนใบหญ้า เหล่านี้หลวงพ่อได้รื้อถอนออกหมดสิ้น จึงเกิดความเบากาย ความเบาใจ รู้แจ้งในเรื่องสมมติ ใครทำอะไรก็รู้ ใครทำผิดทำถูกก็รู้

ขณะที่ “ตกแหล่งของความรู้” คือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เต็มไปด้วยวัตถุ ปรมัตถ์ อาการต่างๆ เห็นว่าทุกอย่างมีเหตุ มีปัจจัยต่อกัน เช่น เห็นว่าบางทีอารมณ์ ก็บัญญัติว่าดี ว่าไม่ดี ว่าชอบ ว่าไม่ชอบ คนธรรมดาก็บัญญัติว่ารัก ว่าชัง ว่าชอบ ว่าไม่ชอบ ว่าสวย ว่างาม ว่าคนนั้นดี ว่าคนนี้ไม่ดี ทั้งที่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำให้ไม่เป็นอิสระในการเห็น นี้เรียกว่า รู้สมมติ รู้บัญญัติ รู้ปรมัตถ์ เมื่อมารู้สมมติ รู้บัญญัติ รู้ปรมัตถ์ จิตก็เป็นอิสระ เพราะเกิดภาวะการเห็นแจ้ง

การตกแหล่งของความรู้เช่นนี้ จะรู้ในทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว กล่าวคือ เดินก็รู้ นั่งก็รู้ เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้ เรียกว่าเกิดปัญญาญาณ นำเราให้หลุดออกจากปัญหาต่างๆ การเห็นแจ้งจึงสนับสนุนให้เราเลื่อนระดับไปเรื่อยๆ ไปรู้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ได้สัมผัสกับบุญจริงๆ ไม่ใช่คิดเอาเองเหมือนเมื่อก่อน

ใจที่สัมผัสกับบุญจริงๆ แล้วรับรองว่าไม่ตกนรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย เพราะรู้จักถูก รู้ผิด การสัมผัสกับบุญจึงเป็นประโยชน์ การสัมผัสกับบาปก็ทำให้เรารู้จักละบาป เปรียบเหมือนกับเราเคยเหยียบหนาม แต่เมื่อเราเห็นหนาม เราจึงไม่เหยียบหนามเช่นแต่ก่อน ดังนั้น การสัมผัสกับบุญจริงๆ จึงเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น

ถ้าอยู่กับศีล สัมผัสกับศีลแล้ว จะมีความปกติกายปกติใจ คือ กายก็เป็นปกติ ใจก็เป็นระเบียบ ใจไม่ฟูไม่แฟบ ไม่พยศ ภาวะความปกติของกายและใจก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เกิดปัญญาคือความรู้ที่จะปลดปล่อยให้จิตบริสุทธิ์อยู่เสมอ การรู้เหตุ รู้ปัจจัย ทำให้ไม่โง่ ไม่หลง ไม่ติดอะไร และสามารถสัมผัสกับศีล กับสมาธิ กับปัญญา นี้เรียกว่า เป็นศีลสิกขา เป็นศีลที่เกิดจากมรรค

ภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นนี้ คือ ทางพ้นทุกข์แท้ๆ ภาวะที่ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นเช่นนี้ ถ้าดูอยู่เรื่อยๆ จิตก็จะบริสุทธิ์ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์

การสัมผัสกับศีล คือ สัมผัสอย่างนี้ อยู่กับสภาวะอย่างนี้สม่ำเสมอ เป็นศีลสิกขา เป็นศีลที่ถลุงและย่อยกิเลสออก จึงสามารถละความชั่ว ทำความดี ทำให้จิตบริสุทธิ์ ศีลสิกขาเป็นศีลที่มีอานิสงส์จริงๆ ไม่ใช่ศีลสมาทาน ไม่ใช่ศีลสามัญลักษณะ การดำเนินชีวิตในขณะนี้จึงพบศีล เป็นคนมีศีลจริงๆ ทำให้กายปกติ วาจาปกติ ใจปกติ

ขณะนี้ เราได้ผ่านพ้นมาเป็นมนุษย์ได้จริงๆ ปิดประตูนรก ปิดประตูอบายภูมิได้จริงๆ เพราะเรารู้เรื่องของมรรค รู้เรื่องของศีล รู้เรื่องของสมาธิ รู้เรื่องของปัญญา โดยการสัมผัส ไม่ใช่จำเอา ไม่ใช่ “คิดรู้” (หมายถึงรู้ด้วยการคิดเอาเอง) แต่ “พบเห็น” เป็นการสัมผัสกับศีล สัมผัสกับสมาธิ สัมผัสกับปัญญา สัมผัสกับอริยมรรค และสัมผัสกับพรหมจรรย์คือความบริสุทธิ์

แต่ก่อนนี้ความคิดปรุงแต่งครอบครองเราหมด เช่น ทำให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกตัว เราจึงสามารถเอาชนะความคิดปรุงแต่งได้และไม่มีสภาพอย่างนั้นอีกต่อไป เปรียบเหมือนกับเราเดินทางบนทางเอก เมื่อเราได้ผ่านบ้านนั้นเมืองนี้ไปเรื่อยๆ ไปถึงถิ่นไหน ผ่านพ้นมาอย่างไร เราจะรู้เห็นและสัมผัสได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีใครบอก

ต่อมาจึงมารู้ มาเห็น มาสัมผัสเรื่องเทวดา เทวดา คือ คนที่ละอายต่อความชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว แต่ก่อนหลวงพ่อเข้าใจว่าเทวดาอยู่บนฟ้าอยู่บนก้อนเมฆ คิดไปว่าเป็นเมืองบนสวรรค์ นั่นก็ถูกอยู่ เทวดาตามความชั่วนั้น ไม่ใช่เทวดาที่จะช่วยเราได้ แต่เทวดาที่เกิดอยู่กับเรานั้น คือ มีความละอายต่อความชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว แม้แต่คิดก็ไม่กล้า นี่คือ เทวธรรม เทวดาลักษณะนี้จะช่วยเรา รักษาเรา คุ้มครองเรา เราไม่ต้องไปกราบไหว้ ไม่ต้องไปขอร้องเทวดาที่ไหน เพราะเทวดาอยู่ในตัวเรา

ความรู้เช่นนี้ไม่เคยคิดไม่เคยรู้มาก่อน จึงคิดอยากให้คนมารู้ อยากให้คนมาศึกษา อยากให้คนมาปฏิบัติ วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อเดินจงกรม ก็คิดไปว่าคนนั้นคงไม่รู้ คนนี้คงไม่รู้ คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงพี่น้อง อยากให้มาเดินจงกรม อยากให้มานั่งสร้างความรู้สึกตัว คิดแบบเมตตากรุณาอยากช่วยเหลือ

การเข้าสู่ทางเอกจะนำเราผ่านจากความเป็นคน เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นมาร มาเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง เป็นผู้มีศีล ดำเนินชีวิตตามองค์มรรค ละความชั่ว ทำความดี มีจิตใจเป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม รู้บุญ รู้บาป เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทางเอกจึงนำเรามาพบเห็นมาเข้าใจอย่างนี้

ศาสนามีอยู่ในจิตใจคนเรานี่เอง ถ้าคนคนนั้นละการทำชั่ว กระทำแต่ความดี และมีศีลบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังคิดชั่วอยู่ ก็ถือว่าไม่เข้าถึงพุทธศาสนา แม้จะกล่าวบทสวดว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ศาสนาสอนให้คนไม่ทุกข์ สอนให้คนทำดี ไม่เป็นทุกข์ ถ้ายังมีทุกข์อยู่ไม่ได้ชื่อว่าเข้าถึงศาสนา ชีวิตก็อาจหมองไป อาจไหลเทไปในทางต่ำ

เมื่อเราเข้าถึงศาสนา คือ เราละการทำความชั่ว กระทำความดี ก็เปรียบเหมือนกับคนทำกิจกรรมบางอย่างจนเป็นอาชีพ จึงมีความมั่นคง สามารถยึดอาชีพนั้นเป็นที่อาศัย มีอยู่มีกิน นี่เราได้สัมผัสอย่างนี้

ภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นนี้ เป็นการกระทำที่ย่อที่สุด เปรียบเหมือนว่าธรรมอยู่ในกำมือเดียวแท้ๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก

แต่ก่อนหลวงพ่อพะรุงพะรัง ยึดพิธีรีตอง ยึดถือความดีจากคนอื่น เชื่อถือพิธีกรรมต่างๆ มีความกลัง แม้กระทั่งความคิดของตนเอง เช่น คิดขึ้นมาแล้วเกิดความสงสัย คิดขึ้นมาแล้วกลัว คิดขึ้นมาแล้วก็รัก คิดขึ้นมาแล้วก็ชัง เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น หลวงพ่อจึงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะตั้งใจ “ดู” อย่างเดียว คล้ายกับว่า ชีวิตเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าใครได้ศึกษาปฏิบัติ จนเข้าถึงภาวะที่ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นได้แล้ว จะเป็นจุดที่พร้อม เป็นจุดรวม เป็นจุดเพชรแห่งธรรม เพราะสามารถถลุงสังโยชน์ได้ (กิเลสหรือความคิดปรุงแต่งที่ละเอียดขึ้น)

การเห็นรูปนาม เห็นทุกข์ เห็นสมมติ เห็นจิตที่คิดปรุงแต่ง จะค่อยๆลบเลือนตัวกู (ความรู้สึกเป็นตัวตน) จิตใจค่อยๆ เปลี่ยนเป็นมนุษย์ คือ มีศีลเป็นที่พึ่ง ปิดนรก ปิดอบายภูมิ ละการทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ได้จริงๆ ประตูแห่งพระสัจธรรมก็เปิด จิตใจก็เป็นอิสระเพราะทำลายตัวกูลงได้ ละสักกายทิฐิ (ความเป็นตัวกูของกู) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) สีลัพพตปรามาส (ความยึดถือในพิธีรีตอง)

ถึงจุดนี้จิตมันเปลึ่ยนมาเห็นมาเข้าใจ แต่ก่อนนี้คล้ายกับว่าตัวกูมันหลบซ่อนอยู่ที่ประตู บัดนี้ ตัวกูเหมือนกับเฝ้าดูอยู่ที่ประตู พอตัวกูจะออกมา มันกูจะเอ๋ ตัวกูล้มละลายไป เพราะมันทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ ถ้าจะเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีผล พอเขย่าเล็กน้อย บางผลก็หล่น

ดังนั้น ความโลภ โกรธ หลง สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่เป็นสัญชาติญาณลึกๆ และเป็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรูปนาม ได้หล่นหลุดหายไป

ภาวะที่จิตใจเปลี่ยนเป็นพระ คือ มีใจที่ประเสริฐสามารถทำลายตัวกูลงได้ เมื่อสัมผัสกับภาวะนี้ ตัวกูก็หลุดไป หมดไป เหมือนกับว่า กุศลกับอกุศลหรือความสกปรกกับความสะอาดได้แยกออกจากกัน

ความเป็นพระคือมีใจที่ประเสริฐอย่างนี้ จิตใจจะเปลี่ยนมาอย่างนี้ ไม่ใช่เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช่เปลี่ยนแต่คำพูด ไม่ใช่การบวชแบบเอสาหัง และแบบอุกาสะ นั้นเป็นพิธีกรรม เป็นสมมติบัญญัติ เป็นพระสงฆ์โดยสมมติ แต่ถ้าเป็นพระอริยสงฆ์ คือ มันไกลจากความทุกข์ มันไกลจากกิเลส

ความทุกข์และกิเลสคือข้าศึกของชีวิต ตัวกูที่มีอุปาทานเป็นข้าศึกของชีวิต เพราะถ้ามีตัวกูทีไร ก็เปรียบเหมือนมีรอยแผล รอยแพ้ รอยชนะ รอยสุข รอยทุกข์ รอยได้ รอยเสีย เมื่อละตัวกูลงได้ ก็เปรียบเหมือนรถยนต์ที่ชำรุดแล้ว ได้รับการซ่อมแซมให้กลับสู่ภาวะปกติ กายใจก็เช่นเดียวกัน

เส้นทางธรรมก็นำเรามาถึงจุดนี้ เป็นเส้นทางกันประเสริฐ เป็นหมายเลขหนึ่ง เป็นทางเอกของชีวิต เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ก็สัมผัสกับความเป็นพระ จิตใจที่เปลี่ยนมาอย่างนี้ เป็นเพชรทางธรรม เป็นประตูแห่งสัจธรรม อย่างบทสวดที่เราสวดว่า “สทฺธมฺมโช สุปฏิปตฺติคุณาทิยุตฺโต, พระสงฆ์ที่เกิดโดยพระสืธรรม ประกอบด้วยคุณมีการปฏิบัติดีเป็นต้น” ที่เกิดโดยพระสัทธรรมอยู่ตรงนี้พระอริยสงฆ์เกิดตรงนี้ เกิดจากการเจริญสติจนเข้าถึงภาวะที่ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นนี้เอง

ภาวะที่ดูนี่เป็นมรรค เป็นพรหมจรรย์ ถ้าเปรียบกับทางก็เป็นทางด่วนที่ราบเรียบ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความหงุดหงิดขัดเคือง) มานะ (ความถือตัว) ทิฐิ (การยึดถือความคิดเห็นว่าเป็นจริง) ที่เคยมีเคยเป็น ก็ได้เหี่ยวแห้งไป เปรียบคล้ายผลไม้ที่แห้งติดคาต้น เกิดความบริสุทธิ์ เป็นศีลอันยิ่ง เป็นสมาธิอันยิ่ง เป็นปัญญาอันยิ่ง เป็นศีลขันธ์ เป็นสมาธิขันธ์ เป็นปัญญาขันธ์ มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับแต่ก่อนเราขับรถอยู่บนเส้นทางที่มีหลุมขรุขระ กระต้วมกระเตี้ยมอยู่ แต่พอเป็นเส้นทางราบเรียบ มันวิ่งได้คล่องไม่ติด วิ่งผ่านได้ตลอด

ภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เป็นนี้ จึงเกิดเป็นความชำนาญ เป็นศิลปะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การทำสิ่งใด ถ้ามีศิลปะก็ทำได้ยอดเยี่ยม เหมือนกับเป็นนักเขียนที่ใช้ปกกาด้ามเดียว พู่กันด้ามเดียว ก็สามารถวาดรูปภูเขาได้คล่องและชำนาญ มันเป็นเรื่องที่วิเศษขึ้นเรื่อยๆ

ที่กล่าวมานี้ก็พยายามสมมติมาเปรียบเทียบ สัจธรรมบางอย่างหาคำพูดไม่ได้ ต้องนำสมมติมาเปรียบเทียบให้ฟัง มันเป็นอย่างนั้น

เมื่อเกิดภาวะที่เป็นศีลอย่างยิ่ง สมาธิอย่างยิ่ง ปัญญาอย่างยิ่ง พรหมจรรย์อย่างยิ่ง บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ก็จะละสิ่งที่เคยข้องแวะต่างๆ ในกายในใจ (เช่น เคยถือว่ามีตัวตนอยู่ในเวทนา เป็นต้น) มันเปลี่ยนไปเป็นคนละมุม ผ่านอะไร สัมผัสอะไรมา ก็รู้เอง เห็นเองจริงๆ เหมือนกับเราทำอะไรสำเร็จ มันบอก มันตรึกตรองในธรรมที่รู้ที่เห็น ที่หลุดมาว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มันพลัดเข้าไปคล้ายกับว่าเกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข มันพลัดลงๆ เหมือนกับน้ำที่มันดูดเราลงไปลึกๆ เทไปสู่ทะเลที่ลึกๆ พัดพาไปไม่ต้องออกแรง เหมือนคนมีกำลัง ยกอะไรที่มันหนัก สามารถยกขึ้นได้ทันที เป็นมรรคเป็นผล เหมือนกับเข้าสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล มันเรียบ มันประณีต มันทำลายตัวกูลงได้ ทำให้กิเลสเหี่ยวแห้งไป

ภาวะขณะนี้จะไม่เกิดสัญญา ไม่หลงภพหลงชาติ จะคิดหาก็ยาก รู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น จะหวนคิดให้เป็นอย่างอื่นก็รู้สึกขนหัวลุก ใจมันไม่เป็น กายก็ไม่เป็นด้วย กิเลสมันหดตัว มันคิดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว หาสัญญาเก่าไม่ได้แล้ว คล้ายกับเป็นชาติใหม่ เป็นภพใหม่

พอมาถึงจุดนี้คล้ายกับว่าตัวกูได้สูญไป มันหมดเนื้อหมดตัว มันถูกเผาด้วยญาณ เหมือนการหดตัวการสิ้นสัญญาทั้งหลาย จิตเป็นอิสระ

ถึงภาวะนี้คล้ายกับว่าเกิดสภาวะที่มันขาดหลุดออกไป ดูเลือนๆ ลางๆ เหมือนกับขันธ์ ๕ ที่เคยมีอุปาทานที่เคยเป็นเชื้อ เคยชุ่มอยู่ คราวนี้มันไม่ได้อาหารจึงเหือดแห้ง จึงขาดออกจากกัน แต่ก่อนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำงานร่วมกัน แต่ว่าทำคนละหน้าที่ บัดนี้มันเหือดแห้ง ทุกสิ่งทุกอย่างหดตัว เหมือนกับว่ามันหลุดออกจากกัน บางทีเรายังหลงเอามาต่อกัน แม้จะมาต่อกันมันก็ไม่ติด เป็นกิริยาอาการล้วนๆ การพูดอะไร การคิดอะไร เป็นกิริยาอาการล้วนๆ ชีวิตมันจบการปรุงแต่ง จบสิ้นตัณหาอุปาทาน เมื่อถึงภาวะนี้เราจะรู้ว่า มรรค ผล นิพพาน มีจริง ความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ ความไม่ตายมีจริงๆ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านก็รู้เรื่องนี้อยู่ตรงนี้ พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระอริยสงฆ์มีจริง มรรค ผล นิพพาน มีจริง เราสามารถที่กระทำให้หลุดพ้นได้ในชีวิตนี้จริงๆ

การสอนให้คนมารู้เรื่องนี้ ถือว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ ถ้าสอนให้ทุกคนมาถึงจัดหมายปลายทางอันนี้ จะดีกว่าไปสอนให้คนทำบุญตักบาตร สร้างวัด เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้สิ้นทุกข์ สิ้นภพ สิ้นชาติ เป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุด ถ้าทำอย่างนี้ เกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ก็ให้ช่วยกันสนับสนุนการสอนเรื่องนี้ ถ้าไม่มีคนพูดไม่มีคนฟังเรื่องนี้ ธรรมะก็จะสูญหายไปหมด

การพูดสัจธรรมนี้หลวงพ่อขอถือเป็นอาชีพ เมื่อถือสัจธรรมเป็นอาชีพ ก็ต้องพูด ถ้าไม่มีใครพูด ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครปฏิบัติให้ดู สัจธรรมก็หมด หากท่านสนใจศึกษาและปฏิบัติ หลวงพ่อพอจัดหาสถานที่ กุฏิ ศาลา เพื่อให้ท่านได้ใช้ฝึกฝนอบรมได้ทดลองปฏิบัติ พอเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยตามฐานะ มีอาหารและสัปปายะพร้อม

แต่ก่อนนี้ ที่อยู่ของหลวงพ่อเป็นที่อยู่ในชนบทไกลจากความเจริญ เวลามีคนมาปฏิบัติมากๆ ก็มีปัญหา บางทีก็ขาดแคลน ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สะดวก ขณะนี้พอมีสถานที่แล้ว ถ้าท่านสนใจหลวงพ่อจะเป็นภาระให้ จะเป็นมิตรกับท่านตามฐานะ ตามอัตภาพ สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน ท่านอย่าไปทุกข์อยู่คนเดียว คิดว่าหลวงพ่อจะไม่พาท่านหลงทิศหลงทาง พอพบทางมาบ้าง เห็นทุกข์จึงพบทุกข์บ้าง เห็นผิดจึงพ้นจากผิดบ้าง พบทางจึงไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นนักบวช เป็นพระสงฆ์ หลวงพ่อมีสถานที่อยู่เตรียมไว้รับท่าน ถ้าท่านมีทุกข์ก็อย่าพึงตัดสินใจทำอย่างอื่น หลวงพ่อพบทางออกแท้ๆ เป็นทางหมายเลขหนึ่ง

ขอให้พิจารณาดู อย่าพึงไปคิดหาเหตึ อย่าพึงไปขัดแย้ง ไปศรัทธา ไปรังเกียจอะไร ให้ถือว่า ที่กล่าวมาเป็นเสียงเสียงหนึ่ง เมื่อรับทราบแล้วอาจเลือนลบหายไปก็ได้ แต่ถ้าสนใจก็ลองมาปฏิบัติดู ถ้าอ่านแล้วเกิดศรัทธาเลยก็ไม่ถูกให้ลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดผล จึงค่อยเชื่อ ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เกิดผล จึงค่อยหาวิธีใหม่

เรื่องของกรรมฐานนั้น ต้องทดลองปฏิบัติดู เมื่อสัมผัสด้วยตนเองแล้ว การกระทำจะจำแนกไปเอง หรือลิขิตการดำเนินชีวิตไปเอง ไม่ใช่การคิดเอา ไม่ใช่การจำเอา ต้องมีการกระทำและมีการสัมผัสด้วยตนเอง

การมีความรู้สึกตัวนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ ถ้าใครพลิกมือขึ้นรู้ตัว เคลื่อนไหวไปมามีความรู้สึกตัวก็ใช้ได้แล้ว เพราะความรู้สึกตัวเป็นหน่อโพธิ คือ ทำให้เกิดสติปัญญา ความรู้สึกตัวนี่ต้องตั้งต้นจากจุดนี้ (การสร้างความรู้สึกตัวขณะกายเคลื่อนไหว) นี่คือทางเอกแท้ๆ เรียกว่า เอกมคฺโควสุทฺธิยา เป็นที่เกิดของสติปัฏฐานสี่ พุทธะเกิดขึ้นจากการสร้างความรู้สึกตัวให้มาก ต้องสร้างเอาเอง และปฏิบัติเอาเอง

วิธีการเจริญสติตามรูปแบบที่หลวงพ่อเทียนท่านสอนนั้น ทันสมัยและทันเวลาจริงๆ ยิ่งขยันสร้างเท่าไรก็ยิ่งรู้เห็นและเข้าใจชีวิตของเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกตัวมีอยู่กับเราทุกชีวิต ตราบใดที่เรามีกายมีใจ การมีความรู้สึกตัวเป็นมนุษย์สมบัติของเราทุกชีวิตไม่ยกเว้นใครที่ไหน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในประเทศใด เชื้อชาติใด ภาษาใด ขอให้ท่านมีความรู้สึกตัว แค่ยกมือขึ้นรู้สึกตัวก็ใช้ได้แล้ว

รูปภาพ
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ กับ หลวงพ่อชาร์ล นิโรโธ พระภิกษุชาวออสเตรเลีย
แห่งสวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ ล่ามแปลประจำตัวของหลวงพ่อเทียน
ในงานอาจริยบูชาวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ณ ร่มไม้ บริเวณลานธรรม
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓


รูปภาพ
จากซ้าย : หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ, หลวงพ่อชาร์ล นิโรโธ พระภิกษุชาวออสเตรเลีย
แห่งสวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ ล่ามแปลประจำตัวของหลวงพ่อเทียน,
พระอาจารย์ทรงศิลป์ สุจิณโณ, หลวงพ่อกรม ถามวโร แห่งวัดป่าโนนม่วง จ.ชัยภูมิ
และหลวงตาสุริยา มหาปัญโญ แห่งวัดป่าโสมพนัส จ.สกลนคร-องค์นั่งคุกเข่าพนมมือไหว้
ในงานอาจริยบูชาวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ณ ร่มไม้ บริเวณลานธรรม
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓


.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหาทั้งหมดมาจาก ::
http://www.geocities.com/suwannothera/biography.html
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ ::
โดยเฉพาะจาก facebook Nop Kosaiyakanon


:b44: รวมคำสอน “หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44276

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 21:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ลิขิตจากหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
ของดรับกิจนิมนต์ ดังมีข้อความว่า...


ณ เวลานี้หลวงพ่อรู้สึกตัวว่า สมควรแล้วที่จะต้องวางภาระการงาน สุขภาพร่างกายไม่เหมาะแก่การใช้งาน ขอพึ่งพาหมู่มิตรช่วยเป็นภาระแทนสืบต่อกิจการงานสอนธรรมปฏิบัติธรรมต่อไป

กิจนิมนต์ หลวงพ่อของดทั้งหมด กิจใดที่เห็นว่าจำเป็นจะตัดสินใจด้วยตนเอง ด้วยความเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายในเวลานี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้อื่น และก็เป็นภาระต่อผู้อื่นมามากแล้ว

ผู้ใดต้องการพบ หรือฟังธรรมปฏิบัติธรรม ขอให้มาที่วัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ สอบถามได้ที่ ๐๘๗-๓๗๓๕๑๒๔, ๐๘๕-๔๙๒๗๗๐๙

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2011, 22:16 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12232


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

พระจริง..ที่สัมผัสได้...


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2011, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว



:b8: :b44: :b44: :b44: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 เม.ย. 2011, 04:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.พ. 2011, 10:52
โพสต์: 256

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b47: :b8: :b8: :b8: :b47:

ขอขอบพระคุณมากค่ะ คุณ Bwitch
ที่เพิ่มเติมประวัติของหลวงพ่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

.....................................................
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร
ทำดี ดีแล้ว เป็นพร ไม่ต้อง อ้อนวอน ขอพร กะใคร ให้กวน
พรที่ ให้กัน ผันผวน เป็นเหมือน ลมหวน อวลไป อวลมา อย่าหลง
พรทำ ดีเอง มั่นคง วันคืน ยืนยง ซื่อตรง ต่อผู้ รู้ทำ
อยากรวย ด้วยพร เพียรบำ - เพ็ญบุญ กุศลนำ ให้ถูก ให้พอ ต่อตน
ทุกคน เกิดมา เป็นคน ชั่วดี มีจน เป็นผล แห่งกรรม ทำเอง
ถือธรรม เชื่อกรรม ยำเยง บาปชั่ว กลัวเกรง ทำแต่ กรรมดี ทวีพรฯ

ท่านพุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2011, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.ค. 2011, 22:53
โพสต์: 705

แนวปฏิบัติ: รู้สึกตัว
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
"ธรรมะเป็นปัจจัตตัง ต้องทำเอง รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 19 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร