วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 18:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ)


วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม
ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ



๏ อัตโนประวัติ

พระเดชพระคุณพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และอดีตเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม มีนามเดิมว่า วิบูลย์ บุญพอ เกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ในตระกูลชาวนา ณ บ้านหนองกุง ต.หนองกุง อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสีห์ และนางบัวคำ บุญพอ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔

พระเทพวรมุนี เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นพหูสูต รอบรู้ในหลักวิชาการต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม มีความคล่องตัวในด้านต่างๆ รวมทั้ง มีความสนใจในการค้นคว้าหาความรู้ อ่านตำราหนังสือมาก ชอบเขียนเอกสารบทความต่างๆ มีพรสวรรค์ในด้านวาทศิลป์ เป็นนักพูด นักปาฐกถา นักเทศน์หรือบรรยายธรรม รวมทั้ง เป็นพระนักพัฒนาที่เปี่ยมด้วยภูมิรู้ ภูมิธรรม สามารถปรับใช้ความรู้ และประสบการณ์ในการปฏิบัติภารกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ทั้งงานด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ งานด้านสาธารณูปการและสาธารณประโยชน์ จนได้สมญานามจากหมู่สงฆ์ภาคอีสานว่า “ปราชญ์แห่งอีสานใต้”

ท่านอยู่ในเพศพรหมจรรย์ถือบวชมาตั้งแต่ยังเล็ก และอุทิศตนเพื่อการทำงานให้แก่ส่วนรวมและพระพุทธศาสนามาโดยตลอด จนถือคติพจน์ประจำตัวว่า “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน” ในอดีตท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม (พระอารามหลวง) ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ, เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายมหานิกาย และหัวหน้าพระธรรมทูตจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ท่านสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านหนองกุง ต.หนองกุง อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ ต่อมาโยมบิดาเสียชีวิต จึงได้บวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดา แล้วอยู่ในเพศบรรพชิตตั้งแต่นั้นมา

พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่ออายุ ๑๔ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดม่วงเป ต.หนองกุง อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ โดยมีเจ้าอธิการอ้วน โสภโภ (พระครูโสภณคุณากร) วัดโนนค้อ ต.โนนค้อ อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาได้ย้ายมาเรียนนักธรรม ที่วัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้เป็นสามเณรอุปัฏฐากใกล้ชิดเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ในขณะนั้น) คือพระเทพวรมุนี (เสน ปญฺญาวชิโร) ขณะที่เพิ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดได้เพียง ๒ ปี ครั้งท่านยังเป็นพระมหาเสน ปญฺญาวชิโร จึงได้เรียนรู้งานคณะสงฆ์มาตามลำดับ

พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๖ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ จากสำนักศาสนศึกษาวัดมหาพุทธาราม (วัดพระโต) ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

หลังจากนั้นพระเทพวรมุนี (เสน ปญฺญาวชิโร) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ได้ฝากฝังพระเถระผู้ใหญ่ให้ไปจำพรรษา ณ วัดสวนพลู แขวงสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ จนกระทั่งได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนั้น เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยมี พระครูสังฆวิธาน เจ้าอาวาสวัดสวนพลู เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “กลฺยาโณ” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ความงดงาม หรือความดีงาม”

พ.ศ. ๒๔๙๙ สอบได้ ป.ธ. ๓ ณ สำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๗ เป็นนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้สมัครสอบครูได้วุฒิทางครู คือ ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมูล (พ.) และประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.) ตามลำดับ

ระหว่างนี้ท่านมีความสนใจงานหนังสือพิมพ์ เป็นสาราณียกรออกหนังสือพิมพ์รายคาบที่มหามกุฏราชวิทยาลัย สนใจติดตามฟังปาฐกถาของบุคคลสำคัญหลายท่าน อาทิเช่น หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ และอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นต้น รวมทั้ง ชอบอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นชีวิตจิตใจ

รูปภาพ
พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.๓)


๏ การกลับคืนสู่มาตุภูมิ

เหตุให้ได้คืนกลับมาตุภูมิบ้านเกิดเมืองนอน เนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ วัดสุพรรณรัตน์ (วัดบ้านพราน) ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ว่างเว้นเจ้าอาวาส พระครูสิริกันทราลักษ์ เจ้าคณะอำเภอขุนหาญ (ในขณะนั้น) พิจารณาแล้วเห็นว่า พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาวัดใหญ่แห่งนี้ให้เจริญได้ จึงขอร้องให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสุพรรณรัตน์ (วัดบ้านพราน) ก่อนเข้าพรรษาเพียง ๗ วัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานเพื่อส่วนรวมและพระพุทธศาสนามาโดยตลอด


๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๓๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดสุพรรณรัตน์ (วัดบ้านพราน) ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๘ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๕๑ เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๕ เป็นเจ้าคณะอำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๕ เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๕๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๔ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๕ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอยางชุมน้อย และอำเภอยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๖ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ

พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๕๑ เป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายมหานิกาย

พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๘ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมหาพุทธาราม ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 18:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.๓)


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามที่ “พระครูวิจิตรธรรมวาที”

พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะจังหวัดชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ (สป.) ในราชทินนามที่ “พระวิบูลธรรมวาที”

พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชวรรณเวที”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพวรมุนี”


๏ งานด้านสาธารณูปการและสาธารณประโยชน์

เริ่มตั้งแต่เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุพรรณรัตน์ (วัดบ้านพราน) จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นวัดในชนบทห่างไกลความเจริญ ท่านได้พัฒนาวัดนั้นขึ้นตั้งแต่ครั้งสภาพวัดยังขรุขระเป็นแผ่นดินลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ ตราบกระทั่งกลายเป็นวัดใหญ่ที่งดงาม เป็นพระอารามทางพระพุทธศาสนาที่น่าเยี่ยมเยือน น่าอยู่ น่าประพฤติธรรม และเป็นศูนย์การอบรมวิทยากรและประชาชนตามโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม (พระอารามหลวง) แล้ว ท่านมีผลงานต่อมาอีกดังนี้

พ.ศ. ๒๕๓๒ บูรณะซ่อมแซมกุฏิเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม โดยทำโครงหลังคาใหม่ให้เป็นแบบทรงไทย และสร้างถังน้ำประปาบาดาล

พ.ศ. ๒๕๓๓ สร้างกุฏิวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม เป็นอาคาร ๒ ชั้น ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นล่างใช้เป็นที่ฉัน ชั้นบนใช้เป็นห้องพักรับรองและที่ทำงาน ขนาด ๗ x ๑๑ เมตร

พ.ศ. ๒๕๓๖ สร้างต่อเติมหอประชุมโรงเรียนศรีเกษตรวิทยา ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ, กุฏิโรงครัว ห้องน้ำ ห้องสุขา ๑๐ ห้อง ที่วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม

รูปภาพ
เมื่อครั้งรับพระราชทานปริญญาบัตร “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง



๏ งานด้านการศึกษา

- เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม

- เป็นกรรมการ-ประธานกรรมการสอบต่างๆ

- เป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ชื่อ “โรงเรียนศรีเกษตรวิทยา”

- เป็นเจ้าสำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ

- เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม


๏ งานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา

- เป็นองค์ปาฐกที่เปี่ยมด้วยภูมิรู้ ภูมิธรรม และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถแสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่าย ทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม

- เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายกิจการคณะสงฆ์ จัดพิมพ์เอกสารทางธรรมะ บทความ บทวิจารณ์สถานการณ์คณะสงฆ์และบ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง ออกแจกจ่ายปีหนึ่งๆ มากมาย

- เป็นวิทยากรบรรยายธรรมในการประชุมสัมมนาต่างๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด

- เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตฝ่ายปฏิบัติการ ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด


๏ งานด้านประวัติศาสตร์และการพัฒนา

เป็นผู้ริเริ่มและประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายจิโรจน์ โชติพันธุ์ (ในขณะนั้น) ให้มีการศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์ศรีสะเกษ เพื่อให้ได้หลักฐานที่อ้างอิงแน่นอนเกี่ยวกับความเป็นไปของจังหวัดศรีสะเกษ จนได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทำการศึกษาประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษขึ้นมา โดยท่านเองได้อุปการะการดำเนินงาน และเป็นประธานคณะบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ ตราบสำเร็จเป็นรูปเล่มออกมาเป็นเอกสารวิจัยที่มีความเชื่อถือได้ตามหลักวิชาการ คือ หนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ ฉบับสมบูรณ์

ในด้านการเขียนบทความที่สำคัญก็เกี่ยวกับการพัฒนา เช่น บทความเกี่ยวกับหลักยุทธศาสตร์การพัฒนาความเจริญของอีสานของท่านก็คือ โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (โครงการอีสานเขียว) ศูนย์ ค.ว.ร. ซึ่งเป็นแนวข้อคิดอันเพียบพร้อมด้วยเหตุผลทางโลกธรรมและทางธรรมะที่เสนอต่อวงการต่างๆ สถาบันและประชาชนอีสานในวงกว้างขวาง และเนื่องด้วยความคิดอ่านที่ก้าวหน้า มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่แสดงออกโดยบทความและข้อเขียนทางวิชาการของท่านนี้ จึงมักนำท่านไปใกล้ชิดบุคคลสำคัญระดับชาติ ผู้บริหารระดับนโยบาย ไม่ว่าทางการเมืองหรือทางการปกครองท้องถิ่น มาโดยตลอด

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ ผลงานและเกียรติคุณดีเด่น

พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานตาลปัตร ย่าม ผ้าไตร และเหรียญเกียรติยศ จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในนามเจ้าอาวาสวัดสุพรรณรัตน์ (วัดบ้านพราน) ที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น

พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานโล่เสมาธรรมจักรทองคำและเกียรติบัตร (รางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

รูปภาพ
รางวัลเสาเสมาธรรมจักรทองคำ


พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา ไปศึกษาดูงานด้านพระศาสนาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร “ครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ และรางวัลผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดสรีสะเกษ (คปศ.)

พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับโล่เกียรติยศ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะเป็นพระวิทยากรพิเศษในการอภิปรายประชุมอบรมพระนิสิตบัณฑิตพุทธศาสตร์ ที่จะออกไปปฏิบัติศาสนกิจก่อนรับปริญญา ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา” จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ท่านมีชื่อเสียงโดยทั่วไปว่าเป็นองค์ปาฐกฝีปากเอก ที่ได้รับนิมนต์ไปเทศน์และแสดงปาฐกถาในโอกาสต่างๆ มากมายไม่เว้นว่าง ทั้งในจังหวัดศรีสะเกษ ภาคอีสาน และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ที่มีผลงานเป็นบทความทางวิชาการตีพิมพ์ในหนังสือส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไว้มาก โดยใช้นามจริงและนามปากกา เช่น มหากุญชร, ธรรมวาที, วิบูลธรรม, วิบูลรัตน์, กัลยาณวัตร เป็นต้น

ดังนั้นจึงนับได้ว่าพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) เป็นพระมหาเถระผู้มีผลงานดีเด่น รอบรู้ในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ท้องถิ่นของจังหวัดศรีสะเกษ


๏ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม

วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๔๙ ถ.ศรีสุมังค์ ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้าน “บ้านเจียงอี” ซึ่งเป็นภาษาส่วย (เจียง-อี แปลว่า ช้างป่วย) มีตำนานเล่าว่า เคยมีช้างมงคลของราชอาณาจักรอยุธยา ที่ทหารเอกสองพี่น้องมาตามจับคืนไป เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ แล้วช้างมงคลป่วยมาพักให้หายป่วยที่บริเวณบ้านเจียงอีแห่งนี้ สิ่งก่อสร้างภายในวัดซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ คือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ประดิษฐานทางทิศเหนือของพระวิหาร

รูปภาพ
สรีระศพพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.๓)


๏ การมรณภาพ

พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) ได้มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๐๘.๕๔ น. ด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร หลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ เพียง ๑๕ วัน รวมสิริอายุได้ ๗๔ ปี พรรษา ๕๒ สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษทุกคนเป็นยิ่งนัก เนื่องจากท่านเป็นพระนักปราชญ์และเป็นพระนักพัฒนาดีเด่นในทุกด้านของจังหวัดศรีสะเกษ

เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันที่ ๔ ธันวาคม พระราชกิตติรังสี พร้อมด้วยพระศรีธรรมนาถมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิต และฆราวาส จำนวนประมาณ ๕๐๐ คน ร่วมกันนำสรีระสังขารของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายมหานิกาย ไปไว้ในศาลาภายในวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม (พระอารามหลวง) เพื่อให้บรรดาศิษยานุศิษย์กราบไหว้เป็นครั้งสุดท้าย และประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมกันนี้ พระราชกิตติรังสี พร้อมด้วยพระศรีธรรมนาถมุนี และพระสงฆ์ สามเณร ทั้งจังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมกันประกอบพิธีขอขมา โดยมีพุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษมาร่วมพิธีศพกันอย่างเนืองแน่น

พระมหาสำอาง อนาลโย พระลูกวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม และเป็นพระผู้ใกล้ชิดของพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) กล่าวว่า ก่อนที่พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) จะมรณภาพนั้น มีอาการในระยะแรกคือ ฉันอาหารไม่ได้ เจ็บปาก ปากเริ่มบวม และเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประชารักษ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ประมาณ ๒-๓ วัน จนกระทั่งมีไข้ขึ้นสูง แพทย์จึงได้ให้น้ำเกลือ และนำตัวส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ซึ่งแพทย์ได้รักษาพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอาการเริ่มทรุดหนักและมรณภาพในที่สุด

การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของพระเดชพระคุณพระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ เพราะถือว่าท่านเป็นพระมหาเถระผู้มีผลงานดีเด่น รอบรู้ในด้านต่างๆ เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ท้องถิ่นของจังหวัดศรีสะเกษ ล่าสุดได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัล “คนดีของแผ่นดิน” ที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดขึ้น โดยมีกำหนดจะเข้ารับรางวัลในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่โรงละครอักษรา โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แต่ท่านก็ได้มรณภาพไปก่อน

รูปภาพ
พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.๓)



.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
http://intranet.m-culture.go.th/sisaket ... bukkol.htm
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 16:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เศรษฐกิจเชิงพุทธ-เศรษฐกิจพอเพียง

โดย พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ ป.ธ.๓)
อดีตเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายมหานิกาย



สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ได้มีนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ประกาศให้คนทั่วโลกทราบ คือ จะทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า เพราะในขณะนั้นพวกฝรั่งชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ใช้กำลังทหารและอื่นๆ เข้าไปยุ่มย่ามครอบงำประเทศเวียดนาม ลาว เขมร จนเกิดการต่อสู้อยู่หลายปี บริเวณชายแดนทั้งสามประเทศดังกล่าวกลายเป็นสนามรบจนน่าเบื่อหน่าย ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้พังพินาศ

รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ ชักชวนให้นักธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ ลงทุนตั้งหรือสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางมากมาย มีผลิตผลทางด้านอุตสาหกรรมใหม่ (นิค) และจะต้องเป็น เสือเศรษฐกิจตัวที่ ๕ ของเอเชีย

แต่รัฐบาลไม่มีความรู้เรื่อง การตลาด เมื่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าได้มากแล้ว ไม่รู้ว่าจะส่งไปขายที่ไหน กำลังคนซื้อในประเทศก็ไม่มีเพียงพอ ในที่สุด เศรษฐกิจฟองสบู่ ก็แตกล่มสลาย โรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ต้องเลิกหรือหยุดกิจการเป็นจำนวนมาก กรรมกรหรือคนใช้แรงงาน ตกงานหรือไม่มีงานทำเป็นจำนวนแสนๆ คน ทำให้เศรษฐกิจของเอกชนหรือครอบครัวเดือดร้อนทั่วไป และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า เงินคงคลังหรือเงินมีไว้สำรองจ่ายเป็นหลักประกันของชาติ นำออกมาใช้จ่ายเกือบหมด

พอมาถึงรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในช่วงงบปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจขนาดหนัก รัฐบาลไม่มีเงินใช้จ่ายในการบริหารประเทศชาติ ต้องไปขอกู้ยืมเงินจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ ไอ เอ็ม เอฟ มาใช้ ประชาชนชาวไทยพอคลอดออกจากท้องแม่มา ทุกคนต้องเป็นหนี้ ไอ เอ็ม เอฟ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นหนี้เขามากมายประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท (หกหมื่นล้านบาท) จนมีการพูดกันว่าอีกกี่ปีกี่ชาติจึงจะใช้หนี้หมด หรือประเทศไทยอาจจะต้องเหมือนคนล้มละลายก็ได้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ต้องจำใจลาออก

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ หรือนับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยอย่างสูงสุด คือ ในขณะที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขนาดหนักอยู่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พ่อหลวงของชาติไทยได้ออกมาตรัส หรือพระราชทานพระบรมราโชวาท เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยทรงตักเตือนย้ำให้ประชาชนชาวไทยทั่วไปพยายามพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากินหาเลี้ยงชีพให้รู้จักประหยัดอดออม ให้ใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ให้มีความนิยมไทย ใช้ของผลิตได้ในประเทศไทย เพื่อไม่ต้องเสียดุลการค้าต่างประเทศ

ทีแรกผู้คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้เท่าไรนัก แต่เมื่อผู้รู้ ท่านได้อธิบายขยายพระบรมราโชบายมากขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันอย่างได้ผล ถือว่าเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านเศรษฐกิจได้อย่างอัศจรรย์ยิ่ง

เมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็เพียงสามารถประคับประคองให้เสถียรภาพรัฐบาลอยู่ได้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของชาติได้มากนัก หนี้สิน ไอ เอ็ม เอฟ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ความเชื่อถือจากต่างประเทศดีขึ้นบ้าง

หลักจากการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ฉบับประชาชน) ปี ๒๕๔๐ พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงชั่วระยะเวลา ๒ ปี เศษๆสามารถทำการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้หนี้ ไอ เอ็ม เอฟ ได้หมด แถมยังมีเงินคงคลังอีกมากมาย จนสามารถปล่อยเงินกู้ให้แก่บางประเทศได้ด้วย ผู้มีจิตใจเป็นธรรมต้องยกให้เป็นเครดิตของคุณทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเรายังถือว่าเป็นประเทศที่ยังด้อยพัฒนาในหลายด้าน เพราะประชาชนส่วนมากยังยากจน การสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ยังขาดแคลน การศึกษายังไม่มีความเจริญก้าวหน้า มีการกล่าวกันว่า อีกไม่นานกี่ปีข้างหน้าประเทศเวียดนาม ซึ่งคว่ำหวอดอยู่กับสงครามมานานจะแซงขึ้นหน้าประเทศไทยไปแล้ว

ดังนั้น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงจำเป็นต้องนำมาปฏิบัติในประเทศไทยต่อไป ปัจจุบันได้กลายเป็น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว และดูเหมือนว่าเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆมากขึ้นแล้ว หลายประเทศกำลังศึกษาและนำเอาไปใช้อย่างได้ผล โดยเฉพาะคือประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลาย

ความจริงเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ตรงตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาในข้อที่ว่า สันโดษ ซึ่งภาบาลีเขียนว่า สันตุฏฐี แปลตามศัพท์มีความหมายว่า ความยินดีหรือความพอใจในสิ่งของๆ ตน หรือในสิ่งที่ตนมีอยู่ ขยายความให้เข้าใจกันต่อไป คือ ความพอดี ความเหมาะสม ความรู้จักประมาณ เรียกว่ามีมัตตัญญุตาธรรมนั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอชี้แจงทำความเข้าใจสักเล็กน้อย คือ

เมื่อประมาณ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว มีบาทหลวงฝรั่งท่านหนึ่ง เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง ในหนังสือเล่มนั้น บางตอนได้กล่าวหาโจมตีคนไทย หรือประเทศไทยทำนองว่า ที่ประเทศไทยล้าหลังไม่มีความเจริญก้าวหน้านั้น เพราะคนไทยส่วนมากยึดถือหลักสันโดษ ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำมาหากิน เป็นคนงอมืองอเท้าไม่กล้าทำมาหากินอะไร และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง

ในยุคนั้นเป็นข่าวครึกโครมมากในกรุงเทพมหานคร และได้มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ออกมาแสดงความเห็นโต้ตอบอย่างกว้างขวาง ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องสันโดษอย่างถูกต้อง จนทำให้บาทหลวงฝรั่งท่านนั้นต้องยอมจำนน

ที่จริงคำว่า สันโดษ ไม่ใช่สอนให้คนงอมืองอเท้า หรือสอนไม่ให้คนทำมาหากิน หรือไม่ให้คนแสวงหาทรัพย์สมบัติ เพราะหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา มีทั้งขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูงสุด ซึ่งผู้ศึกษาให้เข้าใจสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น หลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ที่ทรงสั่งสอนว่า การที่คนเราจะบรรลุหรือสำเร็จประโยชน์ในปัจจุบันหรือชาตินี้ ต้องมีคุณธรรมหรือประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ดังต่อไปนี้

๑. อุฎฐานะสัมปะทา - ให้ถึงพร้อมด้วยความหมั่นขยันหาทรัพย์ อย่าเป็นคนขี้เกียจคร้าน ให้มีความอดทนพยายาม หนักเอาเบาสู้ เพราะผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรเท่านั้นจึงจะแสวงหาทรัพย์ได้

๒. อารักขะสัมปะทา - เมื่อแสวงหาทรัพย์สินมาได้แล้ว ต้องถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ ให้รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ไว้ให้ดี ให้ปลอดภัย สมัยนี้เขามีธนาคารรับฝากเงินทั่วไป ถ้ามีเงินทองมาก ควรแบ่งเอาไปฝากธนาคารนั้น นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังได้ดอกเบี้ยผลกำไรด้วย

๓. กัลยาณะมิตตะตา - ให้เลือกคบหาสมาคมกับคนดีหรือให้มีเพื่อดี เพราะถ้าคบหาสมาคมกับเพื่อนที่ไม่ดี เช่น คนที่เป็นนักดื่ม นักเล่นการพนัน หรือนักเลงหัวไม้ เป็นต้น จะทำให้เสียคน เพราะคบคนเช่นไร นานๆเข้าก็จะเป็นคนเช่นนั้น

๔. สะมะชีวิตา - ให้เลี้ยงชีพสม่ำเสมอหรือให้สมควรแก่ฐานะ ให้รายได้กับรายจ่ายมันสมดุลกัน คำโบราณที่ว่า เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง หรือ นกน้อยทำรังแต่พอตัว นั้น ถูกต้องแล้วง ควรนำมาประพฤติใช้ในชีวิตประจำวัน จะใช้จ่ายอะไรต้องคิดให้ดีเสียก่อน ถ้ามีความจำเป็นแค่ไหนอย่างไร ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องให้มันมีรายได้เหลือไว้ด้วยเสมอ

คนไทยเรานิยมหรือชอบเอารูปเหรียญหลวงปู่นั้น หลวงพ่อนี้ ที่เคารพนับถือห้อยคอ บางคนมีรูปเหรียญพระเกจิอาจารย์ห้อยคอหลายองค์ แต่ขอแนะนำว่าควรจะเลือกเอารูป เหรียญหลวงพ่อเหลือ ห้อยคอดีที่สุด อย่าไปเอารูป เหรียญหลวงพ่อเรียบ มาห้อยคอเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเรียบอาวุธหมด

ขอชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องสันโดษ ต่อไปอีกสักหน่อย เพื่อจะได้เข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากยิ่งขึ้น โดยมีธรรมสุภาษิตอยู่ว่า

สันตุฎฐี ปะระมัง สุขัง แปลว่า ความสันโดษเป็นสุขอย่างยิ่ง

สันตุฎฐี ปะระมัง ธะนัง แปลว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สันโดษได้แก่ความยินดีหรือพอใจในในสิ่งของที่ตนได้หรือมีอยู่ มันสามารถทำให้ชีวิตของเรามีความสุข และถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐของตนด้วย ยกตัวอย่างเช่น

- มีเงินในกระเป๋าของเรา ๑๐๐ บาท เราต้องพอใจ หรือยินดีในเงิน ๑๐๐ บาท นั้น เพราะมันเป็นเงินของเรา เราสามารถจะจับจ่ายใช้สอยได้เสมอ ถ้าเราไปยินดีหรือพอใจเงิน ๑,๐๐๐ บาท ในกระเป๋าของคนอื่น มันจะได้ประโยชน์อะไร

- มีภรรยาหรือเมียคนหนึ่งดีอยู่แล้ว จำเป็นอะไร ต้องไปยินดี พอใจ กับผู้หญิงอื่น มีแต่จะสร้างปัญหา นำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว ท่านจึงสอนให้มี สะทาระสันโดษ คือ ให้ยินดี หรือพอใจในคู่ครองของตน

- มีนาฬิกาข้อมือเก่าๆ เรือนหนึ่งราคาไม่แพง แต่มันเดินตรงเวลาเป็นอย่างดี จำเป็นอะไรมากมายนักหรือต้องหาซื้อนาฬิกาข้อมือเรือนใหม่ ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ให้มันสิ้นเปลืองเงินทองไปเปล่าๆ เพราะอันเก่ามันก็ยังใช้ได้ดีอยู่แล้วนี่

- คนที่มีความยากจนหรือคนจน ไม่ค่อยมีปัญหาต่อสังคมเท่าไรหรอก แต่คนจนไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอนี่ซิ สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคมมาก มันต้องแก้ไขด้วยหลักของสันโดษ

การที่จะทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประสบผลสำเร็จ นอกจากประพฤติปฏิบัติตามหลักของ ทิฎฐะธัมมิกัตถะประโยชน์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องลดเลิกละอบายมุข อันเป็นปากทางแห่งความเสื่อมทุกชนิดด้วย พวกเรายกย่องเชิดชูบูชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง แต่ปล่อยให้มีแหล่งอบายมุขอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้องเลย ระบบเศรษฐกิจพอเพียงต้องไม่มีแหล่งอบายมุขทุกประเภท ทุกคนต้องน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำมาปฏิบัติ เศรษฐกิจของประเทศชาติไทยเราต้องดำเนินไปด้วยดีอย่างแน่นอน



.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.watnakkharin.org/index.php?mo=3&art=202436
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ส.ค. 2009, 09:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
:b44: :b44: :b44:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ส.ค. 2009, 09:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:36
โพสต์: 435

ที่อยู่: malaysia

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุค่ะ คุณสาวิกาน้อย :b8:
:b48: ธรรมะสวัสดีค่ะ :b48:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร