วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 12:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ต.ค. 2010, 16:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต


วัดศรีจำปาชนบท
ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร



๏ ชาติภูมิ

“หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีความเคร่งครัดในหลักพระธรรมวินัย เป็นพระที่เรียบง่าย แต่ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม เป็นพระมหาเถระที่พุทธศาสนิกชนให้ความเลื่อมใสศรัทธา ท่านมีนามเดิมว่า คำ เดชภูมี เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2424 ณ บ้านปลาโหล ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โยมบิดาชื่อ นายขุนเดช เดชภูมี ส่วนโยมมารดานั้นไม่ปรากฏนาม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ในวัยเยาว์ ท่านเป็นคนที่เฉลียวฉลาด มีสติปัญญาดี เมื่ออายุ 16 ปี โยมบิดาได้เสียชีวิตลง โยมมารดาจึงให้บุตรชายบรรพชาเป็นสามเณร เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้โยมบิดา แล้วได้นำไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสวัดบ้านปลาโหล ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน

ภายหลังบรรพชา สามเณรคำมุ่งมั่นเอาใจใส่ในการศึกษาพระปริยัติธรรม สวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน หนังสือเทศน์จากสมุดข่อยใบลาน อักษรธรรม ภาษาขอม โดยใช้เรื่องปัญญาบารมี อุณหัสสวิชัย ทิพย์มนต์ และมหาชาติเวสสันดรชาดก ส่วนการเรียนปาติโมกข์ ท่านเรียนแบบปากต่อปาก เพราะตำรามันหายาก

พ.ศ. 2446 ครั้นอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ สามเณรคำ เดชภูมี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบ้านปลาโหล จ.สกลนคร อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้เพียงสองพรรษาเท่านั้น ท่านก็ได้ลาสิกขา


๏ ชีวิตครอบครัว

พ.ศ. 2448 อายุ 23 ปี ครั้นเมื่อท่านได้ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตแบบฆราวาส ต่อมาก็ได้แต่งงานอยู่กินกับนางสาวเคน สาขามุละ มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

1. นายนอ เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
2. นายนิล เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
3. นายนัน เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
4. นายนนท์ เดชภูมี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
5. นายสำเนาว์ เดชภูมี (ยังมีชีวิตอยู่)
6. ด.ญ.แก้ว เดชภูมี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)

เมื่อครั้งหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ยังเป็นเพศฆราวาสอยู่ ท่านดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชอบทำบาป นิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ทำอะไรทำจริง ท่านเป็นคนที่มีเหตุผล ตรงไปตรงมา ถ้าพูดภาษาบ้านเราก็เรียกว่า “พูดน้อย แต่ต่อยจริง” หมู่คณะและเพื่อนฝูงจึงยกย่องให้ท่านเป็น “ผู้นำ” มาตลอด และชาวบ้านทั่วไปมักจะเรียกขานท่านว่า “อาจารย์คำ”

รูปภาพ
รูปหล่อและรูปภาพหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ณ วัดศรีจำปาชนบท

รูปภาพ
“เจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” ณ วัดศรีจำปาชนบท

รูปภาพ
อนุสรณ์สถาน กุฏิหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ณ วัดศรีจำปาชนบท

รูปภาพ
สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน ณ วัดศรีจำปาชนบท


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ต.ค. 2010, 16:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ปี พ.ศ. 2473 อายุได้ 49 ปี ท่านได้สร้างครอบครัวให้มั่นคงถาวร พออยู่พอกินตั้งหลักปักฐานได้แล้ว ท่านจึงได้ลาภรรยาและบุตร รวมทั้งญาติพี่น้อง เพื่อขอกลับเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง พอดีในช่วงนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล สองขุนพลแห่งกองทัพธรรม ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระปรมาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐาน ได้ออกจาริกธุดงค์ผ่านมาพักอยู่ที่ป่าช้าบ้านปลาโหล (ปัจจุบันเป็นวัดป่ารัตนโสภณ บ้านปลาโหล) ท่านได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ทั้งสองแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้เข้าไปขอมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์

ซึ่งครูบาอาจารย์ทั้งสองก็เมตตาและรับท่านเป็นศิษย์ พร้อมกับได้บวชเป็นตาผ้าขาวให้อยู่รักษาศีลแปด บำเพ็ญธรรม ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติไปก่อน เพื่อให้รู้ถึงแนวทางการประพฤติปฏิบัติของพระกรรมฐาน ฝึกหัดเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และก็ได้พาหลวงปู่คำ ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งในขณะนั้นท่านได้เดินธุดงค์มาพำนักเพื่อภาวนาในเขตจังหวัดสกลนคร

จากนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ได้นำหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประสาทศาสนกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ยสกุลปุตฺโต” ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว ได้เดินทางมาพำนักจำพรรษา ณ วัดศรีโพนเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

ครั้นเมื่อออกพรรษาปาวารณาแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปภูลังกา ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย ร่วมกับ พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร และเดินทางเข้าไปอยู่กับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร รวมทั้งได้จำพรรษากับองค์ท่านด้วย

ขณะจำพรรษา ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่มั่น ได้รับฟังธรรมะและอุบายธรรมในการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ครั้นได้ทราบแนวทางการปฏิบัติธรรม ข้อวัตรต่างๆ แล้ว ท่านได้กราบลาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ออกเดินธุดงค์ไปตามเทือกเขาภูพาน ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาความสงบวิเวกในการบำเพ็ญธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

สำหรับครูบาอาจารย์สหธรรมิกที่เคยร่วมเดินธุดงค์กับหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต มีมากมายหลายท่านด้วยกัน อาทิเช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย และ หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นต้น

รูปภาพ
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ต.ค. 2010, 16:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร กับ หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต
บันทึกภาพ ณ วัดป่าศรีจำปาชนบท อ.พังโคน จ.สกลนคร



๏ สร้างวัดศรีจำปาชนบท

ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2483 ขุนศรีปทุมวงศ์ เจ้าเมืองสกลนคร และนางหล้า ศรีปทุมวงศ์ ซึ่งเป็นน้องเขยและน้องสาวของท่าน ได้มีจิตศรัทธาประสงค์จะบริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างเป็นวัดไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ที่บ้านพังโคน ต.ม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ปัจจุบันคือ บ้านพังโคน ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร จึงได้พากันเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ในตอนนั้นท่านพำนักอยู่ที่ป่าช้าบ้านปลาโหล และได้แจ้งวัตถุประสงค์ให้ท่านทราบ พร้อมทั้งกราบอาราธนาท่านให้มาดูที่ดินผืนดังกล่าว ซึ่งองค์หลวงปู่ท่านก็ไม่ขัดข้อง และได้เมตตารับอาราธนาคณะศรัทธาญาติโยม

หลวงปู่คำ ได้รับมอบถวายที่ดินจากน้องเขยและน้องสาวของท่าน และได้เริ่มก่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ชาวอำเภอพังโคนและใกล้เคียง พัฒนาวัด ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงครัว รวมทั้งได้ขออนุญาตสร้างวัดให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดศรีจำปาชนบท” และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

หลวงปู่คำ ท่านได้ทำการอบรมสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมในท้องถิ่น ตลอดทั้งหมู่บ้านใกล้เคียง ให้รู้จักศีล รู้จักธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ในสมัยนั้นชาวบ้านส่วนมากจะนับถือผี เลี้ยงผี บวงสรวงปู่เจ้าเข้าทรง ท่านก็สอนให้ชาวบ้านเลิกนับถือสิ่งที่ผิดๆ เหล่านั้นเสีย แล้วสอนให้มาเคารพนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด ให้ภาวนา “พุทโธ” และให้สมาทานศีลห้า ศีลแปด ไหว้พระสวดมนต์ ก่อนหลับนอน รวมทั้งให้มารักษาศีล ปฏิบัติธรรมภายในวัดทุกวันพระด้วย

องค์หลวงปู่ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในหลักพระธรรมวินัย เป็นพระที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ ทำอะไรทำจริงปฏิบัติจริง ท่านจึงรู้เห็นธรรมจริงในทางพระพุทธศาสนา และเป็นพระมหาเถระที่พุทธศาสนิกชนให้การเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง

รูปภาพ

๏ การมรณภาพ

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2520 หลวงปู่คำ ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ณ วัดศรีจำปาชนบท สิริอายุรวม 96 พรรษา 42 ทั้งนี้ คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้ทำการถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 ภายหลังจากการถวายเพลิงศพได้ไม่นาน เถ้าถ่านอัฐิของท่านก็ได้กลายเป็นพระธาตุ เป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญสมณธรรมขององค์ท่าน ว่าบำเพ็ญจนบรรลุมรรคผลสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2542 คณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ อัฐบริขาร รวมทั้ง แสดงชีวประวัติและปฏิปทาอันงดงามขององค์ท่าน โดยมี พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) แห่งวัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์

ครั้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546 ได้มีการทำพิธีเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ในการทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและยกฉัตร “เจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” ณ วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร

รูปภาพ
พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)



.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหาของประวัติมาจาก ::
พระตะวัน ปัญฺญาวชิโร คำสุจริต และ อ.ณปพน บาทชารี
รายการพระธรรมค้ำแผ่นดิน, รายการภูพานธรรม
ผู้เรียบเรียง วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

จากเว็บไซต์ http://www.sakoldham.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2011, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต
วัดศรีจำปาชนบท อ.พังโคน จ.สกลนคร


โดย...อำพล เจน



หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต เป็นภิกษุผู้เฒ่าที่คนอำเภอพังโคน และอำเภอพรรณานิคมเคารพเลื่อมใสท่านอยู่มาก ท่านเป็นพระสวยผิวดี กิริยางดงามสำรวมและเยือกเย็น ต้องใจชาวพุทธทั้งหลายที่ได้พบเห็น แต่ชื่อเสียงของท่านออกจะเบาไปเมื่อเปรียบกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งพำนักอยู่อำเภอพรรณานิคมใกล้ๆ กัน

อาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่คำคืออีกลักษณะหนึ่งของศิษย์ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกัมมัฏฐาน เป็นศิษย์เพียงข้ามวันหรือข้ามคืน ได้รับฟังข้อธรรมสำหรับการปฏิบัติประจำจิตประจำใจ แต่ไม่ได้ตามติดประชิดองค์ท่านเหมือนศิษย์ที่ทั้งอยู่รับใช้และอยู่ฟังคำอบรมสั่งสอนเป็นเวลานับเดือนนับปี

ศิษย์ลักษณะนี้มีอยู่มากมายหลายองค์ เช่น หลวงพ่อชา สุภทฺโท ก็ได้รับฟังพระธรรมคำสอนจากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต 2-3 วัน แล้วนำเอาหลักธรรมที่ได้ฟังมาปฏิบัติโดยไม่ได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดเป็นศิษย์ติดตามแต่อย่างใด หลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม (หลวงปู่ศรี ผีย้าน) วัดหลวงสุมังคาราม ศรีสะเกษ ก็เช่นกัน ท่านเพียงได้พบพระอาจารย์มั่นระหว่างธุดงค์ และรับเอาข้อแนะนำในทางปฏิบัติมาทำเองเห็นเองโดยไม่ได้ติดตามใกล้ชิดเหมือนกัน ศิษย์เหล่านี้แบบนี้มีอยู่ทั่วไป ทุกท่านล้วนถือเอาพระอาจารย์มั่นเป็นครูบาอาจารย์ผู้ชี้ทางสว่างให้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงศักยภาพของพระอาจารย์มั่นในทางที่เรียกว่าเป็นอาจารย์ผู้สอนศิษย์อย่างแท้จริง เห็นกันเดี๋ยวเดียวก็สอนได้จนถึงแก่น

ปฏิปทาจริยาวัตรทั้งปวงที่เป็นความงดงามอย่างพระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่คำได้นำเอามาประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างโดยไม่มีบกพร่อง จะเห็นได้ชัดว่ากิจอันสำคัญคือการเจริญสมาธิภาวนาทั้งนั่งทั้งเดินหรือทั้งนอน หลวงปู่คำได้ประพฤติจนเกิดเป็นภาพที่คุ้นตาของสานุศิษย์ประจำหรือคนที่จรมา ตลอดจนการบิณฑบาตเป็นวัตร ที่ไม่จำเป็นไม่ขาด การฉันหนเดียวในบาตรล้วนเป็นสิ่งที่ได้ลงมือทำตามครูบาอาจารย์มั่น ซึ่งได้วางแบบแผนเอาไว้นอกเหนือไปจากคำสอนอันลึกซึ้งถึงแก่นธรรม สิ่งเหล่านี้เหมือนถูกถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน พระอาจารย์มั่นเป็นแม่พิมพ์ พิมพ์ลูกศิษย์ออกมาได้เหมือนกันอย่างน่าพิศวง

วัดหนองป่าพงที่ใครหลายคนล้วนออกปากชื่นชม ก็ได้แบบอย่างมาจากสำนักวัดที่พระอาจารย์มั่นพำนักอยู่ ซึ่งหลวงพ่อชาได้เข้าไปเห็นและฟังท่านสอนธรรม ความสวยงามทั้งภายในและภายนอกนี้แหละครับที่เรียกว่าพระอาจารย์กับศิษย์แบบข้ามคืน หรือจะแบบข้ามเดือนและปีก็ตาม พิมพ์กันไว้อย่างแม่นยำไปทั่วทุกสำนักสาขาแห่งสายพระอาจารย์มั่นทั้งประเทศไทย

หลวงปู่คำ เกิดในสกุล เดชภูมิ เมื่อวันพุธ เดือนมกราคม ปี 2425 ณ คุ้มวัดสะพานคำ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านเป็นบุตรของขุนเดช และนางปาน มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน

ตอนอายุ 7-8 ขวบ บิดามารดาย้ายครอบครัวเข้าอยู่ในหมู่บ้านปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จึงได้กลายเป็นชาวบ้านปลาโหลไปแต่นั้นมา

อายุ 16 ปี บิดาถึงแก่กรรม ครอบครัวเคว้งคว้างหันเหไปเหมือนเรือขาดหางเสือ มารดาจึงตัดสินใจนำท่านเข้าฝากตัวเป็นศิษย์ท่านอาญาครูสิงห์ เจ้าอาวาสวัดบ้านปลาโหล และได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาติดต่อกัน 7 พรรษา แยกออกเป็น 5 พรรษาของเณร และ 2 พรรษาของพระ ถึงได้สึกออกมา

ก่อนจะสึกนั้นท่านได้จัดการหาผู้เข้ามาบวชแทน นัยว่าเพื่อจะได้ผู้สืบพระศาสนา ผมเข้าใจว่านี่คงเป็นความเห็นของคนพื้นที่นั้นหรือเป็นความเห็นของหลวงปู่คำเอง จะสึกออกไปลอยๆ ก็กระไรอยู่ สู้หาคนมาบวชต่อไปสบายใจกว่า และท่านก็ได้อาสาเป็นเจ้าภาพบวชให้ผู้มาบวชแทนที่ท่านเสียเองด้วย

หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้อยู่ในเพศฆราวาสอีกหลายสิบปี ได้แต่งงานจนมีลูกหญิงชายรวมแล้ว 7 คน ราวๆ ปี 2478-79 อายุ 53-54 ปี มีปรากฏกากรณ์พิเศษเกิดขึ้นใกล้บ้านท่านคือ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ ธุดงค์มาพักจำพรรษาในป่าช้าบ้านปลาโหล เลยเป็นเหตุให้ท่านได้กลับเข้าสู่ผ้าเหลืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะทุกวี่ทุกวันที่ได้เข้าไปรับฟังการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ทั้งสามนั้นนั่นเอง จึงเกิดศรัทธาเต็มที่ถึงกับปฏิญาณตนเข้าสู่ไตรสรณคมน์ มีศีล 5 ประจำ และมีศีลอุโบสถทุกวันพระ ปฏิบัติเคร่งครัดจนได้โกนหัวนุ่งขาวห่มขาวอยู่ในสวนของท่านเองระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าอุโบสถอุปสมบทเป็นพระภิกษุในที่สุด

วันที่ 18 มกราคม 2479 คือวันที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌาย์

มีเรื่องแปลกเล่าว่า หลวงปู่คำมีโรคประจำตัวอยู่อย่างหนึ่งคือเหน็บชา พอรุ่งเช้าหลังวันแรกที่บวชเป็นพระ โรคนี้ก็หายไป บางทีอาจจะหายเพราะอานิสงส์ของการบวช หรือหายเพราะบังเอิญก็ไม่ทราบ คือขณะออกบิณฑบาตท่านเดินตามพระหนุ่มๆ ไม่ทัน เร่งฝีเท้าตามจนกระทั่งได้ยินขาดดังปุดในกายท่าน ตั้งแต่นั้นโรคเหน็บชาก็ไม่กลับมาอีก

หลังอุปสมบทก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปโน่นมานี่ตามธรรมเนียมของผู้ใฝ่หาโมกขธรรม และจำพรรษาอยู่ที่ต่างๆ กันมากมายหลายแห่ง เช่น วัดคามวาสี วัดป่าพังฮอ วัดบ้านปลาโหล วัดป่าวาริชภูมิ วัดดงเชียงเครือ จนสุดท้ายคือ วัดป่าศรีจำปาชนบท ในปี 2497 รวมเวลาที่สัญจรไปทั่วทุกแห่งดังกล่าว 21 ปีเต็ม

ประวัติของหลวงปู่คำไม่มีเรื่องซับซ้อนตื่นเต้น คงมีแต่ความเรียบง่ายปรากฏอยู่ เหมือนกับความเรียบง่ายที่อยู่กับอิริยาบถของท่าน อันผู้ใดได้พบเห็นย่อมเกิดศรัทธาเลื่อมใส

หลวงปู่คำมีพระเครื่องออกมากี่รุ่นนั้นผมไม่ทราบชัด เคยเห็นอยู่เพียงรุ่นเดียว คือ รุ่นแรกซึ่งทำออกมา 3 ชนิด คือ เหรียญ, แหนบ และพระเนื้อผง พระรุ่นนี้สร้างขึ้นในขณะที่ท่านมีอายุได้ 94 ปี นับว่าเป็นพระเถระที่มีอายุยืนอีกรูปหนึ่ง เหรียญทำเป็นรูปไข่ มีรูปท่านครึ่งองค์อยู่ด้านหน้ามีชื่อ “หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต” อยู่ข้างบน ส่วนข้างล่างมีข้อความว่า “อายุครบรอบ 94 ปี รุ่นแรก” ในด้านหลังเหรียญเป็นรูปเครื่องอัฐบริขารของพระธุดงค์ มีอักขระขอมจารเป็นคาถาประจำของพระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่นว่า “นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา” ตรงกลางมีอักขระขอมว่า “นะโมพุทธายะ” และล่างสุดมีข้อความว่า “วัดศรีจำปาชนบท พังโคน สกลนคร” แถมตัวหนังสือไทย “๑๗” ไว้ข้างบนอีกนิดหนึ่ง แสดงปี พ.ศ. ที่สร้างคือ 2517

ส่วนพระเนื้อผงสี่เหลี่ยม ทำเป็นรูปหลวงปู่คำนั่งเต็มองค์ มีข้อความด้านหน้าและหลังใกล้เคียงกับเหรียญ มวลสารของพระเนื้อผงมีส่วนผสมสำคัญ คือ เส้นเกศาของหลวงปู่คำที่เห็นแทรกอยู่อย่างชัดเจน แหนบนั้นชุบไว้ด้วยโครเมี่ยม แต่ดูแล้วคล้ายคลึงแหนบของ หลวงปู่ขาว อนาลโย เพราะว่าทำขึ้นในลักษณะเดียวกัน

พระเครื่องของหลวงปู่คำ เห็นปรากฏอยู่ประปรายไม่ค่อยได้รับความสนใจในหมู่ผู้นิยมพระเครื่อง เว้นแต่ผู้รู้จักท่านจริงๆ จึงจะเก็บเอาไว้ ซึ่งปรากฏว่าในบรรดาพระภิกษุรุ่นลูกศิษย์ของสายพระกัมมัฏฐานหลายรูปก็พกพระเครื่องของหลวงปู่คำไว้ในย่ามเหมือนกัน

ถ้าเป็นผู้นิยมพระเครื่องสายศิษย์พระอาจารย์มั่นแล้ว หากมีโอกาสพบเห็นพระของหลวงปู่คำ ผมก็เห็นควรที่ทุกท่านจะได้เก็บสะสมไว้ แม้ว่าหลวงปู่คำจะไม่ใช่พระที่โด่งดังทางขลังเหมือนรูปอื่นๆ ก็ไม่ได้แปลว่าพระเครื่องของท่านจะไม่ขลังหรือขลังไม่เท่านะ จะบอกให้...

รูปภาพ
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ, หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร,
หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน, หลวงปู่จันทร์ เขมปตฺโต และองค์สุดท้ายไม่ทราบนาม



:b8: ขอขอบพระคุณที่มา : http://www.suankhlang.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2011, 09:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

“เจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต”
ณ วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร


รูปภาพ

รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ประดิษฐาน ณ
“เจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต”


รูปภาพ

พระธาตุหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

รูปภาพ

รูปภาพ

เหรียญหลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต อายุครบรอบ ๙๔ ปี รุ่นแรก

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ม.ค. 2015, 12:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8: :b44:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร