วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 17:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 13:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท
พระอริยสงฆ์ผู้มีจริยวัตรอันงดงาม
วัดป่าดงหวาย ต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร


๏ ชาติภูมิ

“หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท” มีนามเดิมว่า ญาติ กุลวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ ณ บ้านคำชะอี ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายพรหมมา และทุมมา กุลวงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ตามวิถีชีวิตชาวชนบทอีสาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕

เพราะเหตุบางประการในการแจ้งชื่อในทะเบียนทหารกองเกิน เมื่อช่วงอายุ ๑๗-๑๘ ปี ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “แฟบ” และวันเวลาเกิดก็ผิดพลาดไปด้วย จึงต้องใช้ชื่อวันและเวลาเกิดใหม่จากนั้นเป็นต้นมา ต่อมาลูกศิษย์ลูกหาได้เรียกชื่อเพี้ยนเป็นหลวงปู่ “แฟ๊บ” หรือ “แฟ้บ” หรือ “แฟ็บ” ไป

หลวงปู่เป็นพระกัมมัฏฐานที่วัตรปฏิบัติเรียบง่ายปฏิปทาอันงดงาม ด้วยครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อย่างสมถะ ไม่สะสมทรัพย์สินใดๆ มักน้อย ถือสันโดษ มีเมตตาธรรมสูง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ได้พบเห็น และเป็นร่มโพธิ์ทองของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย


๏ การศึกษาเบื้องต้น

หลวงปู่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เมื่อโยมมารดาถึงแก่กรรมตอนอายุได้ ๗ ปี โยมบิดาก็ได้แต่งงานใหม่ ทำให้หลวงปู่ต้องย้ายไปอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในสมัยนั้นหมู่บ้านอยู่ในชนบทห่างไกลมาก จึงไม่มีโรงเรียนทำไม่ได้รับการศึกษาต่อ ดังนั้นท่านจึงช่วยเหลืองานของโยมบิดาเรื่อยมา จนกระทั่งถึงอายุ ๑๖ ปี จึงย้ายกลับมาอยู่กับพี่ชายคนที่ ๒ คือ นายบุญ กุลวงศ์ ที่บ้านเดิม

ในวัยเยาว์นั้น มีเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจและปลูกศรัทธาความเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนาและพระธุดงค์กรรมฐานเป็นอย่างมาก เมื่อได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระบูรพาจารย์ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีลมหาเถร และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถรถ้ำจำปากันตสีลาวาส (ถ้ำจำปา) บนภูผากูด บ้านคันแท ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน

เนื่องจากหลวงปู่มั่นเห็นว่าการที่หลวงปู่เสาร์ปรารถนาบำเพ็ญบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จะทำให้ล่าช้าต่อการบรรลุมรรคผลและนิพพาน เพื่อแนะแนวทางให้กับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นจึงได้เดินทางมาที่ถ้ำจำปา บนภูผากูด ซึ่งหลวงปู่เสาร์ได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ต่อมาท่านทั้งสองได้ออกเดินธุดงค์มาแวะใกล้บริเวณหมู่บ้าน หลวงปู่จึงมีโอกาสได้พบกับท่านทั้งสอง เพราะชาวบ้านไปถางป่าจัดทำสถานที่พักไปฟังเทศน์ หลวงปู่ก็ตามชาวบ้านไปด้วย หลวงปู่มีโอกาสช่วยงานต่างๆ และทำทางเดินจงกรมให้กับหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นด้วย

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองมาย อริโย พระลูกชายของหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท

รูปภาพ
พระอาจารย์ศรีธาตุ ฐานรโต พระลูกชายของหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท


๏ การอุปสมบทครั้งแรก

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ญัตติคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นครั้งแรก ณ วัดในหมู่บ้าน ได้รับนามฉายาว่า “จนฺทโชโต” แปลว่า ผู้มีแสงสว่างดังดวงจันทร์, ผู้รุ่งเรืองดุจพระจันทร์ ท่านอุปสมบทได้เพียง ๒ พรรษาเท่านั้น โดยในพรรษาแรกได้เรียนภาษาบาลีจนสามารถอ่านออกเขียนได้ และในพรรษาที่ ๒ หลวงปู่อยากจะเรียนนักธรรมเพราะเมื่อสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทแล้วก็จะลาสิกขาเพื่อไปเป็นครูสอนนักเรียน แต่พระครูต้องการให้เรียนพระปาฏิโมกข์ หลวงปู่ไม่ชอบจึงได้ลาสิกขา


๏ ชีวิตครอบครัว

หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ได้ประกอบอาชีพค้าไหมจนมีเงินสะสมมากพอ จึงแต่งงานกับนางคำมา สุวรรณไตร พออายุได้ ๓๒ ปี จึงเปลี่ยนอาชีพมาทำนา และย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านบุ่งเลิศ ตำบลบุ่งเลิศ อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด มีบุตร-ธิดารวมทั้งหมด ๑๒ คน มีรายชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นางเหมือน กุลวงศ์ อาชีพแม่บ้าน
๒. พระอาจารย์ทองมาย อริโย
วัดป่ากลางทุ่ง ตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
๓. นางทองสาย แก้วมาก อาชีพทำนา
๔. แม่ชีสมหมาย กุลวงศ์ ปัจจุบันอยู่ ณ วัดป่าดงหวาย
๕. นายอุดม กุลวงศ์ อาชีพรับราชการครู
๖. นายสมศักดิ์ กุลวงศ์ อาชีพรับราชการครู
๗. นายภักดี กุลวงศ์ อาชีพรับราชการทหาร
๘. พระอาจารย์ศรีธาตุ ฐานรโต
วัดถ้ำมะค่า ตำบลคำเพิ่ม อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
๙. นายผดุง กุลวงศ์ อาชีพรับราชการตำรวจ
๑๐. นางคำซ้อน อินทัง อาชีพช่างเสริมสวย
๑๑. นางอ่อนจันทร์ ประเสริฐสังข์ อาชีพช่างเย็บผ้า
๑๒. นางวรรณา กุลวงศ์ อาชีพค้าขาย

การดำเนินชีวิตในขณะนั้น หลวงปู่ประพฤติตนเป็นพุทธมามกะ โดยเป็นมัคทายกของวัดในหมู่บ้าน และยังเป็นหัวหน้าช่างก่อสร้าง ได้ออกแบบควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงลงมือก่อสร้างกุฏิศาลา และกำแพงของวัดเองทั้งหมด โดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ เลย

เมื่อครั้งที่นางคำมา ภรรยาของหลวงปู่ ตั้งครรภ์ที่ ๒ ได้ ๖ เดือน ในคืนหนึ่งหลวงปู่ฝันว่า กำลังจะเดินทางกลับบ้านหลังจากทำนาเสร็จแล้ว เกิดมีน้ำป่าไหลมา มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำท่วมจนสุดสายตา แต่มีเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึงพอที่จะให้ขึ้นไปอยู่ได้ จึงไปอยู่ที่เนินดินนั้น ขณะที่หลวงปู่กำลังคิดว่าจะทำไงดีจะกลับบ้านได้อย่างไร ก็มีมีดพร้าเก่าๆ ลอยตามน้ำมาติดอยู่ใกล้ๆ กับท่าน หลวงปู่จึงหยิบขึ้นมาดูก็เห็นว่าเป็นมีดพร้าของท่านเอง จึงนำไปล้างน้ำจนมีดพร้านั้นเปลี่ยนเป็นเรือทองคำ หลวงปู่จึงขึ้นไปนั่งบนเรือทองคำนั้น แล้วเรือก็พาแล่นไปจนสามารถข้ามน้ำผ่านไปจนเจอถนนหนทาง เรือทองคำแล่นไปบนถนนราวกับเป็นรถยนต์

เมื่อพิจารณาความฝันนั้นก็เห็นว่า “ลูกคนนี้คงเป็นผู้พาให้เราพ้นจากกองทุกข์เป็นแน่” ซึ่งลูกคนที่ ๒ นี้ คือ พระอาจารย์ทองมาย อริโย นั่นเอง

ต่อมาหลวงปู่เห็นว่าลูกๆ เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว แต่ละคนก็ได้รับการศึกษาที่ดีคงไม่มีใครคิดที่จะทำนา จึงคิดหาทำเลที่เหมาะสมสำหรับประกอบอาชีพ หลวงปู่เห็นว่า อำเภอบานดุง จังหวัดอุดรธานี เหมาะสม หลวงปู่จึงได้มาซื้อบ้านแล้วย้ายถิ่นฐานครอบครัวมาอยู่ที่นี่ พร้อมกับได้สร้างห้องแถวสำหรับให้เช่าขึ้น ๖ ห้อง ซึ่งหลวงปู่ลงมือสร้างด้วยตนเอง

ในขณะที่วัยของหลวงปู่เริ่มมากขึ้น ร่างกายก็อ่อนแอลงไปด้วย แต่ยังต้องทำนาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอยู่ ในวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่กำลังจูงควายไปทำนา ๒ ตัว ควายตัวหนึ่งหยุดยืนเพื่อถ่ายมูล ส่วนควายอีกตัวหนึ่งกลับดึงตัวหลวงปู่เซจนล้มลง เพื่อนบ้านมองเห็นเข้าจึงพูดกับหลวงปู่ว่า

“เฒ่าแล้วจะทำไปทำไมนักหนา ไปทำบุญเข้าวัดเข้าวาได้แล้ว”

เมื่อหลวงปู่ได้ยินเช่นนั้น ก็เกิดความสลดสังเวชตัวเองเป็นอย่างมากถึงกับน้ำตาไหลออกมา หลังจากนั้นมาทุกวันพระหลวงปู่จะไปทำบุญรักษาศีลที่วัดตลอด และได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนา เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น จนเกิดอัศจรรย์เป็นครั้งแรก ขณะปฏิบัติภาวนาในเวลากลางคืน จู่ๆ ก็เห็นแสงขึ้นเหมือนฟ้าแลบ เป็นช่วงๆ แล้วเริ่มถี่ขึ้นๆ จนสว่างจ้าไปหมด หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก จึงไม่ได้สนใจเพราะไม่รู้จักอะไรลึกซึ้งนัก และไม่มีผู้ให้คำแนะนำสั่งสอน ในขณะนั้นความรู้สึกของหลวงปู่มีแต่ความอยากบวช แต่ก็ติดอยู่ที่ครอบครัวจึงยังไม่มีโอกาส ครั้นต่อมานางคำมา สุวรรณไตร ภรรยาของหลวงปู่ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรควัณโรค ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่ออายุได้ ๕๒ ปี ส่วนหลวงปู่อายุได้ ๕๙ ปี

รูปภาพ
รูปปั้นหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ประดิษฐาน ณ วัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร


รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 13:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ การปฏิบัติภาวนา

หลังจากที่ภรรยาของหลวงปู่ถึงแก่กรรมไปแล้ว พระอาจารย์ทองมาย อริโย ได้พาหลวงปู่ไปอยู่ที่บ้านวังผา ตำบลสันมะค่า อำเภอป่าแด จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโอกาสที่หลวงปู่สามารถปฏิบัติภาวนาได้อย่างเต็มที่ ในระยะแรกที่ไปนั้นมี พระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร แห่งวัดป่าหมู่ใหม่ ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่, พระอาจารย์คำแพง อัตตสันโต แห่งวัดบุญญานุสรณ์ (วัดป่าหนองวัวซอ) ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และ พระอาจารย์ทองมาย อริโย เป็นผู้ให้คำแนะนำ

เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา พระอาจารย์ประสิทธิ์ได้ย้ายไปพำนักจำพรรษาที่จังหวัดพระเยา จึงเหลือแต่พระอาจารย์คำแพงกับพระอาจารย์ทองมาย เป็นผู้ให้คำแนะนำกับหลวงปู่ ในระหว่างพรรษา ท่านพระอาจารย์ทั้งสองได้แนะวิธีปฏิบัติให้กับหลวงปู่ โดยไม่ให้นอนตอนกลางคืน ให้เดินจงกรม นั่งภาวนา แต่ตอนกลางวันให้พักผ่อนได้เป็นเวลา ๑ เดือน หลวงปู่ก็ปฏิบัติได้จนครบในเดือนแรก ต่อมาในเดือนที่สองให้ฝึกนั่งภาวนาอย่างเดียว ในเวลากลางคืนไม่ให้ลุก ไม่ให้ขยับหรือพลิกตัว โดยค่อยๆ อนุโลมไปเรื่อยๆ เช่น ในคืนแรกขยับตัวกี่ครั้งให้นับไว้ คืนต่อไปต้องขยับตัวให้น้อยกว่าในคืนแรก และค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ หลวงปู่สามารถทำได้โดยไม่ขยับตัวเลยได้ภายใน ๒๐ วัน และทำไปจนครบระยะเวลาในเดือนที่ ๒

ในเดือนที่ ๓ เมื่อสามารถนั่งภาวนาได้ตลอดคืนแล้ว พระอาจารย์คำแพงจึงแนะนำให้หลวงปู่ตั้งสัจจะโดยกล่าวว่า “ใน ๗ คืนของการนั่งภาวนานี้ ถ้าข้าพเจ้าขยับก็ขอให้รุกขเทวดา พระภูมิเจ้าที่ พระแม่ธรณี จงถอนลมหายใจของข้าพเจ้าให้ตายไปในเวลานั้นทันที ยกเว้นแต่ว่ามีการปวดถ่ายต่างๆ” ในคืนแรกๆ หลวงปู่นั่งไปได้ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง เกิดเวทนาขึ้นมาอย่างหนัก ซึ่งในขณะที่เคยได้ฝึกปฏิบัติก่อนที่จะตั้งสัจจะไม่เคยเป็นอย่างนี้ ไม่มีการปวดถ่ายเลย ซึ่งปกติในแต่ละคืนนั้นจะต้องปวดถ่ายบ้างซักครั้งสองครั้ง แต่นี่มีเวทนาเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา จนตัวสั่น น้ำตา น้ำมูกไหลท่วมเต็มไปหมด แต่ด้วยสัจจบารมีและขันติบารมีของหลวงปู่ ท่านจึงอดทนอยู่ได้จนถึงเช้า

เมื่อผ่านพ้นไปห้าคืน ในคืนที่ ๖ ไม่มีเวทนาเกิดขึ้นเลย มีแต่อาการมึนชาของร่างกาย และมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น มีลมดันขึ้นมาจากขากับมือทั้ง ๒ ข้าง เหมือนน้ำที่ไหลอยู่ในสายยางจนเข้ามาจุกอยู่บริเวณหน้าอก ความคิดของหลวงปู่ในตอนนั้นมีแต่ว่า “ตายแน่ๆ เราต้องตายแน่ๆ” หลวงปู่ควบคุมสติจนรู้สึกว่าลมนั้นได้เลื่อนมาจุกอยู่บริเวณคอหอย ความรู้สึกต่างๆ เวทนาต่างๆ หายไปหมด ว่างไปหมด หลวงปู่บอกว่าในตอนนั้นว่างไปหมด ไม่มีสังขาร ไม่มีเวทนา มีแต่จิตล้วนๆ เพราะเมื่อมองดูร่างกายก็ไม่มี เห็นแต่ผ้าปูนั่ง มีแต่ผู้รู้อย่างเดียว ก็คิดไปว่า “นี่ เราคงจะตายไปแล้ว”

รูปภาพ
พระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร

รูปภาพ
พระอาจารย์คำแพง อัตตสันโต

รูปภาพ
พระอาจารย์ทองมาย อริโย พระลูกชายของหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท


เมื่อมองไปรอบๆ ก็เห็นพระอาจารย์ทั้ง ๓ นั่งอยู่ตรงหน้า (พระอาจารย์ประสิทธิ์, พระอาจารย์คำแพง และพระอาจารย์ทองมาย) หลวงปู่จึงเข้าไปกราบพระอาจารย์ทั้ง ๓ พร้อมคิดว่า “นี่ ครูบาอาจารย์คอยดูเราอยู่ตลอด” เมื่อกราบเสร็จจิตก็ถอนออกจากสมาธิ

ความรู้สึกตอนนั้นจิตใจปลอดโปร่ง แล้วก็มานั่งทบทวนพิจารณาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อทบทวนไปๆ จิตก็เกิดเข้าสมาธิอีกครั้ง จนถึงเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา จิตจึงได้ถอนจากสมาธิอีกครั้ง จึงรีบไปเล่าเหตุการณ์และอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับพระอาจารย์ฟังจนพระอาจารย์กล่าวชมและให้หลวงปู่รักษาไว้ให้ดี ต่อจากนั้นมาการภาวนาจิตของหลวงปู่ก็จะสงบเป็นสมาธิ ตลอดจนมีนิมิตต่างๆ เกิดขึ้น เช่น

นิมิตที่ ๑ ปรากฏเห็นเป็นผู้หญิงสาวมาเต้นระบำรำฟ้อนอยู่ใกล้ๆ กับหลวงปู่อย่างสนุกสนาน หลวงปู่เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชกับนิมิตที่เห็น ไม่ได้หลงไปในความเพลิดเพลินสนุกสนานนั้น เมื่อคิดเช่นนี้นิมิตเหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

นิมิตที่ ๒ เห็นดวงแก้วสว่างไสว มีขนาดใหญ่ประมาณล้อเกวียนมาวนอยู่รอบตัวของหลวงปู่ ๓ รอบ แล้วมาลอยอยู่ตรงหน้า ดวงแก้วนั้นมีแสงสว่างสดใส เจิดจ้าดุจพระอาทิตย์ ลอยอยู่อย่างนั้น จนจิตถอนออกจากสมาธิ หลวงปู่มีความสงสัยกับนิมิตที่เกิดขึ้น จึงไปขอคำแนะนำจากอาจารย์คำแพง ซึ่งท่านได้แนะนำว่าให้แต่งขันธ์ ๕ แล้วให้อัญเชิญมาที่ขันธ์ ๕ อย่าไปไล่จับอย่าไปบีบ เพราะจะเป็นตัณหาความอยาก แล้วให้อัญเชิญเข้าตัว ถ้าเป็นดวงธรรมของเราก็จะทำสำเร็จ

นิมิตที่ ๓ หลังจากได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์แล้ว หลวงปู่รีบปฏิบัติตามจนปรากฏดวงแก้วอีกครั้ง หลวงปู่ได้อธิษฐานคำอัญเชิญ “ถ้าเป็นดวงธรรมของข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาหลายภพหลายชาติแล้ว ขอให้มาอยู่ที่ขันธ์ ๕ นี้” หลังจากนั้นดวงแก้วก็ลดขนาดลงจนมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยแล้วลอยลงมาอยู่ที่มือ หลวงปู่จึงได้อัญเชิญอีกครั้ง ในครั้งนี้ได้เข้าไปในตัวของหลวงปู่ และมีเสียงพูดขึ้นมาว่า “ยังไม่เข้าหรอกเพราะยังไม่มีมรรค ๘ ถ้ามีมรรคเมื่อไรแล้วจะมา” หลังจากนั้นจึงไปเล่าให้พระอาจารย์ฟังอีกครั้ง ท่านชมว่า “อย่างนี้ร้อยคน พันคน จะมีสักคนหนึ่ง รักษาไว้ให้ดีนะ”

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต


๏ พบหลวงปู่หล้า เขมปัตโต

เมื่อออกพรรษาแล้วได้กลับมาอยู่บ้านที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ต่อมาลูกชายคนที่ ๗ คือ นายภักดี กุลวงศ์ จะแต่งงาน หลวงปู่ได้ไปจัดงานแต่งงานตามประเพณี เมื่องานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระหว่างการเดินทางกลับจากงานแต่งงาน หลวงปู่ได้แวะไปที่วัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีหลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่จึงขอพักปฏิบัติภาวนาสัก ๓ วัน ตอนเช้าในเวลาที่พระกำลังจะฉันจังหัน หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ได้ให้เณรจัดแต่งภาชนะและที่นั่งทานอาหารไว้ให้หลวงปู่ โดยให้นั่งอยู่ต่อจากเณร แต่หลวงปู่เห็นว่าไปทานที่โรงครัวจะดีกว่า

หลวงปู่หล้าจึงพูดว่า “ไม่ได้ นี่ไม่ใช่โยมนะ นี่มันดีกว่าเณรอีกนะเนี่ย” แล้วท่านยังหันไปพูดกับพวกญาติโยมที่มาจังหันที่วัด ว่า “พวกเจ้ามัวแต่เฝ้าต้นเฝ้าลำอยู่เฉยๆ ไม่ได้อะไร แต่คนที่จะเอาไปกินนี่ ! ผู้นี่” แล้วชี้ไปที่หลวงปู่ ทำให้หลวงปู่รู้สึกเขินอายอยู่ไม่น้อย

เมื่อกลับบ้านมีชาวบ้านผู้รู้ถึงกิตติศัพท์ของหลวงปู่ จึงได้พากันมาขอให้หลวงปู่เทศนาให้ฟัง ซึ่งหลวงปู่ก็เทศนาเกี่ยวกับการรักษาศีล การทำบุญทำทานตลอดมา ในช่วงเวลานั้นหลวงปู่มีแต่ความตั้งใจและความรู้สึกอยากจะออกบวช ครั้นเมื่อหลวงปู่จัดการธุระและภาระต่างๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงเดินทางไปเข้านาคอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี กับท่านเจ้าอธิการสมจิต หลวงปู่เข้านาคเป็นเวลาอยู่ ๑ เดือน แล้วจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสมดังที่ได้ตั้งใจไว้

รูปภาพ
พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่สวัสดิ์ ขันติวิริโย)
หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ท่านเจ้าคุณอุดร วัดโพธิสมภรณ์



๏ อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต

หลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ญัตติคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ณ พัทธสีมาวัดอรัญญิกาวาส จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่สวัสดิ์ ขันติวิริโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูอุดรคณานุศาสน์ เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระมหามี สุทัสสี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ ท่านพระอธิการสมจิต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “สุภทฺโท” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้ประพฤติงาม


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 13:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ ลำดับการจำพรรษา

พรรษาที่ ๑ หลวงปู่จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส หลวงปู่ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยและบทสวดต่างๆ อย่างขะมักเขม้น ทำให้มีเวลาในการปฏิบัติภาวนาน้อยและทำให้สมาธิเสื่อมหายไป แต่ก็ยังรักษาการปฏิบัติไว้อย่างต่อเนื่อง หลวงปู่มีโอกาสไปฟังธรรมเทศนาจากหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นประจำ เพราะท่านเจ้าอธิการสมจิต มีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปู่เทสก์ ทำให้หลวงปู่ได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์และเข้าฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ นอกจากหลวงปู่เทสก์แล้ว ยังมีครูบาอาจารย์รูปอื่นๆ อีก ที่หลวงปู่ได้เข้าฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เช่น หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นต้น

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ญาติของหลวงปู่ซึ่งอยู่ที่บ้านบุ่งเลิศ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ถึงแก่กรรม หลวงปู่จึงเดินทางไปช่วยงานศพจนกระทั่งเสร็จสิ้น แล้วหลังจากนั้นจึงได้เดินทางไปปฏิบัติภาวนาอยู่ที่ ณ ถ้ำจำปา ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นเคยไปพำนักเพื่อปฏิบัติภาวนาอยู่ เมื่ออยู่ที่นี่หลวงปู่เร่งภาวนาอย่างหนัก เดินจงกรมวันละไม่ต่ำกว่า ๑๐ ชั่งโมง นั่งภาวนาตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้า อยู่ ๔ ถึง ๕ วัน จึงออกบิณฑบาตสักครั้งหนึ่ง ปฏิบัติอย่างนี้จนได้สมาธิกลับคืนมาและเกิดนิมิตต่างๆ เช่น มีเทวดามานั่งอยู่รอบๆ กราบนมัสการหลวงปู่ทุกคืน บางคืนเทวดาก็นิมนต์ไปเทศนาบ้าง ไปบิณฑบาตบ้าง

พอรุ่งเช้า หนทางที่เหล่าเทวดาเดินทางมาหาหลวงปู่นั้นมีแต่หน้าผาและภูเขาทั้งนั้น จึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์อยู่ ที่พักของหลวงปู่จะมีท่อน้ำเก่าๆ แต่ไม่มีน้ำไหลออกมา ทำให้หลวงปู่คิดว่าคงต้องลงไปเอาน้ำจากข้างล่างขึ้นมา พอจะลงไปก็มีน้ำไหลออกมาเองเต็มโอ่งน้ำที่รองอยู่พอดี และเมื่อเวลาน้ำหมดก็จะมีน้ำไหลออกมาอย่างนี้ทุกครั้ง

พรรษาที่ ๒, ๓ และ ๔ หลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีอุดม อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี การปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ย่อหย่อน และจริงจังตลอด ไม่ว่าแดดจะร้อนหรือฝนจะตกอย่างไรก็ตาม

ในคืนหนึ่งตอนต้นพรรษาที่ ๓ หลวงปู่ได้ฝันว่าหลวงปู่มั่นมาจับแขนดึงให้ตามไป โดยมีหลวงปู่เสาร์เดินนำหน้าไปก่อนแล้ว หลวงปู่มั่นกล่าวว่า “ไปทางนี้” หลวงปู่จึงตอบไปว่า “ข้าน้อยจะตามไปอยู่ ท่านอาจารย์วางแขนข้าน้อยเถอะ” หลวงปู่มั่นไม่ปล่อยแล้วกล่าวว่า “ไม่ได้เดี๋ยวจะกลับคืน” แล้วพาเดินไป ปรากฏว่าเมื่อหลวงปู่มองไปข้างล่าง เห็นก้อนเมฆเต็มไปหมดเหมือนเดินอยู่บนฟ้า หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ตื่นขึ้น จึงพิจารณาถึงความฝันนี้ว่า หลวงปู่มั่นคงกลัวหลวงปู่จะหลงทางนั้นเอง

ระหว่างพรรษาที่ ๓ การภาวนาของหลวงปู่มีนิมิตเกิดขึ้นมากมาย จนทำให้จิตของหลวงปู่สับสนมากจนแก้ไม่ตก นึกได้ว่าจะต้องไปปรึกษากับหลวงปู่เทสก์ หลังจากที่นึกไว้ ๓ วัน ก็มีจดหมายมาถึง เมื่อดูที่หน้าซองจดหมายนั้นปรากฏว่าเป็นจดหมายของหลวงปู่เทสก์ ที่ส่งมาหาหลวงปู่ และมีสมุดเล่มเล็ก ๑ เล่ม พร้อมจดหมายแทรกมาด้วย ๑ ฉบับ ในจดหมายมีข้อความโดยสรุปว่า “ไม่ต้องมาหาหรอก อาจารย์ดูอยู่ทุกคืน ส่วนสิ่งที่เห็นในนิมิตต่างๆ นั้น อาจารย์ได้แก้ให้ไว้เป็นข้อๆ ไป ให้ดูในสมุดเล่มที่แทรกมาด้วยกัน”

หลวงปู่จึงรีบเปิดดูในสมุด ซึ่งหลวงปู่เทสก์ได้แก้ไขนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า “ให้ดูนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นอุเบกขา คือการวางเฉย อย่าไปยึดมั่น นั่นเป็นธรรมดาของโลก เมื่อเห็นแล้วให้ใช้ปัญญาพิจารณาเป็นธรรมะ เมื่อเบื่อแล้วให้วางไปทิ้งไป แล้วจะไม่มาปรากฏให้เห็นอีก” หลังจากที่หลวงปู่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงปู่เทสก์แล้ว นิมิตเหล่านั้นก็ไม่มาปรากฏอีกเลย

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้ไปปฏิบัติภาวนาอยู่ที่บ้านดงหม้อทอง ตำบลดงหม้อทองใต้ อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร สถานที่แห่งนั้นมีก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งที่ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกว่า หินตู้รถไฟ หลวงปู่จะขึ้นไปภาวนาบนหินตู้รถไฟนี้ ได้เกิดปัญญาและธรรมบางอย่างขึ้น เนื่องจากได้เห็นอสุภกรรมฐานที่เกิดขึ้นกับตัวของหลวงปู่เองถึง ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ หลวงปู่เห็นร่างกายของตัวเองอยู่บนกองฟืน ก็คิดว่าเอาร่างของเรามกไว้ที่นี่ทำไมจะเอามาเผาหรือไง ทันใดนั้นก็เกิดไฟเผาร่างกายจนไหม้ กะโหลกศรีษะแตก มันสมองไหลออกหยดลงพื้นไป เผาจนร่างเกือบจะไหม้หมด จิตก็ถอนออกจากสมาธิก่อน

ครั้งที่ ๒ หลวงปู่เห็นร่างของตัวเองนอนแน่นิ่งอยู่ แล้วก็ค่อยๆ เริ่มอืดพองขึ้นแล้วก็เริ่มเน่า ผิดหนังก็ปริแตกและไหลออกคล้ายน้ำ จนเหลือแต่กระดูก ต่อจากนั้นมีปลวกมากัดกินจนเหลือเป็นกองดินเล็กๆ ประมาณเท่ากำมือ

ครั้งที่ ๓ มีกลุ่มคนมาไล่ตีหลวงปู่ หลวงปู่พยายามหนีแต่ไปไม่ไหว ก็เลยยอมให้คนกลุ่มนั้นรุมตีจนแน่นิ่งไป แล้วหั่นร่างของหลวงปู่เป็นท่อนๆ ตามข้อต่างๆ ของร่างกาย แล้วนำมาวางเรียงไว้เป็นกอง เมื่อเสร็จก็พากันเดินหายไป หลวงปู่เลยตะโกนตามไปว่า “อ้าว ! มาฆ่ากันทำไม ? ฆ่าแล้วก็เอาไปด้วยซิ จะเอาไปทำอะไรก็เอาไป จะเอาไปต้มกินก็เชิญ” หลังจากนั้นก็เกิดแสงแดดที่แรงกล้าส่งมาที่ร่าง เนื้อหนังก็ค่อยๆ ไหลหลุดออกเหลือแต่กระดูก จนกระทั่งเหลือเป็นกองขี้เถ้าประมาณกำมือเช่นกัน

ที่นี่มีพวกภูมิและพวกเทวดา มากราบนมัสการหลวงปู่มากมาย รวมทั้งมีฤาษีมาสนทนาธรรมกับหลวงปู่ แล้วยังบอกกับหลวงปู่อีกว่าหลวงปู่เคยเป็นฤาษีที่เคยบำเพ็ญอยู่ด้วยกันในอดีตชาติ แล้วก่อนจากไปได้รักษาโรคปวดหลังเรื้อรังให้กับหลวงปู่ด้วย ซึ่งหลวงปู่เป็นโรคนี้มานานแล้ว เมื่อได้รับการรักษาจากฤาษีรูปนี้แล้วอาการปวดหลังก็หายเป็นปกติจนถึงปัจจุบัน

มีอยู่คืนหนึ่งได้มีเสือตัวใหญ่มานอนขวางทางลงทางหินตู้รถไฟ จะลงทางอื่นก็ไม่ได้ เพราะมีทางขึ้นลงอยู่เพียงทางเดียว หลวงปู่ก็ต้องนั่งภาวนาอยู่บนหินนั้นตลอดทั้งคืน พอใกล้รุ่งเช้า เสือจึงเดินจากไป แต่ก่อนไปหลวงปู่พูดขึ้นมาว่า “จะกินก็ไม่กิน มานอนขวางทางอยู่ได้” เสือกลับตอบมาว่า “ไม่กินหรอก ยังไม่ตาย ถ้าตายแล้วถึงจะกิน” พร้อมกลับหันหลังเดินจากไป โดยมีทางให้เสือเดินไปจนสุดสายตา เมื่อเสือเดินลับตาไปแล้ว ทางที่เห็นไกลๆ นั้นกลับกลายเป็นป่าเป็นภูเขาไป จึงทำให้รู้ว่านั่นคงไม่ใช่เสือจริงๆ คงจะเป็นพวกภูมิที่อยากจะให้หลวงปู่เร่งความเพียรเท่านั้นเอง

ก่อนที่จะเข้าพรรษาที่ ๔ หลวงปู่ได้ออกเดินธุดงค์ภาวนามาที่ถ้ำจำปากันตสีลาวาส (ถ้ำจำปา) อีกครั้ง ในตอนแรกคิดว่าจะจำพรรษาที่นี่ แต่พอใกล้จะเข้าพรรษาฝนตกหนัก ทำให้เกิดความไม่สะดวก ไม่เหมาะสมกับการจำพรรษา หลวงปู่จึงกลับไปจำพรรษาที่วัดศรีอุดม จังหวัดอุดรธานี เช่นเดิม

พรรษาที่ ๕ และ ๖ ก่อนเข้าพรรษาที่ ๕ หลวงปู่ได้ออกเดินธุดงค์มาจนถึงที่วัดป่าบ้านโพนไค ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ในขณะที่พักอยู่ที่นี่ได้มีมัคทายกแนะนำให้ลองมาอยู่ที่วัดป่าดงหวาย ที่บ้านจาร เพราะไม่มีพระอยู่เลย เป็นหมู่บ้านใกล้ๆ กัน จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าดงหวายเป็นครั้งแรก

เมื่อแรกที่มาอยู่ที่วัดป่าดงหวายนั้นยังเป็นวัดร้าง ศาลาและกุฏิเก่าผุพัง หลวงปู่จึงได้จัดการพัฒนาซ่อมแซมศาลาและกุฏิใหม่ หลวงปู่อยู่ที่นี่ได้ ๒ พรรษา ในระหว่างพรรษาที่ ๖ นั้น หลวงปู่ได้ประสบกับโรคลำไส้ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงต้องกลับไปรักษาตัวอยู่ที่อำเภอบ้านดุง

พรรษาที่ ๗ เพื่อสะดวกแก่การพักรักษาร่างกายให้หายจากโรคที่เป็นอยู่ หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดศรีอุดม อำเภอบ้านดุง เมื่อสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติดีแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์ต่อไปทันที

พรรษาที่ ๘ และ ๙ หลวงปู่ออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร หลวงปู่เล่าว่าการภาวนาดีมาก แต่ละคืนมีพวกภูมิต่างๆ พวกเทวดามากราบนมัสการ และนิมนต์ให้ไปเทศน์ตามภูเขาลูกโน้นลูกนี้เป็นประจำ ในการไปแต่ละครั้งจะไม่ได้ไปด้วยกายเนื้อ แต่ไปด้วยจิต เมื่อออกพรรษาหลวงปู่กลับมาที่วัดป่าดงหวาย และได้สร้างศาลาหลังใหม่ขึ้น โดยทุนทรัพย์ในการก่อสร้างครั้งนี้ได้มาจากพระภิกษุซึ่งเป็นลูกหลานของชาวบ้านจารเป็นผู้จัดหาผ้าป่ามา โดยร่วมกับชาวบ้านจารนำมาถวาย

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
บริเวณภายในวัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส จ.มุกดาหาร ในปัจจุบัน


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 13:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
รูปปั้นพญานาค หน้าโรงแรมบ้านกะรนบุรี รีสอร์ท หาดกะรน จ.ภูเก็ต


๏ พญานาคขึ้นมาขอฟังธรรมจากหลวงปู่แฟ๊บ

พรรษาที่ ๑๐ หลวงปู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ภูกิ่ว อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่ภูกิ่ว หลวงปู่แฟ๊บได้รับความลำบากและขัดสนในเรื่องของอาหารมาก แต่การภาวนาขณะที่อยู่ที่นี่ ท่านได้ปัญญาธรรมให้พิจารณาถึงความทุกข์ที่ทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสารนี้มากมาย และมีอยู่คืนหนึ่งขณะกำลังภาวนาอยู่ พญานาค ๓ ตัวมากราบนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่ตลอดคืน หลวงปู่ได้บอกถึงลักษณะของพญานาคที่ได้เห็นไว้ว่า มีลักษณะคล้ายงูจงอาง แต่มีขนาดตัวยาวและใหญ่มาก ประมาณต้นมะพร้าว มีเกล็ดคล้ายแก้วสีฟ้าใส มีสีสวยงามมาก

ในพรรษานั้น มีโยมจากบ้านโพนไคและบ้านจาร อำเภอบ้านม่วง ได้ตามไปนิมนต์ให้กลับมาวัดป่าดงหวาย อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ดังนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วจึงกลับมาที่วัดป่าดงหวาย

ตั้งแต่พรรษาที่ ๑๑ เป็นต้นมา การก่อสร้างศาลาของวัดป่าดงหวายยังไม่สำเร็จ เมื่อหลวงปู่แฟ๊บกลับมาที่วัดป่าดงหวายในครั้งนี้ ท่านได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาต่อจนแล้วเสร็จ และสร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีกหลายหลัง แต่การปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่ก็ไม่ได้ย่อหย่อนลงเลย การภาวนาของหลวงปู่แฟ๊บเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีนิมิตที่สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น แผ่นดินยุบเป็นเหวลึกรอบตัวจนหลวงปู่ตกไปในเหวลึก แต่ก็มีตาข่ายมารองรับตัวหลวงปู่ บางครั้งมีพายุฝน พายุลูกเห็บกระหน่ำพัดใส่ตัวหลวงปู่ บ้างก็เป็นท่อนไม้ตกใส่ตัวหลวงปู่หลายท่อน บ้างก็เป็นลมพายุหมุนพัดมาแต่หลวงปู่ก็ฝืนไม่ยอมปลิวไปตามลม

ในแต่ละครั้ง หลวงปู่แฟ๊บคิดอย่างเดียวว่า “ตายเป็นตาย” แต่เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ ทุกอย่างก็เป็นปกติเหมือนเดิม และมีเทวดาบ้าง รุกขเทพบ้าง หรือพวกภูมิต่างๆ บ้าง บางทีก็เป็นพวกพญานาค มากราบนมัสการขอฟังธรรมจากหลวงปู่อยู่ตลอด บางคืนถึงกับไม่ได้พักผ่อนเลย หลวงปู่เล่าว่าพวกพญานาคจะมากันเยอะมาก มาในลักษณะของคนธรรมดา เมื่อถามไปว่า “มาจากไหน”

พวกพญานาคก็ตอบว่า “มาจากเมืองบาดาล ขึ้นมาจากสระน้ำที่อยู่ภายในวัดป่าดงหวายนี้เอง”


ตลอดเวลาที่ออกธุดงค์หรือพำนักจำพรรษาในที่ต่างๆ แต่ละปี แต่ละพรรษา หลวงปู่แฟ๊บจะระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์คือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อยู่เสมอ และไปกราบนมัสการเยี่ยมเยียนท่านอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งในพรรษาที่ ๑๑ หลวงปู่เทสก์ได้บอกกับหลวงปู่แฟ๊บว่า “อายุมากแล้วให้หาวัดอยู่ประจำได้แล้ว ที่วัดป่าดงหวายนั่นแหละ เหมาะดีแล้ว” หลวงปู่แฟ๊บรับคำจากหลวงปู่เทสก์ แต่เมื่อออกพรรษาในแต่ละปี หลวงปู่จะไปหลบปลีกวิเวกปฏิบัติภาวนาอยู่ที่ภูเกิ้ง บ้านท่าส้มป่อย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อยู่บ่อยๆ เพราะเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการภาวนาของหลวงปู่อีกที่หนึ่ง


รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


การภาวนาของหลวงปู่ได้ปัญญาธรรมที่สำคัญที่สุดที่ภูเกิ้งนี่เอง เหตุเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติภาวนาตามปกติ ในคืนหนึ่งได้มีแสงสว่าง ๔ ดวงลอยมาจากฟ้าแล้วลอยเข้ามาใกล้ๆ หลวงปู่ ปรากฏว่าเป็นพระ ๔ รูป แล้วก็เข้ามาจะกราบหลวงปู่ หลวงปู่ห้ามไว้ แล้วถามถึงพรรษาของพระทั้ง ๔ รูปนั้น พระ ๑ ใน ๔ รูปนั้นกล่าวว่า “พรรษาไม่เกี่ยว ธรรมะไม่ได้อยู่ที่พรรษา ธรรมะอยู่กับการปฏิบัติที่จริงจัง” จึงได้กราบหลวงปู่ แล้วก็เริ่มสนทนากับหลวงปู่

พระ ๔ รูป > “ท่านมาทำไมที่นี่ มาทำอะไรหรือ”

หลวงปู่ > “มาปฏิบัติหาธรรมะตามแนวทางของพระพุทธเจ้า”

พระ ๔ รูป > “ท่านอาจารย์มาหาธรรมะ แล้วใครเป็นผู้สอนธรรมะละ ? แล้วศาลาการเปรียญธรรมอยู่ที่ไหน ? ที่เห็นกันอยู่ทุกวันเป็นเสนาสนังเท่านั้นนะ ไม่ใช่ศาลาการเปรียญธรรมที่แท้จริงนะ”

หลวงปู่ > “ไม่รู้หรอก”

พระ ๔ รูป > “ให้หาคำตอบเอานะ แล้วจะกลับมาใหม่วันนี้ขอลาไปก่อน” แล้วหายตัวจากไป

หลวงปู่พยายามคิดหาคำตอบอยู่หลายวัน จนกระทั่งได้สวดมนต์บทธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตร เมื่อสวดไปๆ เกิดปัญญารู้ถึงคำตอบที่พระ ๔ รูปได้ฝากเอาไว้ จากเนื้อหาของบทสวดนั่นเอง ในหลายคืนต่อมาพระเหล่านั้นกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้มากัน ๓ รูปเท่านั้น แล้วจึงทวงถามถึงปัญหาที่ฝากไว้

หลวงปู่ > “ผู้ที่จะสอนธรรมะและศาลาการเปรียญธรรมนั้น อยู่ที่ตัวของเรา อยู่ที่ใจของเรา ธรรมะไม่ได้อยู่ที่ผู้อื่น หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตาม เพราะท่านเพียงแค่ชี้แนะและให้คำสั่งสอน เพื่อเป็นแนวทางให้เราได้ปฏิบัติตามอย่างถูกทางเท่านั้น อยู่ที่ตัวเรานี่แหละ ที่จิตใจของเรานี่ที่ต้องมาวนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสารอันนี้ล่ะ”

พระ ๓ รูป > “ถูกแล้ว อาจารย์เก่งมาก ขอให้อาจารย์ศึกษาอยู่ตรงนี้ และไม่ช้าไม่นานต้องจบแน่” เมื่อกล่าวจบก็หายตัวจากไป


:b40: พญานาค กับ พระพุทธศาสนา (มมร.)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=26019

รูปภาพ
ประตูทางเข้าวัดป่าดงหวาย

รูปภาพ
ทางเดินจงกรมภายในวัดป่าดงหวาย

รูปภาพ
พระพุทธนิมิตเจดีย์ ณ วัดป่าดงหวาย


ในช่วงเวลาที่หลวงปู่อยู่ที่ภูเกิ้งนี้ มีเทวดามากราบนมัสการเป็นประจำ บ้างก็เป็นเด็กๆ บ้างก็เป็นผู้ใหญ่ บ้างก็มาขอบวชกับหลวงปู่ แต่หลวงปู่ไม่บวชให้ แต่กลับชวนเดินจงกรม ภาวนาด้วยกัน หลังจากออกพรรษาที่วัดป่าดงหวาย หลวงปู่จะไปปฏิบัติภาวนาอยู่ที่ภูเกิ้งตามแต่โอกาส บางทีก็ครึ่งเดือน บางทีก็เดือนหรือสองเดือน

ที่วัดป่าดงหวายยังมีนิมิตที่ทำให้เกิดปัญญาธรรมที่สำคัญกับหลวงปู่ขึ้นอีก คือ นิมิตว่าตัวเองได้ตายอีกครั้ง หลังจากที่เคยเห็นมาแล้วถึง ๓ ครั้ง เมื่อหลายปีก่อน คราวนี้เห็นว่าร่างของตัวเองนั้นแห้งไปจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก กลิ่นก็ไม่มี อย่างนี้คงเก็บไว้ได้นานเป็นร้อยๆ ปีก็ไม่เน่าไม่เปื่อย เมื่อเป็นเช่นนั้นหลวงปู่จึงบอกว่า “เอ้า ! อยากตายนัก ตายไปเลย” แล้วจิตก็ถอนออกจากสมาธิ

ต่อมามีนิมิตว่า ตัวของหลวงปู่ กลางลำตัวนั้นใสไปหมดคล้ายกระจก แต่มีจุดอยู่ ๒ จุดกับมีแนวยาวๆ คั่นระหว่างจุด ๒ จุดยาวไปตามแนวของกระดูกสันหลัง หลวงปู่คิดหาคำตอบอยู่ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เห็นนี้คืออะไร พยายามหาคำตอบอยู่หลายเดือน

จนในขณะไปเดินบิณฑบาต มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่ ท้องใหญ่มาก มาใส่บาตร จึงคิดไปว่าคงจะเป็นลูกแฝด จึงกลับมาพิจารณาเพ่งจิตที่วัดก็เห็นเป็นเด็กตัวเล็กๆ งอตัวอยู่ หันหน้าไปทางกระดูกสันหลังของผู้เป็นแม่ แล้วก็ปรากฏเห็นการเกิดของเด็กทารกในเวลาคลอดจะกลับหัวออกมาก่อน ขณะนั้นก็เกิดปัญญาขึ้นมาว่า “นี่เอง ! ทางแห่งการเกิดนี่เอง ! จุดบ่อเกิดทางเส้นนี้จุด ๒ จุดนี้ เป็นเหตุแห่งการเกิด นี่ๆ ! ไม่สงสัยแล้วเหตุแห่งการเกิดในวัฏฏะสงสารนี้” พร้อมกับความรู้สึกแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย จิตใจสว่างผ่องใสเป็นที่สุด”


ในปัจจุบัน วัดป่าดงหวายได้รับความศรัทธาจากลูกศิษย์ทั้งพระภิกษุและฆราวาส เข้ามาขอความเมตตาฟังเทศน์ ฟังธรรมคำสั่งสอนและหลักปฏิบัติภาวนาเป็นจำนวนมาก หลวงปู่ก็ให้ความเมตตาอบรมสั่งสอน ให้อยู่ในศีลในธรรม ให้รู้จักปฏิบัติภาวนารักษาจิตใจให้สะอาด โดยเน้นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า หลวงปู่เป็นพระเถระที่เป็นพระอาจารย์ผู้ประเสริฐ เป็นนักภาวนาเป็นเอกอุ อย่างไรก็ดี แม้สังขารร่างกายของหลวงปู่จะทรุดโทรมด้วยความชราและโรคภัยต่างๆ ที่เข้ามาเบียดเบียน ก็ไม่ได้ทำให้หลวงปู่ลดความเมตตาหรือลดการปฏิบัติธรรมเจริญรอยตามพระบูรพาจารย์ลงตามไปด้วยแม้แต่น้อย หลวงปู่ยังคงปฏิบัติภาวนา เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ อยู่เป็นประจำ เพื่อรักษาแนวทางการปฏิบัติของพระธุดงคกรรมฐานต่อไป

รูปภาพ
ล็อกเก็ตหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท

รูปภาพ
หลวงปู่คำฟอง เขมจาโร แห่งวัดศรีสำราญ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
ได้เมตตาเดินทางมาร่วมสรงน้ำหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ณ วัดป่าดงหวาย


รูปภาพ
ป้ายชื่อวัดป่าดงหวาย ต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2011, 12:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
รูปภาพ
บริเวณเมรุชั่วคราวสำหรับประชุมเพลิงศพหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท


๏ การอาพาธและการมรณภาพ

เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ซึ่งอาพาธด้วยโรคปอด ความดัน และเบาหวาน เป็นเวลานานกว่า ๓ เดือน ได้เกิดอาการช็อคหมดสติ อาการค่อนข้างรุนแรง คณะศิษยานุศิษย์จะนำตัวส่งโรงพยาบาลศรีนคริทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่หลวงปู่ไม่ยอมไป ต่อมาคณะแพทย์ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านม่วง, โรงพยาบาลสว่างแดนดิน, โรงพยาบาลพังโคน และโรงพยาบาลเรณูนคร ได้มาร่วมกันถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด ครั้นใกล้เวลา ๑๕.๐๐ น. หลวงปู่เกิดอาการปัสสาวะติดขัด กะปริบกะปอย ทำให้เกิดอาการช็อกอีกครั้ง อีกทั้งมีความดันต่ำลง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ คณะแพทย์ได้ให้การถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อมาหลวงปู่มีอาการหัวใจหยุดเต้น ต้องปั้มหัวใจถึง ๒ ครั้ง จนอาการดีขึ้น

กระทั่งเวลา ๑๖.๓๐ น. คณะแพทย์จึงได้กราบเรียนคณะสงฆ์วัดป่าดงหวาย และอาจารย์สมศักดิ์ กุลวงศ์ บุตรชายของหลวงปู่ ขออนุญาตนำหลวงปู่ส่งเข้าห้องไอซียู (ICU) โรงพยาบาลสกลนคร จ.สกลนคร ถึงโรงพยาบาลในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. คณะแพทย์ได้พยายามรักษาอาการของหลวงปู่อย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ในที่สุดหลวงปู่ได้ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบด้วยเส้นเลือดหัวใจตีบ เมื่อเวลา ๒๑.๕๐ น. ของวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ โรงพยาบาลสกลนคร ท่ามกลางความเศร้าสลดและความอาลัยเป็นยิ่งนักของบรรดาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป สิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี พรรษา ๒๘

ก่อนหลวงปู่มรณภาพ ๑ วัน นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้นำพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคี ณ วัดป่าดงหวาย เพื่อนำปัจจัยไปก่อสร้าง “โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร” โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยแห่งแรกของจังหวัดสกลนคร และแห่งเดียวในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า งานทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้มีผู้มาร่วมงานกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน ได้ปัจจัยเป็นจำนวนเงินกว่า ๓ ล้านบาท ๓ แสนบาท สำหรับการก่อสร้างนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ชาวบ้านในพื้นที่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มูลค่าการก่อสร้าง ๙๘ ล้านบาท ตั้งเป้าก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และหากเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลทั่วไป มีขนาดประมาณ ๓๐ เตียง มีการแบ่งพื้นที่เป็นอาคารผู้ป่วยใน และพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรทำยา ทั้งนี้ การก่อสร้างมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการการแพทย์แผนไทย เป็นแหล่งวิจัย ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการใช้ยาไทย สมุนไพรไทย และอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย


๏ กำหนดการบำเพ็ญกุศลและประชุมเพลิงศพ

:b8: กำหนดการบำเพ็ญกุศลและประชุมเพลิงศพหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท
ณ วัดป่าดงหวาย บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร


วันอังคารที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
- ๐๗.๐๐ น. ถวายภัตตาหารบัณฑบาตแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
- ๑๔.๐๐ น. เคลื่อนศพจากศาลาการเปรียญไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่เมรุชั่วคราว
เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาจากหมู่บ้านต่างๆ ได้ทอดผ้าบังสุกุลตามอัธยาศัย
- ๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์ ๔ รูป สวดพระอภิธรรม
- ๒๐.๐๐ น. มีพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์

วันพุธที่ ๒๒ ถึงวันศุกร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓
- ๐๗.๐๐ น. ถวายภัตตาหารบัณฑบาตแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
- ๐๙.๐๐ น. เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน
ที่เดินทางมาจากหมู่บ้านต่างๆ ได้ทอดผ้าบังสุกุลตามอัธยาศัย
- ๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์ ๔ รูป สวดพระอภิธรรม
- ๒๐.๐๐ น. มีพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์

วันเสาร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๓
- ๐๗.๓๐ น. ถวายภัตตาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์ สามเณร
- ๑๔.๐๐ น. มีพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
- ๑๕.๐๐ น. สวดมาติกา - บังสุกุล
- ๑๖.๐๐ น. ประชุมเพลิง

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๓
- ๐๖.๓๐ น. เก็บอัฐิ
- ๐๗.๐๐ น. พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิ
เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล พร้อมจตุปัจจัย เครื่องไทยธรรม
ถวายภัตตาหารบัณฑบาตแด่พระสงฆ์ สามเณร
พระสงฆ์อนุโมทนา
เสร็จพิธี

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
ภาพบรรยากาศในงานประชุมเพลิงศพหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท



.............................................................

:b8: :b8: :b8:คัดลอกและรวบรวมเนื้อหามาจาก ::
(๑) ประวัติโดยสังเขป หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท
จากเว็บไซต์ http://www.sakoldham.com
(๒) ข่าวประชาสัมพันธ์จากวัดป่าดงหวาย จ.สกลนคร

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2018, 07:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

รูปภาพ

:b20: อ่านประวัติขององค์หลวงปู่แล้ว เกิดปีติสุขมากๆเจ้าค่ะ :b16: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron