วันเวลาปัจจุบัน 10 ก.ย. 2024, 05:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2009, 09:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน


วัดป่ากลางโนนภู่ (วัดป่าบ้านภู่)
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


๏ ชาติภูมิและการสืบเชื้อสาย

“พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน” มีนามเดิมว่า กู่ เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จึงนับเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดกัน กล่าวคือ พระอาจารย์ฝั้น เป็นบุตรของเจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าหลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) บิดาของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน ท่านจึงเป็นหลานอาของเจ้าหลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์), เป็นหลานปู่ทวดของพระเสนาณรงค์ (นวล) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒, เป็นหลานปู่ของอาชญาราชบุตร (วงศ์) และเป็นหลานปู่ของพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๔ และนายอำเภอพรรณานิคมคนแรก ผู้เป็นต้นตระกูล “สุวรรณรงค์”

พระอาจารย์กู่ ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ณ บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ เจ้าหลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) โยมมารดาชื่อ นางหล้า สุวรรณรงค์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ โดยมีน้องชายคือ พระอาจารย์กว่า สุมโน ซึ่งเป็นบุตรคนที่ ๔ เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ อายุอ่อนกว่าท่านราว ๔ ปี และท่านอายุอ่อนกว่าพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติสนิท ราว ๘ เดือน (พระอาจารย์ฝั้นเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๒)

อาชญาราชบุตร (วงศ์) ผู้เป็นบุตรของพระเสนาณรงค์ (นวล) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒ มีภรรยาชื่อ นางบัวทอง มีบุตรด้วยกันรวม ๗ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น
๒. เจ้าหลวงพรหม (เมฆ) บิดาของพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า
๓. เจ้ากุ
๔. เจ้าทอง
๕. เจ้าคำ
๖. เจ้าจีบ
๗. นางน้อย

สำหรับเจ้าอินทร์ ผู้เป็นพี่ชายของพระเสนาณรงค์ (นวล) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒ มีภรรยาชื่อใดไม่ปรากฏ มีบุตรด้วยกันรวม ๔ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. เจ้าบุญจันทน์ ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอาชญาพระไชยสงคราม
๒. เจ้าสุวรรณ์ ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๔ และนายอำเภอพรรณานิคมคนแรก ผู้เป็นต้นตระกูล “สุวรรณรงค์”
๓. เจ้าสุวัฒน์
๔. นางดวงตา

ตระกูลสุวรรณรงค์ สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไท เมืองวังอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว (เชื้อสายของพระเวสสันดร) ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองพรรณานิคม และหัวหน้าผู้นำการอพยพได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระเสนาณรงค์” โดยบรรดาศักดิ์นี้เป็นชื่อยศประจำตำแหน่งเจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งก็มีลูกหลานเจ้าเมืองคนแรกสืบตำแหน่งกันต่อมาจนถึงพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองคนที่ ๔ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองต่างๆ กล่าวคือ เมืองพรรณานิคมได้เปลี่ยนเป็นอำเภอพรรณานิคม เจ้าเมืองพรรณานิคมก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอพรรณานิคม พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) จึงเป็นนายอำเภอพรรณานิคมคนแรก ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖ เพื่อเป็นการให้คนไทยมีนามสกุลใช้ต่อท้ายชื่อเป็นสกุลวงศ์ของครอบครัว ทั้งเพื่อป้องกันความสับสนในกรณีที่มีชื่อซ้ำกัน เป็นต้น พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) นายอำเภอพรรณานิคมคนแรก จึงได้เอานามตัว คือ “สุวรรณ์” มารวมกับนามบรรดาศักดิ์ คือ “เสนาณรงค์” แล้วนำมาตั้งเป็นนามสกุลว่า “สุวรรณรงค์”

เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า “พระ” อันเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง คือ “พระเสนาณรงค์” เพียงระดับเดียว บรรดาศักดิ์พระเสนาณรงค์เป็นตำแหน่งของเจ้าเมือง ระดับหัวเมืองชั้นตรี ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนครระดับ “พระ” และในสมัยก่อนนั้นเมืองพรรณานิคมยังใช้การปกครองด้วยระบบอาญาสี่ (อาชญาสี่) อยู่ ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่แบ่งตำแหน่งสำคัญออกเป็น ๔ ชั้น ประกอบด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร หากเทียบตำแหน่งใหม่เมื่อครั้งมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ โดยยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาญาสี่ (อาชญาสี่) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ และปี พ.ศ. ๒๔๔๐ อาจเทียบได้ดังนี้ คือ เมืองต่างๆ ให้เรียกว่าอำเภอ, ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ, ให้อุปฮาด (อุปราช) เป็นปลัดอำเภอ, ให้ราชวงศ์เป็นสมุห์อำเภอ และให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ

ดังนั้น จึงพอจะอนุมานได้ว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่เป็นข้าราชการเทียบเท่าได้กับตำแหน่ง “อุปฮาด (อุปราช)” หรือในระบบใหม่ก็คือ “ปลัดอำเภอ” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีอำนาจมากในสมัยนั้น

ต่อมาในสมัยที่พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น และเจ้าหลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) ผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์กู่และพระอาจารย์กว่า ก็ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๔ กิโลเมตร ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นอีกให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่นั้นได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่าสถานที่แห่งใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ฯลฯ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหมเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือลำห้วยอูน อยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) โยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวาง และเยือกเย็น เป็นที่ประจักษ์มาช้านาน

พระอาจารย์กู่เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านเป็นคนมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว มีนิสัยใจคอเยือกเย็น สุขุม สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทสงบสำรวมเรียบร้อย พูดน้อย มีคติจิตใจชอบทางสมณวิสัยมาตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อเติบใหญ่ได้พอสมควรแล้ว เจ้าหลวงพรหม (เมฆ สุวรรณรงค์) โยมบิดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือในสำนักของพระอาจารย์ต้น จนสามารถอ่านออกเขียนได้ และได้เคยสมัครเข้ารับราชการเป็นเสมียนช่วยกิจการบ้านเมือง

๏ การอุปสมบท

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย (วัดบ้านม่วงไข่) บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูสกลสมณกิจ (ท่านอาญาครูธรรม) เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักษรบาลีและอักษรขอมในสำนักพระอาจารย์ จนมีความชำนิชำนาญสามารถอ่านคัมภีร์ใบลานที่วัดซึ่งมีอยู่หลายผูกได้อย่างไม่ติดขัด ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบความเงียบสงัด ยินดีในเสนาสนะป่าเป็นส่วนมาก เที่ยวหลีกเร้นปฏิบัติเดินจงกรม นั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาตามป่าชัฏ หาทางปลีกวิเวกเสมอมา จนกระทั่งได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระบูรพาจารย์ใหญ่สายพระป่ากรรมฐาน

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิทของพระอาจารย์กู่

รูปภาพ
“พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน” วัดป่ากลางโนนภู่ จ.สกลนคร

รูปภาพ
พระอาจารย์กว่า สุมโน พระน้องชายของพระอาจารย์กู่

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2009, 09:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านอาญาครูดี ได้ปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น
พร้อมกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร



๏ พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น หลังจากออกพรรษาแล้ว เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์กู่ได้พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้ปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าวท่านพระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวออกเดินธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ส่วนคณะญาติโยมชาวบ้านม่วงไข่ได้ทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพักปักกลดอยู่ข้างหมู่บ้านของตน พากันดีใจเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนก็อยากจะเห็นพระธุดงค์ จึงได้กระจายข่าวให้ได้ทราบทั่วถึงกันอย่างรวดเร็ว คณะหญิงชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันออกไปต้อนรับ ได้ช่วยปัดกวาดจัดทำที่พักปักกลดและทางเดินจงกลมตลอดถึงน้ำดื่มน้ำใช้ถวาย คนผู้เฒ่าผู้แก่ก็นำเอาน้ำร้อนน้ำอุ่น หมากพลูบุหรี่ไปถวาย ตามธรรมเนียมของคนสมัยนั้น เสร็จแล้วโยมที่เป็นหัวหน้าผู้เป็นนักปราชญ์อาจารย์พากันนั่งคุกเข่ากราบพระ ๓ หน แล้วนั่งสงบเรียบร้อยคอยฟังธรรม คำอบรมจากท่านพระอาจารย์มั่นต่อไป สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังธรรมด้วยในคราวนั้นก็มี ท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมจบลง คณะศรัทธาญาติโยมน้อยใหญ่ต่างพากันเลื่อมใสเป็นอันมาก พากันตั้งจิตปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ สมาทานรับเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ส่วนท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์ทั้งสามเกิดกำลังใจมุมานะอยากบังเกิดความรอบรู้เหมือนท่านพระอาจารย์มั่น จึงปรึกษาหารือกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือในชั้นสูง คือ เรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายน์ ประถมกัปป์ ประถมมูล จนกระทั่งสำเร็จมาจากเมืองอุบลราชธานี จึงแสดงพระธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งและแคล่วคล่องไม่ติดขัดประดุจสายน้ำไหล พวกเราน่าจะต้องตามรอยท่าน โดยไปร่ำเรียนจากเมืองอุบลราชธานีให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะแปลอรรถธรรมได้เหมือนท่าน

เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ได้พากันปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์ต่อท่านพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านไปด้วย แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านคอยไม่ได้เพราะพระอาจารย์ทั้งสามยังไม่พร้อมในเรื่องบริขารสำหรับธุดงค์ จึงออกเดินทางไปก่อน พระอาจารย์ทั้งสามต่างได้รีบจัดเตรียมบริขารสำหรับธุดงค์อย่างรีบด่วน เมื่อพร้อมแล้วจึงออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทั้งสามท่าน

อ่านเพิ่มเติมที่ >>> :b44: โอวาทธรรม “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”
ที่ยังให้อาญาครูดี-หลวงปู่กู่-หลวงปู่ฝั้น ศรัทธาในการปฏิบัติ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43448

รูปภาพ
พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล


ในระหว่างนั้น พระราชวุฒาจารย์ (พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งก็ได้เดินทางเที่ยวตามหาท่านพระอาจารย์มั่นด้วยเหมือนกัน โดยเดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านม่วงไข่ แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปพบพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดนั้น จึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาท่านพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้น พระอาจารย์ทั้ง ๔ ท่านจึงได้ร่วมกันออกเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔

เมื่อเดินธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย และท่านกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้ง ๔ ท่านจึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งไปทันท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์ทั้งหลายของท่านพระอาจารย์มั่น ต่างก็แยกย้ายกันออกธุดงค์ต่อไป พระอาจารย์ฝั้นก็แยกออกไปกับสามเณรพรหม ผู้เป็นหลาน ไปทางอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์ดูลย์คาดว่าธุดงค์ไปทางจังหวัดสุรินทร์ระยะหนึ่ง แล้วจึงขึ้นไปทางอีสานเหนือ ไปทางอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีสามเณรติดตามไปด้วยองค์หนึ่ง

ส่วนพระอาจารย์กู่นั้นเข้าใจว่าได้อยู่ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไป

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอาจารย์กู่ ได้ญัตติกรรมเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี พระครูอดิศัยคุณาธาร (หลวงพ่อคำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูวินัยธร (ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ธมฺมทินฺโน” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้มีธรรมอันให้แล้ว

ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้เป็นน้องชาย ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระรัก และพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุมโน” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้มีใจดี

ก่อนหน้าที่พระอาจารย์กว่าจะเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุไม่กี่วัน พระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติสนิทของพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า ก็ได้รับอนุญาตจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ญัตติกรรมเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๕.๒๒ นาฬิกา ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ โดยมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกันกับพระอาจารย์กว่า คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร แต่สำหรับพระอาจารย์ฝั้น มีพระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อาจาโร” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้มีมารยาทอันงาม

ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ อำเภอพรรณานิคมก็ได้มีทายาทในตระกูล “สุวรรณรงค์” ถึง ๓ คนที่สละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศสมณะ และได้เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐานองค์สำคัญในสายท่านพระอาจารย์มั่นในเวลาต่อมา คือ พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า

หลังจากอุปสมบทแล้ว พระอาจารย์กว่าก็ได้ติดตามพระอาจารย์กู่ พระพี่ชาย และพระอาจารย์ฝั้น เดินทางกลับไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนั้นเลย พระอาจารย์รูปต่างๆ ที่ร่วมจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. ๒๔๖๘) ได้แก่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์สาร, พระอาจารย์กว่า สุมโน และยังมีพระภิกษุสามเณรอื่นๆ อีกรวมถึง ๑๖ รูป

เมื่อใกล้จะออกพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวกๆ เป็นชุดๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่าให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุดๆ อีกหลายชุด

ก่อนออกธุดงค์ ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้ำซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก

ครั้นออกพรรษาแล้ว คณะพระอาจารย์กู่ก็ได้ออกเดินธุดงค์ โดยพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์กว่า ได้ธุดงค์แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วได้ธุดงค์ต่อไปที่บ้านค้อ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นธุดงค์ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยได้นัดหมายพบกันที่พระพุทธบาทบัวบก

รูปภาพ
พระพุทธบาทบัวบก ประดิษฐาน ณ วัดพระพุทธบาทบัวบก
ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี



แต่คณะพระอาจารย์กู่ก็ได้คลาดกันกับพระอาจารย์ฝั้น ไม่ได้พบกันที่พระพุทธบาทบัวบกตามที่นัดหมายกันไว้แต่อย่างใด เพราะเมื่อพระอาจารย์ทั้งสามธุดงค์ไปถึงพระพุทธบาทบัวบกแล้ว พระอาจารย์ฝั้นยังไม่มาถึง พระอาจารย์ทั้งสามจึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปทางบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์มาทางอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และที่ตำบลหนองลาดนี้เอง ท่านพระอาจารย์มั่นได้พบกับพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระเถระที่มีพรรษามากแล้ว

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ในขณะนั้นพรรษาได้ ๑๙ พรรษาแล้ว ส่วนพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้ ๑๗ พรรษา พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของญาติโยมประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม, ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์, เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง ที่ตั้งอยู่ในวัดโพธิ์ชัยนี้ด้วย

พระอาจารย์เกิ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์ในทางธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นมาก่อน ครั้นเมื่อได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นมาอยู่ท่านตำบลหนองลาด ท่านก็ได้ชวนพระอาจารย์สีลา พร้อมพระเณรถูกวัด เดินทางจากบ้านสามผง จังหวัดนครพนม มาถึงหนองลาด จังหวัดสกลนคร ไปฟังเทศน์และสนทนาไต่ถามปัญหาข้ออรรถธรรมที่สงสัยค้างคาใจต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตข้อวัตรของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิด จนเกิดความอัศจรรย์ใจในข้ออรรถข้อธรรมและจริยาวัตรของท่าน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส และได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปโปรดคณะศรัทธาญาติโยม และพักจำพรรษาอยู่ที่บ้านสามผง ถิ่นที่พำนักของท่าน พร้อมทั้งขอถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิด จนเกิดผลประจักษ์ทางใจอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสรับรู้มาก่อน

เดือน ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เกิ่ง และพระอาจารย์สีลา พร้อมทั้งพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ ก็ได้ญัตติกรรมเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

และประมาณ ๗ วันก่อนเข้าพรรษา กำนันบ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยลูกบ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในคณะพระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้เข้ามาพบ และขอร้องให้ท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง แต่ท่านมีเหตุอันจำเป็นต้องขัดข้อง จึงให้พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้างตามที่ชาวบ้านปรารถนา

รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2009, 09:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


๏ ตามท่านพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี

หลังจากออกพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว คณะท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป ได้เดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม ณ ที่นั้น ได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรมและไปเทศนาสั่งสอนโปรดชาวบ้านญาติโยมที่เมืองอุบลราชธานี และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ออกท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถของท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกของท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของท่านพระอาจารย์มั่น แก่มาก หมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลราชธานีได้

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วยท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกรรมฐานและการถึงพระไตรสรณคมน์ ที่ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกรรมฐานนั้นเป็นอย่างดี และต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกรรมฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน

สำหรับพระอาจารย์กู่ได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้าง กับพระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒-๓ รูป เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว บ้านโพธิสว่าง

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีกที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาประจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านพักจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านญาติโยมจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอนตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาไว้ ส่วนพระที่เป็นศิษยานุศิษย์แต่ละคณะก็แยกกันจำพรรษาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาทิ พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านทั้งสอง, พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่าจำพรรษาอยู่ที่เดียวกันคือที่บ้านบ่อชะเนง เป็นต้น

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์ขาว อนาลโย

รูปภาพ
พระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี


๏ พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑล และเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ได้ออกตรวจการคณะสงฆ์ ท่านได้เรียกเจ้าคณะแขวงอำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ให้เข้ามาประชุมที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี เกี่ยวกับเรื่องระเบียบการปกครอง การศึกษาเล่าเรียน และการประพฤติปฏิบัติของคณะสงฆ์ พระภิกษุ สามเณร ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยถูกต้องตามพระวินัย หลังจากการประชุมเสร็จแล้วท่านได้ทราบข่าวว่ามีคณะพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหนองขอน บ้านบ่อชะเนง บ้านหัวตะพาน ในเขตท้องที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) จึงเรียกเจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ มาถามว่า “ได้ทราบว่า มีพระอาคันตุกะ คณะกรรมฐานเดินทางมาพักอยู่ในเขตท้องที่ของความปกครองของเธอหรือ พวกเธอได้ไปตรวจสอบถามดูหรือเปล่า เขามาจากไหน อยู่อย่างไร ไปอย่างไร ?”

เจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญได้กราบเรียนท่านว่า “เกล้าฯ มิได้ไปตรวจสอบถามเพราะเนื่องจากพระคณะกรรมฐานเหล่านั้นเขาว่าเป็นลูกศิษย์พระเดชพระคุณ”

(หมายเหตุ : พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นสัทธิวิหาริก คือได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์)

พอเจ้าคณะแขวงฯ พูดจบ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ขึ้นเสียงดังออกมาทันทีว่า “บ๊า !...ลูกศิษย์พระเดชพระคุณที่ไหน ข้าไม่รู้ไม่ชี้ ไป๊ !...ไล่มันให้ออกไป ไปบอกพวกโยมอย่าใส่บาตรให้กิน”

แล้วเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็สั่งให้เจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระกรรมฐานคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกรรมฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่าในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

พระอาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกรรมฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-มารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระอาจารย์ทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ ในที่สุดก็ได้มอบให้พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง

เมื่อผ่านพ้นเรื่องนั้นไปด้วยดีแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ย้อนกลับไปเยี่ยมพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ที่บ้านกุดแห่ ตำบลกุดเชียงหมี (ปัจจุบันคือ ตำบลกุดแห่) อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

พระอาจารย์ดีต้อนรับขับสู้พระอาจารย์ฝั้นอย่างแข็งขัน จากการถามทุกข์สุข พระอาจารย์ดีได้แสดงความวิตกกังวลต่อพระอาจารย์ฝั้นเรื่องหนึ่งว่า ท่านได้สอนธรรมข้อปฏิบัติให้ญาติโยมทั้งหลายไปแล้ว แต่ญาติโยมบางคนเมื่อปฏิบัติแล้วได้เกิดวิปัสสนูปกิเลส มีอันเป็นไปต่างๆ บางพวกออกจากการภาวนาเดินไปถึงสี่แยก เกิดเข้าใจเอาว่าเป็นทางเดินของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์เจ้า พวกนี้จะพากันคุกเข่ากราบไหว้อยู่ที่นั่นเป็นเวลานานจึงได้ลุกเดินไปบ้าง พอไปถึงสี่แยกหน้าก็เข้าใจผิดและปฏิบัติเช่นนี้อีกเรื่อยๆ บางคนลุกจากภาวนาได้ก็ถอดผ้านุ่งผ้าห่มออกหมด เดินฝ่าญาติโยมที่นั่งภาวนาอยู่ด้วยกัน จนเกิดโกลาหลกันยกใหญ่ มีญาติโยมบางคนกราบไหว้พระอาจารย์ดีให้ท่านไปช่วยแก้ไขให้ ท่านก็มิรู้จะแก้ได้อย่างไร เป็นเหตุให้กระวนกระวายใจมาเกือบปีแล้ว จึงขอความกรุณาให้พระอาจารย์ฝั้นช่วยแก้ไขให้ด้วย พระอาจารย์ฝั้นตรองหาทางแก้ไขอยู่ไม่นานนักก็รับปาก พระอาจารย์ดีจึงให้เณรเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ให้บรรดาญาติโยมไปฟังธรรมโอวาทของพระอาจารย์ฝั้นที่วัดในตอนค่ำ พระอาจารย์ฝั้นหลังจากได้ช่วยพระอาจารย์ดีแก้ไขปัญหาการภาวนาของพวกญาติโยมให้กลับมาเดินถูกทางกันทั้งหมดแล้ว ท่านก็กลับมากราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ให้ทราบเรื่องราวที่ได้ปฏิบัติไป โดยตั้งใจไว้ว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นี้จะจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นต่อไปอีก

ขณะเดียวกันพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่าก็ไปจำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง (ซึ่งบ้านบ่อชะเนงนี้เป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์ขาว อนาลโย) ระยะนั้นปรากฏว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนงไม่มีพระสวดปาติโมกข์ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาติโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า ที่บ้านบ่อชะเนง

ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ (พระอุปัชฌาย์ลุยผู้นี้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชสามเณรให้กับสามเณรเทสก์ เรี่ยวแรง หรือพระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑) ได้ทราบว่าพระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า มาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่เพราะไม่ชอบพระกรรมฐาน

พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า

“ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกรรมฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร”

พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า

“ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กรรมฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกสา คือผม, โลมา คือขน, นะขา คือเล็บ, ทันตา คือฟัน และตะโจ คือหนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกรรมฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกรรมฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กรรมฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกสา-โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวกแบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ? ส่วน นะขา-ทันตา-และตะโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตะปูตีเอากระนั้นหรือไร ? ถ้าจะไล่กรรมฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ”

พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก ท่านไม่อาจตอบได้จึงคว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย

ระหว่างพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า ได้เทศนาสั่งสอนพวกคณะศรัทธาญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่นๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสามเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาวบวชเป็นพระเป็นเณร และเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
และพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม สามแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2009, 09:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ ท่านพระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้พาพระภิกษุสามเณรมาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป แล้วท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้นำโยมแม่ออก (โยมมารดา) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่เมืองอุบลราชธานี ท่านและคณะศิษยานุศิษย์พักอยู่ที่วัดบูรพาราม คณะศิษยานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลาย เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหมด มีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”


ครั้นปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้เรียกคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีพระอาจารย์สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำ สั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่โยมมารดาของท่าน จนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลาโยมมารดา และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ

จากนั้นออกพรรษาแล้ว ประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เพื่อจำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


๏ ช่วยพระอาจารย์ฝั้นแก้ปัญหา

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ปีนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษาที่วัดบ้านผือ ตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ครั้นพอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์อ่อน ได้เที่ยวธุดงค์กรรมฐานไปจนถึงหมู่บ้านจีด ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บังเอิญได้ข่าวว่า โยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนป่วยหนัก พระอาจารย์อ่อนจึงแยกไปรักษาโยมพี่สาว ส่วนพระอาจารย์กู่พำนักอยู่ที่บ้านจีดโดยลำพัง

ที่นั่นพระอาจารย์ฝั้นได้เผชิญศึกหนักเข้าเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ธรรมต่อไก่” ธรรมต่อไก่เป็นวิธีบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งชีผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ “ไท้สุข” บัญญัติขึ้นมาว่า หากใครนำไก่ตัวผู้และไก่ตัวเมียคู่หนึ่งมามอบให้ชีผ้าขาวแล้ว เพียงแต่กลับไปนอนบ้านก็สามารถบรรลุธรรมได้ มีชาวบ้านหลงเชื่อกันอยู่เป็นจำนวนมาก

พระอาจารย์ฝั้นได้ชี้แจงแสดงธรรมต่อไปทั้งวัน ชีผ้าขาวกับผู้ที่เชื่อถือเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมแพ้

ตอนหนึ่ง ชีผ้าขาว “ไท้สุข” อ้างว่าตนมีคาถาดี คือ ทุ โส โม นะ สา ธุ

พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ออกอุบายแก้ว่า ทุ สะ นะ โส เป็นคำของเปรต ๔ พี่น้อง ซึ่งทั้ง ๔ พี่น้องก่อนตายเป็นเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ตลอดชีวิตไม่เคยทำคุณงามความดี ไม่เคยสร้างบุญกุศลเลย เอาแต่ประพฤติชั่วเสเพลไปตามที่ต่างๆ ครั้นตายแล้วจึงกลายไปเป็นเปรตไปหมด ต่างตกนรกไปถึง ๖ หมื่นปี

พอครบกำหนด คนพี่โผล่ขึ้นมาก็ออกปากพูดได้คำเดียวว่า “ทุ” พวกน้องๆ โผล่ขึ้นมาก็ออกปากได้คำเดียวเช่นกันว่า “สะ” “นะ” “โส” ตามลำดับ หมายถึงว่า เราทำแต่ความชั่ว เราไม่เคยทำความดีเลย เมื่อไหร่จะพ้นหนอ ฉะนั้น คำเหล่านี้จึงเป็นคำของเปรต ไม่ใช่คาถาหรือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สั่งสอนแก้ไขกันอยู่ถึงอาทิตย์หนึ่ง ก็ยังไม่อาจละทิฏฐิของพวกนั้นลงได้

พอดีโยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนหายป่วย พระอาจารย์อ่อนจึงย้อนกลับมา โดยมีพระอาจารย์กู่มาสมทบด้วยอีกรูปหนึ่ง กำลังใจของพระอาจารย์ฝั้นจึงดีขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางฝ่ายท่านมีท่านเพียงรูปเดียวเท่านั้น อธิบายอะไรออกไปก็ถูกขัดถูกแซงเสียหมด

ในที่สุดชีผ้าขาวกับพรรคพวกก็ยอมแพ้ ยอมเห็นตามและรับว่าเหตุที่เขาบัญญัติ “ธรรมต่อไก่” ขึ้นมาก็เพื่อเป็น “นากิน” (อาชีพหากินด้วยการหลอกลวง) และยอมรับนับถือพระไตรสรณคมน์ตามที่ท่านสั่งสอนไว้แต่ต้น

รูปภาพ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

รูปภาพ
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต


๏ ให้อุบายการภาวนาแก่หลวงปู่เหรียญและหลวงปู่บุญฤทธิ์

ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดหนองคาย และได้ไปพักอยู่ที่วัดอรัญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้การก่อสร้างถาวรวัตถุอะไร เป็นแต่ทำกุฏิอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ในระยะเวลาก่อนหน้านั้น คือเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ก็ได้บวชและจำพรรษาแรก ณ วัดศรีสุมัง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในระยะแรกหลวงปู่เหรียญก็ได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์บุญจันทร์ รองเจ้าอาวาส พร้อมๆ กับเรียนนักธรรมไปด้วย พอปลายปีเมื่อสอบนักธรรมเสร็จก็กลับมายังวัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพักอยู่หลังจากบวชแล้วก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีสุมัง

ในครั้งนั้น โยมบิดาของท่านได้ถวายหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนา ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นผู้เรียบเรียง เมื่อหลวงปู่เหรียญได้อ่านดูแล้วรู้สึกเกิดความสนใจขึ้น ในหนังสือเล่มนั้นท่านได้อธิบายเรื่องสติปัฏฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่องกายานุปัสสนา ท่านก็ลองปฏิบัติไปตามหนังสือนั้น ก็ได้ผลดีพอสมควร จึงได้ตัดสินใจเข้าป่าไปเพื่อปฏิบัติธรรมกับพระอีกรูปหนึ่ง ในเดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แต่พระรูปนั้นอยู่ป่าได้ ๗ วันก็กลับวัดเดิม เนื่องจากภาวนาแล้วเจอนิมิตที่น่ากลัว จึงเกิดความกลัวขึ้นอย่างแรง

ส่วนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ท่านก็อยู่ในป่าต่อเพียงองค์เดียว เพราะตอนนั้นกำลังเกิดปีติในธรรมปฏิบัติ จิตกล้าหาญเต็มที่ไม่ได้กลัวอะไรทั้งหมด กลัวแต่กิเลสมันจะครอบงำเอาเท่านั้น จึงได้เร่งทำความเพียรโดยไม่ย่อท้อ เมื่อท่านได้ความมั่นใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปแล้ว จึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนำได้ ก็ได้มาพบกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ครั้นเมื่อได้พบพระอาจารย์กู่ครั้งแรก ก็มีความเลื่อมใสในปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติของท่าน จึงได้เรียนถามอุบายภาวนาสมาธิกับท่าน พระอาจารย์กู่ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังจนเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามท่านไปในที่อื่นเมื่อท่านย้ายไปเพราะมีอุปสรรคบางอย่าง

ในปีถัดมา คือ พ.ศ. ๒๔๗๗ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม เป็นรองเจ้าอาวาส ในปีนี้หลวงปู่เหรียญก็ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านด้วย นับเป็นพรรษาที่ ๒ ของหลวงปู่เหรียญหลังจากที่ได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖

ประวัติในช่วง ๕ ปีนี้ของพระอาจารย์กู่ได้ขาดตอนไป สันนิษฐานว่าท่านคงจะได้ธุดงค์เพื่อตามหาท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นธุดงค์อยู่ตามป่าเขาในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีประวัติกล่าวว่าพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน ได้เคยมาพำนักที่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วย

และมาปรากฏในประวัติของหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่เหรียญธุดงค์ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่เพื่อไปติดตามท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็ได้ธุดงค์ติดตามท่านไปยังที่ต่างๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงปู่เหรียญได้จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากญาติโยมนิมนต์ให้จำพรรษา หลวงปู่เหรียญได้อยู่เป็นเวลา ๔ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน และพระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ด้วย

ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ พระอาจารย์กู่ได้ออกเดินธุดงค์จากภาคเหนือ อำเภอสันกำแพง ลงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าทุ่งสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ ที่นี้เอง ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งได้มีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านจนเกิดความเลื่อมใส ก็คือ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ซึ่งขณะนั้นก็คือ นายบุญฤทธิ์ จันทรสมบูรณ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน และบัณฑิตนักเรียนทุน ก.พ. สาขาโบราณคดี จากประเทศเวียดนาม เมื่อจบแล้วกลับมารับราชการในกองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และได้ถูกส่งมาเป็นล่ามประจำจังหวัดหนองคาย ที่นี้เองที่พระอาจารย์บุญฤทธิ์ได้รู้จักกับคุณนายละเมียด สัชฌุกร ได้สนทนากันเรื่องพระพุทธศาสนา ซึ่งพระอาจารย์บุญฤทธิ์กำลังสนใจในเรื่องนี้อยู่ และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระสูตรที่สำคัญที่สุดในการภาวนา คือ สติปัฏฐานสูตร แต่พระอาจารย์บุญฤทธิ์ไม่รู้จักการภาวนาและการปฏิบัติก็ยังไม่มี

คุณนายละเมียด ท่านนี้เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน วัดป่าทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย ครั้นเมื่อมีโอกาส คุณนายละเมียดจึงได้พาพระอาจารย์บุญฤทธิ์ไปกราบนมัสการพระอาจารย์กู่ ณ วัดป่าทุ่งสว่าง วัดเล็กๆ มีศาลาอเนกประสงค์หลังน้อยๆ หลังคามุงสังกะสีผุๆ ไม่มีฝา ขณะนั้นมีชาวบ้านกำลังนั่งฟังเทศน์จากพระอาจารย์กู่ ท่านก็เข้าไปนั่งฟังด้วย พอพระอาจารย์กู่เทศน์จบ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ก็ได้สอบถามปัญหาธรรมะต่างๆ อย่างพรั่งพรู โดยพระอาจารย์บุญฤทธิ์บอกว่า เหมือนยิงลูกศรไปในอากาศ มีแต่ความว่าง พระอาจารย์กู่ท่านไม่มีอารมณ์เลย ท่านไม่มีขัดข้องอะไร มีแต่ความเมตตา ใจเย็นสม่ำเสมอ สบาย นี่ถ้าเป็นพระบางรูปคงจะโกรธแล้ว นึกในใจว่าพระรูปนี้ไม่ใช่พระธรรมดาเสียแล้ว ตรงนี้ทำให้พระอาจารย์บุญฤทธิ์มีความประทับใจพระอาจารย์กู่มาก จึงได้ไปสนทนากับท่านบ่อยๆ จนเกิดศรัทธาอยากจะบวชขึ้นมาทันที

ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านจึงได้ลาราชการมาเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวิชัยสังฆกิจ เจ้าอาวาสวัดศรีเมือง และเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย (ธ) ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากอุปสมบทแล้ว พระอาจารย์บุญฤทธิ์ซึ่งเป็นพระภิกษุบวชใหม่ ได้ไปอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์กู่ ที่วัดป่าอรุณรังษี อยู่หลังเรือนจำนอกเมืองหนองคาย อันเป็นอีกวัดหนึ่งที่พระอาจารย์กู่ปกครองดูแลอยู่ในสมัยนั้น พระอาจารย์บุญฤทธิ์ได้เริ่มปฏิบัติธรรมภาวนาทันที โดยมีพระอาจารย์กู่คอยให้คำแนะนำ และเมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เข้าก็เกิดความปีติ มีความรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมภาวนาทำให้จิตสงบ เป็นความสุขที่หาไม่ได้ง่ายนัก มาถึงตรงนี้พระอาจารย์บุญฤทธิ์คิดว่าเราสบายแล้ว ไปออกเที่ยวเดินธุดงค์ดีกว่า ไปนานหรือไม่นานก็ไม่เป็นไร

ในช่วงนั้นพระอาจารย์บุญฤทธิ์ มีอายุ ๓๑ ปี ใจก็คิดอยากบวชไปนานๆ เลยทำหนังสือขอลาออกจากงานราชการ และกราบลาพระอาจารย์กู่ออกเที่ยวเดินธุดงค์ไป

ในปีถัดมา พระอาจารย์กู่ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม

รูปภาพ
พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร

รูปภาพ
ซ้าย : หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ขวา : พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต)


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2012, 16:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต


๏ แนะอุบายการอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นให้กับหลวงปู่หล้า

สมัยนั้นพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต กำลังเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่น โดยพักอยู่ที่ถ้ำพระเวส ในหุบเขาภูพาน ๒๐ กว่าวัน ก็ออกเดินทางต่อ เช้าวันรุ่งขึ้นก็เดินทางต่อไปถึงวัดป่าบ้านแก้งซึ่งเป็นวัดร้างไม่มีพระอยู่จำพรรษา ชาวบ้านแก้งก็มาร่วมกันใส่บาตร พอหลวงปู่หล้าฉันเสร็จก็ลาชาวบ้านออกเดินทางต่อไป ชาวบ้านเขาก็ไปส่ง

เมื่อไปถึงระยะทางที่พอจะไม่หลงแล้ว ท่านก็ให้ชาวบ้านกลับ ท่านก็เดินต่อมาเพียงองค์เดียว เดินลัดเลาะตามชายเขามาทางทิศตะวันตก มาค่ำเอาที่บ้านค้อพอดี ก็พักที่นั่น ตื่นเช้าบิณฑบาตแถวนั้น แล้วฉันเสร็จเดินทางต่อ มาค่ำเอาที่วัดป่าสุทธาวาสพอดี พักอยู่ที่นั้น ๓ คืน เมื่อไปถึงก็ไปกราบพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านถามข่าวคราวความเป็นมาทุกประการแล้ว ท่านก็ให้ข้อแนะนำว่า “ใครจะไปหาองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ต้องยอมตัวเป็นคนโง่ให้องค์ท่านเข่น จึงจะอยู่ได้ แม้ผมบางครั้งองค์ท่านดุด่าเหมือนเณรน้อย”

แล้วพระอาจารย์กู่ท่านย้อนถามคืนมาว่า “คุณมาพักขณะนี้ได้อุบายอะไรบ้าง”

หลวงปู่หล้ากราบเรียนว่า “ได้ คือ การไปมอบกายถวายตัวเพื่ออยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น อย่าสำคัญตัวว่าฉลาด ไม่เหมาะสมส่วนใดยอมให้องค์ท่านว่ากล่าวได้ทุกเมื่อ”

พระอาจารย์กู่จึงพูดตอบว่า “เออ ดีหละ ฟังเทศน์ออกนะ ผมขออนุโมทนาด้วย จงไปโดยเป็นสุขเถิด แต่ขอให้พักถ้ำผาแด่นก่อนสักคืนสองคืน เพราะได้มาใกล้แล้วจะเสียเที่ยว จากนี้ไปถึงถ้ำประมาณสิบสี่กิโลเมตรกว่าๆ”

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม วัดป่าบ้านวไลย จ.ประจวบคีรีขันธ์

รูปภาพ
หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม สหธรรมิกคู่บารมีหลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม


๏ หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม และวัดป่ากลางโนนภู่

ก่อนเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พระอาจารย์ฉลวย หรือหลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม แห่งวัดป่าบ้านวไลย หรือวัดป่าวิทยาลัย ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ได้ออกเดินธุดงค์ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่ปากทางก่อนจะเข้าไปถึงวัดคือบ้านของนายอ่อน โมราราษฎร์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐากรับใช้ ให้ที่พัก และคอยรับส่งผู้ที่จะเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์ฉลวยก็ได้ไปอาศัยพักเช่นกัน ในระหว่างที่ได้พูดคุยกัน นายอ่อน โมราราษฎร์ ได้กล่าวถึงสถานที่บริเวณบ้านกุดก้อมว่า

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เคยกล่าวว่า ที่นั้นมีทำเลอันดีเหมาะสมที่จะสร้างวัด พระอาจารย์ฉลวยจึงขอให้นายอ่อนพาไปดู พบว่าเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การภาวนาจริง จึงได้บอกกับนายอ่อนว่า จะจำพรรษาที่นี่ ขอให้ช่วยจัดเสนาสนะให้ด้วย หลังจากไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็จะกลับมา นายอ่อนรับคำแล้ว พระอาจารย์ฉลวย หลวงพ่อก้าน พระสายบัว และพระทองม้วนจึงเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ

หลังจากกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว พระอาจารย์กู่ก็ได้พักอยู่ในวัดป่าบ้านหนองผือจนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา จึงได้กราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อไปพักจำพรรษายังเสนาสนะที่ให้นายอ่อน โมราราษฎร์ จัดการอยู่ ฝ่ายนายอ่อนและชาวบ้านทั้งหลายกำลังลังเลว่า คณะของพระอาจารย์ฉลวยจะกลับมาจำพรรษาจริงหรือไม่ การสร้างเสนาสนะจึงยังค้างอยู่ เมื่อคณะของพระอาจารย์ฉลวยกลับมาถึงแล้ว จึงได้ช่วยจัดแจงจนแล้วเสร็จเรียบร้อยเป็นกุฏิ ๔ หลังสำหรับพระภิกษุ ๔ รูป ทันเวลาเข้าพรรษาพอดี สถานที่ป่าดงก็กลายเป็นที่พักสงฆ์เล็กๆ ไป และนายอ่อนก็ได้ถวายที่ดินของตนเพิ่มเติมด้วย ต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดป่าบ้านภู่ (วัดกลางบ้านภู่) หรือวัดป่ากลางโนนภู่ ในเวลาต่อมา โดยมีพระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๒๐.๔๒ น. พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม จึงได้เปลี่ยนญัตติจากคณะมหานิกายเป็นคณะธรรมยุติกนิกาย พร้อมกับหลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุธมฺโม” และ “ฐิตธมฺโม” ตามลำดับ ซึ่งในขณะนั้นพระอาจารย์ฉลวยมีอายุ ๔๒ ปีแล้ว ท่านทั้งสองก็ได้พำนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่ากลางโนนภู่แห่งนี้ อีก ๑ พรรษา ได้สร้างเสนาสนะและเทศนาธรรมสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใส ส่วนในการปฏิบัติภาวนานั้น พระอาจารย์ฉลวยจะมีนิมิตภาพเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏอยู่เสมอ

ท่านจึงเกิดความสงสัยว่า วัดใหญ่ชัยมงคลกับท่านนั้นมีความสัมพันธ์อะไรกันหนอ เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงชักชวนหลวงพ่อก้านออกเดินธุดงค์กลับมายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสามเณรติดตามมาด้วยองค์หนึ่ง ส่วนวัดป่ากลางโนนภู่นั้นพระอาจารย์ฉลวยได้นิมนต์พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน มาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

รูปภาพ
แถวหน้า จากซ้าย : หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม, หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม,
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) และหลวงปู่ขาว อนาลโย


พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) กับเหล่าสัทธิวิหาริกที่ท่านอุปสมบทให้
อาทิเช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู,
หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม วัดป่าบ้านวไลย (วัดป่าวิทยาลัย) จ.ประจวบคีรีขันธ์,
หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) จ.ประจวบคีรีขันธ์


(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2012, 16:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
“พิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พ.ศ.๒๔๙๒”
ณ วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปัจจุบัน


รูปภาพ
แคร่คานหาม, เตียง, มุ้ง, กลด, ที่นอน, ประทุน ฯลฯ
ที่พระอาจารย์มั่นเคยใช้ในคราวมาพักอาพาธระยะสุดท้าย ๑๐ วัน
ณ วัดป่ากลางโนนภู่ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่
“พิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พ.ศ.๒๔๙๒”
วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เมตตาเดินทางมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
“พิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พ.ศ.๒๔๙๒”
และบรรจุอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่ากลางโนนภู่ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๓

:b49: ในภาพ : หลวงตามหาบัวกำลังพิจารณาแคร่คานหาม, เตียง, มุ้ง, กลด, ที่นอน, ประทุน ฯลฯ
ที่พระอาจารย์มั่นเคยใช้ในคราวมาพักอาพาธระยะสุดท้าย ๑๐ วัน ณ วัดป่ากลางโนนภู่
โดยในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ มี “หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินฺโน” วัดป่าโสตถิผล มาร่วมในงานด้วย



๏ วัดป่ากลางโนนภู่ ในปัจจุบัน

วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม เป็นวัดเก่าแก่สำคัญสายพระป่ากรรมฐานอีกวัดหนึ่ง อันเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พ.ศ. ๒๔๙๒” อาคารไม้ซึ่งเป็นกุฏิที่ท่านพระอาจารย์มั่นใช้พักในคราวอาพาธระยะสุดท้าย เป็นเวลา ๑๐ วัน ก่อนจะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในคืนเดียวกับที่ได้อาราธนาองค์ท่านมายังวัดป่าสุทธาวาส ภายในพิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่นฯ มีการจัดแสดงบริขารของท่านพระอาจารย์มั่นที่องค์ท่านเคยใช้ในคราวมาพักอาพาธอยู่ที่วัดแห่งนี้ อันได้แก่ แคร่คานหามที่ได้ใช้อาราธนาองค์ท่านจากวัดป่าบ้านหนองผือ มาที่วัดป่ากลางโนนภู่แห่งนี้, เตียง, มุ้ง, กลด, ที่นอน, ประทุน ฯลฯ รวมทั้ง ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ตลอดจนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, รูปหล่อเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น, ภาพถ่ายประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่หาชมได้ยาก, พระบรมสารีริกธาตุ, อัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น, อัฐิธาตุของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน, อัฐิธาตุของอดีตเจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) แห่งวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้เมตตามาเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่นฯ และบรรจุอัฐิธาตุของท่าน พร้อมทั้งมารับผ้าป่าช่วยชาติในคราวเดียวกัน นับแต่นั้นมาพิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่นฯ แห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

เสนาสนะที่สำคัญอื่นๆ ภายในวัดป่ากลางโนนภู่ ได้แก่ เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กว่า สุมโน รวมทั้ง กุฏิที่พระอาจารย์กว่า สุมโน เคยพักจำพรรษา เป็นต้น

สำหรับสภาพโดยทั่วไป วัดยังคงความสงบสงัด ร่มรื่นร่มเย็น สมกับเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเลือกมาพักในยามอาพาธ ปัจจุบันวัดป่ากลางโนนภู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสกลนคร (ธ) แห่งที่ ๑๓ ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมีพระอาจารย์ประจักษ์ ขนฺติโก เป็นเจ้าอาวาส

รูปภาพ
แผนที่แสดงเส้นทางการอาราธนา “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”
จากวัดป่าบ้านหนองผือ มาพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ และไปวัดป่าสุทธาวาส


รูปภาพ

๏ ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษาเหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้บอกบรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า

“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”

บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาพระคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อๆ ไปจนทั่ว เมื่อได้ปวารณาออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาท่านพระอาจารย์มั่นยังบ้านหนองผืออันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งให้นำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร โดยท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ว่า

“การป่วยของผมจวนถึงวาระเข้าทุกวัน จะพากันอย่างไรก็ควรคิดเสียแต่บัดนี้จะได้ทันกับเหตุการณ์ ผมน่ะต้องตายแน่นอนในคราวนี้ดังที่เคยพูดไว้แล้วหลายครั้ง แต่การตายของผมเป็นเรื่องใหญ่ของสัตว์และประชาชนทั่วๆ ไปอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงเผดียงท่านทั้งหลายให้ทราบว่า ผมไม่อยากมาตายอยู่ที่นี่ ถ้าตายที่นี่จะเป็นการกระเทือนและทำลายชีวิตสัตว์ไม่น้อย สำหรับผมตายเพียงคนเดียว แต่สัตว์ที่จะพลอยตายเพราะผมเป็นเหตุนั้นมีจำนวนมากมาย เพราะคนจะมามาก ทั้งที่นี่ไม่มีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

นับแต่ผมบวชมาไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบากเดือดร้อน โดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความเมตตาสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา ทุกเวลาได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้า โดยไม่มีประมาณตลอดมา เวลาตายแล้วจะกลายเป็นศัตรูคู่เวรแก่สัตว์ ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักสงวนของแต่ละตัว เพราะผมเป็นเหตุเพียงคนเดียวนั้น ผมทำไม่ลง อย่างไรขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่
เพียงผมป่วยยังไม่ถึงตายเลย ผู้คนพระเณรก็พากันหลั่งไหลมาไม่หยุดหย่อน และนับวันมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งพอเป็นพยานอย่างประจักษ์แล้ว ยิ่งผมตายลงไปผู้คนพระเณรจะพากันมามากเพียงไร ขอได้พากันคิดเอาเอง

เพียงผมคนเดียวไม่คิดคำนึงถึงความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่นเลยนั้น ผมตายได้ทุกกาลสถานที่ ไม่อาลัยเสียดายร่างกายอันนี้เลย เพราะผมได้พิจารณาทราบเรื่องของมันตลอดทั่วถึงแล้วว่า เป็นเพียงส่วนผสมแห่งธาตุรวมกันอยู่ชั่วระยะกาล แล้วก็แตกทำลายลงไปสู่ธาตุเดิมของมันเท่านั้น จะมาอาลัยเสียดายหาประโยชน์อะไร เท่าที่พูดนี้ก็เพื่อความอนุเคราะห์สัตว์ อย่าให้เขาต้องมาพร้อมกันตายเป็นป่าช้าผีดิบวางขายเกลื่อนอยู่ตามริมถนนหนทาง อันเป็นที่น่าสมเพชเวทนาเอาหนักหนาเลย ซึ่งยังไม่สุดวิสัยที่จะควรพิจารณาแก้ไขได้ในเวลานี้ ฉะนั้นจึงขอให้รีบจัดการให้ผมได้ออกไปทันกับเวลาที่ยังควรอยู่ในระยะนี้ เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ที่รอตายตามผมอยู่เป็นจำนวนมาก ให้เขาได้มีความปลอดภัยในชีวิตของเขาโดยทั่วกัน หรือใครมีความเห็นอย่างไรก็พูดได้ในเวลานี้”


พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส โดยทันที และเมื่อคณะศิษยานุศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นคือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น ประชุมตกลงกันว่าจะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาสตามดำริของท่าน โดยทำเสลี่ยงมีคนหามครั้งละ ๘ คน ผ่านบ้านห้วยบุ่น นาเลา คำแหว (อ่านว่า หะแว) ทิดไทย โคกเสาขวัญ กุดก้อม และพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ พระอาจารย์กู่ก็ดำริจะติดตามนำองค์ท่านไปด้วย

ดังนั้น คณะศิษยานุศิษย์และชาวบ้านจึงได้อาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นขึ้นแคร่หาม แล้วเคลื่อนขบวนออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. มาถึงวัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม เวลาค่ำ ๒๑.๐๐ น. (ระยะทางประมาณสามสิบกิโลเมตร) ท่านได้พักอาพาธระยะสุดท้ายที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา ๑๐ วัน

และที่วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม นี้เอง ท่านนั่งอยู่บนศาลาหลังคาเตี้ยๆ แล้วให้พระเปิดหน้าต่างออก มีผู้คนมานั่งกราบประนมมือออกันอยู่มากมาย บางคนก็น้ำตาไหลสะอึกสะอื้น ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “พวกญาติโยมที่พากันมามากๆ มาดูพระผู้เฒ่าป่วยหรือ ดูหน้าดูตาก็เป็นอย่างนี้หละ ญาติโยมเอ๋ย...ไม่ว่าพระหรือว่าคน สุดท้ายก็คือตาย

หัวหนึ่ง แขนสอง ขาสอง ความเกิด แก่ ตาย แท้ที่จริงเป็นตัวธรรม

...ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วจงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย

...ก่อนจะตาย ทานยังไม่ให้...ก็ให้ทานเสีย ศีลไม่เคยรักษา...ก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ...ก็เจริญเสีย ทำให้มันพอ อย่าประมาท จะไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา นั่นละจึงจะไม่เสียทีเสียท่าที่เกิดมาเป็นคน เท่านี้ละ พูดมากก็เหนื่อย”


จากนั้นท่านจึงสั่งให้คณะศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิดนำองค์ท่านไปที่วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันเกิดของท่านพระอาจารย์มั่นพอดี ขบวนโดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางสกลนครในขณะนั้น ได้ออกเดินทางจากวัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม เวลา ๑๐.๒๐ น. มาถึงวัดป่าสุทธาวาส เวลา ๑๔.๓๐ น.

เมื่อมาถึงวัดป่าสุทธาวาสแล้ว จึงหามองค์ท่านขึ้นไปพักบนกุฏิรับรองที่เตรียมไว้แล้ว และดูแลให้ท่านนอนพัก แต่อาการท่านอ่อนเพลียมาก ท่านไม่พูดจาอะไรเลย เป็นเพียงแต่นอนหลับตามีลมหายใจเชื่องช้าแผ่วเบาและเคลื่อนไหวกายเล็กน้อยเท่านั้น ฝ่ายครูบาอาจารย์พระเณรในตอนนี้ต่างก็นั่งรายล้อมสงบอยู่ บางท่านก็คอยห้ามไม่ให้ส่งเสียงดังเพื่อรักษาความสงบ และคอยเตือนผู้คนประชาชนที่ทราบข่าวและหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณวัดไม่ให้ส่งเสียง หรือเข้าไปใกล้รบกวนท่านที่พักผ่อนสงบอยู่นั้น

เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน มันเคลื่อนคล้อยค่ำมืดลงทุกที จาก ๖ โมงเย็นเป็น ๑ ทุ่ม ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม และ ๔ ทุ่ม ผ่านไปจนถึง ๖ ทุ่ม ตี ๑ ครึ่งกว่าๆ อาการขององค์ท่านพระอาจารย์มั่นที่นอนนิ่งอยู่บนที่นอนนั้นก็เริ่มผิดปกติเป็นไปในทางที่ไม่น่าไว้ใจ มีความอ่อนเพลียมากขึ้น ลมหายใจก็แผ่วเบามากและเบาลงๆ ตามลำดับอย่างน่าใจหาย ส่วนองค์กายของท่านนอนอยู่ในท่าครึ่งหงายตะแคงขวา ในที่สุดลมหายใจขององค์ท่านก็สิ้นสุดถึงแก่มรณภาพละสังขารไว้ให้แก่โลกได้พิจารณาโดยสงบ เพราะท่านได้ดับขันธวิบากเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ซึ่งตรงกับวันใหม่ วันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ซึ่งมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เป็นต้น สิริชนมายุรวมได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๕๖

สำหรับวันประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ตรงกับวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร คือ ๘๑ วันหลังจากท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ทั้งนี้ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ก็ได้เดินทางไปร่วมงานด้วย

รูปภาพ
บรรดาคณะศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงานประชุมเพลิงสรีระสังขาร
“ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ” เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน นั่งตรงกลางแถวหน้าสุด หมายเลข ๓๘


(มีต่อ ๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ส.ค. 2012, 16:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ
เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พระพี่ชาย (ขวา)
และเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กว่า สุมโน พระน้องชาย (ซ้าย)
ณ วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร



๏ ปัจฉิมอาพาธและการมรณภาพ

ในช่วงปลายชีวิต พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านได้มาเป็นผู้ริเริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า บ้านทิดไทย ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อจากพระอาจารย์บุตร โดยได้สร้างกุฏิจำนวน ๑ หลัง และหอฉันอีก ๑ หลังไว้ในถ้ำ (ต่อมาท่านก็ได้มามรณภาพ ณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า แห่งนี้โดยมิได้พักจำพรรษา)

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของท่าน โรคนี้เคยเป็นแล้วก็หายไป ด้วยการที่ท่านอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นเครื่องระงับ ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้พิจารณาเห็นอาการป่วยนี้ว่า คงต้องเป็นส่วนของวิบากกรรมอย่างแน่นอน อันที่จะพ้นจากมรณสมัยด้วยโรคนี้ไม่ได้ ท่านเคยแสดงธรรมเทศนาให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายฟังบ่อยๆ ว่า “ถ้าเราทำความดีถึงที่แล้ว เรื่องของการตายเราไม่ต้องหวาดหวั่นเลย” ท่านได้ตักเตือนพระเณรอย่างนี้เสมอ สอนให้รีบร้อนเด็ดเดี่ยวในการทำความเพียรศึกษาในสมาธิภาวนาให้มาก ตลอดพรรษาท่านมิได้ลดละในการปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ลาคณะศรัทธาญาติโยมขึ้นไปเจริญภาวนา บำเพ็ญสมณธรรมที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า เชิงเขาภูพาน ซึ่งท่านได้เคยมาบูรณะต่อจากที่พระอาจารย์บุตรได้เริ่มเอาไว้ เมื่อท่านจะไปได้สั่งว่า จะไปหาที่พำนักซ่อนตายเสียก่อน และเห็นถ้ำลูกนี้พอที่จะอาศัยได้ คณะศรัทธาญาติโยมจึงพร้อมใจกันไปทำเสนาสนะถวาย จนกาลล่วงมาได้ ๓ เดือนเศษ อาการของโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอกลับกำเริบขึ้นอีก คณะศรัทธาญาติโยมจึงได้อาราธนาให้ท่านกลับวัดเพื่อจัดแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลให้เต็มที่ แต่ท่านไม่ยอมกลับ

ครั้นถึงวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง เวลา ๙.๕๑ น. ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบในอิริยาบถนั่งสมาธิ สิริอายุรวมได้ ๕๓ ปี พรรษา ๓๓

บรรดาศรัทธาญาติโยมและสานุศิษย์ทั้งหลายรู้สึกเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้ปรนนิบัติรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ และในขณะที่จะสิ้นลมปราณนั้น คงเหลือแต่พระอาจารย์กว่า สุมโน พระน้องชาย, พระประสาน ขันติกโร และสามเณรหนู เป็นผู้เฝ้าปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ได้เห็นพระอาจารย์กู่นั่งสมาธิทำความสงบแน่นิ่งอยู่ เฉพาะส่วนภายในโดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณภัย และสิ้นลมหายใจในอิริยาบถที่นั่งสมาธิอย่างสงบ ณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า นั้นเอง นับว่าสมเกียรติแก่ท่านผู้ได้ปฏิบัติธรรมในบวรพระพุทธศาสนามาโดยแท้

พระอาจารย์กว่า และบรรดาศรัทธาญาติโยมได้อัญเชิญสรีระสังขารของท่านบรรจุหีบ แล้วนำมาไว้ ณ วัดป่ากลางโนนภู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานสนองคุณงามความดีของท่านต่อไป


๏ หลวงตามหาบัวกล่าวถึง “พระอาจารย์กู่”

อ่านเพิ่มเติมที่ >>> :b44: พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เกี่ยวกับ “พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน” วัดป่ากลางโนนภู่

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44428

รูปภาพ
รูปหล่อเหมือนพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
ณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า เชิงเขาภูพาน บ้านทิดไทย จ.สกลนคร


รูปภาพ
กุฏิพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ที่ได้บูรณะขึ้นมาใหม่
ณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า เชิงเขาภูพาน บ้านทิดไทย จ.สกลนคร


รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณ Kai Thayananuphat

รูปภาพ

.............................................................

:b8: :b8: :b8: ♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
(๒) หนังสือบูรพาจารย์ รวบรวมโดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
(๓) หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
(๔) หนังสือคงไว้ให้บำเพ็ญ หนังสืออนุสรณ์ หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม
วัดป่าบ้านวไลย ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์


:b47: ประมวลภาพ “หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน” วัดป่ากลางโนนภู่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=44433

:b47: ธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว : “หลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44428

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2014, 21:23 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


Sathu ka :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2015, 16:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5112

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2016, 19:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มิ.ย. 2018, 09:41 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร