วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 11:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช


วัดป่านิโครธาราม
ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



๏ ชาติภูมิ

ท่านหลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช ถือกำเนิดในตระกูลวังสะจันทานนท์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2466 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน ณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นามเดิมของท่านชื่อ ปราโมทย์ วังสะจันทานนท์ (หนูแดง) เป็นบุตรคนเดียวของคุณพ่อสิงห์คำ และคุณแม่ทองเพียร วังสะจันทานนท์

คุณพ่อสิงห์คำได้รับราชการทหารเป็นนายร้อยทหารบกที่จังหวัดปราจีนบุรี และสมรสกับคุณแม่ทองเพียร ที่บ้านหัวหว้า จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากสมรสแล้ว ได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และได้ให้กำเนิดเด็กชายปราโมทย์ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวของคุณพ่อสิงห์คำ และคุณแม่ทองเพียร

กาลต่อมาคุณพ่อสิงห์คำได้เสียชีวิตลง คุณแม่ทองเพียร จึงได้พาเด็กชายปราโมทย์ กลับมาอยู่ที่บ้านหัวหว้าอีกครั้ง และเด็กชายปราโมทย์ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเกาะสมอ บ้านเกาะสมอ จังหวัดปราจีนบุรี กาลต่อมา คุณแม่ทองเพียรเกิดล้มป่วยและได้เสียชีวิตลง คุณยาย (ผุย เพ็งทอง) ได้รับอุปการะเด็กชายปราโมทย์ไว้

กาลต่อมาคุณยายผุยได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา เด็กชายปราโมทย์ และเด็กชายแก้ว ดอนมอญ ได้บวชหน้าไฟให้คุณยายผุย ที่วัดหัวนา บ้านหัวหว้า จังหวัดปราจีนบุรี หลังจากเสร็จงานศพคุณยายผุย เด็กชายปราโมทย์ และเด็กชายแก้วได้ไปอาศัยอยู่กับน้า (นางคำสูรย์ สังอรดี) และได้ช่วยน้าประกอบอาชีพ คือทำนา ทำไร่ ด้วยความขยัน

เนื่องจากเด็กชายปราโมทย์ มีอุปนิสัยรักใคร่ใฝ่เรียน จึงได้ออกจากบ้านไปอยู่ที่วัดอุดมวิทยาราม (โรงเกวียน) หลังสถานีรถไฟ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเรียนหนังสือ แต่ต่อมาก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุดมวิทยาราม และย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดมะกอก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นก็ได้ขาดการติดต่อกับญาติพี่น้องเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่ง ภิกษุปราโมทย์ได้ย้อนกลับมาที่บ้านหัวหว้าอีกครั้ง ทำให้ญาติพี่น้องทราบว่าท่านศึกษาเล่าเรียนจนได้เปรียญธรรมหลายประโยคเป็นภิกษุมหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช

ลำดับญาติพี่น้องของคุณแม่ทองเพียร วังสะจันทานนท์ (เพ็งทอง) มีทั้งหมด 8 คน ได้แก่

1. คุณแม่ทองเพียร
2. นายแพร
3. นางทอง
4. นางชื่น
5. นางคำสูรย์
6. นางเชื่อม
7. นางทองคำ
8. นางสีนวล

นายแก้ว ดอนมอญ เป็นบุตรนางสีนวล (น้องคนสุดท้องของคุณแม่ทองเพียร) เรียงลำดับแล้วนายแก้ว ดอนมอญ มีลำดับญาติเป็นผู้พี่ผู้น้องของหลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช

รูปภาพ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


๏ พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ครั้งแรก

หลวงปู่มหาโมทย์ ได้เล่าว่า ท่านได้เจริญวัยเติบโตที่บ้านหัวนา จังหวัดปราจีนบุรี มีผิวพรรณดีมาก ท่านได้ติดตามโยมพ่อไปที่จังหวัดอุบลราชธานี เพราะโยมพ่อของท่านรับราชการทหาร และในสมัยเมื่อยังเด็กนั้นเอง ท่านได้พบ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และหลวงปู่มั่นได้เป่ากระหม่อมให้ พอรุ่งเช้าโยมแม่ได้พาท่านไปใส่บาตรหลวงปู่มั่น


๏ อุนิสัยบำเพ็ญทานเมื่อครั้งยังเด็ก

เมื่อครั้งที่มารดายังมีชีวิต เด็กชายปราโมทย์ได้ช่วยมารดาทำนาปลูกข้าว มารดาจึงได้บอกกับเด็กชายปราโมทย์ให้ไปเฝ้าข้าวในนาที่ปลูกไว้ เพื่อไม่ให้นกเข้ามากินข้าวในนา เด็กชายปราโมทย์ตอบมารดาอย่างสุภาพว่า “ให้นกมันกินแหน่ นกมันบ่ได้เฮ็ดนา” (ให้นกมันกินหน่อย นกมันไม่ได้ทำนา)


๏ จำพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม

หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช ได้มีโอกาสฟังเทศน์จาก หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ในขณะนั้นวัดอโศการามถือว่าเป็นศูนย์รวมกองทัพธรรม และได้ซาบซึ้งในธรรมปฏิปทาของหลวงปู่อ่อน จึงอธิษฐานจิตว่าถ้ามีโอกาสขอให้ได้ไปพักที่วัดป่านิโครธาราม

และอีกครั้งหนึ่งท่านได้เดินธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พอดีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นั่งรถผ่านมาเจอท่านขณะเดินธุดงค์อยู่ริมถนน ท่านหลวงปู่อ่อน ได้ให้คนขับรถจอดรับท่านหลวงปู่มหาปราโมทย์นั่งรถไปด้วย ท่านได้ปรารภอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะกลับไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดป่านิโครธาราม เพราะด้วยความระลึกถึงพระคุณของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ รวมทั้ง ได้ยินว่าที่วัดป่านิโครธารามได้สร้างพระอุโบสถสองชั้น คงจะงดงาม หลวงปู่มหาปราโมทย์ ได้มาพักจำพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม ในครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529

หลังออกพรรษาท่านได้ออกไปเที่ยววิเวกที่วัดป่าห้วยน้ำริน ต่อมาหลวงปู่มหาปราโมทย์ ได้มาจำพรรษาที่วัดป่านิโครธารามในปี พ.ศ. 2537 หลังจากหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้มรณภาพแล้ว

รูปภาพ
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ (ยืน) มาเยี่ยม หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช (นั่ง)
ที่วัดป่าห้วยน้ำริน บ้านห้วยน้ำริน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่



(มีต่อ 1)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2009, 11:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
(จากขวา) หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช, หลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร
และหลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ เจริญพระพุทธมนต์กุฏิเรือนไทย



๏ สร้างศาลาการเปรียญ วัดป่านิโครธาราม

หลวงปู่ได้จำพรรษาร่วมกับ พระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร) เจ้าอาวาสวัดป่านิโครธาราม (ในขณะนั้น) และ หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ จนกระทั่งในพรรษาที่พระอาจารย์ศรีนวลได้ดำริว่าจะซ่อมแซมหลังคาศาลาการเปรียญใหม่ โดยได้ขอให้หลวงปู่มหาปราโมทย์ ช่วยเมตตาในการซ่อมแซมครั้งนี้ หลวงปู่มหาปราโมทย์ ได้รับนิมนต์ไปฉันท์ภัตตาหารที่บ้านโยมในกรุงเทพฯ ท่านได้พูดถึงเรื่องที่จะซ่อมแซมหลังคาศาลาการเปรียญใหม่ให้โยมฟัง โยมก็มีความศรัทธาที่จะช่วยซ่อมแซมหลังคา และได้รวบรวมปัจจัยในการซ่อมหลังคาครั้งนั้น โดยหลวงปู่ได้ส่งปัจจัยผ่านทางธนาคาร เข้าที่บัญชีวัดป่านิโครธาราม

ตั้งแต่นั้นมาคณะศิษย์ก็ได้นำกฐินมาทอดถวายหลวงปู่มหาปราโมทย์ ในการซ่อมแซมหลังคาจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แล้วได้มีการฉลองศาลาครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2537 และหลังจากนั้นหลวงปู่มหาปราโมทย์ ได้จำพรรษาที่วัดป่านิโครธารามมาโดยตลอด และได้เริ่มก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดป่านิโครธารามดังที่ท่านได้อธิษฐานเมื่อครั้งพบกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ขณะเดินทางไปวัดหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และการก่อสร้างหลวงปู่ท่านจะมอบภาระให้หลวงพ่อศรีนวลในภาระต่างๆ ที่หลวงปู่มอบให้ หลวงปู่จะเรียกหลวงพ่อศรีนวลว่า “ท่านพระครู”

เมื่อปี พ.ศ. 2538 หลวงปู่ได้สร้างกุฎีรัตนมุณี ซึ่งใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชาของญาติโยม และเริ่มการก่อสร้างวิหารปาโมชโชอนุสรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และได้มีการฉลองวิหารปาโมชโชอนุสรณ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2547

หลังจากนั้น หลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร เจ้าอาวาสวัดป่านิโครธราม ได้อาพาธหนักและถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2547 หลวงปู่ได้ถวายเพลิงศพพระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 เป็นที่เรียบร้อย

ในขณะเดียวกัน ที่วัดป่านิโครธรามได้แต่งตั้ง หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร เป็นเจ้าอาวาสแทนหลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร ส่วน หลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร หลวงพ่อบุญรอด อธิปุญโญ เป็นรองเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์รื่น ฐิตธัมโม เป็นผู้ดูแลรักษาการ

หลวงพ่อบุญรอด อธิปุญโญ มากราบเยี่ยมหลวงปู่อยู่เสมอเพราะกลัวหลวงปู่เหงา หลวงพ่อประสิทธ์ ปุญญมากโร ท่านก็เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่อยู่เรื่อยๆ ตลอดพรรษาหลวงปู่ไม่ได้ลงฉันอาหารที่ศาลา เพราะสุขภาพของท่านไม่แข็งแรง แต่หลวงปู่จะออกรับบิณบาติมิได้ขาด

หลวงปู่ท่านเมตตาเด็กนักเรียนและชาวบ้านหนองบัวบานมาก ท่านจะมีวิธีสอนเด็กๆ ให้รู้จักไหว้พระทำบุญตักบาตรตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนแบบง่ายๆ โดยหลวงปู่ให้ค่าขนมสำหรับเด็กที่มาทำบุญตักบาตรอยู่เป็นประจำ ทำให้เด็กๆ รู้จักทำบุญให้ทาน หลวงปู่ท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณาในการเสียสละมาก ขณะเดียวกัน สังขารร่างกายของหลวงปู่ไม่ค่อยแข็งแรง ลูกศิษย์ลูกหาที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดไกลๆ หลวงปู่ก็ยังมีเมตตาออกมากต้อนรับ หลวงปู่บอกว่า “สงสารเค้า เขามาไกล” และหลวงปู่ชอบนำขนมปังไปเลี้ยงปลาที่กุฎิรัตนมุณีใน ยามบ่ายๆ เป็นกิจวัตรประจำของท่าน

รูปภาพ
พระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อศรีนวล ขันติธโร)

รูปภาพ
หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

รูปภาพ
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร

รูปภาพ
หลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร


จนมาถึงต้นปี พ.ศ. 2548 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 หลวงปู่ได้อาพาธหนักมาก คณะลูกศิษย์ได้นำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลเอกอุดร ขณะนั้นหลวงปู่มีอาการหืดหอบ ร่างกายช็อคจบเกือบหมดสติ หลวงปู่ได้พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเอกอุดร ที่ห้องไอ ซี ยู หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร ได้มาเยี่ยมเป็นประจำ อาการของท่านหลวงปู่ดีขึ้น จึงได้ย้ายขึ้นไปพักที่ชั้น 7 ของโรงพยาบาลเอกอุดร และต่อมาอีกไม่กี่วันอาการของหลวงปู่ได้ทรุดหนักลงไปอีก จนได้เข้ารับรักษาอาการที่ห้อง ไอ ซี ยู อีกครั้ง ไปจนถึงวันที่ 7 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 รวมอยู่รักษาอาการที่โรงพยาบาลเอกอุดร เป็นเวลา 33 วัน

ต่อมาได้ย้ายหลวงปู่มาพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี โดยอาการของหลวงปู่ทรุดหนักกว่าเดิม โดยมีอาการบวมตามร่างกาย หมอให้การรักษาจนอาการของหลวงปู่ดีขึ้น โดยสามารถพูดคุยกับพระเณร และญาติโยมที่ไปเยี่ยม ในช่วงระยะนี้สติของหลวงปู่จะดีมาก รวมเวลาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี 11 วัน

พอมาถึงวันที่ 18 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ความดันหลวงปู่มหาปราโมทย์ลดต่ำลงประมาณ 53 : 27 หมอได้ให้นำเกลือและเลือด พร้อมทั้งยาเพิ่มความดัน จนความดันของหลวงปู่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ถึงเกณฑ์ปกติประมาณ 90 หมอให้รอดูอาการอีกประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเห็นอาการหลวงปู่ดีขึ้น ช่วงแรกที่ความดันลดลงหลวงปู่จะไม่รับรู้อะไร มีอาการตาลอด พอความดันเพิ่มขึ้นท่านก็ยกมือขึ้นลืมตาดูได้เหมือนปกติ

หลวงปู่รับรู้ดี สติดีมาก นิมนต์ท่านกลับวัดท่านก็รับ โดยให้ท่านจับมือบีบมือ นิมนต์ 2 ครั้ง ท่านก็รับ 2 ครั้ง จัดเตรียมสัมภาระเสร็จก็นิมนต์ท่านขึ้นรถ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ช่วงที่อยู่ในรถท่านก็มีสติบริบูรณ์ดีทุกอย่าง พอคุยกับท่าน ท่านก็รับรู้ดีมาตลอดระยะทาง พอมาถึงวิหารปาโมชโชอนุสรณ์ ณ วัดป่านิโครธาราม ก็ได้นิมนต์ท่านพักที่เตียงพยาบาลที่เตรียมไว้ ท่านพักประมาณ 20 นาที จึงได้ละสังขารลงอย่างสงบ ด้วยอาการโรคหัวใจโต ปอดติดเชื้อ ไตวาย และถุงลมโป่งพอง ณ พระวิหารปราโมชฺโชนุสรณ์ เวลา 19.25 นาฬิกา ระยะเวลาที่หลวงปู่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรวม 44 วัน สิริอายุรวมได้ 82 พรรษา 61


๏ ธรรมโอวาท

“...ธรรมอันผู้ฟังนั้นย่อมนำความงามมาให้ด้วยการฟัง เพราะคงนิวรณ์จะได้เพราะเหตุนั้น เรียกว่างามในเบื้องต้น ธรรมอันผู้ปฏิบัติอยู่ย่อมนำความงามมาให้ด้วยการปฏิบัติ เพราะนำความสุขอันเกิดแก่สมถะ และวิปัสสนามาให้ เพราะเหตุนั้นจึงว่างามในท่ามกลาง เมื่อผลแห่งการปฏิบัติโดยตรงแล้ว ย่อมนำความงามให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างนั้นๆ แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติเพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่างามในที่สุด...”

“...นั่งภาวนาทุกวันเพื่อสั่งสมบุญกุศลนี้ พร้อมทั้งการสดับรับฟัง เพื่อให้เป็นเครื่องเชิดชูบำรุงใจของเราให้อาจหาญ ให้ตั้งใจในการสร้างบุญกุศล จะได้รู้หนทางอันประเสริฐอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ จึงอาศัยท่านกำจัดการฟุ้งซ่าน นิวรณ์ทั้งหลายออกไป ให้ใจมันนิ่งอยู่ในอารมณ์สงบอยู่อย่างนั้น เรียกว่า เป็นการฝึกจนมันแก่กล้าเข้าแล้วก็จะมีความฉลาด มันรู้เท่าแต่มันยังไม่หมดกิเลส อย่างพระโสดายังไม่หมดกิเลส แต่รู้หลักการรู้ถ่องแท้ ว่าร่างกายไม่มีตัวตน หมดความยึดความถือ แต่มันยังไม่หมดจริง เพียงแต่รู้ว่าไม่มีสาระอะไร...”

รูปภาพ


(มีต่อ 2)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2011, 15:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ภาพพระธาตุ •
หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช


รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2011, 13:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


• วัดป่านิโครธาราม •

รูปภาพ

รูปหล่อและรูปภาพของหลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช
ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารปาโมชโชอนุสรณ์ ณ วัดป่านิโครธาราม
บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


รูปภาพ

พระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะทอง
ประดิษฐานตระหง่านอยู่ภายในอุโบสถ วัดป่านิโครธาราม
บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือปราโมชฺโชนุสรณ์ http://www.larndham.org/

♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ http://www.watpa.com/
และห้องพระ http://www.chiangmai1900.com/


------------------------------------------------------------------

ประมวลภาพ “หลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21178

------------------------------------------------------------------

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร