วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 15:20  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2010, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์
(หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)


วัดป่าสาลวัน
ต.ปรุใหญ่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

“พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์” หรือ “ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม” แห่งวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา มีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๒ เวลา ๐๕.๑๐ นาฬิกา ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน)

โยมบิดาชื่อ เพียอัครวงศ์ (อ้วน บุญโท) [เพียอัครวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน เมืองเวียงจันทน์ มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา] โยมมารดาชื่อ นางหล้า บุญโท มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นบุตรคนที่ ๕ อายุห่างจากท่าน ๓ ปี การศึกษาในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านได้ศึกษาจนเป็นครูสอนวิชาสามัญได้ดีผู้หนึ่ง

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) พระอุปัชฌาย์

รูปภาพ
พระมหาเสน ชิตเสโน (พระศาสนดิลก) พระกรรมวาจาจารย์


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ในสำนักพระอุปัชฌาย์ “ป้อง” ณ วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี

และบรรพชาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นสามเณรธรรมยุตในสำนักพระครูสมุห์โฉม เจ้าอาวาสวัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙

ครั้นเมื่ออายุครบบวช ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เวลา ๑๔.๑๒ นาฬิกา โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระศาสนดิลก เมื่อครั้งยังเป็น พระมหาเสน ชิตเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่สิงห์นับว่าเป็นสิทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้นามฉายาว่า “ขนฺตฺยาคโม”

เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์ จนกระทั่งสอบไล่ได้มัธยมปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เข้าสอบไล่ได้วิชาบาลีไวยากรณ์ ในสนามวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ให้เป็นครูมูลและครูมัธยมประจำอยู่ที่โรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านได้จัดการให้น้องชาย คือ นายปิ่น บุญโท ได้บวชในพระบวรพุทธศาสนาเมื่อมีอายุได้ ๒๒ ปี และได้มาอยู่ที่วัดสุทัศนารามด้วยกัน

หลวงปู่สิงห์ได้เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘

ในขณะที่หลวงปู่สิงห์เป็นครูสอนนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์เทศนาสั่งสอนประชาชนด้วย ได้ค้นคว้าหลักธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาสอนสัปบุรุษอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่ง เผอิญท่านค้นพบหนังสือธรรมเทศนาเรื่องเทวสูตร ซึ่งมีใจความว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิการบรรพชาอุปสมบทที่มีความบกพร่อง คือ การบวชแล้วไม่มีการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยมีโทษมาก ตกนรกไม่พ้นอบายภูมิทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุให้ท่านเกิดความสลดสังเวชสำนึกในตน ออกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยลาออกจากตำแหน่งครูผู้สอน

เมื่อลาออกจากหน้าที่ครูแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้ออกปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ท่านได้พิจารณาว่า การปฏิบัติธรรมในสมัยนี้หมดเขตที่จะบรรลุมรรคผลหรือยัง ? ซึ่งท่านก็ได้รู้ว่า การบรรลุมรรคผลนิพพานยังมีอยู่แก่ผู้ที่ปฏิบัติจริง ท่านจึงได้มุ่งหน้าปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

รูปภาพ
พระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)


๏ หลวงปู่สิงห์พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรกและกราบขอเป็นศิษย์

และในปีนั้นเอง หลังจากพระอาจารย์มั่นได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ท่านก็มีดำริว่าท่านควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่ท่านได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากที่จะรู้ได้ ซึ่งท่านได้อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อๆ ไป

ดังนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงได้ลา ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) กลับไปจังหวัดอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดบูรพาราม ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ปีนั้นท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่าใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

ท่านเจ้าคุณพระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณวิริยาจารย์ ได้บันทึกเรื่องราวหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ไว้ใน หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ดังนี้

“ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่นๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ

ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพาราม ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า

“เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า “กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว”

กล่าวจบท่านอาจารย์มั่นฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า “การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ (ขณะนั้นท่านเป็นครูสอนนักเรียนชั้นวิสามัญในโรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์) ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้นเรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป. ๔

ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริงๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็กนักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า

“นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว”

และท่านก็ได้ลาออกจากการเป็นครูเพื่อตั้งหน้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป และในปีนั้นหลังจากที่ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้นำพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้น้องชาย เข้ากราบนมัสการและฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่นด้วย ทำให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธามาก และได้ให้ปฏิญาณว่าจะขอลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ สัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะออกมาปฏิบัติธรรมด้วย


รูปภาพ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


๏ หลวงปู่สิงห์พบกัลยาณมิตร

ในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางด้านจังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งขณะนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุได้ประมาณ ๕ พรรษา พำนักอยู่ที่วัดบ้านคอโค จังหวัดสุรินทร์ ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับการสอนการเรียนพระปริยัติธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี ตามแบบของมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ท่านก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปศึกษายังจังหวัดอุบลฯ

ท่านได้เพียรขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางไปศึกษา แต่ก็ถูกทัดทานในเบื้องต้น เพราะในระยะนั้นการเดินทางจากสุรินทร์ไปอุบลราชธานีลำบากยากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง

ท่านเพียรขออนุญาตหลายครั้ง ที่สุดเมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นความมุ่งมั่นของท่าน จึงได้อนุญาต ท่านจึงได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุอีก ๒ องค์ คือ พระคง และพระดิษฐ์

เมื่อท่านได้เดินทางไปถึงอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ต้องประสบปัญหาในเรื่องที่พัก เนื่องจากท่านบวชในมหานิกาย ขณะที่วัดสุปัฏนารามและวัดสุทัศนาราม แหล่งศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นเป็นวัดฝ่ายสงฆ์ธรรมยุต

โชคดีที่ได้พบพระมนัสซึ่งได้เดินทางมาเรียนอยู่ก่อนแล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือฝากให้อยู่อาศัยที่วัดสุทัศนารามได้ แต่อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะ ทำให้ความราบรื่นในทางการเรียนค่อยบังเกิดขึ้นเป็นลำดับ

การที่ท่านได้พักในวัดสุทัศนาราม ก็เป็นเหตุให้ท่านได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการครู ทำหน้าที่สอนฆราวาส ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ที่วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อรู้จักคุ้นเคยกันมากเข้า ประกอบกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่หลวงปู่ดูลย์อ่อนพรรษากว่า ๑ พรรษา หลวงปู่สิงห์จึงชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดูลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่านว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง และต่างฝ่ายต่างจึงเป็นกัลยาณมิตรกันมาโดยตลอด

ครั้นเมื่อหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้กราบพระอาจารย์มั่นฝากตัวขอเป็นศิษย์แล้ว เมื่อได้โอกาสก็ได้นำหลวงปู่ดูลย์เข้าไปกราบเป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งด้วย


(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2010, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่สีทา ชยเสโน

รูปภาพ
พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี


๏ หลวงปู่สิงห์ธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น

เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว พระอาจารย์มั่นได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน คือ พระครูสีทา ชยเสโน เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดมุกดาหาร)

ในคราวนั้น หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติดๆ กับพระอาจารย์มั่น แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้ป่า จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ


๏ หลวงปู่สิงห์ธุดงค์ไปโปรดศิษย์

ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๔๕๙ หลังจากที่รักษาไข้ป่าจนสงบไปแล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้เดินรุกขมูลไปกับพระอาจารย์คำ มาถึงวัดบ้านนาสีดา (วัดป่าจันทรังสี) ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นนายเทสก์ เรี่ยวแรง อายุย่าง ๑๕ ปี นายเทสก์และโยมบิดาได้อุปัฏฐากหลวงปู่สิงห์อยู่ ๒ เดือน ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น แต่เนื่องด้วยท่านมีเชื้อไข้ป่าอยู่แล้ว พอมาถึงที่นั้นเข้า ไข้ป่าของท่านยิ่งกำเริบขึ้น พอจวนเข้าพรรษาท่านจึงได้ออกไปจำพรรษา ณ ที่วัดร้างบ้านนาบง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ นายเทสก์ก็ได้ตามท่านไปด้วย ในพรรษานั้นท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ตามในเวลาว่างท่านยังได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมนายเทสก์บ้างเป็นครั้งคราว จวนออกพรรษาท่านได้ชวนนายเทสก์ให้ติดตามท่านไปโดยท่านได้บอกว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องกลับบ้านเดิม แล้วท่านถามนายเทสก์ว่า เธอจะไปด้วยไหม ทางไกลและลำบากมากนะ นายเทสก์ตอบท่านทันทีว่า ผมไปด้วยครับ

หลวงปู่สิงห์ได้พานายเทสก์ออกเดินทางทางจากท่าบ่อ ลุยน้ำลุยโคลน บุกป่าผ่าต้นข้าวตามทุ่งนาไปโดยลำดับ เวลาท่านจับไข้ก็ขึ้นนอนบนขนำนาหรือตามร่มไม้ที่ไม่มีน้ำชื้นแฉะ รุ่งเช้าท่านยังอุตส่าห์ออกไปบิณฑบาตมาเลี้ยงนายเทสก์ด้วย เดินทางสามคืนจึงถึงอุดรฯ แล้วพักอยู่วัดมัชฌิมาวาสสิบคืนจึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาเดือนเศษ จึงถึงบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ อันเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านพักอบรมโยมมารดาของท่าน ณ ที่นั้น ราวสามเดือน และหลวงปู่สิงห์ก็ได้ดำเนินการให้นายเทสก์ได้บรรพชาเป็นสามเณร กับพระอุปัชฌาย์ลุย บ้านเค็งใหญ่ ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน และได้พาสามเณรเทสก์มาพักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเคยเป็นพี่พักอยู่เดิมของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้ปล่อยให้สามเณรเทสก์ได้อยู่ศึกษาที่โรงเรียนวัดศรีทอง

รูปภาพ
พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล พระน้องชายหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม


๏ พระปิ่นผู้น้องชายเข้ากรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงปู่สิงห์ได้จัดการส่งพระปิ่น ปญฺญาพโล พระน้องชายของท่านออกเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พระปิ่นได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารนั้นเป็นเวลา ๕ ปี โดยได้แสวงหาความรู้อย่างทุ่มเทชีวิต ความมุมานะอดทนทำให้ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก จนกระทั่งได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ตามลำดับ


๏ ช่วยหลวงปู่ดูลย์ให้ได้ญัตติเป็นธรรมยุต

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม นั้น นอกจากนำพาให้หลวงปู่ดูลย์เข้าเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานแล้ว ยังเป็นภาระช่วยให้หลวงปู่ดูลย์ได้ญัตติอยู่ในฝ่ายธรรมยุตต่อมาได้อีกด้วย

เรื่องก็มีอยู่ว่า หลวงปู่ดูลย์นั้นท่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนญัตติจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านบวชเป็นพระในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จึงมีปัญหาในด้านการเรียนกับวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านจึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนนิกายใหม่อันเป็นความคิดที่ค้างคาใจของท่านอยู่แต่เดิม แต่ทางคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ เจ้าคณะมณฑลอีสาน ในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นว่า “อยากจะให้ท่านศึกษาเล่าเรียนไปก่อน ไม่ต้องญัตติ เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุตมีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์ หากท่านญัตติเปลี่ยนนิกายเป็นธรรมยุต ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยวเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่วัดฝ่ายธรรมยุตที่จังหวัดสุรินทร์เลย”

แต่ตามความตั้งใจของหลวงปู่ดูลย์เองนั้น มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรม จึงได้พยายามขอญัตติต่อไปอีก ซึ่งต่อมาจะนับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อทราบเรื่องเข้าก็ได้ช่วยเหลือหลวงปู่ดูลย์ในการขอญัตติจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ขณะเมื่ออายุ ๓๑ ปี หลวงปู่ดูลย์จึงได้เปลี่ยนญัตติจากนิกายเดิมมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเอง


๏ ออกธุดงค์กับหลวงปู่ดูลย์

ครั้นถึงกาลจวนเข้าพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระสหธรรมิกอีก ๕ รูป คือ พระอาจารย์ดูลย์, พระอาจารย์บุญ, พระอาจารย์สีทา และพระอาจารย์หนู จึงได้เดินธุดงค์แสวงหาที่สงบวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียร บำเพ็ญสมณธรรม ในกาลเข้าพรรษานั้น นับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในการออกธุดงค์ครั้งแรกที่ได้ร่วมเส้นทางไปกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

คณะของหลวงปู่สิงห์เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานมาจนกระทั่งถึงป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความเห็นตรงกันว่าสภาพป่าแถบนี้มีความเหมาะสมที่จะอยู่จำพรรษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สมมติเอาบริเวณป่านั้นเป็นวัดป่า แล้วก็อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น จากนั้นทุกองค์ก็ตั้งสัจจะปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่ ดำเนินข้อวัตรปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของพระอาจารย์มั่นอย่างอุกฤษฏ์

บริเวณป่าท่าคันโทแถบเทือกเขาภูพาน ที่หลวงปู่สิงห์และสหายธรรมได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่นั้น เป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายและยุงอันเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย และในระหว่างพรรษานั้นคณะของหลวงปู่สิงห์ ยกเว้นพระอาจารย์หนูรูปเดียว ต่างก็เป็นไข้มาลาเรีย ยาที่จะรักษาก็ไม่มี จนกระทั่งพระรูปหนึ่งมรณภาพไปต่อหน้าต่อตา ยังความสลดสังเวชให้กับผู้ที่ยังคงอยู่เป็นอย่างยิ่ง

หลังออกพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้ว คณะของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ที่จำพรรษาอยู่ที่ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่างก็แยกย้ายกันเดินธุดงค์ต่อไป เพื่อค้นหาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ดูลย์ได้ร่วมเดินทางไปกับหลวงปู่สิงห์ แต่ภายหลังได้แยกทางกัน ต่างมุ่งหน้าตามหาพระอาจารย์มั่นตามประสงค์

หลังจากแยกจากหลวงปู่ดูลย์แล้ว หลวงปู่สิงห์ได้จาริกตามลำพังเพื่อตามพระอาจารย์มั่น

รูปภาพ
ท่านอาญาครูดี

รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


๏ หลวงปู่ดูลย์พบพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เองก็ได้จาริกตามลำพังเช่นกัน มาจนถึงบ้านม่วงไข่ ตำบลม่วงไข่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร แล้วจึงได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ได้ไปพบท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร คณะของท่านอาญาครูดีจึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับหลวงปู่ดูลย์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้น พระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยหลวงปู่ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบันคืออำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านห้วยทราย และกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งถึงบ้านตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และสอบถามชาวบ้านที่นั่นได้ความว่า มีพระธุดงค์เป็นจำนวนมากมาชุมนุมกันอยู่ในป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน ท่านรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมั่นใจว่าต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน จึงรีบเดินทางไปยังป่าแห่งนั้นทันที และเมื่อไปถึงก็เป็นความจริงดังที่ท่านมั่นใจ

ขณะนั้น หลวงปู่สิงห์ซึ่งได้ธุดงค์แยกกันกับหลวงปู่ดูลย์ มาพบพระอาจารย์มั่นก่อน และพักแยกกับพระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านหนองหวาย ในวันนั้นหลวงปู่สิงห์เข้ามาฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่น ขณะที่หลวงปู่ดูลย์มาถึงก็เห็นท่านและพระรูปอื่นๆ นั่งแวดล้อมพระอาจารย์มั่นอยู่ด้วยอาการสงบ ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔

พระอาจารย์ทั้ง ๔ ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปหาหลวงปู่สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กับสามเณรพรหม สุวรรณรงค์ ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ได้เดินธุดงค์ไปอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบท เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้พาสามเณรพรหมออกเที่ยวธุดงค์ต่อไป รวมทั้ง ได้พาสามเณรพรหมเดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ต่อจากนั้นพระอาจารย์มั่นได้ถามพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า จะไปเรียน “หนังสือใหญ่” คือ เรียนประถมกัปป์ ประถมมูล และมูลกัจจายน์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้จริงๆ หรือ ? พระอาจารย์ฝั้นตอบว่า มีเจตนาไว้เช่นนั้นจริง พระอาจารย์มั่นเห็นความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระอาจารย์ฝั้นจึงบอกว่า “ท่านฝั้น ไม่ต้องไปเรียนถึงเมืองอุบลฯ หรอก อยู่กับผมที่นี่ก็แล้วกัน ผมจะสอนให้จนหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว หากยังไม่จุใจค่อยไปเรียนต่อทีหลัง ส่วนเณรพรหมเธอจะไปเรียนที่เมืองอุบลฯ ก็ได้ตามใจสมัคร”

สามเณรพรหมจึงได้แยกกันกับพระอาจารย์ฝั้น ตอนนั้นเป็นปลายปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ สามเณรพรหมลงไปเมืองอุบลฯ กับหลวงปู่สิงห์ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นอยู่เรียน “หนังสือใหญ่” กับพระอาจารย์มั่น


๏ หลวงปู่สิงห์กลับอุบลราชธานี

จนกระทั่งในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลังจากพระมหาปิ่นสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ แล้ว จึงได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานี บ้านเกิดตามที่ปฏิญาณไว้ แล้วมาพักที่วัดสุทัศนาราม ได้เป็นครูสอนนักธรรมบาลีแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนชาวบ้าน เพื่อสนองคุณครูบาอาจารย์

ในปีนั้นเองโยมมารดาของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งอยู่ที่บ้านหนองขอน จังหวัดอุบลราชธานีนั้นเอง ก็ได้ถึงแก่กรรม ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ได้ออกธุดงค์ไปกับพระอาจารย์มั่น ดังนั้น พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นพระน้องชาย จึงได้เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับงานศพของโยมมารดาและจัดการฌาปนกิจศพ ส่วนหลวงปู่สิงห์เมื่อได้ข่าวเรื่องโยมมารดาถึงแก่กรรม และทราบว่าพระน้องชายกลับจากกรุงเทพฯ มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนารามแล้ว ก็ได้พาคณะรวม ๖ องค์ คือ พระภิกษุ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์ มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนารามด้วย


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2010, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ หลวงปู่สิงห์ร่วมกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สหธรรมิก
ชักจูงพระน้องชายให้มาสนใจการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน


ต่อมา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย เห็นว่า พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นเปรียญธรรมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร มีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉานนั้น สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนาฝึกฝนอบรมจิตและธุดงค์กัมมัฏฐานเลย จึงได้คิดหาทางชักจูงพระน้องชายให้หันมาในใจทางด้านการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบ้าง มิฉะนั้นต่อไปจะเอาตัวไม่รอด

พอดีปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งได้กราบลาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วก็ออกเดินทางมุ่งไปจังหวัดสุรินทร์ ในระหว่างทางหลวงปู่ดูลย์ได้แวะเยี่ยมหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระสหธรรมิกผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงแก่ท่าน ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ธุดงค์อยู่ในแถบจังหวัดกาฬสินธุ์ หลวงปู่สิงห์เมื่อได้พบกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ปรารภปัญหาเกี่ยวกับพระมหาปิ่นผู้เป็นพระน้องชาย และขอคำปรึกษาและอุบายธรรมจากหลวงปู่ดูลย์และขอร้องให้มาช่วยกล่อมใจพระน้องชาย ในเรื่องว่าหากต้องการพ้นทุกข์ จะมาหลงปริยัติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปริยัติธรรมนั้นเป็นเพียงแผนที่แนวทางเท่านั้น

หลวงปู่สิงห์จึงชักชวนหลวงปู่ดูลย์ ให้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยชักนำพระมหาปิ่นให้สนใจในทางปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบ้าง ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด หลวงปู่ทั้ง ๒ องค์ได้พักจำพรรษาที่วัดสุทัศนาราม วัดที่ท่านเคยอยู่มาก่อน คราวนี้ท่านได้ปลูกกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ต่างหาก ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด แล้วก็ค่อยๆ โน้มน้าวจิตใจให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธาเลื่อมใสทางด้านการปฏิบัติด้วย

ทั้งหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่าในการครองเพศสมณะนั้น แม้ว่าได้บวชมาในพระบวรพุทธศาสนาก็นับว่าดีประเสริฐแล้ว ถ้าหากมีการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรม ก็จะยิ่งประเสริฐขึ้นอีก คือจะเป็นหนทางออกเสียซึ่งความทุกข์ตามแนวคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระสงฆ์ที่มีสติปัญญา พิจารณาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งคำเทศน์ของพระอาจารย์ทั้ง ๒ องค์ที่ได้กระทำเป็นแบบอย่าง ก็เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้วหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง แม้จะมีความอาวุโสแต่ก็มีลักษณะประจำตัวในการรู้จักนอบน้อมถ่อมตน ระมัดระวังกาย วาจา ใจ ไม่คุยโม้โอ้อวดว่าตนเองได้ธรรมขั้นสูง และเห็นว่าธรรมะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักปราชญ์มาประจำแผ่นดิน ซึ่งควรระมัดระวังให้สมกับผู้มีภูมิธรรมในใจ

พระมหาปิ่นได้พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างรอบคอบแล้ว พอถึงกาลออกพรรษา จึงรีบเตรียมบริขารแล้วออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่สิงห์ ผู้เป็นพระพี่ชาย ไปทุกหนทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคยากไร้ท่ามกลางป่าเขา มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนสามารถรอบรู้ธรรมด้วยสติปัญญาของท่านในกาลต่อมา

การที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ออกธุดงค์กัมมัฏฐานในครั้งนั้นประชาชนในภาคอีสาน ได้แตกตื่นชื่นชมกันมากว่า “พระมหาเปรียญธรรมหนุ่มจากเมืองบางกอก ได้ออกฝึกจิตดำเนินชีวิตสมณเพศ ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศถาบรรดาศักดิ์ ออกป่าดงเดินธุดงค์กัมมัฏฐานฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น”

ชื่อเสียงของพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ในครั้งนั้นจึงหอมฟุ้งร่ำลือไปไกล ท่านได้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระพี่ชาย คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม นำกองทัพธรรมออกเผยแผ่พระธรรมคำสอนในสายพระธรรมกัมมัฏฐาน จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวางมาจนปัจจุบัน

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


๏ หลวงปู่สิงห์พาพระน้องชายออกธุดงค์

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาพวกศิษย์เป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์ การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ ผู้ที่ออกใหม่ นอกจากพระมหาปิ่นแล้วแล้ว ยังมีพระเทสก์ เทสรํสี พระคำพวย พระทอน บ้านหัววัว อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี และสามเณรอีก ๒ รูป รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ องค์ด้วยกัน

คณะธุดงค์ของหลวงปู่สิงห์ได้เดินทางออกจากเมืองอุบลฯ ในระหว่างเดือน ๑๒ แล้วได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน อำนาจเจริญ แล้วพักอยู่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูล การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอสมควร

หลวงปู่สิงห์พาคณะศิษย์บุกป่ามาทางจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสสขันธ์ เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าไปในเมือง เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพินตะวันตก จังหวัดอุดรธานี เพื่อรอ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็น พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอิสาน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่สิงห์ด้วย ที่กำลังมาจากกรุงเทพฯ

การที่หลวงปู่สิงห์ให้คณะมารออยู่ที่อุดรธานีครั้งนี้ ท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่นี่ เพราะที่อุดรธานียังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ความมุ่งหมายของหลวงปู่สิงห์นั้นก็ไม่เป็นไปดังประสงค์เนื่องจาก เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาจากกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดีพิริยพาห (อวบ เปาโรหิตย์) อุปราชมณฑลภาคอีสาน (ภายหลังเป็นเจ้าพระยามุขมนตรีศรีสมุหนครบาล) ได้นิมนต์พระมหาจูม พนฺธุโล เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆวุฒิกร (ภายหลังเป็นพระธรรมเจดีย์) มาด้วยเพื่อจะให้มาอยู่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี

ฉะนั้น เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาถึงแล้ว หลวงปู่สิงห์จึงพาคณะเข้าไปกราบนมัสการ ท่านจึงกำหนดให้เอาพระมหาปิ่นไปไว้ที่จังหวัดสกลนคร และให้พระเทสก์ เทสรํสี อยู่ช่วยพระมหาปิ่น


๏ พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งที่สอง

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยดังนั้นแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะออกเดินทางไปนมัสการกราบหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กับพระอาจารย์มั่นที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ตกกลางคืนพระอาจารย์มั่นได้เทศนาอบรมธรรมคณะหลวงปู่สิงห์ หลวงปู่เทสก์ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออัตตโนประวัติของท่านไว้ดังนี้

“คืนวันนั้นเสร็จจากการอบรมแล้ว ท่านก็สนทนาธรรมสากัจฉากันตามสมควร แล้วจบด้วยการพยากรณ์พระมหาปิ่น แลตัวเราในด้านความสามารถต่างๆ นานา ตอนนี้ทำให้เรากระดากใจตนเองในท่ามกลางหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวของเราเองพึ่งบวชใหม่แลมองดูตัวเราแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรพอที่ท่านจะสนใจในตัวของเรา มันทำให้เราขวยเขินอยู่แล้ว แต่คนอื่นเราไม่ทราบเพราะเห็นสถานที่แลความเป็นอยู่ของพระเณรตลอดถึงโยมในวัด เขาช่างสุภาพเรียบร้อย ต่างก็มีกิจวัตรและข้อวัตรประจำของตนๆ นี่กระไร พอท่านพยากรณ์พระมหาปิ่นแล้วมาพยากรณ์เราเข้า ยิ่งทำให้เรากระดากใจยิ่งเป็นทวีคูณ แต่พระมหาปิ่นคงไม่มีความรู้สึกอะไร นอกจากท่านจะตรวจดูความสามารถของท่านเทียบกับพยากรณ์เท่านั้น”

รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะเดินทางต่อไปบ้านนาสีดา ได้พาพักอยู่ ณ ที่นั่น ๔ คืนแล้วย้อนกลับทางเดิม มาพักกับพระอาจารย์มั่นที่บ้านค้ออีกหนึ่งคืน จึงเดินทางกลับอุดรธานี แล้วได้เดินทางต่อไปสกลนครตามที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าคณะมณฑล แต่การนั้นไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าคณะมณฑล เพราะพระมหาปิ่นอาพาธไม่สามารถจะไปรับหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้ ฉะนั้น ในพรรษานั้น หลวงปู่สิงห์จึงได้พาคณะไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


๏ พระอาจารย์มั่นให้ตามท่านไปตั้งวัดที่บ้านสามผง

ส่วนหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล กับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พอออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านก็ออกจากบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พาคณะออกธุดงค์ แสวงหาที่สงัดวิเวกแยกกันออกเป็นหมู่เล็กๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูง (อุดรธานี) และบ้านผาแดง-แก้งไก่ (หนองคาย) ครั้นพระอาจารย์มั่นได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้พักจำพรรษาที่วัดราช ใกล้บ้านน้ำโขง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ส่วนพระอาจารย์มั่นได้เข้าไปพักอยู่ที่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็นวัดอรัญญวาสี)

ขณะเดียวกันพระกรรมฐานกลุ่มของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม กับพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ยังคงจำพรรษาอยู่ที่เดิมที่วัดป่าหนองลาด บ้านปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และคณะศิษย์ ได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระงามแห่งนี้นาน ๒ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘ เป็นพรรษาที่ ๔๔ และ ๔๕ ของท่าน

พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อใกล้จะออกพรรษา ทางด้านพระอาจารย์มั่นก็ได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่สงัดวิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปธุดงค์เป็นพวกๆ เป็นชุดๆ ส่วนตัวท่านเองนั้น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้อาราธนาให้ไปจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม หลังออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นจึงได้เดินทางมาถึงบ้านหนองลาด ที่หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะจำพรรษาอยู่ และพระอาจารย์มั่นได้ให้หลวงปู่สิงห์และคณะติดตามท่านไปตั้งสำนักที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ในปี พ ศ. ๒๔๖๙ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

พระอาจารย์มั่นและพระภิกษุสามเณรหลายรูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ศิษย์อาวุโสองค์อื่นๆ แยกพักจำพรรษาในที่ต่างๆ ดังนี้

หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องร่วมสายโลหิต และพระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี จำพรรษาที่ป่าบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน จำพรรษาที่บ้านโนนแดง พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร จำพรรษาที่บ้านข่าใกล้บ้านสามผง พระอาจารย์มั่นและคณะส่วนหนึ่งได้ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ใกล้กับวัดโพธิ์ชัย ตามคำอาราธนาของพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ก็ได้ทำญัตติกรรมพร้อมกับพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มี พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง โดยได้กระทำพิธีที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนา ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์มั่นนั่งหัตถบาสร่วมอยู่ด้วย

รูปภาพ
พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2010, 10:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระพี่ชายพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ ตามพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี

หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นที่บ้านสามผง ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น แล้วท่านก็ได้พาคณะเดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป และได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรม และไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบลฯ และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้นท่านปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (มารดาท่านซึ่งบวชเป็นชี) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลฯ ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์มั่นแก่มากหมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลฯ ได้

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณรฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้พระอาจารย์มั่นได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล จำพรรษาที่บ้านหัวตะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน

รูปภาพ
รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ณ วัดบรมนิวาส


๏ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) กับพระกัมมัฏฐาน

เรื่องปัญหาที่พระกัมมัฏฐานในสมัยนั้นได้ประสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดทั้งความยุ่งยากต่อหมู่คณะพระกัมมัฏฐาน และทั้งผลดีในแง่ที่ก่อให้เกิดการแพร่ขยายทั้งการสร้างวัดป่าขึ้นในสถานที่ต่างๆ ที่พระกัมมัฏฐานได้ธุดงค์ไปพัก และทั้งทางด้านการปฏิบัติธรรมของประชาชนตามทางที่พระกัมมัฏฐานได้ธุดงค์ไปโปรด

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) นั้น แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะเป็นพระผู้มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล จัดการศึกษาแก่พระสงฆ์และแก่ประชาชนอย่างได้ผลดียิ่ง จัดการปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างเรียบร้อยดีงาม ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายเต็มบ้านเต็มเมืองทีเดียว แต่ในระยะต้นนั้นท่านไม่ชอบพระธุดงค์เอาเลย ท่านว่าเป็นพระขี้เกียจ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ถึงกับมีเรื่องต้องขับไล่ไสส่งมาแล้วหลายครั้งหลายหน ท่านไม่เห็นด้วยกับการเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐาน ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาธรรมด้วยการนั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงขัดขวางหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต แทบทุกวิถีทางก็ว่าได้

จากการที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่เห็นด้วยในการออกธุดงค์ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็น “พระธุดงค์เร่ร่อน” นี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงพยายาม “จัดระเบียบพระ” ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง มีสังกัดที่แน่นอน ปัญหานี้จึงเป็นเหตุให้พระบูรพาจารย์บางองค์ท่านหลบหลีกความรำคาญ ข้ามโขงไปอยู่ทางฝั่งลาวก็มี หรือธุดงค์เข้าป่าทึบดงดิบไปเลยก็มี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น


๏ พระกัมมัฏฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

หลวงปู่สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่นทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฯ ฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อนได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง


๏ ความพยายามในการแก้ไขปัญหา

ปัญหาเรื่องพระผู้ใหญ่กับพระกัมมัฏฐานนี้นั้นเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน พระอาจารย์ทั้งหลายในฝ่ายพระกัมมัฏฐานก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ในช่วงเวลาที่มีโอกาสก็จะพยายามโน้มน้าวเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ลดทิฏฐิ หันมาพิจารณาการปฏิบัติธรรมของพระกัมมัฏฐานว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และมีผลดีต่อคณะสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเองด้วย

หลวงปู่สิงห์เองในฐานที่เป็นสัทธิวิหาริกของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้พยายามในเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ เท่าที่มีโอกาส ในระยะแรกก็ไม่ค่อยจะได้ผล เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านไม่ฟัง มิหนำซ้ำท่านยังมีบัญชากับพระเณรด้วยว่า “ถ้าเห็นอาจารย์สิงห์มาอย่าให้ใครต้อนรับเด็ดขาด ให้ไล่ตะเพิดเสีย” แต่จากการที่คณะพระกรรมฐานอันมีพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น เป็นหลัก เป็นประธานอยู่นั้น ไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ ในเชิงตอบโต้ ได้แต่หลีกเลี่ยงเสีย ถ้าเหตุการณ์รุนแรงนัก หรือ ชี้แจงแสดงเหตุผลในเมื่อมีโอกาส ประกอบกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ได้ทั้ง “ทดสอบ” ทั้ง “ลองภูมิ” เหล่าคณะพระกัมมัฏฐานอยู่ทุกเมื่อที่มีโอกาส ก็ได้แปลกใจที่เห็นว่าความรู้ในทางธรรมของคณะพระกัมมัฏฐานดียิ่งเสียกว่าพระมหาเปรียญ ที่เชี่ยวชาญในเชิงปริยัติเสียอีก มีเรื่องเล่าว่า

สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไป และไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงอยู่ระยะหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเดินทางไปตรวจงานการคณะสงฆ์มณฑลภาคเหนือ และมีโอกาสได้พบกับพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่

ด้วยความเป็นคู่ปรับกับพระกัมมัฏฐานมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงตั้งคำถามในลักษณะตำหนิติเตียนพระอาจารย์มั่นว่า “ญาคูมั่น เธอเที่ยวตามป่าเขาอยู่เพียงลำพังผู้เดียวอย่างนี้ เธอได้สหธรรมิก ได้ธรรมวินัยเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ไหน เธอได้รับฟังธรรมจากสหธรรมิกอย่างไร ทำไมเธอจึงได้ปฏิบัติมางมไปอย่างนั้น เธอทำอย่างนั้นจะถูกหรือ”

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถามในเชิงตำหนิติเตียนพระอาจารย์มั่นเช่นนั้น เพื่อจะแสดงให้ผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้น เห็นว่าพระอาจารย์มั่นเป็นพระเร่ร่อน หลักลอย ไม่มีสังกัด ไม่มีหมู่คณะรับรอง

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ในครั้งนั้นได้ถึงกับมีการตรวจหนังสือสุทธิกันเลยทีเดียว ปกติพระอาจารย์มั่นท่านไม่เคยยอมแพ้ใคร และก็ไม่เอาชนะใครเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาต่างยกย่องว่า ท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบคมและฉลาดปราดเปรื่องหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก

พระอาจารย์มั่นได้กราบเรียนตอบเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปว่า “...สำหรับเรื่องนี้ พระเดชพระคุณท่านไม่ต้องเป็นห่วงกังวล กระผมอยู่ตามป่าตามเขานั้น ได้ฟังธรรมจากเพื่อนสหธรรมิกตลอดเวลา คือมีเพื่อนและฟังธรรมจากธรรมชาติ เลี้ยงนกเสียงกา เสียงจิ้งหรีด จักจั่นเรไร เสียงเสือ เสียงช้าง มันเป็นธรรมชาติไปหมด

มันทุกข์หรือสุขกระผมก็รู้ เขาคอยตักเตือนกระผมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ลืมสติว่า เจ้าเป็นใครมาจากไหน อยู่อย่างไร แล้วก็จะไปไหน เวลาใบไม้ร่วงหล่นจากขั้ว ทับถมกันไปไม่มีสิ้นสุด ก็เป็นธรรม บางต้นมันก็เขียวทำให้ครึ้ม บางต้นมันก็ตายซากแห้งเหี่ยว เหล่านั้นมันเป็นธรรมเครื่องเตือนสติสัมปชัญญะไปหมด ฉะนั้น พระเดชพระคุณท่าน โปรดวางใจได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกระผม เพราะได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน”


เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ท่านก็จนด้วยเหตุผล ไม่อาจจะหาคำพูดมาตำหนิติเตียนพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ต่อไปได้

รูปภาพ
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

รูปภาพ
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค วัดภูเขาแก้ว จ.อุบลราชธานี


๏ เจ้าประคุณสมเด็จฯ คลายทิฏฐิ

ต่อมาภายหลังเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้มีโอกาสออกตรวจการณ์คณะสงฆ์ตามหัวเมืองมณฑลอิสาน ปรากฏว่าการออกตรวจการณ์ในครั้งนั้น ได้สร้างความประทับใจให้ท่านเป็นอย่างมาก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเห็นประจักษ์ด้วยตาท่านเองว่า ทั่วอีสานได้เกิดวัดป่าสังกัดคณะธรรมยุตขึ้นอย่างมากมาย นับจำนวนหลายร้อยวัด ทั้งๆ ที่พระผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งฝ่ายบริหารขยายวัดธรรมยุตได้เพียง ๒-๓ วัด และก็อยู่ในเมืองที่เจริญแล้วเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถขยายออกไปตามอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านรอบนอกได้ การที่วัดป่าเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ก็เกิดจากหลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่ใหญ่มั่น และลูกศิษย์พระกัมมัฏฐานพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสององค์

ยิ่งกว่านั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังพบว่าเมื่อท่านผ่านไปตามหมู่บ้านที่พระกัมมัฏฐานเคยจาริกปฏิบัติธรรม และที่มีวัดป่าเกิดขึ้น ปรากฏว่าประชาชนในหมู่บ้านมีกิริยามารยาทเรียบร้อย แสดงว่าได้รับการอบรมมาดี รู้จักปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์เจ้า รู้จักการปฏิบัติต้อนรับ รู้ของควร ไม่ควร เข้าใจหลักการพระพุทธศาสนา รู้จักสวดมนต์ไหว้พระ มีการรักษาศีล มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน น่าชมเชย ต่างกันกับหมู่บ้านที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่ใหญ่มั่น และลูกศิษย์ลูกหาคณะพระธุดงค์กัมมัฏฐานไม่เคยจาริกผ่านไป ความประทับใจในครั้งนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงกับประกาศในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า

“การเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องให้พระกัมมัฏฐานเป็นแนวหน้า หรือเรียกว่า กองทัพธรรมแนวหน้า”

นับจากนั้นเป็นต้นมา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต และคณะพระธุดงคกัมมัฏฐาน คำเรียกแต่เดิมว่า “ญาคูเสาร์ ญาคูมั่น” ก็เปลี่ยนไปเป็น “พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น” ส่วนลูกศิษย์พระกัมมัฏฐานที่มีอาวุโส เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็เรียกว่า “อาจารย์สิงห์ ท่านลี (ธมฺมธโร) ท่านกงมา (จิรปุญฺโญ)” เป็นต้น

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีความรู้สึกที่ดีต่อพระธุดงค์กัมมัฏฐานแล้ว ท่านก็ให้ความสนับสนุนพระกัมมัฏฐานเป็นอย่างดี แม้แต่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็บัญชาให้สร้างเพื่อถวายหลวงปู่ใหญ่เสาร์ด้วยแห่งหนึ่ง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) พระองค์นี้ท่านสร้างความเจริญให้แก่วงการพระพุทธศาสนา ทั้งด้านพระปริยัติธรรมศึกษาและด้านการปฏิบัติภาวนา จนเกิดมีพระสงฆ์ผู้ได้รับการศึกษาสูง และมีพระกัมมัฏฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างมากมาย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2010, 10:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์กว่า สุมโน

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม

รูปภาพ
พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต


๏ พระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว พระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านในเมืองอุบลฯ เพื่อให้ช่วยดูแล ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพา คณะศิษย์เก่าๆ ทั้งหลายอันมี พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน, พระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร, พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เป็นต้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมดมีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง พระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”


รูปภาพ
ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)


ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว จึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลายมีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจหลวงปู่สิงห์และท่านมหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ จากนั้นออกพรรษาแล้วประมาณเดือน ๓ หรือ เดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) จำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร) และออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตาม ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่


๏ ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ก็ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน

ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านทั้งสองด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทางโดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเป็น ดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมมากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตรงกับเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


๏ เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่นนั้น คณะหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) ว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสืออัตตโนประวัติ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า

“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยมคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น

โยมคนเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง

ฉะนั้น จึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว เขาถือไม้ค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้น ไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่า เห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลย จงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น

ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนหลวงปู่สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืกๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาตตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี

ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจ ไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นี้อยู่เรื่อยไป”


รูปภาพ
พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต


๏ แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งใน จ.ขอนแก่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอย่างแท้จริง โดยได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๖. พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๘. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพร้อมด้วยเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระอุปัชฌาย์ในท้องที่ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น ออกเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ทุกปีตลอดมาทั้ง ๓ ปี

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย พร้อมด้วยหมู่คณะ ออกเผยแผ่ธรรม อีกทั้งก่อสร้างเสนาสนะเพื่อปฏิบัติธรรม เฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นรวมได้ถึง ๖๐ แห่งเศษ โดยเฉพาะที่ป่าช้าบ้านพระคือ ได้กลายเป็นที่ชุมนุมฟังธรรม และปฏิบัติธรรมของบรรดาชาวบ้านทั้งจากที่ใกล้และไกล ด้วยชื่นชอบศรัทธาว่าท่านเป็นพระที่มีความสามารถทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ


๏ หลวงปู่สิงห์หัดเสือให้เดินจงกรม

เรื่องนี้ คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต เล่าไว้ในหนังสือ “จันทสาโรปูชา” ซึ่งเป็นประวัติของ หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ไว้ดังนี้ “ความอัศจรรย์ที่หลวงปู่ท่านชอบเล่ามากที่สุดก็คือเรื่องที่ ท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์องค์ลำดับแรกๆ ของท่าน ซึ่งท่านไปจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือวัดป่าวิเวกธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ท่านได้เล่าถึงว่า เมื่อเวลาท่านพระอาจารย์สิงห์เดินจงกรมในป่า ด้วยจิตท่านนั้นอ่อน แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ถึงกับว่าเมื่อมีเสือมานั่งอยู่ใกล้ทางจงกรม ท่านแผ่เมตตาให้จนจิตของเสือนั้นอ่อนรวมลงเป็นมิตรสนิทต่อท่าน ท่านหัดให้เสือเดินจงกรมตามท่านไปได้ ความนี้แม้แต่ภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์สิงห์กรณีนี้อยู่เสมอ ท่านถึงกล่าวว่า สัตว์นั้นสุดท้ายย่อมทำให้อ่อนได้ด้วยแรงเมตตา ไม่ใช่การใช้กำลังอำนาจที่จะเอาชนะกัน มนุษย์สมัยนี้เอาชนะกันด้วยกำลัง จึงมีการฆ่าฟันกันตาย โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทซึ่งกันและกัน พยาบาทแล้วก็เคียดแค้นกัน ก่อเวรก่อกรรมไม่มีที่สิ้นสุด”


(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2010, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


๏ ช่วยหลวงปู่หลุยให้พ้นจากบุรพกรรม

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับนิมนต์ไปที่หล่มสัก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เพื่อไปในงานศพญาติคนหนึ่งของหลวงปู่หลุย และในงานนั้นหลวงปู่หลุยก็ได้รับนิมนต์ไปในงานนั้นด้วย ก็ได้ปรากฏเรื่องหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้ช่วยให้หลวงปู่หลุยได้พ้นจากเหตุการณ์อันหวาดเสียวต่อสมณเพศไว้ได้ ดังที่คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต เล่าไว้ในหนังสือ “จันทสาโรปูชา” ไว้ดังนี้

“หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่า การแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน ล้ม...ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ

เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการหรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริงๆ ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น

ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิต เนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้นเคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมาโดยเฉพาะเมื่อภายหลัง หลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนาบำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน

...เนื่องจากเป็นการปรารถนาพุทธภูมิเคียงคู่กันมา จึงมีอำนาจรุนแรงมาก และเนื่องจากว่าฝ่ายหญิงมิได้พบกันแล้วก็ห่างกันไป...ต้องพบประจันหน้ากันอีกหลายครั้ง เนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุ้นเคยกันประหนึ่งญาติ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาหลายชั้น ตั้งแต่ครั้งบิดามารดาต้องพบเห็นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นการพบกันแล้วก็ผ่านจากไป เช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ง่ายหน่อย แต่การนี้หลังจากพบครั้งแรกแล้วนั้น ก็ยังต้องเห็นกันอีก...

ท่านได้ยกกรณีของท่านขึ้นมาว่า องค์ท่านเองยังแทบเป็นลม ฝ่ายท่านนั้นพระเถระต้องเข้าประคองฝ่ายหญิงเป็นลม ญาติผู้ใหญ่และมารดาต้องเข้าประคอง

หลวงปู่จึงเล่าภายหลังว่า ท่านรู้สึกเหมือนกับว่า หัวอกแทบจะระเบิด อกกลัดเป็นหนอง แต่ใจหนึ่งก็คิดมุ่งมั่นว่า จะต้องบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เข้าใจในความรู้สึกของหลวงปู่ผู้เป็นศิษย์ใหม่ได้ดี ท่านจึงจัดการพาตัวหลวงปู่รีบจากหล่มสักมาโดยเร็วที่สุดหลวงปู่กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการพาตัวมาอย่างธรรมดา แต่เป็นการควบคุมนักโทษ ผู้นี้ให้หนีออกมาจากมารที่รบกวนหัวใจแต่โดยเร็ว

หลวงปู่กล่าวว่า เป็นการเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่บังเอิญเจ้าภาพที่หล่มสักนั้นได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปร่วมในงานศพในครั้งนั้นด้วย หากไม่มีพระเถระช่วยให้สติปรับปรุงแถมยังคอยควบคุมตัว ท่านว่า ไม่ทราบว่าจะรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้หรือไม่

ท่านได้เห็นจริงในตอนนั้นว่า มาตุคามเป็นภัยแก่ตนอย่างยิ่ง เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามสมเด็จพระพุทธองค์ว่า ควรปฏิบัติต่อมาตุคามเช่นใด พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ไม่ควรมอง ถ้าจำเป็นจะต้องมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะต้องพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ” ท่านตรัสบอกขั้นตอนปฏิบัติต่อมาตุคามเป็นลำดับๆ ไป แต่นี่หลวงปู่เพียงโดนขั้นแรก มองก็ถูกเปรี้ยงเสียแล้ว ถ้าเป็นนักมวยก็ขึ้นเวทียังไม่ทันจะเริ่มต่อย ก็ถูกน็อค

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม นี้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นที่พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ ท่านได้เห็นพระรุ่นน้องแสดงกิริยาดูน่ากลัวว่าจะพ่ายแพ้อำนาจของกิเลส ถ้าเป็นนักสู้ก็เป็นนักสู้ที่ยินยอมจะให้เขายกกรีธาพาเข้าสู่ที่ประหารชีวิตแต่โดยดี ไม่พยายามฝืนต่อสู้แต่อย่างใด

ท่านจึงควบคุมนักโทษ “ซึ่งเป็นนักโทษหัวใจ” ผู้นั้น รีบหนีออกจากหล่มสักโดยเร็ว ออกมาจากสถานที่เกิดเหตุคือเมืองหล่มสักโดยเร็วที่สุด เที่ยววิเวกลงมาตามป่าตามเขา และเร่งทำตบะความเพียรอย่างหนัก

ท่านพระอาจารย์สิงห์สนับสนุนให้หลวงปู่อดนอน อดอาหาร เพื่อผ่อนคลายความนึกคิดถึงมาตุคาม ให้เร่งภาวนาพุทโธ...พุทโธถี่ยิบ และนั่งข่มขันธ์ แต่ความกลับกลายเป็นโทษ เคราะห์ดีท่านไม่ตามนิมิต ซึ่งแทนที่จะยอมสิโรราบตามเคราะห์กรรมที่มีอยู่เช่นนั้น เพราะเคยมีกรรมต่อกันมาเช่นนั้น ทำให้พอเห็นก็มืออ่อนเท้าอ่อน ยอมตายง่ายๆ ท่านกลับเข้าหาครู เชื่อครู เล่านิมิตถวาย ท่านพระอาจารย์สิงห์ท่านได้โอกาสจึงได้อบรมกระหน่ำเฆี่ยนตีทันควัน”


รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)


๏ สมเด็จฯ สั่งให้ไปนครราชสีมา

หลังจากเสร็จงานพิธีอุปสมบท ท่านเจ้าคุณพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งสามเณรจันทร์ศรี แสนมงคล ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในเดือนถัดมา คือเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในพระราชทินนามที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ท่านได้บังเกิดมีความสังเวชสลดใจ โดยได้ทัศนาการเห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ป่วยหนัก ระลึกถึงตัวเองว่าไม่มีกัลยาณมิตรที่ดีทางฝ่ายวิปัสสนา จึงใคร่จะหาที่พึ่งอันประเสริฐต่อไป ดังนั้น จึงตกลงใจต้องไปเอาหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นซึ่งกำลังออกเที่ยวธุดงค์ไปจังหวัดขอนแก่น มาเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้จงได้ เมื่อตกลงใจแล้วก็เดินทางไปโดยฐานะเป็นเจ้าคณะตรวจการ ครั้นไปถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วถามได้ทราบความว่า หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นกำลังออกไปเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่อำเภอน้ำพอง ก็โทรเลขถึงนายอำเภอให้ไปอาราธนาหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น เอารถยนต์มาส่งถึงจังหวัดขอนแก่นในวันนั้น

เมื่อหลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่นมาถึงจังหวัดขอนแก่นแล้ว ท่านบอกว่าจะเอาไปอยู่ด้วยที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อปรึกษาหารือกันด้านวิปัสสนาและอบรมสมถวิปัสสนาแก่พุทธบริษัททั้งหลายด้วย เพราะได้เห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ป่วยขาหักเสียแล้ว ท่านสลดใจมาก

และในปีนี้เอง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟ จำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัด ซึ่งต่อมาก็คือ วัดป่าสาลวัน นั่นเอง หลวงปู่สิงห์จึงได้เรียกลูกศิษย์ที่อยู่ทางขอนแก่นลงไป เมื่อคณะศิษยานุศิษย์มาถึงนครราชสีมา ก็ได้ออกเดินทางไปพักที่สวนของคุณหลวงชาญนิยมเขต

รุ่งขึ้นจากวันที่มีการถวายที่ดิน หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเดินทางร่วมมากับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นการเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของท่านพระอาจารย์ฝั้น เพื่อเข้ามาเยี่ยมอาการป่วยของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ที่วัดบรมนิวาส เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ตั้งแต่เดือน ๓ จนถึงเดือน ๖

ในระหว่างนั้นท่านก็ได้ฝึกสอนพุทธบริษัทวัดบรมนิวาสให้นั่งสมาธิภาวนา และได้ไปฝึกสอนพุทธบริษัทวัดสัมพันธวงศ์ให้นั่งสมาธิภาวนา มีประชาชนพุทธบริษัทมาสดับตรับฟังและฝึกหัดนั่งสมาธิเป็นอันมากทั้ง ๒ สำนัก

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


๏ ช่วยหลวงปู่ฝั้นให้พ้นจากบุรพกรรมอีกองค์หนึ่ง

ระหว่างพักจำพรรษาอยู่ในกรุงเทพฯ เรื่องที่ไม่น่าจะเกิด ก็ได้อุบัติขึ้นแก่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร โดยบังเอิญ ที่ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นนั้นก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ

เรื่องมีว่า วันหนึ่งหลวงปู่สิงห์ได้พาหลวงปู่ฝั้นไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) ที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร) ระหว่างทางได้เดินสวนกับผู้หญิงคนหนึ่งเข้า นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมาพระอาจารย์ฝั้นก็ลืมผู้หญิงคนนั้นไม่ลง ท่านรู้สึกว่าท่านได้เกิดความรักขึ้นในใจเสียแล้ว ขณะเดียวกันท่านก็บอกตัวเองด้วยว่า ท่านจะต้องขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปเสียให้พ้นจากความรู้สึกนึกคิดให้ได้

เมื่อกลับวัดบรมนิวาสในวันนั้น หลวงปู่ฝั้นได้นั่งภาวนาพิจารณาแก้ไขตัวเองถึง ๓ วัน แต่ก็ไม่ได้ผล ใบหน้าของผู้หญิงคนนั้นยังคงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จนไม่อาจสลัดให้ออกไปได้ ในที่สุดเมื่อเห็นว่า เป็นการยากที่จะแก้ไขได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้หลวงปู่สิงห์ฟัง เพื่อให้ช่วยแก้ไข หลวงปู่สิงห์ได้แนะให้ท่านไปพักในพระอุโบสถ พร้อมกับให้พิจารณาทำความเพียรให้หนักขึ้น

หลวงปู่ฝั้นได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในพระอุโบสถเป็นเวลาถึง ๗ วัน ก็สามารถรู้ชัดถึงบุพเพสันนิวาสแต่ในปางก่อน ว่าผู้หญิงคนนั้นกับท่านเคยเป็นสามีภรรยากันมา จึงทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น เมื่อตระหนักในเหตุในผล ท่านก็สามารถตัดขาดลืมผู้หญิงคนนั้นไปได้โดยสิ้นเชิง



๏ แยกย้ายกันสร้างวัดและเผยแผ่ธรรม

ในระหว่างที่หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น เดินทางเข้ากรุงเทพฯ คณะศิษย์ก็ร่วมกันจัดสร้างเสนาสนะชั่วคราวขึ้น พอท่านกลับมาถึงแล้วเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ไปพักที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขตได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้กุฏิ ๑ หลัง ศาลายังสร้างไม่เสร็จ ๑ หลัง

จากนั้นพระอาจารย์มหาปิ่นก็ได้พาหมู่ศิษย์อีกหมู่หนึ่งไปสร้างเสนาสนะที่ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นป่าช้าที่ ๒ สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค และกาฬโรค เป็นต้น ให้ชื่อว่า วัดป่าศรัทธารวม พรรษานั้นมีพระผู้ใหญ่ด้วยกันหลายองค์ คือ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร และพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ โดยมีพระอาจารย์มหาปิ่นเป็นหัวหน้า พรรษานี้พระอาจารย์มหาปิ่นก็ได้รับแขกและเทศนาอบรมคณะศรัทธาญาติโยมตลอดพรรษา ในปีเดียวเกิดมีวัดป่าพระกัมมัฏฐานขึ้น ๒ วัดเป็นปฐมฤกษ์ของเมืองโคราช

พรรษาแรก ได้แยกกันอยู่จำพรรษา ดังนี้คือ

๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
๒. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ พักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุ ๓๘ รูป สามเณร ๑๒ รูป

๑. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.๕
๒. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
๓. พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุ ๑๐ รูป สามเณร ๔ รูป ได้มีการอบรมศีลธรรมให้แก่ประชาชน จนประชาชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ ถือเอา “วัดป่าสาลวัน” เป็นจุดศูนย์กลางปฏิบัติกัมมัฏฐานและเป็นสถานที่ชุมนุมประจำ ครั้นเมื่อจะเข้าพรรษาก็ให้แยกย้ายพระภิกษุไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่างๆ ที่ไปตั้งขึ้น ตัวท่านหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปจำพรรษาอยู่ที่ศูนย์กลางคือวัดป่าสาลวันแห่งนี้

ครั้นปีต่อมา คือในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ได้แยกกันอยู่จำพรรษาเป็นหลายสำนักมากขึ้นโดยลำดับคือ

๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๒ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ โดยท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุวรรณไพโรจน์ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

๒. พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ โดยท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา

๓. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอมีศรัทธาเลื่อมใสมากได้อาราธนาให้ท่านไปพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

๔. พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่อำเภอโชคชัย ขุนอำนาจ นายอำเภอมีศรัทธาเลื่อมใสมากได้อาราธนาให้ท่านไปพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าธรรมนิการาม อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา

๕. พระอาจารย์บุญ พระอาจารย์พรหม พฺรหฺมสโร ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ โดยท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสำราญจิต ตำบลบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ

๖. พระอาจารย์คำตา พร้อมพระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๒ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ โดยท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าเวฬุวัน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

๗. พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๒ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฝ่ายวิปัสสนาธุระ โดยท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าจักรราช อำเภอจักรราช จังหวัดนครราชสีมา

ระยะต่อมาก็มีการกระจายกันไปสร้างวัดโดยรอบวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา เช่น วัดศรัทธาวนาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล, วัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง, วัดป่าอำเภอกระโทก, วัดป่าอำเภอจักราช, วัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงไชย, วัดป่าบ้าใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว และวัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง เป็นต้น เพื่อเป็นกองทัพธรรมพระกัมมัฏฐานกระจายแยกย้ายกันไปเทศนาอบรมประชาชน

รูปภาพ
พระปราจีนมุนีศรีอุทัยทิศคณาจารย์ (เพ็ง กิตฺติงฺกโร)


๏ ไปสร้างวัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี

หลวงปู่สิงห์ได้พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาลวัน ๕ พรรษา ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระในจังหวัดปราจีนบุรี ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนีฯ หรือ พระปราจีนมุนีศรีอุทัยทิศคณาจารย์ (เพ็ง กิตฺติงฺกโร) ตั้งแต่เมื่อยังไม่ตั้งสำนักสงฆ์วัดป่าทรงคุณ โดยมีพระอาจารย์มหาปิ่นได้ติดตามไปด้วย ท่านพักที่สวนมะม่วงของอาจารย์พร บรรลือคุณ

การมาอยู่จำพรรษาที่นี่ หลวงปู่สิงห์ได้นำธรรมปฏิบัติสอนให้บรรดาชาวบ้านญาติโยมโดยทั่วไปประพฤติปฏิบัติ จนปรากฏว่าชื่อเสียงในการสั่งสอน และการแสดงพระธรรมเทศนาของท่านลึกซึ้ง จับใจ ฟังแล้วเข้าใจง่าย บรรดาชาวบ้านญาติโยมที่ได้สดับรับฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดสติปัญญารอบรู้

แต่ก็สร้างความไม่พอใจแก่ผู้มีอิทธิพลคนเลวบางคนเป็นยิ่งนัก ถึงขนาดว่าจ้างมือปืนมาฆ่าท่าน แต่ก็เกิดเหตุปาฏิหาริย์ขึ้นในขณะที่มือปืนกำลังเล็งปืนขึ้นหมายจะยิงท่านนั้น ต้นไม้ทุกต้นในบริเวณป่านั้นแกว่งไกวเหมือนถูกลมพายุพัดอย่างรุนแรง ขนาดต้นไม้โตๆ ยังล้มระเนระนาดหมด ทำให้มือปืนใจชั่วตกใจเหลือกำลัง จะวิ่งหนีแต่ขาก้าวไม่ออก ปืนที่หมายจะยิงพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ตกหล่นอยู่บนพื้นดิน มือปืนจึงก้มลงกราบพร้อมกับกล่าวคำสารภาพผิด หลวงปู่สิงห์ได้อบรมจิตใจของมือปืนรับจ้างด้วยความเมตตา และปล่อยตัวไป ครั้นต่อมาผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นผู้จ้างมือปืนมาฆ่าหลวงปู่สิงห์ได้สำนึกผิด และได้รับฟังธรรมโอวาทจากหลวงปู่สิงห์ แล้วเกิดปีติในธรรมะอย่างล้นพ้น เกิดความเลื่อมใสศรัทธาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จึงพร้อมใจกันถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิงห์ พร้อมทั้งได้ชักชวนกันมาสร้างสำนักสงฆ์อันถาวรถวายแด่หลวงปู่สิงห์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณของท่านที่ได้เปิดตาเปิดใจพวกเขาให้ได้รับแสงสว่างในธรรมะ และได้ตั้งชื่อไว้ว่า “วัดป่ามะม่วง” หรือ “วัดป่าทรงคุณ” ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ในปัจจุบันนี้


(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

รูปภาพ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

รูปภาพ
พระอาจารย์หลวง กตปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาถาวร จิตฺตถาวโร แห่งวัดปทุมวนาราม


๏ งานบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๘๐ ปี ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

ปี พ ศ. ๒๔๘๑ เมื่อครั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๘๐ ปี ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม กับพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ร่วมกันเรียบเรียง หนังสือที่ระลึก เรื่องกติกาวิธีสัมมาปฏิบัติ ว่าด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสำหรับสำนักชีกรรมฐาน ถวายมุทิตาจิตแด่หลวงปู่ใหญ่เสาร์เพื่อพิมพ์แจกในงาน ซึ่งก่อนหน้านี้หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ได้เรียบเรียง แบบถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ตามที่คุณหา บุญมาไชย์ ปลัดขวาอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยถวายหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ให้พิจารณาตรวจทานด้วย

ในงานบำเพ็ญกุศลฯ ดังกล่าว พระภิกษุที่ได้รับนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธีนี้มีจำนวน ๘๐ รูป ครบเท่าอายุของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล โดยคณะศรัทธาญาติโยมได้จัดเตรียมผ้าจีวรครบ ๘๐ ชุด สำหรับหลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้ทอดถวายเป็นผ้าบังสุกุล นอกจากนี้คณะพระลูกศิษย์ของท่านยังได้ช่วยกันตัดเย็บผ้าขาวเป็นจำนวน ๘๐ ผืน ให้ท่านได้แจกทานแด่แม่ชีที่มาในงานพิธีครั้งนี้ด้วย

ในงานมุทิตาจิตหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล นี้ไม่มีมหรสพสมโภชใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่การปฏิบัติธรรมและแสดงพระธรรมเทศนาโดย หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และพระลูกศิษย์ที่มีเทศนาโวหารเก่งๆ ทั้งหลาย ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นธรรมาสน์กล่าวธรรมกถาสะกดคณะศรัทธาญาติโยมผู้ฟังที่มากันเต็มศาลาใหม่วัดบูรพานั้น

หนังสือแบบถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนี้ได้เป็นเหตุนำมาซึ่งความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเหตุเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มีพระสุปฏิปันโนเพิ่มขึ้นอีก ๒ องค์ด้วยกัน คือ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และพระอาจารย์หลวง กตปุญฺโญ

หลวงปู่เหรียญได้บวชเมื่ออายุย่างได้ ๒๐ ปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่วัดบ้านหงษ์ทอง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีท่านพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้กลับมาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พรรษาแรกจำพรรษา ณ วัดศรีสุมัง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โยมบิดาเอาหนังสือธรรมะมาถวายเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนาของหลวงปู่สิงห์ ได้อ่านดูเกิดความสนใจเรื่องสติปัฎฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่องกายานุปัสสนา

ส่วนพระอาจารย์หลวง กตปุญฺโญ แห่งวัดป่าสำราญนิวาส อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้เล่าให้ พระอาจารย์มหาถาวร จิตฺตถาวโร แห่งวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ฟังว่า

“สมัยอาตมาเป็นฆราวาส อาตมาได้รับ หนังสือแบบถึงพระไตรสรณคมน์ มาเล่มหนึ่ง พออ่านไปๆ จิตใจนี้บังเกิดความเลื่อมใส อยากบวชเป็นพระเสียเลย พออ่านแล้วจิตใจอยากบวช เพราะเกิดซาบซึ้งขึ้นในธรรมนั้นๆ ทั้งๆ ที่อ่านเพียงครั้งแรก อาตมาก็ยังมานึกสงสัยอยู่เลยว่า ทำไมจึงเข้าใจได้เข้าใจดี นี่อาจเป็นวาสนาของอาตมาก็ได้นะ มันคงถึงคราวต้องบวชด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้...”

๏ ตั้งใจปรารถนาพุทธภูมิ

ท่านได้จำพรรษาที่วัดป่าสาลวันจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้พิจารณาเห็นอุปสรรคแห่งการประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาถึงขั้นสละชีวิตทำความเพียร จึงตั้งสัจอธิษฐานทำความเพียรไม่ได้หลับนอนถึง ๗ วัน ๗ คืน เกิดอาพาธหนักทุกขเวทนากล้าแข็ง และเกิดโทมนัสคับแค้นใจเป็นกำลัง พิจารณาเห็นว่าบุญวาสนาไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจปรารถนาพุทธภูมิสร้างบารมีเพื่อพระโพธิญาณสืบไป

รูปภาพ

รูปภาพ

๏ แม่งานในการจัดงานศพหลวงปู่ใหญ่เสาร์

หลังจากหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ถึงแก่มรณภาพลงในอิริยาบถขณะนั่งกราบพระประธานครั้งที่ ๓ ภายในอุโบสถวัดอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านมีสิริอายุรวมได้ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน พรรษา ๖๒ ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก ได้ส่งโทรเลขไปยังเมืองอุบลราชธานี แจ้งข่าวให้หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และญาติโยม ได้ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ และให้เตรียมไปรับศพท่านกลับเมืองไทยต่อไป

ทางด้านจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อทางหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และคณะ ได้ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ จึงได้นำหีบศพที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้เตรียมไว้ที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานี คราวทำบุญบำเพ็ญกุศลอายุครบ ๘๐ ปี มุ่งหน้าเดินทางไปนครจำปาศักดิ์โดยด่วน

การเดินทางได้ใช้รถยนต์ของคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร กับแม่ชีผุย ซึ่งเคยให้บริการเมื่อครั้งคณะของหลวงปู่ใหญ่เสาร์เดินทางเข้ามาทางฝั่งลาวก่อนที่ท่านจะมรณภาพ

ขบวนรถนำหีบศพแล่นพ้นเขตอำเภอพิบูลมังสาหารเข้าไปทางช่องเม็ก มุ่งหน้าสู่เมืองเก่านครจำปาศักดิ์

เพียงเข้าเขตประเทศลาว รถวิ่งอยู่ดีๆ ก็เกิดยางระเบิด พอเปลี่ยนยางเสร็จวิ่งไปได้สักครู่เครื่องยนต์ก็เกิดดับขึ้นเฉยๆ แก้ไขอย่างไรเครื่องก็ไม่ยอมติด ตะวันก็จวนจะมืดค่ำลงทุกขณะ บริเวณนั้นก็เป็นป่าเปลี่ยวด้วย จนปัญญาที่สามารถจะแก้ไขให้รถยนต์วิ่งต่อไปได้

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม จึงพูดขึ้นว่า “หรือว่าพวกเราจะขัดความประสงค์ของท่านอาจารย์ เทวดาฟ้าดินทั้งหลายจึงได้ขัดขวางการที่พวกเราจะไปเคลื่อนศพท่านกลับมาประเทศไทย”

หลวงปู่สิงห์ให้คนจัดหาดอกไม้ธูปเทียนถวายท่าน แล้วท่านก็ลงคุกเข่าอยู่ตรงข้างๆ รถ ผินหน้าไปทางนครจำปาศักดิ์ กล่าวคำขมาโทษพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แล้วพูดดังๆ ป่าวประกาศให้เทวดาฟ้าดินทั้งหลายได้รับทราบทั่วกันว่า

“...ที่มานี้ก็มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะไปรับศพของพระอาจารย์กลับมาบำเพ็ญกุศลทางฝั่งไทย เพราะลูกศิษย์ลูกหาทางฝั่งนั้นมีมาก หากพวกเขาจะต้องเดินทางมาบำเพ็ญกุศลทางฝั่งนี้จะเป็นการลำบากวุ่นวาย ไม่สะดวกโดยประการทั้งปวง ฉะนั้น ข้าพเจ้า พระอาจารย์สิงห์ จึงขอป่าวประกาศให้เทวดาฟ้าดิน ตลอดทั้งรุกขเทวดา อากาศเทวดา ภุมเทวดาทั้งหลาย ได้โปรดทราบโดยถ้วนทั่ว และขอศพพระอาจารย์เพื่อไปบำเพ็ญกุศลทางฝั่งประเทศไทยเถิด”

พอหลวงปู่สิงห์กล่าวจบลง ท่านก็สั่งให้คนขับติดเครื่องทันที เป็นเรื่องที่แปลกและอัศจรรย์มาก หลวงปู่สิงห์ยังไม่ลุกจากที่นั่ง สตาร์ทเครื่องเพียงครั้งเดียวเครื่องยนต์ก็ติด รถจึงได้ออกแล่นมุ่งตรงไปยังนครจำปาศักดิ์เพื่อไปรับศพหลวงปู่ใหญ่ที่วัดอำมาตยารามต่อไป

หลวงปู่สิงห์พร้อมคณะได้ขอศพหลวงปู่ใหญ่กลับไปบำเพ็ญกุศลที่เมืองอุบลราชธานี เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลถวายอย่างสมเกียรติแก่พระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเวลาพอสมควรแล้ว และเห็นว่าระยะเวลานั้นอยู่ในช่วงสงครามอินโดจีนของฝรั่งเศส หรือสงครามบูรพาอาคเนย์ยังร้อนระอุอยู่ จะจัดงานศพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทางฝั่งลาวคงไม่สะดวกนัก จึงได้มอบศพหลวงปู่ใหญ่ให้คณะของหลวงปู่สิงห์ได้เคลื่อนย้ายจากวัดอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ สู่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

เมื่อศพหลวงปู่ใหญ่เดินทางถึงจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพา เมื่อเป็นเวลาพอสมควรแล้ว หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จึงสั่งให้บรรจุเก็บศพของท่านไว้ก่อน รอความพร้อมที่จะฌาปนกิจในปีต่อไป

กำหนดวันจัดงานฌาปนกิจศพหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งเป็นเวลา ๑๔ เดือน หลังจากการมรณภาพของท่าน

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้เป็นแม่งานในการจัดเตรียมงานทั้งหมดแทนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ศิษย์ผู้มีอาวุโสมากที่สุด ที่กำลังเดินทางจากบ้านโคก จังหวัดสกลนคร มาเป็นประธานก่อนวันเผาราว ๓ วัน และอยู่ต่ออีก ๑ วันหลังวันงาน แล้วหลวงปู่มั่นก็มาพักที่วัดอ้อมแก้ว (วัดเกาะแก้วอัมพวัน) อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเดินทางจากวัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ไปรอรับหลวงปู่มั่นที่บ้านฝั่งแดง จึงได้ไปนิมนต์หลวงปู่มั่นจากวัดอ้อมแก้ว (วัดเกาะแก้วอัมพวัน) มาพักที่บ้านฝั่งแดง แล้วเดินทางกลับมาพำนักจำพรรษาที่วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน พร้อมกัน


รูปภาพ
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)


ในงานประชุมเพลิงศพฯ นั้นหลวงปู่มั่นก็ได้แสดงธรรม ในตอนหนึ่งของการแสดงธรรมท่านก็ได้พูดถึงหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ได้เล่าไว้ว่า

“...จำได้ว่างานศพหลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่งอยู่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ) ใครต่อใครเขาก็ไปกัน แต่พระอุปัชฌาย์ (เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร - หนู ฐิตปญฺโญ) ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง...”

เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถรกับหลวงปู่เสาร์นี่ท่านให้คำมั่นสัญญากัน ถ้าใครตายก่อนให้ไปทำศพ หลวงปู่เสาร์ตายก่อนจึงไปทำที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานี

ในขณะที่ท่านแสดงธรรม หลวงปู่มั่นแสดงธรรมว่า “...เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนเรา บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เรา
พระอาจารย์มั่น จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น ถ้าใครไม่สมัครใจหรือปฏิบัติตามไม่ได้ อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคืออาจารย์มั่นตายไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้”


รูปภาพ
พระอาจารย์ทอง อโสโก


๏ จัดการงานศพพระมหาปิ่นผู้เป็นน้องชาย

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ ในปีนั้นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรคในทางธรรมปฏิบัติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นิมนต์หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์ทอง อโสโก และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ให้มาอธิบายธรรมให้ท่านฟัง ปีนั้นเป็นปีเดียวกับที่พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล น้องชายของท่านซึ่งได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ ๕ พรรษา ได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานี

พระอาจารย์มหาปิ่นเมื่อกลับจากจังหวัดปราจีนบุรี มาอยู่ที่อุบลฯ แล้วได้อาพาธด้วยโรคปอดอยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงนั้นพระอาจารย์ฝั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้พระอาจารย์ฝั้นอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ เพื่ออุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จฯ

ในพรรษานั้น ในช่วงเวลาที่พ้นเวลาอุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอาจารย์ฝั้นก็ประกอบยารักษาโรคถวายพระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่างๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้นออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จฤดูกาลกฐินแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้เข้ากราบนมัสการลาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดสุปัฏนาราม ขอเดินทางกลับไปจังหวัดสกลนครอันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่าน

พระอาจารย์มหาปิ่นอาพาธอยู่ ๒ พรรษา ก็ไม่หายจากอาการอาพาธนั้น และในที่สุดได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ สิริรวมอายุได้ ๕๔ พรรษา ๓๒ หลวงปู่สิงห์ก็ได้เป็นธุระในเรื่องเกี่ยวกับการศพพระอาจารย์มหาปิ่นจนเสร็จการ

(มีต่อ ๗)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
บรรดาคณะศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงาน
ประชุมเพลิงสรีระสังขาร “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม นั่งแถวที่ ๒ หมายเลข ๙



๏ พระอาจารย์มั่นมรณภาพ

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษาเหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน พระอาจารย์มั่นก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า

“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”

บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้าง ไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาพระอาจารย์มั่นยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่พระอาจารย์มั่นได้สั่งให้นำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าพระอาจารย์มั่นโดยทันที และตามมาทันในระหว่างทาง เมื่อคณะศิษยานุศิษย์และคณะชาวบ้านญาติโยมได้นำพระอาจารย์มั่นมาถึงวัดป่าดงนาภู่ ในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน พระอาจารย์มั่นก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นต้น สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี

หลังงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วัดป่าสุทธาวาส แล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการแบ่งอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ซึ่งประกอบด้วย

พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
พระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสฺโส)
พระมหาอินทร์ ถิรเสวี
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
พระครูอุดมธรรมคุณ (พระมหาทองสุก สุจิตฺโต)


ในส่วนของหลวงปู่สิงห์เองก็ได้รับมาส่วนหนึ่ง และได้แจกไปตามวัดต่างๆ รวมทั้ง อุบาสกอุบาสิกาที่เคารพนับถือในพระอาจารย์มั่นด้วย

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) ได้อาราธนาให้หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ไปอบรมพระกัมมัฏฐานแก่พุทธบริษัทชาวเมืองเพชรบุรี

รูปภาพ
พระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสฺโส)

รูปภาพ
พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)


๏ สมณศักดิ์และหน้าที่ทางคณะสงฆ์

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตผู้ช่วยจังหวัดปราจีนบุรี

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ คณะสงฆ์ขอสมณศักดิ์ที่พระครูญาณวิศิษฏ์ ให้หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พร้อมกันกับหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี แต่คำขอสมณศักดิ์ให้หลวงปู่เทสก์ได้ตกไปเพราะท่านยังไม่มีสำนักเป็นที่อยู่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครนายก

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์

และในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้เอง ท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนีฯ ได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่สิงห์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครนายก สืบแทนท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนีฯ

๏ ปฏิปทาของหลวงปู่สิงห์

ตลอดระยะเวลาหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ตอนเช้าทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะนำคณะออกบิณฑบาตแผ่บุญกุศลให้แก่คณะศรัทธาญาติโยม หลังจากนั้นท่านจะทำการอบรมพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานทุกๆ วันมิให้ขาด ตอนเย็นเมื่อกระทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะอบรมธรรมะ แก้ปัญหาธรรมที่มีพระภิกษุสามเณรติดขัดจนเป็นที่เข้าใจ ตอนกลางคืนท่านจะให้พระภิกษุสามเณรนั่งสมาธิภาวนาทุกรูป ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครกล้าหลีกเลี่ยง พอตอนเช้าท่านก็จะเรียกพระภิกษุสามเณรที่ไม่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาว่ากล่าวตักเตือน ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายต่างๆ จนเป็นที่ยำเกรงของคณะศิษยานุศิษย์ทุกรูป

หลวงปู่สิงห์ฉันหนเดียว และฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรตลอดชีวิต ท่านถือผ้าไตรจีวรสามผืนเป็นวัตร ท่านถือผ้านิสีทนะปูนั่งเป็นวัตร คือ จะนั่ง ณ ที่ใดก็ตาม ท่านต้องปูผ้านิสีทนะของท่านก่อนจึงจะนั่งทับลงไป การปฏิบัติข้อวัวัตรต่างๆ หลวงปู่สิงห์ท่านถือเคร่งครัดมาก

๏ ขันติธรรมของหลวงปู่สิงห์

หลวงปู่สิงห์ท่านมีความเพียรพยายามจริงๆ เดินจงกรมตลอดวัน นั่งสมาธิตลอดคืน บางทีท่านจะสั่งลูกศิษย์ คือ พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รกฺขิตสีโล ให้ปฏิบัติท่าน โดยท่านจะเข้าสมาบัติเป็นเวลา ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ซึ่งก็หมายความว่าท่านได้อดอาหารเป็นเวลา ๕-๗ วันไปด้วย แต่ร่างกายของหลวงปู่สิงห์ก็มิได้มีอะไรผิดปรกติ ยังเห็นท่านปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเดินจงกรมทุกวี่วันมิได้ขาด

เมื่อเกิดการเจ็บป่วยเจ็บปวดมีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ท่านก็ไม่เคยปริปากบอกใคร เวลาเจ็บป่วยหนักๆ ลุกไม่ขึ้น เมื่อมีแขกมาเยี่ยม แขกถามว่า “ท่านอาจารย์สบายดีหรือ” หลวงปู่สิงห์ท่านก็ตอบเขาไปว่า “สบายดีอยู่” ทั้งๆ ที่เจ็บปวดอย่างที่คนธรรมดาสามัญจะทนไม่ได้ หลวงปู่สิงห์เป็นโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ ช่วงระยะเวลาบั้นปลายของชีวิตท่านถูกโรคร้ายนี้คุกคามตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งตอนที่หลวงปู่สิงห์นอนป่วยอยู่ พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รกฺขิตสีโล ได้เข้าเวรรักษาพยาบาลปรนนิบัติรับใช้ท่าน ขณะกำลังนั่งทำงานพัดอยู่ กลดเจ้ากรรมหล่นลงมากระแทกหน้าอกของหลวงปู่สิงห์ เป็นกลดแบบกัมมัฏฐานที่ฝ่ายมหานิกายใช้เสียด้วย มันเบาอยู่เสียเมื่อไหร่ น้ำหนักร่วม ๓๐ กิโลกรัม ด้ามกลดเป็นเหล็กด้วยซ้ำ ตกลงมาถูกหน้าอกของท่านเป็นรอยช้ำ ท่านมิได้ปริปากพูดแต่ประการใด เพียงแต่นอนมองทำตาปริบๆ เท่านั้น ถ้าเป็นคนอื่นโดนเข้าแบบนี้ ในขณะที่ไม่สบายด้วยเช่นนี้ มิด่าโขมงโฉงเฉงไปหมดหรือ แต่ท่านมีขันติธรรมความอดทนเสียทุกเรื่องทุกอย่าง เป็นพระแท้จริงๆ สมกับเพศสมณะ

ในตอนงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ขณะคณะสงฆ์กำลังทำสังฆกรรมภายในอุโบสถ พอดีกับเวลานั้นโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ของหลวงปู่สิงห์กำเริบ เจ็บปวดจนกระดิกตัวไม่ได้ ท่านก็ไม่ยอมปริปากบอกให้ใครรู้ จนเสร็จจากสังฆกรรมเรียบร้อย พระสงฆ์องค์อื่นลุกออกไปเกือบหมดแล้ว หลวงปู่สิงห์ท่านจึงได้บอกกับพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รกฺขิตสีโล ว่า “ขณะนี้ในท้องของเราไม่ปรกติเสียแล้ว” ท่านพูดเพียงแค่นี้เอง แต่ความไม่ปรกติของท่านนั้นทำเอาท่านลุกไม่ขึ้น ต้องหามส่งเข้าโรงพยาบาลทันที ปฏิปทาในด้านความมีขันติธรรมของท่านเป็นที่กล่าวขวัญในระหว่างลูกศิษย์ลูกหาทุกคนด้วยความเคารพศรัทธา

๏ กลับสู่สำนักเดิมและการมรณภาพ

ระยะหลังบั้นปลายของชีวิตของหลวงปู่สิงห์ ท่านถูกโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้รบกวนอย่างหนักตลอดเวลา แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอมิได้ขาด

จวบจนปี พ.ศ. ๒๕๐๒ คณะสัปบุรุษวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ได้มาอาราธนาหลวงปู่สิงห์จากวัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี ให้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันอีก ท่านจึงได้ไปจำพรรษาวัดป่าสาลวัน ๑ พรรษา

พอปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณ ช่วงนี้เองอาการป่วยเริ่มเบียดเบียนท่านอีก ต้องเข้าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ

พอปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้จัดงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา งานเสร็จก็ป่วยหนักจนต้องหามส่งเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ อีก

วันเข้าพรรษาลูกศิษย์ได้รับมาพักรักษาตัวที่วัดป่าสาลวันตามเจตนาของหลวงปู่สิงห์ ดูเหมือนท่านจะรู้วาระของท่านอย่างแน่ชัด โดยท่านได้จัดการสั่งสอนศิษย์และพระภิกษุสามเณร มอบงานหน้าที่ต่างๆ จนเป็นที่เรียบร้อย

จวบจนวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงปู่สิงห์ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ท่ามกลางคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ที่เฝ้าดูแล ยังความเศร้าสลดอาลัยเป็นอย่างยิ่ง วันมรณภาพของหลวงปู่สิงห์นั้นได้มีนิมิตบอกมายังพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รกฺขิตสีโล ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี พระครูใบฎีกาณรงค์ชัยจึงรีบเดินทางมายังวัดป่าสาลวัน แต่ก็มาถึงช้าไป ปรากฏว่าหลวงปู่สิงห์ได้มรณภาพไปเสียก่อนแล้วประมาณ ๒ ชั่วโมง หลวงปู่สิงห์มรณภาพเมื่อเวลา ๑๐.๒๐ น. ของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วยโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ ณ วัดป่าสาลวัน สิริรวมอายุได้ ๗๒ ปี พรรษา ๕๒ ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ทีเดียว

๏ สิ่งมหัศจรรย์

หลังจากที่หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม มรณภาพแล้ว ลูกศิษย์จะนำศพของท่านจากกุฏิลงศาลาไปสรงน้ำ พอเจ้าหน้าที่ยกศพขึ้นจากที่ ฝนก็ตกลงมาอย่างไม่มีเค้าเลย แต่พอวางศพท่านลงถึงพื้น ฝนหยุดตกทันที พอหมอนำยามาฉีดกันศพเน่า ก็เกิดฉีดไม่เข้าอีก เล่นเอาเข็มฉีดยาหักไป ๓ เล่ม เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น ต้องหาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาและขออนุญาต พอแทงเข็มเข้าก็ยาไม่เดินอีก ต้องจัดหาดอกไม้ขัน ๕ มาบอกกล่าวอีก และเกิดปาฏิหาริย์ ไม่ต้องเร่งดันเข็มยาวิ่งเข้าเองเลย ทำให้คณะศิษยานุศิษย์ที่อยู่ในบริเวณยกมือท่วมหัวสาธุการกันทั่วหน้า เป็นบุญบารมีของหลวงปู่สิงห์ท่านอย่างแท้จริง

เมื่อตกแต่งศาลาหลังต่ำเสร็จ จะนำศพท่านไปสรงน้ำและตั้งศพท่าน พอเจ้าหน้าที่ยกศพท่านขึ้น ฝนก็ตกลงมาอีกแต่พอถึงที่วางศพท่านลง ฝนก็หยุดทันที ยังความแปลกประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นกันทั่วหน้า

เมื่องานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สิงห์ก็เช่นกัน พอเจ้าหน้าที่ยกศพของท่านขึ้น ฝนก็เริ่มดกปรอยๆ ได้นำศพของท่านแห่รอบศาลาเมรุสามรอบแล้วนำขึ้นตั้งบนเมรุ พอวางศพท่านลงฝนก็หยุดตกทันที ในวันพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สิงห์นั้นมีผู้คนจากทั่วสารทิศ มีคณะศิษย์ทั้งฆราวาสและสามเณรรวมทั้งภิกษุในสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มาร่วมชุมนุมกันครบถ้วน จนบริเวณวัดป่าสาลวันแน่นขนัด คับแคบไปถนัดตา

รูปภาพ
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน

รูปภาพ
อุโบสถวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน


๏ วัตถุมงคล

หากจะไม่กล่าวถึงการสร้างวัตถุมงคลของท่าน ก็จะไม่นับเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลไว้ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่สิงห์ได้จัดให้สร้างเหรียญปางลีลา ด้านหน้าเขียนว่า “ฉลองพุทธศาสนา ๒๕๐๐” โดยทำเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหลังเป็นยันต์หมอมหาวิเศษของท่าน แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ แบ่งเป็นของชายของหญิงแยกกัน ไม่ใช้รวมกัน ได้จัดสร้างขึ้นที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงปู่สิงห์ได้จัดสั่งให้สร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน ให้ทำเป็นรูปไข่ แต่คนรับไปทำคือ นายสมศักดิ์ แสงจันทร์ กลับไปสั่งให้ร้านรับทำที่กรุงเทพฯ จัดทำเป็นรูปโดยตัดตามรอยหยักขององค์พระตามรูปท่านั่งสมาธิของหลวงปู่สิงห์ แต่เมื่อนำกลับมาส่งมอบให้ท่านปลุกเสก ท่านเห็นรูปเหรียญที่ทำมาท่านบอกว่า “แบบนี้เราไม่ต้องการ เราสั่งให้ทำเหรียญแบบรูปไข่แบบกลมๆ ไปทำแบบไหนมา ให้นำไปฝัง” แต่ท่านก็ปลุกเสกให้ เมื่อท่านปลุกเสกให้แล้วจะนำไปฝังดินทิ้ง แต่ทหารค่ายจักรพงษ์ขอไปแล้วนำไปทดลองยิงปรากฏว่ายิงไม่ออก ยิงครั้งที่สามปืนแตกจนไหม้คนทดลองยิง เป็นเหตุให้คนต่างอยากได้ไว้บูชาประจำตัวกัน พวกลูกศิษย์ลูกหาจงมาขออ้อนวอนให้ท่านนำมาแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของท่าน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยนำเหรียญดังกล่าวใส่บาตรไว้ตามแต่ใครจะเอา ให้ทำบุญบูชาองค์ละ ๒๐ บาท นับว่าเหรียญรุ่นนี้แปลกกว่าเหรียญอื่นๆ การทำทำได้สวยงามมาก นับว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่สิงห์ ปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้หาดูยากแล้ว

พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงปู่สิงห์ได้จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่าน เป็นแบบตัดริมหยักตามองค์พระอีก ด้านหลังเป็นยันต์หมอมหาวิเศษของท่านเช่นเดิม คราวนี้จัดสร้างเป็นล็อกเกตรูปของท่านด้วย แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ แบ่งเป็นของชายของหญิงแยกกัน ทำแผ่นยันต์หมอมหาวิเศษ และแหวนเงินลงยารูปหลวงปู่สิงห์ด้วย พระชุดนี้สร้างขึ้นแจกในงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา

เหรียญรูปหลวงปู่สิงห์รุ่นนี้นับเป็นรุ่นที่ ๒ มีพวกรถไฟนำไปใช้แขวนสร้อยอยู่ ไปทะเลาะมีเรื่องกัน โดนฟันด้วยมีดขอ ๓ ครั้งไม่เข้า พอโดนฟันอีกครั้งโดนสร้อยขาดหลวงพ่อกระเด็น ไม่เข้าอีก หนที่ห้าหลวงพ่อไม่อยู่ด้วย ปรากฏว่าเข้า ตั้งแต่นั้นมาเหรียญหลวงพ่อแบบนี้จึงเป็นที่นิยมกันมาก เหรียญรุ่นนี้เคยมีคนขอเช่ากันในราคาเหรียญละหลายพันบาท จึงเป็นเหรียญเงียบๆ ที่มีราคาค่างวดสูง รู้กันเฉพาะคนที่สนใจในพุทธคุณจริงๆ คนที่มีอยู่ต่างก็หวงแหน พูดถึงด้านพุทธคุณกันแล้วเหรียญอาจารย์ดังๆ ในปัจจุบันยังเป็นรองหลายชั้นนัก

หลังจากนั้นหลวงปู่สิงห์ท่านก็ไม่ได้สร้างวัตถุมงคลอีก นับว่าเหรียญรูปหลวงปู่สิงห์รุ่นที่ ๒ เป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายของท่าน เพราะหลังจากงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมาแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ล้มป่วย และได้มรณภาพลงในเวลาต่อมาด้วยโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ดังกล่าวแล้ว

(มีต่อ ๘)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ โอวาทธรรม

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เรียบเรียงหนังสือ แบบวิธีปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ตามที่คุณหา บุญมาไชย์ ปลัดขวาอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ดังนี้

คำปรารภของพระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์
ในการพิมพ์หนังสือพระไตรสรณคมน์และสมาธิวิธี


หนังสือพระไตรสรณคมน์นี้ เป็นวิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์แสดงตนเป็นพุทธมามกะด้วย ทั้งได้ใช้เป็นวิธีไหว้พระทุกวันด้วย ตามระเบียบธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา ในครั้งพุทธกาลก็มีพระบาลีแสดงให้ปรากฎอยู่แล้วว่า บรรดาประชาชนทั้งหลายผู้มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ได้ตั้งตนเป็นพุทธบริษัทมาแล้ว ล้วนแต่ได้ประกาศปฏิญานตนถึงพระไตรสรณาคมน์ทั้งนั้น

อุทาหรณ์ข้อนี้พึงเห็นมารดาบิดาแห่งยสกุลบุตร แลสิงคาลกมาณพเป็นตัวอย่าง วิธีปฏิญาณตนถึงสรณะนี้ ดูเหมือนขาดคราว ไม่ได้ใช้ทำกันมานาน จนพวกอุบาสกอุบาสิกากลายเป็นมิจฉาทิฎฐิถือผิดเป็นชอบคือ นับถือภูตผีปีศาจนับถือเทวดาอารักษ์หลักคุณกันไปหมด ผู้ที่จะตั้งใจนับถือพระไตรสรณาคมน์จริงๆ ไม่ใคร่มีเลยถึงแม้มีก็น้อยที่สุด จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าปรารภถึงพระพุทธศาสนาบ่อยๆ แลได้ช่วยแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนพลเมืองทั้งหลายได้ประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณาคมน์แสดงตนเป็นพุทธมามกะก็มากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีหนังสือแจกจึงได้พิมพ์หนังสือ “พระไตรสรณาคมน์” นี้ขึ้น

อีกประการหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาแสดงว่าบุญกับบาปสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้บุคคลที่ได้ทำบาปทำอกุศาลไว้แล้วจะทำบุญแก้บาปก็แก้ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่จะละบาปบำเพ็ญบุญนั้น จะต้องทำอย่างไรกัน ก็ต้องตอบได้ง่ายๆ ว่า ไม่มีวิธีอย่างอื่น นอกจากวิธีแก้จิตเพราะเหตุว่าวิธีแก้จิตเป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา แลเป็นหัวใจแห่งสมถะและวิปัสนากัมมัฎฐาน มีในพระบาลีก็แสดงให้รู้แจ้งรู้แล้วว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าก็ดี ล้วนแต่ได้ทรงแก้จิตมาแล้วทั้งนั้นจึงสำเร็จพระโพธิญาณแลสาวกบารมีญาณพันจากทุข์ในวัฎฎสงสารไปได้ เมื่อบุคคลมาแก้ไขซึ่งจิตของตนให้บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว บาปอกุศลที่ตนทำไว้ทั้งหลายก็หลุดหายไปเอง อุทาหรณ์ข้อนี้ถึงเห็นองคุลีมาลเป็นตัวอย่าง

วิธีแก้จิตก็คือวิธีนั่งสมาธินี้เอง แต่ก็เป็นของที่ขาดคราวมานาน จนผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าใจผิดไปหมดว่าหมดคราวหมดสมัย หมดเขตมรรคผลธรรมวิเศษเสียแล้ว จึงทำตนให้เป็นคนจนท้อแท้อปราชัย ไม่สามารถหาอุบายแก้ไขซึ่งจิตของตนต่อไปได้ มีข้อเหล่านี้แลเป็นเหตุทำให้ข้าพเจ้าได้รับความสังเวชมามาก จึงปรารภถึงพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น คุณหา บุญมาชัย ปลัดขวา อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้ข้าพเจ้าเรียบเรียบวิธีแก้จิตคือสมาธินี้ขึ้น เชื่อว่าคงเป็นประโยชน์แก่เหล่าพุทธบริษัทผู้นับถือพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ได้ปฏิบัติสืบไป อุบาสก อุบาสิกา มีศรัทธาบริจาคทรัพย์พิมพ์ไว้ในพระพุทธศาสนา

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา



พระไตรสรณคมน์
วิธีปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ เป็นพุทธมามกะ
คือเป็นอุบาสก อุบาสิกาในพระพุทธศาสนาตลอดชีพ


คำปฏิญาณตนถึงสรณะ เมื่อน้อมตนเข้ามานั่งเฉพาะหน้าพระสงฆ์ทั้งปวงแล้วถวายเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น

(กราบ ๓ หน) นั่งคุกเข่าประณมมือ เปล่งวาจาว่า

อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ ภควา, พุทธํ ภควนตํ อภิวาเทมิ. (กราบ ๓ หน)

สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม, ธมฺมํ นมสฺสามิ. (กราบ ๓ หน)

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สงฺฆํ นมามิ. (กราบ ๓ หน)

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (๓ จบ)

ว่าองค์พระไตรสรณาคมน์

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ. สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.

ทติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. ทติยมฺป ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ. ทติยมฺป สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. ตติยมฺป ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ. ตติยมฺป สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.

ปฏิญาณตนว่า

เอสาหํ ภนฺต, สุจิรปรินพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ ภิกฺขุฆญฺจ.

อุปาสกํ (อุปาสิกํ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ สรณํ คตํ.

ทุติยมฺปาหํ ภนเต, สุจิรปรินพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ ภิกฺขุฆญฺจ.

อุปาสกํ (อุปาสิกํ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ สรณํ คตํ.

ตติยมฺปาหํ ภนฺเต, สุจิรปรินพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ ภิกฺขุฆญฺจ.

อุปาสกํ (อุปาสิกํ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ สรณํ คตํ.

แปลว่า

ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปริพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ที่นับถือของข้าพเจ้า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าสิ้นชีวิตของพระสงฆ์ทั้งปวงจงทรงจำไว้ ซึ่งข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก (อุบาสิกา) ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตแห่งข้าพเจ้านี้แลฯ

เจริญพุทธคุณ

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู, อนุตตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

(กราบลง หมอบอยู่ว่า)

กาเยน วาจาย ว เจตสา วา, พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ, พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนต์, กาลนตเร สํวริตุ ว พุทฺเธ

(เงยขึ้น)

เจริญธรรมคุณ

สวากฺขาโต ภควตา ธมโม, สนฺทิฎฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก, โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

(กราบลง หมอบอยู่ว่า)

กาเยน วาจาย ว เจตสา วา, พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ, พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนต์, กาลนตเร สํวริตุ ว ธมฺเม.

(เงยขึ้น)

เจริญสังฆคุณ

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สวกสงฺโฆ, ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, ยทิทํ จตฺตาริ ปริสยุคานิ อฎฺฐปุริสปุคฺคลา, เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย, อนุตฺตรธ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ

(กราบลง หมอบอยู่ว่า)

กาเยน วาจาย ว เจตสา วา, พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ, พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนต์, กาลนตเร สํวริตุ ว สงเฆ.

(เงยขึ้น กราบ ๓ หน)

นั่งพับเพียบ ประณมมือ ฟังคำสั่งสอนในระเบียบวิธีรักษาและปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ต่อไป

ผู้ที่ได้ปฏิญาณตนถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท ชายเป็นอุบาสก หญิงเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

วิธีรักษาพระไตรสรณคมน์ไม่ให้ขาดและไม่ให้เศร้าหมอง ดังนี้คือ

๑. เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเคารพ ๖ ประการ คือ เคารพในพระพุทธเจ้า ๑ เคารพในพระธรรม ๑ เคารพในพระอริยสงฆ์สาวก ๑ เคารพในความไม่ประมาท ๑ เคารพในไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ๑ เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ ๑ ต้องเป็นผู้มีความเชื่อ ความเลื่อมใส นับถือพระรัตนาตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของตนจริงๆ ถ้าประมาทเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๒. เว้นจากการนับถือพระภูมิต่างๆ คือ ไม่นับถือภูตผีปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ เทวบุตร เทวดา มนต์ คาถา วิชาต่างๆ ต่อไป ถ้านับถือเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๓. ไม่เข้ารีตเดียรถีย์ นิครณฐ์ คือไม่นับถือลัทธิ วิธี ศาสนาอื่น ภายนอกพระพุทธศาสนามาเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลีกของตนสืบต่อไป ถ้านับถือเข้ารีตเดียรถีย์เมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๔. ไม่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ คือไม่ดูไม้ดูหมอ แต่งแก้แต่งบูชา เสียเคราะห์เสียขวัญ เป็นต้น ถ้านับถือเมื่อไรก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๕. เป็นผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เช่น เชื่อว่า ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดีเป็นต้น ตลอดจนเชื่อความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สุด ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ข้อนี้ต้องเป็นผู้มีสมาธิเสมอ ถ้าขาดสมาธิเมื่อไรก็ขาดศรัทธาความเชื่อมั่นนั้น ถ้าขาดศรัทธาความเชื่อเมื่อไรก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่องนั้น

วิธีปฏิบัติพระไตรสรณคมน์

ท่านสอนให้ปฏิบัติใจของตนเอง เพราะคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ทั้งสามนี้สำเร็จด้วยใจ ล้วนเป็นคุณสมบัติของใจทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติใจของตนเองให้เป็นคนหมั่น คนขยัน ไหว้พระทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน

ปฐมํ ยามํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธติ

เวลาก่อนเข้านอน ตอนหัวค่ำให้เดินจงกรม แล้วทำพิธีไหว้พระ เจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนา ทำจิตสงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อนเข้านอน

อฑฺฒรตฺตํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธต

เวลาเที่ยงคืน นอนตื่นข้นเป็นเวลาที่สงบสงัดดี ให้เดินจงกรม ทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหารนั่งสมาธิภาวนา ทำจิตใจให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ จึงนอนต่อไปอีก

ปจฺฉิมํ ยามํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธตฯ

เวลาปัจจุสมัย จวนใกล้รุ่ง ให้ลุกขึ้นแต่เช้า ล้างหน้า เช็ดหน้าเรียบร้อยแล้วทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนาทำจิตให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่แล้วเดินจงกรมต่อไปอีกจนแจ้ง เป็นวันใหม่ จึงประกอบการงานต่อไป

รูปภาพ
จากซ้าย : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล,
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)
๓ แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกัมมัฏฐานในสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต



(มีต่อ ๙)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 เม.ย. 2010, 08:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สมาธิวิธี
โดย พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์
(พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)


๑. วิธีนั่งสมาธิ

ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาวางทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้าย

อุชุ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง คือ ไม่ให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง และอย่าก้มนักเช่นอย่างหอยนาหน้าต่ำ อย่าเงยนักเช่นอย่างนกกระแต้ (นกกระต้อยตีวิด) นอนหงายถึงดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง อุชุ จิตฺตํ ปณธาย ตั้งจิตให้ตรงคืออย่าส่งใจไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และอย่าส่งใจไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างหวา พึงกำหนดรวมเข้าไว้ในจิตฯ

๒. วิธีสำรวมจิตในสมาธิ

มนสา สํวโร สาธุ สำรวมจิตให้ดี คือ ให้นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ นึกอยู่อย่างนี้จนใจตกลงเห็นว่า อยู่ที่ใจจริงๆ แล้วทอดธุระเครื่องกังวลลงได้ว่า ไม่ต้องกังวลอะไรอื่นอีก จะกำหนดเฉพาะที่ใจแห่งเดียวเท่านั้น จึงตั้งสติกำหนดใจนั้นไว้ นึกคำบริกรรมรวมใจเข้าฯ

๓. วิธีนึกคำบริกรรม

ให้ตรวจดูจิตเสียก่อน ว่าจิตคิดอยู่ในอารมณ์อะไร ในอารมณ์อันนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ารัก หรือน่าชัง เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่ารัก พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความรัก เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่าชัง พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความชัง ไม่ตั้งเที่ยง พึงกำหนดส่วนทั้งสองนั้นให้เป็นคู่กันเข้าไว้ที่ตรงหน้าซ้ายขวา แล้วตั้งสติกำหนดใจตั้งไว้ในระหว่างกลาง

ทำความรู้เท่าส่วนทั้งสอง เปรียบอย่างถนนสามแยกออกจากจิตตรงหน้าอก ระวังไม่ให้จิตแวะไปตามทางเส้นซ้าย เส้นขวา ให้เดินตรงตามเส้นกลาง แต่ระวังไม่ให้ไปข้างหน้า ให้กำหนดเฉพาะจิตอยู่กับที่นั่นก่อน แล้วนึกคำบริกรรมที่เลือกไว้จำเพาะพอเหมาะกับใจคำใดคำหนึ่ง เป็นต้นว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ จบ แล้วรวมลงเอาคำเดียวว่า “พุทโธๆๆ” เป็นอารมณ์เพ่งจำเพาะจิต จนกว่าจิตนั้นจะวางความรักความชังได้ขาด ตั้งลงเป็นกลางจริงๆ แล้วจึงกำหนดรวมทวนกระแสประชุมลงในภวังค์ ตั้งสติตามกำหนดจิตในภวังค์นั้นให้เห็นแจ่มแจ้ง ไม่ให้เผลอฯ

๔. วิธีสังเกตจิตเข้าสู่ภวังค์

พึงสังเกตจิตใจเวลากำลังนึกคำบริกรรมอยู่นั้น ครั้งเมื่อจิตตั้งลงเป็นกลาง วางความรัก ความชังทั้งสองนั้นได้แล้ว จิตย่อมเข้าสู่ภวังค์ (คือจิตเดิม) มีอาการต่างๆ กัน บางคนรวมผับลง บางคนรวมปึบลง บางคนรวมวับแวมเข้าไปแล้วสว่างขึ้นลืมคำบริกรรมไป บางคนก็ไม่ลืม แต่รู้สึกว่าเบาในกายเบาในใจที่เรียกว่า กายลหุตา จิตฺตลหุตา กายก็เบา จิตก็เบา กายมุทุตา จิตฺตมุทุตา กายก็อ่อน จิตก็อ่อน กายปสฺสทฺธิ จิตฺตปสฺสทฺธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ กายุชุกตา จิตฺตชุกตา กายก็ตรง จิตก็ตรง กายกมฺมญํญตา จิตฺตกมฺมญฺญตา กายก็ควรแก่การทำสมาธิ จิตก็ควรแก่การทำสมาธิ กายปาคุญฺญตา จิตฺตปาคุญฺญตา กายก็คล่องแคล่ว จิตก็คล่องแคล่ว หายเหน็ดหายเหนื่อย หายเมื่อย หายหิว หายปวดหลังปวดเอว ก็รู้สึกว่าสบายในใจมาก ถึงเข้าใจว่าจิตเข้าสู่ภวังค์แล้วให้หยุดคำบริกรรมเสีย และวางสัญญาภายนอกให้หมด ค่อยๆ ตั้งสติตามกำหนดจิตจนกว่าจิตนั้นจะหยุด และตั้งมั่นลงเป็นหนึ่งอยู่กับที่ เมื่อจิตประชุมเป็นหนึ่งก็อย่าเผลอสติ ให้พึงกำหนดอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะนั่งเหนื่อย นี้แลเรียกว่าภาวนาอย่างละเอียดฯ

๕. วิธีออกจากสมาธิ

เมื่อจะออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา ในเวลาที่รู้สึกเหนื่อยแล้วนั้น ให้พึงกำหนดจิตไว้ให้ดี แล้วเพ่งเล็งพิจารณาเบื้องบนเบื้องปลายให้รู้แจ้งเสียก่อนว่า เบื้องต้นได้ตั้งสติกำหนดจิตอย่างไร พิจารณาอย่างไร นึกคำบริกรรมอะไร ใจจึงสงบมาตั้งอยู่อย่างนี้ ครั้นเมื่อใจสงบแล้ว ได้ตั้งสติอย่างไร กำหนดจิตอย่างไร ใจจึงไม่ถอนจากสมาธิ พึงทำในใจไว้ว่า ออกจากที่นั่งนี้แล้ว นอนลงก็จะกำหนดอยู่อย่างนี้จนกว่าจะนอนหลับ แม้ตื่นขึ้นมาก็จะกำหนดอย่างนี้ตลอดวันและคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อทำในใจเช่นนี้แล้วจึงออกจากที่นั่งสมาธิ เช่นนั้นอีกก็ถึงทำพิธีอย่างที่ทำมาแล้วฯ

๖. มรรคสมังคี

มรรคมีองค์อวัยวะ ๘ ประการ ประชุมลงเป็นเอกมรรค คือ ทั้ง ๗ เป็นอาการ องค์ที่ ๘ เป็นหัวหน้า อธิบายว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือจิตเป็นผู้เห็น สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ดำริ สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ ก็คือจิตเป็นผู้นึกแล้วกล่าว สัมมากัมมันโต การงานชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดทำการงาน สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดหาเลี้ยงชีวิต สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ก็คือจิตเป็นผู้มีเพียรมีหมั่น สัมมาสติ ความระลึกชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ระลึก ทั้ง ๗ นี้แหละเป็นอาการ ประชุมอาการทั้ง ๗ นี้ลงเป็นองค์สัมมาสมาธิ แปลว่าตั้งจิตไว้ชอบ ก็คือความประกอบการกำหนดจิตให้เข้าสู่ภวังค์ได้แล้ว ตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้เป็นเอกัคคตาอยู่ในความเป็นหนึ่ง ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีออก ไม่มีเข้า เรียกว่า มรรคสมังคี ประชุมมรรคทั้ง ๘ ลงเป็นหนึ่ง หรือเอกมรรคก็เรียก มรรคสมังคีนี้ประชุมถึง ๔ ครั้ง จึงเรียกว่า มรรค ๔ ดังแสดงมาฉะนี้ฯ

๗. นิมิตสมาธิ

ในเวลาจิตเข้าสู่ภวังค์และตั้งลงเป็นองค์มรรคสมังคีแล้วนั้น ย่อมมีนิมิตต่างๆ มาปรากฏในขณะจิตอันนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงตั้งสติกำหนดใจไว้ให้ดี อย่าตกใจประหม่ากระดากและอย่าทำความกลัวจนเสียสติและอารมณ์ ทำใจให้ฟุ้งซ่านรั้งใจไม่อยู่ จะเสียสมาธิ

นิมิตทั้งหลายไม่ใช่เป็นของเที่ยง เพียงสักว่าเป็นเงาๆ พอให้เห็นปรากฏแล้วก็หายไปเท่านั้นเองฯ

นิมิตที่ปรากฏนั้น คือ อุคคหนิมิต ๑ ปฏิภาคนิมิต ๑

นิมิตที่ปรากฏเห็นดวงหทัยของตนใสสว่างเหมือนกับดวงแก้ว แล้วยึดหน่วงเหนี่ยวรั้ง ให้ตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดี เรียกว่า อุคคหนิมิต ไม่เป็นของน่ากลัวฯ

นิมิตที่ปรากฏเห็นคนตาย สัตว์ตาย ผู้ไม่มีสติย่อมกลัว แต่ผู้มีสติแล้วย่อมไม่กลัว ยิ่งเป็นอุบายให้พิจารณาเห็นเป็นอสุภะ แยกส่วนแบ่งส่วนของกายนั้นออกดูได้ดีทีเดียว และน้อมเข้ามาพิจารณาภายในกายของตนให้เห็นแจ่มแจ้ง จนเกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่ายสังเวชสลดใจ ยังใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิมีกำลังยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต

๘. วิธีเดินจงกรม

พึงตั้งกำหนดหนทางสั้นยาวแล้วแต่ต้องการ ยืนที่ต้นทาง ยกมือประนม ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งความสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้ใจของข้าพเจ้าสงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาดรู้แจ้งแทงตลอดในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเทอญ

แล้ววางมือลง เอามือขวาจับมือซ้ายไว้ข้างหนึ่ง เจริญพรหมวิหาร ๔ ทอดตาลงเบื้องต่ำ ตั้งสติกำหนดจิตนึกคำบริกรรมเดินกลับไปกลับมา จนกว่าจิตจะสงบรวมลงเป็นองค์สมาธิ ในขณะที่จิตกำลังรวมอยู่นั้น จะหยุดยืนกำหนดจิตให้รวมสนิทเป็นสมาธิก่อนจึงเดินต่อไปอีกก็ได้ ในวิธีเดินจงกรมนี้กำหนดจิตอย่างเดียวกันกับนั่งสมาธิ แปลกแต่ใช้อิริยาบถเดินเท่านั้นฯ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า การทำความเพียรคือฝึกหัดจิตในสมาธิวิธีนี้ มีวิธีที่จะต้องฝึกหัดในอิริยาบททั้ง ๔ จึงต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดจิตบ้าง นอนสีหไสยาสน์บ้าง เพื่อให้ชำนาญคล่องแคล่ว และเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอฯ

๙. วิธีแก้นิมิต

มีวิธีที่จะแก้นิมิตได้เป็น ๓ อย่างคือ

วิธีที่ ๑ ทำความนิ่งเฉย

คือ พึงตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้ให้มั่นคง ทำความสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ในสมาธิ แม้มีนิมิตอะไรๆ มาปรากฏ หรือรู้เห็นเป็นจริงในจิตอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหวไปตาม คือ ไม่ต้องส่งจิตคิดไป จะเป็นความคิดผิดที่เรียกว่า จิตวิปลาส แปลว่า ความคิดเคลื่อนคลาด แปลกประหลาดจากความจริง นิ่งอยู่ในสมาธิไม่ได้ ให้บังเกิดเป็นสัญญา ความสำคัญผิดที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส แปลว่า หมายมั่นไปตามนิมิตเคลื่อนคลาดจากจิตผู้เป็นจริงทั้งนั้น จนบังเกิดถือทิฎฐิมานะขึ้นที่เรียกว่า ทิฎฐิวิปลาส แปลว่า ความเป็นเคลื่อนคลาดจากความเป็นจริง คือเห็นไปหน้าเดียว ไม่แลเหลียวดูให้รู้เท่าส่วนในส่วนนอก ชื่อว่าไม่รอบคอบ เป็นจิตลำเอียง ไม่เที่ยงตรง

เมื่อรู้เช่นนี้จึงไม่ควรส่งจิตไปตาม เมื่อไม่ส่งจิตไปตามนิมิตเช่นนั้นแล้ว ก็ให้คอยระวังไม่ให้จิตเป็นตัณหาเกิดขึ้นคือ ไม่ให้จิตดิ้นรนยินดีอยากเห็นนิมิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นก็ดี หรือยินร้ายอยากให้นิมิตนั้นหายไปก็ดี หรือแม้ไม่อยากพบไม่อยากเห็นซึ่งนิมิตที่น่ากลัวก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ตัณหา ถ้าเกิดมีในจิตแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ให้รีบระงับดับเสีย คือถอนความอยาก และความไม่อยากนั้นออกเสีย

เมื่อนิมิตมีมา ก็อย่ายินดี เมื่อนิมิตหายไป ก็อย่ายินร้าย หรือเมื่อนิมิตที่น่ากลัวมีมาก็อย่าทำความกลัว และอย่าทำความคดโกง อยากให้หายไปก็ไม่ว่า ไม่อยากให้หายไปก็ไม่ว่า อยากเห็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเห็นก็ไม่ว่า ให้เป็นสันทิฏฐิโก คือ เห็นเอง อยากรู้ก็ไม่ว่า ไม่อยากรู้ก็ไม่ว่า ให้เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะกับจิต ตั้งจิตไว้เป็นกลางๆ แล้วพึงทำความรู้เท่าอยู่ว่าอันนี้เป็นส่วนจิต อันนั้นเป็นส่วนนิมิต แยกส่วนแบ่งส่วนตั้งไว้เป็นคนละอัน รักษาเอาแต่จิตกำหนดให้ตั้งอยู่ เป็นฐีติธรรมเที่ยงแน่ว ทำความรู้เท่าจิตและนิมิตทั้งสองเงื่อน รักษาไม่ให้สติเคลื่อนคลาดจากจิต ทั้งไม่ให้เผลอสติได้เป็นดี

“สติมา” ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ “วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ” และโทมนัสในโลกเสียได้แล้ว ก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัย เมื่อประกอบข้อปฏิบัติอันนี้อยู่อย่างนี้ สติก็ตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่นประชุมกันเป็นสมาธิดังนี้ เรียกว่า ญาตปริญญา แปลว่า รู้เท่าอารมณ์ฯ

วิธีที่ ๒ ตรวจค้นปฏิภาคนิมิต

คือ เมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังประชุมกันอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนาดีแล้ว พึงฝึกหัดปฏิภาคนิมิตให้ชำนาญ คือ เมื่อเห็นรูปนิมิตมาปรากฏในตาในจิต เห็นเป็นรูปคน เด็กเล็ก หญิงชาย หนุ่มน้อย บ่าวสาว หรือแก่เฒ่าชรา ประการใดประการหนึ่งก็ตาม แสดงอาการแลบลิ้นปลิ้นตา หน้าบิดตาเบือน อาการใดอาการหนึ่งก็ตาม ให้รีบพลิกจิตเข้ามากลับตั้งสติ ผูกปัญหาหรือทำในใจก็ได้ว่า รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง จะแก่เฒ่าชราต่อไปหรือไม่

เมื่อนึกในใจกระนี้แล้วถึงหยุด และวางคำที่นึกนั้นเสีย กำหนดจิตพิจารณานิ่งเฉยอยู่ จนกว่าจะตกลงและแลเห็นในใจว่า เฒ่าแก่ชราได้เป็นแท้ จึงรีบพิจารณาให้เห็นแก่เฒ่าชราหลังขดหลังโขสั่นทดๆ ไปในขณะปัจจุบันทันใจนั้น แล้วผูกปัญหาถามดูทีว่า “ตายเป็นไหมเล่า”

หยุดนิ่งพิจารณาอยู่อีก จนกว่าจะตกลงเห็นในใจได้ว่า ตายแน่ตายแท้ไม่แปรผัน จึงรีบพิจารณาให้เห็นตายลงไปอีกเล่า ในขณะปัจจุบันทันใจนั้น “เมื่อตายแล้วจะเปื่อยเน่าตายทำลายไปหรือไม่” หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก “จนกว่าจิตของเราจะตกลงเป็นว่า เปื่อยเน่าแตกทำลายไปหรือไม่” หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก จนกว่าจิตของเราจะตกลงเห็นว่า เปื่อยเน่าแตกทำลายไปได้แท้แน่ในใจฉะนี้แล้ว ก็ให้รีบพิจารณาให้เห็น เปื่อยเน่า แตกทำลาย จนละลายหายสูญลงไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ไปตามธรรมดา ธรรมธาตุ ธรรมฐีติ ธรรมนิยาม

แล้วพลิกเอาจิตของเรากลับทวนเข้ามาพิจารณากายในกายของเราเอง ให้เห็นลงไปได้อย่างเดียวกัน จนกว่าจะตกลงและตัดสินใจได้ว่าร่างกายของเรานี้ ก็แก่เฒ่าชรา ทุพพลภาพแตกตาย ทำลาย เปื่อยเน่าไปเป็นเหมือนกัน แล้วรีบตั้งสติพิจารณาเห็นเป็นแก่เฒ่าชราดูทันที และพิจารณาให้เห็นตายลงไปในขณะปัจจุบัน แยกส่วนแบ่งส่วนออกดูให้เห็นแจ้งว่า หนังเป็นอย่างไร เนื้อเป็นอย่างไร กระดูกเป็นอย่างไร ตับไตไส้พุงเครื่องในเป็นอย่างไร เป็นของงามหรือไม่งาม ตรวจดูให้ดีพิจารณาให้ละเอียดจนกว่าจะถอนความยินดียินร้ายเสียได้ แล้วพิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าผุพังลงถมแผ่นดินไป ภายหลังกลับพิจารณาให้เห็นเป็นคืนมาอีก

แล้วฝึกหัดทำอยู่อย่างนี้จนกว่าจะชำนาญ หรือยิ่งเป็นผู้มีสติได้พิจารณาให้เนื้อ หนัง เส้น เอ็น และเครื่องในทั้งหลาย มีตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น เปื่อยเน่าผุพังลงไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า จึงกำหนดเอาร่างกระดูกนั้นเป็นอารมณ์ทำไว้ในใจ ใคร่ครวญให้เห็นแจ้งอยู่เป็นนิจ จนกว่าจะนับได้ทุกกระดูกก็ยิ่งดี เพียงเท่านี้ก็เป็นอันแก้นิมิตได้ดีทีเดียวฯ

คราวนี้ถึงทำพิธีพิจารณาเป็น อนุโลม ถอยขึ้นถอยลง คือตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดีแล้ว เพ่งพิจารณาให้เห็นผมอยู่บนศีรษะมีสีดำ สัญฐานยาว ก็จะหงอกขาวลงถมแผ่นดินทั้งนั้น และพิจารณาให้เห็นขนซึ่งเกิดตามชุมชนตลอดทั่วทั้งกายนอกจากฝ่ามือฝ่าเท้า ก็จะลงถมแผ่นดินเหมือนกัน

พิจารณาเล็บที่อยู่ปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ ให้เห็นเป็นของที่จะต้องลงถมแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น

พิจารณาฟันซึ่งอยู่ในปากข้างบน ข้างล่าง ให้เห็นแจ้งว่าได้ใช้เคี้ยวอาหารการกินอยู่เป็นนิจ แต่ก็จะต้องลงถมแผ่นดินเหมือนกัน

คราวนี้พิจารณาหนังเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหลังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ยังชีวิตนี้ให้ตั้งอยู่ได้แล้วเป็นไป ถ้าถลกหนังนี้ออกหมดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วต้องถมแผ่นดิน พิจารณาเห็นความจริงฉะนี้

แล้วเลิกหนังออกวางลงไว้ที่พื้นดิน พิจารณาเส้นเอ็นให้เห็นแจ้งว่า เส้นเอ็นทั้งหลายรัดรึงกระดูกไว้ให้ติดกันอยู่ เมื่อเลิกเส้นเอ็นนี้ออกหมดแล้ว กระดูกก็จะหลุดจากกัน ผุพังลงถมแผ่นดินทั้งสิ้น

แล้วกำหนดเลิกเส้นเอ็นนี้ออกเสีย กองไว้ที่พื้นดิน พิจารณาร่างกระดูกให้เห็นแจ้งว่า กระดูกในร่างกายนี้มีเป็นท่อนๆ เบื้องต่ำแต่กระดูกกระโหลกศีรษะลงไป เบื้องบนแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นมา เห็นได้กระจายสมควร

แล้วเพ่งเล็งพิจารณาดูเครื่องในทั้งหลาย ให้เห็นว่า ปอดอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน ดวงหฤทัยอยู่ที่ไหน ใหญ่น้อยเท่าไร เห็นตับไต ไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร มีสีสันวรรณะเป็นไฉน เครื่องในทั้งปวงนี้ เป็นที่ประชุมแห่งชีวิตก็จริง แต่ก็จะต้องถมแผ่นดิน เมื่อพิจารณาเห็นฉะนี้แล้วจึงกำหนดให้ขาดตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน ยังเหลือแต่ร่างกระดูก

จึงพิจารณาดูกระดูกกระโหลกศีรษะเป็นลำดับลงมา กระดูกคอ กระดูกแขน กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกเอว กระดูกตะโพก กระดูกต้นขา กระดูกแข้ง กระดูกพื้นเท้า พิจารณาอย่างนี้เรียกว่า อนุโลมฯ

คราวนี้พึงพิจารณาเป็น ปฏิโลม คือพิจารณาถอยกลับขึ้นเบื้องบนตั้งแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นไปตลอดถึงกระดูกกระโหลกศีรษะ พิจารณาทบทวนกลับจากศีรษะถอยลงมาตรงหน้าอกนั้นให้มั่นคง ทำในใจว่า ร่างกายทั้งหมดนี้มีจิตเป็นใหญ่ ประชุมอยู่ที่จิต จึงกำหนดรวมจิตเข้าให้สงบ แลตั้งอยู่เป็นเอกัคคตา วิธีที่ ๒ นี้ เรียกว่า ตีรปริญญา แปลว่า ใคร่ครวญอารมณ์ฯ

ขอเตือนสติไว้ว่า ในระหว่างกำลังพิจารณาอยู่นั้น ห้ามไม่ให้จิตเคลื่อนจากที่คิด ระวังไม่ให้ส่งจิตไปตามอาการ จิตจะถอนจากสมาธิ ถ้าจิตถอนจากสมาธิเป็นใช้ไม่ได้ ข้อสำคัญให้เอาจิตเป็นหลัก ไม่ให้ปล่อยจิต ให้มีสติเพ่งเล็งให้รอบจิต พิจารณาให้รอบกาย รักษาใจไม่ให้ฟุ้ง จึงไม่ยุ่งในการพิจารณาฯ

วิธีที่ ๓ เจริญวิปัสสนา

คือ เมื่อผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้ฝึกหัดจิตมาถึงขั้นนี้ มีกำลังพอพิจารณาปฏิภาคนิมิตได้ชำนาญคล่องแคล่วเป็นประจักขสิทธิ ดังที่อธิบายมาแล้ว และกำหนดจิตรวมเข้าไว้ในขณะจิตอันเดียว ณ ที่หน้าอก ตั้งสติพิจารณาดูให้รู้รอบจิต เพ่งพินิจให้สว่างแลเห็นร่างกระดูกทั่วทั้งกาย ยกคำบริกรรมวิปัสสนา วิโมกขปริวัตรขึ้นบริกรรมจำเพาะจิตว่า

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา สพฺเพ ธมฺมา ทุกฺขา

ให้เห็นร่างกระดูกทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือเอา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ กำหนดให้เห็นกระดูกทั้งหลายหลุดจากกันหมด ตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน

คราวนี้ตั้งสติให้ดี รักษาไว้ซึ่งจิต อย่าให้เผลอ ยกคำบริกรรมวิปัสสนานั้นอีก เพ่งพิจารณาจำเพาะจิต ให้เห็นเครื่องอวัยวะที่กระจัดกระจายกองไว้ที่พื้นดินนั้น ละลายกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ถมแผ่นดินไปหมด

กำหนดจำเพาะจิตผู้รู้ เพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นพื้นแผ่นดินกว้างใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งโลก ก็ยังต้องฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ ยกวิปัสสนาละลายแผ่นดินนี้เสียให้เห็นเป็นสภาวธรรม เพียงสักว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น

รวบรวมเอาแต่จิต คือผู้รู้ ตั้งไว้ให้เป็นเอกจิต เอกธรรม สงบนิ่งแน่วอยู่ และวางลงเป็นอุเบกขา เฉยอยู่กับที่ คราวนี้จะแลเห็นจิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทีเดียว ก้าวล่วงจากนิมิตได้ดี มีกำลังให้แลเห็นอำนาจอานิสงส์ของจิตที่ได้ฝึกหัดสมาธิมาเพียงชั้นนี้ ก็พอมีศรัทธาเชื่อในใจของตน ในการที่จะกระทำความเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป วิธีที่ ๓ นี้ เรียกว่า ปหานปริญญา แปลว่า ละวางอารมณ์เสียได้แล้ว


๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม นับเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์ที่สำคัญยิ่ง และมีบารมีธรรมมากองค์หนึ่งที่ให้การอบรมพระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม โดยสืบต่อจากหลวงปู่มั่น ผู้เป็นพระอาจารย์ ถือหลักธรรมสืบทอดมาเป็นลำดับจนถึงสมัยปัจจุบัน หลวงปู่สิงห์ได้ทำคุณประโยชน์แก่ปวงชนอย่างกว้างขวาง ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ ท่านสามารถใช้สติปัญญาแยกแยะอุบายธรรม แนะนำศิษย์รุ่นน้องให้ได้รับการภาวนาอย่างได้ผล โน้มน้าวจิตใจของบุคคลที่เคยเคารพยึดถือนับถือภูตผีต่างๆ ให้หันกลับมายึดถือในพระไตรสรณคมณ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

ธรรมะของท่านมีทั้งอ่อนน้อมละมุนละไม และเข้มแข็งกระด้างในบางเวลา หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะออกธุดงค์กัมมัฏฐานไปโปรดเทศนาธรรมอบรมญาติโยมไปตามถิ่นต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับและในที่สุดทุกพื้นที่โคมทองแห่งพระศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้แจ่มจำรัสจนทั่วทุกหนแห่ง ด้วยความสามารถอำนาจบุญบารมีของพระปรมาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ผู้เป็นพระน้องชาย ก็ได้สามารถปั้นยอดขุนพลแห่งกองทัพธรรมได้อีกเป็นจำนวนมาก นับว่าหลวงปู่สิงห์เป็นลูกศิษย์ผู้เป็นคู่บารมีของหลวงปู่มั่นโดยแท้จริง

ท่านสาธุชนทั้งหลายที่เดินทางผ่านมายังจังหวัดนครราชสีมา สามารถแวะเข้าไปกราบระลึกถึงพระคุณท่านได้ ที่วัดป่าสาลวัน ณ ที่นี้มีรูปหล่อเหมือนของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้สร้างไว้เพื่อให้สาธุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสมากราบไหว้บูชา และระลึกถึงพระคุณของหลวงปู่

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม กับ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ในงานฉลองกึ่งพุทธกาล ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ




.............................................................

:b8: รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือแก้วมณีอีสาน : รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสนาจารย์อีสาน
(๒) หนังสือบูรพาจารย์ รวบรวมโดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
(๓) หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
(๔) หนังสือพระไตรสรณคมน์และสมาธิวิธี
โดย พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
(๕) หนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓


:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43688

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม” วัดป่าสาลวัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42790

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ค. 2010, 14:07
โพสต์: 2

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณครับ ที่มีอะไรดีๆ ให้ได้อ่านและนำไปปฏิบัติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2010, 16:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..ครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร